โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ธาริต เพ็งดิษฐ์กับชีวิตข้าราชการ

Posted: 02 May 2017 12:55 PM PDT

 

รายงานข่าวเมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่ผ่านมาว่า สำนักนายกรัฐมนตรียุคสมัยเผด็จการ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีคำสั่งให้ไล่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ออกจากราชการ หลังจากที่กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดในคดีร่ำรวยผิดปกติ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และยังมีการจัดเตรียมที่จะอายัดทรัพย์สินเพิ่มเติม โดยอ้างว่า นายธาริตโยกย้ายทรัพย์สินที่ทุจริตให้บุตร ภรรยา และคนใกล้ชิดเป็นมูลค่าจำนวนมาก

การไล่ออกจากราชการ หมายความว่า นายธาริตจะหมดสิทธิ์ที่จะได้รับบำเหน็จบำนาญ และยังมีแนวโน้มที่จะต้องถูกดำเนินคดีต่อไปอาจถึงขั้นติดคุก ที่น่าสนใจคือ ชะตากรรมของนายธาริต แทบจะไม่ได้รับความเห็นใจจากใครเลย แต่ที่เป็นเอามาก คือ กลุ่มสลิ่มเสื้อเหลือง และสื่อมวลชนฝ่ายขวา ต่างก็พากันโจมตีสมน้ำหน้า และอธิบายว่า การที่นายธาริตถูกลงโทษ เป็นผลกรรมจากครั้งอดีต โดยพิจารณานายธาริตในฐานะตัวอย่างของ"ข้าราชการชั่ว"ที่จะต้องถูกลงโทษ

ย้อนหลังกลับไปพิจารณาประวัติของนายธาริต มีข้อมูลว่า ธาริตเกิดเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2501 ที่อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท เดิมหลวงพ่อฤาษีลิงดำตั้งชื่อให้ว่า "เบญจ" เพราะเป็นลูกคนที่ 5 ของ ร.อ.เจี๊ยบ เพ็งดิษฐ์ อดีตนายทหารคนสนิทของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เขาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และจบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เมื่อ พ.ศ.2524 ด้วยผลการศึกษาระดับเกียรตินิยม จึงได้รับเข้าเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ต่อมา จบปริญญาโทนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ.2532 จึงสอบเข้ารับราชการในกรมอัยการ และได้แต่งงานกับวรรษมล ซึ่งทำงานเป็นนักกฎหมายเช่นเดียวกัน จน พ.ศ.2537 จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น"ธาริต" ตามความเชื่อในตำราโหราศาสตร์

ตำแหน่งหน้าที่ในงานราชการของนายธาริตก้าวหน้า จนได้เป็นเจ้าหน้าที่หน้าห้องของอัยการสูงสุด ในสมัยที่ นายคณิต ณ นคร ดำรงตำแหน่ง (พ.ศ.2537-2540) ต่อมา ในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย นายธาริตได้รับการชักชวนจาก นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ให้มาทำงานที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดยเข้าไปเป็นทีมงานของ นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ที่ปรึกษาใหญ่ของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

นายธาริตมีส่วนสำคัญในการร่างกฎหมายจัดตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ ด้วยแนวคิดที่ว่า ควรจะมีหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่เฉพาะในการป้องกัน ปราบปราม และควบคุมอาชญากรรมที่มีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งอำนาจหน้าที่ของฝ่ายตำรวจปกติจะมีข้อจำกัดมาก และเมื่อมีการจัดตั้งหน่วยงานนี้ ในสังกัดกระทรวงยุติธรรมเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2545 นายธาริตได้รับตำแหน่งรองอธิบดี ถือว่าเป็นชีวิตราชการที่ก้าวหน้าเร็วมาก

ต่อมา เมื่อ พ.ศ.2551 ในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ซึ่งมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายธาริตได้เข้าร่วมยกร่างกฎหมายจัดตั้งจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) จึงได้รับตำแหน่งเป็นเลขาธิการ ป.ป.ท. คนแรก

แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ฝ่ายรัฐบาลเห็นว่า พ.ต.อ.ทวี สองส่อง เป็นฝ่ายใกล้ชิดพรรคพลังประชาชน จึงโยกย้ายจากตำแหน่ง แล้วแต่งตั้งให้นายธาริตรับหน้าที่แทนตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ.2552 และนายธาริตกลายเป็นทำงานใกล้ชิดพรรคประชาธิปัตย์ และถือว่ามีผลงานชัดเจนในการสร้างให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ.)เป็นหน่วยงานการเมืองรับใช้ความมั่นคงของรัฐบาล โดยเฉพาะเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2553 รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ขึ้นมาควบคุมและปราบปรามการชุมนุมของคนเสื้อแดง บทบาทของนายธาริตยิ่งโดดเด่นในฐานะกรรมการ ศอฉ.ที่ขยันขันแข็ง ร่วมกับ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ที่เป็นโฆษก ศอฉ. ที่สำคัญ คือเป็นผู้ทำหน้าที่แถลงแสดงหลักฐานข้อมูลความเคลื่อนไหวสร้างสถานการณ์ของม็อบเสื้อแดง รวมทั้งเรื่องกองกำลังติดอาวุธชายชุดดำ ตลอดจนจัดทำข้อกล่าวหาคนเสื้อแดงเรื่องขบวนการหมิ่นสถาบันเบื้องสูง

หลังจากการชุมนุมยุติลงแล้ว ดีเอสไอ ภายใต้การบริหารของนายธาริต ก็ยังเป็นหน่วยงานหลักที่รับจัดหาคดี ทำสำนวนคดี และดำเนินคดีคนเสื้อแดง โดยเฉพาะคดีก่อการร้าย จึงทำให้นายธาริตเป็นที่เกลียดชังอย่างมากของฝ่ายคนเสื้อแดง และเป็นสาเหตุทำให้ถูกฝ่ายพรรคเพื่อไทยตรวจสอบอย่างหนัก ทั้งเรื่องการทำงานและเรื่องส่วนตัว โดยเฉพาะกรณีที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดง ออกมาเปิดเผยเรื่องการโอนเงิน 1.5 แสนบาท เข้าบัญชีของภรรยาธาริต อ้างว่าเป็นเงินค่าตอบแทนในการเลี่ยงภาษี แต่นายธาริตตอบโต้ว่าเป็นเพียงค่าบริการให้คำปรึกษาทางกฎหมาย

ต่อมา เมื่อพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลายฝ่ายในพรรคเพื่อไทย และกลุ่มคนเสื้อแดงได้เรียกร้องและกดดันให้ปลดนายธาริต เพ็งดิษฐ์ แต่กลับกลายเป็นว่า นายธาริตเองยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปอย่างมั่นคง โดยการปรับเปลี่ยนบทบาทมาทำงานรับใช้ฝ่ายรัฐบาลพรรคเพื่อไทยอย่างแข็งขัน และกลายเป็นผู้นำให้ ดีเอสไอ.เป็นหน่วยงานดำเนินคดีฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ เช่น คดีต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอส คดีทุจริตก่อสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่งทั่วประเทศ คดีสั่งสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เป็นต้น เป็นเหตุให้นายธาริตถูกโจมตีว่า เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ธาริตก็ "เปลี่ยนสีลู่ตามลม"ให้อยู่ในตำแหน่งต่อไป แต่นายธาริตก็อธิบายว่า "ข้าราชการพลเรือนมีหน้าที่ปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล หากไม่ปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลจะมีความผิดทางวินัย นี่คือความจริงที่ต้องยอมรับ เพราะประเทศนี้วางกติกาว่า ฝ่ายการเมืองเป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายข้าราชการประจำเป็นฝ่ายปฏิบัติ ข้าราชการประจำคือเครื่องมือของฝ่ายการเมือง เมื่อกติกาของบ้านเมืองเราและกฎหมายเป็นเช่นนี้ เราก็ต้องปฏิบัติตามนี้"

และในกรณีเหตุการณ์เฉพาะนายธาริตอธิบายว่า เมื่อรัฐบาลประชาธิปัตย์บริหารประเทศ เลือกนโยบายการบังคับใช้กฎหมายแบบเด็ดขาด ซึ่งเขาเห็นว่าถูกต้อง เพราะความขัดแย้งขณะนั้น ถ้าไม่เด็ดขาดเกมก็ไม่จบ ก็จะเกิดการรบกันมากมาย ความสูญเสียอาจจะมากกว่าที่เห็นพันเท่า แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล แล้วใช้นโยบายการปรองดอง เขาก็เห็นด้วยว่าเป็นนโยบายที่ถูกต้อง เขาจึงต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล ในสถานการณ์ที่ต่างกัน

ระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. เพื่อขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2556 ทั้งนายธาริตและดีเอสไอ ก็ตกเป็นเป้าในการปิดล้อม-ขับไล่ กระทั่งบ้านภรรยาธาริตซึ่งซื้อไว้ที่เขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อทำโฮมสเตย์ ก็ถูกตรวจสอบว่าอาจรุกล้ำพื้นที่ป่าสงวน จนต้องยอมรื้อบ้านบางหลัง และคืนที่ดินบางส่วนให้กับราชการ

ต่อมา เพียง 48 ชั่วโมง หลังคณะทหารก่อการรัฐประหาร ก็มีคำสั่ง คสช. ที่ 8/2557 ย้ายนายธาริต พ้นจากตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ.ไปประจำที่สำนักนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้น นายธาริตต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการขึ้นศาล เพื่อต่อสูคดี 26 คดี ที่เขาเป็นทั้งโจทก์และจำเลย นายธาริตอธิบายว่า

"เราไม่ต้องพูดถึงความแฟร์อะไรนะ แต่ผมอยากจะกระตุ้นเตือนความคิดนิดหนึ่งว่า สิ่งที่มันกำลังเกิดขึ้นกับผมในขณะนี้ กำลังเกิดขึ้นกับข้าราชการประจำคนหนึ่ง ที่ตั้งใจ และทุ่มเทการทำงานตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมาย จากผู้ใต้บังคับบัญชา แต่ต้องมาเจออะไรแบบนี้ ต่อไปจะมีข้าราชการประจำคนไหนกล้าที่จะมาทำงานกันไหม"

จากคดีความร่ำรวยผิดปกติ นายธาริตจะถูกยึดทรัพย์ราว 346 ล้านบาท เพียงแต่ในที่นี้อยากมองอย่างเป็นกลางว่า เรื่องนี้เป็นคดีที่ถูกลงโทษจากเรื่องการเมือง เพราะคณะทหารและข้าราชการระดับสูงที่มีทรัพย์สินมากกว่านี้ก็ยังมีอีกหลายคน การลงโทษนายธาริตจึงเป็นเสมือนการ"ตักเตือน"ฝ่ายข้าราชการในโอกาสต่อไป ไม่ให้เบี่ยงเบนไปจากฝ่ายกระแสหลัก

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 614 วันที่ 29 เมษายน 2560

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พนักงานราชการพิเศษ รับคนเก่งหน้าใหม่ อาจได้คนเก่งหน้าเก่า

Posted: 02 May 2017 12:42 PM PDT

 

จากการให้ข่าวของเลขาธิการ ก.พ. เกี่ยวกับมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบแนวทางการให้ "คนเก่ง" นอกระบบราชการสามารถเข้ามาทำงานในระบบราชการได้ผ่านตำแหน่ง "พนักงานราชการพิเศษ" โดยมีอัตราเงินเดือนที่เทียบเท่าหรือสูงกว่าภาคเอกชนนั้นได้รับกระแสความสนใจและถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายประเด็น โดยรายละเอียดของเรื่องดังกล่าวนั้นเป็นที่น่าสนใจว่าเป็นไปเพื่ออะไร และรัฐจะได้ประโยชน์จากแนวทางดังกล่าวจริงหรือไม่?

ก่อนอื่นเรามาพิจารณารายละเอียดของแนวทางดังกล่าวเสียก่อน โดยมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 เห็นชอบการรับพนักงานราชการพิเศษที่ต้องการแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกผู้เชี่ยวชาญพิเศษมาทำหน้าที่ที่ปรึกษา โดยอัตราค่าตอบแทนสูงสุดอยู่ที่ 218,400 บาทต่อเดือน ต่ำสุดที่ 109,200 บาทต่อเดือน ซึ่งถือว่าเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับค่าตอบแทนของผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ กลุ่มสองคือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะค่าตอบแทนจะอยู่ระหว่าง 37,680 – 68,350 บาท ขึ้นอยู่กับการต่อรองกับส่วนราชการที่ว่าจ้าง ทั้งนี้ ยังมีการเปิดโอกาสให้พนักงานราชการพิเศษสามารถเลือกเข้ารับบรรจุเป็นข้าราชการได้ด้วย

แล้วใครคือกลุ่มเป้าหมายที่จะมาเป็นพนักงานราชการพิเศษ? จากหนังสือต้นเรื่อง[1] จากสำนักงาน ก.พ. ระบุกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ มี 3 กลุ่ม ได้แก่

(1) ผู้ที่ได้รับรางวัลจากการแข่งขันในระดับชาติหรือนานาชาติ โดยเน้นที่ความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การออกแบบที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ การด้านอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

(2) ผู้มีคุณวุฒิพิเศษที่หายากหรือขาดแคลนของตลาดแรงงานในสาขาที่จำเป็นต่อการบรรลุภารกิจของส่วนราชการ และ

(3) ผู้สั่งสมความรู้ ทักษะ และประสบการณ์จากการปฏิบัติงานและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ เช่น ข้าราชการเกษียณอายุ อดีตเอกอัครราชทูต ผู้มีประสบการณ์จากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ บริษัทชั้นนำ องค์กรหรือสถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษา เป็นต้น   

นอกจากนี้ กระบวนการสรรหาสามารถดำเนินการเชิงรุกได้และมีความคล่องตัวกว่าการสรรหาในระบบปกติเนื่องจากดำเนินการในลักษณะของสัญญาจ้างตามระยะเวลาที่กำหนด นั่นหมายความว่า หากส่วนราชการ หรือสำนักงาน ก.พ. เห็นว่ามีผู้ที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายกลุ่มเป้าหมายก็สามารถสรรหามาทำงานกับภาครัฐได้ ตามเงื่อนไขข้างต้น  

เมื่อพิจารณารายกลุ่มเป้าหมายเราจะพบว่า กลุ่มแรกนั้นมีเป้าหมายที่จะดึงดูดผู้มีความรู้ความสามารถระดับสูงของสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ตลาดแรงงานมีการแข่งขันกันค่อนข้างสูงและค่าตอบแทนของภาคเอกชนนั้นสามารถจูงใจบุคลากรกลุ่มนี้ได้มากกว่า และที่สำคัญธรรมชาติของบุคลากรกลุ่มนี้มัก "ไม่ถูก" กับระบบการทำงานในระบบราชการที่เต็มไปด้วยกฎระเบียบในทุกขั้นตอน และที่สำคัญระบบการจัดซื้อจัดจ้างของระบบราชการไม่สามารถสนับสนุนการทำงานของบุคลากรกลุ่มนี้ที่ต้องการความรวดเร็วให้ทันกับการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ไม่หยุดนิ่ง

ทั้งนี้ มีข้อเสนอที่น่าสนใจจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี[2] ที่ระบุว่า หลังการจ้างงานพนักงานกลุ่มนี้จำเป็นต้องจัดให้มีระบบพี่เลี้ยงที่ให้คำแนะนำเรื่องกลไกและระเบียบราชการที่จำเป็นในการทำงาน ตลอดจนต้องมีผู้บังคับบัญชาที่สามารถบริหารคนเก่งเหล่านี้ได้ รวมถึงต้องมีระบบการประเมินผลในเชิงคุณภาพของผลงานต่อความคาดหวังของตำแหน่งงานนั้น ซึ่งทำให้เห็นว่าแม้จะได้คนเก่งมาแต่ยังต้องทำงานในสภาพแวดล้อมของระบบราชการไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คำถามสำคัญสำหรับเรื่องนี้ คือ รัฐจำเป็นต้องทำทุกอย่างเองหรือไม่ ในหลายประเทศรัฐทำหน้าที่เพียงส่งเสริมและกำกับดูแลการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยปล่อยให้ภาคเอกชนร่วมมือกับสถาบันการศึกษาทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการในการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ พร้อมๆ ไปกับการสร้างนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ด้านต่างๆ รัฐไม่จำเป็นต้องแบกรับทุกอย่าง เพราะทุกสิ่งที่รัฐทำย่อมหมายถึงงบประมาณที่ประชาชนจะต้องจ่ายมากขึ้น

ส่วนของกลุ่มที่สองนั้นเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกส่วนราชการมีโอกาสหาบุคลากรที่มีศักยภาพที่สอดคล้องกับภารกิจของตนเอง อย่างไรก็ตามกลุ่มนี้น่าจะถูกจับตาจากสังคมและข้าราชการภายใน เนื่องจากเมื่อใช้การสรรหาแบบเชิงรุกอาจเกิดการ "เลือก" บุคลากรบนฐานของระบบเครือข่ายอุปถัมภ์ หรือ "เด็กฝาก" ได้ หรือไม่ก็อาจจะซ้ำซ้อนกับช่องทางเดิมที่มีอยู่คือระบบข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูง (HiPPS) ของสำนักงาน ก.พ. และ โครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ ของสำนักงาน ก.พ.ร. เป็นต้น ซึ่งส่งผลต่อขวัญและกำลังใจในการทำงานของข้าราชการที่ปฏิบัติงานอยู่เดิมได้

กลุ่มสุดท้าย เป็นกลุ่มที่น่าจับตามากที่สุด เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้ข้าราชการเกษียณอายุประเภทต่างๆ สามารถเข้ามามีตำแหน่งหลังเกษียณได้ รวมถึงผู้บริหารรัฐวิสาหกิจและสถาบันการศึกษาด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วระบบราชการไทยไม่ว่าจะยุคสมัยใด มักจะเชิญข้าราชการเกษียณอายุมาเป็นนั่งตำแหน่งกรรมการ และอนุกรรมการต่างๆ จำนวนมาก (รวมๆ กันมีมากกว่า 100 คณะกรรมการ) ซึ่งได้ค่าตอบแทน 8,000 – 4,000 บาท เป็นค่าตอบแทนกรรมการรายเดือนหรือค่าเบี้ยประชุมรายครั้งตามตำแหน่งที่กระทรวงการคลังกำหนด[3]  

ยิ่งดูจากเป้าหมายที่ต้องการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีแล้วเราอาจจะได้เห็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ถูกจ้างมาทำงานในระบบราชการในฐานะพนักงานราชการพิเศษข้างต้นไม่มากก็น้อย เนื่องจากในจำนวนสมาชิก สปท. จำนวน 200 คนนั้นมีข้าราชการเกษียณอายุ 34 คน และข้าราชการระดับสูงอีก 30 คน นักวิชาการหรือผู้บริหารมหาวิทยาลัยรวม 20 คน และมาจากภาคธุรกิจ 8 คน ซึ่งหากพิจารณาในมิติของความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศก็อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้สมาชิก สปท. เหล่านี้จะได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานราชการพิเศษข้างต้น และเปลี่ยนจากได้รับเงินเดือนจากกว่า 7 หมื่นบาท มาเป็นหลักแสนบาทได้ พร้อมรับบำนาญและสวัสดิการต่างๆ อย่างต่อเนื่องได้    

อย่างไรก็ตาม คำถามที่น่าคิดคือ ข้าราชการประจำกว่า 1.29 ล้านคน[4] ที่ผ่านระบบการสอบแข่งขันเข้ามานั้นไม่ใช่คนเก่งหรือ? ถ้าคำตอบคือเราได้คนไม่เก่งมาเป็นข้าราชการ วิธีการที่จะแก้ไขก็น่าจะเป็นการปรับปรุงระบบการสรรหาและคัดเลือกข้าราชการ ซึ่งคนที่รับผิดชอบโดยตรงคือสำนักงาน ก.พ. แต่...ถ้าคำตอบคือเราได้คนเก่งเข้ามาในระบบราชการ ก็ต้องมาพิจารณาต่อไปว่าทำไมคนเก่งที่เราต้องจ่ายค่าตอบแทนกว่า 6.3 แสนล้านบาทต่อปี ไม่สามารถแสดงอิทธิฤทธิ์ความเก่งในการพัฒนาประเทศได้ ซึ่งความเห็นของผู้เขียนคิดว่าประเด็นนี่น่าจะสำคัญมากกว่า

หากจะมองให้เป็นระบบมากขึ้น เมื่อมีข้าราชการเข้ามาในระบบราชการไทยเขาก็จะได้รับการฝึกอบรม การพัฒนาในหลักสูตรต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วไป บางรายได้ทุนไปศึกษาต่อในต่างประเทศ และหากข้าราชการจะเติบโตตามสายงานในตำแหน่งที่สูงขึ้นก็ต้องผ่านหลักสูตรฝึกอบรมที่สำคัญๆ เฉพาะตำแหน่งก่อน ดังนั้น เราจะกล่าวหาว่าคนที่อยู่ในระบบราชการไม่ได้รับการพัฒนาก็คงจะไม่ได้ แต่สิ่งที่ต้องช่วยกันหาคำตอบคือทำไมคนเก่งเหล่านี้จึงไม่สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้ วัฒนธรรมในระบบราชการที่เน้นความอาวุโสเป็นอุปสรรคต่อการใช้ประโยชน์ความเก่งหรือไม่ กฎระเบียบภายในเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์งานที่มีประสิทธิภาพหรือไม่ และที่สำคัญระบบประเมินผลที่ใช้สะท้อนคุณภาพของผลงานหรือสะท้อนความชื่นชอบของเจ้านายกันแน่?

หากตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้ ก็จะไม่สามารถทำให้เราใช้ประโยชน์จากคนเก่งที่ได้มาใหม่อย่างคุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไป และยิ่งไปกว่านั้น อาจเป็นการเปิดช่องให้ "คนเก่า" หรือ "คนเดิม" มานั่งเก้าอี้ใหม่ รับค่าตอบแทนใหม่ ซึ่งก็ไม่ได้ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร เป็นเพียงการหางานให้คนเกษียณอายุทำเท่านั้น 

 

เชิงอรรถ

 

[1] หนังสือที่ นร 1008.5/8 ลงวันที่ 24 มกราคม 2560

[2] หนังสือที่ วท (ปคร) 0211/799 ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560

[3] ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดรายชื่อคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการที่มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายเดือน และอัตราเบี้ยประชุมเป็นรายเดือนและเป็นรายครั้งสำหรับกรรมการ อนุกรรมการ เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ พ.ศ. 2558.

[4] สำนักงาน ก.พ. 2559. กำลังคนภาครัฐในฝ่ายพลเรือน พ.ศ. 2558. นนทบุรี.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปท.เห็นชอบข้อเสนอ กมธ.สื่อ ตั้ง กก.กองทุนสื่อปลอดภัย-สร้างสรรค์ ดันสื่อออนไลน์เชิงบวก

Posted: 02 May 2017 12:08 PM PDT

สปท. เห็นชอบผลการศึกษาและข้อเสนอแนะด้านยุทธศาสตร์และแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ ตั้งคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เเป็นกลไกการบริหารจัดการการใช้สื่อออนไลน์เชิงบวกและสร้างสรรค์

ที่มาภาพ : เว็บไซต์วิทยุลแะโทรทัศน์รัฐสภา 

2 พ.ค 2560 รายงานข่าวระบุว่า ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติเห็นชอบรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน เรื่อง "ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะด้านยุทธศาสตร์และแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์" ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน และ ร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ด้วยคะแนนเสียง 154 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง และงดออกเสียง 5 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 160 คน ก่อนรวบรวมความเห็นนำไปศึกษาต่อไป

พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธาน กมธ.พร้อมคณะ ได้กล่าวชี้แจงว่า จากการศึกษาของ กมธ.พบว่า ข้อมูลข่าวสารที่นำเสนอผ่านสื่อหลักประเภทสิ่งพิมพ์ สถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์จะมีกลไกหน้าที่กำกับดูแลกันเอง แต่ปัจจุบันสังคมไทยรับรู้ข่าวสารผ่านสื่อออนไลน์อย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องมีวิธีการปฏิรูปที่ชัดเจนและครอบคลุมในทุกมิติ ดังนั้น กมธ.จึงได้เสนอแนะแนวทางในการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวใน 5 รูปแบบ ประกอบด้วย 1.การส่งเสริม สนับสนุนการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ให้เป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติ 2.สร้างกลไกบริหารจัดการและกำกับดูแลการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ในลักษณะการกำกับกันเอง ที่มีภูมิคุ้มกันและสร้างความเข้มแข็งให้กับกลไกดังกล่าว 3.เสริมสร้างและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อให้สังคมไทยใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ มีจริยธรรม คุณภาพ และเหมาะสมกับบริบทและวัฒนธรรมไทย 4.การกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม แนวทางและรูปแบบการขับเคลื่อนการปฏิรูปการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ให้มีความต่อเนื่องและยั่งยืน และ 5.การมีกระบวนการตรวจสอบและการประเมินผล อาทิ การจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์, สื่อออนไลน์ควรให้กระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นหน่วยงานหลัก ในการกำหนดให้บทบาทหน่วยงานในสังกัดทำหน้าที่เฝ้าระวัง ตรวจสอบสื่อที่ไม่เหมาะสม, กลไกภาครัฐควรสนับสนุนให้ผู้ใช้สื่อผู้ที่ได้รับการยอมรับในลักษณะเป็น "เน็ตไอดอล" ให้ร่วมทำกิจกรรมเกี่ยวกับการกำกับดูแลกันเองในกลุ่มผู้ใช้สื่อ และผู้เกี่ยวข้องกับสื่อต่างๆ ต้องเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้รับทราบข้อมูลการดำเนินงานต่างๆ ได้ทางสาธารณะอย่างเปิดเผยและเข้าถึงได้ทุกเวลา ทั้งนี้ กมธ.เห็นว่าหากมีการดำเนินการตามแนวทางข้างต้นแล้ว จะส่งผลให้สังคมไทยเกิดความตระหนักรู้ และจิตสำนึกรู้สึกผิดชอบการใช้งานสื่อตามขอบเขตของกฎหมาย จนอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย โดยไม่ต้องใช้กระบวนจัดการทางด้านกฎหมายในการแก้ปัญหาหลัก

เพิ่มพงษ์ เชาวลิต กรรมาธิการฯ กล่าวว่า กรรมาธิการฯ ได้เสนอให้ตั้งคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนการใช้สื่อสร้างสรรค์ เป็นกลไกการบริหารจัดการการใช้สื่อออนไลน์เชิงบวกและสร้างสรรค์ พร้อมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและกระบวนการตรวจสอบประเมินผลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ขณะที่สมาชิก สปท.บางส่วน อาทิ กษิต ภิรมย์ อภิปรายไม่เห็นด้วยกับการให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการดังกล่าว เพราะนายกรัฐมนตรีไม่ใช่หนุมานที่จะทำหน้าที่ได้ทุกคณะกรรมการ

คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิก สปท. อภิปรายว่า ขอให้กรรมาธิการฯทบทวนและแก้ไขการออกใบรับรองหรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน เพราะการออกใบรับรองที่สื่อต้องผ่านการอบรมและเจ้าของกิจการต้องผ่านการอบรมด้วย ทั้งที่ความจริงสื่อควรมีสิทธิเสรีภาพ ไม่ควรถูกบังคับให้เปิดเผยความคิด ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องแสดงที่มาของบัญชีทรัพย์สิน เพราะใช้ภาษีประชาชน แต่ยังไม่ถึงขั้นต้องเปิดเผยความความคิด

"แล้วเหตุใดสื่อจึงต้องดำเนินการตามที่ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... ทั้งที่สื่อส่วนใหญ่เป็นเอกชนใช้เงินทุนตัวเอง และสื่อก็มีสิทธิเสรีภาพจะเปิดเผย หรือไม่เปิดเผยก็ได้ ต้องระมัดระวัง หากถูกนำไปตัดตอนวิพากษ์วิจารณ์บางส่วน อาจถูกตั้งคำถามว่า สปท.กำลังจะไปเขียนอะไรที่ควบคุมขนาดนั้นหรือไม่" คำนูณ กล่าว
 

ต่อมา พล.อ.อ.คณิต กล่าวว่า กรรมาธิการจะแก้ไขและปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... ตามข้อสังเกตของ สปท.ภายใน 30 วัน ซึ่งจะเริ่มพิจารณาได้ในสัปดาห์หน้า โดยวางแนวทางให้งเจ้าหน้าที่ถอดคำอภิปรายของสปท.ทั้ง 20 คนเพื่อนำความเห็นที่เป็นประโยชน์มาปรับปรุง อาทิ คำนิยามของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน เพราะมีข้อท้วงติงว่าไม่ควรเหมารวม ควรแยกรายละเอียดเป็นสื่อแต่ละประเภท เช่น สื่อกระแสหลัก สื่อทางเลือก สื่อออนไลน์ หรือการเผยแพร่ข้อมูลผ่านกลุ่มแฟนเพจเฟซบุ๊ค 

"ส่วนข้อเสนอของผมที่ให้เขียนบทเฉพาะกาลกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของ 2 ตัวแทนเจ้าหน้าที่รัฐในสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ เพียง 5 ปี จากนั้นจะไม่ให้ตัวแทนเจ้าหน้าที่รัฐร่วมเป็นสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติอีกต่อไปนั้น ยังตอบไม่ได้ว่าจะแก้ไขหรือไม่ เพราะเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวที่เสนอต่อที่ประชุมและยังไม่ใช่มติของกรรมาธิการ ขณะที่สมาชิก สปท. ไม่ได้ตอบรับหรือแสดงความเห็นสนับสนุนแต่อย่างใด" พล.อ.อ.คณิต กล่าว

 

ที่มา : เว็บไซต์วิทยุลแะโทรทัศน์รัฐสภา และ สำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

2 สปท. ลาออก 'วิทยา' กลับซบ ปชป. เตรียมลงเลือกตั้ง

Posted: 02 May 2017 11:52 AM PDT

วิทยา แก้วภราดัย ลาออก สมาชิก สปท. กลับไปสมัครเข้าสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ตามเดิม เตรียมลงเลือกตั้ง เหตุต้องลาออกภายใน 90 วันนับจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ขณะที่ ณัฎฐ์ ออกด้วย เหตุปัญหาสุขภาพ

2 พ.ค.2560 รายงานข่าวระบุว่า ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แจ้งที่ประชุมทราบถึงการลาออกของ วิทยา แก้วภราดัย สมาชิก สปท. โดยให้มีผลนับตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. เป็นต้นไป หลังจากนั้น ณัฎฐ์ ชพานนท์ สมาชิก สปท. ลำดับที่ 51 ก็ได้แสดงความประสงค์ยื่นหนังสือลาออกจากการดำรงตำแหน่งเช่นเดียวกัน โดยระบุเหตุผลการลาออกเนื่องจากปัญหาสุขภาพ ทำให้ขณะนี้มีจำนวนสมาชิก สปท.เหลือทั้งสิ้น 193 คน

วิทยา กล่าวถึงเหตุผลของการลาออกว่า เพื่อกลับไปทำหน้าที่นักการเมืองที่ถนัด การลาออกเป็นไปตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้สมาชิกแม่น้ำ 4 สาย ประกอบด้วยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ต้องการลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ต้องลาออกภายใน 90 วันนับจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้

"ผมจะกลับไปสมัครเข้าสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ตามเดิม ภายหลังกฎหมายพรรคการเมืองมีผลใช้บังคับ และคสช.ปลดล็อคพรรคการเมือง ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามแผนที่ผมวางไว้ว่า หากงานปฏิรูปในส่วนที่รับผิดชอบเสร็จสิ้น จะลาออกจากตำแหน่ง สปท.เพื่อทำงานการเมืองต่อไป" วิทยา กล่าว

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย และเดลินิวส์ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โฆษกศาลฯ แจง ศาลฎีกาสั่งจำคุก 'ตายายเก็บเห็ด' ลดโทษเหลือ 5 ปี

Posted: 02 May 2017 09:04 AM PDT

ระบุขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งสองอายุ 48 ปี สำหรับความผิดคือร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองและทำประโยชน์โดยการทำไม้ในป่าดงระแนง ร่วมกันทำไม้ และร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาต 

2 พ.ค. 2560 รายงานข่าวจาก กลุ่มงานโฆษกและเผยแพร่ข่าว กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม ระบุว่า สืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยถึงคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3581/2554 หมายเลขแดงที่ 3508/2554 ที่พนักงานอัยการจังหวัดกาฬสินธุ์ โจทก์ ยื่นฟ้อง อุดม ศิริสอน และ แดง ศิริสอน (ขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งสองอายุ 48 ปี) เป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2553 เวลากลางวัน กล่าวหาว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองและทำประโยชน์โดยการทำไม้ในป่าดงระแนง ต.คลองขาม อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งอยู่ในแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ และใช้อุปกรณ์เครื่องมือ ตัดและโค่นไม้สักไม้กระยาเลยที่เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก ออกจากต้นจำนวน 700 ต้นในเขตดังกล่าว โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และมิได้รับสัมปทานหรือได้รับยกเว้นใดๆ ตามกฎหมาย รวมทั้งร่วมกันมีไม้สักและไม้กระยาเลยที่ยังไม่ได้แปรรูป จำนวน 1,148 ท่อน โดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขาย ไว้ในครอบครอง และไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ

จนกระทั่ง ในวันนี้ เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษาแก้ให้จำคุกคนละ 4 ปี ฐานร่วมกันทำไม้สักซึ่งเป็นไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำคุกคนละ 6 ปี ฐานร่วมกันมีไม้สักซึ่งเป็นไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครอง เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ทั้งนี้ คดีดังกล่าว พนักงานอัยการจังหวัดกาฬสินธุ์ได้ยื่นฟ้องคดีดังกล่าวต่อศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2554 จำคุกคนละ 30 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือจำคุกคนละ 15 ปี ริบของกลางทั้งหมดกับให้จำเลยทั้งสอง คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยทั้งสองออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เข้าไปครอบครองด้วย

ต่อมาจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2555 พิพากษาแก้เป็นความผิดฐานร่วมกันบุกรุก แผ้วถาง ก่อสร้าง ทำไม้ ยึดถือครอบครอง หรือกระทำการใดๆ อันเป็นการกระทำให้เสื่อมสภาพป่าสงวนแห่งชาติเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานทำไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักสุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 11 ปี และฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้อันยังไม่ได้แปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 19 ปี ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว ฐานร่วมกันทำไม้ คงจำคุกคนละ 5 ปี 6 เดือน ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาต คงจำคุกคนละ 9 ปี 6 เดือน รวมจำคุกคนละ 14 ปี 12 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จนกระทั่งมีคำพิพากษาของศาลฎีกาในวันนี้

โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 106/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ข้อ 3 และข้อ 5 ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา 69 และมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสอง จึงใช้กฎหมายเดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยทั้งสอง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์-วรศักดิ์ มหัทธโนบล เปิดนัยสัมพันธ์ไทย-จีนหลังดีลเรือดำน้ำ

Posted: 02 May 2017 08:18 AM PDT

สองทัศนะผู้เชี่ยวชาญการต่างประเทศ 'ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์' และ 'วรศักดิ์ มหัทธโนบล' กรณีความสัมพันธ์ไทย-จีนหลังเปิดดีลจัดซื้อเรือดำน้ำ และให้เรือจีนสำรวจน้ำโขงเพื่อขยายเส้นทางเดินเรือ โดยเห็นต่างจัดซื้อเรือดำน้ำ แต่เห็นพ้องเรื่องสัมพันธ์ดูดดื่มกับจีนเพียงระยะสั้น ในช่วงโลกตะวันตกไม่เอารัฐบาลทหาร เตือนคบจีนต้องระวังเรื่องเอาเปรียบ และไทยควรดำเนินนโยบายเป็นกลาง

สิ่งหนึ่งที่สะท้อนจากมติ ครม. ทั้งการสั่งซื้อรถถัง เรือดำน้ำ จากจีน รวมไปถึงการให้จีนเข้ามาทำการสำรวจแม่น้ำโขงเพื่อสำรวจและพัฒนาเส้นทางเดินเรือซึ่งอาจจบที่การปรับปรุงร่องน้ำโขงด้วยการระเบิดแก่งชายแดนไทยด้านสามเหลี่ยมทองคำคือความสัมพันธ์แนบชิดระหว่างรัฐบาล คสช. กับรัฐบาลจีน ที่ดูจะเต้นรำไปในทำนองเดียวกัน และได้เกิดข้อคำถามขึ้นมาว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตอันใกล้และไกลเมื่อไทยจับมือกับจีนเช่นนี้

ประชาไทมีโอกาสสัมภาษณ์ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ Institute of Security and International Studies (ISIS) รศ.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศและการเมืองจีน ผศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล เพื่อให้ภาพรวมความสัมพันธ์ สาเหตุและความจำเป็นที่ต้องเข้าหาจีนมากขึ้น และความเสี่ยงจากการยอมให้จีนแผ่อิทธิพลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไทยมากจนเกินไป

การฝึกผสมนาวิกโยธินไทย-จีน รหัส Blue Strike 2016 (ที่มา: แฟ้มภาพ/YouTube/NavyChannel Thailand)

กองกำลังป้องกันชายแดนจีนลาดตระเวนอยู่ในลำน้ำโขงเมื่อเดือนธันวาคมปี 2556 (ที่มา: แฟ้มภาพ/Xinhua)

ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ (ซ้าย) และ วรศักดิ์ มหัทธโนบล (ขวา) (ที่มา: แฟ้มภาพ/polsci.chula.ac.th)

 

การซื้อเรือดำน้ำ ซื้อรถถังจากจีน มีนัยทางการเมืองภายใน การเมืองระหว่างประเทศอย่างไร

ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์: ยุทธศาสตร์ของไทยได้ให้ความสำคัญกับจีนขึ้นอย่างชัดเจนหลังรัฐประหารครั้งล่าสุด ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพราะจีนเป็นมหาอำนาจ จึงต้องคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์อันดี โดยเฉพาะในเวลาที่บทบาทของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ลดลงเพราะต้องกลับไปแก้ปัญหาภายในประเทศ และให้ความสำคัญกับความตึงเครียดในตะวันออกกลาง

จุดยุทธศาสตร์ไทยได้เปลี่ยนไปทางจีนอย่างชัดเจนโดยเฉพาะหลังรัฐประหารปี 2557 การที่จะไปใกล้ชิดกับจีนเป็นเรื่องธรรมดา ประเทศแถบนี้ก็ต้องใกล้ชิดกับจีนในฐานะที่เป็นมหาอำนาจ เราก็ต้องมีความสัมพันธ์อันดี ไทยเองก็มีความสัมพันธ์อันดีมาตั้งแต่เป็นสยามประเทศ จะไม่ดีก็มีแค่ช่วงสงครามเย็นที่จีนสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) รวมทั้งเขมรแดง หลังจากนั้นก็กลับมาใกล้ชิดกันเมื่อจีนช่วยกำราบเวียดนาม

