โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

นักเขียนปากีสถาน-อเมริกันชี้เหตุระเบิดแมนเชสเตอร์อารีนา เป็นการโจมตีวัฒนธรรม

Posted: 26 May 2017 09:25 AM PDT

จากเหตุก่อการร้ายในคอนเสิร์ตของอาเรียนา แกรนเด ที่เมืองแมนเชสเตอร์ ส่งผลให้เกิดการตรวจตราและยกระดับการตื่นตัวต่อการก่อการร้ายถึงระดับสูงในอังกฤษ ด้านรัฟฟิยา ซาคาริยา นักเขียนเชื้อสายปากีสถานระบุว่าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นการโจมตีทางวัฒนธรรมและสร้างความกลัวเพื่อกลบเสรีภาพในการแสดงออก ทางการอังกฤษต้องระวังไม่ให้คนร้ายใช้เป็นเครื่องมือกีดกันผู้คนออกจากกัน

แมนเชสเตอร์ อารีนา ที่มา: Wikipedia

Rafia Zakaria ที่มา: Whitworth University

26 พ.ค. 2560 รัฟฟิยา ซาคาริยา นักเขียนชาวปากีสถาน-อเมริกัน พูดถึงกรณีเหตุระเบิดในแมนเชสเตอร์อารีนาที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา หลังการแสดงคอนเสิร์ตของอาเรียนา แกรนเด โดยบอกว่าเหตุการณ์ดังกล่าวคือการโจมตีวัฒนธรรม

ซาคาริยาอธิบายว่า วัฒนธรรม ดนตรี และศิลปะ ต่างก็เป็นวิธีการแสดงรู้สึกนึกคิดและความสนุกสนานบันเทิงตามเป็นความปรารถนาพื้นฐานของมนุษย์ แต่การที่เอาเรื่องการก่อการร้ายมาอ้างเพื่อสร้างความหวาดกลัวและความหวาดระแวง จะทำให้คนไม่สามารถรับความบันเทิงจากผลผลิตทางวัฒนธรรมในหลากหลายแนวทางได้ และกีดกันคนออกไปจากการเข้าร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรมรวมถึงคอนเสิร์ตด้วย

จากที่ก่อนหน้านี้การเข้าชมคอนเสิร์ตนักร้องชื่อดังที่นิยมในหมู่วัยรุ่นอย่างแกรนเดเป็นเรื่องทั่วๆ ไปที่ตัดสินใจได้ง่าย แต่ซาคาริยาก็กล่าวในเชิงวิจารณ์รัฐบาลอังกฤษว่า นอกจากบรรยากาศความกลัวที่เกิดจากการก่อการร้ายแล้วการที่รัฐบาลใช้วิธีเพิ่มมาตรการความมั่นคงเข้มงวดขึ้นโดยอ้างความปลอดภัยของประชาชนก็ยิ่งซ้ำเติมบรรยากาศความหวาดกลัวและอาจจะส่งผลต่อการผลิตทางวัฒนธรรมอย่างศิลปะหรือสื่อบันเทิงด้วย

เหตุระเบิดดังกล่าวมี้เสียชีวิต 23 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บประมาณ 120 ราย โดยหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุตัวผู้ก่อเหตุว่าเป็นชาวอังกฤษผู้มีเชื้อสายลิเบียชื่อซัลมาน อะเบดี อายุ 22 ปี อย่างไรก็ตามในอังกฤษก็มีบรรยากาศหวาดระแวงมากขึ้นเมื่อเดอะการ์เดียนรายงานว่ามีการจับกุมผู้ต้องสงสัยว่าจะก่อเหตุ 2 รายในวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา รวมถึงมีกรณีคนรายงานว่ามีวัตถุต้องสงสัยแต่เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าปลอดภัย หลังเกิดเหตุวันจันทร์ที่ผ่านมาก็มีความกังวลอย่างมากจากเจ้าหน้าที่จนทำให้มีการยกระดับเฝ้าระวังการก่อการร้ายเป็นระดับสูง

ซาคาริยาผู้มีเชื้อสายปากีสถานบอกว่าเธอพูดถึงเรื่องนี้เพราะเคยมันเคยเกิดขึ้นในประเทศที่มีเหตุก่อการร้ายอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นปากีสถาน อัฟกานิสถาน หรือประเทศอื่นๆ ที่มีเหตุร้ายในงานเทศกาลทางวัฒนธรรม ทำให้บรรยากาศการจัดงานทางวัฒนธรรมเหล่านี้กร่อยไปด้วย ซึ่งเธอกังวลว่าบรรยากาศแบบนี้จะส่งผลมาถึงโลกตะวันตก นอกจากนี้การก่อเหตุโจมตีคอนเสิร์ตในประเทศอังกฤษยังเป็นการที่ผู้ก่อเหตุพยายามสร้างภาพให้คนมองว่า "เป็นโลกตะวันตกปะทะกับโลกมุสลิม"

นั่นทำให้ซาคาริยาเตือนว่าการโต้ตอบกับเหตุก่อการร้ายในครั้งนี้ต้องกระทำอย่างระมัดระวังไม่ให้มีการแบ่งแยกหนักขึ้นไปอีก เพราะต่างฝ่ายต่างก็จะมองจากสิ่งที่ตัวเองต้องเผชิญ และทุกคนต่างก็เจ็บปวด แต่สิ่งที่ผู้ก่อการร้ายอย่างไอซิสต้องการคือการทำให้ผู้คนไม่สามารถข้ามพรมแดนเพื่อทำความเข้าใจกันได้

เรียบเรียงจาก

Manchester suicide bombing was an attack on culture, says one writer, PRI, 23-05-2016

Manchester bombing: more people linked to attack may be at large, The Guardian, 26-05-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ โวยอดีตรัฐบาลมากดดันให้ทำโน่นทำนี่ ย้อนมาคิดได้อะไรตอนนี้แต่ที่ผ่านมาไม่แก้

Posted: 26 May 2017 08:42 AM PDT

พล.อ.ประยุทธ์ ชี้ไม่ควรจะถือเอาว่า "การเลือกตั้ง" คือประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แต่ต้องตรวจสอบได้ ถ่วงดุลกันได้ รัฐบาลยึดมั่นใน "หลักธรรมาภิบาล" ย้ำจำเป็นต้องมีกฎหมายคุ้มครองสถาบันจากการถูกละเมิด ระบุ 'ท่านปกป้องพระองค์เองไม่ได้' 

26 พ.ค. 260 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ถึงประชาธิปไตย การเลือกตั้ง สิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปว่า ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน การปฏิรูปประเทศเช่นนี้ ประเทศชาติของเรานั้น เราต้องการมีความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งโดยเนื้อแท้ แล้วนั้น เราไม่ควรจะถือเอาว่า "การเลือกตั้ง" คือประชาธิปไตยที่สมบูรณ์  หรือไม่สนใจแต่เพียงการมี "อำนาจอธิปไตย" จากฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ แต่หากเราไม่มีการตรวจสอบได้ ถ่วงดุลกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นวันนี้รัฐบาลก็จำเป็นต้องปลูกฝังสิ่งเหล่านั้น  กำลังปลูกฝัง เร่งสร้างบรรทัดฐานใหม่ ที่เราอาจจะห่างหายลืมเลือน หรือขาดแคลน บนเส้นทางของการพัฒนาที่ทรงพลังและยั่งยืน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่บางคน คิดดังๆ ออกสื่อฯ  Social นั้น อยู่บนพื้นฐานหลักการและเหตุผล ที่ถูกที่ควร หรือไม่ อย่างไร เช่น หลายคนมักพูดติดปากว่ารัฐบาลและ คสช. จำกัดเสรีภาพ คงต้องทำความเข้าใจกันใหม่ ให้ถ่องแท้ อันนี้คงจะไม่ไปพูดถึงกรณีละเมิดสถาบันซึ่งยังมีอยู่ บุคคลธรรมดาก็เราก็ยังมีกฎหมาย ในเรื่องของการฟ้องหมิ่นประมาท แต่เราก็ยังต้องดูแลสถาบันอันเป็นที่เคารพศรัทธาของคนไทย กฎหมายฉบับนั้นมีไว้เพื่อปกป้องสถาบัน แล้วพระองค์ท่านก็ปกป้องพระองค์เองไม่ได้  เพราะฉะนั้นสถาบันก็มีแต่พระเมตตามาโดยตลอด  มีการลดโทษให้ มีการนิรโทษให้ตลอดมา ท่านปกป้องพระองค์เองไม่ได้ หลายคนก็เคยตัววันนี้เป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทยทุกคน อย่าปล่อยให้เป็นภาระของเจ้าหน้าที่เลย  อย่าแชร์ อย่าแพร่ เพราะผิดกฎหมายมาแล้วก็เป็นปัญหาอีกเพราะฉะนั้นเราต้องแยกให้ออก

"ประเด็นของเสรีภาพในที่ต่างๆ ที่ว่ามานั้น การเดินขบวน  สร้างความวุ่นวาย การปราศรัยที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาท  หมิ่นสถาบัน โดยการขาดการตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้อง ไร้ความน่าเชื่อถือนั้นเพราะว่า นอกจากจะเป็นการละเมิดกฎหมาย  ละเมิดสิทธิผู้อื่นแล้ว ยังกีดขวางการจราจร กีดขวางการใช้รถ ใช้ถนน โดยเฉพาะการใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อการชุมนุมลักษณะดังกล่าว หากไม่มีการขออนุญาตล่วงหน้า ก็ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายนะครับ กฎหมายออกมาแล้ว ต้องมีกำหนดเวลา มีจำนวน  มีสาเหตุประเด็น ทั้งหมดต้องมีกติกา อย่าไปมองรัฐธรรมนูญอย่างเดียวว่าทุกคนมีสิทธิโน่นสิทธินี่ แต่กฎหมายอื่นๆ  มีข้างล่างหลายตัว จะมาอ้างอันโน้นอันเดียว มาทับอันล่าง ข้างล่างก็ไม่ต้องมีกฎหมายถ้าเป็นแบบนั้น" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ส่วนใหญ่แล้วที่มีปัญหาทุกวันนี้ เป็นการดำเนินการที่มีเบื้องหน้า เบื้องหลังทั้งสิ้น  หวังผลทางการเมืองด้วย  อาจเดือดร้อนจริง แต่ก็มีการเมืองมาใช้ประโยชน์ด้วย  นำความเดือดร้อนของประชาชนมาเป็นประโยชน์ต่อตนเอง ในการสร้างความชอบธรรมทำนอง เพราะฉะนั้นลักษณะเช่นนี้ ท่านจะอ้างประชาธิปไตย อ้างสิทธิเสรีภาพ อ้างรัฐธรรมนูญต่างๆ แล้วเราไปปิดกั้น คงไม่ถูก ช่องทางที่ทุกคนจะแสดงความคิดเห็นได้ รัฐบาลได้ทำให้แล้ว  อาทิเช่น ศูนย์ดำรงธรรม (สายด่วน 1567) หรือศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ (สายด่วน 1111) ซึ่งทุกคนก็สามารถแจ้งเบาะแสการกระทำผิดกฎหมาย และเสนอข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ คำติชม ได้ด้วยตนเอง อย่าทำอะไรให้เสียภาพลักษณ์ เสียความน่าเชื่อถือของบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง ในสายตาชาวต่างชาติอีกเลย บางคนก็เอาไปขยายความให้ต่างชาติมาโจมตีประเทศไทย  ไม่รู้เป็นคนไทยหรือเปล่า  เพราะจะเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ให้แย่ลง  

