โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

“เอ็นจีโอพลังงาน” สู้คดีหมิ่น “โรงไฟฟ้า” แจงตั้งคำถามให้สังคมร่วมตรวจสอบ

Posted: 28 Sep 2011 02:44 PM PDT

“วัชรี เผ่าเหลืองทอง” ขึ้นศาลคดีหมิ่น“โรงไฟฟ้าบางคล้า” ทนายโจทก์-จำเลยซักวันเดียวไม่จบ เจ้าตัวยันพูดออกสื่อหวังตั้งคำถามให้สังคมร่วมตรวจสอบ ปัดรับเงินทุนบริษัทพลังงานทางเลือกจากเดนมาร์กมาค้านโรงไฟฟ้า

 
วันที่ 28 ก.ย.54 เวลาประมาณ 9.30 น. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาฯ ห้องพิจารณาคดี 912ศาลออกนั่งบัลลังก์สืบพยานโจทก์ คดีหมายเลขดำ อ.3151/2552 ที่บริษัท สยามเอ็นเนอร์จี จำกัด เจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา โดยนายบุญชัย เจียมจิตจรุง ผู้รับมอบอำนาจ เป็นโจทก์ฟ้อง นางสาววัชรี เผ่าเหลืองทอง เอ็นจีโอด้านพลังงาน ฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา
 
นางสาววัชรี เผ่าเหลืองทอง เอ็นจีโอด้านพลังงาน จำเลยในคดีฟ้องหมิ่นประมาท และฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหาย 300 ล้านบาท 
 
นางสาววัชรี กล่าวเบิกความต่อศาลถึงเหตุที่ถูกฟ้องคดีว่า ได้รับการติดต่อจากรายการคมชัดลึก ของสถานีโทรทัศน์เนชั่นชาแนล ให้ร่วมพูดคุยในหัวข้อ “โรงไฟฟ้า เพื่อใคร” จากสถานการณ์ขณะนั้นที่มีชาวบ้านบางคล้าชุมนุมในพื้นที่เพื่อต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้าของ บริษัท สยามเอ็นเนอร์จี จำกัด ในฐานะนักพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอ ที่ติดตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน ซึ่งเธอยินดีเข้าร่วม โดยระบุถึงเหตุผลว่าต้องการสื่อสารให้สังคมได้รับรู้ ร่วมตรวจสอบ และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านพลังงานที่ดียิ่งขึ้น ให้ประชาชนได้รับประโยชน์ไม่ต้องจ่ายค่าไฟแพง ขณะที่กิจการพลังงานโปร่งใส มีหลักธรรมภิบาลในการดำเนินกิจการ ซึ่งเธอเชื่อว่าการเผยแพร่ข้อมูลเป็นหน้าที่ของเอ็นจีโอ
 
นางสาววัชรี กล่าวด้วยว่า ผู้ร่วมรายการในวันนั้นประกอบด้วย นักวิชาการ ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า และชาวบ้านอีก 2 คนที่เธอไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่ไม่มีตัวแทนบริษัทโจทก์ และตัวแทนของกระทรวงพลังงานเข้าร่วม ซึ่งนางสาวจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ผู้ดำเนินรายการได้ชี้แจงว่าได้มีการติดต่อแล้วแต่ไม่ได้รับการตอบรับ อย่างไรก็ตาม รายการได้มีการต่อสาย ดร.ดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เข้าร่วมพูดคุย
 
เอ็นจีโอด้านพลังงาน กล่าวถึงสิ่งที่พูดในรายการดังกล่าวว่า มีการวิพากษ์ในส่วนนโยบายพลังงาน และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในส่วนการวางรูปแบบหลักเกณฑ์การเปิดประมูลผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (IPP) อีกทั้งพูดถึงการปฏิบัติตัวของข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพลังงาน โดยไม่ได้มุ่งตอบว่าใครเป็นผู้คอรัปชั่นแต่อย่างใด
 
นางสาววัชรี กล่าวถึงการทำงานเอ็นจีโอว่า เริ่มตั้งแต่เมื่อปี 2534 จากประเด็นผลกระทบจากเขื่อนปากมูล ในฐานะของผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับธรรมชาติ วิถีชีวิต จากนั้นได้ร่วมสนับสนุนขบวนสมัชชาคนจน โดยการทำงานใหญ่เป็นงานในเชิงข้อมูล และการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสื่อมวลชน จนกระทั้งในปี 2541 ได้มีการตั้งกลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคตขึ้น โดยทำงานติดตามเรื่องนโยบายด้านพลังงานของภาครัฐ ผลกระทบ และทางออกของพลังงานไทย ต่อมาใน ปี2538 มีการเปิดประมูล IPP เป็นครั้งแรกตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ทำให้ได้เข้าช่วยเหลือเรื่องข้อมูลแก่ชาวบ้านที่คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัทกัลฟ์เพาเวอร์เจเนอเรชั่น (บริษัทในเครือของโจทก์) ในพื้นที่ ต.บ่อนอก อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์
 
ต่อกรณีที่ทนายโจทก์ถามค้านโดยอ้างถึงข่าวจากหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่ระบุว่า กลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคตซึ่งจำเลยร่วมอยู่ด้วยได้รับเงินจากแหล่งทุนจากประเทศเดนมาร์กซึ่งมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีพลังงานทางเลือก ทำให้จำเลยต้องคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เพื่อให้นักธุรกิจในประเทศเดนมาร์กสามารถขายเทคโนโลยีเกี่ยวกับพลังงานทางเลือกได้ นางสาววัชรีตอบว่าไม่เป็นความจริง และย้ำว่าไม่ได้มุ่งเป้าค้านโครงการโรงไฟฟ้าแต่มุงเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านพลังงาน
 
“จำเลยไม้ได้เกลียดชังโจทก์เป็นการส่วนตัว หรือเกลียดชังเชื้อเพลิงชนิดใดเป็นพิเศษ แต่การใช้เชื่อเพลิงแต่ละชนิดควรคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นที่ยอมรับของชุมชน ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และหลักธรรมาภิบาล” จำเลยกล่าวในตอนหนึ่งของการสืบพยาน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในห้องพิจารณาคดีวันนี้มีผู้มาร่วมฟังการสืบพยานจำนวนมาก โดยมีบุคคลในแวดวงนักสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมด้วย อาทิ นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพประชาชน (สสส.) และประธาน คณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชน (กป.อพช.) รวมทั้งนางสาวกรณ์อุมา พงษ์น้อย กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก-กุยบุรี ซึ่งเคยต่อสู้โรงไฟฟ้าบ่อนอก ที่มาให้กำลังใจจำเลยในคดีด้วย
 
สำหรับการพิจารณาคดี ในวันนี้ ทั้งพยานโจทก์และทนายจำเลยต่างซักถามให้ประเด็นคำพูดและข้อมูลที่นางสาววัชรีนำเสนอต่อในรายการโทรทัศน์อย่างละเอียด ทำให้การสืบพยานจำเลยใช้เวลานาน และต้องสืบต่อในช่วงเช้าวันนี้ (29 ก.ย.54) ส่วนพยานจำเลย นางสาวจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ผู้ดำเนินรายการคมชัดลึก จำเลยที่ 2 ในคดีเดียวกันซึ่งศาลมีคำสั่งยกฟ้องไปก่อนหน้านี้ มีนัดสืบพยานในวันที่ 30 ก.ย.54
 
ทั้งนี้ การฟ้องร้องสืบเนื่องจาก กรณีการให้สัมภาษณ์ออกอากาศทางรายการคมชัดลึก ของสถานีโทรทัศน์เนชั่นชาแนล เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.52 เกี่ยวกับกรณีชาวบ้าน อ.บางคล้า ปิดถนนประท้วงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าบางคล้า ในพื้นที่ ม.5 ต.เสม็ดใต้ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา
 
นอกจากนี้ จากเหตุการณ์เดียวกัน บริษัท สยาม เอ็นเนอร์จี จำกัด ยังได้ดำเนินการฟ้องร้องคดีแพ่งนางสาววัชรี เรียกร้องค่าเสียหายกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว ให้รอจนกว่าการพิจารณาคดีอาญาแล้วเสร็จ และจะมีการนำผลคำพิพากษานั้นมาแถลงต่อศาลจึงจะนัดพร้อมเพื่อพิจารณาคดีต่อไป
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ส่ง "คนโขน" ชิงออสการ์

Posted: 28 Sep 2011 02:28 PM PDT

กระทรวงวัฒนธรรมเผย สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติมีมติเลือก "คนโขน" เข้าชิงรางวัลออสการ์ เพราะเป็นภาพยนตร์ตลาด มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย และเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับการอุดหนุนจากโครงการไทยเข้มแข็ง

เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานเมื่อวานนี้ (28 ก.ย.) ระบุว่านางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เผยว่าได้รับแจ้งจากผู้จัดงานการประกวดภาพยนตร์ออสการ์ สหรัฐอเมริกา ขอให้คัดเลือกภาพยนตร์ไทยส่งเข้าประกวดชิงรางวัลออสการ์  ในสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศ ดังนั้น ทางสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ได้มีการประชุมเพื่อคัดเลือกภาพยนตร์ไทยแล้ว และได้ตัดสินให้ภาพยนตร์เรื่อง “คนโขน” ในเครือสหมงคลฟิล์ม กำกับโดย นายศรัณยู วงษ์กระจ่าง เป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทยเพื่อเข้าประกวดชิงรางวัลออสการ์  ในปี 2555 อย่างไรก็ตาม การส่งภาพยนตร์เรื่องคนโขนเข้าประกวดครั้งนี้ ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะได้รับรางวัลหรือไม่ได้รับรางวัล แค่ได้ไปฉายผ่านสายตาคณะกรรมการออสการ์ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจแล้ว

ผอ.สศร.เล่าให้ฟังว่า เมื่อปีที่ผ่านมาได้คัดเลือกภาพยนตร์เรื่องลุงบุญมีระลึกชาติ ของนายอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เพราะเห็นว่าได้รับรางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศสมาแล้ว แต่เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า ลักษณะการประกวดภาพยนตร์แต่ละที่นั้นจะมีจุดเน้นที่ให้ความสำคัญแต่ละเรื่อง แตกต่างกัน มุมมองในการคัดเลือกของออสการ์ไม่เหมือนมุมมองของคานส์ เนื่องเพราะออสการ์จะเน้นภาพยนตร์แนวตลาดมากกว่า  เพราะฉะนั้นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จที่หนึ่งแล้วจะได้รับรางวัลอีกที่หนึ่งด้วย ดังนั้นทางสมาพันธ์จึงคัดเลือก “คนโขน” ส่งไปประกวด เพราะมองว่าเป็นภาพยนตร์ตลาดแล้วยังมีเอกลักษณ์ความเป็นไทย ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย มีเนื้อหาสอดแทรกด้วยละครชีวิต และเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับการอุดหนุนจากโครงการไทยเข้มแข็งของรัฐบาลด้วย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาไทบันเทิง: ตามไปฟังสุธาชัย ยิ้มประเสริฐเล่าประวัติศาสตร์โรมาเนีย

Posted: 28 Sep 2011 10:16 AM PDT

ประชาไทบันเทิง: ตามไปฟังสุธาชัย ยิ้มประเสริฐเล่าประวัติศาสตร์โรมาเนีย

วันนี้(24 กันยายน)หลิ่มหลีได้มีโอกาสไปฟังอาเจก เอ้ย ไม่ใช่ อาจารย์ยิ้ม ... ไปพูดเรื่อง ประวัติศาสตร์โรมาเนีย สนุกมากถึงมากที่สุด

โดยปกติ หลิ่มหลีจะค่อนข้างเลือกค่ะ ที่จะไปฟังเสวนาอะไรก็แล้วแต่ หลิ่มหลีเลือกที่หน้าตาผู้เสวนาค่ะ อย่างนิติแร่ด เอ้ย นิติราษฎร์เนี่ย หลิ่มหลีไปบ่อย อร๊ายยยย เขิล หลิ่มหลีชอบหล่อๆ อร๊าย ไม่พูดไม่พูด คิดถึงไอดอล .. แต่งานนี้ หลิ่มหลีไม่ไปไม่ได้ค่ะ จริงๆเขาโฆษณามาตั้งนานแล้ว แต่หลิ่มหลีไม่รู้ไม่เห็น แต่พอดี .. อ่ะนะ มีน้องแจ้งมาว่าอาจารย์ยิ้มเชียวนะ เสียงหล่อโค่ดๆเล้ย หลิ่มหลีก็ว่า เออ ไปซะหน่อย ไปซะหน่อย อยากฟัง อยากได้ความรู้ อร๊ายยย คิดได้ไงเนี่ย สลิ่มไม่อยากหาความรู้หรอก หลิ่มหลีติดเชื้อบ้าจากไหนมาเนี่ย หือ หือ และหลิ่มหลีก็เดินทางไปถึงที่ Reading Room สีนม สีลมซอย 19 ค่ะ

วันนี้เขาฉายหนังเรื่อง Videograms of a Revolution กับเรื่อง The Autobiography of Nicolae Ceausescu ซึ่งหลังจากหนังจบ ก็มีการเสวนาต่อโดยนักวิชาการสองท่าน ท่านหนึ่งคือ อาจารย์ยิ้ม สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และอีกท่านคือ นักวิชาการด้านสื่อจากประเทศญี่ปุ่น เคโกะ เซย์ (Keiko Sei)

ประชาไทบันเทิง: ตามไปฟังสุธาชัย ยิ้มประเสริฐเล่าประวัติศาสตร์โรมาเนีย

อาจารย์ยิ้มเริ่มประวัติของโรมาเนียอย่างกับกำลังสอนหนังสือที่มหาลัยฯ ฮ่าๆๆๆ หลิ่มหลีชอบมาก เหมือนได้กลับไปเป็นนักเรียนหลังห้อง อาจารย์เริ่มต้นประวัติประเทศโรมาเนียตั้งแต่ยุค 1856

สมัยเป็นของอาณาจักรอ๊อตโตมันเติรกส์ อะไรประมาณนั้น และในปี 1938 ก็มีคิงคาโรล ซึ่งลาออกจากตำแหน่งไปแต่งเมีย เอ้ย แต่งงานกับสาวต่างศาสนา แล้วก็มารู้ว่าการไร้อำนาจนั้นมันน่าโหยหาแค่ไหน (อันนี้หลิ่มหลีเขียนใส่อารมณ์ให้มันส์ แต่อาจารย์เองก็มันส์อยู่เหมือนกัน แต่หลิ่มหลีลืม... สลิ่มนะค้า สมองมีน้อย ประหยัดการใช้งานให้หน้าตึงเสมอๆ) ท้ายที่สุดคิงคาโรลแกก็เลยยึดอำนาจมา ได้ทั้งเมียได้ทั้งอำนาจ ฉลาดจริงๆเลย โดยการยึดอำนาจนี้มีข้อตกลงกับทหารเป็นอย่างดี

หลิ่มหลีไม่เล่าละเอียดมากนะคะ มันยาว หลิ่มหลีไม่ชอบอะไรยาวๆ ชอบอะไรมันส์ๆมากกว่า

พอโรมาเนียเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองกับฝ่ายอักษะ คือ ฝ่ายเยอรมันนั่นเอง โรมาเนียก็มีคิงคนใหม่ซะแล้วที่ชื่อว่า คิงมิฮาย โรมาเนียผู้เลือกฝั่งอักษะมาแต่แรกก็กลับย้ายข้างมาเป็นฝ่ายพันธมิตร และทำให้โรมาเนียมารบกับอักษะเอง นกสองหัวเนอะ เหมือนใครหนอ ??? แต่แล้ว เมื่อฝ่ายอักษะแพ้

โรมาเนียเองที่ทรยศฝ่ายอักษะมาเข้ากับฝ่ายพันธมิตรแล้วหวังว่าจะรอดตัวเหมือนสยามเมืองสยองของเรา แต่ก็กลับไม่รอดแฮะ โดนรัสเซียครอบงำไปซะได้ไงเนี่ย ... ทำให้ยุโรปตะวันออกเป็นพวกเดียวกัน เก้าประเทศในฐานะประเทศที่ปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์โดยมีพี่ใหญ่คือรัสเซียในสมัยนั้น ซึ่งในปี 1947 ระบบสมบูรณญาสิทธิราชก็โดนแฮฟถล่มตายคาบาทาคอมมิวนิสต์ซะ ซึ่งในขณะนั้นบุคคลที่เป็นผู้นำคือ นาง อานา เพาเกอร์ แล้วเจ๊แกก็โดนโค่นล้มโดยนายพล เกอร์เก เกอร์กิอู แล้วจัดตั้งพรรคเดจ ขึ้นมา ...ซึ่งชื่อเดจเป็นชื่อเล่นของพรรคคอมมิวนิสต์ของประเทศโรมาเนียนี่แหละค่ะ

พรรคเดจมีข้อเด่นในการบริหารประเทศอยู่ หลายข้อ หลิ่มหลีคุ้นมากเลย ก็ได้อาจารย์ยิ้มเนี่ยแหละค่ะมายิ้มให้หลิ่มหลีแล้วชี้แนะทางตาสว่างให้ หุหุ

พรรคเดจเป็นคนเริ่มต้นระบบแผนเศรษฐกิจ 5 ปี ที่รัสเซียเริ่ม ซึ่งเป็นแผนเศรษฐกิจที่จะมีในประเทศสังคัง เอ้ย สังคมนิยมเท่านั้น ..ซึ่งประเทศพวกนี้ประสบความสำเร็จมากกับแผนนี้ ทำให้อเมริกาพี่เบิ้มของเราอยากจะทดลองใช้บ้าง แต่ไม่กล้าใช้ในประเทศตัวเองเพราะดันไปประกาศความเป็นประเทศทุนนิยมสุดขั้ว หันซ้ายหันขวา มองไปมองมา แหม๊ มีโง่ๆอยู่ประเทศหนึ่ง ลองอะไรก็ได้ผลไปไหม

ลองให้กลัวผีคอมมิวนิสต์ ..พี่เทยก็กลัวจริง...ได้ผลวุ้ย
ลองให้ซ้อมรบกองกำลังงูเห่า พี่เทยก็ดีใจ ปลื้ม...ได้เงินเข้ากระเป๋าใคร?
พี่แกก็เลยให้ลองใช้แผนเศรษฐกิจ 5 ปีดูบ้าง สร้างอุตสาหกรรมหนัก มีรัฐวิสาหกิจ ธนาคารของรัฐเหมือนโรมาเนียบ้าง

แต่โชคดีไม่เอามาซะหมด ไม่งั้น หุหุ ไม่รู้จะเป็นยังไงกันนะสิ นะเนี่ย หึหึ

ต่อมาท่านเกอร์กิอูก็สิ้นชีวิตอย่างสงบ พี่เชาเชสกู Nicolae Ceausescu ก็ขึ้นมาปกครองบ้านเมือง แกเป็นพวกรากหญ้ามาก่อนค่ะ แล้วแกก็หาหนทางไต่เต้าได้จนมาแทนท่านเกอร์กิอูได้ เก่งเนอะ พอแกขึ้นมาเป็นผู้นำ เป็นประธานาธิปดี แกก็ดันเมียแกขึ้นมาด้วย เอเลนา เปเตรสคู Elena Petrescu แล้วทั้งสองก็สถาปนาตัวเองเป็นพ่อแม่ของแผ่นดินโรมาเนีย เอาวันเกิดของตัวเองเป็นวันหยุดราชการ แล้วก็สร้างโฆษณาชวนเชื่อว่าประเทศนี้ขาดแกสองคน ประเทศคงแตกเป็นเสี่ยงๆ แกสองคนก็เหมือน มิ่งขวัญของประชาชนชาวโรมาเนีย The Soul of the Nation โอ้ มันยอดมากเลยนะ นาย... แล้วแกก็มีลูกชายเจ้าชู้ประตูดินอยู่หนึ่งคนชื่อ Nicu Ceausescu ซึ่งเป็นคนที่ใช้การไม่ได้ แต่ความที่ใช้ไม่ได้กลับทำให้เขารอดชีวิตได้ หุหุ

นโยบายของพี่เชาเชสกูนี่ดีอยู่อย่าง แกเปิดตัวเองไปคบค้าพวกตะวันตก เก่งซะจนได้ลงนิตยสารTime คบค้าคนไปทั่ว จนกู้เงินเขาได้ทั่วโลก แล้วเอาเงินมาพัฒนาประเทศเล็กๆน้อยๆ แกกู้เงินอยู่สิบกว่าปี 1970 แต่พอ 1982 แกดันหยุดกู้แล้วประกาศคืนหนี้สินให้หมด หลิ่มหลีคิดว่า นี่มันบ้าหรือโง่หวะ ... หรือว่าโดนบีบบังคับจากใคร หือ ๆๆๆ ๆๆ

เห็นไหม ...และแล้วคนที่มันเคยๆสบายๆ กู้เงินมาใช้จ่ายสบายๆ พอต้องมาประหยัดรัดเข็มขัด ใช้หนี้ ..ประชาชนก็ชักโมโห อดอยากไม่ว่า อดดูทีวีด้วยนี่ยิ่งแย่ คุณเคโกะบอกว่า ทีวีในสมัยเชาเชสกูนี่ ฉายวันละแค่ 2 ชั่วโมง และแน่นอนแหละ ฉายแต่เรื่องของแก โฆษณาคุณงามความดีของแกสองคนผัวเมีย

ประชาชนอดอยากหนักเข้า โวยวายก็โดนปราบปรามอย่างหนักหน่วง ก็เลยเกิดการปฏิวัติขึ้นมาซะนี่ ... แล้วก็ทำสำเร็จในปี 1989

แล้วอาจารย์ยิ้มก็กลับบ้าน .. พร้อมกับชัยชนะของประชาชนชาวโรมาเนีย คุณเคโกะเลยมาเล่าต่อ ว่า ไอ้หนังสองเรื่องที่ฉายในวันนี้ มันมีดียังไง

การปฏิวัติของโรมาเนียถือเป็น The Landmark of Media ทีเดียว เพราะนี่คือการปฏิวัติที่ใช้สื่อโดยเฉพาะสื่อทีวีเป็นเครื่องมือในการทำปฏิวัติให้สำเร็จ ซึ่งจริงๆแล้วการปฏิวัติโดยประชาชนของโรมาเนียนั้นเกิดขึ้นภายหลังจากการปฏิวัติของประเทศเพื่อนบ้านรอบตัวกันหมดแล้ว แต่ประชาชนชาวโรมาเนียเองไม่ได้รับรู้อะไรพวกนี้หรอก ก็เพราะว่าพวกเขามีทีวีให้ดูแต่เรื่องที่โดนบังคับให้ดู ดังนั้นการปฏิวัติของโรมาเนียจึงเป็นการปฏิวัติที่มาจากประชาชนมากกว่า

