ประชาไท | Prachatai3.info |
- 'วิทยา' เผยคาร์บอมบ์สุไหงโกลกเจ็บ 118 ดับ 3
- “เทพชัย” แนะสื่อเสนอข่าวเชิงลึก เป็นผู้นำความคิด หวังยกระดับคนไทยฉลาดขึ้น
- สงขลาประท้วง "ปตท." จี้จ่ายชดเชยคราบน้ำมันรั่วทำปลากระชังตาย
- คนทำงาน: “ค่าแรง 300 บาท”
- พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) กับวัฒนธรรมการวิจารณ์ในพุทธศาสนาเถรวาท
- ‘ภาคประชาสังคมอาเซียน’ สุดเข้มแชมป์รายงานสถานการณ์สิทธิ์ UN
- ปลุกพลังเครือข่ายชุมชน เคลื่อนเชิงนโยบายแก้ปัญหาปักษ์ใต้
'วิทยา' เผยคาร์บอมบ์สุไหงโกลกเจ็บ 118 ดับ 3 Posted: 17 Sep 2011 08:37 AM PDT 'วิทยา'เผยเหตุระเบิดสุไหงโก-ลก เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ118 ราย ทำแผลและกลับบ้านไปแล้ว 75 ราย แพทย์รับตัวรักษาในโรงพยาบาล 43 ราย อาการสาหัส 7 ราย 17 ก.ย. 54 - เว็บไซต์คมชัดลึกรายงานว่านายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าการดูแลผู้บาดเจ็บจากเหตุคาร์บอมบ์ 3 จุด ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อคืนวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ระดมทีมแพทย์กู้ชีพจากโรงพยาบาลใน จ.นราธิวาส และระดมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้บาดเจ็บ พร้อมเตรียมคลังเลือด ห้องผ่าตัด ห้องฉุกเฉิน ไอซียู พร้อมช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บอย่างเต็มที่ ทั้งนี้จากเหตุระเบิดครั้งนี้ มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บทั้งหมด 118 ราย เจ้าหน้าที่ทำแผลและกลับบ้านไปแล้ว 75 ราย ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล 43 ราย โดยอยู่ที่โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก 36 ราย เมื่อคืนนี้ทีมแพทย์ทำผ่าตัดถึงตี 3 จำนวน 8 ราย ส่วนใหญ่ถูกสะเด็ดระเบิดเข้าช่องท้อง แขนขาหัก และให้เลือดเกือบทุกราย ขณะนี้นอนอยู่ห้องไอซียู 2 ราย อาการพ้นขีดอันตราย มีอาการสาหัสส่งตัวรักษาที่โรงพยาบาลใหญ่ 7 ราย เนื่องจากถูกไฟคลอกตามร่างกายมากกว่าร้อยละ 50 โดยอยู่ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา 5 ราย เป็นชายทั้งหมด และส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์หาดใหญ่ จ.สงขลา 2 ราย นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผู้บาดเจ็บ 5 รายที่รักษาที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา เป็นชายทั้งหมด ได้รับรายงานล่าสุเดเมื่อเวลา 9.00 น.วันนี้ อาการอยู่ในขั้นวิกฤติ โดย 3 ราย ถูกไฟไหม้ตามร่างกายรุนแรง ร้อยละ 40-80 และแขนขาหักร่วมด้วย ขณะนี้นอนรักษาตัวในห้องปลอดเชื้อ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ มีแพทย์เชี่ยวชาญดูแลเต็มที่ ส่วนอีก 2 รายนั้น รายแรก ถูกสะเก็ดระเบิดเข้าที่ตาข้างขวาถึงใบหู แพทย์ทำการผ่าตัดควักลูกตาออกแล้ว ซึ่งแพทย์โรงพยาบาลศูนย์ยะลาวางแผนใส่ลูกตาปลอมให้ต่อไป รายที่2 ถูกสะเก็ดระเบิดถูกเส้นเลือดที่แขนข้างขวาขาด แพทย์ทำการเย็บบาดแผลและให้การดูแลอย่างใกล้ชิด ชาวสุไหงโก-ลกรับเหตุจยย.-คาร์บอม3ลูกซ้อนสุดรุนแรงเท่าที่เคยพบ น.ส.อัญชลี อุดมศิลป์ ชาวบ้านซึ่งอาศัยในเขตเมืองสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เปิดเผยถึงเหตุการณ์จยย.และคาร์บอม์ต่อเนื่องถึง3ครั้ง ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงค่ำของวันที่ 16 กันยายน ที่ผ่านมาถือเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในพื้นที่หัวเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดชายแดนภาคใต้แห่งนี้ นับตั้งแต่เกิดปัญหาความไม่สงบตั้งแต่ปี2547 เป็นต้นมา โดยเทียบกับการลอบวางระเบิดในเขตอำเภอสุไหงโก-ลก หลายครั้งที่ผ่านมา นับได้ว่าเหตุการณ์ครั้งล่าสุดสร้างความสะเทือนขวัญ ความเสียหายทั้งในแง่ชีงิต และทรัพย์สินมากที่สุด น.ส.อัญชลี กล่าวว่า จากเหตุรถจักรยานยนต์บอมบ์ครั้งแรก ได้ยินเสียงระเบิดดังสนั่น ซึ่งในขณะนั้นอยู่ที่บ้าน แต่ไม่คาดคิดว่าจะเป็นเหตุรุนแรง กระทั่งได้ยินเสียงระเบิดลูกที่สองดังขึ้นทำให้รู้สึกได้ทันทีว่าสถานการณ์ผิดปกติ และล้มเลิกแผนจะออกไปนอกบ้าน โดยจากนั้นไม่นานเกิดเสียงระเบิดลูกที่สามดั่งสนั่นหวั่นไหวอย่างไม่เคยได้ยินเสียงระเบิดครั้งไหนดังลั่นเท่ากับระเบิดคาร์บอมในครั้งนี้ “เสียงระเบิดครั้งที่สามนอกจากจะดังมากแล้ว ยังสัมผัสและรู้สึกได้ถูกอาการสั่นไหว หลังจากนั้นแค่ชั่วอึดใจเดียวระบบไฟฟ้าในบ้านก็ดับลงทันที ซึ่งยอมรับว่ากลัวมาก เพราะไม้รู้ว่าเหตุขณะนั้นเกิดจุดใดรู้แค่เพียงเสียงกึกก้องอยู่ไม่ไกล จึงได้แต่สวดมนต์ภาวนาให้เหตุการณ์คลี่คลายและอย่าได้มีอะไรรุนแรงไปกว่าที่คิด”น.ส.อัญชลี กล่าว หญิงสาวชาวสุไหงโก-ลก กล่าวต่อว่า กระทั่งหลังผ่านไปเกือบ2ชั่วโมง กระแสไฟฟ้าในบ้านเริ่มติด พร้อมกับสัญญาณโทรศัพท์มือถือเริ่มใช้ได้อีกครั้ง แต่ยังเป็นไปในลักษณะติดๆขัด ก่อนจะได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนฝูงจากนอกพื้นที่โทรมาสอบถามพร้อมทั้งเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ฟัง เพราะขณะนั้นแทบจะไม่รู้ความเป็นไปที่เกิดขึ้นในพื้นที่เพราะไม่กล้าออกไปไหน “ได้ฟังสิ่งที่เพื่อนเล่าจากภาพที่ปรากฎผ่านสื่อบางสำนัก กอปรกับเสียงและแรงสั่นสะเทือนที่สัมผัสได้จากเหตุการณ์ระเบิดต่อเนื่องยอมรับว่าน่ากลัวและเขย่าโสตประสาทอย่างมาก เพราะมีทั้งคนตาย และผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก”น.ส.อัญชลี กล่าว สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
“เทพชัย” แนะสื่อเสนอข่าวเชิงลึก เป็นผู้นำความคิด หวังยกระดับคนไทยฉลาดขึ้น Posted: 17 Sep 2011 06:58 AM PDT งาน "ทศวรรษ สู่อนาคต : 10 ปี 10 ความคิด ทิศทางสื่อ" “เทพชัย” แนะสื่อเสนอข่าวเชิงลึก เป็นผู้นำความคิด หวังยกระดับคนไทยฉลาดขึ้น “สุทธิพงษ์” ย้ำคนข่าวต้องมีความรับผิดชอบ ไม่ใช่เน้นแต่เรื่องปากท้อง “นิรมล” ชี้ความคิดไม่ใช่สูตรสำเร็จ นักข่าวต้องปะติดปะต่อให้ดีก่อนเสนอสังคม 17 ก.ย. 54 - ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย รายงานว่าสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดงาน จากทศวรรษ สู่อนาคต : 10 ปี 10 ความคิด ทิศทางสื่อ ณ ห้องบอลรูม 1 โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ ถ.รัชดา โดยมี นาย เทพชัย หย่อง ผอ.ไทยพีบีเอส นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กก.อำนวยการ บมจ.เนชั่นฯ นายสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ กก.ผู้จัดการ บ.ทีวีบูรพา จำกัด นางสาวนิรมล เมธีสุวกุล ผู้ผลิตและพิธีกรรายการโทรทัศน์ บ.