โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

ความเครียดจากงาน ส่งผลให้พยาบาลอังกฤษมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าคนปกติ

Posted: 01 Sep 2018 07:20 AM PDT


ที่มาภาพประกอบ: healthleadersmedia.com

1 ก.ย. 2561 จากรายงาน Suicide by occupation, England: 2011 to 2015 ที่เผยแพร่เมื่อปี 2560 ระบุว่าพยาบาล (เพศหญิง) ในอังกฤษมีอัตราการลงมือฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้หญิงทั่วไปถึงร้อยละ 23 โดยการใช้ยาพิษหรือใช้เกินขนาดเป็นวิธีที่เหล่าพยาบาลใช้ในการฆ่าตัวตายมากที่สุด ทั้งนี้มีความเกี่ยวพันกับการที่พยาบาลเหล่านั้นเข้าถึงยาและสารเคมีได้ง่ายกว่าบุคคลทั่วไป ซึ่งทำให้มีความเป็นได้ที่สามารถฆ่าตัวตายได้สำเร็จมากกว่าคนอื่นทั่วไปถึง 4 เท่าตัว และงานศึกษาดังกล่าวยังเผยมีว่าอัตราการฆ่าตัวตาย ในพยายาลหรือบุคลากรทางการแพทย์จะพบสูงยิ่งขึ้นในกลุ่มลูกจ้างที่มีรายได้ต่ำ มากกว่ากลุ่มคนที่มีตำแหน่งสูง

ข้อถกเถียงเกี่ยวกับสถิติการฆ่าตัวตายของบุคคลกรในระบบสาธารณสุขนั้นมีมาเป็นเวลานาน จากการรายงานของ Daily Mail เมื่อเดือน มี.ค. 2560 ระบุว่าในหลายปีที่ผ่านนั้นอัตราการฆ่าตัวในแพทย์นั้นลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการที่ในอังกฤษได้มีการจัดทำระบบการทำงานของแพทย์ใหม่ ที่สามารถสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานได้ดีขึ้น แต่ในทางกลับกันพบว่าพยาบาลยังไม่มีการจัดการในลักษณะเดียวกัน พยาบาลต้องทำงานด้วยการใช้เวลาส่วนตัวปะปนกับการทำงาน และต้องรับความกดดันจากระบบการทำงานที่ต้องการความเร็ว ขณะเดียวกันยังต้องการมาตรฐานการทำงานสูง ทั้งยังถูกบีบคั้นอยู่ระหว่างกลางของความต้องการของแพทย์กับความต้องการของผู้ป่วย

นอกจากนั้นยังอาชีพต้องประสบกับภาวะเครียดจากรูปแบบการประเมินและตรวจสอบการทำงาน ที่มีมากมายในการทำงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่เพิ่มอัตราการฆ่าตัวตายของพยาบาลอีกด้วย โดยมีกรณีตัวอย่างที่เป็นที่รู้จักกันคืออามิน อับดุลลาห์ Amin บุรุษพยาบาลชาวอังกฤษที่ฆ่าตัวตายเมื่อปี 2559 หลังจากถูกไล่ออกด้วยการตรวจสอบการทำงานที่ไม่เป็นธรรม

 

ที่มาข่าวบางส่วนจาก
Nurses facing probes 'stressed and suicidal' (Irish Examiner, 4/5/2018)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

พรรคประชาชาติเลือก 'วันนอร์' นั่งหัวหน้าพรรค

Posted: 01 Sep 2018 05:27 AM PDT

ประชุมพรรคประชาชาติเลือก 'วันมูหะมัดนอร์ มะทา' เป็นหัวหน้าพรรค 'พล.ต.อ.ทวี สอดส่อง' เลขาธิการพรรค 'อารีเพ็ญ-วรวีร์-นิติภูมิ' รองหัวหน้าพรรค


นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (แฟ้มภาพสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา)

1 ก.ย. 2561 เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานว่าการประชุมพรรคประชาชาติ ที่หอประชุมอันนาวาวีย์ ชั้น 4 อาคารวิทยอิสลามนานาชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หลังสมาชิกพรรคเห็นชอบข้อบังคับ นโยบาย  ได้มีการเลือกผู้มาดำรงตำแหน่งต่างๆ ในพรรค โดยสมาชิกพรรคมีมติ 432 เสียงเลือก นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นหัวหน้าพรรค  และ 418 เสียงเลือก พล.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นเลขาธิการพรรค ส่วน นายมุข สุไลมาน อดีต ส.ว.ปัตตานี เป็น เหรัญญิกพรรค นายสุรพล นาควานิช ผู้ก่อตั้งพรรค เป็นนายทะเบียนพรรค 

ขณะที่ รองหัวหน้าพรรคมี 7 คน อาทิ 1.นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ 2.นายวรวีร์ มะกูดี 3.ร.ต.อ.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย  4.นายวรวิทย์ บารู  5.พล.ต.ท.อนุรุต กฤษณะการะเกตุ    6.นายนิมุคตาร์ วาบา และ 7.นายปราโมทย์ แหล่ทองคำ

นายวันนอร์ กล่าวว่าจากการประเมินน่าจะได้เก้าอี้ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 20 ที่นั่งขึ้นไป เป็นที่น่ายินดีเพราะประชาชนในพื้นที่สนับสนุนอดีต ส.ส.ในพื้นที่ให้มารวมกันในพรรค ปช. ดังนั้น ส..ส.เขตในจังหวัดชายแดนภาคใต้ประมาณ 11 ที่นั่ง หากดูตัวแล้วผู้สมัครลงเขตของ พรรคแล้วน่าจะได้เกินครึ่งของ 11 ที่นั่ง โดยในพื้นที่ภาคใต้พรรคจะส่งผู้สมัครในนามพรรคลงทุกเขต ขณะที่ทั่วประเทศไทยจะส่งผู้สมัครอย่างน้อย 175 เขต จากจำนวน ส.ส.350 ที่นั่ง

ด้านนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ อดีต ส.ส.นราธิวาส กล่าวว่า  พรรคประชาชาติตั้งเป้าได้ ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 15 ที่นั่งจากทั่วประเทศ จากเขตประมาณ 5-6 คน พรรคยังไม่สามารถพูดได้ว่าสนับสนุนใครเป็นนายกฯ แต่ยึดหลักประชาธิปไตย พรรคใครได้เสียงข้างมากก็จะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ แต่หากว่าไม่สามารถรวบรวมตั้งรัฐบาลได้ค่อยมาก๊อก 2 ที่มี ส.ว.มาร่วมด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ยึดหลักว่านายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้งเป็นหลัก ดังนั้นคงจะพูดอะไรตอนนี้ไม่ได้ ต้องดูสถานการณ์ความสอดคล้องปัจจุบัน ส่วนการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังไม่คลายล็อกพรรคการเมืองนั้น ผู้มีอำนาจกลัวเกินไปว่าพรรคการเมืองจะนำความคิดไปสู่ประชาชนได้ เพราะต้องทำให้ยุติธรรมและแฟร์ ขณะที่ฝ่ายมีอำนาจลงพื้นที่ทุกวัน การไม่คลายล็อกหรือปลดล็อกทำให้การทำกิจกรรมพรรคมีอุปสรรค ควรให้โอกาสประชาชนเป็นคนตัดสิน

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

อัยการไม่อุทธรณ์คดี ม.112 แอบอ้างสมเด็จพระเทพฯ หลังศาลยกฟ้องสองจำเลย

Posted: 01 Sep 2018 04:18 AM PDT

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดกำแพงเพชรได้ออกหนังสือรับรองว่าคดีถึงที่สุด ในคดีระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชร กับนางอัษฎาภรณ์ (สงวนนามสกุล) จำเลยที่ 1 และนายนพฤทธิ์ (สงวนนามสกุล) จำเลยที่ 2 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ข้อหาร่วมกันปลอมและใช้เอกสารราชการ และข้อหาฉ้อโกงประชาชน

ทั้งสองคนถูกกล่าวหาว่าได้ร่วมกันปลอมเอกสารหนังสือราชการของสำนักราชเลขานุการ กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้นำไปอ้างแสดงต่อเจ้าอาวาสวัดไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร และยังมีการกล่าวอ้างว่าสามารถที่จะทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ มาร่วมในพิธีของวัดได้ โดยมีการกล่าวอ้างแสดงตนว่าเป็นหม่อมหลวง พร้อมเรียกเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ จากผู้เสียหาย

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2561 ศาลจังหวัดกำแพงเพชรได้มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสองคน โดยเห็นว่าจากพยานหลักฐานยังมีเหตุแห่งความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยทั้งสอง จึงให้ยกฟ้อง และคดีจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีก

ในส่วนของจำเลยที่ 2 ศาลพิเคราะห์ว่าแม้พยานหลักฐานของโจทก์จะระบุว่าจำเลยที่ 2 ได้ไปร่วมทำบุญในวันที่ 26 เม.ย. 2558 และได้ไปร่วมจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แต่ก็เป็นไปเพราะได้มีผู้จัดงานทำการเชิญและผายมือเชิญให้ขึ้นไป ไม่ปรากฏว่าได้มีการแสดงตัวว่าเป็นหม่อมหลวงแต่อย่างใด และแม้ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ไปร่วมงานพร้อมกับนายกิตติภพและนายวิเศษ ซึ่งให้การรับสารภาพในคดีก่อนหน้านี้ แต่ก็ไม่มีพยานหลักฐานว่าจำเลยที่ 2 ได้อ้างตัวและแสดงตัวเป็นหม่อมหลวงแต่อย่างใด

ต่อมาหลังพิพากษา ทางอัยการโจทก์ได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์คดีออกไปทุกๆ 30 วัน จนกระทั่งถึงเดือนสิงหาคม ก็ไม่ได้มีการยื่นขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์อีก ทำให้ไม่ได้มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์อีก ศาลจังหวัดกำแพงเพชรจึงได้ออกหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดดังกล่าวให้ และถือว่าคดีเป็นอันสิ้นสุดลงแล้ว

คดีนี้ในตอนแรก อัยการมีการสั่งฟ้องจำเลยรวมทั้งสี่ราย เมื่อเดือนสิงหาคม 2558 โดยมีสองราย ได้แก่ นายกิตติภพและนายวิเศษให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา และศาลได้พิพากษาลงโทษตามความผิดมาตรา 112 ให้จำคุก 4 ปี ความผิดข้อหาสวมเครื่องแบบของเจ้าพนักงานโดยไม่มีสิทธิ ให้ลงโทษจำคุก 4 เดือน และความผิดข้อหาร่วมกันปลอมและใช้เอกสารราชการ ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี รวมโทษจำคุก 7 ปี 4 เดือน ให้การรับสารภาพ จึงลดโทษเหลือจำคุกคนละ 3 ปี 8 เดือน

ต่อมา อัยการโจทก์มีการฟ้องร้องในข้อหาฉ้อโกงประชาชนต่อทั้งสี่คนเข้ามาอีก โดยที่นายกิตติภพและนายวิเศษได้ให้การรับสารภาพอีก และศาลได้พิพากษาให้ยกฟ้องคดี เนื่องจากเห็นว่าเป็นความผิดจากการกระทำเดียวกันกับคดีมาตรา 112 ก่อนหน้านี้ และศาลได้พิพากษาลงโทษตามมาตรา 112 ที่มีโทษหนักที่สุดแก่จำเลยไปแล้ว จึงไม่ควรให้จำเลยต้องรับโทษอีก

ส่วนนางอัษฎาภรณ์และนายนพฤทธิ์ได้ขอต่อสู้คดี โดยไม่ได้รับการประกันตัวทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาล จนกระทั่งศาลยกฟ้องเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ทั้งสองคนจึงได้รับการปล่อยตัว โดยใช้เวลาต่อสู้คดีกว่า 2 ปี  ในส่วนนายนพฤทธิ์ ญาติเคยยื่นขอประกันตัวทั้งหมด 5 ครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาตทุกครั้ง ทำให้เขาถูกคุมขังในเรือนจำรวมระยะเวลา 2 ปี 6 เดือน โดยที่นายวิเศษ จำเลยในกรณีเดียวกันที่ให้การรับสารภาพก่อนหน้านี้ ได้รับการปล่อยตัวไปเมื่อเดือนกันยายน 2560 รวมถูกคุมขัง 2 ปี กับ 1 เดือน เนื่องจากได้รับการลดหย่อนโทษในโอกาสสำคัญ ส่วนนายกิตติภพหลังจากพ้นโทษในคดีนี้ ก็ได้รับโทษในคดีส่วนตัวอื่นต่อไป

