โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สำนักงานสิทธิมนุษยชนยูเอ็น OHCHR เรียกร้องให้ไทยยุติควบคุมตัว 6 บุคคลโดยพลการ

Posted: 04 May 2017 11:19 AM PDT

สำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ OHCHR เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการควบคุมตัวโดยพลการต่อ 'ประเวศ ประภานุกูล' และบุคคลอื่นรวม 6 ราย และเรียกร้องให้ปล่อยตัวบุคคลเหล่านี้ที่ถูกดำเนินคดีด้วย ม.112 และกฎหมายความมั่นคงทันที

5 พ.ค. 2560 สำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (OHCHR) เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการควบคุมตัวโดยพลการต่อนักเคลื่อนไหวทางการเมือง และเรียกร้องให้ปล่อยตัว 6 ผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายความมั่นคงทันที

ในคำแถลงของ OHCHR ระบุว่า เมื่อวันที่ 29 เม.ย. นายดนัย ทิพย์สุยา อดีตนายทหารจากเชียงใหม่ และนายประเวศ ประภานุกูล ทนายความสิทธิมนุษยชนที่อยู่ กทม. ถูกจับกุมและคุมขังโดยกองทัพ ด้วยข้อหาโพสต์ข้อความเข้าข่ายฐานความผิดประมวลกฎหมายอาญา ม.112 โดยถูกกล่าวหาว่าวิจารณ์พระมหากษัตริย์ลงเฟสบุ๊ก ทั้งสองถูกพาตัวไปในที่ที่ไม่สามารถระบุได้ จากนั้นในวันที่ 4 พ.ค. ได้นำตัวนายดนัยและนายประเวศ พร้อมด้วยผู้ต้องหาอีก 4 คน มาแถลงข่าวที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยทั้งหมดถูกตั้งข้อหาในความผิด ม.112 มี 2 คนที่ถูกตั้งข้อหาผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ นอกจากนี้นายประเวศถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา ม.116 จากการวิจารณ์นายกรัฐมนตรี และทั้งหมดถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

นายลอเรน มิลเลน รักษาการผู้แทนประจำภูมิภาคของ OHCHR แสดงความกังวลต่อใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เพิ่มมากขึ้นหลังการรัฐประหารในปี 2557 โดยมีบุคคลมากกว่า 70 คน ถูกคุมขังหรือถูกตัดสินว่ามีความผิด เขากล่าวด้วยว่ากลไกด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติเน้นยำตลอดว่าการใช้กฎหมายดังกล่าวขัดต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานด้านเสรีภาพการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็น

สำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติยังแสดงความกังวลต่อการใช้วิธีการควบคุมตัวโดยไม่ให้ผู้ถูกควบคุมตัวติดต่อกับโลกภายนอก ทั้งนี้ในเดือนมีนาคมปี 2017 ประเทศไทยถูกทบทวนสถานการณ์โดยคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ ซึ่งแสดงความกังวลในเรื่องที่บุคคลถูกจับกุมและคุมขังในสถานที่ลับ และไม่สามารถติดต่อทนายได้ โดยคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น เสนอแนะให้ไทยดำเนินหลักกฎหมายและแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ป.ป.ท. -องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ จับมือร่วมร่างกฎหมายเอาผิดจับคนโกงทุกทาง

Posted: 04 May 2017 10:42 AM PDT

ป.ป.ท. และ ACT ร่วมร่างกฎหมายเอาผิดจับคนโกงทุกทาง กระตุ้น ปชช.ทราบแนวทางแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ตาม รธน. ม.63เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการเสนอแนะ แนวทางมาตรการและกลไกที่ควรกำหนดไว้ในกฎหมาย ที่จะเรียกว่าเป็น "กฎหมายรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันโดยประชาชน" อย่างแท้จริง

เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) แจ้งว่า  2 พ.ค. 2560 ที่โรงแรมเบสท์ เวสเทิร์น พลัส แวนด้า แกรนด์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) ร่วมกับ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จัดงานเสวนาเรื่อง "ร่วมเขียนกฏหมายต้านโกง ให้ถูกใจคนไทย" เรื่อง พ.ร.บ. การส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการทุจริต ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ต้องออกใหม่ตามรัฐธรรมนูญ ม. 63

อนุสิษฐ คุณากร ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ จาก สำนักงาน ป.ป.ท. กล่าวว่า การทุจริตถูกยอมรับว่ามีความสำคัญจนได้รับการบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อม ในการป้องกัน ตรวจสอบ และป้องปรามได้ จำเป็นต้องมีประเด็นที่จะช่วยกันร่างรัฐธรรมนูญเพื่อช่วยป้องกันการทุจริตเป็นสำคัญ เช่น การได้มาซึ่ง สภาวุฒิสมาชิก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเลือกตั้ง ศาลร่างรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดิน การพิจารณาคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การปกป้องคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส และ การจัดตั้งกองทุนสนับสนุนภาคประชาชนในการต่อต้านคอร์รัปชัน เป็นต้น

พร้อมกล่าวเพิ่มเติมถึงสิทธิของประชาชน ที่สามารถรวมตัวกันจำนวน 15 คน ขึ้นไป เพื่อที่จะได้รับความคุ้มครองปกป้องจากภาครัฐ กรณีมีการชี้เบาะแสการทุจริต รวมถึงการจัดตั้งกองทุน เพื่อใช้ในการต่อสู้คดี เป็นต้น 

มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)  กล่าวว่า เดิมมีความเชื่อว่าจะเล่นงานคนโกง ต้องมีหน่วยงานที่เข้มแข็ง มีเจ้าหน้าที่เยอะ ๆ มีกฎหมายแรง ๆ ลงโทษหนัก ๆ ถึงขั้นประหารชีวิต ถึงจะกำจัดการโกงคนโกงได้ แต่บทเรียนที่ผ่านมา การโกงมันซึมลึกทุกพื้นที่ ต่อให้มีกฎหมายที่เข้มแข็งมากแค่ไหน ก็ยังแก้ปัญหาการคอร์รัปชันไม่ได้

มานะ ตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมภาคประชาชนถึงขาดความเข็มแข็งในการต่อต้านคอร์รัปชัน นั่นเพราะถูกขมขู่จากเจ้าหน้าที่ และ ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล จนประชาชนเกิดความเบื่อหน่าย กลัว หรืออาจถูกอุ้ม เพื่อปิดปากจนเลิกลาในที่สุด จึงเป็นแนวคิดของกฎหมายป้องกันการ "ปิดปาก" Anti-SLAPP Law  นอกจากนี้การเข้าถึงข้อมูล ประชาชนไม่สามารถสืบค้นได้ละเอียดและลึก ในการที่จะสืบเสาะหาความจริงในเรื่องการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ  ดังนั้นรัฐจำเป็นต้องสนับสนุนให้ประชาชนเข้าใจสิทธิความเป็นพลเมืองอย่างแท้จริง รวมทั้งการปกป้องคุ้มครองประชาชนในกรณีของการชี้เบาะแส เป็นต้น

ต่อมาได้มีการจัดกลุ่ม "ร่วมเขียนกฎหมายต้านโกง" เพื่อรับฟังความคิดเห็น (ประชาพิจารณ์) ต่อร่างกฎหมายว่าด้วยการรณรงค์ต่อต้านการทุจริต เกี่ยวกับ "ร่าง พ.ร.บ. การส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ" แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มเครือข่ายสมาชิกองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันและนักธุรกิจ 2. กลุ่มนักวิชาการ 3. กลุ่มเครือข่ายพลเมืองธรรมาภิบาล และ 4. กลุ่ม ศปท.และหน่วยงานภาครัฐ  จากการทำประชาพิจารณ์ได้ข้อสรุป 4 ประเด็นหลักๆ ดังนี้

1. คณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ ควรมีองค์ประกอบและสัดส่วนของผู้ที่จะมาร่วมทำงานทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ให้มีความสมดุลกัน และ ประชาชนต้องมีสิทธิเท่าเทียมกับเจ้าหน้าที่รัฐ

2. การมีส่วนร่วมของประชาชน รัฐต้องส่งเสริมให้ความรู้แก่ประชาชน  มีคู่มือที่ให้นักเรียน ข้าราชการใหม่ ปลูกฝังความคิดเรื่องธรรมภิบาลความหมายของประชาน ใน พ.ร.บ. ฉบับนี้  กรณีการชี้เบาะแสการทุจริตและประพฤติมิชอบ กฎหมายต้องมีฤทธ์เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทอย่างจริงจัง และเปิดกว้างให้สามารถตรวจสอบร้องเรียนและติดตามผลได้   

3. มาตรการการคุ้มครองและช่วยเหลือ กรณีผู้ชี้เบาะแสเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือ เอกชน ผู้บังคับบัญชาได้ย้ายไปที่อื่น ควรได้อยู่ในระดับเดียวกันและค่าตอบแทนเท่ากัน พร้อมการคุ้มครองปกป้องพยานอย่างเข้มแข็ง เต็มที่ ในทุกช่องทาง

4.  กองทุนรณรงค์ต่อต้านการทุจริต ควรกำหนดวัตถุประสงค์ และ การบริหารจัดการกองทุนให้ชัดเจน งบประมาณควรมาจากภาษีประชาชน ไม่ผ่านระบบสภา ฯ โดยมีทั้งรัฐและเอกชนเข้ามาดูแลในสัดส่วนที่เท่ากัน และ ควรให้เครือข่ายภาคประชาชนสามารถนำเงินในกองทุนไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้

สรุป  การร่างกฎหมายฉบับนี้นับเป็นเครื่องมือของประชาชนเพื่อสร้างความเข้มแข็งของประชาชน ไม่มีกฎหมายฉบับใดที่จะกำหนดชัดเจนเท่านี้อีกแล้ว วันนี้คือวันเริ่มต้นในการเห็นเครื่องมือของประชาชนในอนาคตที่จะสู้กับการทุจริต เพราะการทุจริตนี้ครอบงำรัฐบาล ครอบงำกลไกของรัฐในทุกระดับจนทำให้เกิดการสูญเสียที่มาจากอำนาจมืด ดังนั้น เครื่องมือตัวนี้ จะเป็นกฎหมาย เป็นตัวคุ้มครองป้องกันประชาชนอย่างแท้จริง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมศักดิ์ เผย 'เฟซบุ๊ก' อีเมล์แจ้งมีหมายศาลสั่งบล็อก 1 โพสต์ของเขาในไทย

Posted: 04 May 2017 09:24 AM PDT

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เผยเฟซบุ๊กมีอีเมล์แจ้ง กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ส่งหมายศาลไปยังเฟซบุ๊ก ขอให้จำกัดการเข้าถึงกระทู้ของตนกระทู้หนึ่ง ระบุผิด พ.ร.บ.คอมฯ 

4 พ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โพสต์ภาพ พร้อทข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า เฟซบุ๊กมีอีเมล์แจ้งให้ตนทราบว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ส่งหมายศาลไปยังเฟซบุ๊ก ขอให้จำกัดการเข้าถึงกระทู้ของตนกระทู้หนึ่ง

สำหรับจดหมายจากเฟซบุ๊ก ลงชื่อโดย Tim โดย สมศักดิ์ ได้แปลภาษาไทย สรุปความได้ว่า ทางเฟซบุ๊กติดต่อ สมศักดิ์ มา  เพราะว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ส่งหมายศาลซึ่งออกโดยผู้พิพากษาทัศนีย์ ลีลาภร และผู้พิพากษาสมยศ กอไพศาล ศาลอาญาแห่งประเทศไทย ระบุว่าโพสต์บนเฟซบุ๊คต่อไปนี้ของคุณ ละเมิดมาตรา 14 (3) แห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (2007)

จดหมายดังกล่าวระบุด้วยว่า เมื่อบรรดารัฐบาลเชื่อว่า บางอย่างบนอินเตอร์เน็ตละเมิดกฎหมายของประเทศของเขา พวกเขาอาจจะติดต่อกับบริษัทเช่น เฟซบุ๊ก และขอให้เราจำกัดการเข้าถึงเนื้อหานั้น เราได้พิจารณาทบทวนคำขอของรัฐบาลเหล่านั้น ตามระเบียบของเราและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง. ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่นี่ https://www.facebook.com/help/1601435423440616 

ในจดหมายยังแนะนำด้วยว่า หากมีปัญหาอะไรก็ตามเกี่ยวกับคำขอนี้ กรุณาติดต่อกระทรวงดิจิทัล หรือผู้พิพากษา พร้อมให้ ที่อยู่

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับ URL ของโพสต์นั้น ขณะนี้ไม่สามารถเข้าถึงได้แล้วในประเทศไทย หรือเป็นการบล็อกเฉพาะบางภูมิประเทศ หรือ geoblock

สำหรับ สมศักดิ์ เป็นอดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันได้ลี้ภัยทางการเมืองอยู่ประเทศฝรั่งเศส ภายหลังการรัฐประหารโดย คสช. เขาใช้เฟซบุ๊กโพสต์ความคิดเห็นและวิพากษ์สถานการณ์ทางการเมือง สถาบันพระมหากษัตริย์ ภาพยนตร์ แบบที่หาไม่ได้ในประเทศไทย ช่วงหลังเริ่มมีการนำแมวมาร่วมแจมด้วย

ส่วนยอดผู้ติดตามเฟซบุ๊กของ สมศักดิ์ ซึ่งเป็นลักษณะบัญชีนั้นไม่สามารถระบุได้เนื่องจากถูกปิดการแสดงผล เพราะก่อนหน้านี้ หลังปรากฏการณ์ BBC Thai และไผ่ ดาวดิน มีรายงานข่าวว่าตำรวจเริ่มเรียกประชาชนธรรมดาผู้ใช้เฟซบุ๊กไป "ปรับทัศนคติ" บางกรณีบุกถึงบ้าน คุยกับครอบครัวโดยระบุชัดว่าเป็นเพราะกดไลก์ติดตามเฟซบุ๊ก สมศักดิ์ (รายละเอียดเพิ่มเติม) ทั้งนี้เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมาก่อน สมศักดิ์จะปิดการแสดงผลจำนวนผู้ติดตาม มีจำนวนผู้ติดตามอยู่ที่ 283,400 ราย
 
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมา รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลงนามในประกาศกระทรวงดิจิทัลฯ เรื่องการงดเว้นการติดต่อกับบุคคลบนสื่ออินเทอร์เน็ต โดยระบุว่า ด้วยศาลอาญา ได้มีคำสั่งให้ระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันไม่เหมาะสม ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จึงขอให้ประชาชนโดยทั่วไป งดการติดตาม ติดต่อ เผยแพร่ หรือกระทำการใดๆ ที่มีลักษณะเป็นการเผยแพร่ เนื้อหา ข้อมูล ของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และ แอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชล (Andrew MacGregor Marshall บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สื่อสังคมออนไลน์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อมิให้เป็นการกระทำความผิดว่าด้วย พ.ร.บ.ดังกล่าว ทั้งเจตนา และไม่เจตนา
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เจาะดีลเรือดำน้ำ “ถูกและดีมีจริงหรือ” กองทัพมาก่อน ปากท้องมาทีหลัง

Posted: 04 May 2017 09:07 AM PDT

รายการล่าความจริง และ ปมลึก ปมลับ เจาะดีลเรือดำน้ำ ระบุสเปคด้อยกว่าเจ้าอื่น มีนัยทางการเมืองหลังปิดดีลหมื่นล้านในช่วงข้าวยากหมากแพง

ภาพจาก TPBS Live

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. ที่ผ่านมารายการ ล่าความจริง ของช่อง NOW 26 รายงานข่าวในหัวข้อ "เจาะเอกสารเรือดำน้ำจีน เมื่อประชาชนถูกมัดมือชก" ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับคุณสมบัติเรือดำน้ำ S26T ที่มีมติ ครม. ให้จัดซื้อจากรัฐบาลจีน 1 ลำ วงเงิน 13,500 ล้านบาท จากแผนการจัดซื้อของกองทัพเรือทั้งหมด 3 ลำ ด้วยวงเงิน 36,000 ล้านบาท

"ประเด็น "ซื้อ 2 แถม 1" ถูกตั้งคำถามว่าเป็นการล็อคสเปคให้จีนหรือไม่ เพราะในเอกสารเชิญชวนที่กองทัพเรือส่งไปยังบริษัทต่างๆ ที่เรียกว่า Request for Offer ได้เขียนความต้องการในการจัดหาเรือดำน้ำครั้งนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องการจัดหา 2 ลำในวงเงิน 36,000 ล้านบาท และบริษัทอื่นก็เสนอตามนั้น รวมทั้งจีนด้วย แต่ภายหลังจีนมาเสนอสิทธิพิเศษ "ซื้อ 2 แถม 1" หลังจากนั้นกองทัพเรือก็เปลี่ยนเอกสารโครงการใหม่ ระบุว่าเป็นโครงการจัดหาเรือดำน้ำ 3 ลำ ในวงเงิน 36,000 ล้านบาท"

ทีมล่าความจริง รายงานว่า ขนาดของตัวเรือที่ใหญ่กว่าเรือดำน้ำอื่นที่ถูกเสนอขาย ทำให้ระดับความลึกที่เรือดำน้ำจะซ่อนพรางได้ปลอดภัย ต้องมีความลึกที่ 60 เมตร แต่ความลึกเฉลี่ยของทะเลไทยอยู่ที่ 25-40 เมตร

เรือดำน้ำ S26T สามารถทำความเร็วสูงสุด คือ 18 นอต หรือ...กม./ชม. ได้เพียง 10 นาที ระยะปฏิบัติการ 8,000ไมล์ ในขณะที่เรือดำน้ำชาติอื่นทำความเร็วสูงสุดได้ 20 นอต นาน 1 ชั่วโมง และมีระยะปฏิบัติการมากกว่า 10,000 ไมล์

S26T มีระบบอำนวยการรบในการคำนวณเป้าหมายด้อยกว่าเรือดำน้ำแบบอื่นหลายเท่า ทั้งทางการจีนก็เสนอจำนวนตอร์ปิโดให้น้อยมาก เป็นลูกจริง 4 ลูก ลูกซ้อม 2 ลูก สำหรับเรือดำน้ำ 3 ลำ ในขณะที่เรือดำน้ำบางแบบให้ลูกจริงถึง 16 ลูก สำหรับเรือดำน้ำ 2 ลำ

ในแง่ของอายุการใช้งาน เอกสารที่เสนอจากบริษัทของจีนระบุว่า เรือดำน้ำจีนมีอายุการใช้งานอยู่ที่ 25 ปี ซึ่งสั้นกว่าเรือดำน้ำแบบอื่น ที่บางแบบมีอายุการใช้งานนานถึง 40 ปีขึ้นไป อายุการใช้งานของแบตเตอรี่ก็ต่ำมาก การเปลี่ยนแบตเตอรี่แต่ละครั้งก็ใช้งบประมาณสูงมาก เรื่องอะไหล่และการซ่อมบำรุงก็ไม่รวมอยู่ในข้อเสนอ ทั้งๆ ที่เรือดำน้ำแบบอื่นเสนอราคารวมอะไหล่แล้ว บางประเทศยินดีสร้างท่าจอดเรือให้ บางประเทศกำหนดเพดานวงเงินถึง 1,100 ล้านบาท แม้ฝ่ายที่สนับสนุนเรือดำน้ำจีนจะออกมาให้ข้อมูลการจัดอันดับเรือดำน้ำที่ดีที่สุดของโลก ประจำปี 2016 ว่าเรือดำน้ำ S26T ติดอันดับท็อปเท็นด้วย แต่ข้อมูลนี้ก็ไม่มีแหล่งที่มายืนยันชัดเจน และการจัดอันดับอีกหลายรายการก็ไม่มีเรือดำน้ำจีนติดกลุ่มเรือคุณภาพดี

หลังจากนั้น วันที่ 3 พ.ค. 2560 รายการ ข่าวลึก ปมลับ จากผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำเป็นความตั้งใจของรัฐบาล คสช. ที่จะจัดซื้อเรือดำน้ำให้กองทัพเรืออยู่แล้ว เพราะหลังรัฐบาลชุดนี้ไปโอกาสที่จะอนุมัติจัดซื้อเรือดำน้ำนั้นแทบจะไม่มี ที่ผ่านมากองทัพพยายามเสนอหลายครั้งแต่รัฐบาลพลเรือนไม่กล้าอนุมัติเพราะแรงต้านจากสังคมสูงทั้งเรื่องความเหมาะสมของภูมิประเทศหรือแนวโน้มการเกิดสงครามที่แทบจะไม่มี

ดังนั้น ยุคนี้จึงต้องทำให้สำเร็จ ทุกคนรับรู้กันดีว่าต้องเกิดขึ้น แต่วิธีการของคสช.และรัฐบาลทำให้เรื่องนี้ใหญ่กว่าเดิมหลายเท่า ตั้งแต่การอนุมัติเงียบๆ แบบลักหลับ สังคมเลยตั้งข้อสังเกตถึงเจตนาในการกระทำแบบนี้ในภาวะเศรษฐกิจในประเทศย่ำแย่ ทำให้คนส่วนหนึ่งเข้าใจว่า เป็นการใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลนี้เป็นการทำเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองกับจีน ไม่ใช่ตอบสนองความต้องการของประชาชน ทำให้งานนี้รัฐบาล คสช. เสียเครดิตไปมาก เพราะเลือกใช้เงินในลักษณะนี้ในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ

"ทำแบบนี้ก็เหมือนเป็นการสะท้อนว่า แท้จริงแล้วเรื่องของตัวเองมาก่อนเรื่องของประชาชน ประชาชนกำลังจะตาย แต่กลับไปให้ความสำคัญเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ซึ่งเป็นเรื่องของกองทัพ" นพรัฐ พรวนสุข ผู้ดำเนินรายการกล่าว

ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ และวรศักดิ์ มหัทธโนบล สองผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า ดีลเรือดำน้ำยังมีคำถามในเชิงปฏิบัติการที่ยังไม่มีคำตอบจากสเปคเรือดำน้ำ และความสัมพันธ์ที่ดูจะเอนเอียงไปทางจีนมากขึ้นนั้นมาจากความจำเป็นชั่วคราวเพราะรัฐบาลทหารไม่ได้รับการรับรองจากชาติตะวันตก รวมถึงเป็นหนึ่งชาติในสมรภูมิแย่งชิงอิทธิพลของมหาอำนาจ การคบหาจีนจึงต้องเป็นไปอย่างระมัดระวังเนื่องจากจีนมักเมินเฉยต่อกติการะหว่างประเทศซึ่งอาจทำให้ไทยเสียเปรียบจีนในอนาคต (อ่านต่อ ที่นี่)

 

ที่มา: NOW 26: ล่าความจริง: เจาะลึกเอกสารเรือดำน้ำ เมื่อประชาชนถูกมัดมือชก ,ผู้จัดการออนไลน์: ข่าวลึก ปมลับ : เรือดำน้ำมีกลิ่นตุ เรือแป๊ะล่มแน่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศูนย์ทนายฯ เผยข้อมูลการจับกุมทนายประเวศ + 5 ผู้ต้องหาไร้หมายจับ-หมายค้น และไม่แจ้งข้อกล่าวหาก่อน

Posted: 04 May 2017 08:24 AM PDT

ทนายความเปิดเผยข้อเท็จจริงการจับกุม 6 ผู้ต้องหาโพสต์แชร์เรื่องเกี่ยวกับหมุดคณะราษฎร และโพสต์หมิ่นกษัตริย์ ทุกคนระบุถูกควบคุมตัวเช้าวันที่ 29 เม.ย. โดยทหาร-ตำรวจทั้งในและนอกเครืองแบบ ด้านทนายประเวศเผย อดอาหารประท้วงเพื่อขอโทรบอกเพื่อนทนายให้ไปว่าความแทน

4 พ.ค. 2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อเวลา 16.00 น. ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวสองผู้ต้องหาคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์โพสต์ของ Somsak Jeamteerasakul เกี่ยวกับหมุดคณะราษฎรที่หายไป โดยรายหนึ่งเป็นบัณฑิตคณะนิติศาสตร์ยื่นหลักทรัพย์ประกัน 790,000 บาท และอีกรายยื่นหลักทรัพย์ 900,000 บาท

โดยศาลให้เหตุผลว่า เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง ประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว จึงไม่อนุญาตให้ประกันตัว ส่วนผู้ต้องหาอีก 4 ราย คือ ประเวศ ประภานุกูล, ดนัย (สงวนนามสกุล), วรรณชัย (สงวนนามสกุล), และผู้ต้องหาที่ไม่ประสงค์เปิดเผยชื่ออีก 1 คน ที่ถูกควบคุมตัวในมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) และนำตัวมาฝากขังพร้อมกันเมื่อวานนี้ ยังไม่ได้ยื่นประกันตัว เพราะอยู่ระหว่างรวบรวมหลักทรัพย์ประกัน

