โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เครือข่ายฯ ที่ดินสุราษฎร์หนุนแก้รัฐธรรมนูญ เอื้อประชาชนเข้าถึงทรัพยากร

Posted: 22 Jul 2012 09:58 AM PDT

สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้หนุนแก้รัฐธรรมนูญ หวังรื้อโครงสร้างอำนาจรัฐเป็นประชาธิปไตยแท้จริง เชื่อเอื้อตั้งศาลสิ่งแวดล้อมใช้ระบบไต่สวน จัดทำ พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายคดีสิ่งแวดล้อม ชี้ม็อบ “ศาลากลาง-ทำเนียบ” แค่ยันเฉพาะหน้า

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 22 กรกฏาคม 2555 ที่หลาเรียนรู้ศาลาชุมชน มูลนิธิอันดามัน ตำบลควนปริง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านกฎหมายกับเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) และโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)  โดยมีชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จากจังหวัดตรัง พัทลุง ประจวบคีรีขันธ์ และชาวบ้านสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี เข้าร่วมประมาณ 50 คน

นายบุญฤทธิ์ ภิรมย์ กรรมการสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) กล่าวว่า เราต้องทำอะไรมากกว่าการวอนขอจากรัฐ แม้จะมีสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย 2550 รับรอง แต่กฎหมายลูกของกรม กระทรวงต่างๆ มีอำนาจเหนือกว่า เมื่อมองในมุมกลับแปลงยางของชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดถูกอุทยานฯ ฟันทำลาย แต่สวนปาล์มน้ำมันที่สุราษฎร์ธานีของบริษัทที่ปลูกในพื้นที่ป่าเช่นกันกลับไม่มีการบุกปราบ

“หากพูดถึงกรรมสิทธิ์ต้องเกิดจากการต่อสู้ สรุปแล้วปัญหาของทรัพยากร ณ วันนี้ต้องทำอย่างไรให้ชาวบ้านเข้าถึงทรัพยากร แต่เราไม่สามารถกลไกรัฐได้ ทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีอำนาจอย่างชอบธรรม ขณะที่โครงสร้างการปกครองประเทศไม่เป็นธรรม” นายบุญฤทธิ์ กล่าว

นายสุรพล สงฆ์รักษ์ ผู้ประสานงานสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) กล่าวว่า เรากำลังเผชิญหน้ากับระบบตุลาการที่ไม่เป็นธรรมขึ้นอยู่กับการเมืองจารีตนิยม กรณีชุมชนสันติพัฒนา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถูกกรมบังคับคดีให้รื้อถอนหมู่บ้าน เมื่อคำพิพากษาผิดพลาดโดยการเหวี่ยงแหชาวบ้านกว่า 100 คน อำนาจตุลาการไม่เคยสนใจใยดีชาวบ้าน ทั้ง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฯลฯตรวจสอบแล้วว่าบริษัทได้ที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่นำไปพิจารณาในการพิพากษา แต่ให้ความสำคัญกับผู้ใหญ่บ้านที่รับใช้บริษัททุนเพียงคนเดียวมาพิพากษา เป็นคำพิพากษาที่อัปยศ กระเหี้ยนกระหือรือ

นายสุรพล กล่าวต่อไปว่า ตนคิดว่าถ้าประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงจะไม่เอื้อช่วยเหลือภาคประชาชนอย่างถึงรากถึงโคน ปัญหาเหล่านี้จะเกิดขึ้นอีกไม่จบไม่สิ้น ภาคประชาชนทำได้เพียงแค่การต่อสู้เฉพาะหน้าชุมนุมประท้วงศาลากลางจังหวัด หน้าทำเนียบรัฐบาล ยันได้แค่เพียงครั้งคราวเท่านั้น ดังนั้นจึงควรสนับสนุนให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

นายสุรพล กล่าวอีกว่า ในการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้น ตนคิดว่าเราต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการยกร่างรัฐธรรมนูญ เอื้อให้เกิดพระราชบัญญัติประมวลกฏหมายคดีสิ่งแวดล้อม เอื้อให้เกิดศาลทางด้านสิ่งแวดล้อมโดยใช้ระบบการไต่สวน ผู้พิพากษาศาลต้องมาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่การแต่งตั้ง ผู้พิพากษาเป็นคนธรรมดาย่อมมีอคติ ชาวบ้านสิทธิโต้แย้งถกเถียงได้ไม่ใช่เป็นอาญาสิทธิ์หาไม่เช่นนั้นแล้วอาจเผชิญชะตากรรมเดียวกับนักโทษมาตรา 112 ตามพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา

“ผมคิดว่าเราต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจรัฐ ทิศทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแบบไหน รายมาตรา หรือทั้งฉบับ คนแก้รัฐธรรมนูญก็ต้องรู้ว่าภาคประชาชนเดือดร้อนอย่างไร ชาวบ้านต้องการอะไร เราจึงควรดำเนินการยันในทางพื้นที่และทางการเมือง แต่เราต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” นายสุรพล กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เขาบรรทัดลั่นนำสิทธิชุมชนสู่ศาลปกครอง ฟ้องถอนอุทยานฯ เล็งร่าง กม.ป่าใหม่

Posted: 22 Jul 2012 08:46 AM PDT

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดลั่นนำสิทธิชุมชนขึ้นศาลปกครอง ฟ้องถอนอุทยานฯ แน่ กระตุ้นชาวบ้านเตรียมพร้อมศึกษาจริงจัง ประสานฝ่ายนโยบาย เล็งมีส่วนร่วมร่างกฎหมายป่าไม้ใหม่

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 22 กรกฏาคม 2555 ที่หลาเรียนรู้ศาลาชุมชน มูลนิธิอันดามัน ตำบลควนปริง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านกฎหมายกับเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) และโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)  โดยมีชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จากจังหวัดตรัง พัทลุง ประจวบคีรีขันธ์ และชาวบ้านสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี เข้าร่วมประมาณ 50 คน

นายเลาฟั้ง บัณฑิตาทอดสกุล ทนายความจากเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน นำเสนอว่า ปัญหาที่ดินเป็นปัญหาร่วมของคนทั้งประเทศ โดยที่ผ่านมามีใช้ใช้สิทธิชุมชน ตามมาตรา 66 และ 67 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) และโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ได้ร่วมกันศึกษาเบื้องต้นพอพบว่าการที่จะแก้ปัญหาได้นั้นจะต้องใช้สิทธิชุมชนฟ้องกรมป่าไม้ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า ฯลฯ กับศาลปกครองขอเพิกถอนพื้นที่ซึ่งประกาศทับที่ชาวบ้านดั้งเดิม และการต่อรองการขอใช้สิทธิ์ทำกินเมื่อมีการขยายชุมชนกับพื้นที่อนุรักษ์ของรัฐ

นายสงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ ทนายความจากโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม เสนอว่า คนในเขตป่าต้องเสนอให้มีการแก้ไขปัญหาที่ดินในเชิงระบบครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งประเทศ มีชุมชนจำนวนมากอยู่ในเขตป่าแต่กฎหมายไม่รับรอง แล้วเป็นไปได้หรือไม่ที่จะใช้สิทธิชุมชนเพื่อฟ้องกับศาลปกครองชี้ขาด แต่ทั้งนี้พื้นที่นั้นจะต้องมีความพร้อมทั้งข้อมูลมั่นใจว่าจะสามารถชนะคดีได้

นายบุญ แซ่จุ่ง ผู้ประสานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่า ในอนาคตเราใช้สิทธิชุมชนฟ้องกรมป่าไม้ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า ฯลฯ กับศาลปกครอง เพิกถอนพื้นที่ซึ่งประกาศทับที่แน่นอน อำนาจตุลาการมีเราก็ต้องใช้เครือข่ายฯ เราเตรียมตัวตั้งแต่วันนี้ ถ้าจะฟ้องต้องมีความรู้มากกว่านี้ ต้องมีการปฏิบัติการอย่างเป็นระบบ อีกทั้งต้องประสานฝ่ายนโยบาย การมีธรรมนูญชุมชน ธรรมนูญจังหวัดเกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม

“อีกทั้งเมื่อไม่นานมานี้มีมติคณะรัฐมนตรียุบกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช รวมกับกรมป่าไม้ และอาจมีแนวโน้มที่จะยุบรวมกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ทั้ง 5 ฉบับให้เป็นฉบับเดียว เราต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดออกแบบด้วย” นายบุญ กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จากยาแลกไข่ สู่.....นโยบายด้านยาที่ดีขึ้น

Posted: 22 Jul 2012 08:40 AM PDT

จากนโยบาย การนำยาเก่ามาแลกไข่ใหม่ของกระทรวงสาธารณสุข ที่สามารถนำยาเก่ามากกว่า 37 ล้านเม็ดมาทำพิธีเผาทำลาย ยาที่ประชาชนเลิกใช้จำนวนกว่า  37 ล้านเม็ด มูลค่าไม่ต่ำกว่า 70 ล้านบาท นั้นสะท้อนถึงปัญหาการใช้ยาของประเทศที่ซ้อนเร้นอยู่ จากการขาดนโยบายและมาตรการที่เหมาะสมในการบริหารจัดการ และควบคุมการบริโภคยาของประชาชน เช่น การรับยา และเวชภัณฑ์ที่ขาดการรวมจ่ายเพื่อจูงใจในการใช้ยาอย่างเหมาะสม   ขาดการการควบคุมร้านขายยาให้มีคุณภาพ ที่ควรต้องจ่ายยาโดยเภสัชกร   ระบบบริการที่ซ้ำซ้อน ไม่ผสมผสาน จนเกิดการบริการที่แออัด ไม่มีเวลาเพียงพอในการอธิบายการใช้ยาแก่ผู้ป่วยและญาติในโรงพยาบาลระดับต่างๆ  สาเหตุเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งในการแก้ไขที่สาเหตุอย่างจริงจังและเชื่อมโยง หาใช่เพียงแค่มีโครงการยาเก่าแลกไข่ใหม่ที่เป็นสีสัน หวูบไหวกับจำนวนเม็ดยาที่แลกมาได้เท่านั้น

จึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ดังนี้

1. การพัฒนาศักยภาพของ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ตำบล (รพสต) หรือสถานีอนามัยทั้งด้านอัตรากำลัง เครื่องมืออุปกรณ์ และการร่วมบริการจัดการกับชุมชน ควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์ สร้างภาพลักษณ์ ให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ เพื่อให้มีเวลามากเพียงพอในการอธิบายการใช้ยาที่ถูกต้อง เหมาะสม หรือใช้การให้คำปรึกษา เพื่อทดแทน และลดการใช้ยา

2. การพัฒนาด้านสารสนเทศ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลการใช้ยาภายในโรงพยาบาล และระหว่างโรงพยาบาล เพื่อความปลอดภัย และประหยัดค่าใช่จ่ายด้านยา  เช่นข้อมูลการใช้ยาจากรพ.จังหวัดกับ โรงพยาบาลชุมชน  การส่งเสริมให้ประชาชนนำยามาที่โรงพยาบาลทุกครั้งทั้งจาก รพ.ที่มา , รพ.อื่นๆ  หรือแม้แต่ยาที่ได้มาจากแหล่งอื่นๆ  เป็นต้น

3. การเชื่อมโยงการร่วมจ่ายของโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้ากับ นโยบายควบคุมการใช้ยา อาทิเช่น การร่วมจ่ายตามจำนวนรายการยาที่สั่ง เหมือนในประเทศอังกฤษ   สำหรับรายที่มีฐานะยากจน ควรจัดมีการอนุเคราะห์ หรือช่วยจ่ายจากกองทุนของท้องถิ่น หรือชุมชน เป็นต้น

4. การควบคุมการจำหน่ายยาให้มีความปลอดภัย มีมาตรการทางกฏหมายที่จริงจังมากขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างความรู้ ความตระหนักด้วยสื่อสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากขึ้น  แทนการตรวจจับเป็นฤดูกาล ตามระบบราชการเดิมๆเท่านั้น  ต่อยอดด้วยยุทธศาสตร์ด้านกำลังคนในการกระจายร้านยาที่มีคุณภาพไปสู่ชุมชนต่างๆอย่างทั่วถึง เพื่อให้มีระบบยาในชุมชนที่ปลอดภัย จนสามารถทัดเทียมอารยะประเทศที่พัฒนาแล้วในอนาคต   และการปฏิรูปอุตสาหกรรมการผลิตยาให้มีรูปแบบยาที่เป็นมาตรฐาน สะดวกต่อการระบุชนิดของยามากขึ้น แทนการผลิตรูปแบบยาที่หลากหลายเพียงเพื่อเหตุผลทางการตลาด และมุ่งแสวงหาผลกำไรของผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น

5. การส่งเสริมวัฒนธรรมไทย และจิตสาธารณะให้สมดุลกับค่านิยมแบบทุนนิยม  การนำยามาคืน แบบสมัครใจ เพื่อเป็นการทำความดี ทำบุญ สามารถนำยามาหมุนเวียนให้ผู้อื่นได้นำไปใช้ ช่วยลดรายจ่าย เป็นประโยชน์ต่อส่วนร่วม 

ดังนั้นโครงการยาเก่าแลกไข่ใหม่ เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น  ควรมีกำหนดนโยบาย และมาตรการที่เป็นรูปธรรม จริงจัง ต่อเนื่องด้านยา เวชภัณฑ์ เพื่อการแก้ไขที่สาเหตุอย่างบูรณาการ เพื่อสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  และเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ยามากขึ้นต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หนึ่งปี 'Utøya' และคุณค่าที่สังคมประชาธิปไตยยึดถือ

Posted: 22 Jul 2012 08:17 AM PDT

ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2011, สี่วันหลังจากเหตุการณ์วางระเบิดตึกทำการของรัฐบาลและการสังหารหมู่เยาวชนพรรคแรงงานนอร์เวย์ [1] บนเกาะ Utøya ซึ่งมีผู้เสียชีวิตรวมทั้งหมด 77 คน (8 คนจากเหตุการณ์วางระเบิดและ 69 คนจากเหตุการณ์ Utøya) บาดเจ็บ 242 คน ข้าพเจ้าบังเอิญมีโอกาสไปร่วมงานเทศกาลเยาวชนสังคมนิยมนานาชาติ (International Union of Socialist Youth World Festival) ที่ประเทศออสเตรีย บรรยากาศเต็มไปด้วยความโศกเศร้า เพราะเยาวชนจากพรรคแรงงานนอร์เวย์ 69 คน [2] นั้นควรจะได้ไปยืนอยู่หน้าเวทีในวันเปิดเทศกาล ควรจะได้ไปแลกเปลี่ยนความคิด, บอกเล่าความหวัง, เฉลิมฉลองความสมานฉันท์สากล กลับกลายเป็นว่า เยาวชนอีก 2,500 คนจากทั่วโลกต้องมายืนจุดเทียนรำลึกถึงความเยาว์วัยและความฝันทั้งหมดที่ถูกพรากไป เพียงเพราะการไม่สามารถอดทนอดกลั้นต่อความเห็นที่แตกต่างของผู้ชายคนหนึ่ง

ผู้ต้องหา  Anders Behring Breivik ถูกจับได้ทันทีบนเกาะ Utøya ซึ่งเป็นสถานที่ที่พรรคแรงงานนอร์เวย์จัดค่ายเยาวชนเป็นประจำทุกฤดูร้อน [3]

ในการพิจารณาคดีวันแรกวันที่ 16 เมษายน 2012 เมื่ออัยการอ่านข้อหาก่อการร้ายและฆาตกรรมโดยไตร่ตรองล่วงหน้าให้ฟัง เบรวิคยอมรับว่าเป็นคนลงมือวางระเบิดและกราดยิงเยาวชนพรรคแรงงานโดยไม่มีใครหรือกลุ่มใดอยู่เบื้องหลังแต่เบรวิคไม่ยอมรับผิดโดยอ้างว่าการกระทำของตนเองเป็นสิ่งจำเป็นในการป้องกันไม่ให้นอร์เวย์กลายเป็นสังคม ‘พหุวัฒนธรรม’ จากการหลั่งไหลเข้ามาของผู้อพยพจากยุโรปตะวันออกและชาวมุสลิม

เป้าหมายของเบรวิคไม่ใช่กลุ่มผู้อพยพและชาวมุสลิม แต่เป็นกลุ่มการเมืองที่สนับสนุนสังคมพหุวัฒนธรรมและยอมรับความแตกต่างหลากหลายในสังคมอย่างพรรคแรงงานนอร์เวย์หรือ Arbeiderpartiet ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล เป้าหมายแรกของเบรวิค คือวางระเบิดอาคารที่ทำการรัฐบาลด้วยคาร์บอมบ์ เป้าหมายที่สอง คือกำจัดเยาวชนของพรรคแรงงานที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำในอนาคตให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ในการสืบพยานชั้นศาล เบรวิคได้รับโอกาสให้เบิกความถึงห้าวัน เบรวิคยืนยันว่า เยาวชนจากพรรคแรงงานเป็นเป้าหมายที่ชอบธรรม เนื่องจาก “เยาวชนเหล่านี้ไม่ได้เป็นเด็กไร้เดียงสาแต่สังกัดพรรคการเมืองที่เชื่อและส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรม” และถ้ามีโอกาส “จะทำเช่นนี้อีกครั้งและอีกครั้ง”[4]

สิ่งที่น่าสนใจคือ ประเทศที่ที่ได้ชื่อว่าเปิดกว้างมากที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรป รับมือกับความเลวร้ายที่เกิดขึ้นได้อย่างมีวุฒิภาวะ เหมือนที่ Jens Stoltenberg นายกรัฐมนตรีจากพรรคแรงงาน กล่าวสุนทรพจน์หลังเกิดเหตุการณ์ว่า “เรายังคงตื่นตระหนกจากสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เราจะไม่มีวันปล่อยวางคุณค่าที่เรายึดถือ การตอบโต้ของเราต่อสิ่งที่เกิดขึ้น คือประชาธิปไตยที่มากขึ้น การเปิดกว้างที่มากขึ้น และมนุษยธรรมที่มากขึ้น" [5]

แม้ว่าหลังเหตุการณ์จะมีดีเบตมากมายเกิดขึ้นในสังคมนอร์เวย์ ทั้งเรื่องการนำโทษประหารชีวิตกลับมาใช้ การออกกฎหมายต่อต้านการก่อร้าย รวมทั้งข้อเสนอให้ออกกฎหมายจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งhate speech แต่ถึงที่สุดแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นในสังคมนอร์เวย์ เบรวิคได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมโดยเน้นไปที่เรื่องสุขภาพจิต แม้เบรวิคจะยืนยันว่า ตัวเองปกติและมีสติสัมปชัญญะครบถ้วนในช่วงเวลาก่อเหตุ

ในวันที่ 26 เมษายน 2012 ซึ่งเป็นวันแรกของการสืบพยานฝ่ายโจทก์ ประชาชน 40,000 คนรวมตัวกันใกล้ศาลและร้องเพลง Children of The Rainbow เพลงจากยุค 70’s ซึ่งยกย่องสังคมพหุวัฒนธรรมและเป็นเพลงที่เบรวิคพูดถึงในการพิจารณาคดีว่าเป็น “โฆษณาชวนเชื่อของพวกมาร์กซิสต์” ผู้จัดการชุมนุมให้สัมภาษณ์ว่า “เราต้องการแสดงให้เบรวิคเห็นว่า การกระทำของเขาไม่สามารถทำลายสังคมของเราที่เชื่อในการอดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง” [6

Vegard Groeslie Wennesland นักกิจกรรมเยาวชนพรรคแรงงานนอร์เวย์และเหยื่อผู้รอดชีวิตจาก Utøya กล่าวว่า “ผู้คนอาจจะคิดว่ามันไร้เดียงสาที่เรายังยึดถือคุณค่าของการเปิดกว้างในสถานการณ์เช่นนี้ แต่เป็นการไร้เดียงสายิ่งกว่าที่จะคิดว่า กองกำลังตำรวจหรือนโยบายจำกัดเสรีภาพจะทำให้เราได้มาซึ่งสังคมที่ปลอดภัยมากขึ้น” [7]

แม้ว่าความโศกเศร้าปวดร้าวของครอบครัวผู้สูญเสียและความสะเทือนใจของผู้คนทั้งสังคมจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ท้ายที่สุด สังคมนอร์เวย์หลีกเลี่ยงการทำลายคุณค่าที่สังคมยึดถืออย่างเช่น ประชาธิปไตย เสรีภาพ และความอดทนอดกลั้นต่อความเห็นต่าง

และนี่คือการตอบโต้ที่ดีที่สุดต่อการกระทำของ Anders Behring Breivik ด้วยการแสดงให้เห็นว่า ความพยายามของเขาที่จะทำลายคุณค่าของสังคมประชาธิปไตยนั้น ล้มเหลวไม่เป็นท่า

 


[1]ในบทความนี้เรียกThe Workers' Youth League หรือ AUF (Arbeidaranes Ungdomsfylking) ว่าเยาวชนพรรคแรงงานนอร์เวย์

