โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

"ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน" เปิดแคมเปญ #deadtweet รำลึกนักข่าวพลเมืองถูกสังหารในซีเรีย

Posted: 25 Jul 2012 01:24 PM PDT

รำลึกการตายของนักข่าวพลเมืองในซีเรีย "องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน" ทำเก๋ จำลองทวีตรายงานสดสถานการณ์ขัดแย้งในเมืองฮอมส์ ศูนย์กลางการประท้วงของซีเรีย โชว์นาทีสุดท้ายของนักข่าวพลเมืองก่อนถูกสังหาร

(25 ก.ค.55) องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters without Borders) ซึ่งเป็นองค์กรสากลที่รณรงค์เรื่องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก เปิดตัวแคมเปญรณรงค์ #deadtweet เพื่อเป็นเกียรติแก่นักข่าวพลเมืองจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ ที่เสียชีวิตจากการพยายามเผยแพร่ภาพเหตุการณ์ประท้วง

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนระบุว่า นับตั้งแต่การลุกฮือในซีเรีย เมื่อมีนาคมปีที่แล้ว มีนักข่าวและคนทำสื่ออย่างน้อย 38 ราย ถูกฆ่าด้วยฝีมือของรัฐบาลประธานาธิบดีอัสซาด

"อาชญากรรมที่พวกเขาก่อมีเพียงการเผยแพร่ข้อมูลและส่งต่อข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปราบปรามอันนองเลือดที่เกิดกับพลเมืองซีเรีย ซึ่งยังคงดำเนินต่อไป โดยอาวุธสำคัญของพวกเขาคือโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต" องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนเปรียบเทียบและว่า แคมเปญดังกล่าวได้จำลองข้อความทวีตรายงานสด ซึ่งจะทำให้ได้สัมผัสประสบการณ์ของผู้ที่หาทางกระจายข่าวท่ามกลางอันตราย

ภาพของแคมเปญเป็นภาพมือที่ไร้ชีวิต ปกคลุมด้วยพื้นดินและเลือด ติดกันมีสมาร์ทโฟน ซึ่งมี QR Code (บาร์โค้ดสองมิติ) อยู่บนหน้าจอ เมื่อสแกนบาร์โค้ดดังกล่าว ผู้ใช้จะพบข้อความทวีตรายงานสด (สมมติ) ของนักข่าวพลเมือง ซึ่งอยู่ท่ามกลางการต่อสู้ในเมืองฮอมส์ (ศูนย์กลางการประท้วงรัฐบาล) โดยแสดงให้เห็นนาทีสุดท้ายของชีวิตของเขาผ่านข้อความฟีด

"คนเยอะมากเลยที่นี่ หลายพันคน"

"ฉันอยู่ในที่ชุมนุมใน #Homs ถนนเต็มไปด้วยคนจำนวนมาก #LT #Syria"


 

สื่อและโปสเตอร์ของแคมเปญดังกล่าวใช้ QR Code เพื่อสร้างความตระหนักถึงความพยายามของพลเมืองในการรายงานความขัดแย้ง ในประเทศที่รัฐบาลเผด็จการออกคำสั่งเซ็นเซอร์สื่อ โดยพยายามกันสื่อต่างชาติออกไป เมื่อนักข่าวไม่สามารถทำหน้าที่ได้ พลเมืองจึงเป็นตัวเชื่อมข้อมูลที่จำเป็นและเข้ามามีบทบาทในการเผยแพร่ข้อมูลต่อโลก โดยหลายครั้ง พวกเขาต้องสละชีวิตของตัวเองด้วย


ที่มา: Sharing information kills, RSF

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข้อสนทนากับ "นักสื่อสารแรงงาน" กรณีไทยพีบีเอส

Posted: 25 Jul 2012 10:01 AM PDT

 

 

หลัง วิชัย นราไพบูลย์ ผู้ประสานงานฯ เขียนคำแถลงเครือข่ายนักสื่อสารแรงงาน เรื่อง "ติงใบตองแห้ง อย่าหมิ่นเสียงชาวบ้านคนชายขอบ" เพื่อท้วงติงบทความของ "ใบตองแห้ง" เรื่อง “ศึกสายเลือดเขย่า TPBS” ในเว็บ Media Inside Out โดยระบุว่า ที่ผ่านมา ไทยพีบีเอสได้เปิดพื้นที่ให้แรงงานมีโอกาสส่งเสียงมากขึ้น และนำเสนอข่าวประเด็นแรงงานแบบเจาะลึก ทำให้สังคมเข้าใจปัญหาของแรงงานกลุ่มต่างๆ อย่างแท้จริง

"ใบตองแห้ง" ได้เขียนคำอธิบายลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว รับคำท้วงติง พร้อมชี้แจงว่าไม่ได้คัดค้านการเป็นปากเสียงของคนชายขอบ แต่ประชด "วิธีการนำเสนอ" ซึ่งไม่เข้าเป้า ไม่มีคนดู ไม่สามารถจุดประเด็นในสังคม

ขณะที่ จารุวัฒน์ เกยูรวรรณ เจ้าหน้าที่โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย เขียนบทความลงเว็บไซต์ thailabour.org เรื่อง "นักสื่อสารแรงงาน อย่าหลงประเด็น" แลกเปลี่ยนว่า ประเด็นที่คิดว่าควรสนใจคือการมีส่วนร่วมของแรงงานกลุ่มต่างๆ ในการกำหนดนโยบายและตรวจสอบไทยพีบีเอส รวมถึงการตั้งคำถามต่อประเด็นการไม่สามารถตั้งสหภาพแรงงานและการไม่มีส่วนร่วมในการบริหารองค์กรของพนักงานไทยพีบีเอสมากกว่า

 

 

เนื้อหามีดังนี้

 

ใบตองแห้ง
ที่มา: เฟซบุ๊กส่วนตัว

ผมยินดีรับคำท้วงติง แต่ประเด็นเดียวที่ผมยอมรับว่าอาจมีปัญหาคือ ย่อหน้าแรกที่ว่า "ทีวีของคนชายขอบ ริมขอบ ตกขอบ" ซึ่งที่จริงผมหมายความว่า TPBS อาศัยความเป็นทีวีของคนชายขอบพ่วงนำเสนอทัศนะของพวกริมขอบ ตกขอบ (เหลืองอ๋อย) ทั้งหลายด้วย แต่ผู้ทำงานกับคนชายขอบอ่านแล้วอาจไม่พอใจ

แต่ย่อหน้าที่ 2 และ 3 ผู้เขียนควรตระหนักว่าผมไม่ได้คัดค้านการเป็นปากเสียงของคนชายขอบ แต่ผมประชดประเทียด "วิธีการนำเสนอ" ซึ่งมันไม่เข้าเป้า ไม่มีคนดู ไม่สามารถจุดประเด็นในสังคม (155 ชิ้นจุดประเด็นอะไรได้บ้าง)

เอาง่ายๆ อย่างนี้ดีกว่าว่า แม้แต่พวก NGO หรือคนชายขอบด้วยกันเอง ถามว่าสนใจดูเวทีสาธารณะกันอย่างจริงจังหรือเปล่า เวลาคุณณาตยาคุยกับสายแรงงาน พวกต้านท่อก๊าซดูหรือเปล่า ผมว่าไม่ได้สนใจดูนะ ทุกคนสนใจแต่ประเด็นตัวเอง

ปัญหาคือ อย่าปกป้อง "วิธีการนำเสนอแบบณาตยา" โดยอ้างว่านั่นเป็นการทำความดี ทำเพื่อคนชายขอบ หลายๆ คนกำลังดิ้นพล่าน อ้างว่าถ้าวิจารณ์ "วิธีการนำเสนอแบบณาตยา" หรือความมีสิทธิพิเศษของคุณณาตยา (นี่ผมไม่ได้ว่าเธอวิ่งเต้นเส้นสายนะ แต่หมายความว่าทำรายการแบบณาตยา หมอประเวศ หมอพลเดช สสส.ชอบมาก เธอมีสิทธิพิเศษโดยอัตโนมัติ) ก็เท่ากับทำลายคนชายขอบไปโน่น (หวังว่าคงไม่กล่าวหาว่าพนักงานที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมกำลังจะทำลายทีวีของคนชายขอบ)

ประเด็นที่ NGO กับคนทำข่าวคิดต่างกันคือ NGO อยากให้สื่อเสนอข่าวคนชายขอบเยอะๆ ให้พื้นที่เท่าไหร่ก็ไม่พอ แต่คนทำข่าวต้องคิดถึงความน่าสนใจ ทำให้คนดูคนอ่านสนใจ นี่ไม่ใช่ "ขายข่าว" หรือ "กระตุกเรตติ้ง" แต่ถ้านำเสนอแล้วจุดประเด็นในสังคมไม่ได้ น่าเบื่อหน่าย คุณจะนำเสนอไปทำไม NGO ก็มักไม่ค่อยพอใจ แบบว่าอยากให้หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งพาดหัวข่าวเรื่องสิทธิบัตรยา พาดหัวรองเรื่องนาเกลือ ข่าว 3 เป็นเรื่องจินตนา แก้วขาว ข่าว 4 เรื่องปากบารา ฯลฯ ผมถามว่าแม่-ได้ผลอะไร ถ้าไม่มีคนอ่าน

 

"นักสื่อสารแรงงาน อย่าหลงประเด็น"
จารุวัฒน์ เกยูรวรรณ โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย

 

อ่านคำแถลงของเครือข่ายนักสื่อสารแรงงาน เรื่อง “ติงใบตองแห้ง อย่าหมิ่นเสียงชาวบ้านคนชายขอบ” โดยพี่วิชัย แห่งพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ทำให้อยากแลกเปลี่ยนขึ้นมาทันใด ถ้าดูจากชื่อคำแถลง และข้อความบางส่วนที่ถูกหยิบยกขึ้นมาประกอบคำแถลงนี้ น่าจะมุ่งเน้นไปที่การตำหนิ ไปตองแห้งเสียเป็นหลัก แต่เมื่ออ่านคำแถลงจนจบ กลับพบว่าเป็นแถลงการณ์ที่เน้นปกป้อง TPBS เสียเป็นส่วนใหญ่ โดยหยิบยกประโยชน์ที่แรงงานได้รับ เป็นเหตุผลประกอบ แน่นอนผมเห็นต่างและคิดว่า “นักสื่อสารแรงงาน” กำลังหลงประเด็น

