โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ไต่สวนการตาย 'พัน คำกอง' พนง.พิสูจน์หลักฐาน คาดยิงรถตู้เจตนาถึงแก่ชีวิต

Posted: 24 Jul 2012 10:05 AM PDT

พิสูจน์หลักฐานย้ำหัวกระสุนในตัวผู้ตายไม่ตรงกับที่ทหารส่งตรวจ แต่สามารถเปลี่ยนลำกล้องปืนซึ่งเป็นที่มาของลักษณะเฉพาะหัวกระสุนง่าย รถตู้ที่เกิดเหตุโดนกระสุนชนิดเดียวกัน พยานคาดเจตนาการยิงถึงแก่ชีวิต รมต.ICT เบิกความต่อ 25 ก.ค.

 

24 ก.ค.55 เวลาประมาณ 9.30 น. ที่ห้องพิจารณา 909 ศาลอาญา รัชดา มีการไต่สวนการเสียชีวิตของนายพัน คำกอง คนขับแท็กซี่ ชาว จ.ยโสธร ซึ่งถูกยิงบริเวณถนนราชปรารภ ใกล้แอร์พอร์ทลิงค์ ที่เป็นจุดประจำการของทหาร เมื่อหลังเที่ยงคืนวันที่ 14 พ.ค.ต่อกับวันที่ 15 พ.ค.53 จากกรณีที่มีการยิงสกัดรถตู้ที่เข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว โดยในวันนี้มีพยาน 6 ปากเป็นเจ้าหน้าทีตำรวจที่ทำหน้าที่พิสูจน์หลักฐานรอยกระสุนในที่เกิดเหตุ อาวุธปืนของทหารและหัวกระสุนในศพผู้ตาย เป็นต้น เจ้าหน้าที่เบิกความสอดคล้องกับเจ้าหน้าที่พิสูจน์เปรียบเทียบหัวกระสุนที่มาเบิกความไว้เมื่อวันที่ 18 ก.ค.55 ว่า หัวกระสุนที่อยู่ในร่างผู้เสียชีวิตเป็นกระสุนปืนเล็กกล ทองแดงหุ้มเหล็กและตะกั่ว ขนาด .223 ( 5.56 มม.)แบบ M855 ซึ่งสามารถใช้กับปืนเล็กกล เช่น  M16 และทราโว่ เป็นกระสุนชนิดเดียวกันกับที่อยู่ในร่างนายสมร ไหมทอง คนขับรถตู่ที่ถูกยิงได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์เดียวกัน รวมทั้งยังเป็นกระสุนชนิดเดียวกันที่ใช้กับปืนของเจ้าหน้าที่ทหารจาก ร.1 พัน 3 รอ และ ป.พัน 31 รอ. ที่พนักงานสอบสวน สน.พญาไท ส่งมาให้เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานตรวจ แต่ลักษณะรอยตำหนิพิเศษของหัวกระสุนที่ถูกยิงจากลำกล้องของปืนที่ส่งตรวจนั้น  ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นปืนกระบอกเดียวกันกับที่ใช้ยิงผู้ตาย จากลักษณะของตำหนิพิเศษจะเกิดจากลำกล้องของปืนแต่ละกระบอกที่ไม่เหมือนกัน แต่หากมีการเปลี่ยนลำกล้องเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานยืนยันว่าก็จะไม่สามารถพิสูจน์ได้

พ.ต.อ.สุพจน์ เผ่าถนอม ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืน ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบอาวุธปืน ได้เบิกความต่อศาลถึงลำกล้องปืนของเจ้าหน้าที่ว่าตัวลำกล้องไม่มีหมายเลขประทับ ไม่มีการตอกหมายเลข โดยอัยการสอบถามถึงความยากง่ายในการเปลี่ยนลำกล้อง พ.ต.อ.สุพจน์ ตอบว่า เจ้าหน้าที่ๆ ปฏิบัติงานในภาคสนามหากมีการเรียนรู้มาก็สามารถเปลี่ยนได้โดยใช้เวลาไม่เกิน 15 นาที

 

ภาพรถตู้นายสมร ไหมทอง ที่ถ่ายวันที่ 15 พ.ค.53 และเผยแพร่ใน youtube โดย user “ajaketube” http://www.youtube.com/watch?v=PEL5tjV28io

 

ยันการยิงรถตู้ในเหตุการณ์มุ่งแก่ชีวิต
โดยในระหว่างการไต่สวนนายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความผู้เสียหาย ได้ซักถามพยาน คือ พ.ต.ท.ทนงศักดิ์ บุญมาก เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานจากกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถึงการยิงเพื่อสกัดกั้นรถตู้ที่ไม่ได้หมายชีวิตกับการยิงเพื่อหมายชีวิตแตกต่างกันหรือไม่ พ.ต.ท.ทนงศักดิ์ ยืนยันว่า แตกต่างกัน  โดยอธิบายเสริมว่าการยิงที่ไม่ได้หมายชีวิตนั้นจะยิงในส่วนที่ไม่สำคัญ หรือยิงที่บริเวณล้อรถ จากนั้นทนายได้นำรูปรถตู้ของนายสมร ไหมทอง ที่ถูกยิงในเหตุการณ์จนมีร่องรอยกระสุนปรากฏให้ พ.ต.ท.ทนงศักดิ์ พิจารณา พร้อมสอบถามถึงภาพดังกล่าวเป็นการยิงในลักษณะใด พ.ต.ท.ทนงศักดิ์ ตอบว่าจากรอยกระสุนที่ปรากฏบนรถตู้ในรูปนั้นเชื่อว่าน่าจะมีผลต่อชีวิตได้ ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของ พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ ยาคุ้มภัย ทำหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน จากกลุ่มงานตรวจอาวุธและเครื่องกระสุนปืน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่าตามรูปถ่ายรถตู้ว่าจุดที่กระสุนเข้ามากที่สุดเป็นด้านขวาตรงประตูคนขับ โดยทนายได้ถามย้ำถึงลักษณะการยิงสกัดเพื่อให้รถหยุดควรทอย่างไร พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ ตอบว่าควรยิงที่ยางหรือที่ห้องเครื่อง ส่วนศาลได้สอบถามเพิ่มเติมด้วยว่ากรณีที่มีการยิงมาตรงคนขับตามภาพแสดงว่าอะไร พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ ตอบว่า “คิดว่ามีลักษณะที่คาดว่ายิงให้คนขับถึงแก่ชีวิต”

นอกจากนี้ อัยการได้เปิดวีดีโอที่ถ่ายโดยนายคมสันต์ เอกทองมาก อดีตช่างภาพเนชั่นแชนเนล ที่ถ่ายเมื่อกลางดึกคืนวันที่ 14พฤษภาคม 2553 ( Voice TV ได้มีการนำวีดีโอดังกล่าวมาเผยแพร่ในบางตอนด้วยสามารถดูได้ที่ http://news.voicetv.co.th/thailand/42919.html) ให้พยานพิจารณาถึงเหตุการณ์ โดย พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ ยาคุ้มภัย ได้เบิกความว่ามีความเป็นไปได้สูงว่ารถตู้คัดดังกล่าวถูกยิงด้วยอาวุธสงคราม โดยก่อนหน้านั้นศาลได้ถามถึงว่าอะไรคืออาวุธสงคราม พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ อธิบายว่าคือปืนเล็กกล หากเป็นภาษาชาวบ้านเรียก M16 และ พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ ยังได้กล่าวอีกว่าเห็นทหารในวีดีโอดังกล่าวถือ M16 และลูกซองด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันพรุ่งนี้ 25 ก.ค.55 ช่วงเช้า นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จะมาเบิกความและช่วงบ่ายพนักงานสอบสวนในกรณีดังกล่าวจะมาเบิกความต่อในกรณีนี้


ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปธน.เกาหลีใต้กล่าวคำ 'ขอโทษ' ออกทีวีแห่งชาติ เหตุพี่ชายพัวพันการทุจริต

Posted: 24 Jul 2012 09:36 AM PDT

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 55 ว่า ประธานาธิบดี ลี เมียง บัค ของเกาหลีใต้ ได้กล่าวคำขอโทษต่อสาธารณะผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ จากการดำเนินคดีข้อหาคอร์รัปชั่นต่อพี่ชายซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางการเมือง โดยกล่าวว่าความผิดครั้งนี้ไม่ใช่ความผิดใครนอกจากของเขาเอง และโค้งคำนับต่อสาธารณชนเพื่อแสดงความขอโทษ

"ข้าพเจ้าโค้งคำนับและขออภัยที่ทำให้สาธารณะเกิดความกังวลจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น" เขากล่าว "ข้าพเจ้าจะสามารถโทษใครได้น่ะหรือ ทั้งหมดมันเป็นความผิดของข้าพเจ้าคนเดียว และข้าพเจ้าขอยอมรับคำตำหนิติเตียนใดๆ ทั้งสิ้น"

การกล่าวขอโทษของปธน. ลี เมียง บัค แสดงให้เห็นถึงการลดลงของความน่าเชื่อถือทางการเมืองของเขา ในฐานะที่เป็นผู้นำทางการเมืองที่สัญญาว่าจะกำจัดปัญหาคอร์รัปชั่นในรัฐบาลเกาหลีใต้ 

ลี ซาง ดึค พี่ชายของลีเมียง บัค ซึ่งเป็นอดีตส.ส. 6 สมัย และที่ปรึกษาทางการเมืองของปธน. ถูกจับกุมในข้อหาคอร์รัปชั่นเมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยศาลแขวงกลางของกรุงโซลอนุมัติหมายจับกุมนายลี ซัง-ดึ๊กตามคำร้องขอของอัยการ ซึ่งระบุว่า นายลีได้รับเงิน 600 ล้านวอน หรือราว 16.8 ล้านบาทจากประธานธนาคารออมทรัพย์ 2 แห่งที่กำลังประสบปัญหาอย่างโซโลมอน เซฟวิงส์ แบงก์ กับมิแร เซฟวิงส์ แบงก์  ช่วงระหว่างปี 2007-2011 แลกกับความช่วยเหลือหลีกเลี่ยงการตรวจสอบและการลงโทษ

โดยนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทางการสั่งปิดธนาคารต่างๆที่มีสถานะอ่อนแอแล้วกว่า 20 แห่ง ขณะที่ประชาชนแสดงความโกรธเกรี้ยวต่อปัญหาการทุจริตในภาคธนาคาร ที่ทำให้เงินฝากของพวกเขาประสบปัญหา

หลังจากศาลออกหมายจับ นายลีได้ถูกเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมทันที ขณะที่ประชาชนบางส่วนที่โกรธแค้น เพราะต้องสูญเสียเงินฝากในธนาคารออมทรัพย์ 2 แห่งที่ถูกพักกิจการ ได้ขว้างปาไข่เข้าใส่นายลี ในระหว่างที่เดินทางมาถึงศาล นอกจากนี้ นายชุง ดู-อัน ส.ส.พรรครัฐบาลและคนใกล้ชิดประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ก็ถูกอัยการสอบสวนกรณีพัวพันเรื่องอื้อฉาวกับธนาคารออมทรัพย์เช่นกัน

ทั้งนี้ การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของของลี เมียง บัค ซึ่งมีวาระ 5 ปี จะสิ้นสุดลงในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2556 โดยบางส่วนมองว่า การจับกุมพี่ชายของเขา จะส่งผลกระทบต่อพรรครัฐบาลในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะเกิดขึ้นในเดือนธันวาคมปีนี้ 

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก South Korea's Lee Myung-bak in national apology
http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-18965750

South Korean President Lee apologises for graft scandal
http://www.kyivpost.com/content/world/south-korean-president-lee-apologises-for-graft-sc.html#.UA7HFCLeMSA

และเนื้อหาบางส่วนจาก มติชนออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ติงใบตองแห้ง ติง ThaiPBS

Posted: 24 Jul 2012 04:33 AM PDT


คำแถลงเครือข่ายนักสื่อสารแรงงาน 

กรณีใบตองแห้งกับ ThaiPBS และชาวบ้านคนชายขอบ

22 กรกฎาคม 2555

 

ตามที่เว็บไซต์ mediainsideout ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “ศึกสายเลือดเขย่า TPBS”ของผู้ใช้นามว่า “ใบตองแห้ง” ลงวันที่ 13 ก.ค.55 นั้น  แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของ ThaiPBS แบบคนที่คลุกอยู่วงในเท่านั้นจึงจะรู้  แต่เครือข่ายนักสื่อสารแรงงานเห็นว่า มีบางข้อความที่กระทบต่อความรู้สึกในเชิงดูแคลนปากเสียงของชาวบ้านคนชายขอบ ดังเช่น

เผลอแป๊บเดียว TPBS หรือองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ก็ก่อตั้งมาได้ 5 ปีแล้วนะครับ ซึ่งแปลว่าเราได้ใช้เงิน “ภาษีบาป” สร้างทีวีของคนชายขอบ ริมขอบ ตกขอบ ไปมากกว่า 10,000 ล้านบาท (ย่อหน้าที่ 1)

แต่แหม แค่ได้ดู ณาตยา แวววีรคุปต์ เอา NGO กับชาวบ้านมาออกเวทีสาธารณะวันละโหล ก็คุ้มแล้วครับ รายการอย่างนี้จะไปหาสปอนเซอร์ได้ที่ไหน เพราะจัดช่องไหนก็ไม่มีคนดู (อ้าว) (ย่อหน้าที่ 2)

พอคิดกันได้แค่นี้ ก็เลยมีแต่รายการของณาตยา แวววีรคุปต์ (แซวกันว่า ณาตยาเป็น “บิ๊ก” ใน TPBS ใครๆ ก็เกรงใจ เพราะเธอทำรายการให้ผู้มีบารมีเหนือ TPBS ดู ไม่ได้ทำให้ชาวบ้านดูนะเออ) (ย่อหน้าที่45)

ต่อข้อความใน 3 ย่อหน้าข้างต้นนั้น  เครือข่ายนักสื่อสารแรงงาน  ยืนยันว่า  ผู้ใช้แรงงานกลุ่มต่างๆทั้งแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ ซึ่งรวมกันแล้ว ถือเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยที่มีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจของประเทศนี้ให้เจริญเติบโต และเป็นกลุ่มที่รัฐเก็บภาษีได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยโดยไม่ตกหล่น  แต่กลุ่มแรงงานก็ถือว่ายังเป็น “คนชายขอบ” ในนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐบาลทุกยุคสมัยไม่ว่าจะเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตย ที่ให้ความสำคัญกับ “ผู้ลงทุน” มากกว่า “ผู้ลงแรง”  เสียงของแรงงานเหล่านั้นจึงไม่มีโอกาส ไม่มีช่องทางสื่อสารออกไปให้คนได้รับรู้รับฟังปัญหาของพวกเขา  ต่างจากกลุ่มนายทุน ราชการและนักการเมือง ที่ต่างก็เข้าไปยึดครองพื้นที่สื่อของประเทศนี้จนแทบไม่เหลือให้กับ “คนชายขอบ” กลุ่มต่างๆที่เดือดร้อนจากนโยบายการพัฒนาประเทศ ดังข่าวที่ปรากฎตามสื่อต่างๆไม่เคยขาด

กล่าวสำหรับพื้นที่ข่าวของแรงงานแล้ว  ฟรีทีวีต่างๆมีการนำเสนอข่าวแรงงานบ้างแต่ก็น้อยมากจนแทบไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในทางที่ดีขึ้นต่อแรงงานมากนัก  เพราะส่วนใหญ่นำเสนอแค่เพียงปรากฎการณ์การชุมนุมเรียกร้อง  ไม่ได้เจาะลึกถึงปัญหา ทำให้การต่อสู้เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของแรงงานกลายเป็นภาพลบที่สร้างความเดือดร้อนให้สังคม  

ดังนั้น เมื่อเกิดมีทีวีสาธารณะ ThaiPBS ขึ้นมา  พบว่า เฉพาะช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พื้นที่สื่อสาธารณะได้เปิดกว้างให้แรงงานเรามีโอกาสมากขึ้นในการส่งเสียง  ThaiPBS นำเสนอข่าวประเด็นแรงงานเท่าที่รวบรวมบันทึกเก็บไว้ได้มีถึง 155 ชิ้น  และมีการนำเสนอในแบบเจาะลึกที่ทำให้สังคมเกิดความเข้าใจปัญหาของแรงงานกลุ่มต่างๆอย่างแท้จริง  ทั้งเรื่องปัญหาการเข้าถึงประกันสังคม เรื่องค่าจ้างที่เป็นธรรม  การคุ้มครองแรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติ  ผ่านรายการกลุ่มข่าวต่างๆ  โดยเฉพาะ “เวทีสาธารณะ” ที่ทำให้ผู้ใช้แรงงานได้มีโอกาสสื่อสาร สามารถเปิดปากพูดเรื่องราวของตัวเองกับผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาได้โดยตรง  

แต่การใช้ช่องทาง “เวทีสาธารณะ” ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทำได้บ่อยๆ  เพราะนอกจากจะต้องนำเสนอและเพียรสร้างความเข้าใจต่อประเด็นให้กับผู้จัดทำรายการแล้ว  ยังต้องเปิดโอกาสให้ “คนชายขอบ” ผู้เดือดร้อนประเด็นปัญหากลุ่มอื่นๆซึ่งมีจำนวนมากมายในประเทศนี้ได้ใช้บริการรายการนี้ด้วย  

แน่นอนว่า  รายการแบบนี้เร็ตติ้งคงไม่พุ่งกระฉูดเทียบเท่ารายการยอดนิยมที่วัดๆกันแบบที่ทำอยู่ทุกวันนี้  แต่ในแง่ของคนดู  เครือข่ายแรงงานซึ่งร่วมเป็นเครือข่ายกับภาคประชาสังคมอื่นๆ ทราบว่ามีชาวบ้านและผู้เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาติดตามดูมากแน่นอน  และเร็ตติ้งของรายการแบบนี้เราก็วัดกันที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง  มากกว่าจะวัดกันที่คนดูมากแต่ไม่เกิดผลเปลี่ยนแปลงอะไร 

ซึ่งในส่วนของแรงงานนั้น  “เวทีสาธารณะ ตอน ถอดบทเรียนน้ำท่วม” กระตุ้นให้หน่วยงานรัฐทุกระดับเข้ามาใส่ใจดูแลแรงงานในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมในการทำให้ได้รับสิทธิต่างๆ   “เวทีสาธารณะ ตอน ปฏิรูปกฎหมายประกันสังคม กฎหมายประชาชน ความจริงใจของผู้แทน” ทำให้นักการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลต่างรับรู้และรับปากจะช่วยกันเร่งผลักดันร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมของแรงงานเข้าสภาฯ  แม้ว่าจะอยู่ในช่วงชุลมุนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายปรองดองที่ลัดคิวขึ้นมาตัดหน้ากฎหมายอื่นที่เสนอโดยภาคประชาชนหลายฉบับที่ค้างเติ่งอยู่ในวาระ  และ“เวทีสาธารณะ ตอน กลับถิ่น กระจกสะท้อนแรงงานไทย” ได้ทำให้องค์กรปกครองท้องถิ่นตระหนักและเตรียมเสนอเรื่องในการพัฒนาทรัยากรต่างๆเช่น แหล่งน้ำ และภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งมีอยู่มากมายหล่อเลี้ยงสังคมไทยมายาวนานตั้งแต่อดีต ให้สามารถรองรับการทำงานในถิ่นฐานของผู้คนได้อย่างยั่งยืน

ในบทความของ “ใบตองแห้ง” ยังกล่าวถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาของสื่อสาธารณะอย่างTPBS ด้วย ดังเช่น

แล้วถ้าจะให้ดีนะครับ TPBS ก็ควรจะถือโอกาสนี้ สรุปปัญหา ทิศทาง แนวทาง นโยบาย การบริหาร ฯลฯ โดยให้พนักงานระดับล่างมีส่วนร่วม ให้โอกาสพวกเขาเสนอปัญหาระบายความอึดอัดใจอย่างเต็มที่ พูดถูกบ้าง พูดผิดบ้าง ก็ต้องฟัง เพราะที่ผ่านมามีแต่ปิดกั้น พนักงาน TPBS ไม่สามารถก่อตั้งสหภาพแรงงานได้ เพราะมีระเบียบบังคับไว้ ก่อตั้งได้แต่สมาพันธ์พนักงาน TPBS ซึ่งพูดอะไรมากก็ไม่ได้อีก เพราะมีระเบียบกำหนดว่า ห้ามพนักงานเคลื่อนไหวให้ร้ายองค์กร (ย่อหน้าก่อนสุดท้าย)

ซึ่งข้อเสนอเรื่องการมีส่วนร่วมในองค์กร ตรงกับที่ขบวนการแรงงานกำลังรณรงค์อยู่ในขณะนี้ ในเรื่องของการปฏิรูปกฎหมายแรงงานสัมพันธ์จากกรอบคิดเดิมแบบ “นายกับบ่าว” ที่คนทำงานไม่ต้องมีปากมีเสียง  ไปเป็น “หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจหรือสังคม” ที่ยอมรับการมีส่วนร่วมของลูกจ้างพนักงาน  ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ  ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเรื่องเสรีภาพในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยเรื่องสิทธิในการเจรจาต่อรอง  รวมทั้งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญของไทย (ทั้ง 2540 และ 2550) ที่ว่า  "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน หรือหมู่คณะอื่น"  แต่รัฐบาลทุกยุคสมัย รวมทั้งหลายหน่วยงานต่างๆ ก็ยังไม่รับรอง ไม่ยึดถือปฏิบัติให้เป็นจริงตามสิทธิเสรีภาพดังว่านี้

เครือข่ายนักสื่อสารแรงงานจึงเห็นว่า   สถานีโทรทัศน์ ThaiPBS ที่สร้างมาจากภาษีของประชาชน  และประกาศว่าเป็นสื่ออิสระที่ไว้ใจได้นั้น  จะต้องเปิดกว้างต่อการตรวจสอบซึ่งรวมถึงการตรวจสอบตัวเองด้วย  จะต้องเปิดให้เกิดการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการองค์กรอย่างแท้จริงของพนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียม  จะต้องมีระบบที่ดูแลในเรื่องสิทธิต่างๆของพนักงานทั้งในเรื่องรายได้ที่เป็นธรรม สวัสดิการที่ครอบคลุม  และมีความมั่นคงในการทำงาน  

และที่สำคัญ จะต้องดูแลให้เกิดรายการดีๆ ในความหมายที่ไม่ใช่เพียงแค่มีคนดูมากแต่กลับส่งผลร้ายต่อสังคมด้านต่างๆ   ThaiPBS ต้องกล้าที่จะรักษาและสนับสนุนให้รายการดีๆที่ประจักษ์ชัดว่าเกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยเฉพาะในภาคส่วนที่สื่อหลักมักไม่สนใจ  ให้สามารถยืนหยัดอยู่ในผังรายการได้ต่อไป

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดคำสั่งศาลคดีไต่สวนการตาย 'อัสฮารี สะมาแอ' ถูกซ้อมทรมานระหว่างถูกจับกุมจนถึงแก่ความตาย

Posted: 24 Jul 2012 03:52 AM PDT

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.55 ศาลจังหวัดยะลาได้อ่านคำสั่งคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายอัสฮารี  สะมะแอ  ในคดีหมายเลขดำที่ ช.13/2552 คดีหมายเลขแดงที่ ช. 8/2555 ซึ่งคำพิพากษามีรายละเอียด ใน 4 ประเด็น ซึ่งศาลพิพากษาว่า ผู้ตายถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและเจ้าพนักงานตำรวจควบคุมตัว  และมีการทำร้ายร่างกายผู้ตาย โดยมีประเด็นดังต่อไปนี้

ประเด็นที่ 1  เสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่
ศาลได้พิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว เห็นว่า “ตั้งแต่ผู้ตายถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและควบคุมตัวที่บริเวณหมู่ที่ 5 ตำบลสะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา จนถึงเวลาผู้ตายถูกนำตัวส่งไปที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา ผู้ตายยังไม่ได้รับการปล่อยตัวจากเจ้าพนักงานผู้ควบคุม  ผู้ตายจึงถึงแก่ความตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ตามกฎหมาย”

