โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

เสาร์สนทนา: สองขั้วในสามก๊ก ‘ประชาธิปัตย์’ จะยืนอยู่ฝั่งไหน และการเมืองภายในพรรค

Posted: 15 Sep 2018 08:29 AM PDT

ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์

เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2561 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประเมินสถานการณ์ทางการเมืองช่วงเข้าใกล้การเลือกตั้งว่าเป็นการเมืองที่อยู่ในยุค "สามก๊ก" ที่มีกลุ่มทักษิณ , กลุ่มทหาร คสช. พร้อมเครือข่าย และพรรคประชาธิปัตย์เป็นสามผู้เล่นหลักในสนามการเมือง

อภิสิทธิ์ จัดวางพรรคประชาธิปัตย์ไว้เป็นตัวเลือกที่อยู่ตรงกลางระหว่างกลุ่มทักษิณ และกลุ่มทหาร คสช. เพราะเชื่อว่าประชาธิปัตย์ยืนอยู่ตรงข้ามกับสิ่งที่ถูกเรียกว่า 'ระบอบทักษิณ' มาโดยตลอด ขณะที่แนวทางของผู้มีอำนาจในปัจจุบันที่แสดงให้เห็นชัดถึงเจตนาในการสืบทอดอำนาจนั้นไม่สอดคล้องกับแนวคิดของพรรคประชาธิปัตย์

โจทย์ที่ตั้งโดยการชูโมเดล การเมืองสามก๊ก ของอภิสิทธิ์ดูเป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่มองมุมกลับแบบนี้ได้หรือไม่ว่า ช่วงเวลานี้คือการขับเคี่ยวกันระหว่างค่านิยมหลัก(Core Value) ของฝ่ายเผด็จการอำนาจนิยม กับฝ่ายประชาธิปไตย โดยที่ประชาธิปัตย์เลือกวางตัวเองอยู่ตรงกลาง

ชัดเจนแล้วว่าฝ่ายผู้มีอำนาจในปัจจุบันต้องการจะอยู่ยาว สิ่งที่ได้ทำล่วงหน้าไปแล้วมีทั้งการออกกฎหมายต่างๆ เพื่อควบคุมรัฐบาลที่กำลังจะได้มาจากการเลือกตั้ง ทั้งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมีวุฒิสภา 250 คน ที่ได้มาจากการคัดเลือกของ คสช. ติดตาม เร่งรัดการทำงานของรัฐบาลตามยุทธศาสตร์ชาติ นอกจากนี้ยังออกแบบกลไกควบคุมลงโทษรัฐบาลหากไม่ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้

หากรัฐบาลหน้าไม่ทำตามยุทธศาสตร์ชาติฉบับ คสช. จะเกิดอะไรขึ้น

ส่วนสิ่งที่วางไว้แล้วแต่ยังไม่เห็นผลชัดคือ ระบบเลือกตั้ง ที่ออกแบบมาเพื่อจำกัดการได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรอย่างเด็ดขาด มีโอกาสที่หลังการเลือกตั้งจะไม่มีพรรคการเมืองพรรคใดสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ การจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นระบบรัฐบาลผสม

ในขณะที่ตัวเลขยังไม่ชัดเจน ฝ่ายผู้มีอำนาจก็จัดการดึงคะแนนจากฝ่ายตรงข้าม คสช. มาเป็นเสียงสนับสนุนก็ดำเนินไปผ่านการกิจกรรมการเมืองของกลุ่มสามมิตร ที่ตัดแนวร่วมรัฐบาลเดิมของพรรคเพื่อไทยไปได้จำนวนหนึ่ง ทั้งพลังชลของสนธิยา คุณปลื้ม ทั้งกลุ่มมัชฌิมาของสมศักดิ์ เทพสุทิน รวมทั้งการดึงตัว สองในสี่ทหารเสือแห่ง กกปส. ซึ่งเป็นอดีต ส.ส. กทม. ของพรรคประชาธิปัตย์เข้าไปร่วมงานกับรัฐบาล คสช.

ทั้งหมดนี้คือการปูทางให้ คสช. เปลี่ยนรูปมาเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้งอีกครั้ง หากไม่ได้ในขั้นตอนแรกโดยการโหวตจากสภาผู้แทนราษฎร ก็ยังเหลือช่องทางที่รัฐธรรมนูญเปิดทางไว้ให้ ส.ว. 250 คนสามารถยกมือโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้

หมายความว่า การเข้ามายึดครองอำนาจทางการเมืองของทหารหลังการเลือกตั้งมีอยู่ใน 2 ระดับ ระดับแรกคือการควบคุมรัฐบาลจากองค์กรภายนอก ระดับที่สองคือการกลับมาเป็นรัฐบาลเองอีกครั้ง ในระดับแรกถูกวางกลไกไว้หมดแล้ว แต่ระดับที่สองเป็นสิ่งที่ทหารมองเห็นว่าจำเป็น เพื่อทำให้การเมืองเปลี่ยนผ่านไปตามทิศทางที่วางไว้อย่างราบรื่น

จะออกหัวหรือออกก้อยปฏิเสธไม่ได้ว่าประชาธิปัตย์คือตัวแปรสำคัญ

ยากเกินจะจินตนาการถึงภาพหลังการเลือกตั้งที่เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ และพรรคอื่นๆ จับมือร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล แต่ในทางกลับกันการร่วมงานกันในฐานะฝ่ายค้านในสภายังพอมีความเป็นไปได้ อย่างน้อยก็มีเสียงเชื้อเชิญในเวทีเสวนา "อนาคตประเทศไทย ตายหรือตัน ก่อนการเลือกตั้ง" ที่จัดคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และเครือข่ายตรวจสอบภาคประชาชน ซึ่งจาตุรนต์ ฉายแสง พูดตอนหนึ่งว่า ถ้าหากพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน แล้วผู้นำชุดปัจจุบันจัดตั้งรัฐบาลได้ เพื่อไทยเองก็พร้อมที่จะร่วมเป็นพรรคฝ่ายค้านกับประชาธิปัตย์

คำถามจึงกลับมาหาประชาธิปัตย์ในฐานะตัวแปรสำคัญว่า ที่สุดแล้วจุดยืนของพรรคคืออะไร จะร่วมรัฐบาลกับผู้มีอำนาจในปัจจุบันหลังการเลือกตั้งหรือไม่ คำตอบที่ได้จากอภิสิทธิ์ ก็ยังไม่ชัดเจนได้ยินแต่เพียงการบอกว่า ประชาธิปัตย์จะไม่ร่วมรัฐบาลหาก พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่ได้มาจากเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร คำถามที่ถูกตั้งอีกครั้งจากคำตอบของอภิสิทธิ์คือ พล.อ.ประยุทธ์ จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อย่างไร หากไม่ได้รับเสียงข้างมากที่สนับสนุนโดยผู้แทนราษฎรจากพรรคประชาธิปัตย์

