โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

อนุรักษ์นิยมไม่ใช่อำนาจนิยม

Posted: 15 May 2017 02:23 PM PDT


 

ยังจำได้ว่า ลาสเวกัส รีวิว เจอร์นัล  สื่อสิ่งพิมพ์ใหญ่สุด ของเมืองลาสเวกัส รายงานข่าวงานเมื่อหลายปีมาแล้ว งานอ้างงานวิจัยจากที่มา คือ นิวยอร์ค ไทมส์ เกี่ยวกับพฤติกรรมทางการเมืองของคนอเมริกัน ระบุว่า วัยหรืออายุ มีผลต่อความคิดและพฤติกรรมทางการเมืองของคนอเมริกัน

กล่าวคือ ในช่วงวัยที่เรียกว่า "วัยต้น" ช่วงวัยรุ่นจนถึงวัยกลางคน คนอเมริกัน ส่วนใหญ่มีความคิดและพฤติกรรมทางการเมืองเสรีนิยม แต่พอเลยวัยกลางคนไปแล้วความคิดและพฤติกรรมทางการเมืองของคนอเมริกันก็เปลี่ยนไปเป็นอนุรักษ์นิยม ความเปลี่ยนแปลงแบบสวิงดังกล่าว ปรากฏเด่นชัดในกรณีของคนที่มีครอบครัวหรือคนไม่โสด

หากนำงานวิจัยดังกล่าวมาใช้กับสถานการณ์การเมืองของอเมริกาในปัจจุบันก็น่าจะเทียบได้กับสมุฏฐานกรณีการได้เป็นประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งกลายเป็นที่สงสัยกันมากของสื่อและประชาชนทั่วโลกว่า ทำไมทรัมป์ที่เป็นอนุรักษ์นิยมหรือฝ่ายขวาจัดในอเมริกา  จึงได้รับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

ก็จะเห็นได้ว่า เบบี้บูมเมอร์ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็น "ฮิปปี้" ได้กลายเป็นฐานคะแนนโหวตที่สำคัญของทรัมป์ นับเป็นเรื่องกลับตะละปัด เพราะรากเหง้าของความเป็นฮิปปี้ อยู่ที่ความรักในเสรีนิยมอย่างสุดซึ้ง พวกเขาเคยแหกคอกจากครอบครัวอเมริกันในรูปแบบจารีตเดิมๆ มาก่อน อย่างเช่น บางคนกลายเป็น "บุปผาชน"ไปเลยก็มี

เหตุไฉนคนเหล่านี้จึงได้มีความคิดเปลี่ยนไปมากเช่นนี้ บ้างก็ว่าเป็นเพราะพวกเขา มีหน้าที่การงานที่มั่นคงมากขึ้น หรือเป็นเพราะอิทธิพลจากกระแสเศรษฐกิจ มีหลายฝ่ายวิเคราะห์สาเหตุความเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ อีกอย่างคือ ครอบครัวมีอิทธิพลต่อความคิดและพฤติกรรมทางการเมืองของคนกลุ่มนี้ค่อนข้างมาก กล่าวคือ เมื่อคนเหล่านี้มีครอบครัว มีลูกหลานว่านเครือ พวกเขาเห็นว่าครอบครัวของตนควรมาเป็นอันดับแรก เป็นเหตุให้คนส่วนหนึ่งในกลุ่มนี้หันไปสนใจในประเด็นศีลธรรมหรือแม้กระทั่งศาสนามากขึ้นจากเดิมที่พวกเขาไม่เคยแคร์เอาเลย

ประเด็นนี้วิเคราะห์กันว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เสรีชนในอเมริกาสวิงไปสู่อนุรักษ์นิยมชนกันมากขึ้นในช่วงบั้นปลายของชีวิต และเป็นสาเหตุให้เกิดประธานาธิบดีทรัมป์ขึ้นในปี 2016 ส่วนปัญหาปัจจุบันในอเมริกา เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาต่างด้าว ปัญหาการก่อการร้าย จนส่งผลให้เกิดความคิดชาตินิยมมากขึ้นนั้น เป็นอีกหนึ่งประเด็นเดียวกัน

ที่สำคัญไปกว่านี้และสัมพันธ์กับงานวิจัยข้างต้น ก็คือ ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นในอเมริกาที่เดียว หากเกิดขึ้นในยุโรป รากเหง้าของเสรีนิยมด้วย แม้นางเลอแปน จะไม่ได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้นำของฝรั่งเศสเท่านายมาครง แต่การสัประยุทธ์ทางการเมืองในดินแดนฝรั่งเศสครั้งนี้ก็แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่แสดงถึงความคึกคักเข้มแข็งของฝ่ายอนุรักษ์นิยมอย่างน่าสนใจยิ่ง

ยิ่งการถอนตัวออกจากสภาพยุโรป ที่แสดงถึงพลังอำนาจของฝ่ายอนุรักษ์นิยมในอังกฤษ ประเทศต้นแบบประชาธิปไตยแห่งนี้ที่นับเป็นตัวอย่างสำคัญเกี่ยวกับท่าทีอันเกี่ยวเนื่องกับกระแสโลกที่ผูกติดกับระบอบการปกครองแบบเสียงส่วนใหญ่หรือประชาธิปไตย

มิใช่อนุรักษ์นิยมในแบบอำนาจนิยมเช่นในบางประเทศ แต่เป็นความยินยอมพร้อมใจในแง่ของมติมหาชนหรือประชามติ เป็นความต้องการ หรือเจตนารมณ์ของคนส่วนใหญ่เจ้าของประเทศ

กระแสนุรักษ์นิยมตั้งแต่อเมริกายันยุโรปในตอนนี้ จึงเสมือนการหวนกลับของสายลมอนุรักษ์นิยมแบบเดียวกับช่วงหลังสมัยกลาง สมัยต้นกำเนิดประชาธิปไตย หลังจากโลกาภิวัตน์จ่อคิวครอบงำยุคสมัยอยู่ร่อมร่อ

เป็นการกลับไปสู่ความเป็นตัวของตัวของทั้งปัจเจกและสังคมในขณะที่อัตลักษณ์กำลังใกล้เลือนหาย เหมือนที่สังคมอเมริกันในสมัยนี้กำลังแสวงหา และทรัมป์เองจับจุดนี้ได้ และเป็นเหตุนำเขาไปสู่ความสำเร็จในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ผ่านมา

กระแสอนุรักษ์นิยมที่เกิดขึ้น จึงไม่ใช่สาเหตุจากผู้อพยพและผู้ก่อการร้ายเพียงอย่างเดียว แต่สังคมอเมริกันต้องการคงอัตลักษณ์ของพวกเขาเอาไว้ ในขณะที่อเมริกาเป็นหัวหอกของวัฒนธรรมเสรีนิยมมานานหลายทศวรรษ ดังนั้นปรากฏการณ์นี้จึงเป็นปรากฏการณ์ธรรมดา และในยุคทรัมป์ก็ไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงมากไปกว่ายุคคลินตันยุคจอร์จ ดับเบิลยู บุช หรือยุคโอบามา ยังไงก็ไม่พ้นรีพับลิกันกับเดโมแครต

เพราะความจริงแล้วไม่มีอะไรที่แตกต่างกันมากและแตกต่างอย่างจริงจังระหว่างสองพรรค ทรัมป์เองก็ขยับไม่ได้มาก หากปราศจากความร่วมมือของพรรคโมแครต และแล้วกำแพงกั้นพรมแดนเม็กซิโกกับอเมริกาก็อาจไม่ได้สร้างดังการการเสียงของทรัมป์ เมื่อคำนึงถึงผลได้ผลเสียทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ถ้าสมาชิกคองเกรสใคร่ครวญดูแล้วระบบปลอดภัยชายแดนที่ทุ่มไปกับการใช้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงความมั่นคงภายในแบบเดิมดีอยู่แล้ว ดีกว่าเอาเงินงบประมาณจำนวนมากไปโยนทิ้งเฉยๆ

สส. Dana Rohrabacher ในฐานะสมาชิกคองเกรส และกรรมาธิการนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ พรรครีพับลิกันก็ไม่แสดงว่า เขาเห็นด้วยกับเรื่องนี้ ทั้งที่ Rohrabacher เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการสนับสนุนนโยบายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของทรัมป์มาตลอด รวมทั้งการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับเวียดนามและประเทศอาเซียนต่างๆ เพราะก่อนหน้านี้ คองเกรสแมน Rohrabacher ลงทุนฝังคนของเขาไว้แทบทุกประเทศอาเซียน รวมถึงประเทศไทยในนามของ "แหล่งข้อมูล"ที่สำคัญของอเมริกา ดังที่เขามีที่ปรึกษา "อัล/อัลเบิร์ต ซานโตลี" อยู่ในฟิลิปปินส์ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา

มิหนำซ้ำความสัมพันธ์ระหว่าง Rohrabacher กับทรัมป์ยังเป็นเครื่องพิสูจน์ด้วยว่า  ทรัมป์หาใช่พวกบ้าระห่ำแต่อย่างใดไม่ หากเขาฟังคนที่มีข้อมูลเอเชียมากอย่าง Dana Rohrabacher ด้วยความสุขุมรอบคอบ รวมถึงการตัดสินใจกรณี "เกาหลีเหนือ"

เท่ากับพิสูจน์ว่ากระแสอนุรักษ์นิยมในอเมริกามิใช่เรื่องน่าเกลียดที่จะเอาไปเปรียบเทียบได้กับกระแส "อำนาจนิยม" เช่นบางประเทศ แต่เป็นกระแสของการหวนคืนความมีอัตลักษณ์ของผู้คนในประเทศนี้เท่านั้น.

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครูสอนตาดีกาสะบ้าย้อย ถูกอุ้มระหว่างทาง 'ทหาร-ตำรวจ' ปฏิเสธไม่เกี่ยวข้อง

Posted: 15 May 2017 12:22 PM PDT

ดาโหะ มะถาวร ครูสอนตาดีกา สะบ้าย้อย จ.สงขลา ถูกอุ้มระหว่างเดินทางกลับบ้าน ทหาร-ตำรวจ ปฏิเสธ ไม่ใช่ฝีมือตน ผู้ใหญ่บ้านยันเจ้าตัวไม่เคยมีปัญหากับใครในหมู่บ้าน ขณะที่ต่อมาเจ้าตัวโทรติดต่อระบุปลอดภัย 

ดาโหะ มะถาวร ผู้อำนวยการและครูสอนโรงเรียนตาดีกาประจำหมู่บ้านทุ่งพอ (ต้นกุล) 

15 พ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการแชร์ข้อมูลการหายตัวในสื่อโซเชียลมีเดียของครูสอนตาดีกา ดาโหะ มะถาวร ผู้อำนวยการและครูสอนโรงเรียนตาดีกาประจำหมู่บ้านทุ่งพอ (ต้นกุล) ม.3 อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ถูกอุ้มระหว่างทาง หลังกลับจากร้านน้ำชาในหมู่บ้าน  ตั้งแต่ คืนวาน (14 พ.ค.60) จนล่าสุดยังไม่แน่ชัดว่าเขาอยู่ที่ไหน และเป็นอย่างไร

ผู้สื่อข่าวสอบถาม ตอปา แหละสมสา ผู้ใหญ่บ้าน ม.3 อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เปิดเผยว่า คนในหมู่บ้านเห็น ดาโหะ ครั้งสุดท้ายที่ร้านน้ำชาในหมู่บ้านช่วงเวลา 20.00 น. หลังจากนั้นยี่สิบนาทีเขาขับมอเตอร์ไซต์กลับบ้านแต่ไม่ถึงบ้าน ครอบครัวก็ตามหากัน โทรศัพท์ไปก็ไม่ติด แต่ต่อมาประมาณเที่ยงคืนเขาโทรกลับมาหาภรรยาว่ามีกลุ่มคนปิดหน้าขับรถยนต์ปาดหน้าก่อนถึงหน้าบ้านพร้อมเอาปืนมาจ่อที่ตัวโดยที่เขาเองก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร และบอกไม่ได้เหมือนกันว่าตอนนี้เขาอยู่ที่ไหน เพราะถูกปิดหน้า แต่หลังจากนั้นก็ติดต่อกลับไปไม่ได้

วันนี้ (15 พ.ค.60) ประมาณตีสี่ เขาโทรมาอีกครั้งหนึ่งบอกว่าตอนนี้ตนปลอดภัย ไม่ต้องเป็นห่วง เดียวก็ได้รับการปล่อยตัวแล้ว และบอกอีกว่าอาจจะเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร

ตอปา เปิดเผยเพิ่มเติมว่า เมื่อเช้าตนไปถามข้อมูลที่หน่วยเฉพาะกิจสงขลา ต.ท่าม่วง อ.เทพา จ.สงขลา ได้ความว่า ไม่ใช่ฝีมือของเจ้าหน้าที่ทหาร เพราะทหารไม่มีทางทำอย่างนี้

"ผมจึงไปถามที่ค่ายตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43 ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา  ก็ได้คำตอบมาเหมือนกัน เจ้าหน้าที่บอกว่าที่ค่ายนี้ไม่มีคนชื่อนี้ สรุป คือตอนนี้ยังไม่ทราบว่าใครจับตัวเขาไป และไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนด้วย" ตอปา พร้อมระบุว่า ตนขอยืนยันว่าดาโหะไม่เคยมีปัญหากับใครในหมู่บ้าน เรื่องยาเสพติดไม่มีแน่นอน ส่วนเรื่องคดีความมั่นคงที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีหมาย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ฟ้องกลับเหมืองทอง หลังศาลยกฟ้องกรณีทำป้าย “หมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมืองแร่”

Posted: 15 May 2017 10:18 AM PDT

ชาวบ้านนาหนองบง ขึ้นศาลเป็นโจทก์ฟ้องกลับบริษัททุ่งคำฯ หลังศาลพิพากษายกฟ้องคดี เหมืองฟ้องหมิ่นประมาท กรณีชาวบ้านทำป้ายติดในหมู่บ้านว่า หมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมือง" - ปิดเหมืองฟื้นฟู" ด้านขบวนการอีสานใหม่ออกแถลงการณ์ครบรอบ 3 วัน "วันขนแร่เถื่อน"

ภาพจาก นักข่าวพลเมือง Thai PBS

15 พ.ค. 2560 นักข่าวพลเมือง Thai PBS รายงานว่า เวลา 09.00 น. ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย เดินทางไปที่ศาลจังหวัดเลย ในคดีตัวแทนชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ 6 คน ฟ้องกลับต่อบริษัท ทุ่งคำ จำกัด จากคดีที่บริษัทฯ ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายชาวบ้าน 50 ล้านบาท กรณีการทำป้าย "หมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมือง" ที่ซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้าน และป้าย "ปิดเหมืองฟื้นฟู" ริมถนนสาธารณะในหมู่บ้าน .

