โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

รอมฎอนชายแดนใต้ ศาสนวิถีปิดท้ายที่มัสยิด

Posted: 02 Aug 2011 02:26 PM PDT

ละหมาดกลางฝน – ชายมุสลิมกลุ่มนี้ต้องละหมาดกลางฝนเนื่องจากมีคนมาละหมาดกันหนาแน่น
จนเต็มมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ระหว่างการละหมาดตะรอเวียะฮ์ ซึ่งมีเฉพาะในเดือนรอมฎอน
 
 
 
แผงอาหารคาวหวานในย่านต่างๆ ในตัวเมืองปัตตานีในยามเย็น คึกคักขึ้นมาถนัดตา หลังจากเงียบเหงามาตลอดช่วงกลางวัน เช่น สองข้างทางถนนเส้นหน้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ผิดปกติไปจากทุกวัน
 
นั่นคือบรรยากาศวันแรกของเดือนรอมฎอนของที่นี่ ซึ่งคงไม่ต่างจากส่วนอื่นของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และที่อื่นๆ ที่มีคนมุสลิมอาศัยอยู่หนาแน่น
 
ผู้คนต่างเข้าเออออรอคิวซื้อของหวานและกับข้าวไว้เตรียมละศีลอดในช่วงเวลาประมาณ 6 โมงครึ่ง ซึ่งจะเป็นอย่างนี้ไปตลอดระยะเวลาอีก 29 วันหลังจากนี้ บางร้านถือโอกาสในช่วงเดือนรอมฎอนนี้ เป็นช่วงหยุดพักงานของพนักงานไปด้วย
 
จากถนนโล่งๆ แล้วเกิดรถติดขึ้นมาทันที เพราะทั้งนักเรียน นักศึกษาและประชาชนต่างออกมาหาซื้ออาหารในช่วงเวลาเดียวกัน ในขณะที่สองข้างทางก็เต็มไปด้วยร้านขายอาหารจำพวกของหวานและกับข้าว
 
ครั้งถึงเวลากลางคืน สินค้าจำพวกของหวานก็จะหายไป เปลี่ยนเป็นจำพวกก๋วยเตี๋ยว น้ำชา โรตี หรือกับข้าวรอบดึก หรือซื้อตุนไว้กินช่วงก่อนถึงเวลาถือศีลออดของอีกวัน ในช่วงเวลาประมาณตีห้า หรือเรียกว่า อาหารซะโฮร์
 
ถนนจาบังติกอ ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ถือเป็นย่านขายอาหารคาวหวานใหญ่ที่สุดในเขตอำเภอเมือง โดยเฉพาะในช่วงเดือนถือศีลอด ซึ่งถนนสายนี้จะถูกเปลี่ยนเป็นตลาดรวมอาหาร ผู้คนมุ่งหน้ามาเดินจับจ่าย เลือกซื้ออาหารกันที่นี่ ทั้งอาหารคาว อาหารหวาน ขนมพื้นเมือง เครื่องดื่ม
 
อาหารที่ไม่ค่อยพบเห็นกันในเดือนอื่น ก็จะไปเห็นกัน อย่างตูปะซูตง หรือปลาหมึกยัดไส้ข้าวเหนียว
 
แม่ค้าขนมจีบในตลาดจะบังติกอคนหนึ่ง เล่าว่า เริ่มเปิดร้านขายประมาณบ่าย 2 โมง ซึ่งในวันแรกของเดือนรอมฎอน ของขายหมดก่อน 6 โมงเย็น เช่นเดียวกับพ่อค้าน้ำแข็งที่บอกด้วยน้ำเสียงดีใจว่า “วันแรกก็ขายดีเลย น้ำมะพร้าวหมดแล้ว น้ำเขียวก็เกือบหมด”
 
ที่ตลาดโต้รุ่ง แม้บรรยากาศไม่คึกคัก สู้ตลาดจะบังตีกอไม่ได้ แต่พ่อค้าแม่ค้าที่นี่ก็ยังเปิดขายเหมือนทุกวัน เริ่มตั้งร้านเวลาเดิม และเก็บร้านเวลาเดิม
           
ถนนโรงเหล้าสาย ก. มีผู้คนออกมาซื้ออาหารพอสมควร ถึงขนาดที่ว่าบางร้าน เดิมขายอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ ขายเสื้อผ้าแฟชั่น อย่างร้านไฮโซไซตี้ที่ปกติขายเสื้อนำเข้าจากต่างประเทศ ก็เปลี่ยนมาตั้งแผงขายของหวานหลากสีสัน
 
วนกลับมาสายหน้า ม.อ. ร้านนิมะ ตั้งอยู่ในย่านหอเช่า ลูกค้าส่วนใหญ่จึงเป็นนักเรียน นักศึกษา เจ้าของร้านบอกว่า ขายในราคาที่ไม่แพงมาก เพราะกลัวเด็กไม่ซื้อ
 
กะดะห์ เจ้าของแผงอาหารริมถนนหน้า ม.อ.เล่าว่า เดือนบวชทุกปีจะเตรียมของขายมากกว่าปกติสามเท่า แต่ปีนี้ของแพงขึ้น แต่ต้องขายในราคาเท่ากับปีที่แล้ว เพราะกลัวลูกค้าไม่ซื้อ แต่จะใช้วิธีลดปริมาณสินค้าลง เช่น แกงถุง ซึ่งก็ยังขายได้
 
สำหรับกับข้าวที่ขายดีที่สุดของร้านกะดะห์ น่าจะเป็นแกงเขียวหวานไก่ เพราะลูกค้าต่างชี้นิ้วสั่ง จนแม่ค้าตักใส่ถุงแทบไม่ทัน
 
ตกกลางคืน หลังจากทุกคนอิ่มหนำกับอาหารมื้อแรกของวันถือศีลอดและได้พักผ่อนตามอัธยาศัยไปสักพักหนึ่งแล้ว ก็ถึงเวลาที่ทุกคนมุ่งหน้าไปมัสยิดเพื่อร่วมกันละหมาดตะรอเวียะฮ์ ซึ่งมีเฉพาะเดือนรอมฎอนเท่านั้น หลังจากการละหมาดปกติ
 
เสียงอาซาน เรียกร้องให้ออกมาละหมาดในช่วงค่ำคืน ส่งสัญญาณให้ชาวมุสลิมออกมาพร้อมหน้าที่มัสยิด ทำให้ทุกมัสยิดแน่นขนัดไปด้วยชาวมุสลิมผู้ศรัทธา จนบางแห่งล้นออกมานอกมัสยิดทุกปี เช่น ที่มัสยิดปะการอ ถนนโรงเหล้าสาย ก.
 
หลังเที่ยงคืน เป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่สุดยอดของเวลาในรอบวัน สำหรับการประกอบศาสนกิจ ยิ่งในเดือนรอมฎอน ซึ่งถือเป็นสุดยอดของเดือนในรอบปี ทั้งสำหรับการละหมาด การกล่าวรำลึกถึงพระเจ้า การอ่านคำภีร์อัลกุรอ่าน และการขออภัยโทษ
 
ดังนั้นอีกกิจกรรมทางศาสนาที่สำคัญอย่างหนึ่งในช่วงเดือนรอมฎอน คือการลุกขึ้นมาละหมาดกลางดึก ยิ่งในช่วงๆ ท้ายของเดือน ยิ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญ เนื่องจากจะมีคืนหนึ่งที่เรียกว่า คืน ไลลาตุลก็อดร์  ซึ่งในคัมภีร์อัลกุรอ่านเขียนว่า เป็นคืนที่ยิ่งใหญ่มหาศาลยิ่งกว่า 1,000 เดือน
 
แน่นอนว่า บรรยากาศแบบกลางวันเงียบเหงา บ่ายเย็นคึกคัก ค่ำคืนผู้คนก็มุ่งหน้าไปมัสยิด ตกดึกลุกขึ้นประกอบศาสนกิจ จะเป็นอยู่อย่างนี้ต่อไป และจะยิ่งเข้มข้นขึ้นจนกว่าจะถึงวันฮารีรายอ หรือวันฉลองการสิ้นสุดการถือศีลอด
 
 
ดูดวงจันทร์เทคโนโลยียังถูกต้าน
วันที่ 31 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา เป็นวันที่สำนักจุฬาราชมนตรีกำหนดให้เป็นวันดูดวงจันทร์ เพื่อกำหนดวันถือศีลอดในเดือนรอมฎอนตามปฏิทินอิสลามเป็นวันแรกในวันรุ่งขึ้น หากมีผู้พบเห็นดวงจันทร์
 
คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีร่วมกับ รองศาสตราจารย์นิแวเต๊ะ หะยีวามิง อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีโปรแกรมดูดวงจันทร์ ที่ชั้น 8 ของโรงแรมซีเอส ปัตตานี ติดต่อกันเป็นปีที่สามแล้ว แต่มองไม่เห็นดวงจันทร์ เนื่องจากท้องฟ้าปิด
 
รองศาสตราจารย์นิแวเต๊ะ บอกว่า การดูดวงจันทร์ของประเทศไทย ยังไม่ยอมรับผลที่มาจากการคำนวณโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือจากเครื่องมือเทคโนยีสมัยใหม่ แต่จะยอมรับผลจากการมองเห็นด้วยตาเปล่าเท่านั้น
 
“ปีนี้ผลการดูดวงจันทร์ มีคนเห็นดวงจันทร์ที่อำเภอยะหา จังหวัดยะลา เหมือนหลายปีที่ผ่านมา เพราะจุดดูดวงจันทร์อยู่บนเทือกเขาสูงมาก ไม่มีสิ่งบดบังสายตา สังเกตเห็นดวงจันทร์ได้ง่าย เป็นทำเลที่ดีมากทีเดียว จึงมีคนสนใจไปดูดวงจันทร์ที่นั่นเป็นจำนวนมาก”
 
รองศาสตราจารย์นิแวเต๊ะ บอกด้วยว่า วิทยาศาสตร์สามารถเข้ามาช่วยเรื่องนี้ได้มาก เช่นการคำนวณว่าจะเห็นดวงจันทร์หรือไม่ คือ โปรแกรมคำนวณการโคจรรอบโลกของดวงจันทร์ ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่า จะเห็นดวงจันทร์ตอนไหน ตัวอย่างโปรแกรม Starry Night เป็นต้น
 
“แต่ผู้รู้ในศาสนาอิสลามยังไม่เปิดใจรับในการใช้เครื่องมือดังกล่าว จึงต้องใช้การมองด้วยตาเปล่าแทน ซึ่งความจริงไม่ได้มีข้อห้ามในหลักการศาสนาอิสลามแต่อย่างใด”
 
รองศาสตราจารย์นิแวเต๊ะ ทิ้งท้ายว่า นั่นอาจเป็นเพราะความรู้ทางวิทยาศาสตร์ยังจำกัด ทำให้การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการคำนวณการโคจรของดวงจันทร์หรือ Moon Phase ไม่เป็นที่ยอมรับ เช่นเดียวกับประเทศซาอุดิอาราเบีย แต่ที่ประเทศมาเลเซีย มีการใช้วิธีการนี้มานานแล้ว จึงสามารถประกาศวันที่ 1 ของเดือนรอมฎอนได้เร็วกว่าประเทศไทยหนึ่งวันทุกปี
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“สื่อพลเมือง” เครืองมือใหม่ ส่งออก “ข้อมูล” นำเข้า “การแก้ปัญหา” [คลิป]

Posted: 02 Aug 2011 02:00 PM PDT

เมื่อวันที่ 28 - 31 ก.ค.54 ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนสอบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) จัดการอบรมนักข่าวพลเมือง TCIJ ณ โรงแรมขวัญมอ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อหนุนเสริมทักษะด้านการสื่อสารแก่ผู้สื่อข่าวพลเมือง ในฐานะผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับปัญหาที่จะถ่ายทอดเรื่องราวผ่านช่องทางการสื่อสารหลากหลายรูปแบบด้วยตัวเอง

วิไล งามใจ อายุ 50 ปี ชาวบ้าน ต.โคกสะอาด อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ สมาชิกสมัชชาคนจน กรณีปัญหาเขื่อนโป่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องลุกขึ้นมาเรียนรู้การทำข่าวด้วยตัวเองว่า ชาวบ้านต้องการเผยแพร่ข่าวคราวในพื้นที่ที่มีการต่อสู้เรื่องเขื่อน เนื่องจากมีคนส่วนหนึ่งที่ไม่เห็นผลประโยชน์จากป่าจึงต้องการที่จะสร้างเขื่อน แต่ชาวบ้านหากินอยู่กับป่า ตอนนี้ทั้งหน่อไม้ ผักหวาน ใบลาน มันคือผลประโยชน์ที่ชาวบ้านได้หากิน หากมีการสร้างเขื่อน สิ่งเหล่านี้ก็จะไม่มีเหลือ
 
วิไล กล่าวด้วยว่า การต่อสู้ที่ผ่านมากว่า 20 ปี แทบไม่มีข่าวสารอะไรที่สื่อถึงการหาอยู่หากินของชาวบ้าน หรือการรักษาป่าในพื้นที่เผยแพร่ออกมา มีแต่ข่าวของคนกลุ่มที่อยากได้เขื่อน อยากได้น้ำอยู่ฝ่ายเดียว ไม่มีการบอกถึงความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น และคนฝั่งนั้นเขาก็ไม่รู้ข้อมูล ทำให้ชาวบ้านถูกโจมตีว่าเอาแต่ค้านเขื่อน ทำให้เขื่อนไม่ถูกสร้าง ทำให้เขาไม่ได้น้ำใช้ ชาวบ้านในพื้นที่จึงอยากให้มีข่าวนำเสนอออกไปให้คนภายนอกได้รับรู้ ให้รัฐบาลได้รับรู้       
 
“คนในพื้นที่รู้จริงเห็นจริงกว่าคนอื่น หากคนในพื้นที่ได้มีโอกาสมาเป็นนักข่าวหรือนักข่าวพลเมือง จะทำให้เรื่องบางเรื่องในพื้นที่กระจายไปสู่คนข้างนอก ให้เขาได้รับรู้ว่าความจริงแล้วพื้นทีข้างในที่นักข่าวเข้าไปไม่ถึงมันมีอะไรบ้างที่คนข้างในอยากจะสื่อสารออกมา” ปราโมช แท่นศร ชาวบ้านในพื้นที่ผลกระทบกรณีโครงการก่อสร้างเขื่อนโป่งขุนเพชรอีกคนหนึ่ง กล่าว
 
ปราโมช กล่าวด้วยว่า การนำเสนอของผู้สื่อข่าวที่ผ่านมาระบุว่าหากการก่อสร้างเขื่อนแล้วเสร็จจะมีการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดี เพราะอยู่ติดกับป่าหินงาม ทุ่งดอกกระเจียว แต่โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าการสร้างเขื่อนเพื่อการเกษตรกรรมจะไปสร้างที่ไหนก็ได้ แต่ควรเป็นพื้นที่ที่มีผลกระทบน้อยที่สุด ส่วนกรณีเรื่องแหล่งท่องเที่ยวก็น่าจะไปพัฒนาใกล้กับพื้นที่นั้นๆ มากกว่ามาสร้างความเดือนร้อนให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน
 
ด้านอาคม ตรีแก้ว ผู้ประสานงานระหว่างประเทศ สมัชชาคนจนประจำองค์กรชาวนาโลก แสดงความเห็นต่อการนำเสนอข่าวของสื่อกระแสหลักว่า สื่อเป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่ต้องดูว่าผลประโยชน์นั้นจะไปสัมพันธ์กับใคร สำหรับชาวบ้านอำนาจเรื่องผลประโยชน์ของพวกเขานั้นไม่เพียงพอที่จะนำเสนอปัญหาของพวกเขาเอง คือหากไม่เป็นปัญหาใหญ่จริงๆ สื่อกระแสหลักก็จะไม่นำมาพูดคุย อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าสื่อกระแสหลักมีปัญหา หรือไม่ดี แต่มันไม่สามารถเจาะลึกแล้วนำไปสู่การเคลื่อนไหวเพื่อสร้างอำนาจในการสื่อสารให้คนตัวเล็กตัวน้อยที่มีปัญหาได้จริง
 
“ในระดับพื้นที่ของปัญหาในสังคมไทย การที่คนเรามีความสามารถ มีศักยภาพในการนำเสนอเรื่องตนเองได้ จะทำให้ปัญหาได้รับการพูดคุยและนำไปสู่การแก้ไขได้เร็วขึ้น ตรงนี้คือสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่จะยกระดับตนเอง” อาคมให้ความเห็น
 
อาคม กล่าวด้วยว่า แค่การที่ชาวบ้านได้หัดมาใช้เทคโนโลยี เป็นผู้สื่อข่าวเอง เขียนบทเองในเรื่องที่เป็นปัญหาของเขาเองนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรับรองประชาธิปไตย และเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอำนาจผ่านเครื่องมือซึ่งอาจไม่ใช่หนังสือพิมพ์ อาจไม่ใช่ข่าวในโทรทัศน์ แต่ว่ามันคือการกระจายตัวของข้อมูลข่าวสาร ซึ่งในระยะยาวตรงนี้จะเป็นช่องทางในการนำเสนอประเด็นเพื่อแก้ปัญหาระบอบการเมืองและอำนาจในการแก้ไขปัญหาด้วย  
 
ทั้งนี้ กรณีเขื่อนโป่งขุนเพชร เป็นโครงการในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน จะสร้างกั้นลำเชียงทาอันเป็นสาขาใหญ่ ของแม่น้ำชี เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2532 กำหนดที่ตั้งหัวงานเขื่อนอยู่ในบริเวณบ้านกระจวน ต.โคกสะอาด อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ พื้นที่น้ำท่วม ประมาณ 12,300 ไร่ มีผู้ที่ได้รับผลกระทบประมาณ 500 ครอบครัว ในพื้นที่บ้านแก้งกระจวน บ้านห้วยทับนาย และบ้านใหม่ห้วยหินฝน ต.โคกสะอาด อ.หนองบัวระเหว รวมทั้งบ้านบุงเวียน และบ้านโคกชาด ต.โป่งนก อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มหกรรมชนเผ่า ดันนโยบายสิทธิคนพื้นเมืองเป็นวาระแห่งชาติ

Posted: 02 Aug 2011 01:47 PM PDT

 

เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยเตรียมจัดงานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองปี 2554 เน้นการพัฒนาเพื่อฟื้นฟูวิิถีชีวิตและสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองพร้อมดันนโยบายด้านชนเผ่าพื้นเมืองให้เป็นวาระแห่งชาติ ในการปฏิรูปประเทศ

 

  

  

 

สืบเนื่องจากองค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้วันที่ 9 สิงหาคมของทุกปีเป็นวัน “ชนเผ่าพื้นเมืองโลก” และกำหนดให้ระหว่างปี พ.ศ. 2548 – 2557 (ค.ศ. 2005- 2014) เป็น “ปีทศวรรษสากลของชนเผ่าพื้นเมืองโลก” (ระยะที่ 2) อีกทั้งเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2550 ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้มีมติรับรอง “ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง” อย่างเป็นทางการ เพื่อให้ประเทศสมาชิกและประชาคมโลกตระหนักถึงปัญหาและข้อกังวลต่าง ๆ ของพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองที่ประสบอยู่ และจะได้ร่วมช่วยกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง ตลอดจนร่วมส่งเสริม ยืนยันและรับรองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองในทุกระดับด้วย   