ป่าใหญ่ครีเอชั่น จำกัด ร่วมแสดงทัศนะ นายเทพชัย กล่าวว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญของสื่อสารมวลชนไทย ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากบทบาทของสังคมการเมืองที่ทำให้เกิดความท้าทาย และสับสนในวงการสื่อ รวมทั้งเทคโนโลยีที่ก็สร้างความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายในระบบสังคมและ ภูมิภาคอย่างรวดเร็วมากจนคาดไม่ถึง “ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในตะวันออกกลาง เป็นบริบทหนึ่งที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวงการสื่อโลกอย่างมากในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา และเป็นตัวเร่งให้อีก 10 ปีข้างหน้าเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงได้อีก สำหรับประเทศไทยก็เช่นกัน การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาอาจจะส่งผลเป็นแรงกดดัน และเป็นสิ่งท้าทายว่าองค์กรสื่ออาจต้องกลับไปออกแถลงการณ์รายวันอย่างที่เคย เป็นมา เพียงแต่มีตัวละครใหม่ๆ เพิ่มขึ้น” นายเทพชัย กล่าวต่อว่า ปัญหาความวุ่นวาย แตกแยกและเกียจชังที่ผ่านมา ต้องยอมรับก่อนว่า สื่อก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัญหาเหล่านั้นบานปลาย ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจก็ตาม แต่หากจะมองอีก 10 ปีข้างหน้าอย่างมีความหวัง “สื่อ” ต้องทำหน้าที่อย่างที่สังคมคาดหวัง จัดการและเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ โดยไม่ต้องรอภาคการเมือง “สื่อต้องถอยหลังไปสัก 2-3 ก้าว เพื่อมองดูตัวเองว่าจะพอใจการทำงานอย่างที่เป็นอยู่ หรือจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ยิ่งในปัจจุบันสื่อใหม่ ทั้ง เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ฯลฯ สามารถรายงานข่าวได้อย่างสื่อหลัก แต่สะดวก รวดเร็วกว่ามาก สื่อจึงควรปรับการทำงานภายใต้ฐานความคิดที่ว่า “ทำอย่างไรให้คนทำสื่อมีบทบาทมากขึ้น” เป็นคนที่ให้บทวิเคราะห์ที่มีความลึก อธิบายความ ให้ความรู้ ยกระดับความเข้าใจและเป็นผู้นำทางด้านความคิด ที่ไม่ใช่คนชี้นำ โดยที่ คนทำสื่อต้องมีความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างลึกซึ้งก่อน ความท้าทายจึงอยู่ที่ เราพร้อมจะลงทุนและให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มากแค่ไหน” นายเทพชัย กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในอีก 4 ปีข้างหน้า ด้วยว่าประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนแปลงไปมาก มีประชากรที่ไม่ใช่แค่คนไทยเพิ่มขึ้น แต่ขณะนี้ คนไทยมีความรู้ความเข้าใจ และเตรียมรับมือมากน้อยแค่ไหน สื่อต้องพิจารณาตนเองว่าทำอะไร และนำเสนออะไรให้คนไทยฉลาดขึ้น หรือเข้าใจความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในสังคมไทยและสังคมโลกบ้าง “ยิ่งโลกมีความเปลี่ยนแปลง สื่อก็ควรจะสร้างให้ประชาชนและสังคมรู้ เช่น ในเรื่องเดียวกัน ปัญหาเดียวกันที่กำลังประสบอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความรุนแรงในชายแดนใต้ หรือการจัดการข้าว ประเทศอื่นๆ ที่เคยประสบปัญหาเหล่านี้มาก่อน มีการจัดการและแก้ไขกันอย่างไร หากสื่อสามารถปรับตัวได้ดังที่กล่าวมา ก็จะยังมีที่อยู่ได้ต่อไปในอีก 10 ปีข้างหน้า” ขณะที่นายอดิศักดิ์ กล่าวถึงสภาพการณ์ของสื่อในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาว่า มีการเกิดขึ้นของฟรีทีวีจำนวนมาก ทำให้ผู้บริโภคสามารถกำหนดช่องทางการรับข่าวสารได้ด้วยตนเอง ขณะที่การรุกคืบของโซเชียลมีเดียและนิวมีเดียก็ทำให้ผู้ใช้สามารถเป็นได้ ทั้งผู้รับสารและผู้ส่งสารได้ในคราวเดียวกัน สื่อจึงต้องปรับตัว ปรับวิธีคิดทั้งในระดับผู้บริหารและตัวนักข่าว เพื่อให้องค์กรอยู่รอด โดยจะต้องรู้จักกลัวตาย กลัวไม่มีอนาคต ขณะเดียวกันต้องปรับวิธีการนำเสนอข่าวให้มีความครบวงจรรอบด้าน เป็นห้องข่าวดิจิทัลที่รวมศูนย์ ประการสำคัญต้องสามารถนำเสนอผ่านสื่อได้หลากหลายประเภทอีกด้วย ด้านนายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า การสู้รบในสนามสื่อมวลชนนั้น นอกจากเรื่องความอยู่รอดของสื่อเองแล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือ “ความรับผิดชอบ” เพราะต่อให้ตนเองอยู่รอด แต่หากสังคมอยู่ไม่ได้ก็คงไม่ใช่เรื่องน่ายินดี ฉะนั้น คำถามคือการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดแบบใดถึงจะดี และหลงเหลือความนับถือตนเองอยู่บ้าง ภายใต้เงื่อนของทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด “โจทย์สำคัญที่คนทำงานสื่อต้องครุ่นคิดว่าจะวางตัวอย่างไร เมื่อสื่อมีอิทธิพลต่ออัตลักษณ์ของคนในประเทศ ทั้งนี้ สื่อต้องไม่ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้รับลูกของเอเจนซี่โฆษณา ไม่กระโจนไปกับกิเลสโลภทั้งหลายที่เข้ามาชักจูง เพราะไม่เช่นนั้นจะแยกไม่ออกระหว่างสื่อกับการตลาด” สุทธิพงษ์ กล่าว และว่า สื่อต้องมีสำนึกใหม่ร่วมกันในการลดกิเลสโลภ เสียสละ แบ่งปันบางส่วน เพื่อให้เกิดดุลยภาพ โดยต้องปลดปล่อยตัวเองเป็นอิสระจากกิเลส หลุดพ้นจากการติดสินบนใต้โต๊ะ มีความเที่ยงธรรม รวมทั้งพัฒนาความสามารถของตนเอง ส่วนนางสาวนิรมล กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชนในฐานะที่คลุกคลีกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนานว่า คนที่เป็นสื่อมวลชนไม่ควรนำความคิด ซึ่งมีลักษณะเป็น “สูตรสำเร็จ” ของคนใดคนหนึ่งมาเชื่อมโยงเป็นความคิดของตนเองและนำมาผลิตซ้ำ แต่สื่อต้องมีความรู้ความเข้าใจ สามารถเชื่อมโยงได้ว่าเรื่องราวดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร เนื่องจากทิศทางของโลกในอนาคตกำลังผันผวนทั้งด้านคน สังคม วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นหากสื่อไม่รู้ต้นทาง ความเป็นมาของสิ่งต่างๆ รวมถึงยังไม่มีความตระหนักก็จะตามไม่ทัน สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
สงขลาประท้วง "ปตท." จี้จ่ายชดเชยคราบน้ำมันรั่วทำปลากระชังตาย Posted: 17 Sep 2011 06:36 AM PDT ชาวบ้านในพื้นที่ ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา กว่า 400 คนชุมนุมประท้วงบริษัท ปตท.สผ.เรียกร้องค่าชดเชยกรณีได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมันที่รั่วไหลจากเรือขนถ่ายน้ำมัน ทำให้ปลาในกระชังตายและกระทบกับอาชีพประมงหลังยืดเยื้อมา 6 เดือน แต่ยังไม่มีความคืบหน้า เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 54 ที่ผ่านมา ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าชาวบ้านในพื้นที่บ้านเล และบ้านหาดทรายแก้ว ใน ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา กว่า 400 คน นำโดย นายรอเฉม บิลหีม ประธานชุมชนบ้านเล ได้รวมตัวชุมนุมประท้วงที่บริเวณด้านหน้าของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เพื่อเรียกร้องเงินค่าชดเชยกรณีได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมันที่รั่วไหลลงทะเล จากเรือขนถ่ายน้ำมันที่นำน้ำมันไปส่งยังคลังน้ำมันของบริษัท ปตท.สผ. ที่ อ.สิงหนคร ส่งผลให้ปลาที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ในกระชังตาย และส่งผลกระทบต่ออาชีพประมง ซึ่งมีชาวบ้านที่อ้างว่าได้รับความเดือดร้อนลงชื่อขอรับเงินชดเชยกว่า 1,000 ราย รายละ15,000 บาท ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านมาแล้วกว่า 6 เดือน แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในการช่วยเหลือ จึงนัดรวมตัวประท้วงเพื่อขอคำตอบที่ชัดเจน ในเบื้องต้น ทางบริษัท ปตท.สผ. และชาวบ้าน ได้ส่งตัวแทนไปเจรจากันที่ที่ว่าการอำเภอสิงหนคร โดยมีฝ่ายปกครองและตำรวจเป็นคนกลางในการเจรจา ซึ่งชาวบ้านยืนยันว่าต้องได้รับคำตอบเรื่องเงินชดเชยภายในวันนี้ หากไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้อง ก็จะรวมตัวนำเรือประมงปิดท่าเทียบเรือของบริษัท ปตท.สผ. ใน อ.สิงหนคร ทันที สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