ต่อมาเวลา 11.00 น. ศาลนัดไกล่เกลี่ยโจทก์และจำเลย และเปิดให้จำเลยยื่นคำให้การ แต่ในวันนี้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลเลื่อนสั่งสืบพยานฝ่ายโจทก์ โดยให้ฝ่ายโจทก์ทำบันทึกคำให้การมา และนัดสืบเฉพาะแค่โจทก์ 6 คน ในวันที่ 20 มิ.ย. 2560

ส.รัตนมณี พลกล้า ผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ทนายความของโจทก์ระบุว่า การที่ทางฝ่ายจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ หมายความว่าจำเลยไม่มีสิทธิที่จะมาโต้แย้งในภายหลัง

คดีดังกล่าว สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อปี 2558 ชาวบ้านได้ร่วมกันทำซุ้มประตูหมู่บ้านและได้เขียนข้อความดังกล่าวติดโดยรอบหมู่บ้าน ถือเป็นกิจกรรมรณรงค์ร่วมกันของคนในชุมชน แต่ถูกทางบริษัท ทุ่งคำ จำกัดกล่าวหาว่า การกระทำของจำเลย 6 คน ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน จงใจละเมิดต่อบริษัทฯ ทำให้ได้รับความเสียหาย จึงเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวน 50 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี จากเงินต้น และให้รื้อถอนป้ายดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2559 ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้อง โดยมีคำวินิจฉัยว่า การกระทำของชาวบ้านดังกล่าวไม่มีการปิดล้อมเหมือง และไม่ได้ขัดขวางการดำเนินงานของโจทก์ แต่กลับเป็นเพียงข้อเรียกร้องการแก้ปัญหา จึงเป็นการแสดงความเห็นและเสนอไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ที่มีอำนาจแก้ใจปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน นับได้ว่าเป็นการกระทำโดยชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ เป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต จึงไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและไม่เป็นการละเมิดโจทก์ อย่างไรก็ตามบริษัทได้ยื่นอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2559

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2560 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษาระบุว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 6 คนไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน ให้โจทก์ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้ง 6 คน โดยกำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้รวม 300,000 บาท

ตัวแทนชาวบ้านรายหนึ่งกล่าวว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ฟ้องกลับบริษัทน เพราะที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ฟ้องร้องคดีทั้งแพ่งและอาญาต่อชาวบ้านหลายสิบคดี ซึ่งส่วนใหญ่ฟ้องเสมือนกลั่นแกล้งหรือแกล้งฟ้องให้ชาวบ้านเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย เสียขวัญกำลังใจและเสียความรู้สึก การที่ชาวบ้านฟ้องกลับย่อมมีความหมายที่สำคัญในสิทธิโดยสุจริตใจของชาวบ้านในการปกป้องและรักษาบ้านเจ้าของ

ขณะเดียวกัน ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจขบวนการอีสานใหม่ ได้ออกแถลงการณ์ ครบรอบ 3 ปีวันขนแร่เถื่อน 15 พฤษภาคม โดยขอประนามการกระทำของผู้อยู่เบื้องหลังและรู้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าว โดยมีรายละเอียดดังนี้

แถลงการณ์ขบวนการอีสานใหม่
ครบรอบ 3 ปีวันขนแร่เถื่อน 15 พฤษภาคม

กลางดึกวันที่ 15 พฤษภาคม เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ณ บ้านนาหนองบง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ประเทศไทย ได้เกิดเหตุการณ์โหดร้ายป่าเถื่อนโดยกลุ่มชายฉกรรจ์ใส่หมวกอีโม่งพร้อมอาวุธครบมือ จำนวนสองร้อยกว่าคน บุกจู่โจมจับชาวบ้านมัดมือมัดเท้า ทุบตีทำร้ายชาวบ้านที่พยายามต่อสู้เพียงเพื่อต้องการขนสินแร่ ที่อยู่ในเหมืองทองคำซึ่งดำเนินการโดยบริษัททุ่งคำ จำกัด โดยที่ชาวบ้านไม่ได้รับการปกป้องดูแลจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด มิหนำซ้ำยังถูกกระทำจากบุคคลซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเสียเอง นับเป็นเหตุการณ์ที่น่าอัปยศของสังคมที่อ้างตนว่าเป็นคนดีและมีประชาธิปไตยยิ่งนัก

ในนามขบวนการอีสานใหม่ขอประนามการกระทำของผู้อยู่เบื้องหลังและรู้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ทุกคน และประกาศถึงเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ และรัฐบาลที่มาจากการปล้นชิงอธิปไตยของประชาชนว่า เราจะยืนหยัดต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่พี่น้องสามัญชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสจากการกระทำอันป่าเถื่อนของทั้งเจ้าหน้าที่รัฐหรือบริษัทนายทุนต่างๆ และไม่ยอมให้ใครมาปล้นชิงทรัพยากรธรรมชาติของประชาชน โดยเอื้อประโยชน์เข้าตัวเองและพวกพ้อง แต่ทิ้งความทุกข์มหาศาลให้พี่น้องประชาชนเป็นคนรับเป็นอันขาด

ด้วยหัวใจอันเคารพ เชื่อมั่นในหลักการสิทธิมนุษยชน และวิถีประชาธิปไตย

ขบวนการอีสานใหม่
15 พฤษภาคม 2560

สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2557 ในเวลา 22.00 น.ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ แจ้งว่า มีกลุ่มชายฉกรรจ์คลุมผ้าปกปิดใบหน้านับร้อยคน พร้อมอาวุธคือท่อไม้ บุกเข้าชาร์จชาวบ้านซึ่งเป็นยามอาสาเฝ้าบริเวณป้อมยามหมู่บ้าน หรือ 'กำแพงใจ' ทั้ง 3 จุด ซึ่งเป็นจุดที่ใช้ดูแลกำแพงที่สำหรับขวางรถบรรทุกที่จะผ่านหมู่บ้านเพื่อ เข้าเหมืองแร่ทองคำ

กลุ่มชายฉกรรจ์ดังกล่าวเข้ารือกำแพงและมีการยิงปืนขึ้นฟ้าเป็นระยะ พร้อมทั้งจับตัวนายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ และนายสมัย ภักมี ซึ่งเป็นแกนนำชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดไว้ด้วย

ต่อมาเมื่อเวลา 01.30 น.(16 พ.ค 2557.) นางวิรอน รุจิไชยวัฒน์ อายุ 43 ปี แกนนำชาวบ้าน เล่าว่า ขณะนี้ยังมีการตะลุมบอนกันอยู่ระหว่างชาวบ้านกับกลุ่มชายฉกรรจ์ดังกล่าว ซึ่งจุดที่เธออยู่มีกลุ่มชายฉกรรจ์ดังกล่าวประมาณ 50 คน โดยมีการใช้ไม้และยิงปืนขู่ และจับชาวบ้านไปด้วย  พร้อมทั้งมีการนำรถบรรทุกขนแร่ออกไปแล้ว 3-4 คัน

นางวิรอน กล่าวด้วยว่า ได้แจ้งตำรวจและนายอำเภอ ตั้งแต่เกิดเหตุเวลา 22.00 น. ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลในพื้นที่เกิดเหตุเลย

ต่อมาเวลา 02.00 น. ของวันที่ 16 พ.ค. 2557 มีรายงานว่า ภายในชุมชนมีเสียงปืนดังเป็นระยะ มีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บสาหัส 1 ราย ได้นำส่งโรงพยาบาลไม่ได้เนื่องจากถูกชายฉกรรจ์ปิดล้อม ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามเข้าพื้นที่ แต่ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์อีกกลุ่มขวางไว้

เวลา 3.45 น. มีรายงานว่า ชาวบ้านที่ถูกจับกุมไว้บางส่วนถูกปล่อยตัวแล้ว โดยชาวบ้านได้สำรวจพบว่ามีอีกเกือบ 10 คนที่ยังไม่พบตัว รวมทั้งนายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ แกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด้วย

ชาวบ้านที่ถูกปล่อยตัวออกมาเล่าให้ฟังว่า ขณะถูกจับตัวไว้นั้น ได้มีการมัดมือมัดเท้าและใช้ปืนขู่ ส่วนคนที่หายไปนั้นชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า ได้มีการเคลื่อนย้ายคนเหล่านั้นออกไป แต่ไม่ทราบจุดหมายปลายทางว่าจะนำตัวไปไว้ที่ใด ขณะที่รถพ่วงยังคงขนแร่อยู่ ขนออกไปแล้วประมาณ 10 คัน โดยชายที่เข้ามาไม่ต่ำกว่า 300 คน กระจายตัวอยู่ตามจุดตรวจและตามป่า

เวลา 4.30 น. ชาวบ้านได้รับการปล่อยตัว ชายฉกรรจ์สลายตัวออกจากพื้นที่หลังรถบรรทุกแร่คันสุดท้ายออกจาก บจก.ทุ่งคำ ชาวบ้านสำรวจพื้นที่พบปลอกกระสุน 9 มม. อย่างน้อย 3 ปลอก

สรุปยอดคนเจ็บไปโรงพยาบาลอย่างน้อย 7 คน และมีชาวบ้านบาดเจ็บเล็กน้อยไม่ได้ไป โรงพยาบาลอย่างต่ำ 20 คน ทั้งนี้มีชาวบ้านบางคนถูกเตะตาบวม ถูกไม้ตีทั้งตัว บางคนหัวแตก พร้อมระบุด้วยว่ามียายคนหนึ่งถูกกดหน้าบนพื้นแล้วเหยียบ 

ในระหว่างเกิดเหตุ ชาวบ้านโทรแจ้งตำรวจเพื่อขอความช่วยเหลือจาก สภ.อ.วังสะพุง แต่มีตำรวจเดินทางเข้าพื้นที่เพียง 2 นายและอ้างว่าไม่สามารถกระทำการใดได้เนื่องจากมีชายฉกรรจ์ปิดล้อมพื้นที่จำนวนมาก

ทั้งนี้ในพื้นที่ดังกล่าวข้อพิพาทระหว่างกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่กับบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานทำเหมืองแร่ทองคำดังกล่าว โดยชาวบ้านได้สร้างกำแพงขึ้นมาขวางทางรถบรรทุกหลังจากที่ชาวบ้าน 6 หมู่บ้านใน ต.เขาหลวง ทำประชาคมหมู่บ้านเมื่อวันที่ 6 ก.ย.56 และได้มี 'ระเบียบชุมชนว่าด้วยการใช้ถนนชุมชนและการควบคุมน้ำหนักบรรทุก' ซึ่งมีข้อห้ามที่ตกลงกันว่า ห้ามรถบรรทุกหนักเกิน 15 ตัน และการขนสารเคมีอันตรายเข้ามาในชุมชน เพื่อป้องกันสุขภาพและความปลอดภัยของคนในชุมชน และหลังจากออกระเบียบชุมชนดังกล่าวชาวบ้านจึงร่วมกันสร้างแนวกำแพงเพื่อ ป้องกันไม่ให้รถบรรทุกผ่านทางสาธารณะบริเวณสี่แยกที่ตัดกับทางเข้าเหมือง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พล.ต.ท.ศานิตย์ แจงเหตุโรงละครแห่งชาติจนมีผู้เจ็บ 2 ราย แค่ท่อพีวีซี ไม่มีการวางระเบิด

Posted: 15 May 2017 09:46 AM PDT

ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ยันไม่มีการวางระเบิด ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก แค่ท่อพีวีซีแตก ส่วนวัตถุต้องสงสัยบริเวณศูนย์การค้าเจเจมอลล์ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายในพบมีของเล่นบรรจุอยู่

15 พ.ค. 2560 กรณีเกิดเหตุเสียงดังคล้ายระเบิดบริเวณหน้าโรงละครแห่งชาติ ใกล้สนามหลวง เมื่อเวลาประมาณ 20.15 น. จนทำให้มีผู้บาดเจ็บ 2 รายนั้น ทราบชื่อต่อมา คือ จันทร์เพ็ญ วุฒิเอกไพบูลย์ อายุ 54 ปี มีอาการหูอื้อ และมีรอยถลอกที่แขนซ้าย และ กัญชนา บุญชีพ อายุ 38 ปี ทั้งสองรายได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดท่อพีวีซีที่ขาด้านขวา และขาซ้ายมีรอยช้ำ หูอื้อ เบื้องต้นถูกส่งตัวไปปฐมพยาบาลที่เต้นท์ของกองทัพบก

พ.ต.อ.กำธร อุ่ยเจริญ ผู้กำกับกลุ่มงานเก็บกู้ตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด หรือ EOD  กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ท่อดังกล่าวเป็นฐานค้ำป้ายแสดงแผนผังทำด้วยพลาสติก พบว่ามีเศษท่อพีวีซี.ตกอยู่ มีรอยแตกแต่ไม่ได้เกิดจากการใช้ดินปืน ทั้งยังไม่พบเขม่าดินปืนที่จุดดังกล่าวแต่อย่างใด จึงไม่ใช่การวางระเบิด หรือประทัดยักษ์ทั้งสิ้น แต่คาดว่าเกิดจากการที่ท่อพีวีซีเก่า และมีลมพัดเข้าไปในท่ออย่างต่อเนื่อง จนทำให้แกนท่อบิดและเกิดการระเบิดขึ้นมา

พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นทราบว่า จุดดังกล่าวเป็นที่วางป้ายแสดงแผนผัง ซึ่งมีการใช้ท่อพีวีซีในการยึดป้ายกับต้นไม้ เพื่อป้องกันการล้มลง ที่ดินด้านล่างพบเศษท่อพีวีซีตกอยู่ ตรวจสอบเบื้องต้นมีลักษณะเป็นแกนแบบสามเหลี่ยมที่ใช้เป็นฐานในการค้ำป้าย โดยยืนยันว่าไม่มีการวางระเบิดแต่อย่างใด ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ส่วนสาเหตุที่เกิดระเบิดขึ้นนั้นต้องให้นักวิทยาศาสตร์หรือผู้ที่มีความรู้ตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งว่าเพราะเหตุใดท่อจึงเกิดระเบิดขึ้น

กัญชนา ผู้บาดเจ็บ กล่าวว่า ขณะที่ตนเคารพพระบรมศพเสร็จ ก็เดินทางมารอรถเมล์ที่จุดดังกล่าว ขณะที่ยืนรอกับกลุ่มเพื่อนอีก 10 คน ขณะนั้นไม่มีลมพัดแต่อย่างใด จู่ๆ เกิดเสียงดังคล้ายขึ้น และมีควันสีขาวลอยขึ้นบนต้นไม้ จนทำให้ตนหูอื้อ และพบว่าที่ขามีบาดแผล ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะพาไปปฐมพยาบาล เบื้องต้นเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างตรวจสอบว่าสาเหตุการระเบิดเกิดจากสาเหตุใด ก่อนจะสรุปผลต่อไป

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังตรวจพบวัตถุต้องสงสัยบริเวณศูนย์การค้าเจเจมอลล์ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายในพบมีของเล่นบรรจุอยู่

ที่มา : คมชัดลึกออนไลน์ และไทยพีบีเอส

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รำลึก 7 ปี 'เฌอ' เด็กหนุ่มวัย 17 ปี ถูกยิงเสียชีวิตช่วงสลายแดง

Posted: 15 May 2017 09:11 AM PDT

ครอบครัวและเพื่อน ร่วมรำลึก 7 ปี สมาพันธ์ ศรีเทพ หรือ 'เฌอ' เด็กหนุ่มวัย 17 ปี ถูกยิงเสียชีวิต ช่วงสลายแดง ถ.ราชปรารภ ขณะที่ จทน. นำรั้วแผงเหล็กกั้นบริเวณรอบหมุดสัญลักษณ์ที่ระบุที่เฌอถูกยิง พร้อมเฝ้าสังเกตการณ์ร่วมหลายสิบนาย

15 พ.ค. 2560 ที่บริเวณบาทวิถีตรงข้ามสถานีจำหน่ายนำมันเชลล์ ถนนราชปรารภ หรือ 'หมุดเฌอ' ซึ่งเป็นจุดที่ สมาพันธ์ ศรีเทพ หรือ 'เฌอ' เด็กหนุ่มวัย 17 ปี ขณะนั้น ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อช่วงสายวันที่ 15 พ.ค. 53 เหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง

ภาพจาก เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'พลเมืองโต้กลับ Resistant Citizen'

โดยวันนี้ (15 พ.ค.60) เวลา 19.59 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'พลเมืองโต้กลับ Resistant Citizen' โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า ครอบครัวและประชาชนร่วมรำลึก 'เฌอ' ณ จุดเกิดเหตุดังกล่าว  

Voice TV รายงานด้วยว่า ก่อนเริ่มกิจกรรมในเวลาประมาณ 18.00 น. เจ้าหน้าที่ได้นำรั้วแผงเหล็กสี่แผงเข้ามากั้นบริเวณรอบหมุดสัญลักษณ์ที่ระบุตำแหน่งการเสียชีวิตของ เฌอ พร้อมจัดกำลังทั้งในและนอกเครื่องแบบเฝ้าสังเกตการณ์ร่วมหลายสิบนาย

พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ บิดาของเฌอ เดินทางมาถึงในเวลาประมาณ 19.00 น. ก่อนร่วมขัดทำความสะอาดหมุด พร้อมวางดอกไม้พวงมาลัยและจุดเทียนรำลึกถึงผู้เสียชีวิต และตั้งวงรับประทานอาหารร่วมกัน

ทั้งนี้ ช่วงสาย ของวันที่ 15 พ.ค. 53 นอกจาก 'เฌอ' ถูกยิงเสียชีวิตแล้ว บริเวณดังกล่าว ห่างประมาณ  10 เมตร สุภชีพ จุลทรรศน์ คนขับรถแท็กซี่ วัย 36 ปี ถูกยิงด้วยกระสุนลูกโดดความเร็วสูงเข้าที่ศีรษะ เสียชีวิต และ อำพล ชื่นสี ถูกยิงเข้าที่ช่องท้องเสียชีวิตและมีผู้บาดอีกหลายคน โดยจากรายงาน "ความจริงเพื่อความยุติธรรม : เหตุการณ์และผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา – พฤษภา 53" ของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 หน้า 285 ระบุว่า เป็นจังหวะที่ผู้ชุมนุมพยายามเดินรุกเข้าไปบนสองฝั่งถนน จากด้านสามเหลี่ยมดินแดงมุ่งหน้าไปยังบริเวณปั๊มเอสโซ่ (ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนเป็นคาลเท็กซ์) ในช่วงเวลา 8.00 น. ของวันนั้น โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ก่อนที่จะถูกยิงสวนจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บดังกล่าว ด้านคดีความของทั้ง 3 คนยังไม่มีความคืบหน้า

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: สงครามแย่งชิงอดีต

Posted: 15 May 2017 06:57 AM PDT



       
อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุลโพสต์ในเฟซบุ๊กของท่านว่า ที่จริงแล้วชนชั้นนำไทยเลิกสนใจการปฏิวัติใน 2475 ไปนานแล้ว ดังนั้นหมุดคณะราษฎรจึงไม่มีความหมายอะไร ในความเป็นจริงก็ไม่ค่อยมีใครสังเกตเห็นด้วยซ้ำ แต่เพราะเสื้อแดง(ส่วนหนึ่ง)ไปรื้อฟื้น 2475 ขึ้นมาเป็นเครื่องมือการต่อสู้ทางการเมืองที่ปลอดภัยกว่า จึงทำให้ 2475 เป็นประเด็นการเมืองที่กลับมีชีวิตขึ้นใหม่ และหมุดเล็กๆ ที่ไม่ค่อยมีใครเห็น กลับทิ่มแทงตาของชนชั้นนำขึ้นมาใหม่

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ปิยบุตรทั้งหมด เมื่อมอง 2475 และหมุดคณะราษฎรจากมุมมองความขัดแย้งทางการเมืองในรอบ 10-20 ปีที่ผ่านมา แต่ถ้าไม่มองจากมุมมองนี้ หมุดคณะราษฎรและ 2475 อาจมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง

นับตั้งแต่การรัฐประหารที่ได้รับความร่วมมือจากกลุ่มนิยมเจ้าใน พ.ศ.2490 มาจนถึงทศวรรษ 2520 ประวัติศาสตร์ 2475 ถูกครอบงำด้วยโครงเรื่องที่ฝ่าย"สีน้ำเงิน"ผูกขึ้น การยึดอำนาจด้วยวิธีรัฐประหารในวันที่ 24 มิถุนายน กลายเป็นเรื่องร้อนวิชาของนักเรียนนอกไม่กี่คน โดยไม่ตระหนักถึงความไม่พร้อมต่างๆ ของสังคมไทย และแผนการของพระปกเกล้าฯ ที่จะค่อยๆ นำประชาธิปไตยมาสู่บ้านเมืองอย่างเป็นขั้นเป็นตอน การต่อสู้ทัดทานของคนที่เห็นแก่ประโยชน์บ้านเมืองฝ่ายราชสำนัก ทั้งโดยถูกกฎหมายและผิดกฎหมายเช่นยกกำลังทหารออกมาก่อกบฏ ประสบความล้มเหลว จนพระปกเกล้าฯ ต้องกลายเป็น"ราชันย์ผู้นิราศ"ไป

นักประชาธิปไตยที่แท้จริง ถูกนักประชาธิปไตยจอมปลอมรังแกจนย่อยยับ และนำประเทศไปสู่ความมืดมนอนธกาลสืบมา คือท้องเรื่องหลักของการปฏิวัติ 2475 ที่คนไทยจำนวนมากได้เรียนรู้

ไม่ต้องเตือนก็คงเห็นได้ว่า ประวัติศาสตร์แบบนี้มีส่วนช่วยการฟื้นฟูบทบาททางการเมืองของชนชั้นนำตามประเพณีอย่างไร ยิ่งหลัง 2500 เมื่อคณะทหารที่ยึดอำนาจใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อให้ความชอบธรรมแก่อำนาจเผด็จการของตน ประวัติศาสตร์แบบนี้ยิ่งช่วยเสริมระบอบเผด็จการของผู้นำกองทัพซึ่งเป็นอัครมหาเสนาบดีไปพร้อมกัน และอย่างไม่มีวันสิ้นสุดด้วย

ในช่วงเดียวกันนี้ งานเขียนที่ไม่อยู่ในกรอบโครงเรื่องของฝ่าย"สีน้ำเงิน"ก็มีบ้างเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดอยู่ในภาษาต่างประเทศ เช่นวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ได้พิมพ์หรือไม่ได้พิมพ์เป็นหนังสือในภายหลัง ส่วนหนังสือที่เขียนมาก่อน 2490 แทบไม่ได้ถูกพิมพ์ขึ้นใหม่ ยกเว้นของนักเขียนที่ขายดีเช่นศรีบูรพาหรือมาลัย ชูพินิจ ดังนั้นจึงเป็นเวลาหนึ่งชั่วอายุคนที่คนไทยถูกประวัติศาสตร์สำนวนของ"สีน้ำเงิน"ครอบงำ จนทำให้เกิดนวนิยายอิงประวัติศาสตร์การเมือง 2475 อีกหลายเรื่องตามมา นับตั้งแต่ สี่แผ่นดิน จนเรื่องที่เขียนหลังทศวรรษ 2520 ซึ่งก็เล่าเหตุการณ์และพฤติกรรมของตัวละครให้สอดคล้องกับโครงเรื่องที่ฝ่าย"สีน้ำเงิน"ผูกขึ้น

ที่ชนชั้นนำเลิกใส่ใจกับ 2475 ก็เพราะได้กลบฝังความหมายอื่นๆ ทั้งหมดของการปฏิวัติในครั้งนั้นไปจนไม่เหลืออะไรแล้ว การปฏิวัติได้เกิดขึ้นจริงในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แต่ไร้ความหมายใดๆ ทั้งสิ้นแก่ปัจจุบันและอนาคตของชาติไทย

อย่างไรก็ตาม ในทศวรรษ 2520 ประวัติศาสตร์นิพนธ์ในประเทศไทยได้เปลี่ยนไป นับตั้งแต่การตั้งโจทย์, การอ้างอิงและแหล่งอ้างอิง, เนื้อหา, และวิธีวิเคราะห์ ซึ่งล้วนมีผลต่อกรอบโครงเรื่องของเนื้อหาประวัติศาสตร์อย่างยิ่ง

ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากอะไร เราอาจอธิบายว่ามาจากบุคคลก็ได้ (เช่นจิตร ภูมิศักดิ์, ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ศรีศักร วัลลิโภดม, สุจิตต์ วงษ์เทศ ฯลฯ) เพราะในความเป็นจริง บทบาทของนักประวัติศาสตร์เหล่านี้มีความสำคัญแน่ หรืออาจอธิบายว่ามาจากความเปลี่ยนแปลงในตัวเล่นของการเมืองไทยก็ได้ (กองทัพ, พคท., มหาวิทยาลัยและปัญญาชน, สถาบันพระมหากษัตริย์, และ ฯลฯ) เพราะตัวเล่นเหล่านี้ก็เปลี่ยนบทบาทของตนไปในความเป็นจริง

แต่ที่ผมสนใจ เพราะเห็นว่ามีความสำคัญกว่าคือการตอบรับของคนไทยเอง ไม่ว่าจะดูจากปกหนังสือที่ออกมาและขายได้ในแต่ละปี, จำนวนของผู้เข้าร่วมการสัมมนาทางประวัติศาสตร์ ซึ่งจัดขึ้นบ่อยครั้งมากในรอบปี (ซึ่งต้องคำนึงถึงความยุ่งยากในการจัด และการหาทุน) และการเกิดขึ้นของสถาบันทั้งวิชาการและกึ่งวิชาการที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ล้วนแสดงว่าคนไทยหันมาใส่ใจประวัติศาสตร์มากขึ้น อย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน

และด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงอยากมองหาที่มาของความเปลี่ยนแปลงกว้างกว่าตัวบุคคล หรือตัวเล่นของการเมืองไทย และผมคิดว่า 14 ตุลาและ 6 ตุลา ทำให้โครงเรื่องประวัติศาสตร์ที่เล่ากันมาในงานของนักปราชญ์รุ่นก่อน และเป็นหลักในแบบเรียนมานาน พังทะลายลงไปด้วย เพราะอธิบายไม่ได้ว่า เหตุใดในระบอบการุณยภาพของผู้ปกครองซึ่งดำรงมานาน (benevolent despotism) จะเกิดทรราชย์ขึ้นได้อย่างไร และความโหดร้ายป่าเถื่อนกลางเมืองอย่าง 6 ตุลา เป็นผลมาจากอะไร ถ้าเช่นนั้นจะก้าวต่อไปสู่อนาคตได้อย่างไร โดยยังรักษาอัตลักษณ์ของตนไว้ได้ และไม่ต้องฆ่ากันตายลงเป็นเบือ

ผมคิดว่าสำนึกต่อความมืดมนของอนาคตเช่นนี้ต่างหากที่ทำให้สังคมไทยหันมาสนใจอดีต เมื่อไรก็ตามที่เราไม่ได้มองปัจจุบันและอนาคตอย่างที่เคยมองเคยนึก อดีตที่เราเคยใช้ส่องทางก็ไม่อาจทำงานของมันได้อีกต่อไป จำเป็นต้องสร้างอดีตขึ้นมาใหม่ให้เป็นฐานแก่ปัจจุบันที่มองเห็น และอนาคตที่ใฝ่ฝัน

ภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้แหละ ที่คนไทยจำนวนมากกว่าที่เคยมีมาก่อน (แน่นอนไม่ใช่ส่วนใหญ่ และไม่กระทบถึงงานสร้างสรรค์ที่ประชาชนเสพย์ เช่นหนัง, ละครทีวี, นวนิยาย, เพลงป๊อป, ฯลฯ ด้วย) พากันเข้ามามีส่วนร่วมในการผูกโครงเรื่องของอดีตขึ้นมาใหม่ ผ่านวิทยานิพนธ์, งานเขียน, งานสัมมนา, งานสอน และงานวิวาทะ ต่างๆ รวมทั้งการเสพย์งานวิชาการและกึ่งวิชาการ ซึ่งเป็นผลโดยตรงหรือโดยอ้อมของความเปลี่ยนแปลงด้านประวัติศาสตร์นิพนธ์ดังกล่าว

ผมอยากให้สังเกตเนื้อหาของประวัติศาสตร์ไทยส่วนที่ถูกประวัติศาสตร์นิพนธ์ใหม่ทบทวนว่า ล้วนเป็นเรื่องที่กระทบต่อ "ปัจจุบัน"และ"อนาคต"ของสังคมไทยอย่างมากทั้งสิ้น

2475 เป็นหนึ่งในเรื่องที่ถูกทบทวนในงานวิทยานิพนธ์ประวัติศาสตร์จำนวนมาก นำไปสู่การทบทวนสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม ซึ่งจู่ๆ ก็สิ้นสุดลงในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เผยให้เห็นจุดอ่อนและเงื่อนไขที่แวดล้อมระบอบนั้นอยู่มากมายหลายประการซึ่งเคยถูกละเลยในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยมาก่อน รัชสมัยหนึ่งที่ใกล้ 2475 เหมือนกันคือรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ก็ถูกทบทวนในวิทยานิพนธ์ที่ดีเยี่ยมฉบับหนึ่ง ว่าด้วยการใช้จ่ายเงินแผ่นดินในรัชสมัย ซึ่งมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้นำไปเผยแพร่ แม้กระนั้นก็อาจคาดเดาได้เลยว่า รัชสมัยนี้จะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะถูกทบทวนมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แม้รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็มีการศึกษาลงไปในรายละเอียดมากขึ้น ทำให้มองเห็นข้อจำกัดต่างๆ ที่มีอยู่ในการ"ปฏิรูป"ในรัชสมัย ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจากอำนาจจักรวรรดินิยมตะวันตกเพียงอย่างเดียวดังที่เคยกล่าวกันมา แต่เป็นข้อจำกัดที่เกี่ยวกับการเมืองภายใน และสภาพสังคมภายในอีกหลายอย่างซึ่งถูกละเลยมาในงานเขียนรุ่นก่อนหน้านั้น

ทศวรรษ 2520 ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ไม่ว่าผลการศึกษาในช่วงนั้นจะมีคุณภาพมากน้อยเพียงไร แต่การที่นักวิชาการจำนวนมากหันไปให้ความสำคัญแก่"ท้องถิ่น" ได้ดึงเอาผู้คนจำนวนมากที่ถูก"ลืม"ไปแล้ว ให้กลับเข้ามามีบทบาทในประวัติศาสตร์ไทยใหม่อีกครั้่งหนึ่ง ทั้งพ่อค้าท้องถิ่น, กวีท้องถิ่น, จิตรกรท้องถิ่น, สถาปนิกท้องถิ่น, นักการเมืองท้องถิ่น, กบฏท้องถิ่น, ฯลฯ ล้วนเป็นคนที่ห่างไกลจากราชสำนักซึ่งเป็นศูนย์กลางของประวัติศาสตร์แบบเดิม อดีตของ"ชาติ"อีกชนิดหนึ่งกำลังผุดขึ้นมา ซึ่งมีตัวละครที่หลากหลาย ทั้งสูงทั้งต่ำ ทั้งชายทั้งหญิง ทั้งอาจนับได้ว่าเป็นไทยและไม่อาจนับได้ว่าเป็นไทย

น่าสังเกตเป็นพิเศษว่า วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของอาจารย์เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียวชื่อ"รัฐสยามกับล้านนา พ.ศ.2417--2476" ถูกสำนักพิมพ์เปลี่ยนชื่อเป็นเปิดแผนยึดล้านนา เพื่อมุ่งผลการตลาด สอดคล้องกับในช่วงทศวรรษ 2520 นักมานุษยวิทยาท่านหนึ่ง เสนอว่าหากเรามองการขยายอำนาจไปผนวกหัวเมืองประเทศราชเป็นส่วนหนึ่งของพระราชอาณาจักร ในสมัยสมบูรณาญา¬สิทธิราชย์ด้วยทฤษฎี"อาณานิคมภายใน"ของเลนิน จะช่วยให้เข้าใจได้ดีขึ้น

การทบทวนเรื่องของอาณาจักรสุโขทัยก็เกิดขึ้นในช่วงเดียวกัน และเลยต่อมาจนถึงทศวรรษ 2530 สุโขทัยเคยถูกชนชั้นนำใช้เป็นอุดมคติของการปกครองไทย (จึงคลุมอดีต-ปัจจุบัน-อนาคตไว้พร้อมเสร็จ) แต่งานศึกษาในรุ่นหลังทำให้อุดมคตินั้นน่าสงสัยทั้งในแง่ความเป็นจริง และในแง่ว่าจะเป็นอุดมคติแก่รัฐสมัยใหม่ได้อย่างไร ยังไม่พูดถึงข้อสงสัยว่ามีการเสกสรรค์ปั้นแต่งหลักฐาน

