โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

วอยซ์ทีวีแจงเหตุ พักสองพิธีกร Wake Up News เพราะผู้มีอำนาจไม่พอใจ

Posted: 16 Sep 2018 10:58 AM PDT

ผู้อำนวยการสถานีวอยซ์ทีวี แจงเหตุพักการดำเนินรายการ ศิโรตม์-วิโรจน์ และพักคอลัมน์ เวคอัพการ์ตูนเซีย เหตุเพราะผู้มีอำนาจไม่พอใจการวิพากษ์วิจารณ์ เผยหากไม่ดำเนินการอะไรเลย วอยซ์ทีวีจะอยู่ในจุดที่อันตราย

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2561 ประทีป คงสิบ ผู้อำนวยการสถานีวอยซ์ทีวี โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เพื่อชี้แจงกรณีที่มีข่าวว่า มีการปรับเปลี่ยนตัวพิธีกรรายการ Wake Up News บางคน โดยประทีประบุว่าตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย. – 17 ต.ค. นี้ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนผู้ดำเนินรายการ โดยช่วงเวลาดังกล่าว ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ และวิโรจน์ อาลี จะหยุดพักดำเนินรายการ รวมทั้งคอลัมน์ เวคอัพ การ์ตูน โดยเซียก็จะต้องหยุดพักตามไปด้วย

ประทีประบุถึงเหตุผลว่าเป็นเพราะ "ผู้มีอำนาจ" ในการชี้ชะตาไม่พอใจอย่างแรงกับการวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ของผู้ดำเนินรายการทั้งสองท่าน รวมทั้งการ์ตูนโดยคุณเซีย หากไม่มีการปรับเปลี่ยนอะไรเลย สถานการณ์ของวอยซ์ทีวีจะอยู่ในจุดที่อันตราย

"นี่เป็นอีกครั้งที่เราต้องฝืนใจเจ็บปวด เพื่อประคองให้องค์กรเดินหน้าได้ต่อไป ไม่ต่างอะไรกับที่เราเคยจำเป็นต้องพักการทำหน้าที่ของ คุณปลื้ม ม.ล.ณัฎฐกรณ์ เทวกุล คุญใบตองแห้ง อธึกกิตต์ แสวงสุข คุณคำ ผกา คุณพัชยา มหัทธโนธรรม ในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามเรายังเชื่อมั่นว่าสิ่งที่วอยซ์ทีวีทำเป็นเสรีภาพของการทำหน้าที่สื่อมวลชนในระบอบประชาธิปไตย. และไม่ผิดกฏหมายข้อไหน แต่ที่ผิดเพียงเพราะไม่ถูกใจผู้มีอำนาจเท่านั้น ถึงที่สุด เราจึงยังสงวนสิทธิ์ที่จะไปสู้ในกระบวนการยุติธรรม" ประทีป ระบุ

ดาบ โซ่ แส้ กุญแจมือ: เปิดเครื่องมือเชือด Voice TV และเนื้อหา 3 รายการที่โดนลงโทษ

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไอดอลหญิง และความเป็นชาย

Posted: 16 Sep 2018 10:37 AM PDT

ปฎิเสธไม่ได้ว่าปัญหาสังคมผู้สูงอายุส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากปัญหาการแต่งงานที่น้อยลง

ปัญหาการแต่งงานประการหนึ่งเกิดขึ้นจากการจัดความสัมพันธ์ที่ไม่ลงตัวระหว่างเพศหญิงและเพศชาย ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือปัจจัยทางด้านการศึกษา ซึ่งมีผลไม่น้อยต่อวิธีคิดต่างๆ ที่ส่งผลไปต่อความสัมพันธ์ระหว่างเพศทั้งสอง

ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเพศทั้งสองมีความสำคัญอย่างไร

ในปัจจุบันนี้เด็กที่จะเข้าสู่การเข้าสู่การศึกษาในระดับอุดมศึกษานั้นมีจำนวนลดลง อันเกิดจากการแต่งงานที่ลดน้อยลง การมีลูกที่น้อยลง ย่อมทำให้จำนวนเด็กที่จะเข้าสู่มหาวิทยาลัยลดน้อยลงไปด้วย และจำนวนคนที่เข้าสู่สังคมในระดับอุดมศึกษาในปัจจุบันเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย นั่นหมายความว่าผู้หญิงมี "โอกาส" ที่จะได้รับการงานอาชีพที่มั่นคง หรือสูงกว่าผู้ชายอยู่ไม่น้อย ถ้าไม่นับอาชีพที่เพศเป็นตัวแปรสำคัญ เช่น ตำรวจ หรือทหาร เป็นต้น

ในระบบวัฒนธรรมไทย ผู้หญิงถูกสังคมคาดหวังให้ทำหน้าที่ "แม่" และ "เมีย" ที่ดี หรือพูดง่ายๆ คือ การให้ผู้หญิงมีบทบาทใน "พื้นที่ส่วนตัว" เช่น บ้าน เป็นต้น อย่างไรก็ดี การขยายตัวทางด้านการศึกษาในรอบห้าทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ผู้หญิงมีบทบาทที่มากยิ่งขึ้นในงานนอกบ้านกว่าเดิม (จะชอบหรือไม่ชอบในนโยบาย แต่เราเองก็เคยมีนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้หญิงมาแล้วเหมือนกัน)

ในด้านหนึ่งการที่ผู้หญิงเริ่มมีบทบาท "เท่าเทียม" กับผู้ชายย่อมเป็นเรื่องที่ดี แต่ในอีกด้านหนึ่งผู้หญิงเองก็เริ่มที่จะมีภาระมากขึ้นในการแบกรับความคาดหวังทางสังคมที่มากกว่าเดิม คือ ต้องเก่งทั้งในบ้านและนอกบ้าน

อย่างไรก็ดีภาวะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่ส่งผลให้ความต้องการทางการศึกษาขยายตัว ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสออกมาหางานทำนอกบ้านมากยิ่งขึ้น เมื่อประกอบกับปัญหาที่การแต่งงานน้อยลง ทำให้ภาวะของความเป็นแม่และเป็นเมียของผู้หญิงก็ย่อมลดน้อยลงด้วย หรือไม่ต้องเป็นเลยก็ได้ ความสัมพันธ์ของผู้หญิงจึงเริ่มเหลือมิติของความเป็นผู้หญิง แบบปัจเจกที่มิได้มีความสัมพันธ์ในลักษณะแม่และเมียอีกต่อไป การพัฒนาความสามารถของตนเองของผู้หญิงในปัจจุบันจึงมีความเข้มข้นสูงขึ้น ไม่จำเป็นต้องเก่งเรื่องในบ้านก็ได้อีกต่อไป

ในขณะเดียวกันผู้ชายกลับเผชิญหน้าปัญหานี้ในลักษณะที่ต่างออกไป กล่าวคือ ในปัจจจุบันผู้ชายที่มีโอกาสเข้าสู่การศึกษาในระดับอุดมศึกษาน้อยกว่าผู้หญิง สาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือผู้ชายในระบบวัฒนธรรมไทยย่อมจะต้องเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว ผู้ชายจึงได้ถูกผลักดันให้ต้องรีบหางานทำมากกว่าผู้หญิง ปัจจัยดังกล่าวจึงเริ่มทำให้ผู้ชายให้ความสำคัญกับการศึกษาในสายวิชาที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดที่มากกว่าเช่น สายวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์

 ในด้านหนึ่งวิชาบางวิชาจึงมีภาพลักษณ์ "กว้าง" ของความเป็นชาย เช่น สายวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์ ในขณะที่วิชาทางด้านสายสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์ถูกให้มีภาพลักษณ์ "กว้าง" ของความเป็นหญิง ยังไม่รวมมายาคติที่ว่าผู้ชายมีความถนัดในการใช้ "เหตุผล" มากกว่า "อารมณ์ความรู้สึก" อันได้แก่สายวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์ ในขณะที่ผู้หญิงมีลักษณะที่เป็นตรงกันข้ามจึงเหมาะกับสายวิชาทางด้านสายสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์ (ซึ่งย่อมไม่ใช่เรื่องจริง)

ช่วงเวลาเดียวกันนี้เราเริ่มมีวงไอดอลวงหนึ่ง และหัวหน้าวงไอดอลท่านนั้นก็มีภาพลักษณ์ทางด้านการศึกษา โดยเฉพาะทางด้านการศึกษาในทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่ค่อนข้างขาดแคลนในสังคมไทย ไอดอลท่านนั้นยังได้กล่าวถึงอนาคตว่าสนใจงานทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งถือได้ว่าน่าสนใจมาก เพราะสังคมไทยในปัจจุบันยังคงให้ความสำคัญกับการศึกษาเทคโนโลยีมากกว่าการศึกษาวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้วิชาวิทยาศาสตร์ที่ถูกให้ "ภาพ" ว่าเป็นวิชาของ "ความเป็นชาย" ที่ใช้ "ตรรกะเหตุผล" อย่างเข้มข้น ก็ได้เปิดพื้นที่ให้แก่ผู้หญิงเข้าไปปฎิสัมพันธ์ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งหมายความว่าผู้หญิงในปัจจุบันเริ่มมีบทบาทในการศึกษาทางด้านสายวิทยาศาสตร์และสายสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์มากยิ่งขึ้น

ในอนาคตอันใกล้นี้ภาวะที่ผู้หญิงจะเป็นผู้นำด้านการศึกษานั้นจะมีสูงมากขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลให้ในอนาคตผู้หญิงจะมีบทบาทสำคัญในหลายๆ มิติทางสังคมมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการศึกษา ทั้งในสายสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์ หรือ ในสายทางด้านวิทยาศาสตร์ และดูเหมือนว่าวงไอดอลผู้หญิงวงหนึ่ง ถึงขั้นถูกเปรียบว่าเป็น "วงไอดอลทางการศึกษา" การถูกเปรียบดังกล่าวย่อมสะท้อนให้เห็นว่าสังคม "เริ่ม" คาดหวังอะไรบางอย่างกับภาพลักษณ์ของผู้หญิงยุคใหม่ที่ควรเอาเป็นแบบอย่าง ผู้หญิงได้มีพลังอำนาจในหลายๆ ประการทั้งความรู้ความสามารถ รวมไปถึงการได้รับโอกาสทางการงานที่ดีกว่า และมากกว่าผู้ชาย จากปัจจัยที่ผู้ชายเข้าสู่การศึกษาในระดับสูงที่น้อยลงกว่าผู้หญิง นอกจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับผู้หญิงนั้น มีความสัมพันธ์ใหญ่ๆ เพียงแค่การเสียภาษี ทำให้ผู้หญิงสามารถที่จะวางแผนอนาคตได้ค่อนข้างอิสระกว่าผู้ชาย และไม่จำเป็นต้องรับอุดมการณ์ของรัฐเข้มข้นเท่าผู้ชาย

ในขณะที่ผู้ชายยังคงมีพันธะบางประการแก่รัฐนอกเหนือจากการเสียภาษี เช่น การเกณฑ์ทหาร เป็นต้น การใช้คำพูด ในหลายๆประการ เพื่อบอกว่าการทำสิ่งนี้แล้วจะกลายเป็นชายเต็มตัว จึงกลายเป็นการขีดเส้นทางเดินบางประการให้แก่ความเป็นชายไทย และเชื่อหรือไม่ว่าการขีดเส้นนี้ได้ทำให้ทั้งรัฐและสังคม หันมาตรวจสอบ "ความเป็นชายไทย" โดยใช้บรรทัดฐานดังกล่าว เช่น การที่ยังไม่เข้ารับการคัดเลือกทหารจะถูกนายจ้างตรวจสอบว่าควรที่จะรับเข้าทำงานหรือไม่ รวมไปถึงการมองผู้ชายที่ไม่เข้ารับการเกณฑ์ทหารเท่ากับการไม่ยอมรับใช้ชาติ หรือไม่เป็นชายเต็มตัว เป็นต้น

ความตึงเครียดของผู้ชายไทยในช่วงเวลานี้ จึงย่อมทำให้ผู้ชายไทยจำนวนไม่น้อยเริ่มสับสนในตำแหน่งแห่งที่ของตนมากขึ้น เพราะยังไม่แน่ใจว่าควรจะตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร เพราะการเผชิญต่ออุปสรรคครั้งนี้มีความแหลมคม ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ผู้หญิงเริ่มมีบทบาทและอำนาจมากกว่าผู้ชาย และจากกการไม่เปลี่ยนแปลงของรัฐที่พยายามดำรงความเป็นชายให้กลายเป็นสมบัติของชาติแต่เพียงมิติเดียว ที่ไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลกความเป็นจริง รวมไปถึงการไม่พยายามปรับเปลี่ยนความหมายของความเป็นชายใหม่ ที่มี "ความเป็นคน" มากขึ้น

