โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ศาลรัฐธรรมนูญไต้หวันตัดสินเปิดทางสิทธิแต่งงานเพศเดียวกัน

Posted: 24 May 2017 02:59 PM PDT

ศาลรัฐธรรมนูญไต้หวันตีความว่าประมวลกฎหมายแพ่งที่ระบุให้การแต่งงานต้องกระทำโดยฝ่ายชายและหญิง ขัดต่อรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิของคนทุกเพศ และประกันเสรีภาพในการแต่งงาน ทำให้ไต้หวันเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีความก้าวหน้าด้านความหลากหลายทางเพศ (LGBT) และเปิดทางสู่การแก้ไขหรือออกกฎหมายลูกที่เอื้อต่อการสร้างครอบครัวของคนรักเพศเดียวกัน

องค์คณะศาลรัฐธรรมนูญไต้หวันชุดปัจจุบัน (ที่มา: judicial.gov.tw)

ไต้หวันกลายเป็นที่แรกในเอเชียที่การแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องถูกกฎหมาย โดยเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2560 ศาลรัฐธรรมนูญไต้หวันตัดสินให้การแต่งงานไม่ควรถูกจำกัดอยู่แค่ระหว่างชายกับหญิงเท่านั้น เพราะจะเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการที่ทุกคนจะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน

นอกจากนี้ยังตัดสินให้มีการเปลี่ยนแปลงประมวลกฎหมายแพ่งในปัจจุบันให้เอื้อต่อการจดทะเบียนของกลุ่มคนรักเพศเดียวกันภายใน 2 ปี ด้วย (อ่านรายละเอียดคำตัดสิน)

ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญไต้หวัน ตีความรัฐธรรมนูญไต้หวัน มาตรา 7 ประชาชนไม่ว่ามีเพศ ศาสนา เชื้อชาติ ชนชั้น ความนิยมในพรรคการเมือง ล้วนมีสิทธิเท่าเทียมกันตามกฎหมาย และมาตรา 22 เสรีภาพในการแต่งงาน ดังนั้น เนื้อหาของประมวลกฎหมายแพ่ง บรรพ 2 เรื่องการแต่งงาน จึงขัดกับรัฐธรรมนูญ

โดยในมาตรา 972 ของประมวลกฎหมายแพ่งไต้หวัน ระบุว่า สัญญาแต่งงานต้องกระทำโดยฝ่ายชายและฝ่ายหญิงโดยความตกลงของพวกเขาเอง (อ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง)

คำตัดสินในเรื่องนี้มีการเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ฝ่ายตุลาการของไต้หวัน แต่ก็ยังไม่มีการให้รายละเอียดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงตัวประมวลกฎหมายโดยตรงหรือสร้างกฎหมายใหม่ขึ้นมาให้กับคู่รักเกย์และเลสเบี้ยน อย่างไรก็ตามคำตัดสินในครั้งนี้ถือเป็นการตัดสินใจสำคัญที่จะเป็นแรงผลักดันให้กับกลุ่มนักกิจกรรมในประเด็นความหลากหลายทางเพศ LGBT ผลักดันกฎหมายใหม่ที่เกี่ยวกับการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน

ไช่อิงเหวิน ประธานาธิบดีของไต้หวันผู้สนับสนุนสิทธิในการแต่งงานอย่างเท่าเทียมกันทุกเพศอย่างเปิดเผยกล่าวถึงคำตัดสินของศาลในครั้งนี้ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของการแพ้ชนะ "ไม่ว่าคุณจะมีจุดยืนในเรื่องการแต่งงานอย่างใดก็ตาม ในช่วงเวลาเช่นนี้คือช่วงเวลาที่พวกเราจะมองกันและกันเป็นพี่น้อง" ไช่อิงเหวินกล่าว เธอยังขอให้ชาวไต้หวันมีความเข้าใจและยอมรับผู้คนที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากตน โดยเชื่อว่ากลไกประชาธิปไตยแบบมีวุฒิภาวะจะช่วยแก้ปัญหาความคิดที่แตกต่างนี้ได้

ขณะที่สำนักประธานาธิบดีเรียกร้องให้รัฐมนตรีทุกฝ่ายรวบรวมความคิดเห็นจากประชาชนให้เร็วที่สุดเพื่อเป็นแนวทางของกฎหมายใหม่

สเตรทไทม์รายงานว่าไต้หวันมีความก้าวหน้าที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย ในประเด็นสิทธิคนรักเพศเดียวกัน มีการจัดขบวนพาเหรดเกย์ไพรด์ที่ดึงคนเข้าร่วมได้หลายหมื่นคนต่อปี การตัดสินของศาลในครั้งนี้ทำให้ไต้หวันกลายเป็นอีกที่หนึ่ง ที่การแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องถูกกฎหมาย ร่วมกับประเทศแคนาดา โคลอมเบีย ไอร์แลนด์ บราซิล สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ อีก 16 ประเทศ ที่ทำให้การแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันถูกกฎหมายในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามในสังคมไต้หวันเองก็มีแรงต้านการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันจากคนบางกลุ่มอย่างกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่บอกว่าการอนุญาตให้มีการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันจะทำลายคุณค่าของครอบครัว มีผู้ชุมนุมทั้งฝ่ายสนันสนุนและฝ่ายคัดค้านการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันมาชุมนุมรอฟังผลการตัดสินของศาล เมื่อผลออกมาแล้วฝ่ายคัดค้านการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันก็แสดงความเสียใจและความโกรธอ้างว่ามีการลักลอบทำข้อตกลงกัน ขณะที่ฝ่ายผู้สนับสนุนกลุ่มคนรักเพศเดียวกันส่งเสียงแสดงความยินดีและพากันโบกธงสีรุ้ง

ก่อนหน้านี้ประเด็นการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันสะดุดลงในช่วงที่ไต้หวันอยู่ภายใต้รัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งที่นำการเมืองไต้หวันมาเป็นเวลาหลายสิบปีจนกระทั่งพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปีที่แล้วให้กับพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าของไช่อิงเหวิน

เรียบเรียงจาก

Taiwan top court rules same-sex marriage legal, a first in Asia, Straits Times, 25-05-2017

Constitutional Court Republic of China (Taiwan) Press Release On the Same-Sex Marriage Case, Judicial.gov.tw, 24 May 2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เนชั่นสุดสัปดาห์จ่อยุติ ตีพิมพ์ 2 มิ.ย.นี้ ฉ.สุดท้าย - ไทยรัฐทีวีเออรี่รีไทร์ตั้งเป้า 15%-ให้เวลา 20 วัน

Posted: 24 May 2017 12:46 PM PDT

นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์เตรียมที่จะยุติการผลิต ตีพิมพ์ 2 มิ.ย. เป็นฉบับสุดท้าย - ไทยรัฐทีวี เปิดโครงการสมัครใจลาออก ตั้งเป้า 15%-ให้เวลาสมัคร 20 วัน

24 พ.ค. 2560 ผู้จัดการออนไลน์ และโลกวันนี้ รายงานว่า นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ซึ่งเป็นนิตยสารวิเคราะห์ข่าวรายสัปดาห์ ขณะนี้อยู่ในการดูแลของบริษัท คมชัดลึก มีเดีย จำกัด เตรียมที่จะยุติการผลิต โดยจะตีพิมพ์ฉบับที่ 1305 ในวันที่ 2 มิ.ย. เป็นฉบับสุดท้าย หลังจากจำหน่ายฉบับแรกเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2535 หรือเมื่อ 25 ปีก่อน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานข่าวถึงการเลิกจ้างพนักงานแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ในปัจจุบันนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ มี บัณฑิต จันทศรีคำ เจ้าของนามปากกา แคน สาริกา เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา และมี ไพศาล สังโวลี เป็นบรรณาธิการข่าว เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนหน้าที่จะปิดตัวลง เนชั่นสุดสัปดาห์ ได้มีการลดจำนวนหน้ากระดาษลง ปัจจุบันเหลือเพียง 52 หน้าเท่านั้น เมื่อเทียบกับนิตยสารที่เป็นคู่แข่ง อย่างมติชนสุดสัปดาห์ ของเครือมติชน มีจำนวน 116 หน้า สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ มีจำนวน 84 หน้า และ ผู้จัดการ 360 สุดสัปดาห์ มีจำนวน 60 หน้า

ไทยรัฐทีวี เปิดโครงการสมัครใจลาออก ตั้งเป้า 15%-ให้เวลาสมัคร 20 วัน

นอกจากนี้สื่อหลายสำนัก รายงานด้วยว่า บริษัท ทริปเปิลวีบรอดคาสต์ จำกัด เจ้าของสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี ได้ออกประกาศ นโยบายดำเนินโครงการลาออกด้วยความสมัครใจ โดยได้รับความช่วยเหลือ โดยวัตถุประสงค์ของโครงการดังกล่าวระบุว่า เพื่อให้บริษัทสามารถบริหารอัตรากำลังภายในองค์กรแต่ละสาย อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ และเพื่อปรับปรุงโครงสร้างต้นทุนบุคลากรและลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรในระยะยาว ซึ่งผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการฯ นั้น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจเป็นผู้พิจารณาอนุมัติการเข้าร่วมโครงการของพนักงาน ทั้งนี้ ผลการพิจารณาของประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจถือเป็นที่สิ้นสุด และเป็นข้อยุติพนักงาน ไม่สามารถขออุทธรณ์ หรือขอให้ทบทวนผลการพิจารณา ซึ่งพนักงานที่ได้รับการอนุมัติจากประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจให้ออกตามโครงการแล้ว และถอนเรื่องคืนหรือยกเลิกไม่ได้สำหรับพนักงานที่ได้รับอนุมัติให้ออกตามโครงการจะได้รับเงินช่วยเหลือตามอายุงาน โดยให้นับอายุงานตั้งแต่วันที่เข้าทำงานกับบริษัทฯ จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2560 

โดยอายุงานไม่ครบ 1 ปี ได้รับเงินช่วยเหลือเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน, อายุงาน 1 ปีขึ้นไป แต่ไม่ครบ 3 ปี ได้รับเงินช่วยเหลือเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน, อายุงาน 3 ปีขึ้นไป แต่ไม่ครบ 6 ปี ได้รับเงินช่วยเหลือเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน, อายุงาน 6 ปีขึ้นไป แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้รับเงินช่วยเหลือเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน และอายุงาน 10 ปีขึ้นไป ได้รับเงินช่วยเหลือเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน 

ทั้งนี้ พนักงานที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการสามารถยื่นความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2560 ถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2560 ซึ่งหากได้รับการอนุมัติจะมีผลให้ออกตามโครงการในวันที่ 1 กรกฎาคม 2560 

สำนักข่าวอิศรา รายงานเพิ่มเติมด้วยว่าว่า โครงการลาออกด้วยความสมัครใจตั้งเป้าลดพนักงานร้อยละ 15 จากจำนวนพนักงานทั้งหมดประมาณ 700 คน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลอุทธรณ์สหรัฐฯ เปิดทางไต่สวนต่อกรณีวิกิมีเดียฟ้อง NSA สอดแนมประชาชน

Posted: 24 May 2017 11:47 AM PDT

ศาลอุทธรณ์สหรัฐฯ เปิดทางให้ไต่สวนต่อไปได้ในกรณีที่หลายองค์กรนำโดย "มูลนิธิวิกิมีเดีย" ฟ้องหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐฯ "NSA" ละเมิดรัฐธรรมนูญเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกับสิทธิความเป็นส่วนตัว โดยคำตัดสินล่าสุดของศาลอุทธรณ์เป็นการกลับคำตัดสินของศาลชั้นต้นที่เคยยกฟ้อง ด้านฝ่ายโจทก์ประกาศว่านี่เป็น "ชัยชนะครั้งสำคัญ"

ภาพถ่ายของอาคาร National Security Agency ในมลรัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา (ที่มา: วิกิพีเดีย)

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ตัดสินให้มีการดำเนินการไต่สวนต่อไปได้ในกรณีที่มูลนิธิวิกิมีเดียฟ้องร้องสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NSA) ว่าผิดหลักการรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการกลับคำตัดสินดั้งเดิมของศาลชั้นต้นที่ก่อนหน้านี้เคยสั่งยกฟ้องในกรณีนี้มาก่อน

วิกิมีเดียระบุว่าคำตัดสินในครั้งนี้ถือเป็น "ชัยชนะครั้งสำคัญของหลักนิติธรรม" โดยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ตัดสินเมื่อวันที่ 23 พ.ค. ที่ผ่านมาว่าฝ่ายโจกท์มีหลักฐานมากพอว่า NSA ทำการสอดแนมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Upstream โดยที่วิกิมีเดียฟ้องร้องว่า NSA ละเมิดบทบัญญัติเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 1 ว่าด้วย่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และมาตรา 4 ว่าด้วยสิทธิของประชาชนในพื้นที่ส่วนตัวที่จะไม่ถูกล่วงล้ำด้วยการตรวจค้นหรือยึดของกลางโดยไม่มีหมายค้น

แพทริค ทูมีย์ ทนายความของสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (ACLU) ที่เป็นตัวแทนโจทย์ในคดีนี้บอกว่ามันเป็นชัยชนะที่สำคัญของหลักนิติธรรม NSA แอบสอดแนมการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตของประชาชนอเมริกันมาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งศาลสหรัฐฯ ควรพิจารณาเรื่องการสอดแนมเช่นนี้ได้แล้ว และตัวพวกเขาเองก็พร้อมจะโต้เถียงในชั้นศาลในประเด็นนี้

ทูมีย์บอกอีกว่ารัฐบาลไม่ควรสืบค้นการสื่อสารอย่างเป็นส่วนตัวของประชาชนทั่วไปโดยการเก็บข้อมูลทีละมากๆ คอยตรวจดูอีเมลล์และแช็ตอยู่ตลอดทั้งวันทั้งคืน การสอดแนมอินเทอร์เน็ตผู้คนเช่นนี้เป็นการคุกคามรากฐานของอินเทอร์เน็ตเสรี

จากความเห็นของผู้พิพากษาในกรณีนี้ระบุว่าวิกิมีเดียได้แสดงจุดยืนอย่างน่าเชื่อถือในการตอบโต้ว่า NSA ละเมิดบทบัญญัติเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ มาตรา 1 และ 4 จากการที่ NSA ดักข้อมูลการสื่อสารผ่านเส้นทางใดเส้นทางหนึ่ง ซึ่งตรงกันข้ามกับที่ศาลแขวงเคยตัดสินเมื่อเดือน ต.ค. 2558 ว่าฝ่ายโจทก์ไม่สามารถหาหลักฐานพิสูจน์ได้ว่ามีการสอดแนมข้อมูลประชาชนอยู่จริง

นอกจากวิกิมีเดียซึ่งเป็นองค์กรผู้ก่อตั้งเว็บไซต์สารานุกรมออนไลน์วิกิพีเดียและแหล่งความรู้อื่นๆ แล้ว ผู้ที่เป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้ยังประกอบด้วยองค์กรอื่นๆ อย่างสื่อนิตยสารเดอะเนชันของสหรัฐฯ แอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนล สมาคมนักเขียนอเมริกา ฮิวแมนไรท์วอทช์ สถาบันรูเธอร์ฟอร์ด สมาคมทนายความคดีอาญาแห่งชาติสหรัฐฯ กองทุนโลกสำหรับสตรี และสำนักงานวอชิงตันในกิจการลาตินอเมริกา

จามีล จาฟเฟอร์ ผู้อำนวยการบริหารของสถาบันไนท์เฟิร์สต์อเมนเมนต์ซึ่งเป็นองค์กรพิทักษ์มาตรา 1 ของบทบัญญัติเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียกล่าวว่า "การสอดแนมไม่เลือกหน้าเช่นนี้ส่อเค้าให้เห็นความย่ำแย่ในด้านสิทธิส่วนบุคคล รวมถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุม" จาฟเฟอร์ยังพูดถึงการตัดสินครั้งล่าสุดว่ามันได้แสดงให้เห็นถึงการที่ศาลชั้นอุทธรณ์ไม่ยอมรับการที่รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามสกัดกั้นไม่ให้มีการพิจารณาทบทวนโครงการสอดแนมในเรื่องนี้โดยอาศัยหลักการรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มีชัยการันตี ไม่ขัด รธน. ปมงัด ม.44 ผ่อน 3 กฎระเบียบเดินหน้าเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

Posted: 24 May 2017 11:39 AM PDT

ประธาน กรธ. ชี้ คสช. ใช้ ม.44 ผ่อนคลายกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง 3 ด้านเพื่อให้การเดินหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเร็วขึ้น ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ 

แฟ้มภาพ เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา 

24 พ.ค. 2560 เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา รายงานวา มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลมีมติให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปลดล็อคข้อจำกัดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเร่งดำเนินการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่า กรณีดังกล่าวไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเพื่อสร้างความเชื่อมันให้กับนักลงทุน ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลมีหลายกลไกที่เอื้อประโยชน์ในการขับเคลื่อนประเทศในด้านการลงทุนและการบริการประชาชนให้เกิดความรวดเร็วมากขึ้น พร้อมเห็นว่า การออกคำสั่งมาตรา 44 ในเรื่องอื่น ก็ต้องระมัดระวังในการพิจารณาว่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยส่วนตัวไม่สามารถบอกได้ว่ากฎหมายลักษณะใดที่ไม่สามารถออกโดยมาตรา 44 ได้

มีชัย ระบุด้วยว่า ในวันที่ 29 พ.ค. นี้ กรธ. จะส่งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาก่อน จากนั้นจึงจะส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินให้พิจารณา พร้อมย้ำถึงเจตนารมณ์ของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า มุ่งเน้นเรื่องคุณสมบัติของผู้ถูกสรรหาที่ต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งหาก สนช. ยังยืนยันให้ กกต. ชุดเก่าทำหน้าที่ต่อไป เห็นว่าหากไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญก็ไม่เป็นปัญหา เนื่องจากเป็นความเห็นต่างที่ต้องรับฟัง

โดยวานนี้ (23 พ.ค.60) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจ ตามมาตรา 44 รวมทั้งสิ้น 3 เรื่อง ประกอบด้วย สำหรับเรื่องแรก คือ ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ของโครงการหรือกิจการสำคัญและเร่งด่วนของอีอีซีเป็นการเฉพาะ ขณะเดียวกัน ยังให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษเพิ่มเติม จากผู้ขออนุญาตได้ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายพิเศษแก่คณะกรรมการผู้ชำนาญการ โดยให้ใช้เวลาพิจารณาดำเนินการให้แล้วเสร็จในเวลาไม่เกิน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับรายงาน 

ส่วนเรื่องที่สอง คือ กระบวนการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ซึ่งปัจจุบันจะใช้เวลาอย่างน้อย 8-9 เดือน ดังนั้นเพื่อความรวดเร็วในการดำเนินการจึงให้นายกรัฐมนตรีสามารถพิจารณาอนุมัติโครงการตามมาตรฐานการร่วมทุนได้เป็นการพิเศษ เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการดำเนินการ 

เรื่องสุดท้าย คือ ให้หน่วยซ่อมอากาศยานมีคุณสมบัติที่เหมาะสมตามลักษณะการลงทุน ซึ่งเดิมกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตซ่อมต้องมีสัญชาติไทย หรือมีคนไทยถือหุ้นเกินกว่า 50% แต่ตามกิจการ เช่น การซ่อมเครื่องบิน อะไหล่ และชิ้นส่วนอากาศยาน ส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มีเทคโนโลยีสูงและมีสิทธิบัตริสำหรับผลิตภัณฑ์นั้นๆ จึงจะไม่ยอมลงทุนโดยมีผู้ถือหุ้นอื่นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ดังนั้นจึงปรับปรุงลักษณะของผู้ได้รับใบรับรองในเขตอีอีซีเป็นพิเศษ โดยไม่ต้องดำเนินตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวมากขึ้น 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์คาด ระเบิด รพ.พระมงกุฎ ทำเป็นขบวนการ ชี้บางครั้งจ้าง 500 บ. ไปวาง

Posted: 24 May 2017 10:30 AM PDT

ศรีวราห์ เผยกำลังเช็คที่มา จดหมายเตือน ยันขณะนี้ตำรวจยังไม่มีการควบคุมตัวบุคคลใด การสืบสวนขณะนี้ ยังไม่ได้ตัดประเด็นใดทิ้ง รวมประเด็นที่อาจเกิดจากความไม่พอใจการจัดสรรพื้นที่การค้าใน รพ.ก็สามารถเป็นไปได้ ส่วนกล้องวงจรปิด อยู่ระหว่างไล่ตรวจ 

แฟ้มภาพ

24 พ.ค. 2560 ความคืบหน้าเหตุระเบิดในช่วงสาย วันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา บริเวณที่เกิดเหตุเป็นห้องรับรองนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เกษียณอายุราชการ หน้าห้องวงษ์สุวรรณ ภายใน รพ.พระมงกุฎเกล้า ถนนราชวิถี กทม. จนมีผู้บาดเจ็บหลายราย นั้น

ประยุทธ์ คาดทำเป็นขบวนการ ชี้บางครั้งจ้างคนไปวางแค่ 500 บ.

