โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ดัน 'ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ' ฉ.แรกของไทย หวังแก้สุขภาวะสงฆ์ก่อนวิกฤต

Posted: 08 May 2017 12:40 PM PDT

ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ เผยอยู่ระหว่างการยกร่าง "ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ" ฉบับแรกของประเทศไทย
 
 
8 พ.ค. 2560 รายงานข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) แจ้งว่า  วันนี้ (8 พ.ค.60) ที่โถงหน้าห้องประชุมสานใจ ชั้น 6 อาคารสุขภาพแห่งชาติ มีการจัดเวที สช. เจาะประเด็นครั้งที่ 2/2560 "บ้าน-วัด-โรงพยาบาล...พระสงฆ์ไทยในวิกฤตสุขภาวะ" เพื่อผนึกกำลังทุกภาคส่วนแก้ปัญหาสุขภาวะพระสงฆ์ไทย
 
นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะ ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ เปิดเผยว่า สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 มีฉันทมติต่อเรื่อง "พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ" เพื่อสานพลังภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ไขปัญหาสุขภาวะพระสงฆ์ที่พบปัญหาอยู่จำนวนมาก หลังจากบูรณาการทำงานร่วมกันทั้งสงฆ์และฆราวาสจากหลายหน่วยงานตลอด 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า เรื่องนี้ต้องยกระดับเป็น นโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม โดยยึดหลักการสำคัญ "ใช้ทางธรรมนำทางโลก" ภายใต้แผนปฏิบัติการ 5 แนวทาง ได้แก่ ด้านความรู้ ด้านข้อมูล ด้านการพัฒนา ด้านบริการสุขภาพและสวัสดิการ ด้านการวิจัยและพัฒนาชุดความรู้ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งปัจจุบัน อยู่ระหว่างการยกร่าง "ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ" ฉบับแรกของประเทศไทย โดยทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะได้ถวายรายงานเรื่องนี้ต่อสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในเร็วๆ นี้ โดยมหาเถรสมาคมก็ได้ให้การสนับสนุนเรื่องนี้อย่างเต็มที่ และพร้อมนำพาคณะสงฆ์ไทยขับเคลื่อนการแก้ปัญหาสุขภาวะพระสงฆ์ต่อไป 
 
"ขณะนี้มหาเถรสมาคมได้รับทราบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติและกระบวนการยกร่างธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติฉบับที่ 1 แล้ว รวมทั้งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญในการดูแลพระพุทธศาสนาให้เข้มแข็ง ก็ได้เข้ามาร่วมเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาในระยะยาวต่อไป" นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าว
 
พระครูสังฆกิจพิมล (สุรศักดิ์ สุรญาโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์ พระอารามหลวง กล่าวว่า ในการสร้างสุขภาวะของพระสงฆ์ วัดและชุมชนต้องเข้มแข็ง โดยเฉพาะวัดเองต้องมีนโยบายชัดเจนที่จะสร้างสุขภาวะให้เกิดขึ้นในวัด ยกตัวอย่างกรณีวัดชลประทาน ซึ่งมีโครงการให้ความรู้และทำความเข้าใจกับชาวบ้านให้คำนึงถึงอาหารและเครื่องดื่มที่นำมาถวายพระในโอกาสต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังมีกฎเหล็กที่ไม่ให้พระสูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า และเสพสิ่งเสพติด และยังเป็นผู้นำการรณรงค์ในชุมชนและองค์กรภายนอกด้วย นับเป็นภารกิจของวัดดำเนินการอย่างต่อเนื่องนับสมัยพระธรรมโกศาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) เป็นเจ้าอาวาส
 
"การทำบุญที่ดีที่สุด คือทำสิ่งที่ถูกต้อง รวมถึงการถวายอาหารพระที่ถูกหลักโภชนาการ ซึ่งพระต้องมาช่วยแก้ปัญหา ไม่ใช่มาสร้างปัญหา ดังนั้นพระสงฆ์ก็ต้องดูแลตัวเองให้ดีด้วยทั้งกายและใจ" พระครูสังฆกิจพิมล กล่าว
 
ประสงค์ จักรคำ ผู้ตรวจราชการ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า แนวทางการทำงานของมหาเถรสมาคมและสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ มุ่งรณรงค์ดูแลสุขภาพพระสงฆ์ทั่วประเทศ โดยนมัสการเจ้าคณะผู้ปกครอง ทั้งเจ้าคณะตำบล และอำเภอ ให้เป็นผู้นำในพื้นที่ ซึ่งปัญหาที่พบคือในจำนวนพระสงฆ์กว่า 3 แสนรูป แต่มีข้อมูลด้านสุขภาพเพียง 50,000 รูปเท่านั้น นอกจากนี้พระสงฆ์ส่วนมากกลัวทำผิดพระธรรมวินัย และจำพรรษาในพื้นที่ห่างไกล อันเป็นเหตุให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเต็มที่ ซึ่งต้องการความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สนับสนุนการเก็บข้อมูลสุขภาพพระสงฆ์ในชุมชนต่างๆ เพื่อนำมารวบรวมและวิเคราะห์ ให้การจัดทำโครงการส่งเสริมสุขภาพของพระสงฆ์เกิดขึ้นได้ และขอความร่วมมือในการออกหน่วยตรวจสุขภาพพระสงฆ์ที่วัด เป็นต้น
 
นอกจากนั้นจะมีการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพพระสงฆ์ เช่น เรื่อง อาหารใส่บาตร ผ่านช่องทางต่างๆ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะช่วยสร้างการเรียนรู้ให้แก่เด็กและผู้ปกครอง รวมถึงญาติโยมทั้งหลายให้เกิดเป็นเครือข่ายรณรงค์ในชุมชนต่อไป และเนื่องในโอกาส วันวิสาขบูชา 10 พฤษภาคม นี้ พศ. ก็ขอรณรงค์ให้เลือกอาหารถวายที่เหมาะสมกับสุขภาพเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นพระสงฆ์กลายเป็นผู้ป่วยกลุ่มใหม่ของสังคม 
 
นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการรวบรวมสถิติอาการเจ็บป่วยของพระสงฆ์ที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลสงฆ์ พบว่า โรคลำดับต้นๆ ได้แก่ ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และต้อกระจก ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ
 
ในส่วนแนวทางการแก้ปัญหา กรมอนามัยได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมเครือข่ายสังฆะพัฒนาพุทธชยันตี 4 ภาค มีการประชุมร่วมกันอย่างต่อเนื่องเพื่อจัดทำ แผนปฏิบัติการขับเคลื่อน ประกอบด้วย 4 แนวทาง ได้แก่ 1.การแก้ไขปัญหาพระสงฆ์ที่อาพาธ 2.การสร้างเสริมและป้องกันโรคพระสงฆ์ 3.การจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ (โครงการวัดส่งเสริมสุขภาพ) และ 4.การหนุนเสริมบทบาทสงฆ์ต่อการพัฒนาสุขภาวะชุมชนและสังคม โดยหลังจากนี้ จะมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แกนนำ นปช.ให้ปากคำตร.พัทยา หลังถูกฟื้นคดีใหม่ มีส่วนปลุกปั่นล้มประชุมอาเซียนปี 52

Posted: 08 May 2017 09:42 AM PDT

จตุพร ณัฐวุฒิ วีระกานต์ และ เหวง เข้าให้ปากคำ สภ.เมืองพัทยา หลังถูกออกหมายเรียก เหตุมีคนมาร้องทุกข์กล่าวโทษเมื่อ มี.ค.58 ว่า มีส่วนยุยงส่งเสริมปลุกปั่นล้มประชุมอาเซียนปี 52 


ที่มาภาพ เพจ PEACE TV 

8 พ.ค.2560 เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. เพจ PEACE TV รายงานว่า จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เดินทางมาถึงสถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา ตามหมายเรียกกรณีที่มีผู้มาร้องให้ฟ้องคดีเพิ่ม ในคดีปิดล้อมการประชุมอาเซียนซัมมิท ในปี 2552 หลังคดีเดิมผ่านการพิพากษามาแล้วสองศาล ซึ่งนอกจากบุคคลดังกล่าวมาแล้ว

