โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

คนตรังถาม–กฟผ.ตอบ โฆษณาคาใจ “โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด?”

Posted: 11 Jul 2012 11:40 AM PDT

 
 
ขณะที่กระแสการคัดค้าน “โรงไฟฟ้าถ่านหินตรัง” ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เล็ง 3 พื้นที่ ใน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เป็นสถานที่ก่อสร้างกำลังพุ่งขึ้นสู่กระแสสูง ประเด็นการเผยแพร่เอกสารโฆษณาและประชาสัมพันธ์ของ กฟผ.ว่า โรงไฟฟ้าที่กำลังจะเกิดขึ้นในอำเภอกันตังเป็น “โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด” ก็ถาโถมความสงสัยตามมาอีกระรอกใหญ่
 
ชวการ โชคดำลีลา หัวหน้าศูนย์พลังงานไฟฟ้าจังหวัดตรัง จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เปิดอกให้สัมภาษณ์พิเศษ ถึงความเป็นมาของโครงการก่อสร้าง 9 โรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะที่ อ.กันตัง ซึ่งกำลังเข้าสู่ขั้นตอนการศึกษาทรัพยากรชายฝั่ง และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น
 
รวมทั้งให้เรื่องคาใจคนตรังที่ว่า “ถ่านหินสะอาดมีจริงหรือ?” คำตอบอยู่ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้แล้ว
 
 

มองแผน PDP 2010 อย่างไร?

ตามแผน PDP 2010 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าสนองความต้องการการใช้ไฟฟ้าตามความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเพิ่มขึ้นทุกปีปีละ 4–5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่โรงไฟฟ้าที่มีอยู่ปัจจุบันก็ต้องหมดอายุการใช้งาน ในอีก 20 ปีข้างหน้า ประมาณ 16,000 เมกะวัตต์ ต้องปลดออกจากระบบไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ขึ้นมาทดแทนโรงไฟฟ้าที่หมดอายุ และในส่วนที่มีความต้องการเพิ่ม 4–5 เปอร์เซ็นต์ให้ได้ตามแผน
 
แผน PDP 2010 ฉบับนี้ เป็นฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ตามแผนนี้ถึงอย่างไรก็ต้องสร้างโรงไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือในส่วนของโรงไฟฟ้าเอกชน ทั้งสองส่วนนี้จะต้องร่วมกันสร้างโรงไฟฟ้า เพื่อสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น
 
วันที่ 26 เมษายน 2555 เราใช้ไฟฟ้าถึง 26,126 เมกะวัตต์ จะเห็นได้ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้ามันไม่หยุด การประหยัดพลังงานเราทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร การไฟฟ้าแห่งประเทศไทยมีการบริหารด้าน Demand Side Management ในภาคการประหยัดพลังงาน เช่น การส่งเสริมประหยัดพลังงานเครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ 5 เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าลง ท้ายที่สุดสรุปแล้ว เรายังต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่ม
 
โรงไฟฟ้าเอง ไม่ใช่สร้างโรงไฟฟ้าวันนี้ แล้วใช้ได้เลย การก่อสร้างใช้เวลานาน อย่างโรงไฟฟ้าแก๊สใช้เวลาสร้างประมาณ 27 เดือน หรือ 3 ปี โรงไฟฟ้าถ่านหินประมาณ 5 ปี ก่อนจะสร้างโรงไฟฟ้า จะต้องผ่านกระบวนการต่างๆ ประมาณ 2 ปีแล้ว รวมแล้วโรงไฟฟ้าถ่านหินใช้เวลาประมาณ 7 ปี ถ้าเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ 10 ปี
 
เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นจะต้องมีแผนการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าเป็นขั้นตอน ดูว่าเมื่อมีโรงไฟฟ้าปลดจากระบบแล้ว ปริมาณไฟฟ้าจะต้องเข้าระบบเท่าไหร่ ไม่อย่างนั้นบริหารจัดการไม่ได้ ไฟฟ้าจะไม่พอใช้ ความมั่นคงก็ไม่มี
 
สำหรับการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้า หนึ่ง ต้องมีความมั่นคงด้านพลังงาน สอง ราคาต้องเหมาะสม สิ่งสำคัญที่สุดคือ การพัฒนาพลังงานไฟฟ้าต้องควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย เราต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดเวลาที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยผลิตไฟฟ้ามา 40 ปี ไม่เคยปรากฏว่าไฟฟ้าของประเทศไม่พอใช้ เรามีไฟฟ้าใช้เพียงพอมาตลอด
 
ในส่วนของกำลังสำรองที่มั่นคงตามมาตรฐานระดับโลกจะต้องมีไม่น้อยกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ สมมติว่ามีต้องการอยู่หนึ่งหมื่นเมกะวัตต์ ต้องมีแผนผลิตให้เกินไว้ 15 เปอร์เซ็นต์คืออีก 1,500 เมกะวัตต์ ก็เป็น 11,500 เมกะวัตต์ ไม่น้อยกว่านี้ เพราะหากโรงไฟฟ้าโรงใดโรงหนึ่งปิดไป จะเอาไฟฟ้าจากไหนมาใช้ สมมุติหายไปโรงหนึ่ง 800 เมกะวัตต์ จะเอามาจากไหนมาทดแทน ถ้าผลิตแค่หนึ่งหมื่นเมกะวัตต์พอดี ก็ไม่มีไฟฟ้าสำรองอาจต้องดับไฟในบางพื้นที่
 
ที่ผ่านมาสิ่งเหล่านี้คนไม่ค่อยเข้าใจ โดยเฉพาะภาคใต้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่ม 4–5 เปอร์เซ็นต์ต่อปีมาตลอด วันที่ 14 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา ใช้ไป 2,300 กว่าเมกะวัตต์ ขณะที่กำลังติดตั้งเรามีอยู่ 2,100 เมกะวัตต์ เราต้องไปซื้อไฟฟ้ามาจากมาเลเซีย และดึงไฟฟ้ามาจากภาคกลางประมาณ 600 เมกะวัตต์
 
โรงไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนเชี่ยวหลาน หรือเขื่อนรัชประภา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เดินเครื่องเฉพาะเพื่อการเกษตรเป็นหลัก ส่วนโรงไฟฟ้าน้ำมันดีเซล จังหวัดสุราษฎร์ธานี แทบไม่ต้องพูดถึงเลยไว้ใช้ในยามฉุกเฉินอย่างเดียว ถ้าเราเกิดขอซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซีย แล้วมาเลเซียไม่ขายให้เรามีปัญหาแน่ เพราะเราซื้อแบบไม่ยืนยัน ความต้องการใช้ไฟฟ้าของเขาอาจพีคพร้อมกับเราพอดี หรือถ้าเราต้องการใช้ไฟฟ้าฉุกเฉิน สุราษฎร์ธานีให้ได้ 240 เมกะวัตต์ก็จริง แต่ต้องใช้น้ำมันดีเซลเดินเครื่อง น้ำมันดีเซลแพงใช้ครั้งหนึ่งตกยูนิตละ 20 กว่าบาท ขณะที่รัฐขายไฟฟ้าให้ประชาชนแค่ยูนิตละ 3.20 บาท รัฐต้องเอาเงินมาชดเชย เอาภาษีเรามาชดเชย นี่คือสภาพของไฟฟ้าภาคใต้ เราถึงจะมาพัฒนาพลังงานเพื่อให้มันเพียงพอ
 
ตอนนี้เราเอาก๊าซธรรมชาติมาจากพม่ามาผลิตไฟฟ้า ได้มาจากแหล่งเยตากุน ยานาดา และเอ็ม 9 ที่เพิ่งลงนามในสัญญา จากแหล่งเยตากุน ยานาดา เอามาผลิตไฟฟ้าได้ 5,600 เมกะวัตต์ รับก๊าซจากพม่ามาประมาณ 1,100 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เดินท่อมาผลิตไฟฟ้า 5,600 เมกะวัตต์ ส่วนแหล่งเอ็ม 9 จะรับได้ในปี ค.ศ.2014 ปริมาณ 1,200 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ผลิตไฟฟ้าได้ทั้งหมดรวม 7,000 เมกะวัตต์ เหมือนกับเราไปยืมจมูกของพม่ามาหายใจ เพราะก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยอีก 18 ปีก็หมด ตอนนี้ปริมาณเริ่มลดลงเรื่อยๆ เราจะทำอย่างไรให้พลังงานไฟฟ้าของประเทศเรามั่นคง
 
ตอนนี้ต่างประเทศเริ่มมีปัญหา พม่าไฟฟ้าไม่พอใช้ ประชาชนเดินขบวนประท้วง อินเดียก็มีปัญหา เพราะใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าเยอะ อินโดนีเซียก็เหมือนกัน เริ่มมองแล้วว่าอนาคตข้างหน้าน้ำมันจะหมด ก๊าซธรรมชาติจะหมด เขาจะทำอย่างไร ในเมื่อเขามีถ่านหินเป็นหลัก เขาอาจสงวนถ่านหินเอาไว้ใช้ภายในประเทศก็ได้ ต่อไปเขาอาจไม่ขายเรา ตอนนี้บริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) ไปทำเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซียอยู่ประมาณ 5 เหมือง
 
ตอนนี้สัดส่วนการใช้ถ่านหินเรา 20 เปอร์เซ็นต์เอง เราใช้ก๊าซธรรมชาติถึง 65 เปอร์เซ็นต์ อันที่หนึ่งผมกลัวว่าก๊าซจะหมด อันที่สองไฟฟ้าจากก๊าซก๊าซ 65 เปอร์เซ็นต์ เราเอามาจากพม่า 42 เปอร์เซ็นต์ เป็นก๊าซของเราเอง 58 เปอร์เซ็นต์ เป็นก๊าซจากอ่าวไทย และแหล่งเจดีเอที่ใช้ร่วมกันระหว่างไทยกับมาเลย์ 50:50 ไม่นานก็หมดใช่ไหมครับ กลายเป็นว่าตอนนี้เราเอาจมูกพม่ามาหายใจอยู่ 5,600 เมกะวัตต์
 
 

ถ่านหินเราก็ยืมจมูกของอินโดนีเซียหายใจ?

ไม่ เราเซ็นสัญญานานถึง 30 ปี
 
 

พม่าเราก็เซ็นสัญญานานหลายสิบปี?

พม่ามันมีความเสี่ยง ถ้าท่อแตกละ ถ้าโดนกะเหรี่ยงระเบิดท่อละ เหมือนที่ผ่านมาตอนเดือนเมษายน 2555 เขาหยุดบำรุงรักษา 10 กว่าวัน เขาหยุดซ่อมฐานแก๊ส การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยต้องเอาน้ำมันดีเซลมาผลิตไฟฟ้า
 
พม่ามีฐานแก๊ส 3 ฐาน เราซื้อมา 2 คือเยตากุน ยานาดา 1,100 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน อีกฐานคือเอ็ม 9 อันนี้เพิ่งเซ็นสัญญา ทั้ง 3 ท่อวิ่งมาจากพม่า มารวมกันเป็นท่อเดียว ผ่านภูเขา ผ่านกะเหรี่ยง ถ้าโดนกะเหรี่ยงระเบิดทำไงละ หรือต่อไปในอนาคตพม่าแอบเดินท่อเข้าประเทศพม่า แล้วบอกว่าแก๊สใกล้จะหมด แบบนี้จบเลย เหมือนของเราอ่าวไทยที่ร่อยหรอลงเรื่อยๆ
 
 

จะสร้างโรงไฟฟ้าในภาคใต้กี่โรง?

คนเขาถามว่าทำไมถึงเป็นที่ภาคใต้ เพราะเราต้องนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศ ไม่ได้ใช้ใช่ถ่านหินในประเทศ ถ่านหินที่ใช้จะต้องมาทางเรือ พอมาทางเรือก็ต้องมาขึ้นตามบริเวณชายฝั่ง ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน โรงไฟฟ้าก็ต้องตั้งบริเวณชายฝั่ง
 
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยสำรวจมาหมดแล้ว ตั้งแต่จังหวัดตราดจนถึงนราธิวาส ปัตตานี ฝั่งอันดามันก็ระนอง พังงา เดิมจังหวัดพังงาเองก็มีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้า ศึกษาแล้วแต่ไม่เหมาะสม เนื่องจากอยู่ใกล้แนวรอยเลื่อนแผ่นดินไหว เราจะต้องหลบแนวรอยเลื่อนลงมา สตูลก็มีแผน แต่ที่ดินสตูลมีไม่พอ
 
การสร้างโรงไฟฟ้าต้องดูหลายอย่าง ต้องไม่มีการย้ายประชาชนออกจากพื้นที่ อย่างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 800 เมกะวัตต์ ใช้พื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องรบกวนชุมชนน้อยที่สุด
 
 

โรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ทั้ง 9 โรง ขนาด 800 เมกะวัตต์หมดเลยใช่ไหม?

ใช่ ขนาด 800 เมกะวัตต์ 9 โรง ผลิตไฟฟ้า 7,200 เมกะวัตต์ ตอนนี้ภาคใต้ใช้ไฟฟ้าอยู่ 2,300 เมกะวัตต์ กำลังผลิตอยู่ที่ประมาณ 2,100 เมกะวัตต์ ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มอีกประมาณปีละ 5 เปอร์เซ็นต์ กำลังการผลิตที่จะได้จาก 9 โรงในอนาคต 7,200 เมกะวัตต์ จะป้อนเข้าระบบ Power Grid นำไปใช้ทั้งประเทศ เพราะที่ผ่านมาภาคใต้ยืมไฟฟ้าภาคอื่นมาใช้นานแล้ว ยืมจากโรงไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครมาใช้นานแล้ว เราก็ต้องผลิตเผื่อแผ่ไปให้เขากลับไปบ้าง
 
 

จังหวัดไหนบ้างที่ศึกษาแล้วมีศักยภาพตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินได้?

ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สงขลาก็สามารถสร้างได้ ใกล้ๆ กับโรงไฟฟ้าจะนะอยู่คนละตำบล แต่เป็นพื้นที่เป้าหมายเหมือนกัน เรายังไม่ได้ศึกษา สตูล เราก็ไปสำรวจแต่ที่ดินไม่พอ
 
 

ความเหมาะสมของจังหวัดตรัง?

อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง มีท่าเรือขนถ่ายถ่านหินเดิม ที่ขนถ่ายถ่านหินไปโรงปูนทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราชอยู่แล้ว ชาวบ้านน่าจะคุ้นกับถ่านหิน เหมือนชาวบ้านที่โรงไฟฟ้าลิกไนต์จังหวัดกระบี่ เราเลยมาศึกษาดูว่าพื้นที่มีเพียงพอไหม เราดู 3 พื้นที่ในอำเภอกันตังก็พบว่า พอจะมีพื้นที่ขนาด 800–900 ไร่อยู่ บางพื้นที่ก็มี 2,000 ไร่ บางพื้นที่ 1,200 ไร่
 
 

3 พื้นที่มีที่ไหนบ้าง?

ตำบลบางสัก ตำบลวังวน และตำบลนาเกลือ บางพื้นที่มี 2 พันไร่ 3 พันไร่ แต่ต้องดูผังเมืองรวมประกอบด้วย พื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าต้องมีโฉนด ต้องไม่มีการย้ายประชากรออกจากพื้นที่ เราต้องดูหลายอย่าง ต้องดูพื้นที่ทำท่าเรือให้เรือเข้ามาจอด ต้องใกล้แหล่งน้ำ ท้ายที่สุดเราต้องศึกษา EHIA ครบทั้งทางด้านกายภาพ ชีวภาพ สังคม ศึกษาทั้งระบบนิเวศน์
 
 

ลงพื้นที่จังหวัดตรังมากี่ปี่แล้ว?

ประมาณปีกว่า
 
 

ทำอะไรไปบ้าง?

เรามีกระบวนการอยู่ 7 ขั้นตอน ขั้นที่หนึ่ง เราศึกษาศักยภาพของพื้นที่ว่าเหมาะสมไหม ศึกษาไปแล้ว 3 พื้นที่นะ แต่ยังไม่รู้นะว่าจะเลือกอันไหน แต่ต้องเลือกเอาพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง
 
การศึกษาความเหมาะสมนี่ศึกษาหลายด้าน ต้องใกล้แม่น้ำเอาเรือขนถ่านหินเข้ามาได้ มีน้ำเพียงพอ และประชากรเบาบาง รบกวนชุมชนน้อย นี่ยังไม่สิ้นสุดนะ ถ้าเราศึกษา EHIA ชุดใหญ่ ต้องศึกษาลงไปในรายละเอียดว่า ทิศทางลมเป็นยังไง ต้องศึกษาอีกเยอะ อันนี้ผู้เชี่ยวชาญจะเข้ามาศึกษา ตอนนี้เราแค่ศึกษาว่าพื้นที่นี้มีศักยภาพสร้างโรงไฟฟ้าได้หรือไม่เท่านั้น
 
หลังจากนั้นเราจะให้ข้อมูลกับชุมชน ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 ผมต้องอ้างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ตลอด เพราะนักพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) เขาอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยก็มีสิทธิ ที่จะลงไปชี้แจงข้อมูลกับชุมชน ตามมาตรา 57 จะบอกให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยยกเลิกโครงการง่ายๆ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะเราทำตามรัฐธรรมนูญ 2550 ตอนนี้เราไม่ได้มาบอกว่าต้องสร้าง ขั้นที่ 2 เป็นขั้นให้ความรู้กับประชาชน เราให้ข้อเท็จจริงทั้งหมด พร้อมกับพาคนในพื้นที่ไปดูงาน
 
 

จากการลงพื้นที่ตั้งแต่ต้นถึงปัจจุบัน ปฏิกิริยาชาวบ้านเป็นอย่างไรบ้าง?

ก็มีทั้งคนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย เป็นธรรมดาอยู่แล้ว คนเป็นกลางก็มี ส่วนคนเห็นด้วยมากหรือน้อย เรายังตอบยังไม่ได้ ตอนนี้เราขอให้ได้เข้าไปให้ความรู้กับชาวบ้านเท่านั้น
 
 

เนื่องจากลงไปไปหลายพื้นที่แล้วไม่ได้การยอมรับ เช่น อำเภอท่าศาลา อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช พอมาจังหวัดตรังมีความมั่นใจในการทำความเข้าใจกับชาวบ้านขนาดไหน?

ไม่ว่าจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช มิติต่างกัน ถ้าเราเข้าไปในพื้นที่ ขณะที่ในพื้นที่มีปัญหาของเขาอยู่แล้ว เช่น การเมืองในพื้นที่มีปัญหา ชุมชนขัดแย้งกันอยู่ พอการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเข้าไปเราจะตกเป็นเหยื่อ เพราะฝ่ายตรงข้ามจะจุดประเด็นนี้ไปโจมตี ไล่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยออกจากพื้นที่ ทั้งที่ยังไม่ได้ทำอะไรมากมายด้วยซ้ำ
 
ถ้าพื้นที่ไหนมีความขัดแย้งในพื้นที่น้อย จะไม่ค่อยเกิดปัญหา ยกตัวอย่างที่กระบี่ความขัดแย้งในพื้นที่น้อย และชุมชนเขารับรู้เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินมาตั้งแต่มีโรงไฟฟ้าลิกไนต์กระบี่ มันเป็นพื้นที่เหมืองถ่านหินลิกไนต์เก่า เขารับรู้เรื่องถ่านหินอยู่แล้ว ก็จะไม่ค่อยมีปัญหาเกิดขึ้น นอกจากว่ามีนักพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอจากข้างนอกเข้าไปจุดประเด็นทีละเล็กละน้อย
 
เอ็นจีโอมีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับประเทศ ระดับภาคใต้ ในจังหวัดตรังมีทั้งมูลนิธิหยาดฝน มูลนิธิอันดามัน เขาทำเรื่องอนุรักษ์กันหมด ผมไม่ได้ว่าเขาไม่ดี เรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเป็นเรื่องดี แต่มิติการพัฒนาประเทศต้องให้ชาวบ้านรับรู้ด้วย ไม่ใช่มาปิดกั้นไล่คนของเราออกจากพื้นที่ มันไม่ถูก
 
 

ที่ผ่านมาโดนปิดล้อมหรือยัง ?

มี คือมีเอ็นจีโอเข้าไปยุคนในพื้นที่ แต่ก่อนเราเข้าไปก็ธรรมดา ในพื้นที่ไม่มีอะไรเลย ช่วยเหลือดูแลกัน แต่พอเอ็นจีโอเริ่มเข้ามาเท่านั้นแหละ มีการนำเอาข้อมูลที่ชาวบ้านซึ่งยังไม่ได้ไปเห็นของจริงมาเล่า ส่วนจะมีอะไรอื่นอยู่ข้างหลังบ้างหรือไม่ เราไม่รู้
 
 

พื้นที่ไหน ที่มีการปิดล้อม?

ที่วังวน
 
 

ที่บางสัก นาเกลือละ?

บางสัก นาเกลือ เรายังไม่ถูกปิดล้อม ถูกปิดล้อมเฉพาะที่วังวน
 
 

เริ่มศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) เมื่อไหร่?

ตามแผนเราจะศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ในเดือนกรกฎาคม 2555 นี่แหละ ใช้ระยะเวลาศึกษาประมาณ 8 เดือน ต้องจ้างบริษัทที่ปรึกษา จ้างนักวิชาการมาศึกษา โดยบริษัทที่ปรึกษาจะเป็นผู้ประสานงานกับสถาบันการศึกษา ไปจ้างนักวิชาการ นักวิจัย 30–40 คนมาศึกษา โดยต้องมีชาวบ้านเข้าร่วมศึกษาด้วย
             
 

ต้นเดือนกรกฎาคม 2555 น่าจะเริ่มไม่ทัน?

อาจจะเป็นกลางหรือปลายเดือนกรกฎาคม 2555 เพราะเราต้องให้ชาวบ้านมาร่วมศึกษาด้วย เราต้องให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
 
 

ทราบว่ามีบางมหาวิทยาลัยรับศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นไปแล้ว?

คนละงานกันครับ อันนั้นเข้าใจผิด มันเป็นงานวิจัยครับ ไม่ใช่ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น เป็นงานวิจัยการใช้ประโยชน์ทรัพยากรชายฝั่งทั้งหมด
 
 

ทำไมถึงต้องศึกษาการใช้ประโยชน์ทรัพยากรชายฝั่ง?

เราถอดบทเรียนจากอดีต อย่างที่โรงไฟฟ้าจะนะ จังหวัดสงขลา เราไม่มีฐานข้อมูลของกุ้ง หอย ปู ปลา ในอาณาบริเวณก่อสร้าง ฐานข้อมูลพวกนี้เราไม่มี เราก็เอามาเป็นบทเรียนว่าถ้าโรงไฟฟ้าที่อื่นจะต้องศึกษาให้หมดเลย ไม่ว่ากุ้ง หอย ปู ปลา ปลาโลมา ปลาพะยูน หญ้าทะเล ที่เขาพูดว่ามีปลาพะยูน 200 ตัว มีจริงหรือเปล่า หญ้าทะเล 25,000 ไร่ มีจริงหรือเปล่า อย่างลุ่มน้ำปะเหลียนต้องศึกษาหมดเลย วันหนึ่งชาวบ้านจับปลาได้กี่กิโลกรัม มีปลาอะไรบ้าง ปูดำมีกี่ตัว ต้องศึกษาให้หมด
 
การวิจัยทรัพยากรชายฝั่งก็เพื่อต้องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืน เราจะเอาผลการวิจัยแล้ว มาพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น ชุมชนจะได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชายฝั่งทั้งหมด
 
ที่จังหวัดกระบี่เราก็ศึกษาเรื่องทรัพยากรชายฝั่งด้วย เพราะเรากำลังจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่นั่นเช่นกัน
 
 

การศึกษา IEEต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่?

ไม่รู้ครับ มีฝ่ายรับผิดชอบเรื่องนี้อยู่ แต่เราศึกษาอย่างรอบด้าน ศึกษาเยอะ หนังสือเอกสารนี่เป็นตั้งๆ รายละเอียดเยอะ มีทุกด้านไม่ว่าเรื่องแนวรอยเลื่อน แผ่นดินไหวมีหมด ด้านประชากรศาสตร์มีอะไร จำนวนประชากรมีกี่คน
 
 

การศึกษา IEE แตกต่างจาก EIA และ EHIA อย่างไร?

IEE เราศึกษาข้อมูลทุติยภูมิ แต่ EHIA ศึกษาตั้งแต่ข้อมูลปฐมภูมิ ไปจนถึงทุติยภูมิ EHIA เป็นการศึกษาชุดใหญ่ทั้งระบบ แต่ IEE เป็นการศึกษาข้อมูลย่อย ข้อมูลที่ได้อาจจะนำไปใช้ประกอบในการศึกษา EHIA ด้วยก็ได้
 
 

โครงการลักษณะไหนที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยต้องทำ EHIA?

ถ้าเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซ โรงไฟฟ้าจะนะแค่ทำ EIA เพราะขนาดไม่เกิน 3 พันเมกะวัตต์ แต่ถ้าเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยต้องทำทั้งหมด เราไม่เคยทำ EHIA มาก่อน แต่ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนเคยทำ EHIA มาแล้ว ที่เก็คโค่วัน ที่บีแอลซีพี จังหวัดระยอง
 
กว่าจะผ่านยากครับ ไม่หมู เอาแค่กระบวนการเริ่มต้นยังยากเลย เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญล็อกไว้ ไม่เหมือนสมัยก่อนผมไปสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ ผมสร้างได้เลย ทุกวันนี้การทำโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ยากมาก รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ความสำคัญกับสิทธิชุมชนมาก
 
เมื่อเราทำ EHIA เสร็จแล้ว ต้องผ่านกระบวนการต่างๆ อีก คณะกรรมการฯ เยอะ ทุกคนแสดงความเห็นเยอะมาก เอาแค่โรงไฟฟ้าจะนะ 2 ผมเข้าไปฟังเขาให้ความเห็นก็ปวดหัวแล้ว โครงการขนาดใหญ่ภาคประชาชนก็อ้างสิทธิ์ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างเดียว ที่ระยองก็เจอสุทธิ อัชฌาศัย
 
 

ท่าเรือขนถ่ายถ่านหิน?

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะสร้างท่าเรือขนถ่ายถ่านหินขึ้นมาใหม่ เป็นของโรงไฟฟ้าเอง ถ้าไปใช้ท่าเรือที่มีอยู่เดิมเราจะรบกวนเขาเยอะ ถ้าไปใช้ท่าเรือนาเกลือขององค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง เขาก็ขนถ่ายยิปซัม ปูนซิเมน ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ไม้ยางพาราอยู่ แค่ขนสินค้าที่มีอยู่ เขาก็รับไม่ไหวอยู่แล้ว
 
 

ท่าเรือขนถ่านหินต้องทำ EHIA แยกต่างหากจากโรงไฟฟ้าไหม?

เราทำ EHIA รวมกับตัวโรงไฟฟ้าเลย เป็นการทำ EHIA ของโรงไฟฟ้าและท่าเรือ
 
 

โรงไฟฟ้าถ่านหินตรังมีต้นทุนต่อหน่วยเท่าไหร่?

ประมาณ 2.60 บาท โรงไฟฟ้าที่ต้นทุนถูกที่สุดคือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงไฟฟ้าที่ตรังมีมูลค่าหลายหมื่นล้าน แต่ยังระบุชัดเจนไม่ได้ว่าเท่าไหร่ อาจจะ 4–5 หมื่นล้านบาท ขึ้นอยู่กับการออกแบบ ขึ้นอยู่กับบริษัทฯ เสนอราคา แต่เป็นโปรเจ็กต์ใหญ่ การเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดต้องลงทุนสูง
 
 

โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด?

ชื่อมันเป็นอย่างนี้ ภาษาอังกฤษเขาเรียกคลีนเทคโนโลยี (Clean Technology) คือโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใช้เทคโนโลยีสะอาด ชื่อโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีสะอาดมันก็น่าจะโอเคแล้วละ แต่เป็นเพราะตัวถ่านหินมันไม่สะอาด ต่อไปต้องเปลี่ยนเพิ่มคำว่าเทคโนโลยีเข้าไปเป็นโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด
 
 

ป้องกันมลพิษอย่างไร?

กระบวนการของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก่อนออกจากเหมืองต้องเนี้ยบมาก่อนแล้ว ทั้งกายภาพ ชีวภาพ เคมี มีการทำความสะอาดถ่านหินมาอย่างดี ก่อนลงเรือขนส่งมาถึงโรงไฟฟ้า พอถึงโรงไฟฟ้า โรงไฟฟ้าก็ดูดเข้าระบบปิด มีสายพานลำเลียงแบบโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีระยอง ซึ่งเป็นท่อปิด มองไม่เห็นสายพานลำเลียง เข้าไปในโรงไฟฟ้าก็มีโรงเก็บ
 
ที่เป็นกังวลคือมลพิษ 3 ตัวหลักๆ 1.ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2.ไนโตรเจนออกไซด์ 3.ฝุ่น ทั้ง 3 ตัว เรามีระบบดักจับหมดเลย เขาจึงเรียกว่าเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด
 
การดักจับฝุ่นด้วยระบบไฟฟ้าสถิต มีประสิทธิภาพสูงถึง 99 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเราควบคุมให้ดีกว่าที่กฎหมายกำหนด มันก็ไม่มีพิษมีภัยกับมนุษย์อยู่แล้ว ถ้ามีพิษมีภัยกับมนุษย์เราสร้างโรงไฟฟ้าไม่ได้ กรมควบคุมมลพิษคงสั่งปิดโรงไฟฟ้า แล้วการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยลงทุนไปตั้งมากมาย กลับเดินเครื่องโรงไฟฟ้าไม่ได้มันก็จบ
 
 

เถ้าลอย เถ้าหนักของถ่านหินเอาไปไหน?

ฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 10 PPM จะถูกจับด้วยสนามไฟฟ้า ส่วนที่เกิดจากระบบกำจัดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ จะมีเถ้าลอยกับเถ้าหนัก เถ้าลอยเราจะขายโรงปูนทุ่งสง เอาไปผสมกับปูนซิเมนต์ทำให้ปูนแข็งขึ้น
 
ทุกวันนี้ที่โรงไฟฟ้ากระบี่ ก็มีระบบกำจัดสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เพราะโรงไฟฟ้ากระบี่ใช้น้ำมันเตา น้ำมันเตามีกำมะถันสูง ต้องใช้ระบบกำจัดซัลเฟอร์ไดออกไซด์
 
 

สารปนเปื้อนของถ่านหินไปอยู่ที่ไหน?

สารปนเปื้อนที่ติดอยู่ในถ่าน ไม่ส่งผลกระทบอะไรเขาเลยไม่พูดถึง เขาวิเคราะห์มาแล้วว่าถ่านหินบิทูมินัทก้อนหนึ่ง ปรอท แคดเมี่ยมที่พูดถึงมีปริมาณน้อยมาก ไม่ถึงขั้นก่ออันตรายต่อมนุษย์ ถึงจะมีหลงเหลืออยู่ในเถ้า แต่ปริมาณก็น้อยมาก ในส่วนของเถ้าจึงเอาไปขายโรงปูนหมดเลย ส่วนเถ้าหนักนี่ปัจจุบันนี้เขาเอาไปทำปุ๋ย
 
เหมือนโรงไฟฟ้ากระบี่ สนามกอล์ฟก็อยู่บนขี้เถ้าของเหมือง โรงไฟฟ้าแม่เมาะก็เหมือนกัน ในสนามกอล์ฟขี้เถ้าทั้งนั้น เอาขี้เถ้าไปถมหญ้าก็ขึ้นปกติ ทุกวันนี้ที่โรงไฟฟ้าบีแอลซีพีระยอง เขาเอาไปทำปุ๋ย เอาไปถมดินปลูกต้นไม้ได้ตามปกติ ตอนนี้กำลังวิจัยอยู่ว่าใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง แต่คนไม่ค่อยเชื่อ
 
 

ระบบกำจัดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ สามารถดักจับฝุ่นได้ขนาดไหน?

ขนาดเล็กกว่า 10 PPM ที่จมูกมนุษย์ไม่สามารถดักจับได้ สามารถจับได้ด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ไม่งั้นแม่เมาะนี่พนักงานคงตายไปหมดแล้ว ผมก็อยู่แม่เมาะมา ไม่เห็นเป็นไรเลย แต่เอ็นจีโอไปถ่ายภาพการทำเหมือง ไม่รู้ไปเอามาจากไหน เอามาปะติดปะต่อแล้วให้คนดู ให้ทีวีอะไรไป นั่นแหละ มันไม่ใช่ของจริง ปัจจุบันนี้แม่เมาะนี่เหมืองเขาได้รับรางวัลระดับโลก
 
อากาศที่แม่เมาะดีกว่ากรุงเทพฯ ทุกวันนี้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ก็น้อย ฝุ่นก็น้อย ดีกว่ากรุงเทพฯ ระดับการปนเปื้อนสามารถดูได้ตลอดเวลาทางอินเตอร์เน็ต เข้าไปที่เว็บไซต์ของกรมควบคุมมลพิษจะเห็นหมดเลย ไปดูที่เว็บไซต์ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะก็ได้ ดูได้แบบเรียลไทม์เลย จะเห็นค่าแสดงออกมา โรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่บางกรวย อยู่กลางกรุงเทพฯ เลย เขาก็มอนิเตอร์ให้คนที่ขับรถไปมาเห็นเลยว่า ค่าอากาศเท่าไหร่
 
ที่บางกรวยใช้ก๊าซจากพม่า ภาคใต้ที่จะนะใช้ก๊าซจากแหล่งจีดีเอ 18 ถ้าเกิดท่อก๊าซแตก ไฟฟ้าภาคใต้ก็เรียบร้อย เราต้องระมัดระวัง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยก็ต้องเตรียมระบบผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมันดีเซลเสริมเข้ามา เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านพลังงาน ถ้าก๊าซมีปัญหาก็เอาน้ำมันดีเซลเข้ามา
 
 

ตอนนี้ที่ไหนที่ผลิตไฟฟ้ามากที่สุด?

ตอนนี้ภาคกลาง โรงไฟฟ้าราชบุรี รองลงมาก็โรงไฟฟ้าลิกไนต์แม่เมาะกับโรงไฟฟ้าบางปะกง โรงไฟฟ้าแม่เมาะมีอายุ 30 กว่าปี ตอนนี้ผลิตอยู่ 2,400 กว่าเมกะวัตต์ สมัยที่ยังไม่มีโรงไฟฟ้าราชบุรี โรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าเยอะสุด โรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นโรงไฟฟ้าลิกไนต์ เป็นเหมืองของเราเอง
 
โรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นโรงไฟฟ้าที่ทำคุณประโยชน์กับประเทศชาติมาก ทำให้ค่าไฟฟ้าเราถูก เมื่อค่าไฟฟ้าเราถูกต้นทุนการผลิตสินค้าของเราก็ถูก ศักยภาพการแข่งขันทางการค้าของเราก็สูงไปด้วย
 
 

มีข้อโต้แย้งว่าการพยากรณ์การใช้พลังงานของไทยสูงเกินจริง?

ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด เมื่อเดือนเมษายน 2555 เราเตรียมไว้ที่ 24,000 เมกะวัตต์ แต่เอาเข้าจริงในช่วงที่ใช้ไฟฟ้าสูงสุดกลับสูงถึง 26,000 เมกะวัตต์ ห่างจากที่เตรียมการณ์ถึง 2,000 เมกะวัตต์ ที่เรามีไฟฟ้าพอใช้ เพราะเรามีกำลังสำรองอยู่ 20 เปอร์เซ็นต์ นี่คือเหตุผลว่า ทำไมต้องมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองไม่น้อยกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่ผลิตเกินมานี่แหละทำให้เราพอใช้ในที่เราใช้ไฟฟ้าสูงสุดเกินจากที่คาดการณ์ไว้
 
ถ้าไม่มีกำลังไฟฟ้าสำรอง ตอนเดือนเมษายนที่ผ่านมาเราจบเลย ที่เขาบอกว่าเราพยากรณ์เกินจริง ผมบอกได้เลยว่าเขาไม่รู้จริง คุณรสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร ก็พูดอย่างนี้เหมือนกัน บอกว่าพยากรณ์เกินจริงทั้งนั้นแหละ แต่ไม่รู้ข้อเท็จจริง อย่าลืมว่าโรงไฟฟ้าก็ต้องมีการปิดบำรุงรักษาด้วย การบริหารจัดการพวกนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยดูแลอยู่ มันจะพยากรณ์เกินจริงได้อย่างไร ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันคำนวณ เป็นไปไม่ได้ที่เราจะหลอกตัวเอง พยากรณ์มั่วๆ เราทำไม่ได้ คนที่มาทำตัวเลขพวกนี้มีแต่นักวิชาการทั้งนั้น เราจะพยากรณ์เกินจริงไปเพื่ออะไร
 
 

อาจมีข้อสงสัยเรื่องผลประโยชน์เกี่ยวกับธุรกิจพลังงาน?

ไม่มีหรอกครับ อย่ามองภาพลบเลย ไม่ใช่หรอกครับ ถ้าสมมุติพยากรณ์เกินจริงมากๆ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยลงทุนมหาศาล การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยก็ต้องมาแบกรับภาระการลงทุน รัฐบาลต้องมาแบกรับเงินกู้ต่างประเทศ เพราะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยก็เป็นของรัฐบาลเกิน 50% ถ้าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไปกู้เงินต่างประเทศ รัฐบาลก็ต้องค้ำประกัน ปล่อยให้พยากรณ์เกินจริงมากๆ ไม่มีใครได้ประโยชน์ มีแต่ประเทศชาติเสียประโยชน์
 
 

ประเทศชาติอาจเสียประโยชน์ แต่ในเชิงธุรกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือกลุ่มธุรกิจในวงการพลังงานอาจได้ประโยชน์?

ไม่ได้ประโยชน์เลย ผมอยู่ในองค์กร ผมถือว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรที่โปร่งใสที่สุดในประเทศ ไม่มีผลประโยชน์กับใครทั้งสิ้น ผมพูดตรงๆ เลยนะ ผมภูมิใจ ผมไปเวทีใหญ่ผมก็พูดแบบนี้ ไม่ว่า จะเป็นกับ ส.ว.หรือสออะไร ผมว่าประเทศไทยเดินหน้าไม่ได้ เพราะไม่เอาความจริงมาคุยกัน ถ้าไม่ใช่พวกตัวเอง เขาจะไม่มองด้านบวก มองแต่ด้านลบ
 
ผมเป็นคนในองค์กรของรัฐ เป็นคนของหน่วยงานที่โปร่งใสที่สุดแล้ว เราไม่มีผลประโยชน์กับใครทั้งนั้น เรามองจากความเป็นจริงในปัจจุบันเท่านั้น
 
 

ธุรกิจไฟฟ้าเป็นธุรกิจเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ มีหลักประกันอะไรในการรองรับการขาดทุน?

มีค่าเอฟทีที่มันขึ้นมันลง ที่เกิดจากต้นทุนทางพลังงาน สมมติใช้ต้นทุนดีเซลผลิตเยอะ ค่าเอฟทีก็สูง สมัยก่อนไม่มีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ Regulator ตอนนี้มีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อให้มีความโปร่งใสคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจะเข้ามาดูแลเรื่องนี้ เป็นหน่วยงานที่เข้าควบคุมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยด้วยซ้ำว่า คุณจะขึ้นค่าเอฟทีได้หรือไม่ มันไม่เหมือนเดิม เพราะฉะนั้น Regulator จะเข้ามาดูแลแทนประชาชน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะขึ้นค่าไฟ จะขึ้นค่าอะไรทุกอย่าง ไม่ได้ขึ้นด้วยตัวเอง
 
ค่าเอฟทีมาจากอะไร ค่าเอฟทีมาจากต้นทุนทางพลังงานว่า เอาอะไรมาผลิตไฟฟ้า ถ้าเอาน้ำมันดีเซลมาผลิตไฟฟ้า ค่าเอฟทีสูงแน่ ถ้ายิ่งเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเท่าไหร่ ค่าเอฟทีก็ยิ่งสูง เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนไม่เสถียร มันใช้ได้ไม่กี่ชั่วโมง ฉะนั้นถ้าลงทุนไปสมมติโซลาร์เซล 1 เมกะวัตต์ ร้อยล้านบาท นี่ของจริงเลยนะ 25 ไร่ แต่นำมาผลิตไฟฟ้าได้แค่ 15% รัฐให้แอ็ดเดอร์หรือค่าชดเชยเท่าไหร่รู้ไหม 6.50 บาท แล้วเอามาขายให้ประชาชน 3 บาท แอ็ดเดอร์ก็คือภาษีเรานี่แหละ รัฐเอาเงินภาษีของเรามาชดเชย สมมติผมไปลงทุนรัฐจะให้ 6.50 บาทต่อหน่วย ขายไฟฟ้าหนึ่งหน่วยออกไปรัฐให้ 6.50 บาท แล้วขายไฟฟ้า 3.20 บาท ก็ตกราวประมาณยูนิตละ 10 บาท ที่คนขายไฟจะได้ ทำไมเขาถึงขายได้ก็รัฐให้อีก 6.50 บาทไง 6 ปีก็คืนทุน
 
 

ทำไมธุรกิจไฟฟ้ารัฐถึงต้องประกันไม่ให้ขาดทุน?

ผมว่าเรื่องพลังงานหมุนเวียน ถ้าจะพูดจริงๆ มันเป็นธุรกิจการเมืองมากกว่า ไม่ใช่การเมืองระดับประเทศ แต่เป็นการเมืองระดับโลก โซลาร์เซลล์เป็นเรื่องการเมืองระดับโลก เพราะมันมีกลุ่มทุนหลายกลุ่มทุนเข้ามาลงทุน รัฐบาลจึงต้องให้ค่าแอ็ดเดอร์อยู่ ทำไมต้องให้ค่าแอ็ดเดอร์ ผมไม่เข้าใจ ทำไมรัฐต้องให้การอุดหนุน
 
 

ในเมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รับแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปีไปแล้ว แต่พอทำแผน PDP 2010 ถึงได้แผนอนุรักษ์พลังงานไปใช้เพียง 20%?

ต้องแยกออกสองส่วนครับ แผนอนุรักษ์พลังงานกับแผนพัฒนาไฟฟ้า (PDP 2010) มันคนละอันกันนะ คำว่าอนุรักษ์พลังงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยก็คือการใช้พลังงานหมุนเวียน แต่คำว่าใช้พลังงานหมุนเวียน ถ้าเราไม่พูดต่อคนก็เข้าใจผิด
 
ปัจจุบันในแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยกำหนดไว้เลยว่า จะต้องผลิตพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 340 เมกะวัตต์ เราต้องถามต่อไปว่าทำได้จริงเท่าไหร่ จริงๆ แล้วทำได้ไม่กี่เมกะวัตต์เอง
 
 

เรื่องการอนุรักษ์พลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยทำอะไรไปบ้าง?

เขาเน้นให้เราไป Demand Side Management คือบริหารจัดการการใช้พลังงาน หรือการประหยัดพลังงาน การประหยัดพลังงานคืออะไร หนึ่งการใช้ตู้เย็นเบอร์ 5 หลอดไฟเบอร์ 5 อันนั้นลดพลังงานได้แค่ส่วนหนึ่ง เพราะคนไทยไม่มีวัฒนธรรมการประหยัด ประหยัดได้ไม่มาก เรื่องการอนุรักษ์พลังเขามุ่งเน้นไปที่การใช้พลังงานหมุนเวียน
 
คำว่าส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนก็คือ หนึ่งสนับสนุนเงินทุนให้บริษัท ตอนนี้ World Bank เขาปล่อยเงินผ่านธนาคารกสิกรไทยให้บุคคลที่ต้องการสร้างโซลาร์เซลล์กู้ไปทำธุรกิจโซลาร์เซลล์ แต่พลังงานหมุนเวียนที่เป็นโซลาร์เซลล์ กระทรวงพลังงานเขารับได้ 500 เมกะวัตต์ ตอนนี้เขาปิดรับแล้ว เพราะทำสัญญาไปแล้วเอกชนทำไม่ได้ สมมติผมอยากทำ ผมไปเซ็นสัญญาไว้ 2 ปี แต่ผมทำไม่ได้ กระทรวงพลังงานยกเลิกสัญญาเลยนะ
 
เรื่องนี้มันเกี่ยวกับระบบสายส่งด้วย ถ้าความจุของระบบสายส่ง หรือ Capacity ของสายส่งไม่พอก็ขยายระบบนั้นไม่ได้
 
อย่างภาคใต้ สมมติที่สิเกาผมอยากสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ผมต้องไปเช็คว่าสายส่งเขาพอไหม ถ้าไม่พอเขาก็ขยายให้ไม่ได้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคก็ไม่รับ กระทรวงพลังงานก็ไม่อนุมัติ เพราะก่อนจะไปยื่นต้องคุยกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคว่า สายส่งพอไหม สมมติผมต้องการ 3 เมกะวัตต์ ถ้าสายส่งรับไม่ได้ผมก็ทำไม่ได้
 
 

แผนอนุรักษ์พลังงานที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรีไปแล้วมีเนื้อหาอะไรที่พิสดาร?

ผมว่าไม่พิสดารหรอก เพียงแต่คนเราเข้าใจไม่ตรงกันมากกว่า ระหว่างการพัฒนาโรงไฟฟ้ากับการอนุรักษ์พลังงาน การอนุรักษ์พลังงานคือการเน้นให้มาใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งเราต้องมาดูศักยภาพของประเทศไทยว่า มีจริงหรือเปล่า
 
อย่างพลังงานลมนี่ ความเร็วลมเหมาะที่สุดอยู่ที่เขายายเที่ยง แล้วที่อื่นทำได้ไหม ทำไม่ได้ ไม่ใช่ว่ามีลมแล้วผลิตไฟฟ้าได้เลย มันต้องมีความเร็วลมที่แรงพอ และมีลมต่อเนื่องพอที่จะผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่ถ้าใช้ไฟเฉพาะแค่ตอนเย็นนี่โอเค ใช้เฉพาะตอนที่ลมแรงโอเค แต่ความจริงมันไม่ใช่
 
ในชีวิตประจำวันของคนเราต้องใช้ไฟฟ้า 24 ชั่วโมง เราจึงต้องมีพลังงานหลักไว้ใช้ ไม่ว่าก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน นิวเคลียร์ เพื่อเดินเครื่องให้ได้ 24 ชั่วโมง ต้นทุนก็ไม่แพง ถ้าใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างเดียว โซลาร์เซลล์อย่างเดียว แดดไม่มีก็ใช้ไม่ได้แล้ว ใช่ไหม ถ้าใช้ไม่ได้แล้วยอมรับได้ไหมละ ประชาชนยอมรับไหม ไม่มีใครยอมรับ
 
 

พลังงานหมุนเวียนในจังหวัดตรัง?

เรื่องพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าน้ำหรืออะไร เรามีจำกัด ที่จังหวัดตรังพลังงานน้ำผลิตได้ 0.7 เมกะวัตต์เอง น้อยมาก มีคนถามผมเหมือนกันว่า ทำไมไม่สนับสนุนพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยทำที่ภาคกลาง อย่างพลังงานน้ำท้ายเขื่อนนี่เราทำ พยายามทำเต็มที่ อย่างพลังงานน้ำตก ที่อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร เราก็เข้าไปสนับสนุน
 
ถามว่าจังหวัดตรังมีแหล่งน้ำไหม มันไม่ได้มีขนาดสร้างโรงไฟฟ้า หน้าแล้งน้ำไม่มี ได้แค่เอาไว้เสริม เป็นอาหารเสริมนิดหน่อยได้ สมมุติขาดสารอาหารนี่เราเอาเรื่องพวกนี้มาเติมแค่นั้นเอง โซลาร์เซลล์ที่เกาะลิบง จังหวัดตรัง ที่รัฐบาลเข้าไปลงทุน ทางญี่ปุ่นเขาให้เงินมา 180 ล้านก็ใช้ไม่ได้
 
 

โซล่าร์เซลล์มีข้อจำกัดอย่างไร?

แดดไม่มีก็ผลิตไฟฟ้าไม่ได้ แบตเตอรี่มีอายุแค่ 2 ปีก็เสื่อมสภาพ กำลังการผลิตน้อย ค่าบำรุงรักษาสูง ต้องเช็ดฝุ่นเช็ดอะไรตลอด ตอนนี้กองเป็นเศษซากที่เกาะลิบง ผมไปดูมา ขอเงินบำรุงรักษา 1.5 ล้านบาทยังไม่ได้เลย กระทรวงพลังงานขอ จังหวัดก็ไม่ให้ นี่ผมยกตัวอย่างให้เห็นว่า ต้องบอกความจริงว่า พลังงานหมุนเวียนมีจุดอ่อนอะไร
 
อย่างบางคนบอกว่าให้เขามาติดที่หลังคาบ้าน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขาทำมาแล้ว เป็นโซลาร์เซลล์สำหรับบ้านที่ไม่มีไฟ ตอนนี้ทั้งหมดใช้ไม่ได้แล้ว เพราะแบตเตอรี่เสื่อมสภาพ ระบบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของมัน ไม่ว่า พวกชาร์จเจอร์พวกนี้สำคัญ มันซับซ้อนชาวบ้านก็บำรุงรักษาไม่เป็น สุดท้ายมันก็เสื่อม ใช้ไม่ได้ ผมไปพูดที่สุราษฎร์ธานี ผมถามลุงเอาอีกไหม เขาบอกเลย ไม่เอา
 
คนเขาบอกว่าพลังงานแสงแดดมันสะอาด ผมไม่เถียงหรอกว่า มันสะอาดจริง แต่ข้อจำกัดมันมี มันเป็นพลังงานหลักไม่ได้ สมมุติถ้าผมเอามาติดให้นะ ทั้งลม ทั้งโซลาร์เซลล์พี่เอาไหม เพราะถ้าไม่มีทั้งลมทั้งแดดก็ไม่มีไฟ แล้วค่าบำรุงรักษาสูงเอาไหม
 
เขาไม่ได้มองว่า ก่อนจะเป็นกังหันลม ก่อนที่จะเป็นโซลาร์เซลล์พวกนี้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเท่าไหร่ เมื่อใช้ไม่ได้ก็เป็นเศษซากซิลิกอน ไปดูได้ที่เกาะลิบงเห็นชัดเลย
 
ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ถ้าจะใช้โซลาร์เซลล์ ต้องใช้พื้นที่ 25 ไร่ ต้องตัดต้นปาล์มทิ้งไปเท่าไหร่ ต้องตัดต้นยางไปกี่ไร่ ถึงจะได้ไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ แถมไม่มีความเสถียรด้วย ติดตั้งไป 100 เมกะวัตต์ ใช้ได้แค่ 15 เมกะวัตต์
 
 

ตรังใช้ไฟฟ้าแค่ 100 กว่าเมกะวัตต์ ทำไมถึงสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 800 เมกะวัตต์?

เพราะเราผลิตไฟฟ้าส่งไปใช้ทั่วประเทศ ไม่ใช่ว่าผลิตเอามาใช้ที่ตรังอย่างเดียว ที่ไหนต้องการใช้ก็ดึงไปใช้ได้หมด ตอนนี้อย่าลืมว่าภาคใต้ก็เอามาจากภาคกลางประมาณ 600 เมกะวัตต์ ทุกคนจะบอกว่าจังหวัดตรังใช้ไฟแค่ 120 เมกะวัตต์ ผลิตแค่ 200 เมกะวัตต์ก็เหลือเฟือ
 
Capacity สายส่งของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในจังหวัดตรังรองรับได้ 240 เมกะวัตต์ ตอนนี้ใช้อยู่ 120 เมกะวัตต์ หรือใช้อยู่ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ เขาเผื่อไว้แล้วละว่า การใช้ไฟฟ้ามันจะเพิ่มขึ้นทุกปี เขาก็ออกแบบเผื่อไว้ 20 ปีข้างหน้า ถึงอย่างไรจังหวัดตรังก็ใช้ไฟฟ้าถึง 200 เมกะวัตต์อยู่แล้ว ทีนี้ตอนนี้ใช้อยู่ 120 เมกะวัตต์
 
แล้วทำไมไม่สร้างโรงไฟฟ้าขนาด 300 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าขนาด 300 เมกะวัตต์ กับ 800 เมกะวัตต์การลงทุนต่อหน่วยไม่ต่างกัน ถ้าเราสร้าง 800 เมกะวัตต์ มันคุ้มกับการลงทุน แถมยังสามารถเผื่อแผ่ไฟฟ้าไปใช้ได้ทั่วประเทศด้วย
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คำถามถึง ''เพื่อไทย'' ขึ้นค่าแรง 300 แค่ประชานิยมหรือตั้งเป้ารัฐสวัสดิการ

Posted: 11 Jul 2012 10:52 AM PDT

วรวิทย์ เจริญเลิศ ปาฐกถาสุภา ศิริมานนท์ ถาม "พรรคเพื่อไทย" ก้าวต่อไปของนโยบายค่าจ้าง 300 บาทคืออะไร แค่ประชานิยมหรือไกลกว่านั้น เสนอรัฐสวัสดิการต้องคุ้มครองแรงงานด้านกฎหมายด้วย ชี้ประเทศตะวันตกพัฒนารัฐสวัสดิการผ่านการต่อสู้หลายมิติจนตกผลึก แต่ของไทย ยังสู้กันอยู่เรื่องสิทธิทางการเมือง-การแสดงความเห็น 

 

(11 ก.ค.55) วรวิทย์ เจริญเลิศ รองศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปาฐกถาสุภา ศิริมานนท์ ประจำปี 2555 ในหัวข้อ "สังคมไทยกับแนวคิดรัฐสวัสดิการ: การก้าวพ้นประชานิยม" จัดโดยศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ โดยตอนหนึ่งกล่าวว่า นโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 40% มีนัยสำคัญเชิงนโยบายในการไปสู่นโยบายค่าจ้างสูง อย่างไรก็ตาม ไม่แน่ใจว่าจะเป็นเพียงประชานิยมหรือพรรคเพื่อไทยต้องการมากกว่านี้

ทั้งนี้เขามองว่าประชานิยมนั้นใกล้กับคำว่า "สงเคราะห์" ซึ่งเป็นการช่วยเหลือแบบให้เปล่า การจะไปสู่รัฐสวัสดิการจะต้องขยับจากเรื่องของความมั่นคงทางสังคม (Social security) เช่น การประกันสังคม ไปสู่การปกป้องทางสังคม (Social protection) ซึ่งเป็นการคุ้มครองในมิติทางกฎหมายด้วย เพราะที่ผ่านมา ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ นายจ้างเอารูปแบบการจ้างงานยืดหยุ่นเข้ามาใช้ จ้างเหมาค่าแรง ใช้สัญญาจ้างชั่วคราว รัฐควรเข้ามาคุ้มครองตรงนี้ รวมถึงคุ้มครองให้คนทำงานในสภาวะแวดล้อมที่ปลอดภัย ก่อนจะพัฒนาไปสู่การไม่ใช้แรงงานราคาถูก พัฒนาทักษะแรงงาน ไม่พึ่งการส่งออก และพัฒนาตลาดในประเทศหรือภูมิภาค

วรวิทย์ กล่าวถึงการได้มาซึ่งรัฐสวัสดิการในประเทศตะวันตกว่าเกิดจากการต่อสู้ของขบวนการภาคประชาชนนาน 200-300 ปี ตั้งแต่การสู้เพื่อเสรีภาพทางความคิด ก่อให้เกิดสิทธิพลเมือง เปลี่ยนจากรัฐรวมศูนย์ใต้ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นรัฐเสรีนิยม ใต้การปกครองแบบประชาธิปไตย นำมาสู่สิทธิทางการเมือง เมื่อทุนนิยมเข้ามา เกิดความขัดแย้งกับแรงงาน ก็มีการต่อสู้เพื่อสิทธิทางสังคม เป็นรัฐสวัสดิการในที่สุด และแม้ว่าในกระแสเสรีนิยมใหม่ จะมีความพยายามรื้อรัฐสวัสดิการ แต่ทำได้อย่างมากก็เพียงการจำกัดสิทธิ เพื่อตัดค่าใช้จ่าย หรือโยงการให้สวัสดิการเข้ากับการกลับเข้าทำงานเท่านั้น แต่ไม่เคยมีการยกเลิกรัฐสวัสดิการ

ขณะที่ประเทศไทยนั้น นับแต่ทุนนิยมเข้ามา มีการต่อสู้กันเรื่องทางสังคม เช่น เรื่องสิทธิแรงงาน หรือเรื่องเขื่อน แต่สิทธิทางการเมืองและสิทธิในการแสดงความเห็นยังเป็นสิ่งที่ยังต่อสู้กันอยู่ ดังนั้น แนวทางของรัฐไทยข้างหน้าจะเปลี่ยนจากรัฐแบบอำนาจอธิปไตย ไปสู่เสรีนิยม เสรีนิยมใหม่ หรือข้ามไปสู่รัฐสวัสดิการนั้น ยังเป็นสิ่งที่ต้องการคำตอบจากพรรคเพื่อไทย รวมถึงเป็นเรื่องที่ภาคประชาชนต้องคิดและสร้างเงื่อนไขด้วย

วรวิทย์ กล่าวเสริมว่า จะต้องมีการกำหนดทิศทางเดินว่าต้องการไปสู่จุดไหน ถ้าแค่ประชานิยม หรือเน้นมิติของผู้ผลิต ก็เท่ากับว่าไม่ได้ให้สิทธิทางสังคมเป็นสำคัญ โดยหากจะพัฒนาเรื่องสิทธิทางสังคม ต้องให้สิทธิและพัฒนากลไกเชิงสถาบันขึ้นมารองรับด้วยเพื่อทำให้สิทธินี้เป็นจริง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้คิดจากรัฐบาลอย่างเดียวไม่ได้ หลายส่วนต้องเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ไม่เช่นนั้นจะลดความขัดแย้งลงไม่ได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประธานรัฐสภาและพรรคเพื่อไทยส่งคำแถลงปิดคดีแก้รัฐธรรมนูญ

Posted: 11 Jul 2012 07:42 AM PDT

ประธานสภาแจงการแก้ รธน. เป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติตามที่ รธน. บัญญัติ มิใช่การล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ด้านทีมกฎหมายเพื่อไทยยืนยันแก้ รธน. เพื่อให้มี ส.ส.ร. สามารถกระทำได้ ที่ผ่านมาเคยมีการดำเนินการเช่นนี้มาแล้ว จึงไม่ใช่การล้มล้างการปกครอง

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 ได้ส่งคำแถลงการณ์ปิดคดีกรณีที่มีผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ต่อศาลรัฐธรรมนูญ แล้วเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 11 ก.ค. โดยมีข้อความขอคำแถลงปิดคดีดังต่อไปนี้

ข้อ 1. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นการดำเนินการของรัฐสภา ในการใช้อำนาจนิติบัญญัติตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อทำการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หมวด 6 รัฐสภา ส่วนที่ 5 การประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตามมาตรา 136(16) และหมวด 15 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 จึงมิใช่เป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 แต่อย่างใด

ข้อ 2. ประธานรัฐสภาได้ดำเนินการสั่งบรรจุระเบียบวาระญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณา โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ดำเนินการตรวจสอบและเสนอความเห็นว่าญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้เสนอโดยถูกต้องและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2553 แล้ว ประกอบกับญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ได้บรรจุระเบียบวาระนั้น มีหลักการเช่นเดียวกับญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีซึ่งได้ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วว่า ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291(1) วรรคสอง และมิได้มีเนื้อหาเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 แต่อย่างใด

ข้อ 3. จากผลการพิจารณาของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวาระที่หนึ่ง และวาระที่สองซึ่งได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2553 ไม่พบว่าญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เสนอมาได้ปรากฎถึงเนื้อหาที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291(1) วรรคสอง แต่อย่างใด ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 219/11 วรรคห้า ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญจะจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์จะกระทำมิได้ นอกจากนั้น ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 291/11 วรรคหก ยังกำหนดให้ในกรณีที่รัฐสภา วินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะตามวรรคห้า ให้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไป ประกอบกับเมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จจะต้องจัดให้มีการทำประชามติก่อนว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่อีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดที่ได้มีความเห็นภายหลังการตรวจสอบคำร้องของผู้ร้องแล้วว่าร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวมิได้มีเนื้อหาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 291(1) วรรคสอง

ข้อ 4. ในการดำเนินการภายหลัง หากญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญแล้ว ในระหว่างที่สภาร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญอยู่นั้น สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภายังมีอำนาจตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 135 ในการตั้งคณะกรรมการวิสามัญของแต่ละสภา เพื่อทำหน้าที่พิจารณาศึกษาและติดตามการดำเนินการของสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อทำการพิจารณาตรวจสอบความคืบหน้าและดำเนินการของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยมีการรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเป็นระยะ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับสมาชิกรัฐสภาได้ใช้ประกอบการพิจารณาเมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น และประธานรัฐสภา ได้บรรจุระเบียบวาระเข้าที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นเรื่องแจ้งเพื่อทราบ

ข้อ 5. เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้ว และได้นำเสนอต่อประธานรัฐสภา ประธานรัฐสภาจะทำการบรรจุระเบียบวาระเข้าที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นเรื่องแจ้งเพื่อทราบ ซึ่งสมาชิกรัฐสภาจะได้มีโอกาสในการร่วมกันอภิปรายและแสดงความคิดเห็น ซึ่งหากมีสมาชิกรัฐสภาเพียงคนใดคนหนึ่งมีข้อสงสัยในประเด็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์ ประธานรัฐสภาจะวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญไปในทางที่มีข้อสงสัยว่าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291/13 เพื่อให้รัฐสภาได้พิจารณาลงมติว่าจะให้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไปหรือไม่

ข้อ 6. ประธานรัฐสภา ยังคงยืนยันในจุดยืนที่ได้แถลงต่อรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญและสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ว่า ตนจะไม่ใช้อำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญไปโดยลำพังแต่จะใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ตามมาตรา 291/13 วรรคสองในการแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีคุณสมบัติและมีความเป็นกลาง และมีความสมัครใจเพื่อทำหน้าที่พิจารณาตรวจสอบร่างรัฐธรรมนูญ โดยประธานรัฐสภาจะดำเนินการออกประกาศรัฐสภาเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การตั้งคณะกรรมการ การพิจารณาและเสนอความเห็น ตลอดจนการวินิจฉัยโดยประกาศให้ประชาชนได้ทราบโดยทั่วไป และหากคณะกรรมการมีความเห็นในทางที่มีข้อสงสัยในประเด็นว่าร่างรัฐธรรมนูญมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์ ประธานรัฐสภาจะวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญไปในทางที่มีข้อสงสัยว่าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291/13 เพื่อให้รัฐสภาได้พิจารณาลงมติว่าจะให้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไปหรือไม่ เช่นเดียวกับที่ได้กล่าวไว้ในข้อ 5

ข้อ 7. การปฏิบัติหน้าที่ของประธานรัฐสภาภายหลังจากที่ปรากฎว่าได้มีการยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง 3 ฉบับ ขัดต่อรัฐธรรมนูญและศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งแจ้งมายังเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแจ้งประธานรัฐสภาให้แจ้งต่อที่ประชุมรัฐสภา ให้รอการพิจารณาและได้มีความเห็นทางกฎหมายว่ารัฐสภาไม่ผูกพันตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็ตาม แต่เนื่องจากประธานรัฐสภา ได้ประสงค์จะให้การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นไปด้วยความราบรื่น โปร่งใส ไม่ก่อให้เกิดปัญหาความเคลือบแคลงใจในหมู่สาธารณชนว่า การดำเนินการของรัฐสภาอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ก่อให้เกิดปัญหาความวุ่นวายในบ้านเมือง ประธานรัฐสภาจึงได้เลื่อนการบรรจุระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อลงมติร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่สามออกไปสักระยะหนึ่ง ซึ่งสามารถดำเนินการได้ตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2553 เพื่อรอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเสียก่อน

ในตอนท้าย นายสมศักดิ์ ได้ยืนยันในเจตนารมณ์ว่าการดำเนินการต่างๆ ได้กระทำโดยถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2553 ทุกประการ และการดำเนินการต่างๆ ในส่วนของประธานรัฐสภาได้กระทำไปโดยมุ่งหวังความสงบสุขของบ้านเมืองเป็นประการสำคัญ จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญได้โปรดพิจารณาตามที่ได้มีคำแถลงการณ์ปิดคดีและได้โปรดวินิจฉัยให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้ง 5 คำร้อง พร้อมนี้ได้ยื่นสำเนาคำแถลงการณ์ปิดคดีโยข้อความถูกต้องเป็นอย่างเดียวกันอีก 9 ชุด

ด้านวอยซ์ทีวี รายงานความเห็นของนายชูศักดิ์ ศิรินิล ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ถึงการเขียนคำแถลงเปิดคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 โดยนายชูศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้ได้ส่งคำแถลงไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้ว โดยคำแถลงมีทั้งหมด 20 หน้า มีสาระสำคัญหลักๆ คือ หนึ่ง ชี้แจงว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องว่ามีการกระทำผิดตามรัฐธรรมนูญม.68 และศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับเรื่องไว้พิจารณา เพราะความผิดตามม.68 กรณีการกล่าวหาล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุดเท่านั้น ไม่สามารถยื่นโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ 

สอง การแก้ไขรัฐธรรมนูญม. 291 เพื่อให้ ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญสามารถกระทำได้ และที่ผ่านมาก็เคยดำเนินการมาแล้ว

สาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่ใช่การล้มล้างการปกครอง ขณะเดียวกันการแก้ไขรัฐธรรมนูญม. 291 ไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรนูญทั้งฉบับ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชำนาญ จันทร์เรือง: เชียงใหม่มหานคร: จุดเปลี่ยนประเทศไทย

Posted: 11 Jul 2012 06:07 AM PDT

“สิริมังคละ

นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ นับถึงวันนี้มีอายุได้ 716 ปี มีความเจริญรุ่งเรืองทั้งทางด้าน ศิลปวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคมและอุดมสมบูรณ์ทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย งดงาม มากมายด้วยชนเผ่าชาติพันธุ์ นับได้ว่าเป็นเมืองที่ผู้คนต่างใคร่มาเยือนและอยู่อาศัย คนเชียงใหม่เป็นคนมีน้ำใจงามเป็นที่รำลือไปทั่ว

น่าเสียดายที่ที่ผ่านมา เชียงใหม่ได้ถูกรุกรานจากความเจริญ ความทันสมัย จากระบบธุรกิจและระบบทุนนิยม จนทำให้ความมีเสน่ห์ ความงดงามหลายหลากทางวัฒนธรรมทั้งปวงถดถอยด้อยค่าและลดลงเป็นลำดับ โดยที่คนเชียงใหม่ไม่อาจปกป้องตนเองได้ ด้วยเหตุแห่งอำนาจได้ถูกรวมศูนย์ ไว้ ณ ที่ส่วนกลาง

120 ปีนับตั้งแต่พุทธศักราช 2435 เป็นต้นมาอำนาจการตัดสินใจทั้งปวง ถูกโอนเข้าสู่ส่วนกลางและรัฐบาลกลาง ประชาชนท้องถิ่นและผู้คนที่เคยเป็นเจ้าของทรัพยากร มีอำนาจการตัดสินใจรวมทั้งดูแลรักษา ใช้ประโยชน์ กลับถูกลดทอนอำนาจมาโดยตลอด การบริหาร การตัดสินใจทั้งหมดถูกกำหนดมาจากส่วนกลาง โดยคนที่ไม่รู้และไม่เข้าใจปัญหาที่แท้จริงเป็นผู้กำหนด โครงการพัฒนาที่เข้ามาในพื้นที่ ไม่สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นและประชาชน จนเกิดความขัดแย้งขึ้นบ่อยครั้ง และ 10 ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งทางการเมืองเริ่มรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับจนเกิดการบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุแห่งการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางนั่นเอง

ประชาชนชาวเชียงใหม่หลายภาคส่วน ทั้งภาคองค์กรท้องถิ่น ประชาสังคม การเมือง ชุมชนและกลุ่มพลังทางสังคมต่างๆได้ตระหนักต่อปัญหานี้ จึงได้เกิดการศึกษา ขับเคลื่อนและ จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน จนได้ข้อสรุปว่า จำเป็นที่จะต้องยกร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร พ.ศ. ... ขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการตนเองของท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ได้บัญญัติไว้ บัดนี้ การยกร่างเบื้องต้นได้สำเร็จแล้วเพื่อนำไปสู่การรับฟังความคิดเห็น และการลงลายมือชื่อ เพื่อเสนอประธานรัฐสภาต่อไป

วันนี้..เราจึงขอประกาศว่า เราจะร่วมกันผลักดันการกระจายอำนาจให้เกิดผลอย่างแท้จริง ชุมชนท้องถิ่น ประชาชนท้องถิ่น จะต้องเป็นผู้กำหนดการพัฒนาและทิศทางการพัฒนาด้วยตนเอง เราจะรวมกันขับเคลื่อน ด้วยพลังแห่งปัญญาบนพื้นฐานศรัทธา ประกอบด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ ปราศจากอคติทางการเมืองใดๆ เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ พร้อมทั้งส่งมอบบ้านเมืองในอนาคตที่ดีงาม ให้กับลูกหลานอย่างภาคภูมิใจต่อไป

ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ของเมืองเชียงใหม่ อันมีพระธาตุเจ้าดอยสุเทพเป็นประธานและบรรพกษัตริย์อันมีพญามังราย เป็นต้น จงอำนวยอวยพรให้การครั้งนี้สำเร็จผลสมประสงค์ ด้วยเทอญ...  

