โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ศาลปกครองพิจารณาคดีม็อบท่อก๊าซ ตุลาการฯ ยัน ตร.สลายการชุมนุมมิชอบ

Posted: 13 Sep 2011 02:31 PM PDT

คดีสลายการชุมนุมค้านท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ปี 49 ตุลาการแถลงเห็นยืนตามศาลปกครองสงขลาให้ สตช.ชดเชยผู้เสียหายรายละหมื่น ชี้การชุมนุมสงบอยู่ในกรอบ รธน.ด้ามธงเป็นอาวุธตามสภาพ ชาวบ้านไม่มีเจตนาพกพาเพื่อก่อเหตุ
 
 
 
วันนี้ (13 ก.ย.54) ที่สำนักงานศาลปกครอง มีการพิจารณาคดีนัดแรก ในคดีฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการละเมิดเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ กรณีสลายการชุมนุมท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองสงขลาต่อศาลปกครองสูงสุด ในประเด็นว่าศาลปกครองสงขลาพิพากษาเกินกว่าคำร้องที่รับฟ้อง และการปราบปรามเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการชุมนุมเป็นการชุมนุมโดยมิชอบ
 
สืบเนื่องจาก ศาลปกครองสงขลาได้มีคำพิพากษา (คดีหมายเลขแดงที่ 51/2549) เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2549 ให้ สตช.ต้องชำระเงินแก่ชาวบ้านรายละ 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในคดีที่นายเจะเด็น อนันทบริพงศ์ กับพวกรวม 25 คน ซึ่งเป็นชาวบ้าน ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา ยื่นฟ้อง สตช., จังหวัดสงขลา และกระทรวงมหาดไทย เรื่องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐกระทำละเมิดจากการใช้อำนาจ เข้าสลายกลุ่มชาวบ้านที่มาชุมนุมคัดค้านโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซ และโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย ในวันที่ 20 - 21 ธ.ค.45 ให้ สตช.ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี 
 
นายชาญชัย แสวงศักดิ์ หัวหน้าคณะตุลาการศาลปกครองสูงสุด และองค์คณะรวม 5 คน ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดี โดยเปิดโอกาสให้คู่ความสองฝ่ายแถลงเพิ่มเติมต่อศาล ซึ่งวันนี้ฝ่าย สตช.ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ไม่ส่งผู้แทนมาร่วมการพิจารณา ขณะที่ฝ่ายชาวบ้านมีนางสุไรด๊ะห์ โต๊ะหลี ผู้ร้องลำดับที่ 4 เป็นตัวแทนกล่าวคำแถลงด้วยวาจาต่อศาล ก่อนที่นายสมศักดิ์ ตัณฑเลขา ตุลาการผู้แถลงคดีจะแถลงความเห็นเกี่ยวกับสำนวนคดีให้องค์คณะรับทราบ ส่วนการนัดฟังคำพิพากษายังไม่มีการกำหนด แต่จะมีการแจ้งวันให้คู่ความทราบอีกครั้งหนึ่ง โดยให้ไปรับฟังคำพิพากษาที่ศาลปกครองสงขลา
 
หลังกระบวนการพิจารณา นายสุรชัย ตรงงาม ทนายความโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (ENLAW) ทนายความผู้ฟ้อง กล่าวว่า ตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นให้ยืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสงขลาให้ สตช.ชดเชยแก่ผู้เสียหายทั้งสภาพร่างการและจิตใจรายละ 10,000 บาท โดยคำแถลงมีสาระสำคัญคือ คำพิพากษาของศาลปกครองสงขลาไม่เกินกว่าคำฟ้อง และการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเมิดเสรีภาพการชุมนุม เนื่องจากการชุมนุมของชาวบ้านเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แม้จะมีการยึดอาวุธ เช่น หนังสติ๊ก ด้ามไม้ มีดสปาต้า แต่จำนวนน้อยเมื่อเทียบกับผู้มาชุมนุมจึงถือเป็นกรณีเฉพาะราย ส่วนกรณีการใช้ด้ามธงต่อสู้กับกระบองของตำรวจนั้น ถือเป็นอาวุธตามสภาพ ชาวบ้านไม่ได้มีเจตนาพกพาเพื่อก่อความรุนแรง 
 
“เราเชื่อมั่นว่าชาวบ้านทำในสิ่งที่ถูกต้อง การที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ในทางกฎหมาย เราเชื่อว่าชาวบ้านจะต้องได้รับความเป็นธรรม” นายสุรชัย กล่าวแสดงความเห็นต่อกรณีที่ความเห็นตุลาการผู้แถลงคดี ถือเป็นความเห็นตามกระบวนพิจารณาคดีปกครอง แต่ไม่ได้ผูกพันองค์คณะในการพิพากษาคดี ซึ่งอาจทำให้ผลการพิพากษาแตกต่างออกไป 
 
นายสุรชัย กล่าวด้วยว่า การพิจารณาคดีครั้งนี้ถือเป็นการวางแนวทางที่สำคัญในเรื่องการชุมนุมในที่สาธารณะ เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีคดีที่พูดถึงประเด็นการใช้อำนาจตามกฎหมายในการสลายการชุมนุมที่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ โดยการพิจารณาคดีทำให้เห็นว่าการชุมนุมโดยสงบภายใต้กรอบสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร และเจ้าหน้าที่รัฐควรดำเนินการอย่างไรเมื่อเกิดการชุมนุมประท้วง 
 
ขณะที่ นางสุไรด๊ะห์กล่าวว่า แม้คดียังไม่ชัดเจน แต่การพิจารณาของตุลาการวันนี้เป็นเรื่องดี เพราะตุลาการเห็นด้วยว่าตำรวจทำเกินกว่าเหตุ ใช้ความรุนแรงในการเข้าสลายการชุมนุมโดยสงบของชาวบ้าน ซึ่งเป็นการใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ ตามหลักศาสนา 
 
นางสุไรด๊ะห์ เล่าว่า วันนั้นชาวบ้านไม่มีอาวุธ ชาวบ้านไม่ได้ไปรบ เพียงแต่ต้องการเข้ายื่นหนังสือต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่เดินทางไปที่โรงแรมเจบี.หาดใหญ่ จึงอยากไปพบเพื่อคัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย – มาเลเซีย นอกจากนั้นชาวบ้านยังมีหลักฐานเป็นเอกสารว่า เจ้าหน้าที่มีเจตนาต้องการที่จะสลายการชุมนุมอยู่แล้ว เพราะมีสมมติฐานก่อนหน้าว่าชาวบ้านจะใช้ความรุนแรง ถึงแม้จะชุมนุมโดยสงบยังไงก็ถูกสลาย  
 
นางสุไรด๊ะห์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านไม่เคยหยุดนิ่ง ในการเคลื่อนไหวต่อสู้ เพราะในพื้นที่มีโครงการพัฒนาอีกหลายโครงการที่จะเกิดขึ้น ทั้งแลนบริดจ์ สงขลา-สตูล ท่าเรือน้ำลึกปากบารา เขื่อน การขุดคลอง 7 สาย ฯลฯ ซึ่งเมื่อลองมาดูแล้วสิ่งที่มีมาให้นี้ไม่ใช่สิ่งที่ชาวบ้านได้รับประโยชน์ แต่เป็นผลกระทบพันเปอร์เซ็นต์ และจะนำความล่มสลายมาให้บ้านเกิด ดังนั้นเมื่อพ้นจากคดีนี้ไปแล้วชาวบ้านก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องต่อสู้อยู่ต่อไป
 
“เราอยากปกป้องบ้านเกิด ปกป้องทรัพยากรที่สืบทอดมาตั้งแต่ปู่ย่าตาทวด เอาไว้ให้ลูกหลาน” นางสุไรด๊ะห์กล่าว
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ: คปท.ร้อง "กรมป่าไม้" หยุดฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายโลกร้อน เผยเล็งฟ้องศาลปกครองต่อ

Posted: 13 Sep 2011 10:05 AM PDT

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ หวังแก้ปัญหาคดีโลกร้อน ร่วมนักวิชาการ แจงข้อมูล “กรรมการสิทธิฯ” ชี้ “แบบจำลองค่าเสียหายโลกร้อน” ไม่เป็นวิชาการ ก่อนเข้ายื่นหนังสือร้อง “กรมป่าไม้” หยุดฟ้องคดีโลกร้อนชาวบ้าน

 
วันนี้ (13 ก.ย.54) ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชน ภายใต้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นประธานการประชุม โดยมีวาระหลัก เรื่องการเข้าชี้แจงของกรมป่าไม้ และให้ข้อมูลกรณีการดำเนินคดีฟ้องร้องทางแพ่ง คิดค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมกับเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนเขตป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่ซึ่งอยู่ในเขตรับผิดชอบของกรมป่าไม้ 
 
นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการสิทธิชุมชนยังได้เรียกให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้าชี้แจง กรณีที่กรมอุทยานฯ ได้มีการศึกษาและปรับปรุงแบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม (แบบจำลองการคิดค่าเสียหายโลกร้อน) ใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยอ้างอิงว่าปรับตามความเห็นของนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิในเวทีอนุกรรมการสิทธิชุมชน เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา 
 
ในการประชุม ตัวแทนชาวบ้านสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ได้เข้าร่วมให้ข้อมูลถึงผลกระทบจากการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งโดยใช้แบบจำลองดังกล่าวของกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ อีกทั้งมีนักวิชาการ อาทิ ผ.ศ.เตือนใจ ดุลย์จินดาชบาพร ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษทางอากาศ ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยาป่าไม้ และ ผศ.ประสาท มีแต้ม นักวิชาการอาวุโส ร่วมให้ข้อมูลถึงความไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการของแบบจำลองการคิดค่าเสียหายโลกร้อน 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมไม่มีตัวแทนจากกรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ เข้าร่วม อย่างไรก็ตาม อนุกรรมการสิทธิชุมชนจะมีการทำหนังสือเชิญตัวแทนจากทั้งสองหน่วยงานเข้าชี้แจงข้อมูลอีกครั้งหนึ่ง ส่วนข้อสรุปจากการประชุม ทางอนุกรรมการสิทธิชุมชนจะรวบรวมข้อมูล ทำความเห็นในประเด็นการละเมิดสิทธิชุมชนของแบบจำลองดังกล่าว เพื่อยื่นต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป
 
 
จากนั้น เวลาประมาณ 14.00 น.สมาชิก คปท.จำนวน 15 คน เข้ายื่นหนังสือถึง นายสุวิทย์ รัตนมณี อธิบดีกรมป่าไม้ เพื่อขอให้ยกเลิกการบังคับใช้แบบจำลองโลกร้อนในการคิดค่าเสียหายทางแพ่ง และยุติการฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายโลกร้อนจากชาวบ้าน โดยมีนายเสกสันต์ มานะอุดมสิน ผู้อำนวยการส่วนอำนวยการ กรมป่าไม้ เป็นตัวแทนมารับมอบหนังสือ 
 
นายเสกสันต์ กล่าวกับกลุ่มผู้มายื่นหนังสือว่า ต้องการทราบข้อมูลปัญหาของชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ พร้อมขอให้ส่งข้อมูลมาเพิ่มเติม ส่วนเรื่องที่ยื่นเสนอมาในวันนี้นำเสนอต่ออธิบดีกรมป่าไม้และจะมีการนำเข้าที่ประชุมของหน่วยงานในสังกัดกรมป่าไม้ต่อไป 
 
ทั้งนี้ นอกเหนือจากกรมอุทยานแห่งชาติที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้องชาวบ้านในคดีโลกร้อนแล้ว ทางกรมป่าไม้เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่นำแบบจำลองการคิดค่าเสียหายโลกร้อน มาใช้ฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่งกับชาวบ้านทั่วประเทศที่มีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรทั่วประเทศประมาณ 1,200 ราย ที่ถูกดำเนินคดีโดยกรมป่าไม้ ตัวอย่าง สมาชิก คปท.ภาคเหนือที่ได้รับผลกระทบแล้ว คือ บ้านพรสวรรค์ ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
  