ขณะที่ช่วงเช้าของวันนี้ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เข้าไปสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 6 คนใน มทบ.11 ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ทราบว่า ทั้ง 6 คนถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ ควบคุมตัวในช่วงเช้าวันที่ 29 เม.ย. 2560 โดยไม่มีหมายจับ ไม่มีหมายค้น และไม่แจ้งให้ผู้ถูกควบคุมตัวทราบว่าถูกควบคุมเพราะเหตุใด ก่อนจะพาตัวไปที่ มทบ.11 โดยผู้ถูกควบคุมตัวบางรายถูกปิดตาและมีผ้าคลุมศีรษะระะหว่างเดินทางด้วย บางรายเล่าว่าถูกปิดตาทุกครั้งที่เจ้าหน้าที่ทหารพาไปห้องน้ำ

ประเวศเล่าว่า เมื่อไปถึง มทบ.11 เขาถูกแยกควบคุมตัว สอบปากคำ และซักถามประวัติส่วนตัว ซึ่งประเวศให้ความร่วมมือ และยอมลงชื่อในเอกสาร เพราะคิดว่าจะได้รับการปล่อยตัวกลับบ้าน ระหว่างนั้นเขาขอโทรศัพท์ติดต่อบุคคลที่ไว้วางใจ แต่ไม่ได้รับอนุญาต จึงอดอาหารเพื่อประท้วงการจำกัดสิทธิดังกล่าว

ประเวศไม่ได้รับประทานอะไรอีกเลยจนถึงช่วงสายวันที่ 30 เม.ย. 2560 เขายืนยันว่าต้องการติดต่อบุคคลที่ไว้วางใจ เพื่อจัดการเรื่องนัดหมายคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบ ทหารจึงอนุญาตให้ประเวศใช้โทรศัพท์ โดยจะต้องเปิดลำโพงให้ทหารได้ยินด้วย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: ยังติดต่อทนายประเวศไม่ได้ หลังโทรบอกเพื่อนทนายว่าถูก คสช. เรียกตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย.)

ขณะที่ผู้ถูกควบคุมตัวคนอื่น ๆ ไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อบุคคลภายนอก ทำให้ญาติและทนายความไม่อาจทราบชะตากรรมระหว่างถูกควบคุมตัว กระทั่งพนักงานสอบสวนจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เข้าไปสอบปากคำที่ มทบ.11 ในวันที่ 3 พ.ค. 2560 จึงอนุญาตให้ผู้ถูกควบคุมตัวทั้ง 6 คนติดต่อญาติได้ ก่อนจะนำตัวไปขออำนาจศาลอาญาฝากขังผู้ต้องหาไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพระหว่างวันที่ 3-14 พ.ค. 2560

ทั้งนี้ ประเวศและดนัยถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ส่วนวรรณชัย และผู้ต้องหาที่ไม่ประสงค์เปิดเผยชื่ออีก 3 คน ถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์โพสต์เกี่ยวกับหมุดคณะราษฎร

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วงเสวนาเสรีภาพสื่อกับสังคมไทย ระบุรัฐคุมสื่อก็เหมือนคุมการรับรู้ของประชาชน

Posted: 04 May 2017 07:21 AM PDT

วงเสวนาวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ซัดร่าง พ.ร.บ.คุมสื่อ อาจมีเจตนาปกป้องรัฐ เพราะทีผ่านมาประชาชนถูกสื่อละเมิด รัฐกลับไม่แสดงท่าที แต่เมื่อสื่อเสนอข้อมูลที่กระทบเสถียรภาพของรัฐ กลับมีปฏิกิริยโดยทันที ด้านสุทธิชัย หยุ่น ชี้หากต้องการให้คอร์ชั่นน้อย ต้องมีสื่อเสรี

เมื่อวันที่ 3 พ.ค. เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการจัดเสวนา "เสรีภาพสื่อกับอนาคตสังคมไทย" โดยมี มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดี คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นคณะผู้บรรยาย โดยมีสื่อมวลชนร่วม นักวิชาการ ประชาชนร่วมงานกว่า 100 คน

มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดี คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ถ้าเราดูปรากฎการณ์ที่มีความเห็นเกี่ยวกับการนำเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ กระแสหนึ่งได้สนับสนุนให้สื่อเข้ารูปเข้ารอย ซึ่งมีคนจำนวนไม่น้อยเป็นจุดสำคัญที่คนทำงานสื่อต้องพิจารณาว่า 5-10 ปีที่ผานมาได้ทำไปเพื่อสังคมแค่ไหน เมื่อ 20 ปีก่อน เสรีภาพสื่อผูกกับประชาชน แต่เมื่อประชาชนถูกลิดรอนจึงเรียกร้องให้รัฐคุ้มครองเสรีภาพ แต่คนที่เคยออกมาเรียกร้องเสรีภาพของสื่อที่ผ่านมา กลับสนับสนุนให้มีการควบคุม ปัญหาคือสื่อมวลชนจำนวนไม่น้อยใช้เสรีภาพละเมิดสิทธิคนอื่น หรือใช้เสรีภาพก่อให้เกิดปัญหาในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ซึ่งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อทีวี สื่อออนไลน์ ไม่ได้นำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนควรรู้ แต่วันนี้มีเทคโนโลยีประชาชนมีสื่อในมือ ถ้าสื่อมวลชนทำอะไรไม่ถูกต้อง ประชาชนอาจจะตั้งคำถาม ล้อเลียน หรือถูกตำหนิ ทำให้คนจำนวนไม่น้อยขานรับกฎหมายฉบับนี้ ขณะที่รากฐานของการแก้จริยธรรมสื่อในกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้พูดถึง ส่วนใหญ่จะเป็นการควบคุมเนื้อหา และเมื่อรัฐผู้ที่อภิปรายอ้างประชาชนถูกละเมิดสิทธิ แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมารัฐไม่เคยแสดงท่าทีเรื่องนี้ แต่เมื่อไหร่ที่สื่อได้นำเสนอข้อมูลกระทบข้อมูลเสถียรภาพของรัฐ รัฐจะออกมาทันที เพราะรัฐต้องการให้สื่อเป็นเด็กดีว่านอนสอนง่าย ต้องการให้เป็นหมาเชื่องๆ มากกว่า ไม่ใช่หมาเฝ้าบ้าน

"การออกใบอนุญาต เข้าควบคุมเนื้อหา ทุกอย่างเป็นเพียงข้ออ้าง สิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐพูดไว้มองไปที่สิงค์โปร์ ในประเทศที่ทำให้ทุกฝ่ายนิ่งหมด แต่ฝ่ายรัฐทำได้ทุกอย่าง ไม่มีใครคอยดึงคอยรั้งไว้ ใครที่ตั้งคำถามรัฐหลายๆ แห่งในโลก ก็ไม่ยินยอมพร้อมใจอยากให้สื่อมาตั้งคำถามหรือเห็นต่าง"มานะ กล่าว 

มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย)  กล่าวว่า ร่างกฎหมายนี้มีประเด็นกวนใจหลายอย่าง ซึ่งจากการสำรวจของหอการค้าไทย โดยเฉพาะเรื่องการต่อคอร์รัปชั่นพบว่า 3 ครั้งแรกตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามา ประชาชนมีความความเชื่อมั่นและความหวังว่าสื่อจะช่วยแก้ไขปัญหาประเทศได้ แต่ปีครึ่งที่ผ่านมาจากการสำรวจ ประชาชนมีความหวังน้อยลง ทั้งนี้ ความพยายามออกกฎหมายนี้ ต้องทำความเข้าใจว่าเรื่องการคอร์รัปชั่นหลักการแก้ปัญหา ไม่ใช่ไล่จับ แต่ต้องแก้ระยะยาวด้วยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ทำลายปัจจัยคอร์รัปชั่น เพราะการออกฎหมายมากๆเป็นปัญหา การมีกฎหมายแบบนี้ มันทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นหรือแลกเปลี่ยนผลประโยชน์บางอย่าง ทำให้การนำเสนอข้อมูลไปในทางที่รัฐต้องการ

"สื่อเสรีนำเสนอข้อมูลหลากหลายไปสู่ประชาชนทำให้ประชาชนเห็นความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาสังคม ถ้าเราจะแก้คอร์รัปชั่นให้ได้ ทุกคนต้องร่วมกันบอกผู้อำนาจในรัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สิ่งที่อยากเห็น คือ ข่าวสารผ่านสื่อมีคุณภาพรวมถึงในโซเชียล เพื่อให้เกิดการตรวจสอบกันและกัน เพื่อทำให้ประชาชนเกิดความหวังกับการต่อสู้คอร์รัปชั่น และทำให้ประชาชนเข้าร่วมปราบปรามและต่อต้านคอร์รัปชั่น"

ด้านสุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวว่าการที่มีผู้มีอำนาจใจใช้เฮชสปีช สร้างความเกลียดชังด้วยการอภิปรายในสภาว่าจับสื่อไปยิงเป้าอยากถามว่าขัดกับจริยธรรมหรือไม่ ซึ่งคำพูดดังกล่าวเข้าข่ายเฮชสปีชอย่างไรก็ดี ร่างดังกล่าวมีชื่อไม่ตรงกับหลักการซึ่งสะท้อนถึงความต้องการขยายอำนาจรัฐ ลดอำนาจประชาชนกับสถานการณ์ที่ขณะนี้ไม่มีฝ่ายค้านในสภาทำหน้าที่ตรวจสอบ ดังนั้นจึงมีเพียงสื่อทำหน้าที่รายงานข้อเท็จจริงและถ้าไม่มีสื่อประเทศไทยเป็นอย่างไร มีเพียงมุมมองเดียวจากภาครัฐซึ่งตอนนี้รัฐสกัดอำนาจฝ่ายค้านไม่มี พรรคการเมืองอ่อนแอกฎหมายเข้มงวด ทำให้ไม่สามารถทำอะไรได้ อำนาจสุดท้ายถ่วงดุลรัฐคือ สื่อมวลชนและออนไลน์ จนทำให้ผู้มีอำนาจรัฐไม่วางใจจำเป็นต้องมีเครื่องมือเข้ามาและคำว่าเสรีภาพกับความรับผิดชอบเป็นของมาคู่กันถ้าเมื่อไหร่สื่อไม่มีเสรีภาพ ความรับผิดชอบก็จะไม่เกิดและไม่เรียกว่าสื่อมวลชนได้อีกต่อไปต้องกลับมาตั้งหลักด้วยการเพิ่มความรับผิดชอบมากขึ้นแต่ไม่ใช่ลิดรอนเสรีภาพหากความรับผิดชอบไม่เพียงพอทั้งสื่อหลักหรือสื่อออนไลน์ก็สามารถใช้กฎหมายที่มีอยู่มาดำเนินการ

"จึงอยากเสนอสปท.คุ้มครองผู้เสียหายโดยใช้หลักนิติธรรมรัฐช่วยประชาชนฟ้องง่ายกว่าและได้รับการสนับสนุนจากประชาชนกับสื่อเองก็รับได้ถ้ารัฐใช้ทางลัดปัญหาไม่สิ้นสุด และเดือนนี้จะครบ 25 ปี เหตุการณ์ปี 35พฤษภา ซึ่งจากบทเรียนในอดีต รัฐคงไม่อยากซ้ำรอยควรให้เสรีภาพกับสื่อ" สุภิญญา กล่าว

ด้านอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติระบุว่า สิทธิเสรีภาพของสื่อ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน และเป็นสิทธิเสรีภาพที่ถูกรับรองไว้โดยกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยร่วมภาคีของสนธิสัญญาดังกล่าวด้วย โดยในข้อที่ 19 ได้ระบุชัดเจนว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และบุคคลทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่จะแสดงออก ซึ่งเสรีภาพดังรวมถึงเสรีภาพที่จะรับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้วย แต่การใช้เสรีภาพดังกล่าวมีข้อจำกัดอยู่ 2 ประการคือ การเคารพสิทธิและชื่อเสียงของบุคคลอื่น และต้องรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของชาติ แต่หลักการคือ จะต้องเปิดให้ทุกคนมีเสรีภาพ ขณะที่ข้อจำกัดจะใช้เฉพาะเรื่องที่จำเป็น แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงเรื่องความมั่นคงของชาตินั้น กลับไม่มีนิยามที่ชัดเจนว่าอะไรคือความั่นคงของชาติ คำนี้จึงกลายเป็นคำที่ทุกคนต่างหวาดกลัว 

