โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

แต่งตั้งทหารแล้ว584นาย ตท.12 ขึ้นแท่นเกือบยกแผง

Posted: 30 Sep 2011 01:25 PM PDT

โปรดเกล้าแต่งตั้ง 584 นายทหาร ตท.12 ชักแถว ไม่พลิกโผ ดาว์พงษ์ นั่งรอง ผบ.ทบ.โปฎกนั่ง ผช.ผบ.ทบ.ศุภรัตน์ คุมศูนย์สงครามพิเศษ

สำนักข่าวไทยรายงานว่า สำนักนายกรัฐมนตรีมีประกาศว่า มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายทหารรับราชการสนองพระเดชพระคุณ จำนวน 584 นาย ประกาศ ณ วันที่ 30 กันยายน มีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ โดยการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้ มีรายชื่อที่น่าสนใจ

พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ (ตท.11) ประธานคณะที่ปรึกษากองบัญชาการกองทัพไทย เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ภุชงค์ รัตนวรรณ (ตท.10) ผบ.สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ เป็นจเรทหารทั่วไป  กองบัญชาการกองทัพไทย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร (ตท.12) เสนาธิการทหาร เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.ท.สกนธ์ สัจจานิตย์ (ตท.12) เป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.ร.อ.ยุทธนา ฟักผลงาม (ตท.12) ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ เป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.อ.บุญยฤทธิ์ เกิดสุข (ตท.11) ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.ร.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร (ตท.12) รองเสนาธิการทหาร เป็นเสนาธิการทหาร  

กองทัพบก พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุบรรณ (ตท.12) เสนาธิการทหารบก เป็นรองผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน (ตท.11) ที่ปรึกษากองทัพบก เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.โปฎก บุนนาค (ตท.12) ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก พล.ท.ศิริชัย ดิษฐกุล (ตท.13) รองเสนาธิการทหารบก เป็นเสนาธิการทหารบก พล.ต.ศุภรัตน์ พัฒนาวิสุทธิ์ (ตท.12) รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ เป็นผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ  

กองทัพเรือ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ (ตท.13) ที่ปรึกษากองทัพเรือ เป็นผู้บัญชาการทหารเรือ พล.ร.อ.ดำรงศักดิ์ ห้าวเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ เป็นเสนาธิการทหารเรือ พล.ร.อ.วีรพล กิจสมบัติ หัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา เป็นรองผู้บัญชาการทหารเรือ พล.ร.อ.อมรเทพ ณ บางช้าง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ พล.ร.ท.ฆนัท ทองพูล ผบ.กองทัพเรือภาค 1 เป็น ผบ.กองเรือยุทธการ พล.ร.ท.พลวัฒน์ สิโรดม รองเสนาธิการทหารเรือ เป็นที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ  

กองทัพอากาศ พล.อ.อ.ศรีเชาวน์ จันทร์เรือง (ตท.12) ผู้ช่วยผู้บัญชาการกองทัพอากาศ เป็นรองผู้บัญชาการกองทัพอากาศ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง (ตท.13) เสนาธิการกองทัพอากาศ เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการกองทัพอากาศ พล.อ.อ.วินัย เปล่งวิทยา (ตท.12) ผบ.การปฏิบัติการทางอากาศ เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการกองทัพอากาศ พล.อ.ท.เพิ่มเกียรติ ลวณะมาลย์ รองเสนาธิการกองทัพอากาศ เป็นเสนาธิการทหารอากาศ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มาร์คแนะยิ่งลักษณ์ออกวิทยุควรเน้นชี้แจงการทำงานมากกว่าตอบโต้ทางการเมือง

Posted: 30 Sep 2011 10:23 AM PDT

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แนะนายกรัฐมนตรีจัดรายการวิทยุพบประชาชน ขอให้ใช้ชี้แจงการทำงานของรัฐบาล มากกว่าตอบโต้ทางการเมือง เพราะจะทำให้ประชาชนมองว่าเป็นการสร้างความขัดแย้ง พร้อมจับตาดูการปลดรายการ "เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง" พ้นผังช่อง 11

สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานวานนี้ (30 ก.ย.) ว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ตนเองยังไม่ได้ร้องขอไปยังนายกรัฐมนตรี กรณีที่นายกรัฐมนตรี เปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านจัดรายการชี้แจงประชาชน เนื่องจากต้องรอดูรูปแบบรายการนายกฯ ยิ่งลักษณ์ พบประชาชนในวันพรุ่งนี้ก่อนว่าจะออกมาเป็นเช่นไร ทั้งนี้ ตนเองอยากให้รัฐบาลใช้สื่อนี้ในการชี้แจงการทำงานของรัฐบาล มากกว่าตอบโต้ทางการเมือง เพราะจะทำให้ประชาชนมองว่าเป็นการสร้างความขัดแย้ง ส่วนที่นายกรัฐมนตรีจะจัดรายการผ่านวิทยุนั้นก็เป็นสิทธิ์ที่ทำได้ นอกจากนี้อยากให้จับตาดูรายการของ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ที่ถูกถอดออกจากผังรายการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ซึ่งตามหลักเกณฑ์จะต้องพิจารณาว่ารายการมีสาระหรือไม่ ผู้ที่ทำรายการปฏิบัติตามสัญญาหรือเปล่าและรายการได้รับความนิยมหรือไม่ แต่ส่วนตัวมองว่าการถอดรายการเป็นการเจาะจงตัวบุคคลซึ่งเป็นเรื่องทางการ เมือง ส่วนหลังจากนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้จัดรายการว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปถ้า เห็นว่าไม่ได้รับความยุติธรรม ส่วนฝ่ายค้านจะคอยติดตามในเรื่องนี้ ส่วนกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะลอยตัวราคาก๊าซเอ็นจีวีและแอลพีจีนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จะต้องดูเหตุและผลในนโยบายแต่ละช่วง ซึ่งมาตรการดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อนโยบายการคลังรวมถึงอาจจะทำให้เกิด ภาวะเงินเฟ้อมากขึ้นในอนาคตได้

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงการไปแสดงวิสัยทัศน์ของอดีตผู้นำอาเซียนที่ประเทศฟิลิปปินส์ ว่า ในภูมิภาคอาเซียนต้องการความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการรวมตัวสร้างเป็น ประชาคมอาเซียนในด้านเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมาตอนนี้ต่างประเทศกังวลถึงนโยบายข้าวของประเทศไทยที่เปลี่ยน แปลงไปและจะหลีกหนีปัญหาต่างๆ ที่ประเทศอื่นๆ เคยเจออย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเก็บสต๊อกข้าวหรือกลไกตลาดต่างๆ และตอนนี้ต่างประเทศกำลังจับตามองว่าข้าวไทยหลังจากนี้จะมีราคาเพิ่มขึ้น หรือไม่

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘จอมขวัญ’ เบิกความคดีหมิ่น ‘โรงไฟฟ้า’ ชี้กระบวนการรัฐควรวิจารณ์ได้

Posted: 30 Sep 2011 10:21 AM PDT

‘จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์’ พยานจำเลยคดี ‘โรงไฟฟ้าบางคล้า’ ฟ้องหมิ่นเอ็นจีโอหลังออกรายการคมชัดลึก แจงข้อมูลเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ย้ำทุกคนควรวิจารณ์นโยบาย-กระบวนการรัฐได้ ศาลนัด ‘ส.ว.รสนา’ สืบพยานปากสุดท้าย 1ธ.ค.นี้

 
วันที่ 30 ก.ย.54 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาฯ ห้องพิจารณาคดี 912 ศาลออกนั่งบัลลังก์สืบพยานโจทก์ คดีหมายเลขดำ อ.3151/2552 ที่บริษัท สยามเอ็นเนอร์จี จำกัด เจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา โดยนายบุญชัย เจียมจิตจรุง ผู้รับมอบอำนาจ เป็นโจทก์ฟ้อง นางสาววัชรี เผ่าเหลืองทอง เอ็นจีโอด้านพลังงาน ฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา
 
นางสาวจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ผู้ดำเนินรายการคมชัดลึก เนชั่นชาแนล จำเลยที่ 2 ในคดีเดียวกันซึ่งศาลมีคำสั่งยกฟ้องไปก่อนหน้านี้ เบิกความในฐานะพยานจำเลยว่า การจัดรายการในวันเกิดเหตุสืบเนื่องจากขณะนั้นมีการชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าของชาวบ้านบางคล้า โดยใช้หัวข้อ “โรงไฟฟ้าเพื่อใคร” ซึ่งเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม จำเป็นต้องมีการพูดคุยเพื่อให้ได้ความรู้ ได้ข้อมูลชุดเดียวกัน และเพื่อเป็นการหาทางออก ทั้งนี้ การเลือกประเด็นเป็นไปตามหลักการของรายการและการทำหน้าที่สื่อมวลชน อีกทั้งมีการติดต่อผู้เกี่ยวข้องกับประเด็นในทุกด้านมาร่วมสนทนา
 
ผู้ดำเนินรายการคมชัดลึก กล่าวด้วยว่า การเชิญนางสาววัชรีจำเลยในคดีมาร่วมรายการ เนื่องจากเป็นเอ็นจีโอด้านพลังงาน และในรายการนางสาววัชรีได้นำเสนอความเห็นต่อการดำเนินโครงการขนาดใหญ่โดยเน้นย้ำเรื่องการถามความคิดเห็นของชาวบ้าน และความโปร่งใสในการกำกับดูแลของรัฐ ยกตัวอย่างกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงเข้าไปมีตำแหน่งอยู่ในบริษัทเอกชน ย่อมมีการซ้อนทับเรื่องผลประโยชน์ได้ตามหลักการ ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่าในรายการนางสาววัชรีวิพากษ์วิจารณ์โดยพุ่งเป้าที่กระบวนการตรวจสอบของรัฐว่ามีความโปร่งใสหรือไม่ โดยใช้บริษัทของโจทก์เป็นกรณีตัวอย่าง
 
ชี้ทุกคนควรวิจารณ์นโยบาย-กระบวนการรัฐได้
 
นางสาวจอมขวัญ กล่าวให้ความเห็นต่อมาว่า การสนทนาในวันดังกล่าวเนื้อหายังไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของรายการ เพราะขาดผู้เกี่ยวข้องกับประเด็น คือ บริษัทเอกชนเจ้าของโครงการโรงไฟฟ้า และตัวแทนจากหน่วยงานรัฐ แม้จะมีการต่อสาย ดร.ดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)  เข้าร่วมพูดคุยในรายการ เพราะควรเป็นการเข้าร่วมรายการเพื่อตอบคำถามประเด็นต่อประเด็นให้ครบถ้วน
 
อย่างไรก็ตาม ในความเห็นส่วนตัว ข้อมูลของนางสาววัชรีเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และทุกคนควรวิจารณ์นโยบาย และกระบวนการกำกับดูแลกิจการโดยรัฐได้ไม่ใช่เฉพาะเอ็นจีโอเท่านั้น และตรงนี้เป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนด้วย
 
ต่อคำถามซักค้านของทนายโจทก์ถึงหลักการการตรวจสอบ กลั่นกรองคำพูดของผู้ร่วมรายการในรายการสดนางสาวจอมขวัญ ชี้แจงว่า ข้อแรกทางรายการได้เชิญผู้เกี่ยวข้องกับประเด็นทุกคนเข้าร่วมในการสนทนา แต่เป็นสิทธิที่ผู้ถูกเชิญจะเข้าร่วมหรือไม่ และหากในรายการมีการล้ำเส้นไปเป็นการกล่าวหาที่ก่อความเสียหาย จำเป็นต้องชี้แจงในทันที ผู้ดำเนินรายการจะหยุดประเด็นไว้ เพราะผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้มาร่วมในรายการ ส่วนหากคำพูดของผู้ร่วมรายการปรากฏในภายหลังว่าเป็นการให้ร้ายผู้อื่น ส่วนตัวเห็นว่าควรเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทั้งผู้ร่วมรายการ ผู้ดำเนินรายการ และผู้ถูกกล่าวหา เนื่องจากไม่มาร่วมชี้แจงในรายการ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การสืบพยานในคดีนัดต่อไป ศาลนัดสืบพยานจำเลยปากสุดท้ายคือนางสาวรสนา โตสิตระกูล ประธานคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาล ในคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ในวันที่ 1 ธ.ค.54
 
ทั้งนี้ การฟ้องร้องคดีดังกล่าว สืบเนื่องจากกรณีการให้สัมภาษณ์ทางรายการคมชัดลึก ของสถานีโทรทัศน์เนชั่นชาแนล เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.52 เกี่ยวกับกรณีชาวบ้าน อ.บางคล้า ปิดถนนประท้วงโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าบางคล้า ในพื้นที่ ม.5 ต.เสม็ดใต้ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา นอกจากนี้ บริษัท สยาม เอ็นเนอร์จี จำกัด ยังได้ดำเนินการฟ้องร้องคดีแพ่งนางสาววัชรี เรียกค่าเสียหายกว่า 300 ล้านบาทด้วย
 
ชาวบ้านเผยยังหวั่นใจ เหตุพื้นที่กว่า 500 ไร่เป็นของบริษัทโรงไฟฟ้า
 
ด้านนายประยุทธ แซ่เตียว ชาวบ้านบางคล้าซึ่งเบิกความต่อศาลในช่วงเช้าวันนี้ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า การพูดคุยในรายการคมชัดลึก ชาวบ้านได้ร่วมให้ข้อมูลถึงเหตุผลการชุมนุมคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าในพื้นที่ว่าอาจทำให้ชาวบ้านทำมาหากินไม่ได้และจะกระทบต่อวิถีชีวิต โดยการคัดค้านโครงการดังกล่าวมีมาก่อนที่จะพบกับนางสาววัชรี และการพูดคุยในรายการเป็นการตั้งข้อสังเกตถึงการดำเนินการของรัฐที่อาจเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทเอกชนที่ธุรกิจด้านพลังงาน
 
ส่วนสถานการณ์ในพื้นที่ หลังจากย้ายโครงการโรงไฟฟ้าไปก่อสร้างยังนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา นายประยุทธ ให้ข้อมูลว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทางบริษัทฯ ได้ให้คนงานนำเครื่องจักรเข้าไปปรับสภาพพื้นที่ในที่ดินกว่า 500 ไร่ที่ซื้อไว้สำหรับทำโรงไฟฟ้า และทราบว่ามีความต้องการที่จะทำรั้วล้อมรอบพื้นที่ จากที่ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าได้เปิดให้เช่าพื้นที่ทำนา ทำให้ชาวบ้านต้องคอยเฝ้าระวังดูสถานการณ์ เพราะที่ดินเป็นของโรงไฟฟ้า แม้โครงการเก่าจะย้ายไป แต่จะประมูลใหม่วันไหนชาวบ้านก็ไม่รู้
 
ทนายชี้การวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต เป็นสิทธิในสังคมประชาธิปไตย
 
นายแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ นักกฎหมายจากสภาทนายความ และทนายจำเลยในคดี ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเกี่ยวสิ่งที่สังคมจะได้จากคดีดังกล่าวว่า คำตัดสินของศาลจะเป็นบรรทัดฐานของสังคมและคดีความอื่นๆ ในเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตต่อกิจการที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน และประโยชน์ของสาธารณะ
 
นายแสงชัย กล่าวด้วยว่า สิทธิในการแสดงความเห็นเป็นรากฐานของประชาธิปไตย หากไม่มีตรงนี้ก็ไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตย ซึ่งไม่ได้หมายความให้ทุกคนสามารถวิพากษ์วิจารณ์หรือด่ากันได้อย่างเสรี เพราะมีกฎหมายควบคุมอยู่แล้ว และการดำเนินคดีที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ศาลจะเป็นผู้ชี้ขาดว่าการพูดหรือการวิจารณ์ควรเป็นอย่างไร ตรงนี้มีขอบเขตซึ่งกฎหมายกำหนดเอาไว้ว่าถ้าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต ติชมโดยประชาชนทั่วไป แค่นั้นก็มีสิทธิแล้วสำหรับกิจการที่มีผลกระทบต่อส่วนรวม ต่อประโยชน์สาธารณะ
 
ส่วนผู้ที่คิดว่าตัวเองเสียหายก็มีสิทธิฟ้องร้องตามกฎหมาย มีหน้าที่ที่จะต้องพิสูจน์ว่าการใช้สิทธิเป็นการใช้สิทธิที่ไม่ถูกต้อง แต่สำหรับการฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายทางแพ่งเป็นหลักร้อยล้านนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องเอามาคิดว่าเป็นการใช้สิทธิที่ถูกต้อง สมควรหรือไม่อย่างไร เป็นหน้าที่ของสังคมที่ต้องช่วยกันตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์กันต่อไป
 
“หลักก็คือกิจการสาธารณะต้องให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้หมายความว่าต้องผิดทุกเรื่องหรือต้องถูกทุกเรื่อง แต่ว่าถ้าไปจำกัดตัดสิทธิตรงนี้เมื่อไหร่ก็หมายความว่าสังคมนี้ขาดความเป็นประชาธิปไตย” นายแสงชัย กล่าว
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: ความไม่เป็นธรรมมีอยู่จริง!

