โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ธนาคาร U.S. Bank ถอนการลงทุนท่อก๊าซ-พลังงานหลังมีการประท้วงทั่วโลก

Posted: 16 May 2017 01:00 PM PDT

หลังจากนักกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านโลกร้อนและต่อต้านการใช้เชื้อเพลิงจากซากดึกดำบรรพ์หรือพลังงานฟอสซิลในระดับโลกมาเป็นเวลา 10 วัน พวกเขาก็ได้รับชัยชนะจากการที่ U.S.Bank หนึ่งในธนาคารรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ประกาศว่าพวกเขาจะไม่ให้เงินทุนสนับสนุนการสร้างท่อส่งเชื้อเพลิงพลังงานฟอสซิลอีกต่อไป

กลุ่ม MN350 ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของกลุ่มต้านโลกร้อนนานาชาติ 350.org รายงานว่ามีการประกาศในเรื่องนี้จากการประชุมผู้ถือหุ้นตั้แต่เดือนเมษายนจนได้ผลลัพธ์จากที่ประชุมออกมาเป็นนโยบายใหม่ว่าทางธนาคาร U.S. Bancorp หรือ U.S. Bank จะไม่ให้ทุนใน "โครงการก่อสร้างท่อส่งน้ำมันหรือท่อส่งก๊าซธรรมชาติ" และจะ "เสริมกระบวนการตรวจสอบทางกฎหมายให้เข้มแข็งมากขึ้น" ต่อกลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิง

วิชาห์ปี อ็อตโต อาสาสมัครของ MN350 ผู้ที่เข้าร่วมประชุมหุ้นส่วนด้วยบอกว่านโยบายของธนาคาร U.S. Bank นับเป็นก้าวสำคัญในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและเดินหน้าสู่อนาคตที่ปราศจากพลังงานฟอสซิล เธอยังชื่นชมว่าการตัดสินใจในครั้งนี้ถือเป็นการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของชุมชนและความพยายามของประชากรโลกในการพูดถึงปัญหาโลกร้อน

การตัดสินใจในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังมีการกดดันธนาคาร U.S. Bank จากกลุ่มต่างๆ ทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับชาติรวมถึงกลุ่มอย่างเครือข่ายสิ่งแวดล้อมของชนพื้นเมืองและขบวนการต่อต้านท่อก๊าซดาโคตาแอคเซสไปป์ไลน์ด้วย โดยในปฏิบัติการต่างๆ ในระดับท้องถิ่นมีทั้งการเขียนจดหมายส่งถึง การปิดบัญชีธนาคาร และการรณรงค์ผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้ธนาคาร U.S. Bank เริ่มเปลี่ยนทิศทางมาลงทุนในพลังงานสะอาดมากขึ้นและจำกัดพลังงานถ่านหินลง

ทารา ฮุสกา ผู้อำนวยการโครงการระดับชาติของ Honor the Earth กล่าวว่าพวกเขาขอชื่นชมการตัดสินใจในเชิงก้าวหน้า อีกทั้งยังเป็นการส่งสัญญาณถึงอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิลว่าผู้บริโภคอย่างพวกเขามีอำนาจการตัดสินใจในตัวเองและมีสิทธิที่จะรับรู้ว่าเงินของพวกเขาจะถูกใช้ลงทุนไปกับอะไร นอกจากนี้ยังเป็นการเคลื่อนย้ายไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวและอนาคตที่ไม่ใช่การแสวงหาผลกำไรจากการทำลายสิ่งแวดล้อมและชุมชน

จากข้อมูลในวิกิพีเดีย [1], [2] ธนาคาร U.S. Bank เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองมินนีแอโพลิส มลรัฐมินนิโซตา เป็นธนาคารที่มีทรัพย์สินเป็นอันดับ 7 ของธนาคารในสหรัฐอเมริกา หรือราว 445 พันล้านเหรียญสหรัฐ

การเคลื่อนไหวล่าสุดของนักกิจกรรมต้านโลกร้อนมีชื่อว่าขบวนการขับเคลื่อนเรียกร้องถอนทุนโลก ที่มีการจัดงาน 260 งาน ใน 45 ประเทศทั่วโลกเมื่อวันที่ 5-13 พ.ค. เพื่อเรียกร้องให้ธนาคารถอนทุนจากโครงการพลังงานฟอสซิล

350.org ระบุว่าการเคลื่อนไหวเหล่านี้มีสถาบันที่ได้รับความเคารพหลายแห่งทั่วโลกเข้าร่วมด้วยเช่นสถาบันศาสนานิกายคาทอลิค บางแห่งก็มีกลุ่มสถาบันทางวัฒนธรรมอย่างพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ในปารีส หรือพิพิธภัณฑ์แวนโกะในอัมสเตอดัม และพิพิธภัณฑ์บริติช ในจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียก็มีผู้คนหลายร้อยคนเข้าร่วมรับฟังตัวแทนชุมชนจากอินทรามายูพูดถึงการดิ้นรนใช้ชีวิตอยู่ภายใต้เงาของโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยมีการเรียกร้องกดดันธนาคารในญี่ปุ่นที่ให้ทุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในอินโดนีเซียถอนทุน

ในนิวซีแลนด์และออสเตรเลียก็มีนักกิจกรรมที่ตั้งเป้ากับบรรษัทยักษ์ใหญ่ของออสเตรเลียอย่างอดานีโดยเรียกร้องให้ธนาคารต่างๆ ถอนทุน หนึ่งในความกังวลของกลุ่มนักรณรงค์ในออสเตรเลียคือเรื่องปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟที่กำลังเกิดภาวะฟอกขาวอย่างรุนแรงที่มาจากฝลกระทบของภาวะโลกร้อน ขณะที่ในนิวยอร์กมีนักกิจกรรม 150 รายเดินขบวนในอาคารทรัมป์ทาวเออร์เพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ในนิวยอร์กซิตี้ตัดสายสัมพันธ์กับบรรษัทพลังงานฟอสซิลที่ควบคุมรัฐบาลปัจจุบันของสหรัฐฯ อยู่ ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบันแสดงท่าทีปฏิเสธว่าภาวะโลกร้อนไม่มีอยู่จริง

บิลล์ แมคคิบเบน ผู้ร่วมก่อตั้ง 350.org ระบุในแถลงการณ์ว่ามนุษย์กำลังอยู่ใน "วิกฤตฉุกเฉินด้านปัญหาโลกร้อน" และมีวิธีแก้ไขวิกฤตนี้หลายทาง หนึ่งในวิธีการเหล่านี้คือเรียกร้องถอนทุนในโครงการพลังงานฟอสซิลที่อยู่เบื้องหลังวิกฤตโลกร้อนนี้

เรียบเรียงจาก

US Bank to Stop Funding Pipelines as Divestment Movement Expands Worldwide, Common Dreams, 15-05-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คอบช.ค้าน ร่าง ก.ม.มาตรฐานสินค้าเกษตร - อาหารฯ ฉบับ ก.เกษตรฯ ชี้ทำลายระบบการคุ้มครองผู้บริโภค

Posted: 16 May 2017 12:12 PM PDT

คอบช. ด้านอาหารฯ ค้านร่าง ก.ม. มาตรฐานสินค้าเกษตร - ก.ม.อาหารฯ ฉบับกระทรวงเกษตรฯ  ชี้ประชาพิจารณ์แก้ร่าง ก.ม. เมื่อ เม.ย.ที่ผ่านมาเป็นเพียงพิธีกรรม หากร่าง ก.ม.ผ่านเท่ากับกินรวบคุมอำนาจนำเข้า-ส่งออกอาหาร สุ่มเสี่ยงลักไก่เจรจาต่อรองการค้า ทำลายระบบคุ้มครองผู้บริโภค

16 พ.ค. 2560 รายงานข่าวจาก องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน แจ้งว่า วันนี้ (16 พ.ค.60) เมื่อเวลา 14.00 น. ณ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อนุกรรมการด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) แถลงข่าวคัดค้านให้ยุติการแก้ ร่าง กฎหมายเพื่อแก้ไข พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร และ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยล่าสุดได้จัดรับฟังความคิดเห็น เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา โดย คอบช. ระบุว่า เป็นการทำลายระบบการคุ้มครองผู้บริโภค

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล อนุกรรมการด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ (คอบช.) เปิดเผยว่าไม่เห็นด้วยและขอให้หยุดการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว แม้กระทรวงเกษตรฯ จะอ้างว่าต้องการเครื่องมือในการเจรจาต่อรองผลประโยชน์ทางการค้าเพื่อการนำเข้า-ส่งออกสินค้ากับประเทศคู่ค้า แต่เมื่อผู้บริโภคจะต้องเสี่ยงกับการหลุดรอดของสินค้านำเข้าและสินค้าตีกลับที่ไม่ปลอดภัย ก็ถือว่าไม่คุ้มค่า เป็นการผิดหลักการสากลและมนุษยธรรมรวมถึงการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเดิมการตรวจพิจารณาอาหารนำเข้าเป็นภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ส่วนการดูแลสินค้าหรืออาหารส่งออกนั้นเป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ ก็ดีอยู่แล้ว

กรรณิการ์ ระบุว่า บทบาทหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ ที่เน้นสนับสนุนการส่งออกเพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศ อาจเป็นเหตุผลข้ออ้างที่มักถูกนำมาใช้ตลอดเวลาว่า หากกระทรวงเกษตรฯ มีอำนาจดูแลเฉพาะการส่งออก จะไม่มีอำนาจ ในการต่อรอง ในทางเศรษฐกิจอาจฟังดูแล้วดีมาก แต่สะท้อนว่า หน่วยราชการคำนึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมาก่อนความปลอดภัยของผู้บริโภค ทั้งที่การตรวจสอบอาหารนำเข้าและอาหารส่งออกที่ถูกตีกลับควรถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น ทำให้เกิดคำถามว่า นั่นเป็นการดูแลประชาชนจริงหรือไม่ หากเอาอำนาจการตรวจสอบอาหารนำเข้าไปไว้ที่ ก.เกษตรฯ

"เหตุผลที่เราค้านและไม่ยอมรับการรับฟังความคิดเห็นในร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ เมื่อ 28 เมษายนที่ผ่านมา เพราะทำเหมือนแค่พิธีกรรม เราค้านหลักการที่สนใจแต่การค้าแต่ไม่ห่วงใยความปลอดภัยของผู้บริโภค ดูจากโมเดลความล้มเหลว จากกรณีโรควัวบ้าที่เคยระบาดในแถบประเทศยุโรปและลุกลามไปทั้งประเทศจนยากจะแก้ไข ก็เพราะกลไกการตรวจสอบอาหารที่ถูกนำไปผูกโยงกับผลประโยชน์การค้า ซึ่งไม่มีประเทศไหนเขาทำกัน ลองสมมุติดูว่าถ้าเกิดการลักไก่นำสินค้าส่งออกที่มีสารตกค้างปนเปื้อนแล้วถูกตีกลับมาจำหน่ายให้ผู้บริโภคในประเทศ หรือมีการเจรจาต่อรองผ่อนปรนมาตรฐานการนำเข้าสินค้าแล้วเกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค จะมีมาตรการในการดูแลความปลอดภัยอย่างไร" กรรณิการ์ กล่าว

กรรณิการ์ กล่าวด้วยว่า แม้กระทรวงเกษตรฯ จะมีอำนาจเรียกคืนสินค้า (Recall) แต่ถึงอย่างไรก็ต้องใช้อำนาจ อย. อยู่ดี และหากสินค้านำเข้าที่ไม่ปลอดภัยได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ปัญหา การถ่ายโอนโยกย้ายภารกิจรังแต่จะสร้างความสับสนในการทำงานระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง สุดท้ายผลกระทบก็จะมาตกอยู่กับประชาชน

ปรกชล อู๋ทรัพย์ อนุกรรมการด้านอาหารฯ กล่าวว่า คอบช.ได้เคยขอข้อมูลและแนวทางการจัดการสินค้าส่งกลับที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ในกระบวนการตรวจสอบสินค้าส่งกลับที่พบสิ่งไม่ถูกต้อง เช่น ไม่ติดฉลากโภชนาการ มีสารตกค้างปนเปื้อน จะมีมาตรการในการดูแลและเฝ้าระวังสินค้าที่ถูกส่งกลับอย่างไร จะมีแนวทางคุ้มครองผู้บริโภคในการบริโภคสินค้าที่ถูกส่งกลับและนำมาจำหน่ายในประเทศอย่างไร แต่ยังไม่ได้รับข้อมูลและคำชี้แจงจากกระทรวงเกษตรฯ แต่อย่างใด ทั้งที่ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีการตีกลับสินค้าจากสหรัฐฯ ในเรื่องคุณภาพไม่ใช่แค่เรื่องติดฉลากผิด

"ทำไมกระทรวงเกษตรฯ จึงยังไม่เผยแพร่ผลการประเมินการทำงานหลังจากได้รับการถ่ายโอนภารกิจมาแล้วเป็นระยะเวลาเกือบ 1 ปี โดยหน่วยงานที่ควรต้องทำการประเมินควรเป็น อย. เพราะเป็นหน่วยงานที่ส่งมอบภารกิจดังกล่าว หลังจากการประเมินผลแล้วค่อยจัดทำประชาพิจารณ์กันใหม่ จะได้ทราบว่าเมื่อกระทรวงเกษตรฯ รับมอบภารกิจแล้ว ทำงานเป็นอย่างไร ทั้งนี้ คอบช.ได้ทำหนังสือกระตุ้นให้ อย.ทำหน้าที่ดังกล่าวด้วย" ปรกชล กล่าว

ขณะที่ มลฤดี  โพธิ์อินทร์  เลขานุการอนุกรรมการด้านอาหารฯ กล่าวว่า หากมีการปรับแก้ กม.ทั้ง 2 ฉบับจะเป็นการทำลายระบบการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเห็นได้ชัด เพราะเดิม อย. เคยดูแลการนำเข้า ถ้าสินค้ามีปัญหาก็ตีกลับเลย พอถ่ายโอนภารกิจมาให้กระทรวงเกษตรฯ ดูแล จะมีปัญหาในเรื่องการติดตาม (Traceability) และ เรียกคืนสินค้า (Recall) ถ้าสินค้านำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐานเกิดหลุดรอดออกมา แม้ว่ากระทรวงเกษตรฯ จะมีอำนาจที่จะเรียกสินค้ากลับ แต่กว่า อย. จะรู้เรื่อง กว่า อย. จะเตือนภัยประชาชน และกว่าสินค้าจะถูกดึงออกจากตลาดก็สายไปเสียแล้ว หากกระทรวงเกษตรฯ จะสนใจแต่เรื่องเศรษฐกิจ โดยไม่ใส่ใจกลไกดูแลความปลอดภัยของประชาชน ก็คงเห็นได้ชัดเจนว่าระบบการคุ้มครองผู้บริโภคได้ถูกทำลายลงแล้

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน จะทำหนังสือเรียนไปยังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อขอให้ยกเลิกการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ. มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ที่มีผลกระทบต่อการคุ้มครองผู้บริโภค

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอมเนสตี้เปิดโครงการรณรงค์ 'กล้า' (BRAVE) ยุติคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลก

Posted: 16 May 2017 11:41 AM PDT

แอมเนสตี้ เรียกร้องยุติการโจมตีอย่างต่อเนื่องต่อผู้สู้กับความอยุติธรรม เผยปี 59 อย่างน้อย 22 ประเทศ มีการสังหารบุคคลที่เรียกร้องสิทธิฯอย่างสงบ  68 ประเทศ จับกุม-คุมตัว ขณะที่ 94 ประเทศ คุกคาม-โจมตี

16 พ.ค. 2560 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล รายงานว่า วันนี้ แอมเนสตี้ฯ เปิดตัวการโครงการรณรงค์ใหม่ทั่วโลกที่มีชื่อว่า "กล้า" "BRAVE" เพื่อเรียกร้องให้ยุติการโจมตีอย่างต่อเนื่องต่อผู้กล้าหาญที่ยืนหยัดต่อสู้กับความอยุติธรรม โดยเผยว่า ปัจจุบันแกนนำชุมชน นักกฎหมาย ผู้สื่อข่าว และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ทั่วโลกเผชิญกับการปราบปราม การคุกคาม และความรุนแรงในระดับที่ไม่เคยเป็นมาก่อนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้รัฐต่าง ๆ ยอมรับการกระทำที่ชอบธรรมของคนที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีและสิทธิอันเท่าเทียมของคนทุกคน และประกันเสรีภาพและความปลอดภัยของพวกเขา

รายงานระบุว่า ปัจจุบันกว่า 68 ประเทศทั่วโลก ที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกจับกุมหรือถูกควบคุมตัวโดยพลการ เพียงเพราะการทำงานตามหลักสันติวิธีของพวกเขา และมีมากกว่า 94 ประเทศทั่วโลกที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกคุกคามและโดนทำร้าย นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลกถูกกล่าวหาว่าเป็นอาชญากร เป็นบุคคลไม่พึงประสงค์ หรือแม้กระทั่งถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงต่อการพัฒนาหรือต่อคุณค่าดั้งเดิมของประเทศ

ในรายงานฉบับใหม่ที่ชื่อว่า "การคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน –พื้นที่ภาคประชาสังคมที่ถูกบีบให้เล็กลง"ซึ่งมีการเผยแพร่ในวันนี้พร้อมกับโครงการรณรงค์โครงการใหม่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดเผยให้เห็นถึงภัยที่เกิดขึ้นกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยมีความพยายามพุ่งโจมตีพวกเขาถึงขั้นทำให้เสียชีวิตมากขึ้น จากข้อมูลขององค์กรภาคประชาสังคมอย่าง Front Line Defenders ระบุว่าในปี 2559 มีผู้ถูกสังหาร 281 คนทั่วโลกจากการลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2558ที่มียอด156 คน

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่าแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมดำเนินโครงการรณรงค์ระดับโลกนี้เพื่อเรียกร้องให้มีการตระหนักถึงคุณค่าของการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและให้มีมาตรการปกป้องการทำงานของพวกเขาอย่างจริงจัง  รวมถึงการคุ้มครองและเปิดพื้นที่ที่มีความปลอดภัยให้กับพวกเขา เพราะเหล่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนคือผู้กล้าที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของพวกเรา

"แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมแสดงความกังวลผ่านโครงการรณรงค์เพื่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับสากล พวกเราตระหนักถึงการที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกคุกคามหรือถูกละเมิดสิทธิเราอยากเรียกร้องให้คนกล้าออกมาช่วยเหล่านักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพราะพวกเขาคือผู้กล้าที่จะปกป้องและยืนหยัดเพื่อสิทธิของผู้อื่น เหล่าผู้กล้าเหล่านั้นกำลังต้องการผู้กล้าอย่างคุณเพื่อสนับสนุนกันและกันในการที่จะช่วยกันสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับเราทุกคน" ปิยนุช กล่าว