สำหรับประเทศไทยนั้น ถือเป็นดินแดนที่มีความหลากทางวัฒนธรรมและมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง โดยเฉพาะการมีชนเผ่าพื้นเมืองหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่กระจายตามภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งชนเผ่าพื้นเมืองเหล่านี้ นับได้ว่าเป็นผู้ที่มีภาษา อัตลักษณ์ วัฒนธรรมและบริบทของสังคมที่แตกต่างกันออกไปจากสังคมใหญ่ เช่น ทางภาคเหนือ มีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ขมุ มฺบีซู มลาบรี ม้ง เมี่ยน ลีซู ลาหู่ ลัวะ อาข่า และอื่น ๆ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีชาวกูย ภูไท ญัฮฺกุร โส้ และอื่น ๆ ภาคกลางและตะวันออก มีชาวมอญ ไททรงดำ และชอง และภาคใต้ มีชาวมอแกน มอแกลน อุรักละโว้ย และอื่น ๆ เป็นต้น  

กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประชากรขนาดเล็กมีจำนวนไม่มากนัก,มีวิถีการดำเนินชีวิตที่ผูกพันและใกล้ชิดกับธรรมชาติอย่างแนบแน่น เน้นระบบการผลิต การตั้งถิ่นฐานและการใช้ทรัพยากรเพื่อการยังชีพเป็นหลัก มีระบบขัดเกลาทางสังคมและได้บ่มเพาะจนกลับกลายเป็นอัตลักษณ์วัฒนธรรมและแบบแผนการดำเนินชีวิตของแต่ละกลุ่มในระยะต่อมา ซึ่งมีกระบวนการถ่ายทอดและสืบต่อกันมาจากชนรุ่นหนึ่งไปสู่ชนอีกรุ่นหนึ่ง     

แต่ในระยะหลัง เรื่องราววัฒนธรรมและระบบคุณค่าเหล่านี้เริ่มอ่อนแอและลดความสำคัญลงไป,ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากนโยบายการพัฒนาของรัฐที่ผ่านมาในอดีต,โดยเฉพาะการมุ่งเน้นการพัฒนาและสร้างความเจริญเติบโตภาคเศรษฐกิจเป็นหลัก และนโยบายการรวมพวก ซึ่งต้องการหลอมรวมเอากลุ่มสังคมเล็กๆ เหล่านี้เข้าไปสู่วัฒนธรรมกระแสหลัก ถึงกระนั้นก็ตามชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มต่างๆก็ยังพยายามที่จะยืนหยัดต่อสู้เพื่อให้การดำรงชีวิตและการคงความเป็น เอกลักษณ์ของตนไว้ในกระแสสังคมปัจจุบัน

ดังนั้น ทางเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มต่าง ๆ ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนและหน่วยงานภาครัฐที่ทำงานเกี่ยวข้องกับชนเผ่าพื้นเมือง ได้จัดประชุมและประกาศวันชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ 8-9 สิงหาคม 2550 โดยจัดงานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2550 และจัดงานวันชนเผ่าพื้นเมืองมาอย่างต่อเนื่องทุก ๆ ปี โดยมีสำนักกิจการชาติพันธุ์ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหน่วยงานหลักที่เล็งเห็นความสำคัญของกิจกรรมและสนับสนุนการจัดงานดังกล่าว และคณะรัฐมนตรีได้มีมติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลและกะเหรี่ยง เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน และ 3 สิงหาคม 2553 ตามลำดับ

เพื่อให้วิถีชีวิตและการธำรงอยู่ของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างเหมาะสมภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงของสังคมไทยและสังคมโลกในปัจจุบัน ซึ่งนอกเหนือจากความความพยายามของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยที่ต้องการแก้ไขปัญหาของตนเองแล้ว รัฐต้องเข้ามาให้การคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองและสนับสนุนการสืบทอดและการปฏิบัติตามสิทธิทางวัฒนธรรมเพิ่มมากขึ้น    โดยต้องยกระดับประเด็นปัญหา ความสำคัญและความจำเป็นดังกล่าว ให้เป็นวาระหลักอันหนึ่งของประเทศและร่วมสนับสนุนให้ชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยได้มีพื้นที่การเรียนรู้สู่เวทีต่าง ๆ ในระดับสากลอีกด้วย ตลอดจนต้องประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะในวงกว้าง ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมวิถีชีวิตและพัฒนาศักยภาพให้ชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ยืนหยัดอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีอัตลักษณ์และคุณค่าทางวัฒนธรรมอย่างแท้จริงด้วย

โดยในปี พ.ศ. 2554 นี้คณะกรรมการจัดงานได้มีการประชุมปรึกษาหารือและได้ร่วมกันกำหนดให้มีการจัดมหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี 2554: การพัฒนาเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตและสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ขึ้น ในระหว่างวันที่ 7-9 สิงหาคม 2554ณ สวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนชนเผ่าพื้นเมืองกว่า 25 กลุ่มชาติพันธุ์จากทุกภูมิภาคของประเทศไทย ร่วมกับภาคีองค์กร หน่วยงานทั้งภาครัฐ สถาบันวิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับชนเผ่าพื้นเมืองร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ และหน่วยงานรัฐ ที่เป็นคณะกรรมการและคณะทำงานจัดงานฯ ได้เข้าร่วมเหมือนทุกปีที่ผ่านมา

นายศักดิ์ดา แสนมี่ ผู้ประสานงาน เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานในปีนี้ว่า เพื่อต้องการสร้างการยอมรับสิทธิทางวัฒนธรรมและสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองด้วยการนำเสนอวิถีชีวิตและคุณค่าทางวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมืองต่อสังคมและเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองในการรวมพลังขับเคลื่อนการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับสิทธิทางวัฒนธรรมและสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง

“นอกจากนั้น ยังเพื่อเป็นการกระตุ้นและติดตามการปฏิบัตินโยบายของรัฐที่เกี่ยวข้องกับชนเผ่าพื้นเมือง และเสนอแนะแนวนโยบายด้านชนเผ่าพื้นเมืองให้เป็นวาระแห่งชาติในการปฏิรูปประเทศในอนาคตต่อไปด้วย”

ทั้งนี้ ทางเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองไทยแห่งประเทศไทย คาดหวังว่าหลังจากจัดงานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมือง ปี 2554 นี้ รัฐบาลไทยจะมองเห็นความสำคัญ ยอมรับและรับรองสิทธิทางวัฒนธรรมและสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองที่เป็นไปตามปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมปฏิบัติการต่าง ๆ ของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยอย่างจริงจัง

ซึ่งภายในงานดังกล่าว ทางเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองที่เข้าร่วมงาน จะได้นำเสนอวิถีชีวิตและเห็นคุณค่าทางวัฒนธรรมของตนเอง เกิดความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์และภูมิปัญญาของตนเองและพร้อมที่จะร่วมรณรงค์สู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนได้รวมพลังเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับสิทธิทางวัฒนธรรมและสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองต่อไป.

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ร้องยิ่งลักษณ์ตามลูกชายหายช่วงสลายชุมนุม53

Posted: 02 Aug 2011 11:45 AM PDT

แม่ตามหาลูกชายวัย 24 ออกจากบ้านนานกว่าหนึ่งปี คาดเข้าร่วมชุมนุมเมษา-พฤษภา53

2 สิงหาคม 2554 เวลา 14.30 น. น.ส.สมมาตร ช่วยพิมาย วัย 50 ปี ได้ไปยื่นหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย เพื่อเรียกร้องให้ทางพรรคช่วยสืบหา นายอดิลักษณ์  อินสันเที้ยะ  บุตรชายวัย 24ปี ที่ได้หายสาบสูญไปตั้งแต่ วันที่ 17 เมษายน 2553 ซึ่งอยู่ในช่วงการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ณ บริเวณถนนราชดำเนินและแยกราชประสงค์

น.ส.สมมาตร ได้เล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า ต์ นายอติลักษณ์ได้เดินทางจากที่พักย่านสมุทรปราการกลับภูมิลำเนา ที่่ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา เนื่องจากอยู่ในช่วงเทศกาลสงกราน ต่อมาในวันที่ 17 เมษายน 2553 เวลาประมาณ 15.30น. ได้มีรถกระบะ มิตซูบิชิ สตราดาสีบรอนซ์ทองไม่ติดป้ายทะเบียนมาจอดที่บ้าน  โดยมีเพื่อนของนายอติลักษณ์ชื่อนายหนุ่มได้มาพร้อมกับรถคันดังกล่าวได้มาพูดคุยและรับนายอติลักษณ์ไป โดยหลังจากนั้นทางครอบครัวเพื่อนฝูงก็ไม่ได้ข่าวหรือรับการติดต่อจากนายอติลักษณ์อีกเลย  มารดาผู้สูญหายตอบข้อซักถามของผู้สื่อข่าวว่าทำไมเชื่อว่าเป็นการสูญหายจากการชุมนุมว่า เคยเห็นนายอติลักษณ์นำผ้าสีแดงมาคาดศีรษะในช่วงก่อนการหายตัวไปของลูกชาย แต่ตนก็ได้พยายามห้ามปรามเกรงว่าลูกชายจะเกิดอันตราย

น.ส.สมมาตร กล่าวอีกว่า ตนเชื่อมันว่านายอติลักษณ์ลูกชายของตนน่าจะเสียชีวิตไปแล้ว เนื่องจากก่อนหน้่าเหตุการณ์ นายอติลักษณ์ไม่เคยหายออกจากบ้านนานเกิน 3-4วัน เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่านายอติลักษณ์เคยมีปัญหาอื่นเช่นเรื่องหนี้สินหรือชู้สาวหรือไม่ มารดาผู้สูญหายบอกว่าไม่มีปัญหาเรื่องชู้สาวแต่เคยมีปัญหาเรื่องหนี้สินนอกระบบบ้างแต่ก็ได้ชดใช้ไปหมดแล้ว เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าได้ไปแจ้งความกับหน่วยงานไหนบ้าง  น.ส.สมมาตร ระบุว่าหลังเหตุการณ์ได้ไปแจ้งความไว้กับ สน.ปทุมวัน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการชุมนุมและยังได้ไปแจ้งความที่ สภอ.สูงเนิน นครราชสีมา ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายที่มีคนพบตัวลูกชายของตน

การไปยื่นหนังสือร้องเรียนดังกล่าวได้มี นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทนรับหนังสือร้องเรียน น.ส. สมมาตร ช่วยพิมาย ได้กล่าวกับนายพร้อมพงศ์ว่า ได้แจ้งความและร้องเรียนตามที่ต่าง ๆ หลายครั้ง เพื่อให้ช่วยตามสืบหาข้อมูลลูกชายที่หายสาบสูญไปให้แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าใด ๆ จึงตัดสินใจมายื่นหนังสือที่พรรคเพื่อไทยด้วยหวังว่าจะได้เห็นความคืบหน้าของลูกชายบ้าง ส่วนโฆษกพรรคเพื่อไทยได้รับหนังสือไว้และกล่าวว่าตนจำนางสมมาตรได้ดีว่าเคยมายื่นเรื่องไว้เมื่อปีที่แล้ว นายพร้อมพงศ์ได้กล่าวให้ความหวังกับมารดาผู้สูญหายว่ามาในคราวนี้ พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลการช่วยเหลือค้นหาผู้สูญหายจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมน่าจะดำเนินไปได้สะดวกมากขึ้น

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นายกนอร์เวย์เตือนอย่าล่าแม่มด หลังกระแสเพิ่มโทษมือระเบิดพุ่ง

Posted: 02 Aug 2011 10:55 AM PDT

สืบเนื่องจากเหตุวางระเบิดและสังหารประชาชน 93 รายในประเทศนอร์เวย์ ซึ่งหลังจาก แอนเดรส เบห์ริง เบรวิค ชาวนอร์เวย์ ผู้ก่อเหตุเข้ามอบตัวกับตำรวจ และมีแนวโน้มว่า เขาอาจได้รับโทษจำคุกสูงสุด 21 ปีตามกฎหมายของนอร์เวย์ ซึ่งก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยมีกระแสเรียกร้องให้นำโทษประหารชีวิตกลับมานั้น 

ล่าสุด (1 ส.ค.54) เวอร์เดนส์ กัง หนังสือพิมพ์แทบลอยด์ของนอร์เวย์ เผยผลสำรวจความเห็นของประชาชนต่อกรณีดังกล่าว พบว่า ชาวนอร์เวย์ 65% เห็นว่าการลงโทษในระบบยุติธรรมของนอร์เวย์เบาเกินไป โดยประชาชนเกินครึ่งระบุว่า มุมมองของพวกเขาแข็งกระด้างขึ้น หลังเหตุสังหารหมู่ 

 


ประชาชนที่เมืองเบอร์เกน ประเทศนอร์เวย์ ร่วมไว้อาลัยต่อโศกนาฏกรรมเมื่อวันที่ 22 ก.ค.
ภาพจาก Chreriksen (CC BY-NC-ND 2.0)

 

ขณะที่คนุท สโตรเบอเก็ท รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า เราต้องรับฟัง เปิดให้มีการถกเถียง และไม่ด่วนสรุป พร้อมเน้นว่า เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องไม่กำหนดนโยบายในภาวะที่สังคมตื่นตระหนก 

ด้านเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก นายกรัฐมนตรีของนอร์เวย์ เตือนว่า มาตรการต่างๆ อาจส่งผลต่อการจำกัดเสรีภาพของประชาชน รวมถึงเตือนให้หลีกเลี่ยงการล่าแม่มด 

"เราจะใช้เสรีภาพในการพูดเป็นอาวุธ และด้วยธรรมเนียมที่ดีที่สุดของรัฐสภาของเรานี้ ขอยืนยันว่าศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์และความมั่นคงจะเอาชนะความกลัวและความเกลียดชังให้จงได้" เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก กล่าวในพิธีไว้อาลัยต่อเหยื่อโศกนาฏกรรม

ขณะที่เพอ แซนเบิร์ก ประธานคณะกรรมการยุติธรรมของรัฐสภานอร์เวย์ และสมาชิกพรรค Progress ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวา ระบุว่า จะมีการเรียกร้องให้มีมาตรการทางตุลาการที่เข้มขึ้น โดยเปิดเผยว่า จะมีการอภิปรายในประเด็นการตัดสินโทษ การค้นหาโดยตำรวจ ฯลฯ ในการเปิดประชุมสภาในไม่กี่สัปดาห์ที่จะถึงนี้

ก่อนหน้านี้ กษัตริย์เฮรัลด์ที่ห้าของนอร์เวย์ มีพระราชดำรัสทางโทรทัศน์เมื่อวันที่ 23 ก.ค. หลังจากเกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมเพียงหนึ่งวันว่า ถึงแม้เหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น จะเป็นการท้าทายต่อคุณค่าด้านประชาธิปไตยของนอร์เวย์ แต่เวลานี้จะเป็นยามที่เอกภาพและความสมานสามัคคีมีความสำคัญที่สุด และนอร์เวย์จะยังคงตั้งมั่นอยู่ในหลักการที่พึงยึดถือ

“เราขอยึดมั่นในความเชื่อที่ว่า เสรีภาพมีอำนาจมากกว่าความกลัว เราขอยึดมั่นและเชื่อมั่นในประชาธิปไตยและสังคมนอร์เวย์ที่เสรี เราขอยึดมั่นในโอกาสที่จะอยู่อย่างเสรีและปลอดภัยในประเทศของตนเอง” กษัตริย์นอร์เวย์ตรัส

 

แปลและเรียบเรียงจาก
http://www.bbc.co.uk/news/world-europe-14365695
http://www.norway-un.org/NorwayandUN/Norwegian_Politics/Prime-Ministers-speaks-to-parliament/
www.norway.org.bd/News_and_events/press/The-Kings-speech/

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ถึงคราวิกฤติการณ์ทางทหารของประเทศไทย?

Posted: 02 Aug 2011 08:43 AM PDT

เทร์เฟอร์ มอสส์ ผู้สื่อข่าวอังกฤษด้านความมั่นคงและการทหาร เขียนบทความแสดงความคิดเห็นในบล็อกของ The Diplomat เกี่ยวกับกรณีอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกสามครั้งติดกันในเมืองไทย พร้อมวิเคราะห์ว่า สภาพอากาศ และความขัดข้องทางเทคนิค หาใช่เป็นสาเหตุของโศกนาฏกรรมดังกล่าวไม่ หากแต่เป็นเพราะอำนาจและงบประมาณของกองทัพที่มากเหลือล้น

ธรรมชาติที่เสี่ยงของปฏิบัติการทางทหาร ย่อมหมายถึงการประสบพบเจอกับอุบัติเหตุที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากแต่เคราะห์กรรมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นกรณีเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพอากาศไทยตก ชี้ให้เราเห็นถึงปัญหาที่เป็นระบบมากกว่านั้น

กรณีเฮลิคอปเตอร์แบลก ฮอว์ก ซีกอร์สกี้ ยูเอช-60 ของกองทัพอากาศไทยตก เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากการสูญเสียเฮลิคอปเตอร์ เบลล์ 212 ฮิวอี้สองลำ ในขณะที่กำลังปฏิบัติภารกิจกู้ภัยแถบชายแดนไทย-พม่าที่จังหวัดเพชรบุรี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 17 รายในอุบัติเหตุทั้งสามครั้ง

เช่นเดียวกับสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นเมื่อกองทัพประสบกับความล้มเหลวที่ต่อเนื่อง อุบัติเหตุสองครั้งแรกกลายเป็นเรื่องของสภาพอากาศที่ไม่ดี และอุบัติเหตุครั้งที่สามต้องโทษความผิดพลาดทางเทคนิค ทางผู้บัญชาการระดับสูงมีท่าทีต่อปัญหาดังกล่าวโดยเรียกร้องให้มีการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ใหม่ ผู้บัญชาการทหารบก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ซึ่งสงบปากสงบคำมากขึ้นหลังการเลือกตั้งที่ผ่านมา ให้สัมภาษณ์ต่อสาธารณะว่า กองทัพอากาศไทยจำเป็นต้องจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ใหม่จำนวน 36 ลำเพื่อให้สามารถปฏิบัติการได้อย่างปลอดภัย พลเอกประยุทธ์ ได้ขอให้รัฐบาลใหม่ช่วยดูแลคำร้องขอดังกล่าว และเสริมว่า รัฐบาลประชาธิปัตย์ก่อนหน้านี้ไม่สามารถอนุมัติงบประมาณสำหรับเฮลิคอปเตอร์ใหม่ ถึงแม้จะทราบแล้วว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องด่วนก็ตาม

สถานการณ์ของไทยเป็นสิ่งที่คล้ายคลึงกับวิกฤติการณ์ที่สิ่งที่กองทัพอากาศอินโดนีเซียในปี 2552 ได้ประสบ เมื่อเหตุเครื่องบินตกอย่างต่อเนื่องทำให้บุคลากรของกองทัพอากาศอินโดฯ เสียชีวิตกว่า 130 ราย และทำให้เรื่องยุทโธปกรณ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐานกลายเป็นวาระที่ถูกพูดถึงระดับชาติ เหตุการณ์ดังกล่าวเปิดโอกาสให้รัฐบาลอินโดนีเซียเพิ่มงบประมาณทางการทหารและจัดซื้อเครื่องบินใหม่

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของประเทศไทยนั้นต่างไปจากสถานการณ์ของอินโดนีเซียมาก เนื่องจากกองทัพของอินโดนีเซียนั้นได้รับงบประมาณต่ำมากมานับศตวรรษ และถูกคว่ำบาตรทางอาวุธยุทโธปกรณ์มาอย่างยาวนาน ซึ่งมาตรการคว่ำบาตรเพึ่งได้รับการยกเลิกเมื่อเร็วๆ นี้ ในขณะที่ประเทศไทยนั้นได้รับงบประมาณทางการทหารที่ถือว่าเยอะพอสมควรตามมาตรฐานของภูมิภาค โดยเฉพาะหลังการรัฐประหารปี 2549 อันที่จริง งบประมาณทางด้านการทหารของไทยเพิ่มขึ้นสามเท่านับจากการทำรัฐประหารครั้งล่าสุด และในปี 2554 งบประมาณทางทหารยืนอยู่ที่ 5.6 พันล้านบ้าน ซึ่งมากพอกันกับงบประมาณทางทหารของอินโดนีเซีย ซึ่งมีจำนวนประชากรมากกว่าประเทศไทยสี่เท่า