ในช่วงหลัง บทบาทสหรัฐฯ ได้ถอยออกไป เพราะมีภารกิจในตะวันออกกลาง ปัญหาในประเทศตัวเอง ทำให้สหรัฐฯ ไม่มีบทบาทเต็มเม็ดเต็มหน่วยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รัฐบาลโอบาม่าก็มีความพยายามจะเพิ่มบทบาทในจุดนี้ด้วยนโยบาย Rebalance ปักหมุดเอเชีย แต่ก็เห็นว่าไม่ได้ผลเท่าไหร่ ทั้งการที่ฟิลิปปินส์ คู่กรณีหลักกับจีนในพื้นที่ทะเลจีนใต้ ไม่ยกเอาคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในกรณีที่จีนเข้ายึดหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ ที่ตัดสินให้ฟิลิปปินส์ชนะในแทบทุกกระทง มาต่อรองกับจีนในที่ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งล่าสุด ทั้งจีนเองก็ยังยึดครองเกาะแก่ง สร้างเกาะเทียมและติดอาวุธบนเกาะอยู่โดยไม่ฟังคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของจีนและท่าทีที่ไม่เล่นตามกติกาคนอื่นของจีน ด้วยเหตุฉะนี้ ไทยจึงตระหนักว่าต้องใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น ทั้งจีนเองก็ยอมรับรัฐบาลทหารของไทยมาตั้งแต่ต้น มีการส่งเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสไปมาหาสู่กันและยังมีข้อตกลงให้มีการพัฒนารางรถไฟ ระบบขนส่งมวลชน

ในส่วนการซื้ออาวุธจีนทั้งรถถัง และเรือดำน้ำ มันเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับยุทธศาสตร์ของไทย การใช้อาวุธที่ก้าวหน้าและแพงมากอย่างเรือดำน้ำ เป็นการผูกอนาคตไว้กับจีน ทั้งยังเป็นการเลือกข้างในสภาวะการแย่งชิงอิทธิพลของมหาอำนาจอย่างชัดเจน ที่ผ่านมาไทยเป็นพันธมิตรกับมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ตามลายลักษณ์อักษร แต่ในทางปฏิบัติใกล้กับจีนมากกว่า อันนี้เราต้องระมัดระวังมาก เพราะการซื้อเรือดำน้ำมันพ่วงมากับการซื้ออะไหล่ การฝึกฝน อาวุธที่มากับเรือดำน้ำ

การมีอาวุธจากจีน ทำให้กองทัพมีปัญหาเรื่องการใช้อาวุธอย่างบูรณาการ เพราะอาวุธส่วนใหญ่ของไทยมีการผสมผสานจากต่างประเทศ ทุกวันนี้เครื่องบินรบของไทยก็ใช้เครื่องบินกริพเพนจากสวีเดน มีของเก่าจากสหรัฐฯ ของใหม่มาจากรัสเซีย ยูเครน ยุโรปก็มี ปัญหาก็คือว่า เมื่อใช้ปฏิบัติการจริงๆแล้ว อาวุธที่มาจากคนละระบบ คนละประเทศก็ใช้งานลำบาก

อีกปัญหาหนึ่งคือ การฝากอนาคตเอาไว้กับจีนทำให้ไทยรักษาความเป็นกลางในอนาคตได้ยากขึ้น ยังไม่ต้องพูดถึงประโยชน์หรือความโปร่งใสของเรือดำน้ำ การจัดซื้อเรือดำน้ำของไทยมีปัญหาหลายอย่าง

หนึ่งก็คือ เรือดำน้ำนี้มีเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งเรือดำน้ำชั้นนำเดี๋ยวนี้ต้องเงียบ ได้ยินเสียงไม่ได้ แล้วก็สิ่งที่จีนเสนอมา ความโปร่งใสจริงๆ แล้วเป็นอย่างไร ตอร์ปิโดแถมมากี่ลูก แล้วยิงจริงได้กี่ลูก เรือสามารถอยู่ใต้น้ำได้กี่วัน เรือดำน้ำคลาสหยวนวิ่งเร็วขนาดไหน เรือดำน้ำต้องวิ่งเร็วนะครับ เพราะเวลาไปยิงใครแล้วต้องรีบวิ่งหนี ถ้าวิ่งหนีได้ไม่เร็ว หรือเร็วได้ไม่นานนักก็จะเป็นอันตรายเพราะจะโดนยิงสวน ในเชิงปฏิบัติการ ความโปร่งใส ยังมีคำถามหลายอย่างที่ยังไม่มีคำตอบ แต่ในเชิงยุทธศาสตร์แล้ว การเข้าข้างจีนโดยไม่จำเป็นถึงขนาดนี้ มันจะรักษาความเป็นกลางต่อไปได้ยากในอนาคต ต่อไปในภูมิภาคของเราจะทวีความตึงเครียดมากขึ้น แล้วทำไมเราถึงต้องไปเข้าข้างจีนมากไป น่าจะมาทางญี่ปุ่นบ้าง สหรัฐฯ หน่อยหนึ่ง และก็มีพวกอาเซียนที่จะเกื้อหนุนและรวมตัวกันเพื่อคานอำนาจกับจีน

000

วรศักดิ์ มหัทธโนบล: เรื่องเรือดำน้ำ หรือว่าก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะซื้ออาวุธอะไร เราต้องเข้าใจเกณฑ์พิจารณาก่อนว่าเขาจะซื้อเพราะอะไร ตอนนี้บ้านเรามีรถถังนับร้อยนับพันคัน แต่ว่ามันก็ไม่มีสงคราม ใครที่ไม่เข้าใจก็อาจจะถามว่าซื้อเอาไว้ทำไม การที่เขาซื้อมาก็อยู่ในความคิดที่ว่า แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ ซึ่งก็เป็นกันทั่วโลก การซื้อเรือดำน้ำ มันก็มีเหตุผลของมัน ถ้าเราพิจารณาจากปัญหาความมั่นคงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้ แม้ไทยไม่ได้ไปเกี่ยวพันกับเขา แต่ว่าอ่าวไทยมันติดกับทะเลจีนใต้ ถ้าวันหนึ่งมีความตึงเครียด มีการปะทะกันด้วยกำลัง การมีเรือดำน้ำมันก็เป็นการป้องกันไว้ดีกว่าแก้ แต่ในข้อที่ว่ามีการคอร์รัปชัน มีค่าคอมมิชชันไหม ก็อยู่ในวิสัยที่จะพิจารณาตรงนี้ ผมก็ไม่ได้ข้องใจอะไรที่จะซื้อ เพราะผมติดตามสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาคมันก็ควรมี แต่สิ่งหนึ่งที่เราอย่าลืมคือ ประเด็นเรือดำน้ำ มีแนวคิดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 หลัง 2475 เราก็มีเรือดำน้ำ ประเด็นเรื่องควรมีหรือไม่ควรมีเราควรทิ้งไป เราคงมีความคุ้นชินกับอำนาจของกองทัพบกตั้งแต่ปี 2494 หลังกบฏแมนฮัตตัน ที่กองทัพบกเด็ดปีกกองทัพเรือ ไม่ให้มีเรือดำน้ำอีกเลย ดังนั้นการที่จะมีครั้งนี้เลยรู้สึกแปลกแยกว่าทำไมต้องมี ทั้งๆที่มีมาก่อนหน้านี้หลายสิบปีแล้ว

 

แล้วกรณีของการให้จีนเข้ามาสำรวจแม่น้ำโขงแสดงให้เห็นอะไรบ้าง

วรศักดิ์: จริงๆ มองได้สองระดับ ระดับแรก ข้ออ้างที่ใช้กันมาไม่ต่ำกว่า 20 ปีบนแม่น้ำโขงก็คือ เรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจบนอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ความคิดหลักอันหนึ่งคือการพัฒนาเส้นทางคมนาคม ซึ่งก็มีทั้งทางบก ทางน้ำ ทางบกก็มีเส้นทางเชื่อมต่อไทย-พม่า-จีน และ ไทย-ลาว-จีนไปแล้ว มันก็มีเส้นทางแม่น้ำโขง ที่มีความพยายามตรงนี้มาโดยตลอด แล้วประเทศที่กระตือรือร้นจริงๆ มีอยู่สองประเทศ ก็คือจีนกับไทย ชนชั้นปกครองไทยไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร ไม่ค่อยคิดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมหรอกครับ แม้แต่ปัจจุบันก็เป็นแบบนั้น ส่วนจีนนี่ไม่ต้องถามเลย เพราะเขาถือว่าความมั่งคั่งต้องมาก่อนสิ่งแวดล้อม เราจะเห็นว่าเมืองใหญ่ๆของจีนมีมลพิษเยอะ เขาก็ไม่ใส่ใจ นับประสาอะไรกับแม่น้ำโขงที่เขาถือเป็นแม่น้ำนานาชาติ

ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา มีการปรับปรงุร่องน้ำมาโดยตลอด ซึ่งมีสามระยะ คือระวางน้ำหนักเรือไม่เกิน 100 ตัน ไม่เกิน 300 และไม่เกิน 500 โดยสิบกว่าปีที่ผ่านมาได้ทำไปแล้วในสองระยะแรก ก็ยังเหลือระยะที่สามที่ทำไม่ได้ เพราะทำไปทำมาก็มาติดที่คอนผีหลง ซึ่งมีผลกระทบหลายอย่าง ในที่สุดก็ทำไม่ได้ ประเด็นที่ถกเถียงกัน ณ ขณะนี้มันเกิดจากมติ ครม. ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ที่ยอมตกลงกับจีนให้มีการสำรวจเพื่อปรับปรุงร่องน้ำ ผมขอย้ำนะว่าสำรวจ ตอนนี้ที่มีเรือจีนเข้ามา มันอยู่ในขั้นตอนของการสำรวจ ยังไม่มีการปรับปรุงร่องน้ำหรือระเบิดเกาะแก่งใดๆ ทั้งสิ้น เราก็ต้องรอดูว่า ถ้าเรือจีนสำรวจแล้วพบว่าทำได้ ก็ต้องมาคุยกันแล้วว่าจะทำได้อย่างไร

การมาบอกว่าไม่กระทบสิ่งแวดล้อมนั้นอย่ามาพูด การปรับปรุงร่องน้ำที่ไหนในโลกต้องกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งนั้น อยู่ที่ว่ามากหรือน้อย ถ้ากระทบน้อย ในระดับที่รับได้ เขาก็ปรับปรุงร่องน้ำกันทั่วโลก แต่ถ้ากระทบมาก ไม่มีประเทศไหนเขาทำกัน สำหรับแม่น้ำโขง ระดับที่กระทบน้อยที่สุดก็คือระดับไม่เกิน 100 ตัน แต่ปัจจุบันมันทำไปแล้ว 300 ตัน แล้วคนที่กระดี๊กระด๊าที่สุดก็คือจีนกับไทย แต่เราจะไปโทษจีนอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะพื้นที่ที่เขาทำมันอยู่ในพื้นที่อธิปไตยของลาวและพม่า รัฐบาลไทยทำอะไรไม่ได้เพราะมันอยู่ในเขตอธิปไตยของลาวและพม่า แล้วถ้าเขาทำไปแล้ว แล้วเราไม่ทำถามว่ามันกระทบไหม มันก็กระทบ เพราะแม่น้ำมันสายเดียวกัน ถ้าเขาสำรวจแล้วพบว่าปรับปรุงร่องน้ำได้ เราก็ต้องมาดูว่าทำได้ อย่างไร ถึงตอนนั้นผมว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องจัดให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์อย่างรอบด้านและโปร่งใส

ในระดับที่สอง ไม่เคยมีใครตั้งคำถามว่า ทำไมจีนถึงมีแรงปรารถนาให้ปรับปรุงร่องน้ำให้รองรับเรือน้ำระวางน้ำหนัก 300-500 ตัน หมายความว่ายิ่งลึก ระวางสินค้าก็ยิ่งมาก สิ่งที่ไม่มีใครคิดก็เหมือนเรือดำน้ำนั่นแหละ ก็คือปัญหาความมั่นคง สมมติว่าในอนาคตเกิดปัญหาความมั่นคงขึ้นมาในลุ่มแม่น้ำโขง ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงไม่มีกำลังรบทางเรือบนแม่น้ำได้เท่ากับจีนหรอก การที่เราระวังไม่ใช่ว่าเราระแวง ดังนั้น 500 ตันเนี่ย ผมเองก็ไม่เห็นด้วย เราก็ต้องดูเหตุผลของเขา

อีกเรื่องที่ไม่เคยมีใครตั้งคำถามก็คือ จีนยังคงมีความปรารถนาที่จะให้ขุดคอคอดกระมาก ถ้าในอนาคตมีข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ หรือระหว่างสหรัฐฯ กับจีน คอคอดกระจะเป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์ทางทะเลทันที แล้วเราจะทำอย่างไร จะมองหน้าชาติสมาชิกอาเซียนที่เป็นคู่พิพาทกับจีนได้อย่างไร

000

ฐิตินันท์: ส่วนกรณีลุ่มน้ำโขง การใช้งานแม่น้ำโขงของจีนที่เป็นรัฐต้นน้ำ ก็ส่งผลกระทบต่อรัฐปลายน้ำอย่างเวียดนามและกัมพูชา ที่รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรอาหารต่อคนไม่ต่ำกว่า 60 ล้านคน ส่วนไทยและลาวไม่ค่อยบ่น เพราะลาวเองมีเขื่อนในแม่น้ำโขง ไทยก็สนับสนุนลาวในการสร้างเขื่อน เพราะไฟฟ้าที่ได้ลาวก็เอามาขายไทย ในแม่น้ำโขงเองแม้จะมีสถาบัน มีกติการ่วมกันอยู่ เช่น Mekhong River Commission แต่จีนก็ไม่ได้เป็นสมาชิก เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์เท่านั้น จีนก็มีความพยายามในการสร้างกฎกติกาของตนเอง ด้วยการจัดประชุมสุดยอดล้านช้าง-แม่โขง (Lancang–Mekong Summit) หรือการจัดตั้งความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง (Lancang – Mekong Cooperation) โดยล้านช้างเป็นชื่อที่จีนเรียกแม่น้ำโขง สะท้อนว่า ถ้าไม่ใช่กฎกติกาที่จีนเป็นคนตั้งเองแล้ว จีนจะไม่เล่นตามกฎ หมู่ประเทศเล็กๆเหล่านี้ก็ต้องยอมจีนไป สิ่งที่เกิดขึ้นถ้าประเทศในอาเซียนทั้งบนบกและในน้ำ ถ้าไม่ผนึกกำลังกันใช้อำนาจต่อรองในการร่วมมือทางการทูตกับญี่ปุ่น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย มาคานอำนาจกับจีน ถ้าไม่ทำอย่างนั้นแล้วกลุ่มประเทศเหล่านี้จะเสียเปรียบจีนมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ในด้านความเป็นประโยชน์ของการจับมือกับประเทศมหาอำนาจและกลุ่มประเทศในอาเซียนเพื่อคานอำนาจกับจีน

ฐิตินันท์: เชื่อว่ามีส่วนช่วยได้มาก ด้วยตรรกะพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ประเทศที่เราเป็นคู่กรณีด้วย ถ้าเขามีคู่กรณีอื่นๆ คู่กรณีของเขาก็เป็นหุ้นส่วนของเราโดยอัตโนมัติได้ ดังนั้นถ้าญี่ปุ่นเป็นคู่กรณีกับจีน ญี่ปุ่นก็อาจจะอยากมีความร่วมมือกับอาเซียนมากขึ้นเพื่อคานอำนาจกับจีน และเป็นเช่นนั้นสำหรับอาเซียนในทางกลับกันเช่นกัน ในกรณีสหรัฐฯ เอง ก็ไม่ได้เป็นศัตรูกับจีน แต่ก็มีการปีนเกลียว ความตึงเครียดจากการค้า การเงิน ค่าเงิน แล้วก็ยุทธศาสตร์การเป็นมหาอำนาจโดยรวม ถ้าไทยสามารถเหยียบเรือหลายแคมได้ทั้งอาเซียน จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ หรือแม้กระทั่งยุโรปซักนิดหนึ่ง ก็จะทำให้ไทยมีจุดยืนที่มีความสมดุลมากกว่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเวลาเราเดินหมากทางยุทธศาสตร์ ความมั่นคง ที่ไม่ต้องการที่จะฝักใฝ่ฝ่ายใดมากเกินไป

 

การเข้าหาจีนมากขึ้นเป็นเพราะไทยเล็งเห็นโอกาสบางอย่างหรือเกิดจากสภาวะจำยอม

ฐิตินันท์: มันเป็นสภาวะจำยอมที่มาจากเหตุการณ์การเมืองภายในประเทศ เมื่อมีคณะทหารมายึดอำนาจในสมัยนี้ก็ไม่ได้รับความชอบธรรมจากหมู่ประเทศที่เป็นเสรีประชาธิปไตยโดยเฉพาะทางตะวันตกเอง หรือแม้แต่ญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้เห็นดีเห็นชอบที่รัฐบาลทหารไปยึดอำนาจ ในขณะที่จีนไม่มีปัญหากับเรื่องนี้ ให้ความชอบธรรมมาตั้งแต่ต้น รัฐบาลทหารเลยจำต้องไปซูเอี๋ย ไปพึ่งพาจีนเพราะเงื่อนไขทางการทูต ความมั่นคง แต่การพึ่งพิงแบบนั้นเมื่อเวลาผ่านไปสามปีก็บานปลาย นำไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ การค้าที่จีนได้เปรียบ จีนเลยใช้จุดทางยุทธศาสตร์ การเมือง การทูต มาหาความได้เปรียบทางการร่วมมือ รวมไปถึงการค้าอาวุธ ถ้าไทยเราเป็นรัฐบาลปรกติ เราอาจไม่ได้ซื้อเรือดำน้ำจากจีนก็ได้ ยกตัวอย่างเมื่อไม่กี่ปีที่แล้ว มีข้อเสนอเรือดำน้ำเป็นการซื้อเรือดำน้ำมือสองจากเยอรมนี แต่พอมารัฐบาลทหาร เป็นการซื้อเรือดำน้ำใหม่จากจีนโดยตรงสามลำ มีภาระผูกพันด้านงบประมาณสิบปี การซื้ออาวุธจากจีนมันเกิดจากภาระผูกพันที่มาจากการทูต การเมืองที่ต้องไปพึ่งจีนเมื่อมีรัฐบาลทหาร

วรศักดิ์: มันเป็นเพราะเทคโนโลยีของจีนมันราคาถูก เครื่องจักรมาตรฐานเดียวกันระหว่างจีนกับตะวันตกราคาต่างกันสองสามเท่า คุณเป็นนักธุรกิจคุณก็ต้องเลือกของถูก ก็เป็นเหตุผลที่ทำเศรษฐกิจจีนเจริญ เพราะเขามีค่าแรงถูก ไม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ทุกอย่างมันเลยราคาถูก เรื่องอาวุธก็เช่นกัน