24 มิ.ย.2555”

 

ข้อความดังกล่าวข้างต้นคือคำประกาศเจตนารมณ์ที่ถูกอ่านต่อเบื้องหน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์อันประกอบด้วยพญามังราย พญางำมืองและพญาร่วง (พ่อขุนรามคำแหงฯ) ณ บริเวณใจกลางเมืองเชียงใหม่ ในเวลาเย็นของวันที่ 24 มิถุนายน 2555 ซึ่งเป็นปีที่ 150 ของการครบรอบของการที่นครเชียงใหม่ได้ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยามอย่างสมบูรณ์แบบในรูปแบบของรัฐชาติ (Nation State) สมัยใหม่

ในวันนั้นผู้คนจำนวนมากต่างหลั่งไหลกันไปเพื่อร่วมเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งก็คือการประกาศเจตนารมณ์เพื่อขับเคลื่อนสู่การรณรงค์เพื่อลงชื่อเสนอร่าง “พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร พ.ศ. ...” มีตั้งแต่เยาวชนคนรุ่นใหม่จนถึง “แม่อุ๊ย”อายุ 88 ปี ที่ถือทะเบียนบ้านฉบับเดิมที่เก่าคร่ำคร่าและบัตรประชาชนที่หมดอายุไปแล้วแต่สามารถใช้ได้ตลอดชีพ เพื่อร่วมลงชื่อ ซึ่งสร้างความประทับใจแก่ผู้พบเห็นเป็นอันมาก

นอกจากมีการรณรงค์ร่วมลงชื่อเพื่อเสนอกฎหมายแล้ว ยังมีการจัดเวทีสาธารณะเพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นทั้งจากผู้ที่อยู่ในงานและที่แสดงความคิดเห็นเครือข่ายอินเตอร์เน็ตผ่านทางวิทยุออนไลน์ “คนเมืองเรดิโอ” ซึ่งสอบถามข้อสงสัยต่างๆ และมีการบันทึกเทปเพื่อออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสอีกด้วย

การประกาศเจตนารมณ์ฯในวันนั้นเป็นการเริ่มต้นของพัฒนาการในการลุกขึ้นมาจัดการตนเองของท้องถิ่นตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้สิทธิไว้ มิใช่การโหยหาอดีตที่เคยเป็นอาณาจักร์ล้านนาแต่อย่างใด เพราะมันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้และไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเป็น เนื่องจากรูปแบบของรัฐสมัยใหม่มีแต่ที่จะรวมกันไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางความมั่นคงทางทหารหรือความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ดังจะเห็นได้จากการรวมตัวกันของประชาคมเศรษฐกิจของอาเซียน (ASEAN Economic Community หรือ AEC) ในปี 2558 หรือของสหภาพยุโรป (European Union หรือ EU) ฯลฯ

ผลจากการประกาศเจตนารมณ์ฯในวันนั้น็น็นราชอาณจกรลนนทยงใหญในอดตแตอยงใ

ได้เกิดการตื่นตัวกันอย่างมากมายในพื้นที่และนอกพื้นที่ มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ผู้ที่เห็นด้วยส่วนใหญ่แล้วก็เป็นภาคประชาชนโดยทั่วไป ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยส่วนใหญ่ก็มาจากภาครัฐที่กริ่งเกรงว่าจะกระทบต่อฐานอำนาจของตนเอง แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยก็ตาม การแสดงออกเป็นไปอย่างเรียบร้อย ตามทำนองคลองธรรม ไม่มีการสาดโคลนหรือให้ร้ายซึ่งกันและกัน มีการพยายามให้ข้อมูลหรือหักล้างกันในทางวิชาการ ซึ่งเป็นการแสดงออกเยี่ยงชนชาวอารยะทั้งหลาย

ข่าวคราวการเคลื่อนไหวในร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานครฯนี้ได้ดังไปถึงประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นต้นแบบในการนำมายกร่าง แต่ทำได้ดีกว่าคือการมีสภาพลเมือง (Civil Juries) ขึ้นมาถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหาร (ผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานคร) และฝ่ายออกข้อบัญญัติ (สภาเชียงใหม่มหานคร) จึงได้เชิญผมไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยเกียวโตในวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมาเพื่อนำไปปรับปรุงในส่วนของเขาที่ยังมีช่องว่างอยู่ ซึ่งรายละเอียดหากมีโอกาสจะได้นำมาเสนอต่อไป

การเมืองการปกครองของไทยในอดีตที่ผ่านมาไม่เข้มแข็งมีปัญหามาโดยตลอดก็เนื่องเพราะเรามีการปกครองท้องถิ่นที่อ่อนแอ หากเรามีการปกครองท้องถิ่นที่เข้มแข็งสามารถจัดการตนเองได้ตรงกับความต้องการที่แท้จริงประชาชนและบริบทแวดล้อมในพื้นที่ การเมืองในระดับชาติก็จะเข้มแข็งไปโดยธรรมชาติ

หากผู้ที่เกี่ยวข้องยังหวงอำนาจและไม่ไว้ใจในความสามารถหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้คนในท้องถิ่นแล้ว ก็ย่อมยากที่ประเทศไทยเราจะเจริญรุดหน้าไปได้ เพราะปัญหาต่างๆไม่สามารถแก้ไขได้ในท้องถิ่น ต้องบากหน้ามายังเมืองหลวงที่เป็นศูนย์กลางหรือหลุมดำแห่งอำนาจที่ดูดซับทรัพยากรและปัญหาต่างๆที่หนักอึ้งโดยไม่กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ

ถึงเวลาแล้วครับที่จะยกเลิกราชส่วนภูมิภาคแล้วกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นต่างๆให้สามารถจัดการตนเองได้ เพราะไม่เช่นนั้นประเทศไทยเราคงเป็นหนึ่งในประเทศที่ยังคงเหลืออยู่อีกไม่กี่ประเทศที่ยังก้าวไม่พ้นบ่วงแห่งอำนาจที่ถูกถักทอรวมไว้ที่ส่วนกลางดังเช่นประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลายแถบอาฟริกานั่นเอง

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“AMRC” ลงพื้นที่ผลักดัน “โฉนดชุมชน” สุราษฎร์ ดูการต่อสู้ของเกษตรกรไร้ที่ดิน

Posted: 11 Jul 2012 06:02 AM PDT

องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานจากฮ่องกง พร้อมองค์กรประชาชนประเทศอินโดนีเซีย ลงพื้นที่ชุมชนในเครือข่าย “สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้” ดูการต่อสู้ของเกษตรไร้ที่ดิน เตรียมขยายเครือข่ายข้ามประเด็น หวังผลสู่การต่อรองรัฐ-ทุน

 
 
ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ความมั่นคงทางอาหาร และแรงงานนอกระบบ กำลังเป็นประเด็นสำคัญระดับชาติที่เกี่ยวโยงกันไปทั่วโลก ความไม่เป็นธรรมในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และการถูกเอารัดเอาเปรียบที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรรายย่อยรวมถึงผู้ใช้แรงงานที่อยู่กันแบบกระจัดกระจายไม่มีการรวมกลุ่ม เหล่านี้คือปัญหาที่เชื่อมร้อยกันเป็นร่างแห ซึ่งหากจะเลือกแก้แต่เพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งคงทำได้ยาก
 
ศูนย์ข้อมูลแห่งเอเชีย หรือ Asia Monitor Resource Centre (AMRC) ซึ่งเล็งเห็นความสำคัญของการจัดการอย่างเป็นระบบในการแก้ปัญหาได้จัดการประชุมระดับภูมิภาคเอเชียครั้งที่ 2 ในหัวข้อเรื่อง การเจรจาต่อรองแบบรวมหมู่ การทวงพื้นที่ทางการเมือง ผ่านกระบวนการจัดตั้งที่ยั่งยืน เมื่อวันที่ 4-6 ก.ค.55 ณ โรงแรมพาลาซโซ กรุงเทพฯ
 
 
ในการประชุมมีตัวแทนจากเครือข่ายภาคประชาชนและองค์กรชุมชนต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย 7 ประเทศ เข้าร่วม ประกอบด้วย พม่า ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว กัมพูชา อินโดนีเซีย และเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้
 
ต่อเนื่องกัน เมื่อวันที่ 8-9 ก.ค.ที่ผ่านมา ตัวแทนจาก AMRC และตัวแทนจากองค์กรประชาชนประเทศอินโดนีเซียได้ลงพื้นที่ค้างคืนและเรียนรู้การดำรงชีวิตของเกษตรกรผู้ไร้ที่ดินในชุมชนสันติพัฒนา อ.พระแสง และชุมชนไทรงามพัฒนา ชุมชนคลองไทรพัฒนา อ.ชัยบุรี จ.สุราษฏร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ สปก.ที่สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ทำการตรวจสอบยึดคืนมาจากกลุ่มนายทุน และจัดสรรให้ชาวบ้านเข้าไปอยู่อาศัยทำกิน และผลักดันกับภาครัฐจนเข้าสู่นโยบาย “โฉนดชุมชน” นำร่อง 
 
 
การลงพื้นที่ของคณะทำงานในครั้งนี้เพื่อเข้าไปศึกษาการปฏิบัติการยึดพื้นที่ และสภาพความเป็นอยู่ในชุมชนซึ่งประสบปัญหาต่างๆ ทั้งผลกระทบทั้งจากการดำเนินการของภาครัฐ และจากกลุ่มนายทุนผู้ประกอบการ
 
องค์กรประชาชนประเทศอินโดนีเซีย ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงวิธีการต่อสู้ว่า ในอินโดนีเซียสามารถดึงคนทุกกลุ่มทั้งผู้ใช้แรงงานทั้งในภาคอุตสาหกรรมและในภาคเกษตรกรรมให้เป็นพันธะมิตรต่อกันได้ เพื่อสร้างอำนาจทางการต่อรองกับกลุ่มทุนซึ่งเป็นบรรษัทข้ามชาติและภาครัฐ
 
 
จากการแลกเปลี่ยนได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ปัญหาแรงงานหรือกำลังการผลิตกับความไม่เป็นธรรมในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของทุกประเทศมีปัญหาที่เหมือนกัน คือระหว่าง รัฐ - ทุน กับชนชั้นผู้ใช้แรงงาน ซึ่งมีแต่วิธีการรวมตัวกันและจัดตั้งเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง ทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายทั้งระดับชุมชน ระดับภูมิภาค และระดับชาติ จึงจะสามารถสร้างพลังในการต่อรองได้
 
สอดคล้องกับสาระสำคัญในการประชุมครั้งที่ผ่านมา ที่ได้พูดถึงความร่วมมือในการจัดตั้งเครือข่ายหรือขบวนการขยายเครือข่ายข้ามประเด็นและภาคส่วน เพื่อสร้างให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนที่ยั่งยืน จากการนำประเด็นระดับชาติมาเชื่อมโยง บุกเบิก ปฏิบัติการ และรณรงค์ ในระดับภูมิภาค ให้สอดคล้องกับความจริง และสามารถนำไปปฏิบัติได้  
 
ทั้งนี้ AMRC เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ก่อตั้งขึ้นในฮ่องกงในปี 1976 ที่เน้นเคลื่อนไหวประเด็นแรงงานเอเชียมาโดยตลอด มีบทบาท เช่น ศูนย์กลางสนับสนุนขบวนการแรงงานอิสระส่งเสริมประชาธิปไตยและหลักการของสิทธิแรงงาน, สิทธิทางเพศและการมีส่วนร่วมของคนงาน ฯลฯ
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประชาธรรม: เก็บตกขอบสนามเวทีเสวนา 'ฟุตบอลไทย การเมืองของเกมใต้ตีน'

Posted: 11 Jul 2012 03:32 AM PDT

 เชียงใหม่/Book Re:public คิกออฟวงเสวนา "ฟุตบอลไทย การเมืองของเกมใต้ตีน :พลังใหม่ ศาสนาใหม่ พื้นที่ใหม่?" เผยกลุ่มทุน นักการเมืองเข้าช่วงชิงในพื้นที่ของฟุตบอลไทย ขณะที่สื่อสาธารณะยังให้ความสำคัญน้อย
 
เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา เวลา 15.00 น. ณ ร้านหนังสือBook Re:public อ.เมือง จ.เชียงใหม่ จัดเวทีเสวนาหัวข้อ "ฟุตบอลไทย การเมืองของเกมใต้ตีน: พลังใหม่ ศาสนาใหม่ พื้นที่ใหม่?" โดยมีวิทยากรร่วมเสวนา นำโดย ณัฐกร วิทิตานนท์ ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ และอาจินต์ ทองอยู่คง
 
ณัฐกร วิทิตานนท์ สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
 
ผมคงเริ่มต้นจากฟุตบอลลีกในแต่ละประเทศเกิดจุดเปลี่ยน จนทำให้เกิดความนิยมเพิ่มมากขึ้น โดยสองลีกหลักที่จะยกตัวอย่าง คืออีพีเอล อิงลิชพรีเมียร์ลีก และเจลีก ผมมองว่าอิงลีชพรีเมียร์ลีกที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ มันเกิดจากการผลักดันจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก และส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดคือตัวธุรกิจโทรคมนาคมที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น และกติกาขององค์กรระดับโลก ที่มีลักษณะโลกาภิวัฒน์ และเทคโนโลยีที่ตอบสนอง ทำให้สื่อมีพลังมากขึ้นเป็นผลทำให้พรีเมียร์ลีกเติบโตและเป็นที่นิยมทั่วโลก
 
"จุดเปลี่ยนสำคัญอีกอย่างหนึ่ง มีลักษณะแบบรัฐศาสตร์ ใช้คำว่าอำนาจอธิปไตยซ้อนรัฐ บทบาทขององค์กรระหว่างประเทศเข้ามามีบทบาทภายในรัฐ คล้ายกับกรณีอังกฤษพรีเมียร์ลีก หลังบอสแมน เป็นคนเบลเยี่ยม มีปัญหาเรื่องการจ้างงาน การถูกดอง และไม่ได้ย้ายทีม สุดท้ายเรื่องก็ไปสู่ศาลอียู อียูตัดสินให้บอสแมนชนะ ที่เรียกว่าบอสแมนลูอิง เป็นผลทำให้มีการเปิดให้ไม่มีการจำกัดโควต้า และนักเตะไม่ใช่ทรัพย์สินของสโมสรอีกต่อไป หลังจากนั้นก็เห็นได้ชัดว่าเกิดการหลั่งใหลเข้าไปในอังกฤษ ทั้งนี้ปัจจัยภายนอกคือกลุ่มทุนข้ามชาติ และปัจจัยภายในคืออำนาจของรัฐที่เข้าไปแทรกแซง"
 
 
อาจินต์ ทองอยู่คง นักศึกษาปริญญาโท สาขา มานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
ความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างขนาดใหญ่ ทำให้ไทยลีกได้รับความนิยมทุกวันนี้ คือเกิดการรวมลีกขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ไทย มีสองลีกที่แข่งกันเป็นคู่ขนาน ไทยพรีเมียร์ลีก และโปรวินเชียลลีก ซึ่งโปรวินเชียลลีกมีคนดูเยอะ และเป็นทีมจากต่างจังหวัดทั้งหมด แต่มักจะไม่มีนักบอลที่เก่งและที่มีชื่อเสียงมากพอ ขณะเดียวกันไทยพรีเมียร์ลีกที่สมาคมรับรอง คนดูมีจำนวนน้อย จนเกิดความพยายามผลักดันให้มีการรวมลีกขึ้น
 
"ความเปลี่ยนแปลงจากภายนอกที่ส่งผลคือ เป็นข้อบังคับจากเอเอฟซีหรือสมาคมฟุตบอลเอเชีย ซึ่งพยายามจะสร้างฟุตบอลอาชีพในเอเชีย ปี2551 เกิดการเปลี่ยนแปลง หลังเอเอฟซีเข้ามาและขู่ว่าจะตัดสิทธิ์เข้าร่วมเล่นชิงแชมป์เอเชียเจซีเอล หากไม่ดำเนินตามข้อบังคับ10ข้อ ซึ่งทำให้สโมสรในไทยจากเดิมที่เคยเป็นกิจกรรมเสริมในองค์กรเช่น ธนาคาร สมาคมต่างๆ การท่าเรือ และโทรคมนาคมเป็นต้น ต้องตั้งเป็นบริษัทนิติบุคคลที่แสวงหากำไร ฤดูกาลแรก ก่อนหน้านี้มีคนดูน้อย ช่วงปี2552 คนดูพุ่งขึ้นเป็นเท่าตัว หลังจากมีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์มากขึ้น เป็นลักษณะคล้ายกับอังกฤษพรีเมียร์ลีก ที่มีปัจจัยด้านสื่อเข้ามาเกี่ยวข้อง จนได้รับความนิยมไปทั่วโลก"
 
 
 
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
 
กล่าวถึงภูมิศาสตร์การเมือง และเกมแห่งอำนาจใหม่ในพื้นที่ประเทศไทยว่า ตลาดของ "ฟุตบอลไทย" ที่ไม่ใช่ยี่ห้อผลิตภัณฑ์กีฬา ขยายตัวอย่างมากทั้งในนามของทุนนิยม และในฐานะเครื่องมือทางการเมือง โดยเฉพาะเมื่อมันอยู่ในเทอมของกีฬาอาชีพแรกๆที่ประสบความสำเร็จหลังจากที่ล้มลุกคลุกคลานมาเป็นเวลาอันยาวนาน ระบบฟุตบอลอาชีพเริ่มขยับขยายจากศูนย์กลางประเทศไปสู่ ฟุตบอลอาชีพในระดับต่างจังหวัด และนับวันจะยึดหัวหาดพื้นที่ในไทยพรีเมียร์ลีกไปทีละน้อย
 
นั่นหมายถึงว่า พื้นที่การขับเคี่ยวกันของ อำนาจทุน อำนาจการเมืองท้องถิ่น รวมไปถึงพลังอุปถัมภ์ในนามหน่วยราชการทหารและพลเรือนได้แย่งชิงทรัพยากรและความสำเร็จผ่านสนามรบทางการเมืองสำคัญชุดหนึ่งในนามของฟุตบอลลีกไปแล้วแทบจะทั่วประเทศ ตนพยายามสร้างคำอธิบายผ่านการวิเคราะห์ผ่านการเมืองของพื้นที่ และความเป็นพื้นที่สาธารณะของมวลชนที่ถูกสร้างขึ้นโดยฟุตบอลอาชีพ อันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทยในบริบทที่สังคมไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองในระดับฐานราก
 
ในเชิงประวัติศาสตร์แล้ว นับจากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ ปัจจุบันสมัย วงการฟุตบอลรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่กรุงเทพฯ ผ่านทัวร์นาเมนท์ฟุตบอลถ้วยพระราชทาน (2449), ฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ (2477), ฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี (2507) ทุกวันนี้ยังพบว่ามีบางกลุ่มเรียกร้องตราพระมหาพิชัยมงกุฎ มาแทนสัญลักษณ์ "ช้างยิ้ม" บนชุดแข่งทีมชาติ
 
แม้ฟุตบอลสมัครเล่นในนามทีมชาติจะดึงดูดคนดูได้เสมอ แต่นั่นก็พบว่ามันเป็นการรวมศูนย์ความนิยมของเกมกีฬาที่ไปผูกอยู่กับชาติเป็นหลัก เราพบว่า ฟุตบอลลีกต่างหาก ที่กำลังสร้างความผูกพันอยู่กับระบบแฟนและอุดมการณ์ท้องถิ่นนิยมที่นักการเมืองทั้งระดับชาติและนักการเมืองท้องถิ่นพยายามเข้ามาสร้างฐาน เร็วๆนี้มีผู้เขียนบทความถามถึงการละเลยถึงฟุตบอลถ้วยอันศักดิ์สิทธิ์อย่างฟุตบอลถ้วยพระราชทาน และควีนส์คัพโดยหาว่าฟุตบอลอาชีพได้แต่เอาเงินมาล่อคน 
 
ในด้านหนึ่งฟุตบอลอาชีพโดยเฉพาะสโมสรที่ผูกกับจังหวัด ต้องการพลังการเมืองในการหนุนให้เกิดกระแสท้องถิ่นนิยม รวมไปถึงการใช้อำนาจในการต่อรองเพื่อการใช้พื้นที่สนาม รวมไปถึงการต่อรองผลประโยชน์ในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ นั่นคือ การหาทุนสนับสนุน นักการเมืองผู้มีคอนเนกชั่นกว้างขวาง และผู้มีประสบการณ์ต่อรองที่ชาญฉลาดจึงเป็น"เครื่องมือ" สำคัญหนึ่งในสโมสรฟุตบอลระดับจังหวัด
 
ขณะที่อีกด้านก็พบว่า การสนับสนุนจากภาครัฐก็ไม่เป็นระบบและยังมีช่องโหว่ เช่น การอุดหนุนงบประมาณจากภาครัฐสู่สโมสรที่อิงอยู่กับความเป็นท้องถิ่น ปัจจุบันรัฐสนับสนุนผ่านช่องทางของ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และไม่อนุญาตให้สนับสนุนผ่านหน่วยงานท้องถิ่น ด้วย phobia กลัวนักการเมืองและการคอรัปชั่นที่พ่วงมาด้วยกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ กรณีที่สตง.เรียกเก็บเงินคืนจาก อบจ.ชัยนาท 50 ล้านบาท เนื่องจากเห็นว่าอาศัยช่องทางนำเงินหลวงไปใช้กับสโมสรฟุตบอลซึ่งเป็นบริษัทเอกชน คือ ชัยนาท เอฟซี อย่างไรก็ตามก็มีการตั้งข้อสังเกตถึงผลประโยชน์ทับซ้อนของ อนุชา นาคาศัย ที่เป็นทั้ง นายกอบจ.ชัยนาท, นายกสมาคมกีฬาจังหวัดชัยนาท บทวิเคราะห์ต่างๆ พุ่งเป้าไปที่ "ผลประโยชน์ของนักการเมือง" โดยไม่ได้มองถึงผลประโยชน์ส่วนหนึ่งมันตกอยู่กับท้องถิ่นด้วย  ขณะที่ท่าทีและน้ำเสียงที่มีต่อทีมเอกชนที่มีภาพลักษณ์ไม่ได้โยงกับนักการเมืองอย่างเช่น เมืองทองฯยูไนเต็ด (ที่เป็นข่าวว่ามีความไม่ชอบมาพากลระหว่าง เมืองทองฯ กับ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย), บางกอกกล๊าส (เจ้าของคือ นามสกุลภิรมย์ภักดี) กลับแตกต่างกันไป และทำราวกับว่าทำทีมฟุตบอลไม่ได้หวังผลอะไร โดยเฉพาะผลทางการเมือง
 
อาการกลัวนักการเมืองแสดงออกได้ชัดจากชื่อกระทู้ "ระวิ โหลทอง เจอ เนวิน ชิดชอบ คุณคิดว่าใครจะต้องยกมือไหว้ใครก่อน" หรือบทความจากสื่อมวลชนต้านนักการเมืองอย่างผู้จัดการ "แฉนักการเมืองใช้ฟุตบอลบังหน้า ฟอกเงินผ่านสปอนเซอร์!" อย่างไรก็ตามแนวโน้มการพึ่งพิงนักการเมืองก็ดูจะมีมากขึ้น ทำให้ความสำเร็จที่รวดเร็วเกิดขึ้นจากการอุปถัมภ์ของนักการเมือง แทนที่จะสร้างระบบทีมอาชีพที่แข็งแกร่งโดยตัวของมันเองในกระแสธุรกิจและชีวิตสาธารณะแบบใหม่
 
ทั้งนี้ภูมิศาสตร์การเมืองของเกมฟุตบอล ที่ได้รับความสนใจจากมวลชนอย่างแพร่หลาย กลับสวนทางกับนโยบายขององค์กรที่มีชื่อและอ้างความเกี่ยวข้องสาธารณะมากที่สุดอย่างน้อย 2 องค์กร นั่นคือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่มีจุดยืนชัดเจนว่าไม่เอาเหล้า เบียร์ บุหรี่ จึงเป็นที่เข้าใจได้ถึงการจัดวางระยะห่างของตนที่เล่นบทบาทองค์กรศีลธรรมสาธารณะ เมื่อพื้นที่ในสนามฟุตบอลทั่วโลก เบียร์ บุหรี่แทบจะเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้สำหรับคนดูบอล ไม่นับว่าสปอนเซอร์ติดหน้าอกเสื้อนักฟุตบอล บูธขายเบียร์ริมสนามที่วางขายกันอย่างคึกคัก สิ่งเหล่านี้ท้าทายอำนาจสสส.อย่างยิ่ง และยิ่งอิลักอิเหลื่อเข้าไปอีกเมื่อมีกฎหมายห้ามดื่มสุราในที่สาธารณะอย่างสนามกีฬา ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ความปัญญาอ่อนของกฎหมายนี้ มีรากฐานอยู่บนความเข้าใจว่า พื้นที่สาธารณะควรเป็นพื้นที่อันบริสุทธิ์ผุดผ่องไร้ราคีคาว และเห็นมวลชนเป็นผู้มีอวิชชาโง่เขลา งมงาย จมจ่อมอยู่กับอบายมุขชั่วกัปชั่วกัลป์จนต้องมีองค์กรเผด็จการทางศีลธรรมมาโปรดสัตว์
 
ขณะที่สถานีโทรทัศน์ที่อ้างตัวว่าเป็นทีวีสาธารณะอย่าง ไทยพีบีเอส แม้จะไม่ได้รับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด แต่พบว่า ความตื่นตัวในการสร้างอัตลักษณ์ท้องถิ่นในจังหวัดต่างๆ กลับถูกเฉยเมยอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับการเอาจริงเอาจังกับการถ่ายทอดสด การแข่งขันเรือยาว การแข่งขันเครื่องบินเล็ก แต่ก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะสโลแกนของทีวีสาธารณะแบบนี้ที่ตั้งว่า "ทีวีที่คุณวางใจ"คงขาวสะอาดเกินไปกว่าที่จะเปรอะเปื้อนด้วย สื่อสัญลักษณ์ของเหล้า เบียร์อันน่าขยะแขยงในสายตาพวกเขา ยังไม่นับว่า ไทยพีบีเอสได้รับงบประมาณจากภาษีเก็บจากสุราและยาสูบในอัตราร้อยละ 1.5 และที่มาขององค์กรดังกล่าวคือการรวมตัวของคนหน้าเดิมๆ ที่อยู่ในค่ายสสส. ยังไม่นับว่า องค์กรนี้ใช้รถถังและท็อปบูธในการทำคลอดหลังรัฐประหาร 2549
 
"ผมต้องการให้ความหวังกับการตื่นตัวในวงการกีฬาอาชีพ ที่จะเป็นฐานและเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับวงการกีฬาไม่ว่าจะเป็นสมัครเล่นหรืออาชีพ ในขณะเดียวกันเกมกีฬาที่เกิดการมีส่วนร่วมของคนในสังคม ก็ยังมีอานิสงส์ต่อการสร้างความตื่นตัวของคนในท้องถิ่นต่างๆ อันจะมีต่อการสร้างพื้นที่สาธารณะไม่ว่าโดยตัวสโมสรเอง หรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง กระทั่งเหล่ากองเชียร์หรือแฟนบอล พื้นที่เหล่านี้น่าจะเป็นหนึ่งในพื้นที่สาธารณะใหม่แบบหนึ่งที่จะเป็นการเปลี่ยนผ่านจากพื้นที่นอกบ้านแบบ passive มาสู่พื้นที่แบบ active มากขึ้น พื้นที่แบบใหม่เป็นพื้นที่แห่งอำนาจของประชาชน อันจะมาแทนที่พื้นที่แบบเดิมที่ทุกตารางนิ้วเป็นของชาติอันแสนจะนามธรรม หรือไม่ก็ตกอยู่ในกรงขังอำนาจแบบสถานที่ราชการ ที่มองประชาชนเป็นผู้มาขอรับการสงเคราะห์ และไม่ได้มีธรรมชาติที่เปิดกว้างตอบรับมวลชนเท่าที่ควร"
 
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่าแม้โดยหลักการของฟุตบอลอาชีพแล้ว ในทางอุดมคตินั้นควรอาศัยทุนนิยมเป็นตัวขับเคลื่อน โดยมิต้องพึ่งพิง "นักการเมือง" แต่ ขณะที่สังคมไทยในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น ยังไม่มีความพร้อมในด้านสาธารณูปโภคสำหรับการกีฬาและพื้นที่สาธารณะมากพอ และยังขาดศักยภาพทางเศรษฐกิจมากพอที่จะจูงใจให้เกิดการลงทุน ขณะที่อำนาจการจัดการทรัพยากรสาธารณะทั้งหลายยังกระจุกตัวกับหน่วยงานราชการส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น องค์กรที่มีความเกี่ยวข้องกับสาธารณะที่สุดก็ยังมีท่าทีที่เฉยชาต่อวงการกีฬาอาชีพ จึงไม่แปลกที่นักการเมืองจึงเป็นตัวเล่นสำคัญยิ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้
 
การเข้าใจการเปลี่ยนผ่านของพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่ในสังคมไทยที่เกิดการต่อรองอำนาจด้วยกลุ่มบุคคล องค์กรและพลังทางการเมืองอันหลากหลาย จะทำให้เรามองเห็นพลังแฝงของพื้นที่สาธารณะมากขึ้น และไม่แน่ว่าพลังนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของประชาธิปไตยไทยในอีกระนาบหนึ่งก็เป็นได้
 
ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถติดตามรับชมคลิปการเสวนาทั้งหมดได้ทาง https://www.youtube.com/user/BookRepubliconTV?feature=watch และติดตามอ่านบทความของผู้ร่วมเสวนาทางเวบไซต์ประชาไท http://www.prachatai.com/ ในเร็วๆนี้.
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ยุบศาลรัฐธรรมนูญเสียเถอะ

Posted: 11 Jul 2012 02:48 AM PDT

เมื่อวันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญไทย ได้มีมติ 7 ต่อ 1 ให้รับคำร้องของกลุ่ม 40 สมาชิกวุฒิสภาที่นำโดย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม นายสมชาย แสวงการ ส.ว.ลากตั้ง โดยอ้างถึงกรณีที่รัฐสภาได้ผ่านการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ขั้นวาระที่สองในมาตรา 291 ให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อร่างรัฐธรรมูญฉบับใหม่ โดยศาลรัฐธรรมูญเห็นว่า การดำเนินการเช่นนั้น อาจเป็นการลบล้างระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมาพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ศาลจึงออกคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการพิจารณาลงมติร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมในวาระ 3 ที่จะมีขึ้นวันที่ 5 มิถุนายน 2555 เอาไว้ก่อนจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยออกมา

ในคำอธิบายของศาลรัฐธรรมนูญอ้างการตีความรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ซึ่งระบุไว้ว่า ผู้ทราบการกระทำว่า มีบุคคลหรือพรรคการเมืองกระทำการเพื่อลบล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีสิทธิ์เสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุด และเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเพื่อดำเนินการวินิจฉัยสั่งการให้เลิกกระทำการดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจรับเรื่องพิจารณาได้ และเมื่อศาลรับพิจารณา แล้วรัฐสภาก็ต้องชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามคำสั่ง

กรณีนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของผู้ใช้อำนาจตุลาการ ใช้อำนาจแทรกแซงการดำเนินการของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่กระนั้น คงต้องเริ่มอธิบายว่า การใช้อำนาจตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ ก็มาจากการตีความเอาเองของศาล เพราะตามข้อบัญญัติในเรื่องนี้จะต้องให้ผู้ร้องเสนอต่ออัยการสูงสุด แล้วให้อัยการสูงสุดเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ การตีความเช่นนี้ ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจล้นฟ้า และถือกันว่าเป็นการยึดอำนาจโดยศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสถาปนาสูงสุด เหนือกว่ารัฐสภา ที่ได้รับอาณัติมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ยิ่งกว่านั้น การออกคำสั่งต่อรัฐสภาก็เป็นการดำเนินการโดยไม่มีกฏหมายใดรองรับ เป็นการใช้อำนาจสั่งเอง

การดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้ เห็นได้ว่าเป็นความพยายามในการยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งเป็นการประสานกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ได้เรียกชุมนุมประชาชนเพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ในขณะนั้น และสอดคล้องกับการดำเนินการในรัฐสภาของพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่ม 40 ส.ว.ที่เตะถ่วง ก่อกวน หมายจะยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้จงได้

จึงเห็นได้ชัดว่า ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นกลไกสูงสุดของฝ่ายอำมาตยาธิปไตย ที่ใช้ในการสะกัดกั้นการปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย เป็นไปตามหลักตุลาการวิบัติ ซึ่งใช้อำนาจศาลมาแทรกแซงอำนาจบริหารเสมอมา ดังที่จะได้พบมาแล้วในกรณีเช่น

ในกรณีจากการที่คณะทหารขวาจัดกลุ่มหนึ่งก่อการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ล้มล้างรัฐบาล ล้มเลิกรัฐสภาและล้มเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ไม่มีตุลาการคนใดเลยที่จะออกมาปกป้องประชาธิปไตยและรัฐธรรมูญ ไม่มีการออกคำสั่งให้คณะทหารหยุดการกระทำเช่นนั้น เพราะเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอย่างเป็นจริง ยิ่งกว่านั้น เมื่อคณะรัฐประหารออกคำสั่ง คปค.ให้มีผลตามกฏหมาย ศาลทั้งหมดกลับยอมรับให้เป็นกฎหมายได้อย่างชอบธรรม โดยไม่มีการคัดค้าน กลับยอมรับกันว่า เมื่อคณะทหารยึดอำนาจแล้ว มีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ถ่มถุยอะไรมาก็ใช้เป็นกฏหมายได้ ยิ่งกว่านั้น คณะตุลาการยังไปยอมรับการแต่งตั้งของคณะทหารอย่างหน้าชื่นตาบาน

วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2551 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งมาตามการแต่งตั้งของฝ่ายทหาร และเป็นที่มาของศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ ได้วินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักไทย และ พรรคการเมืองเล็กอีก 4 พรรค แต่ไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ และยังใช้กฏหมายย้อนหลังลงโทษยกเข่งให้ตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีสำหรับคณะกรรมการพรรค 111 คน โดยที่ไม่ปรากฏเลยว่า คนเหล่านี้กระทำผิดในการเมืองในเรื่องใด ซึ่งถือได้ว่าเป็นการใช้กฎหมายขัดหลักนิติธรรมอย่างยิ่ง

วันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2551 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะไปจัดรายการโทรทัศน์ชิมไปบ่นไป และ ยกโขยงหกโมงเช้า ซึ่งเป็นความผิดตามการอธิบายในพจนานุกรม นี่ก็เป็นการเปิดศักราชใหม่ในการอธิบายกฎหมายของโลก และถือเป็นคำพิพากษาแบบกระดาษชำระ ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ถือเป็นแบบฉบับมิได้

วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2550 ศาลรัฐธรรนูญลงมติ 9 ต่อ 0 ให้ยุบพรรคพลังประชาชน พรรคมัณชิมา และ พรรคชาติไทย ในข้อหาทุจริตในการเลือกตั้ง และเพิกถอนสิทธิทางการเมืองกรรมการพรรคทั้งสามพรรค 5 ปี กรณีนี้ทำให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเปิดทางให้พรรคประชาธิปัตย์ได้ตั้งรัฐบาลแทน ที่ยังจำกันได้คือ เป็นคำแถลงอย่างรีบร้อน เพือจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ให้ฝ่ายพันธมิตรที่ยึดสนามบินนานาชาติ จนอ่านผิดอ่านถูกเป็นที่ขบขันกันทั่วไป