นี้ (24 พ.ค. 60) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวยืนยันมีข้อมูลกลุ่มที่ก่อเหตุระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าแล้ว พร้อมประณามและสาปแช่งผู้ก่อเหตุทั้งหมด และขอให้ประชาชนร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง

"มันมีหลายส่วน มันยึดโยงกันหมด หลายอย่างมันทำคนเดียวไม่ได้อยู่แล้ว แต่บางอย่างมันทำได้คนเดียว เพราะอะไร มันจ้างเขาทำ เผาโน้เผานี่มันจ้างเด็กอายุ 14 เผาอย่างนี้ 200 บาท เดี๋ยวมันจับได้เองล่ะ ..วิธีการแบบนี้มันก็มีขบวนการ คนไปวาง บางทีไอ้คนถือไปยังไม่รู้เลยว่าอะไร หรือไม่ก็รู้ว่าไม่อันตรายก็เลยรับจ้างมา 500 บ้าง เอาไปวางเสียบปั๊บ ไอ้คนทำอยู่ข้างนอก ไอ้คนบัญชาการอยู่โน้น ในประเทศนอกประเทศก็ไม่รู้ ไปหามา" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ศรีวราห์ เผยกำลังเช็คที่มา จม.เตือน

วันเดียวกัน พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังประชุมคลี่คคลายคดีระเบิดใน รพ.พระมงกุฎเกล้า โดยยืนยันขณะนี้ทางตำรวจยังไม่มีการควบคุมตัวบุคคลใด ส่วนที่มีข่าวจากฝ่ายความมั่นคงว่าควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยไว้ได้แล้วนั้น ตนยังไม่ได้รับการประสานจากฝ่ายความมั่นคงหรือทหารแต่อย่างใด ส่วนความคืบหน้าคดี ได้มีการเชิญพยานที่อยู่ในที่เกิดเหตุมาให้การเพื่อสเกตช์ภาพผู้ต้องสงสัย ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี 

สำหรับประเด็นที่มีบุคคลส่งจดหมายเตือนว่าจะมีเหตุระเบิดในโรงพยาบาลนั้น พล.ต.อ.ศรีวราห์ ระบุว่า อยู่ระหว่างตรวจสอบหาที่มา เบื้องต้นพบว่าต้นทางถูกส่งผ่านตู้ไปรษณีย์ในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากมีตราประทับมาจาก 3-4 เขต กำลังตรวจสอบอย่างละเอียด เนื่องจากตู้ไปรษณีย์ในกรุงเทพฯ มีถึงกว่า 400 ตู้ แต่อย่างไรก็ตาม ในประเด็นจดหมายเตือนระเบิดนั้น เบื้องต้นยังไม่เกี่ยวกับเหตุระเบิดที่ รพ.พระมงกุฎเกล้า เพราะเป็นการเตือนโรงพยาบาลคนละแห่งกัน ส่วนกรณีที่จดหมายระบุผู้ส่งเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้น ตนยังไม่ขอตอบ เพราะหวั่นจะเป็นการชักศึกเข้าบ้าน

พล.ต.อ.ศรีวราห์ กล่าวด้วยว่า แนวทางการสืบสวนขณะนี้ ยังไม่ได้ตัดประเด็นใดทิ้ง รวมประเด็นที่อาจเกิดจากความไม่พอใจการจัดสรรพื้นที่การค้าใน รพ.ก็สามารถเป็นไปได้ ส่วนกล้องวงจรปิด อยู่ระหว่างไล่ตรวจ ซึ่งก็พอได้เบาะแส พร้อมยืนยันว่าคดีนี้ไม่ตันแน่นอน ส่วนผู้ที่ก่อเหตุ เชื่อว่าคนร้ายที่ทำแบบนี้ได้มีไม่กี่กลุ่ม เพราะวิธีการประกอบระเบิดเหมือนกับเหตุระเบิดเมื่อปี 2550 โดยจะนำไปเทียบกับแผนประทุษกรรมเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นทั่วประเทศด้วย

ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า ตำรวจได้ควบคุมตัว อาแว ยูโซป ซึ่งมีชื่อในจดหมายข่มขู่ จากบ้านย่านบรรทัดทอง ไปสอบสวน เบื้องต้นเจ้าตัวให้การปฏิเสธไม่ได้เขียนหรือส่งจดหมายทั้ง 3 ฉบับ พร้อมยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ เจ้าหน้าที่ยังไม่มีหลักฐานจึงปล่อยตัวไป ส่วนการตรวจค้นบ้านพักก็ไม่พบหลักฐานเชื่อมโยง ส่วนจดหมายข่มขู่ทั้ง 3 ฉบับได้ส่งตรวจพิสูจน์ พบว่าเขียนด้วยลายมือคนเดียวกันและข้อความเหมือนกัน อยู่ระหว่างพิสูจน์ทราบตัวผู้เขียน

 

เรียบเรียงจาก : สำนักข่าวไทย 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สื่อไร้พรมแดน ประณามรัฐบาล คสช. 3 ปี ปิดเสรีภาพสื่อ ปราบนักกิจกรรม

Posted: 24 May 2017 10:19 AM PDT

จดหมายจากสือไร้พรมแดน ชี้ คสช. อยู่ 3 ปีมีแต่แย่ลง ร้องขอให้รัฐบาลทหารยกเลิกลิดรอนสิทธิ เสรีภาพสื่อและการแสดงออก ปล่อยสื่อมวลชนที่ถูกขังคุก แจงยับ พ.ร.บ. คอมฯ คดีหมิ่นประมาท มาตรา112 ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือเชือดสื่อตลอด อัด พล.อ.ประยุทธ์ "นักล่าเสรีภาพสื่อ"

 

24 พ.ค. 2560 เมื่อวันที่ 23 พ.ค. ที่ผ่านมา เบนจามิน อิสมาอิล หัวหน้าโต๊ะเอเชีย - แปซิฟิค แห่งสื่อไร้พรมแดน (Reporter Without Borders - RSF) องค์กรที่ทำหน้าที่ส่งเสริม และปกป้องเสรีภาพสื่อทั่วโลก ได้ออกจดหมายประณามประยุทธ์ จันทร์โอชาและรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เนื่องจากรัฐบาลทหารมีพฤติกรรมการละเมิดสิทธิ เสรีภาพการแสดงออก การนำเสนอข้อมูลข่าวสาร การจำกัดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ และการใช้มาตรการทางกฎหมายเป็นเครื่องมือในการปิดปากผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างเป็นระบบ ที่หนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ยึดอำนาจเมื่อปี 2557 มีใจความ ดังนี้

ประเทศไทย

เสรีภาพสื่อน้อยที่สุดเท่าที่เคยพบมาหลังรัฐประหาร 3 ปี

สื่อไร้พรมแดน (Reporter Without Borders - RSF) ประณามการปราบปรามข่าวสาร ข้อมูลโดยรัฐบาลทหารของไทย ตั้งแต่ยึดอำนาจจนครบรอบ 3 ปีการยึดอำนาจเมื่อวาน (22 พ.ค. 2560) และขอเรียกร้องให้ประชาคมนานาชาติมีมาตรการที่เด็ดขาดกับรัฐบาลทหารไทย ซึ่งได้ทำการยกระดับการปิดกั้นสื่อออนไลน์และฟ้องร้องสื่อมวลชนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

เมื่อวาน (22 พ.ค. 2560) เป็นวันครบรอบ 3 ปีการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผู้นำคณะรัฐประหาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะฟื้นฟูประชาธิปไตย ทว่า จำนวนการละเมิดเสรีภาพขั้นพื้นฐานได้เพิ่มขึ้นวันต่อวัน

RSF ได้ตอกย้ำข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทย ให้หยุดนำผู้เสนอข่าวสารและข้อมูลที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ภาครัฐมาลงโทษ

ในส่วนของรายละเอียด RSF ขอให้ทางการไทยกระทำดังต่อไปนี้

  • ยกเลิกกฎหมายที่ขัดขวางการเคลื่อนที่ของข้อมูล และสนับสนุนการกำกับกันเอง รวมถึงยกเลิก กฎหมายอาญาหมิ่นประมาทตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และกฎหมายอาญามาตรา 112

  • ปล่อยตัว สมยศ พฤกษาเกษมสุข และ สมศักดิ์ ภักดีเดช รวมไปถึงนักข่าวพลเมือง ผู้เขียนบล็อกและนักเคลื่อนไหวบนพื้นที่ไซเบอร์ที่ถูกจองจำด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาอื่นที่เกี่ยวพันกับสิทธิในการให้ข้อมูลและวิพากษ์วิจารณ์อย่างอิสระ

  • หยุดเซ็นเซอร์สื่อและเว็บไซต์ข่าว

  • หยุดกระทำการละเมิดผู้ให้บริการข่าวสารและข้อมูลที่หนีออกจากประเทศหรือที่พำนักอยู่ในประเทศอื่น

  • หยุดพฤติกรรมใส่ร้ายป้ายสี และการข่มขู่จากกลุ่มการเมืองที่มีต่อสื่อมวลชนและสำนักข่าวต่างประเทศ

"ผู้นำประเทศไทยจำเป็นต้องเข้าใจว่า ความมั่นคงและการพัฒนา ที่พวกเขาพูดอยู่บ่อยครั้งว่าเป็นเป้าหมายของประเทศนั้น ต้องการเสรีภาพของชาวไทยในด้านข้อมูลและการแสดงออก" เบนจามิน อิสมาอิล หัวหน้าโต๊ะเอเชีย - แปซิฟิคของ RSF กล่าว

"ถ้าไม่มีเสรีภาพสื่อและข้อมูลอย่างแท้จริง โครงการปรองดองทั้งหมดของรัฐบาลประยุทธ์นั้นมีแต่จะล้มเหลว มีเพียงแต่การยอมรับความหลากหลายทางการเมืองและเสรีภาพการเคลื่อนที่ของข้อมูล แม้ว่าจะฟังแล้วไม่เห็นด้วยเท่าใดก็ตาม แต่สิ่งนี้จะทำให้ไทยก้าวขึ้นจากวังวนของวิกฤติการณ์ทางการเมืองและภาวะประชาธิปไตยถดถอย"

ในขณะเดียวกัน RSF ขอให้ประชาคมนานาชาติกระทำดังต่อไปนี้

  • ประณามรัฐบาลเผด็จการของประยุทธ์และเรียกร้องให้คืนประชาธิปไตย การันตีสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพแห่งพลเมือง

  • ประณามการละเมิดเสรีภาพสื่อและข้อมูลโดยรัฐบาลไทย เรียกร้องให้เลิกลงโทษผู้ให้บริการข่าวและการเซ็นเซอร์ข่าวสาร

  • สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมถึงช่วยกำหนดเงื่อนไขการปรับปรุงในเรืองการเคารพเสรีภาพในข้อมูล

  • ช่วยองค์กรสื่อของไทย (สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กสทช. และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ) ให้เป็นองค์กรอิสระและสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำหน้าที่ปกป้องเสรีภาพการแสดงออกและการนำเสนอข้อมูลในไทย เช่น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, มีเดีย อินไซด์ เอาท์, โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), เครือข่ายพลเมืองเนต (Thai Netizen) และ สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT)

3 ปีที่ประชาธิปไตยถดถอย

หลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 การใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ในฐานะเครื่องมือการป้องปรามเหล่าสื่อมวลชน นักเขียนบล็อกและนักเคลื่อนไหวบนพื้นที่ออนไลน์ก็ยังคงมีอยู่

ในเดือนเมษายน รัฐบาลไทยได้ห้ามการติดต่อหรือการมีปฏิสัมพันธ์กับนักวิจารณ์ที่มีชื่อเสียงสามราย ที่ได้ลี้ภัยออกจากไทยไปแล้วหลายปีก่อน ได้แก่ สื่อมวลชนนามว่า แอนดรูว์ แมคเกรเกอร์ มาร์แชล อาจารย์มหาวิทยาลัย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ ปวิน ชัชวาลพงษ์พันธ์

ด้วยการสนับสนุนจาก พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 ทำให้ทางภาครัฐมีอำนาจการสอดส่องและการเซ็นเซอร์มากขึ้นยิ่งกว่าเดิม การล่วงละเมิดสื่อมวลชนต่างชาติได้เพิ่มจำนวนขึ้นในสามปีที่ผ่านมาเช่นกัน ในเดือนกุมภาพันธ์ โจนาธาน เฮด นักข่าวของ BBC ถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทและละเมิด พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์สืบเนื่องจากการทำข่าวประเด็นการฉ้อโกงอสังหาริมทรัพย์

ข้อหาหมิ่นประมาทมักถูกนำมาใช้กับสื่อมวลชนที่ทำข่าวสืบสวนสอบสวนในประเด็นสิ่งแวดล้อม สำนักข่าวไทยพีบีเอสและลูกจ้าง 4 คน ถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทบริษัทเหมืองในปี 2558-2559 มีอีกกรณีหนึ่งที่มีบริษัทฟ้องหมิ่นประมาท ปรัชญ์ รุจิวนารมย์ ในเดือนมีนาคมสืบเนื่องจากการทำข่าวเรื่องมลพิษทางน้ำ

"ไผ่" จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักกิจกรรม นักศึกษา ถูกจับกุมในวันที่ 2 ธันวาคม 2559 หลังแชร์ข่าวของ BBC ที่มีเนื้อหาไม่เยินยอกษัตริย์พระองค์ใหม่บนเฟซบุ๊ก สัปดาห์ที่แล้วจัตุภัทร์เพิ่งได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน จากประเทศเกาหลีใต้

ประยุทธ์ จันทร์โอชา: นักล่าเสรีภาพสื่อ

วิสัยทัศน์ต่อสื่อที่ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ตั้งตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรีแสดงออกมานั้นมักเป็นเรื่องเลวร้าย เขาบอกให้สื่อมวลชนควรจะ "เป็นตัวหลักในการสนับสนุนรัฐบาล คือการทำให้สาธารณชนเข้าใจนโยบายของรัฐบาลและลดความขัดแย้งในสังคม"

พิสัยของหัวข้อที่มีแนวโน้มจะถูกเซนเซอร์ค่อยๆกินอาณาบริเวณกว้างขึ้นตั้งแต่รัฐบาลทหารยึดอำนาจ ในขณะที่การล่วงละเมิดสื่อมวลชน นักเขียนบล็อก ศิลปินและนักวิชาการกระทำกันอย่างเป็นระบบ สิ่งนี้สะท้อนออกมาจากการปิดเว็บไซต์จำนวน 400 เว็บตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว ในขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีจึงเป็นคนทำให้มั่นใจเองว่าใครก็ตามที่วิพากษ์วิจารณ์เขาหรือรัฐบาลจะถูกปิดปาก

RSF ได้จัดทำรายงานเพื่อเตือนถึงสถานการณ์ของประเทศไทยหลังการยึดอำนาจได้ 1 ปีครึ่งภายใต้ชื่อ "สื่อถูกไล่ล่าจากรัฐบาลทหารตั้งแต่รัฐประหารปี 2557" และจากดัชนีเสรีภาพสื่อโลกประจำปี 2560 จัดขึ้นโดย RSF ประเทศไทยยังถูกจัดอันดับให้อยู่ที่ 142 จาก 180 ประเทศอีกด้วย

เบนจามิน อิสมาอิล

หัวหน้าโต๊ะเอเชีย

สื่อไร้พรมแดน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฮิวแมนไรท์วอทช์ร้องไทยยุติคุม 4 เยาวชน ในค่ายทหาร หลังถูกกล่าวหาเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ

Posted: 24 May 2017 06:29 AM PDT

ฮิวแมนไรท์วอทช์ เรียกกร้องทางการไทยควรยุติการควบคุมตัว 4 เยาวชน ขอนแก่น ในค่ายทหารโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอกโดยทันที หลังถูกกล่าวหาว่าจุดไฟเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ หวั่นถูกปฏิบัติมิชอบ

 
24 พ.ค. 2560 ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) ในฐานะองค์การนอกภาครัฐระหว่างประเทศซึ่งทำวิจัยและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในนครนิวยอร์ก เรีกกร้องทางการไทยควรยุติการควบคุมตัวเยาวชนอายุ 14 ปี และบุคคลอื่นอีกสามคน ในค่ายทหารโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอกโดยทันที พวกเขาถูกกล่าวหาว่า "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ"
 
โดย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้  เยาวชนอายุ 14 ปี ถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. 2560 โดยไม่มีหลักประกันที่เป็นผล เพื่อป้องกันการปฏิบัติมิชอบหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายต่อเขา
 
เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจของไทยจับกุม นอกจาก  เยาวชนอายุ 14 ปี แล้ว ยังมี จิรายุทธ อายุ 19 ปี อัครพงษ์ อายุ 19 ปี และ รัฐธรรมนูญ อายุ 20 ปี อ.ชนบท จ.ขอนแก่น ซึ่งถูกกล่าวหาว่าจุดไฟเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ร 9 จากนั้นทหารได้ส่งตัวพวกเขาไปยังที่ควบคุมตัวในมณฑลทหารบกที่ 11 ที่กรุงเทพฯ เพื่อสอบปากคำ ทั้งนี้โดยไม่ให้ติดต่อกับทนายความหรือครอบครัว
 