ผู้ชายบางคนจึงไม่รู้ว่าตนเองควรจะทำตัวอย่างไร เที่ยวแต่ "บ่น" ไปวันๆ
 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

บทความแปล: สี จิ้นผิงหาใช่เหมา เจ๋อตงไม่

Posted: 16 Sep 2018 10:28 AM PDT

ปักกิ่ง- ชาวโลกจำนวนมากกำลังเฝ้ามองประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนด้วยความกังวล ไม่ใช่เพียงแต่ว่าเขารวบรวมอำนาจเข้าสู่รัฐบาลกลางอีกครั้ง หลายคนเชื่อว่าการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตของเขาคือสิ่ง    อำพรางการกวาดล้างทางเมือง  พวกเขาวิตกว่าสีกำลังสร้างลัทธิเชิดชูบุคคล ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงอย่างมากกับลัทธิเชิดชูเหมา เจ๋อตงและช่วยกระตุ้นให้เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรม

ความจริงนั้นชั่วร้ายน้อยกว่าเยอะ ในขณะเป็นเรื่องจริงที่ว่า  ในบางส่วน สีนั้นกำลังสะสมอำนาจ แรงผลักดันของเขาคือความต้องการทำให้จีนมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น ทั้งในส่วนของการปกครองและเศรษฐกิจ เพื่อที่จะบรรลุความสำเร็จ เขาต้องทำให้ระบบราชการซึ่งค่อนข้างออกนอกลู่นอกทางกลับเข้าแถว

 มากกว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา อำนาจการปกครองของจีนนั้นถูกกระจายไปอย่างมหาศาล อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมากขึ้นเรื่อยๆ  รัฐบาลท้องถิ่นและเทศบาลได้รับอำนาจการปกครองตัวเองอย่างมากมายในการทดลองและทดสอบการปฏิรูปซึ่งมุ่งไปสู่การดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติและการกระตุ้นการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ยิ่งกว่านั้น พวกเขาได้รับอำนาจในการควบคุมโดยตรงเหนือทรัพยากรต่างๆ อย่างเช่นที่ดิน การคลัง เชื้อเพลิงและวัตถุดิบ เช่นเดียวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่น ดังนั้นรัฐบาลที่ต่ำกว่ารัฐบาลกลางนำไปสู่ร้อยละ 71 ของรายจ่ายทั้งหมดของรัฐในช่วงระหว่างปี 2000-2014  อันเป็นส่วนแบ่งที่สูงกว่าของประเทศที่ปกครองโดยระบอบสหพันธรัฐซึ่งใหญ่ที่สุดในโลกทั้งหมด (ส่วนแบ่งของรายจ่ายของรัฐบาลระดับมลรัฐของสหรัฐฯ มีแค่ร้อยละ 46 เป็นต้น)

เป้าหมายนั้นคือการกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมโดยการกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันระหว่างส่วนภูมิภาคต่างๆ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคประจำท้องถิ่นรู้ว่าเส้นทางอาชีพของพวกเขาขึ้นอยู่กับสมรรถนะทางเศรษฐกิจของพื้นที่ตัวเอง และโดยการทำงานหนักเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโต พวกเขาได้ผลักดันให้จีนทะยานไปสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก (หรือใหญ่ที่สุดตามบางมาตรฐาน) อันจะทำให้ความชอบธรรมของพรรคคอมมิวนิสต์มีความมั่นคงยิ่งขึ้นในยุคหลังเหมา เจ๋อตง

แต่การกระจายอำนาจมีข้อเสียหลายประการ มันก่อให้เกิดการสิ้นเปลืองอย่างมหาศาล ตัวอย่างเช่น หนี้ขนาดมหึมาของรัฐบาลท้องถิ่น และมันยังกระตุ้นให้เกิดการฉ้อราษฎรบังหลวงขนานใหญ่ จากการที่เจ้าหน้าที่ของท้องถิ่นมีการตกลงพิเศษกับองค์กรธุรกิจโดยมอบการลดหย่อนภาษี ดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำ หรือที่ดินในราคาต่ำกว่าท้องตลาดให้

ในประเทศซึ่งมีกฎระเบียบเคร่งครัดและตลาดการเงินยังด้อยพัฒนา ธุรกิจเอกชนต้องพบกับอุปสรรคอย่างสูงในการเริ่มต้นและดำเนินธุรกิจ หากข้อตกลงอันมิชอบคือนำไปสู่การเข้าถึงแหล่งทรัพยากรและตลาดที่พวกเขาต้องการ  บริษัทเอกชนมีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งยวดในการบรรลุข้อเสนอนี้โดยการเสนอเงินหรือสิ่งมีค่าอื่นๆ ให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งใช้อำนาจแก้ไขหรือละเมิดกฎระเบียบให้

พฤติกรรมดังกล่าวได้ช่วยให้บริษัทเอกชนซึ่งมีส่วนต่อการเจริญเติบโตของประเทศหลายพันบริษัทเข้าสู่ระบบตลาดในช่วงปลายทศวรรษที่ 90  ในยุคซึ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจคือเป้าหมายสำคัญสูงสุด การทุจริตซึ่งช่วยให้มันเกิดขึ้นก็ได้รับการยอมรับโดยปริยายและถึงขั้นยอมรับอย่างเอิกเกริก

แต่การทุจริตได้เริ่มอยู่เหนือการควบคุมและบัดนี้เข้าคุกคามเสถียรภาพของประเทศจีนและความถูกต้องชอบธรรมของพรรคคอมมิวนิสต์  มากกว่า 3 ทศวรรษของการบริหารงานที่หละหลวม เจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นบางคนได้สร้างระบบอุปถัมภ์ทางการเมืองซึ่งช่วยกันปกป้องทรัพย์สินและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอันได้มาโดยมิชอบ  การฉ้อฉลและการยักยอกเงินจำนวนมหาศาลจากกองทุนสาธารณะไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยการสมรู้ร่วมคิดกันในการปกป้องและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการไต่บันไดทางการเมือง

เครือข่ายทางการเมืองอันโสโครกเหล่านั้นแทบจะไม่สามารถถูกทะลุทะลวงได้เลย จากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนมากได้กลายเป็นคู่แข่งของรัฐบาลกลางไปโดยอัตโนมัติ และได้ปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเหนียวแน่นโดยการป้องกันตำแหน่งและสิทธิประโยชน์ของพวกตน หากไม่เข้ามาควบคุมลูกน้องคือรัฐบาลท้องถิ่น รัฐบาลกลางก็จะไม่สามารถผลักดันแผนการปฏิรูปได้

ดังนั้นสีจึงหยุดเพิกเฉยต่อการทุจริต เขาได้มอบอำนาจของท้องถิ่นในบางส่วนคืนให้กับรัฐบาลกลางและเขาก็เริ่มต้นการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตซึ่งแพร่หลายไปทั่ว

เป็นเวลากว่า 2 ปีมาแล้ว ที่ข้าราชการของมนฑลต่างๆของจีน ไม่ว่าเป็นหัวหน้าแผนกระดับล่างๆ ของกระทรวงต่างๆ จนไปถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงระดับอาวุโสถูกจองจำ หากพิจารณาถึงด้านภูมิประเทศ     การจับกุมข้าราชการจะเริ่มต้นจากมณฑลชายขอบ ก่อนจะไล่ไปยังเทศบาลซึ่งอยู่ตรงกลาง

การจัดการข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ (และเจ้าหน้าที่ในกองทัพ) จำนวนมากซึ่งถูกมองว่าเป็นปรปักษ์ทางการเมือง (ของสี) ดูเหมือนกับเป็นการเล่นงานศัตรู แต่ข้อเท็จจริงคือผู้ซึ่งถูกดำเนินคดีและลงโทษให้จำคุกทั้งหมดถูกพบว่ากระทำความผิดจริงโดยอิงอยู่บนหลักฐานอันหนักแน่น จีนยุคใหม่ซึ่งแม้ว่าจะมีระบบการศาลซึ่งบกพร่องไม่สามารถจำคุกข้าราชการโดยเหตุผลทางการเมืองเพียงอย่างเดียวเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในยุคเหมา

ความพยายามของสีในการเข้าควบคุมระบบราชการยังคงดำเนินไปอย่างไม่สิ้นสุด ในระยะสั้นๆ กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้รับความเสียหายเมื่อรัฐบาลท้องถิ่นชะลอการตัดสินใจเพื่อจะหลีกเลี่ยงความสนใจมากเกินไปมาสู่ตัวเอง แต่ถ้าระบบได้รับการชะล้าง จีนก็จะอยู่ในตำแหน่งที่แข็งแกร่งกว่าเดิมมากในการบรรลุถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพและมั่นคง

ผู้ซึ่งหวาดกลัวการปฏิวัติวัฒนธรรมเวอร์ชั่น 2.0 ต้องเข้าใจว่าจีนไม่ใช่ประเทศดังเมื่อ 50 ปีก่อน ดินแดนสำหรับระบบเผด็จการนิยมและลัทธิเชิดชูบุคคลได้ถูกไถกลบภายใต้ 3 ทศวรรษแห่งการเปิดกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ และความเจริญทางเศรษฐกิจ ไม่มีใครเข้าใจเรื่องนี้ดีกว่าสี 

วิจารณ์บทความ

ผู้แปลเห็นว่าบทความนี้มองสี จิ้นผิงในด้านบวกมากไป (ราวกับนายสุทธิชัย หยุ่นมาเขียนเอง) แม้จะเห็นด้วยกับบางส่วนเช่นนายสีไม่มีทางที่จะเหมือนกับเหมา เจ๋อตง และไม่น่าจะเกิดปฏิวัติวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ขึ้นมา เพราะเป็นคนละบริบททางสังคมและประวัติศาสตร์ (ในทศวรรษที่ 60 เหมาปลุกระดมให้มีการปฏิวัติวัฒนธรรมเพื่อแย่งชิงอำนาจคืนจากกลุ่มคนรอบข้างในพรรคคอมมิวนิสต์)  แต่ผู้แปลรู้สึกได้ว่าผู้เขียนบทความนี้ใช้คำค่อนข้างคลุมเคลือและไม่สอดคล้องกับความจริงของสังคมจีนเท่าไรนักอย่าง คำว่าการเปิดการ (Openness) ซึ่งน่าจะหมายความจีนมีความเป็นเสรีนิยมมากขึ้น ทั้งที่สังคมจีนในปัจจุบันได้ถูกพรรคคอมมิวนิสต์ริดรอนสิทธิและเสรีภาพมากขึ้นกว่าในยุคของนายหู จินเทา ประธานาธิบดีคนก่อน เช่นเดียวกับภาวะการเป็นเผด็จการมากขึ้นโดยอาศัยเทคโนโลยีใหม่อย่างปัญญาประดิษฐ์มาช่วยควบคุมพฤติกรรมของมวลชนหรือชนกลุ่มน้อยอย่างพวกนักกิจกรรมทางศาสนาและเชื้อชาติต่างๆ ถูกพรรคคอมมิวนิสต์จำกัดบทบาทและกวาดล้างหนักยิ่งกว่าเดิม

ผู้เขียนยังอ้างว่า ระบบการเมืองของจีนสามารถถูกชะล้าง (cleaned up)  ได้ ในฐานะที่ผู้แปลเชื่อในรูปแบบประชาธิปไตยหรือการมีส่วนร่วมของประชาชนรวมไปถึงความโปร่งใสอันเป็นหลักการณ์ของ        ธรรมาภิบาลที่แท้จริง ผู้แปลจึงเห็นว่าระบบการเมืองของจีนซึ่งเหมือนกับกล่องดำ ปราศจากการรับรู้ที่แท้จริงของประชาชนจะไม่สามารถบริสุทธิ์ได้ ยิ่งนายสีเป็นเผด็จการมากขึ้น เขาก็จะมีความฉ้อฉลมากขึ้น เพราะต้องเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องและกลุ่มฐานอำนาจของเขาเอง เพราะยิ่งนายสีกวาดล้างฝ่ายตรงกันข้ามมากเท่าใด  เขาก็ต้องทำให้ฐานอำนาจของเขามีความมั่นคงมากขึ้นเท่านั้น 

อย่างน้อยเมื่อหลายเดือนก่อนการที่สภาประชาชนแห่งชาติจีนมีมติ (ตามคำบัญชาของพรรคคอมมิวนิสต์) ให้ยุติการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เพื่อเอื้อต่อนายสี ก็เป็นการทุจริตเชิงนโยบายอีกแบบหนึ่ง