Posted: 17 Sep 2011 06:00 AM PDT ในทางการเมืองตามครรลองระบอบประชาธิปไตยที่ขับเคลื่อนด้วยนโยบายนั้น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคของไทยรักไทยสามารถนำแรงงานนอกระบบประกันสังคมมาเป็นฐานเสียงที่เข้มแข็งได้ในอดีต นโยบายค่าแรง 300 บาทก็คือก้าวต่อไปในการสร้างความนิยมให้กับผู้ใช้แรงงานของพรรคเพื่อไทย แต่มันอาจจะยังต้องใช้เวลา วันนี้ลองมาประมวลมุมมองความจำเป็นของการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ … ธนาคารแห่งประเทศไทยเผยค่าจ้างลูกจ้างไทยไม่พอยาไส้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยข้อมูลค่าจ้างเฉลี่ยของผู้มีงานทำในประเทศไทยที่มีอาชีพลูกจ้าง และพนักงาน ทั้งของรัฐบาลและเอกชนล่าสุด เมื่อสิ้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ที่มีงานทำที่เป็นลูกจ้างทั้งสิ้น 17,310,300 คน แบ่งเป็นลูกจ้างในภาครัฐบาล 3,560,000 คน และเป็นลูกจ้างในภาคเอกชน 13,750,300 คน พบว่า ค่าจ้างเฉลี่ยของลูกจ้างล่าสุด ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาพบว่า ลูกจ้างไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 9,775.1 บาทเท่านั้น ทั้งนี้หากแยกเป็นผู้มีงานทำที่เป็นลูกจ้างในภาคเกษตรกรรมพบว่า มีค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนเพียง 4,900.3 บาท ขณะที่ผู้ที่มีงานทำในภาคนอกภาคเกษตรกรรม ซึ่งหมายรวมถึงภาคก่อสร้าง ภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้า และภาคบริการ มีรายได้เฉลี่ย 10,501.5 บาทต่อเดือน ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับค่าครองชีพในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกจ้างในภาคการเกษตร อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน (พ.ศ. 2553) ค่าจ้างเฉลี่ยของลูกจ้างโดยรวมปรับตัวดีขึ้น โดยสำหรับค่าจ้างแรงงานโดยรวม ปรับเพิ่มขึ้น 5% ค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยของแรงงานในภาคเกษตรกรรม ปรับเพิ่มขึ้น 11% ค่าจ้างแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ก่อสร้าง การค้า และการบริการ ปรับเพิ่มขึ้น 5.6% ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานว่า ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องจำเป็น เพราะในขณะนี้รายได้ของลูกจ้างยังต่ำ จึงควรจะได้ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจ และไม่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ จนกระทั่งกลายเป็นการสร้างปัญหาที่นำไปสู่ความขัดแย้งของสังคม อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ควรจะขึ้นค่าจ้างแรงงานอย่างเดียว แต่ควรจะที่เร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และศักยภาพในการผลิต และทักษะแรงงานที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ค่าจ้างแรงงานใหม่ เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่เพิ่มขึ้นด้วย ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวก่อนหน้านี้ว่า การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น โดยตั้งแต่ ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน พบว่า อัตราการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำหักเงินเฟ้อแล้ว ยังไม่ฟื้นตัว หรือมีระดับต่ำกว่าในช่วงปี 2540 หมาย ความว่า ผู้ใช้แรงงานยังไม่ได้รับความเป็นธรรมในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และเท่าที่มีการประเมินค่าจ้างที่ขึ้น หักเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในระยะที่ผ่านมา ค่าจ้างแรงงานยังมีช่องว่างสามารถให้ปรับขึ้นได้ 10% แต่หากปรับขึ้นครั้งเดียว 300 บาท หรือประมาณ 40% อาจ จะส่งผลให้ภาคธุรกิจปรับตัวไม่ทัน นอกจากนี้เมื่อมีการปรับขึ้นค่าแรงแล้วก็ควร เน้นพัฒนาอุตสาหกรรมที่ส่งผลดีต่ออนาคตประเทศควบคู่ไปด้วย ทีดีอาร์ไอ สนองนโยบายหนุนปรับค่าแรงดันทฤษฎี 3 สูงแก้ปัญหายากจนยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยในงานเสวนาพิเศษ “การปรับตัวของภาคธุรกิจในยุครัฐบาลชุดใหม่” ที่ จัดโดย ปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ซีพี ออลล์ ว่า ทีดีอาร์ไอเห็นด้วยกับนโยบายการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทของรัฐบาลชุดใหม่ เพราะในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา แรงงานไทยถูกกดค่าแรงให้ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ประเทศไทย (จีดีพี) เห็นได้จาก ค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้น 2.84% ต่อปี แต่ค่าครองชีพปรับสูงขึ้น 3.25% ต่อ ปี แต่ทั้งนี้รัฐบาลควรจะมีวิธีการคำนวณหาค่าแรงที่สูงขึ้นอย่างเหมาะสมที่สุด และต้องปรับขึ้นให้ชดเชยกับค่าแรงงานที่ถูกกดให้ต่ำมาตลอด รวมทั้งต้องมีแผนรับมือช่วยเหลือเอกชนและเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบ มั่นใจว่า การปรับขึ้นค่าแรง จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานให้สูงขึ้น สำหรับแนวทางที่ต้องการเสนอให้ภาครัฐ พิจารณาคือ การใช้ทฤษฎี 3 สูง คือ ปรับเพิ่มค่าแรงให้สูงขึ้น ปรับเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับค่าแรงที่สูงขึ้น และปรับราคาสินค้าให้สอดคล้องกับค่าแรง ซึ่งหากรัฐบาลใช้ทฤษฎี 3 สูง พร้อมกันแล้ว เชื่อว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างของประเทศใหม่ และเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญสุดของประเทศไทย ที่แรงงานของประเทศจะมีประสิทธิภาพการผลิตสินค้าที่สูงขึ้น และทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากประเทศด้อยพัฒนาในที่สุด ซึ่งในปัจจุบัน ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 176.20 บาทต่อวัน หากปรับเป็นค่าแรง 300 บาทต่อวัน ถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นวันละ 123.80 บาทต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 70% โดยแรงงงานที่ได้รับผลดีจากมาตรการนี้มีจำนวน 4.281 ล้านคนทั่วประเทศ และภาคเอกชนทั่วประเทศต้องจ่ายชดเชยเพิ่มขึ้นวันละ 530 ล้านบาท หรือใช้เพิ่มขึ้นปีละ 165,360 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ ภาคครัวเรือนจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 21,981 บาทต่อเดือน หรือเพิ่มขึ้น 4.72% นักวิชาการแนะปรับค่าจ้าง อย่าลืมหนุนตั้งสหภาพแรงงานศาสตรา ภิชานแล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า นโยบายด้านแรงงานที่นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ควรเริ่มดำเนินการทันที คือการทำตามสัญญาที่หาเสียงไว้ในเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 ต่อวันทั่วประเทศ และการปรับเงินเดือนปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท โดยเฉพาะค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท แรงงานทั่วประเทศต่างจับตาว่ารัฐบาลชุดใหม่จะทำได้หรือไม่ ซึ่งหากทำให้เป็นรูปธรรมได้ แรงงานก็จะให้การยอมรับรัฐบาลชุดนี้ ศาสตรา ภิชานแล กล่าวอีกว่าสิ่งที่อยากให้ รมว.แรงงาน ช่วยผลักดันเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานมากที่สุดก็คือ การปรับค่าจ้างของแรงงานให้เหมาะสม และมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต โดยไม่ต้องทำโอที และกู้เงินมาใช้จ่าย จะได้ไม่ต้องเบียดเบียนเวลาที่อยู่กับครอบครัว จนสร้างปัญหาครอบครัวแตกแยก ซึ่งปัจจุบันต้นทุนค่าจ้างอยู่ที่ร้อยละ 10 โดยสินค้าราคา 100 บาท เป็นต้นทุนค่าจ้าง 10 บาท อยากให้ต้นทุนค่าจ้างเพิ่มเป็นร้อยละ 15-20 และแรงงานที่ทำอยู่เดิมซึ่งได้ค่าจ้างมากกว่า 300 บาท ต่อวันไปแล้วได้ขยับขึ้นค่าจ้างเป็นขั้น ๆ ไป อย่างไรก็ตาม ไม่เห็นด้วยหากจะนำเงินภาษีของประชาชนมาชดเชยส่วนต่างต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่ม ขึ้นให้แก่นายจ้าง เพราะอยากให้ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ซึ่งนายจ้างต้องรู้จักเฉือนเนื้อตัวเองและเสียสละรับผิดชอบต่อสังคมบ้าง ศาสตราภิชานแล กล่าวอีกว่า นอกเหนือจากเรื่องค่าจ้าง อยากให้รัฐบาลชุดใหม่ให้การรับรองเรื่องอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 และ 98 เร่ง พัฒนาฝีมือแรงงานให้สอดรับการปรับขึ้นค่าจ้างและยกระดับสำนักงานประกันสังคม (สปส.)ให้เป็นองค์กรอิสระ ไม่ใช่ให้ปลัดกระทรวงแรงงานหรือ รมว.แรงงาน เป็นประธานบอร์ด สปส. และสนับสนุนแรงงานนอกระบบสู่ประกันสังคม ทั้งนี้ รมว.แรงงาน แทบไม่ต้องคิดทำอะไรใหม่ เพราะมีโจทย์ที่ฝ่ายแรงงานได้ชี้เป้าเอาไว้ให้หลายปีแล้ว แค่ทำงานไปตามโจทย์เหล่านี้ จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานให้ดีขึ้นได้มาก