"ประชาชนลองคิดตามดูว่าสิ่งเหล่านี้สมควรหรือไม่ คนเหล่านี้กำลังคิดอะไรอยู่ มีความบริสุทธิ์ใจหรือไม่ นักกฎหมาย  อดีตรัฐบาล นักการเมืองบางคน ออกมากดดันให้รัฐบาล และ คสช.ทำโน่น ทำนี่ ที่ผ่านมาปัญหามากมาย ก็ไม่ได้ทำไม่ได้แก้ไขกันมาก่อน มาคิดได้ตอนนี้ แล้วมาไล่รัฐบาลนี้ให้ทำ แล้ววันหน้าถ้าไม่มีใครทำ ผมก็คงจะทำเริ่มไว้ให้แล้ววันนั้นท่านมีอำนาจหน้าที่เข้ามาทำใหม่แล้วกัน ให้ประชาชนเขาตรวจสอบ ติดตามดูบ้าง เพราะฉะนั้นทุกคนลองเปลี่ยนแนวคิด พัฒนาตัวเองกันบ้างในขณะนี้  ลองมาช่วยกันทำอะไรที่สร้างสรรค์ เช่น ชี้ประเด็นปัญหา จุดอ่อน ประสบการณ์ที่ทำมาแล้วเจอ แล้วพบ แล้วถ้าแก้ไม่ได้  แล้วท่านมาทำให้ผมแก้ให้ได้ ด้วยวิธีการที่เหมาะสม ผมรับได้หมด ให้มีการรับฟังความคิดเห็น ขอให้เสนอแนะแนวทางในทัศนะของท่านมา แต่อย่ามาโจมตีผมว่าผมทำโน่นทำนี่อะไรทำนองนี้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลและ คสช. ยืนยันว่า การเป็นประชาธิปไตยของไทย จะต้องไม่เป็นประชาธิปไตยที่ล้มเหลว จะต้องเป็นประชาธิปไตย ที่มีรัฐบาลซึ่งยึดมั่นใน "หลักธรรมาภิบาล" นำพาให้ชาติ "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ภายใต้ศาสตร์พระราชาให้ได้  โดยตนอยากฝากประเด็นคำถามไว้ 4 ข้อ เพื่อรับทราบความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน และนำมาพิจารณาแนวทางการทำงานต่อไป คือ (1) ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ (2) หากไม่ได้ จะทำอย่างไร (3) การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวที่ไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศ และเรื่องอื่นๆ เช่น ประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้น เป็นความคิดที่ถูกต้อง หรือไม่ถูกต้อง และ (4) ท่านคิดว่า กลุ่มนักการเมือง ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี ควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้อีก เกิดปัญหาซ้ำอีก แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร ขอให้ส่งคำตอบ และความคิดเห็น มาทางศูนย์ดำรงธรรมในทุกจังหวัด แล้วให้กระทรวงมหาดไทยรวมรวมส่งมาตนยินดีรับฟัง 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภาพัฒน์ เผยไตรมาสแรก จ้างงานลด ค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนลดลงเล็กน้อย

Posted: 26 May 2017 07:46 AM PDT

สภาพัฒน์ แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาสแรก สุขภาพจิตดี ผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมลดลง โภชนาการเด็กเล็ก-เลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีแนวโน้มดีขึ้น ค่าใช้จ่ายบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์-บุหรี่ลดลง คดีอาญาโดยรวมลดลง การร้องเรียนสินค้า-บริการเพิ่มขึ้น แนะ 5 ข้อเพื่อพัฒนาตามแนวคิดไทยแลนด์ 4.0 
 
26 พ.ค. 2560 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)  หรือ สภาพัฒน์ รายงานว่า ปรเมธี  วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วย ชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการฯ และผู้บริหาร สศช. ที่เกี่ยวข้อง แถลงข่าวภาวะสังคมไทยไตรมาสแรก ปี 2560 มีรายละเอียด ดังนี้
 
ความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญได้แก่ คนไทยมีสุขภาพจิตที่ดี การเจ็บป่วยทางกายด้วยโรคเฝ้าระวังและโรคไข้เลือดออกลดลง ภาวะโภชนาการในเด็กเล็ก การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น มีแนวโน้มดีขึ้น ค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินดีขึ้น อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามและเฝ้าระวัง ได้แก่ สถานการณ์การจ้างงาน การว่างงาน และรายได้แรงงานลดลงเล็กน้อย การเกิดอุบัติเหตุจราจรมากขึ้นทั้งยังมีผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ การคุ้มครองผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ และการเตรียมความพร้อมทักษะแรงงานไทยในอุตสาหกรรมศักยภาพและในอนาคต โดยมีสาระดังนี้
 

จ้างงานลด อัตราการว่างงานสูงขึ้นเล็กน้อย ผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น

ไตรมาสแรกปี 2560 การจ้างงานภาคเกษตรลดลงเนื่องจากการเคลื่อนย้ายแรงงานไปสู่ภาคนอกเกษตรต่อเนื่องจากช่วงปี 2557–2559 ที่ภาคเกษตรประสบภัยแล้งรุนแรง ประกอบกับแรงงานที่เข้ามาทดแทนลดลง และแรงงานส่วนหนึ่งออกจากการเป็นกำลังแรงงานเนื่องจากการสูงอายุ สำหรับการจ้างงานภาคนอกเกษตรลดลงในสาขาอุตสาหกรรมและก่อสร้าง เนื่องจากการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ส่วนสาขาขายส่ง/ขายปลีก โรงแรมและภัตตาคาร และการขนส่ง/เก็บสินค้ายังมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นตามการบริโภคครัวเรือนและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัว อัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 1.2 ส่วนค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนที่ไม่รวมผลประโยชน์ตอบแทนอื่นๆ และค่าล่วงเวลาลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.9 อย่างไรก็ดี ค่าจ้างภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 และผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0
 
ประเด็นที่คาดว่าจะมีผลต่อเนื่องในระยะต่อไป ได้แก่ 1. การเคลื่อนย้ายแรงงานภาคเกษตรและการปรับตัวของภาคเกษตร การจ้างงานภาคเกษตรที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากปัญหาโครงสร้างแรงงาน โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา แรงงานเกษตรลดลง 1.3 ล้านคน โดยแรงงานในช่วงอายุ 30–49 ปีลดลง 0.99 ล้านคน ซึ่งคาดว่าเป็นผลจากภาวะภัยแล้งในช่วงปี 2557–2559 ทำให้แรงงานเคลื่อนย้ายออกไปทำงานในภาคนอกเกษตร ขณะที่แรงงานที่จะเข้ามาทดแทน และกลุ่มแรงงานสูงวัยอายุ 50 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มลดลง ขณะที่พื้นที่เพาะปลูกมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องโดยพื้นที่ถือครองเพื่อการเกษตรลดงจาก 151.0 ล้านไร่ในปี 2546 เป็น 149.2 ล้านไร่ในปี 2556 ลดลงเฉลี่ยปีละ 0.16 ล้านไร่ สะท้อนภาคเกษตรที่มีแนวโน้มเล็กลงทั้งจำนวนแรงงานและพื้นที่เพาะปลูก ดังนั้น การเพิ่มผลิตภาพการผลิตจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ ในปี 2560 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายสำคัญ เพื่อช่วยเพิ่มผลิตภาพการเกษตรและรายได้เกษตรกร เช่น การทำเกษตรแปลงใหญ่ การ Zoning by Agri-Map การปรับปรุงระบบส่งน้ำ/กระจายน้ำ การใช้เกษตรทฤษฏีใหม่และเกษตรแบบผสมผสานเป็นแนวทางที่จะช่วยขับเคลื่อนเป้าหมายที่สำคัญนี้ให้สำเร็จ รวมถึงการสร้าง Smart Farmer
 
2. การฟื้นตัวของการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนที่จะมีผลต่อการจ้างงาน แม้การส่งออกจะมีอัตราการขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่สามปี 2559 เป็นต้นมา แต่ยังเป็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยมูลค่าของการส่งออกสินค้ายังคงต่ำกว่ามูลค่าการส่งออกในช่วงปี 2555-2556 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังฟื้นตัวช้า ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการจ้างงานเพิ่ม อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการดีขึ้นเป็นลำดับจากระดับ 48.7 ในปี 2558 เป็น 49.6 และ 50.8 ในปี 2559 และไตรมาสแรกปี 2560 ตามลำดับ ทั้งนี้ ในช่วงที่เหลือของปี 2560 หากการส่งออกสามารถเพิ่มขึ้นได้ตามเป้าหมายและตลอดปีขยายตัวได้เฉลี่ยร้อยละ 3.6 ตามแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจโลก และการเร่งการใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะการใช้จ่ายลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จะทำให้ภาคเอกชนมีความมั่นใจ และนำไปสู่การขยายตำแหน่งงานในระยะต่อไป โดยเฉพาะภาคการผลิต การก่อสร้าง และการขายส่ง/ขายปลีก และช่วยลดอัตราการว่างงาน
 
3. การส่งเสริมการประกันตนมาตรา 40 การส่งเสริมผู้ประกอบอาชีพอิสระให้ร่วมเข้าเป็นสมาชิกประกันสังคมโดยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระ แรงงานนอกระบบ เข้าร่วมเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมมากขึ้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2560 เป็นต้นมา ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์และทางเลือกที่เพิ่มขึ้น อาทิ การเพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล วันละ 300 บาทแต่ไม่เกิน 90 วัน และได้รับค่าชดเชย 200 บาทในกรณีไม่ต้องนอนโรงพยาบาล แต่ต้องหยุดพักรักษาตัวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป การเพิ่มสิทธิประโยชน์บริการทางการแพทย์ เช่น การเพิ่มวงเงินสำหรับการผ่าตัดเตรียมเส้นเลือดเพื่อฟอกไต หรือวางท่อรับ-ส่งน้ำยาล้างช่องท้องจากเดิม 2 หมื่นบาทเป็น 3 หมื่นบาท เป็นต้น ซึ่งต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้แรงงานนอกระบบได้รับรู้อย่างทั่วถึง

สุขภาพจิตดี ผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมลดลง

คนไทยมีสุขภาพจิตที่ดี สอดคล้องกับดัชนีความสุขโลก จากผลการสำรวจสุขภาพจิต (ความสุข) คนไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปี 2558 คนไทยมีคะแนนสุขภาพจิตเฉลี่ยอยู่ที่ 31.44 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด โดยกลุ่มอายุ 25-59 ปี มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 15-24 ปี และ 60 ปีขึ้นไป ตามลำดับ ความรักความผูกพันและการดูแลซึ่งกันและกันของคนในครอบครัวมีส่วนสำคัญที่ทำให้คนไทยมีสุขภาพจิตที่ดี สอดคล้องกับ World Happiness Report 2017 ซึ่งรายงานค่าดัชนีความสุขโลก พบว่าประเทศไทยมีอันดับดีขึ้นจากอันดับที่ 33 ในช่วงปี 2556-2558 เป็นอันดับที่ 32 ในช่วงปี 2557-2559 และอยู่ในอันดับที่ 19 ของประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก
 
ผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมลดลง แต่ยังต้องเฝ้าระวังโรคติดต่อทางอาหารและน้ำพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ในไตรมาสแรกปี 2560 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2559 ร้อยละ 22.7 โดยผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกลดลงร้อยละ 44.7 เนื่องจากทุกฝ่ายร่วมกันเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคที่มากับยุงลายอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าระวังการระบาดของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โดยพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 และติดตามสถานการณ์เด็กจมน้ำในช่วงปิดภาคเรียนซึ่งเป็นช่วงที่มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุดเฉลี่ยปีละ 348 คน สำหรับในปี 2560 จากข้อมูลของกรมควบคุมโรคในช่วงปิดภาคเรียนมีเด็กจมน้ำเสียชีวิต 127 คน ทั้งหมดเป็นเด็กช่วงอายุ 5-14 ปี

โภชนาการเด็กเล็ก-เลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีแนวโน้มดีขึ้น

ภาวะโภชนาการในเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีแนวโน้มดีขึ้น จากผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2558-2559 (MICS 5) พบว่าภาวะโภชนาการเมื่อเทียบกับปี 2555 (MICS 4) ดีขึ้นในทุกตัวชี้วัด แต่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ร้อยละ 6.7 มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ร้อยละ 5.4 มีภาวะทุพโภชนาการเฉียบพลัน (ผอม) ร้อยละ 10.5 มีภาวะทุพโภชนาการเรื้อรัง (เตี้ย) และร้อยละ 8.2 มีน้ำหนักสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (อ้วน) สำหรับสถานการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ พบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนที่กินนมแม่อย่างเดียวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559 มีเด็กร้อยละ 23.1 ที่กินนมแม่อย่างเดียว และร้อยละ 42.1 กินนมแม่เป็นหลัก แต่ยังต้องเฝ้าระวังในกลุ่มแม่ที่ไม่ได้เรียนหนังสือเนื่องจากมีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวเพียงร้อยละ 0.2
 
การตั้งครรภ์ในกลุ่มวัยรุ่นลดลงแต่ยังอยู่ในระดับสูง และยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง อัตราการคลอดในกลุ่มอายุ 15-19 ปี ต่อหญิงวัยเดียวกัน 1,000 คน ลดลงอย่างต่อเนื่องจากอัตรา 53.4 ในปี 2555 เป็นอัตรา 44.8 ในปี 2558 อย่างไรก็ตาม อัตราการคลอดในกลุ่มวัยรุ่นยังอยู่ในระดับสูง และยังมี 5 จังหวัดที่มีอัตราการคลอดสูงกว่า 60.0 ได้แก่ ชลบุรี นครนายก ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ และสมุทรสาคร นอกจากนี้ ยังต้องเฝ้าระวังการมีเพศสัมพันธ์ในกลุ่มนักเรียนซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น อัตราป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มวัยรุ่นที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และสถานการณ์การทำแท้งในกลุ่มวัยรุ่นที่พบว่าร้อยละ 53.1 มีอายุต่ำกว่า 25 ปี และร้อยละ 28.6 ยังมีสถานภาพเป็นนักเรียน/นักศึกษา

ค่าใช้จ่ายบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์-บุหรี่ลดลง 

ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลง แต่ยังต้องเฝ้าระวังภัยของเหล้า-บุหรี่ มือสอง ในไตรมาสแรก ปี 2560 ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีมูลค่า 38,544 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 3.2 ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่มีมูลค่า 14,972 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.2 ทั้งนี้ ยังต้องเฝ้าระวังภัยของเหล้า-บุหรี่ มือสอง ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสุขภาพของผู้ที่ไม่ได้ดื่มเหล้าและไม่ได้สูบบุหรี่ ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรณรงค์และขับเคลื่อนให้ประชาชนเห็นความสำคัญของพิษภัยจากการสูบบุหรี่ ผลกระทบและความสูญเสียทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม เพื่อนำไปสู่การเลิกสูบบุหรี่และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้มีสุขภาพที่ดี และเชิญชวนให้ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำเลิกสูบ โดยมีเป้าหมาย 3 ล้านคน ในระยะเวลา 3 ปี

คดีอาญาโดยรวมลดลง

คดีอาญาโดยรวมลดลงจากการปราบปรามอาชญากรรมอย่างต่อเนื่อง คดีอาญาโดยรวมไตรมาสแรกปี 2560 ลดลงร้อยละ 2.6 จากไตรมาสก่อนหน้า คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์และคดียาเสพติดลดลงร้อยละ 13.5 และ 0.3 ขณะที่คดีชีวิตร่างกายและเพศเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 นอกจากนี้ ได้มีการเร่งปราบปรามภัยอาชญากรรมที่ส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม ได้แก่ (1) การป้องกัน ปราบปราม บำบัดรักษา ฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด โดยใช้หลักสิทธิมนุษยชนและการสาธารณสุขเป็นพื้นฐานการแก้ไขปัญหา ภายใต้หลักการ "เข้าใจ เข้าถึง พึ่งได้" และสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข (2) การค้าประเวณีที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาการค้ามนุษย์ จึงมีข้อสั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งวางมาตรการดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด กวาดล้างจับกุมการลักลอบค้าประเวณี ดำเนินคดีข้าราชการที่เข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ จัดให้ผู้เสียหายได้รับการคุ้มครอง และ (3) ธุรกิจในลักษณะฉ้อโกงประชาชน การกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ทำลายระบบเศรษฐกิจและประชาชนในทุกระดับ ควรตรวจสอบพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ และเมื่อตกเป็นเหยื่อควรเข้ามาร้องทุกข์เพื่อตัดวงจรขบวนการ ภาครัฐควรบูรณาการการทำงานเชิงรุกเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการสร้างการรับรู้ ติดตามและตรวจสอบพฤติกรรมผู้ต้องสงสัย และจับกุมผู้กระทำความผิด
 
การลดการใช้ความเร็วในการขับรถเพื่อบรรเทาความสูญเสียจากการเกิดอุบัติเหตุ ไตรมาสแรกปี 2560 อุบัติเหตุจราจรทางบกลดลงร้อยละ 7.2 มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 มูลค่าความเสียหายลดลงร้อยละ 75.0 จากไตรมาสเดียวกันปี 2559 โดยช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2560 พบการเกิดอุบัติเหตุและผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 และ 4.2 แต่ผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 11.8 โดยเฉพาะการเสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุลดลงเหลือร้อยละ 50 เป็นผลจากการคุมเข้มการใช้รถ การเข้มงวดบังคับใช้เข็มขัดนิรภัยในทุกที่นั่งผู้โดยสารรถทุกประเภท มาตรการห้ามนั่งท้ายระบะเกิน 6 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุดยังคงมาจากการเมาสุราและการขับรถเร็ว ดังนั้น การแก้ไขปัญหาเมาแล้วขับ ยังต้องเน้นการปลูกจิตสำนึกและสร้างวินัยการใช้รถใช้ถนนให้กับคนไทยอย่างเข้มข้น รวมทั้งการแก้ปัญหาขับรถเร็วยังต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเอาจริงเอาจัง และเมื่อตรวจพบผู้กระทำผิดให้ดำเนินคดีทันที รวมถึงมาตรการลงโทษหากไม่เสียค่าปรับเมื่อได้รับใบสั่ง 

ร้องเรียนสินค้า-บริการเพิ่มขึ้น 

การร้องเรียนสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น การรับร้องเรียนของ สคบ. และ กสทช. เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 และ 11.6 จากไตรมาสก่อน โดยสินค้าที่มีการร้องเรียนมากที่สุด คือ รถยนต์ อาคารชุด และสินค้าบริการทั่วไป ส่วนบริการกิจการคมนาคมมีการร้องเรียนบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มากที่สุด โดยประเด็นการร้องเรียนคือมาตรฐานและคุณภาพการให้บริการ ซึ่งการดำเนินงานนอกจากจะแก้ไขปัญหาแล้วยังร่วมกับหน่วยงานรัฐและเอกชนเฝ้าระวังสินค้าบริการที่ไม่ปลอดภัยและการทดสอบสินค้าเพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคมีประสิทธิภาพ ขณะที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้รูปแบบการบริโภคสินค้าและการให้บริการเปลี่ยนไป เช่น กรณีบริการของรถรับจ้างโดยสารสาธารณะผ่านแอปพลิชัน ซึ่งบางบริการไม่มีกฎหมายรองรับและไม่ได้รับความคุ้มครองทั้งความปลอดภัยและการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค จำเป็นต้องมีมาตรการกำกับดูแลเพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการให้บริการที่เปลี่ยนแปลงไป 
 
บทความเรื่อง "การเตรียมความพร้อมทักษะแรงงานไทยในอนาคต: กรณีกลุ่มอุตสาหกรรมศักยภาพ First S-Curve"
การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เน้นใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนา รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ส่งผลต่อรูปแบบการผลิต และความต้องการแรงงานทั้งสาขาการศึกษาและทักษะที่เปลี่ยนแปลงไป แรงงานจำเป็นต้องมีทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการดังกล่าวเพื่อให้สามารถปรับตัวและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งภาพรวมในปัจจุบันแรงงานในสถานประกอบการมีการศึกษาระดับ ม.3 และต่ำกว่า ร้อยละ 35.0 และส่วนใหญ่เป็นแรงงานประเภทกึ่งฝีมือและแรงงานฝีมือ อย่างไรก็ตาม ระดับทักษะของแรงงานยังต่ำกว่าความคาดหวังของผู้ประกอบการโดยเฉพาะด้านภาษาต่างประเทศ ความรู้กฎหมาย/ระเบียบในวิชาชีพและความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่
 
จากผลสำรวจทักษะแรงงานในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพที่จะเป็นอุตสาหกรรมในอนาคต 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิคส์ เกษตร/การผลิตยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง แปรรูปอาหาร และที่พัก สปา และเรือสำราญ ในกลุ่มแรงงานระดับกลางวุฒิ ปวช. ขึ้นไป 1,353 ตัวอย่าง ผู้บริหาร/ผู้ประกอบการ 239 ราย ใน 10 จังหวัด พบว่า (1) ในด้านการรับรู้เกี่ยวกับไทยแลนด์ 4.0 แรงงานร้อยละ 63.0 รับรู้แนวคิดการพัฒนาประเทศไทย 4.0 แต่ยังมีความเข้าใจไม่ตรงกัน ผู้ประกอบการกว่าร้อยละ 80.0 เห็นด้วยกับแนวคิดไทยแลนด์ 4.0 โดยเห็นว่ามีความจำเป็นต้องขับเคลื่อนแต่ยังมีข้อกังวลในกลุ่ม SMEs ที่ยังมีข้อจำกัดและอาจไม่สามารถก้าวทันตามการพัฒนา ซึ่งรัฐจำเป็นต้องมีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนในการส่งเสริมและสนับสนุน และ (2) ด้านทักษะของแรงงาน ผู้ประกอบการเห็นว่าแรงงานมีทักษะในระดับมาก มีเพียงการใช้ภาษาอังกฤษและการค้นคว้าข้อมูลที่อยู่ระดับปานกลาง แต่แรงงานจบใหม่มีทักษะต่ำกว่าแรงงานที่มีประสบการณ์ในทุกด้าน สอดคล้องกับการประเมินตนเองของแรงงานที่ทักษะด้านภาษาอังกฤษกว่าร้อยละ 50.0 ยังต้องปรับปรุงเนื่องจากยังไม่สามารถสื่อสารได้ ส่วนการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศส่วนใหญ่มีทักษะใช้อุปกรณ์คอมพิเตอร์ แต่ยังขาดทักษะในการสร้างเนื้อหา โดยทักษะที่ผู้ประกอบการเห็นว่าควรเพิ่มเติมในการเรียนการสอน คือ ภาษา การฝึกปฏิบัติจริง และการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ

แนะ 5 ข้อเพื่อพัฒนาตามแนวคิดไทยแลนด์ 4.0

ทั้งนี้ การพัฒนาตามแนวคิดไทยแลนด์ 4.0 ยังมีข้อจำกัดในเรื่องการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ คุณภาพแรงงานใหม่ยังไม่ได้ตามที่ต้องการ การรับรู้/ความเข้าใจเกี่ยวกับไทยแลนด์ 4.0 ยังไม่ชัดเจนเพียงพอ ขาดเงินทุน/การลงทุนนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ และความพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน จึงควรมีการดำเนินงาน ดังนี้
 
1. การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี แนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ "ไทยแลนด์ 4.0" ให้มีความชัดเจน ทุกภาคส่วนสื่อสารในเรื่องดังกล่าวได้ตรงกัน เพื่อสร้างการรับรู้ ความตระหนักและนำไปสู่การเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วน
 
2. การพัฒนาทักษะแรงงาน โดยส่งเสริมความร่วมมือและพัฒนาการออกแบบหลักสูตรอบรมให้เหมาะกับแต่ละคลัสเตอร์ของภาคอุตสาหกรรม เพิ่มทักษะบางด้าน อาทิ ด้าน Digital Skill การจัดการ Big Data ควบคู่กับคุณลักษณะการทำงาน อาทิ การคิดวิเคราะห์ การผสมผสานระหว่างการใช้เทคโนโลยีกับการลงพื้นที่จริงอย่างเหมาะสม การคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถหลากหลายยืดหยุ่น รู้จักการปรับตัว และทักษะการสร้างทีม
 
3. การพัฒนาแรงงานในกลุ่มต่างๆ โดยแบ่งกลุ่มเพื่อพัฒนาได้ครอบคลุมและเหมาะสมกับศักยภาพทั้งกลุ่มแรงงานไร้ฝีมือและด้อยโอกาส แรงงานสูงอายุ แรงงานภาคเกษตร แรงงานในธุรกิจหรือวิสาหกิจขนาดเล็กเพื่อลดผลกระทบและความเหลื่อมล้ำให้กับแรงงานในกลุ่มเหล่านั้น รวมทั้งยังช่วยสร้างเสริมมูลค่าทางเศรษฐกิจ
 
4. การวางแผนการผลิตและพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยสร้างความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการและสถานศึกษาทั้งเรื่องการพัฒนาหลักสูตร การสนับสนุนเครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ ของธุรกิจเพื่อใช้ในการเรียนการสอน เพื่อให้ได้บุคลากรตรงตามความต้องการและทำงานได้จริง การพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งในด้านความรู้ที่เป็นแกนหลัก ความสามารถทำงานกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป สามารถคิดวิเคราะห์ ใช้คิดสร้างสรรค์ ภูมิปัญญา (Brain Power) และนวัตกรรม ตลอดจนการสร้างคุณลักษณะที่เหมาะสม อาทิ มีทัศนคติที่ดี อดทน รับผิดชอบ ทำงานที่มุ่งผลสัมฤทธิ์
 
5. การสนับสนุนปัจจัยอื่นๆ อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยการผลิตที่เหมาะสมสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs การจับคู่/สร้างความร่วมมือระหว่างผู้คิดนวัตกรรม (startup) กับผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อให้เกิดการผลิตสินค้าบริการใหม่ๆ ตลอดจนส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ในทุกองค์กร/สถาบัน โดยเริ่มต้นจากครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน ชุมชน ฯลฯ โดยสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เสริมสร้างแรงบันดาลใจ บ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ มีจิตสาธารณะ และมุ่งการทำงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อีกแล้ว รองปลัดฯยุติธรรม ปล่อย 'แพะ' หลังติดคุกฟรี 7 ปี

Posted: 26 May 2017 04:10 AM PDT

รองปลัดฯยุติธรรม ปล่อย 'แพะ' หลังถูกจำคุกทั้งคดีร่วมกันฆ่าผู้อื่น-ร่วมกันค้ายาเสพติด โดยบงการมาจากในคุก แต่ศาลได้ยกฟ้องไม่เชื่อคำฟ้องของโจทก์ เหตุมีพยานหลักฐานเป็นพยานบุคคลน่าเชื่อถือ และด้านวิทยาศาสตร์ที่ขัดแย้งกับผู้ฟ้อง

26 พ.ค. 2560 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 18.30 น. วันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา พ.ต.อ.ดุษฏี อารยะวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยพนักงานสอบสวนดีเอสไอ และ ประสิทธิ์ศักดิ์ ฝอยทอง ทนายความและเจ้าหน้าที่เรือนจำกลางจังหวัดอุบลราชธานี ได้เบิกตัว วรวิทย์ สินทองน้อย อายุ 30 ปี ชาวบ้านเมืองใหม่  อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี หลังศาลจังหวัดเดชอุดมมีคำพิพากษายกฟ้องในข้อหาร่วมกันสมคบคิดกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 (ยาบ้า) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เนื่องจากศาลไม่เชื่อพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวน สภ.เดชอุดม ซึ่งเป็นโจทก์ยื่นฟ้องตามคดีหมายเลขดำที่ 1941/2559 ลงวันที่ 24 ส.ค. 2559 แต่เชื่อในหลักฐานของฝ่ายจำเลยที่มีเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ผู้บัญชาการเรือนจำกลาง รวมทั้งหลักฐานแวดล้อมด้านวิทยาศาสตร์ที่มาสนับสนุน ศาลจึงเชื่อว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องจริง จึงตัดสินให้ยกฟ้องจำเลยและให้ปล่อยตัว

การปล่อยตัวครั้งนี้ มี แดง สินทองน้อย มารดาและญาติพี่น้องรวมทั้งเพื่อนบ้านจำนวนกว่า 50 คน มารอรับวรวิทย์บริเวณประตูหน้าห้องควบคุม
 
ผู้จัดการรายงานรายละเอียดเกี่ยวกับคดีเพิ่มเติมว่า คดีความดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อปี 2553 วรวิทย์ พร้อมวัยรุ่นวัยเดียวกันถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เดชอุดม จับกุมข้อหาร่วมกันใช้อาวุธปืนฆ่าผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย เหตุเกิดเมื่อกลางดึกคืนวันที่ 6 ต.ค. 2553 บนถนนสาธารณะบริเวณข้างโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำอำเภอเดชอุดม ซึ่งมีการจัดชกมวยการกุศล ต่อมาถูกจับดำเนินคดีพร้อมกับกลุ่มวัยรุ่นรวม 6 คน และเมื่อเดือนธันวาคม 2554 ศาลชั้นต้นได้ตัดสินให้จำคุกวรวิทย์ตลอดชีวิต ส่วนกลุ่มวัยรุ่นถูกตัดสินลดหลั่นกันลงมา
 
ต่อมาเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2559 ศาลฎีกาได้ตัดสินให้ยกฟ้อง วรวิทย์ เพราะมีเหตุผลขัดแย้งด้านวิถีกระสุนและระยะทางการยิงกับจุดที่ วรวิทย์ ยืนอยู่ ซึ่งได้รับการพิสูจน์จากผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี แต่ วรวิทย์ กลับไม่ได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากถูกพนักงานสอบสวนขออายัดตัวในความผิดร่วมกันสมคบคิดกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 (ยาบ้า) ขณะถูกจองจำอยู่ในเรือนจำกลางจังหวัดอุบลราชธานี จากคำซัดทอดของผู้ต้องหาที่ถูกชุดสืบสวน สภ.เดชอุดม จับกุมได้ โดยระบุว่า วรวิทย์ เป็นผู้โทรศัพท์สั่งการจากภายในเรือนจำให้ผู้ต้องหาไปรับยาบ้าและนำยาบ้าไปมอบให้ผู้ซื้อ จนถูกจับได้ 
 
ภายหลัง วรวิทย์ ถูกอายัดตัวไว้ดำเนินคดีต่อ ทางครอบครัวได้ประสานให้ ประสิทธิ์ศักดิ์ ฝอยทอง เป็นทนายความแก้ต่างให้ และ ประสิทธิ์ศักดิ์ มีการประสานข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ดีเอสไอที่ได้ตามพิสูจน์ในคดีฆ่าผู้อื่นจนศาลฎีกากลับคำพิพากษา รวมทั้งมีการสืบเสาะจนได้ความว่าเรือนจำกลางอุบลราชธานี เป็นเรือนจำที่มีความมั่นคงสูง มีอุปกรณ์ใช้ตัดสัญญาณการใช้โทรศัพท์ ที่สำคัญระหว่างถูกควบคุม วรวิทย์ ไม่มีพฤติกรรมยุ่งเกี่ยวกับคดียาเสพติดมาก่อน รวมทั้งจากการสอบถามเพื่อนบ้านก็ไม่พบพฤติกรรมยุ่งเกี่ยวยาเสพติดเช่นกัน จึงได้นำพยานบุคคลที่เป็นเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ เจ้าหน้าที่เรือนจำ รวมทั้งหลักฐานด้านวิทยาศาสตร์เสนอให้ศาลพิจารณา จนศาลเชื่อถือในหลักฐานและมีคำสั่งยกฟ้องและให้ปล่อยตัว วรวิทย์ พ้นจากการควบคุมเมื่อเย็นวันนี้ หลังต้องเป็นแพะถึงสองครั้งสองคราวต้องติดอยู่ในคุกนานถึง 7 ปี
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฉลาดเกมส์โกง: ภาระทางศีลธรรมของคนชั้นกลาง

Posted: 26 May 2017 03:53 AM PDT


 

"ไม่มีความจนในหมู่คนขยัน" เป็นวาทะที่ควรถูกจัดอยู่ในหมวดคำโกหกพกลมมากกว่าคำคม ถ้าผู้ชมดูชีวิตของเหล่าผู้ปกครองใน "ฉลาดเกมส์โกง" ด้วยสายตาที่เอียงอายต่อข้อเท็จจริงบ้าง

พ่อของลินและแม่ของแบงค์ใช้ชีวิตราวถูกโปรแกรมจากหนังสือเรียนกระทรวงศึกษาฯ พวกเขาไม่เพียงขยันแต่ยังซื่อสัตย์ประหยัดอดทนและไม่น่าจะอับจนสติปัญญานัก ถึงกระนั้นฐานะพวกเขาใกล้ชิดคุ้นเคยกับความขัดสนดิ้นรนมากกว่าความร่ำรวย ในขณะที่ครอบครัวของพัฒน์ที่รวยนั้นผู้กำกับทำให้เห็นว่าเขารวยได้ด้วยคุณสมบัติอย่างอื่นมากกว่าความขยัน