หมายเหตุ: แปลจากบทความภาษาอังกฤษชื่อ   Xi Jinping is no Mao Zedong ในเว็บไซต์ของ Japan Times        

เกี่ยวกับผู้เขียน เคยู ลิน ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐกิจจากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

12 ราษีวาทะกรรมสร้างบาป “ใครแพะ ใครแกะ”

Posted: 16 Sep 2018 10:17 AM PDT

เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง เป็นประธานคณะกรรมการ ฯ และเป็นประธานในการประชุม ดังกล่าว โดยมีการประชุมหลายเรื่อง แต่ผมมองว่ามีประเด็นสำคัญ ที่เป็นเรื่องของความเข้าใจ ที่ถูกอภิปรายในที่ประชุมไม่ใช่ข้อเท็จริง ที่เป็นจริง 2 ประเด็น คือ 1.) กระบวนการแก้ไขปัญหา 5 ขั้นตอน และ 2.) การให้จ่ายค่าชดเชยให้กับสมาชิก กลุ่มคนทาม จำนวน 428 แปลง ซึ่งทั้งสองประเด็นถูกตีกลับ ให้มาพิจารณาในระดับอนุกรรมการใหม่อีกครั้ง 

การอภิปรายในสองประเด็น ฝ่ายที่ผลักดันก็อ้างความชอบธรรมจากบรรทัดฐาน ที่เคยมีการจ่าย ค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล เมื่อปี 2540 ขณะที่อีกฝ่ายก็มองว่าการจ่ายค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล เมื่อปี 2540 นั้นคือความเลวร้าย ที่ทำผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง เขื่อนหัวนาจะต้องไม่ผิดพลาด ซ้ำแบบที่เคยเกิดขึ้นแบบที่เขื่อนราษีไศลอีก

ต่างฝ่ายต่างถกเถียงกันและสุดท้าย เรื่องก็ถูกตีกลับ ผมนั่งฟังการถกเถียงของทั้งสองฝ่าย ซึ่งทุกคนที่พูดนั้น ไม่มีใครรู้เรื่องจริงที่เป็นความจริงสักคน แต่ละฝ่ายหยิบยกข้ออ้างเฉพาะบางส่วน ที่ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด เอาเฉพาะส่วนที่ฝ่ายตนได้ประโยชน์ มาอ้างสนับสนุนเหตุผลข้างฝ่ายตน

ค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล ที่จ่ายให้กับชาวบ้านสมัชชาคนจน จำนวน 1,154 ราย เป็นเงิน 363,484,000 บาท เมื่อปี 2540 ที่ผ่านมานั้นถูกนำมาเป็นเครื่องมือของหลายฝ่าย ทั้งชาวบ้าน ชลประทาน ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ นักการเมือง สื่อมวลชน แต่ละฝ่ายล้วนอ้างเอาข้อมูลเพียงแค่บางส่วนที่ฝ่ายตนได้ประโยชน์ มากล่าวอ้าง จนทำให้ข้อเท็จจริง พร่ามัว กลายเป็นข้อกังขามาตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ว่าใครผิด ใครถูก ใครเป็นเหยื่อ "ใครแพะ ใครแกะ" ข้อเท็จจริง ๆ คืออะไรกันแน่ และใครคือคนที่รู้ความจริง และใครจะเป็นคนพูดความจริง ในเรื่องนี้

ผมเฝ้ามองและจับตาความเคลื่อนไหวนี้ มาตลอดเวลา และบ่อยครั้งที่ต้องทนนั่งฟัง คำก่นด่าจากความไม่รู้จริงของหลายคน หลายฝ่ายที่ต่าง สาดเสีย เทเสีย หรือแม้แต่กระทั่งประนามการจ่ายค่าชดเชยครั้งดังกล่าว โดยที่ไม่ได้อ้าปากพูดสักแอะ เพราะคู่สนทนาเขาเลือกที่จะเชื่อแบบนั้นไปแล้ว ที่สำคัญคนพูดก็ไม่ได้จะถามผมสักคำว่าผมรู้เรื่องนี้ไหม อย่างไร ก็เมื่อไม่ถาม ผมก็เลยปล่อยให้เขาเหล่านั้น เชื่อเช่นนั้นต่อไป

จากเหตุการณ์การประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ ที่ประชุมกันเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาล ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ที่เกิดจากเขื่อนหัวนา แต่ก็ใช้เหตุการณ์การจ่ายค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล มาอ้างตามความเชื่อของแต่ละฝ่าย ซึ่งเหตุการณ์การจ่ายค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล กำลังเป็นตัวประกัน ที่กำลังก่อตัวเป็นกำแพงของความเชื่อที่ผิด ๆ ซึ่งจะเป็นอุปสรรค ขัดขวางการแก้ไขปัญหาเขื่อนหัวนา ในอนาคต ผมจึงขอไล่เรียงเหตุการณ์ (เฉพาะส่วนที่สำคัญ) การจ่ายค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล เมื่อปี 2540 ว่าเขาทำกันอย่างไร 

....เขื่อนราษีไศล เป็น 1 ใน 22 เขื่อนของโครงการ โขง ชี มูล ดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี 2535 แล้วเสร็จและเริ่มเก็นกักน้ำในปลายปี 2536 อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2538 อธิบดีกรมพัฒนา ฯ นายประเทศ สูตะบุตร มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโคงการฝายราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งคณะกรรมการ ฯ ได้แต่งตั้งอนุกรรมการ ฯ และคณะทำงาน ฯ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยการตรวจสอบมีการยื่นคำร้อง การสอบสวนสิทธิ์ โดยใช้แบบฟอร์มการสอบสวนสิทธิ์ ของ สปก. มาใช้โดยมีการเซ็นต์รับรองข้อมูลของที่ดินข้างเคียง หรือพยานซึ่งเป็นผู้อาวุโสในชุมชน มีการลงรูปแปลงที่ดินในแผนที่เพื่อระบุที่ตั้งที่ดิน

เมษายน 2539 ในคราวการชุมชน 99 วัน ของสมัชชาคนจน ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ได้มีการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน กลุ่มเขื่อน ซึ่งกรณีการแก้ไขปัญหาเขื่อนราษีไศล ซึ่งสังกัดกรมพัฒนา ฯ กระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯ ซึ่งกรมพัฒนา ฯ ไม่มีระเบียบในการจ่ายค่าชดเชยที่ดิน ที่ไม่มีเอกสาร แม้จะเป็นที่ดินที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ที่ประชุมจึงเสนอให้นำเอาหลักเกณฑ์ การดำเนินงานของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตร ฯ (มติ ครม. 11 กรกฎาคม 2532) ที่ใช้อยู่ มาใช้ในการแก้ไขปัญหาเขื่อนราษีไศล และต่อมารัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา ได้มีมติ ครม. 22 เมษายน 2539 ให้นำเอา มติ ครม. 11 กรกฎาคม 2532 ของกรมชลประทาน มาใช้แก้ไขปัญหาเขื่อนราษีไศล

จากนั้นในพื้นที่ คณะทำงาน ฯ ก็ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยเข้าสู่ขั้นที่คณะทำงาน ฯ รับรองผลการตรวจสอบ จากนั้นนำไป การประกาศให้มีการคัดค้าน 30 วัน พร้อม ๆ กับการพิจารณาเพื่อกำหนดราคา ค่าชดเชย ควบคู่กันไปด้วย และขั้นตอนการตรวจสอบข้อเท็จจริง ดังกล่าว ได้ถูกนำมาเรียกว่า "กระบวนการ 5 ขั้นตอน" ในเวลาต่อมา

กุมภาพันธ์ 2540 สมัชชาคนจน จัดชุมนุม "มหกรรมทวงสัญญา" ขึ้นที่หน้าทำเนียบ ซึ่งการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากเขื่อนราษีไศล ถูกนำมาขึ้นโต๊ะเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาระหว่าง ตัวแทนรัฐบาลโดยมีนายอดิศร เพียงเกษ รมช.กระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯ เป็นประธาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนสมัชชาคนจน 

การเจรจาแก้ไขปัญหาเขื่อนราษีไศล ในช่วงนั้น มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ ฯ คณะทำงาน ฯ ขึ้นหลายชุดเพื่อตรวจสอบข้อมูล และการจัดทำรายละเอียด ต่าง ๆ จนกระทั่งวันที่ 28 เมษายน 2540 การเจรจาก็ยุติลง โดยมีข้อสรุป จำนวน 4 ข้อ โดยจะขอยกมาเพียง 1 ข้อ คือการ เห็นชอบให้มีการจ่ายค่าชดเชย ให้กับชาวบ้าน จำนวน 1,154 ราย จำนวนเงิน 363,484,000 บาท และข้อสรุปดังกล่าว ได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 29 เมษายน 2540 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มี มติ ครม. เห็นชอบผลการเจรจา โดยให้ใช้ "งบกลาง" (รายการเงินฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วน) และให้ดำเนินการจ่ายเงินค่าชดเชยดังกล่าว ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ( หมายเหตุ : การลงมติ ผู้แทน พพ. (กรมพัฒนา ฯ) จะงดใช้สิทธิ์ ทุกครั้ง) 

หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ให้จ่ายเงินค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล แล้ว ก็เข้าสู่ขั้นตอน การจ่ายเงินซึ่งหน่วยงานที่จะต้องทำเรื่องการจ่ายเงินจะต้องเป็นหน่วยงานเบิกจ่าย แต่กรมพัฒนา ฯ ไม่ยอมตั้งเรื่องเบิกจ่ายเงินค่าชดเชย ทำให้การจ่ายค่าชดเชย ดำเนินการไม่ได้ จนกระทั่งมีการเจรจาเรื่องการจ่ายเงินอีกครั้ง ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบ ให้เปลี่ยนแปลงหน่วยงานเบิกจ่าย เงินค่าชดเชยจากกรมพัฒนา ฯ มาเป็นสำนักงานจังหวัดศรีสะเกษ และโดยนำข้อสรุปดังกล่าวนี้ เข้าสู่การพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรี ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2540 ซึ่งคณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบให้เปลี่ยนแปลงหน่วยงานเบิกจ่ายจาก พพ. มาเป็น สำนักงานจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมกับแต่งตั้งคณะกรรมการจ่ายเงินค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล ขึ้น

คณะกรรมการจ่ายเงินค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล ได้กำหนดจ่ายเงินค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล ขึ้นในวันที่ 15 กันยายน 2540 ณ ห้องประชุมโรงเรียนราษีไศล อำเภอราษีไศลทจังหวัดศรีสะเกษ แต่ยังไม่ได้มีการจ่ายเงินค่าชดเชย ก็เกิดเหตุการณ์มีกลุ่มมวลชน โดยการนำของนายมานะ มหาสุวีระชัย สส.จังหวัดศรีสะเกษ มาขัดขวางการจ่ายค่าชดเชย จนเกิดความวุ่นวายไม่สามารถจ่ายเงินค่าชดเชยได้ และได้มีการยื่นหนังสือคัดค้านการจ่ายเงินค่าชดเชยดังกล่าว นายอดิศร เพียงเกษ รมช.กระทรวงวิทยาศาสตร ฯ และประธานคณะกรรมการจ่ายเงินค่าชดเชย จึงได้ตั้งคณะทำงาน ฯ ตรวจสอบการคัดค้านดังกล่าว ในแล้วเสร็จภายใน 3 วัน (ให้เสร็จภายในวันที่ 18 กันายน 2540) และกำหนดให้นัดจ่ายเงินอีกครั้ง ในวันที่ 19 กันยายน 2540 ณ ศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ

18 กันยายน 2540 คณะทำงานตรวจสอบการคัดค้านได้สรุปผลการตรวจสอบ โดยการคัดค้าน ดังกล่าวฟังขึ้นเพียง 1 ราย นอกจากนั้น การคัดค้านเป็นโมฆะ ซึ่งคณะทำงาน ฯ ได้หาทางออกว่า เนื่องจากพบปัญหาเพียงแค่ 1 ราย ซึ่งไม่ควรกระทบต่อการจ่ายเงินค่าชดเชยแก่ชาวบ้านส่วนมาก จึงได้ทำตกลงกับผู้ถูกคัดค้านว่า จะคืนเงินส่วนที่ ครม.อนุมัติเกินมา คืนแก่ทางราชการ พร้อมกับให้เดินหน้าจ่ายเงินค่าชดเชย ในวันที่ 19 กันยายน 2540 ต่อไป

