โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

อาจารย์ ร.ร.นายร้อย จปร. เสนอปรับหลักสูตรเน้นสอนทหารใหม่ให้คิดเป็น วางรากฐานประชาธิปไตย

Posted: 12 Sep 2018 10:47 AM PDT

อายจารย์โรงเรียนนายร้อย จปร. นำเสนอบทความวิชาการเรื่องแนวทางการสร้างทหารอาชีพ ยกโมเดล West Point เป็นตัวอย่าง ชี้ 'ทหารอาชีพ' สร้างได้ด้วยการปรับหลักสูตร เน้นสอนมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์เป็นวิชาแกน ทำให้ทหารใหม่คิดเองเป็น เพื่อวางรากฐานให้ระบอบประชาธิปไตย

พ.อ.สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ รองผู้อำนวยการ กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มีการจัดเวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 12 โดยภายในงานได้มีการนำเสนอบทความวิจัยของ พ.อ.สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ รองผู้อำนวยการ กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ชื่อบทความว่า "ปรัชญา" และ "หัวใจ" ของการผลิต "ทหารอาชีพ" ตามแนวทางของโรงเรียนนายร้อยตะวันตก และข้อคิดสำหรับกรณีของไทย ซึ่งเป็นงานที่พัฒนาจาก งานวิจัยเรื่อง "การออกแบบระบบการศึกษาทางทหารของไทยใหม่ เพื่อการผลิตทหารอาชีพและการปฏิรูปกองทัพ" (Redesigning the Thai Military Education System to Produce Professional Military Officers and Support Military Reform) ภายใต้โครงการวิจัยสถาบันการเมือง: ออกแบบประเทศใหม่ ของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และได้รับการอนุมัติจากกองทัพบก ปี 2558-2559

"เพราะอะไรประชาธิปไตยของไทยจึงล้มเหลว" คือโจทย์ที่ พ.อ.สรศักดิ์ คิดกับมันอย่างจริงจังมาตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรี ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนที่จะมารับราชการทหารเป็นอาจารย์สอนในโรงเรียนนายร้อยพระจุลเจ้าเกล้าเมื่อปี 2535 สาเหตุแห่งความล้มเหลวของประชาธิปไตยไทยที่ พ.อ.สรศักดิ์ ได้ยินมาบ่อยครั้งคือ เป็นเพราะทหารเข้ามาทำรัฐประหาร แต่เขาเห็นว่าคำตอบนี้เป็น 1 ใน 3 เสาหลักที่ทำลายประชาธิปไตยเท่านั้น ยังมีอีก 2 เสาที่คนยังไม่ให้น้ำหนักมากเท่าที่ควรนั่นคือ นักการเมือง และประชาชน ที่พยายามเรียกร้อง และเปิดทางให้ทหารเข้ามายึดอำนาจ 

เขาบอกว่ารัฐประหารในปี 2490 ถือเป็นโมเดลต้นแบบของ รัฐประหารที่คลาสสิคที่สุดสำหรับประเทศไทย และกลายเป็นแบบแผนของการรัฐประหารในยุคปัจจุบัน เพราะเป็นการรัฐประหารที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากทหารเพียงฝ่ายเดียว นักการเมือง และประชาชนต่างก็มีส่วนร่วม

แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เขาเข้าไปเป็นอาจารย์ในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าแล้ว โจทย์ใหม่สำหรับเขาคือ การสร้างสิ่งที่เรียกว่า 'ทหารอาชีพ' ตามแบบประเทศในโลกตะวันตกทำนั้น เขาทำกันอย่างไร โจทย์นี้คือที่มาของบทความที่เขาได้นำเสนอ เขาเห็นด้วยว่าหากยังไม่สามารถสร้างทหารอาชีพขึ้นมาได้ เรื่องประชาธิปไตยก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่ต้องพูดถึงสำหรับประเทศไทย

'ทหารอาชีพ' คือทหารที่ยอมรับความเป็นใหญ่ของประชาชน และทำตามคำสั่งของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

รองผู้อำนวยการกองวิชาประวัติศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เล่าว่า หลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนนายร้อยของประเทศโลกที่สามส่วนมากจะนำต้นแบบหลักสูตรมาจาก West Point(The United States Military Academy - สถาบันเตรียมทหารในสหรัฐอเมริกาซึ่งก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1802) แต่มีเพียงไม่กี่ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการสร้าง 'ทหารอาชีพ' ขณะเดียวกันสังคมไทยในช่วงที่เกิดวิกฤติการเมือง หลายคนต่างก็เรียกร้องให้ทหารเป็น 'ทหารอาชีพ' แต่กลับพบว่างานวิจัย หรืองานวิชาการ ที่สำรวจกระบวนการสร้างทหารอาชีพ หากนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ถึงปัจจุบัน ถือว่ามีงานที่พูดถึงเรื่องเหล่านี้น้อยมาก

"เราพูดถึงเรื่อง ทหารอาชีพ กันมาก เพราะเห็นว่ามันเป็นของสำเร็จรูป เราจะได้ทหารที่ไม่เข้ามายุ่งกับการเมือง เราจะได้ทหารที่ไม่ทำรัฐประหาร แล้วเราก็ยกหน้าที่นี้ให้กับโรงเรียนนายร้อยทหารบกไปจัดการ แต่นักวิชาการ หรือคนที่พูดเรื่องนี้ ไม่ได้สนใจจริงๆ เลยว่าโรงเรียนนายร้อย จปร. เขาเรียนกันยังไง เขาฝึกกันอย่างไร" พ.อ.สรศักดิ์ กล่าว

เขากล่าวต่อว่า เขาได้เดินทางไปยังโรงเรียนเตรียมทหาร หรือโรงเรียนนายร้อยในประเทศตะวันตกหลายแห่งทั้งในสหรัฐอเมริกา และประเทศในฝั่งทวีปยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมันนี อิตาลี และสเปน รวมทั้งประเทศในทวีปเอเซียที่ประสบความสำเร็จในการสร้างทหารอาชีพอย่าง เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย สิ่งหนึ่งที่เขาสังเกตเห็นได้จากโรงเรียนายร้อยแทบทุกแห่งคือ วิธีคิดที่ชัดเจนของเหล่าทหารอาชีพว่า จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง โดยมีการสอนเรื่องเหล่านี้กันในหลักสูตรอย่างจริงจัง เขายกตัวอย่างวิธีคิดของทหารเยอรมันนีว่า หากเกิดภาวะสงครามแล้วผู้บังคับบัญชาเสียชีวิตทั้งหมด คนที่ทหารพร้อมจะปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งคือ รัฐบาลที่มีความชอบธรรมจากประชาชน เพราะผู้บังคับบัญชาของพวกเขาก็ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเช่นกัน ซึ่งโดยภาพรวมแล้วนี่คือการสอนที่ทำให้ทหารยอมรับในความเป็นใหญ่ของประชาชน หรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

เราจะสร้าง 'ทหารอาชีพ' ตามแบบโลกตะวันตกได้อย่างไร

พ.อ.สรศักดิ์ เล่าต่อว่า เขาได้สัมผัสบรรยากาศการเรียนการสอนในโรงเรียนนายร้อยในหลายประเทศ พบว่าห้องเรียนแต่ละห้องจะจำกัดจำนวนผู้เรียนไว้ไม่เกิน 18 คน เพื่อที่จะทำให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างจริงจัง ไม่ใช่เป็นเพียงการบรรยายโดยผู้สอนเท่านั้น แต่ผู้เรียนแต่ละคนจะต้องเตรียมตัวก่อนการเรียนเช่นการอ่านหนังสือ ค้นคว้าข้อมูลเพื่อนำมาถกเถียงแลกเปลี่ยนกันห้องเรียน และการจำกัดจำนวนผู้เรียนไม่เกิน 18 คน ก็มีส่วนในการสร้างบรรยากาศในการเรียนทำให้ทุกคนเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน

"การผลิตทหารอาชีพของตะวันตกมีเป้าหมายเพื่อฝึกอบรมให้นักเรียนนายร้อย เติบโตขึ้นเป็นทั้งทหารและพลเมืองที่มีคุณภาพของระบอบประชาธิปไตยไปพร้อมกัน เนื่องจากระบบและกระบวนการผลิตมีเป้าหมายและทำได้จริง คือการฝึกอบรมให้นักเรียนนายร้อยมีความเป็นผู้ใหญ่ มีวินัย มีความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ พร้อมด้วยความรู้ทางทหารและวิชาการอย่างสมดุล เข้าใจบทบาทและหน้าที่ของตน และเข้าใจสังคมและโลกกว้าง ยอมรับความหลากหลายและเคารพซึ่งกันและกัน และพร้อมที่จะเรียนรู้และอยู่ร่วมกันกับสิ่งอื่น หรือคนอื่นในพื้นที่ที่มีความแตกต่างหลากหลายอยู่ตลอดเวลา อันเป็นพื้นฐานที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตย โดยอาศัยวิชาความรู้ในหมวดมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เป็นแกนกลาง" ตอนหนึ่งในบทความ "ปรัชญา" และ "หัวใจ" ของการผลิต "ทหารอาชีพ" ตามแนวทางของโรงเรียนนายร้อยตะวันตก และข้อคิดสำหรับกรณีของไทย

พ.อ.สรศักดิ์ ให้ข้อมูลว่า หลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนนายร้อย จปร. ในปัจจุบันคือหลักสูตร พ.ศ. 2558 แบ่งออกเป็นวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต 5 สาขา วิทยาศาสตรบัณฑิต 2 สาขา และศิลปศาสตรบัณฑิต 1 สาขาเท่านั้น ซึ่งหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิตนี้ในแต่ละปีจะมีนักเรียนนายร้อยเลือกเรียนเพียงร้อยละ 10 จากจำนวนนักเรียนทั้งหมดปีละประมาณ 200-230 คน ขณะที่  West Point ของสหรัฐอเมริกามีถึง 37 สาขา ส่วน KMA (Korea Military Academy – สถาบันเตรียมทหารเกาหลีใต้) มีถึง 30 สาขา ซึ่งเปิดกว้างให้กับให้กับสาขาวิชาด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และยังให้ความสำคัญกับให้ความรู้ในหมวดมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เป็นแกนกลาง ของการเรียนการสอนในโรงเรียนนายร้อยด้วย