ด้าน เครือข่ายปฏิรูปที่ดินชี้แจงว่า เป้าหมายในการยื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมป่าไม้ครั้งนี้ ไม่ได้คาดหวังผลการตอบสนองในทางปฏิบัติจากทางกรมป่าไม้ แต่จะนำผลทางเอกสารไปใช้ในการดำเนินการฟ้องศาลปกครองต่อไป
 
 
 
 
ที่ คปท. ๔๓/๒๕๕๔
     
๑๓ กันยายน ๒๕๕๔
 
เรื่อง      ขอให้ยกเลิกการบังคับใช้แบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมบางประการหลังการทำลายป่าไม้ และยุติการฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติจากชาวบ้าน
 
เรียน      อธิบดีกรมป่าไม้
สำเนาเรียน          ๑. ฯลฯ นายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)
๒. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
อ้างถึง   หนังสือกรมป่าไม้ ที่ ทส ๑๖๑๐.๔ /๑๕๗๕๒ ลงวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๔๙ เรื่อง หลักเกณฑ์การคิดคำนวณค่าเสียหายทางแพ่งจากการบุกรุกทำลายป่าไม้
 
สิ่งที่ส่งมาด้วย      ๑. ความเห็นทางวิชาการ ของ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
๒. ความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
๓. บันทึกการสัมมนาวิชาการ “การคิดค่าเสียหายคดีความโลกร้อน นัยทางวิชาการและกระบวนการยุติธรรม”
 
ตามที่ท่านได้มีหนังสือสั่งการให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของกรมป่าไม้ นำแบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมบางประการหลังการทำลายป่าไม้ จัดทำโดย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มาใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณค่าเสียหายทางแพ่งจากการ บุกรุกทำลายป่าไม้ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของกรมป่าไม้ สำหรับการดำเนินการฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ ตามมาตรา ๙๗ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ รายละเอียดตามหนังสือที่อ้างถึงนั้น
 
จากข้อมูลของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) พบว่า ปัจจุบันมีชาวบ้านเกษตรกร ทั้งที่อยู่ในกลุ่มสมาชิกและที่มิได้เป็นสมาชิกของ คปท. ถูกกรมป่าไม้ดำเนินคดีฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งต่อทรัพยากรธรรมชาติ โดยใช้แบบจำลองดังกล่าวในการคิดคำนวณค่าเสียหายจำนวนหลายร้อยราย ซึ่งการถูกฟ้องคดีดังกล่าวได้สร้างความทุกข์ร้อนให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก โดยนอกจากชาวบ้านเกษตรกรจะมีฐานะยากจน ไม่มีที่ดินทำกินสำหรับหารายได้มาจุนเจือครอบครัวอยู่เดิมแล้ว ยังต้องกู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่ายในการต่อสู้คดี ถูกบังคับคดียึดทรัพย์สินไปชำระหนี้จนหมดตัวหรือต้องยอมถูกใช้แรงงานแทนการชำระหนี้ด้วยทรัพย์สิน จนชาวบ้านหลายรายเกิดอาการเครียดและนำไปสู่ความขัดแย้งทำให้ครอบครัวแตกแยก
 
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ขอเรียนว่า การที่กรมป่าไม้นำแบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมฯ ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ มาบังคับใช้ในการดำเนินคดีฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งนั้น เป็นการนำแบบจำลองที่ผลิตขึ้นโดยมิได้เป็นไปตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ มีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในทางแนวคิดทฤษฎีและขั้นตอนวิธีการในการสร้างแบบจำลอง และยังไม่เป็นที่ยอมรับของนักวิชาการจากหลากหลายสาขาความเชี่ยวชาญ มาบังคับใช้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเสียหายอย่างร้ายแรงและไม่เป็นธรรม อันเป็นการละเมิดต่อสิทธิของประชาชนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ ตามเหตุผลดังต่อไปนี้
 
๑. วิธีการหรือหลักการคิดคำนวณความเสียหายและค่าเสียหายที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ นำมาใช้ในแบบจำลองนั้น มิได้เป็นไปตามหลักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์หรือศาสตร์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น การตั้งสมมติฐานว่าอุณหภูมิอากาศที่สูงขึ้นโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยที่เป็นตัวแปรอย่างรอบด้าน เช่น เมฆ ลม ฝน หรือช่วงเวลาที่ตรวจวัดอุณหภูมิ วิธีการคำนวณค่าเสียหายที่ทำให้อากาศร้อนขึ้นโดยการเปิดเครื่องปรับอากาศให้อุณหภูมิลดลง การคิดค่าเสียหายที่ทำให้ปริมาณน้ำในดินสูญหายโดยคำนวณจากค่าเช่ารถบรรทุกน้ำขึ้นไปฉีดพรมน้ำในพื้นที่ ๑ ไร่ เป็นต้น อีกทั้งการเก็บข้อมูลตัวแปรต่างๆ เพื่อนำมาคิดคำนวณค่าเสียหายนั้น ก็เป็นการเก็บข้อมูลอย่างหยาบๆ จากเพียงบางพื้นที่และบางช่วงเวลาเท่านั้น แบบจำลองดังกล่าวจึงเป็นเพียงการประมาณการที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดและวิธีการที่ผิดพลาด ไม่สามารถนำมาใช้กับการประเมินความเสียหายในพื้นที่จริงซึ่งมีความซับซ้อนแตกต่างหลากหลายทั้งทางชีวภาพและภูมิศาสตร์ได้
 
นอกจากการสร้างแบบจำลองจะไม่ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์และศาสตร์อื่นๆแล้ว การนำแบบจำลองซึ่งมีลักษณะเป็นงานวิจัยทางวิชาการมาใช้ในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะการนำมาใช้ในทางกระทบสิทธิของประชาชนนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผ่านการทบทวนวิพากษ์วิจารณ์โดยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ต่างๆ อย่างรอบคอบรอบด้านจนเป็นที่ยุติและปราศจากข้อบกพร่องใดๆ ก่อน แต่กลับไม่ปรากฏว่าแบบจำลองของกรมอุทยานแห่งชาติฯได้เคยผ่านกระบวนการดังกล่าวแต่อย่างใด การนำแบบจำลองดังกล่าวมาใช้เรียกค่าเสียหายจากประชาชนจึงเป็นการกระทำที่ปราศจากมาตรฐานและความรับผิดชอบทางวิชาการ
 
๒. แนวคิดพื้นฐานที่นำมาใช้ในการสร้างแบบจำลองดังกล่าวเพื่อคำนวณค่าเสียหายทดแทนอุณหภูมิที่สูงขึ้น แร่ธาตุที่ถูกทำลาย ปริมาณน้ำใต้ดิน ฯลฯ นั้น เป็นแนวคิดที่ผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรธรรมชาติส่วนต่างๆ นั้น มีปัจจัยมากมายที่เป็นตัวแปร มีกิจกรรมในสังคมหลายภาคส่วนที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและต้องรับผิดชอบในอัตราที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ในระดับสากลนั้นก็ยังอยู่ระหว่างการถกเถียงอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับเหตุปัจจัยการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศและทรัพยากรโดยไม่ปรากฏว่ามีประเทศใดที่สามารถคิดคำนวณความเสียหายได้อย่างชัดเจนแน่นอน กรมป่าไม้จึงไม่สมควรที่จะนำแบบจำลองซึ่งยังไม่เป็นที่ยอมรับทั้งโดยนักวิชาการทั้งภายในประเทศและระดับนานาชาติมาบังคับใช้ในทางที่กระทบหรือละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
 
๓. ชาวบ้านที่ถูกกรมป่าไม้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายนั้น เป็นเพียงเกษตรกรรายย่อยที่ดำรงชีพอยู่ด้วยการทำเกษตรกรรม การใช้ประโยชน์ในที่ดินดั้งเดิมในพื้นที่ป่าเพื่อทำเกษตรกรรมและดำรงชีพจึงมีความจำเป็นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อย่างไรก็ตาม วิถีการผลิตของเกษตรกรรายย่อยนั้นมิได้เป็นต้นเหตุที่ทำให้ป่าไม้เสื่อมโทรมหรือทำให้โลกร้อน ตรงกันข้าม กลับเป็นวิถีการผลิตและวิถีชีวิตที่ช่วยปกป้อง บำรุงรักษาป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนความสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชผสมผสาน การจัดการป่าชุมชน และการใช้สอยทรัพยากรอย่างประหยัดเท่าที่จำเป็น สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๖ ที่ได้บัญญัติรับรองสิทธิของชุมชนในการมีส่วนร่วมบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ อย่างสมดุลและยั่งยืน การกล่าวหาว่าการทำเกษตรกรรมเพียงเพื่อยังชีพของชาวบ้านก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและเป็นต้นเหตุของสภาวะโลกร้อน ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและคนในสังคมเมืองมีการบริโภคใช้สอยทรัพยากรธรรมชาติและปล่อยมลพิษทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล จึงเป็นการบังคับใช้กฎหมายโดยละเลยไม่สนใจความเป็นจริงของสังคม ไม่เคารพต่อสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ และเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อชาวบ้านอย่างยิ่ง
 
๔. การนำแบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมฯ มาบังคับใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณค่าเสียหายในการฟ้องคดีแพ่งนั้น ถือได้ว่าเป็นการออกกฎที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและส่วนได้เสียสำคัญของประชาชน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๕๗ บัญญัติให้รัฐต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนนำมาบังคับใช้ แต่กรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติฯกลับมิได้เคยจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อการบังคับใช้แบบจำลองดังกล่าวแต่อย่างใด กลับทั้งยังมิได้มีการประกาศบังคับใช้แบบจำลองในฐานกฎหรือระเบียบที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐอย่างเป็นทางการและมีรายละเอียดที่ชัดเจนเพียงพอให้ประชาชนสามารถรับรู้และตรวจสอบความถูกต้องได้ ดังนั้นการนำแบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมฯ มาใช้ นอกจากจะเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแล้ว ยังเป็นการอาศัยช่องว่างทางกฎหมายเพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐด้วย
 
ด้วยเหตุผลความไม่ถูกต้องเหมาะสมดังกล่าวข้างต้น เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย และประชาชนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ขอให้ท่านพิจารณายกเลิกการบังคับใช้แบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมบางประการหลังการทำลายป่าไม้ และยุติการดำเนินคดีฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติจากชาวบ้านทั้งหมด ทั้งนี้ หากจะมีการพัฒนาแบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปใช้ในทางอื่นที่เกิดประโยชน์แก่สังคม ขอให้ท่านได้ดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ มาตรฐานทางวิชาการ ตลอดจนการดำเนินการให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญด้วย และหากท่านพิจารณาแล้วมีความเห็นหรือความคืบหน้าเป็นประการใด ขอให้ท่านกรุณาชี้แจงตอบกลับเป็นหนังสือด้วย ภายใน ๑๕ วันนับแต่ได้รับหนังสือฉบับนี้
 
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการ
 
ขอแสดงความนับถือ
 
(นายสมนึก พุฒนวล)
กรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย
 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปิยบุตร แสงกนกกุล: นิติราษฏร์ ฉบับ 29 เรื่องถกเถียงทางกฎหมายที่ฝรั่งเศสหลังสงครามโลกสิ้นสุด

Posted: 13 Sep 2011 09:33 AM PDT

"8:1 And the LORD spake unto Moses, Go unto Pharaoh, and say unto him, 

        Thus saith the LORD, Let my people go, that they may serve me.
8:2 And if thou refuse to let them go, behold, I will smite all thy borders with frogs.
8:3 And the river shall bring forth frogs abundantly, 
        which shall go up and come into thine house, and into thy bedchamber, 
        and upon thy bed, and into the house of thy servants, and upon thy people, 
        and into thine ovens, and into thy kneadingtroughs. 
8:4 And the frogs shall come up both on thee, and upon thy people, 
        and upon all thy servants”.


