โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "อธิปไตยเป็นของปวงชน"

Posted: 15 Jul 2012 09:05 AM PDT

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "อธิปไตยเป็นของปวงชน"

ผู้ว่าฯ สุราฎร์สั่งหยุดเดินหน้า‘ตาปี-พุมดวง’ รอศาลปกครองตัดสิน กรมชลฯเมิน

Posted: 15 Jul 2012 08:59 AM PDT

ชาวบ้านบุกพบผู้ว่าแจงความเดือนร้อน‘ตาปี-พุมดวง’ ผู้ว่าฯ สุราฎร์เรียกกรมชลฯ-เขื่อนรัชประภา-เกษตรฯ แจง หวั่นจ่ายเงินเวนคืนมีปัญหาหากยกเลิกโครงการ สั่งหยุดเดินหน้า รอศาลปกครองตัดสิน ชลประทานเมินลักไก่ลุยต่อ

นายวิโรจน์ ทองเกษม คณะทำงานเครือข่ายพิทักษ์ลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า วันที่ 14 กรกฏาคม 2555 ทนายความ สภาทนายความได้ลงพื้นที่อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อพูดคุยวิเคราะห์สถานการณ์ และจัดเตรียมเอกสารเพิ่มเติม หลังจากเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา ศาลปกครองได้รับฟ้องกรณีที่เครือข่ายพิทักษ์ลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง ฟ้องกรมชลประทานให้มีคำสั่งยกเลิกโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง

นายวิโรจน์ เปิดเผยต่อไปว่า ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2555 ชาวบ้านประมาณ 200 คน ได้ไปพบนายเชิดศักดิ์ ชูศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่บ้านผู้ว่าฯ พร้อมยื่นหนังสือร้องเรียนให้ตรวจสอบโครงการฯ จากนั้นผู้ว่าได้จัดสถานที่ให้ตัวแทนชาวบ้านนั่งคุย และได้นำเสนอให้ผู้ว่ารับรู้ข้อมูลโครงการฯ และความเดือดร้อนของชาวบ้าน จากนั้นผู้ว่าฯ บอกกับชาวบ้านว่าจะนัดพบกับชาวบ้านอีกครั้งในวันที่ 6 กรกฎาคม 2555 โดยเชิญเจ้าหน้าที่จากกรมชลประทาน เจ้าหน้าที่จากเขื่อนรัชประภา และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานเกษตร มานั่งคุยร่วมกัน

นายวิโรจน์ เปิดเผยต่อไปอีกว่า เจ้าหน้าที่จากกรมชลประทานนำเสนอว่าน้ำในเขื่อนรัชประภาพอในการสร้างชลประทาน เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานเกษตรชี้แจงว่าไม่ได้รับผลกระทบกับชาวบ้านเลย จากนั้นชาวบ้านได้พูดถึงผลกระทบกับชาวบ้าน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ให้ผู้ว่าฯ รับฟัง จากการที่ชาวบ้านบอกว่าการขุดคูคลองของโครงการฯ ยกระดับโดยใช้แรงโน้มถ่วงให้น้ำไหลจากที่สูงไปที่ต่ำ

นายวิโรจน์ เปิดเผยอีกว่า ผู้ว่าฯ ได้ตั้งข้อสังเกต ถามชลประทานว่า ในเมื่อชาวบ้านบอกว่าการยกระดับของส่งน้ำ เกิดน้ำธรรมชาติมาท่วมจะทำอย่างไร ชลประทานมีทางระบายน้ำให้ชาวบ้านหรือไม่ ผู้ว่าฯ ให้ชลประทานกางแผนที่ให้ดูแล้วให้อธิบายว่า มีช่องระบายน้ำกี่ช่อง แต่เจ้าหน้าที่ชลประทานตอบไม่ได้ ผู้ว่าฯถามถึงผลกระทบต่อชุมชน วัฒนธรรมประเพณีและสิ่งแวดล้อมซึ่งได้รับว่าไม่ได้รับผลกระทบ ผู้ว่าฯ จึงถามต่อว่า แล้วที่มีการจ่ายค่าเวนคืนที่ดินไปบางส่วนแล้ว ทั้งที่การรังวัดยังไม่เสร็จเรียบร้อยทำไมต้องรีบจ่ายเงินเวนคืน เจ้าหน้าที่ชลประทานบอกจำเป็นต้องทำ เพราะออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินแล้ว อีกทั้งกรมชลประทานเคยเชิญผู้ว่าฯ ไปจ่ายเงินค่าเวนคืนที่ดิน แต่กลับตอบปฏิเสธ

นายวิโรจน์ เปิดเผยด้วยว่า ผู้ว่าฯ บอกกรมชลประทานว่าขณะนี้ศาลปกครองได้รับฟ้องแล้ว หากศาลตัดสินว่าให้ยกเลิกโครงการฯ งบประมาณที่กรมชลประทานจ่ายค่าเวนคืนที่ดินไปแล้ว ถ้ารัฐเรียกคืนจะทำอย่างไร เจ้าหน้าที่กรมชลประทานบอกว่าตนเองก็ไม่ทราบ ผู้ว่าฯ เลยพูดให้กรมชลประทานหยุดการดำเนินการใดๆ ก่อน จนกว่าศาลปกครองจะตัดสิน ผู้ว่าฯ ปฏิเสธการลงพื้นที่หรือทำอะไรกับกรมชลประทาน เนื่องจากหากศาลตัดสินให้ยกเลิกโครงการฯ กลัวจะรับผิดชอบไม่ไหวกับค่าใช้จ่ายที่ดำเนินการไปแล้ว

“เมื่อผู้ว่าฯ พูดแบบนั้น เราคิดว่าชลประทานจะปฏิบัติ แต่เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2555 ชลประทานก็ยังลงพื้นที่ตำบลท่าเคย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชาวบ้านเลยแห่กันไปดูว่าทำอะไร ชลประทานแก้ตัวว่าไม่ได้ทำโครงการพัฒนาตาปี-พุมดวง แค่ทำโครงการขุดลอกคลอง ซึ่งชลประทานกำลังใช้อุบายว่าไม่ใช่โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี-พุมดวง สุดท้ายชลประทานก็ยอมรับว่าเป็นโครงการเดียวกัน” นายวิโรจน์ กล่าว

อนึ่ง รายงานโครงการศึกษาความเหมาะสมของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ศึกษาแล้วเสร็จเมื่อเดือนธันวาคม 2551) โดยได้ศึกษาที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี พลังงาน และท่าเรืออุตสาหกรรม ซึ่งการศึกษาได้เสนอทางเลือก 2 บริเวณ

ได้แก่ บริเวณ ตำบลทุ่งปรัง อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช และบริเวณ ตำบลกลาย อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยระบุความต้องการพื้นที่ประมาณ 12,000 ไร่ สำหรับโรงกลั่นน้ำมันโรงแยกก๊าซ อุตสาหกรรม ปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์ซีเมนต์และยิบซัม น้ำมันปาล์ม ผลิตภัณฑ์ยาง และสินค้าแปรรูปเกษตรอื่นๆ และโรงไฟฟ้า

รวมทั้งเสนอให้วางท่อส่งน้ำดิบ ระยะทางประมาณ 130 กิโลเมตรเพื่อนำน้ำดิบ30 ล้าน ลูกบาศก์เมตรต่อปี (70,000 ลบ.ม.ต่อวัน) จากคลองพุมดวงด้านท้ายน้ำของเขื่อนรัชประภามายังนิคมอุตสาหกรรม

 

โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี-พุมดวง จังหวัดสุราษฎ์ธานี

1. ความเป็นมา
                1.1 ตั้งแต่ปี 2510 กรมชลประทาน ได้เริ่มดำเนินการวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำ ในลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง ประกอบด้วย เขื่อนเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) และเขื่อนแก่งกรุง (เขื่อนคลองยัน) กรมชลประทานได้โอนงานก่อสร้างเขื่อนรัชชประภา และเขื่อนแก่งกรุงให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการ ก่อสร้างเขื่อนรัชชประภาแล้วเสร็จในปี 2530
                 1.2 ในปี 2533 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2533 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน) รับไปดำเนินการศึกษาเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับระบบชลประทานที่ล่าสุด โดยเฉพาะพื้นที่ชลประทานที่จะได้จากการก่อสร้างเขื่อนแก่งกรุง และกรมชลประทานได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสม แล้วเสร็จเมื่อเดือนธันวาคม 2537 ปรากฏว่าโครงการมีความเหมาะสมต่ำ เนื่องจากจำเป็นต้องอพยพราษฎรและต้องลงทุนค่าชดเชยทรัพย์สินสูง ทำให้ได้ผลประโยชน์ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ประกอบกับเขื่อนแก่งกรุงมีกระแสต่อต้าน และได้ระงับการดำเนินงานเอาไว้ก่อน
                  1.3 กรมชลประทานจึงได้พิจารณาการใช้ประโยชน์จากน้ำที่ปล่อยจากท้ายเขื่อนรัชชประภามาใช้ประโยชน์ จึงได้ทำการศึกษาทบทวนความเหมาะสม โดยพิจารณาการพัฒนาชลประทานสูบน้ำจากแม่น้ำพุมดวง เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานฤดูฝน 73,980 ไร่ มีความเหมาะสมทั้งด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม เป็นการบริหารจัดการน้ำหลังจากการผลิตกระแสไฟฟ้าของเขื่อนรัชชประภา มาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร

2. ความจำเป็นที่ต้องดำเนินการโครงการ
                  เขื่อนรัชชประภาได้ปล่อยน้ำจากท้ายเขื่อนเนื่องจากการผลิตกระแสไฟฟ้าประมาณ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และมีปริมาณน้ำจากคลองสาขาไหลมารวมในแม่น้ำพุมดวงอีกประมาณ 2,400 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำพุมดวงประมาณ 5,400 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ไหลลงสู่ทะเลโดยไม่มีการนำน้ำมาใช้ประโยชน์แต่อย่างใด โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง จังหวัดสุราษฎร์ธานี จะเป็นการบริหารจัดการน้ำโดยการนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตรได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

3. วัตถุประสงค์โครงการ
      1. เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานในฤดูฝน 73,980 ไร่ และในฤดูแล้ง 57,819 ไร่
      2. เพื่อการอุปโภค–บริโภค
      3. เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร

4. รายละเอียดของโครงการ
      4.1 ที่ตั้งโครงการ ตำบลบางงอน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฏร์ธานี
      4.2 ลักษณะทางวิศวกรรมของโครงการ
             (1) สถานีสูบน้ำ 1 แห่ง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 16 เครื่อง อัตราการสูบน้ำรวมทั้ง 33.16 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ประกอบด้วย
                   - เครื่องสูบน้ำขนาด 1.93 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จำนวน 4 เครื่อง
                   - เครื่องสูบน้ำขนาด 2.12 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จำนวน 12 เครื่อง
             (2) ระบบส่งน้ำ ความยาวรวมประมาณ 139 กม.
             (3) ระบบระบายน้ำความยาวรวมประมาณ 83 กม.

5. ระยะเวลาดำเนินการ 8 ปี (พ.ศ. 2552–2559)

6. งบประมาณ วงเงินโครงการทั้งสิ้น 3,330.00 ล้านบาท

  - งบบุคลากร                    

77.00

ล้านบาท

  - งบดำเนินงาน           

41.00

ล้านบาท

  - งบลงทุน                   

3,107.24

ล้านบาท

  - เผื่อเหลือเผื่อขาด          

104.76

ล้านบาท

มีแผนการใช้จ่ายงบประมาณในแต่ละปี ดังนี้

ปีงบประมาณ พ.ศ.

