โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ศาสนากับรัฐ: รัฐ – โลกย์ – เพศ – อำนาจ – ศาสนา

Posted: 01 May 2017 12:51 PM PDT

กดติดตามรับชมคลิปใหม่ๆ ที่

 

 

วันที่ 27 เมษายน 2560 ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้จัดงานประชุมวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา ในหัวข้อ 'ศาสนากับรัฐ: Fundamentalism, Secularism และ Post-Secularism' ขึ้น โดยในช่วงบ่ายมีการเสวนาหัวข้อ "รัฐ – โลกย์ – เพศ – อำนาจ – ศาสนา" วิทยากรประกอบด้วย วรยุทธ ศรีวรกุล, สุรพศ ทวีศักดิ์, สุชาติ เศรษฐมาลินี และ อัณธิฌา แสงชัย ดำเนินรายการโดย วิจักขณ์ พานิช และ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วันกรรมกรสากล คนงานรังสิต แนะ 'เศรษฐกิจแย่ ต้องแก้ด้วยเลือกตั้งภายในปี 60'

Posted: 01 May 2017 09:40 AM PDT

กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ ร้องค่าจ้างที่เป็นธรรม เพียงพอเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัวได้รวม 3 คน ยุติขึ้นค่าไฟฟ้า ส่งเสริมประชาธิปไตย เลือกตั้งภายในปี 60 ขณะที่ แรงงานเหนือ เสนอจัดสวัสดิการ-ค่าจ้างขั้นต่ำ 450 บ./วัน

ภาพกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง จัดกิจกรรมวันกรรมกรสากล

1 พ.ค. 2560 วันกรรมกรสากล (May Day) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่าเมื่อเวลา 10.00 น. ที่ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง (กสรก.) เดินทางเข้ายื่นข้อเรียกร้องเนื่องในวันแรงงานสากลต่อผู้ว่าราชการจังหวัดฯ โดยมี มนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ รองผู้ว่าฯ รับข้อเรียกร้องแทน

สำหรับข้อเรียกร้องของกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ ระบุว่า ทางกลุ่มเคยมีข้อเรียกร้องแล้วเมื่อปีก่อน เช่น การสร้างรัฐสวัสดิการ ขอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักแห่งสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองเพื่อสร้างหลักประกันและเป็นกลไก ให้ลูกจ้างและสหภาพแรงงานได้เข้าถึงสิทธิ ยกเลิกการจ้างงานแบบเหมาค่าแรง เรียกร้องให้มีค่าจ้างที่เป็นธรรม เป็นต้น

เอกสารข้อเรียกร้องระบุต่อว่า ในปีนี้ทางกลุ่มเลือกติดตามปัญหาขอคนงานในพื้นที่กับผู้ว่าฯ ทั้งจากเรื่องที่เคยยื่นไว้เมื่อวันกรรมกรสากลปีที่แล้ว แต่ไม่ได้รับคำตอบจากผู้ว่าฯ ดังนั้นวันนี้ทางกลุ่มจึงขอแจ้งปัญหาให้ผู้ว่าฯ รับทราบ เพื่อติดตามการแก้ปัญหา ประกอบด้วย รัฐสวัสดิการ ให้รัฐบาลจัดสวัสดิการให้กับประชาชนในรูปแบบรัฐสวัสดิการ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ สาธารณสุขมีคุณภาพ ไม่มีค่าใช้จ่ายและเข้าถึงได้โดยไม่เลือกปฏิบัติ ค่าจ้างที่เป็นธรรม เพียงพอต่อค่าครองชีพและเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัวได้รวม 3 คน 

รัฐลงนามรับรอง อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ดังกล่าว ขอให้เข้มงวดตรวจสอบเรื่องความปลอดภัยในการทำงานอย่างจริงจัง ปฏิรูปการศึกษา รัฐสนับสนุนงบประมาณด้านการศึกษาภาคบังคับถึงระดับปริญญาตรี ส่งเสริมประชาธิปไตย ตั้งแต่ระดับพื้นฐานถึงระดับประเทศ พร้อมให้มีการเลือกตั้งภายในปี 60 ยุติการขึ้นค่าไฟฟ้า และตรวจสอบการจ่ายน้ำประปารังสิต ประกาคลองหลวง เนื่องจากแรงดันน้ำมีปัญหา
 
ภาพกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง จัดกิจกรรมวันกรรมกรสากล และแถลงการณ์ของกลุ่มดังกล่าว
 

แรงงานเหนือ เสนอจัดสวัสดิการ-ค่าจ้างขั้นต่ำ 450 บ./วัน

วันเดียวกัน ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ประชาธรรม รายงานด้วยว่า  เครือข่ายแรงงานภาคเหนือกว่า 160 คน เคลื่อนขบวนไปที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมออกแถลงการณ์ยื่นข้อเรียกร้อง ซึ่งข้อเรียกร้องทั้งหมดนั้นได้มาจากการระดมความเห็นของแรงในงานภาคเหนือทั้ง แรงงานข้ามชาติ แรงงานนอกระบบ แรงงานในโรงงาน และแรงงานภาคบริการ
 
สำหรับข้อเรียกร้องของเครือข่าวนี้ต่อหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย
 
ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย

1.เพื่อเป็นการลดอคติและสร้างทัศนคติที่ดีต่อแรงงานข้ามชาติในสังคมไทย ขอให้รัฐบาลแก้ไขคำว่า "แรงงานต่างด้าว" ในกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้เป็น "แรงงานข้ามชาติ" 

2.ขอให้รัฐบาลปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นค่าจ้างเพื่อชีวิต (living wage) ในอัตรา 450 บาทต่อวัน เพื่อให้เกิดค่าจ้างที่เป็นธรรม คุ้มครองคนทำงาน และสมาชิกครอบครัว

3.ขอให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และเร่งดำเนินการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง ภายในปี 2560

4.ขอให้รัฐบาลไทยเร่งดำเนินการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน ภายในปี 2560 เพื่อส่งเสริมสิทธิของคนงานทำงานบ้าน

5.ขอให้รัฐบาลกำหนดให้แรงงานทุกคนทุกอาชีพเข้าสู่ระบบประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ

6.ขอให้รัฐบาลกำหนดให้พนักงานบริการ ผู้ทำงานบ้าน แรงงานนอกระบบ แรงงานในภาคเกษตรที่ไม่มีการจ้างงานกันตลอดทั้งปี เป็นอาชีพที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานทุกฉบับ

7.ขอให้รัฐบาลมีมติครม. ขยายพื้นที่การทำงานของแรงงานข้ามชาติได้ทั่วจังหวัด โดยไม่ต้องขอเพิ่มสถานที่ทำงาน

8.ขอให้รัฐบาลไทยแก้ไขพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ให้แรงงานข้ามชาติทำงานได้ทุกอาชีพตามความสามารถของตน ขยายอายุของแรงงานข้ามชาติให้สามารถทำงานได้ถึงอายุ 60 ปี

ข้อเรียกร้องต่อกระทรวงมหาดไทย

1.ขอให้กระทรวงมหาดไทยแก้ไขกฎระเบียบในการเดินทางของแรงงานข้ามชาติ รวมถึงกลุ่มผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน กลุ่มบุคคลบนพื้นที่สูง ให้มีเสรีภาพในการเดินทาง

ข้อเรียกร้องต่อกระทรวงแรงงาน

1.ให้กระทรวงแรงงานกำหนดให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพของคนทำงาน ในประเด็นสิทธิการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรอง โดยไม่เลือกปฏิบัติ

2.แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงสิทธิการพัฒนาฝีมือแรงงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยมีสิทธิได้รับประกาศนียบัตร และนำไปใช้ในการประกอบอาชีพได้อย่างแท้จริง

ข้อเรียงร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

1.เพื่อความปลอดภัยของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ ให้จังหวัดเชียงใหม่ จัดระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ  ครอบคลุมและราคาถูกสำหรับคนทำงานทุกคน

ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

1.ขอให้รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาดูแลให้แรงงานที่กลับไปยังประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาได้เข้าถึงสิทธิในด้านต่างๆ เช่นทางทะเบียนราษฎร์ ทางการศึกษา สุขภาพและอาชีวอนามัย และสิทธิพลเมือง

2.ขอให้รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเปิดให้จดทะเบียนสมรสและทำบัตรประชาชนได้ในสถานฑูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทย

3.ขอให้รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาดำเนินการให้มีระบบประกันสังคมโดยเร่งด่วน

ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลประเทศไทย และรัฐบาลสาธารณะรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

1.ขอให้รัฐบาลประเทศไทยและรัฐบาลสาธารณะรัฐแห่งสหภาพเมียนมาปฏิบัติตามอนุสัญญา ILO 181 ว่าด้วยบริษัทจัดหางานเอกชน ตามมาตรา 7 บริษัทนายหน้าต้องไม่คิดค่าบริการใดๆ จากคนงานไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม

ประชาธรรม รายงานด้วยว่า ประจวบ กันธิยะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นตัวแทนสำนักงานจังหวัดฯ ออกมารับข้อเรียกร้องของเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ พร้อมกับกล่าวว่า ที่ผ่านมาทางจังหวัดฯ พยายามดูแลกลุ่มแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติอย่างเต็มที่ โดยเปิดให้มีศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ถ้ามีปัญหากับนายจ้างสามารถมาร้องเรียนได้ทุกเมื่อ ส่วนข้อเรียกร้องในปีนี้ทางจังหวัดจะรับไปพิจารณาว่าเรื่องใดที่ทางจังหวัดเชียงใหม่สามารถแก้ไขได้ จะดำเนินการพิจารณา ส่วนเรื่องที่อยู่นอกเหนืออำนาจจะส่งต่อไปให้รัฐบาลส่วนกลาง

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

FREE SOMYOT วันกรรมกรสากล คนงาน 'เกาหลี-อินโด' ชูป้าย 'ปล่อยสมยศ'

Posted: 01 May 2017 08:57 AM PDT

1 พฤษาคมตรงกับวันแรงงานสากล (May Day) ในปีนี้หลายประเทศมีการเดินขบวนแสดงพลังและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของแรงงาน ที่ประเทศเกาหลีใต้ก็มีการเดินขบวนดังกล่าว ในขบวนมีการชูป้ายรณรงค์ในหลายประเด็น และหนึ่งในนั้นคือการชูป้าย FREE SOMYOT ด้วย ขณะที่ในอินโดนีเซีย ก็ปรากฏป้าย FREE SOMYOT เช่นเดียวกัน

ที่ในอินโดนีเซีย ก็ปรากฏป้าย FREE SOMYOT 

ทั้งนี้ สมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 ที่ต่อสู้จนถึงศาลฎีกา เขาถูกจำคุกตั้งแต่ถูกจับกุมเรื่อยมาเกือบ 6 ปี มีการยื่นประกันตัวมากกว่า 15 ครั้งแต่ศาลปฏิเสธ จนกระทั่งวันที่ 23 ก.พ.2560 ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำคุกเขา 6 ปี จากเดิมที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุก 10 ปี ในความผิด 2 กรรม มูลเหตุมาจากบทความที่ถูกกล่าวหาว่ามีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 2 ชิ้นที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Voice of Taksin ที่เขาเป็นบก. สมยศมีกำหนดพ้นโทษในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ก่อนมาเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังการรัฐประหารในปี 2549 สมยศทำงานเรื่องสิทธิแรงงานมาอย่างยาวนาน และมีส่วนเรียกร้องจนมีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมนโยบายด้านสิทธิแรงงานไม่น้อย เช่น การผลักดันกฎหมายประกันสังคม เป็นต้น

ประวัติสมยศ พฤกษาเกษมสุข ในด้านแรงงาน

ปี 2524 เริ่มทำกิจกรรมในกลุ่มศูนย์นักศึกษารามคำแหงศึกษาปัญหาแรงงาน

ระหว่างที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยรามคำแหง เขาเป็นนักกิจกรรมตัวยที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและความชอบธรรมทั้งหลายโดยเข้าร่วมกับกลุ่มเสรีธรรม (ในสมัยนั้น) ในการทำกิจกรรมกับกรรมกรในโรงงานและชาวบ้านในชุมชน เพื่อสร้างความตื่นตัวในการรับรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพของพลเมืองและแนวคิดการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ควบคู่ไปกับการเขียนหนังสือ บทความ