โครงเรื่องของอดีตที่ผูกไว้เพื่อจรรโลงรัฐสมัยใหม่ของไทยอันมีมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กำลังถูกสั่นคลอนอย่างหนัก ซึ่งเท่ากับสถานะ, ความศักดิ์สิทธิ์, ความชอบธรรม ฯลฯ ของตำแหน่งต่างๆ ก็ถูกสั่นคลอนไปด้วย กองทัพที่สืบทอดมาจากกองทัพของสมเด็จพระนเรศวร กับกองทัพที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่เมื่อวานนี้และเพื่อรักษาอำนาจภายในเท่านั้นด้วย มีความน่านับถือต่างกันไกล

ชนชั้นนำไทยไม่ได้เพียงแต่มองตาปริบๆ กับความเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยเบื้องหน้า พวกเขาเข้าใจดีว่านัยยะของมันคืออะไร จึงพยายามตอบโต้ทัดทานด้วยอำนาจที่อยู่ในมือทุกวิถีทาง

นับตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ผู้นำทางการเมืองไทยหลายคน ทั้งที่ผ่านและไม่ผ่านการเลือกตั้ง เรียกร้องและสั่งการให้นำเอาประวัติศาสตร์โครงเรื่องเดิม กลับเข้ามาในหลักสูตรตั้งแต่ชั้นประถมและมัธยม แทนที่จะรวมวิชานี้ไว้ในหมวดสังคมศึกษา ซึ่งทำให้มีแนวโน้มจะมองอดีตจากมุมมองอื่นๆ ได้มาก

การฟื้นฟูสมเด็จพระเจ้าตากสิน – ในแง่ประวัติศาสตร์, ตำนาน, ศาลและลัทธิพิธี ฯลฯ – ทำให้มีมติ ค.ร.ม.ยกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ขึ้นเป็นมหาราช อันที่จริง"มหาราช"ที่ใช้ในประวัติศาสตร์นิพนธ์ตะวันตก (ซึ่งเราลอกเลียนมา) เป็นเพียงสมญาเท่านั้น เพื่ีอแยกพระเจ้าแผ่นดินชื่อเดียวกันออกจากกัน เช่น Napoleon the Great เป็นจักรพรรดิคนละองค์กับหลาน Napoleon the Little ไม่ใช่ชื่อทางการที่รัฐบาลใดจะแต่งตั้งอดีตกษัตริย์องค์ใดได้ แต่"มหาราช"ในกรณีนี้ เป็นหลักประกันสถานะทางประวัติศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ว่า จะต้องไม่ตกต่ำลงในทางใดเป็นอันขาด ไม่ว่าจะยกย่องสมเด็จพระเจ้าตากสินอย่างไรก็ตาม

จุดสุดยอดของการปกป้องประวัติศาสตร์นิพนธ์เดิม คงเป็นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ตีความว่า ม.112 ในกฎหมายอาญาครอบคลุมถึงอดีตพระมหากษัตริย์ซึ่งมีสายสัมพันธ์ทางเครือญาติกับพระมหากษัตริย์ในปัจจุบันด้วย แต่การดำเนินคดี ม.112 กับคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ฐานดูหมิ่นสมเด็จพระนเรศวร กำลังขยายความในมาตรานี้ไปรวมอดีตพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ (รวมขุนวรวงศาธิราชและพระเจ้าเอกทัศน์ด้วย หรือแม้แต่พระองค์ที่นักประวัติศาสตร์ยังเถียงกันอยู่ว่า มีรัชสมัยนั้นในอยุธยาจริงหรือไม่)

ทั้งหมดเหล่านี้ไม่ได้ขัดขวางการศึกษาประวัติศาสตร์ เพียงแต่ต้องศึกษาตามโครงเรื่องที่นักปราชญ์แต่ก่อนผูกไว้ให้เท่านั้น อย่าถามอะไรมากไปกว่าพระเจ้ารามคำแหงเสด็จไปเมืองจีนหรือไม่ อยุธยาตีนครวัดกี่ครั้งกันแน่ เมืองเชลียงเป็นเมืองเดียวกับเชียงชื่นใช่หรือไม่ ฯลฯ

นอกจาก 2475 และหมุดคณะราษฎร ซึ่งเสื้อแดงใช้เป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้ทางการเมืองแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่เสื้อแดงนำมาใช้มาก ไม่นานมานี้เอง ทหารนายหนึ่งเข้าไปถามเจ้าของร้านค้าแถวฝั่งธนว่า ติดพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินไว้ทำไม

ที่ผมเสนอมาทั้งหมดเหล่านี้ก็คือ ความไม่ลงรอยกันในทรรศนะ (perception) ที่มีต่ออดีต เป็นส่วนหนึ่งของผลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อสังคมไทยเริ่มมีทรรรศนะต่อปัจจุบันและอนาคตแตกต่างกันอย่างหนัก ความไม่ลงรอยนี้เริ่มมาตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาและ 6 ตุลา ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอันไพศาลที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, เศรษฐกิจ, และสังคม-วัฒนธรรม ซึ่งล้วนกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง ไม่เคยมีครั้งไหนที่คนไทยคิดถึงปัจจุบันและอนาคตแตกต่างหลากหลายต่อกันมากเท่านี้ ต่างฝ่ายจึงต้องหันมานิยามอดีต เพื่อกำหนดให้ปัจจุบันและอนาคตเป็นไปตามจินตกรรมของตนเอง

สงครามแย่งชิงอดีตได้เริ่มมานานแล้ว ฝ่ายมีอำนาจใช้อำนาจ ฝ่ายไม่มีอำนาจใช้วิทยาการสมัยใหม่บ้าง บทความยอพระเกียรติบ้าง กวีนิพนธ์บ้าง ภาพยนตร์บ้าง เพลงและดนตรีบ้าง ฯลฯ สงครามนี้ครอบคลุมความขัดแย้งอื่นๆ ไว้อีกมาก

ฝ่ายเสื้อแดงเพียงแต่หยิบฉวยเอาเชลยและสรรพาวุธที่ยึดมาได้จากข้าศึกไปใช้เท่านั้น


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ สั่ง สธ.เกลี่ยตำแหน่งที่ว่างบรรจุพยาบาล วิษณุ เผยได้ข้อยุติไม่ลำบากกับภาระงบฯ

Posted: 15 May 2017 06:41 AM PDT

วิษณุ เครืองาม เผยได้ข้อยุติที่น่าจะแก้ปัญหาได้ไม่ลำบากกับภาระงบประมาณ โดยไม่เดือดร้อนกับพยาบาล ชงเข้า ครม. 16 พ.ค.นี้ ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ สั่งสธ.เกลี่ยตำแหน่งที่ว่างบรรจุพยาบาล

แฟ้มภาพ

15 พ.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือถึงทางออกเรื่องการบรรจุข้าราชการพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขว่า จากการหารือร่วมกับ รมว.สาธารณสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข อุปนายกสภาการพยาบาล เลขาธิการ ก.พ. ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) และกระทรวงการคลัง ได้ข้อยุติที่น่าจะแก้ปัญหาได้ไม่ลำบากกับภาระงบประมาณ  โดยไม่เดือดร้อนกับพยาบาล ทั้งนี้มีหลายทางเลือก แต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด เนื่องจากจะมีการนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วยวาจาในวันที่ 16 พ.ค.นี้ หาก ครม. มีมติไปในแนวทางใด ก็จะทำเอกสารกลับมาให้ ครม. มีมติอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอาจจะใช้เวลาสักนิด แต่ไม่น่ายุ่งยาก เมื่อ ครม. เห็นทางออก และบอกทางออกให้แล้ว 

ต่อกรณีคำถามถึงทางเลือกที่เสนอนั้น เกี่ยวกับการเพิ่มอัตรากำลังข้าราชการหรือไม่ นั้น วิษณุ กล่าวว่า เราเอาคำขอของกระทรวงสาธารณสุขเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาข้อเสนอของบุคคลใดเป็นตัวตั้งหรือองค์กรอื่นใด  เรื่องนี้เริ่มต้นจากคำขอกระทรวงสาธารณสุข เพราะฉะนั้นกระทรวงสาธารณสุขขอมา 10,992 อัตรา แต่ก็ให้กระทรวงไปคิดต่อว่า จะใช้ร่วมกับอัตราตำแหน่งที่ว่างอยู่แล้วได้อย่างไร 

สำหรับคำถามที่ว่าตามที่กระทรวงสาธารณสุขขอมา 10,992 อัตรานั้น ได้ทั้งหมดหรือไม่ นั้น วิษณุ กล่าวว่า ไม่หมด แต่ให้กระทรวงไปสำรวจอีกครั้ง เนื่องจากได้ให้เจ้าหน้าที่ คปร. ทำการบ้าน  จึงพบตัวเลขบางอย่างที่อาจจะยังไม่ตรงกันอยู่ ดังนั้นให้ไปยืนยันกันดู วิธีคิดบางอย่างอาจจะแตกต่างกัน โดยเราให้ไปคิดในระยะยาวด้วย ไม่ใช่แค่ระยะสั้นในปีนี้

โดยรายงานข่าวคมชัดลึกออนไลน์และฐานเศรษฐกิจรายงานตรงกันว่า ในการประชุมครั้งนี้ ได้สรุปตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการ โดยกระทรวงสาธารณสุข นำอัตรากำลังที่ว่างภายในกระทรวง ทำให้สามารถบรรจุพยาบาลได้ประมาณ 2,200 อัตรา ทำให้ตัวเลขอัตรากำลังที่จะเตรียมเสนอขอต่อที่ประชุม ครม. เหลือประมาณ 8,900 อัตรา แบ่งบรรจุ 3 ปี ถือว่า ลดลง แต่เทียบกับที่ขอไปนั้นไม่มาก

ประยุทธ์ สั่งสธ.เกลี่ยตำแหน่งที่ว่างบรรจุพยาบาล

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงปัญหาการบรรจุพยาบาลวิชาชีพว่า รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องนี้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณาอยู่ เพราะทั้งหมดอยู่ในแผนปฏิรูประบบสาธารณสุขทั้งระบบ แต่ปัญหาการอนุมัติที่ไม่ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจน จึงสั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขไปจัดทำรายละเอียด วิธีการการบรรจุคนเข้ารับราชการ เบื้องต้นแนวทางจัดหลักเกณฑ์ คือพิจารณาอัตราว่างจากการเกษียณอายุราชการ และการเกลี่ยตำแหน่ง อย่างกรณีที่ข้าราชการระดับสูงเกษียณอายุราชการ 1 ตำแหน่ง อาจเปิดรับบรรจุข้าราชการระดับล่างทดแทน 4 ตำแหน่ง เป็นต้น

แฟ้มภาพ

"รัฐบาลไม่ได้ละเลย และให้ความสำคัญเป็นพิเศษ แต่ต้องเป็นไปตามขั้นตอน ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีตำแหน่งว่างกว่า 10,000 อัตรา ซึ่งสามารถแปลงมาบรรจุพยาบาลได้ จึงอยากให้นำตำแหน่งนี้มาพิจารณาก่อน ไม่จำเป็นต้องเปิดอัตราใหม่เพื่อรับพยาบาลโดยตรง ขอพยาบาลเข้าใจการทำงานของรัฐบาล อย่าออกมาเคลื่อนไหวเดินขบวน เพราะไม่เกิดประโยชน์ หากช่วยได้รัฐบาลช่วยเต็มที่ ขอให้พยาบาลมีเหตุผล ไม่เช่นนั้นจะตกเป็นเครื่องมือฝ่ายการเมือง ที่มักหยิบยกปัญหาความขัดแย้งมาขยายความให้เป็นประเด็น" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย คมชัดลึกออนไลน์และฐานเศรษฐกิจ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลทหารสูงสุดสั่ง จำคุก 4 ปี 6 เดือน 'ร.ท.ธวัชชัย' คดีคาร์บอมบ์ 'ทักษิณ' ปี 49

Posted: 15 May 2017 05:26 AM PDT

องค์คณะตุลาการศาลทหารสูงสุดมีคำพิพากษาจำคุก 4 ปี 6 เดือน ปรับ 3,000 บาท ร.ท.ธวัชชัย กลิ่นชะนะ จำเลยคดีคาร์บอมบ์ 'ทักษิณ' สมัยเป็นนายกฯ ปี 49 ฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองฯ 

15 พ.ค. 2560 ไทยรัฐออนไลน์และ ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า ที่ศาลทหารสูงสุด องค์คณะตุลาการศาลทหารสูงสุด ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีในคดีดำที่ 35/50 สืบเนื่องจากที่ศาลทหารกรุงเทพเคยมีคำพิพากษา 3 ผู้ต้องหา ได้แก่ จำเลยที่ 1 ร.ท.ธวัชชัย กลิ่นชะนะ อดีตนายทหารสารบรรณที่รับผิดชอบงานในภาคใต้ จำเลยที่ 2 พ.อ.มนัส สุขประเสริฐ อดีตนายทหารรักษาความปลอดภัยผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.รมน.) และจำเลยที่ 3 พ.อ.สุรพล สุประดิษฐ์ หรือ เสธ.ตี๋ อดีตนายทหารแผนกการเงินกอ.รมน. ในคดีข้อหาร่วมกันมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียบเคียง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 236 และมาตรา 63

อีกทั้งร่วมกันเคลื่อนย้ายวัตถุระเบิดและพาไปในเขตเมืองโดยไม่มีเหตุอันสมควร และร่วมกันมียุทธภัณฑ์โดยไม่ได้รับอนุญาต รวมโทษทุกกระทงจำคุกจำเลยทั้ง 3 คน 6 ปี ปรับคนละ 4,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 คือ ร.ท.ธวัชชัย ให้การเป็นประโยชน์จึงให้ลดโทษเหลือ 4 ปี 6 เดือน ปรับ 3,000 บาท เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2552 นั้น ต่อมา ร.ท.ธวัชชัย ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลทหารกรุงเทพต่อศาลทหารสูงสุด โดยในวันนี้ ( 15 พ.ค.60) องค์คณะตุลาการศาลทหารสูงสุดได้พิจารณาและมีคำพิพากษายืนตามองค์คณะตุลาการศาลทหารกรุงเทพให้ลงโทษ ร.ท.ธวัชชัย ตามเดิม คือ จำคุก 4 ปี 6 เดือน ปรับ 3,000 บาท จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวไปที่เรือนจำมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) จ.นครปฐม ทันที

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานพิ่มเติมว่า คดีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2549 หน่วยรักษาความปลอดภัยของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในสมัยเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ตรวจสอบพบรถเก๋งยี่ห้อแดวู สีบรอนซ์เงิน ทะเบียน ฐฉ 3085 กรุงเทพมหานคร จอดอยู่บริเวณข้างสะพานข้ามแยกบางพลัด ซึ่งเป็นเส้นทางที่ขบวนรถของทักษิณต้องผ่าน ทางหน่วยรักษาความปลอดภัยของทักษิณจึงได้ประสานกับหน่วยอรินทราช 191 และตำรวจท้องที่ตรวจค้น จนสามารถจับกุมชายคนหนึ่ง และตรวจค้นรถคันดังกล่าว พบวัตถุระเบิดทีเอ็นที ซีโฟร์ ถังแกลลอนบรรจุน้ำมันเบนซินผสมปุ๋ยยูเรีย แผงวงจรควบคุมระเบิด โดยองค์คณะตุลาการศาลทหารกรุงเทพในขณะนั้น ได้พิจารณามีคำพิพากษาความผิดในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับวัตถุระเบิด แต่ในส่วนข้อหาพยายามฆ่า ทักษิณ นั้นได้พิจารณายกฟ้อง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โครงการ 'เส้นทางสายไหมใหม่' ของจีน : โอกาสและความเสี่ยงจากมุมมองนักวิเคราะห์