จริงอยู่ว่าครอบครัวลินไม่ใช่คนยากจน พ่อของเธอมีอาชีพครู เธออาศัยในบ้านเดี่ยว มีเครื่องอำนวยความสะดวก เป็นเจ้าของรถส่วนตัวและเปียโน แต่ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นของเก่าและมีสถานะง่อนแง่นพร้อมจะถูกเปลี่ยนเป็นค่าใช้จ่ายทางด้านการศึกษาหรือการรักษาพยาบาลเมื่อเวลามาถึง 

แบงค์ฐานะด้อยกว่าลิน แม่ของเขาเปิดร้านซักรีด อาศัยอยู่ห้องแถวเล็กทรุดโทรม กิจการส่วนตัวที่มีนั้นดูร่อแร่และต้องการทุนก้อนหนึ่งถ้าเปลี่ยนมันเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของครอบครัว พาหนะของเขาคือมอเตอร์ไซค์สำหรับใช้ทำงานมากกว่าขับเที่ยวเล่น

ครอบครัวของลินและแบงค์ทำให้เราเห็นว่าความขยันกับความจน (โดยเปรียบเทียบ) นั้นเป็นสิ่งที่อยู่ร่วมกันได้ไม่ยากนัก และพวกเขายังทำให้เราเห็นอีกด้วยว่าต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้พวกเขาต้องกระเสือกกระสนหรือจนลงกว่าเดิมคือค่าใช้จ่ายทางการศึกษาที่พวกเขานั่นแหละเห็นว่าเป็น "การลงทุน" ที่จะพาลูกของเขาพ้นจากสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่พ่อแม่ของพวกเขาดิ้นขลุกขลักอยู่แต่ไปไม่ถึงไหน

"หนูไม่ใช่คนเดียวที่ใช้โรงเรียนหาเงิน" คำพูดนี้ของลินบ่งบอกว่าลินเห็นบางสิ้งที่ครูวิทย์พ่อของลินไม่เห็น สำหรับลิน โลกการศึกษาที่ดูบริสุทธิ์สูงส่งและเท่าเทียมให้โอกาสนั้นก็ไม่ต่างอะไรจากวงการอื่น ๆ ในสังคม นั่นคือเป็นพื้นที่ของการแข่งขันแย่งชิงแสวงหาประโยชน์---ที่ไม่เท่าเทียม

ตัวอย่างหนึ่งของความหน้าไหว้หลังหลอกของศีลธรรมการศึกษา ความเข้มงวดจริงจังกวดขันของการจัดสอบให้โปร่งใสไร้การโกงถูกใช้ไปเพื่อประกันรายได้และความพึงพอใจของลูกค้าในธุรกิจขายคะแนนของธุรกิจกวดวิชา หรือโอกาสทางการศึกษาในกำมือผู้อำนวยการโรงเรียนคือเครื่องมือต่อรองและที่มาของรายได้และผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจในสถานศึกษา

การเข้มงวดกวดขันด้านระเบียบวินัยและคุณธรรมจนผู้ปกครองและนักเรียนต้องสยบยอมเบื้องหน้าศีลธรรมการศึกษา คือการผลิตโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคของเงินทองให้เดินเชื่อง ๆ เข้ามาสู่เครือข่าย

พวกเขารวยได้โดยไม่จำเป็นต้อง "โกง" เพราะการเล่นบทบาท "คนดี" ต่างหากคือหลักประกันรายได้ของเขาในระบบการศึกษาปัจจุบัน-ที่เอาเป็นเอาตายกับการควบคุมวินัยมากกว่าการเอาจริงเอาจังกับการสอน 

โลกของการศึกษาจึงไม่ใช่พื้นที่ "ปัญญาคืออำนาจ" แต่อำนาจต่างหากกำหนดปัญญา (ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีคนกล่าวไว้นานแล้ว) อำนาจเป็นผู้จัดแจงว่าสิ่งใดคือความรู้ จะรู้ได้อย่างไรและใครคือผู้มีความรู้

ด้วยเหตุนี้เองกระบวนการสอบจึงมีความหมายและความสำคัญโดยตัวมันเองในฐานะสัญลักษณ์รับรองคุณสมบัติพื้นฐานร่วมกันของผู้อยู่ในเครือข่าย มากกว่าที่จะเป็นสื่อกลางในการตรวจทวนการเรียนรู้ระหว่างครูกับนักเรียน "การสอบ" จึงเป็นการ "กรอกแบบฟอร์ม" ยอมรับระเบียบอำนาจของสถาบัน

เมื่อการสอบมีความหมายและไม่ได้เปิดกว้างให้ทุกคนได้คะแนนสูง การสอบจึงมีราคา แน่นอนว่าโรงเรียนมัธยมไม่ใช่สถานที่เดียวที่ "สอน" และ "จัดสอบ" ในทำนองนี้ ในสังคมย่อมมีสถาบันต่าง ๆ สอนและจัดสอบในแบบเดียวกัน

ราคาที่ผู้อยากลงทุนทางด้านการศึกษาจะต้องจ่ายนั้นเริ่มต้นก่อนการสอบและค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระก็มากกว่าตัวเงิน เกือบทั้งหมดของนักลงทุนด้านการศึกษาต้องจ่ายราคาด้วยสุขภาพจากการตรากตรำทำงานหนัก และในบางราย เช่น ลินและแบงค์ พวกเขาต้องจ่ายต้นทุนทางศีลธรรมด้วย

ในโลกที่ "ค่าน้ำร้อนน้ำชา" ถูกเรียกเป็น "เงินบำรุงการศึกษา" การโกง "เกมส์" จึงอาจเทียบเท่ายุทธวิธีของปัญญาที่ท้าทายอำนาจ ทว่าโลกแห่งความเป็นจริงที่ปัญญานั้นอยู่ได้ด้วยการค้ำจุนจัดแจงของอำนาจจึงไม่เป็นที่สงสัยว่าการท้าทายอำนาจของปัญญาจะลงเอยเช่นไร

ยิ่งไปกว่านั้นผู้ที่ท้าทายอำนาจเชิงสถาบันจะต้องพบเจอนั้นไม่เพียงแต่แนวรบด้านสติปัญญาแต่ต้องแบกรับภาระทางด้านศีลธรรมอีกด้วย

การโกงให้สำเร็จไม่ใช่สิ่งเดียวที่ลินกับแบงค์ต้องครุ่นคิด การโกงหรือการเอาชนะระบบเป็นเรื่องไม่ยากเกินไปนักสำหรับพวกเขาแต่สิ่งที่ท้าทายและรบกวนใจพวกเขามากที่สุดคือสภาวะสองแพร่งทางศีลธรรม ระหว่างการได้ปัจจัยสนับสนุนการศึกษากับการโกงการศึกษา ในขณะที่เพื่อนผู้ร่ำรวยของพวกเขาไม่รู้ร้อนรู้หนาวในเรื่องนี้เลย และในท้ายที่สุดก็อาจจะมีแต่เพื่อนผู้ร่ำรวยเหล่านั้นที่บรรลุจุดหมายปลายทางที่พวกเขาต้องการในระบบการศึกษา (ถ้าใครคิดว่าคนรวยที่โกงข้อสอบจะต้องได้รับผลกรรมตามสนองกรุณาค้นหาข่าวในหัวข้อ "ทายาทกระทิงแดง" "ทายาทคาราบาวแดง" "ทายาท..." ฯลฯ)

พูดอีกอย่างหนึ่งคือ ระบบศีลธรรมกำกับลินและแบงค์ให้คิดถึงความสัมพันธ์ระหว่างส่วนรวมกับส่วนตัว ถึงที่สุดพวกเขาใช้เกณฑ์อรรถประโยชน์ประเมินผลได้-ผลเสียสำหรับกลุ่มบุคคลต่าง ๆ เป็นคำอธิบายการกระทำของตนเอง แต่เกณฑ์ในการประเมินสิ่งต่าง ๆ ในโลกย่อมไม่ได้มีเพียงเกณฑ์เดียว และความสัมพันธ์ของคนในสังคมก็ซับซ้อนมากเกินกว่าเด็กมัธยมจะชัดเจนกับตัวเอง

ท้ายที่สุดแล้วลินกับแบงค์เลือกวิธีที่จะจัดการปัญหาศีลธรรมของตนเองต่างกัน หนทางที่พวกเขาเลือกเกือบจะเป็นการหักมุมที่ทำร้ายจิตใจผู้ชม เว้นเสียแต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะไม่เหลือวิสัยจะคาดเดาเพราะมันเป็นไปตามแบบแผนปกติของ "สังคมไทย" ที่มักมองเห็นและเสนอทางออกของปัญหาศีลธรรมออกเป็น 2 ทางที่สุดโต่ง ลินและแบงค์ต่างเลือกที่จะอยู่ปลายสุดของทางเดินอีกด้านที่ต่างไม่ได้ให้คำตอบแก่คำถามของคนทั้งสอง ถ้าแบงค์มีคำถามต่อความอยุติธรรมของสังคมและลินตั้งคำถามต่อความลวงโลกของ "คนดี"

ซึ่งก็น่าเห็นใจเด็กทั้งสองคน ด้วยเหตุที่ว่านอกจากสติปัญญาของพวกเขาแล้ว พวกเขาแทบไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะช่วยให้พวกเขารับมือกับปัญหาได้ดีกว่านั้น

หลายเสียงที่วิจารณ์หนังเรื่องนี้บอกว่าทางออกของตอนจบนั้นง่ายดายเกินไป แต่ถ้าจะมองอีกมุมหนึ่ง หากตอนจบของหนังเรื่องนี้เป็นอย่างอื่นที่ซับซ้อนกว่านั้นก็อาจจะเป็นตอนจบที่ไม่สมจริงในบริบทไทย ๆ

นอกจากความสนุกเร้าใจตามสไตล์หนังแนวนี้แล้ว ฉลาดเกมส์โกงยังทำให้เราได้เห็นว่าสังคมไทยสามารถเปลี่ยนเด็กฉลาดช่างคิดให้กลายเป็นลูกแกะเชื่อง ๆ ไปได้อย่างไร


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์: โลกาธิปไตย

Posted: 26 May 2017 03:06 AM PDT




สังคมอมเมริกันนั้นมีความหลากหลายอย่างยิ่ง จึงเป็นที่ยอมรับกันโดยจารีตแล้วว่า "ความขัดแย้ง" ความเห็นต่างของผู้คนในสังคมเป็นเรื่องปกติ

สังคมอเมริกันจึงมองว่าความขัดแย้ง ไม่ใช่ปัญหา จึงไม่จำเป็นต้องไปแก้ไขอะไร เหมือนดังการผลิตวาทกรรมในเมืองไทย "สลายความขัดแย้ง" ที่ฟังแล้ว ความขัดแย้งเป็นเรื่องน่ารังเกียจ จนถึงกับในทางการเมืองของเมืองไทยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่ทำงานด้านความขัดแย้งขึ้นมาจำนวนหลายชุด โดยที่คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาดังกล่าว เป็นปฏิปักษ์กับความขัดแย้ง มองความขัดแย้งเป็นเรื่องความผิดปกติของสังคมที่จะต้องหาวิธีการแก้ไข ดังเห็นได้จากที่ผ่านมามีการผลิตงานวิชาการ ทั้งของอาจารย์และของนิสิตนักศึกษาในประเด็นนี้ออกมามากมาย ซึ่งก็ไม่ต่างจากพฤติกรรมกระเด้าลมของนกนางแอ่น