อังคณา กล่าวต่อไปถึงบทบาทหน้าที่ของสื่อว่า นอกจากเป็นผู้ที่ช่วยทำให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารแล้ว สื่อยังทำหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจ และการใช้งบประมาณต่างๆ ของรัฐด้วย ฉะนั้นประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องที่เธอต้องการให้รัฐบาลกลับไปดูข้อเสนอแนะจากนานาประเทศในเวที UPR ซึ่งประเทศไทยได้รับข้อเสนอแนะในหลายเรื่องรวมทั้งเรื่องการให้สิทธิและเสรีภาพกับสื่อมวลชน โดยข้อเสนอแนะต่างๆ เป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยต้องนำมาปฏิบัติ อย่างไรก็ตามอังคณา เห็นว่า สื่อมวลชนเองก็ต้องมีความรับผิดชอบด้วย โดยเฉพาะเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

อังคณากล่าวต่อไปว่า แม้ว่าสื่อมวลเองจะยังคงมีปัญหาอยู่ แต่สิ่งที่รัฐบาลความทำมากกว่าการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนคือ การสร้างให้ประชาชนมีความเป็นพลเมือง และมีสิทธิเสรีภาพบนความรับผิดชอบ และเคารพสิทธิของผู้อื่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นกลไกที่จะทำให้การตรวจสอบสื่อมวลชนเอง อีกทั้งในเวลานี้ประเทศไทยก็มีกลไกที่จะตรวจสอบการทำหน้าที่ของสื่ออย่างเพียงพออยู่แล้ว

"สิ่งที่สำคัญคือ เราต้องพัฒนาองค์กรอิสระ และกลไกการตรวจสอบให้มีความเป็นอิสระมีความโปร่งใส ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นธรรม และไม่หวั้นเกรงต่ออิทธิพลใดๆ" อังคณาล่าว

เธอระบุต่อไปว่า สิ่งที่น่ากังวัลสำหรับสถานการณ์เสรีภาพสื่อในเวลานี้คือ วิธีคิดของผู้ร่างกฎหมาย ซึ่งเธอมองว่าบางครั้งผู้ร่างกฎหมายเองก็มีความกลัว เช่นกลัวว่าอีก 20 ปีข้างหน้าจะอยู่กันอย่างไร และก็พยายามออกกฎหมายเพื่อควบคุมทิศทางให้คนในอนาคต

"คือคิดกันไปไกลว่า เราจะต้องอยู่กันอย่างไรในอนาคต จริงๆ แล้วท่านผู้สูงอายุทั้งหลายที่อยู่ใน สนช. หรือ สปท. ถ้าไว้วางใจลูกหลานเรา ฉันคิดว่าเราต้องปล่อยให้คนรุ่นใหม่ต้องรู้จักที่จะคิดเอง เลือกเองและตั้งรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองได้กระทำไปด้วย อันนี้แหละคือการสร้างความเป็นพลเมือง" อังคณา กล่าว

อังคณา ระบุด้วยว่า เธอไม่เข้าใจว่าเพราะเหตุใดจึงมีการนำเอากรรมการสิทธิมนุษยชนเข้าไปนั่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการวิชาชีพสื่อมวลชน ตามที่ระบุไว้ในร่างกฎหมาย เพราะในความเป็นจริงแล้วคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมีหน้าที่ต้องเรื่องราวที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และทุกวันนี้หากสื่อมวลชนไปละเมิดใครกรรมการสิทธิก็มีหน้าที่ตรวจสอบอยู่แล้ว และในอนาคตสื่อก็อาจจะถูกละเมิดสิทธิเอง สื่อก็ควรจะมาร้องเรียนกับคณะกรรมการสิทธิฯ ได้เช่นกัน แต่ถ้ากรรมการสิทธิไปนั่งอยู่ในคณะกรรมการวิชาชีพสื่อมวล แล้วกรรมการสิทธิจะอยู่ในฐานะที่เป็นกลางเป็นธรรมได้อย่างไร

"แทนที่รัฐจะมาคุม รัฐควรจะคิดว่าเมื่อสื่อปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต เพื่อที่จะปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนแล้ว สื่อจะต้องไม่ถูกคุกคาม จะต้องไม่ถูกละเมิดสิทธิทั้งร่างกาย และชีวิต และหากเกิดการละเมิดสิทธิเกิดขึ้นก็จะต้องไม่ปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล"อังคณา กล่าว

สมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า นักการมือง ตำรวจ สื่อมวลชน คือกลุ่มที่ประชาชนต้องการให้ปฏิรูป ตนไม่เห็นด้วยกับร่างของสปท. แต่สนับสนุนให้มีร่างวิชาชีพของสื่อที่สื่อเข้าไปยกร่างด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันความคาดหวังว่า กรณีสื่อเทียม สื่อเสี้ยมที่เข้ามาจำนนำนวนมากจะหมดไป ดังนั้นกฎหมายจะต้องส่งเสริมไม่ใช่ควบคุมสิทธิเสรีภาพ ซึ่งจากนี้ยังมีหลายขั้นตอนอีกไกลมากกว่ากฎหมายฉบับนี้จะออกมา ส่วนการควบคุมกันเองจะทำอย่างไร แต่ที่ผ่านมายังไปไม่ได้ จึงควรมีสภาวิชาชีพเกิดขึ้น เพื่อสร้างหลักประกันให้กับสื่อด้วย

สุทธิชัย หยุ่น ระบุว่าจากร่างกฎหมายคุมสื่อฉบับที่ผ่านมติเห็นชอบจาก สปท. นั้นเป็นความพยายามที่จะคุมสือแบบหยาบๆ เพียวแค่ต้องการจะควบคุมจึงได้กำหนดให้คนเป็นสื่อมาขอใบอนุญาติประกอบวิชาชีพ เขาเห็นความอันตรายของความคิดนี้คือ หากมีการควบคุมผู้ที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ ก็จะสามารถควบคุมการไหลเทของข่าวสารตามที่ผู้มีอำนาจต้องการ

"เขาคงลืมไปว่าเทคโนโลยีได้ก้าวหน้าไปจนถึงขั้นที่ใครก็ไม่สามารถควบคุมการไหลเวียนของข่าวสารในสังคมได้อีกต่อไป แต่ผมเชื่อว่าความล่าสมัยของความคิดของคนที่อยู่ในอำนาจ หากคุมหนังสือพิมพ์ได้ เพราะตอนนี้ของคุมทีวีเกือบจะได้ทั้งหมด สิ่งที่เขาห่วงก็คือ คนในอำนาจตื่นเช้ามาอ่านหนังสือพิมพ์ไม่กี่ฉบับ ก็จะไม่ชอบที่เห็นความคิดความอ่านต่างๆ จริงๆ เขาไม่ชอบคอลัมนิสหนังสือพิมพ์บางฉบับเท่านั้นแหละครับ เขาเลยคิดว่าอยากจะควบคุมได้ แต่เขาลืมไปว่าร่างกฎหมายนี้ออกมามันจะคุมทุกคนในสังคมไทย ไม่ใช่เฉพาะคนมีอาชีพสื่อสารมวลชนกระแสหลักเท่านั้น" สุทธิชัย กล่าว

สุทธิชัย กล่าวอีกว่า ทั้งหมดจึงเป็นปรากฎการณ์ให้สังคมได้ตระหนัก เพราะการปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมสื่อมีมากอยู่แล้ว เสรีภาพก็สึกกร่อนไปด้วยทุนนิยม ดังนั้นความเข้มข้นคนทำสื่อก็แผ่วลงไป ดังนั้นคนแก่จึงต้องมาวันนี้ เพื่อให้คนรุ่นใหม่เดินหน้าต่อไป และต้องตระหนักว่าการปกป้องเสรีภาพ เพราะเสรีภาพของสื่อ คือเสรีภาพประขาชน ไม่มีอาชีพไหนปกป้องกันเองได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีอาชีพไหนที่ไม่มีคอร์รัปชั่น นักการเมืองก็มี หมอก็มี วิชาสื่อไม่ว่าตั้งกฎอะไรก็ต้องมีคนผิดกฎ แต่สุดท้ายสังคมจะตัดสินเอง ไม่ใช่รัฐบาลตัดสิน ไม่ใช่คนกลุ่มใดกลุ่มหน่ึงตัดสิน ที่นายกฯบอกว่า ต้องให้สื่อต้องเชื่อมโยงกับรัฐ แต่สื่อไม่มีความจำเป็นต้องเชื่อมโยงกับรัฐ เพราะสื่อมีความจำเป็นต้องเชื่อมโยงกกับประชาชนเท่านั้น รัฐมีหน้าที่ส่งเสริมให้สื่อสามารถปกครองดูแลตัวเอง โดยผ่านการดูแลจากประชาชน 

"วันนี้คือจุดเริ่มต้นของสังคมไทย ในเสรีภาพของข่าวสารจะให้สังคมนี้ดีขึ้น ไม่ใช่มาควบคุมและมากำกับ ซึ่งปัจจัยที่การปราบคอร์รัปชั่นในประเทศที่คอร์รัปชั่นน้อยที่สุดโลก ที่ผมเคยสัมภาษณ์มานั้นคำตอบที่ได้คือ ต้องมีสื่อที่เสรี" สุทธิชัย กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ก.ศึกษาฯ เร่งแก้ไขปัญหานักเรียนที่ไม่หลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย

Posted: 04 May 2017 06:23 AM PDT

กระทรวงศึกษาธิการประชุมคณะกรรมการดำเนินการจัดการศึกษาแก่บุคคลที่มีมีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย เร่งแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียนไร้สัญชาติให้มีข้อมูลที่ชัดเจนและมีสถานะบุคคลตามกฎหมาย

4 พ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการได้มีการจัดตั้งและประชุมคณะกรรมการดำเนินการจัดการศึกษาแก่บุคคลที่มีมีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย เมื่อต้นเดือนเมษายน ที่ประชุมมีมติให้เร่งจัดทำข้อมูลบุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยที่อยู่ในระบบการศึกษาในทุกหน่วยงาน  เพื่อให้มีข้อมูลที่ครบถ้วนในการบริหารจัดการศึกษาให้คนกลุ่มนี้

ตามที่มีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ. 2548 และมติคณะรัฐมนตรี 5 กรกฎาคม 2548 ในการให้โอกาสทางการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย สามารถเข้าเรียนได้โดยไม่จำกัดระดับประเภทหรือพื้นที่การศึกษานั้น ปัจจุบันมีเด็กนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย เข้าเรียนในโรงเรียนในสังกัดคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี 2559 ซึ่งได้รับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวเช่นเดียวกับนักเรียนไทยจำนวน 67,577 คน  และกระทรวงมหาดไทยอยู่ระหว่างดำเนินการเรื่องสัญชาติไทยจำนวน 6,800 คน  นอกจากนี้มีนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยที่เรียนอยู่ในโรงเรียนในสังกัดสำนักการศึกษากรุงเทพมหานครจำนวน 3,679 คน  และในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนอีกประมาณ 1,500 คน

สุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมได้รับทราบข้อมูลการดำเนินการตามโครงการกำหนดสถานะให้แก่เด็กนักเรียนในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 ที่รับผิดชอบ 5 อำเภอของจังหวัดตาก ได้แก่ ท่าสองยาง แม่ระมาด แม่สอด พบพระ และอุ้มผาง ได้ดำเนินการช่วยเหลือเด็กนักเรียนให้ได้รับสถานะมีเลข 13 หลัก และมีบัตรเอกสารแสดงตน จำนวน 1,756 คน อยู่ระหว่างดำเนินการจำนวน 1,442 คน  และที่ประชุมมีมติตั้งคณะอนุกรรมการจัดการปัญหาสถานะของนักเรียน เพื่อช่วยเหลือเด็กนักเรียนในทุกพื้นที่ให้ได้รับการช่วยเหลือกำหนดสถานะที่ถุกต้องและเหมาะสม  โดยจะประสานงานกับกระทรวงมหาดไทยในการดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง  นอกจากนี้ยังมีมติตั้งคณะอนุกรรมการในการปรับปรุงแก้ไขคู่มือการปฏิบัติของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ระเบียบกฎหมายที่ปรับเปลี่ยนไปด้วย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสธ.ทร.เตรียมลงนามสัญญาซื้อเรือดำน้ำจีน 7 พ.ค.นี้ สตง.คาดใช้เวลา 2 สัปดาห์ สอบเอกสารลับ

Posted: 04 May 2017 06:02 AM PDT

ทร.ระบุ  เสธ.ทร.เยือนจีน เป็นตัวแทน ผบ.ทร. เตรียมลงนามสัญญาซื้อเรือดำน้ำ 7 พ.ค.นี้ ขณะที่ สตง.คาดใช้เวลา 2 สัปดาห์ สอบเอกสารลับ

ภาพเสนาธิการทหารเรือในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ พร้อมคณะเป็นผู้ชี้แจงโครงการจัดหาเรือดำน้ำอย่างเป็นทางการ 1 พ.ค. 2560

4 พ.ค. 2560 สำนักงานเลขานุการ กองทัพเรือ (สลก.ทร.) ได้เผยแพร่เอกสารข่าวแจกจ่ายให้สื่อมวลชน ถึงความคืบหน้าโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ลำที่ 1 จากสาธารณรัฐประชาชนจีน  ระบุว่า กองทัพเรือได้รับแจ้งจากบริษัท China Shipbuilding & Offshore International Co.,Ltd.  (CSOC) สาธารณรัฐประชาชนจีน ว่า ได้ประสานงานกับรัฐบาลจีน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีน ในการจัดเตรียมเอกสารต่างๆ เรียบร้อยแล้ว และมีความพร้อมในการลงนามในข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำ ลำที่ 1 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จึงมีความประสงค์ขอเชิญผู้แทนรัฐบาลไทยให้เกียรติไปเยือนจีน และลงนามในข้อตกลงฯ 

ดังนั้น การดำเนินการของกองทัพเรือ เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2560 พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้มอบหมายให้ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ เป็นผู้แทนผู้บัญชาการทหารเรือ ลงนามในข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำ ลำที่ 1 ในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน 

โดยเสนาธิการทหารเรือและคณะได้เดินทางไปกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 4 – 7 พ.ค. 2560 และเมื่อทั้ง 2 ฝ่ายตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของเอกสารเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะสามารถประกอบพิธีลงนามในข้อตกลง  ณ อาคารรับรองรัฐบาล เตี้ยวหยูไถ่ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน กับบริษัท CSOC ในฐานะผู้แทนรัฐบาล สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ ภายในวันที่ 7 พ.ค. 2560 ซึ่งจะถือได้ว่ารัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน มีพันธกรณีต่อกันโดยสมบูรณ์ต่อไป 

สตง.คาดใช้เวลา 2 สัปดาห์ ตรวจสอบเอกสารลับ

พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยภายหลังเข้าพบ พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ และคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ที่กองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม ว่า วันนี้ (4 พ.ค.)  สตง.มาตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ อาทิ การใช้งบประมาณการจัดซื้อดังกล่าว โดยจะตรวจสอบย้อนหลังไปถึงวันที่นำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) คือ วันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา 

"เนื่องจากเป็นเอกสารลับ ไม่สามารถนำออกไปได้ คาดว่าใช้เวลา 1 สัปดาห์  ไม่เกิน 2 สัปดาห์ ในการตรวจสอบประเด็นต่างๆ ที่สังคมสงสัย โดยจะนำข้อร้องเรียนของ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการของกองทัพเรือ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา มารวบรวม เพื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเอกสารที่กองทัพเรือส่งให้ ครม." พิศิษฐ์ กล่าว

พิศิษฐ์ กล่าวว่า หากมีข้อสังเกตใดๆ หรือพบนัยที่สำคัญ ก็จะรีบแจ้งกองทัพเรือ เพื่อนำไปพิจารณาทบทวน และแจ้งสื่อมวลชนให้ทราบ ส่วนจะระงับยับยั้งหรือไม่ ขึ้นอยู่กับกองทัพเรือ  และไม่มีข้อห้ามว่า ระหว่างนี้ กองทัพเรือจะเซ็นสัญญากับจีนไม่ได้    

พิศิษย์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ที่มาตรวจสอบเอกสารโครงการจัดหาเรือดำน้ำจีน เป็นผู้ตรวจราชการ เทียบเท่ารอง หรือ ผู้อำนวยการสำนัก จำนวน 5 คน และมีผู้ช่วยอีก 1-2 คน ซึ่งกองทัพเรือให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดย สตง.จะตรวจสอบต่อเนื่อง เพราะเป็นงบผูกพันหลายปี และอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ต้องตรวจสอบคือ การทำสัญญาแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือ จีทูจี เพราะที่ผ่านมามีปัญหาเยอะ เช่น โครงการมันสำปะหลังและจำนำข้าว

"เป็นหน้าที่ของ สตง.อยู่แล้ว  ในการดูแลการใช้งบประมาณของแผ่นดิน  ยืนยันว่า การทำงานเป็นอิสระ ไม่เกรงกลัวอิทธิพลการเมือง ที่ผ่านมาก็เคยตรวจสอบหลายโครงการของกองทัพเรือ  เช่น การจัดหาเรือดำน้ำ มือ 2 จากเยอรมนี ที่ได้ให้ข้อสังเกตต่างๆ ซึ่งท้ายที่สุดโครงการก็ไม่ได้รับการอนุมัติ" พิศิษฐ์ กล่าว

รายงานระบุด้วยว่า พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ได้เดินทางไปยังสาธารณประชาชนจีนแล้ว เพื่อติดตามความคืบหน้าการจัดทำสัญญาซื้อเรือดำน้ำ S26T   

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย โพสต์ทูเดย์ และ บีบีซีไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'โอเพนรัสเซีย' จัดชุมนุมต่อ-แม้ถูกรัฐบาลรัสเซียขึ้นบัญชีดำ

Posted: 04 May 2017 04:30 AM PDT

ถึงแม้ว่ารัฐบาลรัสเซียจะสั่งแบนและขึ้นบัญชีดำกลุ่มโอเพนรัสเซียในช่วงก่อนที่พวกเขาจะประท้วงเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึงไม่ยอมอนุญาตให้พวกเขาประท้วงในหลายๆ เมือง แต่ทางโอเพนรัสเซียที่ต้องการเรียกร้องสังคมที่เปิดกว้างเป็นประชาธิปไตยก็ไม่ลดละ พวกเขายังยืนกรานจัดการชุมนุมต่อไป

ที่มาของภาพประกอบ: Wikipedia

4 พ.ค. 2560 เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาในรัสเซียมีการประท้วงใหญ่ต่อต้านประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ทั้งในกรุงมอสโกวและเมืองอื่นๆ ภายใต้สโลแกน "พวกเราเบื่อเซ็งเขาแล้ว" เนื่องจากปูตินมีแผนจะดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีต่ออีกสมัย โดยที่แม้ว่าจะถูกสั่งห้ามในหลายพื้นที่ และในบางพื้นที่อย่างมอสโควพวกเขาก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เดินขบวน แต่พวกเขาก็ยังคงทำการชุมนุมกันต่อไป

กลุ่มผู้ชุมนุมชวนผู้เข้าร่วมมารวมตัวกันที่สำนักงานรับรองประธานาธิบดีประจำแต่ละท้องถิ่นของตัวเองเพื่อยื่นจดหมายถึงปูตินเรียกร้องไม่ให้เขาลงเลือกตั้งในครั้งถัดไปอีก โดยที่ปูตินดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีมาแล้ว 3 สมัยซึ่งไม่ได้เป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกัน ก่อนหน้าการดำรงตำแหน่งในสมัยที่ 3 ปูติน คือช่วงปี 2551-2555 ปูตินได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีแทนเนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่อนุญาตให้มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเกิน 2 สมัยติดต่อกัน

ในวันที่ 29 เม.ย. 2560 การชุมนุมในหลายพื้นที่มีจำนวนผู้ชุมนุมตั้งแต่ไม่กี่สิบคนไปจนถึงหลายร้อยคน ส่วนในมอสโควมีผู้ชุมนุม 250 คน จากตัวเลขการประเมินของทางการ โดยในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กมีผู้ประท้วงถูกจับกุมราว 100 คน จากที่มีผู้มาชุมนุมทั้งหมดราว 200 คน ตำรวจอ้างว่ากลุ่มผู้ประท้วงเป็นผู้ "ก่อความวุ่นวาย"

หนึ่งในผู้ชุมนุมอายุ 57 ปี กาลีนา อบราโมวา บอกว่า "ทุกอย่างแย่ไปหมด ทั้งการศึกษา สุขภาวะ ทุกอย่างถูกทำลายไปหมด ฉันต้องการการเปลี่ยนแปลง" ในส่วนของคนหนุ่มสาวอายุ 16 ปี อย่างแอนนา บาซาโรวา อายุ 16 ปีบอกว่าเธอไม่อยากให้ปูตินลงเลือกตั้งอีกในครั้งหน้า และปัญหาของพวกเธอคือการที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผู้ทีอยู่ในอำนาจได้

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกในรัสเซียที่มีการประท้วงโดยไม่รอให้ทางการอนุญาต ก่อนหน้านี้หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านอย่าง อเล็กซี นาวาลนี ก็เคยจัดการประท้วงเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2560 ในกรุงมอสโควโดยมีประชาชนราว 1,000 คน ถูกจับกุมรวมถึงนาวาลนีเองด้วย และในช่วงก่อนหน้าที่กลุ่ม "โอเพนรัสเซีย" จะจัดการชุมนุมในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาทางการรัสเซียก็พยายามกดดันพวกเขาในช่วงก่อนการชุมนุมไม่กี่วัน

มิคาอิล โคดอร์คอฟสกี ผู้นำขบวนการ 'โอเพนรัสเซีย' เปิดเผยผ่านทวิตเตอร์หลังจากที่รัฐบาลประกาศให้กลุ่มโอเพนรัสเซียเป็นกลุ่มผิดกฎหมายว่าเขารู้สึก "ภูมิใจ" ที่ขบวนการนี้ตกอยู่ภายใต้การเพ่งเล็งของรัฐบาล ซึ่งไม่เพียงแค่ถูกห้ามเท่านั้นแต่ยังถูกแบล็กลิสต์ในฐานะ "องค์กรที่ไม่พึงประสงค์" ด้วย แต่มันก็ไม่สามารถหยุดพวกเขาได้ พวกเขายังระกาศจัดการชุมนุมต่อไป

โคดอร์คอฟสกีกล่าวอีกว่าการตัดสินใจสั่งแบนของหัวหน้าอัยการรัสเซียมีผลต่อองค์กรโอเพนรัสเซียที่จดทะเบียนในอังกฤษเท่านั้นและไม่ได้ครอบคลุมถึง "ขบวนการออนไลน์ในโซเชียลเน็ตเวิร์กของโอเพนรัสเซีย" ซึ่งใช้จัดตั้งการชุมนุม จัดกิจกรรม และจัดการด้านสื่อด้วย เนื่องจากปฏิบัติการออนไลน์ของโอเพนรัสเซียเป็นไปตามกฎหมายมาตรา 82 ว่าด้วย "องค์กรสาธารณะ" ที่ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียน

ทางด้านมาเรีย บาโรโนวา หนึ่งในผู้ประสานงานของโอเพนรัสเซียกล่าวยืนยันต่อสื่อว่าถึงจะถูกแบนแต่กิจกรรมขององค์กรพวกเขาก็ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะพวกเขาเป็นแค่กลุ่มปัจเจกบุคคลที่เห็นตรงกันว่ารัสเซียควรจะเป็นประเทศที่มีความเป็นยุโรปและมีประชาธิปไตยมากกว่านี้ ในแง่การที่ถูกสั่งลงบัญชีดำว่าเป็นองค์กรที่ไม่พึงประสงค์นั้น พวกเขาออกแถลงการณ์ระบุว่ารัฐบาลกระทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะการขึ้นบัญชีดำทำได้แต่กับองค์กรเอ็นจีโอต่างชาติหรือนานาชาติเท่านั้น แต่โอเพนรัสเซียเป็นองค์กรสัญชาติรัสเซียโดยแท้แน่นอน

 

เรียบเรียงจาก

Russian police arrest dozens of anti-Putin protesters, Aljazeera, 30-04-2017

A letter to Putin: Open Russia's Khodorkovsky inspires Moscow protest, Russia Beyond The Headlines, 30-04-2017

Russian Protest Movement Says It Will Press On, Despite Federal Ban, Global Voices, 26-04-2017

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Vladimir_Putin

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'กสทช.-ISP' เผยปิดกว่า 6 พันเว็บ เนื้อหาไม่เหมาะ ยันทุกรายร่วมมือ เว้นเฟซบุ๊กกำลังเจรจา

