โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

นศ.ม.อ.ปัตตานี จัด 'ชวนเพื่อนๆ ไปเช็คอินหนองจิก' หลังถูกประกาศควบคุมพื้นที่พิเศษ

Posted: 19 Sep 2018 12:07 PM PDT

หลังพื้นที่ ต.บางเขา และ ต.ท่ากำชำ อ.หนองจิก ถูกประกาศควบคุมพื้นที่พิเศษล่ามือยิงทหารพราน นักศึกษา ม.อ.ปัตตานี จัด "ชวนเพื่อนๆ ไปเช็คอินหนองจิก" ยันที่ผ่านมามันพิสูจน์แล้วว่า กฎอัยการศึก ไม่สามารถแก้ไขปัญหา แนะเปิดพื้นที่ทางการเมือง ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก 

ภาพจาก เฟสบุ๊กแฟนเพจ 'Free Voice'

19 ก.ย.2561 จากเมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมา พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ออกประกาศควบคุมพื้นที่พิเศษตาม พ.ร.บ.กฏอัยการศึก ควบคุมอาวุธปืน เรือและยานพาหนะที่ต้องนำมาลงทะเบียนกับหน่วยทหารและอำเภอที่ตั้งในพื้นที่ ต.บางเขา และ ต.ท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ภายใน 7 วัน ภายหลังมีเหตุคนร้ายซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนของกองร้อยทหารพรานบริเวณบ้านบางทัน ต.บางเขา เมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้ทหารพรานเสียชีวิต 2 นาย บาดเจ็บ 4 นาย นั้น

เฟสบุ๊กแฟนเพจ 'Free Voice' รายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.61) เมื่อเวลา 12.00 น กลุ่มนักกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต ปัตตานี รวมตัวทำกิจกรมม "ชวนเพื่อนๆ ไปเช็คอินหนองจิก" โดย มีการแจกใบปลิว, ชูป้ายข้อความรณรงค์  และเชิญชวนนักศึกษาแสดงความคิดเห็นต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

อาริฟ ดาเล็ง ผู้ประสานงาน สหพันธ์นิสิตนักศึกษาเยาวชนนักเรียนปาตานี (PerMAS) เขต Patani Lama กล่าวว่า หลังจากมีการประกาศยกระดับการบังคับใช้กฎอัยการศึก ควบคุมพื้นที่พิเศษ ทาง PerMAS มีมติให้รีบลงพื้นที่เพื่อฟังเสียงของชาวบ้าน และร่วมสังเกตการณ์ สำหรับ PerMAS มีจุดยืนที่ชัดเจนมาตลอดว่า กฏอัยการศึกไม่สามารถทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ดีขึ้นเลย ความขัดแย้งทางการเมืองต้องจัดการด้วยแนวทางทางการเมืองเท่านั้น

อาริฟ เล่าต่อว่า การจัดกิจกรรม "ชวนเพื่อนๆ ไปเช็คอินหนองจิก" ในวันนี้เพื่อ ชวนเพื่อนไปดูว่าบรรยากาศที่นั้นเป็นอย่างไร วิถีชีวิตภายใต้การควบคุมพิเศษนั้นเป็นอย่างไร ตอนนี้มีเสียงเล่าต่อกันตามร้านน้ำชา, โลกออนไลน์ มากมายถึงความลำบากของชาวบ้านในพื้นที่ คนในพื้นที่ปาตานีต่างเป็นห่วงและกังวลอย่างยิ่ง ต่อปฏิบัติการลักษณะนี้ ระยะยาวมันจะไม่เป็นผลบวกแน่นอนต่อทิศทางของสถานการณ์ในพื้นที่

"เราในฐานะนักศึกษา จึงคิดว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องลงพื้นที่ เก็บข้อมูลและนำเสนอเสียงของชาวบ้านด้วยว่าพวกเขารู้สึกอย่างไร ข้อเท็จจริงเป็นแบบไหน และเรายืนยันว่า การทหารนำการเมืองนั้น ไม่สามารถจัดการความขัดแย้งทางการเมืองได้" อาริฟ กล่าว

ซอบารียะฮ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ กล่าวว่า ด้วยระยะเวลาที่ผ่านมามันพิสูจน์แล้วว่า กฎอัยการศึก ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่นี้ได้ ตลอดสิบกว่าปี ที่ผ่านมามันพิสูจน์แล้วจริงๆ และฉันว่ารัฐบาลไทยจะยกเลิกมันโดยเร็ว เปิดพื้นที่ทางการเมือง ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก นั้นจึงจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีต่อการจัดการความขัดแย้ง

ด้าน อนัส นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ เล่าว่า ดีใจที่มีส่วนร่วมกับกิจกรรมเชิญชวนเพื่อนๆ นักศึกษาในครั้งนี้ ผมก็พอได้อ่านข่าวจากโลกออนไลน์อยู่บ้าง แค่อ่านเราก็รู้สึกได้ถึงความหดหู่ หวาดกลัว บรรยากาศในหมู่บ้านเป็นอย่างไร ก็พอมีเพื่อนๆ นักศึกษาที่มาจากหมู่บ้านแห่งนั้นเล่าให้ฟัง

"มันใกล้นิดเดียวกับรั้วมหาวิทยาลัย และเราก็ลูกหลานชาวบ้าน เราไม่ใช่คนอื่น ผมจึงอยากชวนเพื่อนๆ ลงไปด้วยกันในวันพรุ่ง" อนัส กล่าว

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ชาวยโสธรร่วมร้อยขอ ‘ก.อุตสาหกรรม’ ระงับโรงน้ำตาลมิตรผล ได้คำตอบขอดูอำนาจก่อน หวั่นโดนฟ้อง

Posted: 19 Sep 2018 11:51 AM PDT

อนุรักษ์ลำน้ำเซบายกว่าร้อยคนเดินทางจากยโสธรมาทำเนียบฯ รอยื่นหนังสือให้ 'ประยุทธ์' 5 ชั่วโมงสุดท้ายไม่ได้พบ ส่งตัวแทนกระทรวงอุตสาหกรรมมาเจรจาแทน ชาวบ้านของให้สั่งระงับการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลของมิตรผล เพื่อรอผลการศึกษาขอเท็จจริงเรื่องการมีส่วนร่วม ทรัพยากรและสุขภาพ จากคณะศึกษาที่จังหวัดตั้งก่อน ตัวแทนอุตสาหกรรมตอบ เรื่องนี้ต้องกลับไปดูอำนาจตามกฎหมายก่อน ยังรับปากไม่ได้ หวั่นทำไปได้ไม่มีจะถูกบริษัทฟ้องร้อง

19 ก.ย. 2561 ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานว่า เวลา 08.00 น. ประชาชนราว 100 คน จากกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ได้มารวมตัวกันที่บริเวณศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ สำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี ฝั่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ(กพร.) เพื่อขอเข้ายื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  เพื่อขอให้สั่งการยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ ของบริษัทมิตรผล ไบโอ-พาวเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด และทบทวนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) โรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงงานน้ำตาลขนาดการผลิตน้ำตาล 20,000 ตันอ้อยต่อวัน ของบริษัทน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ ซึ่งที่ตั้งโครงการทั้งสองอยู่ในพื้นที่ บ้านน้ำปลีก ต.น้ำปลีก อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ ซึ่งอยู่ใกล้กับพื้นที่ของชาวบ้านกลุ่มดังกล่าว และถือเป็นพื้นที่การศึกษาผลกระทบของโครงการในรัศมี 5 กิโลเมตร ซึ่งชาวบ้านเห็นว่าที่ผ่านมา ไม่ได้มีการให้ข้อมูลผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ชาวบ้านได้มีส่วนร่วม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางกลุ่มฯ ได้มารอเพื่อพบพล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่เวลา 08.00 น. แต่แล้วก็ไม่ได้ยื่นหนังสื่อให้กับพล.อ.ประยุทธ์ อย่างที่ตั้งใจ จนกระทั่งเวลาประมาณ 12.30 น. ได้มีการเชิญเข้าไปพูดคุยในห้องประชุมประชุมด้านในสำนักงาน กพร. เพื่อเจรจาและหาทางแก้ไขปัญหา โดยในตอนแรกทางกลุ่มฯ ได้ขอให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหาเอง แต่ครั้งนี้ได้มีการส่งตัวแทนรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมมาแทน ประกอบด้วย วิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย, ทาวัน ทวีถาวรสวัสดิ์ ผู้อำนวยการกองบริการงานอนุญาตโรงงาน 2 กรมโรงงานอุตสาหกรรม, ประสม ดำรงพงษ์ วิศวกรชำนาญการพิเศษ กองบริการงานอนุญาตโรงงาน 2 กรมโรงงานอุตสาหกรรม, วิศรุต คันธฐากูร วิศวกรปฏิบัติการ กองบริการงานอนุญาตโรงงาน 2 กรมโรงงานอุตสาหกรรม และ จิรโรจน์ เลิศสุริยตระกูล เจ้าหน้าที่ผู้กำหนดราคากลาง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ชาวบ้านกังวลปัญหาสิ่งแวดล้อม-แย่งชิงทรัพยากร ข้องใจชุมชนอยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบ 5 กิโลเมตร แต่ไม่เคยมีส่วนร่วมในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น

สิริศักดิ์ สะดวก ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายฯ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ตัวแทนชาวบ้าน 15 คน ได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นต้องการก่อโครงโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ โดยมีข้อกังวลคือ ตั้งแต่เริ่มกระบวนการในขั้นตอนของการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่อยู่พื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรที่อาจได้รับผลกระทบ ประชาชนไม่ได้ทีส่วนร่วมอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ยังไม่มีการทำความตกลงและทำประชาคมกับชุมชนที่อยู่ในลำน้ำเซบายถึงการกำหนดระดับน้ำในการผันน้ำให้อยู่ในระดับที่ชุมชนยอมรับร่วมกันทั้งกลางน้ำ ปลายน้ำ และไม่มีการจัดประชุมประชาคมกลุ่มผู้ใช้น้ำและทรัพยากรในลำน้ำเซบายในประเด็นเรื่องการผันน้ำเข้าไปใช้ในโครงการ 2 ล้าน ลบ.ม./ปี ซึ่งโครงการจะมีแผนในการผันน้ำจากลำน้ำเซบายเข้าพื้นที่โรงงานน้ำตาลในช่วงฤดูน้ำหลาก ซึ่งจะก่อให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรน้ำจากชุมชน

ทั้งทางกลุ่มยังเห็นว่า การดำเนินกิจการดังกล่าวขัดกับนโยบายจังหวัด การดำเนินการโครงการโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ ถือว่าเป็นโครงการที่ขัดแย้งกับนโยบายแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ พ.ศ.2560 – 2564  โดยเฉพาะ จังหวัดยโสธรที่กำลังดำเนินการขยายพื้นที่ปลูกพืชอินทรีย์ การปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ หรือพืชอื่นๆ ที่เป็นพืชหมุนเวียน ซึ่งเป็นนโยบายของจังหวัดยโสธรเมืองแห่งวิถีอีสาน ซึ่งการดำเนินนโยบายของจังหวัดจะไม่มีผลกระทบต่อทรัพยากรดิน น้ำ ป่า และมีความไม่เหมาะสมในการดำเนินโครงการเชิงพื้นที่ เพราะใกล้ชุมชน ใกล้แหล่งน้ำ แต่ถ้ามีโรงงานเกิดขึ้นจะนำมาซึ่งปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรน้ำ ปัญหามลพิษทางน้ำ ทางอากาศ ปัญหาการจราจร และอื่นๆ

จังหวัดตั้งคณะทำงานศึกษาข้อเท็จจริงแล้ว ชาวบ้านขออุตสาหกรรมระงับการก่อสร้างโรงงานน้ำตาล ได้คำตอบต้องดูอำนาจตามกฎหมายก่อน หวั่นถูกบริษัทฟ้องร้อง

สิริศักดิ์ ให้ข้อมูลเพื่อเติมด้วยว่า ก่อนหน้านี้ทางกลุ่มได้ร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดสโยธร ให้ตั้งคณะทำงานศึกษาข้อเท็จจริงการมีส่วนร่วม ทรัพยากรและสุขภาพ พื้นที่ จ.ยโสธร กรณีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2561 และผู้ว่าราชการจังหวัดได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานดังกล่าวขึ้น และให้มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดขอบเขตการศึกษาข้อเท็จจริง ดำเนินการศึกษาข้อเท็จจริง ติดตามสนับสนุนการดำเนินการศึกษาข้อเท็จจริงในแต่ละประเด็น และปฏิบัติงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

โดยมีองค์ประกอบของคณะทำงานทั้งหมด 18 คน ดังนี้

1. รองผู้อํานวยการรักษาความมั่นคงในภายจังหวัดยโสธร (ประธานคณะทํางาน)

2. นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยโสธร หรือผู้แทน (คณะทํางาน)

3. ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 16 หรือผู้แทน (คณะทํางาน)

4. ผู้อํานวยการสํานักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยโสธรหรือผู้แทน (คณะทํางาน)

5. เกษตรและสหกรณ์จังหวัดยโสธร หรือผู้แทน (คณะทํางาน)

