ประชาไท | Prachatai3.info |
- อส.กลุ่ม 'มหาจ่า' จับผู้ต้องหาคดีฆ่าข่มขืนส่งทางการไทย
- สื่อนอกรายงานกัมพูชายิงเครื่องบินโดยสารไทย เหตุเข้าใจผิดเป็นเครื่องบินสอดแนม
- ผบ.สส.แจงกองทัพไม่ได้เตรียมแบล็กฮอว์กให้ตุลาการฯ ตามที่เป็นข่าว
- กัมพูชาประกาศถอนกำลังทหารตามแนวพิพาทในวาระครบ 1 ปีคำสั่งศาลโลก
- พบ "เฟซบุ๊ก" สอดส่องแชตผู้ใช้ สแกนอาชญากรรม
- อภิเชต ผัดวงค์: เชียงใหม่มหานคร จากมุมมองของคนท้องถิ่น
- ยื่นข้อเสนอด้านนโยบาย รับน้ำท่วมครั้งหน้า หวังแรงงานข้ามชาติเข้าถึงความช่วยเหลือ
- จตุพร พรหมพันธุ์
- "ฮิลลารี คลินตัน" เรียกร้องประเทศอุษาคเนย์ปกป้องสิทธิแรงงาน
- ความ 'ตลก' ของ 'ตลก.' ศาลรัฐธรรมนูญ
- กลุ่ม อส.หัวเมือง 'มหาจ่า' จับคนร้ายฆ่าข่มขืนหญิงไทใหญ่ในเชียงใหม่ส่งให้ไทย
- "นิติราษฎร์" เตรียมเสนอเลิกศาล รธน.- ตั้งตุลาการพิทักษ์รธน. อาทิตย์นี้
- รมว.แรงงานย้ำแนวคิดส่งแรงงานตั้งครรภ์กลับประเทศไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
- สเปนประท้วงมาตรการรัดเข็มขัด ปะทะตำรวจบาดเจ็บกว่า 70 ราย
- ‘วรเจตน์’ ชี้ตรรกะในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญขัดกันเอง
อส.กลุ่ม 'มหาจ่า' จับผู้ต้องหาคดีฆ่าข่มขืนส่งทางการไทย Posted: 13 Jul 2012 12:16 PM PDT กองกำลังอาสาสมัครหัวเมือง หรือ กลุ่มรัฐฉานใต้ "SSS" ของมหาจ่า จับผู้ต้องหาคดีฆ่าข่มขืนหญิงไทใหญ่ใน จ.เชียงใหม่ ขณะหนีกลับภูมิลำเนา ก่อนส่งมอบให้ทางการไทย หลังได้รับการประสานให้จับกุมขณะคนร้ายหลบหนีเข้าไปในเขตควบคุม สำนักข่าวฉาน รายงานว่า กองกำลังอาสาสมัครรัฐฉานใต้ หรือ "SSS" (Shan State South) กลุ่มของ พ.อ.มหาจ่า บ้านหัวเมือง ตรงข้าม จ.แม่ฮ่องสอน ได้ทำการจับกุมชายชาวไทใหญ่คนหนึ่งซึ่งหลบหนีหมายจับคดีฆ่าข่มขืนนางบุญตา หรือนางละกี่ อายุ 46 ปี หญิงชาวไทใหญ่ เหตุเกิดที่ ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ขณะหลบหนีออกจากไทยข้ามเข้าไปเขตควบคุมของกลุ่ม อส.หัวเมือง (SSS) และถูกเจ้าหน้าที่กลุ่ม อส.หัวเมือง (SSS) จับตัวได้เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกจับกุมคือนายชัย หรือ จายกั่นทะ อายุ 25 ปี ถูกจับขณะกำลังเตรียมข้ามแม่น้ำสาละวินที่ท่าแสนอิน เพื่อหลบหนีความผิดข้ามไปยังบ้านเกิดที่เมืองนาย ในรัฐฉานตอนใต้ การจับกุมคนร้ายสืบเนื่องจากกองกำลัง อส.หัวเมือง (SSS) ได้รับการประสานจากทางการไทย เนื่องจากหลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่สืบทราบว่าคนร้ายได้หลบไปทางจังหวัดแม่ฮ่องสอน จากนั้นจึงได้ส่งข้อมูลและรูปภาพคนร้ายให้กับกลุ่มอส.หัวเมือง (SSS) ช่วยจับกุม โดยหลังจับกุมตัวได้ ทางเจ้าหน้าที่ อส.หัวเมือง (SSS) ได้ทำการสอบสวน และนายชัยให้การรับสารภาพกับ อส.หัวเมือง (SSS) ว่าเป็นผู้ก่อเหตุ และได้ชวนจายมอญมาก่อเหตุด้วย และได้นำเอาทรัพย์สินของผู้ตายไปด้วย ได้แก่แหวนทองคำหนัก 2 สลึง 1 วง สร้อยคอทองคำ 1 สลึง 1 เส้น และรถจักรยานยนต์อีก 1 คัน โดยพากันหลบหนีไปหาเพื่อนอีกคนชื่อนายจายเปิง อยู่ลำพูน หลังจากนั้นทั้งสามคนได้นำรถจักรยายนต์ไปขายให้นายนิด คนไทย ในราคา 18,000 บาท นำเงินมาแบ่งกันคนละ 6 พันบาท ส่วนสร้อยคอและแหวนทองคำ ตนไม่ได้แบ่งให้ใคร หลังแบ่งเงินกันเสร็จตนและนายจายมอน ได้พากันหลบหนีไปทางแม่ฮ่องสอน เพื่อหนีไปอยู่บ้านเกิด แต่หนีไม่รอด ส่วนเพื่อนได้ข้ามแม่น้ำสาละวินหลบหนีไปได้สำเร็จ แหล่งข่าวเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ อส.หัวเมือง (SSS) จับกุมนายชัยได้เนื่องจากได้รับรูปถ่ายจากเจ้าหน้าที่ไทย ส่วนเพื่อนของนายชัยสามารถหลบหนีได้ทันเพราะทางเจ้าหน้าที่ อส. หัวเมือง (SSS) ไม่มีข้อมูลและรูปถ่ายจึงไม่ทราบลักษณะ และหลังจากเจ้าหน้าที่กลุ่ม อส.หัวเมือง (SSS) ทำการสอบสวนนายชัยแล้วได้ส่งมอบให้กับเจ้าหน้าที่พม่าในพื้นที่เพื่อส่งมอบให้กับทางการไทย ส่วนทรัพย์สินที่ทางเจ้าหน้าที่ อส.หัวเมือง (SSS) ยึดคืนได้จากคนร้าย ได้นำมามอบให้กับบุตรของผู้ตายที่บริเวณชายแดนไทย – พม่าแล้ว ล่าสุดมีรายงานว่า ทางการพม่าได้ส่งมอบตัวนายชัย ให้กับทางการไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยระหว่างการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-พม่า (TBC) ครั้งที่ 72 ณ โรงแรมเวียงอินทร์ อ.เมือง จ.เชียงราย ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อวานนี้ (12 ก.ค.) ทางคณะกรรมการฝ่ายไทยได้กล่าวคำขอบคุณฝ่ายพม่าที่ได้ช่วยตามจับนายชัย
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่ "คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สื่อนอกรายงานกัมพูชายิงเครื่องบินโดยสารไทย เหตุเข้าใจผิดเป็นเครื่องบินสอดแนม Posted: 13 Jul 2012 12:04 PM PDT สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เมื่อค่ำวันพุธที่ผ่านมา ( 11 ก.ค.) เกิดเหตุทหารชายแดนกัมพูชาได้ยิงปืนเข้าใส่เครื่องบินบางกอกแอร์เวย์ที่กำลังบินวนหาที่ลงจอดเนื่องจากทัศนวิสัยไม่ดี โดยเข้าใจผิดว่าเป็นเครื่องบินสอดแนม ล่าสุดมีรายงานว่าเครื่องบินดังกล่าวสามารถลงจอดได้เรียบร้อยแล้ว สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานโดยอ้างคำสัมภาษณ์ของรองโฆษกกองทัพบก พ.อ. ศิริจันทร์ งาทองว่า กองทัพกัมพูชาได้ยิงปืนเข้าใส่ เพราะเครื่องบินพาหนะบางกอกแอร์เวย์ ไม่สามารถลงจอดที่สนามบินในเมืองเสียมราฐเพราะอากาศและทัศนวิสัยไม่ดี "ทางการกัมพูชาเข้าใจผิดว่ามันเป็นเครื่องบินสอดแนม" เธอกล่าว และระบุว่า ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์ดังกล่าว ด้านกองกำลังชายแดนกัมพูชาบริเวณใกล้ที่เกิดเหตุ ยืนยันกับเอเอฟพีว่าทหารกัมพูชาได้ยิงปืนใส่เครื่องบินลำดังกล่าวจริง ผู้บังคับบัญชาเส็ง เพียริน กล่าวว่า เนื่องจากในขณะนั้นมืดมาก ทำให้ทหารกัมพูชามองไม่เห็นว่าเป็นเครื่องบินชนิดไหน แต่เนื่องจากเครื่องบินลำดังกล่าวบินไปบินมาหลายรอบ ทำให้ทหารเข้าใจผิดและยิงปืน 18 นัดใส่เครื่องบินดังกล่าว แต่ยิงไม่ถูกเครื่องบินบางกอกแอร์เวย์เนื่องจากบินสูงมาก "ผมคิดว่าเครื่องบินพาหนะคงจะไม่มาบินแถวๆ ชายแดน เราสงสัยว่ามันเป็นเครื่องบินสอดแนม เราจึงยิงขึ้นไปเพื่อพิทักษ์น่านฟ้าของเรา" เส็ง เพียรินกล่าวกับเอเอฟพี และกล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นราว 19 นาฬิกาของวันพุธตามเวลาท้องถิ่นของกัมพูชา ในขณะที่ทางการไทยระบุว่า เหตุเกิดตอนเช้าวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ในขณะที่มติชนออนไลน์รายงานคำให้สัมภาษณ์ของนายศานิตย์ นาคสุขศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า การยิงของเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงตามแนวชายแดนเมืองปอยเปต อำเภอโอโจรว จังหวัดบันเตียเมียนเจย เป็นการยิงขู่เพื่อเตือนเครื่องบินลำดังกล่าว และเนื่องจากฝนตกหนัก ทำให้การสื่อสารเกิดขัดข้อง และจากเหตุการณ์ดังกล่าว ไม่มีผลต่อความสัมพันธ์แนวชายแดนของไทยและเขมรแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นสพ. เดอะ เนชั่น รายงานว่า สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศไทย ปฏิเสธว่ามีการยิงดังกล่าวเกิดขึ้น โดยเขากล่าวว่า ได้เช็คหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงสายการบินแล้ว พบว่าไม่มีการรายงานการยิงปืนดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นก่อนที่ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเยือนประเทศกัมพูชาในเวที US- ASEAN Business Forum ในวันศุกร์ที่ 13 ก.