พ.อ.สรศักดิ์ กล่าวต่อว่า หัวใจของหลักสูตรในโรงเรียนนายร้อยในโลกตะวันตกมีจุดร่วมกันที่การให้ความสำคัญกับวิชาด้านมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ แต่อาจจะมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปบ้าง เช่น ที่ Universitat der Bundeswehr Hamburg (โรงเรียนนายร้อยในประเทศเยอรมันนี) ซึ่งจะให้ผู้เรียนเรียนหลักสูตรนายร้อยให้จบในระยะเวลาประมาณ 1 ปี และหลังจากนั้นจะต้องสอบเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยพลเรือน ใช้ชีวิตกับนักศึกษาทั่วไป เพื่อที่จะทำให้นายร้อยของเขาเข้าใจสังคมภายนอก หรือที่ VMI (Virginia Military Institute) จะมีระบบคัดออกโดยปีหนึ่งจะมีการรับสมัครทั้งหมดราวๆ 400 คน แต่เมื่ออยู่มาถึงปี 4 จะมีคนที่ผ่านมาถึงขั้นจบการศึกษาเพียง 200 คน ซึ่งนั่นเท่ากับว่าจะได้คนที่มีคุณภาพมากทั้งในแง่ของร่างกาย ความรู้ทางการทหาร และความรู้ในทางวิชาการ

"ผมได้ข้อสรุปว่า การสร้างทหารอาชีพของเขา คือการสร้างทหารวิชาการ หรือทหารปัญญาชน คือบู๊ กับบุ๊น มันอยู่ในคนคนเดียวกันได้ ความเป็นนักรบของเขาไม่ได้ด้อยไปกว่าที่อื่น แต่เขาก็มีความเป็นบัณฑิตอยู่ในคนคนเดียวกัน นี่คือความแตกต่างจากของประเทศเรา เราได้เรื่องบู๊ เรียกได้ว่าเข้มข้นที่สุด แต่เรื่องวิชาการเราไม่ได้เลย เรื่องที่สองคือ ทำไมทหารของยุโรป หรือของสหรัฐอเมริกาเขาถึงไปกันได้กับผู้คนในสังคมเขา หรือไปกันได้กับระบอบประชาธิปไตย เขาเรียนวิทยาศาสตร์ เรียนวิศวกรรมศาสตร์ก็จริง แต่เขามีวิชาแกนประมาณ 40-50 เปอร์เซ็นต์ของหลักสูตร ที่ประกอบไปด้วยวิชาทางด้านมนุษย์ศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ทุกคนจะต้องเรียนแบบนี้หมด และนักเรียนนายร้อยของ West Point ปี 4 ทุกคนจะต้องเรียนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ และเขาเข้าถึงเนื้อในของวิชา เขาถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน ไม่ต่างมหาวิทยาลัยชั้นนำในโลก" พ.อ.สรศักดิ์ กล่าว

ทำอย่างไรให้ว่าที่นายร้อยไทยมีนายเป็นประชาชน

พ.อ.สรศักดิ์ เล่าว่า เมื่อย้อนกลับมาดูหลักสูตรโรงเรียนนายร้อยของไทย หากต้องการจะปรับให้เป็นเหมือนโลกตะวันตก จะต้องรื้อกันทั้งหลักสูตร เพราะโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าตอนนี้มีอายุ 135 ปี สิ่งที่มีการปลูกฝั่งกันมาจากรุ่นสู่รุ่นคือนักเรียนนายร้อยทุกคนจะต้องเน้นไปทางสายวิศวกรรมศาสตร์ และตลอดเวลาที่ผ่านไม่มีวิชาแกนด้านมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์บรรจุอยู่ในหลักสูตรเท่าที่ควรจะเป็น มีเพียงวิชาไทยศึกษาที่บังคับนักเรียนปี 2 เรียนทั้งหมด และวิชาประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่บังคับปี 5 เรียนทุกคน นอกจากนี้มีเพียงวิชาเลือกเสรีอีก 2 วิชาเท่านั้น

"มีปีหนึ่ง ผมสอนปี 2 วิชาไทยศึกษา ผมรับผิดชอบสอนเรื่องการเมืองการปกครองไทย นักเรียนนายร้อยปี 2 มาถามผมว่า อาจารย์ครับ พรรคการเมืองมีหน้าที่อะไร เขาอยู่ปี 2 เขามาเจอกับผมแค่ 2 ชั่วโมง หลังจากนั้นเขาก็ไปเรียนวิศวะโยธา เขาก็ไปเรียนวิชาหลักของเขาหมด แล้วถามว่าคนที่จะจบไปแบบนี้เขาจะเข้าใจอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยไหม เทียบกับ West Point เขามีถึง 37 สาขา มีทั้งนายร้อยที่เรียนวิชาเอกประวัติศาสตร์ เอกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ของเรา 90 เปอร์เซ็นต์เรียนวิศวะทั้งหมด ลูกชายผมเองก็เรียนวิศวะ ถามเรื่องการเมืองสังคมอะไรเขาไม่ค่อยรู้เรียนหรอก แต่เขาเป็นช่างที่เก่งมาก" พ.อ.สรศักดิ์ กล่าว

พ.อ.สรศักดิ์ มีข้อเสนอ 3 ทางเลือกสำหรับประเทศไทยเพื่อที่จะสร้างทหารอาชีพตามแบบโลกตะวันตก อย่างแรกคือการนำต้นแบบจาก West Point มาทำให้เข้มข้น มีวิชาบังคับด้านมนุษย์ศาสตร์ สังคมศาสตร์ และเปิดให้มีหลักสูตรที่หลากหลาย หากไม่สามารถทำแบบนี้ได้เขาเห็นว่า สิ่งที่จะได้จริงๆ คือการทำตามต้นแบบอย่างประเทศเยอรมันนีคือ ให้มีการเรียนหลักสูตรนายร้อยเพียง 1 ปี แล้วให้นักเรียนนายร้อยสอบเข้าไปในมหาวิทยาพลเรือนเพื่อเรียนให้จบปริญญาตรี หรืออีกทางหนึ่งคือการอนุมัติให้มีการตั้ง โรงเรียนนายร้อยของเอกชนขึ้นมาเพื่อที่จะเกิดการแข่งกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาคุณภาพด้านการเรียนการสอน

เมื่อถามว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่จะเปิดให้โรงเรียนนายร้อยมีการเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งในมุมหนึ่งต้องยอมรับว่าการเรียนเรื่องเหล่านี้คือการวิพากษ์องค์กร หรือสถาบันทหารไปในตัว พ.อ.สรศักดิ์ ตอบว่า เท่าที่สังเกตจากประสบการณ์ในห้องเรียนที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จมาบรรยายให้นักเรียนนายร้อยฟัง เวลานั้นก็มีบรรยากาศของการถกเถียงกันอย่างจริงจัง หรือตอนที่ได้เข้าไปเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อยช่วงแรกๆ ก็ได้เชิญ สมศักดิ์ เจียมธีระสกุล ไปบรรยายเรื่องพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย คนอย่างวรเจตน์ ภาคีรัตน์, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และปวิณ ชัชวาลพงพัน ก็เคยมาบรรยายที่นี่ การที่เราเชิญอาจารย์ข้างนอกเหล่านี้เข้ามา เพราะเราต้องการให้นักเรียนายร้อยรู้ว่า มุมมองของคนข้างนอกโรงเรียนเขาคิดอย่างไร เขามองอย่างไร และเท่าที่ผ่านมามันก็ไม่เกิดปัญหา เพียงแต่ก่อนหน้านี้มันเป็นเพียงห้องเรียนเล็กๆ เท่านั้น

เมื่อถามต่อไปว่า ถ้ายกตัวอย่างสถาบันอย่างสิงห์ดำ สิงแดง โดยหลักสูตรการเรียนการสอนเองก็มีเน้นให้นักศึกษาคิดเองเป็น มีการถอดรื้อ มีการวิพากษ์ มีการถกเถียงในห้องเรียน แต่ก็ยังมีระบบนอกห้องเรียนอีกแบบหนึ่ง ยังคงมีการยึดถือในระบบรุ่น ซึ่งโรงเรียนนายร้อยก็คงมีความเข้มข้นในเรื่องนี้เช่นกัน เราจะทำอะไรอย่างกับเรื่องแบบนี้ พ.อ.สรศักดิ์ ตอบว่า เวลาเราฝึก เราสอนคน เราก็ต้องสอนเขาเต็มที่ แต่เมื่อเขาเขาไปในกองทัพ มันก็เหมือนกับการที่เราส่งสิงห์แดง สิงห์ดำเข้าไปในมหาดไทย มันก็จะมีวัฒนธรรมองค์กรอีกแบบหนึ่ง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ต้องเข้าไปแก้ไขกันอีกจุด แต่เราคิดว่าถ้าเราสามารถพัฒนาทหารที่เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพได้ แล้วทำได้มากขึ้นเรื่อยๆ มันก็จะทดแทน มันก็จะเข้าไปปรับระบบภายในเอง โดยเฉพาะการจะปรับวัฒนธรรมกองทัพ เราไม่สามารถทำได้จากภายนอก เราต้องใช้คนภายในทำ ค่อยปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ มันอาจจะนาน 10 – 20 ปี กว่าเราจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลง แต่เราต้องเริ่มอัดฉีดทหารอาชีพเข้าไปในกองทัพตั้งแต่วันนี้

"อาจารย์ท่านหนึ่งที่ผมได้เรียนด้วยที่สหรัฐอเมริกา ท่านเคยบอกว่า การที่เราจะรู้ว่าทหารเขาคิดอะไร อย่างแรกเราต้องดูระบบการเรียนการสอนที่โรงเรียนนายร้อย สองซึ่งเมืองไทยยังขาดในแง่ของงานวิจัยคือ วัฒธรรมของกองทัพตั้งแต่คนคนหนึ่งจบร้อยตรีเข้าไปในกองทัพจนเป็นนายพลเขาเห็นอะไรบ้าง เราจะได้รู้ว่าปัญหาภายในกองทัพคืออะไร" พ.อ.สรศักดิ์ กล่าว

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'วันนอร์' นำทีมจดจัดตั้งพรรคประชาชาติ ยันไม่เอารัฐประหาร-นายกฯ คนนอก ไม่ใช่นอมินีเพื่อไทย

Posted: 12 Sep 2018 08:44 AM PDT

'วันนอร์-ทวี สอดส่อง' นำทีมจดจัดตั้งพรรคประชาชาติ กับ กกต. หวัง 20 ส.ส. ย้ำนโยบายและจุดยืน ไม่เอา คสช. ไม่เอารัฐประหาร ไม่เอา นายกฯ คนนอก ยันไม่ใช่นอมินีของพรรคเพื่อไทย ขณะที่ 'ภูมิใจไทย' ยื่นฟ้อง 'แรมโบ้อีสาน' กล่าวหาซื้อเสียง

ที่มาภาพ เฟสบุ๊กแฟนเพจ วันมูหะมัดนอร์ มะทา 

12 ก.ย.2561 วันนี้ เมื่อเวลา 13.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กลุ่มจัดตั้งพรรคประชาชาติ นำโดย วันมูหะมัดนอร์ มะทา ว่าที่ หัวหน้าพรรคฯ และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ว่าที่เลขาธิการพรรคฯ พร้อมด้วยผู้ร่วมก่อตั้งพรรค ประมาณ 10 คน เดินทางมายื่นเอกสารและหลักฐานเพิ่มเติม ในการจดทะเบียนพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้กลุ่มจัดตั้งพรรคฯ นำรายชื่อผู้ร่วมก่อตั้งพรรคฯ ประมาณ 1,000 รายชื่อ มายื่นต่อ กตต. เพื่อทำการตรวจสอบตามขั้นตอน

