ประชาไท | Prachatai3.info |
- หมายเหตุประเพทไทย #159 ห้องสมุดโลกโบราณ
- ถก ‘ป้อมมหากาฬ’ กทม.เห็นชอบหลักการ 'คุณค่า 5 ด้าน'
- TCIJ: ส่องตัวเลข 3 ปี คสช. ยึดอำนาจ เลิกจ้างสูงสุดตั้งแต่ปี 2556 ตั้งกิจการน้อยลง-ปิดเพิ่มขึ้น
- สั่งห้าม ผอ.-บุคลากร สนง.เขตพื้นที่ฯ แสดงความคิดปมปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค ตามคำสั่ง หน.คสช.
- คุมตัวหญิงวัย 51 ปี เข้า มทบ.11 สอบคดีระเบิด รพ.พระมงกุฏเกล้า
- แผ่นดินจึงดาล: สุรชาติ บำรุงสุข กองทัพกับประชาธิปไตยไทย
- ก.กลาโหม เผยได้เอกสารความเห็นร่วมสร้างความปรองดองที่สมบูรณ์แล้ว
- กัมพูชาตัดสินใจส่งแรงงานแม่บ้านไปทำงานมาเลเซียอีกครั้งในรอบ 6 ปี
หมายเหตุประเพทไทย #159 ห้องสมุดโลกโบราณ Posted: 28 May 2017 05:48 AM PDT Subsribe เพื่อติดตามประชาไทที่
หมายเหตุประเพทไทย สัปดาห์นี้ ชานันท์ ยอดหงษ์ และศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ พาเที่ยวห้องสมุดของโลกโบราณ เริ่มต้นจากโลกตะวันตกที่ "หอสมุดแห่งอเล็กซานเดรีย" ซึ่งสร้างในยุคที่อาณาจักรมาเซโดเนียของพระเจ้าพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชแผ่ขยายอำนาจมาถึงอียิปต์ ทั้งนี้ประวัติศาสตร์โลกตะวันตกมักใช้เหตุการณ์เผาทำลาย "หอสมุดแห่งอเล็กซานเดรีย" เป็นหมุดหมายหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านจากยุคคลาสสิกไปสู่ยุคกลาง โดยมองห้องสมุดเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอารยะ ตัวอย่างของการสถาปนาชุดความรู้เพียงชุดเดียว และขจัดชุดความรู้ที่ผู้มีอำนาจไม่ต้องการ ยังมีตัวอย่างเช่นนี้ในโลกตะวันออกด้วย อย่างเช่นยุค "เผาตำราฆ่าบัณฑิต" สมัยจักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้ ผู้สถาปนาราชวงศ์ฉินเมื่อ 220 ปีก่อนคริสตกาล ขณะที่ตัวอย่างในไทย ก่อนหน้าที่ไทยจะเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ตัวอักษรไม่ได้มีบทบาทเพื่อจดบันทึกมากเท่ากับการใช้ในทางศาสนาหรือของศักดิสิทธิ์ และการเรียนเขียนตัวอักษรในอดีตจึงเน้นใช้การท่องจำ ควบคู่ไปกับการออกเสียงเป็นทำนอง และเมื่ออ่านเอกสารในสมัยอยุธยา อย่างเช่น แบบเรียนจินดามณี จะพบว่าอักขระวิธี การใช้วรรณยุกต์ จะต่างจากที่ใช้ในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นการเขียนตามการออกเสียง และยังไม่มีการจัดรูปแบบมาตรฐานแบบภาษาไทยปัจจุบัน ในช่วงท้ายศิริพจน์ยังเสนอด้วยว่า ห้องสมุดของไทย อาจจะต้องเก็บมากกว่าหนังสือ เพราะองค์ความรู้ในไทยไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือเท่านั้น และห้องสมุดน่าจะนำเสนอเรื่องราวที่เป็นองค์ความรู้ของเมืองนั้นๆ ด้วย ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่ https://www.facebook.com/maihetpraphetthai หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ถก ‘ป้อมมหากาฬ’ กทม.เห็นชอบหลักการ 'คุณค่า 5 ด้าน' Posted: 28 May 2017 05:22 AM PDT ถกเครียด 4 ชม.รวด ปม 'ป้อมมหากาฬ' แจงยิบคุณค่า 5 ด้าน กทม.เห็นชอบหลักการ หวังจบสัปดาห์หน้า 28 พ.ค. 2560 มติชนออนไลน์ รายงานว่าที่ห้องประชุมชั้น 6 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน มีการประชุมเสนอหลักฐานการระบุคุณค่าพื้นที่ป้อมมหากาฬ เขตพระนคร กรุงเทพฯ โดยคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, ตัวแทนชุมชนและนักวิชาการสาขาต่างๆ และทหารจากกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ รวมกว่า 20 ราย อาทิ นายยุทธพันธุ์ มีชัย เลขานุการผู้ว่าราชการกทม., พ.ท.โชคดี อัมพรดิษฐ์ ผู้บังคับการกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์, นายธวัชชัย วรมหาคุณ ประธานชุมชนป้อมมหากาฬ, นางอรศรี ศิลปี ประธานประชาคมบางลำพู, นางพิมศิริ สุวรรณาคร ชุมชนบ้านพานถม, นายศานนท์ หวังสร้างบุญ กลุ่มมหากาฬโมเดล, นางสาวอินทิรา วิทยสมบูรณ์ นักกิจกรรมเพื่อสังคม, ผศ.สุพิชชา โตวิวิชญ์ ประธานกรรมาธิการสถาปนิกเพื่อสังคมและเมือง สมาคมสถาปนิกสยามฯ เป็นต้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการประชุมในช่วงเริ่มต้นค่อนข้างตึงเครียด โดยมีการย้อนปรับแก้รายงานการประชุมครั้งที่แล้วและทำความเข้าใจร่วมกันในกรอบการประเมินนานถึง 2 ชม. ก่อนที่จะเข้าสู่การนำเสนอคุณค่า โดยเฉพาะประเด็นคำว่า 'บ้าน' และ 'พื้นที่' ซึ่งในการประชุมครั้งก่อน มีการตกลงในที่ประชุมว่าจะใช้คำว่าพื้นที่ ไม่ใช่บ้าน มิฉะนั้นจะวนเข้าสู่ความคิดเรื่อง รื้อ หรือไม่รื้อเท่านั้น แต่ในการหารือในวันนี้ ทหารและกทม. ขอให้เน้นเรื่องบ้าน แตกต่างจากรายงานการประชุมในวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากในการประชุมครั้งก่อน พ.ท.โชคดี อัมพรดิษฐ์ ผู้บังคับการกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ ไม่ได้อยู่จนจบเนื่องจากติดภารกิจ ส่วนนายยุทธพันธุ์ มีชัย เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไม่ได้ร่วมประชุมเนื่องจากติดภารกิจเช่นกัน จึงส่งผู้ช่วยของตนมาแทน เมื่อได้รับทราบรายงานการประชุมครั้งก่อน ทั้ง 2 รายมองว่าควรมีการแก้ไข นายยุทธพันธุ์กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายมาเจรจาคุณค่าของ 'บ้าน' และการอนุรักษ์ ขอให้หัวข้อเรื่องตัวบ้านเป็นหัวใจในการดำเนินเรื่องนี้ ทุกฝ่ายต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าบ้านมีคุณค่าอย่างไร แต่ถ้าจะเจรจาว่า 'พื้นที่' สำคัญอย่างไร และอะไรควรอยู่ในพื้นที่บ้างนั้น ไม่ใช่ภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ตนไม่ใช่คนแก้ปัญหาตามพจนานุกรม แต่ดูตามความเป็นจริง ยืนยันไม่ใช่คนคิดแยกส่วน พูดกันไม่ใช่พูดเอามันส์ ขณะนี้สังคมต้องการคำอธิบาย เจ้านายก็ถามทุกวัน สำหรับเรื่องคุณค่าจะโอ้โลมปฏิโลมอย่างไรก็ขอให้ใส่รายละเอียดเข้ามา ตนแฟร์ที่สุดแล้วในทรรศนะตัวเอง นายยุทธพันธุ์ยังกล่าวด้วยว่า ตนสู้กับนักเลงมาเยอะ นักการเมืองก็สู้มาแล้ว รู้หรือไม่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครที่มานั่งประชุมอยู่นี้ ก็เป็นคนสู้มาเป็นสิบปี เรื่องระเบิดก็เดินตรวจจนขาฉีก