ก่อนหน้านั้น โลกวันนี้ รายงานว่า วันนี้บรรดาแกนนำ นปช. เข้าให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.เมืองพัทยา จ.ชลบุรี กรณีบุกล้มการประชุมอาเซียน ปี 2552 หลังก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองพัทยา ได้ทำการออกหมายเรียก เพื่อให้ ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ, วีระกานต์ มุสิกพงศ์ และ เหวง โตจิราการ เข้าให้ปากคำ เนื่องจากเชื่อว่าทั้งหมดน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง กับเหตุการณ์ที่ อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง และพวกอีก 12 คน นำกำลังเข้าคัดค้านการประชุมอาเซียน ที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท เมืองพัทยา เมื่อปี พ.ศ.2552 ซึ่งทั้ง 3 คนเดินทางมาในช่วงเช้า ส่วน จตุพร พรหมพันธุ์ เดินทางให้ปากคำในช่วงบ่ายดังกล่าว และหลังให้ปากคำเสร็จ เจ้าหน้าที่อนุญาตให้กลับได้

อนึ่งเมื่อวันที่ 10-11 เม.ย.52 อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง ได้นำกลุ่มคนเสื้อแดงบุกล้มการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ซึ่งในเวลาต่อมา อริสมันต์ และแกนนำรวม 13 คน ถูกชั้นต้นและศาลอุธรณ์ตัดสินจำคุก 4 ปี และขณะนี้ทั้งหมดถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษพัทยา กระทั่งวันที่ 5 มี.ค.58 มีคนมาร้องทุกข์กล่าวโทษแกนนำกลุ่ม นปช.ว่า มีส่วนยุยงส่งเสริมปลุกปั่นให้ผู้ชุมนุมบุกโรงแรมยอยัลคลิฟบีชรีสอร์ทพัทยา พนักงานสอบสวน สภ.เมืองพัทยา จึงออกหมายเรียกครั้งที่ 1 ให้แกนนำ นปช. 7 คนมารับทราบข้อกล่าวหายุยงส่งเสริมให้เกิดความปั่นป่วน ประกอบด้วย 1. วีระกานต์ มุสิกพงศ์ 2. เหวง โตจิราการ 3. ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ 4. จตุพร พรหมพันธุ์ 5. อดิศร เพียงเกษ 6. จักรภพ เพ็ญแข และ 7. สุพร อัตถาวงศ์ หรือแรมโบ้อีสาน แต่ไม่มีใครมาพบตำรวจ จึงมีการออกหมายเรียกครั้งที่ 2 ส่งไปให้อีกครั้ง และมีผู้มาเข้าพบดังกล่าว

ส่วนคนอื่น ๆ ที่ยังไม่มา โลกวันนี้ รายงานว่า ได้ติดต่อขอเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 10 พ.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ที่ผ่านมา ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จตุพร  พร้อมด้วย ณัฐวุฒิ  เหวง เดินทางเข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรม กับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ผ่าน พ.ต.อ.ภมร รัตนสมัย นายตำรวจเวรอำนายการ ประจำ สตช. เพื่อขอความเป็นธรรมโดยให้ ผบ.ตร. ตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยขอบเขตอำนาจของพนักงานสอบสวน รวมทั้งเป็นการใช้สิทธิที่อยากให้ สตช. ตรวจสอบกระบวนการออกหมายจับของ สภ.พัทยา ฐานมีส่วนร่วมกับการชุมนุมทางการเมือง ที่ โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท พัทยา เมื่อปี 2552 ทั้งๆ ที่หลังเกิดเหตุมีการตั้งคณะกรรมการจาก สตช. พิจารณาไปแล้ว และไม่มีการแจ้งดำเนินคดี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เลื่อนนัดพยานหลักฐาน คดีกวาดจับหน้ารามฯ หลังข่าว 'คาร์บอม' เป็นปลาย ก.ค.นี้

Posted: 08 May 2017 09:16 AM PDT

ศาลมีคำสั่งเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐาน คดีกวาดจับหน้ารามฯ หลังข่าว 'คาร์บอม' เหตุอัยการยื่นเอกสารหลักฐานกว่า 10 ฉบับ ทนายจำเลยจึงขอเลื่อนเพื่อตรวจดูเอกสารอย่างละเอียด ก่อนนัดพร้อมอีกครั้งในวันที่ 24 ก.ค.นี้ ขณะที่ 9 จำเลยยังอยู่คุก

8 พ.ค. 2560 ผู้สื่อความรายงานว่า วันนี้ (8 พ.ค.60) เมื่อเวลา 09.00 น. ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ในฐานะทนายความของจำเลยทั้ง 9 คดีที่เรียกกันว่ากวาดจับหน้ารามฯ หลังข่าว "คาร์บอม" เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว (2559) เดินทางไปยังศาลอาญา ถนนรัชดา กทม. พร้อมญาติ ตามกำหนดการนัดพร้อม ตรวจพยานหลักฐาน กรณีอัยการโจทก์ยื่นฟ้อง ตาลมีซี โต๊ะตาหยง และพวกรวม 9 คน ในฐานความผิด "ร่วมกันอังยี่ ซ่องโจร มีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 209, 210 และ พ.ร.บ. ว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ตอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 55, 78

กิจจา อาลีอิสเฮาะ ทนายความและเลขานุการมูลนิธิศูนย์ทนายควมมุสลิม เปิดเผยว่า วันนี้ไม่มีอะไรมาก เป็นการพูดคุยกันมากว่า อีกทั้งเอกสารหลักฐานที่อัยการโจทก์ยื่นให้ศาลวันนี้ก็จำนวน 10 กว่าฉบับ ทางเราเลยขอเลื่อนนัดอีกครั้งเพื่อขอเวลาดูเอกสารดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีของ นูรมาน อาบู, มุฟตาดีน สาและ และอัมรี หะ หลังจากถูกปล่อยตัวและได้เข้าร่วมโครงการดะวะห์ของศูนย์สันติที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นอย่างไรบ้าง ปัจจุบันทั้งสามได้ลับบ้านหรือยัง มีการฟ้องเป็นจำเลยเพิ่มเติมหรือไม่ เลขานุการมูลนิธิศูนย์ทนายควมมุสลิม เปิดเผยว่า ตอนแรกตนคิดว่าวันนี้อัยการโจทก์จะยื่นฟ้องอีกสามคนที่เหลือด้วย แต่ปรากฎว่าไม่มี ตอนนี้ตนยังไม่มีข้อมูลความคืบหน้าในส่วนนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือน ต.ค.2559 มีการจับกุมนักศึกษาและชาวมุสลิมที่พักย่าน ม.รามฯ ไปกว่า 40 คน ตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. เป็นต้นมา ทั้งหมดมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดชายแดนภาคใต้  เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอ้างเหตุสงสัยว่าคนเหล่านี้อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเตรียมการก่อวินาศกรรมคาร์บอมบ์ในช่วงที่จะมีการประชุมสุดยอดผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 9-10 ต.ค.2559 (อ่านต่อ) และพอดีว่าช่วงเวลานั้นตรงกับโอกาสครบรอบ 1 ปี การสลายการชุมนุมที่ตากใบด้วย แต่จากข่าวที่ปรากฎยังไม่พบของกลางเป็นวัตถุระเบิดตามคำฟ้อง มีเพียงกล่องลังที่ใส่น้ำบูดูเท่านั้นที่เจ้าหน้าที่ยึดได้จากห้องพัก ขณะนี้ผู้ถูกจับกุมถูกทยอยปล่อยจนเกือบหมด แต่ความจริงยังมีอีก 9 คนถูกจำคุกอยู่ที่เรือนจำพิเศษ กทม. และดำเนินคดีดังกล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กก.พิจารณาการจัดทำงบบูรณาการฯ เห็นชอบในหลักการวงเงิน 1.9 แสนล้าน

