โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

TPBS ระดมความคาดหวัง-กก.นโยบายมั่นใจสวัสดิการดี ใคร 'ดีเอ็นเอ' ไม่ใช่ก็ต้องปล่อย

Posted: 20 Jul 2012 06:00 AM PDT


(ซ้ายไปขวา) ณัฏฐา โกมลวาทิน-ปาลพล รอดลอยทุกข์ -รสชงพร โกมลเสวิน-มาลี บุญศิริพันธ์

(20 ก.ค.55) ในการเสวนาเรื่อง “สื่อสาธารณะในทศวรรษหน้า” ซึ่งมีการพูดคุยในหัวข้อทิศทางและแนวโน้มสื่อสาธารณะในไทยและสังคมโลก และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อบทบาทไทยพีบีเอสที่คาดหวัง จัดโดยสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) ณ อาคารศูนย์การเรียนรู้ ไทยพีบีเอส โดยมีกลุ่มผู้ชม ผู้นำแรงงาน และองค์กรภาคประชาสังคม เข้าร่วมกว่า 50 คน ดำเนินรายการโดยณัฏฐา โกมลวาทิน

รศ.มาลี บุญศิริพันธ์ รักษาการประธานกรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) กล่าวว่า ไทยพีบีเอสมีพัฒนาการมาเรื่อยๆ และยังต้องพัฒนาต่ออีกเยอะ โดยต้องคงการนำเสนอเนื้อหาที่มีสาระ ขณะเดียวกันต้องมีเทคนิคที่ดึงดูดใจผู้ชม รวมถึงทำให้คนเข้าใจความเป็นสื่อสาธารณะโดยเริ่มจากภายในองค์กรก่อน

มาลีกล่าวว่า ในด้านความก้าวหน้านั้น ไทยพีบีเอสมีกลไกรับฟังความเห็นของประชาชน เพื่อใช้เป็นฐานในการปรับปรุงรายการ มีคณะกรรมการรับเรื่องราวร้องเรียนกรณีปัญหาจริยธรรม และในวันนี้ที่มีคนแสดงความเห็น จากอารมณ์และบรรยากาศที่ออกมา ก็เข้าใจได้ว่าเขามองว่าตัวเองเป็นเจ้าของไทยพีบีเอสด้วย จึงอยากเห็นการพัฒนาที่ดีขึ้น

ต่อข้อวิจารณ์เรื่องสวัสดิการหรือการซื้อตัวที่เป็นกระแสอยู่ มาลีกล่าวว่า ต้องยอมรับว่าสังคมไทยนั้นซื้อกันง่ายๆ บางครั้งผลิตคนออกมาดีมาก แต่สุดท้ายเขาก็ไป แม้จะไม่ได้มีปัญหาอะไรกันก็ตาม ทั้งนี้ 5 ปีนี้ไทยพีบีเอสอยู่ในกระบวนการสร้างดีเอ็นเอของตัวเอง

"สวัสดิการของเราไม่แพ้ที่อื่น เงินเดือนก็เยอะด้วย เขาอยู่ได้ ถ้าเขายังคิดจะไปอีก ดิฉันก็คิดว่าก็ต้องปล่อยให้ไป เพราะดีเอ็นเอไม่มี อาจจะอยู่แล้วเขาจะทุกข์ใหญ่" มาลีกล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเรื่องเหล่านี้จะลดลง ที่ผ่านมาอาจยังฝังเข็มหมุดไม่ลึกเท่าที่ควร ตอนนี้อยู่ระหว่างฝังเข็มหมุดที่ลึกจริงๆ

มาลี กล่าวเสริมว่า ข่าวทุกครั้งที่ออกไป มีทั้งชื่นชม มีทั้งที่ทำให้ต้องระวังมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดไม่ใช่หน้าที่ของผู้บริหารหรือกรรมการนโยบายเท่านั้น แต่ประชาชนต้องช่วยดูด้วย เขาจะได้รู้ว่าเขาก็เป็นคนของสังคม ไม่ใช่คิดจะทำอะไรก็ได้ ความจริงสิ่งต่างๆ ที่ออกไปไม่เคยโทษคนที่เป็นประเด็นปัญหา แต่เป็นที่สภาพแวดล้อมและความมีสติของคนในสังคมมากกว่า

ด้าน รศ.ดร.รสชงพร โกมลเสวิน หัวหน้าโครงการปริญญาเอกสาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า ส่วนตัวเมื่อเบื่อรายการ "ไร้สติ" ก็จะไปดูไทยพีบีเอส แต่พอเบื่อวิชาการก็จะไปช่องอื่น โดยยอมรับว่าแม้ตนเองจะอยู่ในวงการศึกษา แต่เจอสาระขมไปก็ไม่ไหว อยากให้หาสมดุลระหว่างความบันเทิงกับสาระด้วย โดยมีงานวิจัยต่างประเทศพบว่า สื่อสาธารณะเริ่มยอมรับการปรับเนื้อหาที่บันเทิงมากขึ้น

ต่อการตอบคำถามเรื่องความชอบธรรมในการได้งบบริหาร 2,000 ล้านบาทต่อปี รสชงพร เสนอว่า ต้องมีการวิจัย หาตัวชี้วัดว่าการทำงานของไทยพีบีเอสช่วยให้สังคมดีขึ้นไหม ช่วยให้คนมีความรู้ขึ้นไหม โดยยกตัวอย่างว่า หากดูบทบาทของการเป็นสื่อที่สร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมือง หากทำสื่อแล้ว จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ยังอยู่ที่ 20% ก็แปลว่ายังทำหน้าที่ไม่สำเร็จ

ดร.ปาลพล รอดลอยทุกข์ นักวิจัยสถาบัน AMIC ประจำประเทศไทย กล่าวว่า 4 ปีที่ผ่านมา ไทยพีบีเอสมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในการไปสู่การเป็นสื่อสาธารณะ ต่างจากหลายประเทศที่อาศัยต้นแบบจากสื่อสาธารณะอย่าง BBC NHK แล้ว แต่เมื่อทำจริง หาตัวตนไม่เจอ ถูกภาครัฐครอบงำแล้วหายไป ไม่สามารถเป็นสื่อสาธารณะเต็มรูปแบบได้ อย่างไรก็ตาม ไทยพีบีเอสยังมีความแตกต่างไม่ชัดเจนระหว่างสื่อสาธารณะและสื่อเชิงพาณิชย์ อาจเพราะสังคมไทยถูกปลูกฝังให้มองสื่อมุมเดียวและคิดว่าสื่อเหมือนกัน ดังนั้น ในวาระเข้าสู่ปีที่ 5 ไทยพีบีเอสมีการบ้านคือ ต้องทำให้ตัวเองชัดเจนขึ้น
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

20 กลุ่ม-เครือข่ายประชาชน ค้านพลังงานนิวเคลียร์ในแผนพีดีพี

Posted: 20 Jul 2012 04:16 AM PDT

เครือข่ายประชาชนคัดค้านพลังงานนิวเคลียร์ ออกแถลงการณ์ “ผู้วางแผนพีดีพี ยังเป็น “คน” อยู่หรือไม่?” ชี้ PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 บิดเบือนเจตนารมณ์ของแผนพีดีพี ถูกครอบงำโดยอวิชชา ทั้งขาดจิตสำนึกแห่งความเป็นมนุษย์

 
 
วันนี้ (20 ก.ค.55) เครือข่ายประชาชนคัดค้านพลังงานนิวเคลียร์ ออกแถลงการณ์ “ผู้วางแผนพีดีพี ยังเป็น “คน” อยู่หรือไม่?” เรียกร้องให้นำพลังงานนิวเคลียร์ออกจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หลังจากเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 55 การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศระหว่างปี 2553 - 2573 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 หรือ PDP 2010 ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช. ยังสั่งการให้กระทรวงพลังงาน ศึกษาแผน PDP ฉบับปี 2012 ในทันที
 
โดยแผน PDP ฉบับดังกล่าว ถูกอ้างว่ามีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้า ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามนโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ที่รวมโครงการรถไฟฟ้า 12 สาย และให้สอดคล้องกับแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ร้อยละ 25 ใน 10 ปี เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
 
แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า สืบเนื่องจากการที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้อนุมัติแผน PDP 2010 โดยมีพลังงานนิวเคลียร์อยู่ในแผน 5,000 เมกะวัตต์ ในช่วงปี 2554-2573 โดยมีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 โรง โรงไฟฟ้าถ่านหิน 10 โรง และโรงไฟฟ้าก๊าซ 20 โรง ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ว่าจ้างบริษัทปรึกษาให้คัดเลือก 5 พื้นที่ ได้แก่ อุบลราชธานี นครสวรรค์ ตราด สุราษฎร์ธานี ชุมพร ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานีถูกเลือกเป็นอันดับ 1 โดยพิจารณาจากด้าน วิศวกรรม สิ่งแวดล้อม และการประมาณต้นทุนก่อสร้างของโรงไฟฟ้า
 
ต่อมา รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ปรับปรุงแผน PDP 2010 ครั้งที่ 3 โดยมีพลังงานนิวเคลียร์อยู่ในแผน 2,000 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าความร้อนร่วมก๊าซธรรมชาติ 25,451 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน 4,400 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าซื้อจากต่างประเทศ 6,572 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าระบบพลังงานร่วม Co-generation 6,374 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 9,516 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซ 750 เมกะวัตต์ โดยมีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 โรง ซึ่ง กฟผ.ได้ว่าจ้างบริษัทปรึกษาให้คัดเลือก 4 พื้นที่ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ตราด อุบลราชธานี กาฬสินธุ์
 
แถลงการณ์ ระบุว่า รายละเอียดเชิงตัวเลขของการปรับเปลี่ยน แผนพีดีพี 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 แสดงอย่างชัดแจ้งว่า แผนดังกล่าว บิดเบือนเจตนารมณ์ของแผนพีดีพี เพราะมีการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าเกินความเป็นจริง และกระบวนการพิจารณาใช้เวลาในการพิจารณาเพียง 9 วัน คือตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค. – 8 มิ.ย.55 เป็นการงุบงิบปรับเปลี่ยนแผนโดยขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน อีกทั้งถูกครอบงำโดยอวิชชา ด้วยความมืดบอดแห่งพุทธิปัญญา และมืดบอดทางวิชาการ แม้จะมีความพยายามคัดค้านจากเครือข่ายประชาชนและมีการนำเสนอตัวอย่างผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น กรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ประเทศยูเครน แต่ก็ไร้ผล
 
นอกจากนั้นยังขาดจิตสำนึกแห่งความเป็นมนุษย์ ดังที่รู้ซึ้งกันดีของผู้คนทั้งโลกว่า เหตุการณ์ระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลก คือ โศกนาฏกรรม ที่นำมาซึ่งความสูญเสียในหลายมิติ แต่ความหายนะที่มวลมนุษยชาติที่ได้รับจากเหตุการณ์การระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ไม่ได้อยู่ในจิตสำนึกของกลุ่มบุคคลที่ร่วมกันจัดทำPDP 2010 หลังเกิดเหตุการณ์ฟูกูชิมะ ในญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคม 2554 ได้ผ่านเลยไป และเมื่อผู้คนต่างลืมเลือนความสยดสยองของเหตุการณ์ แล้วจึงมีการเดินหน้าผลักดันโครงการอีกครั้ง
 
“บรรดาความพยายามของคนกลุ่มนี้ มีหลายรูปแบบ ตั้งแต่การบีบสังคมให้ยอมรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วยการโยนคำถามชี้นำ อาทิ เมื่อไฟฟ้าจะหมดในอนาคต จะทำอย่างไร? ระหว่างพลังงานถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และแม้แต่การประชุมสัมมนา แต่ข้อคำนึงที่คนกลุ่มนี้ไม่เคยคิดคำนึง คือ การมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีความเป็นไปได้ที่ประเทศนี้และประชาชนในประเทศนี้ มีความเสี่ยงและไม่เสี่ยงต่อหายนะภัยจากการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่การไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ประเทศนี้และประชาชนในประเทศนี้ จะไม่เสี่ยงใดๆ เลย!!” แถลงการณ์ ระบุ
 
ทั้งนี้ แถลงการณ์ดังกล่าวมีเนื้อหาดังนี้
 
 
แถลงการณ์
เครือข่ายประชาชนคัดค้านพลังงานนิวเคลียร์
20 กรกฎาคม 2555
 
ผู้วางแผนพีดีพี ยังเป็น “คน” อยู่หรือไม่?
 
