โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

ปชป.เตรียมรับรองแก้ข้อบังคับพรรค เดินหน้าเลือกหัวหน้าใหม่ หลังอภิสิทธิ์คุมมา 13 ปี

Posted: 17 Sep 2018 11:36 AM PDT

กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์เห็นชอบข้อบังคับใหม่ เปิดทางให้คนนอกเข้ามาชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคได้แต่ต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากอดีต ส.ส. 40 คน และสมาชิกพรรคภาคละ 1,000 คน

ที่มาภาพจากเพจ Democrat Party, Thailand

17 ก.ย. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคว่า ที่ประชุมเห็นด้วยกับร่างข้อบังคับพรรคตามที่ยกร่างมา โดยนำอุดมการณ์ นโยบายและบทบัญญัติของข้อบังคับพรรคมายการ่างให้สอดคล้องกับกฎหมายใหม่ และกำหนดเรื่องการเลือกหัวหน้าพรรค โดยให้คำนึงถึงผลการหยั่งเสียงและตำแหน่งต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด โดยได้ทำหนังสือแจ้งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ว่าจะประชุมใหญ่ในวันพุธที่ 24 ก.ย.นี้ ซึ่งเลื่อนจากเดิมที่กำหนดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 24 ก.ย. เนื่องจากต้องมีเวลาแจ้ง กกต. ไม่น้อยกว่า 5 วัน และก่อนจะประชุมใหญ่ต้องแจ้งล่วงหน้า 7 วัน

"ในวันนั้นจะได้นำร่างข้อบังคับที่กรรมการบริหารพรรคเห็นชอบในวันนี้เสนอต่อที่ประชุมใหญ่พรรค และเมื่อที่ประชุมใหญ่เห็นชอบแล้วก็หวังว่าระเบียบ กกต. จะเอื้อให้สะดวกในการหาสมาชิกและจัดตั้งสาขาพรรคได้ในหลายพื้นที่ ขณะเดียวกันจะประสาน กกต. ขอใช้วิธีการรับสมาชิกทางอิเลิคทรอนิคส์เพื่อความสะดวกด้วย" อภิสิทธิ์ กล่าว

อภิสิทธิ์ กล่าวว่า นโยบายที่จะใช้ในข้อบังคับพรรคจะใช้ฉบับย่อที่พรรคมองเห็นว่าเป็นปัญหาในยุคปัจจุบัน ทั้งความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ การศึกษา การกระจายอำนาจ ส่วนการหยั่งเสียงหัวหน้าพรรคจะเป็นไปตามร่างข้อบังคับพรรคที่ยืนยันหลักการเรื่องการให้สมาชิกมีส่วนร่วม โดยคุณสมบัติคงไม่เปลี่ยนไปจากเดิมว่าผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อชิงหัวหน้าพรรคจะต้องเป็นอดีตส.ส. และมีอดีต ส.ส .รับรองไม่น้อยกว่า 20 คน หรือสมาชิกรับรองภาคละไม่น้อยกว่า 500 คน ซึ่งบุคคลตามข่าวอยู่ในข่ายคนในอยู่แล้ว เพราะเคยเป็นอดีต ส.ส. คงไม่ยากที่จะมีสมาชิกรับรอง ส่วนกรณีที่เป็นคนนอกที่เพิ่งเป็นสมาชิกและไม่เคยมีตำแหน่งก็ใช้จำนวนคนรับรองเป็นสองเท่าจากที่กำหนด

ส่วนการทำไพรมารีโหวตผู้สมัคร ส.ส. อภิสิทธิ์ ะบุว่า ต้องดูเงื่อนไขเวลา แต่ที่ผ่านมาพรรคดำเนินการโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมอยู่แล้ว ไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ สิ่งสำคัญที่เห็นว่าเป็นอุปสรรคในการหาสมาชิกคือ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความาสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ห้ามหาเสียงทางอิเลคทรอนิคส์  ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดในการหาสมาชิกพรรค

"ไม่อยากให้มองว่า ข้อจำกัดมาเป็นการกำจัดพรรคการเมือง แต่อยากให้มองว่าเป็นการกำจัดการมีส่วนร่วมของประชาชนมากกว่า และคนที่ได้ประโยชน์ที่สุดคือคนที่ซื้อเสียง คนที่จะได้คะแนนบริสุทธิ์จากประชาชน จะต้องทำกิจกรรมทางการเมือง" อภิสิทธิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า รายชื่อผู้ท้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นข่าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น มีทั้ง อลงกรณ์ พลบุตร ซึ่งได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ไปเพื่อร่วมงานกับรัฐบาล คสช. ปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) และนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส. พิษณุโลก ซึ่งสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ออกมาบอกว่าไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการส่งตัวนพ.วรงค์ เพื่อชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคกับอภิสิทธิ์

การดำเนินการเพื่อหยั่งเสียงผู้สมควรดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิสิทธิได้เปิดเผยช่วงเวลาคราวๆ ก่อนหน้านี้ว่า หลังจากมีการแก้ไขข้อบังคับของพรรคเสร็จสิ้นแล้ว ใช้เป็นรับสมัครสมาชิกพรรคไปอีกประมาณ 2-3 สัปดาห์ และเปิดให้มีการหยั่งเสียงพร้อมกับเปิดรับสมาชิกอย่างต่อเนื่องไปอีก 2-3 สัปดาห์ โดยในเดือน พ.ย. 2561 คาดว่าจะสามารถประกาศรายชื่อที่ได้รับการหยั่งเสียงได้ และหลังจากนั้น 7 วันจะมีการประชุมพรรคเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่

สำหรับอภิสิทธิ เวชชาชีวะ เริ่มต้นดำรงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2548 ตลอดระยะเวลา 13 ปีกว่าที่ดำรงตำแหน่งยังไม่เคยนำพาพรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งในระดับประเทศได้เลย ในปี 2548 แพ้พรรคไทยรักไทย ต่อมาในปี 2549 อภิสิทธิ์ และประชาธิปัตย์บอตคอดการเลือกตั้ง จนที่สุดแล้วก็มีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2550 แพ้พรรคพลังประชาชน ในการเลือกตั้งปี 2554 แพ้พรรคเพื่อไทย และในการเลือกตั้งปี 2557 อภิสิทธิ์ และประชาธิปัตย์บอตคอดการเลือกตั้ง และการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ก็เกิดขึ้น

