โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

พธม.ปราศรัยที่เชียงใหม่ "สมเกียรติ" กล่าวโจมตีทักษิณหวังเป็น ปธน.

Posted: 14 Jul 2012 01:47 PM PDT

อัดทักษิณมียุทธศาสตร์หวังเป็นประธานาธิบดี มีกองกำลังในภาคเหนือภาคอีสานกว่า 7 หมื่นคน และส่งการ์ดไปฝึกกัมพูชา 5 พันคน ด้าน "พิภพ ธงไชย" เชื่อถ้าไม่เปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค ประชาธิปัตย์จะแพ้เพื่อไทยตลอดกาล

เอเอสทีวี ผู้จัดการออนไลน์ รายงานเมื่อวานนี้ (14 ก.ค.)  ว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้จัดเวทีเสวนา "รวมพลัง 17 จังหวัดภาคเหนือเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทย" ที่โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 

เอเอสทีวี ผู้จัดการออนไลน์ ยังรายงานด้วยว่า มีคนเสื้อแดงกลุ่ม นปช.เชียงใหม่ประมาณ 10 คน ไปปราศรัยขับไล่พันธมิตรฯ และพยายามเข้าไปดึงปลั๊กรถถ่ายทอดสด จนทีมงานถ่ายทอดสดต้องขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาช่วยดูแลความสงบเรียบร้อย

ในระหว่างการเสวนาของแกนนำพันธมิตรฯ ตอนหนึ่งนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวบนเวทีโจมตี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมตรีว่า ยุทธศาสตร์ของทักษิณเท่าที่มีการวิเคราะห์กันไว้นั้นจุดสูงสุดของเขาที่ตั้งไว้คือ เขาจะต้องเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศไทยให้ได้โดยมี 4 ยุทธศาสตร์ คือ 1.พ้นผิดทุกคดี 2. เอาเงิน 46,000 ล้านบาทคืนให้หมด 3. เอาอำนาจกลับมาเหมือนเดิม และ 4.เป็นประธานาธิบดีให้ได้

เห็นได้ว่ายุทธศาสตร์ดังกล่าวต้องมีการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ ขั้นแรกก็คือการเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงโดยเฉพาะที่เปิดได้แล้วและเป็นจำนวนมากด้วยก็คือ ภาคอีสานและภาคเหนือ ส่วนที่ภาคใต้ยังไม่สามารถทำได้เพราะไปทำที่ภูเก็ตก็โดนไล่แทบไม่ทัน

นายสมเกียรติอ้างว่า สำหรับกองกำลังของทักษิณนั้นเท่าที่ดูจะมีอยู่ 3 กองกำลังด้วยกันคือ 1.มีแกนนำคือพรรคเพื่อไทย 2.มีกองกำลังจากอีสานและเหนือรวมกันแล้วประมาณ 6-7 หมื่นคน 3.มีเรดการ์ดที่ส่งไปฝึกที่เขมรประมาณ 5,000 คน และ 4. มีอำนาจรัฐอยู่ในมือ ซึ่งตอนนี้ยังขาดเพียงอำนาจตุลาการ ฉะนั้นของเราก็มีวิธีเดียวที่พึ่งได้ก็เพียงอำนาจตุลาการเท่านั้น และในส่วนของกองกำลังพันธมิตรฯ มีเพียง 1.แกนนำพันธมิตรและ 2.แนวร่วมมือตบเท่านั้น ฉะนั้นหน้าที่ของเรามี 3 ข้อด้วยกันคือต่อต้านกฎหมายทำลายชาติ ต้านกฎหมายปรองดองและการแก้รัฐธรรมนูญ 2.กำจัดนักการเมืองชั่วๆ ในสภาให้ออกไป และ 3.ปฏิรูปใหญ่การเมืองไทย

ด้านนายพิภพ ธงไชย อีกหนึ่งแกนนำพันธมิตรฯ ที่ร่วมขึ้นเวทีเสวนาครั้งประวัติศาสตร์ด้วย ระบุว่า ตอนนี้ในแวดวงมีการวิเคาระห์กันหลายฝ่ายว่าทักษิณกำลังถูกใช้โดยคนหลาย ๆ กลุ่มหลาย ๆ ฝ่ายด้วยกันจนทำให้สภาพของทักษิณตอนนี้เหมือนซากศพที่เดินได้ แต่อย่าพูดว่าทักษิณน่าสงสารนะ เพราะเรื่องแบบนี้เป็นการสมยอมให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือ เพราะผลประโยชน์รออยู่ข้างหน้า แม้แต่นักการเมืองอเมริกายังใช้ทักษิณเป็นเครื่องมือเพื่อจะเอาแหล่งน้ำมันในอ่าวไทยของประเทศไทยให้ได้ ทำให้ที่สภาพทักษิณในขณะนี้เพราะคนรอบตัวต่างใช้เป็นเครื่องมือแทบทั้งนั้น

ส่วนทักษิณเองหลังจากที่มีการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว กลับเงียบกริบยังไม่มีการเคลื่อนไหวหรือแสดงความคิดเห็นอะไร เป็นเพราะใจจริงเขานั้นต้องการให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์อยู่ได้นาน ๆ และอยู่ตลอดไป ประกอบกับกำลังมีการตกล่องปล่องชิ้นกับอเมริกาและกัมพูชาในเรื่องผลประโยชน์ทางทะเลซึ่งถือเป็นขุมทรัพย์ที่รออยู่ข้างหน้า ฉะนั้นทักษิณตอนนี้เลยทำตัวให้เป็นข่าวน้อยหน่อยและถือว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินพร้อมกันได้ขยายอำนาจให้ประชาชนมากยิ่งขึ้นด้วยซ้ำเพราะเป็นการให้อำนาจประชาชนในการตรวจสอบว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำอะไรกันบ้างอย่างไร

"อะไรก็แล้วแต่ตอนนี้ถือว่าทักษิณเป็นเหยื่อของนักการเมืองไทย เพราะคนที่ไม่เอาทักษิณหรือไม่เอาทักษิณกลับไม่ใช่พันธมิตรฯ แต่เป็นคนรอบข้างเขานั่นเอง"

นายพิภพกล่าวต่อว่า หันมามองที่พรรคประชาธิปัตย์ถ้าไม่เปลี่ยนอดีตนายกฯ หรือหัวหน้าพรรคคนนี้ก็เชื่อได้เลยว่าพรรคประชาธิปัตย์จะแพ้พรรคเพื่อไทยตลอดกาล