6. ผู้อํานวยการโครงการชลประทานยโสธร หรือผู้แทน (คณะทํางาน)

7. นายอําเภอป่าติ้ว หรือผู้แทน (คณะทํางาน)

8. รศ.ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (คณะทํางาน)

9. ดร.จันทรา ธนะวัฒนาวงศ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (คณะทํางาน)

10. นิรันดร คํานุ คณะมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (คณะทํางาน)

11. นัฐพงษ์ ราชมี สาขาวิชารัฐศาสตร์ คณะนิติรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด (คณะทํางาน)

12. รศ.ดร.ประยูร วงศ์จันทรา คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (คณะทํางาน)

13. อุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน (คณะทํางาน)

14. สิริศักดิ์ สะดวก เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน (คณะทํางาน)

15. สัญชาติ พลมีศักดิ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชํานาญการพิเศษ สํานักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร (คณะทํางาน)

16. ผู้อํานวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สํานักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยโสธร (คณะทํางาน และเลขานุการร่วม)

17. นวพร เนินทราย ผู้แทนกลุ่มอนุรักษ์ลําน้ำเซบาย ตําบลเชียงเพ็ง (คณะทํางาน และเลขานุการร่วม)

18.ปลัดอําเภอที่ได้รับมอบหมาย (คณะทํางาน และเลขานุการร่วม)

ทางกลุ่มจึงได้เสนอให้รัฐบาล ออกมาตรการเพื่อระงับการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลไว้ก่อน เพื่อให้คณะทำงานศึกษาข้อเท็จได้ผลศึกษาออกมาเสียก่อน แต่ทางตัวแทนกระทรวงอุตสาหกรรมเห็นว่าข้อเสนอดังกล่าว จะต้องนำกลับไปให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบดูก่อนว่าทางกระทรวงมีอำนาจสั่งให้ระงับได้หรือไม่ เพื่อที่จะทำให้ถูกต้องตามกฎหมายและจะได้ไม่ต้องถูกบริษัทฟ้องร้อง ขณะเดียวกันเห็นว่ารายชื่อคณะทำงานที่ผู้ว่าราชการจังหวัดได้แต่งตั้งขึ้นมานั้นควรจะมีตัวแทนอุตสาหกรรมจังหวัดรวมอยู่ด้วยเพื่อให้ง่ายต่อได้แลกเปลี่ยนข้อมูล และความเข้าใจร่วมกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าหลังจากพูดคุยกับตัวแทนกระทรวงอุตสหกรรมเสร็จแล้ว ทางกลุ่มได้ปักหลักคืนค้างที่บริเวณด้านหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และในวันพรุ่งนี้ (20 ก.ย.) เวลา 07.30 น. จะเริ่มเดินเท้าจากกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อเข้ายื่นหนังสือถึงเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ให้ระงับการพิจารณาการออกใบอนุญาตโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ ของบริษัท มิตรผล ไบโอเพาเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด ต่อไป

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ทายาทคนงานประมงที่ตายระหว่างทำงาน รับ 2.5 แสน หลังศาลแรงงานไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

Posted: 19 Sep 2018 11:39 AM PDT

ทายาทแรงงานประมงที่เสียชีวิตระหว่างการทำงานบนเรือประมง รับเงิน 2.5 แสน ภายหลังศาลแรงงานภาค 7 (กาญจนบุรี) ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงาน กรณีสำนักงานประกันสังคม ออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินทดแทนแก่ทายาท 

ภาพประกอบ จากแฟ้มภาพเว็บไซต์ shiptoshorerights.org

19 ก.ย.2561 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา แจ้งว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา ศาลแรงงานภาค 7 จังหวัดกาญจนบุรี ได้กำหนดนัดสืบพยานจำเลย ในคดีที่ ละ นโยนท์ เซ็ง (HLA NYUNT SEIN) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สำนักงานประกันสังคม จังหวัดเพชรบุรี เป็นจำเลยที่ 1 และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน จำเลยที่ 2 กรณีออกคำสั่งให้ โก แรงงานข้ามชาติ ที่เสียชีวิตระหว่างการทำงานบนเรือประมง ไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน และมีมติให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินทดแทนตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และยกอุทธรณ์ของโจทก์

ในการสืบพยานศาลได้กำหนดประเด็นการพิจารณาสองประเด็นคือ 1. คมคาย มานิช นายจ้างเป็นผู้มีหน้าที่จ่ายเงินสมทบ ตามพะราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 หรือไม่ และ 2. กรณีมีเหตุให้ต้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่ 1/2561 ลงวันที่ 9 มี.ค. 2560 หรือไม่

ระหว่างการสืบพยานจำเลย ซึ่งมีกรรมการกองทุนเงินทดแทนและเจ้าหน้าที่ประมงจังหวัดเพชรบุรี ขึ้นเบิกความและยืนยันคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเพชรบุรีที่สั่งให้นายจ้างจ่ายเงินทดแทนแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน456,768 บาทและเจ้าหน้าที่ประมงขึ้นเบิกความเพื่อให้การประเด็นการทำประมงแบบตลอดทั้งปี หลังจากสืบพยานฝ่ายจำเลย 2 เสร็จเสิ้นแล้ว ศาลได้เรียก คมคาย มานิช นายจ้าง ซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 และ ละ นโยนท์ เซ็ง (HLA NYUNT SEIN) โจทก์ เพื่อทำการไกล่เกลี่ยโดยไม่อนุญาตให้บุคคลอื่นนอกจากล่ามและพนักงานอัยการอยู่ในห้องพิจารณา ซึ่งศาลทำการไกล่เกลี่ยจนถึงเวลาประมาณ 14.30 น. โดยไม่มีการหยุดพัก จนสองฝ่ายตกลงกันได้ ดังนี้

1. 12 ก.ย. 2561 ละ นโยนท์ เซ็ง (HLA NYUNT SEIN) โจทก์ ยินยอมรับเงินทดแทนจากจำเลยที่ 3 เป็นเงินจำนวน 250,000 บาท โดยจำเลยที่ 3 ขอแบ่งจ่ายเป็น 2 งวด โจทก์ได้รับเงินงวดแรกในวันดังกล่าว จำนวน 100,000 บาท

2. 18 ก.ย. 2561 จำเลยที่ 3 ได้จ่ายเงินทดแทนที่เหลืออีกจำนวน 150,000 บาท ให้แก่โจทก์ และโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนคำฟ้องจำเลยทั้งสาม

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ระบุด้วยว่าา ในการทำประมงนั้น รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญในการจัดทำนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย การขาดรายงาน และการควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing-IUU) เพื่อให้เกิดการทำประมงอย่างยั่งยืน รวมทั้งการคุ้มครองแรงงานประมง ดังนั้น แผนการลงนามอนุสัญญาด้านแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานภาคประมง ค.ศ.2007 จึงนับเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่นอกเหนือจากการแก้ไขการทำประมงที่ผิดกฎหมายแล้ว ยังก่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิของแรงงานที่รวมถึงการได้รับค่าชดเชยอันเกิดจากอุบัติเหตุอันเนื่องมาจากการทำงาน ซึ่งในกรณีของไทยก็คือสิทธิการเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนของแรงงาน กรณีที่ประสบอันตราย เสียชีวิตหรือสูญหายเนื่องจากการทำงาน เนื่องจากงานประมงถือเป็นงานที่หนักและอันตราย แต่แรงงานยังไม่สามารถเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนของสำนักงานประกันสังคม แม้จะมีการออกคำสั่งให้นายจ้างรับผิดชอบ แต่กระบวนการเยียวยาที่มีอยู่นั้น ทำให้แรงงานต้องประสบกับสถานการณ์การต่อรองโดยกลไกของกระบวนการยุติธรรม

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

200 ปี Karl Marx: สรวิศ ชัยนาม - รักเดือดแดงมาแต่เดิม

Posted: 19 Sep 2018 09:09 AM PDT

15 กันยายน 2561 วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดโครงการสัมมนาวิชาการ 200 ปีชาตกาล คาร์ล มาร์กซ์ วิทยากรประกอบด้วย รศ.สรวิศ ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ดร.ปวงชน อุนจะนำ คณะสังคมศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเศวร, รศ.สมชัย ภัทรธนานันท์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, ดร.ธิกานต์ ศรีนารา คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ผศ.ดร.Katsuyuki Takahashi College of ASEAN Community Studies มหาวิทยาลัยนเรศวร

โดยช่วงเช้า เริ่มต้นด้วยการนำเสนอโดยสรวิศ ชัยนาม

สรวิศ ชัยนาม : Love as always already read
รักเดือดแดงมาแต่เดิม

ทุนนิยมนั้นเกลียดความรัก ความรักคือรูปแบบพื้นฐานของคอมมิวนิสต์...
คอมมิวนิสต์หมายถึง ความรู้สึกว่าการมีบางสิ่งบางอย่างร่วมกันมีความสำคัญเหนือความเห็นแก่ตัว ทุนนิยมเปลี่ยนความรักเป็นโรแมนซ์ โรแมนซ์คือ ความรักที่ไม่มีความเสี่ยงใดๆ ทั้งสิ้น ในภาพใหญ่นี่เป็นภาพสะท้อนของสภาวะแปลกแยกอย่างสากลที่เราเห็นได้ในสังคมทุนนิยม เราแปลกแยกจากผู้อื่น เรามองผู้อื่นเป็นเพียงแค่สิ่งที่ทำให้เราเติมเต็ม เป็นเครื่องมืออะไรบางอย่างเพื่อบรรลุถึงความสมบูรณ์ของเรา

สิ่งที่จะเสนอเป็นอะไรที่นามธรรม ข้อโต้แย้งหลักก็คือ มันมีอะไรบางอย่างที่ต่อต้านทุนนิยม ต่อต้านสถานภาพเดิมใน "รักแท้" รักแท้ในระดับหนึ่งมีความเป็นคอมมิวนิสต์ รักแท้ทำให้เราเสียคน ในความหมายที่ว่ามันทำให้เราเสื่อมถอยผิดไปจากขนบประเพณี ความคาดหวังของสังคม เหมือนกับที่โสเครตีสทำให้ยุวชนนั้นเสียคน

แนวคิดนี้มาจากงานของนักปรัชญาชื่อว่า อแล็ง บาดียู (Alain Badiou) เขาเคยเสนอว่าทุนนิยมนั้นเกลียดความรัก ความรักคือรูปแบบของคอมมิวนิสต์พื้นฐาน ความรักคอมมิวนิสต์ในรูปแบบที่จำกัด ในที่นี้คอมมิวนิสต์หมายถึง สิ่งที่ทำให้มีความรู้สึกว่า การมีบางสิ่งบางอย่างร่วมกันมีความสำคัญเหนือความเห็นแก่ตัว มีความสำเร็จร่วมกันของคนสองคนหรือหมู่คณะเหนือผลประโยชน์ส่วนตัว

ทุนนิยมยุคปลายหรือเสรีนิยมใหม่ยุคปลายบ่มเพาะอัตวิสัยมากมาย บุคคลต้นแบบมากมาย เช่น มนุษย์เศรษฐศาสตร์ เราต้องเป็นผู้ประกอบการที่รู้จักลงทุนเพื่อตัวเอง การหลงตัวเอง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นภัย เป็นศัตรูของความรัก

ทุนนิยมเปลี่ยนความรักเป็นโรแมนซ์ โรแมนซ์คือ ความรักที่ปราศจากไขมัน ปราศจากคาเฟอีน ปราศจากน้ำตาล ความรักที่ไม่มีความเสี่ยงใดๆ ทั้งสิ้น ในภาพใหญ่นี่เป็นภาพสะท้อนของสภาวะแปลกแยกอย่างสากลที่เราเห็นได้ในสังคมทุนนิยม เราแปลกแยกจากผู้อื่น เรามองผู้อื่นเป็นเพียงแค่สิ่งที่ทำให้เราเติมเต็ม เป็นเครื่องมืออะไรบางอย่างเพื่อบรรลุถึงความสมบูรณ์ของเรา แล้วก็ยังแปลกแยกกับตัวเราเอง เราไม่สามารถเข้าถึงสิ่งที่ไม่ใช่เราในตัวของเราได้ มันเหมือนกับว่าเราต้องเป็นแค่เราเท่านั้น ทุนนิยมเรียกร้องให้เราเป็นตัวของเราเองตลอดเวลา อันนี้แหละเป็นอุปสรรคที่เป็นพิษภัยต่อความรัก ขัดขวางไม่ให้เราเข้าถึงผู้อื่นได้

มาร์กซ์พยายามเสนอว่า ขบวนการเคลื่อนไหวของแรงงานต้องเผชิญหน้ากับอำนาจของทุนในทุกๆ มิติของสังคม ต้องพยายามจัดตั้งการต่อต้านทุนในมณฑลมากมายที่จะช่วยสร้างจิตสำนึกของกรรมาชีพ เพราะทุนนิยมไม่ใช่แค่ระบอบเศรษฐกิจ อำนาจของทุนไม่ได้อยู่แค่ที่โรงงาน ที่ทำงาน แต่แทรกซึมไปทุกมิติของสังคม ในพื้นที่ที่เคยถูกมองว่าเป็นพื้นที่นอกตลาด แม้ในความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งที่สุดของมนุษย์ที่เรียกว่า ความรัก หรือ มิตรภาพ ก็ตาม