อีกประเด็นหนึ่งที่มักมองเป็นการเมืองระหว่างประเทศคือ ถ้าจีนมาดี เราไม่ต้อนรับขับสู้ก็ไม่ได้ แล้วยิ่งหลังรัฐประหาร ไทยถูกสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปคว่ำบาตร การซื้อขายบางอย่างมันก็ไม่สะดวก ทีนี้ถ้าจีนมาซื้ออะไรจากเรา แล้วเราไม่ได้ขายได้ไหม ก็ไม่ได้ เราจะซื้ออาวุธ คนอื่นก็ไม่ขาย เราก็ต้องซื้อของจีน มันก็เป็นเช่นนี้แหละ ลักษณะนี้มันเป็นลักษณะชั่วคราว ถ้าไทยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สภาวะนี้มันก็จะหายไป ผมฟังประเด็นที่ว่าไทยสนิทกับจีนเกินไปหรือเปล่า หรือจีนกดดันไทยหรือเปล่า ผมก็ขำมากเลย เพราะเวลาผมไปจีน เขาก็ไม่สบายใจที่เรามีความร่วมมือคอบร้าโกลด์กับสหรัฐฯ เขาบอกว่าเราสนิทกับสหรัฐฯ มากเกินไปจนมีความร่วมมือด้านความมั่นคง ไอ้เรื่องเศรษฐกิจมันก็ร่วมมือกันทั่วโลก เป็นปรกติอยู่แล้ว แต่ความมั่นคงมันอ่อนไหวไง

แต่ถ้าเปรียบเทียบประเทศในอาเซียน ไทยอยู่ในระดับกลางๆในเรื่องความสัมพันธ์กับจีน ไทยมีหลายเรื่องที่ไม่ได้ทำตามความต้องการของจีนหรอก มิฉะนั้นรถไฟทางคู่คงวางรางไปเรียบร้อยแล้ว ทำไมคนไทยไม่ตั้งคำถามว่าทำไมถึงยืดเยื้อแบบนี้ ในอาเซียนมีเพียงสองประเทศที่ยอมจีนหมดทุกอย่างคือกัมพูชาและลาว ถ้าจีนต้องการลงทุนในกัมพูชา ต้องการสร้างเมืองใหม่ ต้องขับไล่คนกัมพูชาออกจากพื้นที่ ฮุนเซนก็ทำให้ ที่ลาวก็เหมือนกัน คนจีนเวลาเอาแรงงานจีนมาก็อยากมีที่พักอาศัยใกล้ที่ทำงาน รัฐบาลลาวก็ไล่คนลาวไปอยู่ที่อื่น แล้วเอาคนจีนมาอยู่ แล้วเขาจะไม่สนิทกันได้อย่างไร แล้วเวลาจีนให้เงินสนับสนุนรัฐบาลต่างๆ มันมีลักษณะที่ต่างจากตะวันตก คือจีนให้แล้วให้เลย ไม่มีการตรวจสอบการใช้เงิน ฮุน เซน ก็พูดเลยว่านี่คือข้อดีของจีน คือคุณจะไปโกงหรือเอาไปทำอะไร จีนถือว่าให้แล้วไม่มีการตรวจสอบ ตะวันตกนี่เขาให้มาเท่าไหร่เขาต้องมีการตรวจสอบ ว่าคุณเอาไปใช้จริงตามโครงการที่คุณบอกมาหรือเปล่า ดังนั้นจะบอกว่าจีนมีอิทธิพลกับไทย เป็นไปไม่ได้หรอก ต้องไปถามลาวกับกัมพูชา มันเป็นอำนาจอ่อน (soft power) คือใช้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ ให้เขารู้สึกเป็นหนี้บุญคุณ แล้วเวลาคุณต้องการอะไรคุณก็ได้มาโดยไม่ต้องใช้กำลังบังคับให้ได้มา

 

ในอนาคตควรมีความสัมพันธ์กับจีนในรูปแบบไหน มีอะไรควรพิจารณา

วรศักดิ์: รูปแบบทุกวันนี้ก็เหมาะสมดีอยู่แล้ว ผมเกรงอยู่อย่างเดียวคือความไม่รู้เท่าทันจีน ผมพบค่อนข้างมากในช่วงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะกลุ่ม ส.ส. หรือนักการเมือง เวลาไปคุยกับจีน ไปคุยเรื่องคอคอดกระ ระเบิดเกาะแก่งน้ำโขงก็ไปโอเค ไปคล้อยตามจีน แต่ระบอบประชาธิปไตย เวลาจะทำอะไรต้องไปถามรัฐสภา ตอนไปพูดจะพูดอะไรก็ได้ อย่างนี้จีนจะไม่เข้าใจ เพราะของเขาคนละระบอบกับเรา เขาก็คิดว่าการคุยกับนักการเมืองมันโอเคแล้ว เป็นทางการแล้ว สิ่งที่ต้องทำคือรักษาสมดุลความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับมหาอำนาจอื่นๆ ทางตะวันตก ไม่ใช่ออกนอกหน้าเกินไป ยอมตามแรงกดดันของจีนอยู่ร่ำไป

 

ในภาพรวม อาเซียนมีทั้งปฏิสัมพันธ์มีทั้งเชิงบวกและเชิงลบกับจีน ถ้าไทยมีปฏิสัมพันธ์มากขึ้นในลักษณะปัจจุบัน มีผลกับดุลอำนาจไทยในอาเซียนไหม

วรศักดิ์: ในกรณีไทยไม่มี เพราะในทางตรงกันข้าม สมาชิกอาเซียนกลับมองไทยว่าสามารถรักษาความเป็นกลางไว้ได้มากที่สุด ไม่ได้หมายความว่าดีที่สุด แต่ก็ดีที่สุด ตัวอย่างเช่นทะเลจีนใต้ คู่พิพาทในอาเซียนมี 4 ประเทศ ได้แก่เวียดนาม บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ถ้ามีความขัดแย้งขึ้นมาประเทศเหล่านี้รักษาความเป็นกลางไม่ได้อยู่แล้ว ส่วนลาวกับกัมพูชาก็สนิทกับจีน ก็เป็นกลางไม่ได้ พม่าก็ใกล้ชิดกับจีน สิงคโปร์เป็นประเทศเล็ก ตั้งแต่ตั้งประเทศมาก็ไม่เคยเล่นบทบาทเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยอะไรมากนัก นอกจากครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ที่สิงคโปร์ยอมให้ประเทศของตนเป็นเวทีให้ผู้นำจีนกับผู้นำไต้หวันพบปะหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ ก็เหลือไทยกับอินโดนีเซีย ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมาเมื่อมีความขัดแย้งในภูมิภาค อินโดนีเซียก็เข้ามาเป็นตัวกลาง แต่ในทะเลจีนใต้ อินโดนีเซียก็มีผลประโยชน์ทับซ้อน ก็เหลือแต่ไทย ดังนั้น มิตรประเทศในอาเซียนมักมีแนวโน้มให้ไทยเป็นประธานเมื่อพูดถึงประเด็นนี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

30 องค์กรสื่อ ยื่นจดหมายเปิดผนึก ร้องประยุทธ์ หยุด ร่าง กฎหมายคุมสื่อ

Posted: 02 May 2017 06:38 AM PDT

พล.อ.ประยุทธ์ รับจะดูแลร่าง พ.ร.บ.สื่อ เป็นพิเศษ ย้ำ เรื่องยังไม่ได้ข้อยุติ ยังมีอีกหลายขั้นตอน อย่าคิดว่ารัฐบาลจะเข้าไปครอบงำ ระบุ หากสื่อต้องการคุมกันเอง จะต้องทำให้ได้ และมีจุดเชื่อมโยงกับรัฐบาล

2 พ.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า 30 องค์กรสื่อมวลชน คณะทำงานสื่อเพื่อการปฎิรูป นำโดย ปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. เพื่อคัดค้าน และขอให้ยกเลิกร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน  พ.ศ. .. ที่ผ่านการพิจารณาของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งประเทศไทย (สปท.) เมื่อวานนี้ (1 พ.ค.) พร้อมมอบเสื้อหยุดตีทะเบียนสื่อ ครอบงำประชาชนให้กับนายกรัฐมนตรี เช้าวันนี้ (2 พ.ค.) ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวกับตัวแทนสมาคมและองค์กรสื่อมวลชนว่า ยินดีที่จะให้มีการหารือร่วมกัน ในการพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับการปฎิรูปสื่อ เพราะยังมีอีกหลายขั้นตอน ยืนยันว่าฟังข้อมูลจากทั้งสื่อมวลชนและ สปท. ที่ต่างมีหลักการและเหตุผลของตัวเอง  สปท.มีหน้าที่คิดและเสนอเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูป ซึ่งสื่อก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่ สปท.ต้องทำงาน  

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ต้องการขอสื่อมวลชนช่วยกันทำในสิ่งใหม่ๆ เพราะสื่อมวลชนถือเป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาล ส่วนเรื่องกฎหมายสื่อ ขอให้ประชาชนเป็นพิจารณา พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี รับปากว่าจะดูร่าง พ.ร.บ.ที่เป็นปัญหาให้โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับตัวแทนของรัฐบาล ที่จะมาทำหน้าที่ดูแลสื่อ   

"ผมเป็นรัฐบาลที่ตั้งใจเข้ามาแก้ไขปัญหาประเทศ ไม่ใช่เข้ามาสร้างปัญหา ผมไม่หวังว่าจะอยู่จนแก่ตาย ไม่ใช่ ต้องมีรัฐบาลต่อไป จึงต้องมีพื้นฐานที่ดี อย่าคิดว่าผมจะไปครอบงำอะไรทั้งหมด ไม่อย่างนั้นนทุกอย่างจะจบ หากสื่อต้องการคุมกันเอง ต้องทำให้ได้ โดยเฉพาะสมาคม และต้องมีจุดเชื่อมกับรัฐบาลด้วย แม้ว่าจะมีการทำทะเบียนสื่อทุกปี แต่ยังดูแลไม่ได้ ยืนยันว่าผมให้อิสระกับสื่อมวลชน แต่ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เกิดขึ้นเพราะต้องตีกรอบมากขึ้น อย่าลืมว่าผมไม่เคยยุ่งกับใคร ผมก็ไม่เคยฟ้องใคร" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

จดหมายเปิดผนึก 30 องค์กรสื่อมวลชน คัดค้านและขอให้ยกเลิกร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน มีรายละเอียดดังนี้

จดหมายเปิดผนึก

2  พฤษภาคม 2560

เรื่อง คัดค้านและขอให้ยกเลิกร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน 

กราบเรียน  ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี

ตามที่ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ..... ตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน ซึ่งแม้ว่าจะมีการยกเลิกเรื่องใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพสื่อและบทลงโทษกรณีไม่มีใบอนุญาตฯลฯ ไปแล้วก็ตาม แต่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 30 องค์กร เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เป็นกฎหมายที่ยังเป็นปฏิปักษ์ต่อหลักการเสรีภาพและความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน และขัดแย้งกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหลายมาตรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหาสำคัญของกฎหมายที่เปิดโอกาสให้มีการครอบงำ และแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชน ลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนและประชาชน  ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน และจะยังส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวางในอนาคต

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 30 องค์กร จึงมีความเห็นคัดค้านและขอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจที่มีอยู่ยับยั้งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ด้วยเหตุผล ดังนี้

1.นิยามคำว่า "ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน" ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ นิยามคำว่า ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ให้หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพเป็นสื่อกลาง เพื่อนำข่าวสาร สาร และเนื้อหาเพื่อประโยชน์สาธารณะทุกประเภทไปสู่มวลชนไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด อย่างเป็นปกติธุระ หรือทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้รับค่าตอบแทนเป็นประจำจากเจ้าของสื่อ หรือมีรายได้จากการงานที่กระทำนั้น ไม่ว่าทั้งทางตรงและทางอ้อม

เมื่อพิจารณานิยามคำว่าผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนนั้นมีความหมายกว้างขวางมาก กว้างขวางจนเข้าไปกินปริมณฑลของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การโฆษณา และการสื่อความหมายด้วยวิธีการอื่นของประชาชนทั่วไป จะครอบคลุมไปถึงผู้ใช้สื่อทุกประเภท นอกจากสื่อวิชาชีพแล้ว บุคคลที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์  จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิทธิพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในมาตรา 34 และ 35

2. ในร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาจาก สปท. ยังคงไว้ซึ่งตัวแทนรัฐในคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ คือปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงวัฒนธรรม  ซึ่งขัดแย้งกับบทบาทหน้าที่ การทำงานของสื่อมวลชน ที่ต้องตรวจสอบอำนาจรัฐ ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อผู้ที่ต้องถูกตรวจสอบ กลายมาเป็นผู้ตรวจสอบเสียเอง ก็เกิดกรณีที่อาจมีความขัดแย้งในเชิงอำนาจและผลประโยชน์ได้ เป็นอำนาจซ้ำซ้อน ที่ไม่ส่งผลดีต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ต้องมีธรรมาภิบาล มีความโปร่งใส

3.การจัดทำกฎหมายใดๆที่เกี่ยวกับการทำหน้าของสื่อมวลชน จะต้องมีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองเสรีภาพและความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ของของสื่อมวลชนในการรักษาผลประโยชน์สาธารณะ และต้องไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 และมาตรา 35 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นของประชาชน และคำนึงถึงหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ที่บัญญัติว่า"รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ              

นอกจากนั้น มาตรา 77 ยังบัญญัติว่า ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ ซึ่งร่างพระราชบัญญัตินี้ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการดังกล่าวแต่อย่างใด

4.  องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอยืนยันหลักการกำกับกันเองของสื่อมวลชน ทั้งการกำกับกันเองด้วยความสมัครใจหรือ การกำกับกันเองที่มีกฎหมายรับรองการมีอยู่ขององค์กรวิชาชีพแต่ต้องไม่มีการใช้อำนาจตามกฎหมายลงโทษสื่อมวลชน  และต้องไม่เร่งรีบออกกฎหมายมาบังคับใช้โดยขาดการรับฟังหรือความเข้าใจอย่างรอบด้าน ซึ่งองค์กรวิชาชีพสื่อสื่อมวลชนตระหนักถึงความคาดหวังของสังคมที่ต้องการเห็นการกำกับกันเองด้านจริยธรรมของสื่อมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีช่องทางการร้องเรียนที่ชัดเจน มีกระบวนการสอบสวน และการวินิจฉัยการลงโทษที่ชัดเจน แต่เรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เวลาเพราะเป็นเรื่องที่กระทบกับคนจำนวนมาก        

ด้วยเหตุผลที่ระบุมาข้างต้น  องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง ๓๐ องค์กร จึงมีความเห็นคัดค้านและขอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจที่มีอยู่ยับยั้งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้  และเดินหน้าการปฏิรูปสื่อโดยการมีส่วนร่วมของสื่อมวลชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง

รายชื่อ 30 องค์กรสื่อมวลชน

1.สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

2.สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

3.สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

4.สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

5.สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

6.สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์

7.สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย

8.สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย

9.สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย

10.สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

11.สมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย

12.สมาคมช่างภาพสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย

13.สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย

14.สมาคมนักข่าวช่างภาพกีฬาแห่งประเทศไทย

15.สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ

16.สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย)

17.สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย

18.สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์

19.สมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย)

20.สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน

21.สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย

22.เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคเหนือ 17 จังหวัด

23.เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคอีสาน

24.เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคกลาง-ภาคตะวันออก

25.เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคใต้

26.ชมรมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์อาวุโส

27.ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม

28.ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ

29.ชมรมเพื่อเพื่อนช่างภาพสื่อมวลชน

30.สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย และเว็บไซต์สมาคมนักข่าวฯ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศูนย์ทนายฯ เปิดบันทึกการตรวจค้นบ้านทนายประเวศ ขณะที่เชียงใหม่มีคนถูกคุมตัวอีกหนึ่งคน

Posted: 02 May 2017 06:18 AM PDT

อัพเดทความคืบหน้ากรณีทนายประเวศ ถูก คสช. เรียกรายงานตัว ศูนย์ทนายฯ เปิดบันทึกการตรวจค้นพบถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย. โดยพลตรีวิจารณ์ จดแตง หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย คสช. อ้างคำสั่ง 3/58 ขณะที่จังหวัดเชียงใหม่มีผู้ถูกควบคุมตัวอีก 1 ราย ทั้งนี้ยังไม่ทราบสถานที่คุมตัวของทั้งคู่

2 พ.ค. 2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ภายหลังจากการรายงานข่าว ประเวศ ประภานุกูล ทนายความ ถูก คสช. เรียกรายงานตัว (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับบันทึกการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ที่ทำการตรวจค้นบ้านพักของประเวศ ย่านสายไหม กรุงเทพฯ ทำให้ทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่าการตรวจค้นเกิดขึ้นตั้งแต่เวลา 6.00-8.00 น. ของวันที่ 29 เม.ย.2560 โดยเจ้าหน้าที่อาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ

ในบันทึกดังกล่าวปรากฏรายชื่อเจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมการตรวจค้นเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร 2 นาย ได้แก่ พล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าฝ่ายกฎหมายของ คสช. ร.ท.นพดล บู๊เตียว หัวหน้ากองร้อยรักษาความสงบที่ 1(ร.อ.พัน 1รอ.) และตำรวจจาก สน.บางเขน 2 นาย ได้แก่ ร.ต.ท.ยงยุทธ เกตุแดง และ ร.ต.ท.สุภัทร หนูเขียว

รายการสิ่งของที่เจ้าหน้าที่ได้ยึดไปมีทั้งหมด 14 รายการ ได้แก่ คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค 3 เครื่อง โทรศัพท์มือถือ 3 เครื่อง แผ่นซีดี 3 แผ่น เสื้อยืดคอกลม 13 ตัว ฮาร์ดไดรฟ์ 2 ลูก และแฟลชไดรฟ์ 2 อัน

สำหรับทนายประเวศ ประภานุกูล อายุ 57 ปี เป็นอดีตทนายของดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ 'ดา ตอร์ปิโด' ในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และเคยให้ความช่วยเหลือผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ในช่วงเมษายน–พฤษภาคม 2553 ทั้งนี้นอกจากคดีการเมืองเขายังรับว่าความช่วยเหลือในคดีผู้บริโภคด้วย

คุมตัวพนักงานบริษัทเบียร์ ที่เชียงใหม่ ผู้ใหญ่บ้านระบุ ถูกคุมตัวเพราะโพสต์เฟซบุ๊กและแชร์เรื่องการเมือง

วันเดียวกัน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานด้วยว่า 29 เม.ย. 60 เวลาประมาณ 6.00 น. มีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ เดินทางไปควบคุมตัวนายดนัย (สงวนนามสกุล) อายุ 34 ปี พนักงานจัดซื้อของบริษัทเบียร์แห่งหนึ่ง จากบ้านในพื้นที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ และจนถึงวันนี้ (2 พ.ค.60) นายดนัยถูกควบคุมตัวไปเป็นเวลาระยะเวลา 4 วันแล้ว แต่ญาติระบุว่ายังไม่มีการติดต่อใดๆ จากเจ้าหน้าที่ และยังไม่ทราบแน่ชัดว่านายดนัยถูกควบคุมตัวไปไว้ที่ใด

นายนิคม บิดาของนายดนัยที่อยู่ในขณะเกิดเหตุเล่าว่า ประมาณ 6.00 น.ของวันเสาร์ที่ผ่านมามีกลุ่มบุคคล รวมกันมากกว่า 10 นาย ซึ่งบางคนระบุตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.สันป่าตอง แต่งกายในชุดดำ และยังมีเจ้าหน้าที่ทหารแต่งชุด "สห." หรือสารวัตรทหาร อีก 4 นาย เดินทางโดยรถตู้ 1 คัน และรถกระบะ 2 คัน เจ้าหน้าที่แจ้งว่ามาตามหาตัวนายดนัยและจะควบคุมตัวไปที่กรุงเทพฯ