ขณะเดียวกัน พล.ต.จำลอง กล่าวด้วยว่าได้รับการร้องขอจากพันธมิตรเชียงใหม่ในการขอตั้งวิทยุชุมชนเพื่อถ่ายทอดสัญญานเสียงจาก ASTV ประจำจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากพันธมิตรเชียงใหม่ต้องการฟังการถ่ายทอดตลอดเวลาแม้จะต้องขับรถก็ตาม ซึ่งเรื่องดังกล่าวทาง พล.ต.จำลองจะรับเรื่องส่งให้ส่วนกลางพิจารณา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรณีสังหารหมู่ที่หมู่บ้านเทรมเซห์ ประเทศซีเรีย

Posted: 14 Jul 2012 11:08 AM PDT

เหตุรุนแรงครั้งร้ายแรงล่าสุดในซีเรีย เมื่อมีการสังหารหมู่จนมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 ราย ทางคณะผู้ตรวจการของยูเอ็นเปิดเผยว่าเป็นปฏิบัติการทางการอากาศของรัฐบาลซีเรีย ด้านนักกิจกรรมและชาวบ้านบอกว่าทหารใช้อาวุธหนักก่อนบุกเข้ามาสังหาร-จับกุม พร้อมกับกลุ่มอันธพาลฝ่ายรัฐบาล
 
 
14 ก.ค. 2012 - คณะผู้ตรวจการของสหประชาชาติได้ออกจากศูนย์บัญชาการในกรุงดามาสกัส เพื่อเดินทางไปยังหมู่บ้านเทรมเซห์ ในเขตปกครองฮามา ที่มีรายงานว่ามีประชาชนจำนวนมากถูกสังหารเมืองวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา
 
คณะผู้ตรวจการของสหประชาชาติในภารกิจควบคุมพิเศษ (UNSMIS) นำโดยพลเอก โรเบิร์ท มูด กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าพวกเขาไปสำรวจในที่ห่างจากหมู่บ้านเทรมเซห์ไม่กี่กม. เพื่อยืนยันการใช้อาวุธหนักและการใช้เฮลิคอปเตอร์ ซึ่งเป็นการพาดพิงถึงตัวรัฐบาล
 
ฝ่ายต่อต้านหลายกลุ่มยืนยันว่ามีกลุ่มกบฏ 74 ราย และประชาชนราว 200 ราย ถูกสังหารเมื่อหมู่บ้านถูกโจมตีโดยเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธ และรถถัง ตามด้วยทหารที่บุกเข้ามาสังหารคนตามบ้านเรือนต่างๆ ยกครัว
 
สำนักอัลจาซีร่ารายงานว่า รัฐบาลซีเรียบอกว่ามีคนมากกว่า 50 รายถูกสังหารเมืองกองกำลังฝ่ายรัฐบาลปะทะกับกลุ่มติดอาวุธฝ่ายกบฏที่ทำการข่มขวัญชาวบ้าน 
 
ทางด้าน BBC รายงานว่า รัฐบาลได้แถลงข่าวเกี่ยกวับเหตุการณ์ดังกล่าวบอกว่ากองกำลังรัฐบาลได้มีปฏิบัติการพิเศษหลังจากได้รับแจ้งจากชาวบ้านในพื้นที่ว่ามีกองกำลังกบฏจำนวนมากหลบซ่อนอยู่ในพื้นที่ ซึ่งทางรัฐบาลสามารถทำลายที่หลบซ่อนและสามารถสังหารกลุ่มกบฏหรือที่พวกเขาเรียกว่า 'ผู้ก่อการร้าย' จำนวนมากได้ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งก็ถูกจับกุมตัว
 
BBC รายงานอีกว่า ทหารบางส่วนเดินขบวนออกโทรทัศน์ รายงานผลงานและแสดงให้เห็นอาวุธจำนวนมากที่อ้างว่ายึดมาได้ โดยมีแถลงการณ์ด้วยว่าไม่มีประชาชนถูกสังหารจากการต่อสู้นี้เลย
 
 
ผลจากการสำรวจของคณะผู้ตรวจการ
 
โคฟี่ อันนัน ตัวแทนจากสหประชาชาติและสันนิบาตชาติอาหรับกล่าวว่า เขารู้สึกตกใจและสยดสยองจากรายงานการโจมตีดังกล่าว และกล่าวประณามรัฐบาลที่ใช้อาวุธหนักในพื้นที่ที่มีประชาชนอยู่จำนวนมาก 
 
จากรายงานของ UNSMIS กลุ่มคณะผู้ตรวจการเข้าไปใกล้หมู่บ้านเทรมเซห์ห่างเพียง 6 กม. ก่อนจะถูกผู้บัญชาการทหารอากาศสั่งห้ามเข้าโดยอ้างว่ามีปฏิบัติการทางทหารอยู่
 
คณะผู้ตรวจการได้เดินทางสำรวจพื้นที่รอบเทรมเซห์ราว 8 ชั่วโมง โดยในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ก็ได้ยินเสียงระเบิดมากกว่า 100 ครั้ง ได้ยินเสียงอาวุธปืนเล็กและปืนกลหนัก และเห็นว่ามีกลุ่มควันสีขาวกับสีดำลอยเป็นกลุ่มก้อน
 
คณะผู้ตรวจการกล่าวอีกว่า เทรมเซห์ถูกโจมตีเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการทางอากาศของซีเรีย พวกเขาบอกอีกว่าสถานการณ์ในฮามามีการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายและยากจะคาดเดาได้
 
"กองทัพอากาศของซีเรียยังคงตั้งเป้าโจมตีใส่เขตบ้านเมืองประชาชนในทางตอนเหนือของเมืองฮามาเป็นวงกว้าง" จากส่วนหนึ่งของรายงานด่วน โดยคณะผู้ตรวจการของสหประชาชาติ
 
ฮิลลารี่ คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ แสดงความไม่พอใจอย่างมากต่อกรณีการสังหารหมู่ในเทรมเซห์ และเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติกระทำการหยุดยั้งความรุนแรง
 
ด้านรัสเซียก็กล่าวประณามการสังหารหมู่ในเทรมเซห์เช่นกัน แต่ก็กล่าวหาว่าเป็นฝีมือของผู้ก่อการร้ายที่ต่อต้านปธน. อัสซสด เช่นเดียวกับรัฐบาลซีเรีย
 
 
 
เสียงของนักกิจกรรมและชาวบ้านเทรมเซห์
 
ในวันเดียวกัน (14 ก.ค.) Loveday Morris ก็เขียนรายงานลง The Independent ในชื่อ "เสียงของชาวบ้านผู้หวาดกลัว เล่าเรื่องสะเทือนขวัญของเทรมเซห์" ในรายงานผู้ถึงวีดิโอที่โพสท์ในอินเตอร์เน็ตแสดงให้เห็นสภาพศพเรียงรายกันอยู่ในมัสยิด มีบางคนถูกเผา บางคนถูกปาดคอ
 