ในช่วงท่ีเชาเชสกูครองอำนาจ เขารู้ดีว่าการคุมอำนาจให้อยู่มือ สิ่งหนึ่งที่ต้องคุมให้ได้คือ คุมสื่อทีวี ดังนั้นจะมีการสอนกันตลอดว่า ถ้าเราจะโดนปฏิวัติ เราต้องปกป้องสถานีทีวีของเราให้ได้ แต่ก็ .. อะนะ การปฏิวัติครั้งนี้มันปฏิวัติโดยประชาชน ประชาชนก็เลยรู้ว่าเราต้องไปปกป้องทีวีเอง พวกเขาก็เลยไปยึดทีวีซะ ซื่ออย่างที่เรียนมาจริงๆ ... เชาเชสกูก็เลยซวยไป แล้วก็โดนจับได้พร้อมลูกเมีย แล้วตัวท่านเองก็โดนขึ้นศาล (ศาลข้างเดียว ไม่ได้ให้เขาได้ต่อสู้เลย ปฏิวัติเพื่อเป็นประชาธิปไตยอะไรกันนี่ ...สตอเบอรี่เหมือนประเทศเทยเลยเนอะ ) และโดนตัดสินอย่างเร่งด้วยพร้อมภรรยาให้มีการประหารชีวิตทันที ไม่ได้ต่อสู้ในชั้นศาลอะไรกับเขาได้เลย น่าสงสาร แต่ไปไปมามา ลูกชาย นิคู กลับรอดชีวิตมาใช้ชีวิตปกติได้ เพราะเขาเห็นว่าไม่มีภัยอะไร วันๆก็กินขี้ปี้นอน ก็เลยปล่อยตัวมาแล้วก็เสียชีวิตในปี 1996 นี่เอง

การเริ่มต้นปฏิวัติของโรมาเนียเริ่มต้นที่แคว้นทรานซิสเวเนียซึ่งชนกลุ่มใหญ่มีเชื้อสายฮังการี และกระหายอยากรับรู้ข่าวสารมาก จึงแอบสร้างเสารับสัญญาณทีวีกัน แล้วทีวีฮังการีก็เสี้ยมน่าดูกับการออกข่าวถึงความเลวร้ายของชาวโรมาเนียในแคว้นทรานซิสเวเนีย

สมัยนั้นก็แย่จริงๆนะคะ ...เฮียเชากะเมียอยากจะยึดที่ดินตรงไหน ไปสร้างโรงงานสร้างปราสาทอะไร ก็สักแต่ชี้ชี้ชี้ แล้วก็ไล่ที่ ไล่ที่ ชาวโรมาเนียฮังการีในทรานซิสเวเนียก็ได้แต่หลบๆหนีๆ โดยความช่วยเหลือของพระรูปหนึ่ง แล้วพระรูปนี้ก็ถูกจับ คนก็โมโหรวมตัวกันแล้วทำให้เกิดการก่อการปฏิวัติขึ้นมาจนนำไปสู่ความสำเร็จ คือมันมีอะไรที่มากมายที่ทำให้ประชาชนเขาทนไม่ไหวด้วย แต่ไม่มีอะไรที่เด่นชัดเท่ากับ การถ่ายภาพด้วยวีดีโอที่ก่อให้เกิดการปฏิวัตินี้ได้

Media turned History and History turned into Drama. หุหุ

ยังไงอย่างนั้น ที่น่าแปลกใจคือ คุณเคโกะมาค้นพบว่า ก่อนหน้าการประท้วงไม่นานนัก เธอได้ยินข่าวลือมาว่า พานาโซนิกจะให้กล้องถ่ายวีดีโอกับชาวทรานซิสเวเนีย แหงสิ เฮียเชาเชสกูไม่ให้ใครง่ายๆหรอก ขนาดทีวียังให้ดูแค่ 2 ชั่วโมงเอง แล้วจะมาให้ประชาชนพกกล้องมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว

ก็เหมือนเมืองไทยไม่ได้ 3G สักทียังไงอย่างนั้น อุ๊ปส์ ..อร๊ายยยยย ไม่เกี่ยวค้า ไม่เกี่ยวเลย แล้วหลังจากการปฏิวัติสำเร็จ เธอก็สังเกตุเห็นพานาโซนิกโฆษณาคล้ายๆกับว่า กล้องของประชาชนเปลี่ยนประวัติศาสตร์ การปฏิวัติเกิดขึ้นได้เพราะกล้องของประชาชน แล้วก็มีรูปกล้องของตัวเองในโปสเตอร์พร้อมกับเห็นภาพลางๆเป็นรูปเหรียญและปราสาทของประเทศโรมาเนีย

อร๊ายยยยย อะไรกันนี่ พ่อค้าทำมาหากิน.. พลังการค้าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพลิกประเทศกันเลยเชียวหรือนี่

แต่นี่เป็นเพียงข้อสังเกตุของเธอเท่านั้น ไม่ได้แปลว่าเป็นความจริงนะคะ แฟนขวักของหลิ่มหลีอย่าคิดมาก อย่าคิดตาม เด๋วแก่เร็วค้า ที่มากกว่านั้นที่เธอสังเกตุคือ มันมีสารคดีเกี่ยวกับการปฏิวัติโรมาเนียที่มีคนดูเยอะที่สุดในญี่ปุ่นที่สร้างโดยNHK แล้วNHK ก็โปรโมทให้ประชาชนติดตั้งจานดาวเทียมพร้อมกับบอกว่า ชาวทรานซิสเวเนียก็ต้องการมัน หุหุ ...แล้วหลังจากนั้น เธอก็ไปตามหาชายชาวโรมาเนียคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ถ่ายภาพ Footage เกี่ยวกับการปฏิวัติครั้งนี้มากที่สุด ..แล้วเธอก็พบว่า เขาทำงานอยู่ใน NHK แล้ว

กรี๊ดดดดดดด สลบ อะไรกันนี่

อย่างไรก็ตาม การปฏิวัติครั้งนี้ได้สร้างความฉงนให้กับนักข่าวสื่อต่างๆมากมายจนพวกเขาต้องปรึกษากันว่า ไอ้สิ่งที่พวกเขาเห็นมันใช่ความจริงหรือไม่ เพราะในFootage มีการนำศพมาอ้างว่าเป็นฝีมือของเชาเชสกูกับภรรยา แต่ตอนหลังก็ค้นพบว่า มันไม่ใช่เลย พวกเขาไปขุดศพที่ตายไปแล้วมาอ้างว่านี่คือเหยื่อสังหารของเชาเชสกู แล้วทำให้พวกผู้สื่อข่าวเกิดความสงสัยว่านี่เป็นการปฏิวัติจริงหรือไม่ หรือนี่คือรัฐประหารโยกอำนาจสร้างสถานการณ์กันแน่ เพราะท้ายสุดผู้สื่อข่าวชาวโรมาเนียเองก็ยอมรับเองว่า ใช่พวกเขาขุดศพขึ้นมาโดยไม่รู้ว่านี่คือเหยื่อสังหารของเชาเชสกู แต่ยังไงก็แล้วแต่คนเหล่านี้ก็คือเหยื่อการบริหารงานของเชาเชสกูนะ...

เอ่อ...พี่คะ...หนักนะเนี่ย

ไปไปมามา การปฏิวัติครั้งนี้ทำให้ผู้สงสัยมากมายทำการย้อนกลับมาไล่ดูFootage ภาพ หนังสั้น ทุกอย่าง แล้วเรียงลำดับกันใหม่หมด ...ออกมาเป็นหนังสองเรื่องนี้ Videograms of a Revolution กับเรื่อง The Autobiography of Nicolae Ceausescu ซึ่งบอกให้รู้ว่าการปฏิวัติในโรมาเนียเป็นการปฏิวัติครั้งแรกที่ใช้สื่อทีวีเป็นเครื่องมือ

ที่น่าสงสัยคือ มันเหมือนการปฏิวัติแบบจัดฉาก ...อร๊ายยยยยยยย โรมาเนียกับประเทศเทยนี่ ใครก๊อบปี๊ใครกันนะ ...

สุดท้าย เคโกะสรุปให้ฟังในการที่เธอไปค้นพบมากมายว่า

สามัญชนหลายๆคนที่เป็นแม้กระทั่งคนขี้ฟ้องจับคนเข้าคุกมากมาย แต่เมื่อถึงเวลาปฏิวัติขึ้นมา พวกเขาก็พร้อมกลับกลายเป็นนักปฏิวัติเองเพราะพวกเขากลัวในพลังของประชาชน ในขณะที่นักปฏิวัติเอง เมื่อทำสำเร็จแล้วกลับกลายเป็นเผด็จการปกครองบ้านเมืองไปอย่างเสียของเสียความรู้สึก ตบดิ้นเลย

เรายังไม่รอดนะฮาฟ เรายังไม่จบนะฮาฟ..... ท่านผู้ร่วมประเทศทั้งหลาย หุหุ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘อดข้าว 112 ชั่วโมง’ วันที่สาม เสื้อแดงเชียงใหม่หลายกลุ่มให้กำลังใจ

Posted: 28 Sep 2011 08:59 AM PDT

วันที่ 28 กันยายน 2554 บริเวณลานลั่นทม หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  “ปฏิบัติการอดอาหารท้วงประเทียด 112 ชั่วโมง” (112 Hunger Strike) ของนายมิตร ใจอินทร์ ยังคงดำเนินต่อไปเป็นวันที่สาม โดยในวันนี้กลุ่มคนเสื้อแดงหลายกลุ่มในจังหวัดเชียงใหม่ เดินทางเยี่ยมและมอบดอกไม้ให้กำลังใจนายมิตร

ในช่วงเช้าบริเวณหอศิลปวัฒนธรรม มีงานเสวนาในหัวข้อ “สังคม การเมือง วัฒนธรรม ของบ้าน live in บ้านพ่อ” โดยก่อนเริ่มงานเสวนา พิธีกรเสวนาได้สัมภาษณ์เปิดใจนายมิตร ใจอินทร์ ถึงกิจกรรมอดอาหารของเขา นายมิตรเล่าว่า ตนรู้สึกว่าศิลปินหรือนักวัฒนธรรมในเมืองไทยค่อนข้างถูกปิดปากและไม่มีเสรีภาพในการแสดงออก แม้ตนจะไม่รู้เรื่องทางนิติศาสตร์ หรือมีความรู้ด้านกฎหมายในระดับชาวบ้าน แต่ในฐานะศิลปิน ก็เห็นปัญหาในเรื่องกฎหมายมาตรา 112 นี้ได้สร้างความไม่เป็นธรรมในสังคม

นายมิตรกล่าวว่า ตนเคยเข้าไปฟังงานเสวนาเรื่องกฎหมายฉบับนี้โดยนักวิชาการอย่างอาจารย์ David Streckfuss ได้ชี้ให้เห็นว่าในปีเดียวมีคนโดนคดีในมาตรา 112 ถึง 400 กว่าคน ซึ่งมันสะท้อนความเป็นยุคที่บ้านป่าเมืองเถื่อนมาก ในภาวะแบบนี้ศิลปินไม่สามารถจะทำอะไรสร้างสรรค์ได้ภายใต้ร่มเงาของความมืดและการใช้อำนาจแบบนี้ อีกทั้งชาวบ้านจำนวนมากที่ตนได้สัมผัสและได้พูดคุยด้วย ก็เห็นถึงปัญหาของกฎหมายมาตรานี้ และมีอาการที่เรียกว่าตาสว่างกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งศิลปินก็เริ่มตาสว่างตามชาวบ้านไป

นายมิตรกล่าวว่าเมื่อมีโอกาสจากคณาจารย์และนักศึกษาที่จัดงาน madiFESTO ขึ้นและให้โอกาสได้แสดงออก ตนก็ใช้จังหวะนี้เอามาปฏิบัติการ มาเปิดประเด็น เพราะหน้าที่ของศิลปะสำหรับตนคือต้องช่วยในการเปิด ทั้งในแง่การเปิดประเด็น และในแง่การเปิดหูเปิดตาผู้คน

สำหรับการอดอาหารในวันที่สาม นายมิตรยังคงปักหลักนั่งอยู่กับที่ ไม่เคลื่อนย้ายไปไหนเพื่อไม่ให้สิ้นเปลืองพลังงาน และในวันนี้ยังมีกลุ่มคนเสื้อแดงจากหลายกลุ่มในจังหวัดเชียงใหม่ เช่น จากอำเภอสันกำแพง และอำเภอดอยสะเก็ด ส่งตัวแทนเข้าเยี่ยมและให้กำลังใจนายมิตร พร้อมนำช่อดอกไม้และน้ำดื่มมามอบให้ หลายคนชื่นชมในความกล้าหาญในการทำกิจกรรมของนายมิตร

หญิงเสื้อแดงจากอำเภอดอยสะเก็ด เล่าว่าตนรู้สึกเห็นใจนายมิตรที่ออกมาช่วยกันผลักดันในเรื่องกฎหมายมาตรา 112 โดยการอดข้าว และรู้สึกว่านายมิตรคนเดียวหรือศิลปินอีก 4-5 คนทำแบบนี้ก็ยังน้อยไป ทั้งที่มีคนที่โดนคดีจากกฎหมายมาตรา 112 อีกเยอะ จึงอยากให้ทางรัฐบาลใส่ใจกับปัญหาจากกฎหมายฉบับนี้ หรือมีการทบทวนแก้ไขกฎหมาย ไม่ใช่ใครทำหรือพูดอะไรก็สามารถถูกหาว่าละเมิดสถาบันไปหมด ซึ่งแบบนี้ทำให้บ้านเมืองแตกแยกมากกว่า อีกทั้งข่าวสารในเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112 ก็ไม่มีการออกในสื่อโทรทัศน์ช่องปกติ  คนที่พูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็แทบไม่มีใครรู้ใครเห็น ตนจึงเห็นด้วยว่าควรทำให้เรื่องนี้เป็นที่รับรู้มากขึ้น และอยากให้นักศึกษาหรือใครก็ตามได้ช่วยกันผลักดันเรื่องนี้ในด้านอื่นๆ ด้วย

นอกจากนั้นในวันนี้ ผู้มาเยี่ยมให้กำลังใจยังมีการนำข้อความไม่เห็นด้วยกับการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในภาษาต่างๆ รวมทั้งสติ๊กเกอร์ที่มีข้อความ “NO FREEDOM HERE” พร้อมภาพคนถูกจับมัดเชือก มาติดไว้ในบริเวณที่ปฏิบัติการของนายมิตรด้วย ทั้งนี้จนถึงในวันที่สาม ยังมีศิลปินอิสระที่อดอาหารเป็นเพื่อนนายมิตรอีก 1 คน

กลุ่มคนเสื้อแดงนำช่อดอกไม้เข้าให้กำลังใจนายมิตร ใจอินทร์

นายมิตรติดข้อความภาษาญี่ปุ่นและภาษาล้านนา
แสดงความไม่เห็นด้วยกับกฎหมายมาตรา 112 ที่มีผู้นำมามอบให้

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลปกครองสูงสุดยืนยัน ‘สิทธิชุมชน’ ให้ชาวบ้านร้องสอดคดีที่ดิน ‘สหวิริยา’

Posted: 28 Sep 2011 08:52 AM PDT

ศาลปกครองสูงสุดสั่งอนุญาตชาวบ้านบางสะพาน เข้าเป็นคู่ความในฐานะผู้ร้องสอดในคดีเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน 52 แปลง ในประจวบคีรีขันธ์ หลังอุธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลาง ยืนยันสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร

 
วันนี้ (28 ก.ย.54) เมื่อเวลา 10.00 น. ศาลปกครองสูงสุดนัดฟังคำสั่งชี้ขาดคำร้องอุทธรณ์ กรณีชาวบ้าน อ.บางสะพาน ร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางที่ไม่อนุญาตให้ร้องสอด คดีกลุ่มบริษัทสหวิริยาฟ้องเพิกถอนคำสั่งและแก้ไขหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดิน (น.ส.3ก.) ของกรมที่ดิน ในที่ดิน 52 แปลง คดีหมายเลขดำที่ 1335/2553 ระหว่าง บริษัท สหวิริยาสตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ที่ 1 กับพวกรวม 8 คน ผู้ฟ้องคดี กับ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน ผู้ถูกฟ้องคดี ณ ศาลปกครองกลาง
 
ศาลปกครองสูงสุด ยืนยันสิทธิตามสิทธิชุมชนในการจัดการ การบำรุงรักษา การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้รับรองไว้ โดยมีคำสั่งอนุญาตให้ชาวบ้าน อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เข้าเป็นคู่ความในฐานะผู้ร้องสอดในคดีเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน 52 แปลง ด้วยเหตุที่ดินดังกล่าวเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
 
คำสั่งศาลปกครองระบุด้วยว่า ผู้ร้องสอดทั้งสามสิบสามคน มีภูมิลำเนา ประกอบอาชีพ และอยู่อาศัย รวมถึงใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ย่อมมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพและในการคุ้มครองส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพของตน อันเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคหนึ่ง
 
การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์จำนวน 52 แปลงในบริเวณดังกล่าวจึงกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ร้องสอดทั้งสามสิบสามคน
 
สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.53 ชาวบ้าน 12 หมู่บ้านใน ต.กำเนิดนพคุณ ต.ธงชัย ต.แม่รำพึง และต.พงษ์ประศาสน์ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 33 คน มอบอำนาจให้ โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ดำเนินการยื่นคำร้องสอดคดีเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน 52 แปลง ในพื้นที่ ต.แม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่มีชื่อบริษัท สหวิริยาสตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) กับบริษัทในเครือเป็นผู้ครอบครอง
 
กลุ่มชาวบ้านให้เหตุผลว่า การออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทั้ง 52 แปลง อยู่ในเขตป่าคุ้มครองและป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองแม่รำพึง โดยพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพเป็นพื้นที่ป่าชายเลน อันเป็นสาธารณะสมบัติดั้งเดิมของชุมชน มีความอุดมสมบูรณ์ และหลากหลายทางชีวภาพ แต่ภายหลังที่กลุ่มบริษัทสหวิริยาได้อ้างเอกสารสิทธิ์เข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวเพื่อเป็นพื้นที่ก่อสร้างถนนและท่าเรือน้ำลึก อันส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่
 
ต่อมา เมื่อวันที่ 20 ม.ค.54 คำสั่งศาลปกครองกลาง มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ร้องสอด ด้วยเหตุว่า ผู้ร้องสอดเป็นเพียงผู้อยู่ในชุมชนหรือบริเวณใกล้เคียงกับที่พิพาทเท่านั้น ไม่ได้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองทำประโยชน์ใน น.ส.3ก. จำนวน 52 แปลงที่พิพาท
 
อ่านรายละเอียดคำสั่งเพิ่มเติม: www.enlawthai.org
เรียบเรียงข้อมูลจาก : โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
 
 
 
หนังสือชี้​แจงข้อ​เท็จจริง​ความคืบหน้า กรณีที่ดินของ​เครือสหวิริยาจำนวน 52 ​แปลง
ถูกกรมที่ดิน​เพิกถอนสิทธิ
 
 
นาย​ไพ​โรจน์ มกร์ดารา ​ผู้อำนวย​การฝ่าย​โครง​การพิ​เศษ ​เครือสหวิริยา ขอ​เรียนชี้​แจงว่า จาก​เหตุ​การณ์ที่​เครือสหวิริยา ​ได้ถูกกรมที่ดิน​เพิกถอนสิทธิ​ในที่ดินจำนวน 52 ​แปลง คิด​เป็นพื้นที่กว่า 800 ​ไร่ ที่อำ​เภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ​เมื่อต้นปี 2553 นั้น ​เครือสหวิริยา​ได้ชี้​แจงข้อ​เท็จจริงอย่างต่อ​เนื่อง​ให้กับ​ผู้ที่​เกี่ยวข้อง ​โดย​เฉพาะประชาชน​ในพื้นที่บางสะพาน ​โดยมีข้อ​เท็จจริงตามลำดับ​เหตุ​การณ์ดังนี้
 
ตั้ง​แต่ปี 2534: บริษัท​ใน​เครือสหวิริยา​ได้ถือครองที่ดินดังกล่าว จำนวน 52 ​แปลง จำนวนที่ดิน​ทั้งหมดกว่า 800 ​ไร่ ​โดยบริษัท​ได้​ทำ​การซื้อที่ดินจากคน​ในชุมชนที่นำมาขาย ​ซึ่งมี​การครอบครอง​ทำประ​โยชน์มาตั้ง​แต่​เริ่ม​แรก ​เครือสหวิริยา​ได้ซื้อที่ดินดังกล่าวมา​โดยสุจริต ​เสียค่าตอบ​แทน มี​การจดทะ​เบียนกับหน่วยงานของรัฐ ​และมี​เอกสารที่ถือครองอยู่ออก​โดยหน่วยงานของรัฐอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
 
ปี 2550: กลุ่มอนุรักษ์​แม่รำพึง​ได้ร้อง​เรียน​ให้กรมที่ดินมาตรวจสอบพื้นที่ 52 ​แปลงดังกล่าว
 
ปี 2550-2553: กรมที่ดิน​ได้รับ​เรื่อง​และตั้งคณะกรรม​การตรวจสอบกันมาระยะหนึ่ง ​และ​เมื่อต้นปี 2553 กรมที่ดิน​ได้มี​การออกหนังสือ​แจ้งมายัง​เครือสหวิริยาว่า จะดำ​เนิน​การ​เพิกถอนสิทธิ​และขอ​แก้​ไข​เอกสารสิทธิบางส่วนที่บริษัทถือครองอยู่
 
29 มกราคม 2553: ​เครือสหวิริยา​ได้​ทำ​การอุทธรณ์คำสั่งที่กรมที่ดิน​ใน​การ​เพิกถอน ​และ​แก้​ไข​เอกสารที่ดินบางส่วนของ​เครือสหวิริยา
 
8 มิถุนายน 2553: ​เครือสหวิริยา​ได้รับหนังสือ​แจ้งผล​การพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2553 ว่า รองปลัดกระทรวงมหาด​ไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจ​การ​ความมั่นคงภาย​ใน ​ได้พิจารณาคำอุทธรณ์ของ​เครือสหวิริยา​แล้ว​เห็นว่า คำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน​ให้​เพิกถอน​และ​แก้​ไข น.ส.3ก. จำนวนประมาณ 52 ​แปลง ​ซึ่งมีชื่อบริษัท​ใน​เครือสหวิริยาถือสิทธิครอบครองดังกล่าว​เป็น​การชอบ​แล้ว ​และ​ได้ยกอุทธรณ์ของ​เครือสหวิริยา
 
1 กันยายน 2553: ​เครือสหวิริยา​ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ภาย​ในระยะ​เวลา 90 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด​ในรายละ​เอียดดังนี้
 
1.ขอ​ให้​เพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่​ให้​เพิกถอน น.ส.3ก. ​และขอ​ให้​เพิกถอนคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ของรองปลัด มท.(คดีดำที่ 1335/53)
2.ยื่นคำร้องขอทุ​เลา​การบังคับตามคำสั่งทางปกครอง
3.ยื่นคำร้องขอ​ให้กำหนดวิธี​การ​หรือมาตร​การ​เยียวยาก่อนศาลมีคำพิพากษา
 
​โดยศาลประทับรับคำฟ้อง​เรียบร้อย ​และ​ได้มี​การ​ไต่สวน​เพื่อพิจารณา​เกี่ยวกับคำขอทุ​เลา​การบังคับตามคำสั่งทางปกครอง ​เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2553 ​และศาลพร้อมดำ​เนิน​การ​ในขั้นตอนที่​เกี่ยวข้องต่อ​ไป
 
​เครือสหวิริยา ​ใคร่ขอ​เรียนว่า กรณีดังกล่าว​เป็น​การ​เข้าซื้อที่ดิน ที่มี น.ส.3ก. ​หรือมี​เอกสารสิทธิมา​โดยชอบตั้ง​แต่ปี 2534 ​แล้ว ​จึง​เข้า​ใช้ประ​โยชน์ที่ดินต่อ​เนื่องกันมาจน​ถึงปัจจุบัน ​การที่กรมที่ดิน​เพิกถอน น.ส.3ก. จำนวน 52 ​แปลง ​เครือสหวิริยา ​ได้​เรียนยืนยันมา​โดยตลอด​เวลาว่า มี​การซื้อที่ดินดังกล่าวมา​โดยสุจริต ​เสียค่าตอบ​แทน มี​การจดทะ​เบียนกับหน่วยงานของรัฐ ​และ​เอกสารที่ถือครองอยู่​ได้ออก​โดยหน่วยงานของรัฐ ​จึง​ไม่มี​เจตนาบุกรุกที่ดินของรัฐ​แต่ประ​การ​ใด ​และกรณี​การถูก​เพิกถอน​เอกสารสิทธิ น.ส.3ก. ​เครือสหวิริยา ​ได้ฟ้องร้องขอ​ความ​เป็นธรรม ตลอดจนพึ่งบารมีศาลปกครอง​ไปภาย​ในระยะ​เวลาที่กรมที่ดินกำหนด​ให้​แล้ว
 
​เครือสหวิริยา ​จึงขอย้ำว่า จากนี้​ไปจะ​ไม่ขอชี้​แจง​เพิ่ม​เติม​ในประ​เด็นนี้อีก ​เพราะ​เรื่องอยู่​ในกระบวน​การพิจารณาของศาลปกครอง​แล้ว ขอ​ให้ศาลสถิตย์ยุติธรรมท่านพิจารณาตัดสินชี้ผิดถูก ​ซึ่ง​เครือสหวิริยา​ก็พร้อมจะน้อมรับทุกประ​การ
 
 
สอบถามข้อมูล​เพิ่ม​เติม: ​ทีมสื่อสาร​เครือสหวิริยา โทร.0 2285 3101 - 10 # 601-603
 
 
 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใบหน้า ‘พฤษภา 53’: (1) สุภชีพ จุลทัศน์ “ถ้าตาย ให้ไปแจ้งที่อิมฯ ตามรหัส นปช.”