มีการจัดกิจกรรมกลุ่ม จัดตั้งสหภาพแรงงาน จัดทำอบรมให้ความรู้ทางด้านกฎหมาย จัดค่ายกรรมกรกับนักศึกษา สนับสนุนการนัดหยุดงาน การชุมนุมเดินขบวนเรียกร้องต่อรัฐบาล ในพื้นที่สหภาพแรงงานย่านสหภาพแรงงานพระประแดง สมุทรปราการ เช่นสหภาพแรงงานอาภรณ์ไทย สหภาพแรงงานส่งเสริมการทอ สหภาพแรงงานไทยเกรียง สหภาพแรงงานพิพัฒน์สัมพันธ์ สหภาพแรงงานเซ็นจูรี่ สหภาพแรงงาน เมโทร ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ และสหภาพแรงงานเหล็กและโลหะแห่งประเทศ

ปี พ.ศ. 2527 เข้าทำงานในสมาคมสิทธิเสรีภาพประชาชน(สสส) เป็นเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครฝ่ายส่งเสริมสิทธิกรรมกร

ปี 2527 (สสส.) กำหนดให้พื้นที่อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก นำไปสู่การจัดกิจกรรมอบรมกฎหมายแรงงาน กิจกรรมคลีนิกแรงงานกิจกรรมสนับสนุนการรวมกลุ่มและช่วยเหลือจัดตั้งสหภาพแรงงาน เพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่คนงานได้รับค่าจ้างและสวัสดิการน้อยกว่าพื้นที่อื่น

ปี 2529 เข้าทำงานในกลุ่มเยาวชนคนงานสากล Young Christain Worker(YCW) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีบทบาทในการรวมกลุ่มคนงานระดับเยาวชน เพื่อการเรียนรู้ในการใช้ชีวิตในสถานะคนงาน การร่วมกันคิด เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นองค์กรที่มีเครือข่ายที่มีเครือข่ายในระดับสากล ทั้งภูมิภาคเอเชีย และยุโรปและอเมริกา

ปี 2534 หลังการรัฐประหารยึดอำนาจจาก พล.อ ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) สมยศร่วมกับเพื่อนจัดตั้งโครงการบริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงาน และพัฒนามาเป็นศูนย์บริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงาน (ศบร.) หรือ Center for Labour Information Service and Training; CLIST ในเวลาต่อมา เพื่อให้การศึกษาอบรมอบรมแก่คนงานให้ตระหนักรู้ในสิทธิของตนเอง ส่งเสริมการรวมกลุ่มของคนงานในรูปองค์กรเพื่อเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ยกสถานภาพของผู้ใช้แรงงานและปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานและคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น สนับสนุนการสร้างสหภาพแรงงานแนวประชาธิปไตย ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย ออกจดหมายข่าวผู้ใช้แรงงาน ตลอดระยะเวลากว่าสิบปีที่ศูนย์บริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงาน สมยศร่วมต่อสู้ร่วมกับคนงานและขบวนการแรงงานมาโดยตลอดจนข้อเรียกร้องเหล่านั้นประสบความสำเร็จในปัจจุบัน เช่น กฎหมายประกันสังคม การลาคลอด 90 วัน การเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร การประกันการว่างงาน การให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการต่อสู้ของคนงาน เช่น กรณีคนงานเคเดอร์ คนงานไทยเบลเยี่ยม คนงานเครืออีเด็นกรุ๊ฟ ซึ่งสามารถเรียกค้าชดเชยได้สูงกว่ากฎหมาย เป็นต้น

นอกจากนั้น ศูนย์บริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงานยังให้การสนับสนุนการจัดตั้งองค์กรการจัดตั้งกลุ่มคนงานสตรีสู่เสรีภาพ การจัดตั้งกลุ่มสหภาพแรงงานเคมีภัณฑ์ และสนับสนุนการจัดตั้งพันธมิตรสหภาพแรงงานประชาธิปไตย จนกระทั่งศูนย์บริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงานปิดตัวลงเมื่อเดือนพฤษภาคม 2550 ด้วยเหตุผลด้านงบประมาณ โดยมีสมยศ เป็นผู้อำนวยการตั้งแต่ปี 2534 –2550 รวมระยะเวลา 16 ปี

บทบาทหลังรัฐประหาร 19 กันยา 49 สมยศได้เข้าร่วมขับไล่รัฐบาลรัฐประหาร หรือ คมช. ในนามแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) หรือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยเป็นแกนนำรุ่นสอง ในขณะเดียวกัน สมยศร่วมกับเพื่อนๆ และประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน "รัฐประหาร 19 กันยา 49" ได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่ม "24 มิถุนาประชาธิปไตย"ขึ้นในต้นเดือนมิถุนายน 2550 อย่างไรก็ตามแม้สมยศจะเคยเป็นแกนนำ นปช.รุ่นสอง แต่ก็ได้ยุติบทบาทและออกจากการเป็นแกนนำตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2550

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประกาศใช้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560

Posted: 01 May 2017 07:26 AM PDT

ประกาศใช้ "พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์" ให้ส่วนราชการในพระองค์ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และไม่เป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายอื่นใด เว้นแต่ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในพระราชบัญญัตินี้หรือในพระราชกฤษฎีกา การจัดระเบียบราชการในพระองค์และการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ และสถานภาพของข้าราชการในพระองค์ ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกา

1 พ.ค. 2560 ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาวันนี้ มีการเผยแพร่ "พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560"  โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระราชโองการโดยมีรายละเอียดดังนี้

000

พระราชบัญญัติ
ระเบียบบริหารราชการในพระองค์
พ.ศ. 2560


สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ให้ไว้ ณ วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2560
เป็นปีที่ 2 ในรัชกาลปัจจุบัน

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการในพระองค์

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560"

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้

"พระราชกฤษฎีกา" หมายความว่า พระราชกฤษฎีกาที่ตราขึ้นตามมาตรา 15 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

มาตรา 4 การจัดระเบียบบริหารราชการในพระองค์ ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ตามพระราชบัญญัตินี้ การจัดระเบียบราชการในพระองค์และการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ และสถานภาพของข้าราชการในพระองค์ ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกา

ส่วนราชการในพระองค์ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และไม่เป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายอื่นใด ทั้งนี้ เว้นแต่ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในพระราชบัญญัตินี้หรือในพระราชกฤษฎีกา

ส่วนราชการในพระองค์ส่วนราชการใดจะมีฐานะเป็นนิติบุคคลให้ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกาด้วย บรรดาบทกฎหมายใดที่บัญญัติถึงคำว่าข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ มิให้หมายความรวมถึงข้าราชการในพระองค์ ทั้งนี้ เว้นแต่ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในพระราชบัญญัตินี้หรือในพระราชกฤษฎีกา

มาตรา 5 ให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการจัดสรรงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนให้แก่ส่วนราชการในพระองค์เพื่อปฏิบัติภารกิจด้านต่าง ๆ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา  ให้ส่วนราชการในพระองค์มีอำนาจปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้ประโยชน์ หรือดำเนินการอื่นใดเกี่ยวกับทรัพย์สินของส่วนราชการในพระองค์เพื่อให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย รายได้ของส่วนราชการในพระองค์ไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ทรัพย์สินของส่วนราชการในพระองค์ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี และผู้ใดจะยกอายุความขึ้นอ้างกับทรัพย์สินของส่วนราชการในพระองค์มิได้ ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่สนับสนุนภารกิจของส่วนราชการในพระองค์ตามที่ได้รับแจ้งจากส่วนราชการในพระองค์

มาตรา 6 เมื่อพระราชกฤษฎีกาใช้บังคับแล้ว ให้ยกเลิก

(1) มาตรา 46 (1) และ (2) แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545

(2) ลักษณะ 5 ข้าราชการพลเรือนในพระองค์ และมาตรา 127 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

(3) มาตรา 10 (3) และ (4) มาตรา 14 มาตรา 14/1 และมาตรา 42 (6) (7) และ (8) แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

มาตรา 7 เมื่อพระราชกฤษฎีกาใช้บังคับแล้ว

(1) ให้โอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน และเงินงบประมาณ ของสำนักราชเลขาธิการและสำนักพระราชวังตามกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ ไปเป็นของส่วนราชการในพระองค์ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา และให้โอนข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และผู้ปฏิบัติงานอื่นซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในสำนักราชเลขาธิการและสำนักพระราชวัง ที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ ไปเป็นข้าราชการในพระองค์ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นในส่วนราชการในพระองค์ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

(2) ให้โอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ และทรัพย์สิน ของกรมราชองครักษ์ กระทรวงกลาโหม ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ ไปเป็นของส่วนราชการในพระองค์ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา และให้โอนอัตรากำลังพล และข้าราชการและผู้ปฏิบัติงานอื่นซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในกรมราชองครักษ์ กระทรวงกลาโหม ที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ ไปเป็นอัตรากำลังพล และข้าราชการในพระองค์หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นในส่วนราชการในพระองค์ ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ส่วนเงินงบประมาณ สิทธิ และหนี้สินของกรมราชองครักษ์ กระทรวงกลาโหม ที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ ให้โอนไปเป็นของสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงกลาโหม เพื่อประโยชน์ของส่วนราชการในพระองค์ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา เว้นแต่จะมีพระราชวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น

(3) ให้โอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน สิทธิ และหนี้สิน ของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ กระทรวงกลาโหม ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ ไปเป็นของส่วนราชการในพระองค์ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา และให้โอนอัตรากำลังพล และข้าราชการและผู้ปฏิบัติงานอื่นซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ กระทรวงกลาโหม ที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ ไปเป็นอัตรากำลังพล และข้าราชการในพระองค์หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นในส่วนราชการในพระองค์ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

(4) ให้โอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน สิทธิ และหนี้สิน ของสำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ ที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ ไปเป็นของส่วนราชการในพระองค์ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา และให้โอนตำแหน่งและอัตราเงินเดือนของข้าราชการตำรวจในสำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ ไปเป็นตำแหน่งและอัตราเงินเดือนของข้าราชการในพระองค์ในส่วนราชการในพระองค์ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

มาตรา 8 เพื่อประโยชน์ในการได้รับบำเหน็จบำนาญ ให้ถือว่าข้าราชการในพระองค์เป็นข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ แล้วแต่กรณี แต่การพ้นจากราชการให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ทั้งนี้ เว้นแต่พระราชกฤษฎีกาจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

การรับบำเหน็จบำนาญ การรับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ของข้าราชการในพระองค์ให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

มาตรา 9 ในวาระเริ่มแรก การใดที่สำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง และ กรมราชองครักษ์ หรือหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ กระทรวงกลาโหม และสำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยู่ในระหว่างการดำเนินการหรือ เคยดำเนินการได้ตามกฎหมาย เมื่อได้โอนมาเป็นของส่วนราชการในพระองค์ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ยังคงดำเนินการต่อไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น เว้นแต่จะมีพระราชวินิจฉัยหรือมีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ดำเนินการเป็นอย่างอื่น

มาตรา 10 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระราชโองการ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี

 

โดยหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติระบุว่า "เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่สํานักราชเลขาธิการ สํานักพระราชวังและกรมราชองครักษ์และหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ กระทรวงกลาโหม เป็นส่วนราชการที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับราชการในพระองค์และพระราชกรณียกิจขององค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งต้องถวายงานตามโบราณราชประเพณีและพระราชอัธยาศัย การปฏิบัติราชการจึงแตกต่างจากส่วนราชการของฝ่ายบริหารทั่วไป กรณีจึงสมควรกําหนดฐานะของส่วนราชการดังกล่าวขึ้นใหม่ให้เป็นส่วนราชการในพระองค์โดยปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ มีการจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลเป็นการเฉพาะให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย เพื่อให้การบริหารราชการในพระองค์เหมาะสมและสอดคล้องกับภารกิจของราชการในพระองค์ และสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ เปิดวันแรงงาน ชู 'แรงงานรู้รักสามัคคี สดุดีจักรีวงศ์ รณรงค์เศรษฐกิจพอเพียง'