สรุปข้อโต้แย้งก็คือ เราควรจะปกป้องความรัก และพยายามสร้างความรักในรูปแบบใหม่ให้ได้ การปฏิวัติในศตวรรษที่ 20 การปฏิวัติคอมมิวนิสต์ที่ใดก็ตามได้พยายามสร้างความรักในรูปแบบใหม่ทั้งสิ้น เพียงแต่ในปัจจุบันฝ่ายซ้ายอาจไม่ค่อยได้ให้ความสนใจเรื่องความรักเท่าที่ควร

มันเกี่ยวกับมาร์กซ์อย่างไร

มาร์กซ์พยายามเสนอว่า ขบวนการเคลื่อนไหวของแรงงานนั้นควรสามารถและอาจจะต้องเผชิญหน้ากับอำนาจของทุนในทุกๆ มิติของสังคม ต้องพยายามจัดตั้งการต่อต้านทุนในมณฑลมากมาย เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ มันคือการผสมผสานการสังเคราะห์การต่อสู้ในมณฑลต่างๆ ที่จะช่วยสร้างจิตสำนึก common sense บางอย่างของกรรมาชีพ

นี่เป็นเพราะทุนนิยมไม่ใช่แค่ระบอบเศรษฐกิจ ทุนนิยมคือสังคม อำนาจของทุนไม่ได้อยู่แค่ที่โรงงาน ที่ทำงาน แต่แทรกซึมไปทุกมิติของสังคม ในพื้นที่ที่เคยถูกมองว่าเป็นพื้นที่นอกตลาด เช่น การเมือง การศึกษา ศีลธรรมของสังคม และแน่นอน ความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งที่สุดของมนุษย์ที่เรียกว่า ความรัก หรือ มิตรภาพ ก็ตาม

ทุนนิยมเปลี่ยนสังคมให้เป็นสังคมแบบตลาด แนวคิดตรรกะของตลาดครอบไปทั่วสังคม เมื่อโยงเข้ากับความรักก็คือ ทุนนิยมพยายามจะเปลี่ยนความรักจากรูปแบบใหม่ให้ความรักไปได้ดีกับหลักการตลาด เพื่อยืนยันว่า "ตลาด" นั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ เพื่อยืนยันว่าทุนนิยมสะท้อนถึงธรรมชาติของมนุษย์นั่นเอง

มาร์กซ์ให้ชื่อการสังเคราะห์การผสมผสานการต่อสู้มากมายเหล่านี้ว่า permanent revolution หรือการปฏิบัติถาวร และในนาม permanent revolution นั้นก็สามารถแยกมาดูส่วนหนึ่งเฉพาะได้ก็คือ ความรัก หรือความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์

เราต้องรู้จักวิพากษ์ ทำลาย รูปแบบของความรักที่กำลังครอบงำสังคมอยู่ สิ่งที่สำคัญคือ การที่เรารู้จักต่อต้านแนวคิดที่อิงกับความเป็นมนุษย์เศรษฐศาสตร์ ต่อต้านการเป็นผู้ประกอบการที่ลงทุนกับตัวเราเองในทุกๆ ย่างก้าว ต่อต้านกับแนวคิดที่คิดว่าเราเป็นผู้กระทำที่วิ่งแสวงหาความสำเร็จอยู่ตลอดเวลา เราไม่น่าจะนำรูปแบบนี้มาใช้ ในอาจจะทุกด้านก็ว่าได้ โดยเฉพาะด้านของความรัก เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้เราหวาดกลัวที่จะ "ตกหลุมรัก" สิ่งเหล่านี้ทำให้เราแสวงหาความรักแบบปลอดภัยไว้ก่อน ทำให้เราวิ่งหาโรแมนซ์ ไม่ใช่ความรัก

ขบวนการปฏิบัติในศตวรรษที่ 20 ไม่ว่าจะในรัสเซีย คิวบา ในช่วงแรกได้พยายามสร้างความรักในรูปแบบใหม่ ได้ขบคิดสิ่งเหล่านี้ ความรักที่จะไปได้ดีกับสังคมใหม่ที่พวกเขาพยายามสร้าง ในบทความสั้นๆ ของ Michael Hart ชื่อว่า Red Love พูดถึงผู้นำของฝ่ายบอลเชวิชหลังการปฏิวัติรัสเซียที่พยายามสร้างความรักสีแดงหรือความรักรูปแบบใหม่ โดยจุดแรกที่ต้องทำคือการวิพากษ์และการทำลายรูปแบบความรักของกระฎุมพีแบบที่กำลังครอบงำสังคม นั่นคือ ตรรกะของความรักที่อิงกับกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล เธอเป็นของฉัน ฉันเป็นของเธอ ความรักที่มากับแนวคิดครอบครัวที่ค่อนข้างแคบ เป็นเรื่องของสายเลือด เรื่องของเครือญาติ เป็นต้น

แน่นอน ในการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ แทบจะควบคู่กับการทำให้รัฐเสื่อมสลายไปก็คือ การพยายามทำให้ครอบครัวแบบกระฎุมพีสลายไป คงไม่มีเวลาพูดถึงตัวอย่างของความรักในโลกคอมมิวนิสต์ซึ่งพอมีอยู่และแตกต่างในช่วงเวลาหนึ่ง เช่น ในเยอมันตะวันตกและเยอรมันตะวันออก ความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงนั้นค่อนข้างแตกต่างกัน

ดังนั้น สิ่งที่ทำก็คงทำตามนักปฏิวัติรุ่นเก่านั่นคือ เราต้องรู้จักวิพากษ์ ทำลาย รูปแบบของความรักที่กำลังครอบงำสังคมอยู่ และมันก็ไม่ใช่แค่เรื่องของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินส่วนบุคคล เราคงต้องเพิ่มกรอบการวิเคราะห์เข้าไป สิ่งที่สำคัญคงจะเป็นการที่เรารู้จักต่อต้านแนวคิดที่อิงกับความเป็นมนุษย์เศรษฐศาสตร์ ต่อต้านการเป็นผู้ประกอบการที่ลงทุนกับตัวเราเองในทุกๆ ย่างก้าว ต่อต้านกับแนวคิดที่คิดว่าเราเป็นผู้กระทำที่วิ่งแสวงหาความสำเร็จอยู่ตลอดเวลา เราไม่น่าจะนำรูปแบบนี้มาใช้ในอาจจะทุกด้านก็ว่าได้ โดยเฉพาะด้านของความรัก เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้เราหวาดกลัวที่จะ "ตกหลุมรัก" สิ่งเหล่านี้ทำให้เราแสวงหาความรักแบบปลอดภัยไว้ก่อน ทำให้เราวิ่งหาโรแมนซ์ ไม่ใช่ความรัก

วิธีการคงต้องเปลี่ยนไปตามระบบเศรษฐกิจ ยุคของเลนินเศรษฐกิจเป็นแบบหนึ่ง ยุคของเรา financialized economy ก็เป็นอีกแบบ ทุนนิยมยุคปลายส่งเสริมอัตวิสัยที่คุกคามความรัก หรือแม้กระทั่งมิตรภาพ มันทำให้เรากลัวการตกหลุมรักมากขึ้นเรื่อยๆ มองหาความรักที่ปลอดภัย ราคาถูก อแล็ง บาดียู ชี้ไปสู่โปสเตอร์ของบริษัทจัดหาคู่ในฝรั่งเศสที่โฆษณาว่า "มีความรักโดยไม่ต้องตกหลุมรัก" หรือไม่ก็ "พบกับความรักแบบสมบูรณ์แบบโดยไม่ต้องทนทุกข์ทรมาน" แนวคิดนี้คือฝันร้าย มันเกิดขึ้นได้อย่างไรในความเปลี่ยนแปลงของทุนนิยม

ในโลกที่ทุกคนวิ่งหาความสำเร็จ มันเกิดความกดดันและเกิดภาวะซึมเศร้าที่ลึกซึ้ง เพราะเราต้องพยายามกระโดดข้ามให้พ้นเงาของตัวเอง ซึ่งไม่มีใครทำได้ ตัวแสดงที่วิ่งหาความสำเร็จเหล่านี้หลงตัวเองมากเกินกว่าที่จะตกหลุมรักได้ ความรักรบกวนชีวิตพวกเขามากเกินไป ความรักสร้างความทรมานมากเกินไป และอาจทำให้โครงการเพื่อแสวงหาความสมบูรณ์แบบของตัวเองพังไม่เป็นท่าได้

ทุนนิยมยุคปลายมีลักษณะชีวะการเมือง biopolitical หมายความว่า มันทำให้ทั้งชีวิตเป็นเรื่องของการทำงาน แต่มันก็กำลังเปลี่ยนจินตภาพการเมือง หรือ psychopolitical มากขึ้นเหมือนกัน นี่เป็นคำของนักปรัชญาชาวเยอรมัน Byung-Chul Han มันแทรกแซงภายในและเปลี่ยนจิตวิญญาณของประชากร มันเฝ้ามอง ควบคุม และทรงอิทธิพลต่อมนุษย์ไม่ใช่แต่ภายนอก หากแต่จากภายในหรือจิตวิญญาณของประชาชนเพื่อรับใช้มัน

จินตภาพการเมืองเปลี่ยนทุกคน เปลี่ยนผู้กระทำให้เป็นตัวแสดงที่หลงตัวเอง ที่หมกมุ่นกับการออกแบบความสมบูรณ์แบบของตัวเอง เราเป็นผู้ประกอบการที่ลงทุนกับตัวเองทุกย่างก้าว การลงทุนกับตัวเองนั้นหมายถึงเราหันเข้าหาตัวเราเอง และแทบจะไม่สนใจเรื่องการปลดปล่อยทางสังคม เอาจริงๆ ในมุมมองนี้ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า สังคม อยู่แล้วด้วย มีแต่ปัจเจกและมีแต่ปัจเจกเท่านั้นที่สามารถสมบูรณ์แบบได้ เราไม่สามารถทำให้สังคมสมบูรณ์แบบได้ ดังนั้น ตัวแสดง ผู้กระทำ ที่วิ่งหาความสำเร็จและหลงตัวเอง เป็นผู้ประกอบการก็ดำรงอยู่เพื่อตัวเขาเองเท่านั้น เรามองผู้อื่นเป็นคู่แข่ง หรือไม่ก็เป็นคนที่ต้องข้ามหัวไปให้ได้ โลกเป็นโลกของ Hunger Game มีผู้ชนะอยู่คนเดียว อย่างมากก็สองคน

ในโลกที่ทุกคนวิ่งหาความสำเร็จ มันเกิดความกดดันและเกิดภาวะซึมเศร้าที่ลึกซึ้ง เพราะเราต้องพยายามกระโดดข้ามให้พ้นเงาของตัวเอง ซึ่งไม่มีใครทำได้ และมันก็กดดันเป็นอย่างมากเพราะมันไม่มีวิธีที่จะต่อต้านตัวเราเอง เราเป็นนายตัวเอง เราสั่งตัวเอง เราพยายามจะเป็นเราที่ดีขึ้นกว่าเก่าตลอดเวลา สังคมที่วิ่งหาความสำเร็จเลยเป็นสังคมของสารกระตุ้น เราต้องตื่นตลอดเวลา เราต้องโตตลอดเวลา

ตัวแสดงที่วิ่งหาความสำเร็จเหล่านี้หลงตัวเองมากเกินกว่าที่จะตกหลุมรักได้ ความรักรบกวนชีวิตพวกเขามากเกินไป ความรักสร้างความทรมานมากเกินไปและอาจทำให้โครงการเพื่อแสวงหาความสมบูรณ์แบบของตัวเองพังไม่เป็นท่าได้ ตัวแสดงที่วิ่งหาความสำเร็จมองผู้อื่นเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อนำไปสู่เป้าหมายแห่งการที่จะทำให้ตัวเองสมบูรณ์ พวกเขาแสวงหาแต่โรแมนซ์ที่จะเติมเต็ม ไม่รบกวนชีวิต นำสิ่งดีๆ มาสู่ชีวิต

ในอีกฟากหนึ่งของสังคม อาจเป็นแรงงานที่เปราะบางมากมาย แรงงานที่ไม่มั่นคงมากมายที่มองว่าความรักเป็นความเสี่ยง เป็นภาระหนักอึ้งเกินไป ไม่คุ้มจะลงทุนหรือมีไว้ ในยุคสมัยที่แรงกระแทกทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น การตกงาน ความเจ็บป่วย ความพิการ ฯลฯ เป็นภาระรับผิดชอบของปัจเจกบุคคลเพียงลำพัง การใกล้ชิดเป็นความเสี่ยงอีกประการหนึ่งที่คนต้องแบกรับ หลายคนอาจจะมองว่ามันเสี่ยงเกินไป อย่าลืมว่า ถ้าเราเป็นตัวแสดงที่วิ่งหาความสำเร็จ ถ้าเราพลาดเราต้องโทษแต่ตัวเราเองเท่านั้น เพราะมีแต่ตัวเราเองเท่านั้น มันไม่มีสิ่งที่เรียกว่า สังคม