“8:1 พระเยโฮวาห์ตรัสกับโมเสสว่า ไปหาฟาโรห์บอกเขาว่า พระเยโฮวาห์ตรัสดังนี้ว่า 
        จงปล่อยพลไพร่ของเราเพื่อเขาจะได้ไปปรนนิบัติเรา
8:2 ถ้าท่านไม่ยอมให้เขาไป ดูเถิด เราจะให้ฝูงกบขึ้นมารังควานทั่วเขตแดนของท่าน
8:3 ฝูงกบจะเต็มไปทั้งแม่น้ำ จะขึ้นมาอยู่ในวัง ในห้องบรรทม และบนแท่นบรรทมของท่าน 
       ในเรือนข้าราชการ ตามตัวพลเมือง ในเตาปิ้งขนมและในอ่างขยำแป้งของท่านด้วย
8:4 ฝูงกบนั้นจะขึ้นมาที่ตัวฟาโรห์ ที่ตัวพลเมืองและที่ตัวข้าราชการทั้งปวงของท่าน”
                                                             คัมภีร์ไบเบิล 8.Exodus
 
- 1 -
 
ภายหลังจากฝรั่งเศสยอมแพ้ต่อเยอรมนี เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 1940 รัฐสภาได้ตรารัฐบัญญัติมอบอำนาจทุกประการให้แก่รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐภายใต้อำนาจและการลงนามของจอมพล Pétain รัฐบาลได้ตัดสินใจย้ายเมืองหลวงไปยังเมือง Vichy และให้ความร่วมมือกับเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 2 ตามนโยบาย Collaboration จอมพล Pétain ปกครองฝรั่งเศสโดยใช้อำนาจเผด็จการ ภายใต้คำขวัญ “ชาติ งาน และครอบครัว” ซึ่งใช้แทน “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” รัฐบาลวิชี่ร่วมมือกับเยอรมนีในการใช้มาตรการโหดร้ายทารุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจับคนเชื้อชาติยิวไปเข้าค่ายกักกัน มีนักกฎหมายผู้มีชื่อเสียงหลายคนให้ความร่วมมือกับระบอบวิชี่อย่างเต็มใจ เช่น Raphael Alibert  [1] , Joseph Barthélemy [2] , George Ripert [3] , Roger Bonnard [4]
 
เมื่อเยอรมนีแพ้สงคราม ฝรั่งเศสได้รับการปลดปล่อยอิสรภาพ คณะกรรมการกู้ชาติฝรั่งเศสแปลงสภาพกลายเป็น “รัฐบาลชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส” (Gouvernement provisoire de la  République française : GPRF) นอกจากปัญหาทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจแล้ว มีปัญหาทางกฎหมายให้ GPRF ต้องขบคิด นั่นคือ จะทำอย่างไรกับการกระทำต่างๆในสมัยระบอบวิชี่ การกระทำเหล่านั้นสมควรมีผลทางกฎหมายต่อไปหรือไม่ และจะเยียวยาให้กับเหยื่อและผู้เสียหายจากการกระทำในสมัยระบอบวิชี่อย่างไร
 
รัฐบาลชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสได้ตรารัฐกำหนดขึ้นฉบับหนึ่งเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 1944 ชื่อว่า “รัฐกำหนดว่าด้วยการก่อตั้งความชอบด้วยกฎหมายแบบสาธารณรัฐขึ้นใหม่ในดินแดนฝรั่งเศส”  รัฐกำหนดฉบับนี้ตั้งอยู่บนหลักการ 2 ประการ ได้แก่ การล่วงละเมิดมิได้ของสาธารณรัฐ และการไม่เคยดำรงอยู่ในทางกฎหมายของรัฐบาลจอมพล Pétain ตั้งแต่ 16 มิถุนายน 194
 
ด้วยเหตุนี้ มาตราแรกของรัฐกำหนดฉบับนี้ จึงประกาศชัดเจนว่า “รูปแบบการปกครองของประเทศฝรั่งเศสคือสาธารณรัฐและดำรงอยู่แบบสาธารณรัฐ ในทางกฎหมาย สาธารณรัฐไม่เคยยุติการคงอยู่” [5]  การประกาศความต่อเนื่องของ “สาธารณรัฐ” ดังกล่าว จึงไม่ใช่การรื้อฟื้น “สาธารณรัฐ” ให้กลับขึ้นมาใหม่ แต่เป็นการก่อตั้งความชอบด้วยกฎหมายของสาธารณรัฐขึ้นมาใหม่ต่างหาก เพราะ “สาธารณรัฐ” ไม่เคยสูญหายไป ไม่เคยถูกทำลาย ไม่เคยยุติการดำรงอยู่ รัฐบาลวิชี่ไม่ได้ทำลาย (ทางกฎหมาย) สาธารณรัฐ นายพล Charles De Gaulle หัวหน้ารัฐบาลชั่วคราวจึงไม่เคยประกาศฟื้นสาธารณรัฐ เพราะสาธารณรัฐไม่เคยสูญหายไปจากดินแดนฝรั่งเศส
 
เมื่อมาตราแรกประกาศความคงอยู่อย่างต่อเนื่องของสาธารณรัฐ ในมาตรา 2 ของรัฐกำหนดฉบับนี้จึงบัญญัติตามมาว่า “ด้วยเหตุนี้ ทุกการกระทำใดไม่ว่าจะใช้ชื่ออย่างไรก็ตามที่มีสถานะทางรัฐธรรมนูญ, ที่มีสถานะทางนิติบัญญัติ, ที่มีสถานะทางกฎ, รวมทั้งประกาศทั้งหลายที่ตราขึ้นเพื่อใช้บังคับการกระทำดังกล่าว,  ซึ่งได้ประกาศใช้บนดินแดนภายหลังวันที่ 16 มิถุนายน 1940 จนกระทั่งถึงการก่อตั้งรัฐบาลชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ให้เป็นโมฆะและไม่มีผลทางกฎหมายใดๆ” บทบัญญัตินี้หมายความว่า การกระทำใด ไม่ว่าจะใช้ชื่อใด ทั้งที่มีสถานะเทียบเท่ารัฐธรรมนูญ เทียบเท่ารัฐบัญญัติ เทียบเท่ากฎ หรือประกาศใดๆที่เป็นการใช้บังคับการกระทำเหล่านี้ ที่เกิดขึ้นในสมัยวิชี่ ถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นเลย พูดง่ายๆก็คือ ผลผลิตทางกฎหมายในสมัยวิชี่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และไม่มีผลทางกฎหมาย
 
นอกจาก “ทำลาย” การกระทำต่างๆของระบอบวิชี่แล้ว รัฐกำหนดยังให้ความสมบูรณ์ทางกฎหมายแก่บทบัญญัติที่เผยแพร่ในรัฐกิจจานุเบกษาของกลุ่มเสรีฝรั่งเศส รัฐกิจจานุเบกษาของกลุ่มฝรั่งเศสต่อสู้ และรัฐกิจจานุเบกษาของผู้บังคับบัญชาพลเรือนและทหารฝรั่งเศส ตั้งแต่ 18 มีนาคม 1943 และบทบัญญัติที่เผยแพร่ในรัฐกิจจานุเบกษาของสาธารณรัฐฝรั่งเศสระหว่าง 19 มิถุนายน 1943 จนถึงวันที่ประกาศใช้รัฐกำหนดนี้ (ซึ่งอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวกับระบอบวิชี่)
 
การประกาศไม่ยอมรับการกระทำใดๆในสมัยวิชี่ แม้จะเป็นความชอบธรรมทางการเมืองและเป็นความจำเป็นทางสัญลักษณ์อย่างยิ่ง แต่ก็อาจถูกโต้แย้งในทางกฎหมายได้ 2 ประเด็น
 
ประเด็นแรก การกำเนิดรัฐบาลวิชี่เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายทุกประการ ไม่ได้มีการรัฐประหาร หรือใช้กองกำลังบุกยึดอำนาจแล้วปกครองแบบเผด็จการ ตรงกันข้าม เป็นรัฐสภาที่ยินยอมพร้อมใจกันตรากฎหมายมอบอำนาจเด็ดขาดให้แก่จอมพล Pétain ในประเด็นนี้ พออธิบายโต้แย้งได้ว่า ระบอบวิชี่และรัฐบาลวิชี่เป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจหรือรัฐบาลตามความเป็นจริง
 
ประเด็นที่สอง การประกาศให้การกระทำใดๆสมัยวิชี่สิ้นผลไป เสมือนไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน เสมือนไม่เคยดำรงอยู่และบังคับใช้มาก่อนเช่นนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปที่สุจริตและเชื่อถือในการกระทำต่างๆที่เกิดขึ้นในสมัยวิชี่
 
รัฐกำหนดฉบับนี้ได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวโดย กำหนดให้การกระทำต่างๆที่กำหนดไว้ในตารางที่ II ของภาคผนวกแนบท้ายรัฐกำหนดนี้ ถูกยกเลิกไปโดยให้มีผลไปข้างหน้า หมายความว่า สิ้นผลไปนับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐกำหนดนี้ ไม่ได้มีผลย้อนหลังไปเสมือนว่าไม่เคยมีการกระทำเหล่านั้นเกิดขึ้นเลย นอกจากนี้ ในมาตรา 8 ยังให้ความสมบูรณ์ทางกฎหมายแก่คำพิพากษาของศาลพิเศษที่ไม่ได้ตัดสินลงโทษการกระทำใดๆที่เป็นไปเพื่อการกู้ชาติ ส่วนการกระทำที่ถือว่าสิ้นผลไปโดยมีผลย้อนหลังเสมือนว่าไม่เคยมีการกระทำเหล่านั้นมาก่อนเลย ได้แก่ รัฐธรรมนูญ 10 กรกฎาคม 1940 และการกระทำที่มีสถานะรัฐธรรมนูญต่อเนื่องจากนั้น ตลอดจนบทบัญญัติกฎหมาย ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดที่กระทบสิทธิของประชาชน เช่น การตั้งศาลพิเศษ การบังคับทำงาน การก่อตั้งสมาคมลับ การแบ่งแยกบุคคลทั่วไปออกจากคนยิว เป็นต้น
 
กล่าวโดยสรุป รัฐกำหนดว่าด้วยการก่อตั้งความชอบด้วยกฎหมายแบบสาธารณรัฐขึ้นใหม่ในดินแดนฝรั่งเศส ประกาศเป็นหลักการในเบื้องต้นก่อนว่า สาธารณรัฐไม่เคยยุติการดำรงอยู่  และบรรดาการกระทำทั้งหลายในสมัยวิชี่เป็นโมฆะ จากนั้นจึงเลือกรับรองความสมบูรณ์ให้กับบางการกระทำ และกำหนดการสิ้นผลของบางการกระทำ บ้างให้การสิ้นผลมีผลไปข้างหน้า บ้างให้การสิ้นผลมีผลย้อนหลังเสมือนไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
 
มีข้อสงสัยตามมาว่า รัฐกำหนด 9 สิงหาคม 1944 ทำให้บุคคลที่กระทำการและร่วมมือกับระบอบวิชี่ได้รอดพ้นจากความรับผิดไปด้วย เมื่อการกระทำใดๆในสมัยวิชี่ไม่ถือว่าเคยเกิดขึ้น ดังนั้นจึงไม่มีความเสียหาย ไม่มีความผิด และไม่มีความรับผิดหรือไม่?
 
