โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

'ทหารตำรวจประชาธิปไตย 54' ว่อน "คำสั่ง ศอฉ." สุเทพไม่ปฏิเสธ แต่ยันผิดวันที่ผิดบริบท

Posted: 07 Aug 2011 11:54 AM PDT

ตามที่หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 6 ส.ค.54 รายงานอ้างเว็บไซต์หลายแห่งเผยแพร่แถลงการณ์ของกลุ่มที่ใช้ชื่อ "ทหารตำรวจประชาธิปไตย 2554" ฉบับที่ 3 ซึ่งเปิดเผยเอกสารที่อ้างว่าออกมาจาก ศอฉ. เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 เป็นเอกสารลับมาก ถึงผู้รับปฏิบัติ ใจความว่า

ข้อ 2. ตามที่นรม.สั่งการให้ศอฉ.ทำการผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อขอคืนพื้นที่และพื้นผิวการจราจร บริเวณสะพานผ่านฟ้าและพื้นที่ใกล้เคียง ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.53 เวลา 13.30 น. เป็นต้นไป

ข้อ 2.7 นปพ.ทบ.จัดชุดปฏิบัติการพิเศษ ปฏิบัติภารกิจร่วมกับหน่วยบินเฉพาะกิจศอฉ.ในการตรวจการณ์และการใช้แก๊สน้ำตาทางอากาศเพื่อสนับสนุนภารกิจของทภ.1/กกล.รส.ทภ.1 บริเวณพื้นที่ชุมนุมตามขั้นตอนของกฎการใช้กำลัง

นอกจากนี้ กลุ่มทหารตำรวจประชาธิปไตย 2554 ยังเผยแพร่เอกสารลับของศอฉ.อีกฉบับ อ้างว่าเป็นคำสั่งด่วนภายในลงวันที่ 13 เม.ย.53 จากศอฉ.ถึงผู้รับปฏิบัติ ใจความว่า

ข้อ 2. เพื่อให้การปฏิบัติภารกิจของศอฉ.เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับสถานการณ์ จึงให้หน่วยพิจารณาใช้ปืนลูกซอง ซึ่งเป็นอาวุธที่ไม่ร้ายแรงและสามารถควบคุมการยิงได้ ในการป้องกันตนเองของเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์ โดยกำหนดแนวทางในการใช้ ดังนี้

2.1 ใช้อาวุธทำการยิงเมื่อปรากฏภัยคุกคาม หรือกลุ่มติดอาวุธที่มีท่าทีคุกคามต่อชีวิตเจ้าหน้าที่หรือประชาชนผู้บริสุทธิ์

2.2 ให้ใช้อาวุธต่อเป้าหมาย ตามข้อ 2.1 ในระยะ 30-50 เมตร ทั้งนี้เพื่อเป็นการควบคุมวิถีกระสุนและควบคุมความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ให้สมควรแก่เหตุและห้ามใช้อาวุธต่อเป้าหมายที่เป็นผู้หญิงและเด็ก

2.3 การใช้อาวุธ ให้ดำเนินการโดยไม่มุ่งประสงค์ต่อชีวิตของเป้าหมาย ดังนั้นจึงให้เล็งส่วนล่างของร่างกาย(ตั้งแต่เข่าลงมา) เพื่อระงับ ยับยั้ง การกระทำของกลุ่มติดอาวุธซึ่งมีท่าทีคุมความต่อชีวิตของเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์

กระทั่งเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 54 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ผอ.ศูนย์อำนวยแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) แถลงชี้แจงกรณีการเสนอข่าวเอกสารลับ ศอฉ. มีคำสั่งให้ทหารใช้อาวุธปืนยิงประชาชนชุมนุมวันที่ 10 เม.ย.ว่า ไม่รู้เจตนาผู้เสนอข่าว แต่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดต่อผู้สั่งการและเจ้าหน้าที่ จึงขอชี้แจงให้เข้าใจถูกต้องดังนี้

1.สำเนาเอกสารคำสั่งที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งนำมาแสดงนั้น ได้ตัดวันที่สั่งการออกไป ซึ่งความจริงแล้วคำสั่งปฏิบัติการที่นำมาแสดงในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ เป็นคำสั่งลงวันที่ 13 เม.ย.2553 ไม่ใช่วันที่ 10 เม.ย.2553 สั่งการหลังเกิดกลุ่มคนชุดดำแฝงตัวในกลุ่มผู้ชุมนุม นำอาวุธสงครามมายิงเจ้าหน้าที่ ประชาชน มีผู้เสียชีวิต 26 คน บาดเจ็บ 800 คน ศอฉ.จึงจำเป็นต้องยับยั้งไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีก

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า แต่ปรากฎว่า หลังวันที่ 10 เม.ย.2553 เหตุรุนแรงยังไม่ยุติ คนชุดดำยังถืออาวุธร้ายแรงก่อเหตุร้ายต่อเนื่องแทบทุกวัน ศอฉ.จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ใช้ปืนลูกซองซึ่งเป็นอาวุธไม่ร้ายแรง สามารถควบคุมการยิงได้ เพื่อป้องกันตัวเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์ให้รอดพ้นภัยคุกคามของคนชุดดำ ซึ่งคำสั่งนี้ระบุเรื่องการควบคุมวิถีกระสุน ไม่มุ่งต่อชีวิตเป้าหมาย จึงมีคำสั่งชัดเจนว่า การใช้อาวุธให้เล็งยิงส่วนล่างของร่างกายตั้งแต่เข่าลงมา ยืนยันว่า สำเนาคำสั่งที่พาดหัวข่าวหน้าหนึ่ง ในหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว เป็นคำสั่งการวันที่ 13 เม.ย.ไม่ใช่วันที่ 10 เม.ย.ตามที่พยายามจะให้ผู้อ่านเข้าใจผิด

2.ส่วนที่หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวนำสำเนาคำสั่งวันที่ 10 เม.ย. และ 13 เม.ย.มาลงตีพิมพ์ในหน้า 14 ของหนังสือพิมพ์ อาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดว่า เป็นคำสั่งการในเหตุการณ์เดียวกันนั้น ขอชี้แจงว่า วันที่ 9 เม.ย.กลุ่มผู้ชุมนุมนับหมื่นคนได้บุกโจมตีสถานีดาวเทียมไทยคม ลาดหลุมแก้ว ทำร้ายเจ้าหน้าที่บาดเจ็บนับ 100 คน และยึดอาวุธปืนไปจำนวนมาก ก่อให้เกิดความกังวลว่า อาจนำอาวุธนั้นมาทำร้ายเจ้าหน้าที่ ศอฉ.จึงมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธได้ เพื่อป้องกันตนเองและประชาชน โดยให้ใช้กรณีมีผู้กระทำผิดซึ่งหน้า และป้องกันอันตรายใกล้ตัวที่อาจเป็นอันตรายต่อเจ้าหน้าที่และประชาชน ที่สำคัญหากจำเป็นต้องใช้อาวุธให้ทำตามขั้นตอน คือ 1.แจ้งเตือนด้วยวาจา 2.ยิงเตือนขึ้นฟ้า หรือในทิศทางที่ปลอดภัย 3.ใช้อาวุธตามหลักเกณฑ์โดยชอบด้วยกฎหมายและสมควรแก่เหตุ

"ขอยืนยันว่า ศอฉ.ปฏิบัติหน้าที่ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ไม่มีเจตนาร้ายต่อประชาชน ขณะนี้เหตุการณ์ร้ายได้ผ่านมาปีเศษแล้ว และมีรัฐบาลชุดใหม่ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบรรดาผู้ก่อเหตุ และผู้ต้องหาก่อการร้ายบางคนได้เป็น ส.ส.พรรครัฐบาล บางคนอาจได้เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ ในฐานะที่รัฐบาลเป็นผู้กุมอำนาจรัฐจะสั่งการให้สอบสวนหรือดำเนินคดีกับผมที่เป็นผู้รับผิดชอบสั่งการในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผมพร้อมพิสูจน์ความจริงตามกระบวนการยุติธรรม ส่วนตัวเชื่อว่า มีกระบวนการไล่เช็คบิลผม แต่พร้อมจะพิสูจน์ข้อเท็จจริง ไม่รู้สึกหนักใจ เพราะทำงานด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่คิดหนีไปต่างประเทศ ส่วนจะฟ้องกลับหนังสือพิมพ์หรือไม่ ขอดูก่อน ถ้าจำเป็นเพื่อให้เกิดการพิสูจน์ข้อเท็จจริง ก็อาจต้องดำเนินการ" นายสุเทพ กล่าว

ทั้งนี้ กลุ่มทหารตำรวจประชาธิปไตย 2554 ยังระบุด้วยว่า เร็วๆ นี้จะเผยแพร่เอกสารลับของศอฉ.ชุดใหม่ตามมาอีก

 

.......................
ที่มา: เรียบเรียงจากหนังสือพิมพ์ข่าวสด และมติชนออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วันกฎหมายไทย คปต.เดินรณรงค์ ขอแค่สิทธิประกันตัวนักโทษการเมือง

Posted: 07 Aug 2011 11:20 AM PDT

เครือข่ายประชาธิปไตยครึ่งร้อยเดินรณรงค์วันกฏหมายไทยจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปศาลฎีกาเรียกร้องสิทธิการประกันตัวนักโทษทางการเมือง ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 อันเป็นผลิตผลของการรัฐประหาร รวมถึงปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม


เครือข่ายประชาธิปไตย ชุมนุมหน้าประตู 1 ศาลฎีกา กทม. 7 ส.ค.54

7 ส.ค.54 เวลา  10.00 น.ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน เครือข่ายประชาธิปไตยประชาธิปไตย หรือ คปต. (Democracy Networks) ประมาณ 50 คน ชุมนุมเพื่อรำลึกเนื่องในวันรพี หรือวันกฎหมายไทย พร้อมเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว โดยให้สิทธิในการประกันตัวนักโทษการเมือง ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 อันเป็นผลิตผลของการรัฐประหาร รวมถึงปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

หลังจากนั้นเวลา 11.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนไปตามถนนราชดำเนิน ไปยังบริเวณประตู 1 หน้าศาลฎีกา สนามหลวง เพื่อนำเอาป้าย “ขอเศษเสี้ยวความเป็นธรรม” และ “ขอให้ใช้กฎหมายกับคนสั่งฆ่า 92 ศพ” เป็นต้น ไปติดไว้หน้าประตูศาล หลังจากนั้นได้มีการปราศรัยของคนในเครือข่ายก่อนสลายการชุมนุม