สุดท้าย ภายใต้ทุนนิยม เราเป็นผู้บริโภค ทุนนิยมสั่งให้เรา enjoy ตลอดเวลา เราต้องเสพสุขตลอดเวลา ทุกเรื่อง แต่แทนที่จะเราจะรู้สึกสุขสบาย เรากลับรู้สึกผิดตลอดเวลาที่ enjoy น้อยไป หรือ enjoy มากไป จึงมีผลิตภัณฑ์มากมายที่พยายามสร้างความสมดุลอย่างลวงๆ บางอย่าง เช่น ตระกูลปราศจากไขมัน ปราศจากน้ำตาล ฯลฯ ความรักที่ปราศจากความเสี่ยงเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของผลิตภัณฑ์ภายใต้ตรรกะนี้

ความรักแบบไร้ความเสี่ยงหมายความว่า อีกฝ่ายถูกขจัดความเป็นอื่น หรือสิ่งแปลกปลอมที่เราไม่รู้ออกไป เราไม่ชอบความเป็นอื่นหรือสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้เพราะมันคาดเดาไม่ได้ เมื่อมันคาดเดาไม่ได้มันเลยอันตราย คนอื่นที่ถูกสกัดคาเฟอีกออกไปและเป็นคนอื่นที่เรามองเห็นอย่างทะลุปลุโปร่งมันปลอดภัยสำหรับการบริโภคของเรา ก็ลองดูขั้นตอนของบริษัทจัดหาคู่ได้ เราเริ่มจากเรารู้ เราวางสมการก่อน เราวางก่อนว่าเราต้องการคนแบบไหน อันที่จริงบริษัทจัดหาคู่ก็เป็นการคลุมถุงชนโดยอัลกอรึทึ่ม เรากำหนดได้หมดตั้งแต่ราศีอะไร กรุ๊ปเลือดอะไร ฯลฯ

ดังนั้น ในทุนนิยมยุคปลายความรักกลายเป็นสูตรสำเร็จของความสุขไปแล้ว ความรักต้องเป็นแต่เรื่องดีๆ เรื่องเชิงบวก ไม่รบกวนชีวิตของเรา ต้องรับประกันว่าจะเติมเต็มเรา ต้องสร้างความสมดุลให้เรา เสมือนสินค้าที่พร้อมใช้งานได้ทันทีเพื่อที่จะแก้ปัญหาของเรา

มีปรากฏการณ์แบบที่ต่างประเทศบัญญัติศัพท์ขึ้นมาคือ masturdating เป็นการรวมคำระหว่าง masturbation กับ dating หลักๆ คือ คุณไปออกเดทกับตัวคุณเองแล้วมีความสุขเหลือเกิน แต่งตัวสวยๆ ไปทานอาหารดีๆ ในญี่ปุ่นมีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า solo wedding ผู้หญิงได้แต่งชุดเจ้าสาวถ่ายรูปในสวนญี่ปุ่น จุดขายคือการมอบงานวิวาห์ในฝันให้แก่คุณผู้หญิงโดยปราศจากความยุ่งยากจากการแต่งงานจริงๆ ในสหรัฐอเมริกามีสิ่งที่เรียกว่า sologamy คือแต่งงานกับตัวเอง ฉันดีพอสำหรับตัวฉันเอง ตัวฉันเองก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องการ "คนอื่น"

ที่บอกว่าความรักทำให้เราเสียคนนั้น เพราะหลายครั้งมันลดความเป็นหนึ่งเดียวกับสังคมลง เราอาจไม่ประพฤติตนตามแบบที่สังคมคาดหวัง ละทิ้งอัตลักษณ์สังคมไปก็มี อย่างเวอร์ชันของโรมิโอกับจูเลียตที่ละทิ้งความคาดหวังของตระกูล ของสังคม หรือในสังคมเหยียดสีผิว สีผิวก็ไม่ใช่เงื่อนไขของการตกหลุมรัก
ในสังคมที่เหยียดความรักของเพศเดียวกัน เพศก็จะไม่ใช่เรื่องสำคัญ

ในทางปรัชญา รักแท้ ตรงกันข้ามกับสิ่งเหล่านี้ รักแท้ทำให้คู่รักเสียคน ทำให้ผู้รักแตกหักออกไปจากวิถีเดิมๆ มันจัดเรียงความเป็นไปได้ใหม่ของคู่รัก ในภาษาอแล็ง บาดียู ความรักคือเหตุการณ์ เป็นเหตุการณ์ที่เปลี่ยนพิกัดของชีวิตคุณ อย่างน้อยมันสร้างภาพก่อนและหลัง เมื่อคุณเจอคนคนหนึ่งและคุณตกหลุมรักคนคนนี้ คุณไม่สามารถย้อนไปสู่พิกัดเดิมก่อนที่คุณจะตกหลุมรักได้

ที่บอกว่าความรักทำให้เราเสียคนนั้น เพราะหลายครั้งมันลดความเป็นหนึ่งเดียวกับสังคมลง อาจจะปรับตัวเข้ากับสังคมได้ยากขึ้น ไม่ดีเท่าเดิม เราอาจไม่ประพฤติตนตามแบบที่สังคมคาดหวัง เลิกทำนิสัยตามความจำเจ ละทิ้งอัตลักษณ์สังคมไปก็มี ความรักเปลี่ยนทำให้เรากลายเป็นคนแปลกหน้าในที่ที่เราใช้ชีวิต ความรักเป็นความขบถเหมือนกันอย่างเวอร์ชันของโรมิโอกับจูเลียตที่ละทิ้งความคาดหวังของตระกูล ของสังคม หรือในสังคมเหยียดสีผิว สีผิวก็ไม่ใช่เงื่อนไขของการตกหลุมรัก ในสังคมที่เหยียดความรักของเพศเดียวกัน เพศก็จะไม่ใช่เรื่องสำคัญ มันทำให้เราลดความเป็นหนึ่งเดียวกับสังคม

ในงานของอแล็ง บาดียู นั้นแบ่งความรักมี 2 ส่วนใหญ่ ด้านหนึ่งคือส่วนของการพบเจอ(encounter) อีกด้านหนึ่งคือส่วนของการสร้าง(construction) ทั้งสองส่วนของความรักมันไม่สามารถไปได้ดีกับทุนนิยม รักแท้ไม่เป็นไปตามตรรกะของมนุษย์เศรษฐศาสตร์อย่างไร

ประการแรก รักแท้มักจะเริ่มจากการพบกันโดยบังเอิญ มันสำคัญเพราะพูดเป็นนัยว่า ความรักไม่ใช่เรื่องจำเป็น ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้น มันไม่ใช่หน้าที่ มันบ่งบอกว่าการตกหลุมรักไม่ใช่หน้าที่และไม่มีใครคาดหวังให้เราตกหลุมรักใครได้ ไม่ใช่การคิดอย่างรอบ ไม่มีเวลาที่เหมาะสม ความบังเอิญทำให้ความรักเป็นสิ่งล้ำค่าและมหัศจรรย์ เนื่องจากจุดเริ่มต้นของความรักคือการพบกันโดยบังเอิญทำให้ไม่สามารถรู้แน่ชัดว่าสิ่งนี้จะมีโอกาสพัฒนาต่อไปในอนาคตหรือไม่ แล้วผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไรก็ไม่สามารถคาดเดาได้ การไม่สามารถคาดเดาได้คือความเสี่ยง

ประการที่สอง เราตกหลุมรักโดยแทบไม่รู้อะไรเลย แน่นอนเราเองก็เลิกรักโดยแทบไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ มันก็แค่เกิดขึ้นแบบที่มันเกิดขึ้น เราไม่รู้ว่าทำไมเราตกหลุมรักใครสักคน มันเป็นเรื่องไม่สามารถอธิบายได้ และเราก็ไม่รู้ล่วงหน้าว่าความสัมพันธ์จะดำเนินไปอย่างไร ลงเอยอย่างไร แน่นอนเราต้องหาเหตุผลเพื่ออธิบายมันให้ได้ว่าเรารักคนๆ นี้ แต่เหตุผลเหล่านี้มักจะมาภายหลัง คือ คุณต้องตกหลุมรักก่อนคุณถึงจะเห็นข้อดีของคนคนหนึ่ง

ความรักทำให้คนที่เรารักนั้นดูน่ารักขึ้นมา ไม่ใช่ว่าคนที่เรารักน่ารักเราเลยตกหลุมรัก แต่เป็นเพราะเราตกหลุมรักเราเลยมองเขาหรือเธอว่าน่ารัก ไม่แปลกที่คุณอาจไม่เข้าใจว่าเพื่อนสนิทของคุณทำไมมีแฟนเช่นนั้น ไม่เห็นมีดีอะไรเลย ดังนั้น ในโลกที่เรียกว่า ความรัก ไม่ใช่เราจะเชื่อในสิ่งที่เราเห็น แต่เราจะเห็นในสิ่งที่เราเชื่อ ความรักไม่เพียงทำให้คนที่เรารักมีความน่ารัก แต่ยังทำให้เรามองคนรักแบบอุดมคติ เพราะคนคนนี้สำคัญที่สุดกับเรา หมายความว่าเราโฟโต้ช็อปคนรักในหัวของเรา ในช่วงแรกเราไม่สามารถจินตนาการ เหงื่อ อ้วก การขับถ่ายของคนรักเราได้ หรือความแก่เฒ่าเหี่ยวย่น ฯลฯ ที่สำคัญกว่านั้น หลายครั้งเรามักจะรู้ว่าใครบางคนมีความรักเมื่อเขาสามารถเปลี่ยนคุณสมบัติที่อาจจะน่ารังเกียจของคนคนหนึ่งกลายเป็นเสน่ห์ของคนคนนั้น กลับหัวกลับหางมัน เช่น การแต่งตัวลวกๆ ก็กลายเป็นคนมีแนวทางเป็นขอตัวเอง การไม่ชอบอาบน้ำก็เป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติ ขณะเดียวกันเวลาเราเลิกรักใครสักคน เราก็จะเริ่มรำคาญกับสิ่งเคยเป็นเสน่ห์ดึงดูดเรา เช่น ตอนตกหลุมรักบอกว่าคนคนนี้เป็นธรรมชาติ ไม่เรื่องมาก เรียบง่าย แต่ตอนเลิกรักก็บอกว่าน่าเบื่อ ดังนั้น คุณสมบัติเดียวกันอาจทำให้เราตกหลุมรักหรือเลิกรักใครบางคนได้

ในภาษาอังกฤษมีคำว่า dearest ที่เราใช้เรียกคนรัก มันมีความหมายว่า มีคุณค่าสูงสุด ประเมินค่าไม่ได้ การประเมินค่าไม่ได้ก็คือไม่มีราคา ไม่สามารถตั้งราคาได้ เมื่อตั้งราคาไม่ได้ก็ไม่สามารถแลกเปลี่ยนได้ หรือไม่สามารถทดแทนได้ มันก็เลยไม่สามารถไปกันได้ดีกับทุนนิยม

ประการที่สาม การตกหลุมรัก โดยพื้นฐานแล้วเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามหลักเหตุผล ความรักเลยเป็นเรื่องที่เสี่ยงเป็นอย่างมาก นักทฤษฎีมองว่า ถ้าว่ากันตามนิยามแล้ว ความรักต้องมีความอดทนเป็นอย่างมากกับความไม่แน่นอน และโอกาสที่จะพบกับความผิดหวัง เพราะเราไม่มีทางรู้ล่วงหน้าว่าจะลงเอยอย่างไร และไม่มีใครตกหลุมรักแทนคุณได้ด้วย

ความยอมที่จะเสี่ยงหรือความเต็มใจที่จะเสี่ยงนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า คุณรักใครสักคน ในภาษาอังกฤษมีคำว่า dearest ซึ่งเป็นคำที่เราใช้แทนคนรัก แต่มันมีความหมายว่า มีคุณค่าสูงสุด ประเมินค่าไม่ได้ ดังนั้น ถ้าคนรักสำคัญที่สุดมีค่าที่สุดในชีวิตของคุณ ตัวชี้วัดก็คือ คุณพร้อมที่จะเสี่ยงเพื่อคนคนนี้ คุณพร้อมจะเจ็บปวดเพื่อคนคนนี้ การประเมินค่าไม่ได้ก็คือไม่มีราคา ไม่สามารถตั้งราคาได้ เมื่อตั้งราคาไม่ได้ก็ไม่สามารถแลกเปลี่ยนได้ หรือไม่สามารถทดแทนได้ มันก็เลยไม่สามารถไปกันได้ดีกับทุนนิยม ทุนนิยมไม่ชอบอะไรที่ไม่มีราคา ไม่สามารถแลกเปลี่ยนได้ ทุกอย่างต้องเปลี่ยนมือได้ มีราคา และไหลเวียนได้