เดิม แนวคำพิพากษาวางหลักไว้ว่า เมื่อรัฐกำหนด 9 สิงหาคม 1944 กำหนดให้การกระทำใดๆสมัยวิชี่ไม่ถือว่าเคยเกิดขึ้นและไม่มีผลทางกฎหมายใดแล้ว รัฐจึงไม่ต้องรับผิดชอบในการกระทำดังกล่าว แม้การกระทำนั้นจะนำมาซึ่งความเสียหายให้แก่เอกชนก็ตาม [6]  อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง ศาลได้กลับแนวคำพิพากษาเหล่านี้เสียใหม่ ศาลยืนยันว่า แม้ระบอบวิชี่และรัฐบาลในสมัยนั้นจะไม่ถือว่าเคยดำรงอยู่ และการกระทำต่างๆในสมัยนั้นไม่เคยเกิดขึ้นและไม่มีผลทางกฎหมาย แต่หลักความต่อเนื่องของรัฐก็ยังคงมีอยู่ แม้รัฐบาลในสมัยระบอบวิชี่ไม่ได้เป็นรัฐบาลตามกฎหมาย แต่ก็เป็นองค์กรผู้มีอำนาจในความเป็นจริง และไม่มีกฎหมายใดอนุญาตให้รัฐหลุดพ้นจากความรับผิด [7]  ดังนั้น เอกชนผู้เสียหายย่อมมีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการกระทำที่เกิดขึ้นในสมัยระบอบวิชี่ได้
 
จะเห็นได้ว่า ระบบกฎหมายฝรั่งเศสได้มุ่ง “ทำลาย” เฉพาะการกระทำต่างๆในสมัยระบอบวิชี่ที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพ และไม่สอดคล้องกับนิติรัฐ-ประชาธิปไตย ไม่ได้มุ่งทำลายหรือลิดรอนสิทธิของผู้เสียหายในการได้รับค่าเสียหาย ส่วนบรรดาความรับผิดชอบของผู้กระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหายในสมัยนั้นก็ยังคงมีอยู่ต่อไป (เช่น ขับไล่คนเชื้อชาติยิว, จับคนเชื้อชาติยิวขึ้นรถไฟเพื่อพาไปเข้าค่ายกักกัน, พิพากษาจำคุก, ประหารชีวิต, ฆ่าคนตาย เป็นต้น) ส่วนจะเป็นความรับผิดชอบส่วนตัวของผู้กระทำการนั้น หรือเป็นความรับผิดชอบของรัฐ ย่อมพิจารณาเป็นรายกรณีไป
 
นอกจากนี้ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง รัฐบาลฝรั่งเศสได้ใช้มาตรการ “แรง” เพื่อจัดการบุคคลผู้มีส่วนร่วมกับระบอบวิชี่ มาตรการนั้นเรียกกันว่า “มาตรการชำระล้างคราบไคลให้บริสุทธิ์” (épuration) มาตรการทำนองนี้ใช้กันในหลายประเทศโดยมีเป้าประสงค์ คือ จับบุคคลที่มีส่วนร่วมในการกระทำทารุณ โหดร้ายในสมัยนาซีเรืองอำนาจมาลงโทษ และไม่ให้บุคคลที่มีอุดมการณ์แบบนาซีได้มีตำแหน่งหรือมีบทบาทสำคัญ รัฐบาลชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสได้ออกรัฐกำหนดหลายฉบับเพื่อใช้มาตรการชำระล้างคราบไคลอุดมการณ์นาซี เช่น การจัดตั้งศาลพิเศษเพื่อพิจารณาคดีบุคคลที่มีส่วนร่วมกับระบอบวิชี่, การปลดข้ารัฐการและเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนร่วมกับระบอบวิชี่, การปลดข้ารัฐการและเจ้าหน้าที่ที่มีอุดมการณ์และทัศนคติสนับสนุนนาซีและวิชี่ ตลอดจนกีดกันไม่ให้เข้าทำงานหรือเลื่อนชั้น, การห้ามบุคคลผู้มีอุดมการณ์และทัศนคติสนับสนุนนาซีและวิชี่ ทำงานในกระบวนการยุติธรรม การศึกษา สื่อสารมวลชน การเงินการธนาคาร การประกันภัย หรือร่วมในสหภาพแรงงาน, การจำกัดสิทธิเลือกตั้งและสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นต้น
 
นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในฝรั่งเศสที่ข้าพเจ้าอยากหยิบยกมาแสดงเป็นตัวอย่างว่า การลบล้างการกระทำใดๆในสมัยเผด็จการสามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องกังวลใจว่าใครจะเป็นคนได้ประโยชน์ เพราะ ในท้ายที่สุด ระบบกฎหมายแบบนิติรัฐ-ประชาธิปไตยนั่นแหละที่เราจะได้กลับมา พร้อมกับ “สั่งสอน” บุคคลที่กระทำการ ร่วมมือ ตลอดจนสนับสนุนเผด็จการได้อีกด้วย
 

อ่านต่อฉบับเต็มได้ที่นี่ 
นิติราษฏร์ ฉบับ ๒๙ (ปิยบุตร แสงกนกกุล)

 

 

เชิงอรรถ

[1] ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนแรกในสมัยระบอบวิชี่ มีบทบาทสำคัญในการบริหารและกำหนดทิศทางการทำงานของศาลปกครอง
[2]  ศาสตราจารย์กฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส ผู้เขียนตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญหลายเล่ม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนที่สองในสมัยระบอบวิชี่
[3]  ศาสตราจารย์กฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีการศึกษาและเยาวชน มีบทบาทสำคัญในการปลดศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยที่มีเชื้อชาติยิว
[4] ศาสตราจารย์กฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบอร์กโดซ์ เขียนตำรากฎหมายปกครองหลายเล่ม แม้เขาจะไม่เข้าดำรงตำแหน่งใดๆในรัฐบาล แต่ได้ประกาศอย่างชัดเจนต่อสาธารณะว่าพร้อมปวารณาตัวรับใช้และสนับสนุนระบอบวิชี่อย่างไม่มีเงื่อนไขและอย่างเต็มความสามารถ โดยมุ่งเน้นไปในงานทางวิชาการเพื่อรับรองความชอบธรรมของระบอบวิชี่และสนับสนุนนักกฎหมายที่รับใช้ระบอบวิชี่ ผ่านบทความต่างๆที่เสนอในวารสาร Revue du Droit public (วารสารกฎหมายมหาชน) ที่เขาเป็นบรรณาธิการ
[5] คำว่า “สาธารณรัฐ” ในบริบทของฝรั่งเศส ไม่ใช่หมายถึงเพียงรัฐที่มีประมุขของรัฐเป็นประธานาธิบดี ไม่ใช่ตำแหน่งที่สืบทอดทางสายโลหิตแบบกษัตริย์เท่านั้น แต่ยังหมายความถึงความเป็นนิติรัฐ ความเป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมและพหุนิยมด้วย จะสังเกตได้ว่า คำว่า République ที่ใช้ในบริบทของฝรั่งเศส จะเขียนด้วยตัวอักษร R ตัวใหญ่เสมอ นั่นหมายความว่า มีลักษณะเฉพาะและแตกต่างจาก république  
[6] คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ๑๔ มิถุนายน ๑๙๔๖, Ganascia คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ๔ มกราคม ๑๙๕๒, Epoux Giraud คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ๒๕ กรกฎาคม ๑๙๕๒, Delle Remise
[7] คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ๑๒ เมษายาน ๒๐๐๒, Papon คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๐๐๙, Hoffman Glemane

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ขบวนประชาชนจัดทัพลูกโป่งหลากสี ร้องนายกฯ อย่าทิ้งกฎหมายประชาชน 9 ฉบับ

Posted: 13 Sep 2011 08:41 AM PDT

วันที่ 13 กันยายน 2554 เวลา 9.00 น. เครือข่ายภาคประชาชนจาก 13 องค์กร ได้แก่ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายผู้หญิง เครือข่ายสมานฉันท์แรงงานไทย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีประเทศไทย เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง เครือข่ายผู้ป่วยจิตเวช ชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน เครือข่ายผู้เสนอกฎหมายป่าชุมชน เครือข่ายประชาชนผู้เสนอกฎหมาย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) พร้อมมวลชนจำนวนหนึ่งจากทั่วประเทศรวมตัวจัดกิจกรรมริ้วขบวนลูกโป่งหลากสี 170 ลูก บริเวณหน้าทำเนียบเพื่อยื่นจดหมายถึง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อผลักดันร่างกฎหมาย พ.ร.บ. 9 ฉบับ สู่วาระการประชุมคณะรัฐมนตรีสมัยแรก

โดยกฎหมายทั้ง 9 ฉบับเป็นกฎหมายที่มาจากการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชน 10,000 คน ซึ่งยื่นเข้าสู่รัฐสภาตั้งแต่ในสภาสมัยที่แล้ว แต่ยังไม่ถูกหยิบขึ้นมาพิจารณาจนกระทั่งมีการยุบสภา และเลือกตั้งใหม่
 
เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 153 วรรคสอง กำหนดว่า หากมีการยุบสภาและมีการเลือกตั้งใหม่ รัฐบาลใหม่ต้องร้องขอต่อรัฐสภาภายใน หกสิบวัน นับแต่วันประชุมสภาครั้งแรก เพื่อให้นำกฎหมายที่ค้างพิจารณาจากสภาที่แล้วมาพิจารณาต่อ หากรัฐบาลไม่ร้องขอให้นำกฎหมายฉบับใดขึ้นมาพิจารณาต่อ กฎหมายฉบับนั้นก็จะเป็นอันตกไป ดังนั้น เครือข่ายภาคประชาชนจากหลากหลายเครือข่ายที่เคยเสนอกฎหมายจึง รวมตัวกันมาเรียกร้องให้รัฐบาลนำกฎหมายภาคประชาชนกลับเข้าสู่กระบวนการพิจารณาด้วย
 
ร่างกฎหมายดังกล่าว ได้แก่ 1. ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. .... , 2. ร่าง พ.ร.บ. องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคพ.ศ. .... , 3. ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... , 4. ร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. .... (ฉบับผู้ใช้แรงงาน) , 5. ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยวิชาชีพการสาธารณสุข, 6. ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ....., 7. ร่าง พ.ร.บ. บำนาญประชาชน พ.ศ. ...., 8. ร่าง พ.ร.บ. กองทุนผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. .... และ 9. ร่าง พ.ร.บ. การจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ พ.ศ. .... 
 
อิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าฝ่ายศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิผู้บริโภค หนึ่งในผู้นำกิจกรรม กล่าวว่า ร่างกฎหมายทั้ง 9 ฉบับต้องถูกพิจารณาในที่ประชุมภายในสิบเจ็ดวันก่อนหมดสมัยการประชุม การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ของประชาชนในครั้งนี้มีลูกโป่งหลากสี 170 ลูกเป็นสื่อ บอกความหมายว่า ภายในสิบเจ็ดวันนี้ หากไม่มีการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวผลลัพธ์จะเป็นศูนย์ คือกฎหมายที่ประชาชนลงทุนลงแรงอย่างมากในการผลักดัน และคาดหวังไว้ว่าจะเกิดขึ้นต้องเป็นอันตกไป 
 

20110913-2

20110913-1

ขบวนประชาชนจัดทัพลูกโป่งหลากสี ร้องนายกฯ อย่าทิ้งกฎหมายประชาชน 9 ฉบับ

ขบวนประชาชนจัดทัพลูกโป่งหลากสี ร้องนายกฯ อย่าทิ้งกฎหมายประชาชน 9 ฉบับ

ขบวนประชาชนจัดทัพลูกโป่งหลากสี ร้องนายกฯ อย่าทิ้งกฎหมายประชาชน 9 ฉบับ

ขบวนประชาชนจัดทัพลูกโป่งหลากสี ร้องนายกฯ อย่าทิ้งกฎหมายประชาชน 9 ฉบับ

ขบวนประชาชนจัดทัพลูกโป่งหลากสี ร้องนายกฯ อย่าทิ้งกฎหมายประชาชน 9 ฉบับ

ขบวนประชาชนจัดทัพลูกโป่งหลากสี ร้องนายกฯ อย่าทิ้งกฎหมายประชาชน 9 ฉบับ

ขบวนประชาชนจัดทัพลูกโป่งหลากสี ร้องนายกฯ อย่าทิ้งกฎหมายประชาชน 9 ฉบับ

 
นอกจากลูกโป่งหลากสีแล้ว ในกิจกรรมครั้งนี้ประชาชนที่เดินทางมาจากหลากหลายพื้นที่ยังได้ใช้ปากกาเมจิกเขียนข้อความไว้ใส่กระดาษผูกติดไว้ที่ลูกโป่งหลากสีของตนเอง เพื่อส่งข้อความที่ต้องการบอกกับรัฐบาลไปกับลูกโป่ง ซึ่งก็มีทั้งข้อความรณรงค์เรียกร้องกฎหมายทั้ง 9 ฉบับ หรือ ฉบับใดฉบับหนึ่งที่กลุ่มประชาชนเห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน เช่น กฎหมายองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภค กฎหมายประกันสังคม เป็นต้น
 
