โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

กกต. เผยเร่งแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. พร้อมเลือกตั้ง ก.พ. 62

Posted: 03 Sep 2018 10:21 AM PDT

รองเลขาธิการ กกต. เผยเร่งแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเลือกตั้งในเดือน ก.พ. 62 แต่ถ้ามีการเลือกตั้งในเดือน พ.ค. 62 จะต้องคำนวนการแบ่งเขตจากข้อมูลประชากรใหม่ อาจจะทำให้โรดแมปขยับไปอีก 2 เดือน

3 ก.ย. 2561 ผู้จัดการออนไลน์ และไทยรัฐออนไลน์ รายงานตรงกันว่า ณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการมีหนังสือแจ้งไปยังผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดให้ดำเนินการเตรียมเรื่องของการแบ่งเขตเลือกตั้งว่า เป็นการเตรียมการไว้สำหรับกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ที่คาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาช่วงกลางเดือน ก.ย. และหากมีการเลือกตั้งตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศไว้ว่าจะเป็นช่วง ก.พ. 62 และวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าจะใช้ช่วงเวลา 90 วันระหว่างรอการบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

ณัฏฐ์ ระบุว่า ในการทำไพรมารีโหวตผู้สมัครจะลงเขตไหน พรรคจะส่งผู้สมัครในพื้นที่ใดก็จะต้องมีข้อมูลการแบ่งเขตก่อน ขณะที่ในส่วนของ กกต.เราใช้ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรของปี 2559 ที่มีการสรุป ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2560 ดำเนินคำนวณการแบ่งเขตไว้เบื้องต้น แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของจำนวนราษฎรรายอำเภอซึ่งอาจมีผลทำให้จำนวน ส.ส.ของแต่ละเขตมีการเปลี่ยนแปลงได้ จึงได้มีประสานไปยังผู้อำนวยการสำนักทะเบียนกลางราษฎรขอทราบข้อมูล และได้แจ้งยัง ผอ.กกต.ประจำจังหวัดให้ดำเนินการตรวจสอบอีกครั้งว่าจำนวนราษฎรล่าสุดจะมีผลทำให้ค่าเฉลี่ยกลางเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่

"เรื่องที่ทำเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะนำไปสู่กระบวนการไพรมารีโหวต ถ้า คสช.ออกคำสั่งมาตรา 44 ให้ กกต.ดำเนินการแบ่งเขตได้ เราก็จะใช้ข้อมูลราษฎร ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2560 เป็นหลัก ซึ่ง ผอ.กกต.ประจำจังหวัดก็จะทำหน้าที่แบ่งเขต 3 รูปแบบ และติดประกาศรูปแบบของการแบ่งเขตทั้ง 3 รูปแบบเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย พรรคการเมือง เป็นเวลา 10 วันก่อนจะประมวลความคิดเห็นและส่งมายัง กกต.ให้พิจารณาคัดเลือกรูปแบบที่ดีที่สุดให้แล้วเสร็จ โดยทั้งกระบวนการจะต้องทำให้เสร็จภายใน 60 วันนับแต่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือคาดว่าประมาณกลางเดือน พ.ย. เรื่องของการแบ่งเขตต้องแล้วเสร็จและเข้าสู่กระบวนการไพรมารีโหวตได้"

รองเลขาธิการ กกต.กล่าวอีกว่า การแบ่งเขตทั้งรูปแบบที่แต่ละจังหวัดจะดำเนินการ ร้อยละ 80 จะเป็นการแบ่งตามโซนนิ่งของอำเภอ เว้นแต่บางอำเภอที่มีเทศบาลนคร และเป็นชุมชนหนาแน่น ก็อาจจะต้องแบ่งอำเภอออกเป็น 2 เขต แต่จะไม่มีการแบ่งตำบล และยึดหลักไม่กระทบกับความคุ้นเคยพื้นที่ของประชาชนที่จะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง นอกจากนี้ จากการที่รัฐบาลได้ขอความร่วมมือในเรื่องการประหยัดงบประมาณเลือกตั้ง และกฎหมายใหม่ได้กำหนดจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งต่อหน่วยเลือกตั้งเพิ่มขึ้น จากเดิม 800 คนต่อหน่วย มาเป็น 1,000 คนต่อหน่วย ทางสำนักงาน กกต.ก็ได้มีหนังสือแจ้งไปยัง ผอ.กกต.ประจำจังหวัดทุกจังหวัดขอให้ประสานไปยังสำนักงานทะเบียนอำเภอว่าจะสามารถขยายหรือรวมหน่วยงานได้หรือไม่ แต่ต้องให้ไม่กระทบต่อความคุ้นเคยในการใช้สิทธิของประชาชนโดยจากเดิมที่มีหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศประมาณ 96,000 หน่วยก็ต้องเป้าลดลงอย่างน้อย 3%

เมื่อถามว่าหากรัฐบาลมีการขยับวันเลือกตั้งจากเดือน ก.พ. 62 ไปเป็น พ.ค. 62 เขตเลือกตั้งและจำนวน ส.ส.จะยังคงเดิมหรือไม่ ณัฏฐ์กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีระบุแล้วว่าช่วงเวลาของการเลือกตั้งเร็วที่สุดคือก.พ. ช้าที่สุดคือ พ.ค. 62 โดยสำนักทะเบียนกลาง กระทรวงมหาดไทย จะแจ้งเปลี่ยนแปลงจำนวนประชากรแต่ละปีในช่วง มี.ค.ของปีถัดไป ดังนั้น หากวันเลือกตั้งขยับไปเป็นเดือน พ.ค. 62 ก็ต้องมีการแบ่งเขตใหม่ตามจำนวนประชากรที่มีการประกาศใหม่ซึ่งก็จะดันให้ทุกอย่างขยับออกไปอีก 60 วัน

ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานด้วยว่าจากเอกสารของ กกต. ที่ส่งไปผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนั้นพบว่า มี 41 จังหวัดที่จะมีจำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้น 1 ตำแหน่ง ประกอบด้วย กาญจนบุรี กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ชุมพร เชียงราย นครปฐม นครพนม นครราชสีมา นครสวรรค์ น่าน ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พะเยา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก เพชรบุรี มุกดาหาร ยโสธร ยะลา ร้อยเอ็ด ระยอง ราชบุรี ลำปาง ศรีสะเกษ สงขลา สตูล สมุทรปราการ สระแก้ว สุราษฎร์ธานี หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุทัยธานี และ อุบลราชธานี

และหากคำนวนเป็นรายภาค พบว่า ภาคเหนือจะมีจำนวน ส.ส. ทั้งหมด 33 คน จากเดิม 36 คน ภาคอีสานมี 116 คน จากเดิม 126 คน ภาคกลาง 76 คน จากเดิม 82 คน ภาคตะวันออกมีจำนวนเท่าเดิม 26 คน ภาคตะวันตกมีจำนวนเท่าเดิม 19 คน ภาคใต้มี 50 คน จากเดิม 53 และกรุงเทพฯ มี 30 คน จากเดิม 34 คน

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

เผยผลสำรวจระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 61 'ปชช.พึ่งพอใจมากทึ่สุด' เชื่อมั่นสิทธิบัตรทอง

Posted: 03 Sep 2018 07:06 AM PDT

บอร์ด สปสช.รับทราบ ผลสำรวจ 'บัตรทอง' ปี 61 'ปชช.พึ่งพอใจระดับมากทึ่สุด' เผย 3 อันดับแรก พึ่งพอใจความเชี่ยวชาญแพทย์/พยาบาล/เจ้าหน้าที่, เชื่อมั่นการรักษาและอุปกรณ์-เครื่องมือทางการแพทย์ ขณะที่ผลสำรวจรับบริการรอบ 6 เดือน มีประชาชนใช้สิทธิบัตรทองถึงร้อยละ 96.9 ขณะที่ 3 เหตุผลของการไม่ใช้สิทธิมากที่สุด กว่าครึ่งคือ 'รอนาน' นอกจากนี้ยังมี 'ไม่สะดวกเดินทางไปสถานพยาบาลตามสิทธิ' และ 'สถานพยาบาลที่มีสิทธิไม่มีบริการที่ต้องการรักษา'

3 ก.ย.2561 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รายงานว่า วันนี้ (3 ก.ย.61) ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ศ.เกียรติคุณ คลินิก นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า ในวันนี้บอร์ด สปสช.ได้รับทราบรายงาน "ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี 2561" จัดทำโดยมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ที่ผ่านมา สปสช. ได้ดำเนินการจัดทำการสำรวจความคิดเห็นเป็นประจำทุกปี ซึ่ง บอร์ด สปสช.ได้นำผลการสำรวจที่ได้มาพิจารณาเพื่อทำการปรับปรุงและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) มาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระบบดูแลประชาชนได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง มีคุณภาพและมาตรฐานบริการทางการแพทย์ ตามเจตนารมณ์ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545

