โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง

Posted: 01 Sep 2011 08:34 AM PDT

มีความเห็นว่าควรใช้คำว่า "ภาวะทางเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด" โดยมีความหมายรวมถึงสภาพร่างกายและจิตใจ ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ให้ความเห็นชอบกับข้อความดังกล่าว โดยเห็นว่าควรแก้ไขข้อความให้ถูกต้องตามศัพท์บัญญัติทางการแพทย์เท่านั้น

โฆษกกระทรวงกลาโหม, กองทัพเลิกระบุ "มีความผิดปกติทางจิตถาวร"ใน สด. 43

เดิมพัน‘ท่าเรือน้ำลึกปากบารา’ ระวัง‘ปูทหารแห่งพระราชา’จะสูญพันธุ์

Posted: 01 Sep 2011 08:21 AM PDT

ประกายแดดสุดท้ายของวัน สาดแสงส่องระหว่างชะง่อนผาปากร่องน้ำทางเข้าบ้านบ่อเจ็ดลูกกับเกาะเขาใหญ่ อาณาเขตของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา

เรือประมงจอดเกยหาดโคลน ท้องทะเลมีแต่เลนดินเลนทรายไกลสุดลูกหูลูกตา ชาวบ้านหลายคนถือกระเช้า ช้อน และอุปกรณ์เท่าที่สรรหาได้ กุลีกุจอตั้งหน้าตั้งตาขูดทรายหาหอยนานาชนิด ในช่วงเวลา 5 โมงเย็น ที่อ่าวปากบารา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล

ดร.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) พร้อมนักศึกษาอีกหนึ่งคน มีเยาวชนจากบ้านตะโละใส, ปากบารา และท่ามาลัย ตำบลปากน้ำ 3 คน นำลงพื้นที่เพื่อดูปูทหารยักษ์

เป็นปูทหารยักษ์ ที่คณะวิจัยจากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำโดยนำโดย ผศ.พันธุ์ทิพย์ วิเศษพงษ์พันธ์ ผู้เชี่ยวชาญสิ่งมีชีวิตกลุ่มปู และอาจารย์ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพิ่งค้นพบ กลายเป็นปูพันธุ์ใหม่ของโลก

เป็นการค้นพบ จากงานวิจัยที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการพื้นที่ที่มีความหลากหลายชีวภาพ (Biodiversity Hotspots) เพื่อศึกษาด้านความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตทั้งบนบกและในทะเลอันดามัน

“เราเองก็ไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็นว่าปูทหารเป็นอย่างไร ปากบารามีด้วยเหรอปูทหารยักษ์พันธุ์ใหม่ของโลก มีลักษณะพิเศษตรงไหน นี่ก็เป็นโอกาสแรกที่เราต้องการเห็นเหมือนกัน” เยาวชนในพื้นที่บอก ขณะควานหาและจับจ้องปูในหาดโคลนช่วงน้ำลง

ปูตัวเล็กจำนวนมาก คลานในพื้นที่หาดเลนที่น้ำทะเลสาดถึง เดินคล้ายขบวนทหารมีปูตัวใหญ่นำหน้า เมื่อเข้าใกล้จะหมุนตัวเป็นเกรียวมุดลงทรายคล้ายสร้างบังเกอร์

“ปูนี่เราเคยเห็นมาตั้งแต่ไหนแต่ไรนี่” เด็กหนุ่มคนหนึ่งอุทาน พลางสังเกตเป็นพิเศษ ส่วนเด็กหญิงชายวิ่งไล่จับปูทหารจนเหนื่อยหอบ

ความเป็นมาของการค้นพบปูทหาร ทยอยออกจากของดร.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง

การค้นพบครั้งนี้ เริ่มจากดร.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง กับอาจารย์ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ร่วมศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ ขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)

จากการศึกษาคณะวิจัยก็พบกับปูทหารยักษ์ ที่ชาวบ้านพบเห็นกันทั่วไป ปูชนิดนี้จะขึ้นมาเกลื่อนชายหาดเมื่อยามน้ำลง เดินเป็นฝูงเหมือนทหารราบ พอมีอะไรเข้าใกล้จะมุดลงทราย

ชาวบ้านเรียกว่า ปูกระดุม เพราะลักษณะเหมือนกระดุม

จากการสำรวจเบื้องต้น ในประเทศไทยพบปูเพียง 13 ชนิด ใน 2 กลุ่ม คือกลุ่มปูทหาร และกลุ่มปูยักษ์ ที่เคยมีรายงานมีเพียง 1 ชนิดพบที่จังหวัดชลบุรี

สำหรับปูทหารที่ปากบารา ไม่เหมือนกับปูทหารชนิดอื่น เมื่อส่งไปตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญเรื่องปู ที่ประเทศสิงคโปร์ และออสเตรเลีย พบว่าอาจเป็นปูทหารยักษ์ชนิดใหม่ของโลก โดยระหว่างนี้กำลังอยู่ในระหว่างตรวจสอบดีเอ็นเอ

อาจารย์ธรณ์ ธำรงนาสวัสดิ์ ตั้งชื่อปูชนิดนี้ว่า “ปูทหารแห่งปากบารา” และเตรียมเสนอขอพระบรมราชานุญาต พระราชทานชื่อปูชนิดใหม่ของโลกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในวาระเฉลิมฉลองพระชนมายุครบรอบ 84 พรรษาว่า “ปูทหารแห่งพระราชา”

บริเวณชายฝั่งทะเลสตูลเป็นหาดทรายโคลน ดร.สักดิ์อนันต์ ปลาทอง บอกว่าไม่ได้เป็นหาดสกปรก หาดโคลนแสดงถึงมีธาตุอาหารสะสมเยอะ เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าทะเลบริเวณมีความอุดมสมบูรณ์ ปูทหารเป็นปูที่กินเศษซากพืช ตะกอนดินเป็นอาหาร เป็นการกำจัดซากพืช ซากสัตว์ไปด้วยในตัว เพราะถ้าไม่มีวงจรกำจัดอาหาร ลดน้ำเน่าเสียเป็นการปรับหน้าดินให้รับออกซิเจน เพื่อทำให้ระบบนิเวศน์มีความสมดุล

ยามน้ำลงปูทหารจะเดินออกมาเป็นฝูงใหญ่เต็มพื้นที่ ระหว่างที่เดินไปจะคุ้ยดินกินสารอินทรีย์ ซากพืชซากสัตว์ที่อยู่ตามดินตะกอนกินเป็นอาหาร การคุ้ยเขี่ยดิน และการฝังตัวของปูทหาร ยังเป็นเหมือนการคุ้ยเอาดินที่อยู่ชั้นล่างขึ้นมาสัมผัสอากาศ ทำให้พื้นดินไม่ขาดออกซิเจน คุณภาพดินจึงดีขึ้น เหมาะกับการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทำให้สิ่งมีชีวิตในดินเพิ่มจำนวน และความหลากหลายมากขึ้น

สัตว์หน้าดินเหล่านี้ จะกลายเป็นอาหารของกุ้ง หอย ปู ปลา ขนาดใหญ่ต่อไปตามลำดับขั้นของวงจรชีวิต บริเวณชายหาดปากบารา จึงเป็นบริเวณที่มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตหน้าดินสูงมาก เช่น หอยปากเป็ด (หอยราก) หอยเสียบ อีแปะทะเล หอยมะระ ไส้เดือนทะเล ปู ฯลฯ สัตว์เหล่านี้ ต่างทำหน้าที่ภายใต้ระบบนิเวศ

ขณะที่รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ท่าเรือน้ำลึกปากบารา กลับระบุว่า สัตว์หน้าดินบริเวณนี้มีน้อยมาก ซึ่งขัดแย้งกับความจริงอย่างสิ้นเชิง

สิ่งที่น่ากังวลคือ ชายฝั่งจังหวัดสตูลไม่ใช่แหล่งสะสมธาตุอาหารอย่างเดียว

ทว่า ขยะในทะเลจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย ต่างถูกซัดขึ้นชายฝั่งจังหวัดสตูล ถ้าหากเกิดท่าเรือน้ำลึก น้ำเสียที่ปล่อยจากเรือ น้ำมัน สารเคมีรั่ว จะถูกซัดเข้าหาชายฝั่ง สารพิษก็จะสะสมในปูทหารแห่งปากบารา ซึ่งเก็บกินซากแนวชายฝั่งเป็นอาหาร ส่งผลให้ปูชนิดนี้สูญพันธุ์ได้

ดร.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง กับนักศึกษา ถือกล้องถ่ายรูปเดินออกไปไกลลิบๆ ถ้าไม่ติดกับน้ำทะเลที่ขวางกั้นเพียง 2 กิโลเมตร คณะสำรวจคงจะเดินจนถึงเกาะเขาใหญ่

ทั้งหมดกลับมาถึงชายฝั่ง พร้อมภาพถ่ายที่ชี้ชัดถึงความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตหน้าดิน บริเวณชายทะเลปากบารา ไม่ว่าจะเป็นหอยปากเป็ด (หอยราก) หอยเสียบ อีแปะทะเล หอยมะระ ไส้เดือนทะเล ปู ฯลฯ

หกโมงครึ่งท้องฟ้าเหนือทะเลอันดามัน บริเวณอ่าวปากบาราค่อยๆ สลัว ภาพเกาะตะรุเตา เกาะเขาใหญ่เลือนรางลง

ขณะที่ข่าวดี พบปูทหารยักษ์พันธุ์ใหม่ และความหลากของสิ่งมีชีวิต ณ ทะเลปากบารา เริ่มซาลง

พลันข่าวร้าย โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราถูกหยิบขึ้นมาผลักดันอีกครั้ง ก็เริ่มกระหึ่มดัง

 

เดิมพัน‘ท่าเรือน้ำลึกปากบารา’ ระวัง‘ปูทหารแห่งพระราชา’จะสูญพันธุ์
รูปร่างหน้าตาปูทหารยักษ์พันธุ์ใหม่ ที่ทะเลปากบารา

เดิมพัน‘ท่าเรือน้ำลึกปากบารา’ ระวัง‘ปูทหารแห่งพระราชา’จะสูญพันธุ์
ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน : คนใต้ไม่เอา‘โรงไฟฟ้าถ่านหิน’

Posted: 01 Sep 2011 08:12 AM PDT

ในรอบหลายปีมานี้ ปฏิบัติการไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินมีมาตลอด ไล่มาตั้งแต่โครงการเหมืองถ่านหิน และโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ที่คนในพื้นที่อำเภอสะบ้าย้อย ต่อต้านมานานนับสิบปี และยังต่อต้านอยู่จนถึงวันนี้

ตามมาด้วยการออกโรงต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของชาวอำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ตามมาด้วยการเดินหน้าคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของชาวอำเภอละแม จังหวัดชุมพร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

นอกจากโครงการสร้างโรงไฟฟ้าข้างต้นแล้ว บัดนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ขยายวงเดินหน้าผลักดันสร้าง 2 โรงไฟฟ้าถ่านหิน ในอำเภอท่าศาลา และอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช หระทั่ง กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนของภาคใต้ไปแล้ว

ด้วยเพราะคนภาคใต้เชื่อว่า ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พยายามผลักดันสร้างโรงไฟฟ้าในหลายจังหวัด เป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมผลิตพลังงานไว้รองรับอุตสาหกรรมขนาดมหึมาที่จะกระจายอยู่ทั่วภาคใต้ ภายใต้แผนพัฒนาภาคใต้โดยรวม

กิจกรรม “รวมพลคนไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน” ระหว่างวันที่ 22–24 กุมภาพันธ์ 2554 เป็นการแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมของประชาชนเรือนหมื่นจากทุกภาคส่วน ด้วยการออกมาชุมนุมกันที่อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อยืนยันว่า “คนท่าศาลาไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน”

กลุ่มคนที่เข้าร่วมกิจกรรม นอกจากคนในพื้นที่แล้ว ยังมีมาสมทบจากทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้

ทว่า กลุ่มที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ ได้แก่ เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เครือข่ายค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินจากอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช เครือข่ายม.วลัยลักษณ์เพื่อปวงชน จากการรวมตัวกันของคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา ที่ออกมาแถลงการณ์ต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างชัดเจนตรงไปตรงมา

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มกรีนพีซ ที่แสดงจุดยืนให้รัฐพัฒนาพลังงานทางเลือกเพื่อความยั่งยืน และไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เป็นต้น

“กิจกรรมรวมพลคนไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากคนใต้ในหลายจังหวัด เพราะความเดือดร้อนไม่ได้เกิดเฉพาะจุด แต่จะกระทบกับทุกคน ถ้าหากปล่อยให้โรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นได้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกที่จังหวัดนครศรีธรรมราชก็จะตามมา เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ที่จะขยับขยายออกจากภาคตะวันออก ขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พยายามอ้างความต้องการใช้ไฟฟ้าด้วยตัวเลขเกินจริง”

เป็นคำอธิบายภาพรวมของ “นายทรงวุฒิ พัฒน์แก้ว” แกนนำเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา

การผลักดันสร้าง 2 โรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดนครศรีธรรมราช ถือเป็นเสี้ยวหนึ่งของแผนพัฒนาภาคใต้ ถ้าโรงไฟฟ้าเกิดได้ ก็จะมีชุดโครงการอื่นๆ ตามมาอย่างรวดเร็ว

ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนกั้นน้ำที่กระจายตัวทั่วภาคใต้ เพื่อป้อนให้แก่ภาคอุตสาหกรรม

ขณะที่อีกในหลายๆ จังหวัด ก็จะถูกชุดโครงการพัฒนาในลักษณะเดียวกันรุกราน ไม่ว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี นิคมอุตสาหกรรมในลักษณาการต่างๆ คลังน้ำมัน รวมถึงท่าเรือน้ำลึก

ถึงแม้เสียงของประชาชนภาคใต้ดังกึกก้องเพียงใด แต่จากบทเรียนที่ผ่านมากระบวนการทำลายความเข้มแข็งของประชาชน ถูกแทรกซึมอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะรูปแบบของการใช้สิ่งของล่อใจ การให้เงินสนับสนุนโครงการต่างๆ ในชุมชน หรือลงลึกไปถึงการซื้อตัวผู้นำ หรือนักการเมืองท้องถิ่น

ดังนั้น ในเวทีรวมพลคนไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน จึงมีการร่วมลงนามสัญญาประชาชนระหว่างผู้นำท้องถิ่น ทั้งในระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ยืนยันว่าจะฟังเสียงและยืนข้างประชาชน

ถ้าหากย้อนรอยถอยกลับไปยังอดีต ไม่เฉพาะคนท่าศาลาที่ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ทว่า คนทั้งภาคใต้ล้วนแล้วแต่ปฏิเสธโรงไฟฟ้าถ่านหินนานนับสิบปีมาแล้ว

รายงาน : คนใต้ไม่เอา‘โรงไฟฟ้าถ่านหิน’
โรงไฟฟ้าถ่านหินที่คลุ้งไปควันพิษ นับเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านเกือบทุกที่ออกมาต่อต้าน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทำความเข้าใจ “ชุมชน” และ “ประชานิยม” ใหม่ในสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองร่วมสมัย

Posted: 01 Sep 2011 08:10 AM PDT

 
(บทความนี้ปรับปรุงจากปาฐกถาของผู้เขียนในหัวข้อ “การจัดการตัวเองของชุมชนหลังยุคประชานิยม: ข้อท้าทายในสถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองร่วมสมัย” ในงานสัมมนา “การจัดการตนเองของชุมชนหลังยุคประชานิยม” โดยสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 9 สิงหาคม 2554 ณ ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์)
 
โดยทั่วไปคำว่า “ชุมชน” ดูเหมือนจะไปไม่ได้กับคำว่า “ประชานิยม” เพราะคำว่า “ประชานิยม” มีนัยของการรุกคืบของรัฐในการเข้าไปควบคุมการจัดการตัวเองของ “ชุมชน” จนสูญเสียศักยภาพ อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าเราสามารถทำความเข้าใจคำสองคำนี้ได้ในอีกลักษณะโดยไม่จำเป็นจะต้องเป็นขั้วตรงข้ามหรือคู่ขัดแย้งกันเสมอไป ทั้งนี้ก็ด้วยการพิจารณาคำสองคำนี้ในแง่มุมหรือความหมายใหม่ในบริบทของการเมืองและเศรษฐกิจร่วมสมัยเป็นสำคัญ
 