ก็จริงว่า โครงการทางความมั่นคงบางส่วนหยุดชะงักไปในปี 2553 เนื่องจากวิกฤติการณ์ทางการเงินทั่วโลก แต่ก็ออกจะเกินไปหน่อยสำหรับพลเอกประยุทธ์ ที่จะโทษรัฐบาลอภิสิทธิ์ว่าไม่ยอมอนุมัติงบประมาณทางทหาร ในขณะที่ทางกองทัพเองเป็นผู้ที่มีอำนาจเรื่องนโยบายด้านความมั่นคงอย่างเต็มที่ รวมถึงนโยบายด้านอื่นๆ ของรัฐบาลด้วย คำถามก็คือว่า เหตุใดกองทัพอากาศไทยอยู่ดีๆ จึงต้องการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ใหม่อย่างเร่งด่วน ในเมื่อกองทัพก็ได้รับงบประมาณอย่างมากมายมาตลอด และอยู่ในตำแหน่งที่สามารถกำหนดวาระต่างๆ เองได้

ในขณะที่เฮลิคอปเตอร์แบลกฮอว์กที่ตกในอุบัติเหตุครั้งแรก มีอายุการใช้งานเพียงสองสามปี แต่เครื่องเฮลิคอปเตอร์ฮิวอี้ที่นับเป็นยุทโธปกรณ์หลักของกองทัพไทยส่วนใหญ่แล้ว มีอายุการใช้งานมาแล้วราวสามสิบปี อย่างไรก็ตาม ทางการไทยก็รับทราบถึงปัญหานี้เป็นอย่างดี จึงได้ขอซื้อเฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอว์กอีกสามลำจากสหรัฐอเมริกา มูลค่า 235 ล้านดอลลาร์ หนึ่งวันก่อนที่อุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ลำแรกตก นอกจากนี้ การอัพเกรดเฮลิคอปเตอร์รุ่นฮิวอี้ ยังเป็นวาระของกองทัพมาเป็นระยะเวลานาน ถึงแม้ว่าพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกคนก่อนหน้า ตัดสินใจจะไม่อัพเกรดเฮลิคอปเตอร์ฮิวอี้ 15 ลำ ในปี 2551 และตัดสินใจจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์รุ่นรัสเซียน Mil Mi-17 แทน

ดังนั้น คำร้องขอของพลเอกประยุทธ์เพื่อจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ 36 ลำจึงดูเป็นเรื่องไม่ค่อยจริงใจเท่าไร เขาอาจจะลองโยนหินถามทาง และรอดูว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่น่าจะเป็นยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะตอบสนองต่อข้อเรียกร้องดังกล่าวอย่างไร นอกจากนี้ พลเอกประยุทธ์ใช้มาตรการกดดันอีกหลายครั้งผ่านทางสาธารณะ หลังการเลือกตั้งที่ผ่านมา โดยเขาได้เสนอให้ทหารรับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ถึงแม้ว่าจะเคยลั่นวาจาไว้แล้วก่อนหน้านี้ก็ตามว่า เขาจะไม่แทรกแซงทางการเมืองใดๆ อีก

ณ จุดนี้ สิ่งที่คนไทยทั่วไป รวมถึงเหล่านายทหารที่ใช้เครื่องเฮลิคอปเตอร์ฮิวอื้ที่เก่าแก่ คงต้องสงสัยว่ากองทัพไทยที่ได้งบประมาณอุดหนุนอย่างอื้อซ่านั้นเอาเงินไปทำอะไร ภารกิจการต่อต้านการก่อความไม่สงบในภาคใต้ที่ใช้งบประมาณเยอะ ก็เป็นเรื่องหนึ่ง โครงการการจัดตั้งกองทัพภาคใหม่ที่ภาคเหนือ ก็ใช่ รวมถึงโครงการจัดตั้งกองพลทหารม้าของเปรม ติณสูลานนท์ ก็เป็นที่เห็นแจ้งแถลงไขแล้วว่า เพียงแค่สองเรื่องแรกนี้ ก็ใช้งบประมาณไปแล้วหลายพันล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม คำอธิบายที่กว้างกว่านั้นคือ การที่กองทัพเป็นผู้กำหนดงบประมาณและกำหนดวาระต่างๆ ด้วยตนเอง ทำให้เงินภาษีของประชาชนที่จ่ายไปไม่คุ้มค่า และกองทัพเองก็มักจะไม่ลงทุนในสิ่งที่จำเป็นจริงๆ ทั้งนี้ ปัญหาสำหรับประเทศไทยก็คือ ประเด็นด้านนโยบายดังกล่าว เป็นพื้นที่ทางนโยบายที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่กล้าที่จะเข้าไปแตะต้อง ถึงแม้ว่าจะมีคำสัญญาทางนโยบายด้านต่างๆ ออกมามากแค่ไหนก็ตาม

ที่มา : The Diplomat: Thailand’s Military Crisis? 29/07/54

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รปภ.เจ้าของหลักฐานภาพถ่าย เบิกความ คดีเผา CTW

Posted: 02 Aug 2011 07:32 AM PDT

2 ส.ค.54 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ห้องพิจารณาคดี 501 มีการสืบพยานโจทก์ในคดีเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ (Central World-CTW) คดีหมายเลขดำที่ อ.2478/2553 ซึ่งพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ฟ้อง นาย สายชล แพบัว อายุ 28 ปีอาชีพรับจ้าง จำเลยที่1 และนายพินิจ จันทร์ณรงค์ อายุ 26 ปี อาชีพรับจ้าง จำเลยที่ 2 ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ร่วมกันเผาทรัพย์โรงเรือนอันเป็นที่เก็บสินค้าของผู้อื่นเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย โดยในวันนี้ (2 ส.ค.) เป็นการสืบนายรัชพล เจริญสุข เจ้าหน้าที่ชุดรปภ.ของ CTW ผู้ถ่ายภาพในวันเกิดเหตุ

นายรัชพล ให้การว่า เหตุที่สามารถชี้ตัวจำเลยที่ 1 ได้ เพราะเป็นผู้ถ่ายภาพจำเลยที่ 1 ภายในห้างวันที่ 19 พ.ค.53 ซึ่งเป็นเวลาที่มีกลุ่มคนบุกเข้ามาภายในห้างช่วงเวลาประมาณ 14.30 น. โดยตนถ่ายขณะที่อยู่บนชั้น 3 ส่วนจำเลยอยู่ชั้นล่าง มีระยะห่างประมาณ 30 เมตร แม้ภายในห้างถูกตัดไฟ แต่บริเวณดังกล่าวยังพอมีแสงสว่างจากเพดานอาคารซึ่งเป็นกระจก ส่วนเหตุที่ภาพถ่ายไม่ชัดเจนเพราะถ่ายผ่านกระจก ต้องหมอบถ่าย และถ่ายภาพต่อเนื่องประมาณ 5 ภาพ กดชัตเตอร์รัวใช้เวลาประมาณ 4-5 วินาที รวมเวลาในการเล็งด้วยแล้วประมาณ 1 นาทีเท่านั้น แต่ที่จำหน้าจำเลยได้เพราะหลังเกิดเหตุการณ์ได้กลับไปดูไฟล์ภาพของตนเองอีกครั้ง จำได้ว่าภาพที่เห็นลายสักที่แขนบุคคลดังกล่าว แต่ภาพที่นำสืบในศาลไม่สามารถเห็นรายละเอียดใดๆ ได้ และตนไม่ทราบว่าเหตุใดเจ้าหน้าที่จึงเลือกภาพดังกล่าวนำส่งศาล เพราะตนเพียงนำสำเนาไฟล์รูปถ่ายทั้งหมดส่งให้กับหัวหน้าไปเท่านั้น ทั้งนี้ ตนใช้กล้องส่วนตัวในการถ่ายภาพดังกล่าว ยี่ห้อแคนนอน รุ่น 30D เลนส์ฟิก 50 มม. ไม่สามารถซูมได้

ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นรัชพลระบุว่า เห็นเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมมารวมกับผู้ต้องหาอีก 6-7 คนแล้ว โดยไม่ทราบพฤติการณ์ของผู้ต้องหาก่อนหน้านั้น

รัชพล ระบุว่า ตนได้ให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 ครั้ง ในที่เกิดเหตุ ที่ สน.ปทุมวัน และที่สำนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยให้การถึงรูปพรรณสันฐานจำเลยด้วยว่ามีรอยสักที่แขน และถือถังดับเพลิงสีเขียว แต่ในภาพการจับกุมจำเลยที่นำส่งศาลไม่ปรากฏภาพถังดังกล่าว นอกจากนี้ยังได้ชี้ตัวจำเลยจากภาพสองครั้งด้วยกันในชั้นสอบสวน

ทนายจำเลยยังซักค้านเรื่องการพบศพชายที่ชั้น 4 โดยรัชพลเบิกความว่า เข้าไปถ่ายในระยะใกล้ และขณะนั้นศพส่งกลิ่นบ้างแล้วแต่ไม่รุนแรง สภาพศพมีกองเลือด มีถังดับเพลิงบริเวณใกล้เคียง

อัยการถามติงว่าพยานเบิกความว่าไม่เห็นพฤติการณ์จำเลยก่อนหน้านั้น แต่ขณะนั้นเกิดเหตุการณ์อะไร พยานเบิกความว่า ขณะนั้นมีกลุ่มควันออกมาจากห้างเซ็น และมีเสียงกระจกแตกจากอาคารภายใน ซึ่งเป็นระยะเวลาต่อเนื่องกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลนัดสืบพยานโจทก์ซึ่งเป็น รปภ.ในที่เกิดเหตุอีกปากหนึ่งในวันพรุ่งนี้ (3 ส.ค.) 9.00-16.00 น. โดยศาลอนุญาตให้ใช้คอมพิวเตอร์และจอฉายภาพตามที่อัยการ้องขอ ทั้งนี้ มีสื่อมวลชนสนใจรายงานข่าวนี้เพียงไม่กี่สำนัก และเกือบทั้งหมดเป็นผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ   

ทั้งนี้ จำเลยทั้งสองถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และไม่ได้รับการประกันตัว ส่วนอัยการยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1 ก.ย.2553  ในคำฟ้องคดีระบุว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองกับพวก ร่วมกันชุมนุมและมั่วสุมกันบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยพวกจำเลยได้เข้าไปในบริเวณอาคารห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ แล้วใช้กำลังทำลายบานกระจกผนังอาคาร บานกระจกประตู อาคารเซ็นทาวเวอร์ อาคารเซ็นทรัลเวิลด์ ที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณห้างสรรพสินค้าดังกล่าวจนแตกเสียหายและยังเป็นการกีดขวางการจราจร ขัดขวางต่อการประกอบกิจการของห้าง ทำให้ประชาชนเดือดร้อนเสียหายและเกรงกลัวอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน
 
นอกจากนี้ จำเลยทั้งสองกับพวก ยังได้ร่วมกันเข้าไปภายในบริเวณอาคารเซ็นทาวเวอร์และอาคารเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งเป็นทรัพย์โรงเรือนอันเป็นที่เก็บสินค้าของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แล้วพวกจำเลยได้ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์จนทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้ เผาอาคารเซ็นทาวเวอร์และไฟไหม้เผาทรัพย์สินต่างๆของผู้เสียหายที่ 1 ถึงผู้เสียหายที่ 270 รวมค่าเสียหายจำนวน 8,890,578,649.61 บาท และยังเป็นเหตุให้นายกิติพงษ์หรือกิตติพงษ์ สมสุขที่อยู่ภายในอาคารดังกล่าวถึงแก่ความตาย  เหตุเกิดที่แขวง- เขตปทุมวัน กทม.

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุรพศ ทวีศักดิ์: การลงทุนเพื่อพุทธศาสนา

Posted: 02 Aug 2011 06:40 AM PDT

เมื่อเรานำเรื่องมิติทางสังคมของพุทธศาสนาไปสนทนากับคนแก่วัด นักปฏิบัติธรรม หรือพระสงฆ์บางรูป โดยเฉพาะกับคนชั้นกลางในเมืองที่นิยมแฟชันการเข้า “คอร์สปฏิบัติธรรม” ตามสำนักดังๆ ในปัจจุบัน เสียงตอบรับจากปลายทางมักจะออกมาทำนองว่า “พุทธศาสนาที่แท้จริง” เป็นเรื่องของการดูจิต ดูใจตัวเอง มีสติเท่าทันว่ากิเลสเกิดขึ้นในจิตอย่างไร ดับไปอย่างไร ดีชั่วอยู่ที่ตัวทำ สุข ทุกข์อยู่ที่ใจเรา เรื่องของสังคมเป็นเรื่องทางโลก พุทธศาสนาไม่ให้หมกมุ่นกับโลก ไม่ต้องไปสนใจวิจารณ์คนอื่น วิจารณ์สังคม ควรหันมาวิจารณ์จิตตัวเอง เปลี่ยนตัวเองให้ได้ก่อนจะดีกว่า ถ้าแต่ละคนเป็นคนดี สังคมก็จะดีเอง

วันนี้ผมไปเดินซีเอ็ด หัวหิน มุมหนังสือ “ศาสนา/ปรัชญา” ดูเหมือนจะเป็นมุมที่มีหนังสือจำนวนมากใกล้เคียงกับมุม “โหราศาสตร์-พยากรณ์” หนังสือธรรมะกับหนังสือโหราศาสตร์รวมกันแล้ว น่าจะมากกว่าหนังสือด้านประวัติศาสตร์ การเมือง การศึกษา วิทยาศาสตร์

ดูรายชื่อหนังสือแล้ว มีตั้งแต่เกิดแต่กรรม สะแกนกรรม แก้กรรม สุขกันเถอะโยม ความสุขอยู่แค่เอื้อม สุขทุกลมหายใจ สุขทุกย่างก้าว นิพพานระหว่างวัน ไปจนถึงไอน์สไตน์พบพระพุทธเจ้าเห็น วิญญาณมีจริง ชาติหน้ามีจริง ฯลฯ แสดงว่าพุทธศาสนานี้ดีเป็นสิ่งบันดาลความสุขทุกประเภทได้สมอารมณ์หมาย และตอบปัญหาได้ครอบจักรวาลจริงๆ

แต่ทว่าทั้งหมดนั้น คำตอบสุดท้ายมุ่งตอบโจทย์ของปัจเจกบุคคลเท่านั้น คือ “ความสุขทางจิตใจ” ของแต่ละคน คำถามที่ผุดขึ้นในใจผมก็คือ หากพุทธศาสนาเป็นเพียงแค่เรื่องของการดูจิตดูใจ วิพากษ์วิจารณ์จิตใจตนเอง เพื่อผลสุดท้ายคือความพ้นทุกข์ “ทางจิตใจ” ของใครของมันเท่านั้น ไม่เกี่ยวอะไรกับมิติทางสังคม เช่น ความเป็นธรรม ความเท่าเทียมในความเป็นคน เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แล้วเหตุใดสังคมจึงควรลงทุนเพื่อพุทธศาสนา หรือแบกภาระของการมีพุทธศาสนาด้วยต้นทุนทั้งที่เป็นเงิน และอื่นๆ มากมายขนาดนี้

คือหาก “คำตอบที่แท้จริง” ของพุทธศาสนาเป็นเพียงแค่เรื่องของการดูจิตดูใจเพื่อในที่สุดแล้วนาย ก นาย ข จะพ้นทุกข์ทางจิตใจ มีสุขทุกลมหายใจ มีสุขทุก้าวย่าง ฯลฯ เท่านั้น เรื่องพ้นทุกข์ทางจิตใจ สุขทุกลมหายใจ หรืออะไรเทือกนี้มันเป็นเรื่อง “ส่วนตัวล้วนๆ” มิใช่หรือ เหตุใดสังคมจึงควรลงทุนอุปถัมภ์ค้ำชูสถาบันทางพุทธศาสนา เช่น วัด พระสงฆ์ การศึกษาทางศาสนา การสร้างศาสนวัตถุจำนวนมหาศาล ทั้งเป็นการลงทุนในนามของการกุศล และลงทุนด้วยงบประมาณแผ่นดิน

คำถามนี้ผมคิดว่าเป็นคำถามที่ซีเรียสมาก เพราะถึงจะบอกว่าพุทธศาสนาสอนศีลธรรม สอนให้คนทำความดี เป็นคนดี แต่ถ้าผลสุดท้าย หรือ “ผลสูงสุด” ของศีลธรรม ความดี การเป็นคนดีนั้นเป็นเพียงแค่ความสุขทุกลมหายใจ ความสุขทุกย่างก้าว ความพ้นทุกข์ทางจิตใจหรือจะเรียกอะไรก็ตาม แต่ “เนื้อหา” หรือ “คุณค่า” ของมันคือมันเป็น “ของส่วนตัวล้วนๆ” หรือเป็น “ความสุขที่รู้ได้เฉพาะตัว” เท่านั้น อย่างที่เรียกกันว่าเป็น “ปัจจัตตัง” แล้วเหตุใดจึงควรมีการลงทุนทางสังคมอย่างมหาศาลเพียงเพื่อ “สุขส่วนตัว” ที่ว่านี้!