ในกรณีนี้ จำเลยสองรายที่ต่อสู้คดี ยืนยันว่าไม่ได้กระทำความผิด และในที่สุดศาลยกฟ้อง ต้องถูกคุมขังเป็นระยะเวลายาวนานกว่าจำเลยสองรายที่ให้การรับสารภาพตั้งแต่ต้น และได้รับการปล่อยตัวไปก่อน

ข้อต่อสู้ของนพฤทธิ์ในชั้นศาล นอกจากยืนยันว่าไม่ได้ร่วมกระทำความผิดและไม่เคยได้รับผลประโยชน์ใดๆ ตามที่ถูกกล่าวหา โดยไม่ได้มีพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์ยืนยันได้แล้ว ยังรวมถึงข้อต่อสู้ทางกฎหมาย เรื่องสมเด็จพระเทพฯ ไม่ใช่บุคคลตามองค์ประกอบความผิดของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และการฟ้องของโจทก์ในคดีนี้เป็นการฟ้องซ้อนกับคดีก่อนที่ได้ฟ้องในศาลจังหวัดกำแพงเพชรเช่นกัน แต่ศาลก็ไม่ได้มีคำวินิจฉัยใดๆ ในประเด็นทางกฎหมายดังกล่าว

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

เภสัชกรอีสานยืนยันค้านร่าง พ.ร.บ.ยา เพื่อ ปชช.ใช้ยาปลอดภัย ไม่ได้ปกป้องวิชาชีพ

Posted: 01 Sep 2018 04:10 AM PDT

เภสัชกรอีสานยืนยันคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ยาใหม่ ชี้ไม่ได้ดราม่าปกป้องวิชาชีพเภสัชกร แต่เพื่อความปลอดภัยผู้บริโภคปลอดภัยของประชาชนในการใช้ยา

วันที่ 1 ก.ย. 2561 เวลา 13.00-15.30 น. ณ ห้องประชุมอาคาร 1 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สมาคมศิษย์เก่าเภสัชศาสตร์ภาคอีสาน 3 สถาบัน คือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รวมถึงชมรมเภสัชกรทุกภาคส่วนในพื้นที่ภาคอีสาน เช่น ชมรมเภสัชกรชุมชน ชมรมเภสัชกรสำนักงานสาธารณสุขจงหวัด ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนในพื้นที่ภาคอีสาน และหน่ววยงานภาคีเครือข่าย จัดเวทีแสดงพลังเพื่อคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่

เภสัชกรวรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร อุปนายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 นั้นควรมี 2 เรื่อง คือ การกระบวนการขึ้นทะเบียนยาที่ต้องรวดเร็วขึ้น และการทบทวนตำรับยาหากไม่เหมาะสมก็สามารถยกเลิกได้ และการดำเนินงานตาม ม.44 ของ คสช. ไม่ใช่การแก้ไขตามอำเภอใจ และหลักคิดของการร่างกฎหมายควรร่างจากหลักการสำคัญ เช่น การแบ่งประเภทของยาตามระบบสากล หลักการใครเรียนก็ได้ทำ ใครไม่ได้เรียนห้ามทำ และการแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การขายยาผ่านอีคอมเมิร์ซ รวมทั้งควรมีการศึกษากฎหมายของต่างประเทศ เพื่อให้กฎหมายที่ออกมารอบคอบที่สุด ไม่ใช่การไปร่างกันเพียง 3-4 คน เท่านั้น และขอยืนยันว่าการออกมาคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.ยาใหม่ในครั้งนี้เป็นเพราะเราห่วงความปลอดภัยของประชาชนในการใช้ยา ไม่ใช่ห่วงวิชาชีพ

เภสัชกรจิระ วิภาสวงศ์ เภสัชกรเชี่ยวชาญ หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูน กล่าวว่า การคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ. ยาใหม่ในครั้งนี้ เนื่องจากเราเห็นจุดอ่อนมากมายใน ร่าง พ.ร.บ.ยาใหม่ และได้ศึกษาจนแน่ใจว่าไม่ได้ดีกว่า พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 เลย หากจะมีการปรับปรุงกฎหมายใหม่นั้นควรจะเน้นการแยกบทบาทหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ คือ แพทย์และทันตแพทย์ มีหน้าที่ในการวินิจฉัยโรคและสั่งการรักษา ส่วนการจ่ายยารักษาโรคคือวิชาชีพของเภสัชกร 

เภสัชกรจิระ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ห่วงกังวลคือ เรื่องการปรุงยา ซึ่งต้องยอมรับว่าในสถานพยาบาลเอกชน และคลินิก เช่น คลินิกโรคผิวหนังนั้น มีการปรุงยาเพื่อใช้กับคนไข้ของตนเอง โดยเป็นการปรุงยาตามตำรับลับ ซึ่งทุกวิชาชีพไม่ยอมรับการปรุงยาแบบตำรับลับนี้ เพราะแม้จะแค่แบ่งบรรจุยาก็ถือว่าเป็นศาสตร์ที่ต้องเรียนรู้ หากปล่อยให้มีการปรุงยาง่ายๆ จะมีความเสี่ยงมากในเรื่องความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และการจ่ายยาโดยคลินิกของวิชาชีพพยาบาล ซึ่งมีมากในระดับอำเภอ เพราะจากการตรวจสอบของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จะพบว่ากรอบรายการยาที่ใช้ในคลินิกไม่มีความเหมาะสม ไม่มีการถ่วงดุลและตรวจสอบทางวิชาชีพ ซึ่งจะเกิดผลเสียกับผู้ป่วย

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ว่าที่ กสม.เผย เด็กข้ามชาติต้องได้รับการ ‘แจ้งเกิด’ รัฐต้องออกเอกสารแสดงตัวให้

Posted: 01 Sep 2018 04:03 AM PDT

กฎหมายไทยบังคับให้เด็กข้ามชาติทุกคนต้องได้รับการแจ้งเกิด นักกฎหมาย ระบุรัฐต้องออกเอกสารแสดงตัวให้ในฐานะที่เป็นคน ส่งผลให้เข้าถึงสิทธิ-สวัสดิการพื้นฐาน ยืนยันเจ้าหน้าที่ทะเบียนไม่มีอำนาจจับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย


สุรพงษ์ กองจันทึก อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ (แฟ้มภาพประชาไท)

1 ก.ย. 2561 นายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ กล่าวในงานแถลงข่าว ภายใต้งานประชุมสัมมนานานาชาติ เรื่อง "การจดทะเบียนเกิด ประเด็นทางสุขภาพ และประเด็นทางสังคมของแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาร์ในประเทศไทย" เมื่อเร็วๆ นี้ว่า พบประเด็นใหญ่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการฯ อยู่ 2 ประเด็น ได้แก่ 1. การรับรองสิทธิเด็ก โดยที่ผ่านมามีลูกของแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่เกิดในประเทศไทยแต่กลับไม่มีการรับรองความเป็นคนให้กับเขา สิ่งที่เราทำตอนนี้คือจะต้องมีการรับรองความเป็นคนให้กับเขา ซึ่งนอกจากการเป็นคนโดยหน้าตาแล้ว ยังต้องเป็นคนโดยกฎหมายด้วย

"การเป็นคนโดยกฎหมายก็คือรัฐต้องใส่ระบบทะเบียนราษฎร์ที่จะรองรับคนกลุ่มนี้ ให้เขาเหล่านั้นได้มีชื่อในระบบทะเบียนราษฎร์ ให้เขามีเลข13 หลัก ให้เขามีบัตร ให้เขามีเอกสารแสดงตัวในฐานะที่เขาเป็นคน" นายสุรพงษ์กล่าว

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การที่เขาเป็นคนก็จะได้รับสิทธิอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นสิทธิเด็ก สิทธิในการรักษาพยาบาล สิทธิทางการศึกษา ฯลฯ แต่ถ้าเขาไม่ได้รับการรับรองสิทธิความเป็นคน หรือไม่มีเอกสารใดๆ รับรองว่าเขาเป็นคน นั่นเท่ากับว่าสิทธิอื่นๆ ก็จะไม่ได้

"แม้กระทั่งช้าง ม้า หรือสัตว์ต่างๆ เราก็ยังมีตั๋วรูปพรรณให้เขา ดังนั้นคนซึ่งเป็นสัตว์ที่ประเสริฐ เป็นสัตว์ที่สำคัญมาก ก็ต้องมีเอกสารในการรับรองให้เขาด้วยเช่นกัน" ว่าที่กรรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าว

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของประเด็นที่ 2 คือรัฐเองมีหน้าที่ที่จะทำข้อมูลคนทั้งหมดในประเทศไทย ซึ่งตาม พ.ร.บ.ทะเบียนราษฏร รัฐมีหน้าที่เก็บข้อมูลคนที่อยู่ในประเทศไทยทั้งหมดไว้ในระบบ เพื่อที่จะแยกได้ว่าใครเป็นคนไทย ใครไม่ใช่คนไทย เพราะถ้าเรามีข้อมูลของคนในประเทศไทยสมบูรณ์และถูกต้องมากเท่าใด การบริหารจัดการบ้านเมืองก็จะสามารถดำเนินการได้ดีเท่านั้น

"จาก 2 ประเด็นข้างต้นนี้ ทำให้ในปี 2551 ประเทศไทยได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.การทะเบี่ยนราษฎร ฉบับที่ 2 ที่จะให้คนทุกคนในประเทศไทยสามารถเข้าถึงระบบทะเบียนราษฎรได้ ไม่ใช่แค่สามารถ แต่ต้องเข้าสู่ระบบทะเบียนราษฎร เพื่อที่จะมีข้อมูลที่เป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กๆ ที่เกิดมาในบ้านเมืองของเรา เราให้เด็กทุกคนต้องได้รับการแจ้งเกิด" นายสุรพงษ์ กล่าว

ว่าที่ กสม.รายนี้ กล่าวอีกว่า หลังจากปี 2551 ประเทศไทยได้ออกกฎหมายมาให้เด็กทุกคนต้องได้รับการแจ้งเกิด และในปี 2553 เราได้ยกเลิกข้อสงวนในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กข้อที่ 7 ซึ่งไทยตั้งข้อสงวนเอาไว้นานแล้ว โดยอนุสัญญาข้อที่ 7 ระบุว่า เด็กทุกคนต้องได้รับการแจ้งเกิด มีสิทธิที่จะได้รับสัญชาติ และได้รับการดูแลจากพ่อแม่ นั่นหมายความว่าตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา เด็กทุกคนที่เกิดในแผ่นดินไทยจะต้องได้รับการแจ้งเกิด

"แต่เราพบว่ายังมีช่องว่างในกรณีของตัวของแรงงาน ตัวของชาวบ้าน ที่จะไม่เข้าใจเรื่องเหล่านี้ ขณะเดียวกันตัวเจ้าหน้าที่รัฐเองก็ยังไม่มีความเข้าใจเรื่องนี้เท่าใดนัก บางคนอาจมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องกับคนเหล่านี้ด้วย เราจึงยังพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐไม่รับแจ้งเกิด หรือแม้แต่การเรียกเอกสารเพิ่มเติมเกินกว่าที่จดหมายกำหนด อาทิ ขอเอกสารของนายจ้าง ขอให้เอาชื่อเข้าทะเบียนบ้านนายจ้าง ฯลฯ ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในความเป็นจริง" นายสุรพงษ์ กล่าว

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบว่าแรงงานข้ามชาติมีความหวาดกลัวเจ้าหน้าที่ และมักถูกเจ้าหน้าที่ข่มขู่ว่าถ้าเจอตัวจะถูกจับกุม ส่งผลให้แรงงานเหล่านั้นไม่กล้าไปแจ้งเกิดบุตร ซึ่งตามหลักกฎหมายแล้วต้องเข้าใจว่า แม้แรงงานเหล่านั้นจะเข้าประเทศมาอย่างผิดกฎหมาย แต่เขามีสิทธิคลอดลูกในประเทศไทย และประเทศไทยจะให้การดูแล

"มากไปกว่านั้นก็คือแม้จะเป็นแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย แต่กฎหมายก็ให้เขาเหล่านั้นมาแจ้งเกิดลูกได้ ที่สำคัญคือเจ้าพนักงานที่ทำหน้าที่รับแจ้งเกิดนั้นเป็นเจ้าพนักงานของกระทรวงมหาดไทย (มท.) ซึ่งเจ้าหน้าที่มหาดไทยเป็นเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ดังนั้นเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีหน้าที่ในการจับ มีหน้าที่ในการจดทะเบียนให้เท่านั้น เรื่องนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องกลับไปทำความเข้าใจกับชาวบ้านและตัวของเจ้าหน้าที่ด้วย" นายสุรพงษ์ กล่าว