เรื่อง “ใบตองแห้ง” หมิ่นเสียงชาวบ้านหรือไม่ อันนี้ผมขอไม่เกี่ยว คงต้อรอ ใบตองแห้ง ตอบคำถามนี้เอง

ถ้านักสื่อสารแรงงานมองว่า TPBS เป็นทีวี “สาธารณะ” ควรต้องตั้งคำถามสำคัญ ว่าแรงงานที่ถูกหยิบยกมากล่าวถึง ทั้งแรงงานในระบบ(ประกันสังคม) ทั้งคอปกขาว คอปกน้ำเงิน แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ นั่น มีส่วนในการกำหนดนโยบาย และตรวจสอบ ทีวีสาธารณะแห่งนี้มากน้อยเพียงใด ในกรรมการนโนบาย มีตัวแทนแรงงานในสาขาอาชีพต่างๆ อยู่เป็นจำนวนเท่าไร ถ้าจะคิดเอาจากสัดส่วนประชากร ก็น่าจะมีตัวแทนแรงงานซัก 40% จากสถานประกอบการต่างๆ นี่ต่างหากที่ควรตั้งคำถาม ไม่ใช่ไปหลงดีใจ ว่ามีผลงาน แค่ 155 ชิ้น ถ้าจะพูดให้แรงหน่อย มันก็แค่เศษเนื้อ ที่เขาโยนให้ก็เท่านั้น

นอกจากนั้น นักสื่อสารแรงงาน ควรตั้งคำถามไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของ TPBS ว่าทำไมไม่อนุญาตให้พนักงาน TPBS จัดตั้งสหภาพแรงงาน อะไรเป็นอุปสรรคและจะแก้ไขอย่างไร เพื่อให้พนักงานตั้งสหภาพแรงงานได้ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า องค์กรที่สามารถปกป้อง คุ้มครอง ผลประโยชน์ของลูกจ้างได้ดีที่สุดในระบบทุนนิยม คือสหภาพแรงงาน นอกจากนี้ นักสื่อสารแรงงาน ควรตั้งคำถามด้วยว่า ทำไมพนักงานของ TPBS ระดับลูกจ้างไม่มีส่วนร่วมในการบริหารงานขององค์กร ไม่ต้องรอการลงสัตยาบรรณ ILO 87 98 หรอก ในฐานะนักสื่อสารแรงงาน ควรสื่อเรื่องแบบนี้ออกมาได้เลย และควรสื่อสารด้วยว่าพนักงาน TPBS มีปัญหา ถูกกดขี่ รังแก เกี่ยวกับสภาพการจ้างงานอย่างไรบ้าง

และสุดท้ายที่ผมค่อยข้างจะมึนงง พอสมควร กับคำแถลงนี้ ที่กล่าวถึงคุณประโยชน์ของ TPBS ที่มีต่อผลประโยชน์ของแรงงาน อาทิเช่น ช่วยให้ทำให้สังคมเข้าใจประเด็นแรงงานอย่างแท้จริง ไอ้คำว่า “แท้จริง” นี่มันวัดผลอย่างไร อย่าหาว่าจุกจิกเลยนะ แต่มันเป็นเรื่องสำคัญ เพราะคำว่า “แท้จริง” มันวัดผลไม่ได้ จะถือว่าคนงานได้ประโยชน์ได้อย่างไร อย่าลืมนะครับ เงินตั้ง 2000 ล้าน นี่เป็นภาษีของผู้ใช้แรงงานงานทั้งนั้นนะครับ เพราะเก็บภาษีผู้บริโภคโดยตรง

หรือการปกป้องรายการ “เวทีสาธารณะ” ที่ช่วยให้หน่อยงานรัฐ นักการเมืองฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ได้รับรู้ ผลักดัน ช่วยเหลือแรงงาน แต่ผมถามตรงๆ เถอะ บุคคลเหล่านี้ “รับรู้” แล้วอย่างไร โดนหักหลัก โดยหลอกกันมากี่ครั้ง กี่หนกันแล้วยังไม่เข็ดกันอีกเหรอ อย่างแค่ลงสัตยาบรรณ ILO 87 98 นี้ รับปากมากี่ฝ่ายค้าน กี่รัฐบาล แล้ว ถ้า TPBS มีประโยชน์ต่อแรงงานจริง มันต้องทำมากกว่านี้ อย่าลืมนะครับ ในประเทศนี้มีแรงงานไม่น้อยกว่า 40% นะ ย้ำอีกครั้งกันลืม

แน่นอนว่าการได้ออกสื่อที่มีผู้ชมกว้างขวาง(ไม่รู้จริงรึเปล่าเพราะไม่สนเรตติ้ง) เป็นเรื่องดี แต่ผมไม่ค่อยแน่ใจว่า ที่ผ่านมามีอะไรที่เปลี่ยนแปลงในด้านดีขึ้นบ้าง ที่ผมพอทราบ ในส่วนของแรงงานข้ามชาติ ปัญหาต่างๆ ยังมีเหมือนเดิม ยังเข้าไม่ถึงประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน และมิหนำซ้ำ ยังมีแนวคิดจะส่งคนท้องกลับประเทศอีก และล่าสุดมีการห้ามแรงงานข้ามชาติที่มีหนังสือเดินทางถูกต้องเดินทางออกจากแม่สอดอีก แรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศยิ่งแล้ว โดยเฉพาะคนงานลิเบีย ที่ TPBS เกาะติดสถานการณ์ในช่วงแรกอย่างใกล้ชิด แต่พึ่งชนะคดีเพียงคนเดียว แน่นอน TPBS คงช่วยอะไรไม่ได้มาก แต่ยังเหลือคนงานอีกหลายพันคน ก็ฝากบอก TPBS ให้ช่วยไปตามด้วยก็แล้วกัน ว่าโดนยึดที่ดินทำกินไปกันกี่รายแล้ว

ในส่วนของแรงงานไทย ไม่ต้องพูดถึง ถ้านับจากหลังการเกิดขึ้นของระบบประกันสังคม เป็นต้นมา แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย ยังถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ผู้นำแรงงานถูกรังแกคนแล้วคนเล่า ระบบสวัสดิการอันน้อยนิด ฯลฯ เดี๋ยวพูดมากไป จะเป็นการบ่นถึงปัญหาแรงงานเสียเปล่าๆ เพราะเอาเข้าจริง TPBS ก็คงจะช่วยอะไรได้ไม่มากนัก แต่ผมคิดว่า นักสื่อสารแรงงาน ควรพุ่งเป้าไปที่การตรวจสอบ TPBS เสียมากกว่า ถึงแม้จะให้เวลาประเด็นแรงงานมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่องอื่น แต่ก็ยังน้อยเกินไป อย่ามัวหลงประเด็น ปกป้องกันเสียเกินงาม เงินตั้ง 2,000 ล้านนะครับ (ย้ำอีกครั้งของคนทำงานทั้งนั้น)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สืบพยานคดี 112 ‘สนธิ’ กล่าวซ้ำถ้อยคำ ‘ดา ตอร์ปิโด’ จำเลยเบิกความ 21 ส.ค.55

Posted: 25 Jul 2012 10:00 AM PDT

21 ส.ค.นี้ 'สนธิ ลิ้มทองกุล' เตรียมเบิกความคดีหมิ่นฯ กรณีนำคำปราศรัย'ดา ตอร์ปิโด'ไปกล่าวซ้ำบนเวทีพันธมิตรฯ  ขณะที่ดา ตอร์ปิโดถูกคุมขังครบ 4 ปี เมื่อ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา

25 ก.ค.55 ห้องพิจารณาคดี 908  มีการสืบพยานโจทก์คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 สำนักงานอัยการสูงสุด ฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล  แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ อ.2066/2553 โดยในวันนี้เป็นนัดสืบพยานโจทก์นัดสุดท้าย ได้แก่ พ.ต.ท.ภูวสิษฎ์ เมฆี พนักงานสอบสวน สน.ดุสิต และ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการศึกษา กองบัญชาการศึกษา  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ส่วนนัดหน้าจะเป็นการสืบพยานจำเลย โดย นายสนธิ ลิ้มทองกุล จะขึ้นเบิกความในวันที่ 21 ส.ค.55 เวลา 9.00-12.00 น.

