โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

นิเวศน้ำซับคำป่าหลายกำลังถูกทำลายจากการขอประทานบัตรทำเหมืองหินทราย

Posted: 20 Sep 2018 09:57 AM PDT


แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ เส้นสีแดงล้อมรอบด้านบนคือเขตคำขอประทานบัตรที่ 2/2559 
เส้นสีแดงล้อมรอบด้านล่างคือเขตป่าน้ำซับซึมและบ่อน้ำซับบ่อที่ 3 
เครดิตภาพ : กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย 

1 สิงหาคม 2561  กลุ่มอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่  สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดมุกดาหาร  ได้ติดประกาศคำขอประทานบัตรที่ 2/2559 ทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินทรายเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างเนื้อที่ 215 ไร่ 3 งาน 38 ตารางวา  ของบริษัท ทรี มาเธอร์ เทรดดิ้ง จำกัด[[1]]  เอาไว้ในพื้นที่ตำบลคำป่าหลาย  อ.เมือง  จ.มุกดาหาร  เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนคัดค้านภายใน 30 วัน  ก่อนที่จะดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 56 วรรคสอง  แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560  หรือกฎหมายแร่ฉบับใหม่เป็นขั้นตอนต่อไป 


ภาพถ่ายชาวบ้านยืนถือป้ายคัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองหินทราย
เครดิตภาพ : กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย

ชาวบ้านในนาม "กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย" จึงได้ยื่นหนังสือคัดค้านตามกำหนดเวลาโดยให้เหตุผลว่า  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตลอดจนระบบนิเวศในพื้นที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งน้ำซับของคนในพื้นที่ตำบลคำป่าหลายและพื้นที่ใกล้เคียงที่มีน้ำเพียงพอใช้ได้ตลอดทั้งปี  และยังเป็นแหล่งป่าต้นน้ำที่มีน้ำผุด "ดานกะลอม" ที่ไหลลงลำห้วยปงและลำห้วยบังทรายและแม่น้ำโขงเป็นลำดับถัด ๆ ไป  หากเกิดการทำเหมืองแร่ขึ้นมาแหล่งน้ำซับอาจจะหายไป  ยากแก่การหาแหล่งน้ำอื่นมาทดแทนได้    


ภาพถ่ายจากจุดบ่อน้ำซับบ่อที่ 3
เครดิตภาพ : อดิศักดิ์ ตุ้มอ่อน

ความรู้ทางธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณีบอกกับเราว่าหินทรายในบริเวณดังกล่าวมีคุณสมบัติไม่เหมาะสมต่อการใช้เป็นวัสดุในการก่อสร้างอาคาร  แต่เหมาะสำหรับใช้เป็นหินถมที่และหินถมสร้างเขื่อนกันตลิ่งพังริมฝั่งแม่น้ำลำธาร  ส่วนความรู้ของชาวบ้านบอกกับเราว่าบริเวณแหล่งหินทรายเหล่านี้มักมีแหล่งน้ำซับซึมผุดขึ้นมาเป็นหย่อม ๆ ให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์มาอย่างยาวนานนับตั้งแต่สร้างบ้านแปลงเรือน 

นิเวศวิทยาของชาวบ้านได้พึ่งพาน้ำซับที่ผุดขึ้นมาจากหินทรายเหล่านี้มาเนิ่นนานหลายชั่วอายุคนแล้ว  ที่ตำบลคำป่าหลายมีบ่อน้ำซับแหล่งใหญ่อย่างน้อยสามบ่อที่ชาวบ้านใช้สำหรับทำการเกษตรและประโยชน์ใช้สอยอื่นในชีวิตประจำวัน  บ่อน้ำซับที่ใกล้เขตคำขอประทานบัตรที่สุดห่างกันแค่ 300 เมตร  ไม่เพียงเท่านั้น, ลักษณะของน้ำซับที่นั่นนอกจากจะผุดขึ้นมาเป็นตาน้ำใหญ่ไหลรวมกันเป็นแอ่งและเป็นบ่อที่มีขนาดใหญ่ขึ้นแล้ว  ยังมีลักษณะน้ำซับที่ซึมออกมาจากเนื้อหินทรายกระจายไปทั่วบริเวณด้วย  ซึ่งหินทรายที่ถูกกำหนดให้เป็นเขตคำขอประทานบัตรของบริษัทฯก็มีน้ำซับซึมไหลแทรกเนื้อหินทรายขึ้นมาบนพื้นผิวกระจายไปทั่วบริเวณเช่นเดียวกัน

มีเรื่องน่าสนใจตรงที่กฎหมายแร่ฉบับใหม่  มาตรา 17 วรรคสี่ได้บัญญัติเนื้อหาสอดคล้องกับความรู้ในนิเวศวิทยาของชาวบ้านเอาไว้ว่า "พื้นที่ที่จะกําหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทําเหมืองต้องไม่ใช่พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า  เขตโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน  โบราณวัตถุ  ศิลปวัตถุ  และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ  เขตพื้นที่ที่มีกฎหมายห้ามการเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด  พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ  หรือพื้นที่แหล่งต้นน้ําหรือป่าน้ําซับซึม"  นั่นหมายความว่าแหล่งหินทรายที่นั่นมีความอ่อนไหวทางระบบนิเวศสูงมาก  ในสภาพพื้นที่จริงนอกจากเป็นแหล่งน้ำซับน้ำซึมแล้ว  ยังเป็นพื้นที่แหล่งอาหารหาอยู่หากินของชาวบ้านอีกด้วย  หากเกิดกระทบกระเทือนจากการระเบิดที่ประกอบด้วยปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรทผสมน้ำมันดีเซลเพื่อทำเหมืองหินทรายอาจจะส่งผลให้แหล่งน้ำสำคัญต่อชีวิตของผู้คนที่นั่นเสียหายไปด้วยอย่างแน่นอน   

 

ในด้านการคมนาคมขนส่งที่ระบุไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม  หรือ EIA  หากมีการทำเหมืองเกิดขึ้นจะมีรถบรรทุกหนักขนแร่วิ่งเข้าออกหมู่บ้านไม่ต่ำกว่าวันละ 108 เที่ยว (แบ่งเป็นรถเปล่า 54 คัน  และบรรทุกแร่เต็มรถอีก 54 คัน)  นั่นแสดงว่าจะมีรถบรรทุกแร่หินทรายวิ่งเข้าออกหมู่บ้านเดือนละ 3,240 เที่ยว  ปีละ 39,420 เที่ยว  และ 985,500 เที่ยวตลอดอายุประทานบัตร  จากปริมาณสินแร่หินทรายที่คำนวณได้ตลอดอายุประทานบัตร 25 ปี  เท่ากับ  19,711,620 เมตริกตัน  คิดเป็นเงินจากการขายแร่หินทรายที่ 150 บาทต่อเมตริกตัน  ตลอดอายุประทานบัตรจะได้เป็นเงิน 2,956,743,000 บาท  มันจึงเป็นตัวเลขที่ยั่วยวนใจสมาชิกสภาเทศบาลตำบลคำป่าหลายเมื่อคราวการประชุมสมัยวิสามัญ สมัยที่ 1  ครั้งที่ 1  ประจำปี 2560  วันที่ 25 มกราคม 2560  ณ ห้องประชุมสภาเทศบาลตำบลคำป่าหลาย  ให้ยกมือรับรองรายงานการประชุมประชาคมของชาวบ้านนาคำน้อยหมู่ที่ 6 เพื่อให้บริษัทฯดำเนินการขอประทานบัตรในขั้นตอนต่อไปได้ด้วย 7 คะแนนเสียง  อีก 5 คะแนนเสียงแทนที่จะยกมือไม่เห็นด้วย  แต่ลังเลใจจึงใช้วิธีแสดงตนว่างดออกเสียงแทน  เผื่อวันข้างหน้าอาจจะเปลี่ยนใจมาสนับสนุนเหมืองได้  ทั้งหมดนี้ก็เพื่อผลประโยชน์ที่จะได้จากค่าภาคหลวงแร่เพียงปีละ 946,158 บาทเท่านั้น[[2]]  ไม่ใช่ปีละ 1,600,000 บาท  ตามความเข้าใจผิดของสมาชิกสภาเทศบาลตำบลคำป่าหลายที่ยกมือให้กับเหมือง     

 

หกปีก่อนหน้านี้กรมทรัพยากรธรณีมีความเห็นไว้ว่า[[3]]  เนื่องจากแหล่งหินทรายบริเวณดังกล่าวอยู่ใกล้หมู่บ้านแหล่งชุมชน  และจากผลการสำรวจจะเห็นได้ว่าทรัพยากรแร่ของจังหวัดมุกดาหารถึงแม้จะมีปริมาณไม่สูงมาก  แต่การนำทรัพยากรแร่มาใช้ประโยชน์ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมก็ได้ส่งผลกระทบหลายด้าน  โดยเฉพาะทางสังคมและสิ่งแวดล้อม  ดังนั้น  การนำทรัพยากรแร่ของจังหวัดมุกดาหารมาใช้ประโยชน์ควรคำนึงถึงความต้องการใช้ประโยชน์แร่ชนิดนั้นของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก  โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม  และต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายโดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกภาคส่วน 

