โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ผอ.ประชาไท เบิกความศาลแจงระบบดูแลเว็บบอร์ด สืบพยานนัดหน้า 11 ต.ค.

Posted: 21 Sep 2011 12:09 PM PDT

ระบุเว็บบอร์ดได้รับความนิยมเพิ่มกว่า 10 เท่าหลังเหตุรัฐประหาร ยันทีมงานมีมาตรการที่เข้มงวด ให้ความร่วมมือไอซีทีในการลบข้อความไม่เหมาะสมโดยตลอด ชี้เหตุเล็ดรอดเพราะเว็บบอร์ดข้อความทะลักจากสถานการณ์ร้อนหลังเหตุการณ์ 7 ตุลา

21 ก.ย.54 ที่ห้องพิจารณาคดี 910 ศาลอาญา ถนนรัชดา มีการสืบพยานจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 1167/2553 ซึ่งอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ภายใต้มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน ในความผิดตามมาตรา 15 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดกเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 กรณีที่มีผู้อ่านโพสต์ข้อความไม่เหมาะสมในเว็บบอร์ด

ทั้งนี้ มาตรา 15 ระบุความผิดของ ‘ตัวกลาง’ เจ้าของพื้นที่ซึ่งจงใจ สนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดในการโพสต์ข้อความที่เป็นความผิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการสืบพยานจำเลยอันได้แก่ นางสาวจีรนุช มีผู้แทนจากสถานทูตประเทศต่างๆ รวมถึงนักข่าวต่างชาติจำนวนมากเข้าสังเกตการณ์คดี และศาลได้นัดสืบพยานครั้งหน้าในวันที่ 11 ต.ค.54

ผอ.ประชาไท เบิกความว่า เว็บบอร์ดของประชาไทเปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 47 เพื่อเป็นพื้นที่ส่งเสริมเสรีภาพในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลข่าวสารของประชาชน จนถึงเดือนกรกฎาคม 2553 คณะกรรมการและทีมงานได้ตัดสินใจปิดให้บริการ เนื่องจากโดนฟ้องคดีและเกรงจะเกิดปัญหาอีกระหว่างการต่อสู้คดี อย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนสำคัญของเว็บบอร์ดประชาไทคือ หลังการรัฐประหาร 2549 ที่มีผู้เข้าใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดกว่าสิบเท่าตัว โดยในปี 50-51 มียอดคนอ่าน 20,000-30,000 คนต่อวัน มีคนตั้งกระทู้ใหม่ราว 300 กระทู้ต่อวัน และมีการโต้ตอบแสดงความเห็นในกระทู้ต่างๆ เฉลี่ยแล้ว 2,800-2,900 ความเห็นต่อวัน ข้อความที่ถูกฟ้องนั้นเป็นของผู้ใช้นามแฝง ‘เบนโตะ’ ซึ่งโพสต์ในเดือนต.ค.51 ถือเป็นข้อความลำดับที่ 1,193,245 และหากเปรียบเทียบปริมาณการโพสต์ข้อความและการปิดข้อความไม่เหมาะสม จะพบว่าประชาไททำการปิดกั้นข้อความราว 3%

นอกจากนี้พยานยังยกตัวอย่างอีเมล์ที่เจ้าหน้าที่จากไอซีทีทำการส่ง URLs ของข้อความที่ไม่เหมาะสมจากเว็บต่างๆ เพื่อให้ผู้ดูแลเว็บต่างๆ ทำการปิดกั้น เมื่อนับและเปรียบเทียบสัดส่วนตั้งแต่ ส.ค.-พ.ย.51 แล้ว จะพบว่า URLs ที่เป็นของประชาไทนั้นมีเพียง 0.8% เท่านั้น

จีรนุช เบิกความในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำนินคดีว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหาจากกรณีของผู้โพสต์ข้อความที่ใช้นามแฝงว่า ‘เบนโตะ’ ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจมีจดหมายเรียกตนไปสอบปากคำในเดือนพ.ย.51 ตนก็ได้ตรวจสอบหมายเลขกระทู้ตามแจ้งและเมื่อพบข้อความดังกล่าวก็ดำเนินการลบข้อความทันที และไปให้ปากคำในฐานะพยาน ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาตน แต่ทราบในภายหลังเมื่อได้รับเอกสารแจ้งการฟ้องคดีในเดือนธ.ค.51 จากนั้นมีการบุกจับกุมที่สำนักงานในวันที่ 6 มี.ค.52 เบื้องต้นให้การปฏิเสธและได้รับการประกันตัว ต่อมาวันที่ 7 เม.ย.52 เจ้าหน้าที่ได้แจ้งความผิดข้อหาเดียวกันอีก 9 กระทง จาก 9 URLs รวมเป็น 10 กระทง ซึ่ง 9 กระทงที่แจ้งเพิ่มเติมเป็นข้อความที่มีผู้โพสต์ไว้นานแล้วและไม่มีข้อมูลอยู่ในระบบแล้ว จึงไม่สามารถตรวจสอบได้ นอกจากนี้ในสำนวนของเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ระบุรายละเอียดของข้อความทั้ง 9 แต่อย่างใด

ทั้งนี้ เมื่อเดือนต้นปี 2554 ศาลได้พิพากษายกฟ้องคดีของ ‘เบนโตะ’ เนื่องจากไม่สามารถระบุได้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความ อย่างไรก็ตาม ไอซีทีระบุว่าข้อความของ ‘เบนโตะ’ ปรากฏอยู่ในระบบ 20 วันก่อนถูกลบ ซึ่งจีรนุช เบิกความว่า เหตุเกิดเนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงสถานการณ์ร้อนทางการเมืองหลังเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 ซึ่งมีการสลายการชุมนุมหน้าทำเนียบ จำนวนกระทู้และการแสดงความคิดเห็นในเว็บบอร์ดสูงมาก เป็นไปได้ที่จะมีการตรวจสอบที่ไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะหากไม่มีผู้แจ้งลบ อย่างไรก็ตาม กระทู้ของ ‘เบนโตะ’ นั้นมีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็นโต้ตอบเพียง 3 รายเท่านั้น

สำหรับระบบการตรวจสอบนั้น ผอ.ประชาไท เบิกความว่า มีผู้ดูแลหลักอย่างเป็นทางการคนเดียวคือตนเอง ต่อมาหลังมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นมากจากสถานการณ์การเมือง ประชาไทได้เพิ่มมาตรการต่างๆ หลายขั้นตอน คือ 1.จากเดิมคนทั่วไปโพสต์ได้ ก็เปลี่ยนเป็นต้องสมัครสมาชิก ซึ่งต้องยืนยันกับระบบผ่านอีเมล์ที่ใช้จริง 2.มีช่องทางให้รายงายแจ้งลบข้อความไม่เหมาะสม 3.ตั้งให้เป็นระบบลบอัตโนมัติหากสมาชิกจำนวน 3 คนเห็นว่าไม่เหมาะสม 4.มีการตั้งอาสาสมัครเพื่อช่วยดูแลและมีอำนาจในการปิดกั้นข้อความไม่เหมาะสมทันที 5.มีการเปิดเผย IP Address (บางส่วน) ของผู้ใช้บริการพร้อมแจ้งว่าประชาไทจำเป็นต้องเก็บข้อมูลการจราร 90 วันตามกฎหมายและเจ้าหน้าที่สามารถเรียกดูได้ 6.กระทั่งท้ายที่สุดอนุญาตให้สมาชิกทุกคนมีอำนาจในการลบข้อความไม่เหมาะสม

ในส่วนของการประสานงานจากหน่วยงานรัฐนั้น ผอ.ประชาไท เบิกความว่า บางครั้งหากมีข้อความไม่เหมาะสมเล็ดรอด เจ้าหน้าที่ไอซีทีจะโทรมาแจ้ง ทางประชาไทก็จะดำเนินการตรวจสอบและลบทันที นอกจากนี้ต้นปี 2551 ทางไอซีทีและสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังมีการเชิญประชุมผู้ดูแลเว็บต่างๆ หารือเรื่องการปิดกั้นข้อความไม่เหมาะสม ได้ข้อสรุปว่าหากไอซีทีพบข้อความไม่เหมาะสมจะแจ้งผู้ดูแลเว็บ หากยังไม่ดำเนินการปิดกั้น จะทำหนังสือเตือน หากยังไม่ดำเนินการอีกจะดำเนินการตามกฎหมาย แต่ข้อความของผู้ใช้นามแฝงว่า “เบนโตะ” ในเว็บบอร์ดประชาไทที่เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีนั้น ไม่มีการแจ้งเตือนก่อนแต่อย่างใด และจนถึงปัจจุบันหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบก็ยังไม่มีการกำหนดมาตรการ แนวทางการพิจารณาข้อความไม่เหมาะสมที่ชัดเจน

สำหรับกติกาในเว็บบอร์ดประชาไท มีการกำหนดหลักเกณฑ์กว้างๆ คือ 1. ไม่ปิดกั้นความเห็นที่แตกต่าง 2.ไม่สนับสนุนให้มีการดูถูกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 3 ขอความร่วมมือไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย 4. ขอให้ปฏิบัติภายใต้หลักของกฎหมาย

 

มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

(1) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน (2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน (3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา (4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ (5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)

มาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอม ให้มีการกระทําความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทําความผิดตาม มาตรา 14

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'นิติราษฎร์' ท้ารบ ร่อนจดหมายเชิญ ถาวร-อภิสิทธิ์-สื่อ ถกถามทุกประเด็นอาทิตย์นี้

Posted: 21 Sep 2011 08:49 AM PDT

คณะนิติราษฎร์ประกาศเชิญชวนบรรดาผู้วิพากษ์ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ทั้งหลายมาซักถาม และแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างเป็นทางการในวันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน 2554 เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป  

21 กันยายน 2554 เว็บไซต์นิติราษฎร์ แจ้งกำหนดการแถลงข่าวข้อเสนอให้ลบล้างผลพวงจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยระบุว่า สืบเนื่องจากการแถลงข้อเสนอทางวิชาการ "5 ปี รัฐประหาร 1 ปี นิติราษฎร์" เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน 2554 ปรากฏว่าได้มีการนำเสนอข่าวสารโดยสื่อมวลชนจำนวนมาก ในลักษณะที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากข้อเสนอของคณะนิติราษฏร์ จนสร้างความเข้าใจผิดแก่สาธารณะชน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอให้ "ลบล้างผลพวงจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549"  ประกอบกับมีผู้ตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์โดยไม่ได้ศึกษารายละเอียดของข้อเสนอดังกล่าวให้เข้าใจอย่างเพียงพอ

"ดังนั้น คณะนิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร จึงขอเรียนเชิญสื่อมวลชนทุกแขนง และบรรดาผู้วิพากษ์ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ทั้งหลาย มาซักถาม และแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างเป็นทางการ ในวันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน 2554 เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ณ ห้อง 123 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์"

ทั้งนี้ รศ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เปิดเผยว่า งานแถลงข่าวดังกล่าว มีขึ้นหลังจากสื่อมวลชนบางสำนักนำเสนอข่าวให้ร้าย คลาดเคลื่อน และเพื่อให้เรื่องดำเนินไปในทางที่เป็นประโยชน์ต่อประชาธิปไตย จึงได้หารือกับคณะนิติราษฎร์เพื่อให้มีการแถลงข่าว โดยจะเปิดให้มีการซักถามถกเถียงทุกประเด็น และขอเรียนเชิญผู้วิพากษ์วิจารณ์ได้โปรดมา "ซักถามให้กันให้ตรงไปตรงมา ถึงเลือดถึงเนื้อกันไปเลย ทุกคำถาม ทุกประเด็น" รศ.วรเจตน์ ระบุ

อาจารย์ภาควิชามมหาชนยังเปิดเผยด้วยว่า ได้เตรียมทำจดหมายเชิญนายถาวร เสนเนียม และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มาร่วมซักถามด้วย หลังจากที่ทั้งสองท่านได้วิพากษ์วิจารณ์ทางหน้าสื่อมวลชนก่อนหน้านี้

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สัมภาษณ์ อิสกันดาร์ ธำรงทรัพย์: “เราต้องให้พื้นที่กับฝ่ายตรงข้ามรัฐ”

Posted: 21 Sep 2011 08:06 AM PDT

 

 

อิสกานดาร์ ธำรงทรัพย์ 

 

“อิสกันดาร์ ธำรงทรัพย์” เป็นอดีตประธานกลุ่มนักศึกษาชายแดนภาคใต้ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หรือ PNYS ในช่วงปี 2527 ก่อนผันตัวมาเป็นผู้ทำงานภาคประชาสังคมที่มุ่งเน้นไปยังโครงการเยียวยาชุมชนต่างๆ และขับเคลื่อนกระบวนการสร้างพลังความเป็นกลางผ่านองค์กรอาสาสมัคร

ปัจจุบัน “อิสกันดาร์ ธำรงทรัพย์” เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงขององค์กรป้องกันสาธารณภัย “ฮิลาลอะห์มัร” ทำหน้าที่กู้ภัยพลเรือน, ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ, เก็บศพ, ตลอดจนอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ ให้กับผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่กำลังเผชิญกับเหตุการณ์รุนแรงรายวัน

