โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เตือน! ไปทำงานสิงคโปร์ธุรกิจบันเทิง ต้องทำสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร พบถูกเลิกสัญญาก่อนกำหนด

Posted: 10 May 2017 11:09 AM PDT

กรมการจัดหางาน เตือนคนหางานที่จะไปทำงานสิงคโปร์ในอาชีพนักร้อง นักดนตรี และธุรกิจบันเทิง ต้องทำสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร และได้รับใบอนุญาตทำงานก่อนการเดินทาง พบล่าสุดแรงงานถูกนายจ้างยกเลิกใบอนุญาตทำงานก่อนหมดสัญญาจ้าง ร้องขอให้ทางการช่วยเหลือ    
 
 
10 พ.ค.2560 รายงานข่าวระบุว่า วรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้มีแรงงานไทยที่ไปทำงานประเทศสิงคโปร์ในตำแหน่งนักร้องได้ขอความช่วยเหลือจากสำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์เนื่องจากถูกนายจ้างยกเลิกใบอนุญาตทำงานก่อนหมดสัญญาจ้าง ทั้งยังจ่ายค่าจ้างไม่ตรงตามที่ตกลงไว้ ด้วยเหตุผลว่าคนงานไม่สามารถทำงานในตำแหน่งนักร้องได้ ทั้งๆที่นายจ้างหักเงินค่าจ้างเพื่อจ่ายเป็นค่าธรรมเนียมการจ้างแรงงานต่างชาติ (Levy) แล้ว โดยนายจ้างได้จัดส่งใบอนุญาตการทำงานที่ออกโดยกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ให้คนงาน แต่นายจ้างไม่มีการทำสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งคนงานทำงานได้เพียงระยะหนึ่งนายจ้างก็บอกเลิกสัญญา ทั้งนี้ การเข้ามาทำงานในสถานบันเทิงประเทศสิงคโปร์ ตำแหน่งนักร้อง นักดนตรี ธุรกิจบันเทิง หรืออื่น ๆ นั้น นายจ้างจะต้องขออนุญาตจ้างงานชาวต่างชาติจากกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ก่อน หากอนุมัติการจ้างงานแล้วจะออกใบอนุญาตการทำงานให้กับลูกจ้างจึงจะถือว่าเป็นการทำงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งนายจ้างจะต้องส่งหนังสือยืนยันว่าคนงานจะได้รับใบอนุญาตทำงานเมื่อเดินทางมาถึงประเทศสิงคโปร์ให้กับคนงานก่อน 
 
วรานนท์ กล่าวด้วยว่า กรมการจัดหางานจึงขอเตือนคนหางานที่ประสงค์จะไปทำงานในประเทศสิงคโปร์ กลุ่มประเภทอาชีพนักร้อง นักดนตรีและธุรกิจบันเทิง ควรมีนายจ้างและได้รับใบอนุญาตการทำงานก่อนที่จะเดินทางไปทำงาน ตลอดจนเพิ่มความระมัดระวังในการทำสัญญาจ้างกับนายจ้างให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสัญญาจ้างจะต้องเป็นลายลักษณ์อักษร ต้องศึกษารายละเอียดสัญญาจ้างให้รอบคอบ ชัดเจน นอกจากนี้ควรทำความเข้าใจสภาพชีวิตความเป็นอยู่ สังคม ค่าครองชีพ วัฒนธรรมอีกด้วย โดยสอบถามข้อมูลการไปทำงานสิงคโปร์อย่างถูกต้องได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน โทร. 0-2245-6708-9 เว็บไซต์ www.mol.go.th/anonymouse/foreignlabour/39818 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อปท.จับมือ รพ.ดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงในชุมชน ทางรอดยุคสังคมสูงวัย

Posted: 10 May 2017 10:44 AM PDT

การดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน ทางรอดในยุคสังคมผู้สูงอายุของไทย เน้นให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมมือกับโรงพยาบาลในพื้นที่ จัดระบบดูแลผู้ปวยติดบ้านติดเตียง พร้อมจัดผู้ดูแลเยี่ยมเยียนถึงบ้าน 

10 พ.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า ดุสิต ศรีโคตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 7 ขอนแก่น กล่าวว่า รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (LTC) ให้กับ สปสช.เพื่อจัดสรรให้กับหน่วยบริการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 ต่อเนื่องมาปีงบประมาณ 2560 เพื่อเป็นงบประมาณให้โรงพยาบาลในพื้นที่จัดทีมหมอครอบครัวร่วมกับ อปท.ดำเนินการคัดกรองผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงตามแบบประเมินความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวันตามดัชนีบาร์เธลเอดีแอล (Barthel  ADL index) ซึ่งแบ่งผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงออกเป็น 4 กลุ่ม โดยดัชนีบาร์เธลเอดีแอลนี้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับภาคีเครือข่ายและผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นผู้พัฒนาขึ้น  

"หลังจากที่ อปท.ได้จำนวนผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงที่ต้องได้รับการช่วยเหลือแล้ว จะต้องจัดทำทำเนียบผู้สูงอายุและรายละเอียดส่งให้กับ สปสช.เขต เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (LTC) โดย อปท.ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณนั้น สปสช.จะจ่ายเงินแบบเหมาจ่ายให้กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ที่เข้าร่วมดำเนินการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน ในอัตรา 5,000 บาทต่อคนต่อปี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้อง" ดุสิต กล่าว

ดุสิต กล่าวว่า ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง จัดขึ้นเพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (กลุ่มติดบ้านติดเตียง) ได้รับบริการด้านสาธารณสุขตามชุดสิทธิประโยชน์ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาล/อบต.) เป็นเจ้าภาพหลัก ในการบริหารจัดการระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง แบบบูรณาการในพื้นที่ ภายใต้การสนับสนุนของเครือข่ายหน่วยบริการในพื้นที่ โดยมีเป้าหมาย คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สำหรับในพื้นที่ สปสช.เขต 7 ขอนแก่นนั้น มี อปท.ที่ต้องการเข้าร่วมจัดตั้งกองทุนนี้ รวมทั้งหมดประมาณ 365 แห่ง จาก 718 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 51 ของ อปท.ทั้งหมด และมีจำนวนผู้สูงอายุที่ต้องได้รับการดูแลจากการสำรวจเมื่อปี 2559 และต้นปี 2560 ที่ต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแล จำนวน 12,705  คน

ประสาทพร สีกงพลี นายกเทศมนตรีตำบลนาดูน อ.นาดูน จ.มหาสารคาม ระบุว่า เทศบาลตำบลนาดูนได้เข้าร่วมจัดตั้งกองทุนบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (LTC) ร่วมกับ สปสช. มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 ต่อเนื่องมาปีงบประมาณ 2560 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 640,000 บาท เพื่อจัดบริการให้กับผู้สูงอายุที่ติดบ้านติดเตียง จำนวน 76 คน จาก ผู้สูงอายุรวมทั้งหมด 605 คน เริ่มจากการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการกองทุนจากทุกภาคส่วน การแต่งตั้งผู้จัดการแผนการดำเนินงาน (Care Manager) การคัดเลือกและส่งผู้ดูแล (Care giver) ไปฝึกอบรมจำนวน 20 คน ซึ่งหลังจากได้ดำเนินงานมา 2 ปี พบว่าผู้สูงอายุในพื้นที่ได้รับการดูแลครบวงจร

"ปัญหาและอุปสรรคส่วนหนึ่งในการทำงานคือปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่ง อปท.หลายแห่งเกรงว่าจะผิดระเบียบ และทางกระทรวงสาธารณสุขได้ออกหนังสือให้ชะลอการจ่ายค่าจ้างผู้ดูแล แต่ทางเทศบาลตำบลนาดูนได้พิจารณาแล้วเห็นว่าตามระเบียบของ อปท.นั้นสามารถจ่ายเงินให้กับผู้ดูแลได้ จึงได้จ่ายให้วันละ 300 บาทต่อคน และเมื่อทำมาได้สักพักก็เริ่มเห็นความสำคัญของกองทุนนี้ ที่ให้การดูแลผู้สูงอายุสิทธิบัตรทองได้เป็นอย่างดี จึงอยากให้ขยายการให้บริการออกไปถึงผู้สูงอายุทุกสิทธิ โดยเฉพาะผู้ป่วยข้าราชการบำนาญด้วย" ประสาทพร กล่าว    

สังวาลย์ เอิ้นเคน อายุ 55 ปี ผู้ดูแลสามี คือ สมจิตร ปัจจัยโย สามีที่ปีนี้อายุ 62 ปี อดีตคนขับรถสิบล้อที่ประสบอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ จนกลายเป็นอัมพาตมานานถึง 15 ปี เล่าว่า ดีใจที่มีผู้ดูแลเข้ามาช่วยดูแล ทำกายภาพบำบัด ให้กับผู้เป็นสามีที่บ้าน เพราะตลอดเวลากว่า 15 ปี ที่ดูแลกันมาตนก็พยายามดูแลสามีอย่างเต็มที่ เมื่อมีผู้ดูแลเข้ามาช่วย 3 วันต่อสัปดาห์ ทำให้ตนมีกำลังใจมากขึ้น และตัวสามีเองก็มีอาการดีขึ้นแผลกดทับจากการนอนอัมพาตมานานหลายปีก็หายแล้ว ทางเทศบาลยังนำเอาที่นอนลมมาให้ใช้เพื่อลดการเกิดแผลกดทับด้วย 

เฉื่อย จันทะกะยอม อายุ 75 ปี เล่าว่า ต้องขอบคุณผู้ดูแลทุกคนที่ช่วยดูแลยายจนสามารถเดินได้ แม้จะเป็นเพียงการเดินด้วยเครื่องช่วยพยุง แต่แค่นี้ตนก็ดีใจมากแล้ว ทั้งนี้ เฉื่อย เป็นผู้ป่วยที่เดินไม่ได้ และมีโรคประจำตัวคือ โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง แต่ไม่ยอมเข้ารับการรักษา และไม่ยอมออกมาพบผู้คนได้แต่เก็บตัวเงียบในบ้าน แม้จะมีอาการข้างเคียงจากเบาหวานขึ้นจอประสาทตา จนทำให้มองไม่เห็น ก็ไม่ยอมไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล แต่เมื่อผู้ดูแลเข้ามาพูดคุย มาช่วยทำกายภาพบำบัด นานถึง 9 เดือน  เฉื่อย จึงยินยอมเข้ารับการรักษาและเริ่มหัดเดินด้วยเครื่องช่วยพยุง จนสามารถเดินได้แล้ว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปธ.กมธ.สื่อ ปรับร่าง พ.ร.บ.สื่อเลิกขึ้นทะเบียนวิชาชีพ คงตัวแทนรัฐนั่งสภาวิชาชีพ 5 ปีแรก

Posted: 10 May 2017 10:31 AM PDT

ประธาน กมธ.ด้านสื่อฯ ปรับปรุง ร่างพ.ร.บ.วิชาชีพสื่อเสร็จแล้ว คาดส่งประธาน สปท. 15 พ.ค.นี้ เพื่อส่งต่อ ครม. ยันเลิกให้สื่อขึ้นทะเบียน แต่เปลี่ยนเป็นให้ต้นสังกัดออกใบรับรองแทน และยังคงให้ตัวแทนรัฐ 2 ที่นั่งในสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติแค่ 5 ปีแรก

ที่มาภาพ http://www.parliament.go.th

10 พ.ค. 2560 หลังจากวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากประชาชนและสื่อมวลชน

วันนี้ (10 ) พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน  สปท. กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ว่า ล่าสุดการพิจารณาปรับปรุงร่างดังกล่าวเสร็จแล้ว ทั้งนี้คาดว่าจะส่งให้ประธาน สปท. ได้ในวันที่ 15 พ.ค.นี้ เพื่อส่งต่อให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป โดยยังคงเป็นไปตามมติที่ประชุมสปท.ให้ความเห็นชอบ 

พล.อ.อ.คณิต ระบุว่า รายงานที่จะส่งให้กับคณะรัฐมนตรี ที่มีเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว ยังแนบการอภิปรายของ สมาชิก สปท.20 คนที่ให้ความเห็นไปด้วย โดยขึ้นอยู่กับคณะรัฐมนตรีจะปรับปรุงร่างพระราชบัญญัตินี้อย่างไร

ส่วน ประเด็นที่คณะกรรมาธิการปรับปรุงแก้ไขคือ มาตรา 91 มาตรา 92 และ99  โดยยกเลิกให้สื่อมวลชนขึ้นทะเบียนการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน โดยเปลี่ยนเป็นให้ต้นสังกัดออกใบรับรองประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนแทน พร้อมยกเลิกบทลงโทษจำคุก 3ปี และปรับ 60,000 บาท กรณีสื่อมวลชนและต้นสังกัดไม่ขึ้นทะเบียนใบประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ขณะที่ตัวแทนภาครัฐ 2 คนที่ร่วมในคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติจะยังไม่มีการตัดทิ้ง เพราะข้อเสนอของตนให้มีตัวแทนภาครัฐ 2 คนอยู่เพียง 5 ปีเท่านั้นจากนั้นจะไม่มีตัวแทนภาครัฐอยู่ในคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ

ที่มา : TNN24, Voice TV และ โลกวันนี้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประกาศใช้ พ.ร.ฎ.จัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์

Posted: 10 May 2017 10:13 AM PDT

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ "พระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560" มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระราชโองการ โดยอาศัยอำนาจตาม มาตรา 15 วรรคสอง มาตรา 175 และมาตรา 183 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 7 มาตรา 8 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ "พระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคล ของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560" มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระราชโองการ โดยอาศัยอำนาจตาม มาตรา 15 วรรคสอง มาตรา 175 และมาตรา 183 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 7 มาตรา 8 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) โดยรายละเอียดของพระราชกฤษฎีกามีดังนี้

000

พระราชกฤษฎีกา
จัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคล
ของราชการในพระองค์
พ.ศ. 2560

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ให้ไว้ ณ วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2560
เป็นปีที่ 2 ในรัชกาลปัจจุบัน

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 15 วรรคสอง มาตรา 175 และมาตรา 183 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 7 มาตรา 8 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและ การบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560"

มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ส่วนราชการในพระองค์มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้

(1) สํานักงานองคมนตรี

(2) สํานักพระราชวัง

(3) หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์

ส่วนราชการในพระองค์ตามวรรคหนึ่งให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อปฏิบัติภารกิจราชการในพระองค์ถวายองค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ตามพระราชอัธยาศัยขึ้นตรงต่อ พระมหากษัตริย์

มาตรา 4 สํานักงานองคมนตรีมีหน้าที่สนับสนุนภารกิจขององคมนตรีในการปฏิบัติหน้าที่ ถวายพระมหากษัตริย์และการอื่นตามพระราชอัธยาศัย โดยมีเลขาธิการองคมนตรีซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัยเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบการปฏิบัติราชการ

ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้เลขาธิการองคมนตรีเป็นผู้แทนของสํานักงานองคมนตรี

เลขาธิการองคมนตรีหรือข้าราชการในพระองค์ในสํานักงานองคมนตรีซึ่งทรงกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาจะมอบอํานาจให้บุคคลอื่นซึ่งเป็นข้าราชการในพระองค์กระทําการแทนก็ได้

มาตรา 5 สํานักงานองคมนตรีมีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้

(1) สํานักงานเลขาธิการองคมนตรี

(2) กองนิติการ

(3) ส่วนราชการอื่นตามที่กําหนดโดยประกาศสํานักงานองคมนตรี

หน้าที่ของส่วนราชการ การกําหนดตําแหน่งในส่วนราชการ และการแต่งตั้งหัวหน้าส่วนราชการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กําหนดโดยประกาศสํานักงานองคมนตรี

การรวม การโอน การปรับปรุง การเปลี่ยนชื่อ หรือการยุบเลิกส่วนราชการตามวรรคหนึ่ง ให้ทําเป็นประกาศสำนักงานองคมนตรี

มาตรา 6 สํานักพระราชวังมีหน้าที่เกี่ยวกับราชการในพระองค์ทั่วไป การเลขานุการในพระองค์ การจัดการพระราชวังและงานพระราชพิธี การดูแลรักษาทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์และการอื่น ตามพระราชอัธยาศัย โดยมีเลขาธิการพระราชวังซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง ตามพระราชอัธยาศัยเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบการปฏิบัติราชการ

ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้เลขาธิการพระราชวังเป็นผู้แทนของสํานักพระราชวัง เลขาธิการพระราชวังหรือข้าราชการในพระองค์ในสํานักพระราชวังซึ่งทรงกําหนดโดยประกาศ

ในราชกิจจานุเบกษา จะมอบอํานาจให้บุคคลอื่นซึ่งเป็นข้าราชการในพระองค์กระทําการแทนก็ได้

มาตรา 7 สํานักพระราชวังมีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้

(1) ศาลาว่าการสํานักพระราชวัง
(2) กรมราชเลขานุการในพระองค์
(3) กรมกิจการในพระบรมวงศานุวงศ์
(4) กรมมหาดเล็ก
(5) กรมสนับสนุน
(6) กรมกิจการพิเศษ
(7) ส่วนราชการอื่นตามที่กําหนดโดยประกาศสํานักพระราชวัง

หน้าที่ของส่วนราชการ การกําหนดตําแหน่งในส่วนราชการ และการแต่งตั้งหัวหน้าส่วนราชการ รวมทั้ง การแบ่งส่วนงานภายในของส่วนราชการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กําหนดโดยประกาศสํานักพระราชวัง

การรวม การโอน การปรับปรุง การเปลี่ยนชื่อ หรือการยุบเลิกส่วนราชการตามวรรคหนึ่ง ให้ทําเป็นประกาศสํานักพระราชวัง

มาตรา 8 หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์มีหน้าที่วางแผน อํานวยการ ประสานงาน บังคับบัญชา ควบคุม กํากับดูแลและปฏิบัติงานในการถวายอารักขาและถวายพระเกียรติ องค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศานุวงศ์ และบุคคลอื่นตามที่ พระมหากษัตริย์ทรงมอบหมาย รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่ทางพระราชพิธีตามที่ได้รับมอบหมาย และการรักษา ความสงบเรียบร้อยภายในเขตพระราชฐาน ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย องค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์และพระราชอาคันตุกะ

ให้หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์มีการบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อ พระมหากษัตริย์

ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ข้าราชการในพระองค์ในหน่วยบัญชาการ ถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ซึ่งทรงกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นผู้แทนของหน่วยบัญชาการ ถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ โดยจะทรงกําหนดให้มีอํานาจมอบอํานาจให้บุคคลอื่นซึ่งเป็น ข้าราชการในพระองค์กระทําการแทนในกิจการตามที่ทรงกําหนดด้วยก็ได้

มาตรา 9 หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้

(1) สํานักงานผู้บังคับบัญชา
(2) สํานักงานนายทหารปฏิบัติการพิเศษในพระองค์
(3) สํานักงานฝ่ายเสนาธิการในพระองค์
(4) กรมราชองครักษ์
(5) หน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์
(6) สํานักงานนายตํารวจราชสํานักประจํา
(7) ส่วนราชการอื่นตามที่กําหนดโดยประกาศหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์

หน้าที่ของส่วนราชการ การกําหนดตําแหน่งในส่วนราชการ และการแต่งตั้งหัวหน้าส่วนราชการ รวมทั้งการแบ่งส่วนงานภายในของส่วนราชการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามประกาศหน่วยบัญชาการ ถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์

การรวม การโอน การปรับปรุง การเปลี่ยนชื่อ หรือการยุบเลิกส่วนราชการตามวรรคหนึ่ง ให้ทําเป็นประกาศหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์

มาตรา 10 ข้าราชการในพระองค์ ได้แก่ข้าราชการดังต่อไปนี้

(1) องคมนตรี
(2) ข้าราชการในพระองค์ฝ่ายพลเรือน
(3) ข้าราชการในพระองค์ฝ่ายทหาร
(4) ข้าราชการในพระองค์ฝ่ายตํารวจ

บรรดาบทกฎหมายใดที่บัญญัติถึงคําว่าข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ มิให้หมายความรวมถึง ข้าราชการในพระองค์ตามมาตรานี้ ทั้งนี้ เว้นแต่การมีสถานภาพเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

ข้าราชการในพระองค์ฝ่ายทหารให้มีสถานภาพเป็นทหารตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการทหาร กฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม กฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร ประมวล กฎหมายอาญาทหาร กฎหมายว่าด้วยยศทหาร กฎหมายว่าด้วยเครื่องแบบทหาร และกฎหมายว่าด้วย วินัยทหารด้วย เว้นแต่จะกําหนดไว้เป็นการเฉพาะตามพระราชกฤษฎีกานี้หรือตามระเบียบหรือประกาศ ที่ออกตามพระราชกฤษฎีกานี้

ข้าราชการในพระองค์ฝ่ายตํารวจให้มีสถานภาพเป็นข้าราชการตํารวจตามกฎหมายว่าด้วย ตํารวจแห่งชาติ เว้นแต่จะกําหนดไว้เป็นการเฉพาะตามพระราชกฤษฎีกานี้หรือตามระเบียบหรือประกาศ ที่ออกตามพระราชกฤษฎีกานี้

การแต่งตั้งให้ข้าราชการในพระองค์ฝ่ายทหารและข้าราชการในพระองค์ฝ่ายตํารวจมียศชั้นใด หรือถอดผู้ใดออกจากยศชั้นใด ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย

มาตรา 11 ประกาศตามมาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 8 มาตรา 9 และมาตรา 10 นั้น ให้ส่วนราชการในพระองค์ที่รับผิดชอบจัดทําร่างประกาศขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อมีพระราชวินิจฉัย และเมื่อทรงเห็นชอบแล้ว ให้หัวหน้าส่วนราชการในพระองค์เป็นผู้ลงนามประกาศ เพื่อให้มีผลใช้บังคับต่อไป แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนพระราชอํานาจที่จะมีพระราชวินิจฉัยให้ปฏิบัติ เป็นอย่างอื่นเป็นกรณีเฉพาะ

มาตรา 12 การแต่งตั้งและการพ้นจากตําแหน่งองคมนตรีให้เป็นไปตามบทบัญญัติของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

การปฏิบัติหน้าที่ขององคมนตรี นอกจากที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว องคมนตรีในฐานะข้าราชการในพระองค์มีหน้าที่ปฏิบัติภารกิจตามที่พระมหากษัตริย์ทรงกําหนดหรือ ทรงมอบหมาย

ให้องคมนตรีได้รับเงินประจําตําแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่น รวมทั้งบําเหน็จบํานาญหรือ ประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นขององคมนตรีซึ่งพ้นจากตําแหน่งตามที่พระมหากษัตริย์ทรงกําหนด ตามพระราชอัธยาศัย และประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา 13 เว้นแต่ข้าราชการในพระองค์ในตําแหน่งองคมนตรี การให้ข้าราชการในพระองค์ ผู้ใดปฏิบัติงานในส่วนราชการในพระองค์หน่วยใดและดํารงตําแหน่งใด รวมทั้งการโอน การย้าย และการให้ พ้นจากตําแหน่ง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย เพื่อการนี้จะทรงกําหนดหรือทรงมอบหมายให้ข้าราชการ ในพระองค์ผู้ใดเป็นผู้ลงนามในคําสั่งเกี่ยวกับการดํารงตําแหน่งของข้าราชการในพระองค์ดังกล่าวก็ได้

ข้าราชการในพระองค์จะเป็นองคมนตรี ข้าราชการในพระองค์ฝ่ายพลเรือน ข้าราชการ ในพระองค์ฝ่ายทหาร และข้าราชการในพระองค์ฝ่ายตํารวจ ในขณะเดียวกันมิได้

มาตรา 14 การโอนข้าราชการในพระองค์ไปเป็นข้าราชการฝ่ายอื่นที่มิใช่ข้าราชการในพระองค์ หรือการโอนข้าราชการฝ่ายอื่นเช่นว่านั้นมาเป็นข้าราชการในพระองค์ ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย และให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดําเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อให้มีการโอนตามพระราชอัธยาศัย ต่อไป

มาตรา 15 การดําเนินการเกี่ยวกับราชการในพระองค์และการบริหารงานบุคคลของ ราชการในพระองค์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย เพื่อการนี้จะทรงกําหนดหรือทรงมอบหมายให้ ข้าราชการในพระองค์ผู้ใดเป็นผู้ลงนามในหมายรับสั่งเพื่อรับผิดชอบในการนําไปปฏิบัติต่อไปก็ได้

การดําเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความรวมถึงการดําเนินการดังต่อไปนี้ด้วย

(1) การปฏิบัติราชการของส่วนราชการในพระองค์

(2) การกําหนดตําแหน่ง บัญชีอัตราเงินเดือนและเงินประจําตําแหน่ง การให้ได้รับเงินเดือน และเงินประจําตําแหน่ง การได้รับบําเหน็จบํานาญ และค่าตอบแทนหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของ ข้าราชการในพระองค์

(3) การบรรจุ การแต่งตั้ง การเลื่อนเงินเดือน การเลื่อนตําแหน่ง การควบคุมการปฏิบัติ ราชการ การรักษาราชการแทน การปฏิบัติราชการแทน การมอบอํานาจหรือมอบหมายการปฏิบัติราชการ วินัย การออกจากราชการ และการอื่นตามความจําเป็นในการบริหารงานบุคคลของราชการ ในพระองค์

(4) การกําหนดวิธีการจ้าง เงื่อนไขการปฏิบัติงาน อัตราการจ้างและสิทธิประโยชน์อื่นใดของ พนักงาน ลูกจ้าง และผู้ปฏิบัติงานอื่นในส่วนราชการในพระองค์

(5) การกําหนดเครื่องแบบและการแต่งกาย การได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ การกําหนด วันเวลาทํางานและวันหยุด การเพิ่มพูนประสิทธิภาพและเสริมสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติราชการ และ การจัดสวัสดิการหรือการสงเคราะห์อื่นของข้าราชการในพระองค์ พนักงาน ลูกจ้าง และผู้ปฏิบัติงานอื่นในส่วนราชการในพระองค์

(6) การแต่งตั้งที่ปรึกษา ผู้ชํานาญการเฉพาะด้าน หรือคณะกรรมการเพื่อปฏิบัติหน้าที่ สนับสนุนราชการในพระองค์ รวมทั้งการกําหนดค่าตอบแทนและประโยชน์ตอบแทนอื่น

(7) การงบประมาณและการบริหารจัดการทรัพย์สินอื่น การเงิน การบัญชี รวมทั้งการพัสดุ ของส่วนราชการในพระองค์

(8) การอื่นที่จําเป็นและเหมาะสมแก่การปฏิบัติราชการในพระองค์

ในกรณีที่การดําเนินการใดที่เกี่ยวกับราชการในพระองค์ ถ้ามีพระราชประสงค์ให้ทําเป็นระเบียบหรือประกาศเพื่อให้ใช้บังคับเป็นการทั่วไปสําหรับส่วนราชการในพระองค์ทุกหน่วยหรือส่วนราชการในพระองค์ หน่วยใดเป็นการเฉพาะ จะทรงกําหนดหรือทรงมอบหมายให้ข้าราชการในพระองค์หรือส่วนราชการในพระองค์ หน่วยใดเป็นผู้รับผิดชอบจัดทําร่างระเบียบหรือร่างประกาศให้เป็นไปตามพระราชประสงค์แล้วนําขึ้น ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อมีพระราชวินิจฉัย และเมื่อทรงเห็นชอบแล้ว ให้หัวหน้าส่วนราชการในพระองค์ ที่ทรงมอบหมายเป็นผู้ลงนามในระเบียบหรือประกาศนั้น เพื่อให้มีผลใช้บังคับต่อไป แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนพระราชอํานาจที่จะมีพระราชวินิจฉัยให้ปฏิบัติเป็นอย่างอื่นเป็นกรณีเฉพาะ

ในกรณีที่มีกฎหมายอื่นใดกําหนดการดําเนินการอย่างใดตามมาตรานี้ไว้ มิให้นํากฎหมาย ดังกล่าวมาใช้บังคับกับการดําเนินการตามที่ทรงกําหนดในมาตรานี้

มาตรา 16 ในการจัดทําคําของบประมาณ ให้สํานักพระราชวังเป็นผู้รวบรวมความต้องการ ใช้งบประมาณจากส่วนราชการในพระองค์แต่ละหน่วย เพื่อจัดทําเป็นคําของบประมาณของส่วนราชการใน พระองค์ แล้วแจ้งต่อคณะรัฐมนตรีในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้แก่ส่วนราชการในพระองค์ต่อไป

หลักเกณฑ์ในการจัดทําคําของบประมาณและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณให้เป็นไปตามที่ สํานักพระราชวังกําหนด

มาตรา 17 การโอนกิจการ อํานาจหน้าที่ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน เงินงบประมาณ อัตรากําลังพลหรือตําแหน่งและอัตราเงินเดือน รวมทั้งข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานอื่น ของสํานักราชเลขาธิการและสํานักพระราชวังตามกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม กรมราชองครักษ์และหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ตามกฎหมายว่าด้วย การจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม และสํานักงานนายตํารวจราชสํานักประจํา สํานักงานตํารวจ แห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยตํารวจแห่งชาติ ที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไปเป็น ของส่วนราชการในพระองค์หน่วยใดตามพระราชกฤษฎีกานี้ ให้เป็นไปตามรายละเอียดที่กําหนดโดย ประกาศการโอนกิจการ อํานาจหน้าที่ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน เงินงบประมาณ อัตรากําลังพลหรือ ตําแหน่งและอัตราเงินเดือน รวมทั้งข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นในส่วนราชการ ในพระองค์ ซึ่งต้องเป็นไปตามเงื่อนไขการโอนที่กําหนดในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ ในพระองค์ พ.ศ. 2560 และตามพระราชอัธยาศัย