สืบเนื่องจากการที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้อนุมัติแผนพีดีพี 2010 โดยมีพลังงานนิวเคลียร์อยู่ในแผน 5,000 เมกะวัตต์ ในช่วงปี 2554-2573 โดยมีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 โรง โรงไฟฟ้าถ่านหิน 10 โรง และโรงไฟฟ้าก๊าซ 20 โรง โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ว่าจ้างบริษัทปรึกษาให้คัดเลือก 5 พื้นที่ ได้แก่ อุบลราชธานี นครสวรรค์ ตราด สุราษฎร์ธานี ชุมพร ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานีถูกเลือกเป็นอันดับ 1 โดยพิจารณาจากด้าน วิศวกรรม สิ่งแวดล้อม และการประมาณต้นทุนก่อสร้างของโรงไฟฟ้า
 
ต่อมา รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ปรับปรุงแผนพีดีพี 2010 ครั้งที่ 3 โดยมีพลังงานนิวเคลียร์อยู่ในแผน 2,000 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าความร้อนร่วมก๊าซธรรมชาติ 25,451 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน 4,400 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าซื้อจากต่างประเทศ 6,572 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าระบบพลังงานร่วม Co-generation 6,374 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 9,516 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซ 750 เมกะวัตต์ โดยมีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 โรง ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ว่าจ้างบริษัทปรึกษาให้คัดเลือก 4 พื้นที่ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ตราด อุบลราชธานี กาฬสินธุ์
 
รายละเอียดเชิงตัวเลขของการปรับเปลี่ยนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (แผนพีดีพี 2010) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 แสดงอย่างชัดแจ้งว่า
 
แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 บิดเบือนเจตนารมณ์ของแผนพีดีพี
แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ถูกครอบงำโดยอวิชชา
แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ขาดจิตสำนึกแห่งความเป็นมนุษย์
 
แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 บิดเบือนเจตนารมณ์ของแผนพีดีพี
แผนการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan - PDP) มีเจตนารมณ์เพื่อให้การพัฒนากิจการไฟฟ้าปรับเปลี่ยนอันเป็นไปสู่ความสมดุล ยั่งยืน และสมเหตุสมผล แต่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (แผนพีดีพี 2012) ได้บิดเบือนเจตนารมณ์ของแผนพีดีพีโดยสิ้นเชิง เพราะมีการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าเกินความเป็นจริง และกระบวนการพิจารณาใช้เวลาในการพิจารณาเพียง 9 วัน คือตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม – 8 มิถุนายน 2555 เป็นการงุบงิบปรับเปลี่ยนแผน โดยขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
 
แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ถูกครอบงำโดยอวิชชา
ภายหลังเหตุการณ์สึนามิและการระเบิดของเตาปฏิกรณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนมีนาคม 2554 กลุ่มชาวสิรินธรไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และเครือข่ายคนไทยไม่เอานิวเคลียร์ จังหวัดอุบลราชธานี ได้มีหนังสือไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อชี้ให้เห็นว่ามหันตภัยจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดในญี่ปุ่น ทำให้นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นออกมายอมรับว่า เป็นภัยพิบัติครั้งสำคัญชาติ เพราะผลของความสูญเสียเท่ากับความสูญเสียของญี่ปุ่นที่ถูกถล่มด้วยระเบิดนิวเคลียร์เมื่อสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 นั่นหมายถึงว่า การระเบิดของเตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ เทียบได้กับการทิ้งระเบิดปรมาณูของฝ่ายสัมพันธมิตรที่บริเวณ 2 เกาะของญี่ปุ่น
 
ความสูญเสียจากนิวเคลียร์มิได้สิ้นสุดลงโดยเร็ว หากแต่จะยังลุกลาม และยังความทุกข์ทรมานแก่ผู้ประสบภัยไปอีกนาน จะเห็นได้จาก กรณีการระเบิดของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิล (Chernobyl Nuclear Power Plant) ที่เมืองเชอร์โนบิล ประเทศยูเครน ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2529 แต่ความทุกข์ทรมานทั้งทางกายและจิตใจยังยืดเยื้อเรื้อรังจนถึงปัจจุบัน หรือกว่า 26 ปีแล้ว
 
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีความเสี่ยงใน 4 มิติ ดังนี้
 
มิติสิ่งแวดล้อม
สารกัมมันตภาพรังสีสมารถปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมได้หลายช่องทาง เช่น ในรูปฝุ่นละอองและก๊าซ นำไปสู่การปนเปื้อนทางการเกษตร น้ำทั้งปนเปื้อนรังสี สะสมในสัตว์น้ำเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร คนกิน ปลา กินผัก ดื่มนม กินเนื้อ เข้าสู่ร่างกายโดยทางผิวหนัง สัมผัสรังสีโดยตรง ฯลฯ
 
มิติเศรษฐกิจ
ต้นทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ได้ต่ำดังคำชี้แจง เพราะ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีปัญหาต้นทุนบานปลายในทุกที่ งบประมาณที่ตั้งไว้ 1 แสนล้านทำโครงการ แต่เมื่อก่อสร้างจริงมักใช้งบประมาณ ไม่ต่ำกว่า 2-3 แสนล้าน หรือบานปลายถึง 2-3 เท่า ซึ่งงบประมาณที่งอกเพิ่ม จะตกเป็นภาระแก่ประชาชนให้แบกรับ ดังกรณี โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Olkiluoto 3 ในฟินแลนด์ ที่เริ่มก่อสร้างปี 2548 ต้องล่าช้าเกินกำหนดกว่า 3 ปี งบประมาณบานปลายจาก 3,200 ล้านยูโร เป็น 5,500 ล้านยูโร และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Framanville 3 ในฝรั่งเศส เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนธันวาคม 2550 ก็ประสบปัญหาในลักษณะเดียวกัน
 
ขัดแย้งกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง
โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์เป็นโรงงานที่ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ เพราะจำเป็นต้องนำเข้าเทคโนโลยี และเชื้อเพลิงตลอดอายุการใช้งาน หรือตลอดชีพ
 
มิติทางสังคม
โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทุกแห่ง นำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงของผู้คนในสังคม
 
เป็นที่ชัดเจนว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (แผนพีดีพี 2010) ได้ดำเนินการไปโดยถูกครอบงำด้วยพลังแห่งอวิชชา ด้วยความมืดบอดแห่งพุทธิปัญญา และมืดบอดทางวิชาการ
 
แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ขาดจิตสำนึกแห่งความเป็นมนุษย์
เป็นที่รู้ซึ้งกันดีของผู้คนทั้งโลกว่า เหตุการณ์ระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลก คือ โศกนาฏกรรม ที่นำมาซึ่งความสูญเสียทุกมิติ โดยเฉพาะความตายอย่างน่าอนาถของเหยื่อ ทั้งในอดีตที่เชอร์โนบิล และเหตุการณ์สดๆ ร้อนๆ ที่ฟูกูชิมะ ภาพความสยดสยองจากร่างกายที่พิกลพิการของเหยื่อทั้งมนุษย์และสัตว์ เป็นที่สลดหดหู่ใจแก่มวลมนุษยชาติ แม้ผู้ไม่เข้าใจเหตุการณ์อย่างลึกซึ้ง ก็รู้สึกหดหู่และสะเทือนใจโดยสัญชาตญาณ
 
แต่ความหายนะและสยดสยองที่มวลมนุษยชาติที่ได้รับจากเหตุการณ์การระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มิได้ชำแรกถึงสัญชาตญาณและจิตสำนึกของกลุ่มบุคคลที่ร่วมกันวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (แผนพีดีพี 2012) แม้แต่น้อย ความเลือดเย็นของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ จะเห็นได้จาก เมื่อเกิดเหตุการณ์ฟูกูชิมะ ในญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคม 2554 คนเหล่านี้ต่างเงียบ ชะลอความกระตือรือร้นในอันจะผลักดันโครงการ พวกเขาในเย็นพอที่จะเฝ้ารอ... เหมือนพรานที่เฝ้ารอบนห้างส่องสัตว์ รอจนกระทั่งเหตุการณ์ได้ผ่านเลยไปเป็นปี และเมื่อผู้คนต่างลืมเลือนความสยดสยองของเหตุการณ์ แล้วพวกเขาก็ออกปฏิบัติการอีกครั้ง
 
บรรดาความพยายามของคนกลุ่มนี้ มีหลายรูปแบบ ตั้งแต่การบีบสังคมให้ยอมรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วยการโยนคำถามชี้นำ อาทิ เมื่อไฟฟ้าจะหมดในอนาคต จะทำอย่างไร? ระหว่างพลังงานถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และแม้แต่การประชุมสัมมนา
 
แต่ข้อคำนึงที่คนกลุ่มนี้ไม่เคยคิดคำนึง คือ การมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีความเป็นไปได้ที่ประเทศนี้และประชาชนในประเทศนี้ มีความเสี่ยงและไม่เสี่ยงต่อหายนภัยจากการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

แต่การไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ประเทศนี้และประชาชนในประเทศนี้ จะไม่เสี่ยงใดๆ เลย!!
 