[3]พรรคการเมืองในยุโรปไม่ว่าจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใดล้วนแล้วแต่มีปีกเยาวชน (Youth wing) เพื่อปลูกฝังอุดมการณ์และการมีส่วนร่วมทางการเมืองให้กับเยาวชนตั้งแต่อายุยังน้อย และค่ายเยาวชนของพรรคการเมืองมักจะจัดขึ้นในช่วงหน้าร้อนของยุโรป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผลศึกษา 11 พื้นที่โฉนดชุมชน: สังคมไทยต้องสูญเสียอะไร หากไม่ปฏิรูปที่ดิน

Posted: 22 Jul 2012 02:10 AM PDT

ศึกษาการถือครองที่ดินและการจัดการที่ดินกับความเป็นธรรมทางสังคม ในชุมชน 11 แห่ง จาก 6 กลุ่ม ทั่วประเทศ ตอบคำถามแนวคิดเบื้องหลังการปฏิรูปที่ดินโดยประชาชน ชี้ชาวบ้าน หวัง “ความมั่นคง” ในการอยู่อาศัย-ทำกิน มุ่งยุทธศาสตร์สร้างความชอบธรรมให้ชุมชน

 
 
ภายหลังการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดการให้มีโฉนดชุมชน ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อ 2553 ข้อมูลล่าสุด เมื่อวันที่ 31 ม.ค.55 พบว่า มีชุมชนที่ยื่นคำขอดำเนินงานโฉนดชุมชนแล้ว 435 แห่ง เนื้อที่รวม 2.2 ล้านไร่ ครอบคลุม 47 จังหวัด 6.3 หมื่นครัวเรือน แต่จำนวนที่ขยายตัวมากขึ้นนั้นอาจไม่ได้บอกถึงความมั่นคงในการจัดการที่ดินของประชาชน
 
อีกทั้ง รูปธรรมการบริหารจัดการที่ดินโดยชุมชน ในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” เพื่อผลักดันให้เกิดการปฏิรูปและการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมจะเป็นจริงได้หรือไม่ และไปได้ไกลแค่ไหน ยังเป็นคำถามสังคัญของสังคมในปัจจุบันซึ่งปัญหาที่ดินรุนแรงขึ้นทุกขณะ
 
การสัมมนาวิชาการเรื่อง “สังคมไทยต้องสูญเสียอะไร หากไม่ปฏิรูปที่ดิน: การจัดการโฉนดชุมชนกับการปฏิรูปที่ดินของท้องถิ่น” จัดโดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) เมื่อวันที่ 12 ก.ค.55 คือส่วนหนึ่งในการพยายามตอบคำถาม
 
 
“งานศึกษาชิ้นนี้เป็นงานศึกษาเชิงปฏิบัติการ ที่ต้องการยกระดับและตอบคำถามว่า การปฏิรูปที่ดินในสังคมไทยที่ผ่านมามันล้มเหลว แล้วการที่ชาวบ้านขึ้นมาเป็นตัวหลัก มาเป็นตัวปฏิบัติการในการปฏิรูปที่ดิน ชาวบ้านเขามีแนวคิดเบื้องหลังพื้นฐานในเรื่องการปฏิรูปที่ดินโดยประชาชน หรือการจัดการที่ดินเพื่อความเป็นธรรมอย่างไรบ้าง” พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ “การถือครองที่ดินและการจัดการที่ดินกับความเป็นธรรมทางสังคม” กล่าว
 
พงษ์ทิพย์ นำเสนอข้อมูลงานศึกษาโครงการ “การถือครองที่ดินและการจัดการที่ดินกับความเป็นธรรมทางสังคม” อันเป็นความร่วมมือระหว่างโครงการพัฒนาความเป็นธรรมทางสังคมเพื่อสังคมสุขภาวะ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประทศไทยว่า เริ่มต้นตั้งแต่ขึ้นเมื่อปลายปี 53 เพื่อสำรวจสถานการณ์การถือครองที่ดินและการจัดการที่ดินตามนโยบายโฉนดชุมชน ว่าสร้างความเป็นธรรมในการจัดการที่ดินได้หรือไม่
 
การศึกษา เลือกชุมชน 11 แห่ง จาก 6 กลุ่ม ทั่วประเทศ ที่ยื่นขอขึ้นทะเบียนโฉนดชุมชนตามระเบียบจากสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 1.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคเหนือ ศึกษาชุมชนบ้านโป่ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ และชุมชนหินลาดใน ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย 2.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ศึกษาชุมชนบ้านดอนฮังเกลือ อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด และชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ 3.สหกรณ์การเช่าที่นาคลองโยง ต.คลองโยง อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ซึ่งเป็นพื้นที่แรกที่ได้รับการอนุมัติและส่งมอบพื้นที่แล้ว จำนวน 1,803 ไร่
 
4.เครือข่ายสลัม 4 ภาค ศึกษาชุมชนหลัง สน.ทองหล่อ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ และชุมชนเพชรคลองจั่น เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ 5.สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ศึกษาชุมชนสันติพัฒนา อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี ที่ล่าสุดมีปัญหาบังคับคดีให้ออกจากพื้นที่ ส.ป.ก.ซึ่งบริษัทเอกชนบุกรุกโดยผิดกฎหมาย แล้วนำมาฟ้องขับไล้ชาวบ้าน และชุมชนไทรงามพัฒนา อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี สุดท้าย 6.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ศึกษาชุมชนทับเขือ-ปลักหมู อ.นาโยง จ.ตรัง และชุมชนบ้านตระ ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง
 
พงษ์ทิพย์ กล่าวถึงข้อค้นพบหลักจากพื้นที่ศึกษาว่า ประเด็นปัญหาหนึ่งของชาวบ้านที่ต้องประสบ แม้จะอยู่ในพื้นที่ซึ่งประกาศเป็นพื้นที่จัดการโฉนดชุมชนแล้วก็ยังถูกข่มขู่ คุกคาม ถูกละเมิดสิทธิ์ ถูกรังแก ขับไล่ออกจากพื้นที่ในแทบทุกแห่ง และในบางพื้นที่พบปัญหาการกระจุกตัวของที่ดิน ที่ดินถูกทิ้งร้างจึงมีการเข้าไปทำการปฏิรูปที่ดินในพื้นที่เอกชน ทำให้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีและถูกจับกุม โดยปัญหาเรื่องคดีความทุกพื้นที่วิจัย ชาวบ้านมีคดีติดตัวแทบทั้งหมด ยกเว้นที่สหกรณ์การเช่าที่นาคลองโยง
 
“ชาวบ้านเป็นด่านหน้าในการปฏิรูปที่ดินในสังคมไทย แต่ในความเป็นจริงคนที่เป็นด่านหน้าในการปฏิรูปเราก็ต้องเจอกับ บทเรียนที่เจ็บปวด และชาวบ้านก็ต้องผ่านบทเรียนอันนี้” หัวหน้าโครงการฯ กล่าว พร้อมเสนอว่าอยากชวนคนในสังคมร่วมกันตอบคำถามว่า การจะผลักดันเรื่องการปฏิรูปที่ดินให้เป็นจริง ภายใต้พื้นฐานที่มีบทเรียนการจัดการที่ดินเพื่อความเป็นธรรมของชาวบ้านซึ่งมีอยู่มากมายจะทำได้อย่างไร
 
 

นักวิจัยเล่า “ประวัติศาสตร์” ปฏิรูปที่ดินไทย

 
ดร.กฤษฎา บุญชัย นักวิจัยหลักโครงการ “การถือครองที่ดินและการจัดการที่ดินกับความเป็นธรรมทางสังคม” กล่าวว่า ในอดีตการปฏิรูปที่ดินของไทยหรือการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายครั้งใหญ่เรื่องที่ดินมีอย่างน้อย 2 ครั้ง คือ 1.ในสมัย ร.5 หลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งในปี 2398 มีการออกประกาศโฉนดที่ดิน ร.ศ.120 (พ.ศ.2444) กำหนดให้มีเอกสารสิทธิในการถือครองที่ดินโดยหวังว่าประชาชนจะเป็นเจ้าของที่ดิน และใช้ที่ดินเพื่อการผลิตทางการเกษตร แต่ปรากฏว่าชนชั้นสูงกลับได้เอกสารสิทธิจำนวนมาก
 
ครั้งที่ 2.ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีการออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 19 ปี 2503 ยกเลิกการจำกัดการถือครองที่ดินจากเดิมให้ถือครองไม่เกิน 50 ไร่ เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนเข้าถึง ครอบครอง และผูกขาดที่ดิน ทำให้ปัญหารุนแรงมากขึ้น
 
ดร.กฤษฎา ให้ข้อมูลต่อมาว่า ปัญหาชาวนาไร้ที่ดินทำกินมีมายาวนาน โดยเมื่อปี 2470 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ชาวนาภาคกลางร้อยละ 36 มีปัญหาที่ดินไม่พอเพียงและปัญหาหนี้สิน ยิ่งเมื่อเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขตามระบบทุนนิยมมากขึ้น มีเรื่องกรรมสิทธิ์ มีการส่งเสริมการผลิต แต่ไม่คิดเรื่องการกระจายการถือครองที่ดิน ไม่คิดถึงเรื่องการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรร และไม่คิดว่าคนถือครองที่ดินต้องเป็นเกษตรกรรายย่อย ทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น แม้จะมีความพยายามในการแก้ปัญหาจากรัฐ เช่น การตั้งนิคมสหกรณ์เช่าที่ดิน นำที่ดินราชพัสดุมาจัดสรรให้คนจน มี พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 และ พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่านา ฯลฯ แต่เครื่องมือเหล่านี้ไม่อาจช่วยได้
 
ปัญหาของระบอบทุนนิยมที่ทำให้ที่ดินเป็นสินค้ารุนแรง และการใช้กลไก มาตรการทางนโยบายอยู่ที่รัฐส่วนกลางโดยขาดการมีส่วนร่วม ขาดการกระจายอำนาจ สิ่งเหล่านี้เป็นเงื่อนไขปมสำคัญที่ทำให้การปฏิรูปที่ดินในทางบวกที่มีความเป็นธรรมและยังยืนนั้นไร้ผลมาตลอด
 
“นี่คือจุดท้าทายว่า เราจะสามารถสร้างการปฏิรูปที่ดินครั้งที่ 3 ขึ้นมาได้ไหม ให้เป็นการปฏิรูปที่ดินที่อยู่บนพื้นฐานของการกระจายอำนาจ ความเป็นธรรม และความยั่งยืน” นักวิจัยหลักโครงการฯ กล่าว
 
ปัญหาที่ดินเป็นปัญหาของคนทั้งสังคม ไม่ใช่แค่คนจน แต่จะทำอย่างไรให้สังคมมาร่วมกันผลักดัน เพราะที่ผ่านมาขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องปฏิรูปที่ดินมักไม่เป็นวาระทางสังคม แม้จะมีความพยายามอย่างมากเพราะแรงเสียดทานทางโครงสร้าง ตรงนี้จึงเป็นที่มาของการหันมาสนใจการปฏิรูปที่ดินของท้องถิ่นในรูปแบบโฉนดชุมชน ซึ่งดำเนินการอยู่ในหลายพื้นที่ขณะนี้
 

ประมวลผลการศึกษา “โฉนดชุมชน” ความพยายามปฏิรูปที่ดินจากล่างขึ้นบน

 
ดร.กฤษฎา กล่าวว่า “โฉนดชุมชน” คือการจัดการที่ดินรูปแบบที่ชาวบ้านพยายามทดลองปฏิบัติขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์เรื่องความเป็นธรรม ความยั่งยืน และประสิทธิภาพ ซึ่งโจทย์ของการศึกษาคือจะจัดการโฉนดชุมชนให้เกิดความเป็นธรรมได้หรือไม่ อย่างไร เงื่อนไขความเข้มแข็งอยู่ที่ตรงไหน และจะมีแนวทางอย่างไรต่อไป โดยมีพื้นที่ศึกษาจากทั่วประเทศ ซึ่งมีความแตกต่างกันใน 4 รูปแบบ คือ 1.ชุมชนเกษตรกรรมพึ่งพาฐานทรัพยากรท้องถิ่น 2.ชุมชนเกษตรกรรมพึ่งทรัพยากรที่จัดการใหม่ 3.ชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท และ 4.ชุมชนเมือง
 
จากการศึกษาพบว่า ความไม่เป็นธรรมที่ชุมชนเผชิญ คือ 1.ชุมชนถูกแย่งยึดที่ดินและทรัพยากรไปโดยรัฐ เช่นกรณีชุมชนในเขตป่า หรือชุมชนในพื้นที่สาธารณะที่ประกาศโดยรัฐ ทำให้กลายเป็นคนไร้สิทธิโดยกฎหมาย 2.ชุมชนถูกข่มขู่คุกคาม จับกุมและดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกที่ดินของรัฐและเอกชน 3.ชุมชนถูกเลือกปฏิบัติจากรัฐ 4.ชุมชนเผชิญความรุนแรงหรือความไม่เป็นธรรมเชิงโครงสร้าง เช่น ความยากจน การเข้าไม่ถึงทรัพยากรและโอกาสทางสังคมต่างๆ 5.รัฐไม่ทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรให้คนยากจน ทั้งที่มีกฎหมาย มีรัฐธรรมนูญ และรัฐบาลแทบทุกรัฐบาลมีนโยบายเรื่องนี้ และ 6.ความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ จากกรณีที่ชาวบ้านจำนวนมากถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บุกรุก เป็นคนที่เอาแต่ได้ ถูกมองด้วยอคติ
 
ดร.กฤษฎา กล่าวต่อมาถึงการอ้างสิทธิและความเป็นธรรมในการจัดการโฉนดชุมชนว่า 1.หลายพื้นที่อ้างสิทธิในฐานะผู้บุกเบิกทำกินและอยู่อาศัยในที่ดินมานาน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในชนบทแต่ร่วมถึงชุมชนเมืองด้วย 2.สิทธิการเป็นพลเมือง ในฐานะเป็นประชาชนเท่าเทียมกัน ซึ่งควรต้องมีที่ดินทำกินอย่างพอเพียง มั่นคง และมีศักดิ์ศรี ตามรัฐธรรมนูญ แต่กลับไม่ถูกสนับสนุนและปฏิบัติเช่นนั้น 3.สิทธิของผู้ที่อยู่อาศัยทำกินมาต่อเนื่องและมีส่วนร่วมในชุมชน การจัดการโฉนดชุมชนในหลายพื้นที่สะท้อนว่า คนที่ร่วมจัดการชุมชน ร่วมต่อสู้ ฝ่าฟันมาด้วยกัน สิทธิของคนเหล่านี้ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น มากกว่าคนที่มีสิทธิแต่ในนาม
 
และ 4.โฉนดชุมชนเป็นการรับรองสิทธิแบบปัจเจกภายใต้ระบบสิทธิชุมชน ไม่ใช่การยึดที่ดินและแรงงานไปเป็นของส่วนรวม แต่ให้ปัจเจกชนในชุมชนมีที่ดินของตนเอง โดยอยู่ใต้กติกาที่ตกลงร่วมกันตามหลักความยั่งยืนและเป็นธรรม ซึ่งปัจเจกต่อรองได้ตามความเหมาะสมไม่ใช้การบีบบังคับ มีพลวัต
 
 

 

ชาวบ้านหวังอยู่อาศัย-ทำกิน “ความมั่นคง” มุ่งยุทธศาสตร์สร้างความชอบธรรมให้ชุมชน

 
สำหรับเหตุผลที่ชุมชนเลือกจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน คือ 1.ชาวบ้านต้องการสร้างหลักประกันความมั่นคงในการอยู่อาศัยและทำกิน เพราะเล็งเห็นว่าการไม่สู้เป็นชุมชนร่วมกันจะเกิดปัญหาตามมา 2.การป้องกันที่ดินหลุดมือ ตรงนี้เป็นปัญหาที่ชาวบ้านห่วงใยมาก 3.ชุมชนสามารถร่วมกันออกแบบการจัดการที่ดินให้เหมาะสมกับวัฒนธรรม 4.สร้างพลังทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองร่วมกัน ชาวบ้านมีการระดมทุน มีกองทุนที่ดิน มีการช่วยเหลือทรัพยากร มีการช่วยแรงงานกัน ซึ่งระบบที่เกื้อหนุนกันตรงนี้ตอบคำถามที่ว่า ทำไมประสิทธิภาพของชาวบ้านที่จัดการโฉนดชุมชนจึงเพิ่มขึ้น นั่นเพราะไม่ได้สู้ด้วยบุคคลเดี่ยวๆ และ 5.หวังว่าจะเอื้อต่อการสนับสนุนทรัพยากรและสาธารณูปโภคจากรัฐ
 
ดร.กฤษฎา กล่าวว่า ยุทธศาสตร์โฉนดชุมชน ข้อแรกคือการต่อรองสร้างความชอบธรรมให้กับชุมชน ตรงนี้คือหัวใจสำคัญ จากการศึกษาประเด็นชาวบ้านสนใจคือเรื่องความเป็นธรรมเป็นเรื่องแรก อันจะนำมาซึ่งประสิทธิภาพและความยั่งยืน ข้อต่อมาคือการสร้างขีดความสามารถในการจัดการผลิตให้มีประสิทธิภาพ และการสร้างระบบการจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืน และยุทธศาสตร์สุดท้ายการสร้างความมั่นคงในการถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดิน
 
กติกาในการจัดการโฉนดชุมชน 1.มีการแบ่งประเภทพื้นที่ออกเป็นที่สาธารณะร่วม ที่ทำกิน และที่อยู่อาศัย 2.มีการจัดสรรที่ดินมีทั้งแบบให้เท่าเทียมกัน หรือรับรองสิทธิเดิมที่มีอยู่ และกรณีชุมชนหลัง สน.ทองหล่อ ให้สิทธิพิเศษแก่สมาชิกที่มีที่ดินน้อยที่สุด จะเห็นว่าวิธีการมีความยืดหยุ่นหลากหลาย 3.มีกติกาห้ามซื้อขายที่ดินกับคนภายนอก หากจะมีการขายที่ดินก็ขายในกลุ่ม ในกรณีชุมชนเพชรคลองจั่น มีกฎห้ามแสวงประโยชน์ต่อที่ดินเชิงทรัพย์สิน เช่น ห้ามให้เช่าที่ดินกับคนภายนอก
 
4.ให้สิทธิแก่สมาชิกชุมชนที่ทำการเกษตรหรืออยู่อาศัยในพื้นที่ชุมชนแออัด และมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของชุมชน แต่จะไม่ให้สิทธิกับคนภายนอก คนที่มาเช่าก่อนหน้าทำโฉนดชุมชน สมาชิกชุมชนแต่ไม่มีที่ดินในพื้นที่โฉนดชุมชน ไม่ร่วมทำกิจกรรมกับชุมชน หรือไม่ร่วมผลักดันโฉนดชุมชน 5.มีการจัดการทรัพยากร จัดการภูมิทัศน์ร่วมของชุมชน และการพัฒนาชุมชนร่วมกัน โดยสมาชิกจะต้องมาร่วมประชุม ปรึกษาหารือ และร่วมกิจกรรมการพัฒนาชุมชน
 
 

บอกไม่ได้ “โฉนดชุมชุม” จะสร้างความมั่นคง เหตุเงื่อนไขทางนโยบาย-การเมือง

 
ดร.กฤษฎา กล่าวถึงความเป็นธรรมของโฉนดชุมชนว่า สำหรับชุมชนที่มีระบบการจัดการร่วมอยู่แล้ว ความเป็นธรรมของพวกเขาก็คือการรับรองสิทธิต่อที่ดินที่พวกเขามีอยู่ แม้สิทธิเหล่านั้นจะไม่มีกฎหมายมารองรับก็ตาม ส่วนชุมชนที่ออกแบบจัดการใหม่นั้น ส่วนมากความเป็นธรรมเกิดจากการจัดสรรที่ดินให้อย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ยังมีความเป็นธรรมเพื่อคนชายขอบ มีการจัดสรรที่ดินให้แก่ผู้เดือดร้อนเรื่องที่ดินมากที่สุดก่อน และความเป็นธรรมโดยการให้สิทธิอันดับแรกแก่สมาชิกชุมชนที่มีบทบาทต่อส่วนรวม มีการอยู่อาศัย และทำกินจริงเพื่อประโยชน์ร่วมแก่ชุมชน
 
สำหรับผลของการจัดการโฉนดชุมชน คือ 1.การปกป้องสิทธิชุมชนในการถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดิน 2.การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในการถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดิน และ 3.การสร้างความชอบธรรมของชุมชนต่อรัฐและสังคม
 
อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าปัญหาในขณะนี้คือ แม้ชาวบ้านจะจัดการอย่างไร กลับไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐเท่าที่ควร ยังมีการใช้อำนาจและความรุนแรง ดังนั้นการจัดการโดยชุมชนในขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะสร้างความมั่นคงได้แล้วเพราะยังมีเงื่อนไขทางนโยบายและทางการเมืองที่ส่งผลกระทบ ส่วนในทางเศรษฐกิจกำลังก่อร่างสร้างตัว แต่ก็สัมพันธ์กับทางการเมือง เพราะบางชุมชนอยู่ในภาวะถูกข่มขู่คุกคาม ความมั่นใจในการลงทุนทางการผลิตก็มีน้อย รวมทั้งความชอบธรรมของชุมชนต่อสายตาคนรอบข้าง
 
ส่วนปัจจัยท้าทายสำหรับโฉนดชุมชน คือ 1.การจัดการความสัมพันธ์ระหว่างสิทธิสาธารณะ สิทธิชุมชน และสิทธิปัจเจกให้ลงตัว 2.การพัฒนาโฉนดชุมชนต้องตอบโจทย์เรื่องความเป็นธรรม ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง และความยั่งยืนของทรัพยากร และ 3.นโยบายรับรองสิทธิชุมชนของรัฐ
 
 

 

ตัวแทนชาวบ้าน ชี้ข้อดีการจัดทำ “โฉนดชุมชน” เร่งรัฐผลักดันเป็นกฎหมาย

 
กันยา ปันกิติ กรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ปัญหาเรื่องที่ดินที่ชาวบ้านประสบไม่ว่าเรื่องกฎหมายหรือนโยบาย ล้วนเป็นเรื่องของการใช้อำนาจรัฐและอำนาจทุน ขณะที่ชุมชนไม่มีอำนาจ ทำอะไรก็ผิด แม้แต่การอาศัยในที่ดินเดิมที่บรรพบุรุษทำมาหากินมานับร้อยปี แต่กลายเป็นคนที่ผิดกฎหมาย ถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ ถูกดำเนินคดีไม่ว่าทางแพ่งในคดีโลกร้อนหรือทางอาญา และเราทำเรื่องนี้มานานเนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรม ทำให้ทนไม่ไหวและเกิดการรวมตัวกันเรียกร้องนับตั้งแต่ความขัดแย้งประเด็นที่ดินในพื้นที่ป่าเมื่อปี 2543
 
ที่ผ่านมา ปัญหาเกิดขึ้นมากมายทั่วประเทศ ทั้งในเรื่องที่ดินกระจุกตัว ไม่กระจายไปสู่เกษตรกรจริง รัฐและทุนมองว่าที่ดินเป็นสินค้า ไม่ใช่ปัจจัยในการผลิตอาหาร พยายามแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน ทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรที่ดิน ขณะที่เกษตรกรต้องสูญเสียที่ดินเนื่องจากมีความจำเป็นต้องใช้เงินในการดำรงชีวิต โดยไม่มีโครงสร้างมารองรับ ทำให้ปัญหาลุกลามมาเรื่อยๆ และเมื่อรัฐไม่สามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้ ชาวบ้านจึงต้องรวมกันเป็นองค์กรภาคประชาชนเพื่อเสนอแนวทางแก้ปัญหา ซึ่ง คปท.ก็มีการเสนอเรื่องแนวทางการกระจายการถือครองที่ดินอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยใช้โฉนดชุมชน ภาษีที่ดิน กองทุนธนาคารที่ดิน และอาจรวมถึงการจำกัดการถือครองที่ดินในอนาคต
 
เรื่องโฉนดชุมชน กันยา กล่าวว่า ช่วยแก้ปัญหาที่ดินเปลี่ยนมือจากเกษตรกรและการใช้งานที่ดินผิดประเภท เนื่องจากที่ดินเป็นของชุมชน มีการตรวจสอบโดยคณะกรรมการชุมชนหากจะมีการเปลี่ยนมือที่ดิน โดยแต่ละชุมชนจะมีกติกา มีแผนการจัดการ และการตรวจสอบ นอกจากนั้นยังมีกองทุนธนาคารที่ดินมาช่วยสนับสนุนเรื่องเงินทุนด้วย ส่วนปัญหาความขัดแย้งที่ผ่านมา การมีแนวทางนโยบายของรัฐเรื่องโฉนดชุมชน และมีมติ ครม. มีการทำข้อตกลง รวมไปถึงการมีคำสั่งอัยการสูง ช่วยให้ชาวบ้านสามารถเข้าไปทำอยู่ทำกินในพื้นที่ของตนเองได้ใน ถือเป็นการแก้ปัญหาในระดับหนึ่ง เนื่องจากยังเป็นเพียงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ส่วนปัญหาการบุกรุกทำลายป่าก็บรรเทาลง เพราะพื้นที่จัดทำโฉนดชุมชนมีกติกา มีแผนการจัดการทรัพยากร และทำให้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น
 
นอกจากนั้น ในเรื่องภัยพิบัติ การทำเกษตรแบบโฉนดชุมชนเป็นการทำการเกษตรที่สมดุลและยั่งยืน ลดละเลิกการใช้สารเคมี มีการปลูกพืช 4 ระดับ ไม่ทำลายโครงสร้างของหน้าดิน ซึ่งตรงนี้ช่วยลดการเกิดภัยพิบัติได้ ส่วนด้านเศรษฐกิจ จากเดิมที่ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปทำมาหากินในพื้นที่ได้ ตอนนี้เข้าไปโค่นต้นยางของตนเองเพื่อปลูกใหม่ได้ มีอำนาจในการจัดการทรัพยากรของตนเอง สามารถผลผลิตอย่างเต็มที่ ทำให้เศรษฐกิจของคนในชุมชนดีขึ้น
 
“ทางออกเหล่านี้รัฐจะเอาหรือไม่เอา จะแก้หรือไม่แก้ แต่ในนามของภาคประชาชนต้องใช้อำนาจของตัวเองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 66 ผลักดันต่อ แม้ว่ารัฐบาลชุดไหนจะเอาหรือไม่เอา แต่เรายังต้องเดินต่อเรื่องโฉนดชุมชนให้เป็นกฎหมาย และเสนอเรื่องการแก้ไขกฎระเบียบที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงด้วย” กรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กล่าว
 
กันยา กล่าวด้วยว่า ตัวชี้วัดอีกอันหนึ่งทีสำคัญคือ นักวิชาการและราชการในพื้นที่ที่ให้การสนับสนุน ซึ่งปัจจุบันมีมากขึ้น แสดงถึงการยอมรับในทางสังคม ทั้งนี้เพราะเห็นถึงความก้าวหน้าในการเดินหน้าของประชาชนที่ประสบผลจริง
 
 

 

“อดีตกรรมการปฏิรูป” ชี้นักการเมืองเจ้าที่ดินกำแพงปิดกัน “การปฏิรูปที่ดิน”

 
ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อดีตกรรมการปฏิรูปกล่าวว่า การผลักดันเรื่องการปฏิรูปที่ดินของไทยเหมือนเดินหน้าพุงชนกำแพง ซึ่งกำแพงนี้คือฝ่ายการเมือง จากการลงพื้นที่ติดตามปัญหาเรื่องที่ดินทั่วประเทศจะเห็นว่านักการเมืองมีที่ดินเป็นจำนวนมากอยู่ในแทบทุกพื้นที่ แม้แต่ในพื้นที่ติดเขตชายแดน ตรงนี้จึงกลายเป็นกำแพงที่ทำให้นักการเมืองไม่สนใจข้อเสนอของภาคประชาชน นักวิชาการ รวมทั้งของคณะกรรมการปฏิรูป ที่เสนอมายาวนานว่า ประเทศไทยจะถึงทางตีบตัน พัฒนาต่อยอดไปไม่ไกล ถ้าโครงสร้างพื้นฐานคือที่ดินซึ่งเป็นฐานของการผลิตในสังคมไทยอันเป็นสังคมเกษตรกรรมไม่มีความมั่นคง
 
อดีตกรรมการปฏิรูป กล่าวต่อมาว่า ปัญหาที่ดินในสังคมไทยแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 1.ปัญหาเฉพาะหน้ากรณีภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดผลกระทบรุนแรงขึ้นจากปัญหาการจัดการที่ดิน และคดีที่ดินทั้งที่ถูกตัดสินจำคุกไปแล้ว อยู่ระหว่างรอการตัดสินคดี รวมทั้งที่อยู่อย่างผิดกฎหมายในที่ดินของรัฐรอถูกฟ้องร้องดำเนินคดีซึ่งตรงนี้มีเป็นล้านครอบครัวในพื้นที่ 30-40 ล้านไร่ การที่ชาวบ้านต้องคดีถูกพิพากษาจำคุกนั้นส่งผลกระทบทั้งทางตรงต่อครอบครัว ญาติพี่น้อง และสังคมกระทบเชื่อมโยงกัน รวมทั้งกระทบสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และชุมชนถูกละเมิดสิทธิ์
 
2.ปัญหาระยะยาว เช่น ปัญหาการถือครองที่ดินกระจุกตัวซึ่งมีมาตั้งแต่ พ.ศ.2502 ซึ่งมีการแก้ไขประมวลกฎหมายที่ดิน การสูญเสียที่ดินของเกษตรกร และการใช้ที่ดินไม่สอดคล้องกับศักยภาพ เช่น กรณีความขัดแย้งประเด็นที่ดินรัฐบนภูเขา ขณะที่ที่ดินอุดมสมบูรณ์ด้านล่างกับใช้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ ถูกทิ้งให้รกร้างว่างเปล่า หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 ที่ดินที่ถูกปล่อยรกร้างมีถึง 30-40 ล้านไร่ และกว่า 30 ปีที่ผ่านมา มีที่ดิน NPL ถึง 39 ล้านไร่
 
 

“รวบอำนาจที่ส่วนกลาง” การจัดการที่ดินที่ผิดพลาด

 
อดีตกรรมการปฏิรูปกล่าวต่อมาว่า ทั้งปัญหาเฉพาะหน้าและปัญหาในเชิงระบบ ทำให้ชีวิตของคนในสังคมไทยเสื่อมโทรมและบางส่วนต้องล่มสลาย เกษตรกร 5.8 ล้านครัวเรือนไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ นี่คือผลกระทบที่มีต่อสังคมชนบท ส่วนผลกระทบที่มีต่อสังคมเมือง เห็นได้จากตัวเลขชุมชนแออัดจำนวนมากในกรุงเทพฯ เพราะชีวิตในชนบทและชีวิตในเมืองที่เชื่อมโยงกัน เมื่อชีวิตในชนบทล่มสลายคนก็หลั่งไหลเข้ามาอยู่ในเมือง ในชุมชนที่ครอบครัวหนึ่งๆ มีที่อยู่อาศัยขนาดไม่กี่ตารางเมตร ตรงนี้คือผลกระทบต่อสังคมที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ แต่หลายปีที่ผ่านมาผู้บริหารบ้านเมืองกลับไม่ค่อยให้ความสำคัญ
 
ปัญหาที่ดินเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เริ่มตั้งแต่การรวมโครงสร้างอำนาจการตัดสินใจมาอยู่ที่รัฐส่วนกลาง ตัดการกระจายอำนาจ เอาระบบจำกัดการถือครองออก มีการทำที่ดินให้เป็นสินค้า ใช้กลไกลการตลาดมาบริหารจัดการที่ดิน ทำให้เข้าสู่ระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา จนหลัง 40 ทุนจากต่างประเทศหลั่งไหลมาซื้อที่ดิน ทำให้ประเทศไทยสูญเสียที่ดินมากที่สุดและเร็วที่สุดในช่วงนั้น และแม้จะมีโครงการของรัฐเพื่อแก้ปัญหา แต่เป็นกลไกลบริหารจัดการโดยราชการขาดการมีส่วนร่วม สุดท้ายล้มเหลว
 
 

เสนอเปิดข้อมูลการถือครองที่ดินให้สาธารณะร่วมตรวจสอบ

 
ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวถึงข้อเสนอว่า 1.ปัญหาที่มีอยู่เนื่องจากประชาชนไทยยังไม่ลุกขึ้นมาเพราะไม่รู้ข้อมูล ดังนั้นควรทำข้อมูลการกระจุกตัวของที่ดินและผลกระทบจากการจัดการที่ดินให้เข้าใจง่าย เป็นข้อมูลสาธารณะและเข้าถึงง่าย เพื่อให้คนตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหา ถึงวันนั้นประชาชนจะลุกขึ้นมาถามรัฐบาลว่าทำไมไม่ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาสำคัญของชาติอย่างปัญหาที่ดิน และ 2.การปฏิรูปที่ดินต้องทำพร้อมกับการกระจายอำนาจ คือ อำนาจในการตัดสินใจเพื่อจัดการฐานทรัพยากร การกระจายที่ดิน ทั้งการจำกัดการถือครอง การคุ้มครองเกษตรกร การเก็บภาษี ฯลฯ ต้องอาศัยการตัดสินใจร่วมของท้องถิ่น และชุมชน
 
“ราษฎร เกษตรกรจะต้องมีทำกิน ประชาชนในทองถิ่นต้องมีอำนาจ ถ้าประเทศชาติมีการปฏิรูปที่ดินอย่างเป็นธรรม” ดร.เพิ่มศักดิ์กล่าว
 
 

 

“สุนี” ชี้ 3 โจทย์สำคัญปฏิรูปที่ดิน พื้นที่เกษตรกรรม-ชุมชนเมือง-ที่ดินในมือรัฐ

 
สุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวว่า การปฏิรูปที่ดินต้องยอมรับโจทย์ที่ว่าที่ดินมีจำกัด ขณะที่ทุกคนต่างก็อยากได้ อีกทั้งต้องกันพื้นที่ส่วนหนึ่งให้เป็นพื้นที่ป่าด้วย จากการพูดคุยที่ผ่านมาทำให้เห็นถึงปัญหาของความเหลื่อมล้ำ และความไม่มั่นคงทางอาหาร ที่รัฐบาลผ่านมาแทบทุกชุดพูดถึงความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงของมนุษย์เป็นทฤษฎี ซึ่งจะไม่เกิดขึ้นจริงหากคนไม่มีที่ดิน โจทย์ตรงนี้คือต้องยอมรับแนวคิดที่ว่าเกษตรกรต้องมีที่ดินทำกิน หากรัฐต้องการให้มีความมั่นคงทางอาหาร อยากให้ผู้คนอยู่ได้ เข้าถึงสิ่งดีๆ และสามารถสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้สังคม
 
นอกจากนั้นยังมีโจทย์ใหญ่ของชุมชนซึ่งต้องมีที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยในเมืองด้วย ตรงนี้สังคมไทยโดยเฉพาะพรรคการเมืองและรัฐบาลต้องทำความเข้าใจ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถปฏิรูปที่ดินได้ เพราะประชาชนจะต้องกลายเป็นผู้ทำผิดกฎหมายทั้งหมด เมื่อที่ดินเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ส่วนโจทย์ที่สาม รัฐได้ตั้งตัวเองเป็นผู้ยิ่งใหญ่ เป็นเจ้าของที่ดินมหาศาล ในวันนี้หากนับเป็นตัวเลขกลมๆ พบว่ามี 1 ล้านครอบครัวอยู่พื้นที่ของรัฐ ซึ่งเป็นที่ป่า ที่ราชพัสดุ ที่ทหาร ที่ป่าชายเลน ฯลฯ ที่รัฐถือครองแล้วเปิดให้รัฐเองฉวยโอกาสใช้ประโยชน์โดยโครงสร้างและนโยบาย
 
 

งัดข้อเสนอเดิม กสม.จี้สางปัญหาประชาชนที่อยู่ในที่ดินของรัฐกว่า 1 ล้านครอบครัว

 
รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวด้วยว่า เมื่อครั้งทำหน้าที่เป็นกรรมการสิทธิฯ เคยได้มีการเสนอว่า หากจะปฏิรูปที่ดิน รัฐเพียงสะสางปัญหาประชาชนที่อยู่ในที่ดินของรัฐกว่า 1 ล้านครอบครัว เพราะหลายเรื่องมีการตรวจสอบข้อมูลพบว่าชาวบ้านเป็นผู้มีสิทธิ์ในที่ดิน แต่ไม่มีใครลงไปแก้ไข ทำให้ชาวบ้านอยู่ในสถานะผู้ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และพร้อมที่จะถูกจับได้ตลอดเวลา ตรงนี้สามารถแก้ไขได้เลย เพียงแต่รัฐต้องลงมาจัดการ โดยยอมรับความเป็นจริงของการไม่มีเอกสารสิทธิของชาวบ้าน และเข้าสู่กระบวนการมีส่วนร่วม ทั้งนี้ มีข้อมูลมากมายที่จะบอกว่าชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ควรได้รับสิทธิในที่ดิน อีกทั้งรัฐธรรมนูญก็ได้รองรับว่าการเกิดมาเป็นคนต้องมีที่อยู่อาศัย การไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ไม่ใช่การยุติปัญหา
 
ในส่วนการแก้ปัญหาโดยใช้กฎหมายนั้น คปก.มีหน้าที่สำคัญในการปฏิรูปกฎหมายทั้งระบบ โดยต้องพัฒนาองค์ความรู้และมีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนบนฐานสิทธิมนุษยชน ซึ่งยุทธศาสตร์ 4 ข้อเร่งด่วน ของ คปก.มีเรื่องเรื่องที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องหลักเรื่องที่หนึ่ง 2.การกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน 3.กระบวนการยุติธรรม และ 4.สวัสดิการสังคม ทั้งนี้ เรื่องที่ดินสิ่งที่ คปก.จะขับเคลื่อน คือ 1.การเปิดเผยข้อมูลการถือครองที่ดิน ทำให้กฎหมายนี้เป็นที่ยอมรับ แต่ขณะนี้ยังมีการถกเถียงกันว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคล 2.ออกกฎหมายสิทธิชุมชน 3.การกระจายอำนาจ เพราะปฏิรูปที่ดินไม่ใช่เพียงจัดสรรที่ดิน แต่หมายถึงการจัดการที่ดินซึ่งจะมีผลกระทบในหลายๆ ด้าน
 
 

 

นักวิชาการชี้ “โฉนดชุมชน” แนวคิดใหม่ แต่อย่าทิ้ง “ส.ป.ก.”

