โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

กรรมการสิทธิฯ เดินหน้าสร้าง “อาสาสมัครพิทักษ์สิทธิชุมชน” ภาคใต้

Posted: 17 Jul 2012 12:29 PM PDT

กรรมการสิทธิฯ ร่วมเครือข่ายประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ แลกเปลี่ยนข้อมูลการต่อสู้เพื่อพิทักษ์สิทธิชุมชน หมอนิรันดร์ แจงกรรมการสิทธิฯ ดูแลไม่ทันสถานการณ์ความความเดือดร้อนในพื้นที่ ต้องอาศัยอาสาสมัครพิทักษ์สิทธิชุมชนทั่วประเทศมาช่วยกันทำงาน

 
 
วันที่ 16 กรกฎาคม 2555 ที่โรงแรมไดอิชิหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา อนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับกลุ่มเครือข่ายประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ จัดเวทีสัมมนาอาสาสมัครพิทักษ์สิทธิชุมชน เป็นวันที่ 2 เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการต่อสู้ในการพิทักษ์สิทธิชุมชนของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ในภาคใต้ โดยมีเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา,เครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้าบ่อนอก – หินกรูด,เครือข่ายคัดค้านท่อส่งก๊าซ – โรงแยกก๊าซและอุตสาหกรรมต่อเนื่องไทย – มาเลย์, เครือข่ายติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล,เครือข่ายรักษ์ละแม,เครือข่ายคัดค้านการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี-พุมดวง เป็นต้น เข้าร่วมจำนวน 140 คน
 
เวทีเสวนามีการระดมข้อเสนอต่อกระบวนการยุติธรรมในการต่อสู้พิทักษ์สิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น โดยมีข้อเสนอคือประชาชนต้องมีส่วนร่วมในทุกระดับ ร่วมเป็นหูเป็นตา ตรวจสอบในทุกระดับตั้งแต่ระดับท้องถิ่น เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งนี้ ในระดับนโยบายมีข้อเสนอให้มีการแยกการพิจารณาคดีให้มีความชัดเจน ระหว่างคดีทั่วไป กับคดีสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิ่งแวดล้อมได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น
 
 
นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชี้แจงว่า ปัจจุบันมีความรุนแรงเกิดขึ้นกับประชาชน โดยมีสาเหตุมาจากรัฐในประเด็นการละเมิดสิทธิด้านต่างๆ ดังนี้ การละเมิดสิทธิมนุษยชน การไม่ยอมรับเสรีภาพพลเมือง การละเมิดสิทธิทางการเมือง การละเมิดสิทธิคนงาน การละเมิดสิทธิชุมชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของการพัฒนา หากเคารพรัฐธรรมนูญต้องใช้รัฐธรรมนูญไปประกบกับคดีอาญา คดีแพ่ง ไม่ใช่ดำเนินการเหมือนคดีทั่วไป เช่นเดียวกัน สิทธิก็เป็นเรื่องของประชาชนที่ต้องดำเนินการเพื่อบ้านเมืองปกครองด้วย รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดนั้นเอง
 
นายแพทย์นิรันดร์ กล่าวด้วยว่า ปัญหาการละเมิดสิทธิต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วประทศ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไม่สามารถดำเนินการได้ทั่วถึงและรวดเร็วทันกับสถานการณ์ความความเดือดร้อนในพื้นที่ จึงต้องมีการสร้างอาสาสมัครในพื้นที่ภูมิภาคต่างๆ โดยให้อาสาสมัครมีบทบาทหน้าที่ในการรับเรื่องร้องเรียน ค้นหาข้อเท็จจริงเบื้องต้นก่อนส่งเรื่องต่อ เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาและติดตามอย่างต่อเนื่อง รวมถึงให้ข้อมูลให้คำปรึกษากับประชาชนในพื้นที่
 
การมาร่วมกันในครั้งนี้ถือเป็นสร้างอาสาสมัครในพื้นที่ภาคใต้ ในขณะเดียวกันในภูมิภาคต่างๆ ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง อยู่ระหว่างการสร้างกระบวนการอาสาสมัครพิทักษ์สิทธิชุมชนเช่นเดียวกัน เพื่อให้มีอาสาสมัครพิทักษ์สิทธิชุมชนทั่วประเทศต่อไป
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักวิจัยแว่นดิจิทัลถูกรุมถอดแว่น เก็บภาพไว้ได้อย่างกับนิยายไซไฟ!

Posted: 17 Jul 2012 11:05 AM PDT

เว็บไซต์สแลชดอต ซึ่งเป็นเว็บข่าวด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รายงานโดยอ้างอิงจากบล็อกของสตีฟ แมนน์ นักวิจัยชาวแคนาดา กรณีที่เขาถูกชายสามคนรุมทำร้าย โดยพยายามถอดแว่นตาดิจิทัลของเขาออก ขณะทานอาหารในร้านแมคโดนัลด์ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส

สตีฟ แมนน์ นักวิจัยระบบการมองเห็นของคอมพิวเตอร์ (computer vision systems) ชาวแคนาดา เขียนเล่าในบล็อกของเขา วันนี้ (17 ก.ค.) ว่า เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ขณะที่เขาและครอบครัวเดินทางไปพักร้อนที่ฝรั่งเศส โดยนั่งทานอาหารที่ร้านแมคโดนัลด์ ชายคนหนึ่งเข้ามาคว้าแว่นตาดิจิทัลของเขา และพยายามจะถอดมันออก อย่างไรก็ตาม แว่นดังกล่าวติดถาวรกับกระโหลกศีรษะของเขา และจะไม่สามารถถอดได้หากไม่ใช้เครื่องมือพิเศษ

สตีฟเล่าว่า แม้เขาจะพยายามโชว์เอกสารและจดหมายรับรองจากแพทย์แล้ว แต่ชายคนดังกล่าวกลับพาตัวเขาไปหาชายอีกสองคน โดยหนึ่งในนั้น มีไม้กวาดและที่ตักขยะในมือ และสวมเสื้อซึ่งมีโลโก้ของแมคโดนัลด์ และหลังจากอ่านเอกสารเหล่านั้น พวกเขาก็ฉีกมันทิ้ง ทั้งนี้ เมื่อชายคนแรกเห็นว่า สตีฟก้มมองป้ายชื่อที่ติดอยู่กับเข็มขัดของเขา เขาก็กลับด้านป้ายชื่อนั้น และผลักเขาออกนอกประตู ออกไปที่ถนน

และเนื่องจากระบบของแว่นดังกล่าว จะมีการบันทึกภาพในช่วงเวลาหนึ่งๆ เพื่อประมวลผลภาพเพื่อช่วยในการมองเห็น ซึ่งโดยปกติ มันจะถูกเขียนทับไปเรื่อยๆ เสมอ แต่เมื่อกล้องเสียจากการกระแทก ทำให้ภาพต่างๆ ไม่ถูกเขียนทับ ส่งผลให้สตีฟมีหลักฐานภาพในช่วงเกิดเหตุ


ภาพจากแว่นดิจิทัล - ชายสามคนที่เข้ามาทำร้ายสตีฟ

ที่มา: บล็อก http://eyetap.blogspot.com
 

สตีฟเล่าว่าเขาพยายามอีเมลถึงแมคโดนัลด์ เนื่องจากไม่สามารถติดต่อทางโทรศัพท์ได้ อย่างไรก็ตาม เขายังไม่ได้รับการติดต่อกลับแต่อย่างใด นอกจากนี้ เขายังได้ติดต่อสถานทูต สถานกงสุล และตำรวจด้วย ทั้งนี้ จากการหาข้อมูล สตีฟพบว่า ก่อนหน้านี้เคยมีกรณีที่ผู้หญิงคนหนึ่งถูกทำร้ายโดยพนักงานแมคโดนัลด์ในปารีส จากการที่เธอถ่ายรูปเมนูอาหาร โดยแม้เธอจะแจ้งตำรวจ แต่ก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือเท่าใดนัก

เขาชี้แจงว่าเขาไม่ได้ต้องการเงิน แต่ต้องการให้ซ่อมแว่นตาของเขา

อนึ่ง สตีฟสวมแว่นชนิดนี้มานาน 34 ปีแล้ว โดยเขาเป็นผู้บุกเบิกเทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อช่วยในการมองเห็น โดยเขาเองใช้มันในชีวิตประจำวันด้วย สำหรับแบบที่เขาอยู่นั้น เขาสวมมันมา 13 ปีแล้ว ครั้งหนึ่ง สำนักข่าวเดอะการ์เดียน รายงานข่าวและเรียกเขาว่า บิดาแห่งคอมพิวเตอร์ที่สวมใส่ได้ โดยกล่าวถึงการผลิตแว่นประเภทนี้ในเชิงพาณิชย์โดยบริษัทต่างๆ อาทิ กูเกิล โอลิมปัส และว่า เทคโนโลยีนี้กำลังจะกลายเป็นกระแสหลัก

นอกจากนี้ เขาเล่าด้วยว่า ในการเดินทางไปพักผ่อนที่ฝรั่งเศสนั้น เขาพกเอกสารติดตัวตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ตลอดสองอาทิตย์ที่เขาและครอบครัวเข้าๆ ออกๆ พิพิธภัณฑ์และสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง ซึ่งล้วนมีทั้งตำรวจและทหารคอยรักษาความปลอดภัยนั้น เขาไม่ต้องใช้เอกสารเหล่านั้นเลย จนเมื่อต่อแถวในแมคโดนัลด์ พนักงานก็เดินมาตรวจ และเมื่อดูเอกสาร จึงให้เขาเข้าร้านได้ จนมาเจอเหตุการณ์ดังกล่าว

 

 

ที่มา:Physical assault by McDonald's for wearing Digital Eye Glass ผ่าน Man Physically Assaulted At McDonald's For Wearing Digital Eye Glasses, slashdot.org

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข่าวสั้นบันเทิง: ถุงยางเพื่อโอลิมปิก

Posted: 17 Jul 2012 10:39 AM PDT

นอกจากจะต้องรีบผลิตเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดงให้ทันแล้ว มหกรรมการแข่งขันกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ หรือโอลิมปิกเกมส์ ที่ลอนดอนในครั้งนี้ ยังต้องรีบผลิตถุงยางให้ทันและให้พอใช้อีกด้วย

หลายคนอาจจะสงสัยว่า มาแข่งกีฬา แล้วเกี่ยวอะไรกับถุงยางอนามัย ทำไมต้องใช้ด้วย ก็แหมมม...นักกีฬากว่าหมื่นชีวิตที่เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ล้วนอยู่ในวัยกลัดมัน เอ้ย! เจริญพันธุ์กันทั้งนั้น อีกทั้งยังฟิตแอนด์เฟิร์ม สุขภาพดีฟิตปั๋งกันทุกคน หน้าตารึ ก็ไม่ขี้ริ้วขี้เหร่ แค่หุ่นก็กินขาดแล้ว แถวยังจับพวกเขาเหล่านี้มาอยู่รวมกันในหมู่บ้านนักกีฬาเป็นเวลากว่า 17 วัน มีหรือจะไม่เกิดอาการปิ๊งปั๊ง สปาร์กกันบ้าง

จากสถิติการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ผ่านมาพบว่า ตอนโอลิมปิกปี 2000 ที่ซิดนีย์นั้น เวลาเพียง 1 สัปดาห์ ถุงยางที่แจกจ่ายให้นักกีฬาหมดไปแล้วกว่า 70,000 ชิ้น ต้องสั่งรอบสองเพิ่มอีก 20,000 ชิ้น หรือในปี 2010 ที่แวนคูเวอร์ ได้มีการสั่งถุงยางมากว่า 100,000 ชิ้น และแน่นอนว่า...มันไม่พอ จึงมีการคาดการณ์กันว่าสำหรับโอลิมปิกที่ลอนดอนในครั้งนี้ อย่างน้อยต้องเตรียมไว้สัก 100,000 ชิ้นก่อนในล็อตแรกเป็นอย่างต่ำ

สอบถามไปยังนักกีฬาที่ขึ้นชื่อว่าหล่อและสวยบาดใจ จนติดท็อปเท็นนักกีฬาหนุ่มหล่อสาวสวยแห่งโอลิมปิกปี 2012 ที่ลอนดอนอย่าง ผู้รักษาประตูสาวสวยแห่งทีมสหรัฐอเมริกา Hope Solo ว่า เรื่องแบบนี้มีจริงหรือเปล่า เธอตอบว่า “เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น ส่วนมากก็ประมาณ 70-75% ของนักกีฬานั่นแหละ” ส่วนหนุ่มหล่อนักว่ายน้ำ Ryan Lochte ก็บอกแบบกำกวมๆ ว่า “บางครั้งเราก็ต้องทำในสิ่งที่เราต้องทำ”

เห็นไหมว่าการแข่งขันกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ นอกจากจะเป็นการสร้างเสริมศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และการกีฬาแล้ว แต่ละประเทศยังได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมแก่กันและกันอีกด้วย!