ตามปฏิญญาว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2541 นักปกป้องสิทธิมนุษยชนคือบุคคลที่ปกป้องและสนับสนุนสิทธิมนุษยชนในระดับชุมชน ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค หรือ ระดับสากล ทั้งนี้โดยมิได้มีการใช้หรือสนับสนุนการใช้ความเกลียดชัง การเลือกปฏิบัติหรือใช้ความรุนแรง พวกเขาอาจเป็นใครก็ได้ในสังคมไม่ว่าจะเป็น ผู้สื่อข่าว ทนายความ อาจารย์ นักสหภาพแรงงาน คนที่เปิดโปงการกระทำผิด หรือแม้แต่ชาวนา ชาวไร่ โดยปฏิญญานี้เรียกร้องให้รัฐต่าง ๆ ยอมรับบทบาทและคุณูปการอันสำคัญของผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน และกำหนดมาตรการที่จริงจังเพื่อคุ้มครองพวกเขา

สำหรับประเทศไทย องค์การ PROTECTION international (PI) เผยสถิติว่าในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา มีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกสังหารและสูญหายทั้งหมด 59 คน โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้มีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกสังหารและบังคับให้สูญหายมากที่สุด ซึ่งในทางความคืบหน้าของคดีมีการสอบสวนและนำขึ้นสู่ชั้นศาลน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนคดีที่เกิดขึ้น และหากมองย้อนหลังไป 35 ปี พบว่าประเทศไทยมีการบังคับสูญหาย 90 กรณี แต่ 81 กรณียังไม่ได้รับการแก้ไขจนถึงทุกวันนี้

 "ตั้งแต่เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) มาลาลา ยูซาฟไซ (Malala Yousafzai) เชลซี แมนนิง (Chelsea Manning) มาจนถึงทนายสมชาย นีละไพจิตร บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ลุงเด่น คำแหล้ประวัติศาสตร์เต็มไปด้วยเรื่องราวของคนธรรมดาสามัญที่ปฏิเสธระบบที่เป็นอยู่ และลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสิ่งที่ถูกต้อง" 

"หากปราศจากความกล้าหาญของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โลกของเราจะมีความเป็นธรรม ยุติธรรม และเท่าเทียมกันน้อยลง วันนี้จึงเป็นวันที่พวกเราเรียกร้องให้ทุกคน ไม่เฉพาะผู้นำโลก ต้องยืนหยัดเคียงข้างและคุ้มครองบุคคลผู้กล้าหาญเหล่านี้" ปิยนุช กล่าว

รายงานยังระบุด้วยว่า ในประเทศไทยจะมีกิจกรรมรวมตัว "ผู้กล้า" ในวันที่ 23 พ.ค. 2560 ณ บริเวณสวนลุมพินี กรุงเทพเพราะนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคือผู้กล้าที่ออกมายืนหยัดเพื่อสิทธิของพวกเรา ถึงเวลาแล้วที่พวกเราต้องร่วมมือกัน มาช่วยกันสนับสนุนการทำงานที่กล้าหาญของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้พวกเขาได้รับการปกป้องคุ้มครอง ให้ได้ทำงานได้อย่างปลอดภัย

สถิติที่สำคัญเกี่ยวกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในปี 59

-       อย่างน้อย 22 ประเทศ มีการสังหารบุคคลที่เรียกร้องสิทธิมนุษยชนอย่างสงบ

-       ใน 63 ประเทศ มีการสร้างข่าวเท็จเพื่อทำให้ภาพพจน์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเสียหาย

-       ใน 68 ประเทศ มีการจับกุมหรือควบคุมตัวนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเพียงเพราะการทำงานอย่างสงบ

-       ใน 94 ประเทศ มีการคุกคามหรือโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ ถามจะเอาเงินที่ไหน ไปอุดหนุนปูพื้นให้คนเท่ากันหมด เหตุต้องใช้งบฯ มหาศาล

Posted: 16 May 2017 10:22 AM PDT

ประยุทธ์ ย้ำทำงานมากกว่า 200% ไม่เคยหยุด แจงแถลงผลงาน ครบ 3 ปี 'รบ.-คสช.' เดือน ก.ย. เผยไม่พอใจเพราะทำให้เสร็จตามเวลาไม่ได้ ยันไม่สืบทอดอำนาจ แต่พยายามทำต่อเนื่องไปในวันข้างหน้า ห่วงผู้มีรายได้น้อย แต่ช่วยได้บ้างเท่าที่มีงบประมาณ ถามจะเอาเงินที่ไหน ไปอุดหนุนปูพื้นให้คนเท่ากันหมด เหตุต้องใช้เงินมหาศาล

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล 

16 พ.ค. 2560 เมื่อเวลา 13.30 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการทำงานในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบรอบ 3 ปีของรัฐบาลและ คสช. ว่า จะมีการแถลงผลงานในเดือนกันยายน โดยเป็นการแถลงผลงานของรัฐบาลและคสช. เพราะทำงานร่วมกัน ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ระหว่างนี้จะเป็นการสร้างความรับรู้ของประชาชนก่อน  ส่วนโร้ดแมปยังคงเดินหน้าต่อตามที่กำหนดไว้ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

"อย่าแยก คสช. กับรัฐบาล 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลเป็นคนทำงานนะ เป็นการกำหนดนโยบาย เป็นการบริหารราชการแผนดินโดยรัฐบาล ครม. นะครับ คสช.เป็นผู้สนับสนุน ไม่ใช่เป็นผู้บังคับบัญชา เป็นหน่วยสนับสนุนตามกฎหมาย ซึ่งก็ดูแลในส่วนของความมั่นคง และเป็นเครื่องไม่เครือ่งมือในการขับเคลื่อนต่างๆ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึง การทำงานที่ผ่านมาว่า หลายเรื่องดำเนินการแล้ว บางเรื่องต้องส่งต่อไปยังรัฐบาลหน้า บางเรื่องยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งไม่ค่อยพอใจนัก โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่เป็นเรื่องยาก มีความขัดแย้ง และกระทบคนจำนวนมาก แต่รัฐบาลก็จำเป็นต้องทำ เพราะมีเพียงรัฐบาลที่เข้ามาปฏิรูปเท่านั้นที่ทำได้ จึงขอให้เห็นใจรัฐบาล
 
"รัฐบาลต้องรู้สิปัญหานี้ รู้ ถึงเข้ามาทำตอนนี้ก็จะทำสิ่งเหล่านี้ให้สำเร็จ มันก็สำเร็จมากสำเร็จน้อย ถ้าถามว่าผมพอใจไหม ไอ้ที่ผมไม่พอใจเพราะผมทำให้เสร็จตามเวลาไม่ได้ แต่ผมก็ได้ทำทุกอย่าง ในดีที่สุด ตราบเท่าที่มีงบประมาณ เท่าที่มีเวลาทำอยู่ ไอ้ส่วนที่ใครจะทำต่ออะไร เป็นเรื่องวันข้างหน้าไปว่ากันมา เราก็พยายามทำให้ทุกอย่างต่อเนื่องไปในวันข้างหน้า ก็หลายคนก็ไม่พอใจ ไม่เข้าใจ ก็หาว่าจะสืบทอดอำนาจ ผมก็จะสืบทอดปัญหาให้ท่านไง ที่ท่านส่งมาให้ผม ผมก็ถ้าทำไม่เสร็จก็ส่งต่อปัญหานี้ไปให้ท่านแก้ต่อ ก็แค่นั้นเอง นั่นเขาเรียกว่าสืบทอด"  พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
"อีกอันที่รัฐบาลนี้ให้ความสนใจก็คือ เรื่องของชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่มีรายได้ไม่เพียงพอ รายได้น้อย ผมก็ไม่อยากให้มองประเด็นว่ารัฐบาลจะต้องอุดหนุนไป เพิ่มเงินให้ตรงโน้นตรงนี้ มันจะเอาเงินที่ไหนมาให้ มันก็ต้องไปดูระดับล่าง ที่รายได้น้อยที่สุดจะทำอย่างไรกับเขา ที่มีรายได้ต่ำกว่าวันละ 300 จะทำอย่างไรกับเขาได้บ้าง ไอ้คำว่าได้บ้างคือเท่าที่มีงบประมาณ ไม่ใช่ว่าทำให้เขามีรายได้ตามมาตรฐาน มันไม่ได้หรอกครับ รัฐบาลเอาเงินจากไหนมาให้ล่ะ มันก็ส่วนหนึ่งก็ต้องให้ ไอ้ส่วนที่สองที่สูงกว่านั้นมีรายได้ปานกลางกว่านั้น ก็ต้องไปหาวิธีการอื่น เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ารถ ค่าอะไรต่างๆ มันต้องแยกเหล่านี้ ถ้าทุกคนปูพื้นเท่ากันหมด มันเป็นไปไม่ได้ ทุกคนบอกว่าความเท่าเทียม มันเท่าเทียมแบบนี้มันไม่ได้ เพราะรัฐบาลมันต้องใช้เงินมหาศาลนะ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
"ผมยืนยันว่า รัฐบาลทำงานเต็มที่ ไม่เคยหยุด ผมทำงานมากกว่า 200% หลายคนไม่พอใจ มองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ แต่ความเป็นจริง เป็นการสืบทอดปัญหาให้รัฐบาลหน้าได้เข้ามาทำ โดยเฉพาะในสิ่งที่รัฐบาลนี้ทำไม่แล้วเสร็จ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สิ่งที่กังวลคือประเทศ ไม่ได้ห่วงประชาธิปไตย เพราะสักวันประเทศก็ต้องเป็นประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง แต่ปัญหาคือ การเลือกตั้งอาจทำให้ได้คนแบบเดิมๆ เข้ามา รัฐบาลจึงต้องกำหนดยุทธศาสตร์ไว้ให้ ใครที่พูดบิดเบือนว่า รัฐบาลไม่มีผลงาน ตนไม่ต้องการพูดถึงแล้ว ต้องการให้ดูเหตุผล และวิธีการทำงานด้วย แม้จะมีอำนาจมาก แต่ก็ไม่เคยบังคับใคร
 
"อย่าเอาคนที่วิพากษ์วิจารณ์ มาเปรียบกับคนทำงาน เพราะคนเหล่านี้ไม่เคยเสนอวิธีการทำงานที่ดีมาให้ผม ผมจึงทำงานตามแบบของผม อย่ามาว่าผมไม่ฟังใคร เป็นน้ำเต็มแก้ว  ขอให้ลดเครดิตคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์บ้าง" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

 

เรียบเรียงจาก : ยูทูบ 'ทำเนียบ รัฐบาล', เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล และสำนักข่าวไทย 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บทความแอนดรูว์ บิ๊กส์-ห่วงไทยอยากทันสมัย 4.0 แต่การศึกษายังไม่สร้างเด็กคิดเป็น

Posted: 16 May 2017 08:35 AM PDT

ครูสอนภาษาอังกฤษชื่อดัง 'แอนดรูว์ บิ๊กส์' เขียนบทความลงบางกอกโพสต์ "เหล่าไดโนเสาร์ต้องเผชิญหน้าความเป็นจริง" วิจารณ์นโยบายการศึกษาไทยไม่สร้างเด็กให้คิดเป็น ยังต้องท่องจำ ต้องคิดเหมือนกันหมด แม้จะเน้นเทคโนโลยี แต่ระบบการศึกษาและสังคมกดไม่ให้คนมีไอเดียใหม่ ยกกรณี 'เนติวิทย์' บางคนอาจตราหน้าว่าเขาสร้างปัญหา แต่คนแบบนี้ประเทศไทยกำลังต้องการ ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องต้อนรับขับสู้คนแบบนี้

ที่มาของภาพประกอบ: OBEC

เมื่อ 14 พ.ค. 2560 แอนดรูว์ บิ๊กส์ พิธีกรโทรทัศน์ คอลัมน์นิสต์หนังสือพิมพ์ และครูสอนภาษาอังกฤษชื่อดังชาวออสเตรเลีย เจ้าของผลงาน "ภาษาอังกฤษง่ายนิดเดียว" เขียนบทความภาษาอังกฤษหัวข้อ "Dinosaurs must confront reality หรือ เหล่าไดโนเสาร์ต้องเผชิญหน้าความเป็นจริง ในเว็บไซต์หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์  มีใจความโดยสรุปตามที่ผู้สื่อข่าวรายงานดังนี้

โดยตอนหนึ่ง แอนดรูว์เล่าว่า ในขณะที่นักวิชาการ นักการเมือง อาจารย์ นักเรียน ในงานนิทรรศการการศึกษา EdTex ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตต์ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ระบบการศึกษาไทยต้องเป็นระบบการศึกษาที่มีนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ ทว่า ความเห็นพ้องต้องกันดังกล่าวกลับดูย้อนแย้งกับระบบการศึกษาของไทยที่ใช้มาเนิ่นนาน ที่ให้ความสำคัญกับ "ขนบธรรมเนียม" และ "การเคารพนอบน้อม"

ระบบการศึกษาของไทยนั้นผิดเพี้ยนไปทั้งระบบ หลักสูตรการเรียนการสอนระดับชาติได้ให้ความสำคัญกับการให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โรงเรียนทั้งหลายยังคงจมปลักอยู่กับวัฒนธรรมการสอนอายุหลักร้อยปีที่ครูเป็นผู้สอน นักเรียนเป็นผู้ฟัง ถ้าไม่ถามก็ไม่พูด

ผลการสอบวัดผลระดับประเทศหรือ O-Net ที่ทั่วประเทศเมื่อปีที่แล้ว คะแนนเฉลี่ยรวมของ 5 รายวิชา ได้แก่วิชาภาษาอังกฤษ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ทั่วประเทศต่ำกว่าร้อยละ 50 ภาษาอังกฤษยังครองแชมป์คะแนนต่ำสุดที่บางโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดห่างไกลได้คะแนนเฉลี่ยเพียง 17 คะแนน ส่วนปีนี้คะแนนดีขึ้น มีวิชาที่คะแนนเฉลี่ยทั่วประเทศเกินร้อยละ 50 วิชาเดียวได้แก่วิชาภาษาไทย ที่เหลือ 4 วิชาคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าครึ่งทั้งหมด

สังคมไทยกำลังกลายสภาพเป็นสังคมสูงวัย จำนวนประชากรที่ลดลงทำให้จำนวนนักเรียน นักศึกษาลดลงไปตาม มหาวิทยาลัยเอกชนก็ลดจำนวนอาจารย์ลงเพราะบางสาขาวิชาไม่มีคนมาเรียน

นอกจากนั้น แผนนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลที่มุ่งผลักดันไทยให้ก้าวไปสู่ศตวรรษที่ 21 และความจำเป็นของไทยที่ต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับภูมิภาคอาเซียนและโลก ล้วนต้องใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีทั้งสิ้น แต่แอนดรูวส์ตั้งคำถามว่า ไทยพร้อมรับสิ่งที่เรียกว่า 'นวัตกรรม' แล้วจริงหรือ

"ในขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ โครงสร้างและปรัชญาการศึกษาเก่าๆกำลังเดินต้วมเตี้ยม เหมือนไดโนเสาร์ที่กำลังเดินหน้าสู่อุกกาบาตที่กำลังจะสร้างความพินาศให้แก่โลก แต่กลับมีเสียงเรียกร้องให้เกิดนวัตกรรมและการใช้เนคโนโลยี"

ปัญหาใหญ่ในระบบการศึกษาไทยที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการ นักการเมือง ผู้สอน และผู้เรียนมากที่สุดประเด็นหนึ่งคือ ระบบการศึกษาไม่สร้างความคิดเชิงวิพากษ์ (Critical thinking) ให้ผู้เรียน การคิดเชิงวิพากษ์คือการท้าทายกับจารีต คือการมองหา พังทลายและประกอบสร้างข้อเท็จจริงและตัดสินมันในเชิงคุณค่า

การคิดเชิงวิพากษ์คือการถามคำถามว่า "คุณคิดเห็นอย่างไร" แล้วปล่อยให้มีการแสดงออกได้อย่างเสรี แต่สภาพแวดล้อมของห้องเรียนเมืองไทย ที่ยังมุ่งเน้นให้ท่องจำพระนามของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยอยุธยา รวมถึงท่องจำค่านิยม 12 ประการให้ขึ้นใจ

"นวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้จากการที่เด็กไทยสามารถวิจารณ์ สังเคราะห์และประเมินคุณค่าได้ แต่เอาจริงๆแล้วสังคมไทยต้องการให้เยาวชนไทยทำเช่นนั้นได้จริงหรือ"

"ผมพยายามจินตนาการว่ามีนักเรียนยกมือถามในห้องเรียนที่กำลังท่องจำค่านิยม 12 ประการว่า "ทำไมหนูต้องรักประเทศด้วยคะอาจารย์ ในเมื่อนักการเมืองและบุคลากรของรัฐบาลพากันทุจริต หรือไม่ก็เพื่อนของเธอตั้งคำถามต่อว่า ทำไมการที่ผมไม่นับถือศาสนา ไม่เชื่อว่าพระเจ้ามีอยู่จริงทำให้ผมกลายเป็นคนไม่ดีไปได้ หรืออาจจะมีคำถามว่า เรื่องเคารพผู้อาวุโสเนี่ยมันรวมไปถึงนักการเมืองและคนในรัฐบาลที่โกงกินหรือเปล่า หนูต้องไหว้พวกเขาด้วยมั้ย แต่นักเรียนเหล่านั้นมีเพียงในจินตนาการของผม และในสภาวการณ์เช่นนี้ก็เหมาะสมแล้ว ผมไม่กล้าจะคิดว่านักเรียนแบบนั้นจะต้องเจอความทุกข์เข็ญอะไรบ้างถ้าถามออกไปเช่นนั้นจริงๆ"

บทความตอนหนึ่งเขายังระบุว่า กรณีเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตชั้นปีที่ 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตนักเรียนที่เคลื่อนไหวเพื่อให้ยกเลิกการบังคับตัดผมทรงนักเรียน เพิ่งได้รับเลือกให้เป็นประธานสภานิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า เป็นตัวอย่างของการคิด วิเคราะห์และท้าทาย แต่ผลที่ได้คือสังคมพากันทับถมเขา

เนติวิทย์คัดค้านการรับน้องที่รุ่นพี่กดขี่รุ่นน้องโดยอ้างว่าต้องการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้มีนักศึกษาตายปีละคนสองคน นอกจากนั้น เขายังคัดค้านการหมอบกราบที่พระบรมรูปทรงม้า และคัดค้านการเกณฑ์ทหาร การกระทำของเขาถือเป็นการกระตุ้นโทสะของเหล่าอนุรักษ์นิยมขวาจัด รวมถึงตัวนายกรัฐมนตรีที่ออกมาให้ความเห็นติติงเนติวิทย์ด้วย

"ความเชื่อของเนติวิทย์มาจากการวิพากษ์และประเมินสภาพการณ์ว่า จำเป็นแค่ไหนที่คนต้องหมอบกราบรูปปั้นของกษัตริย์ที่ยกเลิกการหมอบกราบ"

ดังนั้น คนไทยรุ่นที่อาบน้ำร้อนมาก่อนควรคาดว่าจะต้องเจอลักษณะการตั้งคำถามดังกล่าวถ้าต้องการให้เยาวชนในชาติมีทักษะการวิพากษ์วิจารณ์ การสังเคราะห์และประเมินผลที่ประเทศกำลังต้องการ กรณีของเนติวิทย์เป็นเรื่องของคนที่มีความคิดไปไกลกว่าขอบเขตของวัฒนธรรมไทย ซึ่งจริงๆแล้วนวัตกรรม ก็คือการค้นหาแนวความคิด วิธีการใหม่ๆนอกเหนือไปจากชุดความคิดที่มีอยู่ไม่ใช่หรือ