 
ศ.ดร.ทองโรจน์ อ่อนจันทร์ ประธานสถาบันทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมลุ่มแม่น้ำโขง กล่าวว่า เขามีความแน่ใจมากว่านโยบายที่สำคัญที่สุดของประเทศคือนโยบายปฏิรูปที่ดิน ซึ่งเป็นนโยบายที่จะสร้างความเป็นธรรมทางสังคม และจากงานวิจัยที่ได้ทำมาก็ชี้ไปในแนวทางนี้ เมื่อมี พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 2518 ขึ้นมาจึงรู้สึกดีใจมาก โดยไม่รู้ว่านั่นคือจุดเริ่มต้นของปัญหา เพราะคิดว่าอนาคตของเกษตรกรและประเทศจะดีขึ้น แต่จากการติดตามเรื่องนี้กลับพบว่าไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากรัฐบาลในสมัยต่อๆ มาไม่ให้การสนับสนุน ไม่ให้งบประมาณ
 
ส่วน “โฉนดชุมชน” เป็นทางเลือกใหม่ ซึ่งจากที่ได้ศึกษามาเมื่อไม่นาน เห็นว่าข้อเสนอล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ดี แต่ในแง่มุมทางวิชาการส่วนตัวยังไม่มีความมั่นใจ ยังไม่มีความชัดเจนว่าแนวนโยบายดังกล่าวจะพาประเทศไทยไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองอย่างที่เราประสงค์กัน และหากใช้วิธีโฉนดชุมชนแล้วจะเอา ส.ป.ก.ไปไว้ที่ไหน ในเมื่อนั่นคือสิ่งที่มีอยู่แล้วและก็ต่อสู่กันมาตลอดในการที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ
 
ศ.ดร.ทองโรจน์ กล่าวแสดงความเห็นว่า นโยบายที่ดินเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะฉะนั้นต้องคิดถึงว่านโยบายของ ส.ป.ก.ที่ทำมา ที่บอกว่าล้มเหลวนี้จะอยู่ตรงไหน มันหยุดไม่ได้และจะต้องทำต่อไป อาจต้องมีคณะกรรมการขึ้นมา ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่านโยบายโฉนดชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายที่สำคัญและมุ่งแก้ปัญหาในประเด็นปัญหาที่มีความเฉพาะ มีความพิเศษ ดังนั้นจึงควรต้องมีการเชื่อมกันของ ส.ป.ก.กับนโยบายนี้ และจะต้องมีการวางแผนที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ปัญหาของประเทศไทย คือไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ แล้วกลไกที่จะทำให้เกิดผลขึ้นมานี้ถึงจะเขียนเป็นกฎหมายดีอย่างไรก็ตาม แต่หากไม่ปฏิบัติตามก็ไม่ประสบผล
 
“ปัญหาในเรื่องการปฏิรูปของประเทศไทยมันลึกซึ้ง มันมากมายกว่าที่เราจะมองเห็นปัญหาแต่เฉพาะจุด เราจะต้องมองทั้งประเทศ มองภาพรวม แล้วก็มองดูว่าอะไรซึ่งมันสามารถที่จะออกมาเป็นระบบที่ชัดเจน แล้วก็มีแนวทางปฏิบัติที่สามารถติดตามได้ ถ้าทำไม่ได้จะต้องรับผิดชอบ เป็นรัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบ ใครรับผิดชอบในกระทรวงไหนก็ต้องให้เด่นชัด ตรงนี้เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าในสังคมไทยจะต้องมี ถ้าไม่เช่นนั้นเราก็คงต้องมานั่งพูดเรื่องนี้กันไปอีก 40 ปี” ศ.ดร.ทองโรจน์ กล่าว
 
 

ปธ.สภาเกษตรกร เสนอร่วมเกษตรกร 20 ล้านคน ขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาที่ดิน

 
ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าว่า เรื่องการแก้ปัญหาที่ดินซึ่งเป็นเรื่องที่อยากทำในฐานะประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ แต่ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยาก เพราะตอนนี้เป็นที่ยอมรับแล้วว่าเกษตรกรรายย่อยเป็นผู้พ่ายแพ้ในระบบเศรษฐกิจโดยรวม ยิ่งแข่งขันยิ่งสูญเสียที่ดิน ตอนนี้สิ่งที่คิด คือ 1.คนตัวเล็กตัวน้อยจะอยู่รอดได้อย่างไรในสังคม ไม่ใช่จะแข่งขันอย่างไร
 
2.สังคมหากจะแก้ปัญหาเรื่องที่ทำกิน ในระบบเศรษฐกิจภาพใหญ่ไม่สามารถแก้เรื่องคุณภาพได้ เนื่องจากฝ่ายการเมืองไม่ยอมรับ จากที่ได้มีการพยายามในสภามาหลายปีมีคนจำนวนน้อยมากที่คิดเหมือนกันในเรื่องนี้ ดังนั้นการจะปฏิรูปที่ดินใหม่ทั้งระบบโดยพลิกฝ่ามือเป็นเรื่องเพ้อผัน สิ่งที่จะทำได้ในขณะนี้ อาจเป็นเรื่องการผลักดันโฉนดชุมชนให้ออกมาเป็นกฎหมาย ตรงนี้อาจสามารถเป็นไปได้ เรื่องกองทุนพัฒนาที่ดิน หรือเรื่องกฎหมายป่าไม้ที่เป็นปัญหาอาจผลักดันไปทางรัฐบาลให้มีมติ ครม.อนุญาตให้คนทำอยู่ทำกินในที่ทำกินเดิม โดยไม่มีการจับกุมชาวบ้าน อย่างไหนทำได้ทำก่อน สิ่งไหนทำยากคงต้องรอเวลา
 
3.การเตรียมการ ซักซ้อม เพิ่มปริมาณคนที่คิดเหมือนกัน เกษตรกรรายย่อยที่เข้าตาจนอยู่ขณะนี้รู้ข้อมูลเท่าเราหรือเปล่า หรือคนหนึ่งล้านครอบครัวที่ทำกินอยู่ในเขตป่ารู้ผู้ในแนวทางการแก้ปัญหาเดียวกับเราหรือเปล่า คนเหล่านี้จะมาร่วมเป็นพลังในการขับเคลื่อนได้ ทั้งนี้ สภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นองค์กรใหม่ที่มีพลังของเกษตรกร 20 ล้านคน มีอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งต่างประสบปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน เสนอทำงานร่วมกัน จัดเวที ให้ข้อมูล ส่งข่าวสาร ร่วมกันขับเคลื่อน
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ใบตองแห้ง' ออนไลน์: อุดมการณ์จากป่าเขา

Posted: 21 Jul 2012 11:50 PM PDT

                “ดวงตะวันสาดแสงเรืองรอง ทั่วเขตแคว้นแดนไทย ดวงตะวันที่ยิ่งใหญ่ คือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
                 นำมวลประชา จับอาวุธขึ้นมา ทำสงครามประชาชน ขับโจรมะริกัน โค่นสมุนของมัน
                 ตามพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ยืนหยัดปฏิวัติตลอดไป ตามพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ยืนหยัดปฏิวัติตลอดไป
                 จงเจริญ จงเจริญ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จงเจริญ จงเจริญ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย”

30 ปีผ่านไปผมยังจำเพลงปฏิวัติได้เกือบหมด ยังจำวันเวลาที่อยู่ในป่า สู้รบ ทำไร่ แบกข้าวสาร ยังจำเสียงปืนระเบิดดังสนั่นหวั่นไหวเมื่อปะทะกันครั้งใหญ่บนสันภู ยังจำแสงสว่างจับขอบฟ้าจากปากกระบอกปืน 155 ที่ตามมาด้วยเสียงกัมปนาทครั่นครืน ยังจำป่าหญ้าคาเปียกชื้นทางเดินลื่นชันเมื่อออกลาดตระเวนกลางฝนพรำยามเช้า ยังจำความยากลำบากที่กินข้าวปนมัน ปนข้าวโพด กับแกงหน่อไม้ รวมทั้งยังจำความสนุกสนาน ความฮึกห้าวเหิมหาญ ความใฝ่ฝัน ความหวัง ความผิดหวัง ความเจ็บปวด สูญเสีย น้ำตา ...และความรัก ที่เกิดขึ้นในป่าเขา
 
หลังออกจากป่า ผมกลับจำชีวิตช่วงนั้นไม่ค่อยได้ มันไร้ความหมายไปหมด จนวันที่เห็นหน้าลูกนอนแบเบาะ...โลกของผมถึงหมุนอีกครั้ง
 
เชื่อว่าไม่ใช่แค่ผม แต่เพื่อนพ้องน้องพี่ทุกคน ไม่ว่าออกจากป่าแล้วยากดีมีจน เป็นรัฐมนตรี เป็นนักธุรกิจ เป็นคนชั้นกลาง เป็นลูกจ้างต๊อกต๋อย หรือเป็นคนที่ล้มเหลวทุกอย่างในชีวิต ก็ล้วนแล้วแต่เก็บความทรงจำนี้ไว้ในลิ้นชักพิเศษ ที่ไม่มีวันลบลืม นานวันเข้าก็เป็นเหมือนภาพฝัน แต่ฝังแน่นตรึงตรา ถึงครั้งหนึ่งในวัยเยาว์ ที่เราเคยมุ่งมั่นจะเปลี่ยนแปลงโลก
 
ไม่ว่าอีกชีวิตหนึ่งจะประสบชะตากรรมพลิกผันอย่างไร ไม่ว่า “สหาย” จะเปลี่ยนแปรไปแบบไหน รวย จน ยิ่งใหญ่ ต๊อกต๋อย ไม่ได้เจอกันนานแค่ไหน เวลาที่เราอยู่ด้วยกัน ทุกอย่างย้อนเวลาไปหมด เหลือแต่คืนวันที่ร่วมเป็นร่วมตาย สู้รบด้วยกัน อดอยากด้วยกัน แบกข้าวสารฝ่าดงทากไปด้วยกัน รำวงวันพรรคด้วยกัน....
 
ผมยังเชื่อมั่น แม้หวั่นไหว ว่าวิกฤตการเมือง ความแตกแยกทางความคิดตลอด 6 ปีที่ผ่านมาจะไม่ทำลายวันคืนเก่าๆ แม้สร้างความห่างเหินกันไปบ้าง
 
อย่างน้อยถึงคุยกันไม่ได้ ถกกันไม่ได้ แต่ในยามที่สหายรายใดตกทุกข์ได้ยาก ผมเคยเป็นตัวตั้งตัวตีประกาศขอความช่วยเหลือสหายรายหนึ่ง ได้รับน้ำใจหลั่งไหลจากทุกสารทิศ แม้กระทั่งสหายต่างเขตงานที่ไม่เคยรู้จัก
 
หรือไม่ก็...อันนี้เศร้าหน่อย มีใครตายก็ยังไปงานศพพร้อมเพรียง (ปกตินัดสังสรรค์ไม่ค่อยมีคนมาหรอก แต่ถ้ามีใครตาย พรึ่บเลย ตายเช้า ไม่ทันบ่ายรู้กันหมดแล้ว)
 
ความขัดแย้งทางความคิดของอดีตสหายไม่ใช่เรื่องแปลก หลังจากอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ล่มสลาย เรากลับมาสู่การแสวงหาที่ไม่เจอทางออก ขณะเดียวกันก็หมดแรงใจ เคว้งคว้าง ผิดหวัง ผมเขียนบันทึกไว้ว่า ครั้งหนึ่ง เราเคยยืนบนภูดูดาวบนท้องฟ้า ดวงดาวนั้นดูใกล้ แทบจะไขว่คว้ามาได้ แต่วันนี้ ย่ำไปบนถนนยามดึก แปลกแยก เดียวดาย มองไม่เห็นดาว เห็นแต่เสาไฟฟ้า และเงาจันทร์ในท่อน้ำโสโครก
 
คนจำนวนหนึ่งกลับสู่ชีวิตธรรมดาได้ แต่บางคนกลายเป็นคนล้มเหลวตลอดชีวิต บางคนก็กลายเป็นเอาทุกอย่างที่ขวางหน้า ไม่ต่างกับมวลชนในชนบท บางคนกลับไปทำไร่ไถนา ขยันขันแข็ง บางคนเสียศูนย์ ติดเหล้าเมายา ติดเอดส์ ตายก่อนวัยอันควร บางคนกลายเป็นมือปืนรับจ้างไปก็มี
 
ไม่แปลกหรอกที่ความขัดแย้งทางการเมือง จะทำให้ “ชีวิตที่อยู่ในลิ้นชัก” กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง ไม่ว่าเลือกข้างไหน ไม่ต่างกับสมัยพฤษภา 35 ไม่ต้องเป็นผู้นำ ขอแค่อยู่ในม็อบ อดีตสหายบางคนไปช่วยหุงข้าวกระทะใบบัว แสดงฝีมือที่เชี่ยวชาญมาจากม็อบหลัง 14 ตุลา
 
เพียงแต่ความขัดแย้งครั้งนี้แหลมคม เกิดทางแยกที่ท้าทาย ว่าด้วยพื้นฐานอุดมการณ์ของเรา เราจะเลือกเดินทางไหน ซึ่งก็อีกนั่นแหละ ขึ้นกับว่าแต่ละคนตกผลึก เก็บรับบทเรียนจากป่าเขามาอย่างไร และมีวิถีชีวิต ทัศนะ ในช่วงหลังจากนั้นอย่างไร
 
เรา “กลับมามีชีวิต” อีกครั้ง กลับมามีความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม เพียงแต่คิดสวนทางกันสิ้นเชิง
 
อันที่จริงก็ไม่เป็นไร ถ้าต่างคนต่างคิดว่า อยากเห็นสังคมที่ดีกว่า และยังคงยึดมั่นอุดมการณ์ “เพื่อมวลชน”
 
แต่ไม่ทราบมันเป็นมรดกตกทอดของวัฒนธรรมคอมมิวนิสต์หรือเปล่า ที่แค่ขัดแย้งทางความคิด พวกสุดขั้วสุดโต่งก็ประณามเป็น “ลัทธิแก้” ร่วมรบมาด้วยกัน อาบเลือดมาด้วยกัน ก็ยังเข่นฆ่ากัน แบบสตาลิน-ทรอตสกี้ เหมาเจ่อตง-หลิวเซ่าฉี-เผิงเต๊อะไหว-เติ้งเสี่ยวผิง ฯลฯ
 
ผมไม่แปลกใจอะไร ที่เห็นภาพพรรคคอมมิวนิสต์ และทหารปลดแอกฯ มาชูป้ายปกป้องสถาบัน ปกป้องศาลรัฐธรรมนูญ เพราะมีอดีตสหายคิดเช่นนี้จริง เยอะไป เพียงแต่ผมรู้สึกว่าการชุมนุมที่อุดร ขอนแก่น “จัดฉาก” ระดมคนมาเกินจริง
 
และเพียงแต่ผมรู้สึกว่า พวกคุณไม่ควรใช้ชื่อพรรคคอมมิวนิสต์ กองทัพปลดแอก พรรคคอมมิวนิสต์ในความรู้สึกผม ตายนานแล้ว ตายอย่างมีเกียรติ ไม่ว่าใครจะไม่เห็นด้วย ขัดแย้ง วิพากษ์วิจารณ์ หรือหมดศรัทธาอย่างไร ผมก็เห็นว่า พรรคคอมมิวนิสต์ตายอย่างมีเกียรติ จบบทบาททางประวัติศาสตร์ที่เราทั้งหลายควรคารวะ พร้อมกับยกย่องวีรชนผู้พลีชีพเพื่อการปฏิวัติทุกคน ตั้งแต่สหายนิรนามในสนามรบมาจนสหายนำอย่าง เจริญ วรรณงาม, วิรัช อังคถาวร, อุดม ศรีสุวรรณ, อัศนีย์ พลจันทร์ ฯลฯ ตำนานการต่อสู้ของพวกเขาจบลงแล้ว-อย่างที่จะอยู่ในหัวใจเราตลอดไป ไม่ว่าเป็นเหลืองหรือแดง เป็นเรื่องตัวบุคคล ไม่ควรเอาพรรคคอมมิวนิสต์มาเกี่ยวข้อง
 
ถ้ายกเว้นเรื่องเอาชื่อพรรคมาเคลื่อนไหว การที่อดีตสหายทั้งหลายออกมายืนฝ่าย “ขวาจัด” อันที่จริงก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ซ้ายจัดกับขวาจัด มีเส้นแบ่งเพียงบางเบา เผด็จการในโลกนี้ล้วนอาศัยฐานความคิดผูกขาดความดี ความรักชาติ ต้องการจัดระเบียบสังคม
 
ฉะนั้นผมจึงไม่แปลกใจอะไรเลย ที่อดีตสหายส่วนหนึ่งหันไปสนับสนุนรัฐประหาร ก็พรรคคอมมิวนิสต์สอนว่า “อำนาจรัฐจักได้มาด้วยกระบอกปืน” ไม่เคยสอนว่า “อำนาจรัฐจักได้มาด้วยการเลือกตั้ง” ซักหน่อย (ฮา)
 
ผมไม่แปลกใจเลย ที่อดีตสหายส่วนหนึ่งหันไปสนับสนุนเผด็จการที่อ้างว่าเป็น “เผด็จการคุณธรรม” ในเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์สอนเราว่า ต้องยึดแนวทาง “เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ”
 
ผมไม่แปลกใจเลย ที่อดีตสหายส่วนหนึ่งสนับสนุน “ประชาธิปไตยแบบอำมาตย์” ในเมื่อประธานเหมาสอนเราว่า ต้องใช้ “ประชาธิปไตยรวมศูนย์”
 
ผมไม่แปลกใจเลย ที่อดีตสหายซึ่งเคยชูคติพจน์ประธานเหมา หันไปชูป้าย “ปกป้องสถาบัน” กลายเป็นพันธมิตรฮาร์ดคอร์ ซึ่งก็มีบางอย่างคล้ายคลึงเรดการ์ด
 
ผมไม่แปลกใจเลย ที่อดีตสหายส่วนหนึ่งสนับสนุนตุลาการภิวัตน์ เพราะเราเคยคิดจะตั้ง “ศาลประชาชน”
 
เปล่า ไม่ได้โทษพรรคคอมมิวนิสต์ แต่อยู่ที่เราเก็บรับอะไรไว้ต่างหาก
 
เสียดายที่ผมไม่ใช่นักทฤษฎี ศึกษาวัตถุนิยมวิภาษวิธีทีไรก็มึนตึ้บ ยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงจากปริมาณไปสู่คุณภาพทีไร ตำราเล่มไหนๆ ก็ยกแต่น้ำเดือด อ่านเลนินแล้วสับสน อะไรวะ “ก้าวหนึ่งก้าว ถอยสองก้าว” ส่วนคติพจน์ประธานเหมา สหายม้งในหมู่ผมชอบชูคติพจน์แล้วบอกว่า “สหาย ประธานเหมาสอนเราว่า งานปฏิวัติต้องทำไปตลอดชีวิต ฉะนั้นวันนี้ผมขอพักก่อน ไม่เป็นไรมั้ง”
 
ก็เลยไม่สามารถวิเคราะห์ให้เป็นระบบว่า เพราะอะไร มรดกทางความคิดของพรรคคอมมิวนิสต์จึงทำให้เราแตกเป็น 2 เสี่ยง
 
อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ล่มสลายแล้ว
นักศึกษาที่เข้าป่าขัดแย้งกับ พคท.เรื่องการวิเคราะห์สังคมเป็นกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา ซึ่งกำหนดยุทธศาสตร์ให้สร้างฐานที่มั่น ใช้ชนบทล้อมเมือง เอาอย่างเหมาเจ๋อตงปฏิวัติจีนด้วยการสร้างฐานที่มั่นในชนบท กองทัพแดงไปถึงไหนก็จับเจ้าที่ดินตัดหัว แจกที่ดินให้ชาวนา มันจะไปเหลืออะไร ชาวนาก็สู้ตายเพื่อพรรคคอมมิวนิสต์สิครับ
 
แล้วโลกสมัยนั้นนะ พวกผู้หญิงในหมู่บ้านสานรองเท้าฟาง ทอผ้า ให้ทหารปลดแอก เศรษฐกิจชนบทยังไม่ต้องพึ่งเมือง ไม่เหมือนสมัยผมเป็น ทปท.กินมาม่า (เคยคิดจะไปเสนอตัวเป็นนายแบบสหพัฒน์ฯ ถ่ายหนังโฆษณา แม้แต่ ทปท.ยังกินมาม่า) ฝ่ายตรงข้ามก็ไม่ได้มีอาวุธทันสมัยเช่นเครื่องบิน จรวด เพียงพอที่จะปราบปราม
 
เหมาใช้ยุทธศาสตร์ต่างจากรัสเซีย ซึ่งใช้การลุกขึ้นสู้ในเมือง พรรคคอมมิวนิสต์จีนช่วงหนึ่งนำโดยสายรัสเซีย ลุกขึ้นสู้ก็ตายเป็นเบือ เหมาเป็นอัจฉริยะที่คิดค้นดัดแปลงยุทธศาสตร์ยุทธวิธีให้เหมาะกับสังคมจีน โดยอิงนิยายซ้องกั๋ง
 
พคท.ก๊อปเหมามา สร้างฐานที่มั่น ไม่ทันไรก็ถูกรัฐบาลปิดล้อม ขยายฐานที่มั่นไม่ได้ ทางเหนือที่ผมอยู่คือเขตม้ง ชนชาติส่วนน้อยที่ถูกคนไทยพื้นราบดูหมิ่น เอาเปรียบ อำนาจรัฐรังแก พอเสียงปืนแตกก็แยกเขตกัน คนม้งลงมาก็ไม่ได้ ทหารขึ้นไปปราบก็แพ้คนม้งที่รู้ภูมิประเทศดีกว่า ตั้งประจัญกันอย่างนั้นจนฐานที่มั่นแตกเพราะรัฐบาลใช้วิธีสร้างถนนผ่ากลาง (ปัจจุบันเป็นเส้นทางท่องเที่ยวนำท่านผู้มีเกียรติไปยังภูชี้ฟ้า)
 
ฐานที่มั่นของ พคท.ไม่ได้ทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มีแต่ยากลำบากลง แม้ตอนแรกจะ “ปลดแอก” จากการกดขี่ แต่เศรษฐกิจต้องพึ่งสินค้าอุตสาหกรรมจากภายนอก ตอนแรก ลาวยังไม่ปิดแนวหลังก็ไม่เท่าไหร่ (สมัยนั้นได้สูบบุหรี่จีน จินซาเจียง ซานชิ กินหมูกระป๋อง) แต่พอถูกโดดเดี่ยวสิครับ
 
การปฏิวัติไม่ใช่เรื่องของการขายฝัน เอารูปปลาเค็มแขวนให้กินข้าวต้มเปล่าๆ มันต้องสอดคล้องกับผลประโยชน์เฉพาะหน้าประชาชน เรื่องนี้พวกคนเดือนตุลาในไทยรักไทยเข้าใจอย่างลึกซึ้ง จึงแปรมาเป็นการยึดอำนาจรัฐด้วยนโยบาย กองทุนหมู่บ้าน 30 บาท
 
ความขัดแย้งทางความคิดระหว่างนักศึกษากับจัดตั้ง ในทางทฤษฎี นำมาซึ่งปัญหาประชาธิปไตยในขบวน ทำให้เรา “ตาสว่าง” กับ “ประชาธิปไตยรวมศูนย์” ซึ่งเอาเข้าจริงก็มีแต่ด้านที่รวมศูนย์
 
ความขัดแย้งในแต่ละเขต ไม่ว่าจะเริ่มต้นด้วยประเด็นใด ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี วิเคราะห์สังคม ฯลฯ จุดแตกหักก็คือความไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็น หรือฟัง แต่ไม่แก้ไข มีปัญหาท่าที
 