มองต่างมุม: 2 มหาอำนาจสินค้าอุปโภคบริโภค “ซีพี vs สหพัตน์”
ใครรับลูกศึกษาภัณฑ์ขอนแก่นขึ้นค่าแรง 300 บาท/วัน สนองนโยบายเพื่อไทย
10 ก.ค. 54 - ที่ห้องประชุมของบริษัท ศึกษาภัณฑ์ขอนแก่น นายประสม ประคุณสุขใจ อดีต ส.ส.ขอนแก่น 3 สมัย ในฐานะประธานกรรมการบริษัท ศึกษาภัณฑ์ขอนแก่น จำกัด และบริษัทฯในเครือ แถลงข่าว ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ให้แก่พนักงานของบริษัท และบริษัทฯในเครือ 8 บริษัท โดยเป็นพนักงานในกลุ่มแม่บ้าน รปภ. และกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และปรับค่าแรงให้แก่พนักงานทุกแผนก ทุกคน ขึ้นจากฐานเงินเดือนเดิม โดยเริ่มต้นปรับคนละไม่น้อยกว่า 2,000 บาท ขึ้นไป ซึ่งบริษัทฯต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 10 –12 ล้านบาท สนองนโยบายรัฐบาลใหม่ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี นายประสมกล่าวด้วยว่า โดยบริษัท ศึกษาภัณฑ์ขอนแก่น จำกัด และบริษัทฯในเครือ ได้เรียกประชุมกรรมการบริษัทฯเป็นการด่วนในเช้า วันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมมีมติตัดสินใจขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกตำแหน่งงาน ได้ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท และปรับค่าแรงให้แก่พนักงานเก่าทุกแผนกทุกคน ขึ้นจากฐานเงินเดือนเดิม โดยเริ่มต้นปรับคนละไม่น้อยกว่า 2,000 บาทขึ้นไป “เมื่อพี่น้องประชาชนจะมีฐานะดี มีเงินจับจ่าย มีเงินเก็บ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างมากในเวลาอันใกล้นี้อย่างแน่นอน และที่แน่นอนที่สุดบริษัทฯจะมียอดเพิ่มขึ้น และจะเป็นอื่นไปไม่ได้ที่ผลกระทบเหล่านั้น จะไม่ทำให้บริษัทฯมีกำไรมากขึ้นตามยอดขาย ลดภาษีเงินได้ลดเหลือเพียง 23 % ในปี 2555 และลดภาษีเงินได้ลงเหลือเพียง 20 % ในปี 2556 กำไรก็ได้เพิ่มมากขึ้น ภาษีเงินได้ก็จ่ายน้อยลง เพียงเท่านี้ก็มีความมั่นใจเสียยิ่งกว่ามั่นใจ ว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท / วัน ของพนักงานในบริษัทฯ ทางบริษัทฯต้องมีกำไรเพิ่มมากขึ้น มีเงินจ่ายเพิ่มให้พนักงานทุกคนได้มีความสุข และทำให้มีขวัญกำลังใจทำงานเพิ่มขึ้น จึงได้มีมติสนองนโยบายรัฐบาลใหม่ทันที โดยขึ้นป้ายทุกบริษัทฯ ในเครือ พร้อมกับประกาศให้ประชาชนทั่วไปให้รู้ทั่วกัน ว่า บริษัทฯในเครือของตนสนองนโยบายรัฐบาลที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยการจ่ายค่าแรงขั้นต่ำทุกตำแหน่งงาน 300 บาท / วัน และมีผลทันทีในวันที่ 4 ก.ค. 25554 เป็นต้นไป” นายประสมกล่าว 7-11 หนุนนโยบายรัฐปรับค่าแรง 300
4 ส.ค. 54 - นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานเสวนาพิเศษ การปรับตัวของภาคธุรกิจในยุครัฐบาลใหม่ว่า ซีพีออลล์พร้อมปฏิบัติตามนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ต่อวัน ของรัฐบาลถึงแม้ว่านโยบายดังกล่าว จะกระทบต่อต้นทุนการผลิต แต่ก็พร้อมปรับตัวด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพราะการปรับขึ้นค่าแรง ถือเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับลูกจ้าง ขณะเดียวกัน ซีพีออลล์ มีความพร้อมที่จะรับแรงงานปริญญาตรีจบใหม่ 10,000 อัตรา เข้าทำงานในทันที นอกจากนี้ ยังฝากให้รัฐบาลชุดใหม่ ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนภาคบริการ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ใช่การออกกฎหมายควบคุมธุรกิจค้าปลีก ขณะเดียวกัน ต้องลดแรงงานภาคเกษตรลง เด็กปั๊มบางจากเฮ! ขึ้นค่าแรงเด็กปั๊มเป็น 300 บ. ต้นปี 2555
25 ส.ค. 54 - นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจากปิโตรเลียม (BCP) กล่าวว่า ในปี 55 บริษัทเตรียมปรับเพิ่มค่าแรวขั้นต่ำให้กับเด็กปั๊มเป็น 300 บาท/วัน จากขณะนี้อยู่ที่ 250 บาท/วัน มองทิศทางธุรกิจจำหน่ายน้ำมันค่าแรงงานถือว่ามีความสำคัญ และพร้อมตอบสนองนโยบายรัฐบาล ซึ่งการปรับค่าแรงจะดำเนินการควบคู่ไปกับประสิทธิภาพการทำงาน เพราะจะทำให้ต้นทุนของบริษัทเพิ่มขึ้น 0.07 บาท/ลิตร ส่วนหนึ่งบริษัทอาจแบกรับต้นทุนเองและอีกส่วนหนึ่งผลักเข้าไปที่ราคาน้ำมัน นอกจากนี้บริษัท ยังพร้อมให้ความร่วมมือโครง การบัตรเครดิตพลังงานและบัตรเครดิตชาวนา ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีสถานีบริการน้ำมันที่ร่วมมือกับสหกรณ์ของเกษตรกร หลายแห่งอยู่แล้ว เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเติมน้ำมันของเกษตรกร และสถานีบริการน้ำมันทั่วไปของบางจากก็รับบัตรเครดิตต่าง ๆ อยู่แล้ว ปตท.ปรับค่าแรง 300 บาทเริ่มต้นปี 55 รายจ่ายเพิ่ม 500 ล้าน
1 ก.ย. 54 - นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า ปตท. มีนโยบายที่จะปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจำนวนวันละ 300 บาทในกลุ่มของผู้ใช้แรงงาน (Contract Out) ที่มีสัญญาจ้าง ซึ่งปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ของ ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ปตท. โดยตรง ตามนโยบายของรัฐบาล ในส่วนของภาระต้นทุนที่สูงขึ้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 500 ล้านบาทต่อปีนั้น ปตท. จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในส่วนนี้เอง ทั้งนี้ จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2555 โดยจะดำเนินการในเมืองหลักก่อน เช่น กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ และภูเก็ต และจะทยอยดำเนินการในจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป ส่วนกรณีลูกจ้าง ที่ปฏิบัติงานในสถานีบริการน้ำมัน ของ ปตท. ที่มีเอกชนเป็นเจ้าของ ปตท. ก็มีนโยบายที่จะสนับสนุนให้เจ้าของกิจการ ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวในต้นปี 2555 เช่นกัน ทั้งนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการสนับสนุน ให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการเป็นไปตามทิศทางที่ได้กำหนดไว้ต่อไป โดยปตท.หวังว่านโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นนอกจากจะช่วยให้ ลูกจ้างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว ยังจะเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงานอันนำมาซึ่งประสิทธิภาพในการทำ งานที่เพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย เผย พนง.ขสมก.ได้ปรับขึ้นค่าแรง 300 บ.