จำนวนเงิน (ล้านบาท)

2552

262.81

2553

 296.69

2554

 525.99

2555

 637.77

2556

 732.57

2557

 346.32

2558

 251.99

2559

 175.86

รวม

 3,330.00

7. การวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์

        ความเหมาะสมทางด้านเศรษฐศาสตร์ในปี 2552

   ที่อัตราคิดลดร้อยละ

8

10

12

 

อัตราส่วนผลตอบแทนต่อการลงทุน (B/C)

1.70

1.50

1.19

 

มูลค่าผลประโยชน์ปัจจุบันสุทธิ (NPV)

1,842

1,262

440

ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนทางด้านเศรษฐศาสตร์(EIRR)

13.60

13.60

13.60

%

8. ประโยชน์ของโครงการ
           1. เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 73,980 ไร่ โดยสามารถส่งน้ำในฤดูฝน 73,980 ไร่ และในฤดูแล้ง 57,819 ไร่
           2. มีน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภค
           3. เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร

9. ผลกระทบจากการอนุมัติโครงการ
เมื่อได้รับอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง จังหวัดสุราษฏร์ธานีแล้ว จะทำให้เกิดผลกระทบต่อที่ดินและทรัพย์สินของประชาชนประมาณ 3,000 ไร่ ซึ่งกรมชลประทานได้เตรียมมาตรการในการจ่ายทดแทนทรัพย์สินไว้ในแผนงานโครงการแล้ว

10. สถานภาพโครงการ
- ด้านแบบก่อสร้าง แบบ และรายละเอียดด้านวิศวกรรมแล้วเสร็จ 100% (เสร็จปี 2544)

- ด้านการจัดหาที่ดิน การสำรวจปักหลักเขตแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างขอคำขอรังวัดจากเจ้าของที่ดิน (ประมาณ 2,000 ราย)

- รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการไม่เข้าข่ายที่จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เรื่องกำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการของส่วนราชการรัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมปี 2535

- การมีส่วนรวมของประชาชน กรมชลประทานได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้ที่มีส่วนได้เสีย ทั้งในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ รวมทั้งระดับหมู่บ้าน รวมแล้วประมาณ 40 ครั้ง

-ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลท่าเคย ตำบลหนองไทร อำเภอท่าฉาง ตำบลลีเล็ด ตำบลศรีวิชัย ตำบลมะลวน ตำบลหัวเตย ตำบลท่าข้าม ตำบลพุนพิน ตำบลน้ำรอบ ตำบลหนองไทร ตำบลบางงอน อำเภอพุนพิน และตำบลท่ากระดาน อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ. 2554 เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง จังหวัดสุราษฎร์ธานี

-ออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนในท้องที่ตำบลท่าเคย ตำบลหนองไทร อำเภอท่าฉาง ตำบลลีเล็ด ตำบลศรีวิชัย ตำบลมะลวน ตำบลหัวเตย ตำบลท่าข้าม ตำบลพุนพิน ตำบลน้ำรอบ ตำบลหนองไทร ตำบลบางงอน อำเภอพุนพิน และตำบลท่ากระดาน อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ. 2554 เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง จังหวัดสุราษฎร์ธานี

 

ที่มา : กรมชลประทาน
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยกับ "อดิศร เกิดมงคล" ว่าด้วยชะตากรรมแรงงานข้ามชาติในไทย

Posted: 15 Jul 2012 07:58 AM PDT

ประวิตร โรจนพฤกษ์ แห่งหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นสัมภาษณ์ อดิศร เกิดมงคล ผู้ปฏิบัติงาน Migrant Working Group (MWG) หนึ่งในห้านักปกป้องสิทธิที่ได้รับการยกย่องจากกองทุนรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ว่าด้วยชะตากรรมของแรงงานข้ามชาติในไทย (ฉบับภาษาอังกฤษตีพิมพ์ใน The Nation on Sunday, Historical bias against neighbouring nations a burden for migrant workers, 15 กรกฎาคม 2555)

 


อดิศร เกิดมงคล
(แฟ้มภาพ: ประชาไท)

 

ประวิตร: คิดอย่างไรกับการที่กระทรวงแรงงานยังพิจารณาความเป็นไปได้ในการออกนโยบายบังคับให้แรงงานข้ามชาติที่ตั้งครรภ์กลับไปคลอดที่ประเทศตนเอง
อดิศร: คิดว่ามันสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองหรืออคติที่รัฐไทยมีต่อแรงงานข้ามชาติ ที่ยังมองพวกเขาเป็นเพียงแรงงานและภาระของประเทศไทยเท่านั้น ไม่ได้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ของแรงงานข้ามชาติ ขณะเดียวกันเหตุผลในการดำเนินนโยบายนี้ก็ไม่ได้สอดคล้องหรือแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เหมือนที่กระทรวงแรงงานได้พูดไว้ แต่กลับไปเพิ่มปัญหามากขึ้นไปอีก ทั้งเรื่องสุขภาพของแม่และเด็ก เรื่องการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐไทยคิดจะมีนโยบายในลักษณะนี้ขึ้นมา และทุกครั้งก็จะถูกโต้แย้งทั้งจากภาควิชาการ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหรือองค์กรพัฒนาเอกชนเสมอ แต่ก็ยังมีแนวคิดเรื่องนี้ในแทบทุกรัฐบาลจึงคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องมุมมองที่รัฐมีต่อแรงงานข้ามชาติมากกว่า
 

2) แล้วทำไมกระทรวงแรงงานถึงไม่คิดใช้มาตรการเช่นเดียวกับคนต่างชาติอื่นๆ ที่ทำงานในเมืองไทยแต่เป็นคนงานคอปกขาว?
- ผมมองว่ากระทรวงแรงงานไม่ได้มองว่าคนชาติอื่นๆ เป็นภาระ สามารถดูแลตัวเองได้ อาจจะรวมถึงในเรื่องจำนวนที่อาจจะไม่มากเท่าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านสามประเทศนี้ หรือพูดในอีกลักษณะหนึ่งก็คือ ดูเหมือนกระทรวงแรงงานจะให้คุณค่าและความสำคัญต่อแรงงานประเภทคอปกขาวมากกว่าแรงงานที่เป็นผู้ใช้แรงงานระดับล่าง ซึ่งสะท้อนให้เรื่องของชนชั้นในวิธีของระบบราชการในประเทศไทย ที่ยังมองว่าคนระดับล่างสร้างปัญหา หากเรามองการแก้ไขปัญหาเรื่องแรงงานของกระทรวงแรงงาน แรงงานทั่วไปถูกมองในลักษณะแบบนี้เช่นกัน เพียงแต่แรงงานข้ามชาติจะมีอคติเรื่องความไม่ใช่คนไทย หรือเป็นคนอื่นมาประกอบเข้าไปด้วย
 

3) ปัญหาหลักๆ ของแรงงานข้ามชาติในไทยมีอะไรบ้าง?
- ปัญหาหลักยังคงเป็นเรื่องการเอารัดเอาเปรียบ เรื่องของการละเมิดสิทธิแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าจ้าง สภาพการจ้างงาน เรื่องการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น การยึดเอกสารประจำตัวของแรงงานไว้ทำให้แรงงานไม่สามารถเดินทางได้ ซึ่งพวกนี้เป็นปัญหาหลักที่สะสมมานานมากแล้ว และยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ซึ่งแม้เราจะมีกฎหมายที่ค่อนข้างดี แต่มันไม่เคยจะถูกบังคับใช้เพื่อให้แรงงานได้รับการคุ้มครองมากนัก

รวมถึงการขาดกลไกที่จะเอื้อให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงการคุ้มครองเท่านี้ เช่น ขาดเรื่องของล่าม หรือเอกสารที่เป็นภาษาของแรงงานข้ามชาติ ไม่สามารถรวมตัวกันตั้งสหภาพแรงงานได้ สุดท้ายก็คือเรื่องของอคติที่มีต่อแรงงานข้ามชาติ ทั้งเรื่องอคติทางประวัติศาสตร์ มองว่าเพื่อนบ้านเป็นศัตรู ด้อยกว่า มองว่าเป็นปัญหา ซึ่งฐานคิดเหล่านั้นเป็นปัจจัยสำคัญในการลดทอนความเป็นมนุษย์ของแรงงานข้ามชาติ และเป็นฐานทำให้การละเมิดสิทธิอื่นๆ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยที่คนไทยก็เห็นว่ามันเป็นเรื่องปรกติ

4) ทำไมคนงานเหล่านี้ โดยเฉพาะในกรุงเทพ ดูเหมือนไม่มีตัวตน ไม่ถูกมองเห็น ไม่สามารถรวมตัวพบปะกันในสาธารณะเป็นจำนวนหลายคนเหมือนที่แม่บ้านรับจ้างทำความสะอาดชาวฟิลิปปินส์ทำในฮ่องกง?
- ผมคิดว่ามีสองประเด็นหลักๆ คือ หนึ่ง เป็นเรื่องอคติของคนไทยโดยเฉพาะชนชั้นกลางในเมืองที่มองว่าแรงงานข้ามชาติเหล่านี้เป็นภัยหรือเป็นปัญหาต่อพวกเขา รวมถึงทัศคติเรื่องเชื้อชาติ หรือประวัติศาสตร์เหมือนที่พูดมาแล้ว ทำให้แรงงานข้ามชาติรู้สึกว่าพวกเขาไม่สามารถจะเปิดเผยตัวเองออกมาได้อย่างเต็มที่ อาจจะถูกคนรอบข้างไม่พอใจหรือมีปัญหาได้

สอง เป็นเรื่องของความปลอดภัยต่อตัวแรงงานข้ามชาติ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนหนึ่งยังจ้องหาผลประโยชน์จากการรีดไถหรือเอารัดเอาเปรียบแรงงาน คือ ถ้าหากแรงงานข้ามชาติแสดงตัวอย่างชัดเจน เจ้าหน้าที่ก็จะเข้าไปตรวจสอบ จับกุมรวมถึงเรียกรับเงินจากแรงงานข้ามชาติ ทำให้แรงงานข้ามชาติต้องปิดบังความเป็นตัวตนของตัวเองเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ รวมถึงมุมมองในเชิงนโยบายใหญ่ที่มองว่าแรงงานข้ามชาติเหล่านี้เป็นปัญหาความมั่นคง การรวมตัวของพวกเขาไม่ว่าด้วยสาเหตุใด มักจะถูกมองในแง่ของความมั่นคงมากกว่าประเด็นอื่นๆ


5) การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพม่าเป็นผลดีต่อคนเหล่านี้ไหม อย่างไร?