แม้จะยังไม่ชัดเจน แต่อภิสิทธิ์ก็มีท่าทีเสียงแข็งมาตลอด โดยเฉพาะประโยคทองที่เคยพูดว่า คนที่จะสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีส่วนมากจะมีพื้นที่เยอะอยู่แล้ว แต่ถ้าอยู่พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องสนับสนุนพรรค และหัวหน้าพรรคไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม

ต่อมาเพียงวันเดียว พล.อ.ประยุทธ์ สวนกลับทันควันว่า การจะพูดอะไรอภิสิทธิ์ควรจะระมัดระวังคำพูด ให้ประชาชนเป็นผู้พิจารณาเอง แล้วคอยดูว่าวันหน้าจะทำตัวกันอย่างไร ที่ออกมาพูดกันวันนี้ คอยดูวันหน้าก็แล้วกันว่าเลือกตั้งแล้วจะเกิดอะไรขึ้น แล้วจะเปลี่ยนท่าทีกันอย่างไร คอยดูกันตรงนั้น

ภาพการเมืองสนามใหญ่ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องรอกันต่อไป ทว่าการเมืองสนามเล็กภายในพรรคประชาธิปัตย์ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาดูจะคึกคักเป็นพิเศษ อย่างที่ทราบกันดีว่าอภิสิทธิ์ ได้ประกาศไทม์ไลน์การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคใหม่ไปเรียบร้อยแล้ว แต่ครั้งนี้มีความพิเศษจากครั้งก่อนที่เป็นการเลือกกันโดยในคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง ร่วมกับเสียงของ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์

ล่าสุดพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศว่าจะแก้ระเบียบข้อบังคับพรรคการเมือง อย่างแรกคือเปิดโอกาสให้คนนอกสามารถเข้ามาแข่งขันชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคได้ แต่ต้องมีเสียงสนับสนุนจากอดีต ส.ส. ไม่น้อยกว่า 40 เสียง หรือได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกพรรคการเมือง 4 ภาค ภาคละไม่น้อยกว่า 1,000 คน อย่างที่สองคือการเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคการเมืองสามารถหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคได้ผ่านแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน

คุมประชาธิปัตย์ได้ก็ง่ายต่อการสืบทอดอำนาจ คสช.

การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้ นอกจากจะถูกจับตามองเป็นพิเศษในฐานะของการสร้างความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคต่อไปของอภิสิทธิ์ ซึ่งครองเก้าอี้มา 13 ปี แต่ยังไม่เคยชนะการเลือกตั้งทั่วไปได้สักครั้งเดียว แต่ครั้งนี้กลับมีภาพสะท้อนของความพยายามเข้าชิงการนำในพรรคประชาธิปัตย์ด้วย จากเดิมที่มีชื่ออภิสิทธิ์ และจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในฐานะแคนดิเดตที่มีท่าทีและจุดยืนไม่ต่างกัน แต่แล้วกลับพบว่ามีชื่อของ อลงกรณ์ พลบุตร ปรากฎขึ้นมาเข้าชิงตำแหน่งด้วย หลังจากมีข่าวว่ามีสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์จำนวนหนึ่งเรียกร้อง

นอกจากนี้อีกรายชื่อที่ปรากฎขึ้นมาคือ หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม ที่มีข่าวว่าสุเทพ เทือกสุบรรณจะส่งลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค มัดคู่ไปกับ ถาวร เสนเนียม ในฐานะผู้เข้าชิงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคนใหม่ แม้ต่อมาสุเทพ จะปฏิเสธเสียงแข็งว่าตัวเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ตามที

ชื่อของอลงกรณ์ และหมอวรงค์ ดูจะเป็นรายชื่อที่มีน่าสนใจอยู่ไม่น้อย คนหนึ่งเคยเสนอให้มีการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ ในช่วงเวลาที่ ส.ส. หลายคนภายในพรรคเลือกเดินออกจากรัฐสภาลงสู่ถนนเข้าร่วม และเป็นแกนนำ กปปส. จนที่สุดแล้วอลงกรณ์หลุดจากการตำแหน่งรองหัวพรรคส่วนภาคกลาง ในครั้งนั้นได้ สาทิต ปิตุเตชะ มาดำรงตำแหน่งแทนที่

หลังจากนั้นชื่อของอลงกรณ์ค่อยๆ หายไปจากพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนจะมาประกาศลาออกจากสมาชิกพรรค เพื่อเข้าร่วมงานกับรัฐบาล คสช. ในฐานะสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) และได้รับการดำรงตำแหน่งถัดมาในฐานะรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) นอกจากนี้ยังเป็น กรรมการในคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ กรรมการในคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ และกรรมการในคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองตาม คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2560 การจะกลับเข้ามาของอลงกรณ์ แม้เจ้าตัวยืนยันว่ามีเจตนาที่ดีต่อพรรคประชาธิปัตย์ แต่ภาพลักษณ์ของการเป็นตัวแทน คสช. ก็อยากที่จะสลัดหลุด

ขณะที่หมอวรงค์ แม้จะไม่ได้มีตำแหน่งสำคัญ และไม่มีบารมีอย่างเด่นชัดในพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็เรียกได้ว่าเป็นตัวตั้งตัวตีคนสำคัญในการตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งที่สุดแล้วกลายเป็นเงื่อนปมที่นำไปสู่การดำเนินคดีกับยิ่งลักษณ์จนต้องลี้ภัยการเมืองออกนอกประเทศ ในอีกด้านหนึ่งหมอวรงค์ก็แสดงตัวในฐานะ กปปส. ในพรรคประชาธิปัตย์อย่างชัดเจน และหากเชื่อว่า กปปส. คือ คสช. ส่วนหน้า ก็จินตนาการได้ไม่ยากว่า ภายใต้การนำของหมอวรงค์ ประชาธิปัตย์จะยืนอยู่ฝั่งไหน

อย่างไรก็ตาม สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นผู้ชี้ขาดว่าสุดท้ายแล้ว ระหว่างอลงกรณ์ ที่ยังมองหาแบ็คอัพภายในพรรคไม่ได้ กับหมอวรงค์ ที่มีข่าวว่าแบ็คอัพคือสุเทพ และอภิสิทธิ์ ที่อดีตนายกฯ ชวน หลีกภัย ยังยืนอยู่ข้างๆ (ข่าวที่เกี่ยวข้อง) ใครจะเป็นหัวหน้าพรรคคนต่อไป และนอกจากจะเป็นการเลือกทิศทางของประชาธิปัตย์แล้ว เกมนี้ยังเปิดหน้าวัดกันชัดๆ ไปเลยว่า มวลมหาประชาชนของ กปปส. ซึ่งส่วนใหญ่คือคนที่เลือกประชาธิปัตย์ เมื่อถึงเวลาที่ต้องเลือกระหว่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ กับชวน หลีกภัย สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์จะเลือกใคร

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด' คัดเลือกเด็กชายแดนใต้เข้าสโมสร