ทั้งนี้อภิสิทธิ์สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เพียงครั้งเดียว จากการที่การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสมชาย วงสวัสดิ์ สิ้นสภาพลง เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2551 หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 9-0 ตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน  และตัดสิทธิทางการเมืองหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค 5 ปี (รวม 37 คน) นอกจากนี้ยังสั่งยุบพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย จากข้อหาเรื่องการทุจริตการเลือกตั้ง ต่อมา 17 ธ.ค. 2551 อภิสิทธิ์ได้รับการสนับสนุนจาก แกนนำ 4 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม ประกอบด้วย พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคชาติไทยพัฒนา รวมทั้งกลุ่มเพื่อนเนวิน ทำให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ หลังจากนั้นไม่นานในปี 2552 ช่วงเดือน มี.ค.- เม.ย. ก็เกิดการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ขึ้น ซึ่งมีการกล่าวโจมตีอภิสิทธิ์ว่าจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

นายกฯ ภูฏานประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ หลังพ่ายเลือกตั้งรอบแรก

Posted: 17 Sep 2018 09:07 AM PDT

โลเท เชอร์ริงนำพรรคดีเอ็นทีคะแนนเป็นอันดับ 1 ในการเลือกตั้งภูฏานรอบแรก ด้านเชอริง ต๊อบเกย์ นายกรัฐมนตรีจากพรรครัฐบาลชุดปัจจุบันของภูฏานแถลงยอมรับความพ่ายแพ้ หลังได้คะแนนเสียงเป็นลำดับ 3 ไม่สามารถเข้าสู่การเลือกตั้งรอบสองได้ โดยสื่ออินเดียวิเคราะห์ว่าผลการเลือกตั้งที่ผิดคาดเช่นนี้จะส่งผลต่อข้อพิพาทชายแดนจีน-อินเดีย

โลเท เชอร์ริง (Lotay Tshering) ผู้นำพรรคดีเอ็นที ชนะการเลือกตั้งภูฏานรอบแรก คว่ำพรรครัฐบาลชุดเดิมได้สำเร็จ โดยจะมีการเลือกตั้งรอบที่ 2 วันที่ 18 ตุลาคมนี้ (ที่มา: Facebook/Dr Lotay Tshering) 

หลังการเลือกตั้งรอบแรกในภูฏานเมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมา เชอริง ต๊อบเกย์ นายกรัฐมนตรีจากพรรครัฐบาลพีดีพีก็ออกมายอมรับความพ่ายแพ้จากการที่พรรคของเขาได้คะแนนมาเป็นที่ 3 ทำให้สูญเสียที่นั่งในสภา 32 ที่นั่ง และไม่สามารถไปต่อในการเลือกตั้งรอบที่ 2 ได้

จากผลการเลือกตั้งพรรครัฐบาลเดิมพีดีพีได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 27 ขณะที่อีกสองพรรคคือดีเอ็นทีนำโดยโลเท เชอร์ริง (Lotay Tshering) ได้คะแนนร้อยละ 31.8 และพรรคดีพีที นำโดยดรุก พุนซัม ซอกปา (Druk Phuensum Tshogpa) ได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 30.9 ตามลำดับ

ตามระบบการเลือกตั้งในภูฏานพรรคที่มีคะแนนเสียงมากที่สุด 2 พรรคจะได้เข้าไปชิงชัยในการเลือกตั้งรอบที่ 2 ซึ่งจะมีขึ้นภายในวันที่ 18 ต.ค. ที่จะถึงนี้

อย่างไรก็ตามความพ่ายแพ้ของพรรครัฐบาลเดิมก็สร้างความประหลาดใจให้ต๊อบเกย์ จากที่พรรคพีดีพีเคยชนะคะแนนเสียงการเลือกตั้งในปี 2556 ด้วยการกวาดที่นั่งในสภาไป 32 ที่นั่ง จากทั้งหมด 47 ที่นั่ง อย่างไรก็ตามต๊อบเกย์บอกว่าชาวภูฏาน "ได้พูดออกมาแล้ว" อีกทั้งยังยอมรับการตัดสินใจของประชาชนและบอกว่า "เจตจำนงของประชาชนต้องมีชัยในระบอบประชาธิปไตย"

ต๊อบเกย์เป็นคนที่เคยเรียนจบมาสาขาวิศวกรรมยานยนต์จากมหาวิทยาลัยพิตต์เบิร์กและรัฐประศาสนศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขาเป็นผู้ร่วมก่อนตั้งพรรคพีดีพีซึ่งนับเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกที่จดทะเบียนอย่างเป็นทางการ 

หลังจากชนะการเลือกตั้งในปี 2556 ต๊อบเกย์ก็พยายามเปลี่ยนประเทศภูฏานด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจ เน้นเรื่องการส่งเสริมการสร้างงานและแก้ปัญหาหนี้สินของประเทศแทนการเน้นเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติแบบผู้บริหารประเทศก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกันก็อบเกก็เป็นคนที่ออกตัวว่ามีอุดมการณ์คือเรื่องสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ในช่วงปี 2558-2559 ต๊อบเกย์ ขึ้นพูดในงาน TED talk โดยเน้นพูดเกี่ยวกับเรื่อง "ความสุข" และชูเรื่องการเน้นอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาก่อนเศรษฐกิจ

การพ่ายแพ้ของต๊อบเกย์ในครั้งนี้ยังทำให้สื่ออินเดียนำเสนอในแง่มุมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเกี่ยวกับพื้นที่พิพาทดอกลัมที่เป็นความขัดแย้งระหว่างอินเดีย-ภูฏาน กับจีน โดยระบุว่าในสมัยของรัฐบาลต๊อบเกย์นั้นเขาเน้นอยู่ข้างเดียวกับอินเดีย แต่เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแบบไม่คาดคิดเช่นนี้อินเดียจะต้องทำงานหนักขึ้นสองเท่าในการรักษาความร่วมมือกับภูฏาน

สื่อไทม์ออฟอินเดียวิเคราะห์ว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้ต่างจากครั้งปี 2556 ที่มีการใช้ความสัมพันธ์กับอินเดียเป็นจุดขาย แต่ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดถึงแม้ว่าสองพรรคที่เข้ารอบจะพูดถึงอินเดียในทางที่ดี แต่อินเดียก็เคยมีความสัมพันธ์แย่ๆ กับภูฏานสมัยรัฐบาลพรรคดีพีทีช่วงปี 2551-2556 สาเหตุใหญ่ๆ เพราะนายกรัฐมนตรีในตอนนั้นต้องการสานสัมพันธ์กับจีน นอกจากนี้อินเดียยังเคยทำพลาดที่จัดการให้เกิดภาวะขาดแคลนก๊าซหุงต้มในภูฏานซึ่งจะทำลายผลประโยชน์ของอินเดียในระยะยาว