Posted: 28 Sep 2011 08:18 AM PDT

 

ชื่อเรื่องเดิม: ถ้าตายให้ไปแจ้งที่อิมพีเรียล BIG C ลาดพร้าว ตามรหัส นปช.

โดย เพียงคำ ประดับความ

 

หมายเหตุ:

สารคดีชุดนี้เป็นร่างแรกของหนังสือ "วีรชน 19 พฤษภา: คนที่ตายมีใบหน้า คนที่ถูกฆ่ามีชีวิต" ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมและจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อ่าน โดยจะสัมภาษณ์ครอบครัวผู้เสียชีิวิตเพื่ิอรวบรวมเรื่ิิองราวที่สะท้อนถึงตัวตนของประชาชนผู้เสียชีวิตทั้งหมดในเหตุการณ์สลายการชุมนุมวันที่ 14-19 พฤษภาคม 2553 ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนข้อมูลเบื้องต้นเป็นอย่างดียิ่งจากคุณพเยาว์ อัคฮาด และประชาไท และยังยินดีเปิดรับข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อติดต่อสัมภาษณ์ครอบครัวของผู้เสียชีวิตให้ครบเท่าที่จะเป็นไปได้ หากท่านใดมีข้อแนะนำ สามารถติดต่อได้ที่ readjournal@gmail.com

 

 1

 

“นปช.สุภชีพ จุลทัศน์

สมาชิกเลขที่ 044116

ขอให้ลูกๆ มีความสุข

สุขสันต์วันเกิดแอม

12 พฤษภาคม 2536

ถ้าตายให้ไปแจ้ง

ที่อิมพีเรียลBIGCลาดพร้าว

ตามรหัส 044116”

 

 สุภชีพ จุลทัศน์ คนขับแท็กซี่ชาวศรีสะเกษวัย 36 ปี ใช้ดินสอเขียนข้อความนี้บนกระดาษที่ฉีกจากสมุดบันทึก แล้ววางทิ้งไว้บนหัวเตียง พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนและโทรศัพท์มือถือ ก่อนออกจากห้องเช่า ที่เขาอาศัยอยู่กับภรรยา ไปร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2553

หลังจากนั้นหนึ่งวัน เขาถูกยิงเข้าศีรษะ บริเวณซอยรางน้ำ-ราชปรารภ...เสียชีวิต

ภรรยาของเขาเรียกกระดาษแผ่นนี้ว่า “ใบสั่งตาย”

 

 

ในวันสุดท้ายที่ออกจากบ้าน เขาไม่ใช่ “นายสุภชีพ จุลทัศน์” หากคือ “นปช.สุภชีพ จุลทัศน์” บัตรยืนยันสถานะพลเมืองไทยถูกวางทิ้งไว้ข้างหลัง พร้อมโทรศัพท์มือถือ อันเป็นสื่อเชื่อมต่อระหว่างตัวเขาและผู้คนทั้งหมดที่มีในชีวิต รหัสบัตรที่เขียนบอกเมียอย่างแจ่มชัดนั้น ดูเหมือนถูกคาดหวังว่าจะช่วยลบคราบน้ำตาแก่คนที่เขารักได้บ้าง หากตัวเขาไม่ได้กลับมา วันที่ซึ่งระบุไว้ในใบสั่งตาย “12 พฤษภาคม 2536” คือวันเกิดของลูกสาวคนโต แน่นอนว่าในสมรภูมิที่คู่ต่อสู้มีกำลังไม่ทัดเทียมกัน การกระโจนเข้าร่วมรบในฝ่ายเสียเปรียบ แทบไม่ต่างจากการเดินเข้าสู่หลักประหาร คำอวยพรวันเกิดที่ตั้งใจเขียนทิ้งไว้ให้ลูกสาว คือสิ่งบอกย้ำว่า การตัดสินใจเช่นนั้น มิใช่ไม่คิดถึงคนข้างหลัง

สถานการณ์ได้เดินทางไปถึงจุดแตกหักแล้ว ในวันที่ นปช.สุภชีพออกไปร่วมชุมนุมครั้งสุดท้าย เย็นวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ถูกยิงเข้าศีรษะ ขณะยืนให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวอยู่บริเวณแยกศาลาแดง อาการสาหัส ยังไม่รู้เป็นตาย ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา นายชาติชาย ชาเหลา คนขับแท็กซี่ชาวอำเภอปราสาทจังหวัดสุรินทร์ ถูกยิงเข้าศีรษะ เสียชีวิตขณะถือกล้องถ่ายวิดีโออยู่ตรงข้ามสวนลุมพินี ปฏิบัติการกระชับพื้นที่โหมปะทุขึ้นแล้วอย่างทารุณ มีผู้บาดเจ็บล้มตาย...คนแล้วคนเล่า

ไม่มีใครรู้ว่า หากย้อนทุกสิ่งคืนกลับมาได้ สุภชีพ จุลทัศน์ จะยังตัดสินใจทำเช่นนั้นอยู่อีกหรือไม่ แต่สำหรับภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของเขา เธอบอกกล่าวอย่างไม่ลังเลว่า ยังอยากย้อนกลับไปแก้ไขเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

“พี่ไม่เคยให้เขาไปเลย มีแต่บอกว่าไม่ต้องไป เราทำมาหาเช้ากินค่ำเลี้ยงลูกเราดีกว่า เขาก็บอกแต่ว่าเขาชอบ เขาชอบมาก เขาอยากไป เราไม่ได้ดูถูกความตั้งใจของเขา เขามีอุดมการณ์ของเขา แต่ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ถ้ารู้ว่าเขาจะตายวันที่สิบห้า พี่จะพาเขากลับมาบ้านตั้งแต่วันที่สิบสองแล้ว” หม้ายประชาธิปไตยกล่าวด้วยน้ำเสียงหดหู่

 

2

 

 

เย็นวันที่เราเดินทางไปยังบ้านไม้สองชั้นกึ่งปูน เลขที่ 16 ในหมู่บ้านหนองเข็ง หมู่ 3 ตำบลโพนเขวา อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษนั้น รุ่งทิพย์ สุพิศ หรือ “น้อย” อดีตกุ๊กรายวันโรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ (Swissotel Le Concorde Bangkok) วัยสามสิบเจ็ดปี เพิ่งกลับจากขายข้าวแกงที่โรงเรียนมัธยมในตำบลใกล้เคียง

เธอต้อนรับเราที่แคร่ไม้ใต้ถุนบ้าน พร้อมไปกับการดูแลพ่อที่ป่วยเป็นอัมพฤกษ์ของเธอ เสื้อสีแดงสดที่หญิงร่างเล็กผู้นี้สวมใส่ กับกำไลข้อมือยางสีเดียวกัน ทำให้เราคาดเดาไปว่าเธอคงเคยไปร่วมชุมนุมกับสามี หรือไม่ก็คอยสนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอยู่ข้างหลัง

แต่เมื่อได้พูดคุยกัน น้อยบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า “พี่ไม่ชอบการชุมนุม ไม่ชอบเลย ที่ใส่เสื้อดงเสื้อแดงนี่ก็ไม่ใช่ว่าชอบนะ แต่พี่เป็นคนเกิดวันอาทิตย์ พี่จะใส่สีแดงของพี่เป็นปกติอยู่แล้ว”

ข้อมูลจากเว็บไซต์ออนไลน์อธิบายการตายของสุภชีพไว้เพียงสั้นๆ เหมือนๆ กันเกือบทุกเว็บว่า “นายสุภชีพ จุลทัศน์ อายุ 36 ปี แผลที่ศีรษะ เสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาล” หนังสือรับรองการตายของโรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่า “บาดแผลกระสุนปืนลูกโดดความเร็วสูงที่ศีรษะ”

น้อยย้อนเล่าถึงวันที่ได้พบหน้าสามีเป็นครั้งสุดท้ายว่า

“วันนั้นเราแยกกันตรงรถไฟฟ้าห้วยขวาง ตอนห้าโมงเย็น พี่จะไปทำงานต่อ เขาก็แยกไปของเขา ก่อนไปพี่ก็บอกเขาอยู่นะว่าอย่าเข้าไปตรงนั้น เขาก็ไม่ได้ว่าอะไร บอกแค่ว่าดูแลลูกให้ดี ก็คิดว่าเขาเข้าบ้านเช่า คืนนั้นพี่โทรหายังไงเขาก็ไม่รับสาย เลิกงานกลับถึงห้องตอนตีสอง เห็นใบนี่วางไว้ วันนั้นก่อนออกไปเขาไม่ได้เขียนไว้นะ คงเข้ามาเขียนทีหลัง คือเขาเขียนสั่งไว้เลยว่าถ้าตายให้ไปแจ้งที่อิมพีเรียลลาดพร้าว ตามรหัส นปช. ของเขา เขียนตัวเบ้อเริ่มเลย โทรศัพท์มือถือก็ไม่เอาไป มิน่าโทรเข้าถึงไม่รับสาย มีแต่เบอร์พี่โชว์ในเครื่อง บัตรประชาชนก็เอาวางไว้ เอาไปแค่บัตรแดงนปช. ใบเดียว วันที่ตายก็บัตรนั้นแหละแขวนคอเขาอยู่”

“สุภชีพ จุลทัศน์” หรือ “ชีพ” เกิดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2517 ที่บ้านลำเพียก ตำบลสระตะเคียน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา เมื่ออายุได้ 5-6 ขวบ พ่อแม่พาย้ายมาอยู่ที่บ้านโพธิ์ ตำบลโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของแม่ หลังเรียนจบ ป.6 ที่โรงเรียนบ้านโพธิ์โนนจานอีลอก ได้ช่วยพ่อแม่ทำนาอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนเข้าไปหางานทำในกรุงเทพฯ ต่อมาจึงได้พบกับน้อย และอยู่กินกันมาตั้งแต่ปี 2535

“อายุพี่ตอนนั้นสิบแปดปี เขาสิบเจ็ด เขามาทำงานร้านอาหารที่พี่ชายพี่ทำอยู่ ก็เลยได้เจอกัน” น้อยเล่าถึงวันคืนเมื่อเกือบยี่สิบปีก่อน “จริงๆ บ้านเราอยู่ห่างกันแค่สามกิโลฯ แต่ไม่เคยรู้จักกันหรอก ไปรู้จักกันที่กรุงเทพฯ ก็อยู่กินกันมา พอมีลูกก็เอาฝากให้พ่อแม่พี่เลี้ยงอยู่ที่บ้านนี้แหละ ลูกพี่อยู่กับตายายมาตั้งแต่ขวบ”

ปัจจุบัน นางสาวศิริสุข จุลทัศน์ หรือ “แอม” ลูกสาวคนโตของน้อยและสุภชีพ อายุ 18 ปี กำลังเรียนอยู่ชั้น ม.5 โรงเรียนไกรภักดีวิทยาคม ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลโพธิ์ที่สุภชีพเติบโตมา ส่วนลูกสาวคนเล็ก ด.ญ.ศิริพร จุลทัศน์ หรือ “อู๋” อายุ 13 ปี เรียนอยู่ชั้น ม.1 โรงเรียนเดียวกัน

หลังการตายของสามีไม่นาน นายถา สุพิศ พ่อวัยชราของน้อย ก็มาล้มป่วยด้วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ จนเป็นอัมพฤกษ์ดูแลตัวเองไม่ได้ น้อยตัดสินใจทิ้งงานกุ๊กโรงแรมห้าดาวที่เธอบอกว่าเสียดายเงินเดือนเดือนละเก้าพันบาทสำหรับคนจบแค่ ป.หก เดินทางกลับศรีสะเกษเพื่อดูแลพ่อที่ป่วยและลูกสาวสองคนที่กำลังวัยรุ่น อาศัยขายข้าวแกงในโรงเรียนมัธยมที่ลูกสาวทั้งสองเรียนอยู่ พอได้เงินจุนเจือครอบครัว

การเดินทางกลับภูมิลำเนาครั้งนี้ของน้อย เกิดขึ้นเร็วกว่าที่ตั้งใจ

“ทีแรกว่าจะเก็บเงินปลูกบ้านให้ได้ก่อน พ่อพี่ยกที่ดินให้ ก็ไม่ถึงงานหรอก แต่พอปลูกบ้านได้อยู่ ตั้งใจว่าถ้าปลูกบ้านได้ก็จะย้ายกลับมา เราลูกชาวนา พออายุมากก็หนีไม่พ้นการทำนาหรอก มาเก็บผักหาปูหาปลาเอา บ้านไม่ต้องเช่า แถวบ้านนอกมันก็พอมีกินอยู่”

แม้ไม่ได้คิดฝันใหญ่โต แต่สองสามีภรรยาที่มีต้นทุนการศึกษาแค่ ป.6 ทำงานเป็นแรงงานระดับล่าง ดำรงชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ที่ค่าครองชีพสูง ทั้งยังต้องเจียดเงินส่งให้พ่อแม่เลี้ยงลูกสองคนที่ต่างจังหวัด การเก็บเงินปลูกบ้านไม่ใช่เรื่องจะทำให้สำเร็จได้โดยง่าย แม้พยายามทุ่มเททำงานหนักเพียงใดก็ตาม

หลายปีที่ผ่านมา ทุกลมหายใจเข้าออกของน้อยมีแต่งานและครอบครัว เธอเป็นผู้หญิงตัวเล็กที่ทำงานหนัก ทุกวันหลังเลิกงานกุ๊ก ยังไปรับจ้างล้างแก้วต่อที่บาร์ญี่ปุ่น ได้ค่าแรงเพิ่มอีกวันละสองร้อยกว่าบาท แต่ละวันมีเวลานอนเพียงสองสามชั่วโมง

“พี่เข้างานเจ็ดโมงเช้า เลิกสี่โมงเย็น อาบน้ำเสร็จหกโมง ก็ไปต่ออีก เลิกตีสอง คือเลิกงานโรงแรมแล้วพี่ไปรับจ๊อบต่อที่บาร์ญี่ปุ่น แถวสุขุมวิทสามสิบเก้า นั่งรถไฟฟ้าไปจากห้วยขวาง วันละยี่สิบห้าบาท ไปรับจ้างล้างแก้วเล็กๆ ให้เขา คอยตัดผลไม้แล้วก็เปิดเบียร์ยื่นให้เด็กบาร์ไปเสิร์ฟอีกทีหนึ่ง”

แต่สำหรับสุภชีพ จุลทัศน์ ดูเหมือนเขาเลือกใช้ชีวิตอีกแบบ น้อยบอกว่าเขาชอบงานอิสระ และรักความยุติธรรม

“เขาเข้าๆ ออกๆ งานนู้นงานนี้ตลอด เคยไปทำงานอยู่กับพี่ เป็นสจ๊วตล้างจาน ได้วันละสองร้อยห้าสิบ ทำได้สองสามเดือนก็บอกอยากไปขับแท็กซี่ พอเบื่อแท็กซี่ก็ไปรับจ้างตรงนู้นตรงนี้มั่ง แต่สุดท้ายก็กลับมาตายที่แท็กซี่เหมือนเดิม เป็นยามก็เคยเป็นนะ แต่ทำได้ไม่นาน เขาเบื่อเจ้านายด่า เพื่อนร่วมงานเอาเปรียบ เขาเป็นแบบนี้ พี่ก็บ่นจนพี่เหนื่อย เพราะแต่ละเดือนค่าใช้จ่ายมันเยอะ ค่าเช่าห้องก็สามพันแล้ว บางเดือนก็หาไม่ทัน ไม่ได้ส่งให้พ่อแม่กิน ไม่ได้ส่งให้ลูก”

น้อยเป็นคนพูดจาโผงผางเสียงดัง ขณะสุภชีพมีนิสัยตรงกันข้าม

“เขาจะเป็นคนเงียบๆ เรียบร้อยอยู่ ชีวิตเขาก็เรียบๆ จะเฉื่อยหน่อย แต่เวลาพูดอะไรเขาก็ฟังอยู่ ถึงไม่ปฏิบัติตามเท่าไหร่ก็เถอะ” เมื่อพูดมาถึงตรงนี้ น้อยเสียงเบาลง “คือเราก็รู้ใจเขา เขาจะเป็นคนซื่อๆ พี่จะคอยช่วยเขาตลอด ไม่ว่าจะเรื่องอะไร...แต่เขาก็รักครอบครัว รักลูกมาก มีอะไรก็อยากให้ลูกได้กิน เพียงแต่ที่ผ่านมาเขาหาไม่ค่อยได้ เขาก็พูดอยู่ว่าลูกอยากได้นู่นได้นี่ก็ให้ไม่ได้ บางทีฝากเงินลูกไว้ก็มายืมลูกคืน เขาเป็นซะอย่างนี้”

 

 

3

 

ช่วงก่อนที่สุภชีพจะเสียชีวิต...เขาเช่าห้องอยู่กับน้อย ใกล้ๆ โรงแรมที่น้อยทำงานอยู่ แต่เวลางานไม่ตรงกัน บางวันสองสามีภรรยาจึงแทบไม่ได้เจอหน้ากันเลย อาศัยติดต่อกันทางโทรศัพท์

“เราโทรคุยกันตลอด อยู่ไหน กินข้าวรึยัง เอารถเข้าอู่รึยัง เดี๋ยวเจ๊โทรตาม เจ๊เจ้าของอู่จะโทรมาตามกับพี่ เพราะเราเป็นคนค้ำรถแท็กซี่ให้ไง ถ้าเอารถเข้าอู่แล้วก็เออ แล้วไป เราก็จะไม่ห่วงแล้ว ส่วนมากเขาก็ไม่ไปไหนไกล มีครั้งนี้แหละที่เขาไปไม่กลับเลย”

สุภชีพเริ่มไปชุมนุมกับคนเสื้อแดงในปีที่เขาเสียชีวิตนั้นเอง เท่าที่น้อยรู้

“ช่วงกุมภามีนาปีที่แล้วนี่แหละ เขาเริ่มจะชอบเสื้อแดงแล้ว ได้ยินเขาพูดว่าเห็นเขาชุมนุมกัน เขาขับแท็กซี่ผ่านเก็เจอ บางทีก็กลับมาเล่าว่าเขาเจอแต่คนคุยกันเรื่องเสื้อแดงเสื้อเหลือง แต่ก่อนมันจะมีเสื้อเหลืองก่อนไง ที่ตอนนั้นเขาจะกู้ชาติๆ อะไรกันนั่นแหละ ตั้งแต่นั้นเขาก็จะติดมาเลย”

ระยะหลังคนไม่ค่อยพูดอย่างสุภชีพ พูดแต่เรื่องการเมืองให้เมียฟัง

“เขาบอกเขาไม่ชอบรัฐบาลชุดเมื่อกี้ เพราะโกงเขามา ปล้นเขามา แล้วยังจะมีหน้าไปนั่งอยู่ทำไม ในเมื่อประชาชนไม่เชื่อใจคุณเลย บริหารประเทศก็ไม่ได้” น้อยพยายามเรียบเรียงคำพูดของสามี “อุดมการณ์ของเขามันมาก พี่ห้ามเขาอยู่ บอกว่ามันเป็นเรื่องของผู้ใหญ่เขา เราแค่คนหาเช้ากินค่ำ ประชาชนธรรมดา ไม่ต้องไปยุ่งหรอก เขาบอกว่าไม่ใช่ว่าเขาอยากยุ่ง แต่ทีนี้มันไม่ถูก ต่อไปจะข้าวยากหมากแพงกว่านี้ คำนี้เขาเคยพูดกับพี่ ข้าวของแพงมากเลย ขนาดเราอยู่กรุงเทพฯ เงินร้อยหนึ่งใช้ไม่ถึงห้านาทีหมดแล้ว เขาบอกเขาต้องทำเพื่อลูกหลาน อนาคตจะได้ไม่ลำบาก เขาอยากให้ประเทศชาติมันดีขึ้น...ทุกคนมีสิทธิคัดค้าน เขาก็เป็นคนคนหนึ่งในเมืองไทย เป็นคนคนหนึ่งในโลกนี้ ต้องมีสิทธิ ไม่ใช่ปล่อยให้คนทำผิด ไม่ห้าม”

