ประชาไท | Prachatai3.info |
- TCIJ: ร้อง นายก อบจ.ชัยภูมิ จี้ย้าย ผอ.รร.โป่งนกประชาสามัคคี เหตุปัญหาการบริหาร
- กฟผ.รุกโรงไฟฟ้าลิกไนต์สะบ้าย้อย ตั้งผู้นำชาวบ้าน–ศาสนา ดึงมวลชน
- ความอดทนคือแก่นธรรม คำสอนจาก‘ผู้นำ 3 ศาสนา’
- สุริยะใส กตะศิลา
- TCIJ: นักวิชาการเปิดเวทีถกปัญหาพัฒนาใต้ ดันสู่งานวิจัย
- ประกายไฟการละครตอน “แม่-พิมพ์” การตั้งคำถามต่อความรักของ “แม่ตัวเอง”
- ความขัดแย้ง “วังน้ำเขียว-แก่งกระจาน” ต้องไปให้ถึงการปฏิรูปกฎหมายป่าไม้
- ส.นักข่าววิทยุและโทรทัศน์ฯ ร้องหยุดคุกคามสื่อ พร้อมจี้รัฐบาลดูแลมวลชน
- สืบพยานโจทก์นัดแรกคดี “สุรชัย แซ่ด่าน” หมิ่นเบื้องสูง
- ร้ายสไตล์บายรุ้งรวี : เลี้ยงลูกอย่างไรให้มีวัฒนธรรม
- ฐากูร บุนปาน
TCIJ: ร้อง นายก อบจ.ชัยภูมิ จี้ย้าย ผอ.รร.โป่งนกประชาสามัคคี เหตุปัญหาการบริหาร Posted: 31 Aug 2011 11:27 AM PDT ผู้ปกครอง-ชาวบ้าน ต.โป่งนกรวมตัวกว่า 350 คน ร้องนายก อบจ.ชัยภูมิ สั่งให้ย้ายผู้อำนวยการสถานศึกษาโรงเรียนโป่งนกประชาสามัคคี แจงเหตุผลจากปัญหาการบริหาร 11 ข้อ วานนี้ (31 ส.ค.54) กลุ่มผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนโป่งนกประชาสามัคคี และชาวบ้านบ้านบุ่งเวียน หมู่ 4 บ้านคลองผักหวาน หมู่ 14 และบ้านโคกชาติ หมู่ 9 ต.โป่งนก อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ จำนวนราว 350 รวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือต่อ สุริยน ภูมิรัตนประพิณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ เรียกร้องให้ย้ายนายสุวัฒน์ ปรีชาวงค์ ผู้อำนวยการโรงเรียนโป่งนกประชาสามัคคี จดหมายดังกล่าวระบุเหตุผล 11 ข้อ ประกอบด้วย 1.การบริหารโรงเรียนไม่พัฒนาเท่าที่ควรจะเป็น 2.บุคลากรในโรงเรียนแบ่งฝักฝ่ายทำงานไม่เป็นไปทางเดียวกัน 3.การทำประกันอุบัติเหตุในโรงเรียน เมื่อนักเรียนประสบอุบัติเหตุไม่ได้รับค่าชดเชย 4.ครูในโรงเรียนมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่อวิชาชีพครู (มีพฤติกรรมชู้สาว) 5.เปลี่ยนกรรมการบริหารโรงเรียนชุดใหม่โดยที่กรรมการชุดเก่าไม่ทราบสาเหตุ 6.การจัดกิจกรรมในโรงเรียนเพื่อส่งเสริมทักษะของนักเรียนไม่มีเท่าที่ควร 7.กีฬาที่เคยทำชื่อเสียงให้โรงเรียนเป็นเวลาหลายปี เช่น กีฬายกน้ำหนักไม่มีการสานต่อและส่งเสริม 8.ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนมีความสัมพันธ์ที่แย่ลง มีความห่างเหินกัน ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 9.เงินงบประมาณในการซื้อชุดนักเรียนไม่ถึงตัวนักเรียน 10.เงินงบประมาณในการซื้ออุปกรณ์การเรียน หนังสือเรียน ไม่โปร่งใส และ 11.การเรียนการสอนไม่เต็มที่ ทำให้เด็กหนีการเรียนเป็นประจำ ทั้งนี้ โรงเรียนโป่งนกประชาสามัคคี สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งอยู่ที่ บ้านโคกชาติ หมู่ 9 ต.โป่งนก อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ อนึ่ง รายละเอียดของจดหมาย มีดังนี้
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
กฟผ.รุกโรงไฟฟ้าลิกไนต์สะบ้าย้อย ตั้งผู้นำชาวบ้าน–ศาสนา ดึงมวลชน Posted: 31 Aug 2011 09:03 AM PDT เมื่อเวลา 10.00–12.00 น. วันที่ 31 สิงหาคม 2554 ที่ห้องสงขลา 1 โรงแรม บี.พี. สมิหลาบีช อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา นายพิรสิญจ์ พันธุ์เพ็ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานการประชุมคณะกรรรมการศึกษาผลดีผลเสียของการดำเนินงานโครงการศึกษาการมีส่วนร่วมพัฒนาแหล่งลิกไนต์สะบ้าย้อย ครั้งที่ 2/2554 โดยมีคณะกรรรมการฯ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้าร่วมปประมาณ 50 คน นายพิชญา เพิ่มทอง หัวหน้ากองปฏิบัติการสำรวจ หัวหน้าโครงการพัฒนาเหมืองสะบ้าย้อย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รายงานต่อที่ประชุมว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาผลดีและผลเสียของการดำเนินงานโครงการศึกษาการมีส่วนร่วมการพัฒนาแหล่งลิกไนต์สะบ้าย้อย โดยมีประชาชนจากทุกภาคส่วน ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ และผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมเป็นคณะกรรมการ มีหน้าที่ชี้แจง ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ความเข้าใจกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อขอฉันทามติจากประชาชนในพื้นที่ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เข้าไปศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการพัฒนาแหล่งลิกไนต์สะบ้าย้อย จากนั้นให้รายงานผลการดำเนินงานให้คณะกรรมการฯ ระดับจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานทราบ นายพิชญา รายงานด้วยว่า หลังจากศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเรียบร้อยแล้ว จะต้องมีการลงประชามติเพื่อขอความเห็นชอบจากประชาชนในพื้นที่ พร้อมกับให้มีการประชุมคณะกรรมการศึกษาผลดีผลเสียของการดำเนินงานโครงการศึกษาการมีส่วนร่วมพัฒนาแหล่งลิกไนต์สะบ้าย้อยระดับจังหวัดทุก 4 เดือนเพื่อติดตามความก้าวหน้าของงาน นายพิชญา รายงานอีกว่า ระหว่างปี 2554–2555 กฟผ.จัดงบประมาณเพื่อการศึกษาเหมืองลิกไนต์สะบ้าย้อย 20 ล้านบาท จัดงบประมาณเพื่อชุมชน ประมาณ 4 ล้านบาท ถ้าผลการศึกษาแล้วเสร็จ และชุมชนตัดสินใจจะพัฒนาโครงการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีงบประมาณเพื่อชุมชนปีละ 50 ล้านบาท เป็นเวลา 25 ปี จะรับผู้มีความรู้ความสามารถและแรงงานในท้องถิ่นมาทำงาน จ่ายเงินภาษีบำรุงท้องที่ตามที่รัฐกำหนด และเปิดให้ชุมชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของโดยลงทุนในรูปแบบสหกรณ์ท้องถิ่น “ชาวบ้านในพื้นที่ติดมองถ่านหินเป็นเรื่องอันตราย บวกกับกระแสการต่อต้านพลังงานถ่านหิน ที่จังหวัดสมุทรสาคร รวมทั้งกระแสต่อต้านอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในภาคใต้ของคนใต้ ในแผนปฏิบัติการเพชรเกษม 41 ทำให้คณะกรรมการฯ ต้องทำงานหนักขึ้น” นายพิชญา กล่าว นายอนิรุทร บัวอ่อน ปลัดอาวุโส อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา รายงานต่อที่ประชุมว่า เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2554 ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาได้ลงนาม ในหนังสือที่ สข 0016.2/ว3971 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรรมการศึกษาผลดีผลเสียของการดำเนินงานโครงการศึกษาการมีส่วนร่วมพัฒนาแหล่งลิกไนต์สะบ้าย้อยระดับอำเภอ จากนั้น วันที่ 19 สิงหาคม 2554 มีการจัดประชุมคณะกรรรมการฯ ระดับอำเภอ ที่ห้องประชุมอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ผลการดำเนินโครงการเสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตำบลทุ่งพอ และตำบลใกล้เคียง อำเภอสะบ้าย้อย มีการชี้แจงประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง คือ กลุ่มผู้นำศาสนา ปราชญ์ชาวบ้าน ตัวแทนชาวบ้านหมู่ละ 6 คน และกลุ่มข้าราชการ ผู้นำชุมชน สาธรณสุข ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) เป็นต้น “มีบางคนที่ทางอำเภอเสนอชื่อไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาแต่งตั้ง เป็นคณะกรรมการฯ ระดับอำเภอ ตอบปฏิเสธที่จะเข้าเป็นคณะกรรมการฯ ระดับอำเภอ เกรงจะถูกมองในแง่ลบว่า ไปสนับสนุนการสำรวจเหมืองหิน ที่ถูกชาวบ้านต่อต้าน” นายอนิรุทร กล่าว
