โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับตุลาการภิวัฒน์

Posted: 21 Jul 2012 06:49 AM PDT

บทความว่าด้วยเกร็ดความรู้เกี่ยวกับตุลาการภิวัฒน์ จากนักวิจัยประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดอมงฟอร์ต

 

[1] เกริ่นนำ

จากกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในประเด็นเกี่ยวกับแนวคิดตุลาการภิวัฒน์ (Judicial Activism) และผลกระทบของแนวคิดตุลาการภิวัฒน์ต่อการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายตุลาการกับฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการกับฝ่ายนิติบัญญัติ กล่าวคือ แนวคิดตุลาการภิวัฒน์ที่ส่งเสริมให้อำนาจตุลาการในการตีความกฎหมายกว้างขวางจนมากเกินขอบเขตและไม่มีอำนาจใดมาถ่วงดุลได้ ซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งแท้ที่จริงแล้วปัญหาตุลาการภิวัฒน์มิใช่เพียงประเทศไทยประเทศเดียวที่ประสบพบปัญหาเช่นนี้ แต่มีอีกหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศที่ใช้ระบบสกุลกฎหมายลายลักษณ์อักษรหรือระบบคอมมอนลอว์ (Common Law) ต่างก็เคยเผชิญกับปัญหาเช่นนี้มาแล้วทั้งสิ้น เช่น ประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ประเทศออสเตรเลีย และสาธารณรัฐอินเดีย เป็นต้น นอกจากนี้ แม้กระทั้งสหภาพยุโรปเป็นองค์การระหว่างประเทศลักษณะเหนือชาติ ที่มีศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรปทำหน้าที่บังคับใช้และตีความกฎหมายสหภาพยุโรปในบริบทต่างๆ ก็ประสบกับปัญหาจากแนวคิดตุลาการภิวัฒน์ในบางกรณีเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ ตุลาการภิวัฒน์จึงไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับหลายประเทศและในบางคดีศาลต่างประเทศก็พยายามอาศัยแนวคิดหรือความเชื่อบางประการของศาลเอง นำมาพิจารณาหรือพิพากษาคดี (Conceiving Activism) จนทำให้ประชาชนหรือผู้คนส่วนในสังคมบางส่วนคิดว่า ตุลาการภิวัฒน์เป็นพฤติกรรมแบบเผด็จการ (Despotic Behavior) อันนำไปสู่รูปแบบเผด็จการทางศาล (Autocratic Judiciary) ที่ไม่มีอำนาจใดมาทำการตรวจสอบหรือถ่วงดุลได้

ศาลรัฐธรรมนูญของไทยเป็นสถาบันทางการเมืองฝ่ายตุลาการที่สัมพันธ์กับการปกครองของรัฐโดยตรง โดยศาลรัฐธรรมนูญเองมีหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรมโดยการใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญและตีความรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร ในระบอบประชาธิปไตยเพื่ออำนวยความยุติธรรม เช่น การวินิจฉัยความชอบด้วยกฎหมายของกฎหมายฉบับต่างๆ ไม่ให้มีลักษณะอันเป็นการขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรและการวินิจฉัยสมาชิกภาพของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงทางการเมือง เป็นต้น แม้ว่าสถาบันตุลาการมิใช่สถาบันทางการเมืองเดียวที่มีอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทคดี แต่สถาบันทางการเมืองที่มิใช่สถาบันตุลาการ อาจใช้อำนาจตุลาการได้ในบางกรณี เช่น สถาบันฝ่ายบริหารมีอำนาจในการลดโทษ อภัยโทษหรือนิรโทษกรรมต่อผู้ต้องโทษคดีต่างๆ เป็นต้น ซึ่งการที่สถาบันทางการเมืองอื่นๆ จะใช้อำนาจตุลาการได้นั้นต้องมีกฎหมายลายลักษณ์อักษรมารองรับอย่างชัดเจน เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการใช้อำนาจตุลาการได้ ในทางกลับกัน ศาลรัฐธรรมนูญของไทยเป็นสถาบันทางการเมืองฝ่ายตุลาการตามรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่กำหนดองค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญ อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ การใช้สิทธิของศาลรัฐธรรมนูญ วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญและการทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ในส่วนของ วิธิพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญนั้น กลับไม่ได้ตราเป็นกฎหมายวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรโดยเฉพาะแต่ประการใด โดยปัจจุบันคงมีเพียงข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 เท่านั้น ซึ่งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้เปิดทำการให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ สามารถนำคดีขึ้นสู่ศาลระบบไต่ส่วนได้แล้ว ย่อมทำให้คดีของศาลรัฐธรรมนูญเป็นคดีทางมหาชนที่แยกออกจากคดีเอกชนและคดีทางมหาชนอื่นๆ อย่างชัดเจน เมื่อ ศาลรัฐธรรมนูญสามารถพิจารณาคดีเฉพาะตามที่รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรได้บัญญัติประเภทหรือชนิดคดีที่สามารถนำขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญไว้ จึงควรกำหนดวิธีสบัญญัติหรือกฎหมายวิธิพิจารณาความของศาลรัฐธรรมนูญเป็นพิเศษขึ้น เพื่อกำหนดอำนาจและหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในการใช้ระบบไต่สวนแสวงหาข้อเท็จจริงและระบุคุณสมบัติที่บ่งถึงความเชี่ยวชาญของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ เพื่อให้ได้มาซึ่งผู้เชี่ยวชาญในการทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดคดีของศาลรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น การใช้อำนาจตุลาการไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจตุลาการโดยสถาบันตุลาการเองก็ดี หรือสถาบันทางการเมืองอื่น ตัวอย่างเช่น ฝ่ายบริหารในการลดโทษ อภัยโทษหรือนิรโทษกรรม จำต้องมีบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรมากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อกำหนดกรอบอำนาจของสถาบันที่ใช้อำนาจตุลาการให้ใช้อำนาจอยู่ภายใต้กรอบที่กฎหมายวางไว้และถือเป็นการควบคุมการพิจารณาพิพากษาคดีให้ชอบด้วยกฎหมายและปราศจากอคติส่วนตนหรือความเห็นส่วนตนมาใช้ในการพิพากษาคดี ด้วยเหตุผลดังกล่าว การศึกษาทั้งผลดีและผลเสียของแนวคิดตุลาการภิวัฒน์จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อนำการวิเคราะห์มาสู่การให้เหตุผลว่า ควรหรือไม่ที่จะมีการใช้แนวคิดตุลาการภิวัฒน์มาทำคำวินิจฉัยในศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลอื่นๆ และผลของคำพิพากษาที่มาจากแนวคิดตุลาการภิวัฒน์ของศาลยุติธรรมในประเทศต่างๆ หรือศาลรัฐธรรมนูญของประเทศไทยจะส่งผลอย่างไรต่อการอำนวยความยุติธรรมต่อประชาชนหรือสังคมโดยรวม

[2] ตุลาการภิวัฒน์และแนวคิดที่โต้แย้ง

ตุลาการภิวัฒน์ (Judicial Activism) แท้ที่จริงแล้วมีต้นกำเนิดมาจากประเทศอังกฤษ ศาลหลายประเทศในเครือจักรภพอังกฤษและสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงศาลยุติธรรมของบางประเทศที่ได้รับอิทธิพลจากระบบกฎหมายจารีตประเพณีหรือระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ก็ใช้แนวคิดตุลาการภิวัฒน์ในการวินิจฉัยคดีด้วย ทั้งนี้ นักกฎหมายฝ่ายหนึ่งเห็นว่าการสนับสนุนให้มีการใช้แนวคิดตุลาการภิวัฒน์ในการพิจารณาวินิจฉัยคดี ถือว่าเป็นการเปิดกว้างให้ศาลสามารถพัฒนากฎหมายและตีความกฎหมายเพื่อความยุติธรรมได้อย่างกว้างขว้าง นอกจากนี้ ศาลยังอาจอาศัยแนวคิดตุลาการภิวัฒน์ในการสร้างหลักกฎหมายใหม่ๆ ตามแนวคิดของระบบกฎหมายจารีตประเพณีที่ถือว่า “Judge made law” หรือผู้พิพากษาย่อมสร้างหลักกฎหมายได้ผ่านคำพิพากษาของตนในแต่ละคดี แต่อย่างไรก็ดี นักกฎหมายอีกฝ่ายหนึ่งกลับเห็นว่าแนวคิดตุลาการภิวัฒน์ถือเป็นแนวคิดที่ต่อต้าน (Treason) การพิจารณาคดีโดยอาศัยการตีความรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร (Written Constitution) สำหรับประเทศที่มีรัฐธรรมนูญเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรและกฎหมายลายลักษณ์อักษรอื่นๆ ที่ออกโดยรัฐสภา (Parliamentary Legislation) เพราะเท่ากับว่าหากให้อำนาจศาลในการตีความหรือพิจารณาคดีอย่างกว้างขวางโดยที่ไม่มีกรอบการวิธีพิจารณาความอย่างชัดเจน ศาลอาจอาศัยทัศนะหรือความเห็นส่วนตนผสมไปกับการทำคำวินิจฉัยโดยไม่คำนึงถึงหลักการและเหตุผลของกฎหมายที่เขียนขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรได้

[2.1] ศาลมีหน้าที่เป็นผู้ตีความกฎหมาย แต่มิใช่ผู้บัญญัติกฎหมาย

ศาลมีหน้าที่เป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดีแต่มิใช่ผู้บัญญัติกฎหมายหรือ “Judicis est jus dicere, non dare” เป็นสุภาษิตกฎหมายที่ประสงค์จะกล่าวในเชิงโต้แย้งแนวคิดตุลาการภิวัฒน์ภายใต้ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ที่เห็นว่าศาลอาจสร้างหลักกฎหมายใหม่ได้หรือ “A judge made law.” อันเป็นข้อกล่าวอ้าง (Pretensions) ของระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ในการให้อำนาจศาลในการตีความหรือใช้ดุลพินิจในการทำคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยอย่างกว้างขวาง ซึ่งแม้ว่าจารีตประเพณีของระบบกฎหมายคอมมอนลอว์หรือระบบกฎหมายจารีตประเพณีได้วางหลักเกณฑ์เอาไว้ แต่ในทางตรงกันข้าม ในระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรจะถือว่าการตีความที่ให้อำนาจศาลในการตีความหรือใช้ดุลพินิจอย่างกว้างขวางอาจก่อให้เกิดการแทรกแซง (Interventions) ต่อกระบวนการยุติธรรมโดยตัวของผู้พิพากษาผ่านแนวคิดตุลาการภิวัฒน์ อันอาจทำให้คู่ความไม่ได้รับความยุติธรรมที่เหมาะสมในแต่ละคดีได้

[2.2] ศาลต้องตีความเคร่งครัด

ศาลต้องตีความโดยเคร่งครัดหรือ “Strict and Complete Legalism” เป็นแนวคิดสนับสนุนการตีความกฎหมายอย่างเคร่งครัด กล่าวคือ แนวคิดดังกล่าวยึดถือการตีความตามรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรหรือกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ โดยวิธิการตีความดังกล่าวถือเป็นแนวคิดที่โต้แย้งแนวคิดของตุลาการภิวัฒน์ เพราะแนวคิดศาลต้องตีความเคร่งครัดถือเป็นแนวคิดที่ต้องการให้ผู้พิพากษาในระบบคอมมอนลอว์ สละการใช้แนวคิดตุลาการภิวัฒน์ (Abdication of Judicial Activism) และไม่ให้แนวคิดตุลาการภิวัฒน์ในการทำคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษา แต่อย่างไรก็ดี มีนักกฎหมายอีกฝ่ายมองว่าศาลอาจตีความเกินไปกว่าลายลักษณ์อักษรหรือ “Excessive Legalism” ย่อมถือเป็นเรื่องดี เพราะทำให้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจและวินิจฉัยของตนในการแก้ปัญหาข้อขัดแย้งในประเทศบางประการภายใต้รัฐธรรมนูญที่ไม่สามารถหาทางออกได้ (Resolution of National Conflict) ด้วยเหตุนี้ แนวคิดที่ศาลอาจตีความเกินไปกว่าลายลักษณ์อักษรและแนวคิดตุลาการภิวัฒน์จึงอาจถือเป็นเรื่องเดียวกันที่เปิดโอกาสให้ศาลได้ใช้ดุลพินิจในการตีความในกรณีที่ยังไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้หรือในประเด็นที่เกิดความคลุมเครือ

[3] พัฒนาการของตุลาภิวัฒน์ภายใต้ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์

แม้ว่าแนวคิดตุลาการภิวัฒน์กับแนวคิดศาลต้องตีความโดยเคร่งครัดโดยพิจารณาจากลายลักษณ์อักษรของกฏหมายจะแตกต่างกันสักเพียงใดก็ตาม แต่ระบบคอมมอนลอว์ของประเทศอังกฤษในปัจจุบันก็ได้มีการพยายามพัฒนากฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นมาหลายฉบับ (Statute Law) เพื่อกำหนดมาตรการในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เพราะประเทศอังกฤษเองไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร ด้วยเหตุนี้ ประเทศอังกฤษที่ไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร จึงอาศัยกลไกของสถาบันทางการเมืองต่างๆประกอบกับพระราชบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรในการกำหนดกลไกทางปกครองเพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

พระราชบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างบริบทของกฎหมายรัฐธรรมนูญ (Constitutional texts) และเครื่องมือในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (Human Rights Instruments) ดังนี้แล้ว การตีความของศาลยุติธรรมในระดับต่างๆ ในระบบคอมมอนลอว์ ควรตีความอันก่อให้เกิดความยุติธรรมและเหมาะสมเพื่อให้ได้คำวินิจฉัยที่ยุติธรรมและสอดคล้องกับพระราชบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษร นอกจากนี้ ศาลจำต้องไม่ตีความในลักษณะที่ผิดไปกว่าเจตนารมณ์หรือลายลักษณ์อักษรที่ได้บัญญัติไว้ (Extraordinary Creation) แต่อย่างไรก็ดี มีนักกฎหมายหลายท่านมองในมุมกลับกันว่า ในประเทศคอมมอนลอว์บางประเทศที่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ เช่น ประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น และรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรของประเทศนั้นๆ ไม่ได้กำหนดหรือบัญญัติหลักการต่างๆ ไว้ครอบคลุมทุกบริบทหรือไม่ได้บัญญัติหลักการหลายประการให้เหมาะสมกับความเป็นจริงทางการเมือง (Political Reality) ศาลอาจใช้การตีความโดยอาศัยแนวคิดตุลาการภิวัฒน์เพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองหรือปัญหาของสถาบันทางการเมืองก็ได้ อันถือเป็นลักษณะเด่นที่สำคัญประการหนึ่งของระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ในการเปิดโอกาศให้ศาลได้สร้างสรรค์คำพิพากษาได้เอง (Judicial Creativity) อนึ่ง แม้การตีความตามแนวคิดตุลาการภิวัฒน์อาจแก้ปัญหาข้อบกพร่องในรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรและสภาพปัญหาที่แท้จริงทางการเมืองที่เกิดขึ้น รวมไปถึงกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง แต่อย่างไรก็ดี การตีความดังกล่าวอาจอาศัยความคลุมเครือ (Ambiguity) และความไม่แน่นอน (Uncertainty) ของของกฎหมายลายลักษณ์อักษรจนนำไปสู่การตีความเกินไปกว่าลายลักษณ์อักษรหรือ “Excessive Legalism” ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้นได้

