โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ม.ทักษิณ แจกเอกสารแจงมติจังหวัดให้ใช้พื้นที่ เมินมติกรรมการสิทธิฯ เดินหน้าการก่อสร้าง

Posted: 23 Jul 2012 11:06 AM PDT

วิทยาลัยภูมิปัญหา ม.ทักษิณเมินมติกรรมการสิทธิ์ อ้างมติคณะกรรมการกำกับการใช้ที่ดินของรัฐประจำจังหวัดพัทลุงให้ใช้ประโยชน์ พร้อมระบุหากชาวบ้านต้องการเข้าใช้พื้นที่ให้ขออนุญาตและทำสัญญาข้อตกลงก่อน ด้านชาวบ้านแฉถูกยามข่มขู่-กลั่นแกล้งสารพัด กร้าวเดินหน้าใช้สิทธิชุมชนทำกิน

 
 
แจกประกาศวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน อ้างมีมติจังหวัดให้ใช้ประโยชน์ที่ดิน
 
นางเนิม หนูบูรณ์ เหรัญญิกเครือข่ายรักษ์แผ่นดินทุ่งสระ สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด เปิดเผยว่า หลังจากที่ชาวบ้านไปยื่นหนังสือกับผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงให้แก้ไปปัญหาข้อพิพาทที่สาธารณะประโยชน์ทุ่งสระระหว่างชาวบ้านกับวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ เมื่อวันที่ 20 ก.ค.55 เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน ได้เอาประกาศวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน เรื่องการใช้ที่ดิน “ทุ่งสระ” สาธารณะประโยชน์ในส่วนที่เป็นสิทธิของมหาวิทยาลัยทักษิณ มาแจกให้ชาวบ้านไสกลิ้งและบ้านท่าช้าง ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จังหวัดพัทลุง
 
ประกาศวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ ลงลายมือชื่อโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์วิเชียร แก้วบุญส่ง ผู้อำนวยการวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ ออกเมื่อ วันที่ 19 ก.ค.55 มีสาระสำคัญระบุว่า เมื่อวันที่ 20 มี.ค.51 คณะกรรมการกำกับการใช้ที่ดินของรัฐประจำจังหวัดพัทลุง ซึ่งมีผู้ว่าราชการเป็นประธานได้มีการประชุมและมีมติเอกฉันท์ให้มหาวิทยาลัยทักษิณใช้ประโยชน์ที่ดิน “ทุ่งสระ” สาธารณะประโยชน์ ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เนื้อที่ประมาณ 635 ไร่ ทางฝั่งทิศตะวันตกของถนนสายทะเลน้อย-ลำปำ ตามที่รังวัดเมื่อวันที่ 30 ม.ค.51
 
ดังนั้น มหาวิทยาลัยทักษิณมีสิทธิใช้ประโยชน์และดูแลรักษาตามกฎหมาย แต่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมและเจตนารมณ์วิทยาลัยฯ ที่มุ่งพัฒนาชุมชนและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน จึงอนุญาตให้ราษฎรบางรายใช้ประโยชน์ แต่ต้องแจ้งขออนุญาตจากมหาวิทยาลัยฯ และต้องได้รับความยินยอมจากมหาวิทยาลัยฯ ก่อน การอนุญาตดังกล่าวมีเงื่อนไขดังนี้
 
1.ราษฎรที่ประสงค์จะใช้ที่มหาวิทยาลัยฯ ได้รับอนุญาตใช้ประโยชน์ ให้ขออนุญาตและทำสัญญาข้อตกลงกับผู้อำนวยการวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน ในนามมหาวิทยาลัยฯ
 
2.ลักษณะของการทำประโยชน์ที่จะอนุญาตให้ใช้ราษฎรต้องใช้เพื่อทำนาหรือปลูกพืชล้มลุกตามฤดูกาลเท่านั้น และต้องไม่ขุดคูหรือยกร่องด้วยเครื่องจักร
 
3 ราษฎรที่ปลูกพืชยืนต้น เช่นปาล์มน้ำมัน ยางพาราไปแล้ว ก่อนเดือนเมษายน 2555 หากประสงค์จะเข้าไปดูแลบำรุงรักษาพืชที่ปลูกไว้ เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ มหาวิทยาลัยฯ จะอนุญาตให้กระทำการดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อเจ้าของได้ไปทำสัญญาข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยฯ เท่านั้น
 
อนึ่งราษฎรที่ได้ไปทำสัญญาไว้กับมหาวิทยาลัยฯ แล้ว สามารถเก็บผลผลิตจากการปลูกไม้ยืนต้นดังกล่าวได้จนกว่าต้นไม้จะตาย หรือหมดอายุการเก็บผลผลิต แต่จะไม่มีการปลูกไม้ยืนต้นเพิ่มเติมทั้งในพื้นที่เดิม หรือพื้นที่ใหม่ แต่หากมหาวิทยาลัยฯ จำเป็นต้องใช้พื้นที่เพื่อการก่อสร้างหรือเพื่อการพัฒนาใดๆ มหาวิทยาลัยฯ จะแจ้งให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 90 วัน ก่อนเข้าดำเนินการ
 
4.มหาวิทยาลัยฯ จะอนุญาตให้ใช้ที่ดินทำประโยชน์และอนุญาตให้เข้ามาดูแลรักษาต้นไม้ที่ปลูกไว้ได้เฉพาะราษฎรที่ได้มาทำสัญญาข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยฯ เท่านั้น หากราษฎรรายใดเข้ามาใช้พื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาตมหาวิทยาลัยฯ จำเป็นต้องแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมาย
 
 
มหาวิทยาลัยฯ เมินคำสั่ง กสม.ให้ยุติการก่อสร้างใดๆ จนกว่าจะขอใช้พื้นที่ให้ถูกต้อง
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 พ.ย.51 นางแปลก หนูบูรณ์กับพวกรวม 6 คน ซึ่งเป็นตัวแทนราษฎรหมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 6 ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนอนุกรรมการในการจัดการที่ดินและป่า ในกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ว่าได้รับความเดือดร้อนจากการที่มหาวิทยาลัยทักษิณได้เข้ามาครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์ “ทุ่งสระ” เพื่อก่อสร้างวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน โดยมหาวิทยาลัยทักษิณขัดขวางไม่ให้ราษฎรเข้าไปประกอบอาชีพ และปักป้ายประกาศห้ามราษฎรเข้าไปในที่ดิน อีกทั้งยังขุดลอกคลองขึ้นใหม่ ทำให้ราษฎรประมาณ 150 ครอบครัว ไม่สามารถสัญจรและเข้าไปประกอบอาชีพการเกษตรและเลี้ยงสัตว์บริเวณดังกล่าวได้เช่นเดิม
 
ต่อมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีมติในการประชุมครั้งที่ 12/2552 เมื่อวันที่ 24 เม.ย.52 เห็นชอบตามมติคณะอนุกรรมการสิทธิในการจัดการที่ดินและป่า ชุดที่ 3 จึงมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาให้มหาวิทยาลัยทักษิณ ยุติการก่อสร้างใดๆ ในพื้นที่ ต.พนางตุง จนกว่าจะได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่ให้ถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมาย โดยเคารพต่อสิทธิชุมชน และสิทธิองค์กรปกครองท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ ให้มหาวิทยาลัยทักษิณ ดำเนินการก่อสร้างวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชนใน ต.พนางตุง เฉพาะพื้นที่ที่มีการก่อสร้างไปแล้วเท่านั้น โดยให้เทศบาลพนางตุงดูแลพื้นที่สาธารณประโยชน์ต่อไป
 
นอกจากนี้ เมื่อวันที่21 มิ.ย.55 เครือข่ายรักษ์แผ่นดินทุ่งสระกว่า 80 คน ได้ไปถามเทศบาลตำบลพนางตุงว่าวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่จากกระทรวงมหาไทยแล้วหรือไม่ โดยได้รับคำตอบว่ามหาวิทยาลัยทักษิณ ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่สาธารณะทุ่งสระจากกระทรวงมหาดไทย
 
นางเนิม กล่าวว่า เทศบาลตำบลพนางตุงทำหนังสือไปยังมหาวิทยาลัยทักษิณไม่ให้มีการต่อเติมอาคาร แต่ก็ยังเดินหน้าสร้างต่อโดยไม่สนใจ ชาวบ้านเห็นว่ากรรมการสิทธิ์ฯ และเทศบาลฯ ห้ามต่อเติมอาคารเลยเข้าไปทักท้วง ปรากฏว่าคนงานของวิทยาลัยภูมิปัญญา เปลือยก้นให้ชาวบ้านดูเชิงเหยียดหยาม ไม่นึกว่าจะทำได้ถึงขนาดนั้น
 
สมาชิกเครือข่ายรักษ์แผ่นดินทุ่งสระ กล่าวด้วยว่า เวลาชาวบ้านไปดายหญ้าสวนปาล์มน้ำมัน สวนยางพารา ไปเก็บถั่วเขียว ไปปลูกแตงกวา แตงโม มักมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของวิทยาลัยภูมิปัญญา มาถ่ายรูปเพื่อข่มขู่จะแจ้งความกับชาวบ้านอยู่เสมอ อย่างกรณีล่าสุดที่ชาวบ้านถูกแจ้งความข้อหาบุกรุก เขาแค่ไปเก็บถั่วเขียวเท่านั้น ตนก็งงเหมือนกันเมื่อมหาวิทยาลัยฯ ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่จากกระทรวงมหาดไทย ตำรวจรับแจ้งความได้อย่างไร มีอยู่ครั้งหนึ่งตอนที่ชาวบ้านชุมนุมให้วิทยาลัยฯ ถอดป้ายห้ามชาวบ้านเข้าทำประโยชน์ มีการยิงปืนข่มขู่ชาวบ้านด้วย
 
“ยังไม่ใครไปทำข้อตกลงกับมันด้วยหรอก ในเมื่อที่ดินเป็นของพวกเรา มันอ้างเอาเองทั้งเพ ป้าและชาวบ้านก็เข้าไปใช้ประโยชน์เหมือนเดิม ป้าไม่กลัวหรอก ชาวบ้านก็ไม่กลัว เราใช้สิทธิของชุมชน และตอนนี้กำลังดำเนินการจัดทำโฉนดชุมชนตามนโยบายของรัฐบาลอยู่ วันนั้นนะวันที่ ผ.อ.สำนักงานโฉนดชุมชนลงทุ่งสระ พวกยามวิทยาลัยฯ ไปปล่อยข่าวว่าเราโกหกทั้งเพ หลอกชาวบ้านว่าเป็น ผ.อ.โฉนดชุมชนลงพื้นที่ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าใคร และยังสบประมาทว่าไม่มีทางที่จะทำโฉนดชุมชนได้” นางเนิม กล่าว
 
ส่วน นายเปลื้อม จันสุกสี กรรมการเครือข่ายรักษ์แผ่นดินทุ่งสระ ให้ข้อมูลว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิเชียร แก้วบุญส่ง ผู้อำนวยการวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ เคยพูดกับชาวบ้านว่ามติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไม่เคยอยู่ในสายตามหาวิทยาลัยฯ เลย อีกทั้งเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมามหาวิทยาลัยทักษิณทำหนังสือถึงเทศบาลตำบลพนางตุงให้ฟ้องมหาวิทยาลัยฯ และชาวบ้านกับศาลปกครอง กรณีที่สาธารณะประโยชน์ทุ่งสระ แต่เทศบาลฯ ตอบปฏิเสธ
 
นายเปลื้อม กล่าวด้วยว่า เมื่อประมาณปี 2552 วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน เดินไฟฟ้าตามสายลวดหนามบริเวณวิทยาลัยฯ ทำให้วัวของชาวบ้านโดนไฟฟ้าช็อตตายไป 2 ตัว ต่อมากรรมการสิทธิ์สั่งให้รื้อออก ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงคุยเพื่อแก้ปัญหาให้ชาวบ้านแล้วแต่ทางมหาวิทยาลัยก็ไม่ยินยอม ชาวบ้านขอแค่ให้ใช้พื้นที่ที่สร้างอาคารแล้ว 185 ไร่ ที่เหลือขอให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์
 
“แต่ก่อนชาวบ้านทำนาปีละ 2 ครั้งเพราะมีคลองชลประทานไหลผ่าน พอมหาลัยฯ มามันขุดตัดคลองส่งน้ำชลประทาน จนให้ชาวบ้านทำนาไม่ได้อีกเพราะไม่มีน้ำ จึงหันกันไปปลูกปาล์มน้ำมัน ยางพารา พืชผัก วิทยาลัยภูมิปัญหาชุมชนอะไรทะเลาะกับชุมชน วิทยาลัยฯ มันใช้อำนาจจ้างอันธพาลในตำบลให้เป็นยามมาคอยขมขู่ชาวบ้าน” นายเปลื้อม กล่าว
 
3 คดี ข้อพิพาท มหาวิทยาลัยทักษิณ-ชาวบ้าน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านและมหาวิทยาลัย มี 3 คดี คดีแรกอยู่ในชั้นศาล คือ คดีหมายเลขดำที่ 510 / 2554 อัยการจังหวัดพัทลุง ยื่นฟ้องนายบุญธรรม วรรณเดช กับพวกรวม 8 คน ประกอบด้วย นายรูญ หนูบูรณ์ นายบวน หนูบูรณ์ นางเนิม หนูบูรณ์ นายยุทธชัย ทองวัตร นายวิน ผอมหนู นางแปลก หนูบูรณ์ และนายเปื้อม จันสุกสี ฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ของวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ โดยศาลจังหวัดพัทลุงนัดเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างชาวบ้าน กับวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งคดียังไม่มีข้อสรุป
 
คดีที่ 2 ยังอยู่ในชั้นอัยการ คือคดีอาญาที่ 78/2553 ที่พนักงานสอบสวน แจ้งข้อกล่าวหาแก่ นายบุญรัตน์ สวนอินทร์ จำเลยที่ 3 เป็นหัวหน้าผู้สั่งการนำกำลังชาวบ้านรวม 14 คน ประกอบด้วย นายบุญเศียร รอดยัง นายวิน ผอมหนู นายบุญรัตน์ สวนอินทร์ นายสมปอง จักรปล้อง นายมานะ เอื้อบำรุงเกียรติ นางสารภี เอื้อบำรุงเกียรติ นางอุไร จันสุกสี นางเอิ้ม จันสุกสี นายสมนึก จันสุกสี นางศรีเพียร จันสุกสี นายศรศักดิ์ จันสุกสี นายสวน เทพนุ้ย นางพัน เพชรศรี และนางเนิม หนูบูรณ์ ฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ของวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ โดยอัยการจังหวัดพัทลุงนัดเจรจาไกล่เกลี่ยซึ่งคดียังไม่ได้ข้อสรุปเช่นกัน
 
ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.55 ผศ.วิเชียร แก้วบุญส่ง ผู้อำนวยการวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ มาแจ้งความกับพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรทะเลน้อย ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ว่าเมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 2-3 เม.ย.55 และเมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 23-24 เม.ย.55 นางสายัญ ดำมุสิก และนายโสภณ ดำมุสิก เข้าใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยทักษิณ โดยได้ยกร่องปลูกต้นปาล์มน้ำมัน กล่าวหาว่าร่วมกันบุกรุก รบกวนสิทธิการครอบครองและสิทธิการใช้ประโยชน์ของมหาวิทยาลัยทักษิณ
 
ทั้งนี้นางเนิม หนูบูรณ์ และนายวิน ผอมหนู ถูกดำเนินคดีซ้ำซ้อนถึง 2 คดี
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เลื่อนไต่สวนคดี คนงานเขาดิน เหยื่อกระสุน 10 เมษา