จากนั้นเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวนายดนัยและทำการตรวจค้นห้องพัก เจ้าหน้าที่ยึดโทรศัพท์มือถือ 2 เครื่อง ซิมการ์ดไม่ทราบจำนวน และสมุดเงินฝากของนายดนัย นำมาเรียงบนโต๊ะและทำบันทึกรายการสิ่งของไว้ แล้วแจ้งให้นายดนัยทำการจัดเตรียมเสื้อผ้าเพื่อลงไปกรุงเทพฯ โดยไม่ได้ระบุว่าจะถูกนำตัวไปยังสถานที่ใด แล้วนำตัวนายดนัยขึ้นรถตู้ไปตลอดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเจ้าหน้าที่ไม่แสดงหมายจับ หมายค้นแต่อย่างใด

นายนิคมได้พยายามสอบถามเจ้าหน้าที่ว่าเกิดอะไรขึ้นและจะพาตัวลูกชายไปที่ใด ด้วยสาเหตุใด เจ้าหน้าที่ตอบเพียงว่าให้สอบถามจากผู้ใหญ่บ้าน จะเป็นคนแจ้งรายละเอียดให้ฟังและระบุว่าให้ญาติรอ 7 วัน ทางเจ้าหน้าที่จะทำการติดต่อกลับมา แต่ไม่ได้บอกรายละเอียดว่าจะติดต่อทางไหน อย่างไร

ในวันเดียวกัน เมื่อนายนิคมเดินทางไปสอบถามจากผู้ใหญ่บ้าน ทางผู้ใหญ่บ้านแจ้งเพียงว่าสาเหตุมาจากนายดนัยได้แชร์และโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยไม่ทราบรายละเอียดเนื้อหา ขณะที่นายนิคมก็ไม่ทราบรายละเอียดว่าลูกชายได้ใช้เฟซบุ๊กใด หรือมีการแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดบ้าง

บิดาระบุว่านายดนัยมีประวัติเคยได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลผู้ป่วยอาการทางจิตในช่วงเด็กเนื่องจากมีอาการเครียดและชัก แต่ในช่วงหลังไม่ต้องรับการรักษาในเรื่องนี้แล้วและไม่เคยเข้าร่วมการชุมนุมหรือการจัดกิจกรรมทางการเมืองใดๆ และไม่ได้สังกัดอยู่กับกลุ่มการเมืองใด และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่นายดนัยถูกเจ้าหน้าที่จับกุมควบคุมตัวไปในลักษณะนี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์กรผู้บริโภค อัด สปท. ไร้ความจริงใจ ออก ร่าง กฎหมาย ต้อนสื่อเข้าคอก

Posted: 02 May 2017 06:04 AM PDT

องค์กรผู้บริโภค จี้ยกเลิกร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน โดยเร็วที่สุด แนะร่างใหม่ที่สร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เว้นการกำกับจากรัฐ เสริมศักยภาพประชาชนในการเป็นพลเมืองที่รู้เท่าทันสื่อ

แฟ้มภาพ

2 พ.ค.2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์กรผู้บริโภค ออกแถลงการณ์คัดค้านคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ โดยระบุว่า ขาดความจริงใจ ในการปฏิรูปสื่อ ด้วยการออก ร่าง พ.ร.บ.ที่ต้อนสื่อเข้าคอก ให้มีเจ้าหน้าที่กำกับ และไม่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาชน

แถลงการณ์องค์กรผู้บริโภค ระบุว่า แม้สภาปฏิรูปยอมถอนการทำบัตรสื่อมวลชนและบทลงโทษในร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน เมื่อสื่อและสังคมกดดัน แต่ยังคงยืนยันตำแหน่งปลัดกระทรวงอยู่ถึงสองที่นั่ง และยังคงโทษปรับอยู่ ซึ่งแสดงเจตนาชัดเจนว่าสภาปฏิรูปสื่อนี้ มิได้มีเจตนาและความจริงใจที่จะส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของสื่อ ตลอดจนการคุ้มครองสื่อมวลชนและส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพ ในทางตรงกันข้าม ยังมีเจตนาในการคุกคามสื่อ

การลิดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อนั้น คือการลิดรอนสิทธิเสรีภาพการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ซึ่งสิทธิเสรีภาพทั้งสองประการนี้ถือเป็นหลักการใหญ่ที่ต้องคงรักษาไว้ในสังคมประชาธิปไตย

ในรายงานเรื่อง "การปฏิรูปการสื่อมวลชน" ที่คณะกรรมาธิการเสนอเข้าสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเพื่อประกอบร่าง พรบ.คุ้มครองเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน นั้น มุ่งเน้นแต่กลไกการกำกับดูแลสภาวิชาชีพสื่อ ในต่างประเทศ โดยละเลยปัจจัยที่สำคัญที่สุด ว่าการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพที่สุดที่เกิดขึ้นในต่างประเทศนั้น คือความเข้มแข็งของภาคประชาชนที่มีส่วนได้เสียโดยตรงจากผลกระทบของสื่อ

องค์กรผู้บริโภค ระบุอีกว่า ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นแล้วทั่วโลกได้พิสูจน์ว่าการทำงานร่วมกันระหว่างสื่อมวลชนกับกลุ่มประชาชนเท่านั้นที่จะสามารถบรรลุเจตนา "คุ้มครองเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน" โดยมีภาครัฐสนับสนุน และเอื้ออำนวยกลไกต่างๆ เพื่อกำกับวิชาชีพนี้ให้มีเสรีภาพอย่างแท้จริง ปราศจากการครอบงำโดยรัฐ การเมือง และกลุ่มทุน  และสร้างกลไกที่เอื้ออำนวยกับการสร้างศักยภาพให้กับประชาชนทั่วประเทศในการรู้เท่าทันสื่อเพื่อสามารถกำกับดูแล และปกป้องสิทธิเสรีภาพสื่อเช่นกัน

อนึ่ง แม้ร่างพรบ.ฉบับนี้ เน้นเจตนาคุมสื่อและลิดรอนสิทธิประชาชน แต่สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปเสียงข้างมาก ได้รับรองร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ 

องค์กรผู้บริโภคจึงขอคัดค้านการกระทำของสภาขับเคลื่อนเสียงข้างมาก ที่ไม่รักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์สาธารณะในการปกครองแบบประชาธิปไตย จึงขอเรียกร้องให้ 1. ยกเลิก ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยเร็วที่สุด 2. ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ที่สร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ยกเว้นการกำกับดูแลจากภาครัฐหรือตัวแทนภาครัฐ และ 3. ให้ส่งเสริมศักยภาพประชาชนในการเป็นพลเมืองที่รู้เท่าทันสื่อและปกป้องสิทธิเสรีการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร

คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอประกาศว่าจะไม่เข้าไปมีส่วนร่วมใดๆ กับสภาวิชาชีพสื่อ ตามร่าง พ.ร.บ.นี้ หากสภาปฏิรูปยังคงยืนยันเนื้อหาที่นำไปสู่การลิดรอนสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: หมุดหาย อะไรโผล่

Posted: 02 May 2017 06:03 AM PDT

ความอุกอาจของการลักลอบขโมยหมุดคณะราษฎร เพื่อแทนที่ด้วยหมุดใหม่ ทำให้เข้าใจว่า เรื่องนี้เป็นการกระทำอย่างเป็นระบบของ"อำนาจ"  มากกว่าการกระทำของคนมือบอน (ซึ่งควรแค่ลักลอบขุดทำลายหมุดเดิม) ดังนั้นจึงมีผู้แสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะว่า

หมุดอันเดิมเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นประชาธิปไตยไทย หมุดอันใหม่คือสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ผมกลับคิดว่า โอกาสที่จะเกิดเช่นนั้น เป็นไปได้ยากมากหรือเป็นไปไม่ได้เอาเลย เหตุผลก็เพราะว่า เมื่อระบอบสมบูรณา-ญาสิทธิราชย์ถูกโค่นล้มไปแล้ว ก็ไม่พบในสังคมใดเลยว่า ระบอบนี้จะสามารถฟื้นตัวขึ้นได้ใหม่ แต่ไม่จำเป็นว่าการโค่นล้มของระบอบนี้จะนำมาซึ่งระบอบประชาธิปไตย ในหลายต่อหลายครั้งมักนำมาซึ่งระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์มากกว่า

สมบูรณาญาสิทธิ์ (absolutism) และสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolute monarchism) ต่างกันอย่างไร

ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์คือระบอบปกครองที่ผู้มีอำนาจเพียงคนเดียวหรือกลุ่มเดียว สามารถรวบรวมอำนาจทั้งหมดในรัฐไว้ในมือได้อย่างสมบูรณ์เด็ดขาด ในแง่นี้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็เป็นประเภทหนึ่งของระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ เพียงแต่คนหรือกลุ่มที่ถืออำนาจสมบูรณ์เด็ดขาดเป็นกษัตริย์และ/หรือพระญาติพระวงศ์และข้าราชบริพารใกล้ชิด แต่ความต่างที่สำคัญกว่านั้นอยู่ที่ว่า กษัตริย์ได้รับความชอบธรรมจากจารีตประเพณี, ลัทธิความเชื่อต่างๆ รวมทั้ง"ความศักดิ์สิทธิ์"ที่แฝงอยู่ในสถาบันและบุคคล ซึ่งฝังลึกในใจคนได้ แม้ในยุคสมัยที่วิทยาศาสตร์แย่งชิงคำอธิบายทุกด้านไปหมดแล้ว

ฐานอำนาจของสมบูรณาญาสิทธิราชย์จึงอยู่ที่วัฒนธรรมประเพณีซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณ และสิ่งละอันพรรณละน้อยที่ประกอบกันขึ้นเป็นความศักดิ์สิทธิ์และบารมีของกษัตริย์ ในขณะที่ผู้นำสมบูรณาญาสิทธิ์ไม่สนใจสิ่งเหล่านี้ เพราะไม่ให้ความชอบธรรมใดๆ แก่อำนาจของตน

คนที่ถืออำนาจสมบูรณ์เด็ดขาดในรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์คือคนธรรมดา อาจเป็น ผบ.ทบ. หรือนายพันที่ยึดอำนาจจากนายพลที่แวดล้อมกษัตริย์หรือสุลต่านหรือพระเจ้าซาร์ได้สำเร็จ อาจเป็นนักปฏิวัติที่สามารถปลุกระดมผู้คนให้เข้ามาเป็นกำลังในการยึดอำนาจ ฯลฯ พวกเขาจำเป็นต้องสร้างความชอบธรรมให้แก่อำนาจสมบูรณ์เด็ดขาดของเขาอย่างเต็มที่ ความชอบธรรมเช่นนั้นอาจมาจากความสำเร็จที่ทำความปราชัยให้แก่ศัตรูของรัฐ, ทำให้รัฐหลุดพ้นจากวิกฤตทางเศรษฐกิจ, การเมือง, หรือสังคม, กอบกู้ศาสนาที่กำลังจะล้มละลายให้กลับมีพลังขึ้นใหม่ ฯลฯ หากทำอะไรไม่สำเร็จสักอย่าง ก็มีแนวโน้มที่จะใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจ

สมบูรณาญาสิทธิ์และสมบูรณาญาสิทธิราชย์เกิดขึ้นได้ในรัฐสมัยใหม่ หรือในรัฐที่ได้พัฒนาขึ้นมาใกล้กับความเป็นรัฐสมัยใหม่มากแล้วเท่านั้น เพราะต้องมี"กลไกรัฐ"ที่มีประสิทธิภาพพอจะรองรับการรวมศูนย์อำนาจได้เท่านั้น จึงสามารถสถาปนาอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ขึ้นได้ในความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นระบบราชการแบบใหม่, กองทัพประจำการหรือกองทัพที่แข็งแกร่งมากล้นกว่ากองทัพท้องถิ่น, ระบบกฎหมายที่บังคับใช้ได้ทั่วถึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันพอสมควร, ระบบการศึกษาที่อยู่ในกำกับควบคุมของรัฐ, ระบบที่ทำให้สามารถดึงรายได้ของรัฐเข้ามาอยู่ในการควบคุมของตนเอง, ฯลฯ ล้วนขาดไม่ได้ในรัฐสมัยใหม่

กษัตริย์ในรัฐโบราณอาจเป็นสมมติเทพ, หรือบุคคลที่ได้รับอุปภิเษกจากพระเจ้า แต่พระราชอำนาจจริงๆ มีจำกัด (ส่วนใหญ่ไม่เกินเขตราชธานีไปกี่มากน้อย) เพราะไม่มี"กลไกรัฐ"ดังกล่าว จึงต้องต่อรองและประนีประนอมกับอำนาจอื่นๆ ที่มีในรัฐด้วยวิธีต่างๆ พระราชอำนาจจึงไม่สมบูรณ์เด็ดขาด และไม่พึงจัดรัฐโบราณเหล่านั้นว่าเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทุกแห่งในโลกนี้ เกิดขึ้นได้ภายใต้เงื่อนไขเฉพาะทางประวัติศาสตร์ ไม่ได้เป็นธรรมชาติของระบอบกษัตริย์ว่า จะต้องกลายเป็นกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อเข้าสู่สมัยใหม่เสมอไป ขอให้สังเกตว่าทั่วทั้งเอเชียตะวันออก (จากอินเดียไปถึงญี่ปุ่น) ยุคสมัยใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 ไม่ได้นำระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาแก่รัฐใดเลย นอกจากสยาม ส่วนหนึ่งก็เพราะส่วนใหญ่ตกเป็นอาณานิคมของตะวันตก ซึ่งย่อมไม่ยอมให้เกิดขึ้นแน่ แต่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ไม่ได้เกิดในจีนและญี่ปุ่น ซึ่งไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมของตะวันตก และไม่ได้เกิดใน Princely states ของบริติชราชในอินเดีย, ในกัมพูชา, หรือในรัฐมลายูนอกสหพันธรัฐ ซึ่งเจ้าอาณานิคมค่อนข้างจะให้อิสรภาพในการปกครองตนเอง (ยกเว้นเนปาล, สิกขิม และภูฏาน ซึ่งมีเงื่อนไขเฉพาะบางอย่างของตน)

เงื่อนไขเฉพาะที่ทำให้เกิดสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่างๆ มีร่วมกันอยู่บ้าง เช่นมีระบบการค้าที่ขยายตัวไปกว้างขวางทั่วทั้งทวีปหรือครึ่งค่อนโลก ทำให้รัฐนั้นๆ มีบทบาทเฉพาะในระบบการค้าที่กว้างขวาง เช่นผลิตวัตถุดิบหรืออาหารให้แก่ส่วนอื่นของโลก หรือเป็นผู้นำกระบวนการปฏิวัติอุตสาหกรรม, ผู้คนในรัฐมีหรือถูกปลูกฝังให้มีสำนึกร่วมว่าเป็นพวกเดียวกัน (อาจโดยนโยบายของรัฐส่วนกลางเช่นในสยาม หรือโดยพัฒนาการทางเศรษฐกิจ-สังคม-เทคโนโลยีซึ่งไม่มีใครเจตนาให้เกิดขึ้นเช่นในยุโรป), มีเหตุให้อำนาจอื่นๆ ที่เคยคะคานกับพระราชอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจของศาสนจักร, ของผู้นำท้องถิ่น, ของขุนนางส่วนกลาง หรือของ"ซ่อง"ไพร่หนีนาย (ซึ่ง Hobsbawm เรียกว่า Bandits) ตกต่ำลง ฯลฯ

แม้กระนั้นเงื่อนไขเฉพาะเหล่านี้ก็ทำให้เกิดสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในแต่ละรัฐแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับบริบทที่แวดล้อมรัฐหนึ่งๆ จึงทำให้สมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งเกิดขึ้นในรัฐต่างๆ ไม่เหมือนกันทีเดียวนัก (แม้พยายามก๊อปปี้กันและกันอยู่บ้าง) มีอายุสั้น-ยาวต่างกัน และตกตะกอนอยู่ในรัฐชาติซึ่งเกิดตามมามากน้อยต่างกัน

แต่เงื่อนไขร่วมมีความสำคัญน้อยกว่าเงื่อนไขเฉพาะ เพราะถึงมีเงื่อนไขร่วมกัน หากขาดเงื่อนไขเฉพาะบางอย่าง ก็อาจไม่เกิดสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นได้ ดังที่ได้ยกตัวอย่างรัฐในเอเชียตะวันออกมาแล้ว

ดังนั้นเมื่อเงื่อนไขเฉพาะหมดลง หรือเงื่อนไขร่วมไม่ทำงานเหมือนเก่าอีกแล้ว ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ตั้งอยู่ไม่ได้ ต้องสลายตัวลง หรือถูกโค่นล้มลง นับตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้แต่รัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ซึ่งเป็นอาณานิคมของมหาอำนาจ ก็ตั้งอยู่ไม่ได้เช่นกัน ต่างได้รับการปลดปล่อยจนกลายเป็นรัฐเอกราชหมด

รัฐสมัยใหม่หรือรัฐที่มีลักษณะใกล้เคียงรัฐสมัยใหม่ซึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์สถาปนาขึ้น อาจตามมาด้วยรัฐชาติซึ่งเป็นสมบัติของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม และเป็นประชาธิปไตย หรืออาจตามมาด้วยรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ที่มีคนส่วนน้อยเท่านั้นเป็นเจ้าของรัฐอย่างสมบูรณ์เด็ดขาดก็ได้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในแต่ละรัฐ และรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์อาจคลี่คลายไปเป็นรัฐชาติ-ประชาธิปไตยก็ได้ ดังเช่นอินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และในทางตรงข้าม รัฐชาติ-ประชาธิปไตยอาจคลี่คลายกลับไปเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ก็ได้ ดังเช่นไทย, อินโดนีเซีย, กัมพูชา, พม่า, ฯลฯ

แต่ไม่มีวันคลี่คลายกลับไปเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกเลย เพราะบัดนี้  เงื่อนไขที่ทำให้เกิดและผดุงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไว้ ไม่มีในโลกปัจจุบันเสียแล้ว

ในประเทศไทย สมบูรณาญาสิทธิราชย์เกิดขึ้นภายใต้การอุปถัมภ์ของมหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะอังกฤษ มาตั้งแต่ต้น เศรษฐกิจทุนนิยมเสรีต้องการค้าขายและลงทุนในรัฐรวมศูนย์ ซึ่งต้องมีรัฐบาลที่สามารถรับผิดชอบต่อสนธิสัญญาที่ทำขึ้นได้จริง อันที่จริง หลังจากทำสัญญาเบาริงแล้ว ก็ดูจะไม่มีสถาบันทางการเมืองใดๆ ในประเทศไทยที่มีศักยภาพจะสร้างรัฐรวมศูนย์ขึ้นได้ เพียงแต่ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ดูจะมีแนวโน้มในการเข้าใจและเข้าถึงอารยธรรมตะวันตกมากกว่าสถาบันอื่น (เช่นขุนนาง, เจ้าเมือง หรือพระสงฆ์) จึงน่าจะมีสมรรถภาพในการตอบรับความเปลี่ยนแปลงที่ตะวันตกนำมาได้อย่างดีที่สุด

แม้กระนั้น ก็ไม่มีท่าทีว่าสถาบันกษัตริย์ใน ร.4 จะสามารถสร้างราชอาณาจักรที่รวมศูนย์ รักษาระเบียบและความสงบได้ในระยะยาว และเอื้อให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยและมั่นคงแก่การแสวงหากำไรของคู่สัญญาในสนธิสัญญาได้