Posted: 01 May 2017 05:25 AM PDT

คนงานยื่น 5 ข้อเรียกร้อง รับรองอนุสัญญา ILO 87 และ 98 ปฏิรูปประกันสังคมปรับเป็นองค์กรอิสระ ไม่แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ตั้งสถาบันแรงงานนอกระบบ ประยุทธ์ ย้ำไทยแลนด์ 4.0 ไม่ได้ทำให้ตกงาน แนะหนุนลูกหลานให้เรียนในสาขาอาชีพ อย่ายึดติดกับปริญญา แต่เน้นเรียนจบมามีงานทำต่อไป 

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

1 พ.ค. 2560 วันกรรมกรสากลละแรงงานแห่งชาติ รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (1 พ.ค.60) เมื่อเวลา 12.10 น. ณ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย – ญี่ปุ่น) ดินแดง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดงานวันแรงงานประจำปี 2560 ภายใต้หัวข้อ แรงงานรู้รักสามัคคี สดุดีจักรีวงศ์ รณรงค์เศรษฐกิจพอเพียง โดยมี รัฐมนตรี ผู้บริหารส่วนราชการ ผู้แทนองค์กรสหพันธ์แรงงาน และผู้ใช้แรงงานเข้าร่วม

สำหรับข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2560 มีทั้งหมด 5 ข้อ แบ่งเป็นแรงงานเอกชน 3 ข้อ รัฐวิสาหกิจ และแรงงานนอกระบบอย่างละ 1 ข้อ ดังนี้ 1.ขอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักแห่งสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองเพื่อสร้างหลักประกันและเป็นกลไก ให้ลูกจ้างและสหภาพแรงงานได้เข้าถึงสิทธิ 2. การปฏิรูปประกันสังคม โดยปรับให้เป็นองค์กรอิสระ 3. ไม่ให้มีการแปรรูปหรือขายรัฐวิสาหกิจ 4. การตั้งสถาบันแรงงานนอกระบบ เพื่อดูแรงงานนอกระบบกว่า 20 ล้านคน และ 5. การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบการ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวมอบนโยบายตอนหนึ่งว่า แรงงานทุกคนมีส่วนในการสร้างประเทศเป็นทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ซึ่งตนเองก็ใช้แรงงานเหมือนกัน แต่ใช้แรงใจมากกว่าในการทำงานเพื่อประเทศชาติ และขอให้แรงงานทุกคนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของกิจการ จะได้มีความทุ่มเทกับกิจการมากขึ้น โดยรัฐบาลมีหน้าที่ดูแลแรงงานให้เกิดความเท่าเทียมกัน โดยกำหนดให้ใช้แรงงานในประเทศมากขึ้น จึงขอให้แรงงานอย่ากังวลกับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่จะนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยในการทำงานเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ถ้าหากไม่มีงานรัฐบาลก็จะหางานให้ทำจนได้ จะไม่ปล่อยปะละเลย เพราะรัฐบาลทุกรัฐบาลจะต้องดูแลคนไทย ทั้ง 70 ล้านคน ไม่ว่าจะดูแลได้มากหรือดูแลได้น้อยก็ต้องทำ ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้การนำของตนจะเร่งแก้ปัญหาให้มากที่สุด เพื่อปลดล็อคอุปสรรคต่าง ๆ และยกระดับรายได้ให้กับประชาชน โดยต่างประเทศต่างชื่นชมแรงงานไทยว่ามีประสิทธิภาพ แต่ยังต้องพัฒนาด้านภาษาให้สามารถสื่อสารได้ เพื่อพัฒนาเป็นระดับหัวหน้า รวมทั้งขออย่าสร้างความขัดแย้ง เพราะถ้าเกิดความขัดแย้งขึ้นมาทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ ต้องร่วมมือกันสร้างความมั่นคงให้กับประเทศเดินหน้าต่อไปได้

พล.อ.ประยุทธ์  กล่าวต่อไปว่า ขออย่าฟังคำบิดเบือนที่บอกว่าการพัฒนาเป็นไทยแลนด์ 4.0 จะทำให้แรงงานไม่มีงานทำ เพราะไทยแลนด์ 4.0 เป็นการช่วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ไม่ได้ทำให้ตกงาน แต่จะมีงานและรายได้มากขึ้น ขออย่ากังวล และไทยกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนผ่าน ซึ่งการทำงานมา 3 ปีของรัฐบาล ได้มุ่งมั่นแก้ไขปรับเปลี่ยนทุกอย่าง รวมทั้งแรงงานที่เป็นประเด็นหนึ่งที่สำคัญเพื่อเดินหน้าสู่อนาคต ถ้าทำหรือปรับไม่ได้ก็เหมือนเรือที่กำลังจะจม จึงขอให้เห็นใจรัฐบาลด้วย และขอให้สบายใจยืนยันรัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ ไม่เคยกลัวปัญหา ไม่กลัวใครมาต่อต้านเพราะมีใจที่จะทำงานเพื่อประเทศชาติตลอดเวลาที่ยังอยู่ในตำแหน่ง สำหรับผู้ปกครองขอให้ส่งเสริมลูกหลานให้เรียนในสาขาอาชีพที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงาน อย่ายึดติดกับปริญญาบัตร ขอให้เน้นเรียนจบมาแล้วมีงานทำต่อไป 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปท.มติ 141 เสียง เห็นชอบกฎหมายคุมสื่อ นิยามคลุมสื่อออนไลน์-เพจดัง

Posted: 01 May 2017 04:04 AM PDT

กมธ. ตัดบทลงโทษสื่อฯ ไม่มี 'ใบประกอบวิชาชีพ' โดยเปลี่ยนเป็น 'ใบรับรอง' ออกโดยองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน นิยามคลุมสื่อออนไลน์ แฟนเพจ อภิปราย 'หนุน-ค้าน' กษิต คำนูณ นิกร  ชี้อาจขัด รธน. ด้าน หมอพรทิพย์หนุนคุมสื่อ พล.ท.ธวัชชัย แรง อัดสื่อเสนอข่าว พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ น่าเอายิงเป้าให้หมด

1 พ.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) วันนี้ (1 พ.ค.60) เริ่มขึ้น เวลา 9.30 น. มี ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสปท. เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน จำนวน 2 เรื่อง คือ รายงานการปฏิรูปการสื่อสารมวลชน ที่เสนอให้มีร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ....ซึ่งก่อนเข้าสู่วาระการประชุม สมาชิกหลายคนแสดงความเห็น โดยประธานสปท.แสดงความเห็นส่วนตัวว่า สื่อควรมีใบรับรองจากสภาวิชาชีพเพื่อกำกับดูแลกันเองได้

โดยหลังสมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวาง ในที่สุดมีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวด้วยคะแนน 141 ต่อ 13 เสียง งดออกเสียง 17 

สำหรับการพิจารณานั้นเริ่มจาก พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน ชี้แจงว่า เนื้อหาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว กมธ.รับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน และเมื่อเช้าวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา ได้นัดประชุมกมธ.นัดพิเศษ เพื่อฟังข้อคัดค้านจากสื่อมวลชน กรณีที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และมีมติเสียงข้างมากว่า จะขอปรับเรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นใบรับรองวิชาชีพที่ออกให้โดยองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ดังนั้น จึงไม่มีบทลงโทษจำคุกและปรับสื่อมวลชนและเจ้าของสื่อตามมาตรา 91 และ 92 อยู่ในร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อไป อย่างไรก็ตาม กมธ.ยังเห็นควรให้มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติเพื่อส่งเสริมจริยธรรมวิชาชีพ และส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองในทุกขั้นตอนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ 15 คน แต่ได้ปรับลดโควตาตัวแทนคณะกรรมการฯจากภาครัฐจาก 4 คน เหลือ 2 คน และเพิ่มโควตาให้มีคณะกรรมการฯที่เป็นตัวแทนจากสื่อเพิ่มเป็น 7 คน

ตัดบทลงโทษสื่อฯ ไม่มี 'ใบประกอบวิชาชีพ' นิยามคลุมสื่อออนไลน์ แฟนเพจ

ขณะที่ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานกรรมาธิการฯชี้แจงว่า กมธ.ยอมแก้ไขตัดมาตรา 91 และ 92 เรื่องบทลงโทษสื่อมวลชนที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนทิ้งไปตามข้อห่วงใยของสื่อมวลชน โดยจะเปลี่ยนจากใบประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน เป็นใบรับรองที่จะให้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นผู้ออกใบรับรองให้ ส่วนคำนิยาม "สื่อมวลชน" ตามร่างกฎหมายฉบับนี้ จะครอบคลุมไปถึงสื่อออนไลน์ เจ้าของเพจที่มีแฟนเพจติดตามเป็นหมื่นๆ คนด้วย เพราะกลุ่มเหล่านี้ถือเป็นทั้งนักข่าว และบรรณาธิการ แต่ไม่มีสังกัด แม้จะอ้างว่า ไม่มีรายได้เป็นค่าตอบแทนโดยตรงจากงานที่ทำ แต่มีรายได้ทางอ้อมเกิดขึ้นจากรายได้โฆษณาออนไลน์ เพราะมีผู้ติดตามจำนวนมาก ดังนั้นจึงต้องบัญญัติให้กลุ่มเหล่านี้เป็นสื่อด้วย ยืนยันกมธ.ไม่มีเจตนาควบคุม แทรกแซงสิทธิเสรีภาพสื่อ แต่ต้องการให้การติดต่อสื่อสารอยู่ภายใต้มาตรฐานจริยธรรมตามที่กฎหมายกำหนด

13 กก. สภาวิชาชีพ

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ชี้แจงความจำเป็นในการมีคณะกรรมการวิชาชีพและกรรมการจริยธรรมสื่อมวลชน ที่จะเข้ามากำกับดูแลการทำหน้าที่ของสื่อ เนื่องจากปัจจุบันโลกเปลี่ยนไป มีสื่อที่เข้ามาแฝงการทำงานมากมาย โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่เผยแพร่ไปอย่างรวดเร็วและสร้างความเสียหายในวงกว้าง พร้อมยืนยันคำนิยามสื่อมวลชนว่าจะครอบคลุมผู้ที่ทำเว็บเพจต่างๆ ที่ทำธุรกิจเพื่อรายได้ด้วย ทั้งนี้ จะไม่ถอยการพิจารณาร่างกฎหมายนี้อีกแล้ว เพราะถอยมาแล้วถึง 3 ครั้ง
 
"สำหรับสัดส่วน คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ประกอบด้วย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนผู้บริโภค กรรมสิทธิ์มนุษยชน กรรมการอื่นๆอีก 4 คน และผู้แทนสภาวิชาชีพ 7 คน รวม 15 คน ดำรงตำแหน่งวาระละ 3 ปี แต่ช่วงจัดตั้ง 2 ปีแรก กำหนดไว้ 13 คน โดยคณะกรรมการฯ มีหน้าที่ออกกฎ มาตรฐานกลาง รับเรื่องร้องเรียน" พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าว

อภิปราย 'หนุน-ค้าน' กษิตชี้อาจขัด รธน.