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตำรวจเบิกความคดีขายซีดี ABC – สำนักข่าวออสเตรเลียปฏิเสธออกคำแถลง

Posted: 17 Jul 2012 09:30 AM PDT

 

17 ก.ค.55 ห้องพิจารณาคดี 802 ศาลอาญารัชดา มีการสืบพยานคดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ฟ้อง นายเอกชัย (สงวนนามสกุล) อายุ 36 ปี ในความผิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 54 ขายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 เนื่องจากขายซีดีสารคดีเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ของสำนักข่าว ABC ประเทศออสเตรเลีย และขายสำเนาเอกสารวิกิลีกส์ฉบับแปลภาษาไทย โดยในวันนี้เป็นการสืบพยานโจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมของ สน.ชนะสงคราม คือ พ.ต.ท.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ และดาบตำรวจนคร คงกลิ่น

ทั้งนี้ เอกชัย ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 10 มี.ค.53 และถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครจนถึงวันที่ 18 มี.ค.53 จึงได้ประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 500,000 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีที่ที่ฝ่ายจำเลยขอให้ศาลออกหมายเรียก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์, อานันท์ ปันยารชุน และพลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา มาเป็นพยานเนื่องจากปรากฏชื่อในเอกสารวิกิลีกส์นั้น อานนท์ นำภา ทนายจำเลย กล่าวว่า ศาลได้สั่งให้ทนายทำคำแถลงแนวทางการเบิกความเพื่อให้ศาลพิจารณาอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (18 ก.ค.) ว่าจะอนุมัติการออกหมายเรียกพยานหรือไม่ เนื่องจากบุคคลทั้งสามเป็นบุคคลสำคัญ

นอกจากนี้ ก่อนหน้าจะมีการสืบพยาน เอกชัยได้ติดต่อไปยังสำนักงานของสถานีโทรทัศน์ ABC ประเทศออสเตรเลีย เมื่อเดือนสิงหาคม 2554 เพื่อขอเอกสารคำแถลงจากทางสถานีเกี่ยวกับเจตนาในการจัดทำสารคดีดังกล่าวเพื่อนำมาใช้ประกอบการสืบพยานในคดีนี้ แต่ฝ่ายกฎหมายของสถานีโทรทัศน์ ABC ได้ตอบอีเมลเอกชัยกลับมาระบุว่าทาง ABC ไม่อยู่ในสถานะจะให้ความช่วยเหลือใดๆ ได้ สถานีฯ ผลิตสารคดีดังกล่าวนอกประเทศไทยและมุ่งหมายเผยแพร่แก่คนออสเตรเลีย อีกทั้งไม่ต้องการให้มีการกระทำใดๆ ดังเช่นที่เอกชัยดำเนินการ ซึ่งอันที่จริงก็อาจเข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ของสถานีฯ และทาง ABC ไม่สามารถจะแถลงอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้

สำหรับการสืบพยานในวันนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการสืบพยานเริ่มต้นขึ้น เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ได้แจ้งผู้เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีว่าผู้ไม่เกี่ยวข้องขอให้ไปรอด้านนอก จากนั้นเมื่อผู้พิพากษาขึ้นบัลลังก์ ได้มีการเจรจากันระหว่าง ผู้พิพากษา อัยการ และทนายจำเลยว่า จะมีการเปิดซีดีสารคดีข่าวดังกล่าวในส่วนที่มีการกล่าวหาว่าผิดมาตรา 112 ดูร่วมกัน จากนั้นเมื่อผู้พิพากษากำลังจะกล่าวกับผู้เข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดีเพื่อขอความร่วมมือ นายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวจากเดอะเนชั่น ได้รีบชี้แจงต่อศาลว่าหากให้สื่อมวลชนและประชาชนที่เข้าฟังไปรอด้านนอก น่าจะส่งผลเสียต่อภาพพจน์กระบวนการยุติธรรมไทย เช่นเดียวกับกรณีพิจารณาคดีลับของดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ที่ถูกวิจารณ์อย่างมาก และรัฐธรรมนูญมาตรา 40 ก็ได้บัญญัติไว้ด้วยว่าการพิจารณาคดีต้องทำอย่างเปิดเผย ท้ายที่สุดผู้พิพากษามิได้สั่งให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องออกจากห้องพิจารณาแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม มีการตกลงกันอีกครั้งระหว่างอัยการ ทนายและผู้พิพากษาว่าไม่จำเป็นต้องเปิดวีซีดีแล้ว โดยทนายจำเลยแถลงว่าสามารถรับข้อเท็จจริงในส่วนที่มีการถอดความออกมาในเอกสารที่ปรากฏในสำนวนคดีได้

นอกจากนี้ผู้พิพากษายังแนะนำว่า ในการซักถามพยาน ให้ทั้งสองฝ่ายพยายามไม่ระบุข้อความตรงไปตรงมา แต่ระบุเวลาตามเลขนาทีที่กำกับไว้ในข้อความในสำนวน อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลต้องบันทึกคำเบิกความ ศาลก็มีการอ่านทวนข้อความอีกครั้ง

พ.ต.ท.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ จาก สน.ชนะสงคราม ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ชุดจับกุม เบิกความว่า จับกุมนายเอกชัยได้ที่สวนหย่อมอนุสาวรีย์ทหารอาสา ซึ่งขณะนั้นมีการตั้งเวทีย่อยของกลุ่มแดงสยาม ซึ่งจัดปราศรัยอาทิตย์ละครั้งหลังแกนนำกลุ่ม คือ นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน) ถูกคุมขังในข้อหาหมิ่นฯ ก่อนหน้านี้ โดยในเบื้องต้นมีสายลับที่ปะปนอยู่กับผู้ชุมนุมมาแจ้งว่ามีการแอบขายซีดีที่น่าจะผิดกฎหมาย จึงส่งคนไปล่อซื้อ จากนั้นนำซีดีมาเปิดดูและพบข้อมูลไม่เหมาะสม โดยมีเนื้อหาคล้ายการวิเคราะห์ข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศพูดถึงบทบาทสถาบันกษัตริย์ของไทย เป็นเสียงบรรยายภาษาอังกฤษ โดยมีคำบรรยายภาษาไทยกำกับ จึงนำกำลังเข้าจับกุม ซึ่งผู้ต้องหาก็ให้ความร่วมมืออย่างดี เดินทางมาโรงพัก พร้อมเซ็นรับรองว่า ธนบัตร 20 บาทที่ได้จากตำรวจที่ล่อซื้อนั้นมีหมายเลขเดียวกับธนบัตรที่เจ้าหน้าที่จัดเตรียมและลงบันทึกประจำวันไว้ก่อนแล้ว

พ.ต.ท.สมยศ ยังกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังได้ตรวจค้นกระเป๋าของผู้ต้องหา พบซีดีของกลางยี่ห้อเมโลดีอีก 23 แผ่น และยี่ห้อเบนคิวอีก 49 แผ่น ซึ่งผู้ต้องหารับสารภาพว่ามีการโหลดคลิปของสำนักข่าวดังกล่าวมาจากอินเทอร์เน็ตแล้วไรท์เพื่อมาจำหน่าย นอกจากนี้ยังพบสำเนาเอกสารวิกิลีกส์ฉบับแปลภาษาไทยอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นวิกิลีกส์ฉบับวันที่ 1 ต.ค.51 และ 25 ม.ค.53 จากนั้นได้พิจารณาแล้วว่าการกระทำดังกล่าวกระทบต่อความมั่นคงและสถาบันกษัตริย์จึงได้ หากดำเนินการล่าช้าจะยิ่งมีการเผยแพร่วงกว้าง จึงได้นำกำลังรุดไปตรวจสอบที่บ้านของผู้ต้องหาทันทีโดยไม่มีหมายค้นและผู้ต้องหาเป็นผู้นำไปเอง พบเครื่องไรท์ซีดี 1 เครื่อง ซีดีที่ไรท์แล้ว 69 แผ่น ที่ยังไม่ได้ไรท์อีกจำนวนหนึ่ง และเอกสารวิกิลีกส์ฉบับต่างๆ อีก 10 ฉบับ

พ.ต.ท.สมยศกล่าวด้วยว่า ผู้ต้องหายอมรับว่าของกลางทั้งหมดนั้นเป็นของตนเอง แต่เมื่อแจ้งข้อกล่าวหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ผู้ต้องหาให้การภาคเสธ โดยให้เหตุผลว่า ตนเองมีเจตนาที่จะเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่รอบด้านให้กับประชาชนเท่านั้น และหากมีข้อมูลที่ไม่เหมาะสมก็เป็นส่วนของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ มิใช่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช

พ.ต.ท.สมยศ ตอบทนายจำเลยถามค้านว่าเนื้อหาส่วนใหญ่ของสารคดีดังกล่าวเป็นเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินคดีตามมาตรา 112 และมีการสัมภาษณ์จำเลยหลายคนจริง ส่วนเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความผิดมาตรา 112 จำไม่ได้ว่ามีช่วงเดียวหรือไม่ แต่จำได้ชัดเจนในนาทีที่ 3.30

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากนั้นยังมีการซักถามเกี่ยวกับข้อความในส่วนคำบรรยายของคลิปวิดีโอสำนักข่าว ABC ในส่วนที่พาดพิงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นการเลี้ยงฉลองวันเกิดส่วนพระองค์ นอกจากนี้ยังมีการสอบถามข้อความที่ปรากฏในเอกสารวิกิลีกส์ฉบับวันที่ 1 ต.ค.51 ซึ่งปรากฏถ้อยคำของนายสมัคร สุนทรเวช ที่ระบุถึงผู้อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารปี 2549 โดยพ.ต.ท.สมยศตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ไม่สามารถยืนยันได้ว่าข้อมูลตามฟ้องทั้งในสารคดี ABC และเอกสารวิกิลีกส์ เป็นความจริง แต่เชื่อว่าทำให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีเสื่อมเสียพระเกียรติยศ

ขณะที่ดาบตำรวจนคร คงกลิ่น เบิกความถึงการล่อซื้อแผ่นซีดีและการจับกุม โดยระบุว่าผู้ต้องหาให้การรับสารภาพและให้ความร่วมมืออย่างดี เมื่อเจ้าหน้าที่ถามว่าที่บ้านยังมีซีดีอีกไหม ผู้ต้องหาก็ตอบว่ามี และนำเจ้าหน้าที่ไปตรวจค้นที่บ้านพักย่านลาดพร้าวโดยดี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้ได้รับผลกระทบชายแดนใต้ ชุมนุมหน้าศอ.บต. เรียกร้องการเยียวยาเพิ่มเติม

Posted: 17 Jul 2012 09:04 AM PDT

การเยียวยาเหยื่อความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นงานสำคัญของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือศอ.บต.ช่วงนี้เข้มข้นและซับซ้อนด้วยประเด็นและเสียงเรียกร้องจากหลายๆฝ่าย ทั้งต้องพบปัญหาว่ามีความพยายามจากบุคคลบางกลุ่มทำตัวเป็นนายหน้าในเรื่องของการเยียวยา และจนท.ยังต้องรับมือโจทก์ใหญ่คือต้องพยายามจะทำให้งานเยียวยาเป็นเรื่องยั่งยืนมากกว่าการให้เงินแล้วปล่อย