บทบาทการทำงานในองค์กรป้องกันสาธารณภัย ทำให้เขาสามารถเข้าไปใน “พื้นที่สีแดงบางแห่ง” ประกอบกับสถานะ “อดีตสมาชิกกลุ่ม PNYS” จึงเลี่ยงไม่พ้นที่จะถูกมองเป็น “คนใน” ของแนวร่วมขบวนการก่อความไม่สงบ เมื่อบวกรวมกับการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเวลานาน ทำให้มุมมองของ “อิสกันดาร์ ธำรงทรัพย์” สามารถสะท้อนให้เห็นทั้งวิธีคิดของ “ขบวนการ” และ “ภาครัฐ” ที่คมชัดยิ่ง

เมื่อ “อิสกันดาร์ ธำรงทรัพย์” หันหัวเรือเข้าสู่การเมืองในระบบเลือกตั้ง ในฐานะแกนนำคนสำคัญของ “พรรคประชาธรรม” แนวคิดมุมมองของหนุ่มใหญ่ผู้นี้ต่อสภาพการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงน่าสนใจยิ่ง

ต่อไปนี้คือทัศนะของ “อิสกันดาร์ ธำรงทรัพย์” ต่อการเมืองในระบบเลือกตั้ง ที่ถอดออกมาจากแถบบันทึกเสียงคำต่อคำ

 0 0 0 

พรรคประชาธรรมคิดอย่างไรกับการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ก่อนอื่นต้องขอบอกว่า เป็นทัศนะของผม อย่าถือว่าเป็นทัศนะของพรรคเลย ผมมองว่าการปกครองรูปแบบพิเศษเป็นไปได้ยาก เพราะถ้าต้องการสันติภาพ ก็ต้องให้พื้นที่กับคนที่กำลังต่อสู้อยู่กับรัฐ นี่คือหัวใจ คนที่กำลังต่อสู้อยู่ในขณะนี้ ถ้าไม่มีพื้นให้พวกเขา ต่อให้มีการจัดการปกครองพิเศษกี่รูปแบบก็แล้วแต่ ก็คงยากที่จะทำให้เหตุการณ์สงบลงได้

เพราะฉะนั้น ในเมื่อประชาธรรมเป็นพรรคการเมืองที่เกิดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องมีนโยบายที่ชัดเจนกว่าพรรคอื่นๆ สำหรับประเด็นนี้

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ความขัดแย้งที่กำลังเกิดอยู่มันมาจากความขัดแย้งเรื่องอะไร และความขัดแย้งอะไรเป็นหลัก อะไรเป็นรอง จะจบลงได้อย่างไร คือมีจิตนาการความสงบก่อน ซึ่งผมเห็นขั้นตอนแรกคือ การเปิดพื้นที่สำหรับคู่ขัดแย้ง ประเด็นนี้ต่างหากเป็นประเด็นสำคัญ ต้องมองว่า การต่อสู้วันนี้ เป็นการต่อสู้ทางการเมือง เป็นการหลั่งเลือดที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง

การเมืองในที่นี้คือ กระบวนการในการจัดการปกครองมนุษย์ให้อยู่อย่างมีความสุขได้ จะต้องใช้รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เข้ามาจัดการวิถีชีวิตของมนุษย์ ของสังคม นั่นคือการเมืองในมุมของผม

เมื่อคนกลุ่มหนึ่งเชื่อรูปแบบการปกครองอีกรูปแบบหนึ่ง ขณะที่รัฐเชื่อในอีกรูปแบบหนึ่ง ถ้าจะแก้ปัญหาก็ต้องนั่งลงคุยกันก่อน

ความเชื่อที่แตกต่างตรงนี้ ชัดเจนว่า เป็นความขัดแย้งทางการเมือง แม้เบื้องต้นเราเห็นรูปธรรม คือมีการยิงกัน มีการรบกัน มีการจับกุมกัน ทั้งหมดนี้ไม่มีเหตุจากเรื่องส่วนตัว แต่เรียกได้ว่า เป็นผลมาจากความขัดแย้งทางการเมืองตามนิยามที่ผมว่าไว้เมื่อตะกี้

เพราะฉะนั้นถ้ามองทางออกแบบง่ายๆ คนทะเลาะกัน จะเลิกแล้วต่อกันได้ ต้องมีการให้อภัยกันหรือนิรโทษกรรมกันก่อน และต้องรู้สึกร่วมทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่จากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

การจะให้รู้สึกอภัยกันได้ ต้องแลกกับอะไร แต่ละฝ่ายจะต้องได้อะไร เสียอะไร มันต้องเห็นตรงนี้ก่อน

จากนั้นมีกระบวนการพิจารณาต่อนโยบาย ต่อกฎหมายที่จะใช้พื้นที่ตรงนี้ ที่จะต้องกลั่นกรองในรูปแบบพิเศษ ถ้าจะเรียกเขตปกครองพิเศษอาจจะยากเกินไป แต่ต้องมีกระบวนการหนึ่งที่รับประกันได้ว่า สิ่งที่แต่ละฝ่ายต่อสู้เอาชีวิตแลกกันมาจะต้องไม่สูญเปล่า

ผมจึงเสนอแนวทาง สันติภาพในคืนเดือนมืด หมายถึงว่า มันมีการตกลงกันภายใน อยู่ในที่มืด ใครคุยกับใครไม่รู้ แต่ทุกฝ่ายสามารถได้ยินข้อเสนอระหว่างกัน

คนที่ได้ยินข้อเสนอ สามารถนำไปปฏิบัติได้ โดยไม่จำเป็นต้องออกมาประกาศตามที่เสนอไป นั่นคือความเป็นไปได้ที่แท้จริงของกระบวนการสันติภาพของที่นี้

ที่ผ่านมาก็มีความพยายามอยู่ แต่เป็นความพยายามที่ยังไม่เข้าใจจิตวิทยาคนมลายู ฝ่ายรัฐไม่อยากให้เสียหน้า ฝ่ายขบวนการฯ ก็ไม่อยากเสียเหลี่ยม

ในฐานะประธานมูลนิธิฮิลาลอะมัร แยกบทบาททางการเมืองออกจากการเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับพรรคประชาธรรมอย่างไร
ความจริงแล้วประเด็นมูลนิธิฮิลาลอะมัร ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ประเด็นทางการเมืองก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง สังคมมุสลิมบ้านเรายังไม่รู้เรื่องการเมืองเท่าไหร่

การผสมผสานการทำงานมูลนิธิฯ ที่ทำงานเกี่ยวกับสาธารณกุศลกับเรื่องการเมืองนั้น ความจริงเป้าหมายมันไปจุดเดียว คือสังคม คือประชาชน แต่มันเป็นเรื่องที่สังคมไทยยังไม่ยอมรับ สังคมไทยยังแยกระหว่างการทำงานการเมืองกับการทำงานสาธารณกุศล หรืองานป้องกันสาธารณภัยไม่ได้ เพราะสังคมไทยมีความเชื่อว่า นักการเมืองเป็นคนไม่ดี ส่วนการทำสาธารณกุศลเป็นเรื่องของคนดี

ในความเป็นจริงแล้ว ในยุโรป ในอเมริกา องค์กรการกุศลหรือ มูลนิธิบางแห่งจะเดินไปด้วยกันกับการเมือง หรือจะเรียกว่าเป็นมูลนิธิของพรรคการเมืองก็ว่าได้

ในพื้นที่บ้านเราก็มีมูลนิธิที่มาจากต่างประเทศ ที่เขาทำงานสอดรับกับแนวทางของพรรคการเมืองหนึ่งๆ ในประเทศของเขาหลายมูลนิธิที่เข้ามา แต่สำหรับสังคมไทย คนในทางการเมืองไม่ค่อยจะถูกยกย่องเชิดชู แต่คนที่ถูกยกย่อง มักจะเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นคนชั้นสูงที่ลงมาทำงานแค่เพียงสาธารณกุศล

อุดมการณ์อย่างนี้ หรือทัศนะคติทางการเมืองแบบนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะสังคมคนไทยในกรุงเทพมหานคร แต่มันลามลึกลงมาถึงสังคม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

ถึงแม้คน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะบอกว่า ตัวเองเป็นอิสลาม วิถีชีวิตไม่สามารถแยกออกจากการเมือง แต่จริงๆ แล้วทัศนะของคนที่นี่ กลับแยกการเมืองออกจากศาสนา ทั้งๆ ที่ทัศนะของอิสลาม การเมืองไม่ได้แยกจากออกจากศาสนา แต่ก็ยังอธิบายตรงนี้ไม่ได้ว่า ไม่แยกกัน แล้วรวมอยู่ด้วยกันอย่างไร ระหว่างการเมืองเรื่องสกปรก แต่ศาสนาเรื่องบริสุทธิ์

มันยังเป็นทัศนะที่มีแต่วาทะกรรม แต่ไม่สามารถอธิบายเป็นรูปธรรมได้ ตรงนี้แหละที่ผมมองว่ามันคืองานของคนที่ทำพรรคประชาธรรม คืออธิบายรูปธรรมการเมืองกับศาสนา

ผมมองว่า การที่ทัศนะของคนมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แยกการเมืองออกจากศาสนา เป็นเพราะเชื่อตามอุดมคติของคนในประเทศนี้ ที่เชื่อว่าคนเล่นการเมืองคือคนไม่ดี

การขับเคลื่อนการเมืองของคนมลายูเป็นอย่างไร
ผมจะขอพูดเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับพรรคประชาธรรม เพราะผมเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย  ผมมองว่า การเมืองไม่ใช่เรื่องของการชนะการเลือกตั้ง หรือการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)อย่างเดียว

งานการเมือง คือการทำให้คนเข้าใจเรื่องการเมืองที่แท้จริงว่า เป็นอย่างไร หนึ่งในเป้าหมายของพรรคประชาธรรมคือ ปฏิวัติความคิดของมวลชน ว่าด้วยเรื่องการเมือง เพราะฉะนั้นพรรคประชาธรรมจึงเน้นให้คนทำความเข้าใจกับการเมือง ต้องยุ่งกับการเมือง ต้องเห็นความสำคัญของการเมือง คุณต้องเข้าใจว่าอิสลามนั้นการเมืองไม่ได้แยกออกจากศาสนา

ทุกวันนี้ คนยังมองว่า การเมืองเป็นเรื่องของการคอร์รัปชั่น หรือการแสวงหาผลประโยชน์ คนที่เป็นนักการเมือง เป็นคนพูดจาโกหกชอบพูดเอาดีใส่ตัวเอาชั่วให้คนอื่น เป็นคนไม่ค่อยเคร่งศาสนา หรือเชื่อว่าคนเคร่งศาสนา ไม่สามารถยืนอยู่บนเส้นทางการเมืองได้

นี่คือทัศนะของประชาชนโดยรวม เขาเชื่อว่าเป็นอย่างนี้ เป็นความเชื่อที่ผิด เป็นทัศนะที่ไม่ดีต่อการเมืองและนักการเมือง และมันจะทำให้คุณไม่สามารถไปถึงเป้าหมายของอัลลอฮ์(พระเจ้าของอิสลาม) และรอศูล(ศาสนทูต)ได้เลยถ้าไม่รู้จักการเมือง

ถ้ามองง่ายๆ เช่นเรื่องที่มาของอำนาจในการปกครอง ไม่ว่าแบบพิเศษหรือปกครองตนเอง ถ้าไปอยู่ภายใต้คนไม่ดี มันจะส่งผลทำให้ประชาชนไม่ศรัทธาต่อระบบได้ ทั้งๆที่คุณอาจจะเขียนมาดีแล้วก็ตาม แต่เพราะการได้มาของผู้ปกครองอยู่ในกรอบคิดว่า การเมืองเรื่องสกปรก คนดีไม่ควรยุ่งเกี่ยว แล้วคุณคิดว่าใครจะเป็นผู้ปกครอง

ผมไม่สนใจว่า จะเรียกว่าระบอบอะไร จะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ใช่ก็ตาม แต่มันสำคัญที่คนดีๆต้องมีโอกาสที่จะเข้ามาปกครองได้มากกว่ารูปแบบที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้  เพราะฉะนั้นการเมืองของคนมลายูถ้ายังมีทัศนะไม่ถูกต้องในทางการเมือง เข้าไปในการเมืองช่องไหนก็มีสิทธิ์ถูกกลืนเช่นกัน ไม่ว่าเก่าหรือใหม่ หรือชื่อกลุ่มอะไร

การจะเกิดขึ้นของคอลีฟาตุลลอฮ หมายถึงการสถาปนารัฐอิสลาม หรือรัฐบาลโลกอิสลาม มันเกิดขึ้นไม่ได้ ถึงจะต่อสู้ไปถึงขนาดไหนก็ไม่ชนะ เพราะอุดมการณ์ของคนมุสลิมเองมันเสียไปแล้ว

การจะทำให้พื้นที่ตรงนี้ เป็นพื้นที่ของคนดี จะต้องสร้างกระบวนการรณรงค์ต่อสู้ทางการเมือง เพื่อเปลี่ยนทัศนะความเชื่อของประชาชน จะต้องทำในหลายๆ รูปแบบ หนึ่งในหลายรูปแบบนั้นคือพรรคการเมือง เพราะพรรคการเมืองเป็นตัวตนของความเป็นการเมือง