วันมูหะมัดนอร์ ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า นโยบายและจุดยืนของพรรคฯ คือไม่เอา คสช. ไม่เอารัฐประหาร ไม่เอา นายกฯ คนนอก ทั้งนี้พรรคประชาชาติไม่ได้แยก หรือเป็นนอมินีของพรรคเพื่อไทย ซึ่งพรรคฯ มีความหลากหลาย มีจุดยืนที่ชัดเจน โดยพรรคฯ ต้องการเก้าอี้ ส.ส. จำนวน 20 ที่นั่ง 
ด้านนายทะเบียน และ เจ้าหน้าที่ กกต. ระบุว่า จะต้องใช้เวลาในการตรวจสอบเอกสาร หลักฐานอย่างน้อย 45 วัน จากนั้น วันมูหะมัดนอร์ พร้อมผู้ร่วมก่อตั้งพรรคฯ เดินทางกลับ

'ภูมิใจไทย' ยื่นฟ้อง 'แรมโบ้อีสาน' กล่าวหาซื้อเสียง

ขณะที่ ศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กแฟนเพจ 'ศุภชัย ใจสมุทร พรรคภูมิใจไทย' โดยระบุว่าทางพรรคภูมิใจไทยได้ยื่นฟ้องคดีอาญา สุภรณ์ อัตถาวงศ์ ต่อศาลจังหวัดนครราชสีมาในข้อหาหมิ่นประมาท แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน จากกรณีที่ สุภรณ์ หรือ แรมโบ้อีสาน อดีตแกนนำกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ประชาธิปไตย (อพปช. ) และอดีตแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) อีสาน ได้นำชาวบ้าน อ.ครบุรี และ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา จำนวนกว่า 40 คน เดินทางมายื่นเรื่องร้องเรียนต่อสำนักงาน กกต. ประจำจังหวัดนครราชสีมา เพื่อขอให้มีการตรวจสอบพฤติกรรมของ พรชัย อำนวยทรัพย์ ว่าที่ผู้สมัคร สส.พรรคภูมิใจไทย เขต อ.ครบุรี และ อ.เสิงสาง โดยมีพยานและหลักฐานมายืนยันกับ กกต. ว่า พรชัย ได้ร่วมมือกับเสี่ยเจ้าของโรงงานแป้งมันในพื้นที่ อ.เสิงสาง จ้าง อสม. และผู้นำชุมชนในพื้นที่ ออกล่าเก็บบัตรประจำตัวประชาชนของชาวบ้าน เพื่อมาเตรียมที่จะให้สมัครเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทย ซึ่งอาจจะเข้าข่ายเตรียมซื้อเสียงล่วงหน้า ผิด พ.ร.บ.พรรคการเมือง ผิดกฎหมายการเลือกตั้ง และขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งนายสุภรณ์ ได้ขอให้ กกต.จังหวัดนครราชสีมา ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อนำเรื่องเสนอให้ กกต.ส่วนกลางพิจารณายุบพรรคภูมิใจไทยด้วย

 

ศุภชัย ระบุว่า การกล่าวหาพรรคภูมิใจไทยทำผิดกฏหมายเลือกตั้ง เรื่องดังกล่าวได้เข้าสู้กระบวนการของศาลแล้ว คงไม่ต้องแสดงความเห็นอะไรอีก ส่วนนายสุภรณ์ จะกล่าวหาอย่างไร จะตอบโต้อย่างไร ก็ไปว่ากันในชั้นศาล ทั้งนี้ ศาลนัดไกล่เกลี่ยในวันที่ 6 พ.ย. และไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 19 พ.ย. นี้

ที่มา เฟสบุ๊กแฟนเพจ วันมูหะมัดนอร์ มะทา เพจ 'ศุภชัย ใจสมุทร พรรคภูมิใจไทย' และโพสต์ทูเดย์

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

กสม. เผย ครม. ตอบรับข้อเสนอการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

Posted: 12 Sep 2018 07:43 AM PDT

กสม. เผย คณะรัฐมนตรีตอบรับข้อเสนอแนะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรื่องการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

 

ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

12 ก.ย. 2561 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม) รายงานว่า ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีหนังสือแจ้งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทราบว่า ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา มีมติรับทราบข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีการจัดทำแผนปฏิบัติการะดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights-NAP) ของ กสม. ที่เสนอให้กับรัฐบาลไปก่อนหน้านี้

สำหรับข้อเสนอแนะของ กสม. กรณีการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน มีจำนวนทั้งสิ้น 12 ประเด็น ครอบคลุมการจัดทำนโยบายว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติโดยคำนึงถึงปัญหาอุปสรรคและข้อท้าทาย การกำหนดให้รัฐวิสาหกิจเป็นผู้นำในการส่งเสริมการทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนรวมถึงแนวทางมาตรการแก้ไขปัญหาช่องว่างทางกฎหมายและกระบวนการทางปกครองที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม การมีกลไกการเยียวยาร้องทุกข์นอกกระบวนการยุติธรรมของรัฐที่มีประสิทธิภาพ

ประกายรัตน์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่รัฐบาลได้แสดงถึงเจตจำนงทางการเมืองและประกาศคำมั่นในการให้ความสำคัญกับประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เนื่องด้วย มติคณะรัฐมนตรีข้างต้นเป็นการรับทราบสรุปผลการดำเนินการตามที่กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีมติให้ความเห็นชอบข้อเสนอของ กสม. ทั้ง 12 ประเด็น โดยเห็นว่า ข้อเสนอแนะดังกล่าวของ กสม. จะทำให้แผนปฏิบัติการฯ ที่รัฐบาลกำลังยกร่าง มีความชัดเจนและสอดคล้องกับหลักการชี้แนะของสหประชาชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การยกระดับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศในระยะยาวต่อไป อีกทั้งยังเป็นการส่งสัญญาณไปยังนานาชาติในเรื่องนี้ด้วย

ประกายรัตน์ กล่าวย้ำว่า แผนปฏิบัติการระดับชาติฯ คือหัวใจของการขับเคลื่อนหลักการชี้แนะของสหประชาชาติเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ดังนั้นในฐานะสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (National Human Rights Institution) กสม. จึงได้สนับสนุนและติดตามการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ทั้งในด้านเนื้อหาผ่านข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี และกระบวนการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมและความโปร่งใส ตลอดจนรับฟังเสียงสะท้อนจากบุคคลและกลุ่มต่าง ๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากธุรกิจ และผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องด้วย

สำนักงาน กสม. ระบุว่า กสม. มุ่งมั่นนำหลักสิทธิมนุษยชนมาเป็นหลักการสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2560 พร้อมทั้งยืนหยัดที่จะทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาล ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมถึงผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นการยกระดับการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนของประชาชนในประเทศภายใต้ความท้าทายใหม่ ๆ ในระยาวต่อไป

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ศาลให้ประกันตัว 2 ผู้ต้องหาคดี 'เสื้อสหพันธรัฐไท' วางหลักทรัพย์รวม 2.4 แสน

Posted: 12 Sep 2018 06:19 AM PDT

ศูนย์ทนายฯ รายงาน ศาลอาญาอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว 'หญิงวินมอเตอร์ไซค์ - สมศักดิ์ (นามสมมติ)' 2 ใน 4 ผู้ต้องหากรณีเสื้อสหพันธรัฐไทในข้อหาอั้งยี่-ยุยงปลุกปั่น หนึ่งรายหลักทรัพย์ 2 แสน - ปล่อยชั่วคราวไม่กำหนดเงื่อนไข อีกหนึ่งรายหลักทรัพย์ 4 หมื่น - ห้ามออกนอกประเทศ ใส่อุปกรณ์ติดตามตัว

ภาพเสื้อต้องห้ามที่ถูกระบุเป็น มีสัญลักษณ์ธงสหพันธรัฐไท

12 ก.ย. 2561 ความคืบหน้ากรณีเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมตัว วรรณภา (สงวนนามสกุล) แม่เลี้ยงเดียวที่มีลูกวัย 14 ปี และ 9 ปี อาชีพขับจักรยานยนต์รับจ้าง พร้อมเสื้อยืดสีดำที่มีแถบป้ายสีขาวแดงบริเวณหน้าอก ซึ่งถูกระบุว่าเป็นเสื้อสหพันธรัฐไทจำนวนหนึ่งที่บริเวณห้องพักย่านสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ที่ผ่านมา และนำตัวมาควบคุมตัวไว้ที่มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) โดยต่อมา (11 ก.ย.61) ถูกนำตัวส่งกองบังคับการปราบปราม นั้น

ล่าสุดวันนี้ (12 ก.ย.61) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษกอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวให้กับ วรรณภา โดยไม่กำหนดเงื่อนไข

วรรณภา ถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม และข้อหาอังยี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 โดยข้อหายุยงปลุกปั่นถูกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาเพิ่มเติมทีหลัง หลังแจ้งข้อหาเพิ่มเติม พนักงานสอบสวนนำตัว วรรณภา ไปศาลอาญา เพื่อขออำนาจศาลฝากขัง ครั้งที่ 1 ระหว่างที่ยังสอบสวนคดีไม่เสร็จ จนเมื่อราว 15.00 น. ศาลอาญาได้อนุญาตฝากขังเธอตามคำร้อง ทนายความจึงยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้หลักทรัพย์ 200,000 บาท และศาลอนุญาตให้ปล่อยตัว

คำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 ระบุพฤติการณ์ว่า พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ เป็นผู้กล่าวหาวรรณภา โดยบรรยายพฤติกรรมของวรรณภาว่าเป็นผู้รับเสื้อที่มีสัญลักษณ์ของกลุ่มสหพันธรัฐไทเพื่อส่งต่อให้ผู้อื่น เป็นความผิดฐานยุยงปลุกปั่นและอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ 209

คดีนี้มีผู้ถูกจับกุมทั้งสิ้น 4 คน คือ นายกฤษณะ, นางประพันธ์, นายสมศักดิ์ และนางวรรณภา ทั้งสี่ถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นและอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ 209 เมื่อ 11 ก.ย. ศาลอาญาได้อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว สมศักดิ์ ด้วยหลักทรัพย์ 40,000 บาท มีเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกนประเทศและให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัว

เรื่องราวของวรรณภาเกิดขึ้นเมื่อ 6 ก.ย. เมื่อศูนย์ทนายฯ ได้รับแจ้งจากแม่ของวรรณภาว่าวรรณภาถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปจากบ้านพักย่านสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ เจ้าหน้าที่ทหารประมาณ 7-8 คน  ได้ใช้รถตู้สองคันมาควบคุมตัววรรณภาโดยไม่ได้บอกว่าจะเอาตัวไปไหนและยังยึดเสื้อดังกล่าวไปด้วยอีกหลายตัว ขณะเกิดเหตุนั้น ลูกชายคนหนึ่งของวรรณภาก็อยู่ในเหตุการณ์ โดยลูกสองคนไม่ได้เจอกับวรรณภาผู้เป็นแม่เลย จนกระทั่งอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พาพวกเขาเข้าไปพบวรรณภาที่ มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ. 11) เมื่อ 9 ก.ย. ที่ผ่านมา หลัง กสม. ประสานไปยังเจ้าหน้าที่ คสช. เพื่อให้ กสม. พาเด็กทั้งสองเข้าเยี่ยมวรรณภา

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

โปรดเกล้าฯ พ.ร.ป.ส.ส. - ส.ว. แล้ว ไทม์ไลน์หลังจากนี้เป็นอย่างไร

Posted: 12 Sep 2018 03:40 AM PDT

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาประกาศให้ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. และพ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว. เป็นกฎหมายแล้ว ไทม์ไลน์สู่การเลือกตั้งนับจากนี้ต้องรอให้ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้อีก 90 วัน หลังจากนั้นให้จัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน ส่วน ส.ว. 250 คนสามารถดำเนินสรรหามาให้ คสช. เลือกได้เลย

12 ก.ย. 2560 เว็บไชต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.) แล้ว

ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานเพิ่มเติมว่า ตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 มาตรา 268 ระบุว่า ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน หลังจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง , พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง , พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. มีผลบังคับใช้

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2561 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) โดยลงมติเห็นชอบให้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ออกไปอีก 90 วันหลังมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา โดยที่ประชุมได้ให้เหตุผลว่า เพื่อให้ประชาชนและผู้เกี่ยวข้อง มีเวลาเตรียมตัว ศึกษาทำความเข้าใจ เตรียมความพร้อมกับระบบเลือกตั้งแบบใหม่

นั่นเท่ากับว่า ระยะเวลาในการเตรียมการจัดการเลือกตั้ง 150 วันจะมีผลเริ่มนับได้ตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค. 2561 และการเลือกตั้งจะขึ้นได้อย่างช้าที่สุดไม่เกินวันที่ 9 พ.ค. 2562 ตามกรอบ 150 วัน แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายไม่ได้ระบุให้ใช้ระยะเวลาเต็มตามกรอบนี้ หากแต่สามารถจัดการเลือกตั้งภายในระยะเวลาเท่าใดก็ได้แต่ต้องไม่เกิน 150 วัน

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2561 อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ระบุว่า หลังจากที่กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ คาดว่า จะมีการประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ส.ส. วันที่ 4 ม.ค.2562 และเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ.2562 หรือช้าสุดไม่เกินวันที่ 2 พ.ค. 2562

ในส่วนของการทำกิจกรรมของพรรคการเมืองนั้น หลังจากนี้ คสช. จะมีออกสั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 เพื่อคลายล็อคทางการเมืองพรรคการเมืองทุกพรรคสามารถทำกิจกรรมการทางเมือง เช่น ให้มีการประชุมใหญ่พรรค ให้เลือกหัวหน้า-กรรมการบริหารพรรค จัดทำข้อบังคับพรรค ประกาศอุดมการณ์พรรค และเปิดรับสมาชิกพรรค รวมทั้งดำเนินการสรรหาผู้ลงรับสมัครเลือกตั้งในระบบแบ่งเขต และระบบบัญชีรายชื่อได้ แต่ยังคงห้ามให้มีการลงพื้นที่หากเสียงทางการเมือง

ในส่วนของการดำเนินการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ว. นั้น เมื่อวันที่ 5 ก.ย. พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. เปิดเผยว่า เมื่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วจะมีผลบังคับใช้ทันที กระบวนการสรรหา ส.ว. ก็ต้องเริ่มดำเนินการในทันที โดยหลังจากนี้ กกต.จะพิจารณาให้ความเห็นชอบระเบียบ กกต.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. จากนั้น 12 ต.ค. จะประกาศกำหนดวันลงทะเบียนองค์กร เพื่อเป็นองค์กรที่จะมีสิทธิเสนอชื่อผู้สมัคร ส.ว. และแจ้งให้สำนักงาน กกต.จังหวัดทราบ วันที่ 22-31 ต.ค. สำนักงานกกต.จังหวัด รับลงทะเบียนองค์กร วันที่ 16 พ.ย. คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและนายกรัฐมนตรี นำ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือก ส.ว. ทูลเกล้าฯ วันที่ 20 พ.ย. ประกาศรายชื่อองค์กรที่มีสิทธิแนะนำชื่อบุคคลเพื่อสมัครรับเลือกเป็น ส.ว. แยกเป็นรายกลุ่ม

นอกจากนี้ วันที่ 30 พ.ย.คาดว่า พ.ร.ฎ ให้มีการเลือก ส.ว.มีผลใช้บังคับ วันที่ 5 ธ.ค. กกต.ประกาศเกี่ยวกับวันเลือก วันรับสมัคร และสถานที่เลือก ซึ่งระดับอำเภอภายใน 20 วัน นับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลารับสมัคร ระดับจังหวัดภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกในระดับอำเภอ และระดับประเทศภายใน 10 วันนับแต่วันเลือกในระดับจังหวัด เปิดรับสมัคร ส.ว. วันที่ 10-14 ธ.ค. ซึ่งเป็นการเปิดรับสมัครไม่เกิน 15 วันนับแต่วันที่มี พ.ร.ฎ. และวันที่ 30 ธ.ค. จะเป็นวันเลือก ส.ว. ในระดับอำเภอ วันที่ 6 ม.ค. 62 เลือก ส.ว.ในระดับจังหวัด วันที่ 16 ม.ค. เลือก ส.ว.ในระดับประเทศ วันที่ 17-21 ม.ค. กกต. รอไว้ 5 วันตามที่กฎหมายกำหนด และวันที่ 22 ม.ค. กกต.แจ้งรายชื่อผู้ได้คะแนนสูงสุดลำดับที่ 1-10 ของแต่ละกลุ่ม แต่ละวิธีสมัคร รวม 200 คนให้คสช.คัดเลือกเป็นส.ว. 50 คน และคัดเลือกอีก 50 คน เป็นบัญชีสำรอง

ทั้งนี้ ตามบทเฉพาะกาลของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. กำหนดให้ ส.ว. ชุดแรกมีจำนวนทั้งหมด 250 คน ซึ่งแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ตามที่ คสช. ถวายคำแนะนำ โดยมีช่องทางในการสรรหาทั้งหมด 3 ทางคือ

1.ให้คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาซึ่งแต่งตั้งโดย คสช. จำนวน 9-12 คน คัดเลือกบุคคลมาทั้งหมด 400 รายชื่อยื่นเสนอต่อ คสช. จากนั้น คสช. จะเป็นผู้เลือกให้เหลือ 194 รายชื่อเพื่อเป็นสมาชิกวุฒิสภา และคัดเป็นรายชื่อสำรอง 50 รายชื่อ

2.ให้ กกต. ดำเนินการจัดให้มีการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภาตามบททั่วไป แต่ให้มีการรับสมัครเพียงแค่ 10 กลุ่มอาชีพ ตามมาตรา 91 และให้มีการดำเนินการคัดเลือกตามที่บทเฉพาะกาลบัญญัติไว้ สุดท้ายให้ได้รายชื่อทั้งหมด 200 รายชื่อ เพื่อยืนให้ คสช. คัดเลือกให้เหลือ 50 รายชื่อเพื่อเป็นสมาชิกวุฒิสภา และคัดเป็นรายชื่อสำรอง 50 รายชื่อ

3.ให้มีสมาชิกวุฒสภาโดยตำแหน่ง 6 ตำแหน่งดังต่อไปนี้ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ

โดย ส.ว.ชุดนี้จะมีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี และในวาระเริ่มแรกจะมีอำนาจให้ความเห็นชอบผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ด้วย ซึ่งจากเดิมเป็นอำนาจในการพิจารณาให้ความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น และยังมีหน้าที่ในการตรวจการ กำกับ ดูแล การทำงานของรัฐบาลให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้วย

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'พุทธอิสระ' รับสารภาพคดีทำร้ายตร.สันติบาล ช่วงชุมนุม กปปส. ศาลนัดพิพากษา 29 ต.ค.นี้

Posted: 12 Sep 2018 03:16 AM PDT

สุวิทย์ ทองประเสริฐ หรืออดีตพระพุทธะอิสระ แกนนำ กปปส.เวทีแจ้งวัฒนะ ปี 57 'ให้การรับสารภาพ' คดีกักขัง-ทำร้ายตร.สันติบาล ศาลนัดพิพากษา 29 ต.ค.นี้ เจ้าตัวแจงสื่อรับผิดชอบในฐานะผู้นำการชุมนุม แม้ตนจะไม่รู้เห็นต่อเหตุการณ์ที่การ์ดจิตอาสารุมทำร้าย

12 ก.ย.2561 ผู้จัดการออรไลน์ รายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ห้องเวรชี้ ชั้นล่างศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก สุวิทย์ ทองประเสริฐ หรืออดีตพระพุทธะอิสระ อายุ 59 ปี อดีตเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย และ แกนนำ กปปส.เวทีแจ้งวัฒนะ ปี 2557 ได้เดินทางมาตามนัดเพื่อสอบคำให้การในคดีหมายเลขดำที่ อ.2498/2561 ที่พนักงานอัยการสำนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 ยื่นฟ้อง สุวิทย์ เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังหรือกระทำด้วยการใดให้เจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ฯ ให้รับอันตรายสาหัส, ร่วมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปข่มขืนใจให้ผู้อื่นกระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายฯ หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309, 310

ภาพพุทธอิสระสอบถาม พร้อมปิดตา ตร. ซึ่งถูกเผยแพร่ในยูทูบบัญชี Buddha Isara
 

โดยวันนี้อดีตพระพุทธะอิสระซึ่งสวมชุดสีขาวและนั่งรถเข็น เดินทางมาศาลพร้อมทนายความ บุคคลใกล้ชิดและลูกศิษย์ที่เดินทางมาให้กำลังใจจำนวนมาก ทั้งนี้ ศาลได้อ่านและอธิบายคำฟ้องแล้วสอบถามว่าจะให้ปฏิเสธหรือรับสารภาพ ปรากฎว่าอดีตพระพุทธะอิสระให้การรับสารภาพ ศาลจึงมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่คุมประพฤติสืบเสาะประวัติและรายละเอียดเพื่อประกอบการพิพากษา ในวันที่ 29 ต.ค. 2561 เวลา 09.00 น.