นายเยี่ยมยอด ศรีมันตะ รักษาการประธานเครือข่ายประชาธิป ได้กล่าวปราศรัยชี้แจงบริเวณหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก่อนเคลื่อนขบวนไปหน้าศาลฎีกาว่า นอกจากวันนี้จะได้มาน้อมรำลึกถึงวันกฎหมายไทยแล้ว พวกเรายังคิดว่า บ้านเมืองของเราจะปกครองประเทศด้วยระบบนิติรัฐ  ซึ่งจะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารประเทศ  ในการที่จะให้ประเทศหรือประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขด้วยระบบนิติรัฐ   วันนี้บ้านเมืองของเราประสบปัญหาเรื่องความเป็นธรรม  ขาดหลักการที่สำคัญ แทนที่จะใช้หลักนิติรัฐมาบริหารประเทศ  เช่น เรายังมีผู้กระทำผิดซึ่งไม่ได้รับการลงโทษและมีผู้ไม่ได้กระทำความผิดกลับได้รับการลงโทษ ดังนั้นเราจึงมารวมตัวกันเรียกร้องหาความเป็นธรรมด้วยวัตถุประสงค์สำคัญ คือ

1. เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้กับผู้ถูกจับกุมคุมขังในกรณีเรียกร้องประชาธิปไตย ระหว่างปี 2549-2553   คดีการเมืองรวมทั้งคดีอาญามาตร 112 โดยให้ผู้ถูกดำเนินคดีได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และดำเนินคดีด้วยความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ

2. เพื่อเรียกร้องให้มีการยกเลิก ปรับปรุงกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 อันเป็นผลิตผลของการรัฐประหาร

3. เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ตั้งแต่กระบวนการตรากฎหมาย กระบวนการบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการตีความกฎหมาย

“ขอใช้โอกาสสำคัญในวันนี้ที่เป็นวันกฎหมายไทย เรียกร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน  ให้มีการปฏิรูประบบยุติธรรมของไทยทั้งระบบ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันนี้ สิ่งที่เผชิญหน้าอยู่คือนักโทษการเมือง นักโทษประชาธิปไตย ที่ถูกกล่าวหาที่มีจำนวนมาก ต้องได้รับสิทธิในการประกันตัวทุกคน  เพื่อมาต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม” รักษาการประธานเครือข่ายประชาธิปไตย กล่าวทิ้งท้าย

ก่อนหน้านี้ เมื่อ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่สำนักงาน Red Power ชั้น 5 อิมพีเรียล ลาดพร้าว กรุงเทพฯ เครือข่ายประชาธิปไตย (คปต.) ได้แถลงเรียกร้อง "หยุด 112 หยุดคุกคามประชาชน เราต้องการเสรีภาพ" โดยนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำเครือข่าย และยังได้ประกาศในนามเครือข่ายว่า จะรณรงค์ล่ารายชื่อ 10,000 ชื่อตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ เพื่อยกเลิกมาตรา 112 ผ่านทางรัฐสภา ซึ่งหลังจากนั้น  5 วัน นายสมยศ กลับถูกจับกุมในข้อหาละเมิด​กฎหมายอาญามาตรา 112 และเมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา อัยการได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลโดยจะมีการนัดพร้อมเพื่อตรวจพยานหลักฐาน นัดหมายสืบพยานในวันที่ 12 ก.ย.54

ทั้งนี้ตั้งแต่ถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 30 เม.ย. จนกระทั่งถึงปัจจุบัน สมยศยังคงถูกคุมขังอ​ยู่ ณ เรือนจำพิเศษโดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว

 Embed :

<iframe width="425" height="349" src="http://www.youtube.com/embed/BcwP1vkvAk0" frameborder="0" allowfullscreen></iframe>

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
นักข่าวพลเมือง: เปิดตัว 'เครือข่ายประชาธิปไตย' เดินเครื่องกิจกรรมยกเลิก ม.112-คืนเสรีภาพผู้ต้องโทษ กม.หมิ่นฯ
'เครือข่ายประชาธิปไตย' รณรงค์ล่าหมื่นชื่อ ยกเลิก 112 
'เครือข่ายประชาธิปไตย' จัดเวทีรำลึก 19 พ.ค.ที่สวนลุม ทำพิธีสาปแช่งผู้บงการสังหารหมู่ปชช.
อัยการสั่งฟ้อง ‘สมยศ’ ศาลนัดพร้อม 12 ก.ย. 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: กระจายอำนาจ รัฐ-ประชาชน-นักวิชาการ ยังเข้าใจไม่ตรงกัน

Posted: 07 Aug 2011 11:08 AM PDT

 

การหาเสียง เลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา บรรดานักการเมืองต่างยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายเอาใจคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปในทิศทางเดียวกันคือ “การกระจายอำนาจ”

คำถามก็คือ ประชาชนพร้อมที่จะรับ “การกระจายอำนาจ” หรือยัง ภาพการกระจายอำนาจของนักการเมืองกับประชาชนในพื้นที่ เป็นภาพเดียวกันหรือไม่
 
สองนักวิชาการที่เสนอรูปแบบการปกครองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาก่อนหน้านี้คือ ดร.ศรีสมภพ จิตภิรมย์ศรี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ จากมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา
 
ทบวงการบริหารสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับเป็นข้อเสนอแรกๆ ที่มีการนำมาพูดถึง เพื่อใช้เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรง ข้อเสนอดังกล่าวเกิดจากผลงานการวิจัยที่ผ่านการสอบถามความต้องการของคนในพื้นที่ จนได้รูปแบบการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
 
จากการลงพื้นที่สอบถามคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ร่วมสามพันคน ผลการสอบถามปรากฏว่า ประชาชนในพื้นที่ไม่ค่อยพูดเรื่องรูปแบบการปกครองตัวเอง แต่ไปพูดถึงการปรับปรุงแก้ไขกลไกเดิมของรัฐไทยมากกว่า
 
นั่นคือคำตอบที่บ่งบอกว่า คนส่วนใหญ่ในพื้นที่ ไม่ได้คิดแบ่งแยกดินแดนอย่างที่รัฐไทยเข้าใจ
 
ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ คณบดีคณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา หนึ่งในทีมวิจัย ชี้ให้เห็นว่าประชาชนยังไม่กล้าพูดถึงการปกครองของรัฐไทย
 
ขณะที่การขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการกระจายอำนาจยังไม่มากพอ ประชาชนจึงยังไม่ค่อยเข้ามามีส่วนร่วม ในการกำหนดรูปแบบการกระจายอำนาจมากนัก
 
ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ จึงมองว่า วันนี้ภาพที่รัฐบาล ภาคประชาชน และนักวิชาการ มองเรื่องการกระจายอำนาจ ยังไม่ตรงกัน ที่ผ่านมาการพูดถึงการกระจายอำนาจมาจากนักวิชาการเสียส่วนใหญ่ กระแสการพูดถึงการกระจายอำนาจโดยนักการเมืองนั้น ยังไม่มีรายละเอียดชัดเจน ส่วนใหญ่เป็นเพียงการต่อยอดจากงานวิจัย
 
ปมปัญหาของความรุนแรงส่วนหนึ่ง ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ มองว่า เป็นเพราะรัฐบาลไม่ยอมกระจายอำนาจ ทั้งที่ระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 อยู่แล้ว ถ้ารัฐบาลเร่งกระจายอำนาจตามที่กฎหมายกำหนด เสียงเรียกร้องของประชาชนก็จะไม่เกิดขึ้น และรัฐบาลจะไม่ต้องเผชิญหน้าถึงขั้นแตกหักกัขบวบนการแบ่งแยกดินแดน ที่ออกมาเรียกร้องเอกราช เพราะประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ ต้องการเพียงการดูแลที่ดีจากรัฐบาลเท่านั้น
 
“การเสนอเรื่องการกระจายอำนาจในช่วงแรก เป็นไปบนฐานการวิจัย แต่หลังจากนำเสนอโมเดลแรกคือ ทบวงบริหารสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เริ่มมีการนำโมเดลนี้ไปขยาย จากนั้นก็ตามมาด้วยโมเดลที่สอง สาม สี่ ตอนนี้มีการเสนอโมเดลการกระจายอำนาจของสามจังหวัดชายแดนใต้ เกือบ10 โมเดล” เป็นข้อมูลจากมุมของดร.สุกรี หลังปูโต๊ะ
 
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ดร.ศรีสมภพ จิตภิรมย์ศรี เชื่อมั่นว่า มาถึงวันนี้แล้ว พรรคการเมืองไม่สามารถจะดองเรื่องนี้ไว้ได้อีกต่อไป  เพราะจะมีกลุ่มคนคอยทวงถามเรื่องนี้ตลอดเวลา เรื่องนี้จะไม่หายไปจากสังคม
 
ส่วนผลจะออกมาอย่างไร ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี มองว่า คงต้องดูที่รัฐบาลว่า มีความพร้อมที่จะกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มากน้อยแค่ไหน”
 
 
....................................................

14 ปีกระแสกระจายอำนาจชายแดนใต้
 
การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.2540 เนื่องจากในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้กำหนดหมวดการปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ จากนั้นมีการออกพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 จนถึงปัจจุบัน นโยบายการกระจายอำนาจในประเทศไทยดำเนินมาเป็นระยะเวลา 14 ปีแล้ว
 
ความหมายคำย่อ
            พ.ร.บ.  = พระราชบัญญัติ
            จชต.   = จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘ศอ.บต.’ สุดเก๋ ใช้ป้ายอักษรยาวี เน้นอัตลักษณ์มลายูชายแดนใต้

Posted: 07 Aug 2011 10:58 AM PDT

เลขาธิการ ศอ.บต. เผยส่งล่าม 154 คน ประจำยังหน่วยงานราชการต่างๆ ไฟเขียว หากหน่วยงานใดคิดว่าการใช้ภาษามลายูเพิ่มในป้ายเป็นเรื่องที่สมควรทำ ทำแล้วเป็นเรื่องที่ดีสามารถทำได้เลย

ป้ายใหม่ของศอ.บต.ที่มีการเพิ่มชื่อภาษามลายูเพิ่ม
 
 
นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้  (ศอ.บต) กล่าวถึงภาษายาวีประกบกับภาษาไทยในป้ายสำนักงาน ศอ.บต. ว่า เป็นเพราะสำนักงาน ศอ.บต. ตระหนักถึงการตื่นตัวของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต้องการแสดงอัตลักษณ์ของตัวเอง และต้องการสื่อสารกับคนในพื้นที่ที่ไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาไทย หรือภาษาอังกฤษได้ การใช้อักษรในป้ายต่างๆ นั้น มาจากแนวคิดสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาชายแดนภาคใต้ เพราะต้องการให้ทางราชการสื่อสารกับคนในท้องถิ่นได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการประชุมลีมอซา (5 รัฐ 5 วง) สมาคมการท่องเที่ยวเสนอให้ใช้อักษรยาวีและภาษามลายูในสื่อสารกับทางราชการ รวมทั้งใช้แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในสามจังหวัด
 
นายภาณุ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางสำนักงานศอ.บต.ได้ส่งล่ามจำนวน 154 คน ไปประจำยังหน่วยงานราชการต่างๆ เช่น โรงพยาบาล ศาล สถานีตำรวจ สำนักงานที่ดิน ที่ว่าการอำเภอ ฯลฯ เพื่อสื่อสารระหว่างประชาชนทางราชการ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาไทย หรือภาษาอื่นๆ ได้ แต่ไม่มีการบังคับให้หน่วยงานราชการในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ใช้ป้ายภาษามลายู
 