Posted: 30 Sep 2011 10:19 AM PDT

ข่าวความเดือดร้อนจากเหตุน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้คนส่วนใหญ่มุ่งมองปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ว่าจะเป็นปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น การอพยพผู้คน การเก็บเกี่ยวผลผลิต การให้ความช่วยเหลือชดเชยแก่ผู้เสียหาย กระทั่งการแก้ปัญหาและการจัดการน้ำ แต่ในท่ามกลางความเดือดร้อน สิ่งที่น่าใคร่ครวญมากขึ้น ไม่ใช่เพียงเรากำลังเผชิญกับปัญหาภัยพิบัติธรรมชาติ หากกำลังเผชิญกับปัญหา “ความไม่เป็นธรรม” ที่เกิดขึ้นด้วย กรณีการป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ด้วยการสร้างแนวกันน้ำสองฝั่งริมแม่น้ำและปิดประตูกั้นทุกจุด ดันน้ำไหลไปท่วมพื้นที่ข้างเคียงแทน ดังที่ ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา สะท้อนอย่างเห็นภาพไว้ว่า “ประเทศไทยมีปัญหาน้ำท่วมสูงถึงหลังคาบ้าน ผลผลิตทางการเกษตรเสียหายมากมาย ทรัพย์สมบัติของชาวบ้านที่ซื้อหามาด้วยเงินทองที่แสนจะหายากก็ถูกน้ำพัดพาอันตรธานไปหมด แต่คนกรุงเทพยังคงใช้ชีวิตปกติ ว่างจากงานก็ช้อปปิ้ง ดูหนัง ฟังเพลง ทำสิ่งที่ตนเองสนใจ โดยไม่ต้องกังวลกับปัญหาน้ำท่วมเลย”

[1]

                 

ในการประชุมวิชาการ “ความเป็นธรรมและความไม่เป็นธรรมในสังคมไทย” เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แม้การประชุมจะล่วงเวลามาแล้ว แต่ปัญหาที่ยาวนานนับแต่อดีตและคงต่อเนื่องถึงอนาคต ทำให้ปัญหาความเดือดร้อนและความทุกข์ร้อนของผู้คนในกรณีต่างๆ เตือนให้ระลึกถึง “ความไม่เป็นธรรม” ที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยหลากหลายประการ                
ท่านผู้หญิง ดร.สุธาวัลย์ เสถียรไทย  ประธานมูลนิธิธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมแสดงความห่วงใยต่อการฟ้องร้องในคดีสิ่งแวดล้อม หรือ “คดีโลกร้อน” ซึ่งชาวบ้านมักตกเป็นจำเลย และถูกปรับเป็นจำนวนนับล้านบาท ทั้งที่ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ที่ถูกปล่อยออกมาจากการผลิตเพื่อดำรงชีพของชาวบ้าน เทียบกันไม่ได้เลยกับปริมาณก๊าซที่ถูกปล่อยจากโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้การยังชีพด้วยการเกษตรดั้งเดิมกลายเป็นผู้ร้าย เป็นอาชญากรต่อสิ่งแวดล้อม แต่กลับไม่ถูกทำกับโรงงานอุตสาหกรรมและโครงการของรัฐที่ทำลายสิ่งแวดล้อม                   

ผศ.ดร.ชัยยนต์ ประดิษฐ์ศิลป ผู้ศึกษากรณีอุตสาหกรรมฉายภาพความมั่งคั่งของอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก กรณีมาบตาพุดที่ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมหนัก ลงทุนสูง ต้องพึ่งการลงทุนจากต่างประเทศ นักการเมืองท้องถิ่นได้ประโยชน์ แต่การเกิดขึ้นของนิคมอุตสาหกรรมได้โยนภาระและผลกระทบให้แก่ชุมชนและคนในพื้นที่ กลายเป็นพื้นที่แห่งความหวาดระแวงและเต็มไปด้วยความทุกข์   “แทบจะไม่มีคนระยองทำงานในโรงงาน คนชั้นกลางจากที่อื่นได้เงินเดือนเป็นหมื่นเป็นแสน แต่คนระยองเจอปัญหารุมล้อม โรงเรียน วัด โรงพยาบาลต้องย้ายหนีออกไป มีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและหาดพังเพราะถมที่สร้างโรงงาน การทำอุตสาหกรรมแย่งน้ำภาคครัวเรือน ขณะที่ยังเจอกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับโรงงาน และปัญหาสังคม ทั้งยาเสพติด แหล่งอบายมุข”                

ในกรณีเหมืองแร่ อ.ดร.นฤมล อรุโณทัย ชี้ให้เห็นว่า หลายกรณีบริเวณที่ได้รับสัมปทานไม่ใช่พื้นที่ว่างเปล่าในการจะทำเหมืองแร่ได้ แทบทุกแห่งจึงส่งผลกระทบต่อชุมชน แม้ว่าการทำเหมืองแร่จะทำให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแต่รายงานของธนาคารโลกระบุว่า มีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นกรณีความขัดแย้ง หรือการคอร์รัปชั่น แทนที่ทรัพย์ในดินเหล่านี้จะนำไปสู่การพัฒนากลับกลายเป็น “คำสาปแช่ง” (the Curse of resource) ทำให้เกิดความยากจน ทุกข์เข็ญ และเจ็บป่วย การแก้ปัญหาฐานคิดที่มองว่าเหมืองแร่แบบ “อรรถประโยชน์นิยม” ซึ่งเป็นการมองประโยชน์ที่อ้าง “ส่วนรวม” แต่มองข้ามความทุกข์ร้อนของผู้คน ทำให้ “นายทุนไม่กี่รายได้ประโยชน์ แต่พื้นที่เสี่ยงภัยเป็นของคนชนบท” ล้วนเป็นสิ่งที่ค้ำยัน “ความไม่เป็นธรรม”                

แม้แต่ในกรณีโรงงานนิวเคลียร์ที่มีการประโคมข่าวประชาสัมพันธ์ข้อดี แต่ผลักข้อเสียให้พ้นออกไป กระทั่งวิกฤตการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุคุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น จะช่วยลดเสียงสนับสนุนไปบ้าง ก็ใช่ว่าการผลักดันให้เกิดโรงงานนิวเคลียร์ขึ้นจะยุติลงไป  ปกรณ์ เลิศเสถียรชัย ได้นำเสนอประเด็นการวิเคราะห์ระบบเชิงสังคมเทคนิค (Socio-Technical System) เพื่อชี้ให้เห็นว่า การพิจารณาเทคโนโลยีแต่ละอย่าง เช่น โรงงานนิวเคลียร์ ไม่สามารถพิจารณาโดยตัวมันเองเฉพาะการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเท่านั้น แต่จำเป็นต้องคำนึงถึงองค์ประกอบทางสังคมร่วมด้วยเสมอ “เทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องของผู้เชี่ยวชาญ แต่ประชาชนและภาคประชาสังคมจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วม และมีบทบาทนำในการตัดสินใจเลือกและกำหนดทิศทาง รวมถึงการพัฒนา “ทางเลือกด้านเทคโนโลยีอื่น” ให้เกิดขึ้นจริงและเป็นรูปธรรม”

ประจักษ์พยานถึง “ความไม่เป็นธรรม” ยังสะท้อนผ่านงานวิจัยเรื่องที่ดิน พงษ์ทิพย์ สำราญจิต  จากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.)  ทำให้เห็นภาพรวมของการจัดการทรัพยาการไม่เป็นธรรม โดยพบว่า กลุ่มคนระดับบนของสังคมจำนวนร้อยละ 20 ถือครองสิทธิกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนที่ดินทั้งหมด หรือเฉลี่ย 200 ไร่ต่อคน ขณะที่คนที่เหลือจำนวนร้อยละ 80 ของประเทศมีสิทธิถือครองที่ดินได้เพียงร้อยละ 20 เท่านั้น หรือเฉลี่ยคนละ 1 ไร่เศษ ทั้งนี้การถือครองจำนวนน้อยอยู่แล้ว ก็ยังเผชิญกับปัญหาการละเมิดสิทธิ ดังที่ได้รวบรวมไว้ ได้แก่ การประกาศเขตป่าทับที่ดินทำกินของประชาชน (กฎหมายมาทีหลัง แต่มีอำนาจเหนือกว่าชาวบ้านที่อยู่มาดั้งเดิม)การถูกแย่งชิงการใช้ประโยชน์ในที่ดิน  การถูกประกาศยึดคืนหรือเวนคืนภายหลังการได้จัดสรรที่ดินจากรัฐ การถูกฟ้องบุกรุก หรือถูกผลักไส ขับไล่ออกจากที่ดิน ซึ่งคนไร้ที่ดินเข้าไปพัฒนาจากที่รกร้างว่างเปล่า “คนจนถูกดำเนินคดี และถูกละเมิดสิทธิถูกกีดกันการเข้าไปใช้ทรัพยากร”  

การเสนอนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทได้กลายเป็น “ข้อถกเถียง” ในสังคมทันทีที่ประเทศไทยมีรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ทำให้การพูดคุยประเด็นดังกล่าวถูกผูกโยงไปกับเรื่อง “การเมือง” จนบิดเบือนโจทย์ “ความเป็นธรรม” ของค่าแรง หรือค่าแรงในปัจจุบันนั้นเป็นธรรมหรือไม่ ผศ.ดร.นภาพร อติวาชยพงศ์ อ้างอิงนิยามค่าจ้างขั้นต่ำขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) คือ ค่าจ้างที่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพลูกจ้างและเลี้ยงสมาชิกในครอบครัวอีก 3 คน  ซึ่งค่าแรงของไทยเลี้ยงคนเดียวยังไม่พอ ทำให้เห็นร่วมกันว่า ค่าแรงที่ได้รับย่อมไม่เป็นไปตามมาตรฐาน และย่อมไม่เป็นธรรมด้วย

ทิศทางการ “ถกเถียง” เรื่องนี้ต้องละสายตามองผลประโยชน์และการรักษาผลประโยชน์ของนายทุนลงบ้าง และปรับระดับให้มองเห็นคุณภาพชีวิตของลูกจ้างและครอบครัว ซึ่งพวกเขาควรได้ลืมตาอ้าปาก มีชีวิตอยู่ในสังคมได้มากขึ้น

ในทางปรัชญาการเมืองกล่าวถึงเรื่องความเป็นธรรม ซึ่งเป็นด้านกลับของ “ความไม่เป็นธรรม” ไว้มากและมีความเป็นมายาวนาน ผศ.นพนันท์ วรรณเทพสกุล แบ่งไว้เป็น 2 แนวทางกว้างๆ ได้แก่ ความเป็นธรรมแนวเสรีนิยม และความเป็นธรรมแนวสังคมนิยม โดยแนวทางแรกนั้นอ้างอิงให้ความสำคัญกับ “ความแตกต่าง” นับแต่โสกราตีสที่ถือว่าความยุติธรรมเป็นธรรมชาติหนึ่งเช่นเดียวกับความมีเหตุผล พลเมืองที่มีสถานะและหน้าที่ต่างกัน ทุกคนได้ทำหน้าที่นั้นอย่างถูกต้อง โดยที่เพลโต ศิษย์ของโสกราตีสถือว่า สังคมประกอบด้วยชนชั้น แต่ละชนชั้นมีหน้าที่ต่างกันไป ความยุติธรรมหรือความเป็นธรรมเป็นผลการแบ่งแยกหน้าที่ในสังคม กระทั่งอริสโตเติล แม้จะมองความเสมอภาคที่คล้ายจะไม่มี “ความแตกต่าง” แต่แนวคิดความเสมอภาคตามสัดส่วน ก็ทำให้เกิดความแตกต่าง ซึ่งบุคคลจะใช้ความแตกต่างทำประโยชน์และได้รับผลประโยชน์ตามความสามารถของเขา โดยหลักความเป็นธรรมของนักคิดกลุ่มนี้เป็นรากฐานสังคมประชาธิปไตย เป็นบรรทัดฐานในการกำหนดนโยบายของรัฐแบบเสรีนิยมที่ให้ความสำคัญกับสิทธิและเสรีภาพ

ส่วนความเป็นธรรมแนวสังคมนิยม ถือว่า มนุษย์มีคุณค่าเท่าเทียมกัน แต่ละคนมีความต้องการอันจำเป็นเหมือนกัน แต่การปฏิบัติต่อคนอย่างไม่เท่าเทียมกันคือความไม่เป็นธรรม เว้นแต่การปฏิบัติดังกล่าวเป็นไปเพื่อช่วยเหลือคนยากไร้ คนพิการ คนที่มีโอกาสน้อยกว่า และคนเจ็บป่วย เพื่อยกระดับคนในสังคมให้ได้รับสิ่งจำเป็นพื้นฐานเท่าเทียมกัน ซึ่งในความคิดของคาร์ล มาร์กซ์ นักคิดคนสำคัญ ถือว่า ต้องปฏิบัติต่อคนในฐานะที่มีความจำเป็นเหมือนกัน ในทางตรงข้ามการใช้ความสามารถเป็นเกณฑ์ในการใช้ประโยชน์ จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม เพราะคนที่มีความสามารถจะได้เปรียบคนอื่น

คำอธิบายความเป็นธรรมแต่ละแนวทางมีจุดยืนคนละขั้ว จึงมีแนวทางประนีประนอมระหว่างแนวทางเสรีนิยมและแนวสังคมนิยมขึ้น โดยนักปรัชญาการเมืองอเมริกันชื่อ จอห์น รอลส์ เสนอว่า หลักความยุติธรรมต้องสร้างโดยมีจุดเริ่มต้นจากความเท่าเทียมในฐานะมนุษย์ แต่การแบ่งสันปันตามความสามารถ ส่วนจะทำให้มนุษย์แสดวงหาวิธีการให้ตนเองได้ผลประโยชน์มากที่สุด และลดภาระให้น้อยที่สุด ขณะที่หากพวกเขาไม่รู้ว่าตนเองอยู่ตรงจุดไหนที่อาจจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบ จะเกิดการสร้างเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์แก่คนระดับล่าง เพราะทุกคนรู้สึกว่าตนเองอาจตกลงมาในตำแหน่งล่างสุดได้เท่าๆ กัน  การมองความเป็นธรรมเช่นนี้จึง “เป็นความเป็นธรรมที่คำนึงถึงทั้งสิทธิเสรีภาพของบุคคล และการยอมสละสิทธิบางประการเพื่อคนที่เสียเปรียบ”

เมื่อมองผ่านแนวคิดความเป็นธรรมเหล่านี้ กรณีศึกษาและปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัญหาสังคมที่นำเสนอไว้ ล้วนแต่เป็นผลพวงที่เกิดขึ้นภายใต้ระบบเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองในแนวเสรีนิยม ที่ให้ความสำคัญกับการใช้ความสามารถของมนุษย์ในการแสวงหาผลประโยชน์อย่างสุดลิ่มทิ่มตำ แต่ผลักภาระแก่ผู้ไร้ความสามารถ หรือผู้ไร้อำนาจในการจะเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียม แบกทุกข์และผลกระทบที่เกิดขึ้น  หากแต่แนวทางสังคมนิยมย่อมจะก่อให้เกิดปัญหาและกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพ และการใช้ความสามารถในการแสวงหาสิ่งต่างๆ ตลอดจนการดำเนินชีวิตที่เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการ ดังนั้นในแนวทางที่ประนีประนอม ซึ่งให้ความสำคัญกับการแสวงหาผลประโยชน์  แต่ยอมสละสิทธิบางประการเพื่อคนเสียเปรียบ หรือการยอมรับความไม่เท่าเทียมกัน หากความเท่าเทียมนั้นส่งผลให้คนเสียเปรียบมีสภาพความเป็นอยู่ดีขึ้น ปัญหาความไม่เป็นธรรมทั้งหลายเป็นประจักษ์พยานยืนยันการคิดถึงผลประโยชน์ของตนเองเป็นหลักของกลุ่มคนที่มีอำนาจจากเงื่อนไขต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ดังนั้นภูเขาแห่งกองทุกข์ของผู้คนจำนวนมาก ควรถึงคราถล่มและสลายไป เมื่อผู้ได้ประโยชน์จะนึกถึงโอกาสที่ตนเองจะตกลงสู่ฐานะต่ำสุด และยอมสละสิทธิ โอกาส ผลประโยชน์ เพื่อคนเสียเปรียบบ้าง

นั่นเอง...

 


 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาสังคมชะตากรรมและการเหมารวม

Posted: 30 Sep 2011 09:55 AM PDT

นับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืน 400 กว่ากระบอก ในค่ายทหารที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ในเดือนมกราคม 2547 ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยที่ได้สร้างความสูญเสียชีวิต ทรัพย์สินอย่างมากมาย ถึงวันนี้แม้ภาครัฐเองจะพยายามทุ่มงบประมาณมหาศาลลงไปในพื้นที่ แต่ก็ยังไม่เห็นท่าทีของความรุนแรงที่ลดลง เป็นเหตุให้ความคาดหวังของประชาชนต่อภาครัฐในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ก็ริบหรี่ลงไป ท่ามกลางการเผยขึ้นของอีกอำนาจหนึ่งที่ออกมามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ด้วย ซึ่งปรากฏว่าความคาดหวังของประชาชนต่อกลุ่มหลังกลับมีทีท่าที่เพิ่มมากขึ้น กลุ่มที่กล่าวถึงนี้คือ “ภาคประชาสังคม”

ท่ามกลางการปรักหักพังของชีวิตและทรัพย์สินจากการปะทุระลอกใหม่ของเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และความล้มเหลวของผู้ถืออำนาจรัฐในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ กลับพบว่ามีการก่อร่างของภาคประชาสังคมในพื้นที่ขึ้น ที่ปรากฏออกมามีส่วนร่วมในการจัดการและนำเสนอแนวทางแก้ไขต่อปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ด้วย ทั้งจากนักสิทธิมนุษยชน ประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนนักกิจกรรมและนักศึกษาที่ต่างออกมามีส่วนร่วมกันอย่างจริงจัง ทั้งการนำเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง และการนำเสนอแนะแนวทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้น จึงพบว่าถึงแม้ภาครัฐจะประสบความล้มเหลว แต่ยังมีภาคประชาสังคมที่ยังพอมีหวังในการช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นได้            

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมนี้จะสามารถดำเนินการอย่างลุล่วงไปด้วยดี เนื่องจากหลายครั้งที่ถูกทำให้เกิดการชะงักงัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากอุปสรรคที่เกิดจากภาครัฐ ซึ่งกรณีนี้เคยมีตัวอย่างที่เห็นชัดมาแล้ว เช่น กรณีที่นักสิทธิมนุษยชนถูกกล่าวหาว่าเป็นแนวร่วมฯ “จากการรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2552 ได้อ้างถึงแหล่งข่าวจากการประชุม กอ.รมน. ภาค 4 ในการประชุมสภาสันติสุข ข่าวรายงานว่ามีผู้ก่อความไม่สงบปลอมตัวเป็นนักสิทธิมนุษยชน เพื่อยุยงให้ประชาชนเกลียดชังเจ้าหน้าที่รัฐ ในรายงานยังกล่าวถึงกิจกรรมการที่นักสิทธิมนุษยชนลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและควบคุมตัว”

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่รัฐในรายงานยังกล่าวอีกว่า “การที่นักสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม และกลุ่มนักศึกษาที่ทำกิจกรรมได้เข้าไปพบประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และให้ความช่วยเหลือผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและควบคุมตัว ทั้งนี้ กอ.รมน. ภาค 4 ยังได้เตือนให้ระวังผู้ก่อความไม่สงบที่ปลอมตัวเป็นนักสิทธิมนุษยชน และบิดเบือนข้อมูลข่าวสารต่างๆเพื่อให้ประชาชนไม่เข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ” ซึ่งเรื่องนี้ทำให้คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ (Working Group on Justice for Peace) ต้องออกแถลงการณ์ต่อเรื่องนี้อย่างทันควัน              

ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุเช่นนี้แล้วความยากลำบากของพลังภาคประชาสังคมในการออกมามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาต้องเกิดอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเมื่อเป็นการวิจารณ์นโยบายและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนเมื่อใดที่ภาคประชาสังคมในพื้นที่เกิดมีสถานะเป็นผู้อยู่ตรงข้ามกับอำนาจรัฐด้วยแล้วก็ยิ่งน่าเป็นห่วง เนื่องจากอย่าลืมว่ารัฐนั้นมีเครื่องมือในการใช้อำนาจมากมาย เช่น ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการใช้กฎหมายพิเศษที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการควบคุมตัวประชาชนโดยไม่ต้องมีข้อกล่าวหา

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่หลายครั้งจะภาคประชาสังคมนั้นไม่ใช่แค่ถูกกล่าวหา แต่ยังถูกเจ้าหน้าที่รัฐนั้นนำไปควบคุมตัว แต่ถูกปล่อยออกมาในภายหลังเนื่องจากไม่มีความผิดใดๆ นอกจากนี้ในหลายกรณีพบว่าไม่ใช่แค่ภาคประชาสังคมที่เคลื่อนในปัจจุบันเท่านั้นที่จะโดนกระทำอย่างที่กล่าวมาข้างต้น แต่ยังรวมไปถึงผู้ที่อดีตเคยทำงานในภาคประชาสังคมมาก่อนก็ยังถูกเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่รัฐเช่นกัน ถึงแม้ว่าการทำงานในอดีตนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องความมั่นคงแต่อย่างใด            

ยิ่งไปกว่านั้นในปัจจุบันอุปสรรคของภาคประชาสังคมในพื้นที่ไม่ได้มีกับกลุ่มที่ออกมาวิจารณ์หรือนำเสนอแนวคิดที่ต่างจากรัฐอย่างเดียว เมื่อเกิดภาวะความเข้าใจแบบเหมารวม จนทำให้การเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมอื่นๆ ในพื้นที่ เช่น การออกมาปกป้องทรัพยากรในท้องถิ่นก็ยังถูก“เข้าใจ”ว่าการพัวพันกับแนวร่วมฯ ด้วยเช่นกัน แล้วอย่างนี้จะมีใครบ้างที่ยอมเสียสละมามีส่วนช่วยคิดช่วยทำให้เกิดสันติสุขในพื้นที่อย่างแท้จริง เมื่อเพียงออกมา ก็ตีตรา...           