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานด้วยว่า ต่อมาเวลา 11.00 น. เจ้าหน้าที่จึงได้ให้อดีตพระพุทธะอิสระซึ่งนั่งรถเข็นเนื่องจากเพิ่งผ่าตัดดวงตาข้างขวาและมีปัญหาข้อเข่าเสื่อม ไปรายงานตัวที่สำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานคร 7 ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน

วิทยารัตน์ ชาติปรีชากุล ผอ.สำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานคร 7 เปิดเผยว่า คดีนี้ศาลสอบคำให้การจำเลยแล้วให้การรับสารภาพ ศาลจึงสั่งให้จำเลย เข้าสู่กระบวนการสืบเสาะและพินิจ โดยให้สำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานคร 7 ทำหน้าที่สืบเสาะดูรายละเอียดทุกอย่างตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ทั้ง ประวัติ สุขภาพ และพฤติการณ์ทางคดี แล้วรายงานเพื่อประกอบการพิพากษาของศาลในวันที่ 29 ต.ค.นี้ เวลา 09.00 น.

แจงสื่อรับผิดชอบในฐานะผู้นำการชุมนุม แม้ตนจะไม่รู้เห็น

ขณะเดียวกัน ภายหลังเข้ารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่คุมประพฤติแล้ว อดีตพระพุทธะอิสระได้แถลงเป็นเอกสารต่อสื่อมวลชนว่า เนื่องด้วยนฐานะผู้นำการชุมนุมของประชาชนเวทีแจ้งวัฒนะขอแถลงต่อศาลว่า การที่มีชาย 2 คนที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลถูกการ์ดจิตอาสารุมทำร้ายจนบาดเจ็บ แม้ตนจะไม่รู้เห็นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้ผู้อื่นจะเป็นผู้กระทำก็ตาม จึงขอแสดงความรับผิดชอบต่อความผิดทั้งมวลที่เกิดขึ้น แม้จะไม่ได้เป็นผู้กระทำก็ตามและพร้อมที่จะช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้เสียหายตามกำลังความสามารถที่ตนมี จึงกราบเรียนข้อความข้างต้นต่อศาลที่เคารพ

สำหรับคดีนี้อัยการโจทก์ฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2557 เวลากลางวัน ขณะนั้นมีการตั้งเวทีปราศรัยของกลุ่ม กปปส.ที่ ถ.แจ้งวัฒนะ บริเวณหน้ากรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยมีจำเลยเป็นหัวหน้าผู้นำกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณเวทีดังกล่าวทั้งหมด โดยจำเลยกับกลุ่มบุคคลไม่ทราบชื่อจำนวนมากกว่า 5 คนขึ้นไป ซึ่งทำหน้าที่เป็นการ์ดคอยดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณเวทีปราศรัยที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้บังอาจร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขัง ร.ต.ต.สมคิด เชยกมล และ ด.ต.วชิรพงศ์ อุ่นนวลบูรพงศ์ ผู้เสียหายที่ 1-2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลที่ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้เข้าไปทำหน้าที่สืบสวนหาข่าว

จำเลยกับพวกได้ใช้กำลังจับผู้เสียหายทั้งสองปิดตา มัดมือไพล่หลัง ใช้กำลังประทุษร้ายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส กระดูกซี่โครงหักและตับฉีกขาด บาดแผลใช้เวลารักษาตัวประมาณ 6 สัปดาห์ ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับอันตรายแก่กาย มีบาดแผลฟกช้ำหลายแห่ง ฟันซ้ายล่างหัก ใช้เวลารักษาตัวประมาณ 10 วัน และเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้เสียหายทั้งสองถูกประทุษร้ายสูญหายมูลค่ารวม 60,900 บาท

นอกจากนี้ จำเลยกับพวกยังร่วมกันข่มขู่ให้ผู้เสียหายทั้งสอง บอกรหัสปลดล็อกโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายให้บอกว่าตนเป็นผู้ใด เข้ามาบริเวณที่ชุมนุมเพื่ออะไร เมื่อไม่ยอมบอกพวกของจำเลยจึงใช้กำลังประทุษร้ายและข่มขู่จนผู้เสียหายทั้งสองต่างจำยอมตามที่พวกของจำเลยข่มขู่ ซึ่งจำเลยเป็นผู้ควบคุมการชุมนุมมีอำนาจสั่งการให้พวกของจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งของตนได้ จำเลยทราบว่าพวกของจำเลยได้หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายทั้งสองไว้ แต่กลับเพิกเฉยไม่สั่งให้ปล่อยตัวไป และสั่งการพวกของจำเลยหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายทั้งสองไว้เป็นเวลาหลายชั่วโมง

เหตุเกิดที่แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กทม. ชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ทั้งนี้อัยการได้ขอให้ศาลนับโทษจำเลยต่อจากคดีหมายเลขดำที่ อ.247/2561 (คดีกบฏ กปปส.) ด้วย ซึ่งจำเลยได้รับการประกันตัว โดยศาลตีราคาประกัน 200,000 บาท และกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นได้รับอนุญาตจากศาล

ทั้งนี้ อดีตพระพุทธะอิสระ ถูกตำรวจนำกำลังคอมมานโดเข้าจับ ที่วัดอ้อน้อย ช่วงเช้าวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา ตามหมายจับ ในคดีดังกล่าว พร้อมถูกฝากขังและจับศึก ก่อนที่จะได้ประกันตัวโดยยื่นหลักทรัพย์ 2 แสนบาท ต่อศาล เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

กูเกิลเล็งส่งโซเชียล ‘บ้านใกล้เรือนเคียง’ ตีตลาดพันล้านคนในอินเดียที่กำลังเป็นป่าปูน

Posted: 12 Sep 2018 03:13 AM PDT

กูเกิลวางแผนตีตลาดผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหลักพันล้านคนในอินเดียด้วยโซเชียลเน็ตเวิร์กแบบเว็บบอร์ดชุมชน สอดรับการทำวิจัยที่พบว่าชาวอินเดียดำเนินชีวิตไม่ห่างจากที่พำนัก บวกกับการกลายเป็นเมืองที่ขยายตัวเร็วเกินคนปรับตัวทัน องค์กรส่งเสริมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกังวลเรื่องกฎหมายความเป็นส่วนตัวที่ยังไม่ออกมา ในวันที่บรรษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ต่างมองผู้ซื้อจำนวนมหาศาลตาเป็นมัน

ภาพความชุลมุนบนถนนในอินเดีย (ที่มา:flickr/mmntz)

เดอะการ์เดียนนำเสนอว่าหลายพื้นที่ในอินเดียยังคงมีข้อจำกัดด้านการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียอย่างอินสตาแกรมในอินเดียยังต้องพยายามยืนหาสัญญาณในที่โล่งๆ บางคนก็มีการเปิดบัญชีผู้ใช้โซเชียลมีเดียร่วมกัน นอกจากนี้ยังมักจะประสบปัญหาหน่วยความจำของโทรศัพท์เต็ม

ผู้ที่ประสบปัญหารายนี้คือผู้หญิงอายุ 22 ปี จากชัยปุระ รัฐราชสถาน เธอได้เข้าไปนั่งพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับทีมกูเกิลในห้องนั่งเล่นที่มีกระดานบันทึก ทำให้หญิงอายุ 22 ปีที่เป็นคนธรรมดาคนหนึ่งรู้สึกได้รับความสำคัญจากบรรษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก

มีการวิเคราะห์ว่าตลาดโทรศัพท์มือถือในประเทศในโลกที่หนึ่งพัฒนาแล้วตอนนี้ถึงจุดที่ใกล้อิ่มตัว นั่นทำให้บรรษัทไอทีอย่างกูเกิล เฟซบุ๊ค และอเมซอนเริ่มหันไปหาตลาดอย่างเอเชียและแอฟริกา ประเทศอินเดียที่ข้อมูลของธนาคารโลกที่ระบุว่าอินเดียมีจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนสูงเป็นอันดับที่สามของโลกคือมากกว่า 330 ล้านราย ขณะเดียวกันก็มีประชากรที่เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตมากที่สุดถึง 1,000 ล้านรายด้วยจึงถูกมองในฐานะตลาดขนาดใหญ่

จอช วูดวาร์ด ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ของกูเกิลบอกว่า ทีมของพวกเขากำลังวางแผนออกเพื่อรองรับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายใหม่นับพันล้านคนในอนาคต  และกำลังคิดกันว่าจะออกแบบอย่างไรถ้ามองจากมุมของชาวอินเดียแทนที่จะมองจากมุมของสำนักงานใหญ่กูเกิลเอง นั่นทำให้พวกเขาออกแบบโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ชื่อ "เนเบอร์ลี" (Neighbourly) ที่แปลได้ว่า "บ้านใกล้เรือนเคียง" ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากอินเดีย เป็นความพยายามท้าทายตลาดไอทีของเฟซบุ๊คและว็อทสแอพพ์รอบล่าสุดโดยมีการประเมินว่าจะมีผู้ใช้งานเกิน 800 ล้านคนภายใน 3 ปีข้างหน้า

เนเบอร์ลีจะเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กในลักษณะที่คล้ายกับกระดานข่าวในโลกเสมือนที่ให้ผู้คนในละแวกพื้นที่เดียวกันสามารถให้คำแนะนำกันได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเร่งด่วน เช่น ที่ไหนรักษาคนกำลังบาดเจ็บ หรือเรื่องธรรมดาทั่วไปอย่าง ร้านอาหารไหนทำอาหารชนิดใดได้อร่อยที่สุด

กูเกิลสร้างแอพพลิเคชันนี้จากการศึกษาวิจัยพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตในที่ต่างๆ ของอินเดีย ทั้งตามสถานีรถไฟ ตลาด ไปจนถึงห้องนั่งเล่น จนกระทั่งพบว่ามีกระแสสองอย่างในอินเดีย หนึ่ง ชีวิตของชาวอินเดียส่วนใหญ่จะจับจ่ายซื้อของ ทำงาน และปฏิสัมพันธ์ทางสังคมห่างจากที่พักอาศัยภายในระยะ 1-2 กม. เท่านั้น สอง ความเป็นเมืองของอินเดียกำลังขยายตัวเพิ่มขึ้น การประเมินจากสหประชาชาติพบว่าอินเดียจะมีประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองถึง 416  ล้านคน ในขณะที่จีนซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกมีเพียง 255 ล้านคน การกลายสภาพเป็นเมืองแบบนี้มีผลกระทบทางสังคมในแบบที่ชวนให้เวียนหัว เพราะมันเป็นการผลักผู้คนหลักหลายล้านเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่พวกเขาไม่คุ้นเคยและมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว

จำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถืออินเดียเพิ่มสูงขึ้นมากตั้งแต่เดือน ก.ย. 2559 หลังจากที่คนที่รวยที่สุดในอินเดียคือ มุเกช อัมบานี ให้ข้อเสนอแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนคือการให้คนใช้บริการโทร. และรับข้อมูลฟรี 6 เดือน มุเกชยังเปิดบริษัทซิมมือถือของตัวเองชื่อจิโอ 4G ซึ่งให้บริการข้อมูลโทรศัพท์ราคาถูกที่สุดในโลก ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวอินเดียก็รับ-ส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้นมากถึงสามเท่าในช่วงสองปีที่ผ่านมาคิดเฉลี่ยคนละราว 2.5 กิกะไบท์ต่อเดือน จิโอเองก็มีเป้าหมายแบบกูเกิลคือทำให้ประชากรอีก 1,000 ล้านคนหันมาใช้อินเทอร์เน็ตให้ได้

"ข้อมูลก็เหมือนทรัพยากรน้ำมันแบบใหม่ และข้อมูลข่าวสารก็เป็นเชื้อเพลิงแบบใหม่" มุเกชกล่าวในการเปิดตัวบริการ 4G ของตัวเอง

การแพร่หลายมากขึ้นของผู้ใช้สมาร์ทโฟนยังส่งผลต่อวิถีชีวิตชาวอินเดียให้ต่างไปจากเดิมอย่างมาก ทั้งในแง่ที่สามารถทำให้คนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ง่ายขึ้นเวลาฉุกเฉิน แต่ขณะเดียวกันการแพร่การจายข่าวลือผ่านว็อทสแอพพ์ก็เคยทำให้เกิดเหตุการณ์รุมฆ่าแขวนคอคนแบบศาลเตี้ยซึ่งเป็นเรื่องน่าสะพรึงกลัว

อย่างไรก็ตาม โอซามา มานซาร์ จากมูลนิธิดิจิทัลเอ็มพาวเวอร์เมนต์ที่ส่งเสริมการนำอินเทอร์เน็ตไปสู่หมู่บ้านที่ห่างไกลในอินเดียกล่าวว่า บริษัทเหล่านี้ยังไม่บอกแน่ชัดว่าจะมีวิธีการเก็บข้อมูลจำนวนมากมายมหาศาลเหล่านี้อย่างไร และยังชี้ประเด็นว่าเมื่อทุกคนเห็นอินเดียเป็น "เหมืองทองแห่งข้อมูล" เช่นนี้ รัฐบาลก็ควรจะเล็งเห็นเรื่องการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของผู้คนด้วย โดยขณะนี้รัฐบาลอินเดียกำลังร่างกฎหมายความเป็นส่วนตัวด้านข้อมูลข่าวสารอยู่ในอินเดีย

กูเกิลหลีกเลี่ยงความผิดพลาดที่เฟซบุ๊คเคยทำไว้ในอินเดียคือการให้อินเทอร์เน็ตฟรีแต่จะสามารถเข้าได้แต่เฉพาะเฟซบุ๊คหรือเว็บอื่นๆ ที่เฟซบุ๊คกำหนดไว้เท่านั้น เรื่องนี้ทำให้เฟซบุ๊คถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าละเมิดความเป็นกลางทางอินเทอร์เน็ตและเป็นการ "ล่าอาณานิคมทางดิจิทัล"

เรียบเรียงจาก

'The next billion users': Google targets India's lucrative mobile market, The Guardian, Sep. 11, 2018

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ผู้เสียหายเผย 2 บริษัทสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ คิดดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนด

Posted: 12 Sep 2018 02:30 AM PDT

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับการติดต่อจากกลุ่มพิทักษ์สิทธิลูกหนี้ว่ามีผู้เสียหายที่ทำสัญญากู้ยืมเงินกับ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด และ บริษัท เมืองไทยแคปปิตอล จำกัด (มหาชน) เป็นจำนวนกว่า 100 ราย โดยบริษัททั้งสองให้กู้ยืมเงิน โดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนด ซึ่งผู้เสียหายได้ตั้งทนายเพื่อดำเนินการฟ้องทั้งสองบริษัทเป็นคดีกลุ่มแล้ว ที่ศาลแพ่ง (รัชดาภิเษก) และ ศาลจังหวัดตลิ่งชัน

12  ก.ย. 2561 ศูนย์ข่าวมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รายงานว่า วันนี้ เวลา 13.30 น. ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายจากการกู้เงินและทนายความได้เข้า มาร่วมกันแถลงข่าว เพื่อเตือนภัยสังคมและมุ่งหวังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการปัญหาในเชิงนโยบาย

ประสิทธิ์ ป้องเศษ  ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายที่กู้เงินกับ บ.เงินติดล้อฯ กล่าวว่า  เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2559 ได้กู้ยืมเงินจำนวน 10,000 บาท ทางบริษัทฯบังคับให้ทำประกันภัยรถจักรยานยนต์ โดยมีเบี้ยประกันจำนวน 926 บาท ได้รับเงินจริงจำนวน 9,074 บาท แต่ในสัญญาระบุว่ากู้เงิน 10,926 บาท โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 2.50 ต่อเดือน เท่ากับ 30% ต่อปี และผ่อนชำระคืนเป็นรายงวด งวดละ 1,184 บาท ทั้งหมด 12 งวด เป็นเงินทั้งหมด 14,208 บาท และให้มอบคู่มือรถจักรยานยนต์ไว้เป็นประกันการกู้ยืมเงิน ได้ชำระเงินงวดแรกในเดือนมีนาคมตามสัญญาจำนวน 1,184 บาท แต่งวดที่สองไม่ได้ชำระ บริษัทได้ส่งหนังสือทวงถาม จึงไปชำระในเดือนพฤษภาคม บริษัทฯได้คิดค่าทวงถาม 100 บาท และคิดดอกเบี้ย  253.19 บาท ค่าธรรมเนียม 590.77 บาท ค่าปรับ 11.02 บาท รวมเป็นเงินชำระ 2,480 บาท จึงได้ไปขอความช่วยเหลือจากกลุ่มพิทักษ์สิทธิลูกหนี้ และชำระปิดบัญชีไป 12,600 บาท รวมชำระทั้งสิ้น 16,264 บาท

เหตุที่กู้เงิน เนื่องจากมีปัญหาเดือดร้อนเรื่องเงิน และมีเพื่อนเคยขอกู้จากบ.เงินติดล้อ กู้แล้วได้เงินเร็ว ไม่ต้องใช้เอกสารเยอะ เป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ 

ภารดร บาตรโพธิ์ ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายที่กู้เงินกับ บ.เงินติดล้อฯ กล่าวว่า ได้กู้เงินเมื่อ 9 ส.ค. 2560 จำนวน 15,000 บาท และบังคับให้ทำประกันภัย 500 บาท ได้รับเงินจริงเพียง 14,500 บาท แต่ในสัญญาระบุเงินกู้ 16,145 บาท และกำหนดให้ชำระเป็นรายเดือนงวดละ 1,628 บาท จำนวน 12 งวด ได้ชำระเงินไปจำนวน 4 งวด แต่เมื่อทราบข่าวกลุ่มพิทักษ์สิทธิลูกหนี้ จึงนำเงินไปปิดบัญชี

ทิวา มะลินทา สมาชิกกลุ่มผู้เสียหายที่กู้เงินกับ บ.เงินติดล้อฯ กล่าวว่า ได้กู้เงินเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 จำนวน 15,000 บาท แต่ได้เงินไม่เต็มจำนวน ชำระเงินไปจำนวน 8 งวด เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2561 ได้ขอปิดบัญชี พบว่าบริษัทฯ แจ้งว่าต้องจ่ายเงินค่าทวงถาม ค่ายึดรถ เบี้ยปรับล่าช้า เป็นเงินประมาณ 10,589 บาท จากการค้างชำระเพียง 4 งวด

วิษณุ สนองเกียรติ ทนายความ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หลังจากได้รับการติดต่อขอความช่วยเหลือ จากลูกหนี้  ก็ติดต่อกับกลุ่มพิทักษ์สิทธิว่าจะให้ความช่วยเหลือในการฟ้องคดีแบบกลุ่มกับบริษัทดังกล่าว   เพราะจากการตรวจสอบพบว่า บริษัทฯ  ให้กู้ยืมเงิน โดยมีการจำนำทะเบียนรถไว้ ซึ่งส่วนมากเป็นรถจักรยานยนต์  เงินต้นที่ผู้เสียหายกู้ถูกบวกค่าธรรมเนียมและค่าประกันภัย  แล้วไปตั้งเป็นเงินต้น  โดยระบุอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.50 ต่อเดือน 1.75 ต่อเดือน และ 2.50 ต่อเดือน ซึ่งรวมแล้วสูงถึงร้อยละ 18  ต่อปี 21 ต่อปี และ 30 ต่อปี  ซึ่งเกินกว่ากฎหมายกำหนด  จึงต้องฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่มเพื่อให้ทุกคนที่ไปกู้ยืมเงินกับบริษัทนี้ได้รับการคุ้มครองไปด้วย

ถึงแม้การดำเนินธุรกิจเงินติดล้อ จะได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง หากเป็นหนี้ที่มีหลักประกัน ไม่สามารถเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15  ต่อปีได้ ถือว่าผิดกฎหมายและดอกเบี้ยที่ผิดกฎหมายสามารถเรียกคืนได้

วาสนา เนินสลุง ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายที่กู้ยืมเงินกับ บมจ. เมืองไทยแคปปิตอล  กล่าวว่า  ไปกู้ยืมเงิน จำนวน 25,000 บาท โดยเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ และให้มอบคู่มือรถจักรยานยนต์ไว้เป็นประกันการกู้ยืม และเซ็นโอนลอยรถจักรยานยนต์ไว้  โดยต้องจ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน จำนวน 1,803 บาท  ชำระดอกเบี้ยไป 3 งวด  แต่คลอดบุตรจึงไม่ได้ชำระในงวดที่ 4 บริษัทฯ ได้ติดตามทวงถามที่บ้าน แจ้งว่า ถ้าไม่ไปชำระพ่อแม่จะติดคุก และติดกระดาษที่บ้านแม่ ว่าให้พ่อแม่ติดต่อลูกเพื่อให้ไปชำระหนี้ จำนวน 26,790 บาท ค่าปรับ 804  บาท รวมเป็นเงินที่ต้องชำระ 27,564 บาท ได้แจ้งขอชำระดอกเบี้ย แต่บริษัทฯ ไม่ยินยอมให้ชำระ

