โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

คุยกับ 'ซูนาร์' นักวาดการ์ตูน ผู้จับปากกาท้าทายรบ.มาเลเซีย

Posted: 16 Jul 2012 01:25 PM PDT

 'ประชาไท' สัมภาษณ์ "ซูนาร์" นักวาดการ์ตูนชาวมาเลเซีย ผู้วิพากษ์การเมืองมาเลเซียอย่างจัดจ้านผ่านภาพเขียนล้อเลียน โดยเฉพาะเรื่องการคอร์รัปชั่นของรัฐบาลมาเลเซีย ภาพวาดของเขาถูกสั่งห้ามจากกระทรวงมหาดไทยในปี 2552 ไม่ให้ตีพิมพ์และจัดจำหน่าย เนื่องจากไปวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นทางการเมืองในมาเลเซีย ทำให้ต่อมา เขาและเว็บไซต์มาเลเซียกีนี ตัดสินใจฟ้องศาลสูงเพื่อท้าทายคำสั่งของกระทรวงมหาดไทยว่าเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันคดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี

ต่อมาในเดือนกันยายนปีเดียวกัน เขาถูกจับในข้อหาปลุกระดม ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนงานเปิดตัวหนังสือรวมภาพวาดการ์ตูนของเขาที่ชื่อ "Cartoon-O-Phobia" เพียงสี่ชั่วโมง โดยตำรวจได้ยึดหนังสือไปกว่า 60 เล่ม สาเหตุคาดว่า น่าจะมาจากเนื้อหาของการ์ตูนที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่อง "อ่อนไหว" ในทางการเมืองมาเลเซีย อาทิ ข่าวการฆาตกรรมนางสาวอัลตันตูย่า การคอร์รัปชั่นและทรัพย์สินของ 'รอสมาห์' ภรรยาของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน รวมถึงการทุจริตการจัดซื้อเรือดำน้ำสกอร์เปียน

'ซูลคิฟลี อันวาร์ อุลฮาร์ค' (Zulkiflee Anwar Ulhaque) หรือที่รู้จักกันในนามปากกา 'ซูนาร์' วัย 50 ปี ปัจจุบันเป็นนักวาดการ์ตูนให้กับเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ 'มาเลเซียกีนี' รวมถึงนสพ.หัวอื่นๆ และเจ้าของรางวัลนักเขียนผู้กล้าหาญจากองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ซูนาร์กล่าวว่า เขาจะยังคงเดินหน้าวาดการ์ตูนเพื่อวิพากษ์การเมืองของประเทศต่อไป และมีแผนเพื่อรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชั่นในช่วงการหาเสียงการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมาถึงในเร็วๆ นี้ด้วย  


'ซูนาร์' กับบางส่วนของการ์ตูนล้อเลียนการเมืองมาเลเซียที่เขาวาด

ในโอกาสที่เขามาเมืองไทย เพื่อเข้าร่วมการสัมมนาปฏิบัติการของพันธมิตรเพื่อเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ประชาไทได้พูดคุยกับ 'ซูนาร์' ถึงแรงบันดาลใจ มุมมองต่อการเมืองมาเลเซีย และกิจกรรมในอนาคตของเขา

0000

อะไรที่เป็นแรงบันดาลใจให้คุณกลายเป็นนักวาดการ์ตูนทางการเมือง

เพราะผมเองเป็นนักวาดการ์ตูนที่มีความสนใจทางการเมือง จึงตัดสินใจนำสองอย่างรวมเข้าด้วยกัน ผมมีความสามารถพิเศษด้านการวาดการ์ตูน และขณะเดียวกันก็สนใจเรื่องการเมือง และประเด็นทางสังคม แต่ไม่ได้สนใจเกี่ยวกับนักการเมืองโดยตรง ที่ผมสนใจก็เพราะ คุณจะเห็นได้ว่าบรรยากาศทางการเมืองในประเทศแถบเอเชียไม่ค่อยดีนัก มันมีกฎหมายที่ไม่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ก็ถูกปกครองโดยระบอบเผด็จการ มันถอยหลังเข้าคลองค่อนข้างเยอะ 

ผมก็เลยคิดว่า ในเมื่อผมมีความสามารถเรื่องการวาดการ์ตูนและสนใจเรื่องการเมือง ในขณะเดียวกันผมก็เป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิรูป ทำไมไม่ใช้ทักษะที่มีให้เกิดประโยชน์ ผมจึงต้องการใช้การ์ตูนเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อที่จะสื่อสารและให้การศึกษาแก่สาธารณะ และเพื่อจะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล นอกจากนี้ มีคนพูดกันว่าเรื่องการเมืองเป็นเรื่องที่ซับซ้อนเกินกว่าจะเข้าใจในเรื่องปัญหาคอร์รัปชั่น ผมจึงต้องการทำให้มันง่ายขึ้นเพื่อให้ส่งผลกระทบต่อสาธารณะ และการ์ตูนเองก็เป็นสิ่งที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจ และใช้เวลาซึมซับไม่กี่วินาทีเท่านั้น เมื่อเทียบกับหนังสือหรือสิ่งอื่นๆ 

เห็นว่าคุณวาดเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชั่นมากเป็นพิเศษ

ผมวาดเกี่ยวกับเรื่องต่อต้านคอร์รัปชั่นเยอะ เนื่องจากประเด็นคอร์รัปชั่นไม่ถูกรายงานโดยสื่อกระแสหลักของมาเลเซียเลยถ้ามันเกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี และแทบจะรัฐมนตรีทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาคอร์รัปชั่น แต่ว่าเรื่องดังกล่าวไม่ถูกตีแผ่โดยสื่อมาเลเซีย และเมื่อมันเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาล คุณก็ไม่สามารถตรวจรัฐบาลได้ มันก็ยากจะดำเนินคดีต่อบุคคลในคณะรัฐมนตรี

จะเห็นว่า ปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่นไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นกับปัจเจก แต่มันเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก และสาธารณะเองก็ไม่ได้รับรู้เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ด้วย เพราะเมื่อสื่อไม่ตีแผ่ สาธารณะก็ไม่รู้ และก็ไม่มีใครถูกดำเนินคดี ฉะนั้น นี่คือบทบาทของผมที่ทำงานเพื่อตีแผ่ปัญหาเหล่านี้ และการเขียนการ์ตูนก็ไม่ใช่เพื่อล้อเลียนและสร้างอารมณ์ขันเท่านั้น แต่เป็นการทำให้ประชาชนเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย 

ผมจึงต้องการนำเสนอปัญหาคอร์รัปชั่นโดยเฉพาะในหมู่ผู้บริหาร เพื่อที่จะให้เขาต้องยอมรับและลงจากตำแหน่ง เพราะส่วนใหญ่ มักจะเป็นเจ้าหน้าที่ระดับผู้น้อยที่ถูกดำเนินคดีจากการรับสินบนเล็กๆ น้อยๆ แต่มันไม่เคยเกิดขึ้นเลยกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง มันเป็นอย่างนี้เหมือนกันหมด ฉะนั้น สำหรับรัฐบาล เราจะยอมให้มันเกิดขึ้นแบบนี้ไม่ได้ เราต้องจับตาในทุกระดับตั้งแต่บนลงล่าง 

คุณคิดว่าการ์ตูนของคุณส่งผลสะเทือนแค่ไหนต่อสังคมมาเลเซีย 

ผมคิดว่า มันส่งผลระดับหนึ่งต่อสาธารณะทีเดียว และเหตุผลที่คนชอบการ์ตูนผมมากอาจจะเป็นเพราะว่าพวกเขาไม่สามารถหาการ์ตูนการเมืองแบบนี้ที่ไหนได้อีกแล้วในมาเลเซีย เพราะถ้าคุณไปอ่านหนังสือพิมพ์ของรัฐและอ่านการ์ตูน คุณก็จะเห็นพวกเขาวาดแต่สิ่งดีๆ เกี่ยวกับรัฐบาล หรือทำตามสิ่งที่นายกรัฐมนตรีบอกกล่าว ผมเองยังได้รับคอมเมนท์จากรัฐมนตรีด้วย พวกเขาบอกว่าจะส่งคนมาซื้อหนังสือของผมเพิ่ม และขนาดคนขับเครื่องบินก็ยังจำผมได้ นี่เป็นผลสะเทือนที่ส่งออกไป

อย่างที่ผมบอก ผมมองการ์ตูนของผมในสองระดับ หนึ่ง คุณชอบมัน และสอง คือคุณได้รับข้อความที่สื่อสารออกไป แม้เด็กๆ ก็ยังชอบการ์ตูนของผม เพราะอย่างนี้แหละ งานของผมมันมีผลสะเทือน รัฐบาลจึงต้องการห้ามผมตีพิมพ์งานต่างๆ  

ได้รับแรงบันดาลใจในการผลิตการ์ตูนที่มีอารมณ์ขันปริมาณเยอะแยะอย่างนี้จากไหนบ้าง 

ผมคงจะบอกว่า ก็จำเป็นต้องโฟกัสและอินกับประเด็นนั้นๆ มันสำคัญมาก ผมไม่สามารถจะเอาตัวเองออกจากประเด็นนั้นได้ เพราะมิเช่นนั้นคุณก็ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของมัน และคุณก็จะไม่สามารถวาดการ์ตูนออกมาแบบนี้ได้ ฉะนั้น ถ้าคุณเข้าไปอยู่ในประเด็นนั้น อยู่ในความเคลื่อนไหวนั้น คุณก็จะเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆ และสามารถถ่ายทอดมันออกมาได้ 

นอกจากนี้ เวลาวาดการ์ตูน ผมจำเป็นจะต้องวิเคราะห์ให้ถึงรากของปัญหาว่าทำไมมันถึงเกิดขึ้น เพียงการคอมเมนท์ต่อสถานการณ์มันเป็นสิ่งที่ง่ายเกินไป คุณจะต้องสามารถอธิบายได้ว่า อะไรเกิดขึ้น ทำไมมันถึงเกิดขึ้น อะไรเป็นสาเหตุ แล้วผมก็จะวาดมันออกมา เหมือนเป็นการนำมันมาอธิบายแก่คนอ่าน

คุณเล่าให้ฟังว่าคุณมีส่วนร่วมในขบวนการเบอร์เซะห์ (พันธมิตรเพื่อการเลือกตั้งเสรีและยุติธรรม) ด้วย ได้ไปทำอะไรมาบ้าง 

ผมได้นำกลุ่มนักวาดการ์ตูนการเมืองเข้าร่วมเคลื่อนไหวด้วย เนื่องจากผมไม่อยากเป็นนักวาดการ์ตูนคนเดียวผมจึงต้องการสร้างทีมขึ้นมา และก็พานักวาดการ์ตูนเด็กๆ เข้าร่วมชุมนุมและเปิดประสบการณ์เพื่อให้เขารู้สึกถึงสถานการณ์ และให้เขารู้สึกว่าอยากกลับไปถ่ายทอดออกมาเป็นการ์ตูน 

ตอนนี้กลุ่มของผมมีประมาณ 10 คน ประกอบด้วยนักวาดการ์ตูนเยาวชนที่ผมปั้นขึ้นมา เพราะพวกเขาก็ชอบวาดการ์ตูนกัน จริงๆ แล้วเขาก็เป็นแฟนๆ ของการ์ตูนผมนั่นแหละ แต่เขาไม่ได้อยู่กับสื่อกระแสหลัก แต่อยู่กับสื่อทางเลือก สื่อในอินเทอร์เน็ต พวกเขาใช้เฟซบุ๊กในการสื่อสารและเรียนรู้กระบวนการพวกนี้

แล้วสำหรับกิจกรรมในอนาคตของกลุ่มนักวาดการ์ตูนนี้ กับการเลือกตั้งที่จะมาถึง จะมีกิจกรรมอะไรบ้าง 

ตอนนี้ผมกำลังทำโปสเตอร์ร่วมกันกับกลุ่ม เพื่อที่จะสื่อสารว่าการคอร์รัปชั่นนั้นเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบกับตัวคุณ ไม่ใช่ว่าเรื่องคอร์รัปชั่นไม่ใช่เรื่องการเมือง ผมนำเสนอปัญหาคอร์รัปชั่นในแง่การเปรียบเทียบ เช่น ผมเอามาเทียบกับสมบัติส่วนตัวของภรรยานายกรัฐมนตรีมูลค่า 24 ล้านดอลลาร์ โดยคนในชนบทมักจะมองว่า ปัญหาการคอร์รัปชั่นไม่เกี่ยวอะไรกับชีวิตของเรา ว่าเป็นธรรมดาของนักการเมืองอยู่แล้ว แต่ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่า เงิน 24 ล้านดอลลาร์นั้นสามารถนำไปสร้างบ้านได้หลายหลัง นำไปซื้อนมขวดให้ประชากรที่ยังขาดแคลนอีกหลายแสนครอบครัว ทั้งหมดนี้ เรานำมาคำนวณและสื่อสารออกไปเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสาธารณะ

ซึ่งตอนนี้เรากำลังทำโปสเตอร์ที่จะนำมารวบรวมเป็นหนังสือ และจะเริ่มทำการรณรงค์ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ผมก็จะทำงานกับกลุ่มนักเขียนการ์ตูนกลุ่มเดิมเพื่อทำงานรณรงค์ผ่านการ์ตูน และได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการของนักวาดการ์ตูนที่ออฟฟิศผมด้วย  ซึ่งก็เปิดให้ผู้คนเข้ามาสอบถามหารือในเรื่องต่างๆ ได้

เราเองไม่ต้องการที่จะเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองใด เรารณรงค์ด้วยตัวเราเอง แต่แน่นอนว่าในบริบทของมาเลเซียคุณจำเป็นจะต้องสนับสนุนฝ่ายค้าน ซึ่งมันไม่เกี่ยวกับเรื่องของพรรคการเมือง แต่มันเกี่ยวกับรัฐบาลที่กดขี่ เราจึงจะเป็นต้องทำงานรณรงค์เพื่อต่อต้านสิ่งนั้น ที่ผ่านมาเราก็ออกไปตั้งโต๊ะ แจกจ่ายเอกสาร และวาดภาพล้อเลียน หรืออะไรก็ตามที่คนดูอยากจะอ่าน

ไม่กลัวหรือว่าจะถูกจับกุมหรือถูกยึดหนังสืออีกครั้ง

คุณจำเป็นจะต้องทำน่ะ ถ้าคุณไม่ทำ คุณจะไม่บรรลุอะไรเลย ถ้ารัฐคิดจะทำ เขาก็ทำ แต่คุณจะทำอะไรได้เล่า ถ้าคุณมัวแต่กลัวอยู่ก็คงจะไม่ได้ทำ ฉะนั้น เมื่อคุณตัดสินใจอะไร คุณกำหนดไม่ได้อยู่แล้วว่าตำรวจจะมาจับกุมคุณหรือเปล่า แต่ที่สำคัญคือเราต้องทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำ และทำให้ดีที่สุด และเตรียมรับมือกับสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้น และเตรียมตนเองให้พร้อมอยู่เสมอ 

0000

ภาพการ์ตูนในหนังสือ "Cartoon-o-phobia" เล่มล่าสุดของซูนาร์ ล้อบทบาทของรอสมาห์ มานซอร์ (Rosmah Mansor) ภรรยาที่มีอิทธิพลเหนือสามีคือนาจิป ตุน ราซัค นายกรัฐมนตรีปัจจุบันของมาเลเซีย (ที่มา: Malaysiakini)


 

ภาพการ์ตูนในหนังสือ "Cartoon-o-phobia" เล่มล่าสุดของซูนาร์ ตีพิมพ์ในมาเลเซียกินีเมื่อ 31 ส.ค.
ซึ่งเป็นวันประกาศเอกราชของมาเลเซีย ภาพนี้สะท้อนความไม่พอใจนโยบายของผู้ปกครองหลังได้รับเอกราชอย่างชัดเจน โดยในภาพซ้ายมือสะท้อนว่าสมัยอาณานิคมมีอังกฤษเป็นผู้ปกครอง ผู้ใต้ปกครองเป็นคนในมาเลเซียที่ประกอบด้วยหลายเชื้อชาติ ภาพขวามือซึ่งเปลี่ยนเป็นธงชาติมาเลเซียปัจจุบันแล้ว ผู้ใต้ปกครองยังเป็นคนกลุ่มเดิม เปลี่ยนแต่ผู้ปกครองกลุ่มใหม่ที่มีชาวมลายูเป็นชนชั้นนำ
 

 

ภาพการ์ตูนสื่อถึงเหตุการณ์การฆาตกรรมนางสาวอัลตันตูยาเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2549 ทั้งนี้ นางสาว
อัลตันตูยา ชาราอีบู เป็นนางแบบชาวมองโกเลียที่ใกล้ชิดกับอับดุล ราซัก บากินดา คนสนิทนายกรัฐมนตรีนาจิป ตุน ราซัค ภายหลังเธอถูกฆาตกรรมโดยการถูกยิงและใช้ระเบิดซีโฟร์ทำลายซากศพ ศาลได้ดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยสองรายซึ่งใกล้ชิดกับ     นายกฯ นาจิบ ราซัคในข้อหาฆาตกรรม ซึ่งถูกตัดสินประหารชีวิต ส่วนนายอับดุล ราซัก ซึ่งถูกดำเนินคดีด้วยการให้การช่วยเหลือฆาตกรรม ภายหลังถูกศาลยกฟ้อง
 

ภาพการ์ตูนสะท้อนถึงคำวิพากษ์วิจารณ์ต่อนายกฯ นาจิบ ราซักเรื่องการใช้อิทธิพลทางการเมืองบงการศาล
โดยฝ่ายค้านพรรคยุติธรรมแห่งชาติ (Parti Keadilan Rakyat - PKR) ได้โจมตีนายนาจิบหลายกรณี โดยอ้างว่านายนาจิบใช้กระบวนการทางศาล
ให้ตัดสินเป็นคุณแก่รัฐบาล แต่ใช้บ่อนเซาะอำนาจของกลุ่มฝ่ายค้าน 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กอ.รมน.งัดตัวเลขโต้ แจงคนพุทธไม่ย้ายหนี

Posted: 16 Jul 2012 09:13 AM PDT

กอ.รมน.ภาค 4 สน. ชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีกลุ่มก่อเหตุรุนแรงทิ้งใบปลิวขู่คนพุทธ

16 ก.ค.2555 พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เปิดเผยว่า เหตุการณ์กลุ่มผู้ไม่หวังดีได้ปล่อยใบปลิวขับไล่ราษฎรไทยพุทธในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่กลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบนิยมใช้ คือ การข่มขู่และสร้างความแตกแยกระหว่างประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธและเชื้อสายจีนกับประชาชนนับถือศาสนาอิสลาม เพื่อให้เกิดความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ทั้งยังข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว โดยอาศัยเงื่อนไขทางอัตลักษณ์ทางด้านศาสนาและเชื้อชาติ

พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวว่า เพื่อหยุดยั้งเงื่อนไขการสร้างความแตกแยกดังกล่าว กอ.รมน.ภาค 4 สน. จึงขอความร่วมมือและชี้แจงต่อพี่น้องประชาชนได้ทราบว่า จากการตรวจสอบข้อมูลราษฎรไทยพุทธในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำเดือน มิ.ย.2555 พบว่า มีราษฎรไทยพุทธใน จ.ยะลา 103,774 คน แต่ข้อมูลที่ปรากฏในแผ่นปลิว ระบุว่ามีจำนวน 19,000 คน ในจ.ปัตตานีมี 95,020 คน ในแผ่นปลิวระบุจำนวน 17,902 คน และใน จ.นราธิวาส 73,753 คน ในแผ่นปลิว ระบุจำนวน 13,905 คน จากข้อมูลเชิงประจักษ์ดังกล่าวจึงเห็นได้ว่าไม่มีการย้ายถิ่นฐานหรืออพยพออกจาก พื้นที่ของราษฎรไทยพุทธเป็นจำนวนมากดังที่ปรากฏเป็นข่าวแต่อย่างใด

พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการป้องกันประชาชนพี่น้องพุทธและอิสลามในพื้นที่ รวมทั้งสาธารณชนทั่วไป ไม่หลงเชื่อการโฆษราชวนเชื่อ การยั่วยุข่มขู่ ของขบวนการในการสร้างความแตกแยก ขอให้มีความสามัคคี ยึดมั่นในความเป็นพี่น้องกัน ความผูกพัน และความสงบสุขนับตั้งแต่อดีตและมีความหวงแหนในแผ่นดินถิ่นเกิด เป็นต้น กอ.รมน.ภาค 4 สน. ประสงค์ให้พี่น้องประชาชนที่พบเห็นผู้กระทำผิด บุคคล/กลุ่มบุคคลต้องสงสัย หรือมีพฤติกรรมในการสนับสนุนการสร้างสถานการณ์ในพื้นที่ โดยแจ้งที่สายด่วนความมั่นคง หมายเลข 1341 และ 1881 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

พ.อ.ปราโมทย์ ยังชี้แจงอีกว่า สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มขบวนการยังคงใช้เงื่อนไขทางอัตลักษณ์ในเรื่องของเชื้อชาติ ศาสนา เป็นแรงขับเคลื่อน เพื่อให้ประชาชนเกิดความแตกแยก และผลักดันให้เป็นเงื่อนไขสู่เวทีโลก แต่แท้จริงแล้วปัจจุบันประชาคมโลก เช่น องค์การสหประชาชาติ (UN), องค์การความร่วมมืออิสลม (OIC) ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของกลุ่มขบวนการทั้งยังไม่สนับสนุนให้เกิดการแบ่งแยกดินแดน และประกาศว่าสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยไม่ใช่เงื่อนไขทางศาสนา

ปัจจุบันในหลายประเทศที่เป็นสังคมมุสลิมเช่น อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, บรูไน แม้แต่โลกอาหรับเองเช่น ตุรกี, ซาอุดิอาระเบีย, อียิปต์ ล้วนต่างมีการพัฒนาถึงความสัมพันธ์กับประชาชาติอื่นๆ โดยมุ่งสู่ความเจริญและความสุขของประชาชนเป็นส่วนรวม ทุกชาติ ทุกภาษา และศาสนาอยู่ร่วมกันอย่างสันติ โดยเฉพาะประชาคมอาเซียน ที่มีวิถีชีวิตที่หลากหลาย ประชาชนในภูมิภาคนี้มีโอกาสที่ได้เรียนรู้ เสริมสร้างความรู้ ประสบการณ์ และโลกทัศน์ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสามารถปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็จะมีโอกาสที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเป็นสื่อกลางติดต่อสัมพันธ์กับประเทศมุสลิม

พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวว่า ดินแดน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้แก่ ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส และสงขลา ตั้งแต่ในอดีตนับเป็นเวลาหลายร้อยปีมีประชาชนที่อยู่ด้วยกันอย่างสงบสุขหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งผู้ที่นับถือศาสนาฮินดู, พุทธ และอิสลาม ติดต่อค้าขายและเป็นญาติมิตร พี่น้องกันอย่างสงบสุข ดังเช่นหลักฐานที่สำคัญคือพระพุทธรูปปางไสยาตร์ สร้างขึ้นสมัยศรีวิชัย พ.ศ.1300 ภายในวัดถ้ำคูหาภิมุข (วัดหน้าถ้ำ) ต.หน้าถ้ำ อ.เมือง จ.ยะลา ซึ่งปัจจุบัน หลายพื้นที่พี่น้องประชาชนทั้งสองศาสนาก็ยังอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขถึงปัจจุบัน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ดรีมทีมรุ่นใหม่เพื่อสันติภาพ ‘วาดะห์’ จะกลับมา?

Posted: 16 Jul 2012 09:09 AM PDT

กลุ่มวาดะห์รวมตัวอีกครั้ง หลังได้บทเรียนจากการแยกกันเดิน ‘เด่น-วันนอร์-อารีเพ็ญ-นัจมุดดีน’ จับมือตั้งทีมนักการเมืองรุ่นใหม่ สร้างความหวังดับไฟใต้

วาดะห์รวมกลุ่ม? – นักการเมืองอดีตแกนนำและสมาชิกกลุ่มวาดะห์ เช่น นายเด่น โต๊ะมีนา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ และนายนัจมุดดีน อูมา เมื่อครั้งร่วมสานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและทางออกระหว่างนักการเมืองจังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 6 เมื่อ 11 มิถุนายน 2555 ที่โรงแรม ซีเอส ปัตตานี

 

แม้การเมืองเรื่องศาลรัฐธรรมนูญผ่านไปแล้วอย่างโล่งอกของใครหลายคน การเมืองเรื่องชายแดนใต้ กลับยิ่งน่าสนใจขึ้นมา เมื่ออดีตแกนนำกลุ่มวาดะห์ จะรวมกลุ่มกันอีกครั้ง ท่ามกลางความหวังที่น้อยลงทุกทีของคนพื้นที่ที่จะให้นักการเมืองมาช่วยดับไฟใต้

อดีตแกนนำที่นำโดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายเด่น โต๊ะมีนา นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ และนายนัจมุดดีน อูมา ได้สรุปบทเรียนจากการแยกกันเดิน เลือกตั้งกันคนละพรรคได้นำมาสู่หายนะ ล่าสุดคือการแพ้เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ให้กับพรรคประชาธิปัตย์อย่างราบคาบ

โดยการเลือกตั้งครั้งนั้น ทั้งนายเด่น นายอารีเพ็ญ และนายนัจมุดดีน จับมือกันเข้าสังกัดพรรคมาตุภูมิของ “บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน ส่วนนายวันมูหะมัดนอร์ ยังคงยืนหยัดอยู่กับพรรคเพื่อไทย หรือพรรคไทยรักไทยเดิม แม้อยู่ในช่วงถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี จากคดียุบพรรคไทยรักไทย

การรวมกลุ่มครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะพี่ใหญ่ของกลุ่ม พ้นโทษตัดสิทธิทางการเมืองเมื่อเดือนพฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา และได้เข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยทันที

นายบูรฮานูดิน อุเซ็ง ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย อดีต ส.ส.ยะลา หนึ่งในสมาชิกกลุ่มวาดะห์ ระบุว่า ที่ผ่านมาอดีตแกนนำกลุ่มวาดะห์มีการประชุมเดือนละครั้ง ทั้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และที่กรุงเทพมหานคร โดยแกนนำหลักๆ คือ นายวันมูหะมัดนอร์ นายเด่น นายอารีเพ็ญ และนายนัจมุดดีน แต่ไม่ทราบว่าอดีตแกนนำคนอื่นๆ จะเข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ซึ่งนั่นเป็นสิทธิของแต่ละคน

“ที่ผ่านมากลุ่มวาดะห์ได้รับบทเรียนมา 3 เรื่องหลัก คือ การถูกดันจากรัฐ เช่น สมาชิกบางคนถูกฟ้องดำเนินคดีว่าเกี่ยวข้องกับความไม่สงบ การถูกตัดสิทธิทางการเมืองของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา และบทเรียนที่สำคัญคือการแยกกันเดินโดยแยกกันลงสมัครเลือกตั้งในพรรคการเมืองต่างกัน” นายบูรฮานูดิน ระบุ

นายบูรฮานูดิน บอกว่า ที่ผ่านมาคนในพื้นที่ยังจำผลงานของกลุ่มวาดะห์ได้ เสมือนหนึ่งการปลูกผลไม้ ที่เริ่มออกดอกผลแล้ว แต่กลับปรากฏว่ามีการโค่นต้นเสียก่อนที่มันจะออกดอกผลมาอย่างเต็มที่มากกว่านี้ ซึ่งการรวมตัวกันใหม่ก็คงอาจต้องใช้เวลา กว่าจะออกดอกผลอีกครั้ง

อดีตแกนนำกลุ่มวาดะห์อย่าง นายวันมูหะมัดนอร์ เคยเป็นถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองนายกรัฐมนตรี นายเด่น โต๊ะมีนา อดีต ส.ส.หลายสมัยของจังหวัดปัตตานี ในฐานะผู้ที่ริเริ่มชักชวนนักการเมืองมุสลิมไฟแรงในอดีตมารวมเป็นกลุ่มวาดะห์ หรือ “วะห์ดะห์” ที่แปลว่า “เอกภาพ” ก็เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ อดีต ส.ส.หลายสมัยของจังหวัดนราธิวาส ก็เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงยากที่จะหากลุ่มการเมืองใดในชายแดนใต้ ที่มีบทบาทได้มากขนาดนี้

เพราะฉะนั้น การรวมตัวของนักการเมืองกลุ่มวาดะห์ในครั้งนี้ จึงเป็นไปเพื่อเตรียมสร้างดรีมทีมรุ่นใหม่ขึ้นมาทดแทนแกนนำรุ่นเก่าที่โรยรา ซึ่งที่ผ่านมามีการประชุมเตรียมจัดตั้งคณะทำงานชุดใหม่มาแล้ว 4 ครั้ง

การประชุมครั้งแรกมีขึ้นที่บ้านของนายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ครั้งที่ 2 ที่บ้านของนายเด่น โต๊ะมีนา ครั้งที่ 3 ที่โรงเรียนดาริลกุรอานิลการีม หรือปอเนาะบลูกาสะนอ ตำบลตะปอเยาะ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ของนายอับดุลเร๊าะห์มาน อับดุลสมัด อดีตประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ปัจจุบันเป็นผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย

และครั้งล่าสุด 4 คือที่บ้านของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา หลังจากนั้นจะมีการจัดสัมมนาครั้งใหญ่ของสมาชิกกลุ่มวาดะห์รุ่นใหม่ในช่วงเดือนกันยายน 2555 หรือช่วงหลังจากเดือนรอมดอน ซึ่งเป็นเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม

นายบูรฮานูดิน ระบุว่า กลุ่มใหม่ที่จะตั้งขึ้นมาต้องการให้เป็นของคนในพื้นที่ ไม่ใช่เป็นของนักการเมืองกลุ่มวาดะห์เดิม ส่วนแกนนำกลุ่มวาดะห์เดิมจะไปเป็นที่ปรึกษาหรือเป็นผู้สนับสนุนคนรุ่นใหม่ขึ้นมา และคงไม่ได้หวังผลในตำแหน่งทางการเมืองแล้ว หรือถ้าลงเลือกตั้งก็คงอยู่ในระบบบัญชีรายชื่อ และจะดูแลในภาพรวมทั้งเรื่องการเมือง ความมั่นคงและการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนภาคใต้

คณะทำงานชุดใหม่มีตัวแทนจากคน 7 กลุ่ม ได้แก่ ตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ตัวแทน สมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตัวแทนสถาบันการศึกษาปอเนาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตัวแทนชมรมตาดีกาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตัวแทนนักวิชาการในพื้นที่ ตัวแทนอูลามาอ์ (นักปราชญ์ทางด้านศาสนาอิสลาม) ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยผู้ที่จะมาเป็นคณะทำงานหลักๆ เช่น นายนัจมุดดีน อูมา นายอับดุลเร๊าะห์มาน อับดุลสมัด เจ้าของโรงเรียนดาริลกุรอานิลการีม นายมูฮำหมัด อาดำ โต๊ะครูปอเนาะภูมี อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี นายนูรุดดี สารีมิง ตัวแทนนักวิชาการจากจังหวัดปัตตานี และนายแวอาแซ กอตอ ตัวแทนนักวิชาการจากจังหวัดยะลา เป็นต้น

คณะทำงานชุดใหม่จะเป็นผู้กำหนดแนวทางการทำงานของกลุ่ม โดยอาจจะตั้งชื่อใหม่หรือใช้ชื่อเดิม และจะมีการร่างระเบียบข้อบังคับ เพื่อเป็นธรรมนูญของกลุ่มต่อไป

สำหรับประเด็นที่กลุ่มวาดะห์รุ่นใหม่จะผลักดันต่อไป เช่น ให้มีการออกกฎหมาย 3 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับมุสลิม ได้แก่ พระราชบัญญัติการส่งเสริมกิจการฮัจย์ พระราชบัญญัติกองทุนซากาต และพระราชบัญญัติศาลชารีอะห์

นายบูรฮานูดิน พยายามหาคำตอบว่า ทำไมการผลักดันร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่ยากเย็นนัก แม้แต่ในสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลที่มีการร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวแล้ว สุดท้ายก็ยังไม่ออกมาเป็นกฎหมายอยู่ดี

ทว่า ประเด็นสำคัญที่สุดที่กลุ่มวาดะห์รุ่นใหม่ จะต้องเข้ามามีบทบาทหรือมีส่วนในการดำเนินการ คือ การสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้

นายบูรฮานูดิน ระบุว่า ข้อเสนอหนึ่งที่สำคัญของกลุ่ม คือ ขอให้รัฐบาลพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อศึกษาและพัฒนากระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้

อันเป็นข้อเสนอเดียวกับเวทีสานเสวนานักการเมืองชายแดนใต้ ที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เวียนกันจัดในพื้นที่ มาแล้ว 7 ครั้ง ตั้งแต่ปลายปี 2554 ในชื่อโครงการสานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและทางออกระหว่างนักการเมืองจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเวทีล่าสุด มีขึ้นเมื่อวันอังคาร ที่ 10 กรกฎาคม 2555 ที่โรงแรมอิมพีเรียล จังหวัดนราธิวาส ในหัวข้อ “เราจะนำเสนอกลไกการสร้างความสันติได้อย่างไร”

แม้เป็นเวทีที่มีนักการเมืองจากหลากหลายพรรคเข้าร่วม รวมทั้ง ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ แต่เกือบทุกครั้งมีอดีตแกนนำกลุ่มวาดะห์เข้าร่วมครบทีม ทั้ง นายเด่น นายวันมูหะมัดนอร์ นายอารีเพ็ญ และนายนัจมุดดีน

แม้วาดะห์รุ่นใหม่เพิ่งจะก่อร่างสร้างตัว แต่พวกเขาจะเป็นความหวังให้คนชายแดนใต้ได้สัมผัสกับสันติสุขในเร็ววันได้หรือไม่ คงยังไม่มีใครให้คำตอบได้ว่า จะต้องผ่านการเลือกตั้งอีกกี่ครั้ง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ส.ส.ปชป.แนะรัฐตั้งทีมร่วมโอไอซี คลี่ปัญหาไฟใต้

Posted: 16 Jul 2012 09:03 AM PDT

ส.ส.ประชาธิปัตย์แนะรัฐตั้งทีมงานร่วมกับโอไอซี หาทางพูดคุยเพื่อสันติภาพคลี่ปัญหาไฟใต้ ยันขั้นเจรจายังอยู่อีกไกล ภาคประชาชนจี้ตั้งโจทย์ให้ถูก พร้อมเร่งปฏิรูปหน่วยงานความมั่นคง

นายพีรยศ ราฮิมมูลา

 

นายพีรยศ ราฮิมมูลา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในเวที Thailand 2024 : 12 expectations of change 12 ปี Nation Channel “12 ความหวัง : ประเทศไทย 2567”“อนาคตที่ปลายด้ามขวานเขตปกครองพิเศษ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 16 กรกฎาคม 2555 ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลาว่า เห็นด้วยกับที่นาย Sayed Kassem El-Masry ผู้แทนพิเศษและที่ปรึกษาของเลขาธิการขององค์กรความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation หรือโอไอซี) ระบุว่าจะช่วยเป็นตัวประสานการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อครั้งเดินทางมาเยือน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2555

นายพีรยศ กล่าวว่า รัฐบาลควรตั้งคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนในการทำงานร่วมกับโอไอซีในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้มีการพูดคุยเพื่อสันติภาพ แต่ยังไม่ใช้การเจรจา

“การเจรจายังเป็นเรื่องที่ไกล ตอนนี้ปาตานียังไม่มีการตั้งรัฐบาลผลัดถิ่นในต่างประเทศ ดังนั้นจึงยังไม่มีการเจรจา แต่สิ่งที่ทำได้คือ Peace Talk เพราะเป็นโอกาสที่ดี แต่หนทางก็ยังอีกยาวไกล” นายพีรยศ กล่าว

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า บางข้อเสนอในเรื่องการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่สามารถพูดได้ในที่สาธารณะ แต่เรื่องการเจรจาไม่มี มีแต่เรื่องการพูดคุยเพื่อสันติภาพ เช่น จะคุยเรื่องการปกครองพิเศษ แต่ก็ต้องให้คนที่มีอุดมการณ์ของทั้งสองฝ่ายมาคุย

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า หากคนที่อยู่ในขบวนการต่อสู้ของปัตตานีคือมีอุดมการณ์ ทางทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐก็เป็นคนที่มีอุดมการณ์เช่นกัน จะทำอย่างไรให้คนที่มีอุดมการณ์ทั้งสองฝ่ายได้มาคุยกันเพื่อพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเป็นประโยชน์กับคนในพื้นที่มาก

นายอับดุลอาซิส ยานยา นายกสมาคมสถาบันการศึกษาปอเนาะ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มี 3 ประเด็นคือ การแก้ปัญหากองกำลังติดอาวุธ ต้องให้ทหารดูแล ขอให้รัฐมีการทบทวนความผิดพลาดที่ผ่านมา และ ขอให้มีความเสมอภาคในการปกครองประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยทำให้รู้สึกว่าเป็นเจ้าของประเทศด้วย

นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมแดนใต้ กล่าวว่า การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องตั้งโจทย์ให้ถูก การแก้ปัญหาจึงจะไม่หลงทาง ดังนั้น ขอให้รัฐไทยตื่นได้แล้ว อย่าติดกับความคิดเดิมๆ ขอให้มีการปฏิรูปหน่วยงานความมั่นคง โดยเริ่มจากสภาความมั่นคงแห่งชาติก่อน และขอให้ทำให้การแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีหรือการใช้การเมืองในการแก้ปัญหาสามารถเดินต่อไปได้ โดยมีการเปิดพื้นที่ร่วมในการพูดคุยเพื่อลดความรุนแรง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สืบพยานพรุ่งนี้ คดี 112 ขายซีดีสารคดี ABC - วิกิลีกส์แปลไทย