Posted: 23 Jul 2012 09:47 AM PDT

23 ก.ค.55 เวลาประมาณ 13.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 808 ศาลอาญา รัชดา ศาลได้มีคำสั่งเลื่อนการไต่สวนคำร้องชันสูตรพลิกศพ คดีเลขที่ อช.1/2555 กรณีการเสียชีวิตของนายมานะ อาจราญ อายุ 24 ปี ลูกจ้างสวนสัตว์ดุสิตที่ถูกยิงเสียชีวิตคืนวันที่ 10 เมษายน 2555 ภายในบริเวณสวนสัตว์  ในเหตุการณ์สลายการความรุนแรงทางการเมือง โดยพนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญา 7 สำนักงานอัยการสูงสุด ได้นำส่งพยานหลักฐานและพยานบุคคลจำนวนมากถึง 36 ปาก รวมทั้งยังต้องมีการตรวจสอบเพิ่มเติม ศาลจึงได้มีคำสั่งให้มีการไต่สวน 7 นัด และเลื่อนการไต่สวนไปวันที่ 13, 14, 17, และ 24 ก.ย.55 , 26 พ.ย.55 , 17 และ 24 ธ.ค.55

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า วันนี้มีนายมาโนช อาจราญ ซึ่งเป็นบิดาของผู้เสียชีวิต มาฟังการไต่สวนด้วย และไม่มีการแต่งตั้งทนายมาร่วมซักพยาน แม้ศาลจะยืนยันสิทธิดังกล่าวให้ผู้เสียหายทราบแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ นายมานะ อาจราญ ผู้เสียชีวิต อายุ 24 ปี เป็นลูกจ้างรายวันของสวนสัตว์ดุสิต(เขาดินวนา) ถูกยิงด้วยอาวุธปืนลูกโดดความเร็วสูงเข้าที่ศีรษะด้านหลังทะลุหน้าผากส่วนบน ถึงแก่ความตายทันทีในสวนสัตว์ดุสิต เมื่อค่ำวันที่ 10 เม.ย.2553 โดย ผู้จัดการ Online (http://www.manager.co.th/crime/viewnews.aspx?NewsID=9550000010967) ได้เคยเผยแพร่ สำนวนชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตจากพนักงานสอบสวนกองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่สรุปว่า “เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร”  โดยในส่วนท้ายสำนวนดังกล่าว ผู้จัดการ Online สรุปว่า ระหว่างเกิดเหตุ สถานที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ปิดทางทหาร มีเพียงกำลังทหารและเจ้าหน้าที่ของสวนสัตว์ดุสิตเท่านั้นที่อยู่ในบริเวณเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ทหารมีอาวุธปืนเอ็ม 16 ประจำกาย เจ้าหน้าที่ของสวนสัตว์ดุสิตไม่ได้รับอนุญาตให้พกพาอาวุธปืน สอบสวนพยาน 13 ปาก ให้การสอดคล้องกันว่าไม่มีชายชุดดำหรือบุคคลภายนอกอยู่ในบริเวณพื้นที่เกิดเหตุหรือผ่านเข้าออกได้อย่างเด็ดขาด

เมื่อสอบสวนแพทย์ผู้ตรวจศพ ยืนยันว่า บาดแผลที่ศีรษะผู้ตายถูกยิงด้วยกระสุนปืนลูกโดดความเร็วสูง โดยสอบสวนผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับอาวุธปืนยืนยันว่า บาดแผลดังกล่าวเกิดจากการถูกยิงด้วยอาวุธปืนเอ็ม 16 ซึ่งเป็นอาวุธปืนความเร็วสูงที่ใช้กระสุนปืนขนาด .223(5.56 มม.) เหตุการณ์จึงเป็นไปได้ว่า ก่อนเกิดเหตุเล็กน้อยได้มีรถยนต์กระบะต้องสงสัย ขับผ่านไปกลับที่ถนนอู่ทองในบริเวณหน้าประตูทางเข้าสวนสัตว์ดุสิต ตรงข้ามรัฐสภา ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่บริเวณนั้น เข้าใจว่าเป็นรถของกลุ่มผู้ชุมนุม คนร้ายหรือชายชุดดำที่จะมาทำร้าย เจ้าหน้าที่ทหารจึงวิ่งหลบหนีเข้าไปในสวนสัตว์ดุสิต และเตรียมการป้องกันพร้อมตอบโต้คนร้าย เป็นเวลาเดียวกันกับที่ผู้ตาย ซึ่งแต่งกายด้วยชุดสีเข้ม กำลังเดินออกจากบ่อเต่ามาทางกรงเก้งหม้อ ทั้งบริเวณเกิดเหตุค่อนข้างมืด มองเห็นไม่ชัด น่าเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ทหาร ไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด ที่นอนหมอบอยู่บริเวณปากทางเข้ากรงเก้งหม้อ เข้าใจว่าผู้ตายเป็นคนร้ายหรือชายชุดดำ จึงใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 ยิงผู้ตายจนถึงแก่ความตาย จึงเห็นว่าการตายของผู้ตาย เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร แต่ยังไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ชายแดนใต้ ในสายตารุสนี’ สะท้อนปัญหาความไม่สงบผ่าน ‘วรรณกรรม’

Posted: 23 Jul 2012 08:37 AM PDT

ม.ทักษิณจัดเสวนา ‘ชายแดนใต้ ในสายตารุสนี’ สะท้อนปัญหาความไม่สงบผ่าน ‘วรรณกรรม’ เชิญมนตรี ศรียงค์ กวีซีไรต์ 2550 ผู้เขียนรุสนี 1 ใน 15 เรื่อง ผ่านรอบแรก นวนิยายซีไรต์ 2555 สะท้อนมุมมอง ร่วมแลกเปลี่ยน รูญ ระโนด - ปรเมศวร์ กาแก้ว 

 
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ กรรมการอำนวยการโครงการจัดตั้งศูนย์อิสลามศึกษาเพื่อการบูรณาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณเปิดเผยว่า เวลา 12.30 – 16.50 น.วันที่ 25 กรกฎาคม 2555 โครงการจัดตั้งศูนย์อิสลามศึกษาเพื่อการบูรณาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จัดเวทีมนุษย์ฯ - สังคมเสวนา ครั้งที่ 3 “ชายแดนใต้ ในสายตารุสนี” ที่ใต้ตึกคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ เปิดเผยถึงวัตถุประสงค์ในการจัดว่า เพื่อต้องการให้นักศึกษา คณาจารย์ และผู้สนใจทั่วไป เข้าใจปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้หลายมิติ ทั้งด้านวิชาการ และวรรณกรรมในการอธิบายปัญหาสังคมชายแดนใต้ได้ มีการเชิญนายมนตรี ศรียงค์ กวีซีไรต์ปี 2550 และผู้เขียนเรื่องรุสนี 1 ใน 15 เรื่อง ที่ผ่านรอบแรก นวนิยายซีไรต์ ปี 2555 มาสะท้อนมุมมองจากทัศนะผ่านตัวละครรุสนี มีการเชิญ “รูญ ระโนด” นายจรูญ หยูทอง นักวิชาการ นักคิดนักเขียนผู้มีประสบการณ์ และนายปรเมศวร์ กาแก้ว นักวิชาการ นักคิดนักเขียนรุ่นใหม่มาร่วมแลกเปลี่ยนเสวนา
 
“ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ถือว่าเป็นปัญหาใกล้ตัวเรามากเลยจึงจัดเวทีนี้ขึ้น เพื่อเรียนรู้ผ่านมิติวรรณกรรมโดยสะท้อนผ่านนิยายเรื่องรุสนี ของพี่มนตรี ศรียงค์ ผมคิดว่ามันเป็นวรรณกรรมที่รับใช้สังคมจึงอยากเปิดเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนเสวนามุมมองชายแดนใต้ผ่านวรรณกรรม” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไต่สวนการตาย 'ฟาบิโอ' วันแรก รอง ผบก.น.6 ระบุกระสุนมาจากฝั่งทหาร

Posted: 23 Jul 2012 08:26 AM PDT

ศาลไต่สวนนัดแรก กรณีช่างภาพอิตาลี "ฟาบิโอ โปเลนกี" เสียชีวิตช่วงสลายชุมนุมราชประสงค์ หัวหน้าพนักงานสืบสวนระบุมาจากปฏิบัติการของทหารตาม พรก.ฉุกเฉิน ด้าน 'เอลิซาเบตตา โปเลนกี' น้องสาวบินจากอิตาลีมาเบิกความด้วยวันแรก

ประชาไทสัมภาษณ์ เอลิซาเบตตา โปเลนกี น้องสาวของฟาบิโอ โปเลนกี ช่างภาพชาวอิตาลีซึ่งเสียชีวิตจากกรณี 19 พ.ค. 53 โดยวันนี้เอลิซาเบตตาให้สัมภาษณ์หลังเบิกความต่อศาลเป็นวันแรก (โปรดคลิก cc เพื่ออ่านคำแปลภาษาไทย)

 

23 ก.ค. 55 - เวลา 9.50 น. ณ ศาลอาญากรุงเทพฯ ใต้ เป็นวันแรกของการไต่สวนพยานในคดีการเสียชีวิตของช่างภาพอิตาเลียน ฟาบิโอ โปเลนกี ที่ถูกกระสุนยิงเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมทางการเมืองเดือน พ.ค. 53 โดยพยานฝั่งอัยการ พ.ต.อ.สืบศักดิ์ พันธุ์สุระ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล 6 (รอง ผบก.น.6) และหัวหน้าพนักงานสอบสวน เบิกความว่าสาเหตุการตายของฟาบิโอ น่าจะมาจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทหาร ที่ยิงกระสุนปืนความเร็วสูงทิศทางระนาบเข้าใส่นักข่าวและผู้ชุมนุม เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53

พ.ต.อ. สืบศักดิ์ ให้การว่า หลังจากที่กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ รับคดีของนายฟาบิโอ โปเลนกีเข้าเป็น 1 ใน 16 สำนวนที่เชื่อว่าเสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อปลายปีที่แล้ว ตนได้เป็นเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีดังกล่าว และสอบหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมจากดีเอสไอ และ สน. ปทุมวัน 

โดยพบว่า นายฟาบิโอเสียชีวิตในช่วงกลางวันของวันที่ 19 พ.ค. 53 ที่บริเวณแยกราชดำริ ระหว่างเข้าไปทำข่าวการชุมนุม ขณะนั้นทหารกำลังเคลื่อนมาทางแยกราชดำริ โดยมีผู้ชุมนุม และผู้สื่อข่าวอยู่บริเวณดังกล่าว มีการใช้อาวุธปืนยิงมาเป็นระยะๆ มาทางด้านผู้ชุมนุม

โดยผู้พิพากษาถาม พ.ต.อ.สืบศักดิ์ว่า "ยิงตรงขึ้นฟ้า หรือยิงแนวระนาบ" พ.ต.อ.สืบศักดิ์ตอบว่า "ยิงแนวราบ" และให้การต่อว่า

"ผู้เสียชีวิตกำลังถ่ายภาพ และวิ่งหลบอันตราย ทั้งหนี ทั้งถ่ายภาพด้วย ในลักษณะก้มตัวเล็กน้อย จากสี่แยกราชดำริมายังสี่แยกราชประสงค์ โดยหันหลังให้กับฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหารที่ใช้อาวุธปืน และถูกกระสุนจึงล้มลงบริเวณบริษัทสายไฟฟ้าบางกอกเคเบิล ใกล้กับแยกราชดำริ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน ลูกปืนเข้าที่ด้านหลัง ด้านขวา 1 นัด ทะลุออกหน้าอกด้านซ้าย แล้วล้มลงติดกับเกาะกลางด้านบริษัทดังกล่าว ผู้ชุมนุมจึงพาซ้อนรถจักรยานยนต์ไปยังโรงพยาบาลตำรวจ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา" พ.ต.อ.สืบศักดิ์กล่าวต่อศาล

ทั้งนี้ พ.ต.อ. สืบศักดิ์ให้การว่า ในช่วงการสลายชุมนุม ซึ่งมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและอยู่ภายใต้การสั่งการของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอ.ฉ) แล้วนั้น บริเวณแยกราชประสงค์- ราชดำริ มีทหารจากกองพันทหารม้าที่ 3 รักษาพระองค์ (ม.พัน.3 รอ.) กำลังพล 300 นาย ผู้บังคับบัญชาคือ พ.ท.นพสิทธิ์ สิทธิพงศ์โสภณ (หมายเหตุ - ยศในขณะนั้น ปัจจุบันเลื่อนยศเป็น พ.อ. ตำแหน่ง เสธ.ม.1 รอ.) โดย ม.พัน.3 รอ. อยู่ภายใต้กรมทหารม้าที่ 1 กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ฯ

พ.ต.อ.สืบศักดิ์ ให้การว่าในวันดังกล่าว กำลังพลจาก ม.พัน.3 รอ. ได้เข้าควบคุมพื้นที่และขอคืนพื้นที่บริเวณถนนราชดำริ มีการใช้รถหุ้มเกราะนำทางเข้าปฏิบัติหน้าที่ มีการใช้ ปืน HK (ปืนชนิด Heckler & Koch 33 หรือ ปลย.11) ปืนลูกซอง ปืนสั้น มีการใช้กระสุนยาง กระสุนซ้อมรบ กระสุนจริง และแก๊ซน้ำตาชนิดขว้างในการปฏิบัติการดังกล่าว

เมื่ออัยการซักถามพยานถึงสาเหตุการตายของนายฟาบิโอ พ.ต.อ. สืบศักดิ์กล่าวว่า น่าจะเป็นกระสุนปืนจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติตามคำสั่ง

รองผบ.ชน. ที่ 6 ระบุว่า ข้อสันนิษฐานดังกล่าว มาจากการสอบปากคำพยานที่เกี่ยวข้อง 47 ปาก ทั้งผู้เชี่ยวชาญ พยานแวดล้อม เอกสารนิติเวชศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาพถ่ายและคลิปวีดีโอจากนักข่าวต่างประเทศด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่ออัยการถามถึงชนิดของลูกกระสุนปืน รอง ผบ.ช.น.6 ไม่สามารถระบุชนิดของลูกกระสุนได้ เนื่องจากกระสุนทะลุร่างของผู้ตาย แต่คาดว่าเป็นกระสุนประเภทความเร็วสูง โดยให้เหตุผลว่า "ดูจากการทะลุทะลวง และสภาพบาดแผล" 

 

'เอลิซาเบตตา' เบิกความวันแรก เยือนไทยเพื่อจี้คดีเป็นครั้งที่ 6 

เอลิซาเบตตา โปเลนกี น้องสาวของผู้เสียชีวิต ซึ่งได้เบิกความต่อศาลวันนี้เป็นวันแรก กล่าวว่า เธอมีความหวังขึ้นมาเล็กน้อยที่เห็นความคืบหน้าในกระบวนการศาล แต่ก็ไม่ได้อยากจะเห็นผู้ร้ายต้องถูกส่งเข้าคุก เพียงแต่เธอต้องการทราบความจริงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 แล้ว ที่เอลิซาเบตตาได้มาเยือนประเทศไทยเพื่อติดตามความคืบหน้าในคดีดังกล่าว 

นายคมรม พลทะกลาง ทนายความฝ่ายโจทก์ ค่อนข้างแสดงความมั่นใจกับคดีนี้ โดยให้สัมภาษณ์ว่า ตั้งใจจะสู้ให้เห็นว่าคดีเข้าข่ายป. วิอาญา 150 ซึ่งกำหนดว่าหากผู้ตายเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าพนักงาน ศาลต้องไต่สวนถึงพฤติกรรมที่ตาย และหาผู้กระทำร้ายเท่าที่จะทราบได้ภายใน 30 วัน และด้วยหลักฐานและพยานบุคคลที่มี ค่อนข้างจะชี้ชัดเจนว่าการกระทำเกิดจากเจ้าหน้าที่ทหาร มิใช่กลุ่มอื่นใด จากนั้น จะเดินหน้าสู้คดีต่อไปเพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้สั่งการที่เกี่ยวข้อง 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ เสนอ 11 แนวทางการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

