ประชาไท | Prachatai3.info |
- คนเชียงดาวโวยเมื่อรัฐผุดโครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงตอนบน (ตอน 3)
- รายงานพิเศษ: “รัฐกับการรับมือเหตุลักพาตัวเด็ก”
- คาเมรอนประกาศโต้กลับจลาจลในอังกฤษ หลังมีผู้เสียชีวิตแล้ว 3 ราย
- ประชาไทบันเทิง: ชวนดู ‘ศึกนันทบุเรง’
- ฮอร์ นัมฮงเชิญรมต. ต่างประเทศของไทยเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ
- คอป. เสนอ 8 ข้อ แนะตั้งศูนย์เฉพาะกิจเยียวยาผู้รับผลกระทบจากการชุมนุม
- เกิดเหตุจลาจลในเรือน จ. จำนราธิวาส (อัพเดท)
- นายกฯอังกฤษเผยเตรียมฉีดน้ำสงบจลาจล
- ภาคประชาสังคมไทย เตรียมนำเสนอสถานการณ์สิทธิในประเทศต่อ ‘ยูเอ็น’
คนเชียงดาวโวยเมื่อรัฐผุดโครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงตอนบน (ตอน 3) Posted: 11 Aug 2011 02:02 PM PDT แผนที่แสดงลุ่มน้ำแม่น้ำปิงตอนบน ฝายชลประทานโป่งอาง ที่ชาวบ้านใช้กันอยู่ เรียนรู้ที่มาของโครงการ สภาพภูมิประเทศตอนบนของลุ่มน้ำเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ต้นกำเนิดของแม่น้ำปิง เกิดจากทิวเขาผีปันน้ำในเขตอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ แล้วไหลผ่านหุบเขาลงมาสู่ที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านจังหวัดลำพูน จากนั้นไหลไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ผ่านอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ แล้วไหลลงทางทิศใต้ผ่านอำเภอฮอด ก่อนจะไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ส่วนแม่น้ำปิงตอนล่างใต้เขื่อนภูมิพลจะไหลผ่านที่ราบมาถึงบริเวณที่แม่น้ำวังไหลมาบรรจบ แล้วไหลผ่านที่ราบกว้างใหญ่ในเขตจังหวัดกำแพงเพชร ก่อนจะไปรวมกับแม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน เป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ที่อำเภอปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ลำน้ำสาขาที่สำคัญของแม่น้ำปิง ได้แก่ น้ำแม่งัดมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาแดนลาวทางตอนเหนือของลุ่มน้ำไหลมาบรรจบกับแม่น้ำปิงทางฝั่งซ้าย,น้ำแม่แตงไหลจากเทือกเขาแดนลาวลงมาบรรจบแม่น้ำปิงทางฝั่งขวา,แม่น้ำกวงไหลมาบรรจบแม่น้ำปิงทางฝั่งซ้ายที่จังหวัดลำพูน, แม่น้ำลี้ไหลจากอำเภอลี้ขึ้นไปทางทิศเหนือบรรจบแม่น้ำปิงทางฝั่งซ้ายที่อำเภอจอมทอง,น้ำแม่แจ่มไหลจากเทือกเขาถนนธงชัยทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของลุ่มน้ำลงมาบรรจบแม่น้ำปิงทางฝั่งขวาที่อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ข้อมูลกรมชลประทาน ระบุต่อว่า ปัจจุบันได้เกิดสภาพความเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินในบริเวณลุ่มน้ำแม่น้ำปิงตอนบน โดยพื้นที่บริเวณป่าต้นน้ำถูกบุกรุกเปลี่ยนเป็นพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยส่งผลให้เกิดปัญหาทางด้านทรัพยากรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ปิง เช่น ปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และปัญหาอุทกภัยในฤดูฝน ในอดีตลุ่มน้ำปิงเคยประสบปัญหาน้ำท่วมในเขตชุมชนหลายครั้ง เช่น ปี พ.ศ.2538 ในปี พ.ศ.2545 ได้เกิดเหตุการณ์ฝนตกหนักในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำปิง เป็นเหตุให้เกิดปริมาณน้ำหลากในแม่น้ำปิงลำนน้ำสาขาไหลเข้าท่วมพื้นที่อำเภอเชียงดาวและไหลลงมาท่วมพื้นที่ตัวเมืองเชียงใหม่ และพื้นที่การเกษตรเป็นบริเวณกว้าง และในปี พ.ศ.2548 ได้เกิดเหตุการณ์ฝนตกหนักทางตอนบนของลุ่มน้ำปิง และได้เกิดอุทกภัยในบริเวณภาคเหนือ โดยเฉพาะเกิดน้ำท่วมจังหวัดเชียงใหม่หลายระลอก ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อทรัพย์สินของทางราชการ ภาคเอกชน และราษฎร สร้างความเสียหายต่อสภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก จากปัญหาการขาดแคลนน้ำและอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่น้ำปิงตอนบน กรมชลประทานจึงเห็นสมควรให้มีการดำเนินงาน การศึกษาการแก้ไขปัญหาน้ำในลุ่มน้ำแม่น้ำปิงตอนบน และการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการอ่างเก็บน้ำแม่น้ำปิงตอนบน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ในการบรรเทาปัญหาน้ำในเขตลุ่มน้ำแม่น้ำปิงตอนบน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ย้ำวัตถุประสงค์ของการศึกษา แก้ปัญหาน้ำท่วม-ขาดแคลนน้ำ จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment; EIA) และแผนการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Mitigation Plan; EIMP)ตามแนวทางของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ส่งเสริมให้ประชาชนและกลุ่มเป้าหมายมีส่วนร่วมในการศึกษาพัฒนาโครงการตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งอาจดำเนินการในรูปของคณะทำงานหรือคณะอาสาผู้วิจัยท้องถิ่น ดำเนินงานประชาสัมพันธ์ มวลชนสัมพันธ์ การมีส่วนร่วมของประชาชน โดยจัดทำเป็นแผนงานที่ชัดเจน เพื่อแสดงให้เห็นว่ากรมชลประทานมีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาด้านการบรรเทาอุทกภัยและการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ให้แก่ราษฎรอย่างโปร่งใส และสร้างโอกาสการมีส่วนร่วมของสาธารณชนอย่างจริงจัง โดยให้สอดคล้องกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พุทธศักราช 2548 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 เผยเน้นแนวทางการศึกษาครอบคลุมทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและเศรษฐศาสตร์ ศึกษาบริบทชุมชนในพื้นที่และวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายจัดทำมวลชนสัมพันธ์สร้างความคุ้นเคยและเครือข่าย เพื่อกำหนดรูปแบบการศึกษาอย่างมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ โดยถือเป็นกิจกรรมหลักเพื่อให้สามารถดำเนินการศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง ให้จัดทำแผนงานของการดำเนินการประชาสัมพันธ์ มวลชนสัมพันธ์ การมีส่วนร่วมของประชาชน กลุ่มอนุรักษ์ และหน่วยงานราชการในการศึกษาพัฒนาโครงการตั้งแต่เริ่มต้น มุ่งให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับสาเหตุ ปัญหา และแนวทางแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง เพื่อสร้างความเข้าใจและมั่นใจให้กับประชาชนในเรื่องประโยชน์ของโครงการ รวมถึงเทคนิคและสื่อที่ใช้ดำเนินการ อาทิ ประชุม การผลิตสื่อต่างๆ เอกสาร วีดิทัศน์ จดหมายข่าว รวมทั้ง ข่าว บทความ สารคดี เพื่อเผยแพร่ทางสื่อมวลชน (หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์) เป็นต้น โดยดำเนินการอย่างเปิดเผย โปร่งใส สอดคล้องกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พุทธศักราช 