จีนกับอินเดียมีข้อพิพาทด้านเขตแดนในพื้นที่ที่ราบสูงดอกลัม (Doklam) ซึ่งประเทศภูฎานที่มีความสนิทสนมกับจีนอ้างสิทธิเหนือดินแดนเขตนี้ โดยที่ทางการอินเดียไม่ได้อ้างสิทธิเหนือดินแดนแต่เข้าไปช่วยสนับสนุนภูฏานในการมีสิทธิเหนือพื้นที่นี้ ขณะที่จีนพยายามจะสร้างถนนตัดผ่านพื้นที่ดังกล่าวไปจนถึงชายแดนอินเดียทำให้เคยเกิดการเผชิญหน้ากันในช่วงกลางปี 2560

จีนสั่งให้อินเดียถอนทัพจากเขตพิพาทพรมแดนภูฎาน หลังอินเดียส่งทัพช่วย, 27 ก.ค. 2560

เรียบเรียงจาก
Bhutan PM's party ousted in election,
The Hindu, 15-09-2018
India needs to boost efforts as Bhutan polls spring a surprise,
Times of India, 17-09-2018

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

Bhutanese National Assembly election, 2018, Wikipedia
Tshering Tobggay, Wikipedia

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ดูงบมหา'ลัย 2562 ราชภัฏถูกหั่นงบพันล้าน - ม.รามฯ โดนหั่นกว่า 147 ล้าน

Posted: 17 Sep 2018 09:04 AM PDT

ดูงบประมาณกระทรวงศึกษาธิการในส่วนอุดมศึกษา ม.ดัง - ม.ประจำภูมิภาคเรียงหน้ารับงบเยอะสุด 10 อันดับแรก ด้านกลุ่มราชภัฏ - ม.รามฯ ลดติดต่อกันเป็นปีที่สอง ถูกหั่นงบหลักพันล้าน - ร้อยล้านตามลำดับ

ที่มาภาพ: Pixabay

เมื่อ 16 ก.ย. 2561 ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมืองหรือทีซีไอเจ เรียบเรียงข้อมูลงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการในส่วนของสถาบันอุดมศึกษาในส่วนราชการ และหน่วยงานในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ 80 แห่ง หลังงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ของ ศธ. ออกมา โดยพบว่าสถาบันที่ได้รับงบอุดหนุนมากที่สุดได้แก่มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 13,162.29 ล้านบาท มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 3.มหาวิทยาลัยขอนแก่น  6,019.04 ล้านบาท 4.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 6,004.83 ล้านบาท 5.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 5,556.22 ล้านบาท 6.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 5,042.32 ล้านบาท 7.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 4,646.39 ล้านบาท 8.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 3,971.08 ล้านบาท 9.มหาวิทยาลัยนเรศวร 2,479.34 ล้านบาท และ 10.มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 2,283.75 ล้านบาท

ในขณะที่กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏได้รับงบประมาณสนับสนุนโดยรวม 19,851.86 ล้านบาท ถือว่างบประมาณลดลงจากปีที่แล้วที่มีจำนวน  20,899.30 ล้านบาท และลดลงเป็นปีที่สองติดต่อกัน ผู้สื่อข่าวประชาไทสืบค้นงบประมาณย้อนหลังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 พบว่างบประมาณของมหาวิทยาลัยราชภัฏมีการเพิ่มขึ้นและลดลงดังต่อไปนี้

ปีงบ/ประเภท งบประมาณ จำนวนมหาวิทยาลัยราชภัฏ
2550       9,166,059,100.00 40
2551    10,190,531,000.00 40
2552    11,878,977,100.00 40
2553       8,840,596,700.00 40
2554    10,836,173,100.00 40
2555    11,364,851,900.00 40
2556    14,573,923,700.00 40
2557    15,629,793,600.00 40
2558    19,291,339,100.00 40
2559    20,827,950,200.00 38
2560    21,310,843,500.00 38
2561    20,899,297,400.00 38
2562    19,851,860,000.00 38

ด้านมหาวิทยาลัยรามคำแหงซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยรัฐแบบไม่จำกัดรับ หรือมหาวิทยาลัยเปิด ได้งบประมาณในปีนี้รวมทั้งสิ้น  1,179.09 ล้านบาท ลดลงจากปี 2561 ที่ได้รับจำนวนทั้งสิ้น 1,326.6 ล้านบาท

หั่นงบรามฯ 200 ล้าน ปรัชญา-ประวัติศาสตร์ คนเรียนน้อย (อยู่ในเนื้อข่าว)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

อันวาร์ อิบราฮิมชี้ 'มหาธีร์' นิสัยเหมือนเดิม แต่ปรับปรุงหลักการ-นโยบาย

Posted: 17 Sep 2018 08:39 AM PDT

หลังพรรคของทั้งคู่ร่วมมือกันจนชนะเลือกตั้งและตั้งรัฐบาลมาเลเซียชุดใหม่ 'อันวาร์ อิบราฮิม' พูดถึง 'มหาธีร์ โมฮัมหมัด" นายกรัฐมนตรีมาเลเซียและอดีตคู่ปรับวัย 93 ปีว่ามหาธีร์นั้นบุคลิกลักษณะยังเหมือนเดิม แต่เรื่องนโยบายเขาเปลี่ยนไปแล้ว โดยเขาหนุนสื่อเสรี องค์กรปราบทุจริต และหวังว่ามาเลเซียจะต้องเป็นที่รู้จักในฐานะประเทศประชาธิปไตย

อันวาร์ อิบราฮิม และมหาธีร์ โมฮัมหมัด ระหว่างการแถลงข่าวที่เปตาลิง จายา รัฐสลังงอร์ เมื่อ 1 มิถุนายน 2561 (ที่มา: Bernama)

มาเลเซียกินีนำเสนอกรณีที่มีคนถามอันวาร์ อิบราฮิม อดีตนักโทษการเมืองและหัวหน้าพรรคยุติธรรมประชาชน (PKR) อยู่เสมอเกี่ยวกับเรื่องที่เขาผูกสัมพันธมิตรกับอดีตคู่ปรับอย่าง มหาธีร์ โมฮัมหมัด ซึ่งปัจจุบันทั้ง 2 เป็นพันธมิตรร่วมรัฐบาลกัน โดยมักจะมีคำถามว่าอันวาร์เชื่อใจนายกรัฐมนตรีคนใหม่คนนี้ขนาดไหน และคิดว่ามหาเธร์เปลี่ยนไปหรือยัง

อันวาร์ตอบคำถามดังกล่าวขณะอยู่ในที่ประชุมประจำปีของสิงคโปร์ซัมมิทเมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมาว่า บุคลิกลักษณะของมหาเธร์ยังเป็นเหมือนเดิม แต่ในแง่หลักการกับนโยบายนั้น มหาธีร์ มาไกลกว่าจากเมื่อก่อนแล้วอย่างชัดเจน