อนึ่ง นายสุรพงษ์ คาดการณ์ว่าปัจจุบันประเทศไทยมีคนต่างด้าวประมาณ 4.5 ล้านคน ในจำนวนนี้มี 1 ล้านคนที่เข้าสู่ระบบทะเบียน และคาดว่าแต่ละปีจะมีเด็กเกิดใหม่ราวๆ 5-6 หมื่นราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กที่ไม่ได้รับการแจ้งเกิดประมาณ 1 หมื่นราย

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

นักเขียนอังกฤษเชื้อสายอิรักวิพากษ์ระบบการศึกษา ปกปิดประวัติศาสตร์เลวร้ายยุคอาณานิคม

Posted: 01 Sep 2018 03:54 AM PDT

นักเขียนสัญชาติอังกฤษเชื้อสายอิรักวิพากษ์ระบบการศึกษาอังกฤษที่ไม่ยอมเล่าเรื่องราวด้านร้ายๆ ของตัวเองในช่วงล่าอาณานิคม ซึ่งส่งผลกระทบในหลายประเทศจากอดีตมาจนถึงทุกวันนี้รวมถึงประเทศอิรักซึ่งนักเขียนหญิงผู้นี้ได้ทราบเรื่องราวจากคำบอกเล่าจากปู่และการค้นคว้าเองมากกว่าที่ได้รับจากบทเรียน และการที่ทำให้รู้ประวัติศาสตร์อีกด้านมันกลายเป็นสิ่งที่เสริมพลังให้เธอ รวมถึงทำให้เธอสร้างสรรค์งานเขียนใหม่ๆ ได้

1 ก.ย. 2561 รุคายา อิซซิเดียน นักเขียนชาวอังกฤษเชื้อสายอิรักที่เชี่ยวชาญเรื่องสังคมและวัฒนธรรม นำเสนอบทความในสื่ออัลจาซีราระบุว่าโรงเรียนในอังกฤษเองควรจะมีการเรียนการสอนประวัติศาสตร์การล่าอาณานิคมอังกฤษซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศบรรพบุรุษของเธอคืออิรัก

อิซซิเดียนระบุว่าจากการที่เธอเติบโตมาในอังกฤษเธอจำไม่ได้เลยว่ามีการสอนเรื่องประวัติศาสตร์การล่าอาณานิคมจากอังกฤษในโรงเรียนเลย ถึงแม้ว่าหลักสูตรการเรียนการสอนของอังกฤษจะเน้นพูดถึงความรุนแรงจากฝ่ายอื่นๆ เช่น นาซีเยอรมนี หรือสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามกลางเมือง อาจจะมีการพูดถึงประวัติศาสตร์แย่ๆ ในยุคกลางของประเทศตัวเองบ้างเล็กน้อย เช่น เรื่องโรคระบาดครั้งใหญ่ ไฟไหม้กรุงลอนดอนครั้งใหญ่ และช่วงการปกครองของกษัตริย์เฮนรีที่ 8 แต่ไม่มีเรื่องความโหดร้ายของการล่าอาณานิคมอังกฤษเลย

บทความระบุว่าพวกเธอไม่ได้รับรู้เรื่องราวความโหดร้ายของค่ายกักกันกองทัพอังกฤษในช่วงสงครามโบเออร์ หรือเหตุขาดแคลนครั้งใหญ่ในเบงกอลช่วงปี 2486 หรือเหตุสังหารหมู่ชาวเคนยาในช่วงราวปี 2495 และพวกเขายังไม่เคยเรียนรู้ถึงอาชญากรรมจำนวนมากที่อังกฤษเคยทำไว้กับบรรพบุรุษชาวอิรักของพวกเธอเลย ขณะที่อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษอย่างวินสตัน เชอร์ชิลล์ ถูกยกย่องเป็นฮีโรหรือรัฐบุรุษ แต่ไม่เคยมีเนื้อหาพูดถึงตอนที่เขาสนับสนุนการใช้อาวุธเคมีกับประชาชนชาวอิรักเพื่อโต้ตอบการเรียกร้องอิสรภาพจากอังกฤษเลย

อิซซิเดียนระบุต่อไปว่าหลักสูตรการเรียนการสอนของอังกฤษไม่ได้สอนเรื่องที่พวกเขาลักพาตัวและคุมขังกลุ่มผู้นำอิรัก ทิ้งระเบิดใส่พลเรือนเพราะไม่ยอมจ่ายภาษี รวมถึงเผาและทำลายหมู่บ้านและเมืองต่างๆ เพื่อกำราบการปฏิวัติต่อต้าน

บทความของชาวอังกฤษเชื้อสายอิรักยังวิพากษ์วิจารณ์กรณีทางการเมืองของอังกฤษที่แต่งตั้งผู้ช่วยกระทรวงศึกษาธิการเป็นนักประวัติศาสตร์ที่แก้ตัวแทนจักรวรรดิ์นิยมบริติช บทเรียนของอังกฤษยังมีการลบล้างความผิดบาปของคนขาว ไม่ได้มีการพูดถึงปัญหาเรื่องการล่าอาณานิคมทางสีผิวและการที่คนขาววางตัวเป็นใหญ่ซึ่งมีผลกระทบยาวนานต่อประชาชนที่อยู่ใต้อาณานิคม นอกจากนี้เรื่องเล่าแบบที่ล้างผิดตัวเองของอังกฤษก็เป็นสิ่งฝังหัวชาวอังกฤษจำนวนมาก มีชาวอังกฤษร้อยละ 49 เชื่อว่าจักรวรรดิบริติชเป็น "พลังฝายดี" ที่ "ช่วยพัฒนาชีวิตของประเทศใต้อาณานิคม" และมีเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่คิดว่าจักรวรรดิ์นี้ทำให้ประเทศใต้อาณานิคมแย่ลง

แต่สิ่งที่ทำให้อิซซิเดียนได้เรียนรู้เรื่องความโหดร้ายจากอาณานิคมไม่ใช่จากห้องเรียน แต่มาจากปากของปู่เธอเอง มันสร้างความรู้สึกไม่สบายใจว่ายังมีเรื่องที่เธอไม่รู้อยู่อีกจนทำให้ต้องไปค้นคว้าต่อจนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เธฮเขียนนิยายออกมา สำหรับเธอแล้วการได้สามารถเล่าเรื่องจากฝ่ายของตัวเธอเองได้บ้างมันสร้างความรู้สึกเสริมพลังให้ตัวเอง

อิซซิเดียนระบุว่าการเล่าเรื่องแบบสร้างภาพโรแมนติคให้ฝ่ายผู้ล่าอาณานิคมเหล่านี้ยังมีอยู่ในวัฒนธรรมป็อบต่างๆ ทั้งละครโทรทัศน์เกี่ยวกับคนขาวรวยๆ อย่าง ดาวน์ตันแอบบีย์ และอินเดียนซัมเมอร์ส ซึ่งไม่ได้บอกเลยว่าความมั่งคั่งที่พวกเขาได้มานั้นเอามาจากไหน หรือมีภาพยนตร์ที่สร้างภาพให้พระราชินีวิคเตอเรียดู "ใจกว้าง" ต่อทาสชาวอินเดีย ทั้งที่ได้ผลประโยชน์จากการกดขี่ชาวอินเดียอยู่

อิซซิเดียนวิพากษ์ไปถึงวงการการศึกษาที่มีมหาวิทยาลัยของกลุ่มชนชั้นนำอย่างอ็อกฟอร์ดที่ยังมีลักษณะแบบเอายุโรปเป็นศูนย์กลาง (Eurocentric) และกีดกันผู้หญิงกับคนที่ไม่ใช่คนผิวขาว ซึ่งทำให้กลุ่มนักศึกษาเรียกร้องให้มีการยกเลิกความเป็นเจ้าอาณานิคมในหลักสูตรการศึกษาของมหาวิทยาลัย

ประเด็นเรื่องการพยายามบ่ายเบี่ยงไม่พูดถึงความผิดของอังกฤษในยุคอาณานิคมยังมีอยู่ในแวดวงการเมืองด้วย เช่น กรณีของเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้านี้มีผู้เรียกร้องในปี 2556 ให้อังกฤษขอโทษต่อกรณีการสังหารหมู่ที่อมฤตสาร์ ปี 2462 แต่คาเมรอนก็กล่าวว่า "ผมไม่คิดว่าสิ่งที่ถูกต้องคือการล้วงกลับไปในอดีตเพื่อหาสิ่งที่พวกเราควรจะขอโทษ" อิซซิเดียนวิจารณ์ว่าถ้อยคำของคาเมรอนมีปัญหาตรงที่การลัทธิอาณานิคมไม่ควรถูกผลักให้เป็นประวัติศาสตร์ที่จะต้องให้อภัยและลืมไป เพราะมรดกที่เป็นผลพวงจากอาณานิคมยังคงอยู่ไม่ว่าจะเป็นพรมแดนเทียมๆ การกระจายทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกัน หรือการใช้ทรัพยากรจนหมด ทำให้เกิดความขัดแย้งตามมา รวมถึงปัญหาความยากจนและการด้อยพัฒนาด้วย

"พวกเราจะไม่สูญเสียอะไรเลยจากการยอมรับอาชญากรรมในอดีตของพวกเรา วิธีการเดียวที่เราจะหลีกเลี่ยงการทำผิดพลาดซ้ำอีกคือการเรียนรู้จากมัน" อิซซิเดียนระบุในบทความ

เรียบเรียงจาก

It is time to teach colonial history in British schools, Aljazeera, 31-08-2018
https://www.aljazeera.com/indepth/opinion/time-teach-colonial-history-british-schools-180830055614463.html

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

19 ผู้ค้ายาจากอาคาร 14 และเรือนจำ ก็อท ทาเลนท์ ในกระแสปฏิรูปเรือนจำ กรณีฟิลิปปินส์

Posted: 01 Sep 2018 02:10 AM PDT

กระแสการพัฒนารูปแบบเรือนจำธรรมาภิบาลเกิดขึ้นช่วงราว 1990 มุ่งเน้นปฏิรูปภาพลักษณ์การควบคุมกีดกันผู้ต้องขังให้ออกจากความเป็นพลเรือนที่มีอิสรภาพ (civil liberties) ให้เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น โดยประเทศที่พัฒนาแล้วต่างมุ่งการปรับแก้ไขระดับโครงสร้างและระบบงานเรือนจำ ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย รวมทั้งสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลียและอังกฤษ มีรายงานวิจัยจำนวนมากระบุถึงบทบาทหน้าที่ของเรือนจำ ที่มีกฎเหล็กการลงโทษด้วยวิธีการกักกันนักโทษมีข้อบ่งชี้ว่าไร้ประสิทธิภาพในการปรับปรุงพฤติกรรมผู้ต้องขัง นอกจากนี้ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติและการคอร์รัปชั่นตามมา (DiIulio, 1987) 

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์หลายประเทศเสนอข้อค้นพบว่า ผู้ต้องขังถูกทำร้ายภายใต้ร่มเงาบ้านหลังใหญ่ (Big House Era) (Austin & Irwin, 2011) ในบางเรือนจำเกิดกรณีการคุกคามทำร้ายผู้ต้องขังอย่างเป็นระบบ และมีความพยายามทำให้ผู้ต้องขังเป็นเหยื่อต้องขึ้นโรงขึ้นศาลซ้ำๆ ซึ่งท้าทายเงื่อนไขการคุมขังของเรือนจำ ในประเทศตะวันตกออสเตรเลีย และสหรัฐนั้น สถาบันศาลยุติธรรมมีอำนาจสั่งการโดยตรงต่อการบริหารจัดการเรือนจำให้ ผู้คุม และ เจ้าหน้าที่เรือนจำย้ายออกจากเรือนจำทันทีเมื่อละเมิดข้อบังคับ เพราะระบบสายบังคับบัญชาเรือนจำต้องได้รับการยินยอมจากศาลในหลายกรณี (Marquart & Crouch,1985, หน้า 557; Schlanger, 2006) นับเป็นกลไกถ่วงดุลในกระบวนการยุติธรรมระหว่างศาล ราชทัณฑ์และปัญหาอาชญากรรมที่มีการสั่งสมความรู้ของประเทศประชาธิปไตย

คล้าก โจน และ เรย์มอนด์ นารัง ผู้เขียนหนังสือ "Inmate Radicalisation
and Recruitment in Prisons" (Routledge, 2018)