- ระดับหนึ่งผมมองว่าพวกเขามีความหวังกับชีวิตมากขึ้น มองเห็นแสงสว่างในชีวิตมากขึ้น อย่างน้อยที่สุดพวกเขาก็มีความรู้สึกปลอดภัยหรือสบายใจมากขึ้นหากต้องกลับไปใช้ชีวิตในประเทศบ้านเกิดหลังเกษียณตัวเอง หรือหลังจากสะสมเงินได้ระดับหนึ่งแล้ว ขณะเดียวกันแรงงานบางส่วนก็มองถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นและอาจจะกลับไปทำงานที่บ้านเกิด จะได้อยู่กับครอบครัวมากขึ้น

เท่าที่รู้จักแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก สนใจและติดตามการเปลี่ยนแปลงการเมือง และมีความหวังกับการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด เพียงการแสดงออกที่จะแตกต่างกันไป ผมแอบหวังว่าแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยจำนวนหนึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตยในพม่า เพราะอย่างน้อยพวกเขาได้เรียนรู้ในเรื่องสิทธิ เสรีภาพและประชาธิปไตยจากชีวิตในประเทศไทยไปพอสมควร

6) ความเกลียดชังทางประวัติศาสตร์ระหว่างไทย-พม่า มีผลในการปฎิบัติด้านลบต่อแรงงานพม่าในไทยหรือไม่ อย่างไร?
- เท่าที่เจอมากับตัวเอง เรื่องนี้ยังเป็นประเด็นอันดับต้นๆ ที่ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยรู้สึกมีทัศนคติในแง่ลบต่อคนจากประเทศพม่า หลายครั้งมันไม่ใช่แค่การมองในแง่ลบ แต่มันกลายเป็นความเกลียดชัง ความไม่ไว้วางใจ ทำให้นำไปสู่การละเมิดสิทธิ หรือการเพิกเฉยเมื่อแรงงานข้ามชาติ หรือคนจากประเทศพม่าถูกละเมิดสิทธิ

7) ทำไมคุณถึงเลือกจับประเด็นเรื่องแรงงาน และผู้ลี้ภัยข้ามชาติในไทย
- จริงๆ เริ่มต้นจากประเด็นการเมืองในพม่าหลังจากการปราบปรามประชาชนใน 1988 ทำให้มีคนจำนวนมากอพยพเข้ามาในประเทศไทย พอเข้ามาทำงานในประเด็นรณรงค์เรื่องประชาธิปไตยในพม่าและก็มีโอกาสได้ลงไปในพื้นที่และรู้จักกับแรงงานข้ามชาติ และผู้ลี้ภัย ก็พบว่า มันมีปัญหาการละเมิดสิทธิ หรือการเอารัดเอาเปรียบต่อพวกเขาค่อนข้างมาก แล้วพวกเขาเองก็ไม่สามารถที่จะออกมาเรียกร้องหรือแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองได้เลย ขณะเดียวกันก็ยังต้องเจอกับเรื่องที่คนไทยไม่ชอบ หรือหวาดระแวงพวกเขา

นอกจากนั้นแล้วนโยบายรัฐไทยในช่วงนี้ก็มองพวกเขาเป็นปัญหาต้องควบคุม ต้องจัดการ มันทำให้ความรุนแรงของปัญหาในชีวิตของพวกเขามีมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มองย้อนกลับมาว่าการที่ยังมีปัญหาความไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบธรรมในเรื่องนี้อยู่ในประเทศไทย มันส่งผลเสียต่อสังคมไทยโดยรวมด้วย มันเป็นเหมือนระเบิดเวลาที่รอเวลาระเบิดขึ้นมาหากไม่มีการแก้ไข ก็เลยรู้สึกว่าจำเป็นที่จะต้องทำให้สังคมไทยได้เข้าใจได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ ขณะเดียวกันก็มองว่าปัญหาหลักอันหนึ่งอยู่ที่นโยบายรัฐต่อพวกเขาด้วย ก็เลยเริ่มต้นที่จะผลักดันประเด็นนี้อย่างจริงจัง
 

8) อยากบอกอะไรกับคนไทยที่มองว่าแรงงานข้ามชาติไว้ใจไม่ได้ มาแย่งงานคนไทย และออกลูกออกหลานในประเทศไทยจนเป็น "ปัญหา"
- เบื้องต้นในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง พวกเขาเหล่านั้นก็เหมือนกับคนไทยทุกคนที่ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงตัวเอง ดำรงศักดิ์ศรีของตัวเองไว้ และเท่าที่รู้จักกันมาจำนวนมาก เขามองคนไทยในแง่ดี ยกเว้นในบางกรณีที่ถูกละเมิด ถูกทำร้ายอาจจะมีความหวาดกลัวคนไทยบางกลุ่มบางคน ขณะเดียวกันในรอบเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมานี้แรงงานข้ามชาติได้กลายเป็นกลไกหลักในการสร้างเศรษฐกิจไทย เป็นกำลังสำคัญที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทยให้พัฒนาต่อไปได้ ผมเชื่อว่าหากขาดแรงงานข้ามชาติเหล่านี้หลายๆ กิจการอาจจะมีปัญหาได้

นอกจากนั้นแล้วผมอยากให้มองว่าการย้ายถิ่นข้ามชาติเป็นปรากฏการณ์ปรกติที่สังคมไทยหลีกเลี่ยงไม่พ้น ขณะเดียวกันเราก็ได้ประโยชน์จากปรากฏการณ์เหล่านี้ไม่น้อย จึงอยากให้สังคมไทยทำความเข้าใจถึงปรากฏการณ์เหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคลื่อนย้ายในภูมิภาคนี้ที่มีปัจจัยหลายๆ อย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถานการณ์ภายในประเทศต้นทาง ความต้องการแรงงานในประเทศไทย หรือภูมิประเทศที่มีพรมแดนติดกัน และท้ายที่สุด ผมคิดว่า ทุกคนมีโอกาสจะกลายเป็นแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัยได้ ดังนั้นเราควรสร้างสังคมที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันของผู้คนที่แตกต่างหลากหลายที่เราหลีกเลี่ยงไม่พ้นในอนาคต

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข้อเสนอนิติราษฎร์: ยุบศาล รธน. และจัดตั้ง 'คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ'

Posted: 15 Jul 2012 02:54 AM PDT

เสนอยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งตุลาการพิทักษ์รัฐธรรมนูญแทน ทำหน้าที่พิทักษ์ประชาธิปไตยและนิติรัฐ  รักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ โดยการใช้อำนาจนั้นต้องคำนึงถึงอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย หลักการแบ่งแยกอำนาจ และหลักการประกันสิทธิและเสรีภาพ

15 ก.ค. 2555 นักวิชาการกลุ่ม “นิติราษฎร์” จัดการเสวนาหัวข้อ “การยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญ และการจัดตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ” ที่ห้อง LT1 คณะนิติศาสตร์ มธ. โดยมีผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาจำนวนมาก ทำให้ต้องขยายการถ่ายทอดไปยังห้อง LT.2

จันทจิรา เอี่ยมมยุรา ได้อ่านเอกสาร อธิาบยว่าคณะนิติราษฎร์เห็นว่าศาลรธน. เป็นองค์กรที่รธน. สร้างขึ้นเพื่อทำหน้าที่รักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรธน. แต่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ใช้อำนาจไปในทางทีเป็นปรปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ โดยขยายแดนอำนาจของตนออกไปกลายเป็นองค์กรที่อยู่เหนือรัฐสภา ทำลายหลักนิติรัฐ และประชาธิปไตย

เหตุการณ์วันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมาไม่ใช่เหตุการณ์ครั้งแรก แต่ศาลรธน. ได้ทำลายหลักประชาธิปไตยหลายครั้ง โดยการเพิ่มเติมคำที่ไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญเข้าไปในการพิจารณา เช่นกรณีเขาพระวิหาร หรือการพิพากษาให้อดีตนายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเป็นพิธีกรรายการทำอาหาร และล่าสุด ผิดพลาดอย่างชัดแจ้งมีผลขยายอำนจของตนเองเกินกว่าที่รธน. บญญัติให้และมีผลเป็นการยับยั้งการแก้ไขเพิ่มเติมรธน. ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐสภา

จากพฤติการณ์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าศาลรธน. คณะนี้ได้ทำลายหลักนิติรัฐและประชาธิปไตยโดยสินเชิง วัตถุประสงค์ของรธน. ไม่อาจะบรรลุได้และถูกทำลายไปโดยศาลรธน. นั้นเอง

และการได้มาซึ่งตลก. ในศาลนั้นขาดความเป็นประชาธิปไตยไม่มีการยึดโยงกับประชาชน ซึ่เงป็นสาระสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญในประเทศเสรีประชาธิปไตยทั่วโลก

นอกจากนั้นการถอดถอนตัวบุคคลที่เป็นตลก. ก็ทำได้ยาก เพราะต้องใช้คะแนนเสียง 3 ใน 5 ของสมาชิกวุฒิสภาขณะนั้น

โดยเหตุนี้เสนอให้มีการแก้ไขรธน. เพื่อยุบเลิกศาลรธน. และจัดตั้งคณะตลก. พิทักษ์รัฐธรรมนูญขึ้นจนกว่าจะมีการแก้ไขรธน. ฉบับที่สมบูรณ์ที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง

แนวทางคือการเสนอชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 รายชื่อ เพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ปิยบุตร แสงกนกกุล อธิบายข้อเสนอของนิติราษฎร์ โดยประการแรก ให้มีการยกเลิกบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ในหมวด10 ศาล ส่วนที่ 2 ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งย่อมมีผลให้ศาลรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง และประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง

ประการที่ 2 ให้เพิ่มความในรัฐธรรมนูญเพื่อจัดตั้ง “คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ” โดยบรรดาอำนาจหน้าที่ต่าง ๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ

ประการที่ 3 อำนาจหน้าที่: คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ 1) พิทักษ์ประชาธิปไตยและนิติรัฐ 2) รักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ 3) โดยการใช้อำนาจนั้นต้องคำนึงถึงอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย หลักการแบ่งแยกอำนาจ และหลักการประกันสิทธิและเสรีภาพ

ประการที่ 4 ที่มาและองค์ประกอบ: คณะตุลาการพิทักษ์รัฐธรรมนูญประกอบด้วยตุลาการ 8 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำนำนำของประธานรัฐสภา โดยมาจากบุคคลซึ่งได้รับเลือกโดยสภาผู้แทนราษฎร 3 คน วุฒิสภา 2  คน และคณะรัฐมนตรี 3 คน

โดยส่วนของสภาผู้แทนฯ นั้นประธานสภาเป็นผู้เสนอ ผู้ได้รับเลือกอย่างน้อย 1 คนต้องเป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุด

สำหรับวุฒิสภา ก็ให้ประธานวุฒิ ผู้ได้รับเลือกอย่างน้อย 1 คนต้องเป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุด ส่วนคณะรมต. ให้นายกเสนอ แล้วที่ประชุมครม. เลือก

ประการที่ 5 คุณสมบัติของผู้เป็นตุลาการพิทักษ์รัฐธรรมนูญและลักษณะต้องห้าม: บุคคลผู้ซึ่งจะได้รับเลือกเป็นตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญต้อง 1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด 2)  มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าปีบริบูรณ์ในวันที่ได้รับการเสนอชื่อ

3) เป็นผู้เคารพและยึดมั่นหลักการนิติรัฐประชาธิปไตย 4) เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางรัฐธรรมนูญ

ลักษณะต้องห้าม: 1) ต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งตุลาการรัฐธรรมนูญหรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ว่าในรัฐธรรมนูญฉบับใด และ 2) ต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งในองค์กรใดที่ตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2549 หรือโดยประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ประการที่ 6 วาระการดำรงตำแหน่ง: ประธานตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญและตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญมีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

ประการที่ 7 ข้อห้ามระหว่างการดำรงตำแหน่ง: ระหว่างวาระการดำรงตำแหน่ง ประธานตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญและตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญต้องไม่ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพประจำอื่นใด

องค์คณะ

ประการที่ 8 องค์คณะและการลงมติ: องค์คณะของตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญในการนั่งพิจารณาและในการทำคำวินิจฉัย ต้องประกอบด้วยตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า 5 คน โดยคำวินิจฉัยให้ถือตามเสียงข้างมาก ในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้คำร้องนั้นตกไป

ประการที่ 9 ผลแห่งคำวินิจฉัย: คำวินิจฉัยของคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญให้มีผลทั่วไปและเป็นเด็ดขาด ผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และหน่วยงานของรัฐ

ประการที่ 10 วิธีพิจารณา: วิธีพิจารณาของคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ

ประการที่ 11 ข้อจำกัดการใช้อำนาจ: ห้ามมิให้คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญกระทำการใดอันมีผลเป็นการขัดขวางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