....................... คำสั่งจังหวัดสงขลา ที่ 2197/2554 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาผลดีและผลเสียของการดำเนินงานโครงการศึกษาการมีส่วนร่วมการพัฒนาแหล่งลิกไนต์สะบ้าย้อย ............................................................................................. ตามที่จังหวัดสงขลา ได้มีประกาศจังหวัดเรื่อง คณะกรรมการศึกษาผลดีผลเสียของการดำเนินงานโครงการศึกษาการมีส่วนร่วมการพัฒนาแหล่งลิกไนต์สะบ้าย้อย ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2551 เพื่อศึกษาถึงผลดีและผลเสียของการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ จากแหล่งลิกไนต์สะบ้าย้อย นั้น ในการนี้ เพื่อได้การศึกษาผลดีผลเสียของการดำเนินงานโครงการศึกษาการมีส่วนร่วมพัฒนาแหล่งลิกไนต์สะบ้าย้อย ดำเนินการต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ จึงขอประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาผลดีผลเสียของการดำเนินงานโครงการศึกษาการมีส่วนร่วมการพัฒนาแหล่งลิกไนต์สะบ้าย้อยระดับอำเภอ ดังมีรายนาม ดังนี้
โดยให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
อนึ่ง สำหรับค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติของคณะกรรมการฯ อนุกรรมการ คณะทำงาน และการจัดกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของชุมชน ให้เบิกจ่ายจากการไฟฟ้าฝ้ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ สิงหาคม 2554 เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554
(นายวิญญู ทองสกุล)
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
ความอดทนคือแก่นธรรม คำสอนจาก‘ผู้นำ 3 ศาสนา’ Posted: 31 Aug 2011 08:23 AM PDT รอมะฎอน (رمضان) หรือเราะมะฏอน หรือรอมฎอนคือเดือนที่ 9 ของปฏิทินฮิจญ์เราะฮฺ หรือปฏิทินอิสลาม เป็นเดือนที่มุสลิมถือศีลอดทั้งเดือน ด้วยเหตุนี้จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า เดือนบวช ถือว่าเป็นเดือนที่สำคัญที่สุดเดือนหนึ่ง มุสลิมจะต้องอดอาหารเพื่อที่จะได้มีความรู้สึกถึงคนที่ไม่ได้รับการดูแลจากสังคม เช่น คนยากจน เป็นต้น เดือนนี้ยังเป็นเดือนที่อัลกรุอานได้ถูกประทานลงมาเป็นทางนำให้กับมนุษย์ มุสลิมจึงต้องอ่านอัลกุรอาน เพื่อศึกษาถึงสิ่งที่พระเจ้าต้องการให้มนุษย์รู้ว่า การเป็นอยู่ในโลกนี้และโลกหน้าจะเป็นอย่างไร และจะต้องทำตัวอย่างไรบ้าง กิจกรรมพิเศษของมุสลิมนิกายซุนนะหฺคือ การละหมาดตะรอเวียะฮฺในยามค่ำของเดือนนี้ เมื่อสิ้นเดือนรอมะฎอนแล้ว จะมีการเฉลิมฉลองในวันที่ 1 เดือนเชาวาล เรียกว่า “อีดุลฟิฏริ” หรือวันอีดเล็ก ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 29 สิงหาคม 2554 ก่อนจะถึงวันสิ้นเดือนรอมะฎอน คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดเสวนา 3 ศาสนาเรื่องอดทน...ธรรมดี นำเสวนาโดยผู้นำศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 24 สิงหาคม 2554 มีนักศึกษาชั้นปีที่ 1 เข้าร่วมเสวนาประมาณ 100 คน เนื้อหาสาระของการเสวนาในวันนั้น ผู้นำเสวนาต่างแจงให้เห็นว่า ทุกศาสนาต่างเน้นให้ศานิกของแต่ละศาสนามีความอดทน “พุทธศาสนาสอนว่า ความอดทนในจิตใจ เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีในตัวทุกคน ซึ่งความอดทนนั้นมี 4 ประการ คือ 1.อดทนต่อความลำบาก 2.อดทนต่อความเจ็บปวดใจ 3.อดทนต่อความไม่สบายใจและการเป็นไข้ 4.อดทนต่อมารและกิเลสทั้งหลาย หนึ่งในสุภาษิตที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของความอดทน ระบุว่าการอดทนเป็นธรรมอันยิ่งยวดของเราทั้งหลาย หากจะกระทำการใด ต้องจริงใจ และมุ่งมั่นกับสิ่งที่ทำ ทั้งต้องตั้งเป็นกฎ หรือสัญญากับตนเอง ในการทำความดี เพื่อบ่มเพาะจิตใจตนให้เข้มแข็งว่าต้องทำให้ได้” เป็นคำสอนที่ถูกหยิบยกขึ้นเน้น โดยพระเฉลิมชน พุทธศรี รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม วัดศรีมหาโพธิ์ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี พระเฉลิมชน พุทธศรี ย้ำปิดท้ายการเสวนาว่า สำหรับคนดี จะต้องทำดี 4 ประการ คือ 1.ทำสิ่งซึ่งไม่เดือดร้อนตน 2.ทำสิ่งซึ่งไม่เดือดร้อนคนอื่น 3.ทำสิ่งซึ่งไม่เดือดร้อนตนและคนอื่น 4.ทำสิ่งซึ่งบัณฑิตสรรเสริญว่าบุคคลนั้นเป็นคนดี ขณะที่ ผู้แทนผู้รับใบอนุญาตและผู้จัดการโรงเรียนเจริญศรีศึกษา เปิดเผยว่า คำสอนในศาสนาคริสต์ระบุว่า จงเข้าไปทางประตูแคบ เพราะประตูใหญ่และทางกว้างนำไปสู่ความพินาศ แต่ประตูที่นำไปสู่ชีวิตนั้น คับและแคบ ซึ่งผู้จะเข้าไปนั้นมีน้อย การฝึกความอดทนนั้น เพื่อเป็นการเดินตามรอยพระเยซูเจ้าที่ได้ทำไว้ เพื่อเป็นการกลับใจ และเพื่อเป็นการแบ่งปันให้ผู้อื่น “ศาสนาคริสต์มีเทศกาลมหาพรต หรือเปรียบเทียบได้กับการถือศีลอดในศาสนาอิสลาม โดยอยู่ในช่วงระยะลา 40 วัน ก่อนอีสเตอร์ เป็นช่วงเวลาที่ชาวคริสต์ฝึกความอดทนอย่างเข้มข้น ในเทศกาลมหาพรต ต้องปฏิบัติ 3 สิ่ง คือ 1.ภาวนา เป็นการติดต่อกับพระเจ้า เพื่อขอกำลังจากกระเจ้าที่จะอดทนให้ได้ ซึ่งเปรียบเทียบได้กับการละหมาดในอิสลาม 2.อดอาหาร เพื่อเป็นการลดกิเลส ซึ่งพระเยซูอดอาหารเป็นเวลา 40 วัน 3.ให้ทาน เพื่อเป็นการแบ่งปันและลดความเลื่อมล้ำทางชนชั้น” ซิสเตอร์มีนา อดุลย์เกษม กล่าว ไม่แตกต่างกันมากนัก เมื่ออิหม่ามยะโก๊บ หร่ายมณี อิหม่ามประจำมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีบอกว่า อัลกุรอานได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ความอดทนเป็นส่วนหนึ่งของความศรัทธา ความอดทนเป็นหนทางสู่สรวงสวรรค์ จึงต้องอดทนทั้งกาย วาจา และใจ ด้วยโลกนี้ไม่ใช่โลกแห่งความนิรันดร์ มนุษย์จึงต้องถูกทดสอบความอดทนเป็นอย่างมาก สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
Posted: 31 Aug 2011 07:44 AM PDT จริงๆ แล้วบรรดาแกนนำ นปช.ควรนึกถึงบทสัมภาษณ์ของนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช.ที่เคยเตือนไว้ก่อนหน้านี้ว่า เสื้อแดงแม้จะมีจำนวนมาก ในระยะหนึ่งมีอำนาจสูงก็จริง แต่ถ้าไม่เข้าใจสถานภาพของตัวเองก็พังได้ เพราะการเมืองภาคประชาชนมันต้องรู้จุดยืนว่ายืนอยู่ที่ไหน เมื่อเสร็จเลือกตั้งเราต้องหวนกลับไปทำการเมืองภาคประชาชน ถ้าคลุกอยู่แต่ระบบรัฐสภา เรื่องนั้นก็จะยุ่ง ผู้ประสานงานกลุ่มการเมืองสีเขียว | ||
