โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

บันทึกหลังชมละครเวที Flu-Fool: เพลงที่ไม่ได้ยิน

Posted: 17 Aug 2011 12:50 PM PDT

 

(หมายเหตุ - มีการเล่าเนื้อหาของการแสดงนี้ทั้งหมด)

 

ด้วยความที่ผมไม่ได้มีความรู้เรื่องละครเวทีแม้แต่น้อย ไม่ได้เป็นคนวงใน ไม่ได้รู้จักใครในวงการละครเวทีไทยเลย เป็นเพียงผู้ชมคนหนึ่ง ข้อเขียนชิ้นนี้จึงเป็นเพียงบันทึกวาบความคิดของคนที่สนุกกับการดูการแสดงคนหนึ่ง เป็นเสียงของคนดูต่อนักแสดงและต่อคนดูด้วยกัน เป็นข้อเขียนเพื่อชวนคุยเท่านั้น ที่น่าเสียดายก็คือว่าหากใครยังไม่ได้ดูการแสดงชุดนี้ก็อาจจะนึกภาพตามค่อนข้างลำบาก ในเนื้อหาของข้อเขียนเป็นการเล่าการแสดงทั้งหมด ต้องขออภัยไว้ในที่นี้

เร็วๆ นี้ (24 ก.ค.) ผมได้ดูการแสดงชุด ‘Flu-Fool’ ของคณะบี-ฟลอร์ (1) ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ทองหล่อ การแสดงวันนั้นเป็นวันสุดท้ายหลังจากที่ทางคณะเปิดแสดงมาได้อาทิตย์กว่า ผมได้รับข่าวสารของการแสดงนี้จากแฮนด์บิลที่ได้รับมาโดยบังเอิญจากเพื่อนฝูง เป็นแฮนด์บิลที่ออกแบบได้สวยงาม ผมก็เลยเริ่มจะสนใจขึ้นมา

จะว่าไปแล้ว ผมชอบและติดตามงานของกลุ่มบี-ฟลอร์และนักแสดงสมาชิกของกลุ่มนี้มาได้สักพักแล้ว งานแรกที่ผมได้ดูคือ แผ่นดินอื่น (the Other Land) ในปี 2551 (2) งานเกี่ยวกับผลงานเขียนชื่อเดียวกันของกนกพงศ์ สงสมพันธ์ เป็นการตีความงานวรรณกรรมเล่มนี้ ซึ่งเป็นเล่มที่ผมชอบที่สุดเล่มหนึ่งด้วย น้อยครั้งเหลือเกินครับที่ผมจะได้พบการเคลื่อนไหวของศิลปะแขนงอื่นมาเชื่อมโยงกับวรรณกรรมในลักษณะที่สร้างสรรค์ ไม่ทำอย่างขอไปที อย่างที่เห็นกันให้เกร่อ (เช่นการจัดละครเวทีเพื่อเฉลิมฉลองคนใหญ่คนโต ที่ต้องเอาศิลปะทุกแขนงมาเรียงร้อยสอดประสาน -อ้วก)

และเมื่อมาดูคำโปรยบนแฮนด์บิลนั้นก็ทำให้ผมตัดสินใจว่าต้องไปดู

 

บันทึกหลังชมละครเวที Flu-Fool: เพลงที่ไม่ได้ยิน

“หากสิ่งที่คุณเชื่อกำลังล่มสลาย คุณจะละทิ้งมันไปสู่ความเชื่อใหม่ หรือยื้อมันไว้จนสุดแรง”

 

ผมเข้าใจว่า Flu-Fool เป็นภาคต่อของ ‘ละครเวทีมัลติมีเดีย’ เรื่อง Flu O Less Sense (ไข้ประหลาดระบาดไทย) เป็นภาคแรกที่สร้างขึ้นทันทีหลังจากเหตุการณ์พฤษภาฯมหาโหดปี 2553 โดยบนแฮนด์บิลกล่าวว่าเป็น “บทบันทึกในรูปแบบการแสดงของช่วงเวลาที่สังคมไทยอยู่ท่ามกลางสงครามข่าวสาร ความสับสนในข้อมูล ความศรัทธาที่สั่นคลอน มิตรภาพที่เปราะบาง ความตายและผู้ร้ายปริศนา” (เน้นโดยผู้เขียน) ส่วนภาคที่สองเพิ่งสร้างขึ้นใหม่ เน้นไปในการเคลื่อนไหวร่างกายและงานโมชั่นกราฟฟิก โดยการแสดงครั้งนี้มีทั้งสองภาค

สิ่งที่ผมสนใจที่สุดจากงานแสดงชุดนี้ไม่ใช่คำตอบ หากแต่เป็นคำถามมากกว่า คำถามทั้งชุดเดิมและชุดใหม่ๆ ที่หวังว่าวงการศิลปะจะเริ่มหันมาถามกันมากขึ้น หรือถามให้ถูกคำถามกันมากขึ้น

 

ในห้องแสดง (3)

การแสดงเริ่มต้นขึ้นที่สนามบินนานาชาติ เราเห็นนักท่องเที่ยวหลายชาติ (และหลายภาษาที่เราฟังไม่รู้เรื่อง) พร้อมกับกระเป๋าเดินทางของพวกเขา ภาพบนผนังฉายรูปการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเสื้อเหลืองและเสื้อแดง หากแต่คนไทยพยายามตะโกนกู่ร้องให้นักท่องเที่ยวเหล่านั้นฟังว่า “ไม่เป็นไรหรอก ไม่มีอะไร เพราะที่นี่คือสยามเมืองยิ้ม” เจ้าของบ้านยิ้ม รับด้วยเสียงหัวเราะของผู้ชม

และจากจุดนี้ไปเป็นการนำจานพลาสติกมาใช้อย่างแหลมคม เพราะจานพลาสติกนั้นจะว่าไปแล้วก็ได้รับความนิยมด้วยความรวดเร็วไปในหมู่ชนชั้นกลางระดับล่าง ไม่ใช่เพราะว่ามันถูกและแตกยากเท่านั้น แต่เมื่อกรุงเทพมหานครได้กลายเป็นดินแดนเงินดินแดนทองของคนต่างจังหวัดตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960s เป็นต้นมา แรงงานจำนวนมหาศาล ทยอยเดินทางเข้าไปเสริมภาคบริการและอุตสาหกรรมในกรุงเทพฯ การมีจานพลาสติกหมายความถึงความคล่องตัว (mobility) ของแรงงานเหล่านั้นในการจะย้ายจากสถานที่ก่อสร้างหนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง จากบริกรของที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง จานพลาสติกในหะแรกเป็นภาพแทนของการรวมศูนย์ของกรุงเทพมหานครเหนือดินแดนทั้งหมดโดยรอบ (ทั้งในเชิงกายภาพและนามธรรม) การเข้าไปมีส่วนแบ่งในศูนย์กลางของอำนาจอาจหมายความถึงว่าคุณจำเป็นต้องพร้อมในการหอบข้าวหอบของหนีเมื่อ ‘เขา’ ไล่ด้วย จะว่าไปในชนบทเองก็มีจานกระเบื้อง (หรืออย่างน้อยก็สังกะสี) กันทั้งนั้น จานพลาสติกจึงเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมเฉพาะกิจที่เกิดมาเพื่อรองรับความเหลื่อมล้ำที่ยุคพัฒนาได้นำพามา

 

บันทึกหลังชมละครเวที Flu-Fool: เพลงที่ไม่ได้ยิน

(ภาพจาก fuse.in.th)

 

ในการแสดงชุดนี้มีการใช้จานเป็นสัญลักษณ์แทนหลายต่อหลายอย่าง ในขณะที่คนไทยทุกคนมีจานของตัวเอง หรืออาจหมายความว่ามีข้าวกิน พวกเขากำลังเริงร่าไปกับความอิ่มหมีพีมัน แล้วความร่าเริงของพวกเขาก็หยุดลงเมื่อมีคนใส่ผ้าคลุมสีดำ ขมึงทึง มาพร้อมกับกีต้าร์ไฟฟ้าพร้อมกับเล่นท่อนฮุคของเพลง เจ็บนี้อีกนาน ของคุณออฟ-พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ต่อด้วยการยืนขึ้นบนโต๊ะร้องเพลง สยามเมืองยิ้ม ของคุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ (4)

 

จงภูมิใจเถิดที่เกิดเป็นไทย
มิเป็นทาสใคร และมีน้ำใจล้นปริ่ม
ทั่วโลกกล่าวขานขนานนาม ให้ว่าสยามเมืองยิ้ม
เราควรกระหยิ่มถึงความดีงาม

คนเย็นใจซื่อได้ชื่อว่าไทย
ร้อนมาจากไหน ชาติไทยไม่เคยหวงห้าม
ข้ามเขตข้ามโขงถิ่นน้ำขุ่น มาพึ่งใบบุญเมืองสยาม
เรายิ้มรับตามที่ท่านต้องการ

เลื่องชื่อลือนาม สยามมีแต่น้ำใจ
ขอเตือนท่านผู้อาศัย อย่าทำอะไรให้ไทยร้าวราน
คนไทยใจซื่อ เขาถือแต่โบราณกาล
แค่เพียงข้าวสุกหนึ่งจาน ใครลืมของท่านนั้น เนรคุณ

คนไทยรักชาติและศาสนา
เทิดองค์เจ้าฟ้า ผู้ทรงเปี่ยมเนื้อนาบุญ
ถ้าท่านเคารพสิทธิ์ของไทย ท่านอยู่ต่อได้อีกนานคุณ
สยามใจบุญ ยังยิ้มเสมอ

 

จากนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างต่อคนไทย เกิดมีผู้ที่เป็นเจ้าของจานทั้งหมด ถือสิทธิ์ในการครองจานทั้งหมด คนที่เหลือคือผู้ที่รอรับส่วนแบ่งจานของตัวเอง ด้วยสายตาเปี่ยมไปด้วยความหวัง ด้วยสายตาที่หิวโหย ในขณะนั้นที่ผนังคนละด้านเราจะเห็นการเคลื่อนไหวของเสื้อเหลืองและเสื้อแดง คนไทยที่เรารู้จักเริ่มได้รับเชื้ออะไรบางอย่างเสียแล้ว พวกเขาเริ่มหลงใหลไปกับประโยคอย่าง “ตายซะดีกว่าที่จะอยู่อย่างไร้เกียรติ” พวกเขารู้สึกหงุดหงิดใจที่เห็นการเคลื่อนไหวของเสื้อแดง พวกเขารู้สึกว่านั่นเป็นการทำลายความสุขของพวกเขา พวกเขาอยากตายดีกว่าจะอยู่อย่างไร้เกียรติ พวกเขาอยากตายดีกว่าจะอยู่อย่างไร้เกียรติ!

พวกเขาคุยกัน อยู่ในบ้านเดียวกัน ภายใต้หลังคาเดียวกันแล้วก็เริ่มทะเลาะกันจากความคิดเห็นที่ไม่เหมือนกัน พวกเขาทะเลาะกันด้วยเสียงที่ดังขึ้นๆ มีภาพโขลงช้างฉายขึ้นที่ผนัง ซึ่งผมคิดว่าเป็นจังหวะที่ฉลาด เพราะ “ช้างที่อยู่ในห้อง” นี่เองที่ทำให้การถกเถียงในสังคมไทยไม่มีโอกาสได้เป็นไปในทางสร้างสรรค์

ในขณะที่พวกเขาทะเลาะกันอยู่นั้น โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจถ่ายทอดภาพการจัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาทะเลาะกัน พวกเขากลับมาคุยกัน พวกเขาทะเลาะกันอีกครั้ง และทวีความรุนแรง

ศพแรกตายลง พวกเขาตกตะลึง เสียขวัญ จานถูกโยน ตกกระจัดกระจาย ศพต่อไป ศพต่อไป จากที่ทะเลาะกันอย่างเอาเป็นเอาตาย พวกเขาพยายามปลุกศพเหล่านั้นให้ฟื้นกลับคืนมา จานพลาสติกที่กระจัดกระจายคือศพของคนเสื้อแดงที่ตายเกลื่อน ดนตรีทั้งหมดหยุดลง พวกเขาพยายามเก็บรวบรวมจานเหล่านั้น เก็บศพเหล่านั้น

แต่แล้วกลับมีคนผู้หนึ่ง สวมชุดคลุมสีดำ ถือเอาไม้กวาดออกมา กวาดเอาจานที่กระจัดกระจายเหล่านั้นไปกองรวมกัน พวกเขาไม่สามารถพูดอะไรได้ ไม่สามารถต่อต้าน พวกเขาเงียบ ชายคนนั้นไม่สนใจใคร กวาดเอาศพเหล่านั้นทิ้งไปด้วยท่าทีฉุนเฉียว ท่ามกลางความหวาดกลัวที่ล้นออกมาถึงคนดู

 

ในคำอธิบายในหนังสือโปรแกรมตลอดปีของกลุ่มบี-ฟลอร์เขียนเอาไว้ว่า “มหากาพย์อ้างอิงแห่งยุคสมัยที่ตั้งคำถามกับความเป็นไทย ประชาธิปไตยแบบพ่อขุน สำนึกความเชื่อ + ความเป็นตัวตน = เอกลักษณ์(เพิ่ง)ถูกสร้าง(ดั่งโฆษณาชวนเชื่อ) อย่าถามหาอนาคตที่งมงาย จงเฝ้ารอคอยอดีตจะพิพากษาปัจจุบัน จงแผดเสียงหัวเราะแด่ยุคสมัยที่เราร่วมสร้าง มีแต่คำถาม ไม่มีคำตอบ หวังว่าเวลาจะสำรอกความจริง.....ได้บ้าง” (5)

ก่อนที่จะพักครึ่ง เนื้อเรื่องสรุปไว้ได้อย่างเจ็บแสบด้วยการฉายภาพโครงการคิดบวก โครงการปรองดอง การรวมตัวกันใส่เสื้อขาวแล้วมาร้องเพลงของนักร้องค่ายแกรมมี่ แล้วตัดสลับไปกับภาพการกลายไปสู่ความสุดโต่ง (radicalization) ของประชากรโลก การเข้าสู่ลัทธิ (cult) ต่างๆ เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าไข้ประหลาดได้เข้าไประบาดในประเทศสยามเมืองยิ้มแห่งนี้เรียบร้อยแล้ว หรือกระบวนการหลังจากการสังหารหมู่กลางเมืองนั้นก็คือความสุดโต่งอีกชนิดหนึ่งเท่านั้น?

 

พัก 15 นาที

 

ผู้กำกับการแสดงเรื่องนี้คือคุณธีรวัฒน์ มุลวิไล ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการฯกว่าสิบปีและเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มบี-ฟลอร์ เขาสั่งสมประสบการณ์จากกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวมาก่อน นั่นทำให้ความคิดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะกับสังคมของเขายังแนบอยู่กับอุดมการณ์ที่นักศึกษาในยุคประชาธิปไตยเบ่งบานยึดถือ “...[ศิลปะ]มันต้องสะท้อนสังคม ไม่ว่าจะแปลกแหวกแนวขนาดไหนก็ต้องมีแก่นเรื่อง...” (6) หลายต่อหลายงานเขาปรากฏตัวในการแสดง แต่งานนี้เขาทำหน้าที่กำกับ เขาได้รับคำชมเชยอย่างกว้างขวางในหมู่นักวิจารณ์ โดยเฉพาะในสื่อมวลชน ดังที่บางกอกโพสต์ได้ให้คำจำกัดความเกี่ยวกับเขาว่า “ผู้กำกับฯที่มีสำนึกทางสังคมและการเมืองที่สุดคนหนึ่งของวันนี้” (7) ผมดื่มด่ำกับเบียร์ขวดเล็ก แล้วค่อยๆ เรียบเรียงความคิดก่อนจะกลับเข้าไปสู่ช่วงต่อไป

 

ในห้องแสดง (ต่อ)

 

การแสดงชุดนี้น่าจะเป็นชุด Flu-Fool ที่เพิ่งสร้างขึ้นในปี 2554 เป็นการตกผลึกของความคิดแล้วส่วนหนึ่ง มันเริ่มด้วยความตะลึงพรึงเพริดของความเชื่อโบราณที่ว่า หากมีความวิปริตอาเพศเกิดแก่บ้านเมือง จะต้องฝังคนสี่คนนาม อิน จัน มั่น คงที่สี่มุมเมืองเพื่อขจัดปัดเป่าความชั่วร้าย ฉากนี้เดินด้วยดนตรีทุ้มต่ำ แล้วศพของคนทั้งสี่ก็ถูกขนไปฝัง


ที่น่าสนใจก็คือการเปิดตัวของตัวละครหญิงผู้นั่งรถเข็นออกมา มีเสือตัวหนึ่งอยู่เคียงข้าง เขาออกมาเหมือนเป็นการสำรวจตรวจตราความเรียบร้อย ด้วยบรรยากาศที่มึนมัว ทุกอย่างก็ดูเหมือนจะกลับมาเรียบร้อย หมดทุกข์ หมดโศก หมดโรค หมดภัยอีกครั้งเพราะอำนาจบารมีของคนคนนี้ คนใส่ชุดขาวออกมาเต้น ดูมีความสุข แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาเหมือนติดสารเสพติดอะไรบางอย่าง พวกเขาล่องล่อยไม่มีทิศทาง ดูมีความสุขในโลกที่พวกเขาสร้างขึ้นเอง – สำหรับผมคนเหล่านี้คือพวกเราคนไทย ที่สร้างโลกของตัวเองขึ้นมาเพื่อมีความสุขกับโลกเล็กๆ ใบนั้น ความสุขในการทำแพลงกิ้งไปพร้อมๆ กับการพับเพียบ (ราวกับว่าได้เอาไทยไปเชื่อมกับโลก แต่ขณะเดียวกันก็รักษาความเป็นไทยได้อย่างสำเร็จ)

พวกเขาอยู่ในการต่อสู้ที่ไม่มีจริง เป็นเพียงแค่ในเกมเมื่อตัวละครได้กลายเป็นนักต่อสู้ในเกมสตรีท ไฟเตอร์และเกมกดอีกหลากหลาย ราวกับว่าพวกเขาได้ต่อสู้แล้ว เขาได้เปลี่ยนแปลงแล้ว ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่รู้เลยว่า สิ่งที่สู้กันอยู่นั้นมันเป็นเพียงแค่โลกจำลองเท่านั้นเอง เขาไม่รู้ หรือไม่ยอมรับรู้ ว่าจริงๆ แล้วบนถนนนั้นมีการต่อสู้เวทีใหญ่เกิดขึ้นอยู่ มีคนจำนวนมากที่ต่อสู้ดิ้นรนเพื่ออยู่รอด สำหรับคนกลุ่มแรก หากแพ้พวกเขาสามารถกดเริ่มใหม่ได้ แต่สำหรับกลุ่มหลังแล้ว, ความพ่ายแพ้อาจหมายถึงชีวิต