จะว่าไปแล้ว สังคมสมัยพุทธกาลไม่น่าจะมีการลงทุนเพื่อความสุขส่วนตัวดังกล่าวนี้ ใครที่ต้องการความสุขส่วนตัวเช่นนี้ก็มักจะปลีกตัวออกไปอยู่ป่า แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปพุทธศาสนาถูกทำให้เป็น “สถาบันทางสังคม” โดยเฉพาะสังคมไทยนั้น วัดอารามสร้างใหญ่โตอลังการ พระสงฆ์ถูกสถาปนาให้มียศถาบรรดาศักดิ์ และมีแม้กระทั่งรถเบนซ์ส่วนตัวไม่ต่างอะไรกับเจ้าใหญ่นายโตฝ่ายฆราวาส ถามว่าการบริจาคทำบุญรูปแบบต่างๆ การสถาปนาสถาบันทางศาสนา การจัดงบประมาณเพื่อสนับสนุนการศึกษา การอบรมสั่งสอนเผยแผ่พุทธศาสนาทั้งหลายทั้งปวงเพียงเพื่อเป้าหมายสุดท้าย หรือ “เป้าหมายสูงสุด” คือ “ความสุขทุกลมหายใจ” อันเป็นเรื่องส่วนตัวของปัจเจกบุคคลเท่านั้นหรือ

ซ้ำร้ายกว่านั้นคือ มีการปลูกฝังอบรมให้ผู้คนเคารพนับถือ “ผู้บรรลุความสุขส่วนตัว” นั้น ราวกับว่าเขาเป็นผู้วิเศษ เป็นฮีโร่ เป็น “อภิมนุษย์” ด้วยเหตุผลเพียงเพราะว่า ผู้บรรลุความสุขส่วนตัวเช่นนั้นแล้วจะสอนให้คนอื่นๆ บรรลุความสุขส่วนตัวเช่นตนบ้าง

ชาวพุทธอาจบอกว่า คนที่จะบรรลุความสุขส่วนตัวเช่นนั้นได้ เขาต้องเป็นคนดีมีศีลธรรม หรือปฏิบัติธรรมอย่างดีเลิศ จนเป็น “ผู้บริสุทธิ์” ฉะนั้น เขาจึงน่าเคารพเลื่อมใส แต่ว่าการปฏิบัติธรรม การเป็นคนดี การเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ว่านั้นโดย “แก่นสาร” ของเป้าหมายสุดท้ายจริงๆ ก็คือ “เรื่องส่วนตัว” หรือปัจจัตตังเท่านั้นมิใช่หรือ เมื่อเป็นเช่นนี้เรื่องศาสนาก็ควรให้เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลล้วนๆ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องสถาปนาให้เป็นสถาบันทางสังคม หรือเป็นเรื่องที่สังคมต้องลงทุนใดๆ

ฉะนั้น หากพุทธศาสนาเป็นแค่เรื่องของการดูจิต ดูใจตนเอง เป็นแค่เรื่องวิพากษ์วิจารณ์จิตใจของตนเอง เป็นเรื่อง “นิพพานระหว่างวัน” นิพพานถาวร หรือสุขทุกลมหายใจ สุขทุกก้างย่างของใครของมัน การดำรงอยู่ของพุทธศาสนาก็ไม่มีความหมายทางสังคมใดๆ เลย ต้นทุนทุกประเภทที่สังคมนี้ให้แก่พุทธศาสนาย่อมเป็นการไม่คุ้มค่า

มีแต่ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า พุทธศาสนามีมิติทางสังคม เช่น ส่งเสริมความเป็นธรรมทางสังคม ส่งเสริมการเคารพความเสมอภาค เสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเป็นธรรมทาสงเศรษฐกิจ สันติภาพ ส่งเสริมการสร้างคุณค่าความหมายของชีวิตในวิถีทางการเสียสละ การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม และความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์เท่านั้น พุทธศาสนาจึงมี “ความชอบธรรม” ที่จะรับการอุปถัมภ์จากสังคมในด้านต่างๆ

แต่ด้วยเหตุที่สังคมพุทธปลูกฝังกันมาว่า พุทธศาสนาเป็นเพียงเรื่องการดูจิตดูใจตนเองเท่านั้น เป็นเรื่องละโลภ โกรธ หลง เพื่อสุขทุกลมหายใจเท่านั้น นักปฏิบัติธรรมหรือบรรดาชาวพุทธผู้ “ทรงภูมิรู้ ภูมิธรรม” ทั้งหลายจึงมักจะมีทัศนะว่า การต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความเป็นธรรมทางสังคมอย่างที่ประชาชนออกมาต่อสู้แล้วถูกฆ่าซ้ำแล้วซ้ำเล่านั้น เป็นเรื่องทางโลก เป็นเรื่องของคนมีกิเลส ไม่ใช่เรื่องทางธรรม การตายเพื่อประชาธิปไตยของประชาชนมองจากสายตาของสังคมพุทธจึงไม่ใช่เรื่องควรยกย่อง

เพราะการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เพื่อเสรีภาพ เพื่อประชาธิปไตย ไม่ถูกนับเข้าใน “การปฏิบัติธรรม” จึงไม่ใช่ “ความดี” ที่ทำให้เป็น “คนดี” ซึ่งมุ่งไปสู่ “ความสุขที่บริสุทธิ์” หรือสุขทุกลมหายใจ

วัฒนธรรม ประเพณี ศีลธรรม ความดี การเป็นคนดีในสังคมพุทธถูกสถาปนาขึ้นเพียงเพื่อนำไปสู่คำเชิญชวนที่ว่า “สุขกันเถะโยม” เท่านั้นหรือ ไม่เกี่ยวกับมิติความเป็นธรรมหรือมิติใดๆ ทางสังคมจริงหรือ ถ้าเป็นเช่นนี้จริงๆ แล้วทำไมสังคมจึงควรลงทุนเพื่อพุทธศาสนาอย่างมหาศาลด้วยเล่า!  

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปัญหาโครงสร้างภาษีไม่เป็นธรรม : พูดกันมานาน เมื่อไรจะแก้ไขสำเร็จ

Posted: 02 Aug 2011 06:31 AM PDT

ก่อนที่จะมีเสียงเซ็งแซ่ของบรรดานายทุน นักวิชาการ ผู้นำแรงงาน เกี่ยวกับการสนับสนุน คัดค้านการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทผ่านสื่อมวลชน ในท่ามกลางการต่อสู้เรียกร้องให้มีการยุบสภาตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2553 จนถึงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งปี 2554 เสียงของประชาชนคนเสื้อแดงกร่นด่าถึงการใช้งบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีของประชาชนว่า รู้สึกเจ็บปวดกับการที่รัฐบาลและกองทัพนำเงินมาซื้อรถถัง เฮลิคอปเตอร์ สไนเปอร์ (sniper) และกระสุนทุกนัดมาเข่นฆ่าผู้ชุมนุมที่เห็นต่างจากผู้มีอำนาจรัฐในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 เช่นเดียวกันกับทหารที่หันปากกระบอกปืนยิงประชาชนมือเปล่าที่เสียภาษีเป็นเงินเดือนเลี้ยงคนเหล่านี้

เสียงแห่งความเจ็บปวดของประชาชนในเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึง การที่ผู้มีอำนาจรัฐขณะนั้นไม่สำนึกบุญคุณของประชาชน โดยเฉพาะคนชั้นล่างที่เสียภาษีทางอ้อมเป็นจำนวนมากถึง 60% ของรายได้ของรัฐ ซึ่งเป็นภาระของพวกเขามาก เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเหล้า บุหรี่ น้ำมัน ทว่าถูกนำไปจัดสรรเป็นงบประมาณของกองทัพเป็นจำนวนมหาศาล เพื่อใช้ปราบปราม ควบคุมประชาชนที่เห็นต่างในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ทางสื่อมากนักว่า รัฐบาลอำมาตย์ใช้งบประมาณไม่มีประสิทธิภาพ และไม่ได้ช่วยเหลือคนส่วนใหญ่จริง

คำถามจากนี้คือ รัฐจะต้องบริหารงบประมาณการคลังอย่างไรให้โปร่งใส มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เช่น ควรจะปรับเพิ่ม ลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นของกระทรวงใดบ้าง ควรบริหารงบประมาณอย่างไรเพื่อให้เศรษฐกิจปากท้องของประชาชนระดับล่างดีขึ้น ควรเพิ่มค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรายได้และสวัสดิการที่ดี ครอบคลุมทุกด้านแก่ประชาชนอย่างไร ควรจะหาเงินเข้ารัฐเพิ่มขึ้นหรือไม่ เท่าไรและหาจากไหน จะทำยังไงสำหรับกลุ่มอภิสิทธิชนที่ถือครองรายได้ ทรัพย์สิน ที่ดินในสัดส่วนที่มากกว่าคนส่วนใหญ่หลายเท่าตัว แถมยังได้รับการยกเว้นภาษีทรัพย์สิน ให้เสียกันสักทีในอัตราก้าวหน้า ไม่ใช่บอกให้คนชั้นล่างอยู่อย่างพอเพียงด้วยรายได้วันละ 150 บาท และสวัสดิการพอประมาณ ในขณะที่เงินเดือนระดับผู้แทน ผู้บริหาร ผู้ควบคุมจัดการถูกปรับให้สูงขึ้น นั่นคือรัฐบาลชุดใหม่จะต้องสามารถแก้ไขความ อยุติธรรมทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง

ความอยุติธรรมทางเศรษฐกิจเป็นผลมาจากการพัฒนาที่ไม่ทั่วถึง กระจุกอยู่ที่เมืองใหญ่บางแห่ง ทำให้คนร่ำรวยไม่กี่กลุ่ม และทำให้เกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนถึง 14 เท่าซึ่งมากกว่าอดีต แม้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของสินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ (จีดีพี) จะเติบโตเพราะมีการผลิตจำนวนมาก แต่แลกมาด้วยการดำเนินชีวิตด้วยค่าแรงขั้นต่ำรายวันของผู้ใช้แรงงาน ที่ทำให้ฐานเงินเดือนต่ำ ต้องขยายเวลาทำงาน ทำงานหนัก ไม่มีเวลาพักผ่อน อยู่กับครอบครัวและพัฒนาศักยภาพ ซึ่งหมายความว่ารายได้และสวัสดิการหรือเศรษฐกิจจุลภาค (ระดับล่าง) ไม่เติบโตสอดคล้องกับจีดีพี ทั้งยังไร้เสถียรภาพเพราะเมื่อมีอายุมากขึ้น ก็จะถูกเขี่ยให้ออกไปจากโรงงาน ถ้าเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ก็จะถูกลดทอนสวัสดิการ โอทีและถูกเลิกจ้าง ซ้ำเติมด้วยการกระทำของรัฐที่ผลักไสให้ไปใช้ชีวิตพอเพียงที่บ้านนอก ผลักภาระให้แก่ครอบครัวในชนบท แทนที่จะจ่ายค่าชดเชยเต็มจำนวนของเงินเดือนให้แก่ผู้ที่เดือดร้อน เพิ่มสวัสดิการแก่คนในท้องถิ่น และแก้ไขปัญหาการเอารัดเอาเปรียบในสังคม

ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 : การต่อสู้ที่ยังไม่สิ้นสุด

หลังจากที่นโยบายประชานิยม 30 บาทรักษาทุกโรคประสบความสำเร็จในการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของคนจนในท้องถิ่น นโยบายในทำนองเดียวกันนี้ คือ เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท เงินเดือนปริญญาตรีจบใหม่ 15,000 และข้าวราคาเกวียนละ 15,000-20,000 ของพรรคเพื่อไทยที่ใช้ในการหาเสียงและได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งปี 54 ด้วยคะแนน 15.7 ล้านเสียง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเสียงจากประชาชนภาคอีสานและภาคเหนือ ที่เต็มไปด้วยประชากรผู้มีรายได้น้อย สวัสดิการไม่เพียงพอ ต้องประกาศใช้กับประชาชนทุกเชื้อชาติที่ทำงานให้แก่ประเทศนี้

การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทเป็นมาตรการขั้นต้นสำหรับเพิ่มมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ ไม่ใช่บอกให้ประชาชนดักดานกับมาตรฐานขั้นต่ำเดิมๆ ที่กระเถิบขึ้นน้อยมาก ตามไม่ทันกับค่าครองชีพที่สูง เช่น คนงานบางส่วนกินค่าแรงขั้นต่ำเป็นเวลาถึง 5 ปี บางส่วนถูกปรับขึ้นไม่เกิน 10 บาท หรืออีกกรณี คนงานแถวสมุทรปราการอายุงานถึง 10 ปีทำงานวันละ 12 ชั่วโมง ได้ค่าจ้างรวมวันละ 350 บาทเท่านั้น นอกจากนี้คำว่า “ค่าจ้างขั้นต่ำ” ยังถูกฝ่ายอนุรักษ์นิยมฉวยโอกาสเสนอให้อนุรักษ์มาตรฐานขั้นต่ำเดิมๆ ไว้ ซ้ำยังจะลดค่าแรงให้เหลือ 150 บาท พร้อมกับสวัสดิการที่ยังคงมีหลายมาตรฐานหลายชั้น

นับตั้งแต่การชูเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ได้มีบทความมากมายทั้งจากนายทุนที่ไม่เห็นด้วย เช่น สภาอุตสาหกรรม หอการค้า ผู้ประกอบการบางส่วน นักอนุรักษ์นิยม นักวิชาการเสรีนิยมจัด และที่สนับสนุน ได้แก่ นักวิชาการสายแรงงาน สายเศรษฐศาสตร์การเมือง ผู้ประกอบการที่เห็นหัวคนจน ผู้นำแรงงาน ซึ่งผู้อ่านสามารถหาอ่านได้ด้วยตนเอง และผู้เขียนเห็นด้วยว่านโยบายประชานิยมจำเป็นในช่วงหนึ่งเพราะช่วยลดภาระ แก้ไขปัญหาความยากจนแก่คนชั้นล่างได้ ตามหลักการดังนี้

  1. เพิ่มรายได้ตามหลักการการกระจายรายได้ให้แก่ประชาชนผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน ชาวนารายย่อย รายกลางที่มีอาชีพรับจ้างเสริม แม้จะเพิ่มต้นทุนด้านแรงงานในการผลิตข้าว แต่มีการชดเชยด้วยการเพิ่มราคาข้าวเป็นเกวียนละ 15,000-20,000 บาท
  2. ยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่สูงขึ้น คนทำงานมีตัวเลือกในชีวิตมากขึ้น เช่น ลดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาเพื่อพักผ่อน ฟื้นฟูร่างกาย
  3. เพิ่มอำนาจการซื้อตามหลักการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ตลาดภายในประเทศ ตลาดที่เป็นคนส่วนใหญ่ ได้แก่ ผู้ใช้แรงงาน (มนุษย์ค่าจ้าง) และชาวนา

นโยบายประชานิยมช่วยสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจของคนชั้นล่างในเฉพาะหน้านี้ แต่ไม่เพียงพอ เพราะยังมีปัญหาเรื่องงบประมาณ ที่จะนำมาสร้างหลักประกันชีวิตครอบคลุมทุกด้าน ไม่ว่าสมัยไหน โครงสร้างภาษีไม่เป็นธรรมก็ยังไม่แก้ไขให้สำเร็จ ในทำนองเดียวกันกับการไม่ปฏิรูปกองทัพ นอกจากนี้ ประชานิยมเป็นการแก้ไขปัญหาประเด็นเดียวในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งเราเคยผ่านประสบการณ์มาแล้วสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ทว่าปัญหาโครงสร้างความเหลื่อมล้ำกลับทวีความสำคัญในช่วงวิกฤตการเมืองปัจจุบัน ไม่ต่างจากกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยเต็มใบ (ไม่มีอีแอบ)

จัดเก็บภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้า : การต่อสู้นับจากนี้

การค้าขายสินค้าและบริการที่ขึ้นชื่อของประเทศ การลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมของนักลงทุนจากต่างประเทศ การเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ การกระตุ้นให้มีการจับจ่ายใช้สอย เพื่อหวังให้จีดีพีเติบโต ผู้คนมีรายได้มากขึ้น และเสียภาษีให้แก่รัฐทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นรายได้นำมาบริหารประเทศ ทว่าหากอัตราการเก็บภาษีมีลักษณะถอยหลัง มีข้อยกเว้น ลดหย่อนแก่คนรวย เช่นที่ระบุในร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของรัฐบาลชุดก่อน จีดีพีที่เติบโตก็ไม่สามารถลดปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนได้ หากไม่มีการเก็บภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้า เพิ่มความโปร่งใส ประสิทธิภาพในการจัดเก็บและบริหาร

คนรวยจำนวน 20% ของประชากรทั้งหมดในประเทศมีรายได้เท่ากับ 50%-60% ของจีดีพี มีบัญชีเงินฝากธนาคาร ถือครองที่ดินจำนวนมาก ซื้อขายที่ดินเก็งกำไร เล่นหุ้น และคนรวยสุดมีรายได้มากกว่ากลุ่มคนจนสุด 14 ในปัจจุบันซึ่งมากกว่าปี 2531 (11.88 เท่า) ในขณะที่สัดส่วนภาษีที่เก็บได้ต่อจีดีพี (8.8 ล้านล้านบาท) [1] คือ 15.6% ในปี 2552 หรือประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท [2] แบ่งเป็นรายได้จากภาษีทางตรง ภาษีทางอ้อม และเงินกู้ รายได้จากภาษีทางอ้อมที่เก็บจากฐานการบริโภคสินค้าและบริการเป็นแหล่งรายได้ภาษีอากรที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา รายได้ภาษีทางอ้อมที่ว่านี้มีภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต และโดยรวมรัฐสามารถจัดเก็บภาษีทางอ้อมได้มาก คิดเป็นอัตราการจัดเก็บภาษีทางอ้อมต่อภาษีทางตรงโดยเฉลี่ยประมาณ 63 ต่อ 37 นั่นหมายความว่า คนส่วนใหญ่ที่เป็นแรงงาน ชาวนาเสียภาษีในสัดส่วนที่มากกว่าคนรวยที่รวยกว่า 14 เท่า

นักวิชาการได้นำเสนอรายละเอียดของปัญหาไปแล้วมากมายและนำเสนอมาหลายปี กระทั่งเสนอตัวเลขว่า หากเพิ่มฐานการเก็บภาษีทรัพย์สินจากคนรวยจำนวนสามแสนกว่าคน จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่ำร้อยละ 22 ของจีดีพี อย่างไรก็ตามยังไม่มีการแก้ไขอย่างเอาจริงเอาจัง เป็นเพราะอะไรนั้น น่าจะมาจากสาเหตุดังนี้

  1. รัฐบาลยึดแนวนโยบายเสรีนิยมตามก้นอเมริกา เร่งให้จีดีพีเติบโต เพื่อให้มีรายได้จัดเก็บมากขึ้น แม้จะมีวิกฤตทุนนิยมเกิดขึ้นเป็นระลอกๆ และช่องว่างความเหลื่อมล้ำไม่มีทีท่าจะลดลงก็ตาม
  2. พรรคการเมืองกระแสหลักไม่พยายามจะแก้ไขโครงสร้างการจัดเก็บภาษีที่เหลื่อมล้ำ เพราะมีเสียงคัดค้านจากเจ้าสัวในพรรคประชาธิปัตย์ และจากพลังฝ่ายทุน เช่น หอการค้าไทย เมื่อมีการจะปรับปรุงการเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า เสียงของคนส่วนน้อยมักดังกว่าเสียงของคนส่วนใหญ่
  3. พลังฝ่ายทุนนิยมอำมาตย์เข้มแข็ง เพราะมีผู้นำบางคนได้รับการยกเว้นภาษี และมีวาทกรรมเศรษฐกิจพอเพียง แนวประชาสงเคราะห์แพร่หลายในสื่อกระแสหลักและรัฐบาลชุดก่อนยึดเป็นแนวทางด้วย
  4. พลังของประชาชนรากหญ้ายังไม่เข้มแข็งพอที่จะผลักดันไปสู่การแก้ไข ด้วยหลายปัจจัย ได้แก่ ถูกลดทอนอำนาจการต่อรองในรูปแบบและวิธีการต่างๆ เช่น ถูกลดทอนสิทธิการเลือกตั้ง ถูกกลั่นแกล้งเมื่อรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน ถูกเลิกจ้างง่ายดายทั้งในยามปกติและยามวิกฤต อีกทั้งไม่มีสื่อสาธารณะที่เป็นกระบอกเสียงของฝ่ายประชาธิปไตย

ฉะนั้นสิ่งที่จะทะลุทะลวงวาทกรรมความเมตตา ประชาสงเคราะห์ ทำบุญ บริจาค ไปจนถึงแนวเสรีนิยม-ทุนนิยมเอาแต่ได้ ไม่เห็นหัวคนจน ภาคประชาชนคนเสื้อแดงสามารถใช้กระแสที่ฝ่ายตนเองตื่นตัวทางการเมืองสูงเป็นประวัติการณ์ เสนอนโยบายที่สร้างความเป็นธรรม ความเท่าเทียม ด้วยการออกมาเรียกร้องให้มีการเก็บภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้า และสร้างวาทกรรมของฝ่ายประชาธิปไตย ดังตัวอย่างวลีสั้นๆ ด้านล่างนี้

แรงงานคือผู้สร้าง แต่ทำไมยากจน ส่วนคนวิ่งเต้น ทำไมถึงรวย
โครงสร้างภาษีไม่ต่างจากอำมาตย์ ที่ขาดความก้าวหน้าและความยุติธรรม
ภาษีทรัพย์สิน เครื่องมืออันทรงพลัง ช่วยสร้างความสุขถ้วนหน้า
เก็บภาษีก้าวหน้า ช่วยลดคอรัปชั่น ลดอาชญากรรม
เก็บภาษีก้าวหน้า รวยมากเสียมาก รวยกลางๆ เสียกลางๆ จนไม่ต้องเสีย
เศรษฐีที่ดินต้องเสียภาษีที่ดิน เศรษฐีคฤหาสน์ มีอพาร์ทเม้นท์ให้เช่าก็เสียด้วยนะ
ความเมตตา-ประชาสงเคราะห์อาจช่วยพลังใจ แต่ภาษีก้าวหน้าช่วยพลังสมองและท้องอิ่ม
ทำบุญอาจได้ชาติหน้า แต่เก็บภาษีก้าวหน้าได้ชาตินี้
เป็นผู้นำ ต้องทำเป็นเยี่ยงอย่าง ไม่มีอภิสิทธิ์นะ

ในการรณรงค์และขอมีส่วนร่วมเสนอนโยบายเพื่อความเป็นธรรมในสังคม คงไม่ทำแค่ในเชิงสัญลักษณ์ แต่ควรมี Sense /ความตระหนักให้มีการเดินหน้าแก้ไขปัญหาการจัดเก็บภาษีไม่เป็นธรรมให้สำเร็จ เราเชื่อว่ามีคนรวยหลายคนเต็มใจ มีประชาชนจำนวนมากเรียกร้อง เรื่องนี้พูดกันมานานแล้ว คนส่วนใหญ่ก็เสียสละมามาก โปรดเดินหน้าแก้ไขเถิด (Move forward NOW!)

