โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

คนประจวบฯ ยันค้าน “โรงไฟฟ้าถ่านหิน” ไม่เอา “พลังงานทดแทน” หมกเม็ด

Posted: 11 Sep 2011 02:41 PM PDT

 
ความขัดแย้งรอบใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จากกรณีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมจัดสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังการผลิต 4,000 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ อ.ทับสะแก แม้ขณะนี้โครงการดังกล่าวยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ แต่การที่ กฟผ.ได้จัดซื้อที่ดิน 4,142 ไร่ไว้แล้ว ได้ปลุกกระแสการต่อต้านจากกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่รวมทั้งชาวบ้าน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่เคยร่วมกันคัดค้านโรงไฟฟ้าบ้านกรูด-บ่อนอก ขึ้นมาอีกครั้ง
 
วันที่ 11 ก.ย.54 เวทีรับฟังความคิดเห็น “ทางเลือกการจัดการพลังงาน: กรณีอำเภอทับสะแก ประจวบคีรีขันธ์” โดย สถาบันการศึกษาทางเลือก ร่วมกับ มูลนิธิไฮริคเบิลล์ ที่ศาลาประชาคม อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเปิดรับฟังข้อมูลและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ โดยมีชาวบ้านทั้งจาก อ.ทับสะแก อ.บ้านกรูด อ.บ่อนอก อ.บางสะพาน ข้าราชการ และหน่วยงานส่วนท้องถิ่น สนใจเข้าร่วมกว่า 800 คน
 
 
เผยเป้าหมายร่วม “แผนพัฒนาประจวบฯ” ไม่มีอุตสาหกรรมเหล็ก
 
น.ส.สุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้จังหวัดประจวบฯ มีแผนพัฒนาจังหวัด 2555-2558 ที่ว่า “ท่องเที่ยวอย่างมีคุณค่า สับปะรดและมะพร้าวเป็นที่หนึ่งของโลก และสังคมแห่งมิตรไมตรี” โดยเป็นจุดหมายร่วมของชาวบ้านกับส่วนราชการที่จะมีการนำมาใช้ในปีหน้า คาดว่าจะทำให้พื้นที่มีความสงบสุข โดยเน้นการใช้เศรษฐกิจ 3 ขา ประกอบด้วย การเกษตร การทำประมง และการท่องเที่ยว เนื่องจากจังหวัดประจวบฯ เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งเป็นแหล่งวางไข่ปลาทู มีฉลามวาฬมาหากินห่างชายฝั่งบ้านกูดและทับสะแกเพียง 25 เมตร อีกทั้งยังมีการสำรวจพบว่าชายหาดทับสะแกเป็นที่แรกที่เต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ริมชายฝั่ง
 
ส่วนในภาคอุตสาหกรรม ตัวเลขปี 2550 อุตสาหกรรมเหล็กทำรายได้เข้าสู่จังหวัดกว่า 6,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 78 ของรายได้ในภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด 8,000 กว่าล้านบาท แต่รายได้ดังกล่าวกระจุกตัวอยู่เฉพาะในอุตสาหกรรมเหล็ก และขณะที่อุตสาหกรรมเหล็กใช้เงินลงทุนถึง 23,700 ล้านบาท คิดเป็นร้อย 76 ของสัดส่วนเงินลงทุนในจังหวัด แต่มีการจ้างงานเพียง 2,600 คน ในขณะที่การจ้างงานในจังหวัดประจวบอีกกว่า 125,000 คนอยู่ในภาคการผลิตอื่นๆ
 
น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวต่อมาถึงการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) ว่า อุตสาหกรรมเหล็กเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้าสิ้นเปลือง โดยใช้พลังงานถึงร้อยละ 33.1 ของผลผลิต ขณะที่อุตสาหกรรมผลไม้กระป๋องใช้พลังงานร้อยละ 7.4 ของผลผลิต อีกทั้งมีข้อมูลระบุด้วยว่า เครือสหวิริยาเจ้าของโครงการโรงถลุงเหล็กบางสะพานได้เคยแสดงความจำนงใช้ไฟฟ้าถึง 2,000 เมกะวัตต์ ต่อกระทรวงพลังงาน ทำให้ถูกนำไปอ้างเป็นเหตุผลความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นและเกิดการผลักดันการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่
 
สำหรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่จังหวัดประจวบฯ น.ส.สุรีรัตน์ ให้ข้อมูลว่า อ.ทับสะแกใช้ไฟฟ้าเพียง 5 เมกะวัตต์ ส่วนอำเภอที่ใช้ไฟฟ้าสูงสุด คือ อ.บางสะพาน อ.สามร้อยยอด และ อ.บางสะพานน้อยตามลำดับ โดยกลุ่มที่ใช้ไฟฟ้าสูงสุดคืออุตสาหกรรมและธุรกิจ ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าชาวบ้านไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้ต้องสร้างโรงไฟฟ้าในประจวบฯ แต่กลับมีแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 3 แห่ง และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีก 1 แห่งในพื้นที่ 
 
“เราจะรอดจากมลพิษได้อย่างไร เมื่อโรงไฟฟ้าถ่านหินถูกระบุว่าเป็นโรงไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดมลพิษมากทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากที่สุด” น.ส.สุรีรัตน์ กล่าว พร้อมย้ำว่า ในโลกนี้ไม่มีถ่านหินสะอาด เพราะไม่ว่าถ่านหินลิกไนต์ หรือถ่านหินบิทูบินัส ต่างก็มีมลพิษเหมือนกัน เพียงแต่ให้ความร้อนต่างกันเท่านั้น
 
 
ข้องใจ ที่ 4,142 ไร่ ไม่สร้างโรงไฟฟ้า แต่ไม่แจงการใช้ประโยชน์
 
สุรีรัตน์ กล่าวถึงโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทับสะแกว่า ขณะนี้มีการจัดซื้อที่ดินไว้แล้ว 4,142 ไร่ แต่ทาง กฟผ.กลับให้ข้อมูลกับทางจังหวัดและหน่วยราชการว่ายังไม่มีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่โดยระบุว่าไม่มีการบรรจุไว้ในแผน PDP และล่าสุด กฟผ.มีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 5 เมกะวัตต์ บนพื้นที่ 250 ไร่ ซึ่งคิดเป็นพื้นที่เพียงร้อยละ 6 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยไม่มีการชี้แจงแผนการใช้ที่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด ทำให้เกิดคำถามถึงความโปร่งในการดำเนินโครงการดังกล่าว
 
“โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์คือการจัดฉากของ กฟผ.เพื่อการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน” สุรีรัตน์ กล่าว
 
ส่วนนางจินตนา แก้วขาว กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด ตั้งข้อสังเกตจากข้อมูลในบันทึกความเข้าใจร่วมที่จัดทำโดย กฟผ.ซึ่งส่งถึงแกนนำชาวบ้านว่า โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นเพียงข้ออ้างเพื่อให้ กฟผ.สามารถทำการปิดล้อมที่ดินทั้งหมดให้เป็นเขตห้ามเข้า และทำการสำรวจพื้นที่จัดทำโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ จากนั้นจะมีการดำเนินงานมวลชนสัมพันธ์ รวมทั้งทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเต็มรูปแบบของโรงไฟฟ้าถ่านหิน เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 5 เมกะวัตต์ ไม่จำเป็นต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม
 
นางจินตนา กล่าวด้วยว่า หากโรงไฟฟ้าถ่านหินตั้งขึ้นที่ทับสะแกซึ่งอยู่ห่างบ้านกูดทางถนนเพียง 12 กิโลเมตร และทางชายหาดเพียง 9 กิโลเมตร การขนลำเลียงถ่านหิน การชักน้ำเข้าหล่อเย็นในโรงไฟฟ้า หรือกิจกรรมต่างๆ ของโรงไฟฟ้าย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงกัน ในวันนี้ประชาชนในพื้นที่มีการกำหนดแล้วว่าจะเดินไปทางไหน และจะร่วมกันคัดค้านโรงไฟฟ้าทั้งที่ทับสะแก บ่อนอก และบ้านกรูด
 
นอกจากนั้น จินตนายังเสนอต่อที่เวทีรับฟังความคิดเห็นให้ระงับโครงการทับสะแกทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จนกว่าจะมีการทำข้อตกลงว่าที่ดิน 4,142 ไร่ ของ กฟผ.จะถูกนำไปทำอะไรบ้าง ซึ่งชาวบ้านต่างยกมือเห็นด้วย
 
 
ชี้ข้ออ้างสร้าง “โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์” มุขเก่า
 
ด้าน นางกรณ์อุมา พงษ์น้อย กลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก กล่าวว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มีนัยยะที่เกี่ยวพันธ์กัน เพราะจากประสบการณ์ของบ่อนอกกลุ่มทุนก็ใช้วิธีการเดียวกันโดยให้สัมภาษณ์ว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่บ่อนอก แต่พื้นที่ที่ใช้เป็นเศษเสี้ยวของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ดังนั้นขอให้ยืนยันให้ กฟผ.เคลียร์ให้ได้ว่าพื้นที่ไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จะสร้างอะไร
 
นางกรณ์อุมา กล่าวด้วยว่า วันนี้ยืนยันว่าไม่มีปัญหากับการสร้างโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ตามที่มีการส่งเสริมเรื่องการพัฒนาพลังงานทดแทน เพราะพื้นที่บ่อนอกตอนนี้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 1 เมกะวัตต์ ใช้พื้นที่ 20 ไร่ ซึ่งชาวบ้านยินดีหากการก่อสร้างไม่มีเลศนัย
 
นอกจากนั้น การเปิดเวทีให้ประชาชนร่วมกันแสดงความคิดเห็น ผู้เข้าร่วมต่างหวั่นเกรงว่าหาก กฟผ.ใช้พื้นที่ริมชายหาดทับสะแกเป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินจะมีผลกระทบเกิดขึ้นในอนาคตทั้งต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และการสูญเสียอาชีพ และมีการตั้งข้อสังเกตว่าการสร้างโรงไฟฟ้าเป็นไปเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็ก
 
อีกทั้งยังมีการกล่าวว่า การสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มอาจไม่จำเป็น เพราะที่ผ่านมาไฟฟ้าในระบบเหลือเกินมาตลอด และกลายเป็นภาระให้ชาวบ้านต้องจ่ายส่วนที่เพิ่มขึ้นในค่าเอฟพี หรือหากจำเป็นต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้า ชาวบ้านขอเลือกโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ หรือพลังงานลม ที่เป็นพลังงานหมุนเวียน ไม่ต้องแย่งชิงเชื้อเพลิงใต้โลกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
 
นักวิชาการฯ หนุนเปลี่ยนพื้นที่โรงไฟฟ้า เป็นแหล่งผลิตพลังงานทดแทน
 
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้ทรงคุณวุฒิด้านพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของภาคใต้รวม จ.ประจวบฯ ทั้ง 15 จังหวัด อยู่ที่ประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ หากมีการเติบโต ความต้องการอีก 20 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ 6,000 เมกะวัตต์ แต่แผนพัฒนาพลังงานตั้งไว้ที่ 12,000 เมกะวัตต์ ซึ่งแน่ชัดว่าตัวเลขนี้เป็นการเพิ่มเพื่อต้องการรองรับอุตสาหกรรมเหล็ก หรืออุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่จะย้ายจากภาคตะวันออกมาลงที่ภาคใต้ ทั้งนี้ ล่าสุดนักวิชาการและภาคประชาชนในภาคใต้ได้ร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาของภาคใต้ โดยใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก ซึ่งใน จ.ชุมพร และ จ.กระบี่ ได้เริ่มแล้วโดยใช้พลังงานหมุนเวียนมากกว่าครึ่งหนึ่งของพลังงานที่ใช้จริงในจังหวัด ทั้งนี้ ตัวเลขพลังงานส่วนที่เกินความต้องการปกติ เป็นสิ่งที่คนใต้ต้องตัดสินใจว่าจะยอมรับการพัฒนานั้นหรือไม่
 
ส่วนแผนอนุรักษ์พลังงาน ระยะยาว 20 ปี (2554-2573) ดร.เดชรัต มีเป้าจะลดความต้องการใช้ไฟฟ้าได้กว่า 12,000 เมกะวัตต์ และช่วยให้ประเทศไทยประหยัดงบประมาณได้กว่าหนึ่งล้านล้านบาท เท่ากับว่าสามารถยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน 9 โรง (7,200 เมกะวัตต์) บวกกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 โรง (5,000 เมกะวัตต์) ตามแผนพีดีพี2010 ดังนั้นจึงควรส่งเสริมรัฐบาล กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตามแผนดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมให้บรรลุตามเป้าหมาย
 
ดร.เดชรัต กล่าวต่อมาถึงข้อห่วงใยต่อการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ กฟผ.ว่า 1.การก่อสร้างใช้พื้นที่น้อย เพียงร้อยละ 6 ของพื้นที่ทั้งหมด 2.พื้นที่ก่อสร้าง 250 ไร่ อยู่ตรงไหนของพื้นที่ 4,124 ไร่ โดยพื้นที่ที่เหลือสามารถสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้สบายโดยเฉพาะหากเป็นที่ติดชายฝั่ง 3.การทำบันทึกข้อตกลงร่วม เพราะโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไม่ต้องทำอีไอเอ และที่ผ่านมา กฟผ.มีปัญหาการลงพื้นที่เพื่อทำข้อมูล จึงมีความเป็นไปได้ที่จะนำสู่การทำอีไอเอเต็มรูปแบบสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินได้
 
ดร.เดชรัต กล่าวด้วยว่า ข้อเสนอที่จะเปลี่ยนพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าของ กฟผ.ให้เป็นแหล่งผลิตพลังงานทดแทน น่าสนใจมาก เพราะมีศักยภาพที่จะจัดการได้ถึง 100 เมกะวัตต์ ยิ่งเมื่อใช้เป็นแหล่งวิจัยจะสามารถพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีเพื่อนำไปพัฒนาในที่อื่นได้ด้วย ทั้งนี้ จากประสบการณ์ที่ได้ทำร่วมกับรีสอร์ทแห่งหนึ่งพบว่า พื้นที่ 50 ไร่ ก็สามารถเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านพลังงาน และการท่องเที่ยวไปด้วยได้
 
อย่างไรก็ตาม อยากให้เปลี่ยนเทียบการใช้ประโยชน์ในพื้นที่กับของ กฟผ.ว่าอะไรที่จะให้ผลตอบแทนแก่สังคมได้มากกว่ากัน ตรงนี้เป็นสิ่งที่น่าจะทำต่อไป
 
ดร.เดชรัต เสนอด้วยว่า การตัดสินใจของพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญ โดยการใช้อำนาจตามกฎหมายขององค์กรปกครองท้องถิ่น เช่นที่ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎรธานี ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายหนึ่งในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อป้องกันโครงการที่เข้ามาในพื้นที่ ซึ่งทำได้ 2 ลักษณะ คือเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดิน และการดำเนินโครงการที่เป็นผลกระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม
 
บอร์ด กฟผ.ชี้ต้องตั้งคำถามต้องไปถึงนโยบายรัฐฯ ด้วย
 
ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (บอร์ด กฟผ.) กล่าวถึงประสบการณ์ว่า ในแง่ผู้บริหารระดับสูงของ กฟผ.จะดูแลในแง่นโยบายว่าได้ตามเป้าหมายหรือเปล่า และส่วน กฟผ.เองก็รับลูกนโยบายจากรัฐบาลอีกที ดังนั้น ต้องตั้งคำถามกับรัฐบาลด้วยว่าเห็นดีเห็นงามกับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไปกระทบกับวิถีชีวิตหรือเปล่า การคิดต้นทุนค่าไฟฟ้านั้นคิดแต่ค่าถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ หรือคิดค่าสูญเสียวิถีชีวิตของผู้คนร่วมด้วย เรื่องนี้ต้องตั้งคำถามให้ครบวงจร ทั้งกระทรวง และรัฐบาลว่าได้จะชดเชย หลีกเลี่ยงอย่างไร หรือไม่ควรสร้าง
 
“ส่วนตัวที่มามารับฟังเพราะคิดว่าหลายเรื่องตรงกับที่ส่วนตัวคิด แต่อาจไม่ตรงกับผู้ใหญ่หลายท่าน ส่วนที่ถามว่า กฟผ.รู้ข้อมูลไหม ส่วนตัวเองยังต้องยอมรับว่ารู้เรื่องนี้น้อยมาก เหมือนได้มาเข้าห้องเรียน ต้องรู้ว่าผู้บริหารใกล้ชิดฝ่ายเทคนิคมาก ต้องฟังฝ่ายเทคนิค เรื่องปฏิกิริยาของชาวบ้าน กฟผ.อาจไม่รู้ได้ขนาดนี้”ดร.แลกล่าว
 
ดร.แล กล่าวด้วยว่า กฟผ.ต้องจับเขาคุยอย่างเปิดอก ในภาษาที่ชาวบ้านคุยรู้เรื่อง ในวันนี้ กฟผ.ต้องคุยกับชาวบ้านให้มากขึ้น เพราะต้องเข้าไปทำงานในพื้นที่ ในบ้านของชานบ้าน นอกจากนี้ งบประมาณกว่า 800 ล้านบาท สำหรับเพื่อทำดีต่อสังคมสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ แต่ควรคิดนอกกรอบซึ่งอาจดีกับชาวบ้านมากกว่า เพราะปัจจุบัน กฟผ.คิดแค่ในกรอบของ กฟผ.มากเกินไป
 
ส่วนข้อเสนอ ดร.แล กล่าวว่า ควรตั้งกรรมการมาพูดคุยกัน เพื่อเป็นทางออกที่ดีในการแก้ปัญหายุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศให้เข้าที่เข้าทาง เพราะยุทธศาสตร์การพัฒนาเป็นต้นเหตุ ส่วนโรงไฟฟ้าเป็นปลายเหตุ
 
 
ยื่นข้อเสนอ นายกฯ ค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน-หนุนพลังงานสะอาด
 
หลังจากเสร็จสิ้นเวทีการรับฟังความคิดเห็น น.ส.สุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก ได้ยื่นข้อเสนอจากเวทีทางเลือกการจัดการพลังงาน กรณีโรงไฟฟ้าทับสะแก ต่อนายนิรวัชช์ ปุณณกันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อผ่านไปถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 
หนังสือดังกล่าวระบุเนื้อหา ดังนี้
 
 
68/12 ถนนเพชรเกษม อ.ทับสะแก
จ.ประจวบคีรีขันธ์ 77130
 
11 กันยายน 2554
 
เรื่อง ข้อเสนอจากเวทีทางเลือกพลังงาน...กรณีโรงไฟฟ้าทับสะแก
เรียน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ, ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์, พลังงานจังหวัด, นายอำเภอทับสะแก
 
จากการที่สถาบันการศึกษาทางเลือกได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนขึ้นที่หอประชุมอำเภอทับสะแก ในวันที่ 11 กันยายน 2554 ในเรื่องทางเลือกพลังงาน/กรณีทับสะแก ซึ่งถือว่าเป็นการประชาพิจารณ์ตั้งแต่ยังไม่มีการตัดสินใจโครงการและเป็นกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพลังงานที่สร้างสรรค์และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน อันจะนำไปสู่การสร้างสังคมมิตรไมตรีขึ้นในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
 
เป็นที่ทราบกันดีว่า สังคมของชาวประจวบคีรีขันธ์ตกอยู่ในวังวนของความขัดแย้งจากโครงการขนาดใหญ่ อาทิ โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงถลุงเหล็ก และโครงการกำจัดขยะ ฯลฯ ซึ่งไม่สอดคล้องกับวิถีการใช้ชีวิตของชาวบ้านมานานกว่า 15 ปี
 
มาถึงวันนี้ สังคมแห่งความขัดแย้งกำลังคลี่คลายไปสู่การสร้างสังคมแห่งความสุขร่วมกัน ผ่านวิสัยทัศน์การพัฒนาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่วางเป้าหมายของการพัฒนาจากศักยภาพของท้องถิ่น เพื่อตอกย้ำว่า “คุณค่า” ของบ้านเราอยู่ที่ไหน
 
และนำไปสู่จุดมุ่งหมายร่วมกัน ผ่านแผนพัฒนาจังหวัด ปี 2555-2558 นั่นคือ ท่องเที่ยวอย่างมีคุณค่า...สับปะรดและมะพร้าวเป็นที่หนึ่งของโลก และสังคมแห่งมิตรไมตรี
 
ดังนั้น เพื่อให้โครงการพัฒนาที่ดิน 4,142 ไร่ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ณ ชายทะเลแหลมกุ่ม ต.นาหูกวาง อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก้าวเดินไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และสอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์อย่างแท้จริง โดยบรรลุวัตถุประสงค์ด้วยกันทุกฝ่าย
 
จึงมีข้อเสนอร่วมกัน ดังนี้
 
1.ห้าม กฟผ.สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน นิวเคลียร์ หรือก๊าซธรรมชาติ
 
2.ชะลอโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 5 เมกะวัตต์ บนพื้นที่ 250 ไร่ จนกว่าจะเปิดเผย “ข้อเท็จจริง” อย่างโปร่งใสและตรงไปตรงมาว่า แผนการใช้พื้นที่ครอบคลุมทั้ง 4,142 ไร่ เป็นอย่างไรกันแน่
 
อย่างไรก็ตาม พวกเรายินดีต้อนรับและสนับสนุน หากการพัฒนาที่ดินทั้ง 4,142 ไร่ของ กฟผ. ถูกแทนที่ด้วยโครงการพลังงานที่ยั่งยืนกว่า ประกอบด้วย...
 
-โครงการพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและหลากหลายรูปแบบ ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานลม และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
 
-โครงการอุทยานพลังงานสีเขียว (Green Energy Park) โดยใช้การออกแบบด้านภูมิสถาปัตย์เข้ามาช่วยเสริม “จุดขาย” ด้านพลังงานหมุนเวียน เพื่อสร้างโอกาสด้านการท่องเที่ยวให้ชุมชนแบบ 2 ต่อคือ ทั้งได้ความรู้และดึงดูดนักท่องเที่ยว
 
-โครงการสถาบันวิจัยพลังงาน เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปได้เข้ามาเรียนรู้การพัฒนาพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทย และนำพาให้ประเทศไทยยืนอยู่บนขาของตัวเองได้อย่างแท้จริง
 
ทั้งยังเปิดโอกาสในการสร้างนักวิจัยที่จับมือกับคนในชุมชน เพื่อช่วยเพิ่มทางเลือกให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น เช่น คิดค้นร่วมกันว่ามีพืชพลังงานชนิดไหนที่สามารถปลูกร่วมกับสวนมะพร้าว หรือสวนสับปะรด ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านที่นี่ได้ หรือสร้างอาชีพใหม่จากการคิดค้นเทคโนโลยีผลิตพลังงานแบบง่ายๆ เช่น กังหันลมความเร็วต่ำ
 
-โครงการอนุรักษ์เต่าทะเล โดยประกาศพื้นที่อนุรักษ์เต่าทะเลตลอดแนวชายหาดหน้าที่ดินของ กฟผ. เพราะพื้นที่ดังกล่าวคือพื้นที่วางไข่ของเต่าทะเล ซึ่งชาวบ้านค้นพบและเฝ้าดูแลมาอย่างต่อเนื่อง
 
พวกเราเชื่อมั่นว่า “การพัฒนาเมืองด้วยมลพิษ เป็นความคิดของคนไร้วิสัยทัศน์”
 
ขอให้ทุกคนรู้เท่าทัน...ระวังตกหลุมพราง “โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์” ขนาดกระจิดริดของ กฟผ.
 
ขอแสดงความนับถือ
กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก และเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จ.ประจวบฯ
 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ฌาปนกิจศพ “วสันต์ ภู่ทอง” เหยื่อสไนเปอร์ 10 เม.ย.53

Posted: 11 Sep 2011 01:04 PM PDT

ฌาปนกิจศพ “วสันต์ ภู่ทอง” เหยื่อสไนเปอร์เหตุการณ์ขอคืนพื้นที่ 10 เม.ย.53 แล้ว ที่วัดตำหรุ จ.สมุทรปราการ คนเสื้อแดงมาร่วมงานจำนวนมาก

ตอนบ่ายของวันที่ 11 ก.ย.2554 มีการจัดพิธีฌาปนกิจศพ นายวสันต์ ภู่ทอง คนเสื้อแดงที่เสียชีวิตจากสไนเปอร์ในเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่ 10 เม.ย.2553 โดยพิธีจัดขึ้นที่วัดตำหรุ ต.เมืองใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ มีคนเสื้อแดง หลายพันคนมาร่วมไว้อาลัยจนแน่นขนัดลานวัด

นายวสันต์ ถูกยิงเสียชีวิตในตอนหัวค่ำของวันที่ 10 เม.ย.2553 ที่บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ในเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่ถนนราชดำเนินของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยถูกยิงเข้าที่ศีรษะล้มลงขณะยืนถือธง

สถานที่ตั้งศพจัดขึ้นที่ลานวัด โดยตั้งโลงบรรจุศพนายวสันต์ไว้บนเมรุชั่วคราวขนาดใหญ่ที่ประดับประดาด้วยดอกไม้และลวดลายอย่างสวยงาม ส่วนอีกด้านหนึ่งของลานวัดมีการจัดเวทีปราศรัยซึ่งฉากหลังเป็นภาพนายวสันต์ขนาดใหญ่ มีข้อความ “สดุดี วีรชน คนกล้า ประชาธิปไตย วสันต์ ภู่ทอง”

บรรยากาศของงานเป็นไปอย่างคึกคัก แกนนำสำคัญของคนเสื้อแดงเดินทางมาร่วมอย่างพร้อมเพรียง อาทิ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นายจตุพร พรหมพันธุ์, นพ.เหวง โตจิราการณ์, นางธิดา ถาวรเศรษฐ์, นายก่อแก้ว พิกุลทอง, พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย โดยสลับกันขึ้นปราศรัยถึงการต่อสู้ของคนเสื้อแดงและสดุดีวีรกรรมของนายวสันต์ในเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย.2553 จากนั้นเป็นการทยอยกันขึ้นไปวางดอกไม้จันทน์ที่ชั้นล่างของเมรุด้านหน้าศพ พิธีการสิ้นสุดลงประมาณ 18.30 น. ส่วนการประชุมเพลิง ญาติและคนใกล้ชิดทำในเวลา 21.00 น.

 


 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วิกิลีกส์: ไมโครซอฟท์สนับสนุนเผด็จการตูนิเซีย เซ็นเซอร์-ดักฟังเน็ต ?

Posted: 11 Sep 2011 09:45 AM PDT

 

วิกิลีกส์เผย ไมโครซอฟท์จัดอบรมไอทีให้กับอดีตรัฐบาลเผด็จการตูนิเซีย ซึ่งความรู้จากการอบรมอาจถูกนำไปใช้ติดตามและจับกุมนักกิจกรรมออนไลน์ที่ ต่อต้านรัฐบาล ทั้งนี้หลังการตกลงดังกล่าวรัฐบาลตูนิเซียได้ซื้อซอฟต์แวร์จากไมโครซอฟท์ 12,000 ชุด องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนเรียกร้องให้มีมาตรการจัดการกับธุรกิจที่ สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชน

เอกสารที่อ้างว่าเป็นโทรเลขสถานทูตสหรัฐ
ระบุว่า ไมโครซอฟท์ บริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่จากสหรัฐอเมริกา ได้จัดโครงการฝึกอบรมไอทีให้กับของอดีตรัฐบาลเผด็จการตูนิเซีย (ซึ่งเพิ่งถูกโค่นล้มไป) เพื่อแลกกับการที่รัฐบาลตูนิเซียจะยกเลิกนโยบายการใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส

โดยต่อมารัฐบาลตูนิเซียได้สร้างเว็บไซต์ปลอม (phishing) เพื่อหลอกเอารหัสผ่านจากนักข่าว บล็อกเกอร์ และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลใช้ความรู้จากการอบรมดังกล่าว

ข้อตกลงระหว่างไมโครซอฟท์และรัฐบาลตูนิเซีย ซึ่งลงนามในปี พ.ศ. 2549 ระบุถึงความร่วมมือในเรื่อง รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ความมั่นคงไซเบอร์ สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และการพัฒนาความสามารถสำหรับโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ ของตูนิเซีย ไมโครซอฟท์จะตั้งศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์ในตูนิเซีย เพื่อพัฒนาการผลิตซอฟต์แวร์ในท้องถิ่น :

“โดยผ่านโครงการอาชญากรรมไซเบอร์ ไมโครซอฟท์จะอบรมเจ้าหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงมหาดไทย ถึงการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพื่อต่อสู้กับอาชญากรรม ในส่วนหนึ่งของโครงการนี้ ไมโครซอฟท์จะเปิดเผยซอร์สโค้ดต้นฉบับของซอฟต์แวร์ของตนให้กับรัฐบาลตูนิเซีย”

ผู้เขียนโทรเลขดังกล่าว ยังให้ความเห็นต่อไปว่า “ในทางทฤษฎีแล้ว การเพิ่มความสามารถในการบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลตูนิเซียนั้นเป็นเรื่องดี แต่เมื่อพิจารณาการที่รัฐบาลตูนิเซียแทรกแซงอินเทอร์เน็ตอย่างหนัก ทำให้มีคำถามว่าโครงการนี้จะเพิ่มความสามารถของรัฐบาลตูนิเซียในการจับตาดู พลเมืองของตัวเองหรือไม่” และปิดท้ายด้วยความเห็นที่ว่า “ในตอนสุดท้ายแล้ว ผลประโยชน์ที่ไมโครซอฟท์จะได้รับ จะมีมากกว่าราคาที่จ่ายไปมาก”

ไมโครซอฟท์ชี้แจงกับสำนักข่าวแซดดีเน็ตยูเค (ZDNet UK) ว่าการอบรมดังกล่าวเป็นการอบรมมาตรฐานที่หลักสูตรเหมือนกันทั่วโลก และไมโครซอฟท์ทำงานร่วมกับรัฐบาลหลายประเทศในการพัฒนานวัตกรรมไอทีและสร้าง งานในท้องถิ่น

จากการประเมินสถานการณ์เสรีภาพทั่วโลก “Freedom in the World” โดยองค์กรฟรีดอมเฮาส์ในปี 2554 ตูนิเซียถูกจัดเป็นประเทศที่ ‘ไม่เสรี’ รายงานระบุว่ารัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีไซเน่ เอล-อะบีดีน เบน อาลี ควบคุมการเลือกตั้งอย่างหนัก และคุกคามจับกุมบล็อกเกอร์ นักข่าว และฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ต่อมาเมื่อต้นปี 2554 ระบอบของ เบน อาลี ถูกโค่นล้ม และกลายเป็นจุดกำเนิดของการปฏิวัติต่อเนื่องในหลายประเทศตะวันออกกลาง ที่เรียกว่า “Arab Spring” หรือ “ฤดูใบไม้ผลิอาหรับ”

เมื่อต้นเดือนกันยายนนี้ องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) ได้ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกดำเนินมาตรการแทรงแซงทางการเงินกับองค์กรธุรกิจ ที่สนับสนุนรัฐบาลเผด็จการในการปราบปรามประชาชนของตัวเอง ในแถลงการณ์ดังกล่าวระบุชื่อบริษัทต่างๆ ในประเทศตะวันตก (สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, ฟินแลนด์, และฝรั่งเศส) ซึ่งรวมถึงบริษัทเทคโนโลยีและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ที่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในประเทศลิเบีย, บาห์เรน, ซีเรีย, จีน และไทย ในการดักฟังและติดตามจับกุมฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

(กรณีที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยนั้น เป็นการที่บริษัทเน็ตเฟิร์ม บริษัทสัญชาติแคนาดาซึ่งให้บริการให้เช่าพื้นที่เว็บอยู่ในแคลิฟอร์เนีย ได้ให้ข้อมูลหมายเลขไอพีและที่อยู่อีเมลของชาวไทยสัญชาติอเมริการายหนึ่งแก่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ของไทย ซึ่งนำไปสู่การจับกุมและคุมขัง การให้ข้อมูลส่วนตัวนี้ผิดกฎหมายของทั้งสหรัฐอเมริกาและแคนาดา)

ในแถลงการณ์ดังกล่าว ยังได้ระบุถึงคำพูดของประธานบริษัทไมโครซอฟท์สาขารัสเซีย ที่กล่าวว่าไมโครซอฟท์รัสเซียนั้นพร้อมที่จะมอบซอร์สโค้ดรหัสโปรแกรมของ สไกป์ (Skype) ให้กับหน่วยงานความมั่นคงของรัสเซีย ไมโครซอฟท์เข้าซื้อกิจการสไกป์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยซอฟต์แวร์ดังกล่าวเป็นเครื่องมือสื่อสารที่เป็นที่นิยมของผู้ใช้ อินเทอร์เน็ตทั่วไป รวมถึงนักเคลื่อนไหวทางการเมือง

ไมโครซอฟท์เป็นสมาชิกของพันธมิตร โกลบอลเน็ตเวิร์กอินิชิเอทีฟ (Global Network Initiative) หรือ GNI ซึ่งเป็นการรวมตัวของบริษัทเอกชน กองทุนการเงิน และองค์กรปกป้องสิทธิเสรีภาพ เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพอินเทอร์เน็ต

ปัจจุบัน GNI มีสมาชิกจากทั่วโลก 30 ราย สมาชิกอื่นๆ ได้แก่ กูเกิล, ยาฮู!, อิเล็กทรอนิกส์ฟรอนเทียร์ฟาวเดชั่น (EFF), ฮิวแมนไรท์วอช, และคณะกรรมการคุ้มครองสื่อ (Committee to Protect Journalists) เป็นต้น การที่ไมโครซอฟท์เป็นสมาชิก GNI นี้ ทำให้องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนคาดหวังให้ไมโครซอฟท์แสดงบทบาทผู้นำในการ คุ้มครองสิทธิมนุษยชน

แม้อินเทอร์เน็ตจะเป็นสื่อที่ไร้พรมแดน แต่ในปัจจุบัน การติดตามจับกุมผู้ก่อ “อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์” (ซึ่งรวมไปถึงการเผยแพร่ข้อมูลที่ขัดแย้งกับรัฐบาล) สามารถทำได้ผ่านกลไกและมาตรการระดับนานาชาติหลายส่วน ทั้งข้อตกลงการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ความร่วมมือระดับนานาชาติในเรื่องของความมั่นคงทางไซเบอร์ (เช่น ความร่วมมือแบบพหุภาคี IMPACT) กลไกตำรวจสากล (อินเทอร์โพล) และกฎหมายอินเทอร์เน็ตในหลายประเทศที่ระบุว่า ไม่ว่าการกระทำบนอินเทอร์เน็ตนั้นจะเกิดขึ้นในทางกายภาพที่ใดในโลก ก็จะมีความผิดตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ อยู่ดี เช่น มาตรา 17 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ของประเทศไทยที่ระบุว่า :

ผูใดกระทําความผิดตามพระราชบัญญัตินี้นอกราชอาณาจักรและ
(1) ผูกระทําความผิดนั้นเป็นคนไทย และรัฐบาลแหงประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้นหรือผูเสียหายไดรองขอใหลงโทษ หรือ
(2) ผูกระทําความผิดนั้นเปนคนตางดาว และรัฐบาลไทยหรือคนไทยเปนผูเสียหายและผูเสียหายไดรองขอใหลงโทษ
จะตองรับโทษภายในราชอาณาจักร

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีกลไกและมาตรการระดับนานาชาติใดๆ ที่ชัดเจน ที่จะบังคับเอาผิดกับบริษัทเอกชนที่สนับสนุนรัฐบาลในอีกประเทศในการก่อ อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้วยเหตุนี้องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนจึงเรียกร้องว่ารัฐบาลทั้งหลายจำเป็น ต้องมีมาตรการร่วมกัน ในการหยุดยั้งอาชญากรรมที่สนับสนุนโดยบริษัทเอกชน เพื่อปกป้องอินเทอร์เน็ตและผู้ใช้อินเทอร์เน็ต

ในปี 2554 ประเทศไทยถูกฟรีดอมเฮาส์จัดเป็นประเทศ ‘กึ่งเสรี’ โดยมีแนวโน้มที่แย่ลง (Freedom in the World 2011) และมีสถานการณ์สื่อมวลชนอยู่ในระดับ ‘ไม่เสรี’ (Freedom of the Press 2011) เช่นเดียวกับสถานการณ์อินเทอร์เน็ตที่ ‘ไม่เสรี’ เช่นกัน (Freedom on the Net 2011) ซึ่งประเด็นหลักอันหนึ่งที่ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มไม่เสรีในการจัดอันดับต่างๆ หลายสำนัก ก็คือการใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์และกฎหมายอื่นๆ ในการจับกุมผู้ใช้เน็ตที่คิดเห็นต่างจากรัฐ

ก่อนหน้านี้ วิกิลีกส์ก็ได้เปิดเผยรายงานของกงสุลสหรัฐประจำเชียงใหม่ ที่พูดคุยกับกลุ่มธุรกิจของสหรัฐฯ ในเชียงใหม่เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2554 โดยระบุว่าผู้บริหารของไมโครซอฟท์ไทยกังวลต่อแนวทางการสนับสนุนซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สของรัฐบาลไทย.

 

 

 


-----------------------------------
“My Computer Law” เป็นโครงการเพื่อการเสนอร่างกฎหมายคอมพิวเตอร์จากภาคประชาชน โดยประกอบไปด้วยกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตและกฎหมาย คอมพิวเตอร์, การรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหมู่ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง, การร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับประชาชน, การเสนอกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภา, และการผลักดันร่างดังกล่าวในสภา

เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://mycomputerlaw.in.th/2011/09/wikileaks-microsoft-helps-tunisia-censorship/

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เวทีนี้ไม่มี “มิดะ”

Posted: 11 Sep 2011 07:33 AM PDT

เมื่อค่ำคืนวันที่ 3 กันยาฯ ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานรำลึกครบรอบ “60 ปีเกิด 10 ปีจาก...จรัล มโนเพ็ชร” ศิลปินยิ่งใหญ่ของล้านนาที่ข่วงประตูท่าแพ (จ.เชียงใหม่) มาครับ ปีนี้จัดใหญ่กว่าทุกปี นอกจากเวทีแสดงก็ยังมีส่วนที่เป็นนิทรรศการบอกเล่าชีวิตและผลงานของจรัล รวมถึงซุ้มจำหน่ายของที่ระลึก หนังสือ และซีดีเพลงของเขา แต่ปลอดเหล้า-เบียร์ทุกชนิดนะครับ เนื่องด้วยมีผู้สนับสนุนหลักคือ สสส.