แม้ว่าพวกเขาคิดจะตั้งคำถามก็ตามที การแสดงชุดนี้ดักทางเราด้วยการแสดงปาหี่อับดุล ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ แม้เราจะรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นต่อหน้าเราทุกเมื่อเชื่อวันในสังคมไทยนั้นไม่สมเหตุสมผล เราพยายามหาคำตอบ หาทางออกให้ตัวเอง แต่เรากลับต้องไปหยุดที่ว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” เสมอ

และผีมัมมี่อิน จัน มั่น คงก็ถูกนำออกมาขาย ไม่ใช่สิ, ต้องเรียกว่า ’ให้เช่า’ มากกว่า คุณจะสุข เจริญ ร่ำรวยได้ในพริบตาหากเชื่อ หากไม่ตั้งคำถาม หากอยู่เฉยๆ ในที่ๆ คุณควรอยู่

ช่วงที่สองนี้มีการเล่นกับวิดีโอและกราฟฟิกค่อนข้างมากกว่าตอนแรก เมื่อถูกพิสูจน์ได้แล้วว่ามันไม่ได้ทำให้พวกเรารวยขึ้น สุขขึ้น เจริญขึ้นจริง พอพวกเขาเริ่มจะร้องป่าว คนนั่งบนรถเข็นก็ปรากฏตัวออกมาอีกครั้ง เขามาเป็นผู้ช่วยปลดเปลื้อง ท่ามกลางเสียงแคนที่ดังทั่วภาคอีสานและพื้นดินที่แตกระแหงของชนบทไทย ก็เกิดมีหญ้าขึ้น เกิดมีความเขียวขจีของต้นไม้ใบไม้ขึ้น

 

บันทึกหลังชมละครเวที Flu-Fool: เพลงที่ไม่ได้ยิน

(ภาพจาก siamintelligence.com)

 

คนทุกคนรู้สึกเหมือนว่าตนกลับมามีชีวิตอีกครั้ง พวกเขาเต้นรำเริงร่า แต่คล้ายคนเมายาเท่านั้น พวกเขาฝันถึงหลักหกประการของคณะราษฎร – ตรงนี้ทำค่อนข้างดีในการประสานวิดีโอกราฟฟิกเข้ากับการแสดง พวกเขาในฐานะประชาชนมีสิทธิมีเสียงในการจะร่างรัฐธรรมนูญในการปกครองประเทศของตนเอง

แต่แล้วคนในรถเข็นก็ออกมาอีกครั้ง...

พวกเขาหยุด รู้ถึงอำนาจที่ตัวเองไม่มี พวกเขาติดไข้ประหลาด นั่งดูทีวี เห็นความฝันของชาวนา เห็นทุ่งหญ้าสดสวย เห็นชีวิตในอุดมคติของชาวนา เกษตรกรมีความสุข พวกเขาเห็นพระผู้มาโปรดสัตว์อันต่ำต้อยทั้งหลายในวิดีโอ พวกเขานั่งเสพมันไปอย่างอัตโนมัติ

จนในที่สุด คนในรถเข็นก็ออกมาในรูปร่างของศักดิ์สิทธิ์ควรบูชา (ห้ามลบหลู่) เขาพยายามเขียนอะไรลงไปบนรัฐธรรมนูญด้วยไฟที่ดูเหมือนเย็น

ใช่ ด้วยไฟที่ดูเหมือนเย็น

 

หลังการแสดง

 

ผมเสียดายที่ไม่ได้ชวนเพื่อนฝูงอีกหลายคนมาด้วย เสียดายที่ไม่สามารถหาใครนั่งคุยอย่างจริงจังด้วยได้ (อย่างเช่นคนที่มีความรู้เรื่องเทคนิคการแสดง หรือคนที่สามารถแนะนำเกี่ยวกับเรื่องกำกับแสง กำกับเสียง เป็นต้น) จึงเกิดความอึดอัดว่าไม่อยากให้การแสดงนี้ผ่านไปโดยไม่ได้พูดอะไรเกี่ยวกับมันเลย

ผมเฝ้าคอยหางานศิลปะในวงการศิลปะที่จะพยายามตั้งคำถามที่สังคมโดยกว้างกำลังตั้งอยู่ และหลายครั้งก็รู้สึกผิดหวังที่คนในวงการศิลปะกลับตั้งใจจะไม่มองมัน คล้ายกับว่าพวกเขาเป็นโรคประหลาดนี้เสียเอง (ดังที่อาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ “จัดหนัก” เอาไว้เกี่ยวกับงานวรรณกรรมโดยเฉพาะกวี (8) มีหลายคนที่ชื่นชอบดนตรีและคอมพิวเตอร์กราฟฟิก หลายคนชอบการเคลื่อนไหวของร่างกาย หลายคนชอบแสง เพราะเป็นอะไรใหม่ที่พวกเขาไม่เคยได้ยินมาก่อน ได้เห็นมาก่อน แต่สำหรับผม สิ่งที่ใหม่ที่สุดได้เกิดขึ้นในคืนนั้น (และมันคือ “โครงสร้างของอารมณ์” ที่เรย์มอนด์ วิลเลียมส์ว่าไว้) มันได้เกิดขึ้นแก่สังคมไทยแล้ว อย่างน้อยก็ในงานศิลปะประเภทละคร ซึ่งมันทำให้ผมมีความหวังต่อไป

 

คือผมไม่ได้ยินเพลงนั้นเลย

 

Flu-Fool

  • กำกับการแสดง ธีระวัฒน์ มุลวิไล
  • นักแสดง ดุจดาว วัฒนปกรณ์ อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์ ศศพินทุ์ ศิริวาณิชย์ นานาเดกิ้น วรัญญู อินทรกำแหง ศรุต โกมลิทธิพงศ์ บัณฑิต แก้ววันนา ศักรินทร์ ศรีม่วง
  • กำกับเทคนิค ทวิทธิ์ เกษประไพ
  • ประพันธ์เพลง กฤษฎา เรเยส
  • ออกแบบแสง ภาวิณี สมรรคบุตร
  • ออกแบบภาพเคลื่อนไหว เตชิต จิโรภาสโกศล หลี ซื่อต่อศักดิ์
  • ออกแบบวีดีโอสารคดี นพพันธ์ บุญใหญ่
  • ดูแลการผลิต จารุนันท์ พันธชาติ

 

เชิงอรรถ

  1. http://www.bfloortheatre.com/
  2. http://bangbangbandit.wordpress.com/tag/กนกพงศ์-สงสมพันธุ์/
  3. นี่เป็นการจดและจำล้วนๆ ไม่ใช่การทวนบท แต่นี่คือการตีความ เป็นการสะท้อนภาพจากสายตาคนดูคนหนึ่ง ซึ่งสามารถหลงลืม สามารถมีอคติ สามารถง่วง สามารถหัวเราะ ฯลฯ เป็นผลสะท้อนทางความคิดหลังจากที่ได้ดูงานศิลปะของคนดูคนหนึ่งเท่านั้น
  4. ในการแสดงไม่ได้ร้องเต็มเพลง เน้นโดยผู้เขียน
  5. B-Floor Theatre 2011 Productions
  6. http://www.whoweeklymagazine.com/entertainment_content_detail.php?t=who&t1=entertainment&id=63
  7. B-Floor Theatre 2011 Productions
  8. http://prachatai3.info/journal/2011/05/34441

 

 

หมายเหตุ ชื่อบทความเดิม: เพลงที่ไม่ได้ยิน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ: เครือข่ายชสตูลยื่นหนังสือถึงนายกฯ ใหม่ อย่าฟื้นโครงการแลนด์บริดจ์

Posted: 17 Aug 2011 12:26 PM PDT

17 ส.ค.54 เวลาประมาณ 9.00 น. เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ประมาณ 30 คน ได้เข้าพบนายวินัย ครุขุนทด ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เพื่อยื่นหนังสือถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แสดงความไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการผลักดันนโยบายแลนด์บริจส์การขนส่งพาณิชย์ ท่อน้ำมันและการส่งเสริมอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดสตูล

เครือข่ายชสตูลยื่นหนังสือถึงนายกฯ ใหม่ อย่าฟื้นโครงการแลนด์บริดจ์

เครือข่ายชสตูลยื่นหนังสือถึงนายกฯ ใหม่ อย่าฟื้นโครงการแลนด์บริดจ์

นายนันทพล เบ็ญเด็ญ ผู้แทนเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูลกล่าวว่า “ประชาชนในพื้นที่ไม่มีความไว้วางใจในการประกาศนโยบายของรัฐบาลในอนาคตว่าจะมีนโยบายการผลักดันโครงการแลนด์บริจส์สงขลา-สตูล เพราะโครงการต่างๆ จะพ่วงมาด้วย การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมตามมา เครือข่ายประชาชนติดติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูลจึงได้มายืนหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีคนใหม่ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลในครั้งนี้ขอให้รัฐบาลทบทวนและอย่าบรรจุโครงการเหล่านี้เป็นนโยบายรัฐบาล”

“โครงการต่างๆ ที่ถูกผลักดันลงมาในพื้นที่จังหวัดสตูล เช่น ท่าเรืออุตสาหกรรมปากบารา เขื่อนคลองช้าง มอเตอร์เวย์ ทางรถไฟ และการพัฒนาอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบกับชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสตูลเป็นอย่างมาก”

“หากหน่วยงานที่รับผิดชอบผลักดันโครงการต่อไปจะทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นในพื้นที่และชุมชนก็จะเกิดความแตกแยกมากขึ้นอย่างแน่นอน” นายนันทพล กล่าว

ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลกล่าวว่า นโยบายต่าง ๆ ที่ลงมาจังหวัดสตูลเป็นอำนาจของหน่วยงานส่วนกลางโดยไม่ได้ผ่านจังหวัดสตูลตามระเบียบการบริหารราชการใหม่ จังหวัดจึงไม่มีอำนาจในการตัดสินใจใดๆ

“จังหวัดทำได้คือเป็นกลไกกลางในการประสานและแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบและจะดำเนินการส่งหนังสือแจ้งไปยังสำนักนายกฯ และกระทรวงที่เกี่ยวข้องตามที่ประชาชนต้องการ” นายวินัย กรุขุนทด กล่าว

 

พิเศษ /2554

เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล
ตู้ปณ 13 ปณจ. เมืองสตูล 91000

17 สิงหาคม 2554

เรื่อง      ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายพัฒนาแลนบริดจ์ การขนส่งพาณิชย์-ท่อน้ำมัน การอุตสาหกรรมในจังหวัดสตูลและในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้

เรียน      คุณยิ่งลักษณ์ ชิณวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล

ตามที่ท่านได้รับการลงมติจากสภาผู้แทนราษฎร ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐบาลของท่านจะแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในเร็ววันนี้นั้น ก่อนได้รับการเลือกตั้ง พรรคของท่านมีนโยบายที่จะดำเนินการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ต่างๆโดยเฉพาะแผนพัฒนาแลนบริดจ์สงขลา-สตูล, การถมทะเล ดังที่ทราบโดยทั่วกัน เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล มีความคิดเห็นและข้อเสนอแนะดังนี้

  1. ในฐานะประชาชน เราขอแสดงความยินดีที่ท่านได้รับการไว้วางใจจากสภาฯให้เป็นนายกรัฐมนตรี และได้จัดตั้งรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศ เป็นไปตามครรลองระบอบประชาธิปไตย และหวังว่าท่านจะบริหารประเทศแทนประชาชน ด้วยการฟังเสียงประชาชนเป็นด้านหลัก
  2. อย่างไรก็ตาม เราขอเสนอแนะว่า นโยบายถมทะเล นโยบายสนับสนุนการพัฒนาแลนบริดจ์ สงขลา-สตูล ซึ่งชัดเจนว่าเพื่อสนับสนุนการอุตสาหกรรมขนาดหนัก ทั้งก่อมลพิษที่เกิดขึ้นตามมานั้น เป็นนโยบายที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ ทำลายชีวิตและต้นทุนของประชาชนในพื้นที่ เราจึงไม่เห็นด้วย และไม่ต้องการให้เกิดขึ้น
  3. เราไม่ได้คัดค้านการพัฒนาเพื่อประโยชน์ต่อชีวิตของประชาชน แต่ประสงค์ให้วางแผนการพัฒนาในพื้นที่ใหม่ โดยเริ่มต้นจากท้องถิ่นและประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยเน้นการพัฒนาที่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรง ไม่ก่อมลพิษ ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น และเป็นการพัฒนาที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่จริงๆ
  4. จึงขอให้ท่านได้พิจารณาทบทวน “ร่างนโยบายรัฐบาล” ในประเด็นที่เกี่ยวข้องข้างต้น ก่อนแถลงต่อรัฐสภา เพื่อสร้างมิติใหม่ของการบริหารประเทศด้วยการรับฟังเสียงของประชาชนระดับล่างเป็นสำคัญ

จึงเรียนมาเพื่อพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ

ตัวแทนเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลอุทธรณ์ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น สั่งเริ่มใหม่ คดีลุงเสื้อแดงฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

Posted: 17 Aug 2011 12:15 PM PDT

17 ส.ค. 2554 เวลาประมาณ 10.00 น. ศาลแขวงดุสิต ได้ออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ 1171/2553 คดีหมายเลขแดงที่ 1224/2553 ซึ่งเป็นคดีระหว่าง พนักงานอัยการ โจทก์ กับ นายสมบัติ สุขได้พึ่ง จำเลย ในข้อหา ฝ่าฝืน พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

โดยศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษา ว่า ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของนายสมบัติ สุขได้พึ่ง โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น จึงพิจารณายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นเสีย และย้อนสำนวน ไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีใหม่ให้ถูกต้อง แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

ทั้งนี้ คดีนี้พนักงานอัยการโจทก์ กล่าวหาว่า นายสมบัติ สุขได้พึ่ง อายุ 61 ปี ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฯ เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2553 และเจ้าพนักงานทหารจับกุมตัวจำเลยได้ที่สี่แยกราชเทวี โดยในชั้นศาลชั้นต้น จำเลยรับสารภาพ ศาลแขวงดุสิตจึงพิพากษาตัดสินจำคุกจำเลย 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ป่วนกระแสกับบุญชิต ฟักมี: ดราหมาหน้าหม้อ