แน่นอนว่าสามีของน้อยชื่นชอบอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เช่นเดียวกับคนเสื้อแดงอีกมากมาย

“นายกฯ ทักษิณมาจากการเลือกตั้ง เขาชอบพูดอย่างนี้ พี่ก็จะบอกว่าใครจะมาจากการเลือกตั้งก็เรื่องของเขา เราก็หาของเราไป เขาบอก ไม่ได้ ขนาดกำนันผู้ใหญ่บ้านยังต้องเลือกตั้งเลย ถ้าไม่เลือกตั้งใครจะให้เป็นผู้นำ คือเขาไปแล้วบางทีเขาไม่กลับ พี่ก็ถามว่าไปอยู่ที่ไหน ไปกินอะไร เขาก็บอกว่าอยู่ในนั้นแหละ ที่เขาประท้วง แถวสนามหลวงมั่ง หน้าบิ๊กซีลาดพร้าวก็ไป บางทีเขาไม่กลับ ไม่ขับรถ ปัญหามันก็เกิด ค่ารถไม่ได้ส่ง...วันที่เขาตาย เจ้าของแท็กซี่ยังบอกอยู่ว่ามันค้างค่าเช่าป้านะลูก คือเขาไปทุกวันตอนเย็น เอารถเข้าอู่แล้วต่อรถเมล์ไป พี่คิดว่าเขาไปทุกวัน เพราะกลับมาที่ห้องแล้วไม่เจอ เป็นอย่างนั้นทุกวันจนเขาเสีย...ยิ่งห้ามก็ยิ่งทะเลาะกัน”

นอกจากคอยบ่นและห้ามไม่ให้สุภชีพเข้าไปร่วมชุมนุมแล้ว น้อยยอมรับว่า ในตอนนั้นเธอแทบไม่ได้สนใจความกระตือรือร้นที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองของสามีเลย

“ตอนเขาไปทำบัตร นปช. เขาก็เอามาโชว์นะ บอกว่าเป็นบัตร นปช. เป็นแนวร่วมอะไรเขาก็พูดของเขา เราก็ฟัง แต่ไม่ได้สนใจ พี่ทำแต่งาน ไม่สนใจเลยด้วยซ้ำ เขาได้เข้าไปฟังอะไรต่ออะไร บางทีก็มาเล่าให้ฟัง เวลาเห็นอภิสิทธิ์อยู่ในทีวีเขาก็จะบ่น หูย ไอ้ห่า บริหารก็ไม่ได้เรื่องยังมีหน้าคอตั้ง เขาก็ด่าของเขาไป เราก็ปล่อย บางทีก็เดินไปห้องเพื่อน เดินหนีดีกว่า บ่นคำสองคำเขาก็นอน ปกติเขาไม่ใช่คนพูดมากอยู่แล้ว”

ในวันที่คนเสื้อแดงเดินขบวนใหญ่ เมื่อมีขบวนรถที่เต็มไปด้วยริ้วผ้าและธงแดงเคลื่อนผ่านย่านห้วยขวาง-รัชดา น้อยเห็นสามีของเธอออกไปยืนโบกธงแดงให้ผู้ชุมนุมอย่างมีความสุข

“เขาเคยซื้อเสื้อความจริงวันนี้มาฝาก บอกเนี่ย ซื้อมาให้ใส่ ใส่สิ ใส่ไปทำงานเลยก็ได้ พี่บอกพี่มีเสื้อแดงของพี่อยู่แล้ว พี่ไม่ใส่หรอก เขาก็เลยเอาไปใส่เอง”

นปช.สุภชีพ จุลทัศน์ ไปร่วมชุมนุมเพียงลำพัง...เพื่อนไปหาเอาข้างหน้า

 

4

 

 

“หนองเข็ง” เป็นหมู่บ้านใหญ่ อยู่ห่างจากตัวเมืองศรีสะเกษเพียงสิบกิโลเมตร พ่อของน้อยเคยเป็นผู้ใหญ่บ้าน เมื่อไปถามหานางรุ่งทิพย์ สุพิศ ชาวบ้านหนองเข็งหลายคนไม่รู้จัก เพราะน้อยเข้ากรุงเทพฯ ไปตั้งแต่วัยรุ่น แต่หากบอกว่าลูกสาวผู้ใหญ่ถาหรือผู้ใหญ่เก่า หรือไม่ก็เมียคนเสื้อแดงที่ถูกยิงตายที่กรุงเทพฯ ชาวบ้านหลายคนรู้จักดี

ในวันที่เราเดินทางไปนั้น “แอม” ลูกสาวคนโตของน้อยกลับจากโรงเรียนมาถึงราวห้าโมงเย็น เธอเอากระเป๋าไปเก็บในบ้าน แล้วออกมาช่วยแม่ดูแลตา พร้อมนั่งฟังการสนทนาไปพลางๆ

ก่อนหน้าที่สุภชีพจะเสียชีวิต ทุกปิดเทอมเขาจะรับลูกสาวทั้งสองไปอยู่ด้วยที่กรุงเทพฯ ปิดเทอมใหญ่ในฤดูร้อนของทุกปี คือช่วงเวลาที่พ่อแม่ลูกได้อยู่พร้อมหน้ากันยาวนานที่สุด ปีที่ผ่านมาก็เช่นกัน แอมกับอู๋ไปพักอยู่ที่ห้องเช่าย่านห้วยขวาง-รัชดาร่วมหนึ่งเดือน ยามพ่อแม่ออกไปทำงานก็ไปอยู่กับน้าสาวห้องข้างๆ

ช่วงที่ลูกมาอยู่ด้วย โดยมากสุภชีพมีเวลาอยู่กับลูกมากกว่า แต่พ่อที่เงียบขรึมกับลูกสาววัยรุ่น ไม่ค่อยสนิทกันนัก

“ลูกเขาอยู่กับตายายตั้งแต่เด็ก เลยไม่ค่อยสนิทกับพ่อ จะสนิทกับแม่มากกว่า พ่อเขาเป็นคนไม่ค่อยพูด เวลาอยากรู้ว่าลูกอยากได้อะไรก็จะบอกให้เราไปถามลูกอีกที คือพ่อลูกคุยกันผ่านแม่ ส่วนมากอยู่กันแบบนี้”

เมื่อหันไปทาง “แอม” ซึ่งนั่งฟังอยู่นานแล้ว สาวน้อยในชุดนักเรียนมอปลาย ปล่อยชายเสื้อออกนอกกระโปรง พูดด้วยท่าทีเรียบๆ ว่า “หนูกับพ่อไม่ค่อยได้คุยกัน คงเพราะเป็นคนนิสัยเหมือนกัน คือหนูก็ไม่พูด เขาก็ไม่พูด แต่กับน้องหนูตอนเป็นเด็กเค้าก็สนิทกับพ่อนะคะ แต่ว่าตอนนี้เค้าจะอาย เพราะโตเป็นสาวแล้ว เวลาพ่อมากอดมาหอมเค้าก็จะไม่ชอบ” ขณะนั้น “อู๋” ยังไม่กลับจากโรงเรียน

แต่ครั้งสุดท้ายที่แอมและน้องเข้าไปอยู่ด้วยที่กรุงเทพฯ นั้น พ่อมาคุยกับแอมเรื่องการเมือง

“พ่อเขาจะชอบมาเล่าเรื่องเสื้อแดง เขาคงจะชอบมาก เขาบอกว่าอภิสิทธิ์ไม่ดี เราก็บอกไม่ดีก็ช่างเขา หนูก็ไม่ได้อะไร คิดว่าตัวเองยังเด็กอยู่ เวลาเห็นรูปนายกฯ ทักษิณ พ่อก็จะบอกว่านี่พ่อของพ่อนะ แล้วก็ยกมือไหว้ ดูพ่อภูมิใจมาก หนูก็ไม่รู้ว่าพ่อชื่นชอบมากขนาดนั้น ก็คิดว่าคงเพราะเราเป็นชาวนามั้ง เพราะเราเสียเปรียบ หนูก็ไม่รู้อะไรมาก ไม่รู้ตื้นลึกหนาบางอะไร...พ่อเขาเคยเอาบัตร นปช.มาอวด บอกว่า นี่พ่อไปทำมา ไปทำมั้ย เขาก็ชวน แต่พอหนูบอกไม่ไป เขาก็ไม่พูดอีก”

สุภชีพส่งลูกสาวทั้งสองกลับศรีสะเกษในวันที่ 6 พฤษภาคม 2553 จากนั้นไม่กี่วัน ปฏิบัติการกระชับพื้นที่...ก็เริ่มขึ้น

สุภชีพไปหาซื้อหนังสะติ๊กมาพกติดตัวไว้...

ก่อนออกไปชุมนุมครั้งสุดท้ายหนึ่งวัน เขาไปขอยืมรองเท้าผ้าใบจากน้องเขยที่พักอยู่แถวลาดพร้าว โดยไม่บอกว่าจะไปไหน น้องเขยก็ไม่ได้เอะใจ ไม่คิดว่าคู่เขยของตนจะออกไปร่วมชุมนุม เพราะสถานการณ์ขณะนั้นเข้าขั้นวิกฤติแล้ว

ส่วน “น้อย” ยังคงจดจ่ออยู่กับการทำงานเหมือนเคย

กระทั่งสามีหายไปจากบ้านหลายวันติดต่อกัน เธอจึงเริ่มสังหรณ์ใจ

“ตอนแรกที่เขาไปแล้วเขียนใบสั่งตายทิ้งไว้ พี่ยังว่าใบอะไร ไม่รู้เรื่อง ก็ปล่อยวางอยู่ที่เดิมนั่นแหละ เช้าก็ไปทำงานตามปกติ พอกลับมาอีกวันเขาก็ยังไม่กลับมา พี่ก็ยังไม่คิดอะไร คิดว่าเดี๋ยวก็กลับมาเอง” แต่พอหลายวันเข้า น้อยเริ่มเป็นกังวล ลองโทรไปตามที่บ้านศรีสะเกษ พ่อแม่เขาก็ว่าไม่ได้กลับไป “จนวันที่สิบเก้า น้องเขยมาบอกว่าฝันเห็นเขามาหา โกนหัวมาเลย ก็เลยไปตามหา”

น้อยเริ่มต้นตามหาสามีที่โรงพยาบาลจุฬาฯ จากนั้นไปโรงพยาบาลตำรวจ แรกทีเดียวเธอคิดว่าสามีอาจถูกจับไปขัง แต่เมื่อตามหาไม่พบ จึงเริ่มมาคิดใหม่

“พอหาไม่เจอก็เริ่มใจไม่ดี คิดว่าบางทีเขาอาจจะตายแล้ว ก็เลยไปที่โรงบาลรามาฯ ไปห้องศพเลย ถามเขาว่ามีคนชื่อสุภชีพ จุลทัศน์มั้ยคะ เขาบอกว่ามี เป็นศพม็อบ จะดูมั้ย เราก็บอกว่าดู เขาก็กดคอมให้ดู ใบหน้าเขาชัดเจนเลย เขาใส่เสื้อแท็กซี่ มีเป้สะพาย แล้วก็มีป้ายแขวนบัตร นปช. เขาถูกยิงนัดเดียว (ชี้ที่หัว) ผ่าเลย”

หลักฐานในตัวสุภชีพมีเพียงบัตร นปช. สีแดงใบเดียว ซึ่งระบุไว้แต่ชื่อ-นามสกุล ไม่มีที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ ทางโรงพยาบาลจึงไม่สามารถติดต่อญาติได้

“ตอนนั้นพอเขาดึงศพออกมาพี่ก็ร้องไห้ ไปจับแขนเขา ไปดูว่าเป็นเขาจริงๆ ตอนแรกก็โกรธ คิดว่าทำไมเขาต้องไป ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ เราคนเดียวจะเลี้ยงลูกโตมั้ย ไม่เคยคิดเลยว่าเขาจะไปเร็วขนาดนี้ เขาก็ยังหนุ่มยังแน่นอยู่ คนตัวเบ้อเริ่ม สูงร้อยเจ็ดสิบ” น้อยเล่าเสียงเบา ดวงตาช้ำ

ขณะที่น้อยออกตามหาสามีนั้น ชื่อของ “สุภชีพ จุลทัศน์” ถูกตีพิมพ์บนหน้าหนังสือพิมพ์ข่าวสด รวมอยู่ในรายชื่อผู้เสียชีวิตแล้ว หลังกลับจากโรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งดึงหนังสือพิมพ์หน้านั้นออกมาให้น้อยดู

“พอกลับมาก็มีเพื่อนที่ทำงานด้วยกันมาบอกว่าแฟนพี่เสียแล้ว เนี่ยเห็นแต่ชื่อ เขาวงกลมชื่อไว้ ไม่รู้เป็นพี่ชีพรึเปล่า เพราะนามสกุลเขียนไม่เหมือนกัน หนังสือพิมพ์เขาเขียนทอรอไง (จุลทรรศน์) เขาก็เลยไม่แน่ใจ แต่ตอนที่เขามาบอกน่ะ พี่รู้แล้ว พี่เจอศพแล้ว”

น้อยบอกว่าเพื่อนคนนี้เคยทำงานล้างจานกับสุภชีพ และเคยบอกเธอว่า “พี่ชีพเขาชอบเสื้อแดงจะตาย”

 

5

 

ห่างจากบ้านหนองเข็งเข้ามาทางตัวเมืองศรีสะเกษราวสามกิโลเมตร ข้ามทางรถไฟแล้วตรงไปบนทางที่ตัดลัดทุ่งนาสีเขียวจัดในฤดูฝน ถึงหมู่บ้านที่ป้ายหน้าปากทางเข้าเขียนว่า “บ้านโพธิ์” หมู่ 1 ตำบลโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ

ลองถามชาวบ้านที่นั่นว่าบ้านพ่อเฒ่าที่ลูกชายถูกยิงตายตอนเสื้อแดงหลังไหน เขาชี้มือไปทางวัดบ้านโพธิ์ ซึ่งอยู่ติดกับร้านขายของชำประจำหมู่บ้าน ผ่านวัดแล้วเลี้ยวขวา เดินเลาะเข้าไปด้านหลังร้านขายของชำราวห้าร้อยเมตร

บ้านไม้ใต้ถุนสูง เลขที่ 127 สภาพทรุดโทรม มองภายนอกดูเงียบเหงาแม้ตั้งอยู่ในกลุ่มบ้านเรือนหลายหลัง นี่คือบ้านที่สุภชีพ จุลทัศน์ วีรชนแท็กซี่ที่เสียชีวิตในโศกนาฏกรรมกลางเมืองปีก่อน เติบโตมา ปัจจุบันพ่อแม่วัยชราของเขาอาศัยอยู่กับน้องชายคนเล็ก

พ่อเฒ่าเสริม จุลทัศน์ วัย 65 ปี เล่าว่า เขากับนางอักษร แอนโก วัย 55 ปี แม่ของสุภชีพ มีลูกด้วยกันห้าคน สุภชีพเป็นคนโต ปัจจุบันลูกๆ แต่งงานแยกครอบครัวไปหมดแล้ว เหลือเพียงนายอนุสรณ์ จุลทัศน์ ลูกชายคนเล็กวัย 18 ปี ซึ่งกำลังเรียนอยู่ปวช.ปีสุดท้าย ที่วิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ

เดิมลูกชายคนโตของพ่อเฒ่าเสริมและนางอักษรชื่อ “สุภาพ จุลทัศน์” หลังเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ เจ้าตัวไปเปลี่ยนเป็น “สุภชีพ จุลทัศน์” แต่สำหรับพ่อแม่และคนในครอบครัว เขายังเป็น “นายสุภาพ” อยู่เช่นเดิม

“แม่ยังว่าไปเปลี่ยนเฮ็ดหยัง ชื่อสุภาพก็ดีแล้ว พ่อแม่ตั้งให้ เขาบอกชื่อสุภาพมันสู้เขาบ่ได้ มันบ่ทันเขา มันสุภาพโพด” นางอักษรบ่นเรื่องการเปลี่ยนชื่อของลูกชาย

ฝ่ายพ่อเฒ่าเสริมว่าลูกชายคนนี้ของแกเป็นคนสุภาพสมชื่อ

สุภาพเป็นคนเรียนเก่ง หลังจบ ป.6 เขาอยากเรียนต่อ แต่พ่อแม่ซึ่งเป็นชาวนาที่มีที่ดินเพียง 5 ไร่ 1 งาน ทำนาแต่ละปีได้ข้าวไม่พอขาย บางปียังต้องซื้อเขากิน ไม่สามารถส่งเสียให้ลูกชายคนโตที่เป็นแรงงานสำคัญของครอบครัวเรียนต่อชั้นมัธยมได้ สุภาพออกมาช่วยพ่อแม่ทำนาอยู่หลายปี จนเริ่มหนุ่ม จึงได้เข้าไปหางานทำในกรุงเทพฯ

แม่ของสุภาพเล่าว่า เข้ากรุงเทพฯ ครั้งแรก ลูกชายไปทำงานเก็บลูกกอล์ฟ จากนั้นไปเป็นพนักงานส่งรถมอเตอร์ไซค์ ก่อนไปอยู่ร้านอาหาร แล้วถึงได้ไปขับแท็กซี่ “เพิ่นมักขับแท็กซี่ มักคัก มันอิสระ บ่มีคนด่า...ก็ได้เพิ่นนี่แหละ คอยส่งเงินให้พ่อแม่ตลอด เทื่อละสองสามพัน...ก็บ่อยากได้ของเขาดอก ว่าเขามีครอบครัวแล้ว เขาก็ว่าบ่เป็นหยังดอก โทรทัศน์ก็แม่นเขานั่นล่ะ เอามาให้”

แม้ปีหนึ่งได้พบหน้ากันเพียงไม่กี่ครั้ง แต่เมื่อถามถึงความสนใจเรื่องการเมืองของลูกชาย พ่อเฒ่าเสริมตอบทันทีว่า “เพิ่นไปดนแล้ว ตั้งแต่เที่ยวก่อน เพิ่นเล่าให้ฟังอยู่ เคยซื้อแพรแดงมาให้น้องอยู่ น้องก็เอามัดหัวขี่มอเตอร์ไซค์ออกบ้าน”

ปกติสุภาพกลับบ้านปีละสองสามครั้ง ระยะหลังมีรถไฟฟรี ลูกชายคนนี้กลับมาเยี่ยมพ่อแม่บ่อยขึ้น ครั้งสุดท้ายเพิ่งได้เห็นหน้ากันก่อนเขาเสียชีวิตไม่นาน

“เทื่อสุดท้ายมางานศพญาติ ก่อนเดือนพฤษภาบ่ดนดอก ยังมากอดพ่อกอดแม่อยู่ แล้วเพิ่นก็เว้าเรื่องนี้แหละ เรื่องต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย...พ่อก็แนะนำ คั้นเฮามัก เฮาก็สนับสนุนส่งเสริมไป แต่บ่ต้องไปใกล้ กลัวลูกจะไปเป็นไปตาย พ่อแม่ก็ห้ามเป็นธรรมดา เพิ่นก็ว่า คั้นเฮาบ่ไปสู้ คั้นชนะ เขาว่าเฮาอยู่ข้างหลัง ปิดทองหลังพระ ว่าไปจังซั่น”

เมื่อลูกสะใภ้โทรมาถามหาสามีของเธอในช่วงกระชับพื้นที่เมื่อปีก่อน พ่อเฒ่าเสริมกับเมียจึงได้รู้ว่าลูกชายคนโตของแกหายไปในที่ชุมนุมสามวันแล้ว

“ทีแรกคึดมั่นใจว่าบ่เป็นหยัง แต่พอมันหลายวันเข้าก็เริ่มใจหาย ก่อนหน้านั้นก็ว่าแต่รอ หมู่ที่ไปนำกันเขาว่ามันสิออกมาอยู่ พอฟังแล้วก็ดีใจขึ้นมาน้อยหนึ่ง แต่คั้นหลายวันเข้า หยังบ่มา ก็เอิ้นหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยลูก คั้นเสียชีวิตแล้วก็ให้เห็นศพ ได้ข่าวอีกทีก็ว่าเสียแล้ว” พ่อเฒ่าเสริมว่า

21 พฤษภาคม 2553 คือวันที่ได้รู้แน่ชัดว่าลูกชายจากไปแล้วจริงๆ แม่ของสุภชีพบรรยายความรู้สึกในขณะนั้นว่า “หัวอกพ่อแม่ คั้นลูกบ่เคยตาย บ่ฮู้ดอกว่าพ่อแม่เสียใจปานใด หัวใจมันแตกสลาย...” 