Posted: 04 May 2017 02:36 AM PDT

กสทช.-สมาคมอินเทอร์เน็ต แถลงปิดกั้นเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมตามที่ศาลตัดสินว่าผิดกฎหมาย ไปแล้ว 6,300 กว่าเว็บ ใช้เวลากว่า 3 ปี เหลืออีก 600 กว่าเว็บ ที่เข้ารหัสและมีแม่ข่ายอยู่ต่างประเทศ พบเว็บเกี่ยวกับความมั่นคง การพนัน เว็บโป๊ มากสุด ยันทุกรายให้ความร่วมมือ ยกเว้นเฟซบุ๊กอยู่ระหว่างเจรจา

4 พ.ค. 2560 สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น รายงานว่า ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยว่า ทาง กสทช. ได้ร่วมกับ สมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย (ISP) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ร่วมมือในการทำงานดำเนินการปิดเว็บไซต์ที่นำเสนอเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ซึ่งวันนี้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทยได้เดินทางมายื่นหนังสื่อพร้อมชี้แจงว่า ที่ผ่านมาได้มีการปิดกั้นเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม ตามที่ศาลตัดสินว่าผิดกฎหมาย ปิดไปแล้ว 6,300 กว่าเว็บไซด์ใช้เวลากว่า 3 ปี เหลืออีก 600 กว่าเว็บไซต์ ที่มีการเข้ารหัส และมีแม่ข่ายอยู่ต่างประเทศ จึงได้ส่งหนังสือประสานไปยังผู้ให้บริการขอความร่วมมือให้ทำการปิดกั้นเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม และผิดต่อกฎหมายของไทย ซึ่งเว็บไซต์ที่กระทำผิดมากที่สุดคือสื่อลามกอนาจาร และการพนัน

เลขาธิการ กสทช. ระบุว่า วันนี้ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ได้มีการประสานความร่วมมือกัน ระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการดำเนินการตามกฎหมายภายหลังศาลตัดสิน ทั้งนี้คาดว่าการดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์จะเสร็จเรียบร้อยทั้งหมดได้ภายใน 1 สัปดาห์ พร้อมยืนยันว่าการดำเนินการทั้งหมดจะไม่กระทบต่อประชาชนที่ใช้โซเชียลมีเดียอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่นอน

ขณะที่ Nation TV  รายงานด้วยว่า ปิดกั้นเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมแล้วกว่า 6,300 เว็บไซต์ จาก 6,900 เว็บไซต์ พบเว็บเกี่ยวกับความมั่นคง การพนัน เว็บโป๊ มากสุด ยืนยันทุกรายให้ความร่วมมือ ยกเว้นเฟซบุ๊กอยู่ระหว่างเจรจา โดย มรกต กุลธรรมโยธิน นายกสมาคม ISP กล่าวว่า สมาชิกสมาคมไอเอสพีได้นำเว็บไซต์ไม่เหมาะสมลงจากอินเทอร์เน็ตแล้ว 6,300 เว็บไซต์ หลังมีคำสั่งศาล คงเหลืออีก 600 เว็บไซต์ที่เข้ารหัสไว้ สมาคมฯจึงทำหนังสือไปยังผู้ให้บริการเว็บไซต์เหล่านั้นเพื่อให้ปิดกั้นเว็บไซต์ จากนั้นผู้ให้บริการจึงทำหนังสือชี้แจงการดำเนินงานมายื่นต่อกสทช.เพื่อให้ทราบว่าดำเนินการอะไรไปบ้าง
 
มรกต กล่าวอีกว่า ตามปกติสมาคมไม่มีอำนาจในการกลั่นกรองเนื้อหา ต้องทำตามคำสั่งศาล ส่วนเว็บที่ปิดรองลงมาคือเว็บฟิชชิ่ง ยืนยันไม่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น ประชาชนในเฟซบุ๊ก ยูทูป สำนักงาน กสทช. ดำเนินการในภาพใหญ่ทั้งหมดเพื่อใช้งานอินเทอร์เน็ตและโซเชียลเน็ตเวิร์คได้ถูกต้อง ไม่ได้เจาะจงเฉพาะเฟซบุ๊ก การมอนิเตอร์เนื้อหาจะมีจากทั้ง 2 ส่วนคือจากสำนักงาน กสทช. เองและผู้ประกอบการ ISP
 
ตัวแทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวด้วยว่า จะเปิดรับฟังความคิดเห็นกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.คอม ภายในเดือนนี้ และคาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะสามารถปิดกั้นเว็บไซต์ที่ผิดกฏหมายได้ทั้งหมด หลังจากนี้ กสทช.และฝ่ายความมั่นคงจะติดตามสถานการณ์ต่อไป โดยจะมีมาตรการกับเว็บไซต์ที่ผิดกฏหมาย ขอให้ประชาชนสบายใจได้ รัฐบาลไม่มีแนวคิดทปิดกั้นสื่อสังคมออนไลน์ใดๆทั้งสิ้น ขออย่าวิตกกังวล
 
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภานิสิตจุฬาฯ โหวต 'เนติวิทย์' นั่งประธาน เผยสิ่งแรกที่ต้องทำคือปฏิรูปการรับน้อง

Posted: 04 May 2017 02:01 AM PDT

สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลือกเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ดำรงตำแหน่งประธานสภา ปีการศึกษา 2560 เจ้าตัวลั่น สิ่งแรกทำคือเริ่มปฏิรูปการรับน้อง ย้ำมุ่งเน้นนโยบายเรื่องการปกป้อง คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ของนิสิตจุฬาฯ

ภาพจาก Thorntep Maneecharoen

4 พ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลาประมาณ 11.15 น. ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ 'Nawakhun Sanasilapin' โพสต์ข้อความรายงานข่าวว่า เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ได้รับการเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2560 ด้วยคะแนนเสียง 27 เสียง จากองค์ประชุมทั้งหมด 36 คน

สำหรับ เนติวิทย์ เป็นนิสิตคณะรัฐศาสตร์ หนึ่งในสมาชิกสภานิสิตฯ และอดีตเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทและยังเป็นหนึ่งในผู้ที่เคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น ต่อต้านบังคับเกณฑ์ทหาร เรียกร้องสิทธิการประกันตัว 'ไผ่ ดาวดิน' ผู้ต้องหาคดี ม.112 เคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการศึกษา เป็นต้น

มติชนออนไลน์ รายงานว่า เนติวิทย์ กล่าวหลังรับตำแหน่ง ว่าจะมุ่งเน้นนโยบายเรื่องการปกป้อง คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ของนิสิตจุฬาฯ

ขณะที่ โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า เนติวิทย์ กล่าว ด้วยว่า สิ่งแรกที่หลังได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการหลังวันที่ 1 มิ.ย.จะเริ่มปฏิรูปการรับน้อง ซึ่งต้องลดการใช้ความรุนแรง การรับน้องต้องเคารพสิทธิของน้องด้วย รุ่นพี่ต้องไม่กดขี่รุ่นน้อง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนทำสื่อออสเตรเลียประท้วง ให้ผู้บริหารลดเงินเดือนตัวเองแทนการเลิกจ้างพนักงาน

Posted: 04 May 2017 01:23 AM PDT

พนักงานในเครือ Fairfax Media บริษัทฯ สื่อยักษ์ใหญ่ในออสเตรเลียหยุดงานประท้วงแผนการการเลิกจ้างพนักงาน 125 คนในกองบรรณาธิการข่าว เสนอให้ผู้บริหารระดับสูงลดเงินเดือนตัวเอง 25% แทนการเลิกจ้างพนักงาน

การประท้วงของพนักงานในเครือแฟร์แฟกซ์ มีเดีย (Fairfax Media) ที่ออสเตรเลีย ที่มา: แนวร่วมคนทำงานสื่อ ภาคบันเทิง และศิลปะ (Media, Entertainment & Arts Alliance - MEAA)

สมาพันธ์ผู้สื่อข่าวระหว่างประเทศ (International Federation of Journalists หรือ IFJ) รายงานเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่า แฟร์แฟกซ์ มีเดีย (Fairfax Media) บริษัทสื่อยักษ์ใหญ่ของออสเตรเลีย ประกาศว่าจะเลิกจ้างพนักงานประจำในกองบรรณาธิการข่าว 125 คน แผนการเลิกจ้างครั้งนี้ฝ่ายบริหารระบุว่าจะช่วยทำให้บริษัทฯ ประหยัดเงินไปได้ 30 ล้านดอลลาร์ออสเตรียเลีย (ประมาณ 777.20 ล้านบาท) โดยการเลิกจ้างครั้งนี้จะเป็นการเปิดให้เป็นการเลิกจ้างโดยสมัครใจ 125 คนในกองบรรณาธิการข่าว ซึ่งเริ่มกระบวนการมาแล้วตั้งแต่ปลายเดือนที่แล้ว

การเลิกจ้างที่คิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของกองบรรณาธิการข่าวนี้ ทำให้พนักงานในสังกัดของ แฟร์แฟกซ์ มีเดีย อย่าง Sydney Morning Herald และ The Age ขอมติประกาศนัดหยุดงานไปจนถึงสัปดาห์หน้าตอบโต้ทันที การประท้วงจะเริ่มในช่วง 15.00 น. ของทุกวัน โดยมีสมาพันธ์ผู้สื่อข่าวระหว่างประเทศ (IFJ) และแนวร่วมคนทำงานสื่อ ภาคบันเทิง และศิลปะ (Media, Entertainment & Arts Alliance หรือ MEAA) ประกาศให้ความสนับสนุนการนัดหยุดงานประท้วงครั้งนี้

กลุ่มพนักงานยังได้เรียกร้องให้ผู้บริหารระดับสูงลดเงินเดือนตัวเอง 25% แทนการเลิกจ้างพนักงาน ที่มา: แนวร่วมคนทำงานสื่อ ภาคบันเทิง และศิลปะ (Media, Entertainment & Arts Alliance - MEAA)

กลุ่มพนักงานแฟร์แฟกซ์ มีเดีย ยังได้ตกลงและเรียกร้องร่วมกันว่าจะไม่รับข้อเสนอการเลิกจ้างที่มีการบังคับของบริษัทฯ รวมทั้งเรียกร้องให้มีการให้ผู้บริหารระดับสูงลดค่าแรงของตนเองลง 25% แทนการเลิกจ้างพนักงาน ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2558 แฟร์แฟกซ์ มีเดีย ได้เลิกจ้างครั้งใหญ่กว่า 200 คนมาแล้ว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แกนนำนปช. ร้อง ผบ.ตร. ตั้งกก.วินิฉัย ตร.สภ.พัทยา ปมออกหมายจับชุมนุม ปี 52

Posted: 04 May 2017 12:51 AM PDT

แกนนำนปช. ร้อง ผบ.ตร. ตั้งกก.วินิฉัย ตร.สภ.พัทยา ปมออกหมายจับฐานชุมนุม พัทยา ปี 52 ยันหลังเกิดเหตุมีการตั้ง กก. จาก สตช. พิจารณาไปแล้วและไม่มีการแจ้งดำเนินคดี ด้านรองโฆษก สตช.เผยเตรียมส่งรับเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณา ขณะที่ ณัฐวุฒิ แฉ ถูกขวางจัดระดมทุนการศึกษาเด็ก เหน็บย้อนมอง 'สุเทพ' ปิดเกาะจัดงานระดมทุนได้

4 พ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรานยงานว่า วันนี้ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ หรือ นปช. ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการนปช. พร้อมด้วย เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. เดินทางเข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรม กับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ผ่าน พ.ต.อ.ภมร รัตนสมัย นายตำรวจเวรอำนายการ ประจำ สตช. เพื่อขอความเป็นธรรมโดยให้ ผบ.ตร. ตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยขอบเขตอำนาจของพนักงานสอบสวน รวมทั้งเป็นการใช้สิทธิที่อยากให้ สตช. ตรวจสอบกระบวนการออกหมายจับของ สภ.พัทยา ฐานมีส่วนร่วมกับการชุมนุมทางการเมือง ที่ โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท พัทยา เมื่อปี 2552 ทั้งๆ ที่หลังเกิดเหตุมีการตั้งคณะกรรมการจาก สตช. พิจารณาไปแล้ว และไม่มีการแจ้งดำเนินคดี

จตุพร ระบุว่า เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ไปขออนุมัติหมายจับจากศาล ทั้งๆ ที่โดยหลักการควรออกหมายเรียกก่อน ในที่สุดศาลไม่อนุมัติหมายจับ ต่อมาวันที่ 4 เม.ย. 60 ก็ไปยื่นขอหมายจับตนอีกครั้ง คราวนี้ศาลเรียกไต่สวนฝ่ายตำรวจในวันที่ 5 เม.ย. 60 และมีคำสั่งไม่อนุมัติหมายจับในวันเดียวกัน
 