 
ขอแสดงความนับถือ
 
1.กลุ่มชาวสิรินธรไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
2.คณาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
3.คณาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
4.สภาองค์กรประชาชน
5.กลุ่มเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา
6.เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมืองจังหวัดอุบลราชธานี (คป.สม.)
7.เครือข่ายคนฮักน้ำของ
8. กลุ่มสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนสิรินธร
9. กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล หมู่บ้านคำสร้างไชย อ.สว่างวีระวงศ์ อุบลราชธานี
10.ชมรมข้าราชการบำนาญและผู้สูงอายุ
11.พ่อค้าประชาชนชาวจังหวัดอุบลราชธานี
12.มูลนิธิประชาสังคมอุบลราชธานี
13.มูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิต
14.ผู้บริหารโรงเรียนสังกัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
15.เครือข่ายเฟซบุค ‘มั่นใจว่าคนอุบลราชธานีเกิน 1 ล้านคนคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์’
16.กลุ่มศึกษาพลังงานที่ยั่งยืนและเป็นธรรม
17.เครือข่ายพี่น้องชาวไทย-เวียดนามอุบลราชธานี
18.สมาคมคนไทย-อเมริกันในสหรัฐอเมริกา
19.เครือข่ายเฟซบุค “เครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์”
20. กลุ่มสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กราดยิงหมู่กลางโรงหนังในสหรัฐระหว่างฉาย 'แบทแมน' เสียชีวิตแล้ว 14 ราย

Posted: 20 Jul 2012 03:31 AM PDT

มือปืนในชุดดำกราดยิงใส่คนในโรงหนังในรัฐโคโลราโดอย่างไม่เลือกหน้า ล่าสุดมีรายงานว่าจับผู้ต้องสงสัยได้แล้ว มีผู้เสียชีวิต 14 รายและบาดเจ็บอีก 50 ราย

 20 ก.ค. 55 - มีรายงานว่าเกิดเหตุกราดยิงในโรงภาพยนตร์ในย่านออโรรา เมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา เมื่อเช้าวันศุกร์ตามเวลาท้องถิ่น โดยชายในชุดดำใส่หน้ากากใช้ปืนกราดยิงใส่ผู้ชมในโรงภาพยนตร์ที่ฉายเรื่อง "แบทแมน" (The Dark Knight Rises) ทำให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุทันที 10 ราย อีก 4 รายเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในภายหลัง และมีผู้บาดเจ็บอีกราว 50 ราย 

เจ้าหน้าที่ตำรวจในที่เกิดเหตุ กล่าวว่า ผู้ต้องสงสัยถูกจับกุมได้แล้วบริเวณที่จอดรถใกล้เคียงกับโรงภาพยนตร์ดังกล่าว พร้อมพบอาวุธปืนไรเฟิลและปืนขนาดพกพา ผู้ต้องสงสัยสารภาพกับตำรวจด้วยว่าเขายังมีระเบิดเก็บไว้ที่บ้าน

แดน โอตส์ ผู้กำกับการตำรวจระบุว่า อาจเป็นไปได้ว่ายังมีระเบิดบางส่วนซุกซ่อนอยู่ในโรงภาพยนตร์ เนื่องจากมีพยานบอกเล่าว่าผู้ต้องสงสัยได้จุดระเบิด โดยได้ยินเสียงและกลิ่นแก๊สออกมาในขณะที่คนร้ายเปิดฉากกราดยิงคนในโรงหนังอย่างไม่เลือกหน้า

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวว่า ไม่มีหลักฐานว่ายังมีคนร้ายคนอื่นๆ เกี่ยวข้อง

ด้านหน่วยสืบส่วนสอบสวนกลางของสหรัฐ หรือเอฟบีไอ ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์เอบีซีของออสเตรเลียว่า จากการสอบสวน ยังไม่พบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายแต่อย่างใด

สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นของรัฐโคโลราโด รายงานคำบอกเล่าของผู้อยู่ในเหตุการณ์ว่า ผู้คนในโรงหนังแตกตื่นและพยายามจะวิ่งหนีระหว่างที่มือปืนกราดยิง โดยในช่วงแรกเกิดความสับสน เนื่องจากคนบางส่วนคิดว่าเสียงยิงปืนมาจากภาพยนตร์ในโรงที่ติดกัน

 
 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

Batman US cinema shooting: Fourteen dead in Denver
http://www.bbc.co.uk/news/world-us-canada-18921492

14 dead, 50 wounded in shooting at Colorado theater, police chief says
http://edition.cnn.com/2012/07/20/us/colorado-theater-shooting/index.html?hpt=hp_t1

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสื้อแดงเชียงใหม่ 'ทุบรถ-จุดประทัด' ไล่ 'อภิสิทธิ์'

Posted: 20 Jul 2012 03:26 AM PDT

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อ่วม แดงเชียงใหม่ตามจองเวรไม่เลิก ล่าสุด ทั้งล้อมปา-ทุบรถ จุดประทัดยักษ์ไล่ จนต้องยกเลิกการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ขึ้นเครื่องบินกลับ กทม. ก่อนกำหนด

ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่าเมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 20 ก.ค. 55 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หน.พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยแกนนำระดับคนสำคัญของพรรค ได้เดินทางขึ้นมาจัดสัมมนาโครงการเสริมสร้างศักยภาพ กรรมการสาขาพรรคประชาธิปัตย์ภาคเหนือที่โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยนายอภิสิทธิ์ได้ขึ้นบรรยายประมาณ 1 ชั่วโมงเศษจากนั้นก็รีบเดินทางกลับทันทีโดยไม่ยอมให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวแต่อย่างใด เนื่องจากที่หน้าโรงแรมมีกลุ่มเสื้อแดงเชียงใหม่ ประมาณ 50 คน นำโดยดีเจอ้วน อภิชาติ อินสอน และดีเจภูมิใจ ไชยยา ได้นำคนเสื้อแดงมาในนาม "กลุ่มแดงอิสระ" ที่แยกตัวมาจากกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 พร้อมรถปราศรัยมากล่าวโจมตีนายอภิสิทธิ์ และทวงถามเรื่องที่ใครเป็นคนสั่งฆ่าคนเสื้อแดง โดยมีตำรวจร่วม 200 นาย ได้ดูแลความเรียบร้อยรอบๆ โรงแรม

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ กำลังเดินทางขึ้นรถเก๋งที่มาจอดรอรับ ได้มีกลุ่มเสื้อแดงที่อยู่นอกรั้วโรงแรม ได้จุดประทัดยักษ์ เสียงดังสนั่นทำให้นายอภิสิทธิ์ต้องรีบขึ้นรถยนต์เก๋งขับออกไปทางประตูหลังโรงแรมทันที ภายหลังจากที่กลุ่มเสื้อแดงรู้ว่านายอภิสิทธิ์ เดินทางกลับแล้วก็ได้สลายตัวกันไปในที่สุด ส่วนการประชุมยังคงจัดสัมมนากันต่อไป

รายงานข่าวระบุว่า เมื่อช่วงสายวันนี้ นายอภิสิทธิ์ ได้เดินทางไปมอบโฉนดชุมชนในท้องที่ ต.แม่แฝก อ.สันทราย ซึ่งเป็นโครงการสมัยที่เป็นนายกฯ ขากลับ ได้ถูกกลุ่มเสื้อแดงเข้าไปล้อมทุบรถยนต์ของนายอภิสิทธิ์ขณะที่กำลังจะเดินทางออกจากชุมชน เพื่อเดินทางบรรยายที่โรงแรมแกรนด์วิว แต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยกันเอารถออกมาได้ และยังถูกกลุ่มเสื้อแดงปาก้อนหินใส่รถอีกด้วย

รายงานข่าวระบุอีกว่า การมาเดินทางมาปฏิบัติภารกิจที่เชียงใหม่ครั้งนี้ ก่อนที่นายอภิสิทธิ์ จะลงเวทีที่โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล ได้มาประสานสื่อมวลชนว่า ว่าอภิสิทธิ์ จะให้สัมภาษณ์นักข่าว แต่พอรู้ว่ามีเสื้อแดงมาก่อกวนจุดทั้งบั้งไฟและประทัดไล่ที่หน้าโรงแรม ทำนายอภิสิทธิ์ยกเลิกการให้สัมภาษณ์ เดินขึ้นรถกลับไปสนามบินทันที

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: ถ่ายโอนสถานีอนามัย สู่ อปท.

Posted: 20 Jul 2012 03:11 AM PDT

รายงาน “ถ่ายโอนสถานีอนามัย สู่ อปท.” บทเรียนและข้อเสนอ จาก HSRI Forum ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 ประจำเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2555 พบสิ่งที่กังวลคือ "ความกลัว" ทัศนคติที่กลัวไปเองว่า อบต.จะบริหารไม่ได้ 
 
แกะรอย “ถ่ายโอนสถานีอนามัย” สู่ท้องถิ่น
 
แม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2540 และ ปี 2550 จะมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการกระจายอำนาจการปกครองจากส่วนกลางสู่ส่วนภูมิภาค รวมทั้งมีพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจแล้ว แต่รูปธรรมความก้าวหน้าของการกระจายอำนาจยังปรากฏให้เห็นได้น้อยมาก โดยเฉพาะในด้านสุขภาพ
 
โครงการนำร่องถ่ายโอนสถานีอนามัยไปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในปี 2550 เป็นรูปแบบหนึ่งของการกระจายอำนาจด้านสุขภาพลงไปสู่ท้องถิ่นจริงๆ โดยเริ่มต้นในสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งมี นพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สาธารณสุข เป็นผู้ที่มีบทบาทผลักดันนโยบายดังกล่าว
 
ในระยะเริ่มต้นของการถ่ายโอนสถานีอนามัย มีจำนวนเพียง 28 แห่งเท่านั้น ต่อมาในปี2554-2555 มีสถานีอนามัยที่ผ่านการประเมินและได้ถ่ายโอนเพิ่มขึ้นอีก 11 แห่ง เมื่อรวมกันทั้งหมดแล้วก็ได้เพียง 39 แห่ง จากสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่มีอยู่ทั้งหมด 9,762 แห่งทั่วประเทศ
 
เป็นเรื่องที่ดีไม่น้อยหากจะได้มีการทบทวนบทเรียนทั้งด้านบวกและด้านลบของสถานีอนามัย 39 แห่ง ที่ผ่านการถ่ายโอนมาสู่ อปท. ก่อนจะมีการก้าวเดินกันต่อไป เพราะยังมีเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยที่ถ่ายโอนไปแล้วหลายต่อหลายคนตัดพ้อเปรียบเทียบตัวเองทำนองว่า “เป็นลูกสาวที่ถูกพ่อแม่ทอดทิ้ง เพราะหลังจากแต่งงานออกไปแล้วชีวิตไม่มีความสุข” ขณะเดียวกัน สถานีอนามัยหลายแห่งก็ทำงานร่วมกับ อบต.ได้อย่างราบรื่น แม้จะมีปัญหาอยู่บ้างแต่ก็แก้ไขได้ โดยเน้นผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง
 
งานนี้ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ซึ่งได้ติดตามประเมินผลและถอดบทเรียนการถ่ายโอนสถานีอนามัยดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2552 ได้ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ (สวค.) จัดประชุม ‘สรุปบทเรียนและทิศทางในอนาคตการถ่ายโอนสถานีอนามัย’ ขึ้นเมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกว่า 100 คน
 
เริ่มจากผลการศึกษา ‘การประเมินผลท้องถิ่นกับการพัฒนาระบบสุขภาพในบริบทการกระจายอำนาจ :การสังเคราะห์บทเรียน และข้อเสนอเชิงนโยบาย’
 
โดย รศ.ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ฉายภาพรวมสถานการณ์และความสำเร็จที่แตกต่างหลากหลายของสถานีอนามัยถ่ายโอนทั้ง 28 แห่งว่า แม้ว่าหลายแห่งจะยังคงมีปัญหาการบริหารเดิมๆแต่ส่วนใหญ่ก้าวรุดไปข้างหน้าการปรับตัวได้ทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่และผู้บริหารท้องถิ่นเริ่มชัดเจนขึ้นภาพความสำเร็จตามอุดมคติ คือสามารถตอบโจทย์สุขภาพของท้องถิ่นที่ตรงจุด โดยในการทำงานของ สอ. จำนวน 12 แห่ง จาก 28 แห่ง สามารถมีแพทย์ให้บริการประจำ เปิดคลินิกนอกเวลา ขยายบริการด้านทันตสุขภาพ มีบริการนวดแผนไทย และกายภาพบำบัด
 
บางแห่งมีโครงการเชิงรุก เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในพื้นที่ โดยสามารถดำเนินบทบาททั้ง 3 ด้าน คือ การรักษาพยาบาล การส่งเสริมป้องกัน และการควบคุมโรคในชุมชน ได้อย่างเต็มที่ ขณะที่ สอ. จำนวน 16 แห่ง ลักษณะงาน ไม่ต่างจากบทบาทสถานีอนามัยทั่วไปจากก่อนและหลังถ่ายโอน คือ มีการทำงานรักษาในสถานีอนามัยและงานเชิงรุกกับกลุ่มเป้าหมาย แต่ที่เพิ่มเติมเข้ามา คือ การทำงานตามนโยบายของท้องถิ่นที่ต้องร่วมกับส่วนงานอื่นๆ ของ อบต.
 