บางคนตราหน้าเนติวิทย์ว่าเป็นตัวสร้างปัญหา แต่นั่นคือสิ่งที่ประเทศไทยกำลังต้องการ ที่นี่ต้องการตัวปัญหาจำนวนมากที่มุ่งมั่นจะก่อปัญหา สร้างความปั่นป่วนให้กับระบบการศึกษาไทย ที่กำลังถูกประเทศอื่นในภูมิภาคแซงหน้าไปเรื่อยๆ

"อาจจะฟังแล้วเจ็บ แต่คนประเภทเนติวิทย์นี่แหละที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ ไทยแลนด์ 4.0"

"ไม่มีทางเลือกอื่นออกจากอุกกาบาตลูกนั้น [หมายถึง - คนประเภทเนติวิทย์] ซึ่งไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงได้พอๆ กับการที่เราจำเป็นต้องต้อนรับขับสู้เข้ามา" แอนดรูว์ กล่าว

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Bangkok Post, Dinosaurs must confront reality, 14 May, 2017

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รมว.ต่างประเทศ ยันไม่ได้ถูกจีนเมิน แม้ไม่เชิญ 'ประยุทธ์' ร่วมประชุมเวทีข้อริเริ่มเส้นทางสายไหม

Posted: 16 May 2017 07:45 AM PDT

ดอน  แจงป็นเรื่องธรรมดา ที่จีนไม่เชิญ 'ประยุทธ์' ร่วมประชุมระดับสูงเวทีข้อริเริ่มเส้นทางสายไหม เหตุจีนทราบอยู่แล้วว่าไทยสนับสนุนเรื่องดังกล่าว ยันไม่ได้ถูกมองข้าม ระบุจีนได้เชิญนายกฯ ไทย ประชุม BRICS Summit ครั้งที่ 9 ก.ย.นี้อยู่แล้ว

แฟ้มภาพ กระทรวงการต่างประเทศ

16 พ.ค. 2560 จากกรณีเมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา บีบีซีไทย รายงานว่า บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า รัฐบาลจีนไม่ได้ส่งคำเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมระดับสูง เวทีข้อริเริ่มเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 (High-Level Dialogue Belt and Road Forum for International Cooperation) ที่กรุงปักกิ่ง ในวันที่ 14-15 พฤษภาคม 2560 เนื่องจากได้เชิญให้นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุม BRICS Summit ครั้งที่ 9 แทน และนายกรัฐมนตรีได้ตอบตกลงที่จะเข้าร่วมงานดังกล่าวแล้ว โดยงานดังกล่าวจะจัดขึ้นที่เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยนในเดือนกันยายน และทางการจีนเป็นเจ้าภาพเช่นกัน

ล่าสุดวันนี้ (16 พ.ค.60) สำนักข่าวไทย รายงานว่า ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  กล่าวถึงกรณีนี้ว่า เป็นเรื่องธรรมดา เพราะมีนายกรัฐมนตรีหลายประเทศที่ไม่ได้ไป และที่ไม่เชิญนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ เพราะจีนทราบอยู่แล้วว่าไทยสนับสนุนเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน จีนได้เชิญนายกรัฐมนตรีของไทยไปประชุม BRICS Summit ครั้งที่ 9 ที่เซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน ในเดือนกันยายนนี้ไว้อยู่แล้ว

ดอน กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ มีรัฐมนตรีของไทยได้รับเชิญ 6 คน แต่ได้เดินทางไป 5 คน เพราะติดภารกิจ 1 คน จีนได้ดูแลรัฐมนตรีของไทยเป็นอย่างดี โดยระหว่างการหารือสองฝ่าย จีนได้ขอบคุณที่ไทยสนับสนุนและอยากให้ไทยช่วยประชาสัมพันธ์เส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21

"ดังนั้นกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าจีนไม่ให้ความสำคัญไทยนั้น ไม่ใช่เรื่องจริง ไทยไม่ได้ถูกมองข้าม เวลาที่มีการวิเคราะห์การนอกลู่นอกทาง บางทีอาจสร้างความเข้าใจผิดได้" ดอน กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทำไมฝ่ายขวาจึงหัวร้อนเมื่อ ‘เนติวิทย์’ นั่งประธานสภานิสิตจุฬาฯ

Posted: 16 May 2017 07:29 AM PDT

เหตุใดคนเพียงคนเดียวจึงสร้างความเดือดเนื้อร้อนใจให้กับฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้มากขนาดนี้? สนทนากับ 'ชัยชาญ ปรางค์ประทานพร' อดีตสมาชิกสภานิสิตจุฬาฯ นักวิชาการรุ่นใหม่ที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่หาคำตอบว่าจุฬาฯ มีความหมายอะไรต่อสังคม และความหมายที่ว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่ พร้อมเสนอปัญหาและความท้าทายที่เนติวิทย์ในฐานะประธานนิสิตคนต่อไปจะต้องเผชิญ

หลังเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ได้รับเลือกเป็นประธานสภานิสิตจุฬาฯ บรรดาสื่อ ศิษย์เก่า นักวิชาการ ไปจนถึงนักการเมืองที่สมาทานแนวคิดทางการเมืองต่างจากเขาก็ต่างพากันส่งเสียงแสดงความไม่พึงพอใจกันอย่างพร้อมเพรียง ไม่ต่างจากตอนที่เนติวิทย์ได้เข้าศึกษาที่คณะรัฐศาสตร์ หรือตอนที่เขาได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภานิสิต ฝ่ายขวาก็ดูจะเดือดร้อนกับชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยของเขามาโดยตลอด ล่าสุด มีวัยรุ่นสองคนบุกเข้าไปถึงคณะรัฐศาสตร์ และขู่จะทำร้ายร่างกาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความไม่พอใจของผู้ที่ต่อต้านเนติวิทย์ได้เพิ่มขึ้นจนใกล้ถึงจุดนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อกันเข้าไปทุกที

เหตุใดคนคนเดียวจึงสร้างความเดือดเนื้อร้อนใจให้กับฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้มากขนาดนี้? เพื่อหาคำตอบดังกล่าว ประชาไทจึงสนทนากับ ชัยชาญ ปรางค์ประทานพร นักวิชาการเลือดใหม่ที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนบทความ "อ่านจุฬาฯ ใหม่: ความเคลื่อนไหวทางภูมิปัญญาของนิสิตในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ" เพื่อหาคำตอบว่าจุฬามีความหมายอะไรต่อสังคม และความหมายดังกล่าวถือกำเนิดขึ้นเมื่อไหร่ นอกจากนี้ ชัยชาญยังเป็นอดีตสมาชิกสภานิสิตจุฬาฯ จึงสามารถแบ่งปันประสบการณ์ ปัญหา และความท้าทายที่เนติวิทย์ ในฐานะรุ่นน้อง และประธานนิสิตคนต่อไปจะต้องเผชิญอีกด้วย

ชัยชาญ ปรางค์ประธานพร

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล หลังได้รับเลือกเป็นประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ชัยชาญมองว่า ในมิติของตัวบุคคล คนที่มีแนวคิดแบบเนติวิทย์ ที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกับเขามันมีคนเดียว เนติวิทย์ดังขึ้นมาตอนปี 2554 ตอนเคลื่อนไหวเรื่องทรงผมนักเรียนและพิธีเคารพธงชาติและสังคมก็จำได้แค่ชื่อเขา ทุกสิ่งที่เขาทำจึงตกเป็นเป้าความสนใจ และบุคลิกของเขาคือมักจะเคลื่อนไหวด้วยตัวเอง ไม่รวมกลุ่มกับใคร แม้จะตั้งกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท แต่สุดท้ายสังคมก็ยังจำภาพแต่เนติวิทย์ กล่าวง่ายๆคือเป็นพวก "ฉายเดี่ยว" จึงเป็นเป้าจับตาจากสังคมตลอดเวลา เวลาเขาเคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ เขาตระหนักอยู่แล้วว่าจะสร้างความเดือดดาล และกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเขาก็มักจะใช้กระแสดังกล่าวในการสื่อสารประเด็นของเขาให้ออกไปไกลยิ่งขึ้น

เมื่อคนอย่างเนติวิทย์เข้ามาอยู่ในจุฬาฯ ย่อมเป็นปัญหาอย่างแน่นอนสำหรับฝ่ายอนุรักษ์นิยม เพราะเมื่อฝ่ายอนุรักษ์นิยมมองจุฬาฯ พวกเขาไม่ได้มองเห็นแค่มหาวิทยาลัย แต่เห็นสถาบันที่ผูกโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุด สร้างโดยรัชกาลที่ 5 สถาปนาโดยรัชกาลที่ 6 และยังถูกมองว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของประเทศ จุฬาฯ จึงไม่ได้เป็นแค่มหาวิทยาลัย แต่ยังเป็นความฝันของคนในสังคมไทย ว่าสักวันหนึ่งจะได้เข้าไปเรียน หรือส่งลูกส่งหลานเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยดังกล่าว ที่นอกจากจะเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดแล้ว ยังเป็นมหาวิทยาลัยที่ใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์อีกด้วย การที่เนติวิทย์เข้ามาเป็นประธานสภานิสิตฯ จึงทำให้ภาพความฝันตรงนี้มันมัวหมองลงไป ตามตรรกะเดียวกัน ชัยชาญมองว่า หากเนติวิทย์เข้าไปศึกษาที่โรงเรียนวชิราวุธ ซึ่งก่อตั้งโดยรัชกาลที่ 6 และได้รับเลือกเป็นประธานนักเรียน กระแสสังคมก็น่าจะออกมาในรูปแบบเดียวกัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพลักษณ์ของจุฬาฯ ในฐานะมหาวิทยาลัยที่มีความใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์นั้นมีมาตั้งนานแล้ว เพราะแม้กระทั่งชื่อมหาวิทยาลัยยังเป็นพระนามของรัชกาลที่ 5 ภาพลักษณ์ดังกล่าวยังถูกทำให้เข้มข้นมากขึ้นในทุกๆ รัชสมัย ในยุคแรก จุฬาฯ มีพิธีกรรมที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์มีน้อยมาก มีเพียงแค่การถวายบังคมที่พระบรมรูปทรงม้าของรัชกาลที่ 5 เพื่อรำลึกถึงผู้ก่อตั้ง ในรัชกาลที่ 7 เริ่มมีพิธีพระราชทานปริญญาบัตร แต่พอมาในสมัยรัชกาลที่ 9 กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างเข้มข้น ในปี 2491 พระองค์ทรงประพันธ์เพลง มหาจุฬาลงกรณ์ ซึ่งกลายมาเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยจวบจนปัจจุบัน ในปี 2509 ทรงปลูกต้นจามจุรี 5 ต้นในปี และจามจุรีก็กลายเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย นิสิตจุฬาฯ จะได้รับบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้อย่างเข้มข้นในช่วงรับน้องใหม่ และเล่าซ้ำอยู่เรื่อยๆ ตลอดชีวิตการเป็นนิสิต อีกทั้งตึกเรียนภายในจุฬาฯ จำนวนมากก็เป็นชื่อของพระบรมวงศานุวงศ์ บรรยากาศในมหาวิทยาลัย และประวัติศาสตร์เหล่านี้จึงเป็นการปลูกฝังเรื่องความจงรักภักดีให้กับนิสิตไปในตัว

นอกจากนี้ ยังมีการแต่งเติมกิจกรรมบางอย่างเพื่อเสริมภาพความใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์ให้เข้มข้นยิ่งขึ้น อาทิการถวายบังคมหน้าพระบรมรูปสองรัชกาลตอนเข้าศึกษา กับตอนสำเร็จการศึกษา พิธีกรรมดังกล่าวเพิ่งจะเกิดขึ้นในปี 2540 แต่สังคมก็มักจะคิดว่าเป็นพิธีกรรมที่มีมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัย ประวัติศาสตร์ที่ยึดโยงกับสถาบัน และภาพพิธีกรรมเหล่านี้เมื่อ ถูกฉายออกไปสู่สังคมภายนอก มันทำให้จุฬาฯ กลายเป็นเหมือน "โรงละคร" ที่ฉายภาพอุดมคติของอุมดมศึกษาไทย คือเป็นแหล่งรวมคนเก่ง มีความสามารถ และจงรักภักดี ซึ่งเนติวิทย์ได้เข้ามาทำให้ภาพอุดมคติตรงนี้มันผิดเพี้ยนไป ยิ่งเมื่อมีกระแสว่าเขาต้องการจะยกเลิกพิธีถวายบังคม สังคมก็ยิ่งตราหน้าว่าเขาเป็นฝ่ายต่อต้านสถาบันกษัตริย์ไปด้วย ซึ่งมันยิ่งทำให้อุดมคติของจุฬาฯ ในสายตาของฝ่ายอนุรักษ์นิยมยิ่งผิดเพี้ยนเข้าไปใหญ่ จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะออกมาแสดงความเดือดดาล

พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร คอลัมน์นิสต์ชื่อดังผู้เขียนบทความต่อต้านหลังเนติวิทย์ได้รับเลือกเป็นประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาพจากกล้องวงจรปิดคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2560 บันทึกภาพชาย 2 คนขับจักรยานยนต์เข้ามาตามหาตัวเนติวิทย์

"แม้ทุกวันนี้มหิดลจะขึ้นมาแซงจุฬาฯ ในแง่ของการจัดอันดับมหาวิทยาลัย แต่ถามว่าฝ่ายขวา หรือฝ่ายอนุรักษ์นิยมเขาแคร์เรื่องการจัดอันดับขนาดนั้นเลยหรือ? ฝ่ายขวาไม่ได้แคร์เลย เขาไม่ได้แคร์ว่าจุฬาจะได้อันดับมหาวิทยาลัยที่เท่าไหร่ หรือแต่ะละปีผลิตงานวิจัยได้กี่ชิ้น เขาแคร์แค่ว่าภาพพิธีกรรมเหล่านี้ในแต่ละปีมันออกมาดีหรือไม่"

อีกเรื่องที่ต้องไม่ลืมคือ จุฬาฯ เป็นต้นแบบหลายๆ เรื่องให้กับมหาวิทยาลัยไทย ไม่ว่าจะเป็น พิธีรับปริญญา เครื่องแบบ การรับน้อง หรือแม้กระทั่งเพจ Chula Cute Boy มหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็รับอิทธิพลจากจุฬาไปทั้งสิ้น การที่เนติวิทย์ขึ้นมาเป็นประธานสภานิสิตจึงสร้างความกังวลว่าคนที่มีแนวคิดแบบเดียวกันกับเขาอาจจะกำลังแพร่ไปยังมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในไทยด้วย

อีกกระแสหนึ่งที่ตีคู่มากับความเดือดดาลของฝ่ายขวา คือความคิดที่ว่าขบวนการนักศึกษาของจุฬาฯ กำลังเติบโต ในขณะที่ธรรมศาสตร์กำลังถดถอย ซึ่งชัยชาญไม่เห็นด้วยกับกระแสดังกล่าว โดยมองว่าการที่เนติวิทย์ขึ้นมาดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของขบวนการนักศึกษาในจุฬาฯ ต่างหาก ธรรมศาสตร์มีองค์กรนักศึกษาที่แข็งแกร่งมาก ทั้งฝ่ายสภาและฝ่ายบริหาร ถ้าเนติวิทย์ไปอยู่ธรรมศาสตร์ เขาไม่มีทางที่จะแทรกตัวเข้าไปได้เลยโดยใช้เวลาแค่ปีเดียว ส่วนของจุฬาฯ องค์กรนักศึกษาของที่นี้มันอ่อนแอมาก อ่อนแอเกินกว่าที่จะสามารถสกัดกั้นคนที่มีความคิดแบบเนติวิทย์ออกไปได้ จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องยอมยกตำแหน่งนี้ให้ แต่ในแง่หนึ่ง ชัยชาญมองว่า ตำแหน่งประธานสภานิสิตอาจเป็นโอกาสของจุฬาฯ ในการควบคุมเนติวิทย์ และทำให้เขาไม่สามารถพูดในสิ่งที่ตนอยากพูดเหมือนก่อนได้อีกต่อไป

"ถ้าจุฬาฯ ยกเกาอี้ลอยๆ ให้เนติวิทย์ เนติวิทย์ก็ต้องทำตามกติกาบางอย่าง วันก่อนรองอธิการบดี (รองศาสตราจารย์ ดร.บัญชา ชลาภิรมย์) ออกมาให้สัมภาษณ์เรื่องเนติวิทย์ว่า คุณเป็นประธานแล้ว คุณควรจะรู้ว่าควรจะพูด และไม่ควรจะพูดอะไร ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณไปหาเนติวิทย์ว่าสถานะของคุณตอนนี้ คุณเป็นตัวแทนของนิสิตจุฬาฯ คุณจะไปวี้ดว้ายกระตู้วู้เหมือนเมื่อก่อนไม่ได้แล้ว"

อย่างไรก็ตาม ชัยชาญก็มองว่าการที่ขบวนการนักศึกษาของจุฬาฯ อ่อนแอนั้น จะทำให้เนติวิทย์สามารถเคลื่อนไหวได้เยอะกว่าเมื่อเทียบกับธรรมศาสตร์ เพราะแม้ธรรมศาสตร์มีกลุ่มนักกิจกรรมจำนวนมาก ทั้งองค์กรนักศึกษาที่เป็นทางการ และกลุ่มอิสระที่เคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่องก็จริง แต่อาจารย์และผู้บริหารของธรรมศาสตร์ก็ใช่ว่าจะให้กลุ่มพวกนี้เคลื่อนไหวโดยอิสระ พวกเขามีประสบการณ์ในการสกัดกั้นไม่ให้ขบวนการนักศึกษาของธรรมศาสตร์ออกนอกกรอบที่พวกเขาตั้งไว้ ในขณะที่อาจารย์และผู้บริหารของจุฬาฯ ยังไม่ค่อยมีประสบการณ์ในการรับมือกับนักกิจกรรม ซึ่งอาจจะเป็นโอกาสให้เนติวิทย์ทำอะไรได้มากกว่าเมื่อเทียบกับธรรมศาสตร์

นอกจากนี้เนติวิทย์ก็มิได้เป็นตัวแทนของเด็กจุฬาฯ ทุกคนขนาดนั้น จริงอยู่ที่เขาเข้ามาผ่านการเลือกตั้งของนิสิต แต่ก็ไม่ได้หมายความเด็กจุฬาฯ ส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะมีความคิดเหมือนเนติวิทย์ เพราะนิสิตจุฬาฯ ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งสมาชิกสภานิสิตน้อยมาก เมื่อเทียบกับการเลือกองค์กรบริหารนิสิตจุฬาฯ (อบจ.) สภานิสิต ได้มาจากการเลือกตัวแทนระดับคณะ คณะละ 3 คน บวกสมาชิกสมบทอีกคณะละ 1 คน ซึ่งจุฬามีทั้งหมด 19 คณะ กับอีก 1 สำนักวิชา นั่นหมายความว่าจำนวนสมาชิกสภาทั้งหมดควรจะเป็น 80 คน ซึ่งในความเป็นจริง บางคณะก็มีตัวแทนไม่ครับตามโควต้าที่กำหนดด้วยซ้ำ เนื่องจากไม่มีคนสมัคร นอกจากนี้กฎของสภายังระบุอีกว่าสมาชิกปี 1 ซึ่งมีจำนวน 1 ใน 4 ของสภาทั้งหมด ไม่มีสิทธิออกเสียง แปลว่าคนที่ยกมือโหวตได้จริงๆ จะมีแค่ 60 คน