- - - - - - - - - -

อ้างอิง

  1. วุฒิพงษ์ จิตตั้งสกุล. การบริหารรายได้รายจ่ายของรัฐบาล. สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง. ไม่ระบุปีที่พิมพ์. http://www.bot.or.th/Thai/AboutBOT/project/Northern/econ_Trainning/econ10-220410.pdf
  2. กระทรวงการคลัง. ข่าวกระทรวงการคลังฉบับที่ 151/2552. http://www.mof.go.th/News2009/151.pdf
     
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“ครอบครัวนักกิจกรรมใต้” หนุนนโยบาย “รัฐบาลเลือกตั้ง”

Posted: 02 Aug 2011 05:36 AM PDT

ครอบครัวนักกิจกรรมภาคใต้ออกแถลงการณ์ส่งถึงรัฐบาลใหม่ ระบุไม่เห็นด้วยรัฐประหาร มีหวังกับรัฐบาลตามระบบเลือกตั้ง พร้อมเรียกร้องให้ทบทวนแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้คุ้มทุนหรือไม่ จี้ให้ประชาชนร่วมตัดสินใจ

 
วานนี้ (1 ส.ค.54) ครอบครัวนักกิจกรรมภาคใต้ออกแถลงการณ์ฉบับ ที่1/2554 ระบุข้อความส่งถึงพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง แจงพร้อมสนับสนุนนโยบายที่เห็นหัวคนจน นโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม ซึ่งพรรคการเมืองต้องดำเนินการต่อไปอย่างเข้มแข็ง พร้อมกับต้องไม่ละเลยการมีส่วนร่วมของมวลชน โดยสิ่งที่อยากเห็นในอนาคตคือนโยบายของพรรคการเมืองที่มาจากความต้องการที่แตกต่างกันของประชาชนในแต่ละภูมิภาค
 
แถลงการณ์ระบุด้วยว่า ในส่วนของแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ทางพรรคต้องแสดงความกล้าหาญและจริงใจต่อมวลชน ในทบทวนโครงการทั้งหมดที่ต่อเนื่องมาจากรัฐบาลที่แล้วว่ามีความคุ้มทุนหรือไม่ โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของมวลชนเป็นตัวตั้งในการดำเนินโครงการใดๆ ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนหรือสังคมท้องถิ่นนั้นๆ และพรรคต้องสนับสนุนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นตามที่ชุมชนกำหนด เพราะพรรคเป็นพรรคของมวลชน มวลชนเลือกพรรคเข้ามา ไม่ได้เข้ามาโดยอำนาจพิเศษ
 
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทางครอบครัวนักกิจกรรมภาคใต้ได้ประกาศจุดยืนทางการเมืองมาตั้งแต่ต้นว่า ไม่ยอมรับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ไม่ยอมรับนายกที่มาจากมาตรา 7 และสนับสนุนให้แก้หรือยกเลิกมาตรา 112 อีกทั้ง สนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศในระบอบรัฐสภา ตามฉันทานุมัติของคนสวนใหญ่ในสังคมที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจทางการเมือง
 
 
 
แถลงการณ์ฉบับ ที่1/2554
จากครอบครัวนักกิจกรรมภาคใต้
 
ต่อสถานการณ์ทางการเมืองหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) มีพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นประธานคณะ ซึ่งถูกแต่งตั้งโดยอำนาจพิเศษ ในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 19 กันยายน 2549 หลังจากการทำรัฐประหารเพียงไม่กี่ชั่วโมง จนนำมาสู่ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง มีกลุ่มการเมืองที่ออกมาเคลื่อนไหวทั้งสนับสนุนและคัดค้านการรัฐประหารดังกล่าว และนำมาสู่การล้อมปราบประชาชนที่แยกราชประสงค์ในวันที่ 11-13 พฤษภาคม 2553 ทำให้มีการเสียชีวิต 90 กว่าศพ ซึ่งจนถึงวันนี้ยังหาข้อสรุปและผู้รับผิดชอบไม่ได้
 
ซึ่งที่ผ่านมาทางครอบครัวนักกิจกรรมภาคใต้ได้ประกาศจุดยืนทางการเมืองมาตั้งแต่ต้นว่า ไม่ยอมรับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ไม่ยอมรับนายกที่มาจากมาตรา 7 และสนับสนุนให้แก้หรือยกเลิกมาตรา112 ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้อยู่ในครรลองของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศในระบอบรัฐสภา ตามฉันทานุมัติของคนสวนใหญ่ในสังคมที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจทางการเมือง
 
และในวันนี้เรามีพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง พร้อมกับนโยบายที่เห็นหัวคนจนหลายๆ นโยบายที่ได้ประกาศเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม และเราก็สนับสนุนนโยบายที่ดีเหล่านี้ให้พรรคทำต่อไปอย่างเข้มแข็ง ซึ่งพรรคเองต้องไม่ละเลยการมีส่วนร่วมของมวลชน และในอนาคตสิ่งที่เราอยากเห็นคือเอาความต้องการของมวลชนในแต่ละภาคที่มีความต้องการต่างกันเป็นนโยบายของพรรค
 
ในส่วนของแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ทางพรรคต้องแสดงความกล้าหาญและจริงใจต่อมวลชน ในการสานต่อโครงการที่มาจากรัฐบาลที่แล้วมาและต้องทบทวนโครงการทั้งหมดว่ามีการคุ้มทุนหรือไม่ ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของมวลชนเป็นตัวตั้งในการดำเนินโครงการใดๆ ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนหรือสังคมท้องถิ่นนั้นๆ และพรรคต้องสนับสนุนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นตามที่ชุมชนกำหนด เพราะพรรคเป็นพรรคของมวลชน มวลชนเลือกพรรคเข้ามา ไม่ได้เข้ามาโดยอำนาจพิเศษ
 
ด้วยสำนึกต่อพลังมวลชนและประชาธิปไตย
ครอบครัวนักกิจกรรมภาคใต้
 
1 สิงหาคม 2554
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รอบโลกแรงงาน กรกฎาคม 2554

Posted: 02 Aug 2011 03:22 AM PDT

 
 
คนงานเหมืองอินโดนีเซียหยุดงานประท้วง จี้ผู้บริหารเพิ่มค่าแรง
 
4 .. 54 - คนงานเหมืองกราสเบิร์ก ในจังหวัดปาปัวของอินโดนีเซีย ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในเหมืองทองและทองแดงที่ใหญ่ที่สุดของโลก ราว 10,000 คน เตรียมผละงานประท้วง หลังจากไม่สามารถเจรจาทำความตกลงกับฝ่ายบริหารของเหมืองเพื่อเพิ่มค่าจ้างให้กับพนักงานได้ ในขณะเดียวกับที่มีการไล่บรรดาแกนนำในสหภาพคนงานเหมืองออกจากตำแหน่งในเหมืองแห่งนี้อีกด้วย
 
จูลี่ ปาโรรอนกัน แกนนำของคนงานเหมืองที่ก่อหวอดในครั้งนี้ระบุว่า การผละงานประท้วงเกิดขึ้นหลังจากที่ตัวแทนของสหภาพแรงงานและฝ่ายบริหารของเหมืองไม่สามารถทำความตกลงกันได้เรื่องการปรับค่าจ้างจาก 1.8 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง เป็น 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง และการนัดเจรจาใหม่อีกรอบก็ไม่ประสบผล ทำให้ต้องผละงานและคาดว่าจะมีคนงานเหมืองใกล้เคียงเข้ามาร่วมในการหยุดงานประท้วงดังกล่าวนี้ด้วย
 
เหมืองกราสเบิร์ก เป็นกิจการเหมืองของบริษัท ฟรีพอร์ต-แม็คโมรัน ของสหรัฐอเมริกา และตกเป็นข่าวบ่อยครั้งในระยะหลังเนื่องจากเกิดเหตุประท้วงรุนแรงขึ้นนอกเหนือจากที่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกล่าวหาว่าเป็นตัวการทำลายสิ่งแวดล้อมและไม่ยอมแบ่งปันผลกำไรอย่างเป็นธรรมในขณะที่โฆษกของฟรีพอร์ตฯอ้างว่าการผละงานดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
 
เผยผู้หญิงอเมริกันเสี่ยงตกงานมากกว่าผู้ชาย
 
7 ก.ค. 54 - ตั้งแต่ความตกต่ำทางเศรษฐกิจสิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายน 2552 ผู้ชาวชาวอเมริกันคว้างานไปแล้ว 768,000 ตำแหน่ง ขณะที่ในหมู่ผู้หญิงคนมีงานทำลดลง 218,000 ราย
 
ยูเอสเอ ทูเดย์อ้างผลการสำรวจของศูนย์วิจัยพิวว่า ถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1960 ที่บุรุษประสบความสำเร็จด้านการหางานมากกว่าสตรี โดยนักเศรษฐศาสตร์มองว่าเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของงานในภาคการผลิตและอุตสาหกรรมซึ่งเน้นใช้แรงงานฝ่ายชาย ขณะเดียวกันก็มีการปลดเจ้าหน้าที่ภาครัฐจำนวนมากซึ่งส่วนใหญ่ผู้ทำตำแหน่งเหล่านั้นเป็นผู้หญิง
 
ในช่วงเศรษฐกิจดิ่งเหวนั้นแรงงานชายในอุตสาหกรรมการผลิตและก่อสร้างถูกลอยแพประมาณ 4 ล้านคน ขณะที่ในภาคการศึกษาและสาธารณสุขซึ่งเต็มไปด้วยพนักงานหญิงนั้นมีการปลดคนเพียง 619,000 คน ทำให้ช่วงมิถุนายน 2552 นั้นสตรีที่มีงานมีจำนวนใกล้เคียงกับบุรุษที่ราว 65 ล้านคน แต่หลังจากนั้นผู้ชายก็เริ่มทิ้งห่างจนปัจจุบัน ตัวเลขฝ่ายชายที่ได้รับค่าจ้างอยู่ที่ 66.1 ล้านคน ส่วนผู้หญิง 64.9 ล้านคน
 
คนงานเก็บขยะอังกฤษได้หยุดงานประท้วง คัดค้านนโยบายรัดเข็มขัด
 
8 ก.ค. 54 - สำนักข่าวต่างประเทศแพร่ภาพ กองขยะจำนวนมหาศาลกองกระจายเกลื่อนทั่วเมืองเซาธ์แฮมป์ตันในประเทศอังกฤษ เนื่องจากพนักงานเก็บขยะได้หยุดงานประท้วงคัดค้านข้อเสนอลดค่าใช้จ่าย และสภาพแวดล้อมต่างๆ ในการทำงาน มากว่า 7 สัปดาห์แล้ว จนทำให้เมืองแห่งนี้ถูกรังควานด้วยกองทัพหนู อีกทั้งยังส่งกินเหม็นคละคลุ้งไปทั่วบริเวณ
 
อย่างไรก็ตามประธานสภาเมืองได้ตัดสินใจจ้างผู้รับเหมาให้เข้ามาเคลียร์ขยะกองมหาศาลนี้ โดยในแต่ละสัปดาห์จะมีขยะที่ถูกเก็บราว 1,400 ตัน แต่ผลจากการหยุดนานทำให้มีขยะเพิ่มขึ้นอีกหลายร้อยตันแล้ว โดยเขาบอกว่าคงต้องใช้เวลา 2 หรือ 3 สัปดาห์สำหรับกำจัดถุงขยะเหล่านี้ให้หมดไป
 
มาเลเซียเลื่อนแผนนิรโทษกรรมแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย
 
11 ก.ค. 54- นายฮิชามมุดดิน ฮุสเซน รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยมาเลเซียเปิดเผยวันนี้ว่า มาเลเซียกำลังเลื่อนโครงการนิรโทษกรรมคนงานต่างชาติผิดกฎหมายราว 2 ล้านคนออกไป
 
เดิมโครงการดังกล่าวจะเริ่มในวันนี้ แต่นายฮุสเซน เปิดเผยว่า ได้ตัดสินใจเลื่อนการขึ้นทะเบียนแรงงานผิดกฎหมายผ่านระบบชีวมิติออกไปจนกว่าจะเตรียมความพร้อมมากกว่านี้ เพราะมีปัญหาทางเทคนิคและความมั่นคงแห่งชาติที่เจ้าหน้าที่ต้องแก้ไขก่อนจะเดินหน้าโครงการดังกล่าวต่อไป มาเลเซียประกาศโครงการนิรโทษกรรมดังกล่าวในเดือนที่แล้ว เพื่อจัดการกับแรงงานต่างชาติจำนวนมาก โดยโครงการดังกล่าวจะอนุญาตให้แรงงานเถื่อนจำนวนหนึ่งได้รับการจ้างงานโดยถูกกฎหมาย ส่วนที่เหลือสามารถเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ต้องถูกลงโทษ เช่น จำคุกและเฆี่ยนด้วยหวาย นอกจากนี้ ยังจะช่วยไม่ให้แรงงานต้องตกเป็นเหยื่อของแก๊งค้ามนุษย์
 
กฎหมาย​แรงงานฮัง​การีที่ระบุ​ให้​ทำงาน 44 ชั่ง​โมงต่อสัปดาห์ ผ่าน​การ​เห็นชอบ​แล้ว
 
12 .. 54 - สมาชิกรัฐสภาร่างประมวลกฎหมาย​แรงงานว่าด้วย​เรื่อง ชั่ว​โมง​การ​ทำงาน​ในสัปดาห์ ​การทดลองงาน ​และ​การ​ให้วันหยุดพนักงาน ดังนี้
 
- อนุญาต​ให้นายจ้าง​เพิ่งชั่ว​โมง​การ​ทำงาน​โดย​ไม่ต้อง​เพิ่มค่า​แรง ​เช่น ​แทนที่จะ​ทำงาน ๔o ชั่ว​โมงต่อสัปดาห์ สามารถ​เปลี่ยน​เป็น ๔๔ ชั่ว​โมงต่อสัปดาห์​ได้ หากชั่ว​โมง​การ​ทำงานของลูกจ้างน้อยลง​ในช่วงที่​เกิดวิกฤตทาง​การ​เงิน
 
- ลูกจ้างที่​ทำงานล่วง​เวลาจะ​ได้รับ​เงินชด​เชย ​หรือถ้านายจ้างจะ​เปลี่ยนจาก​การจ่าย​เงินชด​เชย​เป็นวันหยุด​แทนนั้น ช่วง​เวลาหยุดจะต้องมีระยะ​เวลา​เท่ากับชั่ว​โมงที่ลูกจ้าง​ได้​ทำล่วง​เวลา​ไป
 
- วันหยุดประจำปีต้องถูก​แบ่ง​เป็นสองช่วง​หรือมากกว่า ​แต่ละครั้งต้อง​ไม่​เกิน ๑๔ วัน  กรณีที่ลูกจ้างหมดสัญญา​แต่ยังมีวันหยุดชด​เชย​เหลืออยู่ ลูกจ้าง​ไม่สามารถที่จะ​เรียกร้อง​เป็นค่าชด​เชย​เป็น​เงินค่าจ้าง​แทน​ได้
 
- นายจ้างสามารถกำหนดระยะ​เวลาทดลองงาน​เป็นระยะ​เวลา ๖ ​เดือน​ได้ ถ้าลูกจ้างตกลง​ในสัญญาว่าจ้าง  ​ไม่​เช่นนั้นช่วงทดลองงานจะมีระยะ​เวลา​แค่ ๓o วัน
 
- ลูกจ้างจากนอก​เขต​เศรษฐกิจยุ​โรป สามารถ​เข้ามา​ทำงาน​ในสหภาพยุ​โรปง่ายขึ้น ​เนื่องจาก​ใบขออนุญาตมีถิ่นที่อยู่​และ​ใบขออนุญาต​ทำงานจะออก​ให้​ใน​เวลา​เดียวกัน
 
- พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลรวม​ถึง​การจ้างงานชั่วคราว ที่จำกัดอยู่​ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๕๑  ​ทั้ง​เต็ม​เวลา​และนอก​เวลา  ​ซึ่งง่ายต่อ​การกำหนด​แรงงานภาค​เกษตรตามฤดูกาลอีกด้วย
สมาชิกรัฐสภาร่างประมวลกฎหมาย​แรงงานว่าด้วย​เรื่อง ชั่ว​โมง​การ​ทำงาน​ในสัปดาห์ ​การทดลองงาน ​และ​การ​ให้วันหยุดพนักงาน ดังนี้
 
- อนุญาต​ให้นายจ้าง​เพิ่งชั่ว​โมง​การ​ทำงาน​โดย​ไม่ต้อง​เพิ่มค่า​แรง ​เช่น ​แทนที่จะ​ทำงาน ๔o ชั่ว​โมงต่อสัปดาห์ สามารถ​เปลี่ยน​เป็น ๔๔ ชั่ว​โมงต่อสัปดาห์​ได้ หากชั่ว​โมง​การ​ทำงานของลูกจ้างน้อยลง​ในช่วงที่​เกิดวิกฤตทาง​การ​เงิน
 
- ลูกจ้างที่​ทำงานล่วง​เวลาจะ​ได้รับ​เงินชด​เชย ​หรือถ้านายจ้างจะ​เปลี่ยนจาก​การจ่าย​เงินชด​เชย​เป็นวันหยุด​แทนนั้น ช่วง​เวลาหยุดจะต้องมีระยะ​เวลา​เท่ากับชั่ว​โมงที่ลูกจ้าง​ได้​ทำล่วง​เวลา​ไป
 
- วันหยุดประจำปีต้องถูก​แบ่ง​เป็นสองช่วง​หรือมากกว่า ​แต่ละครั้งต้อง​ไม่​เกิน ๑๔ วัน  กรณีที่ลูกจ้างหมดสัญญา​แต่ยังมีวันหยุดชด​เชย​เหลืออยู่ ลูกจ้าง​ไม่สามารถที่จะ​เรียกร้อง​เป็นค่าชด​เชย​เป็น​เงินค่าจ้าง​แทน​ได้
 