ในอีกด้าน ยังมีปัญหาและอุปสรรคของสถานีอนามัยถ่ายโอนที่หลายส่วนยังคงเผชิญอยู่โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้การถ่ายโอนในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมาไม่ราบรื่น คือ การส่งสัญญาณเชิงนโยบายที่ไม่ชัดเจนจากระดับบน ทำให้เกิดผลเชิงคัดค้านของผู้บริหารระดับจังหวัดและอำเภอ ที่ชัดเจนที่สุดคือ การตัดขาดหรือลดการสนับสนุนทางวิชาการ และงบประมาณของ CUP ในหลายพื้นที่ ขณะที่ปัญหาในด้านกำลังคน คือ ยังไม่มีบุคลากรเข้ามาตามอัตราที่ระบุไว้จำนวน 59 ตำแหน่ง ส่วนใหญ่ คือ ทันตาภิบาล และเจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน ซึ่งจะต้องเร่งบรรจุอัตรากำลังที่วางไว้ให้เต็มโดยผ่านการคัดเลือกที่เป็นธรรม เป็นต้น
 
งานวิจัยนี้พบว่า ความกระท่อนกระแท่นของสถานีอนามัยถ่ายโอนในหลายพื้นที่มิใช่ปัญหาเฉพาะคน หรือเฉพาะพื้นที่ แต่เกี่ยวกับบริบทเชิงโครงสร้างทั้งสิ้น ทางออกในเรื่องนี้นอกเหนือจากการเรียกร้องความชัดเจนเชิงนโยบายแล้ว การระดมสรรพกำลังเพื่อช่วยให้สถานีอนามัยถ่ายโอนในภาพรวมสามารถก้าวผ่านอุปสรรคสู่ความสำเร็จได้ เช่น การเร่งบรรจุอัตราที่ว่างให้เต็มโดยเร็ว การสร้างระบบและกลไกแก้ปัญหาการบริหารที่ค้างคา ฯลฯ นับเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ที่จะทำให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะสถานบริการอื่นๆ ที่พร้อมจะถ่ายโอน เกิดความมั่นใจและกล้าที่จะตัดสินใจถ่ายโอนได้เร็วและมากขึ้น
 
กระจายอำนาจ : ชุมชนท้องถิ่นต้องเข้มแข็ง
 
นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐผู้ทรงคุณวุฒิจากกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงทิศทางและอนาคตการถ่ายโอนสถานีอนามัยให้แก่ อปท.ว่า การกระจายอำนาจเป็นทิศทางของโลก ไม่ว่าจะเป็นในประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งบางแห่งก็ประสบผลสำเร็จ แต่บางแห่งก็ล้มเหลว เช่น อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ต้องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและมีการถ่ายโอนสถานีอนามัยเพราะกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) บังคับ แต่มีปัญหาเพราะขาดทุน ท้องถิ่นไม่มีเงินจ่าย
 
ส่วนประเทศที่ประสบความสำเร็จ เช่น อิตาลีทางตอนเหนือเพราะมีองค์กรชาวบ้านและนักหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นมากมายรวมกลุ่มเพื่อต่อสู้และมีส่วนร่วมกับการพัฒนาชุมชนอย่างจริงจัง สอดคล้องกับงานวิจัยปี 1980 ที่พบว่า การกระจายอำนาจที่สำคัญ คือ ชุมชนและสังคมท้องถิ่นต้องเข้มแข็งก่อน
 
สำหรับประเทศไทยนั้น รัฐธรรมนูญปี 2540 มีบทบัญญัติให้มีการกระจายอำนาจ ซึ่งมีที่มาจากวิกฤตเศรษฐกิจในปีนั้นและปัญหานักการเมืองคอร์รัปชั่น จึงต้องทำตาม IMF เช่นกัน โดยประเทศไทยมีแผนการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นแต่ไม่ได้ทำตามนั้น คือ บังคับก็ทำ ไม่บังคับก็ไม่ทำ ซึ่งหากจะให้เกิดผลดี ชุมชนท้องถิ่นและ อปท.จะต้องทำงานร่วมกันเพราะชุมชนมีทรัพยากรมาก เช่น มีทุน บางแห่งมีกลุ่มออมทรัพย์มีเงินรวมกันมากกว่า 20 ล้านบาท มีภูมิปัญญา พระครู หมอ ชุมชนสามารถจัดการตนเองได้
 
“ในหลายๆ พื้นที่ที่ไม่มีการถ่ายโอนสถานีอนามัย แต่อบต.ก็สามารถทำงานร่วมกับ รพ.สต. ได้อย่างสอดคล้องกัน เป็นมิตรกัน ไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นลูกน้องของนักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งหากทำได้แบบนี้ คือสร้างกัลยาณมิตรระหว่างรพ.สต. อบต. และชุมชน ก็ไม่จำเป็นต้องถ่ายโอนฯ ก็ได้” นพ.สุวิทย์กล่าว
 
มองต่างมุมการถ่ายโอนอนามัย
 
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักวิชาการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงปัญหาในการถ่ายโอนสถานีอนามัยว่า จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า ปัญหาในพื้นที่เกิดจากเจตคติของผู้บริหารบางแห่งที่ไม่เกื้อหนุนการถ่ายโอน กฎระเบียบต่างๆ ยังไม่ลงตัว เช่น ระเบียบเรื่องการเงิน เรื่องตำแหน่ง รูปแบบการทำงานที่แตกต่างกันระหว่างสถานีอนามัยกับนักการเมืองท้องถิ่นทำให้การทำงานไม่ราบรื่นความเข้าใจงานด้านสาธารณสุขของผู้บริหารท้องถิ่น อัตรากำลังคนลดลง ส่งผลให้งานบริการไม่ครอบคลุมและกระทบต่อคุณภาพของบริการ บางแห่งถ่ายโอนบุคลากรไปไม่ครบ ในขณะที่ท้องถิ่นก็หาคนมาทำงานทดแทนไม่ได้ ทำให้มีคนทำงานน้อย
 
ส่วนปัญหาเชิงโครงสร้างหรือระบบ เช่น รอยต่อระหว่างระบบบริการสุขภาพ คือกระทรวงสาธารณสุขออกแบบบริการแบบเขตหรือภาค หากตัดกลุ่มปฐมภูมิออกไปจะทำให้มีรอยต่อของระบบ การจัดการในภาวะฉุกเฉิน หากกระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถสั่งการได้การสนับสนุนอาจเข้าไม่ถึง หรือระบบข้อมูลสุขภาพ ท้องถิ่นจะต้องส่งข้อมูลไปยังส่วนกลางเพื่อให้สามารถวิเคราะห์ภาพรวมของประเทศได้ แต่ที่ผ่านมาท้องถิ่นยังไม่ได้ส่งข้อมูล และประเด็นความเป็นธรรม เพราะท้องถิ่นหรือ อบต.แต่ละแห่งมีทรัพยากรไม่เท่ากัน บางแห่งมีขนาดเล็ก งบประมาณน้อย ทำให้เกิดความแตกต่าง
 
ส่วนทางออกนั้น นพ.ศุภกิจ เสนอความเห็นว่า ต้องคำนึงถึงระบบบริการที่พึงประสงค์โดยการมีส่วนร่วมตัดสินใจของชาวบ้าน ชุมชน และท้องถิ่นจะต้องมานั่งคุยกัน หาทางออกร่วมกัน และหารูปแบบในการถ่ายโอนที่เหมาะสมของแต่ละท้องถิ่น
 
“ผมทำงานมาหลายรัฐบาลแล้ว แต่ยังไม่เห็นรัฐบาลใดจะสนับสนุนการกระจายอำนาจซึ่งทิศทางในอนาคตเรื่องการถ่ายโอนยังไม่ง่ายนัก แต่ขอให้ปล่อยไปตามธรรมชาติ คือที่ใดพร้อมจะไป ที่ใดพร้อมจะรับ ก็ควรปล่อยไป ซึ่งผมก็จะพยายามประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางแก้ไขต่อไป” นพ.ศุภกิจ กล่าวสรุป
 
ทางด้าน นายปิยะ คังกัน กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นกล่าวว่า การถ่ายโอนสถานีอนามัยในช่วงแรกเกิดปัญหาหลายเรื่องเช่น ขาดการประสานงาน ขาดความเข้าใจกัน ระบบงาน ระบบเงินที่ไม่มีระเบียบรองรับทำให้เจ้าหน้าที่สับสน ไม่กล้าดำเนินการเช่น เรื่องเงินบำรุง แต่ปัญหาที่สำคัญคือการกล้าตัดสินใจของผู้บริหาร
 
“สิ่งที่กังวลคือความกลัวต่างหาก คือกลัวว่า อบต.จะบริหารไม่ได้ เพราะไม่มีงบประมาณและกระทรวงสาธารณสุขก็ไม่สามารถอุดหนุนเงินได้ แต่เมื่อถ่ายโอนไปแล้ว กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นก็สามารถของบจากสำนักงบประมาณมาอุดหนุน อบต.และสถานีอนามัยที่โอนไปแล้วก็ได้เช่นกัน โดยในปี 2555 นี้จะสนับสนุน อปท.แห่งละ 2 ล้านบาท และปีต่อๆ ไปปีละ 1 ล้านบาท” นายปิยะ กล่าว
 
ส่วนปัญหาอื่นๆ ที่ยังกังวล เช่น เรื่องอัตรากำลังคนที่ยังไม่ครบนั้น ในปีนี้กรมส่งเสริมฯ จะทำการสำรวจข้อมูลตำแหน่งที่ยังขาดและคาดว่าปลายปีนี้จะเปิดสอบตำแหน่งที่ขาดได้ส่วนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อีก 11 แห่งที่กำลังจะถ่ายโอนไปยัง อปท.ในปีนี้จะดำเนินการโดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน ส่วนเรื่องงบประมาณ เงินเดือน ค่าจ้าง สวัสดิการต่างๆ การโอนย้าย สิทธิ กบข. ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง เพราะยังได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเหมือนเดิม ดังนั้นข้าราชการที่ถ่ายโอนจึงไม่ต้องกังวลเพราะเป็นสิทธิติดตัว
 