ด้วยมูลเหตุข้างต้น ผู้เขียนต้องการชวนผู้อ่านร่วมกันสำรวจกระแสการปฏิรูปเรือนจำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งรู้จักกันดีในหมู่คนราชทัณฑ์ไทยและนานาชาติ ที่เรียกว่าการสร้าง "ระบบนุ่มนวล" (Building Tender System : BTS) (งานวิจัยเกี่ยวกับระบบนุ่มนวลอ่านได้ที่ Fong, 1990;Marquart & Crouch, 1985 ) ผ่านงานศึกษาและบทสัมภาษณ์ของสองนักอาชญาวิทยา คล้าก โจน มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย และ เรย์มอนด์ นารัง มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา จากผลงานล่าสุดในชื่อ Inmate Radicalisation and Recruitment in Prisons (Routledge, 2018) ซึ่งทำงานลงภาคสนามเรือนจำเพื่อศึกษาพลวัตของกลุ่มผู้ต้องขังเปรียบเทียบเรือนจำประเทศตะวันตกและเอเชีย จีน อินเดีย โดยเฉพาะประเทศฟิลิปปินส์ที่มีบริบทเฉพาะตัว ความคิดเห็นและแก่นของหนังสือเล่มนี้เจาะลึกชีวิตภายนอกและภายในของกลุ่มผู้ต้องขังในคดีอาชญากรรม การสร้างชุมชนย่อยๆ ในบ้านหลังใหญ่ นอกจากนี้ยังนำเสนอทางเลือกแก่สังคมให้ทบทวนการยกเครื่องระบบยุติธรรมเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาเรือนจำระบบเปิด 

ข้อเสนอนี้เปลี่ยนกระบวนทัศน์การบริหารจัดการเรือนจำ 2018 แตกต่างจากเรือนจำก่อนหน้า 1990 อย่างไม่ต้องสงสัย นอกจากนี้ยังเปลี่ยนมุมมองความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ของผู้คนในสังคมที่มีผู้ต้องขัง ระหว่างเจ้าหน้าที่เรือนจำและผู้ต้องขังซึ่งความสัมพันธ์เหล่านี้ พวกเขาต่างเป็นผู้กระทำและถูกกระทำไปพร้อมๆ กัน แนวทางการบริหารจัดการเรือนจำทางเลือกนี้สร้างความตื่นตัวให้กรมราชทัณฑ์หลายประเทศเปิดรับการสนับสนุนจากสังคม กรมราชทัณฑ์อนุญาตให้เรือนจำเปิดรับโครงการสุขภาพ การศึกษาทางเลือก การพัฒนาสมรรถนะที่จำเป็น เช่น การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การจัดกลุ่มปรึกษาหลังบำบัดยาเสพติด โครงการสุขภาวะในลักษณะแผนงานร่วมและรายกิจกรรมให้เข้าไปทำงานในเรือนจำ โดยหน่วยบริการสังคมภายนอกอาจมีเป้าหมายการเปลี่ยนวิธีคิดของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่เรือนจำให้ยึดหลักมาตรฐานชีวิตผู้ต้องขังและคำถึงสิทธิมนุษยชนตามพันธะกรณีสากล เช่น สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในหลายประเทศที่มีโครงการและกิจกรรมต่างๆ เข้าไปทำงานในเรือนจำเพื่อสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้บัญชาการเรือนจำจะตอบสนองและปรับตัวอย่างไร 

เนื่องจากผู้เขียนเป็นน้องใหม่ที่หมุนเวียนเข้าไปทำงานในเรือนจำ ภายใต้กระแสธารการสร้างระบบนุ่มนวลภายในเรือนจำ ด้วยบทบาทนักวิจัยภายนอกเพื่อพัฒนาข่ายงานภาคีโครงการทางสุขภาพ ภายใต้ความร่วมมือของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขและกรมราชทัณฑ์ ซึ่งกรมราชทัณฑ์ได้ส่งเรือนจำที่สมัครใจเข้ามารับการพัฒนารูปแบบเรือนจำชาย 2 แห่งในปีที่แล้ว ทั้งนี้ ผู้เขียนขอยกเรื่องราว "เรือนจำไทยแลนด์ ก็อท ทาเลนท์" ไปเล่าอย่างกระชับในตอนต่อไป ในบทความนี้ ผู้เขียนต้องการชี้จุดแตกต่างของโครงการสร้างระบบนุ่มนวล คือ การสนับสนุนให้ผู้ต้องขังต้องไปทำงานกับผู้ต้องขังคนอื่นๆ เป็นเครือข่ายแนวราบตัดขวางภายในเรือนจำ แปลความได้ว่าพวกเขาอาจต้องแย่งชิงอำนาจและทรัพยากรอันจำกัดภายในกลุ่มชุมชนผู้ต้องขัง ซึ่งสร้างความท้าทายแก่เจ้าหน้าที่เรือนจำ และ การเข้าใจกระบวนการกล่อมเกลาชุมชนในเรือนจำที่มีพลวัต ซึ่งอาจส่งเสริม หรือ ย้อนแย้งต่อเป้าหมายของการปฏิรูปเรือนจำ

จากประสบการณ์ทำงานในเรือนจำระยะเวลาสั้นๆ ของผู้เขียน สะท้อนว่าผู้ปฏิบัติงานที่เข้าไปเปลี่ยนแปลงและสร้างระบบนุ่มนวลภายในเรือนจำจำต้องปะทะ หรือ หาทางเลือกทางลงให้กับหลักการสมมาตรของเรือนจำ 3 หลักการ หนึ่ง การลงโทษกัดกีดจากสังคม (deprived) สอง การฟื้นฟูชีวิตทั้งสภาพกายและจิตใจ (rehabilitation)และ สาม ลดอัตราการหวนกลับสู่เรือนจำ (recidivism) ซึ่งแต่ละส่วนมีกลไกทำงานกับกลุ่มต่างๆ ภายในและนอกเรือนจำ บทความนี้ผู้เขียนต้องการทบทวนงานปฏิรูปเรือนจำจากประเทศที่ฟิลิปปินส์ดังเกริ่นนำข้างต้น ในแง่มุมประเด็นเรียนรู้ที่น่าสนใจ ผู้เขียนตั้งประเด็นไว้ 3 ประเด็น

ประเด็นที่ 1 คลายกฎเหล็ก เพื่อพัฒนาทักษะและ การกลายเป็นอื่นๆ ของผู้ต้องขัง
ประเด็นที่ 2 การกล่อมเกลาภายในเรือนจำสัมพันธ์การฟื้นฟูชีวิต 
ประเด็นที่ 3 ความท้าทายที่ควรนำมาพิจารณาปรับปรุงเรือนจำ 

ประเด็นที่ 1 คลายกฎเหล็ก เพื่อพัฒนาทักษะและ การกลายเป็นอื่นๆ ของผู้ต้องขัง

หนังสือที่ผู้เขียนอยากแปลเป็นภาษาไทยเสียใหม่ว่า ระเบิดจากภายในเรือนจำฟิลิปปินส์ ของ คล้าก โจน และ เรย์มอนด์ อี นารัง เสนอความคิดและข้อเสนอแนะที่มีต่อภาพเสมือนจริง (stereotype) ที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ทำราวกับว่ากำลังทำงานหนักเพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรม คล้ากปูพื้นว่าปัญหาผู้ต้องขังล้นคุกของฟิลิปปินส์เป็นปัญหาเฉกเช่นเดียวกับรัฐบาลออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกาและอังกฤษกำลังเผชิญ กรณีฟิลิปปินส์มีบริบททางนโยบายการปราบปรามยาเสพติดของประธานาธิบดีดูเตอเต้ ขณะเดียวกับที่รัฐบาลใช้กำลังทหารปราบปรามผู้ก่อการร้ายทางภาคใต้ แต่ภาคกลางมีผู้ต้องขังคดียาเสพติดเกิดขึ้น 700,000 คนในช่วงเวลาหกเดือน ความหนาแน่นแออัดเช่นนี้คล้ากเปรียบเปรยว่าในพื้นที่ 20 ตารางวา มีผู้ต้องขังอยู่ 100 คนจากนั้นผู้ต้องขังหนึ่งคนแบ่งเซลล์ออกเป็น 4 คนอย่ารวดเร็ว เท่ากับว่าในพื้นที่ขนาดเดิมมีผู้ต้องขัง 400 คน ยังไม่แจกแจงถึงนโยบายส่งเสริมการวิสามัญผู้ต้องสงสัยหลายหมื่นคน จากตำรวจ ทหารและสมาชิกแก็งตัดตอนกันเอง คดียาเสพติดต้องใช้ทนายความประมาณ 1,400–1,500 คนเพื่อขั้นศาล แก้ต่าง ฟ้องตำรวจและรัฐบาลกลับ 

คำถามในทางอาชญาวิทยา (criminology ) คือ การมองหาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับปัญหายาเสพติด ไม่ว่าจะรัฐบาลทหาร หรือ รัฐบาลพลเรือน รวมทั้งสหสัมพันธ์ระหว่างตำรวจ ภาวะช่องว่างทางเศรษฐกิจ แก็งค้ายา ตลาดยาเสพติด ว่าเพราะเหตุใดคนจึงหันเข้าหายาเสพติดมากขึ้นในแต่ละปี

เบื้องหลังของการทำงานลงภาคสนามเลาะรั้วเรือนจำต่างๆ ของ คล้าก โจน และ เรย์มอนด์ อี นารังใช้เวลามากกว่าสิบปีในการทำงานชาติพันธุ์วรรณนาเพื่อทำความเข้าใจบริบทสังคมและวัฒนธรรมของฟิลิปปินส์ ด้วยวิธีการสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม การสัมภาษณ์เชิงลึก คลุกคลีกับผู้ต้องขัง อดีตหัวหน้าแก็งค้ายาและผู้ต้องสงสัยการก่อการร้ายในเรือนจำ และ ทัณฑสถานในช่วงเวลากลางวัน คล้ากและเรย์มอนด์ใช้เวลากลางคืนสำรวจสภาพแวดล้อมของแก็งมิจฉาชีพในเมืองมนิลา ร้านรวงขายของชำ ภัตตาคาร ร้านฟาร์ดฟูด ร้านแฮมเบอเกอร์ ร้านศิลปะและงานจักสาน ร้านขายเครื่องมือเครื่องใช้ในครัว ร้านตัดผม 

เรื่องราวของชาวแก็งผู้ต้องขังที่เมืองบาตังถูกผลิตหนังต้นทุนต่ำ ทำให้คล้าก และ เรย์มอนด์สนใจแกะร่องรอย เขาทั้งคู่มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนร้านอาหาร และรับประทานอาหารเย็นที่ปรุงและเสริฟจากมืออดีตผู้ต้องขังคดีก่อการร้าย "สลัดปลาทูดำ " (blackened tuna) มีนัยล้อเลียนที่หมายถึง อาหารจากคนโหดเหี้ยม อดีตผู้ต้องขังคนนี้ เขาได้เรียนรู้ทักษะการทำงานอาหารจากการเป็นผู้ช่วยพ่อครัวในเรือนจำ เมื่อออกจากเรือนจำแล้วเขาจึงเปิดร้านอาหารจากการสนับสนุนของเพื่อนผู้ต้องขัง โดยที่ร้านอาหารของเขาไม่ได้ทำอาหารส่งเรือนจำ แต่อาหารนี้สำหรับส่งสมาชิกแก็งที่ต้องโทษอยู่ในเรือนจำเท่านั้น 


ความหนาแน่นของเรือนจำในเมืองเกซอนซิตี้
(เครดิตภาพ : คล้าก โจน และ เรย์มอนด์ อี นารัง 2018)

การทำงานร่วมกับอดีตผู้ต้องขังทำให้คล้ากได้ข้อมูลเชิงลึก จากหนังสือได้แสดงข้อเสนอเชิงเปรียบเทียบว่า สิ่งที่เรือนจำฟิลิปปินส์คล้ายคลึงกับเรือนจำแถบประเทศสแกนดิเนเวีย การคุมขังและกีดกันมี sense ของ "ทักษะ" และ " อัตลักษณ์" ผู้ต้องขังอาชญากรรมทั่วไป ไม่ได้สูญเสียสองสิ่งนี้ไประหว่างอยู่ในเรือนจำ ย่อมส่งผลดีต่อการดำเนินงานเพื่อปรับพฤติกรรมฟื้นฟูชีวิตทางกายและสภาพจิตใจ ทั้งนี้ การที่ยังคงติดต่อกับครอบครัวได้ ทำให้พวกเขายังคงอัตลักษณ์และกลายเป็นอื่นๆ ภายในเรือนจำด้วย การที่พวกเขายังได้ใช้ทักษะทำให้พวกเขารู้สึกมีศักดิ์ศรี และทำให้เขามีทัศนคติที่ดีต่อการปรับพฤติกรรม เขาย่อมไม่ต่อต้านตรรกะที่ว่าเรือนจำเป็นสถาบันปรับปรุงพฤติกรรมผู้ต้องขังกระทำผิดร้ายแรงและผิดกฎหมาย 