รศ.ดร.สุรชาติ ณ หนองคาย ผู้แทนมหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า ในการสำรวจความคิดเห็นฯ ปี 2561ได้เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 5,346 คน ใน 25 จังหวัดทั่วประเทศ ช่วงระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 31 พฤษภาคม 2561 พบว่าประชาชนยังคงมีความพึ่งพอใจโดยรวมต่อระบบบัตรทองในระดับมากที่สุด คือร้อยละ 93.9 โดยประเด็นที่ประชาชนพึ่งพอใจมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ความรู้ความสามารถและความเชี่ยชาญของแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ร้อยละ 93.9 ความเชื่อมั่นในการรักษาและความปลอดภัยในระหว่างรับบริการ ร้อยละ 93.4 และอุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์ ร้อยละ 92.5

ส่วนภาพรวมการรับรู้ต่อระบบบัตรทอง 3 อันดับที่ประชาชนรับรู้มากที่สุด คือเจ็บป่วยทั่วไปใช้บริการสถานพยาบาลที่ลงทะเบียนสิทธิก่อน ร้อยละ 83.3 เจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาสถานพยาบาลที่ใดก็ได้ที่ใกล้ที่สุด ร้อยละ 78.6 และใช้สิทธิเข้ารับบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคได้ ร้อยละ 61.3 ส่วนเรื่องที่รับรู้น้อยและมีคะแนนต่ำสุดใน 3 อันดับ คือการเปลี่ยนสถานพยาบาลประจำได้ปีละไม่เกิน 4 ครั้งต่อปี ร้อยละ 25.6 ผู้มีสิทธิที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาสามารถยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ร้อยละ 30 และผู้ป่วยโรคจิตเรื้อรังได้รับบริการต่อเนื่องที่บ้านหรือชุมชน ร้อยละ 34.6 และในการสำรวจครั้งนี้ยังได้สอบถามการรับรู้หมายเลขโทร.สายด่วน สปสช. 1330 โดยมีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 4 ที่บอกได้ ขณะที่บางส่วนเข้าใจผิดว่าเป็นหมายเลข 1669 ที่เป็นสายด่วนของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)

เมื่อดูการรับบริการและใช้สิทธิบัตรทองของประชาชนช่วงรอบ 6 เดือน มีประชาชนเข้ารับบริการจำนวน 4,438 ราย หรือร้อยละ 83 ในจำนวนนี้ใช้สิทธิบัตรทองจำนวน 4,303 ราย หรือร้อยละ 96.9 และไม่ใช้สิทธิบัตรทอง 135 ราย หรือร้อยละ 3 เหตุผลของการไม่ใช้สิทธิมากที่สุด คือรอนาน ร้อยละ 51.9 ไม่สะดวกเดินทางไปสถานพยาบาลตามสิทธิ ร้อยละ 19.3 สถานพยาบาลที่มีสิทธิไม่มีบริการที่ต้องการรักษา ร้อยละ 8.1 เป็นต้น และเมื่อสอบถามถึงการเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการใช้สิทธิ มีจำนวน 135 ราย หรือร้อยละ 3.1 ส่วนใหญ่เป็นการจ่ายค่ายาเพิ่มเติม ค่าตรวจพิเศษ เช่น ส่องกล้อง เอ็กซ์เรย์  CT Scan และ MRI เป็นต้น และค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น

นอกจากนี้จากการเปิดให้ผู้ตอบระบุเรื่องที่ยังไม่พึงพอใจต่อระบบบัตรทอง พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 1.34 ระบุว่าไม่สามารถใช้สิทธินอกเวลาได้ สิทธิประโยชน์ไม่ครอบคลุม, ร้อยละ 0.96 ไม่สามารถเลือกหน่วยบริการได้ และร้อยละ 0.48 ไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารเท่าที่ควร เช่น ข้อมูลสิทธิ/ หน้าที่ การย้ายสิทธิ์ เป็นต้น

ขณะที่ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จากผลสำรวจความคิดเห็นฯ ครั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้มีการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและกลยุทธ์เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบบัตรทอง อาทิ สร้างการรับรู้เพิ่มขึ้นต่อหน่วยงาน สปสช. สายด่วน 1330 และสิทธิประโยชน์บัตรทอง ขอความร่วมมือหน่วยงานเครือข่ายภาคีประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ทั่วถึง การประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการรับสื่อของประชาชนตามวัย การยกระดับความพึงพอใจในเรื่องที่ประชาชนพอใจต่ำกว่าเกณฑ์ และการส่งเสริมให้ประชาชนมั่นใจในการใช้สิทธิเมื่อมาใช้บริการ โดยปรับให้บัตรทองเป็นระบบรักษาพยาบาลแรกที่ประชาชนจะใช้เมื่อเจ็บป่วย และจัดการระบบส่งต่อให้เหมาะสม ไม่ให้เกิดความแออัดในสถานพยาบาลแห่งใดแห่งหนึ่งมากเกินไป โดย สปสช.จะนำข้อเสนอแนะเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาระบบบัตรทองต่อไป

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

พม่าจำคุก 7 ปี 2 นักข่าวรอยเตอร์เปิดโปงสังหารหมู่โรฮิงญา

Posted: 03 Sep 2018 05:06 AM PDT

ศาลพม่าจำคุก 2 นักข่าวรอยเตอร์ "วะลง" และ "จ่อซออู" รายละ 7 ปี จากข้อหา "ล้วงความลับทางราชการ" จากกรณีที่นักข่าวสองรายนี้รายงานข่าวเรื่องการสังหารหมู่โรฮิงญา โดยคำตัดสินของศาลสร้างความไม่พอใจให้หลายฝ่ายเพราะมองว่าเรื่องนี้เป็นการโจมตีเสรีภาพสื่อ ขณะที่นักข่าว 2 คนให้การในศาลว่าพวกเขาถูกตำรวจนัดรับซองเอกสารราชการที่พวกเขาไม่รู้ว่าในซองมีเนื้อหาอะไร เพื่อเป็นข้ออ้างจับกุมดำเนินคดีพวกเขาในข้อหาล้วงความลับทางราชการ

การรณรงค์เรียกร้องปล่อยตัววะลง และจ่อซออู (ที่มา: Free Wa Lone and Kyaw Saw Oo - Myanmar)

วะลง (ซ้าย) และจ่อซออู (ขวา) (แฟ้มภาพ)

เจ้าหน้าที่พม่าขุดศพ 10 ร่างขึ้นมาจากหลุมศพขนาดใหญ่ที่ค้นพบที่หมู่บ้านอินดิน ห่างจากเมืองซิตตะเหว่ เมืองหลวงรัฐยะไข่ไปทางเหนือ 50 กม. ภาพถ่ายเมื่อ 19 ธันวาคม 2560 ล่าสุดรายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนของรอยเตอร์ยืนยันว่าผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นพลเรือนที่ถูกเจ้าหน้าที่พม่าร่วมกับชาวบ้านยะไข่สังหาร (ที่มา: Office of the Commander-in-Chief)

สภาพของหมู่บ้านอินดิน ในรัฐยะไข่ เดิมเป็นหมู่บ้านที่มีประชากร 6,000 คน ในภาพเป็นภาพถ่ายจากดาวเทียมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 แสดงให้เห็นสภาพของชุมชนที่ถูกเผาทำลาย (กรอบสีแดง) โดยมีชุมชนเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ไม่ได้ถูกเผาทำลาย (กรอบสีเขียว) (ที่มา: วิกิพีเดีย)

เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2561 ศาลพม่าก็ตัดสินลงโทษจำคุกนักข่าวรอยเตอร์สัญชาติพม่า 2 คน วะลง (Wa Lone) อายุ 32 ปี และ จ่อซออู (Kyaw Soe Oo) อายุ 28 ปี โดยลงโทษจำคุกพวกเขา 7 ปี นักข่าวสองคนนี้ถูกควบคุมตัวในเรือนจำอินเส่ง กรุงย่างกุ้ง มาตั้งแต่ถูกจับกุมตัวเมื่อเดือน ธ.ค. 2560 จนถึงเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาพวกเขาถูกตั้งข้อหาละเมิดกฎหมายมาตรา 3 (1) ที่ระบุถึงกรณีความลับทางราชการ ซึ่งเป็นกฎหมายมีมาตั้งแต่ยุคอาณานิคมอังกฤษแล้ว