แต่ในความเป็นจริงสมาชิกที่มาประชุมในแต่ละครั้งมีจำนวนน้อยมาก เรียกได้ว่า ถ้ามีคนมาลงคะแนนเสียงในการประชุมเกิน 30 คนนับว่าเยอะมากแล้ว หากเป็นการประชุมทั่วไป ที่ไม่มีการลงคะแนนเสียง อาจจะมีคนมาแค่สิบกว่าคน ซึ่งการที่เนติวิทย์ได้รับคะแนนเสียง 27 คะแนน จากสมาชิก 36 คนที่เข้าร่วมประชุม จึงถือว่าเป็นจำนวนที่เยอะมากแล้ว ในมาตรฐานของสภานิสิตจุฬาฯ ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องความเข้าใจในหน้าที่ของสภาในหมู่นิสิต นิสิตที่ไปเลือกสมาชิกสภามีน้อยคนมากที่จะรู้ว่าหน้าที่ของสภานิสิตคืออะไร เพราะสภาไม่ได้มีผลต่อการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยของพวกเขามากนัก หน้าที่หลักของสภาคืออนุมัติวงเงินในการทำกิจกรรมให้กับ อบจ. ในทางกลับกัน หากถามนิสิตว่ารู้จัก อบจ. ไหม อาจจะพอตอบได้บ้าง เพราะเป็นองค์กรฝ่ายบริหารที่รับผิดชอบงานรับน้อง งานฟุตบอลประเพณี และกิจกรรมอื่นๆ ในมหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ตาม ในฐานะอดีตสมาชิกสภานิสิต ชัยชาญคาดหวังว่าเนติวิทย์น่าจะทำให้สภานิสิตเป็นที่รู้จักมายิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สภาพยายามทำมาโดยตลอดแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะตัวสภาไม่ค่อยมีบทบาทมากนักในกิจกรรมนักศึกษาจึงไม่ค่อยมีผลงานไปประชาสัมพันธ์ ในแง่ของการทำงาน ชัยชาญมองว่าภารกิจหลักของสภา นั่นคือการผ่านงบกิจกรรมนิสิต ไม่น่าจะเปลี่ยนไปมากนัก หลายคนอาจจิตนาการว่าเนติวิทย์จะเข้ามายกเลิกกิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำมา เช่นงานฟุตบอลประเพณี การรับน้อง พิธีถวายบังคม ซึ่งในความเป็นจริง อำนาจของสภาไม่ได้มีมากขนาดนั้น อีกทั้งการเป็นประธานสภานิสิตก็ไม่ต่างจากประธานรัฐสภา คือไม่สามารถอภิปรายอะไรได้มากนัก ทำได้แค่อำนวยความสะดวกให้การประชุมดำเนินต่อไปได้ หากอยากจะพูดอะไรก็ต้องพูดผ่านปากคนอื่น

อย่างไรก็ตาม สภายังมีงานอีกรูปแบบหนึ่งคือ "กิจกรรมพิเศษ" เช่นการจัดเสวนา การรับฟังความคิดเห็นของนิสิต การจัดบรรยายพิเศษ การจัดนิทรรศการ ซึ่งชัยชาญคาดว่าเนติวิทย์น่าจะลงทุนลงแรงกับงานส่วนนี้มากกว่าสภาชุดก่อนๆ เพราะมันเป็นกิจกรรมที่สามารถสื่อสารกับสังคมภายนอกได้ ประโยชน์ที่ชัดเจนที่สุดที่เนติวิทย์จะได้จากการเป็นสภานิสิต คือการขอสถานที่ เพราะจุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยที่ขอสถานที่ในการทำกิจกรรมยากมาก แต่หากขอใช้สถานที่เพื่องานสภาจะขอได้ง่ายขึ้นมาก และยังมีงบประมานสนับสนุนจากจุฬาฯ อีกด้วย

อย่างไรก็ตามชัยชาญกังวลว่าหน้าที่หนึ่งของสภานิสิตอาจจะพร่องลงไปในยุคของเนติวิทย์ คือหน้าที่ในการดูแลสวัสดิการของนิสิต เช่นความปลอดภัยรอบรั้วมหาวิทยาลัย ไฟส่องสว่าง การจัดหาที่อ่านหนังสือช่วงสอบ หรือความสะอาดของร้านค้า ซึ่งที่ผ่านมาเนติวิทย์ยังไม่ได้แสดงให้เห็นว่าเขาให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวมากเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการเข้ามาดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปีหนึ่ง อาจทำให้เขายังไม่รับรู้ถึงปัญหาของการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยมากเท่าที่ควร

"หน้าที่หนึ่งของสภาคือการนำเสนอความเห็นเพื่อปรับปรุงการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย ซึ่งเขาอาจจะละเลยประเด็นเหล่านี้ไป เนติวิทย์ค่อนข้างมีความเข้าใจด้านสิทธิ เสรีภาพ สิทธิทางการเมืองเป็นอย่างดี แต่ถามว่าเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับนิสิตโดยตรง เช่นความสะอาดของร้านค้าหอใน เขายังดูไม่ค่อยเข้าในในปัญหาตรงนี้มากเท่าที่ควร ผมกังวลว่าเขาจะอยู่แต่ในโลกของเขา คือการเมือง สิทธิ เสรีภาพ จนละเลยเรื่องพวกนี้"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช. จี้ ปิดเพจเฟซบุ๊กเข้าข่ายผิดกฎหมาย

Posted: 16 May 2017 07:18 AM PDT

กสทช. จี้ ISP สั่งปิดเพจเฟซบุ๊กเข้าข่ายหมิ่นสถาบัน อนาจาร การพนัน หลอกลวง ด้านดีอีได้หมายศาลแล้ว 34 เว็บเพจ เหลืออีก 97 เว็บเพจ ขณะที่เลขาธิการ กสทช. เผย เฟซบุ๊ก ยัน พร้อมปิดหากมีหมายศาล 'ประยุทธ์' เผยเฟซบุ๊กให้ความร่วมมือดีขึ้น แต่ต้องใช้คำสั่งศาลขอปิด

 

16 พ.ค. 2560 ความคืบหน้ากรณีปิดเว็บไซต์ที่นำเสนอเนื้อหาไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. สมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย หรือ ISP กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยขณะนี้ มีหน้าเพจของเฟซบุ๊ก ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม และยังปิดไม่ได้ จำนวน 131 URL

บีบีซีไทย ระบุว่า สำหรับเนื้อหาผิดกฎหมายทั้ง 131 URLs พบว่า ร้อยละ 30 มีเนื้อหาหมิ่นสถาบัน ส่วนที่เหลือเป็นเพจอนาจาร การพนัน และหลอกลวง

ล่าสุดวันนี้ (16 พ.ค.60) ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวภายหลังไปตรวจเยี่ยมการทำงานของสมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตประเทศไทย หรือ ISP ถึงการปิดเว็บเพจที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้ กระทรวง ดีอี ได้ส่งหมายศาลให้ดำเนินการแล้ว 34 เว็บเพจ เหลืออีก 97 เว็บเพจ ทางกระทรวงดีอี จะส่งหมายศาลมาให้โดยเร็วที่สุด ขณะที่ เฟซบุ๊ก ยินดีปิดเว็บเพจทันที ที่ได้รับหมายศาลครบถ้วน

ฐากร กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการในอนาคตจะมี 2 แนวทาง คือเมื่อกระทรวงดีอีได้รับหมายศาลแล้ว จะประสานตรงไปที่เฟซบุ๊ก ขณะที่กสทช.จะประสานตรงไปที่สมาคมไอเอสพีเพื่อให้ดำเนินการกระบวนการติดตามต่อไป โดยจะดูว่าเมื่อเฟซบุ๊กได้รับหมายศาลแล้วจะดำเนินการอย่างไร คาดว่าภายในเดือนพฤษภาคมนี้ กระบวนการนำข้อมูลผิดกฏหมายจะดำเนินการได้ครบถ้วน

ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์รายงานว่าสมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทยเปิดเผยว่าถูกกดดันจากรัฐบาลไทยให้ปิดการเข้าถึงการใช้งานเฟซบุ๊กทั้งระบบช่วงเช้าวันนี้ (16 พ.ค.) หลังจากไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ใช้เฟซบุ๊กหรือแฟนเพจบางราย ลบข้อความที่ผิดกฎหมายของไทยออกจากหน้าเพจ

"ในระงับการเข้าถึงเว็บไซต์เฟซบุ๊ก จะตัดการเชื่อมต่อเครือข่ายการจัดส่งเนื้อหา (content delivery network-CDN) จากต้นทางเซิร์ฟเวอร์เฟซบุ๊ก หากเฟซบุ๊กไม่สามารถปฏิบัติตามคำร้องขอของรัฐบาลไทยเรื่องการถอด URLs ที่ผิดกฎหมายจำนวน 131 URLs ออกจากระบบ ภายในเวลา 10.00 น.ของวันนี้" หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ระบุ 

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อถึงเวลาที่กำหนด ปรากฏว่าผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในไทย ยังสามารถเข้าถึงเว็บไซต์เฟซบุ๊กได้ตามปกติ

ประยุทธ์ เผยเฟซบุ๊กให้ความร่วมมือดีขึ้น แต่ต้องใช้คำสั่งศาลขอปิด

วันเดียวกัน (16 พ.ค.60) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงกรณีครบกำหนดการขอความร่วมมือเฟซบุ๊กในการปิดกั้น และลบเพจที่มีเนื้อหาที่มีความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 116 ว่า คงไปบังคับเฟซบุ๊กไม่ได้ ที่ผ่านมาได้ขอความร่วมมือไปโดยตลอด แต่เพิ่งให้ความร่วมมือในช่วงนี้ที่มีการปิดเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมายกว่า 6900 URL เหลือ 131 URL ตอนนี้พยายามทำ ตรงนี้อยู่ และต้องห้ามกันไปเรื่อย ๆ รวมทั้งต้องใช้คำสั่งศาลในการปิดเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมาย

"ก็ท่านก็ถามมา ขอความร่วมมือกับเขา แล้วบังคับเขาได้ไหมล่ะ ผมบังคับเฟซบุ๊กได้ไหม ตอบก่อนสิ ใครบังคับได้ล่ะ ที่ผ่านมาก็ขอความร่วมมือตลอด ก็เพิ่งมาให้ความร่วมมือที่ดีขึ้นในช่วงนี้ ที่ปิดไป 6 พันกว่ายูอาร์แอล เหลืออยู่ 131 ตอนนี้ก็พยายามทำตรงนี้อยู่นะครับ ก็ต้องสร้างความเข้าใจไปเรื่อยๆ ขอความร่วมมือกับรัฐบาลอื่นๆ ต่างประเทศ ความร่วมมือกับภาคเอกชน และคนที่รับผิดชอบโดยตรงอีกคนก็คือ ผู้กำกับดูแลเว็บไซต์ในประเทศไทย มันก็เป็นธุรกิจทั้งสิ้น แล้วก็ต้องใช้คำสั่งศาล ก็ใช้คำสั่งศาลไปให้เขา เขาก็ปิด แล้วปิดเขาเปิดใหม่ มันก็คำสั่งศาลแล้วก็ปิดใหม่ มันเป็นอยู่อย่างนี้ไง มันมีวิธีการอื่นทีดีกว่านี้ไหมล่ะ ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ไม่มีอะไรควบคุม อะไรเลย มันก็ต้องเป็นอยู่แบบนี้ ก็คิดเอา" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 

 

เรียบเรียงจาก: บีบีซีไทย, วอยซ์ทีวี, ทีเอ็นเอ็น, เนชั่นทีวี และยูทูบ 'ทำเนียบ รัฐบาล'

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

IDAHOT หรือไม่ฮ็อต? คราบเปื้อนบาดตา บนธงสีรุ้ง

Posted: 16 May 2017 06:41 AM PDT

เมื่อเดือนก่อน รูปถ่ายการเปิดตัวสภาเพื่อเด็กหญิงของซาอุดิอารเบียถูกแชร์กันอย่างไวรัลบนโลกออนไลน์ เพราะความแปลกพิลึกอย่างหนึ่ง นั่นคือ ในภาพดังกล่าวไม่มีผู้หญิงหรือเด็กหญิงอยู่เลย เชื่อว่าคนไทยเป็นพันๆ หมื่นๆ รวมถึงคนที่เป็น LGBTI (คนรักเพศเดียวกัน รักสองเพศ ข้ามเพศ หรือมีเพศสรีระแตกต่าง) จำนวนมากคงจะได้ยิ้มขำกับภาพดังกล่าว เพราะคงไม่มีใครคิดว่าใน พ.ศ. นี้แล้ว จะยังคงมีการออกกฎหมายหรือกำหนดนโยบายโดยไร้ตัวแทนจากกลุ่มคนที่เป็นเป้าหมายหลงเหลืออยู่อีก

แต่รอยยิ้มนั้นคงจางไปในไม่นาน เพราะหากคิดเพียงเล็กน้อย ก็คงระลึกได้ว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศบนโลกนี้ ที่ "การมีตัวแทน" ทั้งในเชิงรูปแบบและสาระถูกกำจัดให้สูญพันธุ์ไปอย่างสิ้นเชิง

ถ้านั่นยังไม่พอ สิ่งที่ขำไม่ออกมากไปกว่านั้น คือ เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่เพิ่งผ่านมา เหล่านักกิจกรรมเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศจำนวนมากกลับยินดีปรีดา กับการที่นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประกาศว่า สนช. พร้อมที่จะพิจารณา "กฎหมายแต่งงานเพศเดียวกัน" [i]

การชี้ช่องดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นโอกาสทองอย่างเหมาะเหม็ง เพราะวันนี้คือวันที่ 17 พฤษภาคม เป็นวันที่ชุมชนสิทธิความหลากหลายทางเพศทั่วโลกจะฉลองวันสากลเพื่อยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนรักสองเพศ และคนข้ามเพศ (International Day Against Homophobia, Biphobia and Transphobia หรือ IDAHOT) ส่วนในประเทศไทย ก็จะมีการจัดงาน ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เพื่อฉลองวันดังกล่าว โดยเต็มไปด้วยบุคคลสำคัญมากมาย [ii] ในส่วนของพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ[iii] ก็จะมีการยื่นรายชื่อที่ได้มีการรวบรวมผ่านทาง change.org เพื่อเรียกร้องกฎหมายดังกล่าวต่อกระทรวงยุติธรรมและสนช. [iv]

การนำเสนอคำร้อง จาก Change.org เพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้มีกฎหมาย คู่ชีวิตกลุ่ม LGBTI โดยกลุ่ม LGBTI ต่อกระทรวงยุติธรรมการนำเสนอคำร้อง จาก Change.org เพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้มีกฎหมาย คู่ชีวิตกลุ่ม LGBTI โดยกลุ่ม LGBTI ต่อกระทรวงยุติธรรมผู้ขับเคลื่อนกิจกรรมดังกล่าวน่าจะระวังเนื้อระวังตัวในการขอกฎหมายจากสนช. เพราะเมื่อดูจากผลงานที่ผ่านมาของสนช. แล้ว การหวังว่าแคมเปญรณรงค์ออนไลน์จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการนั้น เป็นอะไรอื่นไปไม่ได้นอกจากความไร้เดียงสาตาใสหรือความสิ้นหวังอย่างได้โล่

จริงอยู่ ทั้งผู้เรียกร้อง รวมถึงคนอื่นๆ ที่ไม่ได้ลงชื่อ อาจได้กฎหมายดังกล่าวจาก สนช. แต่อย่างดีก็จะได้แค่กฎหมายแบบคอหยักๆ สักแต่ว่ามี เช่นเดียวกับกฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศที่อนุญาตให้เลือกปฏิบัติด้วยสาเหตุความมั่นคงของประเทศและศาสนา หรือในกรณีเลวร้ายยิ่งไปกว่านั้น ก็อาจจะได้กฎหมายที่ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเอง เช่น กฎหมาย "อุ้มบุญ" ที่ห้ามการอุ้มบุญยกเว้นคู่ชายหญิงที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น  

ผลเช่นที่ว่านี้ยังไม่น่ากังวลใจเท่ากับวิธีการในการได้มาซึ่งกฎหมาย กฎหมายของ สนช.ทุกฉบับมีรอยแผลเป็นเดียวกัน คือ ถูกคลอดออกมาโดยไม่มีตัวแทนจากผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ร่างกฎหมายการรับรองเพศที่กำลังพิจารณากันอยู่ก็เป็นตัวอย่างล่าสุดที่แสดงให้เห็นว่ากระบวนการอันไร้ตัวแทนจะ "ออกอ่าวออกทะเล" ได้อย่างไร เนื่องจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของร่างกฎหมายดังกล่าว แทนที่จะให้ความสำคัญต่อความคิดเห็นของกะเทยและคนข้ามเพศซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง แต่กลับไปเน้นที่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อชายหญิงไม่ข้ามเพศหากร่างดังกล่าวผ่านออกมาเป็นกฎหมาย กะเทยรายหนึ่งคอมเม้นต์ในเฟซบุ๊คว่า "ทำอย่างกับเพศของเราเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ต้องศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก่อน"

ดังนั้นจึงควรตั้งคำถามว่า ผู้ที่ผลักดันการยื่นรายชื่อเห็นความย้อนแย้งในสิ่งที่ทำหรือไม่ เหตุใดจึงคิดว่าเสียงของตนจึงควรได้รับความสำคัญ หากคิดว่าเป็นเพราะมีจำนวนรายชื่อเกือบหกหมื่น ก็ต้องถามว่าทำไมอยู่ๆ เสียงเหล่านี้จึงควรเกิดมีความหมายขึ้นมา ในเมื่อเสียงจำนวนหลายล้านถูกโยนทิ้งไปเมื่อสามปีก่อน หรือหากคิดว่าเพราะสิทธิมนุษยชนของพวกเขาเป็นสิ่งที่ถูกพรากไปไม่ได้ ก็ต้องชวนให้คิดถึงคนอีกจำนวนมากที่สิทธิถูกพรากไปเพราะฤทธิ์เดชกฎหมายของสนช.