กล่าวในส่วนของคำว่า “ชุมชน” ผมคิดว่าหนึ่งในคำที่มีปัญหาหรือว่าก่อให้เกิดการถกเถียงได้มากที่สุดในวงวิชาการปัจจุบันคือคำว่า ชุมชน ซึ่งแปลมาจากภาษาอังกฤษคำว่า community โดยมีมโนทัศน์ทางสังคมศาสตร์ในศตวรรษที่ 19 อยู่เบื้องหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือมโนทัศน์ Gemeinschaft ของ Ferdinand Tonnies รวมทั้งมโนทัศน์ Mechanic Solidarity ของ Emile Durkheim โดยมโนทัศน์ชุมชนที่ว่านี้หมายถึงรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างบุคคลที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา และเป็นความสัมพันธ์ที่ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความพึ่งพาผูกพัน ความรักสามัคคี ฯลฯ ทว่าหลังจากที่รัฐและทุนรุกคืบเข้าไปในสังคมโดยเฉพาะในเขตชนบทก็ก่อให้เกิดการจัดความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ ที่บุคคลสัมพันธ์กันผ่านทางสถานภาพที่ไต่เต้าหรือได้มาในภายหลัง และเป็นความสัมพันธ์ที่ให้ความสำคัญกับปัจเจกบุคคลเป็นเบื้องต้นแทนที่จะเป็นส่วนรวม จึงเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่พึงประสงค์ เพราะผู้คนมีความห่างเหิน แก่งแย่งแข่งขัน และกดขี่ขูดรีดกัน จำเป็นจะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลง ไม่ด้วยการปฏิรูปสถาบันทางศีลธรรมและระบบการศึกษาอย่างที่ Durkheim เสนอ ก็ด้วยการอาศัยผู้นำที่เปี่ยมล้นด้วยบารมีอย่างที่ Weber แนะนำ หรือไม่ก็ด้วยการปฏิวัติทางชนชั้นอย่างที่ Marx แถลงไว้
 
ทฤษฎีทางสังคมคลาสสิคกลุ่มนี้มีอิทธิพลต่อวงการสังคมศาสตร์ตะวันตกในช่วงแรกอย่างมาก โดยเฉพาะในมานุษยวิทยาสังคมอังกฤษสายหน้าที่นิยม และโครงสร้างหน้าที่นิยมที่ให้ความสำคัญกับความเป็นองค์รวม (Totality) ของสังคม รวมทั้งการที่สังคมมีอิทธิพลเหนือปัจเจกบุคคลอย่างค่อนข้างจะเบ็ดเสร็จ (ยกเว้นแนวคิดของ Weber) และการศึกษาสังคมไทยในยุคแรกต่างก็ได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีทางสังคมคลาสสิคเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยจากยุคประเพณีไปสู่ความทันสมัย โดยงานเหล่านี้มักจะเลือกศึกษาหมู่บ้านในเขตชนบท ซึ่งกำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลง โดยด้านหนึ่งก็ให้ภาพว่าหมู่บ้านกำลังก้าวไปสู่ภาวะความทันสมัยหรือเป็นไปในทิศทางเดียวกับสังคมเมืองภายใต้แรงกดดันของทุนและตลาดที่เกื้อหนุนผลักดันโดยรัฐ แต่อีกด้านก็ให้ภาพว่าหมู่บ้านมีลักษณะดั้งเดิมหรือตามประเพณีอยู่มาก ผู้คนในหมู่บ้านยังช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายใต้สังคมเกษตรกรรมหรือเศรษฐกิจยังชีพ แม้การรุกคืบของทุนและรัฐจะทำให้หมู่บ้านอ่อนแอหรือกระทั่งล่มสลาย แต่หลายหมู่บ้านก็ยังมีความเข้มแข็งเป็นปึกแผ่น สามารถปรับตัวหรือรับมือกับภัยคุกคามจากภายนอกได้บนฐานของสิ่งที่เรียกว่า “ภูมิปัญญา” และ “วัฒนธรรม” หรืออีกนัยหนึ่งคือ “ความเป็นชุมชน”
 
อย่างไรก็ดี การทำความเข้าใจสังคมชนบทที่กำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงด้วยมโนทัศน์ชุมชนในลักษณะดังกล่าวมีปัญหา นับตั้งแต่ในระดับญาณวิทยาหรือทฤษฎีความรู้ เพราะชุมชนเป็นคุณภาพความสัมพันธ์ที่ไม่ผูกติดกับพื้นที่เชิงกายภาพแบบใดแบบหนึ่งเป็นการเฉพาะ ทว่าหมู่บ้านเป็นหน่วยการปกครองที่มีขอบเขตเชิงกายภาพอย่างชัดเจน งานศึกษาสังคมชนบทไทยในช่วงแรกๆ ที่นำมโนทัศน์ชุมชนไปครอบหมู่บ้านจึงมีลักษณะผิดฝาผิดตัวตั้งแต่ต้น และพลอยก่อให้เกิดข้อจำกัดในแง่ที่ว่า ทำให้มองไม่เห็นเครือข่ายความสัมพันธ์ของคนในพื้นที่ที่กว้างไกลไปกว่าหมู่บ้านที่พวกเขาอาศัยหรือทำมาหากิน เพราะนอกจากการตั้งถิ่นฐานที่มักวางอยู่บนสายสัมพันธ์เชิงเครือญาติที่กว้างขวาง กิจกรรมทางเศรษฐกิจนับแต่อดีตก็วางอยู่บนเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ก้าวข้ามที่อยู่อาศัยและทำมาหากินในหมู่บ้านไปค่อนข้างมาก
 
ขณะเดียวกันการอาศัยมโนทัศน์ชุมชนซึ่งเชิดชูระบบคุณค่าหรืออุดมคติบางอย่างก็ทำให้เข้าใจปัญหาได้ค่อนข้างจำกัด เพราะการศึกษาในแนวทางนี้มักจะนับหรือเน้นย้ำเฉพาะคุณลักษณะบางอย่างที่สอดคล้องกับมโนทัศน์ชุมชน แต่มักจะละเลย ไม่ให้ความสำคัญ หรือแม้กระทั่งบิดเบือนคุณลักษณะอื่นๆ ที่ขัดแย้งหรือไปด้วยกันไม่ได้ ส่งผลให้ภาพความสัมพันธ์ของผู้คนในหมู่บ้านไม่ว่าจะเป็นในอดีตหรือร่วมสมัยมีลักษณะของการเลือกสรรและกีดกันค่อนข้างสูง ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในชีวิตประจำวันของผู้คน ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะด้านชวนอภิรมย์หรือหลงใหลเสมอไป แต่ยังแฝงไว้ด้วยด้านที่ไม่น่าประทับใจจำนวนมาก
 
ถึงแม้จะมีข้อจำกัด แต่มโนทัศน์ “ชุมชน” ในลักษณะดังกล่าวก็ยังคงถูกนำไปใช้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในแวดวงการแก้ปัญหาและพัฒนาชนบท โดยกลุ่มหนึ่ง (ซึ่งมีสำนักวัฒนธรรมชุมชนเป็นหัวหอก) เน้นการชี้ให้เห็นสารัตถะหรือว่าแก่นสารของชุมชนว่าเปี่ยมด้วยศักยภาพและภูมิปัญญาที่ช่วยให้ชุมชนสามารถปรับตัวให้อยู่รอดได้โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจท่ามกลางการรุกคืบของทุนและตลาด ขณะที่อีกกลุ่มให้ความสำคัญกับสิทธิของชุมชนในการเข้าถึงทรัพยากรท่ามกลางการรุกคืบของรัฐ โดยเฉพาะในรูปของการประกาศเขตหวงห้ามประเภทต่างๆ โดยเสนอว่าชุมชนมีศักยภาพที่จะดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้อย่างยั่งยืนและเป็นธรรม ตรงกันข้ามกับการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ ฉะนั้น ขณะที่กลุ่มแรกเน้นศักยภาพของชุมชนในการจัดการตนเองและมีนัยที่จะไม่ให้ความสำคัญหรือเพิกเฉยต่อรัฐ กลุ่มหลังเน้นสิทธิของชุมชนเหนือทรัพยากรที่จะต้องเข้าไปเคลื่อนไหวกดดันหรือว่าเจรจาต่อรองกับรัฐโดยตรง
 
อย่างไรก็ดี แม้จะมีความเข้าใจและอาศัยมโนทัศน์ชุมชนต่างกัน แต่ทั้งสองกลุ่มมีลักษณะร่วมกันในแง่ของการผูกโยงชุมชนเข้ากับพื้นที่เชิงกายภาพ และเน้นย้ำเฉพาะด้านดีงามของชุมชน ซึ่งนอกจากจะเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ ยังส่งผลให้ละเลยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมชนบทขนานใหญ่ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ที่ส่งผลให้สังคมชนบทส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นสังคมเกษตรกรรมหรือมีสภาพเป็นชุมชนตามที่มักเข้าใจกันอีกต่อไป ผลการสำรวจล่าสุดพบว่า มีครัวเรือนไม่ถึงร้อยละ 20 ในเขตชนบทที่ทำการเกษตรเป็นหลักหรือเพียงอย่างเดียว อีกทั้งรายได้หลักของครัวเรือนเหล่านี้ก็มาจากสมาชิกครัวเรือนรายที่ผันตัวเองไปสู่ภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ และบริการ ครัวเรือนเกษตรกรส่วนใหญ่ทำการเกษตรเชิงพาณิชย์เป็นหลัก ขณะที่การผลิตนอกภาคเกษตร เช่น ธุรกิจ การค้า และบริการ มีปริมาณเพิ่มขึ้นในเขตชนบทอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ยังไม่นับรวมในส่วนของวิถีชีวิตหรือแบบแผนการบริโภคใน “ชนบท” ที่มีความคล้ายคลึงกับใน “เมือง” จนแทบจะแยกจากกันไม่ออก
 
นอกจากนี้ ขบวนการสิทธิชุมชนที่เคยเฟื่องฟูในช่วงต้นทศวรรษ 2530 ต่อเนื่องถึงกลางทศวรรษ 2540 มีสภาพซบเซาลงอย่างเห็นได้ชัด (ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากข้อจำกัดของมโนทัศน์ “ชุมชน” ที่นำมาปรับใช้) ปัจจุบันไม่มีกลุ่ม องค์กร หรือสถาบันวิชาการใดออกมาเคลื่อนไหวผลักดันพระราชบัญญัติป่าชุมชนอย่างเข้มข้นอีก หลังจากที่สภานิติบัญญัติผ่านพระราชบัญญัติป่าชุมชนฉบับที่บิดเบี้ยวออกมา และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญก็ได้วินิจฉัยให้ตกไป ขณะที่ปัจจุบันแม้จะมีบางกลุ่มเคลื่อนไหวผลักดันโฉนดชุมชนในการแก้ปัญหาที่ดิน แต่ก็ไม่ได้มีความหนักแน่นหรือเป็นเสียงเดียวกันเหมือนการเคลื่อนไหวกรณีป่าชุมชน ฉะนั้น นอกจากมีข้อจำกัดในการใช้ทำความเข้าใจหรืออธิบายสังคมชนบท ปัจจุบันคำว่า “ชุมชน” ก็ไม่ได้มีสถานะเป็นยาครอบจักรวาลหรือยุทธวิธีสำเร็จรูปสำหรับการแก้ปัญหาชนบท โดยเฉพาะในส่วนของสิทธิการเข้าถึงทรัพยากร การทำความเข้าใจคำว่า “ชุมชน” ในบริบทเศรษฐกิจและการเมืองร่วมสมัยจึงจำเป็นจะต้องเริ่มต้นด้วยเงื่อนไขและข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นลำดับแรก
 
นโยบายประชานิยมมักถูกเข้าใจในเชิงลบ คือเป็นกลยุทธ์ในการหาเสียงที่มักง่ายและไม่รับผิดชอบ อันจะก่อให้เกิดปัญหากับระบบเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าเราสามารถมองนโยบายประชานิยมได้ในอีกลักษณะ คือ เป็นบันไดขั้นแรกของการกระจายความมั่งคั่งในสังคมอย่างเป็นธรรมและเป็นระบบ
 
เพราะในแง่หนึ่ง นโยบายประชานิยมทำหน้าที่จัดสรรหรือกระจายทรัพยากรสาธารณะที่อยู่ในรูปงบประมาณไปสู่กลุ่มคนอย่างกว้างขวาง ขณะเดียวกันก็ให้ความช่วยเหลือผู้อ่อนแอหรือผู้ที่ไม่สามารถแข่งขันได้ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม เพราะเหตุที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมมาตั้งแต่ต้น ฉะนั้น นอกจากการกระจายโภคทรัพย์ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน ป่าไม้ แหล่งน้ำ ทะเล ปัจจัยการผลิต หรือแม้กระทั่งทุนแล้ว นโยบายประชานิยมยังหมายรวมถึงการดูแลคนเหล่านี้ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล ที่พักอาศัย การคมนาคม หรือการศึกษา เพราะในฐานะประเทศโลกที่สามที่กำลังเผชิญกับการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ วิธีการหนึ่งที่ประเทศไทยจะไปรอดได้โดยไม่ทิ้งคนส่วนใหญ่ไว้ข้างหลังก็คือการสร้างระบบสวัสดิการที่มีคุณภาพและทั่วถึงขึ้นมา
 
นโยบายประชานิยมตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์นับตั้งแต่สมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยเป็นต้นมา ก่อนจะเงียบหายไประยะหนึ่งหลังเกิดวิกฤติการเมือง (ส่งผลให้นโยบายรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์แม้จะมีลักษณะ “ลดแลกแจกแถม” อย่างชัดเจน) และหวนกลับมาอีกครั้ง นับตั้งแต่การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเนื่องจากพรรคการเมืองส่วนใหญ่ต่างเสนอนโยบายในลักษณะประชานิยมในการหาเสียง อย่างไรก็ดี ขณะที่ข้อวิจารณ์นโยบายประชานิยมส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับนัยด้านเศรษฐกิจ ผมคิดว่าเรามีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจนโยบายประชานิยมในการเลือกตั้งครั้งนี้ในอีกลักษณะ คือไม่ใช่จากตัวนโยบายเพียงโดดๆ หากแต่เป็นนโยบายที่ถูกกำหนดโดยเงื่อนไขทางการเมืองของประเทศในขณะนี้เสียมากกว่า ทั้งนี้ก็เพราะว่านโยบายประชานิยมในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเกิดขึ้นขณะที่ประเทศกำลังประสบปัญหาวิกฤติทางการเมือง ไม่ใช่วิกฤติทางเศรษฐกิจ และการเลือกตั้งก็ถูกคาดหวังว่าจะเป็นก้าวแรกที่จะช่วยคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้ ฉะนั้น ในขณะที่วิกฤติทางการเมืองเป็นเรื่องของจินตนาการทางการเมืองที่ขัดแย้งกันทว่าไม่สามารถกล่าวในที่สาธารณะอย่างเปิดเผยได้ การแข่งขันทางการเมืองจึงจำเป็นจะต้องออกมาในรูปของนโยบายเศรษฐกิจเป็นหลัก และก็ต้องเป็นนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้นหรือนำไปสู่การลุกฮือรอบใหม่ ซึ่งในแง่นี้นโยบายประชานิยมตอบโจทย์ได้ระดับหนึ่ง เพราะผู้ได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้เป็นคนส่วนใหญ่ และแม้จะมีผู้เสียประโยชน์บ้างอย่างเจ้าของกิจการรายใหญ่และรัฐ แต่ก็คงไม่มีผู้ประกอบการรายใหญ่คนไหนออกมาเดินประท้วงบนท้องถนน และก็คงไม่มีทหารกรมกองใดออกมาตบเท้าหรือเคลื่อนพลด้วยความไม่พอใจ เพราะในความเข้าใจของทหารนโยบายประชานิยมไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ
 