 
น่าดีใจครับ มีคนไปร่วมงานค่อนข้างเยอะมาก คงมีศิลปินในเมืองไทยน้อยคนเต็มทีที่ยังอยู่ในใจผู้คนได้ขนาดนี้ แม้จรัลจะจากโลกนี้ไปนานร่วม 10 ปีแล้วก็ตาม เท่าที่พอนึกออกตอนนี้เห็นจะมีมิตร ชัยบัญชากับพุ่มพวง ดวงจันทร์เท่านั้นแหละครับ
 
สำหรับผมและคนรุ่นเดียวกันหลายๆ คน หากจะบอกว่าโตมากับเพลงของจรัลก็คงไม่ผิดนัก จุดเด่นของเขาก็คือการเอาคำเมืองมาประยุกต์เข้ากับดนตรีโฟล์กซองของตะวันตก เพลงที่ติดหูจนร้องตามได้เลยตั้งแต่เด็กก็อย่างสาวมอเตอร์ไซค์, พี่สาวครับ, บ้านบนดอย แต่เพลงที่ทำให้ผมเริ่มสนใจและชื่นชมเขาจริงจัง ไม่ใช่เพลงกลุ่มนี้ (ซึ่งออกแนว ‘ตลาด’ ตามภาษาที่ใช้ในยุคนี้) แต่เป็นเพลงชื่อสั้นๆ ที่ผมเพิ่งมาได้ยินเอาครั้งแรกเมื่อตอนเข้าเรียนมหาลัยแล้ว เพลงที่ว่าคือเพลง มิดะ ยอมรับเลยครับว่าประทับใจแรกตรงท่วงทำนองที่ไพเราะกับเสียงร้องที่มีเสน่ห์ของจรัล โดยที่ยังไม่ทันได้ตั้งใจฟังเนื้อเพลงเท่าใด แต่เมื่อได้ฟังซ้ำหลายๆ รอบก็เริ่มชอบเนื้อหา แต่ก็ยังไม่ได้คิดถึงขนาดว่ามันจริงหรือไม่จริง ผมชอบจรัลที่กล้าจะแต่งเพลงที่ไม่ใช่เพลงรักหนุ่ม-สาวที่ถือเป็นกระแสหลัก (กระแสเดียว) ของวงการเพลงไทยในทุกยุคทุกสมัยออกมา
 
หลังจากนั้นผมก็เริ่มรู้จักเรื่องราวของคนเล็กๆ ที่เขาได้พบเห็นอย่างลุงต๋าคำ อุ้ยคำ ฯลฯ ไปจนถึงภาพชีวิตของชนชั้นสูงล้านนาที่มีทั้งความเป็นประวัติศาสตร์ และตำนานปะปนกัน ผ่านบทเพลงมะเมี๊ยะ น้อยใจยา ฯลฯ จรัลร้องเพลงพวกนี้เหมือนผู้ใหญ่กำลังนั่งเล่านิทานให้เด็กฟัง มันคือบทเพลงแบบบัลลาด (ballad) ถ้าเป็นภาพยนตร์ก็คงออกแนวกึ่งๆ สารคดี (semi-documentary film) นอกจากนี้เพลงของจรัลยังทำหน้าที่บอกเล่าถึงอัตลักษณ์ของล้านนา และความเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่นอีกมิใช่น้อย เช่น ของกิ๋นคนเมือง ผักกาดจอ อาขยานล้านนา ล่องแม่ปิง ฯลฯ
 
ที่ผมเล่ามาเสียยืดยาวก็เพื่อจะบอกว่าในสังคมที่เราเชื่อใน “ความเป็นไทย” แบบหนึ่งเดียวมาอย่างยาวนานนั้น จรัลคือ “คนเมือง”[1] เพียงไม่กี่คนที่สามารถทำให้ผู้คนทั้งประเทศรู้จักและเริ่มเข้าใจ “ความเป็นท้องถิ่น” ว่าแท้จริงแล้วมีสีสัน หลายหลาก และน่าหวงแหนเพียงใด หลายคนถึงกับยกย่องให้เขาเป็น นักรบทางวัฒนธรรม กระทั่งเป็น แก้วก๊อล้านนา (หรือเปรียบดั่งเพชรล้ำค่าของชาวล้านนา) เลยทีเดียว
 
ยังมิพักเอ่ยถึงเพลงของเขาในภาษากลางที่หลายต่อหลายเพลงโด่งดัง และได้รับความนิยมถึงขีดสุด ไม่ว่าจะเป็นรางวัลแด่คนช่างฝัน คิดถึงบ้าน เป็นต้น ในสายตาผม จากผลงานระยะหลังๆ ที่จรัลอยู่กรุงเทพฯ ผมว่าเขาได้กลายเป็นศิลปินแห่งชาติอีกคนไปแล้วโดยไม่รู้ตัว
 
แต่ระหว่างที่กำลังชมศิลปินมากหน้าหลายตาที่ส่วนใหญ่เป็นคนเมือง ที่ดังๆ หน่อยก็สุนทรี เวชานนท์ ไม้เมือง ปฏิญญา ตั้งตระกูล สลับสับเปลี่ยนกันขึ้นร้องอยู่ ปรากฏว่ามีศิลปินชายคนหนึ่งประกาศว่าจะขอเล่นเพลงมิดะ เท่านั้นแหละครับ ทีมงานรอบเวทีเป็นที่ตื่นตระหนกตกใจกันทั่วหน้า ไม่ทันไรพิธีกรหญิง และคุณมานิด อัชวงศ์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมศิลปินล้านนา หัวเรือใหญ่ของงาน ก็ถึงกับต้องขึ้นมาบนเวทีเพื่อกล่าวขอโทษศิลปิน และผู้ชมที่ไม่อาจจะให้ร้องเพลงนี้ได้ ด้วยเหตุผลเนื่องจากมีกระแสข่าวเกี่ยวกับเพลงมิดะ อย่างที่รู้กัน (?) เป็นอันว่าคืนนั้นผมอดฟังมิดะที่นั่นครับ
 
จากนั้นผมก็มุ่งตรงกลับบ้าน โดยก่อนที่จะถึงบ้านจะผ่านร้านสายหมอกกับดอกไม้ของคุณอันยา โพธิวัฒน์ คนข้างกายของจรัลในช่วงท้ายของชีวิต ก็เลยขอลองแวะสังเกตการณ์ซักครู่ บรรยากาศที่ร้านนี้เป็นไปตรงข้ามกันเลยครับ มีทั้งเหล้าเบียร์บริการ กลิ่นบุหรี่คละคลุ้ง มีจัดนิทรรศการเล็กๆ รำลึกถึงสิทธิพงษ์ กลยาณี หรือแซม ผู้สื่อข่าวและช่างภาพผู้เชี่ยวชาญด้านพม่าที่เสียชีวิตในวันเดียวกันนี้เมื่อปีที่แล้ว แต่ที่น่าสนใจกว่าคือที่นี่ร้องเพลงมิดะได้ (แต่ผมมาไม่ทันได้ฟังนะครับ) ยิ่งไปกว่านั้นคือยังมีการเปิดตัวหนังสือ ภารกิจปิดฝังมิดะ[2] อีกด้วย
 
พอได้ลองพลิกอ่านก็เลยถึงบ้างอ้อครับผม เรื่องของเรื่องก็มีอยู่ว่าช่วงต้นปีที่ผ่านมาได้มีแถลงการณ์ของนายอาจู จูเปาะ ประธานชมรมอาข่าในประเทศไทย และมีการจัดเสวนาทางวิชาการขึ้นอีกหลายครั้ง แต่คราวที่เป็นที่ตกเป็นกระแสในสื่อหลักหลายแขนงนั่นคือการเสวนา เรื่อง “มายาคติอาข่าในสังคมไทย คลายปมมิดะและลานสาวกอด” เมื่อปลายเดือนมกราฯ ที่จัดโดยโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง[3]
 
สรุปสั้นๆ จากคำพูดของนายอาจูได้ว่า “…แท้จริงแล้ว มิดะหรือในภาษาอาข่าอ่านออกเสียงว่า หมี่ดะ หมายถึงหญิงสาวบริสุทธิ์ที่ยังไม่เคยผ่านการแต่งงานมาก่อน และในสังคมชาวอาข่าไม่เคยมีผู้หญิงที่มีหน้าที่สอนเรื่องเพศให้แก่หนุ่มสาวเช่นนี้ ขณะที่ลานสาวกอดโดยความเป็นจริงแล้วชาวอาข่าไม่มีสถานที่แบบนี้เลย มีแต่บริเวณลานดินที่ใช้สำหรับร้องเพลงตามประเพณีเรียกว่า “แดข่อง” และเป็นสถานที่สำคัญที่หมู่บ้านอาข่าทุกหมู่บ้านจะต้องมี โดยมีลักษณะเป็นลานดิน ชาวบ้านจะนำท่อนไม้มาวางต่อกันเป็นวงกลมรอบๆ ลานแล้วหนุ่มสาวตลอดจนคนทุกวัยสามารถมาร่วมกันใช้สถานที่นี้เพื่อร้องรำทำเพลงตามประเพณีได้…”[4]
 
และผลสืบเนื่องของแถลงการณ์ฉบับนี้ ทำให้เพลง มิดะ ได้กลายสภาพเป็นเพลง ‘ต้องห้าม’ ในทางสาธารณะไปในที่สุด มีหลายคราหลังจากนั้นที่มีข่าวว่าศิลปินขึ้นเวทีร้องเพลงมิดะแล้วได้ถูกชาวอาข่าต่อว่าต่อขานทันที ส่วนตัวผมเห็นว่าเป็นสิทธิโดยชอบของชาวอาข่าอยู่แล้วที่จะทำได้ด้วยการออกมาชี้แจงทำความเข้าใจกับสังคมถึงความคลาดเคลื่อนของข้อมูลที่จรัลใช้ในการแต่งเพลงๆ นี้ ซึ่งข้อมูลที่ว่าก็น่าจะนำมาจากหนังสือ 30 ชาติในเชียงราย[5] ของบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ แต่มีบางคนพยายามโต้แย้งแทนให้ว่าข้อมูลนี้เป็นเรื่องจริง แต่มาจากเรื่องราวของชุมชมอาข่า (หรือชนเผ่าอีก้อแบบที่คนเมืองเรียก) แบบเก่าแก่ดั้งเดิมที่อาจพอจะมีหลงเหลือให้เห็นกันอยู่บ้างในแถบประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว ขณะที่กลุ่มคนอาข่าที่อพยพเข้ามาในไทยได้ละทิ้งจารีตแบบนี้ไปนานมากแล้ว จึงเป็นเรื่องของนักวิชาการที่สนใจจะไปศึกษาค้นคว้าหาหลักฐานข้อมูลมาคัดง้างกันต่อไป
 
แต่ถึงอย่างไร ผมไม่มีทางเห็นด้วยกับมาตรการที่จะบังคับให้มีการ ‘แบน’ เพลงมิดะได้หรอกครับ ผมเชื่อว่ายังไงๆ เพลงก็คือเพลง เพลงเป็นงานศิลปะแขนงหนึ่ง จรัลไม่ใช่นักวิชาการหรือนักวิจัย (หรือกระทั่งงานวิจัยเองก็อยู่ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ มากมาย เช่น บริบทเปลี่ยนปรากฏการณ์เปลี่ยน การตีความเหตุการณ์เดียวกันของแต่ละคนก็อาจจะไม่เห็นเหมือนกัน ฯลฯ) ชายผู้นี้เป็นศิลปิน ใช้จินตนาการและความคิดในการสร้างสรรค์บทเพลงต่างๆ ออกมามากมาย อีกทั้งเขาก็ไม่ได้มีเจตนาจะให้ร้ายอาข่า แค่อยากถ่ายทอดเรื่องราวจากมุมเล็กๆ ที่ไม่ค่อยจะมีคนรู้จักหรือให้ความสนใจมาก่อนก็เท่านั้น ในความคิดผม เพลงมิดะไม่สมควรถูกระงับการเผยแพร่ไม่ว่าทางใดครับ การเลือกที่จะปิดกั้นอะไรก็ตามที่มีคนบางคน-บางกลุ่มเห็นว่าไม่เหมาะสมอยู่ตลอดเวลาเท่ากับจะเป็นการทำลายพลังสร้างสรรค์ของศิลปินลงไปเรื่อยๆ ผมเชื่อว่าประเด็นต่างๆ ที่กระตุ้นให้เกิดการถกเถียงทำนองนี้จะส่งผลดีต่อสังคมในระยะยาว ผู้คนก็จะได้เรียนรู้ พิจารณาดูเหตุดูผลของทั้งสองฝ่ายไปพร้อมๆ กัน เขาก็ร้องของเขาไป เราก็บอกของเราไป นักเขียนคนหนึ่งเขียนไว้ในหนังสือเล่มดังกล่าวอย่างนั้น สังคมประชาธิปไตยที่เปิดกว้างต้องไปสู่จุดนั้นให้ได้ ถ้าเรายังอยากจะเป็นอยู่น่ะครับ
 
ว่าแล้วผมก็เปิดเว็บไซต์ YouTube หาเพลงมิดะฟังซักรอบก่อนเข้านอน “...ฮืม..........บนฟ้ามีเมฆลอย บนดอยมีเมฆบัง...”
 
 

[1] คนเมือง หรือที่เดิมเคยเรียกว่า คน ไทยวน หรือ โยน หรือ โยนก เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลักที่อาศัยอยู่ในบริเวณ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนของไทยปัจจุบัน ได้แก่ เชียงราย, เชียงใหม่, น่าน, พะเยา, แพร่, แม่ฮ่องสอน, ลำปาง และลำพูน นอกจากนี้ยังมี “คนเมือง” กลุ่มใหญ่อาศัยอยู่ในบางอำเภอของจังหวัดใกล้เคียง เช่น ตาก, อุตรดิตถ์ และสุโขทัย
กล่าวในเชิงประวัติศาสตร์ คำว่า “คนเมือง” เริ่มถูกใช้มาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ช่วงล้านนาต้องตกเป็นเมืองขึ้นของสยาม (แบบหลวมๆ) เนื่องด้วยในสมัยนั้น การกอบกู้บ้านเมืองมีการ ‘เทครัว’ กวาดต้อนผู้คนหลายหลากกลุ่มเข้ามามากมาย (หลายคนเรียกว่าเป็นยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง”) ทำให้มีความแตกต่างในแต่ละกลุ่มเป็นอันมาก คำๆ นี้ (นัยก็คือ “คนพื้นเมือง” นั่นเอง) จึงเกิดขึ้นมาใช้เรียกตัวเอง เพื่อแยกความแตกต่างของ ‘ผู้คน’ โดยเริ่มใช้ที่เชียงใหม่ก่อนแล้วค่อยๆ แผ่ลามออกไป โปรดดู ธเนศวร์ เจริญเมือง, คนเมือง, (เชียงใหม่: หจก.เชียงใหม่โรงพิมพ์แสงศิลป์, 2544).
[2] ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร และอันยา โพธิวัฒน์, ภารกิจปิดฝังมิดะ, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เนรพูสีไทย, 2554).
[3] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมจาก http://museum.mfu.ac.th/download-pdf/akha001.pdf
[4] อ้างใน “คลี่ปม “มิดะ-ลานสาวกอด” กู้ศักดิ์ศรีหญิงชาวอาข่า,” http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000047707
[5] บุญช่วย ศรีสวัสดิ์, 30 ชาติในเชียงราย, (พิมพ์ครั้งที่ 3), (กรุงเทพฯ: ศยาม, 2551).
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คนงานเหนือหารือ ส.ส.เพื่อไทย ยืนยันค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท

Posted: 11 Sep 2011 07:18 AM PDT

กลุ่มผู้ใช้แรงงานภาคเหนือเพื่อประชาธิปไตยปรึกษาหารือเรื่องนโยบาบค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทกับนายสถาพร มณีรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดลำพูน อดีตประธานสหภาพแรงงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ย้ำอย่าไหวเอนตามนายทุนอำมาตย์คนงานพร้อมหนุนเต็มที่

11 ก.ย. 54 - กลุ่มผู้ใช้แรงงานภาคเหนือเพื่อประชาธิปไตย และสหภาพแรงงานเขตนิคมอุตสาหกรรมลำพูนนำโดย นายอนุชา มีทรัพย์ นายชัชวาล์ แก้วหน่อ และนายนายวิสิษฐ์ ยาสมุทร ได้ปรึกษาหาืรือเรื่องนโยบาบค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทกับนายสถาพร มณีรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดลำพูน อดีตประธานสหภาพแรงงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งนายสถาพร ยืนยันรัฐบาลเดินหน้าค่าจ้างขั้นต่ำ300 บาท ซึ่งมิได้รวมค่าสวัสดิการอื่นๆแต่อย่างใดแน่นอน พร้อมกันนี้คนงานภาคเหนือได้ยื่นหนังสือถึงรัฐบาล ให้ยืนยันนโยบายนี้ อย่าไหวเอนตามนายทุนอมาตย์ คนงานพร้อมสนับสนุน โดยมีรายละเอียดดังนี้

0 0 0

เรียน นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิกาสังคม นาย เผดิมชัย สะสมทรัพย์ ผ่านนายสถาพร มณีรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดลำพูน
เรื่อง สนับสนุนนโยบายค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศและการแก้ไขปัญหาแรงงานโดยผู้ใช้แรงงานมีส่วนร่วม

สืบเนื่องมา การเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยได้รับคะแนนเสียงสูงสุดจำนวนกว่า 15 ล้านเสียง จนนำสู่การจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งคะแนนเสียงที่ได้รับความไว้วางใจมากมายในครั้งนี้ ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าประชาชนทุกหมู่เหล่ารวมทั้งผู้ใช้แรงงานต้องการให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย โดยอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

และในช่วงที่มีการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยได้เสนอนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เป็นผลให้ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ได้สนับสนุนในการเลือกพรรคเพื่อไทย เนื่อง เพราะนโยบายนี้จะทำให้ผู้ใช้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ภายหลังจากที่นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาลหลายยุคหลายสมัยนับเป็นเวลาร่วม หลายสิบปีไม่ได้มีนโยบายที่มีจุดยืนเคียงข้างผู้ใช้แรงงานเช่นนี้ แต่กลับเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนเท่านั้น ทำให้ผู้ใช้แรงงานมีสภาพความเป็นอยู่อย่างอัตคัต มีหนี้สินล้นพ้นตัว จักมีชีวตอยู่รอดได้ต้องทำให้หนักขึ้น ต้องทำงานล่วงเวลา ต้องไม่มีวันหยุด เป็นการทำลายความเป็นมนุษย์ของผู้ใช้แรงงาน

นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการคืน “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”ให้กับผู้ใช้แรงงาน และคืน “ความยุติธรรม” ให้กับผู้ใช้แรงงาน ในฐานะผู้ใช้แรงงานเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม เป็นผู้สร้างสรรค์ผลิตสรรพสิ่งให้กับสังคม ในฐานะผู้ใช้แรงงานมีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญ ความมั่งคั่งให้กับประเทศ