การเต็มใจเผชิญกับความเสี่ยงนี้ก็เหมือนกับการละทิ้งการหลงตัวเอง การละทิ้งการแสวงหาความรักแบบปลอดภัยไว้ก่อน ในภาษาอังกฤษว่า fall in love มีนักปรัชญาบางคนเสนอว่าเราควรให้ความสำคัญกับคำว่า fall หรือ การตก เราจะต้องตกหลุมรัก ความรักเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีการตกลงไป และไม่มีใครตกแทนได้ การตกคือการปล่อยมือและรับกับความเสี่ยง แปลว่าเรายอมรับความเสี่ยงไม่ว่าผลที่เกิดตามมาเป็นเช่นไร มันหมายความว่าเรากล้าหาญที่จะให้การตกที่ว่านี้กำหนดทิศทางชีวิต นี่มันเป็นเรื่องบ้าคลั่ง เป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผลสุดๆ นี่คือความกล้าหาญที่ยิ่งใหญ่ แต่มนุษย์เศรษฐศาสตร์ไม่กล้าเช่นนี้ เขาอาจมีความรู้สึกมากมาย กลัว โกรธ อิจฉา แต่มนุษย์เศรษฐศาสตร์ไม่สามารถตกหลุมรักได้ เพราะมองผู้อื่นเป็นเพียงแค่เครื่องมือสู่เป้าหมายอะไรบางอย่าง เน้นความเป็นตัวของตัวเองตลอดเวลานั่นหมายความว่าปฏิเสธความเป็นอื่น ความแตกต่าง ไม่สามารถยอมรับความเป็นอื่นได้ การตกหลุมรักเสี่ยงเกินไปเพราะมันนำพาความเป็นอื่นที่คาดเดาไม่ได้เข้ามา มนุษย์เศรษฐศาสตร์ไม่สามารถตกหลุมรักได้เพราะจะถามตลอดเวลาว่า ทำแบบนี้แล้ว "ฉัน" จะได้อะไร

รักแท้นั้นตรงกันข้าม มันเป็นวิธีที่ไม่นำไปสู่อะไรทั้งสิ้น เป็นวิธีเป็นกระบวนการเพียวๆ ไม่จำเป็นต้องบรรลุถึงอะไรทั้งนั้น มันเป็นการลงทุนแบบให้เปล่า ไม่สามารถคาดหวังผลตอบแทนอะไรได้ เป็นค่าใช้จ่ายล้วนๆ รักแท้เป็นฝันร้ายของนักบัญชี มันไม่สามารถผ่านการประเมินของตลาดได้ ไม่สามารถประเมินประสิทธิภาพประสิทธิผลได้ ไม่ต้องทำ SWOT ฯลฯ เมื่อไม่สามารถผ่านการประเมินตามคุณค่าของตลาดได้ มองจากมุมมนุษย์เศรษฐศาสตร์มันก็ไร้เหตุผลเกินไป มีความเสี่ยงมากเกินไป

ในโลกที่เราพยายามจะคิดหรือถูกปลูกฝังให้คิดแบบมนุษย์เศรษฐศาสตร์ อแล็ง บาดียู บอกไว้ว่าในโลกทุกวันนี้คนมักคิดกันทั่วไปว่า ปัจเจกบุคคลเอาแต่ทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ความรักเหมือนเป็นยาถอนพิษให้กับสิ่งเหล่านี้ ความรักมันดึงเราออกมาจากตัวเอง ดึงออกมาจากการหลงตัวเอง

การตกหลุมรักเป็นอะไรที่โคตรไร้เหตุผล ในส่วนที่สอง การสร้างความรักก็เป็นอะไรที่ไม่คุ้มค่าเช่นเดียวกัน ในที่นี้คงไม่ลงไปในรายละเอียดในโลกความรักของอแล็ง บาดียู ที่บอกว่าความรักคือการหลุดพ้นจากโลกหนึ่งเดียวหรือฉากที่มีเพียงหนึ่งเดียว เป็นโลกของสอง หรือฉากของสอง เราแต่ละฝ่ายถูกทำลายความเป็นศูนย์กลางไปบางส่วนแล้วมาอยู่ในฉากเดียวกัน โลกเดียวกัน และเป็นตัวกระทำใหม่ตัวแสดงใหม่ที่มองโลกผ่านมุมมองจากสอง จากที่ชีวิตประจำวันเรามองโลกจากมุมมองของหนึ่ง ความจริงของความรักในมุมอแล็ง บาดียู คือ คุณสามารถมีประสบการณ์เผชิญกับโลกใบนี้จากมุมมองของสองได้ เป็นคำว่า "เรา" ไม่ใช่เพียงจากมุมของหนึ่ง หรือเห็นแต่ตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ฌาร์ค ลาก็อง (Jacques Lacan) อธิบายมุมมองของบาดียูได้ดี ลาก็องบอกว่า "ความรักคือการให้อะไรบางอย่างที่คุณไม่มีแก่ใครบางคนที่ไม่ต้องการมัน" มันหมายความว่าอะไร มันแสดงให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ของคนสองคนที่ยังขาดพร่อง คนหนึ่งไม่มี ส่วนอีกคนไม่ได้อยากได้มาด้วยซ้ำ หมายความว่าไม่มีฝ่ายใดเลยที่ทราบว่าอีกฝ่ายต้องการอะไรจริงๆ ดังนั้น ความรักจึงไม่ใช่การสังเคราะห์หรือการสร้างสิ่งที่ครบถ้วนสมบูรณ์ มันไม่ใช่เรื่องประสานสอดคล้องการสร้างสมดุลให้ชีวิต เพราะเราเป็นอะไรที่ขาดพร่องกับขาดพร่อง ช่องว่างระหว่างสองคนจะคงอยู่เสมอ ความรักคือการแบ่งปันความขาดพร่องนี้ ไม่มีวันที่ทั้งสองจะสามารถเติมเต็มกันและกันได้อย่างสมบูรณ์ ความสมบูรณ์นั่นเป็นเรื่องของโรแมนซ์ โรแมนซ์สัญญาว่าถ้าคุณได้คนรักที่แท้มันจะเติมเต็มกันได้ รักแท้ไม่จำเป็นต้องเติมเต็มกันและกันด้วยซ้ำ การแบ่งปันความขาดพร่องนี้หมายความว่า เราต้องจินตนาการเพ้อฝันเพื่อตอบคำถามให้ได้ว่าอีกฝ่ายต้องการอะไรจากเรา และเราเป็นอะไรต่ออีกฝ่าย เป็นเรื่องแฟนตาซีล้วนๆ ดังนั้นคนเราจะอยู่ด้วยกันได้ต่อเมื่อแฟนตาซีมันสอดคล้องกัน ไปด้วยกัน

จึงไม่แปลกที่ในทัศนะของบาดียูมองว่าความรักมีลักษณะกะโผลกกะเผลกและคงอยู่ตราบใดที่คนสองคนคงความไม่เข้าใจต่อกันเป็นอย่างดี ไม่ใช่ เข้าใจกันได้โดยดี แต่คงความไม่เข้าใจกันได้เป็นอย่างดี

ความรักแบบกระฎุมพี หรือความรักแบบมนุษย์เศรษฐศาสตร์นั้น
ไปได้ดีกับการเมืองฝ่ายขวาที่ปฏิเสธความแตกต่าง ปฏิเสธความเป็นอื่น ดังนั้น นอกจากการเมืองฝ่ายซ้ายจะต้องต่อสู้เพื่อสิทธิของคนต่างด้าว ผู้อพยพอะไรมากมาย ในขณะเดียวกันคงต้องพยายามสร้างความรักในรูปแบบใหม่ที่จะสอดคล้องกับการเมืองฝ่ายซ้ายในศตวรรษที่ 21 ด้วย

สรุปว่าในวัฒนธรรมบริโภคนิยม ในโลกทุนนิยมแบบของเราที่ทุกอย่างประเมินค่าได้เปลี่ยนมือได้ การยึดติดกับใครบางคน การคิดว่าใครบางคนมีค่ากับคุณอย่างประเมินค่าไม่ได้นั้นมันอาจเป็นการกระทำที่ขัดกับตรรกะของทุน และต้องอาศัยความกล้าหาญเป็นอย่างมาก ในโลกทุนนิยมที่มองว่าจำนวนสำคัญกว่าคุณภาพ การบอกว่าเราไม่ต้องการคนใหม่หรือไม่ต้องการสิ่งใหม่อาจเป็นพฤติกรรมบางอย่างที่ทวนกระแสเช่นกัน ในโลกที่เราต้องวิ่งหาความสำเร็จตลอดเวลา มองสิ่งอื่นๆ หรือคนอื่นๆเป็นเครื่องมืออะไรบางอย่างตลอดเวลา การยอมให้ความรักทำให้เราเสียคนก็คงเป็นสัญญาณที่สำคัญของความกล้าหาญ

ขอสรุปจบว่า ความรักแบบกระฎุมพี หรือความรักแบบมนุษย์เศรษฐศาสตร์นั้นเอาจริงๆ มันไปได้ดีกับการเมืองฝ่ายขวาที่ปฏิเสธความแตกต่าง ปฏิเสธความเป็นอื่น ต้องเป็นพวกเราเท่านั้น ไม่ว่า ชาติ สีผิว ชาติพันธุ์ ความแตกต่างนั้นน่ากลัว ดังนั้น นอกจากการเมืองฝ่ายซ้ายจะต้องต่อสู้เพื่อสิทธิของคนต่างด้าว ผู้อพยพอะไรมากมาย ในขณะเดียวกันคงต้องพยายามสร้างความรักในรูปแบบใหม่ที่จะสอดคล้องกับการเมืองฝ่ายซ้ายในศตวรรษที่ 21 ด้วย

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: 'ไม่การเมือง'ของศาสนาคือความเป็นการเมืองเข้มข้น

Posted: 19 Sep 2018 08:47 AM PDT


รัชกาลที่ 4 ขณะทรงผนวชเป็น "วชิรญาณภิกขุ" เสด็จธุดงค์ไปตามหัวเมืองต่างๆ ภาพวาดโดย นายวุฒิชัย พรมมะลา
ที่มา https://www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/article_14225

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า วาทกรรม "ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง" ของทหารมันมี "ความเป็นการเมือง" อย่างเข้มข้น เพราะความเป็นจริงทหารมีอำนาจต่อรองทางการเมืองสูงนอกระบบรัฐสภา โดยถืออภิสิทธิ์ทำรัฐประหาร เพื่อแก้ปัญหาการเมืองในระบบรัฐสภา ด้วยสารพัดข้ออ้าง เช่นเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ศีลธรรมอันดี ปราบปรามการทุจริตของนักการเมือง ฯลฯ 

เมื่อทำรัฐประหารแล้ว ก็วางระบบกลไกทางกฎหมายให้ทหารเข้ามามีอำนาจต่อรองในระบบรัฐสภา เช่นกำหนดให้ผู้นำเหล่าทัพเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โดยตำแหน่ง แก้กฎหมายให้มีนายกฯ "คนนอก" เพื่อเปิดทางให้ทหารเข้ามาเป็นผู้นำประเทศ ด้วยเสียงสนับสนุนของพรรคการเมืองเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจ หรือพรรคการเมืองเก่าแก่ที่เติบโตมากับการแบ่งปันอำนาจและผลประโยชน์กับอำมาตยาธิปไตยมายาวนาน มิพักต้องเอ่ยถึงอำนาจต่อรองทางการเมืองนอกระบบรัฐสภา เช่น อำนาจต่อรองเรื่องการจัดสรรงบประมาณและอื่นๆ ที่ทหารมีเหนือกว่าข้าราชการกลุ่มอื่นๆ เสมอมา

ยิ่งกว่านั้น การสร้าง "ชาติไทย" และ "ประชาธิปไตยแบบไทย" ก็สร้างผ่านรัฐประหารครั้งต่างๆ ตั้งแต่กำหนดทรงผมเกรียนบนศีรษะนักเรียน ไปจนถึงปลูกฝังอุดมการณ์รัฐ ความหมายของประชาธิปไตยแบบไทย ค่านิยม ความเป็นพลเมืองดี หน้าที่ของพลเมือง ระเบียบวินัย ผ่านระบบการศึกษาของรัฐและอื่นๆ
 
ดังนั้น ที่ว่าทหารไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง การทำรัฐประหารไม่เกี่ยวกับการเมืองจึงไม่จริง แท้จริงแล้วมันคือ "อภิมหาการเมือง" ที่ผูกขาดอำนาจในการยกเลิกและจัดระเบียบการปกครองประเทศและอุดมการณ์รัฐไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับการสร้างประชาธิปไตย ที่เริ่มโดยการปฏิวัติสยาม 2475

ทำนองเดียวกัน เวลาที่สังคมนี้บอกว่า พระสงฆ์และพุทธศาสนา (และศาสนาอื่นๆ) "ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง" โดยแสดงออกในรูปคำสั่งของผู้ปกครองและองค์กรปกครองสงฆ์ เช่น คำสั่งห้ามพระสงฆ์แสดงความคิดเห็น จัดปาฐกถา เสวนา อภิปราย หรือกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวกับการเมืองภายในวัดและนอกวัด ดูเผินๆ เหมือนเป็นคำสั่งที่บอกกับสังคมว่า "พระสงฆ์และพุทธศาสนาไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง" นะอะไรทำนองนั้น