"มหาธีร์ก็เป็นมหาธีร์ แข็งกร้าว ตรงไปตรงมา ยั่วให้โมโห ไม่อ้อมค้อม โอเค พวกเราทุกคนเข้าใจเขา แต่ว่าเขามีพันธกรณีในการปฏิรูปหรือไม่นั้น เขาแสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่ามาเลเซียจะต้องเป็นที่รู้จักในฐานะประเทศประชาธิปไตย" อันวาร์กล่าว

หัวหน้าพรรค PKR กล่าวต่อไปอีกว่าในปัจจุบันมหาธีร์เชื่อในเรื่องการทำงานอย่างเป็นอิสระของคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น และเชื่อเรื่องสื่อเสรี เรื่องเหล่านี้ทำให้มหาธีร์เปลี่ยนไปแล้วในแง่ความคิดหลักการ ถึงแม้จะต้องทนกับบุคลิกลักษณะและคติแบบหยามโลกของเขาก็ตาม แต่ถึงที่สุดแล้วก็อยากให้เน้นส่วนที่สำคัญคือการที่มหาธีร์จะต้องทำตามพันธะกรณีของประเด็นหลักๆ

อันวาร์กับมหาธีร์มีความขัดแย้งไม่ลงรอยกันมานานตั้งแต่ราว 20 ปีที่แล้ว ในช่วงที่มีวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 การดำเนินนโยบายแบบสกัดสินค้าอุตสาหกรรมหนักจากต่างชาติและไม่เชื่อฟังไอเอ็มเอฟ ซึ่งขัดกับแนวคิดของอันวาร์ที่เป็นรองนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น รวมถึงมีการปลดอันวาร์ออกจากการเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง อย่างไรก็ตามนอกจากนโยบายสกัดสินค้าต่างชาติ ตามด้วยการอัดฉีดเงินจากรัฐบาลเข้าสู่ระบบมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาค่าเงินก็ทำให้มาเลเซียฟื้นตัวจากวิกฤตได้เร็วกว่าประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

พอถึงช่วงก่อนการเลือกตั้งมาเลเซียครั้งล่าสุด มหาธีร์ก็ประกาศว่าจะเป็นแนวร่วมกับแนวร่วมฝ่ายค้าน "พันธมิตรแห่งความหวัง" (Pakatan Harapan) และมีแผนการจะให้อภัยโทษอันวาร์ รวมถึงให้ตำแหน่งเขาถ้าหากชนะการเลือกตั้ง

ในการพูดกับที่ประชุมที่สิงคโปร์ อันวาร์กล่าวอีกว่ามหาธีร์รอไม่ไหวแล้วที่จะปฏิรูปและบ่นว่าเพื่อนร่วมงานกับข้าราชการทำงานช้าเกินไปในเรื่องนี้ ซึ่งอันวาร์กล่าวว่าเขาชื่นชมความแข็งขันตรงนี้ และเมื่อผู้ฟังแสดงสีหน้าท่าทางยังกังขาต่อมหาธีร์ผู้เคยปราบปรามกลุ่มภาคประชาสังคมมาก่อน อันวาร์ก็บอกว่าที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้มหาธีร์ทำตามที่เขาสัญญาไว้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการให้อิสระแก่ตุลาการ สนับสนุนการต่อต้านการทุจริต และปลดปล่อยอันวาร์

เรียบเรียงจาก
Anwar: Is Mahathir a changed man? Yes and no,
Malaysiakini, 15-09-2018

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Mahathir_Mohamad

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

พรรคสามัญชนคือใคร และทำไมต้องไปจัดประชุมใหญ่ที่ ‘บ้านนาหนองบง’ จ.เลย

Posted: 17 Sep 2018 05:38 AM PDT

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หนึ่งผู้จดจัดตั้งพรรคสามัญชนเผย เตรียมประชุมใหญ่ให้สมาชิกลงคะแนนเลือกผู้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง วันที่ 22 ก.ย. นี้ ระบุ สาเหตุประชุมที่บ้านนาหนองบง อ.วังสะพุง จ.เลย เพราะเป็นพื้นที่สัญลักษณ์การต่อสู้ของสามัญชน

17 ก.ย. 2561 ผู้สื่อประชาไทรายงานว่า พรรคสามัญชน ได้ประกาศว่าจะดำเนินการจัดประชุมใหญ่เพื่อพิจารณาเลือกผู้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการพรรคการเมือง ในวันที่ 22 ก.ย. นี้ ที่ วัดโน่นสว่าง หมู่บ้านนาหนองบง อ.วังสะพุง จ.เลย

ทำไมต้องไปประชุมพรรคที่ 'บ้านนาหนองบง'

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หนึ่งในผู้จัดตั้งพรรคสามัญชน เผยเปิดกับประชาไทว่า เหตุที่เลือกสถานที่ประชุมพรรคที่หมู่บ้านนาหนองบงนั้น เพราะเป็นหนึ่งในพื้นที่ซึ่งเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ของสามัญชน เป็นพื้นที่ซึ่งชาวบ้านคนธรรมดา ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการกำหนดอนาคต และชีวิตของตัวเอง ในกรณีผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ และเชื่อว่าการใช้พื้นที่ดังกล่าวจะสะท้อนให้เห็นในสิ่งที่สมาชิกพรรคยึดถือร่วมกันคือ ประชาธิปไตยฐานราก

พรรคสามัญชนคือใคร?

กิติชัย งามชัยพิสิฐ หนึ่งในผู้จัดตั้งพรรคสามัญชน หรือที่รู้จักกันหมู่นักกิจกรรมว่า 'อ้วน YT' (Youth Training Center) เคยให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า พรรคสามัญชนเกิดจากการพูดคุยกันของนักกิจกรรมทางสังคมการเมืองกลุ่มหนึ่งเมื่อ 10 ปีก่อนซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์บ้านเมืองกำลังยู่ในช่วงวิกฤต นักกิจกรรมเหล่านั้นเติบโตขึ้นมาพร้อมกับความขัดแย้งทางการเมือง ความขัดแย้งด้านทรัพยากร หลายคนเป็นนักพัฒนาเอกชน หลายคนทำงานอยู่กับชาวบ้าน และหลายคนเป็นนักกิจกรรมที่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย

พวกเขาถอดบทเรียนร่วมกันว่าหากยังคงทำงานในเชิงประเด็น แยกย่อยเป็นประเด็นๆ ไปก็จะยังคงได้ผลลัพท์แบบเดิม จึงคิดว่าควรจะเปลี่ยนรูปแบบการเคลื่อนไหวจากการต่อสู้เรียกร้องบนท้องถนน ภายนอกรัฐสภา ไปสู่การต่อสู้จากภายใน

กิติชัย เคยระบุว่า จุดยืนที่หนักแน่นของสามัญชนอันหนึ่ง คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 และอาจจะต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีการลงประชามติใหม่ เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการมากขึ้น