Posted: 17 Aug 2011 11:33 AM PDT

 
           - เฮ้ย ถามไรหน่อย
            - มีอะไรวะ (เทลูกชิ้นปลาลงในหม้อไฟ)
            - เรื่องจับรถขนหมานี่ เอ็งคิดยังไง
            - ดรามา กระแดะไม่เข้าเรื่อง เป็นความดัดจริตของสังคมไทย อ้าวยิ้มทำไมวะ (เอื้อมหยิบจานหอยตลับจากสายพาน)
            - หง่าเอ๊ย นี่ถ้าเป็นหวยนี่ยิ่งกว่าป้ายทะเบียนนายกออกสองตัวตรงอีก ตูว่าแล้วว่าเอ็งต้องพูดอย่างนี้, นี่ ไอ้ลิปร์ ถามจริงๆเถอะวะ การเป็นเสรีชนหรือลิเบอร์รัลอะไรของเอ็งเนี่ย คือ อะไรที่คนในโลกเขาว่ามันเลว มันแย่ มันรับไม่ได้ เอ็งต้องว่ามันดี มันงาม มันเจ๋ง มันเสรี หรืออะไรที่คนในโลกเขาว่าดี เอ็งต้องว่าเลวหมดเลยเหรอวะ ต่อไปเอ็งไม่ต้องเที่ยวไปหาขี้มาคลุกข้าวกินเพราะคนอื่นเขาเหม็นกันหรือไง
            - ฝลัด ! ตูไม่ได้ขวางโลก แต่เรื่องรถขนหมาห่านนี่มันดัดจริตดรามาประสาสลิ่มจริงๆ
            - เสรีชนเยี่ยงมึงเลยจะต้องปกป้องสิทธิในการกินหมา ว่างั้นเถอะ (หัวเราะฮ่า ก่อนหย่อนผักกาดขาวลงไปต้ม)
            - เออสิวะ มันจะอะไรกันหนักกันหนา หมาก็สัตว์ คนเขาจะซื้อหมาขนไปกิน แค่นี้ทำเป็นรับไม่ได้ ทีรถขนวัวควาย หมู ไก่ กินเอากินเอา สลิ่ม ! (ใช้ตะเกียบคีบหมูสไลด์ลงไปจุ่ม สี่วินาที ก่อนยกขึ้นจิ้มน้ำจิ้มชาบูดำใส่ปาก)
            - อีกละ, เที่ยวว่าคนอื่นว่าสลิ่ม ไอ้ที่เอ็งว่าน่ะ มันสัตว์กินได้โว้ย หมาน่ะ คนทั่วไปเขาไม่กินกัน
            - ตลกละไอ้รักษ์ เอ็งรู้ไหมที่ฝรั่งเศสน่ะ ที่นั่นเขาล่อกระทั่งม้า ทั้งกระต่าย ทั้งหอยทาก หรือเกาหลีก็กินหมากันปกติ อีบอยด์แบนด์เกาหลีที่เมียเอ็งกรี๊ดๆ น่ะ ก่อนขึ้นเวทีไปโจ้สุนัขหม้อไฟกันมาก่อนหรือเปล่าก็ไม่รู้
            - เอ๊า นั่นมันเรื่องวัฒนธรรมการกินของเขา แต่นี่เราวัฒนธรรมไทยโว้ย คนส่วนใหญ่เขาไม่กินหมากัน ศาสนาพุทธก็ห้ามไว้ เอ็งนิ (คีบกุ้งขาวจิ้มน้ำจิ้มใส่ปาก) แล้วที่สำคัญมันผิดกฎหมายโว้ย
            - นะ เห็นมะ สลิ่มอย่างเอ็งก็จำขี้ปากเขามาตลอดศก ที่ว่าศาสนาพุทธห้ามน่ะ เขาห้ามเฉพาะพระภิกษุโว้ย ส่วนไอ้ที่ผิดกฎหมายน่ะ ผิดกฎหมายอะไรข้อไหน ไหนบอกข้าหน่อย
            - อ้าว ไม่ผิดกฎหมายแล้วตำรวจเขาจะจับได้ไง มันต้องผิดกฎหมายสิวะ (ตักผักและปลาหมึกแบ่งลงในถ้วย เทน้ำจิ้มลงไปคน
            - ไอ้ผิดกฎหมายน่ะ มันเป็นการผิดพวกกฎหมายเกี่ยวกับปศุสัตว์หรือการค้าซากสัตว์* โว้ย ไม่ได้ผิดเพราะห้ามเนื้อหมาให้เอาไปทำอาหาร เห็นไหมละ จะไม่ให้ด่าว่าสลิ่มได้ไงวะ ไม่รู้จริงแล้วชอบดรามาไปเรื่อย จำเขามาพูดผิดๆแล้วขยายความ
            - เรื่องแบบนี้เอ็งจะมองแต่ประเด็นเรื่องกฎหมายไม่ได้หรอก ต้องคิดถึงจิตใจคนอื่นเขาด้วย ความสงบเรียบร้อยของสังคมด้วย (คีบหมูนุ่มเข้าปากเคี้ยว) เอ็งต้องเข้าใจนะว่า หมาน่ะ สัตว์เลี้ยงไว้เป็นเพื่อน เลี้ยงไว้ดูเล่น หรือให้ช่วยเฝ้าบ้าน ไม่ใช่สัตว์ที่เลี้ยงไว้กิน มันไม่เหมือนพวกสัตว์ที่เราตั้งใจเลี้ยงไว้กินเนื้อ (เทไก่หมักลงไปในหม้อต้ม)
            - ตลกอีกแระ น้องไก่กุ๊กๆ ที่เอ็งเพิ่งใส่ลงไปน่ะ คนอื่นเขาก็รัก เขาก็เลี้ยงไว้ดูเล่นเหมือนกันโว้ย บางคนก็ใช้ต่างเป็นนาฬิกาปลุก หมูบางคนเขาก็เลี้ยงไว้ดูเล่น ไอ้นี่ หรือไม่ต้องอะไร ไอ้กระต่ายปุยๆ เนี่ย ที่ฝรั่งเศสอย่างที่เล่าไปแล้ว ตูเคยไปเจอครั้งนึง เขาจับถอนขนจนตัวแดง นอนอ้าปากยิ้มฟันจอบ แขวนขายกันในตลาดหรือซูปปเอร์มาเก็ตคาร์ฟูอะไรนี่เต็มเลย ทีงี้ไม่มีใครว่าป่าเถื่อน หรือกินสัตว์เลี้ยงแสนรักกันเลยนะ (ตักไก่ที่สุกแล้วใส่ในชามของรักษ์) เอ้านี่ข้าตักให้ ใส่ปากไปซะแก้โง่
            - ไก่ กระต่ายน่ะ มันคนส่วนน้อยเลี้ยง หมามันคนส่วนมากนี่หว่า (บ่นพลางเทน้ำจิ้มสุกี้ลงไปคลุกในชาม)
            - อ้าว คนส่วนน้อยก็ต้องเคารพสิทธินะเว้ย เอ็งเคยพูดเองตอนที่พรรคที่เอ็งเชียร์แพ้เลือกตั้งไม่ใช่เรอะ ตอนนั้นล่ะบอกว่า เสียงข้างมากไม่ได้แปลว่าถูกต้อง เสียงข้างมากต้องเคารพเสียงข้างน้อย
            - งั้นต่อไป ถ้าพวกคนเลี้ยงหมา ไม่อยากให้มีการกินหมาอย่างพวกข้า เข้าชื่อกันเสนอกฎหมายต่อสภา ห้ามกินหมา ขายเนื้อหมา แล้วถ้าตอนหลังสภาผ่านกฎหมายออกมาให้เนี่ย จบไหมวะ ไอ้ลิบร์เบ้อรั่ล
            - นี่เอ็งคิดจะใช้ความรักความชอบหรือรสนิยมส่วนตัวของคนหมู่มาก มากำหนดกฎหมายห้ามหรือบังคับพฤติกรรมการบริโภคของสังคมเหรอวะ (หยิบจานเต้าหู้ปลาจากสายพานเทลงในหม้อ)
            - วะ ไอ้บ้านี่ ไหนว่าประชาธิปไตยต้องเป็นไปตามการตัดสินใจของคนส่วนใหญ่ พอคนส่วนใหญ่จะตัดสินใจ เอ็งก็ว่าเอาคนส่วนใหญ่มาบังคับพฤติกรรมสังคมอีก ตกลงนี่เอ็งจะเอาประชาธิปไตยแบบมารดาเอ็งเรอะ
            - ไม่ใช่โว้ย... คืองี้ (คีบหมู ไก่ ปลาหมึก ผัก คลุกกับน้ำจิ้มในชาม)
            - เอ้า เถียงสิ เถียงสิ (หัวเราะเยาะ)
            - เดี๋ยวสิวะ ขอกินก่อน... (ตักอาหารในชามใส่ปากเคี้ยว) คืองี้นะโว้ย การที่จะมีกฎหมายออกมาห้ามคนทำอะไรๆเนี่ย ไอ้การกระทำที่ห้าม มันควรจะเป็นเรื่องที่ละเมิดแล้วทำให้คนอื่นเดือดร้อน หรือรบกวนความเป็นอยู่ร่วมกันของสังคมไม่ใช่เหรอวะ เช่น ห้ามฆ่าหรือขโมยของกันเพราะมันเป็นการละเมิดคนอื่น ทำให้คนอื่นเดือดร้อน หรือกินเหล้าแล้วขับรถเพราะมันอาจจะก่ออันตรายให้คนอื่น แต่ไอ้การกินเนื้อหมาเนี่ย ไหนเอ็งตอบหน่อยสิว่า ถ้าคนที่เขากินโดยสมัครใจไม่ได้ขโมยหมาใครมากิน มันทำให้คนอื่นเดือดร้อนตรงไหน ? ถ้ามันไม่มีใครเดือดร้อน เพียงแค่คนส่วนใหญ่รู้สึกไม่ชอบ จะมาออกกฎหมายห้ามเพียงเพราะพวกตู “ไม่ชอบ” เท่านั้น มันยุติธรรมแล้วเหรอไง
            - ก็การกินหมา มันทำให้เกิดการขโมยหมาคนอื่นที่เขาเลี้ยงไว้มากินไงล่ะ ตรงนี้แหละที่ละเมิดคนอื่น (ดูดชาเขียวเย็น) ที่เขาจับๆกันมาน่ะ มันมีหมาที่ถูกขโมยมาด้วย
            - เรื่องขโมยหมาเอ็งก็ต้องแยกไปสิวะอย่างเอามามั่วกัน คือ ถ้าเอาสัตว์ที่มีคนอื่นเขาเลี้ยงไว้ไปกิน จะเป็นหมูเป็นวัวเป็นควายมันก็ผิดแน่ๆอยู่แล้ว แต่ถ้าสมมติว่า เราให้มีการกินหมาเสรีไม่ต้องหลบๆซ่อนๆ ซึนเดะเระ มันก็คงจะมีฟาร์มหมาเหมือนฟาร์มหมู เลี้ยงแต่หมาตัวใหญ่ๆ การขโมยหมามีคนเลี้ยงไปกินก็น่าจะลดลง เหมือนที่ไม่ค่อยมีใครขโมยไก่ชนใครไปเชือดกินนั่นแหละ เพราะเนื้อมันเหนียว ไม่อร่อย และมีไก่เลี้ยงไว้กินให้เลือกอยู่แล้ว
            - อย่างงั้น ถ้ามองว่า หมาเป็นสัตว์เลี้ยงที่คนส่วนมากรัก การกินหมาเป็นการละเมิด กระทบจิตใจคนรักหมาที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศล่ะ ? อย่างนี้เอ็งจะว่าไงวะ
            - งั้นถ้าเกิดพวกข้าคลั่งมากๆ รักและเคารพท่านนายก ถึงขนาดเห็นคนเอาปูไปกินก็ทนไม่ได้ หรือทนเห็นใครวาดการ์ตูนล้อเลียนท่านนายกก็รู้สึกถูกละเมิดจิตใจมั่ง ออกกฎหมายห้ามกินปู ห้ามวาดการ์ตูนแดกดันถือเป็นการล้อเลียนนายกที่คนนับล้านรักใคร่บูชาบ้าง พวกเอ็งจะว่าไง
            - แหม ไปเรื่อยเลยนะ ไอ้ลิเบอรั่ล ข้าไม่เถียงกะเอ็งละ (เอื้อมหยิบอาหารบนสายพานมาเทใส่หม้อไฟ)
            - เฮ้ย นั่นมันจานสีดำ เนื้อวัวไม่ใช่เหรอวะ
            - ใช่สิ นานๆมันจะวนมานะเว้ย เนื้อสไลด์ ลายงี้ยังกะหินอ่อน ทำไม มีอะไรเหรอวะ
            - ไอ้สาดดดดดดด ตูนับถือเจ้าแม่ไม่กินเนื้อวัวโว้ย เสือกใส่ลงไปได้ !!!



* จริงๆ คือ พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 ในหมวด 4 ว่าด้วยการค้าซากสัตว์ และหมวด 5 บทเบ็ดเตล็ดและกำหนดโทษ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: อภิปรายท้องถิ่นศึกษา กับการศึกษาประชาธิปไตยในท้องถิ่น

Posted: 17 Aug 2011 10:24 AM PDT

 
17 ส.ค.54 เวลา 13.30-16.30น. ณ ห้องประชุมอาคารปฏิบัติการ ชั้น 4 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดการอภิปราย ‘ท้องถิ่นศึกษา กับการศึกษาการเมืองและประชาธิปไตยในท้องถิ่น:ประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์และมานุษยวิทยา’ โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ สาขาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์ณัฐกร วิทิตานนท์ สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และคุณสืบสกุล กิจนุกร ผู้ช่วยนักวิจัยโครงการวิจัยทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย
 
รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ อภิปรายว่า ท้องถิ่นศึกษา กับการศึกษาการเมืองและประชาธิปไตยในท้องถิ่น จากมุมมองประวัติศาสตร์นั้น ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ในชนบท แต่เราไม่มีความเข้าใจมัน และพอหลังปี 2535 กลุ่มวัฒนธรรมชุมชนก็ครองคำอธิบายอยู่ แต่การเรียนรู้ท้องถิ่นต่อจากนี้จะใช้กระบวนทัศน์เดิมไม่ได้แล้ว ขณะเดียวกันกระบวนทัศน์ใหม่ก็ยังไม่ชัด
 
โครงการนี้จึงมีเป้าหมาย 1. เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของภาคเหนือตอนบนที่มีผลต่อการคลี่คลายเปลี่ยนแปลงของประชาธิปไตยในระดับรากหญ้า 2.เพื่อศึกษาพัฒนาการ และศึกษาปัญหาในการสร้างสังคมประชาธิปไตยระดับรากหญ้า ซึ่งสัมพันธ์การเมืองระดับชาติ และส่วนที่ 3 เพื่อเข้าใจความเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพลเมือง แทนที่รัฐกับชาวบ้าน ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และการเปลี่ยนพลเมืองสำคัญอย่างไร ส่วนที่สี่ แสวงหาการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจมากขึ้น ซึ่งสร้างความรู้เรื่องนี้มากขึ้น
 
โดยกรอบแรก ปัญหาการพัฒนาประชาธิปไตยในชนบท แบ่งการศึกษาออกเป็น 4 กรอบ 1.การเมืองเชิงสถาบัน 2.การเมืองที่อยู่นอกสถาบัน แต่มีความสัมพันธ์กับการเมืองสถาบัน 3.การเมืองวัฒนธรรม และส่วนที่ 4. การเมืองภาคประชาชน ถ้าหากเราทำการศึกษาทั้งหมดได้ และเราเห็นการเปลี่ยนแปลงในชนบทมากกว่านี้ สังคมโดยรวมจะแก้ไขความขัดแย้งได้เร็วขึ้น
 
อาจารย์ณัฐกร วิทิตานนท์ อภิปรายว่า ผลการสำรวจชี้ว่า ระบอบประชาธิปไตยมีสองระดับ แต่มุมมองที่ผ่านมากลับเสนอให้พิจารณาระบอบประชาธิปไตยเป็นภาพรวม โดยถือเอาประชาธิปไตยระดับชาติเป็นจุดหลักของการศึกษา หรือให้น้ำหนักน้อยต่อประชาธิปไตยระดับท้องถิ่นและการเมืองท้องถิ่น
 
ในอดีตปริมาณการศึกษาท้องถิ่นมีน้อย ต่อมาภายหลังปี 2540 แนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางตรงกันข้าม โดยสรุปไว้ว่า ก่อนปี 2540 ท้องถิ่น ในวงวิชาการละเลย ตอนนั้นยังไม่มีรัฐศาสตร์เป็นสิบแห่งเหมือนในปัจจุบัน ซึ่งหากนับงานในระดับบัณฑิตศึกษา จะมีเรื่องของท้องถิ่นไม่กี่เปอร์เซ็นต์ และหลังปี 40 จึงเปิดหลักสูตรมากมายในรัฐศาสตร์ที่มีทิศทางศึกษาเรื่องการกระจายอำนาจ
 
โดยสรุป ประเด็นต่อสู้ต่อจากนี้ จะเป็นเรื่องความเป็นอิสระ ศักดิ์ศรีท้องถิ่น อำนาจนอกท้องถิ่น อำนาจประชาชน ซึ่งทำงานบนจุดยืนที่ยอมรับความแตกต่าง-ความหลากหลายของท้องถิ่นต่างๆ และต้องยอมรับว่าท้องถิ่นแต่ละแห่ง ไม่มีทางจะเป็น หรือถูกทำให้เหมือนกันได้
 
คุณสืบสกุล กิจนุกร อภิปรายว่า ขบวนการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง มีการศึกษาเรื่องคนเสื้อแดงกับการเลือกตั้ง จริงไหมที่ถูกซื้อเสียง หรือ โง่อย่างที่ถูกกล่าวหาและสร้างกระแสมาเป็นระยะ ในส่วนตัวของผมจากการได้ไปที่อำเภอฝาง กลุ่มฝาง-แม่อาย-ไชยปราการ มีการเมืองระดับท้องถิ่นที่เข้มแข็ง และความเข้าใจเรื่องกระบวนการเรียนรู้ประชาธิปไตยก็เป็นแบบเฉพาะเจาะจง เพราะว่า ฝางเป็นเมืองชายแดน และรัฐส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบจากการใช้ยาสารเคมีในสวนส้ม และปัญหาทรัพยากร เผชิญหน้าโดยตรง ฟ้องร้อง เดินขบวนประท้วง เป็นศูนย์กลางต่อสู้ทางการเมืองนั้นเอง
 
ต่อมาเกิดรัฐประหาร 2549 ทำให้ชาวบ้านสนใจการเมืองมากขึ้น จากนั้นในพื้นที่ชายแดนก็มีทหารเข้ามากระทำการให้รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ตามมาด้วยประเด็นความยุติธรรม ทำให้ประชาธิปไตยไปเหมือนเรื่องสวนส้มในเรื่องการไม่ได้รับความยุติธรรม ทำให้ชาวบ้านตั้งคำถามจากประสบการณ์ต่อสู้เรื่องสวนส้ม ยังไม่ชนะ และเขาสรุปสู้เรื่องสวนส้มกับการสู้เรื่องเสื้อแดงเป็นเรื่องเดียวกัน และที่นี่ยังสะท้อนสำนึกของท้องถิ่น ซึ่งทำให้เข้าใจความหลากหลายของคนเสื้อแดงได้
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บทบรรณาธิการ 'ฟ้าเดียวกัน': มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มรดกของใคร?

Posted: 17 Aug 2011 10:05 AM PDT

                ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมใดๆ ที่ตัดขาดจากรากฐานสังคมเดิมอย่างสิ้นเชิง แม้หลายครั้งพลังที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจะมาจากภายนอก แต่ผลของมันจะออกมาในรูปใดล้วนเกิดจากการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งที่เป็น “เนื้อดิน” เดิมของสังคมนั้นๆ แม้แต่การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ที่เกิดพร้อมกับ “อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม” เมื่อเกือบ 80 ปีก่อนก็เกิดขึ้นภายใต้ข้อจำกัดเช่นนี้

                แต่สิ่งที่ทำให้สยาม/ไทยแตกต่างจากสังคมอื่น โดยเฉพาะเพื่อนบ้านนั้น อาจเป็นเพราะเราไม่เคยแตกหักกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ผ่านการปฏิวัติประชาชาติอย่างในประเทศที่ตกเป็นอาณานิคมโดยตรง

                “มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังอยู่กับทุกอณูของปัจจุบัน” นี่คือข้อเสนอของธงชัย วินิจจะกูล ในปาฐกถา “มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปัจจุบัน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุมนุมปาฐกถา 70 ปี ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2554

                ธงชัยเสนอว่า สมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม “ไม่ใช่เพียงแค่ระบอบการเมืองทางการที่จบไปแล้ว แต่หมายถึงยุคสมัยหรือช่วงขณะที่เป็นรากฐานของไทยสมัยใหม่ หมายถึงระบอบอำนาจ ภูมิปัญญา วัฒนธรรม และวาทกรรมสำคัญๆ ที่ก่อรูปเกิดขึ้นท่ามกลางการเคลื่อนตัวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ และกลายเป็นรากฐานของสังคมไทยสมัยใหม่ต่อมาอีกนาน ไม่ใช่แค่ช่วง 50 ปีนับจากปลายรัชกาลที่ 5 ถึงสิ้นรัชกาลที่ 7”

               ในมุมมองของธงชัย มรดกสำคัญที่สมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามทิ้งไว้ ได้แก่

               ระบบการปกครองแบบรวมศูนย์ ลัทธิรัฐเดี่ยวที่แข็งทื่อ ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม พุทธศาสนากับความเป็นไทย และสังคมอินทรียภาพที่มีอำนาจทรงธรรมเป็นหัวใจขององคาพยพทั้งหมด โดยมี (สถาบัน) พระมหากษัตริย์เป็นปัจจัยร่วมที่ยึดโยงรากฐานเหล่านี้ของรัฐไทยสมัยใหม่เข้าด้วยกัน

                ณ ปัจจุบัน มรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม ยังปรากฏให้เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันตามสื่อต่างๆ เช่น

                “‘ป๋าเปรม’ รับไม่ได้ 3 จว.ใต้ ขอใช้ภาษามลายูในราชการ” (มติชนรายวัน, 25 มิถุนายน 2549)

                “ศรีสะเกษลุกฮือชุมนุมใหญ่ทวงคืน ‘เขาวิหาร’ 14 ก.ย. ลั่นไม่ยอมเสียแผ่นดินไทยแม้นิ้วเดียว” (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 12 กันยายน 2552)

                “‘เสรี’ นำทีมประชาสันติปฏิญาณ ร.5 ดันพุทธศาสนาประจำชาติ” (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 10 มิถุนายน 2554 )

                “‘สนธิ ลิ้มทองกุล’ นำปฏิญาณ ถวายคืนพระราชอำนาจแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานผู้นำปฏิรูปการเมือง” (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 12 พฤศจิกายน 2548)

                แต่มรดกที่เป็นรากฐานของปัญหาเรื้อรังในสังคมการเมืองไทยปัจจุบันเหล่านี้ เกิดจากสมบูรณาญา-สิทธิราชย์สยามเพียงฝ่ายเดียวหรือ?