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวสืบเนื่องการปราศรัยของนายสนธิบนเวทีพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 20 ก.ค.51 โดยนำเอาคำปราศรัยบางส่วนของนางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล มากล่าวซ้ำพร้อมเรียกร้องให้มีการดำเนินคดี จากนั้นจึงมีการออกหมายจับนายสนธิในวันที่ 23 ก.ค.ต่อมาวันที่ 24 ก.ค. นายสนธิพร้อมมวลชนจำนวนหนึ่งได้เดินทางเข้ามอบตัวที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล และได้รับการประกันตัว ส่วนกรณีของดารณีนั้นหลังการปราศรัยของนายสนธิ วันที่ 21 ก.ค. ผบ.ทบ.ในขณะนั้นได้มอบอำนาจให้นายทหารพระธรรมนูญไปแจ้งความดำเนินคดีตามมาตรา 112 กับดารณี และมีการจับกุมตัวผู้ต้องหาได้ที่อพาร์ตเมนท์ในวันที่ 22 ก.ค.51 จากนั้นจึงถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง กระทั่งมีคำพิพากษาล่าสุดของศาลชั้นต้นเมื่อ 15 ธ.ค.54 ลงโทษจำคุก 15 ปี คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ และเมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา ดารณีถูกคุมขังครบ 4 ปี

พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน ซึ่งขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 เบิกความว่า  ขณะเกิดเหตุมีเวทีปราศรัยทั้งของกลุ่ม นปก. และ พันธมิตรฯ  ซึ่งตำรวจต้องบันทึกเทปและถอดเทปทุกวัน เมื่อถอดเทปแล้วพบว่ามีความผิดก็จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาว่ามีมูลหรือไม่ จากนั้นจะมีการตั้งคณะทำงานสืบสวนสอบสวน ซึ่งในคดีนี้ตนเป็นรองหัวหน้าและได้เลื่อนเป็นหัวหน้าในเวลาต่อมา เมื่อรวบรวมพยานหลักฐานแล้วก็จะส่งให้คณะกรรมการฯ พิจารณาอีกครั้งว่าสมควรส่งฟ้องหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการฯ ก็เห็นควรส่งฟ้อง

พล.ต.ต.อำนวย กล่าวอีกว่า คำสั่งแต่งตั้งและแนวทางปฏิบัติของคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นฯ มีมาตั้งแต่ 4 มิ.ย.50 จากนั้นมีคำสั่งปรับปรุงคณะกรรมการดังกล่าวอีกครั้งในวันที่ 9 ต.ค.51  

ทนายจำเลยถามว่า มาตรา 70 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ปวงชนชาวไทยต้องปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถ้อยคำของนายสนธิตามฟ้องเป็นการกล่าวปราศรัยเพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินคดี เพราะคดีของดารณีตำรวจดำเนินการช้า ไม่เหมือนคดีหมิ่นฯ ของนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ที่ตำรวจดำเนินการรวดเร็วใช่หรือไม่ พล.ต.ต.อำนวย ตอบว่า นายสนธิพูดเสมือนเร่งรัดให้ดำเนินคดีกับดารณี ดังที่ประชาชนต้องมีหน้าที่ปกป้องสถาบัน แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้มีหน้าที่ในการนำข้อความหมิ่นฯ มาเปิดเผยต่อสาธารณชน อย่างไรก็ตาม ตนไม่ทราบว่าคดีของนายสมเกียรติอัยการสั่งฟ้องหรือไม่ และไม่ทราบว่ากลุ่มพันธมิตรฯ ไปร้องเรียนกับ ปปช.เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตนเมื่อเดือนสิงหาคม 53

ทนายจำเลยถามาว่าเจตนาของนายสนธิเป็นคนละเจตนากับดารณีใช่หรือไม่ พล.ต.ต.อำนวยกล่าวว่า ไม่สามารถรู้ความในใจของจำเลย แต่หากให้วินิจฉัยก็วินิจฉัยได้ทั้ง 2 ทาง อย่างไรก็ตาม เห็นว่าการกระทำของนายสนธิเข้าองค์ประกอบความผิดฐานเดียวกันกับดารณี นอกจากนี้ยังเชื่อว่าจำเลยน่าจะเข้าใจความหมายของมาตรา 8 และ 112 เนื่องจากเมื่อปี 2549 จำเลยเคยได้รับคำสั่งศาล (คดีดำหมายเลข อ.3845/2549) ซึ่งศาลจำหน่ายคดีเนื่องจากโจทก์ถอนฟ้อง โดยระบุให้จำเลยระมัดระวังการกล่าวหรือกระทำการใดๆ ที่กระทบกับสถาบัน และยังมีคำสั่งห้ามจำเลยนำสถาบันมาแอบอ้างด้วย

อนึ่ง เว็บไซต์ศาลอาญาระบุคำฟ้องในคดีนี้ว่า  เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม  2551 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยนี้ได้ขึ้นปราศรัยบนเวทีปราศรัยกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บริเวณเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ด้วยการกระจายเสียงทางเครื่องขยายเสียง ท่ามกลางประชาชนที่มาฟังจำนวนหลายคน มีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี และทางอินเทอร์เน็ต โดยผ่านทางเว็บไซต์ของเอเอสทีวี ให้ประชาชนทั้งคนไทยและต่างชาติได้รับชมและรับฟังทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ  มีข้อความซึ่งจำเลยนำเอาคำปราศรัยของนางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล  ที่พูดบนเวทีปราศรัยที่ท้องสนามหลวง อันเป็นการพูดที่มีถ้อยคำหมิ่นประมาท ดูหมิ่น  หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน  และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถมาพูดซ้ำ มีความอาจทำให้ประชาชนเข้าใจว่าบ้านเมืองที่วุ่นวายอยู่ทุกวันนี้เป็นเพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทำให้วุ่นวายเพื่อให้สามารถดำรงความเป็นพระมหากษัตริย์ต่อไป และกล่าวคำพูดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เหตุเกิดที่แขวง-เขตดุสิต  กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550  มาตรา 8  ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สธ.จัดโครงการ “เข้าพรรษาลดอ้วน สร้างบุญ”

Posted: 25 Jul 2012 08:50 AM PDT

สธ. เผยคนไทยเป็นโรคอ้วนกว่า 17 ล้านคน ติดอันดับ 5 ของเอเชียแปซิฟิก รณรงค์ชวนลดความอ้วนระหว่างเข้าพรรษา ตั้งเป้าลดไม่น้อยกว่า 10,000 ตัน คาดมีคนเข้าร่วมกว่า 10 ล้าน

เว็บไซต์ สสส. รายงานระบุกระทรวงสาธารณสุขเผย คนไทยเป็นโรคอ้วน 17 ล้านคน ติดอันดับ 5 ของเอเชียแปซิฟิค จัดโครงการ “เข้าพรรษาลดอ้วน สร้างบุญ” ตั้งกองทุน 1 ล้านบาทเชิญชวนคนอ้วน สละไขมัน และโหวตแบ่งปันเงินกองทุนไปทำบุญกับมูลนิธิ วัดหรือศาสนาอื่นๆ เริ่มโครงการ 1 สิงหาคมนี้ เป็นต้นไป คาดมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ทั่วประเทศ ประมาณ 10 ล้านคน และลดน้ำหนักส่วนเกินตลอด 3 เดือนได้ไม่น้อยกว่า 10,000 ตัน

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2555ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันแถลงข่าวว่า ในเทศกาลเข้าพรรษาวันที่ 3 สิงหาคม - 30 ตุลาคม 2555 ซึ่งปีนี้เป็นวาระพิเศษ ตรงกับพุทธชยันตี 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดโครงการ “เข้าพรรษา ลดอ้วน สร้างบุญ” ภายใต้แนวคิด “ได้บุญล้นใจ คนไทยลดอ้วน”เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนไทยทำความดีเข้าพรรษา ด้วยการลดน้ำหนัก เพื่อการสร้างสุขภาพที่ดี โดยจะเริ่มดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม เป็นต้นไป

นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า ตามโครงการดังกล่าวนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดตั้งกองทุน “ลดอ้วนสร้างบุญ” โดยมีเงินกองทุนเริ่มต้น 1 ล้านบาท และจะนำเงินนี้ไปทำบุญกับมูลนิธิ หรือ วัดได้ตามความประสงค์ของผู้เข้าร่วมโครงการ โดยผู้ที่มีสิทธิ์จะเข้าโหวตการบริจาคดังกล่าว จะต้องสมัครเข้าร่วมโครงการฯ และปวารณาตนลดความอ้วนในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ซึ่งการลดน้ำหนักตัวต้องอยู่เกณฑ์มาตรฐานคือเดือนละไม่เกิน 4 กิโลกรัม โดยจะมีการชั่งน้ำหนักวัดรอบเอวก่อนร่วมโครงการ และวันสิ้นสุดโครงการฯ จะต้องไปรายงานตัวที่สถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ภายใน 15 วัน เพื่อประเมินจำนวนน้ำหนักตัวที่ลดลง พร้อมกับแสดงเจตนารมย์ว่าจะนำเงินจากการบริจาคน้ำหนักไปทำบุญกับมูลนิธิ หรือ วัดตามแต่ศรัทธา โดยตั้งเป้าจะลดน้ำหนักส่วนเกินทั้งประเทศได้ไม่น้อยกว่า 1 หมื่นตัน คาดว่าจะมีประชาชนร่วมโครงการประมาณ 10 ล้านคน

นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ผลสำรวจสุขภาพล่าสุด มีคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปเป็นโรคอ้วน ติดอันดับ 5 ของเอเชียแปซิฟิก โดยมีคนอ้วนมากถึง 17 ล้านคนทั่วประเทศ และยังมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 4 ล้านคนต่อปี ทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลมากกว่าปีละ 1 แสนล้านบาท อีกทั้งคนที่เป็นโรคอ้วน จะมีความเสี่ยงที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง และโรคข้อกระดูกเสื่อมสูงว่าคนปกติ และยังส่งผลกระทบด้านอารมณ์อีกด้วย

ทั้งนี้โรคอ้วน เกิดจากพฤติกรรมสืบเนื่องจากวิถีชีวิตของคนยุคใหม่ ที่บริโภคอาหารเกินขนาด ขาดการออกกำลังกาย ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นไป กระทรวงสาธารณสุขเน้นหนักในการรณรงค์ให้ประชาชนทั่วประเทศตระหนักและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความอ้วนอย่างถูกวิธี โดยสร้างพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ลดหวาน มัน เค็ม ให้เป็นนิสัย กินผักผลไม้ทุกมื้อ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้มีข้อแนะนำให้ประชาชนเลือกปฏิบัติได้ 9 ข้อ เช่น ลดน้ำหนักตัวให้ได้ กินผักผลไม้ทุกมื้อ ลดอาหาร หวาน มัน เค็ม กินอาหารเจ หรือ มังสวิรัติทุกวันพระ หรือวันเกิดตลอดช่วงเข้าพรรษา เลือกดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำอัดลมหรือน้ำที่มีรสหวาน งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรืองดสูบบุหรี่ เป็นต้น เพื่อใช้โอกาสเทศกาลเข้าพรรษา เป็นการสร้างแรงบันดาลใจและสร้างนิสัยต่อเนื่อง