Posted: 08 May 2017 06:20 AM PDT

พล.อ.ประยุทธ์ เผยที่ประชุม กก.พิจารณาการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์แผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ เห็นชอบในหลักการของงบประมาณประจำปี 2561 เพิ่มเติม ในวงเงิน 190,000 ล้านบาท

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

8 พ.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์แผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ครั้งที่ 1/2560 ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการของงบประมาณประจำปี 2561 เพิ่มเติม ในวงเงิน 190,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการจัดงบประมาณในลักษณะดังกล่าวของรัฐบาลเป็นครั้งแรกที่มาจากการรับฟังความเห็น ทั้งในส่วนของคณะกรรมการ ส่วนราชการ และประชาชน ซึ่งหลังจากนี้คณะกรรมการทั้ง 6 ภาคจะหารือกับสำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้การดำเนินโครงการต่าง ๆ เป็นไปตามไปแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี  โดยการจัดลำดับความสำคัญของแต่ละโครงการ จะแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้นต้องเห็นผลสัมฤทธิ์ภายใน 1 ปี ส่วนระยะกลางต้องเห็นผลภายใน 2 ปี และระยะยาว ต้องเห็นผลภายในคือ 3 ปีขึ้นไป

ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องจัดทำให้เร็วที่สุด ซึ่งขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องด้วย  สิ่งสำคัญคือ งบประมาณค่อนข้างมากอาจมีความกังวลเรื่องมีการทุจริตเกิดขึ้น ซึ่งรัฐบาลมีแนวทางป้องกันโดยมีคณะกรรมการ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องคอยติดตามการทำงานในทุกภาคส่วนอย่างใกล้ชิด  และสิ่งที่รัฐบาลใช้จ่ายไปแล้วนั้นต้องก่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด จึงขอให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกันเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อประชาชน  ทั้งนี้แผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ แบ่งเป็น 6 ภาคด้วยกัน ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคใต้ ภาคใต้ชายแดน โดยกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบร่วมกับกระทรวงต่าง ๆ  ที่เกี่ยวข้องในรูปแบบคณะทำงานครอบคลุมทั้ง 6 ภาค  

"จะมีคณะกรรมการติดตามการดำเนินโครงการในทุกพื้นที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และตรวจสอบเรื่องการทุจริต พร้อมกันนี้ในงบประมาณปี 61 จะมีการปรับลดงานฟังค์ชั่น และจะไปให้ความสำคัญกับงบฯ บูรณาการ ทั้งในระดับกระทรวง กลุ่มจังหวัด และระดับภูมิภาคทั้ง 6 ภูมิภาค ส่วนงบฯ ที่ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ในหลายกระทรวง หรืองบฯ ค้างท่อ จะนำมารวบรวมและปรับใช้ในงบฯ เพิ่มเติมปี 61 และอีกส่วนไว้สำหรับการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน หากเกิดความเดือดร้อนที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ตนยังมีความกังวลที่ฤดูฝนในปีนี้ ค่อนข้างมาเร็วกว่าปกติ จึงได้กำชับให้การบริหารจัดการน้ำ ทั้งในส่วนของน้ำประปา น้ำบาดาล ที่กักเก็บน้ำ พร้อมประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ดูแล และเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือสถานการณ์น้ำ

"ขอให้ทุกคนร่วมเป็นกำลังใจ และร่วมกันขับเคลื่อนให้งานต่าง ๆ สำเร็จลุล่วง ตามเป้าหมายที่วางไว้ ขอให้มีความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน เพราะทุกโครงการ แม้รัฐบาลจะเป็นผู้ริเริ่ม และมีหน่วยงานราชการเป็นผู้ปฏิบัติ แต่จำเป็นที่ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วม" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารเยี่ยมบ้าน 'ศรีสุวรรณ' หลังยื่นผู้ตรวจฯ สอบกองทัพเรือซื้อเรือดำน้ำผิด พ.ร.บ.งบประมาณ – รธน.

Posted: 08 May 2017 05:38 AM PDT

ศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครอง กรณีจัดซื้อเรือดำน้ำจีนเป็นการกระทำของหน่วยงานรัฐที่มีปัญหาความชอบตามรัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมายหรือไม่ ต่อมาทหารเข้าเยี่ยมบ้าน   

8 พ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (8 พ.ค.60) เมื่อเวลา 13.29 น. เฟซบุ๊ก 'Srisuwan Janya' ของศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โพสต์ภาพ พร้อมข้อความ และ สำนักข่าวไทย รายงานว่า สมาคมฯ ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่าน สงัด ปัถวี รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน  เพื่อขอให้ใช้อำนาจรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 (2) เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครอง กรณีการดำเนินการลงนามในสัญญาจัดซื้อเรือดำน้ำ S-26T จากจีน ของรัฐบาล หรือ กระทรวงกลาโหม หรือ กองทัพเรือ  ว่าเป็นการกระทำของหน่วยงานรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบตามรัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมายหรือไม่   

ศรีสุวรรณ กล่าวว่า  การจัดซื้อดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.วิธีงบประมาณ พ.ศ. 2502  แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2503 มาตรา 23 ที่ระบุว่าหน่วยงานของรัฐที่จะก่อหนี้ผู้พัน จะต้องเสนอเรื่องให้ ครม.อนุมัติให้ความเห็นชอบภายใน 60 วัน  นับแต่วันที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้นใช้บังคับ ซึ่งในกรณีนี้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 ถูกใช้บังคับ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2559  ครม.สามารถอนุมัติก่อหนี้ผูกพันได้ ไม่เกินวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559  แต่กลับพบว่า  กองทัพเรือมีการเสนอให้ ครม.พิจารณาในวันที่ 18 เมษายน 2560  ซึ่งถือว่าเกินระยะเวลา 60 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด      

"หรือ จะอ้างว่า ทร.เสนอตั้งแต่ช่วง 60 วัน  แต่ก็เหมือนกับว่า ครม.ยังไม่เห็นรายละเอียดของการจัดซื้อจัดจ้าง   เท่ากับว่า ครม.เซ็นเช็คเปล่าให้กับ ทร. หรือไม่" ศรีสุวรรณ กล่าว

ศรีสุวรรณ ยังเห็นว่า การลงนามซื้อเรือดำน้ำ แบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งน่าจะเข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญา ที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคง การลงทุนของประเทศ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 178  ซึ่งกำหนดว่า ต้องเสนอให้รัฐสภา หรือ สนช.ให้ความเห็นชอบก่อน แต่เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ซึ่งเป็นผู้แทนของรัฐบาลไทย ได้ลงนามข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำลำที่ 1 กับประธานกรรมการบริษัทของจีน  

"ดังนั้น เพื่อให้กรณีดังกล่าวเกิดความชัดเจนว่า การกระทำเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.วิธีงบประมาณ และขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณา และเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครอง เพื่อให้วินิจฉัยว่า การลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างเรือดำน้ำจากจีนลำที่1 เป็นโฆฆะ" ศรีสุวรรณ กล่าว  

ศรีสุวรรณ ยังกล่าวถึง การยื่นเรื่องให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบเรื่องเรือดำน้ำในก่อนหน้านี้ ว่า เป็นคนละเรื่องกับการยื่นให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน อย่าพยายามนำมาปนกัน ขณะนี้ สตง.ก็ยังไม่มีการชี้ชัดออกมาว่า การกระทำของ กองทัพเรือเข้าข่ายผิดวิธีงบประมาณหรือไม่ ซึ่งจะเฝ้าติดตามต่อไปว่า ผลการพิจารณาจะออกมาสอดคล้องกับข้อเท็จจริง  และเป็นที่ยอมรับของสาธารณชนหรือไม่  ซึ่งผลของการพิจารณา จะเป็นเครื่องตรวจสอบการทำงานขององค์กรเหล่านั้นเอง