แต่ท้ายที่สุดแล้วความขัดแย้งด้านต่างๆ ในเมืองไทยก็มิได้ปลาสนาการไปอย่างที่ตั้งใจเอาไว้เลย มิหนำซ้ำยังกลับคงที่หรือเพิ่มมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ ดังเห็นปัญหากันอยู่ในเวลานี้ว่า ความปรองดอง ที่คาดหวัง ได้คืบหน้าไปได้มากน้อยขนาดไหน

วาทกรรม "สลายความขัดแย้ง" จึงไร้ค่าในบริบทสังคมประชาธิปไตยแบบอเมริกัน

หากเพราะ ขณะที่ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดาหรือธรรมชาติ ผู้คนพลเมือง ก็ต้องอยู่กับความหลากหลายขัดแย้งนั้นให้จงได้

ถามว่าความขัดแย้งมาจากสาเหตุอะไร เบื้องแรกก็น่าจะยอมรับกันได้ว่า มาจากสาเหตุจากความคิดเห็นไม่ตรงกัน ไม่ว่าจะเป็นความคิดเห็นด้านการเมือง หรือด้านใดๆ ก็ตาม เมื่อความคิดเห็นไม่ตรงกันก็ก่อให้เกิดแรงเสียดทานขึ้นในสังคมที่ไม่ค่อยอุดมปัญญามากนักนี้

ดังนั้น การยอมรับว่า ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมชาติของสังคมแบบเดียวกับที่อเมริกันชนส่วนใหญ่ยอมรับก็น่าจะเป็นวิธีการหรือแบบแผนหนึ่งที่ช่วยให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ  ส่วนเทคนิควิธีการก็ขึ้นกับว่าคนในสังคมส่วนใหญ่จะเอาอย่างไร ซึ่งนี่ก็คือวิธีการประชาธิปไตยนี่เอง

โดยไม่จำเป็นต้องอ้าง "ธัมมาธิปไตย"(ที่ถือเป็นเรื่องดี)นั้น ขึ้นมาเพื่อเป้าหมายส่งต่อ จนกลายเป็นอุดมการณ์ และจินตนานาการการปกครองที่ฝรั่งเรียกว่า สังคมยูโทเปีย อันเป็นสังคมเพ้อฝัน ไม่มีอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง

แต่เพียงแค่ว่า ทำอย่างไรที่จะทำให้สังคมของคนมีกิเลส อยู่ร่วมกันได้ ยอมรับความแตกต่างของกันและกัน ขณะเดียวกันก็สนองตอบต่อความต้องการของคนในสังคม ในอันที่จะทำให้คนเหล่านี้ไม่ต้องทะเลาะหรือทำร้ายซึ่งกันและกันก็น่าจะพอ มากกว่าการนำอุดมการณ์ทางศีลธรรมมาอ้าง จนคนในสังคมกระดุกกระดิกไม่ได้ ส่งผลให้เกิดแรงกดดันในสังคมตามมาและรอวันระเบิด

ในแง่ของศาสนานั้น ธรรมาธิปไตย แปลว่า "ถือธรรมเป็นใหญ่" ยกเว้นเสียจากอัตตาธิปไตยแล้ว "โลกาธิปไตย"ก็มิใช่หลักธรรมที่น่าเกลียดน่าชังดังที่มีผู้แสดงไว้แบบเบี่ยงเบนคลาดเคลื่อนว่า โลกาธิปไตย เป็นการถือตามโลก ซึ่งพอพูดคำว่า "โลก"แล้ว ดูเหมือนหลายๆ คนจะเห็นภาพของความเลวร้ายเสมอ กล่าวคือ โลกไม่ดีเอาเลย

หากความหมายของโลกาธิปไตย จากหลักธรรม "อธิปไตย3" ในพระพุทธศาสนา มิได้หมายความเช่นนี้ โลกาธิปไตย หมายถึงความแคร์ หรือความใส่ใจต่อสายตาของโลกต่างหาก

หมายถึงว่า เราควรใส่ใจเสมอว่าโลกเขามองเราอย่างไรด้วย ไม่ใช่นึกจะทำอะไรก็ทำโดยไม่แคร์สายตาชาวโลก นี่เรียกว่า นอกจากเราดูตัวเรา (อัตตาธิปไตย) แล้ว ยังต้องให้เหล่าชาวโลกทั้งหลายคุมความประพฤติของเรา (โลกาธิปไตย)ด้วย รวมถึงแน่นอนที่สุดต้องให้ธรรมะคุมตัวเรา (ธัมมาธิปไตย) นั่นคือ เราต้องประพฤติธรรมนั่นเอง

อธิปไตย 3 จึงเป็นธรรมที่ดีทุกข้อ มิใช่อัตตาธิปไตยกับโลกาธิปไตย คือธรรมเลว ดีอยู่อย่างเดียวคือ ธัมมาธิปไตย หากจะพฤติปฏิบัติตามแนวทางนี้ ก็ต้องเป็น "องค์ธรรม" กล่าวคือ รวบมาปฏิบัติให้ได้ครบทั้ง 3 ข้อ

และก็จะพบว่า การแคร์ต่อสายตาชาวโลก หรือโลกาธิปไตยนั้น มีคุณูปการอย่างยิ่ง เพราะหากพาประเทศหลุดออกจากวงโคจรของโลก ก็จะมีสภาพแบบเดียวกับเกาหลีเหนือหรือบางประเทศในกาฬทวีป

หากเรานำประเทศไปสู่การแช่แข็งหรือหลุดวงโคจรของโลกออกไปโซโลเดี่ยว โดยไม่แคร์สายสาชาวโลก ไม่แคร์ประเทศอื่น เชื่อแน่ว่า วิบัติภัยจะต้องเกิดขึ้นมาในไม่ช้า อาจไม่ใช่สงคราม แต่เป็นหายนะภัยทางด้านเศรษฐกิจนั่นแหละที่จะเกิดขึ้นก่อน

การไม่เดินตาม โลกาธิปไตย ย่อมจะมีผลเสียเช่นนี้

เพราะฉะนั้น จงอย่าได้รังเกียจ โลกาธิปไตย และไปแปลผิดความหมายดั้งเดิมในทางพระพุทธศาสนาเลย การปฏิบัติตามหลักธรรมอธิปไตย จำเป็นต้องครบ "องค์ 3"  คือ อัตตาธิปไตย โลกาธิปไตย และธัมมาธิปไตย

พูดให้เข้าใจง่ายแบบไทยๆ ในส่วนของโลกาธิปไตย ก็คือ สำนวนที่ว่า "ทำอะไรให้หัดอายผีสางเทวดาท่านจะเห็นซะบ้าง" คือถ้าไม่ไม่ละอายตนแล้วก็ให้นึกอายผีอายสางซะบ้าง จงอย่าคิดว่าผีสาง เทวดาไม่รู้ว่าเราทำอะไร เพราะฉะนั้นไม่ว่าผู้นำองค์กรหรือลูกน้องผู้ตาม โดยเฉพาะตัวผู้นำต้องใส่ใจ (แคร์) ต่อโลก มิใช่เพิกเฉย ไม่สนใจว่า "โลกจะคิดอย่างไรก็ช่าง เราจะอยู่อย่างไรก็ได้"

และที่เห็นถึงความไม่แยแสโลกาธิปไตยในเมืองไทย ก็คือวาทกรรมต่อท้ายว่า "แบบไทยๆ" อย่างเช่น ประชาธิปไตยแบบไทยๆ เป็นต้น วาทกรรมนี้ย่อมขัดหลักโลกาธิปไตยอย่างชัดเจน เพราะประชาธิปไตย เป็นหลักการสากล หนึ่งไม่มีสอง ไม่มีแบบไทยๆ หรือแบบใครๆ

เป็นหลักการหนึ่งเดียวในโลกโดยแท้จริง


ถ้าหากจะมีผู้นำมาบอกว่า "แบบไทยๆ" ก็ย่อมถือเป็นการบิดเบือนหลักการของเนื้อหาของสิ่งสากลที่พูดถึงนั้น ซึ่งก็แล้วแต่ว่าจะบิดเบือนไปเพื่อประโยชน์ตน ประโยชน์ท่านหรือประโยชน์ใคร

น่าแปลกที่ยังมีผู้บิดเบือนหลักการของประชาธิปไตยอยู่จนถึงเวลานี้ นับเป็นเวลาหลายสมัยมาแล้ว ต่างกรรมต่างวาระ โดยปราศจากความละอายตน ละอายโลกและละอายธรรมแต่ประการใด

 

 

 


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิด 'อบรมข้าราชการที่ดี' สาธารณสุขเขต 5 หมอใหม่โวย ถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรี-เหมือนฝึกทหาร

Posted: 26 May 2017 01:54 AM PDT

แพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกรจบใหม่ สาธารณสุขเขต 5 เข้ารับการอบรมการเป็นข้าราชการที่ดี ที่โรงเรียน จปร เผยฝึกเหมือนทหาร พร้อมคุยกับผู้เข้าอบรม ชี้แม้ครูฝึกไม่ได้รุนแรงทางกาย แต่คำพูดและทัศนคติของเขาแย่มาก โวยดูถูกตั้งแต่นาทีแรก

 

เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Drama-addict' เผยแพร่ข้อมูล ค่ายอบรมกลุ่มวิชาชีพสาธารณสุขใหม่ให้เป็นข้าราชการที่ดี โดยเป็นการร้องเรียนมายังเพจดังกล่าวว่า กลุ่มวิชาชีพสาธารณสุขถูกจับไปฝึกที่ ค่าย จปร. แบบบังคับ พร้อมยึดมือถือ บังคับให้ยืนกลางแดด ตากฝน กระโดดข้ามกองไฟ ปาประทัดใส่ และบอกด้วยว่า ถ้าไม่ทำจะไม่ได้ใบเพิ่มพูนทักษะ โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

ที่มา : เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Drama-addict'

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เป็นปัญหาเขต 5 ของการแบ่งเขตตามกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วยจังหวัด สุพรรณบุรี กาญจนบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี และนครปฐม และมีการเปิดเผยด้วยว่าในการฝึกอบรมการเป็นข้าราชการที่ดีดังกล่าว มีการพูดจาของทหารที่ดูถูกเหยียดหยาม นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการบังคับ ตีกรอบที่มากเกินไป อาทิ การห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ ขณะทำกิจกรรมเข้าป่า ฯลฯ

ด้านเพจ Infectious ง่ายนิดเดียว โพสต์ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า มีการดูถูกวิชาชีพสาธารณสุขจากการฝึกทหาร และ ปัญหาความล่าช้าของการจัดการ และความปลอดภัยมีน้อย เนื่องจาก การนำแพทย์เข้าป่า โดยไม่มีทีมแพทย์คอยรักษา เมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น อาจไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ 