8 ก.ย. 54 - พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลัง การประชุมมอบหมายงานกับทางองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. โดยเน้นย้ำในส่วนของนโยบายค่าแรง 300 บาท ว่า พนักงานของ ขสมก.ได้ปรับตามมาตรการดังกล่าวเหลือเพียง 2 ราย ที่จะมีการปรับให้ต่อไป และสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เงินเดือน 15,000 บาทนั้น พนักงานของ ขสมก. ได้ในอัตราที่สูงกว่าอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม พล.ต.ท.ชัจจ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับรถยนต์โดยสารประจำทางนั้น ขณะนี้ทาง ขสมก. มีรถให้บริการ 3,500 คัน เป็นรถที่หมดอายุการใช้งาน 2,800 คัน และรถเสีย 700 คัน ซึ่งจะหามาตรการในการแก้ไขต่อไป …………………… เรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, กรุงเทพธุรกิจ, สำนักข่าวอินโฟเควสท์, แนวหน้า, ข่าวสด, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, มติชนออนไลน์, ไทยรัฐ, สำนักข่าวไทย, เดลินิวส์ [1] ของแพง CP หนุนค่าแรง 300 ช่วยเพิ่มกำลังซื้อและลดความเหลื่อมล้ำกระจายรายได้ (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 25 ก.ค. 2554) [2] บอสใหญ่สหพัฒน์ บอกขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เป็นไปไม่ได้ เตือนระบบจะพัง นักลงทุนหนีหาย (มติชนออนไลน์, 10 ก.ค. 2554) สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) กับวัฒนธรรมการวิจารณ์ในพุทธศาสนาเถรวาท Posted: 17 Sep 2011 05:40 AM PDT เท่าที่ผมพอจะทราบขณะนี้พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ท่านอยู่ในช่วงเวลาอาพาธหนัก (ป่วยหนัก) ไม่สามารถพูดได้ ในฐานะตัวบุคคลพระพรหมคุณาภรณ์คือพระสงฆ์ที่ชาวพุทธเคารพนับถือว่า ท่านเป็นปราชญ์ทางพุทธศาสนาที่ทำคุณประโยชน์แก่พุทธศาสนาและสังคมไทยมากมาย เมื่อทราบว่าท่านป่วยหนักผมเองที่เป็นชาวพุทธคนหนึ่งย่อมรู้สึกห่วงใยท่านเช่นเดียวกับชาวพุทธคนอื่นๆ ที่ทราบเรื่องนี้ แต่ที่จะเขียนต่อไปนี้เป็นการเขียนถึง “ความคิดบางอย่าง” ของพระพรหมคุณาภรณ์ที่ดูจะมีอิทธิพลต่อวงการพุทธศาสนาในบ้านเราในปัจจุบัน บังเอิญเมื่อสัปดาห์ก่อน ผมได้รับหนังสือของพระพรหมคุณาภรณ์ชื่อ “นักวิชาการเทศ-ไทย หาความรู้ให้แน่ใช่แค่คิดเอง” ตีพิมพ์เป็นธรรมทานในช่วงเข้าพรรษาปี 2554 นี้เอง (ตีพิมพ์ จำนวน 10,000 เล่ม) เนื้อหาภายในเล่มเป็นการตอบโต้นักวิชาการ 4 คน คือ (อดีต) พระมโน เมตฺตานนฺโท ศาสตราจารย์ ดร.สมภาร พรมทา บก.วารสารพุทธศาสน์ศึกษา (ท่านไม่เอ่ยชื่อแต่ใช้คำว่า “ท่าน บก.”) ดร.ชาญณรงค์ บุญหนุน (ท่านใช้ชื่อย่อว่า “ดร.ช.”) และ Dr.McCargo อันที่จริงท่านเจ้าคุณจะเอ่ยชื่อจริงของ บก.วารสารพุทธศาสน์ศึกษา และ ดร.ชาญณรงค์เลยก็ได้ เพราะท่านก็ตอบโต้งานวิชาการของเขาซึ่งเป็นงานที่ปรากฏต่อสาธารณะอยู่แล้ว ผมจึงแปลกใจเล็กน้อยว่าท่านใช้ “ชื่อย่อ”ให้คนอ่านสงสัยไปทำไม โดยส่วนตัวผมคิดว่า การวิจารณ์โต้ตอบกันในทางวิชาการระหว่างพระสงฆ์กับพระสงฆ์ หรือพระสงฆ์กับนักวิชาการฆราวาสนั้นเป็นสิ่งที่ดี เพราะการถกเถียงโต้ตอบกันด้วยด้วยเหตุด้วยผล ด้วยหลักวิชาการย่อมก่อเกิดความงอกงามทางปัญญา หรือทำให้เกิดมุมมองใหม่ๆ ในการทำความเข้าใจปัญหาของพุทธศาสนาและทางออก แต่ที่น่าสังเกต คือ “ท่าที” ของพระพรหมคุณาภรณ์ต่อบุคคลที่วิจารณ์ท่าน ผมคิดว่าเป็นท่าทีที่มีปัญหา ดังที่ท่านเอ่ยถึงนักวิชาการข้างต้นนั้นว่า “ทั้งสี่ท่านนี้แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ตัวบุคคล บอกว่าอาตมาคิด พูด ทำ เรื่องนั้นเรื่องนี้ และก็ได้เห็นชัดแล้วว่า ทั้งสี่ท่านนั้นพูดไม่ตรงตามความเป็นจริง แถมยังเลยไปกระทบกระทั่งถึงบุคคลที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 เป็นต้นอีกด้วย” [i] บังเอิญว่าผมได้อ่านงานของนักวิชาการทั้งสี่คนที่ท่านเจ้าคุณนำมาตอบโต้ด้วย ผมไม่เห็นว่างานของนักวิชาการทั้งสี่นั้นเน้นไปที่การวิจารณ์ “ตัวบุคคล” แต่อย่างใด หลักๆ เลยคืองานของนักวิชาการชองทั้งสี่คนนั้นมุ่งตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ “ความคิด” ของท่านเจ้าคุณเป็นหลัก เช่น เมื่อ (อดีต) พระมโน เขียนหนังสือเหตุเกิด พ.ศ.1 ขึ้นมา 2 เล่ม[ii] ท่านเจ้าคุณเห็นว่า “หนังสือนั้นผิดพลาดอย่างหนักชนิดที่ไม่น่าจะเป็น” ดังที่ท่านเขียนว่า “เมื่อเห็นว่าควรยับยั้งความเข้าใจผิด อาตมาก็จึงเขียนหนังสือขึ้นมาเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่งใช้ชื่อว่า ตื่นกันเสียทีจากความเท็จของหนังสือเหตุเกิด พ.ศ.1 เป็นการเตือนสติ โดยเฉพาะท่านที่เป็นผู้ใหญ่ไม่อยากให้ตื่นเต้นไปตามกระแส ควรจะดู ถ้าไม่ตรวจสอบก็ควรจะพิจารณาหาหลักฐานข้อมูลประกอบบ้าง หลังจากนั้นช่วงหนึ่งพระมโน เมตฺตานนฺโท ก็เขียนหนังสือเล่มเล็กๆ ชื่อ เหตุเกิด พ.ศ.1 (B.E.0001) เป็นเท็จจริงหรือ? ออกมาตอบโต้ติเตียนอาตมาเป็นการเฉพาะตัว” [iii] โปรดสังเกตชื่อหนังสือทั้งสองเล่มนะครับ แค่ชื่อหนังสือ (ที่วิจารณ์งานวิชาการของคนอื่น) ของท่านเจ้าคุณก็เป็นการกล่าวหางานของเขาว่าเป็น “ความเท็จ” แล้ว ชื่อหนังสือและเจตนาของท่านเจ้าคุณก็เพื่อต้องการปลุกคนให้ตื่นจากความเท็จนั้น (ในเนื้อหาทั้งเล่มเป็นเช่นนั้นจริงๆ) และโดยสถานะบารมีความเป็น “ปราชญ์ทางพุทธศาสนา” ด้วยแล้ว การวิจารณ์งานวิชาการของคนอื่นด้วยท่วงทำนองเช่นนี้ ยิ่งเป็นการเพิ่มดีกรีความแรงที่ “กด” งานที่ถูกวิจารณ์หนักเข้าไปอีก ซึ่งผมคิดว่าข้อวิจารณ์ของท่านเจ้าคุณมีอิทธิพลพอสมควร กระทั่งทำให้ชาวพุทธจำนวนหนึ่งออกไปถือป้ายประท้วงให้เจ้าอาวาสวัดต้นสังกัดขับพระมโนออกจากวัด เพียงเพราะเขียนงานวิชาการขึ้นมา 2 เล่ม ที่มีเนื้อหาการตีความแตกต่างไปจากคัมภีร์ หรือตำราที่ชาวพุทธไทยเชื่อถือกันอยู่ (แม้ท่านเจ้าคุณอาจจะไม่มีเจตนาให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวก็ตาม) ส่วนชื่อหนังสือของพระมโนเป็นชื่อที่บ่งบอกเจตนาที่จะชี้แจงให้เห็นว่าหนังสือเหตุเกิด พ.ศ.1 เป็นเท็จตามที่พระพรหมคุณาภรณ์วิจารณ์จริงหรือไม่ ผมเองได้อ่านหนังสือของทั้งสองท่าน เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันจะเห็นว่าหนังสือ ตื่นกันเสียทีจากความเท็จของหนังสือเหตุเกิด พ.ศ.1 ของพระพรหมคุณาภรณ์ แม้จะมีจุดแข็งตรงที่มีการยกข้อมูลในพระไตรปิฎกขึ้นมาหักล้างอีกฝ่ายหนึ่งได้ดี แต่ก็มีจุดอ่อนตรงที่การวิจารณ์นั้นเลยเถิดไป “กล่าวหา” ตัวตนของพระมโนมากเกินไป เช่น กล่าวหาว่าบิดเบือนพระธรรมวินัย หลอกชาวบ้าน วิชาการผีหลอก ความเท็จ ความไม่สุจริต ข้อมูลเท็จ หลักฐานเท็จ พูดเท็จ ข้อมูลลวง งานบิดเบือน ปั้นแต่งเรื่องเท็จ ข้อเขียนที่เหลวไหล ฯลฯ[iv] ในหนังสือ เหตุเกิด พ.