จตุพร โพสต์ภาพพร้อมข้อความลงเฟซบุ๊กแฟนเพจ Jatuporn Prompan - จตุพร พรหมพันธุ์ โพสต์ข้อความว่า จากกรณีที่สถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา ได้รับแจ้งความจาก แกนนำ กปปส.จังหวัดชลบุรี และเป็นอดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลจังหวัดชลบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ได้แจ้งความให้ดำเนินคดีกับณัฐวุฒิ และต่อมาพนักงานสอบสวนได้ขยายผลอีก 5 คนได้แก่ ตน เหวง วีระกานต์ อดิศร และสุพร อัตถาวงศ์ ว่าร่วมกันกระทำการใด ๆ ให้เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และความผิดอื่นต่อเจ้าพนักงานตำรวจ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

จตุพร ระบุว่า แกนนำ กปปส.ชลบุรีดังกล่าว มิได้เป็นผู้เสียหาย และมิได้เกี่ยวข้องพฤติการณ์แห่งคดี กลับนำข้อมูล ข้อเท็จจริง ที่เชื่อว่าไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และน่าจะทำให้พวกผมได้รับความเสียหาย มาแจ้งความกล่าวโทษ ให้การต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนกระทั่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา มีหมายเรียกตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาถึงพวกผมนั้น

ตามพฤติการณ์แห่งคดีอาญา ตามที่ได้อ้างถึงนั้น ตามทางการสอบสวนของพนักงานสอบสวนซึ่งเคยดำเนินการสอบสวนคดีชุมนุมในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน เมื่อ 11 เมษายน 2552 เสร็จแล้ว ซึ่งในขณะนั้น ไม่เพียงแต่ที่พัทยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องใครบ้าง ซึ่งฟ้องไปทั้งหมด 18 คน รวมทั้งคดีดังกล่าวได้มีการพิพากษามาแล้ว 2 ศาล คือ ศาลชั้นต้น และ ศาลอุทธรณ์ ขณะนี้อยู่ในระหว่างฎีกา ประเด็นสำคัญคือว่า พวกผมทุกคนไม่ได้ปรากฎเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้มาก่อน ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า การสอบสวนของพนักงานสอบสวนและการพิจารณาสำนวนคดีดังกล่าว และการพิจารณาสำนวนคดีดังกล่าวของอัยการมิได้ปรากฎพฤติการณ์และการกระทำของพวกผม ว่าเข้าข่ายความผิดอาญาฐานใดมาก่อน กับไม่เคยปรากฎว่าผู้ที่มาร้องนั้น ได้มีความเกี่ยวข้องกับคดีไม่ว่าฐานะใดมาก่อน

จตุพร โพสต์ด้วยว่า การที่บุคคลดังกล่าวมากล่าวโทษ พวกตนว่าทำผิดระหว่างการชุมนุมในเขตอำนาจการสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลดุสิต เท่านั้น หากปล่อยให้การดำเนินคดีนี้มีต่อไป ไร้การตรวจสอบ ความชอบด้วยกฎหมาย และ ความชอบของผู้กล่าวโทษ จึงอาจเป็นปัญหาทางกฏหมายหลายประการ

"พวกผม จึงมาร้องขอความเป็นธรรมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในวันนี้ ให้ตรวจสอบความชอบของผู้กล่าวหา เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และหากพบว่าเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมาย ขอให้ดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าว รวมถึงขอให้ตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยเขตอำนาจการสอบสวนตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 และ 19 ก่อนที่จะมีการพิจารณาคดีต่อไป" จตุพร โพสต์

สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น รายงานด้วยว่า พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนะเจริญ รองโฆษกสำนักตำรวจแห่งชาติ ระบุจะรับเรื่องดังกล่าวไว้ก่อนส่งให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาในรายละเอียดต่อไป

ขณะที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งในและนอกเครื่องแบบ กว่า 1 กองร้อยจำนวน 150 นาย กระจายกำลังติดตามสถานการณ์ และเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยโดยรอบพื้นที่

ณัฐวุฒิ แฉ ถูกขวางจัดระดมทุนการศึกษาเด็ก เหน็บย้อนมอง 'สุเทพ' ปิดเกาะจัดงานระดมทุนได้

นอกจากนี้ วานนี้ 3 พ.ค.60 Peace News รายงานว่า ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาฯนปช. เปิดเผยถึงการจัดงานระดมทุนเพื่อช่วยการศึกษาเด็กขาดแคลน หลังจากได้ข้อสรุปว่าจะใช้สถานที่ห้องประชุมชั้น 6 อิมพีเรียลเวิลด์ สำโรง เป็นที่จัดงานระดมทุนโครงการด้วยรักและแบ่งปัน มอบทุนการศึกษาให้นักเรียนยากจนทั่วประเทศในวันที่ 28 พฤษภาคมนั้น ปรากฏว่ามีทั้งฝ่ายปกครองและตำรวจไปพบผู้บริหารของทางห้างสรรพสินค้า แสดงท่าทีไม่เห็นด้วย ซึ่งตนมองว่าเป็นการสร้างแรงกดดันให้การจัดงานเกิดข้อติดขัด ทั้งๆ ที่ยืนยันชัดเจนมาตลอดว่า ทั้งเนื้อหา รูปแบบ และวัตถุประสงค์ไม่มีเรื่องการเมือง

ณัฐวุฒิ ยังฝากถึงเจ้าหน้าที่ให้ย้อนมองภาพกลุ่ม สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. ที่จัดงานสมุยเฟสติวัล เมื่อวันที่ 23-24 มกราคม 2559 เพื่อระดมทุนสร้างวิทยาลัยอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นการจัดงานที่แทบจะปิดเกาะสมุยแสดงคอนเสิร์ต ชกมวย ปั่นจักรยาน และอื่นๆ แต่ก็จัดได้ไม่มีใครไปขัดขวาง แถมมีบุคลากรภาครัฐทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานอื่นเข้าร่วม ขณะที่กิจกรรมที่ตนจะจัดเราทำแบบเจียมเนื้อเจียมตัว ใช้ห้องประชุมจัดงานไม่เกิน 3 ชั่วโมง ทุกอย่างเป็นไปโดยเปิดเผย เนื่องจากดำเนินโครงการมาครบ 1 ปีแล้วจำเป็นต้องมีทุนเพิ่มเติม ถ้ามีอะไรเป็นข้อสงสัยก็สอบถามกับตนได้โดยตรง ตนพร้อมตลอดเวลาที่จะชี้แจงรายละเอียดให้ทราบ

"ผมนั่งอ่านจดหมายที่เด็กเขียนมาทุกฉบับ รับรู้สภาพชีวิตและความยากลำบาก ซึ่งทุกคนอยากได้รับโอกาสเพื่อเดินไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะสกัดขัดขวาง ตั้งใจว่าจะจัดงานปีละครั้งและพัฒนาโครงการต่อเนื่องให้สามารถดูแลนักเรียนได้มากขึ้น ล่าสุดขยายทุนเพิ่มเป็นรายเทอมให้นักเรียนที่ได้รับทุนไปแล้วแต่มีผลการเรียนเทอมล่าสุดไม่ต่ำกว่า 3.00 โดยระดับมัธยม 10,000 บาท และระดับอุดมศึกษา 15,000 บาท ซึ่งถ้าผลการเรียนทุกเทอมยังอยู่ในเกณฑ์ก็จะดูแลต่อเนื่องจนจบชั้นปริญญาตรี วันนี้เราได้ห้องที่กว้างพอสำหรับจัดงานแล้ว หวังว่าจะได้หัวใจของผู้ใหญ่ที่กว้างพอให้เด็กยากจนมีที่ยืนด้วย" ณัฐวุฒิ กล่าว

ทั้งนี้โครงการด้วยรักและแบ่งปัน ณัฐวุฒิ ได้ดำเนินการมอบทุนการศึกษาให้นักเรียนยากจนทั่วประเทศ ผ่านรายการ "เข้าใจตรงกันนะ" ทางสถานีโทรทัศน์ พีซ ทีวี ไปแล้วจำนวน 655 ทุน แต่ยังมีเด็กนักเรียนอีกจำนวนมาก ที่ยังขาดแคลนทุนการศึกษาจึงเป็นที่มาของการจัดโครงการด้วยรักและแบ่งปันดังกล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ปฏิญญาอะมีบ้า

Posted: 03 May 2017 10:58 PM PDT


เราคือสัตว์เซลเดียวสูงส่ง

มั่นคงเทิดทูนในปฏัก

เราเลื้อยเราคลานมานานนัก

เราไม่รู้จักวิธีเดินอย่างคน .

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เศรษฐกิจแบบตลาดเติบโต-ทดสอบสังคมเกาหลีเหนือ

Posted: 03 May 2017 03:48 PM PDT

เศรษฐกิจของเกาหลีเหนือเติบโตขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อท่ามกลางการคว่ำบาตรจากนานาชาติ สะท้อนความสัมพันธ์ของรัฐเผด็จการกับสังคม นายทุน ตลาดเสรี การศึกษา กลุ่มนายทุนอภิสิทธิ์ที่มีสัมพันธ์อันดีกับรัฐประกอบกิจการเป็นล่ำเป็นสัน ขณะที่งานวิจัยประเมินว่าชาวเกาหลีเหนือร้อยละ 40 เข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจภาคเอกชน ซึ่งมีอัตราส่วนใกล้เคียงกับโปแลนด์และฮังการียุคหลังโซเวียตล่มสลาย

ภาพเผยแพร่ของสื่อรัฐบาลเกาหลีเหนือเมื่อ 18 เมษายนที่ผ่านมา ระบุว่าเป็นภาพครอบครัวของนักวิจัยเกาหลีเหนือย้ายเข้าที่พักใหม่ซึ่งรัฐจัดไว้ให้ (ที่มา: แฟ้มภาพ/Uriminzokkiri)

ภาพเผยแพร่ของสื่อรัฐบาลเกาหลีเหนือเมื่อ 18 เมษายนที่ผ่านมา ระบุว่าเป็นภาพครอบครัวของนักวิจัยเกาหลีเหนือย้ายเข้าที่พักใหม่ซึ่งรัฐจัดไว้ให้ (ที่มา: แฟ้มภาพ/Uriminzokkiri)

รายงานของนิวยอร์กไทม์ ระบุว่า เศรษฐกิจของเกาหลีเหนือดีขึ้นในระยะห้าปีหลังจากที่คิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือคนล่าสุดเถลิงอำนาจ ชนชั้นนายทุน ชนชั้นค้าขายกำลังเติบโตขึ้นภายใต้การคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยที่ในกรุงเปียงยาง เมืองหลวงของประเทศมีการก่อสร้าง เริ่มมีรถวิ่งบนถนนเยอะขึ้น

แม้ไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ที่เชื่อถือได้ แต่ผู้ที่หลบหนีออกมา และนักเศรษฐศาสตร์ที่ศึกษาเศรษฐกิจเกาหลีเหนือก็กล่าวว่า แรงจากตลาดกำลังก่อตัวขึ้นอีกครั้งในเกาหลีเหนือ ถือเป็นพัฒนาการที่ทำให้ท่านโครงการนิวเคลียร์ของท่านผู้นำถูกหยุดยั้งได้ยากขึ้น เพราะรัฐบาลสหรัฐฯ ร่วมกับรัฐบาลจีน มีแนวทางที่จะคว่ำบาตรเกาหลีเหนือเพื่อหยุดยั้งโครงการพัฒนาขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ การเติบโตของเศรษฐกิจกลับทำให้เกาหลีเหนือมีทุนรอนในการดำเนินโครงการต่อ และลดแรงกดดันจากมาตรการคว่ำบาตรได้ด้วย

เศรษฐกิจเกาหลีเหนือเติบโตราวร้อยละ 1-5 ต่อปี ถือเป็นอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่เร็ว อย่างไรก็ดี การให้บริษัทเอกชนขยายตัว โอนอ่อนตามแรงตลาด ทำให้นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ถูกวางไว้เป็นนโยบายหลักของคิมจองอึนควบคู่กับการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์มาตั้งแต่ปี 2556 กลายเป็นบททดสอบสถานภาพการเป็นรัฐสังคมนิยมที่ควรเป็น "สังคมไร้ชนชั้น" โดยที่ผ่านมามีสัญญาณว่าตลาดกำลังลดทอนอำนาจการยึดกุมสังคมของรัฐบาลเปียงยางลง ข้อมูลข่าวสารได้ไหลเข้าประเทศพร้อมกับสินค้าจากต่างประเทศ ผนวกกับการที่ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตโดยไม่พึ่งพาระบบเศรษฐกิจของรัฐ ทำให้ความยึดโยงระหว่างประชาชนกับชนชั้นนำตระกูลคิมลดลง คิมจินฮี หนึ่งในผู้หลบหนีจากเกาหลีเหนือเมื่อปี 2557 กล่าวถึงทัศนคติที่มีต่อรัฐบาลว่า "ถ้าคุณเลี้ยงดูเราไม่ได้ก็ไม่ต้องมายุ่งกับเรา เราจะได้เลี้ยงชีพตัวเองด้วยระบบตลาด"