อีกด้านคือวิกฤติศรัทธา ตอนที่เราเข้าป่าใหม่ๆ ถูกอบรมให้เชื่อพรรค เชื่อจัดตั้ง เห็นจัดตั้งเป็นบร๊ะเจ้า (พรรคคอมมิวนิสต์ทั้งไทยและจีนยังไม่หลุดพ้นจากความคิดศักดินา เหมาในอีกมุมก็คือจักรพรรดิองค์ใหม่) พอขัดแย้งกัน เห็นอีกด้าน ด้านที่ล้าหลัง ตกยุค ไม่รับฟัง พอถูกท้าทายก็มีอารมณ์
 
อารมณ์ความรู้สึกเราในขณะนั้น ขอใช้บทกวีของอดีตสหายรายหนึ่ง ที่ขโมยจำไว้ในหัวใจมา 30 ปี
 
“ไม่อยากจะให้ใครมาตีตรา
หรือชี้หน้าปัญญาชนนั้นอ่อนไหว
ทัศนะจัดตั้งไม่เข้าใจ
นายทุนน้อยนานไปก็โลเล
 
ชอบทำการเคลื่อนไหวไม่ขึ้นต่อ
เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อทำหัวเสธ
ทั้งอ่อนหัดทั้งสันดานพาลเกเร
มาทำเท่ค้านพรรคอาจโดนดี”
 
ผมออกจากป่าหลังเพื่อน หลังจากอารมณ์เย็นลง ผมเข้าใจสหายนำมากขึ้น สหายนำเขตอื่นเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่สหายนำเขตผมไม่ได้ดำรงชีวิตความเป็นอยู่แตกต่างจากเรา อย่างในหนัง “สงครามประชาชน” ของเสกสรรค์ สหายนำที่ผมรักนับถือที่สุด อายุมากแล้ว มีปอดข้างเดียว แต่ใช้ชีวิตเหมือนเราทุกอย่าง เป็นชาวคอมมิวนิสต์ที่แท้ ผู้ต่อสู้ตั้งแต่เด็ก เลขาเขตผม เคยโดนเราประชดประเทียดต่างๆ นานา เอาเข้าจริงแกก็คือมนุษย์ธรรมดา มีด้านที่น่าเคารพ มีด้านที่น่าเห็นใจ แต่เราถูกสร้างภาพให้เห็นเป็น “เทวดา” ตั้งแต่แรก พอเกิดวิกฤติศรัทธาก็รับไม่ได้
 
ก่อนออกจากป่า ผมลงมาอยู่เขตพื้นราบ ซึ่งประสบความสำเร็จเพราะฉีกตำราจัดตั้ง ที่เอาแต่ให้ “สร้างฐานที่มั่น” นักศึกษาและชาวนาที่เป็นแกนนำ กลับไปทำงานบ้านตัวเอง สร้างเขตอิทธิพลขึ้นจากการ “เก็บ” ผู้มีอิทธิพลเดิม 2-3 ราย  แล้วก็ใช้ทฤษฎีผลประโยชน์ประชาชน นำชาวบ้านล้อมรถสรรพสามิตจับเหล้าเถื่อน กลายเป็นเขตต้มเหล้าเสรี และเป็นเขตจรยุทธ์มอเตอร์ไซค์ แต่ท้ายที่สุดก็ไปต่อไม่ได้ เพราะขบวนล่มสลายแล้ว และไม่สามารถฝืนทิศทางสังคม
 
ผมนัดชาวบ้านไปศึกษาทฤษฎีปฏิวัติตอนสองทุ่ม กว่าชาวบ้านจะมา สี่ทุ่มกว่า ถามว่าทำไมมาช้า หัวเราะแหะๆ ดู “กระบี่ไร้เทียมทาน” นั่นราวๆ ปี 24-25 ฮุ้นปวยเอี้ยงทำให้เครื่องรับโทรทัศน์แพร่หลายไปอย่างรวดเร็วในชนบท
 
สังคมเปลี่ยนแปลงครับ ผมไปเคลื่อนไหวกับชาวบ้านที่ทำสวนผัก วันนี้ผักชีกิโลละ 5 บาท อีกเดือนหนึ่งกิโลละสลึง ชาวบ้านยัวะ ถอนทิ้งน้ำลอยเป็นแพ ผมไม่รู้จะไปตัดหัวใครเพื่อผลประโยชน์ประชาชน เพราะมันกำหนดดัชนีราคากันมาเป็นทอดๆ จากหั่งเช้งในกรุงเทพฯ
 
จีนต้องห้นกลับมาพัฒนาทุนนิยม เพราะเศรษฐกิจเกือบล่มจมในยุคแก๊งสี่คน ที่อะไรๆ ก็ชูธงแดงไว้ก่อน คนงานทำงานขยันขันแข็งก็ได้ธงแดงเป็นรางวัล ปีก็แล้ว 2 ปีก็แล้ว 3 ปีก็แล้ว ค่าแรงเท่ากัน เรื่องอะไรกรูจะขยัน อดีตสหายที่เคยไปเมืองจีนเล่าว่าเข้าไปซื้อของในร้านของรัฐ พอกดกริ่งหมดเวลาทำงาน พนักงานทิ้งลูกค้าเฉย เพราะทำไปก็เท่านั้น ผู้บริหารวิสาหกิจก็คัดเลือกจาก “อุดมการณ์” ลูกที่ดีของพรรคลูกที่รักของประชาชน แต่ทำงานไม่เป็น เอาแต่ชูคติพจน์ ประเทศเจ๊งย่อยยับ อดีตสหายเคยไปเยี่ยมโรงงานผลิตรถยนต์ เวลาพ่นสีรถ คนงานไม่รู้จักเอากระดาษหนังสือพิมพ์ปิดกระจก พ่นไปเรื่อยแล้วค่อยมาขูดเอา พอแนะนำเขา ยังโดนจัดตั้งเราด่าอีกว่าอย่าไปฉีกหน้าสหายจีน
 
8 ปีในยุคแก๊งสี่คน จึงมีคำขวัญประชดประชันว่าผลิตได้แค่ 4 หมุน (หรือ 8 หมุน จำไม่ได้แน่ เช่น จักรยาน, วิทยุ, กระติกน้ำ) เติ้งเสี่ยวผิงจึงบอกว่า แมวสีอะไรก็ได้ ขอให้จับหนูได้ คือไม่เอาแล้วอุดมการณ์ชี้นำ หันมาพัฒนาทุนนิยม ใช้เงิน วัตถุ ความอยากได้ใคร่มี ตลอดจนความอยากรวย กระตุ้นให้คนกระตือรือล้น จนจีนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทุกวันนี้ แน่นอน โคตรเหลื่อมล้ำเลย แต่ชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนก็ดีกว่าจนเท่าเทียมในยุคแก๊งสี่คน
 
แต่ที่พูดนี่ไม่ใช่ว่าผมเห็นด้วยกับจีนด้านที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ปราบปรามผู้เรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งตอนหลังกลับตาลปัตร ฝ่ายขวาไทยกลับกลายเป็นพวกนิยมจีน เห็นไหม ไม่ต้องมีประชาธิปไตยก็เศรษฐกิจรุ่งเรืองได้ โห จีนเขาคลี่คลายมาจากเผด็จการตกขอบ แล้วค่อยๆ เปิดกว้าง เราสิจะถอยหลังสวนทางเขา
 
ความเปลี่ยนแปลงของจีน การล่มสลายของโซเวียต ชัดเจนว่าอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ล่มสลายแล้ว ไม่เฉพาะ “เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ” ที่กลืนกันตัวเอง กลายเป็นการผูกขาดอำนาจของคนกลุ่มเดียว แต่สังคมคอมมิวนิสต์ในฝันของมาร์กซ์ไม่มีทางเกิดขึ้นจริง เช่นเดียวกับโลกพระศรีอาริย์ โลกที่ทุกคนเป็นคนดี ไม่เห็นแก่ตัว พอเพียง จริงๆ ก็คือโลกที่หยุดนิ่ง
 
มนุษยชาติพัฒนามาด้วยความขัดแย้ง 2 ด้านในตัว กิเลส ตัณหา ราคะ โลภ โกรธ หลง เป็นพลังที่ผลักดันให้โลกหมุน ให้เกิดการคิดค้น พัฒนาพลังการผลิต วิทยาการเทคโนโลยี ขณะที่คุณธรรม ความดีงาม ความกล้าต่อสู้ ความเสียสละ เป็นพลังที่ควบคุมทิศทาง คอยจัดความสัมพันธ์ให้เหมาะสม มันเป็นเช่นนี้มาหลายพันปีแล้ว ไม่มีหรอก สังคมคุณธรรม ดีงามสมบูรณ์แบบ ไม่งั้นโลกก็หยุดหมุน
 
ปรัชญานี้แฝงอยู่ในไบเบิลของคริสต์ งูคือสัญลักษณ์ของแรงกระตุ้นที่ทำให้อดัมกับอีฟกลายเป็นมนุษย์ จากเดิมที่เป็นแค่หุ่นยนต์ของพระเจ้า
 
เพียงแต่หลังผ่านความขัดแย้ง ความรุนแรง ความเสียหาย มนุษยชาติก็เรียนรู้และยกระดับ จนค่อยๆ พัฒนาระบอบที่ให้เสรีกับกิเลสตัณหา ให้ความอยากได้ใคร่มี เป็นพลังสร้างสรรค์ พร้อมๆ กับเปิดช่องทางให้มีการต่อรองจัดสรรผลประโยชน์ นั่นคือระบอบประชาธิปไตย
 
สังคมอุดมการณ์ที่แท้จริงจึงเป็นสังคมประชาธิปไตย เสรีประชาธิปไตยที่มีความสมดุลระหว่างพลังทั้งสองด้าน ไม่ใช่เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ ไม่ใช่เผด็จการคุณธรรม ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่กำกับดูแลโดยคนกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นพรรคคอมมิวนิสต์หรืออำมาตย์
 
เราเป็นเสรีชน
พรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลก ไม่ได้ชนะด้วยอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ แต่ชนะด้วยเงื่อนไขที่ประชาชนต่อต้านผู้ปกครองในขณะนั้นต่างหาก
 
ไม่มีเลนิน ไม่มีพรรคบอลเชวิค พระเจ้าซาร์ก็ต้องถูกโค่นล้มอยู่ดี ด้วยระบอบการปกครองที่ประชาชนเหลืออดแล้ว เพียงแต่แน่นอน อุดมการณ์ที่งดงาม ความคิดชี้นำที่เข้มแข็ง การจัดตั้งเป็นเอกภาพ ทำให้ขบวนปฏิวัติที่นำโดยลัทธิมาร์กซ์-เลนิน ได้ชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จ รวดเร็ว ไม่ต้องยืดเยื้ออีกหลายปี แต่ถามว่าชาวนารัสเซียสมัยนั้นรู้จักคาร์ล มาร์กซ์ รู้จักสังคมอุดมการณ์ไหม ไม่หรอก ก็แค่อยากล้มพระเจ้าซาร์
 
พรรคคอมมิวนิสต์จีน เวียดนาม ลาว กัมพูชา เกาหลี ไม่สามารถปฏิเสธว่าส่วนสำคัญของชัยชนะคือชูธงประชาชาติ จีนทำสงครามต่อต้านญี่ปุ่น เกาหลีก็ต่อต้านญี่ปุ่น เวียดนาม ลาว กัมพูชา ต่อต้านฝรั่งเศสผู้ยึดครอง แล้วต่อเนื่องมาถึงอเมริกาผู้แทรกแซง แน่นอน อุดมการณ์ ความคิด ทฤษฎี ลัทธิมาร์กซ์-เลนิน ทำให้ขบวนเข้มแข็ง ห้าวหาญ แต่ถ้าปราศจากเงื่อนไขที่ประเทศถูกรุกราน หรือระบอบเดิมเสื่อมทรามแตกสลาย (อย่างในจีนซึ่งแตกเป็นก๊กเป็นเหล่าหลังซุนยัดเซ็น) ก็ไม่แน่ว่าจะชนะหรือเปล่า
 
มองย้อนไป ตั้งแต่มาร์กซ์ เลนิน เหมา ลุงโฮ เช คาสโตร ฯลฯ มาถึงแกนนำ พคท.และเรา ก็ล้วนมีจุดเริ่มต้นจากผู้ที่ต่อสู้เผด็จการ เรียกร้องสิทธิเสรีภาพทั้งสิ้น (มาร์กซ์เคยเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ถูกเซ็นเซอร์) เพียงแต่ในยุคสมัยนั้น อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ให้ความฝันที่ทรงพลังและมีเสน่ห์ที่สุด สามารถปลุกคนให้ลุกขึ้นต่อสู้กับเผด็จการซึ่งปราบปรามประชาชนอย่างโหดเหี้ยม
 
อุดม ศรีสุวรรณ,นายผี, จิตร ภูมิศักดิ์ เหล่านี้คือนักคิดนักเขียนฝ่ายประชาธิปไตยที่ถูกเผด็จการปราบปราม คนเดือนตุลา ขบวนการนักศึกษา อันที่จริงก็เติบโตมาด้วยอิทธิพลความคิดเสรีนิยม ของยุคซิกซ์ตี้ ยุคแสวงหาของอเมริกา หงา คาราวาน ก็ได้อิทธิพลมาจากบ็อบ ดีแลน ไม่ได้เป็นแดงมาแต่แรกซักหน่อย (ฮา) ผม “แสวงหา” มาตั้งแต่อยู่ ม.ต้น ชอบเพลง The Sound of Silence ของไซมอน การ์ฟังเกล จากหนัง The Graduate ที่พระเอก “คนนอก” ดัสติน ฮอฟฟ์แมน ดำลงไปคุยกับความเงียบใต้น้ำ
 
แต่ความรุนแรงจากชนชั้นปกครอง การปราบปรามอย่างเหี้ยมโหดเมื่อ 6 ตุลา ผลักให้เราเข้าป่า กระนั้น เราก็ยังขัดแย้งกับพรรคคอมมิวนิสต์ เพราะเราต้องการประชาธิปไตย เพราะเราเป็นเสรีชน
 
ความเป็นเสรีชน ไม่ใช่เรื่องที่เป็นซ้ายตามสมัยนิยม ไม่ใช่เป็นหนุ่มสาวก็ซ้ายให้ทันสมัย แต่แก่แล้วเสียคน (อันที่จริงคนพูดนั่นแหละเป็นซ้ายสมัยนิยม)
 
ฉะนั้น สิ่งที่เราควรจะกลับมาเป็น ก็คือเป็นนักประชาธิปไตย เป็นผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ให้ประชาชนมีเสรีภาพที่จะเลือกทางเดินของเขาเอง ให้สังคมนี้เปิดกว้าง สร้างสรรค์
 
ผมขี้เกียจวิเคราะห์ว่าสังคมไทยเป็นกึ่งอะไร แต่ชัดเจนว่าสังคมไทยมาถึงจุดที่ต้องปฏิรูปประชาธิปไตย เพื่อพัฒนาไปสู่ความเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ ในทุกระบบ ทุกองค์กรสถาบัน ไม่ใช่เฉพาะนักการเมือง
 
เราควรกลับมา “มีชีวิต” เพื่อผลักดันอุดมการณ์ประชาธิปไตยให้บรรลุ จากที่เราต่อสู้ไว้เมื่อ 14 ตุลา 6 ตุลา แล้วถูกตัดขาดไป ไม่ใช่กลับมาสร้างอุดมการณ์สุดขั้วสุดโต่งทางใดทางหนึ่ง เพื่อชดเชยอารมณ์ค้างจากอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ที่ล่มสลาย
 
ที่พูดมายืดยาวก็เพื่อจะบอกว่า โยน “อุดมการณ์อันสูงส่ง” ทิ้งไปเถอะ เพราะอุดมการณ์ยิ่งสูงส่งยิ่งทำให้ต้องต่อสู้ โค่นล้ม รุนแรง แตกหัก “ปฏิวัติ” (หรือหน้ามืดเห็นรัฐประหารเป็นการปฏิวัติ-ฮา)
 
เราต้องการแค่อุดมการณ์ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นอุดมการณ์บ้านๆ แต่สอดคล้องกับความจริงของโลกย์ ไม่ใช่สังคมในฝัน เราเพียงต้องการสังคมที่ผู้คนอยู่ร่วมกันได้ ขัดแย้งกันได้ ภายใต้หลักสิทธิเสรีภาพ เป็นสังคมที่ยังมีปัญหาให้ต้องแก้ไขไปเรื่อยๆ ตามธรรมชาติมนุษย์ โดยเราทุกคนก็เป็นมนุษย์ มีดีมีชั่ว (ไม่จำเป็นต้องดัดแปลงตนเองเป็นชนชั้นกรรมาชีพ)
 
เราต้องการแค่อุดมการณ์ประชาธิปไตยที่ยังอยู่ในสังคมทุนนิยม ให้ทุนนิยมพัฒนาไป NGO ก็ทำงานไป เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ ขอแค่ประชาชนตื่นตัวรู้จักปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง
 
อย่าเอาเป็นเอาตายเพ้อฝันว่าจะสร้างสังคมเป็นธรรม สะอาดสดใส ไล่ทุนสามานย์แล้วจะไม่มีทุจริตคอรัปชั่น อะไรเทือกนั้น ซึ่งเป็นการเอาอุดมการณ์ปฏิวัติสังคมนิยมมาซอยแบ่ง โพกผ้าเหลืองขายให้มวลชนคลั่งลัทธิ
 
แน่นอน ในอีกข้างหนึ่ง ผมก็พูดเสมอว่าไม่ต้องการเห็น “ปฏิวัติประชาชน” การปฏิวัติทุกแห่งในโลกลงเอยโดยไม่คุ้มค่ากับความสูญเสีย เพียงแต่มันมีปัจจัย 2 ด้าน ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นมีการต่อสู้ เมื่อชนชั้นปกครองใช้กำลังปราบปรามเข่นฆ่า มวลชนก็จำเป็นต้องสู้ เจาะเวลาหาอดีตไปกี่ครั้ง เกิด 6 ตุลาเราก็ต้องเข้าป่าอยู่ดี
 
อุดมการณ์ประชาธิปไตยต้องการเพียงให้ทุกขั้วอำนาจเข้ามาอยู่ใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ อันที่จริงเป็นความต้องการที่ต่ำมาก แต่บางขั้วอำนาจยังแข็งขืน นั่นต่างหากชนวนแห่งความรุนแรง โดยมีอดีตสหายไปร่วม “ชูคติพจน์” ขัดขวางการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง กดฝาหม้อน้ำไว้ไม่ยอมให้ไอน้ำระบายออก มันก็จะเกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพเมื่อน้ำเดือด 100 องศาตามที่สอนในโรงเรียนการเมืองการทหารนั่นแหละ
 
ผมคิดว่านี่เป็นประเด็นสำคัญอันดับแรก สำหรับคนที่มีอุดมการณ์จากป่าเขา เอาประชาธิปไตย หรือไม่เอาประชาธิปไตย
 
พวกไม่เอาประชาธิปไตยก็พยายามหารูปแบบ “การเมืองใหม่” ประชาธิปไตยที่มีการชี้นำ ประชาธิปไตยพรรคเดียวแบบจีน ประชาธิปไตยแบบรัฐอิสลาม สุดท้ายหันมาคว้าประชาธิปไตยแบบอำมาตย์
 
อาจพูดได้ว่ายังมีอารมณ์ค้าง ภาพหลอน จากอุดมการณ์สังคมนิยม แต่หลายคนที่ยังยืนหยัดอุดมการณ์สังคมนิยม เขาก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นนะครับ อย่าง อ.ใจ ท่านก็ยังยืนหยัดต่อสู้ไปสู่ประชาธิปไตยเต็มใบ ไม่ได้เพี้ยนจนเตลิดเปิดเปิงไปเหมือนสหายโพกผ้าเหลืองซักหน่อย
 
ความรับผิดชอบของคนออกป่า
ในฐานะผู้ที่เคยผ่านการต่อสู้ ผ่านสงคราม ผ่านการนองเลือด เคยเจ็บปวด เคยสูญเสีย เรามีภาระที่ต้องถูกเรียกร้องสูงกว่าคนอื่น
 
อันดับแรก ความรับผิดชอบสูงสุดคืออย่านำไปสู่การนองเลือด
 
แต่อย่าชี้หน้า “ซ้ายเสื้อแดง” เป็นจำเลย ในขณะที่ “ซ้ายเสื้อเหลือง” ปลุกความสุดขั้วสุดโต่ง ปลุกอุดมการณ์ราชาชาตินิยม ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงไปสู่เสรีประชาธิปไตย
 
แน่นอน เราพูดได้ว่าพฤษภา 53 แกนนำเสื้อแดงมีส่วนรับผิดชอบที่มีโอกาสยุติม็อบได้แต่ไม่ยุติ แต่คนอีกข้างที่ปลุกความเกลียดชัง กระทั่งมีคนตายมากมายก็ยังปลุกความเกลียดชัง ถ้าเป็นสลิ่มช่างหัวมัน ถ้าเป็นพวกเรา ก็ต้องถามว่ายังมีจิตวิญญาณของคนเดือนตุลา คนออกจากป่า คนเคยต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมอยู่ไหม
 