Posted: 16 Jul 2012 08:20 AM PDT

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันพรุ่งนี้ (17 ก.ค.55) จะมีการสืบพยานวันแรก ในคดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจกท์ฟ้องนายเอกชัย (สงวนนามสกุล) อายุ 36 ปี ในความผิดหมิ่นสถาบัน ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และขายซีดีโดยไม่มีใบอนุญาตจากนายทะเบียน สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ตามมาตรา 54 พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551

การสืบพยานดังกล่าวมีกำหนดตั้งแต่วันที่ 17 -20 ก.ค.55 โดยจะเป็นการสืบพยานโจทก์ 2 วันและสืบพยานจำเลย 2 วัน

เอกชัย เดิมมีอาชีพขายหวยบนดิน หลังรัฐประหารในปี 2549 เขาเริ่มสนใจการเมือง และเริ่มเข้าฟังการปราศรัยทางการเมืองเป็นระยะ เขาถูกจับกุมตัวในวันที่ 10 มี.ค.54 ที่บริเวณอนุสรณ์ทหารอาสา ตรงข้ามโรงละครแห่งชาติซึ่งมีการปราศรัยของกลุ่มแดงสยาม เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าชื่นชอบแนวคิดของนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ จึงไปฟังปราศรัยแต่ไม่ได้เข้าร่วมกลุ่มแดงสยามแต่อย่างใด

เขาถูกกล่าวหาว่าขายซีดีสารคดีเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทยของสำนักข่าว  ABC ประเทศออสเตรเลีย ราคา 20 บาท ซึ่งมีเนื้อหาบางตอนพาดพิงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชและพระวรชายา รวมทั้งขายเอกสารวิกิลีกส์ในฉบับแปลไทย ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการสนทนาถึงเบื้องหลังของการเกิดรัฐประหารในปี 2549 ของบุคคล 3 คน คืออานันท์ ปันยารชุน ,สิทธิ เศวตศิลา, เปรม ติณสูลานนท์

เอกชายรับสารภาพในชั้นสอบสวน และถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ราว 8 วัน ในวันที่ 18 มี.ค.54 บิดาของเขา อายุ 82 ปีได้นำเงินสด 500,000 บาทเป็นหลักทรัพย์ในการประกันตัว และศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว  

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ราวเดือนพฤษภาคม 2555 ฝ่ายจำเลยได้ร้องขอต่อศาลให้ออกหมายเรียก อานันท์ ปันยารชุน, สิทธิ เศวตศิลา, เปรม ติณสูลานนท์ มาเป็นพยานในคดีนี้ ซึ่งศาลได้นัดฟังคำสั่งว่าจะอนุญาตให้ออกหมายเรียกหรือไม่ในวันสืบพยานวันแรก (17 ก.ค.) นี้ด้วย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สัมภาษณ์ ‘สุณัย ผาสุข’ วิพากษ์ 2 ปี คอป. และ พ.ร.บ.ปรองดอง

Posted: 16 Jul 2012 05:31 AM PDT

 

 

ในโอกาสที่คณะกรรมการอิสระค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) กำลังจะสิ้นสุดวาระในเดือนกรกฎาคมนี้ และสังคมกำลังตั้งตารอ ‘รายงานฉบับเต็ม’ (ซึ่งน่าจะออกไล่เลี่ยกับรายงานฉบับเต็มของภาคประชาชน คือ ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค.53 หรือ ศปช. และหากโชคดีอาจได้อ่านรายงานฉบับเต็มของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เกือบได้ออกมาแล้วเงียบหายไปด้วย) ‘ประชาไท’ ถือโอกาสสอบถามถึงความคิดเห็นของ‘สุณัย ผาสุข’ ผู้ประสานงานฮิวแมนไรท์ วอทช์ ประจำประเทศไทย ต่อการทำงานที่ผ่านมาของ คอป. และเส้นทางการปรองดองในสังคมไทย ในฐานะที่ฮิวแมนไรท์ วอทช์ ก็เป็นอีกองค์กรหนึ่งซึ่งติดตามการเมืองไทยและมีรายงานออกมาเป็นระยะเช่นกัน

 

0000

 


 

ที่ผ่านมา บทบาทของ คอป. มีอะไรที่เป็นรูปธรรม และอะไรเป็นข้อบกพร่อง
การเกิดของ คอป. เป็นก้าวที่สำคัญอันหนึ่งในสังคมไทยคือ เป็นฉันทามติร่วมกันทุกฝ่ายตอนที่ คอป.ถูกต้องขึ้นมาว่า มันต้องมีกลไกอะไรสักอย่างที่ต้องมีอิสระในการทำงาน มีคำอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย ทั้งที่เป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้า ความรุนแรงเป็นยังไง  แล้วความรุนแรงนี้มีรากเหง้าจากอะไร สังคมไทยขณะนั้นต้องการ และเมื่อ ปชป.ตั้งกรรมการชุดนี้ขึ้นมาก็ได้รับการขานรับจากฝ่ายตรงข้ามด้วย  แม้แต่ นปช.เองด้วย

ปัญหาคือ พอ คอป.เกิดขึ้นมาแล้วมันก็มีความคาดหวังเยอะว่าต้องทำอะไรบ้าง แต่สิ่งที่ คอป.ทำ กลายเป็นว่า ไปทำงานในส่วนของการวิเคราะห์รากเหง้าของปัญหา แต่สถานการณ์เฉพาะ หรือ“อาการ” ของความรุนแรงที่เกิดขึ้นมันคืออะไร ใครเป็นคู่ขัดแย้ง ทำอะไรไปบ้าง เป็นจุดที่นับแต่ก่อตัวถึงวันที่จะหมดวาระ เราไม่เห็นเนื้องานเท่าไร เราเห็นแต่กระบวนการว่ามีการเรียกคนมาตอบ เรียกหลักฐานข้อมูลมา ซึ่งช่วงหนึ่งก็มีข้อจำกัดทางกฎหมายคือ พรก.ฉุกเฉินในขณะนั้น หลังจากหมด พรก.ฉุกเฉินก็ทำงานได้ดีขึ้น  แต่ไม่มีรายงานออกมาชัดๆ ว่าเอาข้อมูลมาได้เท่าไร ทำอะไรได้บ้าง 

ส่วนที่เป็นความคาดหวังที่สุดจากสังคมว่า จะเกิดชุดความจริงที่น่าจะได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางมากที่สุดเท่าที่พอจะทำได้ มันไม่เกิด พอไม่เกิดข้อเสนอแนะของ คอป.อื่นๆ ที่ออกมา ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะที่ดี เช่น การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในระยะยาว การปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง การเคารพเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งรวมไปถึงประเด็น มาตรา 112 ด้วย มันกลายเป็นตอบไม่ตรงโจทย์ 

เรื่องเหล่านั้นก็สำคัญ แต่โจทย์ที่เป็นโจทย์หลัก ซึ่งเป็นชื่อต้นของ คอป.ก็คือ truth and reconciliation ส่วนของ truth ไม่ออก แต่ไปพูดเรื่อง reconciliation เป็นหลัก โดยไม่ได้พูดถึงตัวรากคือ truth เสียก่อน

ขณะที่สังคมมันก็เดินของมันไปเรื่อยๆ ฝ่ายการเมืองก็มีธงของตัวเองเรื่อยๆ พูดกันถึงเรื่อง ปรองดองในมิติการเมือง พูดถึงร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ด้วย แต่พอออกมา เมื่อมันไม่มีชุด “ความจริง” ซึ่งอย่างน้อยยอมรับอย่างกว้างขวางที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ บรรยากาศของการเป็นฝักฝ่ายก็ยิ่งทวีความเข้มข้นมากขึ้น ขณะที่กิจกรรมทางการเมืองของฝ่ายการเมืองก็เดินหน้าต่อไป ไม่ว่า นปช. ปชป. พันธมิตร หลากสี มันจึงเป็นการตอกย้ำชุดความจริงของฝ่ายตัวเอง ซึ่งเป็นการมองแบบให้ตัวเองเป็นเหยื่อ คือ victimize ฝ่ายตัวเอง ตัวเองเป็นผู้ถูกกระทำจะต้องได้รับความเป็นธรรม ได้รับการเยียวยา ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามเป็นผู้กระทำ เป็นความชั่วร้ายที่ต้องถูกลงโทษหรือเอาคืนกันในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง บรรยากาศของการยอมรับว่าเป็นเรื่องความรับผิดชอบร่วม ทำผิดแล้วยอมรับผิดเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก สิ่งเหล่านี้จึงไม่เกิด

ฉะนั้น การพูดอะไรที่เป็นเรื่องปลายเหตุไกลๆ มันจึงมีผลเท่าไร กลายเป็นว่ายิ่งพูดอะไรที่เป็นปลายเหตุ ในชื่อว่า “ความปรองดอง”  ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง พ.ร.บ. เรื่องการเยียวยาเป็นตัวเงินก็ดี ยิ่งเป็นการตอกย้ำความเกลียดชังระหว่างกันมากขึ้น มันจึงเป็นปัญหาที่ส่วนหนึ่งมาจากการที่ คอป.ไม่สามารถทำหน้าที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริงได้อย่างเต็มที่  

เราก็ต้องดูต่อไปว่าทำไมเขาจึงทำไม่ได้ หลักๆ อันหนึ่งมาจากอาณัติของเขาเองซึ่งจำกัดอย่างมาก ทรัพยากรก็จำกัด องคาพยพต่างๆ ของคอป. ซึ่งมีหลายส่วน ส่วนในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ทรัพยากรจะน้อยกว่าเพื่อน มันมีข้อจำกัดก็ต้องยอมรับ แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องของวิธีการทำงานด้วย คอป.ก็ต้องชี้แจงด้วยว่าในเมื่อทรัพยากรจำกัด ทำไมไม่ทำงานแบบค่อยๆ ทยอยทำ อาจจะเลือกเคสที่เป็นเคสหลักก่อน ค่อยๆ ทยอยเปิดออกมา


วิธีคิดแบบนี้อยู่บนฐานที่ว่า “ความจริง” เป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่การปรองดองใช่ไหม

ใช่

ถ้าอยากได้“ความจริง” พื้นฐาน เราควรจะคาดหวังกับองค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นมาอย่าง คอป. ที่มักอ้างข้อจำกัดต่างๆ หรือเราควรคาดหวังจากกระบวนการยุติธรรมปกติ ซึ่งก็มีการดำเนินคดีอาญากันอยู่มากกว่าหรือเปล่า
จริงๆ ทุกอย่างมันมีความสำคัญกันหมด ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการยุติธรรมในเชิงอาญา คือกระบวนการของ ดีเอสไอ ของศาล และกระบวนการยุติธรรมขององค์กรอิสระ ซึ่งเขาตั้งธงไว้ชัดเจนว่าเป็นกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ นั่นคือ ทำข้อเท็จจริงให้ปรากฏ ทุกฝ่ายยอมรับสิ่งที่ตนกระทำไป ขอโทษขอโพย หลังจากนั้นค่อยมาวินิจฉัยร่วมกันว่าจะเอาผิด จะโยนลูกให้กระบวนการทางอาญารับลูกต่อ หรือจะนิรโทษกรรม

มันไม่ซ้ำซ้อนกันใช่ไหม
มันไม่ซ้ำซ้อนกัน สามารถโยนลูกกันไปกันมาได้ หลักฐานที่ คอป.ได้ก็สามารถใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาลได้ ทางคอป.ไม่ได้เป็นคนริเริ่มดำเนินคดี เขาไม่มีอำนาจไปสั่งฟ้องใครหรือลงโทษใคร แต่อัยการ หรือผู้เสียหาย สามารถนำข้อมูลจากงานของคอป. หรือองค์กรต่างๆ เช่น Human Right Watch ไปใช้ในชั้นศาลได้

โดยคอมมอนเซนส์มันก็ดูลักลั่น ขัดแย้งกันเอง ใครจะยอมบอกข้อมูล ข้อเท็จจริง ในเมื่อมันนำไปสู่การถูกดำเนินคดีทางอาญาได้
มันถึงต้องตอบกันให้ได้  ทุกอย่างมันล้อกันหมดเหมือนงูกินหาง  กระบวนการที่ตั้ง คอป.มาตั้งแต่ต้นมันจึงต้องมีเงื่อนไขที่จะเป็นแรงจูงใจว่า ส่วนหนึ่งของการให้ข้อมูลและการยอมรับความผิดที่เกิดขึ้น อาจจะเป็นพื้นฐานในการพิจารณาเรื่องการนิรโทษกรรมด้วย แต่ไม่ใช่เป็นหลักประกันร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องดูฐานความผิดด้วย ไม่ใช่ฆ่าคนแล้วจะได้นิรโทษกรรมโดยอัตโนมัติด้วยการมาเล่าความจริง มันคงต้องมีที่มาที่ไปให้สังคมเป็นผู้ตัดสินใจ แต่จะนำมาพิจารณาในส่วนนั้นด้วยว่า หากคุณให้ความร่วมมือ เหมือนเราให้ความร่วมมือในระหว่างการสืบสวนสอบสวนด้วยดี สำนึกผิดแล้วก็มาว่ากัน แต่เมื่อมันไม่มีแรงจูงใจ ไม่มาก็ได้ มาแล้วให้ข้อมูลไม่เต็มร้อยก็ได้


แปลว่าต้องมีการออกแบบเชิงโครงสร้างทั้งหมด จะนิรโทษกรรมแค่ไหนยังไงไปพร้อมๆ กันด้วย

ใช่ แต่ของเรามันมองแยกส่วนหมด ไม่ใช่เจตนาไม่ดี เจตนาดีตอนตั้งคอป.ขึ้นมา แต่มองแบบแยกส่วนโดยไม่โยงกับกระบวนการยุติธรรมในเชิงอาญาที่มีอยู่ว่าจะเอื้อกันได้ไหม แต่เรากลับไปมองว่า ไม่อยากมีปัญหา อย่าเอามาโยงกันเสียดีกว่า มันก็เลยกลายเป็นกระบวนการที่ไม่มีน้ำหนักอย่างแท้จริงในการขับเคลื่อน ถ้าเราเอามาโยงกันอย่างเป็นเป็นเหตุเป็นผลมันสามารถเกื้อกันได้ในการจูงใจให้คนมาให้ข้อมูลด้วยซ้ำ

ย้อนกลับมา แล้วกระบวนการยุติธรรมในทางอาญาล่ะเป็นที่พึ่งได้ไหม  ตอบว่าได้ แต่ปัญหาคือ เท่าที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ของไทย คดีอาญามักถูกฝ่ายการเมืองแทรกแซง ทั้งการแทรกแซงโดยตรง คือ เป็นธงเลยว่าดำเนินคดีกับฝ่ายนี้ ไม่ดำเนินคดีกับฝ่ายนี้ สมัย ปชป. กับ ศอฉ.ยังอยู่ ก็ชัดเจนว่าธงคือบี้เสื้อแดง โดยที่ไม่มีความคืบหน้ากับการสอบสวนเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ทหารว่าเขาทำอะไร ยังไง ไม่ตามเลย แล้วพอปรับรัฐบาลมา คดีทางฝั่งทหาร ซึ่งเป็นคดีที่มีตัวตนอยู่จริงก็มีความคืบหน้าซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่คดีที่เกี่ยวกับคนชุดดำ มีตัวตนไหม ทำอะไรไหมมันดร็อปไป มันก็มีความกระตือรือร้นในระดับที่ต่างกัน ในประเด็นที่ต่างกันในแต่ละยุคสมัย  มันก็ต้องยอมรับว่านี่เป็นสภาพความเป็นจริงของสังคมไทย ฉะนั้น ทั้งสองส่วนมันควรจะเอื้อกัน คือ ยุติธรรมอาญาด้านหนึ่ง กับยุติธรรมขององค์กรอิสระที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง มันต้องเอื้อกัน

ตอนนี้สิ่งที่เราตั้งความหวังได้คือ เราอาจเห็นความคืบหน้าในการไต่สวนการตายของกระบวนการในทางอาญา ซึ่งจะบอกได้ว่าเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิต อย่างน้อย 16 รายหรือ 18 ราย จะอธิบายได้ว่าเจ้าหน้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของคนเหล่านั้นอย่างไร เป็นการกระทำที่มีการสั่งการโดยใคร แต่นั่นก็แค่ส่วนเดียว ยังเหลืออีกเยอะที่ต้องให้คำตอบ

ฉะนั้น การสืบสวนข้อเท็จจริงจึงต้องดึงจากหลายทาง แต่ยังไงก็มองว่าไม่ลักลั่น มันต้องเอื้อกัน แต่ของเราดันไปตัดทอน แยกส่วนจากกัน มันเลยไปไหนไม่ได้เลย

โดยสรุป คอป.ยังควรจะมีต่อไป หรือไม่ต้องมีแล้ว
มองว่ายังต้องมี มันต้องกลายสภาพ ไม่ใช่มีลักษณะการทำงานที่แยกตัวเองออกมาจากองคาพยพอื่นๆ ในกระบวนการยุติธรรมในประเทศ ทัศนคติแบบนี้ทำให้งานเดินไปไม่ได้ เราต้องมี คอป.ที่มองว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ไม่ใช่ คอป.ที่คิดว่าความเป็นอิสระคือการแยกตัวออกไป  ความเป็นอิสระคือ คุณต้องทำตัวให้พิสูจน์ได้ว่าคุณทำอะไร มีความชัดเจนโดยตลอด รายงานความคืบหน้าโดยตลอด

ฉะนั้น สิ่งที่ควรจะเกิดหลังจาก คอป.ชุดนี้หมดวาระไปแล้ว  ในบริบทที่มองว่า ยังไงในประเทศไทยมันต้องมีกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งว่าด้วยการนิรโทษกรรมออกมาแน่ๆ  แล้วตอนนี้เรามีช่วงเวลาพักถอนหายใจ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองที่มีอยู่ 4 ร่างควรถอนออกมา แล้วเขียนเสียใหม่ ให้รวมถึงมิติที่ว่าด้วยความปรองดองด้วย ไม่ใช่ว่าด้วยเรื่องนิรโทษกรรมอย่างเดียว ตอนนี้เราไปเน้นเรื่องนิรโทษอย่างเดียว

มิติของการปรองดองควรใส่ไว้ในกฎหมายด้วยอย่างรอบด้านที่สุด ซึ่งมีตั้งแต่ กลไกในการสร้างความปรองดองเป็นยังไง ต้องมีคณะกรรมการไหม กรรมการนั้นควรมีองค์ประกอบอย่างไร ไปแปะอยู่ที่ไหน สังกัดอะไร เหมือนกฎหมาย ศอ.บต.ภาคใต้ ก็ได้ลองเทียบดู

มันต้องมีทั้งส่วนเนื้อหาและกลไกประกอบกัน เรื่องของกระบวนการ เวทีสร้างความสมานฉันท์แห่งชาติ ที่อาจารย์โคทม (อารียา) ใช้คำว่า Nation Dialogue Forum มันก็ต้องอยู่ในนี้ด้วยว่า องค์กรใดจะทำหน้าที่ในการจัดเวทีลักษณะนี้ หลังจากนั้นประเด็นเรื่องเกณฑ์ในการนิรโทษก็จะต้องตามมา ไม่ใช่บอกว่านิรโทษเหตุการณ์อะไร แค่นั้น อันนั้นต้องพูดแน่นอน แต่ต้องพูดถึงคนประเภทใดในเหตุการณ์นั้นด้วยที่จะได้รับการนิรโทษกรรม  และเงื่อนไขใดจะได้นิรโทษ เงื่อนไขใดจะไม่ได้นิรโทษ