[4] การตีความรัฐธรรมนูญภายใต้แนวคิดตุลาการภิวัฒน์

จากที่กล่าวมาในข้างต้น การตีความของรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรโดยมากจะตีความโดยอาศัยแนวคิดที่ศาลต้องตีความโดยเคร่งครัดหรือ “Strict Legalism” กล่าวคือ ศาลต้องอาศัยการตีความตามลายลักษณ์อักษรหรือตามตัวอักษรมาแปลหลักการและเนื้อความในลายลักษณ์อักษร แต่อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรเป็นสิ่งที่ทำการแก้ไขเพิ่มเติมได้ยากและต้องมีกระบวนการทางนิติบัญญัติหลายชั้นกว่าจะเพิ่มเติมหรือแก้ไขเนื้อความในรัฐธรรมนูญได้ ดังนั้น การที่แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ยากและมีกระบวนการแก้ไขที่ซับซ้อน ซึ่งถือเป็นหลักการอย่างหนึ่งในการทำให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศภายใต้หลักรัฐธรรมนูญนิยม ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นการเปิดช่องประการหนึ่งให้ศาลของประเทศที่ใช้ระบบคอมมอนลอว์และมีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร อาศัยแนวคิดตุลาการภิวัฒน์ในการตีความประเด็นที่ไม่ชัดเจนและมีความกำกวม  (Ambiguous Constitutional Implication) ข้อสังเกตุประการหนึ่งจากคำศัพท์ภาษาอังกฤษของตุลาการภิวัฒน์หรือ “Judicial Activist” คำว่า “Activist” นั้นหมายถึง “ศาล” ต้องเป็นผู้มีบทบาทในการพิจารณาวินิจฉัยตีความรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรด้วยตนเองและอาจอาศัยทัศนคติของตนหรือความเชื่อของตนที่คิดว่าสิ่งนั้นเป็นการอำนวยความยุติธรรมให้กับสังคมมาตัดสินคดี โดยศาลหวังจะเติมเต็ม (Fulfill) รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร

ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีข้อแตกต่างระหว่างแนวคิดศาลต้องตีความโดยเคร่งครัดหรือ “Strict and Complete Legalism” กับแนวคิดตุลาการภิวัฒน์หรือ “Judicial Activist” อย่างชัดเจน แต่อย่างไรก็ดี ทั้งการตีความสองประการต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน ซึ่งต้องยอมรับว่าการตีความโดยอาศัยแนวทางตุลาการภิวัฒน์หรือ “Judicial Activist” ก็มีข้อจำกัดอย่างมากในด้านของความโปร่งใส่ (Judicial Transparency) เพราะการอาศัยแนวคิดดังกล่าวมาตีความย่อมทำให้เปิดโอกาศให้ศาลหรือตุลาการที่มีอคติส่วนตน นำความเชื่อเกี่ยวกับปัญหาสาธารณะและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพการเมืองบางประการ มาทำคำพิจารณาพิพากษาของตน

[5] บทสรุป

ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ที่ไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรหรือระบบคอมมอนลอว์ที่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ประเทศไทยเป็นประเทศที่อาศัยระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรในกระบวนการยุติธรรม ในทางตรงกันข้าม ต้องยอมรับว่าอิทธิผลในการตีความรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรส่วนหนึ่งได้รับมาจากผู้ที่ร่ำเรียนและสำเร็จการศึกษาจากประเทศระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ ซึ่งการตีความของศาลโดยอาศัยแนวคิดตุลาการภิวัฒน์ ซึ่งแม้ว่าจะมีข้อดีอยู่บางประการดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้น แต่จำต้องพึงระลึกไว้เสมอว่าวิกฤติการทางการเมืองที่ประชาชนแบ่งออกเป็นหลายขั้วหลายฝักหลายฝ่ายในปัจจุบัน ศาลหรือตุลาการจำต้องตีความเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเคารพในความเป็นสูงสุดของรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร นอกจากนี้ ศาลไม่ควรอาศัยแนวคิดตุลาการภิวัฒน์ไปสร้างบรรทัดฐานหรือพยายามทำตนเป็นสถาบันนิติบัญญัติเสียเอง ด้วยเหตุนี้ การตีความหรือพิจารณาความของศาลรัฐธรรมนูญจึงจำเป็นต้องมี วิธีสบัญญัติของศาลรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายวิธิพิจารณาความของศาลรัฐธรรมนูญเฉพาะขึ้น เพื่อกำหนดกลไกในการควบคุมศาลไม่ให้ใช้ดุลพินิจอย่างกว้างขวางเกินไปกว่าลายลักษณ์อักษรและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ทั้งยังเป็นการสร้างความโปร่งใสในการพิจารณาวินิจฉัยคดี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักข่าวพลเมือง: 'วิทยาลัยวันศุกร์' แถลงข่าว “ทำไมคนไทยต้องใช้น้ำมันแพง!!!”

Posted: 21 Jul 2012 06:09 AM PDT

วิทยาลัยวันศุกร์ หาดใหญ่ จ.สงขลา ร่วมกับรสนา โตสิตระกูลและคณะ แถลงข่าว “การตรวจสอบนโยบายพลังงานของรัฐ” ชี้น่าสงสัยว่าจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนในหมู่ข้าราชการ ธุรกิจพลังงาน กับผู้รับสัมปทาน

21 กรกฎาคม 2555 เวลา 13:30 น. วิทยาลัยวันศุกร์ หาดใหญ่ จ.สงขลา ร่วมกับรสนา  โตสิตระกูล ประธานกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา และคณะ ร่วมกันแถลงข่าว “การตรวจสอบนโยบายพลังงานของรัฐ” ณ โรงแรมเอเซี่ยน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

โดยรสนา  โตสิตระกูล ประธานกรรมาธิการฯ และ มล.กรกสิวัฒน์  เกษมศรี เปิดเผยข้อเท็จจริงมีเนื้อหาโดยสรุปว่า ”บริษัทต่างชาติขุดเจาะปิโตรเลียมในประเทศไทยในปริมาณมาก  หากพิจารณาเพียงพื้นที่หน้าทะเลสงขลาก็จะพบว่าขุดเจาะได้ถึงปีละ 1,260 ล้านลิตร หรือกว่า 25,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนมากมายมหาศาล แต่ผลประโยชน์ที่คนในประเทศไทย หรือคนสงขลาเองได้รับกลับไม่เป็นธรรม ทุกภาคส่วนกลับต้องทนแบกรับกับราคาน้ำมันที่แพงมาก การจัดการของภาครัฐจึงน่าสงสัยว่าจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนในหมู่ข้าราชการ ธุรกิจพลังงาน กับผู้รับสัมปทาน ที่สำคัญการบริหารจัดการดังกล่าวขัดแย้งกับข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่กล่าวถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ”

ทางวิทยาลัยวันศุกร์ โดยนายครุศักดิ์  สุขช่วย ผู้ประสานงาน แถลงเพิ่มเติมว่า “วิทยาลัยวันศุกร์และชาวสงขลาขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนชาวไทยร่วมกันเรียกร้องให้รัฐนำข้อเท็จจริงเรื่องพลังงานประเทศไทย เปิดเผยความจริงต่อประชาชนโดยเร่งด่วน ให้คนไทยได้ใช้น้ำมันราคาถูกสมเหตุสมผลกับต้นทุนและความเป็นจริง โดยมีรายละเอียดการเรียกร้องดังนี้ 1. ขอให้รัฐบาลเปิดเผยปริมาณและการจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมของไทย 2.ให้รัฐบาลแก้ไขส่วนแบ่งปิโตรเลียมของไทยให้ได้ไม่น้อยกว่า 82 % เช่นเดียวกับประเทศโบลิเวีย ซึ่งมีปริมาณปิโตรเลียมน้อยกว่าประเทศไทย  3. แก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียมให้ทรัพยากรปิโตรเลียมเป็นของประชาชนมิใช่ของรัฐ 4. แก้กฎหมายไม่ให้ข้าราชการกระทรวงพลังงานไปเป็นกรรมการในบริษัทพลังงาน และ 5. ให้ประชาชนไทยโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่สัมปทานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทรัพยากรปิโตรเลียมของประเทศ”

โดยคณะผู้แถลงข่าวยืนยันว่าจะเดินหน้าให้ข้อเท็จจริงกับพี่น้องประชาชนคนไทย รับรู้ความจริงและร่วมกันออกมาเป็นพลังเรียกร้องรัฐบาลแก้ปัญหาให้ได้ในที่สุด ก่อนจะจบการแถลงข่าวและแลกเปลี่ยนซักถามเวลาประมาณ 14:30 น.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กองทัพซีเรียโต้กลับ ด้านกลุ่มกบฏไล่ยึดด่านพรมแดน

Posted: 21 Jul 2012 05:48 AM PDT

6 วันหลังกลุ่มกบฏในซีเรียประกาศปฏิบัติการรุกหนักในเมืองหลวง ล่าสุดกองทัพรัฐบาลซีเรียโต้กลับและยึดย่านมีดาน ของดามาสกัสไว้ได้ ขณะที่กลุ่มกบฏหันไปต่อสู้เชิงตีแล้วถอยในย่านอื่น และมีบางส่วนบุกยึดด่านข้ามพรมแดน อิรักและตุรกี

21 ก.ค. 2012 - สถานการณ์การปะทะกันระหว่างกลุ่มกบฏและทหารฝ่ายรัฐบาลในกรุงดามาสกัส เมืองหลวงของประเทศซีเรีย ล่าสุดสำนักข่าวอัลขาซีร่ารายงานว่า กองกำลังทหารพร้อมรถถังและเฮลิคอปเตอร์สามารถยึดย่านมีดานกลับจากกองกำลังกบฏได้แล้ว แต่ฝ่ายกบฏก็สามารถยึดครองพื้นที่อื่นรวมถึงจุดข้ามแดนได้

เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา กองกำลังของซีเรียได้ขับไล่กองกำลังกบฏออกจากบางย่านในกรุงดามาสกัสได้ และจากการต่อสู้ที่รุนแรงที่สุดในสัปดาห์นี้เป็นเหตุให้มีเศษซากรถยนต์และร่างของนักรบอยู่ตามท้องถนน

นักกิจกรรมเปิดเผยว่า มีคนถูกสังหาร 200 คนภายในวันเดียว เมื่อทหารพยายามเรียกแรงผลักดันคืน หลังจากถูกระเบิดที่ทำให้การนำของรัฐบาลหยุดชะงัก

สื่อรัฐบาลรายงานว่ากรณีเหตุระเบิดเมื่อวันพุธ (18) ที่ผ่านมา ในที่ประชุมความมั่นคงระดับสูงของซีเรีบ มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม คือ ฮิสซัม อิคติยาร์ หัวหน้าหน่วยงานความมั่นคงซึ่งเสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บ เขาเป็นหนึ่งในกลุ่มวงในของปธน. บาชาร์ อัล-อัสซาด ของซีเรีย

เหตุระเบิดเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ถือเป็นแรงสะเทือนอย่างใหญ่หลวงต่ออัสซาด เป็นเหตุให้รมต.กลาโหม น้องเขยผู้มีอิทธิพล และเจ้าหน้าที่ความมั่นคง เสียชีวิต บุคคลทั้งหมดนี่มีบทบาทเป็นศูนย์กลางในการสั่งปราบปรามผู้ที่ลุกฮือขึ้นต่อต้านการปกครองของเขา

อัลจาซีร่ารายงานว่า การต่อสู้ดำเนินมาเป็นวันที่ 6 แล้ว และการที่ยังมีการต่อสู้ในย่านต่างๆ ของเมืองหลวง รวมถึงการสูญเสียจุดข้ามแดนหลายจุดให้กับฝ่ายกบฏ แสดงให้เห็นว่าอัสซาดกำลังสูญเสียอำนาจ

กลุ่มกบฏ 'ล่าถอยเชิงยุทธศาสตร์'

นักกิจกรรมเปิดเผยว่ากองกำลังของรัฐบาลสามารถยึดย่านมีดาน ทางตอนใต้ของกรุงดามาสกัสคืนมาได้ แต่ทางกลุ่มกบฏก็ได้เปิดฉากการสู้รบรอบใหม่ในหลายย่านของเมืองหลวง

ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า ในการสู้รบมีทั้งกาใช้รถถัง เฮลิคอปเตอร์ ปืนตรก ทำให้หลายส่วนในดามาสกัสกลายเป็นพื้นที่สงคราม ทำให้ชาวซีเรียหลายครอบครัวพากันขับรถไปออกกันที่ด่านตรวจชายแดนติดกับเลบานอน

"กองทัพวีรชนของพวกเราได้กวาดล้างกลุ่มผู้ก่อการร้ายออกจากเขตมีดานแล้ว" สถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลประกาศ พวกเขาเรียกกลุ่มกบฏว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย

โทรทัศน์ของรัฐบาลยังได้เปิดเผยอีกว่า พวกเขาสามารถยึดอาวุธจำนวนมากได้ ได้แก่ปืนกล, ระเบิดคาดเอว, จรวดติดระเบิด และเครื่องมือสื่อสาร

นักกิจกรรมในกรุงดามาสกัส คาเล็ด อัล-ชามี บอกว่ากลุ่มกบฏได้ล่าถอย "ในเชิงยุทธศาสตร์" เมื่อวันที่ 20 ก.ค. เพื่อไม่ให้มีการยิงอาวุธหนักโจมตีใส่ประชาชนอีกต่อไป หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายปะทะกันมา 5 วันแล้ว

มีรายงานการปะทะที่ย่าน บาร์เซห์ และ รุคเนดดีน ทางตอนเหนือของดามาสกัส ด้านกลถ่มนักสิทธิมนุษยชนในซีเรียเปิดเผยว่ามีกองกำลังกบฏเข้าจู่โจมสถานีตำรวจบนถนน คาเล็ด บิน วาลีด ซึ่งกำลังเปิดการปะทะอย่างหนัก

นักกิจกรรมในซีเรียอีกคนที่ชื่อ บาเชียร์ อัล-ดีมาชคี บอกว่ากลุ่มกบฏกำลังใช้วิธีการจูโจมแล้วล่าถอยฉับพลัน (Hit and Run) และเน้นเข้าโจมตีใส่เป้าหมายที่เป็นหน่วยวามมั่นคง แทนวิธีการแบบยึดพื้นที่

"ยุทธศาสตร์นี้เป็นการทำให้หน่วยงานรัฐกลายเป็นอัมพาต และทำให้รัฐบาลแตกเป็นเสี่ยงๆ" บาเชียร์กล่าว

นักกิจกรรมเปิดเผยว่ามีคนเสียชีวิตทั้งหมด 310 คนในเหตุรุนแรงทั่วประเทศซีเรียเมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา ทำให้กลายเป็นวันที่มีการปะทะรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ที่มีการลุกฮือ