ขณะเดียวกันการชูนโยบายประชานิยมที่คล้ายคลึงกัน นอกจากจะช่วยให้ไม่มีการถกเถียงในระดับรากฐาน ยังช่วยเลี่ยงให้ไม่ต้องถกเถียงประเด็นทางสังคมและการเมืองอันเป็นที่มาของความขัดแย้งได้ เพราะทุกฝ่ายต่างก็รู้ว่าปัจจัยตัดสินการเลือกตั้งครั้งนี้คืออะไร คนส่วนใหญ่ต่างตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองของพวกเขาก่อนที่พรรคการเมืองเหล่านั้นจะเสนอนโยบายในการเลือกตั้ง และก็เป็นจุดยืนหรืออุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคไม่ใช่นโยบายเศรษฐกิจที่คนเหล่านี้อาศัยเป็นเกณฑ์ในการเลือก ฉะนั้น พรรคประชาธิปัตย์จึงต้องปรับกลยุทธ์การหาเสียงในกรุงเทพฯ ในโค้งสุดท้ายที่ไม่ได้เป็นเรื่องของนโยบาย “ลดแลกแจกแถม” อีกต่อไป เพราะรู้ว่าไม่สามารถอาศัยเป็นข้อได้เปรียบในการเอาชนะพรรคเพื่อไทยได้ หากแต่เป็นการตอกย้ำพฤติกรรมของกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ว่าเป็นภัยคุกคามต่อจินตนาการทางการเมืองของกลุ่มคนที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ที่ราชประสงค์หรือว่าการติดตั้งป้ายโฆษณาเป็นภาพขณะห้างสรรพสินค้ากำลังถูกเพลิงลุกไหม้ ผมคิดว่าหาก กกต.ไม่มีข้อห้ามเกี่ยวกับการนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้ในการหาเสียง พรรคประชาธิปัตย์ก็คงใช้ประโยชน์จากประเด็น “ล้มเจ้า” ด้วย นอกเหนือจากประเด็น “เผาเมือง” ในการหาเสียงช่วงโค้งสุดท้ายในกรุงเทพฯ เพื่อเอาชนะพรรคเพื่อไทย
 
ทั้งนี้ ถึงแม้กลุ่มคนที่เข้ามามีบทบาทกับการเมืองเลือกตั้งค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้เคลื่อนไหวเรียกร้องในประเด็นทางเศรษฐกิจ แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ต่อไปกลุ่มคนเหล่านี้จะเคลื่อนไหวเรียกร้องในประเด็นทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น เพราะสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่พวกเขาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองก็เพราะความที่ตระหนักว่าการเมืองแยกไม่ออกจากเศรษฐกิจหรือการทำมาหากินของพวกเขา นโยบายประชานิยมได้ทำให้คนเหล่านี้ตระหนักว่า การเมืองเป็นช่องทางสำคัญที่จะทำให้ทรัพยากรส่วนกลางหรืองบประมาณลงมาถึงมือพวกเขาได้ และสาเหตุที่พวกเขาต่อต้านรัฐประหาร ส่วนหนึ่งก็เพราะรัฐประหารได้ทำลายระบอบการเมืองที่พวกเขาเชื่อเช่นนี้ ฉะนั้น แม้ว่าในระยะเฉพาะหน้ากลุ่มคนเหล่านี้จะเรียกร้องเฉพาะความเป็นธรรมทางสังคมและการเมือง ทว่าในช่วงต่อไปก็มีความเป็นไปได้สูงที่คนเหล่านี้จะหันมาพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ดังกรณีกลุ่มแรงงานจำนวนมากออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยดำเนินนโยบายปรับอัตราค่าจ้างรายวันขั้นต่ำตามที่ได้หาเสียงไว้ แม้ว่าในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งกลุ่มเหล่านี้จะไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องในประเด็นเหล่านี้ก็ตาม
 
กลุ่มคนที่มีความตื่นตัวทางการเมืองเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นชั้นกลางระดับล่างซึ่งเป็นผลพวงของการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะในเขตชนบทในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา คนเหล่านี้ไม่ได้ยากจนข้นแค้นแต่ก็ไม่ได้มีชีวิตที่มั่นคงเมื่อเปรียบเทียบกับชนชั้นกลางในเมือง พวกเขาจำนวนหนึ่งเข้ามาอาศัยและทำมาหากินในเขตเมืองแต่ก็ยังมีความผูกพันกับหมู่บ้าน ขณะที่จำนวนหนึ่งแม้จะยังอาศัยและทำมาหากินในหมู่บ้านแต่ก็เป็นหมู่บ้านที่ห่างไกลจากคำว่าชนบทค่อนข้างมากแล้ว และด้วยความที่คนเหล่านี้คือคนส่วนใหญ่ของประเทศ สังคมไทยจึงเคลื่อนเข้าสู่ยุคสมัยที่คนส่วนใหญ่เข้ามาพัวพันกับการเมืองเลือกตั้งระดับชาติมากขึ้น โจทย์ที่ท้าทายสังคมไทยจึงไม่ได้เป็นว่าชุมชนจะจัดการตัวอย่างไร เพราะชุมชนในความหมายดังกล่าวไม่ได้ดำรงอยู่อีกต่อไป หรือไม่ก็ลดนัยสำคัญลงมากแล้ว ขณะเดียวกันสิ่งที่เรียกว่ายุคหลังประชานิยมก็จะไม่เกิดในอนาคตอันใกล้นี้
 
โจทย์จึงเป็นว่าจะทำอย่างไรไม่ให้นโยบายประชานิยมเป็นเพียงกลยุทธ์หาเสียงที่ฉาบฉวยและไม่รับผิดชอบ หรือไม่เป็นเป็นเพียง “ยากล่อมประสาท” ของผู้ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่เพื่อไม่ให้ผู้เสียเปรียบลุกฮือขึ้นมา หากแต่ต้องเป็นบันไดขั้นแรกๆ ในการก้าวไปสู่การกระจายความมั่งคั่งในสังคมอย่างเป็นธรรม โจทย์ก็คือเราจะสร้างชุมชนทางการเมืองของพลเมืองที่ตื่นตัวและเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศไทยในฐานะรัฐกึ่งโบราณ ภายใต้กระแสประชาธิปไตยโลกและกับประเทศไทย ในฐานะประเทศโลกที่สามที่กำลังเผชิญกับการขยายตัวของเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่อย่างไรเป็นสำคัญ
 
(ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ คิดอย่างคน หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์มหาประชาชน เดือนสิงหาคม 2554)
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เคารพความหลากหลายทางเพศ กองทัพเลิกระบุ “มีความผิดปกติทางจิตถาวร”ใน สด. 43

Posted: 01 Sep 2011 07:44 AM PDT

โฆษกกระทรวงกลาโหมแจง กองทัพเปิดใจกว้างยอมรับสิทธิเสรีภาพกรณีทหารกองเกินที่มีสภาพจิตใจเป็นหญิง เปลี่ยนถ้อยคำในใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ (สด.43) เป็น "สภาวะทางเพศไม่ตรงกับเพศกำเนิด" โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเรียกชื่อเดิมที่มีผลต่อการสมัครงานสามารถมาร้องขอหนังสือรับรองใหม่ได้ที่กองสัสดี

เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานเมื่อวันที่ 1 ก.ย. ว่า พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม ชี้แจงที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ถึงกรณีที่ทหารกองเกินที่มีสภาพจิตใจเป็นหญิง เรียกร้องถึงศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้กระทรวงกลาโหมแก้ไขถ้อยคำในใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ (สด.43) ประจำปี 2554 ที่ใช้ข้อความว่า "มีความผิดปกติทางจิตถาวร" ซึ่งส่งผลให้เกิดผลกระทบในการศึกษาและประกอบวิชาชีพ ซึ่งเรื่องนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงแก้ไขข้อความมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งต่อมากลุ่มเครือข่ายความหลากหลายทางเพศไม่เห็นด้วย จึงร้องเรียนต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จากนั้นจึงได้สั่งการให้ดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปด้วยความเหมาะเป็นธรรม

พ.อ.ธนาธิปกล่าวอีกว่า กระทรวงกลาโหมได้ขอความร่วมมือกับกรมการสรรพกำลังกลาโหม กรมแพทย์ทหารบก หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เพื่อพิจารณาแก้ไขโดยมีความเห็นว่าควรใช้คำว่า "ภาวะทางเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด" โดยมีความหมายรวมถึงสภาพร่างกายและจิตใจ ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ให้ความเห็นชอบกับข้อความดังกล่าว โดยเห็นว่าควรแก้ไขข้อความให้ถูกต้องตามศัพท์บัญญัติทางการแพทย์เท่านั้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่กรมพระธรรมนูญมีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว รอให้ ครม.อนุมัติ เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

โฆษกกระทรวงกลาโหมยังกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ หากใบรับรองการตรวจเลือกทหาร (สด.43) ระบุอาการหรือความผิดปกติต่างๆ ตามความเห็นของคณะกรรมการตรวจเลือกโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้วมีผลกระทบต่อการศึกษาหรือสมัครงาน สามารถติดต่อกองการสัสดี หน่วยบัญชาการรักษาดินแดนเพื่อออกหนังสือรับรองกำกับต่อไป ส่วนจะทันการตรวจเลือกทหารเกณฑ์ปีหน้าหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการดำเนินการของสำนักงานกฤษฎีกา เพราะกระทรวงกลาโหมส่งเรื่องไปแล้ว

"การเกณฑ์ทหารกองเกินมาเป็นทหารกองประจำการ เรามีความคิดเห็นในเรื่องของสภาพบุคคลที่มีจิตใจที่เป็นผู้หญิง และถ้อยคำต่างๆ ที่เกิดขึ้นอาจจะส่งผลกระทบ ก็ขอให้มาติดต่อประสานงาน เพราะบุคคลเหล่านี้ถือเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถคนหนึ่ง ปัจจุบันเราก็เปิดกว้างในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเรียกชื่อที่มีผลต่อการสมัครงานสามารถมาร้องขอหนังสือรับรองใหม่ได้ที่กองสัสดี หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน เพื่อสิทธิประโยชน์ต่อบุคคลที่ได้เกณฑ์ทหารมาแล้ว" พ.อ.ธนาธิปกล่าว

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ: Royal Pardon for Vira and Ratri

Posted: 01 Sep 2011 07:07 AM PDT

 Royal Pardon for Vira and Ratri


เรื่อง การสร้างสัมพันธไมตรีอันดี และการขอพระราชทานอภัยโทษ
เรียน นรม. หญิง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ รมต. กต. (ผ่านกัลยาณมิตร และสื่อฯ)
อ้างถึง จดหมายเปิดผนึกลงวันที่ 4 สิงหาคม 2554 (2011) ที่แนบมา
 

                  สืบเนื่องจากจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว ที่ผมได้เสนอเรียนต่อท่าน นรม. หญิง ในการดำเนินวิเทโศบายเพื่อบ้านเมืองของเรา โดยให้เน้นความสำคัญในกรอบของ “อาเซียน” และ “เปลี่ยนสนามรบ ให้เป็นเขตสันติภาพถาวร” นั้น ผมมีข้อเสนอเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ คือ

                  (1) ในการไปเยือนกลุ่มประเทศอาเซียนตามธรรมเนียมนั้น ขอให้จัดลำดับความสำคัญ โดยเน้นประเทศข้างเคียง คือ ลาว และกัมพูชา เป็นเบื้องต้น

                  (2) ในการสร้างความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรม และวาระของความเป็นสตรี (women’s agenda) ด้วยการไปเยือนแหล่งมรดกโลกของประเทศเพื่อนบ้านนั้น ผมขอเสนอให้ไปเยือน “ปราสาทสมบูรณ์ไพรกุก” ที่กัมพูชากำลังดำเนินการบูรณะ และเสนอเป็นมรดกโลกอีกแห่งหนึ่ง และที่ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ กับวิทยาลัยกัมปงเฌอเตียล

                  ซึ่งเป็นความร่วมมือและเปิดร่วมกันโดยสมเด็จพระเทพรัตนฯ และสมเด็จฮุนเซ็น เมื่อปี พ.ศ.2548 (2005)

                  (3) ในการไปเยือนกัมพูชานั้น นอกจากจะเป็นไปเพื่อสร้าง “เขตสันติภาพถาวร” ระหว่างประเทศของเราทั้งสองแล้ว ขอเสนอให้ปรึกษากับ ฯพณฯ สมเด็จฮุนเซ็น ในการเร่งรัดการดำเนินคดี และการหาลู่ทางในการขอพระราชทานอภัยโทษจากสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งกัมพูชาให้กับคุณวีระ สมความคิด และคุณราตรี พิพัฒนไพบูรณ์ ซึ่งถูกจองจำและคุมขังมาตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว ทั้งนี้เพื่อความสมานฉันท์ระหว่างชาติในสุวรรณภูมิ-อาเซียน-อุษาคเนย์ของเรา

                  (4) ในการไปเยือนดังกล่าวขอให้เน้นในการสร้าง “ประชาคมอาเซียน” ASEAN Community ที่ตั้งเป้าหมายไว้ในปี พ.ศ.2558 (2015) ทั้งนี้เพื่อความเป็นปึกแผ่น ความเจริญ และสันติภาพของภูมิภาคของเรา

                  (5) ท้ายที่สุด ในกรณีการไปเยือนประเทศลาวนั้น ขอให้ใช้การ “อู้คำเมือง” เป็นหลัก

                                                                                   ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
                                                                                   น เกาะสิงหปุระ (26 August 2011)

 

................................... 


จดหมายเปิดผนึกลงวันที่ 4 สิงหาคม 2554

Turn the Demilitarized Battlefield into a Peace Zone


เรียน
นรม. หญิงคนแรกของ “สยามประเทศไทย” และ ครม. ชุดใหม่ (ผ่านกัลยาณมิตร และสื่อมวลชน)

                  (1) เนื่องในโอกาสที่ ฯพณฯ เป็นสตรีคนแรกที่ดำรงตำแหน่ง นรม. ของประเทศ ผมขอส่งความปรารถนาดีมายัง “พณฯ” และ ครม. ชุดใหม่

                  (2) ต่อสถานการณ์การเมือง (ที่) เป็นพิษ และสภาพที่เสี่ยงต่อ “สงครามที่คนอื่น (อาจ) ก่อ” ขึ้นได้อีกรวมทั้งความเป็น “หญิง” ความเป็น “แม่” ผมหวังว่า ฯพณฯ นรม. จะใช้ทั้งแรงกายแรงใจ สติปัญญา และความเป็น “ภริยา” ในการบริหารบ้านเมือง เพื่อประโยชน์สุขของประชามหาชน ตลอดจนเพื่อสันติสุขของมนุษย์ “ ข้ามพรมแดน” ใน “ประชาคมอาเซียน” อุษาคเนย์

                  (3) ผมมีข้อเสนออีกครั้ง ดังต่อไปนี้
                  ก. โปรดให้ความสำคัญต่อ “อาเซียน” ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศและการทูตของไทย
                  ข. โปรดสร้างสัมพันธไมตรีอันดีกับเพื่อนบ้านใกล้เคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกัมพูชา ลาว และพม่า
                  ค. โปรดไปเยี่ยมเยียน และสร้างความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมเป็นหลัก โดยไปเยือนประเทศอาเซียนที่เคยมี หรือกำลังจะมีผู้นำระดับชาติที่เป็นสตรี (สร้าง Female Premier's Agenda not Male)
                  ง. โปรดไปเยือนสถานที่ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม เช่น บรมพุทโธ (Borobudur) มัสยิดอีสติกัล (Istigal) หรือโบสถ์บาร๊อคฟิลิปปิน (Philippine Baroque Church) นาขั้นบันไดบานาเว (Banawe Rice Terraces) มหาเจดีย์ชเวดากอง (Shwe Dagon) พุกาม (Pagan) ตลอดจนปราสาทวัดพู (Vat Phou) ปราสาทนครวัด-นครธม (Angkor) ปราสาทจามปาหมี่เซิน (Myson) และ/หรือเมืองประวัติศาสตร์ เช่น เว้ (Hue) มะละกา (Melaka) และปีนัง (Pinang)

                  (4) อนึ่ง ผมมีข้อเสนอเฉพาะหน้าที่ควรเร่งดำเนินการกับกัมพูชา คือโปรด “เปลี่ยนเขตปลอดทหาร ให้เป็นเขตสันติภาพถาวร” Turn the Demilitarized Battlefield into a Permanent Peace Zone –วัฒนธรรมร่วมให้มีลักษณะเป็น “เขตแดนร่วม” shared border-shared heritage ทั้งนี้เพื่อใช้สำหรับกิจกรรมด้านวัฒนธรรม ด้านเศรษฐกิจ และการทำมาหากิน ที่ปลอดจากการเมือง (อชาตินิยม) เป็นพิษ ทำให้ "เขตแดน" เป็นสมบัติร่วมของ "ชาวบ้าน" ของประชามหาชนทั้งสองชาติสืบไปชั่วกัลปาวสาน

                  ขออวยพรให้ ฯพณฯ นรม. หญิง ประสบความสำเร็จในการทำงาน “เพื่อชาติ และราษฎรของสยามประเทศไทย"

                                                                        ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
                                                                        น เกาะสิงหปุระ (4 August 2011)

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุรพศ ทวีศักดิ์: พันธนาการศาสนา

Posted: 01 Sep 2011 06:39 AM PDT

ศาสนาที่อ้างกันอยู่ปัจจุบัน ไม่มีพลังทางปัญญาและพลังอธิบายทางศีลธรรมที่มีคุณค่าต่อการปลดเปลื้องพันธนาการของชีวิตและสังคมเหมือนศาสนาในยุคของพระพุทธเจ้า