                หรือที่จริงแล้วเป็นมรดกที่อีกหลายฝ่ายร่วมกันสร้าง?

                เป็นมรดกของใครกันแน่?

                ฟ้าเดียวกัน จึงได้เชื้อเชิญผู้รู้อีก 5 ท่านมาร่วม “วิวาทะ” กับธงชัย ประกอบด้วย นิธิ เอียวศรีวงศ์  พระไพศาล วิสาโล  อนุสรณ์ ลิ่มมณี  ธเนศวร์ เจริญเมือง  และกุลลดา เกษบุญชู-มี้ด

                ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกันคือ ปัญหาของการเมืองไทยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางในปัจจุบันนั้น เป็น “มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์” หรือเป็น “ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง” ในยุคหลัง และไม่มีความต่อเนื่องกับสถาบันกษัตริย์ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์?

                บทความ “พระบารมีปกเกล้าฯ ใต้เงาอินทรี : แผนสงครามจิตวิทยาอเมริกัน กับการสร้างสถาบันกษัตริย์ให้เป็น ‘สัญลักษณ์’ แห่งชาติ” ของณัฐพล ใจจริง ได้เปิดประเด็นให้เห็นว่า สถาบันกษัตริย์สมัยใหม่แบบที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนั้น ถูก “สร้าง” ขึ้นโดยสหรัฐอเมริกาในยุคสงครามเย็น และมีลักษณะเป็น “ราชา (ไม่) ชาตินิยม” เพราะยินยอมพร้อมใจทำตามความต้องการของมหาอำนาจ เช่น ยอมให้สหรัฐฯ ใช้ประเทศไทยเป็นฐานทัพโจมตีประเทศเพื่อนบ้าน โดยไม่คำนึงถึงปัญหาเรื่องเอกราชและอธิปไตยของชาติแต่อย่างใด

                ภายใต้สภาวะปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 “รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ที่ทำให้การเมืองไทยแบ่งขั้วกันอย่างชัดเจน ดังจะเห็นได้จากผลการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554

                ชนบทไทยอันห่างไกลที่เคยเป็นฐานสำคัญของอุดมการณ์กษัตริย์นิยม (ผ่านการเสด็จพระราชดำเนินชนบท ซึ่งเชื่อมโยงกับอุดมการณ์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น) ก็ถูกเชื่อมโยงเข้าหากันด้วยเทคโนโลยีการสื่อสาร ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่แตกต่างจากโฆษณาชวนเชื่อฉบับของทางการ ส่งผลให้เกิดอาการ “ตาสว่าง” กันเป็นจำนวนมาก สวนทางกับอุดมการณ์ “รักในหลวง” ของชนชั้นกลางในเมือง ดังที่แสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจนโดยเฉพาะในเครือข่ายทางสังคมออนไลน์

                คำถามก็คือ มรดกที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ทิ้งไว้นั้น จะมีพลังหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นได้หรือไม่ สถาบันกษัตริย์ซึ่งเป็นปัจจัยยึดโยงมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะ “ตาสว่าง” พอที่จะมองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้วในระดับรากหญ้า และยอมเปิดช่องทางให้กับการประนีประนอมหรือไม่ หรือยังจะใช้ไม้แข็งเร่งให้สถานการณ์ “สุก” เร็วโดยไม่จำเป็น?

                เราเชื่อว่าประชาชนจำนวนมากคงมีคำตอบอยู่ในใจแล้ว แต่ฝ่ายสถาบันกษัตริย์และผู้นิยมเจ้านั้นเล่า...

 

สารบัญ



บทบรรณาธิการ

มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มรดกของใคร?

หาเรื่องมาเล่า

มลายูมุสลิม สถาบันกษัตริย์ไทยและอำนาจอธิปไตยในสภาวะยกเว้น

ดาริน อินทร์เหมือน

รัฐไทยกับความรุนแรงตั้งแต่ 2475-ปัจจุบัน :คำถาม หรอบคิด และปัญหา

อัญชลี มณีโรจน์

คำขบวน

Council Communism ลัทธิคอมมิวนิสต์สภาแรงงาน

ภัควดี วีระภาสพงษ์

ทัศนะวิพากษ์

มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปัจจุบัน

ธงชัย วินิจจะกูล

มรดกของใคร?

นิธิ เอียวศรีวงศ์

พุทธศาสนากับมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์

พระไพศาล วิสาโล

สมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นเพียงปัญหาหนึ่ง

อนุสรณ์ ลิ่มมณี

เส้นทางสังคมไทย 156 ปี (.. 2398-2554)

ธเนศวร์ เจริญเมือง

ทุนนิยมโลกกับวิวัฒนาการของรัฐไทย

กุลลดา เกษบุญชู-มี้ด

พระบารมีปกเกล้าฯ ใต้เงาอินทรี แผนสงครามจิตวิทยาอเมริกัน กับการสร้างสถาบันกษัตริย์ให้เป็นสัญลักษณ์แห่งชาติ

ณัฐพล ใจจริง

แผนยุทธศาสตร์ด้านจิตวิทยาของสหรัฐอเมริกาต่อชาวไทยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านจิตวิทยา

อัญชลี มณีโรจน์ (แปล)

Rupture รอยแตกข้างหลังภาพ

ธนาวิ โชติประดิษฐ

บทความปริทัศน์

จินตนาการหรือความจริงเรื่องความรุนแรงที่เล่นซ่อนหาอยู่ในหมู่บ้านที่ไม่สงบ

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี

วิกิลีกส์ 196

มูลบทว่าด้วยราชวงศ์ไทยและการเมืองสมัยปลายรัชกาลฉบับอเมริกันธนาพล อิ๋วสกุล

ประเทศไทย: แวดวงกลุ่มอิทธิพลภายในสถาบันกษัตริย์ในช่วงชีวิตอัสดงคตของกษัตริย์ภูมิพล

เอริก จี. จอห์น

รายงานพิเศษ  1 ปีความยุติธรรมที่หายไป

คำถามที่ยังค้างอยู่เกี่ยวกับการตายและการชันสูตรศพ

กฤตยา อาชวนิจกุล

สาวตรี สุขศรี

ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือการปฏิเสธความยุติธรรม

สาวตรี สุขศรี

การเมืองในการสร้างความทรงจำว่าด้วยความตายเดือน เม..-.. 53

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เริ่มแล้วปฏิบัติการเพชรเกษม41 บี้ ‘ยิ่งลักษณ์’ หยุดแผนพัฒนาใต้

Posted: 17 Aug 2011 09:54 AM PDT

เมื่อเวลาประมาณ 09.00 น.วันที่ 17 สิงหาคม 2554  ที่ศาลากลางจังหวัดสตูล เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูลประมาณ 30 คน เข้ายื่นหนังสือถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่านนายวินัย คุรุวรรรณพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายผลักดันสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) สงขลา–สตูล ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 และท่าเรือน้ำลึกปากบารา รวมทั้งยุติแผนพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในภาคใต้ โดยนายวินัยได้เชิญตัวแทนเครือข่ายร่วมพูดคุย ที่ห้องโต๊ะพญาวัง ศาลากลางจังหวัดสตูลประมาณ 1 ชั่วโมง

นายสมบูรณ์ คำแหง คณะทำงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล เปิดเผยว่า ตนได้แจกแจงรายละเอียดโครงการสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) สงขลา–สตูล ให้นายวินัยรับทราบอย่างเป็นระบบ โดยโครงการดังกล่าวประกอบด้วย โครงการรถไฟรางคู่ ท่อน้ำมันจากจังหวัดสตูลไปยังจังหวัดสงขลา คลังน้ำมันที่จังหวัดสตูลและจังหวัดสงขลา นิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ท่าเรือน้ำลึกปากบารา
 
“นายวินัยบอกกับชาวบ้านว่า ลำบากใจเป็นอย่างมาก เพราะโครงการเหล่านี้เป็นนโยบายจากส่วนกลาง พร้อมกับรับปากกับชาวบ้านว่า จะพยายามทำตามบทบาท หน้าที่ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลให้ดีที่สุด” นายสมบูรณ์ กล่าว
ต่อมา เวลา 10.30 น. วันเดียวกัน เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ร่วมกันแถลงข่าวการเข้าร่วมเคลื่อนไหวภายใต้แผนปฏิบัติการเพชรเกษม 41 ระหว่างวันที่ 21–22 สิงหาคม 2554 ที่แยกปฐมพร จังหวัดชุมพร           กับเครือข่ายภาคประชาชนภาคใต้ว่า มีเป้าหมายต้องการส่งสัญญาณไปถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรว่า คนภาคใต้ไม่ต้องการโครงการเมกะโปรเจ็กต์
 
ต่อมา เวลา 15.30 น. วันเดียวกัน ชาวบ้านประมาณ 50 คน รวมตัวกันทำกิจกรรมแพลงกิ้งในทะเล บริเวณหาดปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล นำเสนอภาพชาวบ้านโดนคลื่นยักษ์สึนามิตายเกลื่อนหาด เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ทบทวนนโยบายสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา และยุติโครงการสะพานเศรษฐกิจสงขลา–สตูล เป็นการแสดงในเชิงสัญลักษณ์ให้เห็นว่า หาดปากบาราเป็นแหล่งอาศัยของปูทหารยักษ์ปากบารา ซึ่งเป็นปูชนิดใหม่ของโลก ที่ถูกค้นพบโดยผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะ สำหรับปูทหารยักษ์ปากบารา ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของปฏิบัติการเพชรเกษม 41 ด้วย
 
นายกิตติภพ สุทธิสว่าง คณะทำงานเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า วันที่ 17 สิงหาคม 2554 มีการประชุมหารือกับชาวบ้านจากหลายเครือข่ายในจังหวัดสงขลา เพื่อเตรียมการร่วมปฏิบัติการเพชรเกษม 41 อาทิ ชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ชาวบ้านเครือข่ายคัดค้านการสร้างเขื่อนนาปรัง อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา เครือข่ายคัดค้านการสร้างโรงถลุงเหล็กอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา และชาวบ้านจากเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ทะเลสาบสงขลา เป็นต้น
 
“วันที่ 18–19 สิงหาคม 2554 ทางเครือข่ายประชาชนจังหวัดสงขลา จะไปยื่นหนังสือกับนายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ทบทวนโยบายเกี่ยวกับแผนพัฒนาภาคใต้ โดยเฉพาะโครงการสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) สงขลา – สตูล จากนั้นจะเดินทางไปร่วมกับเครือข่ายประชาชนภาคใต้ ในวันที่ 21–22 สิงหาคม 2554 ที่จังหวัดชุมพร
 
นายทวีวัฒน์ เครือสาย คณะทำงานเครือข่ายความร่วมมือและส่งเสริมสิทธิพลเมืองจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า เครือข่ายประชาชนในจังหวัดชุมพร จะไปยื่นหนังสือถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ผ่านนายพินิจ เจริญพานิช ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ในวันที่ 19 สิงหาคม 2524 เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนนโยบายแผนพัฒนาและแผนพลังงานในภาคใต้
 
นายทวีวัฒน์ เปิดเผยอีกว่า จากนั้นจะมีการประชุมจัดเตรียมความพร้อมเกี่บยวกัสถานที่ เวลา อาหาร เพื่อรองรับชาวบ้านทั่วภาคใต้ ที่จะมาร่วมแผนปฏิบัติการเพชรเกษม 41 พร้อมกับประชุมคณะทำงานด้านสื่อถึงกระบวนการเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณชน
 
นายทรงวุฒิ พัฒแก้ว คณะทำงานเครือข่ายท่าศาลารักษ์บ้านเกิด จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า หลังวันที่ 22 สิงหาคม 2554 ทางเครือข่ายฯ จะเข้ายื่นหนังสือถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ผ่านนายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อนหน้านี้ ทางเครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ และแผนพลังงานในภาคใต้ โดยก่อนหน้านี้ ทางเครือข่ายได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้ยุติการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโครงการอื่นๆ ในจังหวัดนครศรีธรรมราชมาครั้งหนึ่งแล้ว โดยผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชมีหนังสือตอบกลับมาว่า จะเปิดเวทีสาธารณะให้พูดคุยกัน การเข้ายื่นหนังสือครั้งต่อไป จึงถือว่าเป็นการไปทวงถามการเปิดเวทีสาธารณะด้วย
 
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 11–12 สิงหาคม 2554 ที่ห้องประชุมลีลาวดี ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาสุขภาพภาคประชาชนภาคใต้ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีการประชุมคณะทำงานยุทธศาสตร์สื่อภาค​ใต้เพื่อการวางแผนการขับเคลื่อนงานด้านสื่อในภาคใต้ มีผู้ทำสื่อแขนงต่างๆ เช่น โทรทัศน์ สถานีวิทยุ เว็บไซต์ หนังสือพิมพ์ จากจังหวัดต่างๆ เข้าร่วมประมาณ 20 คน
 
ที่ประชุมกำหนดให้คณะทำงานสื่อภาคประชาชนภาคใต้ เกาะติดและผลิตสื่อใน3 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย ความเคลื่อนไหวเรื่องแผนพัฒนาภาคใต้ ปัญหาอยู่อาศัยและที่ทำกิน โดยชูประเด็นโฉนดชุมชนคือปฏิบัติการรักษาป่าของชาวบ้านในเขตป่า การกระจายอำนาจเน้นประเด็นการจัดการตนเองของท้องถิ่น
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ระดมงบประมาณจัดทำสื่อรณรงค์สนับสนุนแผนปฏิบัติการเพชรเกษม 41 โดยศูนย์สื่อสังคมภาคใต้ และโครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา หรือสจน. ได้จัดงบประมาณจัดทำสื่อครั้งนี้กว่า 150,000 บาท เพื่อนำเสนอผ่านเฟซบุ๊คสื่อรักษ์ปากใต้ เว็บไซต์ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น หนังสือพิมพ์ระดับชาติ หนังสือพิมพ์ วารสาร จดหมา​ยข่าวของเครือข่ายและองค์กรต่างๆ หนังตะลุง เพลงบอก วิทยุชุมชน โทรทัศน์ออนไลน์ วิทยุออนไลน์ และแผ่นพับออกแจกจ่ายประชาชนทั่วไป พร้อมกับมอบหมายให้ทีมนักข่าวพลเมืองจังหวัดชุมพร จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสงขลา รับผิดชอบผลิตข่าวความเคลื่อนไหวปฏิบัติการเพชรเกษม 41 ด้วย
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘สมบูรณ์ กำแหง’ เปิดปฏิบัติการเพชรเกษม 41

Posted: 17 Aug 2011 09:50 AM PDT

 
 
 
อีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ปฏิบัติการเพชรเกษม 41 ก็จะอุบัติขึ้นที่จังหวัดชุมพร เพื่อประกาศว่า คนภาคใต้ไม่ต้องการอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมสกปรก เมกะโปรเจ็กต์ ที่จะเข้าพร่าผลาญทรัพยกากรของคนภาคใต้
 
คำถามที่ว่า “ปฏิบัติการเพชรเกษม 41” มีที่มาที่ไปอย่างไร “สมบูรณ์ กำแหง” แกนนำเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ในฐานะผู้ประสานงานแผนปฏิบัติการเพชรเกษม 41 มีคำตอบ เชิญอ่าน ณ บัดนี้
 
……………………………………………………..
 