หลังจากที่นัดกับตัวแทนของรัฐบาลไว้ประมาณ 11.00 น. แต่แม้จะเลยเวลาที่นัดหมายมาพอสมควรแล้วก็ยังไม่มีใครออกมารับข้อเรียกร้องของประชาชนทำให้มีบรรยากาศความไม่พอใจของกลุ่มประชาชนที่มารวมตัวกันเกิดขึ้นบ้าง เพราะเกรงว่ารัฐบาลชุดนี้อาจจะไม่อยากออกมารับข้อเรียกร้องดังกล่าวของประชาชน
 
จนกระทั่งเวลา 12.30 น. นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนออกมารับหนังสือของภาคประชาชน และได้กล่าวกับกลุ่มประชาชนทั้งหมดว่า นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเห็นว่า กฎหมายที่ประชาชนเสนอเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด สำคัญกว่ากฎหมายที่มาจาก ส.ส. เพราะมาจากประชาชนโดยตรง และยังให้คำมั่นว่า จะนำร่างกฎหมายทั้งหมดเข้าสู่วาระการประชุมคณะรัฐมนตรี
 
หลังจากนั้น นายแพทย์ สุรวิทย์ ได้ร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายภาคประชาชนทำพิธีปล่อยลูกโป่งหลากสี 170 ลูกขึ้นฟ้าพร้อมกัน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการส่งข้อเรียกร้องของประชาชนไปให้สูงที่สุด หลังจากนั้นทุกคนจึงแยกย้ายกันเดินทางกลับ
 
ทั้งนี้ การประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ยังไม่มีการนำเรื่องกฎหมายประชาชนทั้ง 9 ฉบับมาพิจารณาแต่อย่างใด และรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ยังไม่ได้ร้องขอให้รัฐสภานำร่างกฎหมายใดจากสภาที่แล้วมาพิจารณาต่อ จึงต้องติดตามความคืบหน้าในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดต่อไป ในวันที่ 20 กันยายน 2554
 
กิจกรรมในวันนี้เป็นกิจกรรมต่อเนื่องมาจาก วันที่ 8 กันยายน 2554 ที่เครือข่ายภาคประชาชนทั้ง 13 องค์กร ได้รวมตัวกันไปเข้าพบนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือเพื่อขอให้สมาชิกรัฐสภาช่วยสนับสนุนและมีมติเห็นชอบให้เดินหน้านำร่างกฎหมายประชาชนที่ค้างอยู่มาพิจารณาต่อ
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คอป.แนะช่องอัยการไม่ส่งฟ้อง ผิด พรก.ฉุกเฉิน เสนอนายกฯ ตั้งกรรมการเยียวยาคืนความเป็นธรรม

Posted: 13 Sep 2011 08:31 AM PDT

เมื่อเวลา 08.35 น.วันที่ 13 ก.ย. 54 นายกิตติพงษ์ กิติยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม และกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ  (คอป.)  ทวีตข้อความรายงานความคืบหน้าการทำงานของ คอป.ว่า เตรียมเสนอรายงานถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ภายในสัปดาห์นี้ หรือไม่เกินต้นสัปดาห์หน้า ซึ่งจะเป็นข้อเสนอแรกที่ส่งให้รัฐบาลนี้ ในทวีตระบุว่า

"ข้อเสนอของเราตามที่ท่านอาจารย์คณิต ณ นคร เพิ่งให้สัมภาษณ์สื่อไปก็คือ การปล่อยชั่วคราวผู้ที่ถูกคุมขังและไม่มีหลักฐานชัดว่าร่วมกระทำผิด นอกจากนั้นยังมีข้อเสนอเรื่องการไม่ดำเนินคดีผู้ต้องหาที่ถูกแจ้งข้อหาร่วมชุมนุมมั่วสุม หรือข้อหาขัด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมองว่าเป็นข้อหาการเมือง"

ทั้งนี้โดยกระบวนการ ข้อความของปลัดกระทรวงยุติธรรมขยายความว่า "อาจารย์คณิตอธิบายว่า จะเน้นบทบาทไปที่พนักงานอัยการซึ่งมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้"

กิตติพงษ์ ทวีตถึงข้อเสนออีกเรื่องที่น่าจะอยู่ในข้อเสนอของ คอป. คือการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมารับผิดชอบการเยียวยาให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม

"เรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรงทางการเมือง เป็นประเด็นที่ คอป.ให้ความสำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่งในการทำงานระยะนี้ เพราะการเยียวยาที่ดีคือจุดเริ่มต้นของความเป็นธรรม และภายในสิ้นเดือนนี้จะส่งรายงานฉบับที่ 2 ถึงรัฐบาล เป็นรายงานผลการทำงานที่เรากำหนดออกทุกๆ 6 เดือนครับ เอกสารจะมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ถ้ามีความคืบหน้าเพิ่มเติมผมจะนำมารายงานให้ทราบนะครับ รวมทั้งในเว็บไซต์ของผมด้วย"

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ที่นี่.....ยังมีเด็กขอทาน

Posted: 13 Sep 2011 08:07 AM PDT

รายงานจากมูลนิธิกระจกเงา พื้นที่จุดบอดที่การปราบปรามการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานในกรุงเทพยังไปไม่ถึง

ภายหลังจากข่าวการช่วยเหลือ “น้องพอมแพม” เด็กหญิงวัย 3 ปี ที่ถูกคนร้ายลักพาตัวไปจากครอบครัวกว่า 20 วัน จนได้รับการช่วยเหลือจากพลเมืองดี  ซึ่งพบตัวในขณะที่เด็กถูกนำไปเป็นเครื่องมือในการขอทานยังตลาดนัดแห่งหนึ่งของจังหวัดชลบุรีถูกเผยแพร่ออกไปตามสื่อแขนงต่างๆ ทำให้เกิดกระแสการกวาดล้างเด็กขอทานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในหลายๆ พื้นที่ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด

อย่างไรก็ตามการลงพื้นที่ปราบปรามการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานในกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ภาครัฐมักเลือกพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือแหล่งเศรษฐกิจเพียงประการเดียว เช่น พื้นที่ถนนสุขุมวิท, สีลม หรือสยาม เป็นต้น

ซึ่งข้อมูลจากการรับแจ้งเบาะแสการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานจากพลเมืองดีของโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา ทำให้ทราบว่ายังมีอีกหลายพื้นที่ที่ยังสามารถพบเห็นเด็กขอทานได้และพื้นที่เหล่านี้ก็ยังคงไม่ได้รับการดำเนินการในการช่วยเหลือเด็กขอทานออกจากข้างถนนแต่อย่างใด จึงทำให้จำนวนเด็กขอทานในพื้นที่ต่างๆ เหล่านี้ยังมีปัญหาการนำเด็กมาขอทานอยู่เป็นจำนวนมาก

โครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา จึงรวบรวมพื้นที่ที่มักได้รับแจ้งเบาะแสการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานจากพลเมืองดี รวมถึงการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงของทางโครงการฯ เอง โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อเป็นข้อมูลให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำการลงพื้นที่ ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาต่อไป ดังนี้

1. พื้นที่ถนนลาดพร้าว
·   ห้างเดอะ มอลล์ สาขาบางกะปิ
·   ห้างบิ๊กซี สาขาลาดพร้าว
·   ห้างยูเนี่ยนมอลล์
·   ห้างเซ็นทรัล สาขาลาดพร้าว

2. พื้นที่ถนนพหลโยธิน
·   ห้างเมเจอร์ สาขารัชโยธิน
·   ตลาดอมรพันธ์ (บริเวณแยกเกษตรนวมินทร์)

3. พื้นที่ถนนวิภาวดี – รังสิต
·   ห้างเมเจอร์ สาขารังสิต
·   ห้างฟิวเจอร์ ปาร์ค รังสิต
·   ห้างเซียร์ รังสิต
·   ห้างไอที สแควร์
·   ซอยเฉยพ่วง (ข้างตึกซัน ทาวเวอร์)

4. พื้นที่ถนนงามวงศ์วาน
·   ห้างพันธุ์ทิพย์ สาขางามวงศ์วาน
·   ห้างเดอะ มอลล์ สาขางามวงศ์วาน
·   ห้างบิ๊กซี สาขางามวงศ์วาน

5. พื้นที่ถนนราชดำริ – เพชรบุรี
·   ห้างบิ๊กซี สาขาราชดำริ
·   ห้างเซ็นทรัล เวิลด์
·   ห้างพันธุ์ทิพย์ สาขาประตูน้ำ
·   ห้างแพลทตินั่ม ประตูน้ำ

6. พื้นที่ถนนเจริญกรุง
·   ท่าเรือสาทร
·   หน้าห้างโรบินสัน สาขาบางรัก

7. พื้นที่ถนนบางนา – ตราด
·   สี่แยกบางนา
·   ห้างเซนทรัล สาขาบางนา
·   ห้างโฮมโปร

8. พื้นที่ถนนสุขสวัสดิ์ – ราษฎร์บูรณะ
·   ห้างบิ๊กซี สาขาสุขสวัสดิ์
·   ตลาดบางปะกอก
·   ห้างบิ๊กซี สาขาบางปะกอก

9. พื้นที่ถนนลาดหญ้า
·   ห้างโรบินสัน สาขาลาดหญ้า
·   บริเวณโดยรอบวงเวียนใหญ่

10. พื้นที่ถนนเพชรเกษม
·   ห้างเดอะ มอลล์ สาขาบางแค
·   ห้างเดอะ มอลล์ สาขาท่าพระ

11. พื้นที่ถนนพระราม 2
·   ห้างเซ็นทรัล สาขาพระราม 2
·   ห้างบิ๊กซี สาขาพระราม 2 

12. พื้นที่ถนนพรานนก
·   ตลาดวังหลัง

13. พื้นที่ถนนบรมราชชนนี
·   ห้างเซ็นทรัล สาขาปิ่นเกล้า
·   ห้างพาต้า สาขาปิ่นเกล้า
·   ห้างเมเจอร์ สาขาปิ่นเกล้า

โครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา ขอเป็นเสียงสะท้อนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปดำเนินการปราบปรามและกวดขันไม่ให้มีการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานในพื้นที่ต่างๆ เหล่านี้ด้วย ภาพของเด็กตัวน้อย เนื้อตัวมอมแมม ทำท่าทางก้มกราบคนที่เดินผ่านไป – มา เพื่อเรียกความน่าสงสาร ต้องหมดไปจากสังคมไทยเสียที.......

                                                        โครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน
                                                                    มูลนิธิกระจกเงา

 




ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเด็กขอทานเหล่านี้ได้  โดยหากพบเห็นเด็กขอทานให้งดการบริจาคเงินและเปลี่ยนเป็นการแจ้งเบาะแสไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เด็กได้รับการช่วยเหลือออกจากข้างถนน โดยสามารถแจ้งได้ที่ มูลนิธิกระจกเงา โทร. 02-941-4194 , info@notforsale.in.th หรือ ศูนย์ประชาบดี โทร .1300

ขั้นตอนการช่วยเหลือเด็กขอทานหลังจากที่ได้รับแจ้งเบาะแสแล้วโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงาจะส่งเจ้าหน้าที่ทำการลงพื้นที่เก็บข้อมูลและสืบข้อเท็จจริงว่าเด็กคนดังกล่าวเป็นเหยื่อจากการค้ามนุษย์หรือไม่ หากคาดว่าใช่ก็จะมีการติดตามไปจนถึงแหล่งที่พักพิงและประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการจับกุมไปจนถึงต้นตอของขบวนการค้ามนุษย์ แต่หากคาดว่าเป็นการมาขอทานโดยความสมัครใจก็จะส่งข้อมูลไปยังศูนย์ประชาบดีเพื่อให้เด็กได้รับการช่วยเหลือและคุ้มครองในสถานแรกรับฯ ต่อไป

มาร่วมกัน “หยุดสร้างบุญบนธุรกิจบาป” เด็กจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหรือต้องอยู่ข้างถนน คุณเป็นผู้กำหนด !!!!