ค. ตามคำเชิญของฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ผบ.สส.แจงกองทัพไม่ได้เตรียมแบล็กฮอว์กให้ตุลาการฯ ตามที่เป็นข่าว Posted: 13 Jul 2012 11:12 AM PDT ผู้บัญชาการทหารสูงสุดแนะทุกฝ่ายหากคิดดีทำดี พายเรือไปในทิศทางเดียวกัน เรือก็จะแล่นไปข้างหน้า ส่วนผู้บัญชาการทหารบกยืนยันว่ากองทัพปฏิบัติตามคำสั่งรัฐบาล และที่ผ่านมาทหารได้แสดงออกถึงความมีระเบียบวินัย ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา เมื่อวานนี้ (13 ก.ค.) สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวภายหลังชมการฝึกร่วมกองทัพไทย กับทุกเหล่าทัพ ประจำปี 2555 โดยตอบคำถามกรณีศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวันดังกล่าวว่า หากทุกฝ่ายคิดดีทำดี ประเทศชาติบ้านเมืองจะเดินไปข้างหน้า เปรียบเสมือนเรือ หากทุกคนพายเรือไปในทิศทางเดียวกัน เรือก็จะแล่นไปข้างหน้า ทหาร เป็นทหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นทหารของประชาชน มีหน้าที่รักษากฎหมาย รักษาความถูกต้องตามกฎกติกา พร้อมยืนยันว่า ไม่มีการจัดเตรียมเฮลิคอปเตอร์รุ่น แบล็กฮอว์ก ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามที่เป็นข่าว ด้านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวว่า จุดยืนของทหาร ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ของทหาร ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมา ทหารได้แสดงออกถึงความมีระเบียบวินัย ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ เพื่อประชาชนมาโดยตลอด ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กัมพูชาประกาศถอนกำลังทหารตามแนวพิพาทในวาระครบ 1 ปีคำสั่งศาลโลก Posted: 13 Jul 2012 10:13 AM PDT "ฮอร์ นัมฮง" ประกาศกัมพูชาจะถอนกำลังทหาร 480 นายออกจากแนวพื้นที่พิพาทใกล้ประสาทพระวิหาร เพื่อแสดงความเคารพต่อคำสั่งศาลโลกที่สั่งให้ถอนทหารสองฝ่าย ขณะที่ล่าสุดไทย-กัมพูชาแถลงร่วมกันว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะปรับลดกำลังทหาร โดยจะทำพิธีปรับลด 18 ก.ค. นี้ ด้าน "ฮุน เซน" เชิญชวนประชาชนไทย-กัมพูชาเที่ยวปราสาทพระวิหารและผามออีแดง สำนักข่าวเกียวโดและเว็บไซต์ http://www.akp.gov.kh ของรัฐบาลกัมพูชา รายงานจากรุงพนมเปญ วานนี้ (13 ก.ค.)ว่า ฮอร์ นัมฮง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่ากัมพูชาจะถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่พิพาทบริเวณเขาพระวิหารในช่วงสัปดาห์หน้า โดยฮอร์ นัมฮง กล่าวว่า การตัดสินใจถอนทหารจำนวน 480 นายออกจากพื้นที่พิพาทครั้งนี้เป็นการแสดงว่ากัมพูชาเคารพคำสั่งของศาลโลก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ปีที่แล้ว จึงได้ทำการถอนกำลังทหารในวาระครอบรอบหนึ่งปีที่ศาลโลกมีคำสั่ง ทั้งนี้ ศาลโลกได้มีคำสั่ง เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2554 ให้กองกำลังทหารของทั้งไทยและกัมพูชาในพื้นที่ 17.3 ตารางกิโลเมตรใกล้เขาพระวิหารถอนกำลังออกทั้งสองฝ่าย สำนักข่าวเกียวโดระบุว่า นับแต่ประสาทเขาพระวิหารได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 2551 ทหารไทยและกัมพูชาก็มีการปะทะกันเรื่อยมา อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวเกียวโดรายงานด้วยว่า ยังไม่มีการประกาศถอนกำลังทหารของฝ่ายไทย ล่าสุดยิ่งลักษณ์ - ฮุนเซนแถลงร่วมปรับลดกำลังทั้งสองชาติ ฮุนเซน ชวนเที่ยวเขาพระวิหาร ภาพยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หารือสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาวานนี้ (13 ก.ค.) ที่มา: เฟซบุคยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะที่ล่าสุด เมื่อเย็นวานนี้ (13 ก.ค.) สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา พล.อ.อ.สุกัมพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.เตียบัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชา ร่วมแถลงข่าวผลหารือทวิภาคี โดยสมเด็จฮุนเซน กล่าวว่า ได้หารือถึงการปรับลดกำลังเจ้าหน้าที่บริเวณปราสาทพระวิหาร เพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่งของศาลโลก ซึ่งเป็นการปรับโดยสมัครใจของทั้ง 2 ประเทศ ไม่เกี่ยวข้องกับผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังได้หารือถึงความร่วมมือด้านการคมนาคมทั้งทางถนนและเส้นทางรถไฟ เพื่อส่งเสริมการเดินทางของประชาชนและการขนส่งสินค้า รวมถึงการเปิดด่านชายแดนเพิ่มเติม ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความสัมพันธ์ของไทยและกัมพูชาถือว่าดีขึ้นตามลำดับ โดยไทยพร้อมที่จะร่วมมือด้านการค้า การลงทุน ตลอดจนการเปิดด่านเพิ่มเติมที่ด่านช่องอานม้า จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดสะเตียกวาง ของกัมพูชา ด้าน พล.อ.เตียบัน ระบุว่า การปรับลดกำลังเป็นการดำเนินการที่มีเจตนาหลีกเลี่ยงการปะทะ ขณะที่ พล.อ.อ. สุกัมพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า บรรยากาศในการหารือเป็นไปด้วยดี ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะประสานเพื่อดำเนินการต่อไป ทั้งนี้สมเด็จฮุนเซน ระบุว่า ขอเชิญชวนให้คนไทยและกัมพูชาเดินทางท่องเที่ยวปราสาทพระวิหารและผามออีแดง ได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้จะมีพิธีปรับลดกำลังเจ้าหน้าที่ ในวันที่ 18 กรกฎาคมนี้ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