ด้านนายแพทย์โสภณ กล่าวว่า การเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ประชนชนทุกเพศ ทุกวัย สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ได้ ด้วยการไปประเมินภาวะความอ้วนที่สถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ หรือสมัครทางเว็บไซต์ www.ลดอ้วนสร้างบุญ.com หรือส่งไปรษณียบัตรสมัครมาที่กระทรวงสาธารณสุข โดยขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประสานงานด้านประชาสัมพันธ์ โทรศัพท์ 08-3701-2838 ตั้งแต่ 1 สิงหาคมนี้ เป็นต้นไป

สำหรับผู้ที่สามารถลดน้ำหนักตัวได้ และติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศ จะได้รับใบประกาศนียบัตร และกระทรวงสาธารณสุข จะบันทึกปริมาณน้ำหนักรวมที่ลดได้ทั้งประเทศ เพื่อประโยชน์ในการทำงานต่อไป ทั้งนี้ผู้ที่มีน้ำหนักตัวปกติ หากประสงค์จะร่วมทำบุญในโครงการนี้ ก็สามารถสมทบเงินกองทุนได้ โดยการบริจาคผ่านธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี “กองทุนลดอ้วนสร้างบุญ” หมายเลขบัญชี 142-0-14371-9 ซึ่งจะเป็นการต่อยอดสมทบกับเงินกองทุนที่มีอยู่แล้ว 1 ล้านบาท เพื่อไปทำบุญต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลั่นความคิด ‘มลายูปาตานี’ ผ่านนักเขียนการ์ตูน 3 ภาษา

Posted: 25 Jul 2012 07:51 AM PDT

 

 

 

ซอลาฮุดดีน กริยา - อับดุลเลาะห์ บิน วันอะหมัด

ตัวอย่างหนังสือการ์ตูน 3 ภาษา

 

هيلڠ بهاس هيلڠ بڠسا هيلڠ بڠسا هيلڠ اݢام

ประโยคภาษามลายูอักษรยาวีข้างต้น เป็นข้อความรณรงค์ให้มีการรักษาและใช้ภาษามลายูอย่างถูกต้องในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีมานานแล้ว ด้วยเพราะความตระหนักถึงอิทธิพลและปัจจัยที่ทำให้ภาษานี้ค่อยๆหมดไป

วันนี้นับว่าโชคดีที่ หลายฝ่ายเริ่มให้ความสำคัญ เห็นได้จากป้ายประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีการเพิ่มข้อความภาษามลายูอักษรยาวีมากขึ้น ยังไม่นับรายการวิทยุภาคภาษามลายูที่เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างมากมาย และการเกิดขึ้นของสื่อพิมพ์ภาษามลายูอักษรยาวี ก็เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมรณรงค์ในเรื่องนี้ ทว่า มากพอหรือยัง

“มลายูเป็นอัตลักษณ์ของเราตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งเข้านอนก็จริง แต่ทุกวันนี้สื่อภาษามลายูในพื้นที่ยิ่งน้อยลง ก็ยิ่งทำให้เรามีความคุ้นเคยกับภาษามลายูยิ่งลดลงไปด้วย แม้เราอยากให้กลับมาเหมือนเดิม แต่ก็ยากและยังไม่พอ”

นั่นคือ สิ่งที่ “ซอลาฮุดดีน บิน ฮัสบุลเลาะห์” หรือนายซอลาฮุดดีน กริยา กราฟฟิกส์ดีไซด์หรือนักออกแบบการ์ตูน 3 ภาษา (ไทย – มลายู – อังกฤษ) แห่งสำนักพิมพ์บูหงารายาบุ๊ค ตระหนัก จึงพยายามค้นหาหนทางที่จะฟื้นฟูการใช้ภาษามลายูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างถูกต้อง ซึ่งแนวทางหนึ่งที่เขาทำ คือการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์

กริยา มองว่า ปัจจุบันการใช้ภาษามลายูอย่างเป็นทางการ มีเพียงในตำราเรียน ในคุตบะห์คือบทเทศนาธรรมในการละหมาดวันศุกร์ ซึ่งทั้งสองกรณีใช้ภาษาชั้นสูง ที่คนทั่วไปยังเข้าใจยาก อีกส่วนคือหนังสือประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งมักใช้ทั้ง 2 ภาษา คือ ภาษาไทยและภาษามลายู

กริยา ได้ร่วมกับเพื่อนอีก 2 คน คือ อับดุลเลาะห์ บิน วันอะหมัด และ มูฮำหมัดอันวัร หะยีเต๊ะ มาร่วมมือกันสร้างสื่อสิ่งพิมพ์ภาษามลายูขึ้นมา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์การใช้ภาษามลายูที่ถูกต้อง ด้วยจิตวิญญาณที่ต้องการรักษาภาษามลายูให้อยู่คู่กับแผ่นดิน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป ในฐานะที่เป็นอัตลักษณ์หนึ่งของดินแดนปาตานี ก่อนที่จะเลือนหายไปมากกว่านี้ ควบคู่กับการผลิตสื่อภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้ด้วย

“เราพยายามเริ่มต้นจากสิ่งที่ง่ายๆ ก่อน นั่นคือเริ่มจัดพิมพ์หนังสือการ์ตูน ซึ่งเป็นชุดภาพระบายสี 3 ภาษา สำหรับเด็กชั้นอนุบาล เดิมตั้งใจจะทำวารสารภาษามลายู แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เราเห็นว่า ถ้าไม่พร้อมจริงๆ ทำไม่ได้ เพราะงานหนักและตลาดไม่พร้อม จึงคิดใหม่โดยเริ่มจากสิ่งง่ายๆ แล้วค่อยพัฒนาไปสู่เป้าหมายที่สูงขึ้น”

หนังสือการ์ตูนชุดระบาย 3 ภาษา เป็นสื่อประกอบการเรียนการสอนสำหรับเด็กเล็ก จากนั้นค่อยพัฒนาไปสู่การผลิตสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะกับทุกระดับการศึกษา จนกระทั่งสามารถผลิตสื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆ ต่อไป เพราะมองว่า ทุกระดับการศึกษา น่าจะมีสื่อที่เหมาะสมร่วมกันอยู่ และคนทุกระดับการศึกษาเข้าถึงได้ จึงออกมาในรูปของหนังสือประกอบการเรียนและใช้งบประมาณน้อยที่สุด

สำหรับผลงานชุดแรก เป็นหนังสือชุดระบายสี 3 ภาษาชุดแรก มี 4 เล่ม แต่เพิ่งตีพิมพ์ไปเพียง 2 เล่ม ที่เหลือกำลังทยอยเขียนและออกแบบตัวการ์ตูน เนื่องจากความไม่พร้อมของบุคลากรและงบประมาณ จึงผลิตไป 2 เล่มก่อน โดย 2 เล่มแรก ชื่อ “แพะดำ” และ “กบกับหนู” มีเนื้อหาเป็นนิทานสนุกสนาน เขียนข้อความทั้ง 3 ภาษา คือ มลายูอักษรยาวี ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ เพื่อให้น้องๆ ได้ฝึกอ่านไปพร้อมๆ กับการระบายสี โดยเริ่มวางแผงขายไปแล้ว

กริยา เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ได้มาร่วมงานกับ อันวาร์ หรือนายมูฮำหมัดอันวัร หะยีเต๊ะ จากบูหงารายานิวส์ ซึ่งทำหน้าบรรณาธิการของหนังสือชุดระบายสีว่า “เพราะแอบชมมานานแล้ว ในเรื่องการทำเว็บภาษามลายู และได้คุยกันทางเฟซบุ๊ก ขณะที่ผมเองก็เป็นนักพัฒนาฟอนด์(แบบอักษร) ภาษายาวีในระบบคอมพิวเตอร์ จากนั้นได้คุยกัน ก็พบว่ามีความฝันเหมือนกันว่า จะตั้งสำนักพิมพ์ภาษามลายู”

จากนั้นเริ่มคุยกันอย่างจริงจัง ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา จนกระทั่งตัดสินใจจะตั้งสำนักพิมพ์ภาษามลายูอักษรยาวี จากนั้นก็เจอกับอับดุลเลาะห์ บิน วันอะหมัด ซึ่งเป็นนักเขียนภาษามลายูเป็นนักกวีมลายู มีความสามารถด้านภาษามลายูอักษรยาวี จึงทำให้ความคิดที่จะตั้งสำนักพิมพ์มลายูอักษรยาวีลงตัวมากขึ้น

“ทั้ง 3 คน เสมือนกับร่างเดียวกันแล้วในตอนนี้ โดยตัวผมเองเป็นผู้กำหนดเอกลักษณ์หรือคาร์แร็กเตอร์ของตัวการ์ตูน อันวาร์เป็นผู้ขับเคลื่อนให้งานนี้เกิดขึ้นและงานการตลาด ส่วนอับดุลเลาะห์ เป็นจิตวิญญาณของภาษามลายู เป็นผู้เขียนเนื้อหาเป็นหลัก”

กริยา บอกว่า การผลิตสื่อสิงพิมพ์ครั้งนี้ ไม่ใช่แค่ต้องการรักษาภาษามลายูให้คงอยู่ แต่ต้องการให้สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวันได้จริงๆ และการผลิตในเชิงธุรกิจ ก็เพื่อต้องการพิสูจน์ว่า ถ้าสิ่งนั้นดีจริง มันก็จะอยู่ได้และจะทำให้เราประเมินได้ว่า งานของเราเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจริงหรือไม่

“เราใช้คำว่า “ممباچ فتاني” แปลว่า อ่านปาตานี เป็นการรณรงค์ให้คนมาอ่านภาษามลายูมากขึ้น เพราะทุกวันนี้ หากเปรียบภาษามลายูของคนปาตานี ก็เหมือนต้นไม้ดอก ที่ใครๆ ก็บอกว่า เรามี แต่ไม่ดูแล ไม่รดน้ำ ไม่ใส่ปุ๋ย ต้นไม้ดอกจะสวยงามเติบโตได้อย่างไร”