ปฏิบัติการเพชรเกษม 41 มีที่มาที่ไปอย่างไร
ที่มาที่ไปเพชรเกษม 41 เกิดจากการสุมหัวของพวกเรา ที่เคลื่อนไหวคัดค้านโครงการขนาดใหญ่ในภาคใต้ เรามานั่งคุยกันว่าจะขยับเรื่องพวกนี้อย่างไร พอดีกำลังจะได้รัฐบาลใหม่ด้วย ก็เลยมานั่งประมวลเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น ที่จริงเรื่องพวกนี้เราทำกันมาเยอะ ที่ผ่านมาต่างที่ต่างคนต่างทำ ต่างที่ต่างเคลื่อนไหว เลยหารูปแบบการเคลื่อนไหวร่วมกันให้เป็นเรื่องเป็นราว ก็เลยคิดเรื่องเพชรเกษม 41 ขึ้นมา เป็นการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์
 
ถ้าเปรียบเทียบ ภาคใต้เป็นภาคที่เส้นทางการเดินทางยาว มีถนนสายหลักคือถนนเพชรเกษม 4 อีกสายคือเพชรเกษม 41 เลยคิดง่ายๆ ว่า ถ้าอะไรที่จะมาลงบ้านเรา ผ่านมาทางเพชรเกษม 41 มันจะต้องสะอาดบริสุทธิ์ ก็เลยเกิดปฏิบัติการเพชรเกษม 41
 
ทำไมถึงต้องมีปฏิบัติการเพชรเกษม 41
เพชรเกษม 41 จริงๆ แล้วไม่ใช่องค์กร ไม่ได้เป็นกลไกอะไร เราทำให้มันสัญลักษณ์ของขบวนการคนใต้ ที่จะออกมาบอกว่า เราอยากจะเป็น อยากจะได้อะไร ไม่ต้องการอะไร พอเอาวิธีคิดนี้เข้ไปจับเราก็พบว่า ขบวนการเพชรเกษม 41 มันเริ่มมานานแล้ว น่าจะเริ่มจากจุดที่พี่น้องจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ออกมาปกป้องบ้านตัวเอง
 
เพชรเกษม 41 พูดอีกทีก็คือ ประตูลงสู่ภาคใต้ เมื่อลงไปทางใต้เรื่อยๆ ก็จะเริ่มเห็นคนใต้เริ่มออกมาปกป้องบ้านตัวเอง เริ่มมีข้อเสนอว่า เขาต้องการ หรือไม่ต้องการอะไร เอาเข้าจริงขบวนการนี้ได้เริ่มมานานแล้ว ถ้าเราย้อนไป การเคลื่อนไหวร่วมกันคราวนี้ เราจึงใช้สัญลักษณ์เพชรเกษม 41 ในการปฏิบัติการ เพื่อดึงภาพความต้องการของคนสองฟากทางเพชรเกษม 41 ออกมาให้เห็นชัดเจนขึ้น
 
เราคิดว่าจังหวะที่รัฐบาลใหม่กำลังร่างนโยบายน่าจะเหมาะที่สุดในการออกมาแสดงท่าทีของเรา เพราะจากการติดตามการหาเสียงในช่วงเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยยืนยันว่า มีนโยบายสนับสนุนและผลักดันโครงการขนาดใหญ่ในภาคใต้ ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลนี้ รัฐบาลที่ผ่านๆ มา ก็ผลักดันโครงการนี้มาตลอด แต่รัฐบาลนี้ค่อนข้างประกาศชัดเจนว่าจะหนุนเมกะโปรเจ็ต์ทุกโครงการในภาคใต้
 
ไม่ว่าจะเป็นสะพานเศรษฐกิจ หรือ Land bridge เชื่อมจังหวัดสงขลากับจังหวัดสตูล เรื่องพลังงานที่กำลังผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในหลายจังหวัด หรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพราะถ้าต้องการผลักดันให้ภาคใต้เป็นเขตอุตสาหกรรม มันต้องหาพลังงานรองรับ หลังจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเต็มขยายตัวไม่ออก เขาก็พยายามขนอุตสาหกรรมหนักลงภาคใต้
 
เราเลยต้องสื่อสารกับรัฐบาลให้เขารู้ให้ได้ว่า สิ่งเราไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ เราจึงต้องออกมาทักท้วงผ่านปฏิบัติการเพชรเกษม 41 ไม่ใช่ครั้งเดียวจบ ปฏิบัติการนี้เราทำเป็นกระบวนการ ตามจังหวะเวลาที่เหมาะสม หลังจากนี้ไปน่าจะสนุกขึ้น
 
รูปแบบการเคลื่อนไหวจะเป็นอย่างไร
ที่จริงเราทำไปแล้ว 2–3 จังหวะ ก่อนหน้านี้ ช่วงเดือนกรฎาคม 2554 จะเห็นว่ามีเวทีของบริษัทที่ปรึกษา ที่สำนักคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดขึ้นมาทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ 7 เวที 7 จังหวัด ซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่เห็นด้วยมาตลอด เขาพยายามถามคนใต้ว่า จะเอาอย่างไรกับการพัฒนาชายฝั่งภาคใต้ ตอนนั้นเราก็มีปฏิบัติการของเราในแต่ละจังหวัด เราเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็น ถ้าเห็นท่าไม่ดี ก็ต้องพูดความจริงกันในเวที จนเวทีล้มไป 2–3 เวที
 
นี่เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการเพชรเกษม 41 แล้วเวทีของสถาบันวิจัย จุฬามหาวิทยาลัย ที่เข้ามาศึกษาเรื่อง Land Bridge หรือสะพานเศรษฐกิจสงขลา–สตูล เราเห็นกระบวนการที่เขามาทำตลอดหนึ่งปี เราไม่ชอบ เพราะไม่เคยถามชุมชนหลังท่าเรือปากบาราเลย ไม่เคยไปถามคนในพื้นที่ที่จะถูกเวนคืนที่ดิน หรือถูกไล่ออกจากที่ดินทำกิน ถ้าปล่อยให้โครงการนี้เกิดขึ้น อยู่ๆ คุณจะมาสรุปแล้วถามภาคีที่ไม่มีส่วนได้เสีย เรารู้สึกว่ามองข้ามหัวคนที่เดือดร้อนจากโครงการนี้
 
กระบวนการแบบนี้ เราไม่เห็นด้วย เราไปร่วมเวทีแล้วประกาศบนเวทีว่า เวทีนี้เป็นเวทีที่ไม่ชอบธรรม อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติการเพชรเกษม 41 อาจจะเรียกว่าบทเรียนบทที่ 1 ก็ได้ ส่วนวันที่ 21–22 สิงหาคม 2554 คนจากหลายจังหวัดในภาคใต้ จะมารวมตัวกันที่จังหวัดชุมพร เพราะจุดนี้ถือว่าเป็นประตูสู่ภาคใต้ เพื่อจะบอกกับรัฐบาลว่า อะไรที่ควรจะเอาเข้ามาในภาคใต้ หรือไม่ควรเอาเข้ามาในภาคใต้ หลังจากนี้ก็เป็นจังหวะของแต่ละพื้นที่ ที่เคลื่อนไหวต่อไป
 
ภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมมาจากไหนบ้าง
ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ที่โครงการขนาดใหญ่จะลง ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดสงขลา จังหวัดสตูล จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี วันก่อนเพื่อนๆ จากจังหวัดตรังก็มานั่งคุย จังหวัดตรังเป็นพื้นที่ที่โรงไฟฟ้าถ่านหินจะขยับมาลง
 
แล้วก็มีพี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มาพูดคุยด้วย เพราะพื้นที่นี้จะมีอุตสาหกรรมถลุงเหล็กไปลงที่อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี คนในพื้นที่นี้เพิ่งรู้เรื่องจากเวทีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินั่นแหละ
 
เพราะฉะนั้น กำลังหลักๆ ก็จะมาจากกลุ่มที่เจออุตสาหกรรมหนักลงพื้นที่ ส่วนอื่นก็จะมีกลุ่มภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่เป็นเพื่อนพ้องกัน บางส่วนที่ทำงานจัดการตัวเองอยู่แล้ว เช่น เครือข่ายปฏิรูปที่ดินอะไรพวกนี้ ผมคิดว่านี่แหละคือภาคีของคนใต้ ที่รักและหวงแหนภาคใต้ ซึ่งมีทะเลสองฝั่งอ่าวไทยกับอันดามัน เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ทุกคนจึงมีสิทธิ์เข้าร่วมปฏิบัติการเพชรเกษม 41
 
ตามความเข้าใจของคนทั่วไป คนมักจะมองว่าเราเป็นพวกค้านทุกเรื่อง แต่จริงๆ แล้ว ถ้าพูดโดยทั่วไป โครงการต่างๆ เหล่านี้เป็นการพัฒนาก็จริง แต่ขณะเดียวกัน กลุ่มเครือข่ายพวกเราไม่ต้องการการพัฒนาแบบนี้
 
มีข้อเสนอหรือทางเลือกอื่น ในการพัฒนาภาคใต้หรือไม่
จะอธิบายเบื้องต้น เพื่อความเข้าใจก่อนว่า เราเองค่อนข้างระวังนะ ภาคใต้ไม่ได้เป็นภาคที่เลือกพรรคเพื่อไทย แกนนำจัดตั้งรัฐบาลชุดปัจจุบัน เราจึงถูกจับตาพอสมควร ใครที่ออกมาเคลื่อนไหวดีไม่ดี จะถูกมองว่า เป็นเรื่องการเมือง เราจึงระวังจุดนี้มาก เราอยากบอกว่า ในขบวนการตรงนี้มีทั้งเสื้อเหลืองเสื้อแดงนะ และอาจจะมีเสื้อเขียวเสื้อหลากสี อันนี้เราไม่รู้
 
เรื่องสีเสื้อนี่ เรามองข้ามไปแล้ว เพราะเรื่องของเราไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องของคนใต้ที่ออกมาปกป้องตัวเอง คนที่รักทะเล รักป่าไม้ รักความเป็นปักษ์ใต้ กำลังพูดเรื่องการปกป้องบ้านตัวเอง ไม่ว่าคุณจะอยู่ส่วนไหน เราจะสื่อสารบอกเขาว่า ขออย่าเอาเรื่องสีเสื้อเข้ามา เพราะมันควรข้ามพ้นได้แล้ว
 
ในส่วนของการอธิบายเรื่องของการพัฒนา จริงๆ เราก็มีปัญหากับคำนี้พอสมควร เคยมานั่งถกกันว่า มีคนกลุ่มหนึ่งในภาคใต้ ที่ไม่เอาแผนพัฒนาภาคใต้เอาเสียเลย ที้งที่จริงๆ แล้วความหมายของเราเนี่ย เราหมายถึงโครงการที่ไม่เหมาะสม เป็นโครงการขนาดใหญ่ โครงการที่ใหญ่โตเกินเหตุเข้ามาแย่งชิงทรัพยากรไปจากคนท้องถิ่น
 
หลายโครงการ เช่น ท่าเรือน้ำลึกสองฝั่ง โรงไฟฟ้า อะไรแบบนี้ แม้กระทั่งนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีแผนจะเอาลงมาภาคใต้หลายจุด เกือบทั้งหมดก็เป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเล เราไม่อยากให้มันเกิดขึ้น เพราะมันขัดแย้งกับความเป็นภาคใต้ ที่อุดสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ
 
ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็แล้วแต่ ต้องกำหนดทิศทางการพัฒนาภาคใต้ให้ชัดเจน แต่ไม่ใช่แนวอุตสาหกรรมหนักแบบนี้ การถามคนใต้แบบเป็นเรื่องเป็นราว ควรจักกระบวนการที่เหมาะสม เราไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา เราเห็นด้วยกับการพัฒนา เราเห็นด้วยกับการทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ขณะเดียวกันเราก็เชื่อว่าภาคใต้มีวิธีของตัวเองในการทำให้เศรษฐกิจแข็งแกร่งได้
 
ที่ผ่านมาคนทั้งประเทศก็เชื่อว่า ภาคใต้เป็นภาคที่มีทรัพยากรและก็มีรายได้ต่อหัวสูง พอนำตัวเลขมาเฉลี่ยดู เป็นรองก็แค่กรุงเทพมหานครเท่านั้น ถ้ารัฐบาลพัฒนาทรัพยากรพวกนี้ให้ดี พัฒนาการเกษตรให้มีคุณภาพ พัฒนาการประมง ดูแลทะเลทั้งสองฝั่งที่คุณปล่อยปละละเลยมาตลอด ไม่เคยดูแลรักษาปล่อยให้ใช้เครื่องมือผิดกฎหมายเต็มทะเลไปหมด ถ้าคุณกลับมาทบทวน คุณก็สามารถกลับมาจับสัตว์น้ำในทะเลได้เพียงพอ
 
เรื่องการท่องเที่ยวภาคใต้มีจุดเด่นเยอะ ทะเลสองฝั่งพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้หมด คุณยกระดับมันให้ดี สนับสนุนการท่องเที่ยวให้ดี สิ่งเหล่านี้มันเลี้ยงคนใต้ได้ ไม่จำเป็นต้องมีโครงการที่มันไม่สอดคล้องกับพื้นที่ออกมา
 
นอกจากไม่จำเป็นจะต้องมีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่แล้ว คนใต้ยังกลัวผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรมด้วยใช้หรือไม่
 
มันปฏิเสธไม่ได้ว่า ตอนนี้กระแสมันแตกกระจายออกไปหลายเรื่อง อย่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จะมาตั้งที่ชุมพรบ้าง สุราษฎร์ธานีบ้าง พอเจอสถานการณ์สึนามิที่ญี่ปุ่น จนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีปัญหา ผมว่าตรงนี้ชาวบ้านแทบไม่ต้องพูด รัฐบาลอ้าปากไม่ได้แล้ว นี่คือรูปธรรมของผลกระทบ ซึ่งคนในประเทศญี่ปุ่นเองก็ซึ้งกับสิ่งที่เขาเจอ จริงๆ แล้ว ตอนนี้โรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังจะลงมาหลายพื้นที่ในภาคใต้
 
ผมว่ากรณีแม่เมาะ จังหวัดลำปาง มันตอบคำถามได้ดี โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะเป็นปัญหามลพิษอยู่หลายปี ขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ก็พยายามสื่อสารผ่านสื่อว่า แม่เมาะสะอาดแล้ว ทั้งๆ ที่คนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เขาก็รับไม่ได้ ผลกระทบอื่นๆ ผมว่าตามมาเต็มเลย
 
นิคมอุตสาหกรรมที่มาบตาพุด ถามว่าที่ผ่านมาแก้ปัญหาได้แค่ไหน เอาเข้าจริงระบบการจัดการของประเทศไทย ก็ยังไม่ดีพอเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ผมว่าเรื่องพวกนี้มันทำให้คนไทยตั้งข้อสังเกตุกับตรงนี้เยอะ พออุตสาหกรรมเต็มพื้นที่มาบตาพุด โรงงานก่อมลพิษจนคนในพื้นที่อยู่ไม่ได้ เขาก็เลือกที่จะให้อุตสาหกรรมหนักลงมาอยู่ภาคใต้
 
คิดไปได้ล่วงหน้าเลยว่า ถ้าเกิดอุตสาหกรรมหนักในภาคใต้ เราจะอยู่กันอย่างไร ภาคใต้เป็นภาคที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ถ้าอุตสาหกรรมสกปรกเข้ามามันขัดแย้งกัน นี่คือสิ่งที่พวกเรากังวลนะ
 
ถ้าดูในแผนที่ภาคใต้ เราจะเห็นจุดต่างๆ กระจายเต็มภาคใต้ โครงการต่างๆ เต็มไปหมดเลย ถ้ามันเกิดขึ้นจริงตามนั้น อีกสิบปี ยี่สิบปีข้างหน้า ความเป็นภาคใต้นี่มันคืออะไร จะเป็นอะไร แม้กระทั่งที่สตูลจังหวัดที่ผมอยู่ จังหวัดเล็กๆ นี่แหละ ประชากรสองแสนกว่าคน เนื้อที่ก็ไม่เยอะ อยู่ตรงชายแดนภาคใต้ พอเราไปดูโครงการที่กำลังจะลงมา ในตัวแผนเนี่ยมันมีตั้ง 6–7 เรื่องใหญ่ๆ ทั้งนั้น
 
ท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ คลังน้ำมันขนาดใหญ่ 5 พันไร่ ต่อไปก็จะมีโรงกลั่นด้วย นิคมอุตสาหกรรมที่คุณบอกในผลการศึกษาความเหมาะสมว่า มีพื้นที่เหมาะที่เป็นนิคมอตสาหกรรม 150,000 ไร่ คุณจะทำไม่ทำ การเวนคืนที่ดินสร้างท่าเรือ เวนคืนที่ดินตามแนวเส้นทางรถไฟ ชาวบ้านต้องสูญเสียที่ดินทำกินตั้งเยอะแยะ ต้องสร้างเขื่อนใช้เนื้อที่เกือบสองพันไร่ อะไรแบบนี้
 
จะเจาะอุโมงค์ เจาะภูเขาอีก ผมว่าอะไรใหญ่ๆ พวกนี้มาลงในพื้นที่เล็กๆ มันเป็นรูปธรรมของผลกระทบ คนที่รู้ข้อมูลเขาไม่ค่อยสบายใจเท่าไหร่ อันนี้เราต้องคิดกันเยอะพอสมควร
 
ผมเคยได้รับเชิญไปสัมมนากับหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ เรื่องท่าเรือน้ำลึกปากบาราเศรษฐกิจไทยได้หรือเสีย กลุ่มที่มีส่วนได้เสียที่เข้าร่วมสัมมนา ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนอุตสาหกรรม นักเดินเรือเพื่อการขนส่ง ข้าราชการจากกรมเจ้าท่า จากกระทรวงคมนาคม เขาเชิญผมไปร่วมคุย มีนักธุรกิจคนหนึ่งพูดน่าสนใจมาก รู้สึกจะเป็นนายกสมาคมการเดินเรืออะไรนี่แหละ เขาทำธุกิจขนส่งสินค้าทางเรือระหว่างประเทศ ขณะที่คนอื่นเห็นด้วยกับการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา เขากลับบอกว่าไม่จำเป็นต้องสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา โดยเฉพาะฝั่งอันดามันไม่ควรสร้างท่าเรืออีกแล้ว ดูท่าเรือที่ระนองตอนนี้ก็ร้างอยู่ เอาเข้าจริงนักเดินเรือเขาก็ไม่ใช้ จะไปสร้างขนาดใหญ่ๆ ทำไม ท่าเรือที่ระนองมูลค่าไม่กี่ร้อยล้าน แต่พอไปที่ปากบารา รวมทั้งสามเฟส มูลค่าสามหมื่นล้าน เป็นท่าเรือขนาดใหญ่มาก ยิ่งไม่ควรไปลงทุน เพราะยิ่งลงทุนโอกาสเป็นท่าเรือร้างสูงมาก
 
เขาบอกว่าการขนส่งสินค้าของประเทศไทยหลักๆมันจะอยู่ฝั่งอ่าวไทย มันจะไปทางอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น จึงไม่มีทางเลยที่ลงทุนผลิตสินค้าฝั่งอันดามัน แล้วอ้อมไปฝั่งอ่าวไทย ต้องไปข้ามช่องแคบมะละกา เขาบอกว่าท่าเรือเหล่านี้ ควรอยู่ฝั่งอ่าวไทย
 
คนที่ทำธุรกิจด้านนี้ เขาพูดชัดว่าท่าเรือปากบารา สร้างแล้วไม่คุ้มค่า อีกคนเป็นอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ชำนาญเรื่องการออกแบบ มานั่งดูแบบแล้วบอกว่า ท่าเรือนี้เป็นท่าเรือเพื่อการขนส่งน้ำมันคือ รูปแบบโครงสร้าง ส่วนหนึ่งเป็นการออกแบบรองรับการขนถ่ายน้ำมันหรือของเหลว และบอกว่าที่นี่ต้องเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมแน่นอน
 
เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่คนสตูลจะต้องรู้ คนสตูลจะต้องคิดให้หนัก เพราะถ้าคนสตูลเข้าใจว่าเป็นแค่ท่าเรือธรรมดา มันไม่ใช่แล้ว ท่าเรือนี้เป็นท่าเรืออุตสาหกรรม ที่มีเรื่องอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเข้ามาด้วย อันนี้เป็นมุมมองของคนสองคน ที่คอมเมนต์เรื่องของท่าเรือน้ำลึกปากบาราในวันั้น ผมว่าอันนี้น่าสนใจ
 
มองทั้งภาคใต้ มันมีอะไรขึ้นเต็มไปหมด ปฏิบัติการนี้จะมีช่วยอธิบายคนทั่วไปให้เข้าใจได้อย่างไร
ตอนนี้ที่เราเอาวลี เพชรเกษม 41 มาใช้สื่อสารได้ ก็ไม่ได้สื่อสารกันในวงกว้างมาก อาจจะสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์บ้าง เฟซบุ๊คบ้าง มันก็ทำให้คนหันมาสนใจเยอะขึ้น ผมมั่นใจว่า ถ้าเรามีวิธีสื่อสารกับคนวงกว้างที่ดี เราจะมีช่องทางอธิบายคนในสังคมได้เยอะขึ้น ตอนนี้มันมีปัญหาเรื่องการรับรู้ ถ้ามีคนรับรู้มากขึ้น ถ้าคนสตูลรู้มากที่สุด เห็นข้อเท็จจริงจากเอกสารหลักฐานจากราชการด้วย มันจะทำให้คนสตูลตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ผมว่าการสื่อสารแบบนี้ทำให้คนคิด คนใต้จะได้รู้ว่า สิ่งที่จะลงมาในภาคใต้ในเวลาสิบยี่สิบปีข้างหน้ามันมีอะไรบ้าง แต่มันไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องหารูปแบบการสื่อสารหลายๆ รูปแบบ
 
ตอนนี้ใครนึกอะไรได้ก็ทำไปก่อน การสร้างกระแสอะไรพวกนี้ มันต้องใช้เวลา และต้องมีจังหวะที่เหมาะสม เล่นกับสาธารณะได้ อันนี้ก็เป็นความท้าทายของพวกผม ของทีมงานที่รวมตัวกันหลายจังหวัด โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือ สื่อสารให้คนรู้ว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในภาคใต้คืออะไร
 
หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร
ตอนนี้รูปแบบหลักสองรูปแบบ หนึ่ง แยกกันทำกับรวมกันตี มันมีจังหวะของมันอยู่ หมายถึงว่าจังหวะไหนรวมกันได้ก็รวม สร้างประเด็นร่วมขึ้นมา แล้วก็เคลื่อนไหวร่วมกัน การแยกกันทำหมายถึง แต่ละจังหวัดสถานการณ์ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น จังหวัดไหนพื้นที่ไหนที่มีเรื่องจำเป็น ขับเคลื่อนได้ก็ขับเคลื่อนภายใต้ปฏิบัติการเพชรเกษม 41
 
ในส่วนของรัฐบาลตอนนี้ ยังไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไรใช่ เพียงแต่บอกว่าขอถนน แต่ไม่รู้ธีการประเมินว่า จะประเมินอย่างไร เจตนาเราตอนนี้ไม่มีอะไร เราเพียงแต่จะสื่อสารว่า รัฐบาลควรทำอะไรและไม่ควรทำอะไรในภาคใต้แค่นั้นเอง เรากำลังจะบอกว่าเราอยากจะกำหนดอนาคตของเราเอง พี่น้องเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเขาก็เสนอโฉนดชุมชน ถือเป็นทางออกของคนใต้อีกด้านหนึ่ง
 
เรื่องของพี่น้องสามจังหวัดที่พยายามจะพูดเรื่องปัตตานีมหานคร การกระจายอำนาจ เราคนใต้โครงการขนาดใหญ่เราไม่เอา นี่จะเป็นปรากฎการณ์ที่เราแสดงความต้องการว่า จะขอกำหนดตัวเราเอง เพราะฉะนั้นรัฐบาลจะต้องเอื้อและเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ หรือให้คนใต้ได้ตัดสินใจเรื่องพวกนี้ โดยเฉพาะเรื่องข้อมูล ควรจะมีกระบวนการสื่อสารถ่ายทอดกันให้ทั่วถึง
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พยานคดีผูกคอตายในค่ายอิงคยุทธเผยถูกซ้อมด้วย

Posted: 17 Aug 2011 09:42 AM PDT

เมื่อเวลา 9.30 น. วันที่ 17 สิงหาคม 2554 ที่ห้องพิจารณาคดี 2 ศาลจังหวัดปัตตานี ศาลนัดไต่สวนคดีการเสียชีวิตของนายสุไลมาน แนซา ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี คดีหมายเลขดำที่ ช.14/2553 เป็นครั้งแรก โดยมีญาตินายสุไลมาน ทนายฝ่ายญาตินายสุไลมานและผู้สังเกตการณ์ชาวต่างชาติเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดี รวมประมาณ 10 คน

พนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี เบิกตัวนายเจ๊ะแว แนซา บิดาของนายสุไลมาน มาเป็นพยานปากแรก โดยมีล่ามภาษามลายูมาแปลคำเบิกความ เนื่องจากนายเจ๊ะแวไม่สามารถเบิกความเป็นภาษาไทยได้

นายเจ๊ะแวเบิกความสรุปว่า ตนไม่เชื่อว่านายสุไลมานจะผูกคอตายเองภายในสถานที่ควบคุมตัวภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร และไม่เคยให้การต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสายบุรี จังหวัดปัตตานี ว่า ไม่ติดใจสาเหตุการตายของนายสุไลมาน และจะไม่ดำเนินคดีใดๆ อีก รวมทั้งข้อความในลักษณะเดียวกันที่ปรากฏในคำชี้แจงของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ก็ไม่เป็นความจริง

จากนั้นพนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี เบิกตัวพยานรายหนึ่งซึ่งเป็นผู้ที่ถูกควบคุมตัวในช่วงเดียวกับนายสุไลมาน มีหน้าที่แจกอาหารให้ผู้ถูกควบคุมตัวรายอื่นๆ เบิกความสรุปว่า ไม่เห็นว่านายสุไลมานถูกทำร้ายร่างกาย แต่เห็นประตูห้องพักนายสุไลมานมีโซ่คล้องอยู่ ส่วนหน้าต่างเปิดแง้มเล็กน้อย มีโอกาสที่ได้พบนายสุไลมานเพียงตอนไปส่งอาหารให้เท่านั้น

พยานปากเดิมยังเบิกความอีกว่า วันที่นายสุไลมานเสียชีวิต ตนได้นำอาหารไปให้ แต่นายสุไลมานไม่เปิดประตูออกมา เรียกชื่อหลายรอยก็ไม่มีเสียงขาน จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงมาไขกุญแจเปิดประตูพบว่า นายสุไลมานเสียชีวิตในท่าถูกแขวนคอกับลูกกรงเหล็กหน้าต่าง

พยานปากเดิม เบิกความด้วยว่า ระหว่างที่ตนถูกควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ได้เรียกไปซักถามหลายครั้ง หลายครั้งถูกเรียกซักถามตั้งแต่ 9 โมงเช้า จนถึงตี 5 ของอีกวัน และถูกทำร้ายร่างกายระหว่างถูกซักถามด้วย

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและความสำคัญกับประชาชนไทย

Posted: 17 Aug 2011 09:30 AM PDT

Universal Periodic Review(UPR) หรือกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนเป็นกลไกการตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชนโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้ง 192 ประเทศ จะต้องเข้าสู่กระบวนการเพื่อทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายในประเทศของตนเองในรอบทุกๆ 4 ปี โดยจะสลับหมุนเวียนกันไปปีละ 48 ประเทศ จนครบแล้วจึงเริ่มกระบวนการรอบใหม่ โดยประเทศไทยจะเข้าสู่กระบวนการทบทวนนี้ในวันที่ 5 ตุลาคม 2554 ซึ่งถือเป็นกลุ่มประเทศสุดท้าย ก่อนที่กระบวนการรอบใหม่จะเริ่มต้นขึ้นในปีถัดไป

สำหรับประเทศที่เข้าสู่กระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน รัฐบาลจะต้องจัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิของตนเอง เพื่อรายงานให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ ได้รับทราบ นอกจากรายงานในส่วนของรัฐบาลที่มีความยาว 20 หน้า A4 แล้ว ในกระบวนการทบทวนนี้ยังมีรายงานอีก 2 ส่วนที่จะเข้ามาให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับประเทศสมาชิกต่างๆ เพื่อช่วยถ่วงดุลและตรวจสอบข้อมูลในรายงานฉบับของรัฐบาล คือรายงานฉบับของผู้เชี่ยวชาญพิเศษของสหประชาชาติ ซึ่งสำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) จะเป็นผู้รวบรวมจากรายงานต่างๆ ที่ออกมาจากผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ผู้ตรวจการณ์พิเศษ หรือคณะทำงาน ในประเด็นสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ ของสหประชาชาติ แล้วรวบรวมให้เป็นรายงาน 1 ฉบับ ความยาว 11 หน้า กับรายงานอีกฉบับที่สำคัญมากคือรายงานที่ส่งมาจากภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ ซึ่งรูปแบบของรายงานที่ภาคประชาสังคมส่งเข้าไปจะมี 2 ประเภท คือรายงานร่วมที่มีองค์กรจัดทำตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป ซึ่งอาจจะมุ่งเน้นไปที่ประเด็นเดียว หรือครอบคลุมหลายประเด็นก็ได้ ขนาดความยาวไม่เกิน 10 หน้า กับอีกประเภทเป็นรายงานเฉพาะประเด็นที่มีความยาวไม่เกิน 5 หน้า รายงานในส่วนของภาคประชาสังคมนี้ ทาง OHCHR เป็นผู้รวบรวมจากรายงานทั้งหมดที่ส่งเข้าไปให้เหลือเป็นรายงานหนึ่งฉบับที่มีความยาว 11 หน้า เช่นเดียวกันกับรายงานของผู้เชี่ยวชาญพิเศษ      

ซึ่งรายงานทั้งสามส่วนนี้จะถูกนำไปใช้ในกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิ ซึ่งจะจัดขึ้นที่สภาคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กระบวนการทบทวนนี้จะใช้เวลา 3 ชั่วโมงต่อประเทศ สำหรับทั้งการรายงานสถานการณ์ของประเทศตน การรับฟังคำถาม ข้อติชม หรือข้อเสนอแนะ จากประเทศสมาชิกอื่นๆ รวมทั้งการตอบข้อสงสัยต่างๆที่มี  หลังจากนั้นอีก 6 เดือนจะมีการรวบรวมทั้งรายงาน และข้อเสนอแนะต่างๆ ออกมาเป็นเอกสารอย่างเป็นทางการให้ประเทศนั้นๆ พิจารณารับข้อเสนอแนะ ซึ่งสำหรับประเทศไทยกระบวนการรับรองข้อเสนอแนะนี้จะจัดขึ้นที่สภาคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ในเดือนมีนาคม 2555 และหากรัฐบาลรับรองข้อเสนอแนะข้อใดในรายงานดังกล่าว จะถือว่าข้อเสนอแนะนั้นเป็นพันธกิจที่รัฐบาลจะต้องปฏิบัติตาม

กระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธินี้ หากดูเผินๆ อาจรู้สึกว่าเป็นกลไกที่ห่างไกลจากตัวประชาชน แต่หากพิจารณาให้ดีแล้ว กระบวนการนี้มีจุดแข็งอยู่หลายประการ อันดับแรกคือการที่เปิดให้มีการรับข้อมูลจากภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคมต่างๆ เพื่อที่จะได้เป็นข้อมูลที่จะใช้ถ่วงดุลกับข้อมูลที่ส่งไปจากภาครัฐ เพื่อเป็นการชี้ให้ประชาคมโลกได้เห็นถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่แท้จริงในประเทศของเรา นอกจากนี้กลไกนี้ยังครอบคลุมถึงประเทศสมาชิกสหประชาชาติทุกประเทศ ต่างจากกลไกอื่นๆ ที่เคยมีมา เช่นอนุสัญญาคุ้มครองสิทธิฉบับต่างๆ ที่จะครอบคลุมเฉพาะประเทศที่ได้ลงนามให้สัตยาบรรณกับอนุสัญญาฉบับนั้นเท่านั้น

ในขณะเดียวกันกลไกตัวนี้อาจจะมีข้อด้อยอยู่บ้าง เช่น การที่ข้อเสนอแนะที่รัฐบาลได้รับจากประเทศต่างๆ นั้น ไม่ได้มีสภาพบังคับใช้อย่างอนุสัญญาอื่นๆ ที่เป็นกฎหมาย ทำให้รัฐบาลอาจเลือกที่จะปฏิบัติตามหรือไม่ก็ได้ แต่ถึงแม้ว่าข้อเสนอแนะนั้นจะไม่มีสภาพบังคับ หากรัฐบาลย่อมไม่กล้าที่จะปฏิเสธอย่างรุนแรงต่อคำเสนอแนะของประชาคมโลก อีกทั้งนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิ หรือแม้กระทั่งประชาชนทั่วไป ก็สามารถหยิบยกเอาข้อเสนอแนะเหล่านั้น มาเป็นเครื่องมือในการต่อรองกับรัฐบาลของตนเองในเวลาต่อไปได้อีกด้วย

และเนื่องมาจากกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนนี้เป็นกระบวนการที่ยังคงใหม่มากสำหรับทุกประเทศ ทำให้ประสบปัญหาในเรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำรายงานฉบับภาคประชาสังคมค่อนข้างต่ำ เนื่องจากประชาชนยังไม่รับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการนี้  สำหรับประเทศไทยที่มีรายงานของภาคประชาสังคมออกมาถึง 27 ฉบับ ก็มิได้หมายความว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนจะสูงตามไปด้วย การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนถึงตัวกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนจึงเป็นอีกงานที่สำคัญสำหรับทั้งภาคประชาสังคมและภาครัฐ เพื่อที่จะทำให้กระบวนการนี้สามารถทำงานเป็นกลไกพัฒนาสิทธิมนุษยชนในแต่ละประเทศได้จริง

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ถ้าผมเป็นนายกฯปู จะตอบ ‘ประเด็นทักษิณ’ ดังนี้

Posted: 17 Aug 2011 09:24 AM PDT

บอกก่อนครับว่าผมเรียก ‘นายกฯปู’ ด้วยความไม่สับสนระหว่างความเป็น ‘นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย’ กับความเป็น ‘ปู’ แต่อย่างใด และหากปูในฐานะนายกฯ จะใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า ‘ปู’ เวลาพูดกับใครๆ ผมก็ว่ามันไม่ทำให้ ‘แผ่นดินของเรา’ (ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง) ต้องเสียหายอะไร

หมู่นี้ ‘สื่อ’ มักจะถาม ‘ประเด็นคุณทักษิณ’ กับนายกฯปูเป็นรายวัน เรียกว่ากำลัง ‘เมามัน’ กับ ‘กระแสเสี้ยม’ ที่เริ่มจุดติดอันเป็นงานถนัดของสื่อในแผ่นดินของเรา หันไปมองสื่ออังกฤษบ้าง ว่ากันว่าก่อนหน้าจะเกิดเหตุจลาจลเผาห้าง คนผิวสี ราว 2,000 คนออกมาเดินขบวนเรียกร้องความเป็นธรรม ไม่มีสื่อใดๆ เสนอข่าวสะท้อนความคิดเห็นของพวกเขาเลย แต่หลังเหตุจลาจลแทบทุกสื่อต่างเอาไมค์ไปจ่อปากถามความเห็นของหนุ่มสาวตามมุมถนนต่างๆ เรียกว่ายังดีที่เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว สื่อบ้านเขายังคิดขึ้นได้ว่า ควรจะทำอะไร

แต่สื่อบ้านเราหลังเกิดเหตุการณ์ ยังนึกไม่ออกว่าควรจะทำอะไรต่อไป ไม่เคย ‘สงสัยอย่างจริงจัง’ ว่า ที่ชาวบ้านเขาออกมาต่อสู้ชนิดยอมตายนั้น เขามีความคิดความอ่านของเขาเองอย่างไร สื่อยังทำแบบเดิมๆ คือตามเอาไมค์ไปจ่อปากอภิสิทธิ์ สุเทพเป็นรายวัน ให้อภิสิทธิ์ สุเทพ พูดกล่าวหาชาวบ้านไปวันๆ เช่นว่า คนเสื้อแดงฆ่ากันเอง หมู่บ้านเสื้อแดงเป็นการแบ่งแยกประชาชน (ตอนนี้ประชาธิปัตย์กำลังคิดตั้งโรงเรียนการเมืองเลียนแบบโรงเรียน นปช.) ใช้แนวคิดจัดตั้งแบบคอมมิวนิสต์ อาจส่งผมกระทบต่อสถาบัน และความมั่นคง ฯลฯ

เรารู้เรื่องราว ความคิดเห็นของหมู่บ้านเสื้อแดงจากสื่อต่างชาติ และสื่อไทยก็ไปแปลมานำเสนออีกที (ฮา ไหม?) เพราะวัฒนธรรมของสื่อไทยถนัดแต่การนำเสนอความเห็น (รวมทั้งไลฟ์สไตล์ ฯลฯ) ของชนชั้นปกครอง คนดัง และการสร้าง ‘กระแสเสี้ยม’ มากกว่า

ช่วงนี้กระแสเสี้ยม ‘ประเด็นทักษิณ’ กำลังจุดติด ไม่ว่าคุณทักษิณจะไปเยอรมนี เขมร ญี่ปุ่น สื่อไม่ใช่แค่รายงานข่าวการไปไหน ทำอะไร แต่เที่ยวเอาไมค์ไปจ่อปากแบบมีสมมติฐานล่วงหน้าว่าการไปนั้นอาจเป็น ‘ความผิด’ การตั้งคำถามนำจึงออกมาในท่วงทำนองใครอยู่เบื้องหลังการไปนั่นไปนี่ของทักษิณ ใครที่อยู่เบื้องหลังนั้นควรรับผิดชอบอย่างไร มีกระบวนการอะไรที่จะทำให้เขารับผิดชอบ เป็นต้น