"การควบคุมตัวเด็กผู้ชายวัย 14 ปีแบบลับในค่ายทหารของไทย ถือเป็นสัญญาณเตือนที่ร้ายแรง โดยเมื่อคำนึงว่าแม้ที่ผ่านมามีรายงานการปฏิบัติมิชอบของทหาร แต่ไม่มีปรับปรุงแก้ไขสถานการณ์แต่อย่างใด" แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าว พร้อมระบุว่าเยาวชนทั้งสี่คนที่ถูกจับกุมไม่ควรถูกปฏิเสธสิทธิที่จะได้รับการนำตัวไปขึ้นศาล และไม่ควรถูกควบคุมตัวในค่ายทหารโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก ไม่ว่าพวกเขาจะถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาใดก็ตาม
 
ฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุว่า มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา นั้นถือเป็น ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นความผิดร้ายแรงต่อความมั่นคงแห่งชาติในประเทศไทย โดยอาจได้รับโทษจำคุก 3-15 ปี นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชากำหนดให้การดำเนินคดีฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาลของเขา นับแต่รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 รัฐบาลจับกุมบุคคลอย่างน้อย 105 คนในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีบางส่วนที่ศาลตัดสินแล้วว่ามีความผิดและได้รับโทษจำคุกเป็นเวลาหลายปีหรือหลายทศวรรษ ในเดือนกันยายน 2559 พลเอกประยุทธ์ได้ยกเลิกคำสั่งสามฉบับของรัฐบาลทหารที่ให้อำนาจศาลทหารในการไต่สวนคดีต่อพลเรือนสำหรับความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง รวมทั้งความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
 
คำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีผลให้หน่วยงานทหารมีอำนาจในการ ควบคุมตัวบุคคลแบบลับเป็นเวลาไม่เกินเจ็ดวัน โดยไม่มีข้อหาและสามารถสอบปากคำพวกเขาโดยไม่อนุญาตให้เข้าถึงทนายความ หรือไม่มีหลักประกันเพื่อป้องกันการปฏิบัติที่โหดร้าย อย่างไรก็ดี กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) ระบุถึงในเรื่องนี้ว่า บุคคลใดที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวในข้อหาอาญา ต้องได้รับการนำตัวไปขึ้นศาลโดยพลัน และต้องได้รับการพิจารณาภายในระยะเวลาอันเหมาะสม หรือให้ปล่อยตัวไป
 
กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กำหนดความคุ้มครองเป็นพิเศษสำหรับบุคคลทุกคนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child - CRC) ระบุว่า ไม่ว่าในพฤติการณ์ใด การจับกุม ควบคุมตัว หรือคุมขังเด็ก ให้กระทำเป็นมาตรการขั้นสุดท้าย และให้ทำในระยะเวลาที่สั้นสุดตามความเหมาะสม คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติได้แสดงข้อกังวลหลายครั้งเกี่ยวกับการควบคุมตัวเด็ก ซึ่งถูกมองว่าเป็น "ภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ" เด็กที่ถูกดำเนินคดีอาญาต้องได้รับการปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยความยุติธรรมสำหรับเด็ก ซึ่งเน้นการใช้วิธีการแบบอื่นแทนการควบคุมตัว และให้ความสำคัญกับการบำบัดฟื้นฟูและการปรับตัวของเด็กเมื่อเข้าไปอยู่ในสังคมอีกครั้ง
 
"รัฐบาลไทยควรทำให้เราคลายความกังวลที่จริงจังต่อความปลอดภัยของเด็กชายอภิสิทธิ์ โดยให้ปล่อยตัวเขาไปพบกับครอบครัวโดยทันที ให้เขาสามารถเข้าถึงทนายความ และเอาตัวเขาออกจากที่คุมขังของทหาร" อดัมส์ กล่าว พร้อมระบุด้วยว่า สำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและรัฐบาลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ควรกดดัน พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อให้ยุติการควบคุมตัวแบบลับทั้งปวงโดยทันที และดำเนินการให้เกิดความรับผิดอย่างเต็มที่ต่อการปฏิบัติที่เกิดขึ้นกับผู้ถูกควบคุมตัวของทหาร
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มาเลเซียดำเนินคดีสื่อต้านรัฐบาล 'มาเลเซียกินี' กรณีถ่ายทอดคนวิจารณ์รัฐบาล

Posted: 24 May 2017 05:05 AM PDT

เป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในมาเลเซียเมื่อมีการดำเนินคดีกับสื่อมาเลเซียกินี กระบอกเสียงสำคัญในการต่อต้านรัฐบาล หลังมีการถ่ายทอดสดการวิจารณ์กรณีที่เกียวข้องกับการทุจริตอื้อฉาวใหญ่โตของนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2560 เอเชียเซนทิเนลรายงานว่ารัฐบาลมาเลเซียมีจัดการกับคนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลผ่านโซเชียลมีเดียและสื่อต่างๆ โดยในตอนนี้หันมาเล่นงานสื่อมาเลเซียกินีซึ่งเป็นสื่ออิสระที่ทรงอิทธิพลในมาเลเซีย และเริ่มมีการคุมขังนักกิจกรรมเพื่อสังคมมากขึ้น

องค์กรสิทธิมนุษยชนอย่างแอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนลและอาร์ติเคิล 19 ประณามการดำเนินคดีกับเปรเมช จันดรัน ผู้บริหารสูงสุดของมาเลเซียกินีและสตีเวน กาน บรรณาธิการของมาเลเซียกินี ในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการจัดแถลงข่าวเมื่อเดือน มิ.ย. 2559 ที่มีการถ่ายทำนักวิจารณ์กล่าววิพากษ์วิจารณ์อธิบดีกรมอัยการ โมฮัมหมัก อพันดี อาลี ที่ล้างข้อหาทุจริตคอร์รัปชันให้กับนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค

ก่อนหน้านี้มีการสืบสวนสอบสวนราซัคโดยหน่วยงานสิบสวนของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ในเรื่องที่ราซัคใช้เงินซื้ออสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ โดยผ่านตัวแทนแบบลับๆ ด้วยเงินที่ยักยอกมาจากกองทุนพัฒนาประเทศที่ชื่อ 1Malaysia หรือ 1MDB ซึ่งมีงบประมาณในส่วนนี้หายไปถึง 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งจากการถูกยักยอกและการจัดการผิดพลาด มีอย่างน้อยราว 1,000-2,000 ล้านดอลลาร์ที่เข้าไปอยู่ในธนาคารของราซัค เอเชียเซนทิเนลระบุว่าการดำเนินคดีต่อผู้วิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้ยิ่งทำให้บรรยากาศทางการเมืองในมาเลเซียดูมืดมนลงไปอีก

สิ่งที่แย่ยิ่งกว่านั้นคือท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ ในปัจจุบัน จากการที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โทรเชิญชวนราซัคพบปะกับทางการสหรัฐฯ ที่วอชิงตัน จากนั้นก็มีการไล่ พรีท บันดารา อัยการสหรัฐฯ ในนิวยอร์กและขับอัยการที่แต่งตั้งในสมัยของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ออกไปทั้งหมด ทำให้มีความกังวลว่าภาวะวุ่นวายของฝ่ายกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ จะส่งผลต่อการสืบสวนราซัคทำให้สืบสวนได้ไม่มีประสิทธิภาพมากพอ

สภาพการเมืองของมาเลเซียในตอนนี้ราซัคก็ดูจะกุมอำนาจไว้ได้มากจากที่เขาได้รับการหนุนหลังโดยพรรคอัมโน (United Malays National Organization) ซึ่งเป็นพรรคชาตินิยมเชื่อสายมลายูที่ใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย พวกเขากำลังจะเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าในปีนี้เพื่อกระชับอำนาจของราซัคให้ต่ออายุการปกครองมาเลเซียไปได้อีก 5 ปี ขณะที่ฝ่ายค้านมาเลเซียในตอนนี้แตกกระจายในขณะที่หัวหน้าพรรคอันวาร์ อิบราฮิม ถูกสั่งจำคุกด้วยการถูกกล่าวหาเกี่ยวกับเรื่องเพศ

ในมาเลเซียมีกลุ่มต่อต้านรัฐบาลราซัคที่เรียกว่ากลุ่ม "เบอเซะ" (Bersih) ก็กำลังถูกเล่นงานจากฝ่ายรัฐบาลในช่วงเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา มีบางส่วนถูกสืบสวนในเรื่องที่จัดการจุดเทียนรำลึกถึงผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนโดยไม่ได้ขออนุญาตตำรวจล่วงหน้า 10 วัน มีอีกบางส่วนที่ถูกตำรวจเรียกตัวเข้าพบโดยอ้างว่า "กระทำในสิ่งที่นำไปสู่ความปั่นป่วนวุ่นวายต่อสาธารณะ"

แอมเนสตี้แถลงว่าพวกเขารู้สึกตื่นตระหนกต่อการที่ทางการมาเลเซียพยายามปราบปรามนักกิจกรรมหรือผู้ประท้วงต่อต้านความไม่เป็นธรรมโดยอาศัยการสืบสวนของตำรวจที่ไม่มีมูลใดๆ เน้นย้ำให้เห็นถึงการใช้ระบบยุติธรรมเพื่อกลั่นแกล้งรังแกนักกิจกรรมและผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน ทำให้เกิดภาวะจำกัดการถกเถียงอภิปรายกันในมาเลเซียลดพื้นที่การเคลื่อนไหวของประชาชนลง

เอเชียเซนทิเนลระบุว่า มาเลเซียกินีเป็นสื่อฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่น่าเชื่อถือและใหญ่ที่สุด มีผู้เข้าชม 5 ล้านคนต่อเดือนในช่วงที่การเมืองเข้มข้น สื่อแห่งนี้ดำเนินการมา 18 ปีแล้วและมักจะถูกคุกคามหรือปราบปรามจากทางการมาเลเซียอยู่เสมอ โดยการดำเนินคดีกับพวกเขาล่าสุดเป็นเพราะพวกเขาถ่ายทอดสดผู้วิจารณ์อาลีที่เอื้อประโยชน์ต่อราซัค โดยที่ก่อนหน้านี้ราซัคสั่งปลดอธิบดีกรมอัยการคนเดิมก่อนที่เขาจะสั่งฟ้องคดีทุจริตคอร์รัปชันกับราซัค โดยที่จันดรันและกานถูกฟ้องร้องโดยอ้างกฎหมายการสื่อสารและมัลติมีเดีย

จันดรันบอกว่าสาเหตุที่พวกเขาถูกฟ้องน่าจะเป็นเพราะอาลีต้องการจัดการกับพวกเขา ขณะที่พวกเขามีโอกาสกาสสู้คดีนี้โดยอ้างอิงรัฐธรรมนูญมาเลเซียได้

ทางด้านอาร์ติเคิล 19 เปิดเผยว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงในมาเลเซียคือ กฎหมายการสื่อสารและมัลติมีเดีย ซึ่งต้องมีการปฏิรูปในเรื่องนี้ เพราะมันถูกนำมาอ้างใช้กำจัดคนที่วิจารณ์รัฐบาลผ่านอินเทอร์เน็ต และเป็นกฎหมายที่ละเมิดหลักการสิทธิมนุษยชนสากลในเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างชัดเจน นับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมารัฐบาลมาเลเซียมีการจับกุมสื่อ ผู้เปิดโปง นักการเมืองฝ่ายค้าน ศิลปิน นักศึกษา ภาคประชาสังคม และผู้ใช้โซเชียลมีเดีย ที่วิพากษ์วิจารณ์กรณีทุจริต 1MDB โดยอ้างใช้กฎหมายหลายมาตรา พวกเขาเรียกร้องให้มีการยกฟ้องจันดรันและกานรวมถึงกินีทีวีที่ถ่ายทอดการวิจารณ์ในประเด็นนี้ แต่เอเชียเซนทิเนลก็มองว่ามีความเป็นไปได้ต่ำที่พวกเขาจะยกฟ้องในเรื่องนี้เนื่องจากรัฐบาลมาเลเซียน่าจะคุมเข้มมากขึ้นในช่วงที่การเลือกตั้งใหม่กำลังใกล้เข้ามา

 

เรียบเรียงจาก

Malaysia Goes After Influential Opposition News Portal, 22-05-2017, Asia Sentinel

http://www.asiasentinel.com/politics/malaysia-goes-after-malaysiakini/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

25 ปีพฤษภาทมิฬถึง 3 ปีรัฐประหาร เปิดใจ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ "เราค้านทุกรัฐบาล"

Posted: 24 May 2017 04:41 AM PDT

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ สนทนากับ 'ประชาไท' แบบยาวๆ ทบทวนเหตุการณ์ในชีวิต บทเรียน ความผิดพลาด ตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 การร่วมชุมนุมกับคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ถึง 3 ปีรัฐประหาร

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ สนทนากับ 'ประชาไท' แบบยาวๆ ทบทวนเหตุการณ์ในชีวิต บทเรียน ความผิดพลาด ตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 การร่วมชุมนุมกับคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ถึง 3 ปีรัฐประหาร

หลายคำถาม นพ.สุภัทร ยอมรับว่า เขาก็ไม่เคยถามหรือสรุปบทเรียนกับตัวเองและเครือข่ายในพื้นที่ โดยเฉพาะกับการที่เขาและภาคประชาชนภาคใต้จำนวนหนึ่งถูกต่อว่าว่าเป็นนั่งร้านเผด็จการ บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เขามีคำตอบและคำอธิบาย

นพ.สุภัทร เปิดเผยมุมมองการทำงานขับเคลื่อนอย่างชัดเจนว่าคิดและทำอย่างไร เขามองไปในอนาคตว่า ความแตกแยกทางความคิดที่เกิดขึ้นในหมู่เอ็นจีโอและภาคประชาชนที่เอา-ไม่เอารัฐประหารจะมีผลต่อการขับเคลื่อนประชาธิปไตยฐานรากอย่างไร

ช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเมื่อ 25 ปีที่แล้ว คุณหมอทำอะไรอยู่

ตอนนั้นผมเป็นนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬา (อบจ.) ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกองค์การตั้งแต่ช่วงรัฐประหารโดย รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) ตอนนั้นก็มีนักศึกษารามฯ 15 คนออกไปประท้วง รสช. แล้วโดนจับ พวกเราซึ่งตอนนั้นเป็นพรรคที่ลงสมัคร อบจ. ชื่อว่า จุฬาฯ ฟ้าใหม่ ก็รวมตัวกันออกแถลงการณ์ให้ยกเลิกกฎอัยการศึกกับให้ปล่อยนักศึกษาทั้ง 15 คน พอหลังจากรัฐประหารได้สัก 4-5 วันก็ได้รับการปล่อยตัว แต่คงไม่ได้ปล่อยเพราะหรอก หลังจากนั้นผมก็เป็นนายก อบจ. จนถึงช่วงพฤษภาทมิฬ และตอนนั้นก็ไม่ได้เป็นนายก อบจ. แล้วเพราะหมดวาระ แต่ยังเป็นนิสิตแพทย์ปี 5 อยู่

ช่วงที่อยู่ อบจ. ก็ทำงานร่วมกับสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เป็นหลัก ทำกิจกรรมต่อต้าน รสช. กันตามสมควร พอมาถึงช่วงพฤษภาทมิฬ ก่อนที่ทหารจะบุกสลาย ผมอยู่ราชดำเนิน แต่ราวๆ เที่ยงคืนผมกลับก่อน ตอนที่เดินกลับหอก็ยังรู้สึกว่า ทำไมคืนนี้ทหารเยอะผิดปกติ แต่ก็ไม่ได้เอะใจอะไรมาก เพราะคิดว่าทหารก็มาเยอะกันอยู่แล้ว แต่เห็นอาวุธครบมือ พอรุ่งเช้าก็ได้ข่าวว่าเขายิงกัน เราก็ไปดูเหตุการณ์ แต่พอไปถึงมันเข้าไม่ได้ เจอเพื่อน เพื่อนก็ชวนกันไปอยู่เซฟเฮาส์ เพราะตอนนั้นอะไรมันยังไม่แน่นอน อยู่ที่นั่นได้ 2-3 วันพอเหตุการณ์สงบ สุจินดา (คราประยูร) ประกาศยอมแพ้ เราก็กลับไปเรียนหนังสือ

ตอนนั้นคุณหมอมีบทบาทอะไรในการเคลื่อนไหว

ตอนนั้นก็เป็นผู้ร่วมชุมนุมในนาม สนนท. ช่วงหลังๆ พี่เอก ปริญญา (เทวานฤมิตรกุล) ก็เป็นคนนำ นอกนั้นก็มีผม กับสมเกียรติ จันทรสีมา นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเพื่อนจากรามฯ เป็น 3 ทีมหลักที่ช่วยกัน แต่วันนั้นผมก็แค่ไปร่วมชุมนุม ไม่ได้มีบทบาทอะไรมาก มีขึ้นปราศรัยบ้าง แต่ช่วงหลังก็ไม่ได้ขึ้นแล้วเพราะคนขึ้นกันเยอะกระแสเริ่มสูง

จากเหตุการณ์การชุมนุมของคนเรือนแสนจนนำไปสู่การล้อมปราบ ชีวิตของคุณหมอหลังจากนั้นดำเนินไปอย่างไร กลับมาครุ่นคิดกับเหตุการณ์นี้อย่างไร

หลังพฤษภาทมิฬ มันมีปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งขององค์การนักศึกษาของขบวนนักศึกษาก็คือ ต้องมีการเลือกตั้งเลขาธิการ สนนท. คนใหม่ นี่เป็นโจทย์ยากมากโจทย์หนึ่ง ดูเหมือนขบวนการนักศึกษาจะมีความโดดเด่น แต่ข้างในอ่อนแอมาก เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยก็มีกิจกรรมที่ไม่ได้เสริมสร้างบทบาทของนักศึกษาต่อสังคมเท่าไหร่ ตอนนั้นเราก็เลยจับผลัดจับผลูมาเป็นเลขาธิการ สนนท. หลังจากนั้นเราก็มาทำเรื่องติดตามคนหายจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม ร่วมกับคณะกรรมการญาติวีรชน และทำเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งสุดท้ายก็ผ่าน มีการนิรโทษผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ล้อมปราบด้วย คือตอนนั้นเขาตั้งใจนิรโทษให้กับทหาร ไม่ได้ตั้งใจนิรโทษให้ประชาชน กระแสสังคมก็ไม่ยอมรับอยู่ช่วงหนึ่งแต่สุดท้าย พ.ร.บ. ก็ผ่านการพิจารณา