จากกรณีตัวอย่างนี้ จะเห็นได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่สุดในการดำเนินการกับพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย เพื่อเปิดทางให้กับชัยชนะของฝ่ายพันธมิตร และการขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แห่งพรรคประชาธิปัตย์ และจะเห็นได้ว่า ตลอดช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์บริหารประเทศ ศาลรัฐธรรมนูญไม่แสดงบทบาทใดในการถ่วงดุล หรือรบกวนการบริหารของพรรคประชาธิปัตย์เลย

ดังนั้น เมื่อมาถึงขณะนี้ เห็นได้ชัดแล้วว่า คณะศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ ได้ลุแก่อำนาจ ใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม คณะแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)ได้รณรงค์ให้ประชาชนลงชื่อเสนอถอดถอนศาลรัฐธรรมนูญคณะนี้แล้ว แต่น่าจะยังไม่เป็นการเพียงพอ เพราะปัญหาของการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญนี้ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาโครงสร้างด้วย นั่นก็คือ การที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีที่มาจากอำนาจของประชาชนเลย และยังเกิดจากการที่รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 ที่ให้อำนาจแก่ศาลและองค์กรอิสระจนล้นฟ้า โดยไม่ต้องยึดโยงกับอำนาจของประชาชน

ความจริง ถ้าหากมีการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป การให้อำนาจศาลเข้ามาเล่นการเมืองอย่างมากมายเช่นนี้ คงจะเป็นเรื่องหนี่งที่มีการพิจารณาแก้ไข และอาจรวมถึงการเพิ่มมาตราที่จะต้องให้มีการตรวจสอบศาล และจำกัดอำนาจศาล แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นปัญหาเสียก่อน ก็เป็นการชอบที่จะเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เฉพาะเรื่องการยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะมีการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนอื่นต่อไป

หน้าที่สำคัญของศาลรัฐธรรมนูญมีอยู่ประการเดียว คือ การตีความในข้อกฏหมายว่า กฏหมายที่มีผลบังคับใช้นั้น ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพื่อคงไว้ซึ่งฐานะกฏหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ แต่ความจริงในขั้นการวินัจฉัยเรื่องการขัดรัฐธรรมนูญ รัฐสภาก็ทำได้ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีศาลมาทำหน้าที่พิเศษ และการให้ศาลมีอำนาจล้มรัฐบาล และลงโทษผู้ที่ไม่ได้กระทำความผิด เป็นการให้อำนาจศาลมากเกินไป ไม่มีประเทศประชาธิปไตยในโลก ที่จะให้อำนาจศาลมากเท่านี้ โดยไม่ต้องยึดโยงกับอำนาจของประชาชน

การที่ศาลมีคำตัดสินใด ไม่ว่าจะถูกหรือจะผิด สังคมก็ยอมรับเสมอ ทำให้เหล่าผู้พิพากษาทั้งหลายเคยตัว คิดว่าคำสั่งและคำตัดสินของตนเองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ตุลาการเริ่มคิดว่าตนเองเป็นผู้วิเศษมาตั้งแต่อายุยังน้อย และเมื่อสูงอายุมากขึ้น ก็ยิ่งคุ้นเคยมากขึ้นกับการใช้อำนาจ นี่เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญกระทำความผิดและถลำมาไกล ดังนั้น สังคมมีความจำเป็นต้องถ่วงดุล โดยยุติการเล่นการเมืองของศาล นำศาลกลับไปตัดสินอรรถคดีตามปกติอย่างที่เคยเป็นมา

การยุบศาลรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการเริ่มต้นที่ดีสุด ที่จะควบคุมพฤติกรรมของศาลทั้งหลาย

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข่ายระวังสารเคมีเกษตร จับมือ 'ฉลาดซื้อ' ดันห้ามใช้เคมี ยกมาตรฐานอาหารไทย

Posted: 11 Jul 2012 02:22 AM PDT

แฉบริษัทยักษ์เคมีเกษตร ผู้ผลิตและนำเข้าสารเมโทมิล ชักใยการเร่งผลักดันขึ้นทะเบียนเมโทมิล สารเคมีเกษตรอันตรายที่หลายประเทศเลิกใช้แล้ว ขณะที่ผลตรวจผักห้างยังเจอในถั่วฝักยาวเกินค่ามาตรฐานยุโรป

11 ก.ค.55 เครือข่ายเฝ้าระวังสารเคมีเกษตร (Thai - PAN) จับมือนิตยสารฉลาดซื้อ แฉบริษัทยักษ์ ดูปองท์ ผู้ผลิตและนำเข้าเมโทมิล ชักใยการเร่งผลักดันขึ้นทะเบียนเมโทมิล สารเคมีเกษตรอันตรายที่หลายประเทศเลิกใช้แล้ว ขณะที่ผลตรวจผักห้าง ยังเจอเมโทมิลในถั่วฝักยาว เกินค่ามาตรฐานยุโรป สะท้อนมาตรฐานชีวิตคนไทยต่ำกว่ายุโรป

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รายงานผลตรวจผักยอดฮิตในครัวเรือนไทย 7 ชนิด ได้แก่ กะหล่ำปลี คะน้า ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว ผักบุ้งจีน ผักชี และ พริกจินดา จากห้างดังหลายห้าง ทั้งชนิดที่เป็น House brand และตรารับรอง Q เจอสารเคมีอันตรายหลายชนิด เฉพาะอย่างยิ่ง คาร์โบฟูราน และเมโทมิล ซึ่งเป็นสารเคมีเกษตรตัวที่เครือข่ายเกษตรทางเลือกเสนอให้ระงับการขึ้นทะเบียน แม้ไม่เกินค่ามาตรฐานประเทศไทย แต่เกินค่ามาตรฐานยุโรป ได้แก่ ถั่วฝักยาวด๊อกเตอร์ ผักชีห้างพารากอน และผักชีไร่ฐิติวันต์ คะน้าโฮมเฟรชมาร์ท และถั่วฝักยาวห้างเทสโก้ สะท้อนมาตรฐานการคุ้มครองสุขภาพคนไทยที่ต่ำกว่ายุโรป นอกจากนี้ทั้งเมโทมิล และคาร์โบฟูราน ก็เป็นสารเคมีเกษตรที่ตรวจพบตกค้างเกินค่ามาตรฐานในผักที่ส่งไปยุโรปบ่อยครั้งที่สุด พร้อมเสนอว่าประเทศไทยควรปรับมาตรฐานการตกค้างของสารเคมีเกษตรให้เป็นมาตรฐานเดียวกับยุโรป

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ระบุ ดูปองท์ ผู้ผลิตและนำเข้าเมโทมิล อยู่เบื้องหลังการแถลงของสมาคมชาวสวนมะม่วงที่ออกมาผลักดันการขึ้นทะเบียนเมโทมิล ชี้บริษัทที่จัดแถลงข่าวเป็นพีอาร์ของดูปองท์ และเตือนให้สังคมไทยต้องร่วมกันจับตาข้าราชการของข้าราชการระดับสูงของกระทรวงเกษตรบางคน ที่ขณะนี้ทำหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทสารเคมียิ่งกว่าประโยชน์และความปลอดภัยของเกษตรกรและผู้บริโภคที่ได้รับพิษภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

นอกจากนี้ข้ออ้างเรื่องหากไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนเมโทมิลแล้วจะทำให้ส่งผลกระทบต่อตลาดส่งออกมะม่วงของไทยไปยังญี่ปุ่นนั้น เป็นการสร้างภาพเกินจริงโดยเอาเกษตรกรบางคนมาเป็นข้ออ้าง ทั้งที่มีสารตัวอื่นทดแทนได้ทั้งเคมี และอินทรีย์ ทั้งนี้หลายประเทศก็มีการห้ามใช้ และไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียน ในอาเซียนมี สิงคโปร์ มาเลเซีย และกัมพูชา

และการที่บริษัทและเกษตรกรบางรายอ้างว่า เมโทมิลมีราคาแพงขึ้นสองเท่านั้นมีข้อสังเกตว่า มีการนำเข้าเมทโทมิล ระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมามีการนำเข้าเมทโทมิลมากกว่า 2.4 ล้านกิโลกรัม มากกว่าปี 2553 ทั้งปีซึ่งนำเข้าเพียง 1.5 ล้านกิโลกรัมเสียอีก เบื้องหลังเรื่องนี้น่าจะเป็นกลยุทธทางการค้าของบริษัทมากกว่า 

ขอเรียกร้องให้ทั้งกรมวิชาการเกษตร และรัฐบาลให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภค เหนือผลประโยชน์ของบริษัท และยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคภายในประเทศในระดับที่ทัดเทียมกับประเทศอื่น ๆ เช่น กลุ่มยุโรป

เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เรียกร้องให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีประกาศห้ามใช้ และไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียน เมทโทมิล คาร์โบฟูราน ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น โดยทันที เพื่อปกป้องสุขภาพของเกษตรกรผู้บริโภค และรักษาตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรือเซะ: เยียวยาหรือตอกย้ำบาดแผล

Posted: 11 Jul 2012 02:12 AM PDT

ญาติของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์กรือเซะ ในวันที่ 28 เมษายน 2547 ชุมนุมประท้วงแสดงความไม่พอใจต่อมติของคณะกรรมการเยียวยาฯ ที่อนุมัติเงินเยียวยาเพียง 4 ล้านบาท

 



ชาวบ้านมาลงทะเบียนเพื่อรับการเยียวยาสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ วันที่ 22 พฤษภาคม 2555 ที่โรงแรมปาร์ควิว รีสอร์ต จ.ปัตตานี

 

 

บรรดาญาติของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ปะทะที่บริเวณมัสยิดกรือเซะเมื่อแปดปีก่อนรวมตัวกันในช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเพื่อคัดค้านมติของทางการที่อนุมัติเงินเยียวยาให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตเพียงรายละ 4 ล้านบาท การชดเชยด้วยตัวเงินที่มุ่งหวังให้เป็นการเยียวยาความรู้สึกอาจกลับกลายเป็นการตอกย้ำบาดแผลที่อยู่ในใจคนมลายูมุสลิมก็เป็นได้

นางแสนะ บูงอตันหยง หนึ่งในตัวแทนผู้ชุมนุม ผู้ซึ่งสูญเสียลูกชายจากเหตุการณ์กรือเซะแถลงในวันที่ 18 มิถุนายน 2555 ว่าตนรับไม่ได้กับมติของคณะกรรมการเยียวยาฯ ที่ตัดเงิน 3.5 ล้านบาทออกไปโดยอ้างว่า “มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่”

“ความจริงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าในมัสยิดนั้นมีทั้ง เยาวชน และคนชราที่ไม่สามารถต่อสู้ได้”, นางแสนะกล่าวในใบแถลงการณ์ที่เขียนด้วยลายมือเป็นภาษาไทย “ถามว่าบุคคลเหล่านี้ได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ ? หรือได้รับการพิพากษาหรือไม่? ซึ่งเห็นได้ว่าหน่วยงานภาครัฐใช้วิธีวิสามัญฆาตกรรม โดยใช้อาวุธสงครามกระหน่ำอย่างหนัก ถล่มเพื่อหวังแก่ชีวิตโดยไม่คำนึงถึง (สิทธิ) มนุษยชน”

กระแสคัดค้านเกิดขึ้นภายหลังจากที่คณะกรรมการเยียวยาฯ มีมติในวันที่ 10 มิถุนายน 2555 ให้เงินเยียวยาจำนวน 7.5 ล้านบาทกับผู้ได้รับผลกระทบในเหตุการณ์ 28 เมษายน 2547 กรณีสะบ้าย้อยจำนวน 19 ราย ในขณะที่กรณีกรือเซะให้เพียงรายละ 4 ล้านบาท 

นายแพทย์อนันต์ชัย ไทยประทาน หนึ่งในกรรมการของคณะกรรมการเยียวยาฯ อธิบายฐานคิดของตัวเลข 4 ล้านว่า “เหตุการณ์มัสยิดกรือเซะเป็นกรณีที่มีการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่รัฐก็กระทำเกินกว่าเหตุ”

ในกรณีสะบ้าย้อย  นายแพทย์อนันต์ชัยกล่าวว่าคณะกรรมการได้พิจารณาจากหลักฐานในร้านอาหารที่เกิดการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่ความมั่นคงกับกลุ่มคนมลายูมุสลิม แต่ไม่พบร่องรอยของการต่อสู้และไม่พบรอยกระสุนรอบข้างของร้านที่เกิดเหตุ  พบเพียงแต่รอยกระสุนบนพื้น  นอกจากนี้ คนที่ปะทะกับเจ้าหน้าที่ก็ยอมแพ้แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังยิงพวกเขาจนเสียชีวิตทั้งหมด คณะกรรมการจึงพิจารณาให้เงินเยียวยา 7.5 ล้าน

นางคอลีเยาะ หะหลี ซึ่งสูญเสียพ่อจากเหตุการณ์กรือเซะกล่าวว่าตนเข้าใจว่าคณะกรรมการเยียวยาฯ มองเพียงว่าเหตุการณ์นี้มีเจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิตด้วย  แต่ไม่ได้พิจารณารายละเอียดว่าคนในมัสยิดนั้น บางคนอาจจะไม่ได้มีส่วนร่วมกับการปะทะกับเจ้าหน้าที่

ภายหลังการชุมนุมประท้วงของชาวบ้าน ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อทบทวนการพิจารณาการเยียวยาในกรณีกรือเซะ ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีในฐานะประธานคณะกรรมการพิเศษนี้กล่าวว่า ตนได้เข้าไปทำความเข้าใจกับญาติในกรณีกรือเซะแล้วและชาวบ้านยอมรับในมติการเยียวยานี้

“เจ็ดปีที่มาไม่มีรัฐบาลชุดใดเข้ามาดูแลช่วยเหลือต่อประชาชนเหล่านี้เลยและเจ็ดปีที่ผ่านมาประชาชนเหล่านี้อยู่นอกการช่วยเหลือจากภาครัฐ แต่รัฐบาลชุดนี้และภายใต้การนำของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศอ.บต. ได้นำประชาชนกลุ่มนี้มาอยู่ในระบบการช่วยเหลือของรัฐ” ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติกล่าว

“ส่วนเรื่องของการขอความเป็นธรรมให้มีการตรวจสอบนั้น เป็นเพียงอารมณ์ชั่ววูบเท่านั้นและตอนนี้ประชาชนมีความเข้าใจในเจตนารมณ์ของรัฐบาลเป็นอย่างดี” เขาอธิบาย

สำหรับกรณีปะทะอื่นๆ อีก 9 จุดซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 28 เมษายน 2547 นั้น อนุกรรมการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในเหตุการณ์ 28 เมษายน 2547 และ 25 ตุลาคม 2547 (เหตุการณ์ตากใบ) ยังไม่ได้มีมติในเรื่องนี้ อนุกรรมการมีหน้าที่ในการพิจารณาเบื้องต้นว่ากรณีใดเป็นกรณีการกระทำที่เกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ ก่อนจะส่งความเห็นไปยังคณะกรรมการเยียวยาฯ

นางสาวนารี เจริญผลพิริยะ หนึ่งในกรรมการของอนุกรรมการชุดนี้กล่าวว่าสำหรับกรณีอื่นๆ ในเหตุการณ์วันที่ 28 เมษายน 2547 ขณะนี้คณะอนุกรรมการกำลังจะให้ทนายความที่ทำคดีนี้เสนอข้อมูลเพื่อพิจารณาในประเด็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐกระทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ 

ปัญหาอีกประการหนึ่งที่นางสาวนารีชี้ว่าอาจจะเกิดขึ้นคือ วงเงิน 1,000 ล้านบาทที่รัฐตั้งงบสำหรับการเยียวยากรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำเกินกว่าเหตุนั้นอาจจะไม่เพียงพอต่อกรณีที่เกิดขึ้นทั้งหมด ซึ่งจะทำให้มีปัญหากับกรณีที่ได้รับการอนุมัติในช่วงหลัง  เพราะงบประมาณอาจจะไม่เพียงพอ 

การเคลื่อนไหวเล็กๆ ของชาวบ้านในครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึงความซับซ้อนของการเยียวยา ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาอย่างรัดกุม ละเอียด รอบคอบและมีฐานคิดที่ชัดเจน มิฉะนั้น การเยียวยาซึ่งคาดหวังว่าอาจจะนำไปสู่การปรองดอง อาจกลายเป็นชนวนที่ทำให้เกิดความขัดแย้งมากยิ่งขึ้นก็เป็นได้

 




คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555 เห็นชอบในหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และอนุมัติกรอบงบประมาณจำนวน 2,080 ล้านบาท โดยแบ่งกลุ่มบุคคลที่เข้าข่ายได้รับการเยียวยาเป็น  4 กลุ่ม  ได้แก่

กลุ่มที่ 1 ประชาชนทั่วไปที่ได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบและยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา หรือได้รับการเยียวยาแล้วแต่ยังมีความเดือนร้อนไม่สามารถพึ่งพาตัวเอง หรือได้รับการช่วยเหลือเยียวยาแล้วแต่ยังไมได้มาตรฐานสากล  ในกลุ่มนี้มีวงเงิน 500 ล้านบาท

กลุ่มที่ 2 เจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบและยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา หรือได้รับการเยียวยาแล้วแต่ยังมีความเดือนร้อนไม่สามารถพึ่งพาตัวเอง หรือได้รับการช่วยเหลือเยียวยาแล้วแต่ยังไมได้มาตรฐานสากล   ในกลุ่มนี้มีวงเงิน 200 ล้านบาท

กลุ่มที่ 3 ผู้ที่ถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ก่อเหตุรุนแรงที่เป็นเหตุการณ์เฉพาะกรณี โดยแบ่งเป็นสามประเภท คือ หนึ่ง ผู้ได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐจนเป็นเหตุให้ได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิตหรือร่างกายหรือจิตใจ โดยผู้เสียชีวิตต้องไม่ใช่ผู้กระทำผิด เช่น เหตุการณ์28 เมษายน 2547 เหตุการณ์ตากใบ สอง กรณีการบังคับให้สูญหาย และสาม เหตุการณ์เฉพาะกรณีที่เกิดจากการกระทำของผู้ก่อเหตุรุนแรงที่เจ้าหน้าที่รัฐผู้รับผิดชอบไม่สามารถเข้าช่วยเหลือได้จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บจนทุพพลภาพ  ในกลุ่มนี้มีวงเงิน 1,000 ล้านบาท

กลุ่มที่ 4 บุคคลที่ถูกควบคุมตัวหรือถูกคุมขัง หรือถูกดำเนินคดีเป็นผู้ต้องหา หรือเป็นจำเลยและถูกควบคุมตัวหรือคุมขังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และต่อมาปรากฏหลักฐานว่าไม่ได้กระทำความผิด หรือมีการถอนฟ้อง หรือคำพิพากษายกฟ้อง  ในกลุ่มนี้มีวงเงิน 300 ล้านบาท

วงเงินที่เหลืออีก 80 ล้านเป็นงบดำเนินการ

 

 

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มอบรางวัล ‘สมชาย นีละไพจิตร’ และ 5 มุมมองนักสิทธิผู้ได้รับรางวัล

Posted: 11 Jul 2012 02:06 AM PDT

 

 

11 ก.ค.55 ที่อาคารมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) มีการจัดงานประกาศรางวัล “สมชาย นีละไพจิตร 2555” จัดโดยกองทุนรางวัลสมชาย นีละไพจิตร โดยมีชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นประธานมอบรางวัลแก่ผู้ได้รับรางวัล 5 คน โดยผู้ได้รับรางวัลสมชาย นีละไพจิตร  คือ นายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความ ผู้ได้รับรางวัลนักสิทธิมนุษยชนที่น่ายกย่องได้แก่  นางสาวจิตรา คชเดช นักสหภาพแรงงาน, นายสมยศ พฤษกษาเกษมสุข นักสิทธิมนุษยชน (อยู่ในเรือนจำ ภรรยามารับแทน-ประชาไท) , นางมณี บุญรอด และสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ต่อสู้ในกรณีเหมืองโปแตช , นายอดิศร เกิดมงคล นักสิทธิมนุษยชนด้านแรงงานข้ามชาติ

(อ่านรายประวัติ กองทุนและผู้ได้รับรางวัล ที่ไฟล์แนบด่านล่าง)

 

อังคณา นีละไพจิตร ภรรยานายสมชายได้กล่าวเปิดงานว่า อยากให้รางวัลนี้เป็นกำลังใจและแรงบัลดาลใจให้กับคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ที่พยายามทำให้ทุกคนอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีไม่ว่าตัวเขาจะเล็กน้อยเพียงใด เราอยากให้เสียงของพวกเขาดังขึ้นเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย ซึ่งแม้เป็นสังคมแห่งรอยยิ้มแต่ซ่อนความเจ็บปวดไว้เบื้องหลัง

ภายหลังการมอบรางวัลมีการเสวนาเรื่อง “บนเส้นทางการต่อสู้...ประสบการณ์นักสิทธิมนุษยชนไทย” โดยผู้รับรางวัลทั้ง 5 รายเป็นวิทยากร และรุจน์ โกมลบุตร จากคณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหนึ่งในกรรมการกองทุนสมชายฯ  เป็นผู้ดำเนินรายการ

จิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ เล่าถึงการทำงานที่ผ่านมาเกี่ยวกับสหภาพแรงงาน โดยเฉพาะสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ว่า เข้มแข็งมากและแม้จิตราถูกเลิกจ้างแล้วสหภาพก็ยังจ้างเธอเป็นเจ้าหน้าที่สหภาพ ทั้งนี้ จิตรา ถูกเลิกจ้างจากกรณีที่ใส่เสื้อสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออก (เสื้อสกรีนไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม – ประชาไท) ซึ่งเว็บไซต์ผู้จัดการเป็นผู้จุดประเด็น ท้ายที่สุดศาลเองก็ตัดสินให้เธอมีความผิดโดยระบุเหตุผลว่าไม่มีจิตวิญญาณประชาชาติ และศาลอุทธรณ์ไม่รับคำร้องด้วย เธอระบุอีกว่า หลังถูกเลิกจ้างยังมีนักวิชาการชื่อดังเขียนจดหมายไปขอบคุณสถานประกอบการด้วย

จิตรายังกล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่าง “แรงงาน” กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่ม “เสื้อแดง” ด้วยว่า เป็นเพราะคนงานเห็นความสำคัญของสิทธิในการรวมตัว และมีจุดร่วมสำคัญในช่วงเวลานั้นโดยเชื่อว่าหากมีการยุบสภาน่าจะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งแรงงานยังปฏิเสธรัฐประหารเพราะเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานทั้งปวง จนเมื่อร่วมชุมนุมก็พบว่ามีการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมจนมีคนบาดเจ็บ เสียชีวิตจำนวนมาก

“การแก้ปัญหาแรงงานเกี่ยวพันกับการเมือง เพราะมันเกี่ยวกับกฎหมายทุกระดับ แต่คนงานไม่มีสิทธิร่วมออกความเห็น ดังนั้น การเมืองจึงช่วยได้ เราจึงเกี่ยวพันกับการเมืองโดยตรง แต่ในทางปฏิบัติจริงคนงานไม่มีสิทธิทางการเมือง ไม่มีแม้แต่สิทธิในการเลือกตั้งในสถานประกอบการ เราอพยพมาจากต่างจังหวัดแล้วกลายเป็นพลเมืองแฝง ไร้ตัวตนทางการเมือง ที่จะเสนอนโยบายต่อรัฐหรือพรรคการเมือง” จิตรากล่าวและว่าเป้าหมายที่สำคัญของขบวนการแรงงานคือการมีรัฐสวัสดิการ ไม่ใช่เพียงเรียกร้องเรื่องค่าจ้างเฉพาะหน้า

มณี บุญรอด จากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เล่าถึงการต่อสู้ในพื้นที่อุดรเพื่อคัดค้านเหมืองโปแตชมาถึง 12 ปี  ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่อันดับหนึ่งในประเทศ และเป็นอันดับ 3 ของโลก  โดยเล่าถึงกระบวนการต่างๆ ที่ไม่สื่อสารอย่างตรงไปตรงมา ไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วม และอ้างแต่ให้คนส่วนน้อยเป็นผู้เสียสละ โดยไม่มีการเตรียมมาตรการแก้ไขปัญหาให้คนในพื้นที่ ทางกลุ่มจึงมีการเคลื่อนไหวคัดค้านและรณรงค์กับสังคมเรื่อยมากระทั่งถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมหลายคดี 

“การต่อสู้ บ่ตายก็คือติดคุก เป็นเรื่องธรรมดา” มณีกล่าวและว่าปัจจุบันได้เคลื่อนไหวจนมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณา

รัษฎา มนูรัษฎา ทนายความกล่าวถึงปัญหาการถูกละเมิดสิทธิของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน  โดยเฉพาะกรณีของนายสมชาย นีละไพจิตรนั้น ถือเป็นทนายที่เป็นแบบอย่างในการทำงานของตนเสมอมา อย่างไรก็ตามการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมักเผชิญอุปสรรคและหวังพึ่งกับกระบวนการยุติธรรม แต่ขณะนี้กระบวนการยุติธรรมก็มีคำถาม เช่น  กรณีการเสียชีวิตของ “อากง” (นายอำพล) ที่ประชาชนแสดงออกด้วยการสวดอภิธรรมศพหน้าศาลอาญา ก็เป็นตัวสะท้อนที่ชัดเจน โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นในชั้นสอบสวน ซึ่งกรณีการหายตัวไปของทนายสมชายก็เกี่ยวข้องโดยตรงเพราะเข้าไปรู้เห็นเกี่ยวกับการทำร้ายผู้ต้องหาให้รับสารภาพในจังหวัดชายแดนใต้

สุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ภรรยานายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นตัวแทนในการรับรางวัลและดำเนินการเสวนา โดยกล่าวว่า นายสมยศได้มีบทบาทในขบวนการแรงงานมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 2520 เช่น การณรงค์ให้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน ไม่ว่าผลักดันเรื่องสิทธิลาคลอด หรือการจ่ายค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง แต่ความสำเร็จทั้งปวงที่เกิดขึ้นไม่ใช่ของสมยศคนเดียวแต่เป็นของแรงงานทั้งหมดที่ช่วยกันผลักดัน  กระทั่งมีระยะหลังมีความขัดแย้งทางการเมือง สมยศก็ได้รณรงค์เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกจนกระทั่งถูกควบคุมตัวในเรือนจำด้วยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดในชีวิตของเขาก็ว่าได้เนื่องจากถูกขังมาปีกว่าแล้ว แต่อย่างน้อยก็ทำให้คดีนี้ได้รับการจับจ้องและเป็นที่รับรู้ของสังคมมากยิ่งขึ้น

อดิศร เกิดมงคล ผู้เชี่ยวชายด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า  คู่ต่อสู้ที่สำคัญของนักสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย คือการสู้กับทัศนคติ วิธีคิดของคนที่ว่า “คนที่ไม่ใช่พวกเราเป็นคนอื่น” ซึ่งเกิดในทุกกรณี ไม่ใช่เฉพาะกับแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเขายังคงมีความหวังต่อเรื่องสิทธิมนุษยชน ในประเทศไทยเสมอ เพียงแต่สิ่งที่น่ากังวลคือ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่นักสิทธิฯ ถูกวิพากษ์วิจารณ์และต้องทบทวนตัวเองมาที่สุด อยากให้กำลังใจทุกคน สิ่งที่ยากก็คือ เรื่องสิทธิมนุษยชนในเมืองไทยขณะนี้ไม่ได้อยู่ที่ตัวประเด็นปัญหา เพราะเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย แต่ยู่ที่การตั้งคำถามต่อจุดยืนของนักสิทธิปัจจุบันว่า ต่อให้คนที่เห็นต่างกับเราถูกละเมิด เราจะยังอยู่ข้างเขาไหม เขาถูกคุมขัง เราจะลุกมาบอกว่าสิ่งที่รัฐทำมันผิดและต้องให้ความเป็นธรรมกับเขาหรือเปล่า

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ประธานของงานกล่าวปิดท้ายว่า เราอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญยิ่งทั้งระดับสากลและในประเทศ การเปลี่ยนแปลงทั้งหลายทั้งปวงต้องการคนที่เป็นผู้นำหรือผู้ก่อการจำนวนไม่มากนัก จำนวนสิบ ร้อย ก็สามารถผลักดันความเปล่ยนแปลงของสังคมไทย เชื่อว่าอยู่ในห้งอนี้ด้วย อยู่นี่ไม่เหมือนในจุฬา ธรรมศาสตร์ บรรยากาศที่นี่เป็นบรรยากาศของตัวจริง ของจริง สังคมไทยมีตัวจริงของจริง ประชาชนที่หลากหลายทั้งในเมืองในชนบท อย่างไม่เคยมีมาก่อน คนเหล่านี้พร้อมจะเปลี่ยนแปลง พร้อมแก้ไข รธน. พร้อมปรองดอง พร้อมปฏิรูปกฎหมาย 112 ทำให้สถาบันประชาชนและสถาบันกษัตริย์อยูร่วามกันได้ยอ่างสันติ ในกรอบของสันติภาพ ภราดรภาพ เสมอภาค ตามเจตนารมณ์ของสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่

ชาญวิทย์ยังกล่าวกับกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีด้วยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมากลุ่มรักษ์เชียงใหม่กำลังเสนอร่างเชียงใหม่มหานคร เพื่อให้มีการปกครองส่วนท้องถิ่น ปกครองตนเอง เลือกผู้นำของตนเอง ยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค เขาเสนอว่าจะดูแลตัวเองทั้งหมด ยกเว้นการทหาร ต่างประเทศ ศาล เงินตรา ตนฝันอยากจะเห็นอุดรมหานครด้วยเช่นกัน เพื่อกำหนดสิ่งต่างๆ ในพื้นที่ด้วยตัวเอง

AttachmentSize
เกี่ยวกับกองทุนสมชาย นีละไพจิตร AboutAward.doc42.5 KB
เกี่ยวกับผู้ได้รับรางวัลทั้ง 5 คน 5 awardee.doc46.5 KB
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

เสวนา ‘คำถามถึงการเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านงานวัฒนธรรม’

Posted: 11 Jul 2012 01:57 AM PDT

8 ก.ค.55  ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน กลุ่ม ‘ประกายไฟการละคร’ ได้จัดกิจกรรมแถลงชี้แจงเหตุยุติการทำกิจกรรมของกลุ่ม (อ่านได้ที่นี่...คลิก) โดยในการแถลงครั้งนี้ยังได้มีเสวนา ‘คำถามถึงการเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านงานวัฒนธรรม’ โดยมีวิทยากรประกอบด้วย เพียงคำ ประดับความ กวีเสื้อแดง, ประกิต กอบกิจวัฒนา แอดมินเพจ ‘อยู่เมืองดัดจริตชีวิตต้องป๊อป’ และนิธิวัต วรรณศิริ นักร้องวงไฟเย็น และปิดท้ายด้วยการแสดงดนตรีของวงไฟเย็น

สำหรับการเสวนา ‘คำถามถึงการเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านงานวัฒนธรรม’ ซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งในงานเลี้ยงของคุณของกลุ่มประกายไฟการละคร มีประเด็นการอภิปรายที่น่าสนใจดังนี้

 


 

ประกิต กอบกิจวัฒนา
แอดมินเพจ ‘อยู่เมืองดัดจริตชีวิตต้องป๊อป’

"ประเทศอะไรจะเชลล์ตลอดเวลา ฆ่ากันตายก็ยังจะเซลล์อีก สำนึกของความเป็นมนุษย์มันไม่มีเลย"

สิ่งที่กระทบผมมากๆ จนทำให้ผมต้องลุกขึ้นมาทำจริงๆคือวันที่ท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพฯมาทำเรื่อง Big Cleaning Day ทั้งๆที่พึ่งฆ่ากันตายเมื่อ 2 วันก่อน แล้วมาทำอีเว้นท์ (Event) Big Cleaning Day จะ Sale(ขาย)อีกแล้วหรือ ประเทศอะไรจะ Sale(ขาย)ตลอดเวลา ฆ่ากันตายก็ยังจะ Sale(ขาย)อีก สำนึกของความเป็นมนุษย์มันไม่มีเลย

คิดได้ดังนั้นเลยเอารองเท้าคู่หนึ่งของเมียมา เรารู้สึกว่า Big Cleaning Day มันทำให้ชีวิตคนไม่มีคุณค่า การมองคนไม่มีค่าแบบนี้คิดว่าจะกลบเกลื่อนเรื่องแบบนี้ได้ อีเดียดเท่าที่ตนเคนเจอมา เลยหยิบรองเท้าเมียมาคู่หนึ่งเริ่มเขียนทุกอย่างลงไปในรองเท้า อันหนึ่ง “มันไม่มีอะไรแพงไปกว่าชีวิตคนไทยหรอก” ต่อจากนั้นเอาถุงช๊อปปิ้งของเมียมาบ้างที่เป็นสัญญาลักษณ์ของคนเมืองดัดจริตนี่ คือคนกรุงเทพเป็นคนดัดจริตที่สุด ตลอด 6 ปีมานี้แสดงทุกวันให้เรารู้สึกแบบนั้น

เปิดพื้นที่ใหม่ให้คนได้มาคริททิเคิล
ที่ทำให้เพจพอมันมีคนชอบก็มีคนแชร์ มันเป็นการเปิดกลุ่มใหม่ เปิดพื้นที่ใหม่ให้คนได้มาคริททิเคิล(วิพากษ์)บนงานของเรา พอทำไปสักพักหนึ่ง คือทำงานทุกวัน 3-4 ชิ้นต่อวัน เป็นประเด็นในเชิงของสังคมแทบทั้งนั้นเลยคือ ไม่ใช่แค่ด่าเรื่องฆ่ากันตายเฉยๆ ประเด็นเริ่มข้ามไปหลายๆเรื่อง เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องบริโภค งานมันจึงมีจำนวนมหาศาลขึ้น ตนจึงแยกสิ่งที่อยู่ในตัวปกติไปตั้งเป็นเพจ พอตั้งเพจด้วยคอนเซปต์อยู่เมืองดัดจริต และ ‘ชีวิตต้องป๊อป’