ยึดด่านพรมแดน

ขณะที่มีการต่อสู้ในเมืองหลวงเมื่อวันศุกร์ เมื่อวันพฤหัสฯ (19) ที่ผ่านมา นายพลจัตวากองทัพบกของประเทศอิรัก กัสซิม อัล-ดูไลมี กล่าวว่า มีกองกำลังกบฏจำนวนหนึ่งเข้ายึดเขตรอยต่อระหว่างพรมแดนซีเรียกับเมืองกออิม (Qaim) ประเทศอิรัก หลังจากที่เกิดการปะทะกันและกองกำลังกบฏได้สังหารทหารซีเรียไป 21 ราย โดยที่อิรักมีด่านพรมแดนสำคัญอยู่ 4 แห่ง

นอกจากนี้แล้วยังมีวีดิโอของมือสมัครเล่นที่เผยแพร่ในอินเตอร์เน็ต แสดงให้เห็นภาพของกลุ่มกบฏยึดด่านพรมแดน บับ อัล-ฮาวา ที่ต่อกับประเทศตุรกี พวกเขาเหยียบย่ำรูปของอัสซาด โดยที่ไม่มีใครสามารถระบุที่มาของวีดิโอนี้ได้

เจ้าหน้าที่ของตุรกีในเมืองเรฮานลี ซึ่งเป็นเขตชายแดนติดกับด่าน บับ อัล-ฮาวา ยืนยันว่ามีกลุ่มกบฏได้เข้ายึดครองการข้ามพรมแดน แต่ก็ไม่สามารถยืนยันข้อมูลสถานการณ์ล่าสุดจากฝั่งซีเรียได้

ผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่า อิสซิล ซารียูซ รายงานจากด่าน บับ อัล-ฮาวา ในช่วงคืนวันที่ 20 ก.ค. บอกยังไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้ที่ควบคุมด่านพรมแดนของซีเรียกันแน่

"ด่านข้ามแดนถือเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับกองกำลังปลดปล่อยซีเรีย (FSA) มากทั้งในทางยุทธศาสตร์และในเชิงสัญลักษณ์ หากพวกเขาสามารถควบคุมมันได้ ก็จะทำให้พวกเขาควบคุมเส้นทางขนถ่ายเสบียงให้กับนักรบของพวกเขาได้ และด่านนี้ยังเป็นจุดข้ามแดนระหว่างตุรกีกับซีเรียอีกด้วย" ผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่ากล่าว

เจ้าหน้าที่ทางการของอิรักเปิดเผยว่าด่านข้ามแดนสำคัญสองแห่งยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลซีเรีย

ที่มา:
Syria strikes back at rebels in Damascus, Aljazeera, 21-07-2012
http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2012/07/2012720142235155363.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อาร์เจนตินา: สิบปีที่ไม่มีดาริโอและมักซี

Posted: 21 Jul 2012 05:10 AM PDT

ปีเกเตโรส์ แห่งอาร์เจนตินา ผู้เป็นตัวแทนคนรุ่นขบถ

คุณไม่จำเป็นต้องเคยพบดาริโอ ซันตีญานเพื่อรู้จักเขา  กระนั้น คุณก็น่าจะรู้จักเขาอยู่แล้ว

แม้ว่าความตายของเขาเป็นเรื่องที่โจษจันกันมาก  แต่การทำงานในแนวทางสมานฉันท์และการเป็นผู้นำระดับรากหญ้าในช่วงชีวิตสั้น ๆ ของเขาต่างหากที่นิยามความเป็นตัวตนของเขา  มันเป็นคุณสมบัติที่ดำรงอยู่ต่อไปในขบวนการสังคมที่เขามีส่วนร่วมสร้างขึ้นมา  หลังจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและการลุกฮือทางสังคมในอาร์เจนตินาเมื่อปี ค.ศ. 2001  ซันตีญานถูกตำรวจอาร์เจนตินายิงเสียชีวิตพร้อมกับเพื่อนนักเคลื่อนไหว มักซีมิเลียโน คอสเตกี  แต่จิตวิญญาณแห่งการขัดขืนของทั้งสองยังคงมีชีวิตชีวาโลดแล่นในตัวนักจัดตั้งอีก 15,000 คน ที่มาชุมนุมกันในวันอังคาร [26 มิถุนายน] เพื่อรำลึกวันครบรอบสิบปีของการเสียชีวิตและการเรียกร้องหาความยุติธรรม

สมาชิกจากองค์กรของคนงานไร้งาน นักศึกษา แรงงานค่าจ้างต่ำและองค์กรฝ่ายซ้ายอื่น ๆ รวมแล้วหลายร้อยองค์กร ร่วมกันปิดสะพานปูเอนเตปวยรีโดน ซึ่งเป็นสะพานเชื่อมกรุงบัวโนสไอเรสกับย่านชานเมืองทิศใต้  จากนั้นพวกเขายกขบวนลงมายังสถานที่ที่ซันตีญานและคอสเตกีถูกยิงตาย  ผู้เข้าร่วมจำนวนมากเป็นเพื่อน สมาชิกในครอบครัวและกอมปันเญอโร (สหาย) ที่ไม่เคยปล่อยให้วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปีผ่านไปโดยปราศจากงานชุมนุมรำลึกข้ามคืนมาตั้งแต่ ค.ศ. 2002

“ผมรู้สึกภูมิใจที่เป็นพ่อของดาริโอ” อัลแบร์โต ซันตีญานกล่าว  เขายืนอยู่ที่หัวขบวน  เมื่อมองดูกลุ่มนักเคลื่อนไหวหนุ่มสาวจำนวนมาก  เขาบอกว่าไม่เคยรู้สึกโดดเดี่ยว แต่รู้สึกมีเพื่อนร่วมทางเสมอ  “ในตัวของพวกเขาและเธอแต่ละคน ผมมองเห็นลูกชายของผม”

สัญลักษณ์ของคนรุ่นขบถ

คอสเตกีและซันตีญานไม่ได้เป็นแค่เหยื่อการกดขี่ของรัฐ  แต่เป็นสัญลักษณ์ของคนหนุ่มสาวชนชั้นแรงงานรุ่นใหม่ที่ตอบโต้ต่อความยากจนขั้นร้ายแรงในอาร์เจนตินา  หนึ่งทศวรรษของนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ในอาร์เจนตินาทำให้หลาย ๆ เมืองปราศจากงาน การศึกษาและสาธารณูปโภคพื้นฐาน อันเป็นชนวนให้เกิดขบวนการปีเกเตโรส์ละแวกบ้านและขบวนการแรงงานไร้งาน (MTDs) ขึ้น [1] เนื่องจากไม่มีกระบอกเสียงทางการเมือง ขบวนการเหล่านี้จึงใช้วิธีเรียกร้องด้วยการปิดถนนสายสำคัญ ๆ และขัดขวางการขนส่งสินค้าเข้าสู่เมืองหลวง

ซันตีญานอาศัยอยู่ในโครงการเคหะของชนชั้นแรงงานในละแวกบ้านดอนโอริโอเน และเริ่มมีบทบาทในสหภาพนักเรียนไฮสกูลตั้งแต่อายุ 17  แต่เมื่อความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานไร้งานเติบโตมากขึ้นในละแวกบ้านรอบนอก  เขาก็เข้าร่วมกับ MTD แห่งหนึ่งในเมืองใกล้ ๆ ชื่อลานุสและเริ่มทำงานกับเยาวชน

“เขาเข้ามาหาเราและต้องการมีส่วนร่วม” วอลเตอร์ บอร์เดการ์รี สมาชิกคนหนึ่งของ MTD Lanús รำลึกความหลัง

“เนื่องจากเขาเป็นเด็กหนุ่มที่ได้เรียนหนังสือ  เขาจึงเริ่มสอน กอมปันเญอโร บางคนในละแวกบ้านนี้เกี่ยวกับการทำข่าวและสื่อ”  ซันตีญานจัดเวิร์คช็อปอบรมสมาชิกของ MTD เกี่ยวกับการวิเคราะห์หนังสือพิมพ์และทำความเข้าใจว่า สื่อรายงานข่าวความเคลื่อนไหวของขบวนการ ปีเกเตโรส์ ว่าเป็นปัญหาเยาวชนมั่วสุม โดยไม่สนใจข้อเรียกร้องของพวกเขา  ซันตีญานช่วยก่อตั้งกลุ่มในเมืองลานุสในชื่อว่า Juventud Piquetero (กลุ่มเยาวชนปีเกโตโร) โดยมีกลุ่มเป้าหมายอยู่ที่คนหนุ่มสาวในช่วงวัยยี่สิบที่มีครอบครัวและไม่มีงานทำ  บอร์เดการ์รีกล่าวว่า ซันตีญานต้องการช่วยคนกลุ่มนี้ให้หลุดพ้นจากโลกของยาเสพย์ติดและอาชญากรรม

“เขานึกถึงคนอื่นอยู่เสมอ และคอยสอบถามพวกเราว่ามีที่อยู่อาศัยและมีงานทำหรือเปล่า”

ใน ค.ศ. 2001 ซันตีญานย้ายไปที่ละแวกบ้านลาเฟ่อันเสื่อมโทรม เพื่อช่วยจัดตั้งครอบครัวจำนวนหนึ่งที่กำลังจะไร้ที่พักพิงให้เข้าไปตั้งนิคมในที่ดินว่างแปลงหนึ่ง

ด้วยความที่มีบุคลิกเป็นผู้นำมีวินัย มุ่งมั่นและพูดจาเด็ดเดี่ยว ทั้งยังไว้เคราหนา ซันตีญานมีบุคลิกภาพของคนที่แก่เกินวัย  กอมปันเญอโร จำนวนมากไม่เคยล่วงรู้อายุที่แท้จริงของเขาจนกระทั่งวันที่เขาเสียชีวิต  เขาอายุแค่ 21 ปี

ส่วนคอสเตกีนั้นตรงข้ามกับซันตีญาน  เขาเพิ่งเข้าร่วมขบวนการแรงงานไร้งานได้ไม่นาน  “เขามาทำงานในครัวรวมและจัดเวิร์คช็อปด้านศิลปะ”  วานินา คอสเตกี พี่สาวของเขาเล่า  เธอคล้องแขนอยู่กับอัลแบร์โต ซันตีญาน  “วันนั้นเป็นการมาชุมนุมครั้งแรกของเขา”  คอสเตกีอายุ 23 ปี

การสังหารหมู่ที่อาเวญาเนดา

ระหว่างการลุกฮือของประชาชนในวันที่ 19 และ 20 ธันวาคม ค.ศ. 2001 ประชาชนเสียชีวิตด้วยเงื้อมมือตำรวจไปแล้วถึง 39 คน  เมื่อประธานาธิบดีเฉพาะกาล นายเอดูอาร์โด ดูอัลเด ขึ้นดำรงตำแหน่งในเดือนมกราคม ค.ศ. 2002  เขาเดินหน้า “สร้างระเบียบ” ให้สังคมและสานต่อนโยบายปราบปรามการประท้วง

ในวันที่ 26 มิถุนายน ขบวนการแรงงานไร้งานและสมัชชาละแวกบ้านทั่วทั้งกรุงบัวโนสไอเรสและปริมณฑลร่วมกันวางแผนปิดถนนเข้าออกเมืองหลวงทุกสาย  ซันตีญานและคอสเตกีเป็นส่วนหนึ่งของ MTD สาขาอานิบัลเวโรน ซึ่งประกอบด้วย MTD ย่อย ๆ หลายสิบแห่งมารวมตัวกัน และรับผิดชอบปิดสะพานปูเอนเตปวยรีโดนในเมืองอาเวญาเนดา

นักจัดตั้งทุกคนรู้ดีว่ามีความเสี่ยงที่จะถูกปราบปราม  แต่ไม่มีใครเตรียมตัวรับมือกับสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญจริง ๆ   ตำรวจที่มาปราบปรามไม่ได้ติดอาวุธแค่แก๊สน้ำตาและกระสุนยาง แต่มาพร้อมปืนลูกซองบรรจุกระสุนจริง  ตำรวจยิงกราดเข้ามาในแถวของปีเกเตโรส์  ซึ่งมีทั้งผู้หญิงและเด็ก

“พวกเราวิ่งหนีเข้ามาในนี้และวิ่งไปตามสะพาน” บอร์เดการ์รีเล่าพลางเดินย้อนไปตามเส้นทางเดิมเมื่อสิบปีก่อน  “เราพยายามพาเด็ก ๆ หนีออกไปก่อน  พร้อมกับพวกแม่ที่มีรถเข็นเด็กและคนแก่”

พอถึงตรงถนน คอสเตกีก็ถูกยิง  เพื่อนผู้ประท้วงที่หนีมาด้วยกันได้ยินเสียงเขาร้อง จึงช่วยลากร่างของเขาไปอีกช่วงถนนหนึ่งเพื่อหลบเข้าไปในสถานีรถไฟอาเวญาเนดา  ซันตีญานอยู่ในนั้น  ดาริโอบอกให้เพื่อนคนนั้นวิ่งหนีไปและบอกว่าเขาจะอยู่กับมักซีมิเลียโนเอง  จังหวะนั้นเอง ผู้บัญชาการตำรวจอัลแบร์โต ฟานชิออตตีก็ยิงใส่ซันตีญานที่ด้านหลัง  นักข่าวหลายคนในที่เกิดเหตุถ่ายวิดีโอและถ่ายภาพการฆาตกรรมไว้ได้   ภาพที่สะเทือนใจที่สุดในวันนั้นคงเป็นภาพของซันตีญานที่ก้มอยู่เหนือร่างคอสเตกี  ยกมือขึ้นวิงวอนตำรวจให้หยุดยิง

การต่อสู้เพื่อความยุติธรรม

เหตุการณ์วันที่ 26 มิถุนายนกลายเป็นหมุดหมายทั้งต่อขบวนการปีเกเตโรส์ และสังคมอาร์เจนตินาทั้งสังคม  เพราะมันเปิดโปงให้เห็นการใช้ความรุนแรงของรัฐโดยไร้ความปรานี   ประธานาธิบดีดูอัลเดประกาศให้มีการเลือกตั้งเร็วขึ้นกว่ากำหนด  และประธานาธิบดีคนต่อมา นายเนสเตอร์ เคียร์ชเนอร์นำนโยบาย “งดเว้นการปราบปราม” การชุมนุมประท้วงของประชาชน

บอร์เดการ์รีกล่าวว่า สำหรับขบวนการสังคม “มันเป็นการสูญเสียอย่างใหญ่หลวง”  กระนั้นก็ตาม ครอบครัวของผู้ตายและเพื่อนนักเคลื่อนไหวก็ไม่ยอมเสียเวลา  พวกเขาลงไปตามท้องถนนอีกครั้งเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม

ใน ค.ศ. 2006  หลังจากต่อสู้อยู่สี่ปี  อดีตผู้บัญชาการตำรวจอัลแบร์โต ฟานชิออตตีและคนขับรถ อเลฆันโดร อาโกสตา ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต  นอกจากนี้ก็มีตำรวจอีกเจ็ดนายได้รับโทษจำคุก  แต่นักการเมืองที่สั่งการปราบปรามในวันนั้น กล่าวคือ อดีตประธานาธิบดีดูอัลเด อดีตผู้ว่าการกรุงบัวโนสไอเรส ปัจจุบันคือวุฒิสมาชิกการ์โลส โซลา รวมทั้งคนอื่น ๆ  ยังคงไม่ถูกดำเนินคดี