โดยอธิบายขยายความเพิ่มเติมไว้ด้วยว่า  หากจะนำหินทรายในบริเวณดังกล่าวมาพัฒนาโดยส่งเสริมและสนับสนุนให้เอกชนหรือแม้กระทั่งรัฐเองเข้าไปทำเหมืองแร่จะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อชุมชนเป็นอย่างมากด้วย  โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในขั้นตอนต่าง ๆ ของกระบวนการพิจารณาอนุญาตตามแนวทาง  ระเบียบและกฎหมายที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด  โดยประเด็นสำคัญที่ต้องร่วมพิจารณา  เช่น  ข้อจำกัดเชิงพื้นที่  และการมีส่วนร่วมในการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมทั้งก่อน  ระหว่าง  และภายหลังการทำเหมือง  เป็นต้น 

ซึ่งเป็นข้อคิดเห็นหรือข้อแนะนำที่ดีมาก  แต่ความจริงกลับพบว่า EIA  หรือ "รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม  โครงการทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินทราย  เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง  คำขอประทานบัตรที่ 2/2559  ตั้งอยู่ที่  หมู่ที่ 6  ตำบลคำป่าหลาย  อำเภอเมืองมุกดาหาร  จังหวัดมุกดาหาร"  ที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านเหมืองแร่ (คชก.)  ให้ความเห็นชอบไปแล้วตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2560  ที่อยู่ในมือของบริษัทฯและหน่วยงานราชการกลับไม่ได้เปิดเผยเป็นการทั่วไปให้ชาวบ้านได้รับทราบหรือสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างอิสระเสรี

 

ในวันประชุมสมัยวิสามัญ สมัยที่ 1 ที่ยกมือให้เหมือง 7 เสียงนั้น  ทั้งพนักงานบริษัทฯและสมาชิกสภาเทศบาลได้หยิบยกเรื่องผลกระทบด้านลบต่อวิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมขึ้นมาพูดคุยกันประปราย  ซักถามกันพอประมาณเพราะรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ยังอยู่ในระหว่างการจัดทำและยังไม่ได้รับความเห็นชอบจาก คชก.  จึงไม่มีข้อมูลข้อเท็จจริงในการประเมินและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาแสดงให้สมาชิกสภาเทศบาลได้เห็นเลย  แต่ใช้เวลาส่วนใหญ่คุยกันถึงผลกระทบด้านบวกที่จะได้รับจากการทำเหมือง  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าภาคหลวงแร่  กองทุนเฝ้าระวังดูแลสุขภาพของชุมชน  กองทุนพัฒนาหมู่บ้าน  การจ้างงาน (ซึ่งไม่บอกว่ากี่ตำแหน่ง  แต่บอกแค่ว่าราษฎรซึ่งทำกินในบริเวณที่ขอประทานบัตร 4 ราย  จะจ้างให้เป็นยามหรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย)  และผลประโยชน์ที่จะได้รับอื่น ๆ  จึงนับว่าเป็นกระบวนการพิจารณาอนุญาตให้ดำเนินการขอประทานบัตรที่ไม่ถูกต้องเอาเสียเลย  เพราะไม่มีข้อมูลข้อเท็จจริงด้านการประเมินและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาประกอบการตัดสินใจได้อย่างละเอียดถี่ถ้วนเพียงพอ


ภาพถ่ายหมุดเขตคำขอประทานบัตรและสภาพหินทรายในบริเวณคำขอประทานบัตรที่ 2/2559 เครดิตภาพ : อดิศักดิ์ ตุ้มอ่อน

ข้อย้อนแย้งที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือในท้องที่ตำบลคำป่าหลายมีความขัดแย้งเรื่องการใช้ประโยชน์ในที่ดินเขตป่ามายาวนาน  นโยบายจัดสรรที่ดินทำกินในเขตป่าและขับไล่คนออกจากป่าเปลี่ยนมาตามยุคสมัย  ปัจจุบัน, จากผลของนโยบายทวงคืนผืนป่าตามคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557  มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้บางคนกำลังดำเนินการเพื่อยึดคืนที่ดินทำกินในเขตป่าของชาวบ้านซึ่งอยู่ในเขตคำขอประทานบัตรแปลงดังกล่าวเอาไปให้เอกชนทำเหมืองหินทราย 

ในขณะที่ชาวบ้านต้องการความยั่งยืนในการดำเนินชีวิตอันประกอบด้วยความมั่นคงในที่ดินสามส่วนด้วยกัน  อันได้แก่  ที่ดินอยู่อาศัยซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านเรือน  ที่ดินทำกินเพื่อปลูกอาหารและเลี้ยงสัตว์  และที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนรวมอย่างเช่นป่าชุมชนเพื่อใช้สอยในประโยชน์สาธารณะตามฤดูกาล  ซึ่งในคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 ที่ออกมาปรามการกระทำของเจ้าหน้าที่ไม่ให้ใช้มาตรการและวิธีรุนแรงกับชาวบ้านตามคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 มากจนเกินไปก็ระบุไว้ชัดเจนว่า "การดําเนินการใด ๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้  ผู้ที่มีรายได้น้อย  และผู้ไร้ที่ดินทํากิน  ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้น ๆ ก่อนคําสั่งนี้มีผลบังคับใช้  ยกเว้นผู้ที่บุกรุกใหม่  จะต้องดําเนินการสอบสวน  และพิสูจน์ทราบ  เพื่อกําหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมและดําเนินการตามขั้นตอนต่อไป"  ทั้ง ๆ ที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่นั่นก็เป็นผู้อาศัยในพื้นที่เดิมนั้น ๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ก็ยังถูกกลั่นแกล้ง  อาจจะด้วยผลประโยชน์บังตาหรือไม่ก็ไม่อาจชี้ชัดได้เพราะไม่มีหลักฐานหนักแน่นเพียงพอที่จะกล่าวหาเจ้าหน้าที่คนนั้นได้   

แต่ทั้งหมดนี้  จะส่งผลให้ระบบนิเวศน้ำซับคำป่าหลายถูกทำลายลงหากกลไกและมือไม้ของรัฐอนุญาตให้ประทานบัตรทำเหมืองหินทราย.

 

                                                                       

 

 

 

 

 

เชิงอรรถ

 

[[1]]  ประกาศกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่  เรื่อง  ขอประทานบัตรทำเหมืองแร่  คำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินทรายเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง  คำขอที่ 2/2559  เนื้อที่ประมาณ 215 ไร่ 3 งาน 38 ตารางวา  ตั้งอยู่ในหมู่บ้านที่ 6 ตำบลคำป่าหลาย  อำเภอเมืองมุกดาหาร  จังหวัดมุกดาหาร  ประกาศ ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2561  ลงชื่อนายวสันต์ นิสัยมั่น  เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่

[[2]]  กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ประกาศพิกัดค่าภาคหลวงแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินทรายอยู่ที่ร้อยละ 4 จากราคาขายของสินแร่  โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2558 เป็นต้นมา  โดยเทศบาลตำบลคำป่าหลายซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่คำขอประทานบัตรจะได้ส่วนแบ่งร้อยละ 20 จากค่าภาคหลวงแร่

[[3]]  จากเอกสาร "การจำแนกเขตเพ่ือการจัดการด้านธรณีวิทยา  และทรัพยากรธรณีจังหวัดมุกดาหาร".  กรมทรัพยากรธรณี  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  2555

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

หยุดสร้างชนชั้นในวงพุทธศาสนา

Posted: 20 Sep 2018 09:39 AM PDT

 ผมได้ยินศิษย์ของพระรูปหนึ่ง (ขออนุญาตไม่เอ่ยนาม) เล่าถึงพระด้วยความเคารพว่าสมัยที่พระรูปนั้นเป็นศิษย์ของพระอาวุโสอีกรูป ในยามออกธุดงค์ ท่านอุปัฏฐากต่ออาจารย์อย่างเต็มที่ ทั้งไปตักน้ำจากปลักควายมาทำให้ตกตะกอนให้อาจารย์ดื่ม แม้แต่ไม้เช็ดก้นก็ยังทำความสะอาดให้เป็นอย่างดี ผมจึงถามอายุของพระสองรูปนั้น ปรากฏว่ารูปที่เป็นครูอายุ 49 รูปที่เป็นศิษย์อายุ 29 ผมเลยคิดว่าการกระทำแบบนี้คงไม่เหมาะสมแล้ว ไม่น่าชื่นชมแล้ว

ผมนึกอยู่ในใจว่าต่อให้ผมเป็นอาจารย์อายุ 60 ปีเข้าตอนนี้ และมีศิษย์น้อยอายุ 20 ปี เดินทางไปทำกิจธุระอะไรกับผม ผมจะไม่ยอมให้ศิษย์ต้องยากลำบากแบบนั้นแน่นอน ผมถือว่าเป็นการเอาเปรียบคนอื่น ธุระส่วนตัวของเรา เราต้องทำเองทั้งสิ้น ถ้าเป็นพระแก่ๆ อาพาธ เราก็ต้องคอยปรนนิบัติก็ว่าไปอย่าง เราไม่ได้มีศิษย์ไว้เป็นข้าช่วงใช้ ศิษย์ถ้าพึงมี ก็มีไว้เพื่อถ่ายทอดวิชาความรู้ต่างหาก พระบางรูปยังชอบถ่ายรูปโดยนั่งตรงกลางให้พระลูกศิษย์สองคนนั่งคนละข้าง ยิ่งถ้าได้ศิษย์ฝรั่งนั่งลดหลั่นขนาบสองข้างยิ่งดูขลัง แต่นี่เป็นการแบ่งชนชั้นวรรณะชอบกล