Posted: 15 Sep 2018 01:58 AM PDT

ศอ.บต. ร่วมกับสโมสรฟุตบอล บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จัดกิจกรรมคัดเลือกยุวชนจากชายแดนภาคใต้ เข้าสู่ทีมสโมสรฟุตบอล บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด

15 ก.ย. 2561 สำนักส่งเสริมการท่องเที่ยวและกีฬา ศูนย์อำนวยการบริการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับบริษัท บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จำกัด และสโมสรฟุตบอล บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ร่วมจัดกิจกรรม เตะดี พี่เลือก ฝันให้ไกล ไปให้ถึง เพื่อทำการคัดเลือกตัวแทนเยาวชนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นนักเตะลูกหนังในสังกัด ทีมสโมสรฟุตบอล บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เพื่อส่งเสริมให้ยุวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีโอกาสได้เข้าสู่การเป็นนักกีฬาอาชีพ สามารถสร้างรายได้จากการเป็นนักกีฬาในอนาคตอีกด้วย

สำหรับความเคลื่อนไหวในกิจกรรมในครั้งนี้ทางสโมสรฟุตบอล บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จัดขึ้นมาแล้วเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน มียุวชนในสังกัดแล้ว 33 คนโดยปี 2561 นี้ ทางสโมสรฟุตบอล บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ยังคงคัดเลือกยุวชนในพื้นที่โดยไม่จำกัดจำนวนผู้ผ่านเข้ารอบ เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่น้องๆ ยุวชนในพื้นที่ให้เป็นนักเตะลูกหนังที่มีฝีมือดีระดับประเทศต่อไป

โดยวันนี้ ได้รับเกียรติจากนายบุญช่วย หอมยามเย็ม ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. (กรมการปกครอง) เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม พร้อมด้วยนายชาติ ศิริประภากร รักษาการผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการท่องเที่ยวและกีฬา ศอ.บต. นายไชยชนก ชิดชอบ  รองผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและการสื่อสาร บริษัท บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จำกัด และทีมงาน มาเป็นกรรมการตัดสิน และคัดเลือกยุวชนและเยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งปี 2561 นี้ มีเยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เข้ารับการคัดเลือกจำนวนทั้งสิ้นกว่า 400 คน เข้าร่วม ณ สนามฟุตบอลศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา

ทั้งนี้การลงมาในพื้นที่ของสโมสรฟุตบอล บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เพื่อคัดเลือกนักเตะฝีเท้าดีเข้าไปเก็บตัวรอบสุดท้ายที่จังกวัดบุรีรัมย์ เป็นเวลา 5 วัน ร่วมกับเพื่อนๆในพื้นที่ภาคใต้ที่ได้ลงไปคัดเลือกก่อนหน้านี้ ซึ่งครั้งนี้ ทางสโมสรฟุตบอล บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด มีเป้าหมายคัดเลือกยุวชนจำนวน 4 รุ่นอายุคือรุ่นอายุ 11 ปี เกิดปี พ.ศ. 2550-2551 รุ่นอายุ 13 ปี พ.ศ. 2548-2559 รุ่นอายุ 14 ปี พ.ศ. 2547 และรุ่นอายุ 15 ปี พ.ศ. 2546 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

เสนอ สปสช.ตั้ง ‘กองทุนเฉพาะกิจ’ ดูแลคนไทยที่เจ็บป่วยระหว่างรอการพิสูจน์สิทธิ

Posted: 14 Sep 2018 11:13 PM PDT

แพทย์ผ่าทางตันช่วยเหลือคนไร้สิทธิรักษาสุขภาพ เสนอให้ สปสช.ตั้ง กองทุนเฉพาะดูแลคนไทยที่เจ็บป่วยระหว่างที่รอการพิสูจน์สิทธิ ทำหน้าที่เคลียร์ริ่งเฮาส์ ระหว่างรอพิสูจน์สถานะคนไทย

15 ก.ย. 2561 ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข ประธานคณะทำงานพัฒนาการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพของกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่าปัญหาเรื่องการพิสูจน์สถานะบุคคลและคนไร้สิทธิคือเรื่องทัศนคติ ปัจจุบันสถานการณ์ประเทศเปลี่ยนไป เรื่องการทำลายความมั่นคงประเทศน้อยลงจนแทบไม่มีแล้ว ดังนั้นในวันนี้เขาเหล่านั้นมีสิทธิในการพิสูจน์ความเป็นคนไทยแล้ว ฉะนั้นหน่วยงานที่รับผิดชอบควรปรับเปลี่ยนทัศนคติและทำหน้าที่ตามหน้าที่ที่พึงมี

"สปสช.เพียงแค่ทำตามหน้าที่ เราไม่ได้ทำอะไรพิเศษกว่านั้น ฉะนั้นอยากให้หน่วยงานรัฐอื่นๆ ทำตามหน้าที่ของตัวเองเท่านั้น ทุกวันนี้เราช่วยแก้ไขปัญหาได้เพียงรายกรณีเท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้วต้องแก้ไขในเชิงระบบหรือนโยบาย" ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าว

นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย นักวิจัยสำนักนโยบายพัฒนาสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า ปัญหาขณะนี้คือเราอยู่บนช่องว่างของปัญหาที่อยู่บนความเดือดร้อนของทุกฝ่าย ทั้งตัวของคนไทยไร้สิทธิเอง โรงพยาบาลที่รับการรักษาเอง ตรงนี้เป็นปัญหาที่อยู่กึ่งกลางและไม่มีใครอยากเข้ามาแก้ปัญหา แต่ส่วนตัวเชื่อว่ามีโอกาสในการร่วมกันปรับแก้ เพราะเริ่มเห็นว่าหน่วยงานต่างๆ เห็นความสำคัญกับปัญหาแล้ว

นพ.ขวัญประชา กล่าวว่า แน่นอนว่าความเจ็บป่วยรอเวลาไม่ได้ แนวทางแรกคือต้องช่วยกันผลักดันให้จัดตั้งกองทุนฉุกเฉินขึ้นมาดูแลคนไทยที่เจ็บป่วยระหว่างที่รอการพิสูจน์สิทธิ ก็มีคำถามต่อว่ากองทุนนี้ต้องอยู่ สปสช.หรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าควรเป็นกองทุนเฉพาะกิจที่ทำหน้าที่เป็นเคลียร์ริ่งเฮาส์ เมื่อพิสูจน์สิทธิแล้วก็ตามเก็บกันตามสิทธิ เบื้องต้นอาจให้ สปสช.ดำเนินการได้

นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องช่วยกันทำคือจะทำอย่างไรที่จะทำให้กระบวนการขึ้นทะเบียนคนไทยไร้สิทธิมาเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์มีมาตรฐาน และต้องไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยากจนหน่วยงานภาครัฐหรือโรงพยาบาลไม่อยากทำ ถามต่อว่าแล้วใครทำเรื่องนี้ได้ดีที่สุด คำตอบก็คือคนที่เคยทำเรื่องนี้และเคยมีประสบการณ์ในการขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ต้องมาช่วยกันถอดบทเรียนร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รวมถึงกระทรวงมหาดไทย (มท.) เพื่อออกแบบแนวทางการทำงานที่ง่ายและสะดวกขึ้น