เมืองไทย เป็นสังคมที่ทำซ้ำ
‘ชีวิตต้องป๊อป’ นี่เอามาจากลัทธิทางศิลปะคือเรื่อง Pop Art ซึ่งเป็นแนวคิดอันหนึ่งที่เติบโตมากๆในอเมริกา เป็นศิลปะที่ให้แนวคิดที่สอดเสียดแลตั้งคำถามกับสังคมมากมาย เป็นรูปแบบที่ทั้งฉีกและแหกกฎ ศิลปินคนสำคัญ เช่น แอนดี วอร์ฮอล ก็จะทำ ทำภาพกระป๋องอาหารสำเร็จรูป และจะทำซ้ำๆ เป็นร้อยๆชิ้น เขาบอกว่าสังคอเมริกันเป็นสังคมบริโภค คือเป็นสังคมที่ทำซ้ำ การกระทำซ้ำก็จะทำตั้งแต่กระป๋องเป็นดาราซ้ำเป็นร้อยๆ เช่น มาริลีน มอลโล ก็จะถูกทำซ้ำๆ คิดว่าแนวคิดอย่างนี้มันเหมือนกับเมืองไทย อย่างงานชิ้นถัดมาของตนก็เป็นปากที่แลบลิ้น เหมือนโรลลิ่งสโตน ก็เขียนลงไปในปากทำวาทะ รีพีท (repeat) เช่น ‘ผมจะไม่มีวันปฏิวัติ’ ‘ผมจะเป็นคนดี’ เป็นคำพูดที่พูดซ้ำๆ รีพีท และไม่แคยทำได้ สิ่งเหล่านี้คิดว่ามันไปกระทบใจของคนรุ่นใหม่

ทำให้เขาเห็นซึ่งกันและกันมากขึ้น
หลังจากทำเพจออกไปก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีก็มีเสียงด่าบ้าง แต่ก็ไม่ได้มากมายเท่าที่คิด และได้ศึกษาและสำรวจเพจตัวเองด้วยและพยายามอ่านกลุ่มที่มาคริททิเคิลกันบนเพจ พบว่าสลิ่มเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่เป็นสลิ่มที่ไม่ใช่พวกวันๆด่า แต่เขาจะมาคริททิเคิลในมุมของเขา เสื้อแดงหลายๆคนที่เป็นแฟนเพจตนก็คริททิเคิลแบบมีเหตุผล มันเป็นพื้นที่ใหม่ที่ทำให้มีคนหลากสีเข้ามาคริท'ทิเคิลและเชื่อว่าพื้นที่ตรงนี้มันอาจทำให้เขาเห็นซึ่งกันและกันมากขึ้น และในเพจอันนี้มันเป็นเพจของคนรุ่นใหม่ ทั้งหมดที่ทำเพจก็เพื่อสร้างพื้นที่ใหม่ กระตุ้นให้คนคิด ไม่ว่าสิ่งที่คิดจะผิดหรือถูก แต่คุณต้องคิด คิดว่าการที่สังคมไม่มีเรื่องของความคิดนี่ คิดว่าเป็นสังคมที่อันตรายและเป็นสังคมที่ไม่สามารถคริททิเคิลได้ทั้งในมุมของเขาหรือเรามันอันตราย

ศิลปินก็เหมือนประชาชนในสังคมทั่วไปที่ต้องรู้ร้อนรู้หนาวสังคมและมีผลกระทบกับสังคม คิดว่าศิลปินหรือศิลปะมันไม่มีทางขาลอยออกไปจากสภาพการเมือง เศรษฐกิจและสังคม สิ่งที่ตนทำอยู่มันก็ควรสะท้อนในมุมนี้ออกไป

บรรยากาศของการกดมันมาจากรากของครอบครัว มันมาจากรากของศาสนา
ปัญหาของประเทศไทยเป็นปัญหาโครงสร้างของอำนาจ เป็นปัญหาจากพลังที่ไม่ได้เกิดมาเฉยๆโดยธรรมชาติ แต่มีการจงใจให้เกิด มีการครอบความคิดมาตั้งแต่ระดับอนุบาลสิ่งเหล่านี้มันดีไซน์โครงสร้างของการศึกษามาให้เป็นแบบนี้ วัฒนธรรมการกลัวการแสดงความคิดเห็นเราถูกครอบมาตั้งแต่เด็ก เช่น อย่าพูดสิเป็นเด็กอย่าพูด ในยุคสมัยหนึ่งเราจะเจอแบบนี้

บรรยากาศของการกดมันมาจากรากของครอบครัว มันมาจากรากของศาสนา สิ่งเหล่านี้มันต่างจากสังคมในยุโรป สังคมในยุโรปเองการวิวาทะทางปัญญามันเกิดขึ้นเป็นพันๆปี แต่เรามาจากวัฒนธรรมหมอบคลาน วันที่เราประกาศเลิกทาส คิดว่าคนยังงงว่าทำไมต้องยืนตรง หมอบก็ดีอยู่แล้วไม่ใช่หรือ มันก็ใช้เวลาในการพัฒนาอยู่ คิดว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน

ศิลปะมันไปรับใช้ทุกชนชั้น แต่การเปลี่ยนแปลงสังคมมันก็เกิดขึ้นด้วยคนกลุ่มเล็กๆ เสมอ
ศิลปะมันไปรับใช้ทุกชนชั้นในยุโรปก็เป็น ถ้าเราไปดูงานศิลปะในยุโรปก็คลายกับศิลปะไทย ที่เขียนเชิดชูเยซูก็อลังการ แต่การเปลี่ยนแปลงสังคมมันก็เกิดขึ้นด้วยคนกลุ่มเล็กๆเสมอ คิดว่าคนที่ทำงานศิลปะเป็นคนที่เปิดประตูบานใหม่ๆให้กับเรื่องของการเปลี่ยนแปลงเสมอ

วัฒนธรรมของทหารที่เข้ามามีบทบาทในศิลปวัฒนธรรมนานอย่างเนียนๆ
วัฒนธรรมของทหารที่เข้ามามีบทบาทในศิลปวัฒนธรรมอันนี้เขาทำมานานแล้วตั้งแต่หลวงวิจิตวาทการ อย่างตนปีหนึ่งต้องดูละครหลายรอบมาก เช่น ขุนศึก เป็นต้น อยากตั้งข้อสังเกตว่าละครที่นายทหารหล่อๆจะได้กับผู้หญิงยากจน คิดว่าเป็นวัฒนธรรมที่เขาผ่านมาอย่างเนียนๆ ให้คุณไม่รู้ว่านี่กำลังครอบคุณอยู่ มันทำให้คนไทยเคลิ้ม อันนี้เป็นการใช้อำนาจทางศิลปวัฒนธรรมของผู้มีอำนาจ เขาใช้ในหลายรูปแบบ

วัฒนธรรมการเล่าเรื่องแบบฮอลลีวูด Hollywood)
รัฐไทยใช้อำนาจผ่านศิลปวัฒนธรรมบ่อยไม่ว่าจะเรื่องหนังรักชาติก็ดี ไม่ว่าจะเรื่องของการสร้าง Evil (ปีศาจ) สักตัวแล้วให้พระเอกคนนี้ไปปราบ นี่คิดหลักสูตรพวก CIA เป็นวัฒนธรรมการเล่าเรื่องแบบฮอลลีวูด(Hollywood) ต้องมีฮีโร่ ต้องมี Evil ชัดเจนแน่นอน ถ้าเรามาย้อนดูเหตุการณ์ พ.ค.53 การสร้างฮีโร่ ทหาร ทหารที่เป็นโฆษกแต่ละคนจะหล่อ คือเขาจะมีภาพที่แต่ละอันเขามีนัยที่จะต่อสู้ในเชิงชิงพื้นที่ และหลังๆทหารจะทำหนังโฆษณาเยอะมาก เขาเปิดแนวรบ ทหารยุคนี้เก่งกว่าทหารยุคก่อน คือใช้สื่อสารมวลชนเป็น มีวิธีการใช้การสื่อสารมวลชนอย่างแยบคาย และวันนี้ช่อง 3, 5, 7, 9 ไทยพีบีเอส ที่บอกว่าฟรี(อิสระ) ไม่ฟรีจริง คิดว่าถูกครอบมาแต่แรกอยู่แล้ว

การส่งผ่านงานศิลปวัฒนธรรมต่างๆคิดว่ามีการสอดแทรกเรื่องการปกครอง ว่าจะเรื่องของสถาบันนิยม หรืออะไรต่างๆ คิดว่าก็แทรกมาตลอด อย่างล่าสุดน่าจะเป็น ธรณีนี่นี้ใครครอง เรื่องนี้เมื่อก่อนตนก็เฉยๆ จนวันหนึ่งขับรถและเปิดทีวีดู ณเดชน์(พระเอก)กับ ญาญ่า(นางเอก)ก็เถียงกันทำให้นึกถึงตอนเด็กที่เคยดู ที่มายุคเดียวกับยุคเพลงหนักแผ่นดิน มันเป็นการส่งผ่าน และการสร้างใหม่ของหนังมันมีวิธีการของมัน

ขบวนศิลปวัฒนธรรมมีความหลากหลายเป็นเรื่องดี ถ้าเราต้องการต่อสู้ในเรื่องกระบวนการประชาธิปไตยคิดว่าใช้อาวุธเดียวไม่พอ ต้องมีอาวุธทางวัฒนธรรมที่หลากหลายรูปแบบมากกว่านี้และสามารถช่วงชิงพื้นที่ทางปัญญาได้ในหลายๆพื้นที่ คิดว่าวันนี้เสื้อแดงได้มวลชนไปในระดับหนึ่ง เพียงแต่จะยกระดับการต่อสู้ให้ขึ้นไปสู่ในพื้นที่ของความคิด ถ้าจะไปตรงนั้นได้มันต้องไปด้วยศิลปวัฒนธรรมและไปด้วยหลักคิดที่มีความคม

เรายังต่างคนต่างทำเกินไป ต้องมีกลยุทธ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นเราทำกันเองดูกันเอง
วันนี้สิ่งที่เรายกระดับไปไม่ได้ เรายังต่างคนต่างทำเกินไป ทางฝ่ายเผด็จการต้องยอมรับเขาเรื่องหนึ่งเขาครบเครื่องกว่า ทั้งเงิน ทั้งความรู้ ทั้งสื่อที่อยู่ในมือ ทหารมียุทธศาสตร์ มีการวางแผน เรื่องของ strategic เรื่องของกลยุทธ์ต้องการทำลายความชอบธรรมเรื่องนี้ต้องทำอย่างไร ต้องการสร้างความเชื่อถือเรื่องนี้ต้องทำอย่างไร สิ่งเหล่านี้เรายังไม่ถูกยกไปสู่สิ่งเหล่านั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำมันเลยเป็นการกระจัดกระจาย บางเรื่องก็สนุก บางเรื่องก็สะใจดี แต่ว่าผลสุดท้ายแล้วเราต้องการให้วัตถุประสงค์บรรลุเรื่องอะไร คิดว่าเรื่องนี้ทหารเก่งกว่า

เรื่องการยกระดับต่อสู้ความคิดเราต้องมีกลยุทธ เราจะทำเรื่องนี้เพื่อสื่อสารไปให้ใคร ต้องการให้เป้าหมายนี้เข้าใจภารกิจว่าอะไร คิดว่าเรื่องนี้เราไม่ถูกคิดไม่ถูกพูดถึง ถ้าเราคิดเรื่องนี้เมื่อไหร่เราจะรู้ว่าสื่อจะต้องปอยู่ที่ไหน คิดว่ามันจะมาเป็นขั้นตอนของการคิด ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นเราทำกันเองดูกันเอง แล้วเราก็ไม่ได้ขยายฐานมวลชนหรือขยายความคิดของกลุ่มเสื้อแดงให้ออกไปในวงกว้าง และลบล้างทัศนะบางอย่างที่เขามีต่อเรา หลายๆอันนี้เราไม่ได้สร้าง ศิลปวัฒนธรรมของเราบางเรื่องเลยกลายเป็นการตอบโต้เสียเป็นส่วนใหญ่ เรายังไม่ได้ข้ามถึงขนาดจะเกณฑ์เข้ามาเป็นพวกอย่างไร จะล้างทัศนะที่เขามีต่อเราอย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ท้าทายเราให้เราทำ ไม่เช่นนั้นการต่อสู้ของเสื้อแดงจะเป็นเพียงการกดดันเชิงมวลชนเฉยๆ

 

เพียงคำ ประดับความ
กวีเสื้อแดง
"บทกวีที่สวยหรูถ้ามันไม่ได้รับใช้ประชาชนแล้วมันจะมีคุณค้าหรือสะท้อนอะไร"

คิดว่าแนวรบศิลปวัฒนธรรมช่วงที่ผ่านมาอยากเป็นกวีราชสำนักกันเกินไปจนไม่ออกมาทำหน้าที่ ตนเองเดินไปในที่ชุมนุมของเสื้อแดงปี 53 เห็นชาวบ้านเขียนบทกวีด้วยตัวเอง เขียนใส่แผ่นป้ายกันมาถูกบ้างไม่ถูกบ้าง ผิดฉันทลักษณ์บ้าง ใช้คำไม่สวยบ้าง ซึ่งถ้าเป็นกวีใหญ่ๆมาดูก็บอกว่าชาวบ้านเขียนไม่ผ่าน แต่ว่าบทกวีที่สวยหรูของคุณถ้ามันไม่ได้รับใช้ประชาชนแล้วมันจะมีคุณค้าหรือสะท้อนอะไร เป็นความอึดอัดใจของตนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

แต่ปัจจุบันสถานการณ์ของเสื้อแดง แนวรบศิลปวัฒนธรรมก็น่าจะพูดได้ว่าดีขึ้น แต่ว่าถ้าเข้าสู่สนามรบ คนที่มีพื้นที่หน้ากระดาษ คนที่พูดแล้วเสียงดัง ช่วยออกมาพูด อย่าให้เป็นอย่างเหตุการณ์ที่ผ่านมาล้มปราบปี 53 คุณอาจจะออกคำสั่งทหารไม่ได้แต่ช่วยกันออกมาพูดว่าการฆ่าคนกลางเมืองมันไม่ใช่เรื่องปกติ สังคมไทยเป็นสังคมอนุรักษ์นิยมที่แข็งมาก และการต่อสู้กับสังคมอนุรักษ์นิยมที่แข็งมากนี้ คิดว่ามันเป็นภาระอันหนักอึ้งของคนทำงานด้านศิลปวัฒนธรรม

การแย่งชิงกันระหว่างฝ่ายอำนาจเก่ากับฝ่ายที่ต้องการให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย
ปัญหาตอนนี้คือการแย่งชิงกันระหว่างฝ่ายอำนาจเก่ากับฝ่ายที่ต้องการให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย พันธมิตรต่อสู้เพื่อดึงประเทศไปสู่สังคมแบบอนุรักษ์นิยม พอใจในแบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่เสื้อแดงยื้อยุดฉุดกระชากกันอยู่เพื่อไปสู่ประชาธิปไตย หลังการเปลี่ยนแปลง 2475 เป็นต้นมาเรายังไม่มีประชาธิปไตย ในความไม่เป็นประชาธิปไตยนี้เขาครอบงำเราอยู่ทั้งทางกฎหมาย กติกาต่างๆในสังคมที่เขากำหนดขึ้นให้เราปฏิวัติตาม แล้วเราก็ยังถูกครอบด้วยโครงสร้างของวัฒนธรรมที่เชิดชูอุดมการณ์กษัตริย์นิยม และโครงสร้างสังคมแบบอนุรักษ์นิยม ในสื่อทุกสื่อที่เราเห็นได้ถูกครอบงำหมด นี่คือการครอบงำทางวัฒนธรรม

คนทำงานศิลปวัฒนธรรมที่พร้อมไปกับนิติราษฎร์และนักวิชาการต่างๆที่จะไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมนั้นก็คือการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม
คณะนิติราษฎร์เสนอแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เสนอ 8 ข้อ(ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์) แต่ว่าหน้าที่ของคนทำงานศิลปวัฒนธรรมที่พร้อมไปกับนิติราษฎร์และนักวิชาการต่างๆที่จะไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมนั้นก็คือการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม คือสังคมเปลี่ยนแปลงได้วัฒนธรรมต้องเปลี่ยนแปลงได้ วัฒนธรรมที่ไม่เห็นหัวคน วัฒนธรรมที่ส่งเสริมความไม่เท่าเทียมวัฒนธรรมที่กดหัวคนไม่ให้เป็นคน เหล่านี้คือเป้าหมายที่เสื้อแดงต้องต่อสู้ไปพร้อมๆกัน

แนวรบศิลปวัฒนธรรมถ้าจะได้ดิบได้ดีก็ต้องอยู่กับฝ่ายที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
แนวรบศิลปวัฒนธรรมถ้าจะมายืนกับฝ่ายประชาชนมันลำบากฉะนั้นตั้งแต่ไหนแต่ไรแนวรบศิลปวัฒนธรรมถ้าจะได้ดิบได้ดีก็ต้องอยู่กับฝ่ายที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แนวรบศิลปวัฒนธรรมเสื้อแดงเป็นชาวบ้าน กวีก็เป็นชาวบ้าน เพราะว่ากวีแถวหน้าเขาเลือกที่จะไปต่อสู้ให้กับสังคมไม่เป็นประชาธิปไตย

นิธิวัต วรรณศิริ
นักร้องวงไฟเย็น
"งานวัฒนธรรมพวกนี้มันเหมือนการ Save ข้อมูลของยุคสมัยนั้นๆ"

งานวัฒนธรรมของเวทีพันธมิตรเป็นงานที่ผลิตซ้ำ แล้วไม่ได้ถือเป็นแนวรบจริงๆจังๆ เหมือนหงา คาราวาน ก็เอาเพลงถังโถมโหมแรงไฟ อยู่บนเวทีพันธมิตร และในเวทีก็มีเพลงความฝันอันสูงสุดมันย้อนแย้งกันในทางการต่อสู้เหมือกัน แต่ว่าเขาได้เครดิตจากที่เขาสร้างมาแต่ยุคก่อน ซึ่งมองว่าเพลงและงานวัฒนธรรมพวกนี้มันเหมือนการ Save ข้อมูลของยุคสมัยนั้นๆเอาไว้ในบทเพลง ต่อให้เวลาเปลี่ยนไป แต่เนื้อหาเพลงมันก็จะเป็นช่วงยุค ณ วันที่เขียนเพลงนั้น อยากเพลง ฝนแรก (http://www.youtube.com/watch?v=4Qq3ZrUvYb8) ทางฝ่ายเหลืองก็จะไม่ร้องเพลงนี้ในตอนนี้เพราะมันตรงกับเหตุการณ์ของเสื้อแดง ซึ่งมันเกิดจากคนที่เป็นศิลปินในในอีกฝากอุดมการณ์เขาไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนที่เดิม

งานวัฒนธรรมคือการทะลวงกรอบที่การพูดธรรมดาทำไม่ได้ และเป็นอิมแพ็คที่เพิ่มขึ้นจากการผลิตซ้ำ
งานวัฒนธรรมอีกมุมหนึ่งมันคือการทะลวงกรอบที่การพูดธรรมดาทำไม่ได้ การที่เราเอาเนื้อหาใส่เป็นบทกวี บทกลอน บทเพลง ผลกระทบ(Impact)ต่อฝ่ายตรงข้าม คำพูดธรรมดาอาจได้ประมาณ 5 แต่เป็นกลอนมาไม่ต้องเพราะคุณได้ 10 คุณแต่งเป็นเพลงมาคุณได้ 20 มันเป็นอิมแพ็คที่เพิ่มขึ้นจากการผลิตซ้ำ เช่น เพลง ผ่านไป 10 ปี 30 ปี ก็ถูกผลิตซ้ำเรื่อยๆฝังเข้าไปในอุดมการณ์ของคนได้

งานศิลปวัฒนธรรมคิดว่าฝ่ายตรงข้ามกล้าเล่นงานน้อยกว่า และเป็นการสร้างเกราะให้ตัวเองด้วย ถ้าคุณมีผลงานเป็นที่รู้จักมันยากที่เขาจะเล่นงาน งานศิลปวัฒนธรรมมีความสำคัญในแง่ของการทะลวงเพดาล อย่างมาตรา 112 คิดว่าในชข่วง 3-4 ปีที่ผ่านมามันถูกทะลวงขึ้นไปเยอะ จนกลายเป็นเรื่องปกติที่พูดกันได้

จุดอ่อนของศิลปันคือไส้แห้ง
ใจกลางของปัญหาคือการฟื้นอำนาจของระบอบกษัตริย์นิยมขึ้นมาใหม่ ซึ่งพวงมากับวัฒนธรรมต่างๆที่ระบอบกษัตริย์เคยสร้างไว้ก่อน เช่น พระราชพิธี ความศักดิ์สิทธิของเรื่องราวต่างๆ มาทุกรูปแบบ เขารุกเรามาเยอะด้วยอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพทรงคุณภาพกว่า มีสื่อ มีฐานทรัพย์สิน มีคนที่มีหัวคิดเรื่องงานศิลปะที่ไปช่วย ซึ่งไม่น้อยที่แต่ก่อนเคยเป็นศตรูกับเขาเองฝ่ายนั้นก็ดึงไปเป็นพวกเขาได้ มีการสร้างรางวัลศิลปินแห่งชาติ ฯลฯ เพื่อมีเบี้ยให้ เขารู้ว่าจุดอ่อนของฝ่ายที่ต่อสู้กับเขาสมัยก่อนก็คือไส้แห้ง เลยดึงคนที่เคยสู้กับตัวเองไปเป็นพวกได้

คิดว่าอีกนานแนวรบของแต่ละฝั่งจะออกมาทิ่มแทงกันมากขึ้น หลังจากที่ หงา คาราวาน กับเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ออกมาถือเป็นเกมส์รุกของฝ่ายเขา ตอนเกิดพันธมิตรจะมีการเปิดพวกนี้มาเป็นแนวรบแนวหน้าแล้วพวกการกระทำตามมาที่หลัง หลอมรวมใจขึ้นไปเรื่อยๆจนกระทั้งถึงจุดที่เขาต้องการกระทำ ฝ่ายเราต้องอัพเกรดตัวเองกัน และช่วยกันเผยแพร่ ช่วยกันให้งานศิลปวัฒนธรรมของเราเป็นสาธารณะมากขึ้น ดีใจที่หงาเขียนกวีออกมาแล้วใน facebook ผุดนักกวีออกมา ศิลปินขึ้นเป็นดอกเห็ดเลย มีกลอนคนโน้นก็เขียนคนนั้นก็เขียน กลอนออกมาโต้น้าหงาเป็นร้อยกับกลอนบทเดียว

ต้องผ่าไปให้ถึงกระบวนสื่อของเสื้อแดงเองก่อน
ก่อนที่จะฝ่าไปถึงกำแพงของสื่อกระแสหลักหรือฟรีทีวีได้ ต้องบอกกว่าต้องผ่าไปให้ถึงกระบวนสื่อของเสื้อแดงเองก่อน อย่าง นปช.ให้ส่งสคริปนี่ สุดท้ายละครอย่างประกายไฟหรือคณะราษฎรที่ 2 เองก็ไม่มีโอกาสในสื่อเสื้อแดงเองไม่ได้ออก มองว่าตรงนี้ก็ถือเป้นวิกฤติอย่างหนึ่ง แนวรบวัฒนธรรมควรให้เขาเผยแพร่ให้เขาได้มีพื้นที่ มองว่าเรียกร้องกับฝ่ายเดียวกันก่อน ต้องวิพากษ์เรื่องสื่อ คิดว่าคนที่สร้างผลงานเขาสกรีนแล้วว่ามันออกสู่สาธารณะได้ โดยที่สื่อฝ่ายกลางก็สามารถนำเสนอต่อสาธารณะชนได้ แต่แค่ DNN หรือว่าเวที นปช. ไม่ให้นำเสนอแล้ว การต่อสู่ต่อไปจะก้าวหน้าขึ้นอย่างไรในเมื่อยังจำกัดแนวรบวัฒนธรรมของตนเองอยู่

 


คลืปเสวนา วิทยากรประกอบด้วย เพียงคำ ประดับความ กวีเสื้อแดง, และนิธิวัต วรรณศิริ นักร้องวงไฟเย็น

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :
คำถามถึงแนวรบศิลปวัฒนธรรม โดย  เพียงคำ ประดับความ 
‘หนูน้อยหมวกแดง’ พรุ่งนี้... จะทำอย่างไรต่อไป? 
เยาวชนอีสาน-3 จว.ชายแดนใต้ ร่วมรำลึกเหตุความรุนแรง 19 พ.ค. หน้าบ้าน ‘ส.ส.ภูมิใจไทย ขอนแก่น’
ประกายไฟการละครตอน ‘แม่-พิมพ์’ การตั้งคำถามต่อความรักของ ‘แม่ตัวเอง’
โทรข่มขู่กลุ่มประกายไฟ เลิก ‘ละครแขวนคอ’ อ้างนักศึกษาไม่พอใจ 
เวทีเล็ก ทวงสิทธิ 'นักโทษการเมือง'- ประกายไฟการละครสะท้อนปัญหาภายในเสื้อแดง
รายงานและสนทนา: ยุบ 'ประกายไฟการละคร'

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงานและสนทนา: ยุบ 'ประกายไฟการละคร'

Posted: 11 Jul 2012 01:35 AM PDT

เหตุล้มเหลวในการเรียนรู้ทฤษฎีการเมืองของสมาชิก และปัจจุบันมีคนทำงานวัฒนธรรมเพื่อการต่อสู้ของประชาชนเกิดขึ้นมากมาย 

เมื่อวันที่ 8 ก.ค.55  ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน กลุ่ม ‘ประกายไฟการละคร’ ได้จัดกิจกรรมแถลงชี้แจงเหตุยุติการทำกิจกรรมของกลุ่ม และเสวนา ‘คำถามถึงการเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านงานวัฒนธรรม’ โดยมีวิทยากรประกอบด้วย เพียงคำ ประดับความ กวีเสื้อแดง, ประกิต กอบกิจวัฒนา แอดมินเพจ ‘อยู่เมืองดัดจริตชีวิตต้องป๊อป’ และนิธิวัต วรรณศิริ นักร้องวงไฟเย็น และปิดท้ายด้วยการแสดงดนตรีของวงไฟเย็นจนถึง 22.00 น. โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 60 คน

สำหรับการชี้แจงการยุติการทำกิจกรรมของกลุ่มประกายไฟการละครนั้น น.ส.ภรณ์ทิพย์ มั่นคง แกนนำกลุ่มฯ ได้เล่าถึงที่มาของทางกลุ่มว่าได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2553 จากมติของกลุ่มประกายไฟ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสรรค์งานวัฒนธรรมการต่อสู้ทางชนชั้นให้แก่มวลชน โดยใช้งานละครเป็นงานที่สื่อถึงชีวิตและการต่อสู้ให้ตรงประเด็นและรวดเร็ว น.ส.ภรณ์ทิพย์ มั่นคง มองว่า ละครเวทีโดยส่วนใหญ่ มักถูกสงวนให้เป็นเพียงศิลปะเพื่อชนชั้นนายทุน หรือศักดินาเสพเท่านั้น ประชาชนคนรากหญ้าไม่มีโอกาสได้เสพศิลปะเหล่านั้น เพราะราคาค่าเข้าชมที่สูง สามารถซื้อข้าวกินไปได้หลายวัน อีกทั้งการแสดงละครเวทียังกลายเป็นอาชีพหาเลี้ยงตัวเองของนักแสดงซึ่งทำให้ต้นทุนต่างๆ สูงขึ้นจนคนจนแตะไม่ถึงความงาม เสพได้แต่เพียงศิลปะจากละครน้ำเน่าผ่านช่องฟรีทีวีเท่านั้น 

น.ส.ภรณ์ทิพย์ มั่นคง ยังอธิบายถึงความเชื่อพื้นฐานของกลุ่มว่า ศิลปะที่ดีนั้นควรจะเป็นศิลปะที่คนส่วนใหญ่สัมผัสได้ เราจึงตั้งกลุ่มละครที่ใช้อาสาสมัคร ไม่ได้หากินกับการเล่นละครเข้ามาร่วมแสดงกับเรา โดยแสดงในที่ม็อบ ทั้งบนเวทีและบนท้องถนน หมู่บ้านที่เราไปร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งนี้เพื่อน้อมเอาศิลปะบางอย่างที่คนบางคนได้เสพแต่คนอีกหลายล้านคนไม่มีโอกาสได้เสพ มาทำให้มันต่ำลง ติดดิน และ ได้บอกเล่าเรื่องราวความเป็นไปของสังคมการเมือง ทัศนคติ ของผู้คน ผ่านการแสดง ที่ง่าย สั้น และ ใช้คนแสดงไม่เยอะ พร็อพไม่มาก ไม่เสียซื้อบัตรแค่หยอดกล่องรับบริจาค

“แน่นอนที่สุด เราคือกลุ่มละครการเมือง ทุกอย่างที่เราเล่น เราเล่นเกี่ยวกับการเมือง หากจะนับกันแล้วเราเล่นละครกันมาไม่ต่ำกว่า สี่สิบเรื่อง เพราะทุกๆครั้งที่เล่นประเด็นในสังคมเปลี่ยนไป เราจึงต้องไล่ตามให้ทันแก่สถานการณ์ ถ้าหากจะเรียกกันแบบที่รุ่นพี่หลายๆคนเรียก เราคงจะเป็น ละครมาร์กซิส กากๆ ที่เล่นทุกอย่างเพื่อเสียดสี ชี้นำ ไร้ศิลปะ  แน่นอนที่สุด เรายอมรับทุกอย่างที่เป็นเรา ที่สำคัญคือละครของเรา ชี้นำ เราชี้นำให้คนทั่วไปลุกขึ้นต่อสู้ ชี้นำให้เค้าเห็นจุดสิ้นสุดและแนวทางที่เราเชื่อ เราไม่จำเป็นต้องปล่อยให้คนดูกลับไปคิด หรือทิ้งอะไรไว้ เพราะเราเชื่อว่าสังคมต้องการการเปลี่ยนแปลง และเราจะเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนั้น เราเล่าความจริง” น.ส.ภรณ์ทิพย์ มั่นคง แกนนำกลุ่มประกายไฟการละคร กล่าว

เหตุผลที่ยุติบทบาททางการแสดงของประกายไฟการละคร น.ส.ภรณ์ทิพย์ มั่นคง ชี้แจงว่า เพราะความล้มเหลวในการสร้างสรรค์กระบวนการในการเรียนรู้ทฤษฎีการเมืองแก่สมาชิกในกลุ่มที่กำลังเติบโตจากการชื่นชมของมวลชน เพราะเหตุผลที่ว่ากลุ่มฯเป็นละครการเมือง ดังนั้นการเคลื่อนไหวของกลุ่มฯ จึงจำเป็นที่จะต้องมีทฤษฎีการเมืองรองรับ หากสมาชิกไม่มีหลักในการเคลื่อนไหวแล้วจะไม่มีทิศทาง และสุดท้ายอาจจะกลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ กลุ่มฯ ไม่อยากเป็นเพียงกลุ่มละครรับจ้าง หรือย้ายข้าง เปลี่ยนขั้ว ไร้ซึ่งจุดยืนทางอุดมการณ์ที่ชัดเจน

น.ส.ภรณ์ทิพย์ มั่นคง ย้ำอีกว่า “การศึกษาทฤษฎีในการเคลื่อนไหวเป็นสิ่งสำคัญที่สุดมากกว่าศิลปะที่งดงาม มากกว่าถ้อยคำที่สวยหรู เพราะสิ่งเหล่านั้นล้วนถูกปั้นแต่งขึ้นมาทั้งสิ้น ทุกอย่างสามารถฝึกฝนกันได้ แต่หากเราไร้ซึ่งอุดมการณ์แล้ว เราจะไม่รู้ว่าเราควรจะเล่าอะไร ไม่รู้ว่าเราควรจะสื่ออะไร”  แกนนำกลุ่มประกายไฟการละคร กล่าวถึงบทเรียนในอดีตว่ากลุ่มละครการเมืองหลายๆกลุ่มที่เกิดขึ้นในยุคเดือนตุลา ปัจจุบันได้กลับลำ ย้ายข้างไปอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับประชาชน หากกลุ่มยังเล่นละครไปวันๆและไม่มีจุดยืนทางอุดมการณ์ที่ชัดเจน สุดท้าย เราอาจจะกลายเป็นเช่นกลุ่มละครเหล่านั้น ไม่ได้มีอะไรมารับประกันว่าวันหนึ่งสมาชิกจะไม่เปลี่ยน เพราะขนาดคนที่จับปืนเข้าป่าต่อสู้กับรัฐบางคนยังย้ายข้างอย่างที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้

นอกจากนี้ น.ส.ภรณ์ทิพย์ มั่นคง  ยังให้เหตุผลการยุติกิจกรรมอีกว่า ปัจจุบันได้มีเครือข่ายงานวัฒนธรรมเพื่อการต่อสู้ของประชาชนเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งล้วนแต่มีประสิทธิภาพ เป็นมืออาชีพ และ เต็มไปด้วยศิลปะ จึงมองว่าหมดเวลาของพวกตนแล้ว แต่ขอเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มศักยภาพและอบรมให้แก่กลุ่มต่างๆ ที่สนใจจะทำกิจกรรมในลักษณะนี้โดยเฉพาะละครการเมืองต่อไป

0 0 0

สมาชิกกลุ่มประกายไฟการละครกล่าวขอบคุณผู้ร่วมงาน 



 

คุยกับ 'ภรณ์ทิพย์ มั่นคง' ผู้ประสานงานกลุ่ม 

นอกจากการแถลงการณ์ยุติการทำกิจกรรมของกลุ่มประกายไฟการละครแล้วผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงบทเรียนของการทำกิจกรรมการแสดงละครในที่ชุมนุมของเสื้อแดงตลอด 2 ปี ของกลุ่มดังกล่าว

ประชาไท : จากการที่ทำกิจกรรมแบบนี้มา 2 ปี ได้เรียนรู้อะไร และเห็นว่ามันมีความสำคัญอย่างไรกับการเคลื่อนไหว?
ประกายไฟการละคร : สองปีที่ผ่านมา สิ่งที่เราได้เรียนรู้ในเรื่องการแสดง เพราะที่ผ่านมาเราเดินทางเล่นท่ามกลางมวลชนตลอดเราจึงต้องรับกับสภาพอารมณ์ร่วมของมวลชน ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความเกลียด ความเสียใจ ความสนุก มันทำให้เราเห็น เราสบตากับคนดู จนรับรู้ถึงความรู้สึกที่ส่งมา นั่นแหละมันทำให้การแสดงของเราดีขึ้น เหมือนคนดูส่งอารมณ์ให้เราแสดงออกมา จนมันเคยชินกันไปหมด พอเล่นแล้วคนดูเงียบ คนดูนั่งดูเฉยๆ แบบในโรงละคร เราจะเล่นกันไม่ค่อยออก มันเขิน มันไม่ได้รับรู้ความรู้สึกของคนดู เหมือนกับว่ามันจะกระตุก ทำไมคนดูเงียบ  เขาจะเข้าใจที่เราเล่นรึป่าวทำไมเค้าไม่มีเสียงอะไรตอบโต้มาเลย เวลาที่เราเล่นในพื้นที่ปิดเราเลยต้องบอกคนดูก่อนว่า ให้คิดว่าเรากำลังเล่นให้ท่านดูในม็อบ อยากโห่ก็โห่เลย อยากด่าก็ด่าเลย ดีใจก็กรี๊ดเลย เพราะไม่เช่นนั้นเราจะเล่นกันไม่ออก นอกจากนั้นคงเป็นเรื่องการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในเวลาแสดง  เพราะเล่นทุกครั้งไม่เคยมีอะไรราบรื่น หรือสมบูรณ์แบบเลย และการเขียนบท ที่จะต้องสั้น กระชับ และ ตรงประเด็นที่สุด ไม่เช่นนั้นนักแสดงจะเหนื่อย กับการใช้เสียง และคนดูจะเบื่อ เราต้องเขียนบทให้เร็ว และดึงคนดูให้อยู่กับเราให้ได้ตลอด เพราะในพื้นที่เปิดมันมีอะไรแย่งความสนใจไปจากเราได้ตลอด ต่อมาก็คือการเคลื่อนไหวร่างการที่มากๆ จะได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ  เรื่องไหนเคลื่อนไหวน้อยๆ คนดูเบื่อ ต้องมีอะไรเยอะๆ มันจะคึกคัด เซอร์ไพรส์ อีกอย่างที่สำคัญมากๆ คือ เราจะไม่เอาบทละครที่คนอื่นเขียนมาเล่นอีกแล้ว เพราะเราไม่เข้าใจสิ่งที่เขาเขียนมากนัก ถ้าเอามาก็คงจะเอามายำ เฉยๆ ส่วนเรื่องคนดูเรื่องที่เราเรียนรู้คือ คนดูมีหลายกลุ่มมาก คนดูที่เป็นลุงๆป้าๆจะชอบละครแบบเรามาก เพราะมันดูแล้วสะใจ ได้อารมร่วม แต่คนดูที่ออกจะเป็นปัญญาชนหน่อยๆ จะดูเฉยๆกับการแสดงของเรา หรือเพราะเราประเมินเค้าไม่ออกก็ไม่รู้ เพราะเวลาคนพวกนี้ดูเค้าจะไม่โห่ฮาเหมือนพวกลุงๆป้าๆ