เรือนจำฟิลิปปินส์หลายแห่งนั้น ผู้ต้องขังยังคงสามารถติดต่อครอบครัว และ รับอาหารจากฝีมือคนครอบครัวเข้ามารับประทานในเรือนจำได้ ภายในเรือนจำจัดวางให้มีสวนสัตว์ขนาดย่อมไว้หย่อนใจ และสนามเด็กเล่นที่สร้างสรรค์จากกลุ่มผู้ต้องขังทำให้เขาได้ใกล้ชิดกับลูกๆ และครอบครัว ผู้ต้องขังที่เป็นหมอก็ได้มาช่วยงานเรือนพยาบาล คนเป็นวิศวกรก็ช่วยงานซ่อมบำรุง ผู้กำกับหนังก็มาช่วยงานสื่อสารในเรือนจำ คล้ากยกตัวอย่าง อดีตผู้ต้องขังและอดีตผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายเปิดร้านร้านคาเฟ่ใกล้เรือนจำด้วยการสนับสนุนจากผู้ต้องขังด้วยกัน จากนั้นเขาไปอบรมโปรแกรมคอมพิวเตอร์และขออนุญาตเจ้าหน้าที่เรือนจำเพื่อเข้าไปอบรมคอมพิวเตอร์ให้เพื่อนผู้ต้องขัง กิจกรรมทั้งหมดนี้มาจากการสนับสนุนของเพื่อนผู้ต้องขังด้วยกันเอง หากมองในแง่ดีการพัฒนาทักษะอาชีพเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากการสนับสนุนจากรัฐบาล แต่เป็นการจัดข่ายงานภาคีเพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้ต้องขังสอดคล้องกับการบริหารเรือนจำแบบธรรมาภิบาล (Share Governance) แต่ในแง่ลบมันคือ กระบวนการกล่อมเกลาของแก็งค้ายาเพื่อบริหารทรัพยากร และกระจายสู่สมาชิกแก็ง โดยเฉพาะปัญหายาเสพติด ยาบ้า หรือ แอมเฟตามีน ซึ่งเป็นระบาดหนักในเรือนจำฟิลิปปินส์ 

ประเด็นที่ 2 กระบวนการกล่อมเกลาของชุมชนเรือนจำ (Prisonization) 

การทำความเข้าใจกระบวนการกล่อมเกลาชุมชนเรือนจำ ประตูบานแรกที่ต้องมองทะลุเข้าไปคือ กระบวนการเลือกผู้นำลักษณะต่างๆ และการกีดกันในบ้านหลังใหญ่ ผู้ต้องขังก็มีการเลือกตั้งหัวหน้า และตำแหน่งหัวหน้ามีแนวโน้มซ้อนทับกับแกนนำที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ หรือ กิจกรรมสร้างระบบนุ่มนวลในเรือนจำ นั่นเอง กรณีเรือนจำฟิลิปปินส์ การก้าวสู่การเป็นหัวหน้าแก็ง และบริหารอำนาจของหัวหน้าแก็งไม่ได้อยู่ในกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ หรือ การต่อสู้เก่งตามกฎแบบไฟต์ คลับ หากแต่เพราะเขาสามารถเข้าใจการควบคุมและบริหารจัดการข้างในเรือนจำเป็นอย่างดี ส่งผลให้เขาสามารถจัดการ กระจายทรัพยากร และเงินทุนแก่สมาชิกแก็งทั้งในและนอกเรือนจำ

การกล่อมเกลาชุมชนเรือนจำมองอีกนัยยะ ผู้ต้องขังรู้สึกถึงการเป็นสถาบัน การที่พวกเขาผ่านประตูเรือนจำเข้าไปพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันเรือนจำ ว่าแต่พวกเขาจะจัดการที่ทางให้ตัวเองอยู่ตรงไหน คนส่วนใหญ่ตั้งคำถามต่อเรือนจำที่สร้างระบบการกีดกัน (deprived) ของจากสังคมอิสรภาพ แต่คล้ากชี้ว่าจุดที่น่าสนใจมากกว่าคือ โอกาสของการฟื้นฟูชีวิต การยืนหยัดสภาพกายและจิตใจจะเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่ค่อยๆ แง้มเปิดออกมา น่าเป็นประเด็นถกเถียงมากกว่า เพราะว่าไม่ใช่ทุกโครงการ และ กิจกรรมที่สร้างระบบนุ่มนวลจะฟื้นฟูสภาพกายและจิตใจผู้ต้องขังดีขึ้นได้

อย่างไรก็ดี อัตราผู้ต้องขังที่หวนกลับมาสู่เรือนจำของฟิลิปปินส์อยู่ในอัตราต่ำ ใกล้เคียงกับประเทศสแกนดิเนเวียน จากสมมุติฐานข้างต้นที่ผู้ต้องขังสามารถคงอัตลักษณ์ทักษะไว้ แล้วยังสามารถสะสมเรียนรู้ทักษะมาใช้ประโยชน์เมื่อพ้นออกจากเรือนจำแล้ว เป็นบริบททางวัฒนธรรมของเรือนจำฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นข้อดี แม้ว่าจะมีการคอรัปชั่นและการแก่งแย่งข้างในเรือนจำ

19 ผู้ค้ายาจากอาคาร 14 

เรื่องราวของเรือนจำนิวบิลิบิด (New Bilibid Prison) ตั้งอยู่ที่เมืองมันทันลูปา เป็นเรือนจำเก่าแก่ก่อตั้งตั้งแต่ พ.ศ. 2483 ซึ่งไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เรือนจำนี้เป็นแหล่งรวมของผู้ต้องขังค้ายา อาชญากรรม ฆาตกรรมต่อเนื่อง ลักพาตัวและข่มขืน จากข้อมูลระบุว่าประชากรเรือนจำที่ต้องโทษคุมขังมาจากจังหวัดคาราบาซอน ทางตอนใต้และตอนกลางของมนิลา เพราะเป็นเรือนจำที่อยู่ใกล้เคียงพื้นที่ทำให้ผู้ต้องขังคดีอาชญากรรมระดับครอบครัวถูกส่งมาที่นี่ ระบบการบริหารจัดการราชทัณฑ์ประจำภูมิภาคใต้จำลองคุณค่าและโครงสร้างมรดกของระบอบอาณานิคม ส่งผลต่อพัฒนากลไกควบคุมผู้ต้องขังอย่างเข้มงวด เรือนจำนิวบิลิบิดสะท้อนการควบคุมเพิ่มมากขึ้นกว่าการฟื้นฟูในปัจจุบัน ส่งผลต่อการบ่มเพาะความรุนแรงจากข้างในเรือนจำ สิ่งที่น่าสนใจคือสัดส่วนของผู้ต้องขังชาวต่างประเทศในคดียาเสพติดเป็นชาวจีนมากที่สุดถือเป็นสัดส่วน 3 เปอร์เซ็นต์ของผู้ต้องขังทั้งหมด จากการสืบสวนยังพบว่าผู้ต้องขังชาวจีนพัวพันกับตลาดค้ายาเสพติดที่มีเส้นสายเป็นนายตำรวจใหญ่ในมินดาเนา (อ้างอิงข้อมูลนี้จากสำนักข่าว RAPPLER ฟิลิปปินส์ ในข่าวออนไลน์ The inmates of New Bilibid Prison 16 พฤษภาคม 2561)

คล้าก ต้องการอธิบายว่าฉากชีวิตการต่อสู้ภายในเรือนจำนิวบิลิบิดนั้นสื่อสารอะไรแก่เราได้บ้าง ผู้ต้องขังมีอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นนักธุรกิจจากมินดาเนา ชาวประมงฟาร์มไข่มุกและพ่อค้าเทปผีซีดีเถื่อน ส่วนอีกกลุ่มทำอาชีพแตกต่างไป แต่จุดร่วมทั้งสองคือประกอบอาชญากรรมและสงสัยว่าก่อการร้าย คดีก่อการร้ายของมุสลิมเป็นประเด็นเปราะบางมากในรัฐบาลฟิลิปปินส์ คล้ากชี้โพรงว่า เมื่อไหร่ที่คนทำงานในเรือนจำเริ่มเข้าใจสเกลเพื่อรับมือกับแก็งสองกลุ่มนี้ คุณจะเริ่มปะติดปะต่อภาพความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่มที่ลากเอาประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจและวัฒนธรรมมาชนกัน คร่อมกัน และกดทับกัน คุณเองจะได้รับผลข้างเคียงของความขัดแย้งระหว่างหัวหน้าแก็งหลายกลุ่มด้วย และเมื่อนั้นความกังวลใจใหม่ๆ จะถูกสร้างขึ้นบนชุดความสัมพันธ์ภายในเรือนจำ

ประเด็นที่ 3 ข้อท้าทายที่ควรนำมาพิจารณาปรับปรุงเรือนจำ

การปฏิรูปเรือนจำธรรมาภิบาลส่งผลต่อทฤษฎีจัดการความเสี่ยงในแง่ปรัชญาความรู้อาชญาวิทยา การเปลี่ยนแปลงเพื่อออกแบบการเรียนการสอนใหม่ กรมราชทัณฑ์ต้องการเสริมสมรรถนะเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ให้เป็นวิชาชีพที่มีความรู้ความสามารถ และการรับเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้นในสัดส่วนพอๆ กับผู้ต้องขังมีความจำเป็นที่จะทำให้การควบคุมยังคงทำงานได้ ยกตัวอย่าง เรือนจำมีผู้ต้องขัง 2,000 คนผู้บัญชาการเรือนจำต้องรับเจ้าหน้าที่เข้ามาทำงานไม่ต่ำกว่า 30 คนในอัตราการกำกับเจ้าหน้าที่ 1 คน ต่อผู้ต้องขัง 80 คน ซึ่งยังต้องการพึ่งพาผู้ต้องขังในการไปทำงานกับเพื่อนผู้ต้องขังอีกชั้น 

ผู้เขียนไม่แปลกใจที่เจ้าหน้าที่เรือนจำต่างขวนขวายออกมาเรียนรู้เพิ่มเติม การยกระดับความเชี่ยวชาญในสาขาวิชา จิตวิทยาครอบครัว อาชญาวิทยา นิติจิตเวช ฯล ส่งผลดีต่อภาพรวมการบริหารเรือนจำหรือไม่ ผู้เขียนยังไม่อาจทราบได้ เพราะการจัดการในเรือนจำล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับนิยามอัตลักษณ์ การจำแนกแยกแยะ และการแยกบ้าน หรือแดน เพื่อรับมือเพื่อการกักกันได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ว่าจะเป็นแก็งผู้ต้องขังใหม่ และ กลุ่มพ่อบ้านอยู่นาน ด้วยเทคโนโลยีเช่น CCTV เพื่อติดตามผู้ต้องขังและอนุญาตให้ผู้คุมปฏิบัติการทำงานในระบอบสอดส่อง "ไม่หยุดหย่อน ทำให้เข็ดหลาบ และก้าวร้าว" ซึ่งโดยค่าเฉลี่ยเรือนจำในประเทศที่พัฒนาแล้วแตกต่างจากประเทศกำลังพัฒนา โดยทั่วไป ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่จะมีแง่มุมการทำงานจัดการในเรือนจำอย่างไร

กรณีเรือนจำสังกัดกรมราชทัณฑ์ของฟิลิปปินส์นั้น มีความเชื่อมั่นต่อการจัดการควบคุมย่อมต้องการงบประมาณสนับสนุนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลงทุนกับสมรรถนะเจ้าหน้าที่และเทคโนโลยี รัฐบาลต้องการสร้างองค์ความรู้ในการจัดการเรือนจำและปรับตัวตอบสนองทรัพยากรที่หลั่งไหลมาจากภายนอก แม้ว่าการรับรู้ของสาธารณชนต่อปัญหาอาชญากรรมจะเพิ่มมากขึ้นทำให้เป็นพลังสนับสนุนการทำงานของกรมราชทัณฑ์ที่เรียกว่า รัฐบาลกำลังอุทิศตนทำงานหนักบนอาชญากรรม ซึ่งเป็นความจริงของงบประมาณที่จมลงมากกับมวลมหาผู้ต้องขังที่ล้นท่วมเรือนจำ ประเด็นที่สำคัญคือไม่ค่อยมีใครตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรมที่ตัดสินผู้คนเหล่านี้มาจากหลักกฎหมาย หลักศีลธรรมที่เที่ยงธรรมเพียงพอหรือไม่