พบ "เฟซบุ๊ก" สอดส่องแชตผู้ใช้ สแกนอาชญากรรม Posted: 13 Jul 2012 09:52 AM PDT เฟซบุ๊กใส่ความสามารถในการสะกดรอย โดยจะกวาดหากิจกรรมที่อาจเป็นอาชญากรรมในข้อความและการแชต ถ้าเจอพฤติกรรมที่น่าสงสัย จะ "ติดธง" เนื้อหาดังกล่าว และพิจารณาว่าจะแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือไม่
CNET สำนักข่าวไอทีของอังกฤษ รายงานว่า เฟซบุ๊กใส่ความสามารถในการสะกดรอย เพิ่มเติมจากการทำเหมืองข้อมูลที่มีอยู่แล้ว โดยมันจะกวาดหากิจกรรมที่อาจเป็นอาชญากรรมในข้อความและการแชต ถ้าเฟซบุ๊กเจอพฤติกรรมที่น่าสงสัย มันจะ "ติดธง" เนื้อหาดังกล่าว และพิจารณาว่าจำเป็นต้องดำเนินการขั้นตอนไป เช่น แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือไม่ รอยเตอร์รายงานถึงการใช้ซอฟต์แวร์ดังกล่าว เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า ชายคนอายุสามสิบต้นๆ คนหนึ่ง กำลังแชตเรื่องเพศกับเด็กผู้หญิงอายุ 13 ปีที่เซาธ์ฟลอริดา และวางแผนจะพบกับเธอหลังเลิกเรียนในวันถัดไป เทคโนโลยีดังกล่าวของเฟซบุ๊ก ซึ่งไม่มีใครพูดถึงมากนัก ได้ติดธงการสนทนาดังกล่าวทันทีโดยอัตโนมัติ เพื่อให้พนักงานเข้ามาตรวจสอบ ซึ่งพนักงานก็ได้อ่านข้อความอย่างรวดเร็วและโทรแจ้งตำรวจ เจ้าหน้าที่ได้อายัดเครื่องคอมของเด็กผู้หญิงและจับกุมตัวชายคนดังกล่าวทันทีในวันรุ่งขึ้น ทั้งนี้ ซอฟต์แวร์ดังกล่าว จะจับตาบทสนทนาระหว่างผู้ใช้ที่มีความสัมพันธ์กันอย่างหลวมๆ ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก เช่น หากผู้ใช้สองคนไม่ได้มีสถานะเป็นเพื่อนกัน เพิ่งจะกลายมาเป็นเพื่อนกัน ไม่มีเพื่อนร่วมกัน (mutual friends) เลย มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันน้อยมาก มีความแตกต่างด้านอายุอย่างชัดเจน และ/หรือมีที่อยู่อาศัยห่างกัน เครื่องมือนี้ก็จะให้ความสนใจเป็นพิเศษ โดยจะทำการสแกนถ้อยคำที่เคยพบในบันทึกการสนทนาในคดีอาชญากรรม รวมถึงการล่าเหยื่อทางเพศ เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์และสแกนถ้อยคำแล้ว เจ้าหน้าที่ของเฟซบุ๊กจึงจะมาตรวจสอบบทสนทนาและตัดสินใจในขั้นสุดท้ายว่าจะส่งให้ทางการหรือไม่ และแม้ว่า รายละเอียดของเครื่องมือนี้ยังมีไม่มากนัก แต่ก็เป็นเรื่องที่รู้กันดีว่า เฟซบุ๊กให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เหมือนกับบริษัทอื่นๆ ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ มีข้อมูลว่า เฟซบุ๊กยอมทำตามหมายเรียกพยาน โดยการส่งข้อมูลภาพ วอลล์โพสต์ ข้อความ ข้อมูลติดต่อ และกิจกรรมในอดีตของผู้ต้องสงสัยคดีฆาตกรรม จำนวน 62 หน้า ให้ตำรวจด้วย
ที่มา: ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
อภิเชต ผัดวงค์: เชียงใหม่มหานคร จากมุมมองของคนท้องถิ่น Posted: 13 Jul 2012 09:01 AM PDT ปีพุทธศักราช 2555 นี้ เป็นปีที่กระทรวงมหาดไทยได้สถาปนาครบรอบ 120 ปี ตลอดระยะเวลายาวนานที่ผ่านมาได้พิสูจน์บทบาทสร้างความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้แก่ประชาชนมุ่งทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ยิ่งปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นหน่วยงานราชการในสังกัดที่ใกล้ชิดกับประชาชนฐานรากมากที่สุดและได้รับความสนใจวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในหลากหลายแง่มุม ทั้งที่มองว่าเป็นองค์กรที่เป็นที่พึ่งอย่างแท้จริงประชาชนเข้าถึงได้ง่ายและมุมมองด้านข้อครหาต่าง ๆ เพราะเป็นองค์กรที่กระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศและเป็นองค์กรที่สร้างบทบาทให้ประชาชนเข้าตรวจสอบได้ง่าย แต่ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนท้องถิ่นในช่วงนี้คงไม่มีกระแสใดแรงเท่า ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร พ.ศ.... ภายใต้แนวคิด "จังหวัดจัดการตนเอง" โดยวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันระลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้ฤกษ์ขับเคลื่อนผลักดันประกาศเจตนารมณ์ให้ประชาชนตื่นตัวเล็งเห็นความสำคัญของการปกครองตนเอง ซึ่งน่าจะเทียบเคียงได้กับการกระจายอำนาจ เพียงแต่ต้องการสร้างอัตลักษณ์จึงคิดคำนี้ให้เด่นชัดขึ้นมา ท่ามกลางกระบวนการขับเคลื่อนรอบนี้ คณะหัวหมู่ทะลวงฟันต้องการให้ทุกฝ่ายมองข้ามปัญหาที่สั่งสมมาหลายปี จึงหาวิธีหลบเลี่ยงการเผชิญหน้าระหว่างอามาตย์-ไพร่ หรือเสื้อเหลือง-เสื้อแดง ได้คิดค้นสัญลักษณ์รณรงค์โดยใช้โทน "สีส้ม" เป็นตัวเสริมมาช่วยเผยแพร่กิจกรรม เชียงใหม่มหานคร “จังหวัดจัดการตนเอง” ซึ่งแตกต่างไปจากท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอาทิ กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยาฯ เป้าหมายคือการเลือกตั้งผู้บริหารโดยตรง ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อทำหน้าที่บริหารบุคลากร งบประมาณ และทรัพยากรภายในจังหวัด เพราะเชื่อว่าคนท้องถิ่นย่อมทราบปัญหา สามารถรังสรรค์ภารกิจหรือโครงการขึ้นมาสนองบริการประชาชน และแก้ไขปัญหาในจังหวัดได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพกว่าระบบราชการที่ผ่านมา สาระสำคัญเชียงใหม่มหานครให้เหตุผลว่าที่ผ่านมาประเทศไทยมีระบบการบริหารราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคเป็นกลไกสำคัญในการบริหารประเทศ มีรัฐบาลเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด โดยมีกระทรวง ทบวง กรม เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ แม้ระบบการบริหารงานดังกล่าวได้สร้างคุณูปการแก่ประเทศไทยอย่างใหญ่หลวง แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันสังคมมีความซับซ้อน และการรวมศูนย์การตัดสินใจ และการดำเนินการปฏิบัติการกลายเป็นความซับซ้อน ระบบที่ใหญ่โต จึงไร้ประสิทธิภาพ ไม่สอดคล้องกับความต้องการของคนในชุมชน ประชาชนในพื้นที่ขาดการมีส่วนร่วมทางการเมือง ในสถานการณ์ปัจจุบันหากยังบริหารราชการแบบเดิมก็กลับจะกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง จึงจำเป็นต้องคืนอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นมีอิสระในการกำหนดทิศทางการบริหารที่สอดคล้องกับทรัพยากรและภูมิสังคม โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ 1. เสนอยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ให้เหลือเพียงราชการส่วนกลางและราชการส่วน ท้องถิ่นเต็มพื้นที่ เชียงใหม่มหานครมีฐานะเป็นนิติบุคคลมีอำนาจในการบริหารงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นครอบคลุมครบทุกด้าน ยกเว้น ๔ ด้านหลักที่ยังคงต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลกลาง คือ การทหารซึ่งเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ ระบบเงินตรา กิจการที่เกี่ยวกับการต่างประเทศ และอำนาจด้านตุลาการ 2. เสนอสร้างระบบการตรวจสอบที่เข้มแข็ง โดยเสนอโครงสร้างใหม่เป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานคร สภาเชียงใหม่มหานครและสภาพลเมือง (civil juries) ให้ประชาชนสามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาและตรวจสอบการทำงานของหน่วยงาน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทุกระดับ และเข้าถึงการใช้งบประมาณ ผ่านกระบวนการกลไกต่างๆ 3. เสนอปรับโครงสร้างด้านภาษีใหม่โดยกำหนดภาษีทุกประเภทที่เก็บได้ในพื้นเชียงใหม่มหา จากสาระสำคัญทั้ง 3 ข้อ ถือได้ว่าเป็นยาขนานแรงพอสมควร ประการแรกการยกเลิกระบบราชการส่วนภูมิภาคคงต้องมีคำอธิบายอำนาจหน้าที่และข้าราชการเดิมที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่จะเดินหน้าอย่างไรหากเชียงใหม่มหานครเกิดขึ้นจริง ต้องโอนกลับกระทรวง กรมของตนในส่วนกลางหรือหากเลือกโอนอยู่ประจำในพื้นที่จะมีหลักเกณฑ์อย่างไร ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวกำหนดการปกครองท้องถิ่นมี 2 ระดับ คือท้องถิ่นระดับบน (เชียงใหม่มหานคร) และท้องถิ่นระดับล่าง (เทศบาล) อีกทั้งคงต้องเกิดข้อถกเถียงเรื่องบทบาทที่พึงประสงค์ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อีกทั้งผู้นำท้องถิ่นซึ่งขณะนี้มีทั้งนายก อบจ. นายก อบต. และนายกเทศมนตรีจะแบ่งพื้นที่และระดับการบริหารงานอย่างไรเมื่อพื้นที่ทับซ้อนกันอยู่ โครงสร้างใหม่ 3 ส่วนนั้น สภาพลเมือง (civil juries) มีที่มาและอำนาจหน้าที่อย่างไร สำหรับสัดส่วนรายได้ที่หน่วยงานอื่นจัดเก็บ เช่น สรรพกร สรรพสามิต ฯลฯ ขั้นตอนวิธีการปฏิบัติเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด คงต้องรับฟังเสียงสะท้อนอีกหลายระลอก อันที่จริงเชียงใหม่มหานครที่กำลังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่นี้ ยังไม่กระทบต่อ อปท. ทั่วประเทศมากนัก ปัญหาที่แท้จริงของ อปท. ที่ประสบอยู่ขณะนี้เกิดจากการขาดกฎหมายที่จะเป็นไม้เป็นมือให้ได้แสดงความสามารถในการบริหารงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ 7,853 แห่ง มีรายได้จัดเก็บเองเพียงร้อยละ 8.62 ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นแล้วนับว่ายังน้อยมากเนื่องจากกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันไม่เอื้อต่อการบริหารงานและไม่ทันยุคสมัย หากมีการปรับปรุงจะก่อให้เกิดรายได้อย่างมหาศาล เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระงบประมาณรัฐบาลกลาง รัฐบาลชุดก่อนมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ...... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอและได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแต่ยังไม่ทันได้เสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร กฎหมายนี้ปรับปรุงมาจากพ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 และพ.ร.บ.กำหนดราคากลางของที่ดินสำหรับการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2529 มีจุดมุ่งหมายขยายฐานภาษีเพื่อให้ อปท.จัดเก็บได้มากขึ้นและให้เกิดความเป็นธรรมในการถือครองที่ดิน แนวคิดนี้สร้างความฮือฮาพอควร แต่ก็มีอันเงียบไป เมื่อ อปท.ไม่สามารถพัฒนารายได้ของตนก็ต้องพึ่งงบจากรัฐบาลกลางวนเวียนอยู่กับวัฒนธรรมการเมืองแบบพึ่งพานำไปสู่การวิ่งเต้นในกระบวนการจัดสรรงบเพื่อให้ท้องถิ่นพื้นที่ของตนได้รับงบมาก แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา หากต้องกาเพิ่มขีดความสามารถในการหารายได้ควรขยายฐานผู้เสียภาษีให้กว้างขึ้น ปรับปรุงฐานราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษี และแยกประเภทภาษีให้ชัดเจน กฎหมายของ อปท. ทั้งสี่ฉบับ คือ 1.ร่าง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.... 2. ร่าง พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ พ.ศ... 3. ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยรายได้ของ อปท. พ.ศ....4. ร่าง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการท้องถิ่น พ.ศ... ที่หลายฝ่ายผลักดันไม่มีความคืบหน้า รวมถึงปัญหาการถ่ายโอนภากิจจากส่วนกลางสู่ อปท. ซึ่งเดิมที่กำหนดต้องโอน 324 ภารกิจ แต่ก็ทำได้ไม่ตรงตามกำหนด บางปัญหาเกิดจากความไม่ชัดเจนของกฎหมาย บางภารกิจที่โอนไปแต่ไม่ยอมโอนงบประมาณจนบางภารกิจ อปท.เริ่มจะส่งคืน เช่น การซ่อมแซมถนนของกรมโยธาธิการและผังเมือง กรมทางหลวงชนบท ภารกิจบางอย่าง อปท.ไม่ยอมรับโอนหรือหน่วยงานส่วนกลางบางหน่วยที่ไม่ยอมโอนภารกิจ ในต่างประเทศเช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้มีการปกครอง 2 ระดับ คือรัฐบาลกลางกับการบริหารงานท้องถิ่นที่มีความโดดเด่น เขามุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เรื่องเดือดร้อนต่างๆ ของประชาชนได้รับการแก้ไขโดยคนที่ใกล้ชิดประชาชนโดยประชาชนเองมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้วย เมื่อปัญหาของประชาชนได้รับการแก้ไขอย่างถูกจุดจะทำให้การแก้ไขปัญหาระดับประเทศทั้งการเมืองและเศรษฐกิจเดินหน้าได้ราบรื่นขึ้น การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางหลายครั้งนำไปสู่ต้นทุนการสร้างปัญหา การเสียโอกาสและกลายเป็นปัญหาระดับประเทศ เพราะหากปัญหาของประชาชนไม่ได้รับการแก้ไขจะนำไปสู่ความขัดแย้งและการประท้วงต่างๆ ดังที่เกิดขึ้นหลายครั้ง อำนาจที่กระจุกตัวอยู่ส่วนกลางแก้ไขปัญหาล่าช้า การปฏิวัติรัฐประหารทำได้ง่าย แค่เคลื่อนขบวนรถถังออกจากกรม กองไม่กี่คัน จับผู้นำหัวแถวไม่กี่คนอำนาจก็ผ่องถ่ายไปยังอีกฝักฝ่ายหนึ่งเพียงพลิกฝ่ามือ หากกระจายอำนาจไปยังชุมชนหรือท้องถิ่นปัญหาเหล่านี้จะทุเลาเบาบางลงไป เพราะมีการตรวจสอบถ่วงดุล ในประเทศไทยเราแม้รัฐธรรมนูญ 2 ฉบับล่าสุดจะให้ความสำคัญการกระจายอำนาจ แต่ในทางปฏิบัติรัฐบาลยังอุดหนุนรายจ่ายของ อปท. ที่คิดเป็นสัดส่วนรายจ่ายของรัฐกลับไม่เป็นไปตามที่กำหนด ยิ่งหากเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วถือว่ายังต่ำมาก ปัญหาเร่งด่วนที่ อปท. ต้องแบกรับภาระอยู่ขณะนี้คือ สวัสดิการค่ารักษาพยาบาลซึ่งยังไม่สามารถเบิกตรง เพราะยังไม่มีการปรับปรุงกฎหมาย ข้าราชการ พนักงานเจ็บป่วย อปท.ต้องจ่ายให้กับหน่วยรักษาโดยเบิกจากงบประมาณประจำปี บางรายป่วยโรคมะเร็งค่ายาเข็มละเกือบ 100,000 บาท อปท.