นอกจากนี้ ข้าราชการที่ถ่ายโอนไป อปท. แล้วก็จะมีโอกาสเปิดกว้างในหน้าที่การงานมากกว่าเดิม เช่น คนที่เรียนต่อทางด้านรัฐศาสตร์หรือนิติศาสตร์ อาจจะไปทำงานด้านบริหารได้ เช่น เป็นนิติกรหรือปลัด อบต. แต่ทาง อบต. ก็ต้องหาคนทดแทนด้วย
 
ประสบการณ์และแนวคิดจากท้องถิ่น
 
นางสุชีลา พลไสย์ รักษาการผู้อำนวยการรพ.สต.เขาสมอคอน อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี กล่าวว่าสถานีอนามัยเขาสมอคอนผ่านเกณฑ์ประเมินการถ่ายโอนในปี 2553 ตั้งแต่ยังไม่ได้มีการยกฐานะเป็น รพ.สต. และเพิ่งจะถ่ายโอนในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ ในช่วงน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554ที่ผ่านมานั้น มีความคิดว่าสถานีอนามัยจะต้องทำงานร่วมกับ อบต.ให้ได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่มีปัญหา เพราะสามารถทำงานร่วมกับ อบต.ได้เป็นอย่างดี
 
“ตลอด 60 วันช่วงน้ำท่วมนั้น เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยต้องทำงานอย่างหนัก เราต้องลงเรือไปเยี่ยมบ้าน ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ทำงานแบบไม่มีวันหยุด เวลาขอความช่วยเหลือไปยัง อบต. ก็ได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นวัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ ที่สถานีอนามัยต้องการ ดังนั้นแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนขั้วการเมืองในท้องถิ่น เราก็ไม่กลัว เพราะเราทำงานกับชาวบ้านช่วยเหลือชาวบ้าน ไม่ได้สนับสนุนการเมืองฝ่ายใด เราจะนำพา รพ.สต. ไปให้ดี เพื่อเป็นแบบอย่างให้ รพ.สต.อื่นๆ อยากจะถ่ายโอนบ้าง” นางสุชีลากล่าว
 
ทพญ.วิไลลักษณ์ ทิวากรกฎ โรงพยาบาลอัมพวา จ.สมุทรสงคราม ได้นำเสนองานวิจัยเรื่อง‘ความพึงพอใจและผลกระทบภายหลังการถ่ายโอน กรณีสถานีอนามัยสมุทรสงคราม’ โดยพบว่า “บุคลากรของสถานีอนามัยมีความพอใจต่อระบบการบริหารจัดการของ อบต. ที่เร็วกว่าระบบของสาธารณสุขจังหวัดมาก เช่น เมื่อทำเรื่องขออุปกรณ์การติดต่อสื่อสารก็จะได้รับการสนับสนุนจาก อบต. และได้รับเงินโบนัสมากกว่าสาธารณสุขนอกจากนั้น อสม. ก็มีเอกภาพในการทำงานมากขึ้น เพราะแต่เดิม อสม.จะทำงานขึ้นกับสถานีอนามัยแต่ละแห่ง แต่เมื่อถ่ายโอนแล้วก็จะขึ้นอยู่กับ อบต.เพียงแห่งเดียว ทำให้การทำงานสะดวกรวดเร็วขึ้น”
 
ส่วนที่ไม่พึงพอใจ เช่น ไม่สามารถใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลได้คำสั่งจาก อบต.บางครั้งมีความล่าช้า ไม่ชัดเจน ไม่ได้รับการสนับสนุนจากบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่เดิมเพราะถือว่าถ่ายโอนไปแล้ว ฯลฯ ส่วนบุคลากรของ อบต.ไม่พึงพอใจในประเด็นภาระงานที่เพิ่มมากขึ้น เช่น งานด้านเอกสารโบนัสที่ลดลงเพราะมีเจ้าหน้าที่อนามัยมาเป็นตัวหาร ฯลฯ
 
“อีกด้านของผลสำรวจพบว่า ประชาชนมีความพึงพอใจ เพราะมีบริการทันตกรรมเพิ่มขึ้น ประชาชนไม่ต้องเสียเวลาและประหยัดค่าเดินทาง” ทพญ.วิไลลักษณ์ กล่าว
 
สรุปบทเรียนและข้อเสนอแนะ
 
การประชุม ‘สรุปบทเรียนและทิศทางในอนาคตการถ่ายโอนสถานีอนามัย’ ในครั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ที่หลากหลาย ซึ่งสรุปเป็นประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้
 
1. การเตรียมความพร้อมรองรับการถ่ายโอน : การถ่ายโอนในช่วงที่ผ่านมานั้น การเตรียมความพร้อมยังไม่เป็นระบบ ขาดการสนับสนุนจากส่วนกลาง ระดับจังหวัด และอำเภอ หมอและเจ้าหน้าที่อนามัยที่ถ่ายโอนไปยังรู้สึกโดดเดี่ยวที่ประชุมเสนอว่า ควรจัดทำคู่มือการถ่ายโอนที่มีความละเอียดเพียงพอ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดอบรมหรือชี้แจงให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเกิดความเข้าใจตรงกัน เช่น ระเบียบต่างๆ การบริหารบุคคล ระเบียบการเงินการคลัง ฯลฯรวมทั้งเสนอให้จัดตั้งเครือข่ายในระดับพื้นที่เพื่อเป็นช่องทางในการปรึกษาหารือ
 
2. ปัญหาอุปสรรค และระบบสนับสนุนที่เอื้อต่อการถ่ายโอน : ที่ผ่านมาปัญหาที่เห็นชัดเจน เช่น การขาดแคลนกำลังคน ระเบียบงานบริหารบุคคล ระเบียบเงินบำรุง การบริหารจัดการของโรงพยาบาลแม่ข่าย (CUP) ซึ่งที่ผ่านมา ผู้บริหารของ CUP บางแห่งไม่ให้ความสำคัญหรือไม่ให้การสนับสนุนแก่สถานีอนามัยที่ถ่ายโอนไปแล้ว ที่ประชุมเสนอว่า ควรมีการโอนย้ายกำลังคนให้มีความพร้อมก่อนการถ่ายโอน ให้มีการจ้างงานระบบพิเศษสำหรับคนในพื้นที่ และ สปสช.สาขาจังหวัด สสจ. และ CUP ควรทำความเข้าใจเรื่องการจัดสรรงบประมาณค่าหัวให้แก่สถานีอนามัยหรือ รพ.สต. และต้องกำหนดนโยบายชัดเจนให้ CUP มีหน้าที่สนับสนุนทรัพยากร ความรู้ ฯลฯ แก่สถานบริการที่ถ่ายโอน
 
3. การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรสาธารณสุขสังกัด อปท. : เนื่องจากที่ผ่านมาบุคลากรสาธารณสุขที่ถ่ายโอนมาไม่ได้รับการพัฒนาศักยภาพจากกระทรวงสาธารณสุขมากนักเนื่องจากอยู่คนละสังกัด และยังต้องเรียนรู้งานของท้องถิ่นมากขึ้น ที่ประชุมมีข้อเสนอว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะมีแผนพัฒนาบุคลากรสาธารณสุขอย่างเป็นระบบ และต้องวิเคราะห์ว่าควรจะต้องมีความรู้เพิ่มเติมในเรื่องใดบ้าง เนื่องจากงานในสถานีอนามัยของท้องถิ่นมีขอบเขตที่กว้างกว่างานสถานีอนามัยในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
 
ก้าวต่อไปของการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ
 
นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวสรุปว่า การกระจายอำนาจไม่ใช่การถ่ายโอน แต่เป็นกระบวนทัศน์ใหม่ จากเดิมที่เคยรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลางก็เปลี่ยนมาให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการบริหารจัดการ ซึ่งในช่วงต้นของการถ่ายโอนสถานีอนามัย ถือว่าเป็นการเรียนรู้ถ่ายทอดประสบการณ์ เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข ส่วนกระบวนการทำงานต่อไปยังมีอีกหลายประเด็นที่จะต้องดำเนินการ อาทิ
 
1. ต้องปรับความเข้าใจเรื่องการกระจายอำนาจ เพราะการกระจายอำนาจคือให้พื้นที่บริหารจัดการและตัดสินใจเองได้ บนพื้นฐานทรัพยากรที่มีอยู่ ซึ่งแต่ละพื้นที่อาจไม่เท่ากัน เช่น อบต.ใดที่มีเศรษฐกิจดีกว่าอาจจ่ายค่าตอบแทนให้บุคคลากรได้มากกว่า
 
2. เมื่อกระจายอำนาจไปแล้วก็ยังต้องมีความรับผิดชอบในการรายงานผลการปฏิบัติงานเพราะท้องถิ่นก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ แต่บางส่วนยังไม่เข้าใจบทบาทของตัวเอง ซึ่งอาจเป็นเพราะทัศนคติระหว่างหน่วยงานมีการแบ่งแยกเป็น ‘พวกเขา-พวกเรา’ ต้องเปลี่ยนทัศนคติตรงนี้ให้ถูกต้อง
 
3. ต้องมีการปรับปรุงระบบ ระเบียบ เช่น ระเบียบการจ้างบุคลากร จากเดิมที่ใช้คำว่า ‘ลูกจ้างประจำ-ลูกจ้างชั่วคราว’ ก็อาจเปลี่ยนเป็น ‘ข้าราชการเงินเดือนจากเงินบำรุง’ หรือ ‘ข้าราชการเงินเดือนจากเงินบริจาค’ ซึ่งก็เป็นข้าราชการเหมือนกัน ดังนั้นเงินเดือนและสถานะการจ้างจึงต้องดึงดูดใจเหมือนกับเป็นข้าราชการ ส่วนระเบียบใดที่ยังไม่ชัดเจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมส่งเสริมการปกครองฯ ต้องปรับปรุงทำให้ชัดเจน หรือให้ผู้บริหารท้องถิ่นใช้ดุลพินิจพิจารณาได้ โดยเชิญ สตง. มาช่วยกันทำระเบียบการบริหารการเงินแล้วทำเป็นคู่มือออกมาเพื่อให้สถานีอนามัยหรือ รพ.สต.นำไปใช้ ฯลฯ
 
นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวในตอนท้ายว่า เจ้าหน้าที่อนามัยหรือหมออนามัยถ่ายโอนจะต้องมีการรวมกลุ่มกันให้เหนียวแน่น ใช้ Social media เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารกัน ปรึกษาหารือกัน “ในฐานะผู้บุกเบิก ถือว่ามีความกล้าหาญ คนที่ก้าวออกมาก่อนจะอยู่รอดก่อน”
 
นี่คือประสบการณ์และบทเรียนของสถานีอนามัยถ่ายโอนรุ่นแรกทั้ง 28 แห่งทั่วประเทศถึงแม้ว่าจะมีอุปสรรคขวากหนามอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าเป็นประโยชน์สำหรับสถานีอนามัยที่กำลังจะถ่ายโอนในช่วงต่อไปได้ศึกษาเรียนรู้ขณะเดียวกันหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับกระทรวงลงมาจนถึงท้องถิ่นก็ต้องช่วยกันขจัดอุปสรรคต่างๆ ที่ไม่เอื้อต่อการถ่ายโอน และช่วยกันสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ถ่ายโอนเพื่อจะได้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มกำลังตามศักยภาพที่มีอยู่
 
เพราะท้ายที่สุดแล้ว เป้าหมายของการถ่ายโอนก็คือ การบริการสุขภาพที่ยึดผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนและชุมชนท้องถิ่นเป็นที่ตั้งนั่นเอง..!!
 