เรียนรู้แนวทางการบริหารจัดการเรือนจำ

1) การสร้างสภาพแวดล้อมชุมชนผู้ต้องขังที่ยอมรับการปรับพฤติกรรม พวกเขาจะไม่ต่อต้านตรรกะ ที่เขาต้องปรับพฤติกรรมเพราะเขาเคยทำร้ายคนอื่น รวมทำให้ผู้อื่นถึงแก่ชีวิต หากแต่ในเรือนจำส่วนหมากแม้แต่เรือนจำออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกาเองกลับเน้นควบคุมพฤติกรรม การใช้ความรุนแรง การคอรัปชั่นยิ่งบ่มเพาะความรุนแรงจากข้างในเรือนจำ ซึ่งมีงานวิจัยจำนวนมากชี้ว่าครอบครัวมีความสำคัญแม้ถูกกักกันเข้มงวด พวกเขาก็จะยอมรับมองการฟื้นฟูชีวิตในแง่ดีมากกว่า

 2) การสนับสนุนทางสังคม (Social support) ไม่มีระบบ หรือ ขาดกลไกที่จะรับมือกับชีวิตข้างนอกและชีวิตข้างในเรือนจำ คือบริการต่างๆ ที่เข้าไปทำหน้าที่ในเรือนจำ อาหารครบถ้วนมีคุณภาพ การบริการสุขภาพ การส่งเสริมอาชีพ การศึกษา หน่วยบริการเหล่านี้มีส่วนช่วย ชีวิตข้างนอก และ ชีวิตข้างในเรือนจำ ไม่ให้แตกต่างกันราวฟ้ากับเหว แตกต่างเพียงถูกจำกัดเสรีภาพจากมูลเหตุ

ประเด็นสุดท้าย ความสมดุลในการสร้างธรรมาภิบาลภายในกลุ่มหลากหลายของผู้ต้องขังเอง ขณะเดียวกันการทำงานมุ่งเป้าต้องเข้าไปจัดการกับโครงสร้างและระบบงานเรือนจำให้ลดการลงโทษทางสังคมเพื่อลดอิทธิพลของแก็ง และลดการลงโทษกีดกันลง

คล้ากผูกพันกับประเทศฟิลิปปินส์ และอดีตผู้ต้องขังแก็งค้ายา อดีตผู้ต้องขังบางคนเป็นเพื่อนร่วมงานตลอดสิบปีที่คล้ากลงสนามศึกษาเรือนจำที่ฟิลิปปินส์ ในแง่มุมของวิธีการเชิงชาติพันธุ์วรรณนาที่ศึกษาชีวิตผู้คนเคารพในผู้คน คล้ากข้ามเส้นแบ่ง (cross the line) ที่ขีดไว้ได้อย่างอัศจรรย์ใจ ทั้งในแง่วิธีการเอาตัวเข้าไปในสนาม จริยธรรมและความรับผิดชอบต่อผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษาเรือนจำอย่างยาวนาน เราสามารถถอดบทเรียนเครื่องมือการเรียนรู้และจริยธรรมของนักวิชาการในสนามความเสี่ยงได้ 

ประเด็นสุดท้ายที่หนังสือเล่มนี้จะยังประโยชน์ให้แก่แวดวงคนทำงานเรือนจำศึกษา คือ บทเรียนของประเทศฟิลิปปินส์มาถึงจุดสำคัญ ที่คนในสังคมเริ่มมองหาทางเลือกในการทำงานกับอาชญากรรมด้วยตนเอง แทนที่การฟังคำสัญญาเลื่อนลอยของประธานาธิบดี ยืนยันคำถามแรกที่ควรถาม สังคมที่มีการพัฒนาตลาดยาเสพติดขึ้นมาช้าๆ เป็นสิ่งเดียวกับการเกิดขึ้นอาชญากรรมใช่หรือไม่ ถ้าเราไม่มองไปที่ทางตอนใต้ที่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความสัมพันธ์ระหว่างทหารและการก่อการร้าย หนังสือเล่มนี้พูดถึงอาชญากรรมคดียาเสพติด และตั้งคำถามชวนใคร่ครวญว่าทำไมคนจึงหันไปหายาเสพติดมากขึ้นทุกปี ที่หนักหนาสาหัสคือการคนหนึ่งเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม มันเหมือนลื่นไถลจากถนนลาดชัน เพราะความเชื่องช้าของกระบวนการยุติธรรมและขาดการสนับสนุนจากสังคมที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตในเรือนจำ การทำงานหนักที่เกี่ยวกับอาชญากรามไม่ใช่เพียงปรับปรุงระบบเรือนจำเท่านั้น แต่เชื่อมโยงกับระบบยุติธรรมซึ่งยากที่จะยกเครื่องใหม่ให้ทันต่อสถานการณ์ ในความเห็นของคล้ากมองว่าระบบยุติธรรมของฟิลิปปินส์พังพาบไปแล้ว

(สัปดาห์หน้าอ่าน เรือนจำไทยแลนด์ ก็อท ทาเลนท์ ในกระแสการปฏิรูปเรือนจำ)

อ้างอิง 
Austin, J., & Irwin, J. (2011). It's about time. Belmont, CA: Wadsworth.
DiIulio, J. J. (1987). Governing prisons. New York, NY: Free Press.
Fong, R. S. (1990). Organizational structure of prison gangs. Federal Probation, 54,36-43.
Irwin, J., & Cressey, D. R. (1962). Thieves, convicts and the inmate culture. Social Problems, 10, 142-
155.
Clarke Jones & Raymond E Narag, (2018). "Inmate Radicalisation and Recruitment in 
Prisons".Routledge.
Marquart, J. W., & Crouch, B. M. (1985). Judicial reform and prisoner control: The impact of Ruiz v. 
Estelle on a Texas penitentiary. Law and Society Review, 19,557-586.
Raymund E. Narag1 and Clarke R. Jones (2017).Understanding Prison Management in the 
Philippines: A Case forShared Governance The Prison Journal2017, Vol. 97(1) 3–26
Schlanger, M. (2006). Civil rights injunctions over time: A case study of jail and prison court orders. New York University Law Review, 81, 550-630.

เกี่ยวกับผู้เขียน: สุมนมาลย์ สิงหะ เป็นนักเรียนมานุษยวิทยาการแพทย์ มีโอกาสไปประชุม อบรมร่วมกับเอ็นจีโอและลงพื้นที่กลุ่มเกษตรกรประเทศฟิลิปปินส์ในช่วงปี 2549-2553 ปัจจุบันเป็นนักวิจัยนโยบายสุขภาพและสังคม การเขียนบทความสั้นนี้ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนและไม่ได้รับเงินสนับสนุนใดๆ จากกรมราชทัณฑ์

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: สังคมตรรกะป่วย

Posted: 01 Sep 2018 02:09 AM PDT

"...จะเห็นว่าไม่มีประชาชนออกมาชุมนุมปิดทำเนียบรัฐบาลเหมือนอดีตที่ผ่านมา 
ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่ารัฐบาลไปปิดกั้นการแสดงออก 
แต่ว่าทุกจังหวัดล้วนมีศูนย์ดำรงธรรมที่ประชาชนสามารถไปร้องเรียนได้..."

วิษณุ เครืองาม 
ที่มา https://www.prachachat.net/politics/news-211853

คำว่า "ตรรกะป่วย" เห็นคนใช้กันมากทางเฟสบุ๊ค เพื่อให้ภาพการเสนอความคิด เหตุผลในการตัดสินจริง เท็จ ถูก ผิด ควร ไม่ควรทางสังคมและการเมืองในวิกฤตความขัดแย้งกว่าทศวรรษ โดยเฉพาะการเสนอความคิด เหตุผลในยุค คสช.

ศัพท์ทางวิชาการ ใช้คำว่า "ตรรกะวิบัติ" หรือ "เหตุผลวิบัติ" (fallacy) หมายถึง การอ้างเหตุผลอย่างผิดๆ คือข้ออ้างไม่ได้มีความสัมพันธ์ในเชิงสนับสนุนข้อสรุป เนื่องจากเหตุผลที่ยกมาอ้างไม่จริงหรือไม่เกี่ยวกับการพิสูจน์ให้เชื่อได้ว่าหรือควรยอมรับได้ว่าข้อสรุปจริง ถูก หรือควรจะเป็นเช่นนั้น แต่ตรรกะป่วยดูเหมือนจะซับซ้อนกว่าตรรกะวิบัติ ในแง่หนึ่งตรรกะวิบัติเป็นส่วนหนึ่งของตรรกะป่วย เพราะผู้ที่ใช้ตรรกะป่วยก็มักจะใช้ตรรกะวิบัติเสมอ แต่ความเป็นตรรกะป่วยที่เกินไปจากตรรกะวิบัติคือ ตรรกะป่วยมันคือการแสดงถึงความเหลวไหล วิปริตผิดเพี้ยน (absurdity) อันเนื่องมาจากการยืนยันหลักการหรือระบบที่ผิดเพี้ยน

พูดให้ชัดคือ เมื่อคุณยึดถือหลักการหรือระบบที่ผิดเพี้ยนว่าเป็นหลักการหรือระบบที่ถูกต้องชอบธรรม คุณก็อ้างเหตุผลผิดเพี้ยนต่างๆ มาสนับสนุนหลักการหรือระบบเช่นนั้น ในทางตรรกวิทยา (logic) คุณกำลังใช้เหตุผลวิบัติ และใช้มันเพื่อสนับสนุนหลักการหรือระบบที่ผิดเพี้ยน มันจึงเป็นการสร้างความจริง,เท็จ, ถูก,ผิด, ควร,ไม่ควรในทางการเมือง, ความยุติธรรม, กฎหมาย, ศีลธรรมให้วิปริตผิดเพี้ยนไปหมด แม้แต่ความหมายของการโกง, การสร้างความแตกแยก, ความปรองดอง, ความสงบสุข, ความมั่นคง ฯลฯ ก็วิปริตผิดเพี้ยนไปหมด 

ตรรกะป่วยที่สร้างความวิปริตผิดเพี้ยนเหล่านั้น สะท้อนให้เห็นสภาวะสังคมการเมืองไทยที่ติดตัน เป็นสังคมการเมืองที่ไม่สามารถใช้เหตุผลถกเถียงอย่างเสรีและเท่าเทียมเพื่อสร้าง "ฉันทามติร่วมกัน" ได้ วันๆ จึงมีแต่การใช้ตรรกะป่วยเพื่อกลบเกลื่อนปัญหาที่แท้จริง และปิดกั้นการหยิบยกปัญหาที่แท้จริงมาพูดและร่วมกันหาทางออกอย่างฉันท์มิตร

ตัวอย่างคำพูดของวิษณุ เครืองาม ข้างต้น คือ "ตรรกะป่วย" ที่เราเห็นอยู่เสมอ เป็นตรรกะที่ใช้โฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล แต่มันไม่ใช่ความจริงที่ว่าประชาชนไม่ชุมนุมเพราะรัฐบาลไม่ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก และเพราะมีศูนย์ดำรงธรรม ความจริงก็คือรัฐบาล คสช.เกิดจากรัฐประหารล้มล้างอำนาจ สิทธิและเสรีภาพของประชาชน เสรีภาพในการแสดงออกตามหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนจึงถูกล้มไปแล้ว ตั้งแต่รัฐประหาร 2557 จนปัจจุบัน 

แต่ทั้งๆ ที่รู้ว่ารัฐบาล คสช.ล้มอำนาจ สิทธิและเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนไปแล้วตั้งแต่เกิดรัฐประหาร และปัจจุบันก็ยังมี ม.44 และคำสั่ง คสช.ฉบับต่างๆ ที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และมีประชาชนจำนวนมากถูกดำเนินคดี ติดคุกเพราะแสดงความคิดเห็นและเคลื่อนไหวทางการเมือง วิษณุก็ยังพูดหน้าตาเฉยว่ารัฐบาล "ไม่ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก" ถ้าไม่จงใจโกหกก็อาจกำลังพูดถึง "เสรีภาพในการแสดงออก" ในความหมายที่ "ผิดเพี้ยน" ไปจากเสรีภาพในการแสดงออกตามหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน นี่ก็เป็นตรรกะป่วยที่ทำให้ความหมายของเสรีภาพในการแสดงออกผิดเพี้ยนไป