"รัฐบาลพยายามพูดเรื่องความเป็นธรรมในสังคม ผมคิดว่าเราควรช่วยกันยกระดับปัญหาให้เป็นวาระของสังคม เพราะถ้าเจ็บป่วยแล้วยังต้องถามว่าเป็นคนไทยหรือไม่อยู่อย่างนี้ ถ้ารัฐบาลไม่แก้ไขปัญหานี้ คงจะพูดเรื่องความเป็นธรรมในสังคมไม่ได้" นพ.ขวัญประชา กล่าว

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'อนาคตใหม่' เดินหน้า 3 กิจกรรม เดือน ต.ค. นี้ 'เพื่อไทย' เตรียมประชุมพรรค

Posted: 14 Sep 2018 09:18 PM PDT

'พรรคอนาคตใหม่' เตรียมเดินหน้า 3 กิจกรรมเดือน ต.ค. 2561 นี้ พร้อมเปิดเว็บไซค์สื่อสารและรับสมัครสมาชิกแบบออนไลน์ ด้าน 'พรรคเพื่อไทย' เตรียมประชุมพรรค พร้อมให้ฝ่ายกฎหมายดูเนื้อหาคำสั่ง คสช.เรื่องการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ชี้ยังดูสับสน


นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (แฟ้มภาพ)

15 ก.ย. 2561 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ระบุว่าหลังจาก คสช. ออกคำสั่งคลายล็อกพรรคการเมืองให้ทำกิจกรรมได้ตามที่กำหนด พรรคเตรียมเดินหน้า 3 กิจกรรมในเดือน ต.ค. นี้ โดยวันที่ 1 ต.ค. พรรคอนาคตใหม่จะแถลงข่าวเปิดตัวการรณรงค์เข้าสู่การเลือกตั้ง หลังจากได้รับการรับรองสถานะพรรคจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พร้อมเปิดเว็บไซต์เพื่อสื่อสารกับประชาชนและรับสมัครสมาชิกพรรคแบบออนไลน์ รวมทั้งจำหน่ายของที่ระลึกเพื่อระดมทุนสนับสนุนพรรคจากนั้นในวันที่ 6-7 ต.ค. นี้ จะลงพื้นที่ 6 จังหวัด ที่จะจัดตั้งสาขาพรรค คือ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่  ขอนแก่น (อีสาน) อยุธยา (ภาคกลาง) ระยอง (ตะวันออก) นครศรีธรรมราช (ภาคใต้) นราธิวาช (3 จังหวัดภาคใต้) และวันที่ 20-21 ต.ค. จะลงพื้นที่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อรับสมัครสมาชิก ระดมทุนสนับสนุนพรรคและพบปะกับผู้ที่สนใจจะลงสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคตามลำดับ

'พรรคเพื่อไทย' เตรียมประชุมพรรค พร้อมให้ฝ่ายกฎหมายดูเนื้อหาคำสั่ง คสช.

ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าพรรคเพื่อไทยได้เตรียมการที่จะจัดให้มีการประชุมใหญ่เพื่อรับรองข้อบังคับพรรคใหม่เลือกกรรมการบริหารชุดใหม่และเลือกกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ตามที่กำหนดในคำสั่ง คสช.ที่ 13/2561 เบื้องต้นจะได้หารือกรรมการบริหารพรรคเพื่อพิจารณาคำสั่งคลายล็อกให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินการประชุม และเตรียมการในการจัดการประชุมใหญ่พรรคเพื่อไทยตามเงื่อนไขที่กำหนดในคำสั่งโดยคำสั่ง คสช.ที่ 13/2561 ระบุให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน โดยสิ่งที่ต้องหารือเป็นเรื่องสำคัญคือจะกำหนดองค์ประกอบขององค์ประชุมใหญ่อย่างไร เนื่องจากคำสั่งที่ 13/2561 กำหนดให้มีองค์ประชุมไม่น้อยกว่า 250 คน มีกรรมการบริหารและสมาชิก โดยไม่ต้องมีสาขาเนื่องจากสาขาถูกยุบไปแล้ว คงต้องมากำหนดว่าจะมีตัวแทนสมาชิกเข้าร่วมประชุมอย่างไร จำนวนเท่าใด นอกจากนั้นคงต้องหารือว่าจะกำหนดวันประชุมใหญ่เมื่อใด เนื่องจากจะต้องแจ้งกกต.ก่อนการประชุมใหญ่ไม่น้อยกว่า5วัน

นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่าขณะนี้ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายของพรรคศึกษารายละเอียดของคำสั่ง คสช. เพราะยังมีความสับสนในการตีความถึง 3 เรื่อง คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วย พรรคการเมือง 2560, คำสั่งคสช.ที่ 53/2560 และคำสั่ง คสช.เรื่องการคลายล็อกพรรคการเมือง ซึ่งมีความสับสนอยู่ เช่น สามารถจัดตั้งสาขาได้ภายใน 1 ปี แปลว่าหากตั้งสาขาไม่ครบ เลยเวลาการเลือกตั้งที่กำหนดไว้ 24 ก.พ. 2562 ก็สามารถส่งผู้สมัครได้ใช่หรือไม่ คงต้องสอบถามความชัดเจนกันต่อไป

สำหรับการคลายล็อกครั้งนี้ นายภูมิธรรม กล่าวว่ารัฐบาลไม่ได้ตั้งใจจะเปิดเงื่อนไขกติกาอย่างเต็มที่ให้แก่พรรคการเมือง การจะอ้างว่าเพื่อความสงบเรียบร้อยก็เป็นการกล่าวอ้างซ้ำซากมานานมากแล้ว ไม่มีเหตุผลใดในทางการเมืองที่จะคลายล็อกแบบปล่อยทีละส่วน  เพื่อหวังจะทำหน้าที่คุมเกมทั้งหมดเช่นนี้ นอกจากยังคงมีความกลัวอยู่

"ผมไม่ทราบว่ารัฐบาลกลัวอะไร ทำไมไม่ปลดล็อกไปเสียเลย เพราะควรถึงเวลาแล้วที่จะเปิดช่องทางทั้งหมดให้พรรคการเมือง ได้สามารถติดต่อ สื่อสารทำความเข้าใจร่วมกัน โดยเฉพาะการสื่อสารกับประชาชนที่จะได้ทราบข้อมูลทั้งหมดของพรรคการเมืองแต่ละพรรค เพื่อทำความเข้าใจและใช้สิทธิตัดสินใจให้ดีที่สุดในการเลือกพรรคการเมืองที่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคมที่เขาเผชิญอยู่ เพื่อสร้างโอกาสของชีวิตให้พวกเขา" นายภูมิธรรมกล่าว