อันที่จริงผมเองไม่เคยคิดเรียกใครเป็นศิษย์ ถึงแม้ผมจะสอนตั้งแต่ระดับปริญญาตรียันปริญญาเอก โรงเรียนพาณิชย์ หรือแม้แต่โรงเรียนนายร้อย จปร. หรือสถาบันอื่นๆ ก็ยังเคยไปบรรยาย สอนทั้งในและต่างประเทศ แต่ผมก็ไม่เคยเรียกตัวเองว่าอาจารย์ หรืออ้างว่าคนอื่นเคยเป็นศิษย์ผมสักคนเดียว ผมถือว่าผมให้บริการการศึกษา ให้ปัญญาให้เขาคิดเป็น ทำเป็น เพื่อเติบโตด้วยตัวเองในวันหน้า คลื่นลูกหลังต้องก้าวทันคลื่นลูกหน้า สังคมจึงจะเจริญขึ้น ผมจึงไม่เรียกตนเป็นอาจารย์ เป็นโค้ช แต่เราก็สามารถนับถือกันตามวัยวุฒิ คุณวุฒิ แต่ต้องมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เสมอหน้ากัน

อย่างไรก็ตาม ศิษย์บางคนก็ยินดี เต็มใจที่จะอุปัฏฐากอาจารย์กันอย่างเต็มที่ หรืออย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ในวงการสงฆ์ อาจไม่ได้แย่ขนาดวงการศึกษา วงการทำงานที่บางครั้งต้องเอาตัวเข้าแลกเกรด แลกตำแหน่ง แต่การทุ่มทำแบบนี้ ยอมลดตัวลงถึงขนาดนี้เพียงเพื่อได้ศึกษาธรรมะขั้นสูงขึ้นไปนั้น การเริ่มต้นแบบนี้อาจเป็นเริ่มต้นด้วยมิจฉาฐิติแล้วใช่หรือไม่ แล้วอย่างนี้จะบรรลุธรรมได้จริงหรือ จะสร้างบาปด้วยการสร้างสภาวะชนชั้นในวงการสงฆ์ซึ่งกลายเป็นสิ่งสามัญไปแล้วหรือไม่

พระพุทธเจ้าเป็นผู้ไม่ถือตน โดยสมัยที่ลาจากวรรณะกษัตริย์มาบำเพ็ญเพียร เด็กชายวรรณะจัณฑาลให้หญ้ามาใช้ปูนั่ง ก็ยกมือไหว้ขอบคุณ สมัยเป็นพระพุทธเจ้าก็พนมมือ น้อมกายเป็นการตอบรับ พระพุทธเจ้าเคยช่วยเด็กวรรณะจัณฑาลตัดหญ้าด้วย หรือร่วมกับพระอานนท์ช่วยกันอุ้มภิกษุที่อาพาธขึ้นเตียงและเปลี่ยนจีวรให้ แล้วยังขัดถูพื้นกุฏิและซักจีวรที่เกรอะกรังดินของภิกษุดังกล่าว เป็นต้น ทั้งนี้เป็นข้อเขียนของท่านภิกษุ ติช นัท ฮันห์ จากหนังสือ "คือเมฆสีขาว ทางก้าวเก่าแก่ วรรณกรรมพุทธประวัติในทัศนะใหม่" ที่แปลมาจาก "Old Path White Clouds: Walking in the Footsteps of the Buddha" และได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาไทยโดย คุณรสนา โตสิตระกูล และคุณสันติสุข โสภณสิริ (https://bit.ly/2DcDHUw)

ในหนังสือเล่มเดียวกัน ก็ยืนยันชัดเจนว่าพระพุทธเจ้ากลับมุ่งสร้างความเท่าเทียมในหมู่ชน โดยแสดงออกด้วยการดื่มน้ำแก้วเดียวกับเด็กชายวรรณะจัณฑาลทั้งยังให้เด็กคนนั้นดื่มก่อน และยังรับคนจัณฑาลเข้ามาอยู่ในคณะสงฆ์ ในการเขียนถึงพระพุทธเจ้า เรามักใช้คำราชาศัพท์ พระพุทธเจ้าก็เคยเป็นเจ้าชายมาก่อน และหากครองราชย์ ก็อาจเป็นมหาจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่ของโลก แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ประสงค์จะอยู่ในวรรณะกษัตริย์ ประสงค์จะใช้ภาษาและคำพูดธรรมดา ดังนั้นการใช้คำราชาศัพท์กับพระพุทธเจ้า ในอีกแง่หนึ่งก็อาจเป็นการไม่นำพาต่อความตั้งใจของพระพุทธเจ้าในการสละวรรณะนี้ การใช้คำราชาศัพท์ก็เท่ากับการผูกพันพระพุทธเจ้าไว้กับวรรณะเฉพาะ

พระพุทธเจ้าสอนให้มนุษย์มั่นใจว่าจะสามารถเป็นอิสระจากอวิชชาด้วยการศึกษาอย่างจริงจังและเป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อนำมาสังเคราะห์ด้วยปัญญาให้รู้จริง ดังนั้นเราจึงไม่ควรทำให้วงการพุทธศาสนามีการแบ่งชั้นวรรณะเลย

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ใบตองแห้ง: 12 ปีทำลาย ปชต.

Posted: 20 Sep 2018 09:36 AM PDT

12 ปีผ่านไปไวเหมือนโกหก จาก "รัฐประหารเสียของ" 19 กันยา 2549 ผ่านการเลือกตั้ง 2 ครั้ง 3 รัฐบาล สู่รัฐประหาร 22 พฤษภา 2557 "เราจะทำตามสัญญา" สี่ปีกว่าเกือบห้าปี กำลังจะมีเลือกตั้งอีกครั้ง ท่ามกลางความดีอกดีใจของนักลงทุน หุ้นพุ่งทั้งกระดาน

ก็ยังงงๆ ว่าดีใจอะไรกัน แค่คำว่า "เลือกตั้ง" ทั้งที่เมื่อก่อน คนชั้นกลางระดับบนคนมั่งมีด่าขรม "ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เลือกตั้ง" ประชาชนใช้อำนาจ 2-3 วินาที มาวันนี้ กลับดีใจที่มีเลือกตั้ง ทั้งที่เห็นกันว่าไม่ค่อยจะเหลือประชาธิปไตย

จะว่าอยากเลือกตั้งก็ไม่ใช่ เพราะตอนม็อบอยากเลือกตั้งเคลื่อนไหว ทวงสัญญา พ.ย.61 ภาคธุรกิจก็โวยวาย บ่อนทำลายเศรษฐกิจ แต่ไม่กี่เดือนผ่านไป กลืนน้ำลายกันหน้าตาเฉย มีเลือกตั้งทำให้เศรษฐกิจดี

21 ปีที่แล้ว เรามีรัฐธรรมนูญ 2540 ประชาชนได้เลือกทั้ง ส.ว. ส.ส. ทั้งเขตเดียวเบอร์เดียว และบัญชีรายชื่อ ทำให้เกิดการเลือกพรรค ที่หาเสียงด้วยนโยบาย ได้รัฐบาลเข้มแข็ง ที่ทำให้นโยบายเป็นจริง "ประชาธิปไตยกินได้" รวมทั้งมีการกระจายอำนาจ เลือกตั้งท้องถิ่น

แน่ละทักษิณถูกต่อต้าน อำนาจนิยม ประโยชน์ทับซ้อน แต่รัฐประหาร 2549 ไม่ได้ทำลายเพียงทักษิณ หากยังทำลายอำนาจเลือกตั้งของประชาชน รัฐธรรมนูญ 2550 เปลี่ยน ส.ว.กึ่งหนึ่งมาจากสรรหา เปลี่ยนองค์กรอิสระเป็นกลไกล้มอำนาจเลือกตั้ง ใช้ "ตุลาการภิวัตน์" ตัดสินการเมือง ยุบพรรค 2 ครั้ง โดยไม่คำนึงว่านั่นคือพรรคที่ประชาชนเลือกมาเป็นรัฐบาล จนเกิดเหตุนองเลือดปี 53 ความแตกแยกที่ทำให้สังคมไทยไม่มีวันกลับไปเหมือนเดิม และซ้ำเติมอีกครั้งในปี 56-57 แม้มีเหตุจาก "นิรโทษสุดซอย" ที่สังคมประณาม แต่ก็บานปลายด้วยม็อบปิดเมืองขัดขวางเลือกตั้ง คนชั้นกลางระดับบนคนมั่งมี "เห็นคนไม่เท่ากัน"

4 ปีรัฐประหาร 2557 ไม่ได้แก้ไขความแตกแยก ไม่ได้ปฏิรูปประชาธิปไตย ไม่ได้คืนความยุติธรรม เพียงใช้อำนาจบังคับให้สยบจำยอม แล้วก็สร้างรัฐเข้มแข็ง รัฐที่มีอำนาจมาก ถูกใจสังคมดรามา ท่ามกลางความพังพินาศของระบบการเมือง กลไกประชาธิปไตย และสถาบันทางสังคม เช่น สื่อ นักวิชาการ NGO ภาคประชาชน

รัฐธรรมนูญ 2560 สถาปนาระบอบรัฐรวมศูนย์ ซึ่งแทบไม่เหลือความเป็นประชาธิปไตย มีเลือกตั้ง แต่ให้อำนาจจากเลือกตั้งเป็นเพียงตัวประกอบ ภายใต้รัฐที่ควบคุมโดยชนชั้นนำฝ่ายความมั่นคง ไม่ใช่เพียง 5 ปีแรก ที่มี ส.ว.แต่งตั้งเลือกนายกฯ หลังจากนั้นก็ยังอยู่ใต้องค์กรอิสระ กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่มีอำนาจปืนอำนาจกฎหมายเป็นเสาค้ำชั่วกัลปาวสาน

ระบอบนี้วางจุดขาย ว่ามีแต่รัฐรวมศูนย์ใต้อำนาจชนชั้นนำเท่านั้น ที่จะผนึกภาคธุรกิจ นำประเทศก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจได้ ด้วยไทยแลนด์ 4.0 ด้วย EEC ด้วยการลงทุนสาธารณูปโภคต่างๆ แบ่งเค้กให้กลุ่มทุนจับจองสัมปทาน 40-50 ปี พร้อมกับออกบัตรคนจน ประชารัฐ ไทยนิยม หวังให้คนชั้นล่างลืมประชาธิปไตย ไม่ทวงอำนาจ ไม่ทวงความยุติธรรม แล้วขายฝันแก้ปากท้องลดเหลื่อมล้ำ

นั่นคือเฟสแรก 5 ปี ที่จะต้องทำทุกวิถีทาง ผ่านเลือกตั้งไปสู่เฟสสอง 5 ปี

แต่แม้เลือกตั้งถูกกำหนดให้เป็นพิธีกรรม พรรคการเมืองชนะยังไงก็เป็นรัฐบาลไม่ได้ การเลือกตั้งก็ยังมีความหมาย เป็นโอกาสแสดงออกของประชาชนที่ไม่พอใจ ซึ่งประมาทไม่ได้ จึงต้องเลื่อนเลือกตั้งมาเรื่อยๆ

ระบอบรัฐธรรมนูญ 2560 ล็อกอำนาจไว้แน่นหนาเพียงไร ก็มีความเปราะบาง เพราะฝืนธรรมชาติสังคม ตราบใดที่ล็อกไว้ได้ ก็เหมือนจะดี แต่เมื่อไหร่มีอะไรผิดพลาด ไม่เป็นไปตามที่ล็อกไว้ ผิดล็อก ล็อกถล่ม ก็จะล้มระนาวไปตามกัน

เผยแพร่ครั้งแรกใน: ข่าวหุ้นธุรกิจ www.kaohoon.com/content/252771

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ปปส. เสนอใช้ ม.44 ปลดล็อคกัญชาทางการแพทย์ พร้อมแก้ระเบียบทำลายของกลาง แต่ห้ามใช้สันทนาการ

Posted: 20 Sep 2018 09:12 AM PDT

หลังประยุทธ์ ทวงถามความคืบหน้า ปปส. จ่อเสนอ คสช. ใช้มาตรา 44 ปลดล็อคให้วิจัย และใช้กัญชาทดลองทางการแพทย์ได้ แก้ระเบียบเรื่องการทำลายของกลาง ชี้กระบวนการพิจารณาประมวลกฎหมายยาเสพติดล่าช้า จำเป็นต้องใช้ช่องทางพิเศษ ย้ำอนุญาตทางการแพทย์เท่านั้น ไม่ให้ใช้เพื่อความสนุกสนาน และกัญชายังเป็นยาเสพติดประเภท 5 อยู่

 การเผาทำลายกัญชาที่จังหวัดนครพนม ดัดแปลงภาพจาก: กรมประชาสัมพันธ์

20 ก.ย. 2561 ประชาชาติออนไลน์ และแนวหน้าออนไลน์ รายงานตรงกันว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะทำงานงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) ได้รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. …. และร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดกรรมาธิการสภานิติบัญญัติ ให้พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธธรรม เนื่องจากได้รับการท้วงติงว่ากฎหมายดังกล่าวค่อนข้างมีความล่าช้าในการพิจารณา

ดังนั้งจึงมีการเสนอแนวทางแก้ปัญหาว่า ควรแยกข้อกฎหมายบางส่วนออกมาดำเนินการเพื่อความรวดเร็ว เป็นการทำคู่ขนานกันไป โดยประเด็นที่มีการเสนอให้ใช้ทางพิเศษ เสนอให้คสช.ออกเป็นคำสั่ง ม.44 คือเรื่องของกัญชา ที่จะให้มีการประกาศ ใช้บังคับ ได้ทันในเรื่องของการใช้เพื่อการวิจัยทางการแพทย์หรือการใช้ทดลองรักษากับคนได้ แต่ยังคงกัญชาไว้เป็นยาเสพติดประเภท 5 เช่นเดิม นอกจากนี้ยังมีเรื่องของระเบียบการทำลายของกลางในคดี ร่วมทั้งการออกคำสั่งเกี่ยวกับรถบรรทุกสินค้าทุกประเภทต้องเข้าเครื่องเอ็กซเรย์ เพื่อป้องกันการซุกซ่อน ลักลอบขนยาสพติด

มีรายงานว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวได้รับการทวงถามจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ถึงความล่าช้าในการพิจารณา จึงมีการหารือให้นำประเด็นที่สำคัญแยกออกมายบังคับใช้ก่อน ทั้งนี้เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2561 ได้มีการนำเสนอรายงานความคืบหน้าอีกครั้งให้ พล.อ.อ.ประจิน รับทราบ

ย้ำเตรียมให้วิจัยกัญยาทางการแพทย์เท่านั้น ควบคุมการปลูกโดยสาธารณสุข อนุญาตให้ใช้รักษาโรค แต่กัญชาจะเป็นยาเสพติดประเภท 5 อยู่ ห้ามใช้เพื่อการสันทนาการ

ทั้งนี้ เฟสบุ๊กเพจแฟนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ได้เผยแพร่คำชี้ ความคืบหน้าการอนุญาตให้ใช้กัญชาในการรักษาโรค โดยระบุว่า จากกรณีมีกระแสบนสื่อสังคมออนไลน์เรียกร้องให้มีการอนุญาตให้ใช้กัญชา เพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ รวมถึงกระแสข่าวที่เครื่องดื่มยี่ห้อหนึ่งในต่างประเทศสนใจพัฒนาเครื่องดื่มกัญชาเพื่อสุขภาพ สำนักงาน ป.ป.ส. และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องได้รวบรวมข้อมูล ศึกษา วิเคราะห์ ผลดี ผลเสีย และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เพื่อควบคุม การนำกัญชาไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ และอาจก่อเป็นกระแสการเข้าใจผิดของสังคมได้

ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ศอ.ปส.) ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาวิเคราะห์มาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับพืชเสพติด โดยเห็นว่า ควรกำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ต่อไป โดยไม่อนุญาตให้มีการใช้ในเชิงสันทนาการ แต่เปิดช่องให้สามารถขออนุญาตศึกษาวิจัยกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้อย่างสะดวกและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ออกกฎกระทรวง เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 4 หรือในประเภท 5 พ.ศ. 2559 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือวันที่ 6 ม.ค. 2560 กำหนดให้ผู้ที่มีความประสงค์ปลูก จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีกัญชาไว้ในครอบครอง เพื่อการศึกษาวิจัย หรือเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ ต้องยื่นคำขอพร้อมด้วยเหตุผลความจำเป็น จำนวนหรือปริมาณ และหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พิจารณาอนุญาต

ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ดำเนินการเสนอร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีอำนาจอนุญาตให้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (กัญชา) เพื่อการศึกษาวิจัย หรือเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์ หรืออุตสาหกรรมได้ อีกทั้งยังมีอำนาจประกาศกำหนดชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (กัญชา) ซึ่งอนุญาตให้เสพเพื่อการรักษาโรค หรือเสพเพื่อการศึกษาวิจัยได้โดยไม่เป็นความผิด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ศาลสูงสุดแอฟริกาใต้ตัดสิน ใช้กัญชาส่วนตัวไม่ผิดกฎหมาย

Posted: 20 Sep 2018 08:59 AM PDT

ศาลสูงแอฟริกาตัดสินให้การเสพกัญชาแบบเป็นส่วนตัวไม่ผิดกฎหมาย แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าครอบครองไว้ในปริมาณเท่าใดถึงจะนับว่าเป็นการใช้อย่างส่วนตัว ทั้งนี้ ยังมีข้อถกเถียงว่าการใช้กัญชาในฐานะสารเสพติดจะเป็นภัย เสี่ยงต่อการเป็นโรคจิตเภท แต่ก็มีแพทย์บางส่วนที่นำสารสกัดจากกัญชาไปใช้รักษาอาการบางอย่างได้เช่นอาการเจ็บคอและโรคโคลิคในเด็ก

ต้นกัญชา (ที่มา: Pixabay)

เมื่อ 18 ก.ย. 2561 อัลจาซีรารายงานว่า ศาลสูงสุดของแอฟริกาใต้ตัดสินให้การใช้กัญชาในทางส่วนตัวไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นการคงไว้ซึ่งคำตัดสินเดิมจากศาลชั้นต้นที่ตัดสินว่าการทำให้กัญชาผิดกฎหมายนั้นไม่เป็นไปตามหลักการรัฐธรรมนูญ

หลังจากที่มีการตัดสินอย่างเป็นเอกฉันท์ รองประธานศาลสูงสุด เรย์มอนด์ ซอนโด ลงคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2561 ว่ากฎหมายที่สั่งห้ามการใช้กัญชาเป็นการส่วนตัวในผู้ใหญ่นั้น "ขัดต่อหลักการรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงถือเป็นโมฆะ" ซอนโดกล่าวอีกว่า "มันไม่ถือเป็นอาชญากรรมสำหรับผู้ใหญ่ที่ใช้หรือครอบครองกัญชาเอาไว้เพื่อให้ตัวเองใช้เสพย์เป็นการส่วนตัว"