ว่าที่ร้อยตรีสุทัศน์ กาเซ็ม หัวหน้ากองจัดกรรมสิทธิ์ สำนักการโยธา กล่าวว่า ตนไม่ได้มีความรู้มากกว่านักวิชาการ แต่บางอย่างมีคำถามว่าใช่อย่างที่เสนอหรือไม่ เช่น ประเด็นที่ ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ระบุว่า ชุมชนป้อมมหากาฬเป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานมานานอย่างน้อยพันปี ซึ่งเข้าใจว่าเป็นการกล่าวเรื่องภาพรวมการตั้งถิ่นฐานมากกว่า ไม่ใช่ว่าชุมชนป้อมมหากาฬ อยู่ที่นี่มานานเช่นนั้น บ้าน 33 หลังที่เหลืออยู่ในชุมชน เป็นบ้านที่ทำสัญญาโดยชอบด้วยกฏหมาย 29 หลัง บุกรุก 4 หลัง ชาวบ้านแต่ละคนมีที่มาชัดเจน บ่งชี้ว่า ไม่ได้อยู่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ความเกี่ยวพันกับเจ้าของโฉนดในหลายหลังไม่ได้เกี่ยวโยงกัน การจะมาปักหลักโดยบอกว่าอยู่อาศัยมานาน จะเป็นไปได้ขนาดนั้นหรือไม่ จากนั้น มีการพักรับประทานอาหารกลางวันบนโต๊ะที่ใช้ในการประชุมโดยใช้เวลาไม่ถึง 1 ชม. ในระหว่างนี้ นายยุทธพันธุ์ยังพยายามพูดคุยสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน ต่อมาในภาคบ่าย กลุ่มนักวิชาการได้นำเสนอคุณค่าทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ ด้านประวัติศาสตร์, ด้านศิลปะ สถาปัตยกรรมและผังเมือง, ด้านสังคมและวิถีชีวิต, ด้านโบราณคดี และด้านวิชาการ โดยมีการแจกเอกสารที่ประกอบด้วยข้อมูล แผนผัง ภาพถ่าย ภาพลายเส้น รวมถึงภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งรศ.ยงธนิศร์ พิมลเสถียร อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง ม.ธรรมศาสตร์ ในฐานะคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เสนอให้ใช้เอกสารชุดดังกล่าวเป็นแนวทางในการพิจารณา ผศ.สุดจิต (เศวตจินดา) สนั่นไหว อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.รังสิต ในฐานะอุปนายกฝ่ายกิจกรรมเมือง และนโยบายสาธารณะ สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า กลุ่มอาคารในชุมชนป้อมมหากาฬเป็นมรดกสถาปัตยกรรมไม้ที่แบ่งได้ 3 ยุคหลัก คือ ยุคก่อน ร.5 ซึ่งเป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูง, ยุค ร.5-ร.7 ซึ่งได้รับอิทธิพลตะวันตก เป็นเรือนปั้นหยา, ยุค ร.8-ร.9 ซึ่งเป็นยุคอุตสาหกรรม ครึ่งไม้ ครึ่งปูน มีส่วนประกอบของเหล็ก ไม่ว่าจะเป็นยุคใด ก็มีคุณค่าทั้งหมด ขอเสนอให้เก็บทุกหลัง จะยินดีมาก "จะหากลุ่มอาคารบ้านไม้ที่อยู่อาศัยสืบเนื่องแบบนี้ค่อนข้างยาก ถือเป็นประโยชน์มากในเชิงวิชาการ เราสามารถอ่านอะไรได้อีกมากในบ้าน 1 หลัง" ผศ.สุดจิตกล่าว ผศ.ดร.วิมลรัตน์ อิสระธรรมนูญ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในประเด็นคุณค่าเชิงผังเมืองว่า ชุมชนป้อมมหากาฬมีความเป็นแบบแผนการตั้งถิ่นฐานของชุมชนดั้งเดิมยุคต้นรัตนโกสินทร์ กล่าวคือ มีการแบ่งกลุ่มพื้นที่การใช้งานเป็นส่วนต่างๆ เช่น วัด วัง หน่วยงานราชการ ป้อมฯลฯ เป็นชุมชนเดียวที่เหลือยู่บริเวณชานกำแพงพระนครในพื้นที่กรุงเทพชั้นใน นอกจากนี้ ชาวบ้านยังมีความทรงจำ และการรับรู้ชื่อสถานที่ซึ่งเชื่อมโยงกิจกรรมในอดีต เช่น ตรอกถ่าน, ตรอกนกเขา, ตรอกพระยาเพชร เป็นต้น จึงขอเสนอให้เก็บองค์ประกอบอื่นๆที่สัมพันธ์กับตัวบ้านด้วย เนื่องจากจะช่วยส่งเสริมคุณค่าของบ้าน "ชุมชนป้อมมหากาฬทำให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกับป้อม ตัวเมือง และกำแพงว่าเป็นอย่างไร ชุมชนอื่นไม่เหลือแล้ว นอกจากนี้ ยังมีการวางบ้านตามแนวทางเดินหรือตรอก ซึ่งชุมชนอื่นไม่ครบถ้วนสมบูรณ์เท่านี้" ผศ.ดร.วิมลรัตน์กล่าว นางภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง กล่าวว่าชุมชนดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงยุทธศาสตร์โบราณ ซึ่งจดหมายเหตุกรุงรัตนโกสินทร์ระบุถึงการเลือกชัยภูมิที่ตั้งว่าส่วนสำคัญที่สุดคือส่วนที่อยู่ชั้นใน ส่วนพื้นที่รอบนอกมีส่วนในการช่วยป้องกันพระนคร ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมในครั้งนี้ใช้เวลายาวนานกว่า 4 ชั่วโมง โดยสิ้นสุดในเวลาประมาณ 14.30 น. ซึ่งฝ่าย กทม.กล่าวสรุปว่ามีความเห็นชอบในกรอบที่นักวิชาการเสนอ ขอให้เกิดผลที่เป็นจริง นัดหมายการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 2-3 มิ.ย. โดยคาดหวังให้ได้ข้อสรุปเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ต่อไป ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
TCIJ: ส่องตัวเลข 3 ปี คสช. ยึดอำนาจ เลิกจ้างสูงสุดตั้งแต่ปี 2556 ตั้งกิจการน้อยลง-ปิดเพิ่มขึ้น Posted: 28 May 2017 03:06 AM PDT รายงานพิเศษจาก TCIJ รวมตัวเลขดัชนีทางเศรษฐกิจหลังรัฐประหาร 3 ปี พบอัตราว่างงานไต่ระดับสูงขึ้น-มีการเลิกจ้างมากที่สุดตั้งแต่ปี 2556 ช่วง ต.ค. 2559-จดทะเบียนนิติบุคคลน้อยลง-เลิกกิจการเพิ่มขึ้น ฯลฯ นักเศรษฐศาสตร์ชี้แม้ผลประกอบการบริษัทขนาดใหญ่ดีขึ้นแต่กิจการขนาดย่อยประสบปัญหา รายได้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เพิ่มไม่พอต่อรายจ่ายนำมาสู่การก่อหนี้ เอกชนลงทุนเติบโตต่ำ ทุนไทยไหลไปนอกประเทศมากขึ้นขณะที่ทุนต่างชาติยังไม่ไหลเข้ามามากเท่าที่ควร หวังประเทศกลับคืนสู่ประชาธิปไตยเศรษฐกิจจะดีขึ้น ดัชนีเศรษฐกิจหลังรัฐประหารครบ 3 ปีหลังรัฐประหาร 3 ปี พบรายได้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เพิ่ม ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย นำมาสู่การก่อหนี้ อัตราว่างงานไต่ระดับสูงขึ้น เลิกจ้างมากที่สุดตั้งแต่ปี 2556 ในช่วง ต.ค. 2559 จดทะเบียนนิติบุคคลน้อยลง เลิกกิจการเพิ่มขึ้น ฯลฯ ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ เดือน พ.