คดีนี้ทำให้เกิดเสียโต้ตอบด้วยความไม่พอใจจากประชาคมนานาชาติเพราะถือเป็นการที่ทางการพม่าพยายามปิดกั้นไม่ให้มีการรายงานข่าวกรณีกองกำลังความมั่นคงสังหารหมู่ชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาในรัฐยะไข่ กรณีการกวาดล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือน ส.ค. ปีที่แล้วส่งผลให้ชาวโรฮิงญา 700,000 ราย ต้องลี้ภัยไปที่บังกลาเทศ นอกจากนี้ยังมีอาชญากรรมจากน้ำมืฝ่ายกองกำลังความมั่นคงพม่าทั้งการข่มขืน การฆาตกรรม และการวางเพลิง

ในการพิจารณาคดีนักข่าว 2 คน ปฏิเสธข้อกล่าวหาโดยเปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่ทางการพม่าสร้างสถานการณ์เพื่อกล่าวหาเอาผิดพวกเขา นักข่าว 2 คน เล่าว่าพวกเขาถูกเชิญไปทานอาหารค่ำกับตำรวจ โดยที่ในขณะนั้นพวกเขากำลังหาข้อมูลทำข่าวเกี่ยวกับการสังหารชาวโรฮิงญา ในการนัดครั้งนั้นตำรวจก็ยื่นเอกสารให้พวกเขารับแล้วทำการจับกุมพวกเขาขณะที่พวกเขากำลังจะออกจากร้านอาหารโดยอ้างว่าพวกเขามีเอกสารลับทางราชการไว้ในครอบครอง

แต่ผู้พิพากษา เย ลวิน (Ye Lwin) ก็ไม่ได้รับรู้อะไรเกี่ยวกับคำให้การของนักข่าว 2 รายนี้เลย โดยในคำตัดสินอ้างว่านักข่าว 2 รายนี้ "มีเจตนาทำให้รัฐเสียผลประโยชน์" จึงตัดสินพวกเขาว่ามีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความลับทางราชการ

นักข่าวสองคนนี้เคยทำข่าวเหตุการณ์สังหารหมู่ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านอินดิน ขณะที่ฝ่ายกองทัพพม่าเผยแพร่เหตุการณ์ในแบบของตนเองระบุว่าชาวโรฮิงญาถูกสังหารขณะถูกควบคุมตัว แต่ก็นำเสนอในทำนองว่ามีการใช้กำลังรุนแรงจากทั้งฝ่ายกองทัพและชาวบ้านในพื้นที่

คำตัดสินในครั้งนี้ทำให้องค์กรแอมเนสตีออกแถลงการณ์โต้ตอบในเรื่องนี้โดยระบุว่ามันเป็นคำตัดสินที่ "มีแรงจูงใจทางการเมือง" และเป็นสัญญาณเตือนว่าควรมีการพิจารณาอย่างใกล้ชิดในเรื่องที่กองทัพพม่าจะจ้องเล่นงานสื่อ 

ฟ้อง 2 นักข่าวรอยเตอร์ 'เผยความลับราชการ' หลังรายงานข่าวสังหารหมู่โรฮิงญา, 12 ก.ค. 2018

สื่อรอยเตอร์เผยรายงานสืบสวน: กองกำลังพม่าสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาที่หมู่บ้านอินดิน, 9 ก.พ. 2018

ทิรานา ฮัสซัน ผู้อำนวยการฝ่ายรับมือวิกฤตการณ์ของแอมเนสตีระบุว่า "คำตัดสินในวันนี้เป็นการลงโทษผู้บริสุทธิ์ 2 คนให้ต้องจำคุกหลายปี วะลงและจ่อซออูต้องจำคุกเพียงเพราะพวกเขากล้าถามคำถามที่ชวนให้รู้สึกไม่สบายใจเกี่ยวกับความโหดร้ายของกองทัพในรัฐยะไข่" ฮัสซันเรียกร้องให้ "ควรจะมีการยกเลิกคำตัดสินในครั้งนี้ และปล่อบตัวทั้ง 2 คนอย่างไม่มีเงื่อนไขโดยทันที"

ฮัสซันระบุในแลถงการณือีกว่า "คำตัดสินในวันนี้ไม่สามารถปกปิดความจริงที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ได้ ต้องขอบคุณความกล้าหาญของนักข่าวอย่างวะลงและจ่อซออูที่ทำให้มีการเปิดโปงความโหดร้ายของกองทัพ แทนที่จะตั้งเป้าหมายกับนักข่าว 2 คนนี้ ทางการพม่าควรจะไปดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหาร, ข่มขืน, ทารุณกรรม และจุดไฟเผาหมู่บ้านของชาวโรฮิงญาหลายร้อยคน"

ก่อนหน้าการตัดสินลงโทษนักข่าว 2 คนนี้ มีนักกิจกรรมและนักข่าวรวมกันมากกว่า 100 คน เดินขบวนในกรุงย่างกุ้งเพื่อแสดงการสนับสนุนนักข่าว 2 คนนี้เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา

การตัดสินลงโทษนักข่าวสองคนนี้มีขึ้นในช่วงที่สหประชาชาติเพิ่งนำเสนอข้อมูลจากการลงพื้นที่ระบุว่าผู้นำทหารพม่าควรถูกดำเนินคดีข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในกรณีโรฮิงญา

เรียบเรียงจาก
2 Reuters Reporters Jailed For 7 Years In Landmark Myanmar Secrets Case,
NDTV, 03-09-2018

Myanmar: Guilty verdict against Reuters journalists sends stark warning on press freedom, Amnesty, 03-09-2018

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

แอมเนสตี้ฯ ร้องทางการไทยปล่อยตัวผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยชาวเวียดนามและกัมพูชา

Posted: 02 Sep 2018 11:24 PM PDT

แอมเนสตี้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงทางการไทย แสดงข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวและการปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยอย่างน้อย 168 คนจากกัมพูชาและเวียดนามในประเทศไทย และกระตุ้นทางการไทยให้ปล่อยตัวพวกเขาโดยทันทีระหว่างรอการตรวจสอบคำขอลี้ภัยจาก UNHCR

3 ก.ย.2561 สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อกระตุ้นให้ทางการไทยปล่อยตัวผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยชนกลุ่มน้อยชาวมองตานญาดโดยทันที ระหว่างรอการตรวจสอบคำขอลี้ภัย รวมทั้งไม่ควบคุมตัวเด็ก ยุติการบังคับแยกตัวเด็กจากพ่อแม่หรือผู้ดูแลไม่ว่าในเงื่อนไขใดที่เกี่ยวข้องกับการเข้าเมือง และเรียกร้องทางการไทยพัฒนาแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการคุ้มครองผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยในประเทศไทยต่อไป

มินาร์ พิมเพิล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการระดับโลก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกังวลใจเป็นอย่างยิ่งต่อการควบคุมตัวและการปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยอย่างน้อย 168 คนจากกัมพูชาและเวียดนาม รวมทั้งชาวเขามองตานญาด ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่หลบหนีจากการประหัตประหารทางการเมืองและศาสนามาจากกัมพูชาและเวียดนามเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ที่ผ่านมา

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีข้อมูลว่า ในบรรดาผู้ที่ถูกจับกุม ประกอบด้วยเด็กอย่างน้อย 63 คน ตั้งแต่อายุสามเดือนจนถึง 17 ปี รวมทั้งผู้หญิงตั้งครรภ์สองคน ผู้ถูกจับกุมและควบคุมตัวหลายคนให้ข้อมูลกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า พวกเขาได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) แล้ว และได้แสดงบัตรผู้ลี้ภัยให้กับเจ้าหน้าที่ไทย ส่วนคนอื่นๆ ถือบัตรผู้ขอลี้ภัย อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมอ้างว่าไม่มีบุคคลที่ได้รับสถานะจาก UNHCR แต่อย่างใด

"แม้ว่านายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชาให้คำมั่นสัญญาที่จะจัดทำกลไกคัดกรองระดับชาติ สำหรับผู้ยื่นเรื่องขอที่ลี้ภัยในประเทศไทย ในระหว่างการปราศรัยในที่ประชุมสุดยอดผู้นำว่าด้วยผู้ลี้ภัยเมื่อเดือนกันยายน 2559 และต่อมามีมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องเดียวกันเมื่อเดือนมกราคม 2560 แต่รัฐบาลไทยยังไม่สามารถปฏิบัติให้เห็นผลจริงจังตามคำสัญญาดังกล่าว"

ดังนั้นแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงขอกระตุ้นและเรียกร้องทางการไทยดังนี้