2548 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 และสุดท้ายให้มีการประเมินผลความคิดเห็นของประชาชนเป็นระยะหรือทุกครั้งที่มีกิจกรรม ศึกษาทบทวนแผนงานพัฒนาลุ่มน้ำข้างเคียงที่เกี่ยวข้องกับลุ่มน้ำปิงตอนบน รวมถึงการพัฒนาแหล่งน้ำที่ได้พัฒนาและใช้ประโยชน์อยู่แล้ว โดยให้ความสำคัญในประเด็นที่เกี่ยวกับการวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการบรรเทาอุทกภัย สำรวจ ศึกษาและวางแผนทางเลือกของการพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำแม่น้ำปิงตอนบน จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีแนวโน้มที่เหมาะสมในการสนองตอบต่อการบรรเทาอุทกภัยและความต้องการใช้น้ำ วิเคราะห์ความพอเพียงของแหล่งน้ำต้นทุน วิเคราะห์รายละเอียดเกี่ยวกับตำแหน่งที่ตั้ง ชนิด ขนาด และระดับของอาคาร องค์ประกอบที่มีความเหมาะสมทั้งด้านวิศวกรรม ด้านค่าลงทุน/ความคุ้มทุน ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านอื่นๆ ศึกษาวิเคราะห์ ประสิทธิผลของโครงการในการบรรเทาอุทกภัยทั้งด้านระยะเวลาและระดับน้ำท่วม รวมถึงประสิทธิผลในการบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ผลประโยชน์ที่ได้รับทั้งที่อยู่และไม่อยู่ในรูปตัวเงิน (Intangible Benefits Assessment) กำหนดเกณฑ์การออกแบบ (Design Criteria) และออกแบบเบื้องต้นโครงการซึ่งอย่างน้อยต้องครอบคลุมหัวงาน ระบบชลประทานและระบายน้ำ ในการศึกษาความเหมาะสมจะต้องมีการใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์ด้านแหล่งน้ำให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการศึกษาโดยแบบจำลองทั้งหมดจะต้องสามารถใช้งานได้อย่างสะดวกมีการจัดระบบฐานข้อมูลที่ดี เพื่อนำผลมาใช้ประกอบในการตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถใช้กำหนดกฎเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำอย่างสอดคล้องกับระบบโทรมาตรที่มีการศึกษาในลุ่มน้ำปิง อนึ่ง หากมีการพัฒนาแบบจำลองขึ้นใช้ในการศึกษา แบบจำลองจะต้องเป็นลิขสิทธิ์ของกรมชลประทานเพื่อเผยแพร่ใช้งานต่อไป ศึกษาและจัดทำคู่มือการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในสภาวะปริมาณน้ำต่างๆ ศึกษาและจัดทำคู่มือการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในสภาวะปริมาณน้ำต่างๆ ศึกษาด้านเศรษฐกิจ สังคม วิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานด้านเศรษฐกิจและสังคม (Social and Economic Base Data) ศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลระดับโครงการ จังหวัดและประเทศไทยในภาพรวม วิเคราะห์ข้อมูลเจาะลึกในพื้นที่รับผลกระทบ พื้นที่ชลประทาน พื้นที่รับประโยชน์และพื้นที่อื่นๆ (ถ้ามี) วิเคราะห์ถึงสถานะของครัวเรือน การใช้แรงงาน การกระจายรายได้ และผลที่สังคมได้รับจากการพัฒนาโครงการ หลักการกระจายผลประโยชน์สู่สังคม รวมทั้งผลกระทบต่อทัศนคติหรือค่านิยมของประชาชนต่อโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ วิเคราะห์หลักการกระจายผลประโยชน์สู่สังคมและผลที่สังคมได้รับจากโครงการซึ่งต้องมีตัวชี้วัดและหลักเกณฑ์ ที่สมเหตุสมผล ด้านเศรษฐศาสตร์ วิเคราะห์โครงการด้านเศรษฐศาสตร์/เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม (ถ้ามี) โดยครอบคลุมถึงค่าลงทุนหรือต้นทุนโครงการและผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม (Direct and indirect) ทั้งกรณี Tangible และ Intangible วิเคราะห์ Farm Model การคืนทุน การเสนออัตราที่เหมาะสมและอื่นๆ และความอ่อนไหวกรณีต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเงินและผลตอบแทนทางสังคมที่สามารถชี้แจงหรือให้คำตอบที่ชัดเจนแก่สังคมได้ จัดทำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) และพจนานุกรมข้อมูลของโครงการ เพื่อให้ใช้งานได้สะดวกและสามารถใช้ร่วมกับระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ที่กรมชลประทานได้พัฒนาไว้แล้ว จัดทำการศึกษาลักษณะและความเป็นไปได้ในการพัฒนาระบบไฟฟ้าพลังน้ำ โดยกำหนดรูปแบบที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการบริหารจัดการน้ำ ที่ปรึกษาต้องวิเคราะห์ด้านวิศวกรรม ด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน ของโครงการพร้อมทั้งเสนอแนวทางตามหลักเกณฑ์ กฎระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในเอกสารประกอบโครงการ ยังได้ระบุไว้ในตอนท้ายด้วยว่า- -จัดทำแผนงานแสดงกิจกรรมหลัก กิจกรรมรอง ความเชื่อมโยงของกิจกรรมและภาระงานของบุคลากรหลัก ระยะเวลาดำเนินงานที่ชัดเจน และแผนงานดังกล่าวจะต้องระบุถึงจุดวิกฤตของกิจกรรมที่สำคัญ (โดยเฉพาะงานด้านการมีส่วนร่วม) รวมทั้งจุดวัดผลสำเร็จของงานในแต่ละช่วงอย่างครบถ้วน ทั้งนี้เพื่อใช้ในกรณีการรายงานผลงาน และการปรับปรุงแผนการดำเนินงานหรือยุติการศึกษาโครงการหากไม่สามารถเข้าดำเนินการสำรวจในพื้นที่ได้ ตัวแทนชาวบ้านเชียงดาว เสนอความเห็นให้ทบทวนโครงการ โดยในเอกสารได้สรุปไว้ว่า จากการประชุมครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการจากช่องทางรับฟังความคิดเห็นหลังจากการประชุมอีก 15 วัน แต่ไม่มีผู้แสดงความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนั้นสามารถสรุปประเด็นจากการประชุมได้ดังนี้ อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการประชุม ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการและให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจำนวนมากทั้งจากการอภิปรายในช่วงการประชุมและตอบแบบสอบถาม โดยประเด็นหลักที่มีผู้แสดงความคิดเห็นและเสนอแนะมี ดังนี้ -ขอให้ปรับปรุงฝายยางเชียงดาวให้ใช้ประโยชน์ได้เสียก่อน ปัจจุบันบริษัทรับเหมาดำเนินการเสร็จแล้ว และจะมีการส่งมอบให้กับกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานในวันที่ 31 พ.