ในการแย่งชิงอำนาจระหว่างสถาบันกษัตริย์กับขุนนางในเครือข่ายตระกูลบุนนากในรัชกาลต่อมา ความเข้าใจ-เข้าถึงตะวันตกของสถาบันกษัตริย์ ทำให้อังกฤษฝากความหวังไว้กับสถาบันกษัตริย์มากกว่าขุนนาง ซึ่งยังคงใช้การแบ่งปันราชอาณาจักรเป็นเขตผลประโยชน์ของตระกูลสาขาต่างๆ มากกว่ารวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางในเชิงสถาบัน อำนาจที่กระจัดกระจายเช่นนี้มีแต่จะก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย และการละเมิดสนธิสัญญาที่หาใครรับผิดชอบไม่ได้ จนอังกฤษจำเป็นต้องเข้ามายึดไปเป็นอาณานิคม ซึ่งสิ้นเปลืองมาก และอาจไม่คุ้มกับผลประโยชน์ที่สยามจะมีตอบแทนให้ได้

พระมหากษัตริย์ที่ชาญฉลาดอย่าง ร.5 จึงสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นได้ในที่สุด

ในปัจจุบัน เงื่อนไขเหล่านั้นได้สูญสิ้นไปแล้ว ประเทศไทยเป็นรัฐรวมศูนย์ที่มีระบบราชการแบบใหม่รองรับ จักรวรรดินิยมปรับเปลี่ยนตัวเองไปแสวงหากำไรในลักษณะอื่น เพราะกระบวนการผลิตได้เปลี่ยนไปแล้ว สมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ให้ประโยชน์แก่ใครอีกทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอก การรื้อฟื้นสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นมาใหม่ กลับจะทำให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย จนทำลายประโยชน์ของทุกฝ่าย – ทั้งภายในและภายนอก – ยิ่งเสียกว่าปล่อยให้เป็นประเทศที่ไร้ทิศทางและอ่อนแอดังที่เป็นอยู่

ระบอบที่เข้ามาแทนที่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ในเมืองไทยคือระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ของนายพล ซึ่งเข้ามาครองอำนาจอย่างตรงไปตรงมาบ้าง แฝงมาในระบอบรัฐสภาบ้าง ยืนทะมึนอยู่เบื้องหลังระบอบรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งล้วนๆ บ้าง เพราะสมบูรณาญาสิทธิ์ตอบสนองผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มภายใน และตอบสนองผลประโยชน์ของมหาอำนาจภายนอก

เช่นระหว่างที่สหรัฐต้องทำสงครามอินโดจีน สหรัฐทำให้ประเทศไทยกลายเป็นกองเรือบรรทุกเครื่องบินที่ใหญ่สุดในโลก เพื่อปฏิบัติการและสนับสนุนการรบในแนวหน้า ประเทศไทยจะปกครองด้วยระบอบอะไรก็ได้ แต่ต้องสามารถทำหน้าที่ดังกล่าวให้แก่กองทัพสหรัฐได้ สมบูรณาญาสิทธิ์นายพลเลือกจังหวะนี้ขึ้นเถลิงอำนาจต่อเนื่องกันนาน 16 ปี ภายใต้การอุดหนุนอย่างเต็มที่จากสหรัฐ

แม้กระนั้นก็น่าสังเกตด้วยว่า สมบูรณาญาสิทธิ์ที่เกิดในเมืองไทยมีอายุสั้นและไม่ได้ครองอำนาจอย่างราบรื่นเท่ากับสมบูรณาญาสิทธิ์ของประเทศเพื่อนบ้าน ซูฮาร์โตครองอำนาจ 33 ปี, มารโกส 14 ปี แต่หากนับตั้งแต่ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีก็รวมถึง 21 ปี, กองทัพพม่า 48 ปี และหากนับถึงปัจจุบันซึ่งยังมีอำนาจกำกับการเมืองตามรัฐธรรมนูญก็เป็นเวลาถึง 55 ปี

เหตุผลอย่างหนึ่งก็เพราะกองทัพไทยไม่มีความชอบธรรมในตัวเอง และไม่สามารถสร้างความชอบธรรมในการเถลิงอำนาจได้สักครั้งเดียว เทียบกับพม่า ไม่ว่าเนวินจะโหดร้ายและไร้วุฒิภาวะเพียงไร เขาคือผู้นำกองทหารที่ป้องกันย่างกุ้งจากการยึดครองของกองทัพกะเหรี่ยงได้ใน ค.ศ.1948 (2491) ไม่ต่างจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายทหารไทยคนเดียวซึ่งมีเกียรติประวัติการรบรับรองความน่าเชื่อถือ (ทำให้ระบอบของเขาไม่ต้องอาศัยความชอบธรรมจากแหล่งอื่นมากกว่าตัวเขาเอง) ในระหว่าง 1958-60 (2501-3) เนวินนำรัฐบาลชั่วคราวกอบกู้พม่าจากความเสื่อมโทรมได้หลายประการ จนเป็นที่นิยมของประชาชน การรัฐประหารของเขาใน 1962 (2505) ได้รับการต้อนรับจากประชาชนชาวพม่าพอสมควรทีเดียว

ด้วยเหตุดังนั้น กองทัพไทยจึงต้องอาศัยความชอบธรรมจากสถาบันการเมืองอื่นในการสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ขึ้น นั่นคือแสวงหาความชอบธรรมจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม ซึ่งในปัจจุบันไม่มีอยู่จริงอีกแล้ว เหลืออยู่แต่ในความใฝ่ฝันหลงยุคของคนชั้นกลางไทย ซึ่งได้รับการศึกษาประวัติศาสตร์ที่บิดเบี้ยวมาแต่เด็ก

ความจริงแล้ว คนไทยหลงยุคที่ยังคิดว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์คือคำตอบเดียวของสังคมไทย น่าจะตระหนักมานานแล้วว่า ไม่มีที่ไหนทั่วทั้งโลกนี้ ที่กองทัพสมัยใหม่จะนำสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับคืนมา มีแต่การสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์นายพลขึ้นเท่านั้น สถาบันกษัตริย์อาจดำรงอยู่เพื่อให้ความชอบธรรมแก่สมบูรณาญาสิทธิ์นายพล และในหลายประเทศทั่วโลก เมื่อสมบูรณาญาสิทธิ์นายพลไม่ต้องพึ่งความชอบธรรมจากสถาบันกษัตริย์แล้ว ก็มักล้มเลิกระบอบกษัตริย์ไปโดยสิ้นเชิง

สถาบันกษัตริย์ในโลกปัจจุบัน มีความมั่นคงปลอดภัยที่สุดภายใต้ระบอบประชาธิปไตย-นิติรัฐเท่านั้น เพราะเป็นครั้งแรกที่ประชาชนพร้อมใจกันสถาปนาสถาบันนี้ไว้อย่างแน่นอนมั่นคงในรัฐธรรมนูญ

หมุดคณะราษฎรเป็นสัญลักษณ์การสิ้นสุดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม ไม่ใช่การสิ้นสุดของสถาบันกษัตริย์ เมื่อเอาหมุดนั้นออกไป ก็ไม่ทำให้สมบูรณาญาสิทธิราชย์ฟื้นคืนชีพขึ้นได้ ตรงกันข้าม เพื่อให้หมุดนั้นสูญหายไปชั่วนิรันดรอย่างไม่มีวันหวนคืนกลับมาได้อีก กลับทำให้ต้องพึ่งพิงสมบูรณาญาสิทธิ์นายพลมากขึ้น จนทำให้สมบูรณาญาสิทธิ์นายพลเริ่มมีความชอบธรรมในตัวเอง

อะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนั้น สมบูรณาญาสิทธิราชย์เต็มรูปแบบ หรือสมบูรณาญาสิทธิ์นายพลเต็มรูปแบบ

 

 

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศรีสุวรรณ ร้องใช้ ม.44 ตั้งองค์กรอิสระตรวจสอบจัดซื้อเรือดำน้ำ

Posted: 02 May 2017 05:57 AM PDT

สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์ร้องประยุทธ์ งัด ม.44 ตั้ง 'คณะกรรมการอิสระ' ที่ไม่ใช่คนของกองทัพ แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สอบโครงการซื้อเรือดำน้ำ ตามกฎหมายโปร่งใสบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่

 

2 พ.ค. 2560 สืบเนื่องจากมติ ครม. อนุมัติให้จัดซื้อเรือดำน้ำหยวนคลาส เอส 26 ที (Yuan Class S26T) จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 1 ลำ วงเงิน 13,500 ล้านบาท จากแผนการของกองทัพเรือจัดซื้อเรือดำน้้ำชนิดดังกล่าวจากจีนทั้งหมด 3 ลำ วงเงิน 36,000 ล้านบาท

ล่าสุดวันนี้ (2 พ.ค.60) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เผยแพร่แถลงการณ์เรื่อง "ถามกองทัพเรือกรณีชี้แจงโครงการจัดหาเรือดำน้ำว่า 'จัดหาอย่างโปร่งใสบริสุทธิ์ยุติธรรมตรวจสอบได้' อย่างไร?" โดยเป็นการตั้งคำถามถึงกองทัพเรือในกรณีโครงการจัดหาเรือดำน้ำถึงความโปร่งใส ยุติธรรม ความคุ้มค่าและประสิทธิภาพในการใช้งานเรือดำน้ำ

โดยแถลงการณ์ดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้

-กรณีรองนายกฯประวิตรออกมาพูดการซื้อเรือดำน้ำก่อนหน้านี้ว่า "ซื้อสองแถมหนึ่ง" นั้นคือการโกหกสังคมไทยใช่หรือไม่ เพราะตามถ้อยแถลงของกองทัพเรือมีเป้าหมายที่ชี้ชัดอยู่แล้วว่าจัดซื้อตามแผนยุทธศาสตร์กองทัพเรือที่กำหนดว่าต้องการมีเรือดำน้ำ 3 ลำมาตั้งแต่ต้น เหตุใดจึงมีการบิดเบือนข้อมูลในลักษณะโฆษณาชวนเชื่อหลอกสังคมไทยว่า "ซื้อสองแถมหนึ่ง"

-การจัดซื้อเรือดำน้ำจะกระทบต่อฐานะทางการเงินการคลังของประเทศในระยะยาวและจะมีผลต่อการขาดเงินไปใช้ในการแก้ไขปัญหาของประชาชนหรือไม่โดยเฉพาะด้านการสาธารณสุข ด้านการศึกษา การพยุงราคาผลิตผลทางการเกษตรที่ราคาตกต่ำหรือไม่ อย่างไร ฯลฯ

-สถานะทางการคลังของประเทศไทยในขณะนี้มีความร่ำรวยมาก GDP ขยายตัวสูงถึงขนาดสามารถจัดสรรงบผูกพันให้กับกองทัพเรือไปจัดหาเรือดำน้ำมาประจำการได้เชียวหรือ? ตลอดระยะเวลาที่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศทำไมกระทรวงกลาโหมจึงมีการตั้งงบประมาณเพิ่มมากขึ้นแบบก้าวกระโดดจนถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีกองกำลังทางทหารมีพลังมากที่สุดในโลกอันดับที่ 24 หรือเพียงเพื่อเบี่ยงเบนประเด็นให้ลดข้อครหาว่าเป็นเพียงการใช้งบประมาณส่วนตัวของกองทัพเรือใช่หรือไม่?

-กรณีการตั้งงบประมาณผูกพันเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดอันขัดต่อมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวิธีงบประมาณ พ.ศ.2502 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2503 นั้นกระทำได้หรือไม่ อย่างไร ?

-ก่อนหน้านี้รองนายกฯประวิตรออกมาพูดว่าการซื้อเรือดำน้ำจะผ่อนชำระ 11 ปีแต่วันนี้กลับแถลงว่าจะแบ่งชำระเป็น 17 งวดใน 7 ปีในเรือลำแรก ตกลงสังคมไทยควรจะเชื่อใครดี หรือเป็นวิธีลับ ลวง พราง หลอกประชาชนไปวันๆ

-ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากองทัพเรือนำเสนอมาโดยตลอดว่ามีศักยภาพในการรบและปกป้องอำนาจอธิปไตยทางทะเลขั้นสูงหลังจากที่มีการเสนอและจัดหาเรือหลวงจักรีนฤเบศรมาประจำการและเรือรบขนาดใหญ่ กลาง เล็กอีกมากมายจนไม่มีที่เก็บ นอกจากนั้นยังมีเครื่องบิน Sea Harrier อีกหนึ่งฝูง ซึ่งปัจจุบันเอาไปเก็บไว้ที่ไหนแล้ว เอามาใช้ประโยชน์อะไรให้คุ้มค่าหรือไม่

-ต้องตอบคำถามให้ได้ว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อภัยคุกคามใดที่จำเป็นต้องใช้เงินภาษีของประชาชนอย่างมหาศาลเพียงเพื่ออยากมีกองเรือดำน้ำไว้ประจำการ และทำไมยุทโธปกรณ์ เรือรบต่างๆ ที่มีประจำการอยู่แล้วมากมาย จึงไม่สามารถตอบโต้ภัยคุกคามต่าง ๆ ได้เพียงพอ

-ข้ออ้างในการใช้ปกป้องทรัพยากรทางทะเลของชาตินั้น จะใช้ปกป้องอย่างไรในเมื่อขณะนี้เราก็ปล่อยให้นายทุนข้ามชาติเข้ามาขุดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจนพรุนอ่าวไทยไปหมดแล้ว แม้กระทั่งกำลังแก้กฎหมายเอื้อประโยชน์ด้านปิโตรเลียมและให้ต่างชาติเข้ามายึดประเทศไทยได้ถึง 99 ปี แม้มีกรณีพิพาทชายแดนเขมรเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งเป็นข่าวมาอย่างต่อเนื่อง เรือดำน้ำจะได้ช่วยแก้ไขปัญหาให้เขมรกลัวจนตัวสั่นหรือไม่ อย่างไร?

-ตลอดระยะเวลาในการจัดหาเรือดำน้ำ ทำไมไม่มีการเปิดเผยข้อมูลการกำหนด TOR ข้อมูลการแข่งขันราคาและรายละเอียดข้อเสนอต่าง ๆ ของแต่ละประเทศในการเสนอแข่งขันกันของประเทศต่างๆ ที่ยื่นข้อเสนอมา ซึ่งไม่ใช่ชั้นความลับทางความมั่นคง และคณะกรรมการที่พิจารณาในเรื่องนี้ทั้งหมด 22 คนเป็นใครบ้าง ทำไมไม่เปิดเผยรายชื่อให้สาธารณชนทราบ เพื่อที่สาธารณชนจะได้ยื่นให้ สตง., ป.ป.ช., หรือ ป.ป.ง.ตรวจสอบสถานะในอดีต-ปัจจุบันและอนาคตของกรรมการแต่ละคนได้ เพื่อความโปร่งใส?

สุดท้ายการชี้แจงโครงการจัดหาเรือดำน้ำว่า "จัดหาอย่างโปร่งใสบริสุทธิ์ยุติธรรมตรวจสอบได้" นั้น ใครๆ ก็พูดได้แต่ถ้าจะให้โปร่งใสบริสุทธิ์ยุติธรรมตรวจสอบได้จริง ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ใช้ ม.44 มีคำสั่งตั้ง "คณะกรรมการอิสระ" ขึ้นมาคณะหนึ่งซึ่งไม่ใช่คนของกองทัพ แต่เป็นผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในหน่วยงานวิชาการสถาบันการศึกษา หน่วยงานยุติธรรมเช่น ผู้พิพากษาศาลยุติธรรม ตุลาการศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งในรัฐบาลชุดนี้ มาดำเนินการตรวจสอบโครงการฯและการหาเรือดำน้ำทั้งหมดว่าเป็นไปตามกฎหมายโปร่งใสบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่?

ประกาศมา ณ วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2560
นายศรีสุวรรณ จรรยา
เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย

 

ที่มา มติชน, http://www.matichon.co.th/news/547085

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาจำคุก 5 ปี “2 ลุงป้ากาฬสินธุ์” ข้อหาทำไม้-ครอบครองไม้สัก

Posted: 02 May 2017 05:52 AM PDT

ศาลฎีกาพิพากษาแก้คดี 2 สามีภรรยาถูกจับคดีบุกรุกป่าสงวน ตัดไม้สัก ครอบครองไม้หวงห้าม ลดโทษจำคุกจาก 30 ปีศาลชั้นต้น เหลือจำคุก 5 ปี ผิดเฉพาะข้อหาทำไม้-ครอบครองไม้สัก ชี้ขณะเกิดเหตุมีไม้สัก ไม้กระยาเลย กินพื้นที่หลายแปลงถูกตัดโดยกลุ่มบุคคลที่ร่วมกันเป็นขบวนการลักลอบตัดไม้ แบ่งหน้าที่กันเพื่อทำให้ที่ดินป่าสงวนกลายเป็นป่าไม่สมบูรณ์หวังผลให้ราชการนำที่ดินบุกรุกมาจัดสรรชาวบ้าน โดยจำเลยร่วมขบวนการด้วย

โดยศาลชี้ว่า พฤติการณ์ของจำเลยส่งผลกระทบต่อสภาพความสมดุลของระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยากแก่การฟื้นฟูให้กลับคืนดีดังเดิม ส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนโดยรวม ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยทั้งสอง ด้านทนายสงกรานต์เตรียมยื่นคำร้องขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาคดีใหม่ หรือตรวจหลักเกณฑ์ของการยื่นขอพักโทษเนื่องจากจำเลยทั้ง 2 รับโทษมาเกิน 1 ใน 3 แล้ว

กรณีนายอุดม ศิริสอน อายุ 55 ปี และนางแดง ศิริสอน อายุ 53 ปี สองสามีภรรยาชาว จ.กาฬสินธุ์ จำเลยในคดีบุกรุกแผ้วถางป่าไม้ ซึ่งถูกจับในข้อหาบุกรุกแผ้วถางป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ 72 ไร่ เมื่อ กรกฎาคม 2553 โดยมีหลักฐานตามฟ้องกล่าวหาว่าตัดไม้สักและกระยาเลย และยังครอบครองไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตเหตุเกิดวันที่ 12 กรกฎาคม 2553 เวลากลางวัน และต่อมาเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2554 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 30 ปี ผู้ต้องหารับสารภาพ ลดโทษเหลือ 15 ปีจากนั้นประกันตัวสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ ปฏิเสธว่าไม่ได้ตัดไม้ อ้างว่าวันเกิดเหตุได้เข้าไปเก็บเห็ดในป่าสงวนเท่านั้น ขอให้ศาลลดโทษ ซึ่งศาลพิพากษาแก้เป็น จำคุก 14 ปี 12 เดือนนั้น

ล่าสุดวันนี้ (2 พ.ค.60) สองสามีภรรยาเดินทางมาฟังคำพิพากษาในชั้นฎีกา ที่ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยศาลฎีกาพิพากษาว่า ข้อที่ว่าจำเลยที่ 1 อ้างว่าประสบอุบัติเหตุก่อนที่จะถูกดำเนินคดี ทำให้มีอาการลมออกหูและประสาทไม่ดี พูดจารู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างนั้น ส่อว่า "จำเลยทั้งสองพยายามปรุงแต่งข้ออ้างอาการป่วยเจ็บของจำเลยที่ 1 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยบิดเบือนไปให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพด้วยความไม่สมัครใจ แต่กลับปรากฏข้อเท็จจริงว่า เรื่องที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างมานั้นขัดแย้งกันเองทั้งสิ้น จึงเป็นพิรุธรับฟังเป็นความจริงไม่ได้"

นอกจากนี้คำพิพากษาระบุว่า "กระบวนพิจารณาและคำให้การของจำเลยทั้งสองที่ศาลชั้นต้นสอบและบันทึกไว้ลงวันที่ 26 กันยายน 2554 ได้กระทำโดยเปิดเผยปรากฏข้อความระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่า จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการและจำเลยทั้งสองก็ลงลายมือชื่อไว้ด้วย เมื่อทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าคำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสองไม่สมัครใจแต่อย่างใด และเป็นความเข้าใจผิดของจำเลยทั้งสองเอง ไม่อาจยกเป็นข้อต่อสู้ได้ ทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าข้ออ้างของจำเลยทั้งสองเป็นพิรุธรับฟังเป็นความจริงไม่ได้ คดีจึงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองสมัครใจให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณา ศาลย่อมพิพากษาโดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานต่อไปได้"