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางที่ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่สนับสนุนนโยบายนี้ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย กลับมีนายทุน องค์กรนายจ้าง เครือข่าย สื่อมวลชน นักวิชาการ ของฝ่ายอำมาตยาธิปไตย ที่ออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ในการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา รัฐบาลได้ใช้คำว่า “รายได้” มิได้ใช้คำว่า “ค่าจ้างขั้นต่ำ” ทำให้เกิดคำถามว่า รายได้หมายถึงการทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงหรือไม่ ? รวมถึงสวัสดิการอื่นๆด้วยหรือไม่ ? ซึ่งทำให้พรรคประชาธิปัตย์ สื่อมวลชน นักวิชาการ ผู้นำแรงงานฝ่ายอำมาตยาธิปไตย ฉวยโอกาสวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลหลอกลวงประชาชน

แม้ว่า รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ได้แถลงข่าวยืนยันว่า “รายได้” เท่ากับ “ค่าจ้างขั้นต่ำ” เพียงแต่ใช้คำต่างกัน ซึ่งที่จริงแล้วรัฐบาลควรใช้คำว่า “ค่าจ้างขั้นต่ำ” เพื่อมิให้เกิดความสับสนคลุมเคลือ ซึ่งก็ต้องพิสูจน์รูปธรรมกันต่อไป

นอกจากนี้แล้ว อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้สัมภาษณ์ voice tv เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า ตอนที่ไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อเยี่ยมเยียนผู้ประสบภัยสึนามึ ได้พูดคุยทำความเข้าใจกับนักธุกิจญี่ปุ่น ถึงความสำคัญและจำเป็นต้องมีนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เพื่อสร้างประสิทธิภาพ แรงจูงใจและให้ความยุติธรรมกับผู้ใช้แรงงาน จนนักธุรกิจญี่ปุ่นเข้าใจและสนับสนุนโยบายดังกล่าวด้วย

เราในฐานะผู้ใช้แรงงาน ภาคเหนือ ในเขตนิคมอุตสหกรรม ลำพูน ซึ่งเป็นแหล่งลงทุนของนายทุนไทยและนายทุนจากหลายประเทศ มีความคิดเห็นและมีข้อเรียกร้องว่า

1รัฐบาล ต้องไม่ไหวเอนไปตามการคัดค้านของนายทุนและเครือข่ายอำมาตยาธิปไตย ทั้งหลาย และจงมุ่งมั่นทำตามนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ มิใช่เพียง 7 จังหวัดนำร่องเท่านั้น รวมทั้งเขตนิคมอุตสาหกรรม ลำพูน ด้วย ซึ่งนายทุนจำนวนมากล้วนแต่ได้รับผลกำไรจากการลงทุนจำนวนมหาศาลด้วยการขูดรีดแรงงานโดยค่าจ้างต่ำ สวัสดิการน้อย และรัฐบาลต้องมีนโยบายแก้ไขปัญหาสำหรับการลงทุนของธุรกิจรายย่อยที่ได้รับความเดือดร้อนตามความเหมาะสมด้วยเช่นกัน

2.รัฐบาล ต้องมีมาตราการเข้มในการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐานมิให้ฉวยโอกาส ขึ้นราคาซึ่งจะสร้างความเดือนร้อนให้กับประชาชนและนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำก็จะ ไม่มีความหมายแต่อย่างใด

3 รัฐบาลต้องให้การรับรองสัตยาบัน ILO มาตราที่ 87 และ 98 เพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ใช้แรงงานตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย

4.รัฐบาลต้องมีแผนจัดกระบวนการแก้ไขปัญหาด้านนโยบายและกฎหมายของผู้ใช้แรงงานในระยะยาวด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและมีความยุติธรรมให้กับผู้ใช้แรงงาน เช่น การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานในปัจจุบันทุกฉบับที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพผู้ใช้แรงงาน มีช่องโหว่และเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน โดยมีตัวแทนผู้ใช้แรงงานทั้งส่วนภูมิภาคและส่วนกลาง เข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหาด้วย

5.ท้ายสุด จงเชื่อมั่นเถิดว่าผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่สนับสนุนนโยบายที่มีจุดยืนเคียงข้างผู้ใช้แรงงาน เพื่อ คืน “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” และ”ความยุติธรรม”ให้กับผู้ใช้แรงงาน ขณะเดียวกันหากนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทของรัฐบาลไม่เกิดเป็นรูปธรรมหรือทำไม่ได้จริง ก็จักเป็นผลทำให้รัฐบาลสูญเสียความนิยมฐานเสียง และฝ่ายอำมาตยาธิปไตยใช้โจมตีทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลได้เช่นกัน
 

 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปิดถนนหน้าสำนักงาน ส.ส.เพื่อไทย ค้านสร้างโรงไฟฟ้าสระแก้ว

Posted: 11 Sep 2011 05:01 AM PDT

กลุ่มต้านโรงไฟฟ้าสระแก้ว ฮือปิดถนนหน้าสำนักงาน ส.ส.เพื่อไทย เพื่อคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล

11 ก.ย. 54 - ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าที่บริเวณหน้าสำนักงานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคเพื่อไทย จ. สระแก้ว ริมถนนสุวรรณศร อ.เมือง จ.สระแก้ว ได้มีกลุ่มชาวบ้านจากตำบลศาลาลำดวน จำนวนประมาณ 200 คน เดินทางไปรวมตัว และปิดถนนสุวรรณศร ขาออกจากตัวเมือง เพื่อยื่นหนังสือถึง นายฐานิสร์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้ระงับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 9 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ แต่ นายฐานิสร์ ติดราชการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมอยู่ต่างจังหวัด จึงมีเจ้าหน้าที่ออกมารับหนังสือแทน และรับปากว่า จะนำเรียน นายฐานิสร์ ให้ สร้างความไม่พอใจให้กลุ่มผู้ประท้วงและพากันฮือปิดถนนทั้ง 4 เลน ทำให้การจราจรในเมืองสระแก้วเป็นอัมพาตทันที
      
นายศานิตย์ นาคสุขศรี ผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่า กลุ่มชาวบ้านต้องการอะไร เพราะก่อนหน้านี้ ได้รวมตัวกันไปพบตนแล้ว และได้ยื่นข้อเรียกร้องไปดำเนินการ ใน 3 ประเด็น คือ เรื่องที่ผู้นำท้องถิ่นปลอมลายมือชื่อชาวบ้านที่เข้าประชุมชี้แจงเรื่องก่อตั้งโรงไฟฟ้า ตนก็ให้ไปแจ้งความดำเนินคดี และทางตำรวจก็ได้สอบสวนและส่งไปยัง ป.ป.ช.แล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องการให้ย้ายโรงไฟฟ้าออกจากพื้นที่เดิม
      
จังหวัดก็ได้ส่งเรื่องไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมให้พิจารณาดำเนินการแล้ว เพราะจังหวัดไม่มีอำนาจ ส่วนประเด็นสุดท้ายต้องการให้ระงับการก่อสร้างทันที ก็แนะนำให้ไปฟ้องศาลปกครอง และร้องขอความคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งศาลปกครองภาค 2 ก็นัดไต่สวนแล้ว ในวันที่ 10 เดือนหน้านี้ ทุกอย่างที่ต้องการกำลังอยู่ในกระบวนการทั้งสิ้น ส่วนข้อเรียกร้องให้ถอดถอนกำนัน และ นายก อบต.คงทำให้ไม่ได้ เพราะไม่มีอำนาจ
      
“ทางจังหวัดคงไม่ใช้ความรุนแรงกับชาวบ้าน คงต้องใช้วิธีเจรจากันก่อน แต่ถ้าประชาชนต้องเดือดร้อนอย่างมาก และการพูดคุยไม่ได้ผล ก็คงต้องใช้มาตรการทางกฎหมายต่อไป ขอให้ประชาชนมั่นใจในตัวผู้ว่า ว่าดำเนินการทุกอย่างโปร่งใส และตรวจสอบได้ ผมไม่ต้องการให้คนอื่น ที่มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ เข้ามาทำร้ายจังหวัดสระแก้ว” ถึงแม้ว่า ชาวบ้านที่ประท้วงจะด่าว่า นักการเมืองและข้าราชการชั่ว ก็ตาม”
      
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังจากปิดถนนทั้ง 4 เลน หน้าสำนักงาน ส.ส.แล้ว กลุ่มชาวบ้านได้ ยื่นข้อเรียกร้องให้ ทางราชการออกคำสั่งให้โรงงานไฟฟ้า เคลื่อนย้ายเครื่องมือหนัก ออกจากสถานที่ก่อสร้างทันที แต่ไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ จึงได้ตัดสินใจ ยุติการปิดถนน และ เคลื่อนย้ายไปชุมนุมที่บริเวณก่อสร้างโรงไฟฟ้าแทน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นอม ชอมสกี้ มองย้อนโศกนาฏกรรม 9/11

Posted: 11 Sep 2011 04:53 AM PDT

 

บัดนี้ (ตามเวลาของผู้เขียนบทความ) ก็ใกล้จะครบรอบ 10 ปีเหตุการณ์วินาศกรรมวันที่ 11 ก.ย. 2001 แล้ว ซึ่งเป็นปกติที่จะมีการจัดรำลึก ในวันที่ 1 พ.ค. ผู้ที่น่าจะเป็นตัวบงการเบื้องหลังอาชญากรรม โอซามา บิน ลาเดน ก็ถูกสังหารในปากีสถานโดยหน่วยคอมมานโดของสหรัฐฯ กับนาวีซีล หลังจากที่เขาถูกจับตัวเอาไว้โดยไม่มีอาวุธป้องกันตนเองในปฏิบัติการเจอโรนิโม

นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าแม้บิน ลาเดน จะถูกสังหารแล้ว แต่เขาก็ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในสงครามที่เขาก่อกับสหรัฐฯ อิริก มารืโกลิสเขียนไว้ว่า "เขาได้ย้ำเสมอว่าวิธีการเดียวที่จะทำให้สหรัฐฯ ออกห่างจากโลกมุสลิมและเอาชนะเหล่าข้าหลวง (satraps-เป็นคำที่ใช้เรียกผู้ปกครองมณฑลของเปอร์เซีย) พวกนั้นได้คือการดึงให้สหรัฐฯ มาทำสงครามย่อมๆ แต่ราคาแพง จนทำให้พวกนั้นล้มละลายได้"

อิริก เขียนไว้อีกว่า "ซึ่งก็คือการ 'การทำให้สหรัฐฯ หลั่งเลือด' ในคำของเขา สหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของจอร์จ ดับเบิ้ลยุ บุช ไปจนถึงบารัค โอบาม่า ต่างก็พุ่งเข้าหากับดักของบิน ลาเดน ... ด้วยแผนการใช้จ่ายงบประมาณการทหารที่สุดพิศดารและการเสพย์ติดหนี้... ตัวนี้แหละอาจเป็นภัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ชายผู้นั้นฝากทิ้งไว้ ชายผู้ที่คิดว่าตนจะเอาชนะสหรัฐฯ" โดยส่วนหนึ่งแล้วการติดหนี้ของสหรัฐฯ ก็ถูกพวกขวาจัดนำมาใช้ประโยชน์กับกาสมรู้ร่วมคิดกับพรรคเดโมแครต เพื่อบ่อนทำลายโครงการณ์ทางสังคมต่างๆ เช่น การศึกษาสาธารณะ, สหภาพแรงงาน และโดยทั่วไปคือเกราะคุ้มกันที่เหลืออยู่ที่จะคอยป้องกับระบอบบรรษัททรราช

การที่รัฐบาลสหรัฐฯ ตอบสนองความปรารถนาอันแรงกล้าของบิน ลาเดน นั้นก็เป็นไปในชั่วพริบตา เช่นที่ผมได้เขียนไว้ในหนังสือชื่อ 9/11 ที่เขียนขึ้นไม่นานหลังจากเหตุการณ์เกิด ใครที่มีความรู้ในด้านนี้คงเข้าใจดีว่า "การโจมตีชาวมุสลิมอย่างหนักนั้นเป็นการตอบสนองคำภาวนาของบิน ลาเดนและพรรคพวกของเขา และจะทำให้สหรัฐฯ กับประเทศพันธมิตรถูกล่อลวงไปสู่ 'กับดักปีศาจ' เช่นที่รัฐบาลต่างประเทศของฝรั่งเศสเคยกล่าวไว้"

ไมเคิล ชาวเออร์ นักวิเคราะห์อาวุโสของซีไอเอที่มีส่วนรับผิดชอบกับการตามล่าโอซาม่า บิน ลาเดน ตั้งแต่ปี 1996 ก็เขียนเอาไว้ไม่นานจากนั้นว่า "บิน ลาเดน พูดอย่างตรงไปตรงมาว่าทำไมเขาถึงต้องการทำสงครามกับสหรัฐฯ เขาออกมาเพื่อให้สหรัฐฯ และโลกตะวันตกเปลี่ยนนโยบายการปฏิบัติต่อโลกอิสลาม" แล้วก็สำเร็จลุล่วงด้วย "กองกำลังของสหรัฐฯ ทำให้โลกอิสลามถูกมองเป็นกลุ่มหัวรุนแรง เป็นสิ่งเดียวกับที่โอซามา บิน ลาเดน พยายามจะทำ ซึ่งเขาได้ทำเป็นรูปเป็นร่างมาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 1990s แล้ว ผลก็คือผมคิดว่า หากเราจะสรุปว่าสหรับอเมริกาเป็นพันธมิตรหนึ่งเดียวที่บิน ลาเดน ขาดไม่ได้ก็คงไม่ผิดนัก" แล้วก็ยังคงเป็นอยู่ด้วย แม้ว่าเขาจะตายไปแล้วก็ตาม

 

9/11 ของแท้ครั้งแรก

มีทางเลือกอื่นอีกหรือไม่? มีความเป็นไปได้ที่กลุ่มสงครามศาสนาซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่ถูกวิจารณ์ในเรื่องนี้จะเป็นเป็นบิน ลาเดน อาจจะถูกแบ่งแยกหรือบ่อนทำลายหลังเหตุการณ์ 9/11 "อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ" ชื่อเรียกที่ถูก และควรจะมีวิธีทางแก้ปัญหาในฐานะอาชญากรรมโดยปฏิบัติการชองนานาชาติในการจับกุมผู้ต้องสงสัย ซึ่งเป็นเรื่องที่มีคนเห็นด้วยในเวลานั้น แต่ไม่มีการพิจารณาใดๆ เลย

ในหนังสือ 9/11 มีการอ้างคำพูดของ โรเบิร์ท ฟิสก์ ซึ่งมีข้อสรุปว่า "อาชญากรรมอันน่าสะพรึง" ของ 9/11 นั้นเป็นการกระทำอย่าง "ชั่วช้าและด้วยความโหดเหี้ยมอำมหิต" ซึ่งเป็นการตัดสินที่แม่นตรง และควรจะจดจำไว้ว่าไม่มีอาชญากรรมไหนจะเลวร้ายไปกว่านี้อีก จะยกตัวอย่างที่เลวร้ายกว่าคือการไปไกลถึงขั้นระเบิดทำเนียบขาว สังหารประธานาธิบดี อาศัยระบอบเผด็จการทหารสังหารประชาชนนับพันและทรมานประชาชนอีกนับหมื่น ขณะเดียวกันก็จัดตั้งหน่วยงานก่อการร้ายในระดับนานาชาติที่ส่งเสริมให้มีการทรมานและสร้างความหวาดกลัวในรัฐอื่น มีการวางแผนลอบสังหารในระดับนานาชาติ และกระตุ้นให้เลวร้ายไปกว่านี้ด้วยการตั้งทีมเศรษฐกิจ ใช้ชื่อว่า "เดอะ กันดาฮาร์ บอย" (Kandahar - เขตปกครองในอัฟกานิสถาน) ผู้ที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ถ้าเป็นเช่นนี้แหละ ถึงจะเรียกว่าเลวร้ายกว่า 9/11

แต่โชคร้ายที่สิ่งที่กล่าวมานี้ไม่ใช่แค่สิ่งที่ทดลองคิดขึ้นมาเล่นๆ มันได้เกิดขึ้นจริง สิ่งเดียวที่ไม่แม่นคือ มันควรจะเอาไปคูณด้วย 25 เพื่อสามารถเทียบกับอัตราเฉลี่ยต่อหัวได้ แน่นอนว่าผมกำลังจะกล่าวถึงสิ่งที่ประเทศละตินอเมริกามักจะเรียกว่า "9/11 ครั้งแรก" คือเหตุการณ์ในวันที่ 11 ก.ย. 1973 เมื่อสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการล้มรัฐบาลประชาธิปไตยของ ซัลวาดอร์ อัลเลนด์ ในชิลี โดยการก่อรัฐประหารและนำนายพลปิโนเชต์ เผด็จการผู้โหดเหี้ยมขึ้นเป้นผู้นำ เป้าหมายจากปากคำของรัฐบาลนิกสันคือการขจัด "ไวรัส" ซึ่งจะคอยหนุนให้ "พวกต่างชาติที่จะมาหาเรื่องเรา" ยึดครองทรัพยากรกลับคืนไปเป็นของพวกเขาเอง และเริ่มมีนโยบายในการพัฒนาประเทศอย่างไม่ขึ้นกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่สหรัฐฯ ยอมไม่ได้ ในเบื้องหลังนั้นสภาความมั่นคงแห่งชาติได้สรุปว่า หากสหรัฐฯ ไม่สามารถควบคุมละตินอเมริกาได้ ก็อย่างหวังที่จะ "ใช้อำนาจควบคุมที่อื่นในโลก"

เหตุการณ์ 9/11 ครั้งแรกนั้นไม่เหมือนครั้งที่สอง มันไม่ได้ถึงขั้นเปลี่ยนโลก "ไม่มีอะไรที่ถือเป็นผลกระทบใหญ่หลวง" เช่นที่เฮนรี่ คิสซิงเจอร์ รมต.ต่างประเทศในสมัยนั้นได้กล่าวกับประธานาธิบดี

เหตุการณ์ที่ส่งผลน้อยนิดนี้ไม่ได้มีเพียงแค่การรัฐประหารที่ทำลายประชาธิปไตยของชิลีและก่อให้เกิดเรื่องน่ากลัวตามมาเท่านั้น '9/11 ครั้งแรก' เป็นเพียงแค่บทหนึ่งของละครที่เริ่มเรื่องมาตั้งแต่ 1962 เมื่อ จอห์น เอฟ เคนเนดี้ เปลี่ยนรูปแบบพันธกิจของกองทัพละตินอเมริกาจาก "การคุ้มกันภูมิภาค" ซึ่งต่อเนื่องมาจากสงครามโลกครังที่ 2 ไปเป็น "ความมั่นคงภายใน" ซึ่งเป็นแนวคิดที่ถูกตีความอย่างน่าขนลุกภายในวงชาวละตินอเมริกาที่ถูกสหรัฐฯ ครอบงำ