ถ้าถามว่าผมคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร คือผมเติบโตมากับสายชมรมค่ายชนบท ออกไปหมู่บ้าน เราออกไปเรียนรู้หมู่บ้านที่สวยงาม เรียนรู้ความยากจน ความลำบาก ยิ่งเรียนหมอก็อยากไปอยู่ชนบท อยากไปอยู่กับชาวบ้าน ผมเติบโตมาอย่างนั้น ไม่ได้สนใจเรื่องการเมืองมาก แต่พอออกค่ายมากขึ้นก็เริ่มรู้สึกว่าโครงสร้างสังคมมันมีปัญหา และมันก็เริ่มเห็นชัดขึ้น พอมาถึงเดือนพฤษภาคม มันก็ชัดเจนว่าปัญหาของสังคมไทยต้องไปแก้ที่โครงสร้าง แก้ที่ปัญหาประชาธิปไตย เราไม่สามารถกลับไปทำกิจกรรมส่งเสริมอาชีพทำให้ชาวบ้านหายจนได้ละ เพราะวิธีคิดมันเปลี่ยนไป มุมมองต่อการพัฒนาชนบทก็เปลี่ยนไป แต่เราก็ไม่คิดว่ามันเปลี่ยนได้นะ ตอนนั้นก็เห็นแล้วว่า ส.ส. ไม่ได้เรื่อง ไม่ได้เป็นความหวัง แต่ด้วยความที่ตอนนั้นเรียนหมอก็ต้องเรียนให้จบ แล้วไปอยู่บ้านนอกตามความตั้งใจ

หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬก็นำไปสู่ความพยายามปฏิรูปการเมือง ช่วงเวลานั้นคุณหมอมีส่วนร่วมอย่างไร

ตอนนั้นผมเรียนจบกลับไปอยู่บ้านนอกแล้ว ไปอยู่โรงพยาบาลอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ไปเป็นหมอทำงานพื้นฐานดูแลผู้ป่วย ฝึกวิทยายุทธรักษาโรค ไม่ค่อยได้ข้องเกี่ยวกับการเมืองเลยในช่วงปี 2537-2539 แต่พอมาช่วงกระแสรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ช่วยบ้าง ช่วยทำขบวนในสงขลาซึ่งเขาก็มีการรวมตัวกันของเอ็นจีโอ สงขลาตอนนั้นกลายเป็นเมืองหลวงของ NGOs ภาคใต้ เราก็ช่วยๆ กัน แต่ก็ไม่ได้โดดเด่นมาก

หลังจากผมอยู่ที่สะบ้าย้อย 4 ปี ช่วงนั้นน่าจะมีงานเดียวที่เป็นงานการเมืองหน่อยๆ คือการคัดค้านการสร้างถนนที่ตัดผ่านป่าในเทือกเขาสันกาลาคีรีไปเชื่อมกับประเทศมาเลเซีย เราก็ไปช่วยชาวบ้านคัดค้าน ไปเดินป่ากับชาวบ้าน แล้วก็ออกแถลงการณ์บ้าง จากนั้นก็ย้ายมาจะนะ ช่วงนี้แหละที่น่าสนใจ ตอนนั้นปี 2542 โครงการโรงแยกแก๊สซึ่งทางมาเลเซียเป็นคนเริ่มต้น มีการประชาสัมพันธ์ มีการทำขบวนในชุมชนแล้ว พอเราย้ายมาก็มาเจอชาวบ้านพูดกันเรื่องท่อแก๊ส ก็ไปฟังชาวบ้านคุย และให้ความเห็นในมิติการพัฒนาในแบบที่เราอยากให้เป็น ก็อินกับชาวบ้านไปเรื่อย ชาวบ้านเขาก็ไปเอาอีไอเอฉบับภาษาอังกฤษมาให้อ่าน ผมก็อ่านแล้วก็เอามาเล่าให้ชาวบ้านฟัง เริ่มสนิทกับชาวบ้านตั้งแต่นั้นและเข้าสู่กระบวนการคัดค้านท่อแก๊ส

เรียกว่าค่อยๆ พาตัวเองเข้าสู่ภาคประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ

ใช่ กระบวนการคัดค้านท่อแก๊สเรียกได้ว่าเป็นการหล่อหลอมใหม่ของผมเลย เพราะว่าเราเข้าหมู่บ้านเยอะมาก เขาไปคุยชาวบ้าน 5 คน 10 คน ไปทำกระบวนแบบบ้านๆ เลย เรียกว่าจัดตั้งมวลชนเลย จัดตั้งที่ละหมู่บ้าน ทีละกลุ่ม ไปกินข้าวบ้านเขาคุยกัน แต่เวลาชาวบ้านทำม็อบผมจะไม่ค่อยไป เพราะมันเป็นเวลาราชการ ผมไม่อยากมีปัญหา

แต่สุดท้ายแล้วโรงแยกแก๊สก็เกิดขึ้น 

ใช่ เพราะอำนาจรัฐตอนนั้นมหาศาลที่ไปกระทำกับชาวบ้าน ทุบชาวบ้านก่อนเลยที่เจดี 2545 ทุบเสร็จก็ฟ้องระนาว ชาวบ้านโดนคดีสี่สิบห้าสิบคน แล้วจากนั้นก็ส่งทหารตำรวจมาเฝ้าสถานที่ก่อสร้างกันเป็นพันคน

แล้วการที่คุณหมอเข้าไปมีส่วนร่วมในการคัดค้านการโรงแยกก๊าซจะนะ มีผลต่อเนื่องในทางความคิด หรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองในเวลาต่อมาอย่างไร

ตอนที่ผมอยู่จุฬาฯ อยู่กับ สนนท. ผมก็ฟังนักวิชาการเยอะนะ สุดท้ายผมก็อินกับแนวทางประมาณว่า ต้องยึดอำนาจส่วนบน เพื่อแก้ไขปัญหาในเชิงนโยบาย สร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย เพราะตอนนั้นเราอยู่ใกล้ศูนย์กลางอำนาจ แต่พอไปทำงานกับชาวบ้านเยอะและอยู่ไกลจากศูนย์กลาง เราก็ไม่ค่อยมีบทบาทในเชิงนโยบาย มันก็กลับมาสู่คำตอบเดิมว่า หรือว่าคำตอบอยู่ที่ชุมชน หมู่บ้าน เหมือนอย่างตอนที่เราออกค่าย คือตอนออกค่ายทฤษฎีหลักคือคำตอบอยู่ที่หมูบ้าน พอมาเป็น อบจ. เป็น สนนท. คำตอบมันกลายเป็นว่าการแก้ปัญหาต้องแก้ไขที่โครงสร้างส่วนบน พอกลับไปสู่เรื่องท่อแก๊ส เรากลับมารู้สึกว่าการเคลื่อนไหวของมวลชนข้างล่างนี่แหละมีความสำคัญ ฉะนั้น คำตอบมันก็อยู่ที่หมูบ้าน ส่วนการแก้ส่วนบนให้พวกกรุงเทพฯ เขาทำกันเยอะๆ ส่วนเราวางบทของตัวเองว่าช่วยกันทำงานจัดตั้งชาวบ้าน จัดตั้งทางความคิด จัดตั้งกองกำลัง เพราะตอนนี้ชาวบ้านเข้มแข็งมาก เข้มแข็งขนาดว่าปิดถนน ตั้งด่านตรวจกัน และผลัดเปลี่ยนเวรยามกัน ตำรวจจะผ่านเข้าไปก็ต้องขออนุญาต และตรวจอาวุธก่อน แต่งานนี้ไม่ใช่งานผมเป็นงานของเอ็นจีโอ ผมเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น

รัฐธรรมนูญ 2540 มีการรับรองสิทธิมากมาย ขณะเดียวกันก็เกิดรัฐบาลที่มีอำนาจเข้มแข็งมาก

ผมว่ามันเป็นสิ่งที่ดีนะ รัฐบาลข้างบนเขาก็ฉวยโอกาสรวมกันตั้งรัฐกับทุน และก็เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมกับโครงสร้างรัฐธรรมนูญใหม่มากขึ้น กับองค์กรใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ผมว่ารัฐและทุนมันก็คงพัฒนาไปสู่ทิศทางที่ร่วมกันอยู่แล้ว มันเป็นเทรนด์ของโลก ไม่ใช่เทรนด์ของประเทศเราอย่างเดียว ประชาธิปไตยต้องเป็นอิสระจากรัฐและทุน อาจารย์เกษียร (เตชะพีระ) แกเขียนไว้นานแล้วเป็นบทความชิ้นสำคัญที่ชี้นำทางความคิดเมื่อช่วงหลังพฤษภาทมิฬ ช่วงรัฐธรรมนูญ 2540 ชาวบ้านทางภาคใต้ก็อินกับงานชิ้นนี้ ชาวบ้านต้องเข้มแข็ง เราก็กลับไปทำให้ชาวบ้านเข้มแข็ง

คุณหมอกำลังพูดเรื่องการรักษาฐานทรัพยากรเป็นหลัก

ใช่ หลังๆ เราเคลื่อนเรื่องฐานทรัพยากร ประชาธิปไตยเป็นเรื่องรอง เวลาคุยกับชาวบ้านก็คุยเรื่องจะทำอย่างไรให้พื้นที่เรารักษาความอุดมสมบูรณ์ไว้ได้ ซึ่งแบบนี้น่าสนใจมาก ถ้ามีเผด็จการเข้ามารักษาความอุดมสมบูรณ์ไว้ รักษาฐานชีวิตของชาวบ้านไว้ เรารับได้ไหม คำตอบแนวโน้มของชุมชนคือ รับได้ ก็ไม่มีอะไรแนวคิดเขาคือการปกป้องบ้านเกิด ฉะนั้น ใครเขามาแล้วช่วยเขาปกป้องบ้านเกิดปกป้องฐานทรัพยากรเขาก็ยินดี อย่างกรณีทักษิณ เราก็ให้เวลาเขานะ ตอนที่เราต่อสู้เรื่องท่อแก๊ส ทักษิณก็มาเยี่ยมชาวบ้านที่ลานหอยเสียบ ชาวบ้านก็ให้การดูแลต้อนรับอย่างดี ด้วยความหวังว่าจะฟังชาวบ้าน เข้าใจ และกลับไปยุติโครงการ แต่กลับไปได้ไม่กี่สัปดาห์ก็ประกาศเดินหน้าต่อ จากนั้นก็เลิกคบกันไป คสช. ก็เหมือนกัน แรกๆ ก็ดูจะมีความหวังแต่สุดท้ายก็เหมือนกัน

แล้วตัวคุณหมอเองคิดเหมือนชาวบ้านหรือเปล่า จะปกครองระบอบอะไรก็ได้ ขอแค่รักษาฐานทรัพยากรไว้

ใช่ ผมก็คิดเหมือนชาวบ้าน แต่มันก็ได้พิสูจน์แล้วว่า การปกครองแบบเผด็จการมันไม่มีหรอกที่จะมาคิดเรื่องการรักษาฐานทรัพยากรในพื้นที่ ผมคิดว่าการปกครองแบบไหนก็เลวทั้งนั้น ไม่เคยเห็นหัวชาวบ้านสักแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเผด็จการรัฐสภาหรือเผด็จการทหาร

แต่อย่างน้อยรัฐบาลที่มาจากการเรื่องตั้งอาจจะคุยได้ง่ายกว่า ล็อบบี้ได้ง่ายกว่า

เห็นด้วยโดยหลักการ แต่ถ้าชาวบ้านเข้มแข็งเผด็จการแบบไหนเราก็สามารถต่อรองได้ เผด็จการโดยทุนมันก็เลวไม่แพ้อำนาจปืนเพราะเงินมันหนา เผด็จการโดยปืนมันเห็นชัด สู้กับมันก็ไม่ยาก เพราะมันแบกปืนมาสู้กับเรา มันก็ไม่มีความชอบธรรม แต่เผด็จการโดยทุนมันแอบแจกเงิน ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ทุกวันนี้ก็เป็นเผด็จการโดยทุน เขาก็ทำเหมือนกัน เอาเงินแจกชาวบ้านกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้าเพื่อสลายอำนาจของชาวบ้าน ซึ่งมันจัดการยาก

ในมุมมองของคุณหมอที่ทำงานกับภาคประชาชน ช่วงสมัชชาคนจนเกิดขึ้นเรียกได้ว่าช่วงนั้นเป็นยุคเฟื่องฟูสูงสุดของเอ็นจีโอ แต่พอผ่าน 2549 มาบทบาทของเอ็นจีโอกลับตกลง คุณหมอคิดว่าเป็นเพราะอะไร

ช่วงที่บทบาทของภาคประชาชนและเอ็นจีโอจะลดลง ขบวนการของชาวบ้านถูกทำลายจากหลายขบวนนะ ไม่เฉพาะอำนาจรัฐเท่านั้น เมื่อก่อนชาวบ้านสู้กับอำนาจรัฐด้วยวิธีเดียวคือชุมนุมประท้วง รวมตีนกัน เพราะช่องทางอื่นมีน้อย แต่พอรัฐธรรมนูญ 2540 ช่องทางการต่อสู้เพิ่มขึ้น ช่องทางในเชิงวิชาการ สมัชชา เวทีต่อรองมากขึ้น หรือแนวคิดนโยบายสาธารณะ เหล่านี้ผมว่ามีส่วนที่ทำให้แนวทางของชาวบ้านเปลี่ยนไป ไปใช้ช่องทางพวกนี้มากขึ้น พลังที่เคยมีก็ถูกผ่าออกไป

ช่องลอบบี้ ช่องเจรจาพวกนี้ สุดท้ายอาจจะชนะก็ได้ ชนะในเชิงประเด็น แต่ว่าในเชิงความเข้มแข็ง มันไม่ชนะ เอ็นจีโอเกินครึ่งรวมทั้งภาคประชาชนที่เข้มแข็งที่เดิมเคยทำงานมวลชนก็หันไปทำงานเชิงนโยบาย ทำงานประชุม ประชุมกันสารพัด สมัชชาเยอะแยะ มั่วไปหมด ซึ่งผมคิดว่าในมุมหนึ่งมันก็โอเค แต่ในมุมที่สำคัญมันกลับทำให้ชาวบ้านอ่อนแอลง งานรากฐานอ่อนแอลง เพราะงานแบบนั้นไม่ใช่งานชาวบ้าน มันเป็นบทของนักวิชาการผู้รู้ ชาวบ้านเป็นได้แค่ตัวประกอบ เช่น เวลาที่จำเป็นต้องมีม็อบ ชาวบ้านมา 300-500 คนเป็นม็อบตัวประกอบ การฝึกฝนชาวบ้านให้คิด ให้วิเคราะห์มันลดลง อันนี้เป็นต้นเหตุที่ทำให้ภาคประชาชนอ่อนแอลง ยังไม่นับอำนาจมืดต่างๆ ที่กระทำกับชาวบ้าน ทั้งซื้อ ทั้งแจกเงิน ทั้งข่มขู่

การที่เอ็นจีโอจำนวนหนึ่งเข้าไปมีส่วนเรียกร้องให้เกิดการรัฐประหารเมือปี 2549 นั่นคือสิ่งที่ทำให้ภาคลักษณ์ของเอ็นจีโอตกต่ำด้วยหรือเปล่า

มันทำให้เกิดความแตกแยกทางความคิดของขบวนภาคประชาชน ซึ่งมีสองฝ่าย สายเหลือง สายแดง มันทำให้แตกแยกกันชัดเจน เอ็นจีโอเองก็ไม่ได้เป็นเอกภาพอยู่แล้ว ก็มีสองสายวิธีคิดอยู่แล้ว วิธีคิดที่พึงพาอำนาจรัฐกับอีกวิธีคิดที่ไม่เอาอำนาจรัฐเลย

ฝ่ายที่ไม่เอาอำนาจรัฐคือฝ่ายที่ไม่สนับสนุนรัฐประหาร?

ไม่สนับสนุนรัฐประหาร แต่อาจจะรวมถึงไม่สนับสนุนทุกรัฐบาลที่มากระทำกับชุมนุมและชาวบ้าน ผมอยู่สายนี้ ผมคิดว่าคงเป็นเพราะผมเติบโตกับชาวบ้านจนอินกับชาวบ้านไปแล้ว ผมก็อยู่ในสายที่ถือว่าคำตอบของชาวบ้านคือคำตอบสูงสุด หากชาวบ้านเลิกค้านท่อแก๊ส เลิกค้านถ่านหิน ผมก็เลิกเหมือนกัน

หลังๆ มาฝ่ายเรามีข้อสรุปว่าค้านทุกรัฐบาล คือยังเอาระบอบการเลือกตั้งอยู่ ถ้ารัฐบาลที่ได้มาจากการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลที่ดี ฟังเสียงชาวบ้านเยอะๆ ซึ่งฟังเสียงชาวบ้านกับตามใจชาวบ้านไม่เหมือนกันนะ มันต้องมีการจัดกระบวนเพื่อให้ได้คำตอบที่ชาวบ้านรับได้ ฟังเสียงชาวบ้านแล้วก็มุ่งหน้าไปเป็นความหวังที่ดี

รัฐบาลที่ดีของคุณหมอไม่ใช่ดีในเชิงศีลธรรม แต่ดีในเชิงกระบวนการที่จะทำให้ชาวบ้านเข้มแข็ง

ใช่ เพราะรัฐบาลเชิงศีลธรรมมันไม่มีอยู่แล้ว แต่รัฐบาลที่จะฟังเสียงชาวบ้านจริงๆ ไม่มีหรอก มั่นใจว่าไม่มี อันนี้เป็นข้อสรุปของเอ็นจีโอใต้ว่า ต้องรบนายถึงจะหายจน รบเพื่อสถาปนาอำนาจชาวบ้านขึ้นมา ไม่ใช่รบเพื่อชนะรายประเด็น แต่ว่าจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านสถาปนาอำนาจที่เป็นประชาธิปไตยทางตรง ในการดูแลชุมชนและท้องถิ่นต่อไป ตอนหลังทัศนะมันก็ไหลมาทางอนาคิสต์ แต่มันก็เป็นรูปแบบประชาธิปไตยทางตรงอย่างหนึ่งถ้าไม่สามารถหวังกับผู้แทนได้ แต่เผด็จการไม่ต้องหวังอยู่แล้ว

"ถ้าชาวบ้านเข้มแข็งเผด็จการแบบไหนเราก็สามารถต่อรองได้ เผด็จการโดยทุนมันก็เลวไม่แพ้อำนาจปืนเพราะเงินมันหนา เผด็จการโดยปืนมันเห็นชัด สู้กับมันก็ไม่ยาก เพราะมันแบกปืนมาสู้กับเรา มันก็ไม่มีความชอบธรรม"

แต่คนอีกจำนวนมากมองว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหวังได้ อย่างการเข้ามาของทักษิณก็ทำให้เกิดประชาธิปไตยที่กินได้จริงๆ ขึ้นมา

เราไม่เถียงว่ากินได้ แต่มันยังล้างผลาญทรัพยากรและไม่ฟังเสียงชาวบ้าน เพราะภาคใต้ยังถูกกระทำด้วยโครงการขนาดใหญ่ที่ทำลายล้าง คือมันเอาหมู่บ้านเราออกทั้งหมู่บ้านเลยนะ ให้ไปอยู่ที่อื่นเลย ทะเลมันก็ยึดเพราะจะสร้างท่าเรือ แทนที่จะทำประมงพื้นบ้าน กรณีถ่านหินเทพา มันไล่ชาวบ้านออกเป็นพันคน แต่ก็ยังที่ดีที่ให้เงินชดเชยตามสมควร มันคือการยึดเอาดื้อๆ เป็นอาณานิคมแบบใหม่ ถามว่าอีสานโดนไหมแบบนี้ ก็คงโดนบ้าง แต่ว่าทางใต้มันหนักกว่าอันนี้ก็เป็นความสับสนในผมนะ ผมไม่มีจุดยืนอะไรมากมาย คนเที่ยวหาว่าผมมีจุดยืนเยอะแยะ ผมก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ช่วงที่ไป กปปส. มันก็โอเคนะ ชาวบ้านมีความสุขที่ได้ไปรบนาย

คุณหมอคิดว่าการที่ไปร่วมกับ กปปส. แล้วไปดึง คสช. ออกมาเป็นความผิดพลาดไหม

เราไปตอนแรก เราก็ไม่ได้อยากให้ คสช. ออกมา พอไปสักพักใหญ่ เราก็พอจะเดาได้แล้วว่ามันแย่แล้ว แย่มากด้วย แต่ว่าจะยังไงล่ะ จะทิ้งชาวบ้าน ก็ชาวบ้านเขาไม่ถอย เราจะถอย แล้วทิ้งชาวบ้านก็กระไรอยู่ ก็ร่วมไป แต่เราเห็นแล้วว่ามันไม่เวิร์ค

คุณหมอเอาชาวบ้านมาอ้างหรือเปล่า

ก็แล้วแต่จะคิด แต่เราเองก็ไม่ได้เห็นด้วยกับสุเทพ (เทือกสุบรรณ) ทุกเรื่อง อันนี้ชัดเจน เราไม่เห็นด้วยกับเผด็จการรัฐสภา และเราก็ไม่อยากได้รัฐประหาร แต่พอมันรัฐประหารแล้ว เราจะมาด่ามันเลย ชีวิตก็จะอยู่ลำบาก เห็นด้วยกับมันมั้ย เราไม่เห็นด้วย ด่ามั้ย ด่า แล้วทำยังไงกับมัน เราคิดและเราทำ แต่เราคิดและทำแบบคนใต้

สรุปว่าไม่เอาเผด็จการรัฐสภา ไม่เอาเผด็จการทหาร แล้วก็ไม่เชื่อในระบอบผู้แทน สรุปแล้วจะเอาอะไร จะเอาอนาคิสต์? หรือประชาธิปไตยทางตรง?