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นศ.มช.ผู้แต่งชุดครุยพันธนาการเปิดใจงานนี้ไม่มีล้มเหลว “มันคือการได้เรียนรู้”

Posted: 30 Sep 2011 09:21 AM PDT

วันสุดท้ายของงานเทศกาล “madfiFESTO 2011” ส่วน “FALL01” นักศึกษาแต่งชุดครุยพร้อมล่ามโซ่แบกแท่งปูนร่วมแสดงผลงานในเทศกาล ยังไม่สามารถเข้าไปแสดงผลงานได้ แม้จะทำหนังสือขออนุญาตจัดกิจกรรม โดยเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยแนะนำให้ยื่นหนังสือมาตามลำดับขั้นตอนถึงอธิการบดี ด้านเจ้าตัวไม่ผิดหวังโดยถือว่าได้เรียนรู้คำตอบอีกแบบหนึ่ง “โปรเจกต์นี้ไม่มีคำว่าล้มเหลว มันคือการได้เรียนรู้"

ที่มา: ภาพจากสูจิบัตรโครงการ

ตามที่ประชาไทนำเสนอข่าว งานเทศกาลศิลปะ madiFESTO 2011 ซึ่งจัดโดยสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้าน ถ.นิมมานเหมินทร์

โดยนายกีรติ กุสาวดี นักศึกษาบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ ได้จัดแสดงผลงาน "Be good ลองดี" ภายในงานเทศกาลศิลปะดังกล่าวด้วย โดยเขาได้แต่งกายด้วยชุดครุยวิทยฐานะ พันธนาการตัวเองด้วยโซ่ซึ่งผูกติดกับแท่งปูนทรงลูกบาศก์พิมพ์คำว่า “ดี” พร้อมลากรถเข็น เพื่อตั้งคำถามกับระบบการศึกษา และคุณค่าของ "ความดี"

อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่วันแรกของการเปิดงานเทศกาลศิลปะ นายกีรติยังไม่สามารถเข้าไปยังสถานที่จัดแสดงผลงานคือ อาคารสโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (อมช.) ได้เนื่องจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้เขาผ่าน ประตูมหาวิทยาลัยเข้าไปในพื้นที่จัดแสดงงานได้ (อ่านข่าวย้อนหลัง)

 

กีรติ กุสาวดี พยายามเดินทางไปยังที่จัดแสดงผลงานอีกครั้ง แต่เจ้าหน้าที่ รปภ.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้ามาห้ามปรามเช่นเคย และนำเขาขึ้นรถกระบะมายังอาคารยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อสอบถาม โดยเขายังไม่ได้รับอนุญาตให้เขาไปจัดแสดงผลงานในพื้นที่อาคาร อมช. ได้ แม้ว่าวันนี้เขาเตรียมหนังสือขออนุญาตจัดกิจกรรม และวันนี้เป็นวันสุดท้ายของการจัดแสดงผลงาน (ที่มาของภาพ: นพ)

 

ล่าสุดในวันนี้ (30 ก.ย.) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการจัดแสดงผลงาน นายกีรติได้พยายามเข้าไปในพื้นที่จัดแสดงผลงานคืออาคาร อมช. อีกครั้งโดยครั้งนี้เขาได้เตรียมเอกสารเรียนผู้อำนวยการกองกลาง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อขออนุญาตจัดแสดงผลงาน ลงลายมือชื่อโดยนายอุทิศ อติมานะ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ และประธานคณะกรรมการบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ

โดยในเวลาประมาณ 12.00 น. เศษ เขาได้เดินทางจากหอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเข้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ฝั่งสวนสัก บริเวณประตู ปตท. เลียบถนนคันคลองชลประทาน โดยเจ้าหน้าที่ รปภ. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เข้ามาห้อมล้อมนายกีรติเช่นเคย และเชิญเขาขึ้นท้ายรถกระบะของทางมหาวิทยาลัย เพื่อนำนายกีรติมาสอบถามที่กองพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดยนายกีรติได้ยื่นหนังสือขออนุญาตจัดแสดงผลงานด้วย แต่ได้รับการปฏิเสธ โดยเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวว่าทำหนังสือมาไม่ถูกขั้นตอน ขอให้ทำหนังสือเรียนอธิการบดีเพื่อขออนุญาต โดยให้ส่งมาเป็นลำดับขั้นจากสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ เรียนมายังบัณฑิตศึกษา เพื่อที่บัณฑิตศึกษาจะได้ส่งมายังอธิการบดี

นอกจากนี้มีเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยท่านหนึ่งกล่าวด้วยว่า การสวมชุดครุยวิทยฐานะ อาจผิดวินัยนักศึกษา และ ผิด พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วย และขอให้นายกีรติถอดชุดครุยวิทยฐานะออก แต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีโซ่คล้องทับชุดครุยอีกชั้นหนึ่ง และโซ่ดังกล่าวถูกล็อกกุญแจ

ทั้งนี้ ตามมาตรา 71 ของ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุแต่เพียงว่า การใช้ครุยวิทยฐานะโดยที่ตนไม่มีสิทธิ ถ้าได้กระทำเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิจะใช้หรือมีวิทยฐานะหรือตำแหน่งเช่นนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทำให้สุดท้ายนายกีรติไม่สามารถเข้าไปจัดแสดงผลงานได้ที่อาคาร อมช. ตามที่วางแผนไว้ โดยขากลับนายกีรติต้องออกจากอาคารยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฝั่งสวนสัก ออกไปทางประตู ปตท. เพื่อกลับไปยังหอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยนายกีรติสวมชุดครุยเดินพร้อมโซ่พันธนการมือเท้าและลากรถเข็นบรรทุกแท่งปูนพิมพ์คำว่า “ดี”

ทั้งนี้ นายกีรติ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า ถ้าเขาได้ไปใช้ชีวิตที่ อมช. ตั้งแต่วันแรกของการจัดแสดงผลงาน “ผมอาจจะเห็นอะไรในอีกแง่มุมหนึ่ง และคำตอบที่ผมได้ก็คงจะต่างไปจากตอนนี้ แต่ว่าตอนนี้ผมใช้ชีวิตข้างนอก คำตอบที่ผมได้พบก็เป็นคำตอบอีกแบบหนึ่ง” โดยเขาไม่ถือว่าเป็นความสำเร็จหรือล้มเหลว แต่ถือว่าคำตอบที่ได้รับเป็นอีกแบบหนึ่ง

“มันวัดไม่ได้ โปรเจกต์นี้ไม่มีคำว่าล้มเหลวอยู่แล้ว มันคือการได้เรียนรู้” นายกีรติกล่าว

นักศึกษาศิลปะผู้นี้กล่าวด้วยว่า คงจะไม่ไปทำหนังสือขึ้นมาตามลำดับขั้น ตามที่เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยแนะนำแล้ว เพราะขั้นตอนคงกินเวลาหลายวัน “ถ้ายื่นมาแต่แรก ก่อนเริ่มโปรเจกต์จะผ่านหรือเปล่าก็ไม่รู้ ถ้าไม่ผ่าน ก็เท่ากับโปรเจกต์ผมไม่เริ่มด้วยซ้ำ” นายกีรติกล่าว

“ผมคิดว่าในเมื่อมันไม่ได้ผิดกฎระเบียบข้อบังคับก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ระเบียบแค่บอกว่าใช้ในโอกาสที่เหมาะสม และสถานที่ที่เหมาะสม สถานที่ไม่เกี่ยงหรอกผมก็ใช้ในมหาวิทยาลัยคงเรียกว่าไม่เหมาะสมไม่ได้หรอก ใช้เหมาะสมใช้อย่างไร ผมก็ใช้ปกติ ผมก็ไม่ได้ไปทำอะไรไม่ดี” นายกีรติกล่าว

ทั้งนี้นายกีรติได้เดินทางกลับไปที่หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อกล่าวเปิดใจหลังการทำโปรเจกต์ในเวลา 18.00 น. ซึ่งเป็นเวลาปิดงานของการจัดแสดงผลงานในส่วน “FALL01” โดยเขาจะเชิญภารโรงของหอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรมเป็นผู้ไขกุญแจโซ่ให้

 

รศ.ประทีป จันทร์คง รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดผู้ล็อกโซ่พันธการด้วยตัวเอง เมื่อ 26 ก.ย. (ที่มา: Smitchai Lertanan)

 

นอกจากนี้ ยังมีผู้โพสต์ในเฟซบุคก่อนหน้านี้เปิดเผยว่า ผู้ไขกุญแจล็อกโซ่พันธนาการนายกีรติในวันแรกของการจัดแสดงผลงาน คือ รศ.ประทีป จันทร์คง รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ  บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สำหรับเทศกาล madiFESTO 2011 ดังกล่าวจัดติดต่อกันเป็นประจำทุกปีมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2552 โดยในปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อชื่อ “FALL” กิจกรรมในงานมีตั้งแต่การจัดแสดงงานศิลปะ ฉายภาพยนตร์ ศิลปะการแสดงสด และปฏิบัติการทางวัฒนธรรม ทั้งในบริเวณหอศิลปวัฒนธรรม และในพื้นที่สาธารณะต่างๆ หลายแห่งในเมืองเชียงใหม่

สำหรับเทศกาล madiFESTO ดังกล่าว นอกจากที่หอศิลป์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้ว ยังมีการจัดโครงการในหลายพื้นที่ทั่วเมืองเชียงใหม่ โดยแบ่งส่วนจัดแสดง 3 ส่วน โดยนอกจากส่วนแรก FALL01 ซึ่งสิ้นสุดการจัดแสดงในวันนี้นั้น ยังมีอีก 2 ส่วนการจัดแสดงที่ยังดำเนินอยู่ได้แก่ส่วน FALL02 จะจัดระหว่างวันที่ 20 ก.ย. - 3 ต.ค. และ FALL03 จัดระหว่างวันที่ 27 ก.ย. - 3 ต.ค. โดยรายละเอียดของกำหนดการ และสถานที่สามารถชมได้ในเว็บของ madiFESTO

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เก็บไว้อ่าน: รวมทวีตคนข่าวเล่าเหตุการณ์คืนรัฐประหาร 49

Posted: 30 Sep 2011 07:55 AM PDT

เหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย.49 ผ่านมา 5 ปี ในการรำลึกปีนี้ คนทำสื่อหลายค่ายเล่าเหตุการณ์คืนรัฐประหาร รวมถึงห้วงความคิดเกี่ยวกับการรัฐประหาร ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คอย่างทวิตเตอร์ ประชาไทขอทำหน้าที่รวบรวมมานำเสนอ


กิตติ สิงหาปัด   @kitti3Miti
อดีตผู้สื่อข่าวไอทีวี ปัจจุบัน ผู้ประกาศข่าวรายการสามมิติ ช่อง3

วันนี้ ครบรอบ 5 ปีรัฐประหาร สาธุชนพึงถามตัวเองว่าชีวิตแต่ละท่านเปลี่ยนไปอย่างไรหลังรัฐประหาร ไม่ต้องตอบมาที่ผม

เวลานี้เมื่อ 5 ปีที่แล้วผมกำลังจัดรายการฮอทนิวส์ทางไอทีวี แม้ว่ากลิ่นปฏิวัติจะโชยมาแต่หัวค่ำ แต่มันก็ยังไม่เกิดจนผมจบรายการทหารก็ขึ้นตึกพอดี

ทหารชุดที่ไปยึดไอทีวีแต่งกายชุดรบอาวุธครบมีพลสื่อสารแบกวิทยุสื่อสารเสาอากาศยาวๆ หนึ่งคนไปถึงหัวหน้าชุดบอก "ทำงานตามปกติครับรอดูสัญญาณ ททบ.5ไว้"

อาจกล่าวได้ว่า ชีวิตของผมพลิกผันมาเป็น 3 มิติในปัจจุบันนี้ เพราะการรัฐประหาร19 กันยาโดยแท้

หลังยึดอำนาจ มีทหารถือเอ็ม 16 นั่งดูผมจัดรายการฮอทนิวส์สดๆ อยู่สองสามคืน จนอาจจะคิดว่าไม่เหมาะจึงออกไปรักษาการณ์แถวหน้าลิฟท์

ทหารจากราบ 11 ที่มาควบคุมไอทีวี อยู่นาน จนภายหลังก็คุ้นเคยกัน

ในฐานะเป็นคนรุ่นที่เกิดในยุคที่โลกมาไกลแล้ว ผมจึงไม่อาจยอมรับการกระทำรัฐประหารรัฐบาลประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นในประเทศใดๆ ในโลก

 

ตวงพร อัศววิไล   @pui_tuangporn
อดีตผู้สื่อข่าวไอทีวี ปัจจุบัน ผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวี

เห็น @kitti3miti ทวีตรำลึกรัฐประหาร 19 กย. เมื่อครั้งอยู่ไอทีวี ก็เลยทำให้อดรำลึกความหลังไม่ได้ ขอเล่าสู่กันฟังบ้างค่ะ

ช่วงเย็น 19 กย. 49 กำลังขับรถกลับบ้าน แต่ถูกโทร.กลับให้เข้าสถานีด่วน คนโทรตามเขาบอกว่า คอนเฟิร์ม วัน ว.เวลา น.แล้ว มารอต้อนรับพี่ทหารได้เลย

เมื่อกลับถึงสถานีไม่กี่นาที ทหารจากราบ 11 ก็ขึ้นมาถึงกองบก.ข่าว เราก็เชิญให้ หน.ที่คุมกำลังมานั่ง ทหารก็สอบถามเราบางเรื่อง

ขณะนั้นดิฉันรับผิดชอบโต๊ะการเมือง ช่วงนั้นมีโทร.ทางไกลจากนิวยอร์ค ถามว่า ขอให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ออกอากาศสดได้หรือไม่ ดิฉันตอบไปว่า "ทหารมาแล้ว"

ตัดไปที่ช่อง 9 เนื่องจากทหารหลงทางไปถึงที่หมายช้ากว่าวันว.เวลา น.ที่วางไว้ ทำให้ คุณทักษิณ ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ แต่ก็ถูกตัดกลางอากาศ

วันนั้นอยู่ไอทีวีจนเช้าช่วงดึกๆ ก็แลกเปลี่ยนค.เห็นกับทหารที่มาคุมสถานี จน 7 โมงเช้าถึงอนุญาตให้ออกอากาศจำได้ว่าอ่านประกาศ คปค.จนเมื่อยเลย

จำได้ว่าบอกกับหัวหน้าชุดว่า "ไม่เชื่อว่าประชาธิปไตยจะงอกจากปลายกระบอกปืน" เพราะเคยมีประสบการณ์ร้ายจากเหตุการณ์ พ.ค. 35

ยอมรับว่า ทหารชุดนี้ฝึกปฏิบัติการจิตวิทยามวลชนมาดีจริงๆ จากคนแปลกหน้าวันนั้น ต่อมาคุ้นเคยกันมากขึ้น ดิฉันยิงปืน M16 พอได้เพราะฝึกที่ราบ 11

มีคนทวีตถาม เรื่องสายทางไกลจากนิวยอร์ค พอตอบว่า "ทหารมาแล้ว" ก็จบข่าวสิคะ แปลว่า ยึดสถานีไว้ได้แล้ว

หลังรัฐประหาร 49 ก็เข้าสู่ยุคสุดท้ายของไอทีวี รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ โดยคุณหญิงทิพาวดี เดินหน้าเรื่องปัญหาสัมปทาน ต่อสู้กันถึงศาล รธน.

แก้ไขต่อสู้เรื่องไอทีวีในศาลปกครอง ก่อนหน้านั้นไปยื่นหนังสือกับนายกฯสุรยุทธ์ 2 ครั้ง หลังเปลี่ยนผ่านเป็นทีไอทีวี และจอมืดในที่สุด ม.ค.50

ถ้าจะบอกว่าหนึ่งในบันได 4 ขั้นของ คมช. คือการปิดสื่ออย่างไอทีวี ก็ได้ อาทิตย์ก่อน สุนัย จุลพงศธร อภิปรายว่า TPBS เกิดจากเหล้า บุหรี่ รถถัง

 

 


สุทธิชัย หยุ่น   @suthichai
ผู้บริหารสื่อเครือเดอะเนชั่น

วันนี้ครบรอบห้าปีรัฐประหาร...คนต่อต้านทหารปฏิวัติต้องต่อต้านทุกครั้งที่ปฏิวัติ...อย่าเลือกต่อต้านบางปฏิวัติ...ผมต่อต้านทุกปฏิวัติไม่ว่ายุคไหน

พิสูจน์ว่าสื่อไหนต่อต้านหรือสนับสนุนรัฐประหาร...ให้ย้อนกลับไปอ่านบทนำหน้าหนึ่งของสื่อนั้นๆ...ทุกอย่างมีหลักฐาน ไม่มีใครปฏิเสธความจริงได้

ถนอมปฏิวัติ, สุจินดาปฏิวัติ, บิ๊กบังปฏิวัติ...ใครมีจุดยืนอย่างไร...สื่อ, นักวิชาการ, นักการเมือง, นักธุรกิจ...แค่ย้อนกลับไปอ่านเท่านั้น

ถ้าคุณต่อต้านรัฐประหารจริง, ต้องไม่ยอมรับใครก็ตามที่ไปทำงานให้คณะปฏิวัติ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

คนที่ได้สัมปทานจากคณะปฏิวัติไม่มีสิทธิอ้างว่าต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

ทุกครั้งที่รัฐประหาร นักการเมือง, นักธุรกิจ, แอคทิวิสท์ทั้งหลายหายไปหมด...ทิ้งไว้แต่นักข่าวตัวเล็กๆ ที่ต้องเผชิญกับการทำหน้าที่รายงานข่าว

เกิดรัฐประหารครั้งใด บางคนลี้ภัยได้ บางคนหนีเข้าป่าได้ บางคนหลบเข้าค่ายทหารได้ แต่คนข่าวที่รับผิดชอบต้องทำงานกลางแจ้ง ถูกคุกคามก็ต้องทำงาน

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งที่คนไทยทุกกลุ่มต้องร่วมกันต่อต้านรัฐประหารในอนาคต...แต่ต้องทำเพื่อคนทั้งประเทศ

นอกจากต่อต้านการรัฐประหารที่ทำให้บ้านเมืองเสียหายย่อยยับแล้ว เราก็ยังต้องต่อต้านเผด็จการที่แฝงมาทุกรูปแบบด้วย!