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กสม. ชี้ แผนควบรวม ร.ร.ขนาดเล็ก ขาดกระบวนการการรับฟังความเห็น

Posted: 13 Sep 2011 07:54 AM PDT

13 ก.ย.54 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้ความเห็นหลังการรับเรื่องร้องเรียนจากสภาการศึกษาทางเลือกว่า กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวน  7,000 โรง ภายในปี พ.ศ.2561 และปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการไปแล้วบางส่วน  ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวขัดต่อหลักการพื้นฐานด้านการจัดการศึกษาและการมีส่วนร่วมของชุมชน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และสนธิสัญญาระหว่างประเทศ

นางวิสา  เบ็ญจะมโน  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  และประธานอนุกรรมการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และความเสมอภาคของบุคคล ได้กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า อนุกรรมการฯ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเชิญผู้เกี่ยวข้อง คือผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสภาการศึกษาทางเลือก มาให้ข้อมูล รวมถึง คุณหญิงกษมา  วรวรรณ ณ อยุธยา  ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการ  และมีความเห็นว่า  การดำเนินนโยบายยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กของกระทรวงศึกษาธิการนั้น แม้จะอ้างว่ามีความตระหนักถึงสิทธิเด็กเป็นสำคัญแล้วก็ตาม แต่การยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กอาจยังมิใช่แนวทางที่เหมาะสมที่สุดในการยกระดับคุณภาพการศึกษา เพราะเป้าหมายสูงสุด คือ การพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนโดยให้เด็ก ผู้ปกครอง และคนในชุมชนมีส่วนร่วม และต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นลำดับแรก  ตามหลักการที่บัญญัติรองรับใน ข้อ 3 อนุ 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546  จึงเห็นว่า การดำเนินนโยบายของกระทรวงศึกษา เป็นการดำเนินนโยบายจากหน่วยงานฝ่ายบริหารของรัฐฝ่ายเดียว ยังขาดกระบวนการการรับฟัง แลกเปลี่ยน ข้อมูล ข้อคิดเห็นจากบุคคลและหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง บนหลักการพื้นฐานที่ถูกรองรับโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ซึ่งเรื่องนี้ ศ.นพ.ประเวศ  วะสี ราษฎรอาวุโส เคยกล่าวในเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง ปัญหาและทางออกการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก 7,000 โรง เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2554 ที่กระทรวงศึกษาธิการว่า  “..ควรคืนการศึกษาไปให้กับประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น จัดการตัวเอง เรื่องโรงเรียนขนาดเล็กจะยุบ ไม่ยุบ ไม่ใช่ธุระของกระทรวงศึกษา...”  

ในเบื้องต้นคณะอนุกรรมการฯ จึงมีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้ชะลอนโยบายการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กไว้ก่อน เพื่อหารือแนวทางในการแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าวต่อไป

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นายจ้างโอดค่าแรง 300 บ.ต่างชาติขยับย้ายหนี "ซับคอนแทร็ค" หวั่นเจ๊ง

Posted: 13 Sep 2011 04:50 AM PDT

ผู้ประกอบการขู่นโยบาย ค่าแรง 300 ทำบ.ต่างชาติขยับย้ายหนี ด้านบริษัทเหมาช่วง (ซับคอนแทร็ค) กินหัวคิวแรงงานน้อยลง หวั่นสูญพันธุ์

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 54 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมสวิสโฮเต็ล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย ร่วมกับ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ และกระทรวงแรงงานจัดการสัมมนาทวิภาคีเชิงปฏิบัติการเรื่อง ทางออกของนโยบาย การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เพื่อรับฟังปัญหาของผู้ประกอบการ เพื่อนำมาวางมาตรการผู้ประกอบการโดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ วันละ 300 บาท โดยมีนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน เป็นประธานการเปิดสัมมนา

นายเผดิมชัย กล่าวว่า ในเบื้องต้นได้มีการประสาน กับกระทรวงการคลังในการออกมาตรการภาษีช่วยเหลือ เช่น การลดหย่อนภาษีนิติบุคคลในปี 2555 จาก 30% เหลือ 27% และประสานกับกระทรวงพลังงานการไฟฟ้า การประปา ในการหาแนวทางลดค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้าตาม ที่ภาคเอกชนเสนอ รวมถึงยังมีมาตรการลดการส่งเงินสมทบ ประกันสังคมในส่วนของนายจ้าง ซึ่งปัจจุบันส่งอยู่ที่ 5% ของค่าจ้าง ขณะนี้อยู่ระหว่างการหาอัตราที่ดีที่สุด เพื่อให้ เป็นตัวเลขที่นายจ้างและลูกจ้างรับได้และเป็นมาตรการชั่วคราว รวมทั้งการพัฒนาฝีมือแรงงานให้คุ้มกับค้าจ้าง

"อยากให้ผู้ประกอบการเร่งส่งข้อเสนอที่ต้องการ ให้รัฐบาลช่วยเหลือจากผลกระทบในการปรับค่าเพิ่มรายได้ไม่ต่ำกว่า 300 บาทต่อวัน ให้แก่แรงงานมาโดยเร็ว เพื่อที่รัฐบาลจะได้ออกมาตรการช่วยเหลือให้ทันการปรับค่าเพิ่มรายได้ใน 7 จังหวัดนำร่องได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานีและภูเก็ต ในวันที่ 1 มกราคม 2555 และจะนำอัตราที่เพิ่มขึ้น 40% ไปบวกเพิ่มให้ 70 จังหวัด เพื่อปรับ ฐานค่าจ้างให้สูงขึ้นก่อนปรับให้มีอัตรา 300 บาทต่อวัน เท่ากันทั่วประเทศ"รมว.แรงงาน กล่าว

ด้าน นายอนันตชัย คุณานันทกุล ประธานสภา องค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จะเร่งสรุปปัญหา และข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อเสนอ ให้กระทรวงแรงงาน เร่งวางมาตรการช่วยเหลือ ซึ่งขณะนี้กลุ่ม บริษัทเหมาช่วง (ซับคอนแทร็ค) ประสบปัญหากับนโยบายนี้ มากเนื่องจากต้นทุนของกลุ่มนี้คือค่าแรงเพียงอย่างเดียว ซึ่งมีบางบริษัทที่ย้ายฐานผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน บ้างแล้ว หากรัฐบาลไม่ออกมาตรการช่วยเหลือกลุ่มนี้ด้วย เกรงว่าบริษัทซับคอนแทร็คจะค่อยๆ หมดไป นายเชียรช่วง กัลยาณมิตร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แม็กซอน ซิสเต็ม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการต่างชาติ โดยเฉพาะธุรกิจเครื่องใช้ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เริ่มขยับตัวเตรียมที่จะย้ายฐาน การผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่าตรงแนวตะเข็บ ชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก และแนวเขตติดกับ จ.กาญจนบุรี รวมถึงที่เกาะกง และปอยเปต ประเทศกัมพูชา เนื่องจาก ต้นทุนค่าแรงถูกกว่ามาก ซึ่งอยู่ที่ระดับ 80 บาทต่อวัน

นายเชียรช่วงกล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบต่างชาติ กังวลกับนโยบายค่าจ้าง 300 บาทมาก หากเป็นจริงหลายรายไปแน่ เพราะรายได้เท่าเดิม และต้นทุนค่าแรง ลดลง ซึ่งตนเองก็ได้เดินทางไปสำรวจพื้นที่เพื่อเตรียม หาฐานการผลิตใหม่ รวมทั้งเพื่อนๆ ผู้ประกอบการที่เป็น หุ้นส่วนชาวเกาหลีพบว่าพื้นที่ที่น่าสนใจและเนื้อหอม มากที่สุดตอนนี้คือที่ปอยเปต ประเทศกัมพูชา เนื่องจาก ค่าแรงถูก และมีระบบสาธารณูปโภคพร้อมรองรับ

นายดรากันด์ เรสดิก ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายนายจ้าง องค์การแรงงานระหว่างประเทศ กล่าวว่า รัฐบาลควรมีมาตรการอื่นมาช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี ที่มีกว่า 3 แสนแห่ง เนื่องจากมาตรการด้านภาษีกลุ่มเอสเอ็มอี ไม่ได้รับด้วย เพราะไม่ได้เสียภาษี ทั้งนี้เห็นว่าการปรับค่าจ้างควรปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป และเกรงว่านโยบาย ค่าจ้าง 300 บาท จะทำให้กลุ่มจบใหม่เสี่ยงตกงานมากขึ้นเพราะนายจ้างต้องการจ้างผู้มีประสบการณ์

นายวินิจฉัย ศรียะราช ผู้จัดการแผนกบริหาร ค่าจ้างและเงินเดือน บริษัท เอ็มเอ็กซ์ พี แมนูแฟคเจอริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด กรุงเทพฯ ซึ่งผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ให้สัมภาษณ์ว่าบริษัทมีพนักงานรายวัน และรายเดือน รวม 1,460 คน จึงอยากให้รัฐบาลปรับ ค่าจ้างแบบขั้นบันไดภายในเวลา 4 ปี เพื่อให้นายจ้างได้มี เวลาปรับตัว รวมทั้งให้จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือธุรกิจที่ไม่ได้ประโยชน์จากมาตการภาษีนิติบุคคล เพราะหากปรับ ค่าจ้างเป็น 300 บาทต่อวัน อาจจำเป็นต้องลดสวัสดิการที่เป็นเงินลงไปบ้างเพื่อนำมาโปะเงินค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น

ด้านนายพนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การ ลูกจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนได้เตรียมเสนอโมเดล ในการปรับค่าจ้าง 300 บาท โดยที่ทั้งนายจ้างและลูกจ้างไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งขณะนี้ตนได้นำไปทดลองใช้ที่โรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร

โดยให้นายจ้างปรับขึ้นค่าจ้างเป็น 300 บาท แต่ ให้คงฐานรายได้เดิมเอาไว้ใช้ในการคำนวณสวัสดิการอื่นๆ เป็นเวลา 1 ปี เช่น เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินกองทุนประกันสังคม เงินโบนัส ค่าโอที จากนั้น ปี 2556 ก็จะนำฐานรายได้ใหม่มาใช้คำนวณเหมือนเดิม เนื่องจากนายจ้างจะได้ไม่ต้องแบกรับต้นทุนถึง 2 เด้งในปีแรก ซึ่งนายจ้างก็ยอมรับโมเดลนี้

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการแรงงาน สมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า วันนี้เราต้องการให้มีการ คุยกันทั้ง 3 ฝ่าย ระหว่างรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง ซึ่ง ฝ่ายลูกจ้างก็ไม่ได้ต้องการให้นายอยู่ไม่ได้ แต่ในเมื่อมันเป็น นโยบายของรัฐบาล ก็ต้องเดินหน้าไปสู่การปรับขึ้นค่าจ้าง เพราะต้องยอมรับว่าค่าครองชีพในปัจจุบันเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ ในขณะที่ค่าจ้างขั้นต่ำในบางจังหวัดยังต่ำมาก

วันเดียวกัน ที่กระทรวงแรงงาน ผู้แทนสมาคม ผู้ประกอบการด้านรักษาความปลอดภัยได้เข้าพบ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน เพื่อหารือผลกระทบปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท โดย นายปัณณพงศ์ อิทธิ์อรรถนนท์ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ประกอบการด้านรักษา ความปลอดภัยกล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการด้านนี้มี 3,500 แห่ง มีลูกจ้าง 5 แสนคน มีความกังวลใจเรื่องการปรับค่าจ้างวันละ 300 บาท จะทำให้ต้นทุนค่าจ้างขึ้นมาก จนอาจทำให้บริษัทขนาดเล็กไม่สามารถอยู่รอดได้เพราะ ไม่สามารถขึ้นค่าบริการจากผู้ว่าจ้างเพิ่มได้ เนื่องจากปัจจุบันบริษัทจะจัดเก็บค่าบริการเฉลี่ยอยู่ที่หัวละ 15,000 บาท และหากมีการปรับค่าจ้าง 300 บาท ต้องเรียกเก็บค่าบริการเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็นหัวละ 22,000 บาท จึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาให้รอบคอบในเรื่องปรับค่าจ้าง 300 บาท และการปรับเพิ่มค่าจ้างจะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ หากราคาสินค้าได้มีปรับตัวนำหน้าไปก่อนแล้ว ดังนั้น รัฐบาลควรปรับค่าราคาสินค้าอุปโภคบริโภคให้ได้ก่อน