ผมเข้าใจว่าในยุคแรกๆ ที่ศาสดาของศาสนาต่างๆ อุบัติขึ้น ศาสนาคงมีบทบาทปลดเปลื้องพันธนาการบางอย่างแก่มนุษย์ในบริบททางสังคมวัฒนธรรม ณ ยุคสมัยนั้นๆ เช่นปลดเปลื้องความกลัวภัยธรรมชาติด้วยการสร้างความเชื่อและพิธีกรรมบวงสรวงเทพต่างๆ จนกระทั่งเสนอทางปลดเปลื้องทุกข์ทางจิตวิญญาณ และเสนอหลักศีลธรรมทางสังคมการเมืองที่เหมาะกับการสร้างความสงบสุขของสังคมยุคนั้นๆ
จนเมื่อกาลเวลาผ่านไป การต่อสู้ทางความคิดความเชื่อ และการยื้อแย่งศาสนิกระหว่างศาสนาต่างๆ ทำให้ศาสนาต่างๆ สถาปนาความศักดิ์สิทธิ์แก่ศาสดาและคำสอนของศาสนาตนเองผ่านการสร้างความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ ส่งผลให้ศาสดากลายเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ ธรรมะหรือคำสอนศาสนากลายเป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่ตั้งข้อสงสัย หรือวิพากษ์วิจารณ์โต้แย้งไม่ได้ ทั้งนี้เพื่อรักษาความมั่นคงแห่งศาสนาของตน  
 
เช่น การสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนา มีการสร้างเรื่องราวการประสูติของพระพุทธเจ้าว่าคลอดจากครรภ์มารดาปุ๊บก็เดินได้ทันที 7 ก้าว มีดอกบัวผุดขึ้นรองรับก้าวย่างแต่ละก้าว เมื่อเดินไปได้ 7 ก้าวแล้วก็เปล่งวาจาอันองอาจ (อาสภิวาจา) ว่า “เราเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ภพใหม่ของเราไม่มี” มีการสร้างเรื่องราวในเชิง “ข่มศาสนาอื่น” ว่า หลังการตรัสรู้พระพุทธเจ้าคิดจะไม่แสดงธรรมจึงเดือดร้อนถึงพระพรหม (เป็นที่ทราบกันว่าพระพรหมคือพระเจ้าผู้สร้างโลกตามคติของพราหมณ์) ต้องลงมากราบทูลอาราธนาให้พระพุทธเจ้าแสดงธรรม เป็นต้น
 
ต่อมาเมื่อศาสนาเข้ามาผูกพันกับรัฐ ศาสนาก็กลายเป็นเครื่องมือสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ เช่นสถาปนาให้กษัตริย์เป็นพระโพธิสัตว์ กระทั่งมีสถานะเสมอดังพระพุทธเจ้าไปเลย ดังนามของกษัตริย์ไทยในอดีตหลายองค์ก็ใช้ “ฉายานาม” ของพระพุทธเจ้ามาเป็นชื่อของตนเอง เช่น พระบรมไตรโลกนาถ พระมหาธรรมราชา พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นต้น สรรพนามแทนตัวเองที่เราใช้พูดกับกษัตริย์ เช่น “ข้าพระพุทธเจ้า” นั้น แปลว่า “ข้า ของพระพุทธเจ้า” ดังนั้น ใครที่พยายามบอกว่าศาสนาพุทธบริสุทธิ์จากการเมือง จึงเป็นการดัดจริตโดยแท้
 
เมื่อเราพิจารณาปัญหาในสังคมปัจจุบัน มีอะไรหรือที่ไม่โยงใยอยู่กับ “พันธนาการทางศาสนา” ตั้งแต่เรื่องเซ็นเซอร์ฉากเลิฟซีนในภาพยนตร์ ศิลปะนู้ด การรณรงค์ยืดอกพกถุง การเรียกร้องให้ออกกฎหมายอนุญาตทำแท้ง การจัดการปัญหาอบายมุข หวยบนดินไม่บนดิน บ่อนถูกกฎหมาย ไม่ถูกกฎหมาย เศรษฐกิจทุนนิยมเสรี หรือต้องเศรษฐกิจพอเพียง ความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมือง ควรแก้หรือไม่ควรแก้ ม.112 ความมีชนชั้นทางสังคม ไปจนถึงควรเป็นประชาธิปไตยภายใต้การกำกับของ “อภิมนุษย์”
 
ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ล้วนแต่ผูกติดอยู่กับพันธนาการทางศาสนาทั้งสิ้น มีการอ้างอิงความเชื่อ ศีลธรรมทางศาสนาครอบงำ กดทับ ปิดกั้น สถาปนาความไม่เท่าเทียมในความเป็นมนุษย์และครอบงำอย่างลึกซึ้งถึงระดับจิตสำนึกหรืออุดมการณ์ทางสังคมจนกลายเป็นอุปสรรคยากยิ่งที่สังคมนี้จะเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพ และมีความเป็นธรรมบนพื้นฐานของความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง
 
เท่ากับว่า ศาสนาที่มีพลังทางปัญญา หรือมีพลังอธิบายทางศีลธรรมในการปลดเปลื้องพันธนาการของชีวิตและสังคมยุคพุทธกาล กลับกลายมาเป็นพันธนาการของชีวิตและสังคมในยุคสมัยของเรา
 
เช่น พระพุทธเจ้าเป็นคนความคิดก้าวหน้าในโลกยุคที่ยังล้าหลัง โดยพระองค์ปฏิเสธความไม่เท่าเทียมของมนุษย์คือระบบวรรณะสี่ ยืนยันความเท่าเทียมของมนุษย์ด้วยการสร้างสังคมสงฆ์ที่ยึดหลักความเสมอภาคไม่มีชนชั้นให้เป็น “โมเดล” ของสังคมในอุดมคติ (ในแง่ความไม่มีชนชั้น) ปฏิเสธการพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพีธีกรรมที่งมงาย ให้ยึดความจริงที่พิสูจน์ได้และมีเหตุผลตามหลักอริยสัจสี่ ยึดหลักความมีเสรีภาพในการแสวงหาความจริงและเสรีภาพทางศีลธรรมตามหลักกาลามสูตร ยึดหลักความเสมอภาคทางศีลธรรมตามกฎแห่งกรรม คือหลักการที่ว่าทุกคนมีเสรีภาพเลือกการกระทำเสมอกันและต้องรับผิดชอบต่อการกระทำเสมอกัน (ไม่มีอภิสิทธิ์ชนที่ทำผิดแล้วไม่ต้องรับผิด) เป็นต้น
 
แต่ชาวพุทธไทยปัจจุบัน (ประเภท “พุทธดัดจริต” ผมใช้คำนี้ในความหมาย “เชิงข้อเท็จจริง” ว่า หมายถึง ชาวพุทธที่พยายามปกป้องวัฒนธรรมทางความคิดความเชื่อแบบพุทธปัจจุบันส่วนที่สวนทางกับที่พระพุทธเจ้าเคยทำ ตามที่ระบุข้างต้น) กลับเป็นพวกความคิดล้าหลังในโลกยุคก้าวหน้า เพราะพวกเขายึดมั่นฐานคิดที่ว่า เราต้องปรับทุกสิ่งที่รับเขามาให้เหมาะกับ “ความเป็นไทย (?)” จึงต้องปรับพุทธศาสนาให้เป็นเครื่องมือสนับสนุนระบบชนชั้น (เจ้า-ไพร่) จึงต้องปรับประชาธิปไตยที่ต้องมีเสรีภาพและความเสมอภาคสมบูรณ์ให้เป็นประชาธิปไตยกึ่งเสรี กึ่งความเสมอภาคที่ต้องอยู่ภายใต้กำกับของ “อภิมนุษย์”  
 
ฉะนั้น ชาวพุทธไทย (ย้ำ ประเภท “พุทธดัดจริต” จะส่วนใหญ่หรือส่วนน้อยสังเกตเอาเอง) จึงแปลกแยกกับการเรียกร้องประชาธิปไตย เสรีภาพ และความเท่าเทียม นักศึกษาและประชาชนที่เรียกร้องเสรีภาพถูกฆ่าซ้ำซาก โดยมีพระสงฆ์ชื่อดังสร้างวาทกรรมสนับสนุนการฆ่า และสนับสนุนความศักดิ์สิทธิ์ของระบบอภิสิทธิชน
 
สังคมเช่นนี้จึงเป็นสังคมที่ยกย่องคนดีมีคุณธรรมสูงส่ง ปราชญ์ที่มีคุณธรรมสูงส่งประเภทที่ไม่เข้าใจ ไม่เคารพ ไม่ปกป้องเสรีภาพและความเป็นธรรมบนหลักความเสมอภาคในความเป็นคน ส่วนบุคคลที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ความเสมอภาคและประชาธิปไตยอย่างปรีดี พนมยงค์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ จิตร ภูมิศักดิ์ ลุงนวมทอง ไพรวัลย์ และบรรดานักศึกษาประชาชนที่พลีชีพเพื่อประชาธิปไตยหาใช่ “คนดีมีคุณธรรมสูงส่ง” ที่ควรยกย่องแต่อย่างใดไม่
 
นอกจากนี้พวกพุทธดัดจริต ยังทำตัวเป็นผู้ผูกขาดความรู้ที่ถูกต้องของพุทธศาสนาแต่ฝ่ายเดียว ผูกขาดความเป็นเจ้าของพุทธศาสนา ชอบทำตัวเป็น “ตำรวจปกป้องพุทธศาสนา” คอยประณามคนที่ตีความพุทธศาสนาต่างจากความเข้าใจหรือ “ความจำ” ของตนเอง พวกเขามักสรุปว่า “ความเห็นต่าง” คือ “ความไม่รู้” และประณามว่า “ความไม่รู้” คือ “ความชั่ว” คนที่เห็นต่างจึงเป็นคนไม่รู้ เป็นคนชั่ว เป็นภัยต่อพุทธศาสนา ต้องขจัดออกไป
 
อีกอย่าง พวกนี้มักมีคำรำพึงเป็นดัง “สโลแกน” ที่ท่องจำตามๆ กันว่า “สังคมไทยปัจจุบันเป็นสังคมศีลธรรมล่มสลาย ผู้คนดูถูกธรรมะ ไม่เคารพคนดี แตกสามัคคี ชอบใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา ขาดการให้อภัย ไม่มีเตตาธรรมต่อกัน ที่เป็นเช่นนี้เพราะคนไม่รู้ธรรมะ เพราะเยาวชนห่างศาสนา ไม่เข้าวัดปฏิบัติธรรม ถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมเสรีภาพตามกิเลส บันเทิงนิยม วัตถุนิยม บริโภคนิยม ฯลฯ แบบตะวันตก ฉะนั้น ต้องดึงคนเข้าวัดปฏิบัติธรรม ต้องใช้ธรรมะเชิงรุกเข้าไปในโรงแรม ในซ่อง โรงหนัง บนเวทีคอนเสิร์ต ในรัฐสภา ฯลฯ เพื่อสร้างสังคมอุดมศีลธรรม”
 
ทว่าตามความเป็นจริงในบริบทความขัดแย้งกว่า 5 ปี ที่ผ่านมา บรรดาคนดีมีคุณธรรมสูงส่ง พระสงฆ์ชื่อดัง ผู้เคร่งศาสนา ปัญญาชนอาวุโสที่อ้างศาสนาอ้างศีลธรรมชี้นำสังคมมาตลอด ต่างเปลือยตัวเองเองล่อนจ้อนว่า พวกเขาไม่ได้ยืนยันประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพและความเสมอภาค ไม่เคารพการตัดสินของเสียงส่วนใหญ่ เป็นหางเครื่องของรัฐประหารและระบบอำมาตย์ ดูถูกประชาชนว่าไม่รู้ประชาธิปไตย ถูกซื้อ ฯลฯ
 
และในโลกของการถกเถียงโต้แย้งประเด็นปัญหาสังคมการเมืองในมิติต่างๆ รวมทั้งมิติที่เกี่ยวพันกับศาสนาที่ผ่านมา ผู้คนหูตาสว่างมากขึ้นๆ ว่า ศาสนาที่อ้างกันอยู่ปัจจุบัน ไม่มีพลังทางปัญญาและพลังอธิบายทางศีลธรรมที่มีคุณค่าต่อการปลดเปลื้องพันธนาการของชีวิตและสังคมเหมือนศาสนาในยุคของพระพุทธเจ้า แต่เป็นศาสนาที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือดำรงระบบชนชั้น ครอบงำทางความคิดความเชื่อ จำกัดเสรีภาพทางความคิดและทางเลือกของชีวิตและสังคมในยุคที่โลกเปิดกว้าง
 
ที่สำคัญศาสนาในความเข้าใจ หรือรูปการจิตสำนึกของชาวพุทธดัดจริตปัจจุบัน เป็นศาสนาที่ไม่มีคำตอบเรื่องเสรีภาพ ความเป็นธรรมบนหลักความเสมอภาค ซึ่งสวนทางกับศาสนาแห่งพุทธะในยุคพุทธกาลอย่างสิ้นเชิง !

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประกันคุณภาพมหา’ลัยที่ไร้ “คุณภาพ”

Posted: 01 Sep 2011 06:35 AM PDT

การประกันคุณภาพได้กลายเป็นคำที่คุ้นเคยกันในแวดวงของผู้ที่ต้องมีอาชีพสอนหนังสืออยู่ในมหาวิทยาลัย อันเนื่องมาจากมีความพยายามที่จะสร้างมาตรฐานทางการศึกษา รวมถึงความเป็นเลิศทางวิชาการให้บังเกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการประเมินวัดซึ่งเมื่อต้องการวัดว่าแต่ละสถาบันมีคุณภาพมากน้อยเพียงใดก็จึงต้องมีกระบวนการการประกันคุณภาพการศึกษา

แน่นอนว่ามหาวิทยาลัยเป็นสถาบันทางสังคมแบบหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่ผลิตบุคลากรและความรู้ให้กับสังคม เมื่อเป็นสถาบันทางสังคมก็ย่อมไม่อาจพ้นไปจากการตรวจสอบและกำกับจากสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมหาวิทยาลัยของรัฐที่ได้รับงบประมาณในการบริหารและดำเนินการมาจากรัฐบาล ย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบต่อภาระหน้าที่ของตนด้วยการแสดงให้เห็นว่าได้ดำเนินการตามภาระหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่คำถามก็คือว่าจะชี้วัดด้วยปัจจัยใด และด้วยกระบวนการอย่างไร เป็นประเด็นที่มีความสำคัญไม่น้อย

ในห้วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา การประกันคุณภาพภายใต้ความหลากหลายของชื่อเรียกไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบคุณภาพภายใน การประเมินมาตรฐานการศึกษา มาจนกระทั่งถึงการประกันคุณภาพระบบใหม่ที่กำลังเริ่มต้นบังคับใช้ในขณะนี้คือ กรอบมาตรฐานคุณภาพของประเทศไทย (TQF: Thailand Quality Framework) ทั้งหมดล้วนมีแนวทางที่ไม่สู้จะมีความแตกต่างกันมากเท่าใด

ตัวอย่างตัวชี้วัดในการประเมินวัดคุณภาพการศึกษาที่จะบอกถึงคุณภาพของสถาบันนั้นๆ เช่น จำนวนอาจารย์ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ระบบการตีพิมพ์หรือนำเสนองานของนักศึกษาปริญญาโทหรือปริญญาเอกก่อนสำเร็จการศึกษา จำนวนการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการหรือการนำเสนอผลงานทางวิชาการ จำนวนของงานวิจัยที่ทำทั้งในรอบปีงบประมาณและปีปฏิทิน จำนวนของการจดสิทธิบัตรในผลงานการวิจัย จำนวนของหลักสูตรที่เปิดสอน จำนวนของนักศึกษาต่างชาติในหลักสูตร และอีกมากมายที่ไม่อาจเจียระไนออกมาได้หมดในเพียงบทความสั้นชิ้นนี้

ด้วยการประเมินวัดในลักษณะดังที่กล่าวมา ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ติดตามมาเป็นลูกโซ่ เช่น มีการเปิดสอนหลักสูตรปริญญาเอกเกิดขึ้นอย่างมากมายและมีผู้สมัครเข้าเรียนในจำนวนมากด้วยเช่นกัน จนเป็นที่น่าปลาบปลื้มว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่รักในการเรียนรู้เสียจริง