·จนกว่ารัฐบาลไทยจะจัดทำกระบวนการตรวจสอบการขอที่ลี้ภัยที่เป็นธรรมและรวดเร็ว ขอให้รัฐบาลไทยสนับสนุนบทบาทและอำนาจหน้าที่ของ UNHCR ในการจำแนกสถานะผู้ลี้ภัยของบุคคลทุกคนที่ยื่นเรื่องขอที่ลี้ภัย ไม่ว่าจะมีสัญชาติหรือเป็นชนเผ่าใด และประกันว่าผู้แสวงหาที่ลี้ภัยทุกคนเข้าถึงกระบวนการขอที่ลี้ภัยอย่างเต็มที่ เป็นธรรม และอย่างมีประสิทธิภาพ

·ประกันว่า จะใช้มาตรการควบคุมตัวผู้แสวงหาที่ลี้ภัยเป็นมาตรการสุดท้ายและเฉพาะเท่าที่จำเป็นอย่างยิ่ง ภายหลังการประเมินเป็นรายกรณีเพื่อให้ทราบถึงความต้องการด้านมนุษยธรรมและความเสี่ยงกรณีที่ได้รับการปล่อยตัว และให้ควบคุมตัวเป็นระยะเวลาสั้นสุดเท่าที่จำเป็น

·จัดทำทางเลือกอื่นนอกจากการควบคุมตัวสำหรับผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัย  โดยอาจกำหนดเงื่อนไขให้ต้องมารายงานตัว ให้มีการยื่นเรื่องขอประกันตัว หรือให้มีผู้อุปถัมภ์

·ประกันว่าจะไม่มีการควบคุมตัวเด็กเพียงเพื่อเพราะเหตุผลด้านการเข้าเมือง เนื่องจากการควบคุมตัวเช่นนี้ย่อมไม่อาจตอบสนองประโยชน์สูงสุดของเด็ก ยุติการบังคับแยกตัวเด็กจากพ่อแม่หรือผู้ดูแล ไม่ว่าในเงื่อนไขใดที่เกี่ยวข้องกับการเข้าเมือง

·ไม่ส่งกลับบุคคลไปยังประเทศที่มีความเสี่ยงว่าจะถูกประหัตประหาร ถูกทรมาน ถูกกระทำด้วยความรุนแรง หรืออาจถูกละเมิดหรือปฏิบัติมิชอบด้านร้ายแรงด้านสิทธิมนุษยชน

·ให้ภาคยานุวัติกับอนุสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2494 และพิธีสารเลือกรับ พ.ศ. 2510 และประกันว่า มีการอนุวัติตามอนุสัญญานี้ทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติ รวมทั้งการจัดทำกลไกคัดกรองระดับชาติสำหรับผู้แสวงหาที่ลี้ภัย

ข้อมูลพื้นฐาน

ชาวมองตานญาดเป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มที่นับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งอาศัยอยู่ในที่ราบสูงตอนกลางของเวียดนามและกัมพูชา ถือได้ว่าพวกเขาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกคุกคามมากสุดในเวียดนาม ต้องเผชิญกับการปราบปรามอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ เนื่องจากความเชื่อทางศาสนาและการเมืองของตน การอพยพโยกย้ายและสูญเสียทรัพย์สินอันเป็นผลมาจากข้อพิพาทด้านที่ดินและการแย่งชิงที่ดิน ส่งผลให้พวกเขาจำนวนมากไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากหลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ในกัมพูชา รัฐบาลเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่าชาวจราย ซึ่งถือว่าเป็นชนเผ่ามองตานญาดกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในกัมพูชา และถือเป็น "ชนกลุ่มน้อยของเวียดนาม" ชาวเขามองตานญาดจากเวียดนามกว่าร้อยคนได้แสวงหาที่ลี้ภัยในกัมพูชา และถูกผลักดันส่งกลับไปยังเวียดนาม หากถูกส่งกลับไปเวียดนาม มีความเสี่ยงอย่างยิ่งว่าพวกเขาจะถูกประหัตประหารและถูกจำคุกโดยไม่มีเวลากำหนด

แม้ว่ารัฐบาลไทยไม่ได้ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย พ.ศ.2494 แต่ก็ยังมีพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ ที่จะต้องปฏิบัติตามหลักการไม่ส่งกลับ โดยประกันว่าจะไม่มีการผลักดันบุคคลกลับไปยังประเทศ ซึ่งมีความเสี่ยงที่พวกเขาจะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ทั้งยังมีข้อห้ามต่อการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรีในรูปแบบอื่น

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

รอบโลกแรงงาน สิงหาคม 2018

Posted: 02 Sep 2018 10:39 PM PDT

พนักงานดูแลหอไอเฟลหยุดงานประท้วง

เมื่อต้นเดือน ส.ค. 2018 หอไอเฟล (Eiffel Tower) เปิดทำการอีกครั้งหลังพนักงานได้หยุดงานประท้วง 2 วัน เพื่อเรียกร้องเกี่ยวกับนโยบายใหม่ในการจัดระเบียบการเข้าชม ที่ทำให้นักท่องเที่ยวต้องเข้าคิวรอเป็นเวลานาน ทั้งนี้เมื่อปี 2017 มีผู้เข้าชมหอไอเฟลมากกว่า 6 ล้านคน

ที่มา: euronews.com, 2/8/2018

ญี่ปุ่นออกนโยบาย 'Shining Monday' พนักงานสามารถทำงานสายในวันจันทร์ได้

รัฐบาลญี่ปุ่นได้ผลักดันนโยบายใหม่มีชื่อว่า 'Shining Monday' โดยขอความร่วมมือจากองค์กรต่างๆ ให้ยินยอมให้พนักงานลาช่วงครึ่งเช้าวันจันทร์ที่ต่อเนื่องจากวันศุกร์สุดท้ายของเดือนได้ เพื่อปรับสมดุลการทำงาน ให้ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ และกระตุ้นการใช้จ่ายด้วย ทั้งนี้นโยบายนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายถ้าบริษัทไหนไม่ปฏิบัติตามก็อาจถูกลงโทษได้

ที่มา: The Guardian, 3/8/2018

จีนแผ่นดินใหญ่ยกเลิกใบอนุญาตทำงานชาวจีนจากไต้หวัน ฮ่องกง และมาเก๊า

ชาวไต้หวัน ฮ่องกง และมาเก๊าที่ได้รับการว่าจ้างจากบริษัทในจีนแผ่นดินใหญ่จะไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงานอีกต่อไปเพราะพวกเขาจะได้รับการปฏิบัติเหมือนกันกับชาวจีนในท้องถิ่น นี่เป็นหนึ่งใน 11 รายการที่ได้รับอนุมัติเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยคณะรัฐมนตรีจีน ก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการในแผ่นดินใหญ่ต้องยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่ระดับเมืองเพื่อขออนุมัติจ้างพนักงานจากที่อาศัยในไต้หวัน เขตบริหารพิเศษของฮ่องกงและมาเก๊า ซึ่งการยื่นขออนุมัตินี้เป็นสิ่งจำเป็นที่ทำกันมานานกว่าสองทศวรรษ

เดิมทีการรับคนที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคทั้งสามแห่งข้างต้นบริษัทจำเป็นต้องส่งเอกสารหลายฉบับ เช่นใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ใบรับรองสุขภาพของพนักงาน และเอกสารการเดินทางที่ถูกต้อง นอกจากนี้ใบอนุญาตทำงานนี้ต้องได้รับการต่ออายุทุก 2 ปี และหากมีการเปลี่ยนนายจ้างก็จะต้องยื่นขอใหม่

กระทรวงทรัพยากรบุคคลและประกันสังคมจีน (Ministry of Human Resources and Social Security) ได้รับคำสั่งให้สร้างความเข้มแข็งด้านการกำกับดูแลการปฏิบัติตามกฎระเบียบและกำหนดหลักเกณฑ์ของประกันสังคม บริการด้านการจ้างงาน การจดทะเบียนการว่างงาน และการคุ้มครองสิทธิแรงงานสำหรับพนักงานกลุ่มนี้

Lo Wenyueh บรรณาธิการหญิงวัย 34 ปีของสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่งกล่าวว่า นโยบายใหม่นี้จะทำให้ชีวิตของเธอง่ายมากขึ้น เธอได้รับการว่าจ้างในเดือนกันยายนปี 2016 แต่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตทำงานจนกว่าจะถึงช่วงครึ่งหลังของปี 2017 ทำให้เธอไม่ได้รับสิทธิประโยชน์บางอย่างที่เพื่อนร่วมงานคนอื่นได้รับ รวมถึงประกันสุขภาพด้วย