 

ประวิตร โรจนพฤกษ์   @pravitr
ผู้สื่อข่าวอาวุโส นสพ.เดอะเนชั่น

น่าละอาย: คนจำนวน1ที่ไม่เคยต่อต้านรัฐประหาร 19 ก.ย. หรือสนับสนุนเงียบๆ เกิดอาการกินปูนร้อนท้อง พร่ำเพ้อว่า ตนไม่เคยสนับสนุนรปห.

5 ปี รปห. 19 ก.ย. อยากรู้ว่า สื่อไหนยืนอยู่ตรงไหน ให้ช่วยกันกลับไปอ่านบทบรรณาธิการแต่ละฉบับ รวมทั้งคอลัมนิสต์ที่ชื่นชอบต่างๆ หลายคนอาจแปลกใจ

19 กย 49 แม้กระทั่ง มติชนยังเขียนในบทบรรณาธิการ 22 กย. 49 ว่าทำไมจึงจำเป็นต้องมีรปห. แถมแนะนำบรรดานายพลที่ยึดอำนาจว่าควรทำอะไรบ้าง

ส่วนคมชัดลึก หลังรปห. 49 ก็เขียนบทบรรณาธิการที่พยายามอธิบายว่า ทำไมรปห.ครั้งนั้นเป็นรปห.เพื่อชาติ และต่างกับรปห.ครั้งที่ผ่านๆ มาอย่างไร

ส่วนนสพ.The Nation เขียนลงบทบก. ฉบับ 21 ก.ย.49 ว่า ผู้ทำรปห.ต้อง "ฟื้นฟู" ค.มั่นใจของประชาชนไทยผู้รักประชาธิปไตย... (ต่อ)

(ต่อ) และแสดงให้เห็นว่า การพัฒนาประชาธิปไตยครั้งนี้จะยั่งยืน

5ปีที่แล้ว นสพ.ผู้จัดการเขียนบทบก. 22 ก.ย.49 แสดงค.ยินดีต่อความสำเร็จ ในการปฏิบัติการ ของทหาร "ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"

คงเป็นประโยชน์มิใช่น้อย หากแต่ละคนจะถามตนเองว่า 5ปีที่แล้ว 19 ก.ย. 49 คุณอยู่ไหน ทำอะไร หรือไม่ได้ทำอะไร เพราะอะไร ตอนเกิดรัฐประหาร

5ปีรัฐประหาร19 ก.ย.เรามาลองนึกถึงมรดกคมช.ว่ามีอะไรอยู่บ้าง เรามาระลึกถึงคนที่ออกมาต่อต้านคนแรกๆ ซึ่งตอนนี้บางคนต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ

และที่ลืมไม่ได้สำหรับ 5 ปีรปห.คือ ขอระลึกถึงผู้ที่ต่อต้าน ทั้งยังมีชีวิต เสียชีวิต บาดเจ็บ และลี้ภัย ขอคารวะ

ผิดหวัง ครบรอบ 5 ปีรัฐประหารทั้งที ไม่เห็นบท บก.มติชนเขียนอธิบายว่า สื่อหลักรวมถึงมติชน เคยสนับสนุนหรือยอมรับอำนาจทหารไปได้อย่างไร

5 ปีผ่านไป สื่อหลักทำราวว่า ไม่เคยสนับสนุนรปห.19 กย.&ไม่สนใจถามว่าทำไมถึงเคยสนับสนุน+ทุกวันนี้ก็ยังสนับสนุนมือที่มองไม่เห็นหรือไม่?

สังคมที่ไม่เรียนรู้ว่า 5 ปีที่แล้วคนออกไปยื่นดอกไม้ให้คณะรปห.19 กย.ได้อย่างไร&นิ่งดูดายได้อย่างไร เป็นสังคมเสี่ยงต่อการทำผิดซ้ำซ้อน

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นัดพิพากษาคดี ‘ลุง SMS’ 23 พ.ย. ไม่มีพยานผู้เชี่ยวชาญกล้าเบิกความคดีหมิ่นฯ

Posted: 30 Sep 2011 06:38 AM PDT

 

 

30 ก.ย.54  ห้องพิจารณาคดี 801 ศาลอาญา ถนนรัชดาฯ มีการสืบพยานในคดีที่พนักงานอัยการฟ้อง นายอำพล (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 61 ปี เป็นจำเลยในความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินีฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จฯ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 กรณีที่มีการส่งข้อความสั้น (SMS) เข้าสู่โทรศัพท์มือถือนายสมเกียติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 4 ครั้ง ในวันที่ 9, 11, 12, 22 พ.ค.53 ในช่วงเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

โดยในวันนี้เป็นการสืบพยานจำเลย 3 ปาก ได้แก่ ตัวจำเลย หลานสาววัย 11 ปีของจำเลย และนางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายจำเลย โดยศาลมีคำสั่งเบิกตัวจำเลยจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เข้าให้การ ภายในห้องพิจารณามีผู้สนใจฟังการสืบพยานราว 20 คน รวมถึงครอบครัวจำเลยซึ่งประกอบด้วย ภรรยา ลูกสาว 3 คน และหลานสาวอีก 4 คน อายุ 4-11 ปี

ทั้งนี้ ศาลนัดพิพากษาในวันที่ 23 พ.ย.54 เวลา 9.00 น. ห้องพิจารณาคดี 801

จำเลยเบิกความว่าไม่ได้เป็นผู้ส่งข้อความดังกล่าว และระบุว่า ทำงานขับรถส่งของมากว่า 20 ปี ก่อนจะออกมาอยู่บ้านเลี้ยงหลานๆ ราว 10 ปี ไม่ทราบว่าเบอร์ที่ส่งข้อความดังกล่าวเป็นของใคร และไม่เคยทราบเบอร์โทรของเลขานุการส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีมาก่อน อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าโทรศัพท์ของกลางเป็นของจำเลยจริง ซึ่งมักจะเอาไว้ในตู้ที่บ้าน บางครั้งก็นำติดตัวไปข้างนอกด้วย เป็นโทรศัพท์ที่ได้มาตั้งแต่ปี 2551 ใช้จนกระทั่งเครื่องเสีย และนำไปซ่อมในช่วงเดือน เม.ย. หรือ พ.ค. 53 จำไม่ได้แน่ชัดว่าวันใด เมื่อนำกลับมาใช้ได้พักหนึ่งก็เสียอีกในช่วงก่อนถูกจับกุมประมาณ 1 เดือน จากนั้นตนจึงนำซิมมาใส่เครื่องของภรรยา

เขาเบิกความอีกว่า ในวันจับกุม (3 ส.ค.53)  เวลาประมาณ 5.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้บุกมาที่ห้องเช่าเพื่อจับกุมเขา และถามถึงโทรศัพท์มือถือที่ใช้ เมื่อนำเครื่องที่ใช้อยู่ซึ่งเป็นของภรรยามาให้ ตำรวจได้ถามถึงเครื่องอื่นๆ  เขาจึงเดินเข้าไปหยิบเครื่องที่เสียและวางในตู้ให้เจ้าพนักงานด้วยตนเอง  

จำเลยเบิกความตอบทนายถามเรื่องสถาบันฯ ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า  จำเลยเคารพและเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ และรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งกับเรื่องที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมาจำเลยเคยพาหลานๆ ไปลงนามถวายพระพรที่ รพ.ศิริราช ในช่วงปิดเทอม ในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพของพระเจ้าพี่นางเธอฯ จำเลยก็ได้ไปร่วมด้วย

อัยการถามค้านว่าในวันเกิดเหตุจำเลยอยู่ที่ใด จำเลยตอบว่าจำไม่ได้ เมื่อถามว่าภายในบ้านมีบุคคลอื่นเข้าออกได้หรือไม่ จำเลยตอบว่ามีเพื่อนๆ ของภรรยาที่เข้าออกบ้านเป็นประจำ

ด.ญ. เอ (นามสมมติ) หลานสาววัย 11 ปีของจำเลย เบิกความต่อศาลผ่านนักจิตวิทยาว่า จำเลยเคยพาไปลงนามถวายพระพรในหลวงเมื่อปี 2552 และที่ผ่านมาไม่เคยเห็นจำเลยใช้โทรศัพท์มือถือส่ง SMS ใช้แต่เพียงรับสายโทรเข้า และโทรออกโดยดูเบอร์ต่างๆ ที่จดไว้ในสมุด

ทนายจำเลยเบิกความว่า ได้ติดต่อผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโทรคมนาคมประมาณ 4 คน ทั้งนักวิชาการและช่างซ่อมโทรศัพท์มือถือ โดยพยายามติดต่อนับสิบครั้งเพื่อให้มาเป็นพยานในคดีนี้ ทุกคนยินดีให้ข้อมูลแต่ไม่มีใครกล้ามา จึงต้องสอบถามข้อมูลและมาเบิกความเป็นพยานเอง โดยข้อค้นพบที่ได้จากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญและการค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตพบว่า เลข EMEI (อีมี่) ซึ่งเป็นเลข 15 หลักเฉพาะของโทรศัพท์มือถือแต่ละเครื่อง ซึ่งตำรวจใช้เป็นหลักฐานในคดีนี้นั้น สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แม้โดยหลักการจะออกแบบมาเฉพาะแต่ละเครื่อง เมื่อสอบถามช่างซ่อมมือถือก็ระบุว่า หากมีเครื่องมือและโปรแกรมเฉพาะก็สามารถแก้ไขได้ โดยใช้เวลาเฉลี่ยเพียงครึ่งชั่วโมง แต่ต้องแก้ให้เป็นเลขที่มีอยู่ในระบบของเครือข่ายต่างๆ อยู่แล้ว ซึ่งในอดีตนั้นคนจะแก้เลขอีมี่เพื่อทำให้โทรศัพท์ที่ใช้ไม่ได้กับบางระบบสามารถใช้การได้ หรือบางกรณีก็ลักลอบแก้ไขเพื่อให้หาหลักฐานติดตามตัวไม่ได้

ทนายจำเลยกล่าวต่อว่า ส่วนเลข 15 หลักนั้นจากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญและศึกษาเองพบว่า เลขหลักสุดท้ายเรียกว่า check digit ซึ่งจะตรวจสอบความถูกต้องของเลข 14 หลักแรก แต่ผู้ให้บริการในเมืองไทยจะเก็บตัวเลขเพียง 14 หลัก ซึ่งหากมีโทรศัพท์ที่หมายเลขอีมี่ตัวเลขสุดท้ายแตกต่างกัน ระบบก็จะประมวลผลเสมือนว่าเป็นเครื่องเดียวกันได้ ทั้งนี้ พยานได้นำส่งเอกสารข้อมูลจากเว็บไซต์วิกิพีเดียที่อธิบายเรื่องนี้ด้วย

ขณะที่ก่อนหน้านี้พยานฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จากบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ทั้งดีแทคและทรู ให้การตรงกันว่า บริษัทเก็บข้อมูลอีมี่เพียง 14 หลัก เพราะหลักสุดท้ายไม่มีความสำคัญ และระบบจะกำหนดให้เองอัตโนมัติ โดยเจ้าหน้าที่จากดีแทคระบุว่าหมายเลขอีมี่ไม่สามารถแก้ไขได้ แต่เจ้าหน้าที่จากทรูระบุว่าหมายเลขอีมี่นั้นสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ ส่วน พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ติมุลา ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโทรคมนาคมและหัวหน้าชุดสืบสวนคดีนี้ จาก กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ระบุว่า การเก็บหลักฐานหมายเลขอีมี่ 14 หลักของบริษัทผู้ให้บริการนั้นเป็นหลักการที่ทำกันโดยทั่วไปและอีมี่จะไม่ซ้ำกัน อย่างไรก็ตาม เลขอีมี่สามารถแก้ไขได้ และจะต้องปรากฏในระบบ

ส่วน ร.ต.อ.ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย พนักงานสืบสวนจาก ปอท. ให้การว่า หมายเลขที่ส่งข้อความนั้นเป็นโทรศัพท์มือถือระบบเติมเงิน ไม่สามารถตรวจสอบเจ้าของได้ จึงตรวจสอบอีมี่เครื่องกับบริษัทผู้ให้บริการต่างๆ จากนั้นนำเลขอีมี่ไปตรวจสอบกับเครือข่ายต่างๆ อีกว่าเครื่องนี้ใช้กับเบอร์ใดบ้าง เมื่อพบว่ามีหมายเลขของทรูที่ใช้ปรากฏอีมี่นี้ จึงตรวจสอบว่าเบอร์ดังกล่าวติดต่อกับใคร แล้วออกหมายเรียกผู้นั้นมาสอบสวน นอกจากนี้ยังมีการนำข้อความ SMS ดังกล่าวไปสอบถามกับ นายธงทอง จันทรางศุ และผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา ซึ่งระบุตรงกันว่าข้อความดังกล่าวเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ทั้งนี้ นายอำพล ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 3 ส.ค.53 ที่ห้องเช่า และคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร จนได้ประกันตัวเมื่อวันที่ 4 ต.ค.53 กระทั่งเมื่ออัยการส่งฟ้อง จึงถูกคุมตัวยังเรือนจำเดิมอีกครั้งเมื่อวันที่ 18 ม.ค.54 ทนายยื่นประกันตัวหลายครั้งแต่ได้รับการปฏิเสธ ทำให้จำเลยยังถูกขังอยู่จนปัจจุบัน โดยมีอาการป่วยเป็นโรคมะเร็งช่องปาก

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เคเอฟซีเล็งยื่นศาลแรงงานชี้ขาด กรณี ครส.ให้รับกลับ 3 ลูกจ้าง

Posted: 30 Sep 2011 06:15 AM PDT

 


https://www.facebook.com/kfcth?sk=app_4949752878

หลังจากวานนี้ (29 ก.ย.54) คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยให้บริษัท ยัม เรสเตอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของร้านอาหารเคเอฟซีและพิซซ่าฮัทในประเทศไทย รับพนักงาน 3 คนกลับเข้าทำงาน วันเดียวกัน ในหน้าแฟนเพจของเคเอฟซี ประเทศไทย  หัวข้อเสียงจากเคเอฟซี  เขียนข้อความทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แสดงความขอบคุณคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ในความพยายามที่จะหาข้อยุติในประเด็นข้อพิพาทด้านแรงงานระหว่างบริษัทฯกับพนักงาน ทั้งนี้ระบุว่า บริษัทฯ เคารพต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการฯ และพร้อมปฏิบัติตามจนกว่าจะมีคำตัดสินเป็นอย่างอื่นต่อไป อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ กำลังพิจารณานำประเด็นดังกล่าวให้ศาลแรงงานตัดสินชี้ขาด เพื่อให้ได้รับความยุติธรรมที่เที่ยงตรง และเป็นไปตามหลักสากล

ด้านเว็บไซต์วอยซ์เลเบอร์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์แรงงานออนไลน์รายงานว่า วันเดียวกัน เวลา 22.39 น. ฝ่ายนายจ้างได้ออกประกาศถึงพนักงานทั่วประเทศของบริษัทแจ้งผลวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ และระบุว่า "แม้ว่าเราจะไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยดังกล่าว แต่ในฐานะที่เป็นบริษัทซึ่งมีความรับผิดชอบ เราเคารพคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ อย่างไรก็ตามเรายังมั่นใจว่า เรามิได้กระทำอันไม่เป็นธรรมในการเลิกจ้าง แต่เราได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ยังไม่ถือเป็นที่สุดและยังโต้แย้งได้ เราจะเสนอคดีต่อศาลแรงงานเพื่อให้พิจารณาพิพากษายกเลิกคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าว"

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ให้สัมภาษณ์วอยซ์เลเบอร์ต่อกรณีดังกล่าวว่า จากคำสั่งของครส. แสดงถึงความเป็นธรรมต่อลูกจ้าง ที่ได้มีการปฏิบัติการเพื่อร้องขอให้มีการพิจารณารับพนักงานทั้ง 3 คนกลับเข้าทำงาน การกระทำของพนักงานทั้ง 3 เป็นการทำเพื่อปกป้องสิทธิลูกจ้างเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาร้ายต่อใคร แต่การที่นายจ้างออกมาประกาศแถลงไม่รับพนักงานทั้ง 3 คนกลับโดยให้เหตุผลเพียงว่าขบวนการทางการของ ครส.ยังถือว่าไม่ถึงที่สุดนั้น แสดงถึงความไม่เคารพต่อกฎหมายแรงงานไทย และยังคงมีแนวคิดที่จะไม่ยอมรับสิทธิขั้นพื้นฐานในการรวมตัวเจรจาต่อรองของลูกจ้าง โดยการใช้ระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ยอมรับการจัดตั้งสหภาพที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้แรงงานจะยังเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ถึงแม้ว่านายจ้างจะใช้ทางศาลเข้ามาทำให้ความยุติธรรมนั้นยาวนานออกไปอีก ก็ยังหวังว่าความยุติธรรมนั้นจะเป็นที่พึ่งของประชาชนและแรงงานไทยต่อไป
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สภาแรงงานสัมพันธ์ฯ สัมมนา“สหภาพแรงงานบรรษัทข้ามชาติและการเจรจาต่อรองร่วม”

Posted: 30 Sep 2011 05:02 AM PDT

สภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย (TCTU) สัมมนา “สหภาพแรงงานบรรษัทข้ามชาติและการเจรจาต่อรองร่วม” ชี้หากผลักดันให้รับ ILO 87 – 98 สหภาพแรงงานไทยเองก็ควรให้คนงานสัญญาจ้างระยะสั้น คนงานเหมาช่วงเหมาค่าแรง คนงานข้ามชาติเข้าร่วมสหภาพแรงงานของตนและทำกิจกรรมร่วมกันไม่แบ่งแยก
 
 
 
29 ก.ย. 54 – ที่ธารามณีรีสอร์ท ต.บ้านกล่ำ อ.แกลง จ.ระยอง สภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย (TCTU) จัดงานสัมมนาเรื่อง “สหภาพแรงงานบรรษัทข้ามชาติและการเจรจาต่อรองร่วม”
 
ในหัวข้อ “มาตรฐานแรงงานสากล” โดย วรดุลย์ ตุลารักษ์ นักวิจัยด้านแรงงาน กล่าวว่า มาตรฐานแรงงานสากลที่สำคัญ โดยเฉพาะอนุสัญญาหลักขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 เสรีภาพในการรวมกลุ่ม และ 98 สิทธิในการเจรจาต่อรองร่วม เป็นมาตรฐานแรงงานที่ยอมรับกันทั่วโลก โดยนายจ้างและรัฐบาลต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาดังกล่าวแม้ว่ารัฐบาลไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันก็ตาม ที่สำคัญสำหรับประเทศไทยก็คือ การไม่แทรกแซงการจัดตั้งสหภาพ การดำเนินกิจกรรมของสหภาพ และการยอมรับการเจรจาต่อรองร่วมกับตัวแทนคนงานด้วยความสุจริตใจ
 