'พรรคสามัญชน' ชู 'ประชาธิปไตยฐานราก-สิทธิมนุษยชน-ความเป็นธรรม' หวังแก้รธน.จนถึงร่างใหม่

การเดินทางของพรรคสามัญชน

ในช่วงปี 2557 กลุ่มสามัญชนได้มีแนวคิดว่าจะจดจัดตั้งพรรคการเมือง แต่ที่สุดแล้วก็เกิดการรัฐประหารขึ้นเสียก่อน ต่อมาในวันที่ 2 มี.ค. 2561 คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้เปิดให้มีการยื่นคำขอแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง กลุ่มสามัญชนได้เดินทางไปและแจ้งเจตจำนงค์ในการจดจัดตั้งพรรคการเมือง ต่อมาได้รับจดหมายยืนยันจาก กกต. ว่าสามารถใช้ชื่อพรรคว่า "สามัญชน" ได้เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2561

สำหรับก้าวต่อไปของพรรคสามัญชนคือการหาสมาชิกผู้ก่อตั้งพรรคการเมืองจำนวน 500 คน กิติชัย เคยระบุว่า มั่นใจว่าสามารถผ่านเงื่อนไข สมาชิกก่อตั้ง 500 คน ได้ 100% ส่วนทุนประเดิมพรรคการเมือง 1 ล้านบาทนั้น ขณะนี้ความมั่นใจที่จะผ่าน 70% เพราะนี่เป็นกฎกติกาที่ทำให้พรรคการเมืองแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นยาก

"เรามองว่าสามัญชนไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่คนเก่ง ไม่ใช่คนดัง ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ว่าสามัญชนมันเป็นไอเดีย เป็นแนวคิด เพราะฉะนั้นเราจึงไม่มีคนเด่นคนดัง และค่อนข้างปฏิเสธ เราก็เข้าไปอยู่ในขบวนการเคลื่อนไหว เราอยู่ในขบวนการเคลื่อนไหวของพี่น้องตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่ว่าไม่ได้ถูกได้ยินหรือถูกเห็นอะไรเท่าไหร่ เราเห็นว่าโอเคคนที่เด่นที่ดังก็ทำหน้าที่ของคนเด่นคนดังของเขาไป สามัญชนก็จะทำหน้าที่เป็นมวลชน ทำหน้าที่คนที่เป็นฐานรากของขบวนการเคลื่อนไหวต่อไปข้างหน้าด้วย" กิตติชัย กล่าว

'สามัญชน' ผ่านด่านแรก กกต.รับรองชื่อแล้ว ด่าน 2 สมาชิกก่อตั้ง 500 'กิตติชัย' ยันผ่าน 100%

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

สกว. เปิดวิจัย ชุมชนบ้านท่างอย จ.อุบลฯ ปรับระบบ เปลี่ยนวิถี ลดปัญหาขาดแคลนน้ำ

Posted: 17 Sep 2018 12:17 AM PDT

สกว. เปิดงานวิจัยเรื่องการบริหารจัดการโครงข่ายน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการเกษตรอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านท่างอย ต.บุ่งหวาย  อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี  

บรรยากาศนาข้าว ชุมชนบ้านท่างอย

 

17 ก.ย.2561 การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) รายงานว่า การมีพื้นที่ทำกิน และ ที่อยู่อาศัยคนละเขตการปกครอง ทำให้ชาวบ้านท่างอยประสบปัญหาในด้านความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขณะที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอง แม้ต้องการจะช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรที่เข้ามาร้องขอ แต่ก็ไม่สามารถปฏิบัติได้ ด้วยติดเงื่อนไขทางด้านกฏหมาย ความเดือดร้อนของชาวบ้านท่างอยคือเรื่องการกระจายน้ำไปให้ครอบคลุม และทั่วถึงที่ทำกินทุกแปลงของชาวบ้าน กระบวนการวิจัยทำให้ ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้มาหารือ และหาทางออกร่วมกัน โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน

โดยปกติเกษตรกรมักมีที่ทำกิน และที่อยู่อาศัยในพื้นที่เดียวกัน หรืออยู่ในเขตปกครองเดียวกัน แต่เกษตรกรบ้านท่างอย ตำบลบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ กลับมีพื้นที่เป็นอยู่อาศัย และทีทำกิน คนละเขตการปกครอง โดยที่อยู่อาศัย อยู่ในเขตการปกครองของตำบลบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ ซึ่งตั้งอยู่บนที่ราบสูงฝั่งขวาของแม่น้ำมูล มีพื้นที่ประมาณ 1,600 ไร่ เป็นพื้นที่ตั้งบ้านเรือนของเกษตรกร วัด โรงเรียน และป่าสาธารณะกว่า 674 ไร่

ส่วนที่ 2 ซึ่งเป็นพื้นที่ทำการเกษตร มีเนื้อที่ประมาณ 1,800 ไร่ เป็นพื้นที่ราบลุ่มเหนือแม่น้ำชี ฝั่งขวาคือแม่น้ำมูล แต่อยู่ในเขตรับผิดชอบตำบลหนองบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ราบลุ่มเป็นแอ่งกระทะ และเมื่อถึงฤดูการน้ำหลากจะมีมวลน้ำจำนวนมากจากลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูลไหลมาบรรจบกันทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรของเกษตรกรเสียหายเกือบทุกปี 

ทวี สีทากุล อดีตผู้ใหญ่บ้านท่างอย และหัวหน้าโครงการฯ

"การมีที่ทำกินและที่อยู่อาศัยตั้งอยู่คนละเขตการปกครอง ทำให้เวลาเกษตรกรบ้านท่างอยไปขอความช่วยเหลือจาก อบต. หนองบ่อ เกษตรกรจะไม่ได้รับความช่วยเหลือแต่อย่างใด เนื่องจากเกษตรกรที่เข้ามาทำกินในพื้นที่ไม่ใช่ประชากรของตำบลหนองบ่อ อบต. จึงไม่สามารถให้การช่วยเหลือได้" ทวี  สีทากุล แกนนำชาวบ้านท่างอย อธิบายถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

ซึ่งในส่วนของพื้นที่ทำกิน พ่อทวีอธิบายว่า ก็ยังถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกมีพื้นที่ 800 ไร่ เป็นพื้นที่ที่มีระบบชลประทาน  เกษตรกรทำนาเป็นหลักและสามารถปลูกข้าวได้ปีละ 2-3 ครั้ง ผลผลิตเฉลี่ย 800 กก/ไร่