ต้องรับภาระรายละเกือบ 1,000,000 บาท กระทบกับงบประมาณด้านการพัฒนา บางแห่งแบกรับภาระไม่ไหว ผู้ป่วยเห็นใจผู้บริหารฝ่ายการเมืองต้องยอมโอนย้ายไปอยู่ราชการส่วนกลาง งานบางอย่างไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่แต่ถูกมอบหมายให้ดำเนินการ เช่น การจัดเก็บข้อมูล จปฐ.ของกรมพัฒนาชุมชน การให้ข้าราชการท้องถิ่นลงนามรับรองคุณสมบัติหรือจำนวนพื้นที่ทำการเกษตรเพื่อขึ้นทะเบียนเกษตรซึ่งเป็นงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือการตั้งด่านสกัดยาเสพติด โดยปกติหากตำรวจตั้งด่านต้องมีตำแหน่งสัญญาบัตรขึ้นไปเป็นหัวหน้าชุด แต่ปัจจุบันเริ่มมีการสั่งการในลักษณะนี้ ทำให้ อปท.ส่วนใหญ่อึดอัด เพราะไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ หากมีปัญหาย่อมไม่พ้นผิด สำหรับเชียงใหม่มหานคร นับว่าเป็นความกล้าหาญของคณะผู้ทำงานที่พยายามขับเคลื่อนให้มีการปกครองแบบก้าวหน้า แม้ขณะนี้จะเป็นเพียงร่าง พ.ร.บ. ที่ยังต้องแก้ไขปรับปรุงผ่านความคิดเห็นอีกมาก และควรรณรงค์ควบคู่กับการผลักดันปรับปรุงกฎหมายสำคัญอื่นๆ เพื่อสอดรับกับกระแสโลก การกระจายอำนาจเป็นการสร้างรากฐานสังคมไทยให้เข้มแข็งขึ้น หากเดินหน้ายกระดับเป็นนโยบายวาระแห่งชาติ ทำให้ปรากฏผลออกมาได้นอกจากจะเซอร์ไพรส์สร้างมิติใหม่ด้านการบริหารงานท้องถิ่นแล้ว ยังจะเป็นการพลิกประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ของระบบราชการไทย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ยื่นข้อเสนอด้านนโยบาย รับน้ำท่วมครั้งหน้า หวังแรงงานข้ามชาติเข้าถึงความช่วยเหลือ Posted: 13 Jul 2012 08:58 AM PDT ภาครัฐชี้ปัญหาในการให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ ไม่มีฐานข้อมูล ขาดงบประมาณ องค์กรแรงงาน-เอ็นจีโอ เสนอตั้งวันสต็อปเซอร์วิส ให้ความช่วยเหลือแบบไม่เลือกปฏิบัติ ชี้ "ภาษา" ทำให้เข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ (13 ก.ค.55) ในการเสวนาเรื่อง สิทธิแรงงานข้ามชาติและภัยธรรมชาติ: บทเรียนจากวิกฤตน้ำท่วม ปี 2554 จัดโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน สนับสนุนโดยองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค มีการยื่นข้อเสนอแนะด้านนโยบายในการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติในภาวะภัยพิบัติ ซึ่งจัดทำโดยสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ต่ออาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน โดยมีข้อเสนอ 4 ข้อได้แก่ 1) ให้มีการร่างคู่มือการจัดตั้งและการบริหารจัดการศูนย์การจัดการภัยพิบัติและศูนย์พักพิงที่มีการบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Services) เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุกกลุ่มโดยไม่เลือกปฏิบัติ 2) สร้างช่องทางการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐในระดับท้องที่ และชุมชนแรงงานข้ามชาติในเรื่องสิทธิแรงงาน และการเข้าถึงการบริการให้ความช่วยเหลือ 3) ปฏิรูปกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เช่น มติ ครม.2547-2555 ที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการเปลี่ยนย้ายนายจ้างสำหรับแรงงาน 3 สัญชาติ (ลาว กัมพูชา และพม่า) และระยะเวลาในการเปลี่ยนนายจ้างต้องกระทำภายใน 7 วัน พบว่าในทางปฏิบัติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามภัยพิบัติ การดำเนินการดังกล่าวไม่อาจทำได้จริง จึงควรมีการพิจารณาแก้ไขหลักเกณฑ์และระยะเวลา เช่น จาก 7 วันขยายเป็น 30-90 วัน นอกจากนี้ เสนอให้แก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องให้มีหลายภาษาและมีบริการล่ามด้วย เพราะที่ผ่านมา พบว่าแบบคำร้องต่างๆ ต้องทำเป็นภาษาไทย ทำให้แรงงานจำนวนมากเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ 4) จัดตั้งศูนย์บริการข้อมูลและรับเรื่องร้องทุกข์ที่ให้บริการในหลายภาษาทั้งในรูปแบบศูนย์บริการและฮอตไลน์ โดยจากบทเรียนที่ผ่านมา พบว่าสื่อโทรทัศน์มีประสิทธิภาพสูงที่สุด จึงเสนอให้มีคำบรรยายใต้ภาพในสื่อโทรทัศน์หลายภาษา ทั้งนี้ ในภาวะปกติ ศูนย์ข้อมูลนี้ควรได้รับการพัฒนาเป็นศูนย์ถาวรในการช่วยเหลือและคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ ทั้งนี้ อาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ยืนยันว่า กระทรวงแรงงานไม่ได้แบ่งแยกว่าจะช่วยเหลือแรงงานไทยหรือต่างประเทศ แต่บางครั้งแรงงานต่างประเทศอาจไม่ได้รับการดูแลเท่าคนไทย เพราะไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน แต่ด้านมนุษยธรรม ยืนยันว่าประเทศไทยไม่น้อยหน้าใคร ทั้งนี้ อยากขอให้คนต่างด้าวที่ยังอยู่ใต้ดิน มาจดทะเบียน ขึ้นมาอยู่ข้างบน โดยยืนยันว่าหากมาอยู่ในฐานะลูกจ้างจะไม่ตกหล่นจากการให้ความช่วยเหลือแน่ ต่อมา ในเวทีเสวนาเรื่อง ทิศทางความร่วมมือในการแก้ปัญหาและฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วม กรณีแรงงานข้ามชาติ ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวย้ำถึงบทบาทของภาครัฐว่า จะต้องเป็นตัวหลักในการแก้ปัญหา และประสานงานกับองค์กรต่างๆ โดยควรมีองค์กรถาวรเพื่อการให้ความช่วยเหลือที่ทันท่วงที รวมถึงแก้ปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย ที่ไม่เอื้ออำนวยกับการให้ความช่วยเหลือแรงงานด้วย มาโนช แสงแก้ว จากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ชี้ว่า ปัญหาที่พบคือ การขาดข้อมูลพื้นฐาน ทำให้ประสบปัญหาในการประสานงานกับฝ่ายบุคคลหรือหน่วยงานในพื้นที่เสี่ยง และทำให้ต้องรวบรวมข้อมูลใหม่เพื่อนำเสนอต่อระดับนโยบาย ส่งผลให้ความช่วยเหลือไปถึงช้า ด้าน นรา รัตนรุจ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการจัดระบบแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน ระบุว่า ภาครัฐจะมีข้อมูลก็แต่แรงงานที่เข้ามาแบบถูกกฎหมาย หรืออยู่ในระบบทะเบียนที่ได้รับการผ่อนผันโดยการพิสูจน์สัญชาติเท่านั้น ขณะที่แรงงานที่เข้ามาแบบไม่ถูกกฎหมาย ภาครัฐก็จะไม่มีข้อมูลของคนเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ครม.มีมติให้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวทุกจังหวัด ก็น่าจะทำให้การประสานงานให้ความช่วยเหลือมีความพร้อมมากขึ้น ทั้งนี้ในส่วนกลาง ยังมีปัญหาด้านงบประมาณ ซึ่งไม่สามารถตั้งงบถาวรได้ รวมถึงถูกฝ่ายค้านตรวจสอบเรื่องความโปร่งใสตลอดเวลา ทำให้เกิดความล่าช้าในการเบิกจ่าย อย่างไรก็ตาม เขาชี้ว่า ความร่วมมือกับประเทศต้นทางนั้นมีแนวโน้มดีขึ้น โดยปีที่ผ่านมา สถานทูตพม่าเข้ามามีส่วนร่วมช่วยเหลืออย่างเต็มที่