“เรายังพยายามต่อสู้เพื่อดำเนินคดีและลงโทษทุกคนที่รับผิดชอบทั้งโดยตรงและในทางการเมือง” วานินา คอสเตกีกล่าว “ตอนนี้เราพบว่าคดีฟ้องร้องผู้มีอำนาจเหล่านี้ถูกเก็บเข้าแฟ้มไปแล้ว”

แต่ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ขบวนการไม่ได้ปล่อยให้เรื่องอยู่ในศาลเพียงอย่างเดียว  ใน ค.ศ. 2004 นักเคลื่อนไหวร่วมกันก่อตั้งองค์กร Frente Popular Dario Santillán (แนวหน้าประชาชนดาริโอซันตีญาน) องค์กรอิสระหลายภาคส่วนที่มีกลุ่มสมาชิกทั่วทั้งอาร์เจนตินา  หลายปีที่ผ่านมา องค์กรนี้ช่วยประสานงานให้การประท้วง ปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้าและโปสเตอร์รณรงค์ต่อต้านอดีตประธานาธิบดีดูอัลเด  รวมไปถึงการตั้งเต็นท์หน้าที่อยู่อาศัยของเขา  ทำให้เขาไม่สามารถชุบตัวรอดพ้นจากเหตุการณ์ครั้งนั้นหรือกอบกู้ชื่อเสียงทางการเมืองกลับคืนมา

“เราเลือกใช้วิธีการระดมมวลชนและใช้การประณามทางสังคม ซึ่งทำให้อดีตประธานาธิบดีดูอัลเดมีผลงานย่ำแย่ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด”  เฟเดริโก ออร์ชานีกล่าว  เขาเป็นโฆษกขององค์กรแนวหน้าประชาชนดาริโอซันตีญาน

การต่อสู้ขยายตัว

ในขณะที่รัฐบาลเนสเตอร์ เคียร์ชเนอร์และคริสตินา เฟร์นันเดซ เด เคียร์ชเนอร์พยายามอ้างว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเสาหลักทางการเมืองของรัฐบาลทั้งสอง  แต่ความตายของซันตีญานและคอสเตกีไม่ใช่รายสุดท้ายที่เสียชีวิตในเงื้อมมือตำรวจอาร์เจนตินาในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

“เรายังมีการเสียชีวิต การถูกอุ้มให้สาบสูญ เรายังมีรัฐบาลที่ปกปิดความรับผิดชอบทั้งในเชิงกายภาพและในเชิงการเมือง”  วานินา คอสเตกีกล่าว  เธอหยิบยกมาสองกรณีที่ถูกกล่าวขวัญถึงมากที่สุด  นั่นคือ การหายสาบสูญของฆอร์เก ฆูลิโอ โลเปซและลูเซียโน อาร์รูกา  โลเปซสาบสูญไปในปี ค.ศ. 2006 หลังจากให้การเป็นพยานโจทก์ในการฟ้องมิเกวล เอตเชโกลัตซ์ อดีตนายตำรวจที่ดูแลค่ายกักกันลับในช่วงเผด็จการทหาร  ส่วนอาร์รูกา เด็กหนุ่มวัยสิบหกปี หายตัวไปใน ค.ศ. 2009 หลังจากถูกจับและถูกตำรวจท้องถิ่นบัวโนสไอเรสทรมานหลังจากเขาไม่ยอมทำงานปล้นให้ตำรวจ

“สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้คือ สำนึกทางชนชั้นที่มักซีและดาริโอเคยมีและดำรงอยู่ในตัวทุกคนที่ต้องการต่อสู้ต่อไปเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมในประเทศนี้”  วานินากล่าว

MTD สาขาลานุส ซึ่งดาริโอเริ่มงานเคลื่อนไหวทางการเมือง ยังขยายตัวออกไปอย่างเข้มแข็ง  ซันตีญานช่วยเริ่มต้นโครงการโรงเรียนไฮสกูลมวลชนเอาไว้  บอร์เดการ์รีกล่าวว่า ตอนนี้สมาชิกที่เคยจบแค่โรงเรียนระดับประถมกำลังศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของรัฐ

“เราพยายามสานต่อสิ่งที่เขามุ่งมั่นและสิ่งที่เขาจะทำต่อไป”

“พวกนั้นไม่ได้ฆ่าเขา  พวกนั้นทำให้เขามีจำนวนเพิ่มขึ้นต่างหาก”  อัลแบร์โต ซันตีญานกล่าวถึงลูกชาย  “ผมคิดว่าดาริโอล่องลอยอยู่เหนือพวกเราที่นี่ในวันนี้  อาจกำลังสูบบุหรี่ ดื่มชามาเต และมองลงมาดูพวกเราด้วยรอยยิ้มสดใสบนใบหน้า”

 

เชิงอรรถ

[1] http://upsidedownworld.org/main/argentina-archives-32/3411-remembering-the-social-movements-that-reimagined-argentina-2002-2012

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: ระบอบรัฐประหารโดยศาลรัฐธรรมนูญ

Posted: 21 Jul 2012 04:51 AM PDT

ฝ่ายประชาธิปไตยและพรรคเพื่อไทยดูเหมือนว่า จะได้รับ “ชัยชนะเล็ก ๆ” เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2555 ให้ยกคำร้องเรื่อง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.291 เป็นการ “ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ

ผลก็คือ ผู้ถูกร้องหรือผู้ที่เสนอร่างแก้ไขฯ จึงไม่มีความผิดตาม ม. 68 และผลอันเลวร้ายที่คาดกันไว้ก่อนคือ “ยุบพรรคการเมือง” ตามมาด้วยคดีอาญาและการถอดถอนตำแหน่งจึงไม่เกิดขึ้น

ในการรุกครั้งนี้ ฝ่ายเผด็จการได้ “ลงแรง” ไปมากพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สภาวะที่องค์กรตุลาการได้ทำลายเกียรติภูมิ ความศักดิ์สิทธิ์ และความน่าเชื่อถือของตนเองไปจนหมดสิ้น ไปปรากฎตัวเปลือยเปล่าอยู่บนเวทีต่อชาวโลกว่า มิได้เป็นองค์กรที่อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง ต้องวินิจฉัยกรณีทั้งปวงบนหลักการแห่งนิติรัฐและระบอบรัฐธรรมนูญ หากแต่เป็นเครื่องมือทางการเมือง เป็นคู่ขัดแย้งตรงข้ามกับประชาธิปไตย อ้างอิงหลักเหตุผลและข้อกฎหมาย นำประเด็นไปในทางที่เป็นผลเสียต่อพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ความจริงข้อนี้เป็นที่ประจักษ์แก่ทุกคนทุกฝ่าย แม้แต่ผู้ที่ไม่นิยมพรรคเพื่อไทยแต่ยังมี “จิตใจที่เป็นธรรม” อยู่บ้างก็ไม่อาจยอมรับการกระทำเช่นนี้

พวกเขาสูญเสียเกียรติภูมิความน่าเชื่อถือไปจนหมด แต่ก็ยังไม่สามารถนำไปสู่การโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามที่หวังไว้ได้ จึงกล่าวได้ว่า พวกเผด็จการได้ “ยอมถอยชั่วคราว” ในการรุกใหญ่ครั้งนี้ ซึ่งก็มิได้หมายความว่า พวกเขาจะไม่ก่อการรุกในลักษณะเดียวกันอีกในอนาคตอันใกล้

แม้ฝ่ายประชาธิปไตยและพรรคเพื่อไทยจะได้รับ “ชัยชนะเล็ก ๆ” ในเฉพาะหน้านี้ แต่ในระยะยาว ฝ่ายประชาธิปไตยได้สูญเสียทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญคือ ความเป็นเอกเทศและอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ

ในโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ 2550 ฝ่ายบริหารก็มีข้อจำกัดอย่างมากมายในการใช้อำนาจอยู่แล้ว โดยถูกควบคุมและคุกคามจากองค์กรตามรัฐธรรมนูญต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่อยู่ในมือของพวกเผด็จการจารีตนิยม องค์กรเหล่านี้กุมอำนาจเฉพาะด้านที่จะ “ถอดถอน” นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีได้ด้วยข้อกล่าวหาต่าง ๆ สารพัดทั้งคดีเลือกตั้ง คดีพรรคการเมือง คดีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และคดีอาญาอื่น ๆ แล้วแต่จะสรรหามาให้

จึงเหลืออยู่เพียงสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทนอำนาจนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แม้ประธานสภาและสส. อาจถูกถอดถอดเป็นรายบุคคลโดยองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่สภาผู้แทนราษฎรโดยรวมนั้น มีแต่ต้องถูกยุบโดยนายกรัฐมนตรีตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญ หรือถูกรัฐประหารโดยตรงเท่านั้น สภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นอาวุธชิ้นสำคัญที่สุดและเป็นอำนาจอันน้อยนิดที่มีอยู่ของฝ่ายประชาธิปไตยและของพรรคเพื่อไทย

เหตุการณ์ในครั้งนี้ โดยเนื้อแท้แล้วคือ การสถาปนาระบอบการเมืองใหม่ที่มีศาลรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจสูงสุดเหนืออำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติ ศาลรัฐธรรมนูญได้สถาปนาอำนาจนั้น ด้วยการตีความ “ยืดและหด” นัยของกฎหมายตามที่ตนต้องการ เพื่อไปบรรลุเป้าประสงค์ทางการเมืองของตน

เช่น ม. 68 ระบุให้คำร้องต้องผ่านอัยการสูงสุดก่อน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ตีความว่า ตนมีอำนาจรับคำรองได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านอัยการสูงสุด ซึ่งขัดกับปริบทและเจตนารมณ์ของ ม. 68 และขัดกับหลักปฏิบัติที่ผ่านมาของศาลรัฐธรรมนูญเองอีกด้วย

หลักการของระบอบรัฐธรรมนูญคือการแบ่งแยกอำนาจทั้งสาม อำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของฝ่ายนิติบัญญัติที่เป็นตัวแทนโดยตรงของประชาชนเท่านั้น ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ตีความว่า ตนมีอำนาจนั้นโดยอ้างว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ “อาจเป็นการล้มล้างระบอบการปกครอง” ซึ่งเข้าเงื่อนไข ม. 68 เป็นต้น

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมยิ่งเป็นตัวอย่างชัดแจ้งที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจที่มิได้อยู่ในรัฐธรรมนูญ ประเด็นในคำร้องคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.291 เป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ แต่กลับถูกลากไปโยงกับอีกประเด็น คือ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 สามารถแก้ไขเพิ่มเติมโดยยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่?” ในการนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ “แนะนำ” ว่า ให้แก้ไขเป็นรายมาตรา โดยอ้าง “เจตนารมณ์ของ ม.191” ทั้ง ๆ ที่ ม. 291 มิได้ห้ามการแก้ไขทั้งฉบับ อีกทั้งผู้ที่เคยมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 รวมทั้งตุลาการบางคนในศาลรัฐธรรมนูญปัจจุบันเอง ก็เคยแสดงทรรศนะไว้หลายแห่งว่า สามารถยกร่างใหม่ทั้งฉบับได้

ศาลรัฐธรรมนูญยังมี “คำแนะนำ” ต่อไปอีกว่า ถ้าจะร่างใหม่ทั้งฉบับ “ก็ควรที่จะไปทำประชามติก่อน” ซึ่งสร้างความงุนงงให้กับนักกฎหมายโดยทั่วกัน เพราะในรัฐธรรมนูญ 2550 นี้ ไม่มีบทบัญญัติใดเลยที่ระบุให้ต้องทำประชามติก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ตามหลักการแห่งระบอบรัฐธรรมนูญนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่อย่างแคบและจำกัดอยู่ที่การตีความและวินิจฉัยกฎหมายรัฐธรรมนูญเฉพาะในประเด็นเท่าที่มีผู้ร้องมาเท่านั้น ไม่มีหน้าที่ออกความเห็นหรือให้ “คำแนะนำ” ที่นอกเหนือไปจากประเด็นทางกฎหมายเฉพาะที่พิพาทกันอยู่แต่อย่างใด นัยหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญได้ทำสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่และไม่ใช่อำนาจของตน

สิ่งที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทำในกรณีทั้งหมดนี้ก็คือ “เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทุกวัน” ตามแต่จุดประสงค์ทางการเมืองของตน นี่จึงมิใช่เป็นเพียงแค่ศาลรัฐธรรมนูญได้สถาปนาอำนาจใหม่เหนืออำนาจนิติบัญญัติเท่านั้น แต่ยังเป็นอำนาจใหม่ที่ “อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ” อีกด้วย ทั้ง ๆ ที่ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่พวกเผด็จการรวมหัวกันร่างขึ้นหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

ที่น่าเศร้าคือ ท่าทีของแกนนำพรรคเพื่อไทยและของประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้มีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องต่อสู้ปกป้องอำนาจนิติบัญญัติที่มาจากประชาชน กลับไปยอมสยบ แสดงความหวาดกลัวจนลนลาน จำนนให้กับการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ยอมให้เกิดเป็นบรรทัดฐานใหม่ขึ้น ด้วยความต้องการแต่เพียงประการเดียวคือ เป็นรัฐบาลให้นานที่สุด แต่แก้ตัวให้ดูดีว่า “เพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือดของประชาชน”

สิ่งที่ฝ่ายประชาธิปไตยและพรรคเพื่อไทยจะเผชิญนับแต่นี้ไปคือ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะอ้างอำนาจในการรับคำร้องโดยตรงตาม ม. 68 เข้ามา “แนะนำ” แทรกแซง และสั่งห้ามการกระทำใด ๆ ของรัฐบาลและของสภาผู้แทนราษฎร โดยอ้างบรรทัดฐานที่ได้เกิดขึ้นแล้วจากกรณีล่าสุดนี้

นี่คือ “ระบอบรัฐประหารโดยศาลรัฐธรรมนูญ” โดยแท้ ที่ซึ่งตุลาการจะหยิบจับข้อกฎหมายต่าง ๆ ใช้ตรรกะตามปรารถนา เปิดพจนานุกรมไทย อ้างภาษาต่างชาติ อิงความเชื่อหรือความกังวลส่วนตัวในเรื่องการเมือง มาแสดงความคิดเห็นนอกศาล กระทั่งไปมีผลต่อการวินิจฉัย โดยมีจุดประสงค์คือ ทำลายฝ่ายประชาธิปไตย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์: ‘ประชามติ’ โดยการ ‘Vote No’ ไม่เอา ส.ส.ร.