ค.2546 แต่เมื่อกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานเริ่มทดลองกักเก็บน้ำ แต่เนื่องจากจากฝายที่สร้างเสร็จมีขนาดใหญ่กว่าฝายดั้งเดิมมาก โดยมีความกว้างถึง จากเหตุการณ์ดังกล่าว ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ได้จี้ให้ทางกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานแสดงความรับผิดชอบ แต่ทางรัฐก็ไม่ได้ใส่ใจ ไม่สนใจเสียงเรียกร้องชาวบ้านแต่อย่างใด ว่ากันว่า ทุกวันนี้ ฝายยางเชียงดาว ไม่ได้ก่อประโยชน์อันใดแก่ชาวบ้านเกษตรกรในพื้นที่ใดๆ เลย ในขณะที่ต้องสูญเสียงบประมาณไปมากถึง 311.89 ล้านบาท จนชาวบ้านในพื้นที่อำเภอเชียงดาวเรียกฝายยางนี้ เป็นอนุสาวรีย์อัปยศแสดงความล้มเหลวของโครงการรัฐอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย และชาวบ้านในพื้นที่อำเภอเชียงดาว ยังได้เสนอความเห็นอีกว่า ขอให้ซ่อมแซมฝายในพื้นที่บ้านโป่งอางให้ใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องสร้าวอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนกั้นแม่น้ำปิง เพราะว่า ทุกวันนี้ ภายในพื้นที่หมู่บ้านโป่งอาง หมู่ที่ 5 ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ นั้นมีฝายชลประทานอยู่แล้ว ซึ่งยังคงใช้การได้ เพียงแต่แก้ไขปัญหาการตกตระกอนหน้าดิน มีการขุดลอก ก็สามารถกักเก็บน้ำและใช้ในการเกษตรได้ตามปกติ -ควรกระจายงบประมาณของโครงการขนาดใหญ่นำมาพัฒนาโครงการขนาดเล็กให้ทั่วทุกพื้นที่ ซึ่งทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า- -ข้อเสนอและการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวข้างต้นนั้น กลับเงียบหาย ไม่มีการตอบสนอง แต่กรมชลประทาน และทีมงานศึกษาชุดดังกล่าว ยังคงจะดำเนินการเดินหน้าโครงการอ่างเก็บน้ำแม่น้ำปิงตอนบน หรือเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงตอนบนที่อำเภอเชียงดาว ต่อไป ข้อมูลประกอบ ข่าวที่เกี่ยวข้อง \
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
รายงานพิเศษ: “รัฐกับการรับมือเหตุลักพาตัวเด็ก” Posted: 11 Aug 2011 01:30 PM PDT 3 สิงหาคม 2554 เด็กหญิงศิรินทิพย์ สำอาง หรือน้องพอมแพม อายุ 3 ขวบ ถูกหญิงลึกลับ ลักพาตัวไปจากบริเวณห้องเช่าย่านเคหะบางพลี จนถึงวันนี้ล่วงเลยมาแล้ว 1 สัปดาห์เต็มยังไม่สามารถติดตามตัวน้องพอมแพม กลับคืนสู่อ้อมอกของผู้เป็นแม่ได้ จากสถิติของศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา มีเด็กถูกลักพาตัวไปไม่น้อยกว่า 50 ราย โดยในจำนวนนี้มีเด็กอีกประมาณ 20 รายที่ยังตามตัวไม่พบ และดูเหมือนว่าการติดตามหาเด็กที่ถูกลักพาตัว จะกลายเป็นเรื่องห่างไกลจากบทบาทของผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายออกไปทุกที มูลนิธิกระจกเงา ในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเรื่องการรับแจ้งเหตุและติดตามคนหายมาเกือบ 10 ปี ขอสะท้อนและวิพากษ์กระบวนการของรัฐกับการรับมือเหตุลักพาตัวเด็กอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนแปลง อันอาจนำมาสู่แนวทางที่ควรจะเป็นในอนาคต ปัญหาเรื่องดุลพินิจ-หายไม่ถึง 24 ชั่วโมง ปัญหาเรื่องความชัดเจน-การประสานในหน่วยงาน ปัญหาเรื่องความเชี่ยวชาญ-ขาดการทำงานด้วยองค์ความรู้ ปัญหาเรื่องหน้าที่-ความรับผิดชอบ-จิตวิญญาณ บทส่งท้าย สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
คาเมรอนประกาศโต้กลับจลาจลในอังกฤษ หลังมีผู้เสียชีวิตแล้ว 3 ราย Posted: 11 Aug 2011 01:22 PM PDT 10 ส.ค. 2011 - สำนัก ดิ อินดิเพนเดนท์ ของอังกฤษรายงานว่า นายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน จากพรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษประกาศว่าตำรวจจะ "โต้ตอบกลับ" กลุ่มคนที่ออกปล้นทำลายข้าวของในการจลาจลที่ลุกลามไปทั่วประเทศ โดยคาเมรอนบอกว่าเจ้าหน้าที่จะทำการรวบรวมยุทโธปกรณ์และประกาศใช้ปืนน้ำภายใน 24 ชม. นายกฯ อังกฤษประกาศการโต้กลับหลังจากที่ได้ประชุมหารือกับหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินคอบร้าของรัฐบาลอังกฤษ โดยกลุ่มผู้ก่อจลาจลเคลื่อนจากลอนดอนไปยังแมนเชสเตอร์ เบอร์มิ่งแฮม และน็อตติงแฮม ในชั่วข้ามคืน การจลาจลเป็นเหตุให้มีประชาชนผู้เสียชีวิตแล้ว 3 ราย ร้านค้ามากมายถูกปล้นชิงหรือถูกเผาทำลาย โดยคาเมรอนประกาศว่า "พวกเราต้องการตอบโต้กลับ กำลังดำเนินการเพื่อการตอบโต้กลับอยู่" "พวกเราได้เห็นด้านที่เลวร้ายที่สุดของอังกฤษไปแล้ว แต่ผมก็ยังเชื่อว่าพวกเรายังคงได้เห็นด้านดีๆ ของอังกฤษอยู่บ้าง มีประชาชนกว่าล้านคนเข้าลงทะเบียนในเฟสบุ๊คเพื่อสนับสนุนการทำงานของตำรวจ มาร่วมกันในการเก็บกวาดทำความสะอาด" คาเมรอนบอกอีกว่า ทางตำรวจกำลังเตรียมยุทโธปกรณ์และเครื่องป้องกันเพื่อใช้ยุทธวิธีจัดการกับกลุ่มก่อจลาจลอย่างถูกต้องตามกฏหมาย มีการอนุญาตให้ตำรวจใช้ไม้กระบองแล้วและทางหน่วยคอบร้าก็เห็นว่าควรเตรียมปืนน้ำไว้ตลอด 24 ชั่วโมงแม้อาจไม่จำเป็นต้องใช้มันก็ตาม ขณะเดียวกันนายกเทศมนตรีของลอนดอน บอริส จอห์นสัน พรรคอนุรักษ์นิยมก็ขอร้องให้คิดใหม่กับการตัดงบประมาณตำรวจลงร้อยละ 20 ซึ่งคาเมรอนก้โต้กลับว่าเจ้าหน้าที่ต่างก็มีทรัพยากรเพียงพอแล้ว โดยบอกว่า "พวกเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นก็มักอยากได้เงินเพิ่ม ผมไม่ว่าเขาหรอก" คาเมรอนบอกอีกว่ามีการเพิ่มกำลังตำรวจในลอนดอนจาก 3,000 เป็น 16,000 นายแล้ว ในกรณีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์จลาจล คาเมรอนก็ได้ออกมาแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้สูญเสียทั้งสามคนที่ถูกสังหารจากการพยายามปกป้องร้านค้าของตนจากกลุ่มก่อจลาจลในเบอร์มิงแฮม ทาริก บิดาของฮารูน จาฮาน เหยื่อของการจลาจลวัย 21 ปีกล่าวว่า พวกเขาขอร้องให้กลุ่มวัยรุ่นทุกคนอยู่ในความสงบเพื่อให้ชุมชนของพวกเรากลับมาสามัคคีกัน นี่ไม่ใช่ปัญหาเรื่องเชื้อชาติ ครอบครัวของเขาได้รับข้อความแสดงความเห็นใจจากทุกส่วนในสังคม โดยบิดาของผู้ตายเรียกร้องให้หยุดใช้ความรุนแรงเพื่อแสดงความเคารพต่อความทรงจำที่มีต่อลูกชายพวกเขา และให้ผู้ที่เห็นเหตุการณ์ออกมาให้ข้อมูลกับตำรวจ "ผมสูญเสียลูกชาย ทั้งคนผิวดำ คนผิวขาว ชาวเอเชีย พวกเราอยู่ร่วมกันในชุมชน ทำไมพวกเราถึงต้องมาฆ่าฟันกันเอง ทำไมต้องทำเช่นนี้ ก้าวออกมาสิถ้าคุณอยากสูญเสียลูกของคุณ หรือไม่เช่นนั้นก็สงบสติอารมณ์แล้วกลับบ้านไปเสีย ได้โปรดเถิด" บิดาของจาฮานกล่าว มีผู้เห็นเหตุการณ์รายงานว่าชายผู้เสียชีวิตทั้ง 3 คนถูกรถพุ่งเข้าชนขณะพยายามปกป้องร้านค้าของพวกเขา โดยนอกจากฮารูนแล้ว ชายผู้เสียชีวิตอีก 2 รายคือ ชาฮัด อาลี อายุ 30 ปี และอับดุล มูซาวีร์ อายุ 31 ปี ตำรวจท้องที่ได้จับกุมผู้ต้องสงสัยคดีสังหารบุคคลทั้ง 3 ไว้ได้แล้ว ที่มา Cameron: The fightback is under way, The Indepedent, 10-08-2011 David Cameron offers condolences over Birmingham riot deaths, The Independent, 10-08-2011 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ประชาไทบันเทิง: ชวนดู ‘ศึกนันทบุเรง’ Posted: 11 Aug 2011 12:10 PM PDT เป็นบุญเหลือหลายค่ะ ที่หลิ่มหลีได้มีอภิโอกาสไปดูหนังประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่ประชาชนชาวเทยอุดหนุนการถ่ายทำผ่านทางเงินช่วยเหลือจากภาครัฐและภาคเอกชนมากมายและจิตแห่งความภัคดี เพื่อทำภาพยนตร์เรื่องนี้ให้เป็นเอกศรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่แสดงความมุทิตาจิตต่ออดีตบูรพกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งกรุงอโยธยา นั่นก็คือ เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งได้ฉายไปแล้ว สามภาคด้วยกัน ตอนแรกก็เข้าใจว่าจะมีแค่ “ไตรภาค” แต่บังเอิญหลิ่มหลีก็ได้ยลยินมาว่า การถ่ายทำเรื่องนี้ เต็มไปด้วยอัศจรรย์แห่งดวงวิญญาณขององค์มหาราชที่ทำให้ได้พบได้นิมิตว่าการจะทำหนังประวัติศาสตร์ของมหาราชที่ยิ่งใหญ่พระองค์นี้ เพียงแค่ไตรภาค มิเพียงพอแน่นอน จึงมีอันจำเป็นที่จะต้องขยาย หรือ เพิ่มตอนไปอย่างมิรู้ที่สิ้นสุดได้ จึงมีภาคที่ ๔ ในนามของ ศึกนันทบุเรง ก่อนที่ภาค ยุทธหัตถี อันเป็นภาคที่สำคัญที่สุดจะได้ถ่ายทำ (หมายความว่า ยังไม่ได้ถ่ายทำ) หลิ่มหลีมีโชคเหลือหลายที่มีโอกาสได้ไปดูเรื่องนี้ในรอบ Press ซึ่งได้พบปะเซเลปดารามากมาย ทั้งที่เล่นในเรื่องนี้ และที่ไม่ได้เล่นในเรื่องนี้ หลายคนก็มาเพราะเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับกองถ่าย หลายคนก็มาเพราะเป็นแฟนหนังเรื่องนี้ อยากจะได้ดูเป็นคนแรกๆ หลายคนมาเพราะไม่อยากจะเสียเงินเพราะเข้าใจว่าภาครัฐอุดหนุนแล้ว ใยตัวข้าจะต้องเสียค่าตั๋วมาดูอีก หลากหลายเหตุผล แต่ในฐานะสื่อคนหนึ่ง หลิ่มหลีก็มาในฐานะผู้ที่จะนำความปลาบปลื้มยินดีกับหนังเรื่องนี้มาแจ้งให้เหล่าผู้ที่พร้อมจะเสียอัฐมากมายเข้าไปชม.. การเดินเรื่องของเรื่องนี้ บอกได้เลยว่า อย่างน้อยก็ยังเป็นเรื่อง การตัดต่ออะไรดีขึ้น ในฐานะหลิ่มหลี ผู้จำความประวัติศาสตร์อะไรสมัยเรียนประถมและมัธยมไม่ได้เลย การได้มานั่งเรียนรู้ความยากลำบากของมหาราชพระองค์นี้ ช่างเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต หลิ่มหลีเป็นแฟนคลับภาพยนตร์นเรศวรก็ว่าได้ ได้ดูแล้ว ภาค ๑ และ ภาค ๒ ซึ่งหลิ่มหลีซื้อของจริง เพราะว่าแผ่นผีไม่มีขาย หล่ิมหลีก็ไปถามว่าทำไมไม่มีขาย เขาบอกว่า ไม่ทำขายเพราะขายไม่ดี อ้าว.... โถ ไม่รู้จักแฟนคลับเลย แต่ภาค ๓ ของแท้แพงมาก และคาดว่าแผ่นผีจะไม่มีขายเช่นสองภาคแรกเช่นกัน หลิ่มหลีก็เลยต้องรอของแท้ลดราคา เอ๊ะ .... แล้วหลิ่มหลีเป็นแฟนคลับได้ยังไง ...สลิ่มอย่างฉัน พูดอะไรก็ต้องเป็นอย่างนั้นสิ ฉันมีเหตุผลของฉัน ชิชิ อย่ามาถามให้มาก รับรู้เฉยๆก็พอนะจ๊ะ หล่อนๆ ทั้งหลาย เด๋วเอาไปกุดหัวซะนิ เริ่มต้นของหนัง มีการฉายย้อนหลังเล็กน้อยให้ได้รับรู้ความเป็นมาของพระนเรศ ซึ่งในขณะนี้ยังไม่ได้เป็นกษัตริย์ นี่ก็เป็นประวัติศาสตร์สำคัญที่หลิ่มหลีไม่รู้ พระองค์ยังเป็นแค่วังหน้า ซึ่งวังหน้าแปลว่าอะไรหลิ่มหลีก็ไม่รู้ น่าจะแปลว่า เวลามีปัญหามีการรบ วังหน้าออกรบก่อนแน่ๆ ส่วนคุณฉัตรชัยที่เล่นเป็นพ่อ ไม่เห็นทำอะไรเลย สงสัยว่าเพราะแก่แล้ว เลยอยู่เฉยๆ ได้แต่บอกลูกน้องเก่าว่า ถ้าไปรบ แพ้ไม่ได้ ... จะมีก็ตักเตือนลูกหน่อยว่าให้เห็นแค่คนแก่คนเฒ่าที่เคยเลี้ยงดูอุ้มชูกันมา แต่ดูเหมือนลูก ซึ่งก็คือพระนเรศ จะไม่ฟังพ่อ เถียงไม่ตกฟาก แต่กลับเชื่อเมีย เมียว่าอะไรก็ว่าตาม ดูพระนเรศวรมาหลายตอน หลิ่มหลีคิดทะลึ่งในใจที่น่าจะพอให้อภัยกันได้ ก็ตรงที่ เรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องของมหาเถรคันฉ่องซะมากกว่า เพราะถ้าไม่ได้พระมอญรูปนี้ พระนเรศวรไม่รอดมาถึงทุกวันนี้ได้แน่ๆ สิ้นพระชนม์ไปเสียแต่เด็กแล้ว ไหนจะเพราะมหาเถรทำให้หนีไปจากหงสาวดีได้ ไหนจะมีนิมิตที่แม่นยำยิ่งนัก ทักท้วงเรื่องโน้นนี้ให้ได้รอดศึกได้ ไหนจะมียารักษาพระนเรศวรให้รอดตายได้ แถมที่หลิ่มหลีรู้ว่า มหาเถรคันฉ่องนี่เป็นพระอาจารย์ของบุเรงนอง แต่ไม่ยักแก่ ดูเหมือนในภาค ๔ จะหน้าตึงขึ้นกว่าภาคก่อนหน้า ในขณะที่วัยรุ่นคนอื่นแก่ลงอย่างเห็นได้ชัด คือหลิ่มหลีว่า หลิ่มหลีติดตามเรื่องนเรศวรมาตั้งแต่ยังสาวที่พอจะหาทางมีสามีได้จนมาเป็นสาวแก่ที่หาสามีไม่ได้แน่แล้ว รวมๆกันก็จะสิบปีอยู่แล้ว แน่นอนหลิ่มหลีว่าเป็นการถ่ายทำที่ยาวนานมาก เวลาแต่ละฉากที่จะมีคนตาย ดูเหมือนทำหน้าไม่ได้เสียใจที่จะตาย (ดีใจที่ไม่ต้องเล่นต่อหรือยังไงจ๊ะ) ไอ้ที่รอดนี่ทำหน้าเสียใจที่รอด ไม่รู้เพราะถ่ายทำนานจนแก่จนศัลยกรรมจะเอาไม่อยู่หรือเปล่า แต่มองในแง่สุขภาวะ หลิ่มหลีว่ามันดีมากๆเลย เพราะการถ่ายทำที่เริ่มตั้งแต่นักแสดงทุกคนยังวัยรุ่นจนสูงวัยกันขนาดนี้ก็เหมือนเรื่องแฮรี่ พอตเตอร์ที่ เล่นตั้งแต่เด็กยันโต ดังนั้นหลิ่มหลีว่านักแสดงทุกคนคงดีใจ (หึหึ) ที่จะมีงานทำต่อไปจนแก่แน่ๆ ว่าแต่ได้ค่าตัวหรือยัง เด๋วโดนแฉในพันทิพเหมือนงวดก่อนอีกนา ... หนังเรื่องนี้สนุกมากค่ะ และยาวนานมาก ยาวนานทั้งระยะเวลาในภาค และจำนวนภาคที่ไม่มีที่ยุติแน่นอนว่าจะเป็นไปถึงไหน หลิ่มหลีแนะนำให้พกหมอนหนุนคอไปด้วยค่ะ มีบางฉากที่หลิ่มหลีอินไปกันหนังชนิดที่กัดฟันกรอดๆ มือไม้จิกเข่าไว้แน่นด้วยความอิจฉา ก็คงจะเป็นฉากเลิฟซีนระหว่างพี่ทิ้งกับเลอขิ่น ซึ่งหลิ่มหลีรับไม่ได้ สาบแช่งเลอขิ่นให้ตายตั้งแต่ภาค ๒ จน ภาค ๔ เลอขิ่นก็ยังไม่ตาย แถมมีเลิฟซีนที่หลิ่มหลีแน่ใจว่า พกพาเด็กวัยรุ่นไปดูแล้ว เสียผู้เสียคนแน่ๆ แต่เรื่องนี้ได้ เรต “ส” ที่แปลว่า สงสารคนดู เอ้ยไม่ใช่ ส่งเสริมให้ดูนะคะ ถ้ายังไงก็ไปอุดหนุนกันหน่อย หนังเรื่องนี้บอกอะไรหลายอย่างให้หลิ่มหลีได้เห็น เช่น ผู้นำต้องมีลูกน้องที่เก่งจริงๆ ผู้นำไม่ต้องเก่งก็ได้ แค่มีความเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนก็พอ อีกอย่างหนังเรื่องนี้หลิ่มหลียังไม่เห็นการแสดงออกของพระอัจฉริยภาพขององค์มหาราชอะไรเลย ไอ่ทิ้งเก่งกว่าอีก แม่ทัพก็เก่ง ส่วนเหนือหัวบ้าบิ่นอย่างเดียว ทำการสิ่งใดไม่ได้คิดถึงคนโดยรวมเลย ซึ่ง..หลิ่มหลีว่ามันไม่ถูก ดูสิ เดือดร้อนกันไปหมด แต่ก็ได้อรรถรสของหนังดีค่ะ คนอะไรจะเก่งไปซะหมดก็ไม่ได้ มันต้องมีพลาดมีพลั้งกันบ้าง บอกให้รู้ถึงความละเอียดอ่อนของผู้สร้างที่อยากให้เห็นว่าองค์มหาราชก็แค่คนไม่ใช่เทพเทวดา ที่บ้าบิ่นได้ โง่ได้ คิดสั้นๆได้ มันต้องมีสักคนสิที่เตือนเราได้ ฮั่นแน่...ก็มณีจันทร์เมียรักนั่นไง ฉากการรบ หลิ่มหลีไม่เข้าใจ ว่าผู้สร้างเห็นพม่าดีกว่าเราได้ยังไงกัน หลิ่มหลีละคับแค้นใจ หนังเรื่องนี้ตั้งใจจะให้เรารักชาติและองค์มหาราช แต่เวลาเปิดตัวแม่ทัพฝ่ายพม่า ซึ่งก็เป็นคนแก่ที่หลิ่มหลีก็ไม่ได้รู้จัก เท่ก็ไม่เท่ อะไรก็ไม่รู้ แต่แหม๋ เปิดตัวมาที เท่ระเบิด ส่วนฝ่ายสยามประเทศ ทำไมมันยืนรอเขาออกจากประตูกำแพงได้ไร้ทิศไร้ทาง ไร้มาดไร้การจัดทัพให้เป็นระเบียบได้ตรงข้ามกับพม่าขนาดนี้ เห็นแล้วก็ งง ว่า แน่ใจนะว่าไอ้อดีตที่ผ่านมานั้น เรารบพม่าชนะเนี่ย ไม่ใช่เพราะรบอู้ไปเรื่อยแล้วรอน้ำหลากน้ำท่วมจากตอนเหนืออย่างเดียว (ว่าแต่สมัยก่อนมีเขื่อนทางเหนือไหมคะ ที่เวลาจะให้ตอนใต้น้ำท่วม ก็ปล่อยน้ำจากเขื่อนมาฆ่าล้างศัตรูของแผ่นดินได้หง่ะค่ะ หลิ่มหลีก็ไม่รู้ว่าไอ้เขื่อนนี่เขาสร้างกันไว้แต่ชาติปางไหน) (แล้วสมัยก่อนมันมีคำว่า สยามประเทศแล้วหรอคะ หลิ่มหลีงง ไม่ใช่กรุงโยนี เอ้ย โยเดียรบกับกรุงหงสาวดีหรอคะ เป็นพม่ากับสยามหรอคะ อันนี้หลิ่มหลีก็ไม่รู้อีกเหมือนกัน เรียนมาน้อย คืนแผ่นดินไปเยอะ) มีหลายฉากที่หลิ่มหลีต้องเอาผ้าพันคอ (โรงหนังหนาวค่ะ) มาซับน้ำตา หลิ่มหลีไม่เล่าหรอกว่าฉากไหน เด๋วจะเท่ากับเป็นการสปอยหนัง ให้กับคนที่ยังอยากดูมาก (เสียงจากข้างหลังตะโกนถามหลิ่มหลีว่า “ยังมีคนอยากดูอีกหรอ” หลิ่มหลีด่ากลับไปแล้วค่ะ “ไอ่พวกไม่รักชาติ” หุหุ) หลิ่มหลีแน่ใจว่าหนังเรื่องนี้ น่าจะชื่อว่า ศึกนันทบุเรง ๑ เนื่องจากเรื่องนี้จบลงเพียงแค่ พระนเรศ เอาชนะแม่ทัพคนหนึ่งขององค์นันทบุเรงได้ โดยที่นันทบุเรงนำศึกมา แต่ยังไม่ได้ทรงออกรบเองเลย ฝ่าพระบาทยังไม่ได้เหยียบโยเดียนครเลย แล้วยังมีแม่ทัพเหลืออีกหลายนายที่ต้องมาออกรบก่อนเจ้านาย ท่าทางว่า เฉพาะตอนศึกนันทบุเรง ก็น่าจะมี ซับเซตของภาคอีกประมาณ ๖ ภาคด้วยกันได้ นับๆดูก็น่าจะประมาณนี้ ภาค ๑ ตัวประกันหงสา แล้วก็ค่อยมีภาคต่อๆไปอีกค่ะ เพื่อความสมบูรณ์แห่งภาพยนตร์มหากาพย์แห่งสยามประเทศอันเป็นการเฉลิมศรีใหักับอดีตบูรพมหาราชของสยามชน (อีข้างหลังตะโกนมาว่า พี่หลิ่มหลีจะให้เขาทำหนังภาคเยอะๆแข่งกะบ้านผีปอบหรอว่ะ) อีบ้า... บ้านผีปอบนั่นนะ มหากาพย์หนังไพร่นะมึง เอาสองเรื่องนี้มาเทียบกันได้อย่างไร บ้านผีปอบเสียหายหมด หึหึ ปล.. หนังเรื่องนี้ นมตู้มๆของน้องๆนักแสดงตัวประกอบ ขโมยซีนนักแสดงนำแต่ละท่านได้ดีมากในระดับที่หลิ่มหลียกนิ้วให้ค่ะ ยกเว้น น้องแอ๊ฟกับน้องทราย .. ช่วยไปตบนมหน่อยนะคะ ขอบคุณค่ะ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ฮอร์ นัมฮงเชิญรมต. ต่างประเทศของไทยเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ Posted: 11 Aug 2011 11:50 AM PDT เว็บไซต์พนมเปญโพสต์ รายงานเมื่อเวลา 15.01 น. วันที่ 11 สิงหาคม ระบุโอกาสแห่งการรื้อฟื้นสัมพันธ์และการทูตระหว่างไทยกับกัมพูชาเปิดกว้างขึ้นอีกครั้งหลังจากที่รัฐบาลกัมพูชาส่งจดหมายเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทซของไทยที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเยือนประเทศกัมพูชาอย่างเป็นทางการ โดยพนมเปญโพสต์ระบุว่า เจตจำนงแห่งการร่วมมือกันของสองประเทศนั้นงอกงามขึ้นเมื่อน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้นำของพรรคเพื่อไทยได้รับการเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี และวานนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชา ฮอร์ นัมฮง ได้ส่งจดหมายเชิญรัฐบาลไทยในการเยือนประเทศกัมพูชาอย่างเป็นทางการ ข้อความตอนหนึ่งของจดหมายเชิญที่ ฮอร์ นัมฮง เขียนถึงส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยคนใหม่ นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล ระบุว่า “เพื่อเป็นการเริ่มต้นที่ดีของการร่วมมือระหว่างกัน ผมจะยินดียิ่งหากหากท่านรับคำเชิญมาเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการในอนาคตอันใกล้นี้ตามวันที่ท่านสะดวก” จดหมายดังกล่าวระบุด้วยว่า ฮอร์ นัมฮง คาดหวังว่าไทยและกัมพูชาจะรื้อฟื้นความสัมพันธ์ฉันมิตรและฟื้นความร่วมมือที่จะก่อประโยชน์แก่ทั้งสองรัฐบาล “ผมเชื่อมั่นอย่างเต็มที่ในความพยายามระหว่างผมและ ฯพณฯ ว่าจะสามารถเติมเต็มซึ่งความมุ่งมาดปรารถนาแก่ประชาชนในประเทศของเราทั้งสองในอันที่จะอยู่ร่วมกันอย่างปรองดองกลมกลืนและแบ่งปันความรุ่งเรืองแก่กันและกัน” หนึ่งวันก่อนหน้านี้ เว็บไซต์บางกอกโพสต์รายงานว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทย พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภาออกมาคาดการณ์ถึงการพบปะกันระหว่างนายกรัฐมนตรีสองประเทศ โดยระบุว่าการพบปะกันดังกล่าวตะเป็นการปูทางไปสู่การเริ่มประชุมของ คณะกรรมการการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา หรือ GBCอีกครั้ง โดย พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาชายแดนนั้นเป็นความสำคัญอันดับต้นๆ โดยอาจจะมีการเดินทางไปยังบริเวณชายแดน จ.ศรีษะเกส และหวังด้วยว่าจะได้พบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของกัมพูชาเพื่อขอไฟเขียวให้กับการเข้ามาทำหน้าที่ของคณะกรรมการชายแดนทั่วไป ไทย-กัมพูชา ในประเด็นดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของกัมพูชา พล.อ. เตีย บันห์ กล่าวว่ายังคงเป็นเรื่องที่เร็วเกินไปที่จะพูดถึงการไฟเขียวให้กับการแก้ปัญหาเส้นเขตแดน อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่าจะส่งจะหมายแสดงความยินดีต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทยเช่นกัน สำหรับท่าทีของนายกรัฐมนตรีกัมพูชานั้น ผู้จัดการออนไลน์รายงานระบุ ฮุนเซนกล่าวปาฐกถาในการประสาทปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยทรัพยากรมนุษย์ ในกรุงพนมเปญ ว่า “วันนี้เป็นโอกาสอันดี ผมขอประกาศเกี่ยวกับยุคใหม่แห่งความร่วมมือระหว่างรัฐบาลราชอาณาจักรกัมพูชา กับรัฐบาลราชอาณาจักรไทย ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย” ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีของกัมพูชาเปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปกัมพูชา-ไทย และ คณะกรรมาธิการชายแดนร่วมของสองฝ่ายกำลังจะดำเนินต่อไปเมื่อรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ของไทยไปเยือนกัมพูชา ซึ่งคราวนี้จะไม่ต้องมีอินโดนีเซียเข้าร่วมด้วย ฮุนเซน กล่าว อย่างไรก็ตาม สำหรับพื้นที่ 17 ตร.กม.เขตปลอดทหารชั่วคราวตามแนวชายแดนสองประเทศนั้น ยังจำเป็นจะต้องมี คณะสังเกตการณ์อินโดนีเซียเข้าประจำ เนื่องจากเป็นวาระของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และเป็นคำสั่งของศาลระหว่างประเทศ และของอาเซียนเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมมั่นต่อกัน และสันติภาพตามแนวชายแดนให้กลับไปสู่สภาพก่อนวันที่ 15 ก.ค.2551 การเจรจาในทุกระดับจะต้องดำเนินต่อไป ทั้งนี้ ฮุนเซนกล่าวด้วยว่าความตึงเครียดที่ชายแดนกัมพูชา-ไทย ได้ลดลงนับตั้งแต่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งแบบท่วมท้นในเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา “ผมคิดว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตเป็นเพียงฝันร้ายในความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชา และไทย และจากนี้เป็นต้นไปความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะดีขึ้น” สำนักข่าวเอเอฟพีอ้างคำพูดของฮุนเซนในวันเดียวกัน ผู้นำกัมพูชา กล่าวอีกด้วยว่า จะมองหาทุกวิถีทางที่จะปรับปรุงสถานการณ์พรมแดนและตนเองไม่คิดว่าความขัดแย้งจะเป็นประเด็นความวิตกกังวลในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนอีกต่อไป โดยกัมพูชากำลังจะเข้ารับหน้าที่เป็นประธานกลุ่มอาเซียนต่อจากอินโดนีเซียในปีหน้านี้.