ค. 2560 นี้ถือเป็นวาระครบรอบ 3 ปี การรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) TCIJ ได้รวบรวมตัวเลขสำคัญ ๆ ทางเศรษฐกิจจากองค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ที่น่าสนใจมานำเสนอ อัตราว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้น: ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (250-2559) อัตราการว่างงานของไทยเคยสูงที่สุดในช่วงปี 2552 ที่ 1.5% ได้ลดระดับลงมาเรื่อย ๆ และคงตัวในระดับต่ำกว่า 1% แต่หลังการรัฐประหารกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 0.7% เพิ่มมาเป็น 0.8% 0.9% และ 1% ในปี 2557 2558 และ 2559 ตามลำดับ สำหรับตัวเลขการว่างงานที่รวบรวมโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ประเมินว่าไทยมีอัตราว่างงานต่ำกว่า 1 % มาโดยตลอดในช่วงหลังนั้น มีการตั้งข้อสังเกตว่าสาเหตุมาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น เศรษฐกิจนอกระบบของไทยมีอัตราส่วนแรงงานสูงถึง 64% จากจำนวนแรงงานทั้งหมด (ข้อมูลปี 2556) สะท้อนถึงขนาดเศรษฐกิจนอกระบบที่สามารถดูดซับแรงงานที่หลุดจากการจ้างงานในระบบ แรงงานในเศรษฐกิจนอกระบบยังรวมถึงร้านค้ารถเข็น แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้างและเจ้าของธุรกิจส่วนบุคคลบางจำพวก ประกอบกับไทยไม่มีโครงสร้างสวัสดิการเพื่อรองรับผู้ว่างงาน จึงไม่มีแรงจูงใจต่อภาวะตกงานเป็นเวลานาน ท้ายที่สุดจึงต้องไปเข้าตลาดแรงงานนอกระบบซึ่งจะไม่ถูกนับเป็นบุคคลว่างงาน รวมทั้งประชากรไทยมากกว่า 40% ทำงานอยู่ในภาคการเกษตร โดยภาคส่วนนี้จะมีสัดส่วนของแรงงานไม่เต็มเวลา (Underemployment) และอัตราว่างงานนอกฤดูเกษตรกรรมสูง โดยแรงงานไม่เต็มเวลาถูกรวมอยู่กับแรงงานปกติ และมีสัดส่วนถึง 0.5% ยกตัวอย่างเช่น คนตกงานที่กลับไปทำการเกษตรที่บ้านเกิดวันละไม่กี่ชั่วโมงก็ถูกนับว่าได้รับการว่าจ้าง [1] ตัวเลขผู้ประกันตนว่างงานหลังรัฐประหาร: หลังการรัฐประหารในเดือน พ.ค. 2557 เป็นต้นมา ตัวเลขผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ม.33 ของระบบประกันสังคมขึ้นถึงจุดสูงสุดในช่วงเดือน ส.ค. 2559 ที่ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน 161,012 คน จากลูกจ้างที่มีนายจ้างในระบบประกันสังคม ม.33 ทั้งหมดจำนวน 10,511,821 คน (ข้อมูล ณ เดือน ธ.ค. 2559) เลิกจ้างผู้ประกันตนสูงสุดหลังรัฐประหาร: หลังการรัฐประหารในเดือน พ.ค. 2557 เป็นต้นมา ตัวเลขการเลิกจ้างผู้ประกันตน ม.33 ของระบบประกันสังคมขึ้นถึงจุดสูงสุดในช่วงเดือน ต.ค. 2559 ที่ผู้ประกันตนถูกเลิกจ้าง 31,570 คน ซึ่งยังถือเป็นสถิติที่สูงสุดก่อนการรัฐประหารมาตั้งแต่ ม.ค. 2556 อีกด้วย ทั้งนี้การเลิกจ้างผู้ประกันตนตั้งแต่เดือน ม.ค. 2556 ยังไม่เคยแตะระดับ 30,000 คนเลยจนมาถึงในช่วงปลายปี 2559 ที่เริ่มเพิ่มสูงทะลุ 30,000 คน ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2559 ที่ 31,570 คน เพิ่มสูงสุด ณ เดือน ต.ค. 2559 ที่ 31,570 คน ลดลงมาที่ 30,594 คน ในเดือน พ.ย. 2559 และลดลงต่ำกว่า 30,000 คน ในเดือน ธ.ค. 2559 ที่ 29,748 คน (ดูเพิ่มเติม [2] [3]) จากลูกจ้างที่มีนายจ้างในระบบประกันสังคม ม.33 ทั้งหมดจำนวน 10,511,821 คน (ข้อมูล ณ เดือน ธ.ค. 2559) เปิดกิจการใหม่ลด-เลิกกิจการเพิ่มหลังรัฐประหาร: ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อพิจารณาจากจำนวนและทุนจดทะเบียนนิติบุคคลจัดตั้งปี 2556-2559 พบว่าในปี 2557 ที่เกิดรัฐประหาร มีจำนวนผู้จดทะเบียนธุรกิจลดลงจากปี 2556 ที่ 67,302 รายมาเป็น 59,468 ราย จากนั้นค่อย ๆ กระเตื้องขึ้นที่ 60,174 รายและ 64,288 รายในปี 2558 และ 2559 ตามลำดับ แต่ก็ยังไม่สามารถเทียบได้กับช่วงปีก่อนรัฐประหาร ในทางกลับจากกันจำนวนและทุนจดทะเบียนนิติบุคคลเลิกกิจการปี 2556-2559 พบว่าหลังการรัฐประหารในปี 2557 ตัวเลขการเลิกกิจการกลับเพิ่มขึ้นจากการเลิกกิจการในปี 17,435 ราย เพิ่มมาเป็น 18,968 ราย 22,576 ราย และ 20,983 ราย ในปี 2557 2558 และ 2559 ตามลำดับ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง: ข้อมูลดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปี 2557-2559 ที่ทำการสำรวจโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมลดลงมาเรื่อย ๆ จากปี 2557 ที่ 65.0 เหลือ 64.8 และ 62.3 ในปี 2558 และ 2559 ตามลำดับ เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตก็ลดลงเช่นกันจาก 91.7 ในปี 2557 ลดลงมาที่ 91.5 และ 89.6 ในปี 2558 และ 2559 ตามลำดับ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมลดลง: สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้รวบรวมข้อมูลดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม พบว่าตัวเลขทยอยลดลงจาก 87.4, 85.6 และ 85.4 ในปี 2557, 2558 และ 2559 ตามลำดับ
นักเศรษฐศาสตร์หวังประเทศกลับสู่ประชาธิปไตย-เชื่อเศรษฐกิจจะดีขึ้นผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ความเห็นและประเมินผลงานเศรษฐกิจ 3 ปีหลังการยึดอำนาจของ คสช. และภาวะเศรษฐกิจ [4] ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงกระเตื้องขึ้นต่อเนื่องแต่การเติบโตยังไม่เต็มศักยภาพ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 0.8% ในปี 2557 มาอยู่ที่ 3.3% ในไตรมาสรแรกปี 2560 โดยคาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจจะเติบโตได้ในระดับ 3.6% การลงทุนภาครัฐและภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนในช่วงสามปีที่ผ่านมา การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนกระเตื้องขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ภาคการบริโภคยังขยายต่ำเพราะสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นจากระดับ 76.88% ช่วงกลางปี 2557 มาอยู่ที่ระดับ 79.9% ในปัจจุบัน แต่ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2558 ที่ระดับ 81.2% รายได้ของประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก จึงไม่เพียงพอต่อรายจ่ายนำมาสู่การก่อหนี้ ยอดรวมหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากระดับ 10.13 ล้านล้านบาทมาอยู่ที่ 11.47 ล้านล้านบาท หลังการยึดอำนาจ 3 ปี ยอดหนี้ครัวเรือนคงค้างสะสมเพิ่มขึ้นประมาณ 1.34 แสนล้านบาท สะท้อนว่าภาระหนี้ครัวเรือนสะสมยังอยู่ในระดับสูงและเพิ่มต่อเนื่องแม้สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีจะเริ่มลดลงแล้วก็ตาม ปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงเป็นโจทย์เรื่องการกระจายตัวของรายได้และความมั่งคั่งมากกว่าปัญหาการไม่มีวินัยทางการเงินและก่อหนี้เกินตัว หรือความไม่สามารถในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ฉะนั้นต้องมุ่งไปที่ทำอย่างไรให้การเติบโตทางเศรษฐกิจมีการกระจายตัวมากกว่านี้ การลงทุนภาคเอกชนเติบโตต่ำแม้กระเตื้องขึ้น และมีสัญญาณฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บางส่วน ทุนข้ามชาติสัญชาติไทยไหลออกไปลงทุนนอกประเทศมากขึ้น ขณะที่ทุนต่างชาติยังไม่ไหลเข้ามากอย่างที่คาดการณ์ และยังไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกับก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองปี 2557 ภาคการลงทุนเอกชนจะฟื้นตัวชัดเจนเมื่อกลับคืนสู่ประชาธิปไตยด้วยความเรียบร้อย และได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพและมีคุณภาพ ส่วนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เขตเศรษฐกิจพิเศษ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC จะเป็นเครื่องยนต์สำคัญช่วยขับเคลื่อนการเติบโตและความสามารถในการแข่งขันของไทยในหนึ่งถึงสองทศวรรษข้างหน้า นโยบายเหล่านี้มีความคืบหน้ามากพอสมควร แต่สิ่งที่จะประกันความสำเร็จ คือ เสถียรภาพของระบบการเมือง ความเข้มแข็งของระบบสถาบันและระบบนิติรัฐ การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ การลงทุนในการวิจัยและสร้างนวัตกรรม ในส่วนนี้รัฐบาลยังต้องใช้ความพยายามอีกมาก และเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาให้เกิดผลจึงต้องส่งมอบภารกิจให้กับรัฐบาลชุดต่อไปดำเนินการต่อ ขณะนี้ รัฐบาลยังไม่มียุทธศาสตร์ชัดเจนนักต่อประชาคมอาเซียน และยังไม่มียุทธศาสตร์ชัดเจนต่อนโยบายสำคัญ One Belt One Road ของจีน ส่วนภาคส่งออกที่เคยติดลบต่อเนื่อง ฟื้นตัวขึ้นในปีที่สามหลังการยึดอำนาจ โดยภาคส่งออกนั้นเริ่มมีการติดลบมาตั้งแต่ก่อน คสช. เข้ายึดอำนาจในเดือน พ.ค. 2557 และรัฐบาล คสช. เข้ามาบริหารประเทศในเดือน ก.ย. 2557 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ได้ประเมินผลงานเศรษฐกิจว่ามีทั้งดีขึ้น ทรงตัวและแย่ลง ด้านอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ระดับดีพอใช้ B ด้านความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจดีมากระดับ A ด้านความสามารถในการแข่งขันได้ระดับดีพอใช้คะแนนระดับ B ด้านการกระจายรายได้และความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจแย่ลงต้องปรับปรุง คะแนนระดับ D ด้านการพัฒนาสถาบันทางเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง ด้านความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ลดอำนาจผูกขาด เพิ่มการแข่งขันยังต้องปรับปรุงอีกมากได้คะแนนระดับ D ผลประกอบการของบริษัทขนาดใหญ่ดีขึ้นโดยภาพรวมแต่กิจการขนาดย่อยยังประสบปัญหา ประชาชนฐานรากยังคงเผชิญความยากลำบากทางเศรษฐกิจและการดำรงชีวิต ด้านฐานะทางการคลัง ก่อหนี้มากขึ้น ขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น ไม่สามารถกลับคืนสู่งบประมาณสมดุลได้ตามกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ได้คะแนนพอใช้หรือระดับ C ฐานะการคลังแย่ลงเพราะมีค่าใช้จ่ายจำเป็นในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานซึ่งมีความจำเป็น รายจ่ายด้านสวัสดิการสูงขึ้นและไม่พยายามลดทอนรายจ่ายที่ไม่จำเป็นโดยเฉพาะการจัดซื้ออาวุธ ส่วนผลงานด้านการปฏิรูปและปรับโครงสร้างภาษีนั้นอยู่ในเกณฑ์ดีพอใช้ ได้คะแนนระดับ B สนับสนุนรัฐบาลเดินหน้าเก็บภาษีมรดกและภาษีที่ดินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ หารายได้เข้ารัฐ ปรับโครงสร้างภาษีเพื่อให้ประเทศมีฐานรายได้จากภาษีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ควรใช้โอกาสนี้ในการปฏิรูปที่ดินครั้งใหญ่ เสนอให้ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคลเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน กระตุ้นให้เกิดการทำงาน การลงทุนและขยายกิจการเพิ่มขึ้น ส่วนผลงานด้านการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจและการปรับโครงสร้างการบริหารกิจการภาครัฐ ควรทำให้เกิดเป็นผลสำเร็จมากกว่านี้ 3 ปีที่ผ่านมามีความคืบหน้าระดับหนึ่งเท่านั้นจึงได้คะแนนในระดับ C ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ผศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุว่าภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อต่ำ อัตราการว่างงานต่ำกว่า 1% แต่มีปัญหาการขาดแคลนแรงงานในบางกิจการ อย่างไรก็ตาม ช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ แรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ปัญหาความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ ลดเหลื่อมล้ำยังไม่ดีนักและมีแนวโน้มแย่ลง รายได้ภาคเกษตรกรรมลดลงต่อเนื่องมาตลอดสองปีกว่าๆเพิ่งจะปรับตัวดีขึ้นช่วงต้นปีนี้ รัฐบาลลดการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร ทำให้ภาระทางการคลังลดลงแต่ก็ทำให้กำลังซื้อในภาคชนบทอ่อนตัวลงมาก ส่วนการไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นเวลามากกว่า 2 ปีและปรับเพิ่มเพียงเล็กน้อย 1-5 บาทในช่วงต้นปีทำให้แรงงานระดับล่างทักษะต่ำยังคงประสบความยากลำบากทางเศรษฐกิจ ผศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุว่า ทั้งนี้ต้องเพิ่มประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ลดอำนาจผูกขาด ส่งเสริมการแข่งขัน ปกป้องผู้บริโภค การกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและการมีระบอบการเมืองที่มีคุณภาพและมั่นคง เป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการวางรากฐานสู่ประเทศพัฒนาแล้วและศูนย์กลางเศรษฐกิจของอาเซียน หากไม่สามารถทำให้เกิดระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพขึ้นได้ ไทยจะเผชิญกับทศวรรษที่สองแห่งการสูญเสียโอกาส ถดถอยและจะเป็นคนป่วยแห่งเอเชีย โดยอนาคตเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับประชาธิปไตยที่มั่นคง เสถียรภาพทางการเมืองและการเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ประเทศเพื่อก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้ว เศรษฐกิจไทยปี 2560 สามารถเติบโตได้ในระดับ 3.6-4.2% ดีขึ้นกว่าปี 2557 (จีดีพีขยายตัว 0.8%) 2558 (2.9%) และ ปี 2559 (3.2%) (โปรดดูตารางตัวเลขเศรษฐกิจเปรียบเทียบ) อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ยังไม่กระจายตัวมายังกิจการขนาดเล็ก เกษตรกร ผู้ใช้แรงงานและประชาชนระดับฐานรากมากนัก "ปัญหารวยกระจุก จนกระจาย" ยังคงเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก และอนาคตเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับประชาธิปไตยที่มั่นคง จะกลับสู่ประชาธิปไตยอย่างไร ปัญหาความขัดแย้งที่ซับซ้อนต้องอาศัยกลไกการมีส่วนร่วม รัฐประหารจะเป็นเพียงกลไกในการระงับความขัดแย้งได้ในระยะสั้นเท่านั้น แต่ไม่สามารถสถาปนาความเป็นนิติรัฐ ระบบยุติธรรมที่ทุกคนเชื่อมั่น รัฐธรรมนูญที่เป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ กติกาที่เป็นประชาธิปไตย ความขัดแย้งรุนแรงรอบใหม่จะเกิดขึ้นอีก ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า "การรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 เป็นความต่อเนื่องของรัฐประหารปี พ.ศ. 2549 เป็นการต่อสู้กันระหว่างพลังอำนาจที่อิงระบบพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง กับพลังอำนาจที่ไม่เชื่อในระบบเลือกตั้ง รัฐบาลหลังการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง และ คสช. ต้องทำให้เกิดความสมดุลระหว่างสองพลังอำนาจนี้ โดยไม่สูญเสียหลักการประชาธิปไตยและความมั่นคงของระบบการเมืองอันเป็นพื้นฐานสำคัญต่อความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ สังคมสันติธรรม และคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งคืนความเป็นธรรมให้กับทุกคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ศึกษาความผิดพลาดในอดีตไว้เป็นบทเรียนเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยความล้มเหลว หากผู้ต้องการเข้าไปมีอำนาจทางการเมืองผ่านกระบวนการเลือกตั้งและการแก้ไขปัญหาผ่านกลไกรัฐสภา จะทำให้ระบบประชาธิปไตยไทยมีเสถียรภาพ มีความมั่นคง อันนำมาสู่ความมั่งคั่งที่ยั่งยืน"
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สั่งห้าม ผอ.-บุคลากร สนง.เขตพื้นที่ฯ แสดงความคิดปมปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค ตามคำสั่ง หน.คสช. Posted: 28 May 2017 12:24 AM PDT เลขาธิการ กพฐ. ออกหนังสือบูรณาการการขับเคลื่อนการบริหารจัดการการศึกษา ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. เตือน ผอ.-บุคลากร สนง.เขตพื้นที่การศึกษา ห้ามวิพากษ์-แสดงความคิดเห็นใดๆ เกี่ยวกับการดำเนินการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค ระบุกำลังทำความเข้าใจในรายละเอียด 28 พ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้เวลา 10.16 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ' ของสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เผยแพร่หนังสือ 2 ฉบับ ลงวันที่ 26 และ 27 พ.ค.60 จาก การุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เรื่อง การบูรณาการการขับเคลื่อนการบริหารจัดการการศึกษา ถึง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หนังสือดังกล่าวอ้างถึง คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่องการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค สัง ณ วันที่ 3 เม.ย.60 โดยหนังสือดังกล่าวระบุด้วยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจะทำความเข้าใจในรายละเอียดการดำเนินงานกับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาโดยเร็ว และในระหว่างนี้ ห้ามมิให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและบุคลาการในสังกัด วิพากษ์และแสดงความคิดเห็นใดๆ เกี่ยวกับการดำเนินการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค ที่มา : เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ' และเว็บไซต์สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
คุมตัวหญิงวัย 51 ปี เข้า มทบ.11 สอบคดีระเบิด รพ.พระมงกุฏเกล้า Posted: 28 May 2017 12:00 AM PDT หน่วยงานด้านความมั่นคงคุมตัวหญิงอายุ 51 ปี จากบ้านพักย่านประเวศ ไปมณฑลทหารบกที่ 11 เพื่อซักถามเกี่ยวกับกรณีจดหมายเตือนเรื่องระเบิด 3 ฉบับ เบื้องต้นให้การปฏิเสธ 28 พ.ค. 2560 เว็บไซต์แนวหน้า รายงานความคืบหน้าการติดตามตัวบุคคลที่เขียนจดหมายเตือนเรื่องระเบิด 3 ฉบับส่งไปยังสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และสถาบันประสาทวิทยา ก่อนจะเกิดเหตุระเบิดที่ รพ.พระมงกุฏเกล้า โดยว่ามีรายงานว่าเมื่อช่วงหัวค่ำวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา หน่วยงานด้านความมั่นคง ได้ควบคุมตัวผู้หญิงคนหนึ่งอายุ 51 ปี จากบ้านพักย่านประเวศ มาที่มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) เพื่อซักถามเกี่ยวกับกรณีจดหมายที่ถูกส่งมายังสถาบันการแพทย์ดังกล่าว ต่อมา พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) สั่งการให้คณะทำงานสืบสวนสอบสวนคดีระเบิดเดินทางไปร่วมซักถามข้อมูล อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นหญิงรายนี้ให้การปฏิเสธว่าไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับเรื่องจดหมายเตือนดังกล่าว รวมถึงไม่เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดบริเวณหน้ากองสลากเก่า บริเวณหน้าโรงละครแห่งชาติ และที่โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