ส่วนที่ฎีกาว่าการดำเนินการสอบสวนของพนักงานสอบสวนไม่ชอบเพราะไม่ได้แจ้งพฤติการณ์และรายละเอียดในการกระทำความผิดตามฟ้องให้จำเลยทั้งสองทราบ คำพิพากษาศาลชี้ว่า "ตามสำเนาบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารท้ายฎีกาของจำเลยทั้งสองก็ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาตามฟ้องให้จำเลยทั้งสองทราบโดยครบถ้วนและได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดแล้ว เพียงแต่ไม่ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำมากเท่ากับที่บรรยายในคำฟ้องเท่านั้น ซึ่งจำเลยทั้งสองก็ให้การปฏิเสธอันแสดงให้เห็นว่า จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อกล่าวหาเป็นอย่างดีแล้วนั่นเอง การบรรยายคำฟ้องเป็นหน้าที่ของโจทก์ไม่ใช่เรื่องของพนักงานสอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาให้จำเลยทั้งสองทราบโดยชอบแล้ว การสอบสวนจึงชอบแล้ว โจทย์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น"

ส่วนปัญหาประการสุดท้ายที่จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น คำพิพากษาศาลฎีการะบุว่า "ตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยทั้งสอง สำนวนการสอบสวนที่ศาลฎีกาเรียกมาจากโจทก์เพื่อประกอบการพิจารณาได้ความว่า ในวันเกิดเหตุคณะเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าร่วมกันออกตรวจปราบปรามผู้กระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ พบกลุ่มบุคคลประมาณ 3 ถึง 4 คน กำลังช่วยกันใช้มีดแผ้วถางไม้ขนาดเล็กและตัดโค่นไม้สักล้มลงเป็นจำนวนมาก เมื่อกลุ่มบุคคลนั้นมองเห็นเจ้าหน้าที่จึงพากันวิ่งหลบหนีเข้าป่าไป และมีพยานเห็นจำเลยทั้งสองวิ่งหนีออกจากที่เกิดเหตุ ซึ่งจำเลยทั้งสองก็ให้การไว้ในชั้นสอบสวนยอมรับว่า ขณะนี้อยู่ในพื้นที่ป่าที่เกิดเหตุได้ยินเสียงคนร้องเอะอะโวยวาย หันไปมองดูพบเห็นชายไทย 2 ถึง 3 คน วิ่งเข้าไปในป่า ด้วยความตกใจกลัวจำเลยทั้งสองจึงได้วิ่งหนีเข้าป่าไป และได้ความว่าพื้นที่ที่เกิดเหตุเป็นแปลงปลูกสวนป่า ปี 2527, 2531, 2532 และ 2536 มีการตัดโค่นไม้สักกับไม้กระยาเลยขนาดโตประมาณ 30 ถึง 90 เซนติเมตร อายุประมาณ 15 ถึง 20 ปี ที่กำลังโตอยู่รอบๆ บริเวณแปลงที่ถูกตัดหลายแปลงโดยมีลักษณะเป็นการกระทำความผิดของกลุ่มบุคคลหลายฝ่ายร่วมกันเป็นขบวนการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าโดยแบ่งหน้าที่กันทำเพื่อให้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุกลายเป็นป่าไม้สมบูรณ์และหวังผลให้ทางราชการดำเนินการนำพื้นที่ที่ถูกบุกรุกดังกล่าวมาจัดสรรแบ่งปันให้แก่ชาวบ้าน ซึ่งมีกลุ่มบุคคลที่ร่วมขบวนการเดียวกันได้รับประโยชน์ด้วยอันเป็นการกระทำที่ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง โดยจำเลยทั้งสองร่วมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการดังกล่าวด้วย ตามพฤติการณ์แห่งคดีเชื่อได้ว่าบุคคลที่เป็นกลุ่มนายทุนมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดตามฟ้องโดยตรงยังมิได้มีการขยายผลและติดตามจับกุมมาดำเนินคดีทั้งหมด คงมีแต่จำเลยทั้งสองเท่านั้นที่ยอมเข้ามอบตัวเพื่อให้ดำเนินคดีต่อไปและสมัครใจให้การรับสารภาพตามฟ้อง กรณีมีเหตุสมควรกำหนดโทษที่ลงแก่จำเลยทั้งสองให้น้อยลงเพื่อให้เหมาะสมแก่รูปคดี แต่ตามพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองส่งผลกระทบต่อสภาพความสมดุลของระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยากแก่การฟื้นฟูให้กลับคืนดีดังเดิม ส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนโดยรวม ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยทั้งสอง ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน"

"อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 106/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ข้อ 3 และข้อ 5 ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา 69 และมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสอง จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำผิดบังคับแก้จำเลยทั้งสอง"

โดยพิพากษาแก้ว่า "จำเลยทั้ง 2 มีความผิดฐานร่วมกันทำไม้สักซึ่งเป็นไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุกคนละ 4 ปี ฐานร่วมกันมีไม้สักซึ่งเป็นไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองจำคุกคนละ 6 ปี เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4"

แฟ้มภาพทนายสงกรานต์ อัจฉริยะทรัพย์

ด้านสงกรานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ทนายความระบุในสเตตัสเฟซบุ๊กว่า "เป็นไปตามคาดพิพากษา"แก้"จากจำคุกรวมคนละ 15 ปีศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยแก้ให้จำคุกรวมคนละ 5 ปี" ..แนวทางสู้ต่อไปตามกระบวนการยุติธรรมมีดังนี้ 1. ยื่นคำร้องขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาคดีใหม่ 2. ตรวจหลักเกณฑ์ของการยื่นขอพักโทษเนื่องจาก นายอุดม จำเลยที่ 1 ติดมาแล้วประมาณ 1 ปี 8 เดือนแล้วส่วนนางแดง จำเลยที่ 2 ติดมาแล้วประมาณ 1 ปี 9 เดือน (ต้องไปตรวจหลักเกณฑ์การขอพักโทษกรณีรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 ของการลงโทษหรือไม่) .. กราบขอบพระคุณทุกๆ หน่วยงานของรัฐ, ผู้ใช้เฟซบุ๊ค facebook, และ สื่อสารมวลชนทุกแขนง ขอบพระคุณครับ"

โดยคำพิพากษาศาลฎีกาโดยสังเขปมีดังนี้

... ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง จำเลยทั้งสองหลงเชื่อบุคคลภายนอกว่ารับสารภาพแล้วศาลจะปรับจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 เคยประสบอุบัติเหตุโดยถูกรถยนต์ชนสลบไปประมาณ 2 ถึง 3 วัน โดยอุบัติเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่จำเลยทั้งสองจะถูกดำเนินคดีนี้ หลังจากที่จำเลยที่ 1 ประสบอุบัติเหตุแล้ว จำเลยที่ 1 มีอาการลมออกหูและประสาทไม่ดี พูดจารู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง จำเลยที่ 1 ได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ หลังจากนั้นได้มารักษาตัวที่คลินิกหมอเปตรง เขียนแม้น แต่จำเลยที่ 1 ก็ยังอาการไม่ดีขึ้นมีอาการงงๆ พูดจาไม่ค่อยรู้เรื่อง การที่ศาลชั้นต้นถามจำเลยทั้งสองว่าได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ จำเลยที่ 1 ไม่ค่อยจะได้ยิน ศาลถามหลายครั้งจำเลยที่ 1 ก็ก้มหัวเท่านั้น ศาลก็เลยบอกว่าจำเลยที่ 1 รับสารภาพ แล้วศาลถามคำให้การของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ก็บอกว่าให้การทำนองเดียวกับจำเลยที่ 1 ความจริงแล้วจำเลยทั้งสองไม่ได้สมัครใจให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณานั้น เห็นว่า ข้ออ้างอาการป่วยของจำเลยที่ 1 ตามฎีกา เป็นการกล่าวอ้างเพิ่มขึ้นในชั้นฎีกาแตกต่างกับข้ออ้างในชั้นศาลอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองที่กล่าวอ้างแต่เพียงว่า มีคนบอกจำเลยทั้งสองให้รับสารภาพเสียค่าปรับแล้วกลับบ้านได้ ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์จำเลยทั้งสองจึงให้การรับสารภาพ แต่ถึงอย่างไรจำเลยทั้งสองก็ยอมรับว่าจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพตามฟ้อง จึงเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของศาลขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ นอกจากนี้อาการป่วยของจำเลยที่ 1 ตามข้ออ้างในฎีกายังขัดแย้งกับใบรับรองแพทย์ โรงพยาบาลกาฬสินธุ์และใบสรุปการรักษาพยาบาลจำเลยที่ 1 ของนายแพทย์เปตรง ฉบับลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2556 เอกสารหมาย ล.1 เอกสารชั้นไต่สวนคำร้องตามคำสั่งศาลฎีกาที่ระบุว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ป่วยในระหว่างวันที่ 3 ถึง 10 ตุลาคม 2554 ด้วยประวัติเกิดอุบัติเหตุขับรถจักรยานยนต์ชนกับรถจักรยานยนต์ประมาณ 1 วัน ก่อนมาโรงพยาบาล มีอาการสลบชั่วครู่ หลังจากฟื้นมีการอาการปวดศีรษะและเวียนศีรษะได้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองพบว่ามีเลือดออกในสมองกะโหลกศีรษะร้าว มีลมรั่วเข้าไปในสมอง ได้นอนรักษาพยาบาลจนอาการดีขึ้นพอควร จึงจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2554 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 มีอาการปวดและวิงเวียนศีรษะเป็นบางครั้ง ซึ่งอาการป่วยเจ็บดังกล่าวของจำเลยที่ 1 เกิดขึ้นภายหลังจากวันที่ 26 กันยายน 2554 ที่โจทย์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นและได้ความว่า จำเลยทั้งสองเข้ามอบตัววันที่ 27 พฤศจิกายน 2553 ทั้งตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยที่ 1 ในชั้นฎีกาก็ไม่ปรากฏว่าก่อนที่จำเลยที่ 1 จะถูกดำเนินคดีนี้ในปี 2553 จำเลยที่ 1 เคยประสบอุบัติเหตุรถยนต์ชนจนสลบไป 2 ถึง 3 วัน แต่ประการใด คงมีแต่อุบัติเหตุช่วงเดือนตุลาคม 2554 เท่านั้น ดังนี้ ส่อแสดงว่าจำเลยทั้งสองพยายามปรุงแต่งข้ออ้างอาการป่วยเจ็บของจำเลยที่ 1 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยบิดเบือนไปให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพด้วยความไม่สมัครใจ แต่กลับปรากฏข้อเท็จจริงว่า เรื่องที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างมานั้นขัดแย้งกันเองทั้งสิ้น จึงเป็นพิรุธรับฟังเป็นความจริงไม่ได้ ประกอบกับข้อเท็จจริงตามรายงานกระบวนพิจารณาและคำให้การของจำเลยทั้งสองที่ศาลชั้นต้นสอบและบันทึกไว้ลงวันที่ 26 กันยายน 2554 ได้กระทำโดยเปิดเผยปรากฏข้อความระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่า จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการและจำเลยทั้งสองก็ลงลายมือชื่อไว้ด้วย เมื่อทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าคำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสองไม่สมัครใจแต่อย่างใด และเป็นความเข้าใจผิดของจำเลยทั้งสองเอง ไม่อาจยกเป็นข้อต่อสู้ได้ ทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าข้ออ้างของจำเลยทั้งสองเป็นพิรุธรับฟังเป็นความจริงไม่ได้ คดีจึงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองสมัครใจให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณา ศาลย่อมพิพากษาโดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานต่อไปได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 176 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องจึงขัดกับคำให้การในชั้นพิจารณาของจำเลยทั้งสอง ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปว่า การดำเนินการสอบสวนของพนักงานสอบสวนไม่ชอบเพราะไม่ได้แจ้งพฤติการณ์และรายละเอียดในการกระทำความผิดตามฟ้องให้จำเลยทั้งสองทราบ การสอบสวนจึงไม่ชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองนั้น เห็นว่า ตามสำเนาบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารท้ายฎีกาของจำเลยทั้งสองก็ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาตามฟ้องให้จำเลยทั้งสองทราบโดยครบถ้วนและได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดแล้ว เพียงแต่ไม่ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำมากเท่ากับที่บรรยายในคำฟ้องเท่านั้น ซึ่งจำเลยทั้งสองก็ให้การปฏิเสธอันแสดงให้เห็นว่า จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อกล่าวหาเป็นอย่างดีแล้วนั่นเอง การบรรยายคำฟ้องเป็นหน้าที่ของโจทก์ไม่ใช่เรื่องของพนักงานสอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาให้จำเลยทั้งสองทราบโดยชอบแล้ว การสอบสวนจึงชอบแล้ว โจทย์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น

ส่วนปัญหาประการสุดท้ายที่จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น เห็นว่า ตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยทั้งสอง สำนวนการสอบสวนที่ศาลฎีกาเรียกมาจากโจทก์เพื่อประกอบการพิจารณาได้ความว่า ในวันเกิดเหตุคณะเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าร่วมกันออกตรวจปราบปรามผู้กระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ พบกลุ่มบุคคลประมาณ 3 ถึง 4 คน กำลังช่วยกันใช้มีดแผ้วถางไม้ขนาดเล็กและตัดโค่นไม้สักล้มลงเป็นจำนวนมาก เมื่อกลุ่มบุคคลนั้นมองเห็นเจ้าหน้าที่จึงพากันวิ่งหลบหนีเข้าป่าไป และมีพยานเห็นจำเลยทั้งสองวิ่งหนีออกจากที่เกิดเหตุ ซึ่งจำเลยทั้งสองก็ให้การไว้ในชั้นสอบสวนยอมรับว่า ขณะนี้อยู่ในพื้นที่ป่าที่เกิดเหตุได้ยินเสียงคนร้องเอะอะโวยวาย หันไปมองดูพบเห็นชายไทย 2 ถึง 3 คน วิ่งเข้าไปในป่า ด้วยความตกใจกลัวจำเลยทั้งสองจึงได้วิ่งหนีเข้าป่าไป และได้ความว่าพื้นที่ที่เกิดเหตุเป็นแปลงปลูกสวนป่า ปี 2527, 2531, 2532 และ 2536 มีการตัดโค่นไม้สักกับไม้กระยาเลยขนาดโตประมาณ 30 ถึง 90 เซนติเมตร อายุประมาณ 15 ถึง 20 ปี ที่กำลังโตอยู่รอบๆ บริเวณแปลงที่ถูกตัดหลายแปลงโดยมีลักษณะเป็นการกระทำความผิดของกลุ่มบุคคลหลายฝ่ายร่วมกันเป็นขบวนการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าโดยแบ่งหน้าที่กันทำเพื่อให้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุกลายเป็นป่าไม่สมบูรณ์และหวังผลให้ทางราชการดำเนินการนำพื้นที่ที่ถูกบุกรุกดังกล่าวมาจัดสรรแบ่งปันให้แก่ชาวบ้าน ซึ่งมีกลุ่มบุคคลที่ร่วมขบวนการเดียวกันได้รับประโยชน์ด้วยอันเป็นการกระทำที่ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง โดยจำเลยทั้งสองร่วมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการดังกล่าวด้วย ตามพฤติการณ์แห่งคดีเชื่อได้ว่าบุคคลที่เป็นกลุ่มนายทุนมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดตามฟ้องโดยตรงยังมิได้มีการขยายผลและติดตามจับกุมมาดำเนินคดีทั้งหมด คงมีแต่จำเลยทั้งสองเท่านั้นที่ยอมเข้ามอบตัวเพื่อให้ดำเนินคดีต่อไปและสมัครใจให้การรับสารภาพตามฟ้อง กรณีมีเหตุสมควรกำหนดโทษที่ลงแก่จำเลยทั้งสองให้น้อยลงเพื่อให้เหมาะสมแก่รูปคดี แต่ตามพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองส่งผลกระทบต่อสภาพความสมดุลของระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยากแก่การฟื้นฟูให้กลับคืนดีดังเดิม ส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนโดยรวม ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยทั้งสอง ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน

อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 106/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ข้อ 3 และข้อ 5 ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา 69 และมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสอง จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำผิดบังคับแก้จำเลยทั้งสอง

พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานร่วมกันทำไม้สักซึ่งเป็นไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุกคนละ 4 ปี ฐานร่วมกันมีไม้สักซึ่งเป็นไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองจำคุกคนละ 6 ปี เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

นายแก้ว เวศอุไร

นางอุบลรัตน์ ลุยวิกกัย

นายสรรทัศน์ เอี่ยมวรชัย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทั่วโลกรณรงค์เนื่องในวันแรงงานสากล

Posted: 02 May 2017 05:15 AM PDT

แรงงานทั่วโลกออกมารณรงค์เนื่องในวันแรงงานสากลเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2017 ที่ผ่านมา ภาพประกอบการรณรงค์ของสหภาพแรงงานครูแห่งควีนส์แลนด์, ออสเตรเลีย โดย Andrew Mercer (CC 0.2)

ที่เกาหลีใต้แรงงานต่างชาติก็ออกมาเรียกร้องสิทธิด้วย ที่มาภาพ: KCTU

เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมาสำนักข่าวต่างประเทศ ได้รายงานว่ารายงานว่าสหภาพแรงงานทั่วโลกนำกลุ่มแรงงานออกมารณรงค์เนื่องในวันแรงงานสากล มีการเรียกร้องให้เพิ่มค่าแรง สภาพการทำงานที่ดีขึ้น การปรับปรุงในด้านสิทธิต่าง ๆ รวมถึงประเด็นการเมืองของแต่ละประเทศ

ที่สเปน สหภาพแรงงาน UGT และ CCOO ได้นำการรณรงค์ 73 แห่งทั่วประเทศสเปน เรียกร้องให้รัฐบาลอนุรักษนิยมของสเปนยกเลิกการปฏิรูปแรงงานที่จะทำให้การเลิกจ้างได้ง่ายขึ้นและจ่ายค่าชดเชยน้อยลง นอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องการจ้างงานที่มั่นคง ค่าจ้างที่เหมาะสม เงินบำนาญที่ยุติธรรม และการคุ้มครองทางสังคมมากขึ้นด้วย

ที่รัสเซีย ข้อมูลจากกลุ่มสหภาพแรงงานระบุว่าจะมีแรงงานออกมาร่วมงานเฉลิมฉลองในวันแรงงานกว่า 2.5 ล้านคนทั่วประเทศ โดยที่จตุรัสแดง (Red Square) ในกรุงมอสโก สหภาพแรงงานที่ได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีปูตินได้จัดงานที่นี่ ส่วนพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซียได้จัดกิจกรรมแยกต่างหากในกรุงมอสโกซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 3,500 คน

ที่ฝรั่งเศสคู่ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศส ทั้งเอ็มมานูเอล มาครอง (Emmanuel Macron) และมารีน เลอ แปง (Marine Le Pen) ถูกต่อต้านโดยกลุ่มสหภาพแรงงานทั้งคู่

ที่อิตาลี กลุ่มสหภาพแรงงานอิตาลีรณรงค์ตามคำขวัญ "การทำงาน: รากเหง้าของเราในอนาคต" มีผู้เข้าร่วมประมาณ 10,000 คน รวมถึงประธานคณะกรรมาธิการต่อต้านมาเฟียของรัฐสภาอิตาลีด้วย