จากนั้น ที่ประชุมเปิดให้สมาชิกอภิปราย โดยความเห็นแตกออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับกมธ.สื่อได้รุมคัดค้านใน 2-3 ประเด็น 1.เรื่องการให้จดทะเบียนสื่อมวลชนกับสภาวิชาชีพ 2.กรณีสภาวิชาชีพจะมีสัดส่วนตัวแทนรัฐ 2 คน มีช่องโหว่อันตรายให้รัฐแทรกแซงสื่อได้ โดยเสนอให้สื่อควบคุมกำกับดูแลกันเอง เพราะที่ผ่านมาดูแลกันเองได้ หลายกรณีได้ลงโทษสื่อมวลชนที่ขัดจริยธรรมด้วย ห้ามมีเจ้าหน้าที่หรือองค์กรของรัฐมายุ่งเกี่ยว และ 3.ท้วงติงความไม่ชัดเจนในนิยามกฎหมายที่อาจครอบคลุมเกินเลยไปถึงประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่สื่อ อย่าง กษิต ภิรมย์ สปท.ได้ลุกขึ้นอภิปรายถามว่า "ผมเป็นนักการเมือง หากเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ถือว่า เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนตาและต้องมีใบอนุญาติสื่อมวลชนหรือไม่" อีกทั้งยังมีสปท.อภิปรายโดยมองว่า ร่างพ.ร.บ.นี้ อาจขัดรัฐธรรมนูญมาตราที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ 26- 34 -35 และมาตรา 77 จนถึงขั้นมีคนส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ขณะที่ สปท.ที่ลุกขึ้นอภิปราบไม่เห็นด้วย ให้เหตุผลว่า สื่อขาดจรรยาบรรณควบคุมกันเองไม่ได้ สื่อบางสำนักสร้างความแตกแยก บิดเบือน เสนอข่าวโจมตีรัฐบาลกระทบต่อความมั่นคง ควรมีหน่วยงานกำกับดูแล และ เห็นด้วยให้มีสัดส่วนของรัฐเข้าไปในคณะกรรมการใดๆที่ตั้งขึ้นมาดูแลจริยธรรมสื่อ

คำนูณชี้สัดส่วน จนท.รัฐใน สภาวิชาชีพ อาจขัด ม.35 ในรธน.

คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิก สปท. อภิปรายแสดงความเห็นด้วยกับการมีสภาวิชาชีพสื่อมวลชน โดยมีสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเป็นอิสระ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปสื่อ และบังคับใช้จริยธรรมวิชาชีพได้อย่างแท้จริง โดยสนับสนุนให้สื่อควบคุมกันเอง แบบมีสภาพกฎหมายบังคับ แต่ไม่เห็นด้วย 3 ประเด็น คือ การมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐเข้าร่วมในสภาวิชาชีพ การบัญญัติความบังคับให้ผู้ประกอบวิชาชีพต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพหรือใบรับรอง โดยสภาวิชาชีพที่มีเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ในสภาวิชาชีพ และไม่เห็นด้วยกับการนิยามสื่อมวลชนในร่างกฎหมายกว้างเกินไป ซึ่งอาจกระทบต่อการแสดงความคิดเห็นของประชาชนที่อยู่นอกวิชาชีพสื่อ และขอให้กลับไปใช้ร่างที่ผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) เป็นต้นร่างพิจารณากฎหมายสื่อ 

คำนูณ กล่าวว่า การกำหนดให้มีสัดส่วนเจ้าหน้าที่รัฐในสภาวิชาชีพสื่อ อาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 35 เพราะถือเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน พร้อมเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการชุดพิเศษติดตามการแก้ไขรายงานของกรรมาธิการ และเสนอให้แยกการลงมติ เช่นเห็นด้วยหรือไม่ให้มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ

นิกร ชี้คุมสื่อมากกว่าคุ้มครอง  

นิกร จำนง สมาชิก สปท. กล่าวว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการควบคุมสื่อมากกว่าคุ้มครองสื่อ และเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 34 เรื่องเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ทั้งเชื่อว่าจะมีการยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ เพราะอาจขาดการรับฟังความคิดเห็นอย่างเป็นระบบตามมาตรา 77

หมอพรทิพย์หนุนคุมสื่อ

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ กล่าวสนับสนุนให้มีกฎหมายควบคุมสื่อและเร่งปฏิรูปสื่อ เพราะเล็งเห็นความจำเป็นในการควบคุมสื่อโดยเฉพาะสื่อออนไลน์ พร้อมเปรียบเทียบให้เห็นระหว่างวิชาชีพแพทย์กับสื่อว่าไม่เหมือนกันเพราะแพทย์มีหน้าที่รักษาพยาบาล ต้องมีการควบคุมการทำงานหากเกิดความผิดพลาด แต่สื่อบทลงโทษและจริยธรรมเป็นเรื่องยาก กรณีที่สื่อทำความเสียหายต่อสังคม

"ทุกวันนี้สื่อเอาคลิปมาตัดต่อ ด่าสิ่งในคลิปที่นำเสนอ ซึ่งคุมยากมาก และเขียนข้อกำหนดในเรื่องเหล่านี้ยาก แต่เป็นเรื่องใหญ่ที่ทำลายสังคม สภาวิชาชีพ มีหน้าที่คุ้มครองประชาชนและสังคม สิ่งที่พูดถึงคือองค์ประกอบของคณะกรรมการค่อนข้างยาก และมีบทเรียนว่าพวกเดียวกันเองเป็นกรรมการสภาวิชาชีพยังมีปัญหา และเป็นแหล่งของผลประโยชน์ ไม่สามารถทำหน้าที่คุมผลประโยชน์ได้ เช่น แพทยสภาไม่มีคนอื่นเข้ามา หลักถูกหรือไม่ ถ้ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเป็นกรรมการ" พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าว

วรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา กล่าวว่า สื่อไม่ใช่ฐานันดรที่ 4 และไม่ได้เป็นดั่งคำเปรียบเทียบว่าสื่อเป็นแมลงวันที่ไม่ตอมแมลงวันด้วยกัน เพราะที่ผ่านมาองค์กรวิชาชีพสื่อลงโทษที่กระทำขัดต่อมาตรฐานทางจริยธรรมไป 2 คน ขับออกจากอาชีพสื่อมวลชนคือกรณีการรับทรัพย์และกรณีบิดเบือนข่าว

พล.ท.ธวัชชัย อัดสื่อเสนอข่าว พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ น่าเอายิงเป้าให้หมด

พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร สปท. อภิปรายเห็นด้วยกับการตีทะเบียนสื่อมวลชน เพราะสื่อถือเป็นคนไทย ไม่ใช่อภิสิทธิชน จึงต้องยอมรับกติกาและกฎหมาย ทั้งนี้ หลายประเทศมีกฎหมายลักษณะเดียวกันนี้ อาทิ สิงคโปร์ จีน ขณะเดียวกันระบุว่า เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการนำเสนอของสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวโดยไม่ไตร่ตรอง

"ขนาดวันก่อน ผมอ่านสื่อออนไลน์ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีตผบ.ตร. ให้สัมภาษณ์ด่าทหารประจำ ไม่รู้อยากเล่นการเมืองหรือไม่ อยู่ดี ๆ มาบอกว่าถ้าเอาก้อนหินปาไปในค่ายทหารโดนแต่หัวพลเอก แล้วยังถามว่ารถถังซื้อมาทำไม เคยไปรบหรือไม่ เขาเป็นรุ่นพี่ ผมเป็นเตรียมทหารรุ่น 12 พี่เขารุ่น 7 พูดแบบนี้ผมไม่เคารพกันแล้ว แล้วสื่อที่เผยแพร่ก็น่าเอายิงเป้าให้หมด ปัญหาภาคใต้ก็รายงานกันทุกวัน สิ่งที่สร้างความเสียหายไม่ควรรายงาน อย่างกรณีผู้ว่าแม่ฮ่องสอนยังไม่ได้ข้อสรุปก็นำเสนอกัน ฟังแล้วผมทนไม่ได้" พล.อ.ธวัชชัย กล่าว

พล.ต.ท. อำนวย นิ่มมะโน กล่าวว่า สิ่งแรกที่ต้องทำคือสื่อต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง พร้อมเห็นควรให้มีสภาวิชาชีพสื่อ เพราะผ่านมาสื่อไม่ได้คำนึงถึงหน้าที่

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย และ มติชนออนไลน์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสธ.กองทัพเรือชี้แจงซื้อเรือดำน้ำ S-26T คิดดีแล้วอย่างรอบคอบ รอบด้าน ลึกซึ้ง กว้างไกล

Posted: 01 May 2017 01:44 AM PDT

กองทัพเรือเปิดฐานทัพเรือสัตหีบตั้งโต๊ะแถลงข่าวซื้อเรือดำน้ำ S-26T จากจีน โฆษกกองทัพเรือยืนยันเดินหน้าจัดซื้อตามมติคณะรัฐมนตรี ส่วน พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ระบุเรือดำน้ำปัจจุบันต้องมีภารกิจหลากหลาย ทั้งกองเรือตรวจการณ์ ภารกิจมนุษย์กบ ใช้รักษาสันติภาพ โจมตีเป้าหมายเรือผิวน้ำและเป้าหมายบนฝั่ง โดยใช้จรวดนำวิถีเข้าสู่เป้าหมาย ใช้ปฏิบัติการลับ ใช้ยกพลขึ้นบก ต่อต้านการก่อการร้าย โดยเรือดำน้ำ S-26T มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อภารกิจนี้

แถลงข่าวชี้แจงการจัดซื้อเรือดำน้ำที่ฐานทัพเรือสัตหีบ เมื่อ 1 พ.ค. 2560 ที่มาของภาพ: โต๊ะข่าวการเมือง/ไทยพีบีเอส Live

1 พ.ค. 2560 เวลา 15.00 น. วันนี้ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ (กจด.) จะนำคณะชี้แจงทุกขั้นตอนและรายละเอียดในการจัดซื้อเรือดำน้ำ ที่โรงเก็บอากาศยาน เรือหลวงจักรีนฤเบศร ท่าเรือจุกเสม็ด อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยจะใช้เวลาประมาณ 45 นาที ให้สื่อมวลชนสามารถซักถามในข้อสงสัยต่างๆ

สำหรับรายชื่อผู้ที่ชี้แจงโครงการจัดหาเรือดำน้ำจีน ประกอบด้วย 1.พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ 2.พล.ร.ท.พัชระ พุ่มพิเชฏฐ์ รองเสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดจ้างสร้างเรือดำน้ำในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล 3.พล.ร.ต.กฤษฎาภรณ์ พันธุมโพธิ ผู้อำนวยการสำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ ในกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ 4.พล.ร.ต.วิสาร ปัณฑวังกูร ผู้บัญชาการกองเรือดำน้ำ กองเรือยุทธการ ในฐานะผู้บัญชาการหน่วยผู้ใช้งาน และ 5.พล.ร.อ.จุมพล ลุมพิกานนท์ โฆษกกองทัพเรือ

ทั้งนี้ พล.ร.อ.จุมพล ลุมพิกานนท์ โฆษกกองทัพเรือ ยืนยันว่า กองทัพเรือยังคงเดินหน้าจัดซื้อเรือดำน้ำจากสาธารณรัฐประชาชนจีน 1 ลำ มูลค่า 13,500 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรี 18 เมษายน 2560

ด้าน พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ (กจด.) ชี้แจงว่าขั้นตอนการจัดหาเรือดำน้ำ ผ่านมติคณะรัฐมนตรีแล้ว จึงสามารถเล่าให้ฟังในบางประเด็นได้ กองทัพเรือไม่ได้เสนอเรือดำน้ำแค่ในยุคนี้ เสนอกองบังคับการเรือดำน้ำมาทุกยุคทุกสมัยมาเป็นศตวรรษ ไม่ได้มีวาระแอบแฝง แต่พิจารณาอย่างรอบคอบ รอบด้าน ลึกซึ้ง กว้างไกล คำนึงยุทธศาสตร์กองทัพเรือ มีกระบวนการจัดหาแบบโปร่งใส ตรวจสอบได้ ยึดประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

ทั้งนี้งบประมาณที่ใช้จัดหาเรือดำน้ำไม่ได้เบียดบังกระทรวง ทบวงกรมอื่น ฝากไปถึงเพื่อนๆ ทหารเหล่าอื่น ไม่ต้องกังวลว่าเมื่อซื้อเรือดำน้ำจะทำให้ไม่มีงบประมาณจัดหาอากาศยานในภายภาคหน้า หรือไม่มีการซ่อมบำรุงรักษารถรบ เรือรบ เครื่องบิน เรื่องนี้จะมีการแถลงเพื่อให้สบายใจ