Posted: 23 Jul 2012 08:13 AM PDT

ข้องใจเมกะโปรเจกต์จัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน จี้เปิดเผยทีโออาร์ต่อสาธารณะชน ยุติแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำโดยการทำลายป่า หันมาให้ใช้การจัดการน้ำชุมชนเป็นแนวทางหลักในการแก้ไขปัญหาน้ำของประเทศ

 
 
วันนี้ (23 ก.ค.55) เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ ออกแถลงการณ์เรื่อง ข้อเสนอการจัดการน้ำของประเทศไทย โดยแนวทางการจัดการน้ำโดยชุมชน เพื่อความยั่งยืน ที่สมดุล และเป็นธรรม ระบุ เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนืออันประกอบด้วยคณะทำงานในลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน กก อิง หงาว งาว สาละวิน และโขง ซึ่งได้ดำเนินงานในการจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมมาโดยตลอด เล็งเห็นว่า แผนแม่แบบในการแก้ปัญหาน้ำของประเทศไทย โดยการดำเนินการของรัฐบาลขาดความโปร่งใส ชัดเจน และการมีส่วนร่วม
 
สืบเนื่อง จากกรณีที่ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดเชิญบริษัทเอกชนทั้งในและต่างประเทศ มาทำทีโออาร์ หรือรายละเอียดในการเสนอกรอบแนวคิด เพื่อจัดจ้างให้ทำแผนแม่แบบ (Conceptual Plan) ในการแก้ปัญหาน้ำของประเทศไทยทั้งระบบตลอด 25 ลุ่มน้ำ อันประกอบด้วย 14 เมกะโปรเจกต์ในวงเงิน 350,000 ล้านบาท ตามกรอบของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยหรือ กบอ. ซึ่งได้มี “แผนงานโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำ” ในพื้นที่ 5 ลุ่มน้ำคือ ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และลุ่มน้ำป่าสัก รวมความจุประมาณ 1,807 ล้าน ลบ.ม.ใช้งบประมาณกว่า 50,000 ล้านบาท
 
เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยทีโออาร์ดังกล่าวต่อสาธารณะชน ยุติแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำโดยการทำลายป่าอันเป็นแนวทางที่ไร้ซึ่งความเป็นเหตุเป็นผล และให้ความสำคัญต่อการจัดการน้ำชุมชนเป็นแนวทางหลักในการแก้ไขปัญหาน้ำของประเทศไทย พร้อมกับมีข้อเสนอต่อรัฐบาลในการจัดการน้ำเพื่อความยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรมของทุกภาคส่วนในประเทศ ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนตามบริบทนิเวศวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น 11 ข้อ ดังนี้ 1.ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การอนุรักษ์ป่า การจัดการป่าชุมชนโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน 2.ผลักดันแนวคิดการจัดการน้ำโดยชุมชนท้องถิ่น ให้เป็นแผนแม่บทในการจัดการน้ำแห่งชาติ
 
3.กำหนดนโยบายสาธารณะในการบริหารจัดการลุ่มน้ำขนาดเล็กอย่างยั่งยืนและเป็นองค์รวมของระบบนิเวศในลุ่มน้ำทั้งระบบ (ดิน น้ำ ป่า) ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ 4.เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขา ในแผนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก 5.กักเก็บน้ำระดับตำบล “หนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งกักเก็บน้ำ” โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6.ฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับมาทำหน้าที่ตามธรรมชาติโดยการขุดลอกตะกอนแม่น้ำ แก้ไขปัญหารุกล้ำในลำน้ำ
 
7.จัดแบ่งพื้นที่ (Zoning) ให้เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภท 8.กระจายอำนาจและงบประมาณให้กับชุมชนท้องถิ่นในการวางแผนระบบการจัดการน้ำโดยชุมชน และการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 9.สนับสนุนการจัดการน้ำระดับครัวเรือน และระดับชุมชนโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน 10.ทบทวนนโยบายการส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ และส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียง และ 11.ยุติการผลักดันการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ อย่างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เขื่อนแม่วงก์ เขื่อนแม่น้ำปิงตอนบน เขื่อนสาละวิน เขื่อนแม่น้ำโขง ฯลฯ
 
แถลงการณ์ดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้
 
 
แถลงการณ์ เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ
เรื่อง ข้อเสนอการจัดการน้ำของประเทศไทย โดยแนวทางการจัดการน้ำโดยชุมชน
เพื่อความยั่งยืน ที่สมดุล และเป็นธรรม
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
-
 
ตามที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดเชิญบริษัทเอกชนทั้งในและต่างประเทศ มาทำทีโออาร์เพื่อจัดจ้างให้ทำแผนแม่แบบ (Conceptual Plan) ในการแก้ปัญหาน้ำของประเทศไทยทั้งระบบตลอด 25 ลุ่มน้ำ อันประกอบด้วย 14 เมกะโปรเจกต์ในวงเงิน 350,000 ล้านบาทตามกรอบของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยหรือ กบอ. ซึ่งได้มี "แผนงานโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำ" ในพื้นที่ 5 ลุ่มน้ำคือ ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และลุ่มน้ำป่าสัก รวมความจุประมาณ 1,807 ล้าน ลบ.ม.ใช้งบประมาณกว่า 50,000 ล้านบาทนั้น
 
เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนืออันประกอบด้วยคณะทำงานในลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน กก อิง หงาว งาว สาละวิน และโขง ซึ่งได้ดำเนินงานในการจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมมาโดยตลอด เห็นชัดเจนว่าแผนงานดังกล่าวของรัฐบาลขาดความโปร่งใส ชัดเจน และการมีส่วนร่วม  ดังนั้นเครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือจึงเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยทีโออาร์สามแสนล้านต่อสาธารณะชน ยุติแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำโดยการทำลายป่าอันเป็นแนวทางที่ไร้ซึ่งความเป็นเหตุเป็น และให้ความสำคัญต่อการจัดการน้ำชุมชนเป็นแนวทางหลักในการแก้ไขปัญหาน้ำของประเทศไทย  พร้อมกับมีข้อเสนอต่อรัฐบาลในการจัดการน้ำเพื่อความยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรมของทุกภาคส่วนในประเทศ ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนตามบริบทนิเวศวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น ดังนี้
 
1. ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การอนุรักษ์ป่า การจัดการป่าชุมชนโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เป็นแนวทางหนึ่งที่จะฟื้นฟูเสถียรภาพของระบบนิเวศน์ป่าต้นน้ำให้กลับคืนมาสู่สมดุลอย่างยั่งยืนเหมาะสมกับระบบนิเวศของแต่ละพื้นที่ อันเป็นการป้องกันปัญหาอุทกภัยที่ถูกจุด
 
2. ผลักดันแนวคิดการจัดการน้ำโดยชุมชนท้องถิ่น ให้เป็นแผนแม่บทในการจัดการน้ำแห่งชาติ โดยการผสานแนวคิดภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมินิเวศ การจัดการน้ำแบบใหม่ และการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้เกิดการเข้าใจและแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและองค์รวม
 
3. กำหนดนโยบายสาธารณะในการบริหารจัดการลุ่มน้ำขนาดเล็กอย่างยั่งยืน และเป็นองค์รวมของระบบนิเวศในลุ่มน้ำทั้งระบบ (ดิน น้ำ ป่า) ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ให้เหมาะสมกับระบบนิเวศของลุ่มน้ำ และสอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่น
 
4. เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขา ในแผนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ซึ่งจัดทำโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้โดยใช้งบประมาณเฉลี่ยหมู่บ้านละประมาณ 3 ล้านบาทเท่านั้น
 
5. กักเก็บน้ำระดับตำบล “หนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งกักเก็บน้ำ” โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งแผนงานเหล่านี้จะกระทบกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนไม่มากนัก แต่จะมีประโยชน์ต่อชาวบ้านและชุมชนโดยตรงในแต่ละพื้นที่
 
6. ฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับมาทำหน้าที่ตามธรรมชาติโดยการขุดลอกตะกอนแม่น้ำ  การแก้ไขปัญหารุกล้ำในลำน้ำเพื่อรักษาพื้นที่ลำน้ำ  การพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำและกลางน้ำด้วยการขุดลอก  การทำพื้นที่แก้มลิง และรักษาความสมบูรณ์ของพื้นที่ต้นน้ำเพื่อชะลอน้ำ
 
7. จัดแบ่งพื้นที่ (Zoning) ให้เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภท เช่น พื้นที่เกษตร แหล่งท่องเที่ยว แหล่งประมง เขตอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งนอกจากจะสอดคล้องกับระบบนิเวศน์แล้ว ยังสามารถป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ทางตอนล่างอีกด้วย
 
8. กระจายอำนาจและงบประมาณให้กับชุมชนท้องถิ่น ในการวางแผนระบบการจัดการน้ำโดยชุมชน รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำและระบบการจัดการน้ำของชุมชนท้องถิ่น และให้สิทธิและอำนาจการจัดการน้ำแก่ชุมชนท้องถิ่น โดยมีกฎหมายรองรับ
 
9. สนับสนุนการจัดการน้ำระดับครัวเรือน และระดับชุมชนโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้แก่ ฝายต้นน้ำ ฝายทดน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ ขุดบ่อ หรือ สระน้ำในไร่นา รวมทั้งอนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบเหมืองฝายที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น จะสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้าน และชุมชน อย่างเป็นจริง และใช้งบประมาณน้อยกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่
 
10. ทบทวนนโยบายการส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ และส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียง ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอายุสั้น และเลือกปลูกพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อลดการบุกรุกพื้นที่ป่า และลดปริมาณการใช้น้ำในการทำเกษตรกรรมนอกฤดู
 
11. ท้ายสุด ขอให้ยุติการผลักดันการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ อย่างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เขื่อนแม่วงก์ เขื่อนแม่น้ำปิงตอนบน เขื่อนสาละวิน เขื่อนแม่น้ำโขง ฯลฯ โดยหันมาใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชนดังได้กล่าวมาแล้ว
ด้วยจิตคารวะ
เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ 23 กรกฎาคม 2555
ณ วัดท่าการ้อง จ.พระนครศรีอยุธยา
 
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกร็ดข่าว: ดีไซเนอร์หัวใสผลิตเสื่อละหมาดติดเข็มทิศ เรื่องแสงเมื่อหันไปทางนครเมกกะห์

Posted: 23 Jul 2012 07:48 AM PDT

บีบีซีรายงาน ดีไซเนอร์เชื้อสายตุรกีที่มีถิ่นพำนักในกรุงลอนดอนออกแบบเสื่อละหมาดติดเข็มทิศ คาดจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเมื่อนำไปใช้ระะหว่างเดินทางหรืออยู่ที่ที่ไม่คุ้นทิศทาง โดยเสื่อละหมาดดังกล่าวจะสว่างขึ้นเมื่อหันหน้าไปยังนครเมกกะห์

 อ่านข่าวและรูปแบบของเสื่อละหมาดติดเข็มทิศที่ BBC 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไอดอล/ไอเดียล อะไรสำคัญกว่า?

Posted: 23 Jul 2012 07:30 AM PDT

อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เคยพูดว่า “idol ทุบทิ้งเลยก็ได้ ideal ควรมีไว้เป็นจุดหมาย พยายามไปให้ถึง หรือเข้าใกล้ให้มากที่สุด” 

หากคิดตามคำพูดนี้ คงพอเข้าใจได้ว่า idol หรือบุคคลในอุดมคติ คนที่เราเคารพนับถือว่าดีพร้อม สมบูรณ์แบบนั้นไม่แน่นอน เพราะคนเรานั้นเปลี่ยนแปลงความคิด อุดมการณ์เป็นต้นได้เสมอ

เช่น คนในยุค 14 ตุลา 6 ตุลา บางคนที่เราเคยชื่นชมว่าเขาเป็นนักสู้เพื่อเสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม อยู่ข้างคนชั้นล่างของสังคม มายุคนี้เขาอาจอยู่ตรงข้ามกับชาวบ้านผู้ถูกกดขี่ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องสิ่งที่เขาเองก็เคยเรียกร้องมาก่อน

กระทั่งบางคนอาจตัดสินชาวบ้านเสมือนเพียงเป็น “มนุษย์เครื่องมือ” ถูกสนตะพายโดยนักการเมืองและแกนนำบนเวทีปราศรัย หาได้ได้มีความคิดเป็นของตนเอง หรือมีศักยภาพที่จะมี ideal หรืออุดมคติ อุดมการณ์ประชาธิปไตยได้แต่อย่างใดไม่

อีกอย่าง การยึดติดในไอดอล ก็มีปัญหาว่าบุคคลที่เป็นไอดอลมักถูกสถาปนาขึ้นด้วยคำสรรเสริญเกินจริง เป็นไปได้ที่อาจทำให้เรามองความดี ความสมบูรณ์แบบของเขาอย่างโรแมนติก ไม่มองอย่างสมจริงว่า คนเราทุกคนก็มีถูกมีผิด มีดีมีชั่ว มีข้อบกพร่องในตัวเองมากบ้างน้อยบ้างเป็นธรรมดา

พุทธะเองก็เตือนให้ระมัดระวังการยึดติดไอดอล ดังในกาลามสูตรข้อสุดท้ายที่ว่า “อย่าปลงใจเชื่อเพราะยึดถือว่าท่านผู้นี้เป็นครูของเรา” หมายความว่า แม้แต่พุทธะที่เป็นศาสดาหรือครูของเราก็ไม่ควรจะหลงจินตนาการว่า ท่านสมบูรณ์แบบวิเศษวิโสเกินมนุษย์ จนทำให้จินตนาการนั้นบดบังความเป็นมนุษย์ธรรมดาของพุทธะ บดบังเหตุผลหรือคุณค่าตามเป็นจริงของธรรมะที่ท่านสอน (ซึ่งก็มีข้อจำกัดอยู่อีกเช่นกัน)

ความหมายตามหลักกาลามสูตรอันเป็นหลักเสรีภาพในการแสวงหาความจริงก็คือว่า ไอดอลอาจจะบดบังความจริง หรือเป็นอุปสรรคในการแสวงหาความจริงได้ ดูเหมือนฟรานซิส เบคอน ก็คิดคล้ายกัน เขาแบ่งไอดอลหรือเทวรูป (ตามนิยามของเขา) ที่เป็นอุปสรรคต่อการแสวงหาความจริงเป็น 4 ประเภท คือ เทวรูปแห่งเผ่าพันธุ์ เทวรูปแห่งถ้ำ เทวรูปแห่งตลาด และเทวรูปแห่งโรงละครที่ก่อให้เกิดอคติเพราะยึดเผ่าพันธุ์ อิทธิพลสิ่งแวดล้อม ประสบการณ์ที่ตนสั่งสมมา ภาษาที่ใช้สื่อสาร และปรัชญาหรือทฤษฏีที่ตนยึดถือสืบกันมา เป็นต้น

เอาเถอะ ไอดอลหรือเทวรูปตามความหมายของเบคอนอาจมีรายละเอียดซับซ้อนต่างออกไป แต่สาระก็คือ การยึดติดไอดอลในความหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้เสรีภาพในการแสวงหาความจริง และการเคารพหลักการที่ถูกต้องนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้

ค้านท์เองก็ยืนยันว่า การที่ปัจเจกบุคคลจะมี autonomy ในการตัดสินถูก-ผิด หรือกำหนดหลักการทางจริยธรรมที่เป็นสากลบนฐานของความเสมอภาคและยุติธรรมได้ เขาจะต้องเป็นอิสระจากทั้งอิทธิพลของอคติต่างๆ ภายในใจ และอิทธิพลภายนอก เช่น รัฐ ศาสนา ครอบครัว ฯลฯ

จะว่าไปแล้ว การมีเสรีภาพที่จะแสวงหาความจริงและกำหนดหลักการที่ถูกต้องในการดำเนินชีวิตของแต่ละคน และการอยู่ร่วมกันอย่างยุติธรรมในสังคมนั้นย่อมถือเป็นไอเดียลที่เป็นจุดหมายซึ่งเราต้องพยายามบรรลุถึง หรือเข้าใกล้ให้ได้มากที่สุด แต่ขอสาบานต่อ “สิ่งไม่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย” ในสากลโลกเลยว่า ตั้งแต่เกิดมาจนบัดนี้ (ซึ่งก็ยังไม่แก่มากนัก) ผมแทบจะไม่พบเห็นการปลูกฝังให้ราษฎรในประเทศนี้รักไอเดียล หรืออุดมการณ์ประชาธิปไตยคือ เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ เท่าครึ่งเสี้ยวของการปลูกฝังให้รักไอดอลที่เป็นตัวบุคคลเลยครับ

ในสังคมเรา พอพูดถึงความดีงามของไอดอลที่เป็นตัวบุคคล ตั้งแต่เด็กอนุบาลถึงศาสตราจารย์ก็ซาบซึ้งน้ำตาไหลได้ง่ายๆ แต่พอพูดถึงเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ คนที่จบปริญญาตรี โท เอก ก็ยังงงๆ อยู่ ดังเราเคยเห็นคนระดับศาสตราจารย์ออกทีวีบอกว่า “จะให้คนเสมอภาคกันทั้งหมดได้ยังไง มันผิดธรรมชาติ นิ้วมือแต่ละนิ้วยังไม่เท่ากันเลย” (ฮาไม่ออก)

ที่น่าเศร้ากว่านั้นคือ เมื่อมีนักศึกษาประชาชนจำนวนมากในประวัติศาสตร์พยายามต่อสู้ทางการเมืองเพื่อเข้าใกล้ หรือยืนยันไอเดียลเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ซึ่งจำเป็นต้องตั้งคำถามถึงการเปลี่ยนกติกาบางอย่างเกี่ยวกับไอดอลเพื่อให้ไอเดียลเป็นจริงมากขึ้น บรรดาผู้คลั่งไคล้ไอดอลต่างดาหน้าออกมาประณาม และขัดขวางทุกวิถีทาง แม้กระทั่งบางครั้งถึงกับใช้วิธีรุนแรงปราบปรามเข่นฆ่า

ในสังคมประชาธิปไตย ศูนย์รวมจิตใจ หรือ “อุดมการณ์ร่วม” ของราษฎรต้องเป็นไอเดียลเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพไม่ใช่หรือครับ? และกติกาการอยู่ร่วมกันในสังคมต้องสถาปนาขึ้นมาบนพื้นฐานของหลักเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพที่ต้องใช้กับ “ทุกคน” อย่างเท่าเทียมไม่ใช่หรือครับ?

(กรุณาอย่าบอกว่าคนบางชนชั้นถูกกฎหมายกำหนดให้สละเสรีภาพพื้นฐานบางอย่างแล้ว เช่น เสรีภาพในการนับถือศาสนา เป็นต้น เพราะเสรีภาพที่ถูกกำหนดให้สละไปนั้นไม่อาจเทียบได้กับอภิสิทธิ์เหนือการตรวจสอบที่ได้มา)

ขอถามแค่นี้แหละครับ และกราบงามๆ ขออภัยท่านที่รักไอดอลมาก ที่คำถามนี้อาจทำให้ท่านอุกอั่งใจ!

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลฎีการับคำร้องเพิกถอนคำสั่งไต่สวนการตายกรณี 'ตากใบ'

Posted: 23 Jul 2012 07:23 AM PDT

23 ก.ค. 54 สืบเนื่องจากวันที่ 6 ก.ค. 55 ทนายความของญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส จำนวน 34 คน ได้ยื่นฎีกาต่อศาลอาญา ขอให้เพิกถอนคำสั่งไต่สวนการตายกรณีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมพื้นที่อำเภอตากใบของศาลจังหวัดสงขลา เนื่องจากเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ศาลอาญามีคำสั่งรับฎีกาและให้ส่งฎีกาให้ศาลฎีกาพิจารณาต่อไป

คดีนี้สืบเนื่องจาก ญาติผู้ตายทั้ง 34 คน ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งไต่สวนการตายกรณีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบของศาลจังหวัดสงขลา ศาลอาญามีคำสั่งไม่รับคำร้อง ผู้ร้องซึ่งเป็นญาติผู้ตายทั้ง 34 คน จึงได้ยื่นอุทธรณ์ ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.55 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลอาญา เนื่องจากเห็นว่าศาลจังหวัดสงขลารับคดีไว้และทำการพิจารณาพิพากษาไปแล้ว ศาลอาญาจึงไม่อาจรับคดีไว้พิจารณาอีก เป็นการต้องห้ามตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 15

ผู้ร้องจึงได้ยื่นฎีกา โดยให้เหตุผลว่า คำร้องของผู้ร้อง มีวัตถุประสงค์ว่าคำสั่งของศาลจังหวัดสงขลานั้นไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว การยื่นคำร้องของผู้ร้องในคดีนี้ไม่ใช่คดีที่ศาลจังหวัดสงขลารับไว้พิจารณาแล้ว ซึ่งต้องห้ามตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 15 แต่เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ผู้ร้องสามารถใช้สิทธิทางศาลได้โดยตรง และเมื่อไม่มีศาลใดมีเขตอำนาจเฉพาะ จึงต้องยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจทั่วไป คือศาลอาญา เพราะศาลอาญามีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทั้งปวงได้ทั่วราชอาณาจักร

คำสั่งไต่สวนการตายของศาลจังหวัดสงขลากรณีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม อำเภอตากใบในคดีหมายเลขดำที่ ช.16/2548 คดีหมายเลขแดงที่ ช.8 /2552 ที่ว่าผู้ตายทั้งหมดเสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจ โดยไม่กล่าวถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย กล่าวคือ ไม่ระบุข้อเท็จจริงเรื่องที่ผู้ถูกควบคุมตัวจำนวน 78 คน ถูกบังคับให้ถอดเสื้อและมัดมือไขว้หลัง บังคับให้นอนคว่ำหน้ากับพื้นรถยนต์บรรทุก ทับซ้อนกันเป็นชั้น ประมาณ 4-5 ชั้น และไม่ระบุชื่อบุคคลผู้ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งและเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติตามคำสั่ง ซึ่งเป็นผู้สั่งการหรือกระทำการอันเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ซึ่งจากคำให้การของประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุจำนวนมาก และพยานหลักฐานต่าง ๆ ในสำนวนได้ปรากฏข้อเท็จจริงทั้งหมดอย่างชัดแจ้ง รวมตลอดถึงข้อเท็จจริงสำคัญอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมผู้ร่วมชุมนุม และนำตัวไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร โดยไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกควบคุมตัวแต่อย่างใด คำสั่งของศาลจังหวัดสงขลาย่อมกระทบต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของผู้ตาย และญาติผู้ตาย ซึ่งได้รับการรับร้องไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ขัดกับบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 และบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงสมควรถูกเพิกถอนและมีคำสั่งใหม่ที่เป็นธรรม  

โดยในตอนท้ายของฎีกา ผู้ร้องได้ระบุด้วยว่า คำสั่งของศาลจังหวัดสงขลาที่ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ส่งผลให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องรับผิดในการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและสิทธิมนุษยชนแต่ประการใด และอาจเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคล โดยการปฏิบัติที่ทารุณ โหดร้าย และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้อีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรีนพีซดัน “กฎหมายพลังงานหมุนเวียน” หวัง 55,555 ชื่อหนุน

Posted: 23 Jul 2012 06:52 AM PDT

 
 
23 ก.ค.55 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์กรีนพีชเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (คลิกอ่าน) เชิญชวน ร่วมผลักดันกฎหมายพลังงานหมุนเวียนฉบับแรกของไทย โดยคาดหวังประชาชน 55,555 รายชื่อร่วมหนุน
 
จากที่กระทรวงพลังงานตั้งเป้าหมายการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนให้ได้ร้อยละ 25 ภายใน 10 ปี (พ.ศ.2555-2564) ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก จากแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่หลากหลาย เช่น แสงอาทิตย์ ลม ก๊าซชีวภาพ ชีวมวล น้ำ (ขนาดเล็ก) ความร้อนใต้พิภพ คลื่น เป็นต้น รวมกันแล้วมีมากถึง 9,201 เมกะวัตต์ ที่พร้อมเชื่อมต่อกับระบบสายส่งไฟฟ้าเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานที่แท้จริง และรับประกันว่าประชาชนเข้าถึงบริการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน จากระบบการผลิตไฟฟ้าสมัยใหม่ที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนับจากนี้ไปอีก 10 ปี
 
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาและการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนให้เป็นไปตามเป้าหมายนี้ ต้องอาศัยความมุ่งมั่น และเจตจำนงทางการเมืองของรัฐบาล โดยเฉพาะการดำเนินการให้มีกลไกสนับสนุนการพัฒนาและการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและยั่งยืนโดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่  “กฎหมายพลังงานหมุนเวียน” ที่จะต้องมีไว้เพื่อประโยชน์ของประชาชน และหลุดพ้นจากการผูกขาดด้านพลังงาน
 
ข้อมูลจากเว็บไซต์กรีนพีชระบุด้วยว่า กฎหมายพลังงานหมุนเวียนต้องเป็นนโยบายระดับชาติที่ยึดถือประโยชน์ของประชาชนและสิ่งแวดล้อมเป็นที่ตั้ง โดยมีหลักการขั้นพื้นฐานดังต่อไปนี้ 1.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและยั่งยืนเป็นอันดับแรก ผู้ผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนสามารถเข้าถึงระบบสายส่งก่อนพลังงานอื่นๆ
 
2.ทุกคน ทุกบ้าน ทุกหย่อมหญ้า สามารถผลิตพลังงานหมุนเวียนเพื่อใช้และขายสู่ระบบสายส่งไฟฟ้า ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการใช้และผลิตพลังงานหมุนเวียน 3.การบริหารจัดการระบบโครงข่ายไฟฟ้ามีความโปร่งใสและราคาไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนมีความเป็นธรรม
 
4.จัดตั้งกองทุนวิจัยและพัฒนาศักยภาพและเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนในทุกจังหวัด และเพิ่มอัตราการจ้างงานจากการลงทุนและการดำเนินงานระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและยั่งยืน และ 5.ผู้ใช้ไฟฟ้ามีสิทธิเลือกใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและยั่งยืนแทนไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิล เพื่อสร้างจิตสาธารณะ ร่วมกันลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
 
“กรีนพีซอยากเห็นประชาชนอย่างน้อย 55,555 คน พร้อมยิ้มรับและร่วมก้าวสู่การปฏิวัติพลังงานก้าวต่อไป ร่วมบอกให้โลกรู้ว่า คนเล็กคนน้อยอย่างคุณนี่แหละ ร่วมสร้างพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดซึ่งเป็นอนาคตที่เราต้องการให้เกิดขึ้นจริง” ข้อมูลจากกรีนพีชระบุ
 
ทั้งนี้ กรีนพีซจะมีการจัดมหกรรม ‘ปฏิวัติพลังงาน’ ในระหว่างวันที่ 2-18 สิงหาคม 2555 เวลา ณ ลานพลาซ่า ราชมังคลากีฬาสถาน หัวหมาก โดยนำเสนอ ‘โดมกู้วิกฤตโลกร้อน’ โดมลูกโลกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 12 เมตร ที่กรีนพีซใช้ในงานรณรงค์ด้านพลังงานมาในหลายประเทศ เพื่อแสดงศักยภาพของพลังงานหมุนเวียน นอกจากนั้นยังมีคอนเสิร์ตปฏิวัติพลังงานซึ่งเป็นการรวมพลังศิลปินบนเวทีโดมกู้วิกฤตโลกร้อนที่ใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนตลอดทั้งคอนเสิร์ต
 
เวทีเสวนา “อาบแดด ตากลม ดมขี้ คลุกคลีกากพืช กับกฎหมายพลังงานหมุนเวียน” ลานสาธิตพลังงานหมุนเวียนจากเครือข่ายต่างๆ พร้อมของกินของใช้ที่ทำจากไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งการรณรงค์ออนไลน์บนรถพลังงานแสงอาทิตย์ของกรีนพีซ เพื่อร่วมปฏิวัติพลังงานผ่านกฎหมายพลังงานหมุนเวียนด้วย
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'พันธบัตรป่าไม้' แรงจูงใจฟื้นป่าสมดุล 30 ปี 20 ล้านไร่

Posted: 23 Jul 2012 06:51 AM PDT

ท่ามกลางสถานการณ์ป่าไม้ถูกทำลาย  พื้นที่ป่าลดลงต่อเนื่องจนเหลือเพียง 107.6 ล้านไร่  กิจกรรมปลูกป่าและฟื้นฟูป่ายังทดแทนได้ไม่เพียงพอ และยังขึ้นอยู่กับการลงมือทำของคนที่เห็นประโยชน์  “พันธบัตรป่าไม้” เป็นอีกเครื่องมือทางการเงินที่จะช่วยสร้างสมดุลคนกับธรรมชาติได้อีกทางหนึ่ง เพราะสามารถนำมาใช้ระดมทุนหรือทรัพยากรจากนักลงทุนภาคเอกชนและประชาชนได้กว้างขวางมากขึ้น  

ผลศึกษาแนวทางการดำเนินการพันธบัตรป่าไม้สำหรับประเทศไทย  แนะตั้งองค์การมหาชนดำเนินการออกพันธบัตรป่าไม้ระยะยาวมีผลตอบแทนทั้งดอกเบี้ยและเป็นเครื่องมือซีเอสอาร์สร้างภาพลักษณ์องค์กรเพื่อสังคม  เพิ่มโอกาสให้ผู้สนใจร่วมปลูกป่าและอนุรักษ์ป่าได้แม้ไม่ต้องลงมือเอง  เพราะเงินจากการขายพันธบัตรจะนำไปใช้เพื่อปลูกป่าเพิ่ม  เสริมป่าเก่า  สร้างชุมชนคนรักษ์ป่า กำหนดตัวอย่างพันธบัตรระยะยาว 30 ปี ช่วยปลูกป่าและฟื้นฟูสภาพป่าเพิ่ม 20 ล้านไร่

ทั้งนี้ รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา  ที่ปรึกษา ฝ่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย   หัวหน้าโครงการวิจัยการพัฒนาความรู้และยุทธศาสตร์ความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก สกว. เปิดเผยความคืบหน้าการนำแนวทาง “พันธบัตรป่าไม้” มาใช้ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่า  โดยระบุว่า