มีการจัดประชุมสัมมนาวิชาการของสถาบันการศึกษาเกิดขึ้นแทบทุกสัปดาห์ การประชุมเหล่านี้ก็จะถูกเรียกขานว่าเป็นการประชุมวิชาการระดับชาติ ทั้งที่มีเป้าหมายให้อาจารย์และนักศึกษาได้มีช่องทางในการ “ปล่อยของ” เพื่อให้ครบถ้วนตามกระบวนการประเมินวัดของการประกันคุณภาพ ในการประชุมเช่นนี้ผู้เข้าร่วมการประชุมมักจะเป็นผู้ที่เตรียมตัวนำเสนอเป็นคนถัดไปนั่นเอง

ในแต่ละสถาบันก็จะมีการผลิตวารสารทางวิชาการของตนออกมาเพื่อเป็นอีกช่องทางที่แสดงให้เห็นว่ามีการตีพิมพ์ผลงานของทั้งอาจารย์หรือนักศึกษาในหลักสูตรของตน วารสารวิชาการเหล่านี้สามารถดำรงอยู่ได้ก็ด้วยการใช้เงินอุดหนุนของมหาวิทยาลัยแม้ว่าจะมียอดจำหน่ายหรือยอดผู้อ่านในระดับหลักร้อย หรือไม่เป็นที่รู้จักกันในแวดวงวิชาการเลยก็ตาม แต่เพราะด้วยการผลิตออกมาอย่างสม่ำเสมอ ตรงเวลา จึงถูกนับว่าเป็น “คุณภาพ” ที่ต้องได้รับการยอมรับถึงมาตรฐาน

แต่การประเมินวัดที่พิสดารสำหรับบุคลากรทางด้านสังคมศาสตร์/มนุษยศาสตร์เป็นอย่างยิ่งก็คือ การจดสิทธิบัตรในผลงานการวิจัย นับตั้งแต่แรกที่ได้ทราบการประเมินวัดในเงื่อนไขข้อนี้มาจวบจนกระทั่งปัจจุบันผู้เขียนก็มั่นใจในชีวิตนี้คงจะไม่สามารถทำคะแนนในข้อนี้เพื่อสร้างความเป็นเลิศให้กับสถาบันต้นสังกัดอย่างแน่นอน

ไม่ใช่เพียงผู้เขียนเท่านั้นหากรวมถึงบรรดาผู้ที่ได้รับการยกย่องในแวดวงที่พอจะรู้จักหรือแม้กับบุคคลที่ได้รับการเคารพนับถืออย่างกว้างขวางในทางสาธารณะจนกลายเป็นปัญญาชนสาธารณะ ก็ไม่เคยเห็นว่ามีใครเคยประดิษฐ์เครื่องจักรอะไรเพื่อนำไปสู่การจดสิทธิบัตรแม้แต่น้อย

หากอ่านและทำความเข้าใจต่อระบบการประกันคุณภาพที่เกิดขึ้นในแวดวงระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทย ก็จะพบได้ว่าล้วนวางอยู่บนหลักการของการวัดในเชิง “ปริมาณ” ที่ต้องการการบ่งชี้ออกมาเป็นจำนวนเป็นหลัก คุณภาพในที่นี้จึงต้องสามารถตอบคำถามออกมาเป็นจำนวนที่นับจำนวนได้

ข้อสงสัยของคนจำนวนไม่น้อยก็คือว่าเราจะสามารถวัดผลกระทบของผลงานทางวิชาการจากการตีพิมพ์ในวารสารฝรั่ง ความสามารถของอาจารย์ผู้สอนจากการเป็นดอกเตอร์ จากจำนวนงานวิจัยที่ทำในรอบปี หรือจากอะไรต่อมิอะไรอีกมากนั้นเป็นการประเมินที่มีคุณภาพจริงหรือ

ขอย้ำไว้อีกครั้งว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยไม่ได้มีอภิสิทธิ์ที่ไม่ถูกตรวจสอบ แต่หากควรเป็นไปด้วยกระบวนการที่สามารถทำให้บุคลากรและมหาวิทยาลัยสามารถทำงานสร้างสรรค์ความรู้ได้อย่างเต็มที่ ไม่ใช่เป็นเพิ่มภาระให้ต้องมานั่งกรอกเอกสารพะเนินเทินทึกเบียดบังเวลาการทำงานด้านอื่นๆ ไปจนแทบหมด หรือกับการประเมินวัดของต่างหน่วยงานต่างมาตรฐาน อันเป็นผลให้การจัดทำข้อมูลจำนวนมากต้องแยกแยะออกไปตอบสนองต่อมาตรฐานที่ใช้แตกต่างกัน บางหน่วยงานเอาผลงานตามปีงบประมาณ ขณะที่บางอย่างถูกวัดด้วยปีปฏิทิน ทั้งหมดนี้มีผลต่อการสร้างความเป็นทางวิชาการขึ้นได้อย่างไรก็ไม่เป็นที่แน่ชัด

กระบวนการในการประเมินคุณภาพของการศึกษาสามารถทำได้ในหลายรูปแบบ เพียงแต่ต้องยอมรับในหลักการพื้นฐานบางอย่างเช่นความหลากหลายของสาขาวิชาที่ไม่อาจใช้มาตรฐานเดียวในการจัดแบ่งระดับ ทั้งการประเมินวัดที่อาจไม่สามารถชี้วัดออกมาเป็นเชิงปริมาณได้ดังการนำเสนอความคิดใหม่ๆ ในทางสังคม/มนุษยศาสตร์ ก็ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องถูกขบคิดกันอย่างลึกซึ้งมากขึ้น

ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่จะต้องถูกปรับเปลี่ยนเพื่อนำไปสู่การสร้างหลักประกันในเชิงคุณภาพดังที่ใช้ถ้อยคำในการเรียกระบบดังกล่าว ยกเว้นแต่ว่าเอาเข้าจริงแล้วระบบการประกันที่เกิดขึ้นเป็นระบบการประกัน “ปริมาณ” การศึกษามากกว่า ถ้าเช่นนั้นแล้วก็คงไม่ต้องคาดหวังว่าจะบังเกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ขึ้น

ทางที่ดีคือบรรดาคนสอนหนังสือทางด้านสังคม/มนุษยศาสตร์ทั้งหลายควรต้องไตร่ตรองว่าสิ่งที่กำลังกระทำอยู่นี้เป็นประโยชน์หรือไม่ หากไม่เป็นประโยชน์อันใดเกิดขึ้นก็ควรที่จะร่วมกันโยนเอาการประกันคุณภาพที่ไร้คุณภาพนี้ทิ้งไปเสีย 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผลทางกฎหมายในการเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่

Posted: 01 Sep 2011 06:28 AM PDT

เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๔ ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ๙ คน (คนที่ลาออกไป ๑ คน และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เหลืออีก ๘ คน) มีมติเป็นเอกฉันท์เลือกนายวสันต์  สร้อยพิสุทธิ์ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ แทนนายชัช ชลวร อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งลาออกไปเมื่อวันที่ ๑๐ เดือนเดียวกัน  และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบเพื่อพิจารณานำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป

การกระทำของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาข้อกฎหมายว่า  เป็นการกระทำที่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่  หากไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จะมีขั้นตอนใดที่จะมีการคานอำนาจของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้

ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่ง และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก ๘ คน และจะต้องได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ตามคำแนะนำของวุฒิสภา

ผู้ได้รับเลือกให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญรวม ๙ คน จากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด และผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ สาขารัฐศาสตร์และสาขาอื่น ๆ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา จะต้องประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ

ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มาตรา ๒๐๔)

การดำเนินการเมื่อประธานหรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่ง
เมื่อประธานศาลรัฐธรรมนูญหรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นการพ้นจากตำแหน่งตามวาระหรือก่อนครบวาระ จะต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

(๑) ในกรณีที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่งตามวาระพร้อมกันทั้งหมด จะต้องเริ่มดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งบุคคลผู้จะเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน ๙ คน ชุดใหม่ ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดเดิมพ้นจากตำแหน่ง

(๒) ในกรณีที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญหรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่งนอกจากกรณีพ้นจากตำแหน่งตามวาระพร้อมกันทั้งหมดตามข้อ (๑) จะต้องดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งบุคคลผู้จะมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ตามสายงานของคนที่พ้นจากตำแหน่ง ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่คนเดิมพ้นจากตำแหน่ง  กรณีที่จะเกิดขึ้นตามข้อ (๒) นี้ได้แก่ การพ้นจากตำแหน่งตามวาระบางส่วน และการลาออกทั้งหมดหรือบางส่วนก่อนครบวาระ  ฯลฯ

ในกรณีที่ผู้พ้นจากตำแหน่งตามข้อ (๑) และ (๒) เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ได้รับเลือกมาใหม่ ๙ คน หรือผู้ได้รับเลือกมาใหม่และตุลาการคนเดิมที่เหลืออยู่ จะต้องประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ (มาตรา ๒๑๐ วรรคหนึ่งและวรรคสี่ )  หมายความว่า ประธานศาลรัฐธรรมนูญซึ่งลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญต้องพ้นจากความเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไปด้วย  ไม่ใช่พ้นเฉพาะตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น

การกระทำของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
การที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนเก่าทั้ง ๙ คน ประชุมกันเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๔ แล้วเลือกนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่  โดยไม่ให้ศาลฎีกาประชุมใหญ่เลือกผู้พิพากษาในศาลฎีกาคนหนึ่งไปแทนนายชัช  ชลวร อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมาจากศาลฎีกา และลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๐ วรรคสอง (๑)

เพราะในกรณีผู้พ้นจากตำแหน่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องมีการเลือกผู้ที่จะมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่แทนก่อน แล้วคนใหม่และคนเก่าที่เหลืออยู่ร่วมประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ  คนเก่าทั้ง ๙ คน จะร่วมประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญดังเช่นที่ปรากฏอยู่นี้ไม่ได้

หากจะพูดอย่างนักกฎหมายก็พูดได้ว่า ในกรณีที่ผู้พ้นจากตำแหน่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ จะข้ามไปใช้มาตรา ๒๑๐ วรรคสี่ทันที (โดยคนเก่า ๙ คนประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ)  ไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๑๐ วรรคสอง ซึ่งให้สายงานเดิมของอดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญไปเลือกผู้ที่จะมาแทนก่อนไม่ได้  หากใช้มาตรา ๒๑๐ วรรคสี่ทันที ก็เท่ากับมาตรา ๒๑๐ วรรคสองกลายเป็นหมันไป และการประชุมเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ กลายเป็นการประชุมของคนเก่าทั้งหมด  ไม่มีผู้ได้รับเลือกให้มาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่เข้าร่วมประชุมด้วย จึงไม่ชอบด้วยมาตรา ๒๐๔ วรรคสาม

การคานอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ
การดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อมีกรณีประธานศาลรัฐธรรมนูญหรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่ง เป็นการดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ไม่ใช่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้

(๑) เมื่อศาลอื่นส่งเรื่องมาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลนั้นจะใช้บังคับแก่คดี ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ (มาตรา ๒๑๑)

(๒) เมื่อมีบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ (มาตรา ๒๑๒)

(๓) เมื่อประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มิใช่ศาลตั้งแต่ ๒ องค์กรขึ้นไปเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยกรณีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรเหล่านั้น (มาตรา ๒๑๔)

(๔) คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีอื่นที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 

การดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อมีประธานศาลรัฐธรรมนูญหรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่ง จึงไม่ใช่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ (มาตรา ๒๑๖ วรรคห้า)

ทั้งการดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็เป็นการกระทำอันตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนมีส่วนได้เสียโดยตรง  การกระทำของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวย่อมไม่เป็นคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นเด็ดขาดได้ 

การคานอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีเช่นนี้จึงอยู่ที่ขั้นตอนประธานวุฒิสภานำความขึ้นกราบบังคมทูล และคณะองคมนตรีถวายความเห็น

กล่าวโดยสรุป การที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนเก่าทั้ง ๙ คน ประชุมกันเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๔ แล้วเลือกนายวสันต์  สร้อยพิสุทธิ์ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่  โดยไม่ให้ศาลฎีกาประชุมใหญ่เลือกผู้พิพากษาในศาลฎีกาคนหนึ่งไปแทนนายชัช  ชลวร อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมาจากศาลฎีกาและลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๐ วรรคสอง (๑)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เครือข่ายศิลปินเพื่อ สวล.ร่อนจดหมายประกาศค้าน “เขื่อนแก่งเสือเต้น”

Posted: 01 Sep 2011 06:11 AM PDT

เครือข่ายศิลปินเพื่อสิ่งแวดล้อมร่วมประกาศจุดยืน คัดค้านโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น และคัดค้านอีก 2 แห่งทั้งยมบน และยมล่าง ชี้นักการเมืองหนุนสร้างเพราะหวังผลาญป่าสักทองผืนสุดท้าย

 
 
 
วันนี้ (1 ก.ย.54) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเครือข่ายศิลปินเพื่อสิ่งแวดล้อม เผยแพร่จดหมายเปิดผนึก คัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ระบุการก่อสร้างเขื่อนไม่ได้แก้ปัญหาน้ำท่วม ดังที่นักการเมืองกระพือโหมข่าว พร้อมแจงข้อเท็จจริงต้นตอปัญหาอุทกภัย 4 ข้อ คือ 1.การทำงานที่ทับซ้อนไร้ระบบของกรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต กรมประมง และกระทรวงเกษตร
 
2.นักการเมืองท้องถิ่นเร่งพัฒนาที่ดิน นำชุ่มน้ำมาปั่นราคาขายเอากำไร 3.การสร้างถนนของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท ทีเร่งรัดจัดสร้างโดยไม่พิจารณาทางเดินของน้ำ และ 4.ลมมรสุมฤดูฝนที่หนักขึ้นทุกปี เพราะการเปลี่ยนแปลงจากภาวะโลกร้อน และจากการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าในทุกพื้นที่
 
รายละเอียดของแถลงการณ์ดังกล่าว มีดังนี้
 
 
 
จดหมายเปิดผนึก คัดค้านโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
 
สืบเนื่องจากในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา เป็นระยะต้นของฤดูฝน แต่ปรากฏว่า มีปริมาณน้ำฝนตกมากกว่าปกติในภาคเหนือ จึงทำให้เกิดอุทกภัยมีผลกระทบกับพื้นที่และพี่น้องประชาชนในหลายจังวัดลุ่มน้ำ ปิง วัง ยม น่าน ซ้ำยังมีมรสุมเข้าเสริมอีกสามระลอก จึงเกิดความเดือดร้อนไปทั่ว บรรดานักการเมืองต่างส่งเสียงเรียกร้องให้ฟื้นโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นกลับมาอีก ทั้งยังไปให้ข้อมูลผิดๆ บิดเบือนว่า ถ้าสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นแล้วจักเป็นการแก้ปัญหา ทั้งน้ำท่วม ฝนแล้งได้เป็นยาขนานวิเศษ ว่าอย่างนั้นเถอะ
 
แต่ข้อเท็จจริง ที่เครือข่ายศิลปินเพื่อสิ่งแวดล้อม ได้ติดตามศึกษาถึงต้นตอของปัญหาอุทกภัยนั้นมีหลายองค์ประกอบเช่น
 
๑. การทำงานที่ทับซ้อนไร้ระบบ ของกรมชล ประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต กรมประมง และกระทรวงเกษตร ที่ทำให้การเก็บกัก และการปล่อยน้ำ ไร้ระบบ แบบแผน ทำให้ คนต้นน้ำ ท้ายน้ำต้องประสบภัยน้ำท่วมร้ายแรงขึ้น ในกรณีปี๒๕๓๘ ที่ท่วมยาวนาน พืชผลเสียหายหนัก เพราะระบายน้ำที่เขื่อนชัยนาทไม่ได้ จะท่วมข้าวนาปรังของคนเขื่อน
 
๒. นักการเมืองท้องถิ่น รวมหัวกัน เร่งพัฒนาที่ดิน ชุ่มน้ำมาปั่นราคาขายเอากำไร เพราะต้องใช้ดิน (หลอกชาวบ้านขุดบ่อปลาให้ฟรี แล้วขนดินไปถมที่ลุ่มไร้ราคา)ที่มันเป็นเจ้าของรถขุด และรถขนดิน ร่ำรวยเอามาเล่นการเมืองผูกขาดมาจนบัดนี้ โดยทำลายแหล่งเก็บกักน้ำธรรมชาติ (ต้องจัดการตรวจสอบทุกจังหวัด ยึดเงินมันคืนให้ชาวไร่ชาวนาที่เดือดร้อน)
 
๓.การสร้างถนน อย่างไร้สติ และมักง่าย ของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท ทีเร่งรัดจัดสร้างถนน โดยไม่พิจารณาทางเดินของน้ำ ดันเป็นคันสูงดังสันเขื่อนกักกันเส้นทางไหลธรรมชาติ ไม่เปิดสะพานให้น้ำเดิน จึงเกิดปัญหาหนักในหน้าน้ำทุกปี
 