ส่วนการเคลื่อนองค์กรรูปแบบอื่นๆ มันไม่มีเป้าหมายในการช่วงชิงอำนาจรัฐ แต่พรรคการเมืองมีเป้าหมายนั้น จะเป็นได้หรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ต้องเข้าใจนิยามที่ว่า การเมืองคือสงครามที่ไม่หลั่งเลือด ส่วนสงครามคือการเมืองที่หลั่งเลือด แล้วจะเห็นทั้งหมดของการปกครอง

พรรคประชาธรรมทำอะไรมาบ้าง
ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา พรรคประชาธรรมจัดอบรมสมาชิกมาแล้วประมาณ 2,000 คน การอบรมได้อธิบายขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้คนอื่นที่ไม่ใช่มุสลิมยอมรับได้ ไม่กลัวอิสลาม จะนำเสนอรูปแบบเนื้อหาการเมืองอิสลามอย่างไรให้คนอื่นยอมรับ

ถ้าคนมุสลิมยังไม่เข้าใจเรื่องเหล่านี้ เป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดโลกอิสลาม เพราะถ้าคนมุสลิมยังไม่เข้าใจการเมืองของอิสลาม เราก็ทำได้แค่เรียกร้องอยากจะให้เกิด แต่ความปรารถนากับความเป็นจริง ไม่มีวันจะสอดคล้องต้องกันได้

การที่พรรคประชาธรรมไม่ได้รับการเลือกตั้ง เป็นความฝ่ายแพ้หรือความล้มเหลวของพรรคมุสลิม หรือพรรคของชาวมลายูใช่หรือไม่
การเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคประชาธรรมไม่สามารถปลุกกระแสความเป็นพรรคมุสลิม หรือพรรคมลายูขึ้นมาได้ มีเพียงแค่คนกลุ่มคนเล็กๆ ที่เข้าใจให้การสนับสนุนพรรค

ถึงแม้พรรคแนวนี้ จะแพ้การเลือกตั้งที่วัดผลแพ้ ชนะ จากจำนวนที่นั่งของ ส.ส. ในสภา แต่สำหรับพื้นที่ทางการเมืองของคนมลายูใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แบบเต็มรูปแบบ ได้เริ่มขึ้นเป็นรูปธรรมแล้ว

อย่างที่ผมบอกไปว่า พรรคการเมืองคือองค์กรของประชาชนที่ถูกกฎหมาย ประเภทเดียวที่แสดงออกถึงเจตนารมณ์ในการช่วงชิงอำนาจปกครอง และนำเสนอความต้องการของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยได้สง่างามกว่า องค์กรภาคประชาชนอื่นๆ

ผมจึงมองว่า พรรคประชาธรรมยังไม่ได้เป็นฝ่ายแพ้ ยังมีโอกาสที่จะเอาชนะได้ในอนาคต เพียงแต่พรรคประชาธรรมจะต้องขยายมวลชนให้ได้มากขึ้น ต้องยอมรับว่า บนเส้นทางทางการเมือง อำนาจเงินมีอิทธิพลสูงมาก

ครั้งแรกของพรรคประชาธรรม ในสนามเลือกตั้งได้เรียนรู้อะไรบ้าง
ผมไม่นึกว่า ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อิทธิพลของเงินสูงขนาดนี้ ก่อนเลือกตั้งเราปราศรัยประมาณ 10 เวที มีประชาชนฟังแต่ละเวทีอย่างน้อย 2,000 คน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ลงสมัครปราศรัยตามมัสยิดต่างๆ ในเขตเลือกตั้งหนึ่งไม่ตำกว่า 80 จุด หรือ 80 มัสยิด แต่คะแนนที่ออกมาน้อยกว่าที่คาดเอาไว้

สิ่งที่ได้รับการสะท้อนออกมา ประชาชนไม่เชื่อว่า ประชาธรรมเป็นพรรคการเมืองจริง ประชาชนคิดว่าเป็นแค่พรรคเฉพาะกิจ ตั้งขึ้นมาทำลายคะแนนเสียงของนักการเมืองบางพรรค บางคนมองว่าเป็นพรรคของขบวนการใต้ดิน บางคนมองว่าเป็นพรรคที่ทหารให้การสนับสนุน มองว่าพรรคนี้รับเงินมาจากต่างประเทศ มีอะไรซุกซ่อนอยู่ข้างหลังเยอะมาก

ถ้าหากเราได้รับการสนับสนุนจากองค์กรใดองค์กรหนึ่งจริง นโยบายของพรรคประชาธรรม ก็ย่อมถูกกำหนดจากองค์กรนั้นๆ ถ้าให้องค์กรเหล่านี้สนับสนุน แน่นอนต้องมีเงื่อนไขบางอย่างตามมา แต่นี่เราไม่มี

การที่อดีตกลุ่มวาดะห์ไม่ได้รับการเลือกตั้ง เกี่ยวกับการเกิดขึ้นของพรรคประชาธรรมบ้างหรือเปล่า
อาจเกี่ยว แต่คงไม่มาก คนที่เคยน่าเชื่อถือของกลุ่มวาดะห์หายไป คนที่ได้รับการยอมรับ หรือหัวคะแนนของกลุ่มวาดะห์ ไปอยู่กับประชาธรรมเยอะ คนเหล่านี้ล้วนแต่เป็นคนที่ได้รับความเชื่อถือ ประกอบกับความแตกแยกของกลุ่มวาดะห์เอง และที่สำคัญคือความเสื่อมของวาดะห์เอง

พรรคประชาธรรมเกิดขึ้นได้อย่างไร
พรรคประชาธรรมเกิดจากคนที่มานั่งคิดกันว่า ถึงเวลาที่คนรุ่นใหม่ ต้องให้ความสนใจเรื่องการเมือง เป็นการเมืองที่มีผู้นำทางการเมืองจริงๆ จังๆ ไม่ใช่แอบอยู่ข้างหลัง ไม่ใช่คอยเป็นสายลับ และตอนนี้ก็ถึงเวลาจะต้องมีพรรคการเมืองของมุสลิม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้แล้ว

สำหรับการเคลื่อนไหวทางการเมืองในรูปแบบที่เราต้องการ ออกมาเคลื่อนไหวในระบบจะปลอดภัยกว่า และการเคลื่อนไหวสามารถทำได้แหลมคมกว่า เวลาพูดทางการเมืองก็จะได้รับการยอมรับว่า นี่เป็นการหาเสียงของพรรคการเมือง ถ้าเป็นองค์กรทั่วไปพูดไม่ได้ ถูกมองไม่ดี ไม่ปลอดภัย

เป้าหมายของพรรคประชาธรรมคือ การปฏิวัติความคิดมวลชนในทางการเมือง ถ้าเป็นองค์กรแบบอื่น คงไม่สามารถใช้คำนี้ได้

พอเป็นพรรคการเมือง สามารถพูดเรื่องอะไรก็ได้ในทางการเมือง เพราะจะถูกมองแค่ว่า เป็นการหาเสียงและโฆษณาชวนเชื่อ ถึงแม้คำพูดทั่วไปของพรรคการเมือง จะถูกลดความน่าเชื่อถือลงไปสัก 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะสิ่งที่พรรคการเมืองพูดออกมา จะทำได้หรือไม่ก็ไม่รู้ แต่พูดออกไปก่อน แต่มันก็ปลอดภัย ไม่ถูกมองอย่างหวาดระแวงว่า เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ

นี่คือการเตรียมการรองรับศตวรรษที่ 15 ของอิสลาม (หมายถึงตามปฏิทินอิสลาม) การกลับเข้ามาสู่รังเดิมของมัน การเมืองในรูปแบบอิสลามกำลังเกิดขึ้น

วันนี้ทั่วโลกกำลังประสบปัญหากับระบอบของตนเอง คอมมิวนิสต์ สังคมนิยม ทุนนิยม หรือแม้แต่ประชาธิปไตย ทั้งหมดถูกตั้งคำถามว่า ทำให้มนุษย์อยู่อย่างมีความสุขจริงหรือ เรามีสิทธิ์เลือกผู้ปกครองแต่ไม่แน่ใจว่า เขาปกครองเพื่อใคร เรารวยมีเงินซื้อทองสวยๆ แต่ใส่เดินตลาดไม่ได้ ต้องเก็บไว้ที่บ้าน

วันนี้ในโลกอิสลาม ทั้งอิยิปต์ ตูนีเซีย ลิเบีย บาห์เรน ซีเรีย คนหนุ่มสาวเหล่านี้ก็กำลังเคลื่อนเข้าสู่กระบวนการนี้

มีวิธีการสร้างการเมืองให้สอดคล้องกับชาวมลายูอย่างไร
วันนี้ ถ้าหากเรากล้าพูดเรื่องที่พูดในอดีตแล้วเป็นอันตราย ทุกคนไม่กล้าพูด เช่น การปฏิวัติสังคม พูดถึงระบบที่ดีที่สุดของโลกสำหรับมนุษย์ควรเป็นแบบไหน มนุษย์ควรที่ใช้ระบบใดในการปกครองมนุษย์ด้วยกัน แล้วนำมาวิจารณ์แต่ละระบบ จนสุดท้ายมันชี้ได้ว่า ระบบใดเป็นระบบที่ดี ที่เหมาะสมสำหรับมนุษย์

สมมุติว่ามีคนเชื่อว่าระบบนั้นเป็นระบบอิสลาม ในทางการเมือง เราสามารถนำเสนอให้ใช้ระบบอิสลามได้ ตราบใดที่พรรคการเมืองของคุณยังอยู่กับระบบประชาธิปไตย คุณสามารถพูดแบบนี้ไปได้เรื่อยๆ เสียงที่พูดออกไปจะถูกรับฟัง

แต่ถ้าอธิบายไม่ได้เพราะตัวเองก็ไม่เข้าใจเท่าไหร่ หรือคนอื่นไม่เห็นด้วย เราก็เลือกใช้วิธีรุนแรงบังคับเอา หรือคุกคามกดขี่ สุดท้ายเราก็ไม่ต่างจากผู้กดขี่อื่นๆที่ผ่านมา

สมมุติว่า คนมลายูไม่พอใจสยาม ที่มาจัดการการปกครองด้วยการบังคับกันด้วยกำลัง รบกันฆ่ากันระหว่างชนชั้นนำทั้งสองฝ่าย สุดท้ายประชาชนจะอยู่กับฝ่ายชนะ แต่ถ้าอีกฝ่ายจะช่วงชิงอีก แล้วกลับไปใช้วิธีเดิมๆของยุคสมัยเก่า ต้องถามประชาชนเหมือนกันว่า พวกเขารู้สึกต่างกันมั้ย ถ้ายังเลือกใช้วิธีรุนแรงบังคับเอา

ถึงแม้เราจะบอกว่า คนมลายูอยากปกครองตามอัตลักษณ์ของตนเอง แต่หลายปีที่ผ่านมา มีความสุขดีมั้ย และคนที่ชอบอธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้ในเชิงบวกต่อคนมลายู ต้องถามเหมือนกันว่า ครอบครัวของเขาอยู่ตรงไหนของสถานการณ์วันนี้ ไม่ใช่ลูกเราส่งเรียน ลูกคนอื่นส่งรบ

ตอนนี้มีสมาชิกพรรคเท่าไหร่
สมาชิกของพรรคประชาธรรมมีประมาณ 8,000 กว่าคน เลือกตั้งที่ผ่านมาเราได้คะแนนรวม 30,000 กว่าคะแนน จังหวัดในประเทศไทยที่ไม่มีคะแนนของพรรคประมาณ 10 จังหวัด

จังหวัดที่มีคะแนนนอกจากพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว เรายังมีคะแนนที่กรุงเทพมหานคร ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครนายก เป็นต้น นี่เป็นคะแนนที่เราได้รับ ทั้งที่ที่เราไม่ได้เดินไปหา พรรคและผู้สมัครของพรรคไม่ได้เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง

นับเป็นสิ่งหนึ่งที่เชื่อมั่นว่า แนวทางของพรรคเดินไปข้างหน้าได้ พรรคประชาธรรมเป็นของคนรากหญ้า มีรากหญ้าเป็นฐาน เวลาปราศรัยก็บอกตลอดเวลาว่า เป็นพรรครากหญ้า พรรคของคนกระจอกๆ รากหญ้าที่มีฐานของปัญญาชนหนุนเสริม เป็นพรรคของคนธรรมดา

ถามว่าทำไมทางพรรคไม่เอาคนที่มีชื่อเสียงมาลงสมัครรับเลือกตั้ง คำตอบก็คือคนที่มีชื่อเสียง ไม่ค่อยอยากเปลืองตัวมาทำอะไรที่เป็นการเริ่มต้นหรอก เขารู่สึกว่าถ้าพลาดพลั้งเขาจะเสื่อมได้ ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาไม่ว่าสังคมไหน ยุคสมัยใด คนมีชื่อเสียงไม่ใช่คนเริ่มต้นก่อการเปลี่ยนแปลงสังคมตนเอง

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว "เจาะข่าวร้อน" ออนแอร์ต่อ

Posted: 21 Sep 2011 07:43 AM PDT

ศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราวสั่งกรมประชาสัมพันธ์คืนเวลารายการเจาะข่าวร้อน ห้ามระงับออนแอร์

 
(ภาพจากเว็บไซต์ทีนิวส์)

เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า นายประวิตร บุญเทียม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง เจ้าของสำนวนพร้อมองค์คณะ มีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ห้ามไม่ให้กรมประชาสัมพันธ์ ผู้ถูกฟ้อง ระงับการออกอากาศรายการ “เจาะข่าวร้อน ล้วงข่าวลึก” ที่บริษัท กรีน อินเทลลิเจ้นท์ จำกัด โดยสถานีโทรทัศน์ ที-นิวส์ เช่าสัญญาออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย(เอ็นบีที) ทุกวันจันทร์ เวลา 21.00 – 22.00 น. ตามที่กำหนดในสัญญาจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา หรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ศาลเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 ได้บัญญัติคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไว้ว่าจะจำกัดเสรีภาพดังกล่าวไม่ได้ รวมทั้งการให้นำข่าวหรือบทความให้เจ้าหน้าตรวจก่อนก็ทำไม่ได้เว้นแต่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ

ดังนั้นการปฏิบัติตามสัญญาระหว่างผู้ฟ้อง และผู้ถูกฟ้องจึงต้องคำนึงถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ แม้ผู้ถูกฟ้องจะให้การว่ารายการของผู้ฟ้องมีผลกระทบต่อความมมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ห้ามตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 37 แต่ก็ไม่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องได้แจ้งถึงการกระทำที่ต้องห้ามตามกฎหมายดังกล่าวกับผู้ฟ้อง เพียงแค่มีหนังสือขอความร่วมมือให้จัดส่งเทปล่วงหน้า และระมัดระวังในการผลิตรายการตามสัญญาข้อ 9 ที่ว่าให้ต้องส่งเทปและข้อความที่ใช้ออกอากาศแก่เจ้าหน้าที่ของสถานีเพื่อตรวจสอบ และ ข้อ 13 ห้ามไม่ให้ผู้เช่าเวลาจัดรายการเกี่ยวกับการเมืองที่อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการหรือผู้หนึ่งผู้ใด และมีหนังสือแจ้งถึงสาเหตุที่ระงับการออกอากาศในวันที่ 5 ก.ย.2554 เท่านั้น

ขณะที่การไต่สวนผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องให้การว่า รายการของผู้ฟ้องมีแนวทางแสดงความเห็นทางการเมืองในการต่อต้านการล้มสถานบันมาโดยตลอดซึ่งรายการที่จะออกอากาศในวันที่ 5 ก.ย. ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงไม่ปรากฏเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่า รายการผู้ฟ้องมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยของประชาชน รวมทั้งการไต่สวนยังฟังได้ว่าผู้ถูกฟ้องยังไม่ได้ใช้สิทธิตามสัญญาข้อ 13 จึงเห็นว่าเมื่อผู้ถูกฟ้องยังไม่ได้บอกเลิกสัญญา ผู้ถูกฟ้องย่อมมีหน้าที่ต้องออกอากาศรายการของผู้ฟ้องตามที่กำหนดในสัญญา ถึงแม้ผู้ถูกฟ้องจะมีสิทธิตามสัญญาข้อ 12 ที่จะใช้เวลาออกอากาศของผู้ฟ้องออกรายการอื่นแทนได้แต่ตามสัญญาก็กำหนดให้ใช้กรณีที่จำเป็นเท่านั้น การที่ผู้ถูกฟ้องมีหนังสือแจ้งผู้ฟ้องว่าจะนำเทปรายการพิเศษของสภากาชาดไทย และการประกวด วงโยธวาทิตระดับนานาชาตินั้น ก็ไม่ปรากฏว่ามีความจำเป็นและต้องเร่งรีบดำเนินการในวันเวลาดังกล่าวแต่อย่างใด

ดังนั้นการที่ผู้ถูกฟ้องระงับการออกอากาศ จึงไม่ใช่การใช้สิทธิตามสัญญาโดยชอบ แต่เป็นการกระทบต่อเสรีภาพผู้ฟ้องในการแสดงความคิดเห็นตาม รธน. ขณะที่หากศาลจะกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก็ไม่กระทบต่อการบริหารงานของรัฐ และการบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้อง ศาลจึงมีคำสั่งห้ามไม่ให้กรมประชาสัมพันธ์ ผู้ถูกฟ้อง ระงับการออกอากาศรายการของผู้ฟ้องตามที่กำหนดในสัญญาจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา หรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

นายฉัตรชัย ภู่โคกหวาย กรรมการผู้ช่วยผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ ที-นิวส์ กล่าวว่า การฟ้องคดีนี้ก็อยากให้เป็นบรรทัดฐานเรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญ ส่วนที่บริษัทยังมีเวลาเหลือการออกอากาศครั้งสุดท้ายคือวันจันทร์ที่ 26 ก.ย. เนื่องจากหมดสัญญา 30 ก.ย.นั้น ก็ต้องปรึกษาหารือกับผู้ใหญ่อีกครั้งว่าจะนำเทปที่ผลิตไว้เพื่อออกอากาศในวันที่ 5 ก.ย. มาออกอากาศหรือไม่ หรือจะดำเนินการผลิตเทปออกอากาศใหม่

เมื่อถามว่า เป็นห่วงหรือไม่ที่กรมประชาสัมพันธ์ จะใช้สิทธิตามสัญญาข้อ 13 ที่ระบุถึงการกระทำที่จะเป็นให้บอกเลิกสัญญา ตามที่ศาลวินิจฉัย นายฉัตรชัย กล่าวว่า คิดว่ากรมประชาสัมพันธ์จะถือปฏิบัติตามคำสั่งของศาลปกครอง โดยจะไม่กระทำการดังกล่าว ไม่เช่นนั้นกรมประชาสัมพันธ์ก็ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งต่อไป

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คนลุ่มน้ำปิง-แตง รุกต้านหลังกรมชลฯยังเดินหน้าเขื่อนกั้นแม่น้ำปิง

Posted: 21 Sep 2011 07:40 AM PDT

ตามที่กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการเข้ามาทำการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เบื้องต้นทางคณะศึกษาฯร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ ได้เข้ามาจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ปิง 3 ครั้งที่ผ่านมา ครั้งที่ 1 เดือนมกราคม 2554 ครั้งที่ 2 วันที่ 5 เมษายน 2554 และครั้งที่ 3 วันที่ 24 มีนาคม 2554 ประเด็นการรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน
       
นอกจากการจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นแล้ว คณะศึกษาฯ ยังได้ลงพื้นที่ ณ ที่ตั้งโครงการ คือ บ้านโป่งอาง หมู่ที่ 5 ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อจัดทำข้อมูลทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ระบบนิเวศพื้นที่ และสุขภาพของคนในชุมชน
       
ล่าสุด ล่าสุด สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน ในฐานะประธานคณะกรรมการดูแลกำกับงานที่ปรึกษาด้านวิชาการ โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เตรียมจัดเวทีประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 การศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 22 กันยายน 2554 นี้ ณ หอประชุมเทศบาลตำบลเชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

 
โดยในหนังสือดังกล่าว ระบุว่า นายสมเกียรติ  ประจำวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงบการ ประธานคณะกรรมการดูแลกำกับงานที่ปรึกษาด้านวิชาการ โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ได้ทำหนังสือเชิญองค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม โดยข้อความอ้างถึง การเข้ามาดำเนินการของกรมชลประทาน ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งประกอบด้วย บริษัทพี แอนด์ ซีแมเนจ เมนท์ จำกัด บริษัท พิสุทธิ์ เทคโนโลยี จำกัด และบริษัท ธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด ให้ดำเนินการศึกษาโครงการดังกล่าว ระยะเวลา600 วัน
 
ในหนังสือระบุอีกว่า ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย องค์กรอิสระและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ได้รับทราบผลสรุปการประชุม รับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 และความก้าวหน้าโครงการ จึงได้จัดให้มีการจัดประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 ขึ้น ในวันที่ 22 กันยายน  2554 เวลา 08.30 น. - 12.00 น.  ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลเชียงดาว
 
ทั้งนี้ แหล่งข่าวในพื้นที่ได้ตั้งข้อสังเกตว่า จากรายละเอียดเอกสารการประชุมในครั้งนี้ ไม่ได้มีการระบุว่า ผู้เข้าร่วมที่เชิญมีใครบ้าง อย่างไร แม้กระทั่ง ชื่อ ตำแหน่งของตัวแทนกรมชลประทานและวิทยากรที่จะเข้าร่วมประชุมนั้น ก็ไม่ได้ระบุแน่ชัดว่าเป็นใคร และดูเหมือนการประชุมเวทีครั้งนี้ มีความเร่งรีบและร้อนรน เพราะใช้เวลาประชุมเพียงครึ่งวัน
 
การประชุมกลุ่มย่อยของการศึกษาโครงการดังกล่าวครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งเหลืออีก 1 ครั้ง ตามสัญญาว่าจ้างที่จะดำเนินการแล้วเสร็จ ก่อนทีมศึกษา จะส่งมอบให้กรมชลประทานดำเนินการต่อไป
 
อย่างไรก็ตาม หลังทราบข่าว ชาวบ้านโป่งอาง ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงในครั้งนี้ ได้แสดงความไม่พอใจและพร้อมจะออกมาเคลื่อนไหว ให้กรมชลประทานยุติการดำเนินการนี้ให้ได้ เพราะเห็นว่าโครงการดังกล่าวเป็นลักษณะของกระบวนการที่ได้ละเมิดสิทธิชุมชน และฐานทรัพยากรฯในประเด็นสำคัญๆ ดังนี้
       
1.การรับรู้ข้อมูลข่าวสารการดำเนินงานตามโครงการ ชุมชนไม่มีโอกาสเข้าถึง รับรู้ข่าวสาร รายละเอียดโครงการฯ
2.กระบวนการมีส่วนร่วมและการตัดสินใจไม่ได้เกิดขึ้นจากคนในชุมชนอย่างแท้จริง
3.ขั้นตอน กระบวนการศึกษามีลักษณะเร่งรัดในการดำเนินการ ขาดความละเอียดของการศึกษาความเหมาะสม ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
4.ที่ตั้งโครงการฯ ดังกล่าวอยู่ในเขตพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่ปิง ซึ่งถือว่าเป็นขุนน้ำสำคัญไหลหล่อเลี้ยงชุมชนในพื้นที่อำเภอเชียงดาว เชียงใหม่จนถึงที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา
5.ที่ตั้งโครงการฯดังกล่าว เป็นพื้นที่ป่าของชุมชน ที่ชุมชนได้อาศัย พึ่งพาเป็นแหล่งอาหาร แหล่งสมุนไพร ไม้ใช้สอยของคนในชุมชน
6.ไม่มีการใช้ฐานต้นทุนองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามามีส่วนในกระบวนการศึกษาความเหมาะสม และดำเนินการทั้งทางสังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ                                              
 
ชาวบ้านชุมชนบ้านโป่งอาง ได้ออกมายืนยันว่า การเข้ามาศึกษาฯครั้งนี้ไม่ได้ตรงกับข้อเท็จจริงและสิ่งที่ชุมชนเสนอ ทั้งที่ผ่านเอกสาร และการศึกษาข้อมูล เพราะผลที่ออกมาเป็นรูปแบบของการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ทั้งความสูง พื้นที่รองรับน้ำ ความยาวของตัวเขื่อน ที่สำคัญการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การเข้ามาดำเนินการกระบวนการศึกษา ไม่ได้เปิดโอกาสให้ชุมชนได้รับรู้อย่างทั่วถึงหรือไม่เปิดเผยข้อมูลที่แท้จริง ที่จะนำไปสู่การตัดสินใจร่วมของคนในชุมชน ซึ่งได้สร้างความวิตกกังวลให้ชุมชนในพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง                                                          
 
“พวกเราขอยืนยันอย่างมั่นคงว่า จะติดตาม ทวงถามและพิทักษ์สิทธิของชุมชนอย่างต่อเนื่อง หากยังไม่มีความคืบหน้า หรือเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้อง หรือมีการกระทำใดๆ อันเป็นการข่มขู่คุกคามผู้นำ แกนนำ หรือชาวบ้าน พวกเราจะดำเนินการทุกวิถีทางตามสิทธิอันพึงมีของชุมชนเพื่อให้โครงการอ่าง(เขื่อน)เก็บน้ำแม่ปิงตอนบนล้มเลิก จนถึงที่สุด”
 
ทั้งนี้ มีรายงานแจ้งว่า หลังจากกรมชลประทานยังคงเดินหน้าเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงเชียงดาว จัดเวทีในวันที่ 22 ก.ย.นี้ ได้ทำให้ชาวบ้านในหลายๆ พื้นที่ อาทิ พี่น้องประชาชนบ้านโป่งอาง หมู่ที่ 5  ต.เมืองนะ ชุมชนลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน /ลุ่มน้ำแม่คอง เครือข่ายทรัพยากรอำเภอเชียงดาว พี่น้องปลายน้ำลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน และชุมชนลุ่มน้ำแม่ป๋าม ประมาณ 500 คน ได้พร้อมใจกันจะออกมากดดันเคลื่อนไหวหากกรมชลประทาน ยังไม่ล้มเลิกโครงการดังกล่าว
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ฟู ไฟเตอร์ส จัดเซอร์ไพร์ซหยอกผู้ประท้วงต่อต้านเกย์