ประเด็นที่ 2  สาเหตุการตาย
ศาลได้พิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว เห็นว่า “ในส่วนสาเหตุการตาย  การที่นายแพทย์ประชาระบุในรายงานการชันสูตรพลิกศพว่าสมองช้ำสงสัยว่าจะเป็นอุบัติเหตุจราจร  เนื่องจากในขณะนั้นยังไม่ทราบข้อมูลประวัติผู้ป่วยว่าเป็นใครมาจากไหน จึงได้ระบุข้อสันนิษฐานไปเช่นนั้น เพราะลักษณะอาการบาดเจ็บของผู้ตายเชื่อว่าต้องโดนแรงกระแทกจากภายนอก  แต่เมื่อผู้ตายถูกเจ้าพนักงานจับกุมในฐานะผู้ต้องสงสัย  ซึ่งตามคำเบิกความของพันโทณรงค์ฤทธิ์  ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจพัน ร. 173 ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่อำเภอกรงปินัง  จังหวัดยะลา  ได้รับมอบตัวผู้ตายกับพวกรวม 10  คน  จากเจ้าพนักงานผู้จับกุมได้ความว่า  นายสิบเสนารักษ์รายงานให้พันโทณรงค์ฤทธิ์ทราบว่า  ผู้ตายไม่รู้สึกตัว  ไม่มีอาการตอบสนอง  ตั้งแต่อยู่สถานีตำรวจภูธรกรงปินัง  พันโทณรงค์ฤทธิ์จึงส่งผู้ตายไปตรวจรักษาในระหว่างเดินทางก็ไม่ปรากฏว่ามีอุบัติเหตุใดๆ  แสดงว่าผู้ตายต้องได้รับบาดเจ็บมาก่อนหน้านั้น  อันเป็นขั้นตอนการจับกุมของเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าพนักงานตำรวจภายใต้การควบคุมรับผิดชอบของร้อยเอกสมคิด คงแข็ง และร้อยตำรวจเอกครรชิต ปานจันทร์  ในชั้นการจับกุม  พยานซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการจับกุมและควบคุมตัวผู้ตายต่างยืนยันว่าได้กระทำการไปตามอำนาจหน้าที่

ประเด็นที่ 3  พฤติการณ์ที่ทำให้นายอัสฮารีได้รับบาดเจ็บ
ศาลได้พิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว เห็นว่า “... ตามเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงต่ออนุกรรมการเฉพาะกิจในการรณรงค์เพื่อต่อต้านการทรมานฯ เอกสารหมาย ค.17 และ ค.18 สรุปว่า  เหตุที่ผู้ต้องสงสัยบางคนได้รับอันตรายแก่ร่างกายเล็กน้อย  อาจจะเป็นเพราะลื่นหกล้มทำให้ไปกระทบกับของแข็ง  เช่น  โขดหินหรือต้นไม้ใหญ่ แต่บันทึกข้อความดังกล่าวเป็นเพียงการรวบรวมข้อเท็จจริงจากฝ่ายเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการจับกุมแต่ฝ่ายเดียวแล้วสรุปผลโดยคาดหมายสาเหตุอาการบาดเจ็บของผู้ที่เกี่ยวข้องว่าลื่นล้ม 

แต่ขัดแย้งกับลักษณะบาดแผลที่ศพผู้ตาย  ซึ่งมีร่องรอยถูกแรงกระแทกตามร่างกายหลายแห่ง  และที่ร่างกายและที่ร่างกายของผู้ถูกจับกุมคนอื่นซึ่งแพทย์ตรวจสอบและบันทึกไว้ ประกอบกับพยานซึ่งเป็นผู้ถูกจับกุมด้วยกันกับผู้ตายเป็นประจักษ์พยานเบิกความถึงข้อเท็จจริงในการถูกทำร้ายได้สอดคล้องต้องกันและสอดคล้องกับผลการตรวจชันสูตรพลิกศพผู้ตายและภาพถ่ายศพ  โดยมีนายแพทย์ทักษิณ แพทย์โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร เป็นผู้ตรวจรักษาเบื้องต้นเป็นคนแรก  และบันทึกลักษณะอาการบาดเจ็บไว้ในเอกสารบัตรผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร เป็นพยานหลักฐานประกอบ

นอกจากนี้  เมื่อนางแบเดาะมารดาผู้ตายไปขอรับความช่วยเหลือเยียวยาที่ศาลากลางจังหวัดยะลาก็ได้รับแจ้งว่า  ผู้ตายถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เข้าหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือ  พยานหลักฐานที่บิดามารดาผู้ตายนำสืบทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารสอดคล้องต้องกันและสอดคล้องกับความเห็นแพทย์ที่ตรวจรักษาผู้ตายทั้งที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร  โรงพยาบาลปัตตานี  และโรงพยาบาลศูนย์ยะลา  ซึ่งทำรายงานการตรวจชันสูตรพลิกศพผู้ตาย  ทำให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ  จากพยานหลักฐานดังกล่าวข้างต้นจึงรับฟังได้ว่าผู้ตายถูกทำร้ายร่างกายหลายแห่งจนได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตาย

ประเด็นที่ 4  สรุป
จึงมีคำสั่งว่า  ผู้ตาย  คือนายอัสฮารี  สะมาแอ  ตายขณะอยู่ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 เหตุที่ตายเนื่องจากสมองช้ำ และพฤติการณ์ที่ตายคือ  ผู้ตายถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและเจ้าพนักงานตำรวจควบคุมตัว  และมีการทำร้ายร่างกายผู้ตาย  เป็นเหตุให้ผู้ตายได้รับบาดเจ็บถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร โรงพยาบาลปัตตานี  และโรงพยาบาลศูนย์ยะลา  แล้วถึงแก่ความตาย

 

 

5 ปีทีวีสาธารณะ ใครได้อะไร

Posted: 24 Jul 2012 03:44 AM PDT

 

“คุ้มภาษีหรือไม่?” เป็นวาทกรรมที่มักถูกใช้เมื่อมีผู้ต้องการประเมินการทำงานของสื่อสาธารณะ หรือต้องการจะใช้เป็นเครื่องมือตั้งคำถามกับการทำงานของสื่อแห่งนี้มาตั้งแต่ก่อนการก่อกำเนิด 15 มกราคม 2551 และก็ยังคงใช้กันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

หากจะตอบคำถามดังกล่าว คงต้องอธิบายขยายคำถามเพื่อหาคำตอบก่อนว่า “ความคุ้มภาษี” นั้นเทียบกับอะไร ? จะเทียบกับงบประมาณที่จะใช้ในการลงประชามติแต่ละครั้ง หรือเทียบกับงบประมาณที่ใช้ในการป้องกันน้ำท่วม หรือเทียบกับการจัดตั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส) หรือเทียบกับ สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ว่ากันให้ชัด เทียบกันเป็นหมวด ๆ ของเงินงบประมาณกับปริมาณที่ได้รับ

ในความเป็นจริงแล้ว การเปรียบเทียบในลักษณะดังกล่าวอาจจะตอบและวัดความ “คุ้ม” ได้ยาก เพราะการทำงานมีเป้าหมายและคุณค่าเฉพาะตัว การวิเคราะห์เชิงปริมาณอาจไม่เพียงพอในการอธิบายและให้คำตอบได้

แต่หากจะให้ตอบคำถามโดยการวัด “ความคุ้ม” เชิง “คุณค่า” โดยเฉพาะคุณค่าที่มีต่อสังคม ที่เราผู้ดู ผู้มีส่วนร่วม และผู้เป็นเจ้าของเงินภาษีทั้งทางตรงทางอ้อม จะได้รับ นั้นคุ้มค่าหรือไม่ งานเขียนชิ้นนี้อาจพอให้ผู้อ่านได้เห็นภาพและตอบคำถามกับตัวเองได้บ้าง

ทุกครั้งที่กล่าวถึงการทำงานสื่อสาธารณะแล้ว คนมักจะยกกรณีการดำเนินงานของ BBC มาเป็นต้นแบบหรือเปรียบเทียบ จริงอยู่ทั้ง BBC และ Thai pbs มีหลักการเป็นสื่อสาธารณะเหมือนกัน แต่ไม่จำเป็นต้องทำแบบเดียวกัน เพราะหากพิจารณาสื่อสาธารณะประเทศอื่น วิธีการทำงาน แนวทางหรือเป้าหมายของแต่ละแห่งมีความแตกต่างกันไปตามบริบท สภาพแวดล้อมทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม เช่น ABC สื่อสาธารณะของประเทศออสเตรเลีย มุ่งเน้นไปที่การตอบสนองความแตกต่างหลากหลาย เพราะสภาพสังคมวัฒนธรรมที่ผู้คนมีความแตกต่างกันในด้านชาติพันธุ์ ส่วน PSB ของประเทศสหรัฐอเมริกา ก็มีวิธีการบริหารจัดการองค์กรที่ไม่เหมือนกับ BBC เพราะไม่เน้นที่จะผลิตรายการเอง หรือแม้แต่สถานีโทรทัศน์ภูมิภาคของ BBC ที่อยู่ตามภูมิภาคต่างๆ การปฏิบัติงานและเป้าหมายในการทำงานแตกต่างจาก BBC สถานีหลัก

สำหรับสื่อสาธารณะของไทย หากเรายังคงจำกันได้ถึงประวัติศาสตร์การปรากฏขึ้นของ Thai pbs คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากปัจจัยทางการเมือง มีการเปลี่ยนผ่านแค่ชั่วข้ามคืน ทำให้ทั้งคนทำสื่อ และสังคมไทยยังตั้งตัวไม่ติด และยังแทบไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับสื่อสาธารณะอย่างพอเพียง ซึ่งแน่นอนการเปลี่ยนผ่านในลักษณะดังกล่าว จึงไม่สามารถเปลี่ยนใจ เปลี่ยนทัศนคติ เปลี่ยนความคุ้นเคยกับสื่อแบบเดิมๆ ให้กับคนทำงานและคนดูตามไปด้วย ดังนั้นช่วงเวลาเริ่มต้น การทำงานจึงไม่เพียงต้องทำหน้าที่สื่อสาธารณะที่เน้นการเป็นสื่อเพื่อสร้างพลเมือง ทำงานบนการมีส่วนร่วมของคนดู ไปพร้อมกับการจัดการความขัดแย้งที่เกิดจากการเสียผลประโยชน์ ความไม่รู้ ความกลัว และความเคยชินกับแนวปฏิบัติการเป็นสื่อมวลชนแบบเดิมของคนในองค์กรไปพร้อมกัน

การดำเนินงาน 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้เราพอมองเห็นคุณลักษณะของการเป็นสื่อสาธารณะแบบของไทย ที่เป็นสื่อที่เน้นการสร้างการเปลี่ยนแปลงของสังคมในระดับต่างๆ ที่มีความแตกต่างจาก BBC หรือในประเทศอื่น ๆ ซึ่งคุณลักษณะของการเป็นสื่อสาธารณะของ Thai pbs ที่ปรากฏออกมาแบบนั้น ผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นไปตามตามสภาพปัจจัยด้านต่างๆ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของไทย ที่กำหนดการทำงานให้กับ Thai pbs แต่สิ่งที่ทั้ง BBC ABC CBS และ Thai pbs ต้องมีเหมือนกันก็คือ ปรัชญาของการเป็นสื่อสาธารณะที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างอำนาจทุน การเมือง และอำนาจของสาธารณะชนและเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงสื่อและข้อมูลข่าวสาร ซึ่งสื่อสาธารณะเป็นสื่อที่สามารถนำเสนอเนื้อหารายการที่เป็นประโยชน์หรือมีคุณค่าต่อสังคม เพื่อเป็นการเพิ่มความรู้และยกระดับคนดู ส่งเสริมความเป็นพลเมืองให้กับสาธารณะได้

จุดเด่นที่เป็นคุณลักษณะสำคัญของการเป็นสื่อสาธารณะของThai pbs ก็คือ การทำงานร่วมกับภาคประชาชน คนธรรมดา หลายระดับ ซึ่งถือเป็นกระบวนการ “หลังจอ” ที่คนส่วนใหญ่อาจมองเห็นภาพไม่ชัด และไม่ชิน เพราะพูดถึงสื่อทีวีแล้ว ส่วนใหญ่มักจะนึกถึงสิ่งที่ปรากฏผ่านทางจอโทรทัศน์ และผูกพันอยู่กับเนื้อหาที่ปรากฏผ่านหน้าจอมากกว่า แต่ กระบวนการสร้าง “หลังจอ” ถือเป็นอีกวิธีการทำงานอีกรูปแบบหนึ่งที่ Thai pbs เปิดช่องทางการเข้ามามีส่วนร่วมของคนดู ที่เคยเป็นคนดู กลายมาเป็นคนดูที่วิพากษ์วิจารณ์ เป็นแหล่งข้อมูล เป็นแหล่งข่าว หรือกลายเป็นผู้ร่วมผลิตรายการผ่านรูปแบบรายการต่างๆ โดยสถานีฯ จัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลรับผิดชอบโดยตรง มีการทำงานเชื่อมโยงกับฝ่ายข่าวและฝ่ายรายการ บนหลักการการทำงานที่ต้องการใช้กลไกของกระบวนการ “หน้าจอ และ หลังจอ” ผลักดันและขับเคลื่อนซึ่งกันและกันเพื่อนำไปสู่การนำเสนอเนื้อหา และย้อนกลับมายังพื้นที่หรือประเด็นที่นำเสนอ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นทั้งในเชิงประเด็นและตัวบุคคลหรือกลุ่มที่ทำงานร่วมกัน

ยกตัวอย่างกรณี “หลังจอ” ที่ผู้เขียนมีโอกาสศึกษาถึงกระบวนการการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนารายการของท้องถิ่น ระหว่างคนท้องถิ่นกับคนทำสื่อมืออาชีพ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่คุ้นชินทั้งตัวคนทำสื่อมืออาชีพ และประชาชน ผลก็คือในระยะแรกของการเริ่มต้นทำงานร่วมกัน นับว่าเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายมาก และมีโอกาสการครอบงำและขัดแย้งกันสูงมาก เวลาส่วนใหญ่ในการการทำงานจึงเน้นการปรับความเข้าใจและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยอาศัยปัจจัยการทำงานทั้งด้านตัวบุคคลที่เข้ามาประสานงาน ท่าที วิธีการ และกำหนดความสัมพันธ์ที่มีความเฉพาะและอ่อนไหว และใช้ระยะเวลาในการสร้างความเข้าใจและร่วมรู้เพื่อทำงานรวมกันกว่า 8 เดือน จึงเริ่มเห็นผลที่ดีขึ้น ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่นและคนทำสื่อมืออาชีพในระดับต่างๆ และปรากฏเป็นรายการโทรทัศน์ “จอเหนือ” รายการที่ในยุคก่อตั้งผลิตขึ้นจากการทำงานร่วมของคนสื่อและคนธรรมดามาใช้ และได้รับการพัฒนาไปสู่พื้นที่ และรายการอื่นโดยพยายามยึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนเหมือนกัน

ที่น่าสนใจก็คือ เนื้อหารายการ “จอเหนือ” ในยุคเริ่มต้นที่ได้รับการกำหนดมาจากภาคประชาชน ส่วนใหญ่ประเด็นที่ได้รับการเสนอเพื่อนำไปสู่การผลิตมักเป็นประเด็นร้อน หรือประเด็นที่เป็นปัญหาที่ท้องถิ่นหรือชุมชนกำลังเผชิญหน้า การได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกเช่นระบบทุนนิยม หรือนโยบายของรัฐเป็นต้น ปัญหาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เช่นดิน น้ำ ป่า การเรียกร้องการจัดการตนเองด้วยการมีส่วนร่วมของคนท้องถิ่น รวมไปถึงคุณค่าท้องถิ่น อัตลักษณ์ ความงดงามในท้องถิ่นที่กำลังลดเลือน หรือเสื่อมถอยไปจากท้องถิ่น เช่นผลกระทบของชาวบ้านในพื้นที่ทำเหมืองทองคำ จ.พิจิตร ปัญหาเรื่องข้อพิพาทเรื่องการบุกรุกที่ดินทำกิน จ.ลำพูน เป็นต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการเข้าถึงและการใช้สิทธิ์การสื่อสารผ่านสื่อของประชาชนเป็นความต้องการจัดความสมดุลของโครงสร้างอำนาจระหว่างพลเมืองกับรัฐ โดยให้เสียงของภาคประชาชนปรากฏผ่านสังคมผ่านสิทธิการสื่อสาร เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาและเปลี่ยนแปลงให้ตนเองและชุมชนให้ดีขึ้นมากกว่าการได้ปรากฏตัวผ่านจอทีวีเท่านั้น หรือกล่าวได้อีกนัยหนึ่งก็คือ ลักษณะของโทรทัศน์สาธารณะในการรับรู้และความต้องการของภาคประชาชนก็คือ สื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลงมากกว่าเป็นสื่อเพื่อความบันเทิง ดังนั้นจึงมักถูกค่อนแคะจากวงการสื่อหรือคนนอกว่าเป็นสื่อเพื่อคนชายขอบ ตกขอบ หรือ NGOs แต่หากสื่อสาธารณะไม่ทำในลักษณะดังกล่าว สื่อหลักช่องไหนจะเข้าไปทำให้พวกเขา หรือมันไม่มีคุณค่าที่จะปรากฏผ่านคลื่นความถี่ใดๆ

ปรากฏการณ์และผลของการทำงานที่เกิดขึ้นดังกล่าว ถือเป็นเรื่องยากและไม่เคยทำได้มา 50 กว่าปีนับตั้งแต่การปรากฏตัวขึ้นของสื่อโทรทัศน์ในประเทศไทย เพราะแม้แต่สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง 11 ในภูมิภาคยังไม่สามารถทำได้ เพราะติดปัจจัยที่สำคัญคือด้านความเป็นเจ้าของ (สนใจดูงานดุษฎีนิพนธ์ ภัทรา บุรารักษ์. โทรทัศน์ท้องถิ่น: การกำเนิด การดำรงอยู่และการพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2551 และการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างโทรทัศน์สาธารณะกับภาคประชาสังคมเพื่อการพัฒนาสถานีภูมิภาค. วารสารนิเทศศาสตร์ ปีที่ 29 ฉบับที่ 2 2554 หน้า 1-17 )

ดังนั้นระยะเวลา 5 ปีของการปรากฏตัวขึ้นบนสถานการณ์แวดล้อมแบบไทย ๆ จึงเป็นช่วงเวลาของการสร้างความเป็นสาธารณะ และหารูปแบบที่เหมาะกับสภาพสังคมไทย

แต่หากจะมองภาพว่า สื่อสาธารณะทำอะไรให้กับใครบ้างใน 5 ปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นการพิจารณาว่าเรายังคงต้องการระบบสื่อแบบนี้อยู่อีกหรือไม่ และคุ้มค่ากับภาษีเหล้าบุหรี่ที่จ่ายไปหรือไม่ ?

นอกจากประเด็นของคุณลักษณะของสื่อสาธารณะแบบไทย อย่าง Thai pbs ที่กล่าวไปข้างต้น ผู้เขียนอยากแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในฐานะเป็นนักวิชาการที่สนใจด้านสื่อกระจายเสียงระบบสาธารณะทั้งระดับชาติและระดับภูมิภาค และสอนด้านสื่อสารมวลชนที่มีหน้าที่ผลิตกำลังคนที่มีทักษะความรู้ทางด้านการสื่อสารและสื่อมวลชนที่มีคุณภาพ เพื่อให้ภาพที่ชัดขึ้นว่า 5 ปีที่ผ่านมาใครได้อะไรจาก Thai pbs โดยจะเล่าแยกเป็น 2 มิติ คือ มิติทางด้านวิชาการด้านสื่อสารมวลชน และมิติทางด้านการผลิตบัณฑิตด้านการสื่อสาร

มิติความสำคัญที่มีต่อวงการวิชาการด้านสื่อสารมวลชน
ถือเป็นความตื่นเต้นทางวิชาการโดยเฉพาะด้านสื่อโทรทัศน์ หลังจากการปรากฏตัวของสื่อสาธารณะ แห่งแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2551 แม้ว่าจะเป็นช่วงที่ควันของการขัดแย้ง ทางการเมือง และการคัดค้านของพนักงานเดิมของสถานีโทรทัศน์ iTV แต่ในวงวิชาการต่างรู้ว่าการคืนคลื่นสำหรับการทำผิดเงื่อนไขการรับสัมปทานเป็นเรื่องปกติ (แต่ขณะนั้นบ้านเรายังไม่เคยมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น เพราะยังไม่สามารถจัดสรรคลื่นความถี่อะไรให้ใครได้) และหากแยกเอาความขัดแย้งคัดค้านดังกล่าวออกมาพิจารณาเฉพาะการเกิดขึ้นของสื่อสาธารณะ ถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับวิชาการด้านสื่อสารมวลชน เพราะเป็นระบบสื่อที่สังคมคาดหวัง และที่ผ่านมาการเรียนการสอนทำได้เพียงการยกตัวอย่างจากสถานีโทรทัศน์ต่างประเทศ ไม่ BBC ประเทศอังกฤษ NHK ประเทศญี่ปุ่น ABC ประเทศออสเตรเลีย PSB ประเทศสหรัฐอเมริกา และ CBS ประเทศแคนาดา แต่ความรู้พวกนี้มีข้อจำกัดเนื่องจากเป็นงานเขียนต่างๆ ที่ปรากฏผ่านสื่อมายังประเทศไทยนั้นส่วนใหญ่เป็นการเขียนในกรอบนโยบาย การทำงานอย่างกว้าง มากกว่าลงรายละเอียดในการบริหารจัดการในแต่ละส่วนอย่างเพียงพอที่จะเป็นความรู้ได้ เช่นในกรณีการใช้แนวคิดการมีส่วนร่วมของประชาชน ต้องทำอย่างไรแบบไหน หรือ การใช้กลไกการกำกับดูแลผ่านสภาผู้ชมผู้ฟัง ที่หากนำเข้ามาปฏิบัติใช้จริง กลับพบว่าความรู้ที่มีอยู่ไม่เพียงพอ

นอกจากนั้นจากการปฏิบัติการ “หลังจอ “หน้าจอ” ของ ThaiPBS มาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ยังทำให้คำว่า “สิทธิในการสื่อสาร” “สิทธิการเข้าถึงสื่อ” ปรากฏเป็นรูปธรรม จับต้องได้อย่างชัดเจน ผลจากการวิจัยการมีส่วนร่วมระหว่างสื่อสาธารณะและภาคประชาชน ดังที่ได้อ้างข้างต้น พบว่า การปฏิบัติการร่วมกันระหว่างภาคประชาสังคมและ ThaiPBS ในช่วงศึกษาแสดงให้เห็นว่า การมีส่วนร่วมของคน หรือกลุ่มประชาชนในกระบวนการสื่อสารเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นและทำได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม ถือเป็นการฝ่ามายาคติที่แบ่งแยกบทบาทคนดูและคนทำสื่อมาโดยตลอด และที่สำคัญของการทำงานร่วมกันอีกประการหนึ่งก็คือการทำให้คนสื่อมืออาชีพได้รับประสบการณ์สำคัญในการเรียนรู้การทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมอย่างใกล้ชิด ที่ช่วยลดอคติ ความไม่ไว้วางใจ ไม่เชื่อมั่น และการผูกขาดความรู้ของคนสื่อมืออาชีพอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในการทำงานของสถานีฯ โทรทัศน์ของไทยมาก่อน

มากไปกว่านั้น กระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วมระหว่างประชาชนและคนทำสื่อมืออาชีพดังกล่าว ยังเป็นการทลายความกลัว ความไม่มั่นใจและความไม่สนใจที่มีต่อสิทธิการสื่อสาร เข้าถึง และมีส่วนร่วมในสื่อของคนท้องถิ่น อันจะนำไปสู่กระบวนการพัฒนาท้องถิ่นหรือชุมชนของพวกเขาให้ตระหนักถึงความสำคัญของตนเองและชุมชนในฐานะพลเมืองที่มีสิทธิมีเสียงต่อการกำหนดความเป็นไปของชุมชนท้องถิ่นเขาลง

นอกเหนือจากความรู้ทางด้านระบบการบริหารจัดการแล้ว การทำงาน “หน้าจอ” ของ ThaiPBS ยังกล่าวเป็นแหล่งศึกษาเพื่อผลิตทางด้านรายการ มาตรฐานทางด้านการผลิตรายการ การผลิตข่าว กระบวนการสร้างนักข่าวพลเมือง ฯลฯ ที่ในแวดวงวิชาการที่มีหน้าที่หา “ชุดคำอธิบาย คำพยากรณ์ และแนวทางจัดการ” ให้สอดรับและเท่าทันโลกการสื่อสารที่มีการเปลี่ยนแปลง

ดังนั้นของการเกิดขึ้นของสื่อสาธารณะ จึงเปรียบเสมือนห้องปฏิบัติการทางสังคมที่มีคุณค่าสำหรับ วิชาการด้านการสื่อสารมวลชนทั้งในด้านการผลิต ความรู้ ความเข้าใจ และหาแนวทางวิธีการใหม่ๆ ในการพัฒนาให้สื่อสาธารณะดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพเป็นประโยชน์สูงสุดต่อสาธารณะชนให้มากที่สุด