Lo ซึ่งเป็นชาวจีนจากไต้หวัน เริ่มเข้ามาทำงานในกรุงปักกิ่งหลังจากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชื่อดังเมื่อหลายปีก่อน ส่วนน้องชายของเธอทำงานในมณฑลเจียงซู "ชีวิตของน้องชายฉันก็จะง่ายขึ้นด้วย" เธอเสริม

Wang Huiyao ประธานศูนย์จีนกับโลกาภิวัตน์ (Center for China and Globalization) กล่าวว่า การยกเลิกขั้นตอนนี้สร้างผลประโยชน์ให้กับชาวจีนจากไต้หวันฮ่องกงและมาเก๊าในการพัฒนาแผ่นดินใหญ่ เขากล่าวว่าการดำเนินการนี้จะสามารถดึงผู้คนที่มีพรสวรรค์จำนวนมากให้เข้ามาในแผ่นดินใหญ่และช่วยขยายธุรกิจในต่างประเทศได้

นอกจากนี้ก็ยังช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในสามภูมิภาคผ่านการแลกเปลี่ยนบุคลากรได้ด้วย โดยเฉพาะสำหรับฮ่องกงและมาเก๊า นโยบายใหม่นี้จะช่วยให้เกิดการรวมตัวกันภายใต้ยุทธศาสตร์กว่างตง- ฮ่องกง-มาเก๊า ได้ดียิ่งขึ้น

ที่มา: Xinhua, 6/8/2018

พิษสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ทำให้คนงานถูกเลิกจ้างในรัฐเซาธ์แคโรไลนา

บริษัท Element TV Company จะปลดคนงาน 126 คนออกจากตำแหน่ง ส่วนมากจะถูกเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค. 2018 นี้ โดยจะเหลือพนักงานอยู่เพียง 8 ราย บริษัทเขียนในจดหมายต่อหน่วยงานภายในมลรัฐว่า การปลดคนงานและการปิดการผลิต เป็นผลของมาตรการภาษีใหม่ ซึ่งใช้กับสินค้านำเข้าจากจีนจำนวนมาก อย่างไม่ได้คาดคิดมาก่อน

ในเดือน ก.ค. 2018 รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ เก็บภาษี ร้อยละ 25 ต่อสินค้าจีนซึ่งรวมถึง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการผลิตโทรทัศน์ รัฐเซาธ์แคโรไลนา ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรครีพับลิกัน ยังมีโรงงานรถยนต์ค่ายใหญ่ๆ ตั้งอยู่ด้วย

บริษัท Volvo ซึ่งมีโรงงานอยู่ในรัฐดังกล่าวระบุว่า มาตรการภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ อาจทำให้ บริษัทไม่สามารถจ้างคนงานได้ตามเป้า 4,000 คนภายใน 3 ปีจากนี้ และ BMW เคยเตือนรัฐบาลทรัมป์เเล้วว่ามาตรการภาษีอาจทำให้คนงานของโรงงานรถยนต์ BMW ในรัฐนี้ ได้รับความเสี่ยงเรื่องการจ้างงาน

ที่มา: VOA, 8/8/2018

นักบิน Ryanair หยุดงานประท้วง ยกเลิก 400 เที่ยวบินในยุโรป

สหภาพแรงงานนักบินกับผู้บริหารสายการบิน Ryanair สายการบินต้นทุนประหยัดสัญชาติไอร์แลนด์ ไม่สามารถตกลงเรื่องค่าจ้างและสวัสดิการกันได้ ทำให้สหภาพแรงงานต้องหยุดงานประท้วง โดยสายการบินได้ยกเลิกเที่ยวบินราว 400 เที่ยว ในเยอรมนี ไอร์แลนด์ เบลเยียมและสวีเดน

ที่มา: The Independent, 10/8/2018

ลูกจ้างสุขภาพแย่-ครอบครัวเครียด หากถูกกดดันให้คอยเช็กอีเมลหลังเลิกงาน

ชีวิตคนทำงานในยุคที่สามารถสื่อสารกันผ่านอินเทอร์เน็ตได้อย่างสะดวกทุกที่ทุกเวลานั้น กำลังทำให้หลายคนสูญเสียสมดุลระหว่างเวลาทำงานและเวลาส่วนตัวที่ใช้กับครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีแรงกดดันจากเจ้านายให้ต้องคอยเช็กและตอบอีเมลอยู่ตลอดเวลา แม้จะไม่ใช่เวลางานก็ตาม

ผลวิจัยล่าสุดของสถาบันโพลีเทคนิคและมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเวอร์จิเนีย (Virginia Tech) ในสหรัฐฯ ชี้ว่าสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของลูกจ้าง รวมทั้งสมาชิกในครอบครัวของพวกเขามากกว่าที่คาดกันไว้

ศ. วิลเลียม เบ็กเกอร์ ผู้นำทีมวิจัยนี้ได้นำเสนอผลการศึกษาข้างต้นในที่ประชุมประจำปีสถาบันวิชาการบริหารศาสตร์ (Academy of Management) ที่นครชิคาโกของสหรัฐฯ

"ลูกจ้างส่วนใหญ่ไม่ค่อยตระหนักว่าการที่ต้องคอยตอบข้อความสื่อสารกับที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ส่งผลเสียต่อตนเองและคนรอบข้าง รวมทั้งสร้างปัญหาให้ชีวิตคู่อย่างร้ายแรง" ศ. เบ็กเกอร์ กล่าว

มีการออกแบบสอบถามให้กลุ่มพนักงานประจำอายุ 31-40 ปี จากหลากหลายสาขาอาชีพ ซึ่งต้องคอยตอบอีเมลจากที่ทำงานหลังกลับบ้านไปแล้วอยู่เสมอ ได้ประเมินเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายและจิตใจของตนเอง รวมทั้งมีการออกแบบสอบถามให้กับบรรดาคู่ชีวิตของพวกเขาด้วย

ผลปรากฏว่าคนกลุ่มนี้ไม่คิดว่าพฤติกรรมการทำงานที่รุกล้ำเข้ามาในชีวิตส่วนตัวของตนเองนั้นเป็นปัญหามากนัก ตรงข้ามกับคู่ครองของพวกเขาส่วนใหญ่ที่บอกว่าการคอยเช็กอีเมลเรื่องงานของสามีหรือภรรยานั้น ทำให้ตนเองใกล้หมดความอดทนเต็มทีแล้ว

ผลสำรวจยังชี้ว่า กลุ่มพนักงานที่คอยตอบอีเมลนอกเวลางานมากครั้งที่สุด ส่วนใหญ่ระบุว่าตนเองป่วยบ่อยและมีความวิตกกังวลเพิ่มสูงขึ้นกว่าในอดีตมาก ส่วนคู่ครองของพวกเขาก็มีระดับความเครียดพุ่งสูงขึ้นไม่แพ้กัน

"หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป สถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายลงจนลูกจ้างเกิดความเหนื่อยหน่ายหมดไฟในการทำงาน ทำให้ถึงขั้นต้องลาออกหรือชีวิตครอบครัวล่มสลายได้ เพราะคู่ครองต่างไม่มีเวลาให้กัน ซึ่งแสดงถึงการไม่เห็นความสำคัญของอีกฝ่ายนั่นเอง" ศ. เบ็กเกอร์กล่าว

ทีมผู้วิจัยแนะนำให้องค์กรและบริษัทต่าง ๆ จัดการกับปัญหานี้ โดยกำหนดเวลาเส้นตายให้เลิกส่งข้อความทางอีเมลหรือไลน์หลังเวลางานให้ชัดเจน เช่นอาจเป็นที่ 19.00 น. หรือให้พนักงานสลับกันอยู่เวรเพื่อคอยตอบข้อความดังกล่าว หากผู้บริหารมีความจำเป็นต้องส่งอีเมลถึงลูกน้องในเวลาดึกดื่น ควรชี้แจงย้ำไปด้วยว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องรีบร้อนตอบข้อความในทันทีก็ได้ เพื่อผ่อนคลายแรงกดดันในการทำงานลง

ที่มา: BBC Thai, 11/8/2018

ผู้เชี่ยวชาญเตือนถึงผลร้ายจาก 'สงครามการค้า' ต่อธุรกิจขนาดเล็กและเกษตรกรอเมริกัน

หลังจากที่มีข่าวว่าบริษัท Element TV Company ในรัฐดังกล่าว จะปลดคนงาน 126 คนออกจากตำแหน่ง ส่วนมากจะถูกเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค. 2018 นี้ โดยจะเหลือพนักงานอยู่เพียง 8 ราย โดย Element TV Company เป็นหนึ่งในธุรกิจอเมริกัน ที่ได้รับผลกระทบ จากการที่รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ เก็บภาษี ร้อยละ 25 ต่อสินค้าจีนซึ่งรวมถึง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการผลิตโทรทัศน์ เมื่อเดือนกรกฎาคม