๔.ลมมรสุมฤดูฝนที่หนักขึ้นทุกปี เพราะการเปลี่ยนแปลงจากภาวะโลกร้อน และจากการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าในทุกพื้นที่
 
ดังนั้น การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจึงไม่ใช่การแก้ปัญหาน้ำท่วม ดังที่นักการเมืองกระพือโหมข่าวปลุกเร้ากระแสให้สร้าง เพื่อสนองตอบความโลภบ้าของมัน เพราะมันต้องการกินป่าสักทองมูลค่ากว่าหกพันล้านบาท และต้องการรับเหมาสร้างสันเขื่อน ราคากว่าหมื่นหกพันล้าน! พวกมันจึงฝันหวาน และปลุกปั่นเจาะจ้างนักข่าวระยำบางคน เร่งเร้าให้ประชาชนที่เดือดร้อนจากน้ำท่วม เข้าใจว่า ถ้าสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นแล้ว พวกเขาจะปลอดภัยจากน้ำท่วม
 
เครือข่ายศิลปินเพื่อสิ่งแวดล้อม ได้ปรึกษาหารือร่วมกัน ประกาศจุดยืน คัดค้านโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น และคัดค้านอีกสองเขื่อนทั้งยมบน และยม ล่าง เพราะ มันต้องการผลาญป่าสักทองผืนสุดท้ายของโลกลูกเดียว
 
เพราะหากสร้างเขื่อนแล้ว ป่าสักทองแม่ยม ก็หมดแล้ว พวกนักการเมืองชาติชั่วไม่กี่ตัวก็ตายห่าไปแล้ว หากน้ำยังท่วมอีก เราจักต้องไปขุดกระดูกพวกมันมาลงโทษ และยึดทรัพย์สมบัติของลูกเมียญาติพี่น้องมันทั้งหมดได้หรือไม่
 
ดังนั้นเครือข่ายศิลปิน เพื่อสิ่งแวดล้อม ขอประกาศเจตนารมณ์ ร่วมยืนหยัดคัดค้าน โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน ทั้งมวล ด้วยการขับเคลื่อนต่อสู้ในทุกรูปแบบ เพื่อปกป้อง สายน้ำ และป่าสักทองแม่ยม ให้คงอยู่สืบไป
 
ด้วยจิตคารวะ-รักแม่ธรรมชาติและเคารพประชาชน
เครือข่ายศิลปินเพื่อสิ่งแวดล้อม
ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แอมเนสตี้เผยนักโทษในซีเรียถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิต

Posted: 01 Sep 2011 06:02 AM PDT

31 ส.ค. 2554 - องค์กรนิรโทษกรรมสากลได้เผยแพร่รายงานกรณีนักโทษ 88 รายที่เสียชีวิตในคุกซีเรียนับตั้งแต่มีการประท้วงประธานาธิบดีอัสซาดครั้งล่าสุด

ทางองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า มีการทรมานและกระทำชำเรานักโทษโดยอ้างจากภาพวิดิโอของเหยื่อก่อนถูกนำไปทำพิธีศพโดยครอบครัวและนักกิจกรรม

ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชวิทยาได้ทำการตรวจสอบเหยื่อพบหลักฐานว่า มีการกระทำทรมานต่อเหยื่อเช่น คอหัก, รอยแผลไหม้จากบุหรี่ที่หน้าและลำตัว, การช็อตอวัยวะเพศ, กระดูกหัก และรอยแส้หวด

จากรายงานขององค์กรนิรโทษกรรมสากลที่เผยแพร่ในวันที่ 31 ส.ค. พบว่า เหยื่อทุกรายเป็นเพศชาย มีเด็กอยู่ 10 ราย รวมถึงเยาวชนที่มีอายุเพียง 13 ปี

เรโต รูเฟอร์ ประธานฝ่ายตะวันออกกลางขององค์กรนิรโทษกรรมสากล สาขาสวิสเซอร์แลนด์ให้ความเห็นว่า อัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นไม่น่าจะเป็นเหตุบังเอิญ

"มันเป็นการแสดงออกถึงความรุนแรงแบบเดียวกับที่แสดงให้เห็นวันต่อวันบนท้องถนนของซีเรีย"

แทงลูกตา
พี่ชายของ ฮาเซม อัลฮาลัก เป็นหนึ่งในเหยื่อที่ถกระบุในรายงานขององค์กรนิรโทษกรรมสากล ฮาเซมกล่าวกับสำนักข่าวอัลจาซีร่าว่า พี่ชายของเเขา ซาเคอ ถูกลักพาตัวไปขณะที่เขากำลังกลับบ้านจากการปฏิบัติงานเป็นหน่วยแพทย์ และถูกนำตัวไปยังสำนักงานของหน่วยสืบราชการลับ

อีกสองวันถัดมามีคนพบศพของซาเคอ ในคูน้ำของเมืองอเลปโป

"เขามีแผลถูกแทงเต็มตัว" ฮาเซมพูดถึงสภาพศพพี่ชาย "ตาของเขาถูกทิ่มแทง มีรอยเชือกที่มือของเขา อวัยวะเพศของเขาถูกตัดออก เท้าของเขามีรอยถูกช็อต"

รัฐบาลซีเรียอ้างว่า ชาเคอไม่เคยถูกจับขัง และการเสียชีวิตของเขาก็เป็นคดีอาชญากรรมที่กำลังสืบสวนสอบสวนอยู่

ผลการชันสูตรจากเจ้าหน้าที่รัฐออกมาว่า เขาเสียชีวิตจากการที่ "สมองขาดอ็อกซีเจนเนื่องจากถูกรัดคอ"

แต่ทางฮาเซม อัลฮาลัก บอกว่าเจ้าหน้าที่ชันสูตรศพพี่ของเขาได้ออกเอกสารที่มีการตระเตรียมและการเซ็นไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว

กรณีส่วนใหญ่ที่ทางองค์กรนิรโทษกรรมสากลบันทึกไว้ตั้งแต่เดือนเม.ย. - กลาง ส.ค. พบว่า ส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่เขตปกครองฮอมและเดรา

องค์กรนิรโทษกรรมสากลยังได้เรียกร้องให้มีการนำรัฐบาลซีเรียเข้าสู่ศาลอาญาโลก คว่ำบาตรการค้าอาวุธ อายัดทรัพย์สินมากขึ้น และคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับเหล่าผู้นำระดับสูงของรัฐบาล

"เมื่อพิจารณาตามบริบทที่มีการละเมิดสิทธิอย่างกว้างขวางและเป็นระบบของซีเรียแล้ว พวกเราเชื่อว่าการเสียชีวิตในที่คุมขังอาจต้องรวมข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติเข้าไปด้วย" นีล แซมมอนด์ นักวิจัยเรื่องซีเรียขององค์กรนิรโทษกรรมสากลกล่าว

สหรัฐฯ อายัดทรัพย์เจ้าหน้าที่ซีเรียเพิ่ม
เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ได้สั่งอายัดทรัพย์สินของสหรัฐฯ จากรัฐมนตรีต่างประเทศของซีเรีย วาลิด อัลมูอาเล็ม และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของซีเรียอีกสองราย รวมถึงสั่งห้ามดำเนินการทางธุรกิจใดๆ เพื่อตอบโต้การที่ซีเรียใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล

ผู้ที่สหรัฐฯ สั่งอายัดทรัพย์สินอีก 2 รายคือ เอกอัครราชฑูตซีเรียประจำเลบานอน อาลี อับดุล คาริม อาลี และที่ปรึกษาของประธานาธิบดีอัสซาด บูทาอีนา ชาบัน

เดวิด โคเฮน ปลัดกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการการก่อการร้ายและข่าวกรองด้านการเงิน แถลงว่าทางการสหรัฐฯ ต้องการเพิ่มการกดดันซีเรียโดยมีเป้าหมายเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลอัสซาด ผู้ที่เป็นตัวหลักในกิจการของรัฐบาล

นักสิทธิรายงานมียอดผู้เสียชีวิต 473 รายในช่วงเดือนรอมฎอน
ขณะที่ทางประชาชนของซีเรียหลังจากทำพิธีสวดภาวนาในตอนเช้าของวันอีดิลฟิฏรี ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดของการถือศีลอดแล้ว พวกเขาก็ยังคงออกมาประท้วงในหลายพื้นที่

สำนักข่าวอัลจาซีร่ารายงานว่ามีผู้ประท้วงอย่างน้อยสามรายถูกยิงเสียชีวิต กลุ่มเครือข่ายประสานงานในท้องถิ่นรายงานว่ามี 6 รายเสียชีวิตที่เดรา และฮอม นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่เปิดฉากยิงใส่ผู้ชุมนุมในเมือง ดิแอร์ เอซ-ซอร์ ด้วย

นักกิจกรรมกล่าวว่ามีการประท้วงใหญ่เกิดขึ้นหลังจากผู้ร่วมพิธีกรรมทยอยออกมาจากมัสยิด อัลโอมารี ในเดรา และเดินขบวนไปยังสุสานประจำเมือง ซึ่งมีชาวมุสลิมจำนวนมากเยี่ยมหลุดศพตามธรรมเนียมของวันอีด

ขณะที่ในฮามา นักกิจกรรมรายงานว่ามีการนำกำลังคนและรถถังเข้าถล่มบ้านเรือนประชาชนเพื่อควานหาตัวนักกิจกรรมในพื้นที่นั้น

กลุ่มนักสังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในซีเรียรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทั้งหมด 473 รายในช่วงเดือนรอมฎอน เป็นประชาชน 360 ราย และเป็นทหารกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลซีเรีย 113 ราย


ที่มา

US sanctions target three Syrian officials, Aljazeera, 31-08-2011 
Fatal torture 'widespread' in Syrian jails, Aljazeera, 31-08-2011 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สืบพยานโจทก์คดี ผอ.ประชาไท กรณี พ.ร.บ.คอมฯ ต่อ

Posted: 01 Sep 2011 05:55 AM PDT

วันนี้ (1 ก.ย.54) เวลา 9.30 น.ที่ห้องพิจารณาคดี 910 ศาลอาญา รัชดา ศาลออกนั่งบัลลังก์สืบพยานโจทก์ คดีหมายเลขดํา อ.1167/2553 ที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้องนางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการและผู้ดูแลเว็บบอร์ดประชาไท เป็นจำเลยในความผิดตามมาตรา 14 และ 15 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 กรณีมีผู้โพสต์ข้อความในเว็บบอร์ดที่เข้าข่ายขัดต่อกฎหมายดังกล่าว

ร.ต.อ.คีรีรักษ์ มารักษ์ กองบังคับการอำนวยการตำรวจภูธรภาค 4 จ.ขอนแก่น พยานโจทก์ เบิกความถึงการดำเนินงานในขณะประจำการที่ศูนย์ตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำผิดทางเทคโนโลยี (ศตท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีใจความโดยย่อว่า ได้รับหนังสือจากกองบังคับการปราบปรามให้ทำการตรวจสอบข้อความไม่เหมาะสมที่ถูกโพสต์ลงในเว็บไซต์ประชาไท เมื่อวันที่ 15 ต.ค.51 เพื่อหาที่ตั้งและชื่อผู้ดูแลเว็บไซต์ ซึ่งตรวจสอบพบว่าผู้ดูแลเว็บไซต์ประชาไทคือนางสาวจีรนุช จำเลยในคดี จึงรายงานต่อผู้บังคับบัญชา โดยไม่ได้เป็นผู้ตรวจสอบกรณีการโพสต์ข้อความที่ไม่เหมาะสม

ด้าน พ.ต.ท.สุรพงศ์ ธรรมพิทักษ์ สำนักงานเลขานุการตำรวจแห่งชาติ เบิกความมีใจความโดยย่อว่า ขณะเกิดเหตุอยู่ในตำแหน่งสารวัตรกองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (2550-2553) ได้ตรวจสอบข้อความหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ในเว็บไซต์ประชาไท และนำข้อความดังกล่าวมาประชุมร่วมคณะทำงานพิจารณาพบว่าข้อความดังกล่าวมีความไม่เหมาะสม จึงมีการสืบสวนหาผู้โพสต์ โดยพนักงานสอบสวนได้ทำหนังสือสอบถามไปยังผู้ดูแลเว็บไซต์คือนางสาวจีรนุช จากนั้นได้นำข้อมูลที่ได้รับการตอบกลับไปตรวจสอบกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ทำให้ได้ข้อมูล และมีการดำเนินคดีตามกฎหมายต่อผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว โดยไม่ได้แจ้งความดำเนินคดีกับจำเลยร่วมด้วยในคดีดังกล่าว

สำหรับบรรยากาศในการเข้าฟังการสืบพยาน มีตัวแทนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศ อาทิ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (The International Commission of Jurists-ICJ) คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (EU Delegation) ผู้แทนสถานทูตอเมริกา ผู้แทนสถานทูตเยอรมัน องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) สมาพันธ์ผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) และ Media Defense Southeast Asia พร้อมด้วยผู้แปลภาษารวมกว่า 30 คน หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานในเวลาประมาณ 12.00 น.ศาลนัดสืบพยานโจทก์ครั้งต่อไปเวลา 9.00 น.วันที่ 2 ก.ย.54

อนึ่ง การสืบพยานครั้งนี้มีการเปลี่ยนผู้พิพากษารวมทั้งอัยการจากที่ได้เริ่มสืบพยานไปก่อนหน้านี้ เป็นเวลา 5 วัน ซึ่งสืบพยานโจทก์ไปแล้ว 5 ปาก จากทั้งหมด 14 ปาก โดยการสืบพยานนัดแรกมีขึ้นเมื่อวันที่ 2 ก.พ.54 จากนั้นเมื่อวันที่ 11 ก.พ.54 ศาลอาญามีคำสั่งยกเลิกวันนัดสืบพยานวันที่ 15-17 ก.พ.54 และวันนัดสืบพยานโจทก์ครั้งต่อไปคือ วันที่ 1-2, 6-9, 20-21 ก.ย.54 และนัดสืบพยานจำเลย วันที่ 11-14 ต.ค.54

อัยการแถลงในวันนั้น (11 ก.พ.54) ว่า เนื่องจากการสืบพยานคดีนี้มีข้อซักถามและซักค้านพยานจำนวนมาก ทำให้การสืบพยานล่าช้ากว่ากำหนด และหมดวันนัดสืบพยานโจทก์ไปแล้ว การติดตามพยานมาเบิกความตามวันนัดที่เหลือจึงประสบปัญหาเรื่องหมายเรียกของศาลที่เลยวันนัดและการลาราชการของพยาน ประกอบกับช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ข้าราชการต้องโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่ง โจทก์จึงขอยกเลิกวันนัดสืบพยานทั้ง 3 นัดที่เหลือ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ300เป็นเรื่องดี แต่จะดีกว่านี้ถ้าหากว่า…ไปให้ไกลกว่านี้

Posted: 01 Sep 2011 05:22 AM PDT

รัฐบาลยิ่งลักษณ์สามารถกุมชัยชนะอย่างเด็ดขาดได้ ส่วนสำคัญประการหนึ่งก็เนื่องมาจากนโยบายด้านกิจการแรงงาน ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงจำนวนมหาศาล

โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายหาเสียงเรื่องค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน และค่าจ้างเริ่มต้นสำหรับผู้จบปริญญาตรี 15,000 บาทต่อเดือน

มีข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ในส่วนของนายจ้างก็แสดงท่าทีคัดค้านว่า จะส่งผลกระทบทางลบไปต่างๆ นานา แต่ในส่วนของลูกจ้างก็ออกมาขานรับอย่างกว้างขวาง

ในส่วนของประชาชนทั่วไปก็ให้ความสนใจว่าจะเป็นจริงในทางปฏิบัติมากน้อยเพียงใด

ผมเองในฐานะที่เคยเป็นประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ไม่มีปัญหาอะไรกับนโยบายนี้ แต่อยากจะเฝ้าเกาะติดว่า ทำอย่างไรนโยบายนี้จะสัมฤทธิ์ผลอย่างจริงจัง กับข้อเสนออย่างรอบด้านในกิจการด้านแรงงานและสวัสดิการของรัฐอย่างครอบคลุม ไปให้ไกลกว่าค่าแรงขั้นต่ำกับขั้นต้น...