ในภาวะที่ประชาธิปไตยถูกล้มล้าง และสิทธิมนุษยชนถูกลบทิ้ง สิ่งที่พวกเขาร้องขอก็เป็นได้แค่การแบมือขอความสงเคราะห์เป็นกรณีพิเศษ แต่ในสภาพการเมืองปัจจุบันที่คนอื่นๆ ถูกปิดปาก เสียงเรียกร้องเซ็งแซ่ของพวกเขาก็ถูกกาละเทศะพอๆ กับการแหกปากใส่โทรศัพท์มือถือในโรงภาพยนตร์

ยังมีวิธีอื่นๆ เพื่อสร้างความเท่าเทียมด้านสิทธิแต่งงาน ที่ทำได้ภายใต้สภาวะไร้สภาเช่นปัจจุบัน โดยไม่จำเป็นต้องเอาเกียรติภูมิของตนไปแลกกับผลประโยชน์ระยะสั้น วิธีหนึ่งคือการฟ้องร้องต่อศาลเมื่อไปขอจดทะเบียนสมรสแล้วถูกปฏิเสธ ขบวนสิทธิความหลากหลายทางเพศเคยประสบความสำเร็จเช่นนี้มาแล้ว เมื่อนำคำฟ้องของกะเทยคนหนึ่งขึ้นฟ้องต่อศาลปกครองในกรณีที่ถูกกระทรวงกลาโหมปฏิบัติอย่างน่ารังเกียจในการเกณฑ์ทหาร คำตัดสินของศาลในปีพ.ศ. 2554 ว่ากระทรวงกลาโหมลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในกรณีดังกล่าว เป็นการเปิดประตูให้กับนักกิจกรรม LGBTI รุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบัน

หรืออีกวิธีหนึ่ง คือ การสร้างสมัชชาประชาชนเพื่อร่างกฎหมายสมรสที่ไม่จำกัดเพศสำหรับคนทุกคนไม่แค่เฉพาะ LGBTI แต่แน่นอนว่า แนวทางเหล่านี้ต้องใช้การทำงานและความอุตสาหะ ไม่เร็วและง่ายเหมือนกับการทำสัญญาขายวิญญาณให้กับมือที่ถืออำนาจ

สิ่งที่ย้อนแย้งอีกเรื่องหนึ่งคือ การที่วัน IDAHOT เป็นวันรำลึกถึงการที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ถอดการรักเพศเดียวกันออกจากบัญชีจำแนกโรคสากล ดังนั้น จึงควรเป็นวันของการปลดแอกและแสดงการไม่สยบยอมต่อองค์กรกำหนดนโยบายต่างๆ ที่ไร้ความรับผิดต่อผู้ใด แต่ในทางตรงกันข้าม LGBTI ไทยกลับใช้วันนี้ในการแสดงความศิโรราบต่อองค์กรที่ไม่ได้เป็นผู้แทนของใครเลย

ด้วยเหตุผลต่างๆ เหล่านี้ การยื่นรายชื่อต่อตัวแทนรัฐบาลทหารในงาน จึงไม่ต่างจากการปลิดวิญญาณของ IDAHOT ยิ่งอยู่ในพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการ ก็ยิ่งเป็นคราบเปื้อนที่เห็นบาดตาอยู่ตรงใจกลางของธงสีรุ้ง นี่เป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง เพราะงาน IDAHOT ในปีนี้ให้ความสำคัญกับประเด็นที่ถูกมองข้ามมานานคือเรื่องครอบครัวหลากหลาย

ในฐานะผู้สังเกตการณ์และมีส่วนร่วมในขบวน LGBTI ในประเทศนี้มาสิบห้าปี ผู้เขียนเห็นจุดสูงสุดของขบวน เมื่อขบวนมีความกล้าหาญที่จะโต้กลับนโยบาย การปฏิบัติ หรือจุดยืนของรัฐบาลที่เลือกปฎิบัติต่อ LGBTI ตัวอย่างเช่น การแต่งชุดดำไปประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาลในปี พ.ศ. 2554 ทำให้รัฐบาลไทยต้องหันมาลงคะแนนเสียงสนับสนุนสิทธิความหลากหลายทางเพศในเวทีสหประชาชาติตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่าเศร้าใจที่เห็นขบวนตกต่ำลงมาถึงจุดนี้ เพราะไม่เพียงแค่ไม่ท้าทายหรือดำรงความเป็นอิสระจากองค์กรที่ไม่ชอบธรรม แต่กลับลดทอนศักดิ์ศรีของตนและหมอบราบให้กับหน่วยงานที่ไม่มีใครเลือกเข้ามา โดยมือหนึ่งดูเหมือนจะ "ให้" สิทธิ แต่อีกมือหนึ่งก็กระชากสิทธิทิ้งไป นี่เป็นขบวนที่ผู้เขียนไม่รู้สึกเชื่อมโยงด้วยและไม่สามารถมีส่วนร่วมด้วยอีกต่อไป

ยิ่งไปกว่านี้ งาน IDAHOT ครั้งนี้ ยังได้รับความสนับสนุนจากองค์การระหว่างประเทศที่ปรารถนาดีและสถานทูตของมิตรประเทศจำนวนมาก แต่ในการทำงานด้านการพัฒนา ความปรารถนาดีกับมิตรภาพนั้นหาเพียงพอไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศที่ยังวนเวียนอยู่กับความขัดแย้งภายในอย่างประเทศไทย

แม้ว่าเพื่อนจากภายนอกเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนในการพิทักษ์สิทธิอื่นๆ แต่ก็ทำอย่างระมัดระวัง ไม่เหมือนกับสิทธิความหลากหลายทางเพศที่ได้รับการสนับสนุนอย่างโฉ่งฉ่าง นี่อาจไม่ใช่ปัญหาด้วยตัวของมันเอง แน่นอนว่า สิทธิความหลากหลายทางเพศเป็นประเด็นปลอดภัย เพราะผู้มีอำนาจไม่เห็นว่าเป็นภัยคุกคาม ในทางตรงกันข้าม ธงสีรุ้งยังเหมาะกับการใช้เช็ดคราบเปื้อนบนรองเท้าบู๊ทเป็นอย่างดี

แต่แรงสนับสนุนจากต่างชาติอย่างไม่ใช้วิจารณญาณต่อการจัดงานที่มีกิจกรรมไม่เป็นประชาธิปไตยเช่นนี้เป็นหัวใจ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ส่งเสริมสิทธิความหลากหลายทางเพศ โดยทำลายความสำคัญของประชาธิปไตย

คงยังไม่สายเกินไปที่จะลองวิเคราะห์แนวทางปฎิบัตินี้ใหม่ด้วยกฎพื้นฐานของการพัฒนา นั่นคือ หลักการ "Do No Harm"  ผู้เขียนแน่ใจว่า สิ่งสุดท้ายที่มิตรของขบวนสิทธิความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยอยากให้เกิดขึ้น คือ การทำลายโอกาสที่ขบวนนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของกรอบสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่มีประชาธิปไตยเต็มใบในอนาคต

ในสถานการณ์เช่นปัจจุบัน คงมีความสง่างามมากกว่า ถ้า LGBTI ไทยจะรับเอาวันสำคัญระดับสากลอีกวันหนึ่งที่จะเวียนมาถึงในวันพรุ่งนี้ คือวันที่ 18 พฤษภาคม ซึ่งรำลึกถึงเหตุการณ์ลุกฮือของประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในเมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ และให้บทเรียนอันมีค่าต่อสังคมที่ไร้ความจำ ผู้เขียนหวังว่า เมื่อวันนั้นมาถึง ธงสีรุ้งที่ไร้รอยด่างจะโบกไสวในประเทศไทยอยู่ข้างเดียวกับผู้ถูกกดขี่ มิใช่ฝ่ายอำนาจที่กดขี่

 

เชิงอรรถ

[ii] ดูรายละเอียดของงานได้ที่ https://www.facebook.com/events/1134688903344519/

[iii] กำหนดการตามสูจิบัตร

 

[iv] https://www.change.org/p/ขอพ-ร-บ-คู่ชีวิตเพื่อบุคคลหลากหลายทางเพศ-rainbowfamily

เนื่องจากในงานไม่มีตัวแทนจากสนช. จึงเป็นการยื่นรายชื่อต่อตัวแทนกระทรวงยุติธรรม แต่ 1) แคมเปญลงชื่อ change.org เพื่อเรียกร้องกฎหมายดังกล่าวระบุอย่างชัดเจนว่าเป้าหมายหลักคือ สนช. (ดูภาพด้านล่าง)  2) ไม่ว่าจะยื่นต่อหน่วยงานรัฐใดก็ตาม สุดท้ายอำนาจในการพิจารณาออกกฎหมายก็อยู่ในมือของ สนช.

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ไพศาล ลิขิตปรีชากุล เป็นนักเขียนอิสระและอดีตนักกิจกรรมสิทธิความหลากหลายทางเพศ ได้รับศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต ด้านกฎหมายระหว่างประเทศและสิทธิมนุษยชน จาก UN-Mandated University for Peace ประเทศคอสตาริก้า และด้านรัฐศาสตร์จาก Ateneo de Manila University ประเทศฟิลิปปินส์ ความคิดเห็นในบทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้น และมิได้สะท้อนมุมมองขององค์กรใดๆ ที่ผู้เขียนอาจเกี่ยวข้องด้วย 


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กศน.-อาชีวศึกษา จัดรอบรมประวัติศาสตร์ชาติไทย-บุญคุณของพระมหากษัตริย์

Posted: 16 May 2017 06:29 AM PDT

เลขาธิการสภาการศึกษา เผย กศน.ร่วมมือกับ กอ.รมน.จัดอบรมโครงการประวัติศาสตร์ชาติไทย และบุญคุณของพระมหากษัตริย์ไทย เพื่อเสริมสร้างอุดมการณ์ รักชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย นอกจากนี้สถานศึกษาอาชีวศึกษาก็อบรมด้วย

ที่มา : ประชาสัมพันธ์ สอศ.

16 พ.ค. 2560 กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ในฐานะโฆษก ศธ. แถลงภายหลังการประชุมองค์กรหลัก ศธ. ว่า สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ร่วมมือกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จัดอบรมโครงการประวัติศาสตร์ชาติไทย และบุญคุณของพระมหากษัตริย์ไทย เพื่อเสริมสร้างอุดมการณ์ รักชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยให้แก่ผู้บริหาร กศน. ระดับอำเภอ และครู กศน.ตำบล ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 8,016 คน โดยจัดอบรมเป็นกลุ่ม/ศูนย์จังหวัด รวม 17 ครั้ง ระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน โดย กศน.ส่วนกลางได้จัดอบรมไปแล้วจำนวน 550 คน เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่โรงแรมบางกอกพาเลส กรุงเทพฯ ถือเป็นการนำร่องและต่อยอดทัศนคติผู้เข้าอบรมสามารถนำความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องไปดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้สำหรับผู้เรียนและประชาชนทั่วไปให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทย และสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยได้อย่างจริงจังต่อไป เพราะหากทุกคนช่วยกันรักษาสถาบันหลักของชาติโดยทั่วกันช่วยให้บ้านเมืองมีความปกติเรียบร้อยได้ และสามารถพัฒนาความเจริญก้าวหน้ารองรับเศรษฐกิจดิจิทัลและพลวัตรโลกแห่งศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีคุณภาพต่อไป

วันเดียวกัน วณิชย์ อ่วมศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยถึงการที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้จัดโครงการอบรมประวัติศาสตร์ชาติไทย และบุญคุณของพระมหากษัตริย์ไทยขึ้น ครั้งที่ 4 จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้ผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษา ทั้งผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการ จำนวน 400 คน ได้มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทย เกิดความตระหนักรู้ถึงคุณค่าและความสำคัญในประวัติศาสตร์แห่งการสร้างชาติบ้านเมืองด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์  โดยสามารถนำไปถ่ายทอดและใช้วิธีบริหารจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา มีความรู้ ความเข้าใจในประวัติความเป็นไทย มีความภาคภูมิใจในชาติ มีความรักชาติ เทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ซึ่งการอบรมตามโครงการนี้จะสอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง (พ.ศ. 2552-2559) ที่ต้องการให้มีการพัฒนาคนอย่างรอบด้าน และสมดุล เพื่อเป็นฐานหลักของการพัฒนาในระดับที่สูงขึ้น และเป็นการเสริมสร้างให้มีผู้เข้ารับอบรมและนักเรียน นักศึกษา มีจิตสำนึกและมีความภูมิใจในความเป็นไทย มีระเบียบวินัย มีจิตสาธารณะ คำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวม และยึดมั่นในการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และรังเกียจการทุจริต ต่อต้านการซื้อสิทธิ์ขายเสียง นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่กล่าวถึงการศึกษาและการเรียนรู้ การทำนุบำรุงศาสนาและวัฒนธรรม พัฒนาคนทุกช่วงวัยโดยส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้มีความรู้และทักษะใหม่ สามารถประกอบอาชีพได้หลากหลาย โดยบูรณาการความรู้และคุณธรรมเข้าด้วยกันเพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนาและรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น ดำรงชีวิตด้วยความมีคุณธรรม จริยธรรม และความเป็นพลเมืองที่ดี

รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อไปว่า โครงการน้เป็นกิจกรรมโครงการประกอบด้วย การบรรยายพิเศษแนวทางการเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลัก โดยผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร การบรรยายเรื่องประวัติความเป็นมาของคนชาติไทย เรื่องที่เป็นหลักและสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยยังเป็นไทยอยู่จนถึงทุกวันนี้ เรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย ความเสียสละของบูรพมหากษัตริย์ไทยในอดีตถึงปัจจุบัน เรื่องพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และบรรยายการเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต เรื่องพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 และการจัดกิจกรรม "พิธีเทียนรวมพลัง" โดย หมวดเอกธารณา  คชเสนี

ที่มา : ประชาสัมพันธ์ สอศ. และมติชนออนไลน์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ทบทวนคดีชาวบ้านเก็บเห็ด

Posted: 16 May 2017 05:42 AM PDT



จากการที่ขบวนการศาลของไทยในระยะหลังจากการรัฐประหาร พ.ศ.2549 ได้ถูกวิจารณ์อย่างมากว่า มีการพิจารณาคดีแบบสองมาตรฐาน เพราะอธิบายกันว่า คณะตุลาการไทยสร้างศาลเลือกฝ่าย จนไม่สามารถที่จะให้ความยุติธรรมกับประชาชนอย่างเป็นกลางได้ เหตุผลหนึ่งก็เป็นเพราะการเกิดตุลาการภิวัฒน์ ที่เปิดทางให้ศาลเข้ามามีอำนาจทางการเมือง เป็นประเด็นสำคัญทำให้ศาลแสดงจุดยืนของการเลือกฝ่ายอนุรักษ์นิยม และสนับสนุนการรัฐประหาร แต่กระนั้น ก็เป็นที่สงสัยเช่นกันว่า กระบวนการตุลาการไทยอาจมีปัญหาความยุติธรรมมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร พ.ศ.2549 ซึ่งหมายถึงว่า กระบวนการพิจารณาความในศาลไทยมีปัญหาเสมอมา และบางทีคดีชาวบ้านเก็บเห็ดน่าจะสะท้อนเรื่องนี้ได้ดี

ความเป็นมาของคดีนี้ เกิดขึ้นในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2553 นายอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้นำคณะเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าร่วมกันออกตรวจสอบพื้นที่ป่าสงวนที่ถูกบุกรุกที่ดงระแนง ตำบลคลองขาม อำเภอยางตลาด พบว่า ป่าไม้ถูกทำลายมากมาย พบกลุ่มบุคคลประมาณ 3-4 คน  กำลังใช้มีดแผ้วถางไม้ขนาดเล็กและตัดโค่นไม้สักล้มลงเป็นจำนวนมาก เมื่อกลุ่มบุคคลนั้นมองเห็นเจ้าหน้าที่ จึงพากันวิ่งหลบหนีเข้าป่าไป จึงไม่สามารถจับคนร้ายได้ แต่เจ้าหน้าที่พบจักรยานยนต์เก่าคันหนึ่งจอดทิ้งไว้ เจ้าหน้าที่ป่าไม้จึงยึดรถแล้วนำไปมอบให้ตำรวจท้องที่ จากนั้น ตำรวจก็ตรวจสอบทะเบียน และเรียกตัวนายอุดม ศิริสอน สามีอายุ 47 ปี และ นางแดง ศิริสอน ภรรยา อายุ 44 ปี ซึ่งเป็นเจ้าของรถมาสอบสวน ขณะนั้น ทั้งสองคนก็ให้การแบบทันทีไม่มีทนายความ โดยแจ้งว่า ทั้งสองมีอาชีพเป็นชาวนา วันที่เกิดเหตุออกไปเก็บเห็ด และหาของป่า แต่รถจักรยานยนตร์ที่จอดไว้หายไป แต่เมื่อทราบว่า อยู่ที่ตำรวจ จึงจะมาขอคืน

ต่อมาวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2553 ทางการตำรวจเรียกนายอุดมและนางแดงมาแจ้งข้อหาว่า บุกรุกป่าและตัดไม้จำนวนมาก นายอุดมและนางแดงให้การปฏิเสธ แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็ตัดสินใจสรุปสำนวนส่งให้อัยการ อัยการก็พิจารณาสำนวนแล้วมีความเห็นเช่นเดียวกับทางฝ่ายตำรวจ จึงส่งฟ้องศาล

ในวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2554 ซึ่งเป็นวันนัดพร้อมที่ศาล นายอุดมและนางแดงตัดสินใจรับสารภาพความผิด ศาลชั้นต้นจึงพิจารณาคำฟ้องของโจทก์และคำขอท้ายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิด คือบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองและทำประโยชน์ในการทำไม้ในแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ คิดเป็นเนื้อที่ 72 ไร่ และใช้อุปกรณ์เครื่องมือใดไม่ปรากฏชัดตัดและโค่นไม้สัก ไม้กระยาเลย ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามจำนวน 700 ต้น และร่วมกันมีไม้สักกับไม้กระยาเลยอันยังไม่ได้แปรรูป จำนวน 1,148 ท่อน ดังนั้น ศาลจึงมีคำพิพากษา จำคุก 30 ปี แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 15 ปี และริบของกลางทั้งหมด

ต่อมา จำเลยอุทธรณ์ วันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2455 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกันบุกรุก แผ้วถาง ทำไม้ ยึดถือครอบครอง หรือ กระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ เป็นกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท  จึงตัดสินลงโทษให้จำคุก 30 ปี แต่ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง เท่ากับจำคุกคนละ 14 ปี 12 เดือน

ดังนั้น ทั้งสองได้ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำจังหวัดกาฬสินธุ์ และติดคุกจนถึงวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2556 ศาลฎีกาได้อนุมัติการปล่อยตัวชั่วคราวในวงเงินประกันตัวจำนวน 500,000 บาท เท่ากับว่านายอุดม ถูกจำคุกไปแล้วเป็นเวลา 1 ปี 8 เดือน

วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2560 ในขั้นศาลฎีกา คำตัดสินของศาลอธิบายว่า ที่จำเลยอ้างว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง แต่จำเลยสารภาพต่อศาลเพราะหลงเชื่อบุคคลภายนอกว่า รับสารภาพแล้วศาลจะลงโทษแค่ปรับ แล้วจำเลยทั้งสองก็กลับบ้านได้ และเพราะมีอาการป่วยเนื่องอุบัติเหตุ แต่ศาลเห็นว่า เรื่องที่จำเลยกล่าวอ้างมานั้นขัดแย้งกันเองทั้งสิ้น จึงเป็นพิรุธรับฟังเป็นความจริงไม่ได้ การสารภาพในศาลชั้นต้นจึงเป็นไปโดยชอบ ศาลฎีกาพิจารณาเห็นว่า จำเลยทำความผิดในข้อหาบุกรุกป่า จึงพิพากษาลงโทษจำคุก 10 ปี แต่ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 5 ปี

กล่าวโดยรวมคดีนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องการเมืองโดยตรง แต่เมื่อศาลชั้นต้นตัดสินลงโทษขั้นรุนแรงถึงจำคุก 15 ปี ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นที่สนใจ สื่อมวลชนหลายฝ่ายก็สร้างข่าวให้เห็นความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยว่า สองตายายเก็บเห็ดถูกตัดสินลงโทษอย่างหนัก ขณะที่บุคคลในกลุ่มชนชั้นนำที่มีเรื่องราวบุกรุกสร้างบ้านในเขตป่า แต่ไม่ถูกพิจารณาลงโทษ