- นายจ้างสามารถกำหนดระยะ​เวลาทดลองงาน​เป็นระยะ​เวลา ๖ ​เดือน​ได้ ถ้าลูกจ้างตกลง​ในสัญญาว่าจ้าง  ​ไม่​เช่นนั้นช่วงทดลองงานจะมีระยะ​เวลา​แค่ ๓o วัน
 
- ลูกจ้างจากนอก​เขต​เศรษฐกิจยุ​โรป สามารถ​เข้ามา​ทำงาน​ในสหภาพยุ​โรปง่ายขึ้น ​เนื่องจาก​ใบขออนุญาตมีถิ่นที่อยู่​และ​ใบขออนุญาต​ทำงานจะออก​ให้​ใน​เวลา​เดียวกัน
 
- พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลรวม​ถึง​การจ้างงานชั่วคราว ที่จำกัดอยู่​ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๕๑  ​ทั้ง​เต็ม​เวลา​และนอก​เวลา  ​ซึ่งง่ายต่อ​การกำหนด​แรงงานภาค​เกษตรตามฤดูกาลอีกด้วย
 
ธุรกิจ “สีเขียว” อเมริกันจ้างงานกว่า 2.7 ล้านคน
 
18 ก.ค. 54 - บริษัทในสหรัฐที่ทำธุรกิจด้านพลังงานทางเลือกหรือสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับการประหยัดพลังงานจ้างงานรวมกันราว 2.7 ล้านคน พร้อมให้โอกาสก้าวหน้าและค่าจ้างแรงงานแก่คนงานฝีมือต่ำถึงปานกลางดีกว่าอุตสาหกรรมกระแสหลักด้วย
 
วอลล์สตรีต เจอร์นัลอ้างการวิจัยของสถาบันบรุคกิ้งและแบตเทลล์ว่า อุตสาหกรรมพลังงานสะอาดมีการจ้างงานมากกว่าอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลหรือวิทยาศาสตร์ชีวภาพ แต่ยังต่ำกว่าเซ็คเตอร์ไอที
 
โดยค่าจ้างเฉลี่ยในอุตสาหกรรมกรีนสูงกว่าค่าจ้างเฉลี่ยทั้งประเทศราว 13% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการได้รับอานิสงส์จากแพ็คเกจเงินช่วยเหลือที่สภาครองเกรสอนุมัติเมื่อปี 2552 ในรูปของเครดิตภาษี เงินสนับสนุน และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ
 
นอกจากนี้ยังพบว่า แม้ในช่วงปี 2546-2553 ธุรกิจพลังงานสะอาดจะเติบโตต่ำกว่าอัตราการขยายตัวของจีดีพีประเทศ แต่นับจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเป็นต้นมาอุตสากรรมกรีนก็มีอัตราการเติบโตสูงกว่ามาตลอด เนื่องจากเกิดการบูมในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดประเภทใหม่ๆ อย่าง พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์และระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (smart grid)
 
คนงานฟ็อกซ์คอนน์ตกตึกตายอีก
 
20 ก.ค. 54 - คนงานของฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี กรุ๊ป ผู้ผลิตสินค้าไฮเทคให้บริษัทดังหลายแห่งตกตึกเสียชีวิตทางตอนใต้ของจีน นับเป็นคนงานรายล่าสุดที่เสียชีวิตในลักษณะคล้ายการฆ่าตัวตายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
 
หนังสือพิมพ์อิโคโนมิกส์ไทมส์ในฮ่องกงรายงานว่า คนงานชายวัย 21 ปีตกจากชั้น 6 ของหอพักคนงานในเมืองเสิ่นเจิ้น รายงานอ้างเจ้าหน้าที่บริหารว่า คนงานรายนี้เพิ่งเข้ามาทำงานเป็นผู้ช่วยเมื่อเดือนก่อน และมีเวลาทำงานล่วงเวลารวมกันเพียง 2 ชั่วโมง การเสียชีวิตจึงไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับความเครียดในการทำงาน
 
ฟ็อกซ์คอนน์ผลิตไอโฟนและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ให้แอปเปิล นอกจากนี้ยังผลิตสินค้าให้เดลล์ ฮิวเลตต์-แพคการ์ด โนเกีย โซนีอีริคสัน ถูกกลุ่มสิทธิแรงงานวิจารณ์ว่าใช้งานหนัก มีคนงานฆ่าตัวตายสิบกว่าคนเมื่อปีก่อน บริษัทรับปากว่าจะปรับปรุงสภาพการทำงาน เพิ่มค่าจ้าง ลดการทำงานล่วงเวลา และกระจายสร้างโรงงานตามมณฑลที่อยู่ลึกเข้าไปจากชายฝั่งเพื่อให้คนงานมากกว่าล้านคนได้ทำงานใกล้บ้าน
 
ออสเตรเลียจะปราบปรามแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายอย่างรุนแรง
 
21 ก.ค. 54 - รัฐบาลออสเตรเลียประกาศแผนปราบปรามอย่างรุนแรงต่อแรงงานผิดกฎหมาย โดยระบุว่าขณะนี้มีชาวต่างชาติถึง 100,000 คนเข้ามาทำงานในออสเตรเลียโดยไม่ได้รับวีซ่าทำงานอย่างถูกต้อง
 
คำแถลงดังกล่าวมีขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายอิสระของออสเตรเลียกำลังทบทวนกฎหมายแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน และพบว่าปัญหาเกิดจากการขาดมาตรการยับยั้งขัดขวางที่มีประสิทธิภาพ
 
นายคริส โบเวน รัฐมนตรีกระทรวงคนเข้าเมือง กล่าวว่า จะยอมรับคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญที่ให้ปรับเงินภาคธุรกิจ 10,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (321,000 บาท) ต่อการว่าจ้างแรงงานผิดกฎหมาย 1 คน  และว่าผลการทบทวนกฎหมายโดยผู้เชี่ยวชาญบ่งชี้ว่า กฎหมายที่มีอยู่ปัจจุบันไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
 
ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายทำงานอยู่ในออสเตรเลียอย่างน้อย 50,000 คน และอาจจะมีมากกว่า 100,000 คน.
 
คนงานเหมืองทองแดงที่ใหญ่สุดในโลกในชิลี ประท้วงหยุดงาน
 
25 ก.ค. 54 - จดหมายของสภาพแรงงานชิลีระบุว่า เจ้าหน้าที่ที่เหมืองทองแดง เอสคอนดีดาในภาคเหนือของชิลี ซึ่งเป็นเหมืองทองแดงที่ใหญ่สุดในโลกกล่าวว่า การประท้วงของคนงานเหมืองกว่า 2,300 คนเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และขู่ว่าจะปลดพวกเขาออกจากงาน ด้านโฆษกสหภาพแรงงานเอสคอนดีดากล่าวว่า จดหมายถึงคนงานระบุว่า การกระทำของพวกเขาเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ แต่การหยุดงานเป็นสิ่งนอกเหนือกฎหมาย ทั้งนี้ คนงานเหมืองดังกล่าวประท้วงหยุดงานนานเป็นวันที่ 3 แล้ว เพื่อเรียกร้องเงินรางวัล 11,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของบริษัท ซึ่งการประท้วงส่งผลให้การผลิตทองแดงในแต่ละวันลดลง 3,000 ตัน คิดเป็นเงิน 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
 
ผู้ผลิตแบล็คเบอร์รี่จ่อโละพนักงาน 2 พันคน
 
26 ก.ค. 54 - รีเสิร์ช อิน โมชั่น (RIM) ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนแบล็คเบอร์รี่เตรียมปลดบุคลากรมากกว่า 2 พันคน โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนตัดลดต้นทุนที่ประกาศไปก่อนหน้านี้
 
ซีเอ็นเอ็นมันนี่รายงานว่า บริษัทดังกล่าวระบุว่าจำนวนที่ปรับลดนั้นคิดเป็น 10% ของพนักงานทั้งหมด ทำให้มีกำลังแรงงานเหลือราว 17,000 คน
 
นอกจากนี้ยังมีการปรับเปลี่ยนในระดับบริหาร โดยตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการของดอน มอร์ริสันซึ่งเกษียณเพราะปัญหาสุขภาพจะถูกแทนที่โดยธอร์สเตน เฮนส์
 
เป็นเวลาหลายไตรมาสแล้วที่เสียงเรียกร้องให้ยกเครื่องทีมบริหารของ RIM ดังขึ้นเรื่อยๆ หลายคนเชื่อว่าโมเดลซีอีโอคู่ซึ่งนำโดยจิม บัลซิลลิและไมค์ ลาเซอร์ดิสนั้นขาดประสิทธิภาพ แต่ทั้งคู่ก็โต้กลับว่าพวกเขาคือบุคคลเหมาะสมที่สุดสำหรับนำองค์กรกลับสู่เส้นทางทำกำไร
 
RIM เคยเป็นผู้นำในตลาดสมาร์ทโฟนภูมิภาคอเมริกาเหนือ แต่ปัจจุบันยอดขายกลับเสื่อมถอยเพราะผู้ผลิตรายอื่นอย่างแอปเปิลและมือถือที่ใช้เอนดรอยด์ทยอยนำรุ่นใหม่ๆ ที่น่าสนใจกว่าเข้าสู่ตลาด ขณะที่รุ่นล่าสุดของแบล็คเบอร์รี่ "ทอร์ช" เปิดตัวมาเกือบปีแล้ว ซึ่งถือว่าค่อนข้างนานสำหรับวงการอุปกรณ์ไร้สาย
 
แรงงานผู้ดีสุดปลื้ม'สหวิริยา' ซื้อโรงเหล็กเก่าพร้อมจ้างงาน 1,000 ตำแหน่ง
 
28 .. 54 - ผู้นำสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมเหล็กในเมืองเรดคาร์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอังกฤษ  ออกมาแสดงความยินดีที่ "สหวิริยา สตีล อินดัสตรีส์" บริษัทผู้ผลิตเหล็กชื่อดังของไทยตัดสินใจซื้อกิจการโรงงานเหล็กของเมือง และประกาศจะจ้างงานกว่า 1,000 ตำแหน่ง...
 
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานเมื่อวันที่ 28 ก.ค. โดยอ้างคำแถลงของนายไมเคิล เลียฮาย ผู้นำของประชาคมสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมเหล็กในเมืองเรดคาร์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอังกฤษที่ออกมาแสดงความยินดีที่บริษัทผู้ผลิตเหล็ก ชื่อดังของไทยตัดสินใจซื้อกิจการโรงงานเหล็กของเมือง และประกาศจะจ้างงานกว่า 1,000 ตำแหน่งในพื้นที่
 
รายงานข่าวระบุว่า ท่าทีล่าสุดของนายเลียฮายมีขึ้นหลังจากที่บริษัทสหวิริยา สตีล อินดัสตรีส์ หรือ "เอสเอสไอ" ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดจากประเทศไทยประกาศจะจ้างงานถึง 1,000 ตำแหน่งที่โรงงานทีส์ไซด์ในเมืองเรดคาร์ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากเมืองมิดเดิลสโบรราว 12.1 กิโลเมตร  หลังจากที่ทางบริษัททุ่มเงินกว่า 320 ล้านปอนด์หรือราว 15,550 ล้านบาทซื้อกิจการของโรงงานเหล็กแห่งนี้เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา โดยเป็นที่คาดกันว่าผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่จากไทยจะเริ่มกระบวนการรับสมัครงาน ได้ตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค.นี้
 
"การก้าวเข้ามาของเอสเอสไอจาก ประเทศไทยถือเป็นข่าวดีสำหรับชาวเมืองของเรา  และผมมั่นใจชาวเมืองพร้อมจะร่วมมือกับทางบริษัทอย่างเต็มที่เพื่อพัฒนา อุตสาหกรรมการผลิตเหล็กอันเก่าแก่ที่อยู่คู่กับพื้นที่แถบนี้มานาน" เลียฮายกล่าว
 
ทั้งนี้ โรงงานผลิตเหล็กดังกล่าวประสบปัญหาจนต้องหยุดกิจการไปตั้งแต่เมื่อเดือน ก.พ. ปีที่แล้ว และมีการปลดคนงานออกในครั้งนั้นเกือบ 1,800 คน.
 
คนงานเหมืองทองแอฟริกาใต้นัดหยุดงาน
 
29 ก.. 54 - คนงานเหมืองทองคำแอฟริกาใต้กว่า 250,000 คน พร้อมใจกันนัดหยุดงานเมื่อวานนี้ เพื่อเรียกร้องค่าจ้างที่สูงขึ้น และส่วนแบ่งผลกำไรจากราคาทองคำที่พุ่งสูงขึ้น
 
สหภาพคนงานเหมืองแห่งชาติของแอฟริกาใต้ คาดว่า การนัดหยุดงานครั้งนี้จะทำให้ปฏิบัติการใน 4 บริษัทของแอฟริกาใต้หยุดชะงัก ซึ่งก็รวมถึงบริษัท ANGLOGOLD ASHANTI , HARMONY GOLD และ GOLD FIELDS
 
คนงานเหมืองทองคำ ต้องการค่าจ้างเพิ่มอีก 14 เปอร์เซ็ต์ แอฟริกาใต้ เป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตทองคำใหญ่ที่สุดในโลก
 
สหภาพคนงานเหมืองแห่งชาติ ยังระบุว่า คนงานเหมืองทองคำอาจจะเข้าไปร่วมกับคนงานเหมืองอื่นๆ จากภาคถ่านหิน และเพชร ที่เริ่มนัดหยุดงานมาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว คาดว่า การนัดหยุดงานจะดำเนินต่อไปจนกว่าจะมีการบรรลุข้อตกลง
 
ประมาณกันว่า การนัดหยุดงานของคนงานเหมืองทองคำจะทำให้บริษัททองคำต่างๆสูญเสียเงินไปวันละถึง 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในรูปของการผลิตที่สูญเสียไป และอาจส่งผลต่อราคาหุ้นของบริษัท
 
คนงานเกาหลีใต้เตรียมเดินขบวนประท้วงไปยังอู่ต่อเรือ
 
30 ก.ค. 54 – โฆษกตำรวจเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ตำรวจเกาหลีใต้เตรียมความพร้อมสูงสุดในวันนี้ที่เมืองปูซาน ทางตอนใต้ของประเทศ ขณะที่ผู้ประท้วงราว 10,000 คน รวมตัวเพื่อเดินขบวนประท้วงการเลิกจ้าง
 
โฆษกตำรวจกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลกว่า 7,000 นาย จะถูกส่งไปขัดขวางไม่ให้ผู้ประท้วงเดินขบวนผ่านย่านใจกลางเมืองไปยังอู่ต่อเรือของบริษัทฮันจิน เฮฟวี อินดัสตรีส์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น นักเคลื่อนไหวเปิดเผยว่า ผู้ประท้วงราว 10,000 คนจากทั่วประเทศ รวมกลุ่มกันตามสถานที่ต่างๆ ทั่วเมืองปูซาน ก่อนจะเดินขบวนไปยังอู่ต่อเรือดังกล่าว ซึ่งหนึ่งในสามของคนงานถูกเลิกจ้างเมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว ก่อนหน้านี้ ผู้ประท้วงเคยจัดการเดินขบวนในลักษณะเดียวกันนี้เมื่อเดือน มิ.ย.และต้นเดือน ก.ค.
 
นอกจากนี้ การประท้วงดังกล่าวยังมีขึ้นเพื่อสนับสนุนนางคิม จิน-ซุก สตรีวัย 52 ปี ซึ่งยึดพื้นที่บนปั้นจั่นสูง 35 เมตร ในอู่ต่อเรือดังกล่าว ประท้วงเป็นเวลานานกว่า 200 วัน เพื่อเรียกร้องให้บริษัทยกเลิกการปลดคนงาน อย่างไรก็ตาม บริษัทปฏิเสธที่จะเจรจากับคิม นอกเสียจากเธอจะยอมยุติการประท้วงและลงมาจากปั้นจั่น
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"สุเทพ" ผิดหวัง กกต. รับรองจตุพรเป็น ส.ส. ชี้เป็นความสูญเปล่าของประเทศ

Posted: 02 Aug 2011 12:58 AM PDT

ศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว "จตุพร" - "นิสิต" แล้ว โดย "นิสิต" เรียกร้องปล่อยตัวนักโทษเสื้อแดง ส่วน "จตุพร" ถาม "สุเทพ" ขุดรูหรือยัง โดยหลังได้รับการปล่อยตัวนายจตุพรได้เดินทางไปรัฐสภาทันที

ศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวจตุพร-นิสิตแล้ว

สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานว่า วันนี้ (2 ส.ค.) ที่ศาลอาญา ศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และนายนิสิต สินธุไพร 2 แกนนำเสื้อแดง ที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีร่วมกันก่อการร้าย โดยศาลพิเคราะห์คำร้องแล้วเห็นว่า พฤติการณ์มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้ง 2 ระหว่างการพิจารณาคดีโดยตีราคาวงเงินประกันคนละ 6 แสนบาท พร้อมทั้งระบุเงื่อนไง ห้ามมิให้กระทำการใดๆอันอาจก่อให้เกิดอันตรายกระทบต่อความสงบเรียบร้อย และห้ามนายนิสิต เดินทางออกนอกราชอาญาจักรก่อนได้รับอนุญาตจากศาล และหลังจากนี้นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความคนเสื้อแดง จะเดินทางไปรับตัวทั้ง 2 คน ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในช่วงบ่ายวันนี้

 

"จตุพร" ถาม "สุเทพ" ขุดรูหรือยัง ด้าน "นิสิต" เรียกร้องปล่อยตัวนักโทษเสื้อแดง

ส่วนที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และนายนิสิต สินธุไพร แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ได้รับการปล่อยตัวแล้ว โดยมีแกนนำและกลุ่มคนเสื้อแดงที่เดินทางมาให้กำลังใจ มีพระสงฆ์จากวัดใหม่พิเรนทร์ มาพรมน้ำมนต์ให้ โดยนายจตุพรเดินทางไปที่สภาทันที

นายจตุพร ยังได้กล่าวผ่านเครื่องขยายเสียงขอบคุณคนเสื้อแดงด้วย และว่ารู้สึกดีใจที่แกนนำคนเสื้อแดงได้เข้ามาเป็น ส.ส.หลายคน และกล่าวฝากไปถึงนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รักษาการรองนายกรัฐมนตรี ที่เคยบอกว่าจะขุดรูอยู่นั้น บัดนี้ได้ทำตามคำพูดหรือไม่ ส่วนนายนิสิต เรียกร้องให้มีการพิจารณาปล่อยตัวคนเสื้อแดงที่ถูกคุมขัง อยู่ในเรือนจำทั่วประเทศ เพื่อให้ความปรองดองเกิดขึ้น

 

สุเทพจวก กกต. รับรองจตุพรเป็น ส.ส. คือความสูญเปล่าของประเทศ

สำนักข่าวแห่งชาติ ยังรายงานด้วยว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รักษาการเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในการรับรอง ส.ส.ของนายจตุพร พรหมพันธ์ ว่า สร้างความผิดหวังและเป็นความสูญเปล่าของประเทศ ที่ทำงานไม่เป็นที่ประทับใจของประชาชน ทั้งการกำกับดูแลการเลือกตั้ง บังคับใช้กฏหมาย และวินิจฉัยผลการเลือกตั้ง ตรงกันข้ามกับความรู้สึกของประชาชน แตกต่างจาก กกต.ชุดเก่า ที่ตัดสินใบเหลืองใบแดงเป็นที่ยอมรับ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ป่วนกระแสกับบุญชิต ฟักมี ว่าด้วย “ประจุพลัง” ทั้งหลายที่วนเวียนในประเทศนี้