ก่อนอื่นก็ต้องอธิบายว่า ยังน่าเป็นห่วงท่านนายกรัฐมนตรีที่ประกาศเสียงดังฟังชัดว่านโยบาย 300 กับ 15,000 ทำได้แน่ หากท่านจะนั่งหัวโต๊ะเป็นนายกรัฐมนตรี CEO คงไม่เป็นปัญหา

แต่หากบริหารงานแบบตอนจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี คือเป็นไปตามระบบโควต้า ปล่อยๆ ให้รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงกำกับมีอำนาจเต็มในเรื่องนี้ ก็เกรงว่าคงจะเป็นปัญหาใหญ่

เนื่องจากตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า เจ้ากระทรวงนี้เป็นไปในลักษณะผิดฝาผิดตัวเป็นอย่างยิ่ง คือใครก็รู้ว่าแคนดิเดตนั้นเป็นอดีตปลัดกระทรวงแรงงาน และเลขาธิการพรรค แต่สุดท้ายหวยมาออกที่คุณเผดิมชัย สะสมทรัพย์ ซึ่งไม่ได้มีคุณสมบัติอะไรที่มีแนวโน้มว่า จะสนใจกิจการด้านนี้เลย แต่มากินตำแหน่งเพราะระบบโควต้า

เผลอๆ คุณเผดิมชัยท่านอาจไพล่ไม่ไยดีเสียด้วยซ้ำ หากว่าตัวท่านเองต้องมาว่าการกระทรวงเกรดซี เกรดดีไปโน่นเลยก็เป็นไปได้

ทั้งที่ว่าไปแล้วกิจการด้านแรงงานนั้นเป็นเรื่องใหญ่โตมาก ถึงขั้นเมืองนอกเมืองนาทางยุโรปหลายประเทศนั้น มีพรรคแรงงานขึ้นบริหารประเทศมายาวนานบ้าง หรือสลับสับเปลี่ยนกับพรรคค่ายอนุรักษนิยมบ้าง แต่เมืองไทยกลับมาจัดเกรดเป็นกระทรวงเกรดซีไปเสียได้

ผมล่ะกลัวเหลือเกินว่าคุณเผดิมชัยท่านจะเป็นไก่…คือไก่ได้พลอย แทนที่จะเป็นโอกาสโชว์ฝีไม้ลายมือให้เป็นที่ประจักษ์

กระทรวงนี้ไม่ได้มีเมกะโปรเจ็กต์หมื่นล้านแสนล้าน แต่มีประชากรวัยแรงงานอยู่ 20 กว่าล้านคน และอย่าไปมองแคบแค่มิติว่าเป็นคนงานประเภทสาวฉันทนาตามโรงงานอุตสาหกรรม แต่กินความรวมถึงพนักงานในห้างร้านธุรกิจเอกชนในภาคพาณิชย์และบริการต่างๆ รวมไปถึงแรงงานนอกระบบ เช่น แรงงานในภาคการเกษตร แรงงานใช้สมองของบริษัทเอกชนที่เรียกว่าไวต์ คอลลาร์ ด้วย

รวมไปถึงคนไทยที่ไปขายแรงกายแรงสมองและบริการประเภทต่างๆ ในต่างประเทศ ทั้งยุโรป อเมริกา อาหรับ ไต้หวัน เกาหลี บรูไน สิงคโปร์ที่ขนเงินเข้าประเทศมหาศาล แต่ต้องปากกัดตีนถีบไปกันเอง ไปตายเอาดายบหน้า ถูกต้มถูกโกงสารพัด ที่เหยียดเย้ยกันด้วยวลี "ไปเสียนา มาเสียเมีย"

ทั้งที่หากทำเป็น ทำดีๆ จะทำเงินเข้าประเทศได้ปีละหลายแสนล้าน หรือนับล้านล้านบาท แต่รัฐบาลต้องเข้ามาเป็นเจ้าภาพสนับสนุนส่งเสริม เป็นโต้โผใหญ่เสียเอง ไม่ใช่ปล่อยให้นายหน้าค้ามนุษย์ขูดรีดกดขี่สารพัดอย่างที่เห็นๆ

ยังไม่รวมไปถึงแรงงานข้ามชาติที่ไหลทะลักเข้ามาขายแรงราคาถูกในบ้านเมืองเรา ทั้งถูกกฎหมายผิดกฎหมาย

และยังต้องมองการณ์ไปข้างหน้าเมื่อเปิดเสรีอาเซียนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ปัญหาเรื่องแรงงานก็คงบานปลายไปใหญ่โต คนไทยที่พอจะไปได้ก็คงไหลทะลักไปยังสิงคโปร์ บรูไน มาเลย์ที่ค่าจ้างสูงกว่า ทางกลับกันลาว พม่า กัมพูชา ก็คงจะไหลเข้ามาจนท่วมประเทศ ตามหลักแรงผลัก-แรงดึง

ท่านควรเตรียมการรองรับไว้เสียแต่ตอนนี้ ไม่งั้นก็คงโกลาหลกันพอสมควร

ไหนจะเงินประกันสังคมอีกมหาศาลที่มีการหักสมทบระหว่างนายจ้าง ลูกจ้างในแต่ละเดือน แต่เสียงบ่นหนาหูขึ้นเรื่อยมาว่า ได้ไม่คุ้มโดนบังคับจ่าย โดยเฉพาะสิทธิของผู้ประกันตนตามโรงพยาบาลต่างๆ ที่กลายเป็นเบี้ยล่าง ตกสภาพเป็นพลเมืองชั้นสอง ได้สิทธิและการดูแลแย่ยิ่งกว่าบัตรทอง 30บาทรักษาทุกโรคเสียอีก

จนตอนนี้มีเสียงเพรียกหาจากลูกจ้างว่า น่าจะได้เวลาเสียทีในการจัดสร้างโรงพยาบาลเฉพาะลูกจ้างผู้ประกันตน ต้องได้รับการดูแลรักษาพยาบาลอย่างคุ้มค่าเงินที่จ่ายไปมหาศาล ซึ่งผมเองในฐานะที่เป็นหมอ และเคยเป็นประธานกรรมาธิการแรงงานเห็นด้วยอย่างเต็มที่ หากรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะทำได้ ก็จะเป็นการทำให้กิจการด้านแรงงานและสวัสดิการสังคมอุดมสำเร็จบริบูรณ์เหมือนที่ ศ.นิคม จันทรวิทุร ผลักดันมาให้ฝันของท่านเป็นจริงซะที

รวมไปถึงวิสัยทัศน์ที่ต้องไปให้ไกลกว่าการลดแลกแจกแถมแบบประชานิยม อย่าง 300 หรือ 15,000 บาท คือจัดรัฐสวัสดิการสังคมแบบประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ของยุโรปที่ดูแลชีวิตของพลเมืองอย่างมีคุณค่า นับจากครรภ์มารดาไปถึงเชิงตะกอน ดังที่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยเสนอไว้เมื่อ 40 ปีมาแล้ว แต่ยังไม่เคยปรากฎเป็นจริงในประเทศเราเลย

แต่เอาเถอะ ก่อนจะไปไหลขนาดนั้น มาเริ่มขั้นแรกให้มันได้ก่อนนะครับ คือ 300 บาทนี่ขอให้รักษาสัตย์สัญญาที่หาเสียงไว้ว่าจะทำทั่วประเทศ เพราะระยะหลังมาก็มีเสียงทำนองว่า จะนำร่องที่กรุงเทพฯและปริมณฑลเสียก่อน

อย่าลืมว่าคนภาคอีสาน ภาคเหนือเลือกท่านมามากที่สุด อย่าทอดทิ้งลืมคำมั่นสัญญาที่ผู้ออกเสียงเขาโหวตพวกท่านมา เช่นเดียวกับนโยบายปริญญาตรี 15,000 ก็ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า จะนำไปสู่การปฏิรูปโครงสร้างเงินเดือนทั้งระบบอย่างไร

ไม่ใช่บรรจุใหม่ 15,000 คนบรรจุมาก่อนเริ่ม 7,000-8,000 ไม่ขยับให้ หรือทำงานมา 5-10 ปีกินเงินเดือน 12,000 คนใหม่เข้ามากินเงินเดือน 15,000 แบบนี้ก็โกลาหลกันทั้งประเทศ

ต้องคิดในเชิงองค์รวมและละเอียดทุกเม็ดด้วยครับ

กิจการด้านแรงงานก็อย่างที่ผมบอกไปครับเป็นเรื่องใหญ่โตมโหฬารเกี่ยวพันกับคนทั้งประเทศ และหากได้คนที่มีวิสัยทัศน์ และคิดการใหญ่ก็ไปรุ่ง บ้านเมืองและพลเมืองก็พลอยหน้าใส

แต่หากเสนาบดีคิดแค่ว่าเป็นกระทรวงเกรดซี ไม่มีงบหมื่นล้านแสนล้านให้น้ำลายสอ ไม่มีหน่วยงานทรัพยากรจะเกณฑ์ลงไปหาเสียงในพื้นที่ตัวเองได้

หรือได้หัวหน้ารัฐบาลที่คิดแต่จะลดแลกแจกแถมประชานิยม ก็คงพายเรือกันในอ่างกันต่อไป

หรือแย่กว่านั้นคือถอยหลังเข้าคลอง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

112 นักวิชาการไทยศึกษาทั่วโลก ร้องนายกฯ ทบทวนการใช้ กม.หมิ่นฯ–พ.ร.บ.คอม

Posted: 01 Sep 2011 04:02 AM PDT

นักวิชาการด้านไทยศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชีย จำนวน 112 คน ลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึงยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ด้านสิทธิและเสรีภาพที่ถูกจำกัดในสังคมไทย โดยเฉพาะการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่มีอัตราการสั่งฟ้องเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณในรอบห้าปีที่ผ่านมา

ในจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว ที่มีนักวิชาการระดับโลก เช่น โนม โชมสกี้ จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเมสเสทชูเสตต์ ประเทศสหรัฐฯ ร่วมลงนาม ระบุว่า การใช้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งนำไปสู่การจับกุมคุมขังประชาชน เป็นภัยคุกคามต่ออนาคตของประชาธิปไตยไทย กลุ่มนักวิชาการ 112 คน จึงเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ทบทวนการใช้กฎหมายดังกล่าว เพื่อไม่ให้นำไปสู่การละเมิดสิทธิทางการเมือง

นอกจากนี้ ยังเสนอแนะให้ รัฐบาลพิจารณากรณีการจับกุมและการดำเนินคดีด้วยกฎหมายดังกล่าวอย่างละเอียด พร้อมทั้งให้สิทธิการประกันตัวแก่ผู้ต้องหา เพื่อให้สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเป็นธรรม

000000000

จดหมายเปิดผนึก

ทำเนียบรัฐบาล
ถนนพิษณุโลก เขตดุสิต
กรุงเทพฯ 10300
ประเทศไทย

วันที่ 23 สิงหาคม 2554


กราบเรียน นายกรัฐมนตรี

ด้วยนักวิชาการนานาชาติในวงการไทยศึกษา มีความกังวลต่อการจำกัดพื้นที่อิสระสำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเทศไทยนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา รวมถึงประเด็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งในกรณีนักโทษการเมืองและเรื่องที่รัฐบาลยังไม่แสดงความรับผิดชอบต่อความรุนแรงที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ช่วงเมษายน-พฤษภาคม 2553 พวกเราได้เห็นสิทธิเสรีภาพสำคัญหลายประการได้ถูกลิดรอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจับกุมและการดำเนินคดีต่าง ๆ หลายคดีภายใต้การบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

พวกเรายินดีที่ทราบว่า นายกรัฐมนตรีได้ยอมรับว่ามีการละเมิดอย่างรุนแรงหลายประการที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม พวกเราขอกราบเรียนให้ทราบว่า แม้ว่าคดีสำคัญหลาย ๆ คดีจะเป็นที่เปิดเผยโดยทั่วไปผ่านการรายงานของสื่อมวลชน แต่ยังมีอีกหลายคดีที่เสมือนว่ารัฐบาลและสื่อมวลชนยังคงปล่อยให้เงียบหายไป ในคดีเหล่านี้ มีหลายคนที่ถูกคุมขังก่อนจะมีการแจ้งข้อกล่าวหา และมีอีกหลายรายที่ถูกกล่าวหาแล้วแต่ถูกศาลปฏิเสธให้ได้รับการประกันตัวในระหว่างที่รอดำเนินการในชั้นศาล

ทั้งนี้ ข้อมูลสถิติจากสำนักงานอัยการสูงสุดของปีที่แล้วแสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 มีการฟ้องร้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ในขณะที่ตัวเลขจากสำนักงานศาลยุติธรรมชี้ให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นที่สูงกว่านั้นหลายเท่าตัว

ดังนั้น พวกเราจึงกังวลอย่างยิ่งที่ยังคงเห็นการดำเนินการในคดีการเมืองอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น กรณีที่นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกคุมขัง 84 วันก่อนที่อัยการจะตัดสินใจสั่งฟ้อง ทั้งนี้ นายสมยศฯ ไม่ได้ถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากสิ่งที่เขาพูดหรือกระทำด้วยตนเอง แต่มาจากข้อเขียนของผู้อื่นที่อยู่ในวารสารที่เขาเป็นบรรณาธิการ ซึ่งไม่ต่างไปจากคดีของนางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการ หนังสือพิมพ์ประชาไทออนไลน์

ในกรณีของ นาย Joe Gordon ที่เป็นพลเมืองของสหรัฐอเมริกา เขาก็ถูกคุมขัง 84 วันก่อนที่อัยการจะตัดสินส่งฟ้องเช่นเดียวกัน อีกทั้งศาลอาญายังปฏิเสธให้ประกันตัวนายสมยศ และนาย Joe Gordon ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในการนี้แถลงการณ์ของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ เมื่อไม่นานมานี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจและความเป็นห่วงต่อคดีในลักษณะดังกล่าวจากนานาประเทศได้เป็นอย่างดี

พวกเราพิจารณาเห็นว่า การคุมขังและข่มขู่ประชาชนถือเป็นสัญญาณอันเลวร้ายที่ก่อให้เกิดการกระทำการต่าง ๆ มากมายที่คุกคามสิทธิมนุษยชนและกระทบต่ออนาคตของประชาธิปไตยในประเทศไทย จึงขอกราบเรียนให้นายกรัฐมนตรี พิจารณาดำเนินการในประเด็นที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่

(1) ดำเนินการตรวจสอบอย่างละเอียดในกรณีการจับกุมและการดำเนินคดีภายใต้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 รวมทั้งบทบัญญัติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

(2) ริเริ่มขั้นตอนที่จะนำไปสู่การอนุญาตให้ประกันตัวผู้ที่ถูกคุมขังภายใต้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 เพื่อให้เขาเหล่านั้นสามารถเตรียมตัวสู้คดีได้อย่างเป็นธรรมในชั้นศาล

(3) พิจารณาทบทวนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 รวมทั้งบทบัญญัติที่เกี่ยวข้อง และวางกลไกเพื่อป้องกันการนำบทบัญญัติทางกฎหมายต่าง ๆ เหล่านี้ ไปใช้เพื่อละเมิดสิทธิเสรีภาพทางการเมือง

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง

 

The signatures:

Adadol Ingawanij, Senior Research Fellow, University of Westminster, United Kingdom
 
Dennis Altman, Professor, LaTrobe University, Australia
 
Dennis Arnold, Postdoctoral Fellow, University of North Carolina at Chapel Hill, U.S.A.
 
Aileen S.P.Baviera, Professor, University of the Philippines Diliman, Philippines
 
Peter F. Bell, Emeritus Professor, State University of New York, U.S.A.
 
Katherine Bowie, Professor, University of Wisconsin-Madison, U.S.A.
 
Shaun Breslin, Professor, University of Warwick, United Kingdom
 
Andrew Brown, Lecturer, University of New England, Australia
 
Joseph A. Camilleri, Professor, La Trobe University, Australia
 
Toby Carroll, Senior Research Fellow, National University of Singapore, Singapore
 
William Case, Professor, City University of Hong Kong, Hong Kong
 
Dae-oup Chang, Senior Lecturer, School of Oriental and African Studies, United Kingdom
 
Noam Chomsky, Professor, Massachusetts Institute of Technology, U.S.A.
 
John Clark, Professor, University of Sydney, Australia
 
Peter A. Coclanis, Professor, University of North Carolina at Chapel Hill, U.S.A.
 
Michael Connors, Associate Professor, LaTrobe University, Australia
 
Vicki Crinis, Research Fellow, University of Wollongong, Australia
 
Thomas Davis, Lecturer, University of Melbourne, Australia
 
Heather D’Cruz, Adjunct Research Associate, Curtin University, Australia
 
Richard F. Doner, Professor, Emory University, U.S.A.
 