แต่นอกเหนือจากเรื่องสร้างกระแส คำพิพากษาของศาลก็มีข้อวิจารณ์หลายประการ เริ่มจากการตัดสินลงโทษทั้งหมด อ้างอิงจากการสารภาพของจำเลยตามคำฟ้องในศาลชั้นต้น แม้ว่าต่อมา จำเลยจะอธิบายว่า การสารภาพไม่ได้เป็นไปโดยความสมัครใจ แต่มาจากการเข้าใจผิด ศาลก็ไม่รับฟังถือเอาคำสารภาพนั้นเป็นข้อเท็จจริง ซึ่งกรณีนี้ ใบตองแห้งตั้งข้อสังเกตว่า "ถ้ามองจากสภาพชาวบ้านทั่วไป ถ้ามีคนบอกว่าสารภาพไปเถอะโทษแค่ปรับ หรือรอลงอาญา ชาวบ้านก็รับสารภาพนะครับ" ดังนั้น ในเรื่องนี้ ตามกระบวนการพิจารณาความ ศาลไม่ควรที่จะเอาคำสารภาพแต่เพียงอย่างเดียวมาเป็นข้อพิสูจน์ว่า จำเลยกระทำผิด เพราะในทางหลักการถ้าหากเป็นกรณีที่ผู้กระทำผิดตัวจริง จ้างใครมาสารภาพผิดแทน แล้วศาลพิจารณาตามนั้น ก็จะสูญเสียความยุติธรรม

ยิ่งกว่านั้น ถ้าจะพิจารณาในเชิงข้อเท็จจริงตามคำฟ้อง ไม่มีความเป็นไปได้เลยว่า จำเลยที่เป็นชาวบ้านชาย 1 คน และหญิง 1 คน ที่เป็นชาวบ้านธรรมดาสามัญอายุเกิน 40 ปี จะสามารถเป็นตัวการตัดไม้ 1,148 ต้น และทำลายป่า 72 ไร่ เพราะเป็นเรื่องเกินศักยภาพมนุษย์อย่างมาก การทำลายป่าขนาดนี้ หมายถึงว่า จำเลยต้องมีเงินทองมากพอที่จะเป็นเจ้าของเครื่องมือทันสมัย ในคำตัดสินของศาลอธิบายเรื่องนี้ว่า จำเลย "ใช้เครื่องมือใดไม่ปรากฏชัดตัดและโค่นไม้สัก" ซึ่งคำอธิบายแบบนี้มีข้อแย้งได้มากมาย ถ้าในอีกที่หนึ่งศาลอธิบายว่า จำเลยและพวกใช้ "มีดแผ้วถางขนาดเล็ก" ซึ่งไม่มีทางที่จะตัดไม้ได้ขนาดที่อ้าง

ยิ่งกว่านั้น ศาลก็ไม่ได้กล่าวถึงเหตุผลเลยว่า ชาวบ้าน 2 คนจะทำลายป่าและตัดไม้จำนวนขนาดนี้ไปทำไม ถ้าอ้างว่าตัดเอาไปขาย หมายความว่าชาวบ้าน 2 คน ต้องมีศักยภาพทางการตลาดอย่างมาก ในคำพิพากษาพยายามกล่าวเรื่องนี้ในลักษณะว่า "เชื่อได้ว่าบุคคลที่เป็นกลุ่มนายทุนมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดตามฟ้องโดยตรง ยังมิได้มีการขยายผลและติดตามจับกุมมาดำเนินคดีทั้งหมด" ซึ่งถ้าเป็นไปตามคำบรรยายนี้ ก็ไม่มีเหตุผลเลยที่จะมาลงโทษชาวบ้าน 2 คน ที่มาสมัครใจมอบตัวและ"รับสารภาพ" และที่มากกว่านั้น คือ การตัดสินคดีทั้งหมดไม่ได้ขึ้นกับประจักษ์พยานอะไรเลย ไม่มีการพิสูจน์ว่า มีใครเห็นจำเลยทั้งสองคนตัดไม้ทำลายป่าด้วยเครื่องมืออะไร มีแต่การอ้างว่า เห็นทั้งสองวิ่งหนี ความเชื่อว่าจำเลยมีความผิดอนุมานเอาเองจากการที่ทั้งสองคนเป็นเจ้าของจักรยานยนต์ในที่เกิดเหตุ

สรุปแล้ว การตัดสินลงโทษของศาล คือการจงใจให้ชาวบ้านสองคน ที่มีเพียงจักรยายยนต์เก่า แล้วไปเก็บเห็ดในป่า ต้องรับผิดชอบความผิดในการทำลายป่า 72 ไร่ และเป็นเจ้าของไม้ที่ถูกตัดทั้งหมด 1,148 ท่อน คำตัดสินเช่นนี้เอง จึงเป็นเหตุให้เกิดข้อวิจารณ์จำนวนมาก เพราะมันสร้างความสะเทือนใจที่ชาวบ้านสองคนไปเก็บเห็ดเพื่อประทังชีวิต แล้วถูกลงโทษขนาดนี้

ความจริงแล้ว การตัดสินคดีครั้งนี้ของศาลไทย ก็สะท้อนถึงปัญหาในระดับโครงสร้าง เพราะศาลไทยมีลักษณะรวบอำนาจ สู่คณะผู้พิพากษา ที่อาศัยคำตัดสินคดีชี้เป็นชี้ตายชีวิตของประชาชน คำตัดสินของศาลไม่ว่าจะถูกหรือผิดก็ไม่มีกระบวนการตรวจสอบ หรือต่อมาเมื่อมีหลักฐานถึงความผิดพลาดในการตัดสิน การแก้ไขผลการตัดสินก็เป็นไปได้ยาก เรื่องการปฏิรูปการศาลจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ ที่จะต้องพิจารณากันต่อไป


 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 616 วันที่ 13 พฤษภาคม 2560

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สำเนียงผู้หญิง: บทวิจารณ์วารสาร สตรี เพศสถานะ และเพศวิถีฉบับปฐมฤกษ์

Posted: 16 May 2017 05:32 AM PDT




ผมได้รับ วารสาร สตรี เพศสถานะ และเพศวิถีศึกษา ฉบับปฐมฤกษ์ [1] ซึ่งวารสารฉบับแรกนี้มีหัวข้อหลักคือ ผู้หญิงกับ[หอ]จดหมายเหตุ[ศึกษา]

โดยส่วนตัว ผลผลิตทางวิชาการของโครงการฯ นี้ส่งผลกับวิธีคิดและการตัดสินใจเรียนต่อของผมยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พอสมควร  เมื่อครั้งสมัยเรียนปริญญาตรีปี 4 และ 5 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (พ.ศ. 2544-2545) กิจกรรมทางวิชาการของสตรีศึกษาธรรมศาสตร์ (ผมขออนุญาตเรียกในชื่อที่คุ้นเคย) เป็นที่โด่งดังในแง่ของการเปิดพรมแดนความรู้ทางทฤษฏีเป็นอย่างยิ่ง  โดยเฉพาะแนวคิดโครงสร้างนิยม, หลังโครงสร้างนิยม และหลังอาณานิคมนิยม  บทความจำนวนมากทั้งที่เป็นภาษาอังกฤษ, บทความแปล และการถอดความจากการบรรยายได้ถูกรวบรวมอย่างเป็นระบบ  ช่วงเวลานั้นคือช่วงเริ่มต้นโครงการปริญญาโทสตรีศึกษาธรรมศาสตร์พอดี และความตื่นเต้นนั้นได้ส่งผ่านมาถึงเชียงใหม่เช่นกัน  ตอนนั้นโซเชียลมีเดียยังไม่แพร่หลายมากนัก การได้มาซึ่งเอกสารต่างๆ บ่อยครั้งทีเดียวที่ผมต้องนั่งรถไปกรุงเทพฯ เพื่อไปยืมและทำสำเนาจากห้องสมุดที่ธรรมศาสตร์[2]

อาจเป็นเพราะจริตและความชอบส่วนตัวที่ทำให้ผมสนใจแนวคิดที่สตรีศึกษาธรรมศาสตร์เป็นพิเศษ  อันที่จริงที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เองก็มีศูนย์สตรีศึกษาเช่นเดียวกัน ทั้งยังเปิดการศึกษาในระดับปริญญาโท ทว่า ที่เชียงใหม่ในห้วงขณะนั้น ให้ความสนใจเป็นพิเศษกับประเด็นว่าด้วยผู้หญิง, ปัญหาการพัฒนา และความเป็นชายขอบเป็นพิเศษ  ความแหลมคมของสตรีศึกษาเชียงใหม่ต่างออกไปจากความสนใจส่วนตัวของผมก็เท่านั้น [3]

เอาหล่ะ เข้าเรื่องกันดีกว่า

ในฐานะส่วนหนึ่งของผู้ที่ได้รับอิทธิทางความคิด ผมคิดว่าจุดเด่นสำคัญของสตรีศึกษาธรรมศาสตร์คือการบุกเบิกวิธีวิทยาในการศึกษาโลกของผู้หญิง ผ่านการเคลื่อนโฟกัสจากวัฒนธรรมในลักษณะที่เป็นก้อนๆ มาสู่การโลกในมุมมองของผู้หญิง พร้อมการย้อนกลับไปวิพากษ์มุมมองที่มีต่อวัฒนธรรมแบบเดิมว่าถูกปกคลุมและครอบครองด้วยความสัมพันธ์เชิงอำนาจและอุดมการณ์แบบชายเป็นใหญ่  การค้นหาความรู้ในลักษณะนี้ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนในวิทยานิพนธ์หลากหลายเล่มของสตรีศึกษาธรรมศาสตร์  งานเขียนทางวิชาการเหล่านี้มิใช่หยุดแค่การอ้างถึงการวลีที่ว่า "ฉันถูกทำให้เป็นผู้หญิง" เท่านั้น ทว่ายังเข้าไปสู่อาณาบริเวณของคำถามถึงตำแหน่งการเปล่งเสียงของผู้หญิงในฐานะผู้มีสถานะรอง (Subaltern) อีกด้วย 

ในแง่วิธีวิทยา ผมคิดว่านี่คือความยอกย้อนของการพิจารณาเสียงสำเนียงของผู้หญิงเป็นอย่างมาก  การเลื่อนโฟกัสไปยังตำแหน่งการเปล่งเสียงของผู้หญิง มิได้หมายความถึงการให้ผู้หญิงเป็นศูนย์กลางเพื่อวิพากษ์ความเป็นชายแต่เพียงอย่างเดียว ทว่า ยังเป็นการเผยให้เห็นถึงอุดมการณ์ชุดต่างๆ ที่เข้ามาจัดการและทำงานในโลกของผู้หญิง ทั้งชาตินิยม, ชาติพันธุ์นิยม, ท้องถิ่นนิยม, ชนชั้น หรือกระทั่งความเป็นชาย  ดังนั้น เสียงสำเนียงผู้หญิงที่เปล่งออกมาจึงมิได้เป็นอิสระโดยตัวเอง หากเป็นสำเนียงที่เปล่งออกมาเพื่อสร้างอัตบุคคลแห่งเสรีภาพผ่านการต่อสู้หยิบยืมทางอุดมการณ์ต่างๆ 

สำหรับ "ผม" เรื่องเล่าที่ใช้คำว่า "ดิฉัน" หรือ "ฉัน" จะสามารถแปลงสรรพนามบุรุษที่หนึ่งไปสู่สรรพนามสตรีที่หนึ่งได้ก็ต่อเมื่อ สุ้มสำเนียงนั้นๆ สามารถทำให้เรื่องเล่ามีพลังในการท้าทายอำนาจ  ตลอดจนการพลิกวิธีการเล่าเรื่องหรือหักเหเรื่องเล่าไปสู่แง่มุมที่เปิดโลกอีกใบให้กับผู้อ่านได้

บทความจำนวนมากในวารสารฉบับนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการกลิ่นอายและความพยายามวิธีวิทยาในการหาความรู้ตามที่กล่าวมาในข้างต้น  ในทัศนะส่วนตัว บทความที่นับว่าเป็นหัวใจหลักของวารสารซึ่งครอบคลุมทั้งวิธีวิทยา, วิธีการศึกษา และประเด็นหลักของวารสาร คือบทความของ ดร. สินิทธ์ สิทธิรักษ์ ในชื่อ 'อ่าน' เอกสารจดหมายเหตุผู้หญิง: อ่านสมุดบัญชีของ พรเพชร เหมือนศรี ช่างตัดเสื้อชาวอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์

ข้อเขียนนี้จึงมุ่งที่จะพิจารณาบทความของสินิทธ์เป็นสำคัญ

 

เสียงของเธอในประวัติศาสตร์ของใคร?

เมื่อได้อ่านบทความของสินิทธ์จบลง ความรู้สึกของผมเกิดขึ้นอย่างหลากหลาย  ผมอดถึงถึงครอบครัวของพ่อไม่ได้  ใช่ อำเภอหนองบัวเป็นบ้านเกิดของของพ่อและบรรพบุรุษของเขา  คุณพรเพชรผ่านคำบอกเล่าของสินิทธ์น่าจะเป็นคนในรุ่นปู่และย่าของผม  พ่อของผมเกิดที่บ้านหนองบัวในปี พ.ศ. 2500 เขาได้รับรู้วีรกรรมและคำบอกเล่าเกี่ยวกับคุณพรเพชรมาโดยตลอด  เมื่อครั้งยังเด็ก พ่อก็เล่าเรื่องนักต่อสู้หญิงคนหนึ่งที่บ้านเกิดของพ่อให้ผมฟัง

อะไรคือความต่างระหว่างเรื่องเล่าทั้งสองสำนวนนี้?

เรื่องเล่าถึงหนองบัวจากรุ่นสู่รุ่น (จากปู่สู่พ่อและตัวผมเองตามลำดับ) ในสำนวนของครอบครัวผม เต็มไปด้วยความสำเร็จและความล้มเหลวของผู้ชายในฐานะผู้นำครอบครัว  หนองบัวในช่วงปลายปี พ.ศ. 2480 – 2510 โดยประมาณนั้น เต็มไปด้วยป่าและทุ่งนา  เนื่องจากทำเลที่อยู่ขนาบริมน้ำน่านทำให้ผู้คนที่นี่มีน้ำท่าใช้ตลอดปี ขณะเดียวกันก็เกิดความเสี่ยงสูงในฤดูน้ำหลาก  อันที่จริงคงต้องบอกว่าหลังจากปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา  น้ำท่วมได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ต่อชุมชนเนื่องจากการการก่อสร้างถนนและทางรถไฟเชื่อมโยง  จ.นครสวรรค์ กับ จ.พิจิตรเข้าหากัน  จากคำบอกเล่าของพ่อทำให้ผมทราบว่าการคมนาคมอย่างเป็นทางการตอนนั้นเองได้ส่งผลให้รัฐเข้ามามีส่วนในการจัดการที่ดินทำกินของชาวบ้าน รวมไปถึงพื้นที่สาธารณะมากขึ้น

ชุมชนที่ตั้งอยู่ในบริเวณนี้จึงมักเดือดร้อนในเรื่องที่ดินทำกินมาโดยตลอด  ในเรื่องเล่าของพ่อและปู่ "ไอ้เสือ" หรือนักเลงชายในชื่อต่างๆ จึงปรากฏขึ้นประหนึ่งสัญลักษณ์ในการต่อต้านอำนาจรัฐ  ไอ้เสือจำนนวนหนึ่งก็ยากจนจริงและได้รับการช่วยเหลือจากสมาชิกในชุมชน  ขณะที่อีกจำนวนหนึ่งก็คือกลุ่มอิทธิพลที่ไม่ลงรอยกับเจ้าหน้าที่  แน่นอนว่าเรื่องเล่าของไอ้เสือจำนวนมากที่ผมได้ยินล้วนพัวพันกับเวทย์มนตร์  เครื่องราง  และของขลัง  ผู้ที่ได้รับการยอมรับในชุมชนมักจะเป็นนักเลงเก่าที่มีประสบการณ์อย่างโชกโชน  กระทั่งแก่ตัวมาก็บวชเป็นพระให้คนเคารพนับถือ

ปู่ของผมเกิดในครอบครัวใหญ่ที่ทำการค้าริมน้ำน่าน ทำให้ท่านมีฐานะพอที่จะไปเรียนต่อทางด้านการพาณิชย์และบัญชีที่เมืองบางกอก  การไปศึกษาต่อของปู่กลายเป็นเรื่องที่กล่าวถึงจากรุ่นสู่รุ่น  ปู่เป็นเรียนหนังสือเก่งทั้งยังสามารถสื่อสารในภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสได้เป็นอย่างดี  เมื่อจบการศึกษาปู่ไม่ได้กลับมาทำธุรกิจ  แต่กลับมาสอนหนังสือและกลายเป็นครูใหญ่ในโรงเรียนประถมแห่งหนึ่ง  ในสายตาของพ่อ ปู่เป็นคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตสูงและสร้างเกียรติให้แก่วงศ์ตระกูลเป็นอย่างมาก  พ่อพูดถึงย่าน้อยกว่าปู่ ทั้งที่ปู่อายุสั้นตายแต่ยังหนุ่ม  ย่าต่างหากที่เลี้ยงลูกทั้งห้าคนมาด้วยความยากลำบาก  ผมกลับไปบ้านเกิดของพ่อทีไร บรรดาญาติๆต่างพากันพูดหลายต่อหลายครั้งว่า หากปู่ผมยังอยู่ครอบครัวของพ่อคงไม่เป็นแบบนี้

คิดไปคิดมา เรื่องเล่าของหนองบัวผ่านปู่และพ่อนั้นมันช่างอุดมไปด้วยกลิ่นอายของลูกผู้ชายเสียนี่กระไร และเรื่องเล่าที่ใช้เวลาเป็นสัปดาห์ก็เล่าได้ไม่ซ้ำเรื่องนี้ก็หล่อหลอมตัวผมขึ้นมา  ความสำเร็จ ความล้มเหลว ตลอดจนศักดิ์ศรีหน้าตาของครอบครัวหรือชุมชนเองล้วนมาจากผู้ชาย