ขณะที่ รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า คำร้องนี้เป็นคำร้องแรกของผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามรัฐธรรมนูญใหม่  ยืนยันว่าผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจในการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว และเรื่องนี้อยู่ในความสนใจของประชาชน และคำร้องก็ชัดเจน   สำนักงานฯ จะเร่งเสนอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาโดยเร็ว  

"ที่จะมีการจ่ายเงินงวดแรก 700 ล้านในวันที่ 24 พ.ค.นี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจสั่งระงับการกระทำดังกล่าว  เพราะไม่ใช่ศาลที่จะสั่งคุ้มครองชั่วคราวได้  แต่หากท้ายที่สุด ศาลมีคำวินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ ศาลก็สามารถสั่งเพิกถอนการกระทำที่ผ่านไปแล้วได้ ส่วนความเสียหายก็สามารถเรียกร้องทางแพ่งได้" รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าว 

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หลังจากนั้น ศรีสุวรรณ โพสต์ภาพทหารพร้อมข้อความด้วยว่า "วันนี้เวลา 14.30 น.คิดถึงกัน...ก็มาเยี่ยมเยือนกัน"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เนติวิทย์เข้าแจ้งความ หลังมีคนขับ จยย.เข้าจุฬาฯ ตามหาตัว

Posted: 08 May 2017 03:55 AM PDT

เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล ลงบันทึกประจำวันที่ สน.ปทุมวัน หลังถูกผู้ไม่หวังดี 2 คน ขับรถจักรยานยนต์เข้ามาภายในตึกเก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ตามหาตัว พร้อมพูดจาข่มขู่ เจ้าตัวโพสต์ขอโอกาส เผยกลัว แต่จะสู้ต่อไป ด้วยสันติวิธี 

ภาพ 2 ผู้ไม่หวังดี (ภาพจากผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ 'Tanawat Wongchai')

8 พ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 14.34 น. ที่ผ่านมา ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ 'Tanawat Wongchai' โพสต์รายงานว่า เมื่อช่วงเที่ยงที่ผ่านมา ประธานสภานิสิตจุฬาปีการศึกษา 2560 เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับการเลือกตั้งจากสภานิสิตจุฬา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เป็นเพียงนิสิตธรรมดาคนหนึ่งที่กำลังพักกลางวันจากการสอบปลายภาค ถูกผู้ไม่หวังดี 2 คน ขับรถจักรยานยนต์เข้ามาภายในตึกเก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ยี่ห้อ scomadi สีดำ ไม่ทราบหมวดทะเบียน หมายเลข 1433 ด้วยท่าที่คุกคามและเดินเข้าไปค้นหา เนติวิทย์

Tanawat ระบุอีกว่า คุณลุงยามเห็นท่าทีนั้นจึงได้มองด้วยความสงสัย ชายสองคนนั้นได้ตอบกลับไปว่า "มึงมองหน้าทำไม มีปัญหาหรอ มึงเป็นแค่ยาม" ก่อนที่ชาย 2 คนนั้น ได้เดินเข้าไปถามหา เนติวิทย์ ในกลุ่มของเพื่อนเขา ด้วยถ้อยคำหยาบคายและข่มขู่ ที่โรงอาหารคณะรัฐศาสตร์ ใต้ตึก 3

เนติวิทย์ จึงได้เดินทางไปลงบันทึกประจำวันที่ สน.ปทุมวัน แล้วเป็นที่เรียบร้อย พร้อมด้วยรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต อาจารย์ บัญชา ชลาภิรมย์
 
Tanawat กล่าวด้วยว่า เนติวิทย์ พึ่งได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานสภานิสิต และยังไม่ทันจะได้ทำหน้าที่นี้ กลับมีคนตัดสินเขาไปแล้วจากการปั่นข่าวของสำนักข่าวบางสำนัก ด้วย hate speech ต่างๆ และลงข่าวด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ใส่ร้าย และสร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นในสังคม เนติวิทย์ ไม่เคยคุกคามและข่มขู่ชีวิตของใคร เขาเป็นเพียงนิสิตธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น เขาเพียงแค่นำเสนอแนวคิดใหม่ๆ ให้กับสังคมได้ตระหนักคิดเท่านั้น เขาไม่เคยบังคับใครให้เชื่อตามเขา ไม่เคยจับคนที่คิดต่าง เขาต่อสู้ด้วย "ความคิด" ไม่ใช่ "อาวุธ" ถึงคุณจะมีอาวุธ เขาก็มีแต่ "มือเปล่าเท่านั้น" และถึงแม้เขาจะถูกกระทำแบบนี้ เขาก็ยังยืนยันในอุดมการณ์ที่มั่นคงและแน่วแน่ต่อไป
 
"ถือเสียว่าสงสารนิสิตธรรมดาอนาคตของชาติคนนึงเถอะครับ อย่ามุ่งหมายทำร้ายกันเลย เขาพร้อมรับฟังทุกความคิดเห็นอยู่แล้ว หากท่านไม่พอใจหรือไม่เห็นด้วยกับเรื่องใด ก็พูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผลดีกว่าครับ เพราะ ผมเชื่อว่า "เหตุผล" ย่อมแก้ไขปัญหาได้ดีกว่า "กำลัง" และควรให้โอกาสเขาในการพิสูจน์ตัวเองในการทำงานในตำแหน่งนี้ด้วยนะครับ แถมตำแหน่งประธานสภานิสิตจุฬา ก็มีอำนาจแค่ในจุฬานี่แหละครับ ไม่กระทบชีวิตของพวกท่านที่จะเปลืองเวลามาคุกคามแน่นอน เอาเวลาไปทำมาหากินดีกว่าครับ" Tanawat โพสต์ทิ้งทาย
 

เนติวิทย์ ขอโอกาส เผยกลัว แต่จะสู้ต่อไป ด้วยสันติวิธี

ขณะที่ เนติวิทย์ โพสต์ข้อความขอโอกาสให้ตน ถือว่าให้โอกาสคนรุ่นใหม่ได้พิสูจน์ตัวเอง ถ้าเห็นต่างก็ไม่เป็นไร แต่เราควรจะมาคุยกัน ถ้ารักสังคมไทยจริง อย่าทำให้โลกและคนทั้งหลายเห็นเลยครับสังคมเรามาเฟียป่าเถื่อน อะไรๆก็ใช้แต่ความรุนแรง
 
"ผมกลัวครับ แต่ผมจะสู้ต่อไป ขอให้เพื่อนๆมาช่วยกันด้วย เราจะใช้สันติวิธี เราเชื่อว่าการชนะความเกลียดต้องด้วยความรัก
ความเคารพในสิทธิของคนอื่น ผมอยากให้ประเทศไทยเป็นที่ของคนรุ่นใหม่เก่ามีปฏิสัมพันธ์คุยกัน ไม่ครอบงำกัน เราต้องช่วยกันจริงๆ ประเทศนี้คนมาจากการเลือกตั้ง ต้องปลอดภัย วันนี้ ฝรั่งเศส ได้ประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่อายุน้อยที่สุด ประเทศไทยยังจะจมปลักอยู่แบบนี้ต่อไปหรือ" เนติวิทย์ โพสต์
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิทรรศการ History Class ศิลปะงานประท้วงร่วมสมัยของกลุ่มศิลปิน Guerrilla Boys

Posted: 08 May 2017 01:19 AM PDT

8 พ.ค. 60 เมื่อวันที่ 29 เม.ย. กลุ่มศิลปิน Guerrilla Boys (กอริล่าบอยส์) ได้จัดงานเปิดแสดงนิทรรศการภายใต้ชื่อ 'History Class' เป็นการรวบรวมผลงานซึ่งได้รับอิทธิพลและสร้างสรรค์ขึ้นในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อทางประวัติศาสตร์อันไม่ใกล้ไม่ไกลของสังคมไทย ทั้งในแง่ความขัดแย้งทางสังคม – การเมือง ไปจนถึงแวดวงศิลปะซึ่งสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น ภายในงานมีทั้งส่วนนิทรรศการและการแสดงดนตรีจากกลุ่มศิลปิน ได้แก่ Liberate P, Radical Rats, Skydonkey และ Pupan The Autobahn โดยนิทรรศการจะมีถึงวันที่ 13 พ.ค. นี้ ที่ Cartel Artspace ซอยนราธิวาส 22 (สาธุประดิษฐ์ 15)