เหมือนกับที่อำนาจเผด็จการยุคนี้ทำให้ความหมายของ "กฎหมาย" ผิดเพี้ยนไป เพราะเกณฑ์ตัดสินความเป็นกฎหมายที่ยุติธรรมตามหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนนั้น ต้องเป็นกฎหมายที่สะท้อน "เจตจำนงทั่วไป" (general will) ของประชาชน ซึ่งแปลว่าอำนาจที่บัญญัติกฎหมายต้องมาจาก "ความยินยอม" (consent) ของประชาชนด้วย  ไม่ใช่กฎหมายที่บัญญัติขึ้นตามอำเภอใจของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลกลุ่มใดๆ ที่มีอภิสิทธิ์เหนือหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และความยินยอมของประชาชน

ตรรกะป่วยที่สร้างความวิปริตผิดเพี้ยนของกฎหมายและสิ่งอื่นๆ เกิดจากการยืนยันหลักการหรือระบบที่ผิดๆ คือระบบอำนาจเบ็ดเสร็จของรัฐบาลทหารว่าเป็นระบบที่ชอบธรรม จึงทำให้พยายามอ้างเหตุผลต่างๆ นานามาสนับสนุนการยืนยันเช่นนี้ แต่ยิ่งนานไปยิ่งเท่ากับเป็นการเดินสวนทางหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนยาวนานมากขึ้นเรื่อยๆ ความวิปริตผิดเพี้ยนยิ่งพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ

แต่สังคมที่สร้างประชาธิปไตยได้สำเร็จ เขาเริ่มต้นจากการประกาศสถาปนาหลักการที่ถูกต้องเป็นคุณค่าหรืออุดมการณ์สูงสุดที่ทุกคนควรยึดถือร่วมกันก่อน แล้วจึงอ้างอิงอุดมการณ์นั้นในการบัญญัติกฎหมายกำหนดให้สถาบันทางการเมือง กองทัพ ศาล ระบบราชการ การศึกษา และอื่นๆ ให้มีสถานะ อำนาจ และบทบาทสอดคล้องกับหลักการที่ถูกต้องนั้น เช่นการสร้างประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกา เริ่มจากคำประกาศอิสรภาพ (United States Declaration of Independence) ที่ยืนยันหลักการเสรีนิยมและอำนาจรัฐบาลจากความยินยอมของประชาชนไว้ชัดเจนแต่เริ่มแรกว่า 

เราให้การยอมรับในความจริงที่ชัดแจ้งในตัวเองว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาเสมอภาคกัน เราได้รับสิทธิและเสรีภาพจากพระผู้สร้างอันมิอาจถูกพรากไปได้ ได้แก่สิทธิในชีวิต อิสรภาพ และการแสวงหาความสุข และเพื่อธำรงไว้ซึ่งสิทธิดังกล่าว เราต้องจัดตั้งรัฐบาลที่ประกอบด้วยประชาชน เพื่อใช้อำนาจปกครองอย่างเป็นธรรมโดยความยินยอมของประชาชนผู้อยู่ใต้ปกครอง และเมื่อใดที่รัฐบาลไม่ว่าในรูปแบบใดกลายเป็นอุปสรรคทำลายเป้าประสงค์ดังกล่าว นั่นย่อมเป็นสิทธิของประชาชนที่จะเปลี่ยนแปลงหรือล้มล้างรัฐบาลนั้น เพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่และวางรากฐานหลักการดังกล่าวขึ้นมาใหม่ ...

แปลว่า เขาสร้าง "ชาติ" ขึ้นบนพื้นฐานความเชื่อ "คนเท่ากัน" ทุกคนจึงมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน และมีอำนาจเท่าเทียมกันในการยินยอมให้ใครเป็นรัฐบาล (เป็นต้น) และรัฐบาลนั้นต้องใช้อำนาจปกครองเพื่อธำรงไว้ซึ่งหลักการสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค หากทำในทางตรงกันข้าม ประชาชนย่อมมีสิทธิเปลี่ยนแปลงหรือล้มล้างรัฐบาลนั้นได้ 

เมื่อเป็นเช่นนี้ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคที่พระเจ้าประทานมาแก่ทุกคนพร้อมการเกิดมีความหมายเชิงนามธรรมเท่านั้น แต่จะมีความหมายในทางปฏิบัติจริงหรือมีกฎหมายรับรอง ย่อมอยู่ที่ประชาชนต่อสู้เพื่อให้ได้รัฐบาลที่มาจากอำนาจของประชาชน และเป็นรัฐบาลที่สามารถบัญญัติกฎหมายและอื่นๆ ที่ทำให้หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคเป็นจริงได้ในทางปฏิบัติ

โดยข้อเท็จจริงแล้ว หลังประกาศอิสรภาพในปี 1776 สหรัฐฯยังมีระบบทาส แต่หลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคในคำประกาศอันเป็น "สัญญาประชาคม" นี้ ได้ถูกอ้างอิงในการต่อสู้เพื่อเลิกระบบทาสได้สำเร็จในสมัยประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น แต่หลังจากเลิกระบบทาสแล้ว ก็ยังมีกฎหมาย "แบ่งแยก" กีดกันคนผิวดำจากการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะต่างๆ ร่วมกับคนผิวขาว เช่นแบ่งแยกการใช้ห้องน้ำ รถโดยสารประชำทาง สวนสาธารณะ ภัตตาควร โรงละคร โรงเรียน รวมถึงไม่ให้สิทธิเลือกตั้ง การศึกษา การมีงานทำแก่คนผิวสีเท่าเทียมกับคนผิวขาว เป็นเหตุให้เกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิพลเมือง (The Civil Rights Movement) จากคนเล็กคนน้อยในสังคม จนกระทั่งกลายเป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่แผ่กว้างโดยการนำของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ผู้ที่เสนอความคิดอย่างมีพลังว่า "ประชาชนมีหน้าที่ทางศีลธรรม (moral duty) ที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอันอยุติธรรม" จึงนำมาสู่การออกกฎหมายรับรองสิทธิเท่าเทียมด้านต่างๆ ของคนผิวสี 

แน่นอนว่าหลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ที่ถือเป็น "ค่านิยมอเมริกันชน" ยังถูกอ้างอิงเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมทางเพศและอื่นๆ ต่อเนื่องมาไม่สิ้นสุด และเป็นบทเรียนให้ประชาชนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่ต้องการเสรีภาพและประชาธิปไตยได้เรียนรู้และนำไปปรับใช้

ปัญหาของบ้านเราคือ ประกาศคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่ว่า "จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่) จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ…" แทบจะไม่ได้ถูกทำให้กลายเป็น "ความทรงจำร่วม" หรือ "สำนึกร่วม" ของประชาชนผ่านระบบการศึกษาและพิธีการใดๆ ของรัฐ สังคมเราจึงไม่สามารถสร้างสำนึกร่วมในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค และทำให้เป็นจริงในรูปของระบบการปกครอง การบัญญัติกฎหมายที่กำหนดสถานะ อำนาจ และบทบาทของสถาบันกษัตริย์ สถาบันทางการเมือง กองทัพ ศาล ระบบราชการ ระบบการศึกษาและอื่นๆ ให้เป็นประชาธิปไตยและสนับสนุนการยึดถือหลักแห่งสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคเป็นคุณค่าสูงสุดหรืออุดมการณ์สูงสุดในการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมหรือเป็นชาติได้

ด้วยเหตุนี้เราจึงเป็น "สังคมตรรกะป่วย" เพราะเป็นสังคมที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกลุ่มอภิสิทธิ์ชนส่วนน้อยที่ใช้ตรรกะป่วยหล่อหลอมกล่อมเกลาและครอบงำประชาชน ด้วยการสร้างความหมายของประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม กฎหมาย ศีลธรรม ฯลฯ ที่ต้องอยู่ภายใต้ "ความเป็นไทย" ที่ทำให้ความหมายแท้จริงหลักการเหล่านั้นผิดเพี้ยนไปจากเดิม

ความขัดแย้งของสังคมที่เราเผชิญมาตั้งแต่ปฏิวัติสยาม 2475 จนปัจจุบัน จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องที่ประชาชนขัดแย้งแตกแยกกันเอง แต่เป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอภิสิทธิ์ชนส่วนน้อยที่ผลิตสร้างและผลิตซ้ำตรรกะป่วยเพื่อรักษา "ความมั่นคง" แห่งสถานะ อำนาจ และผลประโยชน์ของพวกเขากับประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องการสร้างอำนาจ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคตามหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนให้เป็นจริง
 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ใบตองแห้ง: โกรธเฌอปราง?

Posted: 01 Sep 2018 02:08 AM PDT

พลันที่มีข่าวเฌอปราง BNK48 จะเข้าทำเนียบพบ "ลุงตู่" รับประกาศนียบัตรขอบคุณ ที่ยินดีเป็นพิธีกรเดินหน้าประเทศไทย โดยไม่รับค่าตอบแทน เหล่าโอตะผู้รักประชาธิปไตยในโลกออนไลน์ ก็แบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายที่ ยัวะเฌอปรางว่ารับใช้เผด็จการ และฝั่งที่เห็นใจ ว่าเมื่อผู้มีอำนาจต้องการ เธอมีสัญญาผูกมัดกับบริษัทก็ปฏิเสธไม่ได้

ทำไมต้องเป็นเฌอปราง ทำไมไม่เกิดกระแสกับดาราคนอื่น น่าจะเพราะ BNK เป็นไอดอลของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเสพสื่อใหม่ ไม่ดูทีวีไม่ดูละครหลังข่าวกันแล้ว

ยิ่งกว่านั้น "จุดขาย" ของ BNK ยังเป็นการทำให้ไอดอลดู "มีสมอง" มีความคิดอ่านเป็นของตัวเอง เรียนเก่ง เป็นนักวิจัย เป็นนักวิทยาศาสตร์ สนใจประเด็นทางสังคม รักสัตว์ป่า รัก สิ่งแวดล้อม ปกป้องสิทธิสตรี เคารพสิทธิส่วนบุคคล หรือบางคนก็อยากมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญ จนทำให้ "ฝ่ายก้าวหน้า" จำนวนหนึ่งเป็นปลื้ม

แต่อันที่จริง BNK ก็ไม่เคยแสดงทัศนะต่อประเด็นแหลมคม ไม่ว่าทางการเมืองหรือสังคม ซึ่งเข้าใจได้ ธุรกิจไอดอลอยู่บนความนิยม จะยุ่งกับปมขัดแย้งได้อย่างไร ก็พูดได้แต่เรื่องสวยๆ กว้างๆ เท่านั้น

ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เรื่องรักเด็กรักษ์โลกรักษ์ สิ่งแวดล้อม ไม่รังเกียจคนจน อะไรเทือกนี้ เป็นประเด็นตื้นๆ ที่ดาราเซเลบใช้พรีเซนต์มา 20-30 ปี ตั้งแต่สมัย ปุ๋ย รักเด็ก เพียงยกระดับไปตามยุคสมัยเท่านั้น

ฉะนั้นมองมุมไหน ก็ไม่เห็นต้องผิดหวังหรือตีโพยตีพายกับเฌอปราง ทำไมต้องคิดว่าเธอเป็นฝั่งไหน เธอเป็นแค่ไอดอลที่เดี๋ยวก็จบการศึกษา วันหนึ่งข้างหน้าก็อาจจบ ดร. มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้ สสวท. เธอชอบหรือไม่ชอบลุงตู่ ก็เก็บไว้ในใจ เรื่องอะไร จะต้องแสดงออกให้ตัวเองเดือดร้อน สังคมไทยก็เป็นแบบนี้

เออ ถ้าเป็นมันแกว นมคุณธรรม ไปออกเดินหน้าประเทศไทยสิ โป้งเลย ผิดหวังอย่างแรง
 

พูดอย่างนี้ไม่ใช่บอกให้อยู่เฉยๆ ใครไม่เห็นด้วยก็เลิกติดตาม เลิกเป็นโอตะ หรือแสดงออกว่าไม่ยอมรับนะ คุณไปจับมือ คนที่เราต่อต้าน เราไม่จับมือคุณ ฯลฯ เพียงแต่ไม่จำเป็นต้องโกรธ และเข้าใจ ที่สำคัญคือเข้าใจทางเลือกของชีวิตคน ในวิถีสังคมไทย รวมถึงเข้าใจยุทธศาสตร์ของกลุ่มผู้กุมอำนาจ

2-3 สัปดาห์ก่อนมีอดีตนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้า โพสต์เตือนเพื่อนนักกิจกรรมว่า การต่อต้านเผด็จการไม่ใช่หน้าที่ เพราะประเทศนี้ไม่ได้ใจกว้าง การเคลื่อนไหวอาจกระทบชีวิตการงาน อนาคต ยิ่งถ้าต้องเดือดร้อนหาเงินประกันตัว แม้ประเทศนี้ต้องการผู้เสียสละ แต่ครอบครัวและคนที่คุณรัก อาจไม่พร้อมไม่ใจกว้างพอให้เสียสละ