นอกจากนี้ยังเจอข้อเรียกร้องจากหลายๆกลุ่มให้รัฐจ่ายเงินเยียวยาอย่างเท่าเทียมกัน อย่างในวันนี้ ศอ.บต.ก็ต้องรับมือกลุ่มผู้ที่ถูกฝ่ายก่อเหตุกระทำซึ่งไปชุมนุมเรียกร้องเพิ่มเติมเพราะเห็นว่ากลุ่มของพวกเขาก็ควรได้รับความสนใจไม่น้อยหน้าคนอื่น กลุ่ม Fine Tune Production รายงานจากยะลา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหรัฐเตรียมเผยหลักฐานมัดตัว 'แบรดลีย์ แมนนิ่ง' ข้อหา 'ช่วยเหลือศัตรู'

Posted: 17 Jul 2012 08:49 AM PDT

อัยการศาลทหารสหรัฐพบหลักฐานที่อาจมัดตัว 'แบรดลีย์ แมนนิ่ง' ผู้ต้องสงสัยเผยแพร่เอกสารลับแก่ 'วิกิลีกส์' ในข้อหา 'ให้ความช่วยเหลือศัตรู' ซึ่งหากพบว่าผิดจริง อาจถูกทำให้เขาถูกจำคุกตลอดชีวิต

17 ก.ค. 55 - เว็บไซต์เดอะการ์เดียนรายงานว่า ทางการสหรัฐได้พบหลักฐานชิ้นใหม่ในคดีของพลทหารแบรดลีย์ แมนนิ่ง วัย 24 ปี ผู้ต้องสงสัยในข้อหาเผยแพร่เอกสารให้แก่วิกิลีกส์ และเตรียมนำมาเปิดเผยในศาลทหาร เพื่อจะเอาผิดนายแมนนิ่งในข้อหาส่งต่อข้อมูลลับของรัฐให้แก่กลุ่มศัตรู

กัปตันโจ มอร์โรว์ อัยการในคดีดังกล่าว เปิดเผยว่า รัฐบาลได้เตรียมหลักฐานที่จะมัดตัวนายแมนนิ่งว่าเขาช่วยเหลือฝ่ายศัตรูจริง โดยข้อหาดังกล่าวมีโทษหนักที่สุดคือโทษประหารชีวิต มอร์โรว์มิได้ระบุว่ากลุ่มศัตรูดังกล่าวรวมถึงกลุ่ม "อัล-กออิดะห์" ด้วยหรือไม่ แต่จากการไต่สวนก่อนหน้านี้ อัยการได้รวมกลุ่มอัลกออิดะห์ไว้ในฐานะกลุ่มที่เกีี่ยวข้องกับคดีด้วย

อย่างไรก็ตาม เดวิด คอมบส์ หัวหน้าทนายฝ่ายจำเลย ได้โต้ให้รัฐบาลแสดงหลักฐานดังกล่าวให้ชัดเจน และกล่าวว่า ยังไม่เห็นหลักฐานใดๆ ที่ชี้ว่าฝ่ายศัตรูได้รับข้อมูลดังกล่าว


พลทหารแบรดลีย์ แมนนิง 

ทั้งนี้ พลทหารแมนนิ่ง ถูกคุมขังในเรือนจำทหารมากว่าสองปีแล้ว หลังจากที่เขาถูกจับในค่ายทหาร ฐานทัพสหรัฐแฮมเมอร์ ในกรุงแบกแดด ประเทศอิรักเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2553 โดยหลายฝ่ายกังวลถึงสภาพการคุมขังที่เลวร้าย เขาถูกดำเนินคดีใน 22 ข้อหา อาทิ การจารกรรม และช่วยเหลือศัตรู โดยแมนนิ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ส่งเอกสารลับของรัฐบาลสหรัฐให้กับวิกิลีกส์ ประกอบด้วยโทรเลขสถานทูตสหรัฐหลายพันฉบับ และบันทึกสงครามอิรักและอัฟกานิสถาน ซึ่งต่อมาได้ถูกนำไปเผยแพร่ผ่านสื่อหนังสือพิมพ์หลายแห่ง เช่น เดอะการ์เดียน นิวยอร์กไทมส์ และแดร์ ชปีเกลของเยอรมนี 

รายงานระบุว่า การตัดสินดังกล่าว จะเป็นหมุดหมายสำคัญซึ่งกำหนดชะตาของพลทหารแมนนิ่ง ในขณะเดียวกัน ก็จะส่งผลต่อการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการตีพิมพ์เอกสารลับทางอินเทอร์เน็ต ดั่งที่สมาคมเพื่อสิทธิเสรีภาพอเมริกัน (ACLU) ได้ชี้ว่า รัฐบาลสหรัฐพยายามจะเอาผิดกับแมนนิ่งในข้อหาให้ความช่วยเหลือกลุ่มอัลกออีดะห์ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ส่งต่อข้อมูลลับไปยังบุคคลที่สามเท่านั้น ซึ่งในกรณีนี้คือวิกิลีกส์

หากการตัดสินดังกล่าวกลายเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินคดีเช่นนี้ สมาคมเพื่อสิทธิเสรีภาพอเมริกันชี้ว่า อาจจะทำให้เจ้าหน้าที่ทหารที่ให้สัมภาษณ์นักข่าว เขียนจดหมายถึงบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ หรือเขียนบล็อกขึ้นบนอินเทอร์เน็ต ถูกดำเนินคดีในลักษณะเดียวกันได้ ซึ่งอาจทำให้นายทหารผู้บริสุทธิ์อีกจำนวนมากเข้าข่ายความผิดชนิดเดียวกัน

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก US government claims it has proof of Bradley Manning aiding the enemy
http://www.guardian.co.uk/world/2012/jul/16/bradley-manning-aiding-the-enemy?fb=native&CMP=FBCNETTXT9038

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอียน 'จริยธรรม' แต่ต้องยืนยันจริยธรรมประชาธิปไตย

Posted: 17 Jul 2012 07:18 AM PDT

ระยะหลังนี้ สังเกตว่าผู้คนในแวดวงที่ติดตามการเมืองจะออกอาการเอียนสิ่งที่เรียกกันว่า “จริยธรรม” มาก เนื่องจากเบื่อหน่าย “มายาคติ” ของการใช้คำว่า “จริยธรรม” เพื่อกดเหยียดนักการเมืองและฝ่ายที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยให้เลวบริสุทธิ์เกินมนุษย์ปกติทั่วไป และอ้างจริยธรรมอวยเครือข่ายอำมาตย์ให้ดีงามสูงส่งเกินมนุษย์ปกติเช่นกัน 

ดังคำว่า “ไร้จริยธรรม” ที่ขยายความครอบความชั่วร้ายทุกมิติ เช่นทุจริตคอรัปชัน โกงทั้งโคตรเผด็จการรัฐสภา โง่ ถูกสนตะพาย ขี้ข้าทักษิณ ล้มสถาบัน ฯลฯ ดูเหมือนจะเลือกใช้กับ “นักการเมือง” และฝ่ายที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเท่านั้น ส่วนคำว่า “มีจริยธรรม” ซึ่งขยายความครอบคลุมความเป็นคนดี กตัญญูต่อแผ่นดิน ซื่อสัตย์ เสียสละ จงรักภักดี ฯลฯ ดูเหมือนจะสงวนไว้ใช้ยกย่อง “เครือข่ายอำมาตย์” และฝ่ายที่เห็นคล้อยตามเท่านั้น ที่คือการสร้าง “มายาคติทางจริยธรรม” ที่ทำให้สังคมเรามองนักการเมือง ฝักฝ่ายทางการเมือง และเครือข่ายอำมาตย์อย่างโรแมนติก ไม่สมจริง

ท่ามกลางภาวะเอียนจริยธรรมดังกล่าวนั้น หลายคนเสนอว่า ในทางการเมืองเราไม่ควรอ้างเรื่องจริยธรรม เพราะคำว่าจริยธรรมเป็นเรื่องของความรู้สึก ความเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่มีทางเห็นตรงกันหรือหาข้อสรุปให้ตรงกันได้ เราควรอ้างอิงกฎหมายเท่านั้น เพราะเป็นกติกาที่ทุกคนเห็นสอดคล้องกันได้ ยึดถือปฏิบัติร่วมกันได้อย่างเป็นรูปธรรม

แต่เราก็เผชิญวิกฤตอีกกับปัญหาเรื่อง “สองมาตรฐาน” ในการบังคับใช้กฎหมาย การอ้างการหลักนิติรัฐ นิติธรรมที่มีความหายตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง การตีความกฎหมายที่แตกต่างกัน (ดังล่าสุดคือกรณีว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 โดยตรงเพื่อวินิจฉัยหรือไม่) เป็นต้น

เป็นความจริงว่า เราอยู่ในรัฐที่ปกครองโดยกฎหมาย และกฎหมายคือหลักสำคัญในการจัดการปัญหาขัดแย้งที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิของกันและกัน แต่ในโลกของความเป็นจริงมนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นสังคมได้อย่างมีสวัสดิภาพไม่ใช่เพราะการยึดถือกฎหมายอย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับการยึดถือคุณค่าอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญด้วย เช่น คุณค่าทางจริยธรรม เป็นต้น

ตัวอย่างเช่น กรณีอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ถูกสื่อ ASTV ผู้จัดการแต่งภาพหน้าลิงขึ้นปกและใส่ข้อความว่า “วรเจี๊ยก” ถามว่าในทางกฎหมาย อาจารย์วรเจตน์สามารถฟ้องหมิ่นประมาทได้ไหม ก็ฟ้องได้ แต่อาจารย์วรเจตน์ไม่ฟ้อง การไม่ฟ้องในกรณีเช่นนี้แหละที่ผมคิดว่าเป็นการสะท้อนความหมายของ “จริยธรรม” ที่เรียกกันว่ามี “สปิริต” ความมี “ใจเปิดกว้าง” หรือขันติธรรมทางการเมือง (tolerance)

หรือในประเทศที่ประชาธิปไตยก้าวหน้า แม้จะมีกฎหมายหมิ่นประมุขของรัฐ แต่เขาก็ไม่ใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อ เป็นเรื่องปกติที่ประมุขของรัฐจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ แม้กระทั่งล้อเลียนในการ์ตูนที่เขียน “ตัวเป็นหมา หน้าเป็นคน” หรือด่าหยาบๆ คายๆ (ดังที่อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ยกมาเป็นตัวอย่างบ่อยๆ) แต่เขาก็ถือกันว่าเป็นไปได้ที่บุคคลสาธารณะอาจจะโดนแบบนั้น ฉะนั้น หากไม่ใช่เป็นการใส่ร้ายในเรื่องส่วนตัวจนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติยศอย่างร้ายแรง หรือไม่ใช่เรื่องหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กันจริงๆ ก็จะไม่มีการใช้กฎหมายหมิ่น ดังเราแทบจะไม่ได้ข่าวว่ามีประเทศอารยประชาธิปไตยที่ไหนในโลกที่มีการใช้กฎหมายหมิ่นประมุขของรัฐกับประชาชนของเขา หรือชาวต่างชาติ เหมือนที่ใช้กันอย่างเกินพอเพียงเช่นประเทศไทย

หรือหากจะยึดถือกันว่า ปัญหาขัดแย้งทุกเรื่องต้องอ้างอิง หรือยุติด้วยการใช้กฎหมายเท่านั้น ถ้าเป็นเช่นนี้จริงๆ ต่อให้เป็นประเทศที่มีระบบกฎหมาย มีระบบยุติธรรมก้าวหน้ามาก ปัญหาก็ยังมีว่าสังคมที่ความขัดแย้งแทบทุกเรื่องต้องไปเคลียร์กันด้วยการขึ้นโรงขึ้นศาลเท่านั้น คือสังคมที่น่าอยู่จริงหรือ

สำหรับผมคิดว่า สังคมที่น่าอยู่ควรมีระบบกฎหมาย ระบบความยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็ต้องมีคุณค่าอื่นๆ เช่น “คุณค่าทางจริยธรรม” มาทำหน้าที่เชื่อมประสานการอยู่รวมกันของสังคมให้สงบสุขด้วย บางเรื่องเราสามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยการใช้จริยธรรมโดยไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมาย (เช่นกรณีอาจารย์วรเจตน์เป็นต้นที่เลือกจะใช้ขันติธรรมมากว่าที่จะใช้กฎหมาย)