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 13 Jul 2012 06:55 AM PDT |
"ฮิลลารี คลินตัน" เรียกร้องประเทศอุษาคเนย์ปกป้องสิทธิแรงงาน Posted: 13 Jul 2012 06:23 AM PDT ฮิลลารี คลินตัน รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ เรียกร้องประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปกป้องสิทธิแรงงานและปรับปรุงสภาพการทำงาน เพราะเป็นหนทางกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ (13 ก.ค.55) สำนักข่าวไทย รายงานว่า นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวในเวทีอภิปรายเรื่องสตรีที่เมืองเสียมราฐของกัมพูชาว่า การปกป้องสิทธิแรงงานและมาตรฐานการจ้างงานไม่เพียงเป็นสิ่งที่ถูกต้องและถูกจริยธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่ฉลาดและเป็นกลยุทธ์ เพราะการเคารพสิทธิเหล่านี้เป็นกุญแจสำคัญที่จะนำเอเชียไปสู่การขยายตัวในก้าวถัดไปและการฟื้นสมดุลของเศรษฐกิจโลก เธอขอให้บริษัทข้ามชาติให้ความสำคัญต่อมาตรฐานแรงงานและจริยธรรม แม้อาจจะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่จะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าเพราะตลาดชาติตะวันตกต้องการสินค้าที่มีการผลิตที่ดี นางคลินตันกล่าวถึงพม่าว่า จะต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ในระหว่างเปิดประเทศ พม่าซึ่งมีค่าจ้างแรงงานต่ำมากอาจพยายามดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติด้วยการตัดราคาประเทศคู่แข่งอย่างบังกลาเทศและกัมพูชา แต่หากผู้นำพม่าให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองแรงงาน สร้างงานที่มีคุณภาพ และเดินหน้าปฏิรูปการเมืองจะทำให้การพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาวมีความเข้มแข็งขึ้น เพราะการปฏิเสธสิทธิของแรงงานจะทำให้สังคมสูญเสียความสามารถในการผลิต นวัตกรรมและการเติบโต พร้อมกับยกเวียดนามและกัมพูชาเป็นตัวอย่างว่า ตลาดเปิดกว้างและเศรษฐกิจเติบโตหลังจากทำข้อตกลงกับสหรัฐ แม้กัมพูชายังไม่เปิดกว้างเรื่องตลาดสิ่งทอมากนัก แต่สภาพการทำงานและค่าแรงงานสูงขึ้นจนใกล้จะลบล้างภาพลักษณ์การเป็นโรงงานใช้แรงงานหนักได้แล้ว เอื้อให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนมากขึ้น อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐเตือนว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจอาศัยค่าแรงต่ำและวัตถุดิบราคาถูกเป็นข้อได้เปรียบในการผลิตสินค้าส่งออกไปประเทศพัฒนาแล้วอีกไม่ได้และจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจดังกล่าว เนื่องจากเอเชียมีชนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ยุโรปและสหรัฐก็กำลังหาทางส่งออกมาภูมิภาคนี้ให้มากขึ้น
ที่มา: สำนักข่าวไทย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ความ 'ตลก' ของ 'ตลก.' ศาลรัฐธรรมนูญ Posted: 13 Jul 2012 03:43 AM PDT กฎหมายกำหนดว่า คำวินิจฉัยให้มีผลในวันอ่าน ดังนั้น ต้องยึดถือว่าสิ่งที่ศาลอ่าน เป็นคำวินิจฉัย คำถามคือ สิ่งที่ ตลก. อ่านไป ฟังแล้ว 'ตลก' ไหมครับ ? *** ตลก ที่ 1 *** ศาลบอกบอกว่า ถ้าตั้ง สสร. แก้ทั้งฉบับ สภาจะ ต้อง (หรือ "ควร" ?) ไปถามประชาชนก่อน ในขั้นแรก รัฐธรรมนูญ มาตรา 165 เองไม่ได้ให้อำนาจรัฐสภาไปทำประชามติถามประชาชน ผู้ที่จะทำประชามติได้ คือ คณะรัฐมนตรี แล้ว ศาลจะให้ 'ฝ่ายบริหาร' ไปก้าวล่วงถามเรื่องแก้รัฐธรรมนูญแทน 'ฝ่ายนิติบัญญัติ' กระนั้นหรือ ? หรือศาลจะให้สภา ไปตรากฎหมายที่ 'เล็กกว่า' รัฐธรรมนูญ มาขอทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ 'ที่ใหญ่กว่า' ? แล้วตอนไปถามประชาชน จะให้ถามว่าอะไรครับ จะให้เลือกระหว่าง ก. เลือกเก็บ รธน 2550 ทั้งฉบับไว้ กับ ข. เลือกร่างใหม่ ที่ยังไม่ทันได้ร่าง แล้วจะให้ประชาชนเลือกอย่างไร ? ในเมื่อตัวเลือกมันยังไม่มีให้เลือก ? *** ตลก ที่ 2 *** ศาลบอกว่า แก้ทั้งฉบับ ต้องถามประชาชนก่อน แต่แก้ทีละมาตรา ไม่ต้องถามประชาชน สรุปถ้า จะแก้ทีละมาตรา ทั้งหมดซัก 300 มาตรา สรูป สภาทำได้ ไม่ต้องถามประชาชน ? ตรรกะนี้ ผิดเพี้ยน มาก เอาคำหรู เช่น "อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ" มาอ้าง ก็ไม่ได้ช่วยให้มีตรรกะแต่อย่างใด *** ตลก ที่ 3 *** หลังศาลอ่านคำวินิจฉัย โฆษกศาลแถลงว่า ข้อกฎหมายที่ศาลวินิจฉัย คือ มาตรา 68 สรุปว่าไม่ได้มีการล้มล้างการปกครองฯ แต่พอถูกนักข่าวถามว่า ศาลวินิจฉัยเรื่อง มาตรา 291 ว่าห้ามแก้ไขทั้งฉบับ หรือไม่ โฆษกกลับตอบว่า เป็นข้อเสนอแนะ เป็นความเห็น หากรัฐสภาดำเนินการต่อ ต้องรับผิดชอบเอง แล้วสรุป ถ้าจะ ยกคำร้อง แล้ว จะยึกยัก แสดงความเห็นนอกประเด็นไปเพื่อเหตุใด ? *** ผมย้ำอีกครั้งว่า *** ประเด็นของคดีนี้ คือ มาตรา 68 ไม่ใช่ มาตรา 291 ศาลจึงไม่มีอำนาจไปก้าวล่วงว่า มาตรา 291 แก้ไขอย่างไร ขนาดสมัยประชาธิปัตย์แก้รัฐธรรมนูญทีละมาตรา แล้วเพื่อไทยนำไปร้องศาลตาม มาตา 154 ศาลยังปฏิเสธคำร้องเพื่อไทย บอกว่า มาตรา 291 เป็น "เรื่องเฉพาะ" ที่สภาต้องดำเนินการสามวาระ ศาลไม่เข้าไปก้าวล่วง มาตรา 291 กำหนดว่า เมื่อพ้น 15 วันหลังลงมติวาระ 2 ไปแล้ว สภามี "หน้าที่ตามกฎหมาย" ต้องเดินต่อไปยัง วาระ 3 ดังนั้น เมื่อศาลวินิจฉัยแล้วว่า คดีนี้ไม่ขัด มาตรา 68 รัฐสภาต้องเดินหน้าต่อวาระสามตามที่ มาตรา 291 กำหนดไว้ รัฐสภาจะนำความเห็นหรือข้อเสนอแนะนอกคำวินิจฉัยไม่ได้ และหากประชาชนผู้รักประชาธิปไตยจะหลงตามศาลจนแตกเสียงกันว่า จะเดินหน้าวาระ 3 หรือไม่ ก็จะน่าเสียดาย ส่วนถ้าสภาเดินต่อวาระ 3 แล้วมีคนไปฟ้องซ้ำว่าขัดมาตรา 68 ศาลก็ต้องตอบให้ชัดเจนว่า ที่บอกว่า มาตรา 291 แก้ได้อย่างนั้นอย่างนี้ เป็น "ความเห็น" ของศาล แต่ไม่ใช่ "คำวินิจฉัย" เพราะคำวินิจฉัย วันศุกร์ที่ 13 นี้ มีผูกพันเพียงประการเดียว คือ "ยกคำร้อง" ! ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กลุ่ม อส.หัวเมือง 'มหาจ่า' จับคนร้ายฆ่าข่มขืนหญิงไทใหญ่ในเชียงใหม่ส่งให้ไทย Posted: 13 Jul 2012 03:37 AM PDT กองกำลังอาสาสมัครหัวเมือง หรือ กลุ่มรัฐฉานใต้ (SSS) ของมหาจ่า รวบตัวคนร้ายก่อเหตุฆ่าข่มขืนหญิงไทใหญ่ในเชียงใหม่ส่งพม่ามอบให้ทางการไทย หลังได้รับการประสานให้จับกุมขณะคนร้ายหลบหนีเข้าไปในเขตควบคุม 13 ก.ค. 55 - มีรายงานว่า กองกำลังอาสาสมัครรัฐฉานใต้ SSS (Shan State South) กลุ่มของ พ.อ.