ฝ่ายพ่อเฒ่าเสริมว่า “จิตใจเนี่ยบ่เป็นอันกินเลยแหละครับ ทุกเมื่อนี้ผมยังใจบ่ดี คั้นมีงานบวชมีดนตรี ผมยังน้ำตาไหล คิดฮอดลูก แม่เขายิ่งแล้ว แต่ก่อนเพิ่นนี่เห็นรูปลูกชายบ่ได้ ร้องไห้เลย...ก็อยากให้เอาคนผิดมาลงโทษ ทหารมาเฮ็ดแบบนี้บ่ถูกแล้ว บ่ว่านายพลนายพันก็กินภาษีราษฎรแม่นบ่ เฮาก็เป็นมนุษย์คือกัน”

แม้ชาวบ้านโพธิ์ส่วนใหญ่จะสนับสนุนการต่อสู้ของคนเสื้อแดง บางคนเข้ากรุงเทพฯ ไปร่วมชุมนุมอยู่เป็นระยะ ทว่าวันงานศพลูกชายพ่อเฒ่าเสริม กลับมีคนในหมู่บ้านมาร่วมงานน้อยมาก “คนบ้านนี้เขาย่าน บ่กล้ามา กลัวลูกหลง มีแต่คนบ้านอื่นมางาน หมู่เสื้อแดง” พ่อเฒ่าเสริมว่า ท่าทางยังสงสารลูกชาย

หลังลูกชายจากไปในสงครามประชาธิปไตย ที่บ้านไม้ใต้ถุนสูงหลังเก่าของพ่อเฒ่าเสริมและนางอักษร มีป้ายหาเสียงสีแดงผืนใหญ่ติดหราอยู่หน้าบ้าน ประกาศจุดยืนทางการเมืองอย่างไม่ปิดบัง ถึงหน้าเลือกตั้ง พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามไม่เคยย่างกรายเข้ามา

“บ้านอื่นเขาได้เงินกัน แต่บ้านนี้บ่ได้ดอก เขาฮู้ว่าเอามาให้เฮาก็บ่ได้เลือก” พ่อเฒ่าเสริมว่า

 

6

 

เรื่องของสุภชีพ จุลทัศน์ เป็นที่รับรู้ของผู้คนในละแวกบ้านโพธิ์และหนองเข็ง เมื่อเข้าไปในหมู่บ้านแล้วถามหาคนเสื้อแดงที่ถูกฆ่าตายในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปีที่แล้ว ชาวบ้านส่วนใหญ่ชี้มือไปทางบ้านผู้ประสบเหตุได้อย่างไม่ลังเล

วันนี้ผ่านมาปีกว่าแล้ว แต่หญิงหม้ายร่างเล็ก วัยไม่ถึงสี่สิบ ยังไม่อาจก้าวออกจากห้วงทุกข์ที่เกิดขึ้นเมื่อปีกลาย

“ก็ยังคิดถึงเขา อยากให้เขากลับมาเหมือนเดิม มาดูแลลูกด้วยกัน มาช่วยกันทำนา เขาก็ทำนาเป็น มาปลูกผักปลูกอะไรขายก็ได้...เขามาตายมันเหมือนแขนเราขาดไปข้างหนึ่ง ทุกอย่างมันต้องช่วยเหลือตัวเอง ถามว่าพี่ลำบากไหม โคตรลำบากเลย กระสอบข้าวเราก็ยกไม่ได้ ต้องจ้างหลานยกลงมา ทุกอย่างต้องใช้เงินจ้างวานขอร้อง เราเป็นผู้หญิง พ่ออาบน้ำก็ต้องยก แล้วเราตัวเล็กมาก ยกคนเดียวก็ไม่ไหว ค้าขายในโรงเรียน เราก็ทำคนเดียวไม่ได้ มันต้องช่วยกัน คนหนึ่งจัด คนหนึ่งผัด คนหนึ่งตักราด คนหนึ่งเก็บ ตอนนี้มีน้องเขยมาช่วย วันนี้ก็ให้เขาไปแล้วสองร้อยห้าสิบ ต้องให้เขา เพราะไหนจะลูกเมียเขาล่ะ เขาก็ยังต้องชักหน้าชักหลังเหมือนกัน บางวันเหลือสามร้อย สองร้อย ห้าร้อย บางวันเหลือเยอะหน่อยก็หกร้อย คือเขาห่อไปกินเหมือนกัน นักเรียนบ้านนอกน่ะ แต่จะว่าไปมันก็พอได้กิน แต่พี่มีโรคประจำตัว เกิดพี่หัวใจวายตายวันไหน ใครจะดูแลลูก ทุกวันนี้พี่ก็สู้ๆๆๆ คือมึงเป็นเป็นไป กูก็จะสู้ของกูไปอย่างงี้แหละ” น้อยกำมือทั้งสองข้างชูขึ้น พลางเน้นเสียงหนักตรงคำว่า “สู้ๆๆๆ”

หลังความตาย “นปช. สุภชีพ จุลทัศน์” กลายเป็นวีรชน มีคนเอาเงินเยียวยาจากหน่วยงานนั้นหน่วยงานนี้มาให้ แต่สำหรับน้อย หรือ รุ่งทิพย์ สุพิศ แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ทดแทนชีวิตของสามีเธอไม่ได้

“เขาได้คำชมมาว่าเป็นคนกล้า เป็นคนเก่ง มันก็ดี แต่ก็ไม่ได้ภูมิใจมากหรอก เพราะเขาตายไง ถ้าเขายังอยู่ ถึงจะเดินขาพิการก็ยังเห็นกันอยู่ แขนพิการก็ยังมีชีวิต ยังมีรอยยิ้มให้กัน แต่นี่เขาตายไปแล้ว เขาไม่มีวันกลับมาคุยกับเราอีกแล้ว”

ถึงวันนี้ หญิงที่เคยเอาแต่ก้มหน้าทำมาหากิน ไม่รับรู้ร้อนหนาวเรื่องบ้านเมืองอย่างรุ่งทิพย์ สุพิศ ได้ลุกขึ้นมาตั้งคำถามต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ ผ่านการตายของสามีเธอ

“ระบบแบบนี้มันโหดร้ายเกินไป สามีพี่ไปเรียกร้องความยุติธรรม ทำไมต้องได้โลงศพกลับมา เขาไม่ผิด ทำไมถูกประณามว่าเป็นผู้ก่อการร้าย การชุมนุมรบกวนหลายอย่างก็จริง ทำให้เดือดร้อนคนอื่น แต่เขาไม่สมควรทำรุนแรง แค่จับไปขังก็โอเคแล้ว ขังยังได้วันประกันออกมา ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้เขาถูกขัง ไม่อยากให้เขาตาย เพราะพอเขาตาย ทุกอย่างมันพังหมด”

ฝ่ายแอม ลูกสาวคนโตของวีรชนแท็กซี่ชาวอำเภอเมืองศรีสะเกษบอกว่า เธอยังไม่อยากเชื่อว่าพ่อตายจากไปแล้วจริงๆ บางวันนั่งดูรูปพ่อยังน้ำตาไหล “ใครฆ่าพ่อ” เด็กสาววัยสิบแปดตั้งคำถาม... “คนมาเป็นพันเป็นหมื่น ทำไมต้องเป็นพ่อด้วย...ทำไมพ่อถึงต้องจากไปเร็ว หนูยังไม่ทันได้ตอบแทนบุญคุณพ่อเลย”

เราพูดคุยกับน้อยและแอม รวมทั้งพ่อเฒ่าเสริมและนางอักษร เมื่อเดือนสิงหาคม 2554

 

--------------------------------------------------------

 

บทกวีส่งท้าย  

 

“จดหมายสั่งตาย”

 

เสียงปืนดัง เปรี้ยงปร้าง อยู่ข้างนอก

คว้ากระดาษ เขียนคำบอก เมียที่รัก

เมื่อเส้นความ อดทน ถูกโค่นหัก

จงแน่นหนัก หนอเมียแก้ว หากแคล้วกัน

 

พี่ยอมแล้ว ควักหัวใจ ถอดออกวาง

ฝันกระจ่าง ยังเพริศแพร้ว อยู่จอมขวัญ

สู้แค่ตาย ในสงคราม แห่งชนชั้น

เพื่ออนา- คตกาล ลูกหลานเรา

 

หากพ่อตาย ลูกอาลัย พ่อรู้หรอก

ใช่จนตรอก หาทางออก อย่างโง่เขลา

ขอลูกรู้ ว่าพ่อสู้ เพื่อพวกเรา

แม้มือเปล่า จักวิ่งท้า ห่าปืนกล

 

สุขสันต์ วันเกิด นะลูกรัก

เลือดในกาย พ่อแห้งผาก หากยังข้น

ให้ขี้ครอก ทั้งผู้ดี ยากมีจน

ได้เป็นคน เท่าเท่ากัน นั่นพอแล้ว!!

 

แด่...นปช.สุภชีพ จุลทัศน์

วีรชน 92 ศพ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จูเลียน อัสแซนจ์-แบรดลีย์ แมนนิง ติดโผเข้าชิง โนเบลสันติภาพ

Posted: 28 Sep 2011 08:09 AM PDT

 

 


จูเลียน อัสแซนจ์
ภาพจาก
Andrews Gaufer (CC BY 2.0)

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ในจำนวนผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสันติภาพโนเบลในปีนี้ทั้งหมด 241 ราย มีรายชื่อของคนอย่าง ‘จูเลียน อัสแซนจ์’ และ ‘แบรดลีย์ แมนนิง’ รวมถึงคนหนุ่มสาวที่เป็นผู้นำการประท้วงในตะวันออกกลางติดโผอยู่ด้วย

ทั้งนี้ จูเลียน อันแซนจ์ เป็นผู้ก่อตั้งเว็บไซต์วิกิลีกส์ Wikileaks.org ที่เผยแพร่เอกสารลับต่างๆ จำนวนปีละกว่าล้านฉบับ ส่วนแบรดลีย์ แมนนิง เป็นพลทหารของกองทัพสหรัฐฯ ที่ได้นำเอาโทรเลขทางการทูตของทางการสหรัฐออกมาเผยแพร่ทางเว็บไซต์วิกิลีกส์ ทำให้เขาถูกตั้งข้อหาโจรกรรมและปัจจุบันยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำสหรัฐฯ โดยหลายฝ่ายมองว่า วิกิลีกส์มีส่วนในการช่วยให้เกิดการลุกฮือในตะวันออกกลางด้วย

ในรายชื่อดังกล่าว ยังประกอบด้วยผู้นำรุ่นหนุ่มสาว ที่เป็นนักกิจกรรมทางอินเทอร์เน็ตในแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ซึ่งได้ใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการลุกฮือต่อต้านผู้นำเผด็จการในประเทศตนเองในช่วงเหตุการณ์ ‘อาหรับสปริง’(การลุกฮือของชาวอาหรับในฤดูใบไม้ผลิ) ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ยัน เอเกลันด์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของนอร์เวย์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์สว่า เขารู้สึกว่าคณะกรรมการโนเบล และผู้ที่มีส่วนในการตัดสินใจมอบรางวัล น่าจะต้องการสะท้อนประเด็นระหว่างประเทศที่สำคัญ โดยยึดหลักคำนิยามกว้างๆ ของคำว่าสันติภาพ

“และสืบเนื่องจากเหตุผลดังกล่าว ปีนี้ มันก็คือเหตุการณ์ ‘อาหรับสปริง” เขากล่าว “ไม่มีอะไรที่มาเทียบกับเหตุการณ์นี้ในฐานะที่เป็นจุดเปลี่ยนแห่งยุคสมัยเราได้อีกแล้ว”

ทั้งนี้ รางวัลโนเบลด้านสันติภาพ เป็นรางวัลที่มอบให้แก่ผู้ที่มีบทบาทในการสร้างสันติภาพในทางระหว่างประเทศ โดยในการตัดสินใจมาจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐสภานอร์เวย์ และผู้ที่สามารถมีสิทธิเสนอชื่อผู้เข้าชิง ได้แก่ผู้เชี่ยวชาญด้านสันติภาพและความยุติธรรมทางระหว่างประเทศจากองค์การต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักวิชาการแย้งผล 'มีเดียมอนิเตอร์' ศึกษาสื่อช่วงเลือกตั้ง-ห่วงไทยพีบีเอสไม่ต่างช่องอื่น

Posted: 28 Sep 2011 07:54 AM PDT

(27 ก.ย.54) ในเสวนาเรื่อง “บทบาทสื่อมวลชนในการพัฒนาคุณภาพประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง” ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ นำเสนอข้อสังเกตจากผลการศึกษาของมีเดียมอนิเตอร์ ในประเด็น “การทำงานของฟรีทีวีในการเลือกตั้งทั่วไป 3 กรกฎาคม 2554” ซึ่งศึกษาการเสนอข่าวและเนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งของฟรีทีวี 6 ช่อง ได้แก่ ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 และไทยพีบีเอส ในช่วงวันที่มีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ระหว่างเดือน พ.ค.-ก.ค.54 ได้แก่ วันจับสลากหมายเลขพรรคการเมือง (19 พ.ค.54) วันรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง (5 มิ.ย.54) วันดีเบตประชันวิสัยทัศน์นักการเมือง วันปราศรัยใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ และวันเตรียมตัวก่อนวันเลือกตั้งล่วงหน้า (23 มิ.ย.54) วันก่อนวันเลือกตั้ง (2 ก.ค.54) และวันเลือกตั้ง (3 ก.ค.54)

จากการศึกษาพบว่า เน้นการนำเสนอในมิติของ "นักการเมือง" ประชาชนมีบทบาทถึงแค่ตอนลงคะแนนเสียง หลังจากนั้นมีแต่เรื่องของนักการเมือง ทั้งนี้มีบางช่องแบ่งพื้นที่เพื่อรายงานข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่การตัดสินใจของประชาชน แต่ก็นำเสนอในสัดส่วนที่น้อยกว่า

ฟรีทีวีในภาพรวมมีความสมดุลในการรายงานข่าวพรรคการเมืองขนาดใหญ่และขนาดกลาง แต่ไม่ค่อยสมดุลต่อพรรคการเมืองขนาดเล็ก นอกจากนี้ ยังเน้นการรายงานข่าวของนักการเมืองในระดับแนวหน้า เช่น หัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค และนักการเมืองที่สร้างสีสัน สำหรับประเด็นความเป็นกลาง ทุกสถานีมีการสอดแทรกความคิดเห็น การชี้นำในการรายงานข่าว แต่เมื่อมีกรณีที่เกิดการพาดพิง ก็จะให้พื้นที่แก่ผู้ถูกพาดพิงในการแก้ต่าง

ฟรีทีวีทุกช่องให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังการเลือกตั้ง โดยการรายงานข่าวความผิดปกติที่พบ การเปิดพื้นที่ให้ประชาชนร้องเรียนปัญหาและความไม่สะดวก รวมถึงการให้ความรู้เรื่องกฎระเบียบในการเลือกตั้ง แต่ขาดการตรวจสอบการดำเนินการของ กกต. โดยเฉพาะประเด็นระเบียบในการเลือกตั้ง ซึ่งส่งผลให้มีผู้ต้องการใช้สิทธิจำนวนมากต้องเสียโอกาสในการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า

เอื้อจิต กล่าวต่อว่า จากการศึกษาการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน โดยเฉพาะฟรีทีวี ในการทำข่าวเกี่ยวกับการเลือกตั้งในปี 2549, 2550 และปี 2554 อาจสรุปได้ว่า ในการรายงานสถานการณ์และเหตุการณ์การเลือกตั้งฟรีทีวีมีกรอบยึดติด 7 กรอบลักษณะคือ 1.รายงานเพียงปรากฏการณ์ย่อย 2.ลดปมขัดแย้งเหลือเพียงเรื่องส่วนตัว/คู่ขัดแย้ง 3.นำเสนออย่างเสมือนละคร เน้นเร้าอารมณ์ สนุกสนาน 4.เลียนแบบ/คัดลอก/เหมือน-คิดว่าตนเองพิเศษ 5.ขาดการเป็นพื้นที่สาธารณะ หรือที่มีก็เป็นเพียงพื้นที่สาธารณะเทียม 6.ไม่ยึดมาตรฐาน-จรรยาบรรณวิชาชีพ 7.เลือกข้าง แบ่งฝ่าย ฝักใฝ่กลุ่มการเมือง (อ่านสรุปผลการศึกษาที่
http://www.mediamonitor.in.th/main/news/2011-07-05-06-20-17/263-2011-09-22-05-22-04.html
)

ทั้งนี้ เอื้อจิต กล่าวว่า คณะกรรมการผู้ทำวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า ในอนาคต โทรทัศน์ดาวเทียมหรือเคเบิลท้องถิ่นอาจเข้ามามีบทบาทต่อการเลือกตั้งมากขึ้น เพราะรายงานใกล้ชิดแหล่งข่าว ขณะที่สื่อฟรีทีวี มีข้อจำกัด ด้วยเหตุผลเชิงพาณิชย์

ด้าน สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งคำถามถึงระเบียบวิธีวิจัยของมีเดียมอนิเตอร์ว่า เหตุใดช่วงเวลาที่ศึกษา จึงเลือกเฉพาะวันปราศรัยของ ปชป.เท่านั้น ขณะที่วันปราศรัยของพรรคเพื่อไทยก็เป็นปรากฏการณ์ใหญ่เช่นกัน เท่ากับมีเดียมอนิเตอร์ไม่ได้ให้พื้นที่กับพรรคอื่นหรือไม่ นอกจากนี้ การเลือกศึกษาช่วงวันที่มีการจัดดีเบตวิสัยทัศน์ มีเดียมอนิเตอร์กลับไม่ได้ตั้งคำถามว่าการดีเบตถูกต้องตามกระบวนการหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวมองว่าไม่ใช่การดีเบต แต่ก็ไม่มีสื่อฉบับไหนตั้งคำถาม

ด้านเนื้อหาที่มีการวิจารณ์ว่าสื่อเสนอแต่ส่วนย่อย เน้นอารมณ์และมีอคตินั้น สิริพรรณเสนอว่า สื่อควรทำข่าวเชิงลึกมากขึ้น ต้องมองไปข้างหน้าว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้น ไม่ใช่เล่นตามกระแส โดยการเลือกตั้งที่ผ่านมา สิริพรรณมองว่าสื่อไม่ตั้งคำถามกับการเดินทางไปดูงานต่างประเทศของ กกต. ก่อนการเลือกตั้งหนึ่งอาทิตย์ ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลก ไม่ตั้งคำถามกับการห้ามหาเสียงในคืนก่อนวันเลือกตั้งทั้งทางสื่อและอินเทอร์เน็ต ซึ่งสะท้อนถึงการไม่ไว้ใจประชาชนในสังคมไทย และไม่ได้ตั้งคำถามกับการที่มีบัตรเสียจำนวนมาก ซึ่งจากงานวิจัยของตนเองพบว่า เกิดจากการเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง และไม่ให้ข้อมูลที่ชัดเจนกับประชาชน มีประชาชนจำนวนมากไปถึงหน่วยเลือกตั้งแล้วถูกปฏิเสธ เพราะเคยลงเลือกตั้งล่วงหน้าไว้ในการเลือกตั้งครั้งก่อน แต่รายชื่อยังอยู่

ในรายงานของมีเดียมอนิเตอร์พูดถึงเรื่องความเป็นกลางบ่อยครั้ง โดยหยิบเอาความเป็นกลางมาผนวกกับการจัดสรรเวลาให้พรรคการเมืองว่าต้องจัดให้เท่าๆ กัน ซึ่งเธอมองว่าเป็นเรื่องยาก เพราะที่สุดแล้ว พรรคการเมืองขนาดใหญ่ต้องกุมพื้นที่ข่าว เพราะสมาชิกเยอะ นโยบายเยอะ ขณะที่พรรคเล็กอาจไม่มีนโยบายเลย ดังนั้นการประเมินการจัดสรรเวลาจึงทำได้ยาก น่าจะประเมินเรื่องการนำเสนอที่ไม่บิดเบือนมากกว่า

นอกจากนี้ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์วิจารณ์ว่า สื่อควรยอมรับว่าตัวเองเป็น copy cat ไม่ทำให้ตัวเองโดดเด่นในการนำเสนอข่าว ปัญหาของสื่อไทยไม่ใช่เรื่องของความลำเอียง แต่เป็นเรื่องของประสิทธิภาพและความสามารถในการทำข่าว เพื่อเสนอประเด็นแหลมคมที่เป็นพื้นฐานการขับเคลื่อนประชาธิปไตยได้ ซึ่งไม่ได้โทษที่ตัวนักข่าว แต่โทษคนคุมสื่อ ซึ่งคือนายทุน การกลัวโดนถอนโฆษณา หรือหากอีกพรรคการเมืองขึ้นมาจะมีปัญหากับรัฐบาล ทำให้สื่อควบคุมและเซ็นเซอร์ตัวเอง

นอกจากนี้ สิริพรรณระบุว่า ไม่ห่วงช่อง 3, 5, 7, 9 ซึ่งเป็นสื่อการค้า แต่ที่ห่วงมากที่สุดคือ ไทยพีบีเอส เพราะไม่ได้ถูกจำกัดโดยทุน มีเวลานำเสนอข่าวมากกว่า และได้งบ 2,000 ล้านบาทต่อปีจากภาษีของประชาชน แต่ไม่เคยเสนอข่าวที่ต่างจากช่องอื่นเลย พร้อมตั้งคำถามว่าทำไมต้องเสียเงินเพื่อเสนอข่าวเหมือนกัน

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ กล่าวเสริมว่า สื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนประชาธิปไตย ดังนั้น สื่อต้องมีเป้าหมายว่าจะนำเสนอแต่ละเรื่องเพื่ออะไร ทั้งนี้ เธอระบุด้วยว่า การที่สื่อทำให้นักการเมืองเป็นตัวตลกในบางครั้งนั้นไม่เป็นไร แต่ก็อยากให้สื่อ dehumanize คนในสังคมบางคนที่ถูกทำให้แตะต้องไม่ได้บ้าง

สิริพรรณเสนอให้มีการจัดอบรมทักษะนักข่าวด้วย เพื่อพัฒนาคุณภาพการทำงานให้ดีขึ้น นอกจากนี้ กรณีที่อ้างว่าคุณภาพข่าวถูกกำหนดด้วยเวลานั้น เมื่อดูทีวีจะพบการเสนอข่าวซ้ำกันในหลายช่วงเวลา ซึ่งแสดงถึงความไม่ลงทุนกับการทำข่าว ซึ่งปัญหาคงไม่ใช่ที่ตัวนักข่าว แต่เป็นทั้งทุน และอำนาจรัฐ

สิริพรรณ ทิ้งท้ายว่า เข้าใจถึงข้อจำกัดของสื่อ แต่การทำสื่อก็เหมือนประชาธิปไตย ที่เราอาจจะไปไม่ถึงเลยก็ได้ แต่เราจะไม่ไปทางนั้นไม่ได้

มาร์ค ศักซาร์ ผู้อำนวยการมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประจำประเทศไทย มองว่า สื่อไทยอยู่ภายใต้แรงกดดันจากภายนอก ได้แก่ การครอบงำสื่อโดยภาคเอกชน การข่มขู่ แรงกดดันด้านกฎหมาย เช่น กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ การครอบงำทางการเมือง หน่วยงานรัฐและแรงกดดันทางเศรษฐกิจ ขณะที่ปัญหาภายใน เกิดจากการขาดคุณภาพและศักยภาพของสื่อเอง ทั้งนี้ แนะนำว่า บทบาทของสื่อในช่วงวิกฤต ควรแสดงภาพรวม ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์และการเมือง กำหนดรูปแบบการอภิปราย และสร้างพลเมืองที่สามารถตัดสินใจรอบคอบ

พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงสื่อท้องถิ่นว่า ต่อไปจะมีบทบาทมากขึ้น โดยในวันประกาศผลการเลือกตั้ง พบว่าโทรทัศน์เคเบิลได้เรตติ้งสูงกว่าฟรีทีวี และจากการสำรวจของนีลเซน พบว่ารายการข่าวท้องถิ่นได้รับความสนใจอันดับสองรองจากข่าวบันเทิง อย่างไรก็ตาม ยังตั้งคำถามว่า สื่อท้องถิ่นจะเสริมสร้างประชาธิปไตยหรือโฆษณาชวนเชื่อให้กลุ่มก้อนทางการเมือง เพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้ประชาชนในระยะยาว

อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์เสนอด้วยว่า ในอนาคต ควรมีการตรวจสอบความเป็นเจ้าของสื่อว่าสื่อที่ให้ข้อมูลกับประชาชนในช่วงเลือกตั้งมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับภาคการเมืองมากแค่ไหน เนื่องจากมองว่าภาคการเมืองย่อมเข้ามาใช้สื่อเพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง ทั้งนี้ นอกจากการเรียกร้องให้ผู้รับสื่อเท่าทันสื่อแล้ว สื่อเองต้องรู้เท่าทันเกมทางการเมือง อ่านวาระทางการเมืองให้ออกด้วย