กิจการเถื่อนที่รัฐไม่รับรอง

คิมจินฮีเล่าว่า ช่วงทศวรรษ 90 เป็นช่วงที่มีภัยแล้งสลับกับน้ำท่วม รวมถึงการสูญเสียการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต ทำให้รัฐบาลเกาหลีเหนืองดการแจกจ่ายสวัสดิการอาหาร ชาวเกาหลีเหนือในเมืองมูซานเลือกที่จะไม่ไปทำงานกับรัฐ แล้วหันไปค้าขายอะไรก็ตามที่ขายได้ เมื่อช่วงข้าวยากหมากแพงจบลง ร้านค้าในเมืองมูซานมีจำนวนนับพันร้านเบียดเสียดกันไปหมด

ที่แล้วมา อดีตผู้นำ คิมจองอิล บิดาของคิมจองอึน มีท่าทีลังเลกับเรื่องตลาด เขาใช้ตลาดเป็นเครื่องมือเพิ่มเสบียงอาหาร ลดแรงกดดันจากมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ และสหประชาชาติ ในขณะที่บางครั้งเขาก็เลือกที่จะปราบปรามกิจการพวกการค้า แต่เมื่อเวลาผ่านไป ในปี 2553 จำนวนตลาดที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลมีถึง 440 แห่ง ภาพจากดาวเทียมแสดงให้เห็นว่าขนาดของตลาดขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ผลจากการศึกษาของสถาบันเกาหลีเพื่อการรวมชาติ (Korea Institute for National Unification) ในกรุงโซลรายงานว่า ประชากรจำนวน 1.1 ล้านจาก 25 ล้านคนมีอาชีพค้าปลีกหรือเป็นผู้จัดการอยู่ในตลาดเหล่านี้ ในขณะที่ลีบุงโฮ ผอ.หน่วยข่าวกรองของเกาหลีใต้กล่าวกับสภานิติบัญญัติเป็นวาระลับว่า กว่าร้อยละ 40 ของประชากรเกาหลีเหนือล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจเอกชน อัตราส่วนเทียบเท่าโปแลนด์และฮังการีหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย

นอกจากนี้ ตลาดที่ไม่ได้รับการรับรองก็เติบโตขึ้นเช่นกัน มีคนทำรองเท้า เสื้อผ้า ของหวานและขนมปังจากบ้านมาขาย มีตลาดขายผลิตผลทางการเกษตรทุกๆ 10 วันตามชนบท ทั้งยังมีคนลักลอบนำสินค้าจากตลาดมืดมาขาย เช่น ภาพยนตร์ฮอลลีวูด ซีรียส์เกาหลีใต้ โทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่สามารถใช้โทรได้ตามชายแดนจีน

โดยแรงขับส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการซื้อขายในตลาดมาจากความไม่พอใจแผนเศรษฐกิจของรัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่ยืดหยุ่น สมัยก่อน ชาวเกาหลีเหนือเคยทำงานอยู่ในโรงงานหรือที่นาของรัฐ โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนและคูปองแลกอาหารและเครื่องใช้จำเป็นจากร้านค้าของรัฐ แต่เมื่อระบบดังกล่าวล่มสลายลงในทศวรรษที่ 1990 สิ่งที่ชาวเกาหลีเหนือได้รับคือเงินเดือนเดือนละไม่ถึงหนึ่งเหรียญสหรัฐ "ถ้าคุณเป็นคนเกาหลีเหนือธรรมดาๆ แล้วคุณไม่หากินกับตลาด คุณก็มีโอกาสที่จะหิวตาย" คิมนัมชอล หนึ่งในผู้หลบหนีจากเกาหลีเหนือ ผู้เคยหารายได้จากการลักลอบนำสินค้าจากเกาหลีเหนือไปขายที่จีนกล่าว

 

การแข่งขันมีอยู่ทุกหัวระแหง

ทัศนียภาพของกรุงเปียงยาง มองจากโรงแรมยังกักโด ภาพถ่ายในปี 2012
(ที่มา: แฟ้มภาพ/MarsmanRom/
Wikipedia)

คิมยังฮี ผู้อำนวยการแผนกเศรษฐกิจเกาหลีเหนือ จากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเกาหลีกล่าวว่า ทุกวันนี้สินค้ากว่าร้อยละ 80 ที่ชาวเกาหลีเหนือใช้กันมาจากจีน ซึ่งคิมจองอึนได้พยายามลดภาระการพึ่งพาจีนด้วยการพยายามกระตุ้นให้เกิดการผลิตสินค้าขึ้นมาเองในประเทศ โดยผู้หลบหนีผู้หนึ่งได้บอกว่ามาตรการดังกล่าวทำให้ส่วนแบ่งสินค้าที่ผลิตจากเกาหลีเหนือมีจำนวนเพิ่มขึ้น

ผู้ที่เดินทางไปกรุงเปียงยางจะพบว่าเศรษฐกิจบริโภคนิยมกำลังเติบโตขึ้น มีการแข่งขันในหลายภาคธุรกิจไม่ว่าจะเป็นบริษัททัวร์ แท็กซี่และร้านอาหาร มีการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าเพราะรัฐไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอ ในตลาดเถื่อนมีการขายน้ำอัดลมโคคา-โคล่า ที่รัฐบาลขนานนามว่าเป็น "น้ำโสโครกแห่งทุนนิยม"

 

รัฐบาลโสมแดงซบภาคเอกชน

คิมจองอึน ให้อิสระโรงงานของรัฐในการเลือกสินค้าที่จะผลิต รวมถึงปล่อยให้ทางการหาแหล่งวัตถุดิบและลูกค้าอย่างอิสระ ขอแค่สร้างรายได้ตามเป้า ประชาชนเองสามารถเก็บผลผลิตที่ทำเกินโควตาเอาไว้ได้ มาตรการดังกล่าวมีส่วนคล้ายคลึงกับจีนในช่วงที่เปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบทุนนิยมในทศวรรษที่ 1980 แต่เกาหลีเหนือมักบอกว่าเป็น "การจัดการเศรษฐกิจในสไตล์ของพวกเรา"

อย่างไรก็ตาม ผู้หลบหนีคนหนึ่งได้รายงานว่า โรงงานมักมีปัญหาจากสภาพเครื่องจักรและไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ส่วนชาวไร่ชาวนาก็ขาดปุ๋ยและเครื่องมือการเกษตรที่ทันสมัย ทำให้ต้องดิ้นรนอย่างหนักกว่าจะทำผลผลิตครบตามโควตา และในภาพใหญ่สภาพเศรษฐกิจที่ยังคงมีความตึงเครียดเนื่องจากมีการลงทุนจากต่างชาติน้อย ทั้งยังไม่มีกลไกทางกฎหมายมาคุ้มครองธุรกิจเอกชนและการบังคับใช้สัญญา ซ้ำร้าย โครงสร้างภายในประเทศและการมีประวัติที่รัฐยึดครองสินทรัพย์ของชาวต่างชาติ ทำให้การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษยังอยู่แค่บนแผ่นกระดาษ

ชามุนซอก นักวิจัยจากสถาบันศึกษาการรวมชาติแห่งเกาหลีใต้ (Institute for Unification Education of South Korea) ประเมินว่าว่ารัฐบาลเกาหลีเหนือสามารถจัดเก็บภาษีจากตลาดที่มีอยู่ในกำกับได้เป็นจำนวนถึงวันละ 220,000 เหรียญสหรัฐฯ โดยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีรายงานว่า ทางการได้ออกคำสั่งให้ประชาชนที่ขายสินค้าตามบ้านย้ายไปขายตามตลาดที่รัฐจัดไว้เพื่อให้เก็บภาษีได้มากขึ้น "ทางการก็ต้องการตลาดเท่าๆ กับที่ประชาชนต้องการนั่นแหละ" คิมจองเอ อดีตนักโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลเกาหลีเหนือ ที่ปัจจุบันหลบหนีมาเป็นนักข่าวอยู่ในกรุงโซลกล่าว

คิมจองเอ กล่าวถึงชนชั้นในเกาหลีเหนือที่เรียกว่า "ดอนจู" หรือที่นักวิชาการชาวเกาหลีใต้เรียกว่า "นายทุนแดง"ว่าเป็นชนชั้นที่ทำการค้าขายและนักธุรกิจที่เพิ่งโตขึ้นมา ดอนจูจะลงทุนในโครงการก่อสร้าง ร่วมลงทุนกับจีนเพื่อจัดหาสินค้ามาให้ตลาด "ดอนจู" มักได้รับการคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งบางคนก็เป็นญาติกัน ดอนจูส่วนหนึ่งมีเชื้อสายจีน ซึ่งได้รับการอนุญาตให้เดินทางเข้าจีนและการทำธุรกรรมข้ามแดนได้ และมีบางส่วนเป็นกลุ่มคนที่ได้รับเงินจากญาติที่หนีไปอยู่เกาหลีใต้ โดยดอนจูมักถูกคาดหวังจากรัฐบาลเมื่อมีการจัดทำโครงการใหญ่ๆ ให้ทำ "การบริจาคเพื่อแสดงความจงรักภักดี (Loyalty donation)" โดยจะได้รับผลตอบแทนเป็นเหรียญตราและประกาศนียบัตรที่ถือเสมือนเป็นเครื่องหมายว่าพวกเขาได้รับการคุ้มครองเมื่อทำธุรกิจที่ผิดกฎหมาย

เคยมีมาตรการกุมบังเหียนเหล่าดอนจูก่อนที่คิมจองอึนจะขึ้นมามีอำนาจ ด้วยการบังคับให้ประชาชนซื้อสินค้าจากร้านค้าของรัฐเท่านั้น ประกาศห้ามใช้สกุลเงินต่างประเทศ ประกาศใช้ธนบัตรแบบใหม่และจำกัดจำนวนเงินที่สามารถแลกเป็นธนบัตรใหม่ได้ ถือเป็นการทำลายความมั่งคั่งที่เหล่าดอนจู รวมไปถึงสามัญชนคนธรรมดาที่สะสมกันมา การซื้อขายหยุดชะงัก ราคาสินค้าพุ่งสูง และมีการประท้วงตามเมืองต่างๆ จนท้ายที่สุดรัฐบาลต้องผ่อนปรนนโยบายดังกล่าว รวมถึงประหารชีวิตปักนัมกี เจ้าหน้าที่การคลังระดับสูง และหนึ่งปีหลังจากนั้น ปักปองจู อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกไล่ออกเพราะว่าผลักดันนโยบายที่พึ่งพาตลาด ถูกเรียกกลับมารับตำแหน่งอีกครั้ง สะท้อนว่ารัฐบาลไม่สามารถกดขี่ตลาดเอาไว้ได้อีกต่อไป

และเมื่อตลาดพัฒนาขึ้น ชาวเกาหลีเหนือหลายต่อหลายคนจะเห็นผลิตภัณฑ์จากโลกภายนอกที่มีคุณภาพดีกว่า และอาจจะตั้งคำถามกับความล้าหลังของชาติตนเอง

จุงกวางอิล ผู้นำของกลุ่มผู้หลบหนีในกรุงโซลนามว่า ไร้พันธนาการ (No Chain) กล่าวว่า"ชาวเกาหลีเหนือพูดถึงปู่และพ่อของคิมจองอึนว่าเป็น 'ผู้นำที่ยิ่งใหญ่' หรือไม่ก็ 'นายพล'...ตอนนี้เวลาพวกเขาคุยกัน หลายคนเรียกคิมจองอึนว่า 'เด็กน้อย' พวกเขากลัวคิมจองอึนแต่ไม่ได้เคารพเขาเลย"

"เขาพูดกันว่า เขา (คิมจองอึน) เคยทำอะไรให้พวกเราบ้าง" จุงกวางอิลกล่าว

 

แปลและเรียบเรียงจาก

As Economy Grows, North Korea's Grip on Society Is Tested By CHOE SANG-HUN, The New York Times, APRIL 30, 2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น