บทความของสินิทธ์ให้ภาพความเข้าใจใหม่แก่ผมในหลายประการ

ประการแรก วิธีการอ่านที่เธอเรียกว่า "อ่านอย่างมีรายละเอียดจากเบื้องล่าง" และ "การอ่านแบบผู้หญิง" ซึ่งดูจะเป็นวิธีวิทยาหลักของเธอนั้น ได้พาผมไปสู่รายละเอียดและสิ่งละอันพันละน้อยอย่างสมุดบัญชีในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์  รายละเอียดในนั้นล้วนแสดงให้เห็นถึง "การเขียนวัฒนธรรมความเป็นหญิง" โดยตัวผู้หญิงเอาไว้อย่างน่าสนใจ  ทั้งที่เธอยึดอาชีพช่างตัดเสื้อ ทว่าในสมุดบัญชีนั้นนอกจากจะมีสิ่งของจำพวกผ้าชนิดต่างๆ เข็ม และด้ายแล้ว ยังปะปนไปด้วย ไข่เป็ด, บุหรี่, ผัก, แชมพู, ข้าวสาร, รายละเอียดการยืมเงินและการคงค้างต่างๆ มากมาย  สินิทธ์เรียกบันทึกแบบนี้ว่าเศรษฐกิจแบบผู้หญิงจัดการ อันสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของผู้หญิงกับคนอื่นๆ รอบข้าง  โดยเฉพาะการรายละเอียดต่างๆ ผ่านการจำแนกชื่อ และใช้สรรพนามนำหน้าที่บ่งบอกฐานะอาทิ น้า พี่ ครู เฮีย ลุง และช่าง (หรือเมียช่าง) ตลอดจนการไม่มีสรรพนามนำหน้า  สำหรับผม ระบบเศรษฐกิจเช่นนี้มีความพิเศษตรงที่การดำเนินไปร่วมกับการนับญาติและการลำดับสถานะ  ระบบเศรษฐกิจนี้จึงมีความสลับซับซ้อนต่างไปจากระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่  เนื่องจากยึดถือความสัมพันธ์ระหว่างคนพอๆ กับการได้กำไรหรือขาดทุน  ไม่แปลกเลยที่การจดบันทึกนี้จะมีลักษณะของความจุกจิกและเป็นดังที่ สินิทธ์บอกว่า "โอ้ย! จดได้ดีไม่มี 'กระเด็น'เลย" (หน้า 140)

เรื่องเล่านี้ไม่เคยปรากฏขึ้นผ่านความทรงจำผมที่มีต่อหนองบัวมาก่อน

ประการที่สอง การศึกษาผ่านสมุดบัญชี สินิทธ์ยังแสดงให้เห็นถึงพื้นที่ของผู้หญิงในฐานะสิ่งที่ซ้อนทับกันของพื้นที่มากมายซึ่งมิได้มีแค่พื้นที่ส่วนตัวหรือสาธารณะ  จากสมุดบัญชีของพรเพชร สินิทธ์วิเคราะห์ให้เห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลงของการแต่งกายซึ่งเชื่อมโยงกับนโยบายของรัฐ  นับตั้งแต่การประกาศห้ามสาวๆ ใส่เสื้อชั้นในตัวเดียว (ในความหมายของการให้ใส่เสื้อนอกทับอีกชั้น) การใส่กางเกง และเสื้อคอปกของผู้ชาย  รวมไปถึงแฟชั่นตามสมัยต่างๆ ที่ทำให้ร้านตัดเสื้อผ้าของเธอกลายเป็นพื้นที่บรรจบกันระหว่างโลกตะวันตกที่มิได้เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ แต่อยู่ในร้านตัดเสื้อบ้านนอก  และสินิทธ์เองก็บอกว่าสามารถอ่านร้านตัดเสื้อนี้ได้ในฐานะจุดตัดระหว่างเมืองและชนบท  รวมไปถึงการทำหน้าที่เป็นพื้นที่ในการสมาคมทางสังคมของเหล่าแม่บ้านหรือผู้หญิงที่เข้ามาบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ  

ประเด็นนี้เองที่จุดประกายให้ผมสนใจประวัติศาสตร์ของชุมชนหนองบัวผ่านสำนวนผู้หญิงในร้านตัดผ้าแห่งนี้  เรื่องราวมันอาจแตกต่างไปจากสำนวนแบบแมนๆ ที่ผมเคยรับรู้มาอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม สำนวนการบอกเล่าของพรเพชรผ่านสินิทธ์ ดูจะจำกัดอยู่ในกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อและชนชั้นพ่อค้าแม่ขายและผู้มีการศึกษาเป็นสำคัญ  จุดนี้เมื่อเรามองย้อนไปพื้นเพของพรเพชรเองก็คงพอเดาได้ว่าน่าจะภูมิหลังทางครอบครัวที่ดีถึงขั้นส่งลูกสาวไปเรียนตัดเสื้อผ้าที่เมืองกรุงได้  ตลอดจนทักษะของการใช้ภาษาเขียนที่ละเอียดลออทั้งเนื้อความและการจำแนกแยกแยะ  ดังนั้นสิ่งที่สินิทธ์เรียกวิธีการการวิเคราะห์เช่นนี้ว่าการอ่าน (ประวัติศาสตร์) จากเบื้องล่างนั้น จึงมีเพดานทางชนชั้นเป็นข้อจำกัด  แม้ว่าจะสร้างแรงบันดาลใจในการศึกษาประวัติศาสตร์แบบใหม่ที่ต้องการสลัดหลุดออกจากการเขียนหรือคำบอกเล่าของผู้ชายก็ตามที

กล่าวเช่นนี้ ผมมิได้ต้องการค้นหาคำนิยามที่แท้จริงของประวัติศาสตร์จากเบื้องล่าง  หากต้องการบอกว่าการอ่านรายละเอียดในกิจกรรมของผู้หญิงแบบผู้หญิง เพื่อค้นหาเรื่องเล่าหรือประวัติศาสตร์จากเบื้องล่างนั้น ก็เป็นมายาภาพหรือหลุมพรางแบบหนึ่ง  เนื่องจากในโลกของผู้หญิงเองก็มีความแตกต่างทางชนชั้นและศักยภาพในการค้นหาวิธีการบอกเล่าเรื่องราวของตนเองต่างกันออกไป

ผมขออนุญาตเล่าเรื่องชีวิตย่าสักเล็กน้อย  หลังจากที่ปู่ของผมเสียชีวิต ย่าก็หอบลูกสามคนเล็กเข้าไปอยู่สลัมแถวหัวลำโพง เนื่องจากฐานะที่บ้านของย่ายากจนเป็นอย่างมาก  ครานั้นพ่อของผมเริ่มหางานได้ก็ต้องรับผิดชอบชีวิตและการศึกษาของน้องคนรอง  ย่าทิ้งที่นาที่น้ำท่วมตลอดไปอยู่หัวลำโพงเพื่อขายก๋วยเตี๋ยวริมทางเท้าในตอนเย็นจนถึงตีหนึ่งตีสอง  จากคนซึ่งอ่านและเขียนหนังสือได้เพียงเล็กน้อย และเคยมีชีวิตอยู่ในชนบท  ย่าต้องเริ่มเรียนรู้ทุกอย่างใหม่ ผมจำได้ว่าในบางช่วง หลานๆ อย่างผมกับน้องจะต้องเข้าไปช่วยงานย่าในกรุงเทพฯ  พวกเราได้กลายเป็นเด็กหัวลำโพงและอยู่อาศัยกันในสลัมช่วงหนึ่ง

ย่ามักถูกมองจากคนอื่นๆ ในชุมชนแถบหนองบัวและชุมแสงว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี เนื่องจากย่าทำงานกลางคืนที่กรุงเทพฯ ดื่มเหล้าเก่ง  ทั้งยังได้ผัวใหม่กลับมาอีกด้วย  การต่อสู้ของย่าอาจเป็นส่วนหนึ่งของผู้หญิงอีกจำนวนมากที่บ่ายหน้าเข้าไปแสวงโชคในเมืองอย่างกล้าหาญและอาจเป็นทั้งความรับผิดชอบและความรู้สึกของผู้เป็นแม่  เรื่องราวเหล่านี้มีที่ทางอย่างไรในประวัติศาสตร์ที่ถูกเรียกว่าเบื้องล่าง

ปัญหาในแง่นี้มิได้สะท้อนปัญหาทางชนชั้นที่ซ่อนอยู่ในผู้หญิงเพียงอย่างเดียว  หากในกระบวนการเล่าเรื่องผู้หญิงผ่านคนกลุ่มหนึ่งย่อมมีกระบวนการรวมเข้าและกีดกันคนบางกลุ่มอยู่เสมอ  แม้ผมจะประทับใจกระบวนการค้นหาความรู้ของสินิทธ์เป็นอย่างยิ่ง แต่ผมอดคิดไม่ได้ว่าสิ่งที่ "ไม่ปรากฏ" ในสมุดบัญชีหรือจดหมายเหตุผู้หญิงตามที่สินิทธ์เรียกก็คือ เรื่องราวของผู้หญิงอีกชนชั้นหนึ่งอย่างย่าของผม  อันที่จริงคงต้องกล่าวว่า พวกเธอไม่ได้อยากเป็นเบื้องล่าง ทั้งยังปรารถนาที่จะขยับขึ้นไปสูดอากาศและความสะดวกสบายอย่างเบื้องบนบ้าง  แน่หล่ะ...สำหรับย่า  สถานภาพของคุณพรเพชรก็ถือว่าเป็นเบื้องบนแล้ว

ณ จุดนี้ ผมไม่ได้ไม่เคารพการต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ทำกินของคุณพรเพชรแต่อย่างไร  ในทางกลับกันผมชื่นชมและเคารพเธอก่อนที่จะอ่านบทความนี้เสียด้วยซ้ำ เรื่องเล่าของคุณพรเพชรคือหนึ่งในเรื่องที่พ่อเล่าให้ฟังด้วยความภูมิใจเมื่อผมยังเป็นเด็ก  เธอคือนักต่อสู้คนแรกๆ ที่ผมรู้จักเสียด้วยซ้ำ  แม้ว่าในเรื่องเล่าที่ผมได้รับฟังจะไม่ค่อยมีความหมายของนักต่อสู้หญิงสักเท่าไรนัก

คำถามของผมคือ เหตุใดการต่อสู้ของเธอจึงไม่อาจเป็นตัวแทนหรือมีลักษณะข้ามชนชั้นและนำพาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่กว่ากรณีของเธอต่างหาก  ดังนั้นสิ่งที่เราเรียกว่า "เบื้องล่าง" นั้น จึงมีลักษณะของความเหลื่อมซ้อนกันหลากหลายชั้น  พันธะกิจของการอ่านเอกสารหรือจดหมายเหตุจึงมิอาจหยุดลงที่การค้นหาเอกสารประเภทใหม่ๆ หรือสร้างวิธีการอ่านใหม่เพียงเท่านั้น  หากจำเป็นต้องนำตัวบทและวิธีการอ่านข้ามเงื่อนไขและข้อจำกัดโดยตัวมันเองไปสู่ตัวบทอื่นๆ ที่สามารถฝ่าข้ามข้อจำกัดนั้นไปได้
 

ปัญหาของตำแหน่งแห่งที่ในการเปล่งเสียง?

ข้อเสนอของผมว่าด้วยการอ่านข้ามตัวบทหรือการฝ่าข้ามข้อจำกัดของตัวบทนี้  ผู้อ่านบทความชิ้นนี้ของสินิทธ์และตัวของเธอเองอาจกังขาและแย้งขึ้นมาว่า บทความที่เธอเขียนขึ้นได้เสนอวิธีการเขียนแบบ " 'เทียบเคียง'(juxtapose) ระหว่างไดอารี่ต้นฉบับกับบทตีความเนื้อหาของผู้วิจัย เพื่อที่จะ '…ชวนให้ผู้อ่านระลึกถึงความซับซ้อนและความเป็นองค์ประธานของการสร้างขึ้นใหม่ทางประวัติศาสตร์และเปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้สัมผัสกับบางแง่มุมของความรู้สึกทั้งในแนวชิดใกล้และแบบมีระยะห่างระหว่างประวัติศาสตร์และแหล่งข้อมูล" (หน้า 136)

การเขียนและเล่าเรื่องในลักษณะเช่นนี้เองต่างหากที่ทำให้ผมในฐานะผู้อ่านเกิดความสับสนในตำแหน่งแห่งที่ของการเปล่งเสียง  ในบทความ ผมพบว่าเสียงที่ถูกเปล่งออกมามีลักษณะของคล้ายคลึงกับการงานศิลปะประเภทที่นำชิ้นส่วนเล็กๆ มาปะติดปะต่อกัน (Collage)  พลังของงานประเภทนี้คือการทำให้สิ่งละอันพันละน้อยต่างๆ หลุดออกมาจากต้นกำเนิดและความหมายดั้งเดิมและก่อเกิดความหมายใหม่ที่มีพลังในงานสื่อ  เทคนิคนี้นับเป็นวิธีการเล่าเรื่องที่สำคัญประการหนึ่งของการเขียนวรรณกรรมและถือว่าเป็นการนิพนธ์เรื่องราวแนวทดลองที่ท้าทายการเล่าเรื่องในแนวขนบ

อย่างไรก็ตาม เสียงที่ปรากฏในบทความนี้ กลับมีลักษณะของการเทียบเคียง ซึ่งไม่ปะติดปะต่อกันสักเท่าไหร่นัก  นับตั้งแต่สำเนียงของพรเพชร สำเนียงของสินิทธ์ ตลอดจนสำเนียงของนักคิดทางวิชาการด้านสตรีศึกษาที่สินิทธ์หยิบยกขึ้น  เสียงสำนวนต่างๆ เหล่านี้มีลักษณะของการกลบกลืนกันและกัน  บ่อยครั้งทีเดียวที่ผู้อ่านเช่นผม รู้สึกสบสนในตำแหน่งแห่งที่ระหว่างสำเนียงของพรเพชรผ่านการตีความของสินิทธ์ กับเสียงการตีความของสินิทธ์เอง  ยามที่อ่านบทความผมอยากรู้จักกับโลกของพรเพชรมากขึ้น แต่ก็ถูกกั้นด้วยโลกของนักคิดต่างๆ ซึ่งกระโดดเข้ามาสนทนาจากโลกที่ต่างพื้นที่และเวลา  ขณะที่อ่านบทความ ผมจึงรู้สึกอย่างเนืองๆ ว่าเสียงของพรเพชรถูกกลบให้หายไปอยู่ตลอดเวลา

แน่นอน พิจารณาในเจตนาของผู้เขียน วิธีการเขียนเช่นนี้อาจแสดงให้เห็นถึงการเทียบเคียงหลากหลายระดับ โดยเฉพาะความเป็นหญิงและการอ่านแบบผู้หญิง ซึ่งล้วนมีลีลาและความต้องการเผยให้เห็นอัตวิสัย (Subjectivity) ของพวกเธอผ่านเรื่องเล่ามากมาย

ทว่า ในแง่ของการเขียนและวิธีวิทยาในการศึกษา ผมอดรู้สึกไม่ได้ว่าการเผยให้เห็นอัตวิสัยอย่างมากมายและปรากฏขึ้นในอย่างหลากหลายตำแหน่งแห่งที่ กลับเป็นสิ่งที่ทำลายพลังของอัตวิสัยเสียเอง  หรือในที่นี้คือการเคลื่อนโฟกัสไปสู่ผู้หญิงในฐานะผู้เล่าเรื่องแต่ศูนย์กลางในการเล่าเรื่องกลับกระจัดกระจายจนทำให้เรื่องเล่าไม่สามารถเปล่งพลังได้อย่างเต็มที่

การเขียนในลักษณะนี้มิได้ปรากฏขึ้นในบทความนี้เพียงอย่างเดียว ทว่ายังเกิดขึ้นกับบทความอีกหลายชิ้นในวารสารเล่มนี้  แน่นอน การใส่ใจกับรายละเอียดเล็กน้อยต่างๆ ที่สามารถเชื่อมโยงกันและเผยให้เห็นถึงประเด็นสำคัญที่มีนัยทางการเมืองวัฒนธรรม เหล่านี้นับเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งในการเขียนและการเล่าเรื่องด้านสตรีนิยม  ทว่า การลำดับตำแหน่งแห่งที่ของเสียงเล่าในบทความก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน

สิ่งที่ผมนึกถึงและคิดว่าจะทำให้เสียงของพรเพชรและการเล่าเรื่องของสินิทธ์มีพลังขึ้นก็คือ ตำแหน่งแห่งที่ซึ่งพรเพชรไม่อาจเอื้อนเอ่ยหรือโลกที่พรเพชรถูกทำให้กลายเป็นวัตถุ  ตำแหน่งแห่งที่ประเภทนี้เองจะทำให้ความเป็นอัตวิสัยของพรเพชรมีพลังในแง่มุมของบทสนทนาที่มีต่อความสัมพันธ์เชิงอำนาจ  รวมไปถึงตำแหน่งแห่งที่ของพรเพชรกับผู้หญิงสถานภาพอื่นๆ ในหนองบัวเพื่อเทียบเคียงเสียงของพวกเธอซึ่งทั้งอาจมีนัยของการเห็นพ้อง, การประชดประชัน และความแตกต่าง 

ทั้งหมดนี้ล้วนสามารถนำไปเทียบเคียงหรือ Juxtapose กับบันทึกสมุดบัญชีได้อย่างแน่นอน  ทั้งยังเป็นจดหมายเหตุที่ถูกจัดเก็บไว้ในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่เอกสาร  หากเป็นคำบอกเล่าทั้งจากผู้หญิงและผู้ชาย  รวมไปถึงวัสดุข้าวของอื่นๆ ที่อยู่รายรอบสมุดบัญชีเล่มนั้น


ส่งท้าย

เรื่องที่ผมเล่าไปทั้งหมดนี้ นักสตรีศึกษาและสินิทธ์เองอาจจะทราบดีอยู่แล้ว บทความชิ้นนี้เป็นเพียงข้อสะท้อนย้อนเตือนถึงการสร้างวิธีการเล่าเรื่องที่อาจบั่นทอนพลังของเรื่องเล่าด้วยตำแหน่งของการเปล่งเสียงจากแห่งที่ต่างๆ  ในข้อเขียนนี้ผมก็ได้แทรกตำแหน่งของการเปล่งเสียงจากจุดต่างๆ เช่นกัน  ซึ่งก็ไม่รู้ว่าได้สร้างความยุ่งยากมากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่  ทว่า ผมเองเชื่อว่าการวิจารณ์สามารถสร้างขึ้นมาได้จากเรื่องเล่าที่หยิบยกขึ้นมาเทียบเคียงกัน

หวนนึกถึง ปีหนึ่งซึ่งผมได้มีโอกาสสอนวิชาบทอ่านทางสตรีศึกษาและเพศสถานะ ในมหาวิทยาลัยเล็กๆ แห่งหนึ่ง ณ จังหวัดเชียงราย  การได้มีโอกาสสอนวิชานี้ที่นั่นกลับทำให้ผมได้มีโอกาสเรียนรู้มากมาย แม้จะไม่ใช่นักสตรีศึกษา  ทว่า ผมก็พบกับความสำคัญของตำแหน่งแห่งที่ของการเปล่งเสียงสำนวนต่างๆ ของผู้หญิงเป็นอย่างมาก  ทั้งนี้ ผมมิได้หมายถึงการสนับสนุนให้เสียงผู้หญิงที่เปล่งออกมามีความหลากหลายมาขึ้นในเชิงจำนวน  หากเป็นการนำเสนอให้วิธีการเปล่งเสียงของผู้หญิงเป็นเสมือนแรงบันดาลใจต่อผู้มีสถานะรองในการคิดค้นวิธีการเปล่งเสียงเพื่อแสดงสิทธิของตนเองออกมา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนในโลกหลังอาณานิคม, กลุ่มชาติพันธุ์, คนในโลกสมัยใหม่ ตลอดจนมนุษย์เพศชาย

การเคลื่อนผ่านโฟกัสจากผู้หญิงไปสู่การเชื่อมโยงกับประเด็นวาระและกลุ่มคนอื่นๆ จะกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้สตรีศึกษายังคงมีชีวิตชีวาและเปี่ยมด้วยคุณูปการต่อไป

 