แต่ถ้าผมเป็นนายกฯปู ผมจะตอบสนอง ‘กระแสเสี้ยม’ ตรงไปตรงมา ดังนี้

สื่อ : คุณอภิสิทธิ์บอกว่า กำลังให้ฝ่ายกฎหมายดูว่า รมต.ต่างประเทศไปบอกทูตญี่ปุ่นให้รัฐบาลเขาออกพาสปอร์ตให้คุณทักษิณเข้าประเทศผิดกฎหมายหรือไม่ ถ้าผิดต้องมีผู้รับผิดชอบ

ปู : อ๋อ คุณอภิสิทธ์ก็น่าจะเคยมีประสบการณ์มาบ้างนะคะว่า ตอนเป็นนายกฯ เขาสั่งประเทศอื่นๆให้ทำตามที่ต้องการได้หรือไม่ ปูว่าใน ‘แผ่นดินของเรา’ มันก็มีปัญหาสำคัญที่คนเป็นนักการเมืองควรต้อง ‘แสดงความรับผิด’ ชอบ มากกว่านี้อย่างเทียบกันไม่ได้ไม่ใช่หรือคะ เช่น   ‘ต้องรับผิดชอบต่อ 91 ศพ’

สื่อ : คุณอภิสิทธิ์บอกว่า คุณทักษิณเป็นนักโทษหนีคุกที่ต่างประเทศต้องส่งตัวกลับมารับโทษที่ประเทศไทย สมัยรัฐบาลของเขาได้พยายามขอความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในเรื่องนี้แล้ว ตอนนี้รัฐบาลเพื่อไทยต้องดำเนินการต่อ

ปู : ทราบว่ารัฐบาลคุณอภิสิทธิ์อธิบายกับประเทศต่างๆ ว่า คุณทักษิณหนีคดีอาญาธรรมดา แต่คุณทักษิณอธิบายว่าเป็นคดีการเมือง เพราะมีการกล่าวหาเรื่องคอร์รัปชัน ล้มล้างสถาบันเป็นข้ออ้างทำรัฐประหาร สุดท้ายเอาผิดติดคุกด้วยข้อหาเซ็นชื่อให้เมียซื้อที่ดิน ผู้นำประเทศต่างๆ เขาก็มีสมอง เขาจึงเชื่อคุณทักษิณมากกว่า มันก็เป็นสิทธิของเขานี่คะ สิ่งที่รัฐบาลนี้ต้องดำเนินการต่อคือต้อง ‘นำตัวฆาตกร 91 ศพ มาขึ้นศาลให้ได้’ ค่ะ

สื่อ : คุณอภิสิทธิ์บอกว่า นิรโทษกรรมเพื่อคนๆ เดียว ยังไงก็ทำไม่ได้

ปู : ถ้าคนๆ เดียว ไม่ว่าใครก็ตาม จะเป็นอภิสิทธิ์ หรือสุเทพก็ได้ ถูกเอาผิดทางกฎหมายที่ไม่ยุติธรรม การช่วยคนๆ นั้นให้พ้นผิดก็เท่ากับช่วยคนทุกคนนั่นแหละค่ะ เพราะมันเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องว่า หากใครก็ตามถูกเอาผิดอย่างไม่ยุติธรรม สังคมนี้ต้องไม่ยอมรับ ต้องช่วยให้เขาพ้นจากการเอาผิดที่ไม่ยุติธรรมนั้น ภายภาคหน้าหากคุณอภิสิทธิ์ หรือใครก็ตามถูกกระทำแบบนั้น สังคมก็ควรปกป้องด้วยบรรทัดฐานเดียวกันนี้

สื่อ : คุณอภิสิทธิ์บอกว่า นั่นเป็นการไม่เคารพกฎหมาย ทำลายหลักนิติธรรม นิติรัฐ

ปู : นิติธรรม นิติรัฐ หมายถึงการปกครองโดยหลักกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคแก่ทุกคน ซึ่งหลักดังกล่าวนี้เป็นหลักการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ แต่การเอาผิดคุณทักษิณเป็นการใช้กฎหมายภายใต้ระบบอำนาจของฝ่ายรัฐประหารที่ยึดอำนาจรัฐบาลประชาธิปไตย ฉะนั้น ภายใต้ระบบอำนาจรัฐประหารที่เอาผิดศัตรูทางการเมืองจึงไม่ใช่การใช้หลักนิติรัฐ นิติธรรม เช่น คุณอธิบายไม่ได้ว่ากระบวนการสอบสวนเอาผิดโดย คตส.ที่ฝ่ายรัฐประหารตั้งขึ้นให้ดำเนินการตามข้อกล่าวหาของฝ่ายตน เป็นกระบวนการยุติธรรมที่ ‘เป็นอิสระ’ และ ‘เป็นกลาง’ ตามหลักนิติธรรมอย่างไร

ปูอยากฝากบอกคุณอภิสิทธิ์ด้วยนะคะ การเคารพกฎหมายต้องใช้กฎหมายบนหลักความยุติธรรมค่ะ ที่สำคัญในฐานะเป็นนักการเมืองที่มาจากประชาชนต้องมี ‘ความเป็นมนุษย์’ ด้วย ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคารพต่อ ‘ชีวิตประชาชน’ ด้วย

สื่อ : คุณอภิสิทธิ์บอกว่า ถ้ารัฐบาลนี้จะนิรโทษกรรมคุณทักษิณ พาคุณทักษิณกลับประเทศ บ้านเมืองจะแตกแยก ไม่มีทางปรองดองกันได้

ปู : คือ เราต้องยุติธรรมกับคำว่า ‘บ้านเมือง’ เหมือนกันนะคะ บ้านเมืองจะไม่ปรองดองหรือคุณอภิสิทธิ์จะไม่ยอมปรองดองเองคะ ถ้าคุณอภิสิทธิ์ไม่ยอมปรองดองก็เป็นสิทธิของเขาค่ะ ปูคิดว่าคนในบ้านเมืองหรือสังคมเราคงมี ‘วุฒิภาวะ’ พอที่จะเข้าใจได้ว่า ทำไมคุณอภิสิทธิ์รับได้กับการที่ฝ่ายรัฐประหารนิรโทษกรรมแก่ตนเอง แต่รับไม่ได้กับการที่ฝ่ายถูกทำรัฐประหารจะถูกนิรโทษกรรม แต่หลักการนิรโทษกรรมก็คือ ‘ใครก็ตามที่ถูกทำรัฐประหารและถูกเอาผิดโดยกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นอิสระและเป็นกลางซึ่งขัดต่อหลักนิติธรรม เขาก็ไม่สมควรต้องรับโทษตามกระบวนการที่ไม่ยุติธรรมนั้น’ ปูคิดว่านี่เป็นเหตุผลที่อธิบายอย่างตรงไปตรงมาให้สังคมเข้าใจได้ค่ะ การนิรโทษกรรมแก่คุณทักษิณ หรือการพาคุณทักษิณกลับบ้าน อาจสร้างความไม่พอใจแก่คนบางกลุ่ม แต่จะไม่ถึงกับทำให้บ้านเมืองแตกแยก หรือแผ่นดินลุกเป็นไฟอย่างที่คนบางกลุ่มพยายามสร้างกระแสหรอกค่ะ

สื่อ : คุณอภิสิทธิ์บอกว่า การตั้ง ครม.หรือการบริหารงานของนายกฯ อาจไม่เป็นตัวของตัวเอง เพราะนายกฯปู เป็น ‘โคลนนิ่ง’ ของคุณทักษิณ

ปู : อ๋อ ปูต้องรับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีของประเทศ ต้องทำตามสัญญาประชาคมอยู่แล้วค่ะ แต่ปูก็มีสิทธิ์ที่จะรับคำแนะนำจากคุณทักษิณหรือใครก็ได้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานเพื่อ ‘แผ่นดินของเรา’ ที่สำคัญคือ ถ้าปูในฐานะนายกรัฐมนตรีจะทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับคุณทักษิณ ไม่ว่าเรื่องนิรโทษกรรมหรือเรื่องใดๆ ปูก็จะทำกับคุณทักษิณในฐานะที่เขาเป็นคนไทยคนหนึ่ง บนหลักการที่อธิบายได้ว่าเป็น ‘ความยุติธรรมภายใต้หลักความเสมอภาคตามกฎหมาย’ เท่านั้นค่ะ

สื่อ : ขอบคุณมากค่ะ/ครับ นายกฯปู

ปู : ยินดีค่ะ บ๊ายบาย ปูเป็นนายกฯ ของคนไทยทุกคน รักทุกคนนะคะ จูจุ๊บ จูจุ๊บ!!

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาวสะเอียบแถลงประณาม 'บรรหาร' จัดหนัก "นรกของสิ่งแวดล้อม"

Posted: 17 Aug 2011 09:17 AM PDT

17 สิงหาคม 2554 คณะกรรมการกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ เผยแพร่แถลงการณ์ระบุ อดีตนายกรัฐมนตรี นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นผู้อยู่เบื้องหลังของการผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน หวังงานรับเหมามูลค่า 12,000 ล้านบาท ทั้งที่รู้ว่าแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง มีหลายแนวทาง ในแถลงการณ์ยังเรียกอดีตนายกฯว่า "นรกสำหรับสิ่งแวดล้อมตัวพ่อ" โดยมีรายละเอียดแถลงการณ์ ดังนี้

 
0 0 0
 
แถลงการณ์
บรรหาร อดีตนายกนรกสำหรับสิ่งแวดล้อมตัวพ่อ
 
 
                เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า ผู้อยู่เบื้องหลังของการผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน ก็คือ อดีตนายกรัฐมนตรี นายบรรหาร ศิลปะอาชา ผู้หวังผลประโยชน์จากการให้บริษัทในเครือศิลปอาชาจะได้งานรับเหมาก่อสร้าง 12,000 ล้านบาท ทั้งที่นายบรรหารเองก็รู้ว่าแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง นั้นมีหลายแนวทาง โดยเฉพาะการกักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขาของลุ่มน้ำยมทั้ง 77 สาขา ซึ่งมีผลการศึกษาของกรมทรัพยากรน้ำไว้เรียบร้อยแล้ว สามารถดำเนินการได้เลย หากแต่ว่า อ่างเก็บน้ำทั้ง 77 ลำน้ำสาขานั้นเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็ก ขึ้นอยู่กับกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ขึ้นกับกรมชลประทาน กระทรวงเกษตร ของพรรคชาติไทย อีกด้านหนึ่ง อ่างเก็บน้ำขนาดกลางขนาดเล็กดังกล่าว ไม่มีไม้สัก ไม่มีป่าสักทอง ให้นักการเมืองโบราณได้เขมือบเหมือนโครงการขนาดยักษ์อย่างโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น จึงไม่เป็นที่สนใจของนายบรรหาร และพรรคชาติไทย
 
                คณะกรรมการกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ขอยกให้ นายบรรหาร เป็นอดีตนายก นรกสำหรับสิ่งแวดล้อมตัวพ่อ และขอให้อดีตนายกล้มเลิกความคิดในการผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น หันมาใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชน จัดการลำน้ำสาขาทั้ง 77 ลำน้ำสาขา จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่า หรือไม่ก็กลับไปเลี้ยงหลานจะดีกว่า คณะกรรมการกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ เห็นว่าสังคมไทยถึงเวลาแล้วที่จะต้องใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหา ไม่ควรใช้ผลประโยชน์หรืออารมณ์ความรู้สึกในการแก้ไขปัญหาอย่างอดีตนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง สมาชิกวุฒิสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดอีกหลายจังหวัด และสื่อมวลชนบางคน ที่สงสารชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วม การใช้อารมณ์ความรู้สึกสงสารชาวบ้านไม่ได้แก้ไขปัญหา ต้องใช้สติและปัญญา จึงจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน
 
                คณะกรรมการกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ขอยืนยันในการคัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นด้วยเหตุด้วยผล และเสนอให้รัฐบาลผลักดันแนวทางในการแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำยมอย่างเป็นระบบ และเร่งด่วน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง อย่างยั่งยืน ไม่นำไปสู่การสร้างปัญหาใหม่ในอนาคต การใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชน การสร้างแหล่งเก็บน้ำหนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งกักเก็บน้ำ การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็กตามลำน้ำสาขาทั้ง 77 ลำน้ำสาขา จะเป็นทางออกที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมมากที่สุ
 
ด้วยจิตคารวะ
คณะกรรมการกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่
17 สิงหาคม 2554 ณ ศาลาวัดบ้านดอนชัย

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักกิจกรรมยื่นจดหมายทูตญี่ปุ่น กรณี บ.อาซาฮี โกเซ ฟ้องบล๊อกเกอร์เรียกค่าเสียหาย 3.2 ล้านดอลลาร์

Posted: 17 Aug 2011 07:05 AM PDT

เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ พร้อมด้วยกลุ่มคนงาน TRY ARM และโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย เข้ายื่นจดหมายแสดงความห่วงใยต่อทูตญี่ปุ่นกรณีบริษัทอาซาฮี โกเซ ฟ้องบล๊อกเกอร์ชาวมาเลเซียเรียกค่าเสียหาย 3.2 ล้านดอลลาร์ หลังเปิดเผยคนงานพม่า 31 คนร้องทุกข์เกี่ยวกับการละเมิดสิท​ธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน

 

ภาพ :การชุมนุมและยื่นหนังสือแสดงความห่วงใยของเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติและองค์กรแนวร่วมหน้าสถานทูตญี่ปุ่น

วันนี้ (17 ส.ค.54) เวลา 10.00 น. เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (Action Network for Migrants-ANM) พร้อมด้วยกลุ่มคนงาน TRY ARM และโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย(Thai Labour Campaign) ประมาณ 20 คน ได้ชุมนุมบริเวณหน้าสถานทูตญี่ปุ่นประจำกรุงเทพมหานคร เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อนายเซอิจิ โคจิมะ เอกอัครราชฑูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เพื่อแสดงความห่วงใยต่อกรณี 'ชาร์ลส เฮคเตอร์' บลอกเกอร์-นักกิจกรรมชาวมาเลเซียถูกฟ้องร้องจากบริษัทญี่ปุ่นในคดีหมิ่นประมาทและเรียกค่าเสียหาย 3.2 ล้านเหรียญสหรัฐ(หรือประมาณ 100 ล้านบาท) หลังเปิดเผยการละเมิดสิทธิแรงงานพม่า ในมาเลเซีย โดยทางเครือข่ายฯยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นหยุดและยกเลิกการฟ้องร้อง  รวมถึงออกมาคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกรณีดังกล่าวในฐานะที่เป็นสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)

 

จากนั้นเวลา 11.00 น.ทางสถานทูตได้ส่งนายยูคิฮิโก คาเนโก( Mr.Yukihiko Kaneko) เลขานุการเอกประจำสถานทูต(First Secretary, Embassy of Japan in Thailand) มารับจดหมาย พร้อมกับกล่าวว่าเข้าใจข้อเรียกร้องของทางเครือข่าย แต่ทางสถานทูตไม่มีอำนาจไปบอกบริษัทหรือคนญี่ปุ่นคนอื่นๆว่าให้ทำหรือไม่ทำการใดๆ และทางเราเข้าใจว่าความยุติธรรมนั้นจะมาจากคำตัดสินของศาล ประเทศญี่ปุ่นนั้นเป็นสมาชิกของ OECD แต่สมาชิกของ OECD นั้นไม่มีอำนาจหน้าที่ใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้  พร้อมกับรับจดหมายไป

 

โดยมีนายเสถียร ทันพรม ประธานเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ ได้เป็นผู้ยื่นและอ่านจดหมายฉบับดังกล่าว ใจความว่าทางเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติต้องการมาแสดงความห่วงใยอย่างลึกซึ้งต่อกรณีที่บริษัทที่บริษัทอาซาฮี โกเซ ในมาเลเซีย ซึ่งเป็นบริษัทจากประเทศญี่ปุ่นได้ดำเนินฟ้องนายชาร์ล เฮเตอร์ ซึ่งเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ทนายความและบล็อกเกอร์ในคดีหมิ่นและเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงินถึง 3.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากที่นายชาร์ล เฮเตอร์ ได้เปิดเผยต่อสาธารณชนกรณีที่คนงานพม่า 31 คน ที่ทำงานในโรงงานของอาซาฮี โกเซ ร้องทุกข์เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน เพื่อให้รัฐบาลญี่ปุ่นไม่นิ่งเฉยและดำเนินการในการปกป้องสิทธิมนุษยชน

 

นายเสถียร ทันพรม ยังกล่าวย้ำอีกว่า “ในฐานะที่รัฐบาลญี่ปุ่นก็เป็นสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งการที่รัฐบาลมิได้ดำเนินการใดๆ ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นจะถูกมองได้ว่าเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้บริษัทญี่ปุ่นโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนดังกล่าว”

 

“และทางเครือข่ายยังเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นส่งเสริมและรักษาหลักการของปฏิญญาว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบของบุคคลและหน่วยงานในสังคมเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน  ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากล และทางเครือข่ายยังเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นหยุดและยกเลิกการฟ้องร้องนักกิจกรรมและทนายความ(นายชาร์ล เฮเตอร์)  รัฐบาลญี่ปุ่นมีท่าทีต่อบริษัทของญี่ปุ่นในการที่จะคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากความรุนแรง การคุกคาม การตอบโต้ ถูกเลือกปฏิบัติ กดดันหรือการกระทำต่างๆที่ไม่ถูกกฎหมาย  จากการที่พวกเขาเหล่าเรียกร้องสิทธิที่ระบุไว้ในปฏิญญาดังกล่าว” ประธานเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ กล่าว

 

ส่วนการเคลื่อนไหวของเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติต่อไปในกรณีนี้ ประธานเครือข่ายฯได้เปิดเผยว่าจะให้เวลาในการพิจารณาแก้ปัญหา แต่ทางเครือข่ายจะคอยติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการต่อไป ย้ำว่าการที่มาวันนี้เพื่อมาแสดงความห่วงใยต่อกรณีที่เกิดขึ้นให้รัฐบาลญี่ปุ่นได้รับทราบ  ถ้ารัฐบาลญี่ปุ่นมีท่าทีที่ชัดเจนต่อกรณีนี้จะเป็นผลบวกกับรัฐบาลญี่ปุ่นเองในการเข้าไปปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