Posted: 21 Sep 2011 07:32 AM PDT

 

19 ก.ย. 2011 - วงร็อคอังกฤษ (Foo Fighters) โต้กลับกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านเกย์ในคอนเสิร์ทเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยพวกเขาได้จัดการแสดงเซอร์ไพรซ์นอกตารางทัวร์เพื่อล้อเลียนกลุ่ม Westboro Baptist Church (WBC) ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านเกย์อย่างสุดโต่ง

วง Foo Fighters จัดแสดงที่แคนซัสซิตี้เมื่อวันศุกร์ (16) ที่ผ่านมา ซึ่งมีตัวแทนของกลุ่ม Westboro Baptist Church ยืนถือป้ายประท้วงอยู่ข้างนอกสปรินท์เซ็นเตอร์ ขณะเดียวกันก็มีแฟนเพลงมารวมตัวกันบนท้องถนนหน้าเวทีท้ายรถบรรทุกที่ประดับด้วยกองฟางและธงชาติสหรัฐฯ พวก Foo Fighters แต่งกายด้วยชุดพิเศษ "สบายดีไหมพวกเราทุกคน" เดฟ โกรล หัวหน้าวงกล่าวทักทาย เขาสวมวิกผมยาวและหมวกคาวบอย "เราจะร้องเพลงให้พวกนายฟัง"

โกรลและสมาชิกวงเล่นเพลง "Keep it Clean (Hot Buns)" เพลงรักของชาวเกย์ที่พวกเขาปล่อยออกมาเมื่อเดือนที่แล้ว เนื้อเพลงนี้สื่อถึงความรื่นรมย์ในความสัมพันธ์ทางกายระหว่างชายกับชายโดยมีทั้งการสื่อเป็นนัย การใช้คำแสลง และการสื่ออย่างตรงไปตรงมา

เดฟ โกรล กล่าวกับฝูงชนว่า "ผมไม่สนว่าคุณจะเป็นคนผิวดำ ผิวขาว ชาวสีม่วงหรือสีเขียว เป็นชาวเพนซิลวาเนีย หรือทรานซิลวาเนีย เป็นเลดี้กาก้า หรือเป็นเลดี้แอนเทเบลัม ผู้คนทุกผู้ทุกนาม! ชายรักหญิง หญิงรักชาย ชายรักชาย หญิงรักหญิง ...พระคุ้มครองอเมริกา"

จากนั้นพวกเขาจึงได้เข้าไปแสดงต่อในอาคาร ซึ่งเป็นการแสดงสดอย่างเป็นทางการตามแผนทัวร์

สำนักข่าวการ์เดี้ยนระบุว่า แม้ว่าวง Foo Fighters จะไม่เคยเป็นปากเสียงให้กับสิทธิชายรักชายมาก่อน พวกเขาก็กลายเป็นเป้าหมายของกลุ่ม Westboro Baptist Church หลังจากที่พวกเขาโพสท์วิดิโอเพลง Hot Buns ในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา

"อุตสาหกรรมบันเทิงเป็นโลกใบเล็กๆ ของผู้คนในประเทศที่กำลังจะตายนี้ มีจิตใจแข็งกระด้าง, บาปทราม และเสพย์ติดสุข" สาธุคุณเฟรด เฟล์ป ผู้นำ Westboro Baptist Church เขียนไว้ในเว็บไซต์ของกลุ่ม "วง Foo Fighters ก็ได้ขึ้นเวทีของตัวเอง จึงควรใช้มันเพื่อสนับสนุนให้ผู้ชมเข้าถึงพระเจ้า แทนที่จะสอนให้ทุกคนรับฟังสิ่งที่ขัดแย้งกับคำสอนของพระองค์อย่างการล่วงประเวณี การคบชู้ ความหลงใหล รักร่วมเพศ"

กลุ่ม Westboro Baptist Church ก่อตั้งเมื่อปี 1955 โดย เฟรด เฟล์ป เป็นที่รู้จักในฐานะกลุ่มแสดงความเกลียดชัง (hate group) ที่ต่อต้านเกย์ เริ่มดำเนินกิจกรรมต่อต้านเกย์มาตั้งแต่ปี 1991 และมักจะไปถือป้ายประท้วงตามงานศพของดาราเพื่อเรียกร้องความสนใจจากสื่อ รวมถึงงานศพของรอนนี่ เจมส์ ดิโอ (นักร้องเฮฟวี่ เมทัล) และไมเคิล แจ็กสัน ด้วย

เว็บไซต์ของกลุ่มนี้ระบุว่าพวกตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับนิกาย Baptist หลัก และอ้างว่าตนเป็น Baptist แบบต้นกำเนิด แต่ทางนิกาย Baptist ต้นกำเนิดในกระแสหลักก็ปฏิเสธว่า WBC และเฟล์ปไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพวกตน

 

ที่มา

ข้อมูลเพิ่มเติม

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใบตองแห้ง...ออนไลน์: นิติราษฎร์ vs นิติแหล

Posted: 21 Sep 2011 03:08 AM PDT

เมื่อวันอาทิตย์ ผมไปนั่งฟัง อ.วรเจตน์และคณะนิติราษฎร์แถลงเรื่องการลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19 กันยา ซึ่งแน่นอนว่าเนื้อหาสาระในองค์รวมไม่เหมือนที่ออกมาในหน้าสื่อ โดยเฉพาะสื่อปฏิกิริยาขวาจัด ที่เพียงแต่จับประเด็น “ล้างผิดทักษิณ” แล้วเอาไปโจมตีขยายความ กระทั่งเอาคำพูดของคนอย่างถาวร เสนเนียม ที่กล่าวหาให้ร้ายนิติราษฎร์มาพาดหัว

คำถามก็คือ ทำไมสื่อไม่ไปสัมภาษณ์นักกฎหมาย อย่างวิษณุ เครืองาม, บวรศักดิ์ อุวรรณโณ หรือมีชัย ฤชุพันธ์ ปรมาจารย์ที่ (เชื่อกันว่า) เป็นที่ปรึกษากฎหมายของ คปค.ดูบ้าง หรือถามสมคิด เลิศไพฑูรย์ ถามจรัล ภักดีธนากุล ถามตุลาการทั้งหลาย ให้โต้แย้งด้วยความเห็นทางหลักกฎหมายดูบ้าง ดูซิว่าจะโต้ขึ้นไหม

แต่สื่อไปถามนักการเมือง และพยายามทำให้มันเป็นประเด็นทางการเมือง ไม่ใช่ประเด็นทางกฎหมาย (เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจมีผู้ให้สัมภาษณ์ที่อ้างว่าเป็นตุลาการคนหนึ่ง แต่ไม่กล้าเปิดเผยตัว ทำไมไม่กล้า ในเมื่อเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต ไม่ใช่การลอบกัด)

นักการเมืองก็เลยแหลไปเรื่อย อย่างอภิสิทธิ์อ้าง “นิติรัฐ” เฮ้ย นิติรัฐอะไรวะ ยอมรับรัฐประหาร รัฐประหารนั่นแหละคือการทำลายล้างนิติรัฐ

สาระสำคัญในข้อเสนอของนิติราษฎร์ ที่สื่อกระแสหลักทำเป็นไม่เข้าใจ คือข้อเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติ ให้การรัฐประหาร 19 กันยายน “เสียเปล่า” ไม่เคยเกิดขึ้นและไม่มีผลทางกฎหมาย ซึ่งหมายความว่า ประกาศ คปค.ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน ถึงวันที่ 30 กันยายน 2549 ซึ่งแต่เดิมเคยถือกันว่า “ประกาศคณะปฏิวัติเป็นกฎหมาย” นั้น ต้องเสียเปล่าและไม่มีผลทางกฎหมายในทันที

เพื่อให้ “รัฐประหารเสียเปล่า” อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น นิติราษฎร์จึงเสนอด้วยว่า ต้องประกาศให้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 มาตรา 36 และ 37 เสียเปล่า ถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลทางกฎหมาย เช่นกัน

“มาตรา 36 บรรดาประกาศและคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ได้ประกาศ หรือสั่งไว้ ในระหว่างวันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 จนถึงวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปใด และไม่ว่าจะประกาศ หรือสั่ง ให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ให้มีผลใช้บังคับต่อไป และให้ถือว่า ประกาศหรือคำสั่ง ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศ หรือคำสั่งนั้น ไม่ว่าการปฏิบัติตามประกาศ หรือคำสั่งนั้น จะกระทำก่อน หรือหลัง วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นประกาศหรือคำสั่ง หรือการปฏิบัติ ที่ชอบด้วยกฎหมาย และชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

มาตรา 37 บรรดาการกระทำทั้งหลาย ซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึด และควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 ของหัวหน้า และคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมตลอดทั้งการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว หรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้า หรือคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันได้กระทำไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น การกระทำดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ว่าเป็นการกระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ รวมทั้งการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อน หรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง”

มาตรา 36 คือการรับรองประกาศ คปค.ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ส่วนมาตรา 37 คือการนิรโทษกรรมให้ คปค.นั่นเอง

ทั้งสองมาตราให้เสียเปล่า ไม่เคยมีผลทางกฎหมาย

นี่คือข้อเสนอที่ยิ่งใหญ่ ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และวงการกฎหมายไทย ซึ่งตลอด 79 ปีของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (ที่อยู่ใต้ยุคเผด็จการเสียเกือบครึ่ง) เรามีแต่คำพิพากษาศาลฎีกายุคก่อนกึ่งพุทธกาลที่ว่า “รัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์” คำสั่งของคณะรัฐประหารเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ประกาศคณะรัฐประหารถือเป็นกฎหมาย แล้วก็งมงายกราบกรานยึดถือกันต่อๆ มา

วรรคทองของ อ.วรเจตน์จึงอยู่ที่การตั้งคำถามว่า เมื่อเรากลับมาสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยแล้ว อำนาจของประชาชนเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว ทำไมเราจะลบล้างประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารไม่ได้

ทำไมเราจะทำให้ “รัฐประหารเสียเปล่า” ไม่ได้

ตรงนี้ต่างหากที่นักกฎหมายจะต้องตอบ ตุลาการจะต้องตอบ ไม่ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลยุติธรรม หรือตุลาการศาลปกครอง ถ้าพวกท่านยึดมั่นในหลักนิติรัฐจริง เมื่อรัฐประหารหมดอำนาจแล้ว เหตุใดเรายังต้องยึดถือประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารเป็นกฎหมาย

และเหตุใดเราจึงต้องยอมรับการนิรโทษกรรมให้ตัวเองของคณะรัฐประหาร

ข้อเสนอของนิติราษฎร์ จึงเปิดมิติใหม่ของประชาธิปไตยไทย ซึ่งถ้าทำได้สำเร็จ ประเทศนี้ก็จะไม่มีรัฐประหารอีก เพราะรัฐประหารแล้วเสียเปล่า ไม่มีผล รัฐประหารแล้ว นิรโทษกรรมให้ตนเองตามอำเภอใจก็ไม่ได้

โปรดอ่านมาตรา 37 อีกครั้งนะครับ ...ไม่ว่าทำอะไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ไม่ว่าทำก่อน 19 กันยา ทำหลัง 19 กันยา “หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย” ให้พ้นผิด พ้นจากความรับผิดโดยสิ้นเชิง

นี่หรือคือหลักนิติรัฐ นี่หรือคือสิ่งที่นักกฎหมายไทย ศาลไทย ยอมรับเสมอมา เพราะมันแปลว่าไม่ใช่แค่นิรโทษกรรมให้คณะรัฐประหารพ้นผิดจากข้อหากบฏ ฉีกรัฐธรรมนูญ “ปล้นอำนาจอธิปไตย” แต่หมายถึงว่าถ้ามีการทุจริตฉ้อฉล ปล้นงบประมาณแผ่นดิน เอางบราชการลับไปใช้โดยมิชอบ ยักยอกเข้ากระเป๋าตัวเอง ฯลฯ ในระหว่างวันที่ 19-30 ก.ย.2549 ก็พ้นผิดโดยสิ้นเชิง

ถามหน่อยว่า ทำไมเราจะลบล้างการนิรโทษกรรมตัวเองของ คปค.ไม่ได้ ลบล้างด้วยอำนาจประชาชน แล้วลากคอนายพลผู้ก่อรัฐประหารขึ้นศาล เพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่าง เป็นที่หลาบจำไปชั่วลูกชั่วหลาน เป็นแบบเรียนเร็วใหม่ในโรงเรียนนายร้อย จปร.ว่าพวกเมริงอย่าริอ่านทำรัฐประหารเชียวนะ ต่อให้นิรโทษกรรมตัวเองไว้ แต่เมื่อไหร่มีการเลือกตั้ง อำนาจอธิปไตยกลับไปเป็นของประชาชน ประชาชนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ก็ทำให้นิรโทษกรรมเสียเปล่าได้ คราวนี้แหละ พวกเมริงติดคุกหัวโต