รายงานใน The Independent กล่าวอีกว่าแม้จะมีเหยื่อผู้เสียชีวิตมากกว่า 220 ราย ซึ่งมากกว่าเหตุการณ์สังหารหมู่ที่โฮวลาที่มีเหยื่อ 108 ราย แต่ดูเหมือนว่าผู้หญิงและเด็กในโฮวลาจะหนีไปได้โดยไม่ได้รับอันตราย
 
นักกิจกรรมเล่าว่า การจู่โจมที่เทรมเซย์เริ่มต้นขึ้นในช่วงเช้าของวันที่ 12 ก.ค. เมื่อพบว่ามีรถบรรทุกทหาร 25 คัน มาพร้อมกับรถหุ้มเพราะ 3 คัน และรถพ่วงปืนใหญ่ ที่เมืองเมอฮาดาที่อยู่ใกล้กันกำลังมุ่งหน้ามายังหมู่บ้าน เทรมเซห์ถูกล้อม ถูกตัดไป โทรศัพท์มือถือถูกรบกวนคลื่นสัญญาณ ทั้งหมดนี้เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่สามารถรายงานข่าวการสังหารหมู่ออกไปได้
 
The Independent รายงานอีกว่า กองทัพซีเรียได้ทำการสู้รบอย่างดุเดือดในเขตชนบทของฮามาเป็นเวลาหลายสัปดาห์แล้ว มีชาวบ้านจำนวนมากหนีมายังเทรมเซห์ หมู่บ้านชุมชนนิกายซุนนีที่ต่อต้านรัฐบาล การที่หมู่บ้านนี้มีครอบครัวและนักรบของกลุ่มกบฏ FSA อาศัยอยู่น่าจะเป็นหนึ่งในเหตุผลที่หมู่บ้านเทรมเซห์ถูกโจมตีอย่างหนัก ขณะที่มีบางคนบอกว่ามีทหารย้ายข้างมากกว่า 30 รายอาศัยอยู่ในหมู่บ้านนี้
 
นักกิจกรรมเล่าอีกว่าเมื่อมีการยิงปืนใหญ่ พวกเขายิงได้แม่นมาก โดยบ้านของหมอสองหลังตกเป็นเป้าโจมตีซึ่งหมู่บ้านเทรมเซห์เองก็มีหมอเพียงแค่สองคนนี้ ต่อจากนั้นบ้านของทหารย้ายข้างก็ถูกโจมตี มีเฮลิคอปเตอร์ไล่ยิงคนที่พยายามหนี มีผู้บาดเจ็บบางคนไปรวมตัวกันอยู่ที่โรงเรียน แต่ที่โรงเรียนก็ถูกโจมตีด้วย
 
หลังจากนั้น กลุ่มติดอาวุธที่สนับสนุนรัฐบาล 'ชาบิยา' ก็เข้ามาในพื้นที่พร้อมกับทหารและเข้าขุ่มขู่คุกคามชาวบ้าน พวกเขาจับกุมคนส่วนหนึ่งและสังหารคนอื่นๆ ด้วยปืนหรือมีด
 
พันเอก กัสซีม ซาเดดดีม ผู้บัญชาการร่วมของกลุ่มกบฏ FSA เล่าว่า มีนักรบ FSA 35 คนพยายามสกัดกั้นแต่ก็ถูกกระหน่ำโจมตีจากอาวุธและจำนวนคนที่มากกว่า จนต้องยอมหยุด อาบู อัดนัน นักกิจกรรมในพื้นที่บอกว่า FSA ได้เข้าโจมตีด่านตรวจเพื่อเปิดทางให้ประชาชนสามารถหนีออกไปได้ แต่ก็ล้มเหลว
 
"มันยากจะจินตนาการว่าเกิดอะไรขึ้นที่นั่น" ผู้อาศัยในฮามาคนหนึ่งกล่าว น้องสาวของเขาหนีออกมาจากหมู่บ้านพร้อมกับลูกอีกสามคน
 
"เมื่อเธอมาถึง ในช่วงชั่วโมงแรกๆ เธอดูหวาดกลัวและบอบช้ำ" ชายผู้อาศัยในฮามากล่าว "ลูกสาวของเขายังพูดแทบไม่ได้ แต่สามีของเขาก็ถูกจับในช่วงที่ทหารเข้าจู่โจม"
 
เรื่องที่เธอเล่าดูโหดร้ายมาก เมื่อเช้าวงเช้าวันที่ผ่านมา (13 ก.ค.) เมื่อเธอไปดูที่บ้านของเพื่อนบ้านที่ถูกไฟทำลาย อากาศรอบข้างแน่นไปด้วยกลิ่นของเนื้อไหม้ และมีศพถูกไฟคลอกอยู่สองศพ เธอเชื่อว่าพวกเขาปิดประตูขังสองคนนี้ไว้แล้วจุดไฟเผา
 
มีคนพบว่า หมอในหมู่บ้าน มุนเซฟ อัล-นาจิ กำลังทำแผลให้กับชายสองคนที่ถูกลากออกมาข้างนอกแล้วยิงที่ศรีษะ
 
"ชาวบ้านยังกังวลว่าชาบิยาจะกลับมา" พี่ชายของหญิงในหมู่บ้านพูดต่อ "ในเวลานี้ พวกเรายังคงพยายามอย่างสุดความสามารถในการทำให้ผู้คนหนีออกไปได้ สถานการณ์ดูตีบตัน"
 
 
 
ที่มา:
 
UN monitors in Syria head to 'massacre site', Aljazeera, 14-07-2012
http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2012/07/201271491127470299.html

Syria unrest: UN observers to probe Tremseh killings, BBC, 14-07-2012
http://www.bbc.co.uk/news/world-middle-east-18840535

Terrified villagers tell of the horror of Tremseh, The Independent, 14-07-2012
http://www.independent.co.uk/news/world/middle-east/terrified-villagers-tell-of-the-horror-of-tremseh-7942271.html
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"นิธิ" ชี้นิยาม "ประโยชน์สาธารณะ" เปลี่ยน สื่อต้องเสนอทางเลือก

Posted: 14 Jul 2012 05:45 AM PDT

 

 