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
คอป. เสนอ 8 ข้อ แนะตั้งศูนย์เฉพาะกิจเยียวยาผู้รับผลกระทบจากการชุมนุม Posted: 11 Aug 2011 08:57 AM PDT 11 ส.ค.54 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดอง (คอป.) จัดเวทีเสวนา เรื่อง “การเยียวยาและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความนรุนแรงตามหลักสากล” เพื่อรับฟังความเห็นจากภาคนักวิชาการ นักกฎหมาย รวมถึงผู้แทนองค์กรของต่างประเทศ ก่อนนำไปจัดทำรายงาน คอป.ฉบับที่ 2 นำเสนอต่อรัฐบาลต่อไป นพ.รณชัย คงสกนธ์ ประธานอนุกรรมการการเยียวยา ฟื้นฟู และป้องกันความรุนแรง กล่าวถึงผลการดำเนินงานและทิศทางของ คอป.ว่า ทางคณะทำงานได้ลงสำรวจตามหลักการเยียวยาสากล สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองช่วงที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าประชาชนกลุ่มดังกล่าวนั้นยังประสบปัญหาด้านต่างๆ อยู่ แม้ว่าการชุมนุมจะผ่านมานานพอสมควร จากผลสำรวจที่ได้เผยแพร่ที่พบผู้ที่เสียชีวิตจำนวน 92 รายจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.53 นอกจากนั้นแล้วในกลุ่มของผู้ปฏิบัติการ เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหาร พบว่าส่วนใหญ่มีปัญหาทางด้านจิตใจ คือ มีความเครียด ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจ พบว่าบางคนยังฝันถึงภาพในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมือง กลุ่มผู้ค้า ผู้ประกอบการในพื้นที่การชุมนุม ที่เข้ามาขอรับการเยียวยาจากศูนย์ประสานงานเยียวยาฯ ของ คอป.พบว่า มีทั้งหมด 643 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการชดเชย เช่น โรงเรียนในพื้นที่การชุมนุม เช่น โรงเรียนปลูกจิต โรงเรียนวัดปทุมวนาราม โรงเรียนวัดชัยมงคล และโรงเรียนลุมพินี ที่พบว่ามีค่าใช้จ่ายเป็นค่าไฟ และค่าน้ำประปา รวมเป็นเงินกว่า 300,000 บาท ขณะนี้ยังไม่ได้ชำระ และหน่วยงานของรัฐยังไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือ สำหรับผู้ที่ร่วมชุมนุมและเกี่ยวข้องที่ถูกคุมขังจำนวน 105 คนนั้น จากการเข้าไปสำรวจล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ก.ค.54 พบว่า ร้อยละ 10 มีอาการเครียดสูงมาก ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมี 2 คนที่มีแนวโน้มจะฆ่าตัวตาย 2.รัฐบาลต้องเร่งรัดตั้งองค์กรเฉพาะกิจ เป็นศูนย์กลางด้านงบประมาณพื่อเยียวยาเหยื่อ ให้ต่อเนื่องเป็นระบบ เพราะจากการสำรวจพบว่าครอบครัวผู้ที่ถูกคุมขัง ต้องไปกู้เงินนอกระบบจำนวนมากเพื่อนำมาประกันตัว 4.รัฐบาลควรขยายขอบเขตการเยียวยา ฟื้นฟู ไปในทางด้านสังคม เช่น แหล่งที่อยู่, แหล่งการค้า และอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม 5.ต้องจัดทำข้อเท็จจริง เผยแพร่ไปยังผู้ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้เกิดทัศนคติที่ดี ให้อภัย เกิดความเห็นใจ รวมถึงจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงเหตุการณให้กับทุกฝ่าย 6.เร่งช่วยเหลือผู้ที่ถูกคุมขัง ตามแนวทางของกฎหมาย เพราะบางรายมีภาวะของความเครียด ซึมเศร้า และมีแนวโน้มฆ่าตัวตาย 7.รัฐบาลต้องเร่งรัดการประกันสิทธิ์ ผู้ที่ถูกคุมขัง รวมถึงตรวจสอบ จำแนกโทษที่แท้จริง และ 8. ควรประสานความร่วมมือไปยังองค์กร หน่วยงานและทุกภาคส่วน และร่วมกับบูรณาการการทำงานภายใต้องค์กรกลางที่ดูแลข้อพิพาททางการเมือง ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต เพี่อให้การทำงานเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้ได้ประสานการทำงานไปรัฐบาลชุดใหม่แล้วหรือไม่ ประธาน คอป. กล่าวว่าไม่มีความจำเป็น เพราะ คอป.ได้ทำงานเพื่อประชาชน แต่ยอมรับว่ามีส่วนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลคือ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ระบุให้ คอป.ต้องรายงานผลดำเนินการทุกๆ 6 เดือน ซึ่งขณะนี้ทางคณะทำงานเร่งทำรายงานฉบับที่ 2 นำเสนอไปยังรัฐบาล โดนตนให้ความมั่นใจว่าจะรวดเร็ว นอกจากนั้นแล้วในรายงานฉบับที่ 2 จะมีข้อเสนอที่ให้รัฐบาลนำไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเป็นรูปธรรม สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เกิดเหตุจลาจลในเรือน จ. จำนราธิวาส (อัพเดท) Posted: 11 Aug 2011 01:33 AM PDT นักโทษเรือนจำนราธิวาสกว่า 1,000 คนก่อจลาจลหลังเจ้าหน้าที่เข้าค้นยาเสพติด ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสแถลงข่าวไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต หากคุมสถานการณ์ได้แล้วจะส่งแกนนำกลุ่มไปควบคุมเรือนจำสงขลา กรณีผู้ต้องขังชายในเรือนจำ จ.นราธิวาสก่อความวุ่นวายเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา สำนักข่าวไทย รายงานว่าเมื่อช่วงบ่าย นายธนน เวชกรกานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส พร้อมนายอุดม คุ่ยนรา ผู้บัญชาการเรือนจำกลางสงขลา ในฐานะประธานเรือนจำเขต 9 และ พ.ต.อ.นันทเดช ย้อยนวล รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส ร่วมแถลงข่าวว่า เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นขณะที่ผู้บัญชาการเรือนจำกลางสงขลานำกำลังเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง จำนวน 100 นาย เข้าตรวจค้นเพื่อกวาดล้างยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายภายในเรือนนอนของผู้ต้องขัง ปรากฏว่าผู้ต้องขังเกิดไม่พอใจ ลุกฮือเข้าทำร้าย อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ได้ขอสนับสนุนชุดหน่วยรบพิเศษจากค่ายจุฬาภรณ์มาช่วยควบคุมสถานการณ์ และหากควบคุมได้แล้วจะส่งแกนนำกลุ่มไปควบคุมที่เรือนจำสงขลา เบื้องต้นยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ ขอยืนยันว่าการเข้าระงับเหตุไม่มีการทำร้ายผู้ต้องขัง ด้าน พ.ต.อ.นันทเดช กล่าวว่า หลังรับแจ้งเหตุได้ระดมกำลังตำรวจ ทหาร กว่า 300 นาย เข้าควบคุมสถานการณ์รอบบริเวณเรือนจำ และกำลังอีกส่วนหนึ่งขึ้นรถกระเช้าสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวของภายใน พบว่าผู้ต้องขังใช้แท่นเหล็กและไม้ทุบกำแพงเรือนนอน 1 และเรือนนอน 2 ได้รับความเสียหาย เจ้าหน้าที่ชุดที่อยู่ใกล้เหตุการณ์จำเป็นต้องใช้ปืนยางยิงข่มขู่ เพื่อไม่ให้ผู้ต้องขังหยุดกระทำการดังกล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ของกลางที่ยึดได้ภายในเรือนจำที่นำร่วมแถลงต่อสื่อมวลชนประกอบด้วย ยาบ้า 346 เม็ด ยาอัลฟาโซแรม 45 เม็ด โทรศัพท์มือถือ 91 เครื่อง พร้อมที่ชาร์จ และหูฟัง นาฬิกาข้อมือ 4 เรือน เหล็กแหลม กรรไกร มีดคัตเตอร์ กรรไกรขาเดียว และช้อนซ้อมที่ดัดแปลงเป็นมีดจำนวนมาก สมุดโทรศัพท์ บัญชีค้ายา บัญชีธนาคาร อุปกรณ์การเสพยาบ้าและกัญชา และอื่น ๆ สำหรับเรือนจำนราธิวาสมีผู้ต้องขังประมาณ 800 คน ก่อนหน้านี้เคยเกิดเหตุวุ่นวายมาแล้วเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่บาดเจ็บกว่า 20 นาย ////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////// เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่า เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 11 ส.ค.เจ้าหน้าที่เรือนจำจ.นราธิวาส สนธิกำลังเจ้าหน้าที่จาก เขต 9 กว่า 70 นาย เข้าจู่โจมตรวจค้นยาเสพติดนักโทษชาย ภายในเรือนจำจังหวัดนราธิวาส โดยกระจายกำลังกันค้นล็อกเกอร์ อาคารเรือนนอนชาย พบโทรศัพท์มือถือกว่า 100 เครื่อง ซุกซ่อนอยู่ในเรือนนอน และอาวุธประเภท เหล็กแหลม และยาเสพติดจำนวนมาก ทำให้นักโทษภายในเรือนจำ กว่า 1,000 คน ไม่พอใจ และตะโกนโห่ร้องขับไล่เจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ยังได้ปาสิ่งของใส่ จนเกิดการจลาจลกันขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่ ได้รับบาดเจ็บและยังติดอยู่ภายในเรือนนอน ทำให้ นายสุพจน์ สุวรรณทิพย์ ผู้บัญชาการเรือนจำ จ.นราธิวาส ได้ประสานขอกำลังเสริมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง กว่า 300 นาย เข้าช่วยเหลือ พร้อมทั้งขอเจรจากับนักโทษ แต่นักโทษไม่ยอมฟัง โดยได้รวมตัวกันทุบฝาผนังกำแพงเรือนนอนชายที่ 1 ได้สำเร็จเจ้าหน้าที่ จึงได้ยิงแก๊สน้ำตาเข้าระงับเหตุ นายสุพจน์ สุวรรณทิพย์ ผู้บัญชาการเรือนจำกลาง จ.นราธิราช กล่าวว่า ได้ประสานขอกำลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง เข้าล้อมรอบกำแพงเรือนจำ เพื่อควบคุมสถานการณ์ โดยภายในเรือนจำ ผู้ต้องขังพยายามใช้ฆ้อนทุบอาคารเรือนนอนที่ 1 จนพังเสียหาย ซึ่งอาคารเรือนนอนที่ 1 มีความสูง 1.30 เมตร พังเสียหาย จากนั้นผู้ต้องขังพยายามที่จะกรูกันออกมา เจ้าหน้าที่จึงใช้แก๊สน้ำตาสกัด ทำให้ผู้ต้องขังวิ่งหลบหนีเข้าไปซ้อนตัวในอาคาร รวมทั้งรถกระเช้าเพื่อนำเจ้าหน้าที่พร้อมปืนยิงกระสุนยางเข้าสลายการจลาจลภายในเรือนจำขณะนี้ นายชาติชาย สุทธิกลม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยกรณีที่มีนักโทษกว่าพันคน ได้ก่อเหตุจลาจลขึ้นที่เรือนจำกลางจังหวัดนราธิวาส ในวันนี้นั้น ได้สั่งการกับทางเรือนจำมาตลอด และยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ของเรือนจำ และกำลังตำรวจที่ส่งไปตรวจค้นยาเสพติดตามนโยบาย สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้แล้ว ทราบเพียงว่า มีความไม่พอใจเกิดขึ้นจริง และโห่ไล่เจ้าหน้าที่ แต่ยังไม่รับรายงานว่า มีการทำลายข้าวของ หรือ ทุบกำแพงเรือนนอน และจับเจ้าหน้าที่เป็นตัวประกันแต่อย่างใด ซึ่งหากมีความคืบหน้าจะรายงานให้ทราบต่อไป ด้าน พ.