TCIJ: นักวิชาการเปิดเวทีถกปัญหาพัฒนาใต้ ดันสู่งานวิจัย Posted: 31 Aug 2011 06:38 AM PDT เครือข่ายวิชาการ ร่วมกับเครือข่ายประชาชนเจ้าของปัญหาในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ อาทิ คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาสังคมวิทยา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น (ศูนย์ประสานงาน จ.นครศรีธรรมราช) หลักสูตรวัฒนธรรมศึกษา สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้ได้รับผลกระทบกรณีท่าเรือเชฟรอน อ.ท่าศาลา เพื่อขุดเจาะปิโตรเลียมในอ่าวไทย โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน ที่ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน ที่ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล โรงงานแยกแก๊สไทย-มาเลเซีย ที่ อ.จะนะ สงขลา การท่องเที่ยวเรือสำราญ (เรือยอร์ช) ที่ จ.ภูเก็ต จ.พังงา จ.กระบี่ เตรียมจัดเวทีวิชาการ ถกปัญหาแผนพัฒนาขนาดใหญ่ และสถานการณ์การแย่งชิงทรัพยากรในภาคใต้ เวทีวิชาการดังกล่าวเกิดขึ้นหลังการชุมชุมเคลื่อนไหวใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ ในชื่อปฏิบัติการ ‘เพชรเกษม 41’ โดยจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 3 กันยายน 2554 ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นครศรีธรรมราช ในประเด็น “การแย่งชิงทรัพยากรจากท้องถิ่น ในบริบทโลกาภิวัตน์ : สถานการณ์ของการไร้คำอธิบายและทางออก” ดร.เลิศชาย ศิริชัย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้ประสานในการจัดประชุมครั้งนี้ กล่าวว่า “ปัญหาของพี่น้องประชาชนภาคใต้ โดยเฉพาะโครงการแผนพัฒนาขนาดใหญ่ สถานการณ์การแย่งชิงทรัพยากรในภาคใต้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างซับซ้อนมาก จนไม่สามารถใช้ความคิดเดิมอธิบายได้อย่างชัดเจน และไม่สามารถพูดถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาเฉพาะแบบเดิมได้ ทุกฝ่ายต้องร่วมกันถกเถียงเพื่อก้าวผ่านสู่วาระการวิจัยเพื่ออนาคต” ดร.เลิศชาย ศิริชัย กล่าวต่อว่า “ในเวทีนี้จะมีการนำเสนอปัญหาในแง่มุมใหม่ๆ ของชาวบ้านหลายกรณีศึกษาในภาคใต้ มีนักวิชาการจากทุกภาคร่วมถกเถียง เช่น ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผอ.ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.อาภา หวังเกียรติ ม.รังสิต ผศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรีม.เชียงใหม่ ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ม.มหาสารคาม และนักวิชาการจากภาคใต้อีกหลายคน เช่น ผศ.ประสาท มีแต้ม อดีตอาจารย์ มอ.สงขลานครินทร์ อ.วิทยา อาภรณ์ และ ผศ.ดร.ฐิรวุฒิ เสนาคำมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” “ในเวทีนี้ให้ชาวบ้านที่เป็นเจ้าของปัญหาและกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมได้นำเสนอปัญหาและการเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่เกิดขึ้น โดยเน้นเรื่องที่คนภายนอกยังไม่รู้หรือรู้น้อย เผยแพร่ให้นักวิชาการและภาคประชาสังคมที่สนใจได้รับฟังข้อมูลจากเจ้าของปัญหา และร่วมถกเถียงกันเพื่อให้เห็นประเด็นและมุมมองใหม่ๆ สำหรับทำความเข้าใจปรากฏการณ์ โดยเฉพาะการผลักดันเรื่องการวิจัยทางสังคมวิทยา ซึ่งน่าจะได้สรุปเบื้องต้นเกี่ยวกับความซับซ้อนของปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรและมุมมองที่ควรได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่ออธิบายปรากฏการณ์” ประสิทธิ์ชัย หนูนวล นักวิชาการอิสระและนักกิจกรรมทางสังคมที่เกาะติดปัญหาการเข้ามาของโครงการขนาดใหญ่ กล่าวว่า “แท้จริงมีอีกหลายเรื่องที่สังคมยังไม่มีการอธิบายหรือทางออก หรือเข้าใจที่มาที่ไป สังคมจะเห็นเพียงการเคลื่อนไหวคัดค้านของพี่น้องประชาชน แท้จริงแล้วยังมีข้อมูลอีกมากในการเข้ามาอย่างไม่เป็นธรรม การสร้างมายาคติโฆษณาชวนเชื่อ ใช้อิทธิพลของผลประโยชน์ นำไปสู่ความขัดแย้ง รุนแรงและบานปลาย อีกส่วนหนึ่งพื้นที่ก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่มักเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ เพราะยังเป็นพื้นที่ว่างเปล่าจากการพัฒนา ดังนั้น จึงเป็นทางออกของสังคมอีกทางหนึ่งในการอธิบายทางวิชาการให้สังคมรับรู้ปัญหาและเข้าใจมากขึ้น นักวิชาการก็ไม่ปล่อยให้ชาวบ้านเคลื่อนไหวตามลำพัง หรือ เป็นผู้ศึกษาให้เกิดโครงการเสียเอง” ประสิทธิ์ชัย ยังกล่าวเสริมอีกว่า “โดยส่วนตัวคาดหวังกับทางวิชาการเพื่อลุกขึ้นมาอธิบายสังคม ชัดๆ และตรงประเด็นเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้ สร้างวาระทางวิชาการต่อเนื่อง เพื่อให้มีข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นจริง ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อสังคมในภาพรวม โดยเฉพาะเวลานี้นโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน รัฐมนตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขยับเชิงรุกและส่อเค้ารุนแรงมากขึ้น อีกทั้งท่าทีของชาวบ้านที่รู้ทันกลไกของรัฐจัดขบวนเคลื่อนไหวคัดค้านเป็นขบวนใหญ่ ดังปฏิบัติการเพชรเกษม 41 ที่ผ่านมา” ประสิทธิ์ชัยกล่าว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
ประกายไฟการละครตอน “แม่-พิมพ์” การตั้งคำถามต่อความรักของ “แม่ตัวเอง” Posted: 31 Aug 2011 06:19 AM PDT “แม่-พิมพ์” ละครเวทีเรื่องล่าสุดผลงานของ 'กลุ่มประกายไฟการละคร' ที่ตั้งคำถามกับความรักและการสร้างอำนาจในบ้านและโรงงานของแม่ต่อลูกๆ จัดแสดงเมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 และ 28 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ โดยมีผู้ให้ความสนใจเข้าชมจำนวนมาก “เราพยายามจะใช้ตัวบุคคลอย่างแม่ เป็นตัวแทนผู้กุมอำนาจเชิงโครงสร้างเพราะเราทุกคนมีแม่ และเชื่อว่าแม่ของเราทุกคนมักจะมีลักษณะของการกุมอำนาจบางอย่างในบ้าน” ภรณ์ทิพย์ มั่นคง บอกเล่าถึงแนวคิดของละครเรื่อง “แม่-พิมพ์” ภรณ์ทิพย์ มั่นคง หรือ กอล์ฟ ประกายไฟ ผู้ประสานงานกลุ่มประกายไฟการละคร ให้สัมภาษณ์ถึงแรงบันดาลใจในการทำละครเรื่องนี้ว่า เป็นความพยายามจะสื่อถึงระบบและโครงสร้างของสังคมโดยละเรื่องตัวบุคคล เพราะมีโอกาสได้ฟังสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) และธงชัย วินิจจะกูล (อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ประเทศ สหรัฐอเมริกา) พูดเกี่ยวกับคนเสื้อแดงว่าคนเสื้อแดงมักจะวิจารณ์เผด็จการที่นิสัยส่วนตัว ที่การประพฤติมากกว่าการวิจารณ์ที่การมีอยู่ของเค้าที่ก่อให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้าง “บางทีเราวิจารณ์แม่คนอื่นได้ แต่เรากลับไม่กล้าวิจารณ์แม่ตัวเอง” ผู้ประสานงานกลุ่มประกายไฟการละครกล่าว ภาพเปลซึ่งถูกใช้เป็นสัญญาลักษณ์สำคัญในเรื่อง ภาพโดย: facebook “Pokkytoday Red” “เราเปิดให้ลูกแต่ละคนแสดงทัศนะคติของตัวเองต่อแม่ผ่านเปลที่อยู่ตรงกลางห้องที่หมายถึงสิ่งที่แม่ใช้เลี้ยงดูเรา ในนั้นมีของขวัญวางอยู่เต็มไปหมดเพราะวันนี้เป็นวันเกิดแม่ ซึ่งทุกๆ คนมีต่างกัน” ภรณ์ทิพย์ เล่าถึงฉากในตอนเปิดของละครเรื่องนี้ ผู้ประสานงานกลุ่มประกายไฟการละครซึ่งรับบทเป็นพร อธิบายถึงตัวละครแต่ละตัวที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เริ่มต้นจาก ‘ประไพ’ ลูกที่ยึดเอาความดีความยุติธรรมของแม่เป็นที่ตั้ง ส่วน ‘ปฐพี’ เป็นลูกที่คอยปกป้องแม่และบอกเสมอว่าใครที่สงสัยในความรักของแม่เป็นคนอกตัญญู ‘พร’ ลูกที่ถูกเลี้ยงมาไม่เท่ากับคนอื่น พยายามจะเข้าใจแม่ แต่สุดท้ายก็ไม่เขาใจและตั้งคำถามกับสิ่งที่แม่ทำ ‘นิพา’ ลูกสาวนักธุรกิจที่อยู่กับแม่เพื่อผลประโยชน์และพยายามประจบแม่ โดยการรีดเอาค่าแรงที่คนงานในโรงงานของตัวเองควรจะได้รับมาให้แม่เพื่อให้แม่สนับสนุนธุรกิจของตัวเอง และอีกคนหนึ่งคือ ‘พิมล’ ลูกคนเล็กที่ละครพยายามสื่อถึงนักศึกษาที่รักแม่ พยายามเรียน แต่พิมลก็ยังแอบรู้สึกว่าเปลมันเหมือนกรง “ตรงนี้มันมีนัยยะบางอย่างคือเปลกับกรง มันต่างกันนิดเดียว ถ้าเราซาบซึ้งกับมันมันจะเป็นเปล แต่ถ้าเราตั้งคำถามกับมันมันอาจจะกลายเป็นกรงก็ได้” ภรณ์ทิพย์กล่าว บางช่วงบางตอนของละคร ภาพโดย: facebook ประกายไฟ fan ฮาฟฟฟ ภรณ์ทิพย์ เล่าด้วยว่า การแสดงเริ่มต้นแสดงตั้งแต่ตอนที่คนดูเขามาซื้อบัตร โดยที่คนดูไม่รู้ว่าละครเริ่มเรื่องแล้ว สร้างบรรยากาศว่าผู้ชมคือแขกที่มาร่วมงานเลี้ยงฉลองวันเกิดของคุณแม่ ใครที่ใส่กางเกงขาสั้นมาต้องเปลี่ยนไปนุ่งผาถุงหรือโจงกระเบนเพื่อเป็นเกียรติต่อคุณแม่ ซึ่งตรงนี้แนน ประกายไฟ (หนึ่งในนักแสดงที่แสดงเป็นนิพา) เป็นคนคิด และทางทีมงานก็เห็นด้วย “คนดูงงกับเรานิดนึง แล้วก็ให้พี่เจี๊ยบที่แสดงเป็นประไพออกมาตอนรับ จริงๆ เราเพิ่งรู้ว่าการแสดงของเราเป็นการจัดการแสดงแบบ 360 องศานะ หลังจากที่ลุงทองขาวบอก เพราะเราจัดแบบนี้กันมาตลอด เพราะความเคยชินของเรากับการเล่นในที่ชุมนุม เราไม่ถนัดนักกับการเล่นบนเวที และเรารู้สึกว่าแบบนี้คนดูจะเป็นส่วนหนึ่งของเรามากกว่า” ภรณ์ทิพย์ กล่าว “ที่ผ่านมาดูทั้งสองรอบก็ให้ความร่วมมือมากๆ โดยเฉพาะรอบแรก พอเขามาทุกอย่างก็อยู่ตรงกลางห้อง นักแสดงคุยกันอยู่ บางคนก็จัดการกับเก้าอี้ที่ต้องเพิ่มเพราะแขกมาเยอะกว่าที่คิดในตอนแรก” ภรณ์ทิพย์ เล่าถึงบรรยากาศ ภรณ์ทิพย์ เล่าต่อมาว่า ในการแสดงครั้งนี้มีการนำเอาภาพเหตุการณ์ความรุนแรง ปรากฏการณ์ต่างๆ ในสังคมตั้งแต่การปฏิวัติ 2475 ภาพของปรีดี พนมยงค์ ภาพเหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา 35 รวมทั้งภาพเหตุการณ์เสื้อเหลือง-เสื้อแดง มาปูไว้บนพื้นให้นักแสดงและคนดูเดินเหยียบ แต่กว่านักแสดงทำใจเหยียบได้ก็ต้องใช้เวลานาน ในขณะที่คนดูบางคนพยายามเลี่ยง ส่วนบางคนที่เดินเหยียบเลยก็มี “เราพยายามจะบอกว่าไม่ว่าตอนนี้หรือตอนไหน คนไทยก็เหยียบย่ำคนเหล่านั้นอยู่ตลอดเวลา เราเหยียบย่ำเขาตลอด เราลืมพวกเค้า และอีกไม่นานเรื่องที่ผ่านมาปีที่แล้วก็จะถูกลืมในที่สุด เพราะมันจะไม่มีคนเล่าต่อ ไม่มีใครบอก ทุกอย่างจะถูกทำให้ลืมโดยชนชั้นนำที่เหยียบย่ำทำลายประวัติศาสตร์ที่ตัวเองไม่ได้ประโยชน์ และเอาประวัติศาสตร์ใหม่ที่ตัวเองเป็นพระเอกนางเอกขึ้นมาให้คนในสังคมรับรู้” ภรณ์ทิพย์บอกเล่าถึงความคิด ภาพเหตุการณ์ทางการเมืองซึ่งถูกนำมามาปูไว้บนพื้นให้นักแสดงและคนดูเดินเหยียบย่ำ ภาพโดย: facebook “Pokkytoday Red” ส่วนมุมมองความคิดเกี่ยวกับการทำงานละครของ ‘ประกายไฟการละคร’ ภรณ์ทิพย์ กล่าวว่า ละครอาจถูกมองว่าคืองานศิลปะ แต่ประกายไฟไม่ได้ทำงานศิลปะ ประกายไฟทำงานการเมือง โดยทำละครการเมือง และใช้ละครเป็นเครื่องมือสื่อสารแนวคิดทางการเมือง เพราะเชื่อว่าพลังของงานละครสามารถขับเคลื่อนและชี้นำสังคมได้ อีกทั้งละครต้องเลือกข้าง “ไม่มีศิลปะที่ไหนจะเป็นกลางได้บริสุทธิ์ผุดผ่อง เพราะแท้จริงแล้วศิลปะบางแขนงเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำที่ใช้กด ใช้หลอกให้คนอื่นๆ หลงเชื่อ เราพยายามทำให้ศิลปะเหล่านี้เป็นของประชาชน เป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะละครของเราจะบอกเล่าความจริง” “บางครั้งบทละครของเราก็เต็มไปด้วยความเจ็บปวด ความโกรธแค้น เพราะเราโกรธแค้น เราเจ็บปวดกับสังคมนี้ และเราจะไม่แสร้งทำเป็นว่าเราคือศิลปิน หรือนักสร้างสรรค์ศิลปะ เรายืนยันว่าเราทำงานการเมือง ละครของเราเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานการเมือง” ผู้ประสานงานกลุ่มประกายไฟการละครกล่าวย้ำ ภรณ์ทิพย์ กล่าวถึงการทำละครเรื่องแรกคือหนูน้อยหมวกแดงกับยักษ์หน้าหล่อ ที่จัดแสดงที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาว่า ตอนนั้นยังอยู่ในช่วงการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (4 ก.ค.53) การใช้ละครจึงเป็นการที่จะเรียกรวมคนที่กำลังห่อเหี่ยว ผิดหวังและโกรธแค้นให้มานั่งปรับทุกข์กันได้ แล้วจากนั้นก็ทำเรื่องที่ 2 คือ กินรีสีแดง แล้วก็ทำต่อมาเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้จำนวนน่าจะเกินกว่า 30 เรื่อง “เราทำละครในที่ชุมนุม ตะโกนเล่นกันในที่ชุมนุม นอกนั้นก็ทำงานเคลื่อนไหวทางการเมือง ไปเล่นต่างจังหวัดบ้าง ส่วนใหญ่เป็นละครสั้นๆไม่เกิน 15 นาที มากสุดก็ 30 นาที เรื่องแม่-พิมพ์นี่ เป็นเรื่องที่ยาวที่สุดที่เคยทำมา” ผู้ประสานงานกลุ่มประกายไฟการละครกล่าว “งานต่อไปของเราคืองานรำลึก 35 ปี 6 ตุลา 2519 ซึ่งเราจะจัดกิจกรรมแสดงละครย้อนรอยเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 4 ตุลา คือการแสดงละครแขวนคอซึ่งเป็นละครที่ดูเหมือนจะเป็นฉนวนเหตุของการสังหารหมู่ประชาชน และการแสดงภาพเหตุการณ์ความรุนแรงในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 อีกครั้ง ซึ่งยังไม่เปิดเผยเพราะต้องรอให้ทุกอย่างเรียบร้อยกว่านี้ และเราต้องการรับอาสาสมัครจำนวนมากในงานวันที่ 6 ตุลานี้เช่นกัน” ภรณ์ทิพย์ กล่าวทิ้งท้ายถึงงานสร้างสรรค์ชิ้นต่อไปของประกายไฟการละคร
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
ความขัดแย้ง “วังน้ำเขียว-แก่งกระจาน” ต้องไปให้ถึงการปฏิรูปกฎหมายป่าไม้ Posted: 31 Aug 2011 04:06 AM PDT ข้อเสนอเพื่อไม่ให้บทเรียนจากพื้นที่วังน้ำเขียว-แก่งกระจานสูญเปล่า หรือเป็นเพียงกระแสทางการเมือง แต่นำไปสู่การค้นหาต้นตอของปัญหา ที่ไม่สามารถแก้ได้ด้วยกฎหมาย หรืออำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ มีการตั้งคำถามกันค่อนข้างเยอะว่าทำไมปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินใน อ.วังน้ำเขียว ได้กลายเป็นข่าวมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ทั้งที่ปัญหานี้เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานแล้วนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2519-2523 ซึ่งในช่วงเวลานั้นรอบผืนป่าทับลานเป็นที่อยู่ของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และต่อมารัฐบาลได้ประกาศนโยบาย 66/23 โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 2 จึงได้ทำการผลักดันชาวบ้านที่อาศัยในเขตผืนป่า ให้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในเขต ต.