19 กันยายน 2540 ขณะที่กำลังเตรียมการจ่ายเงินค่าชดเชยที่ศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ ได้มีกลุ่มมวลชน โดยการนำของนักการเมืองคนเดิม มาขัดขวางการจ่ายเงินค่าชดเชยอีกครั้ง จนเกิดการปะทะกัน มีการบาดเจ็บ และช๊อคไปจำนวนมาก เหตุการณ์ชุลมุน ไม่สามารถดำเนินการจ่ายค่าชดเชยได้ ศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ ปิดทำการในทันที ขณะที่ชาวบ้านสมัชชาคนจน (เขื่อนราษีไศล) ได้เดินทางเข้ากรุงเทพ ฯ เพื่อรอรับค่าชดเชย ต่อไป

ปลายเดือนกันยายน 2540 ขณะที่ชาวบ้านสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนราษีไศล ปักหลักรอรับค่าชดเชยที่ข้างทำเนียบรัฐบาล กรรมาธิการงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน สภาผู้แทนราษฎร ได้รับคำร้องจากนักการเมืองคนเดิม ที่ร้องให้คณะกรรมาธิการงบประมาณ ฯ ตรวจสอบ ยับยั้งการจ่ายเงินค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล โดยอ้างข้อมูลกรณีมีผู้ถูกคัดค้านจำนวน 1 ราย ซึ่งทางคณะกรรมาธิการงบประมาณ ฯ ได้เรียกผู้แทนของกลุ่มสมัชชาคนจน เข้าไปชี้แจงในที่ประชุม ซึ่งผู้แทนกลุ่มสมัชาคนจน ยืนยันความถูกต้องของข้อมูล และให้รัฐบาลเดินหน้า จ่ายเงินค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล ต่อไป

ต้นเดือนตุลาคม 2540 คณะกรรมาธิการงบประมาณ ฯ ได้สรุปผลการตรวจสอบ และทำหนังสือถึงพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี ให้ระงับ ชะลอการจ่ายเงินค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล ออกไปก่อน 
จากสถานการณ์ดังกล่าว รัฐบาลกับตัวแทนสมัชชาคนจน จึงได้หารือกันและได้ให้ผู้ที่ถูกคัดค้าน ไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานที่ สน.นางเลิ้ง ว่า "จะคืนเงินค่าชดเชยที่รับเกินมาแก่หน่วยงานราชการ" จากนั้นได้มีการนำเรื่องการจ่ายเงินค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล เข้าสู่การพิจารณาในการประชุม ครม. อีกครั้ง ในวันที่ 7 ตุลาคม 2540 ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบให้จ่ายเงินค่าชดเชย ต่อไป ซึ่งในขณะนั้นมีการชุมนุมอยู่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่รอรับค่าชดเชย ชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ข้างคลองเปรมประชากร บริเวณที่จะก่อสร้างอาคารสำนักงาน ปปช. ส่วนกลุ่มที่มาคัดค้านการจ่ายเงิน ค่าชดเชยปักหลักชุมนุมอยู่ที่กระทรวงวิทยาศาตร์ ฯ

ช่วงเย็นของวันที่ 7 ตุลาคม 2540 หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติให้จ่ายเงินค่าชดเชยต่อแล้ว พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี ได้เรียกผู้เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล เข้าพบ ณ ห้องทำงานนายกรัฐมนตรี ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นการหารือ เพื่อกำหนดวัน เวลา และ สถานที่จ่ายเงินค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล โดยมีสถานที่ ที่ถูกพิจารณาหลายแห่ง ดังนี้ กองทัพบก กระทรวงศึกษา ฯ กระทรวงเกษตร ฯ แต่เจ้าของสถานที่ทั้ง 3 แห่ง ไม่อนุญาตให้ใช้เป็นสถานที่สำหรับการจ่ายค่าชดเชย ที่ประชุมจึงกำหนดให้ดำเนินการจ่ายค่าชดเชย ในที่ชุมนุม จุดก่อสร้างสำนักงาน ปปช. โดยขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ มาปิดล้อมสถานที่จ่ายเงินค่าชดเชย พร้อมกับกำหนดจ่ายเงินในวันถัดมา

การจ่ายเงินค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล ดำเนินการขึ้นโดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจป้องกัน ขณะที่รอบนอกมีกลุ่มผู้คัดค้านจำนวนมาก ที่พยายามจะบุกฝ่าแนวกั้นของตำรวจ เพื่อเข้ามาขัดขวาง การจ่ายเงินค่าชดเชย แต่ไม่สามารถฝ่าแนวกั้นได้ ในขณะเดียวกัน ได้มีการเรียกแกนนำกลุ่มคัดค้านไปประชุมที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯ เพื่อกำหนดแนวทางการตรวจสอบ ข้อมูลของกลุ่มผู้คัดค้านการจ่ายค่าชดเชย ซึ่งที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะกรรมการ ฯ ขึ้นมาใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่กลุ่มที่คัดค้านการจ่ายค่าชดเชย ซึ่งทางกลุ่มผู้คัดค้านการจ่ายค่าชดเชย พอใจ และเดินทางกลับบ้าน ขณะที่การจ่ายค่าชดเชยที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ดำเนินต่อไป

วันต่อมาการจ่ายค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล ได้ย้ายสถานที่จากหน้าทำเนียบรัฐบาล มาเป็นที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯ ซึ่งเริ่มพบปัญหาใหม่คือ ชื่อคนรับค่าชดเชยไม่ตรงกับรายชื่อในเช็ค (ชื่อที่เสนอ ครม. กับชื่อในบัตรประชาชน และในทะเบียนบ้านตรงกัน แต่ชื่อในเช็คเขียนผิด) ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถรับเช็คเงินค่าชดเชยได้ จำนวนกว่า 200 ราย และนอกจากนี้ ชาวบ้านที่ได้รับเช็คเงินค่าชดเชย (เช็คธนาคารกรุงไทยสาขาศรีสะเกษ) แล้วนำเช็คไปขึ้นเงิน แต่ไม่สามารถขึ้นเงินได้ ทราบต่อมาว่าเช็คค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล ได้ถูกอายัดไว้โดยปลัดจังหวัดศรีสะเกษ (นายวรงค์ ) ซึ่งต่อมารัฐบาลโดยกระทรวงการคลังได้มีหนังสือไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ แจ้งไปยังธนาคารกรุงไทยสำนักงานใหญ่ ให้ถอนอายัดเช็คเงินค่า ชดเชยทั้งหมด ชาวบ้านจึงสามารถขึ้นเงินได้ ส่วนกรณีการเขียนชื่อผิด ซึ่งเปิดความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ มท.1 (เสนาะ เทียนทอง) จึงสั่งการให้ปลัดอำเภอจาก 5 อำเภอ เดินทางด่วนเข้ากรุงเทพ ฯ เพื่อมารับรองชื่อให้แก่ชาวบ้าน ที่เขื่อนชื่อผิดในเช็คเงินค่าชดเชย การจ่ายค่าชดเชย จึงดำเนินการต่อไปได้

15 ตุลาคม 2540 การจ่ายค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล เสร็จสิ้นชาวบ้านเดินทางกลับภูมิลำเนา
พฤศจิกายน 2540 เกิดวิกฤติการเมือง จากเหตุการณ์การ "ลอยตัวค่าเงินบาท" ทำให้พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ประกาศลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร ได้ทำการเลือก นายกรัฐมนตรีคนใหม่ และได้นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี

ธันวาคม 2540 มกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม 2541 เสรี เตมียเวส ผบ.สอบสวนกลาง (น.1) ได้ระดมกำลังตำรวจไปตรวจสอบ สอบปากคำชาวบ้านสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนราษีไศล ที่ได้รับเงินค่าชดเชยไปแล้ว โดยมีการจับชาวบ้านถ่ายรูป สารพัดรูปแบบ และในเดือนมีนาคม 2541 ชาวบ้านที่ได้รับเงินค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล ไม่ไว้ใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงพากันแห่ถอนเงิน ออกจากธนาคารกรุงไทยสาขาศรีสะเกษ 

21 เมษายน 2541 รัฐบาลนายชวน หลีกภัย มีมติ ครม.ไม่จ่ายเงินให้กับเขื่อนที่สร้างไปแล้ว
2541 มีการแจ้งความดำเนินคดี กับนายอดิศร เพียงเกษ และคณะ ที่ร่วมเป็นคณะกรรมการเจรจาแก้ไขปัญหาเขื่อนราษีไศล มีการตอบโต้ กล่าวหา เรื่องราวค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล กลายเป็นประเด็นขึ้นหน้าหนึ่ง ติดต่อกันนานหลายเดือน

สิงหาคม 2542 สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนราษีไศล ประกาศตั้งหมู่บ้าน "แม่มูนมั่นยืน 2" ขึ้น ที่กลางอ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศล เรียกร้องให้มีการระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศล ให้หมด เพื่อพิสูจน์ความจริง 

มีนาคม 2543 ขณะที่การชุมนุมกลางอ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศลดำเนินต่อไป กรมพัฒนา ฯ ได้ยื่นฟ้องชาวบ้านที่ได้รับเงินค่าชดเชยมา ในข้อหา "ลาภมิควรได้" 

เวลา 02.00 น. วันที่ 19 พฤษภาคม 2543 สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนราษีไศล ได้ยกพลขึ้นจากที่ชุมนุมอ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศล บุกเข้ายึดที่ทำการเขื่อนราษีไศล เจ้าหน้าที่เขื่อนราษีไศล หลบหนีออกจากที่พัก สำนักงานเขื่อนราษีไศลร้าง

ต้นเดือนกรกฎาคม 2543 ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯ เดินทางมาเจรจากับแกนนำสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนราษีไศล และต่อมาในวันที่ 25 กรกฎาคม 2543 รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ได้มี มติ ครม. 2 เรื่อง (โดยสรุป) คือ กรณีเขื่อนราษีไศล ให้เปิดประตูระบายน้ำทั้ง 7 บาน ไปจนกว่าการแก้ไขปัญหาจะแล้วเสร็จ และ กรณีเขื่อนหัวนา ให้ชะลอการดำเนินการใด ใด เกี่ยวกับเขื่อนหัวนาไว้ก่อน และให้เร่งตรวจสอบทรัพย์สินของราษฎรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ จากโครงการเขื่อนหัวนา ชาวบ้านพอใจ จึงย้ายที่ชุมนุมจากสันเขื่อนราษีไศล มาตั้งหมู่บ้านชุมนุมที่ "ดอนโจด" ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันออกของบ้านเหล่าโดน ตำบลหนองแค อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ

ประมาณ เดือนเมษายน 2544 สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนราษีไศล เดินทางไปยื่นคำให้การต่อศาลจังหวัดศรีสะเกษ จากกรณีที่กรมพัฒนา ฯ ฟ้องเรียกเงินคืน

ปี 2445 ศาลจังหวัดศรีสะเกษได้พิจารณาคำฟ้อง ของกรมพัฒนา ฯ ที่ฟ้องเรียกเงินค่าชดเชย คืนจากชาวบ้าน และให้เหตุผลว่า (เป็นการประมวลสรุป) "กรณีการจ่ายเงินค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล เป็นการดำเนินงาน ทางการปกครอง จึงไม่อยู่ในขอบเขตอำนาจการพิจารณา ของศาลจังหวัดศรีสะเกษ" และส่งสำนวนคำฟ้อง ไปยังศาลปกครองจังหวัดนครราชสีมา

ปีเดียวกันศาลปกครองจังหวัดนครราชสีมา ได้พิจารณาสำนวนคำฟ้อง ของกรมพัฒนา ฯ ที่ฟ้องเรียกเงินค่าชดเชย คืนจากชาวบ้าน และให้เหตุผลว่า (เป็นการประมวลสรุป) "ประเด็นการพิพาทเป็นเรื่องเงินค่าชดเชย ซึ่งเป็นเรื่องทรัพย์สินและการได้มาของทรัพย์สิน ไม่ใช่เรื่องทางการปกครอง จึงไม่อยู่ในขอบเขตอำนาจ การพิจารณาของศาลปกครองจังหวัดนครราชสีมา" จากนั้นเรื่องนี้ก็เงียบไป 

จากนั้นก็มีการปรับโครงสร้างหน่วยงานราชการใหม่ โดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลัง ได้ถูกยกระดับขึ้นเป็นกระทรวงพลังงาน ส่วนเขื่อนราษีไศล และเขื่อนหัวนา ก็ถูกโอนย้ายไปสังกัดกรมชลประทาน กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ มาจนถึงปัจจุบัน.....