อนึ่ง หากข้อเสนอนี้ถูกนำไปใช้ ตลก. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ปัจจุบันนี้จะพ้นจากตำแหน่งทันที ส่วนคดีที่คาอยู่ในศาลให้พักไว้ก่อนจนกว่าจะตั้งตุลาการพิทักษ์รธน. เข้าไปใหม่ และต้องตั้งให้เสร็จภายใน 30 วัน

วรเจตน์ ภาคีรัตน์กล่าวเสริมว่าเหตุผลที่ไม่ให้ตุลาการมีสิทธิเสนอ อยู่บนฐานของการที่ศาลยึดโยงกับประชาชนซึ่งสังคมไทยไม่คุ้นชิน เป็นกระบวนการยุติธรรมในระบบปิด ส่วนข้อเสนอนี้ตระหนักว่าขาดคนที่มาจากศาลไม่ได้ โดยกำหนดว่าอย่างน้อย 2 ใน 8 เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุด

ปิยบุตร กล่าวว่า ศาลรธน. มีอำนาจหน้าที่ได้เท่าที่รธน. กำหนดเท่านั้น จะขยายอำนาจของตนเองจนขึ้นไปอยู่เหนือรธน. เลยไม่ได้ อำนาจหน้าที่ และความเป็นอิสระที่ให้มานั้นเพื่อพิทักษ์รัฐธรรนูญ ไม่ใช่ขยายจนกลายเป็นตัวรัฐธรรมนูญเสียเอง

ทั้งนี้ วรเจตน์กล่าวฝากไปยังฝ่ายการเมืองว่า  ควรต่อสู้ในเชิงหลักการก่อนส่วนการต่อรองกันทางการเมืองนั้นเป็นเรื่องที่ควรพิจารณาทีหลัง และคณะนิติราษฎร์จะไม่มีจดหมายไปถึงใครทั้งสิ้น โดยเชื่อว่าสื่อมวลชนได้สื่อสารในประเด็นนี้สู่สาธารณะแล้ว และนิติราษฎร์ได้ทำหน้าที่ในส่วนของตนคือการเสนอทางวิชาการแล้ว 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วรเจตน์ ภาคีรัตน์: ยุบศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ

Posted: 15 Jul 2012 01:17 AM PDT

โปรดติดตาม ปิยบุตร แสงกนกกุล กับข้อเสนอรายละเอียดว่าด้วยการตั้ง “ตุลาการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” 

 

15 ก.ค.55  ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะนิติราษฎร์จัดแถลงข้อเสนอทางวิชาการเรื่อง "การยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญ และการจัดตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ" โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมฟังจนล้นห้องประชุม LT1 

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กล่าวว่า คำวินิจฉัยมีข้อบกพร่องสำคัญในการตั้งประเด็น ประเด็นที่ศาลต้องพิจารณาคือการกระทำของรัฐสภาที่เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีผลในการล้มล้างการปกครองตามมาตรา 68 หรือไม่ ถ้าไม่มีผล ก็ต้องยกคำร้อง เพียงแค่นี้แล้วก็ไม่ต้องทำอะไรต่อ แต่ศาลกลับเอาประเด็นนี้ไปไว้ในประเด็นที่ 3 แล้วตั้งประเด็นที่ 2 มาแทรกกลาง โดยไม่มีผลและตรรกะเพียงพอ

เมื่อไม่ล้มล้างการปกครองก็สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระสามได้ เป็นประเด็นง่ายๆ ที่ไม่ต้องเรียนกฎหมาย ขอเพียงเป็นคนที่มีสติสัมปชัญญะก็เข้าใจได้ แต่ทำไมศาลถึงตั้งประเด็นและทำแบบนี้ ผมคิดว่าด้านหนึ่งศาลก็รู้ว่าตนเองไม่มีอำนาจวินิจฉัย

เมื่อศาลบอกว่าไม่ล้มล้างการปกครอง แล้วการลงมติวาระสามจะกลายเป็นการล้มล้างปกครอง เช่นนี้เป็นไปได้หรือ แต่ในประเทศนี้อะไรที่เป็นไปไม่ได้ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นอยากเรียนว่าโดยคำวินิจฉัยนั้น จริงๆ ไม่มีผลผูกพันอะไรกับรัฐสภาเลย ต่อให้ยอมรับว่ามีเขตอำนาจ ซึ่งจริงๆ ไม่ควรยอมรับแต่แรก เพราะถ้าลงมติวาระสามแต่แรกก็ไม่มีผลแล้ว เพราะจะไม่มีวัตถุแห่งการพิจารณา และแม้วันนี้จะมีการวินิจฉัยมาแบบนี้ ศาลก็บอกว่าไม่ใช่การล้มล้างการปกครองแล้วจะกลัวอะไร

มีคนบอกว่า ศาลวินิจฉัยแล้ว ผมถามว่าวินิจฉัยตรงไหน อีกอย่างการเขียนมาตรา 68 ก็เป็นปัญหา ถ้าถือตามตัวอักษรต้องสั่งระงับการกระทำ แต่คำวินิจฉัยนี้ก็ไม่มีการสั่งระงับการกระทำ จึงน่าสงสัยมากว่าเราฟังคำวินิจฉัยเรื่องเดียวกันหรือเปล่า ฉะนั้นถ้าเราดูภาพทั้งหมดจาการวินิจฉัยก็จะพบว่ามันมีปัญหา

วรเจตนต์กล่าวต่อว่า เวลาที่เราเสนอเรื่องนี้ เราไม่ได้พูถึงการวินิจฉัยนี้ ไม่ใช่เรื่องคนไม่ได้อย่างใจแล้วออกมาเสนอยุบศาลรัฐธรรมนูญ โดยส่วนตัวได้ติดตามการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่หลังรัฐประหารเป็นต้นมา มีคำวินิจฉัยหลายเรื่องเป็นปัญหาจริงๆ คดีปราสาทพระวิหารที่พูดเรื่องหนังสือสัญญาที่มีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของไทย ศาลก็เติมคำว่า “อาจจะ” แล้วคำว่า “อาจ” นั้นมีหรือในรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงคดีทำกับข้าว ถ้าลองย้อนกลับไปดูคดีนี้วินิจฉัยเรื่องความเป็นลูกจ้างก็เอาพจนานุกรมมาดู เป็นความหมายของลูกจ้างอีกแบบไม่ใช่ตามกฎหมายแรงงาน ถ้าอย่างนั้นทุกคนรวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยเวลาไปนั่งบรรยายรับสตางค์ก็เป็นลูกจ้างทั้งหมด แต่ผลสุดท้ายการตีความในคำวินิจฉัยนั้นก็ใช้กับคุณสมัครคนเดียวไม่ใช้กับคนอื่นในโลกอีกเลย ในวันที่ยุบพรรคพลังประชาชน มีการแถลงปิดคดี ศาลขึ้นนั่งอ่านคำวินิจฉัยเลย แล้วอ่านอย่างมีข้อผิดพลาดด้วย ถามว่าประชาชนไม่มีสิทธิตรวจสอบเลยหรือว่าทำถูกต้องหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้องก็ต้องหาวิธี

วรเจตน์กล่าวต่อว่า มีคนบอกว่า การยุบศาลฯ ไม่ดี เพราะเป็นการเอาเรื่องที่ไม่พอใจไปเป็นเหตุให้ยุบศาลฯ บางคนบอกให้ไปยุบนิติราษฎร์ก่อน ผมบอกได้ว่าไม่มีใครยุบได้ ถ้าจะยุบเราจะยุบกันเองเพราะเราไม่ได้เป็นองค์กรทางกฎหมาย

ประเด็นออกเสียงประชามติ ที่ว่ารัฐธรรมนูญผ่านการออกเสียงประชามติมา ถ้าจะแก้ก็ควรลงประชามติ โดยศาลเองก็พูดว่าอำนาจการสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนจะเปลี่ยนแปลงอะไรต้องกลับไปหาประชามติ พูดแบบนี้ไม่ผิด แต่การปรับบทนั้นผิด เพราะว่าการร่างฯ จะกลับไปหาประชาชนเมื่อมีการยกร่างฯ เสร็จแล้ว แล้วไปทำประชามติ ประชาชนจะมีทางเลือก เปรียบเทียบกันระหว่างรัฐธรรมนูญ 2550 หากใครไม่ชอบฉบับเก่า ก็โหวตรับฉบับใหม่ อาจเพราะเห็นว่าไม่เป็นประชาธิปไตย องค์กรศาลขาดจุดยึดโยงกับประชาชน เป็นต้น เขาก็มีสิทธิเลือกฉบับใหม่ แล้วนี่ไม่ใช่การยกอำนาจให้ สสร. ไม่กลับมาที่สภาเลย พูดไม่ถูกทั้งหมด เพราะไม่ใช่การยกอำนาจให้ สสร. มีอำนาจทำรัฐธรรมนูญ ส่วนที่มากลับมาสภาก็ถูกแล้ว เพราะไปที่ประชาชนโดยตรงไม่ดีกว่ากลับมาสภาหรือ

ส่วนการแก้รายมาตรา เดี๋ยวผมแก้ทีละมาตราไปเลย แต่แก้ทุกมาตรา นี่ไม่กลับไปหาประชาชน แต่การบกร่างฯ ขึ้นมาใหม่ มาตรฐานสูงกว่าอีก คือกลับไปหาประชาชนเจ้าของอำนาจ ผมไม่เข้าใจว่าทำไมศาลไม่เข้าใจ เรื่องทีเกิดขึ้นมันไม่ควรเป็นเรื่องเลย

ส่วนปฏิกิริยาหลังคำวินิจฉัยนั้น ประชาชนไม่ควรดีใจและควรร้องไห้ เพราะศาลได้ขยายอำนาจมาควบคุมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นลูกที่เกิดจากรัฐธรรมนูญแต่ไปเป็นตัวควบคุมแม่ เช่น จะแก้รัฐธรรมนูญ ให้ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ แล้วศาลบอกว่าเลิกไม่ได้ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ศาลเป็นองค์กรที่อยู่เหนืออำนาจขององค์กรใดๆ

ส่วนการแก้ไขนั้นมีข้อจำกัดแค่ 2 ประเด็นเท่านั้น 1.ห้ามแก้ไขการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 2.ห้ามแก้ไขรูปแบบของรัฐ การห้ามสองกรณีนี้ห้าม 3 เรื่อง คือ 1.ห้ามเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐจากราชอาณาจักรเป็นสาธารณรัฐ หมายถึงต้องมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐต่อไป 2.ห้ามเปลี่ยนแปลงจากรัฐเดี่ยวเป็นสหพันธรัฐ แล้วมีนายกฯ ของมลรัฐแบบนี้ไม่ได้ 3.ห้ามเปลี่ยนจากระบอบประชาธิปไตยไปเป็นระบอบอื่น

รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามแก้หมวดหนึ่ง หมวดทั่วไป หมวดสอง พระมหากษัตริย์ หมวดสาม สิทธิเสรีภาพ ฯลฯ

แต่ร่างฯ แก้ไขนั้น ทำไปมากกว่านั้นอีกคือการห้ามแก้ไขบางหมวดทั้งหมด ซึ่งถึงที่สุดแล้วโดยหลักนั้นสามารถแก้ได้ ไม่มีทางเป็นการล้มล้างการปกครองได้เลย ผมจึงรู้สึกว่ารัฐบาลไม่มีความจำเป็นด้วยซ้ำ แต่ก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องการเมือง และขนาดเขียนไว้แบบนี้ยังมีคนไปยื่นศาลและศาลยังมาตรวจสอบ แต่ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องยืนยันคือเมื่อพูดเรื่องนี้ต้องพูดจากหลักฐานที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ

ส่วนคำวินิจฉัยเรื่องประชามตินั้น เขาเห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ของศาล แต่เป็นหน้าที่ในทางบริหาร เราอยู่กับความไม่เป็นเหตุเป็นผลของบ้านเมืองนี้มานานจนเราคิดว่ามันเป็นเหตุเป็นผล

ส่วนข้อเสนอของนิติราษฎร์ให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญนั้นมากเกินไปหรือไม่ วรเจตน์เห็นว่าไม่มากเกินไป โดยอธิบายว่า ศาลที่จำเป็นต้องมีคือศาลยุติธรรม แต่ศาลอื่นจำเป็นขนาดไม่มีแล้วจะตายไหมก็ไม่ขนาดนั้น ถ้ามีแล้วทำหน้าที่ได้ดี เป็นไปตามวัตถุประสงค์ก็ควรจะมี แต่ถ้ามีแล้วทำได้ไม่ดี ท่านก็ตอบกันเอง

วรเจตน์กล่าวว่า อาจมีคนบอกว่าถอดถอนตุลาการก็ได้ ผมบอกว่าตอนนี้กำลังดำเนินการเข้าชื่ออยู่ ต่อให้ได้ห้าล้านสิบล้าน คนที่มีอำนาจคือ 3 ใน 5 ของวุฒิสภา แล้วครึ่งหนึ่งนั้นมาจากากรแต่งตัง ฉะนั้นมันเป็นไปไม่ได้ องคาพยพของรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้มันยึดโยงอยู่กับรัฐประหาร 19 กันยา 2549 มาตราที่ชัดที่สุดคือ 309 บรรดาองค์กรต่างๆ ต่อให้ศาลฯ ชุดนี้หมดวาระไป การแต่งตั้งตุลาการชุดใหม่ก็จะมาจากคนที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้แล้ว ซึ่งไม่มีจุดยึดโยงกับประชาชน

วรเจตน์กล่าวว่า หนึ่ง ผมเฝ้าดูการกระทำของศาลรัฐธรรมนูญมาหลายปี สอง โดยกลไกที่จะกำหนดเลือกตัวบุคคลก็ทำได้ยาก นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราเสนอเรื่องการยุบศาลรัฐธรรมนูญ ครั้งล่าสุดนี้รุนแรงกว่าคดีทุกคดีที่ผ่านมาคือได้พัฒนาอำนาจของตนเองไปถึงระดับที่เข้าไปควบคุมการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียแล้ว ไปเปลี่ยนแปลงตัวบทรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เสียแล้ว ต้องหาทางออกไม่ให้มีการใช้อำนาจลักษณะนี้อีก เพราะถ้าเป็นเช่นนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำไม่ได้

เมื่อเลิกศาลฯ ไปแล้ว เป็นการแก้ไขเพื่อเปิดทางให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้โดยไม่ถูกขัดขวางจากองค์กรอื่นใด แต่ก็จำเป็นต้องสร้างองค์กรใหม่ขึ้นมาทดแทนศาลรัฐธรรมนูญ โดยยกเลิกบทบัญญัติว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญ แล้วกำหนดบทของตุลาการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยมีฐานที่มาที่ยึดโยงกับประชาชน และสำคัญที่สุด โดยเหตุที่บัดนี้เรามีประสบการณ์แล้วว่าศาลรัฐธรรมนูญ ตีความ ม. 68 แบบนี้ ก็อาจจะต้องแก้ ม. 68 ด้วย และอาจจะง่ายกว่าเพื่อไม่ให้ศาลฯ ตีความแบบนี้อีก

อย่างไรก็ตามในร่างฯ ของเราจะบังคับไว้ว่าห้าม ตุลาการพิทักษ์รัฐธรรมนูญเข้ามาขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

วรเจตน์กล่าวถึงสภาพทางการเมืองที่ยังมีความสับสนมึนงงและไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป จากนี้ไปจะมีกี่หนทางและหนทางไหนน่าจะถูกต้องที่สุด

1 เปิดสภา เอาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสภา เดินหน้าโหวตวาระสาม

2 รัฐสภายอม ปล่อยให้ร่างฯ ที่ค้างอยู่ในวาระสามตกไป อาจจะตกไปโดยเหตุใดก็ตาม เช่น เสียงโหวตไม่ถึงเกณฑ์ คือการยอมแพ้

3 ชะลอการลงมติวาระสามไป แล้วไปทำประชามติ ไปถามประชาชนเลยว่าจะแก้ทั้งฉบับไหม แล้วถ้าผ่านก็เดินหน้าโหวตวาระสามต่อไป

4 ปล่อยไปอย่างนี้ แต่เสนอร่างฯ แก้ไขเพิ่มเติมตามแนวทางนิติราษฎร์ คือแก้ไข ม. 68 และแก้ไขบทบัญญัติว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญ

5 ไม่ทำอะไรเลย แล้วเริ่มตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแก้ไขเรียงรายมาตรา ซึ่งคำนวณแล้วก็อาจใช้เวลาอีกสักสองชาติภพ

วรเจตน์กล่าวว่า ก็แล้วแต่ว่าฝ่ายการเมืองจะเลือกทางไหน เพราะเราไม่ใช่ฝ่ายการเมืองเราเพียงทำหน้าที่วิชาการ ถ้าถามว่าแนวทางไหนถูกต้องที่สุด ขอตอบว่าแนวทางที่ 1 เพราะฉะนั้นถ้าเกิดรัฐสภาและรัฐบาลกล้าๆ หน่อย ก็เปิดประชุมและเดินหน้าโหวตวาระสาม ส่วนถ้าโหวตจะถูกร้องศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็แน่นอนอยู่แล้ว ต่อจากนี้ไปใครจะทำอะไรเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญก็จะถูกร้องศาลทั้งหมด

วรเจตน์ตั้งคำถามว่า ทำไมถึงต้องหวงรัฐธรรมนูญ 2550 เขาเห็นว่า ประการแรก รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นแหล่งที่เป็นประโยชน์กับบุคคลจำนวนหนึ่ง ลองดูว่ามีหลายส่วนที่ได้คนที่ไม่มีจุดเชื่อมโยงกับประชาชนเลย มีการตั้งคณะกรรมการหลายๆ อย่าง เช่น ปฏิรูปกฎหมาย มีวุฒิสมาชิกที่มาจากการสรรหา และอำนาจของฝ่ายตุลาการในการเข้ามาวินิจฉัยเรื่องต่างๆ มีการตั้งบุคคลเข้าไปสรรหาบุคคลในตำแหน่งต่างๆ อีก

รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องผลประโยชน์ แต่สุดท้ายต้องยึดโยงกับประชาชนได้ และถ้าประชาชนเห็นว่าไม่ถูกก็ต้องเปลี่ยนได้ สำหรับคนที่ออกมาขวางมาค้านนั้นเกี่ยวพันกันอย่างไร ตัวผมนั้นถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวพันกับทักษิณทั้งๆ ที่ไมเคยคุยกันแม้แต่ประโยคเดียว แต่คนที่มีประโยชน์เกี่ยวพันชัดมาเที่ยวชี้หน้าคนอื่นไม่ละอายบ้างหรือ

 วรเจตน์กล่าวต่อถึงเหตุผลที่บางฝ่ายหวงรัฐธรรมนูญ 2550 ว่า อีกประการหนึ่งคือ สสร. ที่จะเกิดขึ้น ไม่มีใครรู้ว่าเป็นใครบ้าง ไม่อาจแน่ใจได้ว่าทิศทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นทิศทางที่ฝ่ายที่เกี่ยวพันกับการร่างฯ รัฐธรรมนูญ 2550 นั้นจะควบคุมได้หรือไม่ รู้เพียงอย่างเดียวกระแสประชาธิปไตยนั้นจะเบ่งบานขึ้น และรัฐธรรมนูญยิ่งเป็นประชาธิปไตยมากเท่าไหร บรรดาองค์กรที่จะอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2550 ก็จะได้รับผลกระทบมาก จึงเป็นเหตุให้ต้องขวางการเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และอ้างการลงประชามติทั้งๆ ที่เป็นการลงมติแบบมัดมือชก เพราะประชาชนไม่รู้ว่าถ้าไม่รับรัฐธรรมนูญ 2550 จะเกิดอะไร  แล้วทุกคนนั้นเหมือนกับว่าพูดไปแล้วก็กลืนสิ่งที่พูดแล้วลงไป สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่เป็นธรรมกับประชาชนทั้งประเทศ

สุดท้าย อยากจะบอกว่า ข้อโต้แย้งที่พูดอยู่เสมอคือ นี่เป็นเผด็จการข้างมาก เผด็จการรัฐสภา แล้วถามว่าคุณจะเอาเผด็จการข้างน้อยหรือ

จริงๆ การปกครองระบอบประชาธิปไตย อุดมคติคือเสียงเอกฉันท์ แต่สิ่งที่ใกล้เคียงที่สุดคือคะแนนเสียงข้างมาก ไม่ใช่เสียงข้างน้อย เมื่ออนุวัตรไปก็ต้องไปตามเสียงข้างมากแล้วให้ความคุ้มครองเสียงข้างน้อย

เขาย้ำว่า สิ่งควรทำที่สุดคือการเดินหน้าลงมติวาระสาม แต่ถ้าใจไม่ถึงก็มีข้อเสนอของนิติราษฎร์ให้พิจารณา แต่ถ้าใจไม่ถึงอีก ก็แล้วแต่ท่าน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไทยโพสต์ แท็บลอยด์: ปิดฉาก "คอป." 2 ปี สูญเปล่าหรือสอบผ่าน?

Posted: 14 Jul 2012 08:43 PM PDT

 

วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม 2555 นี้ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. ที่มี ศ.ดร.คณิต ณ นคร เป็นประธาน ก็จะหมดวาระสิ้นสุดการทำหน้าที่อย่างเป็นทางการแล้ว

หลัง คอป.เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อ 15 ก.ค.2553 ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการ ปรองดองแห่งชาติ พ.ศ.2553 ซึ่งให้ คอป.มีเวลาการทำงาน 2 ปี จาก 15 ก.ค.53 ถึง 15 ก.ค.55 คอป.ที่ตั้งขึ้นหลังเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2553 และทำงานมาแล้วในช่วงรัฐบาล 2 ชุด คือ รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และมาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

2 ปีที่ผ่านไปของ คอป. บนความคาดหวังว่า คอป.จะเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤติการเมืองและทำให้เกิดความ ปรองดองสมานฉันท์ขึ้น ถึงวันนี้ ซึ่ง คอป.จะพ้นหน้าที่ สิ้นสุดพันธกิจที่ได้รับมอบหมาย บางส่วนก็วิจารณ์ว่า ”ล้มเหลว-สูญเปล่า” ขณะที่บางส่วนก็เห็นว่า “ทำได้ดีระดับหนึ่ง-สอบผ่าน”

แต่สำหรับกรรมการ คอป.แล้ว 2 ปีที่ผ่านไป “สำเร็จหรือสูญเปล่า” จะ ”สอบได้หรือสอบตก”

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ รองคณบดี คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี  หนึ่งในคณะกรรมการ คอป.และประธานคณะอนุกรรมการเยียวยา ฟื้นฟู และป้องกันความรุนแรง มาเล่าให้ฟังถึงปัญหา-อุปสรรคการทำงานของ คอป.ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา และสิ่งที่จะทิ้งไว้หลังจากการทำงานยุติลง

“โดยรวม ผมเห็นว่า คอป.ได้ทำงานประสบความสำเร็จได้ในระดับหนึ่งตามที่ตั้งใจจะทำไว้ เพียงแต่ว่าที่ทำงานไม่สำเร็จทั้งหมดเพราะมีข้อจำกัด ทั้งทางด้านงบประมาณและความร่วมมือ

คอป.ทำงานมา 2 ปี ตอบในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการ รู้สึกเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ได้ทำงานชิ้นหนึ่งที่น่าจะมีประโยชน์ต่อ สังคมไทย”

แต่พันธกิจอย่างหนึ่งของ คอป.ที่ก็ถูกระบุไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่ตั้ง คอป.ก็คือ ให้ คอป.ค้นหาความจริงเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในช่วงการชุมนุมทางการ เมืองเมื่อเมษายน-พฤษภาคม 53 ดูเหมือนว่าคำตอบนี้ยังไม่มีใครได้รับจาก คอป. เช่น เรื่องใครคือชายชุดดำ-กองกำลังติดอาวุธ ?