อีกเรื่องที่สำคัญมากๆคือการเขียนบทตามสถานการณ์นี่แหละ ด้วยความที่ว่าสถานการณ์มันเปลี่ยนตลอดเราจึงต้องอ่านข่าว วิเคราะห์ข่าวกันว่าเราจะเล่นอะไร จะสื่ออย่างไร ที่สำคัญคือ ต้องเร็ว ไม่เช่นนั้นไม่ทัน แต่ถ้าเรื่องไหนมีเวลายาวหน่อย เราก็จะคิดได้เยอะหน่อย พยายามจะขมวดเอาหลายๆประเด็นในสังคมมาเล่าให้ได้ในเรื่องเดียว แต่นี่คือเราต้องทำงานเป็นทีม เราต้องคิดไปพร้อมๆกัน คุยบทกัน ใครอยากจะสื่ออะไรใครอยากจะพูดอะไร ใครคิดยังไงกับประเด็นที่เราจะเล่น แล้วค่อยเขียนบทกัน แล้วค่อยเล่นกัน

ที่นับว่าเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญมากๆของเราคือ ความเข้าใจของความหมายของประโยคที่ว่า “มวลชนดั่งผนังทองแดงกำแพงเหล็ก” วันที่ 4 ตุลา 54 เราจะเล่นละครแขวนคอกันแล้วมีคนโทรมาข่มขู่ ว่าจะมาทำร้ายพวกเราถ้าเรามาทำการแสดง เราได้อัดเสียงไว้มีคนเอาไปเผยแพร่ให้ แล้วก็ไปออกรายการทีวีช่องเอเชียอัพเดท รายการของคุณอดิศรกับคุณสุธรรม เลยบอกออกอากาศไปว่าใครว่างให้มาดูนะคะจะพวกเรากลัวคนมาทำร้าย พอเล่นจริง คนดูมาเยอะมาก เล่นเสร็จคนที่ทยอยมาแต่ไม่ทันยังมีอีกเยอะเหมือนกัน จนวันที่ 5-6 ก็มีคนดูอยู่เล่นละครเรื่องก่อนอรุณจะร่วงกับเราด้วย ถ้าเราไม่มีมวลชนมาช่วย งานของเราใน 3-4 วันนั้นคงจะไม่ประสบความสำเร็จขนาดนี้ ทุกอย่างเกิดขึ้นได้เพราะมวลชนจริงๆ

มีเหตุการณ์ที่ประทับใจที่สำคัญอะไรบ้าง ?
มีเยอะนะ เล่นกันทุกรอบเราก็ประทับใจทุกรอบ แต่ที่น่าประทับใจจริงๆ คงจะเป็น ตอนที่เล่นในม๊อบครั้งแรก เรื่องขอความสุขของใครคืนกลับมา วันที่ 19 กันยา  มันทั้งตื่นเต้น ทั้งลุ้น ทั้งกลัว ทั้งเหนื่อย ทั้งสนุกแล้วทุกๆคนก็สู้เต็มที่ ตอนนั้นยังไม่มีแกนนำมา มีแต่มวลชนมา แล้วเราก็เล่นกันหลายรอบมาก ฝนก็ตก พี่ๆในกลุ่มมาช่วยกันหมด ถือร่ม ถ่ายวีดีโอ ซื้อน้ำ ขนของ ตอนที่เราล้อมวง แล้ววอร์ม คนก็ตกใจ แต่ก็มาดู คนดูบางคนอินมากถึงกับเข้ามาตบนักแสดงเบาๆ แบบหมั่นไส้อะไรแบบนี้ มีคนเอาเงินมาใส่หมวกให้ แต่เราก็เกร็ง ตื่นเต้นกันตลอดทุกครั้งที่เล่น

อีกอันหนึ่ง คือเรื่องเก้าอี้ เรื่องนั้นประทับใจตอนคิดบทและตอนที่แอบขโมยเก้าอี้มาเล่นกัน ตอนนั้นแบบ เล่นเป็นคนบ้า แล้วก็สนุกมาก เพราะเวลาเล่นมันสนุกเราสนุกไปกับบท บทไม่ซีเรียสมากแต่เคลื่อนไหวเยอะ กลับมาปวดเมื่อยไปหมด ที่สุดๆ คือรอบสุดท้ายที่หน้าอนุสรณ์สถาน14ตุลา แยกคอกวัว ซึ่งเป็นที่ตั้งของพวกตำรวจ ตอนแรกเราจะเลิกเล่น แต่พอเห็นตำรวจเราเลยชวนกันเล่นต่อ ท้าทาย อยากให้ตำรวจดู แล้วรอบนั้นรอบที่ได้ท้าทายเจ้าหน้าที่รัฐต่อหน้านี่แหละ สนุกที่สุด

อีกครั้งหนึ่ง ประทับใจมวลชนมาก คือวันที่ 10 เมษา ปี 54 เราไปเล่นกันรำลึกถึงคนตายตามจุดที่มีคนตายเราเลือกที่จะเล่นก่อนที่จะมีคนมาเยอะ แกนนำยังไม่เปิดเสียงอะไรมากจากที่เวที เรามีแค่ลำโพงเล็กๆไม่กี่อัน เสียงเบามากเมื่อเทียบกับลำโพงของเวทีใหญ่ ทีนี้มีรถแกนนำจะผ่านเข้ามา จำได้ว่าเป็นคุณวรวุฒิ วิชัยดิษฐ์  แล้วก็มีการ์ดมาไล่เราขณะที่เรากำลังตั้งแถวแสดงกันอยู่เลยเค้าก็มาไล่ เราเลยตัดสินใจจับมือกันแล้วไม่ยอมออกไปไหน แล้วก็เลยตะโกนด้วยความ จำได้ว่าน่าจะตะโกนว่า เรามาเพื่อรำลึกถึงคนตายไม่ได้มาเพราะแกนนำ คนตายสำคัญกว่าแกนนำ ประมาณนี้  ทีนี้คนที่กำลังจะดูเราเขาก็มาจับมือต่อ เข้าไปคุยกับแกนนำ ไปคุยกับการ์ด ขอให้เราแสดงก่อน มีคนเข้ามากอดปลอบใจ ดีมาก ทั้งๆที่ตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จักพวกเราเท่าไร วันนั้นถึงจะได้เงินในกล่องน้อย ไม่พอจ่ายค่ารถให้สมาชิกครบทุกคนเราก็ถือว่าเราได้สัมผัสน้ำใจของมวลชนจริงๆ อีกครั้งคงจะเป็นงานหกตุลา ที่คนที่มาร่วมแสดง ยอมเหนื่อย ยอมอดนอนอยู่กับเรา ยุงกัด ฝนตก สภาพแย่ทุกอย่างเลย แต่เค้าก็ยังอยู่กันจนงานเสร็จ ซึ่งใจจริงๆ

ถ้าจะมีการทำกิจกรรมแบบนี้ต่อไปคิดว่ากลุ่มควรมีการปรับปรุงอะไรบ้าง?
ที่เราจะต้องปรับปรุงคงเป็นเรื่องของคนในทีมที่จะต้องแทนกันได้ตลอด ทั้งเรื่องเขียนบท เรื่องการแสดง หรือเรื่องการเมือง เพราะคนมันหมุนอยู่ตลอดเวลา เราต้องทำให้คนในทีมมีพื้นฐานความรู้ ความคิดไปในทิศทางเดียวกันเพื่อจะได้เขียนบทออกมาจากจุดยืนเดียวกัน ไม่ใช่แค่เล่าเรื่องราวตามสถานการณ์เท่านั้น อีกอย่างคงจะเป็นเรื่องศาสตร์ทางการแสดงที่ต้องเพิ่มเติม แต่นั่นไม่สำคัญเท่าความรู้ทางทฤษฎี เพราะเอาเข้าจริงแล้วเราสร้างหลักสูตรการแสดงของตัวเองได้ จากการที่เราไปดูหรือเรียนรู้จากรุ่นพี่ หรือกลุ่มละครอื่นๆแล้วทดลองแสดงกัน ต้องเพิ่มศักยภาพเฉพาะด้านของสมาชิกแต่ละคนให้เต็มที่กว่านี้ แต่นั่นมันต้องใช้เวลามากเหมือนกัน

กิจกรรมที่ผ่านมาเคยโดนคุกคามหรือไม่อย่างไร?
เรื่องการคุกคาม แบบจริงๆจังๆที่ไม่นับสันติบาล หรือ กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน) ที่ดูเป็นเรื่องปกติ ที่ต้องเจอ แต่ที่เห็นแบบคุกคามจริงๆ แบบรุนแรงก็น่าจะเป็น คนที่อ้างตัวว่าเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่โทรมาข่มขู่ให้เลิกเล่นละครแขวนคอ  อันนั้นมันแบบคุกคาม ข่มขู่จริงจัง ส่วนการคุกคามอีกแบบหนึ่งคือการคุกคามทางความคิด อันนี้เราได้รับการคุกคามโดยทางอ้อมจาก นปช.  ทั้งตอนที่ นปช. ให้การ์ดคอยตรวจว่ามีใครมาแจกเอกสาร มีใครมาทำอะไรในที่ชุมนุมที่หมิ่นเหม่ให้การ์ดจับตัวมาส่ง แต่เราก็ไม่เคยโดนจับกัน เค้าคงเห็นเราเป็นเด็กๆเลยไม่มีใครสนใจ แล้วยิ่งที่ผ่านมา ที่ นปช. ประกาศเรื่องการส่งบทส่งสคริป วันที่ 24 มิถุนา อันนั้น เป็นการคุกคามกันเองที่ดูเลวร้ายมาก มันคือการกีดกันความคิดเห็นอื่นๆในพื้นที่ชุมนุม แต่เราก็ไม่กลัว แค่คิดว่า นปช. ไม่ควรจะทำแบบนี้เลย

อีกอย่างคงจะเป็นการคุกคามจากมวลชนเสื้อแดงด้วยกัน จริงๆมันอาจจะไม่เรียกว่าเป็นการคุกคาม อาจจะเป็นแค่การเข้าใจผิด คือ เราเคยเดินแจกเอกสารข้อมูล ในม๊อบก่อนที่เราจะเล่นละครในเวทีย่อย เราก็แจกเอกสารว่าเราจะเล่นที่ไหนกี่โมง ก็เจอมวลชนบางคนถามแบบแรงๆว่า “จะเอาเงินเท่าไร” “มาอีกแล้วพวกนี้ มาขอเงินอีกแล้ว” “กระดาษไม่กี่แผ่นตั้งยี่สิบบาท” พวกเราก็หน้าเสียเลย เราไม่ได้มาแจกเอกสารเพื่อขอเงิน คือ เค้าคงติดภาพว่านักศึกษามาแจกอะไรต้องให้เงินตลอด เราเลยหน้าชามาก คือ คนที่แจกเอกสรแล้วเดินกล่องทำไมไม่เจอกับคำถามแบบนี้ เราไปเล่นละครแค่แจกใบปลิวว่าเราจะเล่นละคร เราเจอแบบนี้ เหมือนว่าเราเป็นขอทาน แต่เราก็โทษมวลชนไม่ได้เพราะเขาเห็นแบบนั้นบ่อย แต่แค่น้อยใจว่าทำไมเราต้องมาเจอแบบนี้  จริงๆการเจอแบบนี้มันบั่นทอนกำลังใจของเรามากกว่าการถูกคุกคามจากฝ่ายตรงข้ามอีก

ต่อจากนี้จะทำอะไรกันต่อไปของสมาชิกในกลุ่ม?
คงจะกลับไปทบทวน หาความรู้ และ ตั้งคำถามกับตัวเองกันว่า มีใครพร้อมที่จะอยู่และเรียนรู้ทฤษฎีบ้าง และ คงจะตั้งใจศึกษาหาความรู้กัน จริงๆหลังจากงานเสวนา ("คำถามถึงการเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านงานวัฒนธรรม") ที่ผ่านมาทำให้เราเห็นนะว่าคนทำงานวัฒนธรรมควรจะมานั่งคุยกถึงแนวทางแลกเปลี่ยนกัน เราอาจจะจัดวงเสวนาแนวดีเบตกัน เพื่อเพิ่มความรู้ให้ตัวพวกเราเองด้วย บางทีอะไรที่มีคนทำอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องทำต่อไป เมื่อมีคนอื่นทำแล้วเราควรจะไปเสริมในส่วนที่ยังไม่มีคนทำ เราคิดแบบนั้น เราอยากจะเป็นคนช่วยเสริมให้กลุ่มอื่นๆสามารถผลิตละครของตัวเองได้ ไม่จำเป็นว่าต้องการละครจะต้องเรียกหาประกายไฟ ทุกกลุ่มมีละครได้ ทำละครได้ เราพร้อมที่จะสอนให้ ถ้าอยากจะเรียนรู้ความรู้กากๆ แบบเราประมาณนั้น

มีเรื่องอะไรที่อยากเล่นหรือประเด็นอะไรที่อยากเล่น แต่ไม่ได้เล่น บ้างเพราะอะไร?
เรามีเรื่องที่อยากจะเล่นอยู่เต็มหัวไปหมด โดยส่วนตัวอยากเล่นเดี่ยว เรื่องเด็กหญิงจุดไม่ขีดไฟ แบบของประกายไฟนะ คิดบทไว้แล้วด้วย แต่ก็คงไม่ได้เล่นแล้ว แล้วก็ยังมีเรื่องจอมพล ป.  ที่อยากจะเล่น คือเราเห็นคนเล่าเรื่องปรีดีเรื่องคนอื่นเยอะ แต่ยังไม่มีคนเล่าเรื่องจอมพล ป. ทั้งๆที่มีความน่าสนใจมากและน่าเห็นใจมากในทางประวัติศาสตร์ แล้วก็อยากเล่นเรื่องแบบนิทานพื้นบ้านที่เป็นนิทานแบบศรีธนนชัย เวตาล แล้วเล่าเรื่องแบบหนังอินเดีย มีเต้นๆด้วย อยากทำเป็นตอนๆ ค่อยๆเล่น อยากไปเล่นในต่างจังหวัด เล่นให้พี่น้องที่อยู่ต่างประเทศดู อยากเล่นในที่ที่ต่างกัน และที่สำคัญอยากเล่นให้เด็กๆดู เราอยากจะเล่านิทานเรื่องใหม่ให้เด็กๆฟัง นิทานที่ไม่ใช่เรื่องของพระราชา เจ้าชาย เจ้าหญิง แต่เป็นนิทานของคนธรรมดาที่เปลี่ยนโลกได้

 

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :
คำถามถึงแนวรบศิลปวัฒนธรรม โดย  เพียงคำ ประดับความ http://prachatai.com/journal/2012/07/41456

‘หนูน้อยหมวกแดง’ พรุ่งนี้... จะทำอย่างไรต่อไป? http://prachatai.com/journal/2010/07/30202

เยาวชนอีสาน-3 จว.ชายแดนใต้ ร่วมรำลึกเหตุความรุนแรง 19 พ.ค. หน้าบ้าน ‘ส.ส.ภูมิใจไทย ขอนแก่น’ http://prachatai.com/journal/2010/11/31718

ประกายไฟการละครตอน ‘แม่-พิมพ์’ การตั้งคำถามต่อความรักของ ‘แม่ตัวเอง’ http://prachatai.com/journal/2011/08/36708

โทรข่มขู่กลุ่มประกายไฟ เลิก ‘ละครแขวนคอ’ อ้างนักศึกษาไม่พอใจ http://prachatai.com/journal/2011/10/37229

เวทีเล็ก ทวงสิทธิ 'นักโทษการเมือง'- ประกายไฟการละครสะท้อนปัญหาภายในเสื้อแดง http://prachatai.com/journal/2012/05/40598

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฟุตบอลไทย การเมืองของเกมใต้ตีน : ภูมิศาสตร์การเมืองและ เกมแห่งอำนาจใหม่ในพื้นที่ประเทศไทย*

Posted: 11 Jul 2012 01:30 AM PDT

ตลาดของ “ฟุตบอลไทย” ที่ไม่ใช่ยี่ห้อผลิตภัณฑ์กีฬา ขยายตัวอย่างมากทั้งในนามของทุนนิยม และในฐานะเครื่องมือทางการเมือง โดยเฉพาะเมื่อมันอยู่ในเทอมของกีฬาอาชีพแรกๆที่ประสบความสำเร็จหลังจากที่ล้มลุกคลุกคลานมาเป็นเวลาอันยาวนาน ระบบฟุตบอลอาชีพเริ่มขยับขยายจากศูนย์กลางประเทศไปสู่ ฟุตบอลอาชีพในระดับต่างจังหวัด และนับวันจะยึดหัวหาดพื้นที่ในไทยพรีเมียร์ลีกไปทีละน้อย

นั่นหมายถึงว่า พื้นที่การขับเคี่ยวกันของ อำนาจทุน อำนาจการเมืองท้องถิ่น รวมไปถึงพลังอุปถัมภ์ในนามหน่วยราชการทหารและพลเรือนได้แย่งชิงทรัพยากรและความสำเร็จผ่านสนามรบทางการเมืองสำคัญชุดหนึ่งในนามของฟุตบอลลีกไปแล้วแทบจะทั่วประเทศ บทความนี้พยายามสร้างคำอธิบายผ่านการวิเคราะห์ผ่านการเมืองของพื้นที่ และความเป็นพื้นที่สาธารณะของมวลชนที่ถูกสร้างขึ้นโดยฟุตบอลอาชีพ อันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทยในบริบทที่สังคมไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองในระดับฐานราก

1. พื้นที่ของอำนาจ : เกมฟุตบอลเป็นของใคร อำนาจอยู่ที่ใครกันแน่

ในเชิงประวัติศาสตร์แล้ว นับจากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ ปัจจุบันสมัย วงการฟุตบอลรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่กรุงเทพฯ ผ่านทัวร์นาเมนท์ฟุตบอลถ้วยพระราชทาน (2449), ฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ (2477), ฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี (2507) ทุกวันนี้ยังพบว่ามีบางกลุ่มเรียกร้องตราพระมหาพิชัยมงกุฎ มาแทนสัญลักษณ์ “ช้างยิ้ม” บนชุดแข่งทีมชาติ

แม้ฟุตบอลสมัครเล่นในนามทีมชาติจะดึงดูดคนดูได้เสมอ แต่นั่นก็พบว่ามันเป็นการรวมศูนย์ความนิยมของเกมกีฬาที่ไปผูกอยู่กับชาติเป็นหลัก เราพบว่า ฟุตบอลลีกต่างหาก ที่กำลังสร้างความผูกพันอยู่กับระบบแฟนและอุดมการณ์ท้องถิ่นนิยมที่นักการเมืองทั้งระดับชาติและนักการเมืองท้องถิ่นพยายามเข้ามาสร้างฐาน เร็วๆนี้มีผู้เขียนบทความถามถึงการละเลยถึงฟุตบอลถ้วยอันศักดิ์สิทธิ์อย่างฟุตบอลถ้วยพระราชทาน และควีนส์คัพโดยหาว่าฟุตบอลอาชีพได้แต่เอาเงินมาล่อคน [2]

ในด้านหนึ่งฟุตบอลอาชีพโดยเฉพาะสโมสรที่ผูกกับจังหวัด ต้องการพลังการเมืองในการหนุนให้เกิดกระแสท้องถิ่นนิยม รวมไปถึงการใช้อำนาจในการต่อรองเพื่อการใช้พื้นที่สนาม รวมไปถึงการต่อรองผลประโยชน์ในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ นั่นคือ การหาทุนสนับสนุน นักการเมืองผู้มีคอนเนกชั่นกว้างขวาง และผู้มีประสบการณ์ต่อรองที่ชาญฉลาดจึงเป็น “เครื่องมือ” สำคัญหนึ่งในสโมสรฟุตบอลระดับจังหวัด

ขณะที่อีกด้านก็พบว่า การสนับสนุนจากภาครัฐก็ไม่เป็นระบบและยังมีช่องโหว่ เช่น การอุดหนุนงบประมาณจากภาครัฐสู่สโมสรที่อิงอยู่กับความเป็นท้องถิ่น ปัจจุบันรัฐสนับสนุนผ่านช่องทางของ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และไม่อนุญาตให้สนับสนุนผ่านหน่วยงานท้องถิ่น ด้วย phobia กลัวนักการเมืองและการคอรัปชั่นที่พ่วงมาด้วยกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ กรณีที่สตง.เรียกเก็บเงินคืนจาก อบจ.ชัยนาท 50 ล้านบาท เนื่องจากเห็นว่าอาศัยช่องทางนำเงินหลวงไปใช้กับสโมสรฟุตบอลซึ่งเป็นบริษัทเอกชน คือ ชัยนาท เอฟซี อย่างไรก็ตามก็มีการตั้งข้อสังเกตถึงผลประโยชน์ทับซ้อนของ อนุชา นาคาศัย ที่เป็นทั้ง นายกอบจ.ชัยนาท, นายกสมาคมกีฬาจังหวัดชัยนาท บทวิเคราะห์ต่างๆ พุ่งเป้าไปที่ “ผลประโยชน์ของนักการเมือง” โดยไม่ได้มองถึงผลประโยชน์ส่วนหนึ่งมันตกอยู่กับท้องถิ่นด้วย [3] ขณะที่ท่าทีและน้ำเสียงที่มีต่อทีมเอกชนที่มีภาพลักษณ์ไม่ได้โยงกับนักการเมืองอย่างเช่น เมืองทองฯยูไนเต็ด (ที่เป็นข่าวว่ามีความไม่ชอบมาพากลระหว่าง เมืองทองฯ กับ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย), บางกอกกล๊าส (เจ้าของคือ นามสกุลภิรมย์ภักดี) กลับแตกต่างกันไป และทำราวกับว่าทำทีมฟุตบอลไม่ได้หวังผลอะไร โดยเฉพาะผลทางการเมือง

อาการกลัวนักการเมืองแสดงออกได้ชัดจากชื่อกระทู้ “ระวิ โหลทอง เจอ เนวิน ชิดชอบ คุณคิดว่าใครจะต้องยกมือไหว้ใครก่อน !!!!!!‎” [4] หรือบทความจากสื่อมวลชนต้านนักการเมืองอย่างผู้จัดการ "แฉนักการเมืองใช้ฟุตบอลบังหน้า ฟอกเงินผ่านสปอนเซอร์!" [5] อย่างไรก็ตามแนวโน้มการพึ่งพิงนักการเมืองก็ดูจะมีมากขึ้น ทำให้ความสำเร็จที่รวดเร็วเกิดขึ้นจากการอุปถัมภ์ของนักการเมือง แทนที่จะสร้างระบบทีมอาชีพที่แข็งแกร่งโดยตัวของมันเองในกระแสธุรกิจและชีวิตสาธารณะแบบใหม่


ภาพแสดง โฉมหน้าปฐมบทนักเลงฟุตบอลทีมชาติสยาม
[6]


งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์

2. ฟุตบอลสมัครเล่น กับ ฟุตบอลอาชีพ พื้นที่แห่งรอยต่อที่ขาดวิ่น?

ฟุตบอลสมัครเล่นนั้นสถิตนิ่งอยู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน เราพบการแข่งขันในรายการต่างๆ ตั้งแต่ ฟุตบอลถ้วยพระราชทาน ข., ค., ง., ฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์, ไทคัพ, ในระดับเยาวชนก็มีฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี, ฟุตบอลกรมพลศึกษา ฯลฯ ปลายทางและสุดยอดของพวกเขาก็คือ การได้ติดทีมชาติ และหากมีโชคก็จะได้รับบรรจุเข้าสู่สังกัดของหน่วยงานรัฐ ตั้งแต่ทหาร ตำรวจ กระทั่งหน่วยงานพลเรือน

ตั้งแต่การรวมลีกในปี 2550 อาจเรียกได้ว่าโครงสร้างระบบฟุตบอลอาชีพได้สร้างเสถียรภาพมาในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามในความนิยมที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับธุรกิจกีฬาที่กำลังขยายตัวและมีความเป็นไปได้ทางการทำกำไรมากขึ้น ก็ทำให้เกิดความพยายามจะตั้งทีมใหม่ๆขึ้น

ที่ผ่านมา เราไม่ได้มองเห็นฟุตบอลอาชีพในเชิงพื้นที่ ภูมิศาสตร์การเมืองของฟุตบอลอาชีพที่เกิดขึ้นพร้อมกับการเติบโตของลีกทุกระดับ มันได้กระจายไปตามภาคต่างๆ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และ ภาคกรุงเทพฯและปริมณฑล เราสามารถจำแนกลำดับชั้นของลีกฟุตบอลแบ่งเป็น ไทยพรีเมียร์ลีก, ดิวิชั่น 1 และลีกภูมิภาค ดิวิชั่น 2 สำหรับระดับไทยพรีเมียร์ลีกและดิวิชั่น 1 นั้น ระบบการเลื่อนชั้น และตกชั้นที่ค่อนข้างชัดเจนและอยู่ตัวแล้ว แต่ในระดับดิวิชั่น 2 นั้น ยังพบว่ายังไม่นิ่ง และมีการดำเนินการที่ลักลั่นอยู่ เนื่องจากว่าส่วนหนึ่งเป็นร่องรอยจากอำนาจของ 2 องค์กรใหญ่ที่มาอยู่ในร่มใหญ่เดียวกัน ตั้งแต่การรวมลีกในปี 2550 ในที่นี้ขอขยายความเพิ่มเติม

ลีกภูมิภาค การเลื่อนชั้น ตกชั้น และการก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพ

1) การปรับตัวและเปลี่ยนแปลงระดับองค์กร พบว่า การเข้าไปสู่พื้นที่ของเกมฟุตบอลอาชีพนั่นคือ ระดับลีกภูมิภาค ดิวิชั่น 2 แบ่งออกเป็น 2 ส่วนตามโควตาของ 2 หน่วยงาน ได้แก่

1.1) โควตาของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ นั่นก็คือ ผ่านการแข่งขันในทัวร์นาเมนท์ ฟุตบอลถ้วยพระราชทาน ตั้งแต่ถ้วย ง., ถ้วย ค. และถ้วย ข. สองทีมชนะเลิศและรองชนะเลิศจากถ้วย ข.จะได้รับสิทธิ์ให้ไปเตะในดิวิชั่น 2 ของกรุงเทพฯ ล่าสุดก็คือ สมาคมบางกอกกล๊าส (ต่อมาเป็น รังสิต เอฟซี) และ สมาคมกีฬาคริสเตียนไทย (ต่อมาเป็น ธนบุรี เอฟซี) [7] การเลื่อนชั้นด้วยวิธีนี้ ทำให้มีการป้อนสโมสรใหม่ๆ เรื่อยๆเข้าไป ดังนั้นจึงต้องมีการใช้ระบบตกชั้นเข้ามาหมุนเวียน อย่างช้าก็คือใน ฤดูกาล 2012 [8]

ความลักลั่นก็คือ ทีมฟุตบอลที่มาทำการแข่งขันนั้น แม้จะได้สิทธิในนามของกรุงเทพฯและปริมณฑล แต่พบว่าทีมจำนวนไม่น้อยไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ ตัวอย่างเช่น สโมสรมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ได้สิทธินี้และในเวลาต่อมาได้ถูกโยกให้มาอยู่กับลีกภูมิภาค ดิวิชั่น2 ภาคเหนือ และทำให้ทีมดังกล่าวขยับตูดหนีระบบการตกชั้นในภูมิภาคกรุงเทฯไปเสีย แต่นั่นทำให้กลายเป็นว่า เป็นปฏิบัติการ “แย่งพื้นที่” ของทีมจังหวัดในลีกภูมิภาคโดยไม่จำเป็น ตัวอย่างทีมอื่นๆที่ยังอยู่ในฟุตบอลพระราชทานถ้วย ข., ค. ง. มีดังนี้

ถ้วย ข. ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี (ลพบุรี), เทศบาลตำบลกุยบุรี (ประจวบคีรีขันธ์), สมาคมสโมสรถาวรฟาร์ม (นครสวรรค์), สโมสรฟุตบอลโคราช (นครราชสีมา), สมาคมกีฬากรุงเก่า (อยุธยา), โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา (ชลบุรี) ฯลฯ ที่น่าสนใจคือ ทัวร์นาเมนท์นี้แข่งขันที่ จ.ระยอง ทั้งหมด 3 สนาม ได้แก่ สนามกีฬามาบตาพุด, สนามกีฬากลางอำเภอแกลง และ สนามกีฬากลาง จ.ระยอง [9]

ถ้วย ค. ได้แก่ โรงเรียนกีฬาเทศบาลนครนครราชสีมา, เทศบาลเมืองหัวหิน (ประจวบคีรีขันธ์), สมาคมกีฬาบางปะกง (ฉะเชิงเทรา?), เทศบาลตำบลบ้านแหลม (เพชรบุรี), เทศบาลตำบลบางเมือง (สมุทรปราการ), เทศบาลตำบลบางขะแยง (ปทุมธานี), มูลนิธินวมราชานุสรณ์, องค์การบริหารส่วนตำบลลุมพลี (อยุธยา) รอบคัดเลือกแข่งที่ ศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ หนองจอก กรุงเทพฯ รอบรองแข่งที่หมู่บ้านธารารมย์ และนัดชิงแข่งที่ลีโอ สเตเดียมของบางกอกกล๊าส [10]

ถ้วย ง. คู่ชิงชนะเลิศในปี 2555 ได้แก่ ทีมเกาะขวาง (จันทบุรี) และศิษย์เก่าปากช่อง (นครราชสีมา) รอบคัดเลือกแข่งที่ ศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ หนองจอก กรุงเทพฯ [11] และนัดชิงแข่งที่ลีโอ สเตเดียมของบางกอกกล๊าส

ข้อสังเกตก็คือ นอกจากทีมองค์กรที่หากินอยู่กับพื้นที่นี้แต่เดิมแล้ว การส่งทีมในนามองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นก็เพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ และ 2 ทีมล่าสุดที่เลื่อนชั้นมาเล่น D2 ก็ต้องเปลี่ยนจากความเป็นหน่วยงานองค์กรไปสู่ชื่อทีมที่อิงกับพื้นที่ท้องถิ่นอย่างเห็นได้ชัดนั่นคือ รังสิต เอฟซี (สมาคมบางกอกกล๊าส) และธนบุรี เอฟซี (สมาคมกีฬาคริสเตียนไทย)

1.2) โควตาของการกีฬาแห่งประเทศไทย ผูกติดอยู่กับ สมาคมกีฬาจังหวัดต่างๆ และนายกสมาคมฯ แต่ละแห่งก็คือ นักการเมืองหรือผู้มีอำนาจทางการเมืองในจังหวัดนั้นๆ ดังนั้นเป็นไปได้สูงว่าการที่ไม่มีระบบ “ตกชั้น” อย่างน้อยก็ตอนนี้ ทำให้การันตีความอยู่รอดของสโมสรต่างๆ ในทางกลับกันมันก็ไม่ได้ทำให้เกิดปรับตัวหรือเกิดสโมสรใหม่ๆที่จะแทรกตัวขึ้นมาได้ภายใต้ระบบโควต้าของสมาคมกีฬาแบบนี้ แม้จะมีข้อยกเว้น เช่น ทีมเชียงรายเอฟซี ที่ได้รับโควตาจากการกีฬาแห่งประเทศไทย หลังจากที่เชียงรายยูไนเต็ดสามารถเลื่อนชั้นไปยังดิวิชั่น 1 และดิวิชั่น 2 ได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ในเกณฑ์เดียวกัน ไม่สามารถใช้ได้กับ จังหวัดเชียงใหม่ และชัยนาท ที่ได้สิทธิเลื่อนชั้นไปใน D1 นี่คือ ความลักลั่นที่ไม่ยึดในหลักการ และระบบมาตรฐานเดียวกัน

มีข้อเสนอหลายท่านที่เห็นว่าควรจะมี ระดับ D3 เพิ่มขึ้นมา หรือระบบที่หมุนเวียนเพื่อสร้างแรงกระตุ้นของสโมสรต่างๆ สำหรับผู้เขียนเสนอว่า น่าจะเป็นการเปิดระบบทัวร์นาเมนท์ของแต่ละภูมิภาคเพื่อหาตัวแทน 3 ทีม เพื่อสับเปลี่ยนกับ 3 สโมสรที่ตกชั้นมาจาก D2 ในแต่ละภูมิภาค หรือมิเช่นนั้นก็ให้จังหวัดที่ตกชั้นนั้น ทำการแข่งขันทัวร์นาเมนท์โอเพ่นในจังหวัด แล้วทีมที่ชนะเลิศ จะได้สิทธิมาแข่งขันแทนทีมเดิม อย่างไรก็ตาม การจัดการเช่นนี้ได้ ก็ต้องผ่านด่านสำคัญก็คือ สมาคมกีฬาจังหวัดต่างๆนั่นเอง นอกเสียจากว่า กกท.จะเปลี่ยนแปลงกติกาไม่ให้สิทธิไปขึ้นอยู่กับสมาคมกีฬาจังหวัด

ที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งก็คือ การพยายามสลายความเป็นลีกกรุงเทพฯ และปริมณฑลออกไป จากข้อเสนอการปรับโซนอีกครั้งในฤดูกาล 2556 [12] โดยการยุบรวม ภาคกลางและตะวันออก กับ ภาคกรุงเทพฯและปริมณฑล แล้วแบ่งเป็น ภาคกลางและตะวันออก กับ ภาคกลางและตะวันตก แต่ก็ยังไม่มีรายละเอียดว่ากรุงเทพฯจะสังกัดฝั่งไหน

2) การเทิร์นโปรสู่ความเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ทุกวันนี้ทรัพยากรนักฟุตบอลในแต่ละสโมสรส่วนมาก