 
 
 
 
 
 
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประวิตร โรจนพฤกษ์: บทสนทนาระหว่างผู้พิพากษาคดี ม.112 กับทนายอานนท์

Posted: 20 Jul 2012 02:14 AM PDT

บทสนทนาระหว่างท่านผู้พิพากษา อภิสิทธิ์ วิระมิตรชัย หนึ่งในองค์คณะผู้พิพากษาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของนายเอกชัย (สงวนนามสกุล) กับทนายฝ่ายจำเลย ทนายอานนท์ นำภา เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2555 (ซึ่งเป็นวันที่ 3 ของการพิจารณาคดี) น่าจะช่วยให้สังคมเข้าใจรายละเอียดของการต่อสู้คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพดีขึ้น ผู้เขียนซึ่งได้บันทึกบทสนทนาด้วยปากกาจึงขอนำบางส่วนของการสนทนาดังกล่าวมาเผยแพร่ โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่สังคม

(นายเอกชัยถูกจับเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2554 ข้อหาขายก้อปปี้ CD สารคดีเรื่องอนาคตสถาบันกษัตริย์ไทยกับ ม.112 ของโทรทัศน์ออสเตรเลีย the Australian Broadcasting Corporation (ABC) พร้อมเอกสาร WikiLeaks สองชุดที่มีการอ้างคำพูดของ ประธานองคมนตรี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ องค์มนตรี พลอากาศเอก สิทธิ เศวตศิลา อดีต นายกรัฐมนตรี นายอานันท์ ปันยารชุน และ นายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในตอนนั้น – เอกชัยถูกจับแถวสนามหลวงหลังตำรวจนอกเครื่องแบบล่อซื้อ CD ในราคา 20 บาทแถวสนามหลวง เอกชัยถูกขังคุก 9 วันก่อนได้รับการประกันตัว และปัจจุบันอยู่ระหว่างการต่อสู้คดี)

ผู้พิพากษาอภิสิทธิ์: ถ้า [ม.112] ขัดรัฐธรรมนูญ ก็จบ ใช้ไม่ได้ แต่ถ้าไม่ คุณจะสู้คดีอย่างไร? ยิ่งจริงยิ่งหมิ่น ฟังก่อน และถ้าไม่จริงก็โคตรหมิ่นเลย เพราะฉะนั้นการพิสูจน์ว่าจริงไม่จริง ไม่เป็นประโยชน์ต่อคุณเลย… ให้คุณพิจารณาเอาเอง มันไม่ได้เป็นผลดีต่อตัวคุณเลย…

ทนายอานนท์: ถ้า [ข้อมูลในวิดีโอและ WikiLeaks] เป็นความจริง เราก็สู้โดยสุจริต ปัญหาคือจะเรียนเชิญทั้งสอง [พลเอกเปรม กับ องคมนตรีสิทธิ] และขอหมายเรียก [จากศาล] มา 3 ครั้งแล้ว

ผู้พิพากษา: พยานไม่เป็นประโยชน์ต่อคดี

ทนายอานนท์: ผมเชื่อว่าท่านองคมนตรีจะพูดความจริง

ผู้พิพากษา: ถ้าคุณจะอ้างว่าผมจะพูดถึงใครก็ได้ อันนั้นก็อ้างรัฐธรรมนูญมา …แต่เรื่องข้อความทางกฎหมาย ยิ่งจริงยิ่งหมิ่น…เข้าใจเปล่า?... ถ้าไม่มีผลในคดีเท่าที่ควร ทำไปมันก็ไม่ได้อะไร มันได้แต่ความสะใจ

ทนายอานนท์: ท่านองคมนตรีเป็นหลักสังคม ท่านจะพูดความจริง

ผู้พิพากษา: ฝ่ายโจทก์ไม่ได้โต้เรื่อง WikiLeaks ไม่ได้โต้เนื้อหาว่าจริงไม่จริง เขาบอกข้อความเป็นการหมิ่น ศาลก็ไม่ได้คัดค้านอะไรคุณ แต่คุณลองคิดให้ดีก่อน [ถ้า] มาดูเอ๊ะ จะสู้แนวไหนกันแน่ มันจะเป็นผลดีกับตัวคุณเอง…

ทนายอานนท์: (บอกว่ากฎหมายค้มครองไม่ให้วิจารณ์องค์ประมุขเท่านั้น ไม่รวมพระราชินีหรือองค์รัชทายาท)

ผู้พิพากษา: ตีความเถียงอาจารย์ ก็สอบตก ไม่ได้เกรดเอ (A) … ศาลตีความให้ได้เลยว่าขัด [ม.112] ไม่ขัด อย่าเข้าใจผิดนะ ศาลเปิดโอกาสให้คุณสู้คดี เต็มที่เลย

ทนายอานนท์: ผมคิดว่าแนวทางการต่อสู้ค่อนข้างจะชัดเจนว่าข้อความเป็นความจริง เราก็ยืนยันว่าเราสู้แนวข้อเท็จจริง….

ผู้พิพากษา: ไม่มีธง…พูดแบบแฟร์ๆ

หลังจากนั้นก็ศาลก็ให้พักหารือ 20 นาที และมีการถกเถียงกันในกลุ่มของเอกชัยอย่างดุเดือดว่าจะเอาอย่างไรต่อ และข้อดีข้อเสียแต่แนวทางต่อสู้คดีแต่ละแบบเป็นอย่างไร

เอกชัยบอกผู้เขียนว่า ‘คดีผม สำคัญที่สุดต้องเอา […] 3 คนนี้มา […] ต่อให้สู้เรื่องเจตนา ผมก็ไม่รอด’

20 นาทีผ่านไป ศาลสองท่านขึ้นบัลลังก์ แล้วทนายอานนท์ก็ยังยืนยันว่าอยากจะพิสูจน์ความจริงของข้อมูลใน WikiLeaks และวิดีโอ ABC

ผู้พิพากษา: คืออย่างนี้ ศาลไม่ขัดขวาง ศาลพูดเป็นแนวทางเฉยๆ ไม่ได้บังคับ โจทก์ไม่ได้โต้เถียงเรื่องข่าว WikiLeaks เลยว่าไม่มีหรือไม่มีการพูด อ้างพยานเพิ่มเติมถ้ามีเหตุผลศาลให้อยู่แล้ว ศาลรู้และเข้าใจความเป็นกังวลของจำเลย [แต่] ถ้าสืบเรื่องข้อเท็จจริงอย่างเดียวจะเสียต่อคดี

ศาลไม่ได้แนะนำ ไม่ได้มีอะไร ไม่ได้กลัวอะไร… ศาลบอกว่า คุณจะสู้แนวไหน

ทนายอานนท์: ในบันทึกการจับกุม [เอกชัย] จำเลยใช้คำว่า [ข้อมูล] เป็นคำพูดไม่เหมาะสม [ซึ่งอาจต่างจากคำพูดหมิ่น]

ผู้พิพากษา: จำเลยสู้ว่าไม่มีเจตนาหมิ่น เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญและสิทธิเสรีภาพก็ว่าไป เอาอย่างนี้ดีกว่า ศาลอธิบายนิดนึงนะ ศาลไม่ได้ปิดกั้นเรื่องพยาน

เรื่องนี้มันละเอียดอ่อน ศาลเป็นกลางจริงๆ ศาลไม่มีอะไรเลย ศาลก็เป็นประชาชนคนหนึ่ง

พูดตรงๆเลย บางทีแพ้ทางเทคนิคมันเจ็บใจ… ศาลไม่ได้บอกแนว [ต่อสู้คดี] นะ ศาลถามแนวทางเพื่อให้คุณมีโอกาสเตรียมตัวสู้คดีอย่างเต็มที่ ส่วนเรื่องส่งศาลรัฐธรรมนูญ [ว่า ม.112 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่] ศาลอนุญาตให้ส่งนะ

เรื่องหมายเรียก [ให้พลเอกเปรมกับ พลอากาศเอกสิทธิ] ของดไว้ก่อน ไม่ใช่งดเลย ศาลเข้าใจว่าคุณกังวล งดไว้ก่อนไม่ใช่ไม่ออกแล้ว

 


อ่านรายละเอียดได้เพิ่มเติมในข่าว

คดีคนขายซีดี ABC ยอมระงับขอหมายเรียก'เปรม' - เลื่อนสืบพยาน 20 พ.ย.
Court defers lese majeste case, defence advised

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ร้องออกกฎสากลคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หวังพัฒนาระบบ cloud

Posted: 19 Jul 2012 08:19 PM PDT

ตัวแทนฟูจิตสึ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ชี้อุปสรรคสำคัญของการพัฒนาระบบ cloud อยู่ที่กฎหมายคุ้มครองข้อมูลบุคคลของแต่ละประเทศยังมีระดับที่ไม่เท่ากัน จึงต้องมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลที่เป็นมาตรฐานสากล เพื่อให้อุตสาหกรรม cloud โตได้

ครือข่ายพลเมืองเน็ต รายงานข่าวจากที่ประชุมอินเทอร์เน็ตภิบาลเอเชียแปซิฟิก เมื่อวันที่ 19 ก.ค.55 ในการแลกเปลี่ยนเรื่องความร่วมมือทางนโยบายของสหรัฐและญี่ปุ่น เรื่องเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ต (U.S.-Japan Policy Cooperation Dialogue on the Internet Economy) มีการพูดถึงเรื่อง APEC Data Privacy Subgroup หรือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก - ประกอบด้วยประเทศในเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ที่จะพัฒนากฎระเบียบนานาชาติเพื่อคุ้มครองข้อมูลและความเป็นส่วนตัว ซึ่งจำเป็นต่อการทำธุรกรรมหรือประมวลผลข้อมูลข้ามพรมแดนเช่นกรณีของระบบคลาวด์ (cloud computing) (http://www.state.gov/r/pa/prs/ps/2012/03/186687.htm)