ศาตราจารย์เกียรติคุณ รอย วีห์เริล (Roy Wehrle) แห่งมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ วิทยาเขตสปริงฟิลด์ กล่าวว่าปัจจุบันธุรกิจต่างๆอาศัยชิ้นส่วนสินค้าจากประเทศผู้ผลิตอื่น และรูปแบบความสัมพันธ์นี้ช่วยอธิบายความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจที่อ่อนไหวต่อผลกระทบด้านลบหากเกิดสงครามการค้า ในภาคเกษตร รัฐบาลสหรัฐฯอนุมัติเงินช่วยเหลือเกษตรกรมูลค่า 12,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อบรรเทาผลกระทบ จากการที่จีนตอบโต้การขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ด้วยมาตรการเดียวกันกับสินค้ามูลค่ารวม 34,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงถั่วเหลือง

อย่างไรก็ตาม อาจารย์ จอห์น แอล โรเจอร์ (John L. Roger) แห่งคณะบริหารธุรกิจ Kellogg School of Management ที่มหาวิทยาลัย Northwestern University กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดกับเกษตรกรอเมริกันน่าจะรุนแรงขึ้น หากว่าจีนมองหาตลาดใหม่สำหรับถั่วเหลืองแทนอเมริกา เช่น จากผู้ขายในบราซิลและอาร์เจนติน่าแทน อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาตัวเลขภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่แสดงถึงปัจจัยลบจากสงครามการค้ามากนัก โดยอัตราคนว่างงานล่าสุดยังตำ่กว่าร้อยละ 4 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 20 ปี

ที่มา: VOA, 15/8/2018

ญี่ปุ่นอนุมัติเพิ่มตำแหน่งงานดูแลผู้สูงอายุให้ 'ฟิลิปปินส์-เวียดนาม-อินโดนีเซีย'

รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนการรับคนจาก 3 ชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม เข้าทำงานตำแหน่งเจ้าหน้าที่ดูแลผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีแบบทวิภาคีกับโตเกียวที่สนับสนุนให้มีแรงงานระยะสั้นทำงานในประเทศ โดยกำหนดให้ประเทศละไม่เกิน 300 คนต่อปี แยกออกจากแรงงานต่างชาติที่มีทักษะทางภาษาสูง ซึ่งรัฐบาลจะอนุญาตให้ทำงานในเดือน เม.ย. 2019

ที่มา: Manila Newsroom, 19/8/2018

บริษัทรับเหมาขนส่งสินค้าให้ IKEA แพ้คดีในศาลเนเธอร์แลนด์

บริษัท Brinkman Trans Holland ซึ่งเป็นผู้รับรับเหมาขนส่งสินค้าให้แก่บริษัท IKEA ในเขตยุโรปตะวันออก และบริษัทรับเหมานี้มักจะจ้างคนขับรถด้วยสัญญาจ้างของยุโรปตะวันออก แต่ขับรถในเขตยุโรปตะวันตก บริษัทหลีกเลี่ยงที่จะปฏิบัติตามสิทธิแรงงาน การจ่ายภาษี และเงินสมทบประกันสังคมตามข้อตกลงเจรจาต่อรองร่วม จึงถูกศาลตัดสินปรับ 1 แสนยูโร

ที่มา: International Transport Workers' Federation, 21/8/2018

รัฐบาลญี่ปุ่นขอโทษเรื่องแจ้งตัวเลขคนพิการที่รับเข้าทำงานสูงกว่าความเป็นจริง

รัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่าเจ้าหน้าที่หลายพันคนในหน่วยงานราชการ 27 แห่ง ของญี่ปุ่นถูกคำนวณผิดว่าเป็นผู้ทุพพลภาพ โดยรัฐบาลขอโทษกับสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นนี้ โดยปีงบประมาณ 2017 รัฐบาลได้กำหนดโควต้าคนทำงานที่เป็นผู้พิการไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2.3 สำหรับภาครัฐ และร้อยละ 2.0 สำหรับภาคเอกชน แต่เมื่อแก้ไขตัวเลขเจ้าหน้าที่รัฐบาลทุพพลภาพตามความเป็นจริงแล้ว สัดส่วนจะลดลงจากร้อยละ 2.49 เหลือเพียง 1.19 เท่านั้น ทั้งนี้สมาคมผู้ทุพพลภาพญี่ปุ่น (Japan Council on Disability) ออกแถลงการณ์ระบุว่าเรื่องนี้สะท้อนให้ว่าจริงๆ แล้วรัฐบาลไม่ต้องการจ้างงานผู้พิการ ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติ

ที่มา: Global Times, 28/8/2018

ลางานพักผ่อนช่วยยืดอายุให้ชีวิตยืนยาวขึ้น

คณะนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิของฟินแลนด์ เผยผลการศึกษาล่าสุดที่พบว่า การลาพักร้อนหรือได้หยุดงานพักผ่อนเป็นเวลานานเพียงพอ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนเรามีอายุยืนยาวมากขึ้น ทั้งทำให้ความเสี่ยงเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจก่อนวัยอันควรลดลง

มีการตีพิมพ์ผลวิจัยดังกล่าวในวารสารโภชนาการ สุขภาพ และความชรา (Journal of Nutrition Health & Aging) โดยทีมผู้วิจัยระบุว่าได้วิเคราะห์ข้อมูลจากงานวิจัยเก่า ซึ่งศึกษาเรื่องความดันโลหิตกับอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มชายนักธุรกิจวัยกลางคนจำนวน 1,222 คน โดยงานวิจัยนี้จัดทำขึ้นเมื่อปี 1974 และมีการติดตามผลภายหลังเป็นระยะในช่วง 5 ปี 15 ปี และ 40 ปี หลังจากนั้นด้วย

กลุ่มทดลองที่เป็นนักธุรกิจระดับผู้บริหารเหล่านี้ แต่ละคนล้วนทำงานหนักและมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอย่างน้อยคนละ 1 ข้อ

พวกเขาถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งได้รับอนุญาตให้ใช้ชีวิตไปตามปกติอย่างที่เคยเป็นมา ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งจะได้รับคำแนะนำให้กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และควบคุมน้ำหนักให้อยู่เกณฑ์ของผู้ที่มีสุขภาพดี

หากทำตามคำแนะนำไปแล้วระยะหนึ่ง แต่อัตราเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจยังคงไม่ลดลง ทีมวิจัยก็จะให้ยาควบคุมความดันโลหิตแก่คนกลุ่มนี้ด้วย

การทดลองข้างต้นดำเนินไปเป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งเมื่อสิ้นสุดโครงการดังกล่าวทีมนักวิจัยพบว่า อัตราความเสี่ยงเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจในกลุ่มที่ได้รับคำแนะนำให้รักษาสุขภาพนั้น ลดลงมากกว่าของกลุ่มที่ไม่ได้รับคำแนะนำอย่างเห็นได้ชัด

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการติดตามผลในระยะยาวอีก 2 ครั้ง พบว่าข้อมูลที่เก็บได้ในช่วง 15 ปีหลังเริ่มทำการทดลองชี้ว่า กลุ่มที่ระวังรักษาสุขภาพตามคำแนะนำกลับมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่า ส่วนการติดตามผลในช่วง 40 ปีหลังเริ่มทำการทดลองพบว่า อัตราการเสียชีวิตของทั้งสองกลุ่มกลับมาใกล้เคียงกันอีกครั้ง

ความผิดปกติดังกล่าวทำให้มีการวิเคราะห์ทบทวนข้อมูลการทดลองว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ซึ่งทีมนักวิจัยพบว่ากลุ่มคนที่เสียชีวิตนั้นส่วนใหญ่มีจำนวนวันที่หยุดพักผ่อนต่อปีน้อยกว่า

"คนที่ไม่ค่อยหยุดงานมักจะทำงานหนักและนอนน้อยกว่า เมื่อเทียบกับคนที่ลาหยุดพักผ่อนนานวันกว่า" ดร. ทิโม สแตรนด์เบิร์ก ผู้นำทีมวิจัยกล่าว "การใช้ชีวิตแบบที่เหน็ดเหนื่อยเคร่งเครียด อาจทำให้ผลดีของการรักษาสุขภาพตามคำแนะนำหายไปจนหมด"

ผลวิเคราะห์ยังพบว่า คนที่ลาหยุดพักผ่อนเพียง 3 สัปดาห์ต่อปีหรือน้อยกว่า มีความเสี่ยงชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจสูงกว่าคนที่ได้พักร้อนปีละ 3 สัปดาห์ขึ้นไปถึง 37%