แหงละ โดนด่าขรมเลย ทั้งที่ไม่เห็นด้วยก็น่าจะเข้าใจได้ ไปถามอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ หรือญาติวีรชนทุกยุคทุกสมัยสิ ว่ารู้สึกอย่างไร สังคมไทยคนเสียสละมีแต่ตายฟรี คนสอพลอบริกร รู้หลบเป็นหลีกมีแต่ได้ดี

ยิ่งโลกเปลี่ยนไป ชีวิตคนมีทางเลือกหลากหลายขึ้น แม้ความรักประชาธิปไตยเป็นหนึ่งในนั้น ก็ไม่ได้เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง ที่สำคัญ อุดมการณ์ประชาธิปไตยไม่ได้เชื่อในการเปลี่ยนแปลงฉับพลัน แบบ "ฟ้าสีทองผ่องอำไพ" ไม่สามารถทำให้คนพร้อมยอมตายแบบอุดมการณ์จารีตคลั่งชาติศาสนา เว้นแต่ถูกย่ำยีบีฑาจนหมดทางเลือก

เผด็จการรัฐพันลึก แม้ไม่ฉลาด แต่ก็รู้จักสังคมไทยดี รู้วิธีสร้างอำนาจบังคับ จับกุมคุมขังตั้งข้อหา ปรับทัศนคติ แต่ "ไม่มีใครตาย" ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารไม่เป็นไร ให้อยู่เฉยๆ ก็ยังทำมาหากิน ใช้ชีวิตชิกๆ ชิลชิลได้ แม้อาจมีคนไม่ชอบไม่พอใจจำนวนมาก ก็ไม่มีทางออก บนพื้นฐานที่สังคมแตกแยก หาฉันทามติไม่ได้ คนจำนวนหนึ่งหนุน คนจำนวนมากกว่า ยึดประโยชน์เฉพาะหน้า ก็หยวนยอมไป

ความหวังของผู้กุมอำนาจ คือหวังว่าหลังจากอยู่อย่างนี้ 5 ปี อยู่ใต้การสืบทอดอำนาจอีก 5 ปี คนไทยจะชินไปเอง ลืมแล้วว่าเคยมีเสรีภาพประชาธิปไตย คนรุ่นใหม่เติบโตมาก็จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นนักวิจัย เป็น AI สตาร์ตอัพ สร้างตัวสร้างฐานะ รักพ่อรักแม่รักครอบครัว รักสิ่งแวดล้อม ขี่จักรยาน เคารพสิทธิ ผู้อื่น สิทธิสตรี สิทธิ LGBT สิทธิคนพิการ เป็นคนดี รู้จักหน้าที่ มีวินัย

แต่สิ่งที่อยากลบหายไปคือความคิดต่อต้านระบบ ทวงอำนาจ ตั้งคำถามถึงโครงสร้างอำนาจ และความเหลื่อมล้ำ

นั่นแหละสิ่งที่ผู้มีอำนาจอยากให้ BNK เป็น อยากให้คนรุ่น ต่อไปเป็น ซึ่งก็มีคำถามว่าทำได้จริงหรือ แถมยังต้องคงอำนาจให้เป็นเอกภาพ กุมสภาพบังคับ ในระดับนี้ไปอีกนาน ต่อให้สืบทอดอำนาจได้ ก็ไม่ใช่จะกุมได้ทุกอย่าง

 

ที่มา: www.khaosod.co.th/hot-topics/news_1515646

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

เมื่อพหุวัฒนธรรม .......ไม่ใช่คนกับคนอีกต่อไป

Posted: 01 Sep 2018 02:08 AM PDT

พหุวัฒนธรรม (MULTICULTURAL) คือ การอยู่รวมกลุ่มของคนที่มีความหลากหลายทางด้านต่างๆ เช่น ภาษา ศาสนา การแต่งกาย หรือสิ่งที่มีความหลาหลายมาผสมกลมกลืนกัน แต่อาจจะไม่กลมกลืนกันสักทีเดียว ซึ่งพหุวัฒนธรรมถูกนำมาเปรียบเทียบเป็นสิ่งต่างๆเพื่อให้เกิดภาพอย่างชัดเจน เช่น มีการเปรียบเทียบว่าเป็น พิซซ่า ที่มีการผสมโดยใช้ส่วนผสมต่างๆ และทำให้เกิดความรู้สึกว่าสิ่งนี้ คือ พิซซ่า หรือในแคนาดา มีการเปรียบเทียบว่าคือ สลัด ที่มีการผสมกันของผัก ที่หลากสีหลากรสชาติ และถูกมองว่าสิ่งนี้คือสลัด หากลองพิจารณาอย่างประเทศไทย พื้นที่ภาคใต้มีการเรียกชุมชนบางชุมชนว่า "ชุมชนไข่แดง" ซึ่งผู้เขียนคิดว่าการเปรียบเทียบลักษณะนี้มีความคล้ายคลึงกับการเปรียบเทียบของชาติตะวันตก 

ชุมชนไข่แดง ในที่นี้คือ พื้นที่ภาคใต้บางหมู่บ้านมีชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่เปรียบเสมือนไข่ขาวที่มีมากกว่าไข่แดง ส่วนไข่แดงนั้นเปรียบเสมือน ชาวพุทธ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างกลมกลืม หากไม่มองในประเด็นความรุนแรงสิ่งที่ซ่อนอยู่ในคำเปรียบเทียบดังกล่าวนี้คือ ทั้งไข่แดงและไข่ขาวมีการรวมกันและถูกมองอย่างกลมกลืมว่า คือ ไข่ แต่หากมองในความรุนแรงนั้น การที่มีการผลิตซ้ำ ว่า ภาคใต้ทะเลาะกันทางศาสนา ผู้เขียนเห็นว่าประเด็นนี้เป็นปัจจัยที่น้อยมาก และสื่อที่นำเสนอก็อาจจะไม่เสนอข้อมูลในพื้นที่ที่เป็นความจริงแต่ต้องเชื่อฟังคำสั่งรัฐบาลหรือทหารมากกว่า ทำให้คนนอกพื้นที่เกิดภาพลบกับพื้นที่ภาคใต้ และปัจจุบันพูดถึงภาคใต้คนก็นึกถึงระเบิด ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วความเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้และคนท้องถิ่นมีความแตกต่างจากสื่อมากจากการได้ลงพื้นที่ไปสัมผัสจริง แท้จริงแล้วความหลากหลายทางวัฒนธรรมสามารถที่จะรวมกันได้เป็นหนึ่งเดียวแม้ว่าจะไม่กลมกลืนแต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการยอมรับ รับฟัง เคารพ และไม่ตัดสินว่าใครแตกต่าง หรือไม่ดูถูกเหยียดหยามว่าคนนั้นต่ำ ด้อยกว่าตน 

ทั้งนี้อัตลักษณ์จึงมีความสำคัญในการที่ปัจเจกมีความสำคัญกับสังคม กำหนดบทบาทหน้าที่และคุณค่า ซึ่งมีการใช้สัญลักษณ์(Symbols) โดยการแสดงออกซึ่งความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องในมิติภายใน มีการแบ่ง อัตลักษณ์ทางสังคมออกเป็นสองระดับ คือ อัตลักษณ์บุคคล(Personal identity) และอัตลักษณ์ทางสังคม(Social identity) ทั้งนี้อัตลักษณ์ สามารถแสดงออกมา ทั้งสิ่งที่เป็นตัวเองและสิ่งที่ถูกคนอื่นมอง อธิบายง่ายๆ คือสิ่งนี้ คือตัวเรา แบบของเรา ส่วนสิ่งที่คนอื่นมองหรือตัดสินเรามาอาจจะใช่หรือไม่ใช่ก็ได้ถือเป็นลักษณะส่วนบุคคล (Personality) เช่นเดียวกัน อัตลักษณ์ทางสังคมของแต่พื้นที่มีความแตกต่างกัน

ประเด็นที่น่าสนใจนอกจากการที่ทุกสังคมมีความหลากหลายวัฒนธรรม สิ่งที่ในสื่อตะวันตกได้จัดทำนั้นบางอย่างที่เกินจริงในอดีต กลายเป็นจริงแล้วในปัจจุบัน และจะสมจริงมากกกว่านี้ในอนาคต โดยเฉพาะหุ่นยนต์สมัยใหม่ที่ความเสมือนจริงมากยิ่งขึ้น และเป็นที่รู้จักมากขึ้น ในนามของ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) คือการสร้างสิ่งไม่มีชีวิตที่ถูกสร้างขึ้นจากวิทยาการคอมพิวเตอร์ และวิศวกรรม และศาสตร์อื่นๆให้เหมือนสิ่งมีชีวิตจริงๆ ที่ปัจจุบันปี 2018 มีความก้าวหน้าจนรู้สึกว่า ล้ำหน้าและน่ากลัวในขณะเดียวกัน อาทิ Sophia the Robot ที่มีลักษณะคล้ายมนุษย์ถูกออกแบบให้มีการแสดงหน้าตาได้หลายอารมณ์และโต้ตอบได้ ทั้งนี้ยังเป็นหุ่นยนต์ที่ได้รับสัญชาติ ซาอุดิอาระเบีย และได้รับสัมภาษณ์ ผ่านรายการโทรทัศน์ แต่แน่นอนว่า ถูกนิยามว่าเป็นหุ่นยนต์ ไม่ใช่คน ซึ่งตรงนี้เป็นการสะท้อนสังคมเช่นกัน ขนาดมนุษย์ด้วยกันเองยังคงมีการเหยียด และดูถูกกัน และเลือกที่จะไม่ยอมรับในคนบางกลุ่มเช่นกัน หากอนาคต มีหุ่นยนต์มากขึ้นจริงๆ สังคมจะเป็นเช่นไร

นอกจากนี้มีเรื่องของ การพ้นความเป็นมนุษย์ (Transhumanism) หากใช้คำว่าพ้นมนุษย์อาจจะดูรุนแรงไป transhumanism มีความน่าสนใจและหวาดเสียวในขณะเดียวกัน คือ มีการคิดค้นการฝังบางสิ่งที่ล้ำหน้า ลงในร่างกายเพื่อใช้ควบคุมสิ่งต่างในชีวิตประจำวันเพื่อความสะดวกรวดเร็วและแก้ปัญหา เช่นฝังอุปกรณ์ลงในร่างกาย(Cybernatics) เพื่อแก้ไขปัญหาการลืมกุญแจ ซึ่งเกิดขึ้นจริงแล้ว ส่วนตัวมองว่าในความเป็นจริงต้องขนาดนี้หรือไม่ แต่หากมองอีกมุมมันสะท้อนให้เห็นว่า วิทยาศาสตร์และสมองของมนุษย์ถูกพัฒนาให้ก้าวหน้ามากขึ้น จากสิ่งที่เคยเป็นจินตนาการอาจเป็นไปไม่ได้แต่ก็เป็นไปได้แล้ว ถือว่ามนุษย์ประสบความสำเร็จอีกขั้นหนึ่ง 

เมื่อถึงวันที่เราไม่สามารถแยกออกได้ว่าใครเป็นมนุษย์จริงหรือไม่ก็น่าคิดว่า อนาคตที่เราอาจจะยังมีชีวิตอยู่ หรือไม่มีชีวิตอยู่แล้วนั้น แนวคิดพหุวัฒนธรรมในยุคนั้นจะมีลักษณะเช่นไร เพราะว่าขนาดมนุษย์ด้วยกันเองยังไม่มีความเท่าเทียมกันในทุกเรื่อง พหุวัฒนธรรมในหลายๆพื้นที่ยังคงมีปัญหา ถามว่าในโลกแห่งอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น คนกับสิ่งประดิษฐ์ใหม่ และ Transhuman จะอยู่ร่วมกันอย่างไรอย่างสันติสุข และเกิดปัญหาน้อยที่สุดได้หรือไม่
   

อ้างอิง
1.ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสังคมวิทยา ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2. งานเสวนา MUITI ED TALKS ว่าด้วยความคิดและทิศทางพหุวัฒนธรรมศึกษาในโลกศตวรรษที่ 21 บรรยาย โดย 1.รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล 2. อ.ดร.ภักดีกุล รัตนา 3. อ.ดร.ออมสิน จตุพร 
3.พุทธในหมู่มุสลิม: ความอยู่รอดของชุมชนไข่แดง สมอุษา บัวพันธ์ และ FT Media & Friend

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น