ที่มาข่าวเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2]

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'มงคล อุทก' ศิลปินเพื่อชีวิต เสียชีวิตหลังล้มหมดสติ

Posted: 14 Sep 2018 08:30 PM PDT

มติชนออนไลน์ รายงานว่าเมื่อเวลา 01.30 น.วันที่ 15 ก.ย. 2561 ร.ต.อ.สุวรรณ นาคยา ร้อยเวร สภ.บางศรีเมือง จ.นนทบุรี ได้รับแจ้งเหตุมีผู้เสียชีวิตที่ร้านอาหารครัวสมเกียรติอาหารป่า เลขที่ 36/6 หมู่ 5 ถ.นครอินทร์ ต.บางศรีเมือง อ.เมือง จ.นนทบุรี จึงประสานแพทย์จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และเจ้าหน้าที่มูลนิธิป่อเต็กตึ้ง รุดไปตรวจสอบ

ที่เกิดเหตุอยู่บริเวณลานจอดรถภายในร้านอาหาร พบผู้เสียชีวิตเป็นชาย สวมเสื้อยืดแขนสั้นสีดำ สวมกางเกงขาสั้นสีกรมท่า ไม่พบมีบาดแผลตามลำตัว นอนเสียชีวิตอยู่บนพื้น ทราบชื่อคือ นายมงคล อุทก อายุ 67 ปี อยู่บ้านเลขที่ 114/46 หมู่ 10 ต.วัดชลอ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เป็นนักร้องเพลงเพื่อชีวิตรุ่นใหญ่ชื่อดัง ทางเจ้าหน้าที่กู้ชีพได้รับแจ้งเหตุและพยายามทำการปั๊มหัวใจ CPR แต่ไม่เป็นผล สิ้นใจในเวลาต่อมา

ด้านนายจุมพล อุทก อายุ 27 ปี บุตรชายผู้เสียชีวิต เปิดเผยว่า ปกติพ่อจะมาทานอาหารและดื่มสุราที่ร้านนี้เป็นประจำ วันนี้พ่อมานั่งทานอาหารกับเพื่อนอีก 2 คน ตั้งแต่เวลา 17.00 น.กระทั่งเวลา 18.00 น.ตนได้เดินทางมาที่ร้านเพื่อมาทานอาหารด้วย และได้เดินทางกลับบ้านก่อนตอนเวลา 19.00 น. ตนเห็นว่าดึกแล้วพ่อยังไม่กลับบ้านจึงโทรหาเมื่อเวลา 23.00 น.ถามว่าพ่อจะกลับหรือยังตนจะได้ขับรถมารับ แต่พ่อบอกว่าฝนตก หลังจากนั้นเวลาประมาณ 24.00 น. เพื่อนพ่อที่มาทานอาหารด้วยได้ขับรถไปที่บ้านและบอกว่าพ่อเป็นลมล้มที่ลานจอดรถขณะที่จะขึ้นรถเพื่อขับกลับบ้าน ตนจึงเดินทางมาที่เกิดเหตุ เนื่องจากพ่อมีโรคประจำตัวเป็นความดันและหอบหืดด้วย

นายมงคล อุทก หรือ น้าหว่อง คาราวาน เป็นนักดนตรีเพื่อชีวิตและจิตรกรชาวไทย หนึ่งในสมาชิกวงคาราวาน ร่วมกับวงดนตรีของนายสุรชัย จันทิมาธร หรือน้าหงา และเป็นอดีตสมาชิกวงบังคลาเทศแบนด์ เกิดเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2494 เป็นคน จ.ร้อยเอ็ด มีผลงานแต่งเพลงให้กับวงคาราวาน คือ เพลงลุกขึ้นสู้ กับเพลงกุหลาบแดง และมีผลงานแต่งหนังสือเล่าเรื่องราวประสบการณ์ในแวดวงเพลงเพื่อชีวิต ชื่อ เพลงพิณพนมไพร ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2544

เบื้องต้นแพทย์ชันสูตรยังไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิตที่แน่ชัด คาดว่าหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน จากนั้นได้มอบร่างให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยนำส่งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์เพื่อชันสูตรอย่างละเอียดอีกครั้ง ก่อนมอบให้ญาตินำร่างไปทำพิธีทางศาสนาต่อไป

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'ชัยอนันต์ สมุทวณิช' เสียชีวิตในวัย 74 ปี

Posted: 14 Sep 2018 08:10 PM PDT

ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ-ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย เสียชีวิตเมื่อกลางดึกที่ผ่านมา ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในวัย 74 ปี

15 ก.ย. 2561 MGR Online รายงานว่า ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีตผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ อดีตนายกราชบัณฑิตสถาน นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียง และมีบทบาทต่อการเมืองไทยอย่างสูง เสียชีวิตเมื่อกลางดึกที่ผ่านมา ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในวัย 74 ปี

ศ.ดร.ชัยอนันต์ เป็นนักรัฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศและนานาชาติ อีกทั้งเป็นนักวิชาการที่มีบทบาทอย่างสูงต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เคยดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ นายกราชบัณฑิตสถาน วุฒิสมาชิก สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติฯลฯ

ศ.ดร.ชัยอนันต์ เกิดเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2487 จบการศึกษาจากวชิราวุธวิทยาลัย ก่อนเข้าศึกษาต่อที่แผนกนิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบปริญญาตรีจาก Victoria University of Wellington ประเทศนิวซีแลนด์ จบการศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอกจาก มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐอเมริกา

หลังจากกลับมาจากต่างประเทศได้เข้าเป็นอาจารย์ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และต่อมาได้โอนย้ายมาสอนที่ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนได้ตำแหน่งศาสตราจารย์ระดับ 11 ในทางการเมือง ศ.ดร.ชัยอนันต์ถือเป็นนักวิชาการที่มีบทบาทอย่างสูงต่อพัฒนาการทางการเมืองของประเทศไทย มีผลงานสำคัญมากมาย จนได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนาศาสตร์ และเคยดำรงตำแหน่งสำคัญทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนอย่างต่อเนื่องจนเสียชีวิต

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

โพลระบุคนไทยอยากเห็นพรรคการเมืองใช้ 'เฟสบุ๊ค' เคลื่อนไหวทางการเมืองมากที่สุด

Posted: 14 Sep 2018 08:02 PM PDT

กรุงเทพโพลเผยผลสำรวจคนไทยส่วนใหญ่ 68.0% อยากเห็นพรรคการเมืองใช้ เฟสบุ๊ค/เฟสบุ๊คไลฟ์ เคลื่อนไหวทางการเมืองมากที่สุด ส่วนใหญ่ 51.4% เชื่อจะเกิดผลดี ประชาชนจะเข้าถึงข้อมูลของพรรคการเมืองมากขึ้น ส่วนใหญ่ 63.0% เห็นว่าการเสนอข้อมูลต่างๆ ทางการเมืองของเน็ตไอดอลมีผลค่อนข้างมากถึงมากที่สุดต่อการเลือกตั้ง 47.9% รู้สึกเหมือนถูกปิดกั้นข้อมูล หากมีการห้ามใช้สื่อโซเชียลมีเดียหาเสียง

15 ก.ย. 2561 กรุงเทพโพลโดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง "การเลือกตั้งบนสมรภูมิโซเชียล"  โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,201  คน พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 68.0 อยากเห็นพรรรคการเมืองใช้สื่อโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ค/เฟซบุ๊ค ไลฟ์ ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง รองลงมาร้อยละ 39.6 อยากเห็นใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ไลน์ และร้อยละ 36.5 ใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ยูทูป

เมื่อถามความเห็นต่อการใช้สื่อโซเชียลมีเดียเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของพรรคการเมืองต่างๆ พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 51.4 เห็นว่าจะเกิดผลดี โดยในจำนวนนี้ให้เหตุผลว่า ประชาชนจะเข้าถึงข้อมูลพรรคการเมืองได้ง่ายขึ้น (ร้อยละ 54.8) รองลงมาคือ คนรุ่นใหม่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น (ร้อยละ 53.4) ขณะที่ร้อยละ 48.6 เห็นว่าจะเกิดผลเสีย โดยในจำนวนนี้ให้เหตุผลว่า ข้อมูลที่ได้อาจไม่น่าเชื่อถือ มีการบิดเบือนข้อมูล (ร้อยละ 45.2) และจะมีการแสดงความเห็นใส่ร้ายโจมตีคู่แข่ง ทำให้เกิดความขัดแย้ง (ร้อยละ 33.5)
   
ส่วนความเห็นต่อการเสนอข้อมูลต่างๆทางการเมืองของเน็ตไอดอลหรือผู้มีอิทธิพลทางความคิด จะมีผลต่อการเลือกตั้งที่จะถึงมากน้อยเพียงใด ส่วนใหญ่ร้อยละ 63.0 เห็นว่ามีผลค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 37.0 เห็นว่ามีผลค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด

สุดท้ายเมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรหากมีการห้ามใช้สื่อโซเชียลมีเดียหาเสียงพบว่า ร้อยละ 47.9 รู้สึกเหมือนถูกปิดกั้นข้อมูล รองลงมาร้อยละ 34.6 รู้สึกเหมือนประเทศยังไม่พัฒนา ไม่มีอิสระ และร้อยละ 34.3 รู้สึกว่าถ้าใช้โซเชียลหาสียง ประเทศจะวุ่นวายแตกแยก
 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

สหภาพฯ ชี้เหตุฟ้องสภาพยาบาลเพราะต้องการให้คุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่พยาบาลไทย

Posted: 14 Sep 2018 07:22 PM PDT

สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยได้ระบุเหตุผลที่ฟ้องสภาการพยาบาล เพราะต้องการจัดให้มีเวทีเปิดโอกาสรับฟังข้อเสนอแนะของสมาชิกเพื่อแก้ไขเสนอแนะ พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ.2528 ให้มีความทันสมัยครอบคลุมภาคปฏิบัติหน้าที่ของพยาบาลไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน ยืนยันสหภาพพยาบาลฯ ไม่ได้มีเจตนากระทำการใดๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อสภาวิชาชีพ - หนุน ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับผ่านประชาพิจารณ์ ก.ค. 2561

15 ก.ย. 2561 สืบเนื่องจากเมื่อปี 2559 สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย ได้ขอให้มีเปิดการประชุมวิสามัญเพื่อรับข้อร้องทุกข์และจัดทำประชาวิจารณ์ ขอปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ.2528 และ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ 2540 แต่ที่ประชุมคณะกรรมการสภาการพยาบาลมีมติไม่สามารถเปิดการประชุมดังกล่าวได้ ทำให้ตัวแทนของสหภาพพยาบาลฯ ได้ทำการยื่นฟ้องกรรมการสภาการพยาบาล ณ ศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2559 ต่อมาเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2561 ศาลปกครองกลางนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก (คดีหมายเลขดำที่ 1198/2559) ซึ่งองค์คณะได้สรุปข้อเท็จจริงของคดี มีตุลาการผู้แถลงคดีให้ความเห็นต่อคดีนี้เป็นระบบการตรวจสอบถ่วงดุลในศาลปกครอง การวินิจฉัยของตุลาการผู้แถลงคดีจะไม่ผูกพันองค์คณะตุลาการเจ้าของสำนวน โดยองค์คณะได้นัดพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 2 ต.ค. 2561

ศาลปกครองนัดพิจารณาคดีประธานสหภาพพยาบาลฟ้อง คกก.สภาพยาบาล 5 ก.ย. นี้
พิจารณาคดีนัดแรก ประธานสหภาพฯ ฟ้องสภาการพยาบาล นัดพิพากษา 2 ต.ค.

ทั้งนี้สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยได้ระบุเหตุผลที่สหภาพพยาบาลฯ ฟ้องสภาการพยาบาล ว่ามีที่มาจากการที่สหภาพพยาบาลฯ ในนามผู้แทนพยาบาลไทยที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือเพื่อเสนอให้สภาการพยาบาลจัดให้มีเวทีเปิดโอกาสรับฟังข้อเสนอแนะของสมาชิกเพื่อแก้ไขเสนอแนะ พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ.2528 ให้มีความทันสมัยครอบคลุมภาคปฏิบัติหน้าที่ของพยาบาลไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน แต่เมื่อคำขอนั้นไม่เป็นผล สหภาพยาบาลฯ จึงหวังพึ่งศาลปกครองให้เป็นตัวกลางช่วยแก้ไขปัญหานี้

ที่ผ่านมามีเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อภาคปฏิบัติงานให้บริการคนไข้ ต่อความรู้สึกของพยาบาลไทยที่ปฏิบัติงานให้การดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมมาโดยตลอด ใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการให้บริการเต็มศักยภาพทำภาระงานที่ล้นมือ ด้วยหัวใจที่มุ่งหมายให้ผู้ป่วยปลอดภัย

ดังตัวอย่างเหตุการณ์เมื่อเดือน ก.ย. 2560 มีกรณีพยาบาลถูกจับกุมขณะเจาะเลือดเพื่อตรวจสุขภาพประจำปีให้แก่พนักงานบริษัทแห่งหนึ่งใน จ.นครปฐม [1] และอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่บั่นทอนความรู้สึกของพยาบาลมากคือข่าวการแห่ศพประท้วงวิสัญญีพยาบาลที่ทำหน้าที่ให้ดมยาสลบ เมื่อเดือน ม.ค. 2561 [2]

สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยระบุว่านี่เป็นเพียง 2 ตัวอย่างเหตุการณ์ที่เห็นปัญหาโดยเด่นชัดว่าทำไมพยาบาลไทย จึงต้องการเสนอการแก้ไข พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ.2528 ให้คุ้มครองพยาบาลที่ทำงานโดยแท้จริง โดยสหภาพพยาบาลฯ ไม่ได้มีเจตนากระทำการใดๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อสภาวิชาชีพ