(14 ก.ค.55) นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนา "สื่อสาธารณะ" ในงานเปิดตัวกลุ่ม มีเดีย อินไซด์ เอาท์ ว่า ในยุคที่ใครก็สร้างสื่อได้ เป็นสื่อสาธารณะได้ การนำเสนอเพื่อประโยชน์สาธารณะต้องทำให้ผู้รับสารรู้ว่ามีทางเลือกอื่นๆ อย่างไรบ้าง เช่น เมื่อพูดเรื่องสถาบันครอบครัว ปัจจุบันสถาบันนี้ก็เป็นหนึ่งในสถาบันต่างๆ ที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ในสหรัฐอเมริกา มีพ่อเลี้ยงเดี่ยว-แม่เลี้ยงเดี่ยว เกิน 50% แล้ว ไม่ได้ค้านหากจะมีการเสนอเรื่องความกตัญญู แต่การนำเสนอเพื่อประโยชน์สาธารณะ ควรต้องทำให้รู้ว่าทางเลือกนอกเหนือจากสถาบันครอบครัวคืออะไรด้วย

ต่อคำถามว่าคนทั่วไปจะรับมือกับสื่อต่างๆ ในปัจจุบันอย่างไร นิธิ ตอบว่า ควรเสริมการศึกษานอกห้องเรียนให้เห็นว่าความจริงมีหลายด้าน อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเชื่อในสติปัญญาของประชาชนว่าเพียงพอแล้ว ดังนั้น ถ้าจะไม่ทำตรงนี้ก็ไม่เสียหายอะไร เพราะมองว่าปัจจุบัน ประชาชนเรียนรู้เองแล้ว

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เส้นทางผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือ: ประเด็นที่ไม่ควรมองข้าม

Posted: 14 Jul 2012 05:23 AM PDT

 
“เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2012 สำนักข่าว AFP รายงานจากกรุงโซลประเทศเกาหลีใต้ว่าทางการเกาหลีเหนือได้ประหารชีวิตประชาชน 4 คนในที่สาธารณะ หลังจากลักลอบออกนอกประเทศ แต่ถูกทางการจีนส่งตัวกลับเกาหลีเหนือ ส่วนอีก 40 คนถูกส่งตัวไปยังค่ายการเมือง”
 
ไม่ว่าข่าวนี้จะมีความชัดเจนมากน้อยหรือไม่ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ในช่วงระยะเวลา 10 ปีมานี้ การหลบหนีออกนอกประเทศของชาวเกาหลีเหนือเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งในกรณีถูกจับและส่งตัวกลับหรือการหลบหนีไปยังประเทศอื่น ในขณะที่ทั่วโลกต่างจับตามองไปยังการก้าวขึ้นสู่อำนาจของผู้นำคนใหม่อย่างนาย คิม จอง อึน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์ในเกาหลีเหนือยังคงมีความตึงเครียดอยู่ แม้ว่าจะอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองก็ตาม
 
เกาหลีเหนือเป็นที่รู้จักในฐานะประเทศเผด็จการ การครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับพลเมือง ทำให้ชาติตะวันตกต่างใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ขณะที่องค์การสหประชาชาติพยายามจะเข้าไปช่วยเหลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิกฤติการขาดแคลนอาหารอย่างหนักในเกาหลีเหนือที่เกิดขึ้นทุกปี แต่ทางการเกาหลีเหนือมักจะเพิกเฉยและกล่าวว่าชาติตะวันตกพยายามจะแทรกแซงกิจการภายในของเกาหลีเหนือ 
 
เกาหลีเหนือใช้ระบบเชิดชูครอบครัว (ของผู้นำ) หรือลัทธิจูเช่ (Juche) ตั้งแต่นาย คิม อิล ซุง ผู้นำตลอดกาล นายคิม จอง อิล ผู้ลูก และผู้นำคนปัจจุบัน นายคิม จอง อึน ลัทธินี้เน้นการพึ่งตนเองเพื่อให้เกาหลีเหนือเป็นอิสระ ตลอดจนหลอมรวมคนในชาติให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งคนเกาหลีเหนือทุกคนยึดลัทธิจูเช่เป็นอุดมการณ์ของชาติ ในขณะที่รัฐบาลทุ่มงบประมาณให้กับกองทัพและอาวุธนิวเคลียร์เป็นลำดับแรก ทำให้การแจกจ่ายอาหารแก่ประชาชนไม่เพียงพอ ส่งผลให้คนเกาหลีเหนือ 6-10 ล้านคนขาดแคลนอาหาร ซึ่งสถานการณ์ขาดแคลนอาหารยังเป็นผลมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 
 
การเผชิญกับความหิวโหยอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนเกาหลีเหนือตัดสินใจอพยพออกนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหลบหนีเข้ามายังประเทศจีน ซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับเกาหลีเหนือ ผ่านทางแม่น้ำยาลู (Yalu) ในช่วงฤดูหนาวที่แม่น้ำกลายเป็นน้ำแข็งเพราะง่ายต่อการเดินเท้า ในขณะที่ทางการจีนมีนโยบายส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับเกาหลีเหนือ และในช่วง 2-3 ปีผ่านมานี้ทางการจีนเริ่มเข้มงวดในการตรวจตราผู้ลี้ภัยซึ่งอาศัยเป็นแรงงานอยู่ในจีน ผู้ลี้ภัยอีกส่วนยังเดินทางผ่านมองโกเลียไปยังรัสเซียในฐานะแรงงานเช่นกัน 
 
แรงงานเกาหลีเหนือในจีนหากรอดพ้นจากการจับกุมสำเร็จ จะใช้เวลาสักระยะเพื่อทำงานเพื่อนำมาใช้เป็นค่าจ้างนายหน้าพาหลบหนีในประเทศลาว และไทย โดยจะใช้เส้นทางจากจีนเข้าสู่พม่าและข้ามฝั่งมายังลาว เดินเท้าผ่านหุบเขาในลาวและขึ้นเรือจากแม่น้ำโขงฝั่งลาวมายังไทย โดยเฉพาะพื้นที่ อ. เชียงของ อ.เชียงแสน อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ซึ่งเป็นเป้าหมายของผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือเพื่อให้ทางการไทยส่งตัวไปยังเกาหลีใต้ต่อไป ในขณะที่ทางการเกาหลีใต้เคยเจรจาขอใช้พื้นที่ของ จ.เชียงราย เพื่อเป็นศูนย์ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือ แต่ทางการไทยยังปฏิเสธแม้ว่าจำนวนผู้ลี้ภัยจะเพิ่มมากขึ้นทุกปี
 
อย่างไรก็ตาม หากจะมองในประเด็นความสัมพันธ์ทางการทูตของบรรดาประเทศที่เป็นเส้นทางผู้ลี้ภัยแล้วพบว่า การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งตัวไปยังประเทศเกาหลีใต้ อาจทำให้เกิดความตึงเครียดทางการทูตกับเกาหลีเหนือ ตัวอย่างเช่น ทางการจีนมีนโยบายที่ชัดเจนในการส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับเกาหลีเหนือเพื่อไม่ให้กระทบกับความสัมพันธ์ ในฐานะมหามิตรและการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา (ซึ่งเป็นพันธมิตรกับเกาหลีเหนือ) ยังมีความลักหลั่นอยู่ อาจเป็นผลมาจากการรุกคืบของทุนเกาหลีใต้ในการสัมปทานโครงการต่างๆ แต่ในกรณีของไทยซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าสำคัญของเกาหลีเหนือ และแม้ว่าไทยจะเป็นประเทศเป้าหมายหลักของผู้ลี้ภัย รัฐบาลเกาหลีเหนือยังเห็นว่าไทยเป็นประเทศที่มีความยืดหยุ่นทางการทูตสูง สามารถเจรจากันได้ [1]
 
….....
 