นอกจากนี้รัฐบาลก็ควรให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าวเพื่อปรับปรุงกฎหมายในประเทศให้สอดคล้องกับเนื้อหาของอนุสัญญา ส่วนสหภาพแรงงานเองควรนำเอาเนื้อหาของอนุสัญญาดังกล่าวมาปฏิบัติด้วย ยกตัวอย่างเช่น เปิดโอกาสให้คนงานสัญญาจ้างระยะสั้น คนงานเหมาช่วงเหมาค่าแรง คนงานข้ามชาติเข้าร่วมสหภาพแรงงานของตนและเจรจาต่อรองร่วมเพื่อทำข้อตกลงสภาพการจ้างฉบับเดียวกันกับคนงานที่ไม่ใช่คนงานประจำด้วย
 
แนวปฏิบัติขององค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสำหรับบรรษัทข้ามชาติ (OECD Guidelines For MNCs) เป็นมาตรฐานสากลที่สำคัญอีกมาตรฐานหนึ่งที่ประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นสมาชิก OECD กำหนดขึ้นมาให้บรรษัทข้ามชาติในประเทศของตนที่ไปดำเนินการในประเทศอื่นนำไปปฏิบัติแม้จะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายก็ตาม
 
สำหรับสหภาพแรงงาน เนื้อหาที่สำคัญของแนวปฏิบัตินี้คือบทที่ 3 เรื่องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางธุรกิจ โครงสร้างบรรษัท ข้อมูลทางการเงิน เงินเดือนผู้บริหาร ข้อมูลดังกล่าวจะทำให้การเจรจาแบ่งปันผลกำไรกับลูกจ้างเป็นไปได้อย่างเป็นธรรมมีเหตุมีผล ส่วนบทที่ 4 ของแนวปฏิบัตินี้คือการจ้างงานและแรงงานสัมพันธ์ที่เน้นการเคารพสิทธิของคนงานในการมีตัวแทน สิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมอย่างสร้างสรรค์ และที่สำคัญคือการส่งเสริมการปรึกษาหารือและความร่วมมือระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เป็นต้น แนวปฏิบัติของ OECD จะเป็นประโยชน์หากสหภาพแรงงานนำไปเปรียบเทียบกับสภาพการทำงานของคนงานในสถานประกอบการของตน และสามารถนำไปพัฒนาเป็นข้อตกลงสภาพการจ้างได้อีกด้วย
 
 
ในหัวข้อ “สถานการณ์การเจรจาต่อรองร่วมในภาคตะวันออก” นำเสนอโดย บุญยืน สุขใหม่ ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก ได้นำเสนอข้อมูลการเจรจาต่อรองร่วมและปัญหาที่คนงานภาคตะวันออกกำลังเผชิญอยู่
 
ในปี 2554 จำนวนสถานประกอบการใน จ.ชลบุรี 15,442 แห่ง จ.ระยอง 5,313 แห่ง จำนวนลูกจ้าง จ.ชลบุรี มีลูกจ้างชาย 297,442 คน ลูกจ้างหญิง 288,395 คน จ.ระยอง มีลูกจ้างชาย 167,531 คน ลูกจ้างหญิง 102,061 คน จ.ชลบุรีมีสหภาพแรงงาน 178 แห่ง (ดำเนินกิจกรรม 131 แห่ง) จ.ระยองมีสหภาพแรงงาน 138 แห่ง (ยังดำเนินกิจกรรม 130 แห่ง) 
 
ด้านสถานการณ์แรงงานที่สำคัญของ จ.ระยอง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2553 – 25 ก.ย. 2554 พบว่ามีการยื่นข้อเรียกร้องรวม 78 แห่ง ได้ข้อยุติ 58 แห่ง ยังไม่ยุติ 21 แห่ง มีลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 28,379 คน เกิดข้อพิพาทแรงงานรวม 18 แห่ง ยุติไป 16 แห่ง ยังไม่ยุติ 16 แห่ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 7,113 คน เกิดข้อขัดแย้ง 7 แห่ง ยุติไปทั้ง 7 แห่ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 5,330 คน บรรลุข้อตกลงกับนายจ้าง 74 แห่ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 22,705 คน สิทธิประโยชน์ทั้งหมด 2,040,658,853.50 บาท
 
ดังตัวอย่างตัวเลขด้านสถานการณ์แรงงานที่สำคัญของ จ.ระยอง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2553 – 25 ก.ย. 2554 นั้น สหภาพแรงงานในภาคตะวันออกมีความเคลื่อนไหวยื่นข้อเรียกร้องอย่างต่อเนื่องมีทั้งประสบผลสำเร็จ และยังไม่ยุติ ทั้งนี้ก็ขึ้นกับวิธีการเทคนิคของสหภาพแรงงานต่างๆ ความเข้มแข็งของแต่ละสหภาพแรงงาน และการให้ความร่วมมือลงมาเจรจาของฝ่ายนายจ้าง
 
บุญยืนกล่าวถึงตัวกรณีตัวอย่างของสหภาพแรงงานในสถานประกอบการณ์ขนาดเล็กแห่งหนึ่งในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ มีจำนวนคนงานทั้งโรงงาน 50 กว่าคน มีจำนวนสมาชิกสหภาพ 42 คน บริษัทใช้เทคนิคการปิดงานสมาชิกสหภาพฯ และนำคนงานเหมาช่วงเข้ามาทำงานแทน ถึงแม้คนงานจะมีการประท้วงเรียกร้องหน้าโรงงาน แต่ไม่สามารถกลับเข้าไปทำงานได้ เป็นมุมสะท้อนของเรื่อง “กำลัง” ซึ่งหลายคนอาจมองว่าสหภาพแรงงานขนาดเล็กจะบริหารจัดการได้ง่าย แต่ในความเป็นจริงแล้วการต่อสู้ระยะยาวอาจจะยาก
 
บุญยืนกล่าวว่าสถานการณ์ในปัจจุบัน การเจรจาต่อรองร่วมกันระหว่างสหภาพแรงงานและนายจ้างยังคงเป็นวิธีการที่ต้องปฏิบัติ สำหรับเทคนิคอื่นๆ เช่นการหยุดงานตามสิทธิทางกฎหมายและการงดโอที หลายครั้งที่สถานการณ์บังคับให้คนงานต้องใช้วิธีนี้ ซึ่งนายจ้างเองก็มีเทคนิควิธีที่น่ากลัวนั่นก็คือการนำแรงงานชั่วคราวแรงงานเหมาช่วงเข้ามาทำงานแทน ระบบการผลิตของนายจ้างไม่สะดุด คนงานไม่สามารถรักษาพื้นที่การทำงานในโรงงานไว้ได้ ทำให้หลายครั้งต้องจบด้วยความพ่ายแพ้ของคนงาน แต่บุญยืนกล่าวย้ำว่าวิธีการนัดหยุดงานนั้นเป็นวิธีการที่ต้องใช้ในสถานการณ์ที่เหมาะสม และสหภาพแรงงานต้องหาเทคนิควิธีการเพื่อให้การนำประเด็นปัญหาแรงงานขึ้นมาเจรจาต่อรองได้จะเป็นผลดีที่สุด
 
นอกจากนี้บุญยืนยังกล่าวถึงประเด็นเรื่องระบบประกันสังคม สำหรับแรงงานในระบบประกันสังคมในจังหวัดชลบุรีและระยอง ที่เป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของแรงงานในระบบประกันสังคมทั้งประเทศ พบปัญหาเรื่องสถานพยาบาลให้เลือกไม่เพียงพอ คนงานไปใช้บริการต้องไปตั้งแต่เช้า โรงพยาบาลแออัด เนื่องจากจำวนผู้ใช้บริการมีมากกว่าสัดส่วนของสถานพยาบาล
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"สมคิด" ลบเกลี้ยง-โพสต์พาดพิงนิติราษฎร์-ปรีดี

Posted: 30 Sep 2011 03:38 AM PDT

"สมคิด เลิศไพฑูรยฺ์" ลบความเห็นที่เกี่ยวข้องกับข้อเสนอของนิติราษฎร์ และบทสนทนาระหว่างทายาทปรีดี พนมยงค์แล้ว โดยให้เหตุผลว่าเคารพต่อปรีดีและครอบครัวเสมอ "ผมไม่ยอมให้ใครเอาเรื่องนี้มาเป็นประเด็นเล่นกันครับ"

ตามที่ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ ตั้งคำถาม 15 ข้อหลังการแถลงข่าวของกลุ่มนิติราษฎร์ และตอนหนึ่งมีข้อความพาดพิงนายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎร "...ถ้าเรายกเลิกกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้ เราจะล้มเลิกการกระทำทั้งหลายและลงโทษคณะรัฐประหารกี่ชุด สุจินดา ถนอม ประภาศ สฤษฏ์ จอมพล ป. อ.ปรีดี หรือจะลงโทษเฉพาะคณะรัฐประหารที่กระทำต่อนายกทักษิณ" จนนางดุษฎี บุญทัศนกุล บุตรีของนายปรีดีต้องเข้ามาตั้งคำถามนั้น (อ่านข่าวย้อนหลัง [1], [2], [3])

ล่าสุดมติชนออนไลน์ รายงานว่า ข้อความสนทนาโต้ตอบระหว่าง ศ.ดร.สมคิดกับนางดุษฎี รวมทั้งข้อความคำถาม 15 ข้อถึงคณะนิติราษฎร์ และข้อความสนทนาเกี่ยวกับประเด็นทางวิชาการที่สืบเนื่องจากข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์อื่นๆ ได้ถูกลบทิ้งออกจากหน้ากระดานเฟซบุ๊กของอธิการบดีธรรมศาสตร์เกือบทั้งหมด

ในคืนวันที่ 29 กันยายน นายวินัย ผลเจริญ อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาโทและเอกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ได้โพสต์ตั้งคำถามบนหน้ากระดานเฟซบุ๊กของนายสมคิดว่า

"ท่านอธิการบดีครับ ท่านหรือผู้ที่ดูแล facebook ของท่าน (ถ้ามี) ได้ลบโพสต์บางโพสต์ที่อยู่ในกระดานข้อความ FB ของท่านทิ้งไปหรือครับ เพราะผมสังเกตเห็นว่าโพสต์ที่ ดร.อลงกรณ์ (นายอลงกรณ์ อรรคแสง อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม - มติชนออนไลน์) ได้โพสต์ถามท่านซึ่งผมร่วมแสดงความเห็นด้วยนั้นหายไป และโพสต์ที่ อ.ดุษฎี บุญทัศนกุล โพสต์ไว้ก็หายไปเหมือนกัน ถ้าลบจริง ผมอยากทราบเหตุผลครับ เพราะผมเชื่อว่าการคงไว้จะก่อให้เกิดประโยชน์ทางวิชาการมากกว่าครับ"

ซึ่งนายสมคิดได้เข้ามาตอบคำถามของนายวินัยว่า "ผมลบเองครับ เพราะเป็น face ของผม ถ้าคุณวินัยยังสนุกอยู่ก็เอาประเด็นไปตั้งที่ face ของคุณวินัยเองก็ได้ครับ ผมเคารพอ.ปรีดีและครอบครัวท่านเสมอ ผมไม่ยอมให้ใครเอาเรื่องนี้มาเป็นประเด็นเล่นกันครับ"

นายวินัยจึงตั้งคำถามต่อว่า "แต่เรื่องที่ ดร.อลงกรณ์ถามก็ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับ อ.ปรีดีนะครับ" นายสมคิดชี้แจงว่า "ผมต้องตอบใช่ไหมครับ"

นายวินัยจึงพิมพ์ข้อความเพิ่มเติมว่า "ผมไม่ได้มองว่ามันสนุกหรอกครับ แต่ผมอยากตามความคิดเห็นของคนอื่นๆ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาสติปัญญาครับ และคนอื่นก็หวังอย่างผมเหมือนกันครับ" "ท่านอาจจะไม่ตอบก็ได้ แต่ท่านน่าจะเปิดให้คนอื่นได้แสดงความเห็นกันต่อไปครับ"

นายสมคิดจึงเข้ามาตอบอีกครั้งว่า "อ.น่าจะรู้ว่าทุกอย่างมีขอบเขต และผมเข้าใจตอนนี้มันเลยขอบเขตไปแล้ว แทนที่จะทำให้ความเข้าใจที่ดีต่อกัน มันกลับเป็นตรงกันข้าม" สุดท้ายนายวินัยจึงตอบว่า "ครับ ผมจะพยายามเข้าใจครับ"

มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า เมื่อกลับมาตรวจสอบหน้ากระดานเฟซบุ๊ก ของอธิการบดีธรรมศาสตร์อีกครั้งในช่วงบ่ายของวันที่ 30 กันยายน ปรากฏว่าข้อความสนทนาโต้ตอบระหว่างนายสมคิดกับนายวินัยได้ถูกลบทิ้งไปเช่น กัน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

Design by นิติราษฎร์

Posted: 30 Sep 2011 12:39 AM PDT

อีกครั้งที่ประเด็นทางการเมืองกลับสะท้อนอย่างอื่นออกมาให้แจ้งคาตา แล้วบอกว่ามันอาจไม่ใช่ปัญหาการเมืองในความหมายที่พวกผู้ใหญ่เชยๆมักกล่าวเตือนในความสกปรกของมัน จนเด็กดีๆอย่างเราควรไปสนใจทำอย่างอื่นเสียดีกว่า ซึ่งข้าพเจ้าก็เชื่อฟังมาจนทุกวันนี้ ยิ่งนานวันก็ยิ่งพบว่าสิ่งนั้นมิได้ทั้งสกปรกหรือสะอาด ชะรอยว่ามันอาจมิใช่ปัญหาหรือปริศนาทางการเมืองเสียทีเดียวอีกตะหาก

ข้อเสนอของนิติราษฎร์มิใช่การประกาศข้อโต้แย้งทางการเมืองของความคิดฟากฝั่งใด(ในความหมายที่ว่ามันมีอยู่แค่ 2 ฟากในแบบปัจจุบัน) แต่มันเป็นผลงานการออกแบบโดยนักกฏหมาย ที่productของมันคือกฏเกณฑ์ข้อตกลงทางสังคม

ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตว่า เหตุหนึ่งที่มันเขย่าการถกเถียงได้อย่างอึกทึก ก็อาจเพราะตัววิธีการคิดแบบใช้ creativity นำหน้าเข้าไปทลายกฏเกณฑ์ และบางอย่างที่คล้ายกระบวนการออกแบบนั้นเอง ที่อาจเป็นสิ่งใหม่สำหรับระเบียบวิธีก่อร่างสร้างกฏของวงการกฏหมายแบบไทยๆ ที่คงจะยังมีpatternตามจารีตบางอย่างกำหนดไว้

กฏหมายอีกนัยหนึ่งก็คือจารีตที่แข็งตัว ว่ากฏก็คือกฏ จะเปลี่ยนอะไรต้องอยู่ในกรอบของกฏเดิมที่ใหญ่กว่า, ศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่กว่า นิติศาสตร์ดูเป็นอาชีพที่น่าเบื่อ ที่เข้าไปเรียนท่องกฏหมาย และไม่เคยมีหนังไทยเรื่องไหนมีบทสนทนามันส์ๆบนฉากการโต้กันระหว่างทนาย-อัยการ-ศาลเท่าหนังอเมริกันอย่าง JFK หรือ A few good men เป็นต้น

ผู้เขียนจะลองไล่ทีละประเด็นโดยเปรียบเทียบวิธีคิดที่แสดงออกมาในข้อเสนอของนิติราษฎร์ กับกระบวนการออกแบบ เท่าที่สมองมนุษย์เคยคิดค้นวิธีการหรือจดบันทึกกันเอาไว้ โดยละเนื้อหาของข้อเสนอไว้ในฐานที่เข้าใจว่าได้อ่านและฟังกันมาแล้ว (และเข้าใจเท่าที่ประชาชนเข้าใจ ไม่ใช่อย่างนักเทคนิคทางกฏหมาย)

หนึ่ง เมื่อสิ่งใดๆเริ่มใช้การได้ไม่ดี ไม่สะดวก ไปจนถึงเป็นอันตราย มนุษย์ก็จะเริ่มออกแบบสิ่งนั้นๆใหม่ ไม่ว่าจะโดยผู้ออกแบบผู้มีชื่อเสียงหรือนิรนามก็ตาม

อันนี้ท่านคงพอเข้าใจได้เอง ว่าการใช้การได้ของกฏหมาย หรือกระบวนการยุติธรรมไทยในช่วง 5ปีที่ผ่านมานั้น ไม่ได้ผลิตอะไรเพิ่มให้แก่สังคมนอกจากจำนวนมาตรฐานและคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นั่นหมายความว่ามันมีสิ่งผิดปกติที่สมควรเปลี่ยนแปลงหรือได้รับการออกแบบเสียใหม่ นักออกแบบอาจมองเห็นอะไรแบบนี้ในระดับการโค้งงอของแปรงสีฟันในปาก แต่เหล่าท่านอ.นิติราษฎร์เห็นขี้ฟันที่ตกค้างอยู่ในซอกหนึ่งหรือหลายซอกของกฏหมายรัฐธรรมนูญ เนื่องเพราะรูปร่างของแปรงสีฟันและยาสีฟันที่ใช้ หรือแม้กระทั่งท่าทีและนิสัยของตัวผู้ใช้ เป็นต้น

ข้อนี้มีทั้งผู้ที่ตระหนักว่ารัฐประหารนั้นเป็นขี้ฟัน ส่วนบางท่านยังคิดว่ามันเป็นทองที่เลี่ยมฟัน(ปกปิดฟันผุ ฟันหลอ)จึงมิควรต้องทำการออกแบบใดๆ เลยไม่อ่านผลงานออกแบบให้เข้าใจ เขวี้ยงแบบทิ้งแล้วปากไวด่าเลย (เสียหมาปลาหมอไปหลายท่าน)

สอง ในกระบวนการออกแบบ หลังการค้นพบในข้อที่หนึ่ง สิ่งที่ทำต่อไปคือการสร้างทางเลือกหรือทำ alternative design เพราะเราอยู่ในยุคสมัยที่รู้ว่าพระเจ้าหรือกษัตริย์จะไม่ส่งนิมิตหรือคำตอบจากสวรรค์เพียงคำตอบเดียวมาสู่ศิลปินอีกต่อไปแล้ว เราก็จะร่างsketchรูปแบบทางเลือก แล้วทำการวิเคราะห์แจกแจงข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือกจนมันเหลือน้อยที่สุด จนประกอบร่างใหม่เป็นแบบที่ต้องการนำเสนอที่คิดว่าเข้าท่าที่สุด

อาจกล่าวได้ว่าเราทุกคนเหมือนติดกับดักกันอยู่ในข้อที่หนึ่ง เราพูดถึงภาวะไม่น่าสบาย แล้วก็มีเพียงคำ”ปรองดอง”เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ ราวกับว่าสวดคำนี้ออกมาบ่อยๆแล้วมันจะบรรเทาทุกสิ่ง ทำให้ขี้ฟันหายไปฟันไม่ผุโดยไม่ต้องทำการแปรงฟัน ยิ่งสวดก็ยิ่งเหม็นขี้ฟัน...แล้วคนที่คิดออกว่าจะเริ่มทำอะไรก็อาจเป็นเพราะเลิกหมกมุ่นวิเคราะห์กับคำนี้ แต่สำรวจจ้องมองเรื่อง “รัฐประหาร”และสิ่งที่รายรอบมัน

ข้อเสนอนิติราษฎร์เป็นเหมือนการทำ alternative design sketch ที่ยังมิได้ทำการผลิตออกมาเป็นproduct (และก็เสนอกระบวนการเพื่อที่จะผลิตมันออกมาในขั้นต่อไป) เขาออกมาเสนอแนวความคิดหลักแต่สังคมคุณพ่อรู้ดีก็รีบตอบรับความแหลมคมทางความคิดด้วยการทิ่มมันกลับไปหาคนคิด หรือวิธีการเก่าๆที่ว่าแค่เพียงความคิดก็เป็นภัยต่อความมั่นคง(ทางใจ)บางอย่างไปต่างๆนานาเสียแล้ว เช่น เสนอมาแล้วสังคมจะแตกแยก, ทักษิณกำลังจะคืนชีพ, อ. ฉลาดๆอย่างอ.วรเจตน์จะได้เป็น สสร.(มันน่ากลัวตรงไหน(ฟระ)?)