มหาจ่า บ้านหัวเมือง ตรงข้ามจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ทำการจับกุมคนร้ายชายชาวไทใหญ่คนหนึ่งซึ่งก่อเหตุฆ่าข่มขืนนางบุญตา เอราวัณ หรือ นางละกี่ อายุ 46 ปี หญิงชาวไทใหญ่ เหตุเกิดหมู่ที่ 1 ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ขณะหลบหนีออกจากไทยข้ามเข้าไปเขตควบคุมของกลุ่มอส.หัวเมือง (SSS) และถูกเจ้าหน้าที่กลุ่มอส.หัวเมือง (SSS) จับตัวได้เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ คนร้ายที่ถูกจับกุมทราบชื่อคือ นายชัย หรือ จายกั่นทะ อายุ 25 ปี ถูกจับขณะกำลังเตรียมข้ามแม่น้ำสาละวินที่ท่าแสนอิน เพื่อหลบหนีความผิดข้ามไปยังบ้านเกิดที่เมืองนาย ในรัฐฉานตอนใต้ การจับกุมคนร้ายสืบเนื่องจากกองกำลัง อส.หัวเมือง (SSS) ได้รับการประสานจากทางการไทย เนื่องจากหลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่สืบทราบว่าคนร้ายได้หลบไปทางจังหวัดแม่ฮ่องสอน จากนั้นจึงได้ส่งข้อมูลและรูปภาพคนร้ายให้กับกลุ่มอส.หัวเมือง (SSS) ช่วยจับกุม โดยหลังจับกุมตัวได้ ทางเจ้าหน้าที่อส.หัวเมือง (SSS) ได้ทำการสอบคนร้ายใ้ห้การรับสารภาพว่า เป็นผู้ก่อเหตุสังหารนางบุญตา (นางละกี่) จริง โดยตนกับนางบุญตาเป็นคนสนิทกัน นางบุญตาอยู่บ้านคนเดียว วันเกิดเหตุตนไปล้างรถที่บ้านนางบุญตา และบอกนางบุญตาว่าหิวข้าว ซึ่งนางบุญตาได้ทำกับข้าวให้ตนนำไปกินที่บ้าน ตกเย็นตนได้ดื่มเหล้าเมาแล้วไปที่บ้านนางบุญตา เมื่อเวลา 21.00 น. และได้พยายามฉุดกระชากนางบุญตาเพื่อหวังข่มขืน แต่นางบุญตาต่อสู้ขัดขืน ตนจึนได้ใช้ไขควงแทงเข้าที่หน้าท้องนางบุญตา 1 ครั้ง แต่นางบุญตายังขัดขืนพร้อมกับได้คว้ามีดที่อยู่บนหัวที่นอนหมายจ้วงแทงตน ตนจึงแย่งเอามีดเชือดคอนางบุญตาจนถึงแก่ชีวิต คนร้ายเผยอีกว่า หลังจากนางบุญตาเสียชีวิตแล้วตนได้ใช้ผ้าห่มคลุมศีรษะผู้ตายเนื่องจากมีเลือดออกมาก จากนั้นตนได้ทำการข่มขืนผู้ตาย 1 ครั้ง หลังข่มขืนเสร็จได้เรียกเพื่อนอีกคนชื่อนายจายมอน ไปทำการข่มขืนผู้ตายอีก จากนั้นได้ค้นเอาทรัพย์สินผู้ตายซึ่งมีแหวนทองคำหนัก 2 สลึง 1 วง สร้อยคอทองคำ 1 สลึง 1 เส้น และรถจักรยานยนต์อีก 1 คัน พากันหลบหนีไปหาเพื่อนอีกคนชื่อนายจายเปิง อยู่ลำพูน หลังจากนั้นทั้งสามคนได้นำรถจักรยายนต์ไปขายให้นายนิด คนไทย ในราคา 18,000 บาท นำเงินมาแบ่งกันคนละ 6 พันบาท ส่วนสร้อยคอและแหวนทองคำ ตนไม่ได้แบ่งให้ใคร หลังแบ่งเงินกันเสร็จตนและนายจายมอน ได้พากันหลบหนีไปทางแม่ฮ่องสอน เพื่อหนีไปอยู่บ้านเกิด แต่หนีไม่รอด ส่วนเพื่อนได้ข้ามแม่น้ำสาละวินหลบหนีไปได้สำเร็จ แหล่งข่าวเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่อส.หัวเมือง (SSS) จับกุมนายชัย คนร้ายได้เนื่องจากได้รับรูปถ่ายจากเจ้าหน้าที่ไทย ส่วนเพื่อนของนายชัยสามารถหลบหนีไปได้ทันเพราะทางเจ้าหน้าที่อส.หัวเมือง (SSS) ไม่มีข้อมูลและรูปถ่ายจึงไม่ทราบคนร้ายเป็นคนใด ซึ่งในส่วนของนายชัย หลังจากเจ้าหน้าที่กลุ่มอส.หัวเมือง (SSS) ทำการสอบสวนแล้วได้ส่งมอบให้กับเจ้าหน้าที่พม่าในพื้นที่เพื่อส่งมอบให้กับทางการไทย ส่วนทรัพย์สินที่ทางเจ้าหน้าที่อส.หัวเมือง (SSS) ยึดคืนได้จากคนร้าย ได้นำมามอบให้กับบุตรนางบุญตา ผู้ตายที่บริเวณชายแดนไทย – พม่า (รัฐฉาน) แล้ว สำหรับเหตุฆ่าข่มขืนดังกล่าเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 55 ที่ผ่านมา โดยเชียงใหม่นิวส์รายงานว่า พ.ต.ท.บุญรัตน์ ตันหยง สารวัตรเวร สภ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ได้รับแจ้งเหตุฆ่ากันตายที่บ้านเลขที่ 412 หมู่ที่ 1 ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ หลังได้รับแจ้งได้รุดไปตรวจสอบที่เกิดเหตุพบศพหญิง 1 ราย นอนเสียชีวิตอยู่บนที่นอน สภาพศพนอนหงาย ถูกผ้าห่มคลุมไว้อยู่ และผ้าถุงถูกถลกขึ้นไปจนถึงเอว พบมีแผลถูกอาวุธมีดแทงเข้าที่ท้อง 1 แผล หน้าอก 1 แผล และถูกเชือดลำคอเป็นแผลกว้าง ทราบชื่อผู้ตายคือนางบุญตา เอราวัณ อายุ 46 ปี สัญชาติไทยใหญ่และเป็นเจ้าของบ้านที่เกิดเหตุ จากการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ตายทราบว่าที่หายไปมีสร้อยคอทองคำน้ำหนัก 2 สลึง 1 เส้นและแหวนทองครึ่งสลึง 1 เส้น รถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นเวฟ 125 สีดำ หมายเลขทะเบียน จกร – 364 จากการสอบสวนนางสาวพรศรี เอราวัณ อายุ 24 ปีลูกสาวของผู้ตายให้การว่า นางบุญตา พักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังเกิดเหตุเพียงคนเดียว โดยก่อนเกิดเหตุตนได้ลุกมาเพื่อจะไปเข้าห้องน้ำที่บ้าน จากนั้นได้เรียกแม่ แต่ก็ไม่มีเสียงตอบ จึงเปิดเข้าไปก็เห็นแม่นอนอยู่ และมีเลือดไหลออกมา เมื่อเปิดผ้าห่มดูก็พบว่ามีแผลถูกแทงเสียชีวิต จากการออกสอบถามพยานแวดล้อมทราบว่ามีชายต้องสงสัย ซึ่งพักอาศัยอยู่บ้านข้างเคียง 1 คน คือนายชัย ไม่ทราบอายุ เป็นชาวไทยใหญ่ โดยก่อนหน้านั้นนายชัย ได้ทะเลาะกับแฟนที่ท้องได้ 8 เดือนและเคยมาปรึกษากับผู้ตายว่าจะทำอย่างไร จึงคาดว่าน่าจะเป็นฝีมือของนายชัย เพราะหลังเกิดเหตุนายชัยได้หายตัวไป อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมีรายงานว่า ทางการพม่าได้ส่งมอบตัวนายชัย ให้กับทางการไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยระหว่างการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-เมียนมาร์ (TBC) ครั้งที่ 72 ณ โรงแรมเวียงอินทร์ อ.เมือง จ.เชียงราย ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อวานนี้ (12 ก.ค.) ทางคณะกรรมการฝ่ายไทยได้กล่าวคำขอบคุณฝ่ายเมียร์มาร์ ที่ได้ช่วยตามจับนายชัย แสงอ่อน คนร้ายฆ่าข่มขืนนางบุญตา เอราวัณ ซึ่งเป็นชาวไทใหญ่ด้วยกัน ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่ http://www.khonkhurtai.org/ "คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
"นิติราษฎร์" เตรียมเสนอเลิกศาล รธน.- ตั้งตุลาการพิทักษ์รธน. อาทิตย์นี้ Posted: 13 Jul 2012 03:27 AM PDT (13 ก.ค.55) หลังศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ คณะนิติราษฎร์ได้ประกาศผ่านเว็บไซต์ของกลุ่ม ทันที ว่าจะมีการจัดเวทีแถลงข้อเสนอทางวิชาการ เรื่องการยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญ และจัดตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ ในวันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม 2555 เวลา 13.00 น. ห้อง LT1 ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