[1] นิธิ เนื่องจำนงค์, “พฤติกรรมของเกาหลีเหนือด้านการต่างประเทศ: ความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับไทย,” วารสารสังคมศาสตร์ 41,1(2553): 143-153.
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไทยพีบีเอสชวนร่วม 'ตรวจสอบ' ผู้สมัครกรรมการนโยบาย ถึง 20 ก.ค. 55

Posted: 14 Jul 2012 05:15 AM PDT

ไทยพีบีเอสเชิญชวนประชาชนร่วมตรวจสอบคุณสมบัติ ผู้สมัคร กรรมการนโยบาย ไทยพีบีเอส เพื่อสรรหาผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ มีคุณสมบัติเหมาะสมในการทำหน้าที่บริหาร สื่อสาธารณะของคนไทยทุกคน

14 ก.ค. 55 - เว็บไซต์ไทยพีบีเอสเชิญชวนประชาชนร่วมตรวจสอบคุณสมบัติ ผู้สมัคร กรรมการนโยบาย ไทยพีบีเอส เพื่อสรรหาผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ มีคุณสมบัติเหมาะสมในการทำหน้าที่บริหาร สื่อสาธารณะของคนไทยทุกคน

โดยเมื่อเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2555 ไทยพีบีเอส ประกาศรับสมัครและการเสนอชื่อบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการนโยบาย (ส.ส.ท.) ที่ว่างลงจำนวน 5 ตำแหน่ง  คือ  ด้านการบริหารจัดการองค์กร จำนวน 2 ตำแหน่ง  และ  ด้านการส่งเสริมประชาธิปไตย การพัฒนาชุนชนหรือท้องถิ่น การเรียนรู้และการศึกษา การคุ้มครองและพัฒนาเด็ก เยาวชนหรือครอบครัว หรือการส่งเสริมสิทธิของผู้ด้อยโอกาสทางสังคม จำนวน 3 ตำแหน่ง บัดนี้ กรรมการสรรหา กรรมการนโยบาย ได้พิจารณาผู้สมัครทั้ง 2 ด้านเรียบร้อยแล้ว โดยมีรายชื่อดังต่อไปนี้

 

1.  ด้านการบริหารจัดการองค์กร 

      ●   รายชื่อผู้สมัคร

 

2.  ด้านการส่งเสริมประชาธิปไตย การพัฒนาชุนชนหรือท้องถิ่น การเรียนรู้และการศึกษาฯ

      ●   รายชื่อผู้สมัคร

 

ทั้งนี้ ไทยพีบีเอส ขอเชิญชวนประชาชน  ร่วมตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร กรรมการนโยบายไทยพีบีเอส  เพื่อสรรหาผู้ที่มีความรู้  ความสามารถ  มีคุณสมบัติ

เหมาะสมในการทำหน้าที่บริหารสื่อสาธารณะของคนไทยทุกคน

 

โดยสามารถส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาที่

ประธานกรรมการสรรหากรรมการนโยบาย ไทยพีบีเอส

เลขที่ 145 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม. 10210  (ภายในวันที่ 13 - 20 กรกฎาคม 2555)

 

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่  :  02-790-2000

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เร็ด ยูเอสเอ: จดหมายเปิดผนึกฉบับที่สาม ถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งคณะ

Posted: 14 Jul 2012 03:28 AM PDT

 
 
จากการที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขึ้นนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยกรณีมีสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภาสรรหาซึ่งเป็นอดีตคณะรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองเมื่อปี ๒๕๔๙ รวม ๔๐ คนยื่นคำร้องให้พิจารณาว่าการประชุมแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑ ของรัฐสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่เป็นการล้มล้างการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น 
 
ทำให้พวกเราชนชาวไทยที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา ในนามของกลุ่ม “เร็ด ยูเอสเอ” จำเป็นต้องประกาศจดหมายเปิดผนึกอีกฉบับนี้เป็นการด่วน เพื่อยับยั้งการก้าวล้ำอำนาจอธิปไตยของปวงชนนโดยคณะ ตลก. รธน. ประดุจดังมาตรการรักษาความสงบจากเบาไปหาหนัก อันตรงต่อกรรมวิธีที่ควร และตรงข้ามกับวิธีการที่รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยกระทำผ่านการดำเนินงานโดยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) นั่นคืออย่างสันติวิธี และมิใช่จากหนักไปถึงตาย
 
การนี้เราขอประกาศ และชักนำให้ประชาชนไทยทั้งมวลจงร่วมกันเรียกร้องให้มีการเพิกถอน และยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้โดยมิรอช้า เพื่อที่จะได้มีการกำหนดบทบาท และวิธีการเลือกสรรคณะ ตลก. อย่างสมบูรณ์ไว้เป็นพี่เลี้ยง และสร้างความกระจ่างในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญโดยแท้จริง ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มิใช่แอบแฝงอยู่กับบทเฉพาะกาลนานหลายปี แล้วยังประพฤติผิดครรลองนิติธรรมด้วยการวินิจฉัยคดีความด้วยอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัว มากกว่าปรับใช้ และอ้างอิงหลักเกณฑ์ในเนื้อนาของกฏหมาย
 
ดังที่คณะตุลาการ ๗ ต่อ ๑ วินิจฉัยว่า สามารถรับคำร้องคดีความตามกฏหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ ได้โดยตรงมิต้องผ่านการพิจารณาตรวจสอบสำนวนโดยอัยการสูงสุดเสียก่อน โดยอ้างเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญซึ่งไม่ปรากฏในตัวบทกฏหมายใดๆ เว้นแต่ในจินตนาการของ ตลก. ชุดนี้เอง
 