ศุภวุฒิ อยู่วัฒนา ทนายความที่ปรึกษากลุ่มพิทักษ์สิทธิลูกหนี้ กรณีของผู้เสียหายกลุ่มนี้ จากการตรวจสอบพบว่าบริษัทไม่ส่งมอบสัญญาให้ผู้กู้ และไม่แจ้งว่าคิดดอกเบี้ยเท่าไร แต่ใช้วิธีบอกว่าผู้กู้ต้องคืนดอกเบี้ยเป็นเงินจำนวนเท่าไรแทน ในระยะเวลา 3 เดือน หากคำนวณดอกเบี้ย ร้อยละ 2.4 ต่อเดือน คิดเป็นกว่าร้อยละ 28 ต่อปี หากผู้กู้ไม่สามารถชำระเงินกู้และดอกเบี้ยคืนได้ภายในกำหนด บริษัทฯ จะดำเนินการยึดรถที่โอนลอยไว้ หรือเรียกให้ชำระเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยคืนโดยทันที

นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิ กล่าวว่า สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ หรือ สินเชื่อ Car  for cash นั้น ยังไม่พบว่าอยู่ภายใต้การกำกับของหน่วยงานใด หากผู้ประกอบธุรกิจการกู้ยืมเงินที่มีการจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ ต้องใช้เกณฑ์ในการคิดตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่คิดได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปีเท่านั้น  ซึ่งการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจทั้งสองบริษัท อาจเข้าข่ายมีความผิดตาม   พรบ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560  ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำและปรับ และได้รับทราบว่า  กระทรวงการคลังกำลังจัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน พ.ศ. ...  ซึ่งในร่างกฎหมายฉบับนี้มีบทกำหนดโทษหากผู้ประกอบธุรกิจฝ่าฝืนกฎหมาย และอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น จึงขอเสนอให้กระทรวงการคลังเร่งพิจารณาการกฎหมายดังกล่าว  

หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิ กล่าวอีกว่า เรื่องร้องเรียนที่มามูลนิธิฯ จะมีลักษณะเดียวกัน จึงเห็นว่าขณะนี้การทำธุรกิจสินเชื่อประเภทการจำนำทะเบียนรถมีมากมาย  และยังไม่มีเกณฑ์ในการกำหนดว่าให้คิดดอกเบี้ยค่าธรรมเนียมเท่าไร จึงอยากฝากถึงผู้บริโภคที่จำเป็นต้องใช้เงิน ว่า ควรตรวจสอบอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมต่างๆ  ของบริษัทก่อนว่าคิดเกินร้อยละ 15 ต่อปีหรือไม่  ส่วนผู้บริโภคที่ได้รับทราบข่าวแล้วตรวจสอบพบว่ามีปัญหาเหมือนกับกลุ่มผู้เสียหาย  สามารถแจ้งมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ชำนาญ จันทร์เรือง: สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร

Posted: 11 Sep 2018 11:19 PM PDT

ข่าวการจับกุมสองแม่ลูกโดยเจ้าหน้าที่ทหาร โดยอ้างเหตุว่าสวมใส่และขายเสื้อของสหพันธรัฐฯ จึงมีคำถามต่อนักรัฐศาสตร์ให้ช่วยไขข้อข้องใจหน่อยว่าสหพันธรัฐที่ว่านั้นคืออะไรหรือ ไหนๆก็จะตอบคำถามนั้นเรามาเข้าใจคำว่า รัฐ ชาติ ประเทศ รัฐเดี่ยว รัฐรวม สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐไปในคราวเดียวกันไปเสียเลยดีกว่า

คำว่า รัฐ ชาติ และประเทศ (state, nation and country) เรามักจะใช้สลับสับเปลี่ยนปะปนกันไปมาอยู่เสมอ ทั้งๆ ที่คำว่ารัฐ ชาติ และประเทศ มีความหมายทางรัฐศาสตร์ที่แตกต่างกัน

1.รัฐ (state) ต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย 4 ประการ คือ ประชากร ดินแดน รัฐบาลและอำนาจอธิปไตย ในทางวิชาการความหมายของรัฐนั้นจะเน้นไปที่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางการเมือง หมายความว่า ประชาชนอยู่ภายใต้ระบบการเมืองและอธิปไตยเดียวกัน รวมทั้งการมีเอกราชเต็มที่ รัฐจะมีสถานะของตนเองในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะการที่จะเป็นรัฐๆ หนึ่งขึ้นมาได้จะต้องได้รับการยอมรับจากรัฐอื่นๆ ด้วย ฉะนั้น รัฐจึงสูญสลายหรือเกิดใหม่ได้ไม่ยากนัก เช่น สิงคโปร์ หรืออิสราเอล แม้กระทั่งติมอร์ตะวันออกก็เพิ่งก่อตั้งเป็นรัฐมาเมื่อไปไม่นานมานี้เอง

การที่จะพิจารณาว่าเป็นรัฐหรือไม่ จำนวนประชากรหรือขนาดพื้นที่มิใช่สิ่งสำคัญ นครรัฐวาติกัน มีเนื้อที่เพียง 0.4 ตารางกิโลเมตร ประชากรพันกว่าคนก็มีสภาพเป็นรัฐ สหภาพโซเวียตเคยเป็นรัฐใหญ่ที่สุดมีดินแดน 22 ล้านตารางกิโลเมตร หรือ สหรัฐอเมริกามีพื้นที่ประมาณ 9.5 ล้านตารางกิโลเมตร ก็เป็นรัฐเช่นเดียวกันกับนครรัฐวาติกัน หรือ รัฐติมอร์ตะวันออก หรือแม้กระทั่งสิงคโปร์ที่เป็นเกาะเล็กนิดเดียว

เราสามารถแบ่งลักษณะของรูปแบบของรัฐได้เป็น 2 อย่างคือ รัฐเดี่ยวกับรัฐรวม

1.1 รัฐเดี่ยว (unitary state) มีรัฐบาลเพียงระดับเดียวในการใช้อำนาจอธิปไตย เช่น ไทย อังกฤษ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฯลฯ

1.2 รัฐรวม (compound หรือ composite state) มีรัฐบาล 2 ระดับ คือรัฐบาลท้องถิ่นหรืออาจเรียกว่ารัฐบาลมลรัฐกับรัฐบาลกลาง ซึ่งรัฐบาลในทั้ง 2 ระดับมีอำนาจโดยเฉพาะตน โดยรัฐธรรมนูญในประเทศนั้นๆจะกำหนดไว้ว่ารัฐบาลในทั้ง 2 ระดับมีอำนาจในการใช้อธิปไตยครอบคลุมกิจการอะไรบ้าง โดยรัฐรวมแบ่งเป็นสมาพันธรัฐ (Confederation) และสหพันธรัฐ (Federation)

1.2.1 สมาพันธรัฐ (Confederation)
สมาพันธรัฐเกิดขึ้นโดยความร่วมมือของรัฐต่างๆ ตามสนธิสัญญา โดยรัฐสมาชิกต้องมีความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ จึงจะเกิดการดำเนินกิจกรรมของสมาพันธ์ได้ และมีสภาผู้แทนรัฐบาลของรัฐสมาชิกเป็นองค์กรทำหน้าที่ต่างๆ ในนามของรัฐสมาชิก โดยที่รัฐสมาชิกยังคงมีอิสระในการดำเนินนโยบายต่างๆ สภาผู้แทนของรัฐสมาชิกไม่ได้มีอำนาจในการควบคุมการกระทำภายในรัฐสมาชิก นอกจากนี้ แต่ละรัฐมักจะมีความร่วมมือกันในบางเรื่องเท่านั้น เช่น ด้านความมั่นคง หรือนโยบายเศรษฐกิจ เป็นต้น

สมาพันธรัฐ ได้แก่ สมาพันธรัฐอเมริกาในช่วงแรกของการประกาศอิสรภาพปี 1776 แต่พอร่างรัฐธรรมนูญเสร็จปี 1787 ก็กลายมาเป็นสหพันธรัฐ ,สมาพันธรัฐสวิสเซอร์แลนด์ ก่อนปี 1846(ปัจจุบันยังใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่าสมาพันธรัฐสวิสอยู่แม้ว่ารูปแบบจะเป็นสหพันธรัฐก็ตาม) หรือ สมาพันธรัฐเยอรมันช่วงปี 1815 – 1866 ส่วนในปัจจุบันสหภาพยุโรปก็มีลักษณะของสมาพันธรัฐ

1.2.2 สหพันธรัฐ (Federation)
สหพันธรัฐเป็นการรวมตัวของรัฐต่างๆ โดยรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างรัฐขึ้นมาใหม่ให้มีอำนาจอธิปไตยอยู่เหนือรัฐเดิมที่มารวมตัวกันนั้น โดยที่รัฐต่างๆ ที่รวมตัวกันจะสละอำนาจอธิปไตยของตนให้แก่รัฐที่สร้างขึ้นใหม่นี้ เพื่อทำหน้าที่แทนตน ตัวอย่างของระบบรัฐแบบนี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกานับจากปี 1787 เป็นต้นมาตราบจนปัจจุบัน

ระบบสหพันธรัฐทำให้เกิดมีรัฐ 2 ระดับขึ้นภายในโครงสร้างภายในของรัฐรวมนั้นเสมอ ได้แก่ รัฐระดับบน คือ รัฐที่สร้างขึ้นใหม่ ซึ่งมักจะเรียกกันว่ารัฐบาลกลางหรือรัฐสหพันธ์ และรัฐระดับล่างได้แก่รัฐสมาชิกต่างๆ นั่นเอง ซึ่งมักจะเรียกกันว่ามลรัฐหรือรัฐ

องค์กรต่างๆ ภายใต้ระบบสหพันธรัฐจะมีโครงสร้างที่ซับซ้อน รวมทั้งการมีองค์กรที่มีชื่อเรียกเดียวกัน และมีการหน้าที่ในลักษณะเดียวกัน แบ่งออกเป็น 2 ระดับเสมอ เช่น รัฐสภา จะมีทั้งรัฐสภาในระดับสหพันธ์ และรัฐสภาในระดับรัฐ เช่นเดียวกับรัฐบาล และศาล เป็นต้น ซึ่งจะมีศาลสูงทั้งของรัฐ และศาลสูงของสหพันธรัฐดำรงอยู่คู่ขนานกัน

นอกจากนั้นเรายังสามารถแบ่งรูปแบบของรัฐตามลักษณะประมุขของรัฐได้เป็นรูปแบบการปกครองที่มีกษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งเราเรียกว่า "ราชอาณาจักร (Kingdom)" เช่น ราชอาณาจักรไทย ราชอาณาจักรกัมพูชา ฯลฯ กับรูปแบบ "สาธารณรัฐ (Republic)" ที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฯลฯ

หลายคนเข้าใจผิดว่ารัฐรวมจะมีกษัตริย์เป็นประมุขไม่ได้ ซึ่งไม่ถูกต้องเพราะมาเลเซียในระยะเริ่มแรกก็ใช้ชื่อว่าสหพันธรัฐมาเลเซียโดยมีพระราชาธิบดีหรือกษัตริย์ซึ่งหมุนเวียนกันเป็นประมุขมาจนปัจจุบัน เช่นเดียวกันกับออสเตรเลียกับแคนาดาก็ยังมีกษัตริย์ของสหราชอาณาจักรเป็นประมุขอยู่ แม้ว่าจะไม่มีบทบาทใดๆแล้วก็ตาม