ต.อ.นันทเดช ย้อยนวล รองผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.นราธิวาส กล่าวว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้จัดเตรียมกำลังเตรียมพร้อม ไว้ที่หน้าเรือนจำ ซึ่งเบื้องต้น ยังไม่เข้าปฏิบัติการใดๆ เนื่องจากจะทำหน้าที่เป็นกำลังเสริม ในกรณีที่ทางเรือนจำร้องขอ ส่วนขณะนี้ เท่าที่ได้รับรายงานนั้น สถานการณ์อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์แล้ว โดยสามารถคุมให้นักโทษอยู่ในพื้นที่จำกัดได้ ส่วนเจ้าหน้าที่ ที่อาจถูกกักขัง หรือติดอยู่ภายในนั้น ยังไม่มีรายงานดังกล่าว นอกจากนี้ทางเรือนจำจังหวัดนราธิวาสไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปโดยรอบแต่อย่างใด พร้อมทั้งนำป้ายประกาศติดงดเยี่ยมตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 14 ส.ค.นี้
ที่มา: เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ และ สำนักข่าวไทย สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
นายกฯอังกฤษเผยเตรียมฉีดน้ำสงบจลาจล Posted: 11 Aug 2011 01:00 AM PDT นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน (David Cameron) จากพรรคอนุรักษ์นิยม (Conservatives) เตรียมเผยมาตรการจัดการกับผู้ก่อความสงบที่เข้าปล้นร้านค้า เผาทำลายทรัพย์สิน ทำร้ายร่างกายประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแต่คืนวันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม หลังจากกระทรวงมหาดไทย (Home Office) ของอังกฤษแถลงเมื่อวันจันทร์ที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา ว่าจะไม่มีการฉีดน้ำเพื่อยุติการจลาจล ล่าสุดนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน (David Cameron) จากพรรคอนุรักษ์นิยม (Conservatives) เตรียมเผยมาตรการจัดการกับผู้ก่อความสงบที่เข้าปล้นร้านค้า เผาทำลายทรัพย์สิน ทำร้ายร่างกายประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแต่คืนวันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม การประชุมสภาวาระฉุกเฉินมีกำหนดในช่วงเช้าของวันพฤหัสบีดีที่ 11 สิงหาคม นายเดวิด คาเมรอนเตรียมนั่งประธานคณะกรรมการฉุกเฉินเร่งหารือและแถลงมาตรการฟื้นฟูความสงบเรียบร้อย รวมไปถึงการจ่ายค่าชดเชยให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากจลาจล เหตุจลาจลทวีความรุนแรงขึ้นและลามจากกรุงลอนดอนไปยังเมืองใหญ่หลายแห่ง โดยเฉพาะในเมืองเบอร์มิงแฮม (Birmingham) ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวน 3 รายจากการพยายามปกป้องทรัพย์สินและถูกรถชนของกลุ่มผู้ก่อจลาจลพุ่งชน รายชื่อผู้เสียชีวิตได้แก่ นายฮารูน จาฮัน (Haroon Jahan) วัย 21 ปี นายชาห์ซัด อาลี (Shahzad Ali) วัย 30 ปีและนายอับดุล มุซาวีร์ (Abdul Musavir) วัย 31 ปี นายทาริค จาฮัน (Tariq Jahan) บิดาของนายฮารูนกล่าวว่านี่ไม่ใช่ประเด็นเรื่องเชื้อชาติเพราะเขาได้รับข้อความแสดงความเสียใจจากหลากหลายกลุ่มเชื้อชาติ เวลา 11.15 ของวันพุธที่ 10 สิงหาคมตามเวลาท้องถิ่น นายเดวิด คาเมรอนได้แถลงว่า จะไม่ปล่อยให้วัฒนธรรมแห่งความกลัวเกิดขึ้นบนท้องถนน (‘We will not allow a culture of fear to exist on our streets.’) พร้อมทั้งเตรียมใช้การฉีดน้ำยุติเหตุการณ์สงบ โดยจะมีการประกาศล่วงหน้า 24 ชั่วโมง ตำรวจนครบาล (Metropolitan Police) เผยว่าได้จับกุมผู้ก่อความไม่สงบในลอนดอนแล้วอย่างน้อย 800 ราย ในจำนวนนี้ 279 รายถูกตั้งข้อหาแล้ว มีรายงานว่าผู้ก่อจลาจลประกอบไปด้วยนักเรียนนักศึกษา ลูกของนักธุรกิจ และเด็กชายวัยเพียง 11 ปี ขณะที่ผู้นำคณะรัฐมนตรีสก๊อตแลนด์นายอเล็กซ์ ซาลมอน (Alex Salmond) ได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 250 นายลงมาช่วยรักษาความสงบเรียบร้อยในเขต Midlands และทางตอนเหนือของเขตการปกครองอังกฤษ (England) นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มประชาชนที่ไม่พอใจการก่อเหตุจลาจลลุกขึ้นมาจับด้ามไม้กวาดถูพื้นแสดงพลังต่อต้านการก่อความไม่สงบและทำความสะอาดพื้นที่ในบริเวณแคลปเพิม จังชั่น (Clapham Junction) และแฮคนีย์ (Hackney) กิจกรรมดังกล่าวถูกจัดขึ้นโดยแดน ทอมป์สัน (Dan Thompson) และโซฟี คอลลาร์ด (Sophie Collard) ผ่านทางทวิตเตอร์ ในชื่อว่า #riotcleanup สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ภาคประชาสังคมไทย เตรียมนำเสนอสถานการณ์สิทธิในประเทศต่อ ‘ยูเอ็น’ Posted: 10 Aug 2011 09:40 PM PDT เครือข่ายภาคประชาสังคม เปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่รัฐบาลไทยต้องนำเสนอต่อสหประชาชาติ พร้อมเรียกร้องให้รบ. เปิดเผยข้อเท็จจริงกรณีการสลายการชุมนุม ’53 พร้อมคืนความยุติธรรมให้ผู้สูญเสีย ด้านนักวิชาการเสนอรบ.ไทยปฏิรูปกฎหมายหมิ่นฯ เพื่อเสรีภาพในการแสดงออก ในวันที่ 5 ตุลาคมที่จะถึงนี้ จะถึงคราวประเทศไทยรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายในประเทศ ต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ผ่านกระบวนการ Universal Periodic Review (UPR) หรือการรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนสากล ซึ่งจะเกิดขึ้นในทุกๆ สี่ปี กระบวนการดังกล่าว มีจุดประสงค์เพื่อตรวจสอบสถานการณ์สิทธิฯ ในประเทศต่างๆ ผ่าน “กระบวนการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์” (Constructive Dialogue) ซึ่งต่างจากการใช้อำนาจบังคับ หรือประณามในที่ประชุมดังเช่นในคณะมนตรีความความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ โดยกระบวนการดังกล่าว จะเป็นไปเพื่อสร้างบทสนทนากับรัฐบาลร่วมกับหลายภาคส่วน และใช้อำนาจจูงใจเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในแต่ละประเทศแทน ศาสตราจารย์วิฑิต มันตาภรณ์ ในฐานะผู้แทนพิเศษแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวถึงกระบวนการยูพีอาร์ว่า นี่เป็นครั้งแรกของกระบวนการทางด้านสิทธิมนุษยชน ที่จะมีการเปิดเผยข้อมูลทั้งสามฝ่าย คือจากทางรัฐบาล ภาคประชาสังคม- คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และจากทางสหประชาชาติ ซึ่งนับว่าเป็นข้อมูลที่มีความสมดุลมากพอสมควร และเป็นกระบวนการเดียวในสหประชาชาติที่มีลักษณะเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม การประเมินดังกล่าวถือว่าเป็นการประเมินแบบมิตรภาพ และทางสภาฯ ไม่มีอำนาจสั่งการฟ้องร้องได้ การนำเสนอสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยต่อสหประชาชาติในครั้งนี้ ถูกจัดทำขึ้นมาเป็นรายงานขนาด 20 หน้า โดยประกอบไปด้วยรายงานของรัฐบาล ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงการต่างประเทศ ส่วนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ-ภาคประชาสังคม และส่วนของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยรายงานฉบับดังกล่าว นำเสนอสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายในประเทศในด้านต่างๆ เช่น เสรีภาพในการแสดงออก สถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระบวนการยุติธรรม และกลไกสิทธิมนุษยชนภายในประเทศ เป็นต้น เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา มูลนิธิศักยภาพชุมชน ในฐานะเลขาธิการการจัดทำรายงาน จึงได้จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประเทศไทย ซึ่งจัดทำขึ้นโดยเครือข่ายภาคประชาสังคมและมูลนิธิศักยภาพชุมชน ณ โรงแรมสยามซิตี้ พร้อมทั้งมีนักวิชาการ และตัวแทนจากองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ ร่วมแถลงข้อเสนอแนะทางด้านสิทธิมนุษยชนต่อรัฐบาลใหม่ ในหลายๆ ข้อเสนอแนะนี้ รวมถึง การให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงในกรณีการสลายการชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 พร้อมคืนความยุติธรรมให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ การปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และการให้รัฐบาลลงนามในอนุสัญญาป้องกันการบังคับคนให้สูญหาย และทำให้การบังคับคนสูญหายเป็นอาชญากรรม องค์กรสิทธิย้ำ ต้องคืนความเป็นธรรม กรณีการสลายการชุมนุม ‘53 “ทางศปช. มีเรียกร้องไปยังรัฐและยูเอ็นผ่านกลไกยูพีอาร์ คือ ให้รัฐบาลเปิดเผยข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม และถึงแม้มีการพูดคุยกันว่า จะมีปฏิรูปคอป. แต่การหาข้อเท็จจริง และคืนความยุติธรรมนั้นไม่สามารถประนีประนอมได้ นอกจากนี้รัฐบาลต้องให้ค่าชดเชยที่เป็นธรรมแก่ผู้เสียชีวิตและครอบครัว ให้สิทธิในการประกันตัวกับผู้ต้องขัง ทั้งในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ เนื่องจากในหลายกรณีมีการตั้งประกันสูงเกินไป ทำให้ไม่สามารถประกันตัวได้ และต้องไม่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ใคร เพราะเป็นการส่งเสริม Impunity (การงดเว้นโทษ) และทำให้คนทำผิดลอยนวล” ขวัญระวีกล่าว นอกจากนี้ เธอเสริมด้วยว่า รัฐบาลต้องยินยอมให้ผู้ตรวจการณ์พิเศษแห่งสหประชาติ (UN Special Rapporteur) ในด้านต่างๆ เข้ามาทำการตรวจสอบในประเทศไทย ทั้งนี้ ผู้ตรวจการพิเศษทางด้านการต่อต้านการก่อการร้าย และการสังหารนอกกฎหมาย ได้ร้องขอรัฐบาลไทยเพื่อเข้ามาตรวจสอบสถานการณ์ภายในประเทศแล้ว แต่เอกสารทบทวนสถานการณ์สิทธิฯ ของสหประชาชาติระบุว่า จนปัจจุบันยังไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลไทยแต่อย่างใด ต่อประเด็นดังกล่าว ทางรัฐบาลไทยได้ชี้แจงในรายงานว่า “ขณะนี้ การสอบสวนกรณีความรุนแรงเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ.2553 กำลังดำเนินอยู่เพื่อตัวนำผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี โดยกระบวนการดังกล่าวจะดำเนินไปตามกฎหมาย ในขณะที่ผู้ได้รับผลกระทบจากการประท้วงดังกล่าวได้รับการเยียวยาแล้ว” ในขณะที่รายงานของกสม. แสดงความกังวลเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่มีการปฏิบัติต่ำกว่ามาตรฐานต่อผู้ชุมนุมที่ถูกจับ โดยเฉพาะภายหลังเหตุการณ์การชุมนุม ที่มีการจับกุมด้วยข้อกล่าวหาที่ร้ายแรง และการไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องหา นักวิชาการเสนอ รัฐบาลไทยควรปฏิรูปกฎหมายหมิ่นฯ ด้านดร. เดวิด เสตร็กฟัสส์ นักวิชาการอิสระ ผู้เขียนหนังสื่อ Truth on Trial in Thailand: Defamation, Treason, and Lèse-Majesté ซึ่งเกี่ยวกับการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในสังคมไทย ชี้ว่า การใช้กฏหมายอาญามาตรา 112 เพิ่มสูงขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญ โดยในระหว่างปีพ.ศ. 2532-2548 มีการฟ้องคดีหมิ่นฯ โดยเฉลี่ยปีละ 5-6 คดี แต่หลังจากช่วงก่อนการรัฐประหารปี 2549 จำนวนคดีหมิ่นฯ ที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลมีจำนวน 33 คดี และในปี 2550, 2551 และ 2553 เพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 126, 77 และ 478 คดีตามลำดับ และจากสถิติพบว่า อัตราที่อัยการตัดสินว่าผิดจริง มีสูงถึง 94% เนื่องจากผู้ต้องหาส่วนใหญ่รับสารภาพ เพื่อหวังโทษที่ลดลงครึ่งหนึ่ง และขออภัยโทษในภายหลัง ทั้งนี้ เดวิด เสตร็กฟัสส์ อ้างถึงข้อเสนอแนะการปฏิรูปกฎหมายอาญามาตรา 112 ของกลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งเป็นกลุ่มอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ว่า ควรให้มีการลดโทษสูงสุดของกฎหมายดังกล่าว ซึ่งในขณะนี้อยู่ที่ 15 ปี และลดโทษขั้นต่ำสุดซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 3 ปี นอกจากนี้ ยังเสนอให้จำกัดผู้ฟ้อง เพื่อไม่ให้มีการนำกฎหมายนี้ไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยยกตัวอย่างประเทศนอร์เวย์ ที่การดำเนินคดีสามารถทำได้ต่อเมื่อได้รับการยินยอมจากพระมหากษัตริย์เท่านั้น หรือในประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่การดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับการยินยอมจากกระทรวงการยุติธรรม ซึ่งช่วยป้องกันการดำเนินคดีด้วยกฎหมายหมิ่นฯ อย่างไม่เลือกหน้า “ในกรณีประเทศไทย อาจจะให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ดำเนินคดีในฐานะผู้เสียหาย และเป็นผู้พิจารณาว่าจะมีการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้หรือไม่ เพียงแค่นี้ การใช้กฎหมายนี้ในทางละเมิดก็จะลดลง และช่วยปรับปรุงสถานะสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้เป็นอย่างมาก” เดวิดกล่าว ในขณะที่รายงานสถานการณ์สิทธิฯ ที่จัดทำโดยรัฐบาลไทย กล่าวถึงประเด็นเสรีภาพในการแสดงออกว่า “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกเป็นรากฐานของสังคมประชาธิปไตยของไทย ซึ่งได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญภายใต้มาตรา 45, 46, 47 ซึ่งประกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ และการโฆษณา” และระบุว่า “ประเทศไทยเป็นที่ตั้งของสำนักงานสื่อต่างประเทศ องค์กรภาคประชาสังคม และองค์กรเอกชนระหว่างประเทศหลายองค์กร ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงบรรยากาศที่เอื้อต่อการรายงานข่าว และการรับ-ส่งข้อมูลอย่างอิสระ นอกจากนี้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ยังสะท้อนให้เห็นผ่านการจัดตั้งสถานีวิทยุชุมชนและสถานีโทรทัศน์เคเบิลทั่วประเทศ ในขณะที่สื่อมวลชนมีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลได้อย่างเต็มที่” ทาง รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล อาจารย์สถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ เห็นว่า รายงานของรัฐบาลไทย ที่ระบุว่า “ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพและความหลากหลาย” เป็นเรื่องที่น่าขบขันและไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่นเดียวกับเดวิด เสตร็กฟัสส์ ที่มองว่า ข้อมูลของรัฐบาลไทยในรายงานสิทธิฯ ไม่ค่อยตรงกับความเป็นจริงมากนัก “รายงานสิทธิของรัฐบาลไทย ดูเหมือนว่าตามตัวอักษรแล้ว เหมือนจะมีกฎหมายต่างๆ ที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ในทางปฏิบัติแล้วอาจจะเป็นอีกแบบหนึ่ง หากเราดูองค์กรที่จัดลำดับเรื่องเสรีภาพสื่อในโลก เช่น Reporters without Borders จะเห็นว่า ในปี 2547 รัฐบาลไทยอยู่ที่ลำดับ 59 จากทั้งหมด 103 ประเทศ แต่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยจัดอยู่ในลำดับที่ 153 จากทั้งหมด 178 ประเทศซึ่งจัดเป็น 16% ที่มีเสรีภาพสื่อต่ำที่สุด” เดวิดตั้งข้อสังเกต ต่อประเด็นเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รายงานของรัฐบาลไทยชี้แจงว่า “ประเทศไทยพยายามดำเนินการเพื่อให้เกิดดุลยภาพในการปกป้องสถาบันซึ่งเป็นหนึ่งในเสาหลักที่ค้ำจุนความมั่นคงของประเทศ กับการคุ้มครองสิทธิในการแสดงออกของบุคคล” และระบุว่า ได้มีการตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษา โดยมีปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน เพื่อให้คำแนะนำแก่ตำรวจอัยการเกี่ยวกับการสั่งฟ้องคดีหมิ่นฯ และพรบ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยหวังว่าจะสามารถปรับปรุงการใช้กฎหมายและเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม นอกจากนี้ ยังระบุว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อยู่ในระหว่างการทบทวนกฎหมายดังกล่าว เพื่อจัดทำรายงานเสนอแนะต่อรัฐบาล การบังคับคนให้สูญหาย ต้องเป็นอาชญากรรม ทางด้านอรชพร นิมิตกุลพล กล่าวถึงสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะกรณีการใช้ทหารเด็ก และการใช้กฎหมายพิเศษที่ส่งผลกระทบต่อเยาวชน โดยจากการวิจัยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ เปิดเผยว่า ในระหว่างปี 2548- 2552 มีเด็กและเยาวชนทั้งหมด 151 คน ถูกคุมขังภายใต้กฎหมายพิเศษ เช่น พรก. ฉุกเฉิน และ กฎอัยการศึก โดยเยาวชนเหล่านี้ถูกควบคุมตัวในคุก และหน่วยเฉพาะกิจของทหารในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม เธอมองว่า ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ สถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ดังกล่าว ไม่น่าจะแตกต่างไปจากเดิมมากนัก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในสามจังหวัดชายแดนใต้ ขึ้นอยู่กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นหลัก และหากผู้บัญชาการกองทัพบก หรือแม่ทัพภาคที่สี่ไม่ถูกเปลี่ยน ก็คงไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่ชัดเจน ต่อประเด็นปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทางกลุ่มภาคประชาสังคมมีเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย เช่น ให้ยกเลิกพรก. ฉุกเฉิน เนื่องจากมองว่าขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน และให้รัฐบาลออกกฎหมายภายในประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน เป็นต้น ทั้งนี้ กลไกยูพีอาร์ จะจัดขึ้นในวันที่ 5 ตุลาคม 2554 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ จัดเวลาให้ประเทศไทยรวมสามชั่วโมง ในการนำเสนอรายงาน โดยมีผู้แทนจากรัฐบาลไทยเป็นผู้นำเสนอ และเปิดโอกาสให้ผู้แทนจากสหประชาชาติ และจากประเทศต่างๆ ซักถามถึงสถานการณ์สิทธิในประเทศไทย ผู้ที่สนใจ สามารถติดตามการถ่ายทอดสดผ่านทาง webcast ของสหประชาชาติได้ที่เว็บไซต์ของ UNHCR สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น