ศาลแอฟริกาใต้ยังสั่งให้รัฐสภาร่างกฎหมายใหม่ที่สะท้อนแนวทางคำตัดสินนี้ภายในเวลา 24 เดือน อย่างไรก็ตาม คำตัดสินไม่ได้ระบุชัดเจนว่ากัญชาในปริมาณเท่าใดถึงจะนับว่าเป็นการใช้อย่างเป็นส่วนตัวสำหรับคนที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว

กลุ่มนักกิจกรรมที่สนับสนุนการใช้กัญชาไม่ว่าจะเป็นขบวนการราสตาฟาเรียน หรือกลุ่มแพทย์แผนโบราณต่างแสดงความยินดีกับคำตัดสินนี้ด้วยการปรบมือเกรียวกราว มีบางคนจุดกัญชาสูบนอกศาลเพื่อแสดงความยินดีหลังจากได้ทราบข่าว ปล่อยให้มีกลิ่นควันกัญชาตลบอบอวล รวน วิลสัน บอกว่าเขารู้สึกดีที่จะไม่ต้องมีประวัติอาชญากรรมเพียงเพราะมีกัญชาในครอบครอง และบอกอีกว่านับจากนี้ไปตำรวจจะได้เน้นเรื่องปัญหา "ยาเสพติดของจริง" กับ ปัญหา "พวกอันธพาล" เสียที

ก่อนหน้านี้ในเดือน มี.ค. 2560 ศาลในเวสเทิร์นเคปเคยตัดสินว่าการสั่งห้ามคนวัยผู้ใหญ่การใช้กัญชาในบ้านตัวเองถือเป็นเรื่องขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำตัดสินนี้มีผลทำให้การใช้กัญชาส่วนตัวไม่เป็นอาชญากรรมอีกต่อไปในภูมิภาคเวสเทิร์นเคป รวมถึงเมืองเคปทาวน์ จากเดิมที่กฎหมายแอฟริกาใต้ระบุว่าการมีกัญชาในครอบครองหรือเพาะปลูกแม้จะเอาไว้เสพส่วนตัวในปริมาณเล็กน้อยก็อาจจะถูกลงโทษจำคุกหรือสั่งปรับได้ ซึ่งผู้ขายจะต้องโทษหนักกว่านี้

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม กรมตำรวจ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงพาณิชย์ ก็โต้แย้งว่ามีข้อพิสูจน์ในทางวัตถุวิสัยที่แสดงให้เห็นว่ากัญชามีผลเสีย

มีการเดินขบวนเรียกร้องให้กัญชาในแอฟริกาใต้เสพได้อย่างถูกกฎหมายมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว แต่ก็มีคนที่ต่อต้านในเรื่องนี้ด้วยเหตุผลที่ว่าอาจจะเกิดอาชญากรรมจากการใช้ยาเสพติดเกินขนาดและทำให้ผู้เสพหันไปเสพยาเสพติดที่แรงขึ้นนอกเหนือจากกัญชาได้ นอกจากนี้ยังมีการอ้างอิงผลการวิจัยทางการแพทย์ที่ระบุว่าการใช้กัญชามากเกินไปจะส่งผลให้เป็นโรคจิตเช่นโรคจิตเภท (schizophrenia)

อย่างไรก็ตามสื่อในแอฟริกาใต้รายงานว่าสภาวิจัยทางการแพทย์ของแอฟริกาใต้เคยทำการทดสอบเพื่อประกันคุณภาพ ความคงเส้นคงวา และวางมาตรฐานให้กับกัญชา โดยระบุว่าพวกเขาสามารถใช้สารสกัดจากกัญชาให้สามารถรักษาโรคโคลิคในเด็กได้และใช้เป็นยารักษาอาการเจ็บคอมาอย่างลับๆ เป็นเวลาหลายปีแล้ว เมื่อมีการทำให้ถูกกฎหมายเช่นนี้ก็จะทำให้สามารถพัฒนาต่อยอดพืชชนิดนี้ต่อไปได้

เรียบเรียงจาก
South Africa's top court legalises private use of cannabis,
Aljazeera, Sep. 18, 2018

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ยื่นหมื่นชื่อ ร้องประยุทธ์ เลิกการสอบเข้า ป.1 ชี้สร้างความเครียดกระทบพัฒนาการเด็ก

Posted: 20 Sep 2018 08:35 AM PDT

ผู้ปกครองนำรายชื่อกว่า 11,000 ชื่อ ยื่นถึง พล.อ.ประยุทธ์ ขอยกเลิกการสอบเข้า ป.1 และ ออก พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อคุ้มครองเด็กปฐมวัยไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการจัดสอบคัดเลือกเข้าเรียนของโรงเรียน

20 ก.ย.2561 TNN24 รายงานว่า กลุ่มผู้ปกครองนำรายชื่อกว่า 11,000 ชื่อ ที่ร่วมกันเรียกร้องผ่านเว็บไซต์ change.org ยื่นถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้มีการยกเลิกการสอบเข้าชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ ออก พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อคุ้มครองเด็กปฐมวัยไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการจัดสอบคัดเลือกเข้าเรียนของโรงเรียนในทุกสังกัดทั่วประเทศ เนื่องจากเด็กช่วงอายุระหว่าง 0-8 ปี เป็นช่วงสำคัญระหว่างการพัฒนาด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา ซึ่งเด็กจำเป็นต้องได้รับประสบการณ์ที่เหมาะสมกับวัย

สำหรับการยื่นรายชื่อในครั้งนี้ นำโดย กรองทอง บุญประคอง ครูและผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก ซึ่ง กรองทอง กล่าวว่า ช่วงปฐมวัยคือช่วงเวลาทองของการพัฒนาทักษะ สมองส่วนหน้าที่จะก่อเกิดเป็นลักษณะนิสัย และทักษะต่างๆ ที่นําไปสู่ ศักยภาพในทุกๆ ด้านของแต่ละคน ซึ่งทักษะสมองนี้จะสามารถพัฒนาได้อย่างสูงสุดในวัย 0-6 ปี เท่านั้น และการที่สมองเด็กจะพัฒนาอย่างสมบูรณ์เต็มที่นั้น เด็กจําเป็นต้องได้รับประสบการณ์ที่เหมาะสมกับวัยอย่างสอดคล้อง ตามหลักทางวิชาการของการพัฒนาเด็กปฐมวัย ภาวะกดดันและความเครียด จากการสอบจะส่งผลเสียอย่างร้ายแรงทําให้พัฒนาการและโครงสร้างของเซลล์ สมองไม่สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายหรือเกิดการพัฒนาได้อย่างเต็มที่ 

"การออกกฎหมายให้การยุติการสอบแข่งขันเข้าเรียนในเด็กปฐมวัย จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ เด็กเกิดการพัฒนาศักยภาพในทุกๆ ด้านได้ในทันทีโดยไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณหรือใช้เวลาที่ยาวนาน ทั้งนี้ ถ้าไม่ใช้วิธีการสอบ ร.ร. ก็สามารถใช้วิธีการอื่น เช่น การสอบผู้ปกครอง หรือการรับเด็กบ้านใกล้ แทนได้ รัฐควรออกมาตรการใดก็ได้เพื่อมาคุ้มครองเด็กหรือเร่งผ่านร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาโดยคณะรัฐมนตรี"  กรองทอง กล่าว

ที่มา เว็บไซต์ change.org

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

‘นิมิตร์’ ชี้ กม.ประชารัฐ ไม่แก้ปัญหายากจนโดยรวม แนะปฏิรูปภาษี เขย่าอำนาจรัฐ จัดรัฐสวัสดิการ

Posted: 20 Sep 2018 07:11 AM PDT

ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ วิจารณ์ ร่าง พ.ร.บ.ประชารัฐ ยิ่งเป็นอุปสรรคกับรัฐสวัสดิการ 'บัตรคนจน' ให้อำนาจเจ้าหน้าที่-เพิ่มความนิยมให้รัฐ ชี้ 300-400 บาท ไม่ได้แก้ปัญหาความยากจน ไม่อาจทำให้ชีวิตใครดีขึ้น แนะปฏิรูปภาษี เขย่าอำนาจรัฐ เพื่อจัดรัฐสวัสดิการ หรือนำตัวอย่างสิทธิประโยชน์ 7 อย่างของประกันสังคมมาใช้กับคนทั้งประเทศแทน

 

นิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ (ภาพจากเว็บไซต์ไอลอว์)

 

หลังจากวันที่ 13 ก.ย. ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติ (สนช.) ได้มีมติเอกฉันท์ 187 เสียง งดออกเสียง 4 จากจำนวนผู้เข้าประชุม 191 รับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม พ.ศ.... วาระแรก เพื่อผลักดันให้โครงการประชารัฐ โดยเฉพาะการทำบัตรสวัสดิการให้ผู้มีรายชื่อได้ ใช้เป็นกฎหมายแบบถาวร และมีกระบวนการพิจารณาผ่านคณะกรรมฯ ซึ่งได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาเนื้อหา

กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า เหตุผลที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอร่างกฎหมาย เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อการยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อย รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม กระจายรายได้อย่างเป็นธรรม สำหรับเนื้อหาที่สำคัญ อาทิ กำหนดให้มีคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน และมีกรรมการที่มาจากฝ่ายข้าราชการประจำ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญด้านสังคม พัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเศรษฐศาสตร์ ทำหน้าที่เสนอแผนงาน นโยบายและมาตรการที่เกี่ยวกับประชารัฐสวัสดิการ ช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย

นอกจากนั้นยังกำหนดให้ตั้งกองทุนประชารัฐฯ จำนวน 1 กองทุนเพื่อใช้จ่ายด้านการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยตามประชารัฐสวัสดิการ ที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐหรือเพื่อสนับสนุนโครงการที่ให้บริการทางสังคมเพื่อช่วยเหลือประชาชนในภาวะลำบากทุกประเภท โดยที่มาของกองทุน อาทิ เงินทุนประเดิมที่รัฐจัดสรร, เงินที่จัดสรรจากงบประมาณ, เงินบริจาค, เงินที่รับจากองค์การระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ กรุงเทพธุรกิจ ยังตั้งข้อสังเกตว่า การประชุมเพื่อพิจารณารายละเอียดของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว กำหนดให้แปรญัตติ 7 วัน และมีเวลาทำงาน 30 วัน ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาการทำงานที่เร่งรัดกว่าการพิจารณาร่างกฎหมายทั่วไป ที่จะใช้เวลาทำงานอย่างน้อย 45 วัน

ประชาไทสัมภาษณ์ นิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ที่ติดตามระบบสวัสดิการและประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อวิเคราะห์ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว รวมทั้งข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาระบบสวัสดิการในสังคมไทยให้ก้าวหน้า โดยมีรายละเอียดดังนี้

กฎหมายที่ยิ่งเป็นอุปสรรคกับรัฐสวัสดิการ

 

นิมิตร์ ให้ความเห็นว่า กฎหมายนี้คืออกฎหมายที่ออกมารองรับโครงการบัตรสวัสดิการแห่ง ซึ่งยังเป็นเรื่องชั่วคราวให้เป็นเรื่องถาวร หมายความว่าทำให้การสงเคราะห์แบบนี้มีกฎหมายรองรับ และทำให้การเกิดสวัสดิการถ้วนหน้ายากขึ้นอีก เพราะแสดงให้เห็นว่ารัฐเชื่อเรื่องการสงเคราะห์เฉพาะจุด ไม่ได้เชื่อว่าประเทศนี้จะมีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับคนทุกคน และเชื่อว่าการมีรัฐสวัสดิการเป็นภาระ

กฎหมายฉบับนี้เป็นเหมือนการประทับตราว่าต่อจากนี้นโยบายอะไรที่ช่วยเฉพาะกลุ่มจะกระทำได้เลย เพราะตั้งกองทุนขึ้นมารองรับสำหรับโครงการอื่นด้วยนอกจากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เงินกองทุนนี้จะใช้จ่ายสำหรับโครงการประชารัฐอื่นที่จะมี

'บัตรคนจน' ให้อำนาจเจ้าหน้าที่-เพิ่มความนิยมให้รัฐ

 

ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ มองว่า กระบวนการพิสูจน์ความจนนั้นรัฐก็ต้องลงทุน นอกจากนั้นยังเป็นการให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนเลือกที่จะให้สิทธิแก่คนที่ไม่มีปากมีเสียงกับเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นเครื่องมือทางการเมืองของรัฐในการซื้อความนิยมจากกลุ่มคนที่ได้รับผลประโยชน์ ซึ่งเคยเกิดปัญหาแบบนี้มาตลอดในอดีต

"ตั้งแต่ 'บัตร 500' คือขายบัตร 500 บาทให้แก่คนจนเพื่อรับการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม ก็มีคนจำนวนมากที่ได้บัตร 500 ทั้งที่ไม่ได้จน เรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็เช่นกัน เราก็พบว่ามีคนจนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนรับบัตรสวัสดิการฯ และรัฐยังต้องลงทุนสร้างระบบสิบกว่าล้านเพื่อตรวจจับว่าใครจนไม่จน" นิมิตร์ กล่าว

300-400 บ. ไม่ได้แก้ปัญหาความยากจน ไม่อาจทำให้ชีวิตใครดีขึ้น

 

นิมิตร์ กล่าวต่อว่า พอเป็นกฎหมายโอกาสที่จะแก้ไขปรับปรุงก็ยากขึ้น เพราะคุณจะทำให้ประชาชนทะเลาะกันเอง เช่นตอนนี้ ถ้าเราให้ความเห็นว่าบัตรสวัสดิการรัฐไม่ดี เป็นประชานิยมแบบหนึ่ง เป็นกลไกหนึ่งในการซื้อเสียงของรัฐบาล ก็จะทำให้กลุ่มคนสิบกว่าล้านคนที่เขาได้ประโยชน์ไม่พอใจ เพราะเขาคิดว่าแม้จะได้เงินน้อย 300-400 บาทต่อเดือน แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้เลย แต่อันที่จริงคือการให้เงินเท่านี้ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อระบบโดยรวม ไม่ได้แก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างเห็นชัด เพราะเงินจำนวนนี้ก็ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตใครดีขึ้น และประชาชนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้มีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้นเลย

จัดสรรเงินภาษี เขย่าอำนาจรัฐ เพื่อรัฐสวัสดิการ ตัวอย่าง 7 สิทธิประโยชน์จากประกันสังคม

 

เขากล่าวต่อว่า แต่ถ้ารัฐเชื่อว่าหน้าที่รัฐคือต้องดูแลทุกคนตามแต่ปัญหาและศักยภาพ ก็จะสามารถหาวิธีจัดสรรเพื่อให้คนได้รายได้ที่เป็นธรรม เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ตัวอย่างเช่น ประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการหากคุณทำงานรัฐก็จะการันตีรายได้ขั้นต่ำที่จะดำรงชีพ ดังนั้นเขาจะเอาทุกคนเข้ามาอยู่ในฐานการจ้างงานและฐานภาษี และดูว่าหากใครมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์รัฐก็ช่วยให้มีรายได้มากพอ โดยที่ไม่ต้องมีการพิสูจน์ความจน ซึ่งเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องมีการปฏิรูปภาษี คือการเขย่าอำนาจรัฐในการใช้ภาษี เพื่อให้รัฐนำมาภาษีที่ได้มาจัดรัฐสวัสดิการ เป็นการทอนอำนาจของรัฐลง

"มันน่าเสียดายที่ทำไมรัฐไม่ใช่กฎหมายนี้เขียนเรื่องรัฐสวัสดิการไปเลย ว่าจะมีการจัดสรรระบบภาษีเพื่อนำไปใช้ในเรื่องรัฐสวัสดิการ ข้อเสนอที่น่าสนใจคือสามารถนำตัวอย่างสิทธิประโยชน์ 7 อย่างของประกันสังคมมาใช้กับคนทั้งประเทศได้ เพราะสิทธิประโยชน์เหล่านี้คือรูปแบบของรัฐสวัสดิการ" นิมิตร์ กล่าว

 

 

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

คดี 6 วัยรุ่นเผาซุ้มฯ อุทธรณ์ยกฟ้อง ข้อหา ม.112 และลดโทษจำคุกข้อหาอื่น

Posted: 20 Sep 2018 06:28 AM PDT

คดี 6 วัยรุ่นเผาซุ้มฯ อุทธรณ์ยกฟ้อง ข้อหา ม.112 และลดโทษจำคุกข้อหาซ่องโจร และร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น แต่ไม่รอการลงโทษ ทั้ง 6 คน และญาติ แสดงความดีใจหลังทราบคำพิพากษา โดยจำเลยที่ 2 ทั้งสองคดี เหลือโทษจำคุกรวม 9 ปี อีก 3 จำเลยเหลือโทษจำคุกรวม 6 ปี ส่วนอีก 2 จำเลยซึ่งเป็นจำเลยในคดีเดียว เหลือโทษจำคุก 3 ปี ปัจจุบันทั้ง 6 รับโทษจำคุกไปแล้ว 1 ปี 2 เดือนเศษ

20 ก.ย.2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า 18 ก.ย.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดพลเบิกตัวจำเลยวัยรุ่น 6 คน คดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติในจังหวัดขอนแก่น จากเรือนจำอำเภอพล จ.ขอนแก่น มาศาลเพื่ออ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ลงวันที่ 11 ก.ค.61 รวม 2 คดี คือ คดีเผาซุ้มในอำเภอบ้านไผ่ และคดีเผาซุ้มในอำเภอชนบท 

โดยทั้ง 2 คดี ศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างไรก็ตามความผิดฐานซ่องโจร ความผิดฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น ยังมีการลงโทษในทั้ง 2 คดี 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานด้วยว่า จำเลยวัยรุ่นทั้ง 6 คน และญาติ แสดงความดีใจที่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ยกฟ้องพวกเขาในข้อหา มาตรา 112 และลดโทษจำคุกลง โดยฟลุค จำเลยที่ 2 (นามสมมติ) ในทั้งสองคดี เหลือโทษจำคุกรวม 9 ปี ไตรเทพ, ฟิล์ม และเบล (นามสมมติ) เหลือโทษจำคุกรวม 6 ปี ส่วนแทนและเต้ย (นามสมมติ) ซึ่งเป็นจำเลยในคดีเดียว เหลือโทษจำคุก 3 ปี โดยปัจจุบันทั้งหกรับโทษจำคุกไปแล้ว 1 ปี 2 เดือนเศษ