แต่แท้จริงแล้ว คำสั่งในลักษณะดังกล่าวมี "ความเป็นการเมือง" ที่เข้มข้น เพราะเป็นคำสั่งที่แสดงถึงอำนาจในการกำหนดว่า การเมืองแบบไหนที่พระสงฆ์ยุ่งไม่ได้ หรือไม่ควรยุ่ง ซึ่งก็ได้แก่ การเมืองที่เกี่ยวกับการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ คัดค้านอำนาจเผด็จการ หรือการเมืองในแบบที่เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตย ถ้าเป็นการเมืองในแบบสนับสนุนเผด็จการ ก็ไม่ถือว่าเป็นการยุ่งการเมือง เช่น กิตติวุฑโฒภิกขุให้สัมภาษณ์สื่อว่า "ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป" หรือ ว.วชิรเมธี ออกรายการเดินหน้าประเทศไทยสนับสนุน คสช.ว่า "ค่านิยม 12 ประการ คล้ายธรรมะในพระพุทธศาสนา" มหาเถรสมาคมก็ไม่เคยห้ามหรือตำหนิใดๆ ว่าไม่เหมาะสม ไม่ควรทำ เพราะเป็นการยุ่งการเมือง 

ที่เป็นเช่นนี้เพราะการ "ไม่แยกศาสนาจากรัฐ" ทำให้รัฐมีอำนาจกำหนดสถานะ อำนาจ และบทบาทของพระสงฆ์และพุทธศาสนาให้เป็นกลไกสนับสนุนอุดมการณ์และอำนาจรัฐ ผ่านกฎหมายปกครองสงฆ์ รัฐธรรมนูญ และการบังคับเรียนศาสนาในโรงเรียน เป็นต้น 

พูดให้ชัดคือ ภายใต้อุดมการณ์และอำนาจรัฐตามเป็นจริง (ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย) พระสงฆ์และพุทธศาสนาย่อมถูกกำหนดให้ "ทำหน้าที่ทางการเมือง" ในการสนับสนุนอุดมการณ์และอำนาอนุรักษ์นิยม เมื่อเป็นเช่นนี้พระสงฆ์ย่อมถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองแบบประชาธิปไตย เช่นไม่ให้มีสิทธิเลือกตั้ง รวมทั้งมีคำสั่งห้ามแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองดังในความหมายกล่าว 

คำสั่งห้ามทำนองนี้มักจะออกมาเป็นพักๆ ห้ามได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แล้วแต่สถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนั้นๆ ถ้าช่วงไหนบ้านเมืองมีเสรีภาพมากหน่อย คำสั่งห้ามเหล่านั้นก็เป็นหมัน ช่วงไหนบ้านเมืองตกอยู่ใต้อำนาจเผด็จการคำสั่งพวกนั้นก็เอาอยู่

อีกประเด็นหนึ่ง ชาวพุทธบ้านเรายึดถือความเชื่อตามๆ กันมาว่า ยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ชนชั้นปกครองยุคเก่าทำหน้าที่รักษาความบริสุทธิ์ถูกต้องของคำสอนพุทธศาสนา ผ่านการให้สังคายนาพระไตรปิฎก อรรถกถา ชำระคัมภีร์สำคัญอื่นๆ และรักษาวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ให้น่าเคารพกราบไหว้ด้วยการออกกฎหมายและคำสั่งต่างๆ ควบคุมและลงโทษพระที่ประพฤติผิดพระธรรมวินัย ทุกวันนี้ก็ยังเชื่อกันแบบนั้น ดังมีการเรียกร้องให้ออกฎหมายควบคุมการสอนและการปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักธรรมวินัยในพระไตรปิฎก หรือเรียกร้องให้รัฐปฏิรูปชำระล้างศาสนาให้สะอาดกันบ่อยๆ เป็นต้น

ตัวอย่างที่ยืนยันความเชื่อดังกล่าว ก็เช่น ความคิดที่ว่าถ้าปล่อยให้คณะสงฆ์เสนอชื่อพระสงฆ์ที่สมควรดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช หรือตำแหน่งปกครองระดับสูงกันเอง ก็จะเกิดความขัดแย้ง หรือถ้าให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งมีส่วนร่วมเสนอก็จะเกิดปัญหาดึงพระสงฆ์และพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเป็นต้น ดังนั้นเพื่อตัดปัญหาเหล่านั้นจึงควรถวายเป็นพระราชอำนาจให้ทรงแต่งตั้งตามที่ทรงเห็นสมควร

แต่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์บอกเราว่า แม้แต่ในยุค "รัฐพุทธศาสนา" ที่ผู้ปกครองเป็นธรรมราชาให้ความอุปถัมภ์พุทธศาสนารุ่งเรืองถึงขีดสุด มองไปทางไหนเห็นแต่ความรุ่งเรืองของวัด วังอลังการ ในยุคสมัยเช่นนั้น พระสงฆ์ทั้งเกี่ยวข้องกับการเมืองของชนชั้นปกครอง เช่นสนับสนุนชนชั้นปกครองฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ชิงบัลลังก์ เมื่อผู้ปกครองฝ่ายไหนชนะ ก็กำจัดฝ่ายที่แพ้ทั้งขุนนางฝ่ายตรงข้ามและบรรดาพระสงฆ์ที่สนับสนุนฝ่ายตรงข้าม 

อีกอย่าง ในช่วงเวลาที่รัฐพุทธศาสนารุ่งเรืองร่วมพันปีนั้น ไม่มีเลยสักครั้งที่พุทธศาสนาที่รัฐอุปถัมภ์เสนอความคิดและการเคลื่อนไหวให้เลิกระบบไพร่ ทาส อาจมีบ้างที่พุทธศาสนาในหัวเมืองเป็นแรงผลักดันให้ก่อการกบฏต่ออำนาจกดขี่ของส่วนกลาง เช่นกบฏผู้มีบุญ หรือ "กบฏผีบุญ" ในสมัย ร.5 แต่ก็ถูกอำนาจรัฐล้อมปราบอย่างโหดเหี้ยม และเรื่องราวของพวกเขาก็ถูกฝ่ายอำนาจรัฐตีตราว่าพวกพวกเชื่อวิปริตผิดเพี้ยนจากหลักคำสอนอันเป็นแก่นแท้ของพุทธศาสนา

บางคนว่า รัฐพุทธศาสนานั้น คือ "รัฐพ่อปกครองลูก" ที่ถือว่าผู้ปกครองไม่เพียงเป็นพ่อที่ดูแลเรื่องปากท้องของผู้ใต้ปกครองให้อยู่ดีกินดีเท่านั้น ยังเป็น "แบบอย่างทางศีลธรรม" แก่ผู้ใต้ปกครองด้วย แล้ววิจารณ์ว่า รัฐโลกวิสัย (secular state) ถือว่าผู้ปกครองเป็นเพียงผู้ดูแลเรื่องปากท้องของประชาชนเท่านั้น ไม่ได้เป็นแบบอย่างที่ดีทางศีลธรรมแต่อย่างใด โดยยกตัวอย่างความประพฤติส่วนตัวในเรื่องผู้หญิงของผู้นำบางประเทศของตะวันตกในยุคปัจจุบัน

แท้จริงแล้ว เขาคงลืมไปว่า ในยุครัฐพุทธศาสนารุ่งเรืองนั้น บรรดาชนชั้นปกครอง เช่นเหล่าขุนนางล้วนมากเมีย แต่ถ้าเมียนอกใจไปมีชู้ ก็มีอำนาจลงโทษด้วยการเฆี่ยน ขายไปเป็นทาส ขายให้โรงรับชำเรา (ซ่องโสเภณี) เป็นต้น ยิ่งกว่านั้น ในรัฐพุทธศาสนายุคอโศกและอยุธยา ยังมีการนำเอาคำบรรยายวิธีการลงโทษคนบาปในนรกขุมต่างๆ มาออกแบบคุกและวิธีการลงโทษผู้ทำผิดกฎหมาย เช่นบทลงโทษ 21 สถานในรัฐพุทธศาสนาสมัยอยุธยาที่โหดเหี้ยม (ดู www.matichon.co.th/local/crime/news_1005255

แปลว่า ในยุครัฐพุทธศาสนา ที่ศาสนากับรัฐหรือการเมืองเป็นเนื้อเดียวกันนั้น ก็คือยุคศักดินา เจ้าขุนมูลนาย ไพร่ ทาส นั่นแหละคือระบบพ่อปกครองลูก เป็นระบบที่ดีหรือไม่ ก็คงอาจจะดีสำหรับยุคโบราณและยุคกลาง แต่เมื่อเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ อิทธิพลความคิดตะวันตกก็กดดันให้สยามต้องเลิกระบบไพร่ ทาส ในสมัย ร.5 และเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยในสมัย ร.7 

อีกประเด็นคือ มักสรุปกันง่ายๆ ว่า "พุทธศาสนาอยู่กับระบบสังคมเผด็จการหรือประชาธิปไตยก็ได้ เพราะแก่นของพุทธศาสนาคือสอนให้เข้าใจทุกข์และเสนอทางพ้นทุกข์" เมื่อสรุปแบบนี้แล้ว ก็พูดถึงข้อดีของการมีระบบสมณศักดิ์ โดยไม่ตั้งคำถามว่าระบบเช่นนี้ทำหน้าที่ทางการเมืองแบบใด ซึ่งก็แปลกดีว่า ถ้าชาวพุทธเห็นว่า ทุกข์ของชีวิตเป็นปัญหาที่ต้องแก้ แล้วทุกข์ของชีวิตปัจเจกบุคคลและสังคมที่ถูกกดขี่ด้วยเผด็จการรูปแบบใดๆ ไม่ใช่ปัญหาที่ควรแก้ดอกหรือ พุทธศาสนาควรจะเป็นส่วนหนึ่งของการกดขี่นั้น หรือเป็นพลังทางปัญญาหาทางหลุดพ้นจากการกดขี่กันแน่

ถึงเวลาที่เราต้องตั้งคำถามอย่างจริงจังไหมว่า ทำไมจนปัจจุบันนี้ พุทธศาสนาไทยยังไม่อาจปรับตัวอย่างเคารพหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน หรือพัฒนาไปในทางสนับสนุนสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และสันติภาพ พุทธศาสนาไทยยังอยู่ในประวัติศาสตร์ของการเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองเสมอมา นับแต่ยุคราชาธิปไตยที่สนับสนุนชนชั้นปกครองแต่ละฝ่ายทำรัฐประหารชิงราชสมบัติกัน จนปัจจุบันก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของฝักฝ่ายทางการเมืองอย่างมองไม่เห็นอนาคตว่าจะหลุดจากวงจรเช่นนี้ได้อย่างไร 

จริงหรือไม่ว่า เพราะสถาบันสงฆ์และพุทธศาสนาถูกกำหนดให้ทำหน้าที่ทางการเมืองสนับสนุนอำนาจและอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม จึงทำให้พระสงฆ์ถูกจำกัดสิทธิในแสดงความคิดเห็น การแสดงออก หรือการเคลื่อนไหวอื่นใดในทางต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย  
 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

กวีประชาไท: ตัวอย่างของความน่าละอาย แม้ตายก็พูดไม่ได้

Posted: 19 Sep 2018 08:26 AM PDT

 

สิ่งที่ถูกฆ่าคือกาลเวลาน่าสงสาร       อยู่ในลานประหารปานสิ้นค่า

ฆ่าโดยมือมืดบอดตลอดมา           ทั้งวินาทีและนาที 24 ชั่วโมง

 

คนกล้า"ฆ่าเวลา"ไม่ปรานี                 ทุกวันวี่มีเวลามาตายโหง

ซากศพเวลาไซร้ไม่ใส่โลง              ปล่อยทิ้งโล่งโจ้งไปไร้ศาลา

 

เมื่อเวลาถูกฆ่า หาฆาตกร            เวลาถูกถอยย้อนไปก่อนหน้า

เพื่อค้นหาสาเหตุเจตนา                  ไยเขาฆ่าเวลาทิ้งโธ่สิ่งใด

 

สืบหาสาเหตุวิวาทฆาตกร      มันซุกซ่อนอยู่ในนามความยิ่งใหญ่

เวลาคือผู้พิพากษาถ้วนหน้าไป        คดีไม่มีอายุความตามล่าคน

 

พบกันเพื่อพลัดพรากเป็นซากพบ   เวลาจบครบเวลาน่าหมองหม่น

ฆ่าเวลาน่าสงสารการอับจน             มนุษย์ชนวนฆ่าเวลานิรันดร์

 

รู้เวลาพาไปให้รู้รส                      แต่เมื่อหมดเวลาเหว่ว้าหวั่น

รสป่วยไข้ในสังคมข่มขี่กัน                 เวลามันไม่สั้นที่มีเป็นมา

 

เวลาของผองเราเฉากับชื่น              คู่วันคืนตื่นฝันหันเห็นหน้า    

ยามทุกข์เศร้าเร้าพินิจพิจารณา          พากันฆ่าเวลามันไม่ทันใจ

 

ผองเราฆ่าเวลาไปไร้ความผิด      เพราะมีสิทธิ์ฆ่าเวลาถ้าป่วยไข้

กาลเวลาผ่านมาฆ่ากันไป           ความหลังใครถูกฆ่ามาดักดาน

 

ไม่นานนี้มีวงเหล้ามานั่งหลังงานศพ  เพื่อนคุยพบความหลังฟังจ่าทหาร

เป็นสปายสายลับรับราชการ             เกษียณนานเนิ่นปีที่ผ่านมา

 

14 ตุลาหลังคาอาคารย่านราชดำเนิน   ดูเด็กเดิน "จ่า" ไม่ได้ยิง หลังพิงฝา

ครั้นพอพูดถึงนรก 6 ตุลา                จ่าบอกฆ่าเวลาไปแล้วอยู่แถวใด

 

ปี 16 ถึง 19 ยาวหรือสั้น               เลิกจำมันได้แล้วอยู่แถวไหน

เกิดทุ่มเถียงเสียงกระหึ่มลืมได้ไง       จ่าพลันลุกออกไปไม่บอกลา......