ไทยสามัคคี และ ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมาในปัจจุบัน โดยได้ดำเนินการขอที่ดินในบริเวณดังกล่าวจากกรมป่าไม้มอบให้ชาวบ้านไว้ทำกิน อ.วังน้ำเขียวมีทั้งหมด 5 ตำบล 83 หมู่บ้าน มีประชากร 41,636 คน (ปี 2552) มีพื้นที่ทั้งอำเภอประมาณ 700,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) มากที่สุด 241,018 ไร่ รองลงมาคือเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน พ.ศ.2524 จำนวน 220,625 ไร่ ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูหลวง พ.ศ.2516 จำนวน 193,050 ไร่ แนวเขตห้ามล่าสัตว์เขาแผงม้า 5,000 ไร่ และพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิของกรมที่ดินมีจำนวน 9,318 ไร่ มีการตั้งข้อสังเกตจากสื่อมวลชนบางฉบับว่า ในช่วงการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา สส.เขต12 (พื้นที่ อ.ปักธงชัย อ.วังน้ำเขียว) พรรคภูมิใจไทย ได้ประกาศไว้เป็นนโยบายเมื่อตอนหาเสียงเรื่องการจัดระเบียบวังน้ำเขียว ด้วยการเสนอให้รัฐบาลเร่งออกเอกสารสิทธิที่ดินให้แก่ชาวบ้านและกลุ่มธุรกิจ เพราะอยู่กินมาทุกวันนี้ล้วนอยู่แบบเสี่ยงดวง ผลปรากฏว่าในพื้นที่เขต 12 พรรคภูมิใจไทยชนะการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้ร่วมจัดตั้งเป็นรัฐบาล ประกอบกับรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคนใหม่นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข มาจากพรรคเพื่อไทย ทำให้เป็นที่จับตาของคนในสังคมว่า การออกมาเปิดเกมส์รุกฟ้องขับไล่เจ้าของรีสอร์ทวังน้ำเขียวของกรมอุทยานและกรมป่าไม้คงไม่ได้เป็นเหตุการณ์ กลั่นแกล้งทางการเมือง แต่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนกว่าที่เป็นอยู่ ปัญหาการแย่งชิงที่ดินและทรัพยากรป่าไม้ในลักษณะเดียวกับที่ อ.วังน้ำเขียว มีอยู่ทั่วประเทศ เช่น เมื่อวันที่ 4 ส.ค.2554 กรณีพิพาทระหว่างเกษตรกรไร้ที่ดินทำกินชุมชนคลองไทร ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฏร์ธานี ได้มีกลุ่มอิทธิพลวางเพลิงเผาบ้านในชุมชน เสียหายทั้งหลังจำนวน 3 หลัง อีกทั้งกลุ่มอิทธิพลดังกล่าวเคยเข้ามายิงข่มขู่เพื่อให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ ก่อนหน้านี้กลุ่มเกษตรกรได้เข้าไปปฏิบัติการตรวจสอบพื้นที่และตั้งชุมชนในสวนปาล์ม ทั้งนี้เพื่อกดดันให้หน่วยงานรัฐเจ้าของพื้นที่เรียกที่ดินกลับคืนมาและนำที่ดินเหล่านั้นมาจัดสรรให้กับเกษตรกร เนื่องจากที่ดินผืนดังกล่าวได้หมดสัญญาเช่าไปนานแล้วแต่นายทุนอาศัยอิทธิพลเก็บเกี่ยวผลผลิตปาล์มอยู่ กรณีล่าสุด เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและฝ่ายทหาร ได้ใช้กำลังอพยพ ผลักดัน จับกุม เผาบ้านพักและยุ้งฉางรวมทั้งข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ของชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิม ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมานานกว่า 100 ปี ถ้าจะพูดว่า “วังน้ำเขียว” คือโมเดลความขัดแย้งในการจัดการที่ดินป่าไม้ เราจะนำความขัดแย้งนี้ไปสู่อะไร? ... ภาครัฐโดยเฉพาะหน่วยงานภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เดินหน้าจับกุมทำลายทรัพย์สินของผู้ที่บุกรุกป่า โดยอ้างว่ามีการตรวจสอบหลักฐานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยการกระทำเช่นนี้ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้อาศัยกฎหมายอย่างน้อย 4 ฉบับที่มีอยู่ในมือ คือ พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ซึ่งฐานความผิดภายใต้กฎหมายเหล่านี้คือการยึดถือครอบครอง บุกรุก ก่นสร้าง แผ้วถางพื้นที่ป่ามีโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี หรือทั้งจำและทั้งปรับ รวมทั้งต้องออกจากพื้นที่พิพาท ข้อมูลด้านคดีความที่เผยแพร่ในเว็บไซต์กรมป่า พบว่า มีผู้ที่กระทำความผิดตามกฎหมายป่าไม้ในปี 2553 จำนวน 4,580 คดี 2,209 คน นอกจากนี้ยังมีคดีความด้านที่ดินและป่าไม้ที่รวบรวมโดยเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย จากข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2554 มีทั้งสิ้น 36 คดี 234 ราย ทั้งนี้ เนื่องจากกฎหมายป่าไม้มีเจตนาแยกคนออกจากป่าแต่ไม่ได้มองว่าองค์กรชุมชนสามารถร่วมดูแลรักษาป่าได้ จึงเป็นเหตุให้คดีที่กรมป่าไม้ฟ้องร้องกับคนจนไม่มีคดีไหนเลยที่เกษตรกรคนจนชนะคดี แม้ว่าจะนำประเด็นสำคัญเรื่องสิทธิชุมชนที่ให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรได้ เพราะจากรัฐมองว่าในทางกฎหมายอำนาจและสิทธิในที่ดินยังเป็นของรัฐที่ไม่ได้ให้สิทธิแก่ราษฎร จากข้อกังขาเกี่ยวกับการประกาศพื้นที่อนุรักษ์โดยอาศัยกฎหมายว่า ทำให้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นหรือลดลงในปี 2553 ประเทศไทยมีพื้นที่อนุรักษ์ (อุทยานแห่งชาติ, เขตรักษาพันธุ์, เขตป่าสงวนแห่งชาติ, เขตห้ามล่า) จำนวนทั้งสิ้น 426 แห่งครอบคลุมพื้นที่ 108,728 ตร.กม.(กรมป่าไม้) อาจสรุปได้ว่า พื้นที่ป่าไม้ในทางกฎหมายได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าวัดจากเหตุการณ์ดินถล่ม น้ำป่าไหลหลากทำให้พื้นที่การเกษตรจำนวนมากได้รับความเสียหาย คงสามารถเป็นตัวชี้วัดได้อย่างหนึ่งว่าพื้นที่ป่าคงลดจำนวนลงอย่างเห็นได้ชัด เพื่อไม่ให้บทเรียนจากพื้นที่วังน้ำเขียวและแก่งกระจานสูญเปล่า หรือเป็นเพียงกระแสทางการเมืองของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่ให้ทั้งสองเรื่องนำไปสู่การค้นหาต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหาเพราะถ้ามัวแก้ปัญหาที่ปลายเหตุด้วยการใช้กฎหมายและอำนาจที่มีอยู่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ในอนาคตเรื่องราวเหล่านี้อาจสะสมจนไม่อาจเยียวยาได้ ข้อเสนอเฉพาะหน้าที่น่าสนใจ สำหรับกรณีวังน้ำเขียว คือ ให้มีการทำแนวเขตให้ชัดเจนของ 3 ส่วน ได้แก่ ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาหลวง อุทยานแห่งชาติทับลาน และเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ทั้งนี้ ต้องดำเนินการร่วมกันระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งองค์กรชุมชนด้านอนุรักษ์ หน่วยงานของรัฐ และธุรกิจเจ้าของรีสอร์ท (ที่ไม่ได้บุกรุก) ประการต่อมาคือการเรียกเก็บค่าเช่าที่ดินตามความเหมาะสม บังคับใช้เงื่อนไขให้ผู้ครอบครองสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้เพียงครึ่งเดียว ที่เหลือจะต้องปลูกต้นไม้ที่หลากหลาย ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ ทั้งนี้เพื่อให้ชาวบ้านวังน้ำเขียวได้ประโยชน์และอยู่ในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน นอกจากนั้นยังมีข้อสังเกตและข้อเสนอบางประการเกี่ยวกับกฎหมายป่าไม้ที่ได้กล่าวไปข้างต้น เช่น การให้อำนาจรัฐในการประกาศพื้นที่โดยไม่ได้มีการตรวจสอบพื้นที่จริง