แผ่นดินจึงดาล: สุรชาติ บำรุงสุข กองทัพกับประชาธิปไตยไทย Posted: 27 May 2017 11:09 PM PDT บทสัมภาษณ์ 9 นักวิชาการในชุด 'แผ่นดินจึงดาล' นี้ ประชาไทตัดทอนมาจากบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มในหนังสือ 'แผ่นดินจึงดาล: การเปลี่ยนผ่านในสภาพบังคับ' เพื่อมองอดีต ปัจจุบัน และอนาคตประเทศไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ว่ามันจะนำพาเราไปสู่อะไร เมื่อเอ่ยถึงกองทัพกับการเมืองไทย สุรชาติ บำรุงสุข จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นชื่อแรกๆ ที่ถูกนึกถึง เขากล่าวว่า การปฏิรูปการเมืองจะไม่มีทางสำเร็จ หากไม่ปฏิรูปกองทัพ และในทางกลับกัน การปฏิรูปกองทัพก็เป็นไปไม่ได้ หากไม่ปฏิรูปการเมือง ฟังแบบนี้ก็ให้รู้สึกว่าเขากำลังเล่นลิ้นและสร้างสภาวะงูกินหาง ไม่ใช่ สุรชาติมองว่าการปฏิรูปกองทัพเป็นงานระยะยาวมากกว่าคำตอบสำเร็จรูปเฉพาะหน้า เขาเชื่อว่าสังคมไทยต้องปล่อยให้ระบอบประชาธิปไตยทำงาน ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านบทเรียนให้มากพอ โดยไม่มีการขัดจังหวะ ถึงที่สุด การเมืองในระบอบประชาธิปไตยจะเขย่าองคาพยพภายในให้เข้าที่เข้าทาง และเปลี่ยนทหารการเมืองให้เป็นทหารอาชีพ แม้ภาพอนาคตจะดูมืดมน แต่มุมวิเคราะห์ของสุรชาติที่มองผ่านเส้นทางประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของไทยกับกองทัพ ที่สะท้อนความผิดพลาดของพลังประชาธิปไตยไทยในอดีต และการขาดยุทธศาสตร์ประชาธิปไตย ก็น่าจะเป็นการถอดบทเรียนที่สำคัญที่จะปูทางอนาคตมิให้เดินย่ำซ้ำรอยนี้อีก ความฝันที่ไร้ยุทธศาสตร์ เราเคยเชื่อว่ารัฐบาลในช่วงหลังที่มาจากการรัฐประหาร น่าจะมีอายุอยู่ได้ไม่นานนัก สุดท้ายจะต้องเจอกับกระแสต่อต้านและมีการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง แต่สิ่งที่น่าตกใจสำหรับรัฐประหาร 2557 คือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถอยู่ได้นานถึง 3 ปี ซึ่งส่งสัญญาณถึงความผิดปกติทางการเมืองในสังคมไทย เพราะว่าในอดีต หากเราย้อนกลับไปดู ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่ขึ้นมาจากการรัฐประหารในปี 2534 หรือว่ารัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในปี 2549 ระยะเวลาของรัฐบาลทหารจะอยู่ได้สักปีเศษๆ หรือถ้าคิดตัวเลขแบบหยาบๆ คือปีครึ่ง ผมเคยคาดว่าเต็มที่ที่สุดรัฐบาลทหารชุดนี้ไม่น่าจะอยู่ได้เกิน 2 ปี สุดท้ายก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันทางการเมืองและนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย แต่พอเข้าสู่ปีที่ 2 และปีที่ 3 ผมเริ่มรู้สึกว่าปัญหาการเมืองไทยน่าจะต้องได้รับการทบทวนใหม่ นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การที่ประเทศไทยไม่ได้เป็นผู้แพ้สงครามทำให้โครงสร้างทางการเมืองและทางทหารไม่ถูกแตะต้อง ในขณะที่ประเทศผู้แพ้สงครามอย่างญี่ปุ่น อิตาลีและเยอรมนี กองทัพของเขาถูกปลดอาวุธ มีการสร้างกองทัพใหม่และออกแบบสถาบันทางการเมืองใหม่ หลังรัฐประหารปี 2490 มีการเรียกร้องให้รัฐบาลตะวันตกทั้งสหรัฐฯ และอังกฤษแทรกแซงการเมืองไทย ถ้าสหรัฐฯ หรืออังกฤษตัดสินใจแทรกแซงการเมืองไทยในตอนนั้น อาจจะมีผลกระทบต่อการเมืองและกองทัพไทยในปัจจุบัน แต่จนกระทั่งสงครามเย็นสิ้นสุด โครงสร้างทางทหารของไทยก็แทบไม่ได้รับผลกระทบเลย จึงน่าตั้งคำถามว่าอนาคตจะมีปัจจัยอะไรที่สามารถผลักดันให้เกิดการปฏิรูปกองทัพได้บ้าง เพราะในเงื่อนไขที่ฝ่ายประชาธิปไตยชนะแล้วไม่ทำอะไรเลยตั้งแต่ปี 2516 ถึงปี 2535 ถ้าการเมืองอยู่ในสภาวะเช่นนี้ จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่พรรคการเมืองจะเข้มแข็งพอที่จะปฏิรูปกองทัพ สิ่งหนึ่งที่ท้าทายเรา แต่เราไม่ค่อยขบคิดกันคือ เราไม่นึกถึงการบริหารจัดการกองทัพ และเราไม่นึกถึงการบริหารจัดการการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย พูดง่ายๆ คือเราไม่มีคำตอบกับตัวเราเองว่าเราต้องการระบบการเมืองแบบใด เรามีแต่วาทกรรมว่าเราอยากเห็นการปฏิรูปทางการเมือง แต่มีการถกกันน้อยมาก สุดท้ายมันจึงเป็นเหมือนความฝันชุดใหญ่ และเราไม่ได้ทำอะไรกับมันมากนักนอกจากฝัน เมื่อเราไม่ได้ทำอะไร เราต้องยอมรับว่าแม้กระแสประชาธิปไตยทั้งจากภายนอกและภายในประเทศอาจจะพัดแรงขึ้น แต่ในแง่ของโครงสร้างทางการเมืองหรือมิติทางการบริหารจัดการกองทัพ หากลองมองย้อนกลับไปจะเห็นว่าแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย พูดง่ายๆ คือการเมืองหลังปี 2535 เรายังอยู่ในโลกของการเมืองแบบเก่า แต่เรามีความฝันใหม่ และเราก็ฝันอย่างเดียวว่ามันจะกลายเป็นจริง ปฏิรูปการเมืองที่ไม่ปฏิรูปกองทัพ แม้ว่าหลังจากนั้นจะมีการปฏิรูปทางการเมืองครั้งใหญ่ จนกลายมาเป็นรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่รัฐธรรมนูญดังกล่าวก็ไม่ได้แตะกองทัพ ไม่ต่างกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองยุค 14 ตุลา รัฐธรรมนูญหลัง 14 ตุลา แม้จะมีความเป็นประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ได้แตะกองทัพ หรือแม้กระทั่งย้อนกลับดูหลัง 2475 เราก็แตะกองทัพน้อยมาก ถ้าเราฝันอยากเห็นประชาธิปไตย เราต้องมียุทธศาสตร์ของการสร้างประชาธิปไตย ซึ่งเป็นชุดความคิดที่เราอ่อนมาก ถ้าเรากลับไปดูจะเห็นว่าสุดท้าย แม้รัฐธรรมนูญปี 2540 สามารถทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็งขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ระบบรัฐสภาเข้มแข็งและหยั่งรากลึกได้อย่างแท้จริงในการเมืองไทย หากจะใช้ศัพท์ทางทฤษฎีคือเรายังไม่ก้าวไปสู่ Democratic Consolidation แปลไทยคือ ความสามารถในการสร้างความเข้มแข็งของประชาธิปไตย นี่เป็นสิ่งที่เรายังทำไม่ได้หรือทำไม่ได้มากเท่าที่ควร เมื่อทำไม่ได้ หลังจากการขึ้นสู่อำนาจของพรรคไทยรักไทยในปี 2544 และสังคมไทยก้าวเข้าสู่ความขัดแย้งทางการเมืองในปี 2547-2549 แต่พอเริ่มเข้าปี 2548 เราก็เริ่มพูดกันแล้วว่า ทหารจะยึดอำนาจไหม? และสุดท้ายในความขัดแย้งชุดนี้ก็จบลงแบบเดิม คือรัฐประหาร เมื่อขาดยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการการเมืองและการสร้างประชาธิปไตยจึงเท่ากับเราปล่อยให้โครงสร้างแบบเก่ามันเดินหน้าไปเรื่อยๆ เราจึงไม่มีหลักประกันว่าถ้าปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นแล้ว สุดท้ายรัฐสภาจะเป็นเครื่องมือในการตัดสินปัญหาดังกล่าว