ดังนั้นจากที่ผมกล่าวไว้เบื้องต้นว่า 2 ประเด็นที่อยากอธิบายในที่นี้คือ 

1.) กระบวนการ 5 ขั้นตอน ที่มีการพยายามอ้างถึงนั้น แท้จริงแล้ว ไม่ใช่ขั้นตอนที่ถูกออกแบบมาตั้งแต่ต้น แต่เป็นการสรุปกระบวนการดำเนินงานที่ผ่านมา ซึ่งอ้างอิงรูปแบบ และวิธีการดำเนินงานของสำนักงานที่ดิน กับ สำนักงาน สปก. เพื่อที่จะให้ทราบถึงเจ้าของสิทธิ์ หรือ เจ้าของที่ดิน ในขณะที่กรมพัฒนา ฯ ไม่เคยให้ความร่วมมือ หรือ มีข้อเสนอ หรือ แนวทาง ดำเนินการ ใด ใด เลย

2.) การที่บางฝ่ายอ้างว่า กรมพัฒนา ฯ เคยจ่ายเงินค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล มาแล้ว ทำไม จ่ายได้ และเมื่อเป็นเช่นนั้น กรมชลประทานก็ต้องจ่ายเหมือนที่เคยจ่ายให้เขื่อนราษีไศลได้ ซึ่งตรงนี้ควรเข้าใจใหม่นะครับว่า กรมพัฒนา ฯ ไม่เคยยอมรับการจ่ายเงินค่าชดเชย เขื่อนราษีไศล มาโดยตลอด ส่วนที่มีการจ่ายเงินค่าชดเชยนั้น ก็เป็นการดำเนินงานของหน่วยงานอื่น (ดังรายละเอียดด้านบน) ซึ่งดำเนินการถูกต้อง ตามระเบียบของทางราชการ ทุกขั้นตอน แต่จะนำมากล่าวอ้างดังเช่นที่อ้างกันจึงไม่ถูก

ทีนี้กลับมาเรื่องการแก้ไขปัญหาเขื่อนหัวนา ที่มักจะมีภาพหลอนจากเขื่อนราษีไศล ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว มีข้อเท็จจริง ที่มีบริบทแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เช่น การจ่ายค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล ดำเนินการในขณะที่เขื่อนเก็บกักน้ำมานานหลายปี ทำให้สภาพพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลง และยังดำเนินการตรวจสอบพื้นที่ในขณะที่เขื่อนยังเก็บกักน้ำอยู่ ในขณะที่เขื่อนหัวนา ยังไม่มีการเก็บกักน้ำ สภาพพื้นที่ยังอยู่ในสภาพเดิม การตรวจสอบข้อเท็จจริงสามารถดำเนินการได้ง่ายกว่าเขื่อนราษีไศล และนอกจากนี้ ผมอยากให้เข้าใจว่าที่ผ่านมา กรมพัฒนา ฯ เขาไม่ได้คัดค้านการจ่ายเงินค่าชดเชย แต่สิ่งที่กรมพัฒนา ฯ ทำมาตลอดคือ "การงดออกเสียง" 

การงดออกเสียง ต่างจากการคัดค้าน เพราะสาเหตุที่กรมพัฒนา ฯ ไม่สามารถคัดค้านได้ เป็นเพราะกรมพัฒนา ฯ ไม่มีระเบียบ ซึ่งระเบียบที่ถูกนำใช้เป็นของกรมชลประทาน (มติ ครม.11 กรกฎาคม 2532) ส่วนที่ทางชลประทานคัดค้านข้อเสนอทีม คนทามนั้น เพราะชลประทานเขามีระเบียบของเขาอยู่แล้ว การที่จะให้ชลประทานทำตามข้อเสนอที่ไม่เป็นไปตามระเบียบของชลประทาน ชลประทานจึงทำไม่ได้ และตรงนี้ ชลประทานจึงคัดค้าน ส่วนหากมองว่าระเบียบของชลประทาน ไม่เป็นธรรม อันนี้ก็ต้องไปว่ากันเรื่องการแก้ไขระเบียบของชลประทานใหม่ ก็แค่อยากให้เข้าใจใหม่ที่ถูกเท่านั้นเอง !!!!

สำหรับเรื่องการจ่ายเงินค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล ให้กับสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนราษีไศล จำนวน 1,154 ราย เป็นเงิน 363,484,000 บาท นั้น มันไม่ได้จ่ายง่าย ๆ แบบที่เข้าใจผิดๆ กันมาตลอด ว่าไปชี้ ชี้ เอา ก็ได้เงินแล้ว และยังมีการโยนบาปให้ชาวบ้านอีก ซึ่งวันนี้ (15 กันยายน 2561) เป็นวันครอบรอบ 21 ปี วันจ่ายค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล ที่ไม่สามารถจ่ายเงินค่าชดเชยได้ แต่ชาวบ้านสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนราษีไศล เขาไม่ยอมจำนนท์ และเดินหน้าต่อสู้ จนกระทั่งการจ่ายค่าชดเชยเกิดขึ้นในเวลา ต่อมา
มาถึงตรงนี้ผมคงไม่สรุปว่าอะไรถูก อะไรผิด หรือว่า "ใครเป็นแพะ" หรือ "ใครเป็นแกะ" เพียงแค่อยากให้ตระหนักสักหน่อยว่า การที่คนกลุ่มแรก ได้บุกเบิก ฝ่าฟัน ปัญหาอุปสรรค มาขนาดนี้ จนสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้เกิดขึ้น และนำมาสู่การจ่ายค่าชดเชย อีกหลายครั้งจนถึงปัจจุบัน ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เพราะสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนราษีไศล กลุ่มแรก เป็นผู้ถากถางแนวทางนี้ไว้เหรอ พวกคุณท่านทั้งหลายจึงได้เดินตามรอยเท้ามาถึงทุกวันนี้ แต่หากจะก๊อปปี้มาใช้ในการแก้ไขปัญหา เขื่อนหัวนา ผมมองว่ามันเก่าไป คงไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ในขณะที่ขณะนี้มีเครื่องมือที่ทันสมัย และวิธีการที่ดี กว่าแต่ก่อนเยอะแยะ ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ต้องรักษา แต่ก็ไม่ควรจมปลักจนมองไม่เห็นความเป็นไปของ

ปัจจุบัน มี 3 คำ ที่อยากให้ใช้

"เรียนรู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน สรรค์สร้างอนาคต"

แล้วปัญหาเขื่อนหัวนา จะได้รับการแก้ไข อย่างยุติธรรม

เครดิตภาพ: กลุ่มเพื่อนประชาชน เป็นภาพการเข้าร่วมชุมนุมของชาวบ้านราษีไศลครั้งแรก

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ใบตองแห้ง: ประชาธิปไตยใจแคบ?

Posted: 16 Sep 2018 10:06 AM PDT

เฌอปรางเป็นคนดี รังสิมันต์ โรม กับพวกเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นคนไม่ดี ไม่มีคุณธรรม? เพราะไปโจมตีเธอ ที่มาทำความดีให้ประเทศ ร่วมกับรัฐบาล

ถามจริง เฌอปรางแตะไม่ได้เลยหรือไง เธอเป็นไอดอล เป็นบุคคลสาธารณะ ทำมาหากินกับความนิยมของเหล่าโอตะ เมื่อทำอะไรที่มีคนเห็นด้วยเห็นต่าง ก็ต้องถูกวิจารณ์เป็นธรรมดา

การวิพากษ์วิจารณ์ไม่ใช่ cyber bullying ตราบใดที่ไม่ได้คุกคาม แล้วก็ไม่ใช่การจำกัดสิทธิ ตราบใดที่ไม่ได้ใช้กำลังหรืออำนาจ

รังสิมันต์ โรม จะไปจำกัดสิทธิเฌอปรางได้อย่างไร ก่อม็อบล้อม BNK ไม่ให้ไปออกรายการเดินหน้าประเทศไทย ถ้าขืนไป ก็โดนบีบคอ? เฮ้ย นั่นมันพวกขัดขวางเลือกตั้ง ที่โจมตีฝั่งประชาธิปไตย "ใจแคบ" อยู่ตอนนี้ไม่ใช่หรือ

หรือว่าโรมมีอำนาจจับใครเข้าค่ายทหาร แค่ไม่พอใจไอ้คนไม่มีผม ก็ข่มขู่เรียกปรับทัศนคติ ตัวเองทำได้หน้าตาเฉย แต่กลับมายัดคำว่า "จำกัดสิทธิ" ให้คนอื่น ไม่ใช่ยุคตรรกะวิปริต ก็ไม่รู้จะเรียกอะไร

ทำไมต้องเฌอปราง ทำไมไม่เป็นดาราคนอื่น เท่าที่ฟัง น่าจะเพราะเธอเป็นไอดอลของคนรุ่นใหม่ BNK ไม่ใช่แค่ขายดาราวัยรุ่นหวานแวว แต่ยังดูมีสมงสมอง มีความคิดอ่าน เป็นตัวของตัวเอง ยิ่งเฌอปรางดูมีความเป็นนักวิชาการ ซึ่งแน่ละ ก็มีโอตะฝั่งประชาธิปไตยอยู่ไม่ใช่น้อย

การ "ตอบแทนสังคม" โดยเข้าไปช่วยรัฐบาลทหาร จึงขัดกับภาพลักษณ์ และแน่ละ ย่อมทำให้โอตะฝั่งประชาธิปไตยเสียความรู้สึก บ้างก็เซ็งไปเลย บ้างผิดหวังแต่ยังเป็นแฟนคลับ ขณะที่ด้านกลับกัน ก็อาจได้โอตะฝั่งสลิ่มเพิ่มขึ้น

โอตะบางรายก็เถียงแทน ว่าใครจะขัดรัฐบาลได้ เฌอปรางก็ต้องทำตามบริษัท อีกฝั่งก็ซัดกลับ อ้าว ไหนว่าคิดเป็น เป็นตัวของตัวเอง จากนั้นก็มีการวิพากษ์ไปถึงกระแสนิยม BNK ว่าฉาบฉวยหรือไม่

คือไม่ว่าอย่างไร มันก็เป็นจุดเปลี่ยน แม้บริษัทปลื้มว่ามีคนติดตามเพิ่มขึ้น แต่คนอีกฝั่งก็มองว่าจะเสียความนิยม อย่างที่โรมเตือนเป็น "ตราบาป" ซึ่งพวกตรรกะวิบัติหาว่าคุกคาม ทั้งที่เป็นความจริงอยู่แล้วว่า มันจะตราติดเธอไป ซึ่งก็แล้วแต่ใครจะมอง จะเห็นเป็นตราแห่งคุณความดีมีศีลธรรมก็ตามใจ

คำถามสำคัญคือ จะอะไรกันนักหนา กะอีแค่ไปออกรายการเดินหน้าประเทศไทย ไม่ได้ทำผิดคิดร้าย ไม่ได้ไปอ่านแถลงการณ์รัฐประหาร ไม่ได้สนับสนุนให้ใช้อำนาจคุกคามใคร แค่จะไปพูดเรื่องกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (แต่ล่าสุด เห็นว่ากองทุนถูกตัดงบ เลยจะเปลี่ยนเรื่องเป็นโครงการครูตู้)

คนจำนวนหนึ่งจึงเห็นใจเฌอปราง ว่าตกอยู่ท่ามกลางรัฐบาลโหนดารา กับ "พวกบ้าประชาธิปไตย" เข้าไปช่วยเรื่องดีๆ ไม่เห็นเป็นไร พวกที่คัดค้านใจแคบ

พวกบ้าที่ว่านี่ ถูกจับกุมคุมขัง ถูกดำเนินคดีนับไม่ถ้วน ด้วยอำนาจพิเศษ ด้วยคำสั่งเป็นกฎหมาย สี่ปีที่ผ่านไป คนเห็นต่างถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพมากมาย ในขณะที่รัฐบาลทำอะไรดีๆ ให้ประเทศตั้งหลายอย่าง

รัฐประหารไม่ได้ทำอะไรผิดหมด ทำสิ่งดีๆ ก็เยอะไป ไม่เห็นหรือ เผด็จการอะไรแจกบัตรคนจน ตั้งกองทุนเพื่อการศึกษา ลงทุนสาธารณูปโภค EEC 4.0 สร้างอนาคตประเทศไทย

แต่สิ่งที่ทำทั้งหมด ต่อให้เจตนาดี มันก็อยู่ภายใต้อุดมคติ ที่ต้องการทำให้เห็นว่า เผด็จการสร้างชาติได้ รัฐประหารทำให้คนไทยเป็นหนึ่งเดียว ทำให้ชาติไทยยิ่งใหญ่ ประชาธิปไตยสิล้มเหลว เราจึงไม่ควรเป็นประชาธิปไตย ควรอยู่ใต้ระบอบสืบทอดควบคุมอำนาจตลอดไป การละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องจำเป็น ไม่งั้นประเทศไม่เจริญ