ฉะนั้น เรามีเวลาหายใจหายคอ  แต่ไม่ใช่ว่า กฎหมายปรองดองมันเลว ต้องล้มมันไป ไม่ใช่ กฎหมายปรองดองเราสามารถทำมันให้เป็นเครื่องมือที่ทำให้สังคมเดินหน้าไปได้ด้วยการเอามาปรับปรุงใหม่

และแน่นอน การปฏิรูปทางการเมืองก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งของการปรองดองด้วย เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญก็เป็นตัวหนึ่ง เพราะรัฐธรรมนูญคือการจัดสรรอำนาจของรัฐ การบังคับใช้อำนาจต่างๆ ของรัฐ ซึ่งมันเห็นชัดเจนว่ามีความไม่เป็นธรรม ทำให้คนส่วนมากไม่พอใจ เป็นเงื่อนไขของการออกมาประท้วงและเป็นเงื่อนไขของการนำไปปราบปรามผู้ประท้วงด้วย หรือแม้แต่กรณีการแสดงความคิดเห็น ก็ต้องมีการปรับปรุง ต้องมีการมองในกรอบใหญ่ ทั้งหลายทั้งปวงล้วนเป็นเรื่องการปรองดอง

แค่แก้รัฐธรรมนูญอย่างเดียวก็ดูว่าไม่สามารถหาทางออกได้
แค่แก้รัฐธรรมนูญอย่างเดียวก็อ้วกแล้ว คือ รัฐธรรมนูญนั้นมองว่าเป็นตัวชิ่งมากกว่า เจตนาน่าจะต้องการล้ม พ.ร.บ.ปรองดองในขณะนั้น เพราะอายุของการประชุมสภามันถูกขยายไปอย่างไม่มีกำหนด บนเงื่อนไขว่า ยังพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญอยู่ ตราบใดที่ร่างรัฐธรรมนูญยังแก้ไขไม่เสร็จ สภาก็ยังมีอายุต่อไปเรื่อยๆ ฉะนั้น ถ้าเขาจะเบรก พ.ร.บ.ปรองดอง มันต้องเบรกสมัยประชุมสภา ถ้าเบรกสมัยประชุมสภาก็ต้องฆ่าตัวร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสีย แต่พอเอาเข้ามาปุ๊บมันเห็นผลมากกว่า เพราะเพื่อไทยเกิดความอ่อนไหว กลัวการถูกยุบพรรค ก็เลยถอยให้ เขาก็เลยได้คืบเอาศอก แทนที่จะเบรก พ.ร.บ.ปรองดอง ก็มาเล่นอะไรวุ่นวายไปหมด  แต่เกมจริงๆ ยังมองว่าต้องการเบรก พ.ร.บ.ปรองดองด้วยการเบรกสมัยประชุมสภามากกว่า  วันนั้นก็คือก่อความวุ่นวายในสภา มีม็อบล้อม  แต่การประชุมถ้าสมัยประชุมไม่จบ จะประชุมที่ไหนก็ได้ กระทรวงการต่างประเทศก็ได้ ฉะนั้น ต้องเบรกสมัยประชุมสภาไปเลย

ปัญหาก็การใช้แทกติกแบบนี้ คือ กลไกต่างๆ ที่เป็นกลไกภายใต้รัฐธรรมนูญจึงกลายเป็นกลไกที่เลือกข้าง และไม่ได้รับความไว้วางใจจากสังคม ไม่ว่ากลไกเหล่านี้จะถูกเอามาใช้ทำอะไรก็ตาม คนกลางในสังคมมันไม่มี กลไกกลางมันไม่มี


หลังจากอ่านร่าง พ.ร.บ.ปรองดองทั้ง 4 ร่างแล้วเห็นจุดร่วมของปัญหาอย่างไร  

ทั้ง 4 ร่างเน้นนิรโทษกรรมอย่างเดียว ต่างกันแค่เงื่อนเวลาของเหตุการณ์  แต่ไม่พูดถึงกลไกว่านับแต่นี้ต่อไปจะทำยังไง หรือการจะวินิจฉัยว่าใครจะได้รับการนิรโทษกรรมบ้าง ใครจะวินิจฉัย ซึ่งในความเห็นส่วนตัว เห็นว่า การที่จะบอกว่าใครควรได้รับการปรองดองอย่างน้อยต้องปรึกษาคนที่เป็นเหยื่อ ผู้ถูกกระทำ ก็คือ สังคมโดยรวม ในทัศนะของ Human Right Watch สังคมไทยเป็นผู้ถูกกระทำ กรณีมีคนต่างชาติมาด้วยก็ต้องถามเขา กระบวนการที่ถามเขาได้ก็คือทำประชามติ

ถ้าถามคนที่สูญเสีย คงแทบไม่มีใครที่จะสามารถยอมรับการปรองดองหรือนิรโทษกรรมได้
รับไม่ได้ที่จะให้คนที่ฆ่าลูกเขาลอยนวล ไม่ต้องถึงตาย แค่บาดเจ็บก็คงรับไม่ได้แล้ว เพราะอีกฝ่ายหนึ่งยังไม่ยอมรับ กรณีสไนเปอร์ก็ยังไม่มีการยอมรับว่ามีการใช้สไนเปอร์ยิงพลเรือน มันต้องผิดแล้วยอมรับ  ทำตามคำสั่ง มีความเข้าใจผิด หรืออะไรก็ตามแต่ ต้องมีการอธิบายออกมา  ตอนนี้เลยมีปัญหาอย่างที่ถามว่า แม้แต่คนเสื้อแดงด้วยกัน หรือที่เป็นฐานเสียงเพื่อไทยส่วนหนึ่งก็อาจไม่รับเรื่องการนิรโทษกรรมเลยก็ได้

แปลว่าน่าจะมี คอป.สอง มาช่วยเป็นคนกลาง
อาจจะมี คอป.สอง แต่ชื่ออาจต้องเปลี่ยน อย่างที่ว่า Truth คงไม่ใช่อาณัติเขาอีกต่อไปแล้ว ด้วยความที่ตั้งความหวังว่า คอป.ชุดปัจจุบันจะทำรายงานในส่วนตรวจสอบข้อเท็จจริงออกมาได้ดีและจะเป็นฐานของ คอป.สองเดินหน้าต่อไปได้  อาจเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ เหมือนสมัยคุณอานันท์ ที่ทำงานภาคใต้ นั่นทำงานได้ดีนะ ใช้เป็นตุ๊กตาได้ แต่ปัญหาคือเสนอมาแล้วฝ่ายการเมืองไม่รับเองต่างหาก เพราะมีปัญหาว่า คอส.ในยุคนั้น ค่อนข้างเหลืองแล้วก็มีธงต่อต้านรัฐบาล รัฐบาลก็คงไม่สบายใจ มันเป็นบทเรียน คงต้องยอมรับว่าสังคมมันแบ่งขั้วอย่างชัดเจน คงไม่สามารถมีกรรมการออกมาเป็นสีขาวได้ แต่ถ้าเขามีความโปร่งใส ชัดเจน มีการรายงานตลอด สังคมก็จะเป็นภูมิคุ้มกันให้เขาว่าเขาทำงานโดยบริสุทธิ์ใจ แม้ว่าตัวบุคคลที่มาประกอบเป็นกรรมการอาจมีธงในใจ มีแนวคิดอุดมการณ์อะไรอยู่ แต่เนื้องานจะเป็นตัวพิสูจน์ในท้ายที่สุด

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“ภาคประชาชนใต้” จัดเวทีเรียนรู้ “กระบวนการยุติธรรม” กับการต่อสู้เพื่อ “สิทธิชุมชน”

Posted: 16 Jul 2012 05:25 AM PDT

กป.อพช.ใต้ ร่วมศูนย์ข้อมูลชุมชน จัดสัมมนาอาสาสมัครพิทักษ์สิทธิมนุษยชนภาคใต้ เรียนรู้ “กระบวนการยุติธรรมกับการต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรภาคใต้” แลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัญหาละเมิดสิทธิ

 
 
เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 15 กรกฎาคม 2555 ที่โรงแรมไดอิชิ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) และศูนย์ข้อมูลชุมชน จัดเวทีสัมมนาอาสาสมัครพิทักษ์สิทธิมนุษยชนภาคใต้ เรียนรู้ “กระบวนการยุติธรรมกับการต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรภาคใต้” เพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัญหาการละเมิดสิทธิชุมชนและการใช้กระบวนการยุติธรรมในภาคใต้
 
การเสวนา ตัวแทนเครือข่ายองค์กรชาวบ้านและภาคประชาชน เข้าร่วมประมาณ 100 คน อาทิ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา เครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้าบ่อนอก – หินกรูด เครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ไทย-มาเลเซีย เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล เครือข่ายรักษ์ละแม เครือข่ายพิทักษ์ลุ่มน้ำตาปี-พุมดวง ฯลฯ ร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์การถูกละเมิดสิทธิชุมชนและการใช้กระบวนการยุติธรรมกับการต่อสู้
 
นอกจากนั้นตัวแทนจากครือข่ายต่างๆ ยังร่วมแลกเปลี่ยนปัญหาการต่อสู้กันมาอย่างยาวนาน เช่น กรณีการต่อสู้คัดค้านท่อส่งก๊าซ-โรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย มีคดีความที่ผู้ชุมนุมเป็นโจทก์ฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมยังสืบพยานอยู่ในชั้นศาลทั้งที่ฟ้องมายาวนานเป็นเวลา 10 ปีแล้ว กรณีชาวบ้านเทือกเขาบรรทัดโดนฟ้องในข้อหาทำให้โลกร้อน ชาวบ้านที่เกาะยาว จ.พังงา ต้องถูกฟ้องคดีข้อหาบุกรุก ทั้งที่เป็นผู้ปกป้องป่าสงวนแห่งชาติ และการถูกฟ้องศาลแพ่งเป็นเงิน 64 ล้านของเครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหาทั้งที่ปกป้องภูเขาที่เป็นสาธารณสมบัติ
 
 
จากนั้น ช่วงบ่ายเป็นการแลกเปลี่ยนอภิปรายปัญหาและทางออก “กระบวนการยุติธรรมกับการต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร” โดย นางจินตนา แก้วขาว ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด-บางสะพาน นายถาวร เกียรติทับทิว รองอธิบดีศาลปกครองสงขลา นายนิตสิต ระเบียบธรรม อธิบดีอัยการ ภาค 9 ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ม.มหิดลและอนุกรรมการด้านสิทธิในที่ดินและป่า และนายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ
 
ในการเสวนามีการเสนอมุมมองและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การต่อสู้พิทักษ์ทรัพยากรในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเห็นว่าปัญหาใหญ่เกิดจากนโยบายของรัฐบาลที่พัฒนาประเทศในรูปแบบที่เอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายทุน มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องไม่สนใจการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งผลต่อทัศนคติในการจัดการปัญหาในกระบวนการยุติธรรมในทุกระดับ โดยตัวแทนผู้พิพากษาได้ให้ความเห็นว่าประเทศไทยมีกฎหมายและกลไกทุกอย่างครบแล้ว ขาดแต่การทำให้กฎหมายนั้นถูกบังคับใช้ได้จริง ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมกันทำให้เกิดความเป็นธรรมและเป็นบรรทัดฐานของสังคม
 
ผู้เข้าร่วมสัมมนาให้ความเห็นว่า การพิจารณาคดีควรคำนึงถึงสาเหตุการกระทำของประชาชนผู้ตกเป็นจำเลยโดยเฉพาะการกระทำที่มีเจตนาเพื่อประโยชน์สาธารณะของประเทศชาติ เช่น การดูแลบ้านเกิด การปกป้องป่าสงวน ให้แตกต่างจากคดีอาญาทั่วไป ไม่ตัดตอนพิจารณาเพียงเฉพาะเหตุการณ์นั้นๆ หรืออาจแยกเฉพาะเป็นศาลคดีป่าไม้-ที่ดิน รวมทั้งไม่สืบพยานเพียงในห้องพิจารณาคดีแต่เข้าไปสืบในที่เกิดเหตุเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงของปัญหา
 
นางจินตนา แก้วขาว ตัวแทนบ้านกรูด ยกตัวอย่างความแตกต่างของคำพิพากษากรณี “ล้มโต๊ะจีน” ซึ่งถูกโรงไฟฟ้าเป็นโจทก์ฟ้องว่า จากคำพิพากษาแสดงให้เห็นว่าศาลชั้นต้นคำนึงถึงการปกป้องสิทธิชุมชนซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกากลับมีความเห็นเหมือนหน่วยงานรัฐทั่วไป นั่นคือเห็นว่าการดูแลปกป้องบ้านเกิดของจำเลยไม่ใช่ประเด็นสาระสำคัญ ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยทั้งๆ ที่จำเลยยกประเด็นนี้มาต่อสู้อย่างชัดเจนจึงพิพากษาจำคุกจำเลยโดยไม่รอลงอาญา
 
ทั้งนี้ ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2555 มีการจัดสัมมนาต่อ เรื่องการสร้างอาสาสมัครพิทักษ์สิทธิชุมชนภาคใต้ โดยจะให้ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ร่วมเป็นอาสาสมัครในการปกป้องพิทักษ์สิทธิชุมชน ทำงานร่วมกับกรรมการสิทธิมนุษย์ชนในพื้นที่ภาคใต้ต่อไป
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พันธะจากสุลาเวซี: สู่เบื้องหลังกระบวนการสันติภาพอาเจะห์ที่เฮลซิงกิ

Posted: 16 Jul 2012 05:05 AM PDT

นูราฮานูดิน อุเซ็ง แปลและเรียบเรียงบทความจากวิทยุสากลเนเธอร์แลนด์ โดยเป็นตอนที่สองของชุด "ถอดบทเรียนสันติภาพในอาเจะห์จากหนังสือพิมพ์" ซึ่งนำเสนอกระบวนการสันติภาพในอาเจะห์ โดยเฉพาะการเจรจาระหว่างผู้นำรัฐบาลอินโดนีเซียและผู้นำขบวนการอาเจะห์เสรี (Free Aceh Movement หรือ GAM) ที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์เมื่อปี 2548 โดยมีอดีตประธานาธิบดีชาวฟินแลนด์  มาร์ตติ อาห์ติสสารี เป็นผู้ไกล่เกลี่ย

ทั้งนี้ บทความในชุด "ถอดบทเรียนสันติภาพในอาเจ๊ะห์จากหนังสือพิมพ์" นำมาจากภาคผนวกหนังสือ Unseen the scenes behind the Aceh Peace Treaty ซึ่งมี Salim Shahab & E.E Siadari บรรณาธิการร่วม ที่รวบรวมบทความที่เคยตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ต่างๆ เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี 

0000

การเจรจาสันติภาพอาเจะห์ รอบที่ 3 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน 2547 ที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ หัวข้อหลักในการประชุมพิจารณาเป็น เรื่องเกี่ยวกับการปกครองพิเศษตนเอง หรือรูปแบบที่มีลักษณะพิเศษกว่า ตามข้อเสนอของขบวนการอาเจะห์เสรีที่ต้องการมีรัฐบาลตนเองที่มีอิสระ   หัวข้อตามระเบียบวาระการประชุมในวันศุกร์ที่ 15 เมษายน 2547 เรื่องการเมืองการปกครอง โดยเฉพาะเรื่องของการคงอยู่ของพรรคการเมืองท้องถิ่น  การพูดคุยมีความคืบหน้าเล็กน้อย และมีคำศัพท์บางคำที่สามารถตกลงกันได้  อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีปัญหา ยังมีปัญหาอุปสรรคที่จะต้องก้าวผ่านไป  และมีหัวข้อที่ซับซ้อนมากมายที่จะต้องแก้ไข สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เรียกร้องให้ยุติข้อขัดแย้ง ในขณะที่ขบวนการอาเจะห์เสรี ใช้วิธีการหน่วงเหนี่ยวการเจรจา ด้วยปัญหาการเรียกร้องเอกราช และยื่นเงื่อนไขให้มีข้อตกลงหยุดยิง ซึ่งทางสาธารณะรัฐอินโดนีเซียบอกปัดปฎิเสธ   และแน่นอนที่สุดจะเห็นว่าการเจรจาจะไม่มีทางประสบความสำเร็จและบรรลุข้อตกลงสันติภาพในระยะเวลาอันใกล้หรือภายในระยะเวลาไม่กี่เดือนนี้อย่างแน่นอน หรืออาจบรรลุข้อตกลงได้ จนกว่าการประชุมในรอบที่ 4 หรือรอบที่ 5 ประวัติศาสตร์การเจรจาสันติภาพที่เฮลซิงกิจะลงเอยอย่างไร และไม่ใช่เหตุจากสึนามิหรอกหรือ?