พุทธศาสนาเองก็ให้ความสำคัญมากกับการใช้จริยธรรมเชื่อมประสานการอยู่ร่วมกันอย่างสันติเช่น ในยุคสังคมราชาธิปไตย พุทธศาสนาจะสอนให้ผู้ปกครองมีทศพิธราชธรรมข้อ “ขันติ” ความอดทนหนักแน่นต่อถ้อยคำว่ากล่าวเพ่งโทษต่างๆ จากราษฎร และ “อักโกธะ” ความไม่โกรธราษฎร เนื่องจากในยุคราชาธิปไตยผู้ปกครองคือกฎหมาย หากผู้ปกครองไร้ขันติธรรมและอักโกธะรัฐราชาธิปไตยก็คงจะหาความสงบสุขได้ยาก

แต่ยุคนี้เราอยู่ในรัฐประชาธิปไตยที่เป็นนิติรัฐปกครองโดยกฎหมาย จริยธรรมของผู้ปกครองอาจไม่จำเป็นเท่ากับการสร้าง “ระบบที่ดี” คือระบบสมสมดุลระหว่างการแบ่งแยกอำนาจและการตรวจสอบ แต่ความเป็นจริงคือไม่ว่าระบบที่ดีอะไรก็ย่อมต้องการ “คุณค่า” ที่พึงประสงค์บางอย่าง คุณค่านี้แหละที่เราเรียกว่า “คุณค่าทางจริยธรรม” (moral values) เช่น คุณค่าทางจริยธรรมในระบบประชาธิปไตยก็คือ การมีเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ ซึ่งเราเรียกคุณค่านี้ว่า คุณค่าเชิงหลักการ หรืออุดมการณ์ประชาธิปไตย

ฉะนั้น ความมีจริยธรรมพื้นฐานของสมาชิกแห่งสังคมประชาธิปไตยก็คือ ความเคารพ ปกป้องเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ ถ้าจะถามหา “คนดี” ของสังคมเช่นนี้ก็หมายถึงคนที่เคารพ ปกป้อง และ/หรือต่อสู้ให้ได้มาซึ่งเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพในสังคมนั่นเอง

และด้วยหลักจริยธรรมพื้นฐานนี้เองที่เราใช้เป็น “มาตรฐาน” เพื่อตั้งคำถามถึง นักการเมืองที่ดี สื่อที่ดี นักวิชาการ ปัญญาชนที่ดี มวลชนที่ดี ตลอดถึงตุลาการ องคมนตรี ทหาร อำมาตย์ที่ดี ฯลฯ ความมีจริยธรรมของสมาชิกแห่งสังคมประชาธิปไตยดังกล่าว จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องเรียกร้องเสมอไป

แต่ “จริยธรรมมายาคติ” ดังที่พยายามตอกย้ำปลูกฝังกันเรื่องกตัญญูต่อแผ่นดินเป็นต้น ซึ่งมีความหมายที่คลุมเครือ ไม่ยึดโยงกับจริยธรรมพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย ซ้ำยังมีอิทธิพลทางจิตวิทยาสังคมให้ประชาชนเชื่อถือศรัทธาคนบางคน บางกลุ่ม ที่ยกย่องกันว่าเป็นคนดีมีคุณธรรม ซื่อสัตย์ไม่คดโกง แต่ไม่ตั้งคำถามว่า เขาซื่อสัตย์ต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เคารพอำนาจของประชาชนหรือไม่ มีจริยธรรมพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตยหรือไม่

ซ้ำร้ายจริยธรรมมายาคติเช่นนั้นยังกลายเป็นฐานให้คนบางกลุ่มอ้างความเป็นคนดีมีคุณธรรมเพื่อทำรัฐประหารล้มรัฐบาลประชาธิปไตย ซึ่งหมายความว่า สังคมนี้ยอมให้อภิสิทธิ์แก่คนดีบางคน บางกลุ่มละเมิดจริยธรรมพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตยได้ทุกเมื่อ และเมื่อเกิดการกระทำเช่นนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เกิดการละเมิดจริยธรรมพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตยโดยศาล สื่อ นักวิชาการ มวลชนบางฝ่ายที่อ้างความเป็นคนดีมีคุณธรรมในความหมายที่ไม่ได้สนับสนุนเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ จึงทำให้เราเอียนคำว่า “จริยธรรม” เต็มที

แต่จะอย่างไรก็ตาม จริยธรรมประชาธิปไตยคือเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพนั้นย่อมเป็นทั้ง “วิถี”และ “เป้าหมาย” ในตัวของมันเอง และมันคือมาตรฐานคัดสรรนักการเมืองที่ดี สื่อ นักวิชาการ ฯลฯ ที่ดี ฉะนั้น มันจึงเป็น “มาตรฐานสากล” ที่ใช้ตั้งคำถามกับทุกฝ่าย

และหากใช้มาตรฐานนี้กันจริงๆ แน่นอนว่านักการเมือง นักวิชาการ มวลชน ฯลฯ ที่อ้างอิงสถาบันกษัตริย์มาต่อสู้ทางการเมืองและทำรัฐประหาร ย่อมเป็นผู้ไร้จริยธรรมพื้นฐานแห่งสังคมประชาธิปไตย

ทว่าแม้แต่นักการเมืองฝ่ายที่อ้างว่าสู้เพื่อประชาธิปไตย ก็ไม่ได้หมายความว่า พวกเขามีจริยธรรมพื้นฐานแห่งสังคมประชาธิปไตย หากเมื่อพวกเขาเข้ามามีอำนาจรัฐแล้วไม่ได้ต่อสู้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย หรือเปลี่ยนโครงสร้างที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ฉะนั้น จริยธรรมพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตยคือการเคารพ ปกป้อง และ/หรือต่อสู้เพื่อให้สังคมนี้มีระบบโครงสร้างที่ประชาชนมีเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพอย่างอารยประเทศ จึงถือเป็น “มาตรฐานสากล” ที่ใช้ตัดสินความเป็น “นักการเมืองที่ดี” (เป็นต้น)

ซึ่งเวลานี้สังคมเรากำลังขาดแคลน “นักการเมืองที่ดี” (เป็นต้น) ตามหลักจริยธรรมประชาธิปไตย หรือมาตรฐานสากลที่ว่ามานี้อยู่หรือไม่!

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตร.แจ้งข้อหาหมิ่นสถาบัน "ป้าบุกศาล รธน."-อายัดตัวตรวจสุขภาพจิต

Posted: 17 Jul 2012 06:49 AM PDT

(17 ก.ค.55) เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานข่าวพาดหัว "ตร.แจ้งข้อหาหมิ่นสถาบัน"ป้า"บุกศาล รธน.เตะรูปในหลวง" ว่า พ.ต.อ.พงษ์ สังข์มุรินทร์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง ยืนยันว่า ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาหมิ่นสถาบัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กับ นางฐิตินันท์ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 63 ปี ซึ่งเป็นผู้กระทำการมิบังควร หน้าศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมา พร้อมควบคุมตัวส่งโรงพยาบาลศรีธัญญา เนื่องจากมีประวัติการรักษาที่โรงพยาบาลดังกล่าว ต่อมาได้นำตัวส่งสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ พร้อมอายัดตัวไว้ เพื่อตรวจสอบสภาพจิต ซึ่งขณะนี้แพทย์ได้สั่งห้ามเยี่ยม เนื่องจากผู้ป่วยมีอาการคลุ้มคลั่ง จึงไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ ประกอบกับพาสปอร์ตของนางฐิตินันท์ ยังอยู่กับพนักงานสอบสวน ส่วนตั๋วเครื่องบินเดินทางไปประเทศนิวซีแลนด์ นั้น ทางญาติของนางฐิตินันท์ แจ้งว่า เป็นการซื้อตั๋วแบบไป – กลับ ราคาประหยัด หากไม่ได้เดินทาง ก็จะเป็นการยกเลิกไปโดยปริยาย

สำหรับการสอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้อง มีการสอบปากคำพยานที่อยู่ในเหตุการณ์ไปแล้ว 3 ปาก รวมถึงสอบปากคำสามี และบุตรชายของนางฐิตินันท์ ซึ่งระบุว่า ช่วงหลัง นางฐิตินันท์ ไม่ค่อยรับประทานยา พร้อมนำตัวอย่างยามอบให้พนักงานสอบสวน โดยหลังจากนี้ จะต้องรอผลยืนยันจากแพทย์ เพื่อนำมาประกอบสำนวนคดี ก่อนเสนอให้คณะกรรมการคดีหมิ่นสถาบัน ในระดับกองบัญชาการตำรวจนครบาล พิจารณามีความเห็นต่อไป

ขณะที่ เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ (17 ก.ค.) ในช่วงเย็น มีประชาชนกว่า 200 คน มาประท้วงที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยถือป้าย ร้องเพลง ประท้วง ดักรอนางฐิตินันท์ ซึ่งมีกำหนดจะเดินทางกลับประเทศนิวซีแลนด์ ด้วยเที่ยวบินที่ TG 491 ในเวลา 18.40 น. โดยมีตำรวจมาควบคุมสถานการณ์ประมาณ 1 กองร้อย แต่สุดท้าย นางฐิตินันท์ ไม่ได้ปรากฏตัวแต่อย่างใด มีเพียงสามีที่เดินทางกลับนิวซีแลนด์เพียงลำพัง

ทั้งนี้ ยังรายงานด้วยว่า กัปตันของการบินไทยที่ทำหน้าที่ในไฟลต์บินดังกล่าว ได้ประกาศว่า เขาและลูกเรือจะไม่ทำการบิน หากนางฐิตินันท์มีรายชื่อเป็นผู้โดยสาร เพราะถือว่าเป็นบุคคลวิกลจริต ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ควบคุมสถานการณ์อยู่ได้บอกต่อประชาชนที่มาประท้วง ว่า นางฐิตินันท์ไม่ได้มาเช็กอินแต่อยู่โรงพยาบาล โดยเมื่อแน่ใจว่า นางฐิตินันท์ไม่ได้เดินทางกลับนิวซีแลนด์ ประชาชนที่ไปรวมตัวกันประท้วงนางฐิตินันท์ จึงสลายตัวในเวลาต่อมา

 

 

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ และเอเอสทีวีผู้จัดการ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา: ปัญหาและอุปสรรคในการสร้างความเข้มแข็งและเอกภาพของขบวนการแรงงานไทย

Posted: 17 Jul 2012 05:30 AM PDT

 

ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นำเสนอรายงานผลการศึกษา (ฉบับย่อ) เรื่อง ปัญหาและอุปสรรคในการสร้างความเข้มแข็ง และเอกภาพของขบวนการแรงงานไทย ในงานสัมมนาความไม่เป็นธรรมด้านเศรษฐกิจและแรงงาน ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ โรงแรมรอยัล ถ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่ผ่านมา

โดยผลการศึกษา พบว่า สิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วมยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างแท้จริง นอกจากความอ่อนแอเชิงปริมาณของขบวนการแรงงาน ยังมีความอ่อนแอเชิงคุณภาพ เช่น ความไม่เป็นเอกภาพและสมรรถนภาพในการทำงาน อำนาจการต่อรองของผู้ใช้แรงงานในประเทศไทยต่ำ ขาดยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องและที่สำคัญคือขาดความมุ่งมั่นทุ่มเทที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริงๆ

ทั้งนี้ เสนอเปลี่ยนกรอบการพัฒนาประเทศที่เสรีนิยมสุดโต่ง เปลี่ยนวัฒนธรรมการเมืองแบบอำนาจนิยมและระบบอุปถัมภ์ เปลี่ยนกฎหมาย สถาบันด้านแรงงานต่าง ๆ ที่มุ่งแบ่งแยกแล้วปกครอง ขบวนการแรงงานไทยจะต้องปรับไปสู่แนว “สหภาพแรงงานที่เป็นขบวนการทางสังคม” หรือ Social Movement Unionism

 

 

AttachmentSize
ดาวน์โหลดรายงาน (ฉบับย่อ) ได้ที่นี่ (pdf)410.17 KB
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

กองกำลังเมืองลา ประกาศกวาดล้างยาเสพติดในพื้นที่ครอบครอง

Posted: 17 Jul 2012 03:54 AM PDT

กองกำลังหยุดยิงเมืองลา NDAA ประชุมใหญ่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ มีมติจะเข้มงวดการปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่ครอบครอง หลังถูกไทยพาดพิงมีอิทธพลด้านยาเสพติดแทนที่หน่อคำ