การร่วมมือกับรัฐบาล ไม่ว่าเรื่องดีใดๆ ไม่ว่าจงใจหรือไม่ ก็กลายเป็นเกื้อหนุน "เผด็จการสร้างชาติ" ทั้งสิ้น หลายเรื่องยังตรรกะย้อนแย้ง เช่น รณรงค์โตไปไม่โกง ในยุคปิดหูปิดตาปิดปาก "อย่าให้ใครว่าไทย" นิสัยคนไทยเปลี่ยนไปแล้วนะ เพราะมีทหารจัดระเบียบ

เราจะช่วยเหลือเกื้อหนุนระบอบนี้ทำสิ่งดีๆ ทำไม ในเมื่อเราถูกยึดอำนาจ ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ ไม่ได้รับความยุติธรรม
 

แม้แน่ละ ทุกคนต้องทำมาหากิน ต้องเสียภาษี ต้องทำหน้าที่ ต้องมีจรรยาบรรณ  เป็นครูต้องสอนเด็ก เป็นหมอต้องรักษาคนไข้ หรือเรื่องมนุษยธรรม ยังไงก็เอาใจช่วย 13 หมูป่า ฯลฯ แต่อย่ามาเรียกหาความร่วมมือร่วมใจ ร่วมสร้างชาติ กับผู้ถูกกระทำ

นี่ไม่ใช่ข้อเรียกร้องต่อเฌอปรางหรอกนะ จะเรียกร้องเธอขนาดนั้นคงไม่ได้ แต่นี่คือจุดยืนฝ่ายประชาธิปไตย ที่ไม่ร่วมมือ และไม่เห็นด้วยกับทุกคนที่เข้าไปร่วมมือ จะมากจะน้อยเท่านั้นเอง                                     

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: นสพ.ข่าวสด www.khaosod.co.th/hot-topics/news_1566688

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ใบตองแห้ง: เอาเปรียบเหลือเฟือ

Posted: 16 Sep 2018 09:47 AM PDT

วิษณุ เครืองาม ทำเป็นยัวะ เมื่อพรรคการเมืองแย้งว่าให้เวลาหาเสียง 70 วันสั้นเกินไป งั้นจะเอา 210 วันหรือเลื่อนเลือกตั้งไหม
 

เป็นเนติบริกรก็พูดได้ คสช.ให้เวลาหาเสียงยาวนานที่สุด ปกติ แค่ 45-60 วัน ถ้ายุบสภา สั้นกว่านั้นด้วยซ้ำไป คนฟังถ้าไม่ใช่หัวคิด ก็ผงกหัวคล้อยตาม

ทั้งที่มันไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นการเมืองปกติ พรรคการเมืองจะหาเสียงอยู่เสมอ ต่อให้มียุบสภา ทุกพรรคก็เตรียมพร้อม ประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า

แต่นี่ พรรคการเมืองถูกมัดตราสังมาจะ 5 ปี อย่าว่าแต่หาเสียงเลย แค่ลงพื้นที่ไปงานบวชงานศพก็ยังถูกเพ่งเล็ง เห็นแต่ทหาร มหาดไทย กอ.รมน.ลงไปทำประชารัฐไทยนิยม

สิ่งที่พรรคการเมืองเรียกร้อง จึงไม่ใช่ขยายเวลาหาเสียง แต่ต้องการให้ปลดล็อก ไม่ใช่พอกฎหมายเลือกตั้งประกาศ ก็เพียงคลายล็อกให้ประชุมพรรคได้ หาสมาชิกได้ แต่ห้ามหาเสียง ห้ามเคลื่อนไหว ไม่สามารถพบปะประชาชนเพื่อทำนโยบาย กระทั่งโพสต์เฟซบุ๊กตั้งค่าสาธารณะยังไม่ได้ ได้แต่นั่งแบะๆ จนกว่าจะครบ 90 วัน

ระหว่างนั้น คสช.ก็ยังมีและใช้อำนาจปิดกั้นได้เต็มที่ เช่น จะเรียกไอ้คนไม่มีผมไปปรับทัศนคติก็ได้ โทษฐานวิจารณ์ตัวเลขเศรษฐกิจดี๊ดี บุกบ้านนคร มาฉิม โทษฐานเจ้าหน้าที่อียูไปพบ ไม่ให้ดึงต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้องเรื่องภายใน (แหม่ ทำไมไม่บุกอียูบ้าง ไปพบนครถึงพิษณุโลก ไม่ยักขอพบหมอวรงค์)

รวมทั้งหัวหน้า คสช.ก็ยังจะ ครม.สัญจร ทั้งที่ออกอาการว่าอยากเป็นนายกฯ ต่อหลังเลือกตั้ง หรือต่อให้ไม่ใช่ท่าน ก็ถูกจับตาอยู่ดีว่าจะวางตัวแทนสืบทอดอำนาจ

มีเลือกตั้งก็ไม่ใช่มีเสรี ภายใต้ ม.44 แต่ 90 วันก่อนปลดล็อกให้หาเสียงได้นี่สิ เผลอๆ จะเป็นช่วงเวลาที่เอาเปรียบกันได้เหลือเฟือ นักการเมืองอาจไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล คสช. เพราะถ้าประชุมพรรคแล้วมีตำแหน่งกรรมการบริหาร พูดอะไรขึ้นมา ถ้าท่านชี้ว่าผิด ก็อาจถูกยุบพรรค ขณะที่กลุ่มสนับสนุนรัฐบาล เปิดโรงเรียนการเมืองก็ได้ ขึ้นรถแห่พบชาวบ้านก็ได้ ไม่ต้องเกรงใจใคร เพราะยังไม่ใช่พรรคการเมือง เดี๋ยวเอาไว้ใกล้ๆ ปลดล็อกค่อยยกพวกเข้าพรรค

ก็ภูมิใจไปเถอะ ดุสิตโพลสำรวจ ประชาชนอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นอันดับหนึ่ง 24.72% อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อันดับสอง 17.57% แต่ไล่ดูอันดับถัดไป คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 16.53% ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 14.63% ทักษิณ ชินวัตร 13.50% อุ๊ต๊ะ พรรคเพือไทย 2 คนรวมกันมากกว่าท่านผู้นำ ถ้ารวมอนาคตใหม่ที่จุดยืนชัดเจน ลบล้างผลพวงรัฐประหาร 3 คน 44.6% แถมทักษิณออกนอกประเทศไป 10 ปี ใครก็รู้ว่ากลับมาไม่ได้ ยังมีชาวบ้านเทใจให้ขนาดนั้น สะท้อนผลงาน 4 ปีอย่างไร คงรู้กัน

 

แล้วถ้าประชาชนรู้สึกว่าการเลือกตั้งไม่เสรี ผู้มีอำนาจเอาเปรียบ ใช้อำนาจพิเศษ อำนาจคุมกฎกติกา เอื้อประโยชน์ให้ตัวเองหรือพวกพ้อง ได้สืบทอดอำนาจอย่างด้านๆ ถามว่าบ้านเมืองหลังเลือกตั้ง จะกลับสู่ความสงบ ความเป็นปกติไหม

ย้ำให้ฟังอีกที ถ้าสืบทอดอำนาจสำเร็จนะ รัฐบาลหลังเลือกตั้ง จะเต็มไปด้วยจุดอ่อนยิ่งกว่ารัฐบาลทหารวันนี้ เมื่อไม่มี ม.44 กระแสสังคมที่อัดอั้นมา 4 ปี จะไล่จับจ้องผลประโยชน์ต่างตอบแทนของกลุ่มก๊วนการเมือง กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ พร้อมกับไล่รื้ออำนาจและสิทธิประโยชน์ของรัฐราชการ ซึ่งใหญ่โต สิ้นเปลือง ไร้ประสิทธิภาพ แต่กลับมาเป็นนาย ไล่จัดระเบียบชาวบ้าน

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: ข่าวหุ้นธุรกิจ www.kaohoon.com/content/251048

                                                                            

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

4 มุมมองสะท้อน 30 ปีหลังการต่อสู้ 8888 ในพม่า [คลิป]

Posted: 16 Sep 2018 09:37 AM PDT

ชอว์ บิค ทะอ่อง ผู้แทนแนวร่วมกลุ่มการเมือง 22 ชาติพันธุ์ ชี้ว่าในปัจจุบันเป้าหมายร่วมของฝ่ายค้านกลับพร่าเลือน พอจะวิจารณ์รัฐบาลก็ถูกหาว่าวิจารณ์รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนกองทัพพม่าก็ใช้พรรคเอ็นแอลดีและอองซานซูจีเป็นโล่ แถมกลายเป็นว่าสำนักงานของอองซานซูจีทำหน้าที่แก้ต่างเรื่องฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญาแทนกองทัพพม่า รวมทั้งรับแรงกดดันจากในประเทศและต่างประเทศ

เทปส่วนหนึ่งจากเวที "30 ปี เจตนารมณ์ 8888 การต่อสู้เผด็จการกับพลังการเปลี่ยนแปลงในพม่า" ที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน กรุงเทพฯ เมื่อ 11 ส.ค. ที่ผ่านมา

โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย 1) สว่างวงศ์ ยองห้วย ศิลปินพลัดถิ่นและหลานชายเจ้าส่วยแต้กประธานาธิบดีคนแรกของสหภาพพม่า 2) จ่อ ซวา หมู่ (Kyaw Zwa Moe) บรรณาธิการอาวุโสภาคภาษาอังกฤษ The Irrawaddy 3) ชอว์ บิค ทะอ่อง (Ceu Bik Thawang) แนวร่วมกลุ่มการเมือง 22 ชาติพันธุ์ และ 4) ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมสะท้อนมุมมองในโอกาสครบรอบ 30 ปี เหตุการณ์ลุกฮือของนักศึกษาและประชาชนพม่าในปี ค.ศ. 1988

วงเสวนาชวนเหลียวหลัง แลหน้า ข้อท้าทายพม่าครบรอบ 30 ปี ปชช. ลุกสู้เผด็จการ, 11 ส.ค. 2561

เส้นทางชีวิตที่เริ่มต้นด้วยเสียงร้องไห้ ความเงียบ และเสียงเพลงของสว่างวงศ์ ยองห้วย, 24 ส.ค. 2561

5 เรื่องควรรู้หลังยูเอ็นจัดหนักพม่าด้วยรายงานที่ดุดันในกรณีโรฮิงญา, 29 ส.ค. 2561

พม่าจำคุก 7 ปี 2 นักข่าวรอยเตอร์เปิดโปงสังหารหมู่โรฮิงญา, 3 ก.ย. 2561

ศาลอาญาระหว่างประเทศจะสอบสวนพม่ากวาดล้างโรฮิงญา, 7 ก.ย. 2561

สว่างวงศ์ ยองห้วย

ศิลปินพลัดถิ่นและหลานชายเจ้าส่วนแต้ก ประธานาธิบดีคนแรกของสหภาพพม่า

จิตวิญญาณ 1988 สำหรับผมก็คือ ยามเมื่อผู้คนทุกชนชั้นมาร่วมมือกัน ผู้คนทุกชาติพันธุ์ในพม่ามาร่วมกันต่อสู้หรือแสดงออกซึ่งความคับข้องใจต่อผู้มีอำนาจรัฐ และคุณต้องจดจำน้ำใจปางโหลง (Panglong Spirit) หรือสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของสหภาพพม่า

ซึ่งตอนเริ่มตั้งประเทศแต่เดิม สหภาพพม่าก็ได้ให้คำมั่นกับพวกเราไว้ถึงการนับรวมทุกคนเข้าไว้ด้วยกัน

พวกเราคือส่วนสร้างของสิ่งที่เรียกว่า Burma และไม่ได้มีแค่ชาติพันธุ์เดียวคือ พวกเรามาจากทุกส่วนของประเทศนี้ และต้องมีสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตัวเอง มีสิทธิเสรีภาพและสิทธิในการดำรงชีวิต

สิ่งนี้ก็ไม่ได้มากเกินไปที่จะเรียกร้องจากรัฐบาลปัจจุบันหรือแม้แต่กองทัพพม่า

จ่อ ซวา หมู่

บรรณาธิการอาวุโสภาคภาษาอังกฤษ The Irrawaddy

สิ่งที่เราเริ่มต้นเรียกร้องก็คือประชาธิปไตยนั่นแหละ

ผมมาหวนรำลึกถึงว่าในเวลานั้นพวกเราเรียกร้องสิ่งใดกันแน่ ทำไมเราตะโกนว่าเราต้องการประชาธิปไตย 