ที่มา : เพจ Infectious ง่ายนิดเดียว 

กระแสดังกล่าวได้รับความสนใจในโซเชียลเน็ตเวิร์กจำนวนมา นอกจากในเฟซบุ๊กแล้ว ผู้สื่อข่าวสืบค้นแฮชแท็ก #อบรมข้าราชการที่ดี ติดเทรนด์อันดับหนึ่งในทวิตเตอร์ ช่วงเวลาประมาณ 19.00 น. วานนี้(25 พ.ค.60)ด้วย โดยมีผู้ใช้ทวิตเตอร์แสดงความคิดวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ระบุว่า มีการใช้ลายพรางเสมือนการฝึกทหาร และ เดินป่าตั้งแต่เวลา 16.30 จนถึง 22.00 และไม่มีความปลอดภัย โดยเกิดสถานการณ์ว่า มีการใช้น้ำมันราดบนเส้นเล็กๆ บนถนนดิน แล้วจุดไฟ จากนั้นผู้เข้าอบรมวิ่งผ่านพร้อมจุดประทัด บางส่วนแสดงความคิดเห็นว่า "นี่ไม่ใช่การฝึก แต่เป็นการทารุณกรรม"  หรือการโพสต์ลงทวิตเตอร์แสดงความคิดเห็นการอบรมว่า "ไทยแลนด์ 4.0 แต่อบรมข้าราชการแบบ 0.1" 

 

ผู้สื่อข่าวได้สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการอบรมข้าราชการที่ดี ใน เว็บไซต์ระบบลงทะเบียนกลาง สำนักงาน ก.พ. ระบุ ว่าเพื่อปลูกฝังปรัชญาการเป็นข้าราชการที่ดี เสริมสร้างสมรรถนะและทักษะที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานราชการ ส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม การทำงานเป็นทีม และพัฒนาเครือข่ายในการทำงาน รวมถึงเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน โดยเน้นการเรียนรู้จากประสบการณ์และการลงมือปฏิบัติจริง

ชี้ครูฝึกไม่ได้รุนแรงทางกาย แต่คำพูดและทัศนคติของเขาแย่มาก เผยดูถูกตั้งแต่นาทีแรก

แพทย์อินเทิร์น ผู้เข้าร่วมการอบรม แพทย์เพิ่มพุนทักษะ รายหนึ่ง เปิดเผยประสบการณ์ดังกล่าวกับประชาไทว่า อบรมข้าราชการที่ดีมีทั้งหมด 7 วัน โดยในสองวันแรกเป็นการฝึกในโรงเรียนนายร้อย จปร. และอีก 5 วันให้หลังเป็นการฟังบรรยายที่โรงแรมศรีอู่ทองแกรนด์ จังหวัดสุพรรณบุรี 

แพทย์อินเทิร์นกล่าวว่า กำหนดการอบรมข้าราชการที่ดี จะเห็นได้ว่า กำหนดการค่อนข้างกว้างมาก ไม่ได้ระบุกิจกรรมที่แน่ชัด ว่าต้องทำอะไรอย่างไรบ้าง

แพทย์อินเทิร์น กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ครูฝึกพาพวกเราไปลานโล่งๆ ให้ป่าก่อน ให้พวกเราวิ่งโดดข้ามไฟพร้อมปาประทัดใส่ไปด้วยแบบในคลิปที่จ่าพิชิต (เพจ Drama-addict ) แชร์ก่อน พอถึงลานให้สอนสัญญาณมือของทหารว่าอะไรให้หยุดให้เดิน สอนเราหมอบคลาน และนอนหงายคลาน ซึ่งเพื่อนหลายคนถลอกปอกเปิกมาก เนื่องจากใส่เสื้อแขนสั้น ไม่มีปลอกแขนเพราะ ไม่มีใครเตือนว่าต้องมาทำอะไรแบบนี้ เมื่อฝึกเสร็จ เขาก็จับคู่ 12 กลุ่ม เหลือ 6 กลุ่ม แล้วก็ปล่อยเดินป่าทีละกลุ่ม เว้นช่วงห่างกันกลุ่มละ 30 นาที เราเป็นกลุ่มที่ 5 กว่าจะได้ออกก็ 18.30 น.  ฟ้าเริ่มมืด โดยแต่ละกลุ่ม ที่กลายเป็นกลุ่มละ 50 คน มีไฟฉายเพียง 2 กระบอกเท่านั้น

แพทย์ผู้เข้าอบรม กล่าวอีกว่า หลังจากเข้าไปในป่า ระยะทาง 8 กิโลเมตร มีฐานให้เล่นอยู่แปดฐาน จำพวกมุดท่อ หมอบคลานต่ำ ปีนกำแพงเชือก ข้ามลำธาร โดย  8 กิโลเมตร ฟังเหมือนไม่ไกล แต่ระยะทางมีทั้งขึ้นเขา ลงเนิน มืดมาก ไฟฉาย 2 กระบอกส่องนำทางและส่องท้ายอย่างละกระบอก ให้แน่ใจว่าไม่มีคนหลง และเวลานั้นไม่มีครูฝึกเดินอยู่ขบวนพวกเราเลย เขาประจำอยู่แค่ตามฐานและปล่อยพวกเราไปเอง ซึ่งกลุ่มสุดท้ายได้ออกจากป่าตอน 23.30 น. ระหว่างเดินป่าฝนตกอยู่เกือบชั่วโมง โดยฝนตกแรงสลับเบา

นอกจากนี้บางฐานกิจกรรมเขาไม่ให้เล่นเพราะอันตราย แต่ยังให้พวกเราเดินป่ากันต่อ ซึ่งครูฝึกไม่มีชุดปฐมพยาบาลติดตัวเลย ทางที่เดินพวกรถหรือฮอเข้าไม่ได้ ถ้าเป็นไรขึ้นมาคงไม่มีใครช่วยได้เลยจริงๆ

แพทย์อินเทิร์นได้เล่าต่อว่า พวกครูฝึกไม่ได้ใช้ความรุนแรงทางร่างกาย แต่คำพูดและทัศนคติของเขาแย่มาก เขาดูถูกพวกเราตั้งแต่นาทีแรกที่ก้าวเข้ามา พวกเราเดินลงจากรถกันช้า หัวหน้าครูฝึกเลยเป่านกหวีดเรียกไปยืนกลางแดด แล้วบอกว่า "พวกเราไม่มีความรับผิดชอบ เรียกแค่นี้ยังไม่มา ถ้าในชีวิตจริงป่านนี้คนไข้ตายไปแล้ว" ตรรกะที่ไม่สมเหตุสมผลมาก แล้วยังพูดต่อว่าพวกเราเป็นหมอเห็นแก่เงิน จ้องแต่จะเอาเวลาราชการไปเปิดคลินิกยังมีตามมาหลังจากนั้นอีกมาก เช่น "เป็นหมองานสบายเงินดีเป็นแสน ทำงานวันๆอยู่แต่ในห้องแอร์ เป็นลูกคุณหนูทนลำบากไม่เป็น"

แพทย์ผู้เข้าอบรม กล่าวว่า คุณรู้มั้ย เงินเดือนหมอจริงๆ แล้วแค่ 18,750 บาท เท่านั้น เราได้ค่าไม่ทำเอกชนเพิ่มอีกเดือนละหมื่น ค่าเวรโดยอัตราแล้วแต่โรงพยาบาลอีกนิดหน่อย ซึ่งรวมๆแล้ว เงินเดือนเราแค่ 30000-40,000 บาท เท่านั้น และโรงพยาบาลรัฐไม่ติดแอร์ แต่เราก็เดินราวน์ดูแลคนไข้กันทั้งร้อนๆ ที่มีแอร์ คือโรงพยาบาลเอกชนกับการแสดงในฉากละครเท่านั้นซึ่งพออธิบายไปครูฝึกก็ไม่ฟังอยู่ดี

ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมอบรมบอกต่อว่า กิจกรรมในวันที่สองค่อนข้างดี สมเหตุสมผลมากขึ้น โดยใช้สมองและกำลังคู่กัน แต่ครูฝึกยังมีทัศนคติที่แย่และดูถูกเป็นระยะอยู่ดี  

แพทย์อินเทิร์นกล่าวถึงการเข้าค่ายนี้ว่า เขาบังคับเราว่า บอกว่าต้องอบรมภายในหกเดือนหลังรับราชการไม่งั้นไม่ได้บรรจุ ไม่มารอบนี้ก็มีรอบซ้อมอยู่ดี ในค่ายนอกจากหมอยังมีเภสัชและทันตแพทย์ ส่วนค่ายพยาบาลจะตามมาหลังจากนี้

แพทย์ผู้เข้าอบรม กล่าวเพิ่มเติมว่า เราไม่ได้เกลียดทหารหรือครูฝึกที่จับเราไปฝึกหนัก เพราะมันเป็นหน้าที่เขา แต่เราและเพื่อนๆ ไม่พอใจ คือ การที่เขาดูถูกเหยียดหยามอาชีพเรากับสายงานข้างเคียงบ่อยเหลือเกิน

แพทย์ผู้เข้าอบรมแสดงความคิดเห็นถึงการอบรมว่า ทหารจะเป็นประเภทได้ยินทำตามคำสั่งทันทีแต่แพทย์ไม่ใช่แบบนั้น เราได้ยินแล้วเราคิด พิจารณาว่าอะไรคือทางเลือกที่ดีที่สุด ณ ขณะนั้นแล้วค่อยลงมือรักษา ดังนั้นการที่เราตามสั่งทันทีไม่ได้ ไม่ใช่เราไม่มีวินัย แต่เพราะธรรมชาติของอาชีพเราไม่เหมือนกับทหาร สุดท้ายคือเราว่าการอบรมครั้งนี้ไม่ช่วยอะไรกับการเป็นข้าราชการที่ดีได้เลย

แพทย์เพิ่มพูนทักษะ ผู้เข้าอบรมเล่าทิ้งท้ายว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ เขตสี่ ซึ่งเข้าค่ายต่อจากเขตห้า ยกเลิกการเดินป่าไปแล้ว  โดยจ่าบ่นเรื่องเขตให้ฟังแทน แล้วบอกให้เพื่อนๆเขตสี่พูดว่ายอมรับการฝึกนี้ได้โดยอัดเสียงไว้ ซึ่งทหารได้สั่งให้เป็นคำสัญญาในการยินยอมการฝึกแบบดังกล่าว  แต่เห็นเพื่อนเล่าว่าทั้งสธ. เขตห้าและครูฝึกโดนสอบสวนอยู่ จึงไม่มีการเดินป่า เพราะ มีอันตราย เลยคิดว่าอย่างน้อยก็สามารถช่วยเพื่อนเขต 4 ที่จะโดนฝึกต่อมาได้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสท. ปรับ 5 หมื่น รายการตื่นมาคุย หลังถูกร้องกระทบต่อศีลธรรมอันดี-ทำจิตใจปชช.เสื่อมทราม

Posted: 26 May 2017 12:03 AM PDT

สำนักงาน กสทช. ขอความร่วมมือ ช่อง 8,ไทยรัฐทีวี, เวิร์คพอยท์ ระวังเสนอรายการใบ้หวยและไสยศาสตร์  ปรับ 5 หมื่น รายการตื่นมาคุย-ยิ่งศักดิ์ ยิ่งแซบ-ทุบโต๊ะข่าว หลังถูกร้องมีเนื้อหา 'ใบ้หวย' และรายการคันปากฯ กระทบต่อศีลธรรมอันดีใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย

 

เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา สำนักสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) แจ้งว่า ภักดี มะนะเวศ รองเลขาธิการ กสท. กล่าวว่า ที่ประชุม กสท. วันที่ 25 พ.ค. 60 มีมติปรับทางปกครองผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล เนื่องจากมีการร้องเรียนเนื้อหารายการเกี่ยวกับการใบ้หวย สถานีละ 5 หมื่นบาท คือ 1. "รายการตื่นมาคุย" และ "รายการยิ่งศักดิ์ ยิ่งแซบ" ช่อง MCOT HD และ 2. "รายการทุบโต๊ะข่าว" ช่อง Amarin TV HD

ขณะเดียวกัน มีมติปรับทางปกครอง ช่อง MCOT HD หลังมีการร้องเรียน "รายการตื่นมาคุย" กรณีเนื้อหารายการส่งผลกระทบต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือมีผลต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจของประชาชนอย่างร้ายแรง เป็นเงิน 5 หมื่นบาท และปรับ ช่อง ไบร์ท ทีวี หลังมีการร้องเรียน "รายการคันปากอยากคุย" ออกอากาศโดยใช้ถ้อยคำที่หยาบคายในเรื่องเพศสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสม ขัดต่อจารีตประเพณีไทย เป็นเงิน 5 หมื่นบาท ซึ่งทั้งหมดเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดตามมาตรา 37 แห่งพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551

นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช. ได้ขอความร่วมมือไปยัง ช่อง 8  ช่องไทยรัฐทีวี และช่องเวิร์คพอยท์ ให้ระมัดระวังการนำเสนอรายการที่อาจเป็นการโน้มน้าว ทำให้เชื่อ หรือที่มีลักษณะในการใบ้หวย และรายการที่นำเสนอทางด้านไสยศาสตร์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แผ่นดินจึงดาล: พวงทอง ภวัครพันธุ์ วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด

Posted: 25 May 2017 08:40 PM PDT

บทสัมภาษณ์ 9 นักวิชาการในชุด 'แผ่นดินจึงดาล' นี้ ประชาไทตัดทอนมาจากบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มในหนังสือ 'แผ่นดินจึงดาล: การเปลี่ยนผ่านในสภาพบังคับ' เพื่อมองอดีต ปัจจุบัน และอนาคตประเทศไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ว่ามันจะนำพาเราไปสู่อะไร

วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด (Impunity) และการละเมิดสิทธิมนุษยชนคือแผลเรื้อรังในสังคมไทย มันไม่ใช่ว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐนอกแถวจำนวนหนึ่งกระทำนอกอำนาจหน้าที่ ไม่ใช่แค่กองทัพที่ออกมารัฐประหาร แต่มันมีรากที่ฝังลึกอยู่ในชุดความคิด ความเชื่อของสังคม ตั้งแต่ระดับปัจเจกไปจนถึงกลไกรัฐทั้งระบบ ไม่เว้นแม้แต่ในกระบวนการยุติธรรม

ทำไมประชาไทหยิบยกประเด็นนี้มาสนทนากับพวงทอง ภวัครพันธุ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เพราะท่ามกลางบรรยากาศของอำนาจเผด็จการทหารที่แผ่คลุมสังคมไทยอยู่นี้ ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการลอยนวลพ้นผิดยิ่งชัดเจน แต่ดูเหมือนว่าจะมีประชาชนเพียงบางกลุ่มเท่านั้นเห็นว่ามันเป็นปัญหา ขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่คิดเช่นนั้น (ซึ่งมิได้หมายความว่ามีเพียงรัฐบาลทหารเท่านั้นที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน)

หากจะสรุปสิ่งที่พวงทองพูด สังคมไทยไม่อาจก้าวไปข้างหน้าได้ หากปล่อยให้ซากศพของผู้สูญเสียและน้ำตาของบุคคลที่เกี่ยวข้องทับถมโดยไม่รับการคืนความยุติธรรม

สิทธิมนุษยชนกับวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด

สิทธิมนุษยชนกับการลอยนวลพ้นผิดเป็นเรื่องเดียวกันเลย ในสังคมที่ไม่ยอมให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น เพราะเขาตระหนักว่าทุกคนมีสิทธิในชีวิตของตนเอง คุณไม่สามารถไปละเมิดสิทธิของเขาได้ เวลาที่บอกประชาชนว่าเสรีภาพต้องมีขอบเขต รัฐก็ต้องมีขอบเขตในการใช้อำนาจเหมือนกัน ไม่สามารถละเมิดสิทธิบางอย่างของประชาชนได้ โดยเฉพาะสิทธิในชีวิต และสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ตราไว้ในกฎหมาย ซึ่งรัฐธรรมนูญก็ล้วนเอ่ยถึงสิทธิเหล่านี้ทั้งสิ้น ถ้ารัฐละเมิด ต้องรับผิดชอบ แต่ในสังคมไทยกฎหมายไม่มีความหมาย เพราะรัฐทำตัวเป็นกฎหมู่เสียเอง

ในกรณีไทย การที่เราปล่อยให้มีการลอยนวลพ้นผิดหลายครั้งหลายหน ด้านหนึ่งก็เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมอำนาจนิยม ซึ่งให้ความสำคัญกับความมั่นคงของรัฐ แต่คนถูกทำให้เชื่อว่านั่นคือความมั่นคงของสังคม  ถึงแม้ว่าบางครั้งการละเมิดสิทธิของประชาชนจะมีแพะที่โดนร่างแหไปด้วย ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องยอมรับ ตราบเท่าที่ฉันไม่เดือดร้อนก็ไม่เป็นไร สอง-เราเป็นสังคมที่มองคนไม่เท่ากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคนที่เป็นเหยื่อเป็นคนไม่มีฐานะทางสังคม เป็นคนจน เป็นคนไม่มีชื่อเสียง เป็นศัตรูทางการเมือง เราพร้อมที่จะมองข้าม เราไม่รู้สึกมีความรู้สึกเจ็บปวดแทนคนเหล่านั้นได้ ไม่รู้สึกอินังขังขอบ แต่ถ้าเป็นคนมีฐานะ มีชื่อเสียงในสังคม หรือเป็นอนาคตของชาติ เช่น เป็นหมอ เป็นนิสิตแพทย์เสียชีวิต คุณจะรู้สึกว่าคนเหล่านี้มีคุณค่ามากกว่าคนธรรมดาที่สูญเสียไป

ไม่มีการปรองดอง หากไม่มีการคืนความยุติธรรม

ดิฉันคิดว่าเวลาคนไทยมองเรื่องปรองดองเป็นการมองที่คับแคบ คิดว่าการปรองดองคือการที่ไม่ต้องรื้อฟื้นสิ่งที่เกิดขึ้น ยอมๆ กันไป อโหสิกรรมไป เพราะถ้ายิ่งไปติดตามเอาผิดกับคนที่ทำผิดจะยิ่งเกิดความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น เพราะคนที่ใช้ความรุนแรงมีเครือข่ายอำนาจของตัวเอง ยังมีอำนาจอยู่ สมมติกรณีที่ทหารทำผิดแล้วพ่ายแพ้ในทางการเมือง ยอมลงจากอำนาจ ถ้าคุณไปเอาผิดเขา ในที่สุดเครือข่ายของเขาอาจจะไม่ยอม กลับมายึดอำนาจ นี่คือสิ่งที่สังคมไทยทำมาตลอด

การทำแบบนี้จะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้มีอำนาจในอนาคตไม่รู้สึกกลัวว่าจะต้องรับผิด แล้วก็จะทำอาชญากรรมกับประชาชนอย่างกว้างขวางได้อีก เพราะเชื่อว่าถึงที่สุดแล้ว วัฒนธรรมปรองดองแบบไทยๆ จะช่วยปกป้องคุ้มครองเขา และเขาก็เชื่อว่าเครือข่ายซึ่งอาจจะอยู่นอกเหนือตัวรัฐบาล องค์กรทั้งหลายแหล่ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมก็จะช่วยปกป้องเขาด้วย ดิฉันจึงมองไม่เห็นว่าวิธีการแบบนี้จะทำให้สังคมไทยหลุดพ้นจากการที่รัฐใช้อำนาจปราบปรามประชาชนตามอำเภอใจได้อย่างไร ดิฉันเชื่อว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นอีก ตราบใดที่เราไม่สามารถจะเอาผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงมาลงโทษได้

สร้างกลไกที่ยึดโยงกับประชาชน

องค์กรอิสระที่มีอยู่ตอนนี้ เขาแทบจะไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนเลย มาจากกลุ่มอำนาจที่เห็นกันอยู่ เลือกกันเอง ตัดสินไปในทิศทางที่เดากันได้ ถามว่าถ้าเราเป็นประชาธิปไตย ก็ต้องรื้อที่มาขององค์กรอิสระและยึดโยงกับประชาชนให้มากขึ้น นี่คือปัญหาของคนไทยที่หลักการมันเบาบางมาก คุณต้องคำนึงกระแสทางการเมือง คำนึงถึงกลุ่มอำนาจทางการเมืองที่เลือกคุณมา ไปจนถึงเกรงใจพวกพ้องครอบครัวที่แวดล้อมคุณอยู่ ถ้าเราเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ดิฉันก็เชื่อว่าศาลจะตัดสินอะไรที่ออกไปในทางที่เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น แต่ตอนนี้เราเป็นระบบอำนาจนิยม เพราะฉะนั้นคำตัดสินก็จะออกมาในลักษณะแบบนี้

ดิฉันอยากให้มองย้อนกลับไป อย่างกรณีของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการเชื่อว่า ถ้าเรามีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ที่ยึดมั่นในหลักการ มีบุคคลที่มีประวัติในการทำงานที่ดีจะช่วยส่งเสริมให้สิทธิของไทยดีขึ้น แต่ก็จะเห็นว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนทำให้คนผิดหวังเยอะมาก แต่ถามว่าแล้วเราควรจะมีหรือไม่ ดิฉันคิดว่ายังควรจะมี แต่ก็ต้องปรับปรุงตัวองค์กร ที่มาของตัวองค์กร แล้วจะต้องสนับสนุนในสิ่งที่ควรสนับสนุน วิพากษ์วิจารณ์อย่างเต็มที่เมื่อมีโอกาส เราไม่สามารถหันหลังบอกว่าเลิกๆ ถ้าไม่มี มันจะยิ่งแย่ แต่ว่าเขาจะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์และทำให้ที่มาของเขามีความรับผิดมากขึ้นด้วย

รวมถึงตุลาการและศาล ซึ่งยากกว่า แล้วต้องทำให้เห็นว่าการตัดสินของศาลเป็นความรับผิดชอบของศาลในฐานะปัจเจกชน ต้องให้เขาเลิกอ้างว่าทำในนามของสถาบัน คุณจะเห็นว่าศาลไทย หลักการเรื่องสิทธิเสรีภาพอ่อนเปลี้ยมาก ซึ่งศาลเองก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในสังคมไทย เขาก็เติบโตขึ้นมาท่ามกลางวัฒนธรรมอุปถัมภ์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น