นิทรรศการนี้จัดแสดงในห้องขนาดประมาณ 4x6 เมตร มีแผ่นกระดาษให้เขียนข้อความอะไรก็ได้ มีหน้ากาก 6 อันให้ผู้ชมนิทรรศการเลือกสวม และให้ถือแผ่นกระดาษนั้นถ่ายรูปโพลารอยด์กับฉากหลังซึ่งเป็นรูปวาดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมกันนั้นยังมีหมุดคณะราษฎรจำลองพร้อมข้อความที่ติดไว้ว่า 'ห้ามขโมย' ด้านบนเพดานติดสติ๊กเกอร์หมุดอันใหม่ "ประชาชนสุขสันต์หน้าใส" และนาฬิกาเดินถอยหลังแขวนอยู่ที่ผนัง ซึ่งทั้งสามอย่างอยู่ในระนาบเดียวกันทั้งหมด

ประชาไทมีโอกาสชมนิทรรศการและนั่งคุยกับกลุ่มกอริล่าบอยส์ถึงความเป็นมา แนวคิด และแนวทางเฉพาะตัวในผลงานของพวกเขาที่กล้าทำอะไร 'ทุบหัว' คนดู แสดงออกในสิ่งที่ศิลปินทั่วไปอาจไม่กล้าทำ

 

คลิปนาฬิกาบนผนังที่เดินถอยหลัง (จาก IG: Guerrillaboys)

คลิปการแสดงดนตรีของศิลปิน

Guerrilla Boys (กอริล่าบอยส์) คืออะไร?

กอริล่าบอยส์คือกลุ่มศิลปิน Anonymous (นิรนาม) มีสมาชิกอยู่จำนวนหนึ่ง ทั้งที่นิวยอร์กและที่ไทย ไม่ได้ระบุว่ามีกี่คน สัญชาติไหนบ้าง ซึ่งจะมีคาแรกเตอร์ของมันอยู่ แต่เราไม่ได้สร้างนิยาม คิดว่าคนที่ได้เห็นผลงานมาสักพัก หรือเพิ่งเห็นอันนี้แล้วย้อนกลับไปดูผลงานเก่า ก็น่าจะนึกภาพคาแรกเตอร์ของมันได้ แต่เราว่าชื่อมันชัดอยู่ มันมีความเป็นกองโจร เพราะอย่างงานนิทรรศการศิลปะปกติวันเปิดจะต้องมีศิลปินมาเดินแนะนำงานเพื่อให้คนเข้าใจงาน เพื่อขายงาน แต่งานกอริล่าบอยส์ไม่มี เราจะเห็นว่ามีหน้ากากอยู่ 6 อัน ซึ่งกอริล่าบอยส์ทุกคนถอดหน้ากากทิ้งไว้ตรงนั้น ไม่มีตัวตนเข้ามาในงาน

ภาพหน้ากากที่ให้ผู้ชมนิทรรศการสามารถสวมเพื่อถ่ายรูปได้

ภาพจำลองของหมุนคณะราษฎรที่หายไป

ผลงานชุดนี้เริ่มต้นจากไหน?

เริ่มจากงานที่กวางจู (อ่านข่าวก่อนหน้านี้) งานนี้เป็นงานที่จัดขึ้น ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ ในนิทรรศการชื่อ 'The Truth_To Turn It Over' เนื่องในโอกาสรำลึก 36 ปี เหตุการณ์ปราบปรามประชาชนโดยเผด็จการทหาร เป็นผลสะเทือนต่อมาให้เกาหลีใต้มีประชาธิปไตย โดยพิพิธภัณฑ์ได้คัดเลือกผลงานจากศิลปินทั่วโลกที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยไปแสดง ซึ่งของไทยได้คัดเลือกผลงานของอาจารย์สุธี คุณาวิชยานนท์ ไปแสดง อันเป็นงานที่ผลิตขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการชุมนุมของกลุ่ม 'คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข' (กปปส.)

ซึ่งเรารู้สึกว่ามันมีปัญหามาก เพราะการประท้วงที่สุธีไปสนับสนุนมันคือการประท้วงที่ต่อต้านประชาธิปไตย มันไม่ถูกต้อง ก็มีการไปแสดงออก ตอนนั้นสมาชิกของกอริล่าบอยส์ไปที่โซลพอดี

เป็นปฏิบัติการที่ค่อนข้างฉับพลันมาก หาของแถวนั้น เซทแถวนั้น แล้วก็ถ่ายเลย โพลารอยด์ที่เราถ่ายแล้วก็แอบเอาไปแปะที่มิวเซียมกวางจู แปะด้วยหมากฝรั่ง ข้างๆ งานของอาจารย์สุธี

โดยเราต้องการส่งสารถึงภัณฑารักษ์ของมิวเซียมว่าคุณมีกระบวนการอย่างไรในการเลือกงานชิ้นนี้มาแสดงในนิทรรศการนี้ ทั้งที่คอนเซปต์และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของงานเขา กับคอนเซปต์ของคุณมันไม่ไปด้วยกันเลย เพราะนิทรรศการนี้มันเกี่ยวกับประชาธิไตย สิทธิมนุษยชน สันติภาพ ซึ่งสำหรับเรามันไม่ใช่อะไรที่ไปกันได้กับกปปส.

หลังจากนั้นก็มีกลุ่มศิลปินที่เมืองไทยที่ไม่เห็นด้วยเหมือนกอริล่าบอยเขียนจดหมายท้วงเรื่องนี้ ซึ่งเขาไม่ได้ทำตามเรานะ เขาก็ทำของเขาเหมือนกัน แต่เหมือนงานมันไปด้วยกัน ทางพิพิธภัณฑ์ก็เลยเอาจดหมายค้านอันนี้แปะคู่กับงานของอาจารย์สุธี

คือจริงๆ แล้วงานของกอริล่าบอยเป็น illegal (ผิดกฎหมาย) ทุกชิ้น ยกเว้นชิ้นนี้ ซึ่งชิ้นนี้ไม่ illegal แต่อาจจะผิดในด้านอื่นแทน (หัวเราะ)

สติ๊กเกอร์หมุดอันใหม่ "ประชาชนสุขสันต์หน้าใส" บนเพดาน (ภาพจาก Guerrilla Boys)

หลังจากงานที่กวางจูแล้วกลายมาเป็นงานชุดนี้ต่อได้อย่างไร?

ก่อนประชามติทุกสื่อเงียบมาก เราก็อึดอัด จนไม่พูดถึงมาในรัฐธรรมนูญมีอะไรบ้าง จนไม่ได้ให้ความรู้กับประชาชน เราก็ออกไปประท้วงแล้วถ่ายรูป แล้วเราก็ลงอีกวันตอน 8 โมงเช้า ตอนเคารพธงชาติ

คนในวงการศิลปะมันเจ็บแค้นมากกว่าคนอื่นในแง่ที่ตัวเองโดนกระทำมากกว่า เรามี creativity (ความสร้างสรรค์) ที่พุ่งสูงแต่แสดงออกไม่ได้ เราไม่มีเสรีภาพในการพูดหรือทำอะไรสักอย่าง จะตรวจสอบภาครัฐก็ไม่มีใครกล้า

งานที่กวางจู ทำให้เกิดปฏิกิริยาฉับพลันมาก และส่งแรงปฏิกิริยาต่อให้เราสร้างงานต่อไปจากตรงนั้น พอสะสมงานได้ประมาณหนึ่ง เรามีคอนเซปต์ มีสเปซ ก็เลยมาจัดแสดง