สาม การพบว่าโจทย์ในการออกแบบนั่นแหละคือปัญหา และกฏที่มีอยู่ต่างหากที่เป็นอุปสรรค แล้วนำไปสู่แนวความคิดหลักในการออกแบบหรือข้อเสนอของเขา

อาการ panicดังกล่าวยืนยันว่าเรามีปัญหาในข้อที่หนึ่ง ซึ่งมันคือตัวโจทย์เองกำลังบอกเราว่า...เรามีปัญหาใหญ่หลวงให้แก้ แต่ห้ามคิดหรือทำอะไรใหม่ๆ(ที่ไปแตะ 1 2 3 4....) มาร่วมแก้โจทย์กันเถิด?.... หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการตั้งโจทย์ลักษณะนี้ขึ้นมานี่แหละที่ทำให้การแก้ปัญหานั้นๆเป็นไปไม่ได้ และนั่นก็หมายความว่าต้องทลายโจทย์แบบนี้ทิ้งเสียก่อน! ...

นิติราษฎร์เลือกเสนอalternativeที่ทลายกฏเดิม(ที่เป็นกฏหมายจริงๆ! ) หรือที่จริงแล้วมันลวง เพราะมันคือกฏหมายที่อุปโลกน์ตัวเอง ประกาศว่าตัวฉันเองคือกฏหมายจริงนะ เสนอลบทิ้งกฏหมายลวง(ประกาศนิรโทษกรรมตัวเองคณะปฏิวัติ) ที่ล็อคกฏหมายตัวที่ลวงต่อๆกันมาทิ้งเสียก่อน (บนการมีฐานคิดที่ว่ารัฐประหารเป็นตัวปัญหา ไม่ใช่แก้ปัญหาเสียก่อน แล้วไล่ตรรกะเชื่อมโยงกันมา)

มันทลายกฏเดิมและขยายจินตนาการความเป็นไปได้ออกไปได้อย่างไร?...อ่านรายละเอียดแถลงการณ์ ในประเด็นเช่น ความไม่เป็นรัฐาธิปัตย์ของรัฐประหารนั้น หลายคนไม่อาจทลายความคิดนี้ด้วยเหตุที่รู้ว่าใครสนับสนุนรัฐประหาร ไม่ใช่เพราะไม่เชื่อว่าอำนาจประชาชนนั้นสูงสุด (เหตุผลแบบนี้อาจเป็นคุณสมบัติแปลกๆ แต่ดำรงอยู่จริงและมีความงามอย่างไทย!), ประเด็นที่ว่าโดย logicของข้อเสนอนี้เองควรปรับใช้กลับไปเยียวยาผลกระทบของรัฐประหารที่ผ่านมาทุกครั้ง เช่น กรณี6ตุลา ที่คนผู้ยังไม่เคยได้รับการเยียวยาพูดกันอยู่เงียบๆอย่างสิ้นหวังมาตลอด35ปี ว่าคดีหมดอายุความ และได้รับ(แผลเป็น)นิรโทษกรรมกันไปหมดแล้ว เป็นต้น)

สี่ แกเป็นใครจึงมาเสนอแบบร่างในการออกแบบ? ต้องมีผู้ว่าจ้างแกมาแน่ๆ

ผู้เขียนไม่มีความรู้ทางกฏหมายแต่จับใจความได้ว่า วงการนิติศาสตร์ไทยไม่ต้อนรับ”การคิดค้น“ หรือข้อเสนอแก้ไขกฏหมายใดๆที่ไม่ได้มาตามลำดับขั้นตอน เช่น ความคิดสร้างสรรค์ทางกม.นั้นอาจจะควรไหลมาจากทิศทางมาตรฐาน เช่นองค์กรสมาคมทนายความที่มีอยู่, รัฐสภา, คณะทำงานที่รัฐบาลตั้งให้ศึกษาชงเรื่อง, ฯลฯ ซึ่งก็อาจไม่มีอะไรที่น่าสนใจไหลออกมาอย่างเป็นเรื่องปกติกันไปเสียแล้ว นอกจากนี้ผู้เขียนก็ยังประหลาดใจที่ว่า ถ้าไม่ใช่นักวิชาการทางนิติศาสตร์ที่น่าจะเป็นคนที่เสนอนวัตกรรมทางกฏหมายเสียแล้ว มันควรจะเป็นใคร? เราไม่ควรถามว่าเขาไปรับเงินใคร แต่ควรถามว่าสังคมแบบไหนกัน ปล่อยให้เขาต้องทำงานเหล่านี้กันโดยไม่ได้เงิน แถมโดนป้ายสีว่าอาจมีคุณสมบัติตามสูตรผู้ร้ายทั้งมวลอีกตะหาก?

เมื่อตอนไอน์สไตน์คิดทฤษฎีสัมพันธภาพก็ไม่มีใครจ้างแกซักหน่อย อย่าลืมว่าคนแบบนี้ยังมีอยู่ในโลก และอยู่กันอย่างเป็นปกติทั้งที่ดังและไม่ดังเท่าไอน์สไตน์ แต่มนุษย์อย่างกลุ่มนิติราษฎร์กลับกลายเป็นของแปลกของวงการกฏหมายไทยที่เสือกเกิดมามีและใช้ความสามารถสร้างสรรค์ในทางกฏหมายโดยไม่มีคนจ้าง

หรือมันอาจมีลำดับชั้นบางอย่างในวงการนี้ ที่ความสร้างสรรค์ของนิติราษฎร์กระโดดข้ามหัวสังคมorganic หรือผิดสิ่งที่มักอ้างกันว่ามันคือ กาละเทศะ

ห้า ข้อเสนอของนิติราษฎร์ยังเป็นsketch design ไม่ใช่ Product บังคับซื้อบังคับใช้แบบที่ประกาศคณะปฏิวัติทำไว้กับเรา หรือสร้างจารีตการบังคับใช้productที่เรียกว่ากฏหมายเอาไว้กับเรา มันไม่ใช่ของแจกฟรีโดยพวกเราไม่ต้องออกแรงใดๆอีกต่อไป มันจะใช้การได้หรือไม่(หรือจะได้ถูกเอามาใช้ไหม)”ควร”ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ใช้ และแน่นอนที่ว่ากฏหมายนั้นเครียด ละเอียดอ่อนและแหลมคมกว่าขนแปรงสีฟัน ที่หากแค่สวยก็มีsupplierอยากซื้อแบบไปผลิตได้ทันที productใดๆมักผ่านการทำแบบร่างทางเลือกเป็นร้อยพันครั้ง ไม่นับว่าบางตัวผลิตออกมาเป็นseriesดัดแปลงไปตามผลตอบรับผู้ใช้ หรือบ้างก็งอกออกมาเป็นหลายversionในหนึ่งรุ่น เช่น แค่จะขายของอย่างชุดเก้าอี้พลาสติกของphillippe starkเขายังคิดกันหัวแตกเป็นปีๆ แต่สำหรับข้อเสนอขนาดเรื่องของกฏหมายรัฐธรรมนูญขนาดนี้ สังคมไทยห้าวเป้ง จ้องล้มschemeกันได้ตั้งกะยังไม่เข้าใจแบบกันเลยทีเดียว

นิติราษฏร์เสนอผ่านสาธารณะว่าให้นำข้อเสนอนี้ไปให้เหล่า สสร.ในอนาคตใคร่ครวญ ผลักดันมันออกมาเป็นการทำประชามติซะ ว่าประชาชนต้องการมีproductนี้ไว้ใช้ในครัวเรือนกันอย่างสามัญชนหรือไม่ คือเอาความคิดไปทดสอบกับผู้ใช้โดยตรง(ซึ่งคือประชาชนมิใช่ผู้รู้ ผู้อาวุโสมากบารมีใดๆ) คล้ายกับทำmarket test

และในระหว่างกระบวนการแบบสาธารณะนี้ หากมันจะทำให้เกิดไอเดียเป็นalternativeใหม่ๆที่แตกออกมาจากคนอื่นๆก็ยิ่งจะดีเข้าไปใหญ่เสียด้วยซ้ำ นิติราษฎร์เขาเสนอทางเลือกและประเด็น ไม่ได้ประกาศกฏหมายหรืออุปโลกน์ตัวเองเป็นผู้ประกาศกฏหมาย

การรับ-ไม่รับข้อเสนอนี้ในอนาคตก็ไม่ใช่เพื่อการพิสูจน์ฟาดฟันเอาชนะทางความคิดของฟากไหนทั้งสิ้น เสียงส่วนใหญ่อาจไม่รับ แล้วถึงแม้ถ้าคนคิดเขาจะเอาแบบกลับไปปรับใหม่ มาเสนอใหม่ก็น่าจะดำเนินกันต่อไปได้มิใช่หรือ? ทำไมความคิดสร้างสรรค์จึงจะกลายเป็นสิ่งน่ารังเกียจไม่สมควร หรือคู่ควรแก่การรับรู้ของสาธารณะล่ะหรือ? มีแต่วิถีแบบนี้เท่านั้นจึงจะเป็นสังคมที่เราเรียกว่าเปิดกว้างและเป็นประชาธิปไตยไปพร้อมๆกับมีความปรองดองแบบที่ท่านโหยหากันมิใช่หรือ?

หก และแน่นอนวันใดที่มันเสื่อมประโยชน์ใช้สอย สินค้าใหม่ หรือกฏกติกาที่ทันสมัยกว่าย่อมสมควรถูกผลิตมาเสนอทดแทนวนเวียนไปจนกว่าโลกจะแตก ผู้เขียนจึงไม่เข้าใจจริงๆว่าข้อตอบโต้ที่ไม่เป็นวิชาการ แต่แตกตื่นกับความคิดของนิติราษฎร์จะตกใจอะไรกันนักหนา เช่น ถ้าเราจะมีสสร.ที่เป็นนักนิติศาสตร์ที่ฉลาดๆกันเสียที ก็เป็นเรื่องน่ายินดีเป็นโชคแก่ประเทศชาติเสียยิ่งกว่าการได้นายกคนก่อน หรือได้สสร.เกรียนๆในชุดก่อนอย่างสมคิดเสียด้วยซ้ำ

แน่นอนที่สุดว่าสังคมไม่ได้ต้องการแค่ความคิดสร้างสรรค์จากนิติศาสตร์เหาะลงมาช่วยเราปรองดอง....แต่แค่ต้องการเงื่อนไขที่ยอมให้ความคิดสร้างสรรค์ไม่ว่าจะของศาสตร์ไหนๆเกิด...มีชีวิต...และแก่ตายไปจนกว่าจะมีอันใหม่มาเกิด

ไม่ใช่สังคมที่ทำแท้งมันเสียตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิเป็นแบบร่าง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาไทบันเทิง รอยไหม : ร่องรอยอุดมการณ์รัฐ

Posted: 30 Sep 2011 12:14 AM PDT

นั่งอ่านการตอบโต้กันไปมาหลังจากคณะนิติราษฎร์ออกแถลงการณ์ ชวนให้ปวดตับ ปวดตับตั้งแต่บรรดาอาจารย์ที่ออกมาตั้งคำถามโน่นนี่ ซึ่งไม่รู้ว่าจะถกเถียงประเด็นทางกฎหมายหรือประเด็นเรื่องอะไรกันแน่ และปวดตับยิ่งไปกว่านั้นคืออ่านอะไรไม่ค่อยจะรู้เรื่อง ไม่รู้ว่าโชคดีหรือโชคร้ายที่ตอนเป็นนักศึกษาไม่ได้เข้าเรียนเลย เพราะบรรดารายชื่ออาจารย์ทั้งหมดที่ออกมาคอมเมนต์แถลงการณ์ของคณะนิติราษฎร์นั้น ล้วนแต่เป็นอาจารย์ที่ดิฉันลงวิชาเรียนด้วยแทบทั้งสิ้น

ว่าแล้วจึงปิดคอมพิวเตอร์แล้วเปิดโทรทัศน์ดูละครดีกว่า

ประชาไทบันเทิง รอยไหม : ร่องรอยอุดมการณ์รัฐ

ตอนนี้คงไม่มีละครเรื่องอะไรจะโด่งดังมากไปกว่าเรื่อง ‘รอยไหม’ อีกแล้ว (ขอความกรุณาอย่าผวนคำ เหมือน ‘อย่าเอาหูหนี’) น้องแอ๊ฟ-ทักษอร งามแต๊ๆ กะเจ้า (ดิฉันใช้คำเมืองผิดไหม? โปรดอภัยด้วยค่ะ) แต่มิวายละครเรื่องดังก็ถูกตั้งคำถามจากบรรดาคนดูเช่นเคย ไล่มาตั้งแต่ประเด็นเรื่องประวัติศาสตร์ล้านนา (ซึ่งหลายความเห็นก็บอกว่าบทประพันธ์ให้ข้อมูลผิดพลาดหลายจุด) การถ่ายทำที่ในเนื้อเรื่องบอกว่าถ่ายที่วัดนี้ พระธาตุนี้ ในเมืองนี้ แต่ภาพที่ปรากฏออกมาเป็นอีกวัดหนึ่ง อีกพระธาตุหนึ่ง ในเขตอีกเมืองหนึ่ง เรื่อยมาจนถึงประเด็นที่ฮอตที่สุดคือ ‘ภาษาเหนือ’ ที่เป็นภาษาหลักที่ใช้ในละครเรื่องนี้ โดยคนเหนือทั้งหลายออกโรงให้ความเห็นว่ามีการใช้ภาษาเหนือผิดๆ ถูกๆ หลายจุด จนเรียกได้ว่าผิดเพี้ยน รวมไปถึงสำเนียงที่ฟังแล้วตลกขบขัน และกาใช้ภาษากลางปนภาษาเหนือ ของตัวละครในเรื่อง ประเด็นชักลุกลามใหญ่โต จนผู้กำกับฯ คุณอ๊อฟ พงพัฒน์ต้องออกมาโรงมาชี้แจงในหน้าหนังสือพิมพ์

"ที่หลายคนพูดถึงคือเรื่องภาษาเหนือ หลายคนจะบอกว่าฟังยาก ก็กำลังปรึกษากันอยู่ว่าเราอาจจะมีซับให้อ่านกัน ซึ่งก็ต้องดูกันเยอะครับ ถ้ามองในแง่เจ้าของภาษา เขาอาจจะคิดว่าทำไมต้องมี ในเมื่อที่พูดกันนั้นมันก็เป็นภาษาไทย"

"ผมก็พยายามให้นักแสดงพูดเหนือปนกลางแล้วนะ คำไหนที่ฟังยากจริงๆ ก็จะเปลี่ยนเป็นภาษากลาง จนคนเหนือก็ต่อว่าเหมือนกันนะ ที่ไปทำภาษาเขาเพี้ยน แต่บางครั้งก็จำเป็น เพราะเราต้องทำให้คนทุกภาคในประเทศไทยดูละครแล้วเข้าใจตรงกัน ถือซะว่าใครดูละครเรื่องนี้เหมือนเรียนภาษาเหนือวันละคำไปก็แล้วกันครับ"

จากหนังสือพิมพ์ข่าวสด

ดิฉันนั่งดู ‘รอยไหม’ ก็ไม่รู้หรอกว่าเขาใช้ภาษาเหนือผิดๆ ถูกๆ จะมารู้ก็ด้วยเหล่าคนเหนือทั้งหลายที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การใช้ภาษาในละครเรื่องนี้นั่นแหละ เนื่องด้วยพูดได้ภาษาเดียวคือไทยกลาง (นับเป็นที่อับอายยิ่งนัก แลดูเสียเปรียบมากๆ ถ้าเทียบกับคนภาคอื่นๆ ที่พูดภาษาถิ่นได้แล้วยังพูดภาษาไทยกลางได้อีกด้วย) จะดูลายผ้าก็ดูไม่ออก เพราะไม่มีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ผ้า ว่าลายแบบนี้เป็นวัฒนธรรมของอาณาจักรอะไร หรือแม้กระทั่งที่เขาบอกว่าฉากนี้กล่าวถึงพระธาตุเจดีย์นี้แต่ไปถ่ายทำอีกพระธาตุหนึ่ง ดิฉันก็ไม่ได้สังเกตเช่นกัน เพราะไม่เคยไปทั้งสองพระธาตุที่กล่าวอ้าง คนดูที่ไม่ educate และไม่ใช่ active audience อย่างดิฉันคงมีไม่น้อย

เพราะหลายคนก็คงรอดูว่าเมื่อไหร่ผีอีเม้ยจะออกมากินไก่ให้ดู

อ่านประเด็นที่คุณอ๊อฟพูดเรื่อง ‘ซับไตเติล’ แล้วรู้สึกตาโต โอ้โห ถ้ามีจริง คงจะเป็นมิติใหม่ของละครไทยแน่ๆ เลย แต่หลังจากนั่งอ่านคอมเมนต์ต่างๆ ในเว็บบอร์ดในประเด็นนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เข้าใจและเห็นใจคุณอ๊อฟ โดยมีความคิดเห็นประมาณว่าละครไม่ใช่สารคดีไม่ต้อง ‘สมจริง’ ทั้งหมดก็ได้, นักแสดงพูดได้แค่นี้ก็ดีมากแล้ว, คุณอ๊อฟ เจตนาดีที่ต้องการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมให้ออกมาเป็นละคร ผิดนิดผิดหน่อยก็เพื่อต้องการสื่อสารให้คนไทยทุกภาคได้เข้าใจ จงดูที่เจตนารมย์หลักจะดีกว่า ฯลฯ ก็ทำให้เห็นว่ามันมีธรรมชาติบางอย่างของคำว่า ‘ละคร’

คือคำว่าละครสามารถมีข้ออ้างว่าไม่จำเป็นต้อง ‘สมจริง’ ก็ได้ ไล่มาตั้งแต่นางอิจฉาพูดคนเดียวต่อหน้ากล้อง ทั้งๆ ที่ยืนข้างๆ พระเอก แต่พระเอกไม่ได้ยิน ทุกคนแต่งหน้าเข้านอนหมด มาจนกระทั่งคนเหนือพูดภาษาเหนือผิดๆ ถูกได้ ในละครเรื่องนี้ คำว่า ‘สมจริง’ จะถูดลดทอนลงไป เป็นที่ยอมรับได้ ต่อเมื่อมันเป็นละคร เพราะละครมีไว้ดูเพื่อการ ‘บันเทิง’ เท่านั้น ไม่ได้ดูเอาเรื่องเอาราว เพราะฉะนั้นดิฉันจึงมีข้อแก้ตัวส่วนตัวว่าการที่ตัวเองไมได้เป็น active audience ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะธรรมชาติของละคร และสังคมไทยก็ไม่ได้เรียกร้องให้คนไทยเป็น active audience เมื่อดูละครอยู่แล้ว

เพราะฉะนั้น ห้ามเปรียบเทียบละครช่องเจ็ดกับช่องสามเด็ดขาด !!!