หนุน ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับผ่านประชาพิจารณ์ ก.ค. 2561

นอกจากนี้สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยยังได้จัดการรณรงค์ออนไลน์ลงชื่อสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับผ่านประชาพิจารณ์ เมื่อเดือน ก.ค. 2561 ผ่านแฟนเพจเฟสบุ๊คของสหภาพ ร่วมกับชมรมพยาบาล รพ.สต.แห่งประเทศไทย เพื่อนำเสนอให้กับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข

โดยในวันที่ 11 ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา สำนักข่าว Hfocus รายงานว่า นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้ได้เชิญสภาการพยาบาล สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย ชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย ชมรมการพยาบาลวิชาชีพแห่งประเทศไทย ชมรมพยาบาล รพ.สต.แห่งประเทศไทย ผู้บริหารสถาบันการศึกษาพยาบาล ชมรมพยาบาลเวชปฏิบัติ ชมรมบริหารพยาบาลแห่งประเทศไทย พยาบาลอาชีวอนามัย พยาบาลวิสัญญี ตัวแทนพยาบาลวิชาชีพชั้นสูง ซึ่งตัวแทนที่เข้าร่วมประชุมมีทั้งในภาคการศึกษาและผู้ปฏิบัติงาน เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ยาฉบับใหม่ ถึงประเด็นปัญหาการดำเนินงานของพยาบาล โดยได้ข้อสรุปร่วมกัน 3 ประเด็น ดังนี้

1.มาตรา 22 (5) ตามร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ขอเพิ่มเติมข้อความ ให้ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ สามารถจ่ายยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายของตนได้ตามมาตรฐานวิชาชีพทั้งในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ทั้งในและนอกสถานพยาบาล

2.เห็นด้วยตาม มาตรา 4 ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ในการแยกประเภทยาเป็น 4 ประเภท โดยเฉพาะยาแผนปัจจุบันซึ่งเป็นยาที่พยาบาลสามารถจ่ายยาได้

3.ขอให้พยาบาลวิชาชีพสามารถใช้ยาและจ่ายยาในกรณีผู้ป่วยมีภาวะฉุกเฉินที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ทันท่วงที

"หลักการในเนื้อหาของ พ.ร.บ.ทั้งหมด ทางสภาการพยาบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นพ้องต้องกันว่ามีประโยชน์กับประเทศ แต่ยังมีประเด็นที่เห็นต่างกันจะมีอยู่ 2 ข้อ คือมาตรา 22 (5) และมาตรา 4 ให้มีการเพิ่มเติมตามที่เสนอ เพื่อให้การทำงานของพยาบาลเป็นไปได้ในปัจจุบัน เพราะปัจจุบันโดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล วิชาชีพพยาบาลเป็นผู้ที่ปฏิบัติงานทั้งด้านวินิจฉัย รักษา จ่ายยา เบื้องต้นแก่ประชาชนตลอดเวลาอยู่แล้ว ส่วนเนื้อหาไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค การวางมาตรการการขายยาออนไลน์ การวางมาตรการการส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศ ซึ่งเป็นเนื้อหาหลักของ พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ แต่คนพูดถึงกันน้อยและเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นประโยชน์กับประเทศไทย โดยภาพรวมของการทำงานเจตนารมณ์ของพยาบาลกับกฎหมายเป็นไปในทิศทางเดียวกันคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน ซึ่งจะนำไปเสนอผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป" นพ.โอภาส กล่าว

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ทางการพม่าสั่งห้ามผู้ประท้วงเรียกร้องปล่อยตัวนักข่าวรอยเตอร์ 2 คน ผู้จัดประท้วงโต้เจ้าหน้าที่ 'เลือกปฏิบัติ'

Posted: 14 Sep 2018 07:15 PM PDT

ฝ่ายบริหารและตำรวจในย่านบาฮันของนครย่างกุ้งเรียกตัวผู้จัดการประท้วงเข้าพบหลังจากมีการยื่นเรื่องของประท้วงเรียกร้องปล่อยตัวนักข่าวรอยเตอร์ 2 คน ที่รายงานข่าวเรื่องโรฮิงญาและถูกตำรวจจัดฉากจับกุมข้อหาความลับทางราชการ ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐอ้างว่าพวกเขาไม่สามารถชุมนุมในสถานที่ที่วางแผนชุมนุมได้ แต่ฝ่ายผู้จัดการประท้วงก็ชี้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐเลือกปฏิบัติ ยอมให้ฝ่ายชุมนุมสนับสนุนกองทัพต่อต้านศาลอาญาระหว่างประเทศชุมนุมได้ในเขตห้ามชุมนุม


(ที่มาภาพ: Steve Tickner|Frontier)

สื่อฟรอนเทียร์เมียนมาร์รายงานว่าทางการย่านบาฮัน เมืองย่างกุ้งเรียกตัวแกนนำผู้จัดการประท้วง เรียกร้องปล่อยตัวนักข่าวรอยเตอร์สองคน ซึ่งมีแผนการประท้วงในวันที่ 16 ก.ย. 2561 ที่จะถึงนี้ โดยทางการเรียกตัวผู้จัดไปเตือนว่าพวกเขาอาจจะถูกจับกุมข้อหาประท้วง "อย่างผิดกฎหมาย" ได้

ผู้จัดงานวางแผนประท้วงเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว วะลง และ จ่อซออู นักข่าวรอยเตอร์ 2 คน ที่ถูกศาลสั่งลงโทษจำคุก 7 ปี เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่ผ่านมา ศาลตัดสินโดยอ้างใช้กฎหมายความลับทางราชการ แต่มีผู้มองว่าการดำเนินคดีในครั้งนี้เป็นไปอย่างปาหี่และข้อหาที่นักข่าวเหล่านี้ถูกดำเนินคดีเป็นการจัดฉากให้เกิดขึ้นโดยตำรวจ

ผู้จัดการประท้วงประกอบด้วยตัวแทนของนักข่าว นักกิจกรรมเพื่อเสรีภาพสื่อและกลุ่มนักกิจกรรมเยาวชน พวกเขาแจ้งทางการในเรื่องการประท้วงแล้วเมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา ในย่านต่างๆ แต่ก็ถูกสั่งห้าม ส่วนเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารในย่านบาฮันชื่ออูเทียนซอ (U Htein Soe) เรียกตัวนักกิจกรรมเหล่านี้ไปเข้าพบช่วงบ่ายของวันที่ 13 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งอูเทียนซอเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงบริหารงานทั่วไป ซึ่งเป็นกระทรวงที่ถูกทหารครอบงำอยู่