ซึ่งโซนนี้ เกษตรกรจะรวมกันเป็นกลุ่มชื่อว่า "กลุ่มผู้ทำนาปรังบ้านท่างอย" โดยมี ทวี สีทากุล เป็นประธาน บริหารงานในรูปแบบของคณะกรรมการ มีกฎระเบียบที่ชัดเจน และมีการแบ่งเป็นกลุ่มย่อยตามการเขตพื้นที่และการใช้น้ำอีก 11 กลุ่ม

สำหรับโซนที่ 2 มีพื้นที่ 1,000 ไร่ แต่ยังไม่มีระบบชลประทาน และชุมชนต้องการพัฒนาโครงข่ายน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่ ชาวบ้านจึงรวมตัวกันลงชื่อ 86 ราย ทำเรื่องไปยังชลประทานจังหวัดเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณในการขุดคลองส่งน้ำไปยังพื้นที่ทำกิน โดยรอบแรกชลประทานมาดำเนินการขุดคลองส่งนำให้เป็นระยะทาง 3 กิโลเมตร และต่อมาจึงมีการขุดเพิ่มอีก 2 กิโลเมตร รวมระยะทาง 5 กิโลเมตร แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด แต่คลองชลประทาน ก็เปรียบเสมือนถนนสายหลักที่ยังไม่มีซอยเข้าบ้าน ชาวบ้านต้องนำน้ำเข้าแปลงนาของตัวเอง ด้วยการขุดคลองเล็ก ๆ และรวมรวบเงินเพื่อนำไปจัดซื้อเครื่องสูบน้ำ เพื่อสูบน้ำจากแม่น้ำชีเข้าสู่แปลงนาของตัวเอง พร้อมกับวางระบบบริหารจัดการเพื่อให้ทุกครัวเรือนได้มีน้ำใช้กันอย่างทั่วถึง

บรรยากาศแม่น้ำมูล ยามเย็น

"พอมีคลอง ชาวบ้านก็ต้องรับผิดชอบเรื่องการสูบน้ำ ต้องหาเครื่องสูบน้ำ และต้องจ่ายค่าไฟเอง ซึ่งก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่มันมีติดปัญหาตรงที่งบประมาณในการทำนุบำรงดูแลรักษาคลอง เพราะเมื่อส่งมอบให้กับ อบต. ก็ไม่สามารถรับมาดูแลได้ เพราะราษฎรไม่ได้มีชื่ออยู่ในเขตรับผิดชอบ"

ปัญหานี้คลี่คลายลงเมื่อ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี จับมือกับ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ดำเนินงานวิจัยภายใต้โครงการ ความร่วมมือด้านการจัดการน้ำ โดยมีการสนับสนุนงานวิจัยเรื่องการบริหารจัดการโครงข่ายน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการเกษตรอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านท่างอย  ตำบลบุ่งหวาย  อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี  เพื่อศึกษาลักษณะพื้นที่ แหล่งน้ำ และศักยภาพของแหล่งน้ำในการทำการเกษตรของชุมชน เพื่อนำไปสู่การจัดการน้ำเพื่อบรรเทาการขาดแคลนน้ำของเกษตรกรบ้านท่างอย

ฃกระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วมพา ทีมวิจัยที่ประกอบด้วย ชาวบ้าน นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่จากองค์การบริหารส่วนจังหวัด ไปทบทวนและทำความเข้าใจวิถีการทำนาของชาวบ้าน โดยเฉพาะกับทางฝั่งองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่ทราบข้อมูลและความต้องการของชาวบ้านเรื่อง "การดูแลซ่อมบำรุงคลอง" และพัฒนาโครงข่ายระบบท่อเพื่อให้ครอบคลุมในทุก ๆ พื้นที่

ในส่วนของชาวบ้านก็เข้าใจระบบการทำงานของทาง อบจ.มากขึ้น ซึ่ง ความเข้าใจนี้นำไปสู่การร่วมกันวิเคราะห์สภาพพื้นที่การทำเกษตรของชาวบ้านพบว่า บนที่ 800 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ราบ มีระบบน้ำคือคลองหลัก  แต่ลักษณะคลองยังเป็นคลองดิน ที่จะมีปัญหาเรื่องการส่งน้ำ คือน้ำจะซึมลงดิน และระเหยไปในอากาศ และบางช่วงมีหญ้าขึ้นรก

สำหรับพื้นที่ 1000 ไร่ ที่ยังไม่มีระบบชลประทาน เนื่องจากเป็นพื้นที่ลาดชัน และอยู่สูงกว่า 800 ไร่ การนำน้ำขึ้นที่สูงจึงเป็นไปด้วยความยากลำบากนั้นก็มีการช่วยกันดำเนินงานจนสามารถมี่น้ำใช้ในทุก ๆ พื้นที่เช่นกัน

ซึ่งทั้งหมดเกิดจากแนวางการแก้ไขปัญหาดังต่อไปนี้  

1. มีการตั้งสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 1 สถานี พร้อมขนาดท่อส่งน้ำ 12 นิ้ว

2. ปรับปรุงคลองชลประทานคอนกรีตเสริมเหล็กแบบเปิดตัววี ความกว้าง 6 เมตร ยาวประมาณ 2,500 เมตร

3. จัดทำคลองส่งน้ำไส้ไก่แบบท่อคอนกรีต เส้น Ø 60 เซนติเมตร ยาว 500 เมตร เพื่อจะได้ส่งน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรของเกษตรกร

ท่อสูบน้ำ สถานีสูบน้ำบ้านท่างอย อ.วารินชำราบ

นอกจากโครงข่ายระบบท่อที่ฟากของ อบจ.เข้ามาดำเนินการให้ ในส่วนของชุมชนก็มีการ ระดมสรรพกำลังกันมาขุดคลอง เพื่อให้มีความลาดชัน เพื่อให้น้ำเข้าไปในพื้นที่ 1000 ไร่ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

ด้านการบริหารจัดการ มีการจัดตั้ง "กลุ่มผู้ใช้น้ำ" โดยกำหนดให้กลุ่มที่อยู่ "ซอยเดียวกัน" ตั้งกลุ่ม พร้อมกับสร้างกติกา หรือสร้างข้อตกลงภายในกลุ่มกันเอง อาทิ ในแต่วันจะที่จะมีการเดินเครื่องปั๊มน้ำเข้านา วันละ 8  ชั่วโมง กลุ่มต้องตกลงกันเองว่าจะส่งน้ำให้ใครก่อน หรือหลังระบบดังกล่าวทำให้ชาวบ้านเข้าอกเข้าใจกัน ทำให้นาทุกแปลงรับได้ได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

3 แกนนำอนาคตใหม่เข้ารับทราบข้อกล่าวหา พ.ร.บ.คอมฯ กรณีไลฟ์พูด คสช. ดูด ส.ส.