ศ.1 (B.E.0001) เป็นเท็จจริงหรือ? ของพระมโนกลับเป็นการตอบโต้ข้อวิจารณ์ของท่านเจ้าคุณอย่างเป็นวิชาการมากกว่า เพราะเป็นการนำข้อมูลอีกด้านมาหักล้างข้อวิจารณ์ของท่านเจ้าคุณเป็นหลัก พร้อมกับจัดทำตารางแสดงข้อความที่ท่านเจ้าคุณวิจารณ์ “ตัวบุคคล” ให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามีกี่ข้อความ และข้อความนั้นๆ ปรากฏในหน้าไหนบ้าง ส่วนกรณี บก.วารสารพุทศาสตร์ศึกษา (ศ.ดร.สมภาร พรมทา) ถ้าถามว่าทำไม “ท่าน บก.” (คำที่ท่านเจ้าคุณเรียก) จึงวิจารณ์ความคิดของท่านเจ้าคุณค่อนข้างบ่อย ผมเข้าใจว่าเพราะท่านเจ้าคุณมีผลงานวิชาการทางพุทธศาสนามากกว่าใครๆ ถัดจากท่านพุทธทาส (ซึ่งท่าน บก.ก็วิจารณ์บ่อยทั้งที่เห็นด้วยและเห็นแย้ง) จึงเป็นธรรมดาที่นักวิชาการด้านพุทธศาสนาจะตั้งคำถาม หรือวิจารณ์งานของท่านเจ้าคุณ แต่โดยรวมๆ แล้วก็ไม่ใช่วิจารณ์ “ตัวตน” ของท่านเจ้าคุณที่ส่อไปในทางไม่เคารพ หรือก่อให้เกิดความเสียหายแต่อย่างใด เช่น ที่วิจารณ์ทำนองว่า ท่านเจ้าคุณและพระในมหาวิทยาลัยสงฆ์มักมีความคิดแบบอนุรักษ์นิยม เพราะไม่ค่อยมีเพื่อนต่างศาสนา (น่าจะหมายถึงเพื่อนที่ถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้) ต่างจากท่านพุทธทาสที่คบเพื่อนต่างศาสนามากกว่าจึงมีท่าทีเป็นมิตรกับศาสนาอื่นๆ มากกว่า หรือมีความคิดทางศาสนาแบบก้าวหน้ากว่าเป็นต้น หรือบางที่นักวิชาการหรือลูกศิษย์ลูกหาที่แวดล้อมท่านเจ้าคุณ อาจจะไม่ค่อยมีใครกล้าวิจารณ์ท่านเจ้าคุณ กระทั่งบางคนก็พูดอะไรแบบไม่ค่อยรับผิดชอบ เช่น หมอประเวศ วะสี เคยพูดว่า หนังสือพุทธธรรมของท่านเจ้าคุณเป็น “ผลงานที่เกินรางวัลโนเบล” เป็นต้น[v] หรือที่วิจารณ์ความคิดของท่านเจ้าคุณ เช่นที่ว่า “อกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลได้” ก็วิจารณ์เพียงว่าท่านเจ้าตีความหรือยืนยันตามคัมภีร์อธิธรรม ในขณะที่ท่าน บก.ยืนยันข้อมูลตามพระสูตรซึ่งเขาแน่ใจว่าเป็นคำพูดของพระพุทธเจ้ามากกว่า ว่า “อกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลไม่ได้” เป็นต้น ส่วนที่ Dr.McCargo ว่าพระประยุทธ์ ปยุตฺโต เป็นนักคิดทางพุทธศาสนาประเภท Fundamentalist ก็เพราะภาพลักษณ์ของท่านเจ้าคุณตามที่สังคมชาวพุทธรับรู้กันนั้น คือภาพลักษณ์ของพระนักคิดนักปราชญ์ที่ให้ความสำคัญและยืนยันความถูกต้องของคำสอนในพระไตรปิฎกอย่างชัดเจนที่สุด โดยเฉพาะเมื่อท่านเจ้าคุณออกมา “สะสาง” ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคำสอนของพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นกรณีสันติอโศก กรณีธรรมกาย หรือกรณีหนังสือเหตุเกิด พ.ศ.1 ของพระมโน ท่านเจ้าคุณก็อ้างอิงคำสอนของพุทธศาสนาในพระไตรปิฎกเป็นหลักในการวินิจฉัยว่า ความเห็น คำสอน การปฏิบัติของคนเหล่านั้นผิดหรือเป็นเท็จอย่างไรบ้าง ประเด็นคือ หากการอ้างอิงพระไตรปิฎกเพื่อวินิจฉัยความถูก-ผิดตามหลักคำสอนของพุทธศาสนาของท่านเจ้าคุณ จำกัดอยู่แค่การโต้แย้งกันด้วยหลักฐานข้อมูลทางวิชาการเท่านั้น ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่การวิจารณ์ของท่านเจ้าคุณยังเลยไปถึงการตัดสิน “ตัวตน” ของฝ่ายที่เห็นต่าง เช่น ตัดสินว่าพวกเขามีเจตนาทุจริต ทำพระธรรมวินัยให้วิปริต เป็นการทำลายพุทธศาสนาอย่างถอนรากถอนโคน เป็นต้น เฉพาะกรณีสันติอโศกท่านเจ้าคุณถึงกับไปเป็นพยานในการไต่สวน (แม้จะบอกว่าไม่ได้ไปศาลแต่ไปให้ข้อมูลที่วัดมหาธาตุก็ตาม) ในส่วนที่เป็นความผิดถูกตามพระธรรมวินัย ซึ่งเชื่อกันว่าคำให้การของท่านเจ้าคุณมีน้ำหนักให้ศาลวินิจฉัยตัดสินให้สมณะโพธิรักษ์และสมณะสันติอโศกพ้นจากความเป็นพระสงฆ์ กรณีธรรมกายและ (อดีต) พระมโนก็เช่นกัน การตีความคำสอนพุทธศาสนาผิดจากพระไตรปิฎกก็กลายเป็น “มีเจตนาทำลายพุทธศาสนา” ไป คนที่ติดตามการถกเถียงเรื่องนี้ ก็จะเห็นว่าแต่ละฝ่ายต่างยืนยันความถูกต้องของตนด้วยการ “อ้างพระไตรปิฎก” ทั้งสิ้น ชาวบ้านทั่วไปอาจงงๆ อยู่ว่าใครผิดใครถูก แต่นักวิชาการส่วนใหญ่ แม้แต่นักวิชาการสี่คนที่ท่านเจ้าคุณโต้ตอบก็ดูเหมือนจะเห็นว่า หลักฐานข้อมูลที่ท่านเจ้าคุณนำมาแสดงมีความน่าเชื่อถือมากกว่า แต่เขาไม่เห็นด้วยที่จะสรุปว่าการตีความต่างกัน มีความเข้าใจคำสอนต่างกัน ปฏิบัติต่างกันเท่าที่เป็นอยู่ในบ้านเราไม่ว่ากรณีสันติอโศก ธรรมกาย หนังสือเหตุเกิด พ.ศ.1 จะมีความหมายเท่ากับเป็น “การทำพระธรรมวินัยให้วิปริต” เพราะในเมื่อต่างฝ่ายต่างอ้างพระไตรปิฎก มันก็มีพระไตรปิฎกทั้งภาษาไทย บาลี อังกฤษ เป็นต้น ให้คนทั่วไปตรวจสอบได้อยู่แล้วว่าใครอ้างถูกหรือผิดอย่างไร พูดตรงๆ คือ ถ้าเชื่อว่า คำสอนที่ถูกต้องของพุทธมีอยู่ในพระไตรปิฎก และพระไตรปิฎกก็เป็นสมบัติสากลของชาวพุทธทั่วโลก แม้สันติอโศก ธรรมกาย พระมโนหรือใครจะตีความผิดจากพระไตรปิฎกก็ไม่มีผลเป็นการทำพระธรรมวินัย (ที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก) ให้วิปริตไปได้แต่อย่างใด จึงไม่มีเหตุผลว่าคนเหล่านี้กำลังทำลายพุทธศาสนาอย่างถอนรากถอนโคน ควรถูกขจัดออกไปจากความเป็นพระ จากพุทธศาสนา แต่ควรที่จะหันหน้ามาคุยกัน หรือถกเถียงแลกเปลี่ยนทางวิชาการด้วยเหตุผลด้วยผลก็พอ คนอ่านงานของทั้งสองฝ่ายจะเชื่อใครก็เป็นเสรีภาพของเขา ไม่ควรเลยเถิดไปตัดสินว่าความเห็นต่างเป็นความไม่รู้ เป็นความโง่ กระทั่งมีเจตนาทุจริต หรือเป็นความชั่ว หรือพูดอีกอย่างว่าการที่คนเรา “อ่านต่างกัน” ก็อาจมองต่างกัน เช่นเกี่ยวกับประเด็น “พระสงฆ์กับการเมือง” พระพรหมคุณาภรณ์ มองอย่างโรแมนติกว่า “ในสังคมไทย บทบาทและหน้าที่ทางการเมืองของพระสงฆ์ได้ดำเนินมาในลักษณะที่เข้ารูปเป็นมาตรฐานพอสมควร พระสงฆ์สั่งสอนหลักธรรมในการปกครองและสอนนักปกครองให้มีธรรม แต่ไม่เข้าไปยุ่มย่ามก้าวก่ายในกิจการเมือง ทางฝ่ายบ้านเมืองก็ยกชูสถาบันสงฆ์ไว้ในฐานะที่ เหนือการเมือง โดยมีประเพณีทางการเมืองที่ปฏิบัติมาเกี่ยวกับวัดและพระสงฆ์ เช่นว่า ผู้ใดหนีเข้าไปในพัทธสีมาของวัดก็เป็นอันพ้นภัยการเมือง เหมือนลี้ภัยออกไปในต่างประเทศ ผู้บวชแล้วเป็นผู้พ้นภัย และเป็นผู้พ้นภัยจากปรปักษ์ทางการเมือง ดังกรณีของข้าราชบริพารของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่พระสงฆ์สมมติพระราชวังเป็นพัทธสีมาแล้วอุปสมบทให้ พาออกจากวังผ่านกองทัพของผู้ยึดอำนาจ ไปสู่วัดได้โดยปลอดภัย และกรณีของขุนหลวงหาวัด (พระเจ้าอุทุมพร) ในรัชการพระเจ้าเอกทัศน์ เป็นต้น” [vi] แต่ จิตร ภูมิศักดิ์ มองต่างออกไปว่า พระสงฆ์ไม่ได้อยู่เหนือการเมืองจริง หากแต่มีความสัมพันธ์กับอำนาจรัฐในลักษณะ “สมประโยชน์กัน” เช่นที่เขาเขียนว่า “ศักดินา (กษัตริย์) แบ่งปันที่ดินให้แก่ทางศาสนา แบ่งปันข้าทาสให้แก่วัดวาอาราม ยกย่องพวกนักบวชให้เป็นขุนนางมีลำดับยศ มีเครื่องประดับยศ มีเบี้ยหวัดเงินปีและแม้เงินเดือน...