“หากหน่วยงานใดคิดว่าการใช้ภาษามลายูเพิ่มในป้ายเป็นเรื่องที่สมควรทำ ทำแล้วเป็นเรื่องที่ดีสามารถทำได้เลย ชาวต่างชาติที่มาจากมาเลเซียที่อ่านภาษาอื่นไม่ออก จะได้เข้าใจป้ายที่สื่อออกไป การจัดทำป้ายเป็นภาษามลายู ที่ผ่านมายังไม่มีใครออกมาคัดค้านการใช้ป้ายภาษามลายู ทุกฝ่ายเห็นด้วย” นายภาณุ กล่าว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ดีเดย์ ‘ปฏิบัติการเพชรเกษม 41' คนใต้จี้รัฐทบทวนแผนพัฒนา

Posted: 07 Aug 2011 10:48 AM PDT

   

 วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี
 
 
เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2554 ที่ทำการชั่วคราวเครือข่ายปฏิบัติการเพชรเกษม41 อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช มีตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนจากจังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดชุมพร จังหวัดสตูล จังหวัดสงขลา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดตรัง ประมาณ 20 คน ร่วมประชุมวางแผนปฏิบัติการเพชรเกษม41 คนใต้กำหนดอนาคตตัวเอง เพื่อแสดงเจตนารมณ์ให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ และแผนพัฒนาพลังงานในภาคใต้ ตามที่พรรคเพื่อไทยประกาศนโยบาย จ้เดินหน้าเมกะโปรเจ็คต์ในภาคใต้ทุกโครงการ ในระหว่างการหาเสียง
 
ที่ประชุมมีมติให้จัดชุมนุมที่แยกปฐมพร ถนนเพชรเกษม 41 จังหวัดชุมพร ระหว่างวันที่ 21–22 สิงหาคม 2554 ใช้ชื่อว่าปฏิบัติการเพชรเกษม 41 คนใต้กำหนดอนาคตตัวเอง โดยจะมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนสถานการณ์ความเดือดร้อนจากแผนพัฒนาของรัฐในแต่ละจังหวัด มีการแสดงดนตรี และออกแถลงการณ์ พร้อมกับขอเจรจากับตัวแทนรัฐบาล เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ว่า คนภาคใต้ไม่ต้องการเมกะโปรเจ็คต์
 
สำหรับปฏิบัติการเพชรเกษม 41 ที่ประชุมกำหนดให้เริ่มดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2554 โดยให้เครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดต่างๆ ทำหนังสือถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้รัฐบาลทบทวนโยบายเกี่ยวกับแผนพัฒนาภาคใต้ และแผนพัฒนาพลังงานในภาคใต้ ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมกับให้แต่ละจังหวัดจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวในพื้นที่โครงการไปพร้อมกัน
 
หลังจากเสร็จสิ้นการชุมนุม ในวันที่ 22 สิงหาคม 2554 แล้ว คณะทำงานปฏิบัติการเพชรเกษม 41 จะประเมินสถานการณ์อีกครั้งว่า ได้รับการตอบรับขจากรัฐบาลหรือไม่ หากนายกรัฐมนตรีไม่รับฟัง หรือมีท่าทีไม่สนใจ จะมีปฎิบัติการเพชรเกษม 41 ครั้งที่ 2 ที่มีรูปแบบเข้มข้นขึ้นตามลำดับ
 
นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี คณะทำงานเครือข่ายติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ในฐานะคณะทำงานปฏิบัติการเพชรเกษม 41 กล่าวว่า ปฎิบัติการเพชรเกษม 41 ครั้งนี้ เป็นปฏิบัติการของเครือข่ายภาคประชาชน และชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนาภาคใต้ และแผนพัฒนาพลังงานในภาคใต้ ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใด 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ความดีและสิ่งที่ดีในพุทธเถรวาทแบบไทย

Posted: 07 Aug 2011 10:39 AM PDT

"ในสังคมปัจจุบันคนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพ เพื่อความเสมอภาค และความเป็นธรรมด้านต่างๆ ทางสังคมต่างหาก คือผู้ที่ทำ “ความดี” ตามความหมายที่เข้ากันได้กับหลักการพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม"

เวลาเราพูดถึง “ความดี” และ “สิ่งที่ดี” นั้น เรากำลังพูดถึง “คุณค่า” (value) บางอย่าง คุณค่าหมายถึงสิ่งที่พึงปรารถนา ต่างจาก “ข้อเท็จจริง” (fact) ในความหมายว่าข้อเท็จจริงนั้นเราพิสูจน์ทราบได้ด้วยประสาทสัมผัส ขณะที่คุณค่าเราต้องพิสูจน์ด้วยความรู้สึกหรือเหตุผล
 
เช่น เมื่อเราพูดว่า “ดอกกุหลาบช่อนี้สีแดง” เรากำลังพูดถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับดอกกุหลาบ เราพิสูจน์ข้อเท็จจริงของคำพูดนี้ด้วยประสาทสัมผัสคือใช้ตาดูว่าดอกกุหลาบช่อนี้สีแดงจริงหรือไม่ โดยปกติทุกคนก็จะมองเห็นตรงกัน (ยกเว้นคนตาบอดสี) แต่ถ้าเราบอกว่า “ดอกกุหลาบช่อนี้สวย” เรากำลังพูดถึงคุณค่าของดอกกุหลาบ เราจะรู้ว่าดอกกุหลาบช่อนี้สวยหรือไม่จากการใช้ความรู้สึก ซึ่งแต่ละคนอาจรู้สึกแตกต่างกัน และเมื่อเราพูดว่า กฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้เมื่อปี 2550 เรากำลังพูดถึงข้อเท็จจริงของกฎหมายที่ทุกคนตรวจสอบแล้วเห็นตรงกันได้ แต่เมื่อเราบอกว่ากฎหมายฉบับนี้ยุติธรรม การยืนยันว่ากฎหมายยุติธรรมหรือไม่ต้องใช้เหตุผล
 
เช่นเดียวกัน เมื่อเราพูดถึงความดี และสิ่งที่ดี เราก็ใช้ความรู้สึกและเหตุผลในการยืนยัน เมื่อเรามองความหมายของความดีและสิ่งที่ดีในพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม เราสามารถเข้าใจความหมายของสิ่งดังกล่าวได้จากการวิเคราะห์ “ธรรม” ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ คือ “อริยสัจ 4”
 
ในอริยสัจ 4 นั้น สองข้อแรกพูดถึง “ข้อเท็จจริง” คือ ทุกข์กับสาเหตุให้เกิดทุกข์ สองข้อหลังพูดถึง “คุณค่า” คือ ความดี (มรรค) และสิ่งที่ดี (นิโรธ) ความสัมพันธ์ระหว่างความดีกับสิ่งที่ดีก็คือ เราทำความดีเพื่อให้เกิดหรือบรรลุถึงสิ่งที่ดี หรือความดีเป็นมรรคไปสู่สิ่งที่ดี
 
ถามว่าทำไม พุทธศาสนาแบบดั้งเดิมจึงถือว่ามรรคและนิโรธเป็นคุณค่าที่พึงประสงค์ เหตุผลก็เพราะพุทธศาสนามองว่าความทุกข์และสาเหตุให้เกิดทุกข์ นอกจากจะเป็นข้อเท็จจริงในชีวิตมนุษย์ที่เราต่างรับรู้กันอย่างเป็นปกติอยู่แล้ว พุทธศาสนายังมองว่าทุกข์และสาเหตุให้เกิดทุกข์เป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งความทุกข์นั้นพุทธศาสนาถือว่าเป็นสิ่งที่เราต้องทำความเจ้าใจอย่างชัดแจ้ง ขณะที่สาเหตุของทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องละ แก้ไข หรือขจัดให้หมดไปด้วยการปฏิบัติตามมรรคหรือการดำเนินชีวิตบนหลักการพื้นฐาน 3 ด้าน คือ ศีลธรรม จิตใจ และปัญญา
 
หลักการพื้นฐานทางศีลธรรมนั้น หมายถึงหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่เบียดเบียนกัน หลักการพื้นฐานทางจิตใจหมายถึงการใช้ชีวิตอย่างมีสติ มีความมั่นคงทางจิตใจ และมีคุณธรรม ส่วนหลักการทางปัญญาหมายถึงการมีความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงตามกฎธรรมชาติ ความจริงของโลกและชีวิต เห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม (สัมมาทิฐิ) และคิดตระหนักในทางมีเมตตากรุณา ไม่พยาบาทเบียดเบียน และมุ่งอิสรภาพจากพันธนาการทั้งปวง (สัมมาสังกัปปะ)
 
“ความดี” ในนิยามของพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมนั้นอยู่บนหลักการพื้นฐาน 3 อย่างดังกล่าวนี้
 
คำถามคือ การกระทำความดีดังกล่าวนี้เพื่อเป้าหมายอะไร? คำตอบคือเพื่อนิโรธหรือความดับทุกข์ บางทีพุทธศาสนาใช้คำว่า “วิมุติ” แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า freedom หมายถึงเสรีภาพหรือความเป็นอิสระจากกิเลสแหะความทุกข์ทั้งปวง มีพุทธพจน์ยืนยันว่า “วิมุติคือแก่นของพุทธธรรม” (จูฬสาโรปมสูตร 12/374)
 
ฉะนั้น วิมุติหรือเสรีภาพจากพันธนาการของกิเลสและความทุกข์ทั้งปวงจึงเป็นสิ่งที่ดี หรือเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาในฐานเป็นเป้าเหมายสูงสุดของชีวิต
 
ผมเห็นว่า การที่พุทธศาสนาถือว่าเสรีภาพจากกิเลสและความทุกข์คือเป้าหมายสูงสุดของชีวิตนั้นคือ “คีย์เวิร์ด” สำคัญในการทำความเข้าใจ “ความเป็นมนุษย์” ตามทัศนะของพุทธศาสนา หมายความว่า ความเป็นมนุษย์ แก่นสาร หรือ essence ของมนุษย์ในทัศนะของพุทธศาสนาคือ “เสรีภาพ” เพราะหากเสรีภาพไม่ใช่แก่นสารของมนุษย์ก็เป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะบรรลุความหลุดพ้น ซึ่งการบรรลุความหลุดพ้นนั้นในแง่หนึ่งคือบรรลุถึง “ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์” ซึ่งพุทธมหายานถือว่า ภาวะความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ คือ “พุทธภาวะ” มีอยู่ในทุกสรรพสัตว์ ฉะนั้น พุทธภาวะหรือเสรีภาพ คือแก่นสารของความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนมีอย่างเสมอภาคกัน การเคารพความเสมอภาคของมนุษย์ จึงหมายถึงการเคารพและปกป้องความมีเสรีภาพของมนุษย์นั่นเอง
 
ประเด็นนี้ ผมคิดว่าสำคัญในการทำความเข้าใจพุทธศาสนา และเมื่อพุทธศาสนาให้ความสำคัญสูงสุดกับเสรีภาพทั้งในแง่ที่เป็น essence ของมนุษย์ ทั้งในแง่เป้าหมายสูงสุดของชีวิต หรือความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ก็เป็นไปไม่ได้ที่พุทธศาสนาจะปฏิเสธเสรีภาพในทางสังคมการเมือง หรือจะไปสนับสนุนส่งเสริมระบบสังคมการเมืองที่ลิดรอนเสรีภาพของมนุษย์ เพราะนั่นเท่ากับเป็นการลิดรอนความเป็นมนุษย์
 
ฉะนั้น จึงจึงมีปัญหาว่า ทำไมพุทธเถรวาทแบบไทยจึงยังคงสนับสนุนระบบสังคมการเมืองที่ลิดรอนเสรีภาพและความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ เช่น การส่งเสริมอุดมการณ์ธรรมราชาซึ่งขัดแย้งกับที่พระพุทธเจ้าปฏิเสธระบบชนชั้น กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร มากว่าสองพันปีแล้ว ระบบการปกครองสงฆ์ยังขึ้นกับระบบสมณศักดิ์ ยังใช้ พรบ.ปกครองสงฆ์ พ.ศ.2505 อันเป็นมรดกเผด็จการสฤษดิ์ ฯลฯ ทั้งที่โลกยุคปัจจุบันเป็นยุคแห่งการเรียกร้องเสรีภาพและความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์ ซึ่งสอนคล้องกับแก่นสารของพุทธธรรม หรือ essence ของมนุษย์ตามทัศนะของพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมมากกว่า
 
และ “ความดี” ตามความหมายของพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมนั้น หมายถึงความดีที่ที่นำไปสู่เสรีภาพจากความทุกข์ แต่ความดีของพุทธเถรวาทไทยปัจจุบันกลับหมายถึงความดีที่ทำให้ร่ำให้รวย ให้เงินทองไหลมาเทมา ให้เจริญด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ การเข้าคอรส์ปฏิบัติถือศีลภาวนามีความหมายว่า จะทำให้เกิดสิริมงคลแก่ชีวิต บุญที่เกิดขึ้นจะดลบันดาลให้ทำมาค้าขึ้น ได้เลื่อนยศตำแหน่ง ผู้ใหญ่เมตตา และได้มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติพรั่งพร้อมบริบูรณ์
 
ความดีทั้งหลายทั้งปวงที่โปรโมทกันนั้น ไม่เกี่ยวกับการส่งเสริมความเป็นมนุษย์ที่มีเสรีภาพและความเสมอภาคเลย นอกจากไม่ส่งเสริมแล้วยังแปลกแยกกับความเป็นมนุษย์ในความหมายดังกล่าว ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่สังคมพุทธแบบไทยๆ ยังแปลกแยกกับการต่อสู้เรียกร้องเสรีภาพและความเสมอภาค
 
หากจะพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ผมเห็นว่า ในสังคมปัจจุบันคนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพ เพื่อความเสมอภาค และความเป็นธรรมด้านต่างๆ ทางสังคมต่างหาก คือผู้ที่ทำ “ความดี” ตามความหมายที่เข้ากันได้กับหลักการพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะไม่ได้อ้างหลักคำสอน หรือความเชื่อใดๆ ของพุทธศาสนาก็ตาม
 
ตรงกันข้ามพวกที่อ้างคำสอน อ้างความเชื่อของพุทธศาสนา ประเภททำบุญแล้วรวย ทำบุญอย่างไรจึงจะสวย ทำบุญอย่างไรถึงจะเจริญด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ ฯลฯ อาจไม่ใช่การทำความดีตามความหมายของพุทธศาสนาที่แท้จริงเลยก็ได้ แต่เป็นการทำความดีในความหมายของ Egoism คือ ทำความดีเพื่อมุ่ง “ความสุขส่วนตัว” เท่านั้น ซึ่งขัดแย้งต่อหลักการพุทธแบบดั้งเดิม
 
และจะเห็นว่า ในยุคปัจจุบันวัฒนธรรมการทำความดี และการปฏิบัติธรรมของพุทธเถรวาทแบบไทย มีลักษณะโน้มเอียงไปในทาง Egoism มากกว่า ที่สำคัญแม้ชาวพุทธชอบอ้างเสมอว่า หลักการพุทธศาสนาเป็นประชาธิปไตย หรือเข้ากันได้กับประชาธิปไตย ระบบสังคมสงฆ์ในยุคพุทธกาลเป็นประชาธิปไตย แต่พุทธเถรวาทแบบไทยกลับถูกใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนอุดมการณ์ราชาชาตินิยมอย่างเหนียวแน่น และระบบสังคมสงฆ์ยังมีโครงสร้างเป็นเผด็จการอย่างชัดเจน
 
ฉะนั้น ความดีตามค่านิยมของพุทธเถรวาทแบบไทย จึงไม่สนับสนุนส่งเสริมความเป็นมนุษย์ในความหมายของความมีเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรมทางสังคม หากเป็นความดีที่ส่งเสริมความเห็นแก่ตัว และส่งเสริมระบบสังคมการเมืองที่ลิดรอนเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรมทางสังคม
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักปรัชญาชายขอบ: อาจารย์แจ้งความลูกศิษย์ “ข้อหาหมิ่นเบื้องสูง” สะท้อนวุฒิภาวะประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัยไทย

Posted: 07 Aug 2011 10:34 AM PDT

ข่าวที่น่าสะเทือนใจที่สุดในรอบสัปดาห์นี้ คือข่าวรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง แจ้งความตำรวจในข้อหากระทำผิดกฎหมายหมิ่นฯ ม.112 ให้ดำเนินคดีกับลูกศิษย์ตนเอง เนื่องจากได้รับร้องเรียนว่าลูกศิษย์คนดังกล่าวถูก “ล่าแม่มด” ในเว็บไซต์แห่งหนึ่ง (ดูมติชนออนไลน์, 6 ส.ค.54)

นักศึกษาคนดังกล่าถูกแจ้งความตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 และเพิ่งถูกตำรวจจับกุมดำเนินคดีโดยศาลไม่ให้ประกันตัวเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา
 
ที่น่าสนใจคือ เหตุผลในการแจ้งความของรองอธิการฝ่ายกิจการนิสิตที่ว่า จำเป็นต้องแจ้งความ เพราะ
 
1. ถูกกดดันจากสภามหาวิทยาลัย
 
2. ต้องการปกป้องชื่อเสียงของสถาบัน (มหาวิทยาลัย)
 
นี่คืออักหนึ่งตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นปัญหาของ “ม.112” ที่ใครจะแจ้งความดำเนินคดีก็ได้ จะเห็นว่า เหตุผลในการแจ้งความไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการแสดงความรับผิดชอบของผู้แจ้ง เพราะพิจารณาเห็นว่า “ตนเองต้องแจ้งความเพื่อปกป้องเจตนารมณ์ของกฎหมาย”
 
สมมุติว่า คุณเห็นชายคนหนึ่งกำลังวิ่งออกกำลังกายที่สวนสาธารณะ และคุณจำได้ว่าคนๆ นี้คืออดีตรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขที่กำลังเป็นข่าวถูกแจ้งความจับเรื่องทุจริตยา และขณะนี้ตำรวจกำลังติดตามตัว แล้วคุณก็โทรไปแจ้งตำรวจ ด้วยเหตุผลว่าในฐานะพลเมืองต้องรักษากฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ คนทำความผิดต้องได้รับการลงโทษตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อปกป้องความยุติธรรม และความสงบสุขของบ้านเมือง การกระทำของคุณย่อมสมเหตุสมผล
 
แต่เหตุผลในการแจ้งความเอาผิดลูกศิษย์ตนเองของอาจารย์คนดังกล่าว ไม่ใช่เหตุผลเรื่องการช่วยกันรักษากฎหมาย หรือรักษาเจตนารมณ์ของกฎหมายในฐานะพลเมืองดี แต่เป็นเรื่องของ “การถูกกดดัน” และต้องการ “รักษาชื่อเสียงสถาบัน”
 
คำถามคือ นี่มันคือ “เหตุผล” หรือครับ ข้ออ้างเรื่องถูกกดดันจากอำนาจที่เหนือขึ้นไป ข้ออ้างเรื่องรักษาชื่อเสียงสถาบัน มันมีความสัมพันธ์เป็นเหตุเป็นผลอย่างไรกับการแจ้งความดำเนินคดีกับนักศึกษาคนนั้น เพราะ
 
1. การกระทำของนักศึกษาคนนั้นเป็นความผิดส่วนบุคคล มหาวิทยาลัยไม่ได้ส่งเสริมให้ทำ แล้วมหาวิทยาลัยจะเสียชื่อเสียงอย่างไรไม่ทราบ (ถ้าอาจารย์อ้างเครดิตสถาบันไปหาเงินจากการทำวิจัยสร้างความชอบธรรมแก่โรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษแก่ชาวบ้าน ก็ว่าไปอย่าง)
 
2. สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจตามกฎหมายอะไรที่จะมากดดันในเรื่องดังกล่าวนี้ (ถ้าสภามหาวิทยาลัยไปกดดันผู้บริหารให้เอาผิดกับอาจารย์ที่อ้างเครดิตสถาบันไปหาเงินจากการทำวิจัยสร้างความชอบธรรมแก่โรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษแก่ชาวบ้าน ก็ว่าไปอย่าง)
 
ประเด็นสำคัญคือ การที่ “ม.112 เป็นกฎหมายที่ให้ใครก็ได้แจ้งความเอาผิด” คือปัญหาสำคัญที่ทำให้การแจ้งความเอาผิดตามกฎหมายดังกล่าว ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมาย แต่อาจเป็นไปตาม “อคติ” ของผู้แจ้งอย่างไรก็ได้ เช่น ความเกลียดชังกันเป็นส่วนตัว ความขัดแย้งทางความคิดเรื่องเสรีภาพและความเสมอภาค ความขัดแย้งของอุดมการณ์ทางการเมือง การคลั่งเจ้า การต้องการทำลายศัตรูทางการเมือง ฯลฯ
 
ในกรณีของอาจารย์แจ้งจับนักศึกษาก็ชี้ชัดว่าเป็นเรื่อง “อคติ” คือ “ความกลัว” การถูกกดดันจากสภามหาวิทยาลัย และ “ความกลัว” ว่า มหาวิทยาลัยจะเสียชื่อเสียง ฉะนั้น การแจ้งความจับนักศึกษาของตนเองจึงสะท้อน “วุฒิภาวะความเป็นประชาธิปไตย” ภายในมหาวิทยาลัยได้ในแง่หนึ่งว่า แม้คนระดับรองอธิการบดีก็สามารถใช้ “ความกลัว” แจ้งความให้ลูกศิษย์ของตนต้องติดคุก
 
ประเด็น “ด้อยวุฒิภาวะ” ต่อมาคือ คนระดับรองอธิการบดีนอกจากจะมองไม่เห็นปัญหาของการที่ ม.112 ที่ใครจะแจ้งความเอาผิดก็ได้ดังกล่าวแล้ว ยังไม่เข้าใจว่ากฎหมายฉบับนี้ขัดแย้งต่อหลักการพื้นฐานประชาธิปไตยคือหลักเสรีภาพในการพูด “ความจริง” และหลักความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ ซึ่งหมายความว่า หาก “หลักความยุติธรรม” (principle of justice) ที่เป็นรากฐานของการออกกฎหมายในสังคมประชาธิปไตยคือหลักเสรีภาพและหลักความเสมอภาค ม.112 ย่อมขัดแย้งต่อ “หลักความยุติธรรม” ดังกล่าวนี้อย่างชัดเจน
 
ฉะนั้น ขณะที่กระแสการเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตยส่วนหนึ่งกำลังเรียกร้องให้แก้ไข และ/หรือให้ยกเลิก ม.112 การที่คนระดับรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงออกมาแจ้งความดำเนินคดีแก่ลูกศิษย์ของตนที่ “ถูกล่าแม่มด” จึงสะท้อนวุฒิภาวะประชาธิปไตยในสังคมมหาวิทยาลัยไทยอย่างน่าเป็นห่วง!  
 