เมื่อไม่นานมานี้ทางมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ก็มีหนังสือ History of the Cold War ออกมา โดยนักวิชาการด้านละตินอเมริกา จอห์น โคทเวิร์ธเขียนไว้ว่า ตั้งแต่เวลานั้นมาจนถึง "การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1990 จำนวนนักโทษการเมือง เหยื่อที่ถูกทรมาน และการสังหารผู้ประท้วงทางการเมืองที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรงในละตินอเมริกาก็มีมากขึ้นจนแซงหน้าสหภาพโซเวียตและประเทศยุโรปตะวันออกที่เป็นประเทศบริวาร" รวมถึงการสละชีพทางศาสนาและการสังหารหมู่ที่มีการสนับสนุนหรือริเริ่มจากรัฐบาลสหรัฐฯ ด้วย เหตุรุนแรงครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้นคือการสังหารปัญญาชนละตินอเมริกัน 6 รายอย่างโหดเหี้ยม รวมถึงนักบวชนิกายเยซูอิด เพียงไม่กี่วันหลังจากกำแพงเบอร์ลินแตก ผู้ก่อการคือหน่วยทหารพิเศษของเอล ซัลวาดอร์ ที่เคยกระทำการนองเลือดอย่างน่าหวาดผวา ถูกฝึกมาจากโรงเรียนฝึกหน่วยรบพิเศษของจอห์น เอฟ เคนเนดี รับคำสั่งโดยตรงมาจากเบื้องสูงของสหรัฐฯ

ผลที่ตามมายังคงทำให้ภูมิภาคนี้ย่ำแย่ และกระทบกระเทือนอย่างมาก

 

จากลักพาตัว ทรมาน ไปจนถึงลอบสังหาร

ทั้งหมดนี้รวมถึงเรื่องที่ใกล้เคียงกันกลับถูกเพิกเฉยราวกับว่าไม่ได้ส่งผลอะไรมาก แล้วก็ลืมเลือนไป กลุ่มคนที่มีภารกิจต้องคอยปกครองโลกชื่นชมกับภาพลักษณ์ที่ชวนให้ตัวเองสบายใจมากกว่า มีการสื่อออกมาอย่างดีในวารสารที่น่านับถือ (และมีคุณค่า) เล่มล่าสุดของสถาบันราชบัณฑิตด้านการต่างประเทศของลอนดอน บทความหลักในเล่มกล่าวถึงเรื่อง "การจัดระเบียบโลกอย่างมีวิสัยทัศน์" ของ "ยุคครึ่งหลังศตวรรษที่ยี่สิบ" โดยเน้นถึง "การทำให้วิสัยทัศน์ด้านความมั่งคั่งทางพาณิชย์ในแบบอเมริกันกลายเป็นสากลโลก" มันก็มีอะไรบางอย่างที่น่าจะจริง แต่ก็ไม่ได้โยงให้นึกถึงคนที่อยู่ปลายปากกระบอกปืน

เป็นเรื่องเดียวกันกับการสังหารโอซามา บิน ลาเดน ที่ทำให้ "สงครามต่อต้านการก่อการร้าย" ดำเนินมาถึงจัดสุดท้าย ซึ่งคำว่า "สงครามต่อต้านการก่อการร้าย" นี้เองถูกประกาศโดยจอร์จ ดับเบิ้ลยุ บุช ในเหตุการณ์ 9/11 ครั้งที่สอง เราลองมาปรับทัศนะเกี่ยวกับเหตุการณ์และความสำคัญของมันดูบ้าง

ในวันที่ 1 พ.ค. 2011 โอซามา บิน ลาเดน ถูกสังหารในที่พักที่ไม่มีการคุ้มกัน โดยกลุ่มจู่โจมนาวีซีล 79 ราย ที่เข้าไปในปากีสถานโดยเฮลิคอปเตอร์ หลังจากมีเรื่องราวน่ากลัวจำนวนมากออกมาจากรัฐบาลแล้วก็เงียบหายไป ในทีสุดรายงานอย่างเป็นทางการก็ทำให้กระจ่างขึ้นมาว่าการปฏิบัติการในครั้งนี้เป็นการวางแผนสังหาร โดยมีการละเมิดบรรทัดฐานของกฏหมายนานาชาติหลายข้อ เริ่มจากการรุกล้ำเขตแดนอันดับแรก

ดูเหมือนพวกเขาจะไม่พยายามจับกุมผู้ที่ไม่มีอาวุธอยู่ในมือเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้แน่ๆ สำหรับหน่วยรบพิเศษ 79 นายที่ไม่มีอะไรต่อต้าน เว้นแต่ตามที่รายงานบอกคือภรรยาของบิน ลาเดน ซึ่งก็ไม่มีอาวุธเช่นกัน แล้วพวกเขาก็ยิงภรรยาของบิน ลาเดน ขณะที่เธอ "พุ่งเข้าใส่" พวกเขา หากอ้างจากที่ทำเนียบขาวบอก

มีผู้เล่าถึงเหตุการณ์นี้ในอีกมุมมองหนึ่งที่น่าเชื่อถือได้คือจากผู้สื่อข่าวตะวันออกกลางที่มากประสบการณ์อย่า ง โยชิ เดรียเซน และเพื่อนร่วมงานจากหนังสือพิมพ์ Atlantic เดรียเซนเคยเป็นนักข่าวสายการทหารให้กับ Wall Street Journal มาก่อน แล้วยังเป็นผู้สื่อข่าวอาวุโสให้กับกลุ่มเนชันนัลเจอร์นัลกรุ๊ปในประเด็นการทหารและความมั่นคงของประเทศ จากการสืบสวนของพวกเขาแล้วรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้พิจารณาเรื่องการจับเป็นบิน ลาเดน เลย "เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลจากที่ประชุมหารือว่า ทางรัฐบาลได้สั่งการอย่างชัดเจนกับปฏิบัติการลับของหน่วยรบพิเศษร่วมว่าต้องการจับตายบิน ลาเดน เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงก็ออกคำสั่งอย่างสังเขปกับหน่วยซีลว่าภารกิจของพวกเขาไม่ใช่การจับเป็น"

พวกเขายังได้เสริมไว้ด้วยว่า "หลายคนในเพนทากอนและหน่วยข่าวกรองกลางที่ใช้เวลากว่าทศวรรษออกล่าบิน ลาเดน ต่างก็คิดว่าการสังหารผู้นำกลุ่มติดอาวุธคนนี้เป็นการล้างแค้นที่มีความชอบธรรม" นอกจากนี้แล้ว "การจับเป้นบิน ลาเดน อาจทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องเจอกับการความท้าทายด้านกฏหมายและด้านการเมืองที่น่ารำคาญสำหรับพวกเขา" ดังนั้นจึงสั่งให้สังหารบิน ลาเดน ไปเลยดีกว่า เอาศพไปทิ้งทะเลโดยไม่มีการพิสูจน์ทางนิติเวช เป็นการกระทำที่เดาทางได้ว่าจะทำให้โลกมุสลิมรู้สึกเคืองและสงสัย

นักสืบสวนสอบสวนตั้งข้อสังเกตว่า "การตัดสินใจสังหารบิน ลาเดน นั้นเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายของรัฐบาลโอบาม่าอย่างชัดแจ้งจากที่ก่อนหน้านี้มีการแสดงให้เห็นผลงานด้านนี้น้อยมาก ขระที่รัฐบาลบุชจัดกุมตัวผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นผู้ก่อการร้ายแล้วส่งตัวไปยังค่ายกักกันในอัฟกานิสถาน, อิรัก และอ่าวกวนตานาโม รัฐบาลโอบาม่าทำอีกอย่างหนึ่งคือ เน้นการกำจัดผู้ก่อการร้ายแบบรายบุคคลแทนการพยายามจับเป็น" นี่คือสิ่งที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างรัฐบาลบุชกับรัฐบาลโอบาม่า มีการอ้างถึงคำพูดของนายกรัฐมนตรีเยอรมนีตะวันตก เอลมุท ชมิดท์ ที่ "กล่าวกับสถานีโทรทัศน์ของเยอรมนีว่าการจู่โจมของสหรัฐฯ นั้น 'เห็นได้ชัดว่าเป็นการละเมิดกฏหมายระหว่างประเทศ' และบอกอีกว่าบิน ลาเดน ควรถูกจับกุมตัวมาดำเนินคดี" ในทางตรงข้าม รมต.กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ อิริค โฮลเดอร์ ได้ออกมา "กล่าวปกป้องการตัดสินใจสังหารบิน ลาเดน แม้ว่าบิน ลาเดน จะไม่ได้มีท่าทีจะทำอันตรายใดๆ กับหน่วยนาวีซีลเลย เขากล่าวในการอภิปรายของรัฐบาลว่าการจู่โจมนั้น 'เป็นไปตามกฏหมาย มีความชอบธรรม และกระทำอย่างเหมาะสมในทุกด้าน'"

การนำศพไปทิ้งโดยไม่มีการชันสูตรยังถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยประเทศพันธมิตรด้วย ทนายความอังกฤษที่มีความน่าเชื่อถือสูงอย่าง จีออฟรี โรเบิร์ทสัน ผู้ที่สนับสนุนการใช้กำลังทหารของสหรัฐฯ แทรกแซงและไม่เห็นด้วยกับการสังหารบิน ลาเดน ด้วยเหตุผลในทางปฏิบัติ เขาบอกว่าการที่โอบาม่าบอกว่า "ความยุติธรรมบังเกิดแล้ว" นั้นเป็น "เรื่องเหลวไหล" ที่อดีตศาตราจารย์ด้านกฏหมายรัฐธรรมนูญอย่างเขาจะเห็นแบบนี้คงไม่แปลกเท่าไหร่ เนื่องจากกฏหมายของปากีสถานระบุไว้ว่า "ควรมีการสืบสวนหาความจริงในการเสียชีวิตอย่างผิดธรรมชาติ และกฏหมายสิทธิมนุษยชนสากลก็ย้ำว่า 'สิทธิในการมีชีวิตอยู่' สั่งให้ต้องมีการสืบหาความจริงเกี่ยวกับการตายอย่างผิดธรรมชาติ ที่มาจากการกระทำของรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดังนั้นสหรัฐฯ จึงต้องมีการไต่สวนข้อเท็จจริงของสถานการณ์เพื่อให้ชาวโลกพอใจ"

โรเบิร์ทสันยังได้กล่าวสิ่งที่มีประโยชน์ที่จะย้ำเตือนพวกเราว่า

"มันก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เมื่อเวลาพิพากษาตัดสินคนที่จมอยู่ในความชั่วยิ่งกว่าบิน ลาเดน อย่างผู้นำนาซีมาถึง รัฐบาลอังกฤษก็ต้องการให้พวกนาซีถูกแขวนคอภายใน 6 ชั่วโมง หลังการถูกจับตัว ประธานาธิบดีทรูแมนคัดค้าน โดยอ้างถึงข้อสรุปของ รมต.ยุติธรรม โรเบิร์ต แจ็กสัน ว่าการตัดสินประหารชีวิตจะติดฝังอยู่กับจิตสำนึกของชาวอเมริกันอย่างไม่น่าจดจำ หรือจะทำให้เด็กรุ่นต่อไปจดจำมันอย่างภาคภูมิใจนั้น ...สิ่งเดียวที่จะตัดสินคือตัวผู้ถูกกล่าวหามีความผิดจริงหรือไม่นั้น ก็หลังจากกาลเวลาผู้สดับฟังอย่างเป็นกลางจะอนุญาต และหลังจากข้อมูลที่จะทำให้เหตุผลกับแรงจูงใจของเราชัดเจน"

อิริก มาร์โกลิส ให้ความเห็นว่า "รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่เคยนำหลักฐานพิสูจน์ว่าโอซามา บิน ลาเดน อยู่เบื้องหลังเหตุการ 9/11 ออกมาสู่สาธารณะ" เหตุผลหนึ่งที่เป็นไปได้คือ "มีผลสำรวจออกมาว่าหนึ่งในสามของกลุ่มประชากรชาวอเมริกันเห็นว่ารัฐบาลสหรัฐฯ และ/หรือ อิสราเอลอยู่เบื้องหลังโศกนาฏกรรม 9/11" ขณะที่ในโลกมุสลิมมีผู้สงสัยในเรื่องนี้มากกว่า อิริก ยังได้กล่าวต่ออีกว่า "หากมีการดำเนินคดีในสหรัฐฯ หรือที่กรุงเฮก (ศาลโลก) คงทำให้เรื่องนี้ถูกเปิดโปงสู่สาธารณะ" ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมรัฐบาลสหรัฐฯ ถึงควรทำตามกฏหมาย

สิ่งที่เอฟบีไอเชื่อว่าจริงในเดือน มิ.ย. ปี 2002 คือสิ่งที่พวกเขาไม่รู้มาก่อนว่า 8 เดือนก่อนหน้านั้นรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ปฏิเสธข้อเสนอของกลุ่มตอลีบัน (ซึ่งจะจริงจังขนาดไหนเราก็ไม่ทราบ) ที่เสนอว่าว่าจะอนุญาติให้นำตัวบิน ลาเดน ไปดำเนินคดีหากพบหลักฐานว่าเขาผิดจริง แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องจริงเมื่อประธานาธิบดีโอบาม่าอ้างในแถลงการณ์ของทำเนียบขาวที่ออกมาหลังจากบิน ลาเดน เสียชีวิตว่า "พวกเราทราบอย่างรวดเร็วว่าการโจมตี 9/11 เป็นการกระทำของกลุ่ม อัล-เคด้า"

ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราต้องสงสัยสิ่งที่เอฟบีไอเชื่อในช่วงกลางปี 2002 แต่นั่นก็ยังทำให้เราห่างไกลจากการพิสูจน์ความผิดที่ควรจะมีในสังคมอารยะเช่นนี้ รวมถึงหลักฐานใดๆ ก็ตามเท่าที่หามาได้ มันไม่มีเหตุผลอันสมควรในการจะสังหารผู้ต้องสงสัยผู้ที่สามารถจับกุมตัวมาดำเนินคดีอย่างง่ายดาย เรื่องนี้ยังหมายถึงการหาหลักฐานด้วย คณะกรรมการ 9/11 ได้สืบพยานหลักฐานเพิ่มเติมเรื่องบทบาทของบิน ลาเดน ต่อเหตุการณ์ 9/11 โดยอาศัยข้อมุลหลักแค่จากคำสารภาพของนักโทษในกวนตานาโม น่าสงสัยมากว่าหลักฐานอ้างนี้เอาไปใช้ได้จริงในศาลอิสระได้จริงหรือไม่ เนื่องจากการสารภาพนี้เป็นการถูกกระตุ้นให้สารภาพ แล้วหากข้อสรุปของการสืบสวนจากรัฐบาลสหรัฐฯ พูดในเชิงถ้ามันมีจริง ก็ไม่ได้มีถูกตัดสินความโดยศาลที่น่าเชื่อถือพอที่จะทำให้ผู้ต้องสงสัยกลายมาเป็นผู้มีความผิดจริง

มีหลายคนพูดถึง "คำสารภาพ" ของบิน ลาเดน แต่นั่นถือเป็นคำคุยโว ไม่ใช่คำสารภาพ มันมีความน่าเชื่อถือพอๆ กับที่ผมจะ "สารภาพ" ว่าผมชนะการแข่งวิ่งมาราธอนของบอสตัน คำคุยโวทำให้เราเห็นบุคลิกหลายอย่างของบิน ลาเดน แต่ก็ไม่มีอะไรโยงไปถึงความรับผิดชอบกับสิ่งที่เขาเรียกว่าเป็น "ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่" ที่เขายกเครดิตให้ตัวเองเลย

และแน่นอนว่าเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลในการตัดสินว่าบิน ลาเดน มีส่วนในการก่อวินาศกรรมหรือไม่ ซึ่งก็เห็นได้ชัดทันที แม้ก่อนการสืบสวนของเอฟบีไอด้วยซ้ำ

 

อาชญากรรมของการรุกราน

ผมอยากจะเสริมไว้ด้วยว่าคนในโลกมุสลืมจำนวนมากก็มองว่าบิน ลาเดน มีส่วนกับเหตุวินาศกรรม 9/11 และได้ประณามเขาด้วย ตัวอย่างหนึ่งที่สำคัญคือชีค ฟัดอัลลาห์ นักบวชเลบานอนที่เป็นที่เคารพในหมู่เฮซบอลลาและนิกายชีอะห์ที่อยู่ประเทศอื่น เขาเคยถูกลอบวางแผนลอบสังหารมาก่อน โดยมีคนลอบวางระเบิดรถบรรทุกภายนอกมัสยิด ซึ่งเป็นปฏิบัติการของซีไอเอช่วงปี 1985 เขาหนีรอดมาได้ แต่ก็มีคน 80 คนถูกสังหารไป ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็กที่กำลังทยอยออกมาจากมัสยิด นี่เป็นหนึ่งในอาชญากรรมนับไม่ถ้วนที่ไม่ได้ถูกรวมอยู่ในบัญชีของการก่อการร้าย เพียงเพราะการใช้เหตุผลวิบัติของ "หน่วยงานที่มีความผิด" ชีค ฟัดอัลลาห์เองก็ประณามการโจมตี 9/11

หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมกับขบวนการสงครามศาสนา ฟาวาซ เกอเจส เสนอว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มอาจถูกทำให้แตกไปได้ในเวลานั้นหากสหรัฐฯ ฉวยโอกาส แทนที่จะยิ่งช่วยขับเคลื่อนขบวนการ ส่วนหนึ่งก็ด้วยการโจมตีอิรัก ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากกับบิน ลาเดน ทำให้การก่อการร้ายยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเมื่อมีพวกสายลับเข้ามาร่วมด้วย จากการฟังผลการพิจารณาคดีเบื้องหลังการบุกอิรักโดย (จอห์น) ชิลคอท ผู้ไต่สวนจากอังกฤษ ยกตัวอย่างได้ว่า อดีตองค์กรข่าวกรองภายในประเทศอังกฤษ MI5 ให้การว่า หน่วยข่าวกรองของทั้งสหรัฐฯ และอังกฤษต่างทราบดีว่าซัดดัมไม่ได้แสดงตนเป็นภัยร้ายแรงใดๆ การบุกอิรักยิ่งทำให้การก่อการร้ายเพิ่มมากขึ้น การบุกอิรักและอัฟกานิสถานยิ่งทำให้เกิดมุสลืมรุ่นต่อมาที่มีความสุดโต่งขึ้นเมื่อเขาเห็นว่าปฏิบัติการทางทหารเป็น "การโจมตีอิสลาม" ซึ่งก็ถือเป็นอีกกรณีว่าความปลอดภัยไม่ใช้สิ่งที่คำนึงถึงอันดับต้นๆ ในการปฏิบัติการ

พวกเราควรตั้งคำถามแบบเตือนตัวเองดูว่า เราควรจะทำอย่างไรหากมีทหารหน่วยพิเศษของอิรักบุกไปถึงที่พักของจอร์จ ดับเบิลยู บุช แล้วสังหารเขา เอาร่างเขาไปทิ้งมหาสมุทรแอตแลนติก (แน่นอนว่าหลังจากทำพิธีศพตามประเพณีแล้ว) ไม่มีข้อโต้แย้งเลยว่าบุชไม่ใช่ "ผู้ต้องสงสัย" แต่เป็น "ผู้ตัดสินใจ" สั่งการให้บุกประเทศอิรัก ซึ่งก็อการ "ก่ออาชญากรมร้ายแรงข้ามชาติ ที่ต่างจากอาชญากรรมสงครามอื่นๆ ตรงที่เป็นแหล่งรวมความชั่วร้ายทั้งหมดไว้ในตัว" ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกับที่ทำให้อาชญากรนาซีถูกแขวนคอ เขาทำให้ประชาชนนับแสนเสียชีวิต อีกกว่าล้านกลายเป็นผู้อพยพ ทำลายประเทศและแหล่งมรดกของชาติ ทำให้เกิดความขัดแย้งในหมู่นิกายย่อยลุกลามไปทั่วภูมิภาค ที่ไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ อีกคือ อาชญากรรมเหล่านี้มากเกินกว่าที่บืน ลาเดน ก่อไว้เสียอีก