ที่จริงในเวลานั้น เราต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบ เราต้องการล้มล้างระบอบที่กดขี่ ออกจากสังคมของเรา ประเทศของเรา และเพื่อที่จะมีรัฐบาประชาธิปไตย ที่จะสามารถนำมาซึ่งเสรีภาพ ความยุติธรรม และความเท่าเทียม และในความมุ่งมาดปรารถนานั้น ความต้องการของพวกเราก็เฉกเช่นคนรุ่นก่อน คนรุ่นปี 1948

นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงลงเดินบนท้องถนน

มีหลายคนถูกจับ ถูกทรมาน ถูกส่งไปที่ศูนย์สอบสวน ส่วนผมนั้น ผมพบว่าตัวเองถูกจำคุก 3 ปีให้หลังจากที่ผมเข้าร่วมขบวนการ ผมถูกตัดสินจำคุก 10 ปี และผมใช้ชีวิตอยู่ในนั้นถึง 8 ปี

สิ่งที่ผมอยากจะพูดก็คือ มีคนหลายหมื่นถูกส่งเข้าคุก กว่าสามพันคนที่ถูกสังหาร มีคนอีกหลายหมื่นที่ถูกบีบให้ต้องหนีและลี้ภัย เหมือนคนรุ่นก่อนในช่วงปี ค.ศ. 1948 และในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ผู้คนเหล่านี้จากทุกชนชั้นยังคงต่อสู้

สิ่งที่เราเรียกร้องต้องการจากปี ค.ศ. 1988 นั้นจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่บรรลุเป้าหมาย ท้ายที่สุดนี้ผมอยากกล่าวว่า นี่เป็นกระบวนการที่เราเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1988 แต่จนทุกวันนี้การต่อสู้นั้นยังไม่สิ้นสุด ในการสร้างชาติ และปฏิรูปสังคมถือเป็นกระบวนการระยะยาว

ในตอนที่ผมเข้าร่วมการต่อสู้ในปี ค.ศ. 1988 ผมคิดว่าคงจะได้รัฐบาลประชาธิปไตยโดยใช้เวลาไม่กี่ปี แต่ตอนนี้ 30 ปีแล้ว นับเป็นบทเรียนที่สำคัญ สำหรับผม ประเทศของผม และสำหรับภูมิภาคนี้

ชอว์ บิค ทะอ่อง

แนวร่วมกลุ่มการเมือง 22 ชาติพันธุ์

สำหรับตอนนี้ ปัญหาก็คือไม่มี "ศัตรูร่วม" หายไปแล้ว แต่บางส่วนก็ยังคงอยู่ แน่นอนเรากล่าวได้ว่าศัตรูร่วมยังอยู่ เมื่อเปรียบเทียบกับสมัยรัฐบาลนายพลเนวิน หรือเกือบ 26-27 ปีภายใต้รัฐบาลเนวิน เป้าหมายร่วมกันของบรรดาฝ่ายค้าน หรือขบวนการต่อต้านรัฐบาลก็คือมุ่งเปลี่ยนระบอบและลดอำนาจกองทัพ

แต่ในตอนนี้ ถ้าคุณวิพากษ์รัฐบาลหรือหน่วยงานราชการกลายเป็นว่าคุณวิจารณ์รัฐบาลประชาธิปไตย แปลว่าเป้าหมายก็พร่าเลือนไปบางครั้งผมก็กลัวว่ากองทัพพม่ากำลังใช้พรรคเอ็นแอลดีและอองซานซูจี เหมือนโล่มนุษย์

สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ผมกลัว เหมือนเมื่อวานที่มีกรณีของศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ (ICC) (กรณีรับฟ้องคดีกวาดล้างชาวโรฮิงญา) สำนักงานของอองซานซูจีต้องประณามหรือแก้ต่างแทนกองทัพ จากแรงกดดันของ ICC และต่างประเทศ รวมทั้งแรงกดดันจากภายในประเทศ

ผมคิดว่าภูมิทัศน์การเมืองเปลี่ยนไปแล้ว แต่เนื้อหาสาระ และข้อเรียกร้องจริงๆ ยังไม่เปลี่ยนแปลง

ดุลยภาค ปรีชารัชช

โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1962 ก็มีเหตุการณ์การเมืองใหญ่ๆ ในประวัติศาสตร์พม่า นั่นคือขบวนการสนับสนุนสหพันธรัฐนำโดยกลุ่มเจ้าฟ้าไทใหญ่ และผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ มีการเจรจาสันติภาพระหว่างอูนุ และผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์คนอื่นๆ

แต่ทว่ายุคทองของการเจรจาเพื่อสหพันธรัฐนั้นสิ้นสุดลง ในที่สุดนายพลเนวินก็ตัดสินใจยึดอำนาจ ขจัดขบวนการสนับสนุนสหพันธรัฐและตั้งรัฐบาลทหารขึ้นใหม่ สถาปนาระบบรวมศูนย์อำนาจสำหรับพม่า ดังนั้นปี ค.ศ. 1962 จึงเป็นเหมือนจุดเปลี่ยนของการเมืองพม่า ในทางที่กองทัพพม่าประสบความสำเร็จในการขยายอิทธิพลในทางการเมืองและสังคมพม่า

เนวินปกครองพม่ามากว่า 26 ปี จนถึงปี ค.ศ. 1988 และด้วยการบริหารจัดการเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ที่นำโดยรัฐบาลพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า (BSPP) 

สถานการณ์ที่ประชาชนแสดงความไม่พอใจต่อระบอบ ได้ปรากฏตัวขึ้นและพัฒนาไปโดยลำดับ ในที่สุดก็กลายเป็นการลุกฮือเรียกร้องประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม การลุกฮือนี้กลับเป็นการฟื้นฟูระบอบอำนาจนิยมโดยทหารอย่างไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งได้ปกครองพม่าต่อไปอีก 2 ทศวรรษ

ในห้วงเวลานั้นเอง พลังของการลุกฮือในปี 1988 ค่อนข้างมีความแข็งแกร่ง สามารถทำลายรัฐบาลเนวิน เส่งลวิน หรือรัฐบาลเฉพาะกาลได้ แต่พลังนั้นก็ยังไม่เพียงพอที่จะต่อสู้กับกองทัพ ที่เป็นสถาบันการเมืองเก่าแก่ได้ กองทัพพม่าถือกำเนิดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1941 เป็นผู้สร้างรัฐผ่านการทำสงคราม กองทัพพม่าเป็นกระดูกสันหลังของการรวมชาติ กองทัพพม่าขึ้นสู่อำนาจในฐานะรัฐบาลเฉพาะกาลช่วง ค.ศ. 1958-1960  และแทรกฝังอิทธิพลลงไปในการเมืองและสังคมพม่านับตั้งแต่รัฐประหารปี ค.ศ. 1962

ดังนั้นเอง ประวัติศาสตร์ได้หนุนเสริมในตัวของมันเอง กองทัพพม่ามีอำนาจและพละกำลังเพียงพอที่จะตอบโต้กับการลุกฮือเรียกร้องประชาธิปไตยในปี ค.ศ.1988 แต่ผมอยากโน้มน้าวว่า ไม่ได้หมายความว่าขบวนการเคลื่อนไหว 8888 ไม่มีผลกระทบที่มีนัยสำคัญต่อพม่า ในทางตรงกันข้าม ผมอยากเสนอว่า การต่อสู้นี้นับเป็นทางแพร่งสำคัญ เป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ มีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อการเปลี่ยนผ่านของพม่า

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ภาพถ่ายของแรงงานไทยในสิงคโปร์ยุค'90 สะท้อนชีวิต ความฝัน มิตรภาพยามยาก

Posted: 16 Sep 2018 08:27 AM PDT

อดีตคนงานไทยในสิงคโปร์ 'ศรีคูณ เจียงกระโทก' นำเสนอภาพถ่ายจากกล้องฟิล์ม พาย้อนเวลากลับไปในยุค 1990 ที่คนไทยไปเป็นแรงงานอพยพสร้างตึกสูงในสิงคโปร์ ภาพถ่ายเหล่านี้นำเสนอให้เห็นชีวิตความเป็นอยู่และมุมมองต่อสิงคโปร์จากสายตาของขุนพลแรงงานเหล่านี้


คนงานกำลังทำงานก่อสร้างบนตึกสูง ที่มา: ศรีคูณ เจียงกระโทก/Work Men on the Move


ศรีคูณ เจียงกระโทก มองเพื่อนคนงานที่กำลังเริ่มก่อสร้างอาคารโรงแรมชั้นที่ 1
ที่มา: ศรีคูณ เจียงกระโทก/Work Men on the Move

งานจัดแสดงผ่านเว็บไซต์ดังกล่าวมีชื่อว่า "Work Men on the Move" เป็นการจัดแสดงโดยความร่วมมือกับซีมอน เอ เพธ (Simon A. Peth) นักวิจัยด้านการพัฒนาและการอพยพย้ายถิ่นฐานจากมหาวิทยาลัยแห่งบอนน์ประเทศเยอรมนี เพธได้ไอเดียการจัดแสดงในครั้งนี้หลังจากที่เขาได้พบกับศรีคูณในช่วงทำงานวิจัยปริญญาโท ในตอนนั้นศรีคูณกลับมาที่บ้านเกิดทางภาคอิสานของไทยพร้อมกับภาพถ่าย 900 ภาพจากช่วงที่เขาใช้ชีวิตอยู่ในสิงคโปร์

ศรีคูณกล่าวว่า "ผมถ่ายภาพเหล่านี้เพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่าการทำงานที่เมืองนอกมันเป็นอย่างไร มันเป็นสิ่งที่ทรหด"

หลังแต่งงานแล้วศรีคูณก็ออกจากหมู่บ้านไปทำงานก่อสร้างที่กรุงเทพฯ หลังจากนั้นจึงเดินทางไปทำงานที่สิงคโปร์ในปี 2537  โดยรับงานสร้างโรงแรมริตซ์-คาร์ลตัน ที่นั่นศรีคูณทำงานเป็นนายช่างดูแลลูกน้องคนงาน 15 ชีวิต เพธบอกว่าคนงานอพยพส่วนใหญ่รู้สึกประทับใจทิวทัศน์ตึกสูงในสิงคโปร์ถึงแม้ว่าพวกเขาจะมาจากชนบทก็ตาม

ภาพถ่ายที่จัดแสดงมีตั้งแต่ภาพถ่ายของคนงานที่กำลังรอเดินทางทางบกไปยังสิงคโปร์ในยุคสมัย 90s ซึ่งในตอนนั้นต้องใช้เวลา 2 วันเพื่อเดินทางจากไทยไปสิงคโปร์ มีเพียงแรงงานมีฝีมือและหัวหน้างานเท่านั้นที่จะได้เดินทางด้วยเครื่องบิน ผิดกับทุกวันนี้ที่คนงานทุกคนเดินทางไปสิงคโปร์โดยเครื่องบิน

ที่พักคนงานไทยในสิงคโปร์ ​​​​​​
ที่มา: ศรีคูณ เจียงกระโทก/Work Men on the Move

ภาพถ่ายของศรีคูณยังมีภาพของลูกสาวตัวเองที่เขาเล่าว่าเขาจะกลับบ้านไปหาครอบครัวปีละ 1 ครั้ง รูปถ่ายอื่นๆ มีการสะท้อนให้เห็นสภาพชีวิตของคนงานไทยในสิงคโปร์ยุค 90s เช่นกรณีที่มีหลายคนต้องนอนแออัดใน "แคมป์พักที่เป็นตู้คอนเทนเนอร์" ซึ่งตู้หนึ่งมีคนอยู่รวมกันถึง 25 คน โดยพวกเขาไม่มีความเป็นส่วนตัวเลย มีแต่หัวหน้างานเท่านั้นที่จะมีห้องพักเดี่ยวเป็นของตัวเอง

ในแง่สภาพการทำงานนั้นศรีคูณเผยให้เห็นว่าพวกเขาต้องทำงานในรูปแบบที่ยาก เสี่ยงอันตราย และสกปรก มีรูปหนึ่งเผยให้เห็นว่าสีของหมวกนิรภัยที่คนงานสวมใส่จะบอกระดับตำแหน่งและกลุ่มสังกัดของคนงานนั้นๆ โดยที่มักจะนำคนงานที่มาจากประเทศเดียวกันเข้าไปไว้ในกลุ่มสังกัดเดียวกันเพื่อความสะดวกในการสื่อสาร

นอกจากนี้ยังมีรูปภาพเกี่ยวกับการทำงานต่างๆ รูปช่วงพัก รูปของคนที่เข้าเฝือกเพราะบาดเจ็บจากการทำงาน รูปช่วงพากันไปเที่ยวในเมือง รูปของกลุ่มคนงานต่างสัญชาติลดความตึงเครียดระหว่างกันด้วยการดื่มและทานอาหารร่วมกันในช่วงที่เงินเดือนออก