สำหรับคดีนี้ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดพลได้มีคำพิพากษาชั้นต้น ยกฟ้อง ปรีชา และสาโรจน์ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในคดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ รวม 3 คดี จากเหตุการณ์เดียวกับจำเลยวัยรุ่น 6 คนนี้ โดย ปรีชาและสาโรจน์ถูกจับกุมดำเนินคดีภายหลังกลุ่มวัยรุ่นทั้งหก และจำเลยอีก 2 คน ที่ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น

เนื้อหาโดยย่อสำหรับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ทั้ง 2 คดี ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานไว้ด้วย คดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติอำเภอบ้านไผ่ ซึ่งมี ไตรเทพ กับพวกรวม 6 คน เป็นจำเลย มีเนื้อหาโดยย่อ ดังนี้

"…เห็นสมควรวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายประการแรกเสียก่อนว่า การกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยทั้งหกจะให้การรับสารภาพ แต่หากพิจารณาตามฟ้องโจทก์แล้วเห็นได้ชัดเจนว่า การกระทำของจำเลยทั้งหกมุ่งประสงค์ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินอันได้แก่ ซุ้มประตูซึ่งเป็นทรัพย์สินขององค์การบริหารส่วนตำบลหินตั้งเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งหกมีความมุ่งหมายที่จะกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งหกในส่วนนี้จึงเป็นความผิดเพียงฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาทถึง 140,000 บาท และฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับเท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นปรับบทความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาด้วย ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่เห็นพ้องด้วย และความผิดฐานซ่องโจร จำเลยทั้งหกย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 วรรคแรก ไม่ใช่มาตรา 210 วรรค 2 ทั้งนี้ กำหนดโทษที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้สำหรับความผิดฐานนี้เหมาะสมแล้ว

มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งหกว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยทั้งหกหรือไม่ เห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งหกกับพวกเป็นการกระทำที่อุกอาจ ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง แม้จำเลยทั้งหกจะได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลหินตั้งแล้วก็ตาม เห็นควรลงโทษจำเลยทั้งหกให้หลาบจำ เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อบุคคลอื่น และแม้จะมีเหตุต่าง ๆ ตามที่จำเลยทั้งหกหยิบยกขึ้นกล่าวในอุทธรณ์ก็ยังไม่มีเหตุสมควรเพียงพอปราณีรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยทั้งหก

พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานซ่องโจร จำเลยทั้งหกมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 วรรคแรก ความผิดฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นกับความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกจำเลยที่ 1, 3-6 คนละ 4 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1, 3-6 คนละ 2 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี เมื่อรวมโทษกับความผิดฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุกจำเลยที่ 1, 3-6 คนละ 3 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี 6 เดือน ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น"

ส่วนคดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติในอำเภอชนบท ซึ่งมี ไตรเทพ กับพวกรวม 4 คน เป็นจำเลย ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษาเนื้อหาโดยย่อ ดังนี้

"…เห็นสมควรวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายประการแรกเสียก่อนว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยทั้งสี่จะให้การรับสารภาพ แต่หากพิจารณาตามฟ้องโจทก์แล้วเห็นได้ชัดเจนว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่มุ่งประสงค์ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ซุ้มประตูอันเป็นทรัพย์สินของผู้ร้องเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่มีความมุ่งหมายที่จะกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 เท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นปรับบทความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาด้วย ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่เห็นพ้องด้วย และความผิดฐานซ่องโจร จำเลยทั้งสี่ย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 วรรคแรก ไม่ใช่มาตรา 210 วรรค 2

มีปัญหาต้องวินิจฉัยอีกว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยทั้งสี่หรือไม่ เห็นว่า  การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการกระทำที่อุกอาจ ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย แม้จำเลยทั้งสี่จะไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน และมีเหตุจำเป็นอื่น ๆ ก็ยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสี่

มีปัญหาต้องวินิจฉัยในประการสุดท้ายว่า ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสี่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้องเป็นเงิน 958,117.72 บาท สูงเกินไปหรือไม่ เห็นว่า ได้ความผู้ร้องว่า ซุ้มประตูที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกับพวกวางเพลิงเผานั้นก่อสร้างในปี 2550 ใช้งบประมาณในการก่อสร้างเป็นเงิน 958,117.72 บาท หลังเกิดเหตุซุ้มประตูไม่สามารถใช้การได้ ต้องรื้อและสร้างขึ้นใหม่ ที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่าซุ้มประตูดังกล่าวเมื่อก่อสร้างขึ้นแล้วย่อมมีความเสื่อมไปตามธรรมชาติและตามสภาพการใช้งาน ค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จึงสูงเกินไป เห็นว่า แม้ซุ้มประตูที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกับพวกวางเพลิงเผาจะใช้งานไปนานหลายปี แต่ก็ไม่ปรากฏว่าซุ้มประตูดังกล่าวชำรุด บกพร่อง หรือเสียหาย ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ร้องเป็นเงิน 958,117.72 บาท จึงเหมาะสมแล้ว

พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานซ่องโจร จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 วรรคแรก ความผิดฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น จำคุกจำเลยที่ 1, 3 และ 4 คนละ 4 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1, 3 และ 4 คนละ 2 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี เมื่อรวมโทษกับความผิดฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุกจำเลยที่ 1, 3 และ 4 คนละ 3 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี 6 เดือน ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น"

หลังเสร็จการอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ศาลจังหวัดพลได้มีคำสั่งให้จำเลยทั้งสี่ในคดีที่สองปฏิบัติตามคำพิพากษาส่วนแพ่งภายใน 30 วัน มิฉะนั้นอาจถูกยึดทรัพย์ จำคุก กักขัง ปรับ ริบทรัพย์สิน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

โดยเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดพลได้อ่านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในทั้งสองคดีดังกล่าว จนต่อมา วันที่ 11 เม.ย. 61 ทนายความของจำเลยทั้งหกในคดีเผาซุ้มอำเภอบ้านไผ่ และจำเลยทั้งสี่ในคดีเผาซุ้มอำเภอชนบท ได้เข้ายื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 โดยขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ เพื่อขอโอกาสให้จำเลยทั้งหกปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคม พร้อมทั้งดูแลครอบครัวต่อไปได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่สังคมมากกว่าการจำคุกจำเลยทั้งหกไว้เป็นเวลานาน จนมีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าว

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ขรก.เกษียณเสนอ สนช. แก้กฎหมายเพิ่มเงินบำนาญ ชี้เป็นคนจนรุ่นใหม่เหลือเงินแค่ 2 หมื่นต่อเดือน

Posted: 20 Sep 2018 06:00 AM PDT

สหพันธ์ข้าราชการบำนาญแห่งประเทศไทย ยื่นเสนอร่าง พ.ร.บ.บำเน็จบำนาญ ต่อ สนช. ระบุ ขรก.เกษียณ 6.5 แสนคนกำลังเดือดร้อนจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ได้เงินบำนาญ 2 หมื่นต่อเดือนไม่พอกับค่าใช้จ่าย ชี้หากมีรายได้เพิ่มจะนำเงินไปใช้จ่าย ส่งผลให้เศรษฐกิจดีขึ้นตามนโยบายรัฐบาล

ที่ภาพจาก: iLaw (ไอลอว์)

20 ก.ย.61 แนวหน้าออนไลน์ รายงานว่า ที่รัฐสภา สหพันธ์ข้าราชการบำนาญแห่งประเทศไทย กว่า 30 คน นำโดย ชัยวัฒน์ อุตอิ่นแก้ว เลขาธิการฯ เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ พีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 เพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญ

ชัยวัฒน์ กล่าวว่า ขอให้ สนช.สนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณา เพื่อทำให้ข้าราชการบำนาญมีรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีเข้าราชบำนาญสังกัดทุกประเทศ จำนวน 654,634 คน ได้รับความเดือดร้อนจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่เงินบำนาญเท่าเดิม ทำให้รายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย เป็นไปตามสภาวะเงินเฟ้อ ทั้งนี้ หากข้าราชการบำนาญมีรายได้เพิ่มขึ้นก็จะนำเงินไปใช้จ่าย ส่งผลให้เศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาลดีขึ้น

"ข้าราชการบำนาญถือเป็นคนจนรุ่นใหม่ ได้เงินบำนาญเดือนละ 20,000 บาท หักค่าใช้จ่ายอื่น เหลือ 18,000 บาทต่อเดือน ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อข้าราชปัจจุบันอีก 2 ล้านคน แล้วคนไทยรุ่นใหม่ที่จะเข้าสู่ระบบข้าราชการ ทำงานเพื่อประเทศชาติ" ชัยวัฒน์ กล่าว

ชีวิตยามเกษียณ 1: แก่ง่ายตายยาก เราไม่ลำบากด้วยบำนาญประกันสังคม?