ในอดีตในการซื้อเรือดำน้ำ จะเน้นใช้ในลักษณะเรือโจมตีเรือผิวน้ำ ด้วยตอร์ปิโด แต่ในยุคปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีและขีดความสามารถปัจจุบัน เรือดำน้ำจึงมีภารกิจหลากหลาย เช่น กองเรือตรวจการณ์ ภารกิจมนุษย์กบ ใช้รักษาสันติภาพ การโจมตีเป้าหมายเรือผิวน้ำ และเป้าหมายบนฝั่ง ใช้จรวดนำวิถีเข้าสู่เป้าหมาย ใช้งานร่วมกับหน่วยอื่น ใช้ปฏิบัติการลับยกพลขึ้นบกได้ นอกจากนี้จะมีการใช้ในภารกิจพิเศษต่อต้านการก่อการร้าย

โดยเรือดำน้ำต้องมีขีดความสามารถ มีคุณสมบัติที่ตอบสนองต่อความต้องการเหล่านี้ และเรือดำน้าดีเซลรุ่น S26T จากจีน มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อภารกิจเหล่านั้น สิ่งเหล่านี้จะพึงพอใจหรือไม่ ผู้ใช้ก็คือผู้บัญชการกองเรือดำน้ำจะมาตอบโจทย์นี้

ทั้งนี้กองทัพเรือแถลงด้วยว่า กองทัพเรือไม่มีเรือดำน้ำประจำการมากว่า 60 ปีแล้ว และการมีเรือดำน้ำจะป้องกันการถูกปิดอ่าวไทยที่มีลักษณะเป็นก้นถุง โดยเรือดำน้ำถือเป็นเส้นเลือดสำคัญในการขนส่งสินค้าและเชื้อเพลิง หากมีการใช้กำลังน้อยนิดก็ปิดอ่าวไทยได้ ที่ว่าอ่าวไทยตื้นนั้น ก็เคยมีเรือดำน้ำต่างชาติเข้ามาปฏิบัติการ เช่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เรือหลวงสมุยซึ่งทำหน้าที่ลำเลียงน้ำมันก็ถูกเรือดำน้ำของสัมพันธมิตรโจมตี ยืนยันว่ากองทัพเรือดำเนินการจัดหาเรือดำน้ำรอบใหม่มาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ปี 2538 ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

แฟ้มภาพอาคารกองบัญชาการกองเรือดำน้ำแห่งใหม่ และการเตรียมการจัดพิธีเปิดอาคารกองบัญชาการกองเรือดำน้ำ ณ ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เมื่อเดือนมิถุนายน 2557 โดยในเวลานั้นมี พล.ร.ท.ภาณุ บุณยะวิโรจ เป็นผู้บัญชาการกองเรือดำน้ำ ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นเสนาธิการกองเรือยุทธการ (ที่มา: เพจกองเรือดำน้ำ กองเรือยุทธการ)

เรือหลวงสินสมุทรและลูกเรือ เป็น 1 ใน 4 เรือดำน้ำของกองทัพเรือที่ประจำการระหว่างปี พ.ศ. 2481 - 2494 (ที่มา: แฟ้มภาพ/วิกิพีเดีย)

อนึ่งกองทัพเรือมีการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเรือดำน้ำ โดยกองทัพเรือได้อนุมัติแผนการก่อสร้างอาคารกองบัญชาการกองเรือดำน้ำ บริเวณท่าเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ และจัดหาเครื่องฝึกศูนย์ยุทธการเรือดำน้ำ พร้อมอาคารฝึกศูนย์ยุทธการเรือดำน้ำ จากบริษัท Rheinmetall Defence Electronics (GmbH) และมีพิธีเปิดอาคารเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2557

โดยขณะนี้กองทัพเรือไทยอยู่ระหว่างจัดหาเรือดำน้ำมาประจำการ โดยรายงานในวารสารด้านความมั่นคง Janes ในเดือนตุลาคม 2556 ระบุว่ากองทัพไทยต้องการจัดซื้อเรือดำน้ำพลังดีเซล 1 ลำ ภายในปี พ.ศ. 2567

ทั้งนี้หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มมีเรือดำน้ำในประจำการแล้ว โดยอินโดนีเซียมีเรือดำน้ำประจำการตั้งแต่ พ.ศ. 2524 เป็นเรือดำน้ำ Type 209 จากเยอรมนี 2 ลำ และขณะนี้อยู่ระหว่างต่อเรือที่เกาหลีใต้อีก 3 ลำ สิงคโปร์เริ่มมีเรือดำน้ำประจำการใน พ.ศ. 2538 ปัจจุบันมีเรือดำน้ำ 6 ลำ ทั้งหมดเป็นเรือดำน้ำจากสวีเดน แบ่งเป็นเรือดำน้ำ Sjoormen class 4 ลำ และเรือดำน้ำ Vastergotland-class 2 ลำ ส่วนเวียดนามมีเรือดำน้ำชั้น Kilo-class ของรัสเซีย 6 ลำ

ส่วนมาเลเซียมีเรือดำน้ำ The Scorpene class จากฝรั่งเศส 2 ลำ ประจำการตั้งแต่ พ.ศ. 2547 ที่ฐานทัพเรือในรัฐซาบาห์ ทางตอนเหนือของเกาะบอร์เนียว ขณะที่ฟิลิปปินส์ และพม่า มีแผนที่จะจัดซื้อเรือดำน้ำมาประจำการเช่นกัน

ก่อนหน้านี้ รัฐสภาไทยอนุมัติการจัดซื้อเรือดำน้ำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 โดยเป็นส่วนหนึ่งภายใต้งบประมาณตามพระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ. 2478 ทั้งนี้มีการตั้งงบจัดซื้อเรือดำน้ำจำนวน 3 ลำ รวมวงเงิน 6.9 ล้านบาท ต่อมาในการประมูลเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2478 บริษัทมิตซูบิชิจากประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้ชนะการประมูลโดยเสนอต่อเรือดำน้ำจำนวน 4 ลำ ราคาลำละ 8.2 แสนบาท

ข้อมูลจากวิกิพีเดีย ระบุว่า เรือดำน้ำ 4 ลำ ประกอบด้วย เรือหลวงสินสมุทร เรือหลวงมัจฉาณุ เรือหลวงวิรุณ และเรือหลวงพลายชุมพล เป็นประเภทเรือดำน้ำรักษาฝั่งขนาดเล็ก ระวางขับน้ำต่ำกว่า 500 ตัน ประกอบขึ้นที่อู่ต่อเรือบริษัทมิตซูบิชิ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น โดยมีการส่งมอบในวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2480 และเข้าปะจำการที่ไทยในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 ต่อมามีการปลดประจำการพร้อมกันทั้ง 4 ลำเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 เนื่องจากขาดแคลนอะไหล่ และประเทศญี่ปุ่นถูกห้ามผลิตอาวุธหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง และภายหลังเหตุการณ์กบฎแมนฮัตตันเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2494 มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกองทัพเรือ มีคำสั่งยุบหมวดเรือดำน้ำ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

(วิดีโอคลิป) เสวนา หัวข้อ "แรงงาน 4.0 รัฐธรรมนูญ 0.4?"

Posted: 01 May 2017 12:16 AM PDT

เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ ห้อง 7D ชั้น 7 สถาบันภาษา ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วิทยาลัยสหวิทยาการ ม.ธรรมศาสตร์ และ คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) ร่วมจัดเสวนาว่าด้วยสิทธิของผู้ใช้แรงงานหลากหลายประเภทในบริบทสังคมที่ไม่มีประชาธิปไตย สภาพการทำงานในระบบอุตสาหกรรม สภาพการจ้างที่เปลี่ยนแปลง ชีวิตที่ขาดความมั่นคง ปัญหาและข้อเสนอทางออก ที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังขาดหรือนโยบายรัฐ กฎหมายแรงงานยังไม่คุ้มครอง และการกำหนดอนาคตของฝ่ายแรงงาน

โดยมีวิทยากรร่วมอภิปรายจาก 4 มุมมองสาขาอาชีพ ได้แก่  กรรมกรโรงงาน คุณสุรินทร์ คำสุข ประธานสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์บรรจุภัณฑ์, อาจารย์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ลูกจ้างอิสระ (freelance) - รัฐพงศ์ ภิญโญโสภณ นักเขียนบทละคร และ พนักงานบริการทางเพศ สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: แด่เมย์เดย์

Posted: 30 Apr 2017 11:31 PM PDT


 

แรงงานแรงงอมเงิน     งงงก

สวัสดิการซกมก     ทุกมื้อ

รอคอยเขายื่นยก     ยัดเยียด

รอแล้วรอเล่ารื้อ     ระบอบระบม


เหงื่อหลั่งดั่งหยดน้ำ     นองหัว

ไหลหลั่งลงลำตัว     ตรากชื้น

ก่อสร้างสูงก็กลัว กระดก ตกเอย

มากหลายตายคาพื้น     พร่ำเพรื่อพร่างพร่า


ออกเรือไกลไปปะ     ปลาทู

ตัวใหญ่ในเข่งดู     ดีแท้

คนจับคือตัวกู     บ่เคย กินนา

ตัวละ หกสิบบาทแย่     ยี้เย้ย อย่าเยอะ


แบกหินอยู่ในเหมือง     ดีบุก

เข้ากะกลางคืนขลุก     ค่ำคล้อย

 กินข้าวกะละมังสนุก     พี่น้อง นักเฮย

กะกลางวันเหงื่อย้อย     ยามหลับ ฝันหวาน


เป็นคนรับใช้ใน     บ้านเขา

ขณะในบ้านเรา     งานค้าง

สายตัวแทบขาดเอา     อื่นก่อน

ลูกหลายคนค่าจ้าง     จ่ายให้ ไปหา


คนงานขนขยะ     เทศบาล

กลิ่นลอกท่อบริการ     กลบได้

กี่คนใส่ชุดทำงาน     โง่เง่า เขลาฤา

ซ่อกซ่อกซอมซ่อไซร้     แซ่ซร้อง สรรเสริญ

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พาสซีฟอินคัม? อนุกก.สอบ 7 สนช.โดดประชุมเสร็จแล้ว ชงต่อเข้า กก.จริยธรรม

Posted: 30 Apr 2017 11:29 PM PDT

ประธานคณะกรรมการจริยธรรม สนช. เผย อนุ กก.สรุปผลสอบจริยธรรม 7 สนช. ขาดประชุมเสร็จแล้ว เตรียมเสนอที่ประชุม กก.จริยธรรมต่อไป แจงส่วนใหญ่ลาเพื่อไปปฏิบัติภารกิจของหน่วยงานของตนเองที่ไม่สามารถมอบหมายให้ใครไปปฏิบัติหน้าที่แทนได้

1 พ.ค. 2560 จากกรณีที่ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ได้เปิดเผยผลสำรวจ เกี่ยวกับการเข้าประชุมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พบว่า ตามข้อบังคับกำหนดให้สมาชิกต้องมาลงมติอย่างน้อย 1 ใน 3 ของทุกรอบ 90 วัน แต่พบสมาชิกอย่างน้อย 7 คน ที่ขาดประชุมเป็นประจำ จนอาจจะเป็นเหตุให้สิ้นสภาพการเป็นสมาชิกสนช. (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) นั้น โดยต่อมา ประธานคณะกรรมการจริยธรรม สนช. ตั้งอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีดังกล่าว 