ศาสนามีหน้าที่สั่งสอนให้ผู้คนเคารพยำเกรงกษัตริย์ พวกนักบวชทั้งหลายกลายเป็นครูอาจารย์ที่ให้การศึกษาแก่กุลบุตรกุลธิดา ซึ่งแน่นอนแนวทางการจัดการศึกษาย่อมเป็นไปตามความปรารถนาของศักดินา” [vii] ฉะนั้น การตีความต่างกัน เพราะแต่ละคนอ่านมาต่างกันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้อย่างปกติธรรมดา มันไม่ใช่เรื่องที่ต้องเลยเถิดไปตัดสินคนที่ตีความต่างจากเราว่า มีเจตนาทุจริต บิดเบือนพุทธศาสนา ทำพระธรรมวินัยให้วิปริต ทำให้คนเข้าใจผิด สร้างความเสียหายแก่พุทธศาสนาและสังคม ฯลฯ เพราะจริงๆ แล้วคนอ่านเขาย่อมวินิจฉัยได้เองว่างานของใครมีเหตุผลน่าเชื่อถือมากกว่า ไม่ใช่ว่ามีใครผลิตงานวิชาการที่ตีความผิดจากพระไตรปิฎกขึ้นมาชิ้นหนึ่งแล้ว จะทำให้ชาวพุทธเชื่อถือหลงผิดตามได้ง่ายๆ สร้างความเสื่อมแก่พุทธศาสนาได้ง่ายๆ แต่จะว่าไปแล้ว วัฒนธรรมการวิจารณ์ที่ทำความเห็นต่าง คนเห็นต่างให้ “กลายเป็นอื่น” คือวัฒนธรรมกระแสหลักของพุทธเถรวาทที่มีมานาน และชัดมากในการสังคายนาครั้งที่ 3 เป็นต้นมาที่มีการยืมมืออำนาจรัฐมากำจัดพระสงฆ์ที่เห็นต่างจากฝ่ายพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระอย่างขนานใหญ่ โดยใช้วิธีการ “จัดสอบความรู้พระ” ถ้าสอบไม่ผ่านก็จับสึก ซึ่งก็คล้ายๆ กับคณะสงฆ์จัดการกับกลุ่มสมณะสันติอโศกเพราะเหตุผลเรื่องสอนผิดจากพระไตรปิฎก พระพรหมคุณาภรณ์ก็อาจซึมซับวัฒนธรรมการวิจารณ์ดังกล่าวมาด้วยเช่นกัน ดังเห็นได้จากการวิจารณ์สันติอโศก ธรรมกาย และนักวิชาการทั้งสี่คนดังกล่าว เป็นต้น ทำให้ผมนึกถึง ว.วชิรเมธี ที่อ้างว่าได้รับอิทธิพลทางความคิดจากพระพรหมคุณาภรณ์มาก ก็ดูเหมือนจะมี “ท่าที” ต่อคนเห็นต่างคล้ายๆ กัน เช่นตอนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์นิตยสาร GM ฉบับเดือนธันวาคม 2553 เกี่ยวกับที่มาของวาทกรรม “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าฆ่าคน” ว.วชิรเมธี วิจารณ์นักวิชาการที่วิจารณ์วาทกรรมดังกล่าวว่า “เมื่อเราอ่านเนื้อใน เราได้เห็นบทสรุปที่แสนจะตื้นเขิน ดูเสมือนว่านักวิชาการเหล่านั้นกำลังแสดงความคิดเห็นต่อบ้านนี้เมืองนี้ แต่ถ้าเราอ่านดูจริงๆ มันเป็นเรื่องของการแสดงความรู้สึก ซึ่งไม่ใช่เรื่องของการแสดงความคิดเห็น การแสดงความคิดเห็นต้องมีรากฐานทางวิชาการรองรับอย่างแน่นหนาเป็นหลักฐาน ส่วนการแสดงความรู้สึก แค่คุณไม่พอใจอะไรใคร คุณก็โพล่งหรือสบถออกมาแค่นั้น แล้วทุกวันนี้เราได้เห็นนักวิชาการหรือปัญญาชนทำแบบนี้กันมาก แล้วก็เรียกว่าฉันกำลังทำงานวิชาการ แล้วมันขายดีนะ ติดตลาด เพราะวัฒนธรรมของสังคมไทยเป็นวัฒนธรรมของความเชื่อ ไม่ใช่วัฒนธรรมแห่งการแสวงหาความรู้ นั่นทำให้นักวิชาการจำนวนมากสามารถสร้างตัวเองขึ้นมาท่ามกลางซากปรักหักพังของเพื่อนร่วมชาติ” สรุปสั้นๆ ว่านักวิชาการขาดความรับผิดชอบ ไม่ใช้ความรู้ ฉวยโอกาสสร้างตัวเองขึ้นมาท่ามกลางซากปรักหักพังของเพื่อนร่วมชาติ แต่ ว.วชิรเมธี ไม่ได้ตั้งคำถามกับตนเองว่า ที่ตนทวิตเตอร์ข้อความ “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าฆ่าคน” ออกมาราวกลางเดือนมกราคม 2553 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สื่อกำลังโหมกระแสการจะออกมาชุมนุมของคนเสื้อแดงและนำภาพความรุนแรงในเหตุการณ์สงกรานต์เลือดมาฉายซ้ำแล้วซ้ำอีกนั้น เป็นการ “ผลิตวาทกรรม” ที่รับผิดชอบอย่างไร รู้กาลอันควรไม่ควรหรือไม่ (ยังไม่ต้องพูดถึงการเปรียบเทียบการฆ่าเวลากับองคุลีมาลย์ฆ่าคน 999 คนว่าจะเป็นตรรกะวิบัติเพียงใด) กล่าวโดยสรุป วิธีการวิจารณ์ความคิดเห็นของคนอื่นเป็นวิธีที่พุทธเถวาทเรียกว่าวิธีกำราบ “ปรัปปวาท” (วาทะของฝ่ายอื่น) พระสงฆ์ที่ใช้วิธีนี้กับนักวิชาการ หรือพระด้วยกันเองในปัจจุบัน จึงแทนที่จะทำเพียงชี้แจงเหตุผล หลักวิชาการเท่านั้น ก็ “ทำเกิน” โดย “ข่มกำราบ” คนอื่นว่าไม่รู้จริงบ้าง ไม่รับผิดชอบบ้าง มีความเห็นผิด เจตนาทุจริต ฯลฯ ซึ่งที่จริงเป็นวิธีที่ล้าสมัยแล้ว เพราะทุกวันนี้ความรู้ไม่ได้อยู่ที่ “ตัวปราชญ์” แต่ค้นคว้าได้จากหลากแหล่งและค้นคว้าได้ง่าย ใครๆ ก็เข้าถึงความรู้ทางพุทธศาสนาได้ไม่ยากถ้าสนใจจะรู้ การวิจารณ์ด้วยท่าทีข่มว่าคนอื่นไม่รู้จริง เห็นผิด ฯลฯ แทนที่จะโต้ “ประเด็น” หรือ arguments ที่เขาเสนออย่างตรงไปตรงมา เช่นที่พระพรมคุณาภรณ์ทำกับงานของ (อดีต) พระมโน เป็นต้น จึงถือเป็นตัวอย่างของ “ท่าที” การวิจารณ์ที่ล้าหลังที่ชาวพุทธรุ่นใหม่ไม่ควรถือเป็นแบบอย่าง [i] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)..นักวิชาการเทศ-ไทย หาความรู้ให้แน่ใช่แค่คิดเอง.หน้า 156. [ii] เมตฺตานนฺโท ภิกขุ.เหตุเกิด พ.ศ. 1(B.E.0001) เล่ม 1 : วิเคราะห์กรณีพุทธปรินิพพาน และ[ii] เหตุเกิด พ.ศ. 1 (B.E.0001) เล่ม 2 : วิเคราะห์กรณีปฐมสังคายนาและภิกษุณี [iii] เรื่องเดียวกัน หน้า 7-8 [iv] โปรดอ่าน พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต).ติ่นกันเสียทีจากความเท็จของหนังสือเหตุเกิด พ.ศ.1 และดู เมตตานนฺโท ภิกขุ.เหตุเกิด พ.ศ.1 (B.E.0001) เป็นเท็จจริงหรือ?ในหนังสือดังกล่าวมีการจัดทำตาราง “ข้อความตัดสินตัวตน” ทำนองเดียวกันนี้ถี 4 หน้า คือหน้า 62-65 ซึ่งเป็นข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าวิธีวิจารณ์ของพระพรหมคุณาภรณ์เป็นการเลยเถิดจากการวิจารณ์ “ความคิด” ไปตัดสิน “ตัวบุคคล” มากเพียงใด [v] ดูวารสารปัญญา วารสารออนไลน์ ฉบับประจำเดือน กรกฎาคม 2554 [vi] พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต).กรณีสันติอโศก. หน้า 28 [vii] จิตร ภูมิศักดิ์. โฉมหน้าศักดินาไทย.หน้า 66-67 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
‘ภาคประชาสังคมอาเซียน’ สุดเข้มแชมป์รายงานสถานการณ์สิทธิ์ UN Posted: 17 Sep 2011 03:43 AM PDT