ได้มาจากการซื้อขายระหว่างสโมสร บางคนผันตัวเองมาจากนักเตะเดินสาย ขณะที่นักเตะเยาวชน ก็จะเป็นนักเตะตัวปั้นของโรงเรียนที่มีชื่อเรื่องฟุตบอลอยู่แล้ว เช่น โรงเรียนสวนกุหลาบ, เทพศิรินทร์, อัสสัมชัญ, กรุงเทพคริสเตียน, อัสสัมชัญศรีราชา อีกส่วนหนึ่งก็คือ ระบบอคาเดมี่ที่แต่ละสโมสรเริ่มก่อตั้งอย่างจริงๆจังๆ เช่น บุรีรัมย์ยูไนเต็ด และชลบุรีเอฟซี อีกกรณีหนึ่งก็คือ บุคลากรกีฬาจากสถาบันการศึกษาด้านกีฬาที่มีอยู่ไม่มากนักเช่น สถาบันการพลศึกษา (เดิมคือวิทยาลัยพลศึกษา) เช่น ภาคเหนือ เชียงใหม่, ลำปาง, สุโขทัย ภาคกลาง กรุงเทพ, สมุทรสาคร, สุพรรณบุรี, อ่างทอง ภาคตะวันออก ชลบุรี, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชัยภูมิ, เพชรบูรณ์, มหาสารคาม, ศรีสะเกษ, อุดรธานี ภาคใต้ กระบี่, ชุมพร, ตรัง, ยะลา

สำหรับโรงเรียนกีฬา ก็กระจายไปตามภูมิภาคดังนี้ ภาคเหนือ ลำปางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอนแก่น, ศรีสะเกษ, อุบลราชธานี ภาคกลาง นครสวรรค์, สุพรรณบุรี, อ่างทอง ภาคตะวันออก ชลบุรี ภาคใต้ ตรัง, นครศรีธรรมราช, ยะลา

ขณะที่การล่าตัวนักเตะจากทัวร์นาเมนท์การแข่งขันระดับเยาวชนก็ถือว่ายังไม่เป็นระบบ โดยเฉพาะรายการการแข่งขันดังกล่าวไม่เป็นที่สนใจของคนทั่วไปมากพอ เช่น ไพรมินิสเตอร์คัพ, ฟุตบอลกรมพลศึกษา ฯลฯ ผู้เขียนนึกถึงการแข่งขันเบสบอลของนักเรียนระดับมัธยมปลายที่เรียกกันว่า “โคชิเอ็ง” อันเป็นสนามเบสบอลที่นักกีฬาเบสบอลสมัครเล่นทุกคนใฝ่ฝันว่าจะต้องไปเหยียบสักครั้งหนึ่ง ในอีกด้านหนึ่งทัวร์นาเมนท์ดังกล่าวนั่นก็เป็นโอกาสที่จะถูกจับตาโดยทีมอาชีพ นำไปสู่การเทิร์นโปรไปสู่นักเบสบอลอาชีพต่อไป อีกมิติหนึ่งที่แฝงอยู่ก็คือ กระแสท้องถิ่นนิยมที่ผูกโยงกับกีฬา การแข่งขันเช่นนี้จึงเป็นการปรากฏกตัวของทีมจากท้องถิ่นต่างๆ ในสนามกลางระดับชาติ

เมืองไทย ยังไม่มีการสร้าง “สตอรี่” ลักษณะดังกล่าวผูกเข้ากับทัวร์นาเมนท์ระดับชาติอย่างจริงจัง

3. สนามกีฬาเพื่อพิธีกรรม ไม่ได้ไว้สำหรับกิจกรรมกีฬามวลชน

ในระดับชาติและระดับนานาชาติ พิธีกรรมที่เรียกว่ากีฬา เกิดขึ้นเพื่อสนองอุดมการณ์ชาตินิยม เช่น กีฬาแหลมทอง (ในเวลาต่อมาคือ ซีเกมส์) 2502, กีฬาเอเชี่ยนเกมส์ 2509 โดยเฉพาะในช่วงแรกถือว่าเป็นเกมการเมืองระหว่างช่วงสงครามเย็นด้วย ไทยกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์การเมืองสงครามเย็นในภูมิภาค หลังปี 2509 แล้ว ไทยยังเป็นเจ้าภาพกีฬาเอเชี่ยนเกมส์อีกในปี 2513 (แทนเกาหลีที่กำลังคุกรุ่นเรื่องความขัดแย้ง จีนพึ่งเข้ามาในปี 2517 หลังจากที่นิกสันเยือนจีนในปี 2518) และ 2521 ล่าสุดคือปี 2541 ขณะที่ซีเกมส์จัดในเมืองไทยมาแล้ว 6 ครั้ง ได้แก่ 2502, 2510, 2518, 2528, 2538 (เชียงใหม่) และปี2550 (นครราชสีมา)

ในระดับชาติ เราก็พบว่า สนามกีฬาสำคัญที่สุดล้วนถูกใช้เป็นฉากของพิธีกรรมของชาติเสียมากกว่า เช่น การ

สวนสนามคณะลูกเสือแห่งประเทศไทย,พิธีสวนสนามวันคล้ายวันสถาปนายุวกาชาดแห่งประเทศไทย ฯลฯ

ไม่เพียงเท่านั้น การแข่งขันกีฬาเขตแห่งประเทศไทย (ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็น การแข่งขันกีฬาแห่งประเทศไทย) ที่เริ่มต้น ในปี 2510 ก็ทำให้การแข่งขันกีฬาแบบสากล ขยายตัวไปสู่ต่างจังหวัด อย่างไรก็ตามเนื้อหาแก่นสาระสำคัญที่สุดก็คือ การสร้างฐานอุดมการณ์ “ท้องถิ่นนิยม-จังหวัดนิยม” ที่ผูกเข้ากับศูนย์กลางความเป็นชาติไทย

การเป็นเจ้าภาพของกีฬาต่างๆ ในด้านหนึ่งก็คือ จังหวัดนั้นๆ จะได้รับงบประมาณในการก่อสร้างและปรับปรุงสนามกีฬาของตนขึ้นใหม่เช่นที่ กาญจนบุรี ได้ปรับปรุงก่อสร้างสนามหลักขึ้นในนาม สนามกลีบบัว กีฬาเยาวชนแห่งชาติ กาญจนบุรีเกมส์ ปี 2552 ในปี 2553 ได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ใน 10 “สนามกีฬาคุณภาพในเมืองไทย” จากเว็บ Mthai เมื่อปี 2553 [13]

สิ่งที่ตอกย้ำถึงการละเลยความสำคัญของสนามกีฬาในฐานะพื้นที่สาธารณะสำหรับเมืองก็คือ พบว่า สนามกีฬากลางจังหวัดในหลายแห่ง พบว่าสร้างขึ้นในตำแหน่งที่ไกลจากตัวเมือง ถึงขนาดสร้างอยู่ใกล้กับสุสานเช่น สนามกีฬากลางจังหวัดลำพูน, ลำปาง และน่าน สิ่งเหล่านี้ตอกย้ำให้เห็นความไม่สำคัญของพื้นที่ พอๆกับโครงสร้างการวางผังเมืองและขนส่งสาธารณะในเมืองไทยที่ยังล้าหลังอยู่มาก


สนามรัชมังคลากีฬาสถานที่แล้วเสร็จเพื่อใช้เอเชี่ยนเกมส์ กรุงเทพฯ ปี 2541


สนามกลีบบัว ที่นั่งกว่า 20,000 มีอัฒจันทร์เกือบรอบด้าน
ที่ได้อานิสงส์จาก กาญจนบุรีเกมส์ ปี 2552 ที่มาภาพจาก mthai

4. อาการโหยหาพื้นที่สาธารณะ Demand ของพื้นที่

ที่ผ่านมาการใช้พื้นที่นอกบ้านในสังคมไทยนั้น เป็นพื้นที่สาธารณะเชิง passive เช่น พื้นที่ของมวลชนในพระราชพิธีฯ พื้นที่เกี่ยวกับพิธีกรรมของชาติ และพุทธศาสนา แม้แต่การแข่งขันกีฬาระดับประเทศไปจนถึงกีฬาเยาวชนในแต่ละจังหวัดนั้น พบว่า ความสำคัญสูงสุดไปอยู่ที่พิธีกรรม พิธีเปิด ปิดและองค์ประธานมากกว่าจะให้ความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพกีฬาและวัฒนธรรมการชมกีฬา จึงไม่น่าแปลกใจที่พิธีเปิด ปิด หรือห้วงเวลาสำคัญ คนดูที่เต็มสนามจึงเต็มไปด้วยนักเรียน นักศึกษาที่ถูกเกณฑ์ให้มาเข้าร่วม มิได้มาจากการใช้พื้นที่สาธารณะในฐานะส่วนหนึ่งของชีวิตสมัยใหม่

ระยะหลัง การใช้พื้นที่สาธารณะได้ปรับเปลี่ยนมาสู่พื้นที่การบริโภค เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงหนัง ร้านกาแฟ ลานเบียร์ การใช้พื้นที่เพื่อการบริโภคเริ่มปรับมาเป็น พื้นที่ active มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะปลายทศวรรษ 2540 ต่อทศวรรษ 2550 ที่พื้นที่สาธารณะทางการเมืองกลายเป็นพื้นที่ของมวลชนมากขึ้นเรื่อยๆ ราชดำเนิน ทำเนียบรัฐบาล ราชประสงค์ ซึ่งผนวกเอาอัตลักษณ์ทางการเมืองเข้ากับการใช้พื้นที่นั้นๆด้วย

นอกจากนั้น พื้นที่สนามกีฬาเป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อยๆดูจากการขยายตัวของ สนามฟุตบอลให้เช่าทั้งกลางแจ้งและในร่ม เนื่องมาจากพื้นที่เดิมที่มี่อยู่ไม่เพียงพอ สนามฟุตบอลโรงเรียนคับแคบและส่วนใหญ่ก็ถูกห้ามใช้ สวนทางกับปริมาณการใช้พื้นที่ที่มากขึ้นเรื่อยๆ

5. Home Stadium : การเมืองเหนือสนามฟุตบอลเหย้า

สิ่งหนึ่งที่หลายๆ สโมสรในระดับจังหวัดมักจะตกม้าตายก็คือ อำนาจการเมืองในการควบคุมพื้นที่ เราพบว่าในสังคมไทยนั้น พื้นที่ของสนามกีฬาถูกผูกมัดกับหน่วยงานราชการเป็นหลัก แม้จะมีการถ่ายโอนอำนาจให้เป็นกรรมสิทธิ์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นส่วนใหญ่แล้ว แต่ภาพลักษณ์และการจัดการแบบราชการก็ยังคงเป็นมรดกอันไม่พึงประสงค์

วัฒนธรรมแบบราชการไทยนั้น จะยิ่งยุ่งยากมากขึ้นไปอีก หากมีหน่วยราชการคนละสังกัดมีอำนาจในพื้นที่เดียวกัน บางจังหวัดที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาค้ำกันอยู่ เช่น ที่ลำปาง พบว่า เป็นสนามกีฬากลางจังหวัดที่ตั้งอยู่ในสถาบันการพลศึกษา ขณะที่มีการกีฬาแห่งประเทศไทยอยู่ในบริเวณนั้น และดูแลพื้นที่ในบางครั้ง ขณะที่ต้องการงบขององค์การบริหารส่วนจังหวัดในการสนับสนุนด้วย กรณีนี้นับว่าโชคดีที่ สโมสรลำปางเอฟซี สามารถใช้สนามได้ไม่มีปัญหาเนื่องจากมีนักการเมืองรุ่นใหญ่เปิดไฟเขียวให้

แต่ปัญหาเรื่องการอนุมัติใช้สนามเกิดขึ้นได้เสมอ เมื่อการเมืองท้องถิ่นภายในจังหวัดขัดแย้งกันระหว่างผู้ที่เป็นเจ้าของทีมกับเจ้าของสนามกีฬา เช่น เชียงรายยูไนเต็ด ที่ไม่สามารถใช้สนามกีฬากลางจังหวัดในเขตเทศบาลเมืองเชียงราย ซึ่งมีองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงรายเป็นเจ้าของได้ (ปัจจุบันการเมืองเปลี่ยนขั้ว ตระกูลติยะไพรัชกลับมาครองตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงรายได้แล้ว) เนื่องจากเป็นกลุ่มการเมืองคนละขั้ว ปัจจุบันเชียงรายยูไนเต็ด หาทางออกด้วยการลงทุนสร้างสนามเอกชนขึ้นมาใช้เอง

สำหรับทีมท้องถิ่น หากไม่มีปัญหาเรื่องการเมืองท้องถิ่นแล้ว ก็จะสามารถใช้สนามกีฬากลางจังหวัดได้ทั้งหมด ที่น่าสังเกตก็คือ ในจังหวัดที่เคยเป็นเจ้าภาพจัดงานกีฬาระดับนานาชาติก็สามารถใช้สนามใหญ่โตได้อย่างเช่น เชียงใหม่ เอฟซี ใช้สนามกีฬาสมโภช 700 ปี ที่ใช้ในซีเกมส์ปี 2538 ขณะที่ โคราช เอฟซี ก็ใช้สนามซีเกมส์ที่สร้างขึ้นในปี 2550 อย่างไรก็ตาม แม้สนามจะมาตรฐานแต่ปัญหาก็คือ ผู้ชมในสนามที่ยังไม่แน่นสนามเท่าที่ควร

สนามเหย้าใน เอไอเอส ลีกภูมิภาค ดิวิชั่น2

การประเมินเบื้องต้นพบว่า สโมสรที่มีผู้เข้าชมจำนวนมากในระดับลีกภูมิภาค ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคเหนือ ลำพูนวอร์ริเออร์ (สนามอบจ.ลำพูน), พิษณุโลก เอฟซี (สนามอบจ.พิษณุโลก) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เลย ซิตี้ (สนามอบจ.เลย ย้ายไปสนามกีฬาเทศบาลตำบลเชียงคาน ชั่วคราว), ภาคกลางและตะวันออก ตราด เอฟซี (สนามอบจ.ตราด), ระยอง ยูไนเต็ด (สนามอบจ.ระยอง), อยุธยา เอฟซี (สนามอบจ.อยุธยา)ภาคกรุงเทพฯและปริมณฑล สมุทรปราการ ยูไนเต็ด (สนามเอกชน?) ภาคใต้ พัทลุง เอฟซี(สนามอบจ.พัทลุง), นราธิวาส ยูไนเต็ด (สนามอบจ.นราธิวาส) สังเกตได้ว่าแทบทั้งหมดเป็นสนามภายใต้องค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งเป็นสนามกีฬาที่ได้รับการถ่ายโอนมาจากการกีฬาแห่งประเทศไทยอันเป็นหน่วยงานส่วนกลางในจังหวัดนั้นๆ ตามนโยบายการกระจายอำนาจ ในด้านรูปแบบแล้วสนามกีฬาดังกล่าวก็ไม่ได้มีลักษณะเดียวกันหมด จริงอยู่ว่าสนามดังกล่าวไม่พ้นว่าจะเป็นแบบมาตรฐานจากส่วนกลาง แต่หากมองในเชิงประวัติศาสตร์แล้ว แบบมาตรฐานก็มีการปรับเปลี่ยนอยู่ด้วย เท่าที่สังเกตเบื้องต้นจะพบว่า สนามมาตรฐานในยุคแรก ด้านอัฒจันทร์ประธานจะไม่ได้ยกสูงมากพอ ทำให้มีปัญหาก็คือ ซุ้มม้านั่งสำรองและสต๊าฟโค้ช บดบังทัศนียภาพการชม ขณะที่แบบมาตรฐานในยุคต่อมาได้แก้ปัญหานี้ด้วยการยกพื้นสูงขึ้นมาประมาณความสูงอาคาร 1 ชั้น เพื่อทัศนียภาพการชมที่ดีขึ้น


ผู้ชมให้ความสนใจมากในนัดที่ตราดเอฟซี ลงแข่ง

สนามเหย้าใน ยามาฮ่า ลีกวัน

ในระดับดิวิชั่น1 ที่เดิมเป็นลีกที่มีคนดูน้อย เนื่องจากว่าเต็มไปด้วยทีมองค์กรต่างๆ ปัจจุบันถือว่ามีสัดส่วนทีมท้องถิ่นมากขึ้นเรื่อยๆ สภาพสนามโดยทั่วไปแล้วก็จะคล้ายคลึงกับระดับดิวิชั่น 2 แต่ที่น่าสนใจว่า ระดับดิวิชั่น 1 เป็นระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่อีกระดับ ทำให้เกิดทีมท้องถิ่นที่มีศักยภาพมากทั้งในด้านสนามและผู้เข้า ดังที่พบสถิติของปี 2011 ยอดผู้ชมมากที่สุด 3 อันดับแรก [14] ได้แก่

สนามติณสูลานนท์ : สงขลา เอฟซี ฤดูกาล จบฤดูกาล 2011/2554 ในอันดับที่ 5 [15] ยอดผู้เข้าชมอยู่ที่ 199,138 คน เฉลี่ยแมทช์ละ 11,714 คน และนัดที่เป็นสถิติสูงสุดก็คือ นัดที่เปิดบ้านพบกับบุรีรัมย์ เอฟซี จำนวนคนอยู่ที่ 36,715 คน สนามดังกล่าวมีขนาดใหญ่มากและเคยใช้ในกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ปี 2541

สนามเชียงใหม่สมโภช 700 ปี : เชียงใหม่ เอฟซี จบฤดูกาล 2011/2554 ในอันดับที่16 [16] ทำให้ฤดูกาล 2012/2555 ต้องตกชั้นไปสู่ D2 ยอดผู้เข้าชมในฤดูกาล 2011/2554 อยู่ที่ 147,637 คน เฉลี่ยแมทช์ละ 8,685 คน สนามกีฬาดังกล่าวเคยเป็นสนามหลักในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ในปี 2538

สนามไอโมบาย สเตเดียม (อบจ.บุรีรัมย์) : บุรีรัมย์ เอฟซี จบฤดูกาล 2011/2554 ในอันดับที่ 1 ทำให้ฤดูกาล 2012 ขึ้นชั้นไปสู่ไทยพรีเมียร์ลีก ต่อมาได้ควบรวมกับบุรีรัมย์ยูไนเต็ด และโอนกรรมสิทธิ์ในระดับไทยพรีเมียร์ลีกให้กับทีมใหม่ที่ชื่อว่า วัวชนยูไนเต็ด ที่มีสนามเหย้าอยู่ที่ สนามติณสูลานนท์ อ.เมือง จ.สงขลา ยอดผู้เข้าชม D1 ฤดูกาล 2011 อยู่ที่ 128,222 คน เฉลี่ยแมทช์ละ 7,542 คน สนามดังกล่าวเป็นสนามของ อบจ.บุรีรัมย์ เป็นสนามคนละแห่งกับสนามเอกชนในนาม นิว ไอโมบาย สเตเดี้ยม ของ บุรีรัมย์ยูไนเต็ด

ในฤดูกาล 2012/2555 ทีมนครราชสีมา เอฟซี ได้เลื่อนชั้นขึ้นมาสู่ระดับดิวิชั่น 1 ทำให้มีสนามระดับมาตรฐานนานาชาติเพิ่มขึ้นอีกแห่ง นั่นคือ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวา 2550 ที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับกับการเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ในปี 2550 ในเบื้องต้นยังไม่มีข้อมูลมากนักว่ามีผู้ชมมากน้อยเพียงใด


นัดที่สงขลา เอฟซีเปิดบ้านพบกับบุรีรัมย์ เอฟซี จำนวนคนอยู่ที่ 36,715 คน เป็นสถิติสูงสุด

สปอนเซอร์ ไทยพรีเมียร์ลีก

ระดับไทยพรีเมียร์ลีก พบว่าทีมองค์กรส่วนใหญ่จะเช่าสนามเหย้า บีอีซี เทโรฯ เช่า สนามเทพหัสดินของการกีฬาแห่งประเทศไทย, อินทรีเพื่อนตำรวจ เช่า สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ฯลฯ สถิติผู้ชมที่มากที่สุดจนถึงขณะนี้ ก็คือ สนามเหย้าของวัวชน ยูไนเต็ดที่สงขลา ณ สนามติณสูลานนท์ นัดที่วัวชน ยูไนเต็ดเปิดบ้านรับทีมเมืองทองฯ ยูไนเต็ด ยอดผู้ชมอยู่ที่ 30,102 คน ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2555 ฤดูกาล 2012/2555 [17]

สู่สนามฟุตบอล Stand alone

ที่น่าสนใจมากที่สุดก็คือ การสร้างสนามฟุตบอลของตนเองขึ้นมา ซึ่งถือได้ว่าเป็นพัฒนาการสูงสุดสำหรับ การสร้างพื้นที่สมัยใหม่ของสโมสร ที่เต็มไปด้วยการสร้างอัตลักษณ์ของทีม โครงการเช่นนี้ถือว่าเป็นการออกแบบพื้นที่เพื่อตอบสนองการใช้สอยสาธารณะอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด ในที่นี้ได้แก่ สโมสรเอสซีจีเมืองทองฯ ยูไนเต็ด, บางกอกกล๊าซ เอฟซี และบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด แต่ละสนามนั้นแสดงให้เห็นถึง ความสัมพันธ์ทางการเมืองที่เป็นข้อผูกมัดกับหน่วยงานและความอิสระเมื่อเปรียบเทียบในแต่ละสนาม สโมสรใหญ่อย่างชลบุรีเอฟซี กลับพบว่าเป็นทีมใหญ่ที่มีการย้ายสนามเหย้าบ่อยที่สุด ทั้งยังเป็นสนามที่จุคนได้ไม่มากสมกับทีมที่มีแฟนบอลติดตามจำนวนมากด้วย ขณะที่เชียงราย ยูไนเต็ดที่อยู่ในระดับเดียวกันก็พยายามเร่งสร้างสนามเหย้าของตนเองอย่างมุ่งมั่น

เอสซีจี สเตเดียม : เอสซีจีเมืองทองฯ ยูไนเต็ด

สถานที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้อิมแพคเมืองทอง แม้จะเป็นสโมสรเอกชนที่อาจนับได้ว่าเป็นสนามฟุตบอลมาตรฐานเต็มรูปแบบที่ครบเครื่องทั้งสนาม หญ้า ไฟส่องสว่างที่ได้มาตรฐานของ AFC แสตนด์เชียร์ 4 ด้านรองรับผู้ชมได้กว่า 17,500 คน [18] นอกจากนั้นยังมีการสร้างห้องผู้ชม VIP แยกต่างหากออกจากพื้นที่ผู้ชมทั่วไปเพื่อเป็นพื้นที่พิเศษสำหรับการดีลทางธุรกิจต่างๆ นอกจากนั้น สโมสรยังตระหนักดีถึงรายได้ จึงมีการจัดวางพื้นที่ขายของที่ระลึกรองรับการขายสินค้าอย่างเต็มที่

ความพิเศษอีกประการของสโมสรฯนี้ก็คือ มีฐานของธุรกิจเอกชนในเครือสยามกีฬาที่เครือข่ายทางธุรกิจที่กว้างขวางและการจัดการธุรกิจเกี่ยวข้องกับกีฬา ไม่ว่าจะเป็นร้านสตาร์ซ็อคเกอร์ที่เป็นร้านตามห้างสรรพสินค้าขายสินค้าเกี่ยวกับกีฬาและฟุตบอลยุโรปที่กระจายอยู่หัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ยังไม่นับว่าอิทธิพลสื่อที่อยู่ทั้งหนังสือพิมพ์ แมกกาซีน หรือรายการโทรทัศน์ในมืออีกด้วย

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ดังกล่าวมาจากการเช่าที่ดินในกรรมสิทธิ์ของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เดิมเป็นสนามธันเดอร์โดมสปอร์ตคอมเพล็กซ์ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น ยามาฮ่า สเตเดี้ยม และเอสซีจี สเตเดียมในปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นของการต้องมีสปอนเซอร์สนับสนุนและปรากฏชื่ออยู่ในสนาม ข่าวระบุว่า สโมสรกำลังจะทุ่มงบ 4 ล้าน ติดเก้าอี้รอบสนาม ตามมาตรฐานของ AFC และคงเป็นผลมาจากการพัฒนาสนามมาตรฐานสูงของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ดที่ทำให้เกิดการเปรียบเทียบอย่างกลายๆไปด้วย [19]

ยอดผู้เข้าชม ฤดูกาล 2011/2554 อยู่ที่ 182,610 คน [20] เฉลี่ยแมทช์ละ 10,742 คน


ผังสนามของ เอสซีจี เมืองทองฯยูไนเต็ด (ฤดูกาลที่แล้วทีโอทีแคทเอฟซี เช่าใช้เป็นสนามเหย้า)


บรรยากาศภายในสนามเอสซีจี สเตเดียม

ลีโอ สเตเดียม : บางกอกกล๊าซ เอฟซี

ที่ตั้งของสนามอยู่บริเวณ คลอง 3 ปทุมธานี ซึ่งอยู่ในย่านของหนุ่มสาวโรงงานและบ้านจัดสรรแถบคลองรังสิต สนามแห่งนี้น่าจะเป็นสิทธิขาดของ สโมสรแทนที่จะเป็นการเช่าที่ดินแบบเมืองทองฯ บางกอกกล๊าซเป็นทีมในกรรมสิทธิ์ของบริษัทน้ำเมายักษ์ใหญ่ในเครือบุญรอด บริวเวอรี่ ซึ่งได้โอนกรรมสิทธิ์จากสโมสรเดิมอย่าง สโมสรธนาคารกรุงไทย อย่างไรก็ตามบางกอกกล๊าซมีข้อจำกัดของแปลงที่ดิน จึงทำให้ไม่สามารถสร้างได้ครบทั้ง 4 ด้าน ตัวเลขความจุจึงมีไม่มากนักก็คือ 6,000 ที่นั่ง [21]

ที่น่าสนใจก็คือ การที่สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เลือกใช้สนามแห่งนี้เป็นสนามการแข่งขันในทัวร์นาเมนท์ฟุตบอลถ้วยพระราชทาน ถ้วย ค. และ ง. ในนัดชิงชนะเลิศในปี 2555 ดูเผินๆ จะเห็นว่าสโมสรนี้มีบริษัทยักษ์ใหญ่หนุนหลังอยู่ อาจไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสปอนเซอร์มากนัก แต่ปรากฏว่า สิ่งที่น่าสนใจก็คือการตั้งชื่อโซนต่างๆในสนามทำให้เห็นชัดถึงการวางสิทธิประโยชน์ร่วมกับสปอนเซอร์ต่างๆ ได้แก่ ลีโอ โฮม แสตนด์, ซูซิกิ อเวย์ แสตนด์, รีเจนซี แสตนด์

ยอดผู้เข้าชม ฤดูกาล 2011/2554 อยู่ที่ 97,059 คน [22] เฉลี่ยแมทช์ละ 5,709 คน ในระดับไทยพรีเมียร์ลีกถือว่าเป็นสถิติระดับบนอีกทีมหนึ่ง


ผังสนามของ บางกอกกล๊าส เอฟซี


บรรยากาศภายในสนามลีโอ สเตเดียม

นิว ไอโมบาย สเตเดียม : บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด

สนามแห่งนี้ตั้งอยู่ในตัวจังหวัดบุรีรัมย์ ถือว่า เป็นสนามที่ได้ชื่อว่าสมบูรณ์แบบและเพียบพร้อมที่สุดใน

ไทยลีก การนำทีมชาติไทยมาเตะในสนามนี้ได้ย่อมแสดงให้เห็นถึงความไม่ธรรมดาของสนามแห่งนี้ ความจุอย่างเป็นทางการก็คือ 24,000 ที่นั่ง ด้วยอัฒจันทร์ล้อม 4 ด้าน สนามแห่งนี้ถือว่าได้ฮาวทูจากต่างชาติ นั่นคือ พื้นสนามฟุตบอล ได้แบบมาจากพื้นสนามแสตมฟอร์ด บริดจ์ของสโมสรเชลซี อังกฤษ โดยใช้หญ้าแพทพารัมย์ จากปออสเตรเลีย ซึ่งมีคุณสมบัติในเรื่องของความนุ่ม ทนทานต่อการใช้งานที่รุนแรงและสามารถรับน้ำหนักได้มาก นอกจากนั้น สิ่งที่ยังไม่ปรากฏในการออกแบบสนามฟุตบอลในเมืองไทยก็คือ มีการออกแบบรองรับการเข้าชมของผู้พิการอีกด้วย [23] นอกจากนั้นเทคโนโลยีในสนามก็ยังถือว่า ล้ำสมัยกว่าแห่งอื่นๆ ที่นั่งต่างๆ มีเก้าอี้ระบุเบอร์แน่นอนเหมือนกับที่นั่งในโรงภาพยนตร์ [24]

สิ่งที่สำคัญอีกประการก็คือ การสร้างความหมายกับสนามแห่งนี้ว่าเป็น “ลมหายใจของบุรีรัมย์” ที่ผูกอัตลักษณ์ของท้องถิ่นเข้ากับความเป็นสโมสรอย่างแน่นแฟ้น สนามกีฬาแห่งนี้จึงเหมือนเป็นที่สาธารณะอันเป็นศูนย์รวมจิตใจและกิจกรรมทางกีฬาและการใช้เวลาว่างแบบหนึ่งเพราะนอกจากความเป็นสนามกีฬาแล้ว ยังประกอบด้วยร้านกาแฟ ร้านขายของที่ระลึก สนามบาสเกตบอล สนามวอลเล่ย์บอล สนามฟุตซอล สนามโรลเลอร์เบลด สเก็ตบอร์ด สนามเด็กเล่น [25]

สิ่งหนึ่งทำให้สนามแห่งนี้เป็นที่รู้จักและกลายเป็นจุดหมายการเดินทางนั่นก็คือ การประโคมข่าวที่จะนำเอาวงดนตรี Ebisu Muscats ที่เป็นวงดนตรีของสาวๆ AV จากแดนปลาดิบ มาร่วมในงานเทศกาลสงกรานต์ในปี 2555

ยอดผู้เข้าชม ฤดูกาล 2011/2554 อยู่ที่ 259,629 คน [26] เฉลี่ยแมทช์ละ 15,272 คน


ภาพกราฟิกมุมสูงของสนาม นิว ไอ โมบาย สเตเดียม


บรรยากาศภายในสนามนิว ไอ โมบาย สเตเดียม

6. Away Grounds : การเดินทางของนักบอลและแฟนบอลนัดเยือน

ยิ่งลีกในระดับสูง ค่าใช้จ่ายและข้อจำกัดของการเดินทางก็ยิ่งสูงมากขึ้นไปด้วย ในทางเดียวกันการเดินทาง

ของแฟนบอลในนัดเยือนก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ หากสโมสรไหนสนับสนุนการเดินทางก็ถือว่าทุ่นค่าแรงและไม่จำเป็นต้องขวนขวายมากในการเดินทาง เพราะรถบัสหรือรถตู้ของสโมสรก็จะนำส่งถึงที่ แต่หากเป็นแฟนบอลที่ไม่ได้รับการสนับสนุนพวกเขาจำต้องหาทางเดินทางไปเอง ด้วยการขับรถส่วนตัวหรือเหมารถตู้ เนื่องจากระบบขนส่งมวลชนในเมืองไทยยังย่ำแย่อยู่ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางระหว่างจังหวัด และการเดินทางระหว่างสถานีขนส่งเข้าสู่ตัวเมืองต่างๆ ด้วยระบบขนส่งในประเทศที่ย่ำแย่ เราจึงพบโศกนาฏกรรม อุบัติเหตุหลายครั้งจากการเดินทางที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน เช่น กองเชียร์เชียงรายยูไนเต็ด ประสบอุบัติเหตุรถคว่ำ ณ จังหวัดลพบุรี ขณะที่เดินทางไปแข่งกับ บุรีรัมย์พีอีเอ จนมีผู้เสียชีวิตถึง 7 ราย เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2554 [27]

ในสนามที่มีการจัดการอย่างจริงจัง ก็จะมีการแยกโซนของแฟนบอลทีมเยือนอย่างชัดเจนป้องกันการกระทบกระทั่งของแฟนบอล อย่างไรก็ตามเราก็พบว่าในบางนัด ทีมเยือนก็มากกว่าเจ้าบ้านโดยเฉพาะกองเชียร์ของบุรีรัมย์ยูไนเต็ด


อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับแฟนบอลเชียงรายยูไนเต็ด 11 มิถุนายน 2554 ภาพจาก มติชนออนไลน์

7. เรื่องพื้นที่สาธารณะมหาศาลที่ ทีวีสาธารณะ กองทุนเพื่อสาธารณะมองไม่เห็น

ภูมิศาสตร์การเมืองของเกมฟุตบอล ที่ได้รับความสนใจจากมวลชนอย่างแพร่หลาย กลับสวนทางกับนโยบาย

ขององค์กรที่มีชื่อและอ้างความเกี่ยวข้องสาธารณะมากที่สุดอย่างน้อย 2 องค์กร นั่นคือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่มีจุดยืนชัดเจนว่าไม่เอาเหล้า เบียร์ บุหรี่

จึงเป็นที่เข้าใจได้ถึงการจัดวางระยะห่างของตนที่เล่นบทบาทองค์กรศีลธรรมสาธารณะ เมื่อพื้นที่ในสนามฟุตบอลทั่วโลก เบียร์ บุหรี่แทบจะเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้สำหรับคนดูบอล ไม่นับว่าสปอนเซอร์ติดหน้าอกเสื้อนักฟุตบอล บูธขายเบียร์ริมสนามที่วางขายกันอย่างคึกคัก สิ่งเหล่านี้ท้าทายอำนาจสสส.อย่างยิ่ง และยิ่งอิลักอิเหลื่อเข้าไปอีกเมื่อมีกฎหมายห้ามดื่มสุราในที่สาธารณะอย่างสนามกีฬา ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ความปัญญาอ่อนของกฎหมายนี้ มีรากฐานอยู่บนความเข้าใจว่า พื้นที่สาธารณะควรเป็นพื้นที่อันบริสุทธิ์ผุดผ่องไร้ราคีคาว และเห็นมวลชนเป็นผู้มีอวิชชาโง่เขลา งมงาย จมจ่อมอยู่กับอบายมุขชั่วกัปชั่วกัลป์จนต้องมีองค์กรเผด็จการทางศีลธรรมมาโปรดสัตว์

ขณะที่สถานีโทรทัศน์ที่อ้างตัวว่าเป็นทีวีสาธารณะอย่าง ไทยพีบีเอส แม้จะไม่ได้รับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด แต่พบว่า ความตื่นตัวในการสร้างอัตลักษณ์ท้องถิ่นในจังหวัดต่างๆ กลับถูกเฉยเมยอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับการเอาจริงเอาจังกับการถ่ายทอดสด การแข่งขันเรือยาว, การแข่งขันเครื่องบินเล็ก แต่ก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะสโลแกนของทีวีสาธารณะแบบนี้ที่ตั้งว่า “ทีวีที่คุณวางใจ” คงขาวสะอาดเกินไปกว่าที่จะเปรอะเปื้อนด้วย สื่อสัญลักษณ์ของเหล้า เบียร์อันน่าขยะแขยงในสายตาพวกเขา ยังไม่นับว่า ไทยพีบีเอสได้รับงบประมาณจากภาษีเก็บจากสุราและยาสูบในอัตราร้อยละ 1.5 [28] และที่มาขององค์กรดังกล่าวคือการรวมตัวของคนหน้าเดิมๆ ที่อยู่ในค่ายสสส. ยังไม่นับว่า องค์กรนี้ใช้รถถังและท็อปบูธในการทำคลอดหลังรัฐประหาร 2549