ไม่รู้ เราไม่รู้คำตอบสุดท้าย แต่เรารู้ว่าสามอย่างนั้นพึ่งไม่ได้ ผู้แทนอาจจะพึ่งได้ แต่พึ่งได้เป็นครั้งคราว จุดยืนของเราคือปกป้องฐานทรัพยากรให้ปลอดจากการรุกรานจากรัฐและทุน พูดง่ายๆ คือคนในพื้นที่ขอกำหนดอนาคตตัวเอง เพราะที่ผ่านมาคนข้างบนกำหนดให้เราตลอด ทีนี้จะกำหนดอย่างไร มันก็ต้องให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้นไม่ใช่เพียงแค่มารับฟังความคิดเห็น แต่ต้องมีอำนาจตัดสินด้วย ซึ่งการจะทำแบบนั้นได้ต้องสร้างฐานมวลชนให้เข้มแข็งเพื่อสร้างดุลอำนาจในการต่อรอง แต่ต้องอยู่ในกรอบที่สังคมรับได้คือไม่ใช้ความรุนแรง ใช้แนวทางสันติวิธีส่งเสียงออกมา ประท้วงบ้าง ปิดถนนบ้าง มันดูเป็นกึ่งอนาคิสต์นั่นแหละ แต่ว่าเราจะพัฒนารูปแบบประชาธิปไตยแบบไหนล่ะ

ความพยายามในการรักษาฐานทรัพยากรแบบนี้ ความพยายามรักษาวิถีชีวิตที่เคยเป็นมา ด้านหนึ่งมันเป็นฐานคิดแบบอนุรักษนิยมหรือเปล่า ซึ่งเป็นฐานคิดหลักที่ปะทะกับประชาธิปไตยทุกวันนี้

ผมว่าเป็นคำถามที่วิชาการเกินไป ไม่รู้จะแยกกันไปทำไม คือคำว่ารักษาฐานทรัพยากรธรรมชาติ มันไม่ได้แปลว่าปล่อยให้อยู่แบบเดิมนะ มันแปลว่าเราขอกำหนดอนาคตของพื้นที่เราเอง มันก็เป็นประชาธิปไตยแบบหนึ่ง มันใช่ประชาธิปไตยแบบที่เสียงส่วนมากบอกให้เราเป็นอุตสาหกรรมแล้วเราก็ต้องเป็น แบบนั้นมันไม่ถามอะไรเราเลย ถึงถามก็ไม่เคารพเสียงชาวบ้านเลย แล้วเราก็ทำงานพัฒนาแบบเรา ปะการังเทียมแบบที่เอารถถังเก่ามาทิ้ง แบบนั้นไม่ต้อง เราทำกันเอง ชาวบ้านดูแลชายหาดเอง ไม่ต้องพึ่งพารัฐ มันก็มีความพยายามในการทำงานพัฒนา ไม่ได้ทำแต่งานร้อนหรืองานสู้รบอย่างเดียว เราสร้างรูปแบบการพัฒนาที่ใช่ สวนยางเราก็ทำสวนผสมผสาน ไม่ได้มีแต่การปลูกแต่พืชเชิงเดียวมีการสร้างรูปธรรมขึ้นมา นาข้าวก็เป็นนาอินทรีย์ ซึ่งผมว่านี่เป็นประชาธิปไตยแบบหนึ่งที่อาจจะไม่ใช่เรื่องของโครงสร้างส่วนบน ไม่สนใจจำนวน ส.ส. จะมีกี่คน ส.ว.จะมาอย่างไร เพราะสุดท้ายแล้วไม่ว่ามาจากไหนก็จะถูกระบบกลืน

ตอนพฤษภา 2535 พลังหลักที่ไล่ทหารกลับไปคือ ชนชั้นกลาง ในขณะที่ 2549 และ 2557 พลังที่เรียกทหารกลับมาก็คือชนชั้นกลาง ทำไมชนชั้นกลางในช่วง 25 ปีนี้ถึงเหวี่ยงได้สุดขั้วขนาดนี้

ไม่รู้เหมือนกันนะกับชนชั้นกลาง ผมว่ามันเป็นเรื่องกระแส

คุณหมอกับชาวบ้านที่เคลื่อนไหวเป็นชนชั้นกลางไหม?

ผมน่ะเป็นชนชั้นกลางแน่ แต่ชาวบ้านไม่ใช่ เขาเป็นเกษตรกรรม เป็นชาวประมง ฐานหลักเขาเป็นฐานเกษตรไม่ได้มีฐานอาชีพบริการอย่างเราๆ

แต่รายได้ที่มันเพิ่มขึ้น แรงปรารถนา ไลฟสไตล์ที่เปลี่ยนไปไม่ทำให้เขาเป็นชนชั้นกลางเหรอ?

ไม่นะ ทุกวันนี้เขาก็ยังลำบากอยู่ ไม่เหมือเรา วิธีคิดก็ยังไม่ใช่ เขายังคิดแบบเกษตรกร ไม่ได้โลภมาก คือถ้าเป็นชาวบ้านจริงๆ เขาจะไม่โลภมาก จะไม่จับบปลาให้หมดทะเล เขาจะใช้อวนตาใหญ่ ปลาเล็กก็ปล่อยไป ยังมีวิธีคิดแบบชาวบ้านอยู่ไม่ได้คิดถึงกำไรสูงสุดหรือเรื่องผลประโยชน์เป็นหลัก ซึ่งต่างจากชนชั้นกลางที่เป็นเรื่องของกระแสซะเยอะ ชนชั้นกลางไม่มีจุดยืนอยู่แล้ว ก็ตามกระแสกันไป กระแสไล่ทักษิณเด่นก็ตามกระแสกันไป

ชนชั้นกลางรู้สึกไม่มั่นคงเพราะชนชั้นล่างมีอำนาจผ่านการเลือกตั้ง เลยคิดว่าอยากจะให้ทุกอย่างถูกหยุดไว้แบบเดิม

ชนชั้นกลางคือคนที่ไม่คิดอะไรมาก คนที่คิดคือนักวิชาการหรือไม่ก็ชนชั้นกลางที่ใกล้ชิดนักวิชาการที่คิดมาก ชนชั้นกลางแค่มีความสุขกับการบริโภคนิยม และเล่นไปตามกระแสไม่ได้คิดอะไรมากขนาดนี้ ชาวบ้านต่างหากที่คิดเพราะเขาถูกกระทำจากอำนาจรัฐ อันนี้เขาคิดเยอะ แต่เขาจะแสดงออกอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ตอนที่มีการล้มการเลือกตั้งคุณทำอะไรอยู่

ตอนนั้นก็มาบ่อยอยู่ เอารถพยายามขึ้นมาด้วย แต่ไม่ได้ไปล้มการเลือกตั้งกับเขา แต่ก็โอเคว่าอันนี้มันเป็นยุทธศาสตร์ แต่ก็ไม่ถูกอยู่แล้วที่ไปจำกัดสิทธิของคนอื่น คือมันยากนะเมื่อเราเอาตัวเข้าไปอยู่ในขบวน มันมีแค่ขาวกับดำในการต่อสู้ มันเป็นสีเทาไม่ได้ ถ้าเราอยู่ในขบวนการต่อสู้ ประสบการณ์ส่วนตัวมันเป็นอย่างนั้น ยกตัวอย่างเช่นกรณีค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน มันก็มีแค่สองทางคือสร้างกับไม่สร้าง รัฐบาลบอกว่าถ้าอย่างนั้นขอสร้าง แต่ลดขนาดลง 4 เท่า จาก 2,000 เมกะวัตต์เหลือ 500 เมกะวัตต์ มันก็อาจจะพอถูไถ แต่ว่าในกระบวนการต่อสู้มีแค่เอากับไม่เอา ถูกต้องมันเป็นข้อจำกัด คือจริงๆ เราก็ไม่ได้เห็นด้วยกับ กปปส. ในทุกเรื่อง แต่กระบวนการต่อสู้มันก็ต่อไปด้วยกัน ตกกระไดพลอยโจนเปล่าไม่รู้ แต่รู้ว่ามันต้องสู้ไปด้วยกัน และจะโดนหักหลังอีกทีค่อยมาว่ากัน

ทำไมรอบนี้ คสช. ถึงอยู่ได้นานถึง 3 ปี

ต้องโทษคนกรุงเทพนี่แหละ จริงๆ การล้มรัฐบาลหรือการสถาปนารัฐบาลมันอยู่ที่กรุงเทพ ไม่ได้อยู่ที่ต่างจังหวัด

แต่ว่าคุณหมอก็มา ชาวบ้านที่จะนะก็ขึ้นมาเรียก คสช.

คือขึ้นมาก็ได้เท่านั้นแหละ คสช. เก่งกว่าสุจินดา เก่งกว่า คมช. (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) เยอะ คมช. นี่ก็เลอะเทอะอยู่แล้ว ส่วน รสช. เราออกมาประท้วงอะไรก็ไม่ห้าม ประท้วงปิดโปสต์เตอร์ที่ป้ายรถเมล์ก็ติดกันเข้าไป พอตอนค่ำหรือตอนเช้าทหารก็มาแกะออก แต่เขาไม่ได้ห้ามเราติด ประท้วงก็ประท้วงไป แต่ คสช. คงสรุปบทเรียนแล้วว่าถ้าปล่อยให้เป็นแบบนั้นต่อไปคงขยายตัว เขาเลยบล็อคทุกทางและทำการประชาสัมพันธ์อย่างมีประสิทธิภาพพอสมควร

มันก็จะกดการเคลื่อนไหวของชาวบ้านด้วย แล้วอย่างนี้คนจะนะ คนในพื้นที่ที่คุณหมอใกล้ชิดด้วย เขาคิดว่าฉันทำพลาดไปหรือเปล่า

ไม่รู้เหมือนกัน เพราะมันไม่มีวงคุยเรื่องพวกนี้

ทำไม? กลัวความแตกแยก?

อาจจะเพราะไม่มีใครไปชวนคุยมั้ง เพราะปกติเราคุยเรื่องไปข้างหน้า ไม่ได้สรุปบทเรียนในอดีตเท่าที่ควร

ถ้าอย่างนั้นบทเรียนประการหนึ่งคือควรมีการสรุปบทเรียน?

ควร โดยทฤษฎีควรต้องทำอยู่แล้ว เมื่อถึงจังหวะที่ใช่ เพราะการสรุปบทเรียนต้องยอมแก้ผ้า ถอดตัวเอง

ซึ่งตอนนี้ไม่ใช่

ตอนนี้น่าจะยัง น่าจะยังไม่ถึงอารมณ์นั้น สำหรับพื้นที่ผมนะ พื้นที่อื่นผมไม่รู้

คุณหมอมองว่าการที่ คสช. กำลังกดปราบมันเป็นการกดพลังของชาวบ้านด้วย

แน่นอน แต่มันก็สะท้อนให้เห็นถึงพลังของพี่น้องด้วยนะว่าไม่แกร่งจริง พี่น้องภาคเหนือ ภาคอีสาน แกร่งน้อยกว่าที่ควรจะเป็น พี่น้องภาคใต้ผมยังแกร่งกว่าอีก แต่โอเคละภาคใต้มีเงื่อนไขหลายอย่างที่ทำให้เขาเคลื่อนไหวได้ อย่างกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เขาคงไม่ได้เกรงใจเรื่องด้วยเรื่องที่เชิญเขามาหรอก เรื่องนี้มันจบไปแล้ว ตอนนี้เราก็ด่าเขาชาวเย็น ตอนนี้ชาวบ้านเขาชัดนะและขบวนการเคลื่อนไหวในภาคใต้ก็ชัดว่า สิ่งที่เราทำคือการสถาปนาอำนาจภาคประชาชน ฉะนั้น เรามีหน้าที่แซะอำนาจรัฐ แซะไปเรื่อยในทุกโอกาสที่ทำได้ ภายใต้เงื่อนไขที่เราทำได้ เพราะก็ต้องเซฟชาวบ้าน เซฟตัวเอง เพราะมันเอาจริง

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพไปเยอะมาก ถ้าคุณหมอเชื่อเรื่องการสร้างความเข้มแข็งจากข้างล่าง อย่างไรก็แล้วแต่รัฐธรรมนูญย่อมมีผล เมื่อรัฐธรรมนูญเป็นอย่างนี้แล้ว ขบวนชางบ้านจะทำอย่างไร

ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ต้องช่วยถล่มกันต่อไป ตามเงื่อนไขที่มี แต่ว่าความอินของชาวบ้านต่อประเด็นรัฐธรรมนูญที่แย่ มันมีน้อย แต่เราเองก็เห็นว่ามันแย่ ชาวบ้านอินกับเรื่องฐานทรัพยากร เพราะมันเป็นเรื่องใกล้ตัว ใกล้บ้าน แต่ผมว่าสุดท้าย เราก็ต้องช่วยกันทำงาน อย่างคนกรุงเทพฯ ก็ต้องจัดการเรื่องการเมืองโครงสร้างเยอะๆ ชาวบ้านก็ต้องปกป้องฐานทรัพยากรให้เต็มที่ ถ้าสองสายมาช่วยกันจะมีความหมายในการเปลี่ยน เรียกร้องให้ชาวบ้านมาทำเรื่องรัฐธรรมนูญมันผิดฝาผิดตัวไปหน่อย

อย่างนี้วิจารณ์ได้ไหมว่าการทำงานของภาคประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ อาจจะมุ่งเน้นเรื่องฐานทรัพยากรจนกระทั่งมองไม่เห็นการเชื่อมโยงกับกติกาที่เป็นโครงสร้างใหญ่ของประเทศ

เห็นบ้าง แต่ทำไม่ไหวมากกว่า ไม่ได้เห็นถึงขนาดอินมากหรือปวารณาตัวเข้ามาลุยอย่างเต็มที่

คุณหมอเรียกร้องให้ส่วนกลางที่อยู่ใกล้อำนาจทำในส่วนข้างบน

คือคนกรุงเทพฯ ไม่มีฐานมวลชน ไม่มีฐานชาวบ้าน ถ้าคุณอยากมีฐานชาวบ้านคุณต้องลงไปทำงานกับชาวบ้าน ซึ่งมันอยาก มันเหนื่อย มันเรียกร้องชีวิตเยอะ ฉะนั้น ผมคิดว่าชนชั้นกลางที่อยู่กรุงเทพฯ นี่แหละที่ต้องมาตาม มาดู ทักท้วง โวยวายเรื่องโครงสร้างให้มากขึ้น และมันก็สอดคล้องกับบทบาทของคนเมืองด้วย สัมมนา ชูป้าย โพสต์เฟซบุ๊กเยอะๆ ซึ่งไม่ใช่วิธีชาวบ้านหรอก

ความแตกแยกทางความคิดจากสถานการณ์การเมืองจะทำให้การทำงานประสานกันแบบที่คุณหมอพูดเกิดขึ้นได้หรือไม่ คนฝั่งหนึ่งไม่เอาทหาร ขณะที่อีกฝั่งบอกไม่เป็นไร กลุ่มที่ไม่เอารัฐประหารอาจจะบอกว่า ถ้าคุณยังไม่สำนึกผิด....

ถ้าคิดอย่างนี้ก็สมควรแล้วที่จะให้ คสช. เจริญรุ่งเรืองต่อไปชั่วกาลนานแสนนาน พูดง่ายๆ ว่าดันแตกกันเองทั้งๆ ที่มีศัตรูร่วมอยู่ ผมถูกกระแนะกระแหนเยอะมากว่าเป็นนั่งร้านเผด็จการ ไปเรียกเขามาบ้าง แต่เราก็ได้ข้อสรุปว่า อย่าไปสนใจมันเลย ไม่เห็นมันจะสู้อะไรกับเผด็จการเลย เอาแต่ด่าเรา แล้วสู้จริงเปล่าก็ไม่รู้ไอ้ที่โพสต์อยู่ แต่เราสู้จริง

เขาสู้ไม่ได้หรือเปล่า เพราะโดนกดปราบอย่างที่คุณหมอบอก

คือถ้าตั้งใจทำมันก็พอฟัดพอเหวี่ยง แต่ต้องค่อยๆ จัดตั้งและสามัคคีกัน หรืออย่างน้อย...นี่มันก็ 3 ปีแล้ว เลิกกระแนะกระแหนกันได้แล้ว แล้วมาดูกันว่าจะลุยกับมันอย่างไร เพราะมันเอาแน่ มันยึดประเทศต่อแน่ เหมาเจ๋อตุงกับเจียงไคเช็กยังรวมกันไล่ญี่ปุ่นก่อนได้เลย ไล่ศัตรูก่อน แล้วมารบกันใหม่

แต่ก็ยังมีฝั่งที่ไม่เอารัฐประหารบอกว่า ถ้าคุณยังไม่ขอโทษและไม่สำนึกผิด...