ประกาศตามวรรคหนึ่ง จะทรงมอบหมายให้ผู้ใดเป็นผู้ลงนามในประกาศนั้นก็ได้

ในระหว่างที่ยังไม่มีประกาศตามวรรคหนึ่ง ให้สํานักงบประมาณและกรมบัญชีกลางดําเนินการ โอนเงินงบประมาณของส่วนราชการตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกานี้

มาตรา 18 ให้องคมนตรีได้รับเงินประจําตําแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่ได้รับอยู่เดิม ในวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ เว้นแต่จะมีพระราชวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น

ให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และผู้ปฏิบัติงานอื่นที่โอนมาปฏิบัติราชการในส่วนราชการ ในพระองค์ ยังคงดํารงตําแหน่งและได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน เงินประจําตําแหน่ง และ สิทธิประโยชน์อื่นเช่นเดียวกับที่เป็นอยู่เดิมในวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ เว้นแต่จะมีพระราชวินิจฉัย เป็นอย่างอื่น หรือมีการจัดระเบียบราชการหรือการบริหารงานบุคคลตามพระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับแทน

มาตรา 19 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระราชโองการ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 15 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการในพระองค์ ได้บัญญัติให้การจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยตามที่ บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกา ประกอบกับมาตรา 12 และมาตรา 183 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติเกี่ยวกับองคมนตรีไว้ จึงจําเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ก่ายหน้าผาก! บรรยง ชี้ 3 ปี คสช. การลงทุนหดตัวต่อเนื่อง

Posted: 10 May 2017 09:29 AM PDT

บรรยง พงษ์พานิช ชำแระตัวเลขการลงทุนลดลงจาก 3 ปีก่อนกว่าหนึ่งในสาม ห่วงอัดฉีดส่งเสริมลงทุนมากสุดในอาเชี่ยน แต่ประสิทธิภาพต่ำกว่าประเทศอื่น ชี้ควรเปลี่ยนการส่งเสริมเป็น คุณภาพของสถาบัน คุณภาพของกฎระเบียบของรัฐบาล คุณภาพสาธารณูปโภคพื้นฐาน คุณภาพรัฐวิสาหกิจ และคุณภาพคน

10 พ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 21.31 น.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กบัญชีชื่อ 'Banyong Pongpanich' ซึ่งเป็นของ บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร โพสต์ข้อความในหัวข้อ "การลงทุนในไทย ....เพิ่ม หรือ หด กันแน่?"

บรรยง เริ่มต้นโพสต์ โดยระบุว่า ตื่นเช้าวันหยุด ทุกสื่อพาดหัวรายงานการแถลงของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ออกมาประกาศผลงานสามปีของรัฐบาลนี้ เนื้อความทำนองว่า "นโยบายรัฐบาลประยุทธเห็นผล การลงทุนสามปีโต 1.7 ล้านล้านบาท" ซึ่งช่างสอดคล้องกับคำสั่งให้ทุกหน่วยงานแถลงผลงานในช่วงสามปีที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บริหารประเทศ ว่าทำคุณประโยชน์ให้ประเทศอเนกอนันต์ขนาดไหน อ่านแต่พาดหัวนี่ดูน่าปลื้มอกปลื้มใจมากเลย แต่พอไปดูรายละเอียดที่เขาแถลงการณ์กลับกลายเป็นว่า ตัวเลขการลงทุนจริงที่เกิดจากโครงการที่ได้รับการส่งเสริม ในปี 2557 มีการลงทุน 600,000 ล้านบาท ปี 2558 ลดเหลือ 500,000 ล้านบาท พอปี 2559 หดลงอีกมีแค่ 490,000 ล้านบาท และสามเดือนแรกปีนี้มีอีก 80,000 ล้านบาท ซึ่งถ้าอีกสามไตรมาสยังลงน้อยเท่าๆ นี้จะมีแค่ 320,000 ล้านบาทเท่านั้น  เห็นแล้วใจแป้วมากๆ เลย

"อย่างนี้เขาเรียกว่าหดตัวครับ ไม่ใช่ขยายตัว มันเท่ากับว่า ปี2558 หดตัว -17% ปี2559หดอีก -2% แถมปีนี้ ทำท่าจะหดได้มากถึง -35% เลยทีเดียว แถมถ้าไปฟังท่านเลขาธิการฯ แถลงยืนยันว่า ในสามปีนี้จะมีลงทุนอีกไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านบาท ยิ่งน่ากลุ้มใจจนอยากเอาตีนก่ายหน้าผาก เพราะนั่นมันลดลงจากสามปีก่อนถึงกว่าหนึ่งในสามเลยทีเดียว อีกอย่างหนึ่ง ที่แถลงนั่นมันสามปีสามเดือนนะครับ ไปเอาผลงานสมัยยิ่งลักษณ์เค้ามาเกือบห้าเดือน" บรรยง โพสต์ พร้อมระบุด้วยว่า ทั้งหมดเป็นตัวเลขที่ยังไม่ได้เทียบกับรายได้ประชาชาติเลย ถ้าเทียบกับ GDP ยิ่งต้องกุมขมับเข้าไปใหญ่ เพราะมันต้องลดมากกว่านี้อีก เนื่องจากขนาดปีแย่ๆ GDP ก็ยังขยายตัวปีละประมาณ5%ทุกปี (Nominal Rate) นี่เรียกว่าแถลงปัญหาแล้ว ไม่ใช่แถลงผลงาน มันควรจะพาดหัวว่า "BOI ยอมรับ ว่าการลงทุนไม่กระเตื้อง ยังหดตัวต่อเนื่องตลอดสามปี ถึงแม้ว่ารัฐบาลประยุทธจะใช้ความพยายามและทำงานอย่างหนัก แถมยังมีแนวโน้มลดลงอีกในสามปีข้างหน้า"

"ผมไม่มีตัวเลขลงทุนจริงผ่าน BOI ในปี 2556 เลยไม่รู้ว่าปี 2557 นั้นหดหรือเปล่า เพราะปกติ BOI ท่านแถลงแต่ตัวเลขคนขอส่งเสริม กับตัวเลขที่อนุมัติ เพิ่งมาแถลงตัวเลขลงทุนจริงในครั้งนี้ ซึ่งผมก็หวังว่าท่านไม่คุ้น เลยบวกตัวเลขผิดหรือรับรายงานผิด ไม่งั้นมันแปลว่าเรากำลังเจอปัญหาหนัก และเศรษฐกิจยากที่จะฟื้นไปอีกหลายปี" บรรยง โพสต์

บรรยง ระบุด้วยว่า ที่พอปลอบใจได้หน่อยก็คือข้อเท็จจริงที่ว่า การลงทุนผ่าน BOI ไม่ใช่การลงทุนภาคเอกชนทั้งหมด ซึ่งโดยปกติแล้วจะอยู่ที่ 20% ก็เลยยังพอมีหวัง ที่ไม่รู้ว่าลมๆ แล้งๆ หรือเปล่า ว่าการลงทุนที่ไม่ขอส่งเสริมจะยังขยายตัว ไม่หดตาม ยิ่งไปอ่านงานวิจัยเรื่อง "สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับการดึงดูดนักลงทุน" ของสถาบันวิจัยป๋วย (PIER) http://thaipublica.org/2017/05/pier-20/ แล้วยิ่งเพิ่มกังวล เพราะว่าประเทศไทยอัดฉีดส่งเสริมมากสุดในอาเชี่ยนแล้ว เรามีอัตราภาษี Effective Rate แค่ 7.6% เท่านั้นเอง ขณะที่ฟิลิปปินส์มี 17.9% อินโดนีเซีย 13.9% มาเลเซีย 10.2% และเวียตนาม 9.9% ซึ่งงานวิจัยก็แนะนำว่าการส่งเสริมโดยลดภาษีจะไม่ช่วยอะไรอีก แต่เป็นเรื่องอื่นๆ เช่น คุณภาพของสถาบัน คุณภาพของกฎระเบียบ ของรัฐบาลมากกว่า ตนขอแถมเรื่องคุณภาพสาธารณูปโภคพื้นฐาน คุณภาพรัฐวิสาหกิจ และคุณภาพคน บวกด้วยระดับการคอร์รัปชั่นเข้าไปด้วย เพราะฉะนั้นการจะไปโรดโชว์กี่ร้อยเที่ยวก็อาจจะไม่เกิดผล

บรรยง มองว่า การลงทุนภาคเอกชน เป็นปัจจัย เป็นเครื่องจักร ที่สำคัญที่สุด ในการเติบโตอย่างมีคุณภาพของเศรษฐกิจในระบบปัจจุบัน การส่งออกในระยะยาวจะเพิ่มไม่ได้เลยถ้าไม่มีการลงทุน การบริโภคในประเทศก็เพิ่มยากเพราะถ้าไม่มีการลงทุนคนรายได้น้อยและรายได้ปานกลางก็จะไม่มีรายได้เพิ่มแถมหนี้ครัวเรือนก็ถึงคอหอยแล้ว คนรวยก็ไปบริโภคของนอกหรือไม่ก็นอกประเทศกันหมด รัฐลงทุนได้อย่างมากก็ 6-7% ของ GDP แถมถ้าทำต่อเนื่องสักสิบปี หนี้สาธารณะก็คงระเบิด

"ทำไมเอกชนไม่ยอมลงทุน นี่เป็นคำถามที่ต้องวิเคราะห์ต้องประเมินให้เข้าใจถ่องแท้ ถ้าไปคิดเอาแค่ง่ายๆ ว่า เพราะไม่มั่นใจ หรือไปคิดว่าจะกระตุ้นได้โดยแค่ลดภาษี หรือแค่ให้รัฐลงทุนนำ หรือจะแค่ทำ EEC ผมว่ามันจะเสี่ยงเกินไปนะครับ ไว้จะร่ายยาวเรื่องนี้อีกทีนะครับ" บรรยง โพสต์ทิ้งท้าย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม. ขยายรถเมล์-รถไฟฟรี อีก 5 เดือนสุดท้าย ก่อนใช้ระบบบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย

Posted: 10 May 2017 08:00 AM PDT

ครม. มีมติตั้งกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงิน 50,000 ล้านบาท ขยายรถเมล์-รถไฟฟรี อีก 5 เดือนสุดท้าย ก่อนใช้ระบบบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านามา ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังจัดตั้งกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงิน 50,000 ล้านบาท โดยเริ่มจัดสรรงบประมาณปี 2561 เข้ากองทุน เพื่อเริ่มใช้สวัสดิการผ่านบัตรสวัสดิการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน เป็นกลไกสำคัญในการดูแลสวัสดิการให้กับผู้มีรายได้น้อย โดยกำหนดกรอบดำเนินการของกองทุน เพื่อใช้เงินดูแลบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน การพัฒนาทักษะ การดูแลคุณภาพชีวิต การจัดหลักประกันสุขภาพ โดยสำนักงบประมาณจัดสรรงบเข้ากองทุนดังกล่าว 46,000 ล้านบาท  

กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า รัฐบาลเปิดให้รายย่อยลงทะเบียนถึงวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ จึงต้องการให้ผู้มีรายได้น้อยทุกคนที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี รีบไปลงทะเบียน เพราะหากพลาดลงทะเบียนครั้งนี้แล้วจะต้องรอลงทะเบียนอีกครั้งปีหน้า เพื่อนำบัตรไปใช้บริการผ่านบัตรสวัสดิการทั้งเรื่องรถเมล์ฟรี รถไฟฟรี และสวัสดิการด้านต่าง ๆ ของรัฐ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกำชับให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดการจัดทำบัตรและวางระบบเครือข่าย เพื่อให้รายย่อยใช้บริการด้านคมนาคม 

ขยายรถเมล์-รถไฟฟรี อีก 5 เดือนสุดท้าย ก่อนใช้ระบบบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย

ณัฐพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ครม.เห็นชอบการขยายเวลาโครงการรถเมล์ฟรี รถไฟฟรี 5 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-30 ก.ย. วงเงินชดเชย 1,907 ล้านบาท ผ่านรถเมล์ ขสมก. 800 คันต่อวัน วงเงิน 1,540 ล้านบาท และ รถไฟชั้น 3 จำนวน 152 ขบวนต่อวัน และรถไฟชั้น 3 ทางไกลพ่วงเชิงพาณิชย์ 8 ขบวน วงเงิน 367 ล้านบาท หลังจากนั้นจะเริ่มให้ผู้มีรายได้น้อยใช้บริการสาธารณะผ่านระบบสวัสดิการแห่งรัฐผ่านบัตรสวัสดิการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป

หรับสาเหตุที่ขยายระยะเวลามาตรการออกไปอีกเพียง 5 เดือนไปสิ้นสุดระยะเวลาในเดือน ก.ย.นี้ ถือเป็นต่ออายุครั้งสุดท้าย เนื่องจากตั้งแต่วันที่1ต.ค.2560 รัฐบาลจะออกบัตรสวัสดิการเพื่อให้ผู้ที่มีรายได้น้อยใช้ในการโดยสารรถเมล์ฟรีและรถไฟฟรีเฉพาะคนที่ได้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐและได้รับบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น โดยทางกระทรวงคมนาคมจะเร่งพัฒนาระบบตั๋วร่วมออกมารองรับพร้อมกันในวันที่ 1 ต.ค.เช่นกัน

 

ที่มา สำนักข่าวไทย และกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ดาราตลกอังกฤษถูกตำรวจสืบสวนข้อหา 'หมิ่นศาสนา' จากคลิปสัมภาษณ์ดัง

Posted: 10 May 2017 07:48 AM PDT

สตีเฟน ฟราย นักแสดงตลกชาวอังกฤษผู้มีชีวิตวัยเยาว์อันโหดร้ายกำลังถูกตำรวจในไอร์แลนด์สืบสวนสอบสวนในเรื่องที่เขาถูกกล่าวหาว่าเหยียดศาสนาจากการแสดงความคิดเห็นผ่านรายการโทรทัศน์ช่อง RTE ของไอร์แลนด์ โดยฟรายพูดในทำนองว่าว่าทำไมพระเจ้าถึงสร้างโลกให้มันโหดร้าย และทำไมต้องคุกเข่าขอบคุณพระเจ้าเช่นนี้

สตีเฟน ฟราย (ที่มา: Marco Raaphorst/Wikipedia)