ล่าสุดวานนี้ (30 เม.ย.60) พีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการจริยธรรม สนช. ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการตรวจสอบ 7 สนช.ขาดประชุม ว่าขณะนี้ทางอนุกรรมการตรวจสอบจริยธรรมได้สรุปผลการตรวจสอบแล้ว และเตรียมเข้าสู่คณะกรรมการจริยธรรมชุดใหญ่เร็วๆ นี้ ตามกรอบเวลา 60 วันตั้งแต่รับเรื่อง ส่วนผลการพิจารณานั้นตนยังไม่ทราบว่าสรุปอย่างไร แต่ตามขั้นตอนแล้วถ้าสรุปว่าทั้ง 7 สนช.มีพฤติกรรมผิดจริยธรรมก็ต้องนำเข้าที่ประชุม สนช.พิจารณา แต่ถ้าผลสอบออกมาว่าไม่ผิดจริยธรรมก็เพียงแจ้งให้ประธาน สนช.รับทราบเท่านั้น

ผู้จัดการออนไลน์และไทยรัฐออนไลน์รายงานเพิ่มเติมด้วยว่าว่า สำหรับผลสอบของคณะอนุกรรมการฯ นั้นจะเป็นเพียงการตรวจสอบการขาดประชุมของ 7 สนช. โดยมีการเชิญ 7 สนช.มาให้ข้อมูลว่า ที่ขาดการประชุมนั้นมีเหตุผลอะไร จำเป็น และสำคัญมากน้อยแค่ไหนถึงต้องมีการลาประชุมหลายครั้ง โดยส่วนใหญ่ที่ให้ข้อมูลเป็นการลาเพื่อไปปฏิบัติภารกิจของหน่วยงานของตนเองที่ไม่สามารถมอบหมายให้ใครไปปฏิบัติหน้าที่แทนได้ เนื่องจากแต่ละคนดำรงตำแหน่งสำคัญหรือสูงสุดของหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งอนุกรรมการมองว่าเหตุที่ สนช.ชี้แจงนั้นเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลสอบนี้ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการสอบจริยธรรม สนช.จะเห็นด้วยหรือไม่
       
สำหรับ สนช.7 รายที่ถูกตรวจสอบประกอบด้วย พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์, สมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ, ดิศทัต โหตระกิตย์, สุพันธุ์ มงคลสุธี, พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา, พล.อ.จอม รุ่งสว่าง และ พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

(ยัง) ไม่มีสหภาพแรงงานมหาวิทยาลัย ในประเทศไทย

Posted: 30 Apr 2017 11:14 PM PDT

 


1. สถิติแรงงานในมหาวิทยาลัย

ข้อมูลจากเว็บไซต์สารสนเทศอุดมศึกษา เดือนตุลาคม 2559 สถาบันอุดมศึกษา 116 แห่ง จาก 155 แห่ง[1] มีสถิติจำนวนแรงงานในสถาบันอุดมศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน ดังนี้

ตารางที่ 1       จำนวนบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา ตุลาคม 2559

ประเภท

ข้าราชการ

จ้างชั่วคราว

 

จ้างประจำ

 

พนักงานมหาวิทยาลัย

พนักงานราชการ

รวม

อาจารย์ที่มีชั่วโมงสอนและช่วยสอน

12,628

5,976

5,384

39,686

200

63,874

บุคลากรสายสนับสนุน

6,253

29,111

15,589

62,559

1,587

115,099

รวม

18,881

35,087

20,973

102,245

1,787

178,973

ตัวเลขดังกล่าวทั้งหมดรวมทั้งแรงงานอาจารย์และแรงงานประเภทอื่นมีจำนวนกว่า 1.8 แสนคน จำนวนนี้เทียบเคียงได้กับจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตทำงานในภาคเหนือเมื่อปลายปี 2558 ที่มีจำนวน 182,328 คน[2] แต่แรงงานจำนวนมากขนาดนี้ กลับเป็นแรงงานที่ถูกละเลยความสำคัญในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นสภาพการจ้างงาน สวัสดิการ และอื่นๆในความมั่นคงของวิชาชีพ ในบทความนี้ผู้เขียนขอขยายประเด็นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการเกิดขึ้นของสหภาพแรงงานมหาวิทยาลัยเพื่อการต่อรองและต่อสู้ร่วมกันเพื่อสวัสดิการของตนและมิตรสหายแรงงานในวิชาชีพอื่นๆ


2. เหตุผลที่ควรมีสหภาพแรงงานมหาวิทยาลัย

กรณีปัญหาของแรงงานมหาวิทยาลัยนั้น มีทั้งส่วนของแรงงานที่เป็นอาจารย์ และแรงงานมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้ทำหน้าที่การสอนซึ่งมักถูกเรียกว่าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุน ซึ่งส่วนหลังคือ แรงงานส่วนใหญ่ในสถาบันอุดมศึกษา แต่ตัวละครที่มักถูกฉายออกมาคือ อาจารย์มหาวิทยาลัย เรื่องราวของพวกเขาปรากฏอยู่ตามสื่ออย่างสม่ำเสมอ ดังที่ผู้เขียนได้เสนอไปแล้วว่า ปัญหาอย่างหนึ่งก็คือ การไม่ตระหนักถึงความเป็นแรงงานของตนในหมู่อาจารย์มหาวิทยาลัย[3] ทั้งด้วยการถูกสั่งสอนอบรมมา หรือการถูกมัดตรึงด้วยกฎหมายแรงงาน ในกรณีแรกนั้นอาจเป็นมรดกตกทอดมาจากความเป็นครู และความเป็นข้าราชการมาแต่เดิมที่นอกจากจะเป็นการสร้างพื้นที่แห่งเกียรติยศของตนแล้ว ในทางกลับกันมันได้แยกความเป็นแรงงานออกจากมิตรสหายแรงงานทั้งหลายไปด้วย ที่ผ่านมาการต่อสู้เคลื่อนไหวเรื่องแรงงานหรือสวัสดิการทั้งหลายในสังคมไทย แทบไม่ได้อยู่ในกระแสสำนึกของอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วไปด้วยซ้ำ จนกระทั่งสภาพการจ้างงานที่ไม่มั่นคง อันเนื่องมาจากว่าอาจารย์มิได้เป็นข้าราชการที่มีอายุจ้างงานตลอดชีวิต มีสวัสดิการชั้นดีเลิศเผื่อแผ่ครอบครัวอีกต่อไปถึงได้ทำให้อาจารย์ส่วนหนึ่งเริ่มตั้งคำถามกับสภาพการจ้างงานที่เป็นอยู่มากขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่แรงงานที่ไม่ใช่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยกลับถูกละเลย[4] ทั้งที่มีจำนวนมากกว่า จากตารางที่หนึ่งสัดส่วนต่อแรงงานทั้งหมดนับเป็น 64.31% เสียงของพวกเขายิ่งน้อยกว่าน้อย การดำรงชีวิตอยู่ของพวกเขาคล้ายกับเป็นเพียงผู้สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานได้อย่างสะดวกสบาย ไม่ใช่แรงงานที่มีความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ในทางอุดมคติการรวมตัวกันได้จะสามารถสร้างอำนาจต่อรองต่อผู้ว่าจ้าง ซึ่งในที่นี้ก็คือ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย การรวมตัวกันที่ผ่านมานั้นอาจจะมีในรูปของสมาคมวิชาชีพและเกิดเฉพาะกับผู้ที่มีสถานะที่ดีอยู่แล้วเช่นอาจารย์ แต่กระนั้นหมู่อาจารย์มักนิยมตั้งสมาคมวิชาชีพของตนเองมากกว่า เนื่องมาจากการรวมกลุ่มดังกล่าวนำไปสู่การสร้างเครือข่ายในวิชาชีพ และการเข้าถึงแหล่งทุน แต่มักจะไม่ได้มีบทบาทต่อรองเกี่ยวกับปัญหาสภาพการจ้างงาน ทั้งยังไม่มีที่ทางในโครงสร้างกฎหมายแรงงานใดๆ แต่ความคิดในเชิงอุดมคติใดที่จะตอบโจทย์ในการสร้างอำนาจต่อรองร่วมกันระหว่างแรงงานในมหาวิทยาลัย?

คำตอบหนึ่งก็คือ สหภาพแรงงาน

สหภาพแรงงานคืออะไร? สหภาพแรงงาน[5] คือ องค์กรของเหล่าแรงงานที่พวกเขาจัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับผู้ว่าจ้าง กลุ่มทุน หรือรัฐบาล โดยมีความเป็นอิสระจากกลุ่มดังกล่าว ยิ่งเมื่อมีสมาชิกสหภาพจำนวนมากขึ้นก็ยิ่งมีอำนาจต่อรองขึ้นได้ด้วย อนึ่งโดยแนวคิดแล้วสหภาพแรงงานนั้นต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของความเป็นประชาธิปไตยที่สมาชิกมีส่วนในการกำหนดและควบคุมนโยบายของสหภาพ อย่างไรก็ตามการเพิ่มจำนวนสมาชิกนั้นตามกฎหมายแล้วจะต้องเป็นความสมัครใจ ไม่ใช่เป็นการบังคับ[6] สหภาพแรงงานนั้นสามารถจัดตั้งได้ในสถานประกอบการเดียวกัน และข้ามสถานประกอบการกัน[7] นอกจากนั้นสหภาพแรงงานสามารถรวมตัวกันตั้งแต่ 2 แห่งขึ้นไปรวมเป็นสหพันธ์แรงงาน เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างสหภาพ แรงงาน และคุ้มครองผลประโยชน์ของสหภาพแรงงานและลูกจ้าง[8]  ซึ่งเป็นการสร้างความเข้มแข็งของสหภาพมากขึ้น แต่กระนั้นสหภาพแรงงานไม่ได้ถือว่าผู้บริหารสถานประกอบการเป็นศัตรู แต่เป็นมิตรสหายที่มีความเท่าเทียมกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่สามารถเจรจาและต่อรองกันได้

อย่างไรก็ตาม ไม่เคยมีการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ในสถาบันอุดมศึกษามาก่อนจะด้วยเหตุผลใดนั้น จะได้กล่าวต่อไป  

 

3. ปัญหาการตั้งสหภาพแรงงานในมหาวิทยาลัย และการเชื่อมต่อกับแรงงานนอกมหาวิทยาลัย

ในเชิงเทคนิคแล้ว การจัดตั้งสหภาพแรงงานในประเทศไทย สัมพันธ์โดยตรงกับกฎหมายพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ด่านแรกที่คาดว่าทำให้หลายคนในมหาวิทยาลัยต้องถอยหลังหากต้องการจะตั้งสหภาพแรงงาน ก็คือ การไม่ให้บังคับใช้กฎหมายนี้กับราชการส่วนกลาง, ราชการส่วนภูมิภาค, ราชการส่วนท้องถิ่น รวมทั้งราชการของกรุงเทพมหานคร และ เมืองพัทยา, กิจการรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และกิจการอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา เนื่องจากว่า แต่เริ่มนั้น มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นหน่วยงานราชการมาก่อน กฎหมายนี้จึงเป็นเสมือนกรงขังมิให้เกิดการจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นในมหาวิทยาลัยในเชิงโครงสร้าง

ขณะที่อาจารย์เอง นอกจากปัญหาของความมั่นคงของระบบราชการมาแต่เดิมและการดำรงสถานภาพที่สูงส่งที่เป็นอุปสรรคในการรวมตัวแล้ว อาจารย์มหาวิทยาลัยเองยังมีปัญหาที่ไม่สามารถรวมตัวกันได้ไม่ว่าจะด้วยทัศนคติ สาขาวิชาที่ถูกแบ่งแยกกันไปตามศาสตร์ต่างๆ นอกจากนั้นสัญญาจ้างงานที่ต่างกันที่ทำให้สถานภาพที่ต่างกันไปด้วยไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ, พนักงานราชการ, พนักงานมหาวิทยาลัย, ลูกจ้างประจำ, ลูกจ้างชั่วคราว ส่วนแรงงานที่ไม่ใช่อาจารย์ก็ตกอยู่ในโครงสร้างกฎหมายเดียวกันที่นอกจากจะไม่มีสวัสดิการที่มั่นคงให้แล้ว ยังตัดสิทธิพื้นฐานของแรงงานอีกด้วย ทั้งที่ในทางปฏิบัติแล้วพวกเขาเป็นผู้ใช้แรงงานอย่างเข้มข้นในกรณีอย่างแม่บ้าน ภารโรง คนสวน ฯลฯ