แม้จะบอกว่าไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่ถูกปฏิเสธ การมีอยู่ของกลุ่มผู้เชื่อว่าโลกแบนไม่ได้เปลี่ยนข้อเท็จจริงที่ไม่อาจโต้แย้งว่า โลกไม่ได้แบน เช่นเดียวกับที่บอกว่าสตาลินและฮิตเลอร์เป็นผู้ก่ออาชญากรรมเลวร้าย แต่กลุ่มผู้ภักดีก็ปฏิเสธว่าพวกเขาไม่ได้ทำ เช่นเดียวกันว่าทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่สามารถแสดงความเห็นได้ เว้นแต่ในบรรยากาศที่เร้าอารมณ์แบบสุดโต่งเสียจนบดบังความคิดที่มีเหตุผลไปเสียหมด

เช่นเดียวกัน ไม่มีข้อโต้แย้งว่าบุชได้ก่อ "อาชญากรรมข้ามชาติร้ายแรง" คืออาชญากรรมของการรุกราน อาชญากรรมชนิดนี้โรเบิร์ท แจ็กสัน ผู้เคยเป็นหัวหน้าทนายไต่สวนคดีนูเรมเบิร์ก (Nuremberg Trials - คดีที่ฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2 ดำเนินการไต่สวนกับเหล่าผู้นำนาซี) ได้นิยามเอาไว้แล้ว เขากล่าวแถลงต่อศาลว่า "ผู้รุกราน" คือการริเริ่มกระทำการเช่น "การรุกล้ำด้วยหน่วยติดอาวุธเข้าไปในอาณาเขตของรัฐอื่น ทั้งโดยการประกาศและไม่ประกาศสงคราม ..." ไม่มีใครเลย แม้กระทั่งกลุ่มสุุดโต่งที่สนับสนุนการรุกรานปฏิเสธเรื่องที่ว่าบุชและพรรคพวกก็ทำอย่างเดียวกัน

พวกเราควรจะระลึกถึงคำกล่าวอย่างมีวาทศิลป์ของแจ็กสันที่นูเรมเบิร์กในเรื่องหลักการของความเป็นสากลด้วย "หากการกระทำใดๆ ที่ละเมิดต่อสนธิสัญญาถือเป็นอาชญากรรม มันก็จะถือเป็นอาชญากรรมไม่ว่าฝ่ายสหรัฐฯ หรือเยอรมนีจะเป็นผู้กระทำ และพวกเราก็ยังไม่ละวางการกฏการตัดสินคดีกับจำเลยอื่น ซึ่งพวกเราคงไม่ต้องการให้ถูกนำมาใช้กับพวกเราเอง"

ชัดเจนว่าเจตนาในคำประกาศนี้ไม่ได้มีส่วนสัมพันธ์อะไรกัน แม้พวกเขาจะเชื่อเช่นนั้นจริง มีบันทึกภายในเปิดเผยว่าเผด็จการฟาสซิสต์ญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเชื่อว่าการบุกถล่มจีนจะเป็นการช่วยสร้างให้จีนกลายเป็น "สวรรค์บนดิน" และแม้ว่ามันอาจจินตนาการยากไม่หน่อย แต่ก็เข้าใจได้ว่าบุชและพรรคพวกก็เชื่ออย่างเดียวกันว่าพวกเขากำลังกอบกู้โลกขากการทำลายของอาวุธนิวเคลียร์ที่ซัดดัมมี สองเหตุการณ์นี้ไม่เกี่ยวกัน แต่กลุ่มผู้ภักดีต่อฝ่ายตนเองก็คงพยายามทำให้ตัวเองเชื่อตามนั้นไปด้วย

พวกเรามีทางเลือกอยู่สองทางเท่านั้น คือให้บุชและพรรคพวกถูกตัดสินว่ามีความผิดในฐานะที่ก่อ "อาชญากรรมร้ายแรงข้ามชาติ" รวมถึงความผิดอื่นๆ ที่ตามมา หรือประกาศว่ากระบวนการดำเนินคดีนูเรมเบิร์กเป็นแค่ปาหี่ และประเทศพันธมิตรก็มีความผิดฐานฆาตกรรมผ่านกระบวนการศาล

 

จิตแบบจักรวรรดินิยมกับเหตุ 9/11

ไม่กี่วันก่อนการสังหาร บิน ลาเดน ออลานโด บอช เสียชีวิตอย่างสงบในฟลอริด้า ที่เขาพักอาศัยอยู่กับผู้สมรู้ร่วมคิดอย่างลูอิซ โปซาดา คาร์ริลส์ และผู้ร่วมขบวนการก่อการร้ายข้ามชาติรายอื่นๆ หลังจากที่เอฟบีไอกล่าวหาว่าเขามีส่วนในการก่อการร้ายหลายสิบคดี บอชก็ได้รับการอภัยโทษโดยประธานาธิบดีบุชผู้พ่อ โดยที่รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมยุคนั้นคัดค้าน ซึ่งให้ข้อสรุปว่า "การให้บอชกบดานอย่างปลอดภัยจะทำให้ภาพลักษณ์ของสหรัฐฯ เลวร้ายในสายตาประชาชนอย่างไม่อาจหลีกเเลี่ยง" การเสียชีวิตไล่เลี่ยกันอย่างบังเอิญของทั้งคู่ชวนให้นึกถึงลัทธิบุชผู้ลูก กราแฮม แอลลิสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกล่าวว่า "กฏความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในทางพฤตินัย" (a de facto rule of international relations) ที่บุชกล่าวไว้ได้เกิดขึ้นแล้วคือ "การที่รัฐอธิปไตยให้ที่พักพิงแก่ผู้ก่อการร้าย" (the sovereignty of states that provide sanctuary to terrorists)

แอลลิสันกล่าวพาดพิงถึงการที่บุชผู้ลูกเคยประกาต่อกลุ่มตอลิบันว่า "ใครก็ตามที่ให้ที่พักพิงแก่ผู้ก่อการร้ายก็มีความผิดเช่นเดียวกับผู้ก่อการร้าย" ซึ่งหมายความว่าจะทำให้รัฐนั้นๆ สูญเสียอำนาจอธิปไตยและกลายเป็นเป้าหมายของการทิ้งระเบิดและการก่อการร้าย ยกตัวอย่างเช่นรัฐที่ให้ที่อยู่อาศัยบอชกับพรรคพวก เมื่อบุชประกาศ "กฏความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในทางพฤตินัย" ไม่มีใครสังเกตเห็นเลยว่าเขากำลังเรียกร้องให้มีการรุกรานและทำลายล้างสหรัฐอเมริกา รวมถึงการสังหารประธานาธิบดีผู้ก่ออาชญากรรม

ทุกอย่างนี้จะไม่เป็นปัญหาเลยหากเราเพิกเฉยต่อหลักการของความเป็นสากลของแจ็กสันเสีย แล้วก็หันมาใช้หลักการว่าสหรัฐฯ มีภูมิคุ้มกันต่อกฏหมายและอนุสัญญาของนานาชาติ ซึ่งจริงๆ รัฐบาลเราก็แสดงให้เห็นมาโดยตลอดอยู่แล้ว

น่าคิดอีกเรื่องหนึ่งคือชื่อที่ตั้งให้กับปฏิบัติการล่าบิน ลาเดน คือปฏิบัติการเจอโรนิโม (Operation Geronimo) จิตแบบจักรวรรดิ์นิยมแสดงออกมาจากชื่อนี้ชัดแจ้งมากจนนึกไปว่าพวกทำเนียบขาวถึงขั้นยกย่องบิน ลาเดน โดยเรียกเขาว่า "เจอโรนิโม" ชื่อเดียวกับผู้นำเผ่าอินเดียนแดงอาปาเช่ คนที่นำเผ่าต่อต้านผู้รุกรานแผ่นดินของอาปาเช่

การเลือกใช้ชื่อนี้ชวนให้นึกถึงการที่เรานำชื่อเหยื่ออาชญากรรมของพวกเรา มาตั้งเป็นชื่ออาวุธสังหารของพวกเราเองอย่างง่ายดาย เช่น อาปาเช่, แบล้กฮอว์ก (ทั้งสองเป็นชื่อรุ่นเฮลิคอปเตอร์) พวกเราอาจแสดงออกอีกแบบหนึ่งก็ได้ ถ้าหากหน่วยลูฟท์วาฟ (Luftwaffe - หน่วยทหารอากาศของเยอรมนี) เรียกชื่อเครื่องบินรบของพวกเขาว่า "ยิว" และ "ยิปซี"

ตัวอย่างที่ยกมาอาจตกไปอยู่ในประเด็นเรื่องแนวคิดว่า "อเมริกันคือผู้วิเศษไม่เหมือนใคร" (American Exceptionalism) เว้นแต่เป็นเรื่องปกติที่รัฐที่มีอำนาจทั้งหลายมักจะกลบเกลื่อนความผิดของตนเองอย่างง่ายดาย อย่างน้อยก็กับรัฐที่ไม่ได้ถูกทำให้แพ้พ่ายหรือถูกบีบให้ต้องเผชิญความจริง

บางทีรัฐบาลอาจมองว่าการบุกสังหารเป็น "การแสดงการล้างแค้น" เช่นที่โรเบิร์ทสันสรุปไว้ และบางทีการปฏิเสธการใช้วิธีการดำเนินคดีตามกฏหมายก็สะท้อนความแตกต่างระหว่างวิถีทางจริยธรรมของปี 1945 กับปัจจุบัน ไม่ว่าแรงจูงใจเบื้องหลังจะเป็นสิ่งใดก็ตาม มันยากที่จะเรียกว่าเป็นความมั่นคง ดูตัวอย่างการก่อ "อาชญากรรมข้ามชาติร้ายแรง" ในอิรักสิ การสังหารบิน ลาเดน ก็แสดงให้เห็นความจริงข้อหนึ่งว่าความมั่นคงปลอดภัยไม่ใช่สิ่งแรกๆ ที่ปฏิบัติการของรัฐพวกนี้จะนึกถึง ตรงข้ามกับหลักปฏิบัติที่พวกเขาได้เรียนรู้มา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กองกำลังว้า-เมืองลาลงนามสันติภาพกับรัฐบาลพม่ารอบใหม่

Posted: 11 Sep 2011 04:40 AM PDT

กองกำลังว้า UWSA และกองกำลังเมืองลา NDAA ลงนามข้อสัญญาสันติภาพกับรัฐบาลทหารพม่ารอบใหม่หลังพบหารือกับคณะเจรจาของรัฐบาลตามคำเชิญเรื่องนี้ทำหลายฝ่ายสับสนงุนงงเพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลประกาศทั้งสองกลุ่มเป็นกลุ่มนอกกฎหมายชัดเจน หลังปฏิเสธตั้งหน่วยพิทักษ์ชายแดน

แหล่งข่าวชายแดนจีนซึ่งใกล้ชิดเจ้าหน้าที่กองกำลังว้า UWSA และกองกำลังเมืองลา NDAA เปิดเผยว่า กองทัพสหรัฐว้า UWSA “กองกำลังว้า”และกองกำลังสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตย NDAA “กองกำลังเมืองลา”ได้ลงนามข้อตกลงสันติภาพกับรัฐบาลทหารพม่าอีกครั้งหลังทั้งสองกลุ่มได้พบหารือกับคณะเจรจาเพื่อสันติภาพของรัฐบาลตามคำเชิญที่เมืองเชียงตุง รัฐฉานภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 6 - 7 ก.ย. ที่ผ่านมา

การลงนามสัญญาสันติภาพดังกล่าวมีขึ้นหลังคณะเจรจาของรัฐบาลทหารพม่าซึ่งมีนายอูอ่องตอง และ นายอูเต็งส่อ คณะกรรมการบริหารพรรคสหภาพเอกภาพและการพัฒนา (USDP)ในนามคณะกรรมการเจรจาสันติภาพอันมีประธานาธิบดีเต็งเส่ง เป็นประธานได้ยื่นข้อเสนอเพื่อสันติภาพ 4 ข้อคือ 1. ไม่ให้เกิดการสู้รบของทหารทั้งสองฝ่าย 2.ให้ทั้งสองฝ่ายเปิดสำนักงานประสานงานในพื้นที่ที่เคยเปิดตามเดิม 3.หากทหารฝ่ายใดติดอาวุธจะเดินทางเข้าเขตพื้นที่อีกฝ่ายให้แจ้งล่วงหน้า และ 4.แต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานแต่ละฝ่ายเพื่อทำหน้าที่ประสานเจรจาเพื่อให้ความสัมพันธ์สองฝ่ายก้าวหน้า

โดยกองกำลังว้า UWSAและกองกำลังเมืองลา NDAA เห็นว่าข้อเสนอของรัฐบาลทหารพม่าเป็นประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายจึงได้ลงนามหลังการหารือกันแล้วเสร็จ โดยตัวแทนกองกำลังว้า UWSA ซึ่งมีนายเปาโหย่วเหลียง(น้องชายเปาโหย่วเฉียง ผู้นำสูงสุด UWSA) จ้าวก่ออางฝ่ายกิจการต่างประเทศ และ ลีจูเลี่ย โฆษกของ UWSA ได้ลงนามเมื่อวันที่6 ก.ย. และกองกำลังเมืองลา NDAA ซึ่งมีตัวแทนคือเจ้าซางเป่อรองประธานที่ 1 เจ้าแสงลา เลขาธิการ ลงนามในวันต่อมา (7 ก.ย.)

แหล่งข่าวเผยว่านอกเหนือจากข้อเสนอสันติภาพ 4 ข้อคณะเจรจาของรัฐบาลทหารพม่าได้กล่าวระหว่างการพบหารือกันด้วยว่าให้กองกำลังทั้งสองกลุ่มดำเนินการด้านการปกครองในพื้นที่ครอบครองได้ตามปกติและว่าในส่วนที่ทั้งสองฝ่ายยังเห็นไม่ตรงกันจะให้คณะประสานงานแต่ละฝ่ายหารือและแก้ไขไปเป็นขั้นเป็นตอนขณะที่ฝ่ายตัวแทนกองกำลังเมืองลา NDAA ได้ยื่นข้อเสนอเรียกร้องให้กองทัพพม่าถอนกำลังทหารที่รุกล้ำเข้าเขตครอบครองของตนออกไปทั้งหมดซึ่งตัวแทนรัฐบาลทหารพม่ากล่าวว่าจะนำเรื่องนี้ไปรายงานกรุงเนปิดอว์

ทั้งนี้ การพบหารือที่นำไปสู่การลงนามข้อสัญญาสันติภาพระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับกองกำลังว้า UWSA และกองกำลังเมืองลา NDAAมีขึ้นหลังทางการพม่าโดยศูนย์บัญชาการกองทัพในพื้นที่เมืองยาง(อยู่ทางเหนือเมืองเชียงตุง)ได้ส่งจดหมายแสดงเจตนาสร้างสันติภาพถึงทั้งสองกลุ่มเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมาโดยมีเนื้อหาระบุเชิญร่วมเจรจาสันติภาพตามกระบวนการปรองดองของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.เต็ง เส่ง

อย่างไรก็ตามการแสดงท่าทีอ่อนข้อของรัฐบาลทหารพม่าภายใต้การนำของประธานาธิบดีเต็งเส่ง ครั้งนี้ทำให้หลายฝ่ายต่างสับสนงุนงงไม่น้อย ขณะที่นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า รัฐบาลทหารพม่ากำลังเล่นบทตีสองหน้าฝ่ายหนึ่งยื่นข้อเสนอสันติภาพกับกองกำลังบางกลุ่มขณะที่อีกฝ่ายส่งกำลังทหารเข้าปราบปรามกองกำลังติดอาวุธทั้งกองกำลังเอกราชคะฉิ่น KIAกองกำลังไทใหญ่ “เหนือ” SSA/SSPP ซึ่งต่างมีสถานะไม่ต่างจากกองกำลังว้า UWSA และกองกำลังเมืองลา NDAA คือถูกกำหนดเป็นกลุ่มนอกกฎหมายหลังปฏิเสธตั้งเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดน นอกจากนี้กองทัพรัฐบาลยังเปิดศึกต่อเนื่องกับ

กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังSSA กลุ่มพล.ท.ยอดศึกซึ่งเป็นกลุ่มต่อสู้เรียกร้องสิทธิปกครองตนเองและไม่เคยหยุดยิงกับรัฐบาลมาก่อน

กองกำลังว้า UWSAและกองกำลังเมืองลา NDAA เป็นอดีตกลุ่มแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์พม่าCPB-Communist Party of Burma เช่นเดียวกันกองกำลังเอกราชคะฉิ่นKIA และกองกำลังไทใหญ่ “เหนือ”SSA/SSPP ซึ่งหลังแยกตัวออกจาก CPB ได้ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่าเมื่อปี 2532 (1989) อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่กลางปี 2549ได้ถูกรัฐบาลทหารพม่ากดดันให้เปลี่ยนสถานะเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน BGF(Border Guard Force) แต่หลังปฏิเสธก็ถูกกำหนดเป็นกลุ่มนอกกฎหมาย

เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมากองทัพรัฐบาลทหารพม่าได้บุกโจมตีกองกำลังไทใหญ่ “เหนือ”SSA/SSPP ทำให้้ข้อสัญญาหยุดยิงที่เคยมีมากว่า 20 ปีสิ้นสุดลงจากนั้นในต้นเดือนมิถุนายน การโจมตีได้ขยายไปสู่กองกำลังเอกราชคะฉิ่น KIA มีกองบัญชาการอยู่ที่เมืองลายซา รัฐคะฉิ่น ติดชายแดนจีนจนถึงขณะนี้ทั้งกองกำลังไทใหญ่ “เหนือ” SSA/SSPP และกองกำลังคะฉิ่น KIA ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรกับกองกำลังว้าUWSA และกองกำลังเมืองลา NDAA ต่างยังคงสู้รบกับรัฐบาลทหารพม่าอย่างต่อเนื่อง

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือสำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News)มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉานสหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง /การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 3 - 9 ก.ย. 2554

Posted: 11 Sep 2011 03:46 AM PDT

 

เอกชนขอ 3-4 ปีปรับค่าแรง 300

นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้หลายฝ่ายเริ่มเป็นห่วงว่านโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท พร้อมกันทั่วประเทศว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ ทั้งนี้เรื่องนี้มีคณะกรรมการไตรภาคี ทั้งฝ่ายรัฐ ลูกจ้าง นายจ้างดูแลอยู่ แต่ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการจ่ายของผู้ประกอบการ

อย่างไรก็ตามเห็นว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทใน 4 ปี เป็นไปได้ โดยสภาอุตฯอยากให้ปรับแบบขั้นบันได ซึ่งภาครัฐต้องมีการชดเชยต้นทุนส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นให้แก่สถานประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีอยู่ 90% ควรมีการหามาตรการช่วยเหลือเป็นรายอุตสาหกรรม

ขณะนี้สภาอุตฯเตรียมการรองรับหากธุรกิจในภาคอุตฯไม่สามารถแบกรับต้นทุน ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นได้เพราะใช้แรงงานแบบเข้มข้นก็จะย้ายฐานการผลิตไปประเทศ เพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชาค่าจ้างอยู่ที่กว่า 2,000 บาทต่อเดือน จากการสอบถามผู้ว่าฯจังหวัดศรีโสพล พบว่ามีธุรกิจอุตฯของไทยไปติดต่อไว้จำนวนมาก