แหล่งข่าวชายแดนจีน – พม่า (รัฐฉาน) รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 – 15 ก.ค. 55 ที่ผ่านมา กองกำลังสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตย หรือ กองกำลังเมืองลา (National Democratic Alliance Army – NDAA) ภายใต้การนำของเจ้าจายลืน มีเขตพื้นที่ครบอครองในฝั่งภาคตะวันออกของรัฐฉาน ได้จัดการประชุมใหญ่ประจำครึ่งปี มีผู้นำฝ่ายการปกครอง ฝ่ายการทหาร และตำรวจ เข้าร่วมกว่า 200 คน มีเจ้าจายลืน เป็นธานการประชุม ในการประชุมมีการรายงานผลการปฏิบัติงานของแต่ละหน่วยแต่ละพื้นที่ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ทั้งมีการเสนอแผนการปกครองและการพัฒนา นอกจากนี้ ได้มีมติจะปราบปรามกวาดล้างยาเสพติดในพื้นที่ครอบครองครั้งใหญ่ โดยจะเริ่มปฏิบัติการหลังการประชุมเป็นต้นไป

โดยเจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายการปกครอง ทหาร และตำรวจ จะลงพื้นที่ประกาศทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ที่อยู่เขตพื้นที่ครอบครองของ NDAA และจะให้ประชาชนทุกหลังคาเรือนลงนามข้อสัญญาไม่เกี่ยวข้องยาเสพติด 5 ข้อ ได้แก่ ไม่ผลิต / ไม่ค้า / ไม่ขนส่ง / ไม่เสพ  และ ไม่ปลูกฝิ่น หากผู้ใดละเมิดข้อสัญญาจะถูกดำเนินตามกฎระเบียบของ NDAAคือ ผู้ค้าจะต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป และโทษจะเพิ่งสูงตามจำนวนของกลาง ส่วนผู้เสพจะถูกนำตัวเข้ารับการบำบัดครั้งแรก 6 เดือน หากพบยังเสพอีกจะถูกนำตัวไปบำบัดอีก 1 ปี หลังจากนั้นหากยังไม่เลิกเสพจะไม่อนุญาตให้อยู่ในพื้นที่ของ NDAA

ทั้งนี้ การประกาศปราบปรามยาเสพติดของกองกำลังเมืองลา NDAA มีขึ้นหลังจากเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2555 พล.ท.ชาญชัยณรงค์ ธนารุณ แม่ทัพภาคที่ 3 เป็นประธานประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินสกัดกั้นยาเสพติดชายแดนภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และเชียงราย จำนวนกว่า 130 คน เข้าร่วมรายงานผลการปฏิบัติงาน และในที่ประชุมมีการกล่าวถึงขบวนการค้ายาเสพติดในประเทศเพื่อนบ้าน โดยระบุว่า หลังจากหน่อคำ ถูกจับ ได้ปรากฎความเคลื่อนไหวของขบวนการยาเสพติดกลุ่มอิทธิพลใหม่ลำน้ำโขง 3 กลุ่ม คือ กลุ่มหงส์ปัง ของว้า, กลุ่มพันธมิตรเมืองลา และกลุ่มนายจ้าวเหว่ย เจ้าของคาสิโนคิงโรมัน ในฝั่งลาว จับมือแผ่อิทธิพลลงสู่พื้นที่ประเทศลาวและสามเหลี่ยมทองคำ

ด้านเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ NDAA เปิดเผยกับแหล่งข่าวว่า การประกาศปราบปรามยาเสพติดของ NDAA ครั้งนี้ ไม่ได้เป็นผลมาจากทางการไทยกล่าวหากลุ่มพันธมิตรเมืองลา เกี่ยวข้องยาเสพติดแต่อย่างใด ซึ่งการปราบยาเสพติดทาง NDAA ได้ให้ความสำคัญดำเนินมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ NDAA ประกาศเป็นเขตพื้นที่ปลอดยาเสพติดเมื่อปี 2540 ยาเสพติดเป็นพิษภัยต่อสังคม หากไม่ปราบปรามจะทำให้เยาวชนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตเสียคน นอกจากนี้ หากในพื้นที่มียาเสพติดจะทำให้ภาพลักษณ์และชื่อเสียงของกลุ่ม NDAA ไม่ดีด้วย

กองกำลังเมืองลา NDAA เป็นอดีตแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์พม่า CPB – (Communist Party of Burma) หลังแยกตัวจาก CPB ในปี 2532 ได้เจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่าในปีเดียวกัน และได้รับสิทธิ์ครอบครองพื้นที่ในภาคตะวันออกของรัฐฉานติดกับชายแดนจีน เรียกเขตปกครองพิเศษที่ 4 ในอดีตเมืองลา ถูกขนานนามเป็นศูนย์กลางคาสิโน เป็นแหล่งยาเสพติด หลังจากเจ้าจายลืน ผู้นำ NDAA ปราบปรามและประกาศให้พื้นที่ครอบครองเป็นเขตปลอดยาเสพติดตั้งแต่ปี 2540 และหันไปพึ่งรายได้จากการท่องเที่ยว การปลุกยางพารา เก็บภาษีท่าเรือสบหลวย ขุดเมืองแร่ รวมถึงให้จีนเช่าพื้นที่ทำการเกษตร ทำให้ชื่อเสียงเมืองลาดีขึ้น กระทั่งในปี 2543 เจ้าจายลืน ได้ถูกลบชื่อออกจากบัญชีดำของสหรัฐฯ


ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์: ยุบศาลไทย แต่เอาใจศาลโลก ?

Posted: 17 Jul 2012 01:41 AM PDT

หลังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ฉบับ ‘ศุกร์ 13’ ผ่านไป ก็มีข่าวว่า ไทย-กัมพูชาจะ ‘ปรับกำลัง’ บริเวณปราสาทพระวิหาร โดยนำ ‘ทหาร’ บางส่วนออกจาก ‘เขตปลอดทหารชั่วคราว’ แล้วนำ ‘ตำรวจ’ เข้าไปแทนที่ แต่อาจยังมีทหารจำนวนหนึ่งคงอยู่เช่นเดิม กล่าวคือ ไม่ใช่ถอนทั้งหมด

การ ‘ปรับกำลัง’ ซึ่งอาจมองว่าทำเป็นมารยาทพองามในครั้งนี้ จะมีขึ้นในวันที่ 18 กรกฎาคม ซึ่งครบรอบ 1 ปี ที่ ‘ศาลโลก’ มีคำสั่งเรื่อง ‘เขตปลอดทหารชั่วคราว’ ที่ว่าพอดี (ดูเพิ่มที่ http://bit.ly/VP18July)

แต่ไม่ทันรอให้ปรับกำลังกันเสร็จ ส.ว. คำนูณ สิทธิสมาน ก็ตั้งข้อสังเกตน่าสนใจทำนองว่า ทีกรณี ‘คำสั่งศาลโลก’ รัฐบาลยิ่งลักษณ์บอกว่าต้องปฏิบัติตาม แต่พอเป็น ‘คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ’ ของไทยเอง กลับปฏิเสธว่าศาลไม่มีอำนาจ เช่นนี้ ถือว่า ‘2 มาตรฐาน’ หรือไม่ ?
 

ไทยโต้แย้งอำนาจ ‘ศาลโลก’ หรือไม่ ?
ในขั้นแรก คงต้องให้ความเป็นธรรมกับ ‘ฝ่ายไทย’ ซึ่งสู้คดีมาตั้งแต่ ‘สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์’ ว่า ไทยเองก็ ‘โต้แย้ง’ อำนาจศาลโลกมาตั้งแต่ต้น และก็ยังคงโต้แย้งต่อไปว่า คำร้องที่กัมพูชาขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารนั้น ‘ไม่เข้าเกณฑ์ที่ศาลโลกจะรับพิจารณา’ (inadmissible)

กล่าวคือ ไทยโต้แย้งว่า กัมพูชากำลังขอให้ศาลโลก ‘เพิ่มเติมคำตัดสิน’ ที่เกินเลยไปกว่าเรื่องเดิมที่ตัดสินไว้ใน พ.ศ. 2505 ศาลจึงต้องปฏิเสธคำขอของกัมพูชา

ที่สำคัญ ในคดีนี้เอง ศาลโลกได้ย้ำว่า ‘เขตปลอดทหารชั่วคราว’ เป็นเพียงเรื่องมาตรการชั่วคราวที่มุ่งป้องกันการปะทะกันด้วยอาวุธเท่านั้น และย้ำอีกว่า คำสั่งชั่วคราวย่อมไม่ก้าวเข้าไปวินิจฉัยประเด็นเรื่องดินแดนหรือเขตแดน หรือเส้นแผนที่ใด (เช่น ย่อหน้าที่ 21, 38 และ 61 ของคำสั่งฉบับวันที่ 18 กรกฎาคม 2554)

ยิ่งไปกว่านั้น หากพิจารณาคดีศาลโลกในอดีต เช่น คดี Avena ระหว่าง เม็กซิโกและสหรัฐฯ ก็จะเห็นว่า แม้ศาลโลกจะรับคำร้องและมีคำสั่งมาตราการชั่วคราวไประหว่างพิจารณาแล้วก็ตาม แต่ในที่สุด ศาลโลกก็ยังสามารถพิพากษาว่าคำร้อง ‘ไม่เข้าเกณฑ์ที่ศาลจะรับพิจารณา’ ได้

ดังนั้น แม้ไทยจะปฎิบัติตามคำสั่งชั่วคราวก็ตาม แต่ศาลโลกก็ยังคงรับฟังข้อโต้แย้งของไทยเรื่อง ‘อำนาจศาล’ อยู่ และหากจะบอกว่า ‘ฝ่ายไทย’ (ไม่ว่าจะรัฐบาลชุดไหน) ยอมตามศาลโลกหมดเลย ก็คงไม่เป็นธรรมนัก

ตรงกันข้าม หากกัมพูชายอมปรับกำลัง แต่ฝ่ายไทยขึงขังไม่ฟังศาลโลก ผู้พิพากษาบางท่านอาจนำพฤติการณ์ความแข็งกร้าวของฝ่ายไทยไปประกอบการตีความในคดี ซึ่งอาจไม่เป็นคุณต่อฝ่ายไทย ก็เป็นได้
 

ยุบศาลไทย แต่เอาใจศาลโลก ?
หากผู้ใดประสงค์จะเทียบกรณี ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ ของไทย กับ ‘ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ’ ของชาวโลก ก็ขอให้คำนึงถึงข้อพิจารณาดังนี้

ประการแรก อำนาจของ ‘ศาลโลก’ เรื่อง คำสั่งมาตรการชั่วคราวก็ดี หรือ เขตอำนาจ (jurisdiction) ในการรับคำร้องขอให้ตีความคำพิพากษาก็ดี ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนตาม ‘ตัวบทสนธิสัญญา’ ซึ่งประเทศไทยยอมรับผูกพันในฐานะสมาชิกของสหประชาชาติ และแม้แต่ ‘รัฐธรรมนูญไทย’ มาตรา 82 ก็บัญญัติให้ไทยพึงปฏิบัติตาม

ผิดจากกรณี ‘ศาลรัฐธรรมนูญไทย’ ที่ละเมิดไวยากรณ์ของ มาตรา 68 ประเภทที่ครูภาษาไทยต้องส่ายหน้า จากนั้นก็ปลุกเสกเจตนารมณ์ (ของศาล) ขึ้นเองกลางอากาศ แต่สุดท้ายพออ่านคำวินิจฉัย กลับไม่แน่ใจในอำนาจตนเอง เลยได้แต่ยกคำร้อง แต่ก็อุตส่าห์สอดแทรกข้อเสนอแนะเรื่อง ‘การลงประชามติ’ ทั้งที่ไม่มีกฎหมายใดรองรับ

กล่าวคือ ‘ศาลรัฐธรรมนูญไทย’ ไม่มีแม้แต่ ‘เขตอำนาจ’ จะรับพิจารณาคดีการแก้รัฐธรรมนูญแต่แรก มิพักต้องพูดถึงความล้มเหลวของศาลในการอธิบายว่าคำร้องเข้า ‘หลักเกณฑ์การรับพิจารณา’ (inadmissible) หรือไม่ เช่น คำร้องที่ยื่นโดยคุณเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ซึ่งศาลกลับมีคำสั่งจำหน่ายคำร้องได้อย่างสะดวกมือโดยไม่ทราบว่ามีหลักเกณฑ์อย่างไร
 

ศาลไทย ‘ใหญ่’ คับโลก ?
ความพิสดารต่อไปของ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ ไทยที่อาจเกิดได้ คือ การใช้อำนาจตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ที่แม้จะไม่ได้บัญญัติถึงกรณีการปฎิบัติตามคำสั่งศาลโลกไว้ แต่ก็อาจมีผู้ตีความว่า ไทยและกัมพูชาจะไปตกลงถอนหรือปรับกำลังทหารตามคำสั่งศาลโลกไม่ได้ แต่อาจต้องขอสภาก่อน

โปรดอย่าลืมว่า คดี มาตรา 68 แสดงให้เห็นแล้วว่า ศาลไทย พร้อมที่จะปลุกเสก อำนาจคำสั่งชั่วคราว เพื่อให้รัฐสภาไทยชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ จึงคิดต่อว่า ศาลไทยจะสั่งฝ่ายบริหารไทย ให้ชะลอการถอนทหารร่วมกับกัมพูชาตามคำสั่งศาลโลกได้หรือไม่ !!??