ในการเรียกตัวเข้าพบอูเทียนซอกับผู้กำกับการตำรวจเตือนพวกเขาว่าถ้าหากพวกเขายังคงต้องการจัดการประท้วงที่ชื่อ "สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร" ต่อไป พวกเขาอาจจะต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกับกลุ่มประท้วงต่อต้านสงครามในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งผู้ชุมนุมเหล่านี้ถูกปราบปรามด้วยความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายการชุมนุมอย่างสันติ โดยที่ในครั้งนั้นก็เคยถูกตำรวจประกาศสั่งห้ามช่วงปลายปีที่แล้วโดยข้ออ้างว่าเพื่อหลีกเลี่ยง "การรบกวนสาธารณะ" และ "การกีดขวางทางจราจร" แต่ก็มีการฝืนชุมนุมต่อไป

การสั่งห้ามการชุมนุมในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ก็อยู่ในการห้ามแบบเดียวกันซึ่งผู้จัดงานตั้งคำถามว่าคำสั่งของรัฐบาลท้องถิ่นจะเป็นการนำมากลบสิทธิในการชุมนุมอย่างสันติที่ระบุไว้ในกฎหมายการชุมนุมอย่างสันติหรือไม่

อูเทียนซอกล่าวในทำนองว่าเขาไม่อยากให้เหตุการณ์แบบในเดือน พ.ค. เกิดขึ้นอีก ขณะที่เทียนวิน ผู้กำกับการตำรวจประจำเขตปาฮันกล่าวอ้างว่าผู้จัดงานประท้วงเมื่อเดือน พ.ค. ไม่ยอมเชื่อฟังข้อเสนอแนะของตำรวจที่ให้ย้ายการจัดงานไปที่อื่นที่ไม่ใช่สี่แยกใหญ่ และเขาเตือนให้ผู้จัดการชุมนุมในวันอาทิตย์นี้ควรปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ระดับสูง

อย่างไรก็ตามหนึ่งในผู้ประท้วงคือ โคลายทินซินไว (Ko Hline Thint Zin Wai) หนึ่งในผู้จัดการชุมนุมที่มาจากคิตทิตมีเดียกรุ๊ปถามตำรวจว่าทำไมการเดินขบวนสนับสนุนกองทัพถึงได้รับการอนุญาตที่ศาลากลางเมืองย่างกุ้งทั้งที่เป็นพื้นที่ห้ามประท้วง การประท้วงดังกล่าวมีขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีคนหลายสิบคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารเกษียณอายุที่หน้าศาลากลางเมืองเพื่อแสดงการต่อต้านศาลอาญาระหว่างประเทศที่ตัดสินว่าจะสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับกรณีกองทัพพม่าทำให้ชาวโรฮิงญากลายเป็นผู้พลัดถิ่น

"กฎหมายควรถูกบังคับใช้เท่าเทียมกันทุกคน" โคลายทินซินไวกล่าว เขาโต้แย้งเจ้าหน้าที่อีกว่าการสั่งห้ามไม่ให้ชุมนุมเฉพาะบางพื้นที่โดยไม่มีข้อกำหนดถือเป็นการละเมิดกฎหมายการชุมนุมอย่างสงบเสียเองเพราะเจ้าหน้าที่ไม่มีอาณัติใดๆ ที่จะสามารถสั่งการเช่นนี้

โคลายทินซินไวกล่าวอีกว่าการประท้วงในวันอาทิตย์นี้ไม่มีเจตนาจะต่อต้านรัฐบาลหรือกองทัพ พวกเขาแค่ "ทำเพื่อสิทธิของตัวเอง" รวมถึงสิทธิของคนพม่าคนอื่นๆ รวมถึงเจ้าหน้าที่เองด้วย คือสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

สุดท้ายแล้วโคลายทินซินไวก็ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อฟรอนเทียร์เมียนมาร์ว่าพวกเขาจะยังคงจัดการประท้วงบนท้องถนนในแบบใดแบบหนึ่งและจะใช้เส้นทางอื่นในการประท้วง อย่างไรก็ตามพวกเขาก็เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ในแบบเลวร้ายที่สุดเอาไว้แล้ว

เรียบเรียงจาก

Authorities ban protests against jailing of Reuters journalists, threaten arrests, Frontier Myanmar, 13-09-2018
https://frontiermyanmar.net/en/authorities-ban-protests-against-jailing-of-reuters-journalists-threaten-arrests

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ค้าน กสทช. ให้ช่อง 11 NBT หารายได้จากโฆษณา

Posted: 14 Sep 2018 07:00 PM PDT

สภาวิชาชีพข่าวฯ ออกแถลงการณ์คัดค้าน กสทช. ให้ช่อง 11 NBT หารายได้จากโฆษณาทางธุรกิจแข่งขันกับภาคเอกชนเป็นการทำลายกลไกตลาดและสร้างการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบกิจการทั้งอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกับผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลซึ่งประกอบกิจการทางธุรกิจโดยวิธีประมูล ต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรวมกันกว่า 50,000 ล้านบาท และอยู่ในช่วงประสบปัญหาทั้งอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงฯ ตามคำสั่ง คสช.ที่ 9/2561 แต่อย่างใด

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ออกแถลงการณ์ คัดค้านร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. .... โดยระบุว่าตามที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ร่าง ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. ..เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2561 นั้น

สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เห็นว่าการออกประกาศฉบับดังกล่าว ได้ล้มล้างหลักการสำคัญของการทำหน้าที่สื่อเพื่อบริการสาธารณะ ที่กำหนดภารกิจกรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้รับอนุญาตประกอบกิจการบริการสาธารณะประเภทที่สาม มีสถานะเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ใช้งบประมาณแผ่นดินในการดำเนินภารกิจเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากรัฐสู่ประชาชน การหารายได้จากการโฆษณาบริการทางธุรกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมของหน่วยงานสื่อภาครัฐซึ่งทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารภาครัฐจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือ และความเชื่อมั่นในข้อมูลข่าวสาร การหารายได้จากการโฆษณาทางธุรกิจแข่งขันกับภาคเอกชนเป็นการทำลายกลไกตลาดและสร้างการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบกิจการทั้งอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกับผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลซึ่งประกอบกิจการทางธุรกิจโดยวิธีประมูล ต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรวมกันกว่า 50,000 ล้านบาท และอยู่ในช่วงประสบปัญหาทั้งอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงฯ ตามคำสั่ง คสช.ที่ 9/2561 แต่อย่างใด

สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จึงขอให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทบทวนการออกประกาศ กสทช.ฉบับดังกล่าว และกำหนดแนวทาง วิธีการที่เหมาะสม รวมทั้งแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ทั้งระบบมิใช่การจัดรับฟังความคิดเห็นเป็นส่วนๆ เพื่อให้การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและประเทศชาติ และเสนอให้รัฐบาลนำแผนปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ในเรื่องการปฏิรูปสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (สทท.) เพื่อยกระดับการสื่อสารของรัฐ ประชาชน และสาธารณประโยชน์ ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดขึ้นได้จริง

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น