 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาไทบันเทิง : ยืดอกพกถุง

Posted: 07 Aug 2011 08:22 AM PDT

 

ยืดอกพกถุง

 

““เก้า จิรายุ” ควง “แม่ก้อย” เคลียร์ข่าวเรื่องถุงยางอนามัยว่าแค่เตือนให้ป้องกันเผื่อฉุกเฉินจะได้ไม่พลาดพลั้งทำผู้หญิงท้อง แต่ตอนนี้ยังไม่ได้ให้พกติดตัว รอให้ถึงวัยที่เหมาะสมก่อน ไม่ผิดหากจะมีเพศสัมพันธ์แต่ควรที่จะรู้จักป้องกันตัวเองและผู้อื่นด้วย”

ประชาไทบันเทิง : ยืดอกพกถุง

ประชาไทบันเทิง : ยืดอกพกถุง

ข่าวบันเทิงตอนนี้นอกจากเรื่องความสัมพันธ์ของสาวปู-ไปรยา กับ หนุ่มโน้ต เจ้าของฉายาหล่อเลือกได้ อดีตแฟนหนุ่มสาวสวยเลือกได้ อั้ม-พัชราภา ที่กำลังฮอตสุดๆ จนต้องซื้อหนังสิมพิมพ์ข่าวบันเทิงกอสซิปมานั่งอ่านทุกวันเลยทีเดียว (จะรอซ้อเจ็ดก็ไม่ไหว เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเขียนข่าวเลย ปรกติจะมาสัปดาห์ละครั้ง ทุกเย็นวันจันทร์ เดี๋ยวนี้เดือนละครั้งเท่านั้น สงสัยมัวไปประชุมศาลโลกเรื่องเขาพระวิหารอยู่แน่ๆ...คริคริ) ก็ยังมีข่าวที่กลายเป็นประเด็น ‘สังคม’ ที่ตอนนี้หลายเว็บบอร์ดกำลังลุกเป็นไฟ ซึ่งก็คือข่าวของน้องเก้า-จิรายุ พระเอกหนุ่มวัย 15 ปี จากหนังเรื่อง ‘SuckSeed ห่วยขันเทพ’ กับแม่ก้อย คุณแม่ที่ออกมาให้ข่าวว่าแนะนำให้ลูกชายพกถุงยางเพื่อป้องกัน หากมีเพศสัมพันธ์ จนกลายเป็นข่าวดังในประวัติศาสตร์วงการบันเทิงไทย เพราะยังไม่มีคุณแม่คนไหนออกมาให้ข่าวว่าซื้อถุงยางให้ลูกชายพก ที่สำคัญลูกชายอายุเพียง 15 ปี!!! (ที่ใส่เครื่องหมายตกใจเนี่ย ดิฉันไม่ได้ตกใจนะคะ ตามข่าวเขาตกใจกัน)

ก่อนจะไปอ่าน ‘เสียงตอบรับ’ ของข่าวที่ทำให้ประเด็นนี้กลายเป็นประเด็นฮอตสังคม ขอเล่าเรื่องส่วนตัวนิดหน่อย สมัยที่หนังเรื่องสมเด็จพระนเรศวรกำลังถ่ายทำอยู่ ดิฉันได้รับใบสั่งให้ไปตกระกำลำบากที่กองถ่าย สัมภาษณ์นักแสดง และหนึ่งในนั้นคือน้องเก้า-จิรายุ ซึ่งยังตัวกะเปี๊ยกเดียว อายุแค่ 8-9 ขวบ ไม่นึกเลยว่าโตขึ้นมาและหล่อเซี๊ยะซะขนาดนี้ รู้อย่างนี้น่าจะสานต่อความสัมพันธ์กับแม่ก้อยไว้ (เบอร์โทรแม่ก้อยยังอยู่ในสมุดบันทึกอยู่เลย) จะได้ช่วยดูแลน้องเก้าตอนโต จะได้แบ่งเบาภาระแม่ก้อย ไม่ต้องมานั่งซื้อถุงยางให้น้องเก้า เดี๋ยวพี่รุ้งช่วยเอง!

เอาล่ะ...มาดูกันว่าเกิดอะไรบ้างหลังจากข่าวออกไป ตอนแรกมาดูมุมน้ำเงินฝ่ายสนับสนุนเสียก่อน

“ก็ถูกแล้วนี่...สมัยนี้พ่อแม่ต้องสอนลูกแบบนี้แหละ”

“เห็นด้วยค่ะ เรื่องพกถุงยางไม่ใช่เรื่องน่าเกลียด ควรเปลี่ยนความคิดซะใหม่ อย่างน้อยก็ช่วยป้องกันโรค ป้องกันการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม และอาจป้องกันการที่ผู้หญิงมาอ้างว่าเป็นพ่อของลูกได้”

“ลูกโตก็จะสอนแบบแม่น้องเก้าค่ะ”

“กันไว้ดีแล้ว เด็กสมัยนี้ไวมากๆ”

“เป็นการป้องกันไว้ก่อน ไม่อยากให้เกิดกรณีศึกษาแบบ ฟิล์ม กับ แอนนี่ ไง”

“พกไว้น่ะดีแล้ว สมันนี้เอดส์ยังเยอะอยู่นะ”

“ชื่นชมแม่น้องเก้าค่ะ”

“พกถุงแล้วอย่าลืมใส่ถุงนะ”

ต่อมาเชิญที่มุมแดง กับฝ่ายค้านค่ะ...

“จะชิงสุกก่อนห่ามทำไม”

“ยังเด็กอยู่เลย สอนแบบนี้แล้วเหรอ”

“วัฒนธรรมไทยหายไปไหน”

“อย่างนี้แหละ เด็กสมัยนี้”

“ถึงเวลากับเรื่องแบบนี้แล้วเหรอ ทำไมไม่รู้จักหักห้ามใจ”

“เด็กสมัยนี้มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรทั้งนั้น”

“ประเทศไทย สิ่งดีงามแต่อดีตไม่มีอีกแล้ว”

หนักสุดเห็นจะเป็นกรณีของอาจารย์แม่ รศ. สุนีย์ สินธุเดชะ ที่ออกมากล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

““กรณี นี้คำว่าถูกหรือผิดต่อกรณีนี้ไม่มีมีคำว่าควรหรือไม่ควร จริงๆ ในวัฒนธรรมของเรามันต้องรู้จัดคิดการวางตัว และรู้จักระวังตัวเรา เราต้องรู้จักคิดที่จะวางใจเราให้รู้จักรักให้เป็นรักให้พอ แล้วที่เขาประกาศลั่นว่ามีถุงยางติดตัว แบบนี้เขาเรียกกามอารมณ์ เรื่องตัณหา ไม่ใช่วัฒนธรรมไทย ในวัฒนธรรมของเรา จะทำอะไรต้องรู้จักคิดควรหรือไม่ควร ไอ้การที่จะไปบอกว่ามีถุงยางหรือไม่มีออกมาว่ามันเป็นการป้องกัน มันคนละเรื่องกัน ดังนั้นถ้าจะบอกว่าถุงยางเป็นของติดตัวตั้งแต่เด็กๆ มันก็บ้าไปใหญ่แล้ว”

“สิ่ง ที่ขาดไปกับสังคมไทยก็คือ การเรียนการสอนความเป็นวัฒนธรรมไทยวันนี้แทบจะไม่เรียนกันแล้ว 'เอาอย่างเขาจนไม่รู้จักคิด เขาก็เอ็นดูเราเหมือนลูกหมาที่นั่งได้' พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงตรัสเอาไว้เพราะไม่อยากให้ใครตามอย่างสิ่งที่ไม่งาม ไม่ใช่ว่าเตือนด้วยความห่วงแบบนี้เดี๋ยวพวกถุงยางก็มาโกรธเราอีก ฟังแล้วต้องตีความกันให้แตก คือในเนื้อในตัวคนเรามีมีสิ่งจำเป็นอยู่ไม่กี่อย่าง 1. เงิน 2. บัตรประจำตัว แต่โลกสมัยนี้ดันสอนว่าให้มีถุงยางติดตัวตลอด 24 ชม. มันจะบ้าแล้ว สอนแบบนี้ไม่ถูกต้อง”

“หมาเห็นมัน เดินถนนมันเห็นตัวเมียมันก็มีขอบเขตเหมือนกัน หรือตัวเมียไม่ใช่จะวิ่งร่านไปหาเรื่อยไป มันยังรู้จักคิด ต้องมีกรอบมีขอบเขต และจำกัดตัวเองได้ จำกัดอารมณ์ได้ มนุษย์แปลว่าผู้มีใจประเสริฐ คำว่ามนุษย์มาจาก มานะ แปลว่า ใจ สนธิกับ อุษย์ แปลว่า ประเสริฐ หากนำสองคำนี้สนธิกันกลายเป็น “มนุษย์” แปลว่าผู้มีใจประเสริฐ มันก็ชัดเจน จงทำตัวให้ประเสริฐ ทำตัวให้ถูกให้ควรกับคำว่ามนุษย์ ดังนั้นควรจะมีเซ็กซ์ ต้องตอนแต่งงาน”

ประชาไทบันเทิง : ยืดอกพกถุง

ซึ่งหลังจากนี้กลายเป็นประเด็นใหญ่โต สองแม่ลูกคนดัง ก็ออกมาให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า

คุณแม่ก้อย: "พี่ตั้งคำถามข้อหนึ่งว่ามีเด็กผู้ชายคนไหนได้แต่งงานกับผู้หญิงคนแรกในชีวิต ถามอีกว่าน้องที่ยืนอยู่นี่มีคนไหนที่ได้แต่งงานกับผู้ชายคนแรกในชีวิต 2 คำถามนี้คือคำตอบว่าสังคมเปลี่ยนแปลง ถามว่าพี่สอนให้หลานผู้หญิงรักนวลสงวนตัวไหม สอน และสอนให้ลูกชายรักนวลสงวนตัวและไม่ทำอะไรผู้หญิงไหม ก็สอน สังคมที่เปลี่ยนไปเราก็ต้องปล่อยให้ลูกออกไปใช้ชีวิตเมื่อโตขึ้น เราไม่สามารถตามเขาไปได้ตลอด เพราะฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือสอนให้ลูกรู้จักป้องกันตัวเอง วันนี้เขายังไม่ได้พกนะค่ะ ถ้าพี่เองมีลูกสาวและลูกสาวมีแฟน พี่ก็จะบอกให้เขาพกนะ เพราะมันคือการป้องกันตัวเอง ฉะนั้นถ้าผู้ชายไม่รับผิดชอบ จุดจบคุณก็คือบ้านพักฉุกเฉิน"

เก้า: "ถึงเวลา ผมว่าเปอร์เซ็นต์ส่วนมาก ถ้าไปอยู่ตรงนั้นแล้วคงห้ามตัวเองไม่ได้หรอก ด้วยความที่มีฮอร์โมนวัยรุ่น มีโอกาสเหมาะๆ ขนาดนั้น...มันไม่ผิดหรอกถ้าจะทำอะไร แต่ถ้าเราได้ป้องกันไว้ สุดท้ายถ้าเราเลิกกันมันก็ไม่มีปัญหา ถ้ายิ่งกว่าการตั้งครรภ์ก็คือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทุกอย่างมันคืออนาคตของเรา ถ้าผู้ชายรับผิดชอบกันทุกคนแล้วจะมีบ้านพักฉุกเฉินไว้ทำไม ก็อยากเตือนผู้หญิงให้ระวังตัวเองนิดนึงด้วยครับ"

คุณแม่ก้อย: "คำถามที่เป็นข่าวมันเป็นคำถามที่บอกว่า แม่มีวิธีการดูแลน้องยังไง พี่ก็บอกว่าสุดท้ายเมื่อถึงวัยที่น้องโตพอที่จะออกไปสังสรรค์กับเพื่อน ไปเรียนรู้ในสังคม พี่ก็เลยบอกว่าถ้าน้องต้องไปก็ต้องป้องกันตัวเองและคนที่เขาจะไปมีอะไรด้วย ในอนาคตนะ เด็กทุกคนอยากรู้อยากเห็นฉะนั้นเราก็ต้องเปิดโอกาสให้เขาได้รู้และเห็น ดีกว่าให้เขาพลาด ส่วนเรื่องความรับผิดชอบก็สอนกันมานานแล้วล่ะค่ะ ให้รับผิดชอบต่อตัวเองและต่อบุคคลอื่น"

หลังจากนั่งอ่านคอมเมนต์ในกระทู้มาหลายสิบกระทู้ตามเว็บบอร์ดต่างๆ แล้ว ดิฉันก็งงว่าข่าวนี้ มันลุกลามเป็นประเด็นใหญ่โตได้อย่างไร เพราะกว่า 90% ของความคิดเห็นในกระทู้ข่าวตามเว็บบอร์ดต่างๆ ต่างมีความเห็นว่าการที่คุณแม่ก้อยแนะนำให้ลูกชายพกถุงยางนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ประกอบไปด้วยเหตุผลการป้องกันเรื่องโรคที่เกิดจากเพศสัมพันธ์ การลดอัตราการมีลูกในวัยเด็ก ซึ่งอาจจะตามมาด้วยปัญหาสังคม และความจริงในสังคมสมัยนี้ ที่เด็กมีเซ็กซ์กันตั้งแต่อายุยังน้อย (ซึ่งที่จริงก็ฟังดูแปลกๆ อยู่นะ เพราะที่จริงน่าจะบอกว่าทุกสมัยมากกว่า แม้อัตราการช่วงอายุที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกจะต่ำลงเรื่อยๆ แต่อย่าลืมว่ากว่าจะมีการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ มนุษยชาติผ่านการมีเพศสัมพันธ์ผ่านมาแล้วกี่ปี การศึกษาวิจัยเก็บตัวอย่างกว้างขวาง มากน้อยแค่ไหน และอีกประการคือ ช่วงอายุการแต่งงานในสมัยนี้เริ่มอยู่ในช่วงอายุที่สูงขึ้นเรื่อยๆ นะคะ) ในขณะที่ฝ่ายที่ออกมาแสดงความคิดเห็นว่าไม่เห็นด้วย (เห็นแต่อาจารย์แม่ และไม่เกิน 10% ในเว็บบอร์ด) ไม่ถูกต้องนั้น ให้ความเห็นถึงเรื่องวัฒนธรรมไทยอันดี ความเป็นเด็ก ส่งเสริมให้มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันสมควร

แล้วข่าวที่บอกว่าเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ (ในแง่ลบ) มาจากไหน ? เพราะหากอ้างกระแสสังคมจะเห็นว่าสนับสนุนมากว่าคัดค้านด้วยซ้ำ ทำไมไม่มีข่าวออกมาว่า สังคมเห็นด้วยกับการสอนลูกชายวัยรุ่นของแม่ก้อย พร้อมยกย่องให้เป็นแม่ดีเด่นในวันแม่นี้ ?

ดิฉันชักสงสัยการทำข่าวของนักข่าวแล้วสิ !

ดิฉันจะไม่มานั่งวิเคราะห์เรื่องวาทะกรรมเรื่องพศในสังคมไทย ขี้เกียจลากเรื่องการรับอุดมคติในสังคฝรั่งยุควิกตอเรียนในชนชั้นสูงสมัยที่ต้องการยกประเทศให้ศิวิไลซ์ หรือความจริงในสังคมไทยเองที่การมีเพศสัมพันธ์ก็ไม่มี ‘วัยอันสมควร’ มาแต่ไหนแต่ไร หรือเรื่องทางชีวะวิทยาว่าเมื่อใดมีเพศสัมพันธ์ได้ หรือวาทกรรมของคำว่า ‘วัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของไทย’ (อ้าว...แล้วการป้งกันโรค ป้องกันการตั้งครรภ์ เมื่อไม่พร้อม มันไม่ ‘ดีงาม’ ตรงไหน ถ้าคนกว่า 90% เห็นว่าดีงาม ทำไมไม่บรรจุให้เป็นประเพณีวัฒนธรรมไทยอันดีงามของวัยรุ่นล่ะ) หลายๆ ท่านคงได้ยิน ได้อ่าน เรื่องแบบนี้มาจนเอียนแล้ว แต่ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์แบบนี้ คำว่า ‘ประเพณีวัฒนธรรมไทยอันดีงาม’ ก็จะรีบออกโรงมาปกป้องสังคม (ของใคร ?) อย่างกับเม้ดเลือดขาวเมื่อมีเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายเลยแหละ

ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ร่างกายของคำว่าประเพณีวัฒนธรรมไทยอันดีงามกำลังอ่อนแอลงทุกทีหรือเปล่า ?

เรื่องนี้ทำให้ดิฉันนึกถึงข่าวเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้ ข่าวขององค์สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ที่ 16 ที่ออกมากลับคำพูดว่าในปัจจุบันการใช้ถุงยางอนามัยไม่ควรถูกมองว่าเป็น ‘เรื่องศีลธรรม’ โดยองค์สมเด็จพระสันตะปาปาทรงเปิดใจยอมรับการใช้ถุงยางอนามัย หลังจากสำนักวาติกันเคยห้ามการคุมกำเนิดทุกวิธี โดยตรัสว่า

“เฉพาะในกรณีนี้ ซึ่งใช้เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ควรคำนึงถึงการใช้ถุงยางอนามัยในแง่ของการป้องกันเป็นอันดับแรก มากกว่าประเด็นมนุษยธรรมในการคุมกำเนิด”

อย่างที่รู้กันว่าศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิกอันเก่าแก่ ซึ่งมีพระสันตะปาปาเป็นผู้นำ (มีผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิกทั่วโลกว่า 1,100 ล้านคน) มีคำสอนว่าที่เดียวที่ผู้ชายจะหลั่งอสุจิได้ก็คือช่องคอลดของภรรยาตนเอง และ จากหนังสือคำสอนเล่มใหม่ที่ประกาศใช้โดยพระสันตะปาปายอห์นพอลที่สอง ข้อที่ 2396 บอกว่าการช่วยตัวเองทางเพศเป็น ‘บาป’ รวมทั้งบาป Fornication, (การใช้เพศนอกศีลแต่งงาน) Homosexual, Pornography) เป็นบาปที่ตรงกันข้าม หรือผิดต่อความบริสุทธิ์

การที่องค์พระสันตะปาปาในยุคปัจจุบันนั้น เหมือนว่าจะกลับการตีความคำว่า ‘บาป’ ใหม่ให้เป็นไปตามยุคสมัย โดยคำนึงถึงเรื่องการติดเชื้อเอชไอวี จากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันนั้น (ทั้งชายหญิงและเกย์ ซึ่งเรื่องเกย์ในสังคมคาธอลิกดูเหมือนจะผิดบาปกว่าผู้ชายหลั่งนอกมดลูกของภรรยาเสียอีก) ซึ่งแม้พระองค์จะไม่ได้บอกว่า ‘ไม่บาป’ แต่ก็ไม่ได้มีท่าทีแข็งกร้าวอย่างแต่ก่อนท่บอกว่าการใช้ถุงยางอนามัยนั้นเป็นเรื่องผิดศีลธรรม (ตามคำสอนของคาธอลิกอย่างเคร่งครัด)

ดิฉันไม่ได้มาชวนให้ตีความเรื่องน้องเก้าบาปไม่บาป ผิดศีลธรรมไม่ผิดศีลธรรม เพราะดิฉันก็ไม่รู้ว่าน้องเก้านับถือศาสนาใด แต่ที่ยกเรื่องนี้มาพูดถึงนั้นเห็นว่าในขณะที่คำสอนของศาสนาอันเก่าแก่ ยังถูกปรับเปลี่ยนได้ไปตามเหตุผลของยุคสมัย และที่สำคัญนั้นผู้ที่ออกมายอมรับการปรับเปลี่ยนนั้นคือคือผู้นำศาสนาอันยิ่งใหญ่ด้วย แล้วทำไม ความเชื่อ (อันงมงาย) ของคำว่าเพศภายใต้กรอบของวาทกรรมของคำว่าวัฒนธรรมไทยอันดีงาม มันถึงได้แข็งแกร่งนัก

หลายคนอาจจะบอกว่า มันไม่แข็งแกร่งอีกต่อไปแล้ว เพราะอย่างที่ดิฉันยกตัวอย่างและชี้ให้เห็นเองว่ากว่า 90% ของความเห็นในเว็บบอร์ดนั้นเห็นด้วยกับแม่น้องเก้าเสียเป็นส่วนใหญ่ นั่นหมายถึงว่าเรื่องเพศได้รับการยอมรับในวงกว้างตามเหตุผลของปัจจุบันสมัย และกรอบของเรื่องเพศภายใต้สาทกรรมของคำว่าวัฒนธรรมไทยอันดีงามได้สั่นคลอน ไม่ได้แข็งแกร่งอีกต่อไปแล้ว

ซึ่งดิฉันว่า ‘ยังไม่จริง’ หรอก แม้ความคิดเห็นของคนในสังคม (ส่วนใหญ่ตามเว็บบอร์ด) จะเห็นด้วย แต่หากสังเกตดีๆ จะเห็นว่า ภายใต้การเห็นด้วยนั้น ยังคงแน่นหนา แข็งแกร่งไปด้วยกรอบอีกกรอบ อย่างความคิดเห็นที่ว่า

“ผู้หญิงสมัยนี้น่ากลัวกว่าผู้ชายอีก”

“ระวังผู้หญิงจะมาอ้างว่าเป็นพ่อของลูก”

ดิฉันคิดว่าหากในกรณีเดียวกันนี้ เปลี่ยนจากแม่น้องเก้า เป็นแม่ของน้องดาราผู้หญิงวัยทีนสักคน สมมติว่าชื่อ ‘รุ้งรวี’ แล้วกัน ออกมาให้ข่าวว่าแนะนำให้ลูกสาววัย 15 ปีพกถุงยางเพื่อป้องกันโรคจาการมีเพศสัมพันธ์ และการตั้งครรภ์ ในกรณีที่ต้องมีเพศสัมพันธ์ เช่น

แม่น้องรุ้ง : ดิฉันคิดว่าเราปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าปัจจุบัน เด็กสมัยนี้ หรือสมัยไหน ก็มีเพศสัมพันธ์กันเป็นเรื่องปรกติ ตามวัยที่มีฮอร์โมนเพศ หลั่งน้ำอสุจิ มีเมนส์กันแล้ว ดิฉันจึงแนะนำให้ลูกสาว น้องรุ้งพกถุงยางไว้ เผื่อเด็กผู้ชายมันไม่ยอมพก เพราะถ้าเกิดมีเพศสัมพันธ์กันจริงๆ จะได้สามารถป้องกันโรคติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ หรือการตั้งคครภ์ได้ค่ะ

น้องรุ้ง : ค่ะ คุณแม่แนะนำให้รุ้งพกไว้ เพราะไม่ไว้ใจว่าเด็กผู้ชายจะพก และจะมาบอกให้ผู้หญิงปฏิสธการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายถ้าผู้ชายไม่ใช้ถุงยาง บางสถานการณ์ก็ยากค่ะ บางครั้งผู้ชายก็หว่านล้อมว่ารัก ไม่ปเนไรหรอก จะหลั่งข้างนอก ไม่ท้องแน่นอน ไม่มีโรคแน่นอเพราเพิ่งเป็นแฟนกัน และผู้หญิงเอง ก็ทั้งรักทั้งมีอารมณืร่วมเหมือนกันค่ะ เดี๋ยวจะพานยอมมีเซ็กซ์แบบไม่ใส่ถุงเอา รุ้งคิดว่าผู้หญิงเราพกไว้ก็ดีค่ะ หรือมีติดหัวเตียงไว้บ้างก็ดี ต้องขอบคุณคุณแม่รุ้งนะคะ ท่านรอบคอบและเป็นห่วงรุ้งจริงๆ แต่รุ้งก็อยากบอกให้ผู้ชายช่วยกันพกด้วยนะคะ

ถ้าเป็นแบบนี้ สังคมไทยจะว่าอย่างไร ? ไม่แคล้วภูมิคุ้มกันในชื่ของวัฒนธรรมไทยอันดีงาม และผู้หญิงไทย ต้องออกโรงมาป้องกันกันอย่างแข็งแกร่ง และคาดว่าแม่น้องรุ้งกับน้องรุ้งคงเจ็บหนักกว่าแม่น้องเก้ากับน้องเก้าแน่

ถามหน่อยเถอะว่าถ้าน้องเก้ามีเซ็กซ์...จะมีเซ็กซ์กับใคร ถ้าไม่ใช่ (ซึ่งเป็นไปได้มากว่า) สาวรุ่นเดียวกัน ? และถ้าน้องเก้าไม่พกล่ะ แต่สาวคนนั้นพกล่ะ ? มันก็ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์เหมือนกันไม่ใช่หรือ

น้องรุ้งคิดว่าน่าจะใช่นะคะ...นะคะ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สรกล อดุลยานนท์

Posted: 07 Aug 2011 07:56 AM PDT

"ฝ่ายค้าน" ที่น่ากลัวที่สุดของรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"

ไม่ใช่ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ไม่ใช่ "ชวน หลีกภัย"

แต่เป็น "ความคาดหวัง"

คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 - 6 สิงหาคม 2554

ทปอ. มีมติเลื่อนเปิดเทอมมหาวิทยาลัยให้ตรงกับชาติอาเซียน

Posted: 07 Aug 2011 01:03 AM PDT

ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยมีมติให้มีการเลื่อนเปิดภาคเรียนมหาวิทยาลัยให้ตรงกับประเทศอาเซียน เริ่มปี 2555 ส่วนกรณีการรับตรงนักศึกษามหาวิทยาลัยร่วมกันจะเสร็จสิ้นภายในเดือน มี.ค. เตรียมการออกข้อสอบ 7 วิชาไว้พร้อมแล้ว

สำนักข่าวไทย รายงานวานนี้ (6 ส.ค.) ว่า ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ครั้งที่ 4/2554 เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ในการเตรียมพร้อมมหาวิทยาลัยเข้าสู่ประชาคมอา เซียน โดยจะเริ่มภายในปีการศึกษา 2555 ด้วยการเลื่อนการเปิดภาคเรียนให้เป็นสากล จึงทำให้ต้องเปลี่ยนจากการเปิดภาคเรียนเดือนมิถุนายน เป็นราวต้นเดือนกันยายนแทน เหมือนกับประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 9 ประเทศที่มีการเปลี่ยนตรงกันแล้ว ซึ่งจะมีประโยชน์ในด้านการแลกเปลี่ยนนักศึกษาที่อาจจะเป็นอุปสรรคได้ หากการเปิด-ปิดภาคเรียนของไทยไม่ตรงกับประเทศสมาชิกอาเซียน

อย่างไรก็ดี นอกจากไทยต้องปรับเข้าหาประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ยังมีประเด็นที่ประเทศเพื่อนบ้านต้องปรับบ้าง คือ จำนวนปีที่นักเรียนเรียนก่อนเข้าศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ประเทศไทยและบางประเทศใช้เวลาเรียน 12 ปี แต่สำหรับพม่าและฟิลิปปินส์เรียน 10 ปี จึงอาจต้องออกแบบหลักสูตรให้ประเทศที่เรียนจำนวนปีน้อยกว่าได้เรียนเพิ่ม เช่น อาจมีวิชาปรับพื้นฐาน เป็นต้น เนื่องจากอาจจะกระทบกับอัตราค่าจ้างได้ หากจบปริญญาตรี แต่มีการเรียนในจำนวนปีที่น้อยกว่า เป็นต้น ส่วนประเด็นการรองรับวิทยฐานะ เป็นรายละเอียดที่จะดูต่อในอนาคต

สำหรับการเตรียมการสอบรับตรงนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัยร่วมกัน ประธาน ทปอ. กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบเกี่ยวกับเรื่องเทคนิคไปแล้ว เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม เช่น เรื่องการยืนยันสิทธิ การตัดสิทธิ การออกบัตรประจำตัวผู้สอบ โดยการรับตรงร่วมกันจะทำให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมีนาคม เพื่อไม่ให้กระทบกับการสอบแอดมิชชั่นส์กลาง ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน - ต้นเดือนพฤษภาคม ดังนั้น เรื่องการออกข้อสอบ 7 วิชาได้เตรียมการเรียบร้อยแล้ว ไม่มีปัญหาใดๆ มีการจัดเวิร์กชอปการเตรียมการด้านเทคนิคเรียบร้อยแล้ว กรอบเวลาต่างๆ ในการยืนยันสิทธิ ตัดสิทธิ ทำความเข้าใจกับสถาบันต่างๆ การสมัครหลายๆ มหาวิทยาลัยทำอย่างไร

ประธาน ทปอ. กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังเห็นพ้องต้องกันอีกหลายประเด็น อาทิ การเพิ่มเงินเดือนให้พนักงานมหาวิทยาลัยทั้ง 79 แห่ง จำนวนร้อยละ 5 ซึ่งหากไม่รีบจัดสรรให้ทันปีงบประมาณ 2554 จะทำให้เกิดผลกระทบกับการจัดสรรงบประมาณบุคลากรปี 2555 โดย ทปอ.จะทำหนังสือยื่นไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ จากนั้นจะเข้าชี้แจงด้วยตนเอง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปิยบุตร: การลดพระราชอำนาจกษัตริย์ในสวีเดน และการเพิ่มพระราชอำนาจกษัตริย์ในลิคเตนสไตน์

Posted: 07 Aug 2011 12:07 AM PDT

ปิยบุตร แสงกนกกุล

ที่มา: เว็บไซต์นิติราษฏร์

 

 

สวีเดนตรารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นใช้บังคับเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๑๙๗๔ รัฐธรรมนูญนี้ประกอบด้วยเอกสารทางกฎหมาย ๔ ฉบับที่มีค่าในระดับรัฐธรรมนูญ ได้แก่ โครงสร้างทางการเมืองการปกครอง, กฎมณเฑียรบาล, การรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น, การรับรองเสรีภาพของสื่อ

สาระสำคัญประการหนึ่งของรัฐธรรมนูญนี้ คือ การลดพระราชอำนาจกษัตริย์ในทางการเมือง โดยยังยืนยันให้กษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ แต่เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่มีมรดกตกทอดมาทางประวัติศาสตร์เท่านั้น กล่าวเช่นนี้ อาจเข้าใจกันว่า ระบอบของสวีเดนก็ไม่ต่างอะไรกับประเทศประชาธิปไตยที่ใช้ประมุขเป็นกษัตริย์ ดังเช่น สหราชอาณาจักร สเปน เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น แต่หากพิจารณารัฐธรรมนูญของสวีเดนโดยละเอียดแล้วจะพบว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกเลิกเทคนิค “การลงพระปรมาภิไธย-การสนองพระบรมราชโองการ”

กระบวนการนิติบัญญัติของสวีเดนกำหนดไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญเลยว่า เมื่อสภา Riksdag (สวีเดนใช้ระบบสภาเดียว) ลงมติเห็นชอบในร่างกฎหมาย รัฐบาลต้องประกาศให้ร่างกฎหมายนั้นมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายโดยไม่มีเงื่อนไข จะเห็นได้ว่า องค์กรผู้ทำหน้าที่ประกาศใช้กฎหมาย คือ รัฐบาล ไม่ใช่กษัตริย์เหมือนดังประเทศอื่นที่ใช้กษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งต้องมีกระบวนการทูลเกล้าฯถวายร่างพระราชบัญญัติให้กษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมาย

การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีก็เช่นกัน รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประธานสภา Riksdag (สวีเดนเรียกตำแหน่งประธานสภาว่า “โฆษกสภา”) ทำหน้าที่เสนอชื่อบุคคลผู้เหมาะสมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยประธานสภาจะหารือกับทุกพรรคการเมือง จากนั้นจึงเสนอชื่อให้สภา Riksdag ลงมติเห็นชอบ หากสภา Riksdag มีมติไม่เห็นชอบ ประธานสภาต้องเสนอชื่อบุคคลอื่นขึ้นไปใหม่ ในกรณีที่เสนอไป ๔ ครั้ง สภา Riksdag ยังไม่มีมติเห็นชอบ ก็ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาใหม่ ภายใน ๙๐ วัน อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ พบว่าเมื่อประธานสภาเสนอชื่อครั้งแรก สภา Riksdag ก็จะมีมติเห็นชอบทันที เพราะ ก่อนจะเสนอชื่อ ได้มีการหารือเป็นการภายในกันก่อนแล้วนั่นเอง เมื่อสภา Riksdag ลงมติเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประธานสภาเป็นผู้ลงนามแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ความข้อนี้ จะเห็นได้ว่าเป็นการตัดพระราชอำนาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีของกษัตริย์ และให้ประธานสภา Riksdag ทำหน้าที่แทน

บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ๑๙๗๔ ที่แสดงให้เห็นชัดถึงการลดพระราชอำนาจของกษัตริย์อีกประการหนึ่ง คือ การยุบองค์กรองคมนตรี เดิมสวีเดนมีองคมนตรีซึ่งประกอบด้วยบุคคลที่กษัตริย์แต่งตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษา แต่ด้วยระบอบการปกครองประชาธิปไตยสมัยใหม่ตามรัฐธรรมนูญ ๑๙๗๔ ไม่มีความจำเป็นต้องมีองคมนตรีอีกต่อไป เพราะ องค์กรที่ปรึกษากษัตริย์ในทางการเมือง ก็คือรัฐบาลนั่นเอง

ในหมวดประมุขของรัฐ ยังคงมีบทบบัญญัติเกี่ยวกับความคุ้มกันของกษัตริย์ไว้ว่า ผู้ใดจะฟ้องร้องกษัตริย์ไม่ได้ ในกรณีที่กษัตริย์ต้องการเดินทางไปต่างประเทศ กษัตริย์ต้องปรึกษาหารือนายกรัฐมนตรีก่อนทุกครั้ง หากกษัตริย์พักงานในหน้าที่ไปเกิน ๖ เดือน หรือล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่ ประธานสภาอาจเสนอให้ที่ประชุมสภาพิจารณาว่าสมควรถอดกษัตริย์ออกจากบังลังก์หรือไม่ ในกรณีกษัตริย์ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือไม่มีบุคคลใดทำหน้าที่กษัตริย์ ให้สภา Riksdag เลือกบุคคลใดมาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนชั่วคราว หากไม่มีบุคคลใดได้รับความเห็นชอบ ก็ให้ประธานสภา Riksdag เป็นผู้สำเร็จราชการแทน

จะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญ ๑๙๗๔ ได้ลดพระราชอำนาจของกษัตริย์จนเหลือเพียงบทบาทในทางสัญลักษณ์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญก็ยังคงกำหนดให้กษัตริย์มีส่วนร่วมในทางการเมืองอยู่บ้างใน ๓ กรณี

กรณีแรก บทบัญญัติในมาตรา ๑ แห่งหมวด ๕ กำหนดว่านายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องแจ้งข่าวคราวของกิจการบ้านเมืองให้กษัตริย์รับทราบด้วย กรณีที่สอง กษัตริย์ทรงเป็นประธานในการประชุมร่วมพิเศษ การประชุมนี้จะมีขึ้นเฉพาะกรณีจำเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น ในความจริง บทบาทการดำเนินการประชุมอยู่ที่ประธานสภา ส่วนกษัตริย์ทรงเป็นประธานในที่ประชุมเพียงแต่ในนามเท่านั้น และกรณีที่สาม กษัตริย์ทรงเป็นประธานคณะกรรมการที่ปรึกษากิจการต่างประเทศ

เมื่อกษัตริย์สวีเดนแทบไม่หลงเหลือพระราชอำนาจทางการเมืองอีกเลย จึงอาจเกิดข้อสงสัยกันว่า แล้วสวีเดนยังคงรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้เพื่ออะไร? คำตอบก็คือ การดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์สวีเดน เป็นไปเพื่อรักษามรดกตกทอดทางประวัติศาสตร์ไว้เท่านั้น โดยปัจจุบันกษัตริย์สวีเดน ทำหน้าที่ต้อนรับพระราชอาคันตุกะ เข้าร่วมพิธีการสำคัญ เข้าร่วมรัฐพิธีเปิดประชุมสภา และเป็นผู้มอบรางวัลโนเบลเท่านั้น

ตรงกันข้ามกับสวีเดน ลิคเตนสไตน์มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในปี ๒๐๐๓ เพื่อเพิ่มพระราชอำนาจทางการเมืองให้กับเจ้าชาย (ลิคเตนสไตน์เรียกประมุขของรัฐว่า “เจ้าชาย”)

เจ้าชายมีพระราชอำนาจทางการเมืองในหลายกรณี ตั้งแต่การควบคุมรัฐบาล การมีส่วนร่วมในกระบวนการนิติบัญญัติ การแต่งตั้งผู้พิพากษา ตลอดจนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๐ กำหนดว่า กรณีที่รัฐสภาหรือเจ้าชายไม่ไว้วางใจรัฐบาล รัฐบาลต้องพ้นจากตำแหน่งไป ในระหว่างนั้น เจ้าชายจะจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวเพื่อทำหน้าที่บริหารประเทศไปพลางก่อน เมื่อปฏิบัติหน้าที่ไปได้ ๔ เดือน รัฐสภาจะพิจารณาลงมติว่าไว้วางใจรัฐบาลชุดนี้ให้บริหารราชการแผ่นดินต่อไปหรือไม่

ในส่วนของกระบวนการนิติบัญญัติ เมื่อรัฐสภาทูลเกล้าฯถวายร่างพระราชบัญญัติให้เจ้าชายทรงลงพระปรมาภิไธยเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย หากเจ้าชายไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชบัญญัตินั้นกลับมาภายใน ๖ เดือน ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นตกไป

เมื่อเจ้าชายทรงมีพระราชอำนาจทางการเมืองโดยแท้เช่นนี้ แต่บทบัญญัติในมาตรา ๗ กลับรับรองความคุ้มกันของเจ้าชายไว้ว่า เจ้าชายไม่ต้องรับผิดและไม่อาจถูกฟ้องในศาล และบทบัญญัติในมาตรา ๖๓ กำหนดเช่นกันว่าเจ้าชายไม่ถูกควบคุมโดยรัฐสภา ความข้อนี้ เป็นการนำหลักการซึ่งปรากฏในประเทศประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์มาใช้ โดยลืมไปว่าที่กษัตริย์ไม่ต้องรับผิดนั้น เพราะกษัตริย์ไม่ได้มีและใช้อำนาจทางการเมืองโดยแท้ แต่เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการที่เป็นผู้ใช้อำนาจอย่างแท้จริง

การคัดเลือกผู้พิพากษาก็เช่นกัน รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งทำหน้าที่สรรหา โดยมีเจ้าชายเป็นประธาน เจ้าชายจะเสนอรายชื่อบุคคลผู้เหมาะสมดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษามาส่วนหนึ่ง รัฐสภาเสนอรายชื่อมาส่วนหนึ่ง และรัฐบาลเสนอรายชื่อมาอีกส่วนหนึ่ง จากนั้นให้รัฐสภาลงมติเลือก

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐธรรมนูญลิคเตนสไตน์จะกำหนดความคุ้มกันให้กับเจ้าชายอยู่มาก แต่มีบทบัญญัติกำหนดให้ประชาชนได้มีโอกาสควบคุมเจ้าชายโดยตรง ในสองช่องทาง ดังนี้

ช่องทางแรก พลเมืองจำนวน ๑๕๐๐ คนขึ้นไป มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติไม่ไว้วางใจเจ้าชายได้ เมื่อรัฐสภารับเรื่องแล้ว ก็จะส่งต่อให้เจ้าชายและสำนักพระราชวังพิจารณา การเข้าชื่อดังกล่าวไม่มีผลผูกมัดทางกฎหมายใดๆ แต่เป็นเจ้าชายและสำนักพระราชวังที่จะพิจารณาเองว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ช่องทางที่สอง พลเมืองจำนวน ๑๕๐๐ คน ขึ้นไป มีสิทธิเข้าชื่อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อล้มเลิกระบอบกษัตริย์ได้ จากนั้นรัฐสภาจะจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแบบสาธารณรัฐขึ้นภายใน ๑ ปี หรืออย่างช้าไม่เกิน ๒ ปี ในขณะเดียวกัน เจ้าชายก็มีสิทธิจัดทำร่างรัฐธรรมนูญของตนด้วย เมื่อมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ รัฐธรรมนูญกำหนดให้พลเมืองลงประชามติว่าเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับใด (ซึ่งอาจมี ๓ ฉบับให้เลือก ได้แก่ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ร่างรัฐธรรมนูญแบบสาธารณรัฐที่รัฐสภาจัดทำ และร่างรัฐธรรมนูญที่เจ้าชายจัดทำขึ้น)

อนึ่ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มพระราชอำนาจของเจ้าชายของลิคเตนสไตน์นี้ จัดทำร่างขึ้นโดยสำนักพระราชวัง ในระหว่างจัดทำและก่อนมีการลงประชามตินั้น คณะกรรมาธิการเพื่อประชาธิปไตยด้วยกฎหมาย หรือที่เรียกกันว่า คณะกรรมาธิการเวนิส ซึ่งสังกัดอยู่กับ Council of Europe ได้วิจารณ์การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าด้วยพระราชอำนาจทางการเมืองของเจ้าชายนั้น ไม่สอดคล้องกับหลักการในการปกครองระบอบประชาธิปไตย

เมื่อพิจารณาจากการลดพระราชอำนาจกษัตริย์ของสวีเดน และการเพิ่มพระราชอำนาจเจ้าชายของลิคเตนสไตน์แล้ว พบว่า กรณีของสวีเดนมีความสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ และลดพระราชอำนาจลงมากไปกว่าในประเทศที่มีกษัตริย์เป็นประมุขด้วยกัน จนอาจกล่าวได้ว่า สวีเดนไม่ได้ใช้ระบอบ Constitutional Monarchy แต่เป็น ระบอบ Semi-Republic Semi-Monarchy ตรงกันข้าม กรณีของลิคเตนสไตน์ที่เพิ่มพระราชอำนาจทางการเมืองให้กับเจ้าชายค่อนข้างมาก ถึงขนาดที่เจ้าชายเป็นองค์กรหนึ่งที่ใช้อำนาจอธิปไตยโดยตรงร่วมไปกันกับ รัฐสภา รัฐบาล และศาล อาจกล่าวได้ว่า ลิคเตนสไตน์ไม่ได้ใช้ระบอบการปกครองประชาธิปไตย แต่เป็นระบอบ Semi- Constitutional Monarchy 

 

----------------------------------------------------

ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 20 กันยายน 2550

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น