Jamie Doucette, Lecturer, University of British Columbia, Canada
 
Bjoern Dressel, Research Fellow, Griffith University, Australia
 
Mark Driscoll, Associate Professor, University of North Carolina at Chapel Hill, U.S.A.
 
John S. Dryzek, Professor, Australian National University, Australia
 
Nancy Eberhardt, Professor, Knox College, U.S.A.
 
Grant Evans, Fellow, University of Hong Kong, Hong Kong
 
Nicholas Farrelly, Research Fellow, Australian National University, Australia
 
Federico Ferrara, Assistant Professor, City University of Hong Kong, Hong Kong
 
Robert Fisher, Senior Lecturer, University of Sydney, Australia
 
David Fullbrook, Graduate student, National University of Singapore, Singapore
 
Arnika Fuhrmann, Research Scholar, University of Hong Kong, Hong Kong
 
Paul Gellert, Associate Professor, University of Tennessee at Knoxville, U.S.A.
 
Kristi Giselsson, Research Associate, University of Tasmania, Australia
 
Jim Glassman, Associate Professor, University of British Columbia, Canada
 
Mikael Gravers, Associate Professor, Aarhus University, Denmark
 
Geoffrey C. Gunn, Professor, Nagasaki University, Japan
 
Tyrell Haberkorn, Research Fellow, Australian National University, Australia
 
Vedi Hadiz, Professor, Murdoch University, Australia
 
Shahar Hameiri, Postdoctoral Fellow, Murdoch University, Australia
 
Annette Hamilton, Professor, University of New South Wales, Australia
 
Adam Hanieh, Lecturer, School of Oriental and African Studies, United Kingdom
 
Eva Hansson, Senior Lecturer, Stockholm University, Sweden
 
Rachel Harrison, Reader, School of Oriental and African Studies, United Kingdom
 
Paul Healy, Senior Lecturer, University of New England, Australia
 
Steve Heder, Lecturer, School of Oriental and African Studies, United Kingdom
 
Michael Herzfeld, Professor, Harvard University, U.S.A.
 
Kevin Hewison, Professor, University of North Carolina at Chapel Hill, U.S.A.
 
Allen Hicken, Associate Professor, University of Michigan, U.S.A.
 
C.J. Hinke, Independent scholar, Freedom Against Censorship Thailand, Thailand
 
Philip Hirsch, Professor, University of Sydney, Australia
 
Thomas Hoy, Lecturer, Thammasat University, Thailand
 
Caroline Hughes, Associate Professor, Murdoch University, Australia
 
Paul D. Hutchcroft, Professor, Australian National University, Australia
 
Feyzi Ismail, Doctoral candidate, School of Oriental and African Studies, United Kingdom
 
Søren Ivarsson, Associate Professor, University of Copenhagen, Denmark
 
Kanishka Jayasuriya, Professor, University of Adelaide, Australia
 
Lee Jones, Lecturer, Queen Mary College, United Kingdom
 
Patrick Jory, Senior Lecturer, University of Queensland, Australia
 
Arne L. Kalleberg, Professor, University of North Carolina at Chapel Hill, U.S.A.
 
Charles Keyes, Professor Emeritus, University of Washington, U.S.A.
 
Damien Kingsbury, Professor, Deakin University, Australia
 
H. Ruediger Korff, Professor, University of Passau, Germany
 
John Langer, Honorary Fellow, Victoria University, Australia
 
Tomas Larsson, Lecturer, University of Cambridge, United Kingdom
 
Laurids Sandager Lauridsen, Professor, Roskilde University, Denmark
 
Peter Leyland, Professor, London Metropolitan University, United Kingdom
 
Samson Lim, Doctoral candidate, Cornell University, U.S.A.
 
Peter Limqueco, Co-editor, Journal of Contemporary Asia, Philippines
 
Robert Manne, Professor, La Trobe University, Australia
 
Thomas Marois, Lecturer, School of Oriental and African Studies, United Kingdom
 
Mary Beth Mills, Professor, Colby College, U.S.A.
 
Daniel Bertrand Monk, Professor, Colgate University, U.S.A.
 
Michael Montesano, Visiting Research Fellow, Institute of Southeast Asian Studies, Singapore
 
Paolo Novak, Lecturer, School of Oriental and African Studies, United Kingdom
 
Chris Nyland, Professor, Monash University, Australia
 
Rene Ofreneo, Professor, University of the Philippines Diliman, Philippines
 
Pavin Chachavalpongpun, Fellow, Institute of Southeast Asian Studies, Singapore
 
John Pickles, Professor, University of North Carolina at Chapel Hill, U.S.A.
 
Piya Pangsapa, Senior Lecturer, The University of the West Indies, Trinidad & Tobago
 
Pongphisoot Busbarat, Research Associate, Australian National University, Australia
 
Poowin Bunyavejchewin, Graduate student, University of Hull, United Kingdom
 
Prajak Kongkirati, Doctoral candidate, Australian National University, Australia
 
Preedee Hongsaton, Doctoral candidate, Australian National University, Australia
 
Rajah Rasiah, Professor, University of Malaya, Malaysia
 
Craig J. Reynolds, Professor, Australian National University, Australia
 
David Rezvani, Visiting Assistant Professor, Trinity College, U.S.A.
 
Garry Rodan, Professor, Murdoch University, Australia
 
Eric Sheppard, Professor, University of Minnesota, U.S.A.
 
elin o’Hara slavick, Professor, University of North Carolina at Chapel Hill, U.S.A.
 
Johannes Dragsbaek Schmidt, Associate Professor, Aalborg University, Denmark
 
Gavin Shatkin, Associate Professor, University of Michigan, U.S.A.
 
Mark Smith, Senior Lecturer, The Open University, United Kingdom
 
Claudio Sopranzetti, Doctoral candidate, Harvard University, U.S.A.
 
Andrew Spooner, Doctoral candidate, Nottingham Trent University, United Kingdom
 
Irene Stengs, Senior Researcher, Meertens Institute, The Netherlands
 
Geoffrey Stokes, Professor, Deakin University, Australia
 
David Streckfuss, Independent scholar, Thailand
 
Janet Sturgeon, Associate Professor, Simon Fraser University, Canada
 
Donald K. Swearer, Emeritus Professor, Swarthmore College, U.S.A.
 
Eduardo Climaco Tadem, Professor, University of the Philippines Diliman, Philippines
 
Teresa S. Encarnacion Tadem, Professor, University of the Philippines Diliman, Philippines
 
Michelle Tan, Independent Scholar, U.S.A.
 
Nicholas Tapp, Professor Emeritus, Australian National University, Australia
 
Thongchai Winichakul, Professor, University of Wisconsin-Madison, U.S.A.
 
Robert Tierney, Lecturer, Charles Sturt University, Australia
 
Serhat Uenaldi, Doctoral candidate, Humboldt-University of Berlin, Germany
 
Andrew Vandenberg, Senior Lecturer, Deakin University, Australia
 
Joel Wainwright, Assistant Professor, Ohio State University, U.S.A.
 
Andrew Walker, Senior Fellow, Australian National University, Australia
 
Meredith Weiss, Associate Professor, University at Albany, SUNY, U.S.A.
 
Marion Werner, Assistant Professor, University at Buffalo, U.S.A.
 
Ingrid Wijeyewardene, Lecturer, University of New England, Australia
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นศ.ราชภัฎสวนสุนันทา บุกรัฐสภา ยันไม่เอามหาลัยออกนอกระบบ

Posted: 01 Sep 2011 01:39 AM PDT

สภานักศึกษาและประชาคม ม.ราชภัฏสวนสุนันทา กว่า 700 คน เดินขบวนไปยังหน้ารัฐสภาเพื่อเรียกร้องรัฐบาลยุติการผลักดันมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ชี้เป็นการผลักภาระให้ประชาชน ย้ำการศึกษาต้องเป็นรัฐสวัสดิการ

เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2554 เวลา 14.30 น. นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา พร้อมทั้งแนวร่วมจาก ม.รามคำแหง ม.เกษตรศาสตร์ และม.บูรพา กว่า 700 คน ปักหลักชุมนุมบริเวณอาคารหน้ารัฐสภากว่าสองชั่วโมง พร้อมทั้งยื่นจดหมายเปิดผนึกให้แก่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการนำมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา รวมทั้งมหาวิทยาลัยอื่นๆ ออกนอกระบบ

การชุมนุมดังกล่าว นำโดยสภานักศึกษาและประชาคมมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา โดยเดินขบวนจากม.ราชภัฎสวนสุนันทา บริเวณเขตดุสิต ไปยังหน้ารัฐสภา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ และสภามหาวิทยาลัยฯ ยุติ พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ซึ่งทางกลุ่มระบุในแถลงการณ์ว่า เป็นการผลักภาระความรับผิดชอบด้านการศึกษาให้กับประชาชน และเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูประบบการศึกษา พร้อมทั้งจัดการศึกษาให้กับประชาชนในฐานะสวัสดิการของรัฐอย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ ในแถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า การร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เป็นกระบวนการที่ขาดความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมจากนิสิตนักศึกษาและประชาคมมหาวิทยาลัย ทางสภานักศึกษาและประชาคม ม. ราชภัฏสวนสุนันทา จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปมหาวิทยาลัย ให้รอบด้านและตรงไปตรงมา



แถลงการณ์ สภานักศึกษาและประชาคมมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

พุธที่ 31 สิงหาคม 2554

เรียน นิสิตนักศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัย และประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ

ในช่วงระยะเวลาของรัฐบาลรักษาการที่มาจากการรัฐประหารภายใต้การนำของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ และรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ โดยมี ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการออกกฎหมายในการแปรรูปมหาวิทยาลัยหรือ ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐโดยขาดความรอบคอบและจริงใจในการเผยแพร่ข้อมูลและข้อเท็จจริง ผลดีผลเสียของการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบทำให้ในปีเดียวกันนั้นเอง นิสิตนักศึกษาจากสถาบันต่างๆได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือเพื่อขอคัดค้านการแปรรูปมหาวิทยาลัยและเดินขบวนเรียกร้องไปยังรัฐสภา แต่กลับไม่ได้รับความสนใจและเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศจากทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่กำลังพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัย ในกำกับของรัฐ ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมีผลให้ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัย ในกำกับของรัฐ ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวันเดียวกัน และมหาวิทยาลัยมหิดลก่อนหน้านั้น จนนำไปสู่การใช้กำลังและความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมของนิสิตนักศึกษาในครานั้นเป็นผลทำให้มีนักศึกษาได้รับบาดเจ็บจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กระทำเกินกว่าเหตุ และการดำเนินการที่ไม่เป็นธรรมดังกล่าวในครั้งนั้นก็ยังคงส่งผลกระทบต่อนิสิตนักศึกษาในปัจจุบันเป็นวงกว้าง โดยกรณีของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทานั้น ก็ได้มีความพยายาม ของผู้บริหารมหาวิทยาลัยในการที่จะดำเนินการร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐโดยขาดความโปร่งใส ไม่เปิดโอกาสให้นักศึกษา คณาจารย์ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น อย่างเพียงพอ ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยพลการที่ไม่ได้มาจากความคิดเห็นของประชาคมในมหาวิทยาลัย ทั้ง ๆ ที่ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของนักศึกษาและประชาคมมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาโดยตรง อีกทั้งยังมีการกล่าวหานักศึกษาโดยผู้บริหารมหาวิทยาลัย และพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงต่าง ๆ ดังนั้น สภานักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จึงมีมติในการดำเนินการชุมนุม เพื่อแสดงพลังและขอยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลชุดปัจจุบันดังนี้

1. แนวคิดการแปรรูปมหาวิทยาลัยหรือการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้นรัฐบาลพยายามที่จะผลักภาระความรับผิดชอบในด้านงบประมาณทางการศึกษาลงโดยให้ประชาชนเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2547 ที่กำหนดให้ผู้เรียนต้องรับภาระค่าธรรมเนียมการเรียนตามต้นทุนค่าใช้จ่ายดำเนินการ 100% (จากเดิมที่ผู้เรียนจ่าย 25% รัฐสนับสนุน 75%) และรัฐเลิกการกำหนดเพดานค่าเล่าเรียน (price regulation) โดยรัฐก็ไม่มีความชัดเจนใดๆเกี่ยวกับกองทุนให้กู้ยืมแบบใหม่ ที่เรียกว่า กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ว่าจะยังประโยชน์ให้แก่นิสิตนักศึกษาเพียงใด ในขณะที่รัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมาได้สนับสนุนให้งบประมาณกองทัพเพิ่มขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2550 แต่กลับผลักความรับผิดชอบทางด้านงบประมาณทางการศึกษาให้ลดลงและเป็นหน้าที่ของประชาชน เราจึงเห็นว่าไม่เป็นการสมควรอย่างยิ่ง แต่ตรงกันข้ามการจัดการศึกษาจะต้องเป็นสวัสดิการและหน้าที่แห่งรัฐที่จะจัดให้มีกับประชาชนโดยทั่วถึงและจะต้องเป็นสวัสดิการจากรัฐที่จะให้การศึกษาฟรีแก่ประชาชนทุกระดับ และไม่ใช่ เพียงแค่การเปิดกองทุนให้กู้ยืมดังที่เป็นอยู่ เราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุติและทบทวนแนวทางการผลักดันให้มีการดำเนินการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบทันที

2. กระบวนการร่างกฎหมายว่าด้วยร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เป็นมหาวิทยาลัย ในกำกับของรัฐ นั้นไม่มีความโปร่งใสและเป็นกลางเนื่องด้วยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกกฎหมายกลับเป็น ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ของการออกกฎหมายเอง ดังเช่นกรณีที่ รองศาสตราจารย์ ดร.ช่วงโชติ พันธุเวช อธิการบดีคนปัจจุบันซึ่งมีอายุครบเกษียณอายุราชการ และดำรงตำแหน่งครบสองวาระ (8 ปี) ทำให้ไม่สามารถดำรงตำแหน่งอธิการบดีต่อไปได้ เว้นแต่จะมีการประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ซึ่งจะมีผลให้อธิการบดีสามารถดำรงตำแหน่งได้อีกสองวาระ ทำให้การพยายามผลักดันอย่างรีบเร่งให้มีการใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าว มีลักษณะของผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างชัดเจน ขาดความโปร่งใสในการแต่งตั้งผู้บริหาร อาศัยช่องโหว่ ทางกฎหมาย เอื้อประโยชน์พวกพ้อง ขาดหลักนิติธรรม และขาดการมีส่วนร่วมในวงกว้างจากนิสิตนักศึกษาและประชาคมมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาทั้งหมด เราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด ที่เกี่ยวกับนโยบายการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบอย่างรอบด้านและโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล เปิดโอกาสให้นักศึกษาซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้อย่างกว้างขวาง

สภานักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนชาวไทยโดยเฉพาะ นิสิตนักศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัย ที่ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายการแปรรูปมหาวิทยาลัยหรือการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบของรัฐบาลไทยรวมทั้งที่ต้องการการทัดทานการดำเนินการที่ขาดความชอบธรรม มองข้ามสิทธิเสรีภาพของนักศึกษาร่วมกันติดริบบิ้นสีดำ บริเวณแขนซ้ายทุกวันเพื่อแสดงออกถึงพลังเงียบที่ร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายแปรรูปมหาวิทยาลัยหรือการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ และปฏิเสธระบบเผด็จการในมหาวิทยาลัย ทั้งนี้สภานักศึกษาและประชาคมมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้จัดการชุมนุมรวมพลังคนไม่เอา ม.นอกระบบ และระบบเผด็จการในมหาวิทยาลัย โดยการรวมตัวกันทำกิจกรรมและพบปะแลกเปลี่ยนระหว่างนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ ณ บริเวณหน้ารัฐสภา ในวันพุธที่ 31 สิงหาคม 2554 ตั้งแต่เวลา 14.30 น.เป็นต้นไป จึงขอเชิญเพื่อนนิสิตนักศึกษาประชาชนทุกภาคส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการแปรรูปมหาวิทยาลัยและระบบเผด็จการในมหาวิทยาลัย ออกมาร่วมทำกิจกรรมดังกล่าวโดยพร้อมเพรียงกันเพื่อเป็นการแสดงพลังครั้งสำคัญให้รัฐบาลได้รับรู้ สำหรับกระบวนการหลังการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ทางสภานักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาก็จะร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วประเทศในการจัดตั้งเครือข่ายจับตานโยบายการศึกษาของรัฐบาล และคัดค้านนโยบายแนวทางสนับสนุนการแปรรูปมหาวิทยาลัยโดยไม่คำนึงถึงเสียงของนิสิตนักศึกษาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งประเทศ

ด้วยจิตสมานฉันท์
สภานักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
ณ บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา
14.30 น

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น