นพ.สมเกียรติ ฉายะวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงมาตรการลดการส่งเงินสมทบประกันสังคมในส่วน ของนายจ้างซึ่งปัจจุบันส่งอยู่ที่ 5% ของค่าจ้างเพื่อช่วย ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างเป็น 300 บาท ต่อวันว่า เรื่องนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อกองทุนชราภาพ ของประกันสังคม หากจะลดเงินสมทบก็จะลดสิทธิประโยชน์ ในการรักษาพยาบาล อย่างไรก็ตาม หากกองทุนรักษา พยาบาลมีเงินไม่เพียงพอรัฐบาลก็จะสนับสนุนเพิ่ม

ที่มาข่าว: แนวหน้า

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ยื่นปลด “นพ.วิชัย” พ้นบอร์ด สปสช. - "เอ็นจีโอ" ปิ๋วหลุดบอร์ดทั้งยวง

Posted: 13 Sep 2011 03:42 AM PDT

ยื่นปลด “นพ.วิชัย” พ้นบอร์ด สปสช. ชี้มีพฤติกรรมเสื่อมเสีย มีผลประโยชน์ทับซ้อน ด้านการเลือก 7 ผู้ทรงคุณวุฒินั่งบอร์ด สปสช. สายเอ็นจีโอร่วงระนาว

ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่าเมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก่อนการประชุมคณะกรรมการบริหารสำนักงาน สปสช. เพื่อพิจารณาแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทางเครือข่ายต่างๆ อาทิ สมาคมพัฒนา คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางสิ่งแวดล้อม เครือข่ายป้องกันประชาชนด้านสาธารณสุข ชมรมผู้สูงอายุชนบท ฯลฯ ยื่นหนังสือประท้วงต่อนายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ฐานะประธานคณะกรรมการ สปสช. เพื่อพิจารณาคัดชื่อ นพ.วิชัย โชควิวัฒน ออกจากการเป็นคณะกรรมการ โดย พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) กล่าวว่า เนื่องจาก นพ.วิชัยมีพฤติกรรมเสื่อมเสีย มีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะเป็นประธานอนุกรรมการยุทธศาสตร์ สปสช. ซึ่งมีอำนาจในการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ จากองค์การเภสัชกรรม ทั้งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการด้วย

นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ตนเตรียมแต่งตั้งคณะกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ซึ่งจะนำเรื่องร้องเรียนทั้งหมดภายในกระทรวง รวมถึงเรื่องนี้มอบให้ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ. ไปดำเนินการ โดยคณะผู้ทรงคุณวุฒิ

"เอ็นจีโอ" ปิ๋วหลุดบอร์ด"สปสช."ทั้งยวง

ด้านไทยโพสต์รายงานว่านายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ดคณะกรรมการ (สปสช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ในวันนี้ (12 ก.ย.) มีวาระการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน โดยมีผู้ได้รับการคัดเลือกคือ 1.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ด้านประกันสุขภาพ 2.นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงศ์ ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข 3.นพ.พินิจ หิรัญโชติ ด้านการแพทย์ทางเลือก 4.นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ด้านการแพทย์แผนไทย 5.นาวาอากาศเอก (พิเศษ) นพ.อิทธพร คณะเจริญ ด้านสังคม 6.นายเสงี่ยม บุญจันทร์ ด้านกฎหมาย และ 7.วรนุช หงสประภาส ด้านการเงินการคลัง ทั้งนี้จะให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบคุณสมบัติ จากนั้นจะนำเสนอต่อ ครม.ต่อไป แต่คงไม่ทันในสัปดาห์นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมได้มีการเสนอรายชื่อผู้เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งบอร์ด สปสช. ในส่วนตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิประมาณ 20 รายชื่อ เพื่อให้ที่ประชุมลงคะแนน โดยมีรายชื่อกลุ่มแพทย์และเภสัช นักวิชาการสายเอ็นจีโอ อาทิ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ภญ.สำลี ใจดี และดร.จิราภรณ์ ลิ้มปนานนท์ ไม่ได้รับการคัดเลือก

นส.บุญยืน ศิริธรรม บอร์ด สปสช. ตัวแทนกลุ่มเกษตรกร กล่าวว่า จะติดตามการทำงานของบอร์ดผู้ทรงคุณวุฒิชุดใหม่ของ สปสช. ซึ่งเชื่อว่าคงเปลี่ยนแปลงไปตามตาหน้าบอร์ดที่ออกมา เพราะขนาดคนที่มีผลงานวิชาการระดับองค์การอนามัยโลกยังไม่ได้รับการคัดเลือก เพราะฉะนั้นคิดว่าจากนี้เราคงต้องทำงานหนัก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้าประชุมบอร์ด สปสช. พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์ รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไปแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยเครือข่ายประชาชน 15 องค์กรผู้เสียหาย/เสียโอกาสรักษา/รับบริการสาธารณสุขที่คุณภาพจากรัฐ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ รมว.สธ. เพื่อขอให้คัดเลือกกรรมการ  สปสช.ในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน อย่างโปร่งใส และขอให้ปลด นพ.วิชัย โชควัฒน ออกจากตำแหน่งกรรมการ สปสช. ที่คัดเลือกจากกลุ่มตัวแทนผู้สูงอายุ เนื่องจากเห็นว่ามีความไม่เหมาะสม รวมถึงให้ตรวจสอบกรรมการ สปสช.ที่เป็นตัวแทนจากกลุ่มเอ็นจีโอทั้งหมด

พญ.ประชุมพรกล่าวว่า อยากให้ รมว.สธ.ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เป็นบอร์ด สปสช. สัดส่วนเอ็นจีโอที่เป็นการเลือกพวกพ้องกันเอง ไม่ได้เปิดโอกาสให้เอ็นจีโอ 9 ด้าน ที่ปฏิบัติงานจริงและมีผลงานเป็นที่ยอมรับได้เข้าถึงกระบวนการคัดเลือก ถือว่าไม่โปร่งใส โดยเฉพาะ นพ.วิชัย เป็นผู้นั่งอยู่ในตำแหน่งที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนชัดเจน โดยเป็นประธานคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรมด้วย และในบอร์ด สปสช.ชุดก่อน คือ นพ.วิชัย เป็นประธานคณะอนุกรรมประสานยุทธศาสตร์ ที่มีอำนาจในการตัดสินใจจัดซื้อที่เอื้อประโยชน์ต่อกันได้ จึงไม่แน่ใจว่าที่พยายามเข้ามาเป็นบอร์ดชุดนี้เพราะด้วยเหตุผลนี้หรือไม่.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลสั่งถอน "โรคจิตถาวร" ในใบเกณฑ์ทหารสาวประเภท 2 ชี้ไม่ชอบด้วย กม.-ละเมิดศักดิ์ศรี

Posted: 13 Sep 2011 01:47 AM PDT

 

(13 ก.ย.54) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 8 ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ ตุลาการศาลปกครองกลาง พิพากษาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (หน่วยบัญชาการกำลังสำรองเดิม) และสัสดี จังหวัดลพบุรี ผู้ถูกฟ้องที่ 1-3 ให้เพิกถอนใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกิน (สด.43) ใบสำคัญสำหรับคนจำพวกที่ 4 (สด.5) และใบสำคัญให้รับราชการทหาร (สด.9) ของนายสามารถ มีเจริญ ซึ่งเป็นกลุ่มสาวประเภท 2 ผู้ฟ้อง ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยใช้ข้อความว่า "เป็นโรคจิตถาวร" เนื่องจากเป็นการใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 มาตรา 4 และ 26 และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 ดำเนินการให้มีการระบุข้อความใหม่ให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริง ที่บ่งบอกถึงลักษณะของผู้ฟ้องคดีขณะเข้ารับการตรวจเลือกที่แสดงให้เห็นว่าไม่อาจเข้ารับราชการทหารได้ตามที่กฎหมายกำหนด

ศาลพิเคราะห์ว่า การที่คณะกรรมการตรวจเลือกทหารกองเกินอาศัยเพียงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพร่างกายและบุคลิกดังกล่าวของผู้ฟ้องคดีที่เป็นผู้มีภาวะทางเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด ซึ่งมิได้สัมพันธ์กับอาการของผู้ป่วยทางจิตตามความหมายทางวิชาการ แล้วนำมาวินิจฉัยว่าผู้ฟ้องคดีเป็นโรคจิตถาวร จึงเป็นการใช้ดุลพินิจวินิจฉัยไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง และยังทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องได้รับความอับอายและสูญเสียความภาคภูมิใจในคุณค่าของตนเองที่มีต่อคนรอบข้างและสังคม เนื่องจากการปรากฏข้อความว่าเป็นโรคจิตถาวรในเอกสารประจำตัวของผู้ฟ้องคดี ซึ่งเอกสารราชการที่ต้องนำไปแสดงในการสมัครงานหรือในการอื่นๆ จึงเป็นการตีตราว่าผู้ฟ้องคดีมีอาการทางจิตผิดปกติอย่างรุนแรงและไม่อาจรักษาให้หายขาดได้ ทั้งที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้เป็นโรคจิตแต่อย่างใด ซึ่งถือเป็นการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้ฟ้องคดีให้น้อยลง จึงเป็นกรณีที่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ฟ้องคดี อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและก่อให้เกิดความเสียหาย อันเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ฟ้องคดี

โดยข้อเท็จจริงยังปรากฏอีกว่า เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวกระทรวงกลาโหมจึงได้ดำเนินการเสนอร่างกฎกระทรวงแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงฉบับที่ 37 (พ.ศ.2516) ที่ออกตาม พ.ร.บ.ราชการทหาร พ.ศ.2497 กำหนดคนจำพวกที่ 2 ซึ่งมีร่างกายที่เห็นได้ชัดว่าไม่สมบูรณ์ ดีเหมือนคนจำพวกที่ 1 แต่ไม่ถึงทุพพลภาพ โดยเพิ่มเติมว่า “ข้อ 3 (12) ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด” ซึ่งเป็นไปด้วยความเห็นชอบด้วยกันของผู้ถูกฟ้องที่ 1 รมว.มหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กลุ่มเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ รวมทั้งผู้ฟ้องด้วย โดยกำลังอยู่ระหว่างส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา เพื่อเสนอ ครม.เห็นชอบ เมื่อผู้ฟ้องเป็นเพียงผู้มีภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด ไม่ได้เป็นโรคจิตถาวรแต่อย่างใด ผู้ถูกฟ้องทั้ง 3 จึงมีหน้าที่ดำเนินการระบุข้อความที่เหมาะสมสอดคล้องกับข้อเท็จจริง ที่จะบ่งบอกภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดของผู้ฟ้อง ขณะเข้ารับการตรวจเลือกให้ถูกต้องตามกฎหมายที่กำหนดต่อไป จึงมีคำพิพากษาดังกล่าว

 

ที่มา: มติชนออนไลน์
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศิริลักษณ์ นิยม

Posted: 12 Sep 2011 08:41 PM PDT

เห็นด้วยว่า กฎหมายหมิ่นฯ มีความจำเป็นต้องปรับปรุงไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่กฎหมายดังกล่าวจะมีการปฏิรูปหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นเพื่อดูแลการใช้กฎหมายดังกล่าวภายใต้กระทรวงยุติธรรม

ก.ต่างประเทศ-กรรมการสิทธิฯ รับ กม.หมิ่นมีปัญหา, 12 ก.ย. 2554

ประชาไทบันเทิง: ดูข่าวทีวี เมืองไทยมีนายกสองคนเหรอคะๆๆ!!!???