 มิติด้านการเรียนการสอน ที่นิสิตได้รับประโยชน์
ผู้เขียนมักถามกลุ่มเด็กและเยาวชนที่เข้ามาร่วมกิจกรรมกับ ThaiPBS เสมอเมื่อมีโอกาสพานิสิตไปร่วมกิจกรรมว่า “ทำไมสถานีฯ โทรทัศน์ช่องนี้ถึงต้องทำแบบนี้” (หมายถึงการให้นิสิต นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการสื่อสาร และการฝึกทักษะการเป็นผู้สื่อข่าว ทั้งในเวทีภูมิภาคและส่วนกลาง) คำตอบที่ได้รับคล้าย ๆ กันก็คือ ก็เพราะสถานีฯ แห่งนี้เป็นสื่อสาธารณะ ที่ต้องเปิดโอกาสให้พวกเขาได้เข้ามาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการเป็นผู้สร้างเนื้อหาผ่านหน้าจอโดยตรง หรือฝึกทักษะเพื่อเป็นนักสื่อสารที่ดี ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นกระบวนการที่ทำให้พวกเขาเติบโตขึ้น และกลายเป็นสื่อมวลชนที่มีคุณภาพ

จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนเป็นผู้สอนทางด้านนิเทศศาสตร์ อยู่ในต่างจังหวัด ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเข้าถึงองค์กรสื่อทางกายภาพเป็นเรื่องที่ลำบาก และทำได้ไม่บ่อย แต่ที่ผ่านมา องค์กรสื่อสาธารณะได้ขยับเส้นห่างดังกล่าวให้ใกล้มากขึ้นโดยกำหนดหน้าที่ให้กับหน่วยงานที่ดูแลด้านการพัฒนาเครือข่ายสื่อที่เน้นการทำงานหลังจอเพื่อยกระดับหรือหนุนเสริมศักยภาพของคนทำงาน ซึ่งหมายรวมถึงนิสิตนักศึกษาทั้งที่เรียนและไม่เรียนทางด้านนิเทศศาสตร์ได้มีเวทีในการแสดงออก และฝึกทักษะการทำงานแบบสื่อมวลชนมืออาชีพในหลายรูปแบบ ในลักษณะทั้งเชิงรุกเข้าไปในพื้นที่ต่างจังหวัดและดึงให้นิสิตเข้ามาเรียนรู้ในเวทีการทำงานแบบนักสื่อสารในสถานการณ์จริงในเมืองหลวง ล่าสุดการระดมนิสิตนักศึกษาที่สนใจทางด้านการสื่อสาร การเป็นผู้สื่อข่าว เข้าอบรมเชิงปฏิบัติการอย่างเข้มข้นในด้วยกระบวนการสื่อสารแบบ Multi Platform ในมิติของอาเซียน จนกลุ่มนิสิตรวมตัวกันเป็นกลุ่ม AYM -Asian Youth Media และให้เยาวชนได้ร่วมปฏิบัติการสื่อในเวทีการประชุมสุดยอดสื่อมวลชนโลก AMS ที่จัดขึ้น ณ กรุงเทพมหานคร ในลักษณะคู่ขนานไปกับสื่อมวลชนมืออาชีพทั้งในและต่างประเทศ

กิจกรรมเหล่านั้นไม่เพียงแต่สร้างความภาคภูมิใจและฝึกฝนทักษะด้านการเป็นผู้สื่อข่าวให้กับนิสิตเท่านั้น แต่ยังทำให้นิสิตเหล่านั้นเติบโต และเข้มแข็ง ซึ่งผู้เขียนสัมผัสได้จากมุมมอง ทัศนคติ และการทำงานของนิสิตที่ผ่านกระบวนการอย่างเข้มข้นร่วมกับสื่อสาธารณะ แต่ประเด็นสำคัญคงไม่ใช่เพียงให้พวกเขาเป็นนักข่าวที่มีคุณภาพเท่านั้น แต่ที่สำคัญคือได้ติดตั้งวิธีคิดแบบสื่อสาธารณะให้กับพวกเขา ที่พวกเขากลับมาต่อยอดและถ่ายทอดแนวคิดและวิธีการทำงานเหล่านั้นให้กับรุ่นน้องและเพื่อน ๆ ในมหาวิทยาลัย เช่นการจัดตั้งชมรมนักข่าว หรือการสร้างกลไกการทำงานด้านการสื่อสารผ่านช่องทางการสื่อใหม่ที่พวกเขากำหนดขึ้นเอง เพื่อทำงานตอบโจทย์ในแต่ละพื้นที่ของเขา เช่นกลุ่ม นิสิตมหาวิทยาลัยพะเยา ยังคงมีการผลิตข่าวภายในจังหวัดส่งให้กับช่วงข่าวพลเมือง และจัดตั้งเป็นกลุ่มสื่อ AYM UP MEDIA ที่เปิดกว้างให้กับเพื่อน ๆ ที่เรียนทางด้านนิเทศศาสตร์และสาขาอื่นๆ ได้เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกัน หรือกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีการสร้างช่องทางการสื่อสารและจัดตั้งกลุ่มขึ้นเพื่อทำงานสื่อสารเรื่องราวของจังหวัดชายแดนภาคใต้ในมุมมองที่พวกเขาสื่อสารเอง ดังที่ได้พวกเขาได้แนะนำกลุ่มผ่านทางเฟซบุ๊คว่า

"ชมรมสื่อสันติภาพ" หรือเรียกสั้นๆว่า (PEACE MEDIA) ซึ่งเป็นชมรมของนักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่ได้ร่วมเรียนรู้พร้อมกับปฏิบัติการสื่อสารแห่งอนาคต โดยได้เล็งเห็นความสำคัญของการสื่อสาร เเละได้นำรูปแบบการสื่อสารแห่งอนาคต นั้นก็คือ รูปแบบ Muiti-Platform นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมร้อยสื่อต่าง ๆ เข้าด้วยกันด้วยทาง https://www.facebook.com/groups/315379035210573/ เสมือนโชว์รูมร่วมกัน มีทั้งข่าว รายงานพิเศษ ทั้งในรูปแบบวิดีโอ งานวิทยุกระจายเสียง งานเขียน ภาพถ่าย สื่อเครือข่ายสังคม ที่เชื่อมต่อกับพื้นที่สาธารณะทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ นับเป็นการบูรณาการเครื่องมือที่มีอยู่ ด้วยทุกทักษะที่มี เต็มศักยภาพแห่งพลังของเยาวชน เพื่อสื่อสารกับสังคม จะทำให้โลกเกิดความสงบสุขและเกิดสันติภาพได้

ในฐานะครูคนหนึ่งจึงภูมิใจที่สามารถสร้างพื้นที่และมีเครือข่ายสื่อขนาดใหญ่มาช่วยกันสร้างนิสิตให้มีโอกาส วิธีคิด และวิธีการทำงานเพื่อสาธารณะอย่างมืออาชีพที่ไม่โดยไม่หลงลืมหรือทอดทิ้งคนส่วนใหญ่ของสังคม และมองเห็นว่าการสื่อสารคือสิทธิและหน้าที่ของคนทุกคนที่จะสื่อสาร

จากปรัชญาของสื่อสาธารณะที่มีเพื่อคานอำนาจระหว่างทุน การเมืองและสาธารณะชน จึงทำให้เป็นเรื่องปกติที่ต้องมีการคัดค้านและรู้สึกขวางหูขวางตา ซึ่งจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่วันนี้ การมีสื่อสาธารณะในสังคมไทย ได้เดินทางมาไกลพอที่จะทำให้สังคมรู้ว่าสื่อสาธารณะมี “คุณค่า” ที่ “ขาดไม่ได้” และจำเป็นต้อง “ดำรงอยู่” แม้จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ซึ่งก็เปรียบเสมือนที่เราต้องกินข้าว แต่บางวันอาจเลือกกินอย่างอื่นบ้าง แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมากินข้าวอยู่นั่นเอง

แต่การดำรงอยู่อย่างมีคุณค่าได้นั้น ประเด็นสำคัญก็คือ ภาคประชาชนหรือสาธารณชน จะต้องช่วยกัน ดูแล ตรวจสอบ และเข้ามามีส่วนร่วมในการก้าวเดินขององค์กรอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันองค์กรและผู้บริหารสื่อสาธารณะก็ต้องไม่ติดกับของวาทกรรมหรือมายาคติเหล่านั้นจนไม่กล้าขยับตัว แต่ตรงกันข้ามต้องมีความกล้าพอที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และมีจุดยืนในความเป็นสื่อสาธารณะที่เหมาะกับสภาพบริบทของสังคมไทยยึดถือสาธารณะเป็นหัวใจของการทำงานให้ชัดเจน ซึ่งระหว่างทาง อาจเจออุปสรรค ความเจ็บปวดมากถึงมากที่สุด อาจต้องแวะข้างทางบ้างเพื่อเรียนรู้ หรือพักบ้างเพื่อทบทวน หรืออาจเจอกับคนทำงานที่ดีหรือไม่ดี แต่ผู้คนเหล่านั้นจะหมุนเวียนหรือเปลี่ยนแปลงอย่างไรย่อมเป็นไปตามเงื่อนไข แต่ตัวตนและบทบาทของ “สื่อสาธารณะ” ต่างหากเล่า ที่ยังคงต้องอยู่ต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปาฐกถา ‘อันวาร์ อิบรอฮิม’ บนชายแดนใต้: หลักสำคัญ...ต้องเข้าใจศาสนาอื่น

Posted: 24 Jul 2012 03:43 AM PDT

 

 

 

 

ดาโตะ ศรี อันวาร์ อิบรอฮิม ที่ปรึกษาพรรค เกออาดิลัน อดีตรองนายกรัฐมนตรี ของประเทศมาเลเซีย กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจอิสลามอาเซียน เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2555 ในงานฉลองครบรอบ 20 ปีการก่อตั้ง สหกรณ์ออมทรัพย์อิบนูอัฟฟาน จำกัด ณ สนามกีฬากลางจังหวัดปัตตานี มีเนื้อหาบางส่วนในการพัฒนาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนี้

 0 0 0

...ในบริบทของประเทศมาเลเซียซึ่งมีทั้งคนมุสลิม  คนฮินดู และคนจีน เรามีความสามัคคีและเข้ากันได้ในระดับค่อนข้างดี ไม่มีความขัดแย้งที่รุนแรง และทุกชาติพันธุ์มีพื้นที่พอในการดำรงซึ่งอัตลักษณ์ของตน และมีความเข้าใจที่ดีพอในการสมาคมกับเพื่อนร่วมชาติที่ต่างชาติพันธุ์ ผมไม่แน่ใจว่า กลุ่มคนในลักษณะเช่นนี้ สามารถร่วมมือกันเหมือนในประเทศไทยหรือไม่

ผมเชื่อว่ามีอะไรบางประการซึ่งเป็นสิ่งที่ดีๆที่ไทยมีอยู่ ผมก็อยากจะเรียนรู้จากประเทศไทยในประเด็นนี้เช่นกัน

จากพื้นฐานประสบการณ์ที่ผมเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงมีความเชื่อที่ว่า ในการพัฒนาประเทศงบประมาณของชาติจะต้องทุ่มมากที่สุดคือ ด้านการศึกษา เมื่อประชาชนมีการศึกษาที่ดีแล้ว ประชาชนจะมีโอกาสและสามารถเลือกกำหนดรูปแบบการทำงานได้ถูกต้อง และเขาจะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของเขาเองได้

ประเด็นต่อไปนี้ จะเป็นวัตถุประสงค์และเป็นหลักการสำคัญของคนมุสลิม กล่าวคือ เราสามารถเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจหลักการของศาสนาอื่นๆ เพื่อทำความเข้าใจศาสนาแต่ละศาสนา และเมื่อมุสลิมจะต้องไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันจะได้เข้าใจในหลักการ ข้อห้ามของศาสนานั้นๆ จะได้ไม่ไปสร้างความรู้สึกขัดแย้งกับเขา และเป็นการที่มีความใจกว้างกับคนต่างศาสนิก ให้การนับถือซึ่งกันและกัน หรือการให้เกียรติระหว่างกันและกัน

ในประวัติศาสตร์อิสลาม มีการถามว่า คนอิสลามคบสมาคมกับคนอิสลาม และคนอิสลามคบกับคนต่างศาสนิก ทำได้อย่างไรและในรูปแบบใด

สำหรับระหว่างมุสลิมด้วยกัน เราก็เป็นญาติพี่น้องกันในอิสลาม เราต้องให้เกียรติให้ความเคารพและสัมพันธ์กันในสถานะเสมือนญาติ คือญาติร่วมศาสนากัน เราต้องทำความรู้จักคบสมาคมกัน ตักเตือนในสิ่งที่ผิดและแนะนำสิ่งที่ดีให้กันและกัน

ในประเด็นนี้จะสามารถทำดีได้ สังคมจะต้องใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินการ และการที่สมาชิกในสังคมมีการศึกษาเป็นฐานในการสมาคมกันแล้ว การทะเลาะกัน การขัดแย้งกันก็ไม่เกิดขึ้น หรือถ้าเกิดก็ไม่ลุกลามบานปลายจนเกินเหตุ

การสมาคมในกลุ่มมุสลิมด้วยกันไม่น่าจะเกิดความขัดแย้งกันได้ เพราะในกลุ่มมุสลิมเราเป็นพี่น้องกันในศาสนา เราต่างยึดมั่นในอัลกุรอานในแบบอย่างที่ท่านรอซูล(ศาสนทูต) ได้ปฏิบัติเป็นแบบอย่าง และด้วยสายสัมพันธ์ทางศาสนา

ในความหลากลายทางศาสนา หลากหลายชาติพันธุ์ในประเทศมาเลเซีย อิสลามได้กำหนดหลักการและแนวทางให้มุสลิมคบค้าสมาคมกับคนต่างศาสนา บนฐานความเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

มุสลิมซึ่งเป็นสังคมส่วนใหญ่และมีบทบาทนำในการปกครองประเทศจะต้องดูแลด้วยความเคารพให้เกียรติกันและกันและด้วยความยุติธรรม  ดังตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นในยุคของท่านนบี(ศาสดา) เป็นตัวอย่างที่มุสลิมปกครองโดยใช้หลักอิสลามปกครองทั้งกับมุสลิมด้วยกันและประชาชนต่างศาสนิก

มีกรณีที่ผู้หญิงถูกเอาเปรียบ ถูกลงโทษคุมขังโดยผู้ปกครอง ในกรณีเช่นนี้ เมื่อผู้นำเป็นมุสลิม อิสลามกำหนดให้มุสลิมจะต้องให้ความสำคัญ ให้ความยุติธรรมและให้เกียรติไม่กดขี่ทางเพศ เช่นที่เคยเป็นกันในสังคมอาหรับยุคก่อนอิสลาม

จากประสบการณ์ของข้าพเจ้า การอยู่ในคุก ก็เป็นโอกาสที่ดี ที่ผมได้มีเวลาศึกษาอัลกุรอาน อ่านหนังสือต่างๆ รวมทั้งตำราที่เขียนโดยปราชญ์ปัตตานี เช่น เชคดาวูด อัลฟาตอนี เป็นต้น ทำให้ผมมีความเข้าใจในอิสลามมากขึ้น มีการนำเอาหลักการอิสลามมาเป็นแนวในการดำรงตนมากขึ้น แต่สิ่งที่ผมรับไม่ได้คือ ความไม่เป็นธรรมที่ผมถูกคุมขังด้วยข้อหาที่ผมไม่ได้กระทำผิด

สิ่งที่เราควรคิดใคร่ครวญอีกประการหนึ่งก็คือ ในโลกนี้ มีมุสลิมเยอะมากที่ร่ำรวย และประสบความสำเร็จในตำแหน่งหน้าที่การงาน หรือในเศรษฐกิจทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับโลก แต่เชื่อหรือไม่ว่าคนที่ยากจนที่สุดก็เป็นมุสลิม

องค์กรต่างๆ ต้องเป็นเครื่องมือที่ช่วยกันดูแลคนทุกกลุ่ม รณรงค์เพื่อสร้างความยุติธรรม สร้างโอกาส ในมาเลเซียก็ให้โอกาสกับคนเหล่านั้น โดยให้พื้นที่หรือโอกาสทางการศึกษา  และทางเศรษฐกิจในกับพวกเขาให้มากขึ้น หรือพอๆกับกลุ่มอื่นที่มีโอกาส

สำหรับในภาคใต้ของไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ติดต่อกับมาเลเซีย เราสามารถร่วมมือกันยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่นี้ ในอนาคตเราสามารถร่วมมือกันได้ เรามีสายสัมพันธ์กัน ในฐานะของการเป็นมุสลิมด้วยกัน และการเป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก

ทั้งสองกรณีนี้ ถ้าเราเข้าใจกัน และให้ความสำคัญร่วมกัน เรา(ทั้งสองประเทศ)ก็จะสามารถร่วมมือกันในการพัฒนาพื้นที่นี้ให้มีสันติสุข มีการศึกษาและเศรษฐกิจดี นั่นหมายถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่นี้นั่นเอง...

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กองทัพรบ.ซีเรีย รุกคืบยึดเมืองหลวงคืนจากกบฏ

Posted: 24 Jul 2012 03:36 AM PDT

ฝ่ายรัฐบาลยึดบางย่านของดามาสกัสคืนจากกลุ่มกบฏได้อีก ยันอีกไม่นานสถานการณ์กลับมาปกติ ด้านฝ่ายกบฏยึดโรงเรียนทหารในเมืองทางตอนเหนือของประเทศได้ ทางสันนิบาตชาติอาหรับเสนอจะช่วยอัสซาดออกนอกประเทศ

 
23 ก.ค. 2012 - กองทัพซีเรียภายใต้การนำของน้องชายของปธน. บาชาร์ อัล-อัสซาด ที่มีการเสริมทัพด้วยเฮลิคอปเตอร์โจมตี สามารถขับไล่กลุ่มกบฏออกจากอีกย่านหนึ่งของกรุงดามาสกัสได้ หลังจากที่การบุกโจมตีเมืองหลวงของฝ่ายกบฏดำเนินมาได้ 1 สัปดาห์
 
จีฮาด มาคดิสซี โฆษกการต่างประเทศของซีเรียกล่าวเมื่อวันที่ 23 ก.ค. ว่า สถานการณ์ในดามาสกัสกำลังดีขึ้น และจะกลับสู่ภาวะปกติในเร็ววันนี้
 
เกี่ยวกับความกังวลเรื่องอาวุธเคมีที่ซีเรียมีในครอบครอง มาคดิสซีก็กล่าวว่า ทางซีเรียได้ดูแลรักษาไว้อย่างดี และจะใช้มันในกรณีที่มีการใช้อำนาจจากต่างประเทศเท่านั้น
 
มาคดิสซีกล่าวในที่ประชุมแถลงข่าวที่มีการนำเสนอผ่านสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลว่า กองทัพเป็นผู้คุ้มกันอาวุธเคมีดังกล่าว และจะไม่มีการใช้อาวุธดังกล่าวภายในประเทศซีเรีย
 
กองทัพล่าสังหารคนหนุ่ม
ผู้เห็นเหตุการณ์และนักกิจกรรมรายงานว่า กองพลทหารราบที่ 4 ของกองทัพซีเรียภายใต้การนำของ มาเฮอ อัล-อัสซาด ได้สังหารคนหนุ่มไปเป็นจำนวนมากในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาในปฏิบัติการยึดพื้นที่ย่านบาร์เซห์ทางตอนเหนือของเมืองหลวงดามาสกัสคืนจากกลุ่มกบฏ
 
กองทัพรัฐบาลได้ทำการตอบโต้หลังจากที่กลุ่มกบฏพยายามต่อสู้เพื่อล้มล้าง ปธน. อัสซาด ในเมืองหลวง และมีเหตุระเบิดที่คร่าชีวิตของกลุ่มผู้ใกล้ชิดกับประธานาธิบดีไป 4 ราย ในระหว่างที่มีการประชุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเมื่อวันพุธสัปดาหืที่ผ่านมา (18)
 
นักกิจกรรมกล่าวกับสำนักข่าวอัลจาซ๊ร่าว่า กองทัพได้ส่งกำลังเสริมเข้ามาในเมืองหลวงของซีเรีย และได้ตั้งจุดตรวจใหม่ที่ถนนหลักของเมือง
 
เหตุความขัดแย้งยกระดับขึ้นจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง มีการต่อสู้กันรอบๆ สำนักงานข่าวกรองในเมืองอเล็ปโป เมืองที่ใหญ่ที่สุดของซีเรีย และในเมืองดิแอร์ อัซ ซอร์ ทางภาคตะวันออก
 
จัด อัล ฮาลาบี นักกิจกรรมในเมืองอเล็ปโปบอกว่าการต่อสู้ในเมืองมีความรุนแรงมากที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้
 
"ผมเดินทางไปที่ย่าน ซาลาเฮดิน รู้สึกตกใจที่เห็นธงการปฏิวัติอยู่ทุกที่ บนท้องถนน ตามอาคาร ตามระเบียง แล้วผมก็เห็นกองกำลังปลดปล่อยซีเรีย (FSA) จำนวนมาก" ฮาลาบีกล่าว
 
สงครามจิตวิทยา
เจ้าหน้าที่ทางการของอิรักเปิดเผยว่า กองทัพซีเรียสามารถยึดครองด่านข้ามพรมแดนกลับมาได้ 1 แห่งจาก 2 แห่งหลังจากที่ถูกกลุ่มกบฏยึดครองไป แต่ทางกลุ่มกบฏก็บอกว่าพวกเขาสามารถยึดด่านข้ามพรมแดน บับ อัล-ซาลาม ระหว่างซีเรียกับตุรกีไว้ได้ ทางตอนเหนือของของเมืองอเล็ปโป
 
"การยึดด่านข้ามแดนไม่ได้มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ใดๆ แต่มันมีผลกระทบทางจิตวิทยา เพราะมันทำให้กองทัพรัฐบาลอัสซาดสูญเสียกำลังใจ" พลจัตวา ฟาอิซ อัมร์ กล่าว เขาเป็นเจ้าหน้าที่ทหารที่ละหน้าที่หนีไปอยู่ตุรกี
 
"นี่แสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าของฝ่ายปฏิวัติ แม้ว่ากองกำลังฝ่ายอัสซาดจะมีกำลังอาวุธเหนือกว่าก็ตาม"
 
เจ้าหน้าที่ซีเรียที่ย้ายไปอยู่ตุรกีอีกรายเปิดเผยว่า กองกำลังกบฏสามารถยึดโรงเรียนทหารในเมืองมูซัลมิเยห์ ห่างออกไป 16 กม. ทางตอนเหนือของอเล็ปโปไว้ได้ พวกเขาได้จับตัวเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลไว้หลายนาย ขณะที่รายอื่นๆ ละหน้าที่
 
"นี่ถือว่ามีความสำคัญมากในเชิงยุทธศาสตร์และเชิงสัญลักษณ์ โรงเรียนทหารมีคลังแสงและโรงเก็บรถหุ้มเกราะ ทั้งยังเป็นจุดป้องกันประตูทางเหนือของอเล็ปโปอีกด้วย" พลจัตวากองทัพบก มุสตาฟา อัล-ชีค กล่าว
 
อัลจาซีร่ารายงานว่าการบุกหนักในเมืองดามาสกัสและดิแอร์ เอล ซอร์ ที่มีความรุนแรงมากแสดงให้เห็นความต้องการของอัสซาดที่อยากแก้แค้นเหตุระเบิด ซึ่งสั่นคลอนการปกครองตลอด 40 ปีของคระกูลอัสซาด
 
สภาพดามาสกัสภายใต้สงคราม
นักกิจกรรมและผู้อาศัยในพื้นที่เปิดเผยว่า กองกำลังกบฏถูกขับออกจากเมซเซหฺ์ ย่านการทูตของดามาสกัส กองกำลังของรัฐบาลร่วมมือกับนักรบฝ่ายรัฐบาลกว่า 1,000 คน หลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่พร้อมกับรถหุ้มเกราะ รถถัง และรถเกลี่ยดิน
 
ธาเบต ผู้อาศัยในย่านเมซเซห์บอกว่า การโจมตีอย่างหนักในช่วงเช้าทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 รายและผู้บาดเจ็บราว 50 รายซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชาชน เขาบอกอีกว่าย่านเมซเซห์ถูกล้อมปราบและมีผู้บาดเจ็บจำนวนมากโดยปราศจากความช่วยเหลือด้านการแพทย์
 
"ผมเห็นผู้ชายหลายคนถูกให้แก้ผ้าจนเหลือแต่กางเกงใน มีรถบัส 3 คันขนนักโทษจาก อัล-ฟารูค รวมถึงผู้หญิงและครอบครัวทั้งครอบครัว มีบ้านหลายหลังถูกจุดไฟเผา"
 
กลุ่มต่อต้านรัฐบาลและแหล่งข่าวฝ่ายกบฏบอกว่ากองกำลังฝ่ายกบฏในเมืองหลวงอาจกำลังขาดเส้นทางส่งเสบียงในการที่จะยึดครองพื้นที่อยู่ได้ จึงได้ล่าถอยในเชิงยุทธศาสตร์
 
ในย่านบาร์เซห์ หนึ่งในสามของพื้นที่ทางเหนือถูกโจมตีโดยเฮลิคอปเตอร์ และทหารก็บุกเข้าครองพื้นที่ ผ่านการนำของมาเฮอ อัล-อัสซาด อายุ 41 ปี
 