ประชาไทบันเทิง รอยไหม : ร่องรอยอุดมการณ์รัฐ

ประเด็นที่น่าสนใจต่อมาเกี่ยวกับเรื่อง ‘ซับไตเติล’ ดิฉันพอจะเข้าใจคุณอ๊อฟได้ว่า การทำซับไตเติ้ลสำหรับละครไทยที่พูดภาษาถิ่นนั้นเป็นเรื่องที่มีหลายปัจจัยเขามาเกี่ยวข้องเลยทีเดียว ไม่ใช่เพียง คนที่พูดภาษานั้นๆ หรือฟังภาษานั้นๆ ได้อยู่แล้วเขาจะรู้สึกว่ามีไปทำไม (อย่างที่คุณอ๊อฟแสดงความคิดเห็นไว้)

ประเด็นแรกสังคมไทยไม่ใช่สังคมแห่งการ ‘อ่าน’ ไม่ใช่แค่อ่านหนังสือเท่านั้น แม้แต่ซับไตเติลก็รวมอยู่ด้วย การดูละคร หรือหนังและอ่านซับเติลไปด้วยนี่ น่าจะเป็นเรื่องของ ‘ชนชั้นกลาง’ ผู้มีการศึกษาเท่านั้น ที่เวลาไปดูหนังฝรั่งตามโรงภาพยนตร์จะเลือกดูระบบซับไตเติลมากกว่า ‘พากษ์เสียง’ ละครเป็นเรื่องของตาสีตาสา จะให้ตาตีตาสามานั่งอ่านซับไตเติลไปด้วยก็คงไม่มีใครดู (ยกเว้นตาสีตาสาภาคเหนือ) พอไม่มีใครดูเรตติ้งก็คงตก ละครไม่ดัง แม้จะเป็นที่พูดถึงว่าเป็นละครมิติใหม่ ที่นักแสดงทั้งหลายพูดภาษาเหนือได้ถูกต้องทุกคำ ทั้งคำพูดและสำเนียงจนต้องขึ้นซับไตเติลให้คนที่ไม่รู้ภาษาเหนืออ่าน แต่ละครเรื่องนี้ก็จะไม่มีประโยชน์อันใด หากคนดู ‘น้อย’ (เหมือนที่เขาบอกกันว่าละครดีไม่มีใครดู ต้องน้ำเน่าเท่านั้น) เพราะมันจะกลายเป็นละครจริต ‘ชนชั้นกลางผู้มีการศึกษา’

ดังนั้นจึงความคิดเห็นที่ว่าอย่ามีซับไตเติลมันเลย หรือมันเป็นเพียงแค่ละคร จะเอาสาระความถูกต้องอะไรหนักหนา มันจึงไม่ได้สะท้อนเพียงแค่การแก้ปัญหาของละครเรื่องนี้ของผู้กำกับฯ แต่มันยังสะท้อนไปยังอุดมการณ์ของละครไทย ที่ถูก ‘แช่แข็ง’ เอาไว้ในบริบทหนึ่ง บริบทของการเป็นเรื่องบันเทิงสำหรับคนหมู่มาก (ที่ไม่ต้องเป็นพวก educate และไม่เป็น active audience) เพราะถ้าคุณอยากจะ active จริงๆ ก็ไปดูหนังโน่น (มีคอมเมนต์ในเว็บบอร์ดว่าถ้าเป็นหนังแล้วผิดขนาดนี้คงให้อภัยไม่ได้ แปลว่าหนังกับละครอยู่กันคนละพื้นที่ คนละกลุ่ม)

หากมองในแง่นี้การเรียกร้องให้ใช้ ‘ภาษาเหนือ’ ที่ถูกต้อง จึงเป็นการขัดกับอุดมการณ์การเป็นละครไทยอย่างชัดเจน เพราะถ้าเรายอมรับได้ว่านางอิจฉาพูดคนเดียวหน้ากล้องทั้งๆ ที่พระเอกยืนอยู่ข้างๆ แต่ไม่ได้ยิน หรือแต่งหน้านอน ไม่กลัวเป็นสิวหรืออย่างไร แน่นอนว่าภาษาเป็นเรื่องความถูกต้องของวัฒนธรรม แต่เรื่องแปลกๆ ในละคร (ที่ยกตัวอย่างไปสองข้อนั่นแหละ) นี่มันขัดแย้งกับธรรมชาติ ความเป็นจริงของชีวิตมนุษย์เลยนะนั่น ดิฉันว่าร้ายแรงกว่าวัฒนธรรมเสียกว่าอีก!

ก็ขำๆ กันไป!

แน่นอน...คนเหนือ พอได้ฟังก็คงคิดว่ามันไม่ถูกต้อง ก็ควรจะมีการท้วงติงให้ได้รับการแก้ไข หรือออกมาแก้ไขให้ถูกต้องตามเป็นจริง ในฐานะ ‘เจ้าของ’ ภาษา ซึ่งก็เป็นสิทธิและเรื่องที่ควรกระทำ (แต่อย่าลืมว่าภายใต้การกระทำบางอย่างมันมีนัยยะมากกว่าการท้วงติงว่าอะไรผิดอะไรถูก) แต่เมื่อผู้กำกับฯ ออกมาให้เหตุผลในการที่ให้นักแสดงพูดภาษาเหนือคำภาษากลางคำเพื่อให้ ‘คนไทยทั้งประเทศ’ ฟังรู้เรื่อง ส่วนตัวเองยอมโดนด่านั้น มีความน่าสนใจอย่างมากในคำอธิบายที่ได้รับการยกย่องนี้

ดิฉันมีเพื่อนคนหนึ่ง เธอเป็นคนภาคอิสาน หน้าตาผิวพรรณสวยประหนึ่งนางสาวไทย (ซึ่งก็ผิดกับสเตริโอไทป์คนอิสานยิ่งนัก) และเธอก็ไปประกวดนางงามระดับประเทศได้รางวัลมาจริงๆ ด้วย เธอไม่เคยพูดภาษาอิสานให้ดิฉันได้ยินเลยแม้แต่งครั้งเดียว ภาษากลางของเธอก็ไม่แปลกแปร่ง (ดังเช่นมาตรฐานที่คนใช้ภาษากลางเซ็ตไว้) มารู้ทีหลังว่าเธอเป็นคนอิสานก็จริง แต่เป็นลูกคหบดีในเมือง พ่อแม่มีเชื้อสายจีน และใช้ภาษากลางในการสื่อสารกับลูก ที่สำคัญภาษากลางเป็นภาษาหลักที่ใช้ในการสื่อสารใน ‘โรงเรียน’ ด้วย เธอจึงพูดภาษาอิสานไม่ได้เลย (แต่ฟังรู้เรื่อง)

ที่ดิฉันยกตัวอย่างให้ฟังเพื่อที่จะบอกว่า ระบบการศึกษาภาคบังคับของไทย ผ่านแบบเรียน การศึกษาในโรงเรียน ซึ่งนัยหนึ่งมันเป็นเครื่องมือในการปลูกฝังอุดมการณ์รัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ความเป็นคนไทย ประวัติศาสตร์ชาติไทย ฯลฯ ภาษาไทย (กลาง) ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการปลูกฝังอุดมการณ์รัฐ ด้วยการอ่าน การเขียน การพูด ที่โรงเรียนไม่ว่าจะอยู่หัวระแหงใด ไกลปืนเที่ยงเมืองหลวงของประเทศมากเพียงใด แต่เมื่อเข้าเขตของโรงเรียนแล้ว มันคือเขตพื้นที่ของรัฐ ที่คุณต้องใช้ภาษาไทย ‘กลาง’ ในการสื่อสาร เพื่อแสดงออกถึงการเป็น (หนึ่งเดียว?) พลเมืองในรัฐนั้นที่สถาปนาภาษานั้นให้เป็นภาษาราชการ เพื่อที่คนภาคอื่นๆ (ในสมัยนั้น) จะได้รู้สึกถึงความเป็นไทย เป็นหนึ่งเดียว ไม่กระด้างกระเดื่องภายใต้การปกครองของศูนย์กลาง เป็นการส่งผ่านอุดมการณ์ต่างๆ ที่รัฐต้องป้อนข้อมูลเข้าสู่หัวเพื่อกล่อมเกลาคนที่ใช้ภาษาอื่นๆ ให้เข้าใจ จะได้ปกครองง่ายขึ้น ใส่รหัสต่างๆ เข้าไปในหัวได้ง่ายขึ้น

อุดมการณ์นี้จึงถูกส่งผ่านออกมา (โดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม) เป็นคำตอบของผู้กำกับฯ เรื่องรอยไหม ที่ยึด ‘ภาษาไทยกลาง’ เป็นที่ตั้ง ในนามของคนดูทั่วประเทศ (แม้ ‘เจ้าของ’ ภาษาไทยกลางจริงๆ จะมีอยู่หยิบมือเดียวก็ตาม เพราะเรามีคนอิสานที่ใช้ภาษาอิสาน มีคนใต้ที่ใช้ภาษาใต้ ถึงแม้กรุงเทพฯ จะมีประชากรเยอะแยะมากมาย ก็อย่างที่รู้ๆ ว่าเป็นประชากรอพยพมาจากภาคอื่นๆ ทั้งนั้น) แก้ต่างได้อย่างสวยงามว่าเพราะต้องการให้คนดูทั้งประเทศเข้าใจ ปรากฏการณ์การยึดอุดมการณ์ภาษากลางนั้น มีให้เห็นมาก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นตัวละครกะเหรี่ยงที่พูด ‘ภาษาไทย’ ไม่ชัด จนกลายเป็นมุกตลกนำมาล้อเลียนและใช้กันอย่างแพร่หลาย หรือแม้กระทั่งใครที่พูดไทยไม่ชัด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร ก็มักจะถูกตำหนิติติงเสมอ การพูดไทยชัด ระบุอย่างเจาะจงลงไปอีกคือ ‘ไทยกลาง’ ไม่ใช่ไทยที่ปนสำเนียงอื่นๆ ไทยที่พูดสำเนียงอื่นๆ จนลิ้นสามารถผันเสียงวรรณยุกต์ได้อย่างจำกัด แต่การพูดภาษาอื่นของคนไทยกลางไม่ชัด (ไม่ถูกต้อง) มันกลายเป็นข้อจำกัดที่ยอมรับได้ ด้วยเหตุผลที่ว่าเพราะนั่นไม่ใช่ภาษาราชการ ไม่ใช่ภาษาที่ใช้มาตั้งแต่เกิด และไม่เกิดการเหยียดหยันทางเชื้อชาติเลยสักนิด

การออกมารับผิดอย่างแมนๆ ใจนักเลงของผู้กำกับฯ อ๊อฟ พงษ์พัฒน์ และได้รับการประนีประนอมและชื่นชมอย่างมากมาย นัยหนึ่งมันได้สะท้อนถึง ‘ตัวตน’ ของละครไทย ที่จัดพื้นที่ของตัวเองใว้ในบริบทๆ หนึ่ง (ทั้งผู้ทำและคนดูเองที่สมยอมไปด้วย) การพัฒนาของละครไทย จึงจะเห็นเพียงแค่ฉากที่อลังการ เสื้อผ้าหน้าผมที่สวยสดงมงาม ตัดใหม่ลงทุน หรือทำการบ้านมาอย่างดี หรือการลงทุนด้านอื่นๆ อย่างระเบิด เลือดปลอมเลือดจริง จูบจริง ตบจริง หรือข้อคิดในเชิงศีลธรรมแบบอนุรักษ์นิยม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอยู่ในขอบเขตพื้นที่ที่จะแช่แข็งคนดู ไม่ให้เป็น active audience ดูละครก็จงเชื่อไปตามนั้น จงตัดความเป็นเหตุเป็นผลใดๆ ของชีวิตจริงไปเสียให้สิ้น ดังที่กล่าวมาก่อนหน้านี้

รวมถึงการเป็นละครที่ตัวละครเป็นคนเหนือ (แบบย้อนยุคด้วย) แต่ไม่จำเป็นต้องพูดเหนือให้ถูกต้องทั้งหมดก็ได้ (นี่ยังไม่พูดถึงว่าทำไมละครที่ต้องพูดอิสาน แต่นักแสดงก็พูดได้เลวร้ายไม่ต่างกัน แต่ทำไมถึงไม่มีการท้วงติงใหญ่โต เหมือนละครเรื่องนี้ ? หรือเป็นคำว่าอิสานนั้นไม่ได้สื่อไปถึงคำว่าความรุ่มรวยของวัฒนธรรม ? เหมือนคนเหนือ มีอคติอันใดในกรณีที่เกิดขึ้นเหมือนกันนี้—นี่ไม่ได้ยุให้ตีกันนะค แต่อยากให้ลองคิดต่อ) เพราะความยิ่งใหญ่กว่านั้น ข้ออ้างที่ฟังขึ้นกว่านั้นคือ ‘คนไทยทั้งประเทศ’ ที่จะสามารถรับรู้เข้าใจได้หากมันเป็นภาษาเหนือแบบ (ภาษา) กลางๆ ซึ่งก็เป็นคำอธิบายที่ติดกับกับอุดมการณ์รัฐที่ปลูกฝังทุกคนในประเทศนี้ผ่านการศึกษษภาคบังคับของรัฐ ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่าทำไมผลตอบรับของกระแสสังคมจึงเห็นอกเห็นใจและเข้าใจคุณอ๊อฟ พงษ์พัฒน์ แม้ว่าจะเป็นคนเหนือก็ตามที

การกล่าวเช่นนี้ ดิฉันไม่ได้ละเลยประเด็นที่คุณอ๊อฟกล่าวกว่ามีเวลาเท่านี้ มีเงินเท่านี้ หรอกนะคะ นั่นก็เป็นปัจจัยหนึ่ง หากเราพูดในเชิงธุรกิจอุตสาหกรรมบันเทิง หรือแม้แต่จะประณามว่าทำไมถึงได้ผิดเช่นนี้ (เพราะอย่างที่บอกดิฉันไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพูดผิด) แต่ทั้งหมดที่กล่าวไปก็เพื่อกระตุกให้เห็นว่าภายใต้คำอธิบายที่ทุกคนประนีประนอมยอมรับได้ และ ‘รู้สึกดี’ นั้น จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม มันได้แสดงถึงอุดมการณ์บางอย่างที่ผูกอยู่กับคำอธิบายนั้นๆ หรือการยอมรับนั้นๆ ทั้งในแง่จุดยืนของละครหรือเรื่องอุดมการณ์ของรัฐผ่านภาษา

และนั่นก็ย้อนกลับมาว่า ทำไมละครถึงทรงอิทธิพลแก่คนในสังคม เพราะไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม เราก็จะได้รับอุดมการณ์อีกชุดซึมซับเจ้ามาในหัวสมอง ซึ่งดูๆ แล้วก็ไม่ค่อยต่างจากชุดศีลธรรม จริยธรรมโดยรัฐสักเท่าไหร่

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ธีระ สุธีวรางกูร

Posted: 30 Sep 2011 12:06 AM PDT

ทำคนอื่นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อ้างความจำเป็น พอตัวเองจะโดนบ้างจากวิธีการที่ชอบ อ้างจะเกิดความไม่ปรองดอง ตรรกะเห็นแก่ตัวอย่างนี้ ไม่อายคนอื่นบ้างหรือครับ

 

30 กันยายน 2554

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี: ชาตินิยมในการเมืองไทย

Posted: 29 Sep 2011 11:23 PM PDT

ดูท่าพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นพรรคการเมืองเก่าและแก่เกินไปกว่าจะเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆของโลกได้ เพราะยังมีความพยายามจะเข็นประเด็นชาตินิยมสมัยจอมพล ป พิบูลสงคราม ขึ้นมาเล่นอย่างเมามัน (อยู่คนเดียว) แม้ว่าพรรคการเมืองพรรคนี้จะประกอบไปด้วยคนหนุ่มสาวหัวสมัยใหม่และการศึกษาสูงมากมาย แต่พวกเขากลับตกอยู่ภายใต้การครอบงำของแนวคิดเก่าแบบนักการเมืองรุ่นก่อตั้งพรรคแบบโงหัวไม่ขึ้น

เพลงแหล่เสียดินแดนที่ขับกล่อมพลพรรคประชาธิปัตย์ในงานเลี้ยงคืนหนึ่งเมื่อเร็วๆนี้คงบอกความจริงได้อย่างหนึ่งว่า พรรคการเมืองเก่าแก่แห่งนี้คงจะกอดวาทกรรม “เสียดินแดน” ที่บรรพบุรุษของพวกเขาร่วมกับจอมพล ป พิบูลสงครามสร้างขึ้นต่อไปอีกนานหรือในทางหนึ่งถ้าพรรคการเมืองแห่งนี้ยังมีชีวิตอยู่ต่อไปวาทกรรมเสียดินแดนก็จะยังคงอยู่ต่อไป ถ้าพรรคนี้ทิ้งเรื่องนี้ไปหมายความว่าพวกเขาหมดเครื่องมือทำมาหากินอย่างแน่นอน แม้ว่าจะรู้อยู่เต็มอกแล้วว่า มันขายไม่ออกแล้วในยุคสมัยปัจจุบัน แต่ในเมื่อยังหาอะไรทดแทนไม่ได้ก็จำต้องใช้ไปพลางก่อน

หรือหากจะมองอีกมุมหนึ่ง ความสัมพันธ์ของพรรคประชาธิปัตย์กับความคิดชาตินิยมแบบนี้อาจจะเป็นดั่งปราสาทหินร้างกับต้นไทรที่รากของมันชอนไชไปทั่วทุกอนุของก้อนหินที่ประกอบกันเป็นตัวปราสาท เราไม่ค่อยแน่ใจนักว่าใครเป็นฝ่ายโอบอุ้มใครกันแน่ รากไทรที่ชอนไชไปทั่วปราสาทดูเหมือนจะแทรกให้เนื้อหินแตกแยกออกจากกัน แต่มันก็กำลังโอบอุ้มก้อนหินเหล่านั้นไม่ให้พังคืนลงมาด้วยในเวลาเดียวกัน ขาดต้นไทร ปราสาทคงพัง ทำนองเดียวกันขาดปราสาทต้นไทรคงตาย