Posted: 01 Aug 2011 10:19 PM PDT

ป่วนกระแสกับบุญชิต ฟักมี ว่าด้วย “ประจุพลัง” ทั้งหลายที่วนเวียนในประเทศนี้

 

พลังบวก

หนึ่งปีที่ผ่านมา ไม่มีวาทกรรมใดฮิตไปกว่า “คิดบวก” “มองโลกในแง่บวก” หรือ “ปลุกพลังบวก”

เรียกว่า แทบจะเป็นคัมภีร์ประจำชีวิตของประชาชนคนไทยไปแล้ว กลายเป็นเครื่องประดับติดตัว คล้ายๆรองเท้าฟลิบฟลอบทางปัญญา สำหรับคนรุ่นใหม่จิตใจงามไปทีเดียว

ฟลิบฟลอบนั้นเขาเอาไว้รองตีน แต่คิดบวกนั้นเอาไว้รองความคิดและอุดมการณ์

แนวคิดบวกนี้มาจากความคิดที่ว่า สิ่งใดๆที่เกิดขึ้นในโลกนี้ จะร้ายจะดี มันเกิดจาก “ความคิด” (หรือถ้าแนวพุทธๆหน่อยเขาเรียก “จิต”) ของเราเองทั้งสิ้น

เรียกว่า เหตุการณ์หรือสถาวะทั้งหลายนั้นไม่มี “ค่า” อะไร เรานั้นเองที่ไปกำหนดค่าให้มัน ติดสลากกำหนดว่ามันเป็นเรื่องดีหรือร้าย

ดังนั้นเราจึงควรเอา “เครื่องหมายบวก++” ไปแปะไว้ที่อะไรๆก็ตามที่เราเห็นว่ามันร้าย มันแย่ มันไม่ดี

ตัวอย่างหรือครับ

- เวลาเจองานหนัก ให้บอกตัวเองว่า นี่คือโอกาสในการเตรียมพร้อมสู่ความเป็นมืออาชีพ

- เวลาเจอคำตำหนิ ให้บอกตัวเองว่า นี่คือการชี้ขุมทรัพย์มหาสมบัติ

- เวลาเจอความป่วยไข้ ให้บอกตัวเองว่า นี่คือการเตือนให้เห็นคุณค่าของการรักษาสุขภาพให้ดี

ฯลฯ

บางอันมันหนักข้อไปถึงขั้นว่า

- บ้านไฟไหม้ ขอให้ดีใจว่าได้รู้คุณค่าของการมีที่ซุกหัวนอน

- พ่อตาย ให้บอกตัวเองว่า ต่อไปนี้จะได้เป็นผู้ใหญ่เต็มตัวสักที

- ถูกไล่ออกจากงาน จะได้ยินดีว่าชีวิตจะมีอิสรภาพ มีเวลาว่าง ได้ลองเปลี่ยนอาชีพใหม่

- หนังสือตกรอบไม่ได้เข้าชอร์ตลิสต์ ให้คิดว่า เราควรเปลี่ยนแนวไปเขียนเรื่องตลกลามกเหมือนเดิมดีไหม (ข้าพเจ้าเอง)

จนกระทั่งในที่สุด เส้นแบ่งระหว่างการ “คิดบวก” กับการ “หลอกตัวเอง” ก็พร่าเลือน

เจองานหนักแล้วบอกตัวเองว่า นี่คือโอกาสในการเตรียมพร้อมเข้าสู่มืออาชีพ สมมติว่าคุณเป็นผู้ช่วยทนายความ แล้วรุ่นพี่คุณใช้ให้ไปถ่ายเอกสารสำนวน 500 หน้า 500 ชุดเป็นเวลาสามเดือนติดต่อกัน อืม... ถามตัวเองว่าอยากเป็นมืออาชีพด้านการถ่ายเอกสารหรือเปล่า

เจอคำตำหนิ ให้บอกตัวเองว่า นี่คือการชี้ขุมทรัพย์มหาสมบัติ ปรากฎว่า ถ่ายเอกสารผิดขาดไปสามชุด รุ่นพี่ด่าว่า “ไอ้ควาย !” - จบ อืม อันนี้สงสัยชี้ให้เห็นขุมทรัพย์สัตว์สี่เท้าในตัวเรา

พอป่วยไข้เพราะแพ้ผงหมึกเครื่องถ่ายเอกสารหรือเพราะทำงานควงกะถึงตีสอง ก็ให้บอกตัวเองว่า นี่คือการเตือนให้เห็นคุณค่าของการรักษาสุขภาพให้ดี แล้วที่สอนให้ตูเตรียมพร้อมเป็นมืออาชีพล่ะครัฟ !

หรือบางคนบางกลุ่ม ไปจำคำพระมา บอกว่า ความเจ็บความปวดนั้นมันเป็นเพราะเราดันไปถือไปยึดมันเอาไว้เอง ปวดหัว ปวดหลัง ปวดท้อง นั่นเพราะเราคิดว่า มันคือ หัวของเรา หลังของเรา ท้องของเรา ถ้ามีหาง หางก็คงปวด แต่เพราะเราไม่มีหาง เราถึงไม่ปวดหาง

น่าท้าให้พวกชอบพูดแนวนี้ทดลองว่า เวลาปวดขี้ ให้นึกว่า ขี้ไม่ใช่เรา ตูดไม่ใช่เรา แล้วค่อยมาทบทวนอีกทีเวลากางเกง (ที่ก็คงไม่ใช่ของเรา) เลอะเพราะขี้ราด

(อึราดก็เป็นเรื่องดี เพราะแปลว่าระบบขับถ่ายเรายังทำงานได้ - มาสเตอร์ออฟคิดบวกท่านหนึ่งกล่าวตอบ … สาธุว์)

บางครั้งวาทกรรมคิดบวกถูกใช้เพื่อเป็นเครื่องปลุกใจสำหรับธุรกิจขายตรง หรือหัวหน้างานที่จะหลอกให้ลุกน้องอุทิศเวลาและพลังให้

“อย่าคิดว่าเราทำไม่ได้ ถ้าไม่ได้ทำ”

“ทุกสิ่งเป็นไปได้ภายใต้ความพยายาม”

“ความสำเร็จทั้งหลาย เป็นไปได้ถ้าคุณเชื่อว่าคุณจะมี คุณจะเป็น”

… ดีมาก ไปหาลูกข่ายให้ได้ 46 คน ใน 8 วัน ! รายงานชิ้นนี้ 500 หน้า ลูกค้าจะเอาเช้า ไหวนะ ปิดงานนี้ให้ได้ก่อนเที่ยง ไม่มีโอทีให้ เอาใจแลกมาถือเป็นทีมเดียวกัน ปลุกพลังบวกในตัวคุณขึ้นมา โย่ว์ โย่ว์

ในที่สุดพลังบวกก็กลายมาเป็นยากล่อมประสาทไม่ให้คนรู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งการคิดบวกนี้ถ้ากินคู่กับยาอีกขนานหนึ่งจะมีประสิทธิภาพในการกล่อมหลอนมาก คือยาจีนที่ชื่อ “ปางหว่อย” - หรือภาษาไทยแปลว่า “ปล่อยวาง”

ปัญหาอะไร เราแก้ไม่ได้ ใหญ่เกินตัว จงวางมันลง - คีย์เน้นคำหลักของลัทธิปางหว่อย

ลูกปวดท้องตัวงอ พาไป รพ. รัฐ คิวยาวขนาดไปรอคิวตอนตีห้าได้รักษาสิบเอ็ดโมง แถมต้องพาเดินจากตึกโน้นไปตึกนี้ต่อตึกนั้นแล้วค่อยกลับมาจ่ายเงินที่เดิม ก็คิดบวกว่า ลูกปวดท้องทำให้เราต้องระวังเรื่องอาหารการกินของลูกให้มากกว่านี้ ลูกปวดท้องยังดีว่ายังมีลูก และระบบโรงพยาบาลสับสนห่วยแตกก็ เป็นปัญหาใหญ่เกินตัว เราแก้ไขไม่ได้ แต่เราวางมันลงได้

เอ้าวาง... ลงไปข้างๆ ปัญหาการใช้งานเกินเวลาโดยไม่จ่ายโอทีด้วย เพราะถือเป็นการฝึกตนให้เป็นมืออาชีพ วางลงข้างๆปัญหาอาชญากรรมเพราะเราทำอะไรไม่ได้ ระวังตัวเองไว้เป็นพอ

ชาวพลังบวกที่ถือลัทธิปางหว่อย เห็นว่า เราไม่จำเป็นต้องเรียกร้องเพื่อแก้ปัญหาใดๆ ในเชิงโครงสร้างหรือความไม่เป็นธรรมในสังคมเลย เพราะแทบทุกปัญหาแก้ไขได้ด้วยการคิดบวกและปล่อยวาง ปัญหาทั้งหลายแก้ไขได้จากตัวเราเองไม่ต้องไปเรียกร้องในสิ่งเกินตัว “เพียงตัวเราเป็นคนดีเท่านี้พอ”

และแน่นอน อะไรก็ตามที่ “เยอะ” เกินไป มันก็จะดีดกลับ พลังบวกที่ท่วมท้น ส่งผลให้เกิดกระแสมุมกลับ คือ “พลังลบ”

พลังลบนี้เป็นมุมกลับของพลังบวก คือ มองหาจุดพลาดจุดพร่องของสรรพสิ่ง มองให้เห็นว่า ไอ้ที่บอกกันว่า “ดี” ทั้งหลายน่ะ “ดี” จริงหรือ คุณรู้ได้ไงว่าดี

การตั้งคำถามเช่นนี้ทำให้รอบคอบไม่หลงกลกับภาพลวงตาพลังบวก หรือวาทกรรมกล่อมประสาท แต่กระนั้นก็เถอะ – มากไปมันก็ “เยอะ” อีกแบบ คือ มึงจะดาร์กอะไรหนักหนากับชีวิต

- งานรับปริญญา คือความฟุ่มเฟือยโง่งม ถูกครอบงำด้วยกระแสที่สุดแห่งการศึกษาคือปริญญา สิ้นเปลืองเสียเปล่า ทั้งดอกไม้ ของขวัญ และเวลา

- เห็นพ่อใช้แม่ขี่มอเตอร์ไซด์ไปซื้อหมูปิ้งปากซอย ก็น้ำตาร่วงด้วยรู้สึกถึงการกดขี่ทางเพศและการครอบงำของค่านิยมชายเป็นใหญ่ในครัวเรือน

- เห็นลูกวัยสองขวบยกมือไหว้โทรทัศน์ รู้สึกอนาถว่าตกเป็นเหยื่อพรอบพากันด้าตั้งแต่เยาว์วัย

ฯลฯ

ไม่ว่าจะมองโลกในแง่บวก แง่ลบเกินไป สุดท้ายเราก็จะติดกับดัก “พลังคูณ” เข้าให้

พลังคูณ คือเห็นอะไร “มาก” เกินจริงไปโข

อย่างที่ยกตัวอย่างไป ไฟไหม้บ้าน พ่อตาย ก็หาข้อดีมาสนับสนุนพลังบวก

หรือบางเรื่องเราก็มองเสียลบแบบ โล้บบบ ลบบบ จนกระทั่งว่า เฮ้ย เรื่องมันเลวร้ายปานนั้นเลยรึ หรือมันมีการหลอกลวงครอบงำเอารัดเอาเปรียบกันเสียทุกเรื่องขนาดนั้นเลยหรือ

สุดโต่งกันเสียทุกทางเช่นนี้ อยากขอแนะนำทั้งฝ่ายคิดลบ คิดบวก ว่า ให้หา “พลังหาร” ติดตั้งในใจลงไปถ่วงดุลย์เสียหน่อย ว่าเรา “เยอะ” ไปไหม

เรามองอะไรในแง่ “คิดบวก” จนหลอกตัวเองถึงระดับ พ่อตายก็ดีใจ หรือถูกใช้งานอย่างไม่เป็นธรรมก็รู้สึกดี หรืออดทนกับความไม่เข้าท่าของระบบแบบไม่คิดตั้งคำถามหรือเปล่า ?

หรือเรา “คิดลบ” จนมันเบี้ยวไปอีกข้างไปไหม ? แม่ขี่มอ’ไซด์ ไปซื้อหมูปิ้งให้พ่อ อาจจะไม่ใช่เรื่องกดขี่ทางเพศตะหวักตะบวยอะไรหรอก เพราะถ้าพ่อกลับบ้านช้าหรือเมากลับมายังต้องมากราบไหว้แม่ประหลกๆ ขอเข้าบ้านอยู่เลย ไอ้เรื่องที่ลูกไหว้ทีวีก็อาจจะแค่ เห็นในทีวีเขาไหว้เขากราบก็ไหว้ตามกราบตาม หรืองานรับปริญญามันก็แค่พ่อแม่ฉลองว่า ที่กูส่งๆจ่ายๆ ไปหลายปี มันไม่เสียเปล่าโว้ย ต่อไปกูไม่ต้องส่งแล้วโว้ย - แค่นั้นเอง

พยายามหารออกมา จนกระทั่งอะไรๆ มันเหลือเท่าที่มันเป็น ไม่ติดบวก ไม่ติดลบได้ เป็นดีที่สุด

ปวดอึก็ไปเข้าส้วม ทำงานหนักก็พักบ้าง งานยากทำไม่ไหวก็ไปบอกเขาตรงๆไม่ต้องกระแดะคิดว่าได้ฝึกฝีมือ (เดี๋ยวงานเสียขึ้นมารับผิดชอบไม่ไหว) ถ้าเห็นว่าถูกเอาเปรียบก็โวย ป่วยก็หาหมอ หมอช้าก็ไปถามว่าทำไมช้า ถ้าไม่ไหวจริงๆเพราะปัญหาโครงสร้างก็เขียนร้องเรียน ญาติตายก็เอาไปเผา เศร้าได้ บ้านไฟไหม้โทรเรียกประกัน แต่ไม่ต้องดรามา ไม่ต้องหาข้อดีของการญาติเสียหรือบ้านวอด ฯลฯ

เจอคนคิดบวก คิดลบ คิดคูณยกกำลังจนชักจะ “เยอะ” เมื่อไร

ติด “พลังหาร” เอาไว้ในใจเราก็ดีครับ

 

 

(บทความนี้พัฒนาความคิดมาจากงาน “นรกพลังบวก” ในนิทรรศการ “ตรรกะสังสรรค์” ที่แอบหนีเมียไปกับชมกับหลิ่มหลีเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา – ใครอย่าไปฟ้องเมียผมเข้าเชียว เดี๋ยวจะเจอ “พลังบวก” ระหว่างสากกะเบือกับกบาลกระผม)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ร้ายสไตล์กับรุงรวี ศิริธรรมไพบูลย์: วันสตรีไทย : สตรีไทยมีใครบ้าง

Posted: 01 Aug 2011 09:56 PM PDT

วันสตรีไทย : สตรีไทยมีใครบ้าง

ร้ายสไตล์กับรุงรวี ศิริธรรมไพบูลย์: วันสตรีไทย : สตรีไทยมีใครบ้าง

วันนี้ (1 ส.ค.) ฤกษ์ไม่ค่อยดี เพราะจู่ๆ ดิฉันก็ตื่นเช้าผิดปกติ จากที่เคยตื่นบ่ายเลยเถิดไปถึงเย็น ปรากฏว่าวันนี้งัวเงียขึ้นมาดูนาฬิกา แม่เจ้า! 6 โมงครึ่ง!!! ทีแรกกะจะโทษฟ้าโทษฝน แต่เห็นว่ากำลังตกพรำๆ น่านอนเสียยิ่งกระไร แล้วทำไมเราถึงตื่นเช้า (วะ) ด้วยความที่ไม่รู้จะทำอะไรก็เลยเปิดโทรทัศน์ดูข่าวเสียหน่อย จึงทำให้ทราบว่า วันนี้ (1 ส.ค.) เป็นวัน ‘สตรีไทย’ (ต้องเป็นเพราะเหตุนี้แน่ๆ เลย) สตรีบางคนอาจกำลังเดินทางไปทำงาน สตรีบางคนอาจกำลังทำกับข้าวให้สามี แต่งตัวให้ลูกเตรียมไปโรงเรียน ส่วนสตรีอย่างดิฉันจะทำอะไรดีล่ะ งานก็ไม่มี ลูกผัวก็ (ยัง) ไม่มี สตรีที่ไม่มีอะไรทำจึงฟุ้งซ่าน นั่งคิดอะไรไปเล่นๆ ว่าแต่คำว่า ‘สตรี’ ในที่นี้กินความไปถึงไหน ผู้หญิงทุกคน ? ทุกอายุ ? ทุกชนชั้น ? ชายที่แปลงเพศเป็นหญิงแล้ว ? เพราะทุกครั้งที่ได้ยินคำว่า ‘สตรี’ ภาพไฮโซวัยชราทำผมกะบังลมสูงกว่าสึนามิ แข็งยิ่งกว่าขนมปังฝรั่งเศส และประโคมเครื่องเพชร ทองหยอง แต่งกายในชุดผ้าไหม ผุดขึ้นมาหลอกหลอนในทันใด

สตรีในที่นี้ต้องไม่ใช่ผู้หญิงอย่างดิฉันแน่ๆ (เอ๊ะ! หรือว่าแก่ตัวไป เราก็อาจเป็นแบบนี้)

เอ่อ...ว่าแต่ทำไมเขาไม่ใช้คำว่า ‘ผู้หญิง’ ไปเลย ซึ่งฟังแล้วน่าจะตีความง่ายกว่าคำว่า ‘สตรี’ (อย่าถือสา ถ้าดิฉันจะงงงวย เพราะสอบตกวิชาภาษาไทยเป็นประจำค่ะ) นั่นน่ะสิ...ทำไม หรือบางทีดิฉันอาจจะคิดมากไป หรือรู้น้อยไป เพราะเค้าอาจจะใช้คำว่า ‘สตรี’ แทน ‘ผู้หญิง’ ในแง่ความสละสลวยของภาษาก็ได้ ว่าแล้วจึงไปค้นความหมายในเว็บไซต์ราชบัณฑิตฯ มา ได้ความว่า “สตรี คือ ผู้หญิง, เพศหญิง, คู่กับบุรุษ (ใช้ในความหมายที่สุภาพ)” ถ้าหากคำว่า ‘ผู้หญิง’ หมายถึงผู้ที่เกิดมามีมดลูกมาด้วย ผู้ชายที่แปลงเพศเป็นผู้หญิงในภายหลังก็ไม่ใช่สตรี (และพวกที่โดนตัดมดลูกเพราะเป็นมะเร็ง หรือเหตุอื่นๆ นั้น ใช่สตรีหรือไม่ เอ...ต้องส่งให้กฤษฎีกาตีความหรือเปล่านะ) และผู้หญิงที่ไม่ได้คู่กับ ‘บุรุษ’ ก็ไม่ใช่สตรี (หญิงรักหญิง ทอมดี้ ทั้งหลาย เอ...รวมหญิงโสดอย่างดิฉัน ที่ไม่มีบุรุษมา ‘คู่’ ด้วยหรือเปล่านะ) และผู้หญิงที่แสนหยาบคาย ไม่สุภาพอย่างดิฉันก็คงไม่ใช่ ‘สตรี’