นักวิสาหกิจสองคน

มีเบื้องหลังกระบวนการเจรจาเฮลซิงกิ ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง คือ 

ประการที่หนึ่ง ประธานาธิบดี ศุสิโล บัมบัง ยุทธโยโน  หรือ ประธานาธิบดี SBY อดีตนายพลผู้มีทัศนะสายพิราบ  เป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในความริเริ่มการพูดคุยสันติภาพในอาเจะห์ เป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดี รวมทั้งเป็นผู้ที่มีคะแนนเลือกตั้งที่ชนะขาดในอาเจะห์  และในสายตาประเทศตะวันตก ท่านเป็นสัญลักษณ์ แห่งประชาธิปไตยใหม่ในประเทศอินโดนีเซีย 

ประการที่สอง ประชาชนชาวอาเจะห์มีความเหนื่อยหน่ายกับความขัดแย้งและเริ่มมีการเรียกร้องเพื่อแสวงหาสันติภาพทุกวิธีทาง  เหตุการณ์แผ่นดินไหว คลื่นยักษ์สึนามิซ้ำเติมความเศร้าสลดที่เขาประสบอยู่ ประกอบกับ ท่ประธานาธิบดี ศุสิโล บัมบัง ยุทธโยโน เป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นที่รื้อฟื้นการพูดคุยเพื่อสันติภาพขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ได้เห็นภาพความช่วยเหลือของชาวต่างชาตินำมาสู่อาเจ๊ะห์ หลังเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ  

ท่านประธานาธิบดี ศุสิโล บัมบัง ยุทธโยโน ยังคงแสวงหาความช่วยเหลือและการสนับสนุน โดยท่านได้เชื้อเชิญบรรดาเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆลงพื้นที่ มาเยือนอาเจะห์  และไม่เพียงแค่การช่วยเหลือจากประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ เท่านั้น ยังมีประเทศสิงค์โปร์ และลิเบีย และประเทศอื่นๆ เป็นต้น   ยุทธศาสตร์ของท่านประธานาธิบดีสอดคล้องกับความมุ่งมั่น ความทะเยอทะยานของท่านรองประธานาธิบดียูซุป กัลลา 

รองประธานาธิบดี ยูซุป กัลลา อดีตนักวิสาหกิจจากสุลาเวซีใต้ที่ประธานาธิบดี ศุสิโล บัมบัง ยุทธโยโน เลือกและเชิญมาร่วมบริหารและฟื้นฟูประเทศชาติ ในส่วนของการพูดคุยเพื่อสันติภาพในอาเจะห์  มีนักวิสาหกิจสองคนทำงานกันอย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยและสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง 

นักวิสาหกิจคนแรกคือ ยูซุฟ กัลลา  ผู้ที่เคยเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยที่ประสบความสำเร็จ ในการพูดคุยเพื่อสร้างสันติภาพในโปโซ และวันนี้ท่านมีเป้าหมายเพื่อนำความสำเร็จสู่อาเจะห์ นักวิสาหกิจคนที่สองคือ นายยูฮา คริสเท็นเซ็น นักวิสาหกิจชาวฟินแลนด์ ผู้มีภรรยาเป็นนักวิจัยด้านภาษา ทั้งคู่อาศัยอยู่ที่เมืองสุลาเวซีใต้ ในระยะเวลาสั้นๆเป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาอินโดนีเซีย และภาษามากัสสาร์ คริสเท็นเซ็นอายุ 46 ปี  มีความคุ้นเคยกับวัฒนธรรม ประเพณี  และวิถีชีวิตของสังคม และเข้าใจ รู้ซึ้งในวัฒนธรรมประเพณีที่ละเอียดอ่อนของอินโดนีเซีย  จึงเป็นผู้ที่เข้าใจในวิถีความแตกต่างจากเพื่อนต่างชาติ  ผู้ซึ่งบางครั้งมีความสงบ เยือกเย็นและสงวนท่าที

ฟาริสและ คริสเท็นเซ็น

เมื่อหลายปีก่อนหน้านั้น มีครอบครัวชาวสุลาเวซี หนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนกัน คริสเท็นเซ็น มาบอกกล่าวกับ ฟาริด ฮูเซ็น คนสนิทของท่านกัลลาว่า เขามีสายสัมพันธ์ รู้จักและสามารถติดต่อกับแกนนำขบวนการอาเจะห์เสรี ในสต๊อคโฮล์ม  ประเทศสวีเด็น ข้อมูลข่าวดังกล่าวนี้ สร้างความกระตือรื้อร้นต่อฟาริดมาก เขาจึงแจ้งต่อยังท่านรองประธานาธิบดี กัลลา และท่านจึงขอให้คริสเท็นเซ็นให้ความช่วยเหลือดำเนินการติดต่อกับ ขบวนการอาเจะห์เสรี ในนามรัฐบาลอินโดนีเซีย  และต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2547 ทั้งฟาริด และคริสเท็นเซ็น จึงเดินทางไปสวีเด็น แต่ขบวนการอาเจะห์เสรีปฎิเสธที่จะพบกับ ฟาริด  ฮูเซ็น

เดือนมกราคม 2548 หลังเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ   คริสเท็นเซ็น สามารถโน้มน้าวชักชวนให้ขบวนการอาเจะห์เสรี มาพบกับ ฯพณฯ มาร์ตติ อะห์ติซารี ประธาน CMI  (The Crisis Management Initiative Organization : องค์กรริเริ่มเพื่อการบริหารจัดการภาวะวิกฤติ  : ผู้แปล)  สำเร็จ

มีคนจำนวนมาก ถามว่า ทำไมนักธุรกิจผู้ที่ไม่เคยมีความสัมพันธ์ติดต่อใดๆกับอาเจะห์ เดินทาง ไปๆ มาๆ ระหว่างสต๊อคโฮล์ม เฮลซิงกิ และจาการ์ต้า ยอมอุทิศตนทุ่มเทเพื่อแสวงหาสันติภาพในอาเจะห์ และเขาเป็นคนต่างด้าวและอาเจะห์ก็มิใช่เป็นประเทศชาติของเขา

“สิ่งที่ผมมีความพยายามกระทำ ผมต้องการเห็นสันติภาพ และขณะนั้นประเทศอินโดนีเซียได้เป็นประชาธิปไตยแล้ว” ยูฮา  คริสเท็นเซ็น ตอบ เขาให้สัมภาษณ์ กาตริ เมอร์กัลป์ลิโอ (Katri Merikalio)  ผู้สื่อข่าว วารสารฟินแลนด์  ซูโอเม็น กูวาและห์ติ (Suomen Kuvalehti)  ที่นิยมเรียกว่า เอ็สกา (Eska) วารสาร ไทมส์ ภาคภาษาฟินแลนด์  และความคาดหวังของ ยูฮา  คริสเท็นเซ็นกลายเป็นความจริง เมื่อ ฟาริด ฮูเซ็น และฮามิด อะวาลุดดีน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกฎหมายและสิทธิมนุษยชนอินโดนีเซีย และคนของกัลลา จากสุลาเวซีใต้ นำคณะผู้แทนเจรจากับขบวนการอาเจะห์เสรี เมื่อคณะผู้แทนเจรจาของขบวนการอาเจะห์เสรี ตัดสินใจประชุมพบปะกับ มาร์ตติ อะห์ติซารี    เมื่อเดือน มกราคม 2548 ความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในอาเจะห์จึงเกิดขึ้น ประจวบกับการเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ เป็นเสมือนตัวเร่งให้เกิดกระบวนการสันติภาพให้เร็วขึ้น

ความปรารถนาดี

ประเทศฟินแลนด์ เป็นประเทศเฉกเช่นประเทศอื่นๆในสแกนดิเนเวียที่มีวัฒนธรรมประเพณี มีวิถีรักความสงบสันติเป็นเวลายาวนานนับศตวรรษ ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างฟินแลนด์และอินโดนีเซีย มีการแลกเปลี่ยนการค้า ระหว่างผลิตภัณฑ์จากสินค้าผลิตภัณฑ์จากไม้ และโนเกีย  ที่สำคัญคือ นับตั้งแต่ ประธานาธิบดี ซูฮาร์โต้ สิ้นอำนาจลง นักธุรกิจ นักลงทุนชาวฟินแลนด์จำนวนมาก ต่างยุติกิจการในประเทศอินโดนีเซียและเคลื่อนย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศจีน , องค์กร CMI ภายใต้ มาร์ตติ อะห์ติซารี  เลือกในความพยายามที่จะสร้างสันติภาพ เสมือนเป็นการมอบความปรารถนาดีจากประเทศฟินแลนด์ เฉกเช่น ประเทศสวีเด็นที่มีต่อประเทศบอสเนีย และประเทศนอร์เวย์ที่มีต่อประเทศศรีลังกา องค์กร CMI หวังที่จะเสริมสร้างภาพพจน์ของประเทศฟินแลนด์ผ่านบทบาทฑูตแห่งสันติภาพนำมามอบให้

บททดสอบของมาร์ตติ อะห์ติซารี

ประเทศฟินแลนด์ เคยเป็นแบบอย่าง ภาพพจน์ดีและเป็นแม่แบบที่ดีเพราะมีความเหมาะสมหลายประการ ประเทศฟินแลนด์ไม่มีกองกำลังที่จะสังหารประชาชน  ไม่มีการลักพาตัวผู้สื่อข่าว อย่างไรก็ตาม ฟินแลนด์มี เกาะโอแลนด์ ที่มีระบบการปกครองเกาะในรูปแบบการปกครองตนเองพิเศษ  ตั้งอยู่ตรงกันข้ามกรุงสต๊อคโฮล์ม ประชาชนพูดภาษาสวีดิช 

มีธงชาติของตนเอง ปฎิเสธการมีกองกำลังทหารนับตั้งแต่ ปี 2464 เป็นต้นมา ประชาชนอยู่อย่างสันติและฐานะที่เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของฟินแลนด์ และโอแลนด์มิได้เหมือน อาเจ๊ะห์ มีอดีตประธานาธิบดี  มาร์ตติ อะห์ติซารี  เป็นผู้ทีได้รับความนิยมและเป็นผู้ที่มีอิทธิพลในยุโรป จึงเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างความสำเร็จ                     

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผย "แรงงานนอกระบบ" เข้าสู่ระบบประกันสังคมเพียง 6%

Posted: 16 Jul 2012 04:51 AM PDT

สภาที่ปรึกษาฯ เผยแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคมเพียงร้อยละ 6 เท่านั้น ชี้สาเหตุมาจากได้รับประโยชน์ทดแทนไม่เท่าเทียมกับผู้ประกันตนภาคบังคับ

คณะทำงานแรงงานและสวัสดิการสังคม สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดสัมมนาการจัดระบบประกันสังคมถ้วนหน้าขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำข้อสรุป ความคิดเห็นเสนอไปยังรัฐบาล ซึ่งนายชวลิต อาคมธน ประธานคณะทำงานการแรงงานและสวัสดิการสังคม เปิดเผยว่า จากการสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2554 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีแรงงานนอกระบบจำนวน 24.6 ล้านคน เป็นแรงงานที่ทำงานอยู่ในภาคเกษตร ถึง 15.1 ล้านคน หรือร้อยละ 61.4 ของแรงงานนอกระบบทั้งหมด ซึ่งไม่มีสิทธิเข้าสู่ระบบประกันสังคม และหากพิจารณาเฉพาะแรงงานนอกระบบผู้มีสิทธิเข้าสู่ระบบประกันสังคมแบบสมัครใจ จำนวน 9.5 ล้านคน มีผู้ประกันตนโดยสมัครใจ ประมาณ 590,000 คน หรือร้อยละ 6.21 เท่านั้น เนื่องจากเห็นว่า ไม่ได้ประโยชน์ทดแทนเท่าเทียมกับผู้ประกันตนภาคบังคับ หรือผู้ประกันตนที่เคยอยู่ในภาคบังคับมาก่อน ซึ่งประโยชน์ทดแทนนี้ มี 7 กรณี คือ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน

นอกจากนี้ ยังพบว่ายังมีผู้ประกันตนภาคบังคับ เพียง 9 ล้านคน เท่านั้นที่อยู่ในระบบประกันสังคม ทั้งที่มีการจ้างงานในกิจการทุกขนาดถึง 13.5 ล้านคน ในกิจการ 3 ล้านแห่ง ทำให้แรงงานที่เหลือเหล่านี้ไม่ได้รับการคุ้มครองตามระบบประกันสังคม

ที่มา:
แรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคมเพียง 6%, สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 เชียงใหม่
http://region3.prd.go.th/ct/news/viewnews.php?ID=120716155327

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Instagram หลบไป เพราะใครๆ หันมาเล่น Gifboom

Posted: 16 Jul 2012 04:18 AM PDT

สองเดือนที่แล้ว เราเพิ่งได้อ่านข่าวใหญ่เมื่อโซเชียลเน็ตเวิร์กอันดับหนึ่งของโลกอย่าง Facebook (โดยพี่มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก) ทุ่มเงินซื้อโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ใหญ่ที่สุดบนโลกมือถืออย่าง Instagram ซึ่งถือว่าเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กที่มาแรงมากๆ (ในปี 2010 มีผู้ใช้เพียงแสนคน เพียงสองปี ตอนนี้มีผู้ใช้ราวๆ 50 กว่าล้านคนทั่วโลก) โดยเฉพาะในมืองไทย ที่ตอนนี้จะติดตามข่าวดารา คนไหน ทำอะไร ที่ไหน หรือแม้แต่รูปดาราที่ลงข่าวตามเว็บไซต์ หรือตามนิตยสารกอสซิปก็มาจากอินสตาแกรมทั้งนั้น (ตอนนี้ยอดผู้ใช้อินสตาแกรมของคนไทยอยู่ที่หลักแสน) เรียกได้ว่า นับจากเฟซบุ๊กแล้ว อินสตาแกรมนั้นมาแรงที่สุดในตอนนี้

แต่ดูเหมือนว่าเหล่าโซเชียลเน็ตเวิร์กเกอร์ทั้งหลายกำลังมีของเล่นใหม่ที่มาแรง และน่าจับตามากๆ นั่นก็คือ Gifboom ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่คล้ายๆ อินสตาแกรมนั่นแหละ แต่เป็นการถ่ายภาพด้วยไฟล์ .gif ในแบบ stop motion 20 เฟรม แล้วนำมาต่อกันกลายเป็นภาพกึ่งเคลื่อนไหวในแบบ stop motion เก๋ๆ ซึ่งตอนนี้เริ่มระบาดไปทั่วแล้ว ดาราผู้นำโซเชียลเน็ตเวิร์กทั้งหลาย อย่างเช่น บอย ปกรณ์ ก็เริ่มครีเอทให้คนติดตาม gifboom ของตัวเองแล้ว (ที่ขำมากกว่านั้นคือ ก่อนที่เขาจะมีภาพ gifboom ออกมา เพียงแค่สมัครแอ็กเคานต์ก็มีคนมาฟอลโลว์แล้วเป็นหลักหลายพัน!)

ทำไมคนถึงมาเล่น Gifboom ?

ง่ายๆ เลยคือมัน (เป็นของเล่น) ‘ใหม่’ โหลดเล่นได้ ‘ฟรี’ และที่สำคัญก็คือ เปิดโอกาสให้คนได้ครีเอทท่าทางต่างๆ มากกว่าการถ่ายภาพธรรมดาที่เป็นภาพนิ่งในแบบอินสตาแกรม ซึ่งความสนุกสนานของการถ่ายภาพแบบ gifboom นั้นก็คือ เราจะสร้างสรรค์ภาพแบบ stop motion อะไรลงไปถึงจะเก๋ ไม่ใช่เพียงการถ่ายภาพและใช้ฟิลเตอร์สวยๆ อีกต่อไปแล้ว เพราะตอนนี้มันคือการ ‘ครีเอท’ ความเก๋ด้วยภาพกึ่งเคลื่อนไหว ที่ใครจะเล่นต้องคิดกันหน่อยล่ะ ว่าจะทำอะไรภายใน 20 แอ๊กต่อกัน (อยากรู้ว่ามีอะไรบ้าง เชิญเข้าไปดูได้ที่ gifboom.com นะจ๊ะ)

ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มมีกลเม็ดเด็ดพรายกันมากมาย ตั้งแต่ถ่ายแบบวิดีโอเอาไว้ก่อน (หมายถึงไม่ได้ใช้แอ๊พ Gifboom ถ่าย) แล้วเลือกแค้ปทีละภาพ ที่ใช้ได้ (เพราะถ้าเป็น Gifboom ถ่ายเลย ถ้าไม่เป๊ะจริง จะออกมาไม่สวย) แล้วไปแต่งฟิลเตอร์แล้วค่อยไปลงให้ต่อกันแบบ stop motion อีกทีก็ได้ สารพัด สารพันวิธีในการใช้ และสารพัดสารพันวิธีในการนำเสนอ สิ่งที่จะทำให้ Gifboom นั้นฮิตอย่างยาวนานก็คือ การได้ ‘ครีเอท’ นี่แหละ เพราะมันไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีซ้ำแบบ แต่จุดนี้ก็ถือเป็นจุดด้อยเหมือนกัน เพราะถ้าใครคิดไม่ออก ขี้เกียจ ก็คงเลิกเล่น (ซึ่งก็คล้ายๆ กับอินสตาแกรมก็คือ ความง่ายแค่ถ่ายแล้วแชร์ ก็ทำให้คนเล่นเยอะ แต่ความง่ายจนไม่ต้องครีเอทอะไรนอกจากใช้ฟิลเตอร์ ก็ทำให้คนเบื่อ หันมาเล่นอย่างอื่นได้)

ไม่รู้ว่ามาร์ค ซัคเคอร์เบิร์กจะร้อนๆ หนาวๆ หรือเปล่า เพราะเพิ่งซื้อ Instagram มาไม่ทันไร ก็มีของเล่นใหม่มาเบียดเสียแล้ว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'คณิต' โวย 'เฉลิม' บิดผลสอบ 'ฆ่าตัดตอน'

Posted: 16 Jul 2012 03:20 AM PDT

“คณิต” ร้อง 'ยิ่งลักษณ์' เฉลิมอ้างผลสอบ "ทักษิณ" ไม่มีการฆ่าตัดตอน 2,500 ศพ คลาดเคลื่อน ระบุเป็นการปกป้องและยกย่อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยใช้ประโยชน์จากตน

16 ก.ค.  เว็บไซต์ไทยรัฐ รายงานว่า นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ได้ทำหนังสือด่วนถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ถึงกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ไปออกรายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน” ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2555 ร่วมกับ ผบ.ตร. และ เลขาธิการ ป.ป.ส.และกล่าวพาดพิงว่า “คือการแก้ปัญหายาเสพติดที่ทำได้ผลมากที่สุด สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แล้วก็มีคนตาย 2,500 คน ก็ถูกกล่าวหาว่า ฆ่าตัดตอน ในความเป็นจริงแล้วหลังมีการปฏิวัติ มีการตรวจสอบเรื่องนี้ถึงสองครั้งท่านอาจารย์ ดร.คณิต ณ นคร ก็เป็นประธานการตรวจสอบ ยืนยันว่า ไม่มีการฆ่าตัดตอน”  ว่า  เป็นคำให้สัมภาษณ์ที่คลาดเคลื่อนต่อความจริง เป็นการปกป้องและยกย่อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยใช้ประโยชน์จากตน การกระทำของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง จึงน่าจะผิดจรรยาบรรณทางการเมือง เพราะจะต้องตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ ศึกษาและวิเคราะห์การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษและการนำนโยบายไป ปฏิบัติจนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง และทรัพย์สินของประชาชน (คตน.) ให้รอบคอบเสียก่อน ที่จะหยิบฉวยไปใช้ประโยชน์ในทางการเมือง

การให้สัมภาษณ์ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง โดยปราศจากการตรวจสอบความจริงให้กระจ่างและถูกต้องในครั้งนี้นั้น ถือว่าเป็นการกระทำที่กระทบต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนต่อตน

“ในรายงานการศึกษาเบื้องต้นของ คตน. ได้ระบุไว้ชัดว่าในนโยบายเกี่ยวกับการปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้น จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเบื้องต้นของ คตน. กรณีน่าเชื่อว่า “ความผิดฐานอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” ได้เกิดขึ้นจากการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับยาเสพติดและการนำนโยบายไปปฏิบัติที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการนี้เป็นจำนวนมาก

ในทางวิชาการแล้วการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับล่างหรือระดับปฏิบัติ ที่น่าเชื่อว่าทำให้เกิดการตายของคนจำนวนมากนั้น ต้องถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐโดยแท้เท่านั้น การกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับล่างหรือในระดับปฏิบัติจึงไม่ใช่การกระทำอันถือว่าเป็นการกระทำของตนเอง หากเป็นการกระทำอย่างเป็นการกระทำของผู้อื่นเหตุนี้ในทางวิชาการจึงอาจ ถือว่าผู้อยู่เบื้องหลังต่างหากที่เป็นผู้กระทำการฆาตกรรมประชาชนพลเรือนของประเทศในฐานะผู้กระทำความผิดในความผิดฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ”   นายคณิต กล่าว

เว็บไซต์ไทยรัฐ รายงานคำกล่าวของนายคณิต อีกว่า คตน. เห็นว่าอาจมีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีความรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือความรับผิดตามกฎหมายอาญา ระหว่างประเทศว่าด้วยอาชญากรรมต่อมนุษยชาติเกิดขึ้นในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ แต่การหาตัวผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อไปอีก

รวมทั้งการศึกษาวิจัยเพื่อหามาตรการป้องกันมิให้การดำเนินนโยบายปราบปรามยา เสพติดที่ผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก และที่สำคัญยิ่งจะต้องดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อกำหนดมาตรการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ประชาชน ซึ่งการดำเนินการทั้งสองประการนี้อยู่ระหว่างดำเนินการของ คตน. และจะได้นำเสนอในรายงานฉบับสมบูรณ์ต่อไป.