ผู้เขียนให้ความหวังกับการตื่นตัวในวงการกีฬาอาชีพ ที่จะเป็นฐานและเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับวงการ

กีฬาไม่ว่าจะเป็นสมัครเล่นหรืออาชีพ ในขณะเดียวกันเกมกีฬาที่เกิดการมีส่วนร่วมของคนในสังคม ก็ยังมีอานิสงส์ต่อการสร้างความตื่นตัวของคนในท้องถิ่นต่างๆ อันจะมีต่อการสร้างพื้นที่สาธารณะไม่ว่าโดยตัวสโมสรเอง หรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง กระทั่งเหล่ากองเชียร์หรือแฟนบอล พื้นที่เหล่านี้น่าจะเป็นหนึ่งในพื้นที่สาธารณะใหม่แบบหนึ่งที่จะเป็นการเปลี่ยนผ่านจากพื้นที่นอกบ้านแบบ passive มาสู่พื้นที่แบบ active มากขึ้น พื้นที่แบบใหม่เป็นพื้นที่แห่งอำนาจของประชาชน อันจะมาแทนที่พื้นที่แบบเดิมที่ทุกตารางนิ้วเป็นของชาติอันแสนจะนามธรรม หรือไม่ก็ตกอยู่ในกรงขังอำนาจแบบสถานที่ราชการ ที่มองประชาชนเป็นผู้มาขอรับการสงเคราะห์ และไม่ได้มีธรรมชาติที่เปิดกว้างตอบรับมวลชนเท่าที่ควร

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่าแม้โดยหลักการของฟุตบอลอาชีพแล้ว ในทางอุดมคตินั้นควรอาศัยทุนนิยมเป็นตัวขับเคลื่อน โดยมิต้องพึ่งพิง “นักการเมือง” แต่ ขณะที่สังคมไทยในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น ยังไม่มีความพร้อมในด้านสาธารณูปโภคสำหรับการกีฬาและพื้นที่สาธารณะมากพอ และยังขาดศักยภาพทางเศรษฐกิจมากพอที่จะจูงใจให้เกิดการลงทุน ขณะที่อำนาจการจัดการทรัพยากรสาธารณะทั้งหลายยังกระจุกตัวกับหน่วยงานราชการส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น องค์กรที่มีความเกี่ยวข้องกับสาธารณะที่สุดก็ยังมีท่าทีที่เฉยชาต่อวงการกีฬาอาชีพ จึงไม่แปลกที่นักการเมืองจึงเป็นตัวเล่นสำคัญยิ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้

การเข้าใจการเปลี่ยนผ่านของพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่ในสังคมไทยที่เกิดการต่อรองอำนาจด้วยกลุ่มบุคคล องค์กรและพลังทางการเมืองอันหลากหลาย จะทำให้เรามองเห็นพลังแฝงของพื้นที่สาธารณะมากขึ้น และไม่แน่ว่าพลังนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของประชาธิปไตยไทยในอีกระนาบหนึ่งก็เป็นได้

 

หมายเหตุ:

  • * บทความประกอบการเสวนา เสวนา ฟุตบอลไทย การเมืองของเกมใต้ตีน พลังใหม่/ศาสนาใหม่/พื้นที่ใหม่? วันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 15.00-17.00 น. ณ ร้าน Book Re : public เชียงใหม่

อ้างอิง:

  1. ไทยโพสต์. "บอลถ้วยพระราชทาน มนต์ขลัง-ความศักดิ์สิทธิ์ที่กำลังโดนลืม". http://www.thaipost.net/x-cite-kidz/300612/58932 (30 มิถุนายน 2555)
  2. ลมตะวันตก (นามแฝง). "ผลประโยชน์ นักการเมือง-ฟุตบอล". ใน ไทยรัฐออนไลน์. http://www.thairath.co.th/column/pol/thai_remark/270288 (7 กรกฎาคม 2555)
  3. japan_xi (นามแฝง)."ระวิ โหลทอง เจอ เนวิน ชิดชอบ คุณคิดว่าใครจะต้องยกมือไหว้ใครก่อน !!!!!!‎" ใน เว็บบอร์ด ไทยแลนด์สู้ๆ .http://www.thailandsusu.com/webboard/index.php?topic=225037.0 (24 กุมภาพันธ์ 2555)
  4. ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์. "แฉนักการเมืองใช้ฟุตบอลบังหน้า ฟอกเงินผ่านสปอนเซอร์!". http://www.manager.co.th/mgrweekly/viewnews.aspx?newsID=9550000011542 (26 มกราคม 2555)
  5. สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย. "โฉมหน้าปฐมบทนักเลงฟุตบอลทีมชาติสยาม". http://www.siamfootball.com/ (9 กรกฎาคม 2555)
  6. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “ฟุตบอลถ้วยพระราชทาน ข 2554” . http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9F%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B8%96%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%99_%E0%B8%82_2554 (25 มีนาคม 2555)
  7. NFC (นามแฝงในเว็บบอร์ด). "การตกชั้นของ D2 โซนกรุงเทพและปริมณฑล". http://www.thailandsusu.com/webboard/index.php?topic=223983.0 (18 กุมภาพันธ์ 2555)
  8. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “ฟุตบอลถ้วยพระราชทาน ข 2554” . http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9F%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B8%96%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%99_%E0%B8%82_2554 (25 มีนาคม 2555)
  9. สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์. "การแข่งขันฟุตบอลสโมสรชิงถ้วยพระราชทาน ประเภท ค. ประจำปี 2554". http://www.fat.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=14 (7 กรกฎาคม 2555)
  10. สยามกีฬา. "เด็กรามฯ เจ๋งจริงขย้ำโหด 5-1 บอล ถ้วย ง". http://www.siamsport.co.th/Sport_Football/120608_342.html (8 มิถุนายน 2555) และ สยามกีฬา. "เกาะขวางถล่มปากช่อง 3-0 ซิวแชมป์บอลถ้วย ง.". http://www.siamsport.co.th/Sport_Football/120621_268.html (21 มิถุนายน 2555)
  11. มติชนออนไลน์. "′วิมล′ ไอเดียกระฉูด!! เตรียมปรับโซน ′เอไอเอสลีก′ ใหม่ แก้ปัญหาเดินทางลำบาก". http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1340621953&grpid=03&catid=03 (25 มิถุนายน 2555)
  12. Mthai. "สปอร์ต ท็อปเทน : 10 สนามกีฬาคุณภาพในเมืองไทย" .http://sport.mthai.com/uncategorized/2526.html (29 กันยายน 2553)
  13. บริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด. "สรุปยอดผู้ชม, ยอดขายบัตรผ่านประตูและยอดขายของที่ระลึก League Division1 2011". http://www.thaipremierleague.co.th/userfiles/ld1_att_2011.pdf (6 กรกฎาคม 2555)
  14. ไทยลีกออนไลน์. "ตารางคะแนน Division1 ปี 2011". http://v2.thaileagueonline.com/main.live#table_point (8 กรกฎาคม 2555)
  15. ไทยลีกออนไลน์. "ตารางคะแนน Division1 ปี 2011". http://v2.thaileagueonline.com/main.live#table_point (8 กรกฎาคม 2555)
  16. มติชนออนไลน์. ""กิเลน"เข่น"วัวชน" แฟนบอลทุบสถิติไทยลีก-"นกใหญ่"หักเขี้ยว"มังกรไฟ" ที่โหม่งบอลตุงตาข่ายแต่ไม่ได้ประตู".http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1337519347&grpid=01&catid=&subcatid= (20 พฤษภาคม 2555) และ "วัวชน Vs เมืองทองฯ ทำลายสถิติผู้ชมสูงสุดไทยลีก!". http://www.newsrama2.com/news/topic-20597.html (8 กรกฎาคม 2555)
  17. สโมสรเมืองทองฯยูไนเต็ด. "ผู้เล่่นและทีมงาน". http://www.mtutd.tv/team.asp (10 กรกฎาคม 2555)
  18. Football Siam TV. "เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ทุ่มงบ 4 ล้าน ติดตั้งเก้าอี้รอบสนาม เอสซีจี สเตเดี้ยม". http://www.footballsiamtv.com/news/archive/5039-%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%88%E0%B8%B5_%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AF_%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%87%E0%B8%9A_4_%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99_%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A1.html (5 กรกฎาคม 2555)
  19. บริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด. "สรุปยอดผู้ชม, ยอดขายบัตรผ่านประตูและยอดขายของที่ระลึก Sponsor Thai Premier League 2011". http://www.thaipremierleague.co.th/stats2011.php (6 กรกฎาคม 2555)
  20. สโมสรบางกอกกล๊าซเอฟซี. "สิ่งอำนวยความสะดวก". http://www.bangkokglassfc.com/club-info-04.html (10 กรกฎาคม 2555)
  21. บริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด. "สรุปยอดผู้ชม, ยอดขายบัตรผ่านประตูและยอดขายของที่ระลึก Sponsor Thai Premier League 2011". http://www.thaipremierleague.co.th/stats2011.php (6 กรกฎาคม 2555)
  22. สารคดี, 27 : 321 (พฤศจิกายน 2554) : 82
  23. สโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด. "I-MOBLIE STADIUM, ข้อมูลสนาม". http://www.burirampea.com/th/stadium.php (6 กรกฎาคม 2555)
  24. “เนวิน ชิดชอบ Created in Buriram” ใน คิด, 3 (มิถุนายน 2555) : 30
  25. บริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด. "สรุปยอดผู้ชม, ยอดขายบัตรผ่านประตูและยอดขายของที่ระลึก Sponsor Thai Premier League 2011". http://www.thaipremierleague.co.th/stats2011.php (6 กรกฎาคม 2555)
  26. มติชนออนไลน์ ."สลด กองเชียร์"เชียงรายฯ" รถคว่ำ ดับ 7 ราย เผยปลัดอ.แม่ฟ้าหลวงเสียชีวิต". http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1307777791&grpid=&catid=07&subcatid=0702 (11 มิถุนายน 2554)
  27. “พระราชบัญญัติ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551”. ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 15 ตอนที่ 8 ก, วันที่ 14 มกราคม 2551, น.5
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ธัมมิกประชาธิปไตย' ของพุทธทาส

Posted: 11 Jul 2012 01:05 AM PDT

เมื่อพุทธทาสภิกขุเปลี่ยนนิยามของประชาธิปไตยจาก “ประชาธิปไตยหมายถึงประชาชนเป็นใหญ่” เป็น “ประชาธิปไตยหมายถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่” พร้อมกับอ้างเหตุผลว่า “ถ้าประชาชนเป็นใหญ่ ประชาชนเห็นแก่ตัว ประชาชนบ้าๆ บอๆ ก็ฉิบหายหมด” แล้วเสนอว่าประชาธิปไตยที่ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่คือ “ธัมมิกประชาธิปไตย” คือประชาธิปไตยที่ประกอบด้วยธรรม 

พุทธทาสจำแนก “ธรรม” ออกเป็น 4 ความหมาย แต่อาจสรุปเป็นสองอย่างหลักๆ คือ ธรรมที่เป็นกฎธรรมชาติที่เรียกว่า “กฎอิทัปปัจจยา” คือกฎแห่งการเป็นเหตุปัจจัยอิงอาศัยกันและกันของสรรพสิ่งในธรรมชาติ ซึ่งท่านตีความว่ากฎธรรมชาติดังกล่าวนี้มีเจตนารมณ์เพื่อส่วนรวม เรียกว่า “เจตนารมณ์สหกรณ์” กับธรรมอีกความหมายหนึ่ง คือศีลธรรมของผู้ปกครองและประชาชน ซึ่งเข้าใจความหมายกว้างๆ ได้ว่า หลักการปฏิบัติเพื่อละเว้นการใช้ความเห็นแก่ตัวละเมิดคนอื่น และ/หรือทุจริตเอาประโยชน์ส่วนรวมมาเป็นของตนเองและพวก และหลักการปฏิบัติเพื่อส่งเสริมประโยชน์สุขส่วนรวม

ฉะนั้น ธัมมิกประชาธิปไตย หรือประชาธิปไตยที่ประกอบด้วยธรรมในความหมายดังกล่าว จึงหมายถึงการวางระบบสังคมการเมืองให้มีกติกาการอยู่ร่วมกันในทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองที่สอดคล้องกับเจตจำนงสหกรณ์ หรือเจตจำนงเพื่อส่วนรวมตามกฎธรรมชาติ และมีระบบส่งเสริมให้ผู้ปกครองและประชาชนมีศีลธรรมเพื่อป้องกันการใช้ความเห็นแก่ตัวละเมิดผู้อื่น มีสำนึกและจรรยาปฏิบัติเพื่อส่งเสริมประโยชน์สุขส่วนรวม

จากนิยามประชาธิปไตยและข้อเสนอแนวคิดทางการเมืองของพุทธดังกล่าวนี้ ทำให้เกิดคำถามที่สำคัญตามมาอย่างน้อย 3 ประการ คือ พุทธทาสปฏิเสธอำนาจของประชาชนใช่หรือไม่? ถ้าปฏิเสธอำนาจของประชาชน เป็นการปฏิเสธจากสมมติฐานที่ว่า “ธรรมชาติของมนุษย์คือความเห็นแก่ตัว” ใช่หรือไม่? และ ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวขัดแย้งกับความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมหรือไม่? ซึ่งผมอยากชวนแลกเปลี่ยนต่อไปนี้

1.พุทธทาสปฏิเสธอำนาจของประชาชนหรือไม่? จากนิยามประชาธิปไตยและการอ้างเหตุผลของพุทธทาสดังกล่าว เรายังสรุปไม่ได้ว่าท่านปฏิเสธอำนาจของประชาชน เนื่องจาก ข้อความว่า “ประชาชนเห็นแก่ตัว บ้าๆ บอๆ ก็ฉิบหายหมด” อยู่ในรูปของ “ประโยคเงื่อนไข” ซึ่งหมายความว่า “ประชาชนจะใช้อำนาจตามความเห็นแก่ตัวไม่ได้” ความหมายกว้างๆ ของ “ความเห็นแก่ตัว” ที่ท่านใช้ในกรอบของศีลธรรมทางการเมืองนั้นชัดเจนว่า มีความหมายเป็น “ปฏิปักษ์” ต่อ “ความเห็นแก่ส่วนรวม” ดังที่ท่านยกตัวอย่างเช่น การคดโกงกอบโกยเอาของส่วนรวมมาเป็นของตนเองหรือพวกตนเอง ซึ่งท่านเรียกว่าเป็นเอามาเพื่อ “ตัวกู ของกู”

นอกจากนี้ประโยคเงื่อนไขดังกล่าว ยังหมายความได้อีกว่า ถ้าประชาชนไม่เห็นแก่ตัว ไม่บ้าๆ บอๆ ก็สามารถมีอำนาจปกครองตนเองเพื่อบรรลุประโยชน์สุขของส่วนรวมได้ ฉะนั้น ท่านจึงเสนอว่าประชาธิปไตยเหมาะแก่ประชาชนที่มีศีลธรรม หมายถึงมีสำนึกทางศีลธรรมที่ยึดประโยชน์สุขของประชาชนเป็นใหญ่ ไม่ใช้ความเห็นแก่ตัวทุจริตด้วยวิธีการใดๆ เพื่อเอาประโยชน์ส่วนรวมมาเป็นของตัวเองหรือพรรคพวก

ฉะนั้น จึงสรุปได้ว่านิยามประชาธิปไตยดังกล่าวของพุทธทาสไม่ได้ปฏิเสธ “อำนาจของประชาชน” หรือปฏิเสธประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง แต่มีเงื่อนไขว่าการใช้อำนาจของประชาชนหรือความเป็นประชาธิปไตยต้องประกอบด้วยธรรม คือไม่ใช้อำนาจตามความเห็นแก่ตัวทุจริตเอาประโยชน์ส่วนรวมมาเพื่อตัวและพวกของตัว แต่ใช้อำนาจอย่างสุจริตบนจิตสำนึกเสียสละและปกป้องประโยชน์สุขของส่วนรวม

2.พุทธทาสมองว่า “ธรรมชาติของมนุษย์ (ประชาชน) คือความเห็นแก่ตัว” ใช่หรือไม่? หากอ่านเฉพาะข้อความในประโยคเงื่อนไขอาจทำให้เข้าใจเช่นนั้นได้ แต่ที่จริงพุทธทาสมองธรรมชาติของมนุษย์ตามทัศนะทางพุทธศาสนา

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมองตามทัศนะของพุทธสาสนา ก็มีคำถามตามมาว่า การที่พุทธศาสนามีระบบศีลธรรมเพื่อขัดเกลากิเลสตัณหา แสดงว่าพุทธศาสนามีทัศนะว่าธรรมชาติของมนุษย์คือความเห็นแก่ตัว หรือคือความชั่วร้ายใช่หรือไม่?

แท้จริงแล้วพุทธศาสนามองธรรมชาติของมนุษย์สองด้าน ด้านหนึ่งคือความมีกิเลสตัณหา (อกุศลมูล) หมายถึงคุณสมบัติทางจิตใจที่แสดงออกเป็นความโลภ โกรธ หลง อีกด้านหนึ่งคือศักยภาพที่จะพ้นไปจากกิเลสตัณหา (กุศลมูล) หมายถึงคุณสมบัติทางจิตใจที่ดีงามโดยพื้นฐานที่สามารถแสดงศักยภาพควบคุม และ/หรือเป็นอิสระจากการครบงำชักจูงของคุณสมบัติทางจิตใจด้านที่เป็นกิเลสตัณหา ได้แก่คุณสมบัติพื้นฐานของจิตที่เป็นความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ซึ่งเป็นพื้นฐานของการแสดงตัวของความเสียสละ ความรัก และปัญญา

ในธรรมชาติทางจิตใจทั้งสองด้านนั้น พุทธศาสนามองว่าธรรมชาติด้านที่เป็นกิเลสตัณหาเป็น “มายา” ไม่ใช่ธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์ แต่ธรรมชาติที่แท้จริงหรือที่เป็น “essence “ ของมนุษย์คือด้านที่เป็นศักยภาพที่จะพ้นไปจากกิเลสตัณหาคือ “ความไม่เห็นแก่ตัว” (อโลภะ-ไม่โลภ) ความรัก (อโทสะ-ไม่โกรธ) ปัญญา (อโมหะ-ไม่หลง)

ข้อพิสูจน์ว่าธรรมชาติด้านที่ดีงามดังกล่าวนี้คือธรรมชาติที่แท้จริงหรือเป็น “essence “ ของมนุษย์ ก็คือ 1) ข้อเท็จจริงในชีวิตประจำวันเมื่อเราเกิดความโลภ โกรธ หลง ธรรมชาติด้านที่ดีงามจะคอยให้สติ ปลุกมโนธรรมเหนี่ยวรั้ง หรือยับยั้งไม่ให้เราทำตาแรงจูงใจเช่นนั้น (นี่คือข้อพิสูจน์ว่าเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจทางศีลธรรม ทำไมบางครั้งเราจึงเกิดความรู้สึกขัดแย้งระหว่างแรงจูงใจที่ผิดกับมโนธรรมภายในใจเรา) 2) พุทธะและและอริยสาวกที่จิตหลุดพ้นจากความโลภ โกรธ หลงแล้ว เท่ากับคุณสมบัติของจิตใจด้านที่เป็นความโลภ โกรธหลง หายไป คงเหลือแต่ธรรมชาติทางจิตใจที่เป็นความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ที่แสดงออกเป็นคุณสมบัติเฉพาะที่เรียกว่า ปัญญาคุณ วิสุทธิคุณ และกรุณาคุณ

ฉะนั้น รากฐานของศีลธรรมขัดเกลากิเลสของพุทธศาสนาจึงไม่ได้อยู่บนทัศนะที่ว่า “ธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์เลวร้าย เห็นแก่ตัว” ฉะนั้น จึงต้องสร้างหลักศีลธรรมขึ้นมาควบคุม แต่รากฐานศีลธรรมพุทธอยู่บนฐานของทัศนะที่ว่า “ธรรมชาติที่แท้ของมนุษย์ดีงาม มีศักยภาพที่จะหลุดพ้นจากกิเลสหรือความเห็นแก่ตัวได้” ฉะนั้น จึงต้องมีหลักศีลธรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพดังกล่าวให้งอกงาม

ข้อเสนอเสนอแนวคิดทางการเมืองของพุทธทาสที่ให้ยึดประโยชน์สุขของส่วนรวมเป็นหลักจึงไม่ใช่ข้อเสนอที่อยู่บนพื้นฐานของการมองว่า “ธรรมชาติที่แท้ของมนุษย์คือความเห็นแก่ตัว” แต่เป็นข้อเสนอบนพื้นฐานความเชื่อในธรรมชาติด้านดีงามของมนุษย์ว่า  “มนุษย์มีศักยภาพที่จะเห็นแก่ส่วนรวม”

3. ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวขัดแย้งกับความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมหรือไม่? เมื่ออ่านความคิดทางการเมืองของพุทธทาสทั้งหมดแล้ว ผมคิดว่าเราต้องแยกความหมายของ “ความเห็นแก่ตัว” ออกจาก “ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว”

กล่าวคือ “ความเห็นแก่ตัว” ไม่ได้มีความหมายเท่ากับ “ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว” หมายความว่าความเห็นแก่ตัวที่พุทธทาสใช้ในขอบเขตของศีลธรรมทางสังคมการเมือง หมายถึงความเห็นแก่ตัวที่เป็นปฏิปักษ์ต่อความเห็นแก่ส่วนรวม ฉะนั้น ถ้าเป็นความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวที่เป็นการละเมิดผู้อื่นหรือประโยชน์ส่วนรวมก็จัดเป็น “ความเห็นแก่ตัว” แต่ถ้าเป็นความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวที่ไม่เป็นการละเมิดผู้อื่นหรือประโยชน์ส่วนรวมก็ไม่จัดเป็นความเห็นแก่ตัว

ดังในคัมภีร์พุทธศาสนามีเรื่องราวของภิกษุรูปหนึ่งไม่ได้มาเยี่ยมอาการป่วยของพุทธะ เพราะมัวเร่งเจริญภาวนาเพื่อต้องการบรรลุธรรม เมื่อมีเสียงตำหนิจากภิกษุอื่นๆ และพุทธะทราบเรื่องนั้นแล้วจึงยืนยันว่า “บุคคลเมื่อรู้ว่าตนเป็นที่รัก รู้ว่าประโยชน์ตนคืออะไร จงทำประโยชน์ตนนั้นให้สำเร็จเถิด” นี่หมายความว่า การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวที่ไม่เป็นการละเมิดผู้อื่นหรือประโยชน์สุขของส่วนรวม ย่อมไม่ใช่สิ่งที่เสียหาย

ที่สำคัญ การมีชีวิตที่ดีงามตามความหมายทางพุทธศาสนา พุทธะก็ยืนยันชัดเจนว่า คือการดำเนินชีวิตที่พยายามทำทั้งประโยชน์ส่วนตน (อัตตัตถะ) ประโยชน์เพื่อผู้อื่น (ปรัตตถะ) ในทาง negative คือ ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น ทาง positive คือช่วยเหลือผู้อื่น และประโยชน์ส่วนรวม (อุภยัตถะ) หมายถึงประโยชน์ที่ก่อให้เกิดความสุขแก่ทุกฝ่าย เช่น การปกป้องความยุติธรรมของสังคม เป็นต้น

ฉะนั้น การเมืองที่ยึดประโยชน์สุขของส่วนรวมตามความคิดของพุทธทาส จึงไม่ใช่การเมืองที่ปฏิเสธการแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวของประชาชนโดยสรุปอย่าง “เหมารวม” ว่า เป็น “ความเห็นแก่ตัว” ทว่าความเห็นแก่ตัวที่ควรปฏิเสธ คือความเห็นแก่ตัวที่ละเมิดคนอื่นและประโยชน์สุขส่วนรวมเท่านั้น

ธัมมิกประชาธิปไตยในทัศนะของพุทธทาส จึงไม่ได้ปฏิเสธอำนาจของประชาชน หากการใช้อำนาจนั้นไม่ได้เป็นไปตามความเห็นแก่ตัวที่เป็นการละเมิดคนอื่นและประโยชน์ส่วนรวม แต่สนับสนุนให้ประชาชนใช้อำนาจอย่างมีศีลธรรม หมายถึงการใช้สิทธิที่จะแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวในทางที่ไม่ละเมิดคนอื่น และมีจิตสำนึกเสียสละเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'สมมติเสวนา'กับ 'ไพโรจน์ ชัยนาม' ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550

Posted: 11 Jul 2012 12:45 AM PDT

แด่ศิษย์มีครู สมชาย ปรีชาศิลปกุล เสวนาข้ามสมัยกับ ศ.ไพโรจน์ ชัยนาม ผู้เป็นปรมาจารย์ทางด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ 

เนื่องจากในปัจจุบันได้เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับการเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้ปรากฏความเห็นที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในหมู่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย บางส่วนเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้เนื่องจากเป็นสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญได้รองรับไว้ ขณะที่บางส่วนกลับมีความเห็นว่ากำลังเป็นการกระทำในลักษณะของการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย

จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะได้มีโอกาส "สมมติเสวนา" กับ ศ.ไพโรจน์ ชัยนาม ผู้เป็นปรมาจารย์ทางด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยท่านเป็นผู้บรรยายลักษณะวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ (ทั้งปริญญาตรีและปริญญาโท) ที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และสืบเนื่องต่อมากระทั่งเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีผลงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญเป็นจำนวนมากจนเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง

โดยความเห็นของ ศ.ไพโรจน์ที่นำมาอ้างอิง ณ ที่นี้จะมาจาก ไพโรจน์ ชัยนาม, คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ (โดยสังเขป) เล่ม 1 ข้อความเบื้องต้นและหลักทั่วไปของกฎหมายรัฐธรรมนูญ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2497 โดยการอ้างอิงในแต่ละแห่งจะระบุหน้าที่ นำมาเอาไว้อย่างชัดเจน

นักเรียนกฎหมาย : อ.ไพโรจน์มีความ เห็นอย่างไรเกี่ยวกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญว่าเป็นสิ่งที่จะสามารถกระทำได้หรือไม่

ไพโรจน์ ชัยนาม : การที่จะถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่เราจะแตะต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขเสียใหม่ไม่ได้นั้นย่อมเป็นสิ่งที่ขัดกับความเป็นจริง ทั้งในทางกฎหมายและในทางการเมือง

ในทางกฎหมายก็คือว่า รัฐธรรมนูญเป็นการกระทำในทางนิติบัญญัติซึ่งบางทีก็เกิดขึ้นโดยเจตนาของฝ่ายเดียว เช่น รัฐธรรมนูญซึ่งพระมหากษัตริย์พระราชทานให้แก่ราษฎร หรือเป็นสิ่งซึ่งเกิดขึ้นโดยการตกลงด้วยเจตนาร่วมกันระหว่างพระมหากษัตริย์กับราษฎรก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จะให้รัฐธรรมนูญนั้นเป็นของที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ย่อมฟังไม่ขึ้น 

รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยหนึ่งย่อมเหมาะสมแก่สภาพของประเทศในสมัยนั้น เพราะผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญย่อมพิจารณาวางบทบัญญัติลงไปตามที่ตนเห็นสมควรในขณะนั้น แต่ภายหลังเมื่อเวลาได้ล่วงเลยมาช้านาน สภาพความเป็นอยู่ของประเทศย่อมเปลี่ยนแปลงไป

ฉะนั้น จะให้ฐานะในทางการเมืองและทางสังคมของประเทศต้องถูกจำกัดอยู่ภายใต้บทกฎหมายฉบับหนึ่ง (คือรัฐธรรมนูญ) จึงเป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยเหตุผล

ในทางการเมืองนั้น การที่ถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นสิ่งตายตัวจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้ย่อมฟังไม่ขึ้น ถ้าหากว่าสภาพความเป็นอยู่ของประเทศได้เปลี่ยนแปลงผิดไปจากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญซึ่งล่วงพ้นสมัยแล้ว รัฐธรรมนูญก็จะกลายเป็นแต่เพียงตัวหนังสือไม่มีการปฏิบัติตาม และในไม่ช้าก็จะเกิดมีการปฏิวัติขึ้น

ฉะนั้น ในทางการเมืองเพื่อป้องกันมิให้ราษฎรก่อการปฏิวัติจึงจำเป็นที่จะต้องไม่ประกาศออกมาว่ารัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ตายตัวจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้ และจะต้องมีบทบัญญัติบอกวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นไว้ เพื่อสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้เหมาะสมัยอยู่เสมอ (หน้า 423-424)

นักเรียนกฎหมาย : หากในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมีข้อกำหนดห้ามมิให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรูปแบบอันใดอันหนึ่งที่ปรากฏอยู่ บทบัญญัติเช่นนี้จะมีผลผูกพันให้ต้องปฏิบัติตามหรือไม่ เช่นการกำหนดว่าห้ามเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองที่ดำรงอยู่ในห้วงเวลานั้น

ไพโรจน์ ชัยนาม : ในบางครั้งผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญต้องการที่จะให้รูปการปกครองที่ตนสร้างขึ้นมั่นคงถาวรอยู่ชั่วกาลนาน แม้จะยอมให้แก้ไขในเรื่องอื่นๆ ได้ก็ดี โดยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญห้ามมิให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในทางที่เกี่ยวกับรูปการปกครองของประเทศ เช่น ตามมาตรา 90 ของรัฐธรรมนูญบราซิล ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1981 หลังจากที่ได้กล่าวถึงหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วได้ห้ามไว้ว่า ไม่ให้แก้รูปการปกครองแบบสาธารณรัฐและแบบสหพันธ์ของประเทศ

รัฐธรรมนูญโปรตุเกส ลงวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ.1911 ได้กล่าวไว้ในมาตรา 82 ว่า ห้ามมิให้เสนอแก้ไขรูปการปกครองแบบสาธารณรัฐของประเทศ รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสฉบับก่อน ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎหมายลงวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ.1884 มาตรา 2 มีว่า "รูปการปกครองแบบสาธารณรัฐของฝรั่งเศสนั้น ไม่อาจจะเป็นวัตถุประสงค์แห่งการเสนอขอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้"

ทั้งนี้ก็เพราะในเวลานั้นพวกนิยมสาธารณรัฐเป็นฝ่ายมีเสียงข้างมากในสภามากขึ้น และเพื่อที่จะป้องกันมิให้กลับไปมีพระมหากษัตริย์ปกครองอีกก็เลยรีบฉวยโอกาสขอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยบัญญัติถ้อยคำเหล่านี้ลงไปทันที (หน้า 427)

นักเรียนกฎหมาย : แล้วบทบัญญัติในลักษณะเช่นนี้มีผลผูกพันในทางรัฐธรรมนูญโดยห้ามเป็นการแก้ไขในส่วนเหล่านี้อย่างเด็ดขาดเลยใช่หรือไม่

ไพโรจน์ ชัยนาม : ทั้งนี้เป็นความจริงว่าบทบัญญัติเหล่านี้เพียงแต่เป็นสิ่งแสดงความปรารถนาของผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญให้บุคคลรุ่นหลังๆ ทราบเท่านั้น แต่หาได้มีค่าในทางกฎหมายเป็นการบังคับให้พวกเหล่านี้พึงปฏิบัติตามไม่ (หน้า 427)

นักเรียนกฎหมาย : เนื่องจากในปัจจุบันได้เกิดข้อถกเถียงว่าในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญอันจะมีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่อยู่ในปัจจุบันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถกระทำได้ อาจารย์มีความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวนี้อย่างไร

ไพโรจน์ ชัยนาม : การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกใช้แทนฉบับเก่านั้นย่อมจะทำได้ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับเก่าเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติม แต่บางทีรัฐธรรมนูญหนึ่งก็มีบทบัญญัติกล่าวถึงการแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ทั้งฉบับไว้ (การยกเลิก) โดยเรียบร้อย นอกจากนี้อาจมีการตั้ง "สภาร่างรัฐธรรมนูญ" ขึ้น ประกอบด้วยสมาชิกที่ราษฎรได้เลือกตั้งมาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใช้ใหม่ (หน้า 438)

นักเรียนกฎหมาย : แต่ได้มีข้อโต้แย้งว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นแต่เพียงอนุญาตให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเป็นบางมาตรา ไม่ได้หมายความให้สามารถแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อนำไปสู่การยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้แต่อย่างใด

ไพโรจน์ ชัยนาม : อย่างไรก็ดี การยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งนั้นอาจทำได้เสมอ แม้เมื่อไม่มีบทบัญญัติกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยเรา คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินไทยชั่วคราว ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 แม้จะไม่มีบทบัญญัติบอกวิธีแก้ไขเพิ่มเติม หรือวิธียกเลิกตัวเองไว้ก็ดี ก็ได้ถูกยกเลิกไปโดยรัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 เพราะเมื่อได้มีสภาผู้แทนราษฎรขึ้นตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว สภาผู้แทนราษฎรก็ได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นคณะหนึ่งไปร่างรัฐธรรมนูญมาเสนอ เมื่อสภาได้ลงมติให้ใช้แล้ว ก็ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ต่อไป รัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 ก็เช่นกัน ได้ถูกยกเลิกไปโดยรัฐธรรมนูญฉบับที่ 5 (ลงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2492) (หน้า 438-439)

นักเรียนกฎหมาย : อาจารย์มีสิ่งใดจะฝากไว้ให้พิจารณาสำหรับกรณีความขัดแย้งในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่

ไพโรจน์ ชัยนาม : ตามที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ อาจสรุปลงได้ว่า

1.รัฐธรรมนูญทุกฉบับจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมได้

2.การแก้ไขเพิ่มเติมนั้น จะทำได้ทุกๆ ส่วนของรัฐธรรมนูญตามความจำเป็น

3.การแก้ไขเพิ่มเติมจะทำได้ทุกขณะไม่ว่าเวลาใด

4.การแก้ไขเพิ่มเติมจะต้องเป็นไปตามวิธีการที่รัฐธรรมนูญนั้นบัญญัติไว้ (หากมี) (หน้า 429)

โปรดพึงตระหนักว่าท่านได้ถึงแก่อสัญกรรมไปเมื่อ พ.ศ.2537 ก่อนหน้าที่จะปรากฏความขัดแย้งระหว่างไพร่/อำมาตย์ หรือเสื้อเหลือง/เสื้อแดง จึงหวังว่าจะไม่มีบุคคลใดกล่าวหาอย่างเลื่อนลอยว่า ศ.ไพโรจน์ให้ความเห็นเข้าข้างทางฝ่ายเสื้อแดง หรือกล่าวหาว่าท่านเป็น "ปัญญาชนเสื้่อแดง" ดังที่มักชอบกระทำกับบุคคลที่ได้แสดงความเห็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของทางฝ่ายเสื้อแดงอยู่เนืองๆ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น