 

ลืมกลายคือแรงดันดลบันดาล          จ่ากลับบ้านก่อนสางสว่างจ้า

ถูกคาดคั้นอั้นกระอักชักโกรธา                ลืมจ่ายค่าสุราจ่าขอยืม 

 

คงคู่เวรคู่กรรมทำกันไว้                  โลกกลมให้พบกันมันน่าปลื้ม

ฆ่าเวลารอฟ้าสางช่างชวนดื่ม               เมามายลืมนรก 6 ตุลาคม

 

ความน่ากลัวของตัวตนบนเก้าอี้           รอบเวทีที่คนดูขู่ผสม

แขวนคอคนต้นมะขามทรามโสมม     ไทยมุงชมยิ้มสยามย่ำยียับ

 

กาลเวลาหวนมาหาพานึกเห็น      โลกชวนเข่นฆ่าเวลามาติดกับ

แม้เมามายอย่าหมาย คายความลับ  ให้ตายดับก็พูดไม่ได้ละอายเอย

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ใบตองแห้ง: เมืองไทยหน้าไม่อาย

Posted: 19 Sep 2018 07:59 AM PDT

คลิปท่านผู้นำโบกแท่งไฟจริงจัง นั่งชม AKB48 เต้นฟอร์จูนคุกกี้ กลางตึกไทยคู่ฟ้า ในเพจ "Gen.Prayut Chan-o-cha ทีมงาน" มีคนดูร่วม 4 ล้านคน น่าจะมากที่สุดนับแต่เปิดเพจ

ถือเป็นความสำเร็จของโอตู่ ? ก็ขึ้นอยู่กับคนดูรู้สึกอย่างไร ปลาบปลื้ม ชื่นชม หรือขบขัน ปนเซอร์ไพรส์ มีผู้นำประเทศไหนบ้าง เปิดทำเนียบให้วงไอดอลหรือเกิร์ลกรุ๊ปเต้นโชว์ แล้วนำรัฐมนตรีพร้อมทีมงาน นั่งเรียงแถวโบกแท่งไฟ ยังกะเด็กวัยทีน

หวังว่าคลิปนี้คงไม่เผยแพร่ไปถึงผู้นำประเทศต่างๆ เพราะการที่ไอดอลเกิร์ลกรุ๊ปวงดังเข้าพบผู้นำจับมือ 8 วิ 10 วิ แม้เป็นเรื่องธรรมดา แต่ส่วนใหญ่อยู่ในบรรยากาศ "เยี่ยมคารวะ" คือผู้นำเป็นบุคคลสำคัญของงาน ผู้มาเยือนรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เข้าคารวะ

ไม่ใช่ว่าผู้นำเห่อซะจนทำตัวยังกะ FC ปล่อยให้ไอดอลเป็นฝ่ายกำกับเวที อย่างที่โบว์ ณัฏฐามหัทธนา ทักท้วง ว่านี่มันงานโปรโมตผู้นำ หรือโปรโมตไอดอล ทีมงานที่ดูแลงานสื่อสารและพิธีการไม่ได้ตระเตรียมให้ภาพที่ออกมาสร้างเครดิตให้ท่าน ตรงกันข้าม AKB โกยเครดิตไปเต็มๆ ว่าได้นายกฯ ไทยเป็นโอตะ ให้ทำอะไรก็ทำ ไม่ต่างจากลุง ๆ ที่ญี่ปุ่น

เข้าใจไว้ด้วยนะ BNK ไม่เหมือน AKB วัฒนธรรมไทยญี่ปุ่นต่างกัน โอตะ AKB ที่ญี่ปุ่นมีจำนวนมากเป็นลุงๆ ที่อยากจับมือนุ่มๆ ของสาววัยรุ่น

แต่ดูเหมือนรัฐบาลจะมีแต่ความภาคภูมิใจ อวดโอ่เป็นผลงาน สวนทางกับที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ประกาศรายชื่อ 38 ประเทศพฤติกรรมน่าละอาย ตอบโต้หรือข่มขู่บุคคลที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งไทยเป็น 1 ใน 29 ประเทศที่เพิ่งถูกขึ้นบัญชีใหม่

กระทรวงการต่างประเทศตอบโต้ ประเทศไทยไม่มีนโยบายหรือเจตนาที่จะข่มขู่คุกคามนักสิทธิมนุษยชน ทำเอาผู้คนหัวร่องอหาย เรื่องแย่ ๆ อย่างนี้ ใครจะบอกว่ามีเจตนา หรือประกาศเป็นนโยบาย ต้องดูการกระทำ การใช้อำนาจ ว่าใช่หรือไม่ใช่

ไม่กี่วันก่อน สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศจัดเสวนา อนาคตนายพลพม่า จะถูกดำเนินคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศหรือไม่ แต่ถูกตำรวจไทยสั่งห้าม อ้างกระทบความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรืออาจมีผู้ไม่หวังดีสร้างสถานการณ์เกิดความวุ่นวาย

น่าขันไหม ก่อนหน้านั้น สนช.ยุคเผด็จการ เพิ่งผ่านกฎหมายเอกสิทธิ์คุ้มกันองค์กรระหว่างประเทศ หวังให้ไทยเป็นเจนีวาแห่งเอเชีย ทั้งที่ตำรวจทหารไทยเพิ่งจับผู้ลี้ภัย ที่มีบัตร UNHCR แต่บอกว่าไม่มีความหมาย

รัฐบาลไทย ยุคใช้ ม.44 อุ้มคนเข้าค่ายทหาร ไม่ใช่ไม่เอาสิทธิมนุษยชนนะ เพราะอุตส่าห์ประกาศสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ แต่สิทธิมนุษยชนของรัฐไทย มีความหมายต่างกับชาวโลก ตรงที่บอกว่าการใช้อำนาจปราบปรามคนทำผิด ก็คือปกป้องสิทธิมนุษยชนแล้วไง เช่น ปราบค้ามนุษย์ จัดระเบียบประมง หรือไล่จับเจ้าหนี้นอกระบบ ฯลฯ ทั้งหมดนี้รัฐทำดีแล้วนักสิทธิมนุษยชนจะเห็นต่างวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ ทำไมไม่ไปเรียกร้องสิทธิมนุษยชนกับโจรใต้บ้างล่ะ

พูดง่าย ๆ สิทธิมนุษยชนเป็นของรัฐ ใช้ปรุงแต่งให้ภาพดูดี ใช้ปกป้องการค้าการลงทุน นักสิทธิอย่ามายุ่ง อย่าวิจารณ์ มีหน้าที่ให้ความร่วมมือเท่านั้น

ก็ไม่ต่างอะไรกับประชาธิปไตย มีเลือกตั้งในแบบที่กำหนดให้ คลายล็อก ปลดล็อก ตามอำเภอใจ คลายล็อกแล้วใส่โซ่ตรวน ห้ามหาเสียงออนไลน์ก็ถือเป็นบุญเท่าไหร่แล้ว ประชาชนผู้รอส่วนบุญควรโห่ร้องดีใจ

เราอยู่ในสังคมที่มีอำนาจเสียอย่าง ทำอะไรก็ได้ ไม่ต้องอาย

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: ข่าวหุ้นธุรกิจ https://www.kaohoon.com/content/252227

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

DRG แจกใบปลิวชวนไปเลือกตั้ง '24 ก.พ.62' ย้ำ หาก ปชช. ล็อควัน คสช.จะเลื่อนก็ทำไม่ได้

Posted: 19 Sep 2018 06:27 AM PDT

กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยเดินหน้าแจกใบปลิว ย้ำเลือกตั้ง 24 ก.พ.62 พร้อมข้อเสนอที่คนไทยอยากเห็น แก้ปัญหาป่าแหว่ง-น้ำท่วม-รถไฟฟ้าเสีย-ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/58 ชี้ ยิ่ง คสช. อยู่นาน ประชาชนยิ่งรับผลกระทบเศรษฐกิจ ไม่มีสิทธิมีเสียง

19 ก.ย.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.61) เวลาประมาณ 17.00 น. ที่ สกายวอล์ค BTS สยาม กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย หรือ DRG จัดกิจกรรมแจกเอกสารรณรงค์ให้ประชาชนไปเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ. 62

ประชาไท สัมภาษณ์ กรกช แสงเย็นพันธ์ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยหนึงในผู้จัดกิจกรรม ถึงเหตุผลที่เลือกจัดกิจกรรมในวันนี้ โดย กรกช กล่าวว่า วันนี้เป็นวันครบรอบรัฐประหาร 19 ก.ย. และกลุ่มตนในฐานะที่เคยอยู่ในกลุ่มคนอยากเลือกก็อยากจะแสดงออกเพื่อทำให้ทุกคนรู้ว่าการเลือกตั้งมีความหมาย

"ถึงแม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญ วันนี้คือวันที่เราจะเดินไปครั้งหน้า คือวันที่เรามีสิทธิเสรีภาพที่จะก้าวต่อไป เพื่อเป็นการย้ำว่าวันที่ 24 ก.พ. ปีหน้าจะต้องมีการเลือกตั้งอย่างแน่นอน ซึ่งการเลือกตั้งไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะสร้างอนาคตใหม่" กรกช กล่าว

นอกจากนี้เขากล่าวถึงเนื้อหาในใบปลิวซึ่งจะมีข้อเสนอที่คนไทยอยากเห็น เช่น การแก้ไขกรณีบ้านป่าแหว่ง การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม การแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าเสีย

เมื่อถามว่า มองอย่างไรเรื่อง คสช. คลายล็อค แต่ยังไม่ปลดล็อกพรรคการเมืองอย่างเต็มที่ กรกช ตอบว่า ตนมองว่า คสช. ไม่ได้คลายล็อคทางการเมือง แค่ให้พรรคการเมืองทำเรื่องธุรการได้ แต่พรรคการเมืองก็ยังไม่สามารถพูดอะไรได้ ในขณะที่พวกตนไม่ใช่พรรคการเมืองแต่เป็นประชาชน ดังนั้นจึงออกมาพูดว่าต้องการอะไร ประชาชนอาจจะรอนักการเมืองไม่ไหวแล้ว อาจจะต้องเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้นักการเมืองต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้นักการเมืองเห็นว่าต้องมีข้อเสนออะไรให้กับประเทศนี้ และต้องเลือกข้างได้แล้วว่าจะอยู่ข้างเผด็จการหรือประชาชน

ส่วนข้อเสนอเรื่องควรมีการปลดล็อกพรรคการเมืองหรือไม่ กรกช มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องนี้นักการเมืองต้องพูดเอง

"เราเสนอว่าให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ไม่ใช่แค่คลายล็อกพรรคการเมือง แต่ประชาชนทั่วไปก็ต้องมีสิทธิที่จะรวมตัวเพื่อเรียกร้องหรือเสนออะไรต่างๆ ได้ ยิ่งไม่มีการเลือกตั้ง ก็ยิ่งเห็นถึงการบริหารงบประมาณที่ไร้ประสิทธิภาพของ คสช. มากขึ้นเรื่อยๆ และประชาชนก็ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ และมีนักโทษการเมืองหลายกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจาก คสช. เช่น ประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประเด็นการเลือกตั้ง ประเด็นเหมืองแร่ ประเด็นโรงไฟฟ้าถ่ายหิน ฯลฯ ยิ่ง คสช. อยู่นานเท่าไหร่ก็ประชาชนก็ยิ่งไม่มีสิทธิมีเสียงและไม่สามารถพูดความต้องการของตัวเองได้" กรกช กล่าว

เมื่อถามว่าวันที่ 24 ก.พ. ปีหน้าคิดว่าจะมีเลือกตั้งจริงไหม กรกช มองว่า ส่วนตัวตนคิดว่าน่าจะมี เพราะ คสช. ไม่มีข้ออ้างอะไรอีกแล้วที่จะไม่ให้มีการเลือกตั้ง นอกจากทำการรัฐประหารอีกรอบ หรือใช้ ม.44

"เรามองว่าการออกมารณรงค์เพื่อให้ทุกคนรู้ว่าวันที่ 24 ก.พ. จะมีการเลือกตั้ง หากประชาชนแสดงออกและยืนยันว่าวันที่ 24 ก.พ. คือวันเลือกตั้ง คสช. จะเลื่อนก็ทำไม่ได้ ดั้งนั้นแล้วคนที่จะทำให้มีการเลือกตั้งจริงๆ ก็คือประชาชน ไม่ใช่ คสช.และสุดท้ายถ้าไม่มีการเลือกตั้ง เราก็จะออกมาเรียกร้อง และเราเชื่อว่าจะต้องมีกลุ่มอื่นที่เอาด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่แค่เรา" กรกช กล่าวทิ้งท้าย