ทั้งนี้ นายคณิต ยังกล่าวอีกว่า ส่วนตัวที่ตัดสินใจทำหนังสือ ยื่นถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในครั้งนี้นั้น เนื่องจากเห็นว่า ร.ต.อ.เฉลิม นำชื่อของตนไปสร้างเครดิตทางการเมือง ซึ่งขอยืนยันว่า ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด คำสัมภาษณ์ของรองนายกรัฐมนตรีมีความคลาดเคลื่อน  อย่างไรก็ตามตนคงจะไม่มีการฟ้องร้อง ไปหน่วยงานไหนเพื่อเติม ที่ยื่นหนังสือดังกล่าวเพียงต้องการยืนยันความจริงเท่านั้น

"ส่วนหากจะมีฝ่ายใดนำเรื่องของตนไปฟ้องหน่วยงานอิสระให้ตรวจสอบจริยธรรมขของร.ต.อ.เฉลิม หรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ และคงไม่เกี่ยวกับตน" นายคณิต กล่าว

 

ที่มา: เว็บไซต์ไทยรัฐ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงานพิเศษ: กรุงเทพเมืองฟ้า: ในวันที่รถไฟฟ้ากำลังกลืนกินมังกร

Posted: 16 Jul 2012 03:20 AM PDT

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง ติดตาม เฝ้าดู และบอกเล่า เมืองฟ้าอมรที่จะกำลังเคลื่อนไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทั้งภูมิทัศน์ วิถีชีวิต และวัฒนธรรม


 

1

“ผู้คนตกใจเมื่อผมเอาภาพถ่ายทุ่งนาที่เคยอยู่ที่นี่ในช่วงทศวรรษที่ 1970 ให้ดู ตอนนั้นเราอยู่กันตามท้องถนน ในตลาดและแผงลอยกลางแจ้ง ต่อมาทุกอย่างย้ายเข้าไปอยู่ในร่ม เข้าไปอยู่ตามศูนย์การค้า เบื้องหลังประตูที่ปิดและห้องแอร์ เราไม่แน่ใจครับว่าตอนนี้เรากำลังกลายเป็นอะไร แต่สิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกได้ก็คือ ตัวตนของเรากำลังหายไป”

เป็นคำกล่าวของ แพททริค ม็อก ผู้ประสานงานความทรงจำแห่งฮ่องกง (Hong Kong Memory Project) ที่ให้สัมภาษณ์ไว้กับ Nation Geographic ถึงสภาพที่กำลังเป็นไปในเมืองของเขา (ที่มา : ฉบับภาษาไทย : ไมเคิล พาเทอร์นีติ. ‘ฮ่องกงในกรงเล็บพญามังกร’ . ฉบับที่ 131 มิ.ย.2555)

สำหรับเมืองอย่าง ‘ฮ่องกง’ มีคำพูดของ มิลตัน ฟรีดแมน นักเศรษฐศาสตร์ ให้ภาพไว้ว่า หากคุณต้องการเห็นเมืองที่เป็นลัทธิทุนนิยมขนานแท้จะต้องไปดูที่นี่ ปัจจุบัน ฮ่องกงเป็นเมืองเมืองที่มี GDP อยู่ลำดับที่ 10 ของโลก แต่ก็มีช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยอยู่ในกลุ่มที่สูงสุดของโลกเช่นกัน ที่นี่ฉากหน้าอันสวยงามและยั่วยวนคือการเป็นศูนย์กลางของเงินตราและประตูสู่การลงทุนในประเทศจีนซึ่งกำลังร้อนแรงทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ปัญหาจากผู้ลี้ภัย การเคลื่อนย้ายผู้คนจากแผ่นดินใหญ่ หญิงขายบริการ กลุ่มอันธพาล แรงงานราคาถูกที่ค่าจ้างแทบไม่พอเลี้ยงปากท้อง รวมทั้งพวกที่ต้องอยู่กันอย่างแออัดในห้องแบ่งเช่าขนาดเท่าตู้เย็นก็คือฉากหลังที่ความใส่ใจคือสายตาอันชินชา

“เมืองนี้ก้าวไปเร็วเกินกว่าความทรงจำจะตามทันครับ” แพททริค ม็อก สรุปถึงบ้านเมืองของเขาที่เส้นขอบฟ้าสามารถเปลี่ยนแปลงรูปทรงของมันได้ทุกวัน..

ในโลกของโลกาภิวัตน์และทุนนิยม ไม่ว่ามันจะขนานแท้หรือปลอมๆก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงคือสิ่งที่แทรกซึมเข้าไปแน่ๆ แม้แต่ชนบทที่ดูเหมือนห่างไกลยังไม่วายที่คุณจะได้ต้องพบรอยยิ้มหวานของโคคาโคล่า หรือกระทั่งพื้นที่ทางจิตวิญญาณอย่างสถาบันศาสนาที่ชวนทำจิตใจให้สงบ เราก็สามารถใช้จ่ายเงินสักก้อนแลกบุญกรรมมาการันตีความมั่นคงได้ถึงหลังความตายกระทั่งวนกลับมาเกิดใหม่อีกรอบหนึ่ง

เราไม่รู้ว่า ฮ่องกง คือ ต้นแบบ ‘เมือง’ สำหรับผู้บริหารทั้งหลายที่อยากจะเป็นหรือไม่ แต่เรารู้ว่าหลายเมืองในประเทศกำลังพัฒนากำลังเดินไปในเส้นทางแห่งความยั่วยวนทางการเงินนั้น โดยเฉพาะ กรุงเทพมหานคร เมืองฟ้าอมรของเราที่จะกำลังเคลื่อนไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างแน่นอนในอีกไม่นานนี้


 

2

ความเปลี่ยนแปลงคงไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับเมืองใดเมืองหนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญคงเป็นเรื่องความโปร่งใสหรือการตรวจสอบกระบวนการเปลี่ยนแปลงของมัน นี่ไม่ใช่ครั้งแรกสำหรับกรุงเทพมหานคร เมืองที่เคยเผชิญแรงกระตุ้นในการเปลี่ยนแปลงมาหลายระลอก เฉพาะที่ชัดเจนที่สุดซึ่งเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายภาพและโลกทัศน์คือช่วงเวลาของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่โลกตะวันออกต้องเผชิญแรงเสียดทานหลายรูปแบบจากโลกตะวันตก ทำให้เมืองทางฝั่งพระนครต้องขยายตัวออกไปตามถนนอย่างต่อเนื่องแทนการขยายตัวไปตามลำคลองทางฝั่งธนบุรี ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นรากฐานของกรุงเทพสมัยใหม่ ยิ่งเมื่ออุตสาหกรรมเริ่มรุกเข้ามา พื้นที่สังคมเกษตรกรรมยิ่งเปลี่ยนไป สังคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ยังเป็นสาเหตุสำคัญในการล่มสลายของความเป็นย่านชุมชนหลายแห่ง

ราวหลัง พ.ศ. 2500 คือ ช่วงเวลาที่รัฐวัดการพัฒนาประเทศโดยเน้นตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจตามแผนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นสำคัญ ช่วงเวลานี้การเติบโตของกรุงเทพเป็นไปอย่างรวดเร็วและยิ่งทำให้เกิดช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบท คนต่างจังหวัดจำนวนมากโยกย้ายเข้ามาเป็นแรงงานในเขตเมืองจนทำให้เกิดความแออัดแต่ไร้การจัดการ พื้นที่ในหลายแห่งจึงเสื่อมโทรมจนทำให้ราชการนิยามคำว่า ‘สลัม’ ขึ้นมาเป็นกรอบในการมองและลงมือเมื่อรัฐต้องการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ในระดับนโยบาย ชุมชนของคนจนเมืองหรือสลัมจะเป็นสถานที่แรกๆที่จะถูกจัดการไล่รื้อออกไป

อย่างไรก็ตาม หากต้องการมองกรุงเทพผ่านพัฒนาการของเมืองที่ไกลไปกว่านั้น เราอาจต้องมองเมืองที่ถูกขนานนามว่าเป็น ‘เวนิชแห่งตะวันออก’ แห่งนี้ในบริบทที่กว้างกว่าฝั่งแม่น้ำเดียวที่เรียกว่าเป็นกรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน นั่นคือ ต้องมองเมืองแห่งนี้ผ่านความเป็น ‘บางกอก’ ที่เคยเป็นด่านหรือท่าการค้ามาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งในแผนที่โลกฝรั่งยังประทับและเรียก Bangkok ถึงปัจจุบัน

 

(ซ้าย ): แผนที่แม้น้ำเจ้าพระยาของ de la Mare วิศวะกรฝรั่งเศสในสมัยพระนารายณ์แสดงพื้นที่ตั้งบางกอก บนพื้นที่คล้ายเกาะฝั่งธนบุรี (ขวา ) : แผนที่จาก Describtion du royaume de Siam ของ de la Lubere ทูตฝรั่งเศสที่เข้ามาสมัยพระนารายณ์ ในแผนที่ la Ville คือตัวเมืองบางกอกซึ่งจะกลายเป็นพระนครในสมัยธนบุรี ส่วนฝั่งตรงข้าม คือ le fort ที่จะกลายเป็นกรุงเทพปัจจุบัน

เมืองบางกอก คือ เมืองที่ฝั่ง ‘ธนบุรี’ เคยมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นที่ดอนกว่าและเหมาะแก่การตั้งบ้านเรือนในสภาพแวดล้อมของพื้นที่ปากแม่น้ำที่ต้องมีน้ำหลากท่วมเป็นปกติตามฤดูกาล ตะกอนที่น้ำพามาทำให้ดินมีความสมบูรณ์เมื่อเติมด้วยความกร่อยเค็มผ่านการขึ้นลงของน้ำและไอทะเลที่ทำให้เกิดสภาพ ลัดจืดลัดเค็ม ผลไม้ที่ขึ้นแถบนี้จึงมีรสอร่อยพิเศษกว่าพื้นที่อื่น บริเวณนี้จึงเหมาะแก่การทำสวนมากกว่าทำนา

ในสมัยสมเด็จพระไชยราชา หรือช่วงต้นสมัยกรุงศรีอยุธยา มีการขุดคลองลัดบางกอก แม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมกลายเป็นคลองสองสาย ปัจจุบัน คือ คลองบางกอกใหญ่และคลองบางกอกน้อย ต่อมามีการขุดคลองคูเมืองทางฝั่งตะวันออกซึ่งก็คือคลองคูเมืองเดิมหรือที่ปัจจุบันใครๆ มักเรียกว่า ‘คลองหลอด’ ส่วนคลองคูเมืองทางฝั่งตะวันตก เริ่มจากคลองบางกอกใหญ่อ้อมไปทางด้านหลังวัดโมลีโลกยารามหรือวัดท้ายตลาดไปออกยังคลองบางกอกน้อยหลังวัดอมรินทรารามหรือวัดบางหว้าน้อย ด้วยเหตุนี้เมืองธนบุรีจึงมีลักษณะคล้ายเกาะ น่าจะเป็นที่มาของคำว่า ‘บางเกาะ’ หรือ ‘บางกอก’ (บางแนวคิดบอกว่า มาจากชื่อของต้นมะกอกน้ำที่น่าจะเคยมีมากแถบนี้) และเป็น เมือง ‘อกแตก’ คือมีแม่น้ำผ่ากลางเมือง มีชุมชนดั้งเดิมอยู่แถบนี้มาตั้งแต่ก่อนการขุดคลองลัดกระจายอยู่ตามริมแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิม นักวิชาการด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยาอย่าง รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม เคยให้ข้อสังเกตว่า ความเป็นชุมชนในบริเวณนี้มองได้จากวัดเก่าแก่ เช่น วัดบางหว้าใหญ่หรือวัดระฆังโฆสิตารามที่เป็นวัดประดิษฐานพระบรมธาตุมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น สมัยหลังมายังสถาปนาวัดอรุณราชวรารามถือเป็นศูนย์กลางสำคัญของธนบุรี ส่วนฝั่งตะวันออกก็มีวัดเก่าแก่เช่นกัน เช่น วัดโพธิ์และวัดสลักหรือวัดมหาธาตุฯในปัจจุบัน เมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์แล้วศูนย์กลางการบริหารจึงย้ายไปฝั่งตะวันออก แต่คนและกิจกรรมโดยมากยังอยู่ที่ฝั่งตะวันตก

‘บางกอก’ ยังเป็นภาพของเมืองที่สะท้อนลักษณะความเป็นด่านหรือท่าสำคัญทางการค้ามาแต่โบราณที่มีชุมชนหรือย่านเกิดขึ้นตามมา เช่น ย่านกะดีจีน ที่มีผู้คนหลายกลุ่มมาตั้งถิ่นฐาน ไม่ว่าจะเป็นชาวจีนที่ตั้งศาลเจ้าอันเป็นที่มาของชื่อย่านกะดีจีนหรือกุฎีจีน วัดกัลยาณมิตรศูนย์กลางของชาวพุทธที่ผสมผสานความเป็นจีนอย่างเด่นชัด ต่อมายังมีชาวโปรตุเกสอพยพมาจากอยุธยาเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้จึงถูกเรียกกันว่า ‘ฝรั่งกุฎีจีน’ หรือลึกเข้าไปในคลองบางหลวงก็มีชุมชนมอญ ใกล้กันมีบ้านลาวที่บางไส้ไก่ ส่วนกลุ่มมุสลิมก็อยู่ทางกะดีขาวหรือมัสยิดบางหลวง ย่านคลองสานใกล้กันก็มีความหลากหลายเช่นนี้ ซึ่งลูกหลานผู้คนเหล่านี้บางส่วนยังคงสืบเชื้อสายและตั้งถิ่นฐานมาจนถึงปัจจุบัน

จากบางกอกกระทั่งเป็นกรุงเทพ เป็นสังคมที่มีการใช้ที่ดินเป็นแบบจารีต คือ มีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน แต่พัฒนาการที่ชัดเจนหลัง พ.ศ. 2500 สยามหรือไทยได้เข้าสู่สังคมแบบอุตสาหกรรมยิ่งขึ้น และเมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง เศรษฐกิจแบบทุนนิยมก็หลั่งไหลเข้ามาเต็มรูปแบบ พื้นที่สาธารณะที่เคยใช้กันตามจารีตจึงค่อยๆเปลี่ยนรูปแบบไปสู่ระบบ ‘กรรมสิทธิ์’ ที่ดินกลายเป็นเรื่องของ ‘ทุน’ ทางเศรษฐศาสตร์ มี ‘มูลค่า’ และสามารถซื้อขายได้อย่างถูกกฎหมาย ความเปลี่ยนแปลงนี้ตกค้างเป็นปัญหาระหว่างกรรมสิทธิ์กับสาธารณะ สิ่งที่ตามมาภายใต้โลกทัศน์ใหม่ก็คือ คน ตระกูล หรือผู้มีอำนาจในกรรมสิทธิ์หรือที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลกรรมสิทธิ์คือผู้มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดิน จึงสามารถขายที่ดินและได้ผลประโยชน์เฉพาะตนหรือตระกูลเมื่อมีการต้องการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ดังนั้น การซื้อขายเปลี่ยนมือจึงมักตามมาด้วยความขัดแย้งกับผู้ที่อยู่และใช้พื้นที่นั้นมาแต่เดิม

 

3

ประวัติศาสตร์ในแบบเรียน คือ ประวัติศาสตร์อันชวนภาคภูมิใจถึงกรุงเทพหรือกรุงรัตนโกสินทร์
เด็กๆอาจสามารถท่องชื่อ วัด วัง สถานที่บางแห่งหรือบุคคลสำคัญได้อย่างคล่องปากไปจนถึงเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย แต่ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังมาทำให้เราเริ่มมองเห็นเส้นขอบฟ้าที่นี่เปลี่ยนแปลงไปทุกวันเช่นกัน ภาพสะท้อนที่แสนชัดเจนของทุนนิยมและโลกาภิวัตน์ คือ ความทรงจำของกรุงเทพก็กำลังตามไม่ทันกับการพัฒนาเหมือนที่อื่นๆ โดยที่ยังไม่มีกระบวนการรักษาหรือจัดการกับความทรงจำที่กำลังจะหายไปเหล่านั้น

สินค้านานาชนิดไล่ไปตั้งแต่เสื้อผ้าถึงของเล่นเด็ก ผลไม้อบแห้ง รังนก สมุนไพร หูฉลาม เครื่องไหว้ในพิธีกรรม ผู้คนจอแจทั้งหาซื้อของใช้และของกิน แสงไฟสว่างสดใสยามค่ำคืน เสียงสำเนียงไทยปนจีนและสำเนียงจีนจริงๆที่ล้งเล๊งระหว่างทำการค้า ม่านควันธูปอวลฟุ้งและผู้คนมากมายในศาลเจ้า คือ ภาพชีวิตทั่วไปที่แฝงไว้ซึ่งประวัติศาสตร์อันยาวนานของ ‘สำเพ็ง – เยาวราช’ หรือหากต่อเนื่องไปอีกหน่อยก็คือย่านการค้าที่สะท้อนความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในกลุ่มคนเชื้อสายจีนที่เรียกว่า ‘เวิ้งนาครเขษม’ ซึ่งผู้มาเยือนสามารถหาซื้อได้ตั้งแต่เครื่องดนตรีพร้อมคำแนะนำสำหรับมือใหม่ เครื่องทองเหลืองหรือภาชนะสังกะสี ร้านขายวัตถุโบราณ หรือแม้แต่ร้านหนังสือหายาก ชื่อเสียงของที่นี่กำลังประกาศให้ทุกคนรู้ว่าย่านนี้เป็น ‘ย่านมังกร’ หรือสถานที่แห่งจิตวิญญาณนักสู้ที่บรรพบุรุษคนจีนสร้างเนื้อสร้างตัวกันมาด้วยหยาดเหงื่อและความคิด