2.ชาติ (nation) นั้นจะเน้นไปที่ความผูกพันกันในทางเชื้อชาติ (race) หรือสายเลือด เผ่าพันธุ์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศาสนา หรือการยึดหลักประเพณีร่วมกัน ด้วยเหตุนี้ชาติจึงไม่สูญสลายไปง่ายๆ ดังเช่นความเป็นรัฐ ตัวอย่างใกล้ตัวก็คือแม้ว่าจะไม่มีรัฐมอญปรากฏบนแผนที่โลก แต่ในความเป็นจริง "ชาติมอญ" ยังคงอยู่ทั้งในพม่า หรือแม้กระทั่งในประเทศไทย คำว่าชาตินี้เองมักจะเป็นต้นเหตุของปัญหา เพราะแต่ละชาติก็อยากเป็นใหญ่ แต่ละชาติก็อยากสร้างรัฐ ทำให้เกิดลัทธิชาตินิยม และในหลายๆ ครั้งนำไปสู่สงครามกลางเมือง

3.ประเทศ (country) ส่วนคำว่าประเทศนั้น มีความหมายเน้นหนักไปในด้านดินแดน ดังนั้นประเทศจึงเป็นแหล่งรวมของชาติ และก่อให้เกิดรัฐขึ้น ตัวอย่างความแตกต่างระหว่างรัฐกับประเทศที่เห็นชัดก็คือไต้หวัน ซึ่งเมื่อดูองค์ประกอบต่างๆ แล้วไต้หวันมีประชากร ดินแดน รัฐบาลและอำนาจอธิปไตยภายใน แต่ขาดอำนาจอธิปไตยภายนอกซึ่งก็คือ การรับรองจากรัฐอื่นและสหประชาชาติ ฉะนั้น ในทางรัฐศาสตร์แล้วไต้หวันจึงอยู่สถานะที่มิใช่เป็นรัฐแต่มีสภาพเป็นประเทศ แม้ว่าจีนจะถือว่าไต้หวันเป็นเพียงมณฑลหนึ่งของจีนเท่านั้นก็ตาม

การที่ประเทศใดจะเป็นรัฐเดี่ยวหรือรัฐรวมขึ้นอยู่กับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประเทศนั้นๆ ที่สำคัญที่สุดก็คือเจตนารมณ์หรือฉันทามติของประชาชนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าต้องการให้ประเทศของตนเป็นรัฐแบบไหน แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญก็คือกฎหมาย และกฎหมายคือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เมื่อมนุษย์สร้างขึ้นมนุษย์ก็ย่อมเปลี่ยนแปลงได้เสมอน่ะครับ

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

เฌอปราง: การเมืองมหรสพ

Posted: 11 Sep 2018 10:22 PM PDT

เพื่อนร่วมงานต่างชาติ: สุภลักษณ์ ไอไม่เข้าใจว่าทำไมเฌอปรางโดนวิจารณ์อยู่คนเดียว ทั้งๆที่มีดาราไปออกรายการโฆษณาให้รัฐบาลเยอะแยะ ทำไมเราต้องเล่นข่าวนี้ด้วย

ข้าพเจ้า: ความคาดหวังของผู้คนที่มีต่อดาราไม่เหมือนกันนี่ รายนี้เขาคงอยากเห็นเธอต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมั้ง

เพื่อนร่วมงาน: จะบ้าเหรอ นี่นักร้องนะ (ไม่ใช่นักปฏิวัติ--เธอคงไม่เคยเห็นนักร้องที่เป็นนักปฏิวัติสินะ)

ข้าพเจ้า: มันก็ถึงกลายเป็นข่าวให้เราเขียนไง

บทสนทนาในที่ทำงานมีแค่นี้แหละ เพราะไม่มีเวลาจะถกอะไรกันมากมายเนื่องจากเส้นตายจ่อคอหอยอยู่ แต่เรื่องนี้พูดแค่นี้ก็ได้ เพราะดารามาช่วยโฆษณาทางการเมืองหรือร่วมกิจกรรมการเมือง มันก็ไม่ได้เป็นอะไรที่แปลกเลย

แต่ถ้าอยากจะพูดให้มากกว่านี้ก็ต้องถามว่า เราจะมอง celebrity อย่างเฌอปรางในสายตาแบบเดียวที่มอง Kim Kardashian หรือ Angelina Jolie ล่ะทั้งคู่หากินกับความโด่งดังของตัวนั่นแหละ และเจ้าภาพที่หาพวกเธอไปสมโภชงานของเขาก็เล่นเกมเดียวกัน

ถ้าเรามองด้วยแว่นของ Zizek แล้วละก้อ celeb อย่าง Kardashian คือแบบแผนของความจอมปลอม น่าละอาย ไร้รสนิยม ที่คนจะถ่มถุยเพื่อความบันเทิงยังไงก็ได้ ในขณะที่ Jolie ทำงานสาธารณะอย่างเป็นแก่นสารแล้วบอกกับคนทั่วไปว่า นี่คือตัวตนที่แท้จริงของเธอ ซึ่งทำให้การพิจารณาคุณค่า Jolie ยากกว่าของ Kardashian

ด้วยสายตาแบบเดียวกัน นักการเมืองจ้างวานมหรสพมาสมโภชงานตัวเองเพื่อหวังเรียกคะแนนนิยมเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ไม่ว่าสายประชาธิปไตย สายเผด็จการทำเหมือนกันหมดแหละ ไม่มีอะไรให้ต้องคิดมาก

ก็เหมือนบวชลูกบวชหลาน หายี่เก หมอลำมาเล่น เพื่อเรียกแขกมาร่วมงานนั่นแหละ คนมาเยอะแต่คนที่มาดูส่วนใหญ่ก็มีแต่พวกขี้เมา ไม่สนใจด้วยซ้ำไปว่าใครบวช

ตรงกันข้าม ถ้าเจ้าภาพจริงจังกับเนื้อหาสาระของงาน ก็จะจ้างพระมาเทศน์แหล่ 2-3 ธรรมมาส ทำปุจฉา วิสัชนา ว่าด้วยอานิสงฆ์แห่งการบวช คนมาฟังไม่มากหรอก แต่ที่มาก็จะจริงจังกับเนื้อหา

สมัยก่อนเวลานักศึกษาจัดกิจกรรมทางการเมือง เรามักหาดนตรีเพื่อชีวิตมาเล่น เพื่อบอกเล่าถึงสารทางการเมืองที่เราต้องการจะสื่อจากกิจกรรมนั้นด้วย คนที่เข้าร่วมก็จะได้รับสารทางการเมืองนั้นจากการปลุกเร้าด้วยเสียงดนตรี (สมัยก่อนเลือกมากเลยต้องเอานักดนตรีประเภทโลกทัศน์และชีวทัศน์สอดคล้องกันด้วย หายากเป็นบ้าเลย)

เฌอปราง ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเรามองว่า BNK และคุกกี้เสี่ยงทาย ก็เป็นเพลงของวงดนตรีกากๆ ทั่วไป จะมาถ่ายรูปคู่กับพลเอกประยุทธ์สักกี่ครั้งก็ไม่ได้ทำให้เนื้อหาทางการเมืองของ นายพลเผด็จการชวนหัวคนนี้เปลี่ยนแปลงไป ก็ไม่มีอะไรให้ต้องเสียเวลาถกเถียงกันด้วย

แต่เฌอปราง วางตำแหน่งของตัวเองเหมือน Jolie ไม่ใข่ Kardashian ความคาดหวังของแฟนก็เป็นอีกแบบหนึ่ง หลายคนมองเธอเป็นแบบแผนของคุณงามความดีในโลกสมัยใหม่ เด็กสาวซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คน ประยุทธ์ถึงกับพยายามบอกว่าเธอเป็น ต้นแบบแห่งมาตรฐานทางศีลธรรมอันสูงส่งว่าด้วยการเสียสละช่วยสังคม เรื่องมันเลยไปกันใหญ่ นักวิจารณ์หลายคนถึงกับว่า เธอจะช่วยฟอกขาวให้เผด็จการได้ด้วยซ้ำไป แฟนๆ ของเธอที่ไม่นิยม คสช.ก็เลยต้องดรามาน้ำตาแตกกันหน่อย เพื่อบอกให้รู้ว่าดาราก็ควรแคร์ความรู้สึกของแฟนหลายกลุ่มนะ ไม่ใช่ว่ารักเฌอปรางแล้วต้องรักประยุทธ์ด้วยเสมอไปดอกนะ

สิ่งที่ควรต้องพูดถึงคือ เฌอปราง ไม่ได้ real ขนาดนั้น หากแต่เป็น pseudo value ของนายทุนวัฒนธรรมในโลกทุนนิยมยุคใหม่ ที่ปั้นแต่งเธอขึ้นมาขายเพื่อแสวงหาผลกำไรเท่านั้น ยากที่จะอธิบายอย่างสมเหตุสมผลได้ว่า การเสียเงินเข้าคิวเพื่อสัมผัสมือและถ่ายรูปกับเฌอปรางนั้น ได้สร้างคุณค่าใดให้กับชีวิตส่วนตัวของคนๆ นั้น และยิ่งไม่ต่้องพูดถึงคุณค่าทางสังคมวัฒนธรรม (โอเค ถ้าจะบอกว่ามีคุณค่าทางจิตใจแบบเดียวกับ GT 200 ก็ได้ไม่เถียง)

แต่ pseudo value ดูเหมือนจะไปกันได้ดีกับ hypocrisy ของ คสช. เฌอปรางจึงยอมพูดเรื่องความเหลี่อมล้ำทางการศึกษาในรายการเดินหน้าประเทศไทยโดยไม่ตะขิดตะขวางใจและไม่เฉลียวใจเลยว่า งบประมาณทางการศึกษาลดลงและงบทางทหารเพิ่มขึ้นในยามที่ประเทศไร้ศึกสงครามและคุณภาพการศึกษาตกต่ำ แถมเข้าถึงยากอีกต่างหาก แม้ว่ามีเนทความเร็วสูงแพคเกจแค่ 599 บาทต่อเดือนก็ตาม

การตัดสินใจยกเลิกเทปดังกล่าวในเวลาต่อมา ไม่แน่นักว่าจะช่วยป้องกันผลกระทบอันเกิดจากปฏิสัมพันธ์ของสองสิ่งนี้ได้ เพราะดูเหมือนมันกลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัวของทั้งสังคมไปแล้ว การเมืองก็เพียงแต่พยายามฉวยใช้เท่านั้น
 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook Supalak Ganjanakhundee

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น