"ไม่มีสิ่งใดจะมาทดแทนการพักผ่อนคลายเครียดอย่างเต็มที่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย หรืองดบุหรี่และแอลกอฮอล์" ดร.สแตรนด์เบิร์ก กล่าว

"ตราบใดที่คุณยังทำงานหนักโดยไม่หยุดพัก การพยายามปฏิบัติตัวตามคำแนะนำให้มีสุขภาพดีนั้นไม่มีประโยชน์อะไร แต่กลับจะยิ่งเพิ่มความเครียดในชีวิตประจำวันให้สาหัสขึ้นด้วยซ้ำ"

ที่มา: BBC Thai, 31/8/2018

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

รักทหารไหมพี่น้อง! ท่าทีที่(ดูเหมือน)เปลี่ยนไปของทหาร หลัง คสช.เตรียมเดินหน้าสู้ศึกเลือกตั้ง

Posted: 02 Sep 2018 06:45 PM PDT

ทบทวนปีแห่งสิทธิมนุษยชน เมื่อการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนยังเป็นเพียงแค่เปลือกนอก สำรวจท่าทีทหารที่มีต่อชุมชน หลังรัฐบาลเผด็จการประกาศเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง พบทหารลงพื้นที่ขอชาวบ้านเชียร์ประยุทธ์ 'อดีต ส.ส. เพื่อไทย' แฉ  จนท.รัฐ-ทหารร่วมกับ 'สามมิตร' แจกของให้ชาวบ้าน ขณะที่ยังเหยียบเบรกห้ามพรรคอื่นๆ หาเสียง

แม้ว่ารัฐบาลเผด็จการ คสช. จะกำหนดให้ 'สิทธิมนุษยชน' เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ 21 พ.ย. 2560  โดย พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ในช่วงที่ผ่านมาประชาชนเข้าใจผิดว่ารัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มักมีแนวทางการดำเนินงานต่างๆ ที่ไม่ลงรอยกับคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน กระทรวงยุติธรรมจึงได้เสนอให้ประกาศใช้ วาระแห่งชาติ เรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เพื่อที่จะสร้างกลไกในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิ ปรับปรุงฐานข้อมูล กฎหมาย และทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐให้เหมาะ และลดสถิติการเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

แต่ดูเหมือนว่าการลงหลักปักฐานเรื่องสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย กำลังเดินไปอย่างเชื่องช้า และไม่แน่ใจนักว่าคำประกาศที่จะลดสถิติการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นไปได้จริงมาน้อยเพียงใด

ชูสิทธิมนุษยชนแค่เปลือก เนื้อในยังเป็นเผด็จการ

ในด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หากนับเฉพาะปี 2561 เป็นต้นมากลับพบว่า คสช. ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ชุมนุมกลุ่มคนอย่างเลือกตั้งที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเดินหน้าสู่การเลือกตั้งภายในปี 2561 ทั้งสิ้น 6 คดีในช่วงครึ่งปีแรก มีผู้ถูกตกดำเนินคดี 214 รายชื่อ(บางรายถูกแจ้งความมากกว่า 1 คดี) ทั้งที่ข้อเรียกร้องของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งนั้นเป็นการดำเนินการตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรัฐประหาร/คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ว่า จะมีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นในเดือน พ.ย. 2561

'กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง' รอบล่าสุด โดนมาแล้วกี่คดี ใครโดนแล้วโดนอีก โดนอีกและโดนอีก

สถิติคุกคามประชาชนยุค คสช. นับพัน ศูนย์ทนายความฯ ชี้ต้องจัดการกฎหมายที่ออกโดย คสช.

หากนับตั้งแต่รัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา ข้อมูลที่รวบรวมโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) พบว่า มีประชาชนที่ถูกเรียกรายงานตัวและปรับทัศนคติ มีผู้ที่ถูกข่มขู่ คุกคามและติดตาม อย่างน้อย 1,138 คน กิจกรรมสาธารณะถูก คสช. หรือเจ้าหน้าที่ทหารปิดกั้นและแทรกแซง อย่างน้อย 264 กิจกรรม มีกลุ่มองค์กรชาวบ้าน/ชุมชน หรือประชาสังคม ที่ถูกปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม แล้วอย่างน้อย 66 กลุ่ม

นอกจากนี้ยังมีบุคคลที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป อย่างน้อย 378 คน ถูกดำเนินคดีด้วย พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 214 คน และถูกดำเนินคดียุยงปลุกปั่นหรือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 อย่างน้อย 92 คน

ไม่เพียงผู้เห็นต่างการเมืองที่ถูกทหารคุกคาม ชาวบ้านร้องปมที่ทำกิน ปัญหาลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ-เอกชนก็โดนด้วย

แม้เมื่อ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในฐานประธานเปิดงานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) การเสริมสร้างเครือข่ายเพื่อสร้างธรรมาภิบาลในหน่วยงานภาครัฐ 4 หน่วยงาน ถึงการปฏิรูประบบราชการว่า "...จะเห็นว่าไม่มีประชาชนออกมาชุมนุม ปิดทำเนียบรัฐบาลเหมือนอดีตที่ผ่านมา ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่ารัฐบาลไปปิดกั้นการแสดงออก แต่ว่าทุกจังหวัดล้วนมีศูนย์ดำรงธรรม ที่ประชาชนสามารถไปร้องเรียนได้ เมื่อร้องเรียนแล้วก็ให้การช่วยเหลือ..." (ดู มติชนออนไลน์)

แต่ปรากฎการณ์ที่เห็นตลอด 4 ปีกว่าที่ผ่านมา เหมือนไม่ใช่เพราะมีกลไกอย่างศูนย์ดำรงธรรมที่วิษณุให้เครดิต แต่เป็นเพราะการคุกคามมากกว่า และไม่ได้มีเพียงกลุ่มคนที่เห็นต่างทางการเมืองกับ คสช. เท่านั้นที่ถูกดำเนินคดี หากแต่ยังไม่การเข้าไปคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนในกลุ่มอื่นๆ ด้วย เช่น การเดินหน้านโยบายทวงคืนผืนป่า ซึ่งในหลายพื้นที่มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปปักป้ายให้ประชาชนที่มีพื้นที่ทำกินทับซ้อนกับพื้นที่ป่า ขนของออกจากพื้นที่ภายใน 7 วัน แม้จะมีกระบวนการเจรจากับรัฐบาลชุดก่อนมาแล้วก็ตาม หรือในบางพื้นที่กำลังอยู่ในช่วงของการส่งมอบพื้นที่ตามนโยบายโฉนดชุมชนก็ไม่วายที่จะถูกกดดันให้ออกจากพื้นที่ วุ่นวายกันจนต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อร้องเรียนต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่ทหารทบทวนการกระทำดังกล่าว

พูดได้ว่าภาคประชาสังคม หรือกลุ่มชาวบ้านที่รวมตัวต่อสู้ ต่อรอง เรียกร้องความเป็นธรรมกับรัฐ ทั้งในประเด็นเรื่องที่ดินที่ทำกิน หรือประเด็นผลกระทบจากโครงการพัฒนา โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐและเอกชน ต่างก็เป็นผู้ถูกกระทำทางตรงภายหลังจากมีการรัฐประหารเกิดขึ้น จากเดิมที่ขาดพื้นที่ของการมีส่วนร่วมอยู่แล้ว แต่หลังจากรัฐประหารพื้นที่ในการรวมตัวเพื่อเรียกร้องการการมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของตัวเองก็ถูกตัดทอนลงไปด้วย

พื้นที่ภาคอีสานดูจะเป็นพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากการ ใช้อำนาจเข้าจัดการของเจ้าหน้าที่ทหาร ในช่วงปีแรกของการรัฐประหารมีไม่น้อยกว่า 10 พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เช่น  ปัญหาการไล่รื้อชุมชนใน สวนป่าโนนดินแดง บ้านเก้าบาตร จ.บุรีรัมย์  ปัญหาเหมืองทอง จ.เลย ปัญหาการขุดเจาะปิโตรเลียม หลุ่มเจาะดงมูล-บี จ.กาฬสินธุ์ และ จ.ขอนแก่น การหยุดขบวนเดินเพื่อสายน้ำ เครือข่ายแม่น้ำชี จ.ร้อยเอ็ด  ปัญหากรณีเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ปัญหาไร่ลื้อชุมชนบ่อแก้วและชุมชนโคกยาว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ปัญหากรณีโครงการเขื่อนโป่งขุนเพชร ภายใต้การประกาศใช้กฏอัยการศึก ปัญหากรณีโครงการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เป็นต้น