ด้าน นายวัลลภ กิ่งชาญศิลป์ ผู้แทนคณะกรรมการค่าจ้างกลางฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยหากตัวแทนฝ่ายรัฐบาลและลูกจ้างจับมือกันโหวตให้ขึ้นค่าจ้างขั้น ต่ำเป็น 300 บาท เพราะฝ่ายนายจ้างต้องมาคำนวณต้นทุนของตัวเองว่าจะรับต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่ม ขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งต้นทุนภาคอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้นประมาณ 10% ภาคบริการเพิ่มขึ้น 70-80% จึงอยากให้ทุกฝ่ายมาหานรือในรายละเอียดก่อนจะปรับขึ้นค่าจ้างเป็น 300 บาท

ทั้งนี้อยากให้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ คิดและทำอย่างเป็นกระบวนการเป็นขั้นเป็นตอน มีระยะเวลาดำเนินการ ไม่ใช้ปรับขึ้นทันที ควรใช้ระยะเวลา 2-3 ปี

ขณะที่ นายชัยพร จันทนา ผู้แทนคณะกรรมการค่าจ้างกลางฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า คิดว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ทำได้และอยากให้ปรับขึ้นทันทีทั่วประเทศ เพราะการปรับค่าจ้างขั้นต่ำโดยไม่สอดรับกับค่าครองชีพที่แท้จริงสะสมมานาน หากไม่ปรับช่วงนี้ โอกาสที่จะปรับอีกเป็นไปได้ยาก เพราะค่าครองชีพตามความเป็นจริงของแรงงานที่ดูแลครอบครัวได้อยู่ที่ 400 บาทต่อวัน และราคาสินค้าได้ปรับขึ้นนำหน้าค่าจ้างไปก่อนแล้ว

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา ที่ผ่านมาการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่สามารถปรับขึ้นแบบก้าวกระโดดได้ เพราะปัญหาอยู่ที่ธุรกิจเอสเอ็มอีไม่มีโครงสร้างเงินเดือนและค่าจ้างประจำปี จะใช้วิธีโดดปรับตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งธุรกิจเอสเอ็มอีควรยอมควักกำไรออกมา ทุกวันนี้เมื่อสรรพากรไปตรวจก็แจ้งว่าไม่ค่อยมีกำไร แต่ขยายสาขาทุกปี ดังนั้นจึงไม่ควรผลักภาระให้รัฐบาล

ขณะที่ นางอำมร ชวลิต ที่ปรึกษาวิชาการ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจากการสำรวจของกระทรวงแรงงานพบว่าราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นอยู่ ที่ 28.2% เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 2.82% ขณะที่ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 25.7% เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 2.57% ซึ่งจะพบว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่ผ่านมาไม่เพียงพอที่จะทำให้แรงงานอยู่ ได้

(โพสต์ทูเดย์, 4-9-2554)

สหภาพแรงงานการนิคมอุตสาหกรรมจี้ผู้ว่า กนอ. ขอขึ้นเงินเดือน 5% ชี้โดนนายจ้างเบี้ยวไม่ปฏิบัติตาม ครม.

มีรายงานจากการนิคมอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย (กนอ.) แจ้งว่า สหภาพ แรงงานรัฐวิสาหกิจ กนอ. ได้เตรียมขอ เข้าพบ นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม เพื่อขอให้เป็นตัวกลาง เจรจากับนางมณฑา ประณุทนรพาล ผู้ว่าการกนอ. ให้เพื่อให้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมาที่มีมติเห็นชอบให้มีการปรับอัตราค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจได้ ไม่เกิน 5% แก่ลูกจ้างที่ได้รับเงินเดือนต่ำกว่า 50,000 บาท โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554 แต่ กนอ.เป็นรัฐวิสาหกิจเพียงแห่งเดียวที่ไม่ได้รับ การปรับเงินเดือนมาจนถึงขณะนี้ และเมื่อเทียบกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่มีภาวะขาดทุน แต่กลับพบว่าสามารถจ่ายอัตราเงินเดือนให้พนักงานไปเรียบร้อยแล้ว

โดยที่ผ่านมา ผู้ว่าการกนอ.ได้มอบให้ผู้บริหารมาชี้แจงต่อสหภาพฯแล้ว โดยยืนยันว่าจะไม่ยอมปรับเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเดือนใหม่ตามมติครม.ที่กำหนด ไว้ 5% แต่จะจ่ายให้เพียง 3% เท่านั้น โดยไม่มีการชี้แจงเหตุผลด้วย ทั้งที่กนอ. ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจที่ประสบปัญหาขาดทุนและมีพนักงานที่ได้รับสิทธิ์ดังกล่าว เพียง 497 คนเท่านั้น

ทั้งนี้ หาก กนอ.จ่ายเงินให้ 3% จะมีผลย้อนหลังตั้งแต่เดือนเมษายน-กันยายน 2554 รวมเป็นเงิน 2.5 ล้านบาท เฉลี่ย 429,834 บาทต่อเดือน และถ้าจ่าย เพิ่มเป็น 5% จะคิดเป็นวงเงินรวม 2.6 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 433,000 บาทต่อเดือน

(แนวหน้า, 5-9-2554)

บอร์ด'สปส.'อนุมัติจ้างพนง.เพิ่ม

รายงานข่าวจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการสปส. มีมติอนุมัติจัดสรรงบประมาณ 14 ล้านบาท เพื่อจ้างพนักงาน 313 อัตรา สำหรับเดือนก.ย.-ธ.ค. เพื่อรองรับการขยายความคุ้มครองแรงงานนอกระบบตามมาตรา 40 แบ่งเป็น สปส.เขตพื้นที่/จังหวัด 298 อัตรา และสำนักงานเสริมสร้างความมั่นคงแรงงานนอกระบบอีก 15 อัตรา

รายงานข่าวระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ประกันตนตามมาตรา 40 กว่า 4 แสนคน ขณะที่สปส.ต้องใช้เจ้าหน้าที่ดูแลผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 มาช่วยรับสมัครขึ้นทะเบียนและรับชำระเงิน จึงกระทบต่อภารกิจที่ทำอยู่เดิม จำเป็นต้องขยายอัตรากำลังเพิ่ม

ด้านนายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสปส. กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้งบประมาณอุดหนุนผู้ประกันตนมาตรา 40 มา 469 ล้านบาท และใช้เงินไปแล้ว 60 ล้านบาท เมื่อถึงสิ้นเดือนก.ย. สปส.ต้องขออนุมัติเบิกเงินต่อไป เพราะหากไม่ขออนุมัติจะทำให้ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินเต็มจำนวนทั้งแบบ 100 บาท และ 150 บาทต่อเดือน คาดว่ารัฐบาลคงผ่อนผันตามเงื่อนไขเดิม 

(ข่าวสด, 5-9-2554)

กรมการจัดหางานปรับปรุงระบบส่งแรงงานไปนอก

นางสุทัศนี สืบวงศ์แพทย์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางานได้ดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาระบบการให้บริการด้านการจัดหา งานในต่างประเทศให้เกิดความโปร่งใส และลดขั้นตอนการพิจารณาอนุญาตให้บริษัทจัดหางานจัดส่งคนไปต่างประเทศ โดยจัดแบ่งเจ้าหน้าที่แยกพิจารณาการขออนุญาตจัดส่งคนงานไปทำงานออกเป็น 2 โซน โซนแรก คือ ไต้หวันและประเทศในแถบเอเชีย และโซนที่ 2 ได้แก่ แถบยุโรปและตะวันออกกลาง เนื่องจากเอกสารการขออนุญาตทำงานของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเน้นตรวจสอบเรื่องค่าตอบแทนในการทำงานและสิทธิประโยชน์ และตำแหน่งงานที่มีจริงในต่างประเทศ

การขออนุญาตจัดส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศจะใช้เวลาเพียง 3-5 วัน จากเดิม 12 วัน ส่วนข้อครหาที่มีการวิ่งเต้นกับผู้ใหญ่ในกรมและเรียกรับผลประโยชน์ใต้โต๊ะ ยืนยันว่าไม่มีเรื่องเหล่านี้แน่นอน

นอกจากนี้ พยายามลดค่าใช้จ่ายของแรงงาน โดยจัดทำโครงการสินเชื่อเพื่อไปทำงานต่างประเทศร่วมกับธนาคาร 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยปล่อยสินเชื่อเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ

(ข่าวสด, 6-9-2554)

แรงงาน 5.5 ล้านคนอยู่ในข่ายจะได้ขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 300 บาท

6 ก.ย. 54 - นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากการหารืออย่างไม่เป็นทางการกับ นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน และนางจิราภรณ์ เกษรสุจริต อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ถึงการเดินหน้านโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ล่าสุดวานนี้ (5 ก.ย.) กระทรวงแรงงานแจ้งว่า มีแรงงานที่ทำงานในโรงงาน ภาคการค้า และบริการ ที่อยู่ในข่ายจะได้ขึ้นค่าแรงประมาณ 5.5 ล้านคน  

ในขณะที่ ส.อ.ท.แจ้งให้กระทรวงแรงงานทราบว่า ส.อ.ท.เห็นด้วยกับการดูแลแรงงาน แต่ต้องการให้มาตรการปรับขึ้นค่าแรงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการน้อยที่สุด โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และต้องการให้มีระยะเวลาปรับตัวในการปรับขึ้นค่าแรง 3-4 ปี เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงค่าแรงอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเชื่อว่าหลังจากนั้นการปรับขึ้นค่าแรงจะเป็นไปตามกลไกตลาดได้ ซึ่งกระทรวงแรงงานยังไม่ให้คำตอบชัดเจนว่าจะเป็นไปตามที่ ส.อ.ท.ร้องขอหรือไม่

นอกจากนี้ ส.อ.ท. และกระทรวงแรงงานยังมีความเห็นเบื้องต้นที่จะทำงานร่วมกันในการพัฒนาความ พร้อมของแรงงาน โดยหากแรงงานที่เข้าทำงานอยู่เดิมแล้ว กลุ่มนี้จะจัดให้มีชุดมาตรการพัฒนาฝีมือแรงงาน ส่วนแรงงานใหม่ที่จะเข้ามาจะได้รับการเตรียมความพร้อม เช่น การปฐมนิเทศ 5-7 วัน และการเตรียมความพร้อมอื่น ๆ ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะร่วมกับ ส.อ.ท.จัดทำมาตรการนี้ต่อไป ส่วนในแง่ของการเพิ่มศักยภาพแรงงานจะเป็นมาตรการที่ต้องดำเนินการในระยะกลาง เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลา

ด้านความหมายของรายได้ ทางกระทรวงแรงงานและ ส.อ.ท.ยังให้ความหมายที่ต่างกันอยู่บ้าง โดยกระทรวงแรงงานมองเป็นค่าจ้างรายวัน ในขณะที่ ส.อ.ท.มองรวมถึงการจัดสวัสดิการที่ให้กับแรงงานในรูปแบบต่าง ๆ ด้วย เพราะเห็นว่าผู้ประกอบการหลายรายที่มีการให้สวัสดิการอยู่แล้ว หากต้องปรับขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 300 บาท เท่ากับผู้ประกอบการรายที่ไม่จัดสวัสดิการให้แรงงานจะทำให้การปรับขึ้นค่า แรงทำได้ยากกว่า ซึ่ง ส.อ.ท.ไม่เห็นด้วยหากจะมีการปรับลดสวัสดิการที่ให้แก่แรงงาน อย่างไรก็ตาม แรงกดดันในการปรับขึ้นค่าจ้างขณะนี้ลดน้อยลงแล้ว เนื่องจากประเทศไทยยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน

นายพยุงศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส.อ.ท.แจ้งกับกระทรวงแรงงานว่าต้องการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเอสเอ็มอี หากต้องปรับขึ้นค่าจ้างแก่แรงงาน โดยขอหารือกระทรวงแรงงานช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถนำค่าใช้จ่ายส่วนที่เพิ่ม ขึ้นไปหักลดหย่อนรายจ่ายต่าง ๆ ได้ แต่เรื่องนี้จะต้องศึกษาว่าในทางกฎหมายสามารถทำได้มากน้อยเพียงใดและจะได้ รับความเห็นชอบหรือไม่
 
นายพยุงศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ในอีก 2 สัปดาห์จากนี้ไป ส.อ.ท.จะเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อแสดงความยินดีและรับทราบแนวทางการทำงานร่วมกันกับภาคเอกชน และรับทราบนโยบายการปรับค่าแรงงานขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท

(สำนักข่าวไทย, 6-9-2554)

โรงงานตุ๊กตานครปฐมขอลดสวัสดิการ เบี้ยขยัน-ค่าข้าว แลกขึ้นค่าจ้าง 300 บาท/วัน

น.ส.ดาวเรือง ชานก นักสื่อสารศูนย์แรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ เปิดเผยว่า มีพนักงานบริษัทผลิตตุ๊กตาปูนปั้นแห่งหนึ่งใน จ.นครปฐม ให้ข้อมูลว่านายจ้างได้เรียกประชุมพนักงานรายวันทั้งหมดเพื่อแจ้งเรื่องการ ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300  บาทตามนโยบายของรัฐบาล โดยแจ้งแก่พนักงานว่าบริษัทจะปรับขึ้นค่าจ้างให้ 300 บาทภายในปี 2554 นี้ แต่มีข้อเสนอ 1.ยกเลิกเบี้ยขยันทั้งหมดที่พนักงานเคยได้รับ 2.บริษัทยกเลิกค่าครองชีพที่พนักงานเคยได้รับ รอบละ 100 บาท (15 วัน) และ 3. ตัดเงินค่าข้าวที่พนักงานเคยได้รับวันละ 8 บาทเหลือวันละ 4 บาท

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการถูกลดสวัสดิการดังกล่าวคนงานเองยังไม่ได้แสดงความเห็นใดๆ เพราะยังงงอยู่ว่าการปรับขึ้นค่าจ้าง กับการที่นายจ้างมาขอลดสวัสดิการปรับสภาพการจ้างเสียใหม่ เป็นการเพิ่มรายได้หรือว่าลดรายได้กันแน่

ทั้งนี้ โรงงานดังกล่าวไม่มีสหภาพแรงงานคอยเจรจาต่อรองกับนายจ้าง และขณะนี้่ฝ่ายลูกจ้างยังอยู่ระหว่างการหารือว่าการปรับเงื่อนไขการจ้างงาน ดังกล่าวจะมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน

(โพสต์ทูเดย์, 7-9-2554)

เอกชนภูเก็ตยันเงินเดือน 15,000 บาทเป็นไปได้ยาก

วันนี้ (7 ก.ย.) ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต คณะกรรมาธิการแรงงานและสวัสดิการสังคม นำโดยนายขวัญชัย พนมขวัญ รองประธานคนที่ 1 คณะกรรมาธิการแรงงานและสวัสดิการสังคม และประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาเรื่องสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน วุฒิสภา รับฟังสถานการณ์ด้านแรงงานในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และพังงา และกระบี่ โดยมีนายวีระวัฒน์ จันทร์เพ็ญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับด้านแรงงานทั้ง 3 จังหวัด และภาคเอกชน เข้าร่วมชี้แจง
      
นายขวัญชัย กล่าวภายหลังการรับฟังข้อมูลสถานการณ์แรงงานในภูเก็ต พังงา และกระบี่ว่า คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาเรื่องสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน วุฒิสภา ต้องการที่จะมารับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการขาดแคลนแรงงาน วิกฤตแรงงาน และปัญหาแรงานต่างด้าว และภาคเอกชนต้องการที่จะให้ภาครัฐเข้าให้การช่วยเหลืออย่างไรบ้าง
      
นอกจากนี้ จังหวัดภูเก็ตเป็นพื้นที่นำร่องในการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท จึงอยากจะมารับฟังถึงความพร้อมของภาคเอกชนและหน่วยงานที่จะดำเนินการ เพื่อที่จะนำข้อมูลทั้งหมดไปหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในเวทีสัมมนาเรื่องแรงงานขั้นต่ำ รายได้ขั้นต่ำ 300 บาท และเงินเดือน 15,000 บาท ซึ่งทางคณะกรรมาธิการแรงงานและสวัสดิการสังคมจัดขึ้นในวันศุกร์ที่จังหวัด เชียงใหม่
      
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของจังหวัดภูเก็ตนั้น เท่าที่รับฟังจากผู้ประกอบการทำให้ทราบว่าไม่น่าที่จะมีปัญหาในการปรับค่า แรงงานเป็น 300 บาท เพราะรายได้ที่แรงงานได้รับอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวเกินวันละ 300 บาทอยู่แล้ว แต่ในเรื่องของเงินเดือน 15,000 บาทนั้นน่าที่จะมีปัญหาเพราะเอกชนคงจะไม่จ้างแรงงานที่เพิ่งจบใหม่โดยไม่มี ทักษะ
      
แต่จะสามารถเลือกจากคนที่จบระดับปวช.หรือ ปวส. ที่ประสบการณ์ในการฝึกทักษะตอนเรียนมากกว่า และค่าจ้างก็ต่ำกว่าด้วย รวมทั้งภาคเอกชนในภูเก็ตยังได้เรียกร้องให้ช่วยกันผลักดันให้ภูเก็ตเป็นเขต เศรษฐกิจพิเศษเพื่อสะดวกในการบริหารจัดการต่อไป
      
ด้านนายกฤษฏา ตันสกุล อุปนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า อยากจะให้รัฐบาลมีความชัดเจนเรื่องค่าจ้างวันละ 300 บาท ว่าจริงแล้วเป็นค่าจ้างขั้นต่ำ หรือ เป็นรายได้ขั้นต่ำ รวมทั้งจำนวนวันคิด 26 วัน หรือ 30 วัน ซึ่งในส่วนของจังหวัดภูเก็ตนั้นค่าจ้างหรือรายได้ขั้นต่ำวันละ 300 บาทไม่น่าจะมีผลกระทบมากนัก เพราะรายได้ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวเกินวันละ 300 บาทอยู่แล้ว แต่เป็นห่วงว่าหากจังหวัดอื่นๆ ที่ค่าจ้างยังต่ำอยู่แล้วมีการปรับจนครบ 300 บาท โดยที่ภูเก็ตต้องปรับตามไปด้วยนั้นจะทำให้ค่าจ้างสูงถึงวันละ 400-500 วัน ซึ่งจุดนี้จะเกิดปัญหาอย่างแน่นอน
      
ส่วนเงินเดือน 15,000 บาทนั้นน่าเป็นห่วงมาก เพราะระบบการศึกษาของไทยผู้ที่จบปริญญาตรีได้มีทักษะพร้อมที่จะเข้ามาทำงาน ภาคการท่องเที่ยวได้อย่างดี โอกาสที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวจะรับเข้าทำงานยากมาก เพราะในภูเก็ตนอกจากจะมีมหาวิทยาลัย 2 แห่งแล้ว ยังสถาบันการศึกษาระดับอาชีวะอีกหลายแห่งที่มีการฝึกทักษะในช่วงการเรียน ซึ่งผู้ประกอบการพร้อมที่จะรับเข้าทำงานอยู่แล้ว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 7-9-2554)