ต้องอธิบายก่อนว่า คอป.มีการจัดทำยุทธศาสตร์การทำงานอย่างชัดเจน  แบ่งอนุกรรมการทำงานเป็น 4 ชุดใหญ่

ชุดที่ 1 เป็นการทำงานที่สำคัญมาก ชุดค้นหาความจริง โดยนายสมชาย  หอมละออ เป็นประธานอนุกรรมการ เป็นชุดที่สำคัญที่สุดของ คอป. เพราะความจริงเป็นเรื่องสำคัญและความจริงมีส่วนนำไปสู่ความเข้าใจในปัญหา เรื่องต่างๆ ลดข้อขัดแย้งลงได้และนำไปสู่การเยียวยาสังคมได้ คุณสมชายมีความพยายามอย่างมากในการหาข้อมูลเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ แต่ในการทำงานของอนุกรรมการ ที่ประชุมใหญ่ คอป.ก็ได้รับทราบข้อจำกัดใหญ่ของอนุกรรมการชุดนี้หลักๆ 2 ข้อ คือ
 

   1.ไม่ได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่จากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง

    2.งบประมาณการดำเนินการของ คอป.ไม่เพียงพอ การจัดสรรงบประมาณมีข้อจำกัดมาก การจ้างบุคลากรทำได้จำกัด ทำให้การทำงานลำบากและจำกัด

ชุดที่ 3 เป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ โดยมีนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานอนุกรรมการ สามารถให้ความช่วยเหลือการทำงานของ คอป.ได้เป็นอย่างดี ที่ผ่านมาการทำงานของอนุกรรมการชุดนี้มีส่วนสำคัญทำให้มีผู้นำต่างประเทศมา ร่วมหารือ คอป.มีการทำงานที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติเป็นอย่างดี อย่างเช่น นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ หรืออดีตประธานาธิบดีของฟินแลนด์ และเอกอัครราชทูตหลายประเทศในประเทศไทยก็ให้การสนับสนุนงานของ คอป.

ชุดที่ 4 ชุดวิชาการ โดยมี รศ.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เป็นประธานอนุกรรมการ สามารถขับเคลื่อนงานการวิจัยให้เห็นรากเหง้าของปัญหาว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง มีการแถลงออกสื่อเป็นระยะๆ โดยรวมการขับเคลื่อนของ 4 อนุกรรมการก็สามารถขับเคลื่อนงานด้วยข้อจำกัด แต่ยังสามารถทำงานมาได้จนถึงขณะนี้ 

ประเด็นการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่บอกว่าจะยึดแนวทาง คอป.แก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็แถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่าจะสร้างความปรองดอง แต่พบว่าหลายข้อเสนอของ คอป.ที่เสนอไป รัฐบาลก็ไม่ตอบรับนั้น ศ.นพ.รณชัยไม่ขอชี้ว่าตรงนั้นเป็นเรื่องจริงใจหรือไม่จริงใจ แต่ส่วนตัวขอตอบเป็น 2 ข้อ คือ

1.ขอขอบคุณที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้ความสำคัญของ คอป.ตอบรับที่จะรับข้อเสนอของ คอป.ไปปฏิบัติและนำไปปฏิบัติออกมาแล้ว

2.คอป.นำเสนอตามหลักของวิชาการมีเหตุผล ฉะนั้นรัฐบาลจะไปทำเกินเลยจากนั้น เป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องอธิบายให้กับสังคมได้รับทราบ ถ้าสังคมรับทราบและเห็นด้วยกับรัฐบาลก็เป็นเรื่องที่สังคมยอมรับ ถ้าสังคมยังมีข้อสงสัยรัฐบาล ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องชี้แจงต่อสังคม

ศ.นพ.รณชัยที่เคยเสนอในนาม คอป.ว่า เงินเยียวยาผู้เสียชีวิตควรอยู่ที่แค่รายละ 3,280,000 บาท แต่รัฐบาลให้รายละ 7.5 ล้านบาท ยังคงย้ำว่าหลักการเยียวยาที่ถูกต้อง ต้องทำหลายส่วนควบคู่กันไป เช่น การ ”ขอโทษประชาชน” ไม่ใช่แค่การจ่ายเงินอย่างเดียวแล้วจะแก้ปัญหาได้

“เรื่องของการเยียวยา สังคมจะสนใจเรื่องเดียวคือเรื่องเงินชดเชย คอป.เรามีข้อเสนอแนะว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากมายควรได้รับการเยียวยาอย่างทั่วถึงและมีการจัดการ เยียวยาให้เป็นระบบ เพราะหน่วยงานที่รักษาเยียวยามีอยู่มาก แต่เป็นการเยียวยาเฉพาะจุด ควรจัดกรรมการเฉพาะกิจทำเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม

 เราไม่มองในเรื่องผลประโยชน์ แต่มองในเรื่องของมนุษยธรรม รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ตั้งคณะกรรมการประสานงานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหา ความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ขึ้นมา เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ การชดเชยจิตใจไม่ได้เป็นเรื่องของเงิน แต่เป็นเรื่องของสัญลักษณ์ คือรัฐบาลขอโทษประชาชนที่เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น

รัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบโดยขอโทษประชาชนหรืออาจจะทำเป็นอนุสาวรีย์และ อาจเป็นสิ่งระลึกอะไรก็ได้ เมื่อได้รับเงินชดเชยค่าครองชีพไปแล้วจะต้องชดเชยทางด้านจิตใจด้วย"

รากเง้าความขัดแย้ง
รากเหง้าปัญหาความขัดแย้งในสังคม เขาเผยว่าส่วนตัวเท่าที่ศึกษาติดตาม ข้อขัดแย้งสังคมไทยมีด้วยกัน 5 สาเหตุ คือ

1.ความยุติธรรมที่ไม่ได้มาตรฐานในประเทศไทย ทั้งกระบวนการยุติธรรม ความยุติธรรมของสังคม การไม่ได้รับการดูแลอย่างครบถ้วน

2.ความเหลื่อมล้ำของสังคมที่นำไปสู่ข้อขัดแย้งของสังคมในตัวมันเอง เช่น คนรวยมีทรัพย์สินมากก็กระจุกอยู่แค่คนกลุ่มเล็กๆ ในสังคมแค่ 10  เปอร์เซ็นต์ในประเทศไทย ทำให้สังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง ถ้าไม่ลดเรื่องความเหลื่อมล้ำ ก็ยังมีโอกาสสูงที่เรื่องนี้จะนำไปสู่ข้ออ้างที่นำไปสู่การชักจูงคนจำนวน หนึ่งที่อยู่ในกลุ่ม 90 เปอร์เซ็นต์ ให้คล้อยตามจนเกิดความขัดแย้งได้ คนลำบากเมื่อถูกกระตุ้นเรื่องนี้มันก็ชักจูงได้ง่าย

3.เรื่องการเมืองก็คือสาเหตุสำคัญ การเมืองไทยยังเป็นการเมืองที่ยังไม่ได้มาตรฐานเหมือนสากล ปัญหาเรื่องคอรัปชั่นแบบนี้ ทำให้ไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งก็เป็นข้อเท็จจริง การเมืองก็ต้องแก้ไขตัวเองให้มีมาตรฐานกว่านี้ คนทำผิดก็ไม่ได้รับการลงโทษอย่างจริงจัง

4.ฝ่ายอำนาจ เช่น ทหาร มาเกี่ยวข้องกับการเมือง การแย่งชิงอำนาจ  เมื่อเป็นทหารก็ต้องเป็นทหารอาชีพ คือทำเรื่องการปกป้องประเทศ ทหารก็ต้องอยู่ในกรมกอง ทำหน้าที่ของตัวเอง ออกความเห็นได้ แต่ไม่ควรร่วมกิจกรรมการเมืองเต็มที่ ยังเชื่อว่ามีทหารอาชีพอีกมากที่ไม่ยุ่งการเมืองที่ทำให้เกิดปัญหา

5.สื่อก็มีส่วนสำคัญ ยิ่งไปเข้าข้างฝายใดฝ่ายหนึ่งแล้วออกข่าวบิดเบือน ไม่เป็นกลาง ไปชี้นำผิดๆ ก็ไม่เกิดข้อขัดแย้ง และสื่อก็เป็นกลไกสำคัญในการสะท้อนความเป็นจริงได้ เช่น ข้อขัดแย้ง 4 ข้อแรกที่ยกมา ถ้าสื่อสะท้อนดีๆ ก็แก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยได้

กรรมการ คอป.ยังวิพากษ์เรื่องการผลักดันของฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาลในการเสนอ พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ พ.ศ....เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยที่นักการเมืองซึ่งพยายามผลักดันเรื่องนี้พยายามบอกว่ากฎหมายปรองดองเป็น ส่วนหนึ่งของบันไดหรือโมเดลไปสู่การสร้างความปรองดอง แต่ดูเหมือนฝ่าย คอป.กลับไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด

“การพูดโมเดลปรองดอง ต้องเอาฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาคุยกันก่อน ไม่ใช่ทำแต่แล้วเกิดความแตกแยกแบบนี้ไม่ใช่ปรองดองแล้ว ชื่ออะไรก็ได้ไม่สำคัญ   แต่ต้องเอาผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดทุกคนทุกฝ่ายมานั่งพูดคุยกันแล้วหาจุด ปรองดองจริงๆ แล้วยอมรับในกติกา แล้วออกมาในสิ่งที่ทุกฝ่ายยอมรับ เพื่อให้เกิดการยอมรับมากสุด

ผมไม่เชื่อเรื่องโมเดลอะไรต่างๆ ถ้าทำแล้วปรากฏว่าไส้ในของสิ่งที่ทำ พอทำแล้วเกิดความขัดแย้งแบบนี้ก็ไม่เห็นด้วย”

การคลี่คลายปัญหา ศ.นพ.รณชัยไม่ได้ตอบคำถามนี้โดยตรง แต่ให้มุมมองไว้ว่า สังคมไทยเป็นพลวัต มันต้องเคลื่อนไป สุดท้ายสังคมไทยก็จะก้าวข้ามเรื่องสีไปในอนาคต แต่ถ้ารากเหง้าที่ผมบอก 5 ข้อ เช่น การเมือง ความเหลื่อมล้ำ ความไม่ยุติธรรมยังคงอยู่ความขัดแย้งมันจะเปลี่ยนไปเป็นความขัดแย้งอีกรูป แบบหนึ่งในอนาคต

“อยากให้สังคมไทยต้องเอาบทเรียนที่เกิดขึ้นให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาไปใน ทางที่ถูกต้อง บทเรียนความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่มันเกิดมาแล้วซ้ำๆ แต่สังคมไทยไม่เคยจริงจังในการนำบทเรียนมาพัฒนา ประเทศรอบบ้านเราเขาเคยขัดแย้งกันมาก่อนเหมือนกับเรา ความขัดแย้งเขาก็มี