ในการประชุมอินเทอร์เน็ตภิบาลเอเชียแปซิฟิกครั้งที่ 3 ตัวแทนจากบริษัทฟูจิตสึ (Fujitsu) ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์กล่าวบนเวทีระบบคลาวด์ ว่า ฟูจิตสึ ต้องการขยายศูนย์ข้อมูลไปยังประเทศต่างๆ เพื่อให้บริการได้ครอบคลุมมากขึ้น บริการได้ดีขึ้น แต่อุปสรรคสำคัญคือ ระดับนิติรัฐของแต่ละประเทศนั้นไม่เท่ากัน และในบางประเทศก็ยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลบุคคล มันจึงเป็นเรื่องลำบาก เพราะข้อมูลของคนที่ออสเตรเลียเมื่อถูกส่งไปเก็บที่ประเทศอื่น ก็มีคำถามว่า จะถูกคุ้มครองไหม ปัจจุบันสิ่งที่ฟูจิตสึทำคือ ต้องทำข้อตกลงเป็นรายๆ กับศูนย์ข้อมูลพาร์ตเนอร์ที่ในประเทศเหล่านั้น ว่าจะทำตามกฎหมายของออสเตรเลีย ซึ่งต้องอาศัยความเชื่อใจกัน และมีขั้นตอนการตรวจสอบให้แน่ใจ สิ่งเหล่านี้ใช้เวลาและทรัพยากรอย่างมาก เขาจึงเสนอว่าประเทศต่างๆ จำเป็น ต้องมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลที่เป็นมาตรฐานสากล เพื่อที่จะให้อุตสาหกรรม cloud โตได้

การประชุมอินเทอร์เน็ตภิบาล (Internet Governance Forum - IGF) เป็นเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องการดูแลอินเทอร์เน็ต ครอบคลุมประเด็นทั้งด้านเทคโนโลยี สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ โดยได้รับมอบหมายจากสหประชาชาติ การประชุม IGF มีทั้งเวทีระดับสากล ภูมิภาค และระดับชาติ ปี 2012 นี้ระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจัดที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ติดตามได้ที่ http://2012.rigf.asia/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชนชั้นของ “หู”และเศรษฐศาสตร์การเมืองของเสียง

Posted: 19 Jul 2012 07:46 PM PDT

“หู” ของมนุษย์เป็นสิ่งประกอบสร้างทางวัฒนธรรมไม่ได้แตกต่างไปจากการรับรู้ผ่านผัสสะอื่นๆ และเมื่อมันเป็นวัฒนธรรมมันจึงต้องผ่านการเรียนรู้ การที่สังคมหนึ่งมีการเรียนรู้การผลิตซ้ำการฟังในคนกลุ่มหนึ่งไปพร้อมๆ กับ มีการป้องกันไม่ให้มีการฟังและการเรียนรู้ในคนอีกกลุ่มมันก็เป็นกระบวนการธำรงค์รักษาความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคมไว้ผ่านความสามารถของการฟัง ซึ่งนั่นก็เชื่อมโยงกับการผลิตซ้ำความสูงส่งของความสามารถในการฟังหรือการถือครอง “หู” ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

การควบคุม “หู” ไม่ใช่เรื่องเฉพาะสังคมสมัยใหม่ สังคมสมัยเก่าที่เส้นแบ่งของดนตรีกับสรรพเสียงต่างๆ ยังไม่ชัดเจนก็มีกระบวนการควบคุม “หู” ตั้งแต่กระบวนการเรียนรู้ภาษาศักดิ์สิทธิ์ในบางชนชั้น ไปจนถึงกระบวนการสร้างความศักดิ์สิทธิ์ด้วยเสียงอันศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่ทางพิธีกรรมที่คนบางกลุ่มในสังคมเท่านั้นจะมีส่วนร่วมได้ คนในสังคมไม่สามารถแยกแยะและเข้าถึงเสียงได้เท่าเทียมกันหมดมาแต่โบราณกาลเท่าที่มนุษย์มีอารยธรรมแล้ว

กลไกต่างๆ ในสังคมดังเดิมมักจะผูกโยงกันหมด และผู้ที่พยายามละเมิดกฎเกณฑ์การผลิตซ้ำ “หู” ก็จะโดนลงทัณฑ์ที่ซ้อนกันไปหมดตั้งแต่ในระดับสังคมวัฒนธรรมไปจนถึงเศรษฐกิจการเมือง นี่คือกลไกที่จะทำให้คนไม่ละเมิดและได้มาซึ่ง “หู” ที่เขาไม่ควรจะมี กล่าวคือถ้าคุณไปละเมิดข้อห้ามทางวัฒนธรรมการฟังคุณก็อาจโดนบทลงโทษในทุกระดับของชีวิตทางสังคมจากเพื่อนร่วมสังคมไปพร้อมกับโดนบทลงโทษจากบรรดาผู้ปกครองสังคม และถึงจะเป็นสังคมที่สมัยใหม่ขึ้นมาหน่อย เช่นในสังคมยุโรปช่วงสมัยใหม่ตอนต้น ชนชั้นศักดินาก็มีกลไกทางการเมือง (ถ้าเราจะไม่แยกมันออกจากการทหาร) ที่จะกันไม่ให้ชนชั้นล่างมี “หู” แบบชนชั้นสูงได้ [1] เพราะอย่างน้อยที่สุดดนตรีคลาสสิคก็เป็นสิ่งที่เล่นกันแค่ในรั้วในวัง ซึ่งไม่ใช่พื้นที่ที่ชาวบ้านร้านตลาดจะเข้าถึงได้ [2] ก็ลองคิดเล่นๆ แล้วกันว่าถ้าคุณเป็นชาวนาแล้วคุณเดินดุ่มๆ เข้าไปในวังของพวกเจ้าศักดินาจะเกิดอะไรขึ้น ชนชั้นล่างจึงไม่สามารถจะมี “หู” แบบชนชั้นสูงด้วยเหตุผลดังนี้

เมื่อทุนนิยมและชนชั้นกลางเรืองอำนาจในศตวรรษที่ 19 ดนตรีอย่างดนตรีคลาสสิคก็กลายมาเป็นเครื่องมือในการยกระดับทางวัฒนธรรมของชนชั้นกลางบางส่วนที่ได้กลายมาเป็นชนชั้นสูงใหม่ การมี “หู” ที่สามารถเข้าถึงดนตรีที่มีภูมิหลังและรายละเอียดที่ซับซ้อนอย่างดนตรีคลาสสิคของยุโรปกลายมาเป็นองค์ประกอบของชนชั้นสูงใหม่นี้ อย่างไรก็ดีชนชั้นสูงใหม่นี้ ก็ไม่สามารถสร้างพรมแดนขวางกั้นไม่ให้ชนชั้นกลางการพัฒนา “หู” ผ่านกระบวนการทางการเมืองได้แบบชนชั้นสูงยุคศักดินา เนื่องจากทุกคนดูจะเท่ากันต่อหน้าระบบทุนนิยม

ภายใต้เงื่อนไขนี้ กระบวนการสร้างพรมแดนการพัฒนา “หู” ก็เปลี่ยนไปเป็นกระบวนการทางเศรษฐกิจแทน กล่าวคือการได้มาซึ่ง “หู” ที่ฟังดนตรีคลาสสิคแบบยุโรปได้อย่างซาบซึ้งนั้นต้องใช้ต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สูง ไม่ว่าจะเป็นการเรียนดนตรี ไปจนถึงการจ่ายค่าบัตรคอนเสิร์ต ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ชนชั้นล่างไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายๆ ดังนั้นการกล่าวว่าดนตรีคลาสสิคเป็นดนตรีของทุกชนชั้นนั้นจึงน่าจะตกข้อความบางส่วนไป เพราะดนตรีคลาสสิคดูจะเป็น “ดนตรีของทุกชนชั้นที่มีเงินเพียงพอ” มากกว่า ซึ่งนี่ก็ไม่ได้ทำให้มันแตกต่างไปจากบรรดาสรรพสิ่งในโลกทุนนิยมที่ถึงแม้สินค้าแบรนด์หรูที่แพงที่สุดในห้างสรรพสินค้าจะไม่แบ่งแยกชนชั้นของผู้บริโภคด้วยตัวมันเอง แต่จำนวนเงินในกระเป๋าของผู้บริโภคนั่นแหละที่กลายมาเป็นเครื่องแบ่งชนชั้น

รูปแบบการยกระดับทางวัฒนธรรมผ่านการพัฒนา “หู” ในเงื่อนไขของกำแพงทางเศรษฐกิจนี้ก็ปรากฏมาเรื่อยๆ ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเป็นอย่างไร หลังจากดนตรีสมัยนิยม (popular music) กับเทคโนโลยีบันทึกเสียงเกิดมาในตอนช่วงต้นศตวรรษที่ 20 รูปแบบของเส้นแบ่งทางวัฒนธรรมก็ไม่ได้ต่างออกไปเท่าใดนัก อย่างน้อยๆ ดนตรีที่เคยเป็นดนตรีชั้นต่ำจากโรงเหล้าและซ่องตอนต้นศตวรรษที่ 20 อย่างดนตรีแจ๊ส ก็กลายมาเป็นดนตรีที่ต้องใช้ “หู” ของผู้มีอันจะกินฟังได้ภายในเวลาไม่ถึงครึ่งศตวรรษด้วยซ้ำด้วยกลไกที่ไม่ได้ต่างจากกลไกที่ใช้ป้องกันไม่ให้ชนชั้นล่างเข้าถึงดนตรีคลาสสิคเท่าไร กล่าวในอีกแบบก็คือในปัจจุบันความสามารถในการฟังอดีตดนตรีชั้นต่ำอย่างแจ๊สก็ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของ “หู” ของชนชั้นกลางระดับสูงบางกลุ่มไปเรียบร้อยแล้ว [3]

ในปัจจุบันอันเป็นยุคดิจิตัล ความสัมพันธ์กันระหว่างชนชั้นกับ “หู” ก็ยังดำรงอยู่ดี ในโลกที่ผู้คนฟัง mp3 กันอย่างกว้างขวาง ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นของ “หู” ที่เกิดขึ้นใหม่ในยุคนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของความสามารถในการซาบซึ้งดนตรีที่ซับซ้อนดังเช่นในยุคก่อน แต่เป็น ความสามารถในการแยกแยะ “คุณภาพเสียง” ที่แตกต่างกันจากอุปกรณ์ทางดนตรีต่างๆ ตั้งแต่เครื่องดนตรี ไมโครโฟน อุปกรณ์บันทึกเสียง ยันเครื่องเสียง

ในยุคปัจจุบันอุปกรณ์ทางดนตรีสารพัดถูกผลิตจากทั่วโลกมาในคุณภาพและราคาที่แตกต่างกัน แต่ความสามารถในการรับรู้ความแตกต่างนั้นก็มีราคาที่จะต้องจ่ายเพื่อที่จะได้มันมา ซึ่งมันก็ไม่ได้ต่างจากราคาที่คนจะต้องจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่ง “หู” ที่สามารถจะซาบซึ้งไปกับดนตรีคลาสสิคหรือแจ๊สได้อย่างที่เคยเป็นมาในศตวรรษที่ 20

ทุกวันนี้ในยุคอินเทอร์เน็ต ดนตรีที่ส่วนล่างของสังคมเคยเข้าถึงได้อย่างยากลำบากอย่างคลาสสิคและแจ๊สก็อยู่ห่างกับพวกเขาแค่เพียงมือคลิกเท่านั้นเพียงพวกเขาเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ในยุคนี้ไม่ว่าจะเป็นการไปดาวน์โหลดมาฟังหรือการดูและฟังในเว็บอย่าง YouTube ก็ล้วนเป็นหนทางในการเข้าถึงดนตรีเหล่านี้ที่ง่ายดายกว่ายุคก่อนหน้านี้ที่กำแพงทางเศรษฐกิจจะทำให้คนยากจะเข้าถึงดนตรีเหล่านี้ได้ง่ายๆ แน่ๆ