จัดหางาน จ.แพร่ เตือนอย่างหลงเชื่อผู้แอบอ้างว่าจะช่วยไปทำงานเกาหลี

นายดิเรก ทะจันทร์ จัดหางานจังหวัดแพร่ เปิดเผยว่า ตามที่กรมการจัดหางานได้แจ้งประกาศคณะอนุกรรมการจัดส่งแรงงานไทยไปสาธารณรัฐ เกาหลี ภายใต้ระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (EPS) ครั้งที่ 11 กำหนดให้กรมการจัดหางานเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ทำหน้าที่ในการรับสมัครคัดเลือก และจัดส่งคนหางานไปทำงาน โดยคนหางานที่จะเดินทางไปทำงานต้องผ่านการทดสอบความสามารถภาษาเกาหลี (EPS-TOPIK) ตามที่ทางการเกาหลีกำหนด รับสมัครในตำแหน่ง คนงานอุตสาหกรรม จำนวน 2,000 คน คนงานเกษตร/เลี้ยงสัตว์ จำนวน 1,000 คน คนงานประมง จำนวน 1,000 คน และคนงานก่อสร้าง จำนวน 1,500 คน เปิดรับสมัคร จนถึงวันที่ 9 กันยายน 2554 ณ สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน สำนักงานจัดหางานจังหวัดลำปาง สำนักงานจัดหางานจังหวัดนครราชสีมา และสำนักงานจัดหางานจังหวัดอุดรธานี

จัดหางานจังหวัดแพร่ ขอเตือนให้ผู้ว่างงานหรือผู้สนใจ อย่าได้หลงเชื่อบุคคลที่แอบอ้างว่าจะสามารถช่วยเหลือให้ท่านไปทำงานเกาหลี ได้ เพราะการเดินทางไปทำงานเกาหลีในปัจจุบัน เป็นการดำเนินการจัดส่งโดยรัฐเท่านั้น ไม่ต้องเสียค่าบริการและค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ยกเว้น ค่าทำหนังสือเดินทาง ค่าตรวจโรค ค่าเครื่องบิน เป็นต้น หากมีข้อสงสัยสอบถามสำนักงานจัดหางานจังหวัดแพร่ หมายเลขโทรศัพท์ 054-511-721 054-511-807 ทุกวันเวลาราชการ

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 7-9-2554)

เครือข่ายแรงงานเตรียมบุกทำเนียบฯ จี้รัฐรับร่าง กม.ประกันสังคมฉบับประชาชน

น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 13 กันยายนนี้ เวลา 09.30 น. คสรท.พร้อมด้วยเครือข่ายแรงงานกลุ่มย่านต่างๆ และสภาองค์การลูกจ้างจำนวนหลายร้อยคน เตรียมเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ช่วยพิจารณาผลักดันร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับผู้ใช้แรงงาน ที่รัฐบาลชุดที่แล้วได้รับหลักการไปแล้ว แต่ยังค้างอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร ให้เข้าสู่การพิจารณาของสภา ไม่เช่นนั้นร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งมีระยะเวลา 60 วันจะตกไปภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้

น.ส.วิไลวรรณ กล่าวอีกว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับของผู้ใช้แรงงานมีสาระสำคัญที่เป็นประโยชน์กับผู้ใช้ แรงงานในหลายเรื่อง อาทิ การเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนให้มากขึ้น การได้มาซึ่งคณะกรรมการประกันสังคม (สปส.)  ประธานคณะกรรมการและเลขาธิการ สปส.การจ่ายเงินทดแทนกรณีเจ็บป่วยให้มากกว่าร้อยละ 50 การเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนให้มากขึ้น สามารถเข้ารักษาพยาบาลได้ทุกโรงพยาบาลโดยใช้บัตรใบเดียว การแก้ไขระเบียบให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพิ่มเป็นร้อยละ 5 เช่นเดียวกับนายจ้างและลูกจ้าง รวมทั้งเพิ่มบทลงโทษนายจ้างที่ไม่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนให้รุนแรงขึ้น

น.ส.วิไลวรรณ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา คสรท.และเครือข่ายแรงงานได้ไปยื่นร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมไว้กับนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ต่อมาวันที่ 24 สิงหาคม ก็ได้ไปยื่นกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และวันที่ 5 กันยายน ได้ยื่นกับนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า จึงจะไปยื่นต่อนายกรัฐมนตีอีกครั้งในวันที่ 13 กันยายนนี้

(สำนักข่าวไทย, 8-9-2554)

เผย พนง.ขสมก.ได้ปรับขึ้นค่าแรง 300 บ.

พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลัง การประชุมมอบหมายงานกับทางองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. โดยเน้นย้ำในส่วนของนโยบายค่าแรง 300 บาท ว่า พนักงานของ ขสมก.ได้ปรับตามมาตรการดังกล่าวเหลือเพียง 2 ราย ที่จะมีการปรับให้ต่อไป และสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เงินเดือน 15,000 บาทนั้น พนักงานของ ขสมก. ได้ในอัตราที่สูงกว่าอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม พล.ต.ท.ชัจจ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับรถยนต์โดยสารประจำทางนั้น ขณะนี้ทาง ขสมก. มีรถให้บริการ 3,500 คัน เป็นรถที่หมดอายุการใช้งาน 2,800 คัน และรถเสีย 700 คัน ซึ่งจะหามาตรการในการแก้ไขต่อไป

(สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 8-9-2554)

ญี่ปุ่นนิคมฯลำพูนหยุดลงทุน วิตกหนักขึ้นค่าแรง 300 จ่อย้ายฐานผลิตหากมีผล

วันนี้ (9 ก.ย.) คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา และสำนักงานแรงงานจังหวัดลำพูน ร่วมกันจัดการเสวนาเรื่องทิศทางการจัดการแรงงานในภาคเหนือกับนโยบายแรงงานและการก้าวสู่ประชาคม เศรษฐกิจอาเซียน (AEC)” โดยมี พลเอก ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา เป็นประธานเปิดการเสวนา และมี นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมชี้แจงนำเสนอนโยบายด้านแรงงานให้กับผู้ประกอบการ หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูนที่เข้า ร่วมการเสวนาในครั้งนี้กว่า 100 คน ที่โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่
      
ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า การจัดการเสวนาในครั้งนี้ เพื่อระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสถานการณ์แรงงานปัจจุบันที่นิยม แรงงานไร้ฝีมือของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ และผู้ประกอบการ SMEs สาขาอื่นในภาคเหนือ รวมทั้งเสนอแนวทางการพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงาน เป็นการเตรียมความพร้อมรับนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เป็นกรณีศึกษาปัญหาแรงงานขาดแคลนในภาคอุตสาหกรรม และเพื่อศึกษาการเตรียมความพร้อมรองรับผลกระทบจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี พ.ศ.2558 ของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภาคเหนือ
      
ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า นโยบายการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท นั้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะดำเนินการอย่างแน่นอน เพราะเป็นนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ในช่วงการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามยอมรับว่าการดำเนินการตามนโยบายนี้คงจะต้องดำเนินการอย่างเป็น ลำดับขั้น โดยคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายแรงงานและผู้ประกอบการ ซึ่งการดำเนินนโยบายนี้นอกจากแรงงานจะได้ประโยชน์แล้ว ยังจะต้องทำให้ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์อย่างสมเหตุสมผลด้วยเช่นกัน เช่น อาจจะต้องมีการกำหนดสิทธิประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดให้ เป็นต้น โดยทั้งหมดนี้จะต้องมีการหารือร่วมกันระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อ พิจารณาหาข้อสรุปก่อนที่จะดำเนินการ แต่ทั้งนี้ในเบื้องต้นจะมีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 40%พร้อมกันทุกจังหวัดทั่วประเทศไปก่อน เริ่มตั้งแต่ ม.ค.55 เป็นต้นไป ซึ่งเห็นว่าน่าจะมีความเหมาะสมดีแล้ว
      
ด้าน นายณรงค์ คองประเสริฐ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ และประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนจังหวัดเชียงใหม่ แสดงความเห็นว่า ไม่ต่อต้านการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะถือเป็นสิ่งที่ดีที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ อย่างไรก็ตามเห็นว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท พร้อมกันทั่วประเทศ จะเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอย่างมาก เพราะเป็นการดำเนินการที่ฝืนหลักกลไกตลาด โดยมองว่าการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำน่าจะใช้กลไกไตรภาคีที่มีอยู่แล้วในแต่ละ จังหวัดให้เป็นผู้พิจารณากำหนดตามความเหมาะสมสำหรับในแต่ละจังหวัดมากกว่า ที่จะใช้กฎหมายมาเป็นตัวกำหนด
      
นอกจากนี้ ระบุว่า อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ในภาคเหนือเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ได้ต้องการใช้แรงงานที่มี ทักษะฝีมือสูงอยู่แล้ว แต่ต้องการใช้แรงงานที่มีค่าจ้างต่ำ ดังนั้น การเพิ่มขึ้นค่าจ้างแรงงานจะส่งผลกระทบอย่างหนักทันทีต่ออุตสาหกรรมที่ลง ทุนอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเวลานี้พบว่ากลุ่มนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นที่ลงทุนอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม ภาคเหนือ จังหวัดลำพูน ต่างพากันหยุดการลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์และการดำเนินนโยบายในเรื่องของการ เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งหากมีกำหนดบังคับให้ต้องเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน เชื่อว่า กลุ่มนักลงทุนจากต่างประเทศคงจะย้ายฐานการผลิตออกไปจากประเทศไทยไปลงทุนใน ประเทศอื่นที่ค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าอย่างแน่นอน
      
ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวด้วยว่า ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีกอย่างหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือการ ทะลักเข้ามาของแรงงานต่างด้าวที่ค่าจ้างต่ำกว่า และมีความขยันมากกว่า ซึ่งมองว่าในช่วง 3-5 ปีนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการทะลักเข้ามาของแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อน บ้านเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันระบุว่าการจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 40% พร้อมกันทั่วประเทศที่จะมีการนำมาใช้ตั้งแต่ ม.ค.55 เป็นต้นไป เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการเกิดความหวั่นวิตกเป็นอย่างมากเช่นกัน เพราะไม่สามารถปรับตัวได้ทัน จนหลายรายเริ่มคิดถึงการต้องปรับลดการจ้างงานลงแล้วเพื่อลดค่าใช้จ่ายและต้น ทุน
      
ดังนั้น จึงไม่อยากให้รัฐบาลเร่งรัดดำเนินการในการขึ้นค่าจ้างมากจนเกินไป แต่น่าจะให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถการแข่งขันให้กับ ผู้ประกอบการมากกว่า เพราะหากผู้ประกอบการแข่งขันได้ดีมีรายได้เพิ่มขึ้นย่อมส่งผลให้ค่าจ้างแรง งานเพิ่มขึ้นตามไปด้วยเอง

(ASTV ผุ้จัดการออนไลน์, 9-9-2554)

พบแรงงานกระทบจากน้ำท่วมกว่า 6 พันคน

นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากอุทกภัยที่เกิดขึ้นใน 12 จังหวัด มีสถานประกอบการ ได้รับผลกระทบ 27 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 6,706 คน กระทรวงแรงงาน ได้รับรายงานการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ ผ่านศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติกระทรวงแรงงาน ประจำจังหวัด ระหว่างวันที่ 5-7 กันยายน ที่ผ่านมา ได้มีการช่วยเหลือมอบถุงยังชีพ ให้ผู้ประสบอุทกภัย ประสานและร่วมมือกับหน่วยงาน และสถานประกอบการ เพื่อป้องกันช่วยเหลือ ผู้ได้รับผลกระทบ โดยเตรียมข้อมูลตำแหน่งงานว่าง ความต้องการฝึกอาชีพ จัดทีมแพทย์และพยาบาล ให้บริการตรวจสุขภาพ ขอความร่วมมือนายจ้างผ่อนปรน เรื่องเวลาทำงานและการลา จัดรถรับ-ส่ง ที่พักอาศัย เครื่องอุปโภค-บริโภค

นอกจากนี้ ยังได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประกันตนที่เดือดร้อนจากน้ำท่วม กู้เงินไปซ่อมแซมบ้านแล้ว 190 ราย คิดเป็นเงิน 9.5 ล้านบาท ส่วนมาตรการหลังน้ำลด จะเร่งสำรวจความต้องการฝึกอาชีพในพื้นที่ การซ่อมแซมสิ่งต่างๆ การแนะแนวอาชีพ การนัดพบแรงงาน และโครงการจ้างงานเร่งด่วน และพัฒนาทักษะฝีมือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาชีพ เพื่อให้ผู้ประสบภัยมีรายได้ดำรงชีพตนเอง และครอบครัวเป็นการชั่วคราว

(ไอเอ็นเอ็น, 9-9-2554)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชวนดูหนังไทยทวนกระแส เนื่องในวาระครบรอบสิบปี ‘9/11’

Posted: 11 Sep 2011 12:53 AM PDT

เนื่องในโอกาสครบรอบสิบปีเหตุการณ์ ‘9/11’ หรือเหตุการณ์ที่เครื่องบินสี่ลำถูกไฮแจ็คโดยกลุ่มก่อการร้าย ให้พุ่งเข้าชนตึกแฝดเวิร์ลดเทรด เซ็นเตอร์ และตึกเพนตากอน ในกรุงนิวยอร์ก และวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2542 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวกว่า 3,000 ราย และความเสียหายทางวัตถุและจิตใจที่มากมายมหาศาล

สิบปีถัดมา ในเดือนพฤษภาคม 2554 หลังจากทางการสหรัฐทำสงครามก่อการร้ายกลุ่มอัลกออิดะห์ในอัฟกานิสถานอย่างยืดเยื้อยาวนาน เนื่องจากเชื่อว่ากลุ่มดังกล่าวเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ 9/11 หน่วยกองทัพพิเศษของสหรัฐ ด้วยความสนับสนุนจากซีไอเอ ก็สามารถจับกุมตัว โอซามา บิน ลาเดนได้ พร้อมทั้งสังหารและนำศพเขาไปทิ้งน้ำอย่างรวดเร็ว

ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าว จะไม่ได้ส่งผลกับประเทศไทยโดยตรงมากนัก หากแต่ ภาณุ อารี หนึ่งในผู้กำกับสารคดีสั้น “O.B.L” รู้สึกว่า หลังจากที่เหตุการณ์ 9/11 เกิดขึ้น ในฐานะที่ตนเองเป็นมุสลิมและอยู่ในยุคร่วมสมัย กลับทำให้เกิดความสับสนและตั้งคำถามในหลายเรื่อง เช่น หลักคำสอนทางศาสนา ความรุนแรง และอัตลักษณ์ของอิสลาม ซึ่งถูกนำเสนอในสื่อกระแสหลักทั้งไทยและเทศแบบตีขลุมเสมอๆ

“หลังจากเหตุการณ์ 9/11 เกิดขึ้น สำหรับคนทั่วไป เขาอาจจะไม่ได้รู้สึกอะไร อาจจะรู้สึกว่า เรื่องก่อการร้ายกับอิสลามเหมือนกับจะเป็นเรื่องเดียวกัน เพียงแค่นั้น แต่สำหรับคนมุสลิมจำนวนมาก เหตุการณ์ดังกล่าวเหมือนกับว่า มันได้สร้าง identity (อัตลักษณ์) แบบหนึ่งขึ้นมา หลายคนอาจจะต้องยอมรับกับข้อกล่าวหา หรือว่าทัศนคติที่ถูกมองเปลี่ยนไปว่ามีความรุนแรง... มันเป็นบททดสอบของมุสลิมหลายๆ คน” ภาณุกล่าว

ภาณุกล่าวว่า ทุกวันนี้ เสียงของมุสลิมสายฮาร์ดไลน์ เช่น โอซามา บิน ลาเดน มักจะมีเสียงที่ดังมาก พูดเมื่อใดก็ส่งผลกระเทือนไปทั่วโลก เช่นเดียวกับมุสลิมสายที่ต่อต้านบิน ลาเดน อย่างไรก็ตาม มุสลิมสายกลาง กลับไม่ค่อยมีพื้นที่ให้แสดงออกหรือเสียงที่ดังเท่าไร เขาจึงอยากให้ภาพยนตร์เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง ที่แสดงตัวตนและความคิดของชาวมุสลิมในอีกด้านที่สังคมอาจไม่ค่อยได้รับรู้มากนัก

ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “O.B.L” เป็นผลงานกำกับโดยสามผู้กำกับรุ่นใหม่ ภาณุ อารี, ก้อง ฤทธิ์ดี และ กวีนิพนธ์ เกตุประสิทธิ์ ที่มีผลงานสารคดีมาแล้วอย่าง “Baby Arabia” ซึ่งสะท้อนผ่านสายตาตัวตนมุสลิมในสังคมสมัยใหม่ได้อย่างน่าสนใจ

ภาณุกล่าวถึงจุดประสงค์ของการทำหนังครั้งนี้ว่า อยากให้เป็นเหมือนหมายเหตุทางประวัติศาสตร์ เพื่อให้ไม่ลืมเหตุการณ์ดังกล่าว และในขณะเดียวกันก็สามารถเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อก้าวไปข้างหน้า และหาทางป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้อีก

“อยากให้หนังเรื่องนี้ เป็นหมายเหตุให้เราได้สะดุดและหยุดคิดถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ และศึกษามัน” ภาณุกล่าวส่งท้าย

 

ตัวอย่างภาพยนตร์

เรื่องย่อ “O.B.L” (ความยาว 20 นาที)

ครบรอบ 10 ปี แห่งหายนะ 11 กันยาที่นิวยอร์ค เหตุการณ์ที่ส่งแรงสั่นสะเทือนทั้งทางการเมือง วัฒนธรรม ศาสนา และเปิดประเด็นความขัดแย้งอันยากจะเยียวยาระหว่างโลกอิสลามกับโลกตะวันตก (รวมทั้งโลกอื่นๆ) ต่อเนื่องมาถึงการสังหารโอซามา บิน ลาเดน นักรบ/ผู้ก่อการร้าย/ปราชญ์/โลโก้ทีเชิร์ต บุคคลผู้สร้างและเปลี่ยนแปลงภาพพจน์ของศาสนาอิสลามในแบบที่ไม่มีใครทำได้มาก่อน

สารคดีสั้นเรื่องนี้สำรวจความคิด ความเห็น และทัศนคติของชาวไทยมุสลิม สิ่งที่พวกเขาประสบและความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดหนึ่งทศวรรษแห่งความโกลาหล

ผู้สนใจ สามารถรับชมโดย เข้าไปในเว็บไซต์ youtube แล้วพิมพ์คำว่า "O.B.L. the documentary" ฉายพร้อมกันทั่วโลกออนไลน์ 11 กันยา เวลาสามทุ่มตรง หรือติดตามความเคลื่อนไหวได้ใน http://www.facebook.com/pages/OBL/123800631052223

ชวนดูหนังไทยทวนกระแส เนื่องในวาระครบรอบสิบปี ‘9/11’

ชวนดูหนังไทยทวนกระแส เนื่องในวาระครบรอบสิบปี ‘9/11’

ชวนดูหนังไทยทวนกระแส เนื่องในวาระครบรอบสิบปี ‘9/11’

ชวนดูหนังไทยทวนกระแส เนื่องในวาระครบรอบสิบปี ‘9/11’

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น