Posted: 15 May 2017 05:15 AM PDT

สี จิ้นผิง ระบุเส้นทางสายไหมใหม่ จะเป็นการเชื่อมโยงระดับนานาชาติหลายด้าน แต่ในมุมมองด้านวัฒนธรรมยังมีข้อกังขาจากที่พรรคคอมมิวนิสต์มีท่าทีปิดกั้นต่างชาติมาโดยตลอด และกดขี่ชนกลุ่มน้อยในแถบเส้นทางสายไหมเอง นักเศรษฐศาสตร์มองว่าแม้จะมีความเสี่ยงที่จีนจะกอบโกย แต่ก็เป็นโอกาสที่ดีที่ประชาคมโลกจะได้ร่วมมือกันแสวงหาการตกลงแบบ win-win

สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีประเทศจีน และผู้ร่วมการประชุม "หนึ่งแถบหนึ่งสายทาง" (BRF) ถ่ายรูปร่วมกันเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ปักกิ่ง (ที่มา: Xinhua)

เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2560 สื่อซินหัวของจีนรายงานเกี่ยวกับปาฐกถาเกี่ยวกับความพยายาม "ฟื้นฟูจิตวิญญาณเส้นทางสายไหมใหม่" ของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ในงานประชุมใหญ่ด้านความร่วมมือระดับนานาชาติ "หนึ่งแถบ หนึ่งสายทาง" (One Belt, One Road) ที่มีหลายประเทศได้รับเชิญเข้าร่วมแต่ไม่มีไทย

สีจิ้นผิงกล่าวว่า "มากกว่า 2,000 ปีมาแล้วที่บรรพบุรุษของพวกเรามีความปรารถนาใฝหามิตรภาพจึงได้เปิดเส้นทางภาคพื้นดินและภาคพื้นสมุทรจนเป็นจุดเริ่มต้นของยุคสมัยที่ยิ่งใหญ่ในการและเปลี่ยนอารยธรรมกัน"

"ในวันนี้ พวกเรารวมตัวกันเพื่อฟื้นฟูจิตวิญญาณเส้นทางสายไหมใหม่ และหารือกันเกี่ยวกับการพัฒนาหนึ่งแถบ หนึ่งสายทาง สำหรับความร่วมมือในระดับนานาชาติ นี่เป็นทั้งการทำให้มรดกร่วมกันของพวกเราดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและเป็นทางเลือกที่ถูกต้องสำหรับอนาคตของพวกเรา" สีจิ้นผิงกล่าว

ประธานาธิบดีจีนกล่าวอีกว่าโครงการความร่วมมือหนึ่งแถบ หนึ่งสายทาง เป็นการรวบรวมปณิธานของการแปลกเปลี่ยนระหว่างอารยธรรม ความใฝ่หาสันติภาพและความมั่นคง รวมถึงการใฝ่หาการพัฒนาร่วมกันและความฝันถึงชีวิตที่ดีกว่าเดิม

ในคำปาฐกถาของเขายังระบุอ้างอิงถึงเส้นทางสายไหมในอดีตว่าเป็นเส้นทางแลกเปลี่ยนที่เฟื่องฟูในยุคสมัยที่มีสันติภาพแต่สูญเสียพลังของมันไปในช่วงที่เกิดสงคราม จึงอยากให้โครงการของพวกเขามีลักษณะที่ต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่มีสันติและมีเสถียรภาพ

คำปาฐกถาของสีจิ้นผิงยังเผยถึงแผนการในช่วง 4 ปีถัดจากนี้ว่าจะมีการเชื่อมโยงด้านต่างๆ อย่าง "การเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน" เช่นทางรถไฟเชื่อมต่อกันระหว่างประเทศต่างๆ ทั้ง จีน-ลาว หรือ ฮังการี-เซอร์เบีย รวมถึงเส้นทางอื่นๆ "การเชื่อมโยงทางนโยบาย" ที่พูดถึงการเสริมการประสานงานระหว่างประเทศตั้งแต่รัสเซีย มองโกเลีย กับจีน รวมถึงแผนพัฒนาต่างๆ ที่จีนมีแผนการร่วมกับลาว กัมพูชา เมียนมาร์ ฮังการี และประเทศอื่นๆ "การเชื่อมโยงระหว่างประชาชน" ซึ่งเน้นพูดถึงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การท่องเที่ยว เทศกาลศิลปะ นอกจากนี้ยังพูดถึงการเชื่อมโยงทางการเงินและทางการค้าด้วย

ยังมีข้อน่ากังขา โดยเฉพาะกรณีจีนปิดกั้นทางวัฒนธรรม

อย่างไรก็ตาม อิลาเรีย มาเรีย ซาลา จากสื่อควอตซ์เขียนถึงเรื่องนี้ว่าเส้นทางสายไหมในประวัติศาสตร์ที่เชื่อมต่อระหว่างยุโรปกับเอเชียผ่านเส้นทางเอเชียกลางจะสร้างแลกเปลี่ยนทางการค้า และวัฒนธรรมจริงรวมถึงทำให้เกิดการแพร่ศาสนาทั้งพุทธฯ คริสต์ และอิสลาม แต่คำว่า "เส้นทางสายไหม" ก็เพิ่งได้รับชื่อนี้จากนักภูมิศาสตร์เยอรมนี บารอน เฟอร์ดินานด์ ฟอน ริชโธเฟน เมื่อปี 2420 โดยที่ทามารา ชิน ผู้ช่วยศาตราจารย์จากมหาวิทยาลัยบราวน์บอกว่าในตอนนั้นริชโธเฟนต้องการส่งเสริมแนวความคิดสร้างทางรถไฟจากจีนเชื่อมยุโรปจากเส้นทางที่มีมานานแล้วแต่ยังไม่มีชื่อเรียกเส้นทางนี้

ซึ่งดูเหมือนว่าสีจิ้นผิงจะมีแรงบันดาลใจจะปลุกความฝันถึงการสร้างทางรถไฟสายนี้อีกครั้งตั้งแต่ปี 2556 จีนในฐานะที่เป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลกกำลังพยายามสร้างระบบเชื่อมโยงให้ใหญ่กว่าเดิมเพื่อเชื่อมตลาดจีนกับแหล่งตลาดอื่นๆ แทบทุกที่ในโลกการที่เส้นทางสายไหมมีความดูเป็นแหล่งกันดาร ห่างไกล ทำให้ทางการจีนนำมาสร้างภาพเพ้อฝันแบบโรแมนติคได้

อย่างไรก็ตามวาเลอรี ฮานเซน ศาตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเยลกล่าวว่าไม่มีหลักฐานในทางประวัติศาสตร์ระบุว่ามีการค้าขายขนานใหญ่เกิดขึ้นกับเส้นทางสายนี้มาก่อนส่วนใหญ่จะเป็นการค้าขนาดเล็กและเป็นในระดับท้องถิ่น ส่วนใหญ่มักจะเป็นพ่อค้าเดินทางข้ามเขาคนเดียว อย่างไรก็ตามส่งที่เกิดขึ้นจริงๆ คือการผสมผสานทางวัฒนธรรมตามเส้นทางที่มีการค้าขายเกิดขึ้น มีการแลกเปลี่ยนแนวความคิดใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ ทางศาสนา และอิทธิพลทางศิลปะเกิดขึ้นตลอดเส้นทางโครงข่ายการค้านี้

แต่บทความในควอตซ์ก็ทำให้เกิดข้อกังขาว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มีท่าทีปิดกั้นอิทธิพลจากภายนอกด้วยความหวาดระแวงจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมได้จริงหรือไม่ ซึ่งต่างจากเส้นทางสายไหมสมัยราชวงศ์ถังที่มีลักษณะเปิดแนวคิดต่างชาติ นอกจากนี้รัฐบาลจีนในปัจจุบันยังปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยเชื้อสายอุยกูร์อย่างกดขี่และปิดกั้น ทั้งที่ชาวอุยกูร์เหล่านี้เองที่เป็นกลุ่มผู้มีบทบาทในการเป็นตัวกลางให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การค้า และศาสนา ในแถบเอเชียกลาง

สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีประเทศจีน กล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุม "หนึ่งแถบหนึ่งสายทาง" (BRF) เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

นักเศรษฐศาสตร์มองนโยบายจีนน่าสงสัย แต่ควรจะร่วมมือเพื่อทำให้เกิดสถานการณ์ win-win

ในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์จากอ็อกฟอร์ด อย่าง เดวิด ไวน์ส เขียนวิเคราะห์ถึงโครงการ "หนึ่งแถบ หนึ่งสายทาง" ในบทความลงอีสต์เอเชียฟอรัมว่ามันจะเป็นโอกาสอันใหญ่หลวง แต่แน่นอนว่ามันก็มีความเสี่ยงอยู่ด้วย แต่โดยรวมๆ แล้ว ไวน์สมีท่าทีสนับสนุนให้เปิดรับโครงการนี้

ไวนส์เปรียบเทียบว่าโครงการริเริ่มของจีนในครั้งนี้คล้ายกับการพยายามสร้างระเบียบโลกเสรีใหม่ในช่วงยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่มีผู้นำโลกาภิวัตน์ตอนนั้นเป็นสหรัฐฯ และอังกฤษ แต่ก็มีคำถามว่าจีนจะกลายเป็นผู้นำโลกเสรีได้หรือไม่ในยุคสมัยที่ดูเหมือนสหรัฐฯ จะกำลังก้าวถอยหลัง แน่นอนว่าในแง่เม็ดเงินลงทุนที่ดูมหาศาลและมีโครงการความร่วมมือเกี่ยวกับโครงสร้างพืนฐานอย่าง ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) ดูมีภาพที่ดี แต่ไวน์สก็มีข้อกังขากับจีน ซึ่งเขาเรียกว่าเป็น "ความเสี่ยง" 2 ประการ

ประการแรก แม้ว่าจีนจะนำเสนอนโยบายนี้ราวกับว่าพวกเจาจะเปิดกว้างต่อการมีส่วนร่วมและผลประโยชน์ร่วมกัน แต่ AIIB ก็อาจจะส่งเสริมการลงทุนแค่ในแง่ที่จะส่งผลประโยชน์ย้อนกลับเข้าสู่จีนเอง และโครงการเส้นทางสายไหมใหม่นี้ก็อาจจะกลายเป็นแค่การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานขนานใหญ่ที่มีการสร้างงานสำหรับกลไกการผลิตใหญ่ยักษ์ของพวกเขาเองโดยที่อาจจะมีผลตอบแทนแก่ประชาชนกลุ่มประเทศสมาชิกน้อย และอาจจะทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มในชายฝั่งจีน

ในแง่นี้ไวน์สเสนอให้จีนควรจะร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการพัฒนาเทคโนโลยีระดับโลกแทนที่จะต่อสู้แข่งขันกันในเรื่องนี้กับสหรัฐฯ

ความเสี่ยงประการที่สองคือ ความกังวลเรื่องนโยบายที่จีนจะมีต่อประเทศอื่นๆ มีความน่าสงสัยว่าจีนจะพยายามทำให้กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปที่ยากจนกว่าต้องเกิดภาวะพึ่งพิงทางเศรษฐกิจและการเมืองต่อจีนโดยอาศัยเรื่องโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในการแผ่อิทธิพลทางการเมือง

อย่างไรก็ตามจากความเสี่ยงสองประการนี้ทำให้ไวน์สยิ่งมองว่าทั้งโลกไม่ควรปฏิเสธความร่วมมือกับจีน การทำเช่นนั้นจะยิ่งทำให้จีนตัดสินใจใช้อำนาจทางการเงินหาผลประโยชน์เข้าตัวเองมากขึ้น แต่ควรจะหาหนทางที่จะทำให้เกิดผลประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย (win-win) เนื่องจากจีนกำลังขึ้นมาเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัดและกำลังเริ่มเรียนรู้ว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไรในเวทีโลก ประชาคมโลกจึงต้องแสดงให้ผู้กำหนดนโยบายจีนได้เข้าใจว่าพวกเขาจะนำเศรษฐกิจโลกอย่างไรให้เป็นประโยชน์ต่อโลกไม่ใช่แต่กับจีนอย่างเดียว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปท. ชง รบ.ตั้ง 'โรงเรียนการเมือง' ปลูกฝังเยาวชนให้มีวัฒนธรรมในระบอบประชาธิปไตย

Posted: 15 May 2017 01:15 AM PDT

สปท. เสนอการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ชงรัฐบาลตั้งโรงเรียนการเมือง เพื่อปลูกฝังเยาวชนให้มีวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

ที่มาภาพ : เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา 

15 พ.ค. 2560 ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) พิจารณาแนวทางการดำเนินงานขับเคลื่อนวาระการปฏิรูปที่สำคัญและเร่งด่วน (27 วาระ) ในปี 2560 กลุ่ม "คน" เรื่องการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย"  ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. 

เสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมการธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง กล่าวว่า เนื่องจากการเมืองที่ผ่านมาเป็นปัญหาหมักหมมซับซ้อน ยืดเยื้อ หาทางออกไม่ได้ เป็นปัญหาของนักการเมืองในอดีตที่กระทำการไม่คำนึงถึงสิ่งที่ตัวเองได้ทำมาก่อน จนเกิดเป็นความเสียหายของประชาชนทั้งประเทศ มีการทุจริตคอรัปชั่น สร้างความแตกแยกให้คนในชาติ จึงจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปการเมือง

กษิต ภิรมย์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูป การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย กล่าวว่า กฎหมายเป็นเพียงแค่กระดาษใบเดียว แต่จะให้ศักดิ์สิทธิ์ประชาชนมีความรู้ในวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ต้องมีการเสริมสร้างความรู้ผ่านช่องทางต่างๆเพื่อปลูกฝังให้ประชาชน ยอมรับและปฏิบัติให้ถูกต้อง รวมทั้งให้รัฐบาลตั้งโรงเรียนการเมือง เพื่อปลูกฝังเยาวชนให้มีวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย    

กษิต ชี้แจงรายงานด้วยว่า เพื่อให้การปฏิรูปเป็นไปในแนวทางเดียวกันและมีประสิทธิภาพ เกิดวัฒนธรรมทางการเมืองที่ยั่งยืน มีความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งการปฎิรูปที่สำคัญคือการปฎิรูปคน เพื่อให้นักการเมืองเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง ปฎิรูปทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว โดยกรรมาธิการฯ เสนอปฎิรูป 4 แผนหลักได้แก่ แผนหลักที่ 1 การให้การศึกษาเพื่อให้เกิดวัฒนธรรมทางการเมืองที่ยั่งยืน คือการปฏิรูปการศึกษาในมิติการศึกษาที่ครอบคลุมทุกเพศทุกวัย เพื่อให้คนที่มีความเห็นต่างอยู่ร่วมกันได้บนพื้นฐานของการรับฟังความเห็น แผนหลักที่ 2 การสร้างนักการเมืองที่ดีและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ต้องให้ความรู้แก่เยาวชนเพื่อเรียนรู้ความเสียสละ

"แผนหลักที่ 3 การประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมทางการเมืองที่ยั่งยืน จะต้องเน้นการสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชน และแผนหลักที่ 4 การบริหารการขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรมทางการเมืองที่ยั่งยืน โดยรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อรองรับการส่งเสริมวัฒนธรรมทางการเมืองร่วมกับสภาพัฒนาการเมืองเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้สัมฤทธิ์ผล และให้เรื่องนี้บรรจุเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมตรากฎหมายที่เกี่ยวกับการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกมาบังคับใช้ รวมทั้งให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลสื่อ จัดสรรเวลาให้ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมทางการเมือง นอกจากนี้ให้พรรคการเมืองมีบทบาทและสนับสนุนงบประมาณในการส่งเสริมวัฒนธรรมทางการเมือง" กษิต กล่าว