ลัทธิชาตินิยมในบริบทการเมืองไทยเกิดขึ้นจริงๆจังๆในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา เฉพาะอย่างยิ่งหลังจากพวกคณะราษฎร์มองหาสิ่งยึดเหนี่ยวใหม่ให้กับสังคมแทนความคิดนิยมเจ้าพวกเขาจึงพากันสร้างแนวคิดเกี่ยวกับ “ชาติ” ขึ้นมาใหม่โดยการสร้างแนวคิดนิยมไทยขึ้นมาแทน รัฐบาลในสมัยจอมพล ป พิบูลสงคราม เปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทยและอีกหลายๆอย่างที่แสดงออกถึงความเป็นไทย ประการสำคัญคือความพยายามในการ “รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย” เข้าด้วยกัน อาศัยจังหวะของความอ่อนแอของฝรั่งเศสในอินโดจีนเข้ายึดดินแดนหลายส่วนทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงที่เคยเชื่อว่าเป็นของสยามมาก่อนตั้งยุคต้นรัตนโกสินทร์ ดินแดนที่ได้มาใหม่ในระหว่างปี พ.ศ. 2484-2489 คือบัตตำบอง (พระตะบอง) เสียมเรียบ (เสียมราฐ) ศรีโสภณ หลวงพระบาง จำปาสัก ถูกทำให้กลายเป็นจังหวัดของไทยและเมื่อมีการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2489 ปรากฎว่ามีคนในตระกูลอภัยวงศ์หลายคนได้เป็นส.ส.จากเขตปกครองใหม่ของไทย เช่น ชวลิต อภัยวงศ์ เป็น ส.ส.จังหวัดพิบูลสงคราม (เสียมเรียบเดิม) ประยูร อภัยวงศ์ เป็นส.ส.จำปาสัก เป็นต้น

ประเทศไทยสูญเสียดินแดนเหล่านั้นกลับคืนไปให้ฝรั่งเศสเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่สองและรัฐบาลอมาตย์ชาตินิยมของจอมพล ป ก็หมดอำนาจลงไปพร้อมๆกับการขึ้นสู่อำนาจของปีกซ้ายในคณะราษฏร์คือกลุ่ม ปรีดี พนมยงค์ กระทั่งราวปี พ.ศ. 2490 การรัฐประหารของจอมพลผิน ชุณหวัณโดยความร่วมมือของควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานั้นด้วยข้อหาคลาสสิกที่พวกเขาถนัดคือป้ายสีปรีดี เรื่องการสิ้นพระชนม์ของรัชกาลที่ 8 แล้วนำเอาจอมพล ป กลับคืนสู่อำนาจอีกครั้งหนึ่ง แต่มาคราวหลังนี้ รัฐบาลอมาตย์ชาตินิยมมีกำลังไม่เข้มแข็งเท่าใดนักพวกเขาทำได้อย่างมากเพียงแอบยึดเขาพระวิหารเอาไว้ในปี พ.ศ. 2497 แล้วส่งต่อให้เป็น “สมบัติชาติ” มาจนกระทั่งสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจจากจอมพล ป ในปี 2500 และสฤษดิ์ประสบความสำเร็จอย่างมากในการรวมแนวคิดนิยมชาติและนิยมเจ้าเข้าด้วยกันสืบทอด “ราชาชาตินิยม” มาได้จนกระทั่งปัจจุบัน และปราสาทพระวิหารกลายมาเป็นศูนย์รวมของการต่อสู้ภายใต้แนวคิดนี้ในยุคสมัยของสฤษดิ์เมื่อเขาแต่งตั้งให้ เสนีย์ ปราโมช เป็นผู้แทนฝ่ายไทยต่อสู้แย่งชิงปราสาทพระวิหารกับกัมพูชาในระยะปี 2502-2505 จนพ่ายแพ้อย่างยับเยินในที่สุด แต่ก็ยังไม่วายทิ้งมรดกแห่งความแค้นจากความอับยศอดสูในความปราชัยครั้งนั้นมาถึงลูกหลานของพรรคประชาธิปัตย์จนปัจจุบันด้วยวาทะของสฤษดิ์ที่ว่า วันหนึ่งข้างหน้าเราจะต้องเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมาเป็นของชาติไทยให้จงได้ และพรรคประชาธิปัตย์ก็กอดจดหมายของ ถนัด คอร์มันต์ ที่ส่งถึงสหประชาชาติหลังแพ้คดีว่า เป็นหนังสือขอสงวนสิทธิในการทวงคืนปราสาทพระวิหารเอาไว้อย่างเหนียวแน่นทั้งๆที่รู้อยู่แก่ใจว่า มันเป็นแค่วาทะลมๆแล้งๆที่หาข้อผูกพันทางกฎหมายอะไรไม่ได้เลย เพราะไม่เช่นนั้นพรรคประชาธิปัตย์คงไม่รอช้าที่จะยื่นเข้าไปเป็นพยานหลักฐานต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเมื่อกัมพูชาร้องขอให้มีการตีความคำพิพากษาปี 2505 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมานั่นแล้ว แต่ในความเป็นจริงเรื่องนี้กลับเป็นแค่อาการหลอนข้ามศตวรรษเท่านั้นเอง

พรรคประชาธิปัตย์มีความสามารถเพียงแค่นำถ้อยแถลงนี้มาละเลงในฟองน้ำลายของพวกเขาเพื่อโจมตีใครก็ตามที่ยอมรับว่าปราสาทพระวิหารได้กลายเป็นของกัมพูชาไปแล้วโดยสมบูรณ์ พวกเขาเชื่อว่าวาทกรรมราชาชาตินิยมนี้ทรงพลังอยู่มาก เมื่อประสบความสำเร็จในการร่วมมือกับ ตุลาการภิวัตน์ คว่ำ นพดล ปัทมะ ลงจากตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศได้ในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช แต่ไม่ค่อยเฉลียวใจนักว่า การต่อสู้ครั้งนั้นไม่ได้เป็นอิทธิฤทธิ์ของวาทกรรมราชาชาตินิยมล้วนๆ แต่มันเจือไปด้วยความเกลียดและกลัวการกลับมาของทักษิณ ชินวัตรไม่น้อย

มาถึงวันนี้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ น่าจะได้รู้แล้วว่า สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาต้องกลายมาเป็นฝ่ายค้านโดยไม่เต็มใจ เพราะความคิดชาตินิยมล้าหลังที่สืบทอดกันมาแต่ในอดีตของพรรคประชาธิปัตย์นั้นสิ้นมนต์ขลัง อภิสิทธิ์ พรรคประชาธิปัตย์ และ คนที่เกาะกระแสนี้อย่างเหนียวแน่น คือ สุวิทย์ คุณกิตติ พ่ายแพ้อย่างหมดรูปในการเลือกตั้งที่จัดขึ้นระหว่างที่ศึกการต่อสู้เรื่องปราสาทพระวิหารกำลังข้นเคี่ยวในเวทีศาลโลกและเวทีคณะกรรมการมรดกโลก นี่เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเสื่อมของวาทกรรมชาตินิยมแบบเก่าเป็นอย่างดี

แต่ก็อีกนั่นแหละ แม้ว่านักสื่อสารมวลชนแนวประสบสอพลอจะเห่กล่อมว่าอภิสิทธิ์และแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ มีความสามารถและปราดเปรื่องเพียงใด แต่ข้อเท็จจริงก็คือ พวกเขายังคิดไม่ออกจนกระทั่งปัจจุบันนี้ว่าจะหาอะไรมาต่อสู้กับกลุ่มทักษิณได้ในยุคสมัยปัจจุบัน เวลานี้ก็ได้แต่วิ่งกลับไปฉวยเอาดาบผุๆและเพลงกระบี่เดิมๆของพวกชาตินิยมมากวัดแกว่ง อ้างว่าพวกทักษิณสมคบกับกัมพูชา ทำลายผลประโยชน์ของชาติ โดยไม่ยอมพิสูจน์ให้เห็นประจักษ์ได้เลยสักนิดว่า อย่างไร?

พวกเขาอาศัยอารมณ์ริษยาของคนอกหักในยามรักคุดมาเป็นแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนประเด็นทางการเมืองด้วยการกล่าวหาว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชาที่ทำท่าว่าจะดีขึ้นหลังจากที่พวกเขาหมดอำนาจนั้นมีผลประโยชน์ส่วนตัวเกี่ยวข้องมากมาย พรรคประชาธิปัตย์พยายามจะชวนให้คนเชื่อว่า ทักษิณ จะขนเอาทรัพยากรในอ่าวไทยและดินแดนรอบๆปราสาทพระวิหาร (ซึ่งก็ยังไม่แน่นักว่าเป็นของใคร) ไปประเคนให้กัมพูชา (หรือที่จริงแล้วพวกเขาอยากพูดให้ชัดกว่านั้นว่าเอาไปให้ฮุนเซนเป็นการส่วนตัว) เพื่อแลกกับความสัมพันธ์ที่ดี หรือ ในทางกลับกันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ดีจะเอื้อประโยชน์ในธุรกิจส่วนตัวของทักษิณ

อภิสิทธิ์พูดเสมอว่า ความสัมพันธ์กับกัมพูชาที่เสื่อมทรุดในยุคสมัยของเขาเป็นเพราะเขาไม่ยอมตามฮุนเซน สิ่งที่อภิสิทธิ์ไม่เคยยอมรับเลย คือ ความคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ต่างประเทศของเขาเองต่างหากที่เป็นปัญหา

พรรคประชาธิปัตย์กล่าวหาว่า ทักษิณมีผลประโยชน์ในทรัพยากรปิโตรเลี่ยมในอ่าวไทย แต่ระยะเวลาสองปีกว่าในอำนาจพวกเขากลับไม่ยอมแสดงให้เห็นเลยว่ามีผลประโยชน์เช่นว่านั้นมีอยู่แค่ไหนเพียงใด แต่ถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่วายพูดแล้วพูดอีก ด้วยหวังว่า จินตนาการของพวกเขาคงเป็นจริงขึ้นมาสักวัน ทั้งๆที่ก็รู้อยู่เต็มอกแล้วว่า พื้นที่ในเขตทับซ้อนนั้นถูกจองเอาไว้แล้วโดยบริษัทต่างชาติ ประเทศไทยให้สัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติในพื้นที่บริเวณนั้นตั้งแต่ทักษิณยังไม่ประสีประสาทางการเมืองเลยด้วยซ้ำ กัมพูชาเองก็ให้ไปตั้งแต่ก่อนจะลงนามในบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลทักษิณ และประการสำคัญการเจรจาเรื่องการแบ่งผลประโยชน์ทางทะเลนั้นไม่สามารถทำได้ชั่วข้ามคืน กรณีไทยมาเลเซียนั้นไม่มีประเด็นทางการเมืองมาเกี่ยวข้องเลยยังใช้เวลานับเป็นสิบๆปี ถ้าหากทักษิณและพวกของเขาต้องการจะมีผลประโยชน์เรื่องนี้จริงๆ ก็มีวิธีที่ทำได้ง่ายกว่าโดยการขอแบ่งหุ้นจากบริษัทเชฟรอน ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่อยู่นอกกรอบการเจรจาระหว่างสองประเทศ

สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีสมัยอภิสิทธิ์ที่ถูกฮุนเซน กล่าวหาว่าพยายามจะขอเจรจานอกรอบกับกัมพูชาเรื่องผลประโยชน์ทางทะเลนั้นออกมาพูดว่า ไม่มีใครสามารถจะตกลงเรื่องนี้นอกรอบกันได้เพราะประเทศไทยมีขั้นตอนตามกฎหมายมากมายในการตรวจสอบสัญญากับต่างประเทศ แต่สุเทพพูดแบบนี้คงลืมไปว่า พรรคของเขากำลังกล่าวหาคนอื่นอยู่ หรือ อาจจะพยายามทำให้เข้าใจว่าคนที่เขากล่าวหาอยู่นั้นไม่ได้อยู่ในระเบียบกฎหมายอันเดียวกันกับเขา

เรื่องผลประโยชน์ทักษิณมีอยู่หรือไม่เพียงใดนั้นก็เป็นเรื่องสมควรที่จะต้องมีการตรวจสอบแน่นอน คงเป็นเรื่องที่น่าสรรเสริญหากพรรคประชาธิปัตย์จะตั้งอกตั้งใจตรวจสอบเรื่องให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ แต่เกรงว่าพวกเขาคงจะไม่ทำอะไรให้มันกระจ่างขึ้นมา เพราะพวกเขาคิดจะแสวงประโยชน์ทางการเมืองจากความคลุมเครือเหล่านี้มากกว่า

รัฐบาลอภิสิทธิ์ตัดสินใจที่จะยกเลิกบันทึกความเข้าใจเรื่องเขตทับซ้อนทางทะเลปี 2544 ที่ทำขึ้นสมัยรัฐบาลทักษิณแต่น่ากลัวว่าแรงจูงใจในการยกเลิกนั้นกลับไม่ใช่เรื่องการรักษาผลประโยชน์ของชาติอย่างที่กล่าวอ้าง หากแต่เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของพรรคการเมืองเก่าแก่ของเขาเสียมากกว่า เพราะรัฐบาลอภิสิทธิ์เพียงประกาศและมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2552 ว่าให้ยกเลิกทว่ากลับไม่ยอมบอกกล่าวต่อกัมพูชาอย่างเป็นทางการเลย และไม่ยอมเอาเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภา อภิสิทธิ์อ้างว่าไม่มีเวลา ทั้งๆที่เขามีเวลาเป็นปีๆก่อนที่จะยุบสภา ถ้ามันเป็นเรื่องเสียหายร้ายแรงอย่างที่เขากล่าวอ้าง จะปล่อยไว้ทำไมเนิ่นนานเพียงนั้น

สรุปแล้วบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ เวลานี้พรรคประชาธิปัตย์ทำเป็นมาท้าทายให้รัฐบาลใหม่นำหนังสือสัญญาฉบับนี้กลับมาใช้ โดยพยายามจะทำให้คนเข้าใจว่า พวกเขาเลิกมันไปแล้ว ถ้านำกลับมาใช้ใหม่เท่ากับเป็นการเอื้อประโยชน์ทักษิณ พรรคการเมืองที่เป็นที่นิยมของพวกชนชั้นสูง พยายามพูดเรื่องที่มีความกระจ่างแจ้งอยู่แล้ว ให้มีความคลุมเครือ เพียงหวังว่าจะอาศัยเหตุแห่งความคลุมเครือนั้นมาเล่นงานคู่แข่งทางการเมืองของตัวเองได้อีก แต่ดูๆไปก็ออกจะเพ้อเจ้อเสียมากกว่า

เมื่อเรื่องผลประโยชน์เรื่องปิโตรเลี่ยมพิสูจน์อะไรไม่ได้เป็นชิ้นเป็นอัน แถมยังโดนฮุนเซน คนเก๋าเกมกว่าชิงลงมือเปิดประเด็นเรื่องความคลุมเครือในการดำเนินงานต่างประเทศ เรื่องนี้ทำท่าจะกลายเป็นมุกแป๊ก สิ่งต่อไปที่พรรคประชาธิปัตย์จะทำคือ พูดเรื่องเกาะกูด ในทำนองที่ว่าบันทึกความเข้าใจปี 2544 เป็นการรับรองการอ้างไหล่ทวีปของกัมพูชา ดังนั้นรัฐบาลใหม่นี้จะต้องทำในสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีปัญญาทำคือ ยกเลิกหนังสือสัญญานี้เสีย ไม่เช่นนั้นประเทศไทยต้องเสียอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะกูดแน่นอน อันที่จริงบางคนพูดว่าเสียไปแล้วด้วยซ้ำไป

ข้อเท็จจริงคือ กัมพูชาขีดเส้นอ้างไหล่ทวีปตั้งแต่ปี 2515 จากหลักเขตทางบกที่ 73 ค่อนลงทางตะวันตกเฉียงใต้เล็กน้อยตรงมายังเกาะกูดและอ้อมตัวเกาะไม่ได้อ้างเอาเกาะกูด และสนธิสัญญาสยามฝรั่งเศสปี 1907 เขียนว่า เกาะทั้งหลายใต้แหลมสิงห์ไปถึงเกาะกูดเป็นของสยาม หมายความว่าต่อให้กัมพูชาอ้างเอาเกาะกูดจริงๆพื้นฐานการโต้แย้งเรื่องนี้ของไทยชัดเจนมั่นคงมากกว่าการเถียงเอาปราสาทพระวิหารของเขาเป็นไหนๆ

แต่บรรดาผู้รักชาติก็ห่วงอยู่ดีเพราะเส้นที่กัมพูชาอ้างไหล่ทวีปนั้นขีดอ้อมเกาะกูด ทำไมไม่ขีดหนีเกาะกูดไปเสียเลย ทำไมต้องไปทำเอ็มโอยูรับรองเส้นนี้อีก? ที่จริงแล้วไม่มีความตอนไหนในเอ็มโอยูนั้นให้การรับรองเส้นอะไรของใครทั้งสิ้น เพราะในความเป็นจริงไทยอ้างพื้นที่ไหล่ทวีปในปี 2516 ก็ขีดเส้นเข้าไปใกล้เขตกัมพูชามาก ถ้าอาศัยตรรกของผู้รักชาติทั้งหลายที่ว่าเอ็มโอยูรับรองเส้นที่กัมพูชาอ้าง ด้วยหลักเดียวกันหนังสือฉบับนี้ต้องรับรองสิทธิ์ของไทยด้วยเช่นกัน ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงเราก็ได้ดินแดนมหาศาลไปแล้วจะเลิกเอ็มโอยูนี้ทำไมให้เสียประโยชน์

โลกของความเป็นจริงคือเรามองอะไรข้างเดียวแบบนั้นไม่ได้ หลักกฎหมายบอกว่าแต่ละประเทศอ้างไหล่ทวีปได้ไปจนถึงความลึก 200 เมตร แต่อ่าวไทยนั้นส่วนที่ลึกสุดแค่ 80 กว่าเมตร เมื่อทุกประเทศอ้างเหมือนกันเขตที่อ้างมันก็ต้องทับซ้อนกันแน่นอน เมื่อมันทับซ้อนกันแล้วถ้าไม่มีปัญญาเอาเรือรบไปตีเอามา ก็คงจะต้องนั่งลงเจรจากัน เอ็มโอยู ปี 2544 ก็ไม่ได้บอกให้ทำอะไรมากไปกว่าให้นั่งลงเจรจาแบ่งกันเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นตราบเท่าที่ยังเจรจาตกลงกันไม่ได้ ก็ยังพูดไม่ได้อยู่ดีว่าของใครเป็นของใคร แต่นักการเมืองเอาเรื่องนี้มาโจมตีกันว่าอีกฝ่ายหนึ่งทำเสียดินแดนไปเรียบร้อยแล้ว เรื่องแบบนี้ไปพูดที่ไหนในโลกเขาก็คงขำๆ แต่ในประเทศไทยมีคนเชื่อว่า ทำแบบนี้เราเสียดินแดนไปแล้วด้วย วุฒิสมาชิกบางคนถึงกับเอาเรื่องนี้ไปพูดในสภาด้วยซ้ำไป ถ้าการได้หรือเสียดินแดนมันทำได้แค่ขีดเส้นบนกระดาษ กองทัพเรือคงไม่ต้องดิ้นรนหาเรือดำน้ำกระมัง เพราะนักการเมืองไทยดำน้ำเก่งกันทุกคน ที่สำคัญพวกเขาสามารถไปกันได้แบบน้ำขุ่นๆด้วย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น