อีกทั้งการอ้างมาตรา ๖๙ แห่งรัฐธรรมนูญในเรื่องสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ว่าการสั่งการของศาลรัฐธรรมนูญทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงแห่งความผิดยังไม่บังเกิด นั้นหากแต่ “เป็นการป้องกันไว้ล่วงหน้า” ก็มิได้มีการเสนอเหตุผลแห่งข้อกฏหมายพอให้คำอ้างอิงของศาลมีน้ำหนักมากกว่าถ้อยคำพร่ำบ่นกับตนเอง ซ้ำร้ายเป็นการกำหนดเจตนารมณ์ให้แก่รัฐธรรมนูญโดยทับถม และถากถางความเห็นของผู้ร่างบางคน อันมิใช่วิสัยที่ตุลาการผู้มีคุณวุฒิพึงกระทำ
 
ส่วนข้อพินิจของ ตลก. ที่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๙๑ เหมาะที่จะให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ออกเสียงเป็นประชามติเสียก่อน ก็เป็นการวินิจฉัยอย่างยกเมฆเอาเอง ในเมื่อถ้าหากยังไม่มีเนื้อนาแห่งตัวบทในข้อกฏหมายที่ต้องการแก้ให้เป็นที่ปรากฏแล้ว การทำประชามติเพียงว่าต้องการแก้หรือไม่แก้ย่อมก่อให้เกิดการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ 
 
เว้นแต่จะได้สนองความต้องการของกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากบางบทบางตอนในรัฐธรรมนูญ อาทิ อดีตคณะรัฐประหาร คมช. และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เช่นศาลรัฐธรรมนูญ สามารถเตะถ่วงกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครรลองที่ถูกต้องซึ่งได้มาถึงการลงมติโดยรัฐสภาในวาระสามก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่แล้ว เจตนาร้ายแอบแฝงเช่นนี้แสดงออกทางอาการรุ่มร้อนให้สัมภาษณ์ของนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการคนหนึ่งซึ่งขอถอนตัวจากองค์คณะเพราะถูกพาดพิงว่าแสดงความเห็นไม่อยู่กับร่องรอย
 
เราจะไม่กล่าวถึงคำวินิจฉัยข้อสามที่ ตลก. ยอมรับในประเด็นข้อเท็จจริงเรื่องการล้มล้างการปกครอง..อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขว่า “ยังไม่มีข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้” และ “การกล่าวอ้างของผู้ร้องจึงเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าซึ่งยังไม่มีผลแต่ประการใด” เนื่องเพราะ ตลก. มิควรที่จะรับคำร้องในข้อนี้แล้วแต่ต้น ในประเทศที่ระบบตุลาการเป็นไปตามหลักนิติธรรมสากล คำร้องเช่นนี้จะไม่ผ่านแล้วแม้แต่ในชั้นเสมียนศาลผู้รับเอกสารคำร้อง ไม่ควรที่คณะตุลาการจักต้องมาอ่านคำวินิจฉัย “ยกคำร้อง” อีก
 
ด้วยประการเหล่านี้ เราขอยกระดับกระชับสัจจธรรมแห่งระบอบประชาธิปไตย ให้มีการยกเลิกเพิกถอนคณะ ตลก. รธน. ทั้งองค์กรตั้งแต่บัดนี้ และขอประกาศว่าเราในฐานะประชาชนส่วนหนึ่งผู้ครองอธิปไตยแห่งชาติ ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของ ตลก. รธน. ชุดนี้ว่ามีความเหมาะสมแก่ศักดิ์ศรีขององค์กร 
 
และขอสนับสนุนท่าทีของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในการผลักดันให้สภาทำการลงมติวาระสามของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม. ๒๙๑ ต่อไป พร้อมทั้งรณรงค์ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยบรรจุบทว่าด้วยตุลาการผู้ทำหน้าที่เกื้อหนุนรัฐธรรมนูญที่มาจาก และรับผิดชอบต่อประชาชนโดยตรง
 
 
เพื่อความก้าวหน้าของประชาชาติไทย
เร็ด ยูเอสเอ
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 8 - 14 ก.ค. 2555

Posted: 14 Jul 2012 03:16 AM PDT

พนง.มหา'ลัยร้อง ศธ.ขอขึ้นเงินเดือน 


เมื่อวันที่ 6 ก.ค. นายสุมิตร สุวรรณ ประธานเครือข่ายพนักงานมหาวิทยาลัยในสถาบันอุดมศึกษา กล่าวระหว่างการเสวนาวิชาการเรื่อง"การระดมความคิดเพื่อหาแนวปฏิบัติที่เป็น ธรรมต่อพนักงานมหาวิทยาลัย" ตอนหนึ่งระบุว่า เครือข่ายฯ ได้ระดมความคิดเห็นพนักงานมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิก เพื่อเสนอแนวทางปฏิบัติหรือเกณฑ์กลาง ในการบริหารงานบุคคลสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย 5 ด้าน

นายสุมิตรกล่าวว่า 1.ด้าน สวัสดิการและผลประโยชน์เกื้อ กูล ควรได้รับไม่น้อยกว่าข้าราช การ โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาลของบิดา มารดา คู่สมรสและบุตร, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กอง ทุนสวัสดิภาพบุคลากร 2.โครงสร้าง ค่าตอบแทน/อัตราเงินเดือนแรกบรรจุ โดย 2 ปีแรก ให้จ้างพนักงานสายวิชาการไม่ต่ำกว่า 1.5 เท่าของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ, สายสนับสนุนวิชาการไม่ต่ำกว่า 1.3 เท่าของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ ระยะ 2 ปีถัดมา สายวิชาการได้ในอัตราไม่ตำกว่า 1.6 เท่าของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ, สายสนับสนุนได้ไม่ต่ำกว่า 1.4 เท่าของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ 3.การได้รับเงินประจำตำแหน่ง 4.การออกจากงาน เมื่อพนักงานผ่านการทดลองงาน 1 ปี ให้สัญญาต่อไปจนถึง 60 ปี และให้ยกเลิกสัญญาจ้างได้ถ้าไม่ผ่านการประเมิน และ 5.การมีส่วนร่วมในการบริหาร

"ที่ผ่านมาทางเครือข่ายฯ เคยทำเรื่องเสนอปัญหาต่อนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ และได้รับการตอบรับโดยมอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเข้ามาช่วยประสานแก้ไข โดยทางเครือข่ายฯ คาดหวังจะมีแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดีขึ้น แต่หากยังไม่มีอะไรคืบหน้าก็จะยื่นหนังสือถึง รมว.ศึกษาธิการอีกครั้ง รวมทั้งจะยื่นหนังสือถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีให้พิจารณาด้วย" ประธานเครือข่ายพนักงาน มหาวิทยาลัยในสถาบันอุดมศึกษา กล่าว

นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขา ธิการคณะกรรมการการอุดม ศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า ข้อเสนอของทางเครือข่ายฯ มีความเป็นไปได้ในหลายเรื่องที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะช่วยผลักดันให้ได้ โดยเฉพาะแนวปฏิบัติหรือเกณฑ์กลางของพนักงานมหาวิทยาลัยมีความเป็นไปได้สูง เพราะเชื่อว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่างๆ ต้องการที่จะทำมาตรฐานกลางขึ้นมาอยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องของอัตราเงินเดือนของพนักงานราชการ การประเมินผลการปฏิบัติ การปรับเงินเดือน อย่างไรก็ตาม หากมีมาตรฐานกลางขึ้นมา ความเหลื่อมล้ำของพนักงานมหาวิทยาลัยในแต่ละแห่งจะลดน้อยลง.