การประท้วงมันต้องเกิดจากคนหลายคนไม่ใช่แค่ศิลปินคนเดียว แต่เราเป็นแค่จุดเริ่มต้นให้มันกระจายออกไป เราเปิดเสรีภาพให้กับทุกคนภายในแกลเลอรีคุณสามารถพูดได้หมด จะภายใต้หน้ากากหรือไม่มีหน้ากากก็ได้ แต่เราขอถ่ายแค่โพลารอยด์ไว้ เพื่อแปะให้ทุกคนรู้ว่าคุณพูดอะไรบ้าง แล้วก็ขอเก็บกระดาษไว้เป็นการอ้างอิง เพื่อให้คนมาดูงานต่อไปเห็น ซึ่งเราก็จะเอากระดาษมาแปะทั่วห้อง และในวันแสดงทุกคนสามารถเป็นกอริล่าบอยส์ได้

งานประท้วงอย่างนี้เราก็ได้จาก ไอ้ เว่ยเว่ย (Ài Wèiwèi) ได้จากแบงก์ซี่ (Banksy) ซึ่งเป็นคนทำอะไรที่ทุบหัวมาก แต่เรารู้สึกว่าทุกอย่างไม่ประสบความสำเร็จเพราะคนดูไม่มีส่วนร่วม คนดูไม่ใช่คนประท้วงด้วย

แต่อย่างงานนี้คนดูจะมาประท้วงไม่เห็นด้วยกับเราอีกทีก็ได้ คือเราเปิดเสรีภาพให้คนดูมาแสดงออกในสิ่งที่คุณไม่เห็นด้วยก็ได้ 

คอนเซปต์ของผลงานชุดนี้?

คอนเซปต์ถามว่ากว้างไหมก็กว้าง อย่างตัวกระดาษที่ให้คนเขียนเขาจะเขียนอะไรก็ได้

เพราะในสังคมปัจจุบันบ้านเราคุณจะพูดอะไรก็ลำบาก ในนี้คุณจะพูดอะไรก็ได้ แล้วเราจะให้คนมาถือป้ายที่ตัวเองเขียนแล้วถ่ายโพลารอยด์แปะไว้ทั้งหมด 112 รูป ก็คือทุกสิ่งที่คุณพูดจะถูกบันทึกไว้หมดโดยไม่เลือก

ถามว่างานกอริล่าบอยส์เป็นงานประท้วงไหม จะเรียกอย่างนั้นก็ได้ อย่างภาพต้นแบบที่เราไปถ่ายอนุสาวรีย์ประชาธิไตยทั้งที่เป็นโพลารอยด์และที่ขยายมา เราถ่ายในคืนก่อนเช้าประชามติ มันก็มีความหมายที่ค่อนข้างจะชัดอยู่

คือมันไม่ได้ทำแบบนุ่มลึก มันตีหัวชาวบ้าน คนที่มองจากข้างนอกเห็นป้ายว่าเข้าไปได้แค่ 5 คน ซึ่งมาจากเขาห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ซึ่งเราก็ทำตามกฎของเขา เราก็ให้ต่อคิวกันไป หรือแซวหยิกบ้างว่าอย่าขโมยนะ ภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่อยู่ในแกลเลอรีเราก็ตั้งใจให้เขามาใส่หน้ากากแล้วเซลฟี่กันอยู่แล้ว และสิ่งที่ซ่อนมากไปกว่านั้นที่เราไม่บอก คือเราอยากให้เวลาเขาโพสต์ลงเขาแท็กอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พอเสิร์จเอนจิ้นมันรวนมันจะขึ้นตรงนี้อัตโนมัติว่าตรงนี้เป็นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทางรัฐเขาก็จะแบบ พวกลิงพวกนี้อยู่อะไรกันเยอะแยะที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ภาพโพลารอยด์ของผู้ชมนิทรรศการ

กลุ่มเป้าหมาย?

เราไม่มีปัญหาเรื่องนั้น

เมื่อกอริล่าบอยส์เป็นงานที่สื่อสารแบบ 'ทุบหัว' คนดู คุณคิดอย่างไรกับงานเชิงสัญลักษณ์ หรืองานที่เข้าใจยาก ต้องอาศัยการคิดและตีความ?

ทุบหัวคือเราพูดอะไรตรงๆ ง่ายๆ แต่เป็นการตรงใน contemporary art (ศิลปะร่วมสมัย) ไม่ใช่ตรงแบบวาดดอกบัวก็เหมือนเป๊ะๆ เลย งานเราเป็นสไตล์ที่ไม่ควรจะเปิดเผยตัวเอง อย่างงานอีกสไตล์ที่ถ้าไม่อ่านสเตทเมนท์ก็จะไม่รู้เลยว่าเขากำลังพูดอะไร เราคิดว่ามันคือการเซ็นเซอร์ตัวเองแบบหนึ่ง ซึ่งถ้าเราทำงานของเราเองเราก็คงต้องทำแบบนั้น ถ้าเราทำงานส่วนตัวเราจะทำซอฟท์ๆ กว่านี้ ใช้สัญลักษณ์ มีการตีความ ในเรื่องของเรา ซึ่งเราก็สนใจการเมืองเป็นพิเศษ

ถ้างั้นพูดได้มั้ยว่าคุณไม่ได้เซ็นเซอร์ตัวงาน แต่เซ็นเซอร์ตัวศิลปินแทน?

ก็อาจจะได้ กอริล่าบอยส์ไม่เซ็นเซอร์ตัวงานแต่ก็ต้องเซ็นเซอร์ตัวศิลปิน แต่เราก็ไม่ได้เซ็นเซอร์ขนาดนั้น เพราะเราก็ปล่อยให้ทุกคนเป็นกอริล่าบอยส์ได้ เราเซ็นเซอร์เพราะสังคมเราเป็นแบบนั้น ต้องยอมรับ

มองคนที่ต่อต้านอย่างไร?

เราชอบนะ คนที่มาเห็นก็จะรู้สึกว่าต่อต้านก็สามารถพูดได้ คือศิลปะที่ห่วยในสายตาของเขา เขาจะจำได้แม่นเป็นพิเศษนะ ไอ้พวกบ้านี่แม่งทำอะไรป่าเถื่อนมาก

เป้าหมายต่อไป?

ยังไม่มี ก็โพสต์เฟซบุ๊ก พยายามเก็บภาพให้ได้มากที่สุด ว่ามีใครทำอะไรบ้าง เป้าหมายในงานนี้ของเราก็คือให้สื่อเขียนให้ถึงมากที่สุด แล้วให้งานเราได้ไปต่างประเทศ ให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า outside attack ให้ประเทศอื่นมากดดันประเทศเราต่อ

คิดเห็นอย่างไรกับ พ.ร.บ.ควบคุมสื่อ?

ปกติถ้าเป็นเผด็จการเขาจะบล็อกสื่อ แล้วก็บล็อกขยายต่อไปวรรณกรรม หนัง และศิลปะจะเป็นอย่างสุดท้ายเพราะเขาไม่เข้าใจ แต่เราก็ทำให้มันโต้งมาก เราก็อาจจะโดนก็ได้ แต่อีกแง่หนึ่งถ้าเขาเล่นกับงานเรามันก็จะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ได้ ถ้าคุณมาบล็อก ไอ้ เว่ยเว่ยก็สามารถไปพูดต่อในต่างประเทศได้ว่าเขาเคยถูกทำอะไรบ้าง ถ้าเขามาบล็อกงานเราแล้วงานเราสามารถไปต่อได้ มันก็โอเค 

ข้อความที่ผู้ชมเขียนลงบนกระดาษ (ภาพจาก Guerrilla Boys)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มาครงคว้าชัยเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส ใช้สิทธิน้อย คาดฝ่ายซ้ายไร้ตัวเลือก