โทรทัศน์ช่องของรัฐบาลซีเรียปฏิเสธว่ารัฐบาลไม่ได้ใช้เฮลิคอปเตอร์ยิงโจมตีภายในเมืองหลวง และรายงานอีกว่า "สถานการณ์ในกรุงดามาสกัสเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ยังมีเจ้าหน้าที่บางส่วนที่ออกล่าผู้ก่อการร้ายที่ยังหลงเหลืออยู่ตามท้องถนน"
 
ร้านค้าส่วนใหญ่ในดามาสกัสปิดทำการ มีเพียงไฟจราจรที่ทำงาน และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจกลัยมาประจำที่จุดตรวจต่างๆ อีกครั้งหลังจากที่ละทิ้งจุดตรวจไปเมื่อก่อนหน้านี้
 
ปั้มน้ำมันจำนวนมากถูกผิดและไม่มีน้ำมันเหลือ และที่ยังเปิดอยู่ก็มีรถยนต์ต่อคิวเนืองแน่นเพื่อเติมน้ำมัน ผู้อาศัยในพื้นที่เปิดเผยว่ามีการต่อคิวยาวที่ร้านขายขนมปังด้วยเช่นกัน
 
สันนิบาตชาติอาหรับเสนอ 'ทางลง' ให้อัสซาด
ในที่ประชุมของสันนิบาตชาติอาหรับที่กรุงโดฮา นายกรัฐมนตรีของกาตาร์ได้เสนอให้ฝ่ายต่อต้านและกองกำลังปลดปล่อยซีเรีย (FSA) ตั้งรัฐบาลเปลี่ยนผ่านขึ้นมา เขาบอกอีกว่า ทางกลุ่มประเทศอาหรับจะหาเส้นทางปลอดภัยให้กับอัสซาดในการออกจากประเทศ หากเขายอมลงจากตำแหน่งโดยเร็ว ซึ่งในตอนนี้อัสซาดยังไม่มีท่าทีที่จะสละอำนาจเลย
 
 
 
ที่มา
Syrian forces regain Damascus district, Aljazeera, 23-07-2012
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มูลค่าความเสียหายจากมลพิษลำตะคอง 5 ล้านบาท

Posted: 24 Jul 2012 03:32 AM PDT


การสำรวจเบื้องต้นนี้มุ่งชี้ให้เห็นถึงความรับผิดชอบของโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยสารพิษทำลายสิ่งแวดล้อม กรณีโรงน้ำแข็งในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา โดยสมควรจ่ายค่าทดแทนเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการกระทำของโรงงานซึ่งถือเป็นการละเมิดต่อผลประโยชน์ของบุคคล ชุมชนและนครแห่งนี้โดยรวม

ตามที่มีข่าวว่าโรงงานผลิตน้ำแข็งแห่งหนึ่งได้ปล่อยสารแอมโนเนียลงคลองลำตะคองในเขตตัวเมืองนครราชสีมา จนปลาตายนับแสนตัว “ที่เน่าตายหลายร้อยตัวกำลังมีไข่อยู่เต็มท้อง ทั้งปลาตะเพียน ปลากรายตัวขนาดยาวกว่า 1 เมตร ปลานิล ปลาสูบ ปลาข้าว ปลาหมอ เป็นต้น รวมทั้งปลาตัวเล็กตัวน้อยอีกมากมาย” [1] เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมานั้น  ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้ออกสำรวจเบื้องต้นเพื่อประเมินค่าความเสียหายเบื้องต้นจากมลพิษในกรณีนี้เมื่อวันเสาร์ที่ 21กรกฎาคม 2555 และจึงได้จัดทำรายงานฉบับนี้นำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาเพื่อหามาตรการป้องกันและแก้ไขในโอกาสต่อไป

สารที่สร้างมลพิษในครั้งนี้คือ “แอมโมเนีย” (Ammonia) ซึ่งเป็นสารประกอบเคมีของธาตุไนโตรเจน และไฮโดรเจน (NH3) โดยเป็นแก๊สไม่มีสี มีกลิ่นฉุน สามารถละลายน้ำได้ดี ระดับความเข้มข้นของแอมโมเนียที่มีผลกระทบต่อสัตว์น้ำ แบ่งเป็นช่วงได้ดังนี้ (มิลลิกรัมต่อลิตร)
                0.1 - 0.4 สัตว์เจริญเติบโตช้า
                0.5 - 1 สัตว์มีอาการเครียด หายใจเร็ว
                2 - 3 สัตว์มีอาการเครียด หายใจเร็ว อ่อนแอ เกิดการติดเชื้อจากแบคทีเรีย และเริ่มตาย
                4 - 7 อัตราการตายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง [2]

โดยปกติในแม่น้ำลำคลองควรมีแอมโมเนียไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร [3] แต่จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุกลับมีปริมาณสูงถึง 8.4 มิลลิกรัมต่อลิตร [4]

ในกรณีปลาตายนับแสนตัวที่ลำตะคองนี้ ค่าความเสียหาย หรือผลกระทบเชิงลบ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการปรับสภาพให้กลับคืนสู่ปกติในเบื้องต้น มีดังนี้

1. สำหรับปลาที่ตายไปจากการกระทำของโรงงานในครั้งนี้ ในเบื้องต้นทางราชการประเมินไว้ว่ามีมูลค่าประมาณ 100,000 บาท สำหรับปลาที่ตายไปเกือบ 3,000 กิโลกรัม [5] หากพิจารณาจากราคาขายส่งปลา ณ ตลาดไท จะพบว่าราคาปลามีความหลากหลาย [6] ทั้งชนิดและขนาดของปลา หากใช้ราคาปานกลางสำหรับปลาทั่วไป และขนาดปานกลาง อาจอนุมานได้ว่ามีราคากิโลกรัมละ 50 บาท ก็คงเป็นราคาประมาณ 150,000 บาท (สำหรับน้ำหนัก 3,000 กิโลกรัม) อย่างไรก็ตามยังอาจมีสัตว์น้ำอื่นที่สูญเสียไปจากสารพิษในครั้งนี้ที่คงมีมูลค่าพอสมควร จึงประมาณการความสูญเสียสัตว์น้ำนี้อยู่ที่ประมาณ 200,000 บาท

2. ค่าบำบัดน้ำ ทั้งนี้ได้สอบถามข้อมูลจากบริษัทบำบัดน้ำเสียในกรณีนี้ 2 แห่งคือ บจก.ไทยจุลินทรีย์ (http://thaimicroorganisms.com) โดยคุณนิตย์ ตั้งสุกุล (โทร.084.666.609 086.376.7080) และ บจก.ฉัตรวัฏฏ์ (http://www.จุลินทรีย์เข้มข้น.com) โดยคุณวิริยา รัชเวทย์ (โทร. 081.843.3263 081.843.3263) สำหรับการบำบัดคลองลำตะคองที่มีความกว้างประมาณ 8 เมตร ลึก 1 เมตร ยาว 3 กิโลเมตร นั้น บริษัทแรกเสนอราคา 300,000 บาท เป็นระยะเวลา 1 เดือน ส่วนบริษัทที่สองยินดีช่วยราชการเป็นเชิงทดลองกึ่งให้เปล่าเป็นเงินเพียง 50,000 บาท ใช้ระยะเวลาบำบัดประมาณ 1 สัปดาห์ ในกรณีนี้คณะผู้ประเมินค่าทรัพย์สินจึงประมาณการเราคาตลาดเบื้องต้นในการบำบัดเป็นเงินประมาณ 200,000 บาท

3. ค่าพันธุ์ปลาทดแทน ซึ่งศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดนครราชสีมา ได้จัดเตรียมพันธุ์ปลา จำนวน 200,000-300,000 ตัวมาปล่อยทดแทนปลาที่ตายไปหลังจากการบำบัดน้ำแล้ว [7] ทั้งนี้พันธุ์ปลาตัวหนึ่งมีราคาเฉลี่ยประมาณ 20 สตางค์ต่อตัว [8] จึงรวมเป็นเงินประมาณ 40,000 – 60,000 บาท อย่างไรก็ตามอัตราการรอดของปลาที่มีประมาณ 10% โดยพิจารณาจากการเลี้ยงปลาหมอไทยในบ่อดิน อัตรารอด 40% [9] แต่ถ้าเป็นปลาการ์ตูนขาวในทะเลกระบี่จะมีอัตรารอดเพียง 10% ซึ่งยังมากกว่าอัตรารอดจากการปล่อยปลาธรรมดา 10 เท่า แต่หากดูแลอย่างดีจะมีอัตรารอดสูงถึง 27% [10] ดังนั้นการปล่อยปลาประมาณ 200,000 – 300,000 ตัวต่อครั้งต้องปล่อยถึงประมาณ 10 ครั้งจึงจะทดแทนปริมาณปลาที่สูญเสียไปได้ ดังนั้นจึงมีมูลค่ารวมถึงประมาณ 400,000 – 600,000 บาทในการสร้างปลาขึ้นทดแทน ดังนั้นในกรณีนี้คณะผู้ประเมินจึงประเมินไว้เป็นเงิน 500,000 บาท

4. ในระหว่างนี้ถึงช่วงเวลาที่ปลามีอายุเพียงพอที่จะนำมาบริโภคได้อาจใช้เวลาพอสมควร โดยอายุของปลาช่อนที่ขายได้ในตลาดมีอายุประมาณ 1 ปี [11] อายุปลาดุกขายได้คือ 3 เดือน [12] และหากพิจารณาถึงปลาอื่น ๆ จึงอาจกล่าวได้ว่า กว่าปลาจะมีอายุพอจะนำมาบริโภคได้อาจใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4 เดือนโดยเฉลี่ย ในระยะเวลาดังกล่าวจึงเป็นความสูญเสียโอกาสของชาวบ้านที่จะจับสัตว์น้ำมาบริโภค และอาจต้องซื้อในตลาดเปิดในราคาที่แพงกว่าต้นทุนในการจับ ในที่นี้อาจคิดเป็นเงินประมาณ 166,667 บาท โดยคำนวณจากค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูชีวิตสัตว์น้ำตามข้อ 4 ซึ่งอาจใช้เวลาราว 1 ปี แต่ในกรณีการขาดโอกาสการบริโภคในช่วง 4 เดือนแรกนี้ จึงควรเท่ากับเงิน 500,000 บาท x 4 เดือนที่ไม่สามารถจับสัตว์น้ำได้ / 12 เดือนในการฟื้นฟู

5. โอกาสในการผลิตน้ำประปาก็เสียหายไปจากสารพิษที่โรงงานดังกล่าวทำรั่วลงลำตะคองด้วยเช่นกัน ตามปกติการประปาของเทศบาลนครนครราชสีมา สูบน้ำทางท่อจากลำตะคองมาผลิตน้ำประปา แต่น้ำบางส่วนก็สูบจากน้ำผิวดินของลำตะคองบริเวณโรงกรองน้ำอัษฎางค์ เขตเทศบาลนครนครราชสีมา ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ รพ.มหาราชนครราชสีมา โดยสูบขึ้นมาใช้วันละประมาณ 30,000 ลูกบาศก์เมตร [13] หากไม่สามารถสูบน้ำมาทำน้ำประปาประมาณ 30 วัน ก็เป็นปริมาณน้ำถึง 900,000 ลูกบาศก์เมตร จากข้อมูลของการประปานครหลวงและการประปาส่วนภูมิภาค รวมทั้งการประปาเทศบาลนครนครราชสีมาพบว่าราคาขายเฉลี่ยคงเป็นเงินประมาณ 10 บาทต่อลูกบาศก์เมตร [14] โดยต้นทุนผลิตน้ำประปาอยู่ที่ระบบน้ำดิบ ระบบผลิตน้ำประปา ระบบส่งจ่ายน้ำประปา อย่างไรก็ตามหากสมมติให้ต้นทุนน้ำดิบเป็นเงินเพียง 20% ของราคาขาย ความสูญเสียนี้จึงเป็นเงิน 1,800,000 บาท หรือเท่ากับ 20% ของ 9,000,000 บาท (น้ำจำนวน 900,000 ลูกบาศก์เมตร ๆ ละ 10 บาท)

6. ตามรายงานข่าวยังกล่าวว่า ชาวบ้านประมาณ 1,000 ครอบครัวต้องทนกับกลิ่นเหม็นคละคลุ้งของปลาที่ตายจำนวนมหาศาล หากในระหว่างการจัดการทำความสะอาด ต้องย้ายที่อยู่อาศัยไปพักชั่วคราวเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสุขภาพเป็นเวลา 1 คืน ๆ ละ 1,000 บาทต่อครอบครัว ก็เป็นเงินค่าเสียหายรวม 1,000,000 บาท ที่ละเมิดต่อการอยู่อาศัยตามปกติของชาวบ้าน

7. นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากเหตุการณ์ครั้งนี้โดยหน่วยราชการหลายแห่งทั้งจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ต้องระดมสรรพกำลังในการทำความสะอาดเบื้องต้น พิสูจน์ สอบสวน ตรวจสอบ เป็นเวลาหลายวันติดต่อกัน กรณีนี้มีค่าใช้จ่ายที่แน่นอนโดยประมาณการว่ามีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาปฏิบัติงานแก้ไขปัญหานี้ โดยเป็นระดับสูงจำนวน 30 คน มีค่าใช้จ่ายต่อวัน ๆ ละ 3,000 บาท (รวมค่าเดินทาง เงินเดือนและค่าใช้จ่ายอื่น) เป็นเวลา 4 วันทำงาน และระดับกลาง-ล่าง จำนวน 100 คน ๆ ละ 500 บาท เป็นเวลา 10 วันทำงาน รวมเป็นเงินประมาณ 860,000 บาท

8. ค่าเฝ้าระวัง โดยที่โรงงานดังกล่าวได้ทำลายสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง จึงควรมีการเฝ้าระวังเป็นระยะ ๆ โดยมีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมงเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี และมีการสุ่มตรวจสอบคุณภาพน้ำในคลองด้านหลังโรงงานทุกเดือน โดยประมาณการค่าเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังเป็นเงินเดือนละ 24,000 บาท (อัตราต่ำเท่าการจ้างยาม 3 กะ) และค่าตรวจสอบคุณภาพน้ำอีกครั้งละ 5,000 บาท เป็นเวลา 12 เดือน รวมเป็นเงิน 360,000 บาท

โดยรวมแล้ว ในเบื้องต้นความสูญเสียจากโรงงานน้ำแข็งในครั้งนี้เป็นเงินรวม 5,074,667 บาท โดยแยกเป็น:
                1. ปลาที่ตายไปมีมูลค่า 200,000 บาท
                2. ค่าบำบัดน้ำให้คืนสู่สภาพเดิม 200,000 บาท
                3. ค่าพันธุ์ปลาทดแทน 500,000 บาท (โดยต้นทุนค่าผลิตปลาทดแทนสูงกว่าราคาปลาปัจจุบัน)
                4. ค่าเสียโอกาสจับสัตว์น้ำ 166,667 บาท
                5. ค่าเสียโอกาสในการผลิตน้ำประปา 1,800,000 บาท
                6. ค่าย้ายที่อยู่อาศัยชั่วคราว 1,000,000 บาท
                7. ค่าใช้จ่ายของส่วนราชการในการแก้ไขปัญหา 860,000 บาท
                8. ค่าเฝ้าระวัง 348,000 บาท

โดยสรุปแล้วความสูญเสียเป็นเงินส่วนนี้ เป็นสิ่งที่โรงงานที่เป็นต้นเหตุต้องจ่ายเพื่อการแก้ไขปัญหาและในฐานที่ละเมิดต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้โรงงานนี้และโรงงานอื่นที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงคือริมแม่น้ำหรืออยู่ในย่านชุมชน ควรมีระบบป้องกันการก่อมลพิษที่ได้รับการตรวจสอบอย่างโปร่งใสจากทางราชการโดยเผยแพร่ต่อชุมชนโดยรอบอย่างสม่ำเสมอ และควรมีการประกันภัยให้ครอบคลุมวงเงินข้างต้น เพื่อเบิกจ่ายเพื่อชดใช้ค่าเสียหายข้างต้นได้ในทันที

ผลการสำรวจนี้ควรเป็นกรณีตัวอย่างของการเรียกร้องความเสียหายจากกิจการอุตสาหกรรมต่อไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสิ่งแวดล้อมจะดำเนินการกับโรงงานต่าง ๆ โดยเคร่งครัด องค์กรเคลื่อนไหวเอกชนหรือ NGOs ควรเข้าศึกษาสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง สื่อมวลชนต่าง ๆ ควรติดตามสถานการณ์โดยใกล้ชิด เพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และให้กรณีความเสียหายเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นอีกในประเทศไทย

 

อ้างอิง
[1] เร่งมือกู้”ลำตะคอง” น้ำเป็นพิษ ปลาลอยตายนับแสน http://www.naewna.com/local/14241

[2] พื้นฐานการดูแลรักษาโรคปลาhttp://www.arohouse.com/article/?action=view&catID=0000123&pid=0000262

[3] มาตรฐานของแม่น้ำลำคลองและคุณภาพของน้ำในแหล่งน้ำประเภทต่าง ๆ http://web.ku.ac.th/schoolnet/snet6/envi3/subwater1/standard.htm และที่ http://www.pcd.go.th/info_serv/reg_std_water05.html

[4] พบหลักฐานโรงน้ำแข็งปล่อยแอมโมเนีย ส่งฟ้องพรุ่งนี้ http://breakingnews.nationchannel.com/home/read.php?newsid=641805&lang=T&cat=

[5] ผงะปลากว่า3ตันถูกสารพิษลอยตายเป็นแพลำตะคอง http://www.dailynews.co.th/thailand/135947 และ โคราชถกหาสาเหตุปลา “ลำตะคอง” ตาย ลั่นพบใครผิดฟันทั้งแพ่งอาญา – บุกตรวจโรงน้ำแข็ง http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9550000086806

[6] ราคาปลาน้ำจืด ณ ตลาดไท ณ วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม 2555 http://www.talaadthai.com/price/default.php?gettid=13&getdate=&pageno=1&selday=&selmonth=&selyear=

[7] คาดเหตุปลาลอยตายเกลื่อนลำตะคองไม่เกี่ยวกับน้ำเน่าเสีย http://www.mcot.net/cfcustom/cache_page/388621.html

[8] ราคาจำหน่ายพันธุ์สัตว์น้ำ (กรณีสิงบุรี) http://www.fisheries.go.th/sf-singburi/web2/index.php?option=com_content&view=article&id=8&Itemid=10

[9] การเพาะเลี้ยงปลาหมอไทย http://www.fisheries.go.th/if-korat/index.php?option=com_content&view=article&id=24:2009-09-09-08-14-48&catid=1:2009-08-04-06-15-39&Itemid=51

[10] การทดลองปล่อยปลาการ์ตูนส้มขาวโดยใช้กรงครอบดอกไม้ทะเล บริเวณเกาะห้าเหนือ จ.กระบี่ http://kucon.lib.ku.ac.th/cgi-bin/KUCON.exe?rec_id=010404&database=KUCON&search_type=link&table=mona&back_path=/KUCON/mona&lang=thai&format_name=TFMON และอีกชิ้นหนึ่งของ ราตรี สุขสุวรรณ์ และ เกียรติศักดิ์ เอี่ย เล่ง http://www.dmcr.go.th/elibrary/elibraly/book_file/Book20110408115958.pdf

[11] อายุของปลาช่อนเพื่อการพาณิชย์ประมาณ 1 ปี http://www.fisheries.go.th/it-network/knowledge/snackhead/Snackhead%20fish23.htm

[12] อายุปลาดุกขายได้คือ 3 เดือน http://www.rakbankerd.com/agriculture/open.php?id=1110&s=tblblog

[13] ประมงโคราชตรวจปลา “ลำตะคอง” ตายเป็นเบือ-คาดเหตุปล่อยสารพิษลงลำน้ำ http://manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9550000086601

[14] อัตราค่าน้ำ การประปานครหลวง http://www.mwa.co.th/ewt/mwa_inter/watercost.html และอัตราค่าน้ำของการประปาส่วนภูมิภาค http://www.pwa.co.th/service/tariff_rate.html และการประปาเทศบาลนครนครราชสีมา http://110.164.64.56/water/p15.html รวมทั้งบทวิเคราะห์ ที่ http://board.dserver.org/t/tedkun2000/00000001.html และที่ http://202.129.59.73/pp/pwa/pwa.htm

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐ 3 แบบใน The Dark Knight Rises

Posted: 24 Jul 2012 03:23 AM PDT

ว่าด้วยหนัง
The Dark Knight Rises เป็นภาคสุดท้ายของไตรภาค Batman ของผู้กำกับคริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) หนังภาคนี้จับความหลังจากแบทแมนปราบศัตรูสำคัญคือโจ๊กเกอร์ (Joker) สำเร็จ และยอมรับผิดแทนอัยการฮาร์วี่ย์ เด้นท์ (Harvey Dent) ที่กลายเป็นตัวร้ายทูเฟซ โดยเชื่อว่า ชื่อเสียงที่สั่งสมมาก่อนของเด้นท์น่าจะช่วยธำรงสันติในกอทแธม (Gotham) ได้มากกว่าการเปิดเผยความจริง จากนั้นแบทแมนก็หายจากเมืองนี้ไปในฐานะอาชญากร ทว่าสันติภาพที่มี เป็นเพียงภาพลวงตา ลึกลงไป กอทแธมยังมีปัญหา เมื่อความขัดแย้งปะทุหนัก แบทแมนจึงต้องกลับมา

ปมความขัดแย้งของหนังในภาคนี้ลึกซึ้งรุนแรงกว่าภาคก่อน เพราะนอกจากความขัดแย้งระหว่างพระเอก-ผู้ร้ายแล้ว สถานการณ์ทั้งหมดตั้งอยู่บนความขัดแย้งระหว่างคนในสังคมเดียวกันด้วย แม้ว่าในหนังจะไม่ได้เน้นที่ประเด็นนี้ก็ตาม แต่การมีอยู่ของความขัดแย้งนี้ทำให้แบทแมนทำงานยากขึ้นจนถึงขั้นเกือบเอาชีวิตไม่รอด นอกจากนี้คู่ปรับคนสำคัญของแบทแมนในภาคนี้คือ “เบน” (Bane) นั้นน่ากลัวกว่าโจ๊กเกอร์ เพราะเบนมีทั้งพละกำลัง สติปัญญา เงินทุนและอุดมการณ์ (แถมยังมีการจัดองค์กรอย่างดี) ในแง่ของเป้าหมาย โจ๊กเกอร์แค่กวนเมือง แต่เป้าหมายของเบน คือการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างถอนรากถอนโคนโดยทันที

โนแลนเป็นที่จับตาหลังจาก Memento ออกฉายด้วยมุมมองแบบสำรวจจิตมนุษย์ วิธีการเล่าเรื่องถอยหลังทีละช่วงและการหักมุมที่เน้นผลสะเทือนทางความคิดมากกว่าความประหลาดใจ จากนั้นไม่กี่ปี The Dark Knight ก็สถาปนาโนแลนเป็นผู้กำกับวิสัยทัศน์ไกล ผู้เจนจัดศาสตร์และศิลป์ภาพยนตร์ ผลงานต่อจากนั้นก็รักษาคุณภาพระดับสูง The Dark Knight Rises ก็เป็นหนังคุณภาพในระดับดีเด่นเช่นเคย แต่นอกจากอรรถรสของการชมหนังชั้นดีแล้ว ปูมหลังตัวละคร เป้าหมายการต่อสู้ บริบทสภาพแวดล้อมของกอทแธม หลายฉากหลายตอนใน The Dark Knight Rises ทำให้นึกถึงประเด็นทางการเมือง โดยเฉพาะประเด็นว่าด้วยรูปแบบรัฐที่เป็นกรอบใหญ่ควบคุมจำกัดการเคลื่อนไหวของตัวละครต่าง ๆ และเป็นเป้าหมายที่ตัวละครต่าง ๆ ต้องการรักษาไว้หรือเปลี่ยนแปลงในระดับต่าง ๆ กัน

ว่าด้วยรัฐ
พิจารณาจากฉากตอน บริบทและเป้าประสงค์ของตัวละครต่างๆ แล้ว รูปแบบรัฐในหนังเรื่องนี้อาจแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะคือ หนึ่ง รัฐวีรชน สอง รัฐธนกิจ และสาม เสนารัฐ

รัฐวีรชน
กอทแธมหลังแบทแมนใช้แรงส่งจากการเสียชีวิตของเด้นท์ผู้ที่มีชื่อเสียงด้านการปราบปรามอาชญากรออกกฎหมายมอบอำนาจให้ตำรวจจัดการอาชญากรรมอย่างเด็ดขาด (รัฐบัญญัติเด้นท์-Dent Act) ข้อเท็จจริงด้านลบเกี่ยวกับเด้นท์ถูกปิดบัง คนจำนวนหนึ่งต้องรับเคราะห์จากความเท็จนี้ แบทแมนกลายเป็นผู้ต้องหา ผู้การกอร์ดอนต้องฝืนจรรยาชีพตำรวจโกหกสังคมเรื่องเด้นท์ นักโทษจำนวนมากถูกจับไปไว้ในเรือนจำโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมตามขั้นตอนปกติเนื่องมาจากรัฐบัญญัติดังกล่าว

กอทแธมวางความสงบสุขของสังคมบนธงศีลธรรมเป็นหลักและมุ่งไปสู่เป้าหมายทางศีลธรรมนั้นโดยไม่สนวิธีการ รัฐผลิตมายาคติหล่อหลอมประชาชนให้สนับสนุนนโยบายรัฐ สร้างสถาบันพิเศษเป้าหมายเฉพาะเพื่อกวาดล้างสร้างสังคมสะอาด กฎระเบียบบังคับใช้อย่างเข้มงวด ตำรวจทำงานภายใต้ตรรกะความมั่นคง (คุณผิดจนกว่าคุณจะพิสูจน์ตัวเองได้ว่าไม่ผิด) สังคมมีแนวโน้มอิงหลักการของปรัชญาอรรถประโยชน์นิยม(Utilitarianism) ว่าด้วยการเสียสละส่วนน้อยเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่

ผลที่ได้คือ เบื้องหน้าสังคมที่ดูเหมือนสงบสุข มีระเบียบเรียบร้อย แต่เบื้องลึกกอทแธมยังมีปัญหาอาชญากรรม เพิ่มเติมด้วยปัญหาการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลในนามของความดี ประชาชนถูกทำให้สูญเสียศักยภาพในการคิดและแก้ปัญหาด้วยตนเอง ยึดติดตำนานวีรชน เมื่อเผชิญวิกฤตทางออกของประชาชนในรัฐเช่นนี้คือเรียกหาอัศวิน

สังคมในรัฐเช่นนี้ มีแนวโน้มรักษาสถานะอำนาจเดิมไว้เหนียวแน่น ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ปรับตัวยาก เมื่อเผชิญปัญหาหนักมักช็อก ประชาชนและเจ้าหน้าที่มักสยบต่ออำนาจ

กองกำลังติดอาวุธจำนวนหนึ่งและระเบิดไม่กี่ลูกของเบนจึงทำให้เบนควบคุมกอทแธมได้เบ็ดเสร็จ

เมื่อสังคมมีภูมิต้านทานต่ำ รัฐธนกิจก็สามารถสวมทับเข้ามาอย่างแนบเนียน เพราะหนึ่ง กลไกควบคุมรักษาระเบียบเข้มข้น สอง ประชาชนหมดสมรรถภาพในการคิด (รัฐเข้มแข็ง-ประชาสังคมอ่อนแอ) กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ รัฐธนกิจฝังตัวเติบโตได้ดีในรัฐที่อำนาจรวมศูนย์ในกลุ่มคนจำนวนน้อยและประชาสังคมอ่อนแอ

รัฐธนกิจ
อุตสาหกรรมขนาดใหญ่และตลาดหุ้นเป็นกลไกทางเศรษฐกิจสำคัญของกอทแธม เศรษฐกิจเติบโตก้าวหน้า แต่ก็มีปัญหาการกระจายรายได้จนกลายเป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม ในขณะที่ทุนใหญ่กอทแธมมุ่งขยายกิจการ นายหน้าค้าเงิน-หุ้นร่ำรวย ปรากฏว่ามีเด็กกำพร้าขาดแคลนปัจจัยดำรงชีพที่เหมาะสม มีหญิงสาวขายบริการทางเพศเพื่อเลี้ยงชีพ เซลิน่า ไคล์ (Selina Kyle) สาวผู้มากความสามารถยังไม่อาจมีที่ยืนในสังคมปกติต้องผันตัวเป็นนางโจร ผลประโยชน์ทางธุรกิจมีบทบาทนำหน้าปัญหาสังคมโดยรวม เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม

ในกอทแธมมีทั้งกลุ่มทุนเก่าแก่อย่างตระกูลเวนย์ และนักธุรกิจเศรษฐินีใหม่ใจถึงอย่างมิแรนด้า เทต (Miranda Tate) ที่สร้างตัวขึ้นมาจากความว่างเปล่า รุ่งเรืองด้วยการทำธุรกิจ ในขณะที่เศรษฐีเก่าอย่างบรูซ เวนย์ (Bruce Wanye) มุ่งมั่นพัฒนาพลังงานทางเลือกที่สะอาดจน Wayne Enterprises ผลประกอบการตกต่ำ ทุนหายกำไรหด บ้านเด็กกำพร้าที่เคยได้รับการอุปถัมภ์จากมูลนิธิของเขาจึงพลอยถูกตัดความช่วยเหลือทางการเงินลง หรือกระทั่งล้มละลายในพริบตาเมื่อตกเป็นเหยื่อของเกมตลาดหุ้น (อาจเป็นครั้งแรกในจักรวาลที่ซูเปอร์ฮีโร่ล้มละลาย)

กลไกตลาดเสรีในกอทแธมทำงานล้มเหลว เพราะไม่สามารถทำให้ทุกคนสามารถเข้าไปแข่งขันในตลาดได้อย่างเสรีจริง กลไกการกระจายความมั่งคั่งกลับคืนสู่สังคมบิดเบี้ยวกระจายไปไม่ถึงผู้ที่จำเป็นต้องได้รับ นอกจากนี้สังคมยังตั้งอยู่บนความเสี่ยงผันผวน มหาเศรษฐีอย่างบรูซ เวนย์ ยังสามารถกลายเป็นยาจกชั่วข้ามคืน ปัญหาการเติบโตทางเศรษฐกิจมีความสำคัญกว่าปัญหาสังคม-สิ่งแวดล้อม

สังคมรัฐธนกิจเป็นสังคมแข่งขันแบบแพ้คัดออก พัฒนาทางวัตถุรวดเร็ว ความมั่งคั่งกระจุกตัว ผู้คนจำนวนมากถูกละเลยทอดทิ้งตราหน้าว่าไร้ความสามารถ ยิ่งความเหลื่อมล้ำยิ่งห่างและเห็นได้ชัด ความตึงเครียดระหว่างผู้มั่งมีและผู้ยากไร้ยิ่งสูง ข้อเสนอของเบน (ผู้ที่เสียงระคายหู)ให้ยึดทรัพย์สินจากคนรวยจึงได้รับการตอบรับอย่างดีจากมหาชนที่ถูกกดขี่ในรูปแบบต่าง ๆ มายาวนาน           

เสนารัฐ
เบนมีพร้อมทั้งพละกำลัง สติปัญญา เงินทุนและอุดมการณ์ เขาร่วมมือกับนายทุนยึดกอทแธมได้โดยสะดวกก่อนสังหารนายทุนบางเจ้าทิ้งเมื่อหมดประโยชน์ ช่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ถ่างกว้างช่วยให้อุดมการณ์สุดโต่งและความรุนแรงที่เบนใช้สาแก่ใจประชาชนผู้เสียเปรียบ ในการปกครองประชาชน เบนระเบิดสนามฟุตบอล วางระเบิด ติดตั้งระเบิดนิวเคลียร์ข่มขู่ประชาชนให้อยู่ในอำนาจ ประชาชนชาวกอทแธมสามารถเคลื่อนไหวอิสระได้ตราบเท่าที่ไม่ขวางแผนการ ผู้ที่เป็นปฏิปักษ์จะถูกพิพากษาด้วยศาลเตี้ย (ยิงทิ้ง ณ ที่เกิดเหตุ) หากรอดศาลเตี้ยมาขึ้นศาลยุติธรรมก็เป็นศาลยุติธรรมที่ขาดกระบวนการอันเป็นที่ยอมรับ (รีบร้อนจับกุม ฟ้องศาลไม่ผ่านอัยการ ตัดสินโดยไม่ฟังความจำเลย พิพากษาโทษล่วงหน้า)

ความมั่นคงของสังคมที่เบนปฏิวัติตั้งบนปากกระบอกปืน ปกครองด้วยความกลัว ปั่นหัวประชาชนให้หวาดหวั่นโยนความหวังให้เล็กๆ น้อยๆ ป้องกันการลุกฮือครั้งใหญ่ ประชาชนหวาดระแวงกันและกัน ศาลยุติธรรมตัดสินคดีตามใจผู้มีอำนาจ อย่างไรก็ตามอุดมการณ์ของเบนนั้นแน่วแน่ ทำให้เขามีสาวกที่ยอมสละชีพเพื่อแผนการใหญ่ อำนาจเบ็ดเสร็จช่วยให้เขาเปลี่ยนแปลงสังคมในชั่วพริบตาเดียว ประชาชนกอทแธมบางส่วนอาจหวังว่า เหล่าทหารจรยุทธ์เหล่านี้จะมาช่วยเปลี่ยนชะตาเมือง แต่สิ่งที่ได้อาจจะเป็นแค่ความหวังลม ๆ แล้ง ๆ เพราะเสนาเบนกระทำการเพื่อตอบสนองความต้องการตนเองมากกว่าเพื่อพลเมืองทั้งหลาย

เสนารัฐเช่นนี้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ปรับเปลี่ยนนโยบายรวดเร็วทันใจ ทุ่มทรัพยากรทั้งหมดเพื่อเป้าหมายเฉพาะได้ไม่ต้องฟังเสียประชาชนหรือต่อรองกับกลุ่มผลประโยชน์ แต่ก็ไม่มีหลักประกันว่าปากกระบอกปืนของรัฐจะหันไปหาใครบ้างเพราะอำนาจไม่ถูกถ่วงดุล

รัฐ 3 แบบ กับเป้าหมายที่ไปไม่ถึง
เมื่อเปรียบเทียบรัฐทั้ง 3 แบบแล้ว อาจจะเป็นที่ถกเถียงได้ว่า รัฐแบบใดดีกว่ากัน แต่ผลสรุปที่แน่นอนคือ รัฐแต่ละแบบนั้นต่างมีปัญหาในการบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ทั้งสิ้น รัฐวีรชนไม่สามารถสร้างสังคมสะอาดบริสุทธิ์ รัฐธนกิจไม่สามารถสร้างสังคมที่มั่งคั่งทั่วถึง เสนารัฐไม่สามารถเปลี่ยนแปลงชุมชนไปสู่อุดมคติที่ตั้งไว้ได้

รัฐวีรชนมุ่งสร้างสังคมคนดีบริสุทธิ์ด้วยการให้อำนาจพิเศษกับบุคคลบางกลุ่มดำเนินโครงการสร้างสังคมอุดมคติบนฐานศีลธรรม ผลของการกระทำเช่นนี้ คือสังคมที่ขาดความเท่าเทียมทางการเมือง เพราะอำนาจกระจุกตัวไม่กระจายทั่วสังคมเท่าเทียม “คนดี” มีอำนาจมากกว่าคนทั่วไป วิธีการเน้นไปที่การตัด “เนื้อร้าย” ของสังคมทิ้ง ซึ่งมีปัญหาหลายประการที่ต้องคำนึงโดยเฉพาะประเด็นการนำศีลธรรมที่อาจเป็นเครื่องมือที่ดีในการกำกับพฤติกรรมมนุษย์ของแต่ละบุคคล แต่เป็นเครื่องมือที่อันตรายในการใช้เป็นเกณฑ์วัด/ตัดสินคน เพราะว่ามนุษย์เป็นสิ่งที่ไม่สมบูรณ์ หมายความว่ามนุษย์นั้นเปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง การจะแยกดีเลวเด็ดขาดถาวรเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

รัฐธนกิจส่งเสริมการสร้างประสิทธิภาพเฉพาะด้านเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยคาดหวังว่าเมื่อเศรษฐกิจเติบโตแล้วจะกระจายให้สังคมอย่างทั่วถึง แต่ในทางปฏิบัติ บริษัทและภาคเอกชนที่รัฐธนกิจสนับสนุนอุ้มชูอยู่นั้นแย่งกันโต เมื่อแย่งกันโตก็มีการแข่งขันอย่างเข้มข้น นำไปสู่สภาวะแพ้คัดออก เหลือผู้อยู่รอดน้อยรายปริมาณทรัพย์สินไหลไปรวมกับผู้ชนะ การเติบโตทางเศรษฐกิจจึงเติบโตอย่างกระจุกตัว ในขณะที่กลไกการกระจายความมั่งคั่งกลับคืนสู่สังคม เช่น ระบบภาษี ก็ทำงานไม่เต็มที่เพราะขัดกับตรรกะการสะสมทุนไปแข่งขันต่อของภาคเอกชน

ผลอย่างเป็นรูปธรรมคือ นอกจากจะไม่สามารถกระจายความมั่งคั่งไปทั่วสังคมแล้ว ยังถ่างช่องความเหลื่อมล้ำกว้างขึ้น มีผู้พ่ายแพ้แข่งขันไม่ได้มากขึ้น ผู้พ่ายแพ้เหล่านี้จะหันหน้าไปประกอบอาชีพอื่นก็ลำบากเพราะถูกฝึกมาให้ทำงานเฉพาะด้าน จะมีความสงบสุขทางจิตใจกับตนเองก็ยากเพราะไม่ได้มีชีวิตในสภาพที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์อย่างรอบด้าน ส่วนผู้ชนะที่อยู่ในกระบวนการเดียวกันก็ง่ายที่จะเพิกเฉยละเลยต่อเพื่อนมนุษย์ร่วมสังคม มองความยากลำบากของผู้พ่ายแพ้เป็นเรื่องปกติธรรมดาในนามของประสิทธิภาพและการแข่งขัน

เสนารัฐนั้นต้องการถอนรากถอนโคนสังคมเดิมทันที เพื่อเปลี่ยนแปลงสร้างสังคมใหม่ที่คาดว่าจะดีกว่าสังคมเก่า วิธีการที่จะทำเช่นนี้ได้ต้องมีความคิดสุดโต่งและสร้างความคิดสุดโต่งให้แพร่กระจายไปในสังคมจนผู้คนพร้อมจะกระทำความรุนแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม มองเห็นผู้ที่คิดต่างเป็นศัตรู เป็นผู้ล้าหลัง โดยมีทั้งชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมากเป็นต้นทุนของการเปลี่ยนแปลงสังคม ตัดโอกาสของการเรียนรู้ประสบการณ์เพื่อพัฒนาหาทางออกของประชาชนในสังคม ในด้านผลลัพธ์ก็ไม่มีหลักประกันได้ว่าเมื่อเปลี่ยนแปลงสังคมในทันทีแล้วสังคมใหม่จะดีขึ้นกว่าสังคมเก่า

กอทแธมหลังการจากไปของแบทแมน การล่มสลายของตลาดหุ้นและความพ่ายแพ้ของเบน ได้เพิกถอนมายาคติบางประการออกไปจากสังคม ประชาชนได้เรียนรู้ว่า ความเพิกเฉยต่อผู้อื่นและความสุดโต่งในท้ายที่สุดล้วนกลายเป็นความรุนแรงในสังคมได้ ซึ่งแลกมาด้วยต้นทุนที่แสนแพง

แน่นอนว่ายังไม่มีบทสรุปอนาคตของกอทแธม ไม่มีหลักประกันว่า กอทแธมจะเป็นเมืองที่ดีขึ้น แต่ดูเหมือนว่า สังคมที่ยอมรับความจริงของกันและกันมากขึ้น ใส่ใจกันและกันมากขึ้น ปรองดองกันมากขึ้น จะทำให้ใครบางคนสามารถปลดภาระบนไหล่ให้ผู้อื่นช่วยแบกรับ ใครบางคนได้มีโอกาสแก้ไขข้อผิดพลาดในอดีตเริ่มชีวิตใหม่ และทำให้ใครอีกหลายคนได้มีหลักประกันในสิทธิเสรีภาพในชีวิตของตนเองมากขึ้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คำต่อคำผู้ใหญ่บ้านปากบาง เมืองละงู ‘ชาวบ้านไม่เคยรู้เขาจะเอาที่เราตั้งคลังน้ำมัน’

Posted: 24 Jul 2012 03:20 AM PDT

อ่านความคิดของผู้ใหญ่บ้านปากบางคนใหม่ วัย 27 ปี ต่อแผนพัฒนาขนาดใหญ่ในจังหวัดสตูล ทั้งท่าเรือน้ำลึกปากบารา-โครงการก่อสร้างคลังน้ำมัน 5,000 ไร่ย้ำยึดชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นที่ตั้ง ต้องปรึกษากัน

 

 
 
“นายนรินทร์ สมันตกาญจน์” เพิ่งรับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านปากบาง ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล ได้แค่ 3 เดือน แทน “นายต่ายูเด็น บารา” ผู้ใหญ่บ้านคนเดิมที่เพิ่งพ้นตำแหน่ง เมื่อเร็วๆ นี้
 
ถือเป็นการเข้ารับตำแหน่งในห้วงแห่งการต่อต้านท่าเรือน้ำลึกปากบารากำลังระอุ ขณะที่บ้านปากบางและหมู่บ้านใกล้เคียงเอง ก็มีโครงการก่อสร้างคลังน้ำมัน ในพื้นที่ 5,000 ไร่ ของกระทรวงพลังงานจ่อคิวตามท่าเรือน้ำลึกปากบารามาติดๆ
 
ต่อไปนี้เป็นความคิดความเห็นของผู้ใหญ่บ้านปากบางคนใหม่ วัย 27 ปี ต่อแผนพัฒนาขนาดใหญ่ในจังหวัดสตูล
 
ก่อนหน้าเป็นผู้ใหญ่บ้านทำงานอะไรอยู่ที่ไหน ตอนนี้อายุเท่าไหร่?
 
ผมอายุ27 ปี ก่อนหน้านี้เป็นเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบลละงู นายจำรัส ฮ่องสาย จบมาจากมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ สาขาวิชาการจัดการ คณะบริหารธุรกิจ ก็เป็นเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบลละงูเลยประมาณ 3–4 เดือน หมดวาระ ปี 2554 เลือกตั้งใหม่นายกฯ คนเดิมก็ได้อีก ผมก็เป็นเลขานุการนายกฯ อีก เป็นอยู่ 7–8 เดือน ผมก็ลาออกมาสมัครผู้ใหญ่บ้าน และทำธุรกิจเลี้ยงกุ้งในเนื้อที่ 12 ไร่ 6 บ่อ
 
เรื่องท่าเรือน้ำลึกปากบารา พอได้ยินอยู่บ้าง แต่ไม่ได้สนใจ ได้ยินผ่านๆ ปากต่อปากเท่านั้น พอมาเป็นผู้ใหญ่บ้านก็สนใจข้อมูลมากขึ้น ศึกษามากขึ้น
 
รู้รายละเอียดโครงการตั้งคลังน้ำมัน 5,000 ไร่ของกระทรวงพลังงาน ที่บ้านปากบาง อำเภอละงู จังหวัดสตูลบ้างไหม?
 
ผมเพิ่งได้ยิน ยังไม่รู้รายละเอียด ไม่เคยรู้ว่ากินพื้นที่กว้างขนาดไหน จะมีผลกระทบแบบไหน ไม่มีข้อมูลจริงๆ ถ้าโครงการเล็กๆ ชาวบ้านไม่ได้รับผลกระทบก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้ากินพื้นที่กว้างมีผลกระทบกับชาวบ้าน ก็สมควรลุกขึ้นมาต่อต้าน
 
พื้นที่บ้านปากบางมีกี่พันไร่?
 
บ้านปากบางมีพื้นที่ 2,000 กว่าไร่
 
ที่ดินปากบางเป็นที่ดินประเภทไหน?
           
ผู้ใหญ่บ้านคนก่อนน่าจะรู้ดีกว่าผม ทิศตะวันตกเป็นที่ดินของโรงเรียนทั้งหมด มีชาวบ้านสร้างบ้านเรือนอยู่ในนั้น ถ้าเขาจะเอากลับก็ต้องยอม เพราะไม่มีเอกสารสิทธิ์อะไรเลย
 
ที่ค่ายลูกเสือก็มีอยู่ชาวบ้านอยู่ แต่ไม่มาก เมื่อก่อนที่ตั้งค่ายลูกเสือเคยคิดจะตั้งโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยสตูล แต่สร้างไม่ได้เพราะมีชาวบ้านอาศัยอยู่ก่อน ต่อมาชาวบ้านยอมให้สร้างค่ายลูกเสือได้ แต่ผมไม่รู้ว่าเขายอมเพราะอะไร
 
สมัยก่อนชาวบ้านปากบางปลูกบ้านอยู่ริมทะเลอ่าวละงู ตั้งแต่รุ่นปู่ผมน่าจะ 30–40 ปีมาแล้ว ต่อมาอยู่ไม่ได้ เพราะโดนคลื่นกัดเซาะ จึงย้ายมาปลูกบ้านที่ปากบาง คิดว่าจะปลอดภัยมากกว่าอยู่ริมทะเล ตอนแรกก็ย้ายมาอยู่แค่หลังสองหลัง ต่อมาก็ตามกันขึ้นมาจับจองที่ดินที่นี่
 
ถ้าบ้านปากบางมีพื้นที่แค่นี้ คลังน้ำมันก็ต้องใช้พื้นที่หมู่บ้านใกล้เคียงด้วย แถวนี้มีหมู่บ้านอะไรบ้าง?
 
มีบ้านหลอมปืน บ้านปากละงู บ้านท่าชะมวง บ้านหัวหิน ถัดจากบ้านหัวหิน ก็บ้านบากันโต๊ะทิด บ้านนาพญา บ้านตีหยี ผมได้ข่าวว่าถ้าเกิดท่าเรือน้ำลึกปากบารา ต่อไปเขาจะตัดถนนเลี่ยงเมืองตรง 3 แยกไฟแดงบ้านในเมือง ทางเข้าอำเภอละงูตรงไปปากบารา
 
แล้วชาวบ้านหลอมปืน บ้านปากละงู บ้านหัวหิน รู้เรื่องคลังน้ำมันละงู 5,000 ไร่แล้วยัง?
 
บ้านหลอมปืนน่าจะรู้นะ บ้านหัวหินก็น่าจะรู้ เพราะผู้ใหญ่บ้านทั้ง 2 หมู่บ้านเป็นผู้ใหญ่บ้านมานาน มีการต่อต้านท่าเรือน้ำลึกปากบารามานานกว่า 2 ปี ชาวบ้านแถวนั้นน่าจะรู้เรื่องบ้าง ผมเองเพิ่งมาเป็นผู้ใหญ่บ้านราว 3 เดือน ก่อนหน้านี้ก็ไม่ค่อยสนใจเรื่องพวกนี้เท่าไหร่
 
แถวนี้มีสถานที่สำคัญอะไรบ้าง?
 
มีโรงเรียนบ้านปากบาง เด็กนักเรียน 200 กว่าคน โรงเรียนบ้านปากละงู มีเด็กนักเรียน 200 กว่าคน สถานีอนามัย 1 แห่ง มัสยิด 3 แห่ง ค่ายลูกเสือ 1 แห่ง วัดที่บ้านปากละงู 1 วัด กุโบร์ 2 แห่ง สุสานจีนอีก 1 แห่ง
 
ชาวบ้านปากบางประกอบอาชีพอะไรบ้าง?
 
คนปากบางประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้นก็ทำสวนยางพารา ชาวบ้านจะประกอบอาชีพ 2 อย่างนี้เป็นหลัก ที่เหลือทำงานรับจ้างทั่วไป
 
ปากบางมีประชากรประมาณเท่าไหร่?
 
ประมาณ 4–5 พันคนรวมหมู่บ้านใกล้เคียงที่น่าจะได้รับผลกระทบคงจะไม่ถึงหมื่นคน
 
คลังน้ำมันละงูกินพื้นที่ 5,000 ไร่ ขณะที่บ้านปากบางมีพื้นที่แค่ 2,000 ไร่ เท่ากับหายไปทั้งหมู่บ้าน ชาวบ้านจะไปอยู่ที่ไหน?
 
นั่นแหละคือปัญหา ตอนนี้ชาวบ้านไม่รู้ข้อมูลเรื่องคลังน้ำมัน บางส่วนที่พอรู้ก็รู้แบบงูๆ ปลาๆ คิดว่าจะสร้างในทะเล ไม่กินอาณาเขตเข้ามาในหมู่บ้าน ถ้ารู้ว่าบ้านปากบางหายไปทั้งหมู่บ้าน เป็นไปได้ที่ชาวบ้านจะลุกขึ้นมาต่อต้าน ถ้ารู้ลึกจริงๆ ชาวบ้านมีสิทธิ์เข้าร่วมขบวนต่อต้านท่าเรือน้ำลึกปากบารา เพราะเขาไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน
 
ในฐานะผู้ใหญ่บ้านคิดอย่างไรเมื่อคลังน้ำมันมาตั้งที่บ้านปากบาง แล้วปากบางหายไปทั้งหมู่บ้าน?
 