9 พ.ค. 2560 คำพูดดังกล่าวของฟรายเผยแพร่ผ่านรายการมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งตำรวจของกรุงดับลินเมืองหลวงขอสาธารณรัฐไอร์แลนด์กล่าวว่าพวกเขาได้ติดต่อกับคนที่กล่าวหาฟรายในเรื่องนี้และกำลังจะมีการสืบสวนอย่างเต็มรูปแบบ ตามกฎหมายความผิดฐานหมิ่นประมาทของสาธารณรัฐไอร์แลนด์ปี 2552 ระบุว่าผู้ใดที่ตีพิมพ์หรือพูดเนื้อหาที่มีลักษณะในเชิงหมิ่นศาสนาจะ "ถือว่ามีความผิด" และมีโอกาสถูกสั่งปรับเป็นเงินสูงสุด 25,000 ยูโร (ราว 947,000 บาท)

ฟรายเคยพูดให้สัมภาษณ์ในรายงาน "ความหมายของชีวิต" (The Meaning of Life) โดยตอบคำถามที่ว่าเขาจะพูดอะไรกับพระเจ้าบ้างถ้าหากเขามีโอกาส ได้พูดกับพระเจ้าเขาจะพูดว่าอะไร ฟรายตอบว่า "ผมจะบอกว่า 'มะเร็งกระดูกในเด็ก นี่มันหมายความว่าไงหรือ?' คุณกล้าดีอย่างไรถึงสร้างโลกที่มีเรื่องน่าเศร้าที่ไม่ได้มาจากความผิดของเราเช่นนี้"

"นี่มันไม่ถูกต้อง มันเป็นเรื่องเลวร้าย เลวร้ายอย่างที่สุด ทำไมพวกเราต้องเคารพพระเจ้าที่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ มีจิตใจโหดร้ายและโฉดเขลา ผู้ที่สร้างโลกขึ้นมาให้เต็มไปด้วยความอยุติธรรมและความเจ็บปวด"

ฟรายยังบอกอีกว่าถ้าเขาได้พบกับพวกเทพกรีกเขายังจะยอมรับพวกนี้ได้มากกว่าเพราะเทพกรีกไม่ได้แสดงตัวเองว่าเป็น "ผู้มองเห็นทุกอย่าง ผู้ล่วงรู้ทุกสิ่ง ผู้เป็นความกรุณาทั้งมวล"

"เพราะพระเจ้าผู้สร้างจักรวาลนี้ ถ้าหากว่าจักรวาลนี้มาจากพระองค์จริง มันก็เป็นจักรวาลที่บ้าบอ บ้าบออย่างที่สุด เห็นแก่ตัวอย่างที่สุด พวกเราต้องใช้เวลาทั้งชีวิตไปกับการคุกเข่าแสดงความขอบคุณเขา มีพระเจ้าที่ไหนบ้างที่จะทำแบบนี้" ฟรายกล่าว

คลิปวิดีโอรายการนี้ของฟรายยังมีการเผยแพร่ในยูทูบซึ่งมีผู้ชมรับชมมากกว่า 7 ล้านครั้งแล้ว

ผู้ยื่นฟ้องฟรายเป็นประชาชนในไอร์แลนด์ที่ยื่นฟ้องในเรื่องนี้ตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว ในข้อหาหมิ่นศาสนา และฟ้องร้อง RTE เนื่องจากพวกเขาเผยแพร่คำหมิ่นของฟราย ผู้ฟ้องร้องที่ไม่ประสงเปิดเผยนามบอกว่าตัวเขาเองไม่ได้รู้สึกถูกถูกหมิ่นล่วงล้ำใดๆ จากคำพูดของฟราย เขาแค่รู้สึกว่ามันเป็นหน้าที่ของเขาทีจะรายงานเรื่องคำกล่าวของฟรายว่ามีลักษณะหมิ่นศาสนา

ทางด้านฟรายให้สัมภาษณ์เรื่องที่เขาถูกฟ้องร้องในรายการของสถานีวิทยุบีบีซีว่าเขารู้สึกประหลาดใจอย่างล้นเหลือที่เรื่องนี้กลายเป็นข่าวดังที่ทั่วทวิตเตอร์และที่อื่นๆ แล้วเขาก็ดีใจที่คนพูดถึงเรื่องนี้ ฟรายบอกอีกว่าเขาแค่พูดด้วยคำพูดแบบเดียวกับที่เคยมีคนพูดเอาไว้แล้วตั้งแต่ยุคกรีก ตัวเขาเองไม่ได้ต้องการหมิ่นคนที่นับถือศาสนาอย่างจริงจังและมีชาวคริสต์จำนวนมากที่เข้ามาสื่อสารกับเขาเพื่อบอกว่าพวกเขารู้สึกดีใจที่มีคนพูดในเรื่องที่สมควรพูดถึง

เกย์ เบิร์น พิธีกรรายการทีวี "ความหมายของชีวิต" ก็พูดถึงเรื่องนี้ว่าฟรายไม่ได้ต้องการจะหมิ่นใคร สิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่อินเทอร์เน็ตควรจะเป็นอยู่แล้วคือเป็นพื้นที่ของข้อถกเถียงและการแสดงความคิดเห็นของผู้คน

สตีเฟน ฟราย เป็นนักแสดงตลกที่เคยได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลหลายรางวัล รวมถึงยังเคยเขียนและนำเสนอสารคดีหลายผลงาน ผลงานของเขาที่เคยได้รับรางวัลเอ็มมีอวอร์ด ชื่อเรื่อง Stephen Fry: The Secret Life of the Manic Depressive เป็นเรื่องที่เขาสำรวจโรคไบโพลาร์ที่ตัวเองเป็น

เรียบเรียงจาก

Stephen Fry investigated by Irish police for alleged blasphemy, The Guardian, 07-05-2017

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Stephen_Fry

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอดส์ แย้ง 3 ประเด็น รายการ 'ไมค์หมดหนี้' ช่องเวิร์คพอยท์ เข้าใจคลาดเคลื่อน

Posted: 10 May 2017 06:28 AM PDT

เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย แจง 3 ประเด็น รายการ "ไมค์หมดหนี้" ทางช่องเวิร์คพอยท์นำเสนอข้อมูลคลาดเคลื่อน แจงเอดส์รักษาได้ ผู้ติดเชื้อฯ สามารถมีลูกได้ โดยที่ลูกไม่ติดเชื้อเอชไอวี ไม่เคยพบรายงานที่พิสูจน์ได้ว่ามีการติดเชื้อเอชไอวีจากการเจาะหู

 
10 พ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา อนันต์ เมืองมูลไชย ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ได้ออกหนังสือของเครือข่ายชี้แจ้งข้อเท็จจริงในเรื่องเอชไอวี/เอดส์ ระบุถึง ผู้ผลิตรายการ "ไมค์หมดหนี้" บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด มหาชน

โดยหนังสือชี้แจงระบุว่า จากกรณีที่รายการ "ไมค์หมดหนี้" ที่ออกอากาศทางช่องเวิร์คพอยท์ 23 เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2560 ตอนน้องแอ๊วสุดโชคร้ายแม่ติดเชื้อ HIV เพราะการเจาะหู และออกอากาศซ้ำเมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมานั้น เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ ที่ทำงานด้านการป้องกัน และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ที่ได้รับชมรายการในวันดังกล่าว ว่ารายการนำเสนอข้อมูลในเรื่องเอชไอวี/เอดส์คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง 

ทางเครือข่ายฯ จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องเอชไอวี/เอดส์ ดังนี้

1. ปัจจุบันนี้ "เอดส์รักษาได้" เพราะผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถเข้าสู่การรักษาด้วยยาต้านไวรัสได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้ป่วยด้วยโรคฉวยโอกาส หรือป่วยเอดส์ ซึ่งโรคฉวยโอกาสทุกโรคสามารถรักษาให้หายได้ และเมื่อเข้าสู่การรักษาแล้ว ก็จะทำให้ผู้ติดเชื้อฯ มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีชีวิตยืนยาวไม่ต่างจากคนทั่วไป เพราะยาต้านไวรัสจะไปทำหน้าที่ควบคุมปริมาณเชื้อไวรัสเอชไอวีไม่ให้ไปทำลายภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งสังคมมักเข้าใจว่า เอดส์รักษาไม่ได้ หรือผู้ติดเชื้อฯ ไม่มั่นคงในชีวิต เพราะจะเสียชีวิตได้ง่าย ส่งผลต่อทัศนคติต่อผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี ว่าไม่แข็งแรง อายุไม่ยืน ฯลฯ

2. ผู้ติดเชื้อฯ สามารถมีลูกได้ โดยที่ลูกไม่ติดเชื้อเอชไอวี ดังที่องค์การอนามัยโลกประกาศให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่สามารถยับยั้งการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกได้สำเร็จ เมื่อ 8 มิ.ย. 2559 ที่ผ่านมา โดยลดโอกาสลงเหลือเพียงร้อยละ 1 หากหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อฯ และทารกแรกเกิดได้รับยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อฯ รวมทั้งทารกได้รับนมผงแทนการดื่มนมแม่ ตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข 

แต่อย่างไรก็ตาม หากหญิงตั้งครรภ์ไม่ได้รับยาต้านฯ โอกาสที่ทารกจะได้รับเชื้อเอชไอวีก็มีร้อยละ 30 เท่านั้น ซึ่งไม่ใช่ร้อยละ 97 ตามข้อมูลที่พิธีกรกล่าว ดังนั้น ผู้หญิงที่มีเชื้อเอชไอวีจึงมีสิทธิที่จะตั้งครรภ์ได้ โดยมีวิธีการป้องกันไม่ให้ทารกได้รับเชื้อฯ 

3. ไม่เคยพบรายงานที่พิสูจน์ได้ว่ามีการติดเชื้อเอชไอวีจากการเจาะหู ทั้งนี้ ช่องทางหลักในการได้รับเชื้อเอชไอวีคือการมีเพศสัมพันธ์ไม่ป้องกันกับผู้ติดเชื้อฯ ซึ่งดูไม่ออกจากรูปลักษณ์ภายนอก โดยผู้ติดเชื้อฯ ส่วนใหญ่ หรือกว่าร้อยละ 90 ได้รับเชื้อเอชไอวีจากการมีเพศสัมพันธ์ไม่ป้องกัน ตามด้วยการใช้เข็มฉีดสารเสพติดร่วมกับผู้อื่น และการติดเชื้อฯ เมื่อแรกเกิด 
ส่วนการใช้ชีวิตร่วมกัน เช่น การดื่มน้ำแก้วเดียวกัน ใช้ช้อนส้อม จานชาม กรรไกรตัดเล็บ ใช้ห้องน้ำร่วมกันไม่ทำให้ได้รับเชื้อเอชไอวี เพราะเอชไอวีอยู่ได้ภายในร่างกายของคนเท่านั้น 

การติดต่อของเชื้อเอชไอวี จะติดต่อผ่านทาง น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด เลือด น้ำนมแม่ เท่านั้น  - ทางน้ำอสุจิและน้ำในช่องคลอด จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ถ้ามีเพศสัมพันธ์ไม่ใช้ถุงยาง  - ทางเลือด จะเสี่ยงกรณีใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกันและจากหญิงตั้งครรภ์สู่ทารก  - ทางน้ำนม จะเสี่ยงถ้าทารกกินนมแม่ที่มีเชื้อเอชไอวี

ทั้งนี้ การสื่อสารข้อมูลที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง จะส่งผลกระทบในการอยู่ร่วมกันในสังคมกับผู้ติดเชื้อฯ ส่งผลต่อการรังเกียจกีดกัน เช่น การไม่ให้อยู่ร่วมในชุมชน/สังคม ไม่รับผู้ติดเชื้อฯ เข้าทำงาน หรือเรียนหนังสือ เพราะเข้าใจผิดว่าเอชไอวีติดต่อได้ง่าย รวมทั้งส่งผลต่อการตีตราผู้ติดเชื้อฯ ว่าไม่ควรมีลูก เพราะจะทำให้ลูกติดเชื้อฯ ไปด้วย เป็นต้น 

อย่างไรก็ดี หากทางผู้ผลิตรายการ "ไมค์หมดหนี้" ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องเอชไอวี/เอดส์ ทางเครือข่ายฯ ยินดีเข้าไปให้ข้อมูลกับผู้ผลิตรายการในวันเวลาที่ท่านสะดวก และหากทางผู้ผลิตรายการยินดีนำเสนอข้อมูลใหม่ในเรื่องเอชไอวี/เอดส์ ไม่ว่าจะเป็นรายการใดต่อผู้ชม จักเป็นพระคุณยิ่ง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม.เห็นชอบให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉ.ที่ 111 ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ

Posted: 10 May 2017 06:07 AM PDT

 
เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา รายงานข่าวจาก สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงาน เสนอ ดังนี้  1. เห็นชอบการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ฉบับที่ 111 ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ ค.ศ. 1958 (พ.ศ. 2501) 2. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำสัตยาบันสารเพื่อการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศดังกล่าว และ 3. มอบหมายให้กระทรวงแรงงานจดทะเบียนสัตยาบันสารดังกล่าวต่อองค์การแรงงานระหว่างประเทศต่อไป
 
โดย สาระสำคัญของอนุสัญญาILO ฉบับที่ 111 เป็น 1 ใน 8 อนุสัญญาหลักของ ILO ภายใต้หมวดการขจัดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและประกอบอาชีพ โดยเป็นอนุสัญญาเชิงส่งเสริมให้มีนโยบายและมาตรการระดับชาติเพื่อป้องกันและขจัดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ และมุ่งส่งเสริมโอกาสและการปฏิบัติที่ทัดเทียมในการจ้างงานและการประกอบอาชีพ โดยรายละเอียดของอนุสัญญาฯ เป็นอนุสัญญาเชิงส่งเสริมให้มีนโยบายและมาตรการระดับชาติเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติและส่งเสริมโอกาสความเสมอภาคการปฏิบัติที่ทัดเทียมในการจ้างงานและการประกอบอาชีพที่ครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ การเข้าถึงบริการแนะแนวอาชีพและจัดหางานการเข้าถึงการฝึกอบรมและการทำงาน ความก้าวหน้าในอาชีพ ความมั่นคงในการทำงานค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับงานที่ทำ สภาพการจ้างและสวัสดิการจากการทำงาน โดยพิจารณาการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของเชื้อชาติ สีผิว เพศ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง รากเหง้า (National  Extraction) สถานภาพทางสังคม และฐานอื่น ๆ ที่ประเทศให้สัตยาบันกำหนดฐานเพิ่มเติมโดยการปรึกษาหารือกับองค์การนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งจะส่งผลให้ความเท่าเทียมในโอกาสหรือการได้รับการปฏิบัติในการจ้างงานหรืออาชีพนั้นหมดไปหรือด้อยลง โดยไม่เกี่ยวกับสัญชาติ (คนต่างชาติ)
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

24 ปี เคเดอร์ ร้องรัฐ 'วันความปลอดภัยในการทำงาน' เลิกแร่ใยหิน-พัฒนากลไกสถาบันความปลอดภัยฯ

Posted: 10 May 2017 01:57 AM PDT

'สมานฉันท์แรงงานไทย-สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วย' ร้องรัฐเนื่องในวันความปลอดภัยในการทำงาน เร่งพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ์ การบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ จัดสรรเงินงบให้กับสถาบันความปลอดภัยฯ และยกเลิกแร่ใยหินทุกรูปแบบ