Posted: 07 May 2017 06:55 PM PDT

เอ็มมานูเอล มาครง สายหนุนอียู-เอื้อประโยชน์สายธุรกิจ ชนะการเลือกตั้งรอบสุดท้ายของฝรั่งเศส ด้วยคะแนนร้อยละ 65 มีการตั้งข้อสังเกต ผู้มาใช้สิทธิน้อยเป็นประวัติการณ์ เป็นไปได้ที่ฝ่ายซ้ายของฝรั่งเศสมองว่าไม่มีผู้ใดเลยที่พวกเขาอยากเลือก
8 พ.ค. 2560 การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสในรอบตัดสินผลออกมาว่า เอ็มมานูเอล มาครง ผู้สมัครสายกลางจากพรรค "อองมาร์ช"  (En Marche!) เอาชนะคู่แข่งคือมารีน เลอ แปน จากพรรคฝ่ายขวา ด้วยคะแนนร้อยละ 65 ต่อ ร้อยละ 35 ส่งผลให้ มาครง เป็นคนที่ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสในขณะที่มีอายุน้อยที่สุดคืออายุ 39 ปี
 
บีบีซี ระบุว่า มาครงยังจัดเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนแรกที่ที่มาจากนอกสายพรรคการเมืองกระแสหลักดั้งเดิม 2 พรรคนับตั้งแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐยุคใหม่ในปี 2501
 
มาครง กล่าวถึงชัยชนะของเขาว่านี่จะเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของฝรั่งเศสและเขาต้องการให้มันเป็น "หน้าประวัติศาสตร์แห่งความหวังและความเชื่อใจ" ทางด้านประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ฟรองซัวส์ ออลลองด์ แสดงความยินดีกับมาครงโดยบอกว่าผลการเลือกตั้งในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าประชาชนชาวฝรั่งเศสยังคงร่วมมือกันใน "คุณค่าของสาธารณรัฐ"
 
เลอ แปน จากพรรคเแนวร่วมแห่งชาติ (FN) ผู้แพ้การเลือกตั้งในรอบที่สองแถลงขอบคุณประชาชน 11 ล้านคนที่โหวตลงคะแนนให้เธอ เลอ แปน บอกว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้แสดงให้เห็นการแบ่งแยกระหว่าง "คนรักชาติ" และ "พวกโลกนิยม" เลอ แปน บอกอีกว่าพรรค FN ของเธอจะปรับปรุงตัวเองและจะเปลี่ยนแปลงเชิงขบวนการอย่างถึงรากเพื่อเตรียมตัวกับการเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะมีขึ้นในอนาคต เลอ แปนยังแสดงความยินดีกับมาครงและบอกว่ามันเป็น "เรื่องท้าทายอย่างมาก" ที่ได้ขับเคี่ยวกับเขา
 
มาครง กล่าวปราศรัยหลังชัยชนะโดยให้สัญญาว่าตลอด 5 ปีที่เขาดำรงตำแหน่งจากนี้ไปเขาจะช่วยแก้ไขปัญหาการแบ่งแยกกันในฝรั่งเศส ทำให้ฝรั่งเศสมีเอกภาพขณะเดียวกันก็จะปกป้องยุโรป มีผู้สนับสนุนมาครงมากันเฉลิมฉลองกันหน้าพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ใจกลางกรุงปารีส 
 
ในช่วงการเลือกตั้งรอบแรกนั้นทั้งมาครงและเลอ แปน มีคะแนนค่อนข้างใกล้เคียงกันคือร้อยละ 23.8 กับร้อยละ 21.4 โดยที่เดอะการ์เดียนเคยคาดการณ์ว่าในการเลือกตั้งรอบที่สองกลุ่มคนที่เคยโหวตให้กับ ฌอง-ลุค เมลองชอง จากพรรคฝ่ายซ้าย และเบอนัว อามง จากพรรคสังคมนิยม มีโอกาสจะโหวตให้กับมาครงมากกว่าเลอ แปน
 
มาครงเคยบอกว่าขบวนการอองมาร์ชของเขาไม่ใช่ทั้งซ้ายและขวา เขามีแนวคิดนิยมเสรีทางเศรษฐกิจและมีท่าทีสนับสนุนสหภาพยุโรปก่อนหน้าที่เขาจะก่อตั้งอองมาร์ชเขาเคยอยู่ร่วมกับรัฐบาลพรรคสังคมนิยมกับออลลองด์มาก่อนแล้วขอออกจากพรรคในเดือน ส.ค.ปีที่แล้ว
 
มาครง มีท่าทีสนับสนุนกลุ่มธุรกิจโดยหาเสียงว่าจะปรับลดขนาดของภาครัฐและปรับลดงบประมาณรัฐลงแล้วกันมาส่งเสริมการลงทุนแทน นอกจากนี้ยังต้องการผ่อนผันกฎหมายแรงงาน การลดภาษีธุรกิจ และสัญญาว่าจะคุ้มครองธุรกิจขนาดเล็กหรืออาชีพอิสระ
 
ในแง่ท่าทีของสหภาพยุโรป ฌอง-คล็อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรประบุแสดงความยินดีผ่านทวิตเตอร์ว่าเขา "ยืนดีที่ฝรั่งเศสเลือกอนาคตของชาวยุโรป" ทางด้าน แองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีของเยอรมนีที่มีท่าทีสนับสนุนอียูก็แสดงความยินดีกับมาครงเช่นกันโดยระบุว่าชัยชนะของเขาเป็น "ชัยชนะสำหรับยุโรปที่รวมตัวกันเข้มแข็ง"
 
ทางด้านผู้นำสหรัฐฯ และนายกรัฐมนตรีพรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษต่างก็แสดงความยินดีด้วยน้ำเสียงกลางๆ เป็นพิธี ขณะที่ไนเจล ฟาราจ อดีตผู้นำพรรคขวาจัดในอังกฤษพยายามให้กำลังใจเลอ แปน และบอกว่ามาครงจะมีห้าปีที่ล้มเหลว
 
บีบีซีวิเคราะห์ว่าผู้ชนะอย่าง มาครง รับศึกหนักในการเป็นผู้นำคนต่อไปของฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบรรยากาศของความโกรธและการแบ่งแยกของคนในประเทศ การเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะมีขึ้นในวันที่ 11 มิ.ย. และ 18 มิ.ย. นี้ ซึ่งอองมาร์ชจะลงชิงชัยในานะพรรคการเมืองโดยที่มาครงจะต้องรวบรวมพรรคแนวร่วมรัฐบาลเพื่อให้บริหารได้ราบรื่น แม้เขาจะมีพรรคอื่นหนุนอยู่แต่ก็ต้องพยายามเข้าหากลุ่มคนผู้ไม่มาใช้สิทธิในรอบที่ 2 ที่ไม่ไว้ใจแนวทางการเมืองของพวกเขาด้วยซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มฝ่ายซ้ายที่ไม่ชอบผู้สมัครรอบสุดท้ายทั้ง 2 คน
 
มีการตั้งข้อสังเกตว่าการเลือกตั้งรอบสองในครั้งนี้มีผู้้ไม่มาออกเสียงเยอะเป็นประวัติการณ์ถึงราวร้อยละ 25.3 ซึ่งถือว่ามากที่สุดนับตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2512
 
 
 
เรียบเรียงจาก
 
French election: Macron defeats Le Pen to become president, BBC, 08-05-2018
 
French election 2017: Emmanuel Macron wins presidency and vows to restore France's confidence – live, The Guardian, 07-05-2017
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ดีเบตประชาธิปไตยจากห้องเรียนในสหรัฐฯ

Posted: 07 May 2017 06:19 PM PDT


 

ขอเล่าประสบการณ์จากห้องเรียน ป.ตรีที่ผู้เขียนเพิ่งสอนจบไป ผู้เขียนสอนวิชา "การเมือง สังคม และเศรษฐกิจในโลกกำลังพัฒนา" จุดประสงค์ของวิชานี้ก็เพื่อแนะนำแนวคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับสาขาวิชา International Development ห้องเรียนเราคุยกันหลากหลายประเด็นตั้งแต่ foreign aid แรงงานเด็ก สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงผู้อพยพข้ามประเทศ เราใช้กรณีศึกษาจากหลายประเทศ รวมทั้งนำข่าวสารบ้านเมืองในสหรัฐฯ มาวิเคราะห์และวิจารณ์ภายใต้แนวคิดทฤษฎี จำนวนนักเรียนในห้องมีไม่มากมาย  นักศึกษาจึงสามารถแสดงความคิดเห็นจากมุมมองของตนเองได้