กษิต กล่าวว่า ทุกภาคส่วนในสังคมควรมีส่วนร่วมขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวไปในทิศทางเดียวกัน เร่งยกร่างกฎหมายว่าด้วยการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อวางกลไกในการขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรม แต่ระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายดังกล่าว ควรให้รัฐสภาทำหน้าที่เป็นหน่วยรองรับภารกิจการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองไปก่อน เนื่องจากรัฐสภามีภารกิจ บุคลากรและงบประมาณดำเนินการเรื่องการส่งเสริมและเผยแพร่ประชาธิปไตยอยู่แล้ว

ขณะที่สมาชิก สปท.อภิปรายสนับสนุนแผนปฎิรูปตามรายงานของคณะกรรมาธิการฯ เนื่องจากเห็นว่าการพัฒนาคุณภาพของคนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการขับเคลื่อนระบอบประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพ คือการปฎิรูปคนให้มีคุณภาพ โดยเฉพาะการให้การศึกษาและตระหนักถึงวัฒนธรรมทางการเมืองที่ดี และควรผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ

 

ที่มา : เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา Voice TV และสำนักข่าวไทย 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหายคอมมิวนิสต์เปิดปูมชีวิต ‘เด่น คำแหล้’ เมื่อกองทัพ(ไม่)รับใช้ประชาชน

Posted: 15 May 2017 01:00 AM PDT

คุยกับสหายคอมมิวนิสต์เรื่องชีวิต 'เด่น คำแหล้' โลดโผน โดดเด่นในความทรงจำ ชีวิตเป็นนักสู้มาตลอด ชี้ชัด อำนาจรัฐมาจากกระบอกปืนทุกยุคทุกสมัย ประชาชนแพ้เพราะกองทัพรับใช้รัฐ นายทุน นายพล ผู้มีอำนาจควรสร้างความเป็นธรรมในสังคมให้ได้เสียที

กว่า 1 ปีที่ เด่น คำแหล้ นักต่อสู้ ประธานโฉนดชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ แกนนำเรียกร้องการปฏิรูปที่ดินของชุมชน หายตัวไปเมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2559 ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันออกค้นหาและได้พบร่องรอยหลายอย่าง รวมถึงหัวกะโหลกมนุษย์ แต่ยังไม่สามารถฟันธงว่าอยู่หรือตาย อะไรทำให้หายตัวไป

เมื่อ 7-8 พ.ค. ที่ผ่านมา ณ วัดบ้างทุ่งลุยลาย บ้านโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ได้มีการจัดเวทีรำลึกความทรงจำการหายตัวของเด่น คำแหล้ หรือ "สหายดาว อีปุ่ม" มีทั้งนักกฎหมาย นักวิชาการ ตัวแทนจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินทั่วประเทศ ประชาชนในพื้นที่ รวมถึงบรรดา "สหาย" ของเด่นที่รู้จักมักจี่กันมาตั้งแต่สมัยที่เข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เมื่อกว่าสี่ทศวรรษก่อน

ในโอกาสนี้ ประชาไท ได้พูดคุยกับสหายของเด่นถึงสายสัมพันธ์และเรื่องราวการต่อสู้ของนักต่อสู้วัยดึก ที่ตลอดชีวิต ต่อสู้กับอำนาจรัฐมาหมดทุกรูปแบบ ตั้งแต่จับปืนสู้รบยันสู้ด้วยสันติวิธีตามเงื่อนไขการเมืองและสังคม จนสุดท้ายต้องสาบสูญไปโดยไม่รู้ว่าเป็นหรือตายในวัยชรา และสะท้อนบทเรียนของการต่อสู้ของ "สหายดาว อีปุ่ม" ว่า หากไม่มีกองทัพของประชาชนเสียแล้ว ประชาชนก็จะแพ้อยู่เรื่อยไป บนฐานคติสไตล์พรรคคอมมิวนิสต์ที่ว่า "อำนาจรัฐจักได้มาด้วยกระบอกปืน"

'เด่น' ที่เด่นในความทรงจำสหาย

จากซ้ายไปขวา: ทองล้วน สานคำ (สหายคิด) คำตัน คำแหล้ (สหายฤทธิ์) สี สาตลี (สหายโม่ง)

คำตัน คำแหล้ หรือในชื่อจัดตั้ง "สหายฤทธิ์" เป็นน้องสาวแท้ๆ ของเด่น ให้ข้อมูลว่า ตน เด่น และครอบครัวเข้าป่ากันทั้งหมด ในอดีต พื้นที่ที่เคยอาศัยเป็นสมรภูมิการต่อสู้ทางอุดมการณ์ พคท. ก็ปลุกระดมมวลชน กองทัพไทยก็คอยตรวจค้นหมู่บ้าน ตามล่าคนที่มีอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ เด่นก็เป็นคนหนึ่งที่ตื่นตัวไปกับอุดมการณ์การต่อสู้และเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ราวปี 2513

"สมัยก่อนเจ้าหน้าที่เขาคุกคามหนัก ผู้ชายอยู่ในหมู่บ้านไม่ได้เลย ต้องกินข้าวเย็นตอนบ่ายสอง แล้วก็พากันปิดประตูบ้านเงียบ เด่นกับพี่ชายก็ต้องไปหลบอยู่นา" คำตันเล่าถึงสถานการณ์ในอดีตที่เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามมวลชนจนถึงขั้นเอาชีวิต เจ้าหน้าที่คุกคามในชุมชนหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ จนปี 2514 เด่น พ่อและพี่ชายต้องเดินทางออกจากภูมิลำเนาเข้าป่า ตนและแม่ได้หลบหนีไปที่บ้านลุงของเด่นใน อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ก่อนที่จะเข้าป่าตามเด่นไปในภายหลัง โดยประจำอยู่ในวงดนตรี เป็นทั้งศิลปิน นักร้องและทหาร

คำตันรำลึกความหลังเกี่ยวกับเด่นให้ฟังในวงเสวนาว่า เด่นสู้ชีวิตตั้งแต่เด็ก เคยเป็นนักมวย เคยแต่งงานและมีลูกชาย ซึ่งภายหลังได้ตายจากไปเพราะอหิวาตกโรค เมื่อครั้งอยู่ในป่า สหายวัยรุ่นชอบเด่นเอามาก เพราะเด่นเป็นทั้งคนที่ทำหน้าที่ปลุกระดมสหายด้วยกันและซ้อมมวยให้

สำหรับที่มาของชื่อจัดตั้ง "สหายดาว อีปุ่ม" นั้น คำตันเล่าว่า แต่เดิมเรียกกันว่าสหายดาว แต่เป็นเพราะเด่นมีผิวดำเหมือนตัวอีปุ่ม และชอบจับตัวอีปุ่ม หรืออีฮวก คือลูกอ๊อดของกบภูเขาในภาษาอีสาน จึงมีคำว่า อีปุ่ม ต่อท้ายภายหลัง

ช่วงที่อยู่ในป่า คำตันเจอเด่นน้อยครั้งมาก โดยเจ้าตัวกล่าวว่า พบเด่นปีละครั้งในวันก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แต่ก็ยังทักทายกัน โดยคนอื่นไม่รู้ว่าเป็นพี่น้องกัน จนกระทั่งหลังออกจากป่าจึงมาพบเด่นอีกครั้งเมื่อปี 2527

"รู้สึกว่าพี่ชายเต็มร้อยเกิน...แค้นที่เด่นตายอนาถ ทั้งที่ต่อสู้ด้วยมือเปล่า" คำตันกล่าวทั้งน้ำตากลางวงเสวนาก่อนที่จะมาให้สัมภาษณ์ ตนเคยบอกให้เด่นมาอยู่ด้วยที่บ้านตน จะออกรถมือสองให้เก็บของเก่าขาย เพราะมีคนบอกว่ามีรายได้ดี แต่เด่นเลือกที่จะอยู่ที่บ้านโคกยาวต่อ "เด่นบอกไม่ไป ถ้าไปคนอื่นจะอยู่ยังไง ถ้าตายไปก็ไปเก็บกระดูกเอา"

น้องสาวของเด่นยังได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เสียขาข้างซ้ายไปว่า ในปี 2522 ตนได้เดินทางไปส่งกลุ่มนักศึกษาไปศึกษาที่ลาวบนเส้นทางเขต 99 บริเวณอ.ภูหลวง จ.เลย ในปัจจุบัน พอลงมาจากสันเขาภูหลวงก็ถูกซุ่มโจมตี ตนไปเหยียบกับระเบิดชนิด M-14 เข้าในเวลาราว 8.00 น. และไปถึงมือหมอ คือสหายคิด ในเวลาราว 18.00 น. สุดท้ายต้องได้ตัดขาทิ้งไป

สหายฤทธิ์เปิดเผยบาดแผลจากการเหยียบกับระเบิดในสงคราม

ทองล้วน สานคำ หรือในชื่อจัดตั้ง "สหายคิด" รู้จักกับเด่นในช่วงที่ต้องพยาบาลเด่นหลังได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบหลายครั้ง กล่าวว่า ตนยอมรับในจิตใจของเด่นที่เป็นคนรักส่วนรวม ทรหดอดทนและเสียสละ มีครั้งหนึ่งที่เด่นได้รับบาดเจ็บสาหัส ถูกยิงที่ต้นขา ทำให้ได้รักษาพยาบาลเด่น

สหายคิดกล่าวว่า ตลอดเวลาที่รักษาพยาบาลเด่น เด่นมักถามอยู่เสมอว่าเพื่อนที่ไปด้วยกันนั้นมีใครบาดเจ็บบ้าง มีผู้ที่สูญเสียเลือดคนไหนที่มีเลือดกรุ๊ปเดียวกันกับตนที่พอจะบริจาคเลือดให้ได้บ้าง

สี สาตลี หรือชื่อจัดตั้งคือ "สหายโม่ง" และสมบัติ ไชยรส หรือชื่อจัดตั้ง "สหายชน" เคยรบในกองร้อยที่ 32 ร่วมกัน ส่วนเด่นนั้นประจำการในกองร้อยที่ 33 เคยพบกับเด่นเมื่อฝึกทหารใหม่ร่วมกัน ทั้งสองกล่าวว่า เด่นที่ตนพบเป็นเด่นที่อารมณ์ร้อน ชอบก็บอกว่าชอบ ไม่ชอบก็บอกว่าไม่ชอบ พูดจาขวานผ่าซาก หลังจากนั้นเด่นถูกส่งไปศึกษาเรื่องการทหารที่เขต 42 คือบริเวณชายแดนไทย-ลาว อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

สมบัติ ไชยรส (สหายชน)

เมื่อรัฐบาลของพล.อ.เปรม ติณณสูลานนท์ ออกประกาศคำสั่งที่ 66/2523 ที่นิรโทษกรรมเหล่านักรบของ พคท. เด่นก็ออกมาจากป่า ใช้ชีวิตตามปรกติแต่ไม่ได้ไปมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนมามีเหตุให้ต้องออกมาเคลื่อนไหวประเด็นที่ดินทำกินจนต้องหายตัวไป "ถึงทุกวันนี้ไม่สู้รบด้วยอาวุธ ก็ต่อสู้กันด้วยความคิด เสียดายที่สูญเสียมิตรร่วมรบไป" สหายชน กล่าว

สหายโม่ง กล่าวถึงสถานการณ์การต่อสู้เรื่องสิทธิที่ดินของเด่นหลังจากออกจากป่าจนกระทั่งหายตัวไปว่า เป็นการสู้กับอำนาจรัฐและทุนนิยมอย่างโดดเดี่ยว "การสู้อย่างโดดเดี่ยวมีโอกาสถูกทำลายสูง พวกนักศึกษาที่เคลื่อนไหวในเมืองโดนทำลายยากกว่าในป่า เด่นเหมือนอยู่ในสนามรบที่โดดเดี่ยว ไม่มีอาวุธ ไม่มีที่กำบัง ห้องน้ำที่บ้านเขาก็ไม่มีกำบัง ใครจะมาฆ่าตอนไหนก็ได้"

บทเรียนที่สังคมควรได้จากการต่อสู้ของเด่น และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

วินัย 10 ข้อของกองทหารปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) ใต้หมวกเบเรต์ดาวแดง ที่เด่นและเหล่าสหายเคยปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

สหายโม่งและสหายคิด ให้คำตอบว่าต้องสร้างกองทัพที่เป็นของประชาชนให้ได้เสียก่อน ตามหลักการที่เคยได้รับการปลูกฝังเมื่อสมัยยังอยู่ในป่าว่า "อำนาจรัฐได้มาด้วยกระบอกปืน"

"สังคมน่าจะรู้ว่าอำนาจรัฐเกิดจากกระบอกปืน รัฐประหารก็มาจากกระบอกปืน ถ้าประชาชนไม่มีกองทัพเป็นของตัวเองก็ไม่มีอำนาจรัฐ มวลชนทั้งหลายก็อยู่กันเหมือนเป็นเมืองขึ้น เรื่องสิทธิ เรื่องประชาธิปไตย จะพูดมันก็พูดได้ แต่ก็ไม่มีอำนาจหนุนหลัง" สหายโม่ง กล่าว

"กองกำลังทุกวันนี้รับใช้ชนชั้นนายทุน กองกำลังมวลชนคือกองกำลังที่รับใช้ประชาชน ทหารทุกวันนี้เป็นเครื่องมือของระบบทุน เป็นอำนาจรัฐที่รับใช้นายทุน ขุนศึก เราต้องสร้างกองกำลังของประชาชน ฝ่ายเคลื่อนไหวต้องมีความสามัคคี ต้องปลุกระดมผ่านการศึกษา ให้การศึกษาลูกหลานชาวไร่ชาวนา แต่มันยังต้องใช้เวลาอีกยาวนาน"

สหายฤทธิ์ กล่าวว่า ผู้มีอำนาจควรจดจำการสูญเสียของประชาชนที่ผ่านมาให้ได้ และหยุดคุกคามประชาชน สร้างความเป็นธรรมในสังคม "ผู้มีอำนาจ มีกฎหมายในมือ น่าจะจำประวัติศาสตร์การล้มตายของประชาชน ไม่อยากให้มีกรณีอย่างพ่อเด่นเกิดขึ้นอีก เรื่องที่ดิน คนที่ใช้ คนที่อยู่เดี๋ยวก็ตาย ดังนั้นหยุดคุกคามเขาซะ อย่ามาบังคับให้สูญหาย อยากให้มีความเป็นธรรมเกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน"

เมื่อถามถึงความแตกต่างระหว่างการต่อสู้ของประชาชนในอดีตกับปัจจุบัน สหายชน ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันยากกว่า เพราะเป็นการต่อสู้ทางความคิด สมัยก่อนเข้าป่า มีปืน ก็ใช้ปืนสู้กับปืนไปเลย สิ่งที่หวังก็ต่างกัน เพราะเด่นในปัจจุบันก็ไม่ได้อยากล้มรัฐบาล

สหายโม่ง กล่าวว่า ตอนอยู่ในป่าใช้เวลาปลุกระดมยากกว่าสมัยนี้ด้วยเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์ สังคม แต่ว่ามีอาวุธ มีอิทธิพลในพื้นที่จึงไม่กลัวใคร เดี๋ยวนี้เข้าหาคนง่ายตามเทคโนโลยีและสภาพสังคม แต่ว่าคนทำงานด้านนี้ไม่มีอำนาจในมือเหมือนที่พรรคคอมมิวนิสต์มี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อุดหนุนเงินให้ อสม. 26 จังหวัด 2.9 แสนคน หัวละ 1,800 บาท

Posted: 14 May 2017 11:58 PM PDT

เร่งจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนทั่วไปโครงการส่งเสริมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เชิงรุกประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 งวดที่ 3 เพิ่มเติมให้แก่ อสม. ใน 26 จังหวัด รวม 294,463 คน งบประมาณรวม 530,033,400 บาท เฉลี่ยแล้วได้คนละ 1,800 บาท

 
 