ที่ผ่านมาพื้นที่ป่าไม้ของไทยลดลงไปมากและมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ โดยที่ไม่สามารถนำทรัพยากรจากงบประมาณปกติมาใช้เพื่อการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าได้มากนัก เนื่องจากข้อจำกัดของระบบการคลังในส่วนราชการ   ดังนั้นแนวทางหนึ่งที่สามารถทำได้และลดข้อจำกัดการพึ่งพิงทรัพยากรของภาครัฐ(งบประมาณและบุคลากร)  คือ การนำระบบพันธบัตรป่าไม้มาใช้  เพราะเป็นระบบที่ทำให้สามารถระดมทรัพยากรภาคเอกชนและ ภาคประชาชนได้โดยตรง  ไม่ต้องไปพึ่งงบประมาณของรัฐเป็นหลัก  โดยระบบนี้มีดำเนินการแล้วในประเทศชิลีและมีอีกหลายประเทศสนใจอยู่ระหว่างศึกษาดำเนินการเช่นเดียวกับประเทศไทย คือ บราซิลและสหรัฐอเมริกา

พันธบัตรป่าไม้จะเป็นเครื่องมืออย่างดีในการเพิ่มโอกาสให้กับผู้สนใจที่ไม่มีโอกาสได้ลงมือปลูกต้นไม้ ฟื้นฟูสภาพป่า  ได้เข้ามาลงทุนซื้อพันธบัตรป่าไม้ซึ่งเป็นพันธบัตรระยะยาวโดยมีผลตอบแทนคือดอกเบี้ย  และมากกว่านั้นการลงทุนพันธบัตรป่าไม้ในภาคเอกชนยังเป็นเครื่องมือซีเอสอาร์สร้างภาพลักษณ์องค์กรได้อีกทางหนึ่ง  แนวทางการดำเนินงานของพันธบัตรป่าไม้คือ การนำเงินที่ได้จากการซื้อพันธบัตรไปใช้ในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าไม้ ด้วยการปลูกป่า และบำรุงรักษาป่าอย่างเป็นรูปธรรม  เนื่องจากที่ผ่านมาลำพังการปลูกป่าตามภารกิจของหน่วยงานหรือตามโครงการ/วาระพิเศษต่าง ๆ ที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนพยายามดำเนินการนั้นยังไม่เพียงพอและขาดความต่อเนื่องจึงไม่สามารถฟื้นคืนสภาพป่าได้มากนักเมื่อเทียบกับพื้นที่ป่าซึ่งถูกทำลายต่อเนื่อง

สำหรับแนวทางการดำเนินการพันธบัตรป่าไม้ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยนั้น  การศึกษาได้ประมาณการรายรับและรายจ่าย โดยยึดหลักการที่ว่าเมื่อป่าไม้มีคุณค่าอนันต์ผู้ใช้หรือผู้ได้ประโยชน์จากป่าก็ควรจ่ายเพื่อนำเงินนั้นไปฟื้นฟูบำรุงรักษาธรรมชาติให้สมดุล  รายรับจึงมาจากผู้ใช้ประโยชน์ระบบนิเวศป่าไม้ที่สมบูรณ์ขึ้นและให้ประโยชน์ได้ภายใต้การจัดการดูแลให้สมดุล ได้แก่ รายได้การทำไม้อย่างยั่งยืน การขายคาร์บอนเครดิตในภาคป่าไม้  การเก็บค่าน้ำจากผู้ใช้น้ำรายใหญ่  บางส่วนจากงบประมาณป้องกันปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งของรัฐบาล  การเก็บภาษีคาร์บอน  กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และรายรับอื่น ๆ  เช่นงบประมาณด้านการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  และงบประมาณในการฟื้นฟูดินเค็ม เป็นต้น   

ประมาณการมูลค่าผลตอบแทนทางการเงินของป่าไม้เบื้องต้น  ตลอดอายุพันธบัตร 30 ปี จะต้องเพิ่มพื้นที่ป่าปลูก 20 ล้านไร่ โดยมีต้นทุนในการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าประมาณ 1.5 แสนล้านบาท  ขณะที่จะมีรายรับจากระบบนิเวศป่าที่ดีขึ้น (รายรับ 5 แหล่ง) ประมาณ 4.6 แสนล้านบาท  ผลตอบแทนทางการเงินของป่าไม้ตลอดอายุพันธบัตรจึงมีความคุ้มค่าคือราว 3 แสนล้านบาท ซึ่งสามารถนำไปจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ซื้อพันธบัตรเมื่อครบกำหนดเวลาได้

“สำหรับต้นทุนในการปลูกป่าและฟื้นฟูป่านั้น ต้นทุนส่วนใหญ่คือการปลูกป่าและบำรุงรักษา ประมาณ 1.3 แสนล้านบาทตลอด 30 ปี  โดยการลงทุนจะน้อยลงเรื่อยๆ ตามสภาพป่าที่ดีขึ้นในแต่ละปี  ส่วนต้นทุนในการทำไม้ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท  โดยเลือกดำเนินการในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมและพื้นที่บุกรุกปลูกพืชเศรษฐกิจ จากกรมป่าไม้  กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช”

การศึกษายังเห็นว่าแนวทางที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนคือต้องมีการตั้งองค์การมหาชนขึ้นดำเนินการ โดยการศึกษานี้เห็นว่ามีความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนสภาพองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ให้เป็นองค์การมหาชนที่มีภารกิจด้านการปลูกป่า มีกฎหมายเป็นของตนเอง สามารถออกพันธบัตรเพื่อระดมทุนได้ และมีการประสานงานกับหน่วยงานอื่นของรัฐ 

อย่างไรก็ตาม แนวทางหนึ่งในการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าในพื้นที่ซึ่งมีชุมชนอยู่กับป่า หรือมีการบุกรุกปลูกพืชเศรษฐกิจอยู่แล้ว   ก็อาจปรับเปลี่ยนสร้างความร่วมมือ สร้างอาชีพใหม่ให้ทำหน้าที่ปลูกป่าและดูแลป่าและมีรายได้เพียงพอดำรงชีพ โดยไม่ต้องออกจากพื้นที่  ในระยะยาวคนเหล่านี้จะกลายมาเป็นผู้ปกป้องดูแลพื้นที่ป่า  และพันธบัตรป่าไม้ยังสามารถทำควบคู่ไปได้กับกิจกรรมปลูกป่าหรืออนุรักษ์ป่าอื่น ๆ ที่ดำเนินการอยู่แล้ว อาทิ  กองทุนสวนป่า  และ ธนาคารต้นไม้  เป็นต้น

ดร.อดิศร์ กล่าวด้วยว่า การปลูกป่าและฟื้นฟูป่าปีละ 1 ล้านไร่ก็ถือว่ามากแล้ว  และสิ่งที่ควรจะทำใน ระยะ 1-2 ปีแรกคือการสร้างรูปแบบชุมชนป่าไม้ให้เป็นที่ประจักษ์กับชาวบ้าน ให้เป็นตัวอย่างชุมชน (1ชุมชนหรือ 1 ยูนิต จะใช้เนื้อที่ป่าประมาณ 2-3 หมื่นไร่เพื่อให้เกิดการทำงานที่มีขนาดใหญ่พอสมควร และจะแสดงให้เห็นว่า ฐานะความเป็นอยู่  รายได้ อาชีพเสริม โรงเรียน สาธารณสุข ทุกอย่างลงตัวไม่ต้องอพยพมาในเมือง  อยู่ในนั้นครอบครัวก็อยู่ด้วยกัน  และที่สำคัญรัฐต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ไม่ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ไม่มั่นใจอย่างที่ผ่านมาซึ่งมีลักษณะ “วันหนึ่งบอกให้เขาปลูกต้นไม้ และวันหนึ่งบอกให้เขาตัดต้นไม้”  .

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: กลุ่มญาติผู้ประสบภัย 112

Posted: 23 Jul 2012 06:43 AM PDT

เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมานี้ มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองอันสำคัญ คือ การเปิดตัวของเครือข่ายญาติและผู้ประสบภัยจากมาตรา 112 ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวมเอาครอบครัวและญาติพี่น้องของผู้ต้องขังและผู้ต้องหาในคดีกฎหมายอาญามาตรา 112 เครือข่ายนี้มีจุดประสงค์เพื่อรณรงค์ให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องขังในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยเร็วที่สุด รวมถึง การรณรงค์เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ที่ผู้ต้องขังที่เป็นนักโทษการเมืองควรได้รับ เช่น สิทธิในการประกันตัว สิทธิในการรักษาพยาบาล และให้ความช่วยเหลือด้านการเยียวยาสภาพจิตใจผู้ประสบภัย เป็นต้น 

สุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ผู้ประสานงานเครือข่าย กล่าวถึงจุดประสงค์ของการตั้งเครือข่ายว่า เป็นไปเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ต้องขังในคดี 112 เนื่องจากผู้ถูกจับกุมส่วนใหญ่จะได้รับโทษสูง ไม่ได้รับการประกันตัวและไม่สามารถต่อสู้คดีด้วยตนเองได้อย่างเต็มที่ เหล่าครอบครัวและญาติจึงเห็นความจำเป็นของการรวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ผู้ต้องขัง 

ส่วนนายชีเกียง ทวีวโรดมกุล กรรมการอีกคนหนึ่ง กล่าวว่า "เราเห็นว่าองค์กรต่างๆ มาช่วยเรา ถ้าเราไม่ออกมาร่วมด้วยมันจะยังไง มีองค์กรมีเพื่อนๆ ออกมาทำกันเยอะแยะเลย ขนาดเขาไม่ได้เป็นอะไรเขายังมาช่วยเรา แล้วเราเป็นหนึ่งที่ได้รับผลกระทบในนั้นก็ต้องออกมาช่วย ก็ไม่กลัวตายแล้ว อายุมากแล้ว จะเอาไปต้มยำทำแกงก็เอาไป"

การเคลื่อนไหวนี้เป็นจังหวะก้าวสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยยังมีปัญหาในเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างมาก ตราบเท่าที่ยังมีประชาชนผู้บริสุทธิ์กลุ่มหนึ่ง ตกเป็นเหยื่อของการใส่ร้ายป้ายสีด้วยมาตรา 112 เราจึงมีสตรีเช่น คุณดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ที่อยู่ในคุกมาแล้วเกือบ 4 ปี ด้วยความผิดในข้อกล่าวหาอันเหลือเชื่อ ผนวกกับการได้รับการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรมจากศาล และเราจึงมีคุณสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ที่ถูกจับติดคุกในเรื่องราวเชิงใส่ร้ายป้ายสี คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุขถูกขังคุกฟรีในข้อหาอันไม่เป็นความผิด และมีพี่น้องอีกหลายคนที่ติดอยู่ในคุกอย่างไม่เป็นธรรม เช่น สุชาติ นาคบางไทร ธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล เลอพงษ์ วิไชยคำมาตย์ สุริยันต์ กกเปือย ณัฐ สัตยาภรณ์พิสุทธิ์ เสถียร รัตนวงศ์ วันชัย แซ่ตัน สุรภักดิ์ ภูไชยแสง เป็นต้น รวมทั้งผู้ที่ต้องถูกขังจนถึงแก่กรรมในคุกอย่างไร้ความผิด เช่น คุณอำพน ตั้งนพคุณ ถึงแก่กรรมตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา

คงต้องทบทวนกันว่า กฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีข้อความว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ต่องค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” ได้ถูกวิจารณ์ว่า เป็นกฎหมายล้าหลัง ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกล่าวร้ายผู้บริสุทธิ์ และการอนุญาตให้ใครก็ฟ้องได้ กับการที่ไม่อนุญาตให้พิสูจน์ความจริงตามข้อกล่าวหา นำมาซึ่งการเป็นเครื่องมือของการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างง่ายดาย รวมทั้ง การที่มาตรามีบทลงโทษที่สูงเกินความสมควร และเป็นมรดกเผด็จการ ก็เป็นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะแม้แต่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ บทลงโทษสูงสุด มีเพียงการจำคุกไม่เกิน 3 ปี แต่ เมื่อเกิดการรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้ออกคำสั่งแก้กฎหมาย โดยเพิ่มโทษตามข้อความปัจจุบัน และเมื่อคณะเผด็จการแก้ไขกฏหมายแล้ว ศาลก็ใช้หลักกฎหมายเผด็จการนี้ ดำเนินคดีผู้บริสุทธิ์ตลอดมา

ในระยะที่ผ่านมา ได้มีข้อเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายนี้มาแล้วโดยกลุ่ม 24 มิถุนา และนักวิชาการเช่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เป็นกลุ่มรณรงค์สำคัญ และเมื่อไม่นานมานี้ กลุ่มคณะกรรมการรณรงค์ปฏิรูปมาตรา 112 หรือ ครก.112 ก็ได้รวบรวมรายชื่อประชาชนกว่า 3 หมื่นชื่อ เสนอต่อรัฐสภา ให้พิจารณาปฏิรูปกฎหมายนี้ ซึ่งการเคลื่อนไหวเหล่านี้ส่วนหนึ่งก็มีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือและปลดเปลื้องความทุกข์ยากของผู้ตกเป็นเหยื่อของมาตรา 112 แต่กระนั้น ทั้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐสภาก็ยังคงวางเฉย ปล่อยให้กลุ่มเหยื่อของมาตรา 112 ต้องรับชะตากรรมอันไม่เป็นธรรมต่อไป

ความไม่ธรรมที่ผู้ต้องขังกรณี 112 ได้รับอาจจะไม่ได้เป็นทราบกันมากนัก แต่เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีการเผยแพร่จดหมายของหนุ่มแดงนนท์ ที่ต้องติดคุกด้วยคดี 112 ได้เล่าถึงความทุกข์ยากในคุกของคุณอำพน ตั้งนพคุณ หรืออากง ก่อนที่จะถึงแก่กรรม เพราะคุณอำพนนั้นป่วยหนักและได้รับความทุกข์ทรมาน แต่ไม่ได้รับความใส่ใจจากทางราชทัณฑ์หรือได้รับการดูแลจากแพทย์ที่ทันการ หนุ่มแดงนนท์เล่าว่า อากงไม่มีความรู้พื้นฐานทางการเมืองใดๆ หนังสือพิมพ์ก็ไม่อ่านเพราะสายตาไม่ดี อยู่บ้านเลี้ยงหลานแล้วโดนจับข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งที่อากงไม่เคยมีพฤติกรรมในเชิงไม่เคารพพระมหากษัตริย์เลย เช่น ในจดหมายเล่าว่า

“แกจะยกมือไหว้พระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงที่ตั้งอยู่ที่แดน 8 ทุกครั้งที่เดินผ่าน ผมแน่ใจว่าแกทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ อีกทั้งเรื่องที่อากงเล่าให้ฟังว่า แกพาหลานๆ ของแกไปลงนามถวายพระพรในหลวงที่ศิริราชอยู่หลายครั้ง เวลาไปช็อปปิ้งกับหลานๆ แล้วเห็นโต๊ะที่เปิดให้มีการลงนามถวายพระพร ตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ อากงจะชวนหลานๆ ร่วมลงนามถวายพระพรทุกครั้ง ผมจึงแทบไม่เชื่อว่าชราคนนี้จะถูกกล่าวหาไม่จงรักภักดีต่อสถาบัน”

ดังนั้น การฟ้องร้องต่อคุณอำพน โดยนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และการห้ามประกันตัวของศาล จึงเป็นการก่ออาชญากรรมอย่างเหี้ยมโหดต่อชีวิตของคุณอำพนโดยตรง

ด้วยความยากลำบากหลายประการเช่นนี้ ในวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา ผู้ต้องขังคดี 112 ทั้งหมด 8 คน นำโดย คุณสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ซึ่งสูงอายุถึง 69 ปีแล้ว ได้เขียนจดหมายจากเรือนจำถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้ดำเนินการเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษแก่พวกเขา โดยระบุว่า 