หากพิจารณาหลักการของ มาตรา 190 ให้ถ่องแท้ การดำเนินการใดที่เป็นการประสานงานเป็นการชั่วคราวระหว่างฝ่ายบริหารของไทยและต่างประเทศ โดยเป็นเรื่องฝ่ายบริหารโดยแท้ เช่น การควบคุมเคลื่อนย้ายกำลังพล ซึ่งสภาได้มอบอำนาจตามกฎหมายให้ฝ่ายบริหารจัดการอยู่แล้ว การดังกล่าวก็มิต้องด้วยกรณีของมาตรา 190 ที่ต้องขอสภา

ในทางกลับกัน การพยายามยัดเยียดให้อำนาจของฝ่ายบริหารโดยแท้ เช่น การควบคุมเคลื่อนย้ายกำลังพลทหาร ตกอยู่ภายใต้อำนาจนิติบัญญัติหรือตุลาการตามมาตรา 190 นั้น นอกจากจะทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจและความรับผิดชอบในทางประชาธิปไตยแล้ว ยังจะก่อความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน จนสุ่มเสี่ยงต่อการทำลายสันติภาพระหว่างประเทศในที่สุด
 

เพื่อไทยควรเดินหน้า วาระ 3 หรือไม่ ?
ข้อกฎหมายถูกกล่าวถึงไปชัดพอแล้ว สิ่งที่ไม่ชัดกลับเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากศาล เพราะบัดนี้ ก็ยังไม่ชัดเจนว่า ศาลได้ลงมติวินิจฉัยประเด็นที่ 2 เรื่องการทำประชามติ ตามที่ข่าวรายงานว่ามีมติ 8 -0 หรือไม่ ? และหากมีการงดเว้นไม่ลงมติ จะถือว่าศาลทำผิดกฎหมายหรือไม่ ? (ดู http://bit.ly/Praden2 )

ผู้เขียนกล่าวได้แต่เพียงว่า รัฐสภาต้องยึดกฎหมายให้อยู่เหนือศาลรัฐธรรมนูญ หากศาลเองไม่กล้าจะวินิจฉัยให้ชัดว่า “ต้อง” ทำประชามติหรือไม่ แต่เลือกใช้ถ้อยคำว่า “ควร” ก็ย่อมเป็นหลักฐานว่าศาลยอมให้รัฐสภามีดุลพินิจในเรื่องดังกล่าว ซึ่งในการเดินหน้าต่อนั้น ผู้เขียนขอเสนอแนวทาง ที่สอดคล้องกับหลักกฎหมาย และน่าจะเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ดังนี้

(1) แทนที่สภาจะแสดงท่าทีไม่ฟังศาล สภาก็อาจเดินหน้าอย่างแยบยล โดยการน้อมรับความห่วงใยของศาลเรื่องการทำประชามติมาปฏิบัติ ‘ภายใต้กลไกและกรอบอำนาจของสภา’ เช่น การให้ ส.ส. ส.ว. ลงพื้นที่รับฟังความเห็นของประชาชนว่า ต้องการให้มีการเดินหน้าลงมติในวาระ 3 หรือไม่ แล้วจึงนำความเห็นจากแต่ละเขตเลือกตั้งมารับฟังแทนการทำประชามติ ก่อนเดินหน้าต่อ วาระ 3

(2) หากความเห็นที่ว่ายังไม่เป็นที่พอใจของผู้คัดค้าน รัฐสภาสามารถให้คำมั่นทางการเมืองแก่ประชาชนว่า ในวันที่ไปเลือกตั้ง ส.ส.ร. หากประชาชนกาช่อง ‘ไม่ประสงค์ลงคะแนน’ (Vote No) รวมกันทั้งประเทศสูงเป็นลำดับที่ 1 สภาก็จะกลับไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อยกเลิกการตั้ง ส.ส.ร. เพราะถือว่าประชาชนแสดงความประสงค์ว่าไม่ต้องการให้มีการตั้ง ส.ส.ร. (โดยยอมรับข้อจำกัดว่า อาจมีประชาชนบางส่วนต้องการให้มี ส.ส.ร. แต่ไม่ประสงค์เลือก)

(3) หากกระบวนการ Vote No ยังชัดเจนไม่พอ ก็ขอให้ผู้ที่ต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โปรดส่งตัวแทนมาลงสมัครเป็น ส.ส.ร. ในแต่ละเขต และประกาศเจตนารมณ์คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ชัดแจ้ง หากผู้ต่อต้านเหล่านี้ได้รับเลือกเข้าไปเป็น ส.ส.ร. เสียงข้างมาก ก็เพียงแต่ลาออกจากการเป็น ส.ส.ร. ซึ่งจะทำให้กระบวนการ ส.ส.ร. ต้องสิ้นสุดลงตาม ร่าง มาตรา 291/15

วิธีที่กล่าวมา เป็นขั้นตอนที่ประชาชนสามารถร่วมตัดสินใจยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้แม้จะมีการลงมติในวาระ 3 ไปแล้ว ที่สำคัญ แม้ ส.ส.ร. จะร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ แต่สุดท้ายก็จะต้องให้ประชาชนได้ลงประชามติเพื่อเลือกว่า จะเก็บรัฐธรรมนูญฉบับเดิมไว้หรือไม่ รัฐสภาจึงไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องยอมทำประชามติก่อนการลงมติ วาระ 3 ซึ่งไม่มีกฎหมายรองรับ อีกทั้งสิ้นเปลือง และไม่มีตัวเลือกที่ชัดเจนอีกด้วย
 

‘นิติราษฎร์’ เสนอยุบเลิกศาล ?
แม้ผู้เขียนจะวิพากษ์ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ ไว้มาก แต่ก็ทำไปด้วยความศรัทธาในสถาบันตุลาการและหวังให้วัฒนธรรมการวิพากษ์ตามครรลองประชาธิปไตยเป็นประหนึ่ง ‘วัคซีนทางปัญญา’ ที่สังคมจะนำมาใช้สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ทั้งตนเองและ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ ในระยะยาว

ผู้เขียนจึงต้องคิดหนัก เมื่อ ‘นิติราษฎร์’ ได้นำเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญ และจัดตั้ง ‘คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ’ ขึ้นมาแทน

ผู้เขียนเห็นพ้องในแนวคิดว่า ศาลรัฐธรรมนูญต้องถูกปฏิรูปอย่างเร่งด่วนโดยเฉพาะในแง่ที่มาของตุลาการ และเห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่า ‘ระบอบรัฐธรรมนูญ’ ต้องคงอยู่และสำคัญกว่า ‘ตัวรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ...’ ซึ่งอาจเปลี่ยนไปตามกาลเวลา
 
แต่ผู้เขียนก็ฝากความห่วงใยเบื้องต้น 7 ข้อ ให้ ‘นิติราษฎร์ ทั้ง 7’ โปรดทบทวนและอธิบายเพิ่มเติม ดังนี้

(1) การที่นิติราษฎร์เสนอให้ฝ่ายการเมือง (ส.ส. ส.ว. และ ครม.) เป็นผู้เลือกตุลาการทั้งหมดโดยไม่มีการกลั่นกรองหรือร่วมกระบวนการโดยองค์กรอื่นที่ไม่ใช่ฝ่ายการเมือง (แม้จะให้มีตุลาการมาจากศาลสูงอย่างน้อยสองคน หรือ ส.ว. จะถูกสรรหามาบางส่วนก็ตาม) จะทำให้เกิดปัญหาอย่างน้อยสองประการดังนี้ หรือไม่ ?
(1.1) ตุลาการไม่เป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง จนนำมาสู่ความอ่อนแอในการตรวจสอบผู้ที่เลือกตน และขาดความน่าเชื่อถือยิ่งกว่าศาลชุดเดิม
(1.2) ตุลาการทั้ง 8 ถูกเลือกโดยฝ่ายการเมืองที่ยึดโยงเสียงข้างมากทั้งหมด จนสุ่มเสี่ยงต่อกรณี ‘ทรราชเสียงข้างมาก’ (tyranny of the majority) เช่น การตีความกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงสิทธิของเสียงข้างน้อย
(โปรดสังเกตว่า การทำให้ตุลาการยึดโยงกับประชาชนอาจทำได้หลายรูปแบบและอาศัยส่วนร่วมได้จากองค์กรอื่นที่ไม่ใช่องค์กรการเมืองทั้งหมด นอกจากนี้ คุณค่าระดับอุดมการณ์ของระบอบประชาธิปไตยประการหนึ่ง คือ การเคารพความประสงค์ของเสียงข้างมาก แต่คุ้มครองสิทธิของเสียงข้างน้อย ซึ่งในทางหนึ่งอาจแสดงออกได้โดยการมีองค์กรตุลาการที่มีความเป็นตัวแทนของเสียงข้างน้อยโดยปริยาย หรือการอาศัยกลไกทางการเมืองในบริบทเฉพาะ เช่น การเสนอชื่อตุลาการโดยพรรคการเมือง 2 ขั้วที่สลับกันเป็นรัฐบาล)ใน

(2) นิติราษฎร์เสนอให้มีการเลือกผู้พิพากษาจากศาลสูงอย่างน้อยสองคน แต่หากไม่มีผู้พิพากษาศาลสูงยอมให้นักการเมืองมาชี้นิ้วเลือกเป็นตุลาการ จะมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร ?

(3) นิติราษฎร์เสนอให้อำนาจของคณะตุลาการชุดใหม่มีอำนาจดังที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอยู่ในปัจจุบัน (ร่างมาตรา 5) แต่วิธีการร่างของนิติราษฎร์ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า อำนาจการวินิจฉัยกฎหมายที่ถูกโต้แย้งในคดีตาม มาตรา 211 ก็ดี อำนาจการรับคำร้องโดยตรงจากประชาชนตาม มาตรา 212 ก็ดี หรือ อำนาจในการชี้ขาดข้อขัดแย้งระหว่างองค์กรรัฐธรรมนูญตาม มาตรา 214 ก็ดี จะถูกยุบเลิกไปโดยเหตุการยกเลิก หมวด 10 ส่วนที่ 2 ทั้งหมด (ร่างมาตรา 2) หรือไม่ และหากเลิกอำนาจเช่นนั้น จะจัดการคดีที่ค้างมาตาม ร่างมาตรา 8 อย่างไร ?

(4) นิติราษฎร์เสนอให้เพิ่มคำว่า “หลักการนิติรัฐประชาธิปไตย” (ร่างมาตรา 4 ในส่วน มาตรา 196/3) ซึ่งแม้นิติราษฎร์อาจมีนิยามทางวิชาการของกลุ่มเอง แต่อาจมีผู้สงสัยว่า “หลักการนิติรัฐประชาธิปไตย” ที่ว่านี้ แตกต่างไปจาก “หลักนิติธรรม” ซึ่งมีอยู่แล้วตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 หรือไม่ และการบัญญัติคำที่ต่างกันนี้ จะนำไปสู่ปัญหาว่าคณะตุลาการชุดนี้จะแตกต่างไปจากองค์กรอื่นของรัฐที่ถูกกำหนดให้ยึด “หลักนิติธรรม” หรือไม่ ?