เชิงอรรถ

[1] ก่อนอื่น ผมต้องขอขอบพระคุณอาจารย์ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้ส่งวารสารสตรี, เพศสถาน และเพศวิถีศึกษา ฉบับปฐมกฤษ์ (มกราคม – ธันวาคม 2558) มาให้ผมสำหรับการอ่านและแสดงความคิดเห็น  อาจารย์ ชนิดาเป็นผู้กระตือรือร้นอย่างยิ่งในการทำงานด้านสตรีศึกษา โดยเฉพาะการพยายามทำให้โครงการศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สตรี, เพศสถานะ และเพศวิถีศึกษา ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีกิจกรรมทางวิชาการที่น่าตื่นเต้นมากมาย

[2]  ผมเพิ่งมาทราบภายหลังว่า ผู้มีส่วนอย่างสำตัญในการสร้างสรรค์บรรยากาศทางวิชาการในลักษณะดังกล่าว คือ ผศ.นพพร ประชากุล และอาจารย์สินิทธ์ สิทธิรักษ์ ผู้บุกเบิกหลักสูตรสตรีศึกษาที่ท่าพระจันทร์  ซึ่งผมไม่รู้จักท่านเป็นการส่วนตัวมาก่อน เพิ่งจะรู้จักผ่านการอ่านบทความก็คราวนี้

[3] เป็นที่น่าสนใจว่า วารสารเล่มนี้มิได้เป็นวารสารฉบับเดียวที่ดำเนินการด้านสตรีศึกษา หากยังมีวารสารจุดยืน วารสารสตรีนิยมไทยซึ่งดำเนินการโดยศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา  ปัจจุบันวารสารจุดยืนมีทั้งหมด 5 เล่ม



เกี่ยวกับผู้เขียน: ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ เป็นนักศึกษาปริญญาเอกสาขามานุษยวิทยาว่าด้วยสื่อและการทัศนา (Visual and Media Anthropology) มหาวิทยาลัยเสรีแห่งเบอร์ลิน (Free University of Berlin) ประเทศเยอรมนี และอาจารย์ประจำภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หนี้เสีย ธ.พาณิชย์ทั้งระบบ พุ่ง 4 แสนล้าน NPL สินเชื่อบุคคลพุ่ง 37%

Posted: 16 May 2017 05:04 AM PDT

NPL ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ เติบโตมากขึ้นมาอยู่ที่ 405,328 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.95% ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 13% หรือ 47,246 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อน พบหนี้เสียสินเชื่อบุคคลพุ่ง 37%

เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1 ปี 2560 โดย ดารณี แซ่จูผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1 ปี 2560 ว่า สินเชื่อยังขยายตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยขยายตัวทั้งในสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อ SME ขณะที่คุณภาพสินเชื่อด้อยลงจากผลกระทบ ของภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีความมั่นคง มีเงินสำรองและ เงินกองทุนอยู่ในระดับสูง รวมทั้งมีกำไรสุทธิใกล้เคียงกับปีก่อนจากการบริหารด้านหนี้สินเป็นสำคัญ

โดยมี รายละเอียดดังนี้ สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบระยะเดียวกันปีก่อน สอดคล้องกับ การขยายตัวของเศรษฐกิจที่การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนยังไม่เข้มแข็งนักและหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ใน ระดับสูง อีกทั้งภาคธุรกิจมีทางเลือกในการระดมทุนผ่านตราสารหนี้และหุ้น อย่างไรก็ดีทั้งสินเชื่อธุรกิจขนาด ใหญ่และธุรกิจ SME ขยายตัวเพิ่มขึ้น แม้จะยังกระจุกตัวในธุรกิจบางประเภท ทั้งนี้ในภาคธุรกิจการเงิน มีการคืนหนี้ธนาคารพาณิชย์ด้วยการออกหุ้นกู้ทดแทนเพื่อควบคุมต้นทุนทางการเงิน ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ย ตลาดพันธบัตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

สินเชื่อธุรกิจ (ร้อยละ 67.4 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบระยะเดียวกันปีก่อน โดย ขยายตัวทั้งในสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อ SME สำหรับสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) กลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 3.9 หลังจากหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 โดยสินเชื่อขยายตัวจากบาง ภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจพลังงาน การขนส่ง และที่พักแรม สอดคล้องกับภาคส่งออกที่เริ่มฟื้นตัวและ การท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น สินเชื่อ SME (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ขยายตัวที่ร้อยละ 2.2 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยเฉพาะในธุรกิจการผลิตยางและพลาสติกและการขายส่งวัตถุดิบทางการเกษตร สอดคล้องกับราคายาง และผลผลิตสินค้าเกษตรที่ปรับดีขึ้น สินเชื่ออุปโภคบริโภค (ร้อยละ 32.6 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ ร้อยละ 4.6 โดยชะลอตัวในพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัย บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับยอดการซื้อรถยนต์ที่ปรับดีขึ้นหลังจากสิ้นสุดเงื่อนไขระยะเวลา 5 ปี ในการถือครอง รถยนต์คันแรก

ขณะที่ คุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ด้อยลงจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(Non-Performing Loan : NPL)ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ที่ร้อยละ 2.83 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.94 โดยเพิ่มขึ้นจากสินเชื่อธุรกิจทั้งขนาดใหญ่และ SME ในบางอุตสาหกรรม และสินเชื่อธุรกิจ SME ในภาคพาณิชย์ขณะที่คุณภาพสินเชื่ออุปโภคบริโภคด้อยลงจากสินเชื่อที่อยู่อาศัย เป็นหลัก ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention Loan : SM) ต่อสินเชื่อรวมลดลง เล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 2.61 จากไตรมาสก่อน อย่างไรก็ดีธนาคารพาณิชย์มีการกันสำรอง อย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อ โดยเงินสำรองของระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นเป็น 5.45 แสนล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 161.8 จากสิ้นปี 2559 ที่ร้อยละ 159.6

ในไตรมาส 1 ปี 2560 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 51.1 พันล้านบาท ใกล้เคียงกับระยะเดียวกัน ปีก่อน โดยอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin : NIM) ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.6 ซึ่งเป็นผลจากการบริหารด้านหนี้สินเป็นสำคัญ ขณะที่ระบบธนาคารพาณิชย์มีค่าใช้จ่ายจากการกันสำรอง เพื่อรองรับคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงอย่างต่อเนื่อง ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง รวมทั้งสิ้น 2,310.4 พันล้านบาท ลดลงเล็กน้อย จากการไถ่ถอนตราสารหนี้ด้อยสิทธิ (Tier 2) ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) และ อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Common Equity Tier 1 : CET1 ratio) อยู่ที่ร้อยละ 17.8 และ 15.1 ตามลำดับ

NPL ไตรมาสแรก พุ่ง 4 แสนล้าน 

โดย ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานเพิ่มเติมในส่วนของ สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ไตรมาสแรกปี 2560 จากรายงานของ ธปท. พบว่าเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ เติบโตมากขึ้นมาอยู่ที่ 405,328 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.95% ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 13% หรือ 47,246 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีเอ็นพีแอล 358,082 ล้านบาท หรือ 2.64% และเพิ่มขึ้น 18,743 ล้านบาท หรือ 4.84% จากไตรมาส 4/2559 เอ็นพีแอลอยู่ที่ 386,585 ล้านบาท หรือ 2.83% ต่อสินเชื่อรวม

หากดูผลการสำรวจภาวะและแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อรายย่อยไตรมาสแรก และแนวโน้มไตรมาส 2 ของ ธปท.ที่รวบรวมความเห็นจากสถาบันการเงิน 54 แห่ง พบว่า แบงก์ส่วนใหญ่ยังคงเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อในสินเชื่อรายย่อยในไตรมาสแรก และต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 2 ปีนี้ หากดูในส่วนดัชนีการอนุมัติสินเชื่อรายย่อยพบว่าลดลงในสินเชื่อเกือบทุกหมวด อาทิ สินเชื่อบ้าน บัตรเครดิต รถยนต์ และสินเชื่อบัตรกดเงินสดต่าง ๆ

หนี้เสียสินเชื่อบุคคลพุ่ง 37%

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงาน ความเป็นของ สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ถึง NPL ด้วยว่า สุรพล กล่าวว่า หากดูเอ็นพีแอล สินเชื่อรายย่อยในฐานข้อมูลเครดิตบูโร พบว่า เอ็นพีแอลของสินเชื่อกลุ่มนี้เติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อบุคคลที่เอ็นพีแอลที่พบหนี้เสียเติบโตกว่าทุกกลุ่ม โดย ณ สิ้นปี 2559 อยู่ที่ 166,241 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37% จากสิ้นปีก่อน ส่วนสินเชื่อบ้านเอ็นพีแอลก็เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 126,479 ล้านบาท เติบโต 20.54% และบัตรเครดิตเอ็นพีแอลอยู่ที่ 53,593 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.83%

"แม้ข้อมูลเอ็นพีแอลในศูนย์ข้อมูลเครดิตบูโรไตรมาสแรกปีนี้ยังไม่ออก แต่ก็คาดว่าเอ็นพีแอลรายย่อยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่ออย่างแน่นอน โดยเฉพาะเอ็นพีแอลใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาในระบบข้อมูลเครดิตบูโร ในกลุ่มสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ยังพบการผิดนัดชำระหนี้ในกลุ่มเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง" สุรพลกล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จี้ กต. ขอโทษกรณีติง 18 MAY มอบรางวัลให้ไผ่ ดาวดิน ชี้เป็นการกระทำที่ผิดมารยาทการทูต

Posted: 16 May 2017 03:55 AM PDT

ดร.เอกพันธ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นตัวแทนพ่อและแม่ 'ไผ่ ดาวดิน' ยื่นหนังสื่อเรียกร้อง รมว.กระทรวงต่างประเทศ ทำหนังสือขอโทษอย่างเป็นทางการต่อกรณีท้วงติงการให้รางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2560 เนื่องจากเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงให้ได้รับความเสื่อมเสีย

ภาพจาก Banrasdr Photo

16 พ.ค. 2560 เอกพันธ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย ณัฏฐา มหัทธนา นักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับ เป็นตัวแทนบิดามารดาของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ "ไผ่ ดาวดิน" ผู้ต้องหาในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และผู้ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2560 โดยมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี โดยร่วมยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง อันสืบเนื่องจากจดหมายจากทูตไทยประจำสาธารณรัฐเกาหลี ถึงประธานมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก ที่มีลักษณะท้วงติงว่า จตุภัทร์ไม่สมควรได้รับรางวัล เนื่องจากทำผิดกฎหมายไทยและผิดเงื่อนไขการประกันตัว

ทั้งนี้ในหนังสือดังกล่าวได้เรียกร้องให้มีการออกจดหมายขอโทษอย่างเป็นทางการต่อนายจตุภัทร์ และทำการแก้ไขข้อเท็จ ผ่านการออกจดหมายอธิบายความฉบับใหม่ไปถึงปรานมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก หาไม่แล้วทางครอบครัวผู้ได้รับมอบอำนาจจากนายจตุภัทร์ มีความจำเป็นที่ต้องใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยมี ณุกุณ สีห์โสภณ ผอ.กองกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นตัวแทนรับหนังสือ รายละเอียดในจดหมายฉบับเต็มมีดังนี้

วันที่ 10 พ.ค. 2560

เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

เรื่อง ขอให้ทำจดหมายขอโทษอย่างเป็นทางการ และชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีการให้ข้อมูลที่บิดเบือนของเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโซลต่อประธานมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก

อ้างถึงจดหมายของเอกอัครราชฑูตไทยประจำกรุงโซลถึงประธานมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก ลงวันที่ 2 พ.ค. 2560

กระผมและภรรยา ในฐานะบิดามารดาของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา มีความผิดหวังและทุกข์ใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้รับทราบถึงข้อความในจดหมายของท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ที่มีถึงประธานมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก ซึ่งเป็นองค์กรผู้มอบรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี ค.ศ. 2017 ให้กับนายจตุภัทร์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บุตรชายของเรา ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และถูกปฏิเสธสิทธิประกันตัวมาแล้วถึง 9 ครั้ง

เราขอเรียนให้ท่านทราบว่าข้อความในจดหมายมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างร้ายแรง และทำให้นายจตุภัทร์เสียชื่อเสียง อีกทั้งอาจถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากความเข้าใจผิด โดยรายละเอียกจากการบิดเบือนและข้อความที่ถือว่าเอกอัครราชทูตได้จงใจกระทำผิดรัฐธรรมนูญมีดังนี้

-การอ้างว่านายจตุภัทร์ได้กระทำความผิดตามกฎหมายไทยแล้ว ทั้งที่ศาลยังไม่ได้มีการพิจารณาคดี ตามรัฐธรรมนูญไทย และกติกาสิทธิมนุษยชนสากล ผู้ต้องหายังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ตราบที่ยังไม่มีคำตัดสินของศาลเป็นที่สุด

-การอ้างว่านายจตุภัทร์ได้มีการกระทำความผิดซ้ำซึ่งถือเป็นการละเมิดเงื่อนไขในการประกันตัว ทั้งนี้นายจตุภัทร์ไม่เคยมีการกระทำความผิดซ้ำ และการกระทำที่ถูกนำมาใช้กล่าวหา(ว่านายจตุภัทร์โพสต์เฟซบุ๊กเย้ยหยันอำนาจรัฐ) เพื่อเพิกถอนสิทธิประกันตัวก็ไม่เคยมีอยู่ในเงื่อนไขการประกันตัว

นอกเหนือจากการบิดเบือนข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับนายจตุภัทร์ดังที่กล่าวมา เนื้อหาส่วนอื่นในจดหมายก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างว่ามีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง อาทิ การที่กล่าวว่าไทยเห็นคุณค่า และสนับสนุนเสรีภาพทางการแสดงออกและการชุมนุม ทั้งที่ยังปิดกั้นสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว อันเป็นสิทธิที่จำเลยพึงมีตามรัฐธรรมนูญ, กฎหมายไทยและหลักสากล แต่นายจตุภัทร์ มิได้รับสิทธินั้นโดยเหตุผลที่มิได้สัดส่วน มีการห้ามชุมนุมเกินห้าคนโดยไม่ได้รับอนุญาต และยังคงมีการดำเนินคดีรวมถึงข่มขู่ คุกคามนักศึกษาและประชาชนผู้คิดเห็นต่างจากรัฐเป็นจำนวนมาก จนองค์การสหประชาชาติได้มีแถลงการณ์แสดงความห่วงใย ทั้งเรื่องเสรีภาพบนการแสดงออก และสิทธิการประกันตัวบ่อยครั้งในระยะเวลาอันใกล้ที่ผ่านมา

การมีจดหมายที่เนื้อหาไปในทำนองทักท้วงการมอบรางวัลสำคัญโดยองค์การที่มีบทบาทส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในระดับโลกให้แก่นายจตุภัทร์ ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเป็นการผิดมารยาททางการทูต โดยเฉพาะเมื่อบริบทของเรื่องนี้ตั้งอยู่บนฐานความจริงที่ว่า "มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก" เป็นองค์กรที่เคยมอบรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนให้แก่บุคคลสำคัญของโลกที่มีบทบาทในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน อาทิ นางอองซาน ซูจี ประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของพม่า ชานานา กัสเมา อดีตประธานาธิบดีของติมอร์ตะวันออก นายสมบัด สมพอน ทนายความนักสิทธิมนุษยชน ประเทศลาวที่ถูกบังคับสูญหาย และกลุ่มรณรงค์การเลือกตั้งที่สะอาดและยุติธรรม ประเทศมาเลเซีย สำหรับผู้ได้รับรางวัลชาวไทยคนแรกได้แก่ นางอังคณา นีละไพจิตร หนึ่งในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติคณะปัจจุบัน

การที่นายจตุภัทร์ได้รับเลือกให้เป็นผู้ได้รางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนในปีนี้ จึงถือเป็นเกียรติประวัติ ไม่เพียงแต่ต่อวงศ์ตระกูล แต่ต่อประเทศชาติด้วย มิควรที่จะมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือ ทั้งของตัวนายจตุภัทร์เองจากผลงานด้านสิทธิมนุษยชนและการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ผ่านมา หรือความน่าเชื่อถือขององคืกรผู้มอบรางวัล ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก อันควรได้รับการปฏิบัติอย่างให้เกียรติตามมาตรฐานทางการทูตจากรัฐบาลไทย

เราจึงใคร่ขจอให้ท่านได้โปรดมีคำสั่งให่เอกอัครราชทูต ได้มีคำขอโทษอย่างเป็นทางการ และทำการแก้ไขข้อเท็จ ผ่านการออกจดหมายอธิบายความฉบับใหม่ไปถึงปรานมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก หาไม่แล้วทางครอบครัวผู้ได้รับมอบอำนาจจากนายจตุภัทร์ มีความจำเป็นที่ต้องใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย กับทุกผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีและชื่อเสียงของนายจตุภัทร์ รวมทั้งอาจจำเป็นที่จะต้องมีหนังสือชี้แจงไปยังต่างประเทศ หรือหน่วยงานระดับสากลต่างๆ เพื่อมิให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนตามที่ท่านเอกอัครราชทูตได้กระทำการดังกล่าว อันส่งผลร้ายต่อนายจตุภัทร์ต่อไป

ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานด้วยว่า บิดา มารดา และน้องสาว ของไผ่ ดาวดิน ได้เดินทางถึงประเทศสาธารณรัฐเกาหลี(เกาหลีใต้) และได้เข้าร่วมงานพฤษภารำลึก โดยได้รับการต้อนรับจากผู้จัด ผู้ว่าฯแห่งกวางจู รวมทั้งองค์การด้านสิทธิมนุษยนชนต่างๆ เป็นอย่างดี โดยการมอบรางวัลจะมีขึ้นในวันที่ 18 พ.ค. นี้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประวิตร ให้ ทบ.ตอบปมซื้อยานเกราะ ยันไม่เหนื่อยใจช็อปเรือดำน้ำ เหตุกองทัพเพื่อชาติ

Posted: 16 May 2017 03:36 AM PDT

 พล.อ.ประวิตร ให้ไปถามกองทัพบก กรณีการจัดซื้อยานเกราะล้อยาน ยันบริษัทขายเรือดำน้ำเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน เผยไม่เหนื่อยใจ เหตุกองทัพ ทำงานเพื่อชาติ ไม่ได้ซื้อเรือดำน้ำมาให้ตนนั่ง

16 พ.ค. 2560 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดซื้อยานเกราะล้อยาน 8×8 แบบ ZBL-09 (Snow Leopard) หรือ VN-1 ว่า ยังไม่มีความคืบหน้าอะไรทั้งสิ้น เรื่องนี้ต้องไปถามกองทัพบก เขามีขั้นตอนการดำเนินการจัดซื้อของเขาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง และการตรวจรับต่างๆ

สำหรับกรณี เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือให้ตรวจสอบบริษัทที่ดำเนินการโครงการเรือดำน้ำ ว่าไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจนั้น ว่า พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า กองทัพเรือได้ชี้แจงในประเด็นนี้อย่างชัดเจนแล้ว ยืนยันว่าเป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจของจีนจริง  

"ไม่ได้เหนื่อยใจ เหนื่อยเรื่องอะไรเล่า ก็คนเขาทำงานเพื่อประเทศชาติ กองทัพ เขาไม่ได้ซื้อเรือดำน้ำมาให้ผมนั่ง" พล.อ.ประวิตร กล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์การจัดซื้อเรือดำน้ำ

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น