เดิมชุมชนของคนจีนเคยตั้งอยู่บริเวณวังหลวง แต่ย้ายมาบริเวณนี้เมื่อครั้งสร้างบ้านแปงเมืองกรุงรัตนโกสินทร์ตามการโปรดเกล้าฯแห่งปฐมกษัตริย์ การค้าย่านนี้เจริญขึ้นและคึกคักมาตลอด โดยเฉพาะเมื่อกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งระหว่างกรุงเทพกับต่างจังหวัดเนื่องจากใกล้ทั้งสถานีรถไฟหัวลำโพงและท่าน้ำราชวงศ์ ในขณะที่ผู้คนที่นี่เองก็ได้สร้างความสัมพันธ์กันเป็นย่าน เป็นชุมชนภายในนั้น แต่อาจเป็นความบังเอิญหรือจังหวะ ที่ที่ดินผืนนี้ไปเกี่ยวพันกับราชนิกูลและทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีต้นทุนทั้งทางวัฒนธรรมและที่ดินจำนวนมาก อันเป็นมรดกมาจากอดีตและกำลังเผชิญหน้ากับความยั่วเย้าอย่างรุนแรงของทุนนิยม ความบังเอิญเข้าไปอีกชั้นหนึ่งคือกรุงเทพมหานครของเราขณะนี้ก็มีผู้ว่าราชการที่เป็นราชนิกูลจากเชื้อสาย ‘บริพัตร’ ซึ่งเป็นตระกูลหนึ่งที่มีส่วนได้ส่วนเสีย หากมีการพัฒนาที่ดินใน ‘โครงการรถไฟฟ้า’ บางแห่ง โดยเฉพาะสถานีวัดมังกรกมลาวาส ย่านเยาวราช และสถานีวังบูรพาใกล้แยกสามยอดติดกับเวิ้งนาครเขษม และเป็นจังหวะเดียวกันพอดีกับช่วงที่ทางกรุงเทพมหานครได้เปิดเผยถึงการกำหนดผังเมืองใหม่อันชวนตระหนกออกมาให้ประชาพิจารณ์ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา



กำลังรื้อถอนอาคารเพื่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน

โครงการรถไฟฟ้า คือ ความสะดวกที่ชาวกรุงเทพไฝ่ฝันเพราะจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องเวลาและหลีกเลี่ยงการจราจรอันคับคั่ง ดังนั้น จึงไม่ใช่โครงการที่จะถูกคัดค้านอย่างแน่นอน แต่หลายคนเริ่มไม่แน่ใจถึงสิ่งที่อาจซ้อนเร้นอยู่ในความบังเอิญและฉุกคิดถึงเมืองใหม่ที่ไม่มี ‘ไชน่าทาวน์’ อันเป็นย่านประวัติศาสตร์ที่ยังมีพลวัตรทางเศรษฐกิจสูงที่อาจหายไปในกระบวนการเงียบๆของนโยบายเมือง

ศิริณี อุรุนานนท์ ตัวแทนจากกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชนเจริญไชย กล่าวว่า ผังเมืองใหม่ที่กำลังมีขึ้น คือการกำหนดให้สถานีรถไฟฟ้าเป็นศูนย์กลางแห่งการจัดสรรการใช้พื้นที่ของเมืองใหม่ทั้งหมด ทุกๆแห่งที่มีสถานีรถไฟฟ้า พื้นที่โดยรอบตีวงออกไป 500 เมตร อนุญาตให้สร้างอาคารขนาดใหญ่ได้ ซึ่งความคลุมเครือของกฎหมายอาจเปิดให้ตีความในการสร้างพื้นที่อาคารได้ถึงหนึ่งหมื่นตารางเมตร หรือเป็นตึกอาคารสูง 11 ชั้น และหากลองลากวงกลมตั้งแต่สถานีรถไฟฟ้าหัวลำโพง วัดมังกร และวังบูรพา ไชน่าทาวน์ก็อาจหายไปเกือบหมด

หรือภาพของกรุงเทพในอนาคต อาจเป็นเพียงผลสะท้อนของการเจรจาทางธุรกิจระหว่างตระกูลหรือเจ้าของที่ดินเดิมกับนักลงทุนกระเป๋าหนัก ในห้วงความคิดกับความเป็นจริงที่กำลังเริ่มเผยโฉมก็คือ ที่ดินผืนใหญ่ใจกลางย่านเก่าแก่และทรงพลังทางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ซึ่งส่วนใหญ่คือที่ดินของกรมธนารักษ์ สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มรดกของราชนิกูล รวมทั้งที่ธรณีสงฆ์ของวัดหลายแห่งกำลังถูกจัดการ เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ชุมชนและอาคารหวั่งหลีอันเก่าแก่ใกล้วัดยานนาวาถูกทุบทำลายและสั่งให้ย้ายคนหลายร้อยคนออกเมื่อวัดต้องการพัฒนาพื้นที่เพื่อเตรียมสร้างโรงแรม ในขณะที่ชุมชนซอยเจริญไชย บ้านของศิริณีเองซึ่งเป็นย่านที่ขายสินค้าประเพณีเกี่ยวกับวัฒนธรรมจีนก็กำลังอยู่บนอนาคตที่ไม่แน่นอน เพราะเป็นเพียงผู้เช่าอาคารในกรรมสิทธิ์ของมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ ซึ่งมีหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพเป็นประธาน แม้จะเรียกร้องจนเสียงแหบแห้งสักเพียงใดก็ตาม แต่ปัจจุบันเป็นเวลา 4 ปีมาแล้วที่ชาวชุมชนเจริญไชยและละแวกใกล้เคียงไม่ได้รับการต่อสัญญาเช่า ทั้งที่อยู่อาศัยบนที่ดินผืนนี้มาถึง 4 -5 รุ่น โดยที่ทางกรุงเทพมหานครก็ไม่ได้รองรับความเป็นชุมชนของพวกเขา เนื่องจากมองว่าอาคารที่เช่านั้นเป็นสมบัติของเอกชน และ ณ ขณะนี้นี้หากมองไปฝั่งตรงข้ามจะเห็นว่าอาคารบางหลังในย่านแปลงนามเริ่มมีการรื้อถอนเพื่อรองรับการมาอย่างแน่นอนของสถานีรถไฟฟ้าแล้ว

 

4

29 มิ.ย. 2555 ดีลทางธุรกิจครั้งใหญ่เสร็จสิ้นลงอีกแห่ง..

หรืออาจเป็นอีกวันที่น่าหวาดหวั่นสำหรับชาว ‘เวิ้งนาครเขษม’..

ณ ที่นี้ คือ พื้นที่ขนาดใหญ่กว่า 14 ไร่ ซึ่งเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาเป็นพื้นที่พาณิชยกรรมทันสมัย การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนราคาประเมินที่ดินใหม่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ก.ค. 2555 โดยเป็นการทำสัญญาระหว่างเจ้าของที่ดินคือ ราชนิกูลเก่าแก่ 5 ตระกูล ได้แก่ บริพัตร,กิตติยากร ,โสณกุล ,บุณญะปานะ ,ดิศกุล ณ อยุธยา และสวัสดิวัตน์ กับ ‘เจริญ สิริวัฒนภักดี’ นักธุรกิจอันดับต้นๆของประเทศ

4,507 ล้านบาท คือ ราคาของกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินซึ่งสูงกว่าราคาประเมินถึงสามเท่า กระนั้น ก่อนหน้านี้กลุ่มผู้ค้าขายและอาศัยในย่านนาครเขษมก็เคยรวมตัวกันเป็นนิติบุคคลเพื่อเสนอราคา 4,000 ล้านบาทในการซื้อที่ดินคืนกลับมาแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ และที่ผ่านมาที่ดินแปลงนี้เคยตกเป็นที่สนใจของบรรดานักธุรกิจหลายกลุ่มทั้ง แพลตตินัม, อักษรา, สยามแก๊ส มาลีนนท์ หรือแม้แต่นักลงทุนจากประเทศจีน

“เราใช้วัฒนธรรมของเรา เรามีประวัติศาสตร์กาลเวลาของเรา พอดีพื้นที่เวิ้งมีคุณค่าตรงนี้ทำให้สู้ได้ชัด และสิ่งสำคัญที่ทำให้เราสู้ คือ เรามีความเป็นครอบครัวซึ่งเราอยู่มาสามสี่ชั่วรุ่น มันเป็นจิตวิญญาณของปู่ย่าตายาย เราต้องแสดงให้รัฐเห็นว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิในการแสดงความเห็นก่อนที่จะให้ใครมากำหนดว่าชีวิตของเราเป็นอย่างไร” วิสิษฐ์ เตชะเกษม ชาวเวิ้งนาครเขษมสะท้อนถึงสิ่งที่คิดและกำลังทำ พวกเขาเพิ่งไปร่วมแสดงความเห็นผ่านเวทีเสวนา ‘ไล่รื้อชุมชน’ ความขัดแย้งระหว่างกรรมสิทธิโดยกฎหมายกับสิทธิชุมชน ภาวะล้าหลังทางวัฒนธรรมในเมืองไทย’ ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิเล็ก -ประไพวิริยะพันธุ์ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพ วันเดียวกับที่ความเป็นกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินเวิ้งนาครเขษมถึงกาลเปลี่ยนมือ


เวิ้งนาคาเขษม กับอานาคตที่ยังไม่แน่นอน

อะไรที่ทำให้นักธุรกิจใหญ่กล้าที่จะลงทุนบนที่ดินผืนนี้ เพราะลำพังทำเลรถไฟฟ้าคงไม่สามารถคืนกำไรกลับมาอย่างมหาศาลหากไม่สามารถพัฒนาการใช้ที่ดินได้ หากมองตามกฎหมายผังเมืองเดิม พื้นที่บริเวณนี้คือ เขตย่านเก่าที่ห้ามไม่ให้มีการสร้างตึกสูง นอกจากนี้ เวิ้งนาครเขษมยังเป็นพื้นที่ใกล้กับเขตที่คณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์กำหนดให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์อย่างเข้มข้น แต่สิ่งที่เป็นข้อสังเกต คือ การแก้ไขผังเมืองฉบับใหม่อาจเป็นแรงขับเคลื่อนทางธุรกิจครั้งสำคัญที่ใครต่อใครต่างพากันเชื่อมั่นอย่างประหลาดว่า น่าจะผ่านออกมาได้ต่อให้มีการยื่นเรื่องคัดค้านก็ตาม

“เรายื่นเรื่องไปกับทางผังเมืองแล้ว แต่ถ้าผังเมืองไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไร ชาวบ้านในไชน่าทาวน์ทั้งหมดจะทำอะไรได้บ้าง จะยื่นเรื่องต่อไปทางไหน เราไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร ” ศิริณี สะท้อนถึงความเป็นจริงของกฎหมายที่เอื้ออาทรต่อการยื่นข้อเสนอและมักหยุดอยู่เพียงเท่านั้นราวกับเป็นก้อนเมฆที่ล่องลอยกระทบภูเขาเพียงให้เกิดเป็นทัศนียภาพสวยงาม

ศิริณี ยังหวังถึงการต่อสู้ด้วยความเป็นอาคารอนุรักษ์ ซึ่งชุมชนเจริญไชยมีอาคารเก่าแก่กว่าร้อยปี โดยได้ยื่นเรื่องไปทั้งที่ทางสำนักผังเมืองกรุงเทพมหานครและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งหน่วยงานหลังได้เรียกทางผังเมืองมาคุยว่า บริเวณนี้เป็นอาคารเก่าแก่สมควรแก่การอนุรักษ์ ทำไมถึงไม่อนุรักษ์ไว้ ตัวแทนจากทางผังเมืองยืนยันในแบบที่ไม่เคยมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานรัฐซึ่งเป็นเรื่องที่รู้กันทั่วไปว่า ขึ้นกับกรมศิลปากร ถ้าไม่มีการชี้ว่าเป็นอาคารอนุรักษ์ก็ไม่สามารถริดรอนสิทธิของเจ้าของที่ดินได้


Station 1 โรงแรมแห่งใหม่กับการตลาดใกล้รถไฟฟ้าใต้ดิน ถูกขึ้นป้ายคัดค้านจาก วัดมังกรกมลาวาส ซึ่งอยู่ติดกัน


ตึกแถว 100 ปี ย่านชุมชนเจริญไชย ตั้งอยู่ไม่ไกลจากวัดมังกร ฯ

ศิริณี ตัดสินใจยื่นเรื่องไปที่กรมศิลปากรอีกแห่ง อย่างไรก็ตาม ถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการส่งหน่วยงานใดเข้ามาดูว่า อาคารเหล่านี้เก่าแก่ควรแก่การอนุรักษ์หรือไม่ กระทั่งล่าสุด หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธ์ ยังออกมาให้ข่าวย้ำลงไปอีกว่า จะมีการรื้ออาคารเก่าแก่ที่อยู่ในที่ดินของมูลนิธิและบริเวณที่จะสร้างสถานีรถไฟฟ้า เนื่องจากมีสภาพที่เก่าและแผ่นดินไหวบ่อยอาจจะทำให้ไม่ปลอดภัย ซึ่งเป็นเหตุผลที่คนในชุมชนต่างคิดว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น แต่หากมีผังเมืองใหม่ออกมาต่างหาก บริเวณนี้ก็อาจกลายเป็นห้างสรรพสินค้าหรู คอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ คอนโดมีเนียม ซึ่งนั่นหมายความว่า เมื่อมีรถไฟฟ้า อดีตโดยรอบและผู้คนที่นี่ย่อมหมดคุณค่าไปโดยปริยาย

“ไชน่าทาวน์ที่เราบอกว่าใหญ่ที่สุดในโลก อีกหน่อยจะไม่เหลือ ชาวต่างชาติที่อยากมาเที่ยวไชน่าทาวน์ เขาคงไม่อยากมาเที่ยวห้างสรรพสินค้า เพราะอย่างนั้นเขาไปเดินราชประสงค์หรือสยามก็ได้ แต่ไม่ใช่ที่ไชน่าทาวน์” ศิริณี กล่าว

ที่ชุมชนเจริญไชย ยังมีพิพิธภัณฑ์เล็กๆที่น่าสนใจแห่งหนึ่งอยู่บนอาคารที่ผู้ว่าฯหวั่นวิตกถึงแผ่นดินไหว ชื่อว่า ‘บ้านเก่าเล่าเรื่ง’ ซึ่งคณะทำงานกลุ่มอนุรักษ์และชาวชุมชนได้ร่วมกันตั้งขึ้น นอกจากสิ่งของที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของพื้นที่แล้ว ยังมีข้อความโดดเด่นชวนให้ตระหนักคิดติดแสดงอยู่

“ถ้าชุมชนที่มีการค้าขายแบบประเพณีดั้งเดิมที่อยู่นี้หายไป ต่อไปเราจะไปหาวัฒนธรรมประเพณีแบบนี้ได้จากที่ไหน หรือจะเล่าให้ลูกหลานฟังว่า ครั้งหนึ่งบริเวณนี้เคยเป็น....”


พิพิธภัณฑ์บ้านเก่าเล่าเรื่อง คือ เรื่องราวของลูกหลานเผ่าพันธุ์มังกรสยามที่อาจถูกย้ายออกไป หากเจ้าของที่ดินต้องการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์

หรือเมื่อเรากำลังเดินไปตามเส้นทางสายทุนนิยม เราต้องจำยอมให้ตัวตนของเราถูกละลายไปด้วย ข้อความที่เขียนไว้ในพิพิธภัณฑ์เจริญไชย อาจเป็นเสมือนคำพยากรณ์ที่เตือนถึงกรุงเทพมหานครเมืองฟ้า ที่ซึ่งลูกหลานของเราอาจตกใจและเสียดายเมื่อเอาภาพถ่ายสักใบที่มีชีวิตและผู้คนในเวลานี้ยื่นให้พวกเขาดู.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง 'Media inside Out': ศึกสายเลือดคนดีเขย่า TPBS

Posted: 16 Jul 2012 02:31 AM PDT

เผลอแป๊บเดียว TPBS หรือองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ก็ก่อตั้งมาได้ 5 ปีแล้วนะครับ ซึ่งแปลว่าเราได้ใช้เงิน “ภาษีบาป” สร้างทีวีของคนชายขอบ ริมขอบ ตกขอบ ไปมากกว่า 10,000 ล้านบาท

แต่แหม แค่ได้ดู ณาตยา แวววีรคุปต์ เอา NGO กับชาวบ้านมาออกเวทีสาธารณะวันละโหล ก็คุ้มแล้วครับ รายการอย่างนี้จะไปหาสปอนเซอร์ได้ที่ไหน เพราะจัดช่องไหนก็ไม่มีคนดู (อ้าว)

รายการดีๆ อย่างนี้ TPBS ทุ่มทุนสร้างอย่างคุ้มค่าภาษีบาป กระทั่งมีเสียงเล่าอ้างว่า เมื่อตอนน้ำท่วมภาคใต้ บังเอิ๊ญทีมช่างภาพขาด ไม่พอถ่ายทำ “เวทีสาธารณะ” ทางสถานีต้องเรียกทีมรายงานสดน้ำท่วมภาคใต้ขึ้นมา ยกเลิกรายงานสดไปเลย ภูมิปัญญาชาวบ้านสำคัญกว่า คริคริ

เผลอแป๊บเดียว เทพชัย หย่อง ก็จะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ TPBS ครบวาระในวันที่ 9 ตุลาคม 2555 นี้ ซึ่งอันที่จริง “เฮียสิ่ว” แกรับตำแหน่งมาตั้งแต่ 15 มกราคม 2551 แต่ตอนนั้นแค่รักษาการ แล้วจึงได้รับเลือกให้เป็น ผอ.อย่างเป็นทางการเมื่อ 10 ตุลาคม.2551

ตาม พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 ที่รัฐบาลขิงแก่ยึดไอทีวีมาตั้ง TPBS ต้องสรรหา ผอ.ใหม่ พี่หมอพลเดช ปิ่นประทีป ประธานกรรมการนโยบาย ออกประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็น ผอ.TPBS ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2555 โดยกำหนดระยะเวลารับสมัครคั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน จนถึงวันที่ 4 กรกฎาคม ซึ่งแปลว่าปิดรับสมัครไปเรียบร้อยแล้ว

แม้ TPBS จะยังไม่ประกาศเป็นทางการว่ามีใครสมัครบ้าง แต่ก็รู้กันแซ่ด ว่ามี 4 คน ได้แก่ เฮียสิ่วเจ้าเก่า, สมชัย สุวรรณบรรณ ณ BBC ผู้สร้างเซอร์ไพรส์ ลาออกจากกรรมการนโยบายมาสมัคร ผอ.ทั้งที่เหลือวาระดำรงตำแหน่งอีก 2 ปี, วสันต์ ภัยหลีกลี้ รอง ผอ.ด้านปฏิบัติการ อดีต ผอ.อสมท.และ ผศ.นลินี สีตะสุวรรณ ภาควิชาศิลปะการละคร อักษรศาสตร์ จุฬาฯ มือเขียนบทละครช่อง 3 เจ้าของรางวัลนับไม่ถ้วน หนึ่งในกรรมการบริหาร TPBS

คนในล้วนๆ เลยครับ จะเปรียบเป็น “ศึกสายเลือด” ก็ได้

อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวระดับแม่บ้าน TPBS ยังรู้ว่า ศึกครั้งนี้ชิงชัยกันระหว่างสมชัยกับเทพชัย BBC Vs Nation เท่านั้น โดยฝ่ายแรกต่อครึ่งควบลูก ไม่มีใครรอง ขณะที่วสันต์ ภัยหลีกลี้ ต้องหลีกลี้หนีภัยสถานเดียว วสันต์ได้เป็นรอง ผอ.เพราะเฮียสิ่วหิ้วมา ขณะที่สมชัยก็เป็นหัวหน้าเก่า ณ BBC เพียงแต่ตอนแรก ทั้งคู่กั๊ก ไม่บอกว่าจะสมัคร วสันต์ถามเฮียสิ่วครั้งแล้วครั้งเล่า ก็กบไต๋อยู่นั่นแหละ วสันต์จึงยื่นใบสมัครไปก่อน แต่พอสมชัยลาออกลงสมัคร เฮียสิ่วก็ประกาศ กรูอยู่เฉยไม่ได้แร้ว ขอลุย