(ไทยโพสต์, 7-7-2555)

 

โวย พอช.ขวางแรงงานซื้อบ้าน-ที่ดิน

นายณรงค์  เพ็ชรประเสริฐ  ที่ปรึกษาสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงแรงงานสังคมเพื่อน จำกัด เปิดเผยว่าสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ระดับจังหวัดปราจีนบุรีในเขตอุตสาหกรรมกบินบุรี 304 กีดกันการปล่อยสินเชื่อสนับสนุนการรวมกลุ่มออมทรัพย์ของแรงงานที่นำเสนอ โครงการขอสินเชื่อจัดตั้งหมู่บ้านแรงงานด้วยการออมทรัพย์จัดซื้อที่ดินเป็น ของตัวเอง และขอสินเชื่อสนับสนุนที่จะได้มาซึ่งการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของตน เอง

ขณะที่แนวคิดใหม่ที่เป็นโครงการนำร่องของกลุ่มแรงงาน 71 ครอบครัว นำเสนอต่อ พอช. คือ ทางกลุ่มสามารถออมเงินได้ครอบครัวละ 3 หมื่นบาทโดยทางกลุ่มสามารถจัดซื้อที่ดินได้แล้ว15 ไร่  จัดซื้อได้ราคาไร่ละ 1.4 แสนบาท หรือ ตารางวาละ 350 บาท โดยสมาชิกสหกรณ์ในกลุ่มคนตกลงร่วมกันแบ่งการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินคนละ 50 ตารางวาเท่าๆกันโดยเสนอขอสินเชื่อ พอช. จำนวน 19 ล้านบาท หรือเฉลี่ยครัวเรือนละ 3 แสนบาท เพื่อมาก่อสร้างบ้านระยะเวลาผ่อนชำระ 10 ปี

นายณรงค์ กล่าวว่าทาง พอช. ระดับจังหวัดพยายามบังคับให้กลุ่มแรงงานไปเช่าที่ดินของราชพัสดุเป็นเวลา 30 ปี ซึ่งแนวคิดดังกล่าวไม่มีหลักประกันได้ว่าเมื่อเช่าที่ดินรัฐสร้างบ้านไปแล้ว ครบสัญญา 30 ปี ลูกหลานของกลุ่มแรงงานจะยังสามารถอยู่อาศัยในบ้านหลังดังกล่าวหรือโดนเวนคืน หรือไม่

ทั้งนี้ทาง พอช.ได้บังคับให้ทางกลุ่มแรงงานจัดสรรที่อยู่อาศัยแบบบ้านมั่นคง คือ หนึ่งครัวเรือนไม่ควรมีบ้านใหญ่กว่า 25 ตารางวา ไม่ควรมีกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง แต่ควรเช่าที่ดินรัฐ 30 ปีสร้างบ้าน เหมือนกับคนจนเมืองในพื้นที่ชุมชนแออัด

นายณรงค์ กล่าวว่าปัญหาดังกล่าวอยากเรียกร้องให้ผู้บริหาร หรือ บอร์ด พอช. ได้มีการปรับเปลี่ยนแนวคิดในการจัดสรรที่อยู่อาศัยให้กับชาวบ้านใหม่ทั้งใน ระดับโครงสร้าง องค์กร พอช.  เพราะการจัดสรรที่อยู่อาศัยรูปแบบใหม่ต้องตอบสนองวิถีชีวิต อาชีพ การรวมกลุ่มเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการต่อรอง และการเข้าถึงกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของตนเองด้วย

อยากให้ทาง พอช.เข้าใจวิถีชีวิตของแรงงานที่ส่วนใหญ่ต้องเช่าบ้านอยู่ใกล้ๆโรงงาน เงินเดือนค่าโอทีที่ได้มาหมดไปกับค่าเช่าบ้านจนแทบไม่เหลือเงิน แต่หากมีการรวมกลุ่มเป็นชุมชนเป็นหมู่บ้านแรงงานจะได้ช่วยเสริมสร้างความ เข้มแข็งและอาชีพเสริมขึ้นได้ภายในชุมชนนายณรงค์ กล่าว

(โพสต์ทูเดย์, 8-7-2555)

จังหวัดแพร่ จัดสำรวจผลกระทบต่อการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาล ไตรมาส 3

นางสาวรุ่งฤดี พัฒนชัยวิทย์ สถิติจังหวัดแพร่ เปิดเผยว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ ให้ความร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน ดำเนินการสำรวจ ผลกระทบต่อการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 เพื่อให้มีข้อมูลสำหรับใช้วิเคราะห์ และประเมินผลตามนโยบายของรัฐบาล เรื่อง การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานในแต่ละจังหวัด เพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำหนดมาตรการ และการวางแผนกำหนดนโยบายบริหารด้านค่าจ้าง และค่าตอบแทนแรงงาน และใช้เป็นข้อมูลสำหรับการกำกับ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของลูกจ้าง ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม ตลอดจนใช้ค่าจ้าง และค่าตอบแทนแรงงานเป็นข้อมูลประกอบการช่วยเหลือแก่เจ้าของสถานประกอบการ และแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ

สำหรับจังหวัดแพร่ เจ้าหน้าที่ของสำนักงานสถิติจังหวัดแพร่ จะทำการสัมภาษณ์ประชากรอายุ 15 ปี ขึ้นไป ซึ่งในสัปดาห์แห่งการสำรวจเป็นผู้มีงานทำที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนส่วนบุคคล และครัวเรือนกลุ่มบุคคลประเภทคนงานในจังหวัดแพร่ ที่มีสถานภาพการทำงานเป็นนายจ้าง และลุกจ้างเอกชนเท่านั้น ระหว่างวันที่ 1-12 ของเดือนกรกฎาคม สิงหาคม และกันยายน พ.ศ. 2555