ที่เลวร้ายที่สุด คือพวกอ้างเจ้าสร้าง 6 ตุลา ในฐานะผู้ผ่านความเจ็บปวดสูญเสีย คนเดือนตุลาที่ปลุกข้อหา “ล้มเจ้า” ชั่วที่สุด ไม่ถือเป็นคนเดือนตุลาอีกต่อไป แม้แต่คนที่ปล่อยให้พวกพ้องฝ่ายตัวปลุกผังล้มเจ้า โดยทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ก็ถือว่าเหยียบย่ำเลือดเพื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมายของตน อภัยให้ไม่ได้
 
ข้อถัดมา อย่าดูถูกมวลชน “มวลชนแกงไก่กินเข้าไปสองชาม” คนที่เคยต่อสู้ในป่าเขากลับดูถูกมวลชน ทั้งที่เคยดัดแปลงตนเองกับกรรมกรชาวนามาตั้งหลายปี บางคนเป็น “ชนชั้นกรรมาชีพ” ไปแล้วก็มี สู้รบ ร่วมเป็นร่วมตาย ทุกข์ยากลำบาก กับสหายชาวนา วันนี้กลับมามีทัศนะเหมือนผู้ดีชาวกรุง เห็นชาวบ้านโง่ ถูกซื้อ เห็นมวลชนที่ลุกขึ้นสู้ เป็นพวกถูกหลอกมาตาย เฮ้ย มันเป็นไปได้ไง
 
มวลชนที่ตื่นตัวก็เหมือนเราสมัยเด็กๆ นั่นละครับ ไม่มีใครรู้แจ้งเห็นจริง ชีวทัศน์โลกทัศน์ชัดเจนตั้งแต่ต้น ธรรมชาติมนุษย์ต้องเห็นสรรพสิ่งด้านเดียวก่อนจะเห็นอีกด้าน โดยเฉพาะคนที่เพิ่งตื่นตัวจากอิทธิพลของสื่อดาวเทียม คุณจะไปเรียกร้องให้เขาเข้าใจยุทธศาสตร์ยุทธวิธี “4 ดี 5 ร่วม 7 จังหวะ” อะไรเทือกนั้นได้ไง
 
สำคัญว่ามันมีทิศทางที่เขาจะพัฒนาไปไหม เรียนรู้มากขึ้นไหม คนเราพอผ่านการต่อสู้ เขาก็มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น จากที่เหยียดหยามประณามว่าเสื้อแดงเป็นทาสทักษิณ ก็เห็นแล้วว่าพอทักษิณจะสละเรือ เสื้อแดงด่าขรม แน่นอนมันมีปีก “ซ้ายจัด” มุทะลุ อารมณ์ ซึ่งเขาจะเรียนรู้ต่อไป แต่กลับไปดูมวลชนของคุณบ้าง เหลือเท่าไหร่ แล้วที่เหลือนี่มีสติมีเหตุผลซักแค่ไหน
 
เราศึกษากันมาเท่าไหร่แล้วว่า มวลชนคือเป้าหมายของการเคลื่อนไหว การปฏิรูปประชาธิปไตยสิ่งสำคัญที่สุดคือมวลชนตื่นตัว รู้จักปกป้องสิทธิประโยชน์ของตน 6 ปีที่ผ่านมา ใครนำมวลชนไปทางไหน ผมเขียนให้เจ็บใจเล่นแล้วว่า 2475 เป็นของเสื้อแดง ส่วนพวกเสื้อเหลืองก็ควรจะไปฉลองรัฐประหาร 2490 งาน 6 ตุลาปีหลังๆ ก็กลายเป็นของเสื้อแดง มวลชนเสื้อแดงมีอารมณ์ร่วมในฐานะที่เขาถูกปรามปรามเข่นฆ่ามาเช่นกัน คนชั้นกลางรุ่นใหม่ที่ตื่นตัวจากกระแสประชาธิปไตย กลับไปศึกษา 6 ตุลา ยกย่องคณะราษฎร ขณะที่พวกซ้ายเสื้อเหลืองไม่กล้าพูดถึง 6 ตุลาสักแอะ
 
อีกข้อที่ผมเซอร์ไพรส์ “ชนกรรมาชีพทั่วโลกจงรวมกันเข้า” เคยเป็นคอมมิวนิสต์ควรรับความคิดสากลนิยม ไม่เอาชาติ ศาสนา ดินแดน สีผิว เผ่าพันธุ์ สัญลักษณ์ต่างๆ มาแบ่งแยกสร้างศัตรู แต่นี่มีอย่างที่ไหนวะ ปลุกคลั่งชาติทวงคืนปราสาทพระวิหาร อาศัยรากฐานความคิดดูหมิ่นเหยียดหยามชาติพันธุ์เพื่อนบ้านมาเป็นอาวุธทางการเมือง
 
เอ้า พลพรรคคอมมิวนิสต์ เสร็จภารกิจหน้าศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ไปภูมิซรอลเลยสิครับ ออก Communist Manifesto ทวงคืนปราสาทพระวิหาร
 
ข้อสังเกตส่งท้าย อดีตสหายส่วนหนึ่งกำลังเดินแผน “สามัคคีรัฐบาลปฏิกิริยาไทยต่อต้านเวียดนาม” เหมือนพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยอ้างว่าเป็นยุทธวิธี สามัคคีศัตรูฝ่ายหนึ่งโค่นล้มศัตรูอีกฝ่ายหนึ่ง แลกกับการทำลายพรรคพี่พรรคน้องของตัวเอง
 
ถ้าเป็นเกมแย่งอำนาจ คุณใช้วิธีแบบนี้ได้ แต่การเคลื่อนไหวประชาธิปไตยต้องเป็นทั้งเป้าหมายและวิธีการ ไม่ใช่พูดกันวงใน ปากอ้างว่าไม่เอาอำมาตย์ แต่ใช้พวกเขาเป็นอาวุธโค่นทุนสามานย์ แล้วเวลาเคลื่อนไหวหรือแสดงความเห็นสาธารณะ ก็บิดเบือนต่อต้านทัศนะประชาธิปไตย
 
อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ล่มสลายไปแล้ว แต่ “จิตใจสหาย” ที่เราควรสืบทอดคือ ความมุ่งหวังที่จะสร้างสังคมดีงาม สังคมที่มีเสรี ไม่มีขีดคั่น ถึงแม้ไม่อาจขจัดความแตกต่างทางชนชั้น แต่ให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีศักดิ์ศรี
 
จิตใจสหายควรเป็นจิตใจที่รักเพื่อนมนุษย์ เสียสละ เปิดกว้าง ไม่ใช่คับแคบ เกลียดชัง
 
หัวใจสีแดงไม่มีทางที่ใครแย่งยึดไปได้ นอกจากมันจืดจางลงในใจของตัวเอง
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ใบตองแห้ง' ออนไลน์: อุดมการณ์จากป่าเขา

Posted: 21 Jul 2012 11:49 PM PDT

ใบตองแห้ง กลั่นหัวใจดวงที่สร้างจากป่าเขา เขียนถึงสหายร่วมรบ อุดมการณ์ที่ฝันใฝ่ และวันนี้ที่ปักธง  

“ดวงตะวันสาดแสงเรืองรอง ทั่วเขตแคว้นแดนไทย ดวงตะวันที่ยิ่งใหญ่ คือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

นำมวลประชา จับอาวุธขึ้นมา ทำสงครามประชาชน ขับโจรมะริกัน โค่นสมุนของมัน
 
ตามพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ยืนหยัดปฏิวัติตลอดไป ตามพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ยืนหยัดปฏิวัติตลอดไป
 
จงเจริญ จงเจริญ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จงเจริญ จงเจริญ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย”
 
30 ปีผ่านไปผมยังจำเพลงปฏิวัติได้เกือบหมด ยังจำวันเวลาที่อยู่ในป่า สู้รบ ทำไร่ แบกข้าวสาร ยังจำเสียงปืนระเบิดดังสนั่นหวั่นไหวเมื่อปะทะกันครั้งใหญ่บนสันภู ยังจำแสงสว่างจับขอบฟ้าจากปากกระบอกปืน 155 ที่ตามมาด้วยเสียงกัมปนาทครั่นครืน ยังจำป่าหญ้าคาเปียกชื้นทางเดินลื่นชันเมื่อออกลาดตระเวนกลางฝนพรำยามเช้า ยังจำความยากลำบากที่กินข้าวปนมัน ปนข้าวโพด กับแกงหน่อไม้ รวมทั้งยังจำความสนุกสนาน ความฮึกห้าวเหิมหาญ ความใฝ่ฝัน ความหวัง ความผิดหวัง ความเจ็บปวด สูญเสีย น้ำตา ...และความรัก ที่เกิดขึ้นในป่าเขา
 
หลังออกจากป่า ผมกลับจำชีวิตช่วงนั้นไม่ค่อยได้ มันไร้ความหมายไปหมด จนวันที่เห็นหน้าลูกนอนแบเบาะ...โลกของผมถึงหมุนอีกครั้ง
 
เชื่อว่าไม่ใช่แค่ผม แต่เพื่อนพ้องน้องพี่ทุกคน ไม่ว่าออกจากป่าแล้วยากดีมีจน เป็นรัฐมนตรี เป็นนักธุรกิจ เป็นคนชั้นกลาง เป็นลูกจ้างต๊อกต๋อย หรือเป็นคนที่ล้มเหลวทุกอย่างในชีวิต ก็ล้วนแล้วแต่เก็บความทรงจำนี้ไว้ในลิ้นชักพิเศษ ที่ไม่มีวันลบลืม นานวันเข้าก็เป็นเหมือนภาพฝัน แต่ฝังแน่นตรึงตรา ถึงครั้งหนึ่งในวัยเยาว์ ที่เราเคยมุ่งมั่นจะเปลี่ยนแปลงโลก
 
ไม่ว่าอีกชีวิตหนึ่งจะประสบชะตากรรมพลิกผันอย่างไร ไม่ว่า “สหาย” จะเปลี่ยนแปรไปแบบไหน รวย จน ยิ่งใหญ่ ต๊อกต๋อย ไม่ได้เจอกันนานแค่ไหน เวลาที่เราอยู่ด้วยกัน ทุกอย่างย้อนเวลาไปหมด เหลือแต่คืนวันที่ร่วมเป็นร่วมตาย สู้รบด้วยกัน อดอยากด้วยกัน แบกข้าวสารฝ่าดงทากไปด้วยกัน รำวงวันพรรคด้วยกัน....
 
ผมยังเชื่อมั่น แม้หวั่นไหว ว่าวิกฤตการเมือง ความแตกแยกทางความคิดตลอด 6 ปีที่ผ่านมาจะไม่ทำลายวันคืนเก่าๆ แม้สร้างความห่างเหินกันไปบ้าง
 
อย่างน้อยถึงคุยกันไม่ได้ ถกกันไม่ได้ แต่ในยามที่สหายรายใดตกทุกข์ได้ยาก ผมเคยเป็นตัวตั้งตัวตีประกาศขอความช่วยเหลือสหายรายหนึ่ง ได้รับน้ำใจหลั่งไหลจากทุกสารทิศ แม้กระทั่งสหายต่างเขตงานที่ไม่เคยรู้จัก
 
หรือไม่ก็...อันนี้เศร้าหน่อย มีใครตายก็ยังไปงานศพพร้อมเพรียง (ปกตินัดสังสรรค์ไม่ค่อยมีคนมาหรอก แต่ถ้ามีใครตาย พรึ่บเลย ตายเช้า ไม่ทันบ่ายรู้กันหมดแล้ว)
 
ความขัดแย้งทางความคิดของอดีตสหายไม่ใช่เรื่องแปลก หลังจากอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ล่มสลาย เรากลับมาสู่การแสวงหาที่ไม่เจอทางออก ขณะเดียวกันก็หมดแรงใจ เคว้งคว้าง ผิดหวัง ผมเขียนบันทึกไว้ว่า ครั้งหนึ่ง เราเคยยืนบนภูดูดาวบนท้องฟ้า ดวงดาวนั้นดูใกล้ แทบจะไขว่คว้ามาได้ แต่วันนี้ ย่ำไปบนถนนยามดึก แปลกแยก เดียวดาย มองไม่เห็นดาว เห็นแต่เสาไฟฟ้า และเงาจันทร์ในท่อน้ำโสโครก
 
คนจำนวนหนึ่งกลับสู่ชีวิตธรรมดาได้ แต่บางคนกลายเป็นคนล้มเหลวตลอดชีวิต บางคนก็กลายเป็นเอาทุกอย่างที่ขวางหน้า ไม่ต่างกับมวลชนในชนบท บางคนกลับไปทำไร่ไถนา ขยันขันแข็ง บางคนเสียศูนย์ ติดเหล้าเมายา ติดเอดส์ ตายก่อนวัยอันควร บางคนกลายเป็นมือปืนรับจ้างไปก็มี
 
ไม่แปลกหรอกที่ความขัดแย้งทางการเมือง จะทำให้ “ชีวิตที่อยู่ในลิ้นชัก” กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง ไม่ว่าเลือกข้างไหน ไม่ต่างกับสมัยพฤษภา 35 ไม่ต้องเป็นผู้นำ ขอแค่อยู่ในม็อบ อดีตสหายบางคนไปช่วยหุงข้าวกระทะใบบัว แสดงฝีมือที่เชี่ยวชาญมาจากม็อบหลัง 14 ตุลา
 
เพียงแต่ความขัดแย้งครั้งนี้แหลมคม เกิดทางแยกที่ท้าทาย ว่าด้วยพื้นฐานอุดมการณ์ของเรา เราจะเลือกเดินทางไหน ซึ่งก็อีกนั่นแหละ ขึ้นกับว่าแต่ละคนตกผลึก เก็บรับบทเรียนจากป่าเขามาอย่างไร และมีวิถีชีวิต ทัศนะ ในช่วงหลังจากนั้นอย่างไร
 
เรา “กลับมามีชีวิต” อีกครั้ง กลับมามีความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม เพียงแต่คิดสวนทางกันสิ้นเชิง
 
อันที่จริงก็ไม่เป็นไร ถ้าต่างคนต่างคิดว่า อยากเห็นสังคมที่ดีกว่า และยังคงยึดมั่นอุดมการณ์ “เพื่อมวลชน”
 
แต่ไม่ทราบมันเป็นมรดกตกทอดของวัฒนธรรมคอมมิวนิสต์หรือเปล่า ที่แค่ขัดแย้งทางความคิด พวกสุดขั้วสุดโต่งก็ประณามเป็น “ลัทธิแก้” ร่วมรบมาด้วยกัน อาบเลือดมาด้วยกัน ก็ยังเข่นฆ่ากัน แบบสตาลิน-ทรอตสกี้ เหมาเจ่อตง-หลิวเซ่าฉี-เผิงเต๊อะไหว-เติ้งเสี่ยวผิง ฯลฯ
 
ผมไม่แปลกใจอะไร ที่เห็นภาพพรรคคอมมิวนิสต์ และทหารปลดแอกฯ มาชูป้ายปกป้องสถาบัน ปกป้องศาลรัฐธรรมนูญ เพราะมีอดีตสหายคิดเช่นนี้จริง เยอะไป เพียงแต่ผมรู้สึกว่าการชุมนุมที่อุดร ขอนแก่น “จัดฉาก” ระดมคนมาเกินจริง
 
และเพียงแต่ผมรู้สึกว่า พวกคุณไม่ควรใช้ชื่อพรรคคอมมิวนิสต์ กองทัพปลดแอก พรรคคอมมิวนิสต์ในความรู้สึกผม ตายนานแล้ว ตายอย่างมีเกียรติ ไม่ว่าใครจะไม่เห็นด้วย ขัดแย้ง วิพากษ์วิจารณ์ หรือหมดศรัทธาอย่างไร ผมก็เห็นว่า พรรคคอมมิวนิสต์ตายอย่างมีเกียรติ จบบทบาททางประวัติศาสตร์ที่เราทั้งหลายควรคารวะ พร้อมกับยกย่องวีรชนผู้พลีชีพเพื่อการปฏิวัติทุกคน ตั้งแต่สหายนิรนามในสนามรบมาจนสหายนำอย่าง เจริญ วรรณงาม, วิรัช อังคถาวร, อุดม ศรีสุวรรณ, อัศนีย์ พลจันทร์ ฯลฯ ตำนานการต่อสู้ของพวกเขาจบลงแล้ว-อย่างที่จะอยู่ในหัวใจเราตลอดไป ไม่ว่าเป็นเหลืองหรือแดง เป็นเรื่องตัวบุคคล ไม่ควรเอาพรรคคอมมิวนิสต์มาเกี่ยวข้อง
 
ถ้ายกเว้นเรื่องเอาชื่อพรรคมาเคลื่อนไหว การที่อดีตสหายทั้งหลายออกมายืนฝ่าย “ขวาจัด” อันที่จริงก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ซ้ายจัดกับขวาจัด มีเส้นแบ่งเพียงบางเบา เผด็จการในโลกนี้ล้วนอาศัยฐานความคิดผูกขาดความดี ความรักชาติ ต้องการจัดระเบียบสังคม
 
ฉะนั้นผมจึงไม่แปลกใจอะไรเลย ที่อดีตสหายส่วนหนึ่งหันไปสนับสนุนรัฐประหาร ก็พรรคคอมมิวนิสต์สอนว่า “อำนาจรัฐจักได้มาด้วยกระบอกปืน” ไม่เคยสอนว่า “อำนาจรัฐจักได้มาด้วยการเลือกตั้ง” ซักหน่อย (ฮา)
 
ผมไม่แปลกใจเลย ที่อดีตสหายส่วนหนึ่งหันไปสนับสนุนเผด็จการที่อ้างว่าเป็น “เผด็จการคุณธรรม” ในเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์สอนเราว่า ต้องยึดแนวทาง “เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ”
 
ผมไม่แปลกใจเลย ที่อดีตสหายส่วนหนึ่งสนับสนุน “ประชาธิปไตยแบบอำมาตย์” ในเมื่อประธานเหมาสอนเราว่า ต้องใช้ “ประชาธิปไตยรวมศูนย์”
 
ผมไม่แปลกใจเลย ที่อดีตสหายซึ่งเคยชูคติพจน์ประธานเหมา หันไปชูป้าย “ปกป้องสถาบัน” กลายเป็นพันธมิตรฮาร์ดคอร์ ซึ่งก็มีบางอย่างคล้ายคลึงเรดการ์ด
 
ผมไม่แปลกใจเลย ที่อดีตสหายส่วนหนึ่งสนับสนุนตุลาการภิวัตน์ เพราะเราเคยคิดจะตั้ง “ศาลประชาชน”
 
เปล่า ไม่ได้โทษพรรคคอมมิวนิสต์ แต่อยู่ที่เราเก็บรับอะไรไว้ต่างหาก
 
เสียดายที่ผมไม่ใช่นักทฤษฎี ศึกษาวัตถุนิยมวิภาษวิธีทีไรก็มึนตึ้บ ยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงจากปริมาณไปสู่คุณภาพทีไร ตำราเล่มไหนๆ ก็ยกแต่น้ำเดือด อ่านเลนินแล้วสับสน อะไรวะ “ก้าวหนึ่งก้าว ถอยสองก้าว” ส่วนคติพจน์ประธานเหมา สหายม้งในหมู่ผมชอบชูคติพจน์แล้วบอกว่า “สหาย ประธานเหมาสอนเราว่า งานปฏิวัติต้องทำไปตลอดชีวิต ฉะนั้นวันนี้ผมขอพักก่อน ไม่เป็นไรมั้ง”
 
ก็เลยไม่สามารถวิเคราะห์ให้เป็นระบบว่า เพราะอะไร มรดกทางความคิดของพรรคคอมมิวนิสต์จึงทำให้เราแตกเป็น 2 เสี่ยง
 
อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ล่มสลายแล้ว
นักศึกษาที่เข้าป่าขัดแย้งกับ พคท.เรื่องการวิเคราะห์สังคมเป็นกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา ซึ่งกำหนดยุทธศาสตร์ให้สร้างฐานที่มั่น ใช้ชนบทล้อมเมือง เอาอย่างเหมาเจ๋อตงปฏิวัติจีนด้วยการสร้างฐานที่มั่นในชนบท กองทัพแดงไปถึงไหนก็จับเจ้าที่ดินตัดหัว แจกที่ดินให้ชาวนา มันจะไปเหลืออะไร ชาวนาก็สู้ตายเพื่อพรรคคอมมิวนิสต์สิครับ
 
แล้วโลกสมัยนั้นนะ พวกผู้หญิงในหมู่บ้านสานรองเท้าฟาง ทอผ้า ให้ทหารปลดแอก เศรษฐกิจชนบทยังไม่ต้องพึ่งเมือง ไม่เหมือนสมัยผมเป็น ทปท.กินมาม่า (เคยคิดจะไปเสนอตัวเป็นนายแบบสหพัฒน์ฯ ถ่ายหนังโฆษณา แม้แต่ ทปท.ยังกินมาม่า) ฝ่ายตรงข้ามก็ไม่ได้มีอาวุธทันสมัยเช่นเครื่องบิน จรวด เพียงพอที่จะปราบปราม
 