Posted: 21 Jul 2012 03:53 AM PDT

 

 

 
ข้อเสนอแนะ ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้ รัฐสภาทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง ส.ส.ร. นั้น ฟังแล้ว ตลกอย่างไร ผู้เขียนอธิบายไปแล้ว ( http://bit.ly/talok13 )
 
จนมาถึงวันนี้ ตลก ศุกร์ 13ที่ว่า ก็ได้กลายร่างเป็น ฝันร้ายของประชาธิปไตยไทยไปเรียบร้อย
 
ฝันร้ายที่หนึ่ง ศาลได้ลดสถานะตนเองจาก ผู้ชี้ขาด ว่าอะไรทำได้ทำไม่ได้ มาเป็นเพียง ที่ปรึกษาว่าอะไรควรไม่ควร
 
ฝันร้ายที่สอง แทนที่ศาลจะ วินิจฉัยปัญหาให้สังคมเดินหน้าต่อได้ ศาลกลับ สร้างปัญหาเพิ่มความขัดแย้งต่อไปว่า การแก้ไข มาตรา 291 วาระ 2 นั้นได้ตกไปแล้วหรือไม่ ? และสภาจะต้องเดินหน้าต่อไปอย่างไร ?
 
ฝันร้ายที่สาม  ศาล ชิงอ่านคำวินิจฉัยให้มีผลไปก่อน แต่กลับ ยื้อไม่ให้สังคมได้ตรวจสอบคำวินิจฉัย กล่าวคือ ศาลเก็บสิ่งที่อ่านไปปรับแก้ และรอให้ตุลาการประชุมเห็นชอบอีกครั้ง ซึ่งขัดกับกฎหมายที่กำหนดให้คำวินิจฉัยมีผลในวันอ่าน และเป็นเด็ดขาด
 
โฆษกศาลยังแถลงอีกว่า ตุลาการมีเวลาทำคำวินิจฉัยส่วนตน 60 วัน ซึ่งขัดกับกฎหมายที่กำหนดให้ตุลาการแต่ละคนต้องเขียนคำวินิจฉัยให้เสร็จก่อนการลงมติ ซึ่งบัดนี้ก็ยังไม่ชัดว่า ศาลได้ลงมติเรื่องการลงประชามติ ตามที่ข่าวรายงานจริงหรือไม่ ? และหากมีการงดเว้นไม่ลงมติ จะถือว่าศาลทำผิดกฎหมายหรือไม่ ? (ดู http://bit.ly/Praden2 )
 
 
แต่ฝันร้ายที่น่ากลัวที่สุด ก็คือ การที่ สมาชิกพรรคเพื่อไทยบางท่าน ดูจะมีอาการ ฝันหลอน ตามศาล โดยพร้อมจะยอมทุกอย่างเพื่อหลีกเลี่ยง การถูกยุบพรรค
 
หากพรรคการเมืองใด ยอมให้ กฎหมายถูกทำลาย และประชาธิปไตยถูกทำร้าย เพียงเพื่อรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของพรรคตนไว้ พรรคแบบนี้ หากจะถูกยุบไป ก็คงไม่น่าเสียดายนัก!
 
ผู้เขียนย้ำว่า พรรคการเมืองและรัฐสภาต้องยึด รัฐธรรมนูญให้อยู่เหนือศาลรัฐธรรมนูญ !
 
กล่าวคือ เมื่อ รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 บัญญัติว่า รัฐสภามีหน้าที่ต้องเดินต่อไปยังวาระ 3 และไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจศาลมา เสนอแนะเรื่องการทำประชามติ อีกทั้งศาลเองก็ยืนยันไปแล้วว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ไม่เป็นการล้มล้างการปกครองฯ ดังนั้น สภาจึงมี หน้าที่ต้องเดินหน้าต่อไปสู่วาระ 3 (เพื่อลงมติว่า เห็นชอบการแก้ไข มาตรา 291 หรือไม่)
 
คำถามสำคัญ ก็คือ รัฐสภาจะเดินหน้าต่อไปด้วย ท่าทีอย่างไร ให้ถูกต้องตามกฎหมาย และหลักแหลมแยบยลในทางการเมือง เป็นธรรมและลดแรงกดดันจากทุกฝ่าย ไปในเวลาเดียวกัน ?
 
เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว ผู้เขียนขอเสนอแนวคิด การลงประชามติโดยการ ‘Vote No’ ไม่เอา ส.ส.ร. ซึ่งมีหลักการดังนี้
 
1. เมื่อศาลไม่ได้เจาะจงว่า การลงประชามติที่ศาลเสนอนั้นเป็นอย่างไร สภาจึงมีสิทธิตีความและพิจารณาแสวงหาวิธีการลงประชามติที่เหมาะสมและไม่ขัดต่อหลักกฎหมายได้
 
2. ก่อนการลงมติในวาระที่ 3 รัฐสภาสามารถประกาศ คำมั่นทางการเมืองแก่ประชาชน ดังนี้
 
2.1 ในวันเลือกตั้ง ส.ส.ร. หากประชาชนได้กาช่อง ไม่ประสงค์ลงคะแนน’ (Vote No) รวมกันสูงเป็นลำดับที่ 1 จากคะแนนทั้งหมด รัฐสภาจะยอมรับว่า ประชาชนมีมติไม่ต้องการให้มี ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และสภาก็จะไปแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกการตั้ง ส.ส.ร. (โดยยอมรับข้อจำกัดว่า อาจมีประชาชนบางส่วนต้องการให้มี ส.ส.ร. แต่ไม่ประสงค์เลือก)
 
2.2 ตรงกันข้าม หากประชาชนเสียงข้างมากตัดสินใจลงคะแนนเลือก ส.ส.ร. สภาก็ย่อมเคารพมติของประชาชนในการเดินหน้าให้มี ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
 
3. หากกการ Vote No ยังไม่ชัดพอ สภาสามารถใช้อีกวิธีโดยให้ ผู้ที่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ส่งตัวแทนมาลงสมัครเป็น ส.ส.ร. ในแต่ละเขต โดยบรรดาผู้สมัครเหล่านี้ สามารถประกาศให้ชัดแจ้งว่า หากพวกตนได้รับเลือกเข้าไปเป็น ส.ส.ร. เสียงข้างมาก พวกตนก็จะลาออกจากการเป็น ส.ส.ร. เพื่อทำให้กระบวนการ ส.ส.ร. ต้องยุติลงตาม ร่าง มาตรา 291/15 และรัฐสภาก็ให้คำมั่นจะสนับสนุนการยุติลงดังกล่าว
 
วิธีที่นำเสนอมามานี้ เป็นการอำนวยให้ประชาชนสามารถ ลงมติยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ตั้งแต่ก่อนการแก้ไขทั้งฉบับจะเริ่มขึ้น ซึ่งเป็นขั้นตอนที่มีกฎหมายรองรับ อีกทั้งประหยัดงบประมาณ เพราะทำไปในคราวเดียวกับการเลือกตั้ง ส.ส.ร.
 
ที่สำคัญ แม้สุดท้าย ส.ส.ร. จะเดินหน้ายกร่างรัฐธรรมนูญจนแล้วเสร็จ แต่ก็ต้องให้ประชาชน ลงประชามติอีกครั้งว่า จะเก็บรัฐธรรมนูญฉบับเดิมไว้ หรือจะยอมรับร่างฉบับใหม่ ซี่งก็สอดคล้องกับความห่วงใยและข้อเสนอแนะของศาลอยู่ดี
 
จากที่นำเสนอมา จึงไม่มีเหตุผลที่ผู้ใดจะต้อง ฝันหลอน ตามศาล โดยยอมให้กระบวนการในวาระที่ 2 ตกไป หรือยอมทำประชามติก่อนการลงมติ วาระ 3 ซึ่งไม่มีกฎหมายรองรับ ไม่มีตัวเลือกชัดเจน อีกทั้งสิ้นเปลืองงบประมาณ
 
เว้นแต่ว่า จะมีผู้ใด ที่ไม่ได้สนใจประชาชน แต่หวังเพียงจะรักษาอำนาจของพรรคพวกตนไว้ แม้จะต้องแลกกับการ ทำลายกฎหมาย และทำร้ายประชาธิปไตยก็ตาม !
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จำคุก 9 ปี ผู้ต้องหาวางระเบิด 3 จุดใน กทม. ปี 54

Posted: 21 Jul 2012 01:12 AM PDT

เมื่อวันที่ 20 ก.ค.55 ที่ศาลจังหวัดพระโขนง มีการพิพากษาคดีของนายจิรวัฒน์ จันทร์เพ็ง อายุ 45 ปี ผู้ถูกกล่าวหาก่อเหตุลอบวางระเบิดแสวงเครื่อง สร้างความปั่นป่วน 3 จุด ในพื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออก เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยนายจิรวัฒน์ ถูกจับกุมตัวได้เมื่อ วันที่ 21 ธ.ค.54 และถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน จำนวน 3 กระทง จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมเป็น 9 ปี และปรับอีก 100 บาท

“จำเลยมีความผิดตาม พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องงกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4(3),38,55,78 วรรคหนึ่ง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371, ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมี และ ใช้ วัตถุระเบิดที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ความผิดเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ละบทมีระวางโทษเท่ากัน จึงลงโทษฐาน ร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุกจำเลย มีกำหนด 9 ปี ฐาน ร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันสมควร ปรับ 100 บาท รวมจำคุก 9 ปี และปรับ 100 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้ยึดทรัพย์สิน ใช้ค่าปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก”

โดยคำพิพากษาให้เหตุผลว่า พยานโจทก์ทั้ง 4 ปาก เบิกความสอดคล้องกัน และต่างเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ปฏิบัติไปตามหน้าที่ของตน โดยไม่ปรากฏว่าเคยมีสาเหตุโกรธเคืองและรู้จักกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีสาเหตุระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลย ให้ต้องได้รับโทษ โดยไม่เป็นความจริง เชื่อว่าพยานโจทก์ดังกล่าวเบิกความไปตามความจริง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรุงเทพโพลล์เผยประชาชน 63.5% ไม่สนับสนุนให้มีการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

Posted: 21 Jul 2012 01:03 AM PDT

กรุงเทพโพลล์เผยผลสำรวจเรื่อง  “ความคิดเห็นประชาชนต่อการปรับแก้รัฐธรรมนูญปี 2550” หากวันนี้เป็นวันลงประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ประชาชนร้อยละ 63.5 จะไม่สนับสนุนแต่ร้อยละ 45.4 สนับสนุนให้แก้มาตรา 68

21 ก.ค. 55 - ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน 22 จังหวัดทั่วประเทศ เรื่อง“ความคิดเห็นประชาชนต่อการปรับแก้รัฐธรรมนูญปี 2550” โดยเก็บข้อมูลกับผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 1,265 คน พบว่า
   
เมื่อถามประชาชนว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ฉบับปัจจุบันมีปัญหาหรือไม่ ประชาชนร้อยละ 45.4 คิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบางมาตราอาจมีปัญหาจึงอยากให้แก้เป็นรายมาตราไป รองลงมาร้อยละ 25.2 คิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้มีปัญหาจึงไม่จำเป็นต้องแก้ และมีเพียงร้อยละ 9.3 เท่านั้นที่ระบุว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหาและต้องแก้ทั้งฉบับ

สำหรับความคิดเห็นประชาชนที่มีต่อการปรับแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสองให้มีความชัดเจนขึ้น จากเดิมที่ระบุว่า  “...ผู้ที่ทราบการกระทำ (เพื่อการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว…” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 45.4 เห็นด้วยให้มีการปรับแก้ไขมาตราดังกล่าว ในจำนวนนี้ ร้อยละ 27.8 เห็นว่าใจความสำคัญควรอยู่ในลักษณะ “ให้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพียงช่องทางเดียวเท่านั้น ก่อนที่อัยการสูงสุดจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญต่อไป” ขณะที่ร้อยละ 33.6 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยให้มีการปรับแก้มาตราดังกล่าว และร้อยละ 21.1 ไม่ออกความคิดเห็น

สุดท้ายเมื่อถามว่าหากวันนี้เป็นวันลงประชามติเพื่อถามว่า “ท่านจะสนับสนุนให้มีการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่” พบว่า ประชาชนร้อยละ 63.5 ไม่สนับสนุนให้มีการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และมีเพียงร้อยละ 19.5 ที่สนับสนุนให้มีการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ในขณะที่ร้อยละ 17.0 ไม่แสดงความเห็น   

ส่วนความคิดเห็นที่มีต่อแนวคิดในการจัดตั้งองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญที่จะให้มาทำหน้าที่แทนศาลรัฐธรรมนูญ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 49.8 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดในการจัดตั้งองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และร้อยละ 26.6 เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว ในขณะที่ร้อยละ 23.6 ไม่แสดงความเห็น
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พ่อน้องเฌอตั้งคำถามกับเสื้อแดงผ่านบทกวีในงานรำลึก 26 เดือนสลายการชุมนุม

Posted: 21 Jul 2012 12:49 AM PDT

พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ "พ่อน้องเฌอ" เหยื่อการสลายการชุมนุม พ.ค.53 อ่านบทกวี “ลำคอของเราสองสามคน” และ”เราจะนอน” สี่แยกราชประสงค์ ตั้งคำถามกับการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมจากการสลายการชุมนุม

21.00 น. 19 ก.ค.55 บริเวณฟุตบาทหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ แยกราชประสงค์ นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ "พ่อน้องเฌอ" เหยื่อการสลายการชุมนุม สายวันที่ 15 พ.ค.53 ที่บริเวณหน้าปั้มน้ำมันเชลล์ ถนนราชปรารภ นายพันธ์ศักดิ์ ได้ขึ้นอ่านบทกวีชื่อ “ลำคอของเราสองสามคน” และ “เราจะนอน”  ตั้งคำถามกับการเคลื่อนไหวของเสื้อแดงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมจากการสลายการชุมนุม เมษา-พ.ค. 53  บนบนเวที  "รำลึกวีรชนราชประสงค์ ครบ 26 เดือน ร่วมเดินหน้าผลักดันคดีเพื่อนพี่น้อง 98 ศพ ไปสู่ศาลโลก (ICC)"  ที่จัดโดย เครือข่ายเสรีราษฎรและนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาพยาบาลกมลเกด อัคฮาด 1 ใน 6 ศพวัดปทุมวนาราม ที่ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อ 19 พ.ค.53

 

ลำคอของเราสองสามคน

เมื่อยอดเขาพระสุเมรุถูกปัดเป็นครั้งที่สอง

ฝูงชนเปลี่ยนร่ำไห้เป็นโห่ร้องด้วยความปรีดา

เมื่อเลือดไหลย้อนกลับสู่ทวารทั้งสิบเก้า

ชาวเราก็เฉลิมฉลองชัยกันถ้วนหน้า

พลุไฟยิงสลุตทั่วท้องฟ้าราตรีกาล

เสียงขับขานดนตรีแห่งชัยชนะดังอึกทึก

กลบเสียงร้องระงมทวงถามความยุติธรรม

บีบให้ดังอยู่แค่ในลำคอ....พอได้ยินกันสองสามคน.

 

 

เราจะนอน

มโหรีปี่พาทย์บรรเลงดังสนั่นหวั่นไหว

ฝูงมดตบเท้าจนแผ่นฟ้าเลื่อนลั่น

เสียงก้องตะโกนจากเครื่องขยาย ดังซ้ำไปมา

“ประชาชนถูกฆ่าตาย ประชาชนถูกฆ่าตาย ประชาชนถูกยิงในเขตอภัยทาน”

 

แว่วเสียงลมหวีดหวิวพัดมา

กระซิบแผ่วเบาราวเสียงจากอีกฟากฝั่ง

เงียบหน่อยเถอะ เราเหนื่อยแล้ว เราจะนอน.