ก็ตามสบาย คือมันไม่ใช่เรื่องเรียกร้องเพื่อนนะ มันเป็นเรื่องเรียกร้องตัวเราว่าเราจะมีบทบาทอย่างไรกับการสถาปนาประชาธิปไตยใหม่ มันไม่ใช่เรื่องเรียกร้องเพื่อนหรือไปสร้างเงื่อนไข ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นมันไม่ถึงไหน ผมว่าสายพวกผมก็ชัดแล้ว จะสำนึกผิดหรือไม่สำนึกผิดเราไม่คุยมาก เพราะมันมีความหลากหลายในขบวน ไม่เอาทักษิณก็มี ไม่เอาทหารก็มี หรือสำนึกก็มี ไม่สำนึกก็มี แต่สิ่งที่เราคุยกันคือจะสร้างประชาธิปไตยใหม่อย่างไร บทเรียนอันหนึ่งคือไปทำชุมชนให้เข้มแข็งแล้วค่อยต่อรองอำนาจรัฐ

คือถ้าคิดอย่างนี้มันน่าให้เขาอยู่นานๆ นะ ขอโทษแล้วมันจะดีขึ้นเหรอ มันไม่ได้หรอก เพราะมันเป็นการเรียกร้องเพื่อน ซึ่งเพื่อนมีความคิดอันหลากหลาย คุณไม่มีวันจะสถาปนาคนที่จะมาสถาปนาประชาธิปไตยได้หรอก ถ้ายังเรียกร้องเรื่องจุกจิก ความสำนึกผิดจะเกิดทีหลังเองเมื่อถึงเวลา มันจะเกิดเอง ไม่ต้องรีบ ไม่ใช่เรื่องเรียกร้อง ผมมั่นใจว่าคนจะได้บทเรียนเพียงแค่ว่าเขาจะพูดไหม

หมายถึงว่าอาจจะสำนึกผิดแล้ว แต่โดยสภาพการณ์ยังพูดไม่ได้

อาจจะประมาณนั้นก็ได้ หรืออาจจะไม่สำนึกผิดอย่างจริงจัง หรือยังสำนึกถูกอยู่เพราะคิดว่าระบอบทักษิณมันเลวจริงๆ คือเรียกว่าระบอบทักษิณยังไม่ถูกนะ คือระบอบรัฐและทุนที่รวมกันทำกับชุมชนและชาวบ้าน

แล้วตัวคุณหมออยู่ตรงจุดไหน

ผมไม่รู้สึกว่าถูกหรือผิด แต่มันเป็นพัฒนาการทางความคิด และพัฒนาการของตัวเราที่มีบทบาททางสังคม มันเป็นเพียงแค่บริบทตอนนั้นของเรา ซึ่งไม่สามารถชี้ถูก ชี้ผิด และผมก็เลิกตัดสินถูกผิดกับเรื่องนี้ไปแล้ว ผมก็ไม่ได้รู้สึกมีปัญหากับคนเผาศาลากลางนะ เพราะมันเป็นจังหวะ แต่โอเคคุณทำอะไรคุณต้องรับ รับสิ่งที่คุณทำ มันเป็นจังหวะของอารมณ์และชีวิต ไม่เกี่ยวกับสำนึกถูกและผิด มันไม่มีอยู่จริง แท้จริงคือคุณจะทำอะไรให้ดีขึ้น 

แต่ในการเคลื่อนไหวของชาวบ้านต้องมีขาวกับดำ?

ในการเคลื่อนไหวมันมีจุดยืนเพื่อการเกาะเกี่ยวกันที่ชัดเจน ถ้าไม่มี มันสร้างขบวนไม่ได้ จะทำได้ยาก การทำขบวนต้องการความชัดถึงจะระดมความร่วมมือได้ แต่กับปัจเจกมันไม่มีถูกผิด มันมีทั้งถูกและผิด แล้วแต่มุมมอง แล้วแต่อารมณ์

ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อนาคตการเคลื่อนไหวของเอ็นจีโอ NGOs ภาคประชาชนในวันข้างอย่างไร จะต้องเผชิญความท้าทายอะไรบ้าง และจะสู้อย่างไร

บอกยาก ถ้ายังสู้กันแค่นี้แบบนี้ประเทศนี้ก็คงถูกเขางาบไปหมด คือสู้กันแบบรบกันแค่ฐาน ปกป้องบ้านเกิด ปกป้องฐานมวลชน อันนี้พูดถึงสายใต้นะ อาจจะมีบางส่วนที่แตะเรื่องนโยบายหรือไปช่วย คสช. ทำนั่นทำนี่ ก็โดนข้อหานั่งร้านเผด็จการ เข้าไปร่างให้มันดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ก็โดนข้อหานั่งร้านเผด็จการ ทำฐานมวลชนอยู่ข้างล่างก็โดนข้อหาไม่สนใจส่วนบน คือถ้ายังเป็นอยู่แบบนี้มันก็ลำบาก และคงไม่ชนะ ก็รอทุนและรัฐรวมหัวกันงาบ อันนี้เป็นโจทย์ยาก ในพื้นที่ก็คุยกันบ้างว่าเราจะค้านโครงการทีละโครงการแบบนี้หรือ มันก็ชัดว่าคงไม่ใช่

"มันไม่ใช่เรื่องเรียกร้องเพื่อนนะ มันเป็นเรื่องเรียกร้องตัวเราว่าเราจะมีบทบาทอย่างไรกับการสถาปนาประชาธิปไตยใหม่... ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นมันไม่ถึงไหน ผมว่าสายพวกผมก็ชัดแล้ว จะสำนึกผิดหรือไม่สำนึกผิดเราไม่คุยมาก เพราะมันมีความหลากหลายในขบวน... แต่สิ่งที่เราคุยกันคือจะสร้างประชาธิปไตยใหม่อย่างไร บทเรียนอันหนึ่งคือไปทำชุมชนให้เข้มแข็งแล้วค่อยต่อรองอำนาจรัฐ"

แต่ที่นี้จะทำอย่างไร ด้วยบริบทที่เราอยู่คืออยู่ไกล ทำงานชุมชนเยอะ อยู่กับชาวบ้านเยอะ เอ็นจีโอเป็นสายคำตอบอยู่ที่หมู่บ้านเยอะ อันนี้ยังคิดกันไม่ทะลุว่าจะไปอย่างไร ก็มีความพยายามจะรวมหลายเครือข่ายเข้ามาช่วยกัน แต่มันก็ได้แค่เรื่องปกป้องบ้านเกิด ยังไปไม่ถึงเรื่องเชิงโครงสร้าง จัดตั้งกองกำลังเหรอ ปืนเหรอ เลียนแบบบีอาร์เอ็น (ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี) ของสามจังหวัดเหรอ มันก็เป็นไปไม่ได้

แต่คุณหมอบอกเองว่าการทำงานของคุณหมอคือเน้นที่ตัวชาวบ้าน ไม่พยายามไปแตะที่โครงสร้าง

แตะได้ถ้ามีจังหวะ แต่ว่าการแตะโครงสร้าง เราไม่เชื่อกระบวนการล็อบบี้ ไม่เชื่อกระบวนการทำนโยบายแบบปัจจุบันแล้ว แบบที่พวกตระกูล ส. ชอบทำ เพราะทำแบบนั้นก็จะได้กระดาษมาแผ่นหนึ่งหรือได้กฎหมายดีๆ มาบางมาตรา ท่ามกลางมาตราแย่ๆ อีกเยอะในกฎหมายฉบับเดียวกัน

โดยสรุปก็คือตอนนี้ยังไม่มีการคุยว่าจะเอาอย่างไรต่อกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในวันข้างหน้า

สรุปก็คือไปไม่ถูก

คุณหมอยังมีความหวังกับประเทศนี้มั้ย

หวังสิ ผมเชื่อว่าอย่างไรเผด็จการมันก็กลืนกินตัวเอง จะเร็วจะช้า โอเคตอนนี้ เขาทำเป็นทำเก่งก็กลืนกินช้าหน่อย ชนชั้นกลางตื่นน้อยก็ใช้เวลาหน่อย แต่ว่ามันอยู่ไม่นานหรอก คสช. เองไม่น่ากลัวหรอก ที่น่ากลัวคือทุนที่อยู่เบื้องหลัง คสช. มากกว่า ผมว่าทุนเป็นของแท้และยั่งยืน อำนาจปืนเป็นเครื่องมือของทุน อำนาจปืนเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำเท่านั้นเอง ถ้า คสช. ตั้งพรรคการเมืองก็จะจบเร็วขึ้น จะได้เห็นกันชัดๆ

แล้วคุณหมอมองการเมืองข้างหน้าอย่างไร เพราะมันต้องมาเกี่ยวพันกับภาคประชาชนอย่างเลี่ยงไม่ได้

ตอนนี้ไม่ค่อยสนใจภาพใหญ่ มันเป็นอารมณ์ช่วงนี้ มันเป็นวิธีคิดและจังหวะชีวิตในช่วงนี้ การเมืองในอนาคตประชาธิปไตยก็คงน้อยลงมาก น้อยลงไปเยอะ อำนาจทุนกับอำนาจรัฐจะผนวกกันเหมือนเดิมแบบช่วงทักษิณ อาจจะหนักกว่าด้วย ชาวบ้านก็อาจจะได้เศษเนื้อมากินบ้างตามสมควร

คุณหมอบอกว่าต้องการส่งเสริมความเข้มแข็งจากฐานราก โดยกลไกแล้วมันมีการเลือกตั้งท้องถิ่น มันใกล้ชาวบ้านมาก มันอาจจะควบคุมนักการเมืองได้มากกว่า

โดยอุดมคติก็ควรเป็นเช่นนั้น แต่ปัจจุบันการต่อสู้ของชาวบ้านไปไม่ถึง อำนาจทุนก็ควบคุมอำนาจท้องถิ่นอันนี้ที่ชาวบ้านพบเห็น ก่อนเลือกเขาไปตอนลงสมัครก็เป็นคนของชาวบ้าน ประสบการณ์ของเราคือสักครึ่งปีหรือปีหนึ่งเขาเปลี่ยนเป็นฝ่ายทุน จำนนด้วยหลายปัจจัยไม่ใช่ทุนอย่างเดียว ปัจจัยอำนาจ ปัจจัยระเบิด ทำให้ต้องจำนนไม่สามารถซ่าได้ ไม่สามารถยืนข้างชาวบ้านได้ พัฒนาการของการสร้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นปากเป็นเสียงแทนชาวบ้านได้จริงก็ยังต้องใช้เวลาอีกนาน

มันเป็นสิ่งที่ต้องหวังให้ได้ในอนาคตอันยาวไกล แต่ระหว่างที่ยังหวังไม่ได้จะทำยังไง อำนาจทุนมันรุนแรง อีกอย่างคือการปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นอยู่นี้ มันยังไม่พอ เพราะมันทำแต่เรื่องขยะ ถนน ส่งเสริมอาชีพเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้เป็นองค์กรที่จะเป็นปากเป็นเสียงแทนชาวบ้านในภาพใหญ่ของการพัฒนา ซึ่งตรงนี้ยังไม่เห็นแววที่จะไป

ฉะนั้นนี่จึงเป็นเรื่องที่เราต้องไปแตะเรื่องรัฐธรรมนูญไม่ใช่หรือ?

อามรณ์ความรู้สึกของผมและเพื่อนๆ คือ เขียนไปเถอะ เพราะความเป็นจริงมันไม่ค่อยตรงกันเท่าไหร่ เราเบื่อแล้วงานเขียนกระดาษสวยๆ ดีๆ เบื่อจริงๆ แถลงการณ์ก็เขียนเบื่อแล้ว หลังๆ คำถามคือทำไมคนใต้ต้องล้มมันทุกเวที เวทีมีส่วนร่วมเราไม่ร่วม ล้มอย่างเดียว อันนี้น่าสนใจมากนะ และคนล้มไม่ใช่เอ็นจีโอ พวกเขาจะมาสั่งล้มไม่ได้นะ ถ้าชาวบ้านไม่เอา เพราะชาวบ้านรู้ว่าตัวเองมีโอกาสติดคุก แต่ตอนนี้ชาวบ้านต่างหากที่สั่งให้เอ็นจีโอล้มเวที สนับสนุนในการล้ม มันเป็นความคิดชาวบ้าน เขากล้า ทำไมเราต้องล้มทุกเวที อาจจะเพราะเราอยู่ข้างล่างมากเกินจนรู้สึกว่ากระดาษ กฎหมาย มันมีประโยชน์น้อยกับการจัดการข้างล่าง ฉะนั้น ไม่เอาก็บอกให้รู้ว่าไม่เอา

ผมว่าคนใต้รู้สึกนะว่า จะทำอย่างไรที่เราจะร่วมวงไพบูลย์กันไม่เอาเผด็จการระหว่างคนเหนือ คนอีสาน คนใต้ แต่ไม่รู้ว่าใครจะทำ คือมันต้องเลิกคิดเล็กคิดน้อยกันก่อน เพราะนี่เป็นปัญหาจริง เป็นปัญหาของสังคมไทยจริง ปัจจุบันผมว่าเราเห็นปัญหาร่วมแล้ว แต่ไม่รู้ว่าใครจะสร้างกลไกการทำงานร่วมกัน ส่วนกลไกในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมมันเริ่มรวมกันแล้ว ส่วนกลไกในประเด็นเรื่องประชาธิปไตยมันยังไม่เกิด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหราชอาณาจักรยกระดับภัยก่อการร้ายขั้นสูงสุด เรียกทหารหนุนตำรวจ รู้ตัวมือระเบิดแล้ว

Posted: 24 May 2017 04:34 AM PDT

คืบหน้าระเบิดแมนเชสเตอร์ อารีนา นายกฯ ประกาศระดับภัยก่อการร้ายเป็นระดับสูงสุด เรียกทหารประจำการ 5,000 นายสนับสนุนตำรวจป้องกันภัยทั่วสหราชอาณาจักร รู้ตัวมือระเบิดแล้ว เป็นชายหนุ่มเชื้อสายลิเบีย ตำรวจแถลงจับเพิ่มอีกสาม รมต. มหาดไทยอังกฤษโวยสหรัฐฯ คาบข่าวบอกสื่อหวั่นทำเสียรูปคดี ไอเอสออกมาแสดงความรับผิดชอบแล้ว เปิดรายชื่อผู้เสียชีวิตล่าสุด 10 จาก 22 ศพ

24 พ.ค. 2560 สืบเนื่องจากเหตุระเบิดในห้องโถงของ แมนเชสเตอร์ อารีนา เมืองแมนเชสเตอร์ หลังคอนเสิร์ตของสตาร์ดังชาวอเมริกาขวัญใจวัยรุ่น อาเรียนา แกรนเด จบลงไม่นาน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 22 ราย บาดเจ็บอีก 59 ราย ถือเป็นเหตุก่อการร้ายที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษของสหราชอาณาจักร (อ่านเพิ่มเติม ที่นี่)

ความคืบหน้าล่าสุด เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร แถลงหลังประชุมกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคงว่า นักวิเคราะห์ของหน่วยข่าวกรองได้ยกระดับภัยก่อการร้ายในสหราชอาณาจักรจากระดับ "ร้ายแรง" สู่ระดับ "รุนแรงสูงสุด" อันถือเป็นระดับภัยสูงสุด และถูกใช้เป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษ

"นั่น[การยกระดับภัยก่อการร้าย] หมายถึงการประเมินว่า ไม่เพียงแต่ภัยการก่อการร้ายจะยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงแล้ว การก่อเหตุโจมตีครั้งต่อๆไปก็อาจจะเกิดขึ้นอีกไม่นาน"เมย์ กล่าวในระหว่างแถลงข่าว ทั้งยังระบุว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอการสนับสนุนจากทหารบกแล้ว โดยกำลังหนุนจากกองทัพจะเข้ามาประจำการเพื่ออารักขาเป้าหมายของผู้ก่อการร้ายทั่วสหราชอาณาจักร เพื่อให้ตำรวจนำกำลังของตนลาดตระเวนในสถานที่สำคัญได้มากขึ้น "คุณอาจจะเห็นทหารประจำการอยู่ตามงานต่างๆเช่นคอนเสิร์ตหรือตามงานแข่งขันกีฬาเพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลความปลอดภัย" เมย์ กล่าว ทั้งนี้ ทหารจะอยู่ภายใต้การกำกับของผู้บัญชาการตำรวจ

สำนักข่าว บลูมเบิร์ก รายงานว่า การเรียกทหารจำนวน 5,000 นายเข้าประจำการเพื่อป้องกันสถานที่สำคัญจากภัยก่อการร้าย เป็นปฏิบัติการที่เรียกว่า Operation Temperer และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่สหราชอาณาจักรใช้ปฏิบัติการดังกล่าว

ทั้งนี้ ซาดิค ข่าน นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน ทวีตในทวิตเตอร์ Mayor of London แจ้งชาวลอนดอนว่า "ในเมืองหลวงจะมีกำลังตำรวจ รวมไปถึงกองกำลังติดอาวุธ เข้ามาประจำการเพิ่มเติม ชาวเมืองอาจจะเห็นทหารในกรุงลอนดอน - พวกเขาเข้ามาช่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจของเรา เพื่อให้พวกเราปลอดภัยและทำการดูแลรักษาพื้นที่สำคัญ"

เผย มือระเบิดเป็นชายหนุ่มเชื้อสายลิเบีย รมต. มหาดไทยโวยสหรัฐฯ ชิงคาบข่าวบอกสื่อหวั่นทำเสียรูปคดี

เดอะ การ์เดียน รายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้กู้ไฟล์กล้องวงจรปิดที่บันทึกช่วงระเบิดเอาไว้ได้ เป็นภาพของมือระเบิดเดินเข้าไปในโถงที่เกิดเหตุ จากนั้นก็มีการระเบิดขึ้น โดยระเบิดนั้นถูกระบุว่าถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเองอย่างหยาบๆ มีความทนทานพอที่จะพกพาและสร้างแรงระเบิดที่รุนแรง โดยแหล่งข่าวเชื่อว่าระเบิดถูกผลิตขึ้นบนเกาะบริเตน ที่เป็นที่ตั้งของอังกฤษ สกอตแลนด์ และเวลส์

เมย์ ได้ยืนยันว่า มือระเบิดแมนเชสเตอร์ อารีนามีชื่อว่า ซัลมาน รามาดาน อาเบดี อายุ 22 ปี ชาวเมืองแมนเชสเตอร์ เกิดและโตที่สหราชอาณาจักร ขณะนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงกำลังดำเนินการสืบค้นว่าเขามีส่วนเกี่ยวโยงกับหน่วยก่อการร้ายระดับสูงกว่านี้หรือไม่ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจแมนเชสเตอร์ได้จับกุมชายสามคนทางตอนใต้ของเมือง บริเวณที่อยู่ของอาเบดี และตั้งข้อสันนิษฐานว่าเหตุระเบิดไม่ได้กระทำโดยอาเบดีเพียงลำพัง