15 พ.ค. 2560 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีหนังสือที่ มท.0810.5/ว925 (ด่วนที่สุด) เรื่อง การจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนทั่วไปโครงการส่งเสริมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เชิงรุกประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 งวดที่ 3 (เดือน เม.ย.-มิ.ย. 2560) เพิ่มเติม ส่งถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัดเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2560 ที่ผ่านมา
 
โดยในหนังสือระบุว่าตามที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้จัดสรรงบประมาณอุดหนุนทั่วไปโครงการส่งเสริมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เชิงรุกประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 งวดที่ 3 (เดือน เม.ย.-มิ.ย. 2560) เพื่อนำไปจัดสรรให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดที่ส่งรายงานการเบิกจ่ายงบประมาณให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจำนวน 50 จังหวัดและให้จังหวัดที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในงวดที่ 3 เร่งรัดการเบิกจ่าย และส่งรายงานการเบิกจ่ายงบประมาณให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นนั้น บัดนี้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้รับรายงานการเบิกจ่ายงบประมาณครบแล้ว จึงขอแจ้งรายละเอียด ประกอบการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนโครงการส่งเสริมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเชิงรุกประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 งวดที่ 3 เพิ่มเติมเป็นระยะเวลา 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย. 2560) เพื่อจัดสรรให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดจำนวน 26 จังหวัดที่ส่งรายงานการเบิกจ่ายงบประมาณ ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นตามบัญชีรายละเอียดการจัดสรรงบประมาณ โดยให้ถือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2554 และแนวทางการเบิกจ่ายงบประมาณอย่างเคร่งครัดทั้งนี้ให้จังหวัดรายงานผลการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณในงวดต่อไปด้วย 
 
ทั้งนี้พบว่างบประมาณที่จัดสรรงวดที่ 3 เพิ่มเติมนี้ให้แก่ อสม. ใน 26 จังหวัด โดยมีจำนวน อสม. ที่มีสิทธิ์ในพื้นที่รวม 294,463 คน งบประมาณรวม 530,033,400 บาท (เฉลี่ยแล้วได้คนละ 1,800 บาท)
 
อนึ่งก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ต.ค. 2559 สำนักงบประมาณได้ระบุว่า แผนงานบูรณาการส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปี 2560 เงินอุดหนุน 2.37 แสนล้านบาทนั้น ตั้งเป้าให้ อปท.เป็นหน่วยงานหลักในการจัดบริการสาธารณะในระดับพื้นที่ (Area) ทั้งหมด 5 ด้าน ซึ่งในด้านสังคมนั้น ตั้งงบประมาณไว้ 8.70 หมื่นล้านบาท ในการวางแนวทางจัดทำโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด, สร้างหลักประกันด้านรายได้แก่ผู้สูงอายุ, สนับสนุนการเสริมสร้างสวัสดิการทางสังคมให้แก่ผู้พิการหรือทุพพลภาพ และผู้ด้อยโอกาสทางสังคม และโครงการส่งเสริมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เชิงรุกนี้ด้วย
 
 
AttachmentSize
หนังสือที่ มท.0810.5/ว925 (ด่วนที่สุด)58.98 KB
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

บทความแปล: ประชาธิปไตยของอาเซียนนั้นแกร่งขนาดไหนกัน”

Posted: 14 May 2017 05:34 PM PDT


 

เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้พบปาฏิหาริย์ 3 อย่างตามมุมมองของประวัติศาสตร์ คือ ความเจริญทางเศรษฐกิจ , การขาดความหายนะของมวลชนและความพยายามในการสนับสนุนการสร้างชุมชนและสันติภาพของภูมิภาค

ที่โดดเด่นที่สุดคือ ข้อเท็จจริงที่ว่าความหายนะของมวลชนที่เคยเกิดขึ้นในหลายทศวรรษที่ผ่านมาอย่างเช่นในอินโดนีเซีย (ปี 1965-1966) กัมพูชาภายใต้เขมรแดง (ปี 1975–1978) และติมอร์ตะวันออกในช่วงการยึดครองของอินโดนีเซีย (ปี 1975–1999) ทั้งหมดได้สาบสูญไปจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคร่วมสมัย  พร้อมด้วยคำประกาศสิทธิมนุษยชนซึ่งถูกนำออกใช้อย่างเป็นเอกฉันท์ในปี 2012 ผู้นำของกลุ่มอาเซียนพยายามจะลงรอยกันต่อความเชื่อที่ว่าสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในบัดนี้คือจักรสากลแห่งความก้าวหน้า

แต่ลัทธิเผด็จการอำนาจนิยมยังแสดงท่าทีจะกลับมา ภายใต้โฉมหน้าของการประกาศอย่างเป็นทางการนั้นมีการยอมรับท่ามกลางกลุ่มผู้นำอาเซียนเกือบทั้งหมดว่าประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนไม่ควรถูกผลักดันเร็วเกินไปและมากเกินไป เมื่อหลายปีก่อนก็มีความผิดพลาดอย่างร้ายแรงในเรื่องเช่นนี้ เมื่อชนชั้นนำทางการเมืองได้เข้าควบคุมพรรคฝ่ายค้านและสิทธิพลเมืองมากขึ้น ทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซีย เป็นต้น ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นจำกัดสิทธิพลเมืองและคุกคามสิทธิของชนกลุ่มน้อย อะไรกันที่จะอธิบายแนวโน้มด้านลบและน่าวิตกเช่นนี้ได้

ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมทางการเมืองถูกพิจารณาว่าเป็นปัจจัยที่ขัดขวางการก้าวเดินของแต่ละประเทศไปยังประชาธิปไตย ความคิดเสรีนิยมแบบตะวันตกได้เดินทางเข้ามาในภูมิภาค ภายหลังจากการปกครองของเจ้าอาณานิคมสิ้นสุดลง แต่ความคิดดังกล่าวยังต้องดิ้นรนที่จะฝังรากลงในภูมิภาคซึ่งเผด็จการอำนาจนิยมได้ทิ้งมรดกไว้ ตัวอย่างเช่นเดเนียล เบลล์ ถือว่าแนวคิดแบบเอเชียนั้น 'ต่อต้านเสรีภาพ' ในมุมมองเช่นนี้ ชาวเอเชียเห็นว่า "กรงเหล็ก" เป็นแหล่งของความมั่นคงไม่ใช่คุก

อุดมการณ์อำนาจนิยมก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ดังในรัฐสังคมนิยม ลาวและเวียดนามยังถูกควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งบรรดาผู้นำไม่ได้มีความปรารถนาจะทอดทิ้งความเป็นเผด็จการ ถึงแม้พวกเขาจะเปิดรับระบบทุนนิยมในด้านเศรษฐกิจ แต่ประวัติของพวกเขาในการปฏิรูปด้านประชาธิปไตยยังคงดูหดหู่

การพัฒนาในด้านเศรษฐกิจได้ช่วยให้รัฐบาลเผด็จการมีหนทางอื่นๆ ในการเด็ดปีกฝ่ายปรปักษ์โดยการใช้ความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นใหม่นี้ ในการสร้างความชอบธรรมต่อการยึดครองอำนาจอย่างแนบแน่นของพวกเขา สิงคโปร์และมาเลเซียถูกยกเป็นตัวอย่างว่าการพัฒนาประชาธิปไตยได้ถูกทำให้จนตรอกอย่างไร ถึงแม้จะมีการทำให้เศรษฐกิจทันสมัยก็ตาม  ระบบพรรคการเมืองเดียวครอบงำของสิงคโปร์ได้หยั่งลึกตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2015

ปัจจัยดังกล่าวทั้งหมดได้ช่วยนำไปสู่บางแง่มุมของความทนทานของลัทธิเผด็จการหรือการถดถอยของประชาธิปไตย แต่ไม่มีอะไรสามารถอธิบายได้อย่างเต็มที่ว่าเหตุใดประชาธิปไตยจึงดูเหมือนจะหยั่งรากลึกลงในภูมิภาคนี้ได้ยากเย็นเต็มที ปัจจัยสำคัญประการอื่นก็คือพื้นฐานของสถาบันทางการเมืองซึ่งประชาธิปไตยของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งอยู่ข้างบนนั้นอ่อนแอ

ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศได้พบกับการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเมื่อในอดีต อย่างเช่นฟิลิปปินส์ในปี 1986 กัมพูชากับไทยในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990  และอินโดนีเซียในปี 1998  แต่ไม่มีประเทศใดสามารถวางรากฐานประชาธิปไตยและคุณค่าประชาธิปไตยได้สำเร็จ  การเลือกตั้งถูกจัดขึ้น บ้างก็อิสระและเป็นธรรมกว่าที่อื่น แต่ภายใต้โครงสร้างประชาธิปไตยอันฉาบฉวยที่ถูกสร้างสำหรับการแข่งขันเลือกตั้ง ก็มีโครงสร้างของสถาบันที่อ่อนปวกเปียกเป็นอย่างยิ่ง     

ความล้มเหลวของสถาบันอันดับแรกและสำคัญที่สุดก็คือในประเทศกลุ่มอาเซียนเกือบทั้งหมด กองทัพยังคงเป็นตัวละครทางการเมืองที่สำคัญ ประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของกลุ่มอาเซียนซึ่งกองทัพไม่เคยยอมค้อมหัวให้กับการปกครองของพลเรือนเสียจริงๆ แต่มันก็ได้ก่อรัฐประหารหลายครั้งซึ่งขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งออกไป ล่าสุดก็ได้แก่ในปี 2014  แต่แม้ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเสียยิ่งกว่าอย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ กองทัพก็ยังมีอิทธิพลอยู่อย่างมหาศาลต่อการเมืองระดับประเทศและยังถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน

บทบาทของกองทัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และการเกี่ยวข้องกับการเมืองระดับประเทศจะเป็นกุญแจในการกำหนดทิศทางของรัฐบาลต่างๆ ในภูมิภาค ภัยคุกคามทางทหารของประเทศอื่นและความต้องการต่อมาสำหรับค่าใช้จ่ายของกระทรวงกลาโหม เศรษฐกิจทางการเมืองของการทุจริตคอรัปชั่น เช่นเดียวกับภัยของการก่อจลาจลภายในประเทศหรือความไร้เสถียรภาพ ทั้งหมดนี้ช่วยดำรงอำนาจของชนชั้นของกองทัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ตัวอย่างเช่นในพม่า กองทัพดูเหมือนจะมุ่งมั่นในการคงอำนาจทางการเมืองไว้ จนอย่างน้อยที่สุดพวกเขาพอใจว่าสันติภาพอันมั่นคงกับชนเผ่าติดอาวุธกลุ่มต่างๆ ของประเทศได้บรรลุผลและพวกเขาเชื่อว่าสมาชิกของกองทัพจะไม่ถูกดำเนินคดี

ความสำคัญของการคงไว้ซึ่งแรงสนับสนุนของกองทัพสำหรับการรักษาความมั่นคงของชาติ รัฐบาลและชนชั้นนำสามารถอธิบายได้อีกว่า เหตุใดเวลาอันยุ่งยากสำหรับประชาธิปไตยในประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือช่วงสงครามเย็น และเหตุใดประชาธิปไตยจึงพบหนทางกลับมาอีกครั้งในช่วงที่สงครามเย็นได้สิ้นสุดลง กัมพูชาเป็นประเทศแรก ๆ ที่กลายเป็นประชาธิปไตยเมื่อสหประชาชาติได้เข้าไปช่วยเหลือในการเปลี่ยนสนามรบให้กลายเป็นสนามแห่งการเลือกตั้ง เมื่อรัฐบาลของซูฮาร์โตล้มลงในปี 1998 อันเป็นการเริ่มต้นกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย มากกว่า 1 ใน 3 ของประชาชนทั้งหมดของอาเซียนกลายเป็นพลเมืองของประเทศประชาธิปไตย  ติมอร์เลสเตก็กลายเป็นประชาธิปไตยเมื่อมันได้รับเอกราชจากอินโดนีเซียจากการช่วยเหลือของนานาชาติในช่วงต้นศตวรรษที่ 21

ความก้าวหน้าของแนวรบประชาธิปไตยอาจถูกคุกคามอีกครั้งจากภูมิรัฐศาสตร์ การผงาดขึ้นของจีนได้ทำการขยายความตึงเครียดในทะเลจีนตะวันออกและจีนใต้  การเสริมกำลังทางทหารขึ้นเรื่อยๆ ในภูมิภาค เช่นเดียวกับการก่อการร้ายข้ามชาติและการกวาดล้างในรูปแบบต่าง ๆ ต่อกลุ่มต่อต้านรัฐบาลภายในประเทศ ล้วนแต่เป็นการท้าทายต่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน จึงไม่เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจถ้าชนชั้นนำที่ดูแลความมั่นคงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะยืนยันว่ามันยังเร็วเกินไปที่ลดความสำคัญของบทบาทดั้งเดิมของตนต่อ"ความมั่นคงแห่งชาติ" ลงไปยังถังขยะแห่งประวัติศาสตร์ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ไม่มั่นคงเช่นนั้น    



หมายเหตุ: แปลจาก How solid are ASEAN's democracies? เขียนโดย ซอร์พอง เปียอู จากมหาวิทยาลัยไรเยอร์สัน แคนาดา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Narendra Modi กับการใช้ Soft Power ในภูมิภาคเอเชียใต้ ภายใต้แรงกดดันจากจีน

Posted: 14 May 2017 05:23 PM PDT

 

นับตั้งแต่นาย Narendra Modi ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศอินเดียในเดือนพฤษภาคม ปี 2014 บทบาทภาระอันยิ่งใหญ่ที่เขาต้องเผชิญในสภาวะที่เศรษฐกิจของอินเดียกำลังตกต่ำอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัญหาความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อประเทศอินเดีย อันเกิดจากปัญหาความไม่โปร่งใสและการทุจริตที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และหนึ่งในความท้าทายสำคัญของนาย Modi คือการขยายอิทธิพลและอำนาจของประเทศจีน ภายใต้การนำของนาย Xi Jinping ที่มีแนวนโยบายที่ชัดเจนมาก ที่จะขยายอิทธิพลทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจลงมายังภูมิภาคเอเชียใต้ ผ่านนโยบายสำคัญ อย่าง "One Belt One Road" ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักคือการฟื้นฟูและพัฒนาเส้นทางสายไหม (Silk Road) อันรุ่งเรืองในอดีตของประเทศจีน ทั้งทางบกและทางน้ำ ซึ่งเส้นทางดังกล่าวเป็นตัวแบบการพัฒนาของประเทศจีน ในการพัฒนาและส่งเสริมการค้า และแน่นอนว่าภูมิภาคเอเชียใต้ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ถูกผนวกไว้กับนโยบายดังกล่าว


อินเดียกับดุลอำนาจที่เปลี่ยนแปลงในภูมิภาคเอเชียใต้[2]

หากมองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ก่อนการรับตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี Modi ดูประหนึ่งว่าอินเดียกำลังสูญเสียดุลอำนาจทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ กล่าวคือประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ หลายประเทศ เริ่มเจริญความสัมพันธ์ทางการทูต การทหารและการเศรษฐกิจกับประเทศจีนมากยิ่งขึ้น

กรณีของประเทศภูฏาน ที่ในอดีตใช้นโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหลักคือการเป็นหนึ่งเดียวกับอินเดีย และโดดเดี่ยวตนเอง จนกระทั่งในช่วงปี 2007 ภูฏานและอินเดียมีการเจรจาเพื่อแก้ไขสนธิสัญญาพันธมิตร (The Friendship treaty) ซึ่งลงนามนับตั้งแต่ปี 1949 โดยหัวข้อหลักของการแก้ไขสนธิสัญญาดังกล่าวคือการยกเลิกบทบัญญัติที่ระบุว่านโยบายต่างประเทศของภูฏานจะต้องอยู่ภายใต้การแนะนำของรัฐบาลอินเดีย นับแต่นั้นเป็นต้นมานโยบายการต่างประเทศของภูฏาน เริ่มขยายไปสร้างความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ มากยิ่งขึ้น

ความสัมพันธ์ระหว่างภูฏานและจีน มีพัฒนาการมากยิ่งขึ้น โดยในการประชุม Rio+20 ณ ประเทศบราซิล ปี 2012 นายกรัฐมนตรีของภูฏาน (Jigme Thinley) และนายกรัฐมนตรีของจีน (Wen Jiabao) ได้พบปะเจรจากันโดยปราศจากการรับรู้ของรัฐบาลอินเดีย การประชุมลับดังกล่าวนำมาซึ่งการตัดการขนส่งน้ำมันไปยังประเทศภูฏานของอินเดีย อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ภูฏานและจีนยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2016 ที่ผ่านมาประเทศจีนและภูฏานมีการเจรจาปัญหาข้อพิพาทด้านพรมแดนระหว่างสองประเทศ โดยมีรัฐบาลปักกิ่งเป็นเจ้าภาพ (Saklani & Tortajada, 2016)

ในขณะเดียวกันประเทศเนปาล ซึ่งถือเป็นพันธมิตรสำคัญของอินเดีย เนื่องจากมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะศาสนา เริ่มมีนโยบายที่พยายามสร้างสมดุลกับประเทศอินเดียเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยในช่วงปี 2015 รัฐบาลเนปาลมีการลงนามในสนธิสัญญาและความร่วมมือระหว่างประเทศกับประเทศจีนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเกี่ยวกับประเด็นทางเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันสินค้าจำนวนมากที่หลั่งไหลเข้ามายังประเทศเนปาล เป็นสินค้าของประเทศจีนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เป็นผลสำคัญจากการปิดพรมแดนของรัฐบาลอินเดีย ที่ส่งผลให้การบริโภคสินค้าและเศรษฐกิจของประเทศเนปาลประสบปัญหาอย่างหนัก (Baral, 2017) รัฐบาลจีนจึงสามารถใช้ช่องว่างดังกล่าวในการขยายความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเนปาลได้

ปากีสถานถือเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียใต้ ที่พยายามสร้างบทบาทคานอำนาจอินเดียมาโดยตลอด เนื่องจากปัญหาทางการทหารและประวัติศาสตร์ ส่งผลให้ความร่วมมือระหว่างอินเดียและปากีสถานถือได้ว่ามีความก้าวหน้าน้อยที่สุด โดยเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ของอินเดีย และจากแนวนโยบาย "One Belt One Road" ของจีน ส่งผลให้รัฐบาลจีนเลือกเข้าไปลงทุนในประเทศปากีสถานเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันปากีสถานก็เปิดรับการลงทุนของจีนมากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของตนเองภายหลังซบเซามาอย่างยาวนาน จากปัญหาการถอนเงินสนับสนุนหลายๆประการของสหรัฐอเมริกา ทั้งการลงทุนในการสร้างท่าเรือเพื่อขนส่งสินค้า รวมถึงการลงทุนโครงการพลังงานขนาดใหญ่ ภายใต้โครงการเส้นทางเศรษฐกิจจีนและปากีสถาน (China-Pakistan Economic Corridor: CPEC) ซึ่งคาดว่าจะมีงบประมาณในการลงทุนกว่า 62 พันล้านเหรียญ (Siddiqui, 2017) โครงการดังกล่าวต้องการเชื่อมโยงจีนเข้ากับทะเลอาหรับ รวมถึงพัฒนาช่องทางใหม่ในการขนส่งพลังงานเข้าสู่ประเทศจีน

ศรีลังกาถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลอินเดีย แต่นับตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2015 ที่ส่งผลให้อดีตนายกรัฐมนตรี Mahinda Rajapaksa พ่ายแพ้ให้กับนาย Maithripala Sirisena นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของศรีลังกา นโยบายต่างประเทศของศรีลังกาจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะแนวนโยบายในการสร้างสมดุลระหว่างประเทศมหาอำนาจ ศรีลังกาหันหน้าเข้าร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศจีนมากยิ่งขึ้น ตามแนวนโยบายเส้นทางสายไหมทางทะเลของจีน โดยหนึ่งในประเด็นร้อนระหว่างอินเดียและศรีลังกา คือรัฐบาลศรีลังกาจะอนุญาตให้บริษัทของอินเดียเช่าท่าเรือจำนวนมากในประเทศศรีลังกา รวมถึงการสร้างความร่วมมือทางการทหารในพื้นที่มหาสมุทรอินเดีย เพื่อคุ้มครองเส้นทางการเดินเรือน้ำมันของประเทศจีน

ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างบังคลาเทศกับจีนถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญของรัฐบาล Modi เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านแนวโน้มความสัมพันธ์ทางการทหารของบังคลาเทศ เริ่มหันเหทิศทางไปยังประเทศจีนมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากการสั่งซื้ออาวุธจำนวนมากจากประเทศจีน โดยเฉพาะการจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีนของบังคลาเทศ ซึ่งกระทบความมั่นคงทางด้านการทหารของอินเดียอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคพื้นมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งถือเป็นปราการธรรมชาติสำคัญ และเป็นแหล่งเศรษฐกิจทางทะเลสำคัญของประเทศอินเดีย ในขณะที่ประเทศจีนและบังคลาเทศมีการลงนามข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินที่มีมูลค่ากว่า 25 พันล้านเหรียญสหรัฐ (BHAUMIK, 2017) การขยายบทบาทความร่วมมือทางการทหารและเศรษฐกิจระหว่างประเทศจีนและบังคลาเทศ ถือได้ว่าท้าทายบทบาทของประเทศอินเดียในภูมิภาคเอเชียใต้อย่างยิ่ง
 

อำนาจละมุนของอินเดียกับความพยายามรักษาบทบาทนำในเอเชียใต้ของ Modi

จากสภาวะการที่รัฐบาลอินเดียต้องเผชิญในช่วงที่นายกรัฐมนตรี Modi กำลังบริหารประเทศ ดูเสมือนว่านาย Modi จะต้องรับศึกอันหนักอึ้ง ทั้งปัญหาภายในประเทศ อันได้แก่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นปัญหาเรื้อรั้งมายาวนาน ทั้งตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เติบโตไม่มากนักก่อนหน้านี้ หรืออัตราการว่างงานของประชาชนชาวอินเดีย รวมถึงความคาดหวังของนักลงทุนทั้งภายในและภายนอกที่มีความคาดหวังต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในขณะที่ประเด็นปัญหาสังคมทั้งในเรื่องของประเด็นอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้น ปัญหาคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงการสาธารณสุขและโครงสร้างพื้นฐานที่ขาดการพัฒนามาอย่างยาวนาน

ในขณะที่ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศมหาอำนาจเพื่อนบ้านอย่างประเทศจีน ดูเหมือนจะดำเนินไปอย่างไม่สู้จะราบรื่นเท่าไหร่นัก สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ นโยบายต่างประเทศของนาย Modi ที่ใช้ต่อเพื่อนบ้านและประเทศจีนคือ การอาศัยอำนาจละมุน (Soft Power) ที่ถือได้ว่าอินเดียมีอิทธิพลอย่างมากต่อประเทศเพื่อนบ้านและประเทศจีน เช่น ศาสนาฮินดู และพระพุทธศาสนา จะเห็นได้ว่าการเยือนจีนของนาย Modi ในช่วงที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ ล้วนไปเยือนสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่มีความเชื่อมโยงกับอำนาจละมุนของอินเดียที่มีต่อจีน เช่นการเยือน Daxingshan Temple ซึ่งเป็นวัดทางพระพุทธศาสนาที่เชื่อมโยงโดยตรงกับพระพุทธศาสนาในอินเดีย รวมถึงเป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของจีนอีกด้วย การเยือนพื้นที่ดังกล่าวของนาย Modi จึงเป็นความพยายามในการตอกย้ำถึงอำนาจอันรุ่งเรืองของอินเดียในภูมิภาคเอเชีย

และหากสังเกตลักษณะการแต่งกายของนาย Modi จะเห็นได้ว่าเป็นการประยุกต์การแต่งกายแบบอินเดียเข้ากับความเป็นสากลเพื่อเผยแพร่ความเป็นอินเดียในสายตาชาวต่างชาติ ซึ่งถือเป็นลักษณะเฉพาะของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของประเทศอินเดีย ยิ่งไปกว่านั้นด้วยแนวนโยบาย "One Belt One Road" ของจีน ที่พยายามผนวกภูมิภาคเอเชียใต้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายดังกล่าว ผ่านความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ รวมถึงสร้างความพึ่งพิงในด้านต่างๆ ของประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ ซึ่งรวมถึงประเทศอินเดียด้วย โดยปัจจุบันประเทศจีนถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ดุลการค้ากับประเทศอินเดียอย่างมหาศาล อินเดียนำเข้าสินค้าจำนวนมากจากประเทศจีน ในขณะเดียวกันนักลงทุนจีนเริ่มย้ายฐานการลงทุนมายังประเทศอินเดียเพิ่มมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้อินเดียพึ่งพิงกับประเทศจีนมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามนาย Modi มีความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะขยายอิทธิพลของอินเดียต่อประเทศเพื่อนบ้านผ่านความช่วยเหลือต่างๆ รวมถึงความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ ที่อินเดียมีความใกล้ชิดมากยิ่งกว่า โดยประเทศแรกที่นาย Modi เยือนคือภูฏาน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศ ทั้งในเชิงสังคม การเมืองและวัฒนธรรม และเจรจาพัฒนาข้อตกลงใหม่ๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทั้งสองประเทศ ที่ลดระดับความสัมพันธ์ลงในช่วงที่ผ่านมา หนึ่งในประเด็นสำคัญคือเพิ่มการศึกษาให้กับนักเรียนภูฏานเข้ามาศึกษาในประเทศอินเดีย (The Times of India, 2014) สิ่งสำคัญที่สังเกตคือการให้ความสำคัญต่อพระพุทธศาสนาของนาย Modi เพื่อยึดโยงประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้งในและนอกภูมิภาคเอเชียใต้กับประเทศอินเดีย นาย Modi ถือเป็นนายกรัฐมนตรีอินเดียคนหนึ่งที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาพื้นที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาอย่างมาก


นายกรัฐมนตรี Narendra Modi ขณะเยือน Pashupatinath Temple
ที่มา: http://www.newsroompost.com/89955/pm-offers-puja-pashupatinath-temple-nepal/

ความน่าสนใจของการใช้นโยบายอำนาจละมุนของนาย Modi คือช่วยส่งเสริมให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอินเดียและเพื่อนบ้านดีขึ้นทั้งในระดับรัฐบาลและระดับประชาชน โดยในการเยือนประเทศเนปาลปี 2014 ของนาย Modi เขาได้เดินทางเข้าไปสักการะพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของเนปาล นั่นคือ Pashupatinath Temple อันถือเป็นเทวสถานศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาฮินดู ที่ทั้งชาวเนปาลและอินเดียให้การเคารพสักการะ การพยายามไปยังพื้นที่ทางศาสนา และเข้าถึงจิตวิญญาณความเป็นฮินดูของนาย Modi ในครั้งนั้น ณ ประเทศเนปาล ส่งผลให้เสียงตอบรับจากประชาชนชาวเนปาลต่อนาย Modi พุ่งขึ้นอย่างสูง อันส่งเสริมให้ความสัมพันธ์อินเดียและเนปาลพัฒนาเพิ่มมากยิ่งขึ้น (Parashar, 2014) ก่อนที่จะเกิดปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญของประเทศเนปาลที่รัฐบาลอินเดียไม่ให้การยอมรับ

และในช่วงวันวิสาขบูชาที่จะถึงในปี 2017 นี้ นายกรัฐมนตรี Modi ของอินเดีย ยังได้ถือโอกาสใช้วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาดังกล่าว ในการเจริญความสัมพันธ์กับประเทศศรีลังกา โดยการเดินทางไปร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลวิสาขบูชา ณ ประเทศศรีลังกา เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนการเดินทางเยือนของนายกรัฐมนตรีศรีลังกา ที่เดินทางมาเจรจาทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างทั้งสองประเทศในช่วงต้นเดือนเมษายน ปี 2017 ที่ผ่านมา เป็นอีกครั้งที่นาย Modi สามารถใช้อำนาจละมุนที่อินเดียมีอยู่มากมายเหลือเฟือ และมีความแข็งแกร่งต่อประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างชาญฉลาดและมีประโยชน์ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอินเดียและศรีลังกา ให้หวนกลับมามีความแน่นแฟ้นกลมเกลียวดังที่เคยเป็นมาในอดีต

จึงสรุปได้ว่าอินเดียยังคงพยายามรักษาสมดุลภายในพื้นที่ภูมิภาคเอเชียใต้ ถึงแม้บทบาทความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับประเทศเพื่อนบ้านดูเหมือนจะลดน้อยลง แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านภูมิศาสตร์ ส่งผลให้ประเทศต่างๆ ภายในภูมิภาคเอเชียใต้ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพิงอินเดีย ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการเมือง แม้ว่าหลายประเทศจะขยายความสัมพันธ์กับประเทศจีน แต่ไม่มีประเทศใดในภูมิภาคเอเชียใต้จะละเลย หรือพยายามลดระดับความสัมพันธ์กับประเทศอินเดีย อินเดียยังคงถือสถานะนำในภูมิภาคเอเชียใต้ทั้งในด้านการทหาร และเศรษฐกิจ สิ่งสำคัญอีกประการที่เป็นปัจจัยส่งเสริมให้อินเดียดำรงรักษาความเป็นผู้นำดังกล่าวได้คืออำนาจละมุนทางวัฒนธรรม ที่อินเดียมีเหนือประเทศใดๆ ในพื้นที่ภูมิภาคเอเชียใต้

 

เอกสารอ้างอิง

Baral, B. (2017, February 01). After the 'Blockade': China's Push into Nepal. Retrieved May 08, 2017, from The Diplomat: http://thediplomat.com/2017/02/after-the-blockade-chinas-push-into-nepal/

BHAUMIK, S. (2017, March 01). KEENER ON ARMS FROM CHINA, BANGLADESH DITHERS ON DEFENCE PACT WITH INDIA. Retrieved May 08, 2017, from South China morning post: http://www.scmp.com/week-asia/geopolitics/article/2075152/keener-arms-china-bangladesh-dithers-defence-pact-india

Parashar, U. (2014, August 04). PM Narendra Modi visits Pashupatinath temple, offers 2,500 kg of sandalwood. Retrieved May 08, 2017, from Hindustan Times: http://www.hindustantimes.com/india/pm-narendra-modi-visits-pashupatinath-temple-offers-2-500-kg-of-sandalwood/story-ygxo9wPUPA6Q6wOfrqv8DL.html

Saklani, U., & Tortajada, C. (2016, October 15). The China factor in India–Bhutan relations. Retrieved May 08, 2017, from East Asia Forum: http://www.eastasiaforum.org/2016/10/15/the-china-factor-in-india-bhutan-relations/

Siddiqui, S. (2017, April 12). CPEC investment pushed from $55b to $62b. Retrieved May 08, 2017, from THE EXPRESS TRIBUNE: https://tribune.com.pk/story/1381733/cpec-investment-pushed-55b-62b/

The Times of India. (2014, June 16). 10 key points of PM Narendra Modi's Bhutan visit. Retrieved May 08, 2017, from The Times of India: http://timesofindia.indiatimes.com/india/10-key-points-of-PM-Narendra-Modis-Bhutan-visit/articleshow/36663977.cms

 

เชิงอรรถ

[1]นักศึกษาปริญญาโท สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยเยาวหราล เนห์รู ประเทศอินเดีย

[2] ประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ ในที่นี้ผู้เขียนนิยามตามสมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคเอเชียใต้ (South Asian Association for Regional Cooperation-SAARC) มีสมาชิก 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย มัลดีฟส์ เนปาล ปากีสถาน ศรีลังกา อัฟกานิสถาน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น