อย่างมาเลเซีย เขาก็เคยขัดแย้งเคยมีการฆ่ากัน แต่เขาก็เอาบทเรียนมาเรียนรู้เพื่อพัฒนาจนเขาก้าวหน้ากว่าเราแล้ว แล้วประเทศอื่นๆ อย่างเวียดนาม  พม่าเขากำลังจะพัฒนาก้าวข้ามเราแล้ว แต่เรายังพูดเรื่องเดิมอยู่เลย เมื่อไหร่จะเอาบทเรียนมาเรียนรู้และพัฒนาเพื่อก้าวข้ามข้อขัดแย้งไปให้ได้”

 

แนวทางที่เป็นรูปธรรม
แนวทางสร้างความปรองดองที่แท้จริงทำอย่างไร ศ.นพ.รณชัยบอกว่า คอป.เสนอไปแล้วตามรายงานถึงรัฐบาลทุก 6 เดือน ถ้ารัฐบาลรับไปทำตามทุกข้อก็จะเกิดผลดีระดับหนึ่งกับสังคม เช่น เรื่องเยียวยาหรือข้อเสนอให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองที่ถูกคุมขัง ก็มีการใช้เงินจากกองทุนยุติธรรม แต่บางข้อก็ไม่ได้นำไปทำ ข้อสรุปฉบับสุดท้ายของ คอป.ครบรอบ 2 ปี ทางอนุกรรมการทุกคณะกำลังประชุมกันอย่างหนักตลอดช่วงเดือนที่ผ่านมา ประชุมกันทุกสัปดาห์เพื่อทำรายงานฉบับสุดท้าย

“อย่างของผมชุดอนุกรรมการเยียวยาแค่คณะเดียว ก็ไม่ต่ำกว่า 600 หน้า ก็จะมีรายงานสรุปทั้งหมดที่ทำมา 2 ปี ในเรื่องการเยียวยา รวมถึงข้อเสนอแนะ ปัญหา อุปสรรค

ในรายงานฉบับสุดท้ายของ คอป.ที่จะสรุปผลการทำงานของ คอป.ในรอบ 2 ปี จะเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ที่ คอป.จะเขียนอย่างระวังและชัดเจนและเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ จะมีการบอกถึงข้อเสนอเรื่องแนวทางการทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ปกติสุขต่อ ไป”

อย่างไรก็ตาม แม้รายงานฉบับสมบูรณ์ของ คอป.ยังไม่ออกมา แต่กรรมการ คอป.ผู้นี้ก็ออกตัวไว้ก่อนว่าการทำงานที่ผ่านมา 2 ปี คอป.เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองสูง จึงทำให้การทำงานนับแต่วันแรกมีปัญหาพอสมควรในเรื่องการยอมรับในช่วงแรก โดยเฉพาะกลุ่มการเมืองต่างๆ  เช่น คนเสื้อแดง แต่ต่อมาปัญหาก็ดีขึ้น

“การเกิดขึ้นและการทำงานของ คอป.ขอแยกให้เห็น 3 ประเด็น คือ 1.ตอนตั้ง คอป.สังคมไทยอยู่ในช่วงนั้นกำลังอยู่ในภาวะขัดแย้งและปัญหาต่างๆ ยังไม่มีข้อสรุปในการแก้ไข คู่ขัดแย้งทางการเมืองต่างๆ ยังอยู่ในสังคมไทย เพราะฉะนั้นกรรมการชุดนี้เกิดขึ้นในช่วงนั้นจะแตกต่างจากคณะกรรมการที่เป็น ลักษณะการค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองของนานาชาติที่อื่นอย่างชัดเจน  ของต่างประเทศเวลามีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น คณะกรรมการค้นหาความจริงจะทำงานได้ก็ต่อเมื่อทุกอย่างอยู่ในภาวะปกติ หมายความว่าทุกคนยอมรับผลที่เกิดขึ้น แล้วคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติทำ งานอย่างอิสระ ไม่มีข้อระวังสีไหน

เช่น ประเทศแอฟริกาใต้ เกิดเหตุการณ์รุนแรงรัฐบาลก็สามารถจัดตั้งกรรมการลักษณะแบบ คอป.ขึ้นมาได้ ทุกคนยอมรับรัฐบาลและดำเนินกิจกรรมทางด้านของรัฐบาลได้อย่างเป็นปกติ เพราะฉะนั้นกรรมการชุดนี้ในหลายประเทศเขาจึงสามารถทำงานได้อย่างเต็ม ประสิทธิภาพที่จะค้นหาความจริงและนำไปสู่การเปิดเผยได้อย่างไม่ต้องเกรงใจ ใคร เพราะไม่มีข้อขัดแย้งแล้วซึ่งต่างกับของเรา แต่ละประเทศจะเป็นแนวนี้

แต่ของไทยครั้งนี้ เป็นการจัดตั้งในภาวะการขัดแย้ง ซึ่งในขณะนี้ก็ยังขัดแย้งกันไม่จบ ตกลงกันไม่ได้ว่าปรองดองกันแบบไหนจะเห็นถึงความลำบากตั้งแต่ต้น

2. รัฐบาลขณะนั้น (รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ต้องมีคำตอบให้กับสังคมว่าความไม่สงบขณะนั้นมีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ ว่าจะมีคำตอบให้สังคมอย่างไร ด้วยรัฐบาลเดิมตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาค้นหาความจริง ก็สามารถที่จะโยนโจทย์ให้กับ คอป. ฉะนั้น คอป.ตั้งขึ้นมา รัฐบาลขณะนั้นได้ซึ่งประโยชน์หรือมีหน้าที่ตอบคำถามเหล่านี้แทนรัฐบาล

3. คอป. ทำงานบนความขัดแย้งต้องทำงานด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้สังคมมองว่าแต่งตั้งรัฐบาลจะมาทำงานเพื่อช่วยเหลือรัฐบาล ด้วยบุคลิกและอุดมการณ์การทำงานของ อ.คณิต ณ นคร เราทำงานกันเห็นชัดเจนว่าไม่มีการเข้าข้างฝ่ายใด ช่วงแรกบางกลุ่มจะหาว่า คอป.เข้าข้างเสื้อแดง ต่อมาก็ถูกสังคมตราหน้าว่าเข้าข้างรัฐบาลว่าทำไมต้องเยียวยาผู้ที่สร้างความ วุ่นวาย”

ศ.นพ.รณชัย บอกอีกว่า สองปีที่ผ่านมา เชื่อว่า คอป.ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าทำงานอยู่บนแนวกลางชัดเจน เพียงแต่ว่าฝ่ายไหนชอบใจก็บอกว่าเข้าข้างตัวเอง ฝ่ายไหนไม่ชอบใจก็หาว่าอยู่ตรงข้าม

ประเมินตัวเองให้คอป.สอบผ่าน
“สิ่งที่ คอป.ดำเนินการบนความขัดแย้งของสังคมแบบนี้เราทำมาได้ 2 ปี โดยผลสรุปตอนนี้ส่วนตัวรู้สึกว่า คอป.ทำงานสำเร็จได้ในระดับหนึ่ง คอป.สามารถที่จะอยู่ในฐานะให้ข้อมูลกับสังคมได้เป็นระยะๆ ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คอป.ทำให้สังคมได้รับรู้ข้อเท็จจริงบางอย่าง ไม่ได้มองว่าใครผิดใครถูก ต้องมองในแง่สิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรม การมี คอป.ขึ้นมา ทำให้สังคมฉุกคิดว่าเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน”

ศ.นพ.รณชัย พยายามอธิบายว่า การลงพื้นที่ในลักษณะรับฟังความเห็นประชาชน ที่ตอนนี้นิยมใช้คำว่า “ประชาเสวนา” ทาง คอป. อาจไม่ได้รับการยอมรับในช่วงแรก โดยยกตัวอย่างการลงพื้นที่ในเขตที่ถูกมองว่าเป็น ”เสื้อแดง” แต่ต่อมา ปัญหานี้ก็หมดไป

“ช่วงแรกเราไปตามจังหวัดต่างๆ เช่น ขอนแก่น เชียงใหม่ อุดรธานี อุบลราชธานี ลำพูน ลำปาง เพื่อไปรับฟังความขัดข้องใจของประชาชน ปัญหาที่ไม่สบายใจ ทำให้สังคมเกิดความเข้าใจในหลายด้านหลายมุมมอง

ช่วงแรกๆ ก็ดูเหมือนมีอารมณ์แต่พอพูดคุยกันต่อไปก็สามารถทำความเข้าใจกันได้ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าสามารถที่จะลดระดับความขัดแย้งต่าง สังเกตได้ว่าจังหวัดเหล่านี้ระดับความขัดแย้งก็จะน้อยลง

อาจารย์คณิต เดินทางไปพบกับผู้นำทางศาสนาเพราะไทยยังเคารพนับถือผู้ใหญ่ทางสังคม โดยเฉพาะผู้นำทางศาสนา ก็มีการให้ข้อคิดว่าสังคมต้องก้าวข้ามต่อไป ก้าวข้ามความขัดแย้งเพื่อให้สังคมไทยอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ไม่ใช่ต่างคนต่างยึดทิฐิ”

กรรมการ คอป.ผู้นี้ สะท้อนภาพการแก้ปัญหาของหน่วยงานรัฐว่าไม่ได้ทำจริงจังและต่อเนื่อง สุดท้ายปัญหาหลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่องที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ชุมนุมทางการเมืองก็ไม่ได้รับการแก้ไขเสียทีจนถึงตอนนี้

“การเยียวยา คอป.ไม่ได้ทำแค่บางส่วนแต่เราทำทุกส่วน เราได้ไปพบจุดที่เกิดกระทบหรือมีการปะทะกันแล้วมีผลกระทบต่อชาวบ้าน โดยเฉพาะในจุดคลองเตย ดินแดง เราส่งทีมที่ไปพูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกันทราบเลยว่าประชาชนยังมีความทุกข์ และมีปัญหามากมาย 

หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือในระยะแรก คือหน่วยงานกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร (กทม.) ในระยะประมาณ 8 เดือนก็ยุติบทบาทไป 

คอป.จึงจัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือเยียวยาขึ้น หลังจากตั้งศูนย์ขึ้นมาสามารถรวบรวมคนที่ได้รับผลกระทบและปัญหาประมาณ 900 คน รวมทั้งร้านค้าที่ถูกไฟไหม้ ที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ ก็มาขอความช่วยเหลือ คอป.เป็นตัวกลางรวมทั้งกระบวนการเยียวยายังส่งทีมเข้าไปพูดคุยกับทหารที่มาร่วมปฏิบัติการใน ช่วงเหตุการณ์ชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม เพื่อรับฟังเรื่องที่เกิดผลกระทบทางจิตใจ ทั้งนี้เราเจอปัญหาว่าผู้เสียหายมีทุกฝ่าย ไม่ใช่แค่ผู้ชุมนุมเท่านั้น”

กรรมการ คอป.ผู้นี้ มีข้อเสนอท้ายสุดไปถึงรัฐบาลว่า หลังจากนี้ก่อนจะแยกย้ายกันไป หากฝ่ายรัฐบาลที่จะต้องรับเสนอของ คอป.ไปพิจารณาจะจัดประชุมหรือพบปะกันของรัฐบาลกับ คอป.เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องการทำงานบ้างก็จะเป็นเรื่องดีไม่ใช่ น้อย

“เมื่อเราทำงานเสร็จสองปีแล้ว ก็จะเปิดเวทีให้ตัวแทนสังคมต่างๆ มาตั้งคำถามกับ คอป.ถึงการทำงานช่วงสองปีและข้อเสนอแนะต่างๆ ที่จะอยู่ในรายงาน  ในลักษณะ live talk แล้วเราก็จะตอบคำถามทั้งหมด แลกเปลี่ยนความเห็นกันเลย ใครเห็นอย่างไร

สิ่งที่ คอป.ทำก็แค่ให้สังคมรับรู้ เราไม่ใช่ผู้ปฏิบัติต้องให้รัฐบาลรับไปทำ แต่ผมก็อยากเห็นการจัดประชุมสักครั้ง เช่น ประชุม ครม.นัดพิเศษ หรือประชุมนัดพิเศษระหว่าง คอป.กับตัวแทนรัฐบาล มาพบปะพูดคุยกัน“

“เราจะบอกว่าเรื่องต่างๆ เรามีข้อเสนอแบบนี้ รัฐบาลคิดอย่างไร เช่น เรื่องกฎหมายปรองดองที่มีข้อขัดแย้งสูง ถ้าทำแล้วจะเกิดผลอย่างไร ก่อนหน้านี้เราก็เคยเสนอไปแล้วในเรื่องการเสนอกฎหมายปรองดองถ้ามีโอกาสคุย กันเราก็จะได้เสนอความเห็นต่อรัฐบาลได้

มันน่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าที่จะคิดว่า คอป.ก็ทำงานไป สองปีหมดวาระก็หมดไป ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร ถ้าเป็นแบบนั้นก็น่าเสียดาย”

จบการสนทนา ศ.นพ.รณชัย ทิ้งท้ายว่า ทำงานมาสองปียอมรับเหนื่อย ไปประชุม ไปเดินสายหลายจังหวัดเพื่อพบปะกลุ่มบุคคลต่างๆ แต่ก็ดีใจที่ได้ทำงานในนามคอป.