"บัดนี้พวกข้าพเจ้าทั้งหมดรู้สึกสำนึกผิดด้วยความเสียใจยิ่ง ต่อการกระทำที่ผิดพลาด จึงไม่ขอต่อสู้คดี ยอมรับสารภาพให้ศาลตัดสินใจลงโทษจนคดีถึงที่สุด และใช้สิทธิ์ยื่นเรื่องราวขอพระราชทานอภัยโทษ จึงร้องทุกข์ต่อท่านนายกรัฐมนตรี ได้โปรดพิจารณาดำเนินการช่วยเหลือพวกข้าพเจ้าให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานด้วยเถิด”

แต่กระนั้น เมื่อเวลาผ่านมาแล้ว 4 เดือน ข้อเสนอนี้ ก็ยังถูกวางเฉย

ในงานเปิดตัวเครือข่ายญาติและผู้ประสบภัยจากมาตรา 112 สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยามและอดีตผู้ต้องหาคดี 112 ให้ข้อเสนอแนะว่า การให้ความเข้าใจต่อสาธารณะเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก โดยเฉพาะผ่านทางสื่อมวลชนกระแสหลัก ซึ่งต้องให้สังคมเข้าใจถึงสภาพความเป็นอยู่ของคนในเรือนจำและปัญหาอื่นๆ ของมาตรา 112 และยังอยากเสนอว่า ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ วันที่ 12 สิงหาที่จะถึงนี้ ควรเสนอขอพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษในคดีหมิ่นฯ ทั้งหมด เพื่อเป็นพระมหากรุณาธิคุณ

ส่วน จอน อึ๊งภากรณ์ สมาชิกคณะอนุกรรมการศึกษากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวในวงเสวนาว่า กฎหมายหมิ่นฯ ทำให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิของประชาชนอย่างร้ายแรง จึงจะพยายามผลักดันให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนออกมาพูดเรื่องนี้และให้ข้อเสนอแนะแก้รัฐบาล เนื่องจากหากมีองค์กรของรัฐออกมาเสนอแนะรัฐบาลอาจให้ความสนใจมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

เมื่อมาถึงขณะนี้ ภาระหน่าที่ปัจจุบันของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ยังคงอยู่ ก็คือ การดำเนินการให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองและนักโทษที่โดนคดีอาญามาตรา 112 ทันที โดยให้รวมนักโทษที่โดนคดี 112 เป็นนักโทษการเมืองด้วย และต้องทบทวนการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามข้อเสนอของนิติราษฎร์ และผลพวงจากกรณีนี้ก็คือ การปรับปรุงความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังในเรือนจำ ให้สมฐานะแห่งความเป็นมนุษย์มากขึ้น เช่น การแก้ไขเรื่องการรักษาพยาบาล การจัดอาหารให้เพียงพอ การจัดที่พักไม่ให้แออัดเกินไป เป็นต้น

ในกรณีนี้เช่นนี้ ศาลควรจะให้ความร่วมมือ เช่น การให้ผู้ต้องหาได้ประกันตัวตามหลักสิทธิมนุษยชน และการตัดสินความที่ให้ประโยชน์แก่จำเลยไม่ใช่โจทย์ แต่การเรียกร้องต่อศาลอำมหิตให้มีความเมตตาปรานีคงจะเป็นเรื่องเหลือวิสัย คงจะต้องคอยการปฏิรูปศาลแบบล้างบางแต่เพียงอย่างเดียว สังคมไทยจึงจะเป็นธรรมมากขึ้นได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จากบทเรียนของพายุเฮริเคนแคทรีนาถึงการแก้ปัญหาภัยพิบัติในสังคมไทย

Posted: 23 Jul 2012 06:35 AM PDT

ในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากสังคมไทยจะประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติในทางตรงผ่านเหตุการณ์สึนามิซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากโดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ตและพังงา ดินถล่มในจังหวัดนครศรีธรรมราช คลื่นพายุซัดฝั่งจังหวัดปัตตานี น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 แล้ว การเรียนรู้เรื่องภัยพิบัติของสังคมไทยโดยทางอ้อมคือ การรับรู้จากข้อมูลข่าวสาร ประเภทโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในต่างประเทศที่มีจำนวนถี่มากขึ้น เช่น พายุเฮริแคนแคทารีนาในประเทศสหรัฐอเมริกา และสึนามิถล่มโรงงานนิวเคลียร์ในประเทศญี่ปุ่น คำถามคือ แล้วเราจะมีความรู้ชุดใดที่จะให้สังคมเกิดความสามารถในการเตรียมความพร้อมรับมือและเฝ้าระวังภัยพิบัติที่อาจจะมีขึ้นในอนาคต

ในเหตุการณ์ภัยพิบัตินอกเหนือจากเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถในการทำนายการเข้ามาของพายุแล้ว มนุษย์ยังเชื่อมั่นตัวเองว่า มีความสามารถในการจัดการกับธรรมชาติโดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิศาสตร์รอบๆ ตัว เช่น การสร้างเขื่อนหรือทำนบกั้นน้ำ แต่ทว่าความสามารถและความรู้ของมนุษย์ไม่ควรหยุดอยู่แค่นั้น ความรู้ในการสังเกตพฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์ที่ต้องเผชิญหน้ากับภัยพิบัติ ก่อน ระหว่าง และหลัง ยังเป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องเรียนรู้จากประเทศที่ได้ชื่อว่ามีเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าและถือเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐอเมริกา

พายุเฮริเคนแคทรีนาได้เข้าถล่มเมืองนิวออลีนและอีกหลายเมืองใกล้เคียงในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2548 โดยเฉพาะที่เมืองนิวออลีน เมื่อพายุผ่านไปแล้ว อีกสองวันให้หลังเมืองทั้งเมืองยังต้องจมอยู่ใต้น้ำเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ โดยระดับน้ำมีความสูงถึง 4.6 เมตร ก่อนหน้านี้ชาวเมืองนิวออลีนกว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ ได้อพยพออกจากเมืองไปก่อนแล้ว ส่วนคนที่เหลือคือ คนที่ไม่มีรถยนต์ส่วนบุคคล หรือ อยู่ห่างไกลเกินกว่าจะได้รับข่าวสารจากหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น แต่เขาก็มีสถานที่อพยพ คือ หลุยส์เซียน่าซุปเปอร์โดม ที่ใช้เป็นบ้านสำหรับกลุ่มคนที่ไม่สามารถอพยพไปไหนได้

สิ่งที่สหรัฐได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ครั้งนี้ คือ เหตุที่น้ำท่วมเมืองนั้นเป็นผลมาจากการพัฒนาโดยการเปลี่ยนเส้นทางน้ำ และการสร้างทำนบกั้นน้ำในช่วงก่อนหน้ามีพายุ ทำให้เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติเส้นทางน้ำนี้กลายทางเดินของคลื่นอันส่งผลให้มีปริมาณน้ำสูงกว่า 5 เมตรและตัวคลื่นอาจมีความสูงถึง 2 เมตรไหลทะลักเข้าสู่เมือง อีกทั้งการสร้างทำนบเพื่อป้องกันน้ำท่วมขนาดใหญ่ กลับกลายเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เมืองแห่งนี้กลายเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ไปโดยปริยาย จริงๆ แล้วเมืองนิวออลีนแห่งนี้เคยเผชิญกับพายุเฮริเคนเบ็ตซีย์ (Betsy) ถล่มมาแล้วเมื่อ 40 ปีก่อน (พ.ศ. 2508) ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่สภาคองเกรสได้มีมติให้ผ่านกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำท่วม (Flood Control Act)

กฎหมายนี้มีความสำคัญอย่างไร? กฎหมายนี้ออกมาเพื่อมอบอำนาจให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ออกแบบสิ่งก่อสร้างต่างๆ เพื่อป้องกันน้ำท่วมในเขตที่เป็นเมืองหลวงสำคัญอย่างเมืองนิวออลีน แต่กว่าจะสร้างเสร็จก็ใช้เวลากว่า 13 ปีให้หลัง หลังจากนั้นเมืองแห่งนี้ก็โดยพายุเฮริเคนจอร์จ ในเดือนกันยายน ในปี พ.ศ. 2541 จึงทำให้แผนการป้องกันน้ำท่วมถูกปัดฝุ่นและนำขึ้นมาใช้อีกครั้งในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2544 แผนป้องกันดังกล่าวสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และนักการเมือง จนกระทั่งนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันออกมาประกาศอย่างท้าทายธรรมชาติว่า “เมืองนิวออลีน คือ เมืองที่พร้อมรับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น”

แต่ปรากฏว่าในวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2548 กำแพงป้องกันน้ำท่วมและคันกั้นน้ำที่สร้างไว้เพื่อปกป้องเมืองหลวงกลับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง จนทำให้สภาวิศวกรรมแห่งอเมริกาประกาศว่า น้ำท่วมครั้งนี้ถือเป็นหายะทางวิศวกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา ในวันที่ 28 สิงหาคม กรมอุตนิยมวิทยาแห่งชาติได้ออกประกาศทำนายความเสียหายที่จะเกิดขึ้น และกล่าวว่า “ภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นจะทำให้มนุษย์ทุกข์ทรมานอย่างหาที่สุดไม่ได้ในโลกสมัยใหม่ที่มีมาตรฐาน” คือ การขาดแคลนน้ำสะอาดเป็นเวลาหลายสัปดาห์ และผู้เชี่ยวชาญบางท่านกล่าวว่าเหตุการณ์นี้อาจขึ้นเป็นเวลาถึงนานถึงหกเดือน การสื่อสารโทรคมนาคม ตึกรามบ้านช่องจะเสียหายจนคนไม่มีที่อยู่อาศัย

ก่อนหน้านี้ ในวันศุกร์ที่ 26 และเสาร์ที่ 27 สิงหาคม นายกเทศมนตรีประกาศให้มีการอพยพ ปิดบ้านช่องเพื่อความปลอดภัย และแจ้งว่า น้ำจะอยู่ในระดับเดียวกันกับความสูงของเขื่อน แต่มีผู้คนจำนวนหนึ่งที่ไม่ยอมอพยพเพราะเชื่อว่าบ้านที่ตัวเองอยู่อาศัยนั้นปลอดภัยเพียงพอ บางส่วนถึงแม้ว่าอยากจะอพยพแต่ขาดการสนับสนุนด้านการเงินและไม่มีรถโดยสารที่จะเดินทาง และอีกส่วนอยากอยู่เพื่อปกป้องทรัพย์สินของตน อีกส่วนหนึ่งก็เนื่องจากประสบการณ์ก่อนหน้าที่เผชิญกับพายุเฮริเคนอีวาน (Ivan) ส่งผลให้ผู้สูงอายุส่วนมากต้องป่วยอันเป็นผลจากต้องติดอยู่ในรถเป็นเวลานานระหว่างการอพยพ

และความจริงที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ พายุเฮริเคนแคทรีนาเกิดขึ้นปลายเดือนก่อนที่เงินเดือนจะออกและนี้เป็นเหตุสำคัญที่คนส่วนมากที่ไม่ค่อยจะมีเงินหรือไม่มีเงินไม่สามารถอพยพออกไปไหนได้ ดังนั้นหลุยส์เซียน่าซุปเปอร์โดมที่อยู่สูงกว่าน้ำทะเลเกือบ 1 เมตร จึงถูกจัดเตรียมเพื่อเป็นที่หลบภัยในช่วงบ่ายของวันที่ 28 สิงหาคม แต่ทว่าก็ยังมีคนกว่าแสนที่อยู่ในเมือง และจำนวนนี้ก็เป็นพระจำนวน 400 รูป และแม่ชีกว่า 750 คน ที่ไม่ยอมอพยพไปไหน นอกจากนั้นกว่าสองหมื่นคนไปอยู่ในหลุยส์เซียน่าซุปเปอร์โดม โดยทางการมีจุดรับผู้อพยพกว่า 12 จุด ใช้ทหารกว่า 300 นายคอยดูแล ทุกคนถูกบอกให้เตรียมอาหาร เสื้อผ้า สำหรับอยู่ในหลายวันและบอกว่าที่ๆ อยู่นี้จะไม่สะดวกสบายสักเท่าไหร

เมื่อพายุผ่านไป นายกเทศมนตรีประกาศความสูญเสียเนื่องจากพบศพลอยตามน้ำอยู่ในเมือง ผู้ที่ไม่ได้อพยพและรอดชีวิตปีนขึ้นไปอยู่บนหลังคาบ้าน บ้างก็ติดอยู่ห้องใต้หลังคา บางส่วนต้องใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ทะลวงบ้านออกมาเพื่อเอาชีวิตรอดจากการจมน้ำ ทหารเริ่มหาที่เก็บศพและดำเนินการหลังจากเหตุการณ์ผ่านไป การสื่อสารล้มเหลวไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือหรือระบบอินเตอร์เนทก็ใช้การไม่ได้ สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นและหนังสือพิมพ์อพยพอย่างเร่งด่วนไปอยู่เมืองใกล้เคียง วิทยุสมัครเล่นถูกนำมาใช้ในการสื่อสารยามฉุกเฉินและตั้งศูนย์บัญชาการอยู่ที่โรงแรมไฮเอดที่อยู่ในตัวเมืองของนิวออลีน ถนนเส้นทางเข้าออกหลักของเมืองได้รับความเสียหาย มีเส้นทางเดียวเท่านั้นที่ใช้ได้แต่ถูกทำให้เป็นเส้นทางอพยพฉุกเฉินเท่านั้น ส่วนสนามบินก็ปิดไปก่อนหน้านี้แล้ว กระทรวงสาธารณสุขของเมืองหลุยส์เซียน่าประกาศว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตราว 1,464 คน ในวันที่ 4 กันยายน นายกเทศมนตรีคาดว่าน่าจะมีผู้เสียชีวิตราว 10,000 คน หลังจากที่ทำความสะอาดเมืองแล้ว

หลังเหตุการณ์พายุเฮริเคนแคทรีนาน่าผ่านไป เกิดการปล้นสะดมและการก่ออาชญากรรมที่ค่อยๆ ขยายไปทั่วทั้งเมือง ทั้งนี้เนื่องมาจากมาตราการในการรักษาความปลอดภัยถูกจำกัดเพียงช่วงที่พายุมาเท่านั้น ทหารถูกสั่งปลดประจำการทันทีที่พายุผ่านไป และนี้เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาชญากรรมและการปล้นสะดมหลังภัยพิบัติ ส่วนมากผู้คนจะปล้นเอาอาหาร น้ำ เครื่องใช้จากร้านขายของชำ ส่วนตำรวจเองก็ทำอะไรไม่ได้มากนักในช่วงวิกฤตเช่นนี้ ภายหลังมีการเกณฑ์ตำรวจเข้ามาใหม่กว่า 1,500 นาย ตามมาด้วยกองกำลังทหารถือปืน M-16 จำนวนเล็กน้อย เนื่องจากส่วนใหญ่ปฏิบัติการอยู่ในประเทศอิรัก จนภายหลังรัฐบาลต้องออกประกาศกฎอัยการศึกเพื่อควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉินและควบคุมเหตุการณ์ไม่ให้ปานปลาย

ปัญหาต่อมาคือ การปล่อยข่าวลือเรื่องการข่มขืนในหลุยส์เซียน่าซุปเปอร์โดม ข่าวนี้ถูกแพร่กระจายและทำให้เกินความจริง แต่เมื่อพิสูจน์แล้วพบว่ามีจำนวน 2 ราย ส่วนอีกข่าวลือหนึ่งคือ ผู้คนคาดหวังว่าจะมีผู้เสียชีวิตจำนวนกว่า 100 คนในซุปเปอร์โดม แต่ในความเป็นจริงมีเพียง 6 คนเท่านั้นที่เสียชีวิต โดยมีสาเหตุการตาย คือ ตายจากธรรมชาติ 4 คน ตายเพราะเสพยาเกินขนาด 1 คน และฆ่าตัวตาย 1 คน นี้คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อมีคนจำนวน 25,000 คน อยู่ในพื้นที่เดียวกันโดยไม่มีน้ำ ไฟฟ้า และการสื่อสาร ตำรวจของเมืองนิวออลีนเองมีบางนายถูกจับในภายหลัง ข้อหาสงสัยว่าโจรกรรมรถยนต์เพื่ออพยพก่อนมีมาพายุมา ที่น่าสนใจคือ ก่อนหน้ามีพายุเมืองนิวออลีนมีอัตราการก่ออาชญากรรมสูงกว่ามาตราฐานเกือบ 10 เท่า แต่พอหลังภัยพิบัติจำนวนดังกล่าวกลับลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

การอพยพผู้คนให้มาอยู่ในที่เดียวกันจำนวนมาก ทำให้มีปัญหาด้านสุขภาพตามมาภายหลัง คือ ภาวการณ์ขาดน้ำดื่ม อาหารเป็นพิษ ตับอักเสบ A อหิวาตกโรค วัณโรค และไข้ไทฟอย โรคทั้งหมดนี้มาจากการปนเปื้อนในอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งเข้ามา ผู้รอดชีวิตมีโอกาสที่จะเผชิญหน้ากับด้านสุขภาพในอนาคตด้วย เช่น น้ำมันหรือน้ำยาเคมีที่ปนเปื้อนที่มาพร้อมกับน้ำท่วม โรคที่เกิดจากยุง เช่น ไข้เหลือง และไข้มาลาเลีย กลุ่มคนที่อพยพโดยทางเฮลิคอปเตอร์ คือ คนสูงอายุ คนป่วย และได้รับบาดเจ็บ เข้าไปรักษาในโรงพยาบาลพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้โรงพยาบาลเหล่านี้ต้องทำงานหนักมากเพื่อดูแลผู้ที่กำลังจะเสียชีวิตจากภาวะการขาดน้ำและอ่อนเพลีย ส่วนในด้านเศรษฐกิจเอง หลังจากพายุเฮริเคนแคทรีนาเกิดภาวะการตกงานจำนวนกว่า 70,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นผลมาจากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจอุตสาหกรรม มีเพียงธุรกิจก่อสร้างอย่างเดียวที่ยังดำเนินกิจการอยู่ในได้ช่วงเวลาดังกล่าว

ถึงแม้ว่าเรื่องราวของพายุเฮริเคนแคทรีนา จะเกิดขึ้นมากว่า 7 ปี แล้ว แต่ความรู้เรื่องภัยพิบัติโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของสังคมในการจัดการกับธรรมชาตินั้นน่าจะยังเป็นสิ่งที่ทันสมัยอยู่ เช่น บทเรียนเรื่องการป้องกันธรรมชาติที่กลายเป็นตัวสร้างหายนะเอง ได้แก่ การก่อสร้างทำนบกั้นน้ำจนทำให้เมืองต้องกลายเป็นแอ่งกะทะขนาดใหญ่ การจัดการระบบอพยพผู้คนและกลุ่มคนที่ไม่อยากอพยพ โรคภัยที่มาพร้อมกับธรรมชาติ และการจัดการหลังภัยพิบัติ  หลายกรณีที่เกิดขึ้นที่เมืองนิวออลีนในประเทศสหรัฐอเมริกาจะว่าไปก็คลับคล้ายคลับคลากับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อไม่นานมานี้ จะมีเพียงบางประเด็นที่แตกต่างกันในเรื่องของความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่เรียนรู้จากพายุเฮริเคนแคทรีนา คือ สังคมไทยควรระมัดระวังในการใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์หรือเน้นการแก้ปัญหาในทางเทคนิคเพื่อรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติเพียงด้านเดียวนั้นอาจจะไม่เพียงพอ และอาจมีข้อผิดพลาดได้ การเรียนรู้ให้ความสำคัญกับสภาวะของสังคม พฤติกรรมของคนเมื่อต้องเผชิญกับภัยพิบัติ น่าจะเป็นสิ่งสำคัญควบคู่กันไปที่ทำให้สังคมไทยมีความสามารถในการรับมือกับเหตุการณ์ทางธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ภาพพายุเฮริเคนแคทรีนา
ที่มา : The National Oceanic & Atmospheric Administration (NOAA), Last Updated: February 12, 2007
http://www.google.com.au/i

ภาพ:นิวออลีนซุปเปอร์โดม
ที่มา:Cynical Times Newsสืบค้นเมื่อ 22 กรกฎาคม 2555 สืบค้นจาก http://www.cynicaltimes.org/articles/putting-together-a-household-disaster-kit/

 

 

ภาพทำนบกั้นน้ำ
ที่มา: http://blog.silive.com/sinotebook/2008/10/NOLA%20cross-section.gif

 

สรุปความจาก :
Hurricane Katrina: http://en.wikipedia.org/wiki/Hurricane_Katrina
Mercedes-Benz Superdome: http://en.wikipedia.org/wiki/Louisiana_Superdome 2005 levee failures in Greater New Orleans: http://en.wikipedia.org/wiki/Levee_failures_in_Greater_New_Orleans,_2005

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จากบทเรียนของพายุเฮริเคนแคทรีนาถึงการแก้ปัญหาภัยพิบัติในสังคมไทย

Posted: 23 Jul 2012 06:35 AM PDT

ในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากสังคมไทยจะประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติในทางตรงผ่านเหตุการณ์สึนามิซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากโดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ตและพังงา ดินถล่มในจังหวัดนครศรีธรรมราช คลื่นพายุซัดฝั่งจังหวัดปัตตานี น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 แล้ว การเรียนรู้เรื่องภัยพิบัติของสังคมไทยโดยทางอ้อมคือ การรับรู้จากข้อมูลข่าวสาร ประเภทโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในต่างประเทศที่มีจำนวนถี่มากขึ้น เช่น พายุเฮริแคนแคทารีนาในประเทศสหรัฐอเมริกา และสึนามิถล่มโรงงานนิวเคลียร์ในประเทศญี่ปุ่น คำถามคือ แล้วเราจะมีความรู้ชุดใดที่จะให้สังคมเกิดความสามารถในการเตรียมความพร้อมรับมือและเฝ้าระวังภัยพิบัติที่อาจจะมีขึ้นในอนาคต

ในเหตุการณ์ภัยพิบัตินอกเหนือจากเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถในการทำนายการเข้ามาของพายุแล้ว มนุษย์ยังเชื่อมั่นตัวเองว่า มีความสามารถในการจัดการกับธรรมชาติโดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิศาสตร์รอบๆ ตัว เช่น การสร้างเขื่อนหรือทำนบกั้นน้ำ แต่ทว่าความสามารถและความรู้ของมนุษย์ไม่ควรหยุดอยู่แค่นั้น ความรู้ในการสังเกตพฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์ที่ต้องเผชิญหน้ากับภัยพิบัติ ก่อน ระหว่าง และหลัง ยังเป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องเรียนรู้จากประเทศที่ได้ชื่อว่ามีเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าและถือเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐอเมริกา

พายุเฮริเคนแคทรีนาได้เข้าถล่มเมืองนิวออลีนและอีกหลายเมืองใกล้เคียงในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2548 โดยเฉพาะที่เมืองนิวออลีน เมื่อพายุผ่านไปแล้ว อีกสองวันให้หลังเมืองทั้งเมืองยังต้องจมอยู่ใต้น้ำเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ โดยระดับน้ำมีความสูงถึง 4.6 เมตร ก่อนหน้านี้ชาวเมืองนิวออลีนกว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ ได้อพยพออกจากเมืองไปก่อนแล้ว ส่วนคนที่เหลือคือ คนที่ไม่มีรถยนต์ส่วนบุคคล หรือ อยู่ห่างไกลเกินกว่าจะได้รับข่าวสารจากหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น แต่เขาก็มีสถานที่อพยพ คือ หลุยส์เซียน่าซุปเปอร์โดม ที่ใช้เป็นบ้านสำหรับกลุ่มคนที่ไม่สามารถอพยพไปไหนได้

สิ่งที่สหรัฐได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ครั้งนี้ คือ เหตุที่น้ำท่วมเมืองนั้นเป็นผลมาจากการพัฒนาโดยการเปลี่ยนเส้นทางน้ำ และการสร้างทำนบกั้นน้ำในช่วงก่อนหน้ามีพายุ ทำให้เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติเส้นทางน้ำนี้กลายทางเดินของคลื่นอันส่งผลให้มีปริมาณน้ำสูงกว่า 5 เมตรและตัวคลื่นอาจมีความสูงถึง 2 เมตรไหลทะลักเข้าสู่เมือง อีกทั้งการสร้างทำนบเพื่อป้องกันน้ำท่วมขนาดใหญ่ กลับกลายเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เมืองแห่งนี้กลายเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ไปโดยปริยาย จริงๆ แล้วเมืองนิวออลีนแห่งนี้เคยเผชิญกับพายุเฮริเคนเบ็ตซีย์ (Betsy) ถล่มมาแล้วเมื่อ 40 ปีก่อน (พ.ศ. 2508) ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่สภาคองเกรสได้มีมติให้ผ่านกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำท่วม (Flood Control Act)

กฎหมายนี้มีความสำคัญอย่างไร? กฎหมายนี้ออกมาเพื่อมอบอำนาจให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ออกแบบสิ่งก่อสร้างต่างๆ เพื่อป้องกันน้ำท่วมในเขตที่เป็นเมืองหลวงสำคัญอย่างเมืองนิวออลีน แต่กว่าจะสร้างเสร็จก็ใช้เวลากว่า 13 ปีให้หลัง หลังจากนั้นเมืองแห่งนี้ก็โดยพายุเฮริเคนจอร์จ ในเดือนกันยายน ในปี พ.ศ. 2541 จึงทำให้แผนการป้องกันน้ำท่วมถูกปัดฝุ่นและนำขึ้นมาใช้อีกครั้งในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2544 แผนป้องกันดังกล่าวสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และนักการเมือง จนกระทั่งนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันออกมาประกาศอย่างท้าทายธรรมชาติว่า “เมืองนิวออลีน คือ เมืองที่พร้อมรับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น”

แต่ปรากฏว่าในวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2548 กำแพงป้องกันน้ำท่วมและคันกั้นน้ำที่สร้างไว้เพื่อปกป้องเมืองหลวงกลับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง จนทำให้สภาวิศวกรรมแห่งอเมริกาประกาศว่า น้ำท่วมครั้งนี้ถือเป็นหายะทางวิศวกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา ในวันที่ 28 สิงหาคม กรมอุตนิยมวิทยาแห่งชาติได้ออกประกาศทำนายความเสียหายที่จะเกิดขึ้น และกล่าวว่า “ภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นจะทำให้มนุษย์ทุกข์ทรมานอย่างหาที่สุดไม่ได้ในโลกสมัยใหม่ที่มีมาตรฐาน” คือ การขาดแคลนน้ำสะอาดเป็นเวลาหลายสัปดาห์ และผู้เชี่ยวชาญบางท่านกล่าวว่าเหตุการณ์นี้อาจขึ้นเป็นเวลาถึงนานถึงหกเดือน การสื่อสารโทรคมนาคม ตึกรามบ้านช่องจะเสียหายจนคนไม่มีที่อยู่อาศัย

ก่อนหน้านี้ ในวันศุกร์ที่ 26 และเสาร์ที่ 27 สิงหาคม นายกเทศมนตรีประกาศให้มีการอพยพ ปิดบ้านช่องเพื่อความปลอดภัย และแจ้งว่า น้ำจะอยู่ในระดับเดียวกันกับความสูงของเขื่อน แต่มีผู้คนจำนวนหนึ่งที่ไม่ยอมอพยพเพราะเชื่อว่าบ้านที่ตัวเองอยู่อาศัยนั้นปลอดภัยเพียงพอ บางส่วนถึงแม้ว่าอยากจะอพยพแต่ขาดการสนับสนุนด้านการเงินและไม่มีรถโดยสารที่จะเดินทาง และอีกส่วนอยากอยู่เพื่อปกป้องทรัพย์สินของตน อีกส่วนหนึ่งก็เนื่องจากประสบการณ์ก่อนหน้าที่เผชิญกับพายุเฮริเคนอีวาน (Ivan) ส่งผลให้ผู้สูงอายุส่วนมากต้องป่วยอันเป็นผลจากต้องติดอยู่ในรถเป็นเวลานานระหว่างการอพยพ

และความจริงที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ พายุเฮริเคนแคทรีนาเกิดขึ้นปลายเดือนก่อนที่เงินเดือนจะออกและนี้เป็นเหตุสำคัญที่คนส่วนมากที่ไม่ค่อยจะมีเงินหรือไม่มีเงินไม่สามารถอพยพออกไปไหนได้ ดังนั้นหลุยส์เซียน่าซุปเปอร์โดมที่อยู่สูงกว่าน้ำทะเลเกือบ 1 เมตร จึงถูกจัดเตรียมเพื่อเป็นที่หลบภัยในช่วงบ่ายของวันที่ 28 สิงหาคม แต่ทว่าก็ยังมีคนกว่าแสนที่อยู่ในเมือง และจำนวนนี้ก็เป็นพระจำนวน 400 รูป และแม่ชีกว่า 750 คน ที่ไม่ยอมอพยพไปไหน นอกจากนั้นกว่าสองหมื่นคนไปอยู่ในหลุยส์เซียน่าซุปเปอร์โดม โดยทางการมีจุดรับผู้อพยพกว่า 12 จุด ใช้ทหารกว่า 300 นายคอยดูแล ทุกคนถูกบอกให้เตรียมอาหาร เสื้อผ้า สำหรับอยู่ในหลายวันและบอกว่าที่ๆ อยู่นี้จะไม่สะดวกสบายสักเท่าไหร

เมื่อพายุผ่านไป นายกเทศมนตรีประกาศความสูญเสียเนื่องจากพบศพลอยตามน้ำอยู่ในเมือง ผู้ที่ไม่ได้อพยพและรอดชีวิตปีนขึ้นไปอยู่บนหลังคาบ้าน บ้างก็ติดอยู่ห้องใต้หลังคา บางส่วนต้องใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ทะลวงบ้านออกมาเพื่อเอาชีวิตรอดจากการจมน้ำ ทหารเริ่มหาที่เก็บศพและดำเนินการหลังจากเหตุการณ์ผ่านไป การสื่อสารล้มเหลวไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือหรือระบบอินเตอร์เนทก็ใช้การไม่ได้ สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นและหนังสือพิมพ์อพยพอย่างเร่งด่วนไปอยู่เมืองใกล้เคียง วิทยุสมัครเล่นถูกนำมาใช้ในการสื่อสารยามฉุกเฉินและตั้งศูนย์บัญชาการอยู่ที่โรงแรมไฮเอดที่อยู่ในตัวเมืองของนิวออลีน ถนนเส้นทางเข้าออกหลักของเมืองได้รับความเสียหาย มีเส้นทางเดียวเท่านั้นที่ใช้ได้แต่ถูกทำให้เป็นเส้นทางอพยพฉุกเฉินเท่านั้น ส่วนสนามบินก็ปิดไปก่อนหน้านี้แล้ว กระทรวงสาธารณสุขของเมืองหลุยส์เซียน่าประกาศว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตราว 1,464 คน ในวันที่ 4 กันยายน นายกเทศมนตรีคาดว่าน่าจะมีผู้เสียชีวิตราว 10,000 คน หลังจากที่ทำความสะอาดเมืองแล้ว

หลังเหตุการณ์พายุเฮริเคนแคทรีนาน่าผ่านไป เกิดการปล้นสะดมและการก่ออาชญากรรมที่ค่อยๆ ขยายไปทั่วทั้งเมือง ทั้งนี้เนื่องมาจากมาตราการในการรักษาความปลอดภัยถูกจำกัดเพียงช่วงที่พายุมาเท่านั้น ทหารถูกสั่งปลดประจำการทันทีที่พายุผ่านไป และนี้เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาชญากรรมและการปล้นสะดมหลังภัยพิบัติ ส่วนมากผู้คนจะปล้นเอาอาหาร น้ำ เครื่องใช้จากร้านขายของชำ ส่วนตำรวจเองก็ทำอะไรไม่ได้มากนักในช่วงวิกฤตเช่นนี้ ภายหลังมีการเกณฑ์ตำรวจเข้ามาใหม่กว่า 1,500 นาย ตามมาด้วยกองกำลังทหารถือปืน M-16 จำนวนเล็กน้อย เนื่องจากส่วนใหญ่ปฏิบัติการอยู่ในประเทศอิรัก จนภายหลังรัฐบาลต้องออกประกาศกฎอัยการศึกเพื่อควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉินและควบคุมเหตุการณ์ไม่ให้ปานปลาย

ปัญหาต่อมาคือ การปล่อยข่าวลือเรื่องการข่มขืนในหลุยส์เซียน่าซุปเปอร์โดม ข่าวนี้ถูกแพร่กระจายและทำให้เกินความจริง แต่เมื่อพิสูจน์แล้วพบว่ามีจำนวน 2 ราย ส่วนอีกข่าวลือหนึ่งคือ ผู้คนคาดหวังว่าจะมีผู้เสียชีวิตจำนวนกว่า 100 คนในซุปเปอร์โดม แต่ในความเป็นจริงมีเพียง 6 คนเท่านั้นที่เสียชีวิต โดยมีสาเหตุการตาย คือ ตายจากธรรมชาติ 4 คน ตายเพราะเสพยาเกินขนาด 1 คน และฆ่าตัวตาย 1 คน นี้คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อมีคนจำนวน 25,000 คน อยู่ในพื้นที่เดียวกันโดยไม่มีน้ำ ไฟฟ้า และการสื่อสาร ตำรวจของเมืองนิวออลีนเองมีบางนายถูกจับในภายหลัง ข้อหาสงสัยว่าโจรกรรมรถยนต์เพื่ออพยพก่อนมีมาพายุมา ที่น่าสนใจคือ ก่อนหน้ามีพายุเมืองนิวออลีนมีอัตราการก่ออาชญากรรมสูงกว่ามาตราฐานเกือบ 10 เท่า แต่พอหลังภัยพิบัติจำนวนดังกล่าวกลับลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

การอพยพผู้คนให้มาอยู่ในที่เดียวกันจำนวนมาก ทำให้มีปัญหาด้านสุขภาพตามมาภายหลัง คือ ภาวการณ์ขาดน้ำดื่ม อาหารเป็นพิษ ตับอักเสบ A อหิวาตกโรค วัณโรค และไข้ไทฟอย โรคทั้งหมดนี้มาจากการปนเปื้อนในอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งเข้ามา ผู้รอดชีวิตมีโอกาสที่จะเผชิญหน้ากับด้านสุขภาพในอนาคตด้วย เช่น น้ำมันหรือน้ำยาเคมีที่ปนเปื้อนที่มาพร้อมกับน้ำท่วม โรคที่เกิดจากยุง เช่น ไข้เหลือง และไข้มาลาเลีย กลุ่มคนที่อพยพโดยทางเฮลิคอปเตอร์ คือ คนสูงอายุ คนป่วย และได้รับบาดเจ็บ เข้าไปรักษาในโรงพยาบาลพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้โรงพยาบาลเหล่านี้ต้องทำงานหนักมากเพื่อดูแลผู้ที่กำลังจะเสียชีวิตจากภาวะการขาดน้ำและอ่อนเพลีย ส่วนในด้านเศรษฐกิจเอง หลังจากพายุเฮริเคนแคทรีนาเกิดภาวะการตกงานจำนวนกว่า 70,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นผลมาจากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจอุตสาหกรรม มีเพียงธุรกิจก่อสร้างอย่างเดียวที่ยังดำเนินกิจการอยู่ในได้ช่วงเวลาดังกล่าว

ถึงแม้ว่าเรื่องราวของพายุเฮริเคนแคทรีนา จะเกิดขึ้นมากว่า 7 ปี แล้ว แต่ความรู้เรื่องภัยพิบัติโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของสังคมในการจัดการกับธรรมชาตินั้นน่าจะยังเป็นสิ่งที่ทันสมัยอยู่ เช่น บทเรียนเรื่องการป้องกันธรรมชาติที่กลายเป็นตัวสร้างหายนะเอง ได้แก่ การก่อสร้างทำนบกั้นน้ำจนทำให้เมืองต้องกลายเป็นแอ่งกะทะขนาดใหญ่ การจัดการระบบอพยพผู้คนและกลุ่มคนที่ไม่อยากอพยพ โรคภัยที่มาพร้อมกับธรรมชาติ และการจัดการหลังภัยพิบัติ  หลายกรณีที่เกิดขึ้นที่เมืองนิวออลีนในประเทศสหรัฐอเมริกาจะว่าไปก็คลับคล้ายคลับคลากับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อไม่นานมานี้ จะมีเพียงบางประเด็นที่แตกต่างกันในเรื่องของความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่เรียนรู้จากพายุเฮริเคนแคทรีนา คือ สังคมไทยควรระมัดระวังในการใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์หรือเน้นการแก้ปัญหาในทางเทคนิคเพื่อรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติเพียงด้านเดียวนั้นอาจจะไม่เพียงพอ และอาจมีข้อผิดพลาดได้ การเรียนรู้ให้ความสำคัญกับสภาวะของสังคม พฤติกรรมของคนเมื่อต้องเผชิญกับภัยพิบัติ น่าจะเป็นสิ่งสำคัญควบคู่กันไปที่ทำให้สังคมไทยมีความสามารถในการรับมือกับเหตุการณ์ทางธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ภาพพายุเฮริเคนแคทรีนา
ที่มา : The National Oceanic & Atmospheric Administration (NOAA), Last Updated: February 12, 2007
http://www.google.com.au/i

ภาพ:นิวออลีนซุปเปอร์โดม
ที่มา:Cynical Times Newsสืบค้นเมื่อ 22 กรกฎาคม 2555 สืบค้นจาก http://www.cynicaltimes.org/articles/putting-together-a-household-disaster-kit/

 

 

ภาพทำนบกั้นน้ำ
ที่มา: http://blog.silive.com/sinotebook/2008/10/NOLA%20cross-section.gif

 

สรุปความจาก :
Hurricane Katrina: http://en.wikipedia.org/wiki/Hurricane_Katrina
Mercedes-Benz Superdome: http://en.wikipedia.org/wiki/Louisiana_Superdome 2005 levee failures in Greater New Orleans: http://en.wikipedia.org/wiki/Levee_failures_in_Greater_New_Orleans,_2005

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักสิทธิรักเพศเดียวกันไม่พอใจ หลังจีนตัดศัพท์เรียกเกย์ออกจากพจนานุกรม

Posted: 23 Jul 2012 04:51 AM PDT

พจนานุกรมจีนร่วมสมัยฉบับปรับปรุงใหม่ล่าสุด ฉบับที่ 6 ตัดคำว่า 'ตงจื่อ' ซึ่งเป็นคำที่ชาวเกย์ใช้เรียกขานกัน แต่ขณะเดียวกันก็มีความหมายว่า 'สหาย' ทำให้นักสิทธิรักเพศเดียวกันออกมาวิจารณ์

เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ที่ผ่านมา สำนักข่าว BBC รายงานว่า พจนานุกรมฉบับใหม่ล่าสุดของจีนซึ่งเป็นฉบับที่ ถูกกลุ่มนักกิจกรรมด้านสิทธิวิพากษ์วิจารณ์

กลุ่มนักสิทธิฯ วิจารณ์ว่าพจนานุกรมฉบับดังกล่าวตัดคำที่ชาวรักเพศเดียวกัน (homosexual) ในประเทศจีนใช้เรียก "เกย์" ออกไป

คำที่ว่าคือ "ตงจื่อ" ซึ่งในความหมายดั้งเดิมแปลว่า "สหาย" ซึ่งเป็นที่ใช้เรียกคนรู้จักในสมัยยุคคอมมิวนิสต์

ผู้เรียงเรียงพจนานุกรมรายหนึ่งบอกว่าเขาตัดคำนี้ออกเพราะไม่อยากดึงความสนใจไปสู้ความหมายไม่เป็นทางการของมัน

พจนานุกรมจีนร่วมสมัยฉบับปรับปรุงใหม่ล่าสุด ฉบับที่ 6 บรรจุคำไว้ 69,000 คำ ตัวอักษรภาษาจีน 13,000 ตัวอักษร และวลีใหม่มากกว่า 3,000 วลี

พวกเขาบรรจุคำแสลงอินเตอร์เน็ตใหม่ๆ เช่นคำว่า "เกย ลี" แปลว่า "สุดยอด" และคำที่ไม่ได้เป็นภาษาจีนเช่น PM2.5 ซึ่งหมายถึงเครื่องวัดมลภาวะจากสสารที่เป็นอนุภาค

แต่คำว่า "ตงจื่อ" ซึ่งมีความหมายแบบไม่เป็นทางการว่า "เกย์" ในความหมายของ "รักเพศเดียวกัน" ไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในพจนานุกรมฉบับนี้

นักภาษาศาสตร์ เจียง หลาน เฉิง หนึ่งในผู้เรียบเรียงพจนานุกรมฉบับนี้กล่าวให้สัมภาษณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์ของจีนว่า "พวกเรารู้วิธีใช้คำนี้ แต่พวกเราก็นำมันใส่ลงไปไม่ได้"

"คุณสามารถใช้คำนี้อย่างไรก็ได้ แต่เราจะไม่ใส่คำนี้ลงไปในพจนานุกรม เพราะว่าพวกเราไม่ต้องการสนับสนุนสิ่งเหล่านี้ พวกเราไม่ต้องการให้มีการดึงความสนใจสู่เรื่องพวกนี้" เจียงกล่าว

นักสิทธิขอให้มองคำนี้อย่างปราศจากอคติ

ทัศนคติแบบนี้ไม่เป็นที่น่าแปลกใจสำหรับติง เสวี่ยเหลียง ศาตราจารย์ด้านสังคมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากฮ่องกง

"การใช้คำว่า 'ตงจื่อ' ในการพูดถึงคนรักเพศเดียวกันเริ่มจากในฮ่องกงและไต้หวัน เพื่อเป็นการล้อเลียนคำที่ใช้ของกลุ่มลัทธิคอมมิวนิสต์ในจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย เพราะว่าผู้นำจีนมักจะเรียกกันด้วยคำว่า 'ตงจื่อ' แปลว่า 'สหาย' อย่างเช่น 'หู จินเทา ตงจื่อ' หรือ 'เวิ่น เจียเป่า ตงจื่อ' " ติงกล่าว

"ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่รัฐบาลจีนไม่ต้องการให้บรรจุคำในความหมายใหม่นี้ลงในพจนานุกรม"

นักสิทธิทางเพศในประเด็นของเกย์ไม่พอใจในเรื่องนี้มาก

หนึ่งในนักสิทธิที่เรียกตัวเองว่า นาน เฟิง กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวของทางการจีนว่า มันเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ที่คำว่า 'เกย์' จากความหมายของคำว่า 'ตงจื่อ' ถูกตัดออกจากพจนานุกรมเพียงเพราะวิจารณญาณและค่านิยมส่วนตัวของผู้เรียบเรียงเอง

"ตงจื่อ เป็นคำที่ใช้กันเป็นปกติ เป็นคำที่ไม่ก้าวร้าวหยาบคาย ถูกใช้ในวงการของพวกเราเวลาเรียกคนที่มีรสนิยมรักเพศเดียวกัน" นาน เฟิงกล่าว

"พวกเราหวังว่าผู้เรียบเรียงจะมองตำนี้แบบปราศจากอคติ"

คำมาตรฐานสำหรับรักเพศเดียวกันในภาษาจีนคือ "ตงซิงเลียน" ซึ่งแปลความหมายตรงตัวว่า "รักคนเพศเดียวกัน" แต่ชาวเกย์ในจีนมองว่าคำๆ นี้ดูเป็นศัพท์ทางการแพทย์มากเกินไป

"ตงจื่อ" แปลตรงตัวได้ว่า "มีจิตใจเดียวกัน"

นักวิชาการเผยชาวจีนยอมรับเกย์ได้มากขึ้น

แต่พจนานุกรมร่วมสมัยของจีนไม่ใช่พจนานุกรมฉบับแรกของศตวรรษที่ 21 ที่มีการตัดคำนี้ออก

พจนานุกรมซินหัว ชือเตียน ฉบับที่ 11 ซึ่งตีพิมพ์ในปร 2010 ก็ตัดความหมายของคำนี้ออกเช่นกัน

การรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องผิดกฏหมายในจีนจนกระทั่งถึงปี 1997 และอีกหลายปีต่อมาก็ยังถูกจัดเป็นความผิดปกติทางจิต

นักวิเคราะห์กล่าวว่ามีบางคนที่มองว่าการตัดคำว่า "ตงจื่อ" ออก พิสูจน์ให้เห็นว่าจริยธรรมของชาวจีนไม่ได้ปรับ้เปลี่ยนไปตามยุคสมัย

แต่ศาตราจารย์ ติง เสวี่ยเหลียน ก็มองว่าความไม่พอใจในการตัดคำนี้ออก แสดงให้เห็นว่าชาวจีนสามารถยอมรับสิทธิเกย์ได้มากขึ้น

"มีความรู้สึกเห็นใจและอาจถึงขั้นสนับสนุนชาวเกย์" ติงกล่าว "มิเช่นนั้นแล้ว คงไม่มีประชาชนจำนวนมากออกมาประท้วงต่อต้านพจนานุกรมฉบับใหม่นี้"

"แต่ประเทศจีนก็ยังอยู่บนหนทางอีกยาวไกลในการปกป้องสิทธิของชาวเกย์ ในด้านการจ้างงานและการส่งเสริม รวมถึงในแง่อื่นๆ ของสังคม"

 

ที่มา:

New Chinese dictionary in row over 'gay' omission, BBC, 21-07-2012

http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-china-18920096

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไทยพับลิก้า: นี่หรือคือโปร่งใส? กรณีรายงานของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

Posted: 23 Jul 2012 04:38 AM PDT

ในยุคข้อมูลท่วมท้นล้นหลามตั้งแต่วิกิลีกส์ถึงข่าวลือในโซเชียลมีเดีย ยุคที่หลายฝ่ายกำลังเรียกร้องความโปร่งใสและรับผิดจากทุกสถาบันมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับรายงานประจำปี 2554 ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์องค์กร ซึ่งปัจจุบันไม่มีเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษอย่างน่าประหลาดใจ) องค์กรซึ่งดูจะยังมีข้อถกเถียงไม่ยุติเกี่ยวกับบทบาท หน้าที่และสถานะ พร้อมเปรียบเทียบการเปิดเผยข้อมูลกับแนวทางการเปิดเผยของ Crown Estate แห่งสหราชอาณาจักร

(คลิกที่รูปเพื่ออ่าน)

 

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://thaipublica.org/2012/07/crown-property-transparency/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น