เว้นเสียแต่จะทำรัฐประหารแล้วยึดอำนาจไปจนวันตาย

สื่อลองยกประเด็นนี้ไปถามนักกฎหมายทั้งหลายใหม่สิครับ ว่าเห็นด้วยไหม ทำไมไม่เห็นด้วย ลองแจกแจงเหตุผลให้ฟังหน่อยสิ เปิดชื่อเปิดตัวมา ถามถาวร ถามอภิสิทธิ์ก็ได้ ถ้าคุณคัดค้านนิรโทษกรรมทักษิณ ทำไมคุณสนับสนุนนิรโทษกรรม คปค. ถ้าจะลากคอคนที่ก่อรัฐประหารขึ้นศาล ทั้งผู้กระทำ ผู้สนับสนุน และ “ผู้บงการ” คุณเห็นด้วยไหม มีเหตุผลอะไรที่คัดค้าน จะโทษว่าเป็นเพราะความชั่วความเลวของทักษิณจึงทำให้เกิดรัฐประหาร ก็ว่าไป ประชาชนจะได้เห็นธาตุแท้ว่าใครเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ใครที่ปากอ้างว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารแต่ปกป้องรัฐประหาร

แต่สื่อส่วนใหญ่ไม่ได้เสนอข่าวนิติราษฎร์ในประเด็นนี้ด้วยซ้ำ ไม่ได้พูดถึงการลบล้างผลพวงรัฐประหารทั้งหมด ไม่ได้พูดถึงการลบล้างนิรโทษกรรม คปค.เพียงจับประเด็นเดียวว่า “ล้างผิดทักษิณ”
 

นับหนึ่งใหม่
เพื่อไทยไม่ทำหรอก

ประกาศ คปค.ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายนถึง 30 กันยายน 2549 มี 30 ฉบับ ที่ส่งผลทางการเมืองอย่างสำคัญคือประกาศ คปค.ฉบับที่ 27 เพิ่มโทษกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบ ตาม พรบ.พรรคการเมือง 2541 ให้ตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี กับประกาศ คปค.ฉบับที่ 23 และ 30 ฉบับแรกตั้ง คตส.โดยมีท่านสวัสดิ์ โชคิพานิช เป็นประธาน พร้อมกับกรรมการโดยตำแหน่งจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง แต่กลับลำเปลี่ยนใจออกประกาศฉบับสุดท้ายในวันที่ 30 พ.ย.พอดี คราวนี้ตั้ง คตส.โดยระบุตัวบุคคลซึ่งก็เห็นกันชัดเจนว่าอยู่คนละข้างกับรัฐบาลที่ถูกโค่นล้ม

ที่จริงไม่ต้องพูดว่าเป็นผลพิษรัฐประหาร ประกาศ คปค.ทั้งสองฉบับก็ส่อเจตนาเล่นไม่ซื่ออย่างชัดเจน

รัฐประหารทุกครั้งต้องฉีก พรบ.พรรคการเมือง ต้องสั่งยุบพรรคการเมือง มีแต่รัฐประหารครั้งนี้แหละครับ ที่ประกาศให้ พรบ.พรรคการเมืองบังคับใช้ต่อไป แต่ไปแก้กฎหมายเพิ่มโทษตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค แล้วเอาเรื่องยุบพรรคขึ้นศาล ต่อให้เด็กอมมือก็มองออกว่าจ้องยุบพรรคไหน (พรรคประชาธิปัตย์มั้ง)

ประกาศตั้ง คตส.ครั้งแรกดูเหมือนจะเป็นกลาง น่าจะให้ความเป็นธรรมได้ แต่พอใครต่อใครวิ่งเข้าไปล็อบบี้โวยวาย บิ๊กบังก็หลายใจตั้งใหม่ คราวนี้แจ่มแจ้งเหลืองแจ๋ ไม่ต้องอ้าปากก็เห็นทะลุลำไส้ใหญ๋ ท่านสวัสดิ์ต้องลาออก เพราะต้องการรักษาชื่อเสียงเกียรติภูมิไว้ ไม่อยากมาแปดเปื้อน

พอเริ่มต้นก็มีพิรุธแบบนี้ จะให้ประชาชนเขาเชื่อถือได้อย่างไร คดีความต่างๆ ที่วินิจฉัยออกมาจึงสร้างความแตกแยกในสังคมไทย เกิดวิกฤติศรัทธาต่อสถาบันตุลาการ เพราะมีตุลาการโดดออกมาร่วม คตส. มีตุลาการได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหารให้เป็นรัฐมนตรี เป็นปลัดกระทรวง เป็น สนช.เป็น สสร.อย่างที่ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์การรัฐประหารทุกครั้ง (แล้วท่านก็กลับไปขึ้นนั่งบัลลังก์ตัดสินคดีที่ส่งผลทางการเมือง)

การลบล้างประกาศรัฐประหาร ตลอดจนคำวินิจฉัยของศาลต่างๆ ที่อาศัยอำนาจจากประกาศรัฐประหารโดยเฉพาะกระบวนการสอบสวนที่เริ่มต้นจาก คตส.นอกจากเป็นการกลับไปยึดหลัก “นิติรัฐ” ยังเป็นการยุติความแตกแยกในสังคมด้วย เพราะนี่ไม่ใช่ “เรื่องของคนคนเดียว” อย่างที่อ้าง แต่เป็นเรื่อง “สังคมแตกแยกกันเพราะการจัดการกับคนคนเดียว” ด้วยกระบวนการที่ไม่ชอบธรรม

และการลบล้างก็ไม่ได้หมายถึงพ้นผิด ล้างผิด แต่หมายถึงคดีความต่างๆ “เสียเปล่า” กลับไปนับหนึ่งใหม่ ซึ่งใครที่ต้องการเอาผิดทักษิณ ก็สามารถไปแจ้งความกล่าวโทษ ยื่นเรื่องต่ออัยการหรือ ปปช.ให้ดำเนินกระบวนการเอาผิดใหม่ได้ทันที

มีคนถามว่าถ้าลบล้างคำพิพากษายึดทรัพย์ ต้องคืนเงิน 4.6 หมื่นล้านให้ทักษิณไหม คืนสิครับ แต่วันรุ่งขึ้นคุณก็สามารถไปแจ้งอัยการหรือแจ้ง ปปช.ขอคำสั่งศาลอายัดไว้ก่อนได้ เพื่อดำเนินคดีกันใหม่ ซึ่งไม่ใช่แค่คดีที่ดินรัชดา คดียึดทรัพย์ แต่คดี CTX ที่หญิงเป็ดเงียบหายไปเฉยๆ คดีกล้ายาง คดีอื่นใดก็แล้วแต่ “นับหนึ่งใหม่” ได้หมด

การดำเนินคดีใหม่ ต้องไม่ใช้สำนวนการสอบสวนของ คตส. แต่ถ้าสอบสวนออกมาแล้ว อัยการ ปปช.ได้หลักฐานเหมือน คตส.เห็นด้วยกับ คตส.ก็เป็นสิทธิอิสระในการวินิจฉัยของท่าน ศาลจะมีคำพิพากษาออกมาเหมือนเดิม หรือยึดวัวทั้งตัว ก็เป็นสิทธิอิสระในการวินิจฉัยของท่าน ใครจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วย แม้อาจยังวิพากษ์วิจารณ์ แต่ก็ไม่สามารถกล่าวว่าเป็นผลพวง “รัฐประหารตุลาการภิวัตน์”

คำถามสำคัญคือ รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะเห็นด้วยและทำตามข้อเสนอของนิติราษฎร์ไหม ออเหลิมทำท่าเห็นด้วย แต่ก็บอกว่าทำยาก คนในรัฐบาลหลายคน “เห็นด้วยในหลักการ” แต่เอาเข้าจริงผมไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะรับไปทำหรอก เพราะอะไร เพราะรัฐบาลหวังใช้วิธีการนิรโทษกรรม หรือถวายฎีกา ซึ่งง่ายกว่า มีการเคลื่อนไหวกันมาเป็นขั้นเป็นตอนอย่างน่าสังเกต

ขณะเดียวกัน รัฐบาลที่ได้อำนาจแล้ว ก็ไม่อยากฟื้นฝอยหาตะเข็บไปลบล้างนิรโทษกรรม คปค. เอาบิ๊กบัง บิ๊กชลิต อนุพงษ์ ประยุทธ์ ดาวพงษ์ ฯลฯ มาขึ้นศาลหรอก รัฐบาลอยากใช้วิธีการทางการเมืองเข้าไปแต่งตั้งโยกย้ายแย่งยื้อซื้อตัวซื้อใจซื้ออำนาจมากกว่า

ส่วนคดียุบพรรคไทยรักไทย 111 กรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิ ก็จะครบกำหนดเดือน พ.ค.ปีหน้า ไม่มีใครเดือดร้อนต้องการลบล้างคำพิพากษาหรอก

ฉะนั้นผมจึงไม่เชื่อว่าข้อเสนอของนิติราษฎร์จะมีผลในทางปฏิบัติ เว้นเสียแต่จะมีมวลชนเสื้อแดงเข้าชื่อกันเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แล้วเคลื่อนไหวให้ลงประชามติ (เพราะรัฐสภาคงไม่รับร่างอยู่ดี)

ข้อกล่าวหาสกปรกที่ว่านิติราษฏร์ “รับงาน” “รับจ๊อบ” จึงไม่จริง เพราะถ้าทักษิณ “สั่งงาน” ได้ทักษิณคงอยากให้นิติราษฎร์แถลงสนับสนุนนิรโทษกรรมหรือสนับสนุนการถวายฎีกามากกว่า เพราะการ “นับหนึ่งใหม่” ไม่ได้หมายความว่าทักษิณจะอยู่สุขสบายดี แต่ต้องมีชนักปักหลังไปตลอดชีวิต นิสัยทักษิณไม่ชอบนับหนึ่งใหม่ แต่ทักษิณชอบเรียนลัดกระโดดข้ามไปเลข 10 มากกว่า

ข้อเสนอของนิติราษฎร์จึงเป็นข้อเสนอทางทฤษฎี ซึ่งไม่มีทางเป็นจริงทางปฏิบัติ แต่เป็นการประกาศแนวคิดที่ถูกต้อง ถูกหลักการ ซึ่งจะพิสูจน์กันต่อไปในภายหน้า เป็นการเปิดประตูปัญญา คิดนอกกรอบ จากกรอบจารีตที่ยอมรับอำนาจรัฐประหาร มาสู่แนวคิดใหม่ว่า อำนาจประชาชนสามารถลบล้างอำนาจรัฐประหาร และสามารถเอาผิดรัฐประหารได้ในภายหลัง (ไม่ใช่เอาผิดย้อนหลัง เพราะรัฐประหารเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ที่บังคับใช้อยู่ขณะนั้น)

อย่างน้อย ทหารที่จะทำรัฐประหารครั้งหน้า ก็จะได้รู้ตัวว่า ครั้งนี้พวกเมริงอาจจะไม่ลอยนวลอีกแล้วนะ

อย่างที่บอกว่าวันที่นิติราษฎร์แถลง ผมไปนั่งฟังอยู่ด้วย ท่ามกลางคนเสื้อแดงเกือบทั้งหมด ขอบอกว่าคนเสื้อแดงไม่ได้มีปฏิกิริยายินดียินร้ายอะไรนัก กับข้อเสนอให้ “นับหนึ่งใหม่” ในคดีทักษิณ แต่ที่พวกเขาปรบมือไชโยโห่ร้องด้วยความดีใจคือ การได้รับรู้ว่า อำนาจรัฏาธิปัตย์ของประชาชนสามารถลบล้างนิรโทษกรรมรัฐประหารได้ คำถามที่พวกเขาถาม ความเห็นที่พวกเขาแสดง ล้วนแล้วแต่อยู่ในประเด็นนี้ ไม่ได้มีใครซักถามเรื่องทักษิณ

ขอบอกว่าผมทึ่งด้วยครับ มวลชนที่มาหลากหลาย มีจำนวนมากไม่ใช่ “คนกรุงคนชั้นกลางผู้มีการศึกษา” แต่พวกเขาสามารถทำความเข้าใจประเด็นกฎหมาย ซึ่งต่อให้ “คนกรุงคนชั้นกลางผู้มีการศึกษา” ก็เข้าใจได้ไม่หมด แน่นอน ผมคิดว่ามวลชนเสื้อแดงไม่เข้าใจทั้งหมดหรอก แต่ที่เขาเข้าใจเนื้อหา เข้าใจหลักการและเหตุผลได้มากกว่า 70% ก็ถือว่าพวกเขามาไกลมากแล้ว
 

หลักการทำให้เสียเปล่า

อ.แก้วสรร อติโพธิ เขียนถาม-ตอบลงในสยามรัฐ บอกว่ากฎหมายเป็นโมฆะไม่ได้

“ในระบบกฎหมายมหาชนไม่มีข้อความคิดนี้ เพราะถ้ายอมให้กฎหมายฉบับหนึ่งถูกชี้ในวันนี้ว่าเป็น”กฎหมาย” แล้ววันหน้ากลับมีแมวโดราเอมอนขี่ยานข้ามกาลเวลาย้อนหลังมาชี้ว่าไม่เคยมีกฎหมายนั้นอยู่เลยได้อย่างนี้แล้วล่ะก็ สังคมก็อยู่กันไม่ได้เพราะระบบการบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม หาความแน่นอนไม่ได้เลย”

ความจริงมีนะครับ อ.แก้วสรรอาจจะลืมไป รัฐธรรมนูญก็กำหนดไว้ในเรื่องการออกพระราชกำหนดของรัฐบาล

รัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรคสาม กำหนดว่าถ้ารัฐสภาไม่อนุมัติ ก็ให้พระราชกำหนดนั้นตกไป “ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น”

ขณะที่มาตรา 185 วรรคสามกำหนดว่า ในกรณีที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาเข้าชื่อกันให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ว่าการออกพระราชกำหนดขัดต่อรัฐธรรมนูญ “ให้พระราชกำหนดนั้นไม่มีผลบังคับมาตั้งแต่ต้น”

สองมาตรานี้แตกต่างกัน กรณีแรก สมมติ พ.ร.ก.แปรสัญญาสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต ถ้าไม่ผ่านสภา ไอ้ที่เปลี่ยนมาเก็บค่าสัมปทานเป็นภาษี ระหว่าง 2-3 เดือนที่ใช้ พ.ร.ก.ไม่ต้องส่งคืนไม่ต้องยกเลิก เพียงแต่เมื่อ พ.ร.ก.ตกก็กลับไปใช้แบบเดิม ส่วนกรณีที่สอง ไม่มีผลบังคับมาตั้งแต่ต้น แปลว่าต้องล้างบัญชีส่งคืนให้หมด

สาเหตุที่แตกต่างกันเพราะกรณีที่สองขัดรัฐธรรมนูญ จึงเสียเปล่าทั้งหมด กรณีแรก ตกไปเพราะรัฐบาลมีความเห็นอย่างนี้แต่สภาไม่เห็นด้วย เป็นแค่เรื่องความเห็นไม่ใช่ขัดหลักกฎหมาย

กฎหมายจึงทำให้เสียเปล่าได้ กรณีตามมาตรา 185 พระราชกำหนดที่ออกโดยรัฐบาลจากการเลือกตั้ง เมื่อขัดรัฐธรรมนูญก็ต้องเสียเปล่า แล้วกฎหมายที่ออกโดยคณะรัฐประหารถือปืนขี่รถถังประกาศปากเปล่า (ไม่มีพระปรมาภิไธยเสียด้วยซ้ำ) ไม่ร้ายแรงยิ่งกว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือ (อ้อ เขาฉีกรัฐธรรมนูญไปแล้ว จึงไม่ขัด)

เพียงแต่การทำให้เสียเปล่าต้องคำนึงถึงความเป็นจริง คำนึงถึงผลกระทบ ที่มีต่อสังคม ต่อประชาชน ต่อผู้มีส่วนได้เสียโดยสุจริต ฉะนั้นการทำให้เสียเปล่าจึงต้องขีดวงให้จำกัดเท่าที่จำเป็น เท่าที่เป็นไปได้ และให้มีผลกระทบน้อยที่สุด แต่ตรงเป้า และเข้าจุดประสงค์มากที่สุด

นิติราษฎร์จึงเสนอให้การทำรัฐประหารเสียเปล่า โดยขีดวงจำกัดเฉพาะวันที่ 19 กันยายน ถึง 30 กันยายน 2549 ก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญเฉพาะกาล 2549 โดยถือว่าอะไรก็ตามที่คณะรัฐประหารทำในระหว่างนั้นไม่มีผล ถือเสียว่าระหว่างนั้นรัฐธรรมนูญ 2540 ยังใช้บังคับอยู่ ถือเสียว่าประเทศถูกยึดครองโดยอำนาจเถื่อน และไม่ยอมรับอำนาจเถื่อนนั้น

ส่วนตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2549 ถึงแม้เราจะไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 และรัฐบาลที่ตั้งโดย คปค.ว่ามีความชอบธรรม แต่เราก็ต้องยอมรับว่า รัฐธรรมนูญ 2540 ถูกโจรฆ่าตายไปแล้ว รัฐบาลทักษิณถูกยึดอำนาจไปแล้ว จะบอกว่าลบล้างทั้งหมดโดยถือว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ยังอยู่ รัฐบาลทักษิณยังอยู่ มันก็ขัดความเป็นจริงและจะมีปัญหายุ่งยากซับซ้อนตามมามากมาย อาทิเช่น มติคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลสุรยุทธ์ กฎหมายที่ออกโดย สนช.ถ้ายกเลิกเสียทั้งหมดก็จะส่งผลกระทบวงกว้างต่อประชาชนผู้สุจริต ต่อการทำสัญญาผูกพันกับต่างประเทศ ต่อการบริหารราชการ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ การจัดการงบประมาณ ฯลฯ ซึ่งเราไม่ใช่โดราเอมอนที่จะย้อนไปแก้ไขทุกสิ่งอย่างได้

ประเด็นคือเรามีเป้าประสงค์อะไร เป้าประสงค์คือการสร้างมิติใหม่ของระบอบประชาธิปไตยที่ปฏิเสธอำนาจรัฐประหาร ฉะนั้นการจำกัดวงไปทำให้รัฐประหารเสียเปล่า ให้ประกาศคณะรัฐประหารเสียเปล่า ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน ถึง 30 กันยายน จึงเพียงพอแล้ว เพราะครอบคลุมประเด็นสำคัญที่สุดนั่นคือ ไม่ยอมรับการนิรโทษกรรมตนเองของคณะรัฐประหาร

ส่วนประกาศ คปค.ทั้ง 30 ฉบับ การทำให้เสียเปล่า ในบางฉบับ ก็ไม่ได้มีความหมายความสำคัญอยู่แล้ว เช่นประกาศห้ามกักตุนสินค้า (ตามฟอร์มรัฐประหารทุกยุคทุกสมัย) ประกาศห้ามพรรคการเมืองเคลื่อนไหว

ประกาศบางฉบับมีผลสืบเนื่อง เช่น ประกาศ คปค.ฉบับที่ 27 และคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทยของตุลาการรัฐธรรมนูญ เมื่อทำให้เสียเปล่าก็ต้องแยกแยะตามความเป็นจริง เช่น ไม่ใช่ว่าเสียเปล่าแล้วพรรคไทยรักไทยก็ยังอยู่ เพราะพรรคไทยรักไทยตายไปแล้ว เพียงแต่ต่อไป ใครจะกลับมาจดทะเบียนใช้ชื่อพรรคไทยรักไทยก็ย่อมได้ 111 กรรมการบริหารพรรคก็ไม่ใช่ว่าจะกลับมาทวงตำแหน่ง ส.ส.รัฐมนตรี ที่แล้วก็ต้องแล้วไป เพียงแต่กฎหมายถือว่าคุณเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่เคยถูกตัดสิทธิ

ประกาศ คปค.ยังรวมถึงการตั้ง กกต.และ ปปช.ถามว่าถ้าทำให้เสียเปล่าจะมีผลอย่างไร ที่แน่ๆ กกต.และ ปปช.ต้องพ้นจากตำแหน่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าการกระทำของ กกต.และ ปปช.เสียเปล่าทั้งหมด เพราะเราไม่สามารถย้อนเวลาไปแก้ไขให้เลือกตั้ง 2550,2554 กันใหม่ การใดที่ทำไปโดยสุจริตหรือแก้ไขไม่ได้แล้ว ก็ต้องรับรองว่าไม่กระทบกระเทือน (เหมือนพระราชกำหนดตามมาตรา 184)

การทำให้เสียเปล่าต้องคำนึงถึงความเป็นจริง จึงไม่ใช่ว่าจะต้องย้อนไปล้างประกาศคณะปฏิวัติตั้งแต่ปี 2475 อย่างที่พวกฝ่ายแค้นประชด(ทั้งที่รู้เจตนาแต่พยายามพูดให้เลอะ) การคำนึงถึงความเป็นจริงที่ดีที่สุดคือขีดเส้นเวลา ณ วันที่ 30 ก.ย.อะไรที่คณะรัฐประหารทำก่อนหน้านั้น ทำให้เสียเปล่าหมด มีข้อยกเว้นเฉพาะเรื่องที่แก้ไขไม่ได้แล้วตามความเป็นจริง ส่วนอะไรที่คณะรัฐประหารทำหลังจากนั้น ต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่แก้ไขไม่ได้แล้ว มีข้อยกเว้นบางเรื่องที่ต้องตามไปแก้ไข ด้วยการออกพระราชบัญญัติ หรือด้วยการเพิกถอนเป็นเรื่องๆ อย่างที่ อ.แก้วสรรเขียน

“ถาม แล้วที่ผ่านมา เมื่อเปลี่ยนเข้าสู่ระบอบรัฐธรรมนูญแล้ว เราจะจัดการกับผลพวงทางกฎหมายในช่วงรัฐประหารได้หรือไม่อย่างไร ?

ตอบ ได้เสมอครับ แต่ต้องอยู่ในกรอบต่อไปนี้

  1. ถ้าเป็นกฎหมายที่ไม่ถูกต้องไม่เหมาะสม สภาผู้แทนก็ตราพระราชบัญญัติยกเลิกแก้ไขเป็นฉบับๆไป โดยชี้บ่งได้ว่าไม่ดีไม่เหมาะอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่มีหรอกครับที่จะบอกว่าโมฆะมาแต่แรกทั้งหมด
     
  2. ถ้าเป็นคำสั่งที่มีผลบังคับเฉพาะ และมีเหตุไม่ยุติธรรมละเมิดสิทธิพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ ก็เพิกถอนหรือไม่รับบังคับใช้อีกต่อไป อาจทำได้โดยสภาเช่นการที่ตรากฎหมายปล่อยคุณอุทัย พิมพ์ใจชน ออกจากคุก เพราะถูกอำนาจเผด็จการสั่งขังโดยอำเภอใจ หรือกรณีที่ศาลปฏิเสธไม่รับบังคับให้มีการยึดทรัพย์ อดีตนายกฯชาติชายและคณะ ที่ถูก รสช.สั่งยึดทรัพย์โดยพลการ สองคดีนี้มันไม่ใช่การทำงานของกระบวนการยุติธรรมปกติ จึงถูกปฏิเสธโดยองค์กรตามรัฐธรรมนูญได้ทั้งสิ้น”

ที่จริงผมชอบที่ อ.แก้วสรรเขียนตรงนี้มากเลย เพราะ อ.แก้วสรรก็ยอมรับว่าคำสั่งรัฐประหารที่ไม่ยุติธรรม ละเมิดสิทธิพื้นฐาน สามารถยกเลิกได้โดยองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ อ.แก้วสรรเห็นว่าต้องยกเลิกเป็นฉบับๆ ขณะที่ อ.วรเจตน์เห็นว่าต้องยกเลิกทั้งพวง เพื่อแสดงเจตจำนงลบล้างรัฐประหารโดยสิ้นเชิง

ใจผมนะครับ ใครไม่ยอมรับการลบล้างผลรัฐประหารทั้งพวง ก็ไม่เป็นไร ผมอยากเอาตาม อ.แก้วสรร ลบล้างเรื่องเดียวพอ คือเข้าชื่อกันลงประชามติ ให้รัฐธรรมนูญ 2549 มาตรา 27 เสียเปล่า คปค.นิรโทษกรรมตัวเองไม่ได้ ต้องขึ้นศาลสถานเดียว (แต่อาจจะกันบิ๊กบังไว้เป็นพยาน ลดโทษเหลือ 1 ใน 3 ถ้ายอมซัดทอดผู้บงการ-ฮิฮิ)

คราวนี้จี้ถามใหม่เรียงตัว ใครจะตอบว่ารัฐประหารทำเพื่อชาติราชบัลลังก์ ทำเพื่อกวาดล้างคนโกง ไม่ควรเอาโทษ หรือเอาโทษแล้วกลัวคุณพ่อทหารจะยึดอำนาจอีก ฯลฯ ก็เชิญตามสบาย

 

ใบตองแห้ง
21 ก.ย.2554

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชำนาญ จันทร์เรือง: สิ่งที่เวทีเสวนาครบรอบ 5 ปี รัฐประหาร 19 กันยาไม่ได้พูด

Posted: 21 Sep 2011 03:02 AM PDT

ผมติดตามการเสวนาเนื่องในโอกาสครบรอบ 5 ปี ของการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 ในหลายๆ เวที ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็ออกไปในทิศทางที่ไม่เห็นด้วย พร้อมทั้งชี้โทษภัยของการรัฐประหารครั้งนี้ บ้างก็ถึงกับออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ร่วมกันต่อต้านการรัฐประหารที่จะเกิดมีขึ้นในอนาคต พร้อมทั้งเรียกร้องให้องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยหรือตัดสินคดีมิให้ถือว่าการกระทำรัฐประหารเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งการเป็นรัฏฐาธิปัตย์ดังเช่นที่ศาลฎีกาเคยมีคำวินิจฉัยไว้ ทั้งที่ไม่มีปรากฏอยู่ในบทบัญญัติของกฎหมายใด

ในทางตรงข้าม บางเวทีก็มีการพูดถึงผลที่คาดไม่ถึงของการรัฐประหารครั้งนี้ ซึ่งก็คือการที่ประชาชนมีจิตสำนึกหรือมีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น มีส่วนร่วมในการเมืองภาคประชาชนมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการออกมาเรียกร้องทางการเมืองหรือการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเลือกพรรคการเมืองที่ตนเองชื่นชอบ จนทำให้เข้าใจว่าได้ชัยชนะต่อฝ่ายอำมาตย์หรือฝ่ายอำนาจเก่าได้แล้ว ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นอย่างเช่นที่ว่าแล้วจริงๆ ล่ะหรือ