ในประเทศโลกที่หนึ่งไม่ว่าจะเป็นราคาของอาหารและเครื่องดื่มในคลับแจ๊ส และราคาบัตรคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิคอันสูงลิบ หากเปรียบดูจะเป็นตัวบ่งชี้ที่ดีถึงลักษณะทางชนชั้นของดนตรีเหล่านี้ และในประเทศโลกที่สามที่ไม่มีการผลิตงานดนตรีเหล่านี้ในประเทศอย่างแพร่หลาย ราคาของแผ่นซีดีดนตรีเหล่านี้ที่เป็นสินค้านำเข้าราคาสูงลิบก็ดูจะเป็นตัวบ่งชี้ลักษณะทางชนชั้นของดนตรีเหล่านี้ที่ดีเช่นกัน จะกีดกันชนชั้นที่ไม่มีอันจะกินจากการบริโภคดนตรีเหล่านี้อย่างชัดเจน [4] นี่ดูจะเป็นตัวอย่างเบื้องต้นของกำแพงทางเศรษกิจในการเข้าถึงดนตรีที่หมดไปหรืออย่างน้อยๆ ก็ลดบทบาทในการปิดกั้นการเข้าถึงดนตรีเหล่านี้ในยุคอินเทอร์เน็ต

ในยุคปัจจุบันที่คนทุกคนสามารถเข้าถึงดนตรีแทบทุกรูปแบบนี้ได้หรือสามารถมี “หู” ในทุกแบบที่โลกเก่ามีกำแพงสารพัดที่ป้องกันไม่ให้พวกเขามีได้ [5] กำแพงอันใหม่ที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องของของที่ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าถึงได้อย่าง “คุณภาพเสียง” ของอุปกรณ์ต่างๆ ที่ตอนนี้คนยังไม่สามารถดาวน์โหลดมาฟรีๆ ได้

กีต้าร์ตัวละ 20,000 ต่างจากกีต้าร์ตัวละ 200,000 หรือไม่? ไมโครโฟนตัวละ 2,000 ต่างจากไมโครโฟนตัวละ 20,000 หรือไม่? เครื่องเสียงชุดละ 10,000 ต่างจากเครื่องเสียงชุดละ 100,000 หรือไม่? ไปจนถึงเสียงจาก mp3 ที่โหลดฟรีมาจากอินเทอร์เน็ตต่างจากเสียงจากแผ่นเสียงที่ราคาเป็นพันๆ หรือไม่? คำตอบของคุณจะเป็นแบบไหนมันก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณได้พัฒนา “หู” แบบชนชั้นสูงทางดนตรีในยุคดิจิตัลมาแค่ไหน

“หู” แบบนี้เกิดจากการคลุกคลีและเปรียบเทียบกับอุปกรณ์ทางเสียงที่ราคาแตกต่างกันเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้เงินและเวลาสูงในระดับที่อาจไม่ต่างจากการได้มาซึ่งหูในการฟังดนตรีแจ๊สและคลาสสิคในยุคก่อนๆ ด้วยซ้ำ แต่ความแตกต่างเหล่านี้จะดูไม่มีประเด็นเลยสำหรับคนที่ไม่มี “หู” แบบนี้ หากท่านเคยมีประสบการณ์หลุดเข้าไปในบทสนทนาของผู้คนของผู้คนที่มี “หู” ต่างจากท่านโดยสิ้นเชิง และงงงวยว่าไอ้แต่ละรุ่นของอุปกรณ์ราคาสูงลิบนั่นมันแตกต่างกันอย่างไร นี่แหละความไม่มีประเด็นที่ว่า

แน่นอนว่าบรรดาคนดนตรีทั้งหลายอาจยืนยันในความต่างของเสียงที่ท่านเพ่งแล้วเพ่งอีก (หรือตั้งใจฟังแล้วตั้งใจฟังอีก) ก็มองไม่เห็น (หรือไม่ได้ยิน) และท่านก็อาจไม่สนใจด้วยซ้ำ นี่เป็นอาการของความเสื่อมอำนาจในการแบ่งชนชั้นของ “หู” ที่เกิดการระบบที่สามารถผลิตความแตกต่างมาได้ แต่ไม่สามารถผลิตความสูงส่งมากำกับความแตกต่างได้ ซึ่งมันก็คงจะเป็นแบบนี้ตราบที่มหาวิทยาลัยยังไม่พัฒนาทักษะการแยกแยะเสียงของอุปกรณ์พวกนี้ให้เป็นศาสตร์ แบบที่มันได้รวมดนตรีคลาสสิคและดนตรีแจ๊สเข้ามาในสถาบันทางวิชาการ

นี่คือความง่อนแง่นของการเป็นชนชั้นสูงทางศิลปวัฒนธรรมในโลกทุนนิยมปัจจุบัน ที่ความต่างซึ่งเคยมีลักษณะสูงต่ำได้กลายมาเป็นความต่างที่วางอยู่บนระนาบเดียวกันที่มันไม่ได้มีความสูงส่งในระดับที่ควรค่าต่อการเหยียดหยามหรือต่อต้านด้วยซ้ำ

ในกรอบแบบนี้การยกระดับ “เสียงที่ดี” ของอุปกรณ์ทางดนตรีราคาสูงๆ และการประณามหยามเหยียด “เสียงที่ห่วย” ของอุปกรณ์ทางดนตรีราคาต่ำๆ มันก็ไม่ใช่อะไรนอกจากกระบวนการดิ้นรนในการสร้างความเหนือกว่าทางศิลปวัฒนธรรมของชนชั้นสูงทาง “หู” ใหม่ที่มีสถานะของตนไม่มั่นคงเอาเสียเลยในยุคนี้ และนี่ก็คงจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจการเมืองพอๆ กับที่มันจะเป็นเรื่องของสุนทรียะตราบที่ความแตกต่างของสิ่งเหล่านี้มีต้นตอมาจากความต่างทางเศรษฐกิจการเมือง

ดังนั้นการทำให้กีต้าร์ถูกๆ จากจีน ไปจนถึง mp3 และลำโพงคอมพิวเตอร์กากๆ ไม่ได้มีความต่ำต้อยด้อยค่าไปกว่ากีต้าร์แฮนด์เมดจากอเมริกา แผ่นเสียง และชุดเครื่องเสียงอย่างดี หรือการปฏิเสธความแตกต่างในเชิงสูงต่ำของคุณภาพเสียงที่ออกมาจากสินค้าทั้งสองกลุ่มจึงเป็นการทำให้เกิดความเท่าเทียมกันทางศิลปวัฒนธรรมขึ้น และการยืนยันมันสำเร็จก็ถือเป็นชัยชนะทางศิลปวัฒนธรรมแบบประชานิยม หรือชัยชนะของ “หู” แบบชาวบ้านในยุคปัจจุบัน

แน่นอนว่านี่ยังห่างไกลชัยชนะของความเท่าเทียมหรือชัยชนะต่อทุนนิยมมาก แต่ชัยชนะในพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมก็ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เช่นกันเพราะมันก็ส่งผลต่อจิตสำนึกของผู้คนในระยะยาว และอย่างน้อยที่สุดชัยชนะของความเท่าเทียมทางการเมืองก็ดูจะเป็นเรื่องเล็กน้อยในประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของมนุษยชาติ ตราบที่พื้นที่ทางสังคมวัฒนธรรมยังเต็มไปด้วยความเท่าเทียมและลำดับชั้นที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่

 

อ้างอิง:

  1. จริงๆ ประเด็นนี้ซับซ้อน เพราะก็มีงานจำนวนหนึ่งเสนอเช่นกันว่าชนชั้นศักดินาก็ไม่ใช่ชนชั้นที่จะซาบซึ้งกับดนตรีคลาสสิคนักในภาพรวม เพราะดนตรีแบบนี้ในบางครั้งก็ดูเป็นเครื่องประดับชนชั้นมากกว่า พวกชนชั้นกลางต่างหากที่เป็นพวกที่พัฒนาการฟังอย่างจริงจังและให้คุณค่ากับดนตรีเหล่านี้มากกว่าชนชั้นสูงเสียอีด ดู James H. Johnson, “Musical Experience and the Formation of a French Musical Public”, The Journal of Modern History, Vol. 64, No. 2 (Jun., 1992), pp. 191-226
  2. นี่ไม่ได้หมายความว่าชนชั้นสูงจะเห็นว่าดนตรีชาวบ้านเป็นของต่ำไม่ควรจะไปยุ่ง การสนุกสนานกับศิลปวัฒนธรรมชาวบ้านของชนชั้นสูงเป็นเรื่องปกติมากๆ ชนชั้นสูงจะมีลักษณะแบบ “ทวิวัฒนธรรม” คือสามารถสนุกกับศิลปวัฒนธรรมของชนชั้นสูงและล่างได้ ในขณะที่ชนชั้นล่างจะไม่สามารถซาบซึ้งกับความซับซ้อนของศิลปวัฒนธรรมของชนชั้นสูงได้
  3. ส่วนประเด็นที่ว่าคนกลุ่มนี้ทับซ้อนและแตกต่างจากกลุ่มคนที่มี “หู” ดนตรีคลาสสิคอย่างไรก็คงจะเป็นประเด็นใหญ่เกินกว่าที่จะพูดในที่นี้
  4. จริงๆ มันมีประเด็นเรื่องการเปิดพรมแดนการฟังของชนชั้นกลางล่างด้วยเทปผีอยู่ด้วย แต่นั่นก็ดูจะเป็นประเด็นใหญ่เกินกว่าที่จะพูดในที่นี้เช่นกัน
  5. อย่างไรก็ดีการเข้าถึงดนตรีทุกรูปแบบได้จริงๆ ก็ดูจะไม่ใช่สิ่งง่ายๆ เพราะดนตรีในโลกก็มีสารพัดรูปแบบที่ไล่ฟังให้หมดไม่หวาดไม่ไหว แต่ละท้องถิ่นในโลกก็มีดนตรีป๊อบของตัวเองทั้งสิ้นและส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีเพียงแค่แบบสองแบบด้วย การจะไล่ฟังดนตรีทุกรูปแบบมันหมายถึงการเผชิญหน้ากับดนตรีเป็นพันเป็นหมื่นรูปแบบที่แม้คนที่ฟังเพลงแบบไม่ทำมาหากินเลยก็ยากจะตามฟังได้หมดถึงจะใช้เวลาเป็นสิบๆ ปีก็ตาม ซึ่งนี่ยังไม่รวมถึงกำแพงทางภาษาในการสืบค้นในอินเทอร์เน็ตที่ผู้นิยมชมชอบดนตรีนอกโลกภาษาอังกฤษน่าจะเคยพบเจอบ้าง (เช่นการสืบค้นเพลงภาษาญี่ปุ่นของวงดนตรีที่ชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่นใน Youtube โดยคนที่ไม่สามารถอ่านภาษาญี่ปุ่นได้)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น