10 พ.ค. 2560 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ออกคำประกาศเจตนารมณ์เนื่องในวัน "ความปลอดภัยแห่งชาติ" รำลึก 24 ปี เพลิงไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาของบริษัท เคเดอร์อินดัสเตรียล ไทยแลนด์ อ.สามพราน จ.นครปฐม ส่งผลให้ให้คนงานเสียชีวิต 188 คน และมีผู้บาดเจ็บอีก 469 คน

โดยเรียกร้องให้ 1. รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ์ การบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 อย่างจริงจัง ภายใต้การมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน และยกเลิกการใช้แร่ใยหินในทุกรูปแบบ 2. รัฐต้องจัดสรรเงินงบให้กับสถาบันความปลอดภัยฯ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัย ให้มีประสิทธิภาพ และ 3. ให้รัฐยกเลิกแร่ใยหินทุกรูปแบบ และในระหว่างที่ยังยังยกเลิกไม่หมดให้กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศให้แร่ใยหินเป็นวัตถุอันตรายประเภท 4 ให้กระทรวงแรงงานประกาศให้สภาพแวดล้อมที่ทำงานเกี่ยวกับการใช้แร่ใยหินจาก 5 เส้นใยเหลือ 0.01 เส้นใย

 

คำประกาศเจตนารมณ์เนื่องในวัน "ความปลอดภัยแห่งชาติ"

10 พฤษภาคม 2560

วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 หรือย้อนไปเมื่อ 24 ปีที่แล้ว เกิดเพลิงไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาของบริษัท เคเดอร์อินดัสเตรียล ไทยแลนด์ อ.สามพราน จ.นครปฐม ส่งผลให้คนงานนับพันต้องวิ่งหนีตายอลหม่าน เหตุการณ์ครั้งนั้น เป็นเหตุให้คนงานเสียชีวิต 188 คน และมีผู้บาดเจ็บอีก 469 คน

เพื่อไม่ให้ชีวิตของคนงานต้องสูญเปล่า สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และขบวนการแรงงานจากภาคส่วนต่างๆยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลประกาศให้ วันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น "วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ" โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2540 เห็นชอบให้วันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันอันตรายและการดูแลความปลอดภัยในการทำงานของคนทำงานในทุกสาขาอาชีพเป็นจุดเริ่มต้นให้ขบวนการแรงงานเคลื่อนไหวเรียกร้องความปลอดภัยในการทำงาน และใช้เวลา 21 ปีเพื่อผลักดันการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทํางาน จนเป็นผลสำเร็จ ในปี พ.ศ.2554

กว่า 6 ปีของการประกาศใช้กฎหมาย แต่ก็ยังไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง ด้วยเงื่อนไข และข้อจำกัด อีกทั้งขาดการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐ มีบุคลากรที่จำกัด ทำให้สถานการณ์เรื่องความปลอดภัยยังอยู่ในสภาพที่ต้องผลักดันต่อไป โดยเฉพาะเรื่องสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่ยังขาดทิศทางการมีส่วนร่วมจากผู้ใช้แรงงาน  ทำให้คนงานขาดโอกาสในการเข้าถึงสิทธิตามกฎหมาย และการเข้าถึงบริการอาชีวอนามัย การเข้าถึงการวินิจฉัยโรค รักษาเยียวยาและทดแทน  สถานการณ์ล่วงเลยปรากฏการณ์และโรคใหม่ๆ ทางด้านอาชีวอนามัยจากการทำงาน อันตราย จากการใช้ การสัมผัสสารเคมี ทำให้คนงานเป็นโรคมะเร็ง เจ็บป่วยทุกข์ทรมานอย่างมาก
แร่ใยหิน (Asbestos) ซึ่งนำมาใช้มากทั้งที่ผลิตจากภายในประเทศและนำเข้า คืออุตสาหกรรมผลิตกระเบื้องซีเมนต์ อุตสาหกรรมผลิตเบรคและคลัทช์ อุตสาหกรรมผลิตท่อน้ำ ยากำจัดศรัตรูพืช เป็นต้น

แร่ใยหินเข้าสู่ร่างกายทางจมูกโดยการหายใจเข้าไป อวัยวะเป้าหมายสำคัญคือ ปอด ผลจากการศึกษาทางระบาดวิทยา โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับแร่ใยหิน ทำให้เชื่อได้ว่า แร่ใยหินทุกชนิดมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรค มะเร็งปอด และมะเร็งเยื่อหุ้มปอดและเยื่อบุช่องท้อง (Mesothelioma)  แอสเบสโตสิส (Asbestosis) เป็นโรคปอดเรื้อรังที่เกิดเฉพาะกับผู้ที่สัมผัสกับแร่ใยหินเท่านั้น เนื่องจากปฏิกิริยาทางชีวภาพระหว่างเส้นใย แร่ใยหินและเนื้อเยื่อปอด ทำให้ปอดเกิดเป็นแผลเป็น ปอดที่ถูกทำลายไปแล้วไม่สามารถรักษาให้กลับคืนมาดีได้ดังเดิม

ดังนั้น ข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)และสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เนื่องในวันความปลอดภัยในปีนี้และได้ยื่นเป็นข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากลต่อรัฐบาลไปแล้วเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 คือ

1. รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ์ การบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 อย่างจริงจัง ภายใต้การมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน และยกเลิกการใช้แร่ใยหินในทุกรูปแบบ

2. รัฐต้องจัดสรรเงินงบให้กับสถาบันความปลอดภัยฯ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัย ให้มีประสิทธิภาพ

3. ให้รัฐยกเลิกแร่ใยหินทุกรูปแบบ และในระหว่างที่ยังยังยกเลิกไม่หมดให้กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศให้แร่ใยหินเป็นวัตถุอันตรายประเภท 4 ให้กระทรวงแรงงานประกาศให้สภาพแวดล้อมที่ทำงานเกี่ยวกับการใช้แร่ใยหินจาก 5 เส้นใยเหลือ 0.01 เส้นใย

แม้รัฐบาลประกาศเดินหน้าโครงการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศไทย (Safety Thailand) มีการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่าง 6 กระทรวง แต่การจัดการเรื่องความปลอดภัยจะสำเร็จไปไม่ได้หากปราศจากการมีส่วนร่วมจากภาคีต่างๆ โดยเฉพาะภาคีของผู้ใช้แรงงาน และที่สำคัญยิ่ง สิ่งที่คาดหวังว่าความต้องการของพวกเราพี่น้องคนงานทั้งหลาย คือ "พลังของพวกเราที่จะร่วมกันผลักดัน"เฉกเช่นในอดีตที่ผ่านมา ที่เราผ่านความยากลำบากในการต่อสู้แต่เราก็สามารถฟันฝ่ามาสู่ความสำเร็จระดับหนึ่ง จึงเชื่อว่า ความสำเร็จจะอยู่ไม่ไกลหากเราสามัคคีรวมพลังกันพร้อมกับประสานงานขับเคลื่อนพร้อมกับเครือข่ายทางสังคมจะยิ่งทำให้ความสำเร็จเกิดขึ้นในเร็ววัน

เราขอประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่า เราจะร่วมกันผลักดันให้เรื่องความปลอดภัยเป็นวาระสำคัญให้บรรลุเป้าหมายความปลอดภัยของคนงานทั้งมวล

เราขอประกาศเจตนารมณ์ว่าเราจะร่วมกันรณรงค์ผลักดันให้ถึงที่สุด

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)

10 พฤษภาคม 2560

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: เราคือสัตว์ชั้นต่ำผู้น่ารัก

Posted: 10 May 2017 01:50 AM PDT

 

ด้วยอำนาจของข้าผู้สั่งการ
ขอสั่งท่านให้เชื่อคำข้าสั่ง
ข้าทำไร้เหตุผลจงนิ่งฟัง
จงทำตัวโง่งั่งอย่างข้าทำ

ข้าขอสั่งให้สัปดาห์มี 2 วัน
วันหนึ่งนั้นสำหรับรับการเหยียบย่ำ
อีกวันคือวันสำหรับชดใช้กรรม
พอ 8 วัน 4 สัปดาห์ก็เปลี่ยนเดือน

เดือนของเราเรียกขานใหม่ข้ากำหนด
เดือนแห่งการพูดปดมดเท็จเถื่อน
เดือนแห่งการไม่รู้คิดเดือนเลอะเลือน
รวมเป็นปีเลื่อนเปื้อนยุคปรวนแปร

เราจะมุ่งสู่ความมืดดำ
ไปเป็นสัตว์ชั้นต่ำชอบแหนแห่
เราจะปลอมทุกสิ่งอย่างให้เป็นแท้
เราจะแก้ผ้าอวดอารยะธรรม

เราอดเราทนได้ต่อทุกสิ่ง
สงบนิ่งได้ต่อการเหยียบย่ำ
เราลืมได้ทุกสิ่ง ไม่จดจำ
เราคือสัตว์ชั้นต่ำผู้น่ารัก

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บายศรีสู่ขวัญ 3 ใน 7 แกนนำที่ดินลำพูน รับอิสรภาพ(ราคาถูก) หลังถูกจำคุก 1 ปี คดีบุกรุกที่ดิน

Posted: 10 May 2017 01:34 AM PDT

เครือข่ายสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญข้างถนน 3 ใน 7 แกนนำที่ดินลำพูน รับอิสรภาพ(ราคาถูก)ของคนจน เซ่นสังเวยความล่าช้านโยบายรัฐ หลังถูกจำคุก 1 ปี คดีบุกรุกที่ดินเอกชน 

ที่มาเฟซบุ๊ก Taifriend Thai 

10 พ.ค. 2560 Land Watch THAI จับตาปัญหาที่ดิน รายงานว่า วันนี้ (10 พ.ค.60) เวลาประมาณ 8.00 น. เครือข่ายประชาชนในจังหวัดลำพูน เครือข่ายสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ เครือข่ายขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม นักวิชาการ สื่อมวลชน และผู้ที่สนใจนับร้อยคนยืนรอรับ แกนนำ 3 คน จากจำนวน 7 คน ได้รับการปล่อยตัว ได้แก่ สุแก้ว ฟุงฟู, พิภพ หารุคำจ๋า และคำ ซางเล็ง หลังถูกจำคุก 1 ปี คดีบุกรุกที่ดินเอกชน 

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ผู้จัดกิจกรรมพยายามเจรจาและขอเข้าไปจัดกิจกรรมบายศรีสู่ขวัญในบริเวณเรือนจำ โดยชาวบ้านอ้างว่าพิธีบายศรี ผูกข้อมือเป็นประเพณีของพี่น้องชาวภาพเหนืออยู่แล้ว แต่กลับไม่ได้รับความยินยอมให้จัดกิจกรรมภายในเรือนจำ จึงทำให้สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือตัดสินใจจัดกิจกรรมบานศรีสู่ชวัญริมถนน

สำหรับคดีนี้ เมื่อ 25 พ.ค. 2559 ศาลจังหวัดลำพูน มีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่บริษัทอินทนนท์การเกษตร โดยนพรัตน์ แซ่เตี๋ยว และยุทธนา แซ่เตี๋ยว เป็นโจทก์ฟ้องคดีชาวบ้านแพะใต้จำนวน 10 คน ประกอบด้วย 1.สุแก้ว ฟุงฟู 2.พิภพ หารุคำจา 3.สองเมือง โปยาพันธ์ 4. วัลลภ ยาวิระ 5.วัลลภ ไววา 6.คำ ซางเลง 7.บัวไร ซางเลง ส่วนจำเลยอีก 3 รายเสียชีวิตไปแล้ว โดยมีการฟ้องในข้อหาร่วมกันบุกรุกยึดถือครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของของผู้อื่น ซึ่งมีการฟ้องร้องดำเนินคดีครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2540

โดยก่อนหน้านี้เมื่อ 29 ธ.ค. 2558 ศาลเลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา จนกว่าจะมีการเจรจาไกล่เกลี่ยกันตามการเสนอของฝ่ายจำเลย เนื่องจากกำลังมีการแก้ไขปัญหาโดยสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

อย่างไรก็ตามกระบวนการจัดซื้อที่ดินให้ชาวบ้านตามแนวทางของธนาคารที่ดินยังมีความล่าช้า และยังไม่มีการจัดซื้อที่ดินให้ชาวบ้าน และในวันนี้ ศาลจังหวัดลำพูนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา โดยพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ตัดสินให้จำเลยทั้ง 7 ราย ที่ยังมีชีวิตอยู่ ตัดสินจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา

ความเป็นมาของปัญที่ดินที่ทำกินกรณีชาวบ้านแพะใต้ (ที่มา: สำนักข่าวประชาธรรม)

ในกรณีของชาวบ้านกลุ่มปัญหาที่ดิน จ.ลำพูน ปัญหาที่ดินบ้านแพะใต้ อ.เวียงหนองล่อง นับเป็นหมู่บ้านแรกๆ ที่ริเริ่มเข้าปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนด้วยแนวคิดที่ว่าที่ดินแปลงเหล่านั้น เป็นที่ดินสาธารณะ และชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันในการ ทำการเพาะปลูกได้ แต่ทว่าเมื่อลงมือปฏิรูปที่ดินกลับมีนายทุนมาแสดงความเป็นเจ้าของ กรณีที่เกิดขึ้นชุมชนบ้านแพะใต้จึงร่วมกันตรวจสอบการถือครองที่ดินเหล่านั้น ของนายทุนและพบว่า กระบวนการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินเหล่านั้นมิชอบด้วยกฎหมาย

กล่าวคือ ตั้งแต่ปี 2533 กลุ่มนายทุนจาก จ.เชียงใหม่ ได้เข้ามากว้านซื้อที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวตามโครงการเร่งรัดออกโฉนดที่ดิน โดยการเดินสำรวจ ทั้งนี้บริษัทอินทนนท์การเกษตรซื้อที่ดิน สค. 1 และ นส.3 จากชาวบ้านบางส่วนประมาณไม่กี่สิบไร่ แต่ฉวยโอกาสนำไปออกโฉนดที่ดินครอบคลุมพื้นที่สาธารณะประโยชน์ของบ้านแพะใต้ ทั้งหมดกว่า 600 ไร่ โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีส่วนรู้เห็นการซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าว

หลังจากนั้น บริษัทนำพื้นที่ทั้งหมดไปจัดสรรเป็นรีสอร์ท สวนเกษตรขนาดใหญ่เพื่อแบ่งแปลงขาย และยังมีการมอบที่ดินที่กว้านซื้อนี้ให้ก่อตั้งศูนย์ราชการคือ อ.เวียงหนองล่องเพื่อกระตุ้นการซื้อที่ดินในแปลงจัดสรรของบริษัท นอกจากนี้บริษัทอินทนนท์การเกษตรยังนำโฉนดที่ดินเข้าจำนองกับบริษัทเงินทุน หลักทรัพย์ และธนาคารกรุงไทยมูลค่าอย่างน้อย 40 ล้านบาท จนเมื่อเศรษฐกิจอยู่ในสภาวะวิกฤต ที่ดินดังกล่าวก็ถูกปล่อยทิ้งรกร้างว่างเปล่า