 

ทั้งนี้ นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ได้ระบุถึงบทกวีทั้ง 2 บทนี้ใน Facebook ส่วนตัวตนเองว่าได้เคยอ่านขณะเล่นเปิดหมวก ณ ราชประสงค์ ในงานครบรอบ 2 ปีสังหารหมู่ประชาชน 19 พฤษภาคม 2555 แล้วอีกด้วย

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :

รำลึก 26 เดือนสลายการชุมนุม "แม่พยาบาลเกด" เดินหน้าดันคดี 98 ศพสู่ ICC http://www.prachatai.com/journal/2012/07/41636

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ป่วนนราฯ ต้อนรับต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

Posted: 21 Jul 2012 12:43 AM PDT

ครม. ต่อพ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ สามจังหวัดชายแดนใต้ ไม่มียกเลิก จี้ฝ่ายความมั่นคงประเมินเหตุรายอำเภอเตรียมพิจารณายกเลิกต่อไป นราธิวาสป่วน ยิง 2 อบต. ดับ ระเบิดรถ ตชด. เจ็บ 3

เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่านายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีที่จ.ชลบุรีในวันที่ 19 มิถุนายน 2555 ว่า คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติตามข้อเสนอของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้มีการขยายการประกาศ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ยะลา นราธิวาสและปัตตานีต่อไป  โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน - 19 กันยายน 2555

ทั้งนี้ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ดำเนินการตามมติคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินในการจัดทำแผนงานรายอำเภอ  โดยประมวลสถิติเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสามเดือนที่ผ่านมาและแนวโน้มสามเดือนข้างหน้า ไม่ทำเพียงเฉพาะภาพรวมเหมือนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ นายอนุสรณ์กล่าวว่าจะต้องนำเสนอรายละเอียดความพร้อมของเจ้าหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยแก่ประชาชน เช่น การฝึกชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) และ อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อพ.ปร.) ให้สามารถป้องกันและดูแลในพื้นที่ตัวเองได้ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณายกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ในบางพื้นที่ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น  นอกจากนี้จะได้มีการปรับกระบวนการตามมาตรา 21 แห่งพ.ร.บ. ความมั่นคงภายในราชอาณาจักรให้มีขั้นตอนการพิจารณาการทำความเห็นต่อศาลให้สั้นลง

พ.ร.ก. ฉุกเฉินถูกประกาศใช้ในพื้นที่จ.ปัตตานี ยะลาและนราธิวาสตั้งแต่ปี  2548 โดยมีเพียงพื้นที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานีที่ได้มีการยกเลิกไปเมื่อต้นปี 2554  การประกาศใช้พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ต้องต่ออายุทุกสามเดือนโดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ครั้งนี้เป็นการต่ออายุครั้งที่ 28 หลังจากได้มีการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในอ.แม่ลานได้มีการนำพ.ร.บ. ความมั่นคงฯ มาใช้แทน มาตรา 21 ของพ.ร.บ. ดังกล่าวให้อำนาจผู้อำนวยการ กอ.รมน. ในการระงับการดำเนินคดีต่อผู้ต้องสงสัยในคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงซึ่งรวมถึงคดีอาญาด้วย โดยจะต้องได้รับการเห็นชอบจากศาล

นายอนุสรณ์กล่าวว่า สมช. จะได้นำแผนดังกล่าวมาประมวลความเป็นไปได้ในการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และให้มีการดำเนินการตามมาตรา 21 ของพ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดย พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการ สมช.ได้ฝากไปถึงกลุ่มเอ็นจีโอที่ห่วงเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนในพื้นที่ว่าสถานการณ์ในพื้นที่ถือว่าดีขึ้นตามลำดับ แต่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ในวันเดียวกัน ความรุนแรงก็ยังคงเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้  ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า รายงานว่า เมื่อเวลา 16.05 น.  ขณะชุดปฏิบัติการกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน 24 พร้อมทั้งตำรวจจากสภ.ศรีสาคร ออกลาดตระเวนรักษาความปลอดภัยเส้นทางครู  โดยใช้รถยนต์หุ้มเกราะ V-150 เป็นพาหนะ เมื่อส่งครูถึงบ้านพักแล้ว เจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าวได้ทำการลาดตระเวนเส้นทางเพื่อกลับฐาน ระหว่างทางคนร้ายได้จุดชนวนระเบิดที่ซุกซ่อนอยู่ใต้พื้นถนน  แรงระเบิดส่งผลให้รถยนต์หุ้มเกราะพลิกคว่ำและเจ้าหน้าที่ที่อยู่ภายในรถได้รับบาดเจ็บ

ขณะเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงไปยังพื้นที่ที่คนร้ายซุ่มอยู่ ส่งผลให้คนร้ายหลบหนีไป เหตุเกิดที่ถนนสาย 4060 บ้านดุซงมาแจ บ้านย่อยบ้านตะโละ หมู่ 2 ตำบลซากอ อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 ราย คือ ร.ต.ศุภกรณ์ พลทะศรี ด.ต.ประสิทธิ์ พันธ์กำเหนิด และ ด.ต.วินัย ราชสีห์เมือง โดยทั้งหมดได้รับบาดเจ็บจากแรงอัดของระเบิดและแรงกระแทกกับรถ และได้ถูกนำตัวส่งไปยังโรงพยาบาลศรีสาคร

จากการตรวจสอบบริเวณที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่พบระเบิดแสวงเครื่องไม่ทราบภาชนะบรรจุและการจุดชนวนฝังไว้ใต้พื้นถนน ซึ่งการกระทำดังกล่าวเจ้าหน้าที่ระบุเบื้องต้นว่าเป็นการกระทำของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง

ต่อมา เวลา 16.35 น. ของวันเดียวกัน เกิดเหตุคนร้ายจำนวน 2 คน ขับขี่รถจักรยานยนต์ใช้อาวุธปืนพกขนาด 9 มม. ยิงเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลบางปอ อ.เมือง จ.นราธิวาสที่หน้าสถานีอนามัยบางปอ บ้านโคกสุมุ หมู่ 3 ต.บางปอ อ.เมือง จ.นราธิวาส ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทันที่ในที่เกิดเหตุ 2 ราย คือ นายเอกชัย จันทร์แก้วและนางนวลน้อย ปกสวัสดิ์   ทั้งสองคนซึ่งเป็นญาติกันกำลังเดินทางกลับที่พักหลังเลิกงาน  โดยหลังก่อเหตุคนร้ายได้นำอาวุธปืนพกขนาด 9 มม. ของนายเอกชัยไปด้วย การกระทำดังกล่าวเจ้าหน้าที่ระบุเบื้องต้นว่าเป็นการกระทำของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กัมพูชา: เสรีภาพสื่อใต้เงาเผด็จการ

Posted: 21 Jul 2012 12:34 AM PDT

Cambodian Center for Human Rights (CCHR) ออกเอกสารเผยแพร่เกี่ยวกับการคุกคามสื่อมวลชนในประเทศกัมพูชา ระบุนักธุรกิจในเครือข่ายของพรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People’s Party) ได้ใช้อำนาจทั้งตามกฎหมายและอำนาจมืดในการจัดการกับสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวในทางลบกับรัฐบาลและเครือข่าย

โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

20 กรกฎาคม2555
กรุงพนมเปญ กัมพูชา

กัมพูชาเป็นประเทศหนึ่งที่สื่อมวลชนประสบภัยคุกความจากอำนาจเผด็จการ ผู้มีอำนาจในรัฐบาลรวมทั้งชนชั้นนำและนักธุรกิจในเครือข่ายของพรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People’s Party) ได้ใช้อำนาจทั้งตามกฎหมายและอำนาจมืดในการจัดการกับสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวในทางลบกับรัฐบาลและเครือข่าย การข่มขู่ทำร้ายร่างกาย การซุ่มทำร้ายบนท้องถนนรวมไปถึงการใช้ข้อกฎหมายมาจัดการกับสื่อมวลชนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่15 กรกฎาคมที่ผ่านมาทางการกัมพูชาได้จับกุมตัวนาย Mam Sonando นักกิจกรรมทางสังคมและเจ้าของสถานีวิทยุอิสระบีไฮว์เรดิโอในข้อหาพัวพันในการแบ่งแยกดินแดนโดยสถานี วิทยุของนาย Mam เป็นหนึ่งในไม่กี่สถานีที่นำเสนอข้อมูลเชิงลบของรัฐบาลและเครือข่ายธุรกิจที่มีผลประโยชน์ผูกพันกับพรรครัฐบาล

หนึ่งในผลงานชิ้นสำคัญของสถานีวิทยุบีไฮว์คือการนำเสนอข่าวการใช้กำลังทหารของรัฐบาลเพื่อบังคับให้ชาวบ้านในจังหวัด Kratie ย้ายออกจากที่พำนักโดยเหตุเกิดในวันที่16พฤษภาคม2555 รัฐบาลได้ให้สัมปทานที่ดินแก่บริษัทข้ามชาติจากรัสเซียเพื่อทำการพัฒนาพื้นที่สำหรับการปลูกยาง โดยในระหว่างการบังคับย้ายถิ่นฐานนั้นเจ้าหน้าที่รัฐได้ปฏิบัติต่อชาวบ้านด้วยความรุนแรงจนเป็นเหตุให้ Heng Chantha เด็กหญิงวัยสิบสี่ปีต้องสังเวยชีวิตไปในการนี้ ทางการกัมพูชาได้อ้างในภายหลังว่าชาวบ้านในหมู่บ้านที่ถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐานนั้นส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวคิดในการแบ่งแยกดินแดน โดยในขณะนี้ปัญหาการบังคับไล่ที่ชาวบ้านเพื่อสัมปทานที่ดินให้แก่บรรษัทข้ามชาติเป็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนขนานใหญ่ที่เกิดขึ้นในกัมพูชา นาย Mam ในฐานะนักกิจกรรมทางสังคมได้นำเรื่องการบังคับไล่ที่ชาวบ้านไปฟ้องร้องยังศาลอาญาระหว่างประเทศโดยระบุว่าการไล่ที่ชาวบ้านของรัฐบาลจัดว่าเป็นอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติเนื่องจากเป็นการบังคับไล่ที่ขนานใหญ่และเป็นการกระทำอย่างเป็นระบบ

สมเด็จฮุนเซ็นนายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้ประกาศต่อสาธารณว่านาย Mam มีความเกี่ยวข้องกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่จังหวัด Kratie จึงมีความจำเป็นต้องจับกุม ซึ่งการจับกุมนาย Mam เกิดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม 2555 ซึ่งการจับกุมเกิดนี้ขึ้นภายหลังการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในกรุงพนมเปญสิ้นสุดลงและเกิดขึ้นสามวันหลังจากนาย Mam เดินทางกลับจากการไปยุโรปเพื่อนำเรื่องไปฟ้องร้อง ณ ศาลอาญาระหว่างประเทศ ขณะนี้นาย Mam ถูกจองจำ ณ เรือนจำ Preysor โดยทางการกัมพูชาไม่อนุญาตให้ประกันตัวอ้างเหตุกลัวผู้ต้องหาหลบหนี 

ดูเพิ่มเติม :
http://www.fidh.org/CAMBODIA-Independent-radio-station
http://cchrcambodia.org/media/files/news/726_201vcobrohft_en.pdf

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอมเนสตี้ชี้การละเมิดต่อชาวโรฮิงญาบั่นทอนความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชน

Posted: 21 Jul 2012 12:15 AM PDT

เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 55 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ พม่า: การละเมิดต่อชาวโรฮิงญาบั่นทอนความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

แถลงการณ์

20 กรกฎาคม 2555

พม่า: การละเมิดต่อชาวโรฮิงญาบั่นทอนความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชน

หกสัปดาห์หลังมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในรัฐยะไข่ของพม่า การโจมตีและการละเมิดของกองกำลังความมั่นคงต่อชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญาและชาวมุสลิมเชื้อชาติอื่น ๆ ยังเพิ่มขึ้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวในวันนี้

ความรุนแรงระดับชุมชนในรัฐดังกล่าวก็ยังดำเนินต่อไปเช่นกันแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว

“การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ใช่ใบอนุญาตให้ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน” เบนจามิน ซาวัคกี้ (Benjamin Zawacki) นักวิจัยด้านพม่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว “กองกำลังความมั่นคงมีหน้าที่ปกป้องสิทธิของทุกคน โดยไม่มีข้อยกเว้นและไม่แยกแยะ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิ และกองกำลังความมั่นคงจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนเองด้วย

รัฐบาลพม่าประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในรัฐยะไข่เมื่อวันที่ 10 มิถุนายนหลังเกิดความรุนแรงระดับชุมชนที่แพร่ไปในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านั้น เป็นการปะทะกันระหว่างชาวยะไข่พุทธ ชาวยะไข่มุสลิม และชาวโรฮิงญามุสลิม ในหลายพื้นที่ยังคงมีความรุนแรงเช่นนั้นอยู่

นับแต่นั้นมา กองกำลังรักษาความมั่นคงชายแดน (nasaka) กองทัพและตำรวจก็ยังคงดำเนินการกวาดล้างอย่างหนักในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งคนส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญา มีการควบคุมตัวบุคคลซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายและเด็กผู้ชายหลายร้อยคน และถูกกีดกันไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก หรือมีการปฏิบัติอย่างโหดร้าย

แม้ว่าการพยายามรักษาความสงบเรียบร้อยและการปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องจำเป็น แต่ดูเหมือนว่าการจับกุมส่วนใหญ่เป็นการกระทำตามอำเภอใจและเลือกปฏิบัติ ละเมิดสิทธิที่จะมีอิสรภาพและเสรีภาพจากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลด้านศาสนา

“ในช่วงเวลาหกสัปดาห์ พม่าได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนแบบที่เคยทำมาต่อชาวโรฮิงญา และยังหวนกลับไปสู่การควบคุมตัวบุคคลด้วยเหตุผลทางการเมือง” ซาวัคกี้กล่าว

“หลังจากมีการอภัยโทษและปล่อยตัวนักโทษการเมืองกว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา ในปัจจุบันจำนวนนักโทษการเมืองโดยรวมของพม่าได้เพิ่มขึ้นอีก”

บุคคลที่ถูกจับกุมนับแต่วันที่ 10 มิถุนายน จะต้องถูกตั้งข้อหาตามความผิดอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และถูกควบคุมตัวด้วยศาลที่เป็นอิสระหรือไม่ก็ได้รับการปล่อยตัว การไต่สวนคดีต้องสอดคล้องมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยความเป็นธรรมและจะต้องไม่นำไปสู่การลงโทษประหาร

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังได้รับรายงานที่น่าเชื่อถือว่าได้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮิงญาและชาวมุสลิมเชื้อสายยะไข่อื่น ๆ ทั้งการทำร้ายร่างกาย การข่มขืนกระทำชำเรา การทำลายทรัพย์สิน และการสังหารอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งที่เป็นการกระทำของกลุ่มชาวยะไข่พุทธและกองกำลังของรัฐ ทางการควรยุติการกระทำเหล่านี้และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้อีก