จะทำอย่างไรที่จะให้คน ช่วยกันรักษาสิ่งที่เป็นตัวตนของตนเองไว้ ทั้งการใช้ การเขียนและการอ่าน เพราะปัจจุบันมีแต่การพูดและการฟังเท่านั้น การเขียนไม่มีเลย และนับวันภาษามลายูก็จะยิ่งค่อยๆ หายไป โดยมีภาษาอื่นเข้ามาแทน ดังนั้น จึงต้องเริ่มที่การอ่านก่อน แล้วค่อยปรับ ค่อยพยายามจนกระทั่งนำไปสู่การเขียนต่อไปได้

ขณะที่อันวาร์ เล่าว่า เดิมจะทำแค่ภาษามลายูอย่างเดียว แต่ก็พบว่าตลาดแคบเกินไป จึงต้องทำเป็น 3 ภาษา ซึ่งหนังสือชุดระบายสียังมีอีกหลายชุดที่จะผลิตออกมา เพราะจำเป็นต้องให้มีเยอะและหลากหลาย จึงจะสร้างแรงจูงใจให้คนมาสนใจได้ ส่วนเนื้อหาและความถูกต้องของการใช้ภาษานั้น ทางศูนย์ประสานงานตาดีกาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ PERKASA ได้มาเป็นที่ปรึกษาการผลิตหนังสือชุดระบายสีนี้ด้วย

ส่วนอับดุลเลาะห์ มองว่า “การใช้ภาษามลายูจะยากง่ายหรือไม่ อยู่ที่เราเอง ในปาตานีมีคนอ่านภาษามลายู แต่กลับไม่มีสื่อให้อ่าน ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายของเราด้วย ที่จะให้มีสื่อภาษามลายูอักษรยาวีขึ้นมา”

อับดุลเลาะห์ มองอีกว่า ในอดีตอารยะธรรมอิสลามที่เกิดขึ้นที่นี่ได้ก็ด้วยภาษามลายู ศาสนาอิสลามของที่นี่เจริญรุ่งเรืองได้ก็ด้วยภาษามลายู ดังนั้นเราต้องรักษาไว้ อย่างเหมือนกับคำกล่าวภาษามลายูข้างต้น เพราะหากภาษาหายไป เชื้อชาติ ศาสนาก็หายไปด้วย

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: พระเวสสันดรละเมิดสิทธิมนุษยชน (?)

Posted: 25 Jul 2012 07:45 AM PDT

บางคนอ่านชาดกเรื่องพระเวสสันดรแล้วรับไม่ได้ เพราะเห็นว่า การบริจาคลูกเมียให้เป็นทาสรับใช้คนอื่นจะเป็นความดีได้อย่าง เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนชัดๆ ยิ่งกว่านั้นหากคิดอย่างมีเหตุผลแล้ว การบริจาคลูกเมียให้เป็นทาสจะถือว่าเป็นความดี หรือบุญบารมีขั้นสูงจนส่งผลให้บรรลุโพธิญาณเป็นพุทธะได้อย่างไร ถ้าพระเวสสันดรเป็นคนอเมริกันคงถูกลูกเมียฟ้องเอาผิดทางกฎหมายแน่ๆ 

แต่บางทีคนที่คิดเช่นนี้ก็ลืมไปว่า เมื่อกว่าสองพันปีที่แล้วมีสังคมอเมริกันหรือยัง หรือมีความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นในโลกนี้หรือยัง!

ประเด็นคือ ชาดกเรื่องพระเวสสันดรปรากฏในพระไตรปิฎก ซึ่งหมายความว่า เป็นเรื่องเล่าในกรอบความคิดทางวัฒนธรรมของสังคมศาสนาของชาวอารยันในชมพูทวีปเมื่อกว่าสองพันปีมาแล้ว พระเวสสันดรนั้นมีชีวิตอยู่ในสังคมที่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมีอำนาจออกแบบความสัมพันธ์ทางสังคมและกำหนดคุณค่าทางจิตวิญญาณว่า สังคมต้องมีวรรณะ 4 คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร เฉพาะความสัมพันธ์ในครอบครัว สามีเป็นเจ้าของภรรยาและลูก พูดอีกอย่างว่าเมียและลูกเป็นสมบัติของสามีหรือพ่อ การกำหนดสถานะเช่นนี้ทำให้มีข้อผูกพันตามมาว่า เมียและลูกมีหน้าที่ต้องทำตามความประสงค์ของสามีหรือพ่อ

ทีนี้ตัวพระเวสสันดรนั้นก็รับเอาคุณค่าทางศาสนา คือ “ความหลุดพ้น” มาเป็นอุดมการณ์สูงสุดของตนเอง และเนื่องจากผู้เล่าเรื่องนี้คือพุทธะซึ่งเป็นผู้ปฏิรูปวัฒนธรรมฮินดู (ปราชญ์อินเดียอย่าง รพินทรนาถ ฐากูร คนหนึ่งล่ะที่ยืนยันเรื่องนี้) ก็เลยกำหนดให้ความปรารถนาพุทธภูมิหรือการบรรลุโพธิญาณเป็นพุทธะเพื่อสอนสัจธรรมแก่ชาวโลกเป็นอุดมการณ์สูงสุดของพระเวสสันดร ผู้ซึ่งตั้งปณิธานว่า การให้ทานหรือการเสียสละคือความดีอันเป็นหน้าที่ที่ต้องทำเพื่อให้บรรลุอุดมการณ์ดังกล่าว

ฉะนั้น เมื่อมองตามกรอบคิดของวัฒนธรรมทางสังคมและคุณค่าทางจิตวิญญาณคือ “ความหลุดพ้น” และผู้หลุดพ้นคือ “บุคคลในอุดมคติ” ซึ่งเป็นที่พึ่งของสังคม อันเป็นอุดมการณ์สูงสุดทางศาสนาในยุคนั้น การเสียสละลูกเมียของพระเวสสันดร จึงเป็นการกระทำที่ดีงามน่าสรรเสริญ

ทำไมคนยุคนั้นถึงเชื่อว่าการกระทำเช่นนี้ดีงามน่าสรรเสริญ? เราอาจเข้าใจโดยเปรียบเทียบความเสียสละเพื่อส่วนรวมในยุคสมัยของเรา เช่น บางคนอุทิศชีวิตเพื่ออุดมการณ์ที่เขาเชื่อว่าเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม จนต้องละทิ้งครอบครัวเข้าป่าจับอาวุธ ยอมติดคุก กระทั่งยอมสละชีวิต คนเหล่านี้รู้อยู่แล้วว่าการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์นั้นต้องเสี่ยง อาจทำให้เขาต้องพลัดพรากครอบครัว อาจถูกสังคมประณาม ติดคุก ถูกอุ้ม กระทั่งถูกฆ่าตาย แน่นอนว่า สำหรับบางครอบครัวเมื่อขาดผู้นำ ทุกอย่างอาจพังทลายลง เราจะบอกว่าคนเช่นนี้เป็นคนไม่ดี เพราะไม่รับผิดชอบต่อครอบครัวได้หรือ ผมคิดว่าเราคงไม่มองเช่นนั้น แต่เราคิดว่าคนแบบนี้น่านับถือ เพราะเขายอมสละทุกอย่างเพื่ออุดมการณ์ที่เขาศรัทธาซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม

เรื่องพระเวสสันดร เราก็อาจเข้าใจได้ทำนองเดียวกันนี้ คนยุคนั้นเชื่อว่าศาสดาผู้ค้นพบและสอนสัจธรรม/ศีลธรรมเป็นคนอุทิศตนเพื่อประโยชน์สุขแก่สังคม เพราะศาสดามีชีวิตอยู่เพื่อผู้อื่นเท่านั้น หมดภาระที่จะทำอะไรเพื่อตัวเอง ฉะนั้น คนที่ยอมสละทุกอย่างเพื่อจะเป็นศาสดา (พุทธะ) ในอนาคตอย่างพระเวสสันดร จึงเป็นบุคคลที่น่าสรรเสริญ เหมือนกับคนที่เสียสละครอบครัว แม้กระทั่งอิสรภาพของตนเองบนเส้นทางอุดมการณ์เพื่อส่วนรวมในยุคสมัยของเรา ก็คือคนที่กระทำสิ่งที่ทำได้ยากและน่าสรรเสริญเช่นเดียวกัน

สมภาร พรมทา เสนอไว้ใน An Essay Concerning Buddhist Ethics (สรุปใจความได้) ว่า เราสามารถเข้าใจการบริจาคลูกเมียของพระเวสสันดรได้ด้วยการเข้าใจความเป็นมนุษย์ของเขา (“เขา” นี่แปลมาจาก “his” ไม่มีราชาศัพท์) เช่น เมื่อเห็นชูชกโบยตีลูกชายลูกสาว พระเวสสันดรโกรธมากเกือบจะไม่ยอมให้ลูกแก่ชูชกอยู่แล้ว ยิ่งกว่านั้นความเจ็บปวดจากความรักลูกก็ทำให้เขาทุกข์ทรมานใจเป็นทวีคูณ ความโกรธนั้นอาจหายไปได้ในเวลาไม่นาน แต่ความเจ็บปวดโศกเศร้าเพราะต้องสละลูกเมีย ทั้งที่รู้ถึงความทุกข์ทรมานของลูกเมียที่ต้องตกเป็นทาสของคนอื่นนั้นเป็นทุกข์ที่ลึกซึ้งยากที่จะหายไปได้ แต่พระเวสสันดรก็ต้องทำตามอุดมการณ์ที่ตนเชื่อ