ดังนั้นปี 2540 ชาวบ้านแพะใต้จำนวน 99 ครอบครัวจึงเข้าไปปฏิรูปที่ดินในบริเวณดังกล่าว โดยเฉพาะในพื้นที่บริษัทปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า ไม่ทำประโยชน์ เนื่องจากที่ดินไม่เพียงพอ หลายครอบครัวยากจน และไม่มีที่ดินทำกิน และจากการเข้าทำการปฏิรูปที่ดินครั้งนั้นจึงนำไปสู่การค้นพบกระบวนการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ลำดับเหตุการณ์ ในการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ต่อรัฐบาล

1.) เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2554 คณะรัฐมนตรีประชุมเห็นชอบให้มีการดำเนินงานโครงการนำร่องแก้ไขปัญหาที่ดินของเกษตรกรรายย่อยไทยเข้มแข็ง ภายใต้นโยบายกองทุนธนาคารที่ดิน และต่อมาคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2554 ได้พิจารณากรณีโครงการนำร่องธนาคารที่ดินภาคเหนือ 5 หมู่บ้าน ให้ดำเนินโครงการดังกล่าวในกรอบวงเงิน 167 ล้านบาท โดยดำเนินการในพื้นที่ 5 หมู่บ้าน ได้แก่

1.1) บ้านไร่ดง หมู่ที่ 3 ตำบลน้ำดิบ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน

1.2) บ้านแม่อาว หมู่ที่ 3 ตำบลนครเจดีย์ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน

1.3) บ้านแพะใต้ หมู่ที่ 7 ตำบลหนองล่อง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน

1.4) บ้านท่ากอม่วง หมู่ที่ 3 ตำบลหนองปลาสวาย อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน

1.5) บ้านโป่ง หมู่ที่ 2 ตำบลแม่แฝก อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

ต่อมา ปี พ.ศ. 2554  ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินขึ้น ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่มที่ 128 ตอนที่ 33 ก ลงวันที่ 3 พ.ค 2554

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 เป็นต้นมาจะเห็นได้ชัดว่ามีการพยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด มีคำสั่งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่สาธารณะประโยชน์และที่ดินเอกชนปล่อยทิ้งร้าง ที่ 3/2556 เรื่องการแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีปัญหาที่สาธารณะประโยชน์ทับซ้อนที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของราษฎร และการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินโดยมิชอบของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม 9 คณะ ในส่วนจังหวัดลำพูนอยู่ในคณะทำงานลำดับที่ 1.5 โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนเป็นประธาน ได้มีการประชุมและมีการเจรจาตกลงซื้อที่ดินกับกลุ่มเอกชนผู้ถือครองเอกสาร สิทธิ์ ในพื้นที่บ้านไร่ดง หมู่ที่ 3 ตำบลน้ำดิบ อำเภอป่าซาง จำหวัดลำพูน (ปัจจุบันแยกหมู่บ้านเป็นบ้านใหม่ป่าฝาง หมู่ที่ 15 ตำบลน้ำดิบ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน) ใช้งบประมาณในการจัดซื้อที่ดิน น.ส.3 ก. จำนวน 10 แปลง ราคา 3,800,000 บาท คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 8 มี.ค 2554 รับทราบผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่สาธารณประโยชน์ ที่ดินเอกชนปล่อยทิ้งร้างและเหมืองแร่ ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอได้มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายถาวร เสนเนียม) เป็นประธานในคณะอนุกรรมการ ได้เสนอให้มีการจัดซื้อที่ดิน เพื่อดำเนินการเป็นพื้นที่นำร่องในรูปแบบของธนาคารที่ดิน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการ โดยให้การสนับสนุนงบประมาณ เป็นเงินจำนวน 167,960,000 บาท ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2554 อนุมัติงบประมาณรายจ่าย งบกลางรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 งบกลางรายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ "โครงการนำร่องการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกรรายย่อยไทยเข้มแข็งภายใต้ นโยบายกองทุนธนาคารที่ดิน แต่เนื่องจากในขณะนั้นสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินยังไม่มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการบริหารสถาบันฯ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้

ต่อมาเมื่อ วันที่ 21 พ.ค. 2556 คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษารับทราบและเห็นชอบในหลักการการแก้ไข้ปัญหาของ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม กรณีการดำเนินการโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน ในพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ ทั้งนี้ให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เร่งดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมาย โดยประสานรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณในการดำเนินการกับสำนักงบประมาณแล้วเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

จนถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีแนวคิดจัดตั้งธนาคารที่ดิน จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร, ผู้อำนวยการสถาบัน และบรรจุพนักงานเพื่อดำเนินงานเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2558 โดยมี สถิตย์พงษ์ สุดชูเกียรติ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) (บจธ.)

เมื่อวันที่ 26-27 พ.ย. 2558 ทางสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน นำโดย สถิตย์พงษ์ สุดชูเกียรติ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) (บจธ.) พร้อมกับที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน เดินทางเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง สำรวจสภาพพื้นที่ และลักษณะทั่วไปของชุมชนตามโครงการนำร่องธนาคารที่ดินพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน ในการลงพื้นที่ครั้งนี้สถิตย์พงษ์ ได้รับทราบปัญหาที่ดินและอีกปัญหาสำคัญคือเรื่องคดีความ โดยสถิตย์พงษ์ ได้ชี้แจงต่อชาวบ้านที่มาร่วมฟังเรื่องแนวทางการดำเนินการโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน จะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6-8 เดือนหากได้รับการอนุมัติให้ใช้งบประมาณจาก ครม. และเรื่องคดีความทางสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน พร้อมให้ความร่วมมือในการแถลงต่อศาล ให้ทราบถึงแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ทั้งนี้ขอความเมตตาต่อศาลในการเลื่อนการอ่านคำพิพากษาไปก่อน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์:ปริญญาเทียม

Posted: 10 May 2017 01:25 AM PDT



สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ของไทย โดยนายสุภัทร จำปาทอง เลขาฯ สกอ. เพิ่งลงดาบด้วยการปิดหรือไม่ก็เสนอแกมบังคับให้มีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาในระดับ ป.โทและ ป.เอกของมหาวิทยาลัยในเมืองไทยที่เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนแบบ"ไร้คุณภาพ"ไปจำนวนมาก เมื่อไม่กี่สัปดาห์มานี้ การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวเสมือนการประจานบรรดามหาวิทยาลัยเจ้าของหลักสูตรการศึกษาที่ทำแบบลักไก่ สุกเอาเผากินดังกล่าวไปในตัว

ถึงขนาดมหาวิทยาลัยของรัฐบางแห่งมีการเรียนการสอนแบบไร้คุณภาพเกือบๆ 10 หลักสูตร แถมเปิดมานานพอสมควรแล้วด้วย

คำถามตามมาก็คือ มหาวิทยาลัยที่ว่านี้ เปิดการเรียนการสอนอะไร และเปิดสอนมาได้อย่างไร หากินในทาง หลอกชาวบ้านหรือไม่?

ที่สำคัญการดำเนินการของ สกอ.ดังกล่าว คือการประจานระบบน้ำเน่าของการศึกษาแบบไทยๆ ที่มีมานานจนเฟะ จากปัญหาหลายๆ เรื่อง ไล่ตั้งแต่การบริหารจัดการการศึกษา การคอร์รัปชั่นมุ่งหาเงินตัวเป็นเกลียวจาการเปิดหลักสูตร และขยายสาขา รวมถึงระบบกลุ่มก๊ก เส้นสายภายในมหาวิทยาลัยที่นับวันจะเละและมีปัญหาสะสมมากยิ่งขึ้น จนบั่นทอนความสัตย์ซื่อทางวิชาการลงไปมาก

ไม่นับรวมปัญหาการโกงทางวิชาการจากระดับพื้นฐานตั้งแต่การลอกข้อสอบ ลอกกูเกิลดอทคอมส่งอาจารย์ ลอกวิทยานิพนธ์ จนถึงจ้างเขียนบทความวิชาการ จ้างทำวิทยานิพนธ์ ที่กำลังกลายเป็นธุรกิจออกหน้าออกตาเป็นที่ทราบกันดีในสังคมการศึกษาไทย จนแม้แต่ฝรั่งเองยังอดเอามากล่าวขวัญถึงถึงความรุ่งเรือง ความเฟื่องฟู (บูม) ของธุรกิจประเภทนี้ไม่ได้

ที่สำคัญคือ อาจารย์ผู้สอนในสถานศึกษาลงมือประกอบธุรกิจนี้เสียเอง ซึ่งในระบบการศึกษาสากลถือว่า เป็นเรื่องร้ายแรงมาก

เหมือนที่มีผู้แซวว่า เรียนจบดอกเตอร์ เพื่อให้มีคำว่า "ดร."นำหน้าชื่อ แต่แล้วก็เอาคำนำหน้าดังกล่าวไว้ใช้เรียกเพื่อความโก้เก๋ในงานสังคม อย่างการเป็นกรรมการทอดผ้าป่าหรือทอดกฐินตามวัดต่างๆ กล่าวคือ เพื่อให้ผู้ถูกเรียกดูเด่นเป็นสง่าเหนือกว่าชาวบ้านทั่วไป แต่ความรู้ข้างในกลวงโบ๋ จบมาเพราะลอกเพื่อน ลอกอินเตอร์เน็ต วิทยานิพนธ์ก็ไปจ้างเขาทำมา แต่แล้วก็ผ่านออกมาจากสถาบันการศึกษาจนได้ สภามหาวิทยาลัยอนุมัติปริญญา แถมยังออกไปเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาตามสถาบันการศึกษาอีกทอดหนึ่ง นับเป็นวงจรอุบาทว์ ไม่สิ้นสุด

นักการศึกษาก็เลยงง ไม่รู้จะพูดอย่างไรได้ถูก กับการจูงมือพากันเดินลงเหว ลงคลอง อีหรอบนี้

และช่างงามหน้าเสียเหลือเกิน เพราะตอนนี้มีการจ้างทำรายงานหรือทำการบ้านส่งอาจารย์ลึกลงไปถึงในระดับปริญญาตรีกันแล้วด้วยซ้ำ นักศึกษาผู้มีกะตังค์อาศัยเงินจากผู้ปกครองปฏิบัติการจ้างเพียงอย่างเดียว

สกอ.ควรตระหนักว่า ผู้บริหารด้านศึกษา หรือผู้คนในแวดวงการศึกษาของไทยในทุกระดับการศึกษา ตั้งแต่ชั้นอนุบาล ประถม มัธยม หรือมหาวิทยาลัย ไม่ค่อยได้คำนึงถึงสาเหตุที่ทำให้การศึกษาไทยตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ หรืออยู่ในสภาพถดถอยนับตั้งแต่ช่วงสองถึงสามทศวรรษที่ผ่านมา ไม่เพียงแค่ปัญหาเรื่องปรัชญาหรืออุดมการณ์การศึกษาเท่านั้น หากยังรวมถึงการทุจริตคอร์รัปชั่น "อีแอบทางวิชาการ"ซึ่งเป็นคนในที่ขยายวงออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่หลายประเทศเพื่อนบ้านของไทย เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม มีพัฒนาการเชิงความเจริญงอกงามของการศึกษาตามมาตรฐานสากลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่างน่าทึ่ง

เพราะมีการถ่ายทอดทั้งองค์ความรู้และบุคลากรการศึกษาจากโลกตะวันตกไปยังประเทศเหล่านั้น อย่างเป็นระบบ ในแง่ผลประโยชน์ของสถาบันฯ จากการวางนโยบาย เช่น การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการศึกษาในประเทศกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ  เป็น sister university เกิดผลประโยชน์ร่วมเชิงเทคนิค เช่น ผลพลอยได้จากการเรียนรู้ด้านภาษา การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เป็นต้น

แต่เพราะเป็นที่ทราบถึงสาเหตุของความเสื่อมทรามของการศึกษาไทย กันอย่างดีว่า

การศึกษาไทยอิงอยู่กับระบบอุปถัมภ์อย่างแยกไม่ออก แม้ในบรรดาครูอาจารย์จากประเทศตะวันตกที่ทำงานอยู่ในเมืองไทยก็ทราบดี ทำให้คุณภาพการศึกษาของไทยต้องตกต่ำ มีการซูเอี๋ยกัน ในกรณีการสอบเข้าบางสถาบันฯ ช่วงกระบวนการขั้นตอนต่างๆ เช่น ในขั้นการสอบข้อเขียน และขั้นการสอบสัมภาษณ์ เป็นต้น ระบบเต็มไปด้วยระบบเส้นสายจากวาทกรรม "รับภายใน" เชื่อมโยงการไปถึงเรื่องชื่อเสียงของสถาบันการศึกษา  รวมถึงผลประโยชน์แอบแฝงระหว่างผู้บริหารสถาบันศึกษา ครูอาจารย์ ตลอดถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง

การศึกษาแบบไทยๆ ส่งเสริมให้ผู้เรียน มีเป้าหมายไปที่วุฒิการศึกษา (ปริญญา) เป็นหลัก มีค่านิยมมองการประสบความสำเร็จในชีวิตจากวุฒิการศึกษา และเป็นเหตุให้สถาบันการศึกษาของไทยจำนวนไม่น้อยสบช่อง หาประโยชน์จากธุรกิจการศึกษาอย่างเป็นล่ำเป็นสันแต่ขาดคุณภาพ  โดยที่เมื่อก่อนยังจำกัดอยู่เพียงสถาบันการศึกษาของเอกชน แต่เวลานี้บานปลายออกไปสู่สถาบันการศึกษาของรัฐ มุ่งเน้นแสวงหารายได้จากการศึกษาและการสนับสนุนจากผู้ปกครองและการสนับสนุนสถาบันฯ ด้านเงินทุนและด้านอื่นๆ ของผู้เรียนเป็นส่วนสำคัญ ทำให้การจบการศึกษา เป็นแค่การได้ใบวุฒิการศึกษา เพื่อแสดงถึงความมีเกียรติในสังคมเท่านั้น

โดยแง่นี้สัมฤทธิผลของการศึกษาจึงไม่ต่างจากปริญญาเทียม

การศึกษาไทยเน้นปริมาณของผู้ที่จบการศึกษามากกว่าคุณภาพการศึกษา ทั้งการศึกษาไทยยังมีเป้าหมายทางด้านวัฒนธรรมเป็นองค์ประกอบอยู่ในตัว โดยอาศัยองคาพยพทางด้านวัฒนธรรมเป็นปัจจัยการบ่มเพาะผู้เรียน ซึ่งตามหลักการศึกษาสากลแล้ว การเรียนรู้วัฒนธรรม เป็นเรื่องของความสมัครใจ มากกว่าการบังคับ