วันเดียวกัน ที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดกิจกรรมเพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ด้วยเช่นกัน โดยมีการนำภาพพร้อมข้อความ "12 ปี รัฐประหาร ยอดผลงาน ทหารไทย" 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

54 เด็กไร้สัญชาติ ยื่นขอสัญชาติไทยตามทีมหมูป่าฯ

Posted: 19 Sep 2018 06:04 AM PDT

 

เด็กไร้สัญชาติกลุ่มที่ไร้รากเหง้าจำนวน 54 คน ยื่นเรื่องลงรายการสัญชาติไทยต่อนายอำเภอแม่สอด จ.ตาก เนื่องจากมีคุณสมบัติได้สัญชาติไทยเช่นเดียวกับ 'อดุลย์ สามออน' จากทีมหมูป่าอคาดามี ที่ติดในถ้ำหลวงฯ

 

19 ก.ย.2561 สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิช่วยเหลือทางสังคมเพื่อเด็กและสตรี เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 13.30 น. ของวันที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมา ตนพาเด็กนักเรียนไร้รากเหง้าที่อยู่ในการอุปการะดูแลของมูลนิธิฯจำนวน 54 คน เข้ายื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทย ต่อนายอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ณ ที่ว่าการอำเภอแม่สอด เนื่องจากเด็กเหล่านี้มีคุณสมบัติได้สัญชาติไทยตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 7 ธ.ค. 2559 และพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 (แก้ไขฉบับที่ 4 พ.ศ. 2551) เด็กเหล่านี้เกิดในประเทศไทย แต่ถูกทอดทิ้งในโรงพยาบาล  มูลนิธิฯได้ดูแลมากว่า 18 ปีแล้ว โดยได้รับการศึกษา คุ้มครอง และพัฒนาเช่นเดียวกับเด็กทั่วไป แต่ยังไม่ได้สัญชาติไทย ปัจจุบันมีเด็กอยู่ในการอุปการะดูแล 165 คน  ที่มีคุณสมบัติได้สัญชาติไทยตามมติคณะรัฐมนตรี ๗ ธันวาคม ๒๕๕๙ มีจำนวน ๕๔ คน

ก่อนหน้านี้มีกรณีเด็กชาย อดุลย์ สามออน เด็กนักเรียนและนักฟุตบอลทีมหมูป่าอคาดามี ที่ติดในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ที่เกิดในประเทศไทยแล้วอยู่ในการอุปการะดูแลของกลุ่มศาสนาคริสต์ ได้รับการรับรองสัญชาติไทยในกลุ่มเด็กไร้รากเหง้า จาก อ.แม่สาย จ.เชียงราย หลังจากออกจากถ้ำได้ไม่นาน

ชัยพฤกติ์ เธียรธานรักษ์ นายอำเภอแม่สอด จ.ตาก กล่าวว่า ทางอำเภอแม่สอดจะดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนกฎหมาย โดยตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของเอกสาร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง  ในชั้นต้นพบว่า เด็กทั้ง 54 คน มีเด็กที่อายุไม่ถึง 18 ปี ซึ่งอยู่ในอำนาจการพิจารณาของตนที่เป็นนายอำเภอพิจารณาอนุมัติ 49 คน  และเป็นเด็กที่มีอายุมากกว่า 18 ปี ซึ่งจะต้องรวบรวมข้อมูลหลักฐานเพื่อเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตากพิจารณาอนุมัติ จำนวน 5 คน อย่างไรก็ตามจะใช้เวลาไม่เกิน 90 วันตามที่กฎหมายกำหนด ถ้าได้รับข้อมูลหลักฐานที่ครบถ้วนจากเจ้าหน้าที่ ก็พร้อมที่จะพิจารณาลงนามภายใน 2 วัน แม้การขอสัญชาติไทยกรณีนี้เป็นกรณีแรกๆของประเทศไทย และที่อำเภอแม่สอดยังไม่เคยดำเนินการ ก็คาดว่าจะไม่ล่าช้า

ด้าน เพียวตานด่าเอ นักเรียนชั้นมัธยม 4 หนึ่งในเด็ก 54 คน กล่าวว่า ถ้าได้รับสัญชาติไทยจะมีความสุขมาก เพราะจะสามารถทำหลายอย่างที่ตนเองหวังไว้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอยากเรียนแพทย์ ซึ่งกังวลอยู่ตลอดว่าถ้าไม่มีสัญชาติไทย อาจจะเข้าเรียนไม่ได้ ตอนนี้มีความหวัง จะพยายามตั้งใจเรียนมากขึ้น เพื่อให้ได้เรียนตามที่หวังและทำงานช่วยเหลือตนเอง ทั้งตั้งใจว่าจะเป็นคนดีของสังคม

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'ซิโน-ไทย' จ่ายชดเชยชาวหัวหินกระทบรถไฟทางคู่ ผู้แทนชุมชนหวั่นไม่แฟร์-ยังไม่มีที่ไป

Posted: 19 Sep 2018 06:03 AM PDT

โครงการรถไฟทางคู่นครปฐม-หัวหินขยับ บริษัทซิโน-ไทย หนึ่งในผู้ชนะประมูลก่อสร้างจาก ร.ฟ.ท. ตั้งโต๊ะจ่ายเงิน 1 ใน 19 ชุมชนที่หัวหิน ด้านหนึ่งในผู้แทนชุมชนระบุ บริษัทไม่เข้าร่วมประชุมกับกรรมการแก้ไขปัญหาที่ผู้ว่าฯ เป็นประธาน และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลการประมูลใดๆ หวั่นจะถูกกดราคา และยังไม่มีข้อตกลงชัดเจนว่าจะได้ย้ายไปที่ไหน

ภาพบ้านในชุมชนหนองแก หนึ่งในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟทางคู่นครปฐม-หัวหิน

เมื่อ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา เพจหัวหินมีอะไรบอกด้วย ได้ถ่ายทอดสดเฟซบุ๊ค (ไลฟ์) เจ้าหน้าที่บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ตั้งโต๊ะจ่ายเงินผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทางช่วงนครปฐม - หัวหิน

โดยการจ่ายเงินดังกล่าว เป็นการจ่ายในส่วนของชาวบ้านชุมชนหนองแกตะวันออก หนึ่งใน 19 ชุมชนที่ได้รับผลกระทบในเขตเทศบาลหัวหินที่ต้องย้ายออกจากพื้นที่ที่จะมีโครงการก่อสร้างเนื่องจากเป็นที่ของการรถไฟ แห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ท่ามกลางกระแสเรื่องความโปร่งใส เป็นธรรมของอัตราการชดเชยเยียวยา และเรื่องที่ดินใหม่สำหรับผู้ได้รับผลกระทบที่ยังไม่ชัดเจนจากทางเจ้าของสัมปทานและคู่สัญญา

บาหยัน บุญมา ตัวแทนกลุ่มชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อนที่เข้าประชุมร่วมกับคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ประกอบด้วยตัวแทนชุมชนที่ได้รับผลกระทบและตัวแทนฝ่ายรัฐ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นประธานเมื่อวันที่ 17 ก.ย. ที่ผ่านมา กล่าวกับประชาไทว่า มีคำสั่่งของบริษัทให้รื้อย้ายออกจากพื้นที่ภายในเดือน พ.ย. ปีนี้ ซึ่งกระทบกับผู้อาศัยใน 19 ชุมชนที่มีจำนวนถึง 1,200 ครัวเรือนหรือราว 4,000 คน  ประเด็นปัญหาที่มีคือกังวลว่าค่ารื้อย้ายไม่เป็นธรรม เนื่องจากตัวแทนของทั้งสองบริษัทไม่มาร่วมประชุมกับคณะกรรมการแก้ไขปัญหา และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเรื่องรายละเอียดการประมูลโครงการ ทำให้กังวลว่าราคาที่ได้นั้นต่ำกว่าราคาค่ารื้อถอน เยียวยาที่บริษัททั้งสองส่งประมูลกับการรถไฟไป นอกจากนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ยังไม่มีมติชัดเจนเรื่องพื้นที่ที่จะรองรับชาวชุมชนที่ต้องย้ายออกไป

บ้านในชุมชนหัวดอน อีกหนึ่งชุมชนที่ได้รับผลกระทบ

"ซิโน-ไทยกับอิตาเลียนไทยไม่เปิดเผยข้อมูลตรงนี้เลยว่าไปประมูลมาได้เท่าไหร่ เอะอะก็อ้างว่าเป็นราคากลาง แต่จริงๆ ข้อมูลตัวนี้น่าจะเปิดเผยกับชาวบ้านได้เพราะการรถไฟต้องให้บริษัทประมูลค่ารื้อถอน ค่าเยียวยาจะได้ตารางเมตรละเท่าไหร่ แต่เหมือนว่าหน่วยงานมากด (ราคา) เราให้ต่ำที่สุด"

"จริงๆ ควรได้ราคามากกว่านี้ แต่อันนี้ต่ำสุดเลย บ้านปูน (ชั้นเดียว) หลังหนึ่งได้หมื่นกว่าบาท คิดดูว่าเป็นไปได้ไหม" บาหยัน กล่าว

จากวิดีโอคลิปวิดีโอของเพจหัวหินมีอะไรบอกด้วย พบว่าลักษณะการจ่ายเงินผู้ได้รับผลกระทบนั้นจ่ายให้เป็นเช็ค มีเอกสารที่ระบุประเภทบ้านและมีการวัดขนาดเป็นหน่วยตารางเมตรเอาไว้

การประชุมของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาครั้งที่แล้วมีขึ้นเมื่อ 24 ส.ค. ก่อนที่จะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 17 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยมีนายอำเภอหัวหินเป็นผู้แทนปลัดจังหวัด ซึ่งเป็นผู้แทนของผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ซึ่งเป็นองค์ประธานอีกที แต่ยังไม่มีข้อสรุปว่าพื้นที่ใดจะเป็นพื้นที่รับรองการย้ายของชาวบ้าน ซึ่งตามเอกสารการประชุมพบว่ามีมติให้ยืดระยะเวลารื้อถอนออกไปจนกว่าผู้ได้รับความเดือดร้อนจะหาที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและทำมาหากินได้

ช่วงวันที่ 18-19 ก.ย. ผู้สื่อข่าวประชาไทติดต่อไปยังสถานีรถไฟหัวหินหลายครั้งเพื่อสอบถามนายสถานีซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการแก้ไขปัญหาในวันจันทร์ที่ผ่านมา แต่ได้รับแจ้งจากผู้ช่วยนายสถานีและเจ้าหน้าที่สถานีว่า นายสถานีไม่อยู่

เส้นทางรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม-หัวหิน (ที่มา: ร.ฟ.ท.)

เมื่อ ก.ย. 2560 ฐานเศรษฐกิจรายงานว่า รถไฟทางคู่นครปฐม-หัวหินเปิดให้เอกชนเสนอราคาทางอิเล็กทรอนิกส์แบ่งเป็นสองสัญญา มูลค่ารวม 16,066 ล้านบาท สัญญาที่หนึ่ง (ช่วงนครปฐม-หนองปลาไหล) ระยะทาง 93 กม. มีการเสนอราคาต่ำสุดอยู่ที่ 8,198 ล้านบาท (ราคากลาง 8,390 ล้านบาท) บริษัท เอ.เอส. แอสโซซิเอท เอนจิเนียริ่ง (1964) ชนะการประมูล มีเอกชนร่วมประมูล 11 ราย สัญญาส่วนที่สอง (ช่วงหนองปลาไหล-หัวหิน) ระยะทาง 76 กม. ผู้เสนอราคาต่ำสุด 7,520 บาท (ราคากลาง 7,676 ล้านบาท) บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจิเนียนิ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ชนะประมูล

เว็บไซต์ ร.ฟ.ท. ให้ข้อมูลว่า โครงการรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-หัวหิน เป็นรถไฟทางคู่ช่วงสายใต้ ระยะทางราว 170 กม. มีสถานีจำนวน 28 สถานี โดยก่อสร้างทางรถไฟเพิ่มหนึ่งทางขนานไปกับทางรถไฟที่มีอยู่เดิมไปตลอดสายทาง รางกว้าง 1 เมตร เป็นแบบใช้หินโรยทาง ติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณโทรคมนาคมสำหรับทางคู่ เริ่มต้นที่สถานีนครปฐม จ.นครปฐม สิ้นสุดที่สถานีหนองแก จ.ประจวบคีรีขันธ์มีงบประมาณ 20,145.59 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางรถไฟ ลดระยะเวลาเดินทาง เพิ่มทางเลือกในการเดินทาง กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค

โครงการดังกล่าวรับดำเนินการโดยบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัดและ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ระยะเวลาก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2561 – 31 ม.ค. 2564 รวม 36 เดือน

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น