ที่ตุรกี ประเทศที่มีการเมืองภายในตึงเครียดประเทศหนึ่ง มีการจับกุมผู้รณรงค์ประท้วงเนื่องในวันแรงงานไปกว่า 165 ราย หลังความพยายามสกัดผู้ประท้วงที่พยายามจะเดินขบวนไปยังจัตุรัสทัคซิม (Taksim Square) เพื่อประท้วงต่อต้านการขยายอำนาจของประธานาธิบดี

ที่บังกลาเทศ แรงงานอุตสาหกรรมเสื้อผ้านับพันคนก็ได้ออกมารณรงค์เรียกร้องให้มีการขึ้นค่าแรงและการคุ้มครองทางกฎหมาย กลุ่มสหภาพแรงงานผู้จัดการรณรงค์ระบุว่าการขึ้นค่าแรงเพียงอย่างเดียวนั้นยังไม่เพียงพอ แต่แรงงานจะต้องมีที่พักอาศัยและสุขภาพที่ดี และนายจ้างควรช่วยเหลือเพื่อให้ลูกของคนงานได้รับการศึกษาที่ดีด้วย

ที่ไต้หวันหลายพันคนเดินขบวนประท้วงการจ่ายค่าแรงต่ำที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงเรื่องสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ดีนัก

ที่กัมพูชา แรงงานภาคอุตสาหกรรมเสื้อผ้านับพัน ออกมาเดินขบวนเพื่อยื่นคำร้องต่อรัฐสภาในกรุงพนมเปญ เรียกร้องให้มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และเรียกร้องเสรีภาพในการรวมตัวและสิทธิในการชุมนุมประท้วง

ที่ซูดานใต้ กลุ่มสหภาพแรงงานข้าราชการพลเรือนได้ออกมาเรียกร้องค่าแรงเพิ่มขึ้น ปัจจุบันแม้แต่ข้าราชการพลเรือนของซูดานใต้ยังมีค่าจ้างขั้นต่ำต่อวันต่ำว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยกลุ่มสหภาพแรงงานเรียกร้องไปที่ 5 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลรับประกันการชำระเงินบำนาญของผู้เกษียณก่อนอายุ หลังการประกาศอิสรภาพของประเทศเมื่อปี 2011 แต่ผู้เกษียณก่อนอายุยังคงรอเงินค้างจ่ายอยู่

นอกจากนี้ยังมีการณรงค์ในอีกหลายที่ในโลก เช่น สหรัฐอเมริกา, รวันดา, แอฟริกาใต้, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย ฯลฯ 

 

เรียบเรียงบางส่วนมาจาก

May Day Panorama: Millions worldwide march, protest, celebrate Workers Day (efe.com, 2/5/2017)
'No more excuses': Defiant rallies, marches for workers rights mark May Day (washingtonpost.com, 1/5/2017)

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รสนาโพสต์อัด 'สภาเผด็จการเสียงข้างเดียว' ไม่ต่าง 'เผด็จการเสียงข้างมาก' ที่เคยสู้มา

Posted: 02 May 2017 01:40 AM PDT

รสนา โพสต์ 'เผด็จการเสียงข้างเดียว' ใช้อำนาจขัดข้อบังคับ 'ล้มมวย' ในการผ่านร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ อัดไม่ต่าง 'เผด็จการเสียงข้างมาก' ที่เคยต่อสู้มา ใช้อำนาจผ่านกฎหมายโดยขาดหลักความโปร่งใส และขัดหลักนิติธรรม 

เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อคามผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'รสนา โตสิตระกูล' ในหัวข้อ เผด็จการเสียงข้างเดียวใช้อำนาจขัดข้อบังคับ'ล้มมวย'ในการผ่านร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ?

โดย รสนา ระบุว่า

 
รัฐบาลจากการเลือกตั้งในอดีตที่อาศัยสภาเสียงข้างมากผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอยฉบับลักหลับประเทศไทย ผ่านกฎหมายเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทที่เขียนว่าเงินกู้ไม่ใช่เงินแผ่นดิน และผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ถูกขนานนามว่ารัฐธรรมนูญทรพีฉบับลูกฆ่าแม่ ที่หักดิบฝ่ายค้านเสียงข้างน้อย จนสภาจากการเลือกตั้งถูกขนานนามว่าเป็น "สภาเผด็จการเสียงข้างมาก" และมีการประท้วงของประชาชนจนนำมาสู่จุดจบของรัฐบาลจากการเลือกตั้ง
 
หลังการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งเลือกโดยรัฐบาล คสช.ทั้งหมด การผ่านร่างกฎหมายจำนวนมากเป็นไปในระบบถ้อยทีถ้อยอาศัย เพราะเป็นสภาที่ไม่มีฝ่ายค้าน หรือเป็น "สภาเสียงข้างเดียว" นั่นเอง
 
ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ…. เป็นร่างกฎหมายฉบับแรกที่ภาคประชาชนติดตาม จับตาอย่างใกล้ชิด เรียกได้ว่ามีความเป็นมาตั้งแต่การคัดค้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ในปี 2554 ที่อยู่ในสมัยรัฐบาลจากการเลือกตั้ง สิ่งที่ประชาชนเรียกร้องคือ ก่อนเปิดให้มีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ ควรมีการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 ที่ใช้มานานกว่า 40 ปีแล้ว และเป็นกฎหมายที่ใช้ระบบเดียวคือระบบสัมปทาน
 
เจตนารมณ์ของสัมปทานในยุคแรก คือให้เอกชนนำความรู้ทางเทคโนโลยีมาพัฒนาการสำรวจและผลิต โดยรัฐยอมให้เอกชนผูกขาดปิโตรเลียมที่ค้นพบในยุคแรก และวางรากฐานให้มีการถ่ายทอดความรู้ให้คนไทยเพื่อรับช่วงต่อหลังหมดอายุสัมปทาน ดังที่รัฐบาลในอดีตสมัย พล.อ เปรม ติณสูลานนท์ ได้ตั้ง ปตท.สผ.และซื้อแหล่งบงกชคืนจากบริษัทน้ำมันต่างชาติ และจ้างบริษัทโททาลมาฝึกสอนคนไทย จนสามารถบริหารกิจการต้นน้ำได้เอง แต่พอคนไทยทำเองได้ ปตท.สผ.ก็ถูกแปรรูปไปเป็นของเอกชน รวมถึงการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยก็ถูกแปรรูปไปเป็นของเอกชน
 
ด้วยเจตนารมณ์ที่จะให้คนไทยรับช่วงต่อเมื่อให้สัมปทานเกิน 50 ปีแล้ว ในกฎหมายปิโตรเลียม 2514 จึงได้ระบุไว้ในมาตรา 26 ว่า การให้สัมปทานการผลิตให้ต่ออายุได้เพียงครั้งเดียว คือ 10 ปี หลังจากนั้นห้ามต่ออายุสัมปทานอีก แสดงว่าต้องมีระบบอื่นที่ไม่ใช่สัมปทานมาใช้กับการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมต่อไปในแหล่งที่หมดอายุสัมปทาน แต่ยังมีปิโตรเลียมเหลืออยู่ ซึ่งสัมปทาน 2 แหล่งแรกที่เข้าเงื่อนไขห้ามต่ออายุสัมปทานอีกคือแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช โดยแหล่งเอราวัณเมื่อครบอายุสัญญาในปี 2566 นับจากปี 2514 ก็เป็นเวลาถึง 52 ปี
 
การคัดค้านการเปิดสัมปทานรอบ 21 ยืดเยื้อมาจนหลังเกิดรัฐประหาร จากการที่ประชาชนเรียกร้องให้ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต และระบบจ้างผลิต ซึ่งเป็นระบบที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการให้คนไทยสามารถควบคุมการบริหารกิจการปิโตรเลียมต้นน้ำได้ด้วยตัวเองหลังหมดอายุสัมปทานแล้ว จึงต้องมีบรรษัทพลังงานแห่งชาติมาเป็นกลไกปฏิบัติงานของระบบแบ่งปันผลผลิต และระบบจ้างผลิต หรือจ้างบริการ
 
นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้สั่งเลื่อนการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ออกไปจนกว่าจะแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียม และมอบหมายให้กรรมาธิการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (กมธ.สนช.) ศึกษาจุดอ่อนของ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 2514 ซึ่ง กมธ.สนช.ใช้เวลาศึกษามากกว่า 2 ปี และมีข้อเสนอการแก้ไขเป็นรายงานของ สนช. แต่ปรากฏว่าร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ…. ของกระทรวงพลังงานไม่ได้ยกร่างตามผลการศึกษาของ กมธ.สนช.
 
ร่างกฎหมายปิโตรเลียมเมื่อเสนอเข้าสู่ สนช. ใช้เวลาถึง 9 เดือนเพราะเกิดจากร่างกฎหมายที่เสนอเข้าสู่สภายังมีข้อบกพร่องที่ไม่ได้แก้ไขตามผลการศึกษาของ กมธ.สนช.และยังมีช่องโหว่เรื่องการจัดเก็บรายได้ที่ทำให้รัฐเสียประโยชน์ และประเด็นที่มีการเพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิต และจ้างบริการ แต่ไม่มีโครงสร้างและกลไกสำหรับระบบใหม่ ประเด็นการมีบรรษัทพลังงานแห่งชาติเป็นประเด็นที่มีปัญหา และมีการหารือไปยัง ครม. จึงมีมติคณะรัฐมนตรีออกมา 2 ครั้ง โดยครั้งแรกออกในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 และครั้งที่ 2 ออกในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 ให้บรรจุบรรษัทพลังงานแห่งชาติเป็นมาตรา 10/1 ในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ
 
กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ…. จึงได้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 10/1 ขึ้นมา ความว่า "ให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อมีความพร้อม โดยพิจารณาจากผลการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการดำเนินการจัดตั้ง"
 
มาตรา 10/1 เขียนไว้อย่างหลวมๆ ว่าให้จัดตั้งเมื่อมีความพร้อม ซึ่งไม่ได้กำหนดเงื่อนไขว่าต้องจัดตั้งให้เสร็จก่อนการเปิดประมูลแหล่งเอราวัณและบงกช ซึ่งกระทรวงพลังงานก็ประกาศชัดเจนว่าจะเปิดประมูลในเดือนกรกฎาคม 2560 โดยที่ 2 แหล่งดังกล่าวหากใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต แต่ไม่มีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติมาเป็นหน่วยงานปฏิบัติ รูปแบบที่ใช้กับเอราวัณและบงกชก็จะกลายเป็นระบบสัมปทานจำแลงนั่นเอง
 
จะเห็นได้ว่าบริษัทเอกชนที่เป็นเจ้าของสัมปทานเดิมยังต้องการได้ประโยชน์จากสัมปทานในรูปแบบเดิม จึงคัดค้านบรรษัทน้ำมันแห่งชาติอย่างเต็มที่ เห็นได้จากการพาสื่อระดับใหญ่ประมาณ 15 คนไปเที่ยวอเมริกา และแวะเยี่ยมดูบริษัทน้ำมันแห่งชาติของเม็กซิโก หลังจากกลับมาสื่อต่างๆ พากันประโคมข่าวปูพรมว่าบรรษัทน้ำมันแห่งชาติจะนำความล้มเหลวมาให้ประเทศไทยเหมือนเม็กซิโกและเวเนซุเอลา แต่ไม่กล่าวถึงบริษัทปิโตรนัสของมาเลเซียที่เป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติที่ประสบความสำเร็จและอยู่ใกล้ประเทศไทย
 
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ออกมาแถลงข่าวในจังหวะสุดท้ายก่อนการประชุม สนช. 3 วัน และมีจดหมายเปิดผนึกเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2560 เรียกร้องให้ สนช.ผ่านร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมโดยขอให้ตัดมาตรา 10/1 ออกไป
 
และก็ปรากฏว่าในวันที่ 30 มีนาคม 2560 ประธาน สนช.ได้ถามชี้นำกับประธานกรรมาธิการวิสามัญว่า "มีอยู่อย่างเดียวว่าควรจะเขียนไว้ในกฎหมายหรือไม่ หรือเขียนเป็นข้อสังเกต เขาก็อภิปรายกันแต่เฉพาะประเด็นกฎหมาย ถ้าเขียนมันจะสมบูรณ์ไหม กลับไปเขียนเป็นข้อสังเกตอย่างไหนมันดีกว่ากัน แต่ว่าท่านสมาชิกอภิปรายกัน 5-6 ชั่วโมงไปถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย และทำให้มันบานปลาย ตอนนี้เอาสรุปว่า ท่านสมชายถามกรรมาธิการตรงๆ ว่าจะเป็นข้อสังเกตได้ไหม โดยให้กระทรวงพลังงาน ผมยังไม่เห็นกระทรวงพลังงานพูดเลย"
 
การที่ประธาน สนช.กล่าวชี้นำขนาดนี้ ทำให้ประธานกรรมาธิการยอมตัดมาตรา 10/1 ออกไปใส่ในข้อสังเกตที่ไม่มีผลทางกฎหมาย โดยไม่เปิดโอกาสให้สมาชิก สนช.ลงมติว่าจะเห็นด้วยกับกับการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 10/1 ของคณะกรรมาธิการวิสามัญที่แก้ไขตามที่มีมติ ครม.หรือไม่
 
การใช้อำนาจสภาเสียงข้างเดียวตัดมาตรา 10/1 ออกไปโดยไม่มีการโหวต เพราะหากมีการโหวต สมาชิกต้องโหวตผ่านให้มาตรา 10/1 เป็นมาตราที่อยู่ในกฎหมายปิโตรเลียมอย่างแน่นอน เพราะยังไม่เคยมีประวัติที่ สนช.โหวตคว่ำมาตราในร่างกฎหมายใดๆ ที่กรรมาธิการแก้ไขเพิ่มเติมมาก่อน ซึ่งย่อมขัดกับคำขอของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ใช่หรือไม่
 
แต่ถ้าหากมีการล็อบบี้ให้ สนช.โหวตคว่ำมาตรา 10/1 ก็จะกลายเป็นว่าสมาชิก สนช.ไม่เห็นชอบกับหลักการของรัฐบาลที่เป็นผู้เสนอให้กรรมาธิการบรรจุมาตรา 10/1 ไว้ในกฎหมายปิโตรเลียม ซึ่งไม่เคยปรากฏเช่นกันว่า สนช.เคยโหวตคว่ำมาตราใดในร่างกฎหมายที่รัฐบาลเสนอเข้ามาให้ สนช.พิจารณา
 
ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด สำหรับ สนช.ที่ไม่ต้องมีการโหวตให้อิหลักอิเหลื่อ จึงใช้วิธี "ล้มมวย" ด้วยสภาเสียงข้างเดียว ซึ่งเป็นการใช้อำนาจละเมิดกระบวนการพิจารณาการแก้ไขกฎหมายของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ที่ถูกรองรับด้วยมติ ครม. ความเห็นของนักวิชาการ และประชาชนที่ส่งผ่านคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ
 
เป็นการใช้อำนาจ 2 นาทีของ "สภาเสียงข้างเดียว" ที่หักดิบการขับเคลื่อนต่อสู้ของประชาชนที่เรียกร้องการปฏิรูปพลังงานมาตั้งแต่ปี 2554 เพื่อให้เป็นไปตามคำขอของ ม.ร.ว ปรีดิยาธร เทวกุล และความต้องการของกลุ่มทุนพลังงาน ใช่หรือไม่?
 
ต้องขอถามว่าอดีตสมาชิก สนช.ที่เคยคัดค้านต่อสู้กับเผด็จการเสียงข้างมากในสภาก่อนหน้านี้ มาวันนี้ท่านอยู่ในสภาเสียงข้างเดียว สมควรแล้วหรือจะใช้อำนาจไม่ต่างจากเผด็จการเสียงข้างมากในสภา ที่ใช้อำนาจผ่านกฎหมายโดยขาดหลักความโปร่งใส และขัดหลักนิติธรรม โดยไม่คำนึงถึงหลักการสำคัญในฐานะที่เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับบัญญัติว่า "สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์"
 
การอ้างว่าที่ตัดมาตรา 10/1 ในร่างกฎหมายปิโตรเลียมเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม จะฟังขึ้นละหรือ หากขั้นตอนการพิจารณากฎหมายไม่เป็นไปตามข้อบังคับและกระบวนการทางนิติบัญญัติที่ถูกต้องโปร่งใส ซึ่งก็จะไม่ต่างจากสภาเผด็จการเสียงข้างมาก ที่ก็มักจะอ้างเช่นกันว่าการผ่านกฎหมายในสภาล้วนเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมทั้งสิ้น

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอกชัย ขอลงบันทึกประจำวัน เหตุเพิ่งรู้ฝ่าฝืนเอ็มโอยู คุกสูงสุดสองปี ตร.บอกลงได้แต่ห้ามมีคำว่า "หมุด"

Posted: 02 May 2017 01:35 AM PDT

ตำรวจต่อทหารให้มาพบ หลัง เอกชัย หงส์กังวาน เข้าลงบันทึกประจำวันที่ สน.สามเสน หลังเจ้าตัวเพิ่งทราบกรณีฝ่าฝืนเอ็มโอยูโทษจำคุกสูงสุดสองปี แต่สุดท้ายทหารไม่มา ขณะที่ตำรวจให้ลงบันทึกประจำวันได้แต่ต้องไม่มีคำว่า "หมุด"


เอกชัย หงส์กังวาน (ที่มา:Facebook page ประชาไท)

สืบเนื่องจากกรณี เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรม อดีตผู้ต้องขังคดีการเมืองถูกควบคุมตัวที่หน้า ทำเนียบรัฐบาลระหว่างจะยื่นหนังสือขอให้ถอนหมุดใหม่ที่ถูกติดตั้งแทนที่หมุด คณะราษฎร โดยถูกส่งตัวไปยัง มทบ. 11 และได้เซ็นบันทึกความเข้าใจ(MoU) ก่อนถูกปล่อยตัวในวันที่ 25 เม.ย. ที่ผ่านมา (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ที่นี่)

วันนี้ (2 พ.ค. 2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เอกชัยได้เดินทางไป สน.สามเสน เพื่อลงบันทึกประจำวัน เนื่องจากเพิ่งทราบจากทนายความว่าการละเมิดบันทึกความเข้าใจ(MoU) มีโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.สามเสนได้ติดต่อให้ทหารจาก มทบ.11 ให้เดินทางมาที่สถานีตำรวจ

ล่าสุด อานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนายชน แจ้งในเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณะสาธารณะว่า ทหารที่แจ้งว่าจะมาพบนั้นไม่มาแล้ว เอกชัยจึงเดินทางกลับ ทั้งนี้ ตำรวจได้โทรศัพท์ติดต่อเอกชัยว่าจะรับลงบันทึกประจำวันให้ แต่จะไม่ให้มีคำว่า "หมุด"

ขณะที่ วีระนันท์ ฮวดศรี ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนายชนที่เดินทางไปพร้อมกับเอกชัย ให้ข้อมูลกับประชาไทว่า เอกชัยเพิ่งทราบรายละเอียดบทลงโทษของเอ็มโอยู เนื่องจากตอนที่ถูกคุมตัวอยู่ไม่สามารถติดต่อกับทนายความและญาติได้เลย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 39/2557 เรื่อง การกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวของบุคคลที่มารายงานตัวต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กำหนดโทษผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามเอ็มโอยู หรือเงื่อนไขแนบท้ายประกาศ คสช. "ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

ประกาศ คสช.ฉบับที่ 39/2557

เรื่อง การกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวของบุคคลที่มารายงานตัวต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น