เหมาใช้ยุทธศาสตร์ต่างจากรัสเซีย ซึ่งใช้การลุกขึ้นสู้ในเมือง พรรคคอมมิวนิสต์จีนช่วงหนึ่งนำโดยสายรัสเซีย ลุกขึ้นสู้ก็ตายเป็นเบือ เหมาเป็นอัจฉริยะที่คิดค้นดัดแปลงยุทธศาสตร์ยุทธวิธีให้เหมาะกับสังคมจีน โดยอิงนิยายซ้องกั๋ง
 
พคท.ก๊อปเหมามา สร้างฐานที่มั่น ไม่ทันไรก็ถูกรัฐบาลปิดล้อม ขยายฐานที่มั่นไม่ได้ ทางเหนือที่ผมอยู่คือเขตม้ง ชนชาติส่วนน้อยที่ถูกคนไทยพื้นราบดูหมิ่น เอาเปรียบ อำนาจรัฐรังแก พอเสียงปืนแตกก็แยกเขตกัน คนม้งลงมาก็ไม่ได้ ทหารขึ้นไปปราบก็แพ้คนม้งที่รู้ภูมิประเทศดีกว่า ตั้งประจัญกันอย่างนั้นจนฐานที่มั่นแตกเพราะรัฐบาลใช้วิธีสร้างถนนผ่ากลาง (ปัจจุบันเป็นเส้นทางท่องเที่ยวนำท่านผู้มีเกียรติไปยังภูชี้ฟ้า)
 
ฐานที่มั่นของ พคท.ไม่ได้ทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มีแต่ยากลำบากลง แม้ตอนแรกจะ “ปลดแอก” จากการกดขี่ แต่เศรษฐกิจต้องพึ่งสินค้าอุตสาหกรรมจากภายนอก ตอนแรก ลาวยังไม่ปิดแนวหลังก็ไม่เท่าไหร่ (สมัยนั้นได้สูบบุหรี่จีน จินซาเจียง ซานชิ กินหมูกระป๋อง) แต่พอถูกโดดเดี่ยวสิครับ
 
การปฏิวัติไม่ใช่เรื่องของการขายฝัน เอารูปปลาเค็มแขวนให้กินข้าวต้มเปล่าๆ มันต้องสอดคล้องกับผลประโยชน์เฉพาะหน้าประชาชน เรื่องนี้พวกคนเดือนตุลาในไทยรักไทยเข้าใจอย่างลึกซึ้ง จึงแปรมาเป็นการยึดอำนาจรัฐด้วยนโยบาย กองทุนหมู่บ้าน 30 บาท
 
ความขัดแย้งทางความคิดระหว่างนักศึกษากับจัดตั้ง ในทางทฤษฎี นำมาซึ่งปัญหาประชาธิปไตยในขบวน ทำให้เรา “ตาสว่าง” กับ “ประชาธิปไตยรวมศูนย์” ซึ่งเอาเข้าจริงก็มีแต่ด้านที่รวมศูนย์
 
ความขัดแย้งในแต่ละเขต ไม่ว่าจะเริ่มต้นด้วยประเด็นใด ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี วิเคราะห์สังคม ฯลฯ จุดแตกหักก็คือความไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็น หรือฟัง แต่ไม่แก้ไข มีปัญหาท่าที
 
อีกด้านคือวิกฤติศรัทธา ตอนที่เราเข้าป่าใหม่ๆ ถูกอบรมให้เชื่อพรรค เชื่อจัดตั้ง เห็นจัดตั้งเป็นบร๊ะเจ้า (พรรคคอมมิวนิสต์ทั้งไทยและจีนยังไม่หลุดพ้นจากความคิดศักดินา เหมาในอีกมุมก็คือจักรพรรดิองค์ใหม่) พอขัดแย้งกัน เห็นอีกด้าน ด้านที่ล้าหลัง ตกยุค ไม่รับฟัง พอถูกท้าทายก็มีอารมณ์
 
อารมณ์ความรู้สึกเราในขณะนั้น ขอใช้บทกวีของอดีตสหายรายหนึ่ง ที่ขโมยจำไว้ในหัวใจมา 30 ปี
 
“ไม่อยากจะให้ใครมาตีตรา
หรือชี้หน้าปัญญาชนนั้นอ่อนไหว
ทัศนะจัดตั้งไม่เข้าใจ
นายทุนน้อยนานไปก็โลเล
 
ชอบทำการเคลื่อนไหวไม่ขึ้นต่อ
เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อทำหัวเสธ
ทั้งอ่อนหัดทั้งสันดานพาลเกเร
มาทำเท่ค้านพรรคอาจโดนดี”
 
ผมออกจากป่าหลังเพื่อน หลังจากอารมณ์เย็นลง ผมเข้าใจสหายนำมากขึ้น สหายนำเขตอื่นเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่สหายนำเขตผมไม่ได้ดำรงชีวิตความเป็นอยู่แตกต่างจากเรา อย่างในหนัง “สงครามประชาชน” ของเสกสรรค์ สหายนำที่ผมรักนับถือที่สุด อายุมากแล้ว มีปอดข้างเดียว แต่ใช้ชีวิตเหมือนเราทุกอย่าง เป็นชาวคอมมิวนิสต์ที่แท้ ผู้ต่อสู้ตั้งแต่เด็ก เลขาเขตผม เคยโดนเราประชดประเทียดต่างๆ นานา เอาเข้าจริงแกก็คือมนุษย์ธรรมดา มีด้านที่น่าเคารพ มีด้านที่น่าเห็นใจ แต่เราถูกสร้างภาพให้เห็นเป็น “เทวดา” ตั้งแต่แรก พอเกิดวิกฤติศรัทธาก็รับไม่ได้
 
ก่อนออกจากป่า ผมลงมาอยู่เขตพื้นราบ ซึ่งประสบความสำเร็จเพราะฉีกตำราจัดตั้ง ที่เอาแต่ให้ “สร้างฐานที่มั่น” นักศึกษาและชาวนาที่เป็นแกนนำ กลับไปทำงานบ้านตัวเอง สร้างเขตอิทธิพลขึ้นจากการ “เก็บ” ผู้มีอิทธิพลเดิม 2-3 ราย  แล้วก็ใช้ทฤษฎีผลประโยชน์ประชาชน นำชาวบ้านล้อมรถสรรพสามิตจับเหล้าเถื่อน กลายเป็นเขตต้มเหล้าเสรี และเป็นเขตจรยุทธ์มอเตอร์ไซค์ แต่ท้ายที่สุดก็ไปต่อไม่ได้ เพราะขบวนล่มสลายแล้ว และไม่สามารถฝืนทิศทางสังคม
 
ผมนัดชาวบ้านไปศึกษาทฤษฎีปฏิวัติตอนสองทุ่ม กว่าชาวบ้านจะมา สี่ทุ่มกว่า ถามว่าทำไมมาช้า หัวเราะแหะๆ ดู “กระบี่ไร้เทียมทาน” นั่นราวๆ ปี 24-25 ฮุ้นปวยเอี้ยงทำให้เครื่องรับโทรทัศน์แพร่หลายไปอย่างรวดเร็วในชนบท
 
สังคมเปลี่ยนแปลงครับ ผมไปเคลื่อนไหวกับชาวบ้านที่ทำสวนผัก วันนี้ผักชีกิโลละ 5 บาท อีกเดือนหนึ่งกิโลละสลึง ชาวบ้านยัวะ ถอนทิ้งน้ำลอยเป็นแพ ผมไม่รู้จะไปตัดหัวใครเพื่อผลประโยชน์ประชาชน เพราะมันกำหนดดัชนีราคากันมาเป็นทอดๆ จากหั่งเช้งในกรุงเทพฯ
 
จีนต้องห้นกลับมาพัฒนาทุนนิยม เพราะเศรษฐกิจเกือบล่มจมในยุคแก๊งสี่คน ที่อะไรๆ ก็ชูธงแดงไว้ก่อน คนงานทำงานขยันขันแข็งก็ได้ธงแดงเป็นรางวัล ปีก็แล้ว 2 ปีก็แล้ว 3 ปีก็แล้ว ค่าแรงเท่ากัน เรื่องอะไรกรูจะขยัน อดีตสหายที่เคยไปเมืองจีนเล่าว่าเข้าไปซื้อของในร้านของรัฐ พอกดกริ่งหมดเวลาทำงาน พนักงานทิ้งลูกค้าเฉย เพราะทำไปก็เท่านั้น ผู้บริหารวิสาหกิจก็คัดเลือกจาก “อุดมการณ์” ลูกที่ดีของพรรคลูกที่รักของประชาชน แต่ทำงานไม่เป็น เอาแต่ชูคติพจน์ ประเทศเจ๊งย่อยยับ อดีตสหายเคยไปเยี่ยมโรงงานผลิตรถยนต์ เวลาพ่นสีรถ คนงานไม่รู้จักเอากระดาษหนังสือพิมพ์ปิดกระจก พ่นไปเรื่อยแล้วค่อยมาขูดเอา พอแนะนำเขา ยังโดนจัดตั้งเราด่าอีกว่าอย่าไปฉีกหน้าสหายจีน
 
8 ปีในยุคแก๊งสี่คน จึงมีคำขวัญประชดประชันว่าผลิตได้แค่ 4 หมุน (หรือ 8 หมุน จำไม่ได้แน่ เช่น จักรยาน, วิทยุ, กระติกน้ำ) เติ้งเสี่ยวผิงจึงบอกว่า แมวสีอะไรก็ได้ ขอให้จับหนูได้ คือไม่เอาแล้วอุดมการณ์ชี้นำ หันมาพัฒนาทุนนิยม ใช้เงิน วัตถุ ความอยากได้ใคร่มี ตลอดจนความอยากรวย กระตุ้นให้คนกระตือรือล้น จนจีนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทุกวันนี้ แน่นอน โคตรเหลื่อมล้ำเลย แต่ชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนก็ดีกว่าจนเท่าเทียมในยุคแก๊งสี่คน
 
แต่ที่พูดนี่ไม่ใช่ว่าผมเห็นด้วยกับจีนด้านที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ปราบปรามผู้เรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งตอนหลังกลับตาลปัตร ฝ่ายขวาไทยกลับกลายเป็นพวกนิยมจีน เห็นไหม ไม่ต้องมีประชาธิปไตยก็เศรษฐกิจรุ่งเรืองได้ โห จีนเขาคลี่คลายมาจากเผด็จการตกขอบ แล้วค่อยๆ เปิดกว้าง เราสิจะถอยหลังสวนทางเขา
 
ความเปลี่ยนแปลงของจีน การล่มสลายของโซเวียต ชัดเจนว่าอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ล่มสลายแล้ว ไม่เฉพาะ “เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ” ที่กลืนกันตัวเอง กลายเป็นการผูกขาดอำนาจของคนกลุ่มเดียว แต่สังคมคอมมิวนิสต์ในฝันของมาร์กซ์ไม่มีทางเกิดขึ้นจริง เช่นเดียวกับโลกพระศรีอาริย์ โลกที่ทุกคนเป็นคนดี ไม่เห็นแก่ตัว พอเพียง จริงๆ ก็คือโลกที่หยุดนิ่ง
 
มนุษยชาติพัฒนามาด้วยความขัดแย้ง 2 ด้านในตัว กิเลส ตัณหา ราคะ โลภ โกรธ หลง เป็นพลังที่ผลักดันให้โลกหมุน ให้เกิดการคิดค้น พัฒนาพลังการผลิต วิทยาการเทคโนโลยี ขณะที่คุณธรรม ความดีงาม ความกล้าต่อสู้ ความเสียสละ เป็นพลังที่ควบคุมทิศทาง คอยจัดความสัมพันธ์ให้เหมาะสม มันเป็นเช่นนี้มาหลายพันปีแล้ว ไม่มีหรอก สังคมคุณธรรม ดีงามสมบูรณ์แบบ ไม่งั้นโลกก็หยุดหมุน
 
ปรัชญานี้แฝงอยู่ในไบเบิลของคริสต์ งูคือสัญลักษณ์ของแรงกระตุ้นที่ทำให้อดัมกับอีฟกลายเป็นมนุษย์ จากเดิมที่เป็นแค่หุ่นยนต์ของพระเจ้า
 
เพียงแต่หลังผ่านความขัดแย้ง ความรุนแรง ความเสียหาย มนุษยชาติก็เรียนรู้และยกระดับ จนค่อยๆ พัฒนาระบอบที่ให้เสรีกับกิเลสตัณหา ให้ความอยากได้ใคร่มี เป็นพลังสร้างสรรค์ พร้อมๆ กับเปิดช่องทางให้มีการต่อรองจัดสรรผลประโยชน์ นั่นคือระบอบประชาธิปไตย
 
สังคมอุดมการณ์ที่แท้จริงจึงเป็นสังคมประชาธิปไตย เสรีประชาธิปไตยที่มีความสมดุลระหว่างพลังทั้งสองด้าน ไม่ใช่เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ ไม่ใช่เผด็จการคุณธรรม ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่กำกับดูแลโดยคนกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นพรรคคอมมิวนิสต์หรืออำมาตย์
 
เราเป็นเสรีชน
พรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลก ไม่ได้ชนะด้วยอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ แต่ชนะด้วยเงื่อนไขที่ประชาชนต่อต้านผู้ปกครองในขณะนั้นต่างหาก
 
ไม่มีเลนิน ไม่มีพรรคบอลเชวิค พระเจ้าซาร์ก็ต้องถูกโค่นล้มอยู่ดี ด้วยระบอบการปกครองที่ประชาชนเหลืออดแล้ว เพียงแต่แน่นอน อุดมการณ์ที่งดงาม ความคิดชี้นำที่เข้มแข็ง การจัดตั้งเป็นเอกภาพ ทำให้ขบวนปฏิวัติที่นำโดยลัทธิมาร์กซ์-เลนิน ได้ชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จ รวดเร็ว ไม่ต้องยืดเยื้ออีกหลายปี แต่ถามว่าชาวนารัสเซียสมัยนั้นรู้จักคาร์ล มาร์กซ์ รู้จักสังคมอุดมการณ์ไหม ไม่หรอก ก็แค่อยากล้มพระเจ้าซาร์
 
พรรคคอมมิวนิสต์จีน เวียดนาม ลาว กัมพูชา เกาหลี ไม่สามารถปฏิเสธว่าส่วนสำคัญของชัยชนะคือชูธงประชาชาติ จีนทำสงครามต่อต้านญี่ปุ่น เกาหลีก็ต่อต้านญี่ปุ่น เวียดนาม ลาว กัมพูชา ต่อต้านฝรั่งเศสผู้ยึดครอง แล้วต่อเนื่องมาถึงอเมริกาผู้แทรกแซง แน่นอน อุดมการณ์ ความคิด ทฤษฎี ลัทธิมาร์กซ์-เลนิน ทำให้ขบวนเข้มแข็ง ห้าวหาญ แต่ถ้าปราศจากเงื่อนไขที่ประเทศถูกรุกราน หรือระบอบเดิมเสื่อมทรามแตกสลาย (อย่างในจีนซึ่งแตกเป็นก๊กเป็นเหล่าหลังซุนยัดเซ็น) ก็ไม่แน่ว่าจะชนะหรือเปล่า
 
มองย้อนไป ตั้งแต่มาร์กซ์ เลนิน เหมา ลุงโฮ เช คาสโตร ฯลฯ มาถึงแกนนำ พคท.และเรา ก็ล้วนมีจุดเริ่มต้นจากผู้ที่ต่อสู้เผด็จการ เรียกร้องสิทธิเสรีภาพทั้งสิ้น (มาร์กซ์เคยเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ถูกเซ็นเซอร์) เพียงแต่ในยุคสมัยนั้น อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ให้ความฝันที่ทรงพลังและมีเสน่ห์ที่สุด สามารถปลุกคนให้ลุกขึ้นต่อสู้กับเผด็จการซึ่งปราบปรามประชาชนอย่างโหดเหี้ยม
 
อุดม ศรีสุวรรณ,นายผี, จิตร ภูมิศักดิ์ เหล่านี้คือนักคิดนักเขียนฝ่ายประชาธิปไตยที่ถูกเผด็จการปราบปราม คนเดือนตุลา ขบวนการนักศึกษา อันที่จริงก็เติบโตมาด้วยอิทธิพลความคิดเสรีนิยม ของยุคซิกซ์ตี้ ยุคแสวงหาของอเมริกา หงา คาราวาน ก็ได้อิทธิพลมาจากบ็อบ ดีแลน ไม่ได้เป็นแดงมาแต่แรกซักหน่อย (ฮา) ผม “แสวงหา” มาตั้งแต่อยู่ ม.ต้น ชอบเพลง The Sound of Silence ของไซมอน การ์ฟังเกล จากหนัง The Graduate ที่พระเอก “คนนอก” ดัสติน ฮอฟฟ์แมน ดำลงไปคุยกับความเงียบใต้น้ำ
 
แต่ความรุนแรงจากชนชั้นปกครอง การปราบปรามอย่างเหี้ยมโหดเมื่อ 6 ตุลา ผลักให้เราเข้าป่า กระนั้น เราก็ยังขัดแย้งกับพรรคคอมมิวนิสต์ เพราะเราต้องการประชาธิปไตย เพราะเราเป็นเสรีชน
 
ความเป็นเสรีชน ไม่ใช่เรื่องที่เป็นซ้ายตามสมัยนิยม ไม่ใช่เป็นหนุ่มสาวก็ซ้ายให้ทันสมัย แต่แก่แล้วเสียคน (อันที่จริงคนพูดนั่นแหละเป็นซ้ายสมัยนิยม)
 
ฉะนั้น สิ่งที่เราควรจะกลับมาเป็น ก็คือเป็นนักประชาธิปไตย เป็นผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ให้ประชาชนมีเสรีภาพที่จะเลือกทางเดินของเขาเอง ให้สังคมนี้เปิดกว้าง สร้างสรรค์
 
ผมขี้เกียจวิเคราะห์ว่าสังคมไทยเป็นกึ่งอะไร แต่ชัดเจนว่าสังคมไทยมาถึงจุดที่ต้องปฏิรูปประชาธิปไตย เพื่อพัฒนาไปสู่ความเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ ในทุกระบบ ทุกองค์กรสถาบัน ไม่ใช่เฉพาะนักการเมือง
 
เราควรกลับมา “มีชีวิต” เพื่อผลักดันอุดมการณ์ประชาธิปไตยให้บรรลุ จากที่เราต่อสู้ไว้เมื่อ 14 ตุลา 6 ตุลา แล้วถูกตัดขาดไป ไม่ใช่กลับมาสร้างอุดมการณ์สุดขั้วสุดโต่งทางใดทางหนึ่ง เพื่อชดเชยอารมณ์ค้างจากอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ที่ล่มสลาย
 
ที่พูดมายืดยาวก็เพื่อจะบอกว่า โยน “อุดมการณ์อันสูงส่ง” ทิ้งไปเถอะ เพราะอุดมการณ์ยิ่งสูงส่งยิ่งทำให้ต้องต่อสู้ โค่นล้ม รุนแรง แตกหัก “ปฏิวัติ” (หรือหน้ามืดเห็นรัฐประหารเป็นการปฏิวัติ-ฮา)
 
เราต้องการแค่อุดมการณ์ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นอุดมการณ์บ้านๆ แต่สอดคล้องกับความจริงของโลกย์ ไม่ใช่สังคมในฝัน เราเพียงต้องการสังคมที่ผู้คนอยู่ร่วมกันได้ ขัดแย้งกันได้ ภายใต้หลักสิทธิเสรีภาพ เป็นสังคมที่ยังมีปัญหาให้ต้องแก้ไขไปเรื่อยๆ ตามธรรมชาติมนุษย์ โดยเราทุกคนก็เป็นมนุษย์ มีดีมีชั่ว (ไม่จำเป็นต้องดัดแปลงตนเองเป็นชนชั้นกรรมาชีพ)
 
เราต้องการแค่อุดมการณ์ประชาธิปไตยที่ยังอยู่ในสังคมทุนนิยม ให้ทุนนิยมพัฒนาไป NGO ก็ทำงานไป เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ ขอแค่ประชาชนตื่นตัวรู้จักปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง
 
อย่าเอาเป็นเอาตายเพ้อฝันว่าจะสร้างสังคมเป็นธรรม สะอาดสดใส ไล่ทุนสามานย์แล้วจะไม่มีทุจริตคอรัปชั่น อะไรเทือกนั้น ซึ่งเป็นการเอาอุดมการณ์ปฏิวัติสังคมนิยมมาซอยแบ่ง โพกผ้าเหลืองขายให้มวลชนคลั่งลัทธิ
 
แน่นอน ในอีกข้างหนึ่ง ผมก็พูดเสมอว่าไม่ต้องการเห็น “ปฏิวัติประชาชน” การปฏิวัติทุกแห่งในโลกลงเอยโดยไม่คุ้มค่ากับความสูญเสีย เพียงแต่มันมีปัจจัย 2 ด้าน ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นมีการต่อสู้ เมื่อชนชั้นปกครองใช้กำลังปราบปรามเข่นฆ่า มวลชนก็จำเป็นต้องสู้ เจาะเวลาหาอดีตไปกี่ครั้ง เกิด 6 ตุลาเราก็ต้องเข้าป่าอยู่ดี
 