กรณีการศึกษาของไทย เห็นได้จากการบังคับให้ผู้เรียนทำกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรมเพื่อกระตุ้นในเรื่องความเป็นชาติ หรือกระตุ้นความเป็นชาตินิยมของตัวผู้เรียน,  กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี  ก็เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายทางด้านวัฒนธรรม ที่เรียกว่า สำนึกร่วมของความคิดเชิงเดี่ยว  ทั้งที่ควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เลือกกิจกรรมที่ตนเองสนใจอันหลากหลาย มากกว่าการกระตุ้นสำนึกเชิงเดี่ยวรวบรัดทำนองนี้

ในแง่ปรัชญาการศึกษา การศึกษาไทยยังมีศูนย์กลางอยู่ที่ครูหรืออาจารย์ผู้สอน มากกว่าที่จะให้นักเรียน นักศึกษา เป็นศูนย์กลางของการเรียนการสอน เรื่องนี้ครูอาจารย์ที่อดทนน้อยหลายคนอาจแย้งว่า วิธีเรียนวิธีสอนดังกล่าว อาจไม่เหมาะกับวัฒนธรรมไทย ที่เน้นให้ผู้เรียนเดินตามครูอาจารย์กันมาแต่ต้น โดยความเชื่อที่ว่า "การเปิดโอกาสให้กับผู้เรียน  โดยเฉพาะเด็กนักเรียนที่ยังไม่บรรลุวุฒิภาวะทำตามใจตัวเองจนเลยเถิด" 

เรื่องนี้กระทรวงศึกษาธิการของไทยเคยเสนอเป็นนโยบายมาก่อนหน้านี้  แต่ก็เพิ่งประสบกับความล้มเหลวมาหยกๆ  เพราะผู้สอน คือ ครูอาจารย์ ไม่ให้ความร่วมมือ แถมยังคงเชื่อตามความเชื่อเดิมที่ว่า ครูต้องเป็นฝ่ายผู้ให้กับเด็กนักเรียนเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้มีการกล่าวโทษไปถึงผู้ปกครองด้วยว่า ไม่มีส่วนในการเกื้อหนุนเพื่อเป็นองค์ประกอบในการเรียนรู้ของนักเรียน เด็กไทยยังโง่ ไม่อาจรับวิธีการสอนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลางได้ ทั้งๆ ที่ความอดทนเป็นสิ่งที่ทั้งผู้สอนและผู้เรียนควรเรียนรู้ร่วมกัน ควรมีการเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างครูอาจารย์กับผู้เรียน ครูอาจารย์เองสามารถเรียนรู้จากนักเรียนของพวกเขาตามระบบการศึกษา 4.0

การศึกษาของไทยยังมีวัฒนธรรมตามใจพ่อแม่ผู้ปกครองมากกว่าตามใจผู้เรียน , ผู้บริหารการศึกษาของไทยยังมีทัศนะที่ว่านี้อยู่มาก ทำตามที่พ่อแม่ผู้ปกครองอยากให้ทำ มากกว่าทำตามสิ่งที่ผู้เรียนอยากจะเรียน ทำให้ผู้เรียน ซึ่งส่วนใหญ่ยังเรียกว่าเป็น"เด็กนักเรียน" เกิดความทุกข์จากการเรียน เนื่องจากต้องอยู่ภายใต้การครอบงำของพ่อแม่ผู้ปกครองและครูอาจารย์อยู่ตลอดเวลา

การศึกษาของไทยยังเน้นการคิดเห็นคล้อยตามของผู้เรียน มากกว่าการแสดงความคิดเห็นเชิงแย้ง เชิงสอบสวน(วิเคราะห์) ครูอาจารย์จำนวนไม่น้อยยังรับไม่ได้กับการโต้แย้งแบบวิเคราะห์ของผู้เรียน หากยังทำตัวเป็นศูนย์กลางของการเรียน  เชื่อตามสิ่งที่ตนเองเชื่อมากกว่าการใส่ใจต่อสิ่งที่ผู้เรียนเชื่อ จึงไม่เปิดโอกาสให้มีการอภิปรายความรู้อย่างกว้างขวาง

ระบบการศึกษาแบบนี้ จึงเอวังและวังเวง มองไม่เห็นแสงสว่าง บั่นทอนให้การศึกษาของไทยตกต่ำลงเรื่อยๆ อีกต่อไปได้อีกนาน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชำนาญ จันทร์เรือง: ประชาธิปไตยแบบฝรั่งเศส

Posted: 10 May 2017 12:53 AM PDT



ในที่สุดเอ็มมานูเอล มาครง ก็ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในการเลือกตั้งรอบสองในวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา หลายคนค่อนข้างงงๆว่าในระหว่างการหาเสียงมีผู้สื่อข่าวพยายามถามว่าหากได้รับเลือกตั้งฯแล้วจะตั้งใครเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูแปลกๆเพราะในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย(Democracy)ที่มี 2 ระบบใหญ่ คือ ระบบประธานาธิบดี (Presidential System) เช่น สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ฯลฯ นั้นไม่มีนายกรัฐมนตรี และในระบบรัฐสภา(Parliamentary System) ที่มีประธานาธิบดีหรือกษัตริย์เป็นประมุข เช่น อินเดีย สิงคโปร์ ฯลฯ นายกรัฐมนตรีมาจากพรรคที่ได้รับเสียงหรือรวมเสียงจากพรรคอื่นจนเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ฝรั่งเศสเองก็เคยลองมาทั้ง 2 ระบบ แต่ประสบความล้มเหลวจึงคิดระบบใหม่ขึ้นมาคือระบบกึ่งประธานาธิบดี(semi-presidential system) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าระบบกึ่งรัฐสภา (semi-parliamentary system) โดยพัฒนามาจากช่วงที่มีความวุ่นวายทางการเมือง ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีก็จะเกิดข้อขัดแย้งอยู่เสมอ ทำให้การบริหารบ้านเมืองหยุดชะงัก ดังนั้น นักรัฐศาสตร์และนักกฎหมายมหาชนของฝรั่งเศสจึงได้คิดรูปแบบการปกครองใหม่ที่นำเอาระบบประธานาธิบดีและระบบรัฐสภามาผสมผสานกัน โดยให้ประธานาธิบดียังมีอำนาจมากแต่ก็เปิดโอกาสให้รัฐสภาควบคุมการทำงานของฝ่ายบริหารได้ด้วย

ว่ากันตามจริงแล้วระบบนี้ก็คือระบบประธานาธิบดีนั่นเอง แต่ได้ถูกปรับปรุงหรือแก้ไขหลักการใหม่ และในเมื่อฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกที่นำระบบนี้มาใช้ตั้งแต่ปี 1958 และใช้อยู่เพียงประเทศเดียว เราจึงเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า "ระบบฝรั่งเศส" ต่อมาเมื่ออดีตสหภาพโซเวียตล่มสลายจากระบอบคอมมิวนิสต์ในปี 1991ประเทศที่เกิดใหม่ก็นำมาระบบนี้มาใช้อย่างแพร่หลาย แต่เมื่อเทียบกับ 2 ระบบใหญ่เดิมแล้วก็ยังมีจำนวนน้อยอยู่

หลักการสำคัญของระบบกึ่งประธานาธิบดีหรือระบบฝรั่งเศส

1) ประธานาธิบดียังคงมีอำนาจสูงสุด เพราะได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชนโดยตรง โดยประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาล ประธานาธิบดีในระบบนี้แตกต่างจากระบบประธานาธิบดีคือประธานาธิบดีจะแบ่งอำนาจในการบริหารให้แก่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาลบางส่วน กล่าวให้เข้าใจง่ายๆก็คือประธานาธิบดีมีอำนาจในทางการเมือง ส่วนนายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการบริหารจัดการ แต่อำนาจในการอนุมัติ ตัดสินใจ และการลงนามในกฎหมายยังคงอยู่ที่ประธานาธิบดี ซึ่งแตกต่างจากประธานาธิบดีในระบบประธานาธิบดีที่จะกุมอำนาจบริหารไว้หมดและจะไม่มีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในระบบนี้ และในทำนองกลับกันประธานาธิบดีหรือกษัตริย์ในระบบรัฐสภาเป็นเพียงประมุข(Head of State)แต่ไม่มีอำนาจในการบริหาร โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร(Head of Government)แทน

2) อำนาจของรัฐสภาในระบบนี้อยู่กึ่งกลางระหว่างระบบรัฐสภาและระบบประธานาธิบดี คือ รัฐสภามีอำนาจมากกว่ารัฐสภาในระบบประธานาธิบดี แต่ก็ยังมีอำนาจน้อยกว่ารัฐสภาในระบบรัฐสภา เพราะรัฐสภาในระบบนี้มีอำนาจในการควบคุมการทำงานของคณะรัฐมนตรีได้ สามารถตั้งกระทู้ถามหรือเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้ ซึ่งในระบบประธานาธิบดีไม่สามารถทำอย่างนี้ได้

3) นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อทั้งประธานาธิบดีและรัฐสภา เนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรีจึงต้องรับผิดชอบต่อประธานาธิบดี แต่ในขณะเดียวกันก็จะต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภาด้วย ฉะนั้น นายกรัฐมนตรีจึงมีภาระที่ต้องขึ้นอยู่กับทั้งประธานาธิบดีและรัฐสภา เพราะทั้งประธานาธิบดีและรัฐสภาสามารถปลดนายกรัฐมนตรีออกได้ นอกจากนั้นนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีอาจเข้าร่วมการประชุมรัฐสภาได้ แต่ไม่มีสิทธิออกเสียง

จากที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่าคณะรัฐมนตรีในระบบกึ่งประธานาธิบดีนี้ค่อนข้างปฏิบัติงานด้วยความยากลำบากกว่าคณะรัฐมนตรีในระบบประธานาธิบดีแท้ๆหรือคณะรัฐมนตรีในระบบรัฐสภา เพราะต้องรับผิดชอบต่อทั้งประธานาธิบดีและรัฐสภา และยิ่งหากประเทศใดที่มีพรรคการเมืองจำนวนมากแล้ว รัฐสภาก็อาจจะไม่มีเสถียรภาพ หรือหากประธานาธิบดีไม่มีบารมีจริงๆก็อาจจะควบคุมคณะรัฐมนตรีหรือประสานงานกับรัฐสภาไม่ได้ ความวุ่นวายก็ตามมา ซึ่งเอมมานูเอล มาครง ว่าที่ประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนใหม่คงจะต้องเหนื่อยมากหน่อย เพราะพรรค En Marche ของแกเองซึ่งเป็นพรรคที่ตั้งขึ้นใหม่เมื่อปี 2016 ยังไม่มี ส.ส.ในสภาฯเลย แต่อาจมีจำนวนมากขึ้นในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้

อย่างไรก็ตามระบบกึ่งประธานาธิบดีฯหรือระบบฝรั่งเศสนี้ใช่ว่าจะไม่มีข้อดีเสียทีเดียว ไม่เช่นนั้นประเทศที่เกิดใหม่ทั้งหลายคงไม่นำระบบกึ่งประธานาธิบดีนี้ไปใช้กันเป็นจำนวนมาก ข้อดีที่เห็นได้ชัดก็คือ การที่ประธานาธิบดีมีอำนาจเด็ดขาดและมีอิสระในการทำงาน ซึ่งเหมาะสมกับประเทศฝรั่งเศสหรือประเทศเกิดใหม่ทั้งหลาย เพราะสภาพบ้านเมืองของประเทศฝรั่งเศสในขณะนั้นและประเทศเกิดใหม่ทั้งหลายหาผู้ที่มีบารมีหรือมีอิทธิพลทางการเมืองได้ยาก หากใช้ระบบรัฐสภาก็จะทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพในการบริหารประเทศเพราะมีพรรคเล็กพรรคน้อยจำนวนมาก การที่ประธานาธิบดีมีอำนาจเด็ดขาดจึงทำให้รัฐบาลมีอายุยืนยาวขึ้น สามารถปฏิบัติภารกิจได้เต็มที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภารกิจด้านการทหาร

ข้อดีอีกประการหนึ่งที่เป็นลักษณะพิเศษของระบบนี้ก็คือการแยกอำนาจทางการเมืองและอำนาจบริหาร ทำให้ประธานาธิบดีไม่ต้องทำงานบริหารแบบงานประจำ เช่น การลงนามในงานประจำทั้งหลาย การแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐ ฯลฯ ประธานาธิบดีในระบบนี้ได้ใช้เวลาในการปฏิบัติงานด้านการเมืองอย่างเต็มที่ เช่น การเสนอนโยบาย วิเคราะห์และวางแผนทางการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศ

กล่าวโดยทั่วไปแล้วไม่ว่าจะเป็นระบบประธานาธิบดี ระบบรัฐสภาหรือระบบกึ่งประธานาธิบดีต่างก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ประเทศไหนจะใช้การปกครองในระบบใดย่อมขึ้นอยู่กับพัฒนาการทางการเมืองของประเทศนั้นๆ และขึ้นอยู่กับแนวคิดของประชาชนในชาติว่าจริงๆแล้วเขาต้องการการปกครองในระบบไหน

เราต้องไม่ลืมว่าไม่ว่าจะเป็นการปกครองในระบบใดใน 1 ระบบนี้ จะขาดเสียซึ่งหลักการสำคัญของประชาธิปไตยไปไม่ได้ หลักการที่ว่านั้นก็คือ การเคารพเสียงข้างมากและคุ้มครองเสียงข้างน้อย, การมีส่วนร่วมของประชาชนผู้ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ,หลักของความเสมอภาคในการแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกัน ,หลักของการยอมรับในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ไม่ว่าจะเกิดมาในตระกูลใดหรือชนเผ่าใดว่าล้วนแล้วแต่ต้องการสิทธิเสรีภาพในการพูดและการเขียน ตราบใดที่ไม่ไปละเมิดสิทธิผู้อื่น

ระบบการเมืองการปกครองก็เหมือนสิ่งอื่นๆที่ต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาไปตามกาลเวลา หากยังแข็งขืนทวนกระแสโลกให้คนเพียงไม่กี่ตระกูลหรือไม่กี่อาชีพยึดครองอำนาจรัฐโดยไม่สนใจใยดีกับเสียงของประชาชน เขาเหล่านั้นย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกกงล้อของประวัติศาสตร์กวาดตกเวทีไปอย่างแน่นอน

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันอังคารที่ 9 พฤษภาคม 2560

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ปธ.กสม.- อังคณา-ฮิวแมนไรท์วอทช์-ผสานวัฒนธรรม' ประณามผู้ก่อเหตุระเบิดบิ๊กซีปัตตานี