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันสื่อยังขาดบทบาทในการวิเคราะห์เจาะลึก เสนอข่าวไปตามกระแสและอารมณ์ของสังคม ทั้งยังเซ็นเซอร์ตัวเอง บางครั้งสื่อไม่กล้าเสนอข่าวเรื่องสถาบันฯ หรือระบบตุลาการ ทั้งที่ทุกสถาบันขณะนี้ถูกดึงเข้ามา ถ้าสื่อไม่ทำให้ทะลุทุกมิติความขัดแย้ง ถามว่าคนไทยที่บริโภคสื่อจะตัดสินได้อย่างไร

เขาเสนอว่า สื่อต้องมองให้เห็นว่าตัวเองไม่ใช่คนขายข่าว แต่จะเป็นผู้ที่นำไปสู่เสรีภาพในการแสดงความเห็นและการมีส่วนร่วมในประชาธิปไตย ซึ่งเป็นจุดบกพร่องที่สังคมไทยขาดมาตลอด พร้อมชี้ว่า ขณะนี้ มีการร้องเรียนเกี่ยวกับสิทธิในการสื่อสารมาที่ กสม. เพียง 2 เรื่อง คือ กรณีที่ชาวต่างชาติและนักวิชาการไทยบางส่วนร้องเรียนเรื่องการปิดเว็บไซต์จำนวนมาก และกรณีพนักงานการบินไทยร้องเรียนการถูกปิดเว็บไซต์สื่อสารของกลุ่ม ขณะที่ก็มีสื่อมวลชนจำนวนมากถูกละเมิด แต่ไม่มาร้องเรียน

พลภฤต เรืองจรัส กรรมการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย  กล่าวว่า แม้ว่า เขาจะเชื่อในความบริสุทธิ์ใจของเพื่อนสื่อ แต่ต้องยอมรับว่าสื่อไม่มีอิสระ แม้กระทั่งไทยพีบีเอส ที่ถูกสร้างให้อิสระและปลอดการเมือง แต่ยังมีข้อกังขา เช่น กรณีที่รายการตอบโจทย์ ไปสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งผู้ที่สัมภาษณ์ไปด้วยเงินของไทยพีบีเอสและผู้บริหารก็รับรู้ แต่ออกอากาศได้สองตอน ผู้สัมภาษณ์ (ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา) กลับถูกบีบให้ออก เช่นนี้แล้ว พลภฤต ตั้งคำถามว่า ขณะที่สังคมไทยคาดหวังกับสื่อเยอะ แต่ถามว่าเมื่อสื่อเป็นอย่างที่ต้องการแล้ว ใครจะออกมาปกป้องสื่อ

พลภฤต กล่าวว่า การเสนอข่าวแนวดรามานั้นตั้งอยู่บนความสนใจของสังคม แม้ว่าสื่ออยากจะเปลี่ยน แต่การเปลี่ยนทันทีก็ทำได้ยาก เพราะมีเรื่องการตลาดกับสื่อเยอะ โดยวันนี้นักการเมืองเข้าใจสื่อ-อ่านสื่อออกมากขึ้น ทั้งยังมีคนทำสื่อที่ไปเป็นนักการเมือง ทำให้เข้าใจสื่ออย่างลึกซึ้งด้วย นอกจากนี้ยังมีเรื่องสายสัมพันธ์กับแหล่งข่าวที่บางครั้งฝังลึก จนลืมบทบาทตัวเองด้วย

วิชิต เอื้ออารีวรกุล อุปนายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า ในอนาคตสื่อหลักแบบฟรีทีวีจะลดความสำคัญลง เพราะเคเบิลท้องถิ่นเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และในอนาคต เคเบิลทีวีแต่ละจังหวัดจะมีสถานีข่าวของตัวเองด้วย

ทั้งนี้ เขาเสนอว่า ในช่วงเลือกตั้ง ขณะที่ฟรีทีวีสัมภาษณ์คนระดับหัวหน้าพรรคการเมือง โทรทัศน์ดาวเทียมสัมภาษณ์กรรมการพรรค เคเบิลท้องถิ่นจะสัมภาษณ์ ส.ส.ในอำเภอ เพื่อให้ชาวบ้านเห็นรายละเอียดนโยบาย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การเลือกตั้งที่ผ่านมา ส.ส.กลับไม่กล้ามาออกรายการ เพราะกลัวผิดกฎหมายเลือกตั้ง สะท้อนว่ากฎหมายบ้านเราไม่เชื่อใจประชาชน และนักการเมือง ทั้งยังตัดโอกาสการใช้สื่อท้องถิ่นด้วย

สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย  ตั้งคำถามว่า สังคมคาดหวังกับสื่อมาก แต่ให้อะไรกับสื่อบ้าง และดูแลสื่อเพียงใด พร้อมระบุว่า ภายใต้เวลาออกอากาศที่จำกัด อาจทำให้สื่อทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้ การต้องทำงานแข่งกับเวลาอยู่ตลอดทำให้คนทำสื่อไม่มีเวลาให้ตัวเองในการเรียนรู้

นอกจากนี้ สุวรรณายังได้เรียกร้องให้สังคมเห็นใจสื่อที่ต้องทำงานภายใต้ภาวะกดดันด้วย โดยเล่าว่า เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มนิติราษฎร์จัดแถลงข่าวที่ห้อง LT1 มธ. แม้ว่าจะมีการเปิดโอกาสให้ถามคำถาม แต่ตนเองก็ไม่กล้าถาม เพราะเหมือนถูกข่มขู่ด้วยสภาพแวดล้อม นอกจากนี้ เมื่อนักข่าวรุ่นน้องที่ส่งไปทำข่าวจะเดินออกมาส่งข่าว ก็ยังถูกผู้ฟังเสวนาข่มขู่ด้วยคำพูดว่า ทนฟังความจริงไม่ได้หรือ ยังไม่รู้ตอนจบเลย
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปัตตานีเพลสเดินหน้าสร้างศูนย์การค้า เผยอุปสรรคใหญ่ลงทุนในชายแดนใต้

Posted: 28 Sep 2011 07:45 AM PDT

โมเดลโครงการปัตตานีเพลส


นายอิบรอเฮ็ง เจะอาลี ประธานกรรมการบริหาร (CEO) บริษัท ดีอาร์เอสดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เจ้าของโครงการปัตตานีเพลส อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า ขณะนี้มีแนวโน้มที่ดีว่า ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยจะอนุมัติสินเชื่อเพื่อก่อสร้างอาคารศูนย์การค้า Pattani Mall สูง 5 ชั้น ขนาดพื้นที่ 5,700 ตารางเมตร มูลค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 280 ล้านบาท เนื่องผ่านการวิเคราะห์มูลค่าทางการตลาดแล้ว รอเพียงที่ประชุมคณะกรรมการของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยมีมติอนุมัติเท่านั้น

นายอิบรอเฮ็ง เปิดเผยต่อไปว่า ได้ขอสินเชื่อจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อดำเนินโครงการนี้ประมาณ 100 ล้านบาทเศษ เพื่อให้การก่อสร้างอาคารศูนย์การค้า Pattani Mall แล้วเสร็จ ปัจจุบันได้ตอกเสาเข็มแล้วและขึ้นเสาแล้ว โดยจะเร่งก่อสร้างเพื่อให้เปิดทันในช่วงกลางปี 2555 ส่วนงบประมาณที่เหลือเป็นเงินทุนของบริษัทฯ

“เหตุที่เชื่อว่าธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยจะอนุมัติสินเชื่อ เนื่องจากที่ผ่านมาโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย หรือ คอนโดเทลจำนวน รวม 4 อาคาร รวม 236 หน่วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปัตตานีเพลส ได้ขายได้เกือบหมดแล้ว เหลือเพียง 30 หน่วยเท่านั้น ส่วนอาคารสำนักงาน จำนวน 13 ห้อง ได้ขายไปหมดแล้ว จึงคิดว่าทำให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยมีความมั่นใจที่จะปล่อยสินเชื่อให้ แม้โครงการตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังเกิดเหตุไม่สงบก็ตาม” นายอิบรอเฮ็ง กล่าว

นายอิบรอเฮ็ง เปิดเผยอีกว่า สำหรับโครงการต่อไปของบริษัท ดีอาร์เอสดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด คือ การก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยจำนวน 245 หน่วย บริเวณถนนปุณณกันฑ์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องการขอสินเชื่อจากธนาคาร เนื่องจากไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหาความไม่สงบเหมือนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี

นายวรวิทย์ บารู’ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จังหวัดปัตตานี ในฐานะประธานที่ปรึกษาบริษัท ปัตตานี มอลล์ จำกัด ผู้บริหารโครงการปัตตานีเพลส เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการปัตตานีเพลสมีอุปสรรคอย่างมาก โดยเฉพาะการจัดหางบประมาณในการก่อสร้าง เนื่องจากความไม่มั่นใจของแหล่งเงินกู้ โดยเฉพาะธนาคารทั้งในและต่างประเทศ เพราะโครงการตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ที่กำลังเกิดเหตุการณ์ไม่สงบอยู่

นายวรวิทย์ เปิดเผยต่อไปว่า ที่ผ่านมาโครงการปัตตานีเพลสได้หยุดชะงักไประยะหนึ่ง เนื่องจากขนาดสภาพคล่องทางการเงิน รวมทั้งขาดแรงงานทดแทนแรงงานชาวอีสานที่หนีกลับบ้านเนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบ จนกระทั่งสามารถรวบรวมเงินทุนจากสหกรณ์ออมทรัพย์อิสลามหลายแห่งในภาคใต้และกรุงเทพมหานครได้กว่า 80 ล้านบาท จนสามารถก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยได้เสร็จ และขายไปแล้วเกือบทั้งหมด

นายวรวิทย์ เปิดเผยอีกว่า สำหรับโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์การค้า Pattani Mall ทางบริษัท ปัตตานี มอลล์ จำกัด เคยขอสินเชื่อจากธนาคารหลายแห่งมาแล้ว เช่น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SMEs Bank ซึ่งได้รับการอนุมัติ แต่ทางบริษัทได้ปฏิเสธไปก่อน เนื่องจากไม่ต้องการเงินกู้ที่มีดอกเบี้ย จึงขอสินเชื่อไปที่ธนาคารซีไอเอ็มบี หรือ CIMB Bank ของประเทศมาเลเซีย แต่ถูกธนาคารแห่งประเทศไทยแนะนำว่า การลงทุนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้มีความเสี่ยง CIMB Bank จึงไม่กล้าให้เงินกู้

“CIMB Bank ต้องการให้เงินกู้ แต่ต้องมีคนมาเลเซียมาค้ำประกันด้วย ทางบริษัทฯจึงไม่ต้องการ เพราะค่อนข้างลำบาก ผมจึงถามเครือข่ายสหกรณ์อิสลามภาคใต้ว่า จะสู้ต่ออีกหรือไม่ ลงทุนอีกเพียง 120 ล้าน เพื่อนำมาสร้างอาคารศูนย์การค้า แต่ดูเหมือนจะลำบาก เพราะสหกรณ์ออมทรัพย์อิสลามที่เจ้าหนี้ได้เร่งรัดขอเงินคืน จึงได้ต้องขอสินเชื่อจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย” นายวรวิทย์ กล่าว

นายวรวิทย์ เปิดเผยว่า สำหรับลูกค้าของโครงการปัตตานีเพลส ส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่ เจ้าของสวนยางพารา ซึ่งมีหลายสิบรายที่ซื้อด้วยเงินสด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สภาวะทางเศรษฐกิจของคนในพื้นที่ดีขึ้น และไม่ได้ลำบากอยากอย่างที่คิด แม้ยังมีเหตุไม่สงบอยู่ก็ตาม

สำหรับโครงการปัตตานีเพลส มี 3 ระยะ ประกอบด้วย Shopping Mall, Pattani hotel, hotel Condotel, Home Office, International Education Center, Sales Office รวมมูลค่าทั้งโครงการประมาณ 600 ล้านบาท

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทุ่งสงศูนย์กลางโลจิสติกส์ เชื่อมโครงข่ายขนถ่ายสินค้าอาเซียน+จีน

Posted: 28 Sep 2011 07:35 AM PDT

ภาพตัวอย่างศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้ - ทุ่งสง

 

พิจารณาจากสภาพภูมิศาสตร์แล้ว อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช น่าจะเหมาะสมที่สุดที่จะถูกกำหนดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคใต้ เพราะหากเปรียบภาคใต้เป็นคน อำเภอทุ่งสงก็คือสะดือของภาคใต้ ที่มีโครงข่ายคมนาคมเป็นเสมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงร่างกาย

ข้อพิจารณาดังกล่าว เป็นเหตุผลของการก่อเกิด “โครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้–ทุ่งสง (Cargo Distribution Center : CDC–Thongsong)”

โครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้–ทุ่งสง ถูกหยิบยกขึ้นมาผลักดันในช่วงที่นายภาณุ อุทัยรัตน์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช จากการนำเสนอของนางวานิช พันธุ์พิพัฒน์ ตัวแทนสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช ต่อที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช

จากนั้นนายทรงชัย วงษ์วัชรดำรง นายกเทศมนตรีเมืองทุ่งสง จึงได้เสนอพื้นที่บริเวณหมวดศิลา รอยต่อตำบลปากแพรก และตำบลชะมาย อำเภอทุ่งสง ซึ่งเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย เนื้อที่ 85 ไร่ เป็นที่ตั้งโครงการ

ต่อมา โครงการนี้ได้รับการบรรจุในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดนครศรีธรรมราช และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (ชุมพร สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง) มอบหมายให้เทศบาลเมืองทุ่งสงรับผิดชอบ

พร้อมกันนั้น ยังได้รับการสนับสนุนจากนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

ขณะเดียวกันจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ขอความช่วยเหลือด้านเทคนิคจาก Cities Development Initiative For Asia (CDIA) ของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank–ADB) โดยการสนับสนุนของกระทรวงมหาดไทย

CDIA ได้จ้างทีมที่ปรึกษาศึกษาความเป็นไปได้ของศูนย์กระจายสินค้าและการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องของเมือง ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2553–พฤศจิกายน 2553

ผลการศึกษาถูกนำเสนอ ต่อที่ประชุมคณะกรรมการฝ่ายอำนวยการและฝ่ายปฏิบัติการในคณะกรรมการประสานความร่วมมือแบบบูรณาการและติดตามผลการบริหารงานขับเคลื่อนโครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้า (CDC) ภาคใต้–ทุ่งสง เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2554 มีนายสุทธิพงษ์ เทิดรัตนพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานการประชุม

ที่ประชุมมีมติให้เทศบาลเมืองทุ่งสงดำเนินการขอเช่าที่จากการรถไฟแห่งประเทศไทย ในรูปแบบหน่วยงานรัฐต่อหน่วยงานรัฐ ผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

ส่วนการบริหารจัดการ CDC ต้องทำในรูปแบบบริษัท มอบหมายให้เทศบาลเมืองทุ่งสงไปศึกษาแนวทางการจัดตั้งบริษัท ซึ่งเทศบาลเมืองทุ่งสง ได้ศึกษาการจัดตั้งบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ของกรุงเทพมหานคร เพื่อนำรูปแบบการบริหารจัดการด้านโครงสร้างพื้นฐานของกรุงเทพมหานคร เป็นแนวทาง

ส่วนพื้นที่โครงการ ในเบื้องต้นได้มีการเสนอของบประมาณก่อสร้างถนน ทางเข้าโครงการศูนย์กระจายสินค้า วงเงินงบประมาณ 42 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2554

พื้นที่โครงการอยู่ห่างจากสถานีรถไฟทุ่งสงประมาณ 3 กิโลเมตร ติดเส้นทางรถไฟสายทุ่งสง–กันตัง จังหวัดตรัง อยู่ใกล้ทางหลวงหมายเลข 403 ประมาณ 825 เมตร และอยู่ใกล้ทางหลวงหมายเลข 41 ประมาณ 1.2 กิโลเมตร

พื้นที่สำหรับการพัฒนาโครงการ เนื้อที่ 60 ไร่ จากทั้งหมด 85.43 ไร่ แบ่งเป็นระยะที่ 1 จำนวน 35 ไร่ ระยะที่ 2 อีก 25 ไร่

วงเงินงบประมาณในการก่อสร้างระยะแรก 486 ล้านบาท ประกอบด้วย การก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ 2 กิโลเมตรจากสถานีชุมทางทุ่งสงมายังศูนย์กระจายสินค้าฯ 28 ล้านบาท และก่อสร้างถนนทางเข้าโครงการ และพื้นที่ขนถ่ายสินค้า

ผลศึกษาความเป็นไปได้ของศูนย์กระจายสินค้าและการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องของเมืองระบุว่า เป็นโครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ โดยตั้งอยู่ในจุดที่เหมาะสมในการเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้า เสมือนสะดือของภาคใต้

โดยเฉพาะการขนส่งทางราง ที่จะเชื่อมการขนส่งทางรางกับท่าเรือน้ำลึกสงขลา ท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล ท่าเรือกันตัง และท่าเรือบ้านนาเกลือ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ท่าเรือระนอง ท่าเรือขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช รวมทั้งท่าเรือปีนังของประเทศมาเลเซีย รองรับการขนถ่ายสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม ในจังหวัดนครศรีธรรมราชและใกล้เคียง

คาดว่าจะมีลูกค้ามาใช้บริการขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ปีละ 20,000 ตู้ เนื่องจากปัจจุบันมีสินค้าอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมอยู่แล้วคือ ปูนซิเมนต์ อุตสาหกรรมสินแร่ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ส่วนสินค้าเกษตร คือ ยางพาราและไม้ยางพาราแปรรูป ปาล์มน้ำมัน กาแฟ ข้าว ซึ่งเป็นผลผลิตของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย และกลุ่มจังหวัดใกล้เคียง ปริมาณสินค้าในพื้นที่ ไม่ต่ำกว่า 1,270,000 ตันต่อปี

นอกจากนี้ ยังรองรับการขนส่งสินค้าจากนิคมอุตสาหกรรมนาบอน ที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 20 กิโลเมตร

แม้เนื้อที่โครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้–ทุ่งสงมีไม่มาก หากเปรียบเทียบกับโครงการขนาดใหญ่อื่นๆ แต่ก็ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมต่อการขนส่งสินค้าในภาคใต้ เชื่อมโยงกับการขนส่งและการจราจรในกลุ่มประเทศอาเซียน เพราะอยู่ในเส้นทางหลักเชื่อมโยงกับประเทศจีน ลงไปจนถึงประเทศสิงคโปร์

ข้อได้เปรียบของศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้–ทุ่งสงคือ อยู่ใกล้ทางรถไฟสายใต้ ห่างจากสถานีชุมทางทุ่งสงในสายทุ่งสง–กันตังประมาณ 3 กิโลเมตร ซึ่งในอนาคตการรถไฟแห่งประเทศไทย มีแผนที่จะก่อสร้างรถไฟรางคู่ทั่วประเทศอยู่แล้ว

ขณะเดียวกันก็มีแผนที่จะก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงร่วมกับสาธารณรัฐประชาชนจีน จากกรุงเทพมหานคร ลงไปปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เชื่อมกับประเทศมาเลเซีย และประเทศสิงคโปร์ อันเป็นความต้องการของประเทศจีนที่จะเปิดเส้นทางตอนใต้ของประเทศเข้าสู่อาเซียน ซึ่งเริ่มจากเมืองคุนหมิง เข้าประเทศลาว ผ่านจังหวัดหนองคาย ลงมากรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ อำเภอทุ่งสงก็อยู่ในโครงข่ายถนนเชื่อมโยงตั้งแต่ตอนใต้ของจีนลงไปจนถึงสิงคโปร์ ตามแนวเหนือ–ใต้ เริ่มจากถนนสาย R3A จากเมืองเชียงรุ้ง ประเทศจีน หลวงน้ำทา ประเทศลาว และอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เชื่อมกับโครงข่ายถนนลงมาสู่ภาคใต้ของประเทศไทย เข้าประเทศมาเลเซีย ลงไปจนถึงประเทศสิงคโปร์ อีกเส้นทางคือ สาย R3B ที่เข้าทางประเทศพม่า มาสู่ประเทศไทยที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

อีกเส้นทางในแนวเหนือ–ใต้ เริ่มจากเมืองหลวงน้ำทา เข้าไปยังเมืองหลวงพระบาง เวียงจันทร์ ประเทศลาว แล้วเลาะเลียบฝั่งแม่น้ำโขงทางฝั่งประเทศลาว ลงไปจนถึงชายแดนประเทศกัมพูชา ที่แขวงจำปาสักทางตอนใต้ของลาว เชื่อมต่อไปยังกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา ต่อไปยังเมืองโฮจิมินห์ซิตีของเวียดนาม

ส่วนเส้นทางแนวตะวันออก–ตะวันตก ที่เชื่อมพม่า ไทย ลาว และเวียดนาม เริ่มจากกรุงย่างกุ้ง–มะละแหม่ง (พม่า)–ตาก–พิษณุโลก–ขอนแก่น–มุกดาหาร–สะหวันนะเขต (ลาว)–กวางตรี–เว้–ดานัง (เวียดนาม)

ถัดลงมาเป็นเส้นทางสายทวาย (พม่า)–กาญจนบุรี–กรุงเทพมหานคร–อุบลราชธานี–จำปาสัก (ลาว) ก่อนจะแยกไปยังเมืองปากซันของประเทศลาว เว้ ดานัง ควิเยน ลงใต้ไปยังเมืองโฮจิมินห์ซิตี้ของประเทศเวียดนาม เชื่อมกับเส้นทางที่มาจากคุนหมิงของสาธารณรัฐประชาชนจีน และเชื่อมไปยังกรุงพนมเปญของประเทศกัมพูชา กลับมาเข้าประเทศไทยทางภาคตะวันออก ต่อไปยังภาคตะวันตกของไทย เข้าสู่เมืองกาญจนบุรีไปยังเมืองทวายของประเทศพม่า

ทั้งสองเส้นทางแนวตะวันออก–ตะวันตก จะตัดกับเส้นแนวเหนือ–ใต้ทั้งสองเส้นทาง กลายเป็นโครงข่ายถนนที่เชื่อมโยงกันทั้งหมดในคาบสมุทรมลายูและคาบสมุทรอินโดจีน โดยมีต้นทางจากเมืองคุนหมิงประเทศจีน มีเมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราชอยู่บนเส้นทางหลัก ที่จะเข้าสู่ประเทศมาเลเซียและสิงโปร์

ทั้งเทศบาลเมืองทุ่งสงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างหมายมั่นปั้นมือว่า โครงการนี้จะเกิดขึ้นได้ในไม่ช้า เพราะเป็นโครงการที่มีส่วนสำคัญต่อการขนส่งสินค้าของอาเซียนในอนาคต