ลองเปรียบเทียบกับคนที่เลือกเดินบนเส้นทางอุดมการณ์เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในยุคสมัยของเรา เขาต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในป่า ในคุก ทุกข์ทรมานจากการพลัดพรากพ่อแม่ คนรัก ลูกเมีย ออกจากป่ามาก็เจ็บปวดสับสนกับความพ่ายแพ้ อีกทั้งอาจรู้สึกผิดที่ตนเองละทิ้งความรับผิดชอบต่อครอบครัว เป็นต้น นี่คือความเป็นมนุษย์ที่เราเข้าใจได้ พระเวสสันดรก็มีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน แต่ก็ยอมเสียสละเพื่ออุดมการณ์ที่ตนคิดว่าเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมในยุคสมัยนั้น เช่นเดียวกับคนในยุคเราที่เสียสละเพื่ออุดมการณ์ที่พวกเขาคิดว่าเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมในบริบทปัจจุบัน

แต่ที่สำคัญกว่าคือ ชาดกเรื่องพระเวสสันดรนั้น สอนว่า “ความถูกต้องเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ” แม้ว่าจะต้องเสียสละและเจ็บปวดมากเพียงใดก็ตาม ดังคำกล่าวที่ว่า “พึงสละแม้ชีวิตเพื่อรักษาธรรม” มีชาดกจำนวนมากที่เล่าเรื่องพระโพธิสัตว์ยอมสละชีวิตเพื่อรักษาธรรมหรือความถูกต้อง พุทธศาสนาให้ความสำคัญกับ “วิถีที่ถูกต้อง” มาก เพราะคุณค่าชีวิตและอิสรภาพงอกงามออกมาจากการฝึกฝนตนเองตามวิถีที่ถูกต้อง (มรรค/ไตรสิกขา) พระเวสสันดรคือตัวอย่างของผู้ที่เดินทางยากในวิถี (means) สู่เป้าหมายที่ตนเชื่อว่าถูกต้อง

สมมติว่า มียาวิเศษที่กินแล้วทำให้คนพ้นทุกข์กลายเป็นพุทธะได้ทันที พุทธศาสนาย่อมไม่สนับสนุนให้กินยาเช่นนั้นแน่นอน เพราะยาวิเศษไม่สามารถทำให้ชีวิตมีคุณค่าได้ คุณค่าของชีวิตเกิดจากการการใช้เสรีภาพเลือกทำในสิ่งที่เราเชื่อว่าถูกต้อง ใช้ศักยภาพและความพยายามของเราเองอย่างเต็มที่ แม้จะต้องเผชิญอุปสรรคและความเจ็บปวดใดๆ ก็ตาม แต่โดยการดำเนินชีวิตตามวิถีที่ถูกต้องนั้นเอง ความหมายของชีวิต การเติบโตทางความคิด และจิตวิญญาณจึงอาจงอกงามปรากฏออกมาได้ ฉะนั้น วิถีกับหยุดหมายไม่อาจแยกจากกัน

แต่ก็น่าเสียดาย หากจะมีการเข้าใจผิดๆ ว่า เรื่อง “ทาน” ของพระเวสสันดร และการทำบุญเชิงประเพณีต่างๆ เป็น “ยาวิเศษ” ดลบันดาลทุกสิ่งได้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความปรารถนาสุขส่วนตัว จนทำให้ค่านิยมทำดีของชาวพุทธจำกัดอยู่แค่ “การทำดีตามแบบแผนพิธีกรรม” เพื่อหวังผลดลบันดาลจากยาวิเศษให้ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข อันเป็นค่านิยม “ทำดีเสพติดยาวิเศษ” จนไม่ลืมตามาดูทุกขสัจจะของสังคม

และทำให้ชาวพุทธปัจจุบันไม่สนใจการ “ทำดีอย่างมีอุดมการณ์” หรือการเสียสละเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม แม้ว่าตนเองต้องทนทุกข์ดังพระเวสสันดรทำเป็นแบบอย่าง ซึ่งเราอาจนำหลักคิดนี้มาปรับใช้อย่างสอดคล้องกับบริบทปัจจุบันได้ ไม่ใช่รับมาทั้งดุ้น หรือด่วนปฏิเสธอย่างขาดการทำความเข้าใจสาระสำคัญ!

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประธาน IOC เผยนักกีฬาที่ไม่ลงแข่งกับอิสราเอลอาจโดนลงโทษ

Posted: 25 Jul 2012 01:24 AM PDT

ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากลเผยว่า IOC จะลงโทษนักกีฬาที่สละสิทธิ์ลงแข่งขันกับนักกีฬาทีมชาติอิสราเอลในกีฬาประเภท ต่างๆ หากสอบสวนแล้วว่าไม่มีอาการบาดเจ็บ แต่หากเป็นการปฎิเสธลงทำการแข่งขันเพราะเรื่องการเมือง "อาหรับ-ยิว"

acques Rogge ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee - IOC)

25 ก.ค. 55 - ปัญหาการความขัดแย้งทางศาสนาและชาติพันธุ์ยังคงเป็นสิ่งที่ทำให้ปวดหัวในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในแต่ละครั้ง โดยเฉพาะไม้เบื่อไม้เมากันระหว่างชาติอาหรับกับอิสราเอล

ล่าสุดในปีนี้เว็บไซต์ Guardian รายงานว่า Jacques Rogge ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee - IOC) ได้ออกมาเปิดเผยว่า IOC จะลงโทษนักกีฬาที่สละสิทธิ์ลงแข่งขันกับนักกีฬาทีมชาติอิสราเอลในกีฬาประเภทต่างๆ หากสอบสวนแล้วว่าไม่มีอาการบาดเจ็บ ในมหกรรมโอลิมปิคที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27 ก.ค.-12 ส.ค.นี้

Rogge ออกมาระบุหลังจากที่มีกระแสการพยายามดึงเรื่องกีฬากับการเมืองมาข้องเกี่ยวกัน เมื่อนักกีฬาโลกอาหรับหลายชาติมีท่าทีที่จะ "ไม่ยอมลงแข่งขัน" กับอิสราเอล โดยมีข่าวว่าชาติอาหรับบางชาติได้ขอให้ฝ่ายจัดการแข่งขันช่วยจัดตารางเลี่ยงการเจอกับทีมชาติอิสราเอล ในการแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ

อนึ่งกรณีที่เคยมีกรณีที่นักกีฬายูโดจากอิหร่านถอนตัวเมื่อต้องได้แข่งขันกับนักกีฬาจากอิสราเอลในการแข่งขันโอลิมปิกที่เอเธนส์เมื่อปี 2004 รวมถึงโอลิมปิกที่ปักกิ่งในปี 2008 ได้มีการสืบสวนถึงกรณีที่นักว่ายน้ำของอิหร่านถอนตัวจากการลงแข่งขันรอบคัดเลือกที่มีนักกีฬาอิสราเอลลงทำการแข่งขันด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาสวัต บุญศรี: ปรากฎการณ์ ‘36’ และ ‘แต่เพียงผู้เดียว’ กลยุทธ์เรียกผู้ชมทะลักโรง

Posted: 24 Jul 2012 11:35 PM PDT

สิ่งที่คนทำหนังไทยอิสระประสบปัญหาเจอกันถ้วนหน้าตั้งแต่อดีตยันปัจจุบันคือ ทำหนังมาเสร็จหนึ่งเรื่องแล้วไม่รู้จะเอาไปฉายที่ไหนต่อดี ปกติที่ทำ ๆ กันก็คือส่งเทศกาลภาพยนตร์ในต่างประเทศบ้าง ส่งฉายในงานของมูลนิธิหนังไทยบ้าง ทางเทศกาลอย่าง World Film Festival บ้าง บางทีก็เป็นเรื่องตลกร้ายไม่น้อยที่คนนอกประเทศได้ดูหนังไทยบางเรื่องมากกว่าคนในประเทศเสียอีก ส่วนการฉายเพื่อเก็บเงินค้ากำไรเล็ก ๆ น้อย ๆ นั้นดูจะเป็นความฝันที่เลื่อนลอย

นาน ๆ ที่เราถึงจะเห็นการฉายหนังไทยอิสระไม่อิงค่ายแบบเก็บเงิน เริ่มจากหนังสารคดีเรื่องเด็กโต๋ ของ ป๊อป อารียาและนิศา คงศรี ที่มีคนดูถล่มทลายล้นโรงหนังลิโด แต่พอหมดเด็กโต๋ก็แทบไม่มีเรื่องใดมาฉายต่อ เพิ่งมีราวสองสามปีนี้ที่พอจะได้ดูหนังไทยอิสระบ่อยครั้งในโรง เริ่มจากฟากบริษัท Pop Picture ที่จัดฉายภาพยนตร์อย่าง Hi-so ของอาทิตย์ อัสสรัตน์ และ ที่รัก ของศิวโรจน์ คงสกุล และงานของบุญส่ง นาคภู่ ที่จัดฉายด้วยทุนตัวเองที่ลิโดทั้งเรื่อง คนจนผู้ยิ่งใหญ่และสถานีสี่ภาค ซึ่งผู้ชมก็มากน้อยต่างกันไป

เสียงตอบรับของการฉายหนังน่าจะอยู่ในระดับน่าพอใจ ผมมีโอกาสได้ดูคนจนผู้ยิ่งใหญ่ของบุญส่ง เขาบอกว่ารอบฉายรอบนั้นอยู่ในภาวะเท่าทุนพอดี (ลิโดคิดค่ารอบฉายกับบุญส่ง 5,000 บาท/รอบ เท่ากับว่าถ้ามีคนดู 50 คน เขาก็จะได้เท่าทุน)
ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา มีหนังไทยอิสระสองเรื่องที่เข้าโรงฉายในวงแคบ แต่ได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาก ชนิดที่คนทำเองก็อาจจะคาดไม่ถึง หนังเรื่องแรกได้แก่ 36 ของนวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ เรื่องหลังคือแต่เพียงผู้เดียว ของคงเดช จาตุรันต์รัศมี

นวพลจัดฉาย 36 ครั้งแรกที่หอศิลปะวัฒนธรรมกรุงเทพฯ โดยฉายสองวัน วันละ 5 รอบ นวพลใช้กลยุทธ์ประชาสัมพันธ์ในเพจทางเฟซบุ๊คและเปิดให้จองบัตรราคา 150 บาทล่วงหน้าผ่านการโอนเงินทางธนาคารแล้วส่งสลิปยืนยันมาทางอีเมล เนื่องจากห้องที่จัดฉายจุคนได้ไม่มากนักเพียงรอบละ 40 คน ทว่าทั้งสิบรอบที่นวพลเปิดให้จองก็เต็มอย่างรวดเร็ว จนต้องเพิ่มรอบฉายและย้ายสถานที่ไปยังที่ ๆ กว้างกว่าเดิมคือหอประชุมของสมาคมฝรั่งเศส ซึ่งผลของการตอบรับยังคงดีเช่นเดิม บัตรถูกจองล่วงหน้าหมดอย่างรวดเร็ว จนในที่สุดนวพลตัดสินใจนำไปฉายที่ House RCA ซึ่งก็มีคนไปตามดูอยู่อุ่นหนาฝาคั่ง

ขณะที่แต่เพียงผู้เดียว ของคงเดช เข้าฉายที่ลิโดและเอสพลานาด แบบจำกัดรอบและจำนวนวันฉาย (ลิโดวันละสองรอบ ที่เอสพลานาดสี่รอบ) จากปากคำของผู้ที่ได้ไปชมและการพบเจอด้วยตนเองพบว่าคนดูกันล้นโรง ที่ลิโดถึงกับต้องเสริมเก้าอี้ และมีการจองบัตรกันล่วงหน้าถึงสองสามวัน

นวพลและคงเดชอาจจะมีข้อได้เปรียบนักทำหนังคนอื่นตรงที่เขาทั้งคู่ต่างมีผู้ติดตามผลงานอยู่ไม่น้อย นวพลนั้นเป็นคอลัมนิสต์ของนิตยสารหลายหัว อาทิ A Day มีหนังสือรวมบทความของเขาออกวางขายหลายเล่ม เป็นทั้งคนทำหนังอิสระที่เคยคว้ารางวัลรัตน์ เปสตันยี จากมูลนิธิหนังไทย ในขณะเดียวกันก็เป็นคนเขียนบทให้กับหนังค่ายแมสอย่าง GTH คาดว่ามีแฟนคลับจากตัวหนังสือมาตามกรี๊ดไม่น้อย ส่วนคงเดชนั้น ฝีไม้ลายมือการทำหนังของเขาเป็นที่ชื่นชอบของหลายคนอยู่แล้ว แถมมีสาวกที่ติดตามมาตั้งแต่ครั้งทำเพลงในนาม ‘สี่เต่าเธอ’ ที่เหนียวแน่นไม่น้อยคอยสนับสนุนอยู่ไม่ขาด และส่วนหนึ่งที่ทำให้แต่เพียงผู้เดียวของคงเดชได้รับการกล่าวถึงเป็นพิเศษก็คือ การรับบทของอภิชัย ตระกูลเผด็จไกร หรือ Greasy Cafe ที่ก็มีแฟนคลับเหนียวแน่นพร้อมสนับสนุนเต็มที่เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดีลำพังชื่อเสียงที่มีแต่เก่าก่อนก็คงพอช่วยได้ในระดับหนึ่ง สิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดกระแสตอบรับของคนดูเป็นจำนวนมากเช่นนี้ คงต้องยกให้ผลจากการโปรโมตผ่านแฟนเพจทางเฟซบุ๊คของภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องที่กลายเป็นเครื่องมือฟรี ๆ ที่เผยแพร่ข่าวสารได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก (แฟนเพจเรื่อง 36 คือ http://www.facebook.com/36exp ส่วนแต่เพียงผู้เดียวคือ http://www.facebook.com/MyOnlyOwn)

น่าสนใจว่าทั้งสองเพจนั้นดูแลโดยนวพล เมื่อมองเข้าไปดูสิ่งที่นวพลในฐานะผู้ดูแลโพสต์ข้อมูลลงไปจะพบว่าช่วงก่อนการฉายนั้นนอกจากบรรดาโปสเตอร์หนัง เขาก็จะโพสต์ข้อมูลเบื้องหลัง เล่าเรื่องการไปฉายยังต่างประเทศ โพสต์ภาพบางส่วน คลิปบางส่วนเพื่อเรียกน้ำย่อย บางทีก็โพสต์เพลงที่อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับเนื้อเรื่องเท่าใดและให้อารมณ์โทนเดียวกัน สิ่งสำคัญคือนวพลโพสต์ในเพจทั้งสองบ่อยเพื่อให้เพจมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา พอหนังจะเข้าฉายก็มีการเล่นเกมชิงรางวัลอาทิ บัตรรอบสื่อ พอถึงวันฉายจริง สิ่งที่ไม่พลาดคือการนำเอาบรรยากาศจริงในวันที่ฉายทั้งจากกล้องตนเองและกล้องของผู้ชมมาโพสต์ลง (ซึ่งย่อมทำให้ผู้ที่ยังไม่ได้ดูเกิดภาวะปากต่อปาก) รวมถึงการลิงค์บทวิจารณ์จากบรรดาเพื่อนพี่น้องที่เขียนถึงไปให้แฟน ๆ ในเพจได้อ่านอีกต่อ แม้บางทีนวพลไม่รู้จะโพสต์อะไรเกี่ยวกับหนังของเขา เขาก็ยังหยิบเอาหนังหรือคลิปอื่น ๆ ที่เขาชื่นชอบมาแปะแนะนำให้แฟน ๆ ได้อ่านกัน

จะเห็นได้ว่าความต่อเนื่องของการผลิตเนื้อหา และตัวคอนเทนท์ว่าเราจะเล่าอะไรบ้างนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก การประชาสัมพันธ์โดยผ่านเฟซบุ๊คนั้นจำเป็นที่จะต้องมีความต่อเนื่องเพื่อให้คนเกิดการจดจำและอยากไปร่วมงาน โดยเนื้อหานั้นหากสะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนได้ชัดเจนมากเท่าไหร่ย่อมก่อให้เกิดความประทับใจต่อแฟนในเพจมากเท่านั้น โอกาสที่จะสื่อสารได้สำเร็จย่อมมีสูง

กลยุทธ์แบบนี้น่าสนใจที่จะดูกันต่อว่าเมื่อนำไปใช้กับหนังไทยอิสระเรื่องอื่น ๆ จะประสบความสำเร็จต่อเนื่องหรือเปล่า
หมายเหตุ การใช้เฟซบุ๊คโปรโมตหนังไม่ได้พึ่งเริ่มจากหนังสองเรื่องนี้ เพียงแต่หนังสองเรื่องนี้ประสบความสำเร็จมาก ก่อนหน้านี้ค่ายหนัง GTH เองก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงกับการใช้แฟนเพจสื่อสารกับคนดูเช่นกัน เพียงแต่ GTH ได้เปรียบกว่ามากในการมีฐานแฟนคลับที่เหนียวแน่น ต่างจากคนทำหนังอิสระที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จัก

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สื่อทางเลือกใต้ถูกทหารเชิญตัวไปสอบสวน

Posted: 24 Jul 2012 05:12 PM PDT

สัมภาษณ์นายซาฮารี เจ๊ะหลง หลังได้รับการปล่อยตัวจากการถูกเจ้าหน้าที่ทหารนำไปสอบสวน
(ที่มาของวิดีโอ "สื่อสันติภาพชายแดนใต้")

" Southern Peace Media" รายงานว่า เมื่อวานนี้ (24 ก.ค.) เวลาประมาณ 11.00 น. นายซาฮารี เจ๊ะหลง เจ้าหน้าที่อาสาสมัครสื่อสันติภาพชายแดนใต้ (Southern Peace Media Volunteer Network) ถูกเจ้าหน้าที่ทหารสังกัด ร้อย.ร.2531 ฉก.ปน.24 เชิญตัวไปสอบสวน และถูกปล่อยตัวออกมาเมื่อเวลาประมาณ 18.35 น. อย่างไรก็ตามในเช้าวันนี้ (25 ก.ค.) เวลาประมาณ 9.00 น. เจ้าหน้าที่จะเชิญตัวนายซาฮารีมาสอบสวนอีก โดยมีการตั้งข้อสงสัยว่านายซาฮารีอาจส่วนเกี่ยวข้องกับคดีครูฝึกดับเพลิงเจ็บสาหัส เหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 55 (ข่าวที่เกี่ยวข้อง) โดยนายซาฮารีได้ให้สัมภาษณ์กับ " Southern Peace Media " โดยยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุไม่สงบดังกล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แก้รัฐธรรมนูญ: ทางสองแพร่งที่รัฐบาลต้องเลือก

Posted: 24 Jul 2012 05:05 AM PDT

 

ไม่ว่าคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีการยกคำร้องตามมาตรา 68 ที่ออกมาในวันที่ 26 กรกฎาคม 2555 จะออกมาเป็นเช่นไร แต่ผมคิดว่าคงเปลี่ยนแปลงจากคำแถลงข่าวในวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมาไม่มากนัก เพราะตามรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้แล้วว่าคำวินิจฉัยกลางต้องและคำวินิจฉัยส่วนตนต้องทำให้เสร็จก่อนการอ่านคำวินิฉัยในวันที่ลงมติ การแก้ไขจะทำได้ก็เพียงรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น เช่น กับ แก่ แต่ ต่อ ตัวสะกด การันต์ ฯลฯ แต่ก็ไม่แน่เสมอไป เพราะกรณีคำวินิจฉัยกลางของคดี(ไม่)ยุบพรรคประชาธิปัตย์ก็เคยเกิดเหตุการณ์คำวินิจฉัยกลางที่เป็นทางการไม่ตรงกับการแถลงข่าวมาแล้ว ที่สำคัญก็คือข้อคลางแคลงในคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ที่ว่า “ตัดสินความผิดย้อนหลังก็ได้ ตัดสินคดีล่วงหน้าก็ได้ ไม่มีอำนาจก็ตัดสินได้”