ภาพถ่ายซัลมาน อาเบดี เมื่อหลายปีที่แล้วขณะใส่ชุดลายพรางระหว่างนั่งเรียนในมัสยิด Didsbury (ที่มา: เดอะ การ์เดียน/handout)

สำนักข่าว เดอะ การ์เดียน รายงานว่า มีเจ้าหน้าที่ในสหรัฐฯ ส่งข้อมูลของอเบดีให้สื่อมวลชนสหรัฐฯ ก่อนหน้าที่จะเปิดเผยต่อสื่อของสหราชอาณาจักรในอีก 2 ชั่วโมงถัดมา จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจของสหราชอาณาจักรจึงค่อยออกมายืนยันทีหลัง ทั้งนี้ หน่วยงานความมั่นคงรู้จักตัวอเบดีอยู่แล้ว แต่ไม่เคยอยู่ในรายชื่อของผู้มีระดับความเป็นภัยสูง เจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายความมั่นคงกำลังหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าเขาปฏิบัติการคนเดียว หรือเป็นฟันเฟืองให้กับเครือข่ายที่ใหญ่กว่า ถึงแม้กลุ่มรัฐอิสลามหรือ ไอเอส ได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่พบหลักฐานสนับสนุนข้อยืนยันดังกล่าว

แอมเบอร์ รัดด์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของสหราชอาณาจักร ตำหนิการเปิดเผยข้อมูลของสหรัฐฯ ต่อสื่อมวลชนในสหรัฐฯ ว่า "ตำรวจอังกฤษมีความชัดเจนในเรื่องนี้มากว่า พวกเขาต้องการควบคุมกระแสข้อมูลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกซึ่งส่งผลต่อความราบรื่นของปฏิบัติการ ดังนั้นมันจึงน่าขุ่นเคืองถ้าข้อมูลดังกล่าวถูกเปิดเผยจากแหล่งข่าวอื่น และผมก็ออกตัวอย่างชัดเจนกับเพื่อนของเรา [ทางการสหรัฐฯ] ว่าเรื่องนี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีก"

เดอะ การ์เดียน รายงานว่า เหตุผลหนึ่งที่ตำรวจและฝ่ายความมั่นคงไม่ต้องการเปิดเผยข้อมูลทันทีเพราะเป็นประโยชน์ต่อการขยายผลการสืบสวนครอบครัวหรือคนรู้จักของซาลมานโดยที่ไม่ทำให้เกิดการตื่นตระหนก นอกจากนั้น ทีมสืบสวนยังไม่ต้องการเปิดเผยข้อมูลให้ศัตรูรู้ว่าตนมีข้อมูลในมือมากน้อยเพียงใด ซึ่งการเปิดเผยรายละเอียดดังกล่าวอาจขยายไปถึงการเปิดเผยวิธีการในการได้ข้อมูลดังกล่าวด้วย

อย่างไรก็ตาม ความไม่พอใจนี้อาจจะขยายตัวมากขึ้นเมื่อ จีฆา โคลอมบ์ รมว. กระทรวงมหาดไทยของฝรั่งเศสออกมาให้ข้อมูลของหน่วยข่าวกรองอังกฤษผ่านโทรทัศน์ว่า นอกจาก ซัลมาน อาเบดี จะเคยเดินทางไปลิเบียแล้ว เขาอาจเคยเดินทางไปซีเรียด้วย

ไอเอสออกมาแสดงความรับผิดชอบ คนรู้จักมือระเบิดเผยประสบการณ์ความสัมพันธ์

กลุ่มรัฐอิสลามหรือ ไอเอส ได้ออกแถลงการณ์ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษใจความว่า เหตุระเบิดในคอนเสิร์ต "ไร้ยางอาย" เป็น "การล้างแค้นของศาสนาแห่งอัลเลาะห์ เป็นความพยายามที่จะสร้างความหวาดกลัวให้กับพวกไม่จงรักภักดี และเป็นการตอบโต้ต่อการล่วงละเมิดเข้าไปในดินแดนของชาวมุสลิม"

ซัลมาน อาเบดี เป็นที่รู้จักในชุมชนชาวลิเบียที่อาศัยในเมืองแมนเชสเตอร์ โดยคนในชุมชนมีทัศนคติที่หลากหลายต่ออเบดี โดยบางคนกล่าวว่า อเบดีเป็นคนเงียบขรึม เป็นชายหนุ่มที่มีความศรัทธาสูง อ่อนน้อมถ่อมตนกับผู้อาวุโส ทั้งยังรู้สึกแปลกใจที่เขาเป็นมือระเบิด บางคนกล่าวว่า อเบดีไม่ชอบแลกเปลี่ยน แบ่งปันความเชื่อความศรัทธาของตน โมฮัมเหม็ด ซาอิด ผู้อาวุโสในมัสยิด Didsbury ที่อเบดีและอิสมาอิล น้องชายของเขาไปปฏิบัติกิจทางศาสนา ระบุว่า ตนเคยเทศน์เนื้อหาที่ต่อต้านการก่อการร้าย และ "ซาลมานแสดงสีหน้าจงเกลียดจงชังใส่ผมหลังเทศน์"

เพื่อนบ้านของอาเบดีเคยได้รับการชูนิ้วกลางจากเขาเพียงเพราะไปพูดคุยกับอาเบดีเรื่องการจอดรถขวางทางรถเข้า-ออก นอกจากนั้นยังมีรายงานว่าอาเบดีท่องบทสวดของศาสนาอิสลามเสียงดังบนท้องถนนเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่แล้ว

เปิดรายนามผู้เสียชีวิตล่าสุด อายุน้อยสุด 8 ปี

เดอะ การ์เดียน เปิดเผยรายนามผู้เสียชีวิตที่พิสูจน์ทราบแล้วทั้งหมด 10 ราย ดังนี้

  • มาร์ทีน เฮตต์ 29 ปี

  • แองเจลิคา คลิส 40 ปี

  • มาร์ซิน คลิส 42 ปี

  • จอร์จินา คัลแลนเดอร์ 18 ปี

  • ซาฟฟี โรส รูสซอส 8 ขวบ

  • จอห์น แอตคินสัน 28 ปี

  • เคลลี บริวสเตอร์ 32 ปี

  • โอลิเวีย แคมป์เบลล์ 15 ปี

  • อลิสัน โฮฟ 45 ปี

  • ลิซา ลีส์ 47 ปี

แปลและเรียบเรียงจาก

Manchester attack: three arrested in south of city as more victims named - live updates, The Guardian,   24 May 2017 เวลา 17.52 น.

U.K.'s May Warns Further Terrorist Attacks Could Be Imminent, Bloomberg,  23 May 2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ต้านคอร์รัปชัน' ถกโกงผ่านหนัง 'ฉลาดเกมส์โกง' ชี้กระตุ้นต่อมคุณธรรมจริยธรรมของเยาวชน

Posted: 24 May 2017 03:01 AM PDT

ดร.เดือนเด่น ยกต้านในฮ่องกง ให้ความสำคัญกับการป้องกัน 80% การปราบปราม 20% ต่างกับไทยที่เน้นปราบปราม ชี้คนความสับสนปมกตัญญูที่สังคมไทยสอนให้ตอบแทนบุญคุณ เป็นเส้นแบ่งที่หากคนไม่เข้าใจ ทำให้พลาดทำสิ่งที่ผิด

24 พ.ค 2560 รายงานข่าวจากฝ่ายสื่อสารองค์กร องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) แจ้งว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ฯ  ร่วมกับ บริษัท เมเจอร์ ซีนิเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และ บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด จัดเสวนาพิเศษ "คุยเรื่องโกงผ่านหนัง" โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องฉลาดเกมส์โกง ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ นักแสดง ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยทีดีอาร์ไอ ปฏิพัทธ์ สุสำเภา Opendream และ ดร.มานะ  นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)  หลังจากฉายภาพยนตร์รอบพิเศษ เรื่อง "ฉลาดเกมส์โกง" เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพมหานคร

นัฐวุฒิ  พูนพิริยะ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องฉลาดเกมส์โกง กล่าวว่า "สังคมที่เราอยู่ทุกวันนี้ความขาวกับความดำ มันเริ่มเลือน ๆ กลายเป็นสังคมเทา ๆ ทำให้เราไม่รู้ว่าจะชี้ผิด หรือชี้ถูกกับใครได้ ก็เลยคิดว่าหนังเรื่องนี้น่าจะสร้างมิติ หรือมุมมอง บางอย่างที่พูดถึงสังคมและกับเยาวชนได้ มันมีอะไรหลาย ๆ อย่างในรั้วโรงเรียนมานานแล้ว แต่เราลืมคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันถูกต้องหรือเปล่า ไม่ว่าจะเรื่องค่าบำรุงการศึกษา หรืออื่น ๆ พอเราโตแล้วเราถอยห่างออกมาจากจุดนั้นนานแล้ว ทำให้รู้ว่า เราอยู่กับมันมานานจนเราคุ้นเคย ซึ่งจริง ๆ แล้วมันเป็นสิ่งไม่ถูกต้องเลย"

ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ นักแสดง กล่าวว่า "ทุกครอบครัวจะบอกลูกอยู่เสมอว่าให้เป็นคนดี ซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ ไม่คดโกง สิ่งสำคัญที่สุดคนเป็นพ่อเป็นแม่จะทราบว่า ลูกจะไม่ทำตามสิ่งที่พ่อแม่พูด แต่จะทำตามสิ่งที่พ่อแม่ทำ ถ้าทุกครอบครัวมองที่ตัวเองว่าจริง ๆ แล้วทำตามที่พูดเป็นตัวอย่างให้ลูก ๆ หรือเปล่า อิธิพลจากการพูดไม่สำคัญเท่ากับการกระทำ"

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยทีดีอาร์ไอ ได้ให้ความเห็นว่า "การต่อต้านคอร์รัปชัน ในประเทศฮ่องกง ได้ให้ความสำคัญกับการป้องกัน 80% การปราบปราม 20% ต่างกันกับในประเทศไทยซึ่งเน้นเรื่องการปราบปราม อยากจะเห็นหนังแนวนี้ ที่ไม่ใช่การสอนหรือท่องจำ แต่ต้องปลูกฝังเข้าไปในจิตสำนึกว่าอะไรคือดี อะไรคือไม่ดี และขอแสดงความยินดีกับหนังเรื่องนี้ เนื่องจากเนื้อหาของหนังเป็นเรื่องใกล้ตัวกับเด็ก เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับโรงเรียน เด็กจะเข้าใจได้ง่ายกว่าเอาเรื่องหลักการมาอธิบายให้ฟัง"

ดร.เดือนเด่น กล่าวเพิ่มเติม ความสับสนระหว่างความกตัญญู อยากช่วยเหลือพ่อแม่ไม่อยากให้เดือนร้อน จึงทำเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน ในเรื่องนี้จึงแฝงเรื่องของสังคมไทยสอนเรื่องการตอบแทนบุญคุณ เป็นเส้นแบ่งที่หากคนไม่เข้าใจ ทำให้พลาดทำสิ่งที่ผิด โดยคิดว่านิดเดียวไม่เป็นไร จากเรื่องที่เป็นสีเทา มันเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนมากเกินไปจนย้อนกลับมาไม่ได้ สุดท้ายคนที่เราพยายามจะช่วยเหลือ ก็คือพ่อแม่ กลับกลายเป็นความทุกข์ให้กับเค้า และเห็นว่าหนังเรื่องนี้ดีมากในการนำเสนอ

ปฏิพัทธ์ สุสำเภา Opendream "หนังเรื่องนี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่นำเสนอเรื่องเก่าที่มีมานแล้วเพื่อที่จะให้เข้าถึงกลุ่มคนยุคใหม่ ๆ จำเป็นต้องมีการปรับปรุงแนวทางและวิธีการนำเสนอ" ซึ่งทาง Opendream ทำเกมประเด็นเรื่องการเรียนรู้เรื่องการคอร์รัปชั่น ชื่อเกม "คอร์รัป" ซึ่งเกมมี 5 ตอน เนื้อหาสะท้อนปัญหาคอร์รัปชันจริง ๆ ในเมืองไทยที่ได้ข้อมูลจาก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โดยใช้สื่อมาดัดแปลง เกมนี้เป็นแนว interaction ที่ผู้เล่นสามารถเก็บข้อมูลตัวเลือกของผู้เล่นกลับมา โดยสอดแทรกให้ผู้เล่นเรียนรู้ในขณะที่เล่นเกม ในประเด็นที่นำสู่การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นที่มีความยากง่ายต่างกัน ซึ่งไอเดียของเกมจะถามคำถามเดียวคือ "คุณจะหยุดยั้ง หรือปล่อยไป"

ปฏิพัทธ์ กล่าวเพิ่มเติม วิธีการสื่อสารมีอยู่หลายละดับ เริ่มจาก พูดให้จำ ทำให้ดู ให้รู้เอาเอง แต่วิธีการสือสารที่ดีสำหรับคนใหม่ ๆ คือการทำให้ดู กับการเรียนรู้เอาเอง เราในฐานะคนที่จะต้องสื่อสารก็ต้องปรับตัว และส่งสื่อให้ถูกกลับกลุ่มเป้าหมาย

นัฐวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย หน้าที่ของคนที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเกมหรือหนังก็แล้วแต่ ไม่ควรจะมีท่าทีที่สั่งสอนจนเกินไป สังเกตุหนังในตอนจบ จะเปิดทางเลือกให้กับตัวละคร สองตัว ซึ่งตัวนึงจะไปขาวจัด อีกตัวนึงจะไปดำจัด โดยที่ไม่ได้ชี้นำว่าคุณในฐานะคนดูจะเลือกทางไหนเพียงแต่บอกว่าหลายครั้งในชีวิตจะเจอบททดสอบ เจอคำถามที่โยนมาให้เราแล้วคุณจะมีตัวเลือกในการทำหรือไม่ทำไม่ว่าจะถูกหรือผิดถ้าเราเลือกไปเราจะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน

นอกจากนี้ ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ให้ความเห็นว่า สังคมไทยควรจะมีเรื่องที่ทำให้ เด็กหรือผู้ใหญ่ มีสำนึกและข้อคิดในการคอร์รัปชั่นมากขึ้น เพราะการที่ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จ การที่จะก้าวไปสู่สังคมที่โปรงใส่ได้เป็นเพราะเราสำนึกในเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชั่นตลอดเวล

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แผ่นดินจึงดาล: นิธิ เอียวศรีวงศ์ วัฒนธรรมและชนชั้น

Posted: 24 May 2017 12:01 AM PDT

บทสัมภาษณ์ 9 นักวิชาการในชุด 'แผ่นดินจึงดาล' นี้ ประชาไทตัดทอนมาจากบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มในหนังสือ 'แผ่นดินจึงดาล: การเปลี่ยนผ่านในสภาพบังคับ' เพื่อมองอดีต ปัจจุบัน และอนาคตประเทศไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ว่ามันจะนำพาเราไปสู่อะไร

นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นนักวิชาการอิสระที่ถอดรื้อมายาคติภาพชนบทในจินตนาการของชนชั้นกลาง ทำให้เห็นว่าชนบทไทยเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างและลึก รัฐธรรมนูญ 2540 และทักษิณ ชินวัตร คือตัวเร่งหนึ่งที่ทำให้คนชนบทตระหนักถึงพลังอำนาจของตนเองผ่านการเลือกตั้ง

ถ้าพูดตามภาษาของนิธิในเนื้อหาบทสัมภาษณ์ สิ่งนี้ทำให้ 'สมดุลแห่งอำนาจ' เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทว่า ชนชั้นนำไทย (อาจหมายรวมถึงชนชั้นกลาง) ไม่พึงพอใจกับความเปลี่ยนแปลงนี้ วิตก หวาดกลัว หงุดหงิด และยอมรับไม่ได้ แปรรูปออกมาเป็นการรัฐประหาร 2 ครั้งในห้วงเวลา 1 ทศวรรษ กับรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ คือปี 2550 ที่ชนชั้นนำเรียนรู้ว่ายังเข้มไม่พอ จึงฉีกทิ้งและเขียนใหม่เป็นรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เราทุกคนกำลังอยู่กับมัน รัฐธรรมนูญที่ถูกใส่กลไกมากมายเพื่อควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ความพยายามหน่วงเหนี่ยวสมดุลแห่งอำนาจที่เปลี่ยนไปแล้วให้กลับมาเหมือนเดิมรอบนี้ด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 ที่นิธิบอกว่าพิกลพิการและไม่เคารพความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิงนั้น เขาไม่เชื่อว่ามันจะมีอายุอยู่ได้นาน ตัวละครทางการเมืองต่างๆ ก็รู้ดีแก่ใจถึงความจริงข้อนี้ เพียงแต่ ณ จุดสุดท้ายแล้ว รัฐธรรมนูญ 2560 จะหมดอายุการใช้งานด้วยวิธีใด เป็นสิ่งที่เขาตอบไม่ได้

เสียงของชนชั้นกลางล่าง

สรุปเร็วเกินไปถ้าจะบอกว่า ระบบการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ 2560 จะทำให้พลังเสียงของชนชั้นกลางล่างกำหนดอะไรในสภาไม่ได้  เมื่อตอนร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ผู้ร่างคงไม่คิดว่าคนระดับล่างจะเลือก ส.ส. จากพรรคการเมืองเป็นกลุ่มก้อนแบบนี้ อย่าลืมว่าในช่วงนั้นจะมีการเลือกตั้งใกล้ๆ ปี 2540 ที่ทำให้คุณชวน หลีกภัยได้เป็นนายกฯ จริงอยู่ว่าคุณชวนเข้ามาก่อนจะมีรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่เขาหวังว่า ผลการเลือกตั้งจะออกมาแบบที่มีเบี้ยหัวแตก ซึ่งมันคือหัวใจสำคัญของการถืออำนาจของชนชั้นกลางในเมืองตลอดมา

ถ้าคุณดูวิถีชีวิตชนชั้นกลางระดับล่าง มันยากมากที่เขาจะมีโอกาสมีอำนาจในทางการเมืองอย่างเต็มที่ การจะมีอำนาจทางการเมืองคุณต้องมีองค์กรบางอย่างเป็นเครื่องมือ ไม่ว่าคุณจะเป็นชนชั้นกลางระดับในเมือง ระดับล่าง เศรษฐีใหญ่ขนาดไหนก็แล้วแต่ ถ้าคุณเป็นคนๆ เดียว มันเป็นไปไม่ได้ที่คุณจะมีอำนาจทางการเมือง เสียงของคุณจะไม่ถูกรับฟัง แต่เมื่อใดก็ตามที่คุณทำให้คนเปล่งเสียงเป็นเสียงเดียวกันได้ เมื่อนั้นคนจะต้องเริ่มฟังคุณ