องค์กรภาคประชาสังคม 10 ประเทศสมาชิก ASEAN เขียนรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review – UPR) ส่งข้าหลวงใหญ่ในนามของผู้มีส่วนได้เสีย หรือ Stake holders กว่า 150 องค์กร ถือเป็นกลุ่มประเทศที่ภาคประชาสังคมส่งรายงานสถานการณ์สิทธิมากกลุ่มหนึ่งของโลก ข้อมูลถูกเปิดเผยในงานรายการเสวนา provisional program of work Universal periodic Review Reports: Process, Coorperation and implementation จัดโดยมูลนิธิศักยภาพชุมชน เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2554 ห้องประชุมจุมภฎ พันธุ์ทิพย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ประเทศที่ภาคประชาสังคมส่งรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียนคือ ประเทศฟิลิปปินส์ 31 องค์กร และประเทศไทย 27 องค์กร ส่วนประเทศพม่าที่มีข่าวการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศมากในภูมิภาค มีรายงานส่งไปกว่า 24 องค์กร ตัวแทนจากประเทศฟิลิปปินส์ เผยว่า ASEAN มีความพร้อมในการติดตามการทำงานของรัฐบาล ให้ทำตามกติกาที่รับมอบหมายจากสำนักข้าหลวงใหญ่ สหประชาชาติ ภาคประชาสังคมต้องร่วมตรวจสอบให้การทำงานประเด็นสิทธิมนุษยชนในพื้นที่มีความจริงจังมากขึ้น Mr. Jong Gil Woo ตัวแทนจาก the Office of the United Nations high Commissioner for Rights (OHCHR) กล่าวต่อที่ประชุมว่า หลังจากมีการทบทวนรายงานในเจนีวาแล้ว ในเดือนตุลาคม 2554 อาจจะต้องพูดคุยถึงการผลักดันให้มีการปฏิบัติ ตามที่ได้รับมอบหมายจากสำนักข้าหลวงใหญ่ สหประชาชาติ เมื่อปี 2553 ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ได้เดินทางมายังประเทศไทย เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประเทศไทยจำนวนมาก แต่ผู้เชี่ยวชาญมีเวลาน้อย จึงไม่สามารถเดินทางไปรับฟังข้อร้องเรียนได้ครบทุกประเด็น “สิ่งที่ทางองค์กรภาคประชาสังคมสามารถทำได้คือ พยายามเตรียมเอกสารและข้อมูลให้รอบด้านมากที่สุด” Mr. Jong Gil Woo กล่าว นางชลิดา ทาเจริญสุข ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน ในฐานะประธานการจัดงานเสวนา เสนอต่อที่ประชุมว่า กระบวนการเขียนรายงานยูพีอาร์ของประเทศไทยเป็นเรื่องยากมาก เพราะเป็นกลไกใหม่ที่ยังไม่มีคนรู้จักมากนัก ในระหว่างการร่างรายงานต้องมีการรวบรวมข้อมูล เพื่อนำมาใช้ประกอบในเนื้อหาของรายงาน รวมทั้งต้องติดตามให้ผู้เกี่ยวข้องอ่านเนื้อหาอย่างจริงจัง “สำหรับรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ต้องมีการสมดุลพื้นที่ในรายงานด้วย เมื่อเนื้อหาในรายงานมีการเสนอสถานการณ์การละเมิดที่เกิดขึ้นจริง ในการขับเคลื่อนด้านสิทธิมนุษยชน ฝ่ายรัฐบาลก็ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ ในฐานะสมาชิกสหประชาติ ทั้งนี้ประเทศไทยจะถูกประเมินจากสหประชาชาติ ในวันที่ 5 ตุลาคม 2554” นางชลิดา กล่าว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
ปลุกพลังเครือข่ายชุมชน เคลื่อนเชิงนโยบายแก้ปัญหาปักษ์ใต้ Posted: 17 Sep 2011 03:11 AM PDT ฟังภาคประชาชนใต้พูดเรื่อง “นโยบายองค์กรภาคีเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนจังหวัดชายแดนภาคใต้” จากงาน “ชุมคน ชุมชน คนใต้ ครั้งที่ 3 เสียงจากผู้ไร้สิทธิชายแดนใต้”
ไมตรี จงไกรจักร
ปรีดา คงแป้น
มณเฑียร ธรรมวัติ
ผ่านไปแล้วอย่างคึกคัก สำหรับงานสัมมนาในโครงการประชุมวิชาการระดับชาติ “ชุมคน ชุมชน คนใต้ ครั้งที่ 3 เสียงจากผู้ไร้สิทธิชายแดนใต้” (Voices of the Voiceless: from the southernmost People in Thailand) ที่จัดโดยโครงการจัดตั้งศูนย์อิสลามศึกษาเพื่อการบูรณาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยทักษิณ ระหว่างวันที่ 12–14 กันยายน 2554 ที่ผ่านมา หอประชุมอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา หนึ่งในหลากหลายประเด็นปัญหาที่มีการหยิบยกขึ้นมาเป็นหัวข้อสนทนาคือ “นโยบายองค์กรภาคีเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนจังหวัดชายแดนภาคใต้” หัวข้อนี้มีนักปฏิบัติการทางสังคมเรียงหน้าขึ้นมานำเสนอกันอย่างคึกคัก ไล่มาตั้งแต่ไมตรี จงไกรจักร จากเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปและการเมือง (คปสม.) ปรีดา คงแป้น จากมูลนิธิชุมชนไทย นิธิมา บินตำมะหงง จากสำนักงานกองทุนฟื้นฟูแลพัฒนาเกษตรกร มณเฑียร ธรรมวัติ สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง มีนักวิชาการร่วมแจมอยู่หนึ่งคนคือ ผศ.จำนงค์ แรกพินิจ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ เนื้อหาที่พูดกันในหัวข้อนี้คือ ประเด็นการผลักดันในเชิงนโยบายและการขับเคลื่อน ไมตรี จงไกรจักร บอกว่า วันนี้ของเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปและการเมือง เป็นเพียงการเริ่มต้นในการผลักดันบางเรื่องสู่สาธารณะ เนื่องเพราะจะผลักดันนโยบายได้ ก็ต้องทำให้สาธารณะเข้าใจก่อน ในเชิงของการขับเคลื่อน ทำอย่างไรให้ทุกองค์กรขับเคลื่อนไปพร้อมกันเพราะทุกๆ ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาของทุกคน สำหรับปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไมตรี จงไกรจักร มองว่า ควรจะเป็นปัญหาระหว่างคนภาคใต้ทั้งภาคกับรัฐบาล ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นปัญหาเฉพาะของคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะในข้อเท็จจริง ต้องยอมรับว่า ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาของคนไทยทั้งหมด “ทุกๆ เครือข่ายจะต้องมีกองทุนเป็นของตนเอง เพื่อจะให้งานของแต่ละเครือข่ายขับเคลื่อนไปได้ เครือข่ายต่างๆ จะต้องเชื่อมโยงกับเครือข่ายอื่นๆ ทั่วประเทศ เพื่อที่จะร่วมแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะทำอย่างไรให้สันติสุขกลับคืนมาให้ได้” เป็นทัศนะของปรีดา คงแป้น ในวันนั้น ขณะที่มณเฑียร ธรรมวัติ สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง มองว่าการนำเสนอประเด็นเขตปกครองพิเศษในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แสดงให้เห็นว่าโครงสร้างที่มีอยู่เดิมใช้ไม่ได้ ต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ ประเด็นนี้เป็นหน้าที่ของชุมชนจะต้องออกมาร่วมกันขับเคลื่อน สำหรับจังหวะของการขับเคลื่อน สื่อมีความสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับประชาชน ประชาชนกับรัฐ เพราะฉะนั้นการนำเสนอประเด็นปัญหาของตนเองผ่านสื่อ เพื่อให้คนอื่นได้รับรู้จึงเป็นเรื่องสำคัญ “รัฐบาลชุดปัจจุบันประกาศจะให้พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่เขตปกครองพิเศษ จะต้องเป็นเขตปกครองพิเศษที่มาจากความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ไม่ใช่เขตปกครองพิเศษแบบเอาทหารเป็นจำนวนมาก เข้ามาอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นี่เป็นภาระที่คนภาคใต้ต้องร่วมกันขับเคลื่อนให้รัฐบาลรับรู้” มณฑียร ธรรมวัติ กล่าว ขณะเดียวกัน เมื่อพูดถึงทิศทางการพัฒนาภาคใต้ มณเฑียร ธรรมวัติ ยืนยันด้วยความมั่นใจว่า คนภาคใต้ไม่ต้องการโครงการพัฒนาที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คนภาคใต้ต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ แต่ยั่งยืน นี่คือ บทสนทนาภายใต้หัวข้อ “นโยบายองค์กรภาคีเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนจังหวัดชายแดนภาคใต้”
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น