เมื่อวันอังคาร ชาวยะไข่พุทธในพื้นที่ได้สังหารชาวมุสลิม 10 คนที่เมืองตองกกในรัฐยะไข่ ระหว่างโดยสารรถทัวร์เพื่อกลับบ้านที่กรุงย่างกุ้ง

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของพม่าแถลงเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมว่า มีผู้ถูกสังหารอย่างน้อย 78 คนนับแต่เกิดความรุนแรงขึ้นมา แต่ตัวเลขอย่างเป็นทางการระบุว่า น่าจะมีคนตายเกิน 100 คน

มีการประมาณว่าประชาชน 50,000-90,000 คน ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นในประเทศ โดยตัวเลขต่ำสุดมาจากการประมาณของรัฐบาล และตัวเลขสูงสุดมาจากหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ

เหตุที่มีความแตกต่างของตัวเลขมากมายเช่นนี้ น่าจะเป็นเพราะทางการพม่าจำกัดการเข้าถึงของผู้สังเกตการณ์ที่เป็นอิสระและผู้สังเกตการณ์สากล ทั้งยังกีดกันผู้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

“ความต้องการด้านสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมของผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ต้องพึ่งพาการเข้าถึงพื้นที่ของผู้สังเกตการณ์และผู้ทำงานด้านมนุษยธรรม” ซาวัคกี้กล่าว

“ทางการพม่ากำลังทำความผิดพลาดเพิ่มเติม ด้วยการทำให้ผู้พลัดถิ่นได้รับความทุกข์ทรมานจากความรุนแรงและการละเมิดมากยิ่งขึ้น”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องรัฐสภาของพม่าให้แก้ไขพระราชบัญญัติสัญชาติพ.ศ. 2525 เพื่อประกันว่าชาวโรฮิงญาจะไม่เป็นคนไร้รัฐอีกต่อไป

“ตามมาตรฐานและกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล รัฐไม่อาจปล่อยให้บุคคลเป็นคนไร้รัฐได้ แต่เป็นเวลานานมาแล้วที่สถิติสิทธิมนุษยชนในพม่าแปดเปื้อนด้วยปัญหาการปฏิเสธไม่ยอมให้สัญชาติต่อชาวโรฮิงญา ทั้งยังมีการเลือกปฏิบัติต่อพวกเขามากมาย” ซาวัคกี้กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาคภูมิ แสงกนกกุล: อะไรคือ 30 บาท

Posted: 21 Jul 2012 12:01 AM PDT

ไม่มีระบบประกันสุขภาพใดที่สมบูรณ์แบบ ทุกระบบในแต่ละประเทศย่อมมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน การตัดสินใจเลือกระบบใดนโยบายใดนั้นขึ้นอยู่กับว่าผู้ผลิตนโยบายชั่งน้ำหนักว่าสิ่งใดสำคัญกว่า กลุ่มคนในสังคมในควรได้รับความช่วยเหลือมากกว่า

ในปี 1963 Mark V. Pauly ได้ทำการศึกษาพฤติกรรมของผู้ประกันภัยโดยใช้คอนเซปต์เรื่อง Moral Hazard และค้นพบว่าบุคคลที่มีประกันภัยคุ้มครองแล้วจะมีส่วนทำให้เพิ่มพฤติกรรมความเสี่ยงมากขึ้น และต่อจากนั้นในวงวิชาการด้านสาธารณสุขจึงสนใจศึกษาและตีพิมพ์เรื่อง Moral Hazard ในระบบสาธารณสุข

Moral Hazard สามารถแบ่งได้เป็นสองกลุ่มคือ Moral Hazard ex ante ซึ่งหมายถึงการที่บุคคลที่มีประกันสุขภาพครอบคลุมแล้วจะมีโอกาสเพิ่มพฤติกรรมความเสี่ยงหรือความไม่ระมัดระวังก่อนเกิดการเจ็บป่วย เช่น ผู้ที่มีประกันสุขภาพมีพฤติกรรมในการดูแลสุขภาพตัวเองน้อยลง หรือ ผู้ที่มีประกันภัยรถยนต์มีพฤติกรรมขับรถที่เสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุมากขึ้น หรือพูดได้ว่าเมื่อซื้อประกันแล้วความน่าจะเป็นที่เกิดการเจ็บป่วยของผู้มีประกันจะสูงกว่าความน่าจะเป็นของผู้ไม่มีประกัน

ในกลุ่มที่สองคือ Moral ex poste หมายถึงการที่ผู้มีประกันภัยและได้รับบาดเจ็บแล้วบริษัทประกันภัยจะจ่ายค่ารักษาทั้งหมด ดังนั้นทำให้ผู้ได้รับบาดเจ็บจึงมีพฤติกรรมที่ใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลเกินความจำเป็น หรือพูดได้ว่าค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลของผู้มีประกันภัยมีแนวโน้มสูงกว่าผู้ไม่ได้ซื้อประกันภัย

ปัญหา Moral Hazard จึงส่งผลต่อการควบคุมรายจ่ายการรักษาพยาบาลในระบบ ค่าใช้จ่ายที่พุ่งสูงขึ้นพบได้ไม่ว่าระบบประกันเอกชนหรือระบบประกันภาคบังคับของรัฐ วิธีทางแก้ปัญหานี้คือการควบคุมค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลหรือการให้ผู้ประกันตนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายบางส่วน

โดยค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นมีได้สองประเด็นคือ เพิ่มทางด้านจำนวนครั้ง(quantity) เช่น เมื่อเจ็บป่วยแล้วผู้ป่วยเข้าไปหาหมอเพื่อปรึกษาบ่อยครั้งขึ้น ประเด็นที่สองคือ การเพิ่มปริมาณ(volume)การรักษาในแต่ละครั้ง เช่นเมื่อเจ็บป่วยแล้วผู้ป่วยเลือกการรักษาที่มีราคาแพง เลือกพักในห้องพักที่มีราคาแพง ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของค่ารักษาพยาบาลนั้นไม่สามารถโทษฝ่ายผู้ป่วยเพียงฝ่ายเดียวได้ เพราะอาจเกิดจากฝ่ายโรงพยาบาลกระตุ้นการรักษาที่ไม่จำเป็นอีกด้วยก็ได้

สำหรับบริษัทประกันเอกชนนั้นนโยบายที่นิยมใช้เพื่อควบคุม Moral Hazard คือ Bonus-Malus หมายถึง กรณีที่ผู้ซื้อประกันภัยแล้วปรากฏว่ามีการดูแลตัวเองที่ดีรักษาสุขภาพจนไม่มีการเจ็บป่วยใดๆแล้ว ในปีต่อมาจะได้รับรางวัลโดยการลดเบี้ยประกัน ส่วนผู้ซื้อประกันแล้วเกิดการเจ็บป่วยบ่อยครั้งหรือใช้จ่ายในราคาสูง เมื่อปีต่อมาต้องการต่อประกันภัยก็จะได้รับการลงโทษโดยเพิ่มราคาเบี้ยประกันขึ้น

อย่างไรก็ตามในระบบประกันภาคบังคับของรัฐไม่สามารถนำ Bonus-Malus มาใช้ได้เนื่องจาก เป็นการประกันภาคบังคับไม่ว่าผู้ประกันตนจะใช้หรือไม่ใช้ประโยชน์ก็ตามผู้ประกันทุกคนก็ยังคงอยู่ในระบบประกันต่อไป และค่าเบี้ยประกันที่เก็บจากการหักรายได้บางส่วนโดยไม่ได้คิดจากภาระค่าใช้จ่ายการรักษา

ดังนั้นต้องหาวิธีการอื่นเพื่อควบคุม Moral Hazard โดยให้ผู้ป่วยต้องรับภาระบางส่วนจากการรักษาด้วย ซึ่งสามารถแบ่งได้ 5 วิธีดังนี้

• Ticket modérateur. เป็นวิธีการที่ผู้ป่วยต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นสัดส่วนตามที่รัฐกำหนดจากค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด เช่น รัฐกำหนดให้ต้องจ่าย 10% ของค่ารักษาพยาบาล วิธีนี้จะช่วยให้สามารถควบคุมการเพิ่มขึ้นของค่ารักษาทั้งด้านจำนวนครั้งและปริมาณ แต่มีข้อเสียกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องเข้าพบหมอบ่อยครั้ง เพราะไปทุกครั้งต้องเสียทุกครั้ง ดังนั้นในประเทศยุโรปจึงนิยมที่จะงดเว้นให้กรณีการปรึกษาแพทย์ทั่วไป แต่ไว้ใช้ควบคุมการบริโภคยาและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ

• Prix de référence. เป็นวิธีการควบคุมค่ารักษาพยาบาลโดยกำหนดให้ผู้ป่วยสามารถเบิกได้จำนวนหนึ่งซึ่งถ้าค่ารักษาสูงกว่าที่กำหนดไว้แล้วผู้ป่วยต้องจ่ายค่าส่วนต่างนี้เอง วิธีนี้จะสามารถควบคุมvolume ได้ดีกว่าการควบคุม quantity และผลักดันให้ผู้ป่วยเลือกการรักษาที่มีราคาถูกมากกว่าการรักษาที่มีราคาแพง อย่างไรก็ตามข้อเสียของมันคือ ในผู้ป่วยที่เจ็บป่วยด้วยโรคราคาแพง เช่น โรคมะเร็ง โรคเอดส์ โรคหัวใจ จะประสบปัญหาด้านการเงินมากขึ้น

• Franchise globale เป็นวิธีการควบคุมค่ารักษาพยาบาลโดยให้ผู้ป่วยรับผิดชอบค่ารักษาทั้งหมดจนกระทั่งถึงเพดานเงินค่ารักษาพยาบาลที่กำหนดแล้วส่วนที่เหลือรัฐจะเป็นคนรับผิดชอบ เช่นรัฐกำหนดไว้ที่ร้อยบาท แต่ค่ารักษา140บาท ร้อยบาทแรกนั้นผู้ป่วยจ่ายส่วนสี่สิบบาทที่เหลือรัฐเป็นคนจ่าย วิธีนี้มีข้อดีในการช่วยเหลือผู้ป่วยราคาแพง และควบคุมค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลได้เฉพาะในส่วนที่ต่ำกว่าเพดาน แต่ข้อเสียคือเมื่อค่ารักษาพยาบาลสูงเกินกว่าเพดานที่กำหนดแล้วย่อมเกิดการใช้จ่ายที่สุรุ่ยสุร่ายตามมา

• Compte d’épargne. เป็นระบบบัญชีเงินฝากซึ่งประเทศสิงคโปร์ประเทศเดียวที่ใช้วิธีนี้ (และบางแห่งในอเมริกา) โดยประชาชนแต่ละคนมีเงินฝากด้านการรักษารัฐบาลจะโอนเงินเข้าบัญชีในแต่ละปี ซึ่งถ้าในปีนั้นๆไม่ได้ใช้ก็สามารถฝากไว้ในบัญชีสะสมเพื่อใช้ในการรักษาปีต่อๆไป ซึ่งวิธีนี้จะช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายได้จากต้นตอ(ผู้ป่วย) แต่มีข้อเสียคือในกรณีที่ผู้ป่วยบริหารเงินไม่ดีหรือผู้ป่วยเรื้อรังราคาแพงอาจใช้เงินที่สะสมในบัญชีจนหมดและรับภาระที่เหลือ

• Débourse. เป็นวิธีการที่ผู้ป่วยจ่ายค่ารักษาพยาบาลเต็มจำนวนไปก่อนและรัฐจะทำการชดใช้เงินโอนผ่านเข้าบัญชีในภายหลัง วิธีนี้จะช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายโดยให้ผู้ป่วยรับภาระทั้งหมดทำให้ผู้ป่วยต้องคิดพิจารณาอย่างหนักก่อนจะใช้จ่ายค่ารักษา แต่มีข้อเสียคือในผู้ป่วยที่ยากจนและมีสภาพคล่องน้อยอาจต้องไปกู้เงินนอกระบบอื่นและเสียดอกเบี้ยไปกว่าที่รัฐจะโอนเงินคืน

นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคในยุคเริ่มแรก การเก็บค่ารักษา 30 บาทต่อครั้งก็มีจุดมุ่งหมายในการควบคุม Moral Hazard เช่นเดียวกัน ซึ่งไม่สามารถจำแนกได้ชัดเจน แต่อยู่ในระบบ Ticket modérateur นั้นใกล้เคียงที่สุด ดังนั้นการเลือกว่าจะคงเก็บหรือยกเลิก 30 บาทนั้น จึงเป็นการชั่งน้ำหนักของผู้ผลิตนโยบายว่า จะเลือกระหว่างการควบคุม Moral Hazard หรือ จะเลือกการเข้าถึงการรักษาของประชาชน การเลือกที่ไม่รอบคอบก็อาจส่งผลเป็นการกีดกันการเข้าถึงการรักษาของคนบางกลุ่ม ในทางตรงกันข้ามการเลือกที่ไม่รอบคอบก็อาจส่งผลให้ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลทั้งระบบสูงขึ้นตามมา

ดังนั้นรัฐบาลต้องตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่า 30 บาทรักษาทุกโรคมีขึ้นเพื่อช่วยคนจนหรือคนรวยแน่นอนละ 30 บาทเมื่อเทียบกับคนรวยแล้วไม่มีค่าอะไร แต่สำหรับคนจนที่มีค่าแรง 300 บาทต่อวัน เงินค่ารักษาแต่ละครั้งที่ต้องจ่ายหมายถึงหนึ่งในสิบของเขา (และในแรงงานนอกระบบค่าตอบแทนก็น้อยกว่า300 บาทต่อวัน) การเก็บ 30 บาทจึงอาจเป็นการกีดกันคนจนไปในตัว

นอกจากนี้การกำหนดจำนวนเงิน 30 บาท ต่อครั้งตายตัวจะสามารถควบคุมได้เฉพาะด้าน quantity มากกว่าด้าน Volume ซึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือกลุ่มโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนจน คนกลุ่มนี้ต้องจ่ายเงินให้มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคนป่วยโรคไม่เรื้อรั้ง และการกำหนดจำนวนนี้อาจไม่สามารถควบคุมMoral Hazard ในแง่ volume ได้

ค่าเดินทางไปโรงพยาบาลสิ่งที่เป็นภาระหนักกว่า 30 บาท

ในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้ารัฐมีข้อกำหนดไว้ว่าผู้ประกันตนต้องเลือกโรงพยาบาลเพื่อลงทะเบียนในการเลือกใช้รักษา โดยถ้าผู้ป่วยเลือกใช้โรงพยาบาลอื่นนอกจากที่ตนลงทะเบียนแล้ว ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งแตกต่างจากสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการที่สามารถเข้ารักษาโรงพยาบาลใดก็ได้ในสังกัดรัฐ

การกำหนดเช่นนี้มีจุดประสงค์เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายการขนส่งเดินทางเพื่อการรักษา โดยหวังว่าผู้ป่วยจะเลือกรักษากับโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้าน นอกจากนี้เพื่อเป็นการสะดวกในการคำนวฯและให้งบประมาณในการเหมาจ่ายรายหัว เช่น ถ้าโรงพยาบาลแรกรับผิดชอบ100 คนและได้รับงบประมาณ100 คน แต่เวลาปฏิบัติงานจริงถ้าไม่มีการกำหนดโรงพยาบาลแล้วคนไข้จากที่อื่นอาจเข้ามารักษาเป็นจำนวนมากและทำให้โรงพยาบาลดังกล่าวงบประมาณไม่พอหรือล้มละลาย