การจัดตั้งสหภาพแรงงานมหาวิทยาลัยนอกจากจะเป็นการรักษาผลประโยชน์ของตนนั่นคือสิทธิแรงงานพื้นฐานในสถานที่ทำงานแล้ว ผู้เขียนเห็นว่า จะเป็นพื้นที่แห่งการเชื่อมต่อกับแรงงานอื่นๆที่อยู่ภายนอกมหาวิทยาลัยด้วย ดังที่กล่าวไปแล้วว่าการจัดตั้งสหภาพแรงงานนั้นอาจจัดตั้งเป็นสหพันธ์ เมื่อมีสหภาพแรงงานสองแห่งขึ้นไป การรวมตัวกันเช่นนี้ระหว่างมหาวิทยาลัยยิ่งจะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งจนอาจกลายเป็นเครือข่ายระดับชาติได้ การรวมตัวกันเช่นนี้จะนำไปสู่การต่อรองเพื่อให้ผู้บริหารแก้ไขปัญหาสภาพการจ้างงานที่ย่ำแย่ต่างๆ เช่น ความไม่เป็นธรรมของการจ้างงาน อย่างการให้ออกอย่างไม่เป็นธรรม หรือการปรับปรุงสวัสดิการของมหาวิทยาลัยให้ดีขึ้น ฯลฯ หรือการเรียกร้องต่อรัฐบาลในประเด็นสาธารณะร่วมกับแรงงานภาคอื่นๆ ในประเด็นที่ใหญ่ขึ้น เช่น การเรียกร้องสวัสดิการทางสังคมที่ดีขึ้น การปรับระบบการให้บริการในนามประกันสังคมจะต้องไม่ใช่เป็นการให้บริการชั้นสอง หรือการให้เบิกที่ไม่สมเหตุสมผล และปกป้องผลประโยชน์กองทุนไม่ให้รัฐนำเงินไปใช้โดยไม่ได้รับการยินยอมจากผู้จ่ายเงินสมทบ ไม่เพียงเท่านั้นการตระหนักถึงปัญหา และผลประโยชน์ร่วมกันอาจนำไปซึ่งการสร้างพรรคการเมืองให้เป็นปากเป็นเสียงของเหล่าแรงงานที่จะไปทำงานทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น 


4. ข้อเสนอระยะสั้น กลุ่มศึกษาปัญหาแรงงานในมหาวิทยาลัย

การไปถึงสหภาพแรงงานมหาวิทยาลัยได้นั้น คงต้องเดินทางทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะการจัดการเกี่ยวกับกฎหมาย ผู้เขียนมีข้อเสนอระยะสั้น นั่นคือ การรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายกันระหว่างอาจารย์และแรงงานในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทราบกันดีว่า มหาวิทยาลัยได้กระจายตัวอยู่ตามจังหวัดต่างๆ แม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด แต่ก็มีฐานอยู่ทั้งในมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ 15 แห่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏ 40 แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง ฯลฯ ภายในมหาวิทยาลัยเหล่านี้สามารถที่จะตั้งกลุ่มศึกษาปัญหาแรงงานขึ้น เพื่อนำไปสู่การทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาสภาพการจ้างงานและการแก้ไขปัญหาต่างๆในพื้นที่ของตนเอง โดยมีเรื่องสหภาพแรงงานเป็นประเด็นหนึ่งที่ควรศึกษา คู่ไปกับการศึกษากฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน เช่น  พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551, พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 (ปรับปรุง), พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528, พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545, พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2551, พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518, พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541, พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543, พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านั้น การตั้งกลุ่มเช่นนี้ยังอาจนำไปสู่การร่วมเรียนรู้กับแรงงานในเขตจังหวัดหรือพื้นที่ใกล้เคียงของตน ในสถานประกอบการต่างๆ โดยเฉพาะแรงงานที่มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นในเขตจังหวัดของตนเอง ทั้งเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ หรือรวมกลุ่มช่วยเหลือในสิ่งที่กลุ่มแรงงานมหาวิทยาลัยที่ช่วยได้ ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า แรงงานในเขตต่างจังหวัดที่ไม่ใช่ย่านโรงงานขนาดใหญ่อาจขาดพลังที่เชื่อมต่อกับแรงงานอื่นๆ หากสถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยจะเป็นพื้นที่กลาง หรือกระทั่งสะพานเชื่อมต่อแรงงาน น่าจะทำให้รากฐานความเคลื่อนไหวด้านแรงงานมีความเข้มแข็งขึ้น จนนำไปสู่จัดตั้งสหภาพแรงงานได้ในอนาคต.

 

เชิงอรรถ

[1] เว็บไซต์สารสนเทศอุดมศึกษา. "บุคลากรอุดมศึกษา". สืบค้นเมื่อ 30 เมษายน 2560 จาก http://www.info.mua.go.th/information/show_all_statdata_table.php?data_show=4 อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อมูลอีก 39 แห่ง เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, มหาวิทยาลัยรังสิต, มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ฯลฯ

[2] กระทรวงแรงงาน. "วารสารสถิติจำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนญุาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักรประจำปี 2558". สืบค้นเมื่อ 30 เมษายน 2560 จาก https://www.doe.go.th/prd/assets/upload/files/alien_th/cea979ea00fbb2f2ad2b6d5e53d5dde8.pdf

[3] ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ และ อัคจร แม๊ะบ้าน. "ความเป็น 'แรงงาน' ที่หายไป: บุคลากรในมหาวิทยาลัยกับความคำนึงหาสหภาพแรงงาน". สืบค้นเมื่อ 30 เมษายน 2560 จาก https://prachatai.com/journal/2016/10/68440

[4] ตัวอย่างการยกประเด็นดังกล่าว ได้แก่ ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. "แรงงานผี: สภาวะไม่ใช่คนในพื้นที่ทำงาน กรณีศึกษาแม่บ้านและภารโรง". สืบค้นเมื่อ 30 เมษายน 2560 จาก https://prachatai.com/journal/2016/09/68107 (28 กันยายน 2559) 

[5] อ่านเพิ่มเติมใน ฐานข้อมูลสหภาพแรงงานไทย. "สหภาพแรงงานคืออะไร ". สืบค้นเมื่อ 30 เมษายน 2560 จาก http://www.thailabordatabase.org/th/union.php?c=about

[6] "พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518", ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 92, ตอนที่ 47, 26 กุมภาพันธ์ 2518, น.ฉบับพิเศษ 67

[7] ฐานข้อมูลสหภาพแรงงานไทย. "สหภาพแรงงานคืออะไร ". สืบค้นเมื่อ 30 เมษายน 2560 จาก http://www.thailabordatabase.org/th/union.php?c=about

[8] "พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518", ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 92, ตอนที่ 47, 26 กุมภาพันธ์ 2518, น.ฉบับพิเศษ 63

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

30 องค์กรสื่อ ยื่นจดหมายถึง สปท. ค้านร่างกฎหมายคุมสื่อ

Posted: 30 Apr 2017 09:29 PM PDT

30 องค์กรสื่อ ยื่น จดหมายเปิดผนึก ถึง ประธาน สปท. คัดค้านและขอให้ยกเลิก ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน

ที่มาภาพ เว็บไซต์ สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 

1 พ.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่าวันนี้ (1 พ.ค.60) ปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พร้อมผู้แทน 30 องค์กรสื่อมวลชน ยื่นหนังสือถึงสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เพื่อเรียกร้องให้ สปท.ถอนวาระการพิจารณารายงานร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านสื่อสารมวลชน ในวันนี้ (1 พ.ค.) แม้กรรมาธิการฯ จะยอมปรับเปลี่ยนจากการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เป็นใบรับรองประกอบวิชาชีพก็ตาม เนื่องจากยังเป็นห่วงเรื่องเจตนารมณ์ของกฎหมายและคำนิยามของคำว่าสื่อมวลชนที่กว้างจนเกินไป ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบในอนาคตได้ และยังมีเนื้อหาที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชน มีความเป็นเผด็จการอำนาจนิยม และยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 จึงขอเรียกร้อง สปท.ให้ถอนรายงานดังกล่าว แล้วให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเริ่มกระบวนการยกร่างใหม่

ด้าน อลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท. ยืนยันว่า รายงานดังกล่าวไม่ได้มีเจตนาในการปิดกั้น หรือแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชน ซึ่งที่ผ่านมากรรมาธิการฯ ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วน และการออกกฎหมาย ยังจะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีก รวมถึงจะต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบ ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ พร้อมชี้แจงแนวทางการพิจารณาของ สปท.ในวันนี้ว่าสามารถเป็นไปได้ 3 แนวทาง คือ สปท.เห็นชอบกับรายงาน หรือไม่เห็นชอบ หรือมีผู้เสนอให้ถอนร่าง และรวมถึงการตีกลับไปให้กรรมาธิการฯ นำไปปรับปรุงก่อน

ขณะที่วันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา องค์กรด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วย สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา(HRDF) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม(CrCF) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน(สนส.) ศูนย์เผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา (ผสพ.) และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.) ได้ออกแถลงการคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วย โดยมีรายละเอียดดังนี้

แถลงการณ์ คัดค้านร่างกฎหมายควบคุมเสรีภาพสื่อมวลชน

ตามที่ร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ..... ซึ่งกำลังพิจารณาอยู่ในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนอย่างกว้างขวางว่าร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวมิได้เป็นการส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนแต่กลับเป็นการแทรกแซงและควบคุมการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชน โดยในร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวระบุให้ "ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน" ต้องได้รับใบอนุญาตโดยคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ มาจากกลุ่มบุคคล ซึ่งมีตัวแทนภาครัฐเข้าร่วมด้วย ซึ่งคณะกรรมการมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตวิชาชีพสื่อมวลชนได้อันเถือได้ว่าเป็นการเปิดทางให้มีการแทรกแซงสื่อได้นั้น

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)และองค์กรข้างท้ายขอแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการจัดทำกฎหมายเพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ดังต่อไปนี้

1. "เสรีภาพของประชาชน" หมายความเชื่อมโยงถึง "เสรีภาพของสื่อมวลชน"ด้วย ถือเป็นหลักการสำคัญของสิทธิเสรีภาพที่สำคัญประการหนึ่งในสังคมประชาธิปไตย ในแง่ที่ว่าหากจะมีการจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชนจำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ดังนั้นการส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวล จักต้องคำนึงถึงหลักการเรื่องสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนด้วยอย่างเคร่งครัด

2. แนวคิดในการจัดทำกฎหมายเพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนนั้นจักต้องอยู่บนพื้นฐานร่วมกันว่า สื่อมวลชนมีเสรีภาพควบคู่ไปกับ หรือถูกกำกับภายใต้ความรับผิดชอบที่สื่อมวลชนพึงมีต่อประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ ซึ่งประชาชนหรือผู้บริโภคสื่อย่อมสามารถใช้วิจารณญาณในฐานะวิญญูชนที่จะวินิจฉัยได้ด้วยตนเอง อันเป็นประเด็นหนึ่งที่ต้องได้รับการพัฒนาเรียนรู้และสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมร่วมกันในสังคมนั้นๆเอง

3.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มีบทบัญญัติคุ้มครองเสรีภาพของสื่อมวลชนไว้ในการเสนอข่าวสาร หรือแสดงความเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ซึ่งสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเรื่องเสรีภาพในการรับ แสวงหาและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดเห็น โดยต้องอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบต่อการแสดงความคิดเห็น หรือการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารนั้นๆ โดยไม่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมของสังคม ซึ่งสื่อมวลชนยังต้องได้รับการกำกับภายใต้กฎหมายหลายฉบับ ทั้งประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการหมิ่นประมาท กฎหมายเกี่ยวกับวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม กฎหมายเกี่ยวกับการโฆษณา กฎหมายเกี่ยวกับวัฒนธรรม กฎหมายเกี่ยวกับการศึกษา กฎหมายเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจาร กฎหมายว่าด้วยคอมพิวเตอร์ กฎหมายด้านการจดแจ้งการพิมพ์ ฯลฯ โดยกฎหมายแต่ละฉบับก็มีเจ้าพนักงานของรัฐกำกับดูแลและควบคุมให้สื่อมวลชนมีความรับผิดชอบต่อบุคคลและต่อสังคมอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องมีกฎหมายเฉพาะในการคุ้มครองและส่งเสริมจริยธรรมสื่อมวลชนอีก