เปิดตัว 'อีสานใหม่' อีสานที่จะไม่สยบยอม

แถลงผลกระทบ 3 ปี (หลังรัฐประหาร) ของประชาชนเหนือจรดใต้

ท่าทีทหารเปลี่ยนเมื่อการเมืองเข้าสู่โหมดเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง

ปัญหาที่ชาวบ้านเผชิญหน้าอยู๋ในช่วง 4 ปีนี้เวียนวนซ้ำไปซ้ำมาไม่รู้จบ แต่ดูเหมือนท่าทีของทหารที่เคยมีต่อชาวบ้านในพื้นที่ภาคอีสาน และพื้นที่ต่างๆ จะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป แม้จะยังคงมีการสกัดกั้นการแสดงออกของชาวบ้านในพื้นที่ แต่ก็พบว่าปริมาณคำหวานที่หัวหน้าคณะรัฐประหารโปรยหว่านให้กับชาวบ้านระหว่างลงพื้นที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) เป็นสิ่งที่เพิ่มปริมาณมากขึ้นไปด้วย

นับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2560 จนถึงปัจจุบัน รัฐบาล คสช. ได้ออกไปประชุม ครม.สัญจรแล้ว ทั้งสิ้น 10 ครั้ง ซึ่งในแต่ละครั้งผู้นำเผด็จการก็ไม่พลาดที่จะสื่อสารทางการเมืองโดยตรงกับชาวบ้าน ประชาชน และสื่อมวลชนที่ติดตามไปรายงานข่าว

แต่สิ่งที่น่าสนใจคำพูดของพล.อ.ประยุทธ์ คือท่าทีของทหารระดับปฏิบัติการในพื้นที่ จากกรณีที่มีการจัดเวทีประชุมร่วมระหว่างรัฐกับชาวบ้านในจังหวัดร้อยเอ็ดซึ่งได้รับผลกระทบจากการสร้างฝายร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2561 ซึ่งจัดขึ้นที่ในพื้นที่โครงการฝายร้อยเอ็ด การประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากชาวบ้านในพื้นที่ได้รวมตัวกันเข้ายื่นหนังสือเรียกร้องให้มีการตั้งอนุกรรมการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนจากการโครงการตามที่กล่าวมาข้างต้น ในช่วงที่มี ครม. สัญจร ที่จังหวัดอุบลราชธานีเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2561 แม้ชาวบ้านจะไม่ได้ยืนหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ โดยตรง แต่ผ่านมาเพียงหนึ่งเดือนเศษเวทีดังกล่าวก็ถูกจัดขึ้น

ในเวทีดังกล่าวมีรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในที่ประชุม แม้เวทีประชุมเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาผลกระทบให้ชาวบ้านจะเป็นเรื่องระหว่าง กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานราชการระดับจังหวัด กับชาวบ้านในพื้นที่ แต่ก็มีเจ้าหน้าที่ทหารในนาม คสช.ร้อยเอ็ด เข้ามาสังเกตการประชุมด้วย

ผลจากเวทีการพูดคุยได้ข้อตกลงตามการเรียกร้องขอชาวบ้านที่ต้องการให้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยมีนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาทำหน้าที่ศึกษาวิจัยผลกระทบทั้งหมด 20 กว่าประเด็น จากนั้นจะมีกระบวนการแก้ไข ฟื้นฟู และเยียวยาผลกระทบต่อไป

แต่ภายหลังเวทีประชุมเสร็จสิ้น ในส่วนของการชี้แจงผลประชุมกับชาวบ้านกว่า 200 คนที่รอฟังผลอยู่ด้านนอกห้องประชุม เจ้าหน้าที่ทหารนายหนึ่งได้พูดคุยกับชาวบ้านว่า

"รัฐไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน เราเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาของพี่น้อง ตามแนวทางนโยบายประชารัฐ" 

นอกจากนี้ยังมีการพูดในตอนท้ายด้วยว่า  "รักทหารไหมครับพี่น้อง ถ้ารักทหารต้องเชียร์ลุงตู่ด้วย ปัญหาของพี่น้อง ท่านประยุทธ์ ท่านประวิตร และผบ.ทบ. ไม่ได้นิ่งนอนใจ"

นอกจากท่าที และการสื่อสารของทหารระดับปฏิบัติการในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดในครั้งนี้แล้ว เมื่อตรวจสอบข่าวสารในเว็บไซต์ กองกำลังรักษาความมั่นคงภายราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ยังพบว่า กอ.รมน. มีมิติงานต่างๆ ที่เข้าไปมีส่วนสร้างความสัมพันธ์กับคนในชุมชนต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น การจัดอบรมเยาวชน อบรมเครือข่ายข่าวภาคประชาชน จัดการปัญหาหนี้นอกระบบ จัดทำโครงการจิดอาสาทำความดีด้วยหัวใจ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการทำให้ทหารกับประชาชนใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น รวมทั้งในหลายโครงการที่ กอ.รมน. จัดขึ้นนั้นมักมีชื่อห้อยท้ายด้วยว่า "ตามแนวทางประชารัฐ"

อีกทั้งยังมีกรณีที่สมาชิกในกลุ่มสามมิตร พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และเจ้าหน้าที่ทหาร ในนามกองทัพบก ได้เข้าไปพบปะประชาชนในพื้นที่ และแจกของให้กับประชาชน โดยใช้ทหาร และรถขนของจาก มณฑลทหารบกที่ 22 เรื่องดังกล่าวถูกเปิดเผยโดย สมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย ว่าก่อนหน้านี้ได้พบเห็นการกระทำที่ดูเหมือนเป็นการร่วมมือระหว่างเจ้าหน้ารัฐ ทหาร และกลุ่มสามมิตร ในการเข้าไปพบปะพูดคุยกับชาวบ้านมาโดยตลอด แต่ในครั้งนี้มีการแจกของให้กับชาวบ้านซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ประเจิดประเจ้อเกินไป หวังว่า คสช. และ กกต. จะดำเนินการตรวจสอบ เพราะไม่ต้องการให้มีกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มใดใช้งบประมาณของรัฐในทางที่เป็นการหวังผลทางการเมือง (ดู ข่าวสดออนไลน์)

ส่องแผนที่ทัวร์นกขมิ้นรัฐบาล คสช. โปรยงบประมาณ-คำหวานลงแต่ละจังหวัด

ซุปเปอร์ กอ.รมน. กับบทบาททหารในอนาคต โดย สุรชาติ บำรุงสุข

พวงทอง ภวัครพันธุ์: 'มวลชนจัดตั้ง' ของทหารในยุคต้านประชาธิปไตย เมื่อพวกเขาอยู่รอบตัวเรา

พรรคหนุนทหารหาเสียงล่วงหน้า แต่เหยียบเบรกพรรคอื่น พร้อมจ่อคุมเข้มหาเสียงออนไลน์

เมื่อมองออกมาที่โรดแมปสู่การเลือกตั้ง ช่วงกลางเดือน ส.ค. 2561 รัฐบาล คสช. ประกาศว่าจะมีการใช้มาตรา 44 เพื่อดำเนินการแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 ในเดือน ก.ย. เพื่อคลายล็อคให้พรรคการเมืองเริ่มดำเนินการตามกฎหมายพรรคการเมืองได้ เช่น การจัดประชุมพรรคการเมือง แก้ไขข้อบังคับพรรคการเมือง ตั้งกรรมการบริหารพรรค ดำเนินการจัดตั้งสาชาพรรค เปิดรับสมัครสามาชิกพรรค แต่ยังไม่อนุญาตให้พรรคการเมืองหาเสียง

ส่วนฝั่งของ กกต. พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. เปิดเผยหลังจากการประชุมคณะกรรมการยกร่างระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ว่า จะกำหนดกรอบการควบคุมการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียในภาพรวม เช่น ลักษณะใดจะเข้าข่ายกระทำความผิด โดยจะดำเนินการออกระเบียบได้ทันทีหลังจากที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศใช้

เลขาธิการ กกต. เผยเตรียมตั้งวอร์รูม คุมเนื้อหาการหาเสียงออนไลน์

ดูเลือกตั้งกับอินเทอร์เน็ตรอบไทย เมื่อ 'กกต. - คสช.' ส่งสัญญาณคุมโซเชียลมีเดีย

เนื้อหาโดยรวมจะกำหนดขอบเขตการหาเสียงของพรรคการเมือง ผู้สมัครว่าจะดำเนินการในลักษณะใดได้บ้าง และต้องแจ้งต่อ กกต. ล่วงหน้า ต้องรับผิดชอบเนื้อหาไม่ให้เป็นการใส่ร้าย เพราะจะเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายซึ่งมีโทษค่อนข้างรุนแรง 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น