อุดมการณ์ประชาธิปไตยต้องการเพียงให้ทุกขั้วอำนาจเข้ามาอยู่ใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ อันที่จริงเป็นความต้องการที่ต่ำมาก แต่บางขั้วอำนาจยังแข็งขืน นั่นต่างหากชนวนแห่งความรุนแรง โดยมีอดีตสหายไปร่วม “ชูคติพจน์” ขัดขวางการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง กดฝาหม้อน้ำไว้ไม่ยอมให้ไอน้ำระบายออก มันก็จะเกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพเมื่อน้ำเดือด 100 องศาตามที่สอนในโรงเรียนการเมืองการทหารนั่นแหละ
 
ผมคิดว่านี่เป็นประเด็นสำคัญอันดับแรก สำหรับคนที่มีอุดมการณ์จากป่าเขา เอาประชาธิปไตย หรือไม่เอาประชาธิปไตย
 
พวกไม่เอาประชาธิปไตยก็พยายามหารูปแบบ “การเมืองใหม่” ประชาธิปไตยที่มีการชี้นำ ประชาธิปไตยพรรคเดียวแบบจีน ประชาธิปไตยแบบรัฐอิสลาม สุดท้ายหันมาคว้าประชาธิปไตยแบบอำมาตย์
 
อาจพูดได้ว่ายังมีอารมณ์ค้าง ภาพหลอน จากอุดมการณ์สังคมนิยม แต่หลายคนที่ยังยืนหยัดอุดมการณ์สังคมนิยม เขาก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นนะครับ อย่าง อ.ใจ ท่านก็ยังยืนหยัดต่อสู้ไปสู่ประชาธิปไตยเต็มใบ ไม่ได้เพี้ยนจนเตลิดเปิดเปิงไปเหมือนสหายโพกผ้าเหลืองซักหน่อย
 
ความรับผิดชอบของคนออกป่า
ในฐานะผู้ที่เคยผ่านการต่อสู้ ผ่านสงคราม ผ่านการนองเลือด เคยเจ็บปวด เคยสูญเสีย เรามีภาระที่ต้องถูกเรียกร้องสูงกว่าคนอื่น
 
อันดับแรก ความรับผิดชอบสูงสุดคืออย่านำไปสู่การนองเลือด
 
แต่อย่าชี้หน้า “ซ้ายเสื้อแดง” เป็นจำเลย ในขณะที่ “ซ้ายเสื้อเหลือง” ปลุกความสุดขั้วสุดโต่ง ปลุกอุดมการณ์ราชาชาตินิยม ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงไปสู่เสรีประชาธิปไตย
 
แน่นอน เราพูดได้ว่าพฤษภา 53 แกนนำเสื้อแดงมีส่วนรับผิดชอบที่มีโอกาสยุติม็อบได้แต่ไม่ยุติ แต่คนอีกข้างที่ปลุกความเกลียดชัง กระทั่งมีคนตายมากมายก็ยังปลุกความเกลียดชัง ถ้าเป็นสลิ่มช่างหัวมัน ถ้าเป็นพวกเรา ก็ต้องถามว่ายังมีจิตวิญญาณของคนเดือนตุลา คนออกจากป่า คนเคยต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมอยู่ไหม
 
ที่เลวร้ายที่สุด คือพวกอ้างเจ้าสร้าง 6 ตุลา ในฐานะผู้ผ่านความเจ็บปวดสูญเสีย คนเดือนตุลาที่ปลุกข้อหา “ล้มเจ้า” ชั่วที่สุด ไม่ถือเป็นคนเดือนตุลาอีกต่อไป แม้แต่คนที่ปล่อยให้พวกพ้องฝ่ายตัวปลุกผังล้มเจ้า โดยทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ก็ถือว่าเหยียบย่ำเลือดเพื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมายของตน อภัยให้ไม่ได้
 
ข้อถัดมา อย่าดูถูกมวลชน “มวลชนแกงไก่กินเข้าไปสองชาม” คนที่เคยต่อสู้ในป่าเขากลับดูถูกมวลชน ทั้งที่เคยดัดแปลงตนเองกับกรรมกรชาวนามาตั้งหลายปี บางคนเป็น “ชนชั้นกรรมาชีพ” ไปแล้วก็มี สู้รบ ร่วมเป็นร่วมตาย ทุกข์ยากลำบาก กับสหายชาวนา วันนี้กลับมามีทัศนะเหมือนผู้ดีชาวกรุง เห็นชาวบ้านโง่ ถูกซื้อ เห็นมวลชนที่ลุกขึ้นสู้ เป็นพวกถูกหลอกมาตาย เฮ้ย มันเป็นไปได้ไง
 
มวลชนที่ตื่นตัวก็เหมือนเราสมัยเด็กๆ นั่นละครับ ไม่มีใครรู้แจ้งเห็นจริง ชีวทัศน์โลกทัศน์ชัดเจนตั้งแต่ต้น ธรรมชาติมนุษย์ต้องเห็นสรรพสิ่งด้านเดียวก่อนจะเห็นอีกด้าน โดยเฉพาะคนที่เพิ่งตื่นตัวจากอิทธิพลของสื่อดาวเทียม คุณจะไปเรียกร้องให้เขาเข้าใจยุทธศาสตร์ยุทธวิธี “4 ดี 5 ร่วม 7 จังหวะ” อะไรเทือกนั้นได้ไง
 
สำคัญว่ามันมีทิศทางที่เขาจะพัฒนาไปไหม เรียนรู้มากขึ้นไหม คนเราพอผ่านการต่อสู้ เขาก็มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น จากที่เหยียดหยามประณามว่าเสื้อแดงเป็นทาสทักษิณ ก็เห็นแล้วว่าพอทักษิณจะสละเรือ เสื้อแดงด่าขรม แน่นอนมันมีปีก “ซ้ายจัด” มุทะลุ อารมณ์ ซึ่งเขาจะเรียนรู้ต่อไป แต่กลับไปดูมวลชนของคุณบ้าง เหลือเท่าไหร่ แล้วที่เหลือนี่มีสติมีเหตุผลซักแค่ไหน
 
เราศึกษากันมาเท่าไหร่แล้วว่า มวลชนคือเป้าหมายของการเคลื่อนไหว การปฏิรูปประชาธิปไตยสิ่งสำคัญที่สุดคือมวลชนตื่นตัว รู้จักปกป้องสิทธิประโยชน์ของตน 6 ปีที่ผ่านมา ใครนำมวลชนไปทางไหน ผมเขียนให้เจ็บใจเล่นแล้วว่า 2475 เป็นของเสื้อแดง ส่วนพวกเสื้อเหลืองก็ควรจะไปฉลองรัฐประหาร 2490 งาน 6 ตุลาปีหลังๆ ก็กลายเป็นของเสื้อแดง มวลชนเสื้อแดงมีอารมณ์ร่วมในฐานะที่เขาถูกปรามปรามเข่นฆ่ามาเช่นกัน คนชั้นกลางรุ่นใหม่ที่ตื่นตัวจากกระแสประชาธิปไตย กลับไปศึกษา 6 ตุลา ยกย่องคณะราษฎร ขณะที่พวกซ้ายเสื้อเหลืองไม่กล้าพูดถึง 6 ตุลาสักแอะ
 
อีกข้อที่ผมเซอร์ไพรส์ “ชนกรรมาชีพทั่วโลกจงรวมกันเข้า” เคยเป็นคอมมิวนิสต์ควรรับความคิดสากลนิยม ไม่เอาชาติ ศาสนา ดินแดน สีผิว เผ่าพันธุ์ สัญลักษณ์ต่างๆ มาแบ่งแยกสร้างศัตรู แต่นี่มีอย่างที่ไหนวะ ปลุกคลั่งชาติทวงคืนปราสาทพระวิหาร อาศัยรากฐานความคิดดูหมิ่นเหยียดหยามชาติพันธุ์เพื่อนบ้านมาเป็นอาวุธทางการเมือง
 
เอ้า พลพรรคคอมมิวนิสต์ เสร็จภารกิจหน้าศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ไปภูมิซรอลเลยสิครับ ออก Communist Manifesto ทวงคืนปราสาทพระวิหาร
 
ข้อสังเกตส่งท้าย อดีตสหายส่วนหนึ่งกำลังเดินแผน “สามัคคีรัฐบาลปฏิกิริยาไทยต่อต้านเวียดนาม” เหมือนพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยอ้างว่าเป็นยุทธวิธี สามัคคีศัตรูฝ่ายหนึ่งโค่นล้มศัตรูอีกฝ่ายหนึ่ง แลกกับการทำลายพรรคพี่พรรคน้องของตัวเอง
 
ถ้าเป็นเกมแย่งอำนาจ คุณใช้วิธีแบบนี้ได้ แต่การเคลื่อนไหวประชาธิปไตยต้องเป็นทั้งเป้าหมายและวิธีการ ไม่ใช่พูดกันวงใน ปากอ้างว่าไม่เอาอำมาตย์ แต่ใช้พวกเขาเป็นอาวุธโค่นทุนสามานย์ แล้วเวลาเคลื่อนไหวหรือแสดงความเห็นสาธารณะ ก็บิดเบือนต่อต้านทัศนะประชาธิปไตย
 
อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ล่มสลายไปแล้ว แต่ “จิตใจสหาย” ที่เราควรสืบทอดคือ ความมุ่งหวังที่จะสร้างสังคมดีงาม สังคมที่มีเสรี ไม่มีขีดคั่น ถึงแม้ไม่อาจขจัดความแตกต่างทางชนชั้น แต่ให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีศักดิ์ศรี
 
จิตใจสหายควรเป็นจิตใจที่รักเพื่อนมนุษย์ เสียสละ เปิดกว้าง ไม่ใช่คับแคบ เกลียดชัง
 
หัวใจสีแดงไม่มีทางที่ใครแย่งยึดไปได้ นอกจากมันจืดจางลงในใจของตัวเอง
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

SIU: บทความจากบารัค โอบามา: อเมริกาต้องพร้อมรับมือภัยคุกคามจากโลกไซเบอร์

Posted: 21 Jul 2012 08:15 PM PDT

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกา เขียนบทความตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal ฉบับวันที่ 20 กรกฎาคม 2555 โดยมีชื่อบทความว่า Taking the Cyberattack Threat Seriously หรือ “การรับมือกับสงครามไซเบอร์อย่างจริงจัง” เพื่อเรียกร้องให้สภาคองเกรสสนับสนุนร่างกฎหมายด้านความปลอดภัยไซเบอร์ของเขา

บทความนี้แสดงให้เห็นการคุกคามของการโจมตีผ่านอินเทอร์เน็ตต่อความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาว่าซีเรียสจริงจังมากแค่ไหน ดังนั้น SIU นำบทความมาเผยแพร่เป็นภาษาไทยเพื่อเผยแพร่ต่อบุคคลทั่วไปว่า ความมั่นคงทางไซเบอร์ถือเป็นสิ่งที่คนไทยต้องให้ความสนใจกันอย่างจริงจังเช่นกัน

บทความต้นฉบับอ่านได้จาก The Wall Street Journal

Barack Obama
ฟลิกเกอร์ Barack Obama (CC BY-NC-SA 2.0)

เมื่อเดือนที่แล้วผมเรียกประชุมฉุกเฉิน โดยมีคณะรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ หน่วยข่าวกรอง และกระทรวงกลาโหม หัวข้อของการประชุมคือรถไฟของสหรัฐหลายขบวนตกราง ขบวนหนึ่งบรรทุกสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมและเกิดระเบิดจนกลายเป็นมลพิษ มิหนำซ้ำโรงงานบำบัดน้ำเสียในหลายรัฐปิดทำการ น้ำที่ปนเปื้อนสารพิษส่งผลต่อสุขภาพของชาวอเมริกัน

สถานการณ์ในตอนนี้ชัดเจนว่า สหรัฐอเมริกากำลังถูกโจมตีด้วยสงครามไซเบอร์ แฮกเกอร์ที่เราไม่รู้จักซึ่งอาจอยู่คนละซีกโลก ได้ป้อนโค้ดประสงค์ร้ายเข้ามายังเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของบริษัทเอกชนที่บริหารจัดการคมนาคม บำบัดน้ำเสีย และดูแลสาธารณูปโภคสำคัญทั้งหลาย

โชคดีว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนที่แล้วเป็นเพียงแค่การจำลองสถานการณ์ (simulation) เพื่อทดสอบว่ารัฐบาลกลาง รัฐบาลของแต่ละรัฐ ส่วนราชการท้องถิ่น และภาคเอกชนจะสามารถรับมือกับภาวะวิกฤตร่วมกันได้แค่ไหน แต่มันก็ถือเป็นสิ่งเตือนใจว่าการโจมตีทางไซเบอร์ต่อสหรัฐ ถือเป็นความท้าทายทั้งในทางเศรษฐกิจและความมั่นคงที่ยากที่สุดอย่างหนึ่งของเรา

นับถึงบัดนี้ยังไม่เคยมีใครทำลายหรือขัดขวางโครงข่ายสาธารณูปโภคที่สำคัญของเราได้ แต่รัฐบาลต่างชาติ องค์กรอาชญากรรม และแฮกเกอร์อิสระต่างก็นั่งตรวจสอบการทำงานของระบบการเงิน พลังงาน ความปลอดภัยสาธารณะของเราอยู่ทุกวัน เมื่อปีที่แล้ว โรงงานน้ำในเท็กซัสต้องตัดระบบควบคุมไม่ให้เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต หลังมีแฮกเกอร์รายหนึ่งโพสต์ภาพของระบบควบคุมภายในโรงงานขึ้นไปบนเน็ต และเมื่อเร็วๆ นี้ มีแฮกเกอร์เจาะเข้าไปยังระบบของบริษัทที่ดูแลท่อก๊าซธรรมชาติได้สำเร็จ จะเห็นว่าระบบคอมพิวเตอร์ของอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของเรากำลังเป็นเป้าหมายในการโจมตีมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในที่นี้รวมถึงอุตสาหกรรมนิวเคลียร์และเคมี

ทุกคนคงจินตนาการกันไม่ยากนักว่าผลลัพธ์ของการโจมตีที่ประสบความสำเร็จจะเลวร้ายแค่ไหน ในอนาคตถ้าหากมีความขัดแย้งในระดับโลกขึ้น คู่ต่อสู้ที่ไม่สามารถต่อกรกับเราในสมรภูมิด้วยกำลังทหารโดยตรง อาจใช้วิธีเจาะระบบคอมพิวเตอร์ของเราจากที่บ้าน การทำลายระบบของธนาคารอาจส่งผลให้เกิดวิกฤตทางการเงิน ส่วนการขาดแคลนน้ำหรือโรงพยาบาลไม่สามารถให้บริการได้อาจสร้างวิกฤตด้านสาธารณสุข และการขาดแคลนไฟฟ้าก็ย่อมทำให้ธุรกิจ เมือง และภูมิภาคต้องหยุดนิ่ง ดังที่เราเคยเห็นมาแล้วจากกรณีไฟดับเป็นวงกว้างในอดีต

นี่คืออนาคตที่พวกเราต้องหลีกเลี่ยง และเป็นเหตุผลว่าทำไมรัฐบาลของผมจึงให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยเสนอกฎหมายที่จะป้องกันแนวรบดิจิทัลของเราให้เข้มแข็งขึ้น และสภาคองเกรสก็ควรจะผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างแข็งขัน

เราทุกคนรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ต้องทำ รัฐบาลต้องสามารถแชร์และเผยแพร่ข้อมูลเรื่องภัยคุกคามได้ง่ายขึ้น เพื่อให้บริษัทสาธารณูปโภคเตรียมตัวรับมือได้ดีกว่านี้ เราต้องสนับสนุนให้บริษัทเหล่านี้สามารถแชร์ข้อมูลกลับมายังรัฐบาลเมื่อถูกโจมตี และเราต้องสนับสนุนให้รัฐบาลสามารถเข้าไปช่วยเหลือบริษัทเหล่านี้ป้องกันตัวและแก้ไขปัญหาเมื่อถูกโจมตี ในกรณีที่ได้รับคำร้องขอจากภาคเอกชน

แน่นอนว่าเพียงแค่การแชร์ข้อมูลมากขึ้นไม่เพียงพอสำหรับการป้องกันตัว สุดท้ายแล้วนี่เป็นช่องโหว่ทางความมั่นคงที่เราไม่มีวันอุดได้สมบูรณ์ เราต้องยอมรับว่าบริษัทจำนวนมากปรับตัวรับมือกับภัยคุกคามไซเบอร์ได้ดีมาก แต่ก็ยังมีบริษัทอีกมากที่ไม่สนใจ บางบริษัทไม่มีแม้กระทั่งมาตรการด้านความปลอดภัยพื้นฐานอย่างการตั้งรหัสผ่านที่แข็งแรงด้วยซ้ำ ซึ่งสร้างความเสี่ยงให้กับความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยของประชาชน

ชาวอเมริกันจำเป็นต้องรู้ว่าบริษัทที่ดูแลสาธารณูปโภคมีความปลอดภัยทางไซเบอร์มากน้อยแค่ไหน ถึงขั้นต่ำตามมาตรฐานหรือไม่ เฉกเช่นเดียวกับมาตรฐานด้านความปลอดภัยชนิดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานนิวเคลียร์ต้องมีรั้วและมาตรการป้องกันตัวจากผู้ก่อการร้าย โรงงานน้ำต้องทดสอบคุณภาพน้ำว่าไม่มีการปนเปื้อน สายการบินต้องล็อคประตูห้องนักบิน เราทุกคนเข้าใจความจำเป็นของความปลอดภัยทางกายภาพแบบนี้ดี ดังนั้นการละเลยความปลอดภัยดิจิทัล เผลอเปิดประตูหลังให้ศัตรูของเราบุกขึ้นมาจึงถือเป็นการขาดความรับผิดชอบอย่างมาก

แนวทางการสร้างความมั่นคงทางดิจิทัลจะยังยึดคุณค่าทางสังคมของเรา ที่เคารพสิทธิของเอกชนและปัจเจกชนเสมอมา มาตรฐานด้านความปลอดภัยไซเบอร์จะถูกพัฒนาขึ้นร่วมกันจากทั้งภาครัฐและเอกชน บริษัทสาธารณูปโภคส่วนใหญ่ที่มีมาตรการป้องกันตัวดีอยู่แล้วแทบไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม ส่วนบริษัทที่จำเป็นต้องอัพเกรดระบบความปลอดภัยจะมีความยืดหยุ่นในการเลือกว่าจะปรับปรุงอย่างไรโดยใช้สินค้าและบริการที่มีอยู่แล้วในตลาด และที่สำคัญ มาตรการของเราจะเคารพความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพของชาวอเมริกัน นอกจากนี้ ผมขอสัญญาว่าจะใช้สิทธิวีโต้ของประธานาธิบดีค้านร่างกฎหมายใดๆ ที่ไม่ได้คุ้มครองความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพอย่างแน่นอน

ร่างกฎหมายป้องกันตัวทางไซเบอร์ที่ผมเสนอนี้เป็นมาตรการที่เน้นการมีส่วนร่วม และเป็นทางออกต่อปัญหาเร่งด่วนด้านความมั่นคงของชาติที่ชาวอเมริกันคาดหวัง แต่นักการเมืองในวอชิงตันกลับไม่ค่อยนำเสนอมากนัก ร่างกฎหมายฉบับนี้อิงจากข้อมูลจริงของอุตสาหกรรมและก็เคารพสิทธิเสรีภาพของพลเมืองไปพร้อมๆ กัน ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้คือกลุ่มวุฒิสมาชิกจากทั้งสองพรรคการเมือง นอกจากนี้มันยังได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารฝ่ายความมั่นคง ข่าวกรอง และการทหาร ทั้งในอดีตและปัจจุบัน และทั้งจากรัฐบาลรีพับลิกันและเดโมแครต

วันนี้เราสามารถมองเห็นแล้วว่าภัยคุกคามทางไซเบอร์มีผลต่อโครงข่ายที่ชาวอเมริกันต้องพึ่งพิงมากขนาดไหน เรามีโอกาส และเราต้องแสดงความรับผิดชอบที่จะเดินหน้าเหนือศัตรูของเราอีกหนึ่งก้าว เพื่อความปลอดภัยของชาติและความปลอดภัยทางเศรษฐกิจ ผมขอเรียกร้องให้วุฒิสภาผ่านกฎหมาย Cybersecurity Act of 2012 และขอให้สภาคองเกรสส่งร่างกฎหมายฉบับสมบูรณ์มาให้ผมลงนามบังคับใช้ต่อไป

นี่เป็นเวลาที่เราต้องเสริมแนวรับของเราเพื่อต้านภัยอันตรายที่กำลังใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ดังที่เห็น

บารัค โอบามา

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ Siam Intelligence Unit

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น