ในสัปดาห์ที่เราเรียนเรื่องประชาธิปไตย ผู้เขียนให้นักศึกษาดีเบตกันในหัวข้อที่ว่า "Should All Nations Be Encouraged to Promote Democratization?"[1] ก่อนดีเบตนักเรียนต้องอ่านบทความข้างต้นเสียก่อน ซึ่งบทความนี้ได้รวมงานเขียนของสองฝ่าย คือฝ่าย YES เขียนโดย Francis Fukuyama และ Michael McFaul และฝ่าย NO เขียนโดย Edward Mansfield และ Jack Snyder หลังจากดีเบตแล้ว ผู้เขียนให้นักศึกษาโหวตว่าเห็นด้วยกับฝั่งไหน

ผู้เขียนแบ่งความเห็นของนักศึกษาออกเป็นสี่กลุ่มใหญ่

(1) การดีเบตเป็นไปอย่างราบรื่น แต่ที่น่าตื่นเต้นเผ็ดร้อนจะอยู่ในกลุ่มที่มีนักเรียนต่างชาติ นักศึกษาจากประเทศจีนและกลุ่มของเธอที่มีนักศึกษาอเมริกันรวมอยู่ด้วยเห็นว่าประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ ไม่ควรแทรกแซงการเมืองของประเทศอื่นโดยยกตัวอย่างประเทศจีน นักศึกษาจีนโต้แย้งไปไกลว่านั้นว่าระบบการปกครองของจีนนั้นดีอยู่แล้ว ไม่ต้องมีการเลือกตั้งก็เป็นประชาธิปไตยได้ รัฐบาลท้องถิ่นจัดคนเก่งมาเป็นตัวแทนประชาชนโดยไม่ต้องมีการเลือกตั้ง รัฐบาลสามารถจัดการกับปัญหาคอรัปชั่นได้อย่างเด็ดขาด แถมการเติบโตทางเศรษฐกิจก็เป็นไปอย่างก้าวกระโดด

ฟังแล้ว นักศึกษาจีนให้เหตุผลคล้ายคลึงกับแนวคิดประชาธิปไตยแบบไทยๆ ของกลุ่มชนชั้นนำไทยอยู่ไม่น้อย ส่วนกลุ่มนักศึกษาฝ่ายตรงข้ามที่ไม่เห็นด้วยก็เหมือนจะงงๆ กับโมเมนแบบนี้ไปพักใหญ่ เพราะสำหรับนักศึกษาอเมริกันหลายคนแล้ว นี่คือสิ่งที่เพิ่งเคยได้ยินเป็นครั้งแรกในชีวิตก็ว่าได้ ถ้าไม่มีการเลือกตั้งแล้วจะเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร เป็นคำถามที่ดีเบตกันดุเดือดพอควร

(2) อีกกลุ่มหนึ่งเห็นว่าประเทศพัฒนาแล้วควรสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยในประเทศที่กำลังพัฒนา แต่ประเด็นที่ถกเถียงกันในกลุ่มนี้คือ การสนับสนุนควรจะออกมาในรูปแบบและวิธีการไหน การแทรกแซงนั้นจำเป็นหรือไม่อย่างไรและในสถานการณ์ใด ผู้เขียนถามนักศึกษากลับว่าทำไมประเทศพัฒนาแล้วจึงควรสนับสนุนประชาธิปไตยในประเทศอื่น นักศึกษาให้คำตอบมาสองแง่คือ หนึ่ง คิดว่าประชาธิปไตยเป็นระบบการปกครองที่ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนมากที่สุด เป็นระบบการเมืองที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และมีกระบวนการเปลี่ยนผ่านอำนาจที่สันติ

อีกเหตุผลในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคือ นักศึกษาเชื่อแนวคิดที่เรียกว่า Democratic Peace หมายถึงว่าประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจะไม่ทำสงครามต่อต้านกันเองเพราะมีความเชื่อและค่านิยมเดียวกัน นอกจากนั้น การสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยในประเทศอื่นก็มีความสอดคล้องกับผลประโยชน์ของประเทศสหรัฐอเมริกาเอง เพราะเป็นการช่วยขยายบทบาทผู้นำอย่างสหรัฐฯในการจัดระบบระเบียบโลกที่ยึดหลักการประชาธิปไตยและระบบการค้าเสรี

(3) นักศึกษาอเมริกันบ้างคนเห็นว่า สหรัฐฯไม่ควรเข้าไปยุ่งเรื่องภายในของประเทศอื่นและไม่ควรให้เงินช่วยเหลือประเทศใดเลย (ยกเว้นเงินช่วยเหลือด้านมนุษยชนเท่านั้น) และเห็นว่ารัฐบาลควรเอาเงินมาช่วยคนอเมริกันที่ยากจน ลดความเหลื่อมล้ำของชนชั้นในประเทศตนเองจะดีกว่า แถมเงินช่วยเหลือที่ส่งไปต่างประเทศอาจส่งผลลบมากกว่าบวกแก่ประเทศผู้รับ (William Easterly and Dambisa Moyo)  

(4) หรือมีนักศึกษาบางคนอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะสนับสนุนข้างไหน โดยให้เหตุผลว่าประชาธิปไตยของสหรัฐฯในตอนนี้ก็กำลังเสื่อมถอย ไม่มีน่าจะไปสั่งสอนใครได้

แม้นักศึกษาจะมีความเห็นแตกต่างกันมากแค่ไหน แต่ส่วนใหญ่ดูจะเห็นตรงกันว่าสหรัฐฯ ไม่ควรเข้าแทรกแซงทางการเมืองเพื่อเปลี่ยนอำนาจการปกครองของประเทศอื่นเหมือนในช่วงยุคสงครามเย็น และจากบทเรียนของสงครามในอิรัก อัฟกานิสถานในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ขยาดการเข้าแทรกแซงทางการเมืองโดยเฉพาะการใช้กำลังทหาร

หลังการดีเบตกันไป 45 นาที  ผลโหวตสรุปว่านักศึกษาส่วนใหญ่เห็นว่าประเทศพัฒนาแล้วควรสนับสนุนกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศที่กำลังพัฒนา แต่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า (1) ไม่สนับสนุนการใช้กำลังทหาร (2) คำนึงถึงปัจจัยทางสังคมภายในของประเทศนั้นๆ และ (3) ควรใช้วิธีนุ่มนวล เช่นให้เงินช่วยเหลือในด้านการพัฒนา (มีตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง) แต่ให้มีเงื่อนไขว่าเงินที่ให้ไปต้องแลกกับการสนับสนุนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในประเทศที่รับเงิน และให้การสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

นี่คือความคิดเห็นของนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของคนอเมริกันหรือคนจีนแต่อย่างใด แต่ความเห็นของพวกเขาก็สะท้อนอะไรได้หลายอย่าง ตั้งแต่ความแตกต่างทางความคิดระหว่างประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้วในเรื่องประชาธิปไตย ความคิดเห็นเรื่องการแทรกแซงทางการเมืองของคนอเมริกันรุ่นใหม่ที่ไม่เหมือนคนช่วงยุคสงครามเย็น และความเห็นของคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับประชาธิปไตยและการเมืองภายในประเทศสหรัฐฯเองด้วย


เชิงอรรถ

[1] Francis Fukuyama, Michael McFaul and Jack Snyder, Chapter 17, "Democracy: Should All Nations be Encouraged to Promote Democratization?," in Controversies in Globalization: Contending Approaches to International Relations, edited by Peter Hass and John Hird. (Sage, 2013), pp. 486-518.

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: สรินณา อารีธรรมศิริกุล เป็นอาจารย์ที่ Michigan State University USA

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น