ถึงแม้ 30 บาทจะเป็นภาระกับคนยากจนก็ตามแต่สิ่งที่เป็นภาระหนักกว่าก็คือ ค่าเดินทางไปโรงพยาบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชนบทที่มีจำนวนโรงพยาบาลไม่ชุกชุมและไม่มีระบบขนส่งมวลชนราคาถูกในพื้นที่ ซึ่งเมื่อเทียบกับข้าราชการที่อยู่ในกรุงเทพฯที่มีโรงพยาบาลมากมายและมีระบบขนส่งมวลชน ยิ่งจะเห็นภาพชัดในความแตกต่างเรื่องความยากลำบากในการเข้าถึงโรงพยาบาล

บทสรุป

การควบคุมค่าใช้จ่ายในระบบสาธารณสุขเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญที่ผู้ผลิตนโยบายต้องตระหนักถึง อย่างไรก็ตามการกำหนดนโยบายควบคุมค่าใช้จ่ายเองก็อาจส่งผลในการกีดกันประชาชนที่มีความจำเป็นในสังคม ผู้ผลิตนโยบายจึงต้องหาจุดสมดุลย์และชั่งน้ำหนักดูว่าสิ่งใดมีความสำคัญมากกว่ากัน นโยบายเลือกเก็บหรือไม่เก็บ 30 บาทนั้น ในอนาคตจึงควรหาวิธีอื่นๆนอกจากการเก็บ 30 บาท เช่นอาจจะเก็บ 10%ของค่ารักษาพยาบาลเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้สูงหรืองดเว้นการเก็บทุกอย่างให้กลุมคนที่มีรายได้น้อยเป็นต้น หรือยกเลิกระบบการลงทะเบียนโรงพยาบาล เพิ่มเสรีภาพในการเลือกให้ประชาชนเป็นต้น เพื่อให้เกิดการควบคุมค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพและไม่กีดกันบุคคลที่ลำบากในเวลาเดียวกัน
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โสภณ พรโชคชัย: ขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับกฎหมู่ มาตรา 67

Posted: 20 Jul 2012 11:48 PM PDT

ช่วงนี้ผมเห็นมีหลายคนอยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ และก็มีหลายคนพยายามสุดฤทธิ์ ที่จะไม่ให้แก้ไข  สำหรับผมสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองเลือกข้าง ผมสนับสนุนแก้ไขมาตราที่ 67 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อม

มาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันระบุว่า “สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครองส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม”

“การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว”

“สิทธิของชุมชนที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัตินี้ ย่อมได้รับความคุ้มครอง”

กรณี “องค์กรอิสระ” ตามมาตรา 67 วรรค 2 อาจเป็นการแต่งตั้งเฉพาะผู้ที่คุ้นเคย และไม่เป็นกลาง และยิ่งระบุให้แต่งตั้งเฉพาะผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ย่อมเป็นการผิดแต่แรก เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาระดับชาติ จำเป็นต้องมีผู้รู้ทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การผังเมือง ฯลฯ มาพิจารณาให้รอบด้าน รัฐบาลจึงควรแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรานี้

ในกรณีมาบตาพุดที่เกิดขึ้น รัฐบาลในปี พ.ศ.2553 แต่งตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ซึ่งมีที่มาที่ชอบกล โดยผู้แทนฝ่ายประชาชนนั้นกลับไม่มีผู้แทนของประชาชนชาวมาบตาพุดแม้แต่คนเดียว ผู้แทนฝ่ายประชาชนประกอบด้วย นายแพทย์คนหนึ่งที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและบ้านอยู่นนทบุรี อีกคนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในด้านที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทั้งสองคนนี้น่าจะเป็นกรรมการฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิมากกว่าผู้แทนประชาชน  นอกจากนี้อีก 2 คนต่างเป็นเอ็นจีโอ คนหนึ่งขณะได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองแห่งหนึ่ง เป็นคนจังหวัดระยอง แต่ไม่ใช่มาบตาพุด ส่วนอีกคนเป็นคนชุมพรแต่มีบ้านอยู่กรุงเทพมหานคร  ดังนั้นจึงถือเป็นการแต่งตั้งที่ไม่มีมาตรฐาน โดยขาดตัวแทนประชาชนมาบตาพุด ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่เลย เป็นการไม่นำพาต่อระบอบประชาธิปไตย ไม่ถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง

กฎหมู่กับการไม่ยอมรับมติคนส่วนใหญ่

พวกกฎหมู่ชอบอ้างกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชน ซึ่งอาจดำเนินการไปอย่างไม่เป็นกลาง หากมีอคติอาจรับฟังแต่กลุ่มกฎหมู่ หรืออาจฟังความเพียงข้างเดียวต่อกลุ่มผู้สูญเสียผลประโยชน์ ไม่ใช่การรับฟังความคิดเห็นของ “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไ จริง ๆ หรือมีอคติต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม  ดังนั้นกระบวนการที่สมควรจึงควรเป็นการสำรวจความเห็นของประชาชนหรือการทำประชามติของประชาชนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ  แต่คนกลุ่มนี้ไม่ยอมทำเพราะไม่ต้องการรับฟังเสียงส่วนใหญ่ที่ต้องการอุตสาหกรรม  ในบางพื้นที่พวกกฎหมู่ในท้องถิ่น ถึงกับพยายามล้มการรับฟังความเห็นของประชาชน ทำร้ายขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เพียงเพราะขัดกับความเห็นของพวกกฎหมู่ซี่งอาจผลประโยชน์แฝงอยู่เบื้องหลัง

อย่างกรณีมาบตาพุด กลุ่มกฎหมู่ไม่ยอมรับเสียงของประชาชน แต่พยายามใช้กฎหมู่กดดันทางราชการภาคเอกชน รวมทั้งประชาชนทั่วไป ทั้งนี้จากผลการสำรวจความเห็นของประชาชนที่มาบตาพุดตามหนังสือของ ดร.โสภณ พรโชคชัย ถึงนายกรัฐมนตรี ลว.7 ธันวาคม 2553 ได้รายงานผลการสำรวจว่า ประชาชนส่วนใหญ่ถึง 65.3% หรือสองในสาม ในพื้นที่มาบตาพุดเห็นควรให้มีการขยายตัวของอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่อไป (http://www.thaiappraisal.org/thai/letter/letter_view.php?strquery=letter17.htm)

โยกย้ายชุมชนทำได้

ที่ผ่านมามักมีการกล่าวอ้างเสมอว่า การย้ายชุมชนจะกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชน  การกล่าวอ้างนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้เกิดการโยกย้ายชุมชนหรือประชาชนออกนอกพื้นที่เดิม ทั้งนี้โดยอ้างว่าจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และเป็นผลเสียต่อวัฒนธรรมชุมชนเป็นต้น  ในกรณีนี้หากไม่มีความจำเป็น ก็ไม่ควรย้ายชุมชนให้เกิดความเดือดร้อนใด ๆ

อย่างไรก็ตามในบางกรณีอาจมีความจำเป็น ซึ่งการโยกย้ายก็สามารถทำได้หากรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดหาที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม อย่างเช่นกรณีอำเภอแม่เมาะที่มีการค้นพบว่าบริเวณใต้ที่ตั้งอำเภอเป็นแหล่งถ่านหินขนาดใหญ่  จึงได้โยกย้ายชาวบ้าน วัด โรงเรียนและอื่น ๆ ออกนอกพื้นที่ เพื่อขุดหาถ่านหิน จนสภาพปัจจุบันกลายเป็นขุมเหมืองลึกและมีขนาดใหญ่มาก  ส่วนตัวอำเภอใหม่และประชาชนได้รับการโยกย้ายออกห่างจากพื้นที่เดิมประมาณ 15 กิโลเมตร

การโยกย้ายนี้ปรากฏว่าทำให้ประชาชนในเขตตัวอำเภอไม่ได้รับมลพิษจากการทำเหมือง เช่นชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง แต่ละครัวเรือน ได้รับที่ดินแปลงใหญ่ มีสาธารณูปโภคใหม่ครบครัน และปัจจุบันราคาที่ดินก็เพิ่มสูงขึ้นมาก  ทำให้ชาวบ้านมีความมั่งคั่งและความสุข  จะสังเกตได้ว่าประชาชนจำนวนมากที่อยู่ในชุมชนริมเหมืองปัจจุบันยินดีจะย้ายเพราะหวังจะได้รับค่าทดแทนที่สูงเช่นกัน  ดังนั้นประเด็นเรื่องการทำลายวัฒนธรรมชุมชนจึงไม่ได้มีอยู่จริง เป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น

ในแง่หนึ่งเพราะอุตสาหกรรมถ่านหินและไฟฟ้านี้เอง ที่ทำให้อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง และพื้นที่โดยรอบเจริญเติบโตขึ้นมาเหนืออำเภออื่นของจังหวัดลำปางเช่นทุกวันนี้ทั้งที่ตัวอำเภอแม่เมาะตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดลำปางเข้าไปในเขตป่าเขาถึง 20 กิโลเมตร  ประชาชนบางส่วนให้ข้อมูลว่า หากไม่มีกิจการไฟฟ้าแม่เมาะ หรือหากในอนาคตหากปิดกิจการนี้  อำเภอแม่เมาะก็คงเป็นเพียงอำเภอเล็ก ๆ และไม่มีความเจริญทางเศรษฐกิจเช่นทุกวันนี้

โดยสรุปแล้วรัฐธรรมนูญไทยฉบับนี้ควรได้รับการแก้ไข เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนจริงๆ  ผมเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นการพยายามแปลงกฎหมู่ให้เป็นสิ่งที่ชอบธรรมตามกฎหมาย ผ่านกระบวนการสรรหาและแต่งตั้งที่ “เนียน” ๆ  ถือเป็นการโกงกินและสืบทอดอำนาจของเหล่า NGOs และนักเคลื่อนไหวกฎหมู่
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โอมาร์ สุไลมาน ชายผู้อยู่เบื้องหลังอดีต ปธน. มูบารัค เสียชีวิตแล้ว

Posted: 20 Jul 2012 11:25 PM PDT

โอมาร์ สุไลมาน หัวหน้าหน่วยข่าวกรองผู้คอยอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของอดีต ปธน. มูบารัค เสียชีวิตอย่างกระทันหันที่สหรัฐฯ ด้วยปัญหาสุขภาพ
 
 
 
เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2012 ที่ผ่านมาสำนักข่าว BBC รายงานว่า โอมาร์ สุไลมาน อดีตสายลับของอียิปต์ผู้ทำงานให้กับอดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค เสียชีวิตลงที่ประเทศสหรัฐฯ

สำนักข่าว Mena ของรัฐบาลอียิปต์รายงานว่าโอมาร์ สุไลมานเสียชีวิตเมื่อช่วงเช้าวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา ด้วยการอาการหัวใจวาย โดยก่อนหน้านี้เขาประสบปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและปอดมาหลายเดือน และได้เข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลในคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ

โดยก่อนหน้านี้นายพล สุไลมาน ผู้มีอายุราว 70 ปี ได้รับการแต่งตั้งจากมูบารัคให้เป็นรองประธานาธิบดีในวันสุดท้ายที่เขาครองอำนาจ

เขามีเป้าหมายลงเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีนี้ แต่ก็ถูกตัดสิทธิ์ด้วยเหตุผลทางเทคนิค

ผู้ช่วยของนายพลสุไลมานบอกว่าความตายของเขาเป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย

"เขาสบายดี จนกระทั่งมันเกิดขึ้นอย่างทันด่วนในขณะที่เขากำลังรับการตรวจสุขภาพที่คลีฟแลนด์" ฮุสเซน คามาลกล่าว โดยบอกอีกว่าจะนำตัวเขากลับบ้านเพื่อทำพิธีศพ

รีม มัมโดห์ สมาชิกทีมหาเสียงของสุไลมานเปิดเผยว่าสุขภาพของสุไลมานแย่ลงเรื่อยๆ และเขาได้มาอาศัยอยู่กับครอบครัวที่สหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา

นายพลสุไลมาน ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าหน่วยงานข่าวกรองของอียิปต์ (Egis) มาเป็นเวลา 18 ปี

เขากลายเป็นรองประธานาธิบดีอียิปต์คนแรกในรอบ 30 ปี เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2011 สี่วันหลังจากที่มีการลุกฮือต่อต้านมูบารัค

สองสัปดาห์ต่อมา เขาปรากฏตัวในโทรทัศน์ช่องรัฐบาลเพื่อประกาศว่าประธานาธิบดีมูบารัคตัดสินใจลงจากอำนาจที่ถือครองมายาวนาน ทำให้ผู้ประท้วงใจกลางจัตุรัสทาห์เรียพากันเฉลิมฉลอง

หลังจากที่เขาไม่ได้รับลายเซนต์รับรองมากพอที่จะได้เข้าลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เขาก็ออกจากประเทศ มีรายงานว่าเขาไปที่ อาบู ดาบี

ผู้อยู่เบื้องหลัง ปธน. มูบารัค

ผู้สื่อข่าว BBC ในกรุงไคโร จอน ลีนน์ บอกว่าโอมาร์ สุไลมานเป็นคนสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังการเป็นประธานาธิบดีของฮอสนี มูบารัค

ในฐานะของผู้นำหน่วยข่าวกรอง นายพลสุไลมานช่วยทำให้เปิดรัฐตำรวจ จนทำให้มูบารัคอยู่ในำนาจต่อไปได้

แต่นอกจากนั้นแล้วอดีต ปธน. มูบารัค ยังได้ใช้เขาเป็นที่ปรึกษา เป็นคนเจรจาประเด็นความยุ่งยากกับอิสราเอล, ปาเลสไตน์ และสหรัฐอเมริกา อีกด้วย

"สุไลมานยอมเปิดเผยตัวเองออกมาจากเงามืด ในวันสุดท้ายของการเป็นประธานาธิบดีของมูบารัค โดยได้รับการแต่งตั้งเป็นรองประธานาธิบดี เป็นเสียงที่โศกเศร้าของเขาเองที่พูดถึงความพ่ายแพ้ของเจ้านายเขาในวันที่ 11 ก.พ. 2011 มีข่าวลือว่าทางกองทัพโหวตคัดค้านไม่ให้เขาดำรงตำแหน่งต่อจากมูบารัค" จอน ลีนน์ ผู้สื่อข่าว BBC กล่าว

จอนกล่าวแสดงความเป็นอีกว่า หากสุไลมานสามารถลงสมัครเลือกตั้งได้ เขาคงชนะการเลือกตั้ง

"และหากสุไลมานได้เป็นประธานาธิบดี อียิปต์ก็จะกลายเป็นอีกที่หนึ่งที่ต่างออกไป" จอนกล่าว


ที่มา:

Egypt's ex-spy chief Omar Suleiman dies in United States, BBC, 19-07-2012
http://www.bbc.co.uk/news/world-middle-east-18899004

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น