(5) การกำหนดให้คณะตุลาการมีทั้งหมด 8 คน ซึ่งเป็นเลขคู่ และกำหนดว่ามติวินิจฉัยที่คะแนนเสียงเท่ากัน “ให้คำร้องเป็นอันตกไป” (ร่างมาตรา 4 ในส่วน มาตรา 196/11) นั้น มีผลในทางรัฐธรรมนูญอย่างไร เช่น หากเป็นคำร้องของประชาชนที่โต้แย้งกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ เท่ากับว่าคณะตุลาการไม่อาจคุ้มรองสิทธิเสรีภาพได้กระนั้นหรือ ? หรือหากเป็นกรณีที่มีความขัดแย้งระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญ จะหาทางออกอย่างไร ?

(6) ถ้อยคำของ ร่างมาตรา 4 ในส่วน มาตรา 196/13 ที่ว่า “ห้ามมิให้คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญกระทำการใดอันมีผลเป็นการขัดขวางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” นั้นกินความกว้างขวางมาก และอาจมีปัญหาในการตีความ เช่น หากรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติใดที่มีสาระสำคัญเป็นไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ การขัดขวางการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ว่าจะถูกตีความอย่างไร หรือ แม้แต่การใช้อำนาจอื่นของคณะตุลาการที่รับรองไว้ เช่น กรณีตาม มาตรา 65 หากมติของพรรคมีความสัมพันธ์กับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการจะยังสามารถวินิจฉัยยกเลิกมติได้หรือไม่ ?

(7) โดยรวมแล้ว ข้อเสนอของนิติราษฎร์สามารถบรรลุผลตามเจตนารมณ์ได้โดยวิธีการอื่น ที่ไม่ต้องยุบเลิกความเป็นสถาบันของศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ? เช่น การแก้ไขที่มาและจำนวนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะโดยการคงตุลาการชุดเดิมไว้และสรรหาหรือเลือกเพิ่มอีก 6 คน หรือ โดยการกำหนดให้ตุลาการทั้ง 9 คนพ้นจากตำแหน่ง และสรรหาหรือเลือกใหม่ตามกระบวนการที่ยึดโยงกับประชาชนและหลากหลายมากขึ้น แต่ทั้งนี้ โดยการรักษาคุณค่าและประสบการณ์ของความเป็นสถาบันศาลไว้ ?
 

โปรดระวัง ศาล 3จี ให้ดี !
พฤติกรรมการลุอำนาจและล่วงล้ำกฎหมายไม่ได้เกิดขึ้นได้เฉพาะที่ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ หรือ องค์กรการเมือง เท่านั้น แต่คนไทยโปรดระวังว่า ผู้ใช้อำนาจรัฐ หากไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ ก็มีแนวโน้มจะทำผิดกฎหมายและเอาเปรียบประชาชนได้เสมอ

ผู้เขียนเองได้ติดตามการใช้อำนาจของ กสทช. ในการออก “ร่างประกาศ กสทช. ว่าด้วยข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะที่เป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ. …” ซึ่งจะถูกนำมาใช้ “คัดกรอง” บริษัทที่จะเข้ามาประมูลขุมทรัพย์คลื่น 3จี ปลายปีนี้

ผู้เขียนเกรงว่า กสทช. กำลังใช้อำนาจที่ “เกินกฎหมาย” “ผิดตรรกะ” “ขัดหลักนิติศาสตร์” และ “ละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศ” ที่สำคัญ ยังเป็นการใช้อำนาจที่ “ทำลายประชาธิปไตย” โดย กสทช. รวบอำนาจให้ตนแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายได้เองแทน “รัฐสภา” แถมอุดช่องว่างกฎหมายได้เองแทน “ศาล” อีกทั้งยังกำหนดนโยบายการค้าการลงทุนของชาติได้เองแทน “รัฐบาล” !

ที่ผ่านมาผู้เขียนได้แสดงความเห็นเรื่องนี้ไปยัง กสทช. หลายครั้ง แต่ กสทช. ไม่มีทีท่าจะรับฟัง และจะยังคงเดินหน้าออกร่างประกาศฯ ดังกล่าว ในช่วงวันที่ 18 นี้ ซึ่งอาจนำไปสู่การฟ้องร้องเพื่อขัดขวางการประมูล 3จี หรือล้มประมูล 3จี ปลายปีนี้ และประชาชนอย่างพวกเรา ก็ได้แต่กระพริบตาปริบๆ ไม่ต่างจากที่ กสทช. ปล่อยให้ ‘จอดำ’ เกิดขึ้นมาแล้ว

ดังนั้น นอกจากเรื่อง ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ และ ‘ศาลโลก’ ก็ขอเชิญชวนประชาชนผู้ใช้มือถือทั้งประเทศ อย่าลืมตรวจสอบ กสทช. ที่กำลังลุอำนาจกลายมาเป็น ศาล 3จี เร็วจี๋จนจับไม่ทัน ! (ดูเพิ่มที่ http://bit.ly/3Gthai )

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คกก.กาชาดระหว่างประเทศ เผยซีเรียเข้าขั้นสงครามกลางเมือง

Posted: 17 Jul 2012 01:31 AM PDT

คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) เผยซีเรียเข้าสู่สงครามกลางเมืองแล้ว คำกล่าวของกาชาดทำให้ตอนนี้ฝ่ายที่ต่อสู้ในซีเรียต่างตกอยู่ภายใต้กฏอนุสัญญาเจนีวา และมีสิทธิถูกฟ้องฐานะอาชญากรสงคราม ด้านรัสเซียกล่าวหาว่าชาติตะวันตก 'แบล็กเมล์' ซีเรียด้วยการขู่คว่ำบาตร

เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) เปิดเผยว่าการสู้รบในซีเรียแพร่กระจายเป็นวงกว้างมาก จนบัดนี้ความขัดแย้งถือว่าได้มาถึงระดับสงครามกลางเมืองแล้ว

การเปลี่ยนแปลงสถานะกลายเป็นสงครามกลางเมืองหมายความว่าในตอนนี้กลุ่มติดอาวุธที่ต่อสู้กันต่างก็ตกอยู่ภายใต้ข้อบังคับของอนุสัญญาเจนีวา ทำให้พวกเขามีโอกาสถูกฟ้องข้อหาอาชญากรสงครามมากขึ้น

ก่อนหน้านี้ทางกาชาดเคยบอกว่าพื้นที่เขตอิดลิบ ฮอม และ ฮามา เป็นพื้นที่สงคราม แต่ในตอนนี้ทางคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ผู้คอยตรวจสอบอนุสัญญาเจนีวากล่าวว่า การสู้รบได้แพร่สะพัดออกไปไกลกว่าสามพื้นที่ดังกล่าวแล้ว

ฮิคชัม ฮัสซัน โฆษกของกาชาดกล่าวว่าซีเรียในตอนนี้กลายเป็นพื้นที่ "ความขัดแย้งที่มีการใช้กำลังอาวุธในระดับที่ไม่ใช่นานาชาติ" (non-international armed conflict) ซึ่งเป็นศัพท์เทคนิคที่ใช้เรียกสงครามกลางเมือง

"สิ่งที่มีผลคือ กฏหมายนานาชาติตอนนี้จะถูกนำมาใช้เมื่อใดก็ตามที่มีความเป็นปฏิปักษ์กันระหว่างกองกำลังรัฐบาลและกองกำลังฝ่ายต่อต้านเกิดขึ้นภายในประเทศ" ฮัสซันกล่าว

ผู้สื่อข่าว BBC รายงานจากเจนีวาบอกว่าถ้อยแถลงนี้มีความสำคัญเนื่องจากงานของกาชาดคือการตรวจสอบการกระทำระหว่างการต่อสู้ และบอกทั้งสองฝ่ายว่าพวกเขามีข้อผูกมัดอันใดบ้าง

ภายใต้อนุสัญญาเจนีวา การจู่โจมใส่พลเรือนโดยไม่จำกัดเป้าหมาย, การโจมตีใส่หน่วยงานแพทย์พยาบาล หรือการทำลายทรัพย์สินบริการพื้นฐานสาธารณะเช่นน้ำประปาหรือไฟฟ้า ทั้งหมดนี้ถือเป็นข้อห้ามและอาจถูกฟ้องร้องภายใต้ข้อหาอาชญากรสงครามได้

ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปการต่อสู้ในซีเรียจะถูกจำกัดด้วยกฎหมายสงครามอย่างเป็นทางการ และผู้ที่ละเมิดอาจกลายเป็นอาชญากรสงครามได้


การต่อสู้หนักที่สุดในดามาสกัส

ทางสหประชาชาติได้กล่าวหาว่ากองทัพซีเรียได้ใช้ปืนใหญ่ รถถัง และเฮลิคอปเตอร์ ในการปะทะกันที่หมู่บ้านเทรมเซห์ แต่ทางรัฐบาลซีเรียก็ปฏิเสธว่าพวกเขาไม่ได้ใช้อาวุธหนัก และได้สังหารพลเรือนไปสองคนเท่านั้น

หากการกล่าวหาเป็นเรื่องจริงแสดงว่าซีเรียได้ละเมิดข้อตกลงสันติของโคฟี่ อันนัน

ในช่วงเย็นวันอาทิตย์ (15 ก.ค.) มีภาพวิดีโอแสดงให้เห็นการต่อสู้ในทางตอนใต้ของกรุงดามาสกัส ซึ่งนักกิจกรรมบอกว่าเป็นการต่อสู้ที่หนักที่สุดในเมืองหลวงตั้งแต่มีการประท้วงในช่วงเดือน มี.ค. ปีที่แล้ว พวกเขาบอกว่ามีการใช้รถถัง ปืนครก และผู้อยู่อาศัยบางคนได้พยายามหนีออกจากพื้นที่

ทางฝ่ายต่อต้านรัฐบาลรายงานว่ากลุ่มกบฏ FSA ได้ปะทะกับกองกำลังรัฐบาลในย่าน คฟาร์ โซวเซห์ ทางตะวันตกของดามาสกัสด้วย ชาวบ้านละแวกใกล้เคียงบอกว่า พวกเขาไม่ได้นอนตลอดคืนมันกลายเป็นพื้นที่สงครามจริงๆ แล้ว


รัสเซียบอกให้ชาติตะวันตกหยุด 'แบล็กเมล์' ซีเรีย

ทางด้านรมต. เซอกี ลาฟรอฟ ของรัสเซียได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 16 ก.ค. ก่อนการพบปะหารือระหว่างรัสเซียกับโคฟี่ อันนัน ตัวแทนสหประชาชาติ โดยบอกว่ารัสเซียจะโหวตคัดค้านการขยายภารกิจผู้ตรวจตรวจการซีเรียในที่ประชุมสภาความมั่นคงของยูเอ็น หากชาติตะวันตกยังไม่หยุด 'แบล็กเมล์' ซีเรียด้วยการขู่คว่ำบาตร

"พวกเราเสียใจ ที่เห็นการแบล็กเมล์กัน่นี้" ลาฟรอฟกล่าวในที่ประชุมแถลงข่าวก่อนที่อันนันจะไปเยือนรัสเซียเพื่อหารือกับ ปธน. วลาดิเมียร์ ปูติน "นี่เป็นสิ่งที่ไม่ได้ส่งให้เกิดผลดี และเป็นวิธีการที่อันตราย"

ในวันเดียวกัน (16) โมร็อกโกก็เรียกร้องให้เอกอัครราชทูตซีเรียประจำกรุงราบัทออกจากประเทศ ซึ่งทางซีเรียก็โต้ตอบด้วยการประกาศว่า ทูตของโมร็อกโกประจำกรุงดามาสกัส กลายเป็นบุคคลที่ไม่ได้รับการต้อนรับ (persona non grata) และเรียกร้องให้ออกจากประเทศ

 

 


เรียบเรียงจาก

Russia says West using 'blackmail' over Syria, Aljazeera, 16-07-2012
http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2012/07/20127165356403617.html

Syria in civil war, Red Cross says, BBC, 15-07-2012
http://www.bbc.co.uk/news/world-middle-east-18849362

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ราชบัณฑิตจัดระเบียบภาษา ออกหลักถอดเสียง "ภาษาเกาหลี"

Posted: 17 Jul 2012 01:20 AM PDT

ราชบัณฑิตกำหนดวิธีการทับศัพท์ภาษาเกาหลีและภาษาเวียดนามที่ถูกต้อง มีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา


ภาพโดย spencer341b (CC BY-ND 2.0)

สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องหลักเกณฑ์การทับศัพท์ ภาษาเกาหลี และภาษาเวียดนาม ได้มีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา หลังประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา โดยสาระสำคัญของประกาศสำนักนายกฯ ดังกล่าว เนื่องจาก ตามที่ราชบัณฑิตยสถานเสนอ หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาต่างๆ ซึ่งได้ประกาศให้เป็นมาตรฐานไปแล้ว 11 ภาษานั้น ยังไม่เพียงพอในการใช้งาน ราชบัณฑิตยสถานจึงกำหนดหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาเกาหลี และภาษาเวียดนาม เพิ่มขึ้นอีก 2 ภาษา และเห็นสมควรให้ส่วนราชการถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาดังกล่าวด้วย

โดยหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาเกาหลี มี 7 ข้อ ดังนี้

1.หลักเกณฑ์นี้ใช้สำหรับเขียนทับศัพท์ภาษาเกาหลี ด้วยอักษรโรมัน

2.เนื่องจากภาษาเกาหลีมีการถ่ายทอดเป็นอักษรโรมันหลายระบบ ในหลักเกณฑ์นี้ได้เลือกใช้อักษรโรมันจาก 2 ระบบ ได้แก่ ระบบ New System 2002 ที่ใช้เป็นทางการ และระบบ McCune-Reischauer ที่นิยมใช้มานานและยังคงมีใช้อยู่ เช่น Lee Myung-bak อี มย็อง-บัก (ชื่อประธานาธิบดี) Park (Pak) Chung-hee ปัก ชอง-ฮี (ชื่อประธานาธิบดี)

3. คำทับศัพท์ที่มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เช่น คำในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง ฯลฯ ให้ใช้ตามฉบับล่าสุด

4.คำภาษาเกาหลีที่รับมาใช้ในภาษาไทยเป็นเวลานานแล้ว และเขียนเป็นคำไทยจนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปให้ใช้ต่อไปตามเดิม เช่น กิมจิ, เทควันโด, อารีดัง, ฮุนได, วอน (สกุลเงิน)

5.พยัญชนะควบกล้ำที่มีสระหน้าให้นำสระหน้าไปไว้ระหว่างพยัญชนะควบกล้ำนั้น เช่น gwebeom คเวบ็อม hoengdan ฮเว็งดัน

6.คำทับศัพท์ชื่อและชื่อสกุลให้เขียนติดกัน เว้นวรรค หรือมีเครื่องหมายยัติภังค์ตามต้นฉบัอักษรโรมัน เช่น An Chaehong อัน แชฮง Son Ye-jin ซน เย-จิน

7.คำวิสามานยนามเช่นชื่อทางภูมิศาสตร์ที่เขียนด้วยอักษรโรมัน แม้ว่าจะเว้นวรรคหรือมีเครื่องหมายยัติภังค์ ให้ทับศัพท์โดยเขียนติดกัน ส่วนคำที่บอกประเภทของชื่อเฉพาะไม่ต้องทับศัพท์

ตัวอย่างเช่น

7.1 -do (จังหวัด) เช่น Gangwon-do จังหวัดคังวอน

7.2 teukbyeolsi (เมืองปกครองพิเศษ, กรุง) เช่น Seoul teukbyeolsi กรุงโซล

7.3 -si หรือ si (เมือง) เช่น Gwangju-si หรือ Gwangjusi เมืองควังจู

7.4 -gun หรือ gun (อำเภอ) เช่น Seonsan-gun

7.5 -gu (เขต) เช่น Dongdaemun-gu เขตทงแดมุน

7.6 gang (แม่น้ำ) เช่น Hangang แม่น้ำฮัน

7.7 san (ภูเขา) เช่น Seoraksan ภูเขาซอรัก

7.8 -seom, -do (เกาะ) เช่น Nami-seom เกาะนามี Jeju-do เกาะเชจู

7.9 daehakgyo (มหาวิทยาลัย) เช่น Inhadaehakgyo มหาวิทยาลัยอินฮา Seouldaehakgyo มหาวิทยาลัยโซล

7.10 yeok (สถานีรถไฟ) เช่น Sadangyeok สถานีรถไฟซาดัง

7.11 sijang (ตลาด) เช่น Namdaemunsijang ตลาดนัมแดมุน

7.12 -ga (ถนน) เช่น Euljiro 1 (il) -ga ถนนอึลจีโร 1

 

 

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาสวัต บุญศรี: ข่าวปัญหาครอบครัวและการเบลอภาพเมโลดรามาในรายการข่าวทางทีวี

Posted: 16 Jul 2012 10:25 PM PDT

รายการเล่าข่าวทางโทรทัศน์ถูกข้อครหาหนึ่งมาเสมอโดยเฉพาะในช่วงน้ำท่วมปีที่แล้วว่ามุ่งเน้นนำเสนอภาพที่เร้าอารมณ์มากจนเกินไป รายการข่าวโดยเฉพาะช่วงเช้าจึงมีทั้งภาพเมโลดรามามาร้องไห้ให้คนสงสาร ไม่ก็คนสองกลุ่มทะเลาะกันเพราะปัญหากระทบกระทั่งกันจนบานปลายใช้กำลัง ใครที่ชอบดูข่าวแล้วได้ “เรื่องจริงผ่านจอ” แถมให้พร้อมคงพึงพอใจมาก ๆ

กลายเป็นคำถามที่น่าสนใจชวนให้หาคำตอบว่าแท้ที่จริงแล้วเหตุผลสำคัญที่รายการข่าวเหล่านี้จงใจนำเสนอภาพเหตุการณ์จริงที่อุดมด้วยอารมณ์ความรู้สึกคืออะไร คนทำงานสื่อก็บอกว่า เป็นเพราะคนดูนั่นแหละที่ชอบอะไรแบบนี้ เราก็เพียงตอบสนองความต้องการ ใครเลยจะอยากดูข่าวที่นำเสนอได้แสนแห้งแล้ง ส่วนคนดูก็พร้อมใจกันว่าบอกว่าเพราะรายการทีวีทำให้ดูนั่นแหละ เราก็เลยดูแบบที่เขาทำให้ดู ต่างก็โบ้ยกันไปมาหาคำตอบไม่ได้ แน่ตามความเห็นของผมแล้วก็คงจะประกอบด้วยกันทั้งคู่ วัฒนธรรมไทยมุงชอบเห็นภาพเหตุการณ์ระยะประชิดคงได้รับการตอบสนองอย่างดีจากภาพข่าวเมโลดราม่าเหล่านี้ เพราะให้ความรู้สึกเหมือนได้อยู่ในเหตุการณ์จริง

แต่ไม่ว่าต้นเหตุจะมาจากฝั่งไหน คนไทยที่มีเวลาตื่นมาดูทีวีตอนเช้าก็เสพติดภาพเมโลดรามาแบบนี้กันไปแล้วโดยไม่รู้ตัว
เมื่อเช้ามีโอกาสได้ชมรายการเล่าข่าวทางช่องสาม ทางรายการได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับปัญหาครอบครัวหนึ่งซึ่งมีสมาชิกที่เป็นเด็กเสียชีวิต สิ่งที่น่าสนใจคือภาพข่าวนั้นถูกทำเบลอมองไม่เห็นหน้าคนถูกสัมภาษณ์ (ซึ่งเป็นคนในครอบครัว) รวมถึงภาพเหตุการณ์ที่คนในครอบครัวกำลังร้องไห้ต่อการสูญเสียก็ถูกเบลอด้วยเช่นกัน

เหตุผลที่ต้องมีการเบลอภาพสืบเนื่องมาจาก มาตรา 9 ใน พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 สรุปเนื้อหาได้คือ ห้ามเผยแพร่ภาพ เรื่องราว หรือข้อมูลใด ๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวหรือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว (สมมติกรณีแบบน้ำเน่า มีแม่เลี้ยงตีลูกเลี้ยงจนเกือบเสียชีวิต รายการข่าวก็ห้ามเผยแพร่ภาพ เรื่องราว หรือข้อมูลทั้งฝ่ายแม่เลี้ยงและลูกเลี้ยง)

ดูจากกรอบกฎหมายฉบับนี้ การนำเสนอข่าวย่อมต้องเลี่ยงการก่อให้เกิดความเสียหาย ทีมงานจึงต้องขุดหาวิธีการอาจจะเลี่ยงด้วยการไม่นำเสนอชื่อของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ รวมไปถึงการเบลอภาพเพื่อไม่ให้คนดูเห็นหน้าตัวผู้เกี่ยวข้องกับคดี ส่วนข้อมูลก็คงไม่สามารถเล่าชนิดเจาะลึกละเอียดได้อาจจะเป็นเพียงการนำเสนอเพื่อให้เป็นในเชิงอุธาหรณ์เท่านั้น

นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการนำเสนอข่าว แม้จะขัดตาในช่วงแรกแต่เชื่อว่าไม่นานคงเคยชิน ปกติแล้วการนำเสนอข่าวชนิดเจาะลึกชื่อสกุล บ้านที่อยู่ไหน ทำอะไรยังไงมาก่อนนี่แทบจะเรียกได้ว่าตั้งศาลเตี้ยประหารชีวิตกันคาจอเลยทีเดียว ยิ่งข่าวประเภทปัญหาครอบครัวที่คนทั่วไปส่วนใหญ่มักมีแนวโน้มชิงชังกับสิ่งที่เกิดขึ้น ผลที่คนในข่าวได้รับไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำหรือถูกกระทำล้วนมีแต่ผลกระทบในแง่ลบ

สิ่งที่ได้แถมมาคือ การเบลอภาพทำให้ข่าวเกี่ยวกับครอบครัวที่ปกติเป็นทัพหน้าของข่าวแนวเมโลดรามาได้ถูกลดทอนอารมณ์ความรู้สึกไปบ้าง ปัญหาของการนำเสนอข่าวแบบเน้นอารมณ์ความรู้สึกคือ ในแนวทางทฤษฎี ข่าวต้องให้ข้อเท็จจริง (Fact) เป็นสำคัญ โดยมิใส่อคติของผู้นำเสนอลงไปด้วย เรามักเป็นผู้เล่าข่าวใส่ความคิดเห็นลงไปเสมอ แต่อีกสิ่งที่อุดมด้วยอคติคืออารมณ์ความรู้สึกที่เสนอผ่านข่าว ยามเราได้ฟังเสียงสะอื้นของใครสักคนในทีวีปนลอยออกมาพร้อมเสียงสัมภาษณ์ คนใจแข็งขนาดไหนก็ย่อมต้องหันมาดูและมีแนวโน้มที่จะเชื่อและรู้สึกสงสารโดยทัน

การใช้อารมณ์ความรู้สึกเป็นตัวหลักนำหน้าข้อเท็จจริงเป็นปัญหาสำคัญ เพราะแทนที่คนดูข่าวจะได้พิจารณาเนื้อหาด้วยตนเองผ่านข้อมูลที่ให้ผ่านมาให้ข่าว กลับใช้ความรู้สึกตัดสินโดยละเลยข้อเท็จจริง และหลายครั้งเราก็ได้เห็นการพิพากษาศาลเตี้ยคนในข่าวจากคนดูผ่านทาง sms ข่าว

อย่างน้อย ๆ การเบลอภาพก็ทำให้เราเห็นภาพไม่ชัดและให้ความสำคัญกับการฟังข้อมูลข่าวสารมากขึ้น อย่างไรก็ดีจากกรณีข่าวที่ผมได้ดูในช่วงเช้า ความเมโลดรามาก็ยังไม่ลดไปเท่าใดนักแม้ภาพจะถูกเบลอแล้วก็ตามเพราะรายการเลือกที่จะปล่อยภาพเหตุการณ์ที่มีเสียง ‘สะอึกสะอื้น’ ร่ำไห้ระงมชวนสังเวชใจอยู่หลายสิบวินาทีโดยปราศจากเสียงจากผู้ประกาศใด ๆ ทั้งสิ้น นั่นเท่ากับคนดูอย่างเรา ๆ ก็ได้เสพความเมโลดรามากันต่อไป แค่เปลี่ยนเป็นเน้นผ่านเสียงแทน

อาจจะลดเรื่องผลกระทบแง่ลบต่อคนในข่าวได้ แต่ความเร้าอารมณ์ในข่าวของสังคมเมโลดรามาก็ยังมีให้เสพเหมือนเดิมไม่ได้หายไปไหน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น