ซึ่งไหนๆก็ไหนๆแล้ว ป่วยการที่จะไปแหกปากร้องแรกแหกกระเฌอว่าศาลรัฐธรรมนูญตีความขยายอำนาจตัวเอง เพราะดันไปรับอำนาจเขาเองตั้งแต่ต้น แทนที่จะเดินหน้าลงมติวาระ 3 ไปให้เสร็จสิ้นกระบวนความ แต่ไปเชื่่อที่ปรึกษาห่วยๆว่าจะถูกองคมนตรีระงับยับยั้งหรือส่งกลับซึ่งไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญรองรับ หรือเกรงว่าตัวเองจะถูกต้อนเข้าไปสู่ Killing Zone เพราะหากเสนอทูลเกล้าฯไปแล้วมีอันเป็นไป เพราะผมเชื่อว่าจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะขนาดศาลรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวประธานเองและตุลาการบางนายออกมาขู่ฟอดๆอยู่รายวันต่อสื่อมวลชนก่อนวันตัดสินยังต้องเบรกจนตัวโก่งเมื่อเจอฤทธิ์เดชของมวลชนที่ออกมาขู่กลับเช่นกัน ทำให้คำวินิจฉัยออกมาไม่เป็นที่สะใจของฝ่ายที่ไม่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 แต่ก็ยังไม่วายวางยาหรือระเบิดเวลาไว้ให้ปวดหัวเล่น

การวางยาหรือระเบิดเวลาที่ว่านี้ก็คือ แม้ว่าจะยกคำร้องแต่ยังไปวินิจฉัยว่ามาตรา นั้นให้แก้เป็นรายมาตราเท่านั้นไม่ให้แก้ทั้งฉบับให้แก้ได้เป็นรายมาตราเท่านั้น หากจะแก้ทั้งฉบับควรจะไปทำประชามติเสียก่อนซึ่งเป็นการแต่งตำราขึ้นมาใหม่โดยศาลรัฐธรรมนูญเอง เพราะไม่มีในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญใดที่ให้อำนาจเช่นว่านี้ไว้ ซึ่งผมคงจะงดให้ความเห็นในประเด็นต่างๆเหล่านี้เพราะได้มีผู้ให้ความเห็นไว้มากแล้ว แต่ผมจะมาวิเคราะห์ทางเลือกที่เหลืออยู่ของรัฐบาลว่าจะทำอะไรได้บ้างหรือจะทำอะไรไม่ได้บ้าง

ประเด็นแรกที่มีผู้เรียกร้องมากและปัจจุบันก็ยังมีผู้เรียกร้องอยู่ทั้งจากในกลุ่มฮาร์ดคอร์ของพรรคเพื่อไทยเองหรือในฝ่ายนักวิชาการส่วนใหญ่(ผมใช้คำว่าส่วนใหญ่เพราะนักวิชาการที่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญล้วนแล้วแต่มีที่มาที่ไปที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ที่ตนเองกำลังเสวยสุขอยู่แทบเสียจะทั้งสิ้น ไม่เชื่อลองยกชื่อมาวางเป็นรายๆไปเลยก็ได้ว่าใครเกี่ยวข้องอย่างไร)ที่ยังคงอยากให้รัฐสภาเดินหน้าลงมติในวาระ 3 ต่อไป ซึ่งก็คงจะไปเข้าล็อกของการตีความใหม่ของศาลรัฐธรรมนูญอีกทีหนึ่ง ซึ่งผมเห็นว่าไม่น่าจะเป็นไร ถ้าเราไม่ยอมรับการขยายอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเสียอย่าง แต่ในทางเลือกนี้คงเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะรัฐบาลและรัฐสภาได้แสดงให้เห็นถึงอาการปอดแหกมาตั้งแต่ต้นแล้ว ไม่มีทางที่จะมากลับลำเอาเสียง่ายๆหรอก ก็เป็นอันว่าทางเลือกนี้เป็นอันพับไป

ฉะนั้น จึงเหลือแนวทางที่เป็นไปได้เพียง 2 แนวทาง คือ การแก้ไขรายมาตรากับการทำประชามติ ซึ่งเราลองมาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ดูว่าจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน 

แนวทางแรกการแก้ไขรายมาตรา
จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาในวาระที่ 2 ของการเสนอแก้ไขมาตรา 291 เพียงมาตราเดียว (แต่มีหลายอนุมาตรา) มีการยื้ออภิปรายโดยการสงวนความเห็นของกรรมาธิการเสียงข้างน้อยว่ากันเสียหลายสิบวัน หากจะแก้อีกหลายมาตราตามที่ต้องการก็กะกันว่าคงใช้เวลากันอีกหลายสิบปี มิหนำซ้ำฤทธิ์เดชของพรรคฝ่ายค้านที่ลากเก้าอี้ประธานรัฐสภาหรือเอาแฟ้มหนังสือขว้างใส่ประธานรัฐสภาจนฉาวโฉ่ไปทั่วโลก ก็เล่นเอาขนหัวลุกว่าเป็นไปได้ถึงเพียงนี้เชียวหรือ

แต่บางคนก็เสนอความเห็นเพื่อความสะใจว่าอย่ากระนั้นเลยหากจะแก้เป็นรายมาตรา มาตราแรกที่จะแก้ก็คือการยุบศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นก้างขวางคอหรือการแก้ไขเฉพาะมาตรา ก่อนแล้วค่อยแก้มาตราอื่นๆตามมา ซึ่งผมเห็นว่าทางเลือกนี้ค่อนข้างยุ่งยากและใช้เวลา แต่ก็ยังคงพอมีความเป็นไปได้แต่อาจจะน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับทางเลือกในแนวทางที่สอง

แนวทางที่สองการลงประชามติเพื่อนำไปสู่การแก้ไขทั้งฉบับ
แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้คำว่าควรจะทำประชามติก่อนหากจะมีการแก้ไขทั้งฉบับก็ตาม แต่ดูเหมือนคำว่าควรจะนั้นจะแปลความหมายเป็นคำว่า “ต้อง” ไปเสียเพราะเมื่อคำนึงถึงคำวินิจฉัยสำเร็จโทษที่จะตามมาภายหลังหากไม่เชื่อฟัง ประเด็นจึงเหลือแต่เพียงว่าแล้วจะทำอย่างไรกับร่างที่ยังค้างคาอยู่ในสภา หากทำประชามติก่อนยกร่างก็ต้องให้ร่างที่ค้างอยู่ในสภานั้นตกไป ซึ่งก็คงจะเป็นการถอยตกหน้าผาไปซึ่งก็คาดเดาได้ไม่ยากว่าคนที่ตกหน้าผาสูงถึงเพียงนั้นจะมีชีวิตรอดทางการเมืองได้อย่างไร ก็จึงเหลือทางเลือกอีกที่พอให้ก้าวเดินคือการยังคงคาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ในสภาอยู่อย่างนี้แล้วไปทำประชามติว่าเห็นด้วยกับการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่ค้างคาอยู่ในสภานี้หรือไม่ ซึ่งก็คงใช้เวลาประมาณ 4-6 เดือน หากเห็นด้วยก็ดำเนินการลงมติในวาระ 3 ต่อไป หากไม่เห็นด้วยก็ถอนร่างนี้ออกจากสภาไป พร้อมกับก้มหน้ารับกรรมไปโทษฐานที่ไม่สามารถรักษาคะแนนนิยมไว้ได้ และก็ควรจะลาออกหรือยุบสภาไปเพื่อเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจใหม่ว่ายังจะให้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกหรือไม่

แต่บางคนก็บอกว่าก็ในร่างที่คาอยู่ในสภาก็บอกอยู่แล้วนี่ว่าก่อนที่ สสร.จะประกาศใช้ต้องมีลงประชามติอยู่แล้วนี่ ไปทำประชามติก่อนทำไม่ให้เสียเวลา คำตอบก็คือ คนละส่วนกัน ที่สำคัญก็คือ เขาไม่ฟังหรอก เขาในที่นี้ก็คือศาลรัฐธรรมนูญนั่นเอง

ฉะนั้น ในทางเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุดในตอนนี้ก็คือทางเลือกที่ 2 นั่นเอง

อย่างไรก็ตามในส่วนตัวของผมเห็นว่าไหนๆก็จะแก้รัฐธรรมนูญและให้มีการลงประชามติก่อนกันแล้ว น่าจะทำประชามติเสียให้เสร็จเด็ดขาดไปในคราวเดียวกันไปเลยโดยเรามาถามประชามติว่า หากจะแก้รัฐธรรมนูญซึ่งไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือรูปแบบของรัฐได้ เพราะรัฐธรรมนูญปัจจุบันห้ามไว้ แล้วเรื่องอื่นๆ เราจะเอากันอย่างไร เช่น องค์กรอิสระควรมีต่อไปหรือไม่/ จะเอาศาลเดี่ยว (ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง) หรือศาลคู่ ปฏิรูประบบศาลให้ยึดโยงกับประชาชนหรือนำระบบลูกขุนมาใช้/ ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคแบบร่าง พรบ.เชียงใหม่มหานครให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกันทั่วประเทศหรือไม่ ฯลฯ ให้มันสะเด็ดน้ำ เอาเป็นภาคต่อของ 24 มิถุนายน 2475 ไปเล้ยยยยย

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

1 ความคิดเห็น:

  1. สล็อต happyangpao ท่ามกลางเว็บไซต์พนันที่ผุดขึ้นมาเพื่อเป็นโอกาสสำหรับการเล่น pg slot ให้กับนักเสี่ยงโชคมากไม่น้อยเลยทีเดียวในตอนนี้ แต่ว่าจะมีสักกี่เว็บไซต์กันล่ะที่ได้ครอบครอง

    ตอบลบ