ดิฉันพอมีความจำอย่างเลือนลางและเลาๆ ว่า เรา (ชาวโลก) มี ‘วันสตรีสากล’ คือวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ซึ่งก็เห็นว่าประเทศไทยก็ร่วมวงสังสรรค์ในวันนี้ด้วยเช่นกัน แล้วประเทศไทยยังมีวัน ‘สตรีไทย’ ในวันที่ 1 สิงหาคมของทุกปีอีก นั่นหมายความว่าสตรีไทยไม่เป็นสตรีสากลหรือย่างไร หรือว่าสตรีไทยมีลักษณะพิเศษที่พิเศษกว่าความเป็นสตรีสากล (แน่นอน...นอกจากประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ไม่เหมือนใครในโลกแล้ว เราต้องมีผู้หญิงแบบไทยๆ ที่ไม่เหมือนใครในโลกด้วย) จึงต้องมีวันสตรีไทยเพิ่มขึ้นมาอีก 1 วัน อีกอย่างที่น่าสังเกตคือ คำว่า ‘สตรี’ ที่ประเทศไทยใช้นั้น เทียบเคียงในภาษาอังกฤษในคำว่า ‘Lady’ ไม่ใช่ ‘Woman’ แต่ขณะเดียวกัน วันสตรีสากลนั้น ในภาษาอังกฤษกลับใช้คำว่า International Woman’s Day แปลว่าสตรีไทย ณ ที่นี้ต้องเป็น Lady ไม่ใช่ Woman แน่ๆ เลย

แล้ว Lady กับ Woman ต่างกันอย่างไร...ซวยล่ะสิ ดันเรียนจบกฎหมายมา

วันสตรีสากลนั้น ตามข้อมูลในวิกิพีเดียไทย ให้ข้อมูลไว้ว้า “วันสตรีสากล เป็นวันที่มีการประท้วงของแรงงานหญิง ณ เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา กรรมกรสตรีในโรงงานทอผ้าได้ลุกฮือขึ้นเดินขบวนประท้วงการเอาเปรียบกดขี่ขูดรีด ทารุณ จากนายจ้างที่เห็นผลผลิตสำคัญกว่าชีวิตคน ซึ่งมีสาเหตุมาจากสตรีถูกเอาเปรียบกดขี่ขูดรีด ทารุณ จากนายจ้างที่เห็นผลผลิตสำคัญกว่าชีวิตคน โดยวันสตรีสากล ไม่ใช่เพียงแค่การเฉลิมฉลองเหมือนงานประเพณีที่มักทำติดต่อกันทุกปี หากจะเป็นการตระหนักร่วมและให้คุณค่าทางประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ของผู้ใช้ แรงงานหญิง และสืบทอดเจตนารมย์ที่ต้องการให้ผู้หญิงได้รับการปกป้องคุ้มครองให้ปลอดภัย จากความรุนแรง และยกระดับคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ ผู้ใช้แรงงานต้องได้รับการดูแลในด้านสวัสดิการ สุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน รวมทั้งผู้หญิงต้องได้รับการปฏิบัติอย่างให้กียรติและเท่าเทียมในฐานะที่ ผู้หญิงก็เป็นสมาชิกหนึ่งในสังคม” (วิกิพีเดียไทย)

โดยข้อมูลที่เผยแพร่ทั่วไปให้ข้อมูลถึงประวัติแห่งการต่อสู้จนเกิดเป็นวันสตรีสากลไว้ว่า “เกิดขึ้นจากกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกาได้พากันลุกฮือประท้วงให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้าง และเรียกร้องสิทธิของพวกเธอ แต่สุดท้ายกลับมีผู้หญิงถึง 119 คนต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ ด้วยการที่มีคนลอบวางเพลิงเผาโรงงานที่พวกเธอนั่งชุมนุมกันอยู่ โดยเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1857 (พ.ศ.2400)

จากนั้นในปี ค.ศ.1907 (พ.ศ.2450) กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกาทนไม่ไหวต่อการเอารัด เอาเปรียบ กดขี่ ทารุณ ของนายจ้างที่ใช้งานพวกเธอเยี่ยงทาส เนื่องจากกรรมกรหญิงเหล่านี้ต้องทำงานหนักถึงวันละ 16-17 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ไม่มีประกันการใช้แรงงานใดๆ เป็นผลให้เกิดความเจ็บป่วยล้มตายตามมาในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่กลับได้รับค่าแรงเพียงน้อยนิด และหากตั้งครรภ์ก็ถูกไล่ออก

ความอัดอั้นตันใจจึงทำให้ ‘คลาร่า เซทคิน’ นักการเมืองสตรีสายแนวคิดสังคมนิยม ชาวเยอรมันตัดสินใจปลุกระดมเหล่ากรรมกรสตรีด้วยการนัดหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1907 พร้อมกับเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานลงเหลือวันละ 8 ชั่วโมง อีกทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการทุกอย่าง และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย

อย่างไรก็ตามแม้การเรียกร้องครั้งนี้ จะไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากมีแรงงานหญิงหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ทำให้สตรีทั่วโลกสนับสนุนการกระทำของ ‘คลาร่า เซทคิน’ และเป็นการจุดประกายให้สตรีทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น

ต่อมาในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1908 (พ.ศ.2451) มีแรงงานหญิงกว่า 15,000 คน ร่วมเดินขบวนทั่วเมืองนิวยอร์ค เรียกร้องให้ยุติการใช้แรงงานเด็ก โดยมีคำขวัญการรณรงค์ว่า ‘ขนมปังกับดอกกุหลาบ’ ซึ่งหมายถึงการได้รับอาหารที่พอเพียงพร้อมๆ กับคุณภาพชีวิตที่ดีนั่นเอง

จนกระทั่งในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1910 (พ.ศ.2453) ความพยายามของกรรมกรสตรีกลุ่มนี้ก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อมีตัวแทนสตรีจาก 17 ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยมครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยในที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี ในระบบสาม 8 คือ ยอมให้ลดเวลาทำงานเหลือวันละ 8 ชั่วโมง ให้เวลาศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองอีก 8 ชั่วโมง และอีก 8 ชั่วโมงเป็นเวลาพักผ่อน พร้อมกันนี้ยังได้ปรับค่าแรงของแรงงานหญิงให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย และยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย ทั้งนี้ยังได้รับรองข้อเสนอของ ‘คลาร่า เซทคิน’ ด้วยการกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันสตรีสากล (จากเว็บไซต์ kapook.com)

ซึ่งข้อมูลในเวอร์ชั่นวิกิพีเดียไทยนั้น เป็นเวอร์ชั่นที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ว่าตกลงเวอร์ชั่นไหนเป็น ‘สาเหตุ’ ในการเกิดวันสตรีสากลกันแน่ เพราะตามข้อมูลวิกิพีเดียในภาษาอังกฤษนั้น ให้ข้อมูลไว้ว่า มีการประกาศวันสตรีสากลครั้งแรก คือในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 1909 ในประเทศสหรัฐอเมริกา ประกาศโดยพรรคสังคมนิยมอเมริกา (Socialist Party Of America) แต่ที่เป็น ‘สากล’ จริงๆ นั้น เกิดขึ้นจากการประชุม International Women's Conference ที่โคเปนฮาเกน ในปี 1910 แต่มากำหนดอย่างเป็นทางการจริงๆ ในปี 1911 โดยความร่วมมือของนานาประเทศและมีการเดินขบวนเรียกร้องเพื่อโปรโมทวันสตรีสากลอันอย่างจริงจังใน โดยตัวตั้งตัวตีในการประกาศวันสตรีสากล (ซึ่งก่อนหน้านั้นเป็นเพียงวันสตรีเฉยๆ --Woman’s Day) คือโซเชียลลิสต์ชาวอเมริกันและชาวเยอรมนี คลาร่า เซทคิน (ส่วนคนที่ได้ชื่อว่าเป็นคนเรียกร้องคนแรกคือ Luise Zietz) เป็นการเรียกร้องเพื่อให้ได้ ‘สิทธิ’ แห่งความเท่าเทียมอันรวมไปถึงสิทธิในการเลือกตั้งด้วย

แต่ถึงแม้ในเวอร์ชั่นวิกิพีเดียอังกฤษจะไม่ได้เคลมว่า ‘สาเหตุ’ แห่งการก่อกำเนิดวันสตรีสากลนั้นมาจากการต่อสู้ของกรรมกรแรงงานหญิงอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แม้จะมีการอ้างชื่อคลาร่า เซทคิน ก็ตามที (แต่ก็ไม่ได้ลงรายละเอียดการเป็นผู้นำกรรมกร แรงงานหญิงประท้วงของเธอ และไม่ได้ยกขึ้นมาเป็นต้นเหตุของการเกิดวันสตรีสากลอย่างชัดเจน) แต่ในหลายๆ ประเทศแรงงานกรรมกรหญิงก็หยิบฉวยเอาวันนี้มาใช้ในการต่อสู้ เช่นสหภาพโซเวียต (ในสมัยนั้น) ก็นำวันนี้มาเป็นแคมเปญโปรโมทให้ผู้หญิงปลดแอกจากการเป็นทาสในครัว และโปรโมทการเป็นหญิงชนชั้นแรงงาน (Working Woman—คำว่าเวิร์กกิ้งวูแมน เคยฮิตมากๆ ในสังคมไทย) และในความหมายของยุคสมัยปัจจุบัน วันนี้ก็ถูกตีความหมายไปอีกหลากหลายอย่าง อย่างเช่นในประเทศอาร์เมเนีย ซึ่งแยกตัวออกมาจากสหภาพโซเวียต ก็ ‘แบน’ วันนี้ แล้วตั้งวันขึ้นมาใหม่เป็นวันที่ 7 เมษายน และเปลี่ยนจากวันสตรีสากลเป็นวัน ‘Beauty and Motherhood’ (ไม่รู้ว่าจะแปลอย่างไร...วันแห่งความสวยงามและความเป็นแม่ ?) ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี แต่ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่ในวันนี้ยังเป็นวันสำคัญในการเคลื่อนไหวของภาคแรงงานหญิงอยู่ อย่างเช่น ปากีสถาน

กลับมาที่ประเทศไทย...

ประเทศไทยก็ให้ความสำคัญกับ ‘วันสตรีสากล’ ร่วมกับประชาคมโลกเช่นกัน เห็นได้จาก อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็มีคำปราศัยออกมาในวันสตรีสากลในปีนี้ และในด้านกิจกรรมที่เกิดขึ้นในสังคมก็จะเห็นว่ามีการจัดกิจกรรมขึ้นในวันสตรีสากล เช่นงานของ สภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมกับสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และองค์กรภาคีนานาชาติในประเทศไทย ซึ่งในปีนี้มีการจัดการเสวนาหัวข้อ “ส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายในการเข้าถึงทางด้านการศึกษา การอบรม และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นแนวทางให้สตรีได้มีโอกาสเข้าถึงงานที่ดีในอนาคต” โดย H.E. Mrs.Kristie A. Kenney เอกอัครราชทูตอเมริกาประจำประเทศไทย นางฮูวัยดีย๊ะ พิศสุวรรณ อุเซ็ง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ ดร.คุณหญิงกษมา วรวรรณณ อยุธยาอดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และ ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ที่ต้องไล่ให้ฟังเสียยืดยาว เพื่อจะเห็นภาพของงานว่า สุดท้ายก็มีแต่คุณหญิงคุณนาย ในแบบภาพจินตนาการที่ดิฉันนึกไว้เปี๊ยบ! (ไม่เชื่อไปดูภาพงานเองได้ผมกะบังตั้งสูง ชุดไหมปลิวว่อน) แต่ในแง่หนึ่งก็อาจคิดได้ว่า ในเมื่อเป็นวันสตรีสากล ‘สตรี’ ที่ต้องเกี่ยวข้องก็ต้องดู ‘สากล’ นิดหนึ่ง ทั้งเอกอัครราชทูต คุณหญิง ดอกเตอร์ รัฐมนตรี ฯลฯ ทั้งหลาย เพราะถ้าจะย้อนไปยังต้นกำเนิดแห่งวันสตรีสากลอย่างเรื่อง ‘แรงงานหญิง’ ก็อาจจะดูไม่สากล เพราะอาจพูดภาษาอังกฤษอันเป็นภาษาสากลไม่ได้ แลดูไม่เชิดหน้าชูตา เป็นสากลสักเท่าไหร่

และถึงแม้จะเป็น ‘วันสตรีไทย’ ภาพของงานที่เกิดขึ้นก็ไม่ต่างกัน ซึ่งแม่งานของวันสตรีไทยคือ สภาสตรีแห่งชาติฯ เช่นเคย โดยในปีนี้มีคำขวัญเก๋ๆ ว่า "พลังสร้างสรรค์ สู่อนาคตที่ยั่งยืน : สตรียุคใหม่ พัฒนาก้าวไกล ห่วงใยสุขภาพ รักษาสิ่งแวดล้อม" และมีกิจกรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็น งานแสดงปาฐกถาพิเศษจากนายกรัฐมนตรี เนื่องในวันสตรีไทย ณ ทำเนียบรัฐบาล (ซึ่งจะจัดในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ ต้องรอฟังอีกทีว่านายกรัฐมนตรีหญิงจะพูดอะไรเกี่ยวกับ ‘สตรี’ ไทยบ้าง) ปาฐกถาพิเศษภาคเศรษฐกิจและการเงิน โดยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กิจกรรมเข้าเยี่ยมคารวะประธานสภาสตรีแห่งชาติ ฯ ของคณะสตรีไทยในต่างประเทศ ฯลฯ

และแน่นอน ว่าทั้งสองวันสำคัญนั้นต้องมีการให้รางวัล ‘สตรีดีเด่น’ ซึ่ง ‘สตรี’ แบบไหนที่ได้รางวัลบ้างก็พอจะคาดเดาได้ และลองหาอ่านได้ตามข่าวทั่วไป (ขี้เกียจยกมาแปะ...เยอะมากกก...)

จากกิจกรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมด จะเห็นได้ว่าไม่ค่อยมีอะไรที่เกี่ยวข้องไปยังสาเหตุแห่งการเกิดวันสตรีสากลเท่าไหร่เลย และวันสตรีไทยก็มีรูปแบบที่ไม่ต่างจากวันสตรีสากลเท่าไหร่ด้วย บางทีสาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะในปัจจุบันเรื่องราวของผู้หญิงก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เคลื่อนย้ายจากประเด็นแรกเริ่มไปสู่ประเด็นใหม่ๆ จะมาเป็นเรื่องแรงงานกรรมกรหญิงอย่างเดิมคงจะไม่ได้ หรือถ้าจะได้ก็อาจต้องไปทำ ไปเรียกร้องในวัน ‘แรงงาน’ แทน วันสตรีทั้งสากลและวันสตรีไทย เราจึงได้ยินแต่คำว่า ‘สิทธิ’ ของผู้หญิง แต่ไม่ค่อยเข้าใจว่าผู้หญิงกลุ่มไหนบ้าง อย่างไรบ้าง อย่างง่ายๆ หากคำขวัญในปีนี้คือ “สตรียุคใหม่ พัฒนาก้าวไกล ห่วงใยสุขภาพ รักษาสิ่งแวดล้อม” ภรรยาของแกนนำต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินท่าทรายถือว่าเป็นผู้หญิงที่ห่วงใยสุขภาพ รักษาสิ่งแวดล้อมหรือไม่ แรงงานหญิงไทรอาร์มอยู่ในส่วนไหนของ ‘สตรีไทย’ ฯลฯ

ทุกๆ วันสำคัญนี้ ไม่ว่าจะเป็นวันสตรีสากล หรือวันสตรีไทย เราจึงได้ดูแต่ข่าวว่าปีนี้มอบรางวัลให้ใครบ้าง ซึ่งก็เป็นคุณหญิงคุณนายใหญ่ๆ โตๆ เสียส่วนใหญ่ มีระดับท้องถิ่นบ้าง แต่ก็เป็นผู้นำองค์กรของภาครัฐเสียเป็นส่วนใหญ่อีก และแน่นอนมันเป็นข่าวที่ผ่านแล้วผ่านเลย ไม่มีความสลักสำคัญใดๆ เหมือนคำว่า ‘สตรีไทย’ จะถูกจำกัดความอยู่เฉพาะแค่คนกลุ่มหนึ่ง จัดงานกันเอง เป็นงานแบบ ‘พอเป็นพิธี’ ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบถึง ‘ผู้หญิง’ ในทุกภาคส่วนของสังคม (เกลียดคำนี้จริงๆ ให้ตายเหอะ) ดูได้จากภาพงานอย่างเป็น ‘ทางการ’ ก็พอจะรู้แล้วว่าผู้หญิงแบบไหนที่อยู่ในกลุ่มของคำว่า ‘สตรีไทย’ ส่วน ‘ผู้หญิง’ ส่วนอื่นๆ หากอยากจะหยิบฉวยเอาวันนี้มาทำอะไรเพื่อตัวเองบ้างก็เชิญไปทำกันเอง (เพราะงานสตรีไทยภายใต้การรับรองอย่างเป็นทางการ ซึ่งก็เหมือนเป็นการรับรองความเป็น ‘สตรีไทย’ แบบไหนที่เป็นสตรีไทยนั้น ต้องเป็นแบบนั้น นอกจากนั้นที่ไม่รับรอง ไม่เป็นสตรีไทยค่ะ) อย่างกรณีแรงงานหญิงไทร์อาร์มที่จัดการเดินขบวนเรียกร้องในวันสตรีสากลที่ผ่านมา แล้วพวกเธอถูกหยิบยกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสตรีไทย (ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสตรีสากลในวันสตรีสากล) หรือวันสตรีไทยไหม...ไม่ แม้จะพูดได้ว่าเรื่องราวของพวกเธอคือที่มา จุดกำเนิดเดียวกับกับเรื่องราวของวันสตรีสากลเลยก็ตาม

คำว่า ‘สตรีไทย’ ที่เป็นวาทกรรมภายใต้วันสตรีสากล หรือวันสตรีไทยนั้น จึงเหมือนถูกจับจองเป็นเจ้าของเพียงแค่ ‘ผู้หญิงชนชั้นหนึ่ง’ ผูกขาดโดยผู้หญิง ‘เฉพาะกลุ่ม’ ละเลยผู้หญิงอีกหลายกลุ่ม (ด้วยการที่ผู้หญิง Discriminate ผู้หญิงด้วยกันเอง) และหลงลืมรากเหง้าที่มาที่แท้จริงของความสำคัญของวันสำคัญนี้ (ถ้าเราคิดว่ามันเป็นวันสำคัญน่ะนะ) คำว่าสตรีจึงไม่ใช่คำที่มีความหมายเฉพาะเพียงเรื่องเพศเท่านั้น แต่มันยังกินความไปยังเรื่องของชนชั้นด้วย (บวกเศรษฐกิจอีกสักเรื่องยังได้) ไม่ใช่ว่าใครๆ ในผืนแผ่นดินนี้ที่เกิดมาเป็นเพศหญิงจะเป็น ‘สตรีไทย’ ได้ เพราะวันสตรีสากลและสตรีไทย (ในประเทศไทย) นั้นทำให้เราเห็นแล้วว่า อยากจะเป็นสตรีไทย มีส่วนร่วมกับคำว่าสตรีไทย ในวันสตรีสากล หรือวันสตรีไทย เกิดเป็นผู้หญิงอย่างเดียวนั้นไม่พอ!

ดิฉันผู้ซึ่งอาจถูกคัดออกในดำลับต้นๆ เช่นเดียวกัน ผู้ซึ่งไม่รู้จะทำอะไร จะไปเกี่ยวข้องตรงไหน ในวันสตรีไทย ก็ได้แต่นั่งคิดฟุ้งซ่าน เขียนอะไรไร้สาระ คิดได้ดั่งนั้น จึงอาบน้ำแต่งตัว เป็นเพียงผู้หญิงสวยๆ และไปเดินช้อปปิ้งให้เขาครหาว่านอกจากความสวยแล้วยังไม่เป็น (กุล)สตรีที่ดีอีก!

ร้ายสไตล์กับรุงรวี ศิริธรรมไพบูลย์: วันสตรีไทย : สตรีไทยมีใครบ้าง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น