จริงอยู่เมื่อมองเผินๆ ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะประชาชนออกมาแสดงเจตนารมณ์ว่าไม่ต้องการการปกครองโดยรัฐบาลที่มาจากการจัดตั้งในค่ายทหาร ไม่ต้องการรัฐบาลที่มีผลพวงจากการรัฐประหารไม่ว่าจะเป็นผลของการเลือกตั้งในปี 2550 หรือ 2554 ก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้วฝ่ายอำมาตย์หรือฝ่ายอำนาจเก่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือฝ่ายทหารนั้นได้เรียนรู้ประสบการณ์อย่างมากมายไม่ว่าจากเหตุการณ์เมษา 52 หรือ พฤษภา 53 ว่าวิธีที่จะจัดการกับกระบวนการเสื้อแดงนั้นจะจัดการอย่างไร ทั้งๆ ที่รัฐบาลไหนก็ตามทั่วโลกถ้ามีคนตายจำนวนมากขนาดนี้ไม่มีทางที่อยู่ในอำนาจต่อไปได้ แต่ของไทยเรารัฐบาลกลับอยู่ต่ออย่างหน้าตาเฉย มิหนำซ้ำกองทัพซึ่งเป็นเครื่องไม้เครื่องมือหลักในการจัดการกับผู้ชุมนุมกลับเพิ่มพลังต่อรองไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งโยกย้ายหรืองบประมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย โดยที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนไม่กล้าหือ


แฟ้มภาพ: ประชาไท

แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดที่ผมจะชี้ให้เห็นก็คือ การ “ฮั้ว” กันระหว่างกลุ่มอำนาจเก่ากับรัฐบาลที่ประชาชนเลือกเข้าไปบริหารประเทศ แต่ก่อนที่จะแสดงให้เห็นว่ามีการฮั้วกันอย่างไร นั้น ผมขอนำเอาคำจำกัดความที่เสาวลักษณ์ เชฎฐาวิวัฒนา (2539) ได้อธิบายความหมายของคำว่า “ฮั้ว” ในทางธุรกิจ ไว้ในคู่มือไขปริศนาดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจ เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่ผมจะยกตัวอย่างต่อไป

การฮั้ว (Collusion) คือ การทำข้อตกลงในทางลับระหว่างบริษัทตั้งแต่สองบริษัทขึ้นไป ที่ประกอบธุรกิจประเภทเดียวกันหรือมีความเกี่ยวข้องกัน เพื่อให้ทั้งสองบริษัทได้ประโยชน์มากกว่าบริษัทอื่นๆ หรือมากกว่าที่ควรจะได้รับ

ซึ่งพูดง่ายๆ ก็คือก็คือการแบ่งกันกินนั่นเอง เพราะเป็นการทำข้อตกลงในทางลับระหว่างบริษัทตั้งแต่สองบริษัทขึ้นไปที่ประกอบธุรกิจประเภทเดียวกันหรือมีความเกี่ยวข้องกัน เพื่อให้ทั้งสองบริษัทได้ประโยชน์มากกว่าบริษัทอื่นๆ หรือมากกว่าที่ควรจะได้รับ การฮั้วกันเกิดขึ้นในธุรกิจทุกระบบไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ และอาจจะถูกต้องตามกฎหมายหรือผิดกฏหมายก็ได้แล้วแต่การยอมรับของสังคม และข้อกฎหมายในประเทศแต่ละประเทศ เช่น การกำหนดราคาและปริมาณการผลิตน้ำมันร่วมกันของกลุ่มโอเปค เป็นต้น

ฉะนั้น เมื่อหันกลับมาพิจารณาถึงสถานการณ์ปัจจุบันในโอกาสครบรอบ 5 ปีของการรัฐประหาร 19 กันยาแล้วจะเห็นได้ว่า
 

  1. แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้เสียงข้างมากมาอย่างถล่มทลายถึงกว่า 15 ล้านเสียง สามารถตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากเด็ดขาดถึง 300 เสียง แต่ต้อง “ฮั้ว” กับกลุ่มอำนาจเก่าที่ห้ามเอาคนนั้นหรือคนกลุ่มโน้นเป็นรัฐมนตรี เพื่อแลกกับความสะดวกในกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล ตลอดจนการ “ฮั้ว” กับกลุ่มอำนาจเก่าที่ทำให้ผลการสรรหาคณะกรรมการ กสทช.กลายเป็น กสทบ.ไป เพราะมีแต่ทหารเข้าไปยึดครองจำนวนมากรวมทั้งตำแหน่งประธานและรองประธาน ในส่วนกรรมการที่เหลือส่วนใหญ่ก็เป็นภาคธุรกิจที่เป็นพันธมิตรกับนายทุนของรัฐบาล ฉะนั้น จึงอย่าไปหวังว่าจะสามารถไปจัดระเบียบคลื่นความถี่ของทหารหรือคลื่นความถี่บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย คงทำได้เฉพาะคลื่นวิทยุชุมชนตัวเล็กตัวน้อยเท่านั้น
     
  2. มีการ “ฮั้ว” กันระหว่างแกนนำเสื้อแดงให้ละทิ้งอุดมการณ์ของการเป็นการเมืองภาคประชาชนด้วยการปูนบำเหน็จในตำแหน่งข้าราชการการเมือง ซึ่งทำให้เกิดการแปลกแยกระหว่างกลุ่มที่เคยเรียกตนเองว่าไพร่กลับกลายเป็นอำมาตย์ จนมีผลทำให้การตรวจสอบของการเมืองภาคประชาชนของกลุ่มคนเสื้อแดงอ่อนแอลง เพราะแกนนำกลายเป็นเครื่องมือของอำมาตย์ที่ “ฮั้ว”กับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยไปเสียแล้ว ทั้งๆ ที่คนเสื้อแดงยังถูกจองจำอยู่ในเรือนจำอีกเป็นจำนวนร้อย
     
  3. มีการ “ฮั้ว” กันระหว่างรัฐบาลและผู้สนับสนุนกับกลุ่มอำนาจเก่าในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในสื่อต่างๆ ของรัฐบาล สื่อออนไลน์หรือเครือข่ายสังคมของกลุ่มที่สนับสนุนตนเมื่อครั้งเป็นฝ่ายค้านให้เปลี่ยนแปลงจุดยืนของตนเองโดยหลับหูหลับตาโฆษณาประชาสัมพันธ์ในสิ่งที่ตัวเองเคยไม่เห็นด้วย เช่น การโฆษณาอุดมการณ์ล้าหลังคลั่งชาติทั้งหลาย เป็นต้น

เบื้องหน้าฉากของการเมืองในปัจจุบันอาจจะดูเหมือนว่ากำลังต่อสู้ยื้อยุดฉุดกระชากอำนาจกันระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับกลุ่มอำมาตย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือกลุ่มทหาร แต่หารู้ไม่ว่าเบื้องหลังฉากเต็มไปด้วยการ “ฮั้ว” กันอย่างมหาศาล ปล่อยให้ประชาชนตาดำๆ ที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยทำตาปริบๆ ถูกหลอกไปวันๆ

 

 

 

0000000000000000000
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 21 กันยายน 2554

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ร้อง ILO ชี้ไทยละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ

Posted: 21 Sep 2011 12:35 AM PDT

วันนี้ (21 กันยายน 2554) นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการผู้เชี่ยวชาญ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ในนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อแสดงถึงการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศของรัฐบาลไทย ดังปรากฏหลักฐานจากการที่รัฐบาลไทยกำหนดนโยบายที่ปฏิเสธมิให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน การยื่นหนังสือครั้งนี้เป็นการยื่นเอกสารเพิ่มเติมจากการยื่นหนังสือครั้งล่าสุดของ สรส. ณ ที่ประชุมแรงงานระหว่างประเทศ ที่ นครเจนีวา เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2554 ทั้งนี้ ประเทศไทยได้อนุวัติอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ อ. ที่ 19 เรื่องการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน (การทดแทนกรณีอุบัติเหตุ) เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2511 เป็นต้นมา

การยื่นหนังสือครั้งนี้ สรส. ต้องการนำเสนอข้อมูลการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบล่าสุดแก่คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ โดยเน้นนโยบาย “โครงการประกันอุบัติเหตุเอกชนสำหรับแรงงานข้ามชาติ” อันเป็นนโยบายที่เพิ่งประกาศ นโยบายนี้ปฏิเสธมิให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน ที่สำนักงานประกันสังคมเป็นผู้กำกับดูแล แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ออกกฎกระทรวงเป็นการ “แจ้ง” ให้นายจ้างซื้อประกันของเอกชนให้แรงงานข้ามชาติ ในราคา 500 บาท จากบริษัทประกันภัยเอกชน เพื่อให้ความคุ้มครองกรณีที่ลูกจ้างประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน ทดแทนการรับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทนของรัฐ แต่ประกาศดังกล่าวไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย และรัฐบาลไม่มีอำนาจที่จะบังคับให้นายจ้างปฏิบัติตามหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งแตกต่างจากระบบกองทุนเงินทดแทน ที่มีกฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานให้บังคับใช้กฎหมายและลงโทษนายจ้างที่ไม่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนทดแทน ระบบประกันภัยเอกชนจึงเป็นระบบที่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ และไม่สามารถประกันการเข้าถึงการได้รับการชดเชยเมื่อประสบอุบัติเหตุ

นโยบายใหม่นี้ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติในประเทศ และยังส่งผลกระทบเชิงลบต่อแรงงานข้ามชาติประมาณ 2 ล้านคน ซึ่งส่วนมากเป็นแรงงานจากประเทศพม่าที่ทำงานในประเทศไทย แรงงานเหล่านี้เผชิญความเสี่ยงสูงที่จะเจ็บป่วยและได้รับอุบัติเหตุจากการทำงาน เพราะไม่ได้รับการคุ้มครองเพียงพอ แม้องค์การแรงงานระหว่างประเทศและองค์การสหประชาชาติจะทักท้วงนโยบายของรัฐบาลไทยมาโดยตลอด แต่ปัจจุบัน นโยบายของรัฐบาลไทยก็ยังคงเลือกปฏิบัติต่อแรงงานพม่าอย่างเป็นระบบและปล่อยให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงต่อแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ยังดำเนินต่อไป

ในการยื่นหนังสือต่อรัฐบาลไทยครั้งที่แล้ว คณะกรรมาธิการผู้เชี่ยวชาญองค์การแรงงานระหว่างประเทศและผู้รายงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติด้านการย้ายถิ่นเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนนโยบายตามหนังสือเวียนที่ รส 0711/ ว751 ซึ่งปฏิเสธมิให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน หลังจากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจึงได้ ขอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ตั้งกองทุนประกันภัยเอกชนแยกต่างหากสำหรับแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้ความคุ้มครองแรงงานข้ามชาติเหยื่ออุบัติเหตุและการเจ็บป่วยจากการทำงาน โดยแยกต่างหากจากกองทุนเงินทดแทน ภายใต้นโยบายปัจจุบัน แรงงานข้ามชาติยังไม่ได้รับความคุ้มครองและยังเป็นกลุ่มเปราะบางต่อแนวปฏิบัติที่ละเมิดสิทธิและการเลือกปฏิบัติกับแรงงานข้ามชาติ สรส. ได้รับรายงานมาว่าในหลายกรณี ไม่อาจเชื่อมั่นว่านายจ้างจะสมัครใจให้ความคุ้มครองแรงงานข้ามชาติด้วยตนเอง นายจ้างยังหลบเลี่ยงความรับผิด หรือแจ้งตำรวจให้มาจับลูกจ้าง โดยเฉพาะกรณีลูกจ้างประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน ระบบการประกันภัยภาคเอกชนที่แยกการคุ้มครองและให้สิทธิประโยชน์กับแรงงานข้ามชาติน้อยกว่าแรงงานไทยเป็นระบบที่ไม่สามารถยอมรับได้และเป็นระบบที่เลือกปฏิบัติโดยธรรมชาติ แรงงานในประเทศไทยทุกคน ไม่ว่าจะมาจากแห่งหนหรือสัญชาติใดต้องได้รับการคุ้มครองภายใต้สิทธิแรงงานและการคุ้มครองแรงงานภายใต้กองทุนเงินทดแทนเดียวกัน

ด้วยเหตุนี้ สรส. ได้เรียกร้องให้องค์การแรงงานระหว่างประเทศและประชาคมนานาชาติ สนับสนุนข้อเรียกร้องนี้และดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่แรงงานทุกคนสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย ได้รับสิทธิและการคุ้มครองอย่างเสมอหน้าและเท่าเทียมกัน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

Posted: 20 Sep 2011 08:03 PM PDT

ต้องมีบทบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ กองทัพ องค์กรต่างๆของรัฐมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ แล้วต้องให้สิทธิทหารในการปฏิเสธผู้บังคับบัญชาที่สั่งให้ทำรัฐประหาร

 

21 ก.ย. 2554

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

Posted: 20 Sep 2011 07:59 PM PDT

ต้องมีบทบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ กองทัพ องค์กรต่างๆของรัฐมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ แล้วต้องให้สิทธิทหารในการปฏิเสธผู้บังคับบัญชาที่สั่งให้ทำรัฐประหาร

 

21 ก.ย. 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น