เจอรุ่นใหญ่เขาดวลกันอย่างนี้ ก็น่าเสียดาย วสันต์ไม่ถอนตัวก็เหมือนถอน วสันต์เนี่ยถึงใครจะมองว่ารุ่งมณี เมฆโสภณ ส่งเข้าประกวด แต่เป็นมืออาชีพด้านข่าว ทัศนะส่วนตัวส่วนเมียอาจมีผลบ้าง แต่ไม่ถึงกับสุดขั้วสุดโต่ง แถมวสันต์ยังไม่เล่นการเมืองในสำนักงาน ไม่เล่นพรรคเล่นพวก ไม่สร้างอาณาจักร

ส่วน ผศ.นลินี เจอ 2 บิ๊กประกบแบบนี้ก็เป็นแค่ไม้ประดับ คนในเล่าว่า TPBS อยากให้เธอเข้ามาช่วยงานละคร ที่ไหนได้ เธอกลับอยากคุมข่าว เข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ยกับนคร ชมพูชาติ ทนายความก๊วน สุวัตร อภัยภักดิ์, นิติธร ล้ำเหลือ (เคยเป็นทนายให้กบฏไอทีวี) เป็น 2 ตัวแทนอย่างไม่เป็นทางการของพี่น้องเอ๊ยฮาร์ดคอร์ในคณะกรรมการบริหาร

คนดีเขาเตะตัดขากัน
ถามว่าทำไมสมชัยต่อครึ่งควบลูก ก็ต้องย้อนไปดูว่า กรรมการนโยบายของ TPBS มี 9 คน ตามกฎหมายเมื่อครบ 2 ปีต้องจับสลากออก 2 คน โดยกรรมการชุดแรกตั้งเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2551 ได้แก่ อ.เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม ประธาน, อ.จอน อึ๊งภากรณ์, สมชัย สุวรรณบรรณ, เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์, หมอพลเดช ปิ่นประทีป, จินตนา พันธุฟัก, มัทนา หอมละออ , รศ.อรศรี งามวิทยาพงศ์ และกมล กมลตระกูล

เมื่อครบ 2 ปีวันที่ 2 สิงหาคม 2553 สี่คนแรกถูกหวยต้องออกไป แต่สมชัยได้รับเลือกเข้ามาใหม่ พร้อมกับ ผศ.จุมพล พูลภัทรชีวิน, รศ. มาลี บุญศิริพันธ์ และศิริชัย สาครรัตนกุล คราวนี้ หมอพลเดชเป็นประธาน ฉะนั้นเมื่อถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2555 ห้าคนที่เหลืออยู่จากชุดแรกก็ต้องครบวาระ และต้องสรรหาใหม่

ซึ่งตอนนี้ก็มีประกาศรับสมัครกรรมการนโยบายแล้ว คณะกรรมการสรรหาจาก 15 องค์กรที่กฎหมายกำหนด เลือก สัก กอแสงเรือง เป็นประธาน อ.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สสส. เป็นเลขานุการ เปิดรับสมัครกรรมการนโยบาย ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน ถึง 8 กรกฎาคม ปิดรับสมัครไปแล้วยังไม่รู้ผลว่ามีใครสมัครมั่ง

แต่มีตลกร้ายจะเล่าให้ฟัง คือมีคนไปสมัครวันที่ 7 กรกฎาคม ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ไม่ยอมรับสมัคร เพราะเป็นวันเสาร์ วันที่ 8 เป็นวันอาทิตย์ พอพลิกไปดูประกาศก็บอกว่าให้สมัครได้ “ทุกวัน (เว้นวันหยุดราชการ)” เออ แล้วจะเปิดรับสมัครถึงวันที่ 8 ทำไมให้ป่วยการ

คุณสักแกชอบนับวันผิดอย่างนี้ มิน่าเล่า ถึงโดน กกต.แจกใบแดง คริคริ

คณะกรรมการสรรหาจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาในวันที่ 24 กรกฎาคม ซึ่งผู้ผ่านการพิจารณาจะต้องไปแสดงตนและวิสัยทัศน์ด้วยวาจาต่อที่ประชุมคณะกรรมการสรรหา ในวันที่ 27 กรกฎาคม

สังเกตอะไรไหมครับ คณะกรรมการนโยบายชุดใหม่จะเข้ามาวันที่ 2 สิงหาคม ขณะที่เฮียสิ่วจะครบวาระวันที่ 9 ตุลาคม เหลือเวลาอีกตั้ง 2 เดือน 7 วัน ทำไมคณะกรรมการนโยบายชุดเดิมจึงต้องรีบสรรหาผู้อำนวยการ ก่อนที่ตัวเองจะพ้นจากตำแหน่ง

มิหนำซ้ำ สมชัย สุวรรณบรรณ ยังลาออกจากคณะกรรมการนโยบายมาลงสมัครเอง ถามว่ากรรมการนโยบายที่เหลือ 8 คนจะเลือกใคร ระหว่างคนกันเองอย่างสมชัยกับเฮียสิ่ว ซึ่งแหล่งข่าวระดับแม่บ้านคนขับรถยังรู้ว่า กินเกาเหลากับกรรมการนโยบายอยู่เนืองๆ

นี่ถึงแม้แหล่งข่าวระดับสูงหน่อย 170 ซม.จะยืนยันว่า สมชัยนิสัยฝรั่ง BBC ไม่ได้ล็อบบี้ใครเลย ก็ยังต่อครึ่งควบลูกไม่มีคนกล้ารอง

ศึกครั้งนี้สนุกแน่ เพราะพนักงานระดับสูง ยกเว้นฝ่าย Admin ส่วนใหญ่เฮียสิ่วเอาเข้ามา ก็ถือหางเฮียสิ่ว แต่พวกพนักงานระดับล่าง ว่ากันว่าถ้าให้พนักงานโหวตเลือก ผอ.ได้ สมชัยเป็นต่อถึง 10-1 (แทง 10 จ่าย 1 ไม่รวมทุน) เพราะพนักงานระดับล่างอึดอัดเต็มแก่ อยากให้ใครก็ได้เข้ามา “ล้างบาง” พวก นขต.(หน่วยขึ้นตรง)

แต่แม้สมชัยจะเป็นต่อทุกด้าน ก็ใช่ว่าจะคล่องคอ เพราะอาการรุกลี้รุกลนไม่ยอมรอกรรมการชุดใหม่ของกรรมการนโยบายดังกล่าว ทำให้เฮียสิ่วลั่นวาจาไว้แล้วว่า แพ้เมื่อไหร่กรูฟ้องแน่

มีอย่างที่ไหน กรรมการนโยบายจะพ้นวาระ 2 สิงหาคม ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการสรรหา 24 กรกฎาคม แต่ปิดรับสมัคร ผอ.วันที่ 4 กรกฎาคม จะประกาศชื่อ ผอ.คนใหม่ภายในวันไหนก็ไม่บอก งุบงิบงุบงิบ ตำแหน่งนี้เฮียสิ่วแกหวงของแกนะเออ เพราะเป็นเก้าอี้เทวดาประทาน พรบ.ที่ร่างโดยอาจารย์สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ณ TDRI ไม่ยักกำหนดคุณสมบัติ ผอ.ว่าต้องจบปริญญาตรี ทั้งที่ปกติ ผอ.องค์กรระดับนี้ต้องจบปริญญาตรี คนในวงการสื่อที่พอจะทำหน้าที่นี้ได้ ก็มีแต่เฮียสิ่วนี่แหละที่ไม่จบปริญญาตรี

อย่างว่า ความรู้ความสามารถไม่ได้วัดกันด้วยปริญญา ใบตองแห้งก็ไม่จบปริญญา สมัคร ผอ.TPBS ได้เหมือนกัน 555

จิ้งจกข้างตึก TPBS ทักว่า หลังจากพระเทพฯ เสด็จฯ เปิดตึกในวันที่ 17 กรกฎาคมนี้แล้ว หมดพิธีมงคล ก็จะเป็นวันดีเดย์ ลุยกันตึกระเบิดแน่ โดยพนักงานระดับล่างที่อึดอัด ไม่ได้รับความเป็นธรรม จากการแบ่งก๊กแบ่งเหล่ามา 4-5 ปี กำลังรอโอกาส รอสุญญากาศอำนาจ เพื่อเสนอปัญหาต่อสังคมเช่นกัน

               (หมายเหตุประชาไท: เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์ เว็บไซต์ใหม่ 'ประชาไท' ขอสงวนเนื้อหาบางช่วงให้ผู้อ่านติดตามและยลเว็บไซต์ใหม่ด้วยตัวเอง โปรดคลิกอ่านหัวข้อ ไม่มีที่ว่างให้คนนอก และ ช่องทางพิเศษคนดี)

 

“ตอบโจทย์” สาธารณะ
คำถามที่สาธารณชนจะต้องถามสื่อสาธารณะ TPBS คือ ทำไมกรรมการนโยบายจะต้องเร่งรีบคัดเลือก ผอ.ใหม่ และทำไมจึงมีคนสมัครแค่คนใน 4 คน ภาพลักษณ์ TPBS มันเป็นอย่างไรไปแล้วหรือ

กรรมการนโยบายควรยกเลิกการรับสมัคร ผอ. รอให้กรรมการนโยบายชุดใหม่เปิดรับสมัครใหม่ อย่างเปิดกว้าง โปร่งใส และให้สาธารณชนมีส่วนร่วม อ้าว ก็สื่อสาธารณะนี่ครับ ไม่ใช่ของกรรมการนโยบาย 9 คน กรรมการสรรหา 15 องค์กร

ถ้าจะให้ดี ก็ TPBS Got Talent จัดให้ผู้สมัครทุกคนมาแสดงวิสัยทัศน์ประชันกัน ทางรายการของ TPBS เอง (แต่ไม่เอาเวทีสาธารณะ คนเยอะไป จับประเด็นไม่ถูก) สมมติเช่น “ตอบโจทย์” ให้คนดูช่วยกันโหวต ให้คนดูกด like ให้คนดูช่วยกันส่งคำถาม ถึงแม้คนตัดสินยังเป็นกรรมการ แต่ถ้าค้านสายตาชาวบ้าน ก็มีหวังถูกโห่

อันที่จริง ควรจะทำตั้งแต่การสรรหากรรมการนโยบายเลยครับ ถ่ายทอดสด  แสดงวิสัยทัศน์กรรมการสรรหาไปด้วยในตัว (บลูสกายยินดีถ่ายทอดให้ฟรีๆ ฮิฮิ)

ทีวีสาธารณะ จะไปทำกระมิดกระเมี้ยนอยู่ทำไม จัดเรียลลิตี้โชว์เลยก็ได้ ให้ชาวบ้านส่ง SMS แพ้คัดออกสัปดาห์ละราย

เผลอๆ จะกลายเป็นรายการฮิตที่สุดนับแต่ก่อตั้ง TPBS มา

แล้วถ้าจะให้ดีนะครับ TPBS ก็ควรจะถือโอกาสนี้ สรุปปัญหา ทิศทาง แนวทาง นโยบาย การบริหาร ฯลฯ โดยให้พนักงานระดับล่างมีส่วนร่วม ให้โอกาสพวกเขาเสนอปัญหาระบายความอึดอัดใจอย่างเต็มที่ พูดถูกบ้าง พูดผิดบ้าง ก็ต้องฟัง เพราะที่ผ่านมามีแต่ปิดกั้น พนักงาน TPBS ไม่สามารถก่อตั้งสหภาพแรงงานได้ เพราะมีระเบียบบังคับไว้ ก่อตั้งได้แต่สมาพันธ์พนักงาน TPBS ซึ่งพูดอะไรมากก็ไม่ได้อีก เพราะมีระเบียบกำหนดว่า ห้ามพนักงานเคลื่อนไหวให้ร้ายองค์กร

ปิดปากกันซะอย่างนี้ จะเป็นทีวีสาธารณะในระบอบประชาธิปไตยได้ไงละครับ

 

ปล.ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ยินดีให้สำนักข่าวอิศรานำไปเผยแพร่

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แถลงการณ์ 'กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ' : คัดค้านการสถาปนาอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

Posted: 16 Jul 2012 01:29 AM PDT

สืบเนื่องจากการที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้อำนาจรับคำร้องคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญตาม ม.68 ที่ผ่านมา และได้มีคำสั่งให้รัฐสภาหยุดกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐสภาได้ผ่านวาระ 2 มาแล้ว ล่าสุดได้มีการไต่สวนและออกคำวินิจฉัย ซึ่งเป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้วนั้น

คณะ “กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ” ซึ่งประกอบด้วยอดีตนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยยุคต่างๆ รวมทั้งแพทย์ นักวิชาการ ฯลฯ ได้ติดตามและประเมินสถานการณ์บ้านเมืองมาโดยตลอด นับตั้งแต่เหตุการณ์การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนถึงปัจจุบัน คณะของเรามีความเป็นห่วงต่อวิกฤตระบอบประชาธิปไตยที่เกิดขึ้น และเห็นภัยคุกคามต่อหลักรัฐธรรมนูญ หลักนิติรัฐ และหลักนิติธรรมของประเทศมาโดยตลอด จึงมีมติคัดค้านบทบาทของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ดังต่อไปนี้

1.คำตัดสินหรือคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขัดต่อรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น ไม่ควรยอมรับในทุกมิติ ไม่ว่าจะมีผลลบมากน้อยอย่างไร และควรถือว่าคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 13 กรกฎาคม 2555 ในทุกประเด็นเป็นโมฆะทั้งสิ้น

ทั้งนี้เนื่องจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจรับคำร้องในคดีตั้งแต่ต้น แต่ใช้ดุลยพินิจตีความขยายอำนาจตนเองเพื่อรับคำร้องเองไต่สวนเองและวินิจฉัยเอง โดยขัดต่อถ้อยคำและเจตนารมณ์ใน กฏหมายรัฐธรรมนูญ ม.68 อย่างชัดเจน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงองค์กรที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยมีเพียงอำนาจเท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เท่านั้น การกระทำของตุลา-การศาลรัฐธรรมนูญจึงเท่ากับเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ขยายอำนาจรุกล้ำเขตอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐสภา อันมีที่มาจากอำนาจประชาชนโดยตรง คำสั่งให้หยุดกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คำสั่งหรือคำแนะนำเชิงข่มขู่ให้ลงประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับตาม ม. 291 ล้วนไม่อยู่ในอำนาจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการใช้อำนาจเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญระบุไว้ทั้งสิ้น

หากรัฐสภาปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้นจะเป็นการนำอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ไปซุกอยู่ใต้อำนาจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และจะเป็นการยอมรับการสถาปนาอำนาจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าอยู่เหนือรัฐธรรมนูญและอธิปไตยของปวงชน และในที่สุดเป็นการทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจลงโดยสิ้นเชิง

2.เมื่อประมวลบทบาทของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในอดีตที่ผ่านมา นับตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เช่น คำตัดสินยุบพรรคการเมือง (ทุกพรรคยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์) ตัดสิทธิ์นักการเมือง ล้มรัฐบาลนายก ฯ สมัคร-สมชาย และคำวินิจฉัยครั้งนี้ เราเห็นได้ชัดเจนว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่เป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายรัฐประหารหรือฝ่ายอำนาจนอกระบบ โดยเชื่อมโยงประสานกับพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มพันธมิตร กลุ่มสยามประชาภิวัตน์ อย่างเป็นระบบและต่อเนื่องมาโดยตลอดระยะเวลา 5-6 ปี โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันคือ โค่นล้มทำลายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ปกป้องรัฐธรรมนูญ 2550 อันเป็นมรดกสำคัญของการรัฐประหารในอดีตอย่างสุดกำลัง โดยไม่ยึดหลักกติกาในระบอบประชาธิปไตย ทำลายหลักนิติรัฐ หลักนิติธรรมและความยุติธรรมในสังคม อันเป็นต้นเหตุก่อให้เกิดความแตกแยกอย่างรุนแรงในสังคม

3.ขอเรียกร้องต่อรัฐสภา ประกาศไม่ยอมรับคำสั่งหรือคำวินิจฉัยใด ๆ  ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น ยืนหยัดพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ปกป้องอำนาจนิติบัญญัติ อันเป็นอำนาจทางตรงของประชาชน จัดให้มีการประชุมรัฐสภาและลงมติวาระ 3 เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้ง สสร. ทำการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยต่อไป ภายหลังร่างรัฐธรรมนูญของ สสร. แล้วเสร็จ ให้นำร่างดังกล่าว เสนอผ่านการกลั่นกรองโดยคณะกรรมการที่เป็นกลางและเป็นที่ยอมรับของสังคม หลังจากนั้นจัดให้ประชาชนลงประชามติ เพื่อรับรองความชอบธรรมของรัฐธรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

4.ขอเรียกร้องให้ประชาชนและองค์กรประชาธิปไตยแสดงจุดยืนพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย ต่อต้านอำนาจตุลาการเหนือรัฐธรรมนูญ โดยการร้องทุกข์ กล่าวโทษ ดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฏหมายอาญา ม.157 ต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ดำเนินการปฏิรูประบบศาลรัฐธรรมนูญ โดยยุบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน ตามขั้นตอนกฏหมายรัฐธรรมนูญ และแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยขึ้นใหม่ โดยให้ยึดโยงกับประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง รวมทั้งปฏิรูป ขจัดเครือข่ายอำนาจศาลและองค์กรอื่น ๆ ที่เป็นมรดกจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

คณะของเรา ขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองและรัฐสภา ยืนหยัดปกป้องหลักการในระบอบประชาธิปไตย ยึดมั่นในหลักนิติรัฐ ต่อต้านอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ ให้หลักนิติธรรมอยู่เหนือความอยุติธรรมโดยไม่คำนึงถึงความอยู่รอดของตนเอง เสียสละต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของประเทศชาติ

 

ด้วยจิตคารวะ
กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ
15 กรกฎาคม 2555

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข้อเสนอนิติราษฎร์ ยุบศาล รธน. ตั้งตุลาการพิทักษ์ระบอบ รธน. [คลิป]

Posted: 15 Jul 2012 11:14 PM PDT

คณะนิติราษฎร์ เสนอยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งตุลาการพิทักษ์รัฐธรรมนูญแทน ทำหน้าที่พิทักษ์ประชาธิปไตยและนิติรัฐ รักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ โดยการใช้อำนาจนั้นต้องคำนึงถึงอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย หลักการแบ่งแยกอำนาจ และหลักการประกันสิทธิและเสรีภาพ

วิดีโอส่วนหนึ่งจากเสวนาเรื่องข้อเสนอ "การยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญ และการจัดตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ" จัดโดยนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ ในวันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ณ ห้อง LT 1 และ LT 2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ช่วงที่ 1

ช่่วงที่ 2

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น