สำนักงานสถิติจังหวัดแพร่ จึงขอให้ครัวเรือนที่ตกเป็นตัวอย่างในการสำรวจ โปรดตอบสัมภาษณ์ตามความเป็นจริง หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานสถิติจังหวัดแพร่ โทรศัพท์ 054-511-234 หรือขอตรวจดูบัตรประจำตัวของเจ้าหน้าที่

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 8-7-2555)

ประกันสังคม ให้ผู้ประกันตนมั่นใจระบบบริการ รักษา มะเร็ง

8 ก.ค. 55 - นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า สำนักประกันสังคม ให้ความคุมครองการรักษาพยาบาลแก่ผู้ประกันตนครอบคลุมทุกโรค รวมถึงโรคมะเร็ง โดยผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยเป็นโรคมะเร็งจะได้รับการรักษาพยาบาลตามมาตรฐาน การรักษาของราชวิทยาลัยภายใต้การกำกับดูแลของแพทยสภา หากสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิไม่มีศักยภาพในการรักษาพยาบาล ทางสำนักงานฯ มีกลไกในการกำกับตรวจสอบคุณภาพการรักษาของสถานพยาบาลอย่างเข็มงวด โดยคณะที่ปรึกษาทางการแพทย์ และการพยาบาล และมีบทลงโทษสำหรับสถานพยาบาลที่ให้การรักษาผู้ประกันตนไม่ได้ตามมาตรฐาน หรือปฏิเสธการรักษาผู้ประกันตน ตั้งแต่ตักเตือน  ลดศักยภาพ จนถึงขั้นยกเลิกสัญญา

หากกรณีสถานพยาบาลให้การรักษาผู้ประกันตนไม่เป็นไปตามมาตรฐานทางการ แพทย์ สำนักงานฯ จะส่งเรื่องให้แพทยสภาดำเนินการ นอกจากนี้สำนักงานฯ ยังมีระบบการชดเชยค่ารักษาพยาบาล เฉพาะสำหรับโรคมะเร็ง โดยให้สถานพยาบาลขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนที่ป่วย เป็นโรคมะเร็ง เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และเพื่อเป็นประโยชน์ ในการติดตามข้อมูลการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตน ดังนั้นขอให้ผู้ประกันตนมั่นใจ ในระบบบริการทางการแพทย์ของประกันสังคมได้ว่าไม่ด้อยไปกว่าระบบการรักษา พยาบาลของกองทุนประกันสุขภาพ หากมีปัญหาข้อสงสัยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคม กรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง และทุกจังหวัด โทร 1506 ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง

(เดลินิวส์, 8-7-2555)

ส.ป.ก.ถกแก้ขาดแรงงานเกษตร

กระทรวงเกษตรฯ - นายวีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า ส.ป.ก.ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดงานชุมนุมเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ ระหว่างวันที่ 12-14 ก.ค.นี้ ที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจและภัยน้ำท่วมในปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมมาก พบปัญหาว่า ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรมีจำนวนลดน้อยลง เหลือเพียงร้อยละ 40 และในอนาคตอาจเหลือเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น

เกษตรกรส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงวัย มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 45-50 ปี ทำให้เกิดปัญหาขาดแรงงานเกษตรกรวัยหนุ่มสาว ดังนั้นต้องเสริมสร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่สนใจก้าวสู่อาชีพเกษตรกรมากขึ้น

(ข่าวสด, 9-7-2555)

ครม.เตรียมพิจารณาปรับขึ้นค่าครองชีพรัฐวิสาหกิจให้ถึง 15,000 บาท

8 ก.ค. 55 - รายงานข่าวแจ้งว่า  กระทรวงแรงงานเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 10 กรกฎาคม 2555  พิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ (รสก.) ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครส.) เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2555 เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ที่ต้องการให้ประชาชนมีรายได้เพียงพอในการดำรงชีพตามภาวะเศรษฐกิจค่าครองชีพ แพง  และเพื่อให้เท่าเทียมกับราชการได้ปรับเพิ่มเบี้ยค่าครองชีพไปก่อนหน้านั้น แล้ว

ทั้งนี้ การจ่ายเบี้ยค่าครองชีพให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิก จ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของราชการโดยอนุโลม โดยให้รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งสามารถดำเนินการเมื่อคณะกรรมการพิจารณาเห็นชอบ ด้วยการใช้เงินงบประมาณของรัฐวิสาหกิจ คาดว่าจะทำให้รัฐวิสาหกิจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นรวมประมาณ 746.88 ล้านบาทต่อปี แต่ยังไม่นับรวมกรณีผู้มีเงินเดือนไม่ถึง 9,000 บาทต่อเดือน เมื่อรัฐวิสาหกิจต้องนำส่งรายได้เข้าคลังในอัตราร้อยละ 40 จะทำให้เงินนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจลดลง 298.75 ล้านบาท

ปัจจุบัน พนักงานรัฐวิสาหกิจทั้งหมดมีจำนวน 271,762 คน แบ่งเป็นลูกจ้างบรรจุวุฒิปริญญาตรีและมีค่าจ้างต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน จำนวน 31,224 คน หากปรับเพิ่มค่าครองชีพจะทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเดือนละ 62,24 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่พนักงานและลูกจ้างวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรีและเงินเดือนไม่ถึง 9,000 บาท มีจำนวน 21,571 คน จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 21.84 ล้านบาทต่อเดือน

(สำนักข่าวไทย, 9-7-2555)

สศค.จับตาค่าแรง 300 เพิ่มยอดคนว่างงาน

9 ก.ค. 55 - นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ขณะนี้ สศค. มีความเป็นห่วงเกี่ยวกับนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำวันละ 300 บาท จะส่งผลกระทบทำให้อัตราการว่างงานขยายตัวขึ้น จึงได้สั่งการให้ทีมคณะทำงานของ สศค.เฝ้าจับตาเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม จากการติดตามดัชนีการว่างงานในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่ายังมีข้อมูลที่ไม่ชัดเจน โดยในส่วนของภาคก่อสร้าง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องใช้แรงงานขั้นต่ำวันละ 300 บาทค่อนข้างมาก ในเดือน เม.ย.55 มีอัตราการว่างเพิ่มขึ้นแล้วประมาณ 10,000 ราย แต่ก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่ามาจากสาเหตุของการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ หรือไม่ ทาง สศค.จึงต้องขอเวลาในการเฝ้าติดตามสถานการณ์เพื่อความชัดเจน อีกประมาณ 1-2 เดือน จึงจะสามารถระบุได้ว่าการปรับขึ้นค่าจ้างงานแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท กระทบต่ออัตราการว่างงานหรือไม่

ขณะนี้ข้อมูลที่เรามีอยