ประชาไท | Prachatai3.info |
- นิธิ เอียวศรีวงศ์: การเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย
- ไม่ยกเลิก 30 บาทก็จริง แต่กำลังจะแก้กฎหมายลดสิทธิประชาชนแทน
- เม.ย. 2560 ผู้ประกันตนว่างงาน 147,838 คน สูงสุดตั้งแต่ต้นปี
- YouLike เปิดโหวต ถ้าไม่มีตระกูลชินวัตรจะเลือกใครเป็นนายกฯ พบสูงสุดคือ ไม่เลือกใครเลยสักคน
- สู้คดีทำโลกร้อน 11 ชาวห้วยกลทา ยื่นอุทธรณ์ขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล เหตุจากยากจน
- ระเบิดห้องวงษ์สุวรรณ ส่งสัญญาณ 'ประวิตร' ตอบ "ส่งมาผมก็ไม่ได้กังวลอะไร"
- ความคืบหน้า? คดีชัยภูมิ ป่าแส จนท.บุกค้นหมู่บ้าน รวบตัวญาติ อ้างเป็นผู้นำยาบ้าไปส่ง
- นักวิชาการกับการมีปฏิสัมพันธ์กับสาธารณะ
- กรุงเทพโพลล์ เผย ปชช. 50.6% อยากให้มีเลือกตั้งเร็วที่สุด คะแนนนิยมเพื่อไทยนำ ปชป.
- แผ่นดินจึงดาล: ธงชัย วินิจจะกูล กษัตริย์ การเมือง รัฐธรรมนูญ
นิธิ เอียวศรีวงศ์: การเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย Posted: 29 May 2017 09:22 AM PDT Voices of the Victims: Truth for Justice คือหนังสือเล่มใหม่ที่ ศปช. (ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เม.ย.- พ.ค.2553) จะออกมาเผยแพร่ ในปี 2012 (2555) ศปช.เคยเผยแพร่รายงานเรื่อง ความจริงเพื่อความยุติธรรม: เหตุการณ์และผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 53 ซึ่งหนาถึง 1,200 หน้ามาแล้ว เพราะรวมเอกสารหลักฐานเอาไว้ด้วยมาก แต่เล่มใหม่ภาคภาษาอังกฤษนี้ หนาประมาณ 250 หน้าเท่านั้น โดยเก็บความจากฉบับภาษาไทย และเสนอเอกสารหลักฐานอย่างย่อ นอกจากตอนที่ใช้ยืนยันข้อเท็จจริงเท่านั้น เข้าใจว่าภาคภาษาอังกฤษก็เพื่อประโยชน์แก่คนต่างชาติที่สนใจเรื่องนี้ ที่สำคัญคือทำให้เรื่องที่รู้กันอยู่แล้ว มีข้อมูลหลักฐานที่ชัดเจนพิสูจน์ได้ การเล่าถึงปูมหลัง และพฤติกรรมของเหยื่อแต่ละราย ก็ทำให้เหยื่อมีเนื้อหนังมังสา และมีชีวิตจิตใจมากกว่าตัวเลขอีกด้วย ประเทศไทยได้ผ่านการล้อมปราบสังหารหมู่ประชาชนมาสามครั้งก่อนหน้า 2553 (2010) คือ 14 ตุลา, 6 ตุลา, และพ.ค.2535 (1992) แต่ไม่เคยมีครั้งใดที่มีข้อมูลบันทึกความสูญเสียอย่างละเอียดเท่าครั้งนี้ รายงานของ ศปช.ไม่ใช่รายงานเดียวที่มีอยู่ ยังมีรายงานของหน่วยราชการหลายหน่วย การไต่สวนคดีในศาล รายงานข่าวและภาพถ่ายรวมเล่มวางจำหน่ายในท้องตลาด และรายงานของคณะกรรมการซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งขึ้นหลังเหตุการณ์ แต่ไม่มีรายงานฉบับใดที่ครอบคลุมเหตุการณ์และเรื่องราวของเหยื่อได้กว้างขวางและละเอียด พร้อมทั้งการสืบสวนเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงในทางวิชาการอย่างรัดกุมได้เท่ารายงานของ ศปช. ทั้งในฉบับภาษาไทยและอังกฤษ ไม่แต่เพียงคนไทย (และคนทั้งโลก) สามารถรู้เรื่องราวของการล้อมปราบสังหารหมู่ครั้งนี้ได้ละเอียดและกระจ่างยิ่งกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาเท่านั้น การสังหารหมู่ครั้งนี้ยังไม่ถูกฝ่ายอำนาจกลบฝังลงทางกฎหมายด้วย พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ผิดจากทุกครั้งที่ฝ่ายอำนาจสามารถออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเกือบจะทันทีที่เหตุการณ์สิ้นสุดลง
มีเหตุผลอยู่สองด้านที่ทำให้ฝ่ายอำนาจไม่สามารถกลบฝังการสังหารหมู่ครั้งนี้ได้ ด้านแรกคืออำนาจหน้าฉากได้แก่รัฐบาลอภิสิทธิ์ คุมเสียงข้างมากในสภาไว้อย่างปริ่มๆ เท่านั้น การกระทำที่ไร้ความชอบธรรมถึงเพียงนี้จะปล่อยให้เป็นประเด็นอภิปรายอย่างยาวนานของฝ่ายค้านในสภาไม่ได้ ถึงจะออกเป็น พ.ร.ก. ก็ต้องนำเข้าสภาอยู่นั่นเอง หากเป็นเช่นนั้นก็จะยิ่งเร่งเร้าปฏิกิริยาในวงกว้างของสังคมไทย จนกระทั่งแม้แต่จะรักษาเสียงข้างมากของตนไว้ก็อาจทำไม่ได้ ด้านที่สองสำคัญกว่าก็คือรัฐพันลึกไทยซึ่งเป็นอำนาจที่แท้จริงหลังฉาก ไม่อยู่ในสถานการณ์ที่อาจยืดหยุ่นได้อย่างการสังหารหมู่ทุกครั้งที่ผ่านมา นั่นคือรัฐบาลที่สั่งการสังหารหมู่ต้องลาออก แล้วตั้งรัฐบาลใหม่ที่พอจะเป็นความหวังของประชาชนเข้ามาแทนที่ ซึ่งในที่สุดแล้วก็ไม่มีผลกระทบอย่างไรต่ออำนาจของรัฐพันลึกไทย หรืออาจทำให้มีอำนาจมากขึ้นไปอีกด้วยซ้ำ แต่การสังหารหมู่ครั้งนี้ สั่งการโดยรัฐบาลที่เป็นฟางเส้นสุดท้ายของรัฐพันลึก หากเอารัฐบาลนี้ออกไป ก็หมายความว่าต้องปล่อยให้รัฐบาลที่ไม่แสดงท่าทีว่าจะรักษาอำนาจของรัฐพันลึกขึ้นมาเป็นรัฐบาลแทน (โดยผ่านการยุบสภาหรือตั้งรัฐบาลในสภาใหม่ก็ตาม) หรือมิฉะนั้น ก็ต้องยกเลิกหน้าฉากการปกครองที่มีรัฐสภาไปเลย นั่นเป็นการกระทำที่เสี่ยงมาก หากไม่จำเป็นจริงๆ แล้ว รัฐพันลึกไทยไม่ต้องการนำตัวเองเข้าไปสู่จุดสุ่มเสี่ยงขนาดนั้น ต้องไม่ลืมด้วยว่า การรัฐประหารใน 2549 ทำลายฐานความชอบธรรมของอำนาจรัฐพันลึกไทยอย่างรุนแรง ชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนนับตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา ขอให้สังเกตด้วยว่า แม้ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 ที่พยายามรักษาอำนาจของรัฐพันลึกไว้อย่างถึงที่สุด การเมืองไทยนับจากนั้นมาเป็นไปในเส้นทางที่บ่อนทำลายอำนาจของรัฐพันลึกอย่างถึงรากถึงโคนมากขึ้น ว่าเฉพาะคดีละเมิดต่อชีวิตและทรัพย์สินซึ่งติดค้างมาแต่ 2553 ก็มีทีท่าว่าอาจดำเนินไปจนกระทั่งอำนาจบังคับ (coercive power) ของรัฐพันลึกไทยจะถูกนำมาอยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมายมากขึ้น ทั้งนี้ ย่อมแสดงว่าเกิดความปั่นป่วนขึ้นในองคาพยพของรัฐพันลึกไทย อย่างน้อยก็บางส่วนแล้ว (และนั่นคือเหตุผลความจำเป็นต้องยึดอำนาจเด็ดขาดใน 2557 แม้จะสุ่มเสี่ยง แต่ก็ไม่มีทางเลือก) ฉะนั้นเมื่อกล่าวโดยสรุป การล้อมปราบสังหารหมู่ประชาชนใน พ.ศ.2553 เป็นเหตุการณ์หนึ่งในกระบวนการต่อสู้กับการครอบงำ (domination) ของรัฐพันลึกไทย ในวาระครบรอบ 7 ปีของการล้อมปราบสังหารหมู่ครั้งนั้น ผมขอรำลึกถึงด้วยการวิเคราะห์การครอบงำทางสังคมผ่านอุดมการณ์ของรัฐพันลึก ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การครอบงำด้านอื่นทั้งหมดเป็นไปได้ เราอาจเห็นถึงสิ่งที่หากไม่ดูถึงรากเหง้าระดับนี้ ก็อาจมองไม่เห็น นั่นคือการ "เปลี่ยนผ่าน" ของสังคมไทย
การที่คนกลุ่มหนึ่งจะสามารถหวงหรือปันเอาอำนาจ, ทรัพยากร และเกียรติยศไว้สูงสุด เหนือคนส่วนใหญ่ในสังคมได้ ก็เพราะพวกเขาสามารถทำให้คนอื่นทั้งหมดเชื่อว่า การแบ่งปันเช่นนี้เป็นสิ่งที่เหมาะสมและเป็นธรรม วาทกรรมทั้งหมดเหล่านี้คืออุดมการณ์ ซึ่งไม่ได้แสดงออกผ่านถ้อยคำ เช่น กฎหมายหรือสุนทรพจน์อย่างเดียว แต่ผ่านการศึกษา, ความสัมพันธ์ทางสังคม, ประเพณี, พิธีกรรม ฯลฯ เข้าไปอยู่เบื้องหลังความคิดในกิจกรรมทุกอย่าง-แม้แต่ที่ทำคนเดียว-ของคนในสังคม ด้วยเหตุดังนั้นจึงเรียกว่าการครอบงำทางอุดมการณ์คำถามก็คือ ภายใต้การครอบงำทางอุดมการณ์เช่นนี้ คนที่ถูกครอบงำจำนนต่ออุดมการณ์ไปจนหมดตัว ไม่คิดต่อต้านอย่างใดเลยหรือ? ผมเห็นด้วยกับเจมส์ สก๊อต ซึ่งได้อภิปรายอย่างละเอียดและน่าเชื่อถือไว้ในบทท้ายๆ ของงานเรื่อง Weapons of the Weak ของเขาว่า ชนชั้นล่าง (subordinate class) หรือผู้ที่ถูกครอบงำไม่ได้ยอมจำนนไปทั้งหมดเช่นนั้น ในพื้นที่ซึ่งไม่ถูกตรวจสอบและปลอดภัย พวกเขาวิพากษ์วิจารณ์หรือแม้แต่โจมตีอุดมการณ์ที่ครอบงำหลายรูปแบบ เช่น ทำเป็นเรื่องตลก, เสียดสี, ตั้งสมญานาม, นินทาว่าร้าย, หรือใช้สัญลักษณ์ต่อต้าน ฯลฯ ทั้งหมดเหล่านี้คือการต่อสู้กับการครอบงำทางอุดมการณ์ แต่คนชั้นล่างจะไม่เสี่ยงอันตรายในการลุกขึ้นมาต่อต้านการครอบงำที่เห็นอยู่แล้วว่าไม่มีทางเป็นจริงไปได้เลย (unrealistic) ตรงกันข้ามกับการต่อต้านทางความคิด พวกเขากลับสยบยอมกับการครอบงำในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งชนชั้นนำกำกับควบคุมอยู่ เท่านี้พอหรือยังสำหรับชนชั้นนำ? โดยทั่วไปก็ถือว่าพอแล้ว แต่ตรงด่านหน้าของพื้นที่สาธารณะ คือระหว่างพื้นที่ปลอดภัยซึ่งชนชั้นล่างสร้างขึ้นกับพื้นที่สาธารณะ จำเป็นต้องระแวดระวังและสกัดกั้นมิให้ชนชั้นล่างขยายพื้นที่ปลอดภัยของตนล่วงล้ำเข้ามาในพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้น เผลอเมื่อไร ชนชั้นล่างก็จะทำให้พื้นที่ปลอดภัยของตนขยายขึ้น ซึ่งแปลว่าพื้นที่สาธารณะในความกำกับควบคุมของชนชั้นนำหดตัวลง (มองจากแง่นี้ก็จะเข้าใจชะตากรรมของไผ่ ดาวดิน ได้ไม่ยาก) ฉะนั้น วิธีที่ดูจะให้ความปลอดภัยแก่การครอบงำทางอุดมการณ์ของชนชั้นนำได้มั่นคงที่สุด ก็คือทำให้พื้นที่ปลอดภัยที่ชนชั้นล่างซึ่งถูกครอบงำสร้างขึ้นไม่มีเหลืออยู่เลย กรณีสุดโต่งคือค่ายกักกันชาวยิวของนาซี ก่อนที่เชลยชาวยิวจะถูกกวาดต้อนเข้าห้องรมแก๊ส พวกเขาได้ถูกปลดเปลื้องความสัมพันธ์ทางสังคมทั้งหมดออกไปเสียก่อน ไม่มีลูก ไม่มีเมีย ไม่มีผัว ไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ เหลืออยู่นอกสำนึกของบุคคล เพราะคนในครอบครัวอาจถูกกักกันอยู่คนละค่าย หรือคนละเรือนนอน แค่เอาชีวิตตัวเองให้รอดไปวันๆ ก็แสนยากอยู่แล้ว แม้แต่กลายเป็นปัจเจก ก็ไม่ใช่ปัจเจกบุคคล เพราะนาซีทำให้คนเหล่านี้เสื่อมทรามลงต่ำกว่าความเป็นมนุษย์ในทุกวิถีทาง นอกจากได้อาหารและเครื่องแต่งกายไม่พอแล้ว ก็เจตนาเหยียดให้เชลยสูญเสียความนับถือตนเองในฐานะมนุษย์ลงโดยสิ้นเชิง-เมื่อไม่มีสังคม พื้นที่ปลอดภัยก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะพื้นที่ปลอดภัยเกิดขึ้นได้ในกิจกรรมทางสังคมเสมอ นี่เป็นอุดมคติของการครอบงำทางอุดมการณ์เลยทีเดียว แต่ในความเป็นจริงทำกับสังคมทั้งหมดไม่ได้ เพราะจะไม่มีแรงงานเหลือสำหรับผลิต "ส่วนเกิน" ให้แก่ชนชั้นนำอีกเลย เมื่อมองการต่อสู้กับการครอบงำทางอุดมการณ์ผ่านเหตุการณ์ล้อมปราบสังหารหมู่ประชาชนทั้ง 4 ครั้ง อำนาจครอบงำทางสังคมของรัฐพันลึกด้านอื่นๆ อาจยังอยู่ หรือบางด้านอาจแข็งขึ้นเสียด้วยซ้ำ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า อำนาจครอบงำทางอุดมการณ์กลับอ่อนแอลง เรื่องที่เป็นธรรมเนียมจะไม่พูดกันในพื้นที่สาธารณะเช่น คำพิพากษา, คุณสมบัติของพระเถระชั้นผู้ใหญ่, หรือของพระภิกษุสงฆ์โดยทั่วไป, มิติทางการเมืองของการกระทำที่เคยถือกันว่าไม่เกี่ยวกับการเมือง เช่นของนักบวช, อธิการบดีมหาวิทยาลัย, คนในวงการแสดงและ ฯลฯ กลายเป็นเรื่องที่พูดกันในที่สาธารณะได้ หรืออย่างน้อยก็พบวิธีพูดที่ปลอดภัย ยุทธวิธีการใช้สัญลักษณ์เพื่อต่อต้านการครอบงำถูกพัฒนาขึ้นอย่างมาก นับตั้งแต่ภาพหรือตัวหนังสือบนอกเสื้อ ไปจนถึงกิริยาท่าทาง และการประท้วงเชิงสัญลักษณ์อื่นๆ ขั้นต่ำสุดที่เห็นได้ง่ายก็คือ เราไม่เหลือมาตรฐานที่ตกลงเห็นพ้องกันทั้งสังคมเกี่ยวกับคำหยาบประเภทต่างๆ แล้ว มาตรฐานของคำเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์ที่ใช้ครอบงำสังคมอย่างปฏิเสธไม่ได้ การไม่มีมาตรฐานทำให้เส้นแบ่งพื้นที่ปลอดภัยกับพื้นที่สาธารณะไม่ชัดเจน ยิ่งพิจารณาจากถ้อยคำที่ใช้ในการปราศรัยบนเวทีการประท้วงของเสื้อสีต่างๆ อะไรที่พูดไม่ได้กลับพูดได้อย่างอิสระ เพราะการประท้วงคือสร้างเงื่อนไขใหม่ที่ทำให้ชนชั้นนำหมดอำนาจในการกำกับควบคุมพื้นที่สาธารณะไป อย่างน้อยก็เป็นการชั่วคราว หรือเป็นการเฉพาะพื้นที่ พิจารณาเฉพาะจากถ้อยคำเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะบนเวทีประท้วงของฝ่ายเสื้อแดง ก็อาจแน่ใจได้แล้วว่า ไม่ว่าเหตุการณ์จะลงเอยอย่างไร การครอบงำทางอุดมการณ์เหนือสังคมไทยจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกแล้ว กล่าวโดยสรุปก็คือ พื้นที่ปลอดภัยซึ่งค่อนข้างเป็นส่วนตัวได้ขยายขึ้นอย่างมาก และทำให้การครอบงำทางอุดมการณ์ถูกต่อต้านอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ หรือกึ่งสาธารณะมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องหลบไปอยู่บนฝาผนังส้วมเพียงอย่างเดียวอีกแล้ว พื้นที่ปลอดภัยที่กว้างขึ้น ไม่จำเป็นต้องหมายความว่าชนชั้นล่างจะลงมือปฏิบัติการโดยตรงมากขึ้น หากคอยจับจ้องมองการกบฏหรือการปฏิวัติ ก็อาจไม่ได้เห็นไปชั่วกาลนาน แต่สิ่งสำคัญกว่าก็คือในชีวิตประจำวันของผู้คนฝ่ายอ่อนแอ คนไทยสามารถต่อต้านการครอบงำในพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งเราสร้างขึ้นเองได้มากขึ้นหรือไม่ หากยังทำได้และทำได้มากขึ้นแหลมคมขึ้น ก็เป็นไปไม่ได้แล้ว ที่อุดมการณ์ของรัฐพันลึกจะครอบงำสังคมไปไม่มีที่สิ้นสุด อาวุธของคนอ่อนแอใช่ว่าจะไม่คมเสียเลย และเพราะชนชั้นนำไม่พบวิธีที่จะปกป้องอุดมการณ์ที่ใช้ครอบงำสังคมในสถานการณ์เช่นนี้ได้อย่างไร จึงจำเป็นต้องบีบให้พื้นที่ส่วนตัวอันปลอดภัยของประชาชนเหลือแคบลงที่สุดเท่าที่จะทำได้ นั่นคือสถาปนาระบอบค่ายกักกันขึ้น แม้กระนั้นก็ไม่ช่วยให้พื้นที่ส่วนตัวอันปลอดภัยของผู้ถูกครอบงำหดแคบลงแต่อย่างไร ตรงกันข้ามกลับขยายไปในหมู่คนอ่อนแอกว้างขวางขึ้นด้วยซ้ำ ปัญหาของพวกเขาก็คือ แล้วจะเลิกระบอบค่ายกักกันได้อย่างไร (อย่าลืมที่กล่าวไว้แล้วว่า ระบอบค่ายกักกันบั่นรอนพลังการผลิต) แต่ปัญหาของเราก็คือ สังคมไทยจะ "เปลี่ยนผ่าน" ไปได้อย่างไร ไม่มีการครอบงำใดๆ ดำรงอยู่ได้โดยปราศจากการครอบงำทางอุดมการณ์ ความแข็งแกร่งในการครอบงำทางอุดมการณ์อยู่ที่การรักษาให้ความสัมพันธ์ทางสังคมใดๆ ในพื้นที่สาธารณะ ต้องถูกกำกับควบคุมอย่างรัดกุมด้วยอุดมการณ์ที่ครอบงำ แต่ดังที่ได้ชี้ให้เห็นมาแต่ต้นแล้วว่า อำนาจกำกับควบคุมเช่นนี้ของรัฐพันลึกไทยถูกลดทอนลงอย่างมาก เมื่อประชาชนขยายพื้นที่ส่วนตัวที่ปลอดภัยของตนเองให้ใหญ่ขึ้น กินอาณาบริเวณพื้นที่สาธารณะมากขึ้น จนกระทั่งวันหนึ่งรัฐพันลึกไทยก็จะถูกบีบให้ปรับเปลี่ยนอุดมการณ์เสียใหม่ เพื่อสามารถครอบงำสังคมต่อไปได้ ถึงวันนั้นจะเกิดสถาบันใหม่, แบบปฏิบัติใหม่, ความสัมพันธ์เชิงอำนาจใหม่, ฯลฯ ที่เอื้อต่อการครอบงำทางอุดมการณ์ของรัฐพันลึกมากกว่าปัจจุบัน และนั่นคือการ "เปลี่ยนผ่าน" ซึ่งไม่ได้หมายความว่าการครอบงำทางสังคมจะหมดไป เพียงแต่เปลี่ยนรูปไปเท่านั้น แต่แค่เปลี่ยนรูป ก็เปิดโอกาสใหม่ให้แก่คนจำนวนมากแล้ว การปฏิวัติ, การลุกฮือของประชาชน, การจับอาวุธขึ้นก่อการกบฏ, ฯลฯ เป็นปรากฏการณ์ที่นานๆ จะเกิดขึ้นสักครั้งในประวัติศาสตร์ของทุกสังคม ฉะนั้นสังคมที่ "เปลี่ยนผ่าน" โดยอาศัยปรากฏการณ์เหล่านั้นจึงมีน้อย แต่ทุกสังคมก็เคย "เปลี่ยนผ่าน" มาแล้วทั้งนั้น สังคมไทยกำลังเดินมาถึงจุดที่ต้อง "เปลี่ยนผ่าน" อีกครั้งหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในอนาคต เมื่อผู้สนใจศึกษาประเทศไทย พยายามทำความเข้าใจการ "เปลี่ยนผ่าน" ครั้งนี้ เอกสารซึ่ง ศปช.ผลิตขึ้นทั้งสองชิ้น ในภาษาไทยและอังกฤษ จะเป็นกุญแจสำคัญอีกดอกหนึ่งที่จะไขความเข้าใจไปสู่ยุคสมัยอันน่าตื่นเต้นครั้งนี้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ไม่ยกเลิก 30 บาทก็จริง แต่กำลังจะแก้กฎหมายลดสิทธิประชาชนแทน Posted: 29 May 2017 08:48 AM PDT
กระทั่งไฟท์บังคับเมื่อคณะกรรมการฯ ต้องรายงานเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งต่อไปนี้จะขอเรียกว่าบอร์ดบัตรทอง (แม้สื่อจะเรียกว่าบอร์ด สปสช. แต่ในฐานะประชาชนเห็นว่านี่ไม่ใช่บอร์ดของสำนักงานแต่เป็นบอร์ดที่เป็นตัวแทนของประชาชน) ทั้งนี้เป็นที่รู้กันดีว่าบอร์ดบัตรทองนั้นถ่ายทอดสดให้สื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจร่วมรับฟังด้วย วันที่ 1 พฤษภาคม 2560 ซึ่งเป็นวันประชุมบอร์ด มีวาระรายงานความก้าวหน้าเรื่องแก้ไขกฎหมายบัตรทองให้บอร์ดบัตรทองรับทราบ สื่อที่รอคอยเรื่องนี้มานานจึงรายงานทันทีว่ามีประเด็นใดบ้างที่ถูกแก้ไข และนั่นอาจจะเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือนที่ประชาชนได้รับรู้ว่าจะเกิดอะไรบ้างกับกฎหมายบัตรทองนี้ การแก้ไขกฎหมายบัตรทองนี้ตั้งเป้าให้เสร็จภายใน 6 เดือน อย่างไรก็ตามจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยว่าร่างแรกมีหน้าตาอย่างไร มีประเด็นใดบ้างที่ถูกปรับเปลี่ยน และจะส่งผลกระทบด้านบวกหรือลบกับประชาชนอย่างไร ท่ามกลางกระแสข่าวล้มบัตรทอง ยกเลิก 30 บาทที่ถาโถมมาเป็นระยๆ ตั้งแต่มีรัฐบาล คสช.นั้น ได้ทำให้ประชาชนไม่ไว้ใจว่ารัฐบาลจะทำให้สิทธิ 30 บาทดีขึ้นได้อย่างไร ข้อกังขาของประชาชนคือ ไม่ยกเลิก 30 บาท แต่กำลังจะทำให้ 30 บาทแย่ลงด้วยการลิดรอนสิทธิของประชาชน และเมื่อมีการแก้ไขกฎหมายที่ทำอย่างปกปิด ก็ทำให้ความระแวงนี้ขยายวงกว้าง ร่างกฎหมายที่กำลังแก้ไขอยู่นี้มีประเด็นที่ลิดรอนสิทธิประชาชนเต็มๆ 2 ประการ นั่นคือ | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
เม.ย. 2560 ผู้ประกันตนว่างงาน 147,838 คน สูงสุดตั้งแต่ต้นปี Posted: 29 May 2017 04:23 AM PDT เดือน เม.ย. 2560 พบผู้ประกันตน ม.33 ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน 147,838 คน สูงสุดตั้งแต่เดือน ม.ค. 2560 29 พ.ค. 2560 สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน เปิดเผยตัวเลข เศรษฐกิจแรงงาน ประจำเดือน เมษายน 2560 ระบุว่าภาวะการจ้างงานในตลาดแรงงาน เดือนเมษายน 2560 การจ้างแรงงานในระบบประกันสังคม มีผู้ประกันตน (มาตรา 33) จำนวน 10,523,934 คน มีอัตราการขยายตัว 1.80% (YoY) เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2559 ซึ่งมีผู้ประกันตน จำนวน 10,338,067 คน แสดงให้เห็นว่ามีผู้ใช้แรงงานเข้าสู่การทำงานเพิ่มขึ้นถึง 185,867 คน สำหรับการว่างงานจากตัวเลขผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคม มีจำนวน 147,838 คน มีอัตราขยายตัวอยู่ที่ 6.92% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) และมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 1.85% (MoM) เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2560 มีจำนวน 145,151 คนอัตราการว่างงาน อยู่ที่ร้อยละ 1.40 ของผู้ประกันตนมาตรา 33 อัตราการเลิกจ้างลูกจ้างในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ผู้ประกันตนที่สานักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้างมีจำนวนทั้งสิ้น 22,833 คน คิดเป็นร้อยละ 0.22 ลดลงจากเดือนมีนาคม 2560 ที่ร้อยละ 0.25 ในด้านสถานการณ์การจ้างงาน พบว่าจากข้อมูล ณ เดือนเมษายน 2560 มีลูกจ้างที่มีนายจ้างในระบบประกันสังคม (ม.33) จำนวน10,523,934 คน มีอัตราการขยายตัว 1.80% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (เดือนเมษายน 2559) ซึ่งมีจำนวน 10,338,067 คน หากพิจารณาอัตราการเปลี่ยนแปลง (YoY) ของเดือนเมษายน 2560 เทียบกับเดือนมีนาคม 2560 พบว่าในเดือนเมษายน 2560 มีอัตราการขยายตัว (YoY) อยู่ที่ 1.80% ขยายตัวจากเดือนมีนาคม 2560 (YoY) ซึ่งอยู่ที่ 1.71% สถานการณ์การจ้างงานขยายตัวมากกว่า 1% จึงถือว่าสถานการณ์การจ้างงานอยู่ในภาวะปกติ ส่วนสถานการณ์การว่างงาน จากข้อมูล ณ เดือนเมษายน 2560 มีผู้ว่างงานจำนวน 147,838 คน มีอัตราการขยายตัว (YoY) อยู่ที่ 6.92% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (เดือนเมษายน 2559) มีจำนวน 138,276 คน ซึ่งตัวเลขลดลงจากเดือนมีนาคม 2560 เทียบกับเดือนมีนาคม 2559 (YoY) อยู่ที่ 8.93% แต่เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา(มีนาคม 2560) พบว่า มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 1.85% (MoM) และหากคิดเป็นอัตราการว่างงานจากตัวเลขผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเดือนเมษายน 2560 อยู่ที่ 1.40% โดยอัตราการว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ อยู่ที่ 1.2 % (มีนาคม 2560) และในด้านสถานการณ์การเลิกจ้าง อัตราการเลิกจ้างลูกจ้างในระบบประกันสังคมมาตรา 33 คิดจากจำนวนผู้ประกันตนที่สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้าง ต่อจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 เดือนเมษายน 2560 ผู้ประกันตนที่สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้างมีจานวนทั้งสิ้น 22,833 คน คิดเป็นร้อยละ 0.22 ลดลงจากเดือนมีนาคม 2560 ที่ร้อยละ 0.25 และลดลงจากปีที่แล้วที่ร้อยละ 0.26 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
YouLike เปิดโหวต ถ้าไม่มีตระกูลชินวัตรจะเลือกใครเป็นนายกฯ พบสูงสุดคือ ไม่เลือกใครเลยสักคน Posted: 29 May 2017 12:50 AM PDT เพจ 'YouLike' เปิดโหวตถ้าไม่มีตระกูลชินวัตรคุณจะเลือกใครเป็นนายกฯ พบสูงสุดคือ ไม่เลือกใครเลยสักคน 9.2 หมื่น โหวตประยุทธ์ 1.4 หมื่น โหวตอภิสิทธิ์ 5.2 หมื่น ขณะที่โหวตสุเทพ 1.8 หมื่น 29 พ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 9.14 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'YouLike (คลิปเด็ด)' ซึ่งมียอดผู้ติดตาม 13 ล้าน ได้แชร์โพสต์ตั้งคำถาม "ถ้าประเทศนี้ไม่มีตระกูลชินวัตรคุณจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี?" โดยมีตัวเลือก 4 ตัวเลือกคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สุเทพ เทือกสุบรรณ และไม่เลือกใครเลยสักคน ล่าสุด 14.35 น. ผ่านไปประมาณ 5 ชั่วโมง มีผู้โหวตประมาณ 1.16 แสน ผู้โหวตไม่เลือกใครเลยสักคน 9.2 หมื่น โหวตประยุทธ์ 1.4 หมื่น โหวตอภิสิทธิ์ 5.2 หมื่น ขณะที่โหวตสุเทพ 1.8 หมื่น เกี่ยวกับ นายกรัฐมนตรี ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ นอจากประชาชนไม่สามารถเลือกได้โดยตรงแล้ว iLaw เคยวิเคราะห์ถึงปรากฎการณ์ "นายกฯ คนนอก" ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้ด้วยว่า รัฐธรรมนูญกำหนดว่า พรรคการเมืองต้องเสนอชื่อผู ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
สู้คดีทำโลกร้อน 11 ชาวห้วยกลทา ยื่นอุทธรณ์ขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล เหตุจากยากจน Posted: 28 May 2017 11:42 PM PDT 11 ประชาชน ชาวห้วยกลทา เพชรบูรณ์ ฮึดยื่นอุทธรณ์ คดีศาลหล่มสักตัดสินให้จ่ายค่าโลกร้อน ขอยกเว้นค่ 29 พ.ค. 2560 รายงานข่าวจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งว่า วันนี้ (29 พ.ค.60) เมื่อเวลา 9.00 น. ที่ศาลจังหวัดหล่มสัก ชาวบ้าน 11 รายที่ตกเป็นจำเลยต้องชดใช้ค่ คดีนี้สืบเนื่องจากคดี การอุทธรณ์คดีแพ่งดังกล่าวสร้ ปัจจุบันมาตรการและการคิดค่าเสี ลำดับเหตุการณ์การต่อสู้คดี คดีนี้ สืบเนื่องจากเมื่อประมาณต้นเดื ต่อมาได้แยกฟ้องจำเลย 2 คน ซึ่งเป็นเยาวชนต่อศาลจังหวั รายละเอียดคดีแพ่ง ในคดีแพ่งเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯได้ยื่ จากกรณีดังกล่าว จะเห็นได้ว่าการที่โจทก์ ซึ่งเป็นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ฯ ยื่นฟ้องโดยใช้วิธีจากหลักเกณฑ์ 1. การทำให้ธาตุอาหารในดินสูญหาย คิดเป็นมูลค่า 4,064 บาทต่อไร่ต่อปี 2. การทำให้ดินไม่ดูดซับน้ำฝน 600 บาทต่อไร่ต่อปี 3. การทำให้สูญเสียน้ำออกไปจากพื้ 4. การทำให้ดินสูญหาย 1800 บาทต่อไร่ต่อปี 5. ทำให้อากาศร้อนมากขึ้น 45, 453 บาทต่อไร่ต่อปี 6. การทำให้ฝนตกน้อยลง 5400บาทต่อไร่ต่อปี และ 7. มูลค่าความเสียหายทางตรงจากป่ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2558 ศาลจังหวัดหล่มสักได้นัดพร้ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2559 ทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้ ใช้เวลา 1 นัด ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่าประสงค์ คดีนี้ศาลกำหนดประเด็นข้อพิพาท 1.โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ 2.โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสี ปัจจุบันมาตรการและการคิดค่าเสี มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้ อย่างไรก็ตามแม้จะมีข้อโต้แย้ จากในหลายกรณีพิพาทที่ผ่านมา มีคำพิพากษาของศาลให้ชาวบ้านต้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ระเบิดห้องวงษ์สุวรรณ ส่งสัญญาณ 'ประวิตร' ตอบ "ส่งมาผมก็ไม่ได้กังวลอะไร" Posted: 28 May 2017 11:17 PM PDT ประวิตร ยันไม่กังวล เหตุระเบิดห้องวงษ์สุวรรณ รพ.พระมงกุฎฯ ชี้เหตุดังกล่าวไม่เกี่ยวกับการทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป
29 พ.ค. 2560 ความคืบหน้าเหตุระเบิดในช่วงสาย วันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา บริเวณที่เกิดเหตุเป็นห้องรับรองนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เกษียณอายุราชการ หน้าห้องวงษ์สุวรรณ ภายใน รพ.พระมงกุฎเกล้า ถนนราชวิถี กทม. จนมีผู้บาดเจ็บหลายราย นั้น วันนี้ (29 พ.ค.60) เมื่อเวลา 8.30 น. ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่ตำรวจเชิญตัวผู้ที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าว่า วันนี้มีการเชิญตัวมาแล้ว 40 - 50 คน ที่อาจพัวพันกับเหตุดังกล่าว แต่เรายังไม่รู้ว่ามีใครบ้าง เพราะยังแยกแยะไม่ออก ซึ่งขอเวลาให้เจ้าหน้าที่ได้ทำงานก่อน ทั้งการสอบสวนและแยกแยะคน ออกมาเป็นแต่ละจำพวก เพื่อให้เกิดความชัดเจนก่อน "ส่งมาผมก็ไม่ได้กังวลอะไรนะ ส่งก็ส่ง ไม่ได้มีอะไร" พล.อ.ประวิตร ตอบหลังผู้สื่อข่าวถามกรณีระเบิดห้องวงษ์สุวรรณ ถือเป็นการส่งสัญญาณหรือไม่ สำหรับกรณีคำถามที่ว่า คิดว่ามีคนภายในโรงพยาบาลเกี่ยวข้องหรือไม่ รองนายกฯ ประวิตร กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบ แต่ตอนนี้ทุกอย่างก็เกี่ยวข้องกันไปหมด ในจำนวนใน 40 - 50 คนนี้ต่อไปว่าใครเกี่ยวข้องบ้าง ทั้งนี้ยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เชิญทุกคนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลฯ มาให้ข้อมูล ส่วนอาการป่วยที่แท้จริงนั้น พล.อ.ประวิตร ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียด แต่ระบุเพียงว่า "ไม่เป็นไร สบายดี" และสามารถทำงานได้ตามปกติแล้ว ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร เดินทางไปปฏิบัติราชการที่ต่างประเทศ เมื่อช่วงค่ำวันที่ 16 พ.ค.2560 และเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 21 พ.ค.พร้อมมีรายงานว่า ได้เข้ารักษาโรคหัวใจที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ก่อนจะมีรายงานว่า ด้เข้าปฏิบัติราชการตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.ที่มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์
ที่มา เฟซบุ๊ก Wassana Nanuam ไทยพีบีเอส และผู้จัดการออนไลน์ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ความคืบหน้า? คดีชัยภูมิ ป่าแส จนท.บุกค้นหมู่บ้าน รวบตัวญาติ อ้างเป็นผู้นำยาบ้าไปส่ง Posted: 28 May 2017 10:38 PM PDT ตร.บุกค้นหมู่บ้าน รวบตัวญาติ อ้างเป็นผู้นำยาบ้าไปส่งชัยภูมิก่อนถูกวิสามัญฯ วรพจน์ กลุ่มดินสอสี โพสต์ค้านปฏิบัติการในลักษณะหวังผลเชิงกดดันญาติชัยภูมิและพี่ชายบุญธรรม 29 พ.ค. 2560 สืบเนื่องจากเหตุการณ์ทหารวิสามัญฆาตกรรม ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่ เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา มีข้อสงสัยเกี่ยวกับพฤติการณ์การเสียชีวิตของชัยภูมิจากทั้งทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร รวมไปถึงพยานในเหตุการณ์หลายปาก (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) ล่าสุดวันนี้ (29 พ.ค.60) เมื่อเวลา 6.36 น. ที่ผ่านมา ไมตรี จำเริญสุขสกุล ประธานกลุ่มรักลาหู่ ซึ่งเป็นพี่ชายบุญธรรมของชัยภูมิ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Maitree Savelahu' ในลักษณะสาธารณะว่า ณ. เวลานี้ ได้ข่าวว่า ที่บ้านกำลังโดนปิดล้อมเข้าค้นจากเจ้าหน้าที่ ไม่รู้ว่าเป็นชุดไหน อะไรยังไง แต่อยากขอโทษครอบครัว ที่ตนไม่ได้อยู่ด้วย กลับไปไม่ทันจริงๆ "ตอนนี้จับตัวน้องสะใภ้ไป พร้อมกับชาวบ้านอีก 3 คนที่บ้านผมไม่เจอของกลางใดๆ แต่ได้ข่าวจากนักข่าวว่า ตำรวจภาค 5 จะแถลงข่าวว่า พบของกลางเป็นอันมาก.. ไม่ทราบว่าของกลางมาจากบ้านอื่นหรือเปล่า" ไมตรี โพสต์ต่อมาเวลา 9.23 น. ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านั้น เมื่อเวลา 21.15 น. วานนี้ (28 พ.ค.60) ไมตรี โพสต์ภาพถ่ายผู้แทนพิเศษจากสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ตร.บุกค้นหมู่บ้าน รวบตัวญาติ อ้างเป็นผู้นำยาบ้าไปส่งชัยภูมิขณะที่ เดลินิวส์และ Voice TV รายงานว่า ช่วงเช้าวันนี้ ( 29 พ.ค.60) ตำรวจภูธรภาค 5 ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ และสถานีตำรวจภูธรนาหวาย รวมกับเจ้าหน้าที่ ปปส.ภาค 5 นำกำลังเข้าปิดล้อมและตรวจค้นที่บ้านกองผักปิ้ง หมู่ 13 ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ นำโดยพล.ต.ท.พูลทรัพย์ ประเสริฐศักดิ์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 อำนวยการปิดล้อมและตรวจค้นบ้านเป้าหมายในครั้งนี้ด้วยตัวเอง โดยนำหมายค้นเข้าตรวจค้นบ้านเป้าหมาย ที่บ้านกองผักปิ้ง จำนวน 9 หลัง หนึ่งในนั้นคือบ้านของ ไมตรี จำเริญสุขสกุล แต่ขณะตรวจค้นไมตรีไม่อยู่บ้าน ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ได้นำหมายศาล เข้าจับกุมผู้ต้องหาจำนวน 5 คน โดยหนึ่งในเป็น น้าสาวของชัยภูมิ ชื่อฉันทนา ป่าแส อายุ 20 ปี และนาหวะ จะอื่อ น้องสะใภ้ของไมตรี ซึ่งถูกระบุว่า เป็นผู้นำยาบ้าไปส่งให้กับชัยภูมิก่อนจะถูกวิสามัญเสียชีวิต หลังการตรวจค้นและจับกุมผู้ต้องหา เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวทั้งหมดไปสอบปากคำที่กองบัญชาตำรวจภูธรภาค 5 และตรวจค้นหมู่บ้านเป้าหมายยาเสพติดพร้อมกันอีก 80 จุด โดยมีการแถลงผลการกวาดล้างยาเสพติดที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 วันนี้ ค้านปฏิบัติการในลักษณะหวังผลเชิงกดดันญาติชัยภูมิและไมตรีวรพจน์ โอสถาภิรัตน์ กลุ่มดินสอสี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Vorapoj Osathapiratana' ถึงกรณีดังกล่าวในหัวข้อ 'ข่าวไม่ดีจากหมู่บ้านกองผักปิ้งเช้านี้' ด้วยว่า เมื่อวานมีประกาศในหมู่บ้าน ไม่ว่าเจ้าหน้าที่จะแจ้งว่า เราขอคัดค้านปฏิบัติการในลั
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
นักวิชาการกับการมีปฏิสัมพันธ์กับสาธารณะ Posted: 28 May 2017 10:33 PM PDT
ในชั่วโมงท้ายๆของวิชาที่เกี่ยวกับทักษะของงานทำงานวิจัยสำหรับนักศึกษาปริญญาโทสาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอดินเบอระ (University of Edinburgh), สก๊อตแลนด์ ผู้สอนเน้นไปที่การแนะนำให้นักศึกษาใช้สื่อและโซเชียลมีเดียให้เป็นประโยชน์ในการเผยแพร่งานวิจัยของตนเอง รวมไปถึงการปฏิสัมพันธ์กับสังคมเพื่อให้งานวิชาการเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดกับคนหมู่มาก มากกว่าที่จะจำกัดวงผู้อ่านอยู่ที่นักวิชาการเหมือนกัน การมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมหรือสาธารณะ (public engagement) ของนักวิชาการไม่ได้จำกัดอยู่ที่ว่าจะต้องเป็นการเผยแพร่การวิชาการของตนเองให้คนทั่วไปได้ดาวโหลดหรืออ่านออนไลน์เท่านั้น เพราะเท่ากับว่าไม่ได้ก่อให้เกิดอะไรขึ้นมามากเท่ากับที่คาดหวัง แต่ควรจะเป็นไปในลักษณะที่มีปฏิสัมพันธ์กับสังคมโดยวางอยู่บนพื้นฐานว่าความรู้ที่นักวิชาการเผยแพร่จะต้องได้รับการแลกเปลี่ยนหรือข้อเสนอแนะจากบุคคลทั่วไปที่ได้อ่านเช่นกัน หรืออีกนัยหนึ่งงานวิชาการที่ผลิตออกมาจะต้องให้ผู้อ่านทั่วไปเข้าใจได้และต้องเปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้เสนอแนะหรือเพิ่มเติมข้อคิดเห็นของตนเองต่องานนั้นๆเพื่อเป็นการต่อยอดต่อไป การปฏิสัมพันธ์กับสังคมของนักวิชาการจึงเป็นเสมือนบทสนทนา (conversation/dialogue)ระหว่างผู้อ่านและผู้ผลิตงาน มากกว่าที่ผู้ผลิตงานจะเล่นบทบาทของการเป็นผู้ให้ความรู้เพียงอย่างเดียว ทำไมจึงต้องเน้นการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้อ่านและผู้ผลิตผลงานและทำไมนักวิชาการจึงควรหันมาเล็งเห็นความสำคัญของผู้อ่านสาธารณะเพิ่มมากขึ้น? การมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมของนักวิชาการจะส่งผลให้หอคอยงาช้างนั้นพังทลายลงมาในที่สุด คนอ่านไม่จำเป็นต้องปีนบันไดอ่านหรือพยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของตนเอง ตรงกันข้ามงานทางวิชาการควรเป็นการเติมเต็มความกระหายใคร่รู้ของบุคคลและส่งผลอะไรบางอย่างต่อสังคมไม่มากก็น้อย ปณิธานอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ การตระหนักถึงภาษีของประชาชนที่อุดหนุนการผลิตผลงานทางวิชาการให้กับนักศึกษาและคณาจารย์ ในปัจจุบันมีหลายกระแสที่ตั้งคำถามถึงมูลค่าภาษีที่เสียไปให้กับการผลิตงานวิชาการจำนวนมากที่คนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ และยังมีงานวิจัยและงานวิชาการอีกจำนวนมหาศาลที่ไม่ได้มุ่งเน้นกลุ่มผู้อ่านที่เป็นคนทั่วไป ในกรณีของประเทศอังกฤษหรือาจจะประเทศอื่นๆด้วย ตำราเรียนและหนังสือวิชาการมีราคาแพงกว่าหนังสือทั่วไปมากและมักจะตีพิมพ์เป็นหนังสือปกแข็ง ราคาที่สูงกว่าหนังสือทั่วไปและยังทำความเข้าใจยากส่งผลให้หนังสือเหล่านี้ถูกตีพิมพ์เพื่อที่จะขายให้กับมหาวิทยาลัยและส่งเข้าไปยังห้องสมุดของมหาวิทยาลัยต่างๆ มากกว่าที่จะวางขายสำหรับผู้อ่านทั่วไป หรืออีกนัยหนึ่ง นักวิชาการผลิตผลงานวิจัยโดยได้รับเงินสนับสนุนจากภาษีของประชาชนและยังตีพิมพ์หนังสือราคาแพงเหล่านี้โดยไม่ได้คำนึงถึงผู้อ่านที่เป็นบุคคลทั่วไปที่จ่ายภาษีให้กับการสนับสนุนงานวิจัยเลยแม้แต่น้อย[1] ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คือ นักวิชาการกับสาธารณะแทบจะไม่เคยมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน คนทั่วไปมองนักวิชาการในฐานะของกลุ่มคนที่ชอบวิจารณ์สังคมและไม่เคยให้คำตอบอะไรที่มองเห็นเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกันนักวิชาการก็ตีความและทำความเข้าใจสังคมผ่านหน้ากระดาษต่อไป ดังนั้นในฐานะที่นักวิชาการตลอดจนคณาจารย์ต่างก็เป็นกลุ่มบุคคลที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐและสถาบันต่างๆ สมควรหรือไม่ที่จะต้องมีหน้าที่หรือพันธะกิจในการรับใช้สังคมผ่านทางงานวิจัยของตนเช่นกัน คำตอบของคำถามคือ นักวิชาการและนักศึกษาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตระหนักถึงความสำคัญของงานของตนที่จะตอบคำถามอะไรต่อสังคม โดยเฉพาะนักวิชาการในสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เนื่องจากงานส่วนมากในสายนี้มักจะเป็นงานที่เป็นนามธรรมมากกว่ารูปธรรม ไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์อะไรต่อสังคม ต่างจากสายวิทยาศาสตร์ที่จะเห็นงานเป็นรูปธรรมมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด ไม่น่าแปลกใจที่การศึกษาในสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์จะถดถอยลงตามลำดับและกลายเป็นคณะหรือสาขาที่ไม่ทำเงินตามมหาวิทยาลัยต่างๆ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่แวดวงสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาเดียวกัน อาจเรียกได้ว่าการทำลายหอคอยงาช้างและพยายามที่จะ "สนทนา" กับสังคม รวมถึงเปิดโอกาสให้สังคมได้ "สนทนา" กับนักวิชาการจะทำให้งานวิชาการและงานวิจัยต่างๆสามารถเอื้อมถึงได้มากขึ้น การเปิดพื้นที่ให้ชุมชนได้มีส่วนร่วม การจัดงานสัมมนาวิชาการ หรือการตีพิมพ์บทความ จึงไม่ควรเป็นเพียงการสื่อสารทางเดียวอีกต่อไป แต่จำเป็นที่จะต้องเปิดให้เป็นการสื่อสารจากสองทาง คือบุคคลทั่วไปและนักวิชาการ หากทำให้สังคมเข้าใจและสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับงานทางวิชาการได้ (หรือหากจะไปไกลกว่านั้นคือการทำให้คนทั่วไปเข้าใจและตระหนักว่าทำไมการศึกษาด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์จึงสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตตนเอง) ก็จะทำให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาเกี่ยวกับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ตรงนี้เองที่สื่อสมัยใหม่สามารถเปิดช่องว่างได้ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter, WordPress, Pubs & Publications เป็นต้น ทั้งหมดสามารถเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเผยแพร่งานออกสู่สาธารณะทั้งสิ้น เป็นสื่อที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดายเพียงปลายนิ้วสัมผัส ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ารูปแบบของสื่อเหล่านี้ยังมีส่วนช่วยให้การเผยแพร่งานวิชาการเป็นไปในรูปแบบที่ไม่หนักสมองมากนัก ความยาวขนาดพอเหมาะและยังรวมตัวเป็นชุมชนออนไลน์สำหรับผู้ที่สนใจร่วมกันได้ง่าย การใช้สื่อออนไลน์ยังสามารถที่จะเชื่อมโยงกับนักวิชาการหรือผู้ที่สนใจคนอื่นๆทั่วทุกมุมโลก งานทางประวัติศาสตร์จึงไม่ควรเป็นเรื่องของนักประวัติศาสตร์ แต่ควรจะได้รับความสนใจจากผู้รู้หรือผู้ที่สนใจหลากหลายสาขา เช่น ภูมิศาสตร์, เทคโนโลยีสารสนเทศ, เศรษฐศาสตร์, วรรณกรรมและวรรณคดี ฯลฯ และในทางกลับกันงานของสาขาเหล่านี้ก็สามารถเติมเต็มจากความรู้และทักษะทางประวัติศาสตร์เช่นกัน หนึ่งในโครงการวิจัยที่มหาวิทยาลัยเอดินเบอระและมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ (University of Glasgow) รวมถึงหน่วยงานของสก๊อตแลนด์มีร่วมกัน คือ โครงการ Scotland Slavery Map หรือการสืบหาประวัติศาสตร์ของการค้าทาส ในสมัยของการล่าอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ สก๊อตแลนด์ได้รับประโยชน์จากการขูดรีดแรงงานทาสอย่างมาก หลายโรงเรียนในสก๊อตแลนด์สามารถตั้งและดำเนินกิจการมาได้อย่างยาวนานส่วนหนึ่งเป็นเพราะเงินที่ได้มาจากโรงงานน้ำตาลที่มาจากหยาดเหงื่อของแรงงานทาส โครงการวิจัยจึงพยายามที่จะอธิบายภาพดังกล่าวและให้นักเรียนของแต่ละโรงเรียนเข้ามามีส่วนร่วมกับการสืบหาประวัติศาสตร์ส่วนนี้ วัตถุประสงค์สำคัญไม่เพียงแต่เป็นการศึกษาเพื่อเข้าใจประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ยังเป็นไปเพื่อให้นักเรียนตลอดจนคนในชุมชนได้เข้าใจและตระหนักถึงตำแหน่งแห่งที่ของบรรพบุรุษตนเองในประวัติศาสตร์ รวมถึงความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับตนเองในปัจจุบัน ที่สำคัญคือ โครงการวิจัยนี้ไม่จำกัดอยู่ในหน้าเอกสาร แต่ได้รับการขยายผลไปยังช่องทางของโซเชียลมีเดีย มีการทำแผนที่และแผนผังเส้นทางการค้าทาส มี twitter ที่เปิดให้คนทั่วไปสามารถทวีตเพิ่มเติมเรื่องราวให้กับคณะผู้จัดทำ มีการจัดทำคลิปวิดีโอสั้นๆ มีแฮชแท็ค (hashtag) ให้กับผู้สนใจ และกลายมาเป็นแหล่งรวมตัวย่อมๆของผู้ที่สนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การค้าทาสในสก๊อตแลนด์[2] พันธะกิจของนักวิชาการในโลกปัจจุบัน จึงควรรวมเอาการตระหนักถึงจำนวนภาษีจากประชาชนที่มีส่วนช่วยให้งานวิจัยได้รับการต่อยอดและเป็นผลสำเร็จในที่สุด รวมถึงความพยายามที่จะทำให้ความเป็นวิชาการนั้นเผยแพร่ในวงกว้างในพื้นที่สาธารณะ ทั้งหมดนี้จะทำให้สังคมและนักวิชาการไม่ถูกแบ่งแยกและมีความเท่าเทียมกันในพื้นที่แห่งความเป็นวิชาการมากขึ้น การดำรงอยู่ของงานวิชาการและผู้ผลิตงานทางวิชาการ จึงควรคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมไม่เฉพาะแต่ในงานศึกษาของตนเองเท่านั้น แต่ต้องเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มีต่องานวิชาการเช่นกัน
เชิงอรรถ [1] https://www.theguardian.com/higher-education-network/2015/sep/04/academics-are-being-hoodwinked-into-writing-books-nobody-can-buy เข้าถึงเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2560 [2] โปรดดูเพิ่มเติม https://mobile.twitter.com/scotlandslavery , https://www.commonspace.scot/articles/8980/scottish-slavery-map-plotting-out-scotlands-past, และยังมีโครงการอื่นๆ เช่น การตามรอย Ben Johnson ในการเดินทางท่องเที่ยวจากลอนดอนมายังสก๊อตแลนด์ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 มีการจัดทำแผนที่และใส่ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง http://www.blogs.hss.ed.ac.uk/ben-jonsons-walk เข้าถึงเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2560
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
กรุงเทพโพลล์ เผย ปชช. 50.6% อยากให้มีเลือกตั้งเร็วที่สุด คะแนนนิยมเพื่อไทยนำ ปชป. Posted: 28 May 2017 09:52 PM PDT ผ่าน 3 ปี คสช. คะแนนนิยมพรรคเพื่อไทยนำประชาธิปัตย์ 52.8% ยังสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ แต่คะแนนนิยมลดลง ส่วนใหญ่ 50.6% รู้สึกตื่นตัวอยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด
29 พ.ค. 2560 กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง "คะแนนนิยมพรรคการเมืองไทย หลังผ่าน 3 ปี คสช." โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,269 คน พบว่า ความรู้สึกต่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 50.6 รู้สึกตื่นตัวอยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด ขณะที่ร้อยละ 24.6 รู้สึกเฉยๆ เลือกก็ได้ไม่เลือกได้ ส่วนร้อยละ 21.8 รู้สึกอยากอยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ ประเทศสงบดี มีเพียงร้อยละ 3.0 ไม่แน่ใจ ด้านคะแนนนิยมต่อพรรคการเมืองพบว่า พรรคเพื่อไทยอยู่ที่ร้อยละ 17.8 (เพิ่มขึ้นจากผลสำรวจเมื่อเดือนมกราคม 2560 ร้อยละ 2.1) รองลงมาคือพรรคประชาธิปัตย์ที่มีคะแนนนิยมอยู่ที่ร้อยละ 15.6 (ลดลงร้อยละ 1.9) พรรครักประเทศไทยมีคะแนนนิยมอยู่ที่ร้อยละ 1.5 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1) พรรคชาติไทยพัฒนามีคะแนนนิยมอยู่ที่ร้อยละ 1.0 (ลดลงร้อยละ 0.9) พรรคภูมิใจไทยมีคะแนนนิยมอยู่ที่ร้อยละ 0.8 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5) และพรรคพลังชลมีคะแนนนิยมอยู่ที่ร้อยละ 0.3 (ลดลงร้อยละ 0.1) สุดท้ายเมื่อถามว่า "หากวันนี้ มีสิทธิออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี ท่านจะออกเสียงสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่" พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 52.8 ระบุว่าจะ "สนับสนุน" (ลดลงจากผลสำรวจเมื่อเดือนมกราคม 2560 ร้อยละ 9.0) ขณะที่ร้อยละ 25.6 ระบุว่าจะ "ไม่สนับสนุน" ส่วนที่เหลือร้อยละ 21.6 งดออกเสียง
โดยมีรายละเอียดตามประเด็นข้อคำถาม ดังต่อไปนี้ 1. ความรู้สึกต่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
รายละเอียดการสำรวจ วัตถุประสงค์การสำรวจ 1) เพื่อสะท้อนความรู้สึกที่มีต่อต่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ 2) เพื่อสะท้อนความนิยมของประชาชน ที่มีต่อพรรคการเมืองต่างๆ 3) เพื่อสะท้อนเสียงสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ประชากรที่สนใจศึกษา การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างจากประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป โดยการสุ่มสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากฐานข้อมูลของกรุงเทพโพลล์ ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) แล้วใช้วิธีการถ่วงน้ำหนักด้วยข้อมูลประชากรศาสตร์จากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ความคลาดเคลื่อน (Margin of Error) การประมาณการขนาดตัวอย่างมีขอบเขตของความคลาดเคลื่อน ± 3% ที่ระดับความเชื่อมั่น 95% วิธีการรวบรวมข้อมูล ใช้การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ (Enumeration by telephone) โดยเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่มีโครงสร้างแน่นอน ประกอบด้วยข้อคำถามแบบเลือกตอบ (Check List Nominal) และได้นำแบบสอบถามทุกชุดมาตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ก่อนบันทึกข้อมูลและประมวลผล ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล : 24 – 25 พฤษภาคม 2560 วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ : 29 พฤษภาคม 2560
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
แผ่นดินจึงดาล: ธงชัย วินิจจะกูล กษัตริย์ การเมือง รัฐธรรมนูญ Posted: 28 May 2017 08:44 PM PDT บทสัมภาษณ์ 9 นักวิชาการในชุด 'แผ่นดินจึงดาล' นี้ ประชาไทตัดทอนมาจากบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มในหนังสือ 'แผ่นดินจึงดาล: การเปลี่ยนผ่านในสภาพบังคับ' เพื่อมองอดีต ปัจจุบัน และอนาคตประเทศไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ว่ามันจะนำพาเราไปสู่อะไร ธงชัย วินิจจะกูล จากคณะประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิล เมดิสัน สหรัฐอเมริกา ผู้เปิดมุมมองทางประวัติศาสตร์ด้วยการนำเสนอแนวคิดราชาชาตินิยม ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ เขานำคำถามเรื่องการเปลี่ยนผ่านมาตีแผ่ สาวลึกกลับไปในอดีตสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อรัชกาลที่ 6 เชื่อมโยงกลับสู่ปัจจุบัน หากจะตอบแบบขมวดปม อาการหมกมุ่นครุ่นคิดต่อการเปลี่ยนรัชกาลที่เพิ่งเกิดขึ้นในสังคมไทย นั่นก็เป็นเพราะระบอบประชาธิปไตยของเราไม่สามารถลงหลักหนักแน่นได้เพียงพอที่จะสร้างความต่อเนื่องของระบบ ตรงกันข้าม เรากลับเป็นประชาธิปไตยแบบชี้นำและแอบอิงกับตัวบุคคลมากจนเกินไป ทันทีที่เกิดการเปลี่ยนแปลง ระบบที่ดำรงอยู่จึงสั่นคลอนและสร้างภาวะความรู้สึกไม่มั่นคงไปทั่วทั้งสังคม เมื่อเป็นเช่นนี้ 'พระราชอำนาจนำ' จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่สถาบันและเครือข่ายจะต้องหาคำตอบ เพื่อให้ยังสามารถคงอิทธิพลและบทบาทต่อการเมืองไทยได้ ธงชัยวิเคราะห์ว่า จากรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาจวบจนฉบับล่าสุด อำนาจค่อยๆ พรากจากประชาชนถอยกลับไปสู่มือกษัตริย์ และชัดเจนยิ่งในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รัฐธรรมนูญที่ทำให้ความตั้งใจของรัชกาลที่ 7 เกิดเป็นจริง บารมีของกษัตริย์และความมั่นคงของสถาบัน รัชกาลที่ 7 เคยกล่าวไว้ว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อิงอยู่กับการมีกษัตริย์ที่ดี แต่ไม่สามารถมีใครรับประกันได้ว่ากษัตริย์จะดีเสมอไป เพราะฉะนั้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เหนือการเมือง เป็นชั้นบนของระบอบการเมือง ระบอบทำนองนี้อิงอยู่กับองค์พระมหากษัตริย์ที่ดีหรือมีบารมีมากเกินไป แต่กลับไม่มีอะไรการันตีได้ว่าจะมีพระมหากษัตริย์ที่ดีหรือมีบารมีเช่นนั้นได้เสมอไป ระบอบการเมืองซึ่งพยายามสร้างสถาบันที่ไม่อิงกับตัวบุคคลอย่างเช่นระบอบประชาธิปไตยต่างหากจึงมีโอกาสที่จะมีความมั่นคงต่อเนื่องได้เป็นสิบเป็นร้อยปี เพราะไม่อิงกับตัวบุคคลเกินไป ในแง่นี้ความล้มเหลวของปัจจุบัน ส่วนหนึ่งก็มาจากความล้มเหลวที่ระบอบการเมืองของเราไม่สามารถสถาปนาสถาบันซึ่งยั่งยืนและไม่อิงกับบุคคลได้ เพราะระบอบการเมืองของเราอิงกับบุคคลซึ่งไม่ยั่งยืนจนเกินไป การเปลี่ยนจากรัชกาลที่ 5 ไปรัชกาลที่ 6 เป็นครั้งหนึ่งในไม่กี่ครั้งที่ราบรื่นหากมองในระยะแรก เพราะไม่มีการท้าทาย ทุกอย่างวางไว้แล้ว แต่ถ้ามองการเปลี่ยนบัลลังก์ครั้งนั้นในกรอบ 5 ปี 10 ปีกลับไม่ราบรื่น เพราะสุดท้ายกษัตริย์ที่ขึ้นมาใหม่ไม่เหมาะกับระบอบที่เป็นอยู่ เพราะฉะนั้นพวกเจ้าก็เริ่มทะเลาะเบาะแว้งกัน ถอนตัวไปทีละคนสองคน แม้ว่าเงาของกษัตริย์ที่มีบารมียิ่งใหญ่พระองค์ก่อนยังอยู่ แต่เงานี้เป็นดาบสองคม ด้านหนึ่งทำให้เกิดฮันนีมูนพีเรียดที่ผู้คนยินดีให้เวลากับกษัตริย์องค์ใหม่ เชื่อว่าองค์ใหม่ก็จะทำให้สถาบันกษัตริย์ยิ่งใหญ่ต่อไปได้ แต่คมที่สองคือ เมื่อช่วงฮันนีมูนพีเรียดผ่านไปแล้ว ผู้คนจะเทียบผลงานองค์ใหม่กับองค์เก่า และถึงวันนั้นทุกคนก็จะบ่น เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่คนใหม่จะขึ้นมาเทียบคนเก่าได้ เพราะความหลงใหลองค์เก่าแบบเกินจริงเกินควรจนเหนือมนุษย์ ในที่สุดความไม่พอใจหรือความขัดแย้งก็จะโผล่ตัวขึ้น หรือว่าเรายังอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง? ผมคิดว่าคนทั่วไปก็คิดว่าการสืบราชสมบัติมีผลกระเทือนชีวิตคน จริงไหม นี่แปลว่าอะไร แปลว่าคนไทยจำนวนมากแชร์ความเข้าใจที่ตรงกันอันหนึ่งซึ่งไม่ยอมพูดออกมา หรือหลอกตัวเอง หรือโกหกตัวเอง ทั้งที่คิดอย่างนั้น รู้อย่างนั้น แต่กลับพูดออกมาตรงข้ามด้วยซ้ำไปว่ากษัตริย์ไม่เกี่ยวกับการเมืองแค่มีความสำคัญกับชีวิต แต่ที่ทุกคนห่วงกัน ตั้งคำถามทำนองนี้กัน แสดงว่าการสืบราชสมบัติ การเปลี่ยนบัลลังก์ มีผลต่อชีวิต สังคม การเมือง มากกว่าที่คนไทยจะยอมรับอย่างตรงไปตรงมา ผมต้องการจะถามกลับไปที่คนอ่านทั้งหลายว่า กรุณาตั้งคำถามนี้กับตัวเองและตอบด้วยตัวเองก่อนว่า คิดว่ากษัตริย์มีความสำคัญ มีบทบาทสำคัญอย่างไรกับชีวิตของประเทศ เพราะถ้าสำคัญน้อย บทบาทน้อย ก็ไม่ต้องปรับมาก เพราะไม่เป็นผลกับเราเท่าไร แต่ที่ทุกคนห่วงกันก็เพราะว่ามีผลมาก ดังนั้น กรุณาตอบสิว่ามีผลอย่างไร เพราะอะไรถึงมีผลกระทบอย่างนั้น คำถามที่ต้องถามต่อมาก็คือ แล้วประเทศไทยอยู่ในระบอบหลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาตั้งนานแล้วไม่ใช่หรือ เราอยู่ในระบอบสังคมการเมืองประเภทไหนกัน กษัตริย์มีบทบาทอย่างไรจึงทำให้ความเป็นไปของกษัตริย์มีผลต่อชีวิตของสังคมการเมืองมากขนาดนั้น หรือว่าเรายังอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง เครือข่าย กษัตริย์ ในความหมายด้านที่เป็นสถาบันมีลักษณะอย่างหนึ่งที่สำคัญ ที่มีคนเรียกว่าเป็นเครือข่าย (Network) เวลาพูดถึงกษัตริย์กับบทบาททางการเมือง เราใช้ในความหมายกว้างไปกว่าตัวบุคคลหรือองค์พระมหากษัตริย์ เพราะหมายถึงคนตั้งเยอะแยะที่มีผลประโยชน์ มีส่วนได้ส่วนเสีย มีอุดมการณ์ความเชื่อผูกพันอยู่กับการมีกษัตริย์ที่เข้มแข็ง คนเหล่านั้น เครือข่ายเหล่านั้นจำนวนมาก ไม่ใช่เชื้อสายเจ้าด้วยซ้ำไป คือเป็นคนธรรมดาเหมือนกับพวกเรานี่แหละ แต่ด้วยอุดมการณ์ ด้วยความเชื่อ ด้วยเจตนาดี เจตนาร้าย ความหลงใหลคลั่งไคล้และผลประโยชน์เชิงวัตถุ อะไรก็ตามแต่ ทำให้พวกเขาต้องการกษัตริย์ที่เข้มแข็งและมีส่วนในระบบการเมือง ถ้าลองอธิบายย้อนทางกลับก็ได้ดังนี้ ถ้ากษัตริย์ไม่มีบารมีพอ ไม่มีพฤติกรรม กิจกรรม บุคลิกต่างๆ ที่ทำให้คนรู้สึกศรัทธาต่อบารมีของพระองค์พอ พระราชอำนาจนำไม่มี ไม่มีจุดยึดโยงที่จะสร้างได้ เครือข่ายกษัตริย์ก็ไม่มีฐานใดๆ ที่จะสร้างความชอบธรรมที่จะทำให้อำนาจทางการเมืองของฝ่ายเจ้าเติบโตขึ้นมา มองแบบนี้ก็จะโยงกลับไปที่ตัวบุคคลอีกครั้งหนึ่ง ทำให้เข้าใจว่าทำไมการเปลี่ยนรัชกาลมีความสำคัญขึ้นมา ไม่ใช่เพียงเพราะพฤติกรรมส่วนบุคคลโดดๆ แต่เพราะพฤติกรรมส่วนบุคคลเกี่ยวโยงกับระบอบการเมือง สถาบัน ฯลฯ กล่าวโดยสรุปก็คือ การเปลี่ยนรัชกาลมีความสำคัญคอขาดบาดตายไม่ใช่เพราะการเปลี่ยนบุคคลถ้าหากการเปลี่ยนบุคคลไม่อยู่ในบริบทของระบอบหรือเงื่อนไขอย่างของไทยในปัจจุบัน กษัตริย์และรัฐธรรมนูญ ผมเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่เกิดขึ้น อยู่ในสภาพที่ประกาศเปิดเผยโจ่งแจ้งว่า นี่คือระบอบปกครองในทำนองแบบที่รัชกาลที่ 7 ต้องการ แต่คณะราษฎรไม่ยอม เราจะเรียกระบอบแบบนี้ว่าอะไรดี (หัวเราะ) 80 กว่าปีผ่านไปจากสมัยรัชกาลที่ 7 ก็ประสบความสำเร็จในที่สุด กลับไปที่ประเด็นเดิม ระบอบประมาณนี้อิงอยู่กับการที่กษัตริย์ต้องมีบารมีสูง รัฐธรรมนูญนี้อิงกษัตริย์มากบนฐานความเชื่อว่ากษัตริย์ต้องดี แต่ไม่มีใครมีการันตีได้ มันจึงขัดแย้งในตัวมันเอง ความขัดแย้งในตัวเองอันนี้จะปะทุหรือไม่ ปะทุแน่ สักวันหนึ่ง แต่ไม่มีใครบอกได้ว่าเมื่อไร ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น