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แอมเนสตี้สากลร้อง ‘ผู้ก่อความไม่สงบ’ ใต้ หยุดก่อ ‘อาชญากรรมสงคราม’

Posted: 28 Sep 2011 02:56 AM PDT

‘แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล’ เผยข้อมูลความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ ระบุ 2547 ถึง 2554 การโจมตีจากฝ่ายก่อความความไม่สงบทำให้ประชาชนเสียชีวิตเกือบ 5 พันคน บาดเจ็บอีกราว 8 พัน กว่าครึ่งเป็นชาวมุสลิมและชาวพุทธที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับฝ่ายใด แนะรัฐบาลไทยต้องใช้ยุทธศาสตร์จัดการที่ไม่ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนสากล

เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 54 ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสากล (เอไอ) แถลงข่าวเปิดตัวรายงาน ‘They took nothing but his life’ (พวกเขาไม่ได้เอาอะไรนอกจากพรากชีวิตของเขาไป) ซึ่งวิจัยเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่างปี 2547-2554 โดยเฉพาะความรุนแรงที่มาจากฝ่ายผู้ก่อการความไม่สงบ พร้อมระบุข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยในการยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งจากฝ่ายรัฐและฝ่ายขบวนการฯ

รายงานฉบับความยาว 64 หน้า ระบุว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2547 จนถึงเดือนมิถุนายน 2554 มีเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้จากฝ่ายผู้ก่อการทั้งหมด 10,890 ครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4,766 คน และผู้บาดเจ็บ 7,808 คน และพบว่า การโจมตีพลเรือนที่ไม่ได้อยู่ในความขัดแย้ง สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหลังจากการรัฐประหารในปี 2549

ดอนนา เกสต์ รองผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ฝ่ายขบวนการก่อความไม่สงบไม่เคยได้ระบุจุดประสงค์หรือเป้าหมายที่ชัดเจน และดูเหมือนว่าการโจมตีต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นไปเพื่อสร้างความหวาดกลัวในพื้นที่เป็นหลัก และชี้ว่า ลักษณะของการโจมตีพลเรือนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในความขัดแย้งเช่นนี้ นับเป็นการก่ออาชญากรรมสงคราม ตามที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาเจนีวา

รายงานที่เขียนโดย เบนจามิน ซาแว็กกี นักวิจัยเอไอประจำประเทศไทยและพม่า ให้ข้อมูลเกี่ยวกับฝ่ายก่อความไม่สงบในพื้นที่ว่า ฝ่ายดังกล่าว มีผู้ปฏิบัติงานและผู้สนับสนุนกว่า 9,400 คน แฝงอยู่ในหมู่บ้านต่างๆ คิดเป็นราวร้อยละ 30 ของจังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะในอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส และอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ที่เอไอเชื่อว่าเป็นฐานที่มั่นขององค์กรปลดปล่อยรัฐปาตานี (Patani United Liberated Organization –PULO) และกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายู (Barisan Revolusi Nasional Coordinate - BRN-Coordinate) ตามลำดับ

ในรายงานยังระบุว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ มักจัดตั้งเป็นหน่วยย่อย (cell) มีการกระจายการนำ และประสานงานกันอย่างหลวมๆ และเชื่อว่ามีการจัดตั้งโครงสร้างกลุ่มที่สอดคล้องกับหน่วยราชการ เป็นระดับภูมิภาค จังหวัด อำเภอ และตำบล โดยชาวบ้านในหมู่บ้านหลายแห่งเคยถูก “ชักชวนหรือไม่ก็บังคับ” ให้ร่วมมือกับกลุ่มเหล่านี้ ให้ช่วย ปฏิเสธที่จะร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ เป็นสายให้ผู้ก่อการ และจัดตั้งผู้ประท้วง เป็นต้น

เอไอชี้แจงว่า ผลจากเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าว ทำให้รัฐได้มีนโยบายติดอาวุธให้กับพลเรือนในพื้นที่สูงขึ้นมาก เช่น เพิ่มจำนวนอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยประจำหมู่บ้าน (ชรบ.) และทหารพราน นอกจากนี้ ยังนำไปสู่การจับกุมโดยไม่มีมูล และการซ้อมทรมานบุคคลที่เข้าข่ายว่าต้องสงสัยจำนวนมาก

ตัวแทนจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงได้กล่าวถึงข้อเรียกร้องที่มีต่อฝ่ายก่อความไม่สงบ ให้ยุติการกระทำร้ายแรงดังกล่าวโดยทันที พร้อมมีข้อเสนอแนะต่างๆ ให้รัฐบาลนำไปใช้แก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ดังกล่าวด้วย เช่น ให้ยกเลิกการทำรายชื่อ ‘แบลกลิสต์’ ซึ่งเป็นการระบุผู้ต้องสงสัยโดยที่ไม่มีมูลเหตุ ควบคุมการใช้อาวุธปืน แก้ไขหรือยกเลิกกฎอัยการศึก และแก้ไขมาตรา 17 ในพ.ร.บ. ฉุกเฉินที่งดเว้นโทษต่อเจ้าหน้าที่รัฐ

ในการแถลงข่าวครั้งนี้ ถึงแม้ว่าเอไอจะมีข้อเรียกร้องต่อฝ่ายผู้ก่อการให้ยุติความรุนแรงเป็นหลัก แต่นักวิจัยจากเอไอก็ยอมรับว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นเรื่องทำให้บรรลุได้ยาก

“ในท้ายที่สุด มันต้องเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลไทยที่ต้องคุ้มครองความเป็นอยู่ของพลเมืองไทย และในขณะเดียวกัน ก็ต้องทำให้แน่ใจด้วยว่า มาตรการต่อต้านการก่อความไม่สงบนี้ จะต้องสอดคล้องกับหลักสิทธมนุษยชนสากล” ดอนนา เกสต์กล่าวทิ้งท้าย
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

หนุนนิติราษฎร์ กลุ่มทนายความและนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน คัดค้านแถลงการณ์สภาทนายความ

Posted: 28 Sep 2011 02:45 AM PDT

(28 ก.ย.54) กลุ่มทนายความและนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์คัดค้านแถลงการณ์ของสภาทนายความ ย้ำ “การรัฐประหาร” ถือเป็นอาชญากรรมต่อประชาธิปไตยและความมั่นคงของรัฐ ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ทั้ง ผู้ก่อการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน ต้องรับผิดร่วมกันหรือแทนกันตามความหนักเบาแห่งการกระทำ โดยไม่มีข้อยกเว้น


000000

 

แถลงการณ์กลุ่มทนายความและนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน

เรื่อง คัดค้านแถลงการณ์สภาทนายความฉบับที่ 2/2554
อ้างถึง แถลงการณ์สภาทนายความฉบับที่ 2/2554 ลว. 27 กันยายน 2554

 

ตามที่สภาทนายความได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2/2554 ขอแสดงความคิดเห็นต่อข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ ความละเอียดปรากฏตามที่อ้างถึงนั้น

กลุ่มทนายความและนักกฎหมายดังปรากฏรายนามท้ายแถลงการณ์นี้ ซึ่งเป็นสมาชิกสภาทนายความ ตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2548 และนักกฎหมายที่ทำงานด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยมีความวิตกกังวลต่อสาระสำคัญของแถลงการณ์ดังกล่าว ที่อาจนำความเสื่อมเสียต่อเกียรติภูมิของทนายความโดยรวม โดยเหตุที่สภาทนายความมี 2 สถานภาพทางสังคมกล่าวคือ สภาทนายความเป็นสถาบันวิชาชีพที่ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ที่จะเป็นทนายความ ซึ่งทนายความถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมในการดำเนินการเพื่อส่งเสริมหลักนิติธรรม (Rule of Law) ร่วมค้นหาความจริงกับอัยการและผู้พิพากษาต่อการกระทำของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย และยังมีหน้าที่ “ผดุงไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ และปฏิบัติตน ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติทนายความ”[1] อีกสถานภาพหนึ่ง สภาทนายความพึงเป็นสถาบันของสังคมในการส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สภาทนายความเป็นแถวหน้าของผู้เรียกร้องการปกครองระบอบประชาธิปไตย ต่อต้านอำนาจนิยมและผลักดันให้มีกฎหมายที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สภาทนายความจึงเป็นสถาบันของผู้ประกอบวิชาชีพทนายความและเสาหลักหนึ่งในสังคมประชาธิปไตย สภาทนายความจึงต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เหมาะสมแก่เกียรติภูมิของสมาชิกและประชาชนในสังคมประชาธิปไตย สภาทนายความต้องยึดมั่นในหลักการสำคัญของหลักนิติธรรม หลักสิทธิมนุษยชน และร่วมกันจรรโลงไว้ซึ่งหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันนานาอารยประเทศยึดถือด้วย แต่จากแถลงการณ์ของสภาทนายความ ตามที่อ้างถึง กลุ่มทนายความฯ ขอแสดงความคิดเห็น ดังนี้

ข้อ 1 แถลงการณ์ของสภาทนายความ ข้อ 1 กล่าวว่า “สภาทนายความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารที่ล้มล้างรัฐบาลที่ใช้อำนาจบริหารโดยชอบธรรม ....สำหรับการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ...สภาทนายความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่ใช้อำนาจบริหารในขณะนั้นได้ใช้อำนาจเงินครอบงำพรรคการเมืองอื่น จนสามารถรวบรวมเป็นพรรคการเมืองที่มีอำนาจเด็ดขาดในรัฐสภา ใช้อำนาจบริหาร และอำนาจเงินครอบงำสื่อสารมวลชน และองค์กรอิสระ จนทำให้การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐไม่บรรลุผลตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และมีการทุจริต ประพฤติมิชอบ เพื่อหาประโยชน์แก่ตนเอง และพวกพ้อง จนกระทั่งเป็นเหตุให้มีการรัฐประหาร”

กลุ่มทนายความและนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน มีความเห็นว่า “การรัฐประหารทุกครั้งถือเป็นการทำลายหลักนิติธรรมและทำลายกลไกของระบอบประชาธิปไตย” ที่ทุกฝ่ายในสังคมต้องออกมาประณามการกระทำที่ไร้เกียรติ ไร้สติ และมิอาจอ้างมูลอันชอบด้วยหลักการใดๆ ในสังคมรัฐเสรีประชาธิปไตยได้ และต้องถือว่า “การรัฐประหาร” ถือเป็นอาชญากรรมต่อประชาธิปไตยและความมั่นคงของรัฐ ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ทั้ง ผู้ก่อการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน ต้องรับผิดร่วมกันหรือแทนกันตามความหนักเบาแห่งการกระทำ โดยไม่มีข้อยกเว้น แต่ตามแถลงการณ์ดังกล่าวการที่สภาทนายความยอมรับการรัฐประหาร เมื่อ 19 กันยายน 2549 โดยอ้างว่า หากรัฐบาลฉ้อฉล ใช้อำนาจโดยมิชอบ ก็สามารถให้อำนาจนอกระบบล้มล้างรัฐธรรมนูญและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนได้ ซึ่งเท่ากับสภาทนายความสนับสนุนอาชญากรรมต่อความมั่นคงของรัฐและระบอบประชาธิปไตย

ข้อเสนอของสภาทนายความ ในข้อนี้ กลุ่มทนายความและนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน มีความเห็นว่า เป็นการทำลายหลักนิติธรรม และระบอบประชาธิปไตย อันนำความเสื่อมเสียมาสู่เกียรติภูมิของสภาทนายความ

ข้อ 2 แถลงการณ์สภาทนายความที่เห็นว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน (คตส.) ได้ดำเนินการไปตามกระบวนการยุติธรรมปกติ คือ เมื่อ คตส. สอบสวนเสร็จแล้ว ต้องส่งแก่อัยการสูงสุด และนำไปสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในที่สุดนั้น

กลุ่มทนายความและนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน เห็นว่า ที่มาของ คตส. มาจากการการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร หรือ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ในขณะนั้น คมช. ถือเป็นองค์กรของอาชญากร ที่ยึดอำนาจโดยมิชอบมาจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คมช.จึงไม่มีอำนาจในการปกครองประเทศมาตั้งแต่ยึดอำนาจแล้ว ดังนั้น การแต่งตั้งบุคคลหรือคณะบุคคลให้ดำเนินการใด ตามอำนาจที่ได้มาโดยมิชอบ ย่อมไม่มีผลทางกฎหมาย เทียบเคียงได้กับภาษิตกฎหมายที่ว่า “ผลของต้นไม้พิษ (Fruit of the poisonous tree) ย่อมมีพิษ” การดำเนินการของ คตส. โดยมาจากต้นไม้ที่ไม่ชอบ คตส.ย่อมเป็นผลไม้ของต้นไม้ที่ไม่ชอบ จึงไม่มีอำนาจดำเนินการใดๆ ดังนั้น จึงไม่ต้องพิจารณาต่อไปว่า คตส. ได้ดำเนินกระบวนการตามกระบวนการยุติธรรมปกติ หรือไม่ เพราะมีที่มาโดยมิชอบ

ประการต่อมา นายกสภาทนายความ (นายสัก กอแสงเรือง) มิอาจอ้างเหตุผลข้อนี้มาอ้างความชอบธรรมในแถลงการณ์ของสภาทนายความได้ เพราะนายกสภาทนายความมีผลประโยชน์ทับซ้อน จากการได้รับการแต่งตั้งจาก คมช. ให้เป็นหนึ่งในกรรมการ คตส. การปกป้องตนเองที่ทำหน้าที่ โดยมีที่มาจากการแต่งตั้งโดยมิชอบ อาจทำความเสื่อมเสียแก่เกียรติภูมิของทนายความโดยรวม และไม่เป็นแบบอย่างที่ดีแก่อนุชนทนายความรุ่นหลัง

ข้อ 3 สภาทนายความไม่เห็นด้วยกับการเสนอให้แก้ไข มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นั้น

กลุ่มทนายความและนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน เห็นว่า สภาทนายความจำเป็นต้องแสดงจุดยืนในการเคารพต่อหลักนิติธรรม เนื่องจากมีการใช้กฎหมายข้อหานี้ ทำลายผู้มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างจากตน และเป็นการให้อำนาจแก่ใครก็ได้ในการแจ้งความดำเนินคดีบุคคลอื่น โดยอาศัยกฎหมายข้อหานี้ การแก้ไขสาระสำคัญของกฎหมายอาญา มาตรา 112 ย่อมไม่เป็นการกระทบกระเทือนต่อประเพณีของชาติ หรือขัดแย้งต่อประวัติศาสตร์หรือขนบธรรมเนียมของประเทศ หรือเป็นการลดเกียรติยศของพระมหากษัตริย์แต่ประการใด ตรงกันข้าม การใช้กฎหมายมาตรา 112 ในปัจจุบัน กลับกลายเป็นการทำลายพระเกียรติ และทำให้สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมถอยลงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในสังคม ขณะเดียวกัน การใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ย่อมนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างประชาชนในสังคมไทย ซึ่งควรได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง

กลุ่มทนายความและนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน ขอแสดงความคิดเห็นดังกล่าว เพื่อแสดงจุดยืนว่า สังคมใดจะเป็นสังคมที่เจริญและสงบสุขได้นั้น สถาบันต่างๆในสังคมต้องยึดมั่นต่อ หลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชน และเคารพต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยต้องร่วมกันแสดงความคิดเห็นคัดค้านอำนาจที่มิชอบ เช่น การรัฐประหาร ดังเหตุผลข้างต้น และขอเรียกร้องให้สภาทนายความ ในฐานะสถาบันหลักสถาบันหนึ่งของสังคม จงเป็นที่พึ่งแก่คนยากไร้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมตามกฎหมาย และเป็นสถาบันที่ธำรงไว้ซึ่ง หลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชน และหลักประชาธิปไตย ตลอดไป

ณ วันที่ 28 กันยายน 2554

ลงชื่อ

นางสาวเยาวลักษ์ อนุพันธุ์ ทนายความ
นางสาวส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความ
นายศราวุฒิ ประทุมราช นักกฎหมาย
นางสาวพูนสุข พูนุสขเจริญ ทนายความ
นายพนม บุตะเขียว ทนายความ
นางสาวภาวิณี ชุมศรี ทนายความ
นายอานนท์ นำภา ทนายความ
นางสาววราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายความ
นายสนธยา โคตปัญญา นักกฎหมาย
นางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ นักกฎหมาย
นายจุลศักดิ์ แก้วกาญจน์ นักกฎหมาย
นางสาวเกศริน เตียวสกุล นักกฎหมาย


 

 

[1] พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 12 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกสภาทนายความ
              (4) ผดุงไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพและปฏิบัติตนตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สภานายจ้างเสนอ 5 เงื่อนไข แลกค่าจ้าง 300 บาท

Posted: 28 Sep 2011 02:39 AM PDT

ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทยเสนอ 5 ข้อเสนอแลกค่าจ้าง 300 บาท ให้ปรับปรุงกฎหมายความหมายของ "นายจ้าง" การระบุให้ "ค่าจ้างขั้นต่ำ" คือเงินที่ได้รายวันรวมถึงเงินได้อื่นๆ เช่น ค่าล่วงเวลา ค่ากะ ค่าครองชีพ และต้องกำหนดว่าจะไม่ปรับค่าจ้างขึ้นอีกเป็นเวลา 3 ปี ด้านนายจ้างกลุ่มไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ ขอรวมค่าสวัสดิการกับค่าจ้าง 300 บ.
 
เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 54 ที่ผ่านมาสำนักข่าวไทยรายงานว่า นางศิริวรรณ ร่วมฉัตรทอง ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาชิกได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยได้ข้อสรุป 5 ประเด็น พร้อมกับนำเสนอต่อ นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์  ปลัดกระทรวงแรงงาน เพื่อให้เสนอต่อรัฐบาลให้นำไปพิจารณาในการหาทางออกเกี่ยวกับนโยบายปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อไป โดยข้อเสนอ 5 แนวทาง คือ
 
1. ให้รัฐบาลจัดวาระเร่งด่วนในการปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับค่าจ้าง  เช่น  ความหมายของนายจ้าง การระบุให้ค่าจ้างขั้นต่ำ คือเงินที่ได้รายวันรวมถึงเงินได้อื่นๆ  เช่น ค่าล่วงเวลา ค่ากะ ค่าครองชีพ และต้องกำหนดว่าจะไม่ปรับค่าจ้างขึ้นอีกเป็นเวลา 3 ปี พร้อมเสนอให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำออกเป็น 2 ระดับ โดยแรงงานเข้าใหม่ แรงงานอายุ 15-18 ปี ตลอดจนแรงงานต่างด้าวซึ่งเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ให้รับค่าจ้างในอัตราร้อยละ 75 ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นเวลา 6 เดือน พร้อมกับให้นำระบบค่าจ้างรายชั่วโมง (Hourly wage) มาใช้
 
2. ให้รัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายแทนนายจ้างและลูกจ้าง โดยการลด หรืองด การเก็บเงินสมทบประกันสังคมเป็นเวลา 1 ปี 
 
3.ใช้มาตรการด้านภาษี และส่งเสริมการลงทุน  เช่น ให้ เอสเอ็มอี บันทึกค่าจ้างพนักงานได้เป็น 3 เท่า ของที่จ่าย เป็นเวลา 3 ปี ขอให้ยกเว้นการเก็บภาษีนิติบุคคล 3 ล้านบาทแรก ให้กับ เอสเอ็มอีขอให้ขยายสิทธิประโยชน์ของโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเดิมออกไปอีก 3 ปี รวมทั้งขอให้ขยายเวลายื่นโครงการตามประกาศของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ฉบับที่1/2553  เรื่องนโยบายส่งเสริมการลงทุนแก่เอสเอ็มอี จากเดิมที่จะหมดเขตใน 31 ธ.ค.2554 ให้ขยายออกไปเป็น 31 ธ.ค.2556 และขอให้ขยายวงเงินการซื้อเครื่องจักรเก่าต่อเครื่องจักรใหม่จาก 10 ล้านบาท เป็น 20 ล้านบาท
 
4. ขอให้รัฐบาลหาแหล่งเงินกู้และการสนับสนุนทางการเงิน โดยให้มีแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ เอสเอ็มอี
 
5.ข้อเสนอแนะด้านอื่น ๆ  เช่น การปรับค่าจ้างควรเป็นไปตามพื้นที่ จนกว่ารัฐจะจัดระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานได้เท่าเทียมกันทั้งประเทศ  ลดข้อจำกัดของกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการลงทุนในเทคโนโลยี รวมทั้งการจัดทำแผนระยะยาวระดับประเทศให้เป็นรูปธรรม  การลดกฎระเบียบให้เกิดความยืดหยุ่นในการใช้แรงงานต่างด้าว  การคัดเลือกคณะกรรมการค่าจ้างตามหลักความสามารถ หรือประสบการณ์จริง
 
ทั้งนี้ ขอให้รัฐบาลประกาศมาตรการการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ ให้มีความชัดเจนแก่ภาคเอกชน  เช่น การลดภาษี หรือการส่งเสริมการลงทุนภายในเดือน ต.ค.2554 นี้ เพื่อให้ภาคเอกชนมีแนวทางการทำงานที่ชัดเจน รวมทั้งสามารถวางแผนงานในปีถัดไป
 
 
นายจ้างกลุ่มไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ ขอรวมค่าสวัสดิการกับค่าจ้าง 300 บ.
 
ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานเมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่กระทรวงแรงงาน (รง.) กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ และสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เข้าร่วมหารือกับ นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เกี่ยวกับแนวทางปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท โดยจะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 40% ภายในวันที่ 1 ม.ค.2555 และปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เท่ากันทั่วประเทศ ภายในวันที่ 1 ม.ค.2556
      
นายสัมพันธ์ ศิลปนาฎ นายกสมาคมสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า สมาคมมี 47 บริษัท จากการที่ได้ประชุมสมาคมไม่ขัดข้องเรื่องนโยบาย แต่เรามองความเป็นอยู่เรื่องรายได้มากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ อยากให้มองรวมถึงรายได้คงที่ที่เป็นตัวเงินที่ได้รับ เช่น ค่าครองชีพ ค่าเดินทาง ค่ากะกลางวัน-กลางคืน ค่าอาหาร และอื่นๆ อยู่บนพื้นฐานการทำงาน 8 ชม.ไม่รวมเบี้ยขยัน โอที ค่าทักษะทำงานยาก ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 30-60 บาทต่อวัน แล้วแต่บริษัท หรือตกประมาณไม่เกิน 1,800 บาทต่อเดือน แล้วไปรวมกับเงินเดือนตามค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งบางบริษัทมีแค่ค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน แต่ไม่มีค่าสวัสดิการใช้จ่ายเหล่านี้ให้กับแรงงาน จึงคิดว่าน่าจะนำรายได้เหล่านี้มาคำนวณรวมกับค่าจ้างขั้นต่ำ โดยครึ่งหนึ่งของกลุ่มธุรกิจไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์พร้อมทำได้เลยตามเงื่อนไขนี้ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งยังไม่มีพร้อมก็ให้ปรับเป็นขั้นบันได โดยค่อยๆปรับขึ้นในระยะเวลา 3 ปี เพราะการปรับครั้งนี้เป็นการปรับโครงสร้างของประเทศ ทำให้นายจ้างปรับต้นทุนการผลิตไม่ทัน
 
 “ทุกวันนี้แรงงานในกลุ่มธุรกิจไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์รับรายได้ทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 10,000-12,000 บาทต่อเดือน ถ้าไม่รวมโอทีจะอยู่ที่ประมาณ 8,000 บาท ซึ่งถ้ามีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท โดยไม่นำค่าสวัสดิการมาคิดรวมด้วยอาจจะเกิดการยกเลิกโอที ค่าประกันสุขภาพ เงินกองทุนสะสมที่ให้กัน 5-10% ที่ให้เมื่อตอนออกจากงาน ก็อาจจะต้องล่มสลายไป เพราะกลุ่มธุรกิจนี้เกือบทั้งหมดไม่ได้ประโยชน์จากการลดภาษีนิติบุคคลเพราะได้ใช้สิทธิ์บีโอไอ ซึ่งได้สิทธิ์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่แล้ว” นายสัมพันธ์ กล่าว
      
นายสัมพันธ์ กล่าวอีกว่า คิดว่าคนน่าตกงานกันมากขึ้น เพราะบริษัทใหญ่ๆ มีทางที่จะปรับตัวเอง ใช้เครื่องจักรมากขึ้น คัดกรองคนงานมากขึ้น ส่วน SME คงจะย้ายฐานการผลิตมากขึ้น ถ้ามีการปรับขึ้นในส่วนของ 7 จังหวัด แรงงานจะเทมาที่ 7 จังหวัดที่ได้ 300 บาท ส่วนจะมาปรับ 300 ให้ครบทุกจังหวัดในปีต่อมา เชื่อว่าพนักงานก็อิ่มตัวแล้ว ไม่อยากเคลื่อนย้ายอีก ซึ่งผมมองว่าควรสนับสนุนเพิ่มค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานมากกว่า ส่วนเรื่องจะพัฒนาแรงงานฝีมือเป็นแรงงานฝีมือรวดเดียว 3 เดือน คิดว่าเป็นไปได้ยาก เพราะแค่ธุรกิจไฟฟ้าที่มีแรงงานกว่าแสนคน 80% เป็นแรงงานไร้ฝีมือ คิดว่าต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการพัฒนาฝีมือ
      
นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การเสนอสิ่งหนึ่งออกมาเป็นปกติที่ต้องมีบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย แต่ผมต้องเคาะระฆัง เพื่อเป็นแนวทางเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้ากลุ่มไหนมีผลกระทบ ผมก็จะประสานหลายๆ หน่วยงานให้ ซึ่งตอนนี้ถ้ามีปัญหาอะไรก็จะขอแลกเปลี่ยน ผมมองว่า ที่ทำตามนโยบายนี้ก็เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ได้มีในเรื่องของผลประโยชน์หรือการทุจริต แต่เป็นการปรับรายได้ขั้นต่ำที่มีประโยชน์ต่อลูกจ้าง เพราะที่ผ่านมามีการปรับขึ้นเพียงไม่กี่บาท ซึ่งพอมีการปรับขึ้นแล้วเงินเฟ้อก็ตามทัน ซึ่งคิดว่านโยบายนี้จะช่วยแรงงานจริงๆ โดยในปีแรกอาจจะมีผลกระทบบ้างแต่ก็ต้องทำ
      
“ข้อดีของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 2 ระดับ เช่น มีเวลาให้นายจ้างปรับตัว มีเวลาให้แรงงานพัฒนาฝีมือแรงงาน และยังช่วยลดการกดดันของแรงงานที่คาดหวังในนโยบายนี้ โดยเห็นว่าการนำค่าสวัสดิการมารวมเป็นค่าจ้างขั้นต่ำนั้นขึ้นอยู่กับสัญญาที่นายจ้างตกลงกับลูกจ้างซึ่งสามารถทำได้ และเชื่อว่าหากมีการไล่คนงานออกจะมีสถานประกอบการอื่นๆ รองรับ” ปลัดแรงงาน กล่าว
      
นางกรพินฐ์ พนาสันติภาพ ผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาประมาณ 10 ปี การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 40 บาท แต่ตอนนี้ภายในปีเดียวจะต้องปรับขึ้นไปกว่า 80 บาท ซึ่งคิดว่ากระชากเกินไป แล้วแรงงานเดิมที่ทำงานอยู่ก็ต้องขยับปรับขึ้นไปอีก เพื่อความเป็นธรรม ส่วนการยกระดับผลิตภาพแรงงานคิดว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเราได้ทำอยู่แล้ว จากธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงทำให้ต้องมีการพัฒนาฝีมือแรงงานอยู่ตลอดเวลา ส่วนการใช้สิทธิ์การลดค่าใช้จ่ายสองเท่าจากการพัฒนาฝีมือแรงงานเราได้ใช้สิทธิ์ตรงนี้อยู่แล้ว ส่วนเรื่องจะให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เราก็มีภาระตรงนี้อยู่แล้วเพราะไม่มีสินทรัพย์ไปให้กู้แล้ว
      
ทั้งนี้มีการนำแนวทางเหล่านี้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลางอีกครั้งในวันที่ 5 ต.ค.นี้
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กลาโหมเยเมนหวิดโดนระเบิดคาร์บอมบ์พลีชีพ

Posted: 28 Sep 2011 12:20 AM PDT

ขบวนรถของ รมว.กลาโหมเยเมนถูกคาร์บอมบ์และระเบิดมือโจมตี ทหารเจ็บ 7 รมต.ไม่ได้รับอันตรายใดๆ ด้านผู้ชุมนุมเผยคำปราศรัยของ ปธน. ที่เรียกร้องให้ยุติการปะทะไม่เกิดทางออกใดๆ กลุ่มชนเผ่าติดอาวุธยึดฐานที่มั่นของฝ่ายรัฐบาลได้เพิ่มอีกฐาน

27 ก.ย. 2554 - เจ้าหน้าที่ทางการเยเมนรายงานว่า รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของเยเมนรอดพ้นจากการถูกลอบโจมตีโดยคาร์บอมบ์และอาวุธระเบิดอื่นๆ ขณะที่กำลังเดินทางกับขบวนไปยังเมืองอาเดนทางตอนใต้ของประเทศ

เจ้าหน้าที่ทางการเล่าว่า มีชายคนหนึ่งขับรถที่เต็มไปด้วยวัตถุระเบิดมุ่งตรงมายังขบวนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โมฮัมเม็ด นาสเซอร์ อาลี และมีรถจักรยานยนต์หลายคันเข้ามาโจมตีด้วยการขว้างปาระเบิดมือ

การโจมตีในครั้งนี้เป็นเหตุให้ทหารซึ่งขับรถนำขบวนคณะได้รับบาดเจ็บ 7 นาย ส่วน รมต.อาลีซึ่งนั่งอยู่ในรถคันที่สองไม่ได้รับอันตรายใดๆ

เหตุการณ์ในครั้งนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นฝีมือของผู้ใด

ทีมสืบสวนกล่าวว่าพวกเขาพบศพชายอายุ 19 ปี ในรถติดระเบิดและสรุปว่าชายผู้นี้เป็นคนลงมือ โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงกล่าวถึงการกระทำในครั้งนี้ว่าเป็นการใช้ยุทธวิธีแบบอัลเคด้า

โดยก่อนหน้านี้ในช่วงปลายเดือน ส.ค. ที่ผ่านมาขบวนรถ รมว. กลาโหม ของเยเมนได้ขับไปเหยียบกับดักระเบิดในเขตอาบิยัน จนทำให้ทหารอารักขา 2 นายเสียชีวิต ส่วนอาลีสามารถรอดพ้นมาได้โดยไม่ได้รับบาดเจ็บใดๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทางการเยเมนให้ความเห็นว่าพื้นที่แถบอาบิยันเป็นเขตที่มีผู้ก่อการร้ายอัลเคด้ายึดครองอยู่ และได้วางกับดักระเบิดไว้จำนวนมาก


คำปราศรัย ปธน. ไม่มีผลกับสถานการณ์

หลังจากที่ประธานาธิบดี อาลี อับดุลลา ซาเลห์ ของเยเมนกลับประเทศและกล่าวขอร้องให้ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายต่อต้าน หยุดการปะทะ การประท้วงที่จัตุรัสเชนจ์ก็ยังคงดำเนินต่อไป และการปะทะกันระหว่างกลุ่มริพับริกันการ์ดซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาลนำโดยลูกชายของซาเลห์กับกลุ่มชนเผ่าที่ติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลก็ยังคงดำเนินต่อไปเช่นกัน

"คำปราศรัยของเขา (ซาเลห์) เพียงแต่สร้างความวุ่นวาย ไม่ได้มีทางออกใดๆ เลย ไม่มีอะไรที่ช่วยแก้วิกฤตนี้ได้" อับดุลลาห์ มากานี กล่าว เขาเป็นครูสอนวิชาชีววิทยาที่มาร่วมชุมนุมที่จัตุรัสเชนจ์

"พวกเราควรมีการยกระดับการชุมนุม" มากานีกล่าวต่อ


กลุ่มติดอาวุธต้านรัฐบาลยึดฐานทัพอีกฐานในกรุงซานาได้

ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ทางการเยเมนรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าของวันจันทร์ (26) ที่ผ่านมา กลุ่มชนเผ่าที่ต่อต้านรัฐบาลได้บุกเข้าไปในฐานทัพทหารที่มีหน่วยทหารพิเศษประจำการอยู่และสามารถจับตัวทหารได้ 30 นาย ฐานทัพทหารดังกล่าวตั้งอยู่ในหมู่บ้านดาห์ราห์ ทางตอนเหนือของกรุงซานา

ทางกระทรวงกลาโหมเยเมนได้ออกแถลงการณ์ระบุถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเจ้าหน้าที่บัญชาการของฐานทัพดังกล่าวคือพันเอกพิเศษ อาลี อัล-เคเลบี ถูกสังหารระหว่างการต่อสู้โดยไม่ได้กล่าวถึงเหตุการณ์เพิ่มเติม ขณะที่เจ้าหน้าที่กล่าวกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศว่ากลุ่มชนเผ่าได้จับตัวทหารประจำการ 30 นายไว้ขณะที่พวกเขาเข้ายึดฐานทัพ มีฝ่ายชนเผ่าอย่างน้อย 4 รายถูกสังหาร และมีอีก 27 รายได้รับบาดเจ็บจากการต่อสู้ แต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้กล่าวถึงจำนวนผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากฝ่ายทหารประจำการ

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่านี่เป็นฐานทัพแหล่งที่ 2 ของฝ่ายริพับริกันการ์ดที่ถูกบุกยึดภายในช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้กลุ่มผู้ชุมนุมที่มีทหารย้ายข้างร่วมหนุนได้บุกเข้ายึดฐานทัพอีกแห่งหนึ่งในกรุงซานา

 

ที่มา

Yemeni defence minister survives attack, Aljazeera, 27-09-2011
http://english.aljazeera.net/news/middleeast/2011/09/2011927113741494186.html

Fresh protests rock Yemen after Saleh speech, Aljazeera, 26-09-2011
http://english.aljazeera.net/news/middleeast/2011/09/2011926132143307726.html

Yemeni defence minister escapes mine blast, Aljazeera, 30-08-2011
http://english.aljazeera.net/news/middleeast/2011/08/201183018541170960.html

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อดีตคณบดีนิติฯ มธ. ตอบคำถามอธิการบดี 15 ประเด็น กรณีข้อเสนอนิติราษฎร์

Posted: 27 Sep 2011 10:41 PM PDT

พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีต สสร.รัฐธรรมนูญ 2540 และ ส.ว. จากการเลือกตั้งสมัยแรก ตอบคำถาม 15 ประเด็นที่ ศ. ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ ตั้งคำถามต่อนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ที่ออกมาเสนอให้ลบล้างผลพวงแห่งการรัฐประหาร 19 กันยายน2549

โดยเขาโพสต์ข้อความดังกล่าวลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งประชาไทขออนุญาตนำเผยแพร่อีกครั้ง และเพื่อความสะดวกแก่ผู้อ่าน ประชาไทได้นำคำถามของ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีคนปัจจุบันของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาเรียบเรียงในลักษณะ ถาม-ตอบ ดังนี้


1เราสามารถยกเลิกกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้หรือไม่ เช่นการยกเลิก รธน. 2549

ตอบ นิติราษฎร์ไม่ได้เสนอให้ยกเลิกรธน. 2549 แต่ให้ถือว่าการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ทำรัฐประหารตามมาตรา 37 ไม่เกิดผลตามกฎหมาย

2.ถ้าตำรวจจับคนร้ายที่ทำผิดจริงมาแต่ไม่ได้สอบสวนโดยละเอียด ต่อมาคนร้ายถูกฟ้องศาล มีการโต้แย้งว่ากระบวนการของตำรวจไม่ค่อยถูกต้อง แต่ศาลเห็นว่าไม่เป็นไร ศาลก็พิพากษาไป ตกลงคำพิพากษาของศาลใช้ได้หรือไม่

ตอบ ตามป.วิอาญา การสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมมีผลทำให้การฟ้องคดีของอัยการไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย ซึ่งโดยหลักการพิจารณาคดีก็ต้องถือว่าไม่ชอบทั้งหมด แต่ศาลไทยบอกไม่เป็นไร หากพิจารณาว่าจำเลยกระทำผิดจริง ก็ลงโทษจำเลยได้ ซึ่งก็เหมือนกับการยอมรับว่าการรัฐประหาร(การกระทำความผิดฐานกบฎ)เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหากทำสำเร็จนั้นเอง

3.ถ้ามีคนเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมในช่วง คมช.ไม่ถูกต้อง ก็ให้ดำเนินการใหม่ คนอีกกลุ่มเห็นว่าการตัดสินคดีซุกหุ้น ศาลตัดสินผิดโดยสิ้นเชิง คนกลุ่มหลังจะขอให้ยกเลิกรธน. 2540 ตั้งศาลรธน.ใหม่ แล้วพิพากษาคดีซุกหุ้นใหม่ จะได้หรือไม่

ตอบ ศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินคดีซุกหุ้นของทักษิณ เกิดจากรธน. 2540 ที่มิได้มีที่มาจาการรัฐประหารเหมือน รธน.2550 หากมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าศาลตัดสินผิดก็น่าจะมีการออกกฎหมายมาให้รื้อฟื้นคดีใหม่ได้ โดยไม่ต้องยก
เลิกรธน. 2540 ซึ่งมิได้เกิดขึ้นจากการกระทำผิดกฎหมายฐานกบฎ (การทำรัฐประหาร)

4.ประชาชนจะลงมติแก้รธน.ที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้หรือไม่

ตอบ เป็นคำถามประเด็นเดียวกันกับคำถามที่ 1 คำตอบก็คือไม่ใช่การแก้รัฐธรรมนูญที่ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่เป็นการยกเลิกเพิกถอนผลของการกระทำที่เกิดจากรัฐธรรมนูญที่เป็นผลพวงของการรัฐประหารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

5.รธน.2550 ได้รับการลงประชามติโดยประชาชน ในทางกฎหมายเราจะพูดได้หรือไม่ว่า ประชาชนลงมติโดยไม่ถูกต้อง หรือรธน. 2550 ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของประชาชน?

ตอบ พูดได้ เพราะมีการหลอกลวงขู่เข็ญบังคับให้ประชาชนลงมติ จึงเป็นการลงประชามติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

6.ตั้งโดยคมช. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ตั้งโดย คมช. ใช่หรือไม่

ตอบ คตส.ตั้งโดย คมช.แน่นอน ส่วนศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองก็เกิดจากรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่ง คมช.เป็นผู้ให้กำเนิดเช่นกัน ดังนั้น เมื่อการกระทำรัฐประหารของคมช.เป็นการกระทำที่ละเมิดบทบัญญัติมาตรา 63 แห่งรธน. 2540 และเป็นความผิดฐานกบฎตามป.อาญามาตรา 113 ทั้งคตส.และศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองจึงเป็นองค์กรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยกันทั้งคู่

7.การดำเนินการตามแนวคิดของนิติราษฎร์ ไม่มีผลทางกฎหมายต่อนายกทักษิณเลยใช่หรือไม่

ตอบ ตามที่นิติราษฎร์แถลง มีผลโดยตรงแน่นอน คือต้องพิจารณาคดีใหม่โดยกระบวนการยุึติธรรม ที่ชอบด้ยหลักนิติธรรม ถ้ากระทำผิดจริงตามข้อกล่าวหาก็ต้องถูกลงโทษ

8.มาตรา 112 ขัดแย้งกับ รธน .จริงหรือ และขัดกับรธน. 2550 ที่จะถูกยกเลิกใช่หรือไม่

ตอบ ป.อาญา ม.112 เท่าที่มีการตีความและใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีผลขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญแน่นอน เพราะเป็นการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนซึ้งเป็นสิทธิขั้นมูลฐานตามรธน.ของประชาชนโดยสิ้นเชิง แต่อาจไม่ขัดแย้งกับรธน.2550 เพราะเจตนารมณ์ของผู้ร่าง (สสร. 2550) ไม่ถือว่าขัดแย้งอยู่แล้ว

9.ประเทศทั้งหลายในโลกรวมทั้งเยอรมัน เขาไม่คุ้มครองประมุขของประเทศเป็นพิเศษแตกต่างไปจากประชาชนใช่หรือไม่

ตอบ ทุกประเทศมีกฎหมายคุ้มครองประมุขของประเทศ แต่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างเช่นเยอรมัน อังกฤษ อเมริกา เขาถือว่าเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามหลักนิติธรรม ประมุขของประเทศจึงอาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ หากมีการกระทำใด ๆที่มีผลต่อการเมืองการปกครองของประเทศไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม

10.ถ้ามีคนไปโต้แย้งนิติราษฎร์ในที่สาธารณะเขาจะไม่ถูกขว้างปาและโห่ฮาเหมือนกับหมอตุลย์ใช่หรือไม่

ตอบ หากท่านคิดจะไปโต้แย้งกับนิติราษฎร์ ท่านอธิการก็จัดเวทีที่ธรรมศาสตร์สิครับ ผมเชื่อว่าไม่มีใครกล้าโห่ฮาท่านแน่นอน

11.ถ้าเรายกเลิกกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้ เราจะล้มเลิกการกระทำทั้งหลายและลงโทษคณะรัฐประหารกี่ชุด สุจินดา ถนอม ประภาศ สฤษฏ์ จอมพล ป. อ.ปรีดี หรือจะลงโทษเฉพาะคณะรัฐประหารที่กระทำต่อนายกทักษิณ

ตอบ การประกาศให้ผลของการรัฐประหาร ไม่เป็นการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำผิดฐานกบฎ โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้ประชาชนลงประชามติตามที่นิติราษฎร์เสนอ เป็นการยกเลิกการนิรโทษกรรมที่กำหนดไว้ใน รธน. 2550 ไม่ใช่ยกเลิกกฎหมายที่ยกเลิกไปแล้ว ส่วนที่ถามว่าทำไมไม่ยกเลิกผลของการกระทำรัฐประหารของสุจินดา ถนอม สฤษดิ์ จอมพล ป. ปรีดี แล้วเอาตัวคนเหล่านี้มาลงโทษฐานกบฎด้วย เห็นด้วยว่าสมควรทำในสิ่งที่ยังพอกระทำได้ เช่นการให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลร้ายจากการกระทำรัฐประหารเหล่านั้น (โดยเฉพาะผู้ที่ถูกลงโทษโดยไม่ผ่านการพิจารณาคดีตามกระบวนการยุติธรรม) แต่การนำตัวผู้กระทำรัฐประหารมาลงโทษคงกระทำไม่ได้แล้วเพราะผู้กระทำผิดส่วนใหญ่ตายไปแล้ว ที่ยังเหลืออยู่คดีก็ขาดอายุความหมดแล้ว

12.ความเห็นของนักกฎหมายที่เห็นไม่ตรงกับนิติราษฎร์แต่ดีกว่านิติราษฎร์ รัฐบาลนี้จะรับไปใช่หรือไม่

ตอบ ช่วยเสนอให้หน่อยว่าความเห็นของท่านที่ดีกว่าของนิติราษฎร์ คือ อย่างไร ถ้าดีกว่าจริงจะขอสนับสนุนเต็มที่เลย ในฐานะที่เป็นนักกฎหมายด้วยกัน

13.ศาลรธน. ช่วยนายกทักษิณคดีซุกหุ้นถือว่าใช้ได้ แต่ไม่ช่วยคดียึดทรัพย์ถือว่าใช้ไม่ได้ เป็นตุลาการภิวัตน์ใช่หรือไม่

ตอบ ตุลาการภิวัตน์ คือตุลาการที่ยอมตนเป็นเครื่องมือและอาวุธให้แก่ผู้มีอำนาจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ใช้เพื่อประหัตประหารและทำลายล้างศัตรูของตน ตุลาการศาลทั้งในคดีซุกหุ้นและคดียึดทรัพย์ทักษิณ จึงเป็นตุลาการภิวัฒน์ด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าในคดีซุกหุ้นตุลาการภิวัตน์เป็นฝ่ายแพ้

14.บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรธน. 2550 แย่กว่า รธน. 2540, 2475 ที่นิติราษฎร์จะนำมาใช้ใช่หรือไม่

ตอบ บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพตามรธน.2550 และฉบับอื่นทุกฉบับไม่มีความหมายอะไรเลย ไม่มีฉบับใดดีกว่ากัน เพราะตราบใดที่ตุลาการไทยยังยอมรับว่ารัฏฐาธิปัตย์คือผู้ที่ได้อำนาจอธิปไตยมาโดยรถถังและปืนและอำนาจอธิปไตยไม่ใช่อำนาจของประชาชน

15.คมช. เลว สสร.ที่มาจาก คมช.ก็เลว รธน.2550 ที่มาจาก สสร.ก็เลว แต่รัฐบาลที่มาจาก รธน. เลว เป็นรัฐบาลดีใช่หรือไม่สสร.ที่มาจากรัฐบาลชุดนี้ และที่ อ.วรเจตน์จะเข้าร่วม ก็เป็นสสร.ที่ดีใช่หรือไม่”

ตอบ ไม่ใช่เรื่องใครดีใครเลว แต่เป็นเรื่องของหลักการในทางนิติศาสตร์ ที่จะต้องมีการยืนยันว่าระหว่างอำนาจรัฐกับเสรีภาพของประชาชนและระหว่างระบอบเผด็จการกับระบอบประชาธิปไตย นักกฎหมายควรจะยืนอยู่ข้างใดมากกว่า

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น