ด้วยหลักการและเหตุผลดังกล่าวข้างต้น สสส.และองค์กรท้ายแถลงการณ์นี้ จึงมีข้อเสนอและข้อเรียกร้อง ดังนี้

1. ให้ทบทวนร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ  ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ..... ในประเด็นเรื่อง การออกใบอนุญาตสื่อมวลชน และคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ให้ปลอดจากการมีหน่วยงานภาครัฐเป็นกรรมการ เพื่อให้การกำกับดูแลจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนกระทำโดยผู้แทนของสื่อมวลชนด้วยกันเอง

2. สนับสนุนให้มี "สภาวิชาชีพสื่อมวลชน" ที่เป็นการกำกับดูแลกันเองระหว่างองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน แขนงต่างๆ ให้มาจดแจ้งการเป็นองค์กรสื่อมวลในกลุ่ม หรือแขนงของตนเอง กำกับดูแลจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพภายใต้มาตรฐานเดียวกัน รวมถึงเป็นการจัดระเบียบองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน โดยกำหนดจำนวนองค์กรวิชาชีพขั้นต่ำไว้เพื่อมิให้มีการจดแจ้งองค์กรสื่อมวลชนแขนงต่างๆ มากจนเกินไป จนไม่สามารถกำกับดูแลกันเองได้

3. สภาวิชาชีพสื่อมวลชนควรมีลักษณะที่แตกต่างจากองค์กรวิชาชีพอื่นที่ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายปกครอง แต่รับการกระจายอำนาจเพียงบางส่วน เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากอำนาจฝ่ายต่างๆ ทั้งกลุ่มผลประโยชน์ รัฐ และการเมือง โดยให้ใช้อำนาจศาลในการดำเนินการกำกับดูแลชี้ขาดในการตรวจสอบจริยธรรมขององค์กรวิชาชีพ

การกำกับดูแลด้วยกันเองขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ถือเป็นพัฒนาการสำคัญของสังคมประชาธิปไตยที่ประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการให้เกิดขึ้น โดยที่รัฐเข้ามาดูแลกำกับน้อยที่สุด รัฐและสังคมต้องให้ความเชื่อมั่นว่าสื่อมวลชนมีศักยภาพ ในการกำกับดูแลกันเอง เพื่อผดุงไว้ซึ่งการเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนและความรับผิดชอบต่อสาธารณะต่อไป

ด้วยความเชื่อมั่นสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

วันที่ 30 เมษายน 2560

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา(HRDF)

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม(CrCF)

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน(สนส.)

ศูนย์เผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา (ผสพ.)

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.)

 

ที่มา เว็บไซต์ สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สำนึกของความเป็นคนส่วนใหญ่ของแรงงาน

Posted: 30 Apr 2017 09:19 PM PDT

 

การปกครองด้วยมาตรา 44 ทำให้เราได้เห็นการอวดเบ่งอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างชัดเจน การใช้งบประมาณแผ่นดินจำนวนมหาศาลเพื่อสร้างอาณาจักรของกองทัพ ซื้อเรือดำน้ำแสดงแสนยานุภาพ สร้างความเข้มแข็งให้กลไกปราบปราม พร้อมกับวางแผนสืบทอดอำนาจต่อด้วยสโลแกน มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน แล้วประชาชนคนส่วนใหญ่จะได้อะไรจากผู้นำเหล่านี้ หรือจะสูญเสียอะไรเพื่อแลกกับความมั่นคงของรัฐ

อาจจะมีประชาชนบางกลุ่ม แรงงานบางส่วนรอ "ส้มหล่น" จากพลพรรคของผู้นำทหาร ส้มลูกเล็กที่ไม่เพียงพอสำหรับอีกหลายคน ไม่ใช่การกระจายความมั่งคั่ง ดังเห็นได้จากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 1-10 บาทให้คนงานมีชีวิตรอดแบบวันต่อวัน หลักคิดเดียวกันกับการขึ้นเงินเดือน การรับเหมางาน  ทว่าคนไม่สามารถอยู่รอดได้เพียงเพราะส้มหล่น/น้ำล้นแก้วโดยไม่มีอำนาจในการต่อรอง กำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง

แรงงานคือพลังการผลิตขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต ที่ผลิตตั้งแต่เครื่องมือเทคโนโลยี เครื่องอุปโภคบริโภค และงานภาคการบริการด้วยกำลังสมองและร่างกาย จึงเป็นคนส่วนใหญ่ภายใต้ระบบการจ้างงานที่หลากหลายรูปแบบขึ้น และการเคลื่อนไหวเรียกร้องสภาพการจ้างงานที่มีคุณค่าเพื่อให้ได้ค่าจ้างและสวัสดิการที่ผ่านมาให้ประโยชน์แก่แรงงานทุกภาคส่วนนับสิบๆ ล้านคนอย่างเท่าเทียม โดยไม่เลือกปฏิบัติ ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย รวมถึงพนักงานของรัฐด้วย

กล่าวคือ คนทำงานไม่ใช่เป็นเพียงคนทำงานให้นายจ้าง แต่ยังเป็นพลังการเปลี่ยนแปลงสังคม ที่คำนึงถึงเรื่อความเป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งผู้มีอำนาจพยายามจะตัดปัจจัยนี้ออกจากกระบวนการโดยยกร่าง-จัดทำกฎหมาย และออกนโยบายต่างๆ ให้เหลือเพียงปัจจัยที่เอื้อต่อรัฐและทุน เช่น การร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ และได้โฆษณาป่าวประกาศว่าได้รับฟังความเห็นจากประชาชนแล้ว ทั้งๆ ที่ความเป็นจริง หลายๆ ฝ่าย หลายพรรคการเมืองต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า ประชาชนยังคงไม่มีสิทธิเข้ามีส่วนร่วมโต้แย้งและเสนอหนทางที่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่

โดยหลักการ การบริหารประเทศที่เป็นธรรมในด้านเศรษฐกิจการเมือง ต้องประกอบด้วยตัวแทนจาก 3 ฝ่าย (คล้ายระบบไตรภาคี) คือ รัฐ ทุน และประชาชน/แรงงาน ที่มาจากการเลือกตั้งทุกระดับ แต่ในความเป็นจริงสังคมไทยยังไม่เป็นดังว่า เพราะแต่ละฝ่ายต่างมีปัญหาและจุดอ่อน คือ

ฝ่ายรัฐ  เต็มไปด้วยการใช้อำนาจแบบมาเฟีย ผู้บริหารระดับสูงไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง สร้างอาณาจักรของพวกพ้องตัวเองที่ไม่ได้ทำประโยชน์เพื่อคนส่วนใหญ่ และสมควรถูกแทนที่ด้วยระบบการเลือกตั้งตัวแทนของประชาชนเข้าไปบริหารในอนาคต

ฝ่ายทุน มีการรวมกลุ่มเป็นสมาคมนายจ้าง เป็นเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในการตอบโต้รับมือกับสหภาพแรงงาน และเป็นพรรคการเมือง แม้นว่าระบบทุนนิยมจะเต็มไปด้วยการแข่งขันที่รุนแรง แต่ในที่สุดก็ร่วมมือกันเพื่อคานอำนาจกับฝ่ายแรงงาน  เท่าที่ผ่านมาประวัติศาสตร์การต่อสู้ระหว่างแรงงานกับทุนยังคงทำให้แรงงานอ่อนแอ แข่งขันกันเอง ส่วนทุนแสวงหากำไรได้สะดวก โดยกำหนดนโยบายเพื่อประโยชน์ของพวกทุนในแนวเสรีนิยมกลไกตลาด ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐหย่อนยานกับฝ่ายทุน ไม่ควบคุมมาตรฐานและเกิดผลร้ายต่อชีวิตของคนส่วนใหญ่ในสังคม

ฝ่ายแรงงาน มีการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงาน หรือสร้างเครือข่าย สมาคมวิชาชีพด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน แต่การเป็นสมาคมไม่ใช่เพื่อเรียกร้องค่าจ้างและสวัสดิการ หรือเพิ่มอำนาจต่อรองกับนายจ้าง ปัญหาที่พบคือ ความหมายของคำว่า "แรงงาน" คลุมแคบเฉพาะแรงงานในภาคอุตสาหกรรม และบางส่วนของงานบริการ แต่ไม่คลุมครอบถึงคนที่มีรายได้จากการทำงานในภาคอื่นๆ เช่น กลุ่มครูผู้สอน และนักค้นคว้าวิจัยนวัตกรรมสมัยใหม่ แรงงานอาชีพในภาคบริการสมัยใหม่ เช่น ศิลปิน พนักงานบริการทางเพศ และแรงงานในกลุ่มสื่อ ซึ่งไม่มีการรวมกลุ่มกัน การจ้างงานมีหลายรูปแบบตามที่นายจ้างกำหนดฝ่ายเดียว กำหนดได้แม้กระทั่งไม่ทำสัญญาจ้างเป็นเอกสาร ไม่ต่อสัญญา จ้างงานระยะสั้น เหมาชิ้น เหมาช่วง ใช้นักศึกษาฝึกงานเยี่ยงลูกจ้าง ซึ่งเป็นการทำสัญญาจ้างแรงงานที่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพื่อความสะดวกของตัวเอง ที่เลวร้ายคือไม่ให้สถานะลูกจ้างดังกรณีพนักงานบริการทางเพศตามสถานบันเทิง ทำให้ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และไม่สามารถรวมตัวกันต่อรองกับนายจ้าง

จากสามฝ่ายดังกล่าวข้างต้น ฝ่ายแรงงานเป็นฝ่ายที่เพลี่ยงพล้ำมาตลอด เพราะยังตกอยู่ภายใต้มายาคติเรื่องการไต่เต้าสถานะ เลื่อนขั้นตำแหน่ง การแข่งขันแบบตัวใครตัวมัน หลอกตัวเองว่าปัจเจกบุคคลจะสามารถต่อรองได้ และมีชีวิตที่มั่นคง ทั้งๆ ที่ระบบการจ้างงานไม่ได้เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น มีแต่เสียงพร่ำบ่นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม รวยกระจุกจนกระจาย ซึ่งภาพรวมในระดับประเทศจะแก้ไขไม่ได้ หากไม่ทำอะไรสักอย่างในสถานที่ทำงานของตัวเอง

สิ่งที่ท้าทายของฝ่ายแรงงาน คือ ให้ใช้ความหมายของแรงงานที่ครอบคลุมทันสมัย ไม่ใช่คลุมแคบแบบเก่า เพื่อเข้ามารวมกลุ่มกันค้นหาพลังต่อรองของตัวเอง มีพรรคการเมือง มีขบวนการแรงงานที่เข้มแข็ง เพราะรัฐไทยได้ร่วมมือกับทุนขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจการเมืองในลักษณะผูกขาดอำนาจ ฉวยโอกาสในเวลาที่ประชาธิปไตยกำลังอ่อนแอ ประชาชนแตกขบวน การสร้างความมั่นคงของรัฐและทุนจึงไม่ได้ตอบสนองต่อความมั่นคงในชีวิต สิทธิเสรีภาพของผู้ใช้แรงงานตามระบอบประชาธิปไตย

เชื่อว่าสำนึกของความเป็นคนส่วนใหญ่ของแรงงานจะเกิดได้หากสามารถปรับวิธีคิดให้เข้าหากันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างสม่ำเสมอ

ด้วยความสมานฉันท์


วันแรงงานสากล 1 พฤษภาคม 2560
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น