Posted: 17 Sep 2018 12:16 AM PDT

ธนาธร-จารุวรรณ-ไกลก้อง แกนนำพรรคอนาคตใหม่เข้ารับฟังข้อกล่าวหา พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ความผิดฐานนำเข้าข้อมูลเท็จกับทาง ปอท. กรณีไลฟ์เฟซบุ๊คเรื่อง คสช. ดูด ส.ส. ไกลก้องระบุ ปฏิเสธข้อกล่าวหา จะส่งคำให้การเป็นเอกสารตามหลังใน 45 วัน ชี้ ยืนตรงข้ามเผด็จการก็โดนเล่นงานเป็นปกติ คดีความไม่มีผลกับการทำกิจกรรม 

ซ้ายไปขวา: ธนาธร จารุวรรณ และไกลก้อง

17 ก.ย. 2561 มติชนรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ไกลก้อง ไวทยาการ นายทะเบียนสมาชิกพรรคและหนึ่งในแกนนำก่อตั้งพรรค และจารุวรรณ ศรัณย์เกตุ กรรมการบริหารพรรค ได้เข้าพบ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผกก.3 บก.ปอท. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2) ฐานนำเข้าข้อมูลเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยมีทีมทนายและพรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ร่วมเดินทางมาด้วย

เหตุการณ์วันนี้สืบเนื่องมาจากที่ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวต่อ ปอท. เมื่อธนาธร จารุวรรณ และไกลก้องสนทนาบนเฟซบุ๊กไลฟ์เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 29 มิ.ย. 2561 ในประเด็นการดูด ส.ส. ของ คสช. โดยใช้คดีความที่ติดตัว ส.ส. แต่ละคนมาเป็นเครื่องต่อรอง นอกจากนี้ยังมีการเชิญชวนให้คนที่ติดตามมาเพจมาร่วมลงชื่อรื้อกระบวนการยุติธรรมอีกด้วย

หลังรับทราบข้อกล่าวหาและเสร็จสิ้นการสอบสวน ไกลก้อง ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวประชาไทว่าวันนี้ทั้งสามได้ปฏิเสธข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นเอกสารต่อเจ้าหน้าที่ภายหลังภายใน 45 วัน ทั้งนี้ คดีความที่เกิดขึ้นไม่ได้มีผลกับการทำกิจกรรม ทั้งสามคนไม่ได้มีความกังวล และยังยืนยันว่าจะทำงานต่อไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ไกลก้องระบุว่าคดีความที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติที่ต้องเจอเมื่อทำงานการเมืองบนจุดยืนตรงข้ามกับเผด็จการ และส่วนตัวไม่มีความกังวลอะไร

"อันนี้เป็นเรื่องปกติของการเมืองภายใต้ระบบการปกครองแบบเผด็จการ ถ้าพูดอะไรในความเห็นต่าง การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของผู้มีอำนาจ ถ้าในลักษณะของช่วงเวลาปกติ หรือช่วงเวลาที่เป็นประชาธิปไตยก็จะไม่มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น อันนี้ก็เป็นธรรมดาที่มาทำการเมืองและมุ่งที่จะอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับเผด็จการ ก็จะเป็นเรื่องปกติที่เราต้องพบเจออยู่แล้ว ไม่ได้มีความกังวลอะไร" นายทะเบียนสมาชิกพรรคอนาคตใหม่กล่าว

ประเด็นการดูด ส.ส. ของ คสช. เริ่มเป็นที่พูดถึงหลังจากการเปิดตัวของกลุ่มสามมิตรที่นำโดยสมศักดิ์ เทพสุทิน สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ทั้งสามคนเคยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักของพรรคไทยรักไทยที่มีบทบาทสำคัญในการชักชวน ส.ส.ในภาคอีสานให้เขาร่วมกับพรรค จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในปี 2544 มาวันนี้ กลุ่มสามมิตรประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าต้องการจะสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีจุดยืนสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกฯ ต่อหลังการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น แม้ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร วงสุวรรณ ต่างออกมาปฏิเสธว่า คสช. ไม่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มสามมิตร อย่างไรก็ตาม เมื่อถูกสื่อมวลชนถามว่าการเดินสายพบนักการเมืองของกลุ่มสามมิตรถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งละเมิดคำสั่ง คสช. หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กลับตอบว่า สามารถทำได้ เพราะกลุ่มสามมิตรไม่ใช่พรรคการเมือง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า Banrasdr Photo รายงานว่าา ระหว่างทั้ง 3 เดินทางมาที่ บก.ปอท. มี วรัญชัย โชคชนะ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ชูป้าย"ยุคมึดประชาธิปไตย"รอให้กำลังใจด้วย

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ประกาศควบคุมพื้นที่ 2 ตำบลในปัตตานี ล่ามือยิงทหารพราน แม่ทัพภาค 4 จ่อออก กม.เอาผิดถึงครอบครัว

Posted: 16 Sep 2018 11:20 PM PDT

แม่ทัพภาค 4 ประกาศควบคุมพื้นที่พิเศษตาม พ.ร.บ.กฏอัยการศึก ควบคุมอาวุธปืน เรือและยานพาหนะที่ต้องนำมาลงทะเบียนในพื้นที่ 2 ตำบล ใน อ.หนองจิก จ.ปัตตานี รวม 7 วัน เร่งจับมือยิงทหารพราน 2 ศพ ระบุรวบตัวผู้ต้องหาได้แล้ว 8 ราย เผยกำลังเตรียมกฎหมายให้เข้มข้น อาจจะต้องเอาผิดถึงพ่อแม่ ภรรยา ญาติพี่น้อง ด้าน ชาวบ้านร้อง กก.สิทธิมนุษยชนฯ ระบุถูกละเมิดสิทธิกรณี จนท.เข้าปิดล้อมหมู่บ้าน

17 ก.ย. 2561 จากกรณี คนร้ายซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนของกองร้อยทหารพรานที่ 4303 หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารพรานที่ 43 บริเวณบ้านบางทัน ต.บางเขา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้ทหารพรานเสียชีวิต 2 นาย บาดเจ็บ 4 นาย

ต่อมา เมื่อเวลา 18.30 น. วันที่ 16 กย. ที่มณฑลทหารบกที่ 46 อ.หนองจิก จ.ปัตตานี พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 พล.ต.จตุพร กลัมพสุต ผบ.ฉก.ปัตตานี พ.ต.อ.ขวัญดี ฉิมพลี รอง ผบก.ภ.จ.ปัตตานี พ.อ.หาญพล เพชรม่วง ผบ.ทพ.43 ได้ร่วมแถลงข่าวออกประกาศควบคุมพื้นที่พิเศษตาม พ.ร.บ.กฏอัยการศึก ควบคุมอาวุธปืน เรือและยานพาหนะที่ต้องนำมาลงทะเบียนกับหน่วยทหารและอำเภอที่ตั้งในพื้นที่ ต.บางเขา และ ต.ท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ภายใน 7 วัน มีผลตั้งแต่ภายในวันที่ 17 ก.ย.นี้

แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า จากเหตุที่เกิดขึ้นได้สั่งการเจ้าหน้าที่บูรณาการทั้ง 3 ฝ่ายติดตามจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ทั้งหมด 8 ราย ขณะนี้รอผลตรวจหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์เพื่อให้น้ำหนักในการชี้ชัดอีกครั้ง ขณะนี้กำลังเตรียมกฎหมายให้เข้มข้น อาจจะต้องเอาผิดถึงพ่อแม่ ภรรยา ญาติพี่น้อง ซึ่งก็จะส่งผลให้ต้องเดือดร้อน ขอให้ผู้ก่อการคิดใหม่หันเข้ามาให้ความร่วมมือกับรัฐดีกว่า ให้มาเข้าโครงการพาคนกลับบ้าน ใครที่ยังหลบหนี ต้องสังวรณ์ ขอยืนยันว่าทั้งหมด 8 คนนี้จับกุมถูกตัวแน่นอน

สำหรับพื้นที่ 2 ตำบล คือ ต.บางเขา ต.ท่ากำชำ อ.หนองจิก เป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษ เพราะยังคงมีเจ้าหน้าที่หลายร้อยนายยังคงปฏิบัติภารกิจเชิงรุกในการกดดันปิดช่องว่างไม่ให้มีโอกาสเคลื่อนไหว หากพบก็จะดำเนินตามยุทธวิธีทันที จึงต้องขออภัยต่อประชาชนทั่วไป ซึ่งอาจจะไม่ได้รับความสะดวกต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อควบคุมพื้นที่ป้องกันไม่ให้คนร้ายก่อเหตุซ้ำอีก และไม่ให้เกิดเหตุร้ายขึ้นอีก

แถลงของเจ้าหน้าที่ระบุด้วยว่า ความคืบหน้าล่าสุดหน่วยกำลังร่วมทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง พร้อมอาวุธครบมือ รวมไปถึงชุดปฏิบัติการณ์ทางน้ำ จากหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินและชุดปฏิบัติการทางอากาศหน่วยบิน ฉก.อโณทัย ร่วมกว่า 1,000 นาย กระจายกำลังปิดล้อมตรวจค้นและไล่ล่าคนร้ายอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อติดตามจับกุมกลุ่มก่อความไม่สงบและคนร้ายที่ร่วมก่อเหตุที่ยังคงหลบซ่อนตัวและเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ ผลการปฏิบัติสามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยในการก่อเหตุ 8 คน โดยหนึ่งในนั้นคือ นายฟาริด ให้การรับสารภาพว่าเป็นคนดูต้นทางและชี้เป้า ก่อนจะขยายผลสาวไปถึงผู้ร่วมก่อเหตุอีกหลายคน

(ที่มา : WorkpointNews ผู้จัดการออนไลน์ และมติชนออนไลน์)

ชาวบ้านร้อง กก.สิทธิมนุษยชนฯ ระบุถูกละเมิดสิทธิกรณี จนท.เข้าปิดล้อมหมู่บ้าน

วันนี้ (17 ก.ย.61) ผู้จัดการออนไลน์ รายงนด้วยว่า มีตัวแทนของครอบครัวผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวในพื้นที่ บ้านบางทัน บ้านท่ากำชำ ในพื้นที่ ต.บางเขา และ ต.ท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี จำนวน 5 ครอบครัว เดินทางเข้าร้องทุกข์ต่อ ศูนย์ประสานงานคณะกรรมการสิทธิสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีถูกเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่ายควบคุมตัวกรณีต้องสงสัยกับเหตุการณ์คนร้ายซุ่มยิงทหารพราน ฉก.43 เป็นเหตุให้เจ้าหน้าทีเสียชีวิต 2 นาย และได้รับบาดเจ็บอีก 4 นาย โดยทางญาติผู้ที่ถูกควบคุมเกรงว่าคนที่ถูกควบคุมจะถูกทำร้ายเพื่อให้ยอมรับสารภาพ ซึ่งทางญาติที่เข้าร้องเรียนนั้นส่วนใหญ่จะเป็นภรรยาและแม่ โดยส่วนใหญ่ต่างไม่เชื่อว่าสามี และลูกจะเป็นผู้ที่ก่อเหตุในครั้งนี้

จากการปิดล้อมตรวจค้นของเจ้าหน้าที่จากเหตุการณ์ดังกล่าว มีคนถูกควบคุมตัวในฐานะผู้ต้องสงสัย 9 คน ได้แก่ ฟาริด เจะแต, อิบรอเฮม ยูโซะ, อับดุลฮาเล็ม สาเมาะ, ฮัสมิง ลาเตะ, มะฮัมดี บากา, มามะ สะมะแอ และ ฮาบีดี สุหลง แต่ได้รับการปล่อยตัวมาแล้ว

ชาวบ้านที่ร้องเรียนยังได้กล่าวอีกว่า ตั้งแต่เกิดเรื่องขึ้นมาทำให้ชาวบ้านเกิดความหวาดระแวงเป็นอย่างมาก เพราะไม่รู้ว่าวันไหนเจ้าหน้าที่จะเชิญตัวใครไปอีก โดยทุกวันนี้หลังเกิดเหตุการณ์ในพื้นที่ ตกเย็นหน่อยจะไม่มีใครกล้าที่จะเดินทางออกไปไหน และจากการที่ท่านแม่ทัพภาคที่ 4 ออกข่าวว่าจะเอาผิดกับพ่อ แม่ ภรรยาหรือครอบครัวกับคนที่เกี่ยวข้อง โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะตามกฎหมายอาญาเอาผิดได้เฉพาะคนที่ทำผิดเท่านั้น หากทำแบบนั้นจริงก็สงสารคนที่ไม่รู้เรื่อง

นอกจากนั้น ชาวบ้านยังได้กล่าวอีกว่า หลังจากที่เจ้าหน้าที่นำกำลังนับพันปิดล้อมหมู่บ้าน จนสภาพในหมู่บ้านเห็นแต่เจ้าหน้าที่แต่งชุดดำมีอาวุธครบมือ เต็มไปหมด เกิดความหวาดกลัว ถึงกับชาวบ้านบางคนวิตกจนไม่กล้าออกไปทำงาน โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ที่นี่ประกอบอาชีพทำประมง จะออกในช่วงเวลากลางคืน ช่วงเวลาดึกตามกระแสของน้ำขึ้นน้ำลง จึงอยากให้คำนึงในส่วนนี้ด้วย

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น