 

ด้านนางสาวจิตรา คชเดช ผู้ประสานงานกลุ่มคนงาน TRY ARM ได้กล่าวถึงข้ออ้างที่ทางตัวแทนสถานทูตว่าเรื่องดังกล่าวอยู่ในกระบวนการทางศาลไม่เกี่ยวกับกระบวนการขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ว่าถึงอย่างไรประเทศญี่ปุ่นก็เป็นประเทศที่เป็นสมาชิก OECD ซึ่งมีแนวปฏิบัติสำหรับบรรษัทข้ามชาติ(OECD Guidelines for MNEs)  ดังนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นเองต้องรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่นักลงทุนของตนซึ่งไปลงทุนอยู่ทั่วโลกด้วย ไม่ใช่เพียงแค่อ้างว่าให้ปฏิบัติตามมาตรฐานของประเทศนั้นๆ ถ้าหากนักลงทุนของญี่ปุ่นไปลงทุนประเทศที่มีการกดขี่และละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็หมายถึงให้ปฏิบัติตามนั้นแล้วจะมีแนวปฏิบัติสำหรับบรรษัทข้ามชาติของ OECD ไว้เพื่ออะไร รัฐบาลญี่ปุ่นต้องตระหนังเรื่องนี้เพื่อสร้างความเชื่อถือให้กับคนงานและประชาชนในประเทศที่นายทุนญี่ปุ่นมาลงทุน

 

หลังจากยื่นหนังสือต่อตัวแทนสถานทูตเสร็จในเวลา 11.30 น. โดยประมาณทางเครือข่ายได้แยกย้ายกันออกจากบริเวณหน้าสถานทูตโดยสงบ ทั้งนี้ในระหว่างชุมนุมทางผู้ชุมนุมได้มีปากเสียงกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของญี่ปุ่นและเจ้าหน้าที่ตำรวจกรณีที่ทางเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นไม่อนุญาตให้ผู้ชุมนุมใช้ที่บริเวณหน้าประตูทางเข้าออกเป็นสถานที่ยื่นหนังสือ โดยอ้างว่าเป็นพื้นที่ของทางญี่ปุ่น สร้างความไม่พอใจกับผู้ชุมนุม ทำให้มีการเจรจากันประมาณ 20 นาที ทางผู้ชุมนุมจึงยอมออกมายื่นหนังสือบริเวณริมถนนวิทยุหน้าสถานทูตซึ่งห่างจากจุดเดิมประมาณ 10 เมตร

 

 

 

 

จดหมายที่ทางเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติได้ยื่นต่อทางสถานทูต :


 

วันที่  17   สิงหาคม พ.ศ 2554

 

เรียน    ฯพณฯ นายเซอิจิ โคจิมะ

177 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

โทรศัพท์ :  0-2207-8500 |0-2696-3000   โทรสาร :  0-2207-8510     

เรื่อง  บริษัทอาซาฮี โกเซฟ้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ชาร์ลส เฮคเตอร์คดีหมิ่นประมาทและเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 3.2 ล้านเหรียญสหรัฐ

เราเขียนจดหมายฉบับนี้เพื่อแสดงความห่วงใยอย่างลึกซึ้งและต่อเนื่องกรณีที่บริษัทอาซาฮี โกเซฟ้องนักกิจกรรม  ทนายความ บล็อกเกอร์และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ชาร์ลส เฮคเตอร์คดีหมิ่นประมาทและเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 3.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยเหตุผลที่ว่าเขาได้เปิดเผยต่อสาธารณชนกรณีที่คนงานพม่า 31 คน ที่ทำงานในโรงงานของอาซาฮี โกเซ ร้องทุกข์เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน

ถึงแม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้เป็นโจทก์ในคดีแพ่งนี้ แต่เรามีความห่วงใยถึงท่าทีที่รัฐบาลญี่ปุ่นนิ่ง-เงียบและมิได้ดำเนินการใดๆ ในส่วนที่รัฐบาลควรจะทำ อีกทั้งรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) การที่รัฐบาลมิได้ดำเนินการใดๆต่อสิ่งที่เกิดขึ้นจะถูกมองได้ว่าเป็นการส่งเสริมและเป็นนัยยะของการให้การสนับสนุนบริษัทญี่ปุ่นโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งในกรณีนี้คือ นาย ชาร์ลส เฮคเตอร์ เนื่องมาจากการที่เขาได้เปิดเผยการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบริษัทญี่ปุ่นต่อคนงาน

เราอยากจะกล่าวย้ำถึงข้อเรียกร้องของสภาทนายความ มาเลเซียที่ได้ออกแถลงการณ์เรียกขอในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ .ศ 2554  [1] ซึ่งเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นเริ่มดำเนินการในการสอบสวนข้อเท็จจริงโดยทันทีต่อกรณีข้อกล่าวหาที่ชาร์ลส เฮคเตอร์ ทำให้สังคมสนใจ และปฏิบัติการโดยทันทีในการป้องกันมิให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับแรงงานข้ามชาติ

อีกทั้งเราขอเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นส่งเสริมและรักษาหลักการ ของ“ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบของบุคคล และหน่วยงานในสังคมเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานซึ่งได้รับการยอมรับระดับสากล” (ซึ่งโดยทั่วไปจะเรียกว่า “ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน” ที่สมัชชาใหญ่สหประชาชาติลงมติรับรองในเดือนธันวาคม ปี 2541  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราขอให้รัฐบาลญี่ปุ่นกระทำทุกมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้มั่นใจว่ามีการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากความรุนแรง  การคุกคาม การตอบโต้ ถูกเลือกปฏิบัติ  กดดันหรือจากการกระทำต่างๆที่ไม่ถูกกฎหมาย ซึ่งเป็นผลมาจากการที่พวกเขาได้กระทำการใช้สิทธิที่ถูกต้องชอบธรรมในการเรียกร้องสิทธิที่ระบุในปฏิญญา

ขอแสดงความนับถือ

นายเสถียร ทันพรม

ประธานเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ

 

[1] http://www.malaysianbar.org.my/press_statements/press_release_defend_human_rights_defenders_and_safeguard_migrant_workers.html

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สร. ไทยอินดัสเตรียลเผยข้อพิพาทแรงงานสิ้นสภาพแล้ว

Posted: 17 Aug 2011 06:21 AM PDT

17 ส.ค. 54 - สหภาพแรงงานสหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊สเปิดเผยว่า ตามที่บริษัทไทยอินดัสเตรียลแก๊ส จำกัด (มหาชน) หรือ TIG ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อสหภาพฯและได้ยื่นเป็นข้อพิพาทแรงงาน ซึ่งได้มีการนัดหมายเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานมาหลายครั้งแล้ว

ล่าสุดวันนี้ (17 ส.ค. 54) สหภาพแรงงานฯ ได้ออกเอกสารชี้แจงว่า ตามที่บริษัทฯ ได้ยื่นข้อเรียกร้องมานั้น สหภาพแรงงานฯ ครั้งต่อไปในวันที่ 19 ส.ค. 54 นั้น แต่ข้อพิพาทแรงงานได้สิ้นสุดไปเพราะข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 (ดูเพิ่มเติมในแถลงการณ์) ซึ่งเป็นเหตุให้สหภาพแรงงานฯ หรือคณะกรรมการไม่มีอำนาจในการดำเนินการใดๆ เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องของบริษัทฯ ที่ทำการยื่นสวนมานั้นได้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาไทบันเทิง: Come Rain Come Shine

Posted: 17 Aug 2011 05:46 AM PDT

ประชาไทบันเทิง: Come Rain Come Shine

ท่ามกลางสายฝนที่พร่างพรูลงมาเกือบทั้งวันในประเทศกรุงเทพ หลิ่มหลีมีนัดกับพี่พี่วงการกระลิ้มกระเหลี่ยหนุ่มเกาหลี ชวนกันไปดูหนังรอบสื่อมวลชน เรื่อง Come Rain Come Shine ที่ โรงหนัง สกาล่า สยามสแควร์

การจราจรที่ติดหนักไม่สามารถหยุดยั้งการเดินทางโดยมอเตอร์ไซด์รับจ้างและรถไฟฟ้าบีทีเอส (ที่ได้ยินข่าวลึกลับว่า กำลังเปลี่ยนระบบการควบคุมรถไฟจากของชาติฝรั่งอั่งม๊อ ไปเป็นของชาติหนุ่มซินตึ้ง.. ประเทศที่เพิ่งเกิดเรื่องรถไฟความเร็วสูงมีอุบัติเหตุจนต้องระงับการขยายทั้งระบบ แฮ่ อันนี้ไปถาม กทม กันเอาเอง ทำอะไรกันเงียบเชียว หือ หือออ)

หลิ่มหลีก้าวย่างเข้าสู่โรงหนังสุดคลาสสิกใจกลางเมือง กับทางเดินที่โดดเด่นและบันไดหรูที่ต้องร้องเพลงออกมาว่า “นี่คือสถานแห่งบ้านทรายทองที่ฉันปองมาสู่”

เป็นโรงหนังที่เหลืออยู่ไม่กี่โรงที่คงอยู่เคียงข้างอายุที่เพิ่มขึ้นของหลิ่มหลีมานาน สไตล์การตกแต่งที่สวย เท่ มีป๊อบคอร์นราคาแค่ 30 บาท เบียร์สปอนเซอร์อร่อยของญี่ปุ่นที่มาเป็นสปอนเซอร์ให้หนังเกาหลี

แหม๋ คันปาก แต่ไม่คันหู ... ขอพูดถึงโรงหนังโรงนี้อีกนิด โรงหนังสกาล่าที่แสนหรู และยังคงความหรู ที่กลายเป็นโรงหนังทางเลือกที่หาได้ยาก จริงๆแล้วหลิ่มหลีอาจจะชอบโรงหนังที่อยู่ตามห้างมากกว่านะคะ เพราะว่าระหว่างรอดูหนัง เราได้ช๊อปปิ้ง ดูของจากร้านเก๋ๆ (แต่ไม่ซื้อ) หรือหาของกินจากร้านเท่ๆ แต่แพงชิบเป๋งเลย แต่การที่เราจะซื้อของจากข้างนอกเข้ามาแล้วมาโดนตรวจค้นอาหารแล้วโดนยึดไว้ หรือโดนบังคับให้ฝากไว้ มันเหมือนโดนตัดสิทธิการดำรงชีวิตบางอย่างไป แล้วค่าน้ำค่าป๊อบคอร์นในโรงหนังหลัก มันก็แพงเกือบจะสองเท่าของข้างนอก บวกกับค่าบัตรที่แพงมาก และโฆษณาที่เยอะมากๆ ทุกอย่างมัน commercial หนักเข้าไปทุกที ก็รู้นะว่าทำเพื่ออยู่รอด เพราะมันคือธุรกิจ แต่...มันทำให้หลิ่มหลีห่างเหินจากโรงหนังหลักๆได้ง่ายๆเหมือนกัน แล้วหลิ่มหลีสบายใจขึ้นทันทีที่มาโรงสกาล่าหรือได้ไปดูหนังที่ลิโด้ เอ่อ... บอกเหตุผลไม่ได้ มันเหมือนกับ การต่อต้านจากส่วนลึกของจิตใจมันกระแทกออกมา

หลิ่มหลีไม่อยากคุยเรื่องกระแสการต่อต้านวัฒนธรรมเคป๊อบของชาวอาทิตย์อุทัยและของชาวน้ำทิพย์อุทัย รบกวนให้น้องรุ้งรวีจัดหนักแทน ฮ่าๆๆๆๆ หลิ่มหลีชอบอยู่กับโลกสวย ไร้สมอง อย่าให้หลิ่มหลีต้องคิดมาก หลิ่มหลีชอบคิดน้อยๆ เด๋วหยักสมองทำงานหนัก จะแก่เร็ว สลิ่มที่ดีต้องมีผู้นำที่คิดแทน เลือกหนังให้เราดู เลือกเพลงให้เราฟัง เลือกรายการให้เราสนุก ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ เราจะไปโลกสวยกับซีรีย์เกาหลี บอยแบนด์เกาหลี แล้วก็ไปเที่ยวตามรอยซีรีย์เกาหลี โดยที่เราจะไม่เห็นหมีด้วย

Come Rain Come Shine เป็นหนังเกาหลีที่พระเอกคนดังมาแรงได้เล่นเป็นเรื่องสุดท้ายก่อนที่เขาจะเข้าไปรับใช้ชาติในการฝึกทหารเป็นเวลาอย่างน้อยสองปี Hyun Bin พระเอกที่เล่นเรื่อง My Name is Kim Sam Sun เรื่อง Snow Queen และเรื่องที่เป็นซีรีย์ที่ไม่ดู ไม่ได้ ไม่ดูแล้วถือว่า พลาดซีรีย์อย่างร้ายกาจ คือเรื่อง The Secret Garden

Hyun Bin พระเอกสุดโปรดของหลิ่มหลีเล่นหนังใหญ่ทั้งที ไม่ดูได้อย่างไรกัน อีกอย่างได้บัตรฟรีมาด้วย แถมเป็นบัตรฟรีที่ดูโก้ๆ หรูๆ ในโรงหนังเก๋ๆ ท่ามกลางคนเท่ๆในเมืองกรุง สลิ่มสมองกลวงอย่างหลิ่มหลี ได้แค่นี้ก็สุดเกินฝันแล้ว หุหุ

ส่วนนางเอก Lim Soo Jung ปกติหลิ่มหลีไม่ชอบพูดถึงนางเอก ผ่านเลยได้ไหมคะ??? อ่ะน่า บอกผลงานสักนิดเผื่อใครจะติดตาม เธอเคยเล่นเรื่อง Sorry, I love You มาแล้วน้า แล้วก็หนังใหญ่เช่น Finding Mr. Destiny Woochi และ Phuket หลิ่มหลีไม่ค่อยถนัดคุยถึงนักแสดงหญิง ฮ่าๆๆๆ ขออภัย

ตอนแรกหลิ่มหลีคิดว่าหนังเรื่องนี้เศร้าแน่นอน เพราะเห็นพรีวิวแล้วดูจะเศร้า กรี๊ดด พระเอกดูเหมือนจะเป็นคนเศร้า ไอ่เราหรือก็หวังจะได้เป็นคนดามหัวใจ หุหุ มีคำพูดที่กินใจ ที่ทำให้หลิ่มหลีอยากไปดูหนังเรื่องนี้

“เราจะเปลี่ยนใจที่เปลี่ยนไปแล้วได้ยังไงกัน”

โอ้ย กรี๊ด ... ซึ้ง อยากดู กระเสือกกระสน กะว่า ถึงแม้จะไม่ได้บัตรฟรี หลิ่มหลีก็จะรี่ตรงไปแหวกกระแสที่อัดแน่ไปด้วยหนังเรื่องตำนานรักเลอขิ่นกับไอ่ทิ้ง เอ้ย ไม่ใช่ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ฉายอยู่เกือบทุกโรงในประเทศไทยจนเหมือนจะบังคับดู แทบจะไม่เหลือที่ไว้ให้หนังเรื่องอื่นที่คนอยากดูจริงๆเลย

หนังเรื่องนี้เป็นฉากที่เล่นอยู่ในช่วงเวลาบ่ายของวันเพียงหนึ่งวัน ในบ้านของพระเอก ช่วงเวลาเพียงแค่นั้นกับความอึดอัดคับข้องใจ การใช้สัญลักษณ์แทนตัวเอกของเรื่อง บ้านที่นางเอกไม่ใส่ใจจะจำความบกพร่อง แมวที่หลงเข้ามาในสถานที่อันแปลกแยก ได้แต่หลบซ่อนอยู่ไม่ให้ใครเห็น แต่แล้วความเย้ายวนของอาหารก็หลอกล่อให้นางเอกออกไป เอ้ย ไม่ใช่ แมวออกมากิน ... คำเคยชินของพระเอกหรือที่กลายเป็นคำปลอบใจตัวเองของนางเอกที่ว่า “คงจะไม่เป็นไร” กับหนทางที่เลือกใหม่เพื่อเติมเต็มบางสิ่งให้กับชีวิต บางสิ่งที่ถึงแม้จะเป็นเพียงอาหารสำหรับแมว แต่มันอาจจะคือความอยากในบางสิ่งในชีวิต มันก็อาจจะเป็นสิ่งที่ต้องการมากกว่าอาหาร มากกว่าความเคยชินที่เธอต้องอยู่ร่วม

พระเอกที่ได้ชื่อว่าสะสมของ การจะทิ้งอะไรสักอย่างเป็นเรื่องยาก มันคือการทิ้งชีวิต ทิ้งสิ่งรัก ทิ้งความคุ้นเคย กับนางเอกที่เห็นพระเอกดีไปหมดซะทุกอย่าง จน...

บรรยากาศในเรื่องที่ผู้สร้าง Lee Yoon Ki จากเรื่อง My Dear Enemy ได้ทำให้เราได้อารมณ์ร่วมได้นาน อีดอัด คับข้อง เต็มไปด้วยความผูกพันแต่ก็เคยชินจนน่าเบื่อ ความแห้งแล้งในชีวิตคู่ที่ไม่คิดจะจดจำอะไรไว้ ฝนตกจากภายนอกโรงหนัง กับ ฝนตกในเรื่อง ได้ให้ความขะมุกขะมัวในหัวใจได้เป็นอย่างดี เรื่องราวที่ชวนให้คิดต่อ

มันมีเหตุผลอะไรมากมายที่ทำให้คนเราเปลี่ยนใจไปเป็นอื่นได้นะ

หลิ่มหลีเดินออกมาจากโรงหนังด้วยความคิดมากมาย เฝ้าถามตัวเองจนหลับ ว่า อะไรนะที่ทำให้คนเรา โดยเฉพาะผู้หญิงอย่างเรา เปลี่ยนใจไปจากผู้ชายที่เราใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันมานานไปเป็นของผู้ชายคนใหม่ เกินเลยจนได้ชื่อว่านอกใจได้

คำตอบสิ้นคิดของสาวไทย

เพราะเธอ...ดีเกินไป

?

_________________

หมายเหตุ หนังเรื่องนี้เข้าในวันที่ 18 สิงหาคม นี้ อาจจะหาดูได้ยากสักนิดนุงส์นะคะ เพราะมีหนังกำลังภายในของไทยฉายอยู่เต็มเกือบทุกโรง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น