หรือเป็นเครื่องมือและกลไกในการควบคุมความขัดแย้งไม่ให้มันลุกลามจนกลายเป็นประตูที่เปิดรับทหารเข้ามามีอำนาจทางการเมือง Military exits from politics? ถ้าทุกฝ่ายยอมรับกติกากลาง ยอมรับว่าการเลือกตั้งคือวิธีการที่ถูกต้อง ฝ่ายขวาก็สามารถเข้าสู่อำนาจทางการเมืองได้ หรือในทำนองเดียวกัน ฝ่ายซ้ายก็ต้องเลิกคิดเรื่องการยึดอำนาจรัฐแบบปฏิวัติรัสเซียเช่นกัน ไม่ว่าจะยืนอยู่บนอุดมการณ์แบบซ้ายจัด ขวาจัด หรือกลาง ทุกฝ่ายต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุด เปลี่ยนความขัดแย้งเป็นข้อเสนอทางนโยบายและให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน แต่ถ้าตราบใดที่ปีกขวายังเชื่อในอุดการณ์ต่อต้านการเมือง เขาก็จะมองการเลือกตั้งเป็นดั่งมะเร็งร้ายและพรรคการเมืองเป็นสิ่งน่ารังเกียจ นักการเมืองคือคนบาป ซึ่งวาทกรรมเหล่านี้สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในร่างรัฐธรรมนูญ คสช. และทัศนะเช่นนี้จะนำการเมืองไปสู่จุดจบด้วยการรัฐประหารอย่างแน่นอน หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นการเมืองของคนกลาง และคนกลางจะเป็นใครอื่นไม่ได้นอกจากผู้นำทหารหรือเป็นคนที่เป็นนอมินีของทหาร ผู้นำรัฐบาลในเงื่อนไขเช่นนี้จะเสมือนกับผู้ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของกองทัพและชนชั้นนำ การเลือกตั้งหากจะเกิดขึ้นจึงไม่ใช่การออกเสียงที่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน แต่เป็นการสร้างความชอบธรรมของระบอบกึ่งอำนาจนิยมโดยมีคูหาเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการลดแรงกดดันจากฝ่ายที่เห็นต่างทั้งในและนอกบ้าน ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว เราอาจจะล้อสำนวนของการลงประชามติในอังกฤษว่า โจทย์สำคัญของการสร้างประชาธิปไตยไทยคือ Mixit หรือ Military exits from politics คือการพาทหารออกจากการเมือง ทั้งหมดนี้ผมไม่แน่ใจอย่างเดียวว่า ถ้า Brexit ชนะในอังกฤษแล้ว Mixit จะชนะในไทยหรือไม่? ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ก.กลาโหม เผยได้เอกสารความเห็นร่วมสร้างความปรองดองที่สมบูรณ์แล้ว Posted: 27 May 2017 10:45 PM PDT โฆษก ก.กลาโหม เผยได้เอกสารความเห็นร่วมสร้างความปรองดองที่สมบูรณ์แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดส่งเอกสารดังกล่าวให้คณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการจัดทำเป็น "ร่างสัญญาประชาคม" หรือ กรอบความต้องการของประชาชนในการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติสุข มี ผบ.ทบ. เป็นประธานการจัดทำ 28 พ.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่าพล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง เปิดเผยถึง กระบวนการสร้างความสามัคคีปรองดองและผลการดำเนินงานกว่า 3 เดือน คือ ตั้งแต่ 14 ก.พ. 2560 ที่ผ่านมาว่า ในภาพรวมมีความคืบหน้าไปมาก ประชาชนตื่นตัวและให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง โดยหลังจากผู้แทนพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง องค์กรภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และภาคประชาชนจากทั่วประเทศ ได้ร่วมกันสะท้อนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ รวมทั้งร่วมตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลอย่างครบถ้วนผ่านกระบวนการรับฟัง โดยมีอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น ที่มี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานแล้วนั้น ล่าสุด ข้อมูลจากการรับฟังดังกล่าว ได้ถูกส่งต่อให้อนุกรรมการพิจารณาบูรณาการข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ โดยมี พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นประธาน ไปดำเนินการวิเคราะห์และสังเคราะห์ ร่วมกับผลศึกษาแนวทางสร้างความสามัคคีปรองดองที่มีมา ด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ตามหลักวิชาการ จนได้ "เอกสารความเห็นร่วม" ที่สมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และขณะนี้ อยู่ระหว่างการจัดส่งเอกสารความเห็นร่วมดังกล่าวให้คณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการ ซึ่งมี พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสารท ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธาน เพื่อจัดทำเป็น "ร่างสัญญาประชาคม" หรือ กรอบความต้องการของประชาชนในการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติสุขในอนาคตต่อไป พล.ต.คงชีพ กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เน้นย้ำเป็นนโยบายถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลในการสร้างความสามัคคีปรองดองของสังคม โดยให้ เปิดกว้างรับฟังประชาชนอย่างทั่วถึงในทุกภาคส่วน ดำเนินงานในทุกขั้นตอนด้วยความเป็นกลาง ตามหลักวิชาการอย่างรอบคอบ ครบถ้วนในทุกประเด็น เพื่อให้ข้อมูลที่ได้ เป็นประโยชน์ในการจัดทำร่างสัญญาประชาคม และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถพิจารณาใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าว กำหนดเป็นแผนงานในระดับปฏิบัติการ ระดับนโยบายและระดับยุทธศาสตร์ ในการขับเคลื่อนแก้ปัญหาแต่ละพื้นที่และเร่งคลี่คลายปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคม ซึ่งมุ่งเน้นสนับสนุนสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม ตามนโยบายของรัฐบาลในภาพรวม โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นวาระเร่งด่วนและสามารถทำได้ทันทีในปี 60 ซึ่งเป็น "ปีแห่งการปฏิรูปประเทศ" พล.ต.