จากข้อมูลงานวิจัยของเพธและจากรูปถ่ายเหล่านี้เผยให้เห็นว่าในที่ทำงานมักจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนงานอย่างโรงอาหาร นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่คนงานจำนวนมากมักจะทำงานล่วงเวลาเพื่อให้ได้ค่าจ้างมากขึ้น บางคนทำงานมากถึง 12-14 ชั่วโมงต่อวัน

นอกจากนี้คนงานจำนวนมากยังมักจะรู้สึกคิดถึงบ้าน พวกเขารู้สึกว่าหมู่บ้านที่พวกเขาจากมายังคงมีอะไรดำเนินต่อไปข้างหน้าโดยที่ไม่มีพวกเขา ด้วยความคิดถึงบ้านนี้เองยิ่งทำให้พวกเขาเห็นความสำคัญของการเป็นมิตรกับเพื่อนคนงานชาวไทยคนอื่นๆ มากขึ้น

ผู้ที่สนใจเรื่องราวความเป็นอยู่ของแรงงานไทยในสิงคโปร์และอยากรู้ว่าความฝันที่จะประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจของศรีคูณกลายเป็นความจริงหรือไม่ สามารถเข้าชมได้ที่ http://storyform.co/@speth-2/-734dab35c6bb

เรียบเรียงจาก
Thai migrant worker took more than 900 photos of what it was like building S'pore skyline in the 90s,
Mothership

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

CRAZY RICH ASIANS และกับดักความเหลื่อมล้ำ | หมายเหตุประเพทไทย #227

Posted: 16 Sep 2018 07:17 AM PDT

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้คำ ผกา พูดคุยกับแขกรับเชิญ ต่อศักดิ์ จินดาสุขศรี เริ่มบทสนทนาจากภาพยนตร์ "CRAZY RICH ASIANS" สู่ข้อเสนอของนักเศรษฐศาสตร์เรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในเอเชียที่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เป็นรองก็แต่เพียงละตินอเมริกา พร้อมรีวิวหนังสือ "The Inequality Trap: Fighting Capitalism Instead of Poverty" ของ William Watson ที่เสนอว่าความเหลื่อมล้ำไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด โดย 'ความเหลื่อมล้ำที่แฟร์' สามารถทำงานได้ดีในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีแถมยังช่วยขจัดความยากจน

อย่างไรก็ตามข้อเสนอของ Watson ยังมีจุดอ่อนในเมื่อตลาดเสรีที่แข่งขันสมบูรณ์ไม่ได้มีอยู่จริง และยิ่งสะสมทุนได้มาก อำนาจในการควบคุมการเมืองและนโยบายของแต่ละคนก็เริ่มไม่เท่ากัน ยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำถี่ห่างขึ้นไปอีก

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่
เฟสบุ๊ค 
https://www.facebook.com/maihetpraphetthai 
หรือลงทะเบียนรับชมที่ 
https://youtube.com/prachatai

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ทักท้วง กกท. รับรอง 'อี-สปอร์ต' เป็นกีฬา

Posted: 16 Sep 2018 03:04 AM PDT

'นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์' ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ทำจดหมายเปิดผนึกถึงผู้บริหารการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ที่ให้การรับรองสมาคม E-Sport เท่ากับรับรองว่าเป็นกีฬาด้วย ทำให้เกิดกระแสความห่วงใยเด็ก เยาวชน และครอบครัวเป็นวงกว้าง มีการโฆษณาและส่งเสริมให้เกิดการเล่นวิดีโอเกมจากเดิมก็ขยายตัวมากอยู่แล้ว เมื่อใช้การอ้างเป็นกีฬาก็ยิ่งทำให้ขยายตัวรุนแรงมากขึ้น


ที่มาภาพประกอบ: Maxime FORT(CC BY-NC-ND 2.0)

16 ก.ย. 2561 มติชนออนไลน์ รายงานว่า นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ได้ทำจดหมายเปิดผนึก เรื่อง E-Sport ส่งถึงผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง โดยเผยแพร่ผ่านทางสังคมออนไลน์ และเฟซบุ๊ก " นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์" โดยระบุว่า สืบเนื่องจากการที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้ให้การรับรองสมาคม E-Sport ซึ่งเท่ากับรับรองว่า เป็นกีฬาด้วย ทำให้เกิดกระแสความห่วงใยเด็ก เยาวชน และครอบครัวเป็นวงกว้าง เพราะได้มีการโฆษณาและส่งเสริมให้เกิดการเล่นวิดีโอเกม ที่เดิมก็ขยายตัวมากอยู่แล้ว เมื่อใช้การอ้างเป็นกีฬาก็ยิ่งทำให้ขยายตัวรุนแรงมากขึ้น ทั้งที่วงวิชาการทั่วโลกยังไม่ได้ยอมรับการแข่งขันวิดีโอเกม ว่าเป็นกีฬา และองค์การอนามัยโลก (WHO)  ประกาศชัดเจนว่า การเล่นมากเกินไปจะนำไปสู่โรคการติดเกมได้ ซึ่งทาง WHO จัดว่าเป็นการวินิจฉัยโรคกลุ่มใหม่ และกำลังเป็นปัญหาใหญ่ทางสุขภาพจิตในปัจจุบัน จึงขอเรียกร้องให้มีการทบทวนเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ ขอชี้แจงเหตุผลโดยสังเขปดังนี้

1.E-Sport เป็นวาทกรรมของบริษัท ที่จริงคือการแข่งขัน VDO Game คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ไม่รับรองว่าเป็นกีฬา (3 เหตุผล เนื้อหารุนแรง / ไม่มี Sanction body คอยควบคุม /ไม่เป็นสาธารณะ แต่เป็นลิขสิทธิ์เอกชน) และแม้แต่องค์กรนานาชาติอย่าง Sport Accord ที่เป็นองค์กรรับรองกีฬา รวมทั้ง Mental Sport ก็ไม่รับรองวีดีโอเกมว่าเป็น Mental Sport

2.ในการดูแลผลทางเศรษฐกิจ เช่น รายได้ของนักแข่งหรือรายได้จากการโฆษณานั้นเทียบไม่ได้กับผลร้ายที่เกิดขึ้น ในสหรัฐอเมริกามีคนเล่น rov จำนวน 60 ล้านคน มีผู้เล่นอาชีพที่มีรายได้ประจำแค่ 57 คน (ทุกผู้เล่นจำนวน 1 ล้านคนจะมีมืออาชีพจำนวน 1 คน แต่มีผู้ติดเกม 2 – 8 หมื่นคน ขึ้นกับ definition) ซึ่งส่งผลเสียต่อครอบครัว สมรรถนะการประกอบอาชีพมากมายมหาศาล

3.กว่าจะเป็น 1 ในล้านที่มีรายได้และคนจำนวน 8 หมื่นคนที่ติดเกม คนเหล่านี้จะมีปัญหาสุขภาพ สมาธิสั้น เสียพัฒนาการ (ในเด็กจะเสียสังคม/ภาษาล่าช้า) WHO จึงประกาศให้ Game Disorder เป็นโรคทางจิตเวช ทั้งที่มีบริษัทได้คัดค้านหลายครั้งทำให้ต้องดีเลย์การประกาศมาหลายปี แต่หลักฐานทางวิชาการก็ชี้ชัดว่า เป็นความผิดปกติเช่นเดียวกับการเสพติดพฤติกรรมอื่นๆ เช่น ติดการพนัน อย่าลืมว่าไม่มีกีฬาใดในโลกที่ทำให้เกิดการเสพติดได้

บอร์ด กกท. เห็นชอบ 'E-Sports' เป็นชนิดกีฬาที่จดทะเบียนจัดตั้งสมาคมกีฬาได้ผอ.ส.วัฒนธรรมศึกษา โยนโจทย์กลางวงถก 'E-Sport' เด็กไทยเป็นตัวอะไรถึงเล่นไม่ได้

4.การรับรองให้เป็นสมาคมไปแข่งขันระหว่างประเทศในประเทศต่างๆ เป็นการรับรองว่าเป็นสมาคมตัวแทน ไม่ใช่รับรองว่าเป็นการกีฬา แต่กรณี กกท.รับรองว่า เป็นกีฬาเท่ากับรับรอง 2 ต่อ ทำให้บริษัทและสมาคมใช้เป็นโอกาสขยายการโฆษณาว่าเป็นกีฬาอย่างรุนแรง ทั้งที่ปกติก็ทำการตลาดอย่างกว้างขวางอยู่แล้วในฐานะ VDO Game

5.ผลก็คืออัตราเด็กติดเกมเพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัว รวมทั้งปัญหาที่ตามมาเป็นพฤติกรรมก้าวร้าว ละทิ้งการเรียน การพูดปด ลักขโมย ภาวะซึมเศร้า ฯลฯ แค่ 6 เดือนแรก (ตุลาคม 2560 – มีนาคม 2561) ของการประกาศก็เพิ่มกว่าเท่าตัว มีการเปิดค่าย "กีฬา E-Sport" สนับสนุนให้นักเรียนจัดการแข่งขันในโรงเรียนโดยอ้างว่าเป็น Sport ฯลฯ

6.ประเทศไทย เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ที่มีกลไกการดูแลดีกว่าก็ยังไม่ยอมรับว่าเป็นกีฬา แต่ไทยซึ่งมีจุดอ่อนทั้ง 3 ประการ กลับไปสนับสนุนให้เป็นกีฬา

Demand Side เด็กและพ่อแม่ไม่เข้าใจผลเสียและโอกาสที่เกิดการติด ซึ่งต้องป้องกันด้วยการส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ และใช้หลัก 3 ต้อง 3 ไม่ (ต้องกำหนดเวลา ต้องกำหนดโปรแกรม ต้องเล่นกับลูก ไม่เป็นแบบอย่างที่ผิด ไม่เล่นในเวลาครอบครัว ไม่มีในห้องนอน)

Supply Side บริษัทขาดจรรยาบรรณในการโฆษณาและการตลาด

Regulator (กกท.และสมาคม) ขาดความสามารถในการควบคุม

ผลร้ายจึงยิ่งรุนแรงกว่าประเทศใดๆ ขณะนี้มีผู้ที่ห่วงใยได้ทำให้กระบวนการต่างๆ ผ่านผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง เช่น รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง สภา รวมทั้งสมัชชาสุขภาพ ก็รับไว้เป็นวาระสำคัญ

ผมจึงขอให้ผู้บริหารได้ศึกษาและทบทวนเรื่องนี้อย่างจริงจังโดยไม่อคติและไม่เห็นแก่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจระยะสั้นเฉพาะหน้า โดยไม่คำนึงถึงผลระยะยาว เพราะมีครอบครัวและเยาวชนจำนวนมากที่กำลังเกิดปัญหาขึ้น เราจะต้องยื่นมือเข้ามาจัดการแบบหลายประเทศที่ดำเนินการอยู่ (ออกกฎหมายห้ามนำมาในโรงเรียน , ลงทะเบียนบัตรประชาชนเพื่อควบคุมอายุ , เกมต้องหยุดเมื่อครบ 2 ชั่วโมง เป็นต้น)

เราไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ต่อธุรกิจ แต่ธุรกิจก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมเช่นกัน เราไม่ได้ห้ามการเล่นเกม แต่คนไทยเด็กและพ่อแม่จะต้องเท่าทัน และองค์กรควบคุมก็ต้องทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง รวมทั้งองค์กรอื่นๆ ที่มีบทบาทเกี่ยวข้อง เช่นกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ถ้าเมื่อไรมีการทบทวนจนมีความก้าวหน้าจากฝ่าย Supply และ Regulator อย่างชัดเจน แต่เท่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ก็ไม่ได้มี Action ที่จะควบคุมให้เหมาะและทันกาล

<iframe src="https://www.facebook.com/plugins/post.php?href=https%3A%2F%2Fwww.facebook.com%2Fyongyud.wongpiromsarn%2Fposts%2F1376478632455602&width=500" width="500" height="675" style="border:none;overflow:hidden" scrolling="no" frameborder="0" allowTransparency="true" allow="encrypted-media"></iframe>

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

1 ความคิดเห็น:

  1. Iron-Titanium-Arts – Tinted Body Armor, Tinted
    The ceramic or titanium flat iron original Tinted Armor armor is now available in multiple sizes, including the titanium razor Super-Thin-Mountain. titanium security These Tinted armor are black titanium wedding band custom made mens titanium braclets for the

    ตอบลบ