Posted: 12 Sep 2011 08:36 PM PDT

หลิ่มหลีง้ง งง ดูทีวี แล้ว งง สุดๆ

ยิ่งช่วงนี้ ยิ่ง งง ใหญ่ ทั้งหนังสือพิมพ์ ทั้งทีวี ...

จะไม่ให้ งง ได้ยังไง ประเทศนี้เหมือนมีนายกรัฐมนตรีสองคน

พี่ปูไปไหน พี่ม๊ากไปนั่น
พี่ปูไปเยี่ยมน้ำท่วม พี่ม๊ากก็ไปเยี่ยมน้ำท่วม
พี่ปูแจกถุงยังชีพ พี่ม๊ากก็แจกถุงยางชีพ
พี่ปูพบ สว อเมริกัน พี่ม๊ากก็พบ สว อเมริกัน
นี่โชคดีนะ พี่ม๊ากไปประเทศแถบอาเชียนไม่ได้แล้ว (เพราะเขาไม่ต้อนรับ เอ้ย ..ไม่ใช่ เขาไม่ว่างต้อนรับ อะนะ อะนะ คิกๆๆๆๆ)

พี่ปูออกทีวีช่วงปกติของนายกฯพี่ม๊ากออกหลังพี่ปูต่อกันมาติดๆ เหมือนให้เกียรติผู้หญิงออกทีวีก่อน
พี่ปูขึ้นหน้าหนึ่ง นสพ พี่ม๊ากขึ้นบ้าง ด้านล่างก็ยังดี ไม่งั้นก็ด้านในหน้าถัดมา

เอ่อ........... เป็นเงากันหรอคะ ... หรือใครบางคนลืมอดีตกันไม่ได้

พี่ม๊ากขา ...ตอนเป็นนายกฯ พี่ก็ไม่ทำนะคะ พี่หาแต่โพเดี่ยม ทีตอนนี้ละเอาใหญ่เลย ขโมยซีนใหญ่เลยนะ ฮั่นแน่... ยังทำใจไม่ได้หรอ หือ... หือ

หลิ่มหลีก็เข้าใจนะคะ คนเคยอยู่หน้าทีวี อยู่หน้าสื่อมารดามันทุกสื่อเลย แบบว่า คุ้นเคยที่จะต้องหล่อออกทีวีซะจนเคยชิน บทถึงเวลาหมดงานหมดหน้าที่เพราะ “แพ้การเลือกตั้ง” แล้วมันเหมือนอะไรบางอย่างขาดหายไป มันก็อดไม่ได้ที่จะหวนไห้

คนเขาเคยพูด จนได้ฉายา “ดีแต่พูด” พี่ม๊ากแกก็เคยๆกับไมโครโฟน หลิ่มหลีก็เข้าใจอยู่

ถ้าเราเอาใจเขามาใส่ใจเราบ้าง เราก็จะพอเข้าใจว่า พี่ม๊ากเขาทำแบบนี้ ไปทำไม

สมัยพี่เขาเป็นนาย๊ก.. นโยบายอะไรของเขาก็ไปลอกเขามา งานการอะไรก็ทำไม่เป็น พี่ม๊ากโดนแต่ใบสั่งที่ให้ไปออกงานแล้วก็พูดๆๆๆๆๆซะ แกมีหน้าที่แค่นี้แหละ แล้วพวกเขาก็กินๆๆๆๆๆๆ กินบ้านกินเมือง พี่ม๊ากไม่รู้อะไร งานการทำไม่เป็นเพราะไม่เคยทำ มีคนทำให้ตลอด

อะไรนะ อะไรนะ หุ่นเชิด อ่า..นั่นแหละค่ะ

อย่างพวกสลิ่มก็กระแนะกระแหน ว่าอดีตนาย๊กทักษิณ ก็ไปโน่นไปนี่ ทำตัวเป็นนาย๊กเงาของพี่ปู .. หลิ่มหลีมองแล้วก็ว่า คนเขาเพื่อนเยอะ เกษียณแล้วเหงา เขาก็เดินทางไปโน่นไปนี่ ไอ่ชิบหาย เขากลับมาเยี่ยมเพื่อนในเมืองไทยไม่ได้นิหว่า เขาก็ไปเยี่ยมเพื่อนที่ทำงานด้วยกันมาในต่างประเทศ มันก็เป็นโชคของเขาเองที่ เพื่อนของเขาที่เคยทำงานด้วยกันมาจะเป็นระดับผู้นำประเทศต่างๆทั้งอดีตและปัจจุบัน

หลิ่มหลีก็อยากให้พี่ม๊ากทำแบบพี่ทักษิณเขาบ้าง อะไรบ้าง แต่.......พี่ม๊ากไม่มีเพื่อนที่ต่างประเทศนิคะ
ที่แย่กว่านั้น ...พี่ม๊ากไม่มีเพื่อนในประเทศไทยด้วยค่ะ เลยไม่รู้จะไปหาใคร .. ก็เลยว่าง

ความว่าง คนเกษียณก็คงจะรู้ดี คนมันเคยๆอะไรก็อยากจะทำอย่างนั้นต่อ เช่นคนเคยเป็นข้าราชการเซ็นเอกสาร พอเกษียณ ไม่มีเอกสารจะเซ็น ก็ให้เมียทำเมนูกับข้าวแต่ละวันมาให้เซ็นอนุมัติ

พี่ม๊ากเคยเป็นนาย๊ก... พี่ม๊ากก็ยังอยากเป็นนาย๊กต่อ พี่ม๊ากก็เลยทำตัวเหมือนตัวเองยังเป็นนาย๊กคนหนึ่ง เคยออกทีวียังไง ก็ยังอยากออกเหมือนเดิม เคยกะไมโครโซนยังไง ก็ยังอยากได้อะไรมาจ่อปากจ้อเหมือนเดิม ..โถ น่าสงสารเนอะ

แต่ช้าแต่ ..อย่างอนน้า....พวกเสรีชนเขาไม่กระแนะกระแหนพี่ม๊ากที่พี่ม๊ากออกทีวีเยอะๆเหมือนยังเป็นนาย๊กหรอกนะคะ พวกเขาชอบค่ะ ชอบเห็น จะได้มีคนให้ด่าทางทีวีอยู่ หลายๆคนเคยออกกะลังกายช่วงเท้าเวลาทีวีฉายหน้าพี่ม๊าก ถ้าพี่ม๊ากหายไป เขาจะเอาฝ่าเท้าที่ไหนไปทาบทีวีค่ะ หลิ่มหลีเห็นด้วยนะคะ นี่ไม่ได้กีดกันเลยนะคะ

อีกอย่างนุง ... หลิ่มหลีเห็นพี่ม๊ากออกมาที่สภาเมื่อวันก่อน มาอภิปรายนโยบายของรัฐบวมของพี่ปู ... หลิ่มหลีไม่เข้าใจ พี่ม๊ากพูดเยอะมาก ... วิจารณ์นโยบายซะเสียๆหายๆ หาว่า นโยบายหลอกลวงบ้าง ไม่เหมือนที่หาเสียงบ้าง

พี่ม๊ากเป็นอัลไซเมอร์หรอคะ หรือว่า ข่าวลือที่ว่าพี่ม๊ากเป็นออทิสติกจะเป็นความจริง พี่ม๊ากจำห่าอะไรที่ตัวเองเคยพูดไว้ไม่ได้เลยหรอคะ พี่ม๊ากจำได้ไหมคะ ว่าเคยสัญญา นโยบายทำได้จริงภายใน 99 วันไว้แต่ทำห่าไม่ได้สักข้อนึง

ประชาไทบันเทิง: ดูข่าวทีวี เมืองไทยมีนายกสองคนเหรอคะๆๆ!!!???

เรียนฟรี ตำรา อุปกรณ์ เครื่องแบบฟรี ...แต่มันมีค่าชุดลูกเสือ ค่าชุดกีฬา ค่าไปสัมนาต่างๆ กิจกรรมมากมายที่ไม่ฟรี รวมๆเทอมนึงก็เป็นหมื่นๆ อันนี้เราไม่ว่ากัน พี่ม๊่ากให้เขาเรียนฟรี ตำราฟรี แต่เปิดทางให้โรงเรียนเก็บเงินอย่างอื่นแทน ... อ่อ..มีคนบอกว่า พี่ม๊่ากพูดก็เหมือนกับว่า ถือว่ากูทำแล้ว

ตั้งกองทุนเศรษฐกิจพอเพียงตำบลละ 1-2 ล้าน ... หลิ่มหลีได้ยินแต่ ไทยแฮ่มแฮ้ง... เหมือนทอมแฮ้ง ของเรื่อง “รักจัดหนัก” ที่อาทิตย์หน้าจะเข้าโรงเลยค่ะ เรื่องราวเป็นยังไงไปดูในโรงกันเองนะคะ

ตั้งองค์กรแก้ปัญหาภาคใต้ พี่ม๊่ากคะ พี่ม๊ากจะลงไปภาคใต้ทีนุง พี่ม๊ากยังขนไปตั้งสี่กองทัพ .. พี่ม๊ากเองก็กลัวตายชิบหอยจะแย่ อยู่ก็อยู่ไม่ถึงครึ่งวันก็หนีกลับเข้าประเทศกรุงเทพฟ้าอมรเหลืองอำไพ..อันนี้พี่ม๊ากก็ไม่ได้ทำห่าอะไรเลยนะคะ

ฟรีค่าไฟ นิ้วกลางเถอะค่ะ

เลิกส่งกองทุนน้ำมันทันที ....อร๊ายย สตอเบอรี่จริงๆเลย ...เอ้ย .. ช่วงพี่ม๊ากอยู่เป็นนาย๊ก น้ำมันโลก 85 ดอลล่าร์ต่อบาเรล น้ำมันแพงเท่ากับยุคพี่สมัครกับพี่สมชายที่น้ำมันโลก 140 ดอลลาร์ต่อบาเรล ... ส่วนต่างตรงนี้ ส่งให้พ่อของพี่รับประทานหรอคะ พี่ม๊ากขา

โชคดีนะคะ ที่..แฟนคลับพี่ม๊ากส่วนใหญ่ ไร้ความจำ การศึกษาดีแต่ก็แค่ผ่านการศึกษา แต่ก็ไร้สามัญสำนึก
คะแนนเสียงที่เลือกพี่ม๊ากเข้ามา ...มันเยอะ มันก็ไม่แปลกถ้าประเทศจะล่มสลายเพราะแฟนคลับพี่ม๊ากนะคะ

โชคดีที่ประเทศนี้คะแนนเสียงส่วนใหญ่ ไล่ส่งพี่ม๊ากออกจากเก้าอี้นาย๊ก อยู่นานกว่านี้จะย่อยยับไปกว่านี้

ที่เป็นโชคดีเพราะ ... แฟนคลับพรรคเพื่อไทย อดีตเป็นแฟนคลับพรรคไทยรักไทย ..เขาจำได้ว่ามีนโยบายอะไรบ้าง ... เขาจำได้ว่ามันสร้างความเจริญอะไรให้กับประเทศบ้าง ผลของการทำงานสมัยนั้นมันส่งให้ประเทศเข้มแข็งในระยะยาวทั้งภาคเอกชน และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังไงบ้าง แล้วทำให้พ่อพี่ม๊ากรวยโคตรๆได้ไงคะ จำได้ไหม ... อ๋อ จำไม่ได้

แน่สิคะ พี่ม๊ากไม่เคยจำอะไรได้หรอก ไอ้ที่พูดๆมา พูดเก่งทั้งนั้น แต่ไร้สมองในการจำสิ่งที่พูดมา

แบบนี้พี่ม๊ากคงเปลืองแต่น้ำลาย..แต่ไม่เปลืองน้ำเลี้ยงสมองหรอก ชิมิ เพราะมันไม่มีสมองต้องไปเลี้ยง ... ชิมิคะ ชิมิคะ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น