Posted: 10 May 2017 12:48 AM PDT

วัส ติงสมิตร ประณามคนร้ายก่อเหตุระเบิดบิ๊กซีปัตตานี ขาดความเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 'อังคณา' ซัดไม่มีประเทศใดใช้ชีวิตผู้บริสุทธิ์มาเป็นเครื่องมือต่อรอง 'ฮิวแมนไรท์วอทช์-มูลนิธิผสานวัฒนธรรม'  ชี้อาจถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ 

10 พ.ค. 2560 จากเหตุการณ์คนร้ายลอบวางระเบิดในห้างบิ๊กซี อ.เมือง จ.ปัตตานี วันนี้ (9 พ.ค.60) ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บกว่า 50 คน โดยมีผู้บาดเจ็บสาหัส 4 คน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

วันนี้ (10 พ.ค.60) วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกแถลงการณ์ ประณามคนร้ายก่อเหตุดังกล่าว โดยระบุว่า เหตุการดังกล่าว ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมากโดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก แสดงให้เห็นว่าผู้ก่อเหตุกระทำการเพื่อประสงค์ให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงแบบไม่เลือกเป้าหมาย จึงได้วางระเบิดในบริเวณห้างสรรพสินค้าที่มีผู้คนมากมายทุกเพศทุกวัยไปใช้บริการ

"ขอประณามการกระทำของผู้ก่อเหตุรุนแรง อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างอุกอาจและร้ายแรงในครั้งนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้ก่อเหตุขาดความเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงกระทำการด้วยความโหดร้าย ทารุณ ไร้ซึ่งมนุษยธรรม" วัส แถลง

ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งไปยังผู้ได้รับบาดเจ็บและครอบครัว และขอส่งความห่วงใยไปยังพี่น้องประชาชนชาวปัตตานีและจังหวัดใกล้เคียงตลอดจนเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

ประธานกรรมการสิทธิฯ แถลงอีกว่า ยังคงยืนยันว่า "มนุษย์เกิดมาเท่าเทียมกัน ควรปฏิบัติต่อกันฉันพี่น้อง" ดังนั้นการใช้ความรุนแรงคุกคามต่อชีวิตและร่างกายเพื่อนมนุษย์นอกจากเป็นการก่ออาชญากรรมร้ายแรงแล้วยังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ไม่อาจยอมรับได้ และขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนเร่งดำเนินการนำสันติสุขกลับคืนสู่ชุมชนจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเร็ว

อังคณาซัดไม่มีประเทศใดใช้ชีวิตผู้บริสุทธิ์มาเป็นเครื่องมือต่อรอง

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานด้วยว่า อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงกรณีเหตุการณ์ดังกล่าว ว่ารู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าวมากเพราะส่วนตัวเพิ่งเดินทางกลับจาก จ.ปัตตานี อีกทั้งสถานที่เกิดเหตุเป็นเหมือนพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน ผู้ก่อเหตุมีความประสงค์ต่อชีวิตของผู้บริสุทธิ์โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก และต้องการทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกหวาดกลัว ไม่เชื่อมั่นในอำนาจรัฐว่ารัฐจะปกป้องประชาชนได้ เพราะฉะนั้นรัฐต้องรีบเร่งสร้างความมั่นใจว่ารัฐจะดูแลความปลอดภัยกับประชาชนได้ ส่วนตัวอยากให้ทุกฝ่ายแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการกระทำแบบนี้ รวมทั้งอยากให้เจ้าหน้าที่ควรต้องเร่งหาพยานหลักฐาน หาผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายโดยเร็ว ต้องหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไรและต่อไปจะปกป้องชีวิตและทรัพย์สินประชาชนอย่างไร
       
"ช่วงนี้คนเริ่มเยอะเพราะกำลังจะเข้าเดือนรอมฎอน ชาวบ้านก็จะออกมาซื้อของกัน ดังนั้นไม่ว่าผู้กระทำผิดจะเป็นใคร ต้องขอประณาม เหตุการณ์แบบนี้ไม่มีใครรับได้ ไม่ควรใช้ชีวิตผู้บริสุทธิ์มาเป็นเครื่องมือในการต่อรองเจรจาพูดคุยกับรัฐ ถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบธรรม เพราะไม่มีประเทศใดในโลกนี้ที่มีความขัดแย้งแล้วเขาทำกัน" อังคณา กล่าว

ฮิวแมนไรท์วอทช์ ชี้อาจถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ 

แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าว ว่า การระเบิดสองครั้งในห้างสรรพสินค้าที่มีประชาชนจำนวนมาก แสดงให้เห็นความทารุณและไม่คำนึงถึงชีวิตพลเรือน 
 
"การโจมตีที่ห้างบิ๊กซีเป็นสัญญาณบ่งบอกความรุนแรงสูงสุดของฝ่ายแบ่งแยกดินแดน เป็นการโจมตีที่พุ่งเป้าไปที่พลเรือน ซึ่งอาจถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ รัฐบาลควรนำตัวผู้กระทำผิดทุกคนมาลงโทษ"
 
รถกระบะที่ถูกใช้ในการโจมตีครั้งนี้ ได้ถูกแจ้งความว่าหายไปตั้งแต่ช่วงเช้าวันดังกล่าว โดยยังไม่มีการพบตัวเจ้าของรถ และมีความกังวลถึงความปลอดภัยของเขา ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว
 
นับแต่มีการโจมตีด้วยอาวุธเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังเดือนมกราคม 2547 ผู้ก่อความไม่สงบจากกลุ่ม Barisan Revolusi Nasional (BRN) ได้กระทำการที่ละเมิดกฎหมายสงครามหลายครั้ง ในบรรดาผู้เสียชีวิตกว่า 6,800 คนในช่วงที่เกิดการขัดกันด้วยอาวุธอย่างต่อเนื่องในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย ประมาณ 90% ของคนเหล่านี้เป็นพลเรือนทั้งที่เป็นชาวไทยพุทธและชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู

เมื่อวันที่ 10 เม.ย. BRN ออกแถลงการณ์คัดค้านการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีอิทธิพลอะไรแล้วเป็นเครือข่ายหลวม ๆ ของกลุ่มมาราปัตตานี (Majlis Syura Patani) โดยเป็นการเจรจาที่มีมาเลเซียเป็นตัวกลาง  

กฎหมายสงคราม หรือที่เรียกว่า กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ห้ามการโจมตีต่อพลเรือน หรือการโจมตีที่ไม่แยกแยะระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารกับพลเรือน ข้ออ้างของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ว่า การโจมตีต่อพลเรือนชอบด้วยกฎหมาย เพราะพลเรือนเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของรัฐพุทธไทย หรือเป็นเพราะกฎหมายอิสลามที่พวกเขาตีความ อนุญาตให้กระทำการโจมตีดังกล่าวได้ ข้ออ้างเช่นนี้ไม่ชอบธรรมตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายสงครามยังห้ามการโจมตีเพื่อแก้แค้นและการสังหารแบบรวบรัดต่อพลเรือนและกองกำลังที่ถูกจับกุมตัวได้ ห้ามการทำลายซากศพ และห้ามการโจมตีที่พุ่งเป้าต่ออาคารสถานที่ของพลเรือน รวมทั้งโรงเรียน

อาชญากรรมต่อมนุษยชาติครอบคลุมถึงความผิดอาญาบางประเภท ซึ่งเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางหรือเป็นระบบ โดยเป็นส่วนหนึ่งของ "การโจมตีต่อประชากรที่เป็นพลเรือน" กล่าวคือต้องเป็นการโจมตีที่เกิดขึ้นจากการวางแผนหรือการมีนโยบายให้กระทำเช่นนั้นในระดับหนึ่ง การกระทำเช่นนั้นรวมถึงการสังหารและ "การกระทำอย่างไร้มนุษยธรรมที่มีพฤติการณ์แบบเดียวกัน โดยมุ่งก่อให้เกิดความเจ็บปวดอย่างใหญ่หลวง หรือการบาดเจ็บสาหัสต่อร่างกาย หรือต่อสุขภาพทางใจหรือทางกาย" กฎหมายระหว่างประเทศคุ้มครองประชากรที่เป็นพลเรือน "ทุกกลุ่ม" จากการโจมตีเช่นนี้ โดยไม่คำนึงว่าประชากรที่ตกเป็นเหยื่อนั้น จะมีส่วนเชื่อมโยงกับคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในการขัดกันด้วยอาวุธหรือไม่ก็ตาม ความรับผิดต่อการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ไม่จำกัดอยู่เฉพาะผู้ซึ่งกระทำการดังกล่าวเท่านั้น หากยังครอบคลุมถึงผู้สั่งการ ช่วยเหลือ หรือมีส่วนร่วมในทางใดทางหนึ่งต่อการกระทำผิดนั้น ตามหลักความรับผิดชอบของการบังคับบัญชา ผู้นำรัฐบาลหรือผู้นำกลุ่มติดอาวุธก็อาจต้องรับผิดทางอาญาต่อการกระทำที่เกิดขึ้นโดยผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา กรณีที่ผู้นำเหล่านั้นรู้ หรือควรรู้ว่าจะมีการก่อความผิดดังกล่าวขึ้น แต่กลับไม่ดำเนินมาตรการที่ชอบด้วยเหตุผลเพื่อหยุดยั้งการกระทำดังกล่าว 

แม้ว่ากลุ่มผู้ก่อความไม่สงบต้องประสบกับความเสียหายครั้งใหญ่จากการโจมตีกวาดล้างของกองกำลังฝ่ายรัฐบาลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่คนกลุ่มนี้ยังคงกระจายอยู่ในหมู่บ้านชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูหลายร้อยแห่ง กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมักอ้างถึงยุทธวิธีที่มิชอบและรุนแรงของกองกำลังของรัฐบาล เพื่อจูงใจให้มีบุคคลเข้าร่วมกลุ่มของตนเพิ่มขึ้น และเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำที่รุนแรงของตน

ฮิวแมนไรท์วอทช์ยังคงกังวลอย่างยิ่งกับการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และกฎหมายสงคราม ทั้งของฝ่ายกองกำลังของรัฐบาลไทยและกลุ่มติดอาวุธอื่น ๆ การสังหาร การบังคับบุคคลให้สูญหาย และการทรมาน ไม่อาจถือว่าเป็นการตอบโต้ที่ชอบธรรมต่อการโจมตีของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ต่อพลเรือนชาวพุทธไทยและต่อกองกำลังของรัฐบาล สถานการณ์นี้เลวร้ายยิ่งขึ้น เนื่องจากวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดที่หยั่งรากลึก หลังการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐในจังหวัดชายแดนใต้ จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลยังไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่รายใดที่ปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนต่อชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบได้เลย

"รัฐบาลไทยต้องตอบโต้กับการโจมตีที่โหดร้ายนี้ด้วยการยึดมั่นตามหลักนิติธรรม ด้วยการยุติการปฏิบัติมิชอบในบรรดากองกำลังของรัฐบาลเอง และแก้ปัญหาความอึดอัดคับข้องใจที่มีมาอย่างยาวนาน ในบรรดาชุมชนมุสลิมเชื้อสายมลายู" อดัมส์กล่าว พร้อมกล่าวด้วยว่า หากรัฐบาลยังคงปกป้องไม่ให้กองกำลังของตนต้องรับผิดทางอาญาต่อไป ก็จะยิ่งเป็นการเติมเชื้อไฟให้กับความรุนแรงของกลุ่มที่สุดโต่ง 

ผสานวัฒนธรรม ประณาม พร้อมชี้อาจเข้าข่ายอาชญกรรมต่อมนุษยชาติ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์  ประณามระเบิดที่ห้างสรรพสินค้าที่ปัตตานี รักษาความปลอดภัยหละหลวม พร้อมระบุด้วยว่า อาจเข้าข่ายอาชญกรรมต่อมนุษยชาติ (Crime against humanity) แสดงความเสียใจต่อความสูญเสีย ขอเสนอแนะให้ทุกฝ่ายอดทนอดกลั้น ยึดมั่นแนวทางสันติ

แถลงการณ์ของ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุด้วยว่า แม้ว่าจะไม่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์และผู้บาดเจ็บหลายรายสามารถเดินทางกลับบ้านได้  แต่แรงระเบิดอานุภาพสูงทำให้เกิดความสูญเสียทรัพย์สินของห้างฯและของประชาชนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งสร้างความหวาดกลัวต่อประชาชนเป็นอย่างมาก

เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นสภาพปัญหาสำคัญสองประการคือการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะที่หละหลวมและขาดมาตรการการคุ้มครองผู้บริสุทธิ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและสตรี  อีกประการหนึ่งเหตุรุนแรงดังกล่าวเป็นการกระทำโดยตรงต่อผู้บริสุทธิ์โดยไม่เลือกเป้าหมาย การลอบวางระเบิดในที่สาธารณะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และเป็นการกระทำความผิดทางอาญาทั้งตามกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายในประเทศ โดยอาจเป็นความผิดฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติอีกด้วย จึงควรถูกประนามจากทุกฝ่าย และหากเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบอาจเข้าข่ายการก่ออาชญกรรมต่อมนุษยชาติที่ต้องรับผิดทางอาญาตามระบบยุติธรรมระหว่างประเทศ   

ทั้งนี้ในกรอบกฎหมายในประเทศรัฐมีหน้าที่ต้องนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีและรับโทษตามกฎหมายและหลักการด้านสิทธิมนุษยชน  ปัญหาทั้งสองประการต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วนเนื่องจากพลเรือนผู้บริสุทธิ์ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางอาวุธต้องได้รับการคุ้มครองจากการใช้อาวุธไม่ว่าจากฝ่ายใด

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอแสดงความเสียใจต่อผู้สูญเสียในเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น และขอประนามผู้ก่อเหตุระเบิดดังกล่าวซึ่งได้ก่อความรุนแรงต่อพลเรือน เด็กและสตรีผู้บริสุทธิ์  โดยขอเรียกร้องให้

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอเรียกร้องดังนี้

1.         กลุ่มติดอาวุธไม่ว่าฝ่ายใดต้องหลีกเลี่ยงการใช้อาวุธประหัตประหารและก่อเหตุรุนแรงที่อาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์ ตลอดจนทรัพย์สินของประชาชนและสาธารณะ

2.         รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อต้องนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามหลักกฎหมายและหลักการด้านสิทธิมนุษยชน  

3.         รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อต้องช่วยเหลือต่อผู้เสียหายทั้งทรัพย์สินและผู้ได้รับบาดเจ็บ  รวมทั้งการฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิดอย่างเต็มที่ ทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว

4.         รัฐต้องประสานงานภาคประชาสังคมในการปกป้องคุ้มครองพลเรือน ผู้บริสุทธิ์โดยเฉพาะเด็กและสตรี ให้ได้รับการคุ้มครองจากการใช้อาวุธไม่ว่าจากฝ่ายใดทุกฝ่ายต้องมีความอดทนอดกลั้นที่ผู้บริสุทธิ์ และหาทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยแนวทางสันติวิธี

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น