คุณไปดูวิถีชีวิตของคนชั้นกลางระดับล่าง แล้วถามว่าเขาสามารถทำอย่างนี้ได้ไหม มันทำได้แค่ในช่วงวิกฤติ เช่น เวลาเสื้อแดงแข่งกับอะไรต่างๆ เท่านั้น แล้วคุณดูดีๆ นะว่ากลุ่มเสื้อแดงมีเสียงที่ตรงกันเสียงเดียวเท่านั้นคือเอาทักษิณกลับมา นอกนั้นความเห็นต่างกันมาก เพราะสภาพความเป็นองค์กรมันไม่มี การเข้าถึงสื่อก็น้อย สร้างความเห็นร่วมกันไม่ได้ ตราบเท่าที่คนกลุ่มนี้ยังเป็นชนชั้นกลางระดับล่างอยู่ โอกาสที่เขาจะสร้างผลกระทบทางการเมืองโดยตัวเขาเองโดยไม่มีเครื่องมือเลยผมว่าเป็นไปไม่ได้

ถ้ามีการเลือกตั้ง อย่างไรคุณหนีไม่พ้นว่าคนชนบทตั้งรัฐบาล แล้วคุณจะล้มไม่ได้ด้วย เพราะต่อไปนี้มันจะไม่ใช่เบี้ยหัวแตกแล้ว จะกลายเป็นก้อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยหรือไม่ก็ตามแต่ เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ต้องมีคนมองเห็น ถ้าเขาเป็นพรรคใหม่เขาก็ปรับตัวได้ แต่ถ้าเป็นพรรคเก่าก็ปรับลำบาก อย่างพรรคประชาธิปัตย์ มันลำบากเพราะฐานเสียงคุณแน่นแล้ว ฐานเสียงอยู่ในเมือง คุณจะปรับได้อย่างไรโดยไม่ให้เสียฐานเสียงเก่า

รัฐธรรมนูญ 2560 คือรัฐธรรมนูญที่ไม่เคารพความเป็นจริง

ผมเชื่อว่าทุกอย่างเป็นเรื่องชั่วคราวหมด ใครจะคิดว่ารัฐประหารครั้งนี้จะเป็นเรื่องที่มีผลถาวร ใครจะมองไปถึง 20 ปี ผมไม่รู้ แต่ผมมองว่ามันเป็นการพักรบชั่วคราว หมายความว่าชนชั้นกลางในเมืองคิดว่าเอาทหารมาหยุดทุกอย่างไว้ก่อน แล้วหวังว่าจะทำให้มันไม่เปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนในลักษณะที่ตนพอใจ ผมไม่ได้คิดจะให้คนอย่างประยุทธ์ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) มาปฏิรูปอะไร คุณก็รู้อยู่ว่าคนพวกนี้ปฏิรูปอะไรได้ที่ไหน แม้แต่คณะรัฐประหารเอง ถ้าไม่นับประยุทธ์ ก็คงมีอีกไม่น้อยที่เข้ามาด้วยบทบาทของการพักรบชั่วคราว

กติกาในรัฐธรรมนูญไทย ฉบับอื่นจะบ้าบอแค่ไหนก็ตามแต่ แต่ว่ามันเคารพความเป็นจริงระดับหนึ่ง แต่ฉบับ 2560 นี่ไม่เลย ตอนรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ผมก็ไม่ชอบ แต่ผมว่าอย่างน้อยมันยังให้มี ส.ว.จากการเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งวุฒิสภาไม่มาจากการเลือกตั้งเลย ซึ่งในสังคมที่เป็นแบบนี้แล้ว มันเป็นไปไม่ได้ คือคุณเขียนแบบไม่ได้ตั้งใจให้มันมีอายุต่อไปได้เลย ผมไม่เชื่อหรอกว่ารัฐธรรมนูญนี้จะอยู่ 20 ปี ผมว่าคนเขียนจำนวนหนึ่งก็ไม่เชื่อ

สมดุลแห่งอำนาจ

ถามว่าจะจบลงด้วยความรุนแรงหรือไม่ก็ได้ทั้งสองอย่าง ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญจะดำรงอยู่ได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า คุณจัดวางสมดุลแห่งอำนาจของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมไทยไว้ให้ลงตัวได้แค่ไหน ระหว่างคณาธิปัตย์ คนชั้นกลางในเมือง ปัญญาชน นักวิชาชีพ กองกำลังติดอาวุธ ประชาชนระดับล่างซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ ฯลฯ ถ้าลงตัวดีอยู่ ก็จะมีอายุใช้งานไปช่วงหนึ่ง

ผมเข้าใจว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ร่างขึ้นด้วยความคิดจะหาสมดุลแห่งอำนาจที่ลงตัว แต่คิดจะสร้างระบบที่ถาวรมั่นคงด้วยการจัดสมดุลแห่งอำนาจตามใจชอบของตน ทำให้ต้องใช้อำนาจดิบของกองทัพในการรักษาสมดุลที่เบี้ยวๆ นี้ตลอดไป ตรงนี้แหละที่เสี่ยงกับการที่จะจบลงด้วยความรุนแรง

แต่เนื่องจากความพิกลพิการของรัฐธรรมนูญ มันจะมีความเครียดอย่างสูงมาแต่แรก จนตัวเล่นทางการเมืองซึ่งต้องรวมกองทัพด้วย มองเห็นความเป็นไปไม่ได้และจะผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนโดยสงบ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องปรับเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยนะครับ ปรับเปลี่ยนให้เกิดสมดุลแห่งอำนาจที่ลงตัวขึ้นเท่านั้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หลักฐานไม่พอ สั่งไม่ฟ้อง 17 ผู้อาวุโส คดีอั้งยี่ฯ ถูกกวาดจับหลังเหตุระเบิดใน 7 ภาคใต้ปีที่แล้ว

Posted: 23 May 2017 11:51 PM PDT

อัยการศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีทั้ง 17 คน ถูกกวาดจับคดี คดีอั้งยี่ฯ  หลังเหตุระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ เมื่อ ส.ค.59 ชี้คดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง และสั่งปล่อยตัวไป 

ที่มาเฟซบุ๊กวิญญัติ ชาติมนตรี 

24 พ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความจากสมาพันธ์นักกฏหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณะสาธารณะว่า เวลา 10:00 น. ทนายความจาก สกสส. ได้ไปสำนักงานอัยการฝ่ายศาลทหารกรุงเทพ พร้อมกับผู้ต้องหารวม 17 คน เข้ารายงานตัวตามนัดเพื่อฟังคำสั่งอัยการศาลทหารกรุงเทพ พิจารณาสำนวนสอบสวนพนักงานสอบสวนกองปราบปราม ที่สั่งฟ้อง 17 คน ในความผิดฐานเป็นอั้งยี่ และมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

วิญญัติ ระบุว่า ในวันนี้(24 พ.ค.60) อัยการศาลทหารกรุงเทพ พิจารณาสำนวนแล้ว มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีทั้ง 17 คน ด้วยคดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง และสั่งปล่อยตัวไป ทีมทนายจะได้ดำเนินการถอนหลักประกันต่อไป ในส่วนของคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการทหารกรุงเทพ ตามกระบวนการต้องส่งสำนวนและคำสั่งไม่ฟ้องเสนอผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผบ.ตร. หรือผช.ผบ.ตร. พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง 

สำหรับผู้ต้องหา 17 คน ประกอบด้วย 1.ด.ต.ศิริรัตน์ มโนรัตน์ อายุ 71 ปี ชาว จ.พัทลุง, 2.นายวีระชัฏฐ์ จันทร์สะอาด อายุ 62 ปี ชาว จ.นนทบุรี,  3.นายประพาส โรจนพิทักษ์ อายุ 67 ปี ชาว จ.ตรัง, 4.นายปราโมทย์ สังหาญ อายุ 63 ปี ชาว จ.สตูล, 5.นายสรศักดิ์ ดิษปรีชา อายุ 49 ปี กทม., 6.นางสาวมีนา แสงศรี อายุ 39 ปี กทม., 7.นายศิริฐาโรจน์ จินดา อายุ 56 ปี ชาว จ.หนองคาย,  8.นายชินวร ทิพย์นวล อายุ 71 ปี ชาว จ.เชียงราย, 9.นายณรงค์ ผดุงศักดิ์ อายุ 60 ปี ชาว จ.อ่างทอง, 10. นายศรวัชษ์ กุระจินดา อายุ 60 ปี ชาว จ.มหาสารคาม,  11.นายเหนือไพร เซ็นกลาง อายุ 41 ปี ชาว จ.สกลนคร, 12.นายวิเชียร เจียมสวัสดิ์ อายุ 59 ปี ชาว จ.นครศรีธรรมราช,  13.นายบุญภพ เวียงสมุทร อายุ 61 ปี ชาว จ.เชียงราย,  14.นางสาวรุจิยา เสาสมภพ อายุ 52 ปี ชาว จ.ร้อยเอ็ด,  15.นายวิโรจน์ ยอดเจริญ อายุ 67 ปี ชาว จ.นครศรีธรรมราช 16.ร.ต.ต.หญิง วิลัยวรรณ คูณสวัสดิ์ อายุ 54 ปี ชาว จ.หนองคาย และ 17. ร.ต.ท.สมัย คูณสวัสดิ์ อายุ 57 ปี ชาว จ.หนองคาย

ทั้งนี้การกวาดจับทั้ง 17 คน เกิดขึ้นหลังเหตุระเบิดใน 7 จังหวัดภาคใต้ ช่วง ส.ค.ปีที่ผ่านมา ในช่วงนั้นเจ้าหน้าที่ทหารได้ควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหา 15 ใน 17 คน ไปที่ มทบ.11 และศาลทหารออกหมายจับมาแถลงข่าว ในวันที่ 19 ส.ค. 59 และศาลทหารอนุญาตฝากขัง 12 วัน ต่อมาวันที่ 23 ส.ค. ศาลได้อนุมัติปล่อยตัวชั่วคราว

สำหรับคดีดังกล่าวตามคำร้องขอฝากขังตนหนึ่งระบุว่า สืบเนื่องจาก พนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าพฤติการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้คือ ก่อนเกิดเหตุเจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจ ฝ่ายข่าวของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สืบทราบว่ามีกลุ่มแกนนำเสื้อแดง (นปช.) ได้ร่วมกันจัดตั้ง พรรคแนวร่วมปฏิวัติประชาธิปไตย โดยมีวัตถุประสงค์ ร่วมมือกับมวลชนในพื้นที่ต่างๆ ที่มีแนวคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยจงใจสนับสนุนการต่อสู้ทุกรูปแบบ เจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย จึงอาศัยอำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 ลงวันที่ 1 เม.ย.2558 ทำการควบคุมตัวผู้ต้องหาจำนวนมากเนื่องจากได้ร่วมกันชุมนุมทางการเมืองและเคลื่อนไหวแบบปิดลับ เพื่อจัดตั้งพรรคแนวร่วมปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยมิชอบ เริ่มจากเดือนธันวาคม 2558 ด.ต.ศิริรัตน์ มโนรัตน์ เป็นหัวหน้าฝ่ายความมั่น, นายวีระชัฏฐ์ จันทร์สอาด เป็นหัวหน้าฝ่ายต่างประเทศ นายประพาส โรจนพิทักษ์ และนายปราโมทย์ สังหาญ มีฐานะเป็นหัวหน้าผู้จัดการหรือแกนนำ ได้ร่วมกันกับพวก จัดการชุมนุมทางการเมือง ที่จังหวัดนนทบุรี มีหัวข้อในการชุมนุมคือ เพื่อการจัดตั้งพรรคแนวร่วมปฏิวัติประชาธิปไตย แสวงหาแนวร่วมและแบ่งมวลชนออกเป็น 11 เขตงาน ตามพื้นที่ภูมิภาค ร่วมเป็นสมาชิกพรรคฯ ตลอดมา

ต่อมาประมาณเดือน พฤษภาคม 2559-มิถุนายน 2559 ด.ต.ศิริรัตน์ และนายวีระชัฏฐ์ ได้ไปพบนายเหนือไพรฯ เพื่อพูดคุยแนวทางในการดำเนินงานของพรรคฯ เมื่อตกลงกันได้แล้วก็ได้ไปพบนายศิริฐาโรจน์เพื่อกำหนดเงื่อนไขในการเคลื่อนไหวและการหาทุน ที่จะมาใช้ในการดำเนินงานของพรรคฯ น.ส.มีนา ได้ร่วมกิจกรรมดำเนินการกับสมาชิกของพรรคฯ ตลอดมา ต่อมาประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2559 ด.ต.ศิริรัตน์ นายวีระชัฏฐ์ นายประพาส นายชินวร และนายณรงค์ กับพวกได้จัดประชุมพรรคเพื่อกำหนดการดำเนินงานของพรรคที่ร้านแห่งหนึ่งในจังหวัดอ่างทอง และยังไปจัดประชุมกันที่ศาาวัดแห่งหนึ่งในจังหวัดพัทลุง และยังมีการเดินทางไปจังหวัดสุพรรบุรี เพื่อจัดประชุมบุคคลต่างๆ ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ร.ต.ต.หญิงวิไลวรรณ และร.ต.ท.สมัย นายบุญภพ และน.ส.รุจิยา มีแนวคิดทางการเมืองสนับสนุนและเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่มคนเสื้อแดงหลายครั้ง วันที่ 13 ส.ค.2559 เจ้าหน้าที่รักษาความสงบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงเริ่มใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เข้าควบคุมตัว ด.ต.ศิริรัตน์ กับพวกรวม 17 คน มาทำการซักถามปากคำ ผลการซักถามปรากฏตามบันทึกการซักถาม โดยคสช.พิจารณาแล้วเห็นว่าพฤติการณ์การกระทำของ ด.ต.ศิริรัตน์กับพวกมีลักษณะเป็นสมชิกของคณะบุคคล ซึ่งคณะบุคคลในคดีนี้ก็คือพรรคแนวร่วมประชาธิปไตย ซึ่งรู้กันเฉพาะกลุ่มสมาชิก เมื่อมีการจัดประชุมในลักษณะปกปิด จึงเป็นการปกปิดวิธีดำเนินการโดยมีวัตถุประสงค์ว่าจะล้มล้างเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยวิถีที่ไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ จึงมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย อันมีความผิดฐาน "ร่วมกันเป็นอั้งยี่และร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอานุญาตจากหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ" เป็นความผิดตามมาตรา 209 ของประมวลกฎหมายอาญาและตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหา ทำการสอบสวนครบกำหนด 48 ชั่วโมงในวันที่ 21 ส.ค. แต่การสอบสวนยังไม่เสร็จนสิ้น จึงขอศาลโปรดอนุญาตฝากขังผู้ต้องหาทั้งหมดไว้มีกำหนด 12 วัน นับตั้งแต่ 19 ส.ค.2559-30 ส.ค.2559 และหากผู้ต้องหาร้องขอปล่อยชั่วคราว ทางพนักงานสอบสวนขอคัดค้านเนื่องจากคดีนี้มีอัตราโทษสูง และคดีดังกล่าวเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศซึ่งเกรงว่าผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือก่อเหตุอันตรายประการอื่นหรือหลบหนี

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์และคณะนักวิชาการเยี่ยมไผ่-จตุภัทร์ ที่เรือนจำขอนแก่น

Posted: 23 May 2017 10:53 PM PDT

นิธิ เอียวศรีวงศ์ และคณะนักวิชาการจากเชียงใหม่เยี่ยม 'ไผ่ จตุภัทร์' ที่ถูกคุมขังอยู่เรือนจำขอนแก่นโดยไม่ได้รับการประกันตัวจากคดี ม.112 โดยนิธิให้สัมภาษณ์หลังเยี่ยมด้วยว่าการจับกุมคุมขังด้วยโทษฐาน "ความผิดทางความคิด" เป็นสิ่งที่อาจไม่เคยพบเห็นมาก่อน แต่ไม่น่าแปลกใจ เพราะสนามต่อสู้แข่งขันของสังคมไทยปัจจุบันนี้อยู่ที่ "ความคิด"

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2560 ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น ภายในเรือนจำกลาง จ.ขอนแก่น มีคณะนักวิชาการจาก จ.เชียงใหม่ อาทิ นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และคณะ เดินทางมาเยี่ยมและพูดคุยกับ ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ซึ่งถูกคุมขังโดยไม่ได้รับการประกันตัวมาตั้งแต่เดือนธันวาคมปีก่อน ระหว่างรอพิจารณาคดีในความผิดมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา จากการแชร์ข่าวเพจบีบีซีไทย

โดยในวันนี้พ่อแม่ของไผ่คือ วิบูลย์ และพริ้ม บุญภัทรรักษา เดินทางมาที่เรือนจำกลาง จ.ขอนแก่น ด้วย

นิธิ ให้สัมภาษณ์หลังพบไผ่ จตุภัทร์ด้วยว่า ได้พบไผ่อย่างที่ต้องการ ต้องใช้เวลานิดหน่อยแต่ก็ได้พบ ในฐานะของคนที่ไม่ได้เห็นไผ่บ่อยๆ ก็รู้สึกสุขภาพยังดี ตัวเขาเองบอกว่าสุขภาพยังดีอยู่ ทั้งนี้ ไม่ได้คุยนานเพราะระเบียบการเยี่ยมให้พูดคุยไม่เกิน 15-20 นาทีเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวสอบถามกรณีที่ในระยะหลังมีผู้ต้องขังในคดีทางความคิดมากขึ้น นิธิ เอียวศรีวงศ์กล่าวว่า สิ่งที่เราไม่ค่อยเคยเห็นมาก่อนคือ "ความผิดทางความคิด" กลายเป็นสิ่งที่มีคนถูกจับกุมดำเนินคดีแยะมาก ซึ่งถามว่าประหลาดไหม ผมว่าก็ไม่ประหลาด ผมคิดว่าสิ่งที่ต่อสู้กันอย่างแหลมคมที่สุดในสังคมไทยตอนนี้ก็คือความคิด พูดภาษาวิชาการหน่อยคือ การต่อสู้ทางอุดมการณ์เป็นสิ่งที่แหลมคมที่สุด เพราะว่าคนทั่วๆ ไปธรรมดาที่ไม่มีกำลัง ไม่มีอะไร จะให้ไปต่อสู้ทางอื่นเขาคงไม่มีทาง แต่เขาสามารถต่อสู้ในเชิงความคิดได้มากที่สุด แล้วก็แน่นอนมนุษย์เราก็แค่นั้น จะให้ลุกขึ้นไปทำอะไรมากกว่านั้นมันก็ไม่ปลอดภัยต่อตัวเองหรือครอบครัว

เพราะอย่างนั้นเราจึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่เราพบว่า กรณีที่มีการดำเนินคดี หรือมีผู้ถูกจับกุมคุมขังมากสุด ล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวกับความคิดทั้งสิ้น เพราะเป็นสนามของการต่อสู้แข่งขันของสังคมไทยในปัจจุบันนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2560 ศาลขอนแก่น ไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว 'ไผ่ ดาวดิน' เพื่อขอไปรับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนปี 2017 ที่นครกวางจู สาธารณรัฐเกาหลี โดยศาลให้เหตุผลว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ทำให้พ่อแม่ของไผ่ จตุภัทร์เดินทางไปรับรางวัลแทนลูกชายที่เมืองกวางจู สาธารณรัฐเกาหลีแทน โดยพ่อและแม่นำรางวัลมามอบให้ภายหลังเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น