คงชีพ กล่าวย้ำว่า กระบวนการสร้างความสามัคคีปรองดองมิใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่ทุกรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาความขัดแย้งที่มีมาอย่างต่อเนื่อง กว่า 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลปัจจุบัน เพียงเข้ามาสานต่อโดยมุ่งเน้นความเป็นรูปธรรม ด้วยการหยุดสถานการณ์ความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงทันทีและนำสังคมเข้าสู่ความเป็นปกติด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ควบคู่กับการเปิดกว้างรับฟังปัญหาและความต้องการของประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อเข้าใจมูลเหตุหรือปัญหาพื้นฐาน และกำลังใช้ความพยายามคลี่คลายปัญหาและทำความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ให้บรรลุผลเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ เราตระหนักดีว่า ความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกภาคส่วน เป็นปัจจัยหลักที่สำคัญ ขอเพียงเชื่อมั่นและมั่นใจกัน คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดองทุกคน จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อส่งเสริมการสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ร่วมกันกำหนด ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กัมพูชาตัดสินใจส่งแรงงานแม่บ้านไปทำงานมาเลเซียอีกครั้งในรอบ 6 ปี Posted: 27 May 2017 10:21 PM PDT รัฐบาลกัมพูชาได้ยกเลิกข้อห้ามในการส่งแรงงานหญิงไปทำงานแม่บ้านในมาเลเซีย หลังจากที่มีข้อห้ามมากว่า 6 ปี คาดแม่บ้านกลุ่มแรกเดินทางถึงมาเลเซียหลังวันฮารีรายอ อีดิลฟิตรี นี้ หน่วยงานภาครัฐของกัมพูชาได้ฝึกอบรมและให้ความรู้เกี่ยวกับการทำงานเป็นแม่บ้านให้แก่หญิงที่มีความประสงค์เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ โดยรัฐบาลกัมพูชาได้ยกเลิกข้อห้ามในการส่งหญิงไปทำงานแม่บ้านในมาเลเซีย หลังจากที่มีข้อห้ามมากว่า 6 ปี ที่มาภาพประกอบ: thrive-international.org เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2560 ที่ผ่านมา สำนักข่าว Xinhua รายงานว่ารัฐบาลกัมพูชาได้ยกเลิกข้อห้ามในการส่งหญิงไปทำงานแม่บ้านในมาเลเซีย หลังจากที่มีข้อห้ามมากว่า 6 ปี หลังจากที่สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชาเคยออกกฎข้อห้ามดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 ต.ค.2554 ในช่วงที่มีการรายงานเรื่องการละเมิดกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชนแม่บ้านชาวกัมพูชาจากนายจ้างชาวมาเลเซีย Heng Sour โฆษกกระทรวงแรงงานกัมพูชาระบุกับสำนักข่าว Xinhua ว่ากัมพูชาและมาเลเซียกำลังจะบรรลุกระบวนการขั้นสุดท้ายที่จะเปิดตลาดแรงงานนี้อีกครั้ง นอกจากนี้เธอยังระบุว่าต้องขึ้นอยู่กับการเลือกของแรงงานกัมพูชาว่าพวกต้องการไปที่นั่นหรือไม่ และขึ้นอยู่กับความต้องการของนายจ้างในมาเลเซียด้วย ด้านสำนักข่าว Bernama ของมาเลเซียของมาเลเซีย ระบุว่ารัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ระบุว่าแรงงานแม่บ้านกัมพูชากลุ่มใหม่กลุ่มแรกนี้จะเดินทางถึงมาเลเซียหลังวันฮารีรายอ อีดิลฟิตรี ที่เป็นการฉลองการสิ้นสุดของเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิม ปัจจุบันคาดการณ์กันว่ามีแรงงานชาวกัมพูชาลงทะเบียนทำงานในมาเลเซียราว 8,000 คน โดยประมาณ 3,000 คน ทำงานเป็นแม่บ้าน อนึ่งข้อมูลจากโครงการจับตาอาเซียน (สกว.) เมื่อเดือน ส.ค. 2559 [1] ระบุว่าหญิงชาวกัมพูชาจำนวนมากจึงตัดสินใจเดินทางไปทำงานในต่างประเทศสาเหตุประการหนึ่งมาจากความยากจนและรายได้จากการทำงานภายในประเทศไม่เพียงพอ และเพื่อรายได้ที่มากขึ้น แต่ก็อาจต้องแลกกับการถูกกดขี่จากนายจ้าง และการสูญเสียความเป็นส่วนตัวในการดำรงชีวิตประจำวัน แม้เธอมีสิทธิ์ที่จะเลือกว่าจะเดินทางไปงานที่ประเทศใด ไม่จำกัดเฉพาะมาเลเซียเท่านั้น แต่กลไกตลาดยังคงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดว่าแรงงานเหล่านี้จะสามารถย้ายไปทำงานในประเทศใดได้บ้าง ทั้งนี้องค์กรฝึกอบรมแม่บ้านของกัมพูชา (Maid in Cambodia: MIC) ระบุผ่านเว็บไซต์ maidincambodia.com ว่า อัตราค่าจ้างที่ยุติธรรมควรอยู่ที่ 5,250 บาทต่อเดือน สำหรับการทำความสะอาดที่อยู่อาศัยขนาดเล็ก มีสมาชิกไม่เกิน 4 คน ทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน โดยทำงานเพียงครึ่งวันในแต่ละครั้ง และเพิ่มค่าจ้างเป็น 10,500 บาทต่อเดือน สำหรับที่พักและครอบครัวขนาดใหญ่ แต่มีสมาชิกไม่เกิน 10 คน โดย MIC นำหลักการมาจากอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 189 ที่กำหนดให้ลูกจ้างทำงานบ้านมีสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่นเดียวกับแรงงานประเภทอื่นๆ เช่น ให้มีวันหยุด ชั่วโมงทำงาน รายได้ขั้นต่ำ ค่าล่วงเวลา จากข้อมูลในปี 2557 ระบุว่า อนุสัญญาฉบับนี้ มีเพียง 9 ประเทศในโลกเท่านั้นที่นำมาปฏิบัติตาม และหนึ่งในนั้นคือ ฟิลิปปินส์ ซึ่งถือเป็นประเทศเดียวในเอเชีย อย่างไรก็ดี เครือข่ายแรงงานผู้ทำงานบ้านของกัมพูชา ได้ร่วมงานกับสหพันธ์แรงงานผู้ทำงานบ้านนานาชาติ (International Domestic Workers Federation: IDWF) ดำเนินการให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานแก่หญิงกัมพูชาที่จะเดินทางไปทำงานเป็นแม่บ้านในต่างประเทศ โดยเน้นถึงวิธีการในการสื่อสารกับนายจ้างให้ชัดเจนก่อนเดินทางไป เช่น ขอบข่ายงานที่รับผิดชอบ ระยะเวลาในการทำงาน รวมถึงความสะอาดปลอดภัยในการพักอาศัย หลังพบว่าแม่บ้านจำนวนมากไม่ได้ตกลงในเรื่องดังกล่าวก่อนเข้าปฏิบัติงาน ในปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐของกัมพูชาจึงเร่งจัดฝึกอบรมและให้ความรู้เกี่ยวกับการทำงานเป็นแม่บ้านให้แก่หญิงที่มีความประสงค์เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมส่งแรงงานเหล่านี้ไปยังมาเลเซียในปี 2560 ตามที่ลงนามในบันทึกความเข้าใจ โดยทั้งสองฝ่ายต่างยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางสนับสนุนสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของลูกจ้างว่าจะออกมาในรูปแบบใด หลายฝ่ายจึงหวั่นใจว่า อาจจะเกิดเหตุการณ์ที่ลูกจ้างจะถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบซ้ำเดิม ยังไม่นับรวมกระแสข่าวเก่าๆ เกี่ยวกับการหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยของแม่บ้านกัมพูชาในมาเลเซีย อันจะเป็นอุปสรรคในการดำเนินความร่วมมือในประเด็นเกี่ยวกับแรงงานแม่บ้านนี้ได้ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น