แม้จะกำหนดหน้าที่ให้ประชาชนที่มีสิทธิในที่ดินที่มีการประกาศเขตยื่นคำร้องเป็นหนังสือ เพื่อแสดงสิทธิของตนภายในที่กฎหมายกำหนด ถ้าไม่มีการดำเนินการถือว่าประชาชนสละสิทธิ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเป็นการยากที่ประชาชนจะทราบได้ว่ามีการประกาศเขตป่าทับที่ดินของตน[1] ประการต่อมาให้ปรับปรุงประมวลกฎหมายที่ดินป่าไม้และวางหลักเกณฑ์ของกฎหมายให้เกิดความยุติธรรม โดยลำดับความสำคัญของคนที่ควรเข้าถึงทรัพยากรให้เกิดความเป็นธรรมทางนิเวศฯ และความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ให้มีความสมดุลระหว่างสัดส่วนของทรัพยากรเพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ รัฐต้องดูแลความเป็นธรรมและสวัสดิการในสังคมควบคู่กันไป อีกทั้งต้องให้มีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรภาคประชาสังคม ตั้งแต่ขั้นการวางแผนการใช้ การตัดสินใจ การเฝ้าระวัง การกำหนดบทลงโทษ และมาตรการฟื้นฟูเยียวยา[2] ถ้าเราสามารถเดินทางสู่เส้นทางนี้ การออกมาเปิดโปงเรื่องการใช้ที่ดินและการบุกรุกป่าวังน้ำเขียวจะได้ไม่สูญเปล่า ……………………………………. [1] รายงายการวิจัยโครงการพิสูจน์สิทธิ์ในคดีป่าไม้และที่ดินโดยสุมิตรชัย หัตสาร [2] สิทธิชุมชนกับการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
ส.นักข่าววิทยุและโทรทัศน์ฯ ร้องหยุดคุกคามสื่อ พร้อมจี้รัฐบาลดูแลมวลชน Posted: 31 Aug 2011 12:39 AM PDT สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย-สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ขอให้ยุติการคุกคามสื่อมวลชน กรณีเสื้อแดงชุมนุมร้องช่องเจ็ดปลดนักข่าวสาว ชี้หากพบว่าผิดให้ใช้สิทธิ์ท้วงติงตาม กม. วันนี้ 31 ส.ค.54 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์เรื่อง ขอให้ยุติการคุกคามสื่อมวลชน โดยสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ลงวันที่ 30 ส.ค.54 ระบุถึงกรณีกลุ่มคนเสื้อแดงได้ไปชุมนุมที่สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 โดยได้ยื่นหนังสือเรียกร้องให้ปลดนางสาวสมจิตต์ นวเครือสุนทร ออกจากการเป็นผู้สื่อข่าวของสถานีฯ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย แสดงความเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการแทรกแซงและคุกคามสื่อ และเรียกร้องให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวยุติการคุกคามสื่อมวลชนไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ ทั้งนี้หากเห็นว่าสื่อมวลชนรายใด ทำหน้าที่ไม่เหมาะสม หรือรายงานข่าวคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ก็สามารถท้วงติงหรือใช้ช่องทางของกฎหมายให้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม อีกทั้งยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลดูแลกลุ่มมวลชนที่ให้การสนับสนุนมิให้กระทำการใดที่เป็นการคุกคามหรือละเมิดสิทธิ์ของผู้ทำหน้าที่รายงานและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ทั้งนี้เพื่อเป็นไปตามนโยบายปรองดองและสมานฉันท์ของคนในชาติดังที่รัฐบาลได้แถลงไว้ก่อนหน้านี้ อนึ่ง เนชั่นทันข่าว รายงานสถานการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดงที่สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 ว่า เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 30 ส.ค.54 นายนพพร นามเชียงใต้ ได้นำกลุ่มคนเสื้อแดงประมาณ 20 คนไปชุมนุมกดดันที่หน้าสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 เพื่อเรียกร้องและยื่นหนังสือให้ผู้บริหารพิจารณาการทำงานของผู้สื่อข่าวช่อง 7 โดยกลุ่มคนเสื้อแดงมีป้ายข้อความเขียนโจมตีการทำงานของนักข่าวช่อง7 ต่างๆ นานา และยังบอกว่าสื่อคุกคามประชาชน พร้อมกับเรียกร้องให้นักข่าวถอนแจ้งความกรณีไปแจ้งความเพื่อดำเนินคดีคนเสื้อแดงที่ส่งอีเมลข่มขู่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณหน้าช่อง 7 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนนอกเครื่องแบบของ สน.บางซื่อ มาคอยดูแลความสงบ กลุ่มเสื้อแดงใช้เวลาเรียกร้องประมาณ 20 นาที แล้วยื่นหนังสือให้ผู้บริหารช่อง7 ก่อนจะสลายตัวไปโดยไม่มีเหตุวุ่นวายแต่อย่างใด ทั้งนี้ แถลงการณ์สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย มีรายละเอียด ดังนี้
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 ส.ค.54 เว็บไซต์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ก็ได้เผยแพร่แถลงการณ์ร่วม 3 องค์กรสื่อ ซึ่งประกอบด้วยสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขอให้ยุติการคุกคามนักข่าว ระบุเนื้อหาดังนี้
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
สืบพยานโจทก์นัดแรกคดี “สุรชัย แซ่ด่าน” หมิ่นเบื้องสูง Posted: 30 Aug 2011 11:04 PM PDT สืบพยานโจทก์นัดแรก อัยการนำพนักงานสอบสวนเบิกความยัน “สุรชัย แซ่ด่าน” ปราศรัยหมิ่นเบื้องสูงบนเวที นปช.สนามหลวง เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 54 ที่ผ่านมา ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าเมื่อเวลา 09.30 น. ที่ห้องพิจารณาดคี 812 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์สืบพยานโจทก์ครั้งแรกในคดีหมายเลขดำ อ.3444/2553 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ฟ้องนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือสุรชัย แซ่ด่าน แกนนำกลุ่มแดงสยาม เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีกล่าวปราศรัยหมิ่นเบื้องสูงบนเวทีแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บริเวณท้องสนามหลวง เหตุเกิดเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2551 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
ร้ายสไตล์บายรุ้งรวี : เลี้ยงลูกอย่างไรให้มีวัฒนธรรม Posted: 30 Aug 2011 09:57 PM PDT ในขณะที่หลายๆ คนนั่งจับตาดูว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์จะเริ่มทำงานด้วยนโยบายใดก่อน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม่กี่วันมานี้ เรื่องการลดค่าน้ำมันก็กลายเป็นหัวข้อเดือดในการถกเถียงกันในสังคม รวมถึงเรื่องความสามารถในการตอบคำถามของนายกฯ เองด้วย โธ่...ถัง ดิฉันไม่ค่อยสนใจเรื่องการเมืองเท่าไหร่ เลยไม่ได้จับตาดูว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์จะเริ่มต้นทำงานการเมืองด้วยนโยบายอะไร แต่ที่จับตาดูอย่างตื่นเต้นคือ ‘กระทรวงวัฒนธรรม’ ว่าจะเริ่มทำอะไรเป็นอย่างแรก และแล้วความตื่นเต้นก็สิ้นสุดลงเมื่อกระทรวงวัฒนธรรมเริ่มผลงานชิ้นแรก (?) ด้วยการออกบทความ ‘เลี้ยงลูกอย่างไรให้มีวัฒนธรรม’ ที่แม้บทความจะด้อยคุณภาพอย่างไร แต่ก็มีความดีอยู่ประการหนึ่งคือ ทำให้คนไทยอ่านหนังสือมากขึ้น เพราะตอนนี้มันถูกแชร์ต่อในหน้าเฟซบุ๊ก และมีคนอ่านและคอมเมนต์จำนวนไม่น้อย คาดว่าปีหน้าผลสำรวจเรื่องการอ่านหนังสือของคนไทยต้องเขยิบขึ้นจาก 5 บรรทัดเป็นแน่ เราต้องคิดบวกไว้ค่ะ...อ้อ! ความดีอีกประการหนึ่งคือ บทความนี้สามารถเครียดได้ชะงัดนัก! ใครต้องการคลายเครียด ขอให้ลองเข้าไปอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ http://www.m-culture.go.th/detail_page.php?sub_id=3030 และคุณสามารถแชร์บทความนี้ให้เพื่อนๆ คุณอ่านในเฟซบุ๊กได้ด้วย จะเป็นการทำบุญที่ดีมาก โดยเฉพาะถ้าเพื่อนคุณเครียดมาก แล้วเขาได้อ่านบทความนี้ คุณจะได้บุญเป็นสองเท่า ดิฉันคอนเฟิร์ม! หลังจากอ่านบทความนี้จบ นอกจากความสนุกสนานเบิกบานใจที่ได้หัวเราะ ปล่อยก๊ากตลอดการอ่านแล้ว (จะสนุกมากขึ้นถ้าคุณอ่านพร้อมๆ กันกับเพื่อนหลายๆ คน) ดิฉันยังค้นพบว่าตัวเองไม่ใช่คนเดียวที่เขียนงานไม่รู้เรื่อง ยังมีคนที่อาการหนักกว่าดิฉันอีก (หรือเนี่ย?) การพูดเช่นนี้อาจเป็นการ ‘ดูถูก’ ผู้อื่นจนเกินไป แต่ขออภัยเถอะ กระทรวงวัฒนธรรมขา...จะทำอะไรก็ขอให้มีคุณภาพนิดหนึ่ง อย่างน้อยก็เห็นแก่ภาษีที่ดิฉันเสียไปเพื่อให้มีกระทรวงของคุณได้ออกมาทำอะไรขำๆ เช่นนี้ ในบทความนี้ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน แต่ลงท้ายบทความว่ามาจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม โดยเหตุที่ดิฉันกล่าวบทความนี้ว่าด้อยคุณภาพนั้น ก็เพราะการเขียน เรียบเรียงความคิดของบทความนี้ มันช่างหัวมังกุฏท้ายมังกรเสียจริง เพราเพียงเริ่มต้นบทความมาก็งงเสียเล้ว บทความกล่าวว่า “มีลูกหนึ่งคนจนไปเจ็ดปีคงเป็นเพราะเด็กในวัยเจ็ดปีเริ่มช่วยพ่อแม่ทำงานบ้านได้แล้ว” หือ ? อะไรนะ อ่านไม่ผิดใช่ไหม หมายความว่าอย่างไรนะ ? ดิฉันงง ดิฉันคิดว่าความหมายของประโยคนี้คงต้องการบอกว่ามีลูกหนึ่งคนนั้น ในช่วงเจ็ดปีแรกพ่อแม่คงจน เพราะลูกนั้นไม่สามารถทำงานแบ่งเบาภาระพ่อแม่ได้ ซึ่งสำนวนมีลูกหนึ่งคนจนไปเจ็ดปีนั้นคงมาจากสมัยที่ลูกนั้นถือเป็นแรงงานหนึ่งของครอบครัว วัยเจ็ดปี คงเป็นวัยที่ที่พอจะเป็น ‘แรงงาน’ ในการทำการเกษตร หรืออื่นๆ ได้แล้ว แล้วบทความก็กล่าวต่อไปว่าสมัยนี้มีลูกหนึ่งคนจนมากกว่าเจ็ดปีแน่ๆ เพราะการต้องส่งเสียให้ร่ำเรียน และที่สังคมไทยต้องการให้ลูกร่ำเรียนนั้นก็คงเพราะอยากให้ลูกฉลาด แต่อาจเป็นการฉลาดทางสติปัญญา ไม่มีความฉลาดทางการพัฒนาทางวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นมาสอนให้ลูกมามีวัฒนธรรมกันเถอะ! แหม่...ก็ทนอ่านมาตั้งนาน ขึ้นต้นเหมือนจะเปรี้ยว เหมือนกำลังจะมาวิพากศ์วิจารณ์ว่าทำไมพ่อแม่ หรือครอบครัวสมัยใหม่ในสังคมไทยต้องสร้างภาระหนี้เพื่อให้ลูกได้ศึกษาเล่าเรียนขนาดนั้น แล้วมันคุ้มหรือไม่ ผู้เขียนบทความก็วกเข้าเรื่องการสนอให้ลูกมีวัฒนธรรมแบบไม่มีปี่ไม่ขลุยได้ ทิ้งให้ดิฉัน ซึ่งลุ้นแทบตายอารมณืค้างกลางบทความ วัยรุ่นเซ็งมากๆ ค่ะ ต่อจากนั้นผู้เขียนก็บรรยายว่าการสอนให้ลูกมี ‘วัฒนธรรม’ นั้นประกอบไปด้วยอะไรบ้าง เริ่มตั้งแต่รำไทย เล่นดนตรีไทย ไปวัด ใส่เสื้อผ้าไทย ทำอาหาร ทำงานบ้าน ฯลฯ ดิฉันว่าคลิกเข้าไปอ่านบทความเองจะสนุกกว่า แต่ไหนๆ ดิฉันก็เขียนถึงบทความนี้แล้ว ก็ขอนำตัวอย่างมากล่าวถึงเป็นข้อๆ เลือกเอาข้อที่ดิฉันถูกใจดีกว่า
เอาเป็นว่ายังมีอีกหลายอย่างที่จะช่วยให้คุณอารมณ์ดีตลอดการอ่านบทความนี้ (ซึ่งน่าจะผิดวัตถุประสงค์ของการ เขียนบทความขึ้นมา) แต่หลังจากอ่านจบ ดิฉันก็เริ่มเปลี่ยนโหมดอารมณืมาอยู่ในโหมด โกรธ และกราดเกรี้ยวขึ้นมาทันที นอกจากเสียดายภาษีที่รัฐเก็บไป แล้วยังตั้งกระทรวงที่ไม่ทำประโยชน์ต่อสังคมนี้ขึ้นมาแล้ว ยังไม่เข้าใจด้วยว่า กระทรวงวัฒนธรรมส่งบทความนี้ออกมาทำไม (และได้อย่างไร...ช่างกล้านะ) ดิฉันเห็นด้วยอย่างยิ่ง ที่บรรดาพ่อแม่ทั้งหลาย จะส่งเสริมให้ลูกได้มีกิจกรรมทำในเวลาว่าง กิจกรรมที่มีประโยชน์ ไม่ว่าจะเรียนรำไทย เต้นบัลเลต์ ชกมวย หรือแม้กระทั่งนั่งอ่านหนังสืออยู่บ้าน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่จำเป็นต้องเอาคำว่า ‘วัฒนธรรม’ มาบังหน้า เพราะเมื่ออ่านบทความจบ สิ่งที่เห็นว่าต้องพิจารณาและพูดกันอย่างจริงจังมีดังนี้ 1. ความหมายของคำว่า ‘วัฒนธรรม’ คืออะไร ดูเหมือนว่ากระทรวงวัฒนธรรมจะพยายามตีขลุมเอาว่าคำว่า ‘วัฒนธรรม’ นั้น คืออะไรที่ลงท้ายด้วยคำว่า ‘ไทย’ หรือ อยู่ในซับเซตของคำว่าไทย เช่น เรียนเป่าขลุ่ย ตีระนาด ซึ่งเป็นเครื่องดนตรี ‘ไทย’ แล้วทำไมจึงไม่ใช้ชื่อบทความนี้ไปเลยว่า ‘เลี้ยงลูกอย่างไรให้มีวัฒนธรรมไทย’ เดาเอาว่าคำว่า ‘วัฒนธรรม’ เฉยๆ น่าจะขายได้เนียนกว่า เพราะคำว่าวัฒนธรรมไทยมันคงเอียน และ Cliché เกินไปที่จะมาพูดถึงแบบฮาร์ดเซลเช่นนี้ (แต่สุดท้ายแม้จะล่อลวงด้วยคำว่า ‘วัฒนธรรม’ เฉยๆ ในบทความก็ฮาร์ดเซลอยู่ดี) สิ่งหนึ่งที่บทความนี้ขาดไปคือ การเลี้ยงลูกให้มีวัฒนธรรมนั้น ส่งผลดีอย่างไรแก่ตัวลูก ทำไมพ่อแม่จึงต้องสอนลูกให้มีวัฒนธรรม สิ่งที่ทำให้คนเหม็นเบื่อกระทรวงวัฒนธรรมอยู่ในปัจจุบัน นอกจากความคร่ำครึ ล้าสมัย ชอบทำเรื่องไม่เป็นเรื่อง และไม่เข้ากับยุคสมัย และความเป็นจริงของสังคมแล้ว ตัวกระทรวงเองก็มีปัญหากับการตีความคำว่า ‘วัฒนธรรม’ อยู่มิใช่น้อย ดูจากบทความที่ทำเสนอนี้ ที่คำว่า ‘วัฒนธรรม’ นั้นถูกจัดกรอบให้แคบลงเหลือเพียงแค่คำที่ลงท้ายด้วยคำว่า ‘ไทย’ ซึ่งปรากฏการณ์นี้ เป็นการปรากฏการณ์ dilemma ของสังคมไทย คือการออกมารณรงค์เรื่อง ‘ไทยๆ’ กันอย่างเอกเริก อ้างว่าเป็นมรดกของชาติ แต่เราก็อยากก้าวหน้าในระดับ ‘สากล’ แต่ปัญหาคือในระดับสากล ไม่มีใครเขาประกวดประขันอะไรที่ ‘ไทยๆ’ กัน แล้วเราจะจัดวางคน (เยาวชน) ที่จะสืบสานความเป็นไทยไว้กลุ่มไหน แล้วคนที่จะมีความสามารถทัดเทียมสากลไว้กลุ่มไหน เช่น เด็กโรงเรียนรัฐตามบ้านนอกก็สืบสานอะไรที่ไทยๆ ไป เพราะไม่มีปัญหาที่จะเข้าถึงอะไรที่เป็น ‘สากล’ ส่วนเด็กอินเตอร์ หรือเด็กบ้านรวยก็ไปเรียนอะไรที่เป็นสากลแล้วไปสร้างชื่อเสียงมาให้ประเทศเสีย อย่างนั้นหรือ ? ซึ่งนำมาถึงปัญหาที่ต้องพิจารณาในข้อสอง 2. ต้นทุนในการจะมีวัฒนธรรม ต้นบทความกล่าวมาอย่างดิบดีว่า พ่อแม่ต้องจน ต้องแบกภาระหนี้สินไม่รู้ตั้งเท่าไหร่ ในการมีลูกสักหนึ่งคน แล้วก็จบ ลงไปอย่างดื้อๆ ว่า ‘สังคมไทยน่าสงสาร’ ดิฉันมีข้อซักถามว่าถ้าน่าสงสารแล้ว ทำไมกระทรวงวัฒนธรรมยังออกมารณรงค์ให้พ่อแม่เลี้ยงลุกให้มีวัฒนธรรม ด้วยการพาไปเรียนนั่น เรียนนี่ อีกหรือคะ นั่นเท่ากับการสร้างหนี้ของพ่อแม่เพิ่มหรือเปล่า เราปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันนี้ การจะเรียนรำไทย ตีระนาด ตีขิม เรียนทำกับข้าว (บทความใช้คำว่า ไปเรียนทำกับข้าว) ฯลฯ ทั้งหมดนั้นต้องส่งลูกไปเรียนเอาข้างนอก (โรงเรียน) และในบทความเองก็ไม่ได้แนะนำให้โรงเรียนเป็นผู้ ‘สร้าง’ วัฒนธรรม แต่เป็นพ่อแม่ที่ต้องมีหน้าที่พาลูกไปเรียนรู้ และสร้างลูกให้มีวัฒนธรรมเอง ดิฉันจึงขอใช้วิจารณญาณเอาเองว่า นั่นหมายถึงให้พ่อแม่ส่งลูกทั้งหลายไปเรียนเพิ่มเติมนอกโรงเรียน การไปเรียนตีขิม เรียนตีระนาด รำไทย ทำกับข้าว ฯลฯ นั้นต้องใช้เงินหรือไม่ แน่นอนมันต้องใช้ อย่างน้อยถึงจะเรียนเองที่บ้านก็ต้องซื้ออุปกรณ์ แล้วในขณะที่บทความเองก็บอกพ่อแม่ต้องเป็นหนี้เพราะมีลุกคนหนึ่ง ทำไมยังต้องแนะนำให้พาอแม่สร้างภาระค่าใช้จ่ายให้เพิ่มขึ้น เพื่อให้เด็กมี ‘วัฒนธรรม’ ด้วยเล่า ตามมาด้วยคำถามว่าพ่อแม่ ‘ชนชั้น’ ไหนที่สามารถทำอย่างที่กระทรวงวัฒนธรรมแนะนำได้บ้าง การพาลูกไปเรียน ไปวัด ไปเที่ยวดูนั่นนี่ แม้อาจจะใช้เงินไม่มาก แต่ก็ต้องใช้เวลา พ่อแม่ชนชั้นกรรมาชีพ หรือชนชั้นแรงงาน คงไม่มีใครมีเวลาพอที่จะทำอย่างนั้น (แค่เลี้ยงยังอาจไม่มีเวลาเลี้ยงเองเลย ส่วนมากมักส่งให้ย่ายายเป็นคนเลี้ยง นี่ยังไม่นับปัญหาแรงงานอพยพที่ไม่สามารถอยู่กันเป็นครอบครัวได้อีกนะ) ลำพังแค่จะหาเงินค่าใช้จ่ายในบ้าน ค่าเทอมลูก ค่ากินค่าอยู่ ทำงานสัปดาห์ละเจ็ดวันก็แทบจะไม่พอแล้ว จะเอาเวลาไหนไปสร้างลุกให้มี ‘วัฒนธรรม’ แบบครบวงจรขนาดนั้นคะ และถ้าเป็นพ่อแม่ชนชั้นสูง บ้านรวย ไฮโซ ก็คงส่งลูกไปเรียนเปียโน เต้นบัลเลต์ ฮิปฮอป แจ๊ซ เรียนศิลปะ ออกแบบดีไซน์ และเชื่อเถอะว่า พ่อแม่ชนชั้นนี้ก็ไม่ได้มานั่งประคบประหงมลูกแบบครอบครัวอบอุ่นอย่างที่เห็นในโทรทัศน์หรอก เขาก็ต้องทำธุรกิจ ออกงานสังคม บินไปต่างประเทศ ก็มีแต่คนขับรถ กลับพี่เลี้ยงเท่านั้นแหละ ที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็ก และหากจะพูดถึงพ่อแม่ชนชั้นกลาง ก็คงไม่ต่างกับชนชั้นสูง เพราะก็อยากให้ลูก ‘ทัดเทียม’ ‘ก้าวหน้า’ พาไปเรียนภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อิตาเลี่ยน หรือเรียนบัลเลต์ เรียนเปียโนไม่ต่างกัน ก็คงจะเหลือแต่ครอบครัวระดับกลางๆ หรือกลางล่างเท่านั้นแหละ ที่พยายามจะไขว่คว้าอุดมการณ์แบบครอบครัวชนชั้นกลางและชนชั้นสูงมา แต่ด้วยต้นทุนที่มีไม่มากพอ และไม่สามารถลงทุนได้สูงขนาดนั้น จึงหยิบจับได้แต่อะไรที่พอมีกลิ่นบ้าง แต่ใช้ต้นทุนน้อยกว่า แต่ถึงอย่างไร...เราก็ต้องมาตอบคำถามว่าทำไม พ่อแม่ต้องแบกรับภาระหนี้ในเรื่องเหล่านี้ ในการสร้างลูกให้มีวัฒนธรรมด้วย ซึ่งเราจะมาพูดกันต่อในหัวข้อที่สาม 3. การผลักภาระให้ครอบครัวโดยอุดมการณ์รัฐ ในบทความจะเห็นว่าเป็นการชี้แนะให้ ‘พ่อแม่’ เป็นผู้สร้างวัฒนธรรมให้กับลูก ซึ่งดิฉันได้กล่าวไปแล้วว่า มันเป็นการ สร้างภาระที่เหลวไหลสิ้นดี ซึ่งก็อาจจะเถียงกลับมาได้ว่า ไม่เห็นจำเป็นต้องไปเสียเงินเสียทองเลย โรงเรียนก็มีสอนเรื่องแบบนี้ (จริงหรือ ?) ดิฉันคิดว่าหากรัฐพยายามท่ะผลักดัน ให้สังคมต้องแบกรับภาระ ‘วัฒนธรรม (ไทย)’ นั้น รัฐก็ควรจะสร้างตัวช่วยให้สังคมด้วย ไม่ใช่มาชี้หน้าด่ากราด อ้างความสูญสิ้นวัฒนธรรมอันดีงามจากการเป็นสังคมสมัยใหม่แบบนี้ ถ้าอยากให้เด็กเรียนรำไทย เป่าปี่ เป่าขลุ่ย ก็สร้างศูนย์เรียนฟรีเหล่านี้ในทุกๆ หมู่บ้าน ทุกๆ ชุมชนขึ้นมาสิ (ดีกว่าเอาเงินไปจ้างพรีเซ็นเตอร์ แล้วอัดเม็ดเงินลงโฆษณาตามทีวีที่มได้ผลอะไร) เด็กๆ ในครอบครัวที่ไม่มีโอกาสไปเรียนบัลเลต์ เหรือแม้แต่เรียนอะไรเลยก็ตาม (เห็นไหมว่าสุดท้ายมันก็หลีดเลี่ยงเรื่องต้นทุนไม่พ้นหรอก) เบื่อๆ ว่างๆ มันก็เข้าไปนั่งเล่น ไปสนุกกันเองแหละ อย่างน้อยก็ยังมีที่ไป นอกจากจะเป็นการสร้างที่ให้เด็กมีที่ไป ไม่ไปทำเรื่องที่เป็นอันตรายอื่นๆ แล้ว ยังสามารถสร้างงานให้แก่ผู้คน (ที่จบมาด้านนี้ เช่น จบเอกเป่าขลุ่ย) ได้มีงานทำอีกด้วย และก็ได้สืบเจตนารมย์การรักษาวัฒนธรรม (ไทย) อีกด้วย แต่รัฐก็ไม่ทำ และพร้อมจะผลักภาระให้เป็นหน้าที่ของ ‘พ่อแม่’ และพร้อมจะหาแพะรับบาปที่ชื่อ ‘เยาวชน’ 4. แพะรับบาปที่ชื่อ ‘เด็กและเยาวชน’ ดิฉันสงสัยมานานแล้วว่า ทำไมเวลามีเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยจะสูญหายไปจากชาติ มักจะมีการกล่าวโทษเด็กๆ เยาวชนเสมอไป ว่าไม่รักษาความดีงามนี้เอาไว้ ไปเห่อวัฒนธรรมตะวันตกเสียหมด ทำไมคนที่ต้องรักษาไม่ใช่พวกคนทำงาน พ่อแม่ ลุงป้าน้าอา คนแก่ๆ ทำไมต้องเป็นเยาวชน ซึ่งจะบอกว่าเยาวชนมีเวลว่างก็คงไม่ถูกนัก เพราะแค่เรียนหนังสือก็หมดเวลาไปทั้งวันแล้ว ไหนจะต้องเรียนพิเศษเสาร์อาทิตย์อีก (เห็นไหมว่ารัฐนั่นแหละที่บีบให้เด็กๆ ไม่มีเวลาไปศึกษา ‘วัฒนธรรม’ เพราะต้องแข่งขันกันภายใต้ระบบการศึกษาแบบนี้) หรือว่าถ้าให้เด็กเป็นคนสืบสานแล้วจะอยู่ได้งาน เพราะเด็กอายุยังนน้อย แต่ก็เห็นว่าผู้ใหญ่ในวันนี้ที่เคยเป็นเด็กในวันก่อน ก็ไม่เห็นมีใครสืบสานสักคน ก็ยังออกแคมเปญให้เด็กเยาวชนเป็นคนรับภาระนี้มาทุกยุคทุกสมัย ขาเดาเอาว่าเด็กมันน่าจะโง่ และด้วยความเป็นเด็กมันต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ เถียงไม่ได้ เลยต้องให้เด็กเป็นแพะรับบาไป เพราะผู้ใหญ่รู้กันหมดแล้วว่า มันเอาไปทำมาหากินไม่ได้ จบเอกเป่าขลุ่ยมา แล้วจะสอนที่ไหน สอนได้ชั่วโมงละกี่บาทกันเชียว สู้จบเอกเปียโนไม่ดีกว่าเหรอ เช่นเดียวกันกับสอนรำไทย สอนเต้นบัลเลต์ หรือฮิปฮอปท่าจะรวยกว่า เพราะฉะนั้นโยนให้เด็กมันนี่แหละ ง่ายดี (โดยเฉพาะเด็กโรงเรียนรัฐ ที่มีงานอย่างนี้ต้องโดนเกณฑ์ให้มาเข้าร่วมรณรงค์ เดินขบวน ฯลฯ ส่วนเด็กโรงเรียนอินเตอร์ แม้แต่เพลงชาติยังไม่เปิดเลย...สองมาตรฐานหรือเปล่าคะ อิจฉาเด็กโรงเรียนอินเตอร์จัง ผมไม่ต้องตัด เสื้อผ้า เครื่องแต่งกายก็ซ้วย...สวย ไม่ต้องยืนเคารพธงชาติตากแดดหน้าเสาธงด้วย บ้านรวยมันดีอย่างนี้นี่เอง) บทความชิ้นนี้ จึงเป็นบทความที่ผิดตั้งแต่การเรียบเรียงตรรกะที่ใช้ในการเขียน แถมยังเปิดช่องให้มีการข้อสงสัยต่างๆ นานาๆ ตั้งแต่การตั้งคำถามว่า ‘วัฒนธรรม’ คืออะไร ? แล้วต้องมีไปเพื่ออะไร นี่ยังไม่นับรวมความฮาร์ดเซลที่เหมือนกับว่าชีวิตนี้ต้องไปทำทุกอย่างที่อยู่ในซับเซตของคำว่า ‘ไทย’ ทั้งหมดให้ได้เ พื่อให้มี ‘วัฒนธรรม’ อีกด้วย ดิฉันจึงไม่รู้ว่าสุดท้ายนี้ ความมุ่งหมายของบทความนี้เพื่อใคร ? พ่อแม่หรือ ชนชั้นไหน ? เด็กหรือ ? หรือผู้อ่านทั่วไป และหากจะวัดกันว่าความสำเร็จของบทความคือการสื่สารประเด็นที่ต้องการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาจจะไม่จำเป็นต้องให้ผู้อื่นคล้อยตามไปทุกความคิดเห็น แต่ก็ให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงเจตนารมย์ของผู้เขียนภายใต้หลักการเหตุผลหนึ่ง ก็นับได้ว่าบทความนี้ไม่ประสบความสำเร็จในการสื่อสารแม้แต่น้อย แต่ภายใต้การไม่ประสบความสำเร็จในการสื่อสารนั้นก็ทำให้ผู้อ่านไปด้รับประโยชน์ในทางอื่น คือเสียงหัวเราะจากการอ่านบทความ และทำให้เราเข้าใจได้ว่า ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปกี่รัฐบาล กระทรวงวัฒนธรรมก็ยังเป็นกระทรวงวัฒนธรรม ที่มีอุดมการณ์ของตัวเองไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เคยตั้งคำถามต่อตัวเอง ไม่มองดูสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป และคำว่าอะไรที่ไม่ลงท้ายด้วย ‘ไทย’ นั้น (หรืออยู่ในซับเซตของคำว่าไทย) ก็แลดูจะไม่มี ‘วัฒนธรรม’ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
Posted: 30 Aug 2011 06:18 PM PDT |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น