ด้าน พีระศักดิ์ กล่าวว่า โดยหลักการค่อนข้างเห็นด้วย กับผู้ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติ แต่กฎหมายฉบับนี้เข้าข่ายกฎหมายการเงิน ต้องให้รัฐบาลเห็นชอบก่อนเสนอ สนช.เสนอเองไม่ได้ จึงขอประสานหาช่องทางให้ประยื่นต่อรัฐบาล ส่วน สนช.จะให้ กมธ.พิจารณาศึกษารายละเอียดควบคู่กันไป

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวประชาไท ลองคำนวนเงินบำนาญที่รัฐต้องจ่ายให้ข้าราชการเกษียณ โดยข้อมูลจากชัยวัฒน์ระบุว่า มีข้าราชการบำนาญทุกสังกัดทั่วประเทศ จำนวน 654,634 คน หากรัฐจ่ายเงินบำนาญให้เดือนละ 20,000 บาท รวมทั้งหมด 1 เดือนรัฐต้องจ่ายเงินบำนาญทั้งหมด 13,092.68 ล้านบาท 1 ปีรัฐต้องจ่ายทั้งสิ้น 157,112.16 ล้านบาท

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'คลินิกหมอครอบครัวนิเวศน์' รพ.ธวัชบุรี ทันตกรรมครบวงจร ออกหน่วยทำฟันผู้ป่วยติดเตียงถึงบ้าน

Posted: 20 Sep 2018 05:08 AM PDT

ทันตแพทยสภา-สปสช.ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน 'คลินิกหมอครอบครัวนิเวศน์' จัดบริการทันตกรรมครบวงจร ช่วยชาวบ้านในพื้นที่เข้าถึงการรักษา พร้อมออกหน่วยทำฟันผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงถึงบ้าน ลดทุกข์ทรมาน ต้นแบบความร่วมมือใส่ใจดูแลผู้ป่วย   

20 ก.ย. 2561 ที่จังหวัดร้อยเอ็ด ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายทันตแพทยสภา และ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ เลขาธิการทันตแพทยสภา และผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วยกรรมการทันตแพทยสภา ได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาดูงานและเยี่ยมชมบริการทันตกรรม "คลินิกหมอครอบครัวนิเวศน์" โรงพยาบาลธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด 

นพ.ไพศาล กล่าวว่า กลุ่มผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพ รวมถึงบริการทันตกรรม เนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้มีอุปสรรคในการเดินทาง ไม่สามารถไปรับบริการที่โรงพยาบาลได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลด้วยแล้ว ส่งผลให้ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่มีปัญหาทันตกรรมต้องทนทุกข์ทรมานอย่างมาก จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ "คลินิกหมอครอบครัวนิเวศน์" ที่เป็นหน่วยบริการระดับปฐมภูมิเคลื่อนที่ของโรงพยาบาล ได้มองเห็นปัญหา จึงได้ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงเหล่านี้  โดยร่วมกับสหวิชาชีพในการเพิ่มบริการทันตกรรมเชิงรุก ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดบริการทันตกรรมเคลื่อนที่ออกให้บริการ จนกระทั่งสามารถเพิ่มการเข้าถึงบริการทันตกรรมให้กับผู้ป่วยที่มีปัญหาช่องปากและไม่สามารถมารับบริการที่หน่วยบริการได้ นับเป็นหนึ่งในรูปแบบการบริการทันตกรรมในพื้นที่ห่างไกลที่เกิดจากความร่วมมือ ความใส่ใจต่อการดูแลผู้ป่วยของทีมคลินิกหมอครอบครัวนิเวศน์

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า แม้ว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ "บัตรทอง" ได้มีการจัดสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมบริการทันตกรรมให้กับประชาชนทั่วประเทศแล้ว แต่การเข้าถึงบริการทันตกรรมได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยบริการ โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ในการจัดบริการทันตกรรมในรูปแบบที่เหมาะสม เนื่องจากแต่ละพื้นที่จะมีปัญหาการเข้าถึงบริการที่แตกต่างกันไป เช่นในพื้นที่ 5 ตำบลในอำเภอธวัชบุรีนี้ ที่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลธวัชบุรีทำให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงการรักษา ทางคลินิกหมอครอบครัวนิเวศน์จึงได้มีการจัดบริการทันตกรรมเคลื่อนที่เพื่อดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง ส่งผลให้ผู้ป่วยในพื้นที่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง       

ขณะที่ ทพญ.มิ่งสมร กิตติธีรนันท์ ทันตแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลธวัชบุรี กล่าวว่า คลินิกหมอครอบครัวนิเวศน์ เป็นศูนย์กลางของตำบลที่ห่างไกลจากโรงพยาบาลธวัชบุรี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอ โดยตำบลที่ห่างไกลจากโรงพยาบาลธวัชบุรี ได้แก่ อุ่มเม้า ไพศาล หนองไผ่ ราชธานี และเมืองน้อย แต่อยู่ใกล้โรงพยาบาลร้อยเอ็ด ทำให้ประชากรในตำบลเหล่านี้สะดวกเดินทางไปรับบริการที่โรงพยาบาลร้อยเอ็ด แต่มีปัญหาเรื่องความแออัดของผู้ป่วย แต่หลังจากคลินิกหมอครอบครัวนิเวศน์ได้จัดบริการทันตกรรม โดยมีทันตแพทย์มาประจำที่คลินิก ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปรับบริการที่โรงพยาบาลร้อยเอ็ด ส่งผลให้เข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น

ประคอง เจริญทรัพย์ อายุ  67 ปี ชาวบ้านศรีเมืองน้อย อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า ตนมีภูมิลำเนาที่ จ.นครนายก แต่ได้ย้ายมาอยู่ อ.ธวัชบุรี เมื่อ 4 ปี ที่ผ่านมา หลังจากที่ย้ายมาอยู่ที่นี่ก็ได้ย้ายสิทธิการรักษาจากโรงพยาบาลบ้านนา มาเป็นโรงพยาบาลธวัชบุรี มีหน่วยบริการปฐมภูมิที่ รพ.สต.นิเวศน์ เพื่อรักษาโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง และได้รับการใส่ฟันปลอมฐานพลาสติกทั้งปาก โดยใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เมื่อปี 2560 ก่อนที่จะได้ใส่ฟันปลอมนั้นมีปัญหาในการรับประทานอาหารมาก เพราะเคี้ยวอาหารแข็ง เหนียว ไม่ได้ ต้องกินอาหารที่เคี้ยวง่ายๆ เท่านั้น และเมื่อไปกินข้าวกับครอบครัว หรือเพื่อนๆ ก็กินได้ช้ากว่าคนอื่น แต่หลังจากที่ใส่ฟันปลอมแล้วก็กินอาหารได้เหมือนปกติ

"คุณหมอฟันที่นี่ก็ดูแลดีมาก เมื่อก่อนตอนอยู่นครนายกเวลาจะทำฟันต้องไปที่โรงพยาบาลบ้านนาเท่านั้น แต่พอย้ายมาอยู่ที่นี่ก็มาหาหมอฟันที่ รพ.สต. ซึ่งที่นี่ทำฟันได้ทุกอย่าง ทั้ง ขูดหินปูน ถอนฟัน ใส่ฟันปลอม เราเองก็สะดวกเพราะไม่ต้องตื่นแต่ตี 5 เพื่อไปเข้าคิวรอรักษาที่โรงพยาบาลใหญ่ ซึ่งถ้าไปรักษาก็ต้องไปทั้งวัน คิวก็มาก และต้องมีคนไปรับ – ส่ง ไปมาลำบาก แต่ที่นี่ขับรถจักรยานยนต์มาเองได้ ไม่ลำบากใคร" ประคอง กล่าว

ประคอง กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนเองใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในการเข้ารับการรักษามาตลอด ซึ่งไม่เคยมีปัญหาอะไร ทางโรงพยาบาลก็ให้บริการดี ไม่ต่างจากผู้ป่วยสิทธิข้าราชการ หรือประกันสังคม ยาที่ได้รับก็เป็นยาตัวเดียวกัน จึงอยากให้มีสิทธิแบบนี้ตลอดไป และอยากให้มีแพทย์ ทันตแพทย์ ออกมาให้บริการใน รพ.สต. มากขึ้น เพราะจะได้ดูแลคนไข้ในพื้นที่ ไม่ต้องไปแออัดในโรงพยาบาล

พูน ขันธ์ดวง ข้าราชการบำนาญ อ.ธวัชบุรี  จ.ร้อยเอ็ด อายุ 84 ปี กล่าวว่า ตนใส่ฟันปลอมมาประมาณ 31 ปี ก่อนหน้านี้ก็ไปคลินิกเอกชนในเมืองมาตลอด แต่เพิ่งมาใส่ฟันปลอมชุดใหม่ที่ รพ.สต.นิเวศน์ เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา เนื่องจากลูกชายได้มาทำฟันที่นี่และกลับไปบอกว่าทันตแพทย์ที่นี่ดูแลดี และทำฟันได้ทุกอย่างเหมือนคลินิกในเมือง ซึ่งเมื่อมาใช้บริการที่นี่ก็ไม่ผิดหวัง ทันตแพทย์ดูแลดีมาก และไม่ต้องเดินทางไกลไปในเมืองด้วย จึงอยากให้มี รพ.สต. ที่มีทันตแพทย์ออกมาประจำมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการได้สะดวกขึ้น

ทั้งนี้ บริการที่คลินิกหมอครอบครัวนิเวศน์ มีการจัดบริการตรวจรักษาแบบองค์รวม ทั้งขูดหินน้ำลาย ถอนฟัน อุดฟัน และใส่ฟันปลอม เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้จัดระบบคัดกรองรอยโรคมะเร็งช่องปาก ขณะเดียวกันยังเพิ่มการเข้าถึงบริการในผู้ป่วยที่ไม่สามารถมารับบริการที่หน่วยบริการได้ เช่น การถอนฟันให้กับผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง เป็นต้น ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับการดูแล พร้อมกันนี้ยังได้สร้างเครือข่ายทันตกรรม โดยจัดอบรมให้ความรู้ทันตกรรมให้กับอาสาสมัครหมู่บ้าน (อสม.) ผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Care giver) และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อให้มีองค์ความรู้เกี่ยวกับทันตกรรมในการแนะนำและดูแลประชาชนได้อย่างถูกต้อง

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น