รมว.แรงงานย้ำแนวคิดส่งแรงงานตั้งครรภ์กลับประเทศไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน Posted: 13 Jul 2012 03:23 AM PDT รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยืนยันองค์การสหประชาชาติไม่ได้ให้ทำหนังสือชี้แจงแนวคิดส่งแรงงานตั้งท้อง 3 เดือนกลับประเทศ พร้อมย้ำไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชน 13 ก.ค. 55 - สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์รายงานว่านายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงข่าวองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น)ขอให้กระทรวงแรงงาน ชี้แจงแนวคิดการส่งกลับแรงงานต่างด้าวที่ตั้งครรภ์ 3 เดือน กลับประเทศต้นทาง ว่าไม่มีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น เป็นเพียงการสอบถามแนวความคิด ซึ่งได้ยืนยันไปว่า เรื่องนี้เป็นเพียงแนวคิดที่ต้องการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย ไม่ให้เพิ่มจำนวนจนส่งผลกระทบต่อความมั่นคง เชื่อว่าหากทุกฝ่ายร่วมกันออกมาตรการที่รัดกุมและชัดเจนจะสามารถแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทยได้ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่การละเมิดสิทธิมนุษยชนตามที่องค์กรอิสระ(เอ็นจีโอ)กล่าวอ้าง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า ประเด็นที่มีการทำหนังสือชี้แจงไปยังสหประชาชาติ เป็นช่วงที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จะจัดอันดับประเทศที่ถูกจับตามองว่ามีการค้ามนุษย์ ใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับในรูปแบบที่เลวร้าย จนส่งผลให้ไทยไม่ตกไปอยู่ในอันดับที่ 3 อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้กรมการสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.)และกรมการจัดหางาน (กกจ.) เร่งศึกษาเกณฑ์การจัดอันดับ ดังกล่าว เพื่อปฏิบัติได้ถูกต้อง และไม่ถูกกล่าวหาว่ามีการค้ามนุษย์ในประเทศไทย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สเปนประท้วงมาตรการรัดเข็มขัด ปะทะตำรวจบาดเจ็บกว่า 70 ราย Posted: 13 Jul 2012 03:15 AM PDT กลุ่มสหภาพแรงงานและประชาชนชาวสเปนปะทะตำรวจบาดเจ็บอย่างน้อย 70 รายในกรุงมาดริด หลังประท้วงที่รัฐบาลสเปนประกาศมาตรการรัดเข็มขัด ที่ตัดงบประมาณการใช้จ่ายของรัฐบาล รวมทั้งการขึ้นภาษีการขายจาก 18% เป็น 21%
สำนักข่าว CNN เผยแพร่ภาพการประท้วงของกลุ่มคนงานในประเทศสเปน เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 55 ที่ผ่านมา โดยกลุ่มสหภาพแรงงานและประชาชนชาวสเปนได้ปะทะตำรวจบาดเจ็บอย่างน้อย 70 รายในกรุงมาดริด หลังประท้วงที่รัฐบาลสเปนประกาศมาตรการรัดเข็มขัด โดยการประท้วงเริ่มกลุ่มสหภาพคนทำงานเหมืองแร่ที่ได้ปักหลักในกรุงมาดริดมาหลายวันแล้ว และเริ่มมีประชาชนมาสมทบกับเดินขบวนประท้วงของพวกเขา เนื่องจากไม่พอใจนโยบายตัดงบการอุดหนุนธุรกิจเหมืองแร่ลง 64% ตำรวจได้พยายามเข้าสลายการชุมนุมโดยการยิงด้วยกระสุนยางและไล่ตีผู้ชุมนุมด้วยกระบอง เป็นเหตุให้เกิดการปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุมใกล้กระทรวงอุตสาหกรรม มีผู้บาดเจ็บ 76 ราย เป็นคนงานเหมือง 43 คน และตำรวจ 33 นาย อนึ่งนาย Mariano Rajoy นายกรัฐมนตรีสเปนได้ประกาศใช้มาตรการรัดเข็มขัดอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวานนี้ (12 ก.ค.) ในระหว่างการแถลงต่อรัฐสภาเพื่อลดงบประมาณขาดดุลของประเทศให้เป็นไปตามเงื่อนไขของกลุ่มประเทศยูโรโซนที่ให้เงินกู้แก่สเปนเพื่อพยุงเศรษฐกิจและฐานะทางการเงินของธนาคารก่อนหน้านี้ โดยมาตรการรัดเข็มขัดที่รัฐบาลสเปนนำมาใช้นี้ มีทั้งการตัดงบประมาณการใช้จ่ายของรัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่น รวมทั้งการขึ้นภาษีการขายจาก 18% เป็น 21% โดยคาดว่าจะสามารถประหยัดงบประมาณได้ราว 65 พันล้านยูโร ปีงบประมาณ ค.ศ. 2014 ในการแถลงต่อสภาซึ่งถูกขัดจังหวะจากสมาชิกพรรคฝ่ายค้านเป็นระยะๆ และนาย Rajoy ยอมรับว่าการนำมาตรการรัดเข็มขัดมาใช้นี้ ได้สร้างความอึดอัดให้แก่เขาโดยเฉพาะมาตรการการขึ้นภาษี เพราะในการรณรงค์หาเสียงนั้น เขาสัญญาว่าจะลดภาษีให้กับประชาชน |
‘วรเจตน์’ ชี้ตรรกะในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญขัดกันเอง Posted: 13 Jul 2012 01:49 AM PDT วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ให้สัมภาษณ์วอยซ์ทีวี ชี้ตรรกะในคำวินิจฉัยขัดกันเอง ระบุเรื่องนี้ไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลแต่ต้น เพราะเป็นการใช้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภา (แฟ้มภาพ: ประชาไท) 13 ก.ค. 55 หลังจากการอ่านคำตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วอยซ์ทีวีได้ทำการสัมภาษณ์อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หนึ่งในคณะนิติราษฎร์ ต่อประเด็นการตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดย อ.วรเจตน์ ชี้ว่าตรรกะในคำวินิจฉัยขัดกันเอง โดยระบุว่ามีความเห็นแต่แรกแล้วว่าเรื่องนี้ไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลแต่ต้น เพราะนี่เป็นการใช้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภา “ไม่ต้องพูดเรื่องต้องผ่านอัยการหรือไม่ เพราะเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการใช้สิทธิเสรีภาพ แต่เป็นการใช้อำนาจการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะทำได้” “เพราะไม่เช่นนั้น ต่อจากนี้ไป หากองค์กรของรัฐทำอะไรก็ตาม ก็จะมีคนไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ตลอดเวลา เป็นเรื่องที่น่าจะขัดรัฐธรรมนูญ เองและไม่มีผลผูกพันองค์กรใดๆ ของรัฐ แต่ที่ผ่านมาฝ่ายรัฐสภาไม่ได้ยืนยันอำนาจของตัวเองในการลงประชามติผ่านวาระสาม” อ.วรเจตน์ ให้ความเห็นต่อไปว่า ในการวินิจฉัยว่าถ้าแก้ทั้งฉบับต้องลงประชามติก่อนนั้น ศาลพูดแต่เพียงว่า "ควรจะประชามติ" ก่อน เพราะศาลก็รู้ว่าไม่มีบทบัญญัติที่ไหนเลยที่บอกว่าถ้าจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทังฉบับนั้นต้องลงประชามติ และแม้จะมีการยกร่างฯ ใหม่ ก็ต้องลงประชามติอยู่ดี และประชาชนก็จะมีโอกาสเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญเก่า กับร่างฯ ใหม่แต่ถ้าประชามติไปถามเฉยๆ ว่าจะแก้หรือไม่นั้นไม่เกิดประโยชน์เสียงบประมาณเปล่าๆ นี่เป็นการยกขึ้นมาโดยศาลเองโดยไม่มีอำนาจ ส่วนประเด็นสุดท้าย เรื่องการไม่ล้มล้างการปกครองฯ นั้น อ.วรเจตน์ ระบุว่าเหมือนกับศาลรัฐธรรมนูญ จะบอกว่าถ้าแก้ทั้งฉบับทำไม่ได้ ถ้าทำต้องแก้รายมาตรา ถ้าบอกว่าแก้ทั้งฉบับทำไม่ได้ แต่ศาลก็ไม่ได้บอกว่า แก้ทั้งฉบับเป็นการล้มล้างการปกครองหรือเปล่า ตรรกะของศาลเป็นปัญหาในตัวเอง ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น