“เรียนตรงๆ หน่วยงานที่ทำงานอยู่ก็ยังไม่เข้าใจว่าผมไปทำอะไร เพราะผมก็ไม่สามารถชี้แจงอะไรได้ เรียนตรงๆ เหนื่อยใจ และเหนื่อยกาย ทำงานตรงนี้ นับเป็นชั่วโมงไม่น้อยเลยแต่สุดท้ายก็ภูมิใจ” 

-----------------------

ล้อมกรอบ

ชายชุดดำ ???
พูดกันมากถึงประเด็น “ชายชุดดำ” ตัวละครในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเมื่อเดือน เม.ย.- พ.ค.2553 แต่ “ชายชุดดำ” ก็ยังเป็นบุคคลลึกลับ เช่นเดียวกับ “ไอ้โม่ง” หรือ “มือที่สาม” ในเหตุการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 ที่ยังไม่รู้ว่า “เขา” หรือ “เธอ” เป็นใคร แม้แต่อนุกรรมการตรวจสอบและค้นหาข้อเท็จจริง  ของ คอป. จะพยายามสอบสวนจากพยานแวดล้อม และ หลักฐานอื่นอย่างละเอียด แต่ยังไม่พบตัวตน

ครูมานิจ สุขสมจิตร ประธานมูลนิธิหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และยังเป็นอดีตผู้สื่อข่าวอาวุโสที่คนในวงการน้ำหมึกให้ความเคารพนับถือ ในฐานะทำหน้าที่รองประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบและค้นหาข้อเท็จจริงฯ คอป. เล่าว่า คณะอนุกรรมการฯ สอบทุกฝ่ายทุกด้าน เรื่องชายชุดดำก็สอบ แต่ก็ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการสอบไม่ใช่เป็นการค้นหาในเรื่องตัวบุคคล

“เรื่องชายชุดดำเราเห็นในคลิปหลายคลิป รูปหลายรูป ถือปืนด้วย ผมได้ยินข่าวจากข้างนอกว่ามีคนพยายามทำให้เรื่องชายชุดดำเป็นเรื่องตลก จะสร้างภาพว่ามีชายชุดดำไปปรากฏในทุกๆ แห่งและถือปืนเด็กเล่น ใส่หน้ากากไปอยู่ในภาพต่างๆ แต่คลิปที่ผมเห็นมา ก็เป็นชายแต่งชุดดำ ซึ่งถ้าเขาเป็นทหารจะแต่งทำไม และถ้าเขาเป็นเสื้อแดงเขาจะแต่งทำไม เพราะถ้าเป็นเสื้อแดงเขาก็ต้องใส่ชุดแดง และ ปืนที่ถือก็เป็นปืนจริงๆ ไม่ใช่ไม้ ไม่ใช่ปืนเด็กเล่น ไม่ใช่ปืนการ์ตูน แต่ไม่มีภาพที่ชายชุดดำกำลังยิงอยู่ เราก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร เป็นฝ่ายไหน แต่มีคนนำรูปมาเทียบให้ดูว่า รูปนี้เป็นการ์ดนะ อย่างนี้นะ เป็นต้น เป็นเพียงบางรูปเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมด เท่าที่ดูมีหลายแห่ง เช่น สี่แยกคอกวัว ที่ยิงมาจากบนเฉลียงของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลแห่งที่ 2 แล้วข้างล่างที่ยิงขึ้นไป และยังมีตรงไหนอีก ผมก็จำไม่ได้”

ในฐานะที่เป็นรองประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบและค้นหาข้อเท็จจริงฯ บอกว่า ภาพที่ คอป.อยากให้เห็นคือ ได้พยายามสอบพยานทุกๆ ฝ่าย จนเมื่อเราได้สรุปและแถลงออกไป เป็นเรื่องน่าเชื่อถือได้ การทำงานจึงต้องใช้เวลามาก เพราะต้องสอบทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน ซึ่งถือเป็นภารกิจที่มาก เพื่อให้เกิดความแน่ชัด แต่ไม่ใช่หาคนผิด แต่ต้องการหาสาเหตุของการกระทำว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดที่ไหน และฝ่ายไหนทำ เราไม่เจาะจงว่าใครเป็นคนทำ เพราะเป็นเรื่องของพนักงานสอบสวน

“อย่างกรณีการเสียชีวิตของ พันเอกร่มเกล้า ธุวธรรม สรุปสุดท้ายพบว่าตายเพราะ ระเบิดเอ็ม-67 ซึ่งขว้างมาจากฝั่งตรงข้ามสองลูกด้วยกัน เวลาห่างกันเพียงไม่กี่วินาที เราก็ไปดูกระเดื่องสองลูกที่ตกอยู่ฝั่งตรงข้าม รร.สตรีวิทยา ว่ามันไปไหน คนที่อยู่ในบ้านก็บอกว่ารุ่งเช้าวันที่ 11 เม.ย. มีคนที่แต่งตัวดีๆ มาขอเอาไป คือเขาก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร เพราะคิดว่าเป็นเจ้าหน้าที่ และก็ไปถามเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ทางดีเอสไอ ไปถามตำรวจท้องที่ ทางท้องที่ก็ไม่รู้ กรณีของมูราโมโต ช่างภาพญี่ปุ่นที่เสียชีวิต เราก็ดูจากภาพของกล้องมูราโมโต ซึ่งตั้งเวลาก่อนเมืองไทย 2 ชม. นอกจากนั้น ยังมาดูมุมภาพว่าเขาล้มทันที หรือ ล้มเอียง สุดท้ายก็รู้ว่าเขาต้องล้มเอียงนิดๆ เพราะเขาต้องถือกล้องใหญ่มาก วิถีกระสุนมาจากไหน ซึ่งถาม ช่างภาพว่าวิถีกระสุนมาจากอนุสาวรีย์หรือเปล่า เขาบอกว่ามาจากด้านสะพานวันชาติ ซึ่งเป็นฝ่ายที่ทหารอยู่”

จากอดีตที่ “ครูมานิจ” เคยเป็นหนึ่งในกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ชุดที่มี นายโสภณ รัตนากร อดีตประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ที่แต่งตั้งโดยรัฐบาล อานันท์ ปันยารชุน เพื่อหาข้อเท็จจริงใน
เหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ มองว่าการทำงานในครั้งนั้นง่ายกว่า เพราะเหตุการณ์พฤษภาทมิฬไม่ได้มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย คู่ขัดแย้งคือทหารกับประชาชน ซึ่งต่างจากขณะนี้

“ผลสอบออกมาไม่รู้ว่าจะมีผลกระทบอย่างไร ฝ่ายไหนชอบ หรือไม่ชอบบ้าง แต่ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น จะกระทบใคร เราไม่รู้หรอก เพราะพูดความจริง เขาให้เรามาสอบความจริง ผมมีประสบการณ์กับ ดร.คณิต ณ นคร เมื่อตอนเป็นกรรมการในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เรามีบทเรียนว่าตอนนั้นส่งรัฐบาล และรัฐบาลจะเป็นคนเปิดเผย แต่ตอนนั้นรัฐบาลไม่ได้เปิดเผย   ตอนนี้เราส่งรัฐบาลด้วย และก็เปิดเผยด้วย พร้อมทั้งแปลเป็นภาษาอังกฤษ ให้ต่างชาติได้รู้ สิ่งที่อยากให้เกิดคือความปรองดอง เพราะคนได้รู้ข้อมูล”

เขามองว่า การเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณชน มีเป้าหมายเพื่อไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้ขึ้นอีก นำไปสู่การสร้างปรองดอง แต่ความปรองดองไม่ใช่ทำได้ในวันนี้ หรือวันพรุ่งนี้ แต่การปรองดองต้องใช้ระยะเวลา บางแห่งก็ 20 ปี บางแห่งก็ 30 ปี แต่ที่สำคัญคือทุกคนต้องสร้างบรรยากาศในการปรองดอง ไม่ใช่คนหนึ่งปรองดอง อีกคนไม่ปรองดอง ไม่จูนคลื่นเข้าหากัน จะทำให้ความปรองดองเกิดขึ้นได้ยาก

“ผมอยากเล่าว่า ผมเคยไปเจอท่าน ปรีดี พนมยงค์ ที่ปารีส ก็เลยถามท่านว่า ทำไมไม่อยากกลับเมืองไทยบ้าง ท่านก็บอกว่า จะกลับเมืองไทยเมื่อไหร่ก็ได้เพราะคดีไม่มีอะไรแล้ว แต่ท่านก็บอกว่า เป็นคนที่มีลูกศิษย์เยอะ เดียวคนนั้นคนนี้ก็มาหา กลัวว่ารัฐบาลไม่สบายใจ ท่านจึงตัดสินใจไม่มา ผมฟังแล้วเห็นว่าเพียงแต่แค่นี้ท่านก็ไม่มา และท่านก็ไม่ได้พูดกับผมคนเดียว แต่ก็พูดกับคนอื่น อันนี้เป็นตัวอย่างเรื่องความปรองดอง ซึ่งต้องมีคนอยากปรองดองทุกฝ่าย จึงจะเกิดขึ้น  ไม่ใช่ปรองดองแต่ปาก สร้างเงื่อนไข ทำโน่นทำนี่ เหมือนคนทะเลาะกัน ก็จับมือปรองดองกัน แต่อีกมือก็ชกกัน มันก็ปรองดองไม่ได้”

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคดีตอนนี้มีเรื่องที่ดีเอสไอส่งกลับไปให้พนักงานสอบสวนสอบทำใหม่ 19 คดี ซึ่งเป็นคดีตายเนื่องจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ซึ่งอ้างว่าได้ปฏิบัติการตาม หน้าที่ ตามขั้นตอน ตำรวจทำสำนวนแล้วก็จะส่งไปให้อัยการ แล้วอัยการก็จะส่งไปศาลเพื่อให้มีการไต่สวนฯ ศาลก็จะเป็นคนสั่งว่าตายเนื่องจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ซึ่งอ้างว่าได้ ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือไม่.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น