ในฐานะผู้ใหญ่บ้านผมต้องยึดชาวบ้านส่วนใหญ่ ยึดชาวบ้านเป็นที่ตั้ง ตอนนี้ชาวบ้านเขาไม่รู้ ถ้าหากเขารู้ปุ๊บเขาก็เดือดร้อนอยู่ไม่ได้ ต้องปรึกษากันแน่นอน ทั้งลูกบ้านและผู้ใหญ่บ้านว่าจะเอาอย่างไร เสียงข้างมากชาวบ้านว่าอย่างไร ผมก็เอาด้วยตามนั้น ผมคิดเองไม่ได้ต้องยึดลูกบ้านเป็นหลัก
 
จะแก้ไขปัญหาชาวบ้านอย่างไร?
 
ถ้าพื้นที่ตรงนี้หายไปจริงๆ ชาวบ้านจะไปอยู่ไหนกัน ผมก็ตั้งคำถามกับตัวเอง ชาวบ้านมีที่อยู่ ที่ทำกินแค่ตรงนี้ ถึงไปไหนไม่ได้ ถ้าเป็นแบบนี้คงต่อต้านอย่างเดียว ถ้าชาวบ้านมีพื้นที่ข้างนอกอาจย้ายหนีออกไปได้ ส่วนคนที่ไม่มีก็ไม่รู้ไปอยู่ไหน
 
ถ้าโครงการคลังน้ำมันขึ้นที่นี่ผู้ใหญ่บ้านจะย้ายไปอยู่ที่ไหน?
 
ถ้าเป็นแบบนั้นจริงๆ ผมก็ต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น เพราะที่ดินที่อื่นผมก็มี แต่ชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินละ
 
หน่วยงานรัฐเคยเข้ามาให้ข้อมูลคลังน้ำมันละงู 5,000 ไร่ กับข้อมูลท่าเรือน้ำลึกปากบาราบ้างหรือไม่?
 
ไม่เคยมีเลย ไม่มีข้อมูลอะไรเลย
 
ผมอยากให้หน่วยงานเจ้าของโครงการนี้มาให้ข้อมูล มาชี้แจงกับชาวบ้านให้ชัดเจน ชาวบ้านจะได้รับเตรียมรับมือแก้ปัญหาได้ พูดถึงชาวบ้านที่นี่ยังนิ่ง เพราะไม่รู้เรื่องอะไรเลย เพราะต้องทำงานตั้งแต่เช้ายันค่ำ
 
รัฐบาลจะทำอะไรก็ต้องเห็นใจประชาชนบ้าง ถ้ามีการให้ความรู้แลกเปลี่ยนกับชาวบ้านคงจะดีกว่า บางคนบอกมีข้อมูลอย่างนี้ บางคนบอกมีข้อมูลอย่างโน้น ไม่รู้จะเชื่อใคร
 
นักพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอเข้ามาให้ข้อมูลเรื่องคลังน้ำมันละงูบ้างไหม?
 
ไม่มี เออเมื่อก่อนน่าจะมีอยู่ครั้งหนึ่งในสมัยผู้ใหญ่คนเก่า นายตายูเด็น บารา เข้ามา แต่ตอนที่ผมเป็นผู้ใหญ่บ้าน ไม่มี
 
ถ้าเอ็นจีโอจะลงมาให้ข้อมูลชาวบ้านล่ะ?
 
ถ้าเอ็นจีโอเข้ามา ผมต้องบอกลูกบ้าน ผมตัดสินใจลำพังตัวเองไม่ได้ ต้องมีการหารือว่าเราจะรับฟังข้อมูลจากเอ็นจีโอดีไหม ถ้าชาวบ้านยินดีให้ชี้แจงก็เอาเลย ถ้าชาวบ้านไม่รับ ผมก็ไม่สนใจ คิดว่าชาวบ้านคงมีเหตุผล ถ้าเอ็นจีโอจะเข้ามาให้ข้อมูล คงไม่โดนปฏิเสธดื้อๆ
 
ระหว่างกระทรวงพลังงานกับเอ็นจีโอเข้ามาให้ข้อมูล ฝ่ายไหนน่าเชื่อถือมากกว่ากัน?
 
คงจะเป็นกระทรวงพลังงาน เพราะเป็นเจ้าของโครงการ น่าเชื่อถือมากกว่า คือเอ็นจีโอเขาอาจไม่รู้จริงก็ได้ ชาวบ้านเองก็ไม่รู้ว่าเอ็นจีโอคืออะไร กลุ่มไหนที่มา เข้ามาต่อต้านเพื่ออะไร ทำอะไรกัน
 
หน่วยงานภาครัฐมักชี้แจงแต่ข้อดี ไม่บอกข้อเสีย?
 
ถ้าหากไม่บอกด้านเสียเลย คนก็ไม่มีข้อเปรียบเทียบซิ มุ่งแต่ชี้แจงด้านดีอย่างเดียวเน้นไม่ให้คนต่อต้าน ทำให้ดูเหมือนเจริญ มันไม่ยุติธรรมสำหรับชาวบ้าน
 
ถ้าหากท่าเรือน้ำลึกปากบาราเกิด คลังน้ำมันละงูเกิด คิดว่าอาชีพประมงพื้นบ้านหายไปหรือไม่?
 
น่าจะไม่หายไปเสียทีเดียว คงจะหลงเหลืออยู่บ้าง ถ้าส่งผลกระทบมากๆ ชาวประมงคงประกอบอาชีพไม่ได้เหมือนกัน ก็มีชาวบ้านบางส่วนกังวล แทนที่จะหาปลาบริเวณน้ำตื้นใกล้ฝั่ง ก็ต้องออกหาปลาบริเวณน้ำลึกไกลฝั่ง ค่าใช้จ่าย ค่าน้ำมันก็สูงขึ้น บางส่วนก็ไม่กังวล เพราะคิดว่าไม่น่าจะมีผลกระทบอะไรมาก
 
ถ้าหากท่าเรือน้ำลึกปากบาราเกิด คลังน้ำมันละงูเกิด คิดว่ามีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไหม?
 
มีผลกระทบแน่นอน ปากบาราน่าจะโดนเต็มๆ เรือขนส่งสินค้าน้ำมันรั่วมันต้องมี อาจส่งผลเสียทั้งอ่าวปากบารา อ่าวละงู ทั้งใต้ทะเลและบนผิวทะเล ธรรมชาติก็เสีย ท่องเที่ยวเสียแน่นอน ธรรมชาติก็โดน คนก็โดน ถ้าเสียมากกว่าจะทำไปทำไม ถ้าเสียน้อย แต่ผลดีมากคงไม่เป็นไร เสียกับดีอะไรมากกว่าละ
 
พอจะทราบข่าวท่าเรือน้ำลึกปากบาราบ้างหรือไม่?
 
ได้ยินคนพูดเรื่องท่าเรือน้ำลึกปากบารามานานแล้ว รู้สึกว่านายนาวี พรหมทรัพย์ อดีตสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล เป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้
 
วันที่ 9–10 มิถุนายน 2555 มีขบวนชาวบ้านออกมาต่อต้านรณรงค์โบกธงเขียว ส่วนเรื่องคลังน้ำมันละงู 5,000 ไร่นี่ผมเพิ่งรู้ ตั้งที่บ้านปากบางแน่หรือ
 
รู้รายละเอียดท่าเรือน้ำลึกปากบาราอย่างไรบ้าง?
 
ไม่ค่อยรู้เท่าไหร่ 2–3 ปีก่อน นายนาวี พรหมทรัพย์ และคณะเสนอให้สร้างท่าเรือน้ำลึก ต่อมามีการขึ้นป้ายข้างถนนทั่วจังหวัดสตูล แล้วมีกลุ่มนักพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอประท้วงหลายครั้ง เพราะเกรงผลกระทบจากการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ผมไม่รู้นะว่าจะส่งผลกระทบด้านใดบ้าง เพราะผมไม่ได้สนใจอะไรมาก่อน
 
คิดอย่างไรกับโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา?
 
ผมว่าถ้ามันเกิดจริงๆ แล้วไม่มีผลกระทบกับชาวบ้าน ชาวบ้านเห็นด้วยหมด ผมอยากให้เกิด เพราะเศรษฐกิจในภาพรวมของจังหวัดสตูล อาจจะดีขึ้นเจริญขึ้นมาก็ได้ ยกตัวอย่างในหมู่บ้านปากบางเอง ห่างไกลจากตัวตลาด ตัวเมือง ไม่มีร้านเซเว่น-อีเลเว่น ถ้ามีการพัฒนาจะทำให้ที่นี่มีสภาพกลายเป็นเมือง ได้รับผลดีไปด้วยกันหมด คนมันจะพลุกพล่านมากกว่า จะมีการสร้างงานให้ชาวบ้านทำมากขึ้น คนว่างงานจะลดลง
 
รายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ท่าเรือน้ำลึกปากบารา ระบุว่าแหล่งทรายบริเวณปากละงู ปากบางหัวหิน 10 ล้านคิว จะถูกไปถมทะเลสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา?
 
หากขุดทรายพื้นที่ทะเลจะกว้างขึ้นหรือไม่ ทะเลจะกินอาณาเขตแผ่นดินล้ำหมู่บ้านมากขึ้น จะมีผลกระทบในช่วงมีคลื่นลม มีมรสุม นี่ขนาดบ้านผมอยู่ห่างจากทะเล 500 เมตร เวลามีคลื่นลมก็นอนไม่หลับ ถ้าหากทะเลล้ำเข้ามา จะพูดอะไรอีก ชาวบ้านได้รับผลกระทบอยู่แล้ว
 
บางคนเขาคิดว่า จะมีการดูดทรายจากทะเลไปถม คงไม่กระทบอะไรมาก แต่ถ้าตั้ง 10 ล้านคิว ผมว่ามีผลกระทบแน่ๆ
 
มองขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านท่าเรือน้ำลึกปากบาราอย่างไร?
 
มีคนต่อต้านไม่มากเท่าไหร่ ไม่รู้เหมือนกันนะว่าขบวนต่อต้านเขาอยู่กันอย่างไร ธรรมดาหากมีผลกระทบชาวบ้านต่อต้านอยู่แล้ว สำหรับชาวบ้านที่นี่ยังไม่รู้ว่ามีผลกระทบ จึงไม่ได้ออกไปเคลื่อนไหว
 
วันที่ 9–10 มิถุนายน 2555 คนปากบางเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับเอ็นจีโอ และชาวบ้านที่ปากบาราบ้างไหม?
 
มีคนเข้าร่วมแต่ไม่มาก มีชาวบ้านบางส่วนออกไปร่วม
 
เพราะอะไรชาวบ้านปากบางจึงออกไปร่วมไม่มาก?
 
เพราะเขาคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราจะกินพื้นที่มาถึงบ้านปากบาง จึงไม่มีคนไปร่วม ชาวบ้านไม่รู้ข้อมูลว่าผลกระทบมันกินพื้นที่แค่ไหน ถ้าหากรู้ว่าคลังน้ำมันจะมาสร้างที่บ้านปากบาง คนคงจะไปร่วมต่อต้านกับคนปากบารามากกว่าที่ผ่านมาก็ได้ เพราะไม่รู้จึงไม่มีใครออกไปต่อต้าน
 
มองเอ็นจีโออย่างไร?
 
เคยได้ยินว่าพวกเอ็นจีโอรับเงินมาปลุกระดมชาวบ้านต่อต้านท่าเรือน้ำลึกปากบารา แต่สำหรับผม ผมไม่แน่ใจว่าพวกเขาอยู่กันอย่างไร บางทีเขาอาจจะลงมาให้ความรู้เป็นประโยชน์กับชาวบ้านก็ได้
 
ได้ยินว่ามีกระบวนการสกัดไม่ให้ชาวบ้านปากบางออกไปร่วมต่อต้านท่าเรือน้ำลึกปากบารา เมื่อวันที่ 9–10 มิถุนายน 2555?
 
ที่ปากบางไม่มีใครบล็อกใครหรอกแถว คนปากบางไปร่วมก็มี คนที่คิดว่าจะส่งผลกระทบกับเขาแน่ เขาก็ออกไป แต่น้อยกว่าคนที่ไม่ไป ไม่มีการบล็อกนะ พื้นที่ตรงนี่ยังนิ่งอยู่ ไม่เหมือนกับปากบารา
 
เมกะโปรเจ็กต์จังหวัดสตูล ทั้งแลนด์บริดจ์สตูล–สงขลา ท่าเรือน้ำลึกปากบารา คลังน้ำมัน ฯลฯ คิดว่าจะพลิกโฉมหน้าจังหวัดสตูลไปจากปัจจุบันไหม?
 
พลิกจังหวัดสตูลแน่นอน ปัญหาที่สำคัญก็คือ แรงงานต่างด้าวจะไหลเข้าจังหวัดสตูลมากขึ้น ใจหนึ่งผมอยากได้ความเจริญ แต่ใจหนึ่งผมก็ไม่ต้องการให้ชาวบ้านเดือดร้อน อันนี้สำคัญที่สุด
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่ยืน ไม่ใช่อาชญากรรม, ข้าวโพดสาดซ้ำ ไม่เป็นอาชญากร

Posted: 24 Jul 2012 03:08 AM PDT

ในที่สุดปัญหาที่ยืดเยื้อมานานเกี่ยวกับปัญหาความกำกวมของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็คลี่คลายลงนิดหน่อย แม้จะไม่ใช่การคลี่คลายในชั้นศาล แต่ก็ถือว่าทำให้คดีระงับลงได้ และมีความน่าสนใจที่ควรกล่าวถึง

มูลเหตุของเรื่องเกิดขึ้นร่วมห้าปีแล้ว นานจนเกือบจำไม่ได้ เหลือเพียงม๊อตโตที่เกือบๆกลายเป็นวาทกรรมว่า “ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม” โดยเรื่องนี้เริ่มต้นมาจาก การที่ ก (ผู้ถูกกล่าวหาไม่ประสงค์เป็นข่าว จึงขอใช้ชื่อสมมติทั้งหมด) และเพื่อนอีกคนหนึ่ง ได้เข้าไปดูหนังที่โรงภาพยนตร์แห่งหนึ่ง เมื่อถึงเพลงสรรเสริญบรรเลง ก และเพื่อนก็ไม่ได้ยืน แต่ก็นั่งด้วยความสงบซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่ ก และเพื่อนปฏิบัติเช่นนี้มานานแล้ว ปรากฏว่า ก ถูกชายคนหนึ่ง ที่ต่อไปนี้จะเรียกว่า ข “ตักเตือน” ให้ลุกขึ้นยืนถวายความเคารพต่อเพลงดังกล่าว ด้วยการตักเตือนด้วยการส่งเสียงดัง ปาด้วยกระดาษ ปัดแก้วน้ำอัดลมจนตกแตก กระชากกล่องป๊อปคอร์นออกสาดใส่ ก และเพื่อน ท่ามกลางการเชียร์ของผู้ชมคนอื่นๆ ในโรงด้วยการปรบมือ สุดท้ายเรื่องจบด้วยการที่ตำรวจจากสถานีตำรวจที่รับผิดชอบมาระงับเหตุ โดย ข ขู่ ก ว่า ถ้าประสงค์จะดำเนินคดีต่อตน ก็จะแจ้งความ ก ด้วยข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย

ก และเพื่อนก็ได้เข้าแจ้งความด้วยข้อหาต่างๆ ต่อ ข ประกอบด้วย ดูหมิ่นซึ่งหน้า (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393) ทำร้ายร่างกายไม่เป็นอันตรายแก่กาย (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391) ทำให้เสียทรัพย์ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358) ร่วมกันบังคับข่มขืนใจให้กระทำหรือไม่กระทำการ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309) และความผิดฐานทะเลาะกันอื้ออึงในที่สาธารณะ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 372) ส่วน ข ก็เข้าแจ้งความต่อตำรวจให้ดำเนินคดีกับ ก ด้วยข้อหาเดียวคือ “ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์” (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112) จากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวนก็เสนอความเห็นต่อไปยังอัยการเพื่อพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่

ฝ่ายอัยการพิจารณาสำนวนเรื่อง ก แจ้งความดำเนินคดีต่อ ข ในข้อหาต่างๆ เสร็จก่อน โดยมีคำสั่งเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2551 สั่งไม่ฟ้อง ข โดยให้เหตุผลในแต่ละข้อหาดังต่อไปนี้

...การที่ผู้ต้องหาเพียงแต่ใช้กล่องข้าวโพดคั่วและม้วนกระดาษขว้างใส่ผู้เสียหายทั้งสอง ผู้เสียหายที่ 1 แพทย์ลงความเห็นว่าไม่พบบาดแผล แต่รู้สึกเจ็บที่ข้อมือเล็กน้อย ส่วนผู้เสียหายที่ 2 แพทย์ลงความเห็นไม่พบบาดแผล ไม่ต้องรักษา พยานหลักฐานที่ปรากฏจึงรับฟังได้ว่าผู้เสียหายทั้งสอง มิได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจแต่อย่างใด อีกทั้งผู้ต้องหาได้กระทำในขณะลืมตัวโกรธจัดโต้เถียงกับผู้เสียหายทั้งสอง ในเรื่องการแสดงความเคารพต่อองค์พระประมุขโดยได้กระทำเพียงเท่านี้ และมิได้แสดงกริยาจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหาย ทั้งสองอีก จึงเชื่อได้ว่า มิได้เจตนาร่วมกันกระทำความผิด การกระทำของผู้ต้องหาจึงไม่เป็นความผิดฐานนี้

ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ทรัพย์ที่เสียหายมีราคาเล็กน้อย ผู้เสียหายทั้งสองซื้อมาในราคาเพียง 119 บาท และเป็นทรัพย์ที่เหลือจากผู้เสียหายทั้งสองดื่มกินแล้ว ขณะเกิดเหตุเป็นกรณีเกี่ยวพันที่ได้เกิดขึ้นติดต่อกันกับการกล่าวหาว่าทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทั้งสอง ซึ่งเกิดจากผู้ต้องหาร้องขอให้ผู้เสียหายทั้งสองแสดงความเคารพต่อองค์พระประมุขและสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ดีงามของสังคมไทยสืบมา จึงเชื่อว่าผู้ต้องหามิได้มีเจตนาทำให้เสียทรัพย์ดังกล่าว

การที่ผู้ต้องหาใช้กระดาษขว้างมาทางผู้เสียหายแล้วพูดว่า “ออกไป” และการที่ผู้ชมคนอื่นอีกหลายคนโห่ร้องไล่ผู้เสียหายทั้งสองคนให้ออกจากโรงภาพยนตร์ไปนั้น เพราะไม่พอใจที่ผู้เสียหาย ไม่ยืนแสดงความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี ยังไม่เป็นการใช้คำพูดหรือกริยา หรือการแสดงออกใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่าผู้ต้องหาใช้กำลังให้ผู้เสียหายทั้งสองกลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย เสรีภาพของผู้เสียหาย และไม่ได้มีการใช้กำลังประทุษร้าย ขณะบอกให้ผู้เสียหายทั้งสองออกไปจากโรงภาพยนตร์ด้วย ดังนั้น จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันตั้งแต่ห้าคน ข่มขืนใจให้ผู้อื่นกระทำการใด จำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ของผู้ถูกข่มขืนใจ แต่อย่างใด

การที่ผู้ต้องหาพูดว่า “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ศาสนาไหนก็ตาม ทำไมไม่รักในหลวง เป็นคนไทยซะ ปล่าว ฝรั่งต่างชาติยังรู้จักยืน” ก็เป็นเรื่องที่ผู้ต้องหาเห็นผู้เสียหายทั้งสองไม่ยืนทำความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี จึงเกิดความไม่พอใจ ซึ่งเป็นตามธรรมดาของคนไทยทุกคนที่พบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว และคำพูดดังกล่าวก็เป็นการพูดว่ากล่าวตักเตือน เตือนสติ ให้ผู้เสียหายทั้งสองรู้สำนึกของการกระทำ มิได้เป็นถ้อยคำที่ด่าว่า ดูถูกเหยียดหยาม หรือทำให้เสียชื่อเสียง และมิได้ทำให้บุคคลที่รับฟังข้อความดังกล่าวรู้สึกเกลียดชังหรือดูหมิ่นผู้เสียทั้งสองแต่อย่างใด และการที่ผู้เสียหายที่ 1 หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นพูดคุยและยืนขวางการชมภาพยนตร์ของผู้อื่น แล้วผู้ต้องหาได้พูดว่า “คุณไม่มีมารยาท ใส่เสื้อบ้าอะไรก็ไม่รู้ ออกไปซะ” ซึ่งเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องกัน การกระทำของผู้เสียหายที่ 1 ดังกล่าวเป็นการขัดกับมารยาทในการชมภาพยนตร์ที่ห้ามให้พูดคุยโทรศัพท์มือถือ หรือก่อให้เกิดการรบกวนผู้ชมคนอื่น ข้อความดังกล่าวจึงเป็นเพียงข้อความที่แจ้งให้ผู้เสียหายที่ 1 ระงับการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมารยาททางสังคม โดยที่ถ้อยคำดังกล่าวยังไม่เป็นการด่าว่า ดูหมิ่น หรือทำให้เสียชื่อเสียงถูกลดคุณค่าแต่อย่างใด การพูดจาของผู้ต้องหาดังกล่าว ทั้งสองข้อความจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า

การที่ผู้ต้องหากับผู้เสียหายทั้งสองโต้ตอบกันไปมา เนื่องจากผู้ต้องหาต้องการให้ผู้เสียหายทั้งสองยืนแสดงความเคารพเพลงสรรเสริญเพลงพระบารมี แต่มิได้อยู่ในลักษณะการโต้เถียงทะเลาะด่ากัน จึงมีเพียงผู้ต้องหาที่พูดจาเพียงฝ่ายเดียวเพื่อให้ผู้เสียหายทั้งสองกระทำการดังกล่าวเป็นส่วนใหญ่ จึงถือไม่ได้ว่าผู้ต้องหากระทำความผิดฐานทะเลาะกันอื้ออึงในที่สาธารณะหรือกระทำให้เสียความสงบเรียบร้อยในที่สาธารณสถานแต่อย่างใด

จากนั้น ในอีกประมาณเกือบ 4 ปี ต่อมา (เกือบ 5 ปี นับแต่วันเกิดเหตุ) อัยการจึงมีคำสั่งในเรื่องที่ ข แจ้งความให้ดำเนินคดีต่อ ก ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยมีคำสั่งเมื่อวันที่ 11เมษายน 2551 สั่งไม่ฟ้อง ก ในข้อหาตามประมวลกฎหมายมาตรา 112 โดยมีเหตุผลดังนี้

การที่ผู้ต้องหาไม่ลุกขึ้นเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี และมีการพูดว่า “ทำไมต้องยืนด้วยไม่มีกฎหมายบังคับ” นั้น เห็นว่าการกระทำดังกล่าวมิได้แสดงออกซึ่งวาจาหรือกิริยาอันจะเข้าลักษณะเป็นการดูถูก เหยียดหยาม ทำให้อับอาย เสียหาย สบประมาท ด่าว่าและการกล่าวหรือโต้เถียงเกิดขึ้นหลังจากเพลงจบแล้ว แม้จะเป็นกิริยาที่ไม่เหมาะสมและไม่อยู่ในบรรทัดฐานที่ประชาชนทั่วไปต้องปฏิบัติก็ตาม แต่การกระทำของผู้ต้องหาทั้งยังไม่อาจชี้ชัดได้ว่ามีเจตนาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ อีกทั้งผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดมา พยานหลักฐานจึงไม่พอฟ้อง

โดยนายวิศิษฐ์ สุขยุคล อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ได้ให้ความเห็นว่า การกระทำของ ก กับพวกนั้น เพียงแต่ไม่ได้ลุกขึ้นยืนตรงขณะที่มีการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรง ภาพยนตร์ เพราะการแสดงความอาฆาตมาดร้ายจะต้องมีการกระทำแสดงให้เห็นด้วย เมื่อไม่ปรากฏพฤติการณ์อันจะมีลักษณะความผิด ในฐานแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ จึงถือว่าไม่เข้าข่ายตามความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 “พฤติการณ์ของนาย ก เป็นลักษณะของกิริยาที่ไม่เหมาะสม หากจะมีกฎหมายที่ให้เป็นความผิด เป็นความผิดจารีตประเพณีที่เป็นกฎหมายเก่า ปี 2485 และมีบทลงโทษให้จำคุก 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท โดยคดีมีอายุ 1 ปี หากมีการดำเนินคดีดังกล่าวแล้ว ถ้าผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ พนักงานสอบสวนสามารถเปรียบเทียบปรับได้ แต่หากผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ ต้องทำสำนวนส่งให้อัยการตามขั้นตอนกฎหมาย แต่เนื่องจากคดีนี้พนักงานสอบสวนไม่ได้ตั้งข้อหาดังกล่าวมาด้วย คดีจึงหมดอายุความไปแล้ว อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงคดีนี้ไม่สามารถนำไปเป็นบรรทัดฐานในคดีอื่นได้ เพราะแต่ละคดีมีพฤติการณ์ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏและพยานหลักฐานแตกต่างกันออกไป”

การไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในทศวรรษนี้ เป็นที่ถกเถียงกันมานานนับตั้งแต่เกิดคดีนี้ เป็นครั้งแรกๆ มีการนำไปเทียบกับคำพิพากษาศาลฎีกากรณีใกล้เคียงนี้ที่เป็นกรณีที่เกิดขึ้นร่วมสมัยกับเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1294/2521 โดยเนื้อหาของคำพิพากษานั้นมีดังนี้

“ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในวันเวลาเกิดเหตุมีการอภิปรายที่ท้องสนามหลวงกลุ่มศูนย์นิสิตนักศึกษาอภิปรายปัญหาเรื่องข้าวสารแพงอยู่ทางด้านทิศเหนือกลุ่มของนายผัน วิสูตรอภิปรายเรื่องการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์อยู่ทางด้านทิศใต้ ด้านวัดพระแก้ว จำเลยฟังกลุ่มนายผันอภิปราย เมื่อนายผันปิดอภิปรายและเปิดแผ่นเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมี ประชาชนที่ฟังการอภิปรายทุกคนได้ยืนตรง ขณะที่เพลงสรรเสริญพระบารมียังไม่จบ จำเลยได้กล่าวถ้อยคำว่า “เฮ้ย เปิดเพลงอะไรโว้ย ฟังไม่รู้เรื่อง” และจำเลยมิได้ยืนตรง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นเพลงที่ใช้บรรเลงในการพระราชพิธีหรือพิธีการต่าง ๆ เพื่อถวายพระเกียรติและถวายความเคารพแด่องค์พระมหากษัตริย์โดยเฉพาะคดีนี้ประชาชนที่ไปฟังอภิปรายย่อมเข้าใจว่าเพลงสรรเสริญพระบารมีที่เปิดขึ้นเป็นการถวายความเคารพแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระมหากษัตริย์ของไทยองค์ปัจจุบัน จึงได้ยืนตรงทุกคน จำเลยเป็นนักเรียนครูวิทยาลัยครูสวนสุนันทายอมต้องรู้และเข้าใจดีกว่าประชาชนธรรมดาสามัญ การที่จำเลยมิได้ยืนตรงเช่นประชาชนคนอื่นในขณะที่เพลงสรรเสริญพระบารมีเปิดขึ้น ทั้งยังบังอาจกล่าวถ้อยคำว่า “เฮ้ย เปิดเพลงอะไรโว้ย ฟังไม่รู้เรื่อง” เช่นนี้ เห็นได้ชัดว่าจำเลยมีเจตนาที่จะดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ฯลฯ

จะเห็นว่า “เรื่อง” ในคำพิพากษานี้ แตกต่างจากกรณีปัญหานี้อย่างชัด คือ ในฎีกา จำเลยนั้นนอกจากไม่ยืนแล้วยังกล่าวคำว่า “เพลงอะไรโว้ยฟังไม่รู้เรื่อง” ด้วย แต่ในคดีนี้ ผู้ถูกกล่าวหาพูดเพียงว่า “ทำไมต้องยืนด้วยไม่มีกฎหมายบังคับ” ซึ่ง “น้ำเสียง” ของถ้อยคำนั้นแตกต่างกัน ซึ่งการไม่ยืนแล้วสำแดงกริยาอื่นประกอบที่ศาลพิพากษาว่าเป็นความผิดก็มี เช่น กรณีที่ทางเวบไซต์ iLaw รายงานคดีตัวอย่างอีกคดีว่า มีกรณีที่จำเลยไม่ลุกขึ้นยืนเพื่อถวายความเคารพ และได้ยกเท้าทั้งสองข้างพาดเก้าอี้ไปทางจอภาพยนตร์ เมื่อเพลงสรรเสริญพระบารมีจบและได้ตะโกนคำหยาบคายออกมา ในคดีนี้ ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ เห็นควรลดให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน แต่ให้รอลงอาญา 2 ปี

หรืออย่างในกรณีที่ อัยการอ้างถึง “ความผิดจารีตประเพณีที่เป็นกฎหมายเก่า ปี 2485” นั้น ได้ศึกษาแล้วพบว่า ความผิดตามอ้างเป็นไปตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2485 (ปัจจุบันยกเลิกแล้ว ตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2553) มาตรา 15 บัญญัติว่า “ผู้ใดฝ่าฝืนพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามความในมาตรา 6 มีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ” ซึ่งจะไปประกอบกับ พระราชกฤษฎีกากำหนดวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2485 มาตรา 6 “บุคคลทุกคนจักต้องเคารพตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณี คือ ... (3) เคารพเพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงเคารพอื่นๆ ซึ่งบรรเลงในงานตามทางราชการ ในงานสังคม หรือในโรงมหรสพ”อย่างไรก็ตาม ความผิดดังกล่าวก็ได้ “ยกเลิก” แล้วตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ไม่มีบทกำหนดโทษอาญาใดๆ ในกฎหมายนี้อีกต่อไป

จึงอาจสรุปได้ในขณะนี้ว่า การไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีที่เปิดในโรงภาพยนตร์ โรงมหรสพ หรือล่าสุดได้ขยายเข้าไปถึงก่อนการแข่งขันกีฬาแล้ว หากเป็นการ “ไม่ยืนโดยสงบ” นั้น ในปัจจุบันยังไม่เป็นความผิดตามกฎหมายลายลักษณ์อักษร หรือ ยังไม่พอฟังว่าเป็นความผิดฐานดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจาก “ถ้อยคำ” ที่ปรากฏในคำสั่งของอัยการทั้งสองฉบับ ก็จะเห็นร่องรอยบางประการที่อาจจะไม่ได้หมายความว่า ปัจจุบันการ “ไม่ยืน” จะสามารถกระทำได้โดยเสรีเสียทีเดียว

โดยในคำสั่ง “ไม่ฟ้อง” กรณี ข กระทำการต่างๆ ไม่ว่าจะปากระดาษหรือสาดป๊อบคอร์นใน ก นั้น ทางอัยการมองว่าเป็นการ “ร้องขอให้ผู้เสียหายทั้งสองแสดงความเคารพต่อองค์พระประมุขและสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ดีงามของสังคมไทยสืบมา” รวมทั้งการ “โห่ร้องไล่ผู้เสียหายทั้งสองคนให้ออกจากโรงภาพยนตร์ไป” นั้นก็ “เพราะไม่พอใจที่ผู้เสียหาย ไม่ยืนแสดงความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี” ซึ่ง “ยังไม่เป็นการใช้คำพูดหรือกริยา หรือการแสดงออกใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่าผู้ต้องหาใช้กำลังให้ผู้เสียหายทั้งสองกลัวว่าจะเกิดอันตราย” และดังนั้น การที่เห็นคนไม่ยืนทำความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี “จึงเกิดความไม่พอใจ ซึ่งเป็นตามธรรมดาของคนไทยทุกคนที่พบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว” ดังนั้นด้วยเหตุดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้อัยการวินิจฉัยไม่ควรสั่งฟ้องในความผิดต่างๆ นั้นเอง

ส่วนในกรณีคำสั่งไม่ฟ้องกรณี “ไม่ยืน” ของ ก นั้น แม้จะยังฟังไม่ได้ว่าเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 แต่การกระทำดังกล่าวก็ถือเป็น “กิริยาที่ไม่เหมาะสมและไม่อยู่ในบรรทัดฐานที่ประชาชนทั่วไปต้องปฏิบัติ”

ร่องรอยดังกล่าว แม้ไม่ชัดแจ้ง แต่ก็ทำให้เราเห็นได้ลางๆว่า การ “ไม่ยืน” ไม่ใช่อาชญากรรมก็จริง แต่การไม่ยืนก็เป็น “กริยาไม่เหมาะสมที่ประชาชนทั่วไปต้องปฏิบัติ” และการ “ตอบโต้” การไม่ยืนนั้น ก็เป็นสิ่งที่ผู้พบเห็นเหตุการณ์ชอบที่จะตอบโต้การไม่ยืนด้วยการ “ตักเตือน” ตาม “ธรรมเนียมปฏิบัติที่ดีงามของสังคมไทยสืบมา” ที่แม้อาจจะมีพฤติกรรมอันรุนแรงไปบ้าง แต่ถ้าไม่ได้รุนแรงต่อร่างกายจนเกินไป หรือทรัพย์สินที่เสียหายเป็นทรัพย์ที่มีราคาน้อย ก็เป็นความไม่พอใจที่เข้าใจได้ เพราะเป็นเรื่องธรรมดาของ “คนไทยทุกคนที่พบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว” ดังนั้นการไม่ยืน และการตอบโต้คนไม่ยืนตามสมควรแก่กรณีหากไม่รุนแรงเกินไปนั้น – กลไกกฎหมายอาญาของรัฐไม่ยื่นมือเข้าไปยุ่ง

หรือสรุปสั้นกว่านั้นคือ – ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากรรม แต่ปากระดาษสาดข้าวโพดซ้ำ ก็ไม่ใช่อาชญากร

ในสถานการณ์ที่ฝ่ายผู้ที่ยึดมั่นในการปกป้องสถาบันอย่างล้นเกิน (Zealot) ได้โหมบรรยากาศให้ฝ่ายตนเป็นผู้มีความชอบธรรม ถึงขนาดยกพวกไปเตรียมล่าป้าคนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำการที่เป็นความผิดตามมาตรา 112 นี้ ถึงสนามบินไม่ให้ออกนอกประเทศ แนวร่วมที่เป็นพนักงานสายการบินแห่งชาติก็ประกาศห้ามขึ้นเครื่อง หรือการโหมให้ใช้มาตรการทางอาญาที่เข้มข้นต่อการกระทำความผิดตามมาตรา 112 “อย่างเข้มข้น” ว่า ถ้าใครเห็นคนกระทำหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้วอยู่เฉยก็จะต้องมีความผิดด้วย เพราะถือเป็นตัวการร่วม จึงต้องแสดงออกทันที ไม่ว่าจะเป็นการจับกุมหรือเป็นพยาน แล้ว การที่ใครสักคนจะ “ไม่ยืน” ในโรงหนังแม้จะโดยสงบ แต่ก็มีความเสี่ยงต่อการได้รับการตอบโต้ที่คาดเดาไม่ได้เพื่อรักษา “ธรรมเนียมปฏิบัติที่ดีงามของสังคมไทยสืบมาอันเป็นเรื่องธรรมดาของคนไทยทุกคนที่พบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว ก็ได้.

 

ลิงค์อ้างอิง :
อัยการสั่งไม่ฟ้องคู่กรณี “สองไม่ยืน”
อัยการสั่งเด็ดขาด ไม่ฟ้อง คดีไม่ยืนในโรงหนัง
กรณีไม่ยืนแต่เอาขาพาดเก้าอี้
อัยการแจงเหตุไม่ฟ้องไม่ยืนในโรงหนัง ไม่เข้าข่าย “อาฆาตมาดร้าย”
เครือข่ายต้านคอรัปชั่นเสนอ 112 เข้มข้น พบความผิดแล้วเฉยเท่ากับ ‘ตัวการร่วม’
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จม.เปิดผนึกฉบับที่ 2 ของ พนง.ไทยพีบีเอส ร้องหยุดคุกคาม-จี้ถอดผู้บริหาร

Posted: 24 Jul 2012 03:01 AM PDT

 

 

นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป ประธานกรรมการนโยบาย ส.ส.ท.กล่าวว่า  “ต้องขอขอบคุณสำหรับทุกๆ ความเห็นและความห่วงใยที่มีต่อไทยพีบีเอส ในฐานะสื่อสาธารณะที่คนไทยทุกคนเป็นเจ้าของ ผมได้เห็นข้อมูลและบทความที่เผยแพร่แล้วพบว่า มีทั้งข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและข้อสังเกตที่ดี มีข้อมูลส่วนที่เป็นความคิดเห็น ข้อเสนอแนะแต่ก็มีข้อมูลที่ไม่จริงปะปนอยู่มาก  อย่างไรก็ตามไทยพีบีเอสยินดีรับข้อเสนอแนะเหล่านี้มาพิจารณา”
ที่มา: http://org.thaipbs.or.th/org_news/prnews/article60355.ece

 
พนักงานไทยพีบีเอสหมดศรัทธาการบริหารงานที่ไร้ซึ่งธรรมาภิบาลและการจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของพนักงานในกรณีการเรียกร้องและร้องเรียนให้มีการตรวจสอบการบริหารงานของไทยพีบีเอสในหลายภาคส่วน โดยภายหลังจากกลุ่มพนักงานซึ่งรวมตัวกันร่วมสองร้อยคนลงนามและเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการตรวจสอบการบริหารงานหลังจอไทยพีบีเอส ก็ได้เกิดประเด็นการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น/การแสดงออกซึ่งนำไปสู่การได้รับการตรวจสอบจากภาคประชาสังคม สื่อมวลชน หน่วยงานอิสระต่างๆ และการข่มขู่คุกคามทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อกลุ่มพนักงานที่เคลื่อนไหว พร้อมการตั้งข้อสังเกตของพนักงาน ดังต่อไปนี้

1. ระดับผู้นำ/ตัวแทนองค์กรฯ ออกมาให้ข่าวว่าการร้องเรื่องมีทั้งข้อเท็จจริงและข้อมูลที่ไม่จริง ตามบทบาทข้างต้น ที่กล่าวว่า "ผมได้เห็นข้อมูลและบทความที่เผยแพร่แล้วพบว่า มีทั้งข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและข้อสังเกตที่ดี มีข้อมูลส่วนที่เป็นความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ แต่ก็มีข้อมูลที่ไม่จริงปะปนอยู่มาก" จึงขอตั้งข้อสังเกตว่าทำไมระดับบริหาร หรือโฆษกตัวแทนขององค์กรไม่สามารถออกมาชี้แจงข้อสงสัยให้แก่พนักงานและสาธารณะชนตามประเด็นต่อไปนี้

- มีทั้งข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและข้อสังเกตที่ดี และทำไมถึงไม่ออกมาชี้แจงให้เห็นว่าการร้องเรียนของพนักงานเพื่อให้เกิดการตรวจสอบนั้น มีประเด็นหรือข้อมูลใดที่เท็จจริงและเป็นข้อสังเกตที่ดี ?

- มีข้อมูลส่วนที่เป็นความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ แต่ก็มีข้อมูลที่ไม่จริงปะปนอยู่มาก ทำไมไม่มีการออกมาชี้แจงว่าประเด็นใดเป็นข้อเสนอแนะที่ควรรับไว้พิจารณาปรับปรุง และประเด็นใดที่กล่าวอ้างว่าเป็นข้อมูลเท็จ ไม่เป็นความจริง ?

2. นับตั้งแต่ที่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มพนักงานที่เรียกร้องให้เกิดการตรวจสอบ มีการข่มขู่คุกคามพนักงานทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยกระบวนและวิธีการที่ไร้ซึ่งหลักการให้ความยุติธรรมและขาดธรรมาภิบาล ไม่สามารถมีกระบวนการสร้างความเข้าใจชี้แจงให้แก่พนักงานโดยรวม ซ้ำกระบวนการดังกล่าวยังยุยงให้พนักงานเกิดความแตกแยกเข้าใจผิด ซึ่งเป็นลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของความเป็นสื่อสาธารณะและสิทธิมนุษยชน ตามประเด็นข้อสังเกตดังนี้

- มีการให้ข่าวทั้งแก่พนักงานภายในองค์กรและสื่อมวลชนภายนอก ว่ากลุ่มพนักงานที่มีการเคลื่อนไหวเป็นกลุ่มบุคคลที่เสียผลประโยชน์ เป็นกลุ่มเสื้อแดง เป็นกลุ่มบุคคลที่จะนำความเสื่อมเสียให้แก่องค์กร เป็นกลุ่มบุคคลที่มุ่งให้ร้ายแก่องค์กรและจะนำองค์กรตกไปสู่เครื่องมือทางการเมือง ฯลฯ

การให้ข้อมูลดังกล่าวถือเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ที่บริสุทธิ์ของพนักงานโดยสิ้นเชิง เนื่องด้วยพนักงานกลุ่มดังกล่าวรวมพลังเพื่อเคลื่อนไหวในการปกป้องสื่อสาธารณะให้พ้นจากอำนาจการบริหารงานที่เชื่อว่ามีลักษณะการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบความบกพร่องในการบริหารตลอดระยะเวลาสี่ปี การปกป้องผลประโยชน์และปกป้องการกระทำที่ไม่ได้ยึดมั่นตามหลักธรรมาภิบาลของสื่อสาธารณะตามพันธกิจที่มีต่อสังคม การให้ข้อมูลดังกล่าวยังสร้างและถือเป็นการยุยงให้เกิดความแตกแยกในหมู่พนักงานท่ามกลางวิกฤติประเด็นคำถามที่ควรตอบโจทย์ทั้งต่อพนักงานภายในองค์กรและต่อภาคประชาสังคม

- มีระดับผู้อำนวยในองค์กรสร้างความเคลื่อนไหวในเฟซบุ๊ก เพื่อส่งเสริมให้พนักงานในสังกัดตนเองสวมเสื้อไทยพีบีเอสเพื่อแสดงสัญลักษณ์ในการต่อต้านความเคลื่อนไหวของกลุ่มพนักงานที่เรียกร้องให้เกิดการตรวจสอบ ซ้ำยังมีถ้อยคำที่หมิ่นประมาทพนักงานที่เคลื่อนไหวว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่พยายามให้ร้ายและทำลายภาพพจน์ขององค์กร ซึ่งอาจนำไปสู่การสะท้อนซึ่งการปกป้องการตรวจสอบตามกระบวนการยุติธรรมของหน่วยงานภายนอก

- กระบวนการไต่สวน/ตรวจสอบข้อร้องเรียนภายในองค์กรได้รับการคุกคามจากประธานกรรมการนโยบาย (คนปัจจุบัน) และจากผู้บริหารระดับสูงที่เชื่อว่ามีการใช้อำนาจที่มิชอบในการขอดูเอกสารรายชื่อและข้อมูลประกอบการร้องเรียนที่อยู่ในซอง ทั้งที่ไม่ได้มีอำนาจใดใดในกระบวนการตรวจสอบข้อร้องเรียกดังกล่าว

- มีคำสั่งจากผู้บริหารระดับสูงห้ามไม่ให้พนักงานในแต่ละสำนักเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว ซึ่งสะท้อนให้เห็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของความเป็นสื่อมวลชนและในฐานะพนักงานในนามข้าราชการที่เป็นลูกจ้างขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย โดยปราศจากการชี้แจงที่ชัดเจน ซ้ำยังมีความพยายามบิดเบือนประเด็นการเรียกร้องให้เกิดการตรวจสอบการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล เป็นเพียงการเรียกร้องเพื่อสิทธิ์ประโยชน์ของกลุ่มพนักงานที่สูญเสียผลประโยชน์ และการบิดเบือนประเด็นไปสู่การคุกคามทั้งการเมือง

มีพนักงานจำนวน 4 รายที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงทางอ้อมจากการใช้ความกล้าหาญและเจตนารมณ์ที่บริสุทธิ์เพื่อเรียกร้องให้เกิดการตรวจสอบ ซึ่งนับเป็นการคุมคามขมขู่ทั้งที่พนักงานได้ขอสัตยาบรรณจากกลุ่มผู้บริหารในการคุ้มครองสิทธิ์ขั้นพื้นฐานในการเรียกร้องและร้องเรียน ตลอดจนการสะท้อนข้อคิดเห็น ข้อสัเกตเห็นเพื่อนำไปสู่การตรวจสอบโดยกระบวนการตรวจภายในและภายนอก เนื่องด้วยไทยพีบีเอสเป็นสื่อสาธารณะกินเงินภาษีของประชาชน โดยสรุปประเด็นที่พนักงานได้รับผลกระทบต่อขวัญกำลังใจดังนี้
 

  • พนักงานท่านหนึ่งเป็นข้าราชการช่วยงานระดับซี 8 ได้รับการถูกขอยืมตัวมาช่วยงานที่ไทยพีบีเอส โดยมีกำหนดสิ้นสุดสัญญาการยืมตัวมาช่วยงานข้าราชการในสิ้นปีพ.ศ. 2555 ถูกส่งตัวกลับทันทีเมื่อเข้ามาร่วมพลังเคลื่อนไหวเรียกร้องให้เกิดการตรวจสอบ และถูกสั่งห้ามจากผู้อำนวยการส.ส.ท. ในการแสดงความคิดเห็นใดใด ทั้งที่เป็นข้าราชการเข้ามาช่วยงานที่ไทยพีบีเอส และในฐานะประชาชนท่านหนึ่งที่ควรมีสิทธิ์มีเสียงในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นในการปรับปรุงบทบาทสื่อสาธารณะ
     
  • พนักงานระดับอาวุโสท่านหนึ่งเคยทำเรื่องร้องเรียนขอย้ายจากต้นสังกัดเนื่องด้วยถูกขมขู่คุกคามและไม่ได้รับความเป็นธรรมจากต้นสังกัด โดยได้ดำเนินทำเรื่องขอย้าย จนเมื่อต้นสังกัดอนุมัติให้ทำเรื่องย้ายได้ พนักงานท่านก็ได้พยายามหาตำแหน่งและหน่วยงานที่เหมาะสม เมื่อได้รับอนุมัติจากปลายสังกัดแห่งหนึ่งให้ไปช่วยงาน ก็มีการถูกระงับภายหลัง และยื่นข้อเสนอใหม่ให้ไปลงหน่วยงานทางเลือกสองแห่ง เมื่อพนักงานท่านนั้นตัดสินใจตอบรับการขอโอนย้ายไปยังหน่วยงานหนึ่งเพื่อการทำงานที่จะเกิดประโยชน์และมีความสบายใจ ท้ายสุดหลังจากมีการเคลื่อนไหวในนามพนักงาน พนักงานท่านนี้ถูกระงับคำสั่งการโอนย้ายทันที โดยให้กลับไปทำงานในต้นสังกัดเดิมทันที (ต้นสังกัดที่พนักงานมีความอึดอัดใจในเรื่องธรรมาภิบาล ได้รับการข่มขู่คุกคามจากผู้บังคับบัญชา จนต้องทำเรื่องร้องเรียนไปที่ ผอ.ส.ส.ท. แต่กระบวนการซึ่งนำมาของความยุติธรรมนั้นสูญหายไประหว่างทาง เมื่อ ผอ.ส.ส.ท. นำเรื่องการร้องเรียนไปยังรองผู้อำนวยการของต้นสังกัด และรองผู้อำนวยการท่านนั้นมิได้มีกระบวนการไต่สวนและตรวจสอบเพื่อนำมาซึ่งความเป็นธรรม กลับนำแฟ้มการร้องเรียนนั้นไปให้ผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดของผู้ร้องเรียนอ่านทั้งหมด เรื่องราวของการข่มขู่คุกคามทั้งทางตรงและทางอ้อมจึงดำเนินขึ้นมาโดยตลอด อย่างปราศจากการเร่งไต่สวน ตรวจสอบให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ซึ่งเข้าข่ายการละเลยปฏิบัติหน้าที่ )
     
  • พนักงานท่านหนึ่งที่ออกมาร่วมใช้สิทธิ์ใช้เสียงเรียกร้องให้เกิดการตรวจสอบ ถูกกรีดรถยนต์ที่ลานจอดรถไทยพีบีเอส ภายหลังออกจากห้องประชุมที่ผู้บริหารเปิดเวทีเปิดใจผู้บริหารในกรณีร้องเรียนต่างๆ สะท้อนความเป็นแดนสนธยาอย่างแท้จริง แม้ยังไม่มีข้อพิสูจน์ได้ว่าการข่มขู่ด้วยการกรีดรถพนักงานนั้นมาจากประเด็นความขัดแย้งส่วนตัว หรือประเด็นการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ก็เป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบโดยเร่งด่วน ว่ามีเหตุการณ์อัธพาลเช่นนี้ เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้ ในองค์กรสื่อสาธารณะได้อย่างไร
     
  • พนักงานท่านหนึ่งได้รับการกล่าวว่าและสั่งห้ามให้เคลื่อนไหวภายหลังจากที่แสดงการวิพากษ์ความบกพร่องในด้านต่างๆ ของไทยพีบีเอส และภายหลังที่ร่วมแสดงออกซึ่งความเคลื่อนไหวเรียกร้องการตรวจสอบเพื่อนำมาซึ่งหลักธรรมาภิบาลให้แก่สื่อสาธารณะของประชาชน

 

นับเป็นบทสะท้อนสู่การตั้งข้อสังเกตดังนี้

1. การปกป้องความผิดพลาดการบริหารงาน โดยบิดเบือนเจตนารมณ์ที่บริสุทธิ์ของพนักงานที่เคลื่อนไหว
2. ความกลัวต่อข้อผิดพลาดที่กระทำไว้ซึ่งอาจเข้าข่ายการบริหารงานที่ผิดพลาดขัดต่อกฎข้อบังคับว่าด้วยหลักธรรมาภิบาล ความ โปร่งใส ความเป็นธรรมภายใต้พระราชบัญญัติขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย
3. การเชื่อมโยงประเด็นเรื่องการคุกคามทางการเมือง ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ดูงามหรูในการต้องลงจากตำแหน่ง ทั้งที่ไม่ได้มีประเด็นใดๆ เกี่ยวกับการคุกคามทางการเมือง

หากพิจารณาดีๆ การบริหารงานที่อ่อนแอ ขาดธรรมาภิบาลความโปร่งใสต่างหาก ที่จะนำไทยพีบีเอสไปสู่การวิพากษ์ของสังคม ของรัฐบาล และหากกล้าที่จะยอมรับความผิดพลาด อนาคตของไทยพีบีเอสก็มีทางออก และทางแก้ทางเดียวคือการได้ผู้บริหารระดับมืออาชีพที่มีความเข้าใจสื่อสาธารณะอย่างแท้จริง และเข้ามาขจัดความไม่โปร่งใส และผลประโยชน์ทับซ้อน การเล่นพรรคเล่นพวกของผู้บริหารชุดปัจจุบัน ซึ่งอ้างว่ามีอุดมการณ์ของความเป็นสื่อสาธารณะ หากแต่พฤติกรรมการบริหารกลับสะท้อนอุดมการณ์กลับขั้วจากพันธกิจที่ลั่นไว้ต่อประชาชน

แม้ว่าผลงานหน้าจอจะเป็นที่ประจักษ์ในความเปลี่ยนแปลงการนำเสนอข่าว รายการที่มีคุณภาพปราศจากการเมืองและธุรกิจเข้ามาแทรกแซง แต่ในบทบาทของความเป็นสื่อสาธารณะนั้น คงไม่สามารถนำผลวัดจากหน้าจอเพียงประการเดียวเป็นตัวชี้นำความสำเร็จ การบริหารคน การบริหารการคลัง และการบริหารงานทุกภาคส่วนหลังจอไทยพีบีเอสล้วนเป็นปัจจัยการบ่งบอกความสำเร็จหรือไม่สำเร็จของบทบาทสื่อสาธารณะด้วย

ถึงเวลาที่สื่อสาธารณะควรมีผู้นำที่เคลื่อนนำไทยพีบีเอสด้วยหลักธรรมาภิบาล ขจัดความไม่โปร่งใส และโละทิ้งผู้บริหารงานที่ขาดประสิทธิภาพและเจตนารมณ์ที่จะเข้ามาบริหารงานเพื่อสื่อสาธารณะของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะเรื่องเรียกร้องผลประโยชน์และสวัสดิการของพนักงานนั้นเป็นเรื่องรอง หากตราบใดที่ยังไม่สามารถรื้อโครงสร้างการบริหารแบบคิดใหม่ทำใหม่ได้ สวัสดิการขั้นพื้นฐานของพนักงานก็ไม่มีอนาคต และนั่นไม่ใช่เป็นประเด็นหลักของการเรียกร้องและร้องเรียนในเกิดการตรวจสอบในครั้งนี้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สำนักข่าวอิศราเปิดข้อมูล 6 ที่ปรึกษา สนง.ประกันสังคม ค่าตัว 28 ล้าน

Posted: 24 Jul 2012 02:05 AM PDT

เผยสำนักงานประกันสังคมจ้าง “ที่ปรึกษา” 6 คนให้คำแนะนำด้านบริหารความเสี่ยง ประมวลผล ลงทุนตราสาร เป็นเงินกว่า 28 ล้านบาท นอกจากนี้ยังว่าจ้างสถาบันการศึกษาเป็นที่ปรึกษากว่า 54 ล้านบาท

(24 ก.ค.55) สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่าจากการตรวจสอบพบว่า นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 เป็นต้นมาจนถึงปี 2554 สำนักงานประกันสังคมได้ใช้เงิน 28,607,800 บาทเพื่อจ้างที่ปรึกษาด้านการลงทุนและอื่นๆ ได้แก่

1.น.ส.สุธีรา พิทยเมธี จำนวน 1 ครั้ง 1,004,400 บาท (30 ธ.ค. 51)
2.นายรัชกฤษณ์พงศ์ เอกรังสรรค์ 4 ครั้งจำนวน 6,785,800 บาท (ที่ปรึกษาด้านบริหารความเสี่ยง)
3. นางสาวหทัยทิพย์ พิชัยภาพ 3 ครั้ง รวม 4,897,200 บาท (ที่ปรึกษาด้านงานประมวลผลและบัญชีเงินลงทุน)
4. นายเศรษฐ์ศิษฏ์ เขียนวิจิตร์ 2 ครั้ง จำนวน 2,197,200 บาท (ที่ปรึกษาด้านการกำกับการลงทุน)
5. นายเจริญ แซ่โง้ว 3 ครั้ง 6,895,200 บาท (ที่ปรึกษาด้านการบริหารความเสี่ยง)
6. นายอรรถพล ยามะรัต 2 ครั้ง 2,334,000 บาท (ที่ปรึกษาการลงทุนด้านตราสารทุน)
นอกจากนี้ยังใช้เงิน 1,760,400 บาทเป็นค่าจ้างที่ปรึกษาด้านการบริหารความเสี่ยงเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2551 โดยไม่ได้ระบุรายละเอียด โดยเงินจำนวนดังกล่าวไม่รวมการว่าจ้างสถาบันการศึกษาหลายแห่งเป็นที่ปรึกษาตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมาอีก 54,575,161 บาท

ขณะเดียวกันยังใช้เงินอีกเกือบ 2 ล้านบาทในการจัดซื้อรถยนต์หุ้มเกราะกันกระสุนเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2554

 

 

ที่มา: http://www.isranews.org/investigate/investigative-03/75-investigative-03/7852--6-28-.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จี้รัฐฯ ถอนสัญญาซื้อไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรี ขู่ฟ้องศาลปกครอง 7 ส.ค.นี้

Posted: 24 Jul 2012 01:38 AM PDT

 

 
ภาพจำลอง "เขื่อนไซยะบุรี" ที่จะปิดกั้นแม่น้ำโขง เขตเมืองไซยะบุรีที่อยู่ห่างจาก เมืองหลวงพระบางเพียง 80 กิโลเมตร เขื่อนมีความสูง 32.8 เมตร ยาว 820 เมตร ใช้เงินก่อสร้างมากกว่า 3.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ปีละ 1,295 เมกะวัตน์ โดยส่งมาประเทศไทย 95% ของกำลังการผลิตทั้งหมด
 
 
วันที่ 23 ก.ค.55 เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ออกแถลงการณ์ เรียกร้องรัฐบาลไทยเพิกถอนสัญญาซื้อพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี ทำการศึกษาผลกระทบเครือข่ายฯ หากไม่ดำเนินการเตรียมฟ้องร้องต่อศาลปกครอง โดยนัดหมายกำหนดวันฟ้องในวันที่ 7 สิงหาคมนี้
 
แถลงการณ์ ระบุว่า ตามที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะองค์กรของรัฐ ได้ทำสัญญาซื้อพลังงานไฟฟ้า (Power Purchase Agreement - PPA) จากเขื่อนไซยะบุรี กับ บริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อเดือนตุลาคม 2554 และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สื่อมวลชนและเครือข่ายองค์กรสิ่งแวดล้อมได้ลงพื้นที่เขตก่อสร้างเขื่อนไปแล้วกันเป็นระยะๆ ซึ่งต่างนำข้อเท็จจริงและหลักฐานต่างๆ ออกมาแสดงให้เห็นว่ามีการเริ่มลงมือก่อสร้างโครงการเขื่อนไปแล้ว
 
สัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานข่าวทางสื่อมวลชนถึงท่าทีของรัฐบาลลาว ว่าตัดสินใจให้ชะลอโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีบนแม่น้ำโขง โดยจะทำการศึกษาผลกระทบเพิ่มเติม ซึ่งรัฐบาลเวียดนาม และกัมพูชา ก็ได้แสดงความเป็นห่วงต่อผลกระทบข้ามพรมแดนสู่ประเทศท้ายน้ำ แต่ในเวลาต่อมาได้ผู้บริหารบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ กลับให้ข้อมูลผ่านสื่อมวลชนในอีกลักษณะหนึ่งว่าจะปรับเปลี่ยนแบบเขื่อน และการศึกษาเหล่านี้จะไม่กระทบแผนการก่อสร้างเขื่อนตามที่วางไว้ ซึ่งนั่นหมายความว่าการเดินหน้าโครงการยังคงดำเนินต่อไป และเหตุผลสำคัญที่ผู้บริหารบริษัท ช.การช่างฯ ใช้ในการเดินหน้าโครงการคือสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้ายังไม่ได้ถูกระงับหรือยกเลิก
 
ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 16-17 กรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลลาวพยายามที่จะพิสูจน์ความจริงใจโดยการนำประเทศพันธมิตรที่ไปดูข้อเท็จจริงของการก่อสร้าง แต่กลับไม่มีข้อยืนยันถึงแผนที่จะชะลอโครงการเพื่อทำการศึกษาผลกระทบ และยืนยันต่อคณะผู้แทนว่าจะไม่มีการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน ขณะที่มีหลักฐานชัดเจนจากสื่อมวลชนว่าได้มีการถมดินกั้นแม่น้ำโขงยาวหลายร้อยเมตรจนแทบปิดกั้นลำน้ำ ซึ่งภาพที่ออกมาสร้างความวิตกกังวลให้กลับหลายฝ่าย ที่สำคัญคือความคับข้องใจและความเคลือบแคลงสงสัยที่เกิดขึ้นจากท่าทีของรัฐบาลลาว
 
เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ด้วยความเป็นห่วง พร้อมทั้งทักท้วงในประเด็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากเขื่อนมาโดยตลอด โดยเฉพาะผลกระทบต่อระบบนิเวศแม่น้ำ การอพยพของปลาแม่น้ำโขง การประมง ความมั่นคงทางอาหารของชุมชน รายได้ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชุมชนตลอดลุ่มน้ำ
 
ในวาระนี้ เครือข่ายประชาชนไทยเพื่อแม่น้ำโขง ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ระงับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ระหว่าง กฟผ.และบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด และดำเนินการผลักดันให้มีการทำการศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากเขื่อนไซยะบุรี ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพ ตลอดจนดำเนินการเปิดเผยข้อมูล รับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำ ซึ่งเป็นผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง มิเช่นนั้นจะถือเป็นการละเมิดสิทธิตามบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญไทย และกฎหมายอื่นๆ ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงการละเมิดกฎหมายภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการปล่อยให้โครงการที่มีผลกระทบรุนแรงและไม่สามารถแก้ไขคืนมาได้ ได้ดำเนินการไปโดยขาดการศึกษา และการปรึกษาหารือ ตามที่ควร ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้ และที่มีแนวปฏิบัติระดับสากลเป็นแนวทางกำกับอยู่อีกด้วย
 
 
 
แถลงการณ์เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง
 
เรียกร้องรัฐบาลไทยเพิกถอนสัญญาซื้อพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี ทำการศึกษาผลกระทบ
 
เครือข่ายฯ พร้อมฟ้องศาลปกครอง 7 สิงหาคม
 
23 กรกฎาคม 2555
 
ตามที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะองค์กรของรัฐ ได้ทำสัญญาซื้อพลังงานไฟฟ้า (Power Purchase Agreement - PPA) จากเขื่อนไซยะบุรี กับ บริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อเดือนตุลาคม 2554 และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สื่อมวลชนและเครือข่ายองค์กรสิ่งแวดล้อมได้ลงพื้นที่เขตก่อสร้างเขื่อนไปแล้วกันเป็นระยะๆ ซึ่งต่างนำข้อเท็จจริงและหลักฐานต่างๆออกมาแสดงให้เห็นว่ามีการเริ่มลงมือก่อสร้างโครงการเขื่อนไปแล้ว
 
สัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานข่าวทางสื่อมวลชนถึงท่าทีของรัฐบาลลาว ว่าตัดสินใจให้ชะลอโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีบนแม่น้ำโขง โดยจะทำการศึกษาผลกระทบเพิ่มเติม ซึ่งรัฐบาลเวียดนาม และกัมพูชา ก็ได้แสดงความเป็นห่วงต่อผลกระทบข้ามพรมแดนสู่ประเทศท้ายน้ำ แต่ในเวลาต่อมาได้ผู้บริหารบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ กลับให้ข้อมูลผ่านสื่อมวลชนในอีกลักษณะหนึ่งว่าจะปรับเปลี่ยนแบบเขื่อน และการศึกษาเหล่านี้จะไม่กระทบแผนการก่อสร้างเขื่อนตามที่วางไว้ ซึ่งนั่นหมายความว่าการเดินหน้าโครงการยังคงดำเนินต่อไป และเหตุผลสำคัญที่ผู้บริหารบริษัท ช.การช่างฯใช้ในการเดินหน้าโครงการคือสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้ายังไม่ได้ถูกระงับหรือยกเลิก
 
โครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีเป็นประเด็นปัญหาในภูมิภาคมานานนับปี โดยเขื่อนแห่งนี้มีขนาด 1,260 เมกะวัตต์ งบประมาณลงทุนก่อสร้างสูงกว่า 1 แสนล้านบาท นำโดยบริษัท ช.การช่าง จำกัด(มหาชน) ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนด้านการเงินจากธนาคารพาณิชย์ไทยอย่างน้อย 4 แห่ง ขณะที่ กฟผ. ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โดยจะรับซื้อไฟฟ้าประมาณร้อยละ 95 สู่ประเทศไทย แต่รายงานข้อเสนอแนะต่อแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า (PDP 2012) จากภาคประชาชน ระบุว่าประเทศไทยไม่ต้องการไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีแต่อย่างใด และที่ผ่านมาภาคประชาชนได้เคยทวงจริยธรรมและคุณธรรมของสถาบันการเงินในการปล่อยกู้ให้กับธุรกิจมาแล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ ซึ่งคงจะต้องมีการทวงถามกันต่อไป
 
เป็นที่ทราบกันดีว่าเขื่อนไซยะบุรียังไม่ได้รับฉันทามติจาก 4 ประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงตอนล่าง อันได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 ที่ได้กําหนดให้มีระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA) ซึ่งกําหนดไว้ว่าประเทศสมาชิกจะต้องแจ้งต่อคณะกรรมการร่วมของ MRC (Joint Committee) ในกรณีที่ประเทศมีความประสงค์ที่จะมีโครงการพัฒนาสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ใดๆ (เช่น โครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้า เขื่อน) บนแม่น้ำโขงสายหลักหรือแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าโครงการดังกล่าวอาจจะสร้างผลกระทบข้ามเขตแดนต่อประชาชนหรือสิ่งแวดล้อมที่อยู่ปลายน้ำ
 
ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 16-17 กรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลลาวพยายามที่จะพิสูจน์ความจริงใจโดยการนำประเทศพันธมิตรที่ไปดูข้อเท็จจริงของการก่อสร้าง แต่กลับไม่มีข้อยืนยันถึงแผนที่จะชะลอโครงการเพื่อทำการศึกษาผลกระทบ และยืนยันต่อคณะผู้แทนว่าจะไม่มีการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน ขณะที่มีหลักฐานชัดเจนจากสื่อมวลชนว่าได้มีการถมดินกั้นแม่น้ำโขงยาวหลายร้อยเมตรจนแทบปิดกั้นลำน้ำ ซึ่งภาพที่ออกมาสร้างความวิตกกังวลให้กลับหลายฝ่าย ที่สำคัญคือความคับข้องใจและความเคลือบแคลงสงสัยที่เกิดขึ้นจากท่าทีของรัฐบาลลาว
 
เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ด้วยความเป็นห่วง พร้อมทั้งทักท้วงในประเด็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากเขื่อนมาโดยตลอด โดยเฉพาะผลกระทบต่อระบบนิเวศแม่น้ำ การอพยพของปลาแม่น้ำโขง การประมง ความมั่นคงทางอาหารของชุมชน รายได้ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชุมชนตลอดลุ่มน้ำ
 
ในวาระนี้ เครือข่ายประชาชนไทยเพื่อแม่น้ำโขง ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ระงับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ระหว่าง กฟผ. และบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด และดำเนินการผลักดันให้มีการทำการศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากเขื่อนไซยะบุรี ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพ ตลอดจนดำเนินการเปิดเผยข้อมูล รับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำ ซึ่งเป็นผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง มิเช่นนั้นจะถือเป็นการละเมิดสิทธิตามบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญไทย และกฎหมายอื่นๆ ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงการละเมิดกฎหมายภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการปล่อยให้โครงการที่มีผลกระทบรุนแรงและไม่สามารถแก้ไขคืนมาได้ ได้ดำเนินการไปโดยขาดการศึกษา และการปรึกษาหารือ ตามที่ควร ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้ และที่มีแนวปฏิบัติระดับสากลเป็นแนวทางกำกับอยู่อีกด้วย
 
ทั้งนี้ หากไม่มีการระงับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว ท้ายที่สุดชาวบ้านจึงเตรียมฟ้องร้องต่อศาลปกครอง โดยนัดหมายกำหนดวันฟ้องในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ณ ศาลปกครองกลาง กรุงเทพมหานคร
 
 
 
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประธานาธิดีพม่าเยือนไทย พร้อมลงนามความร่วมมือ 3 ด้าน

Posted: 24 Jul 2012 01:13 AM PDT

ไทยยืนยันลงทุนท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย พร้อมเสนอเปิดจุดผ่านแดนเพิ่ม 3 แห่ง พัฒนาบุคลากร ขณะที่ประธานาธิบดีพม่าขอบคุณไทยที่ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจพม่า

ประธานาธิบดีเต็ง เส่งของพม่า และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตรวจแถวทหารระหว่างการเยือนทำเนียบรัฐบาลของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง (ที่มาของภาพ: เฟซบุคของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)

ตามที่ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ของพม่าเยือนไทยระหว่างวันที่ 22 - 24 ก.ค. นี้นั้น สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานเมื่อวานนี้ (23 ก.ค. 55) ว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ หรือ พม่า แถลงร่วมผลการหารือข้อราชการ โดยนายกรัฐมนตรี ได้ขอบคุณในความร่วมมือของพม่า ทั้งด้านเศรษฐกิจ การลงทุน การจ้างงาน และการปราบปรายาเสพติด ซึ่งจะมีการจัดพิธีฉลองการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตครบ 65 ปีในปี 2556

โดยในการหารือไทยได้เสนอการขยายความร่วมมือในหลายด้านและแสดงความพร้อมในการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิร่วมไทย-พม่า หรือเจซี ที่สหภาพพม่าจะเป็นเจ้าภาพและเสนอการจัดตั้งสมาคมมิตรภาพพม่า-ไทย คู่ขนานกับสมาคมไทย-พม่า เพื่อมิตรภาพ ซึ่งไทยได้การเสนอแนวทางความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในพม่า 4 สาขาหลัก คือ การเสริมสร้างขีดความสามารถบุคลากรพม่า การเตรียมความพร้อมในการที่สหภาพพม่าจะเป็นประธานอาเซียนในปี 2557 การปฏิรูปเศรษฐกิจและพัฒนาทางเลือก การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

และในโอกาสนี้ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลง 3 ฉบับ ได้แก่ 1.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาที่ครอบคลุมเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่ โครงการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการยืนยันพันธะของฝ่ายไทยที่จะร่วมมือกับพม่าในการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมที่ทวาย รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นโดยทั้ง 2 ฝ่ายได้ตกลงที่จะจัดตั้งคณะทำงานระดับรัฐมนตรี ซึ่งจะประชุมกันในเดือนสิงหาคม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจตามแนวชายแดนมากขึ้น โดยไทยได้เสนอให้มีการเปิดจุดผ่านแดนระหว่างไทย-พม่าเพิ่มเติมที่ (1) ด่านกิ่วผาวอก จ. เชียงใหม่ (2) ด่านห้วยต้นนุ่น จ. แม่ฮ่องสอน และ (3) ด่านบ้านน้ำพุร้อน จ. กาญจนบุรี

2. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาพม่า ซึ่งบอยู่ใน 4 สาขาหลัก คือ (1) การเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรพม่า (2) การเตรียมความพร้อมการเป็นประธานอาเซียนของพม่าในปี 2557 (3) การปฏิรูปเศรษฐกิจและการพัฒนาทางเลือก และ (4) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

และ 3. ถ้อยแถลงร่วมว่าด้วยการจัดตั้งเวทีหารือด้านพลังงาน 

และทั้งสองฝ่ายยังเห็นตรงกันในความร่วมมือการพัฒนาการปลูกข้าวในพม่าและการพัฒนาด้านแรงงาน โดยยืนยันที่จะดูแลแรงงานพม่าในไทยอย่างเป็นระบบและมีสิทธิภายใต้กฏหมายแรงงานไทย

ขณะที่ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง แสดงความขอบคุณรัฐบาลไทยที่ตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งได้หารือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงการขนส่งเส้นทางท่าเรือน้ำลึกทวายและแหลมฉบัง โดยย้ำว่าพม่าพร้อมที่จะให้การสนับสนุนประเทศไทยในการดำเนินโครงการด้านต่างๆ เช่นกัน

 

เรื่องคนไทย 92 คนที่ถูกจับที่พม่า จะต้องรับโทษก่อน ถึงจะได้ลดหย่อน

ส่วนกรณีการช่วยเหลือคนไทย 92 คน ที่ข้ามจาก จ.ระนอง เข้าไปยังภาคตะนาวศรีของพม่าเพื่อทำการเพาะปลูก ก่อนถูกทางการพม่าจับกุมนั้น นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณประธานาธิบดีพม่า ที่ดูแลคนไทยเป็นอย่างดี ขณะที่นายเต็ง เส่ง ชี้แจงกับนายกรัฐมนตรีว่า มีคนไทยหลายคนใน 92 คน ทำผิดกฎหมายร้ายแรง มีการพกอาวุธสงคราม และปลูกพืชยาเสพติดในพื้นที่ จำเป็นต้องถูกตัดสินโทษตามความผิดภายใต้กฎหมายพม่า หลังจากตัดสินคดีเสร็จสิ้นแล้ว ทางการพม่าจะหาแนวทางช่วยเหลือคนไทย ด้วยการลดหย่อนโทษ สำหรับคนไทยที่รับโทษน้อยจะมีโอกาสได้กลับบ้านก่อน ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควรในการคัดแยกคน และการดำเนินการฟ้องร้องตามระเบียบ

ทั้งนี้ผู้นำทั้ง 2 ประเทศ ยังได้หารือเรื่องอนาคตพม่า ที่จะให้คนไทยเข้าไปลงทุน โดยเฉพาะการปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน ด้วยการเปิดให้เช่าพื้นที่เพาะปลูก แต่ขอให้ดำเนินการอย่างถูกต้องผ่านกระทรวงต่อกระทรวง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเชิญชวน ขณะที่ปัญหายาเสพติดตามแนวชายแดน นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ไม่อยากให้มียาเสพติดตามแนวชายแดน และอยากให้มีการปราบปรามอย่างเข้มงวด โดยนายเต็ง เส่ง เห็นด้วยและพร้อมให้ความร่วมมืออย่างดี ส่วนการแก้ปัญหาชนกลุ่มน้อยจะร่วมกันแก้ปัญหา ทั้งเรื่องการทำหนังสือเดินทางและวีซ่า

 

เคยเลื่อนเยือนไทยมาแล้ว 1 ครั้ง ช่วง "ออง ซาน ซูจี" มาประชุม WEF

อนึ่งก่อนหน้านี้ ในการประชุมประชุมเวทีเศรษฐกิจโลกว่าด้วยภูมิภาคเอเชียตะวันออก(World Economic Forum on East Asia) ครั้งที่ 21 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อปลายเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีการเชิญนางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านพม่ามาร่วมด้วยนั้น ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ได้ยกเลิกกำหนดการเยือนไทยในช่วงดังกล่าวออกไปก่อน แต่มอบหมายให้รมว.พลังงาน และ รมช.การท่องเที่ยวและโรงแรมของพม่า มาร่วมงานแทน โดยขอเลื่อนการเยือนไทยมาเป็นวันที่ 4-5 มิ.ย. และต่อมาเมื่อ 1 มิ.ย. ได้แจ้งขอยกเลิกการเยือนไปก่อน

ทำให้ รมว.ต่างประเทศไทยทำหนังสื่อชี้แจงพม่าว่า ผู้จัดการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก WEF เป็นผู้เชิญนางออง ซาน ซูจีเอง และกำหนดการพบปะประชาชนของนางออง ซาน ซูจี เป็นการดำเนินการเองผ่านบริษัทประชาสัมพันธ์ รัฐบาลไทยไม่ทราบกำหนดการ (ข่าวย้อนหลัง) ขณะที่ทางพม่าชี้แจงสาเหตุการเลื่อนการเยือนไทยว่าเพื่อแก้ปัญหาภายในประเทศ ก่อนที่จะเลื่อนกำหนดการเยือนไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 22 - 24 ก.ค. ดังกล่าว

 
ที่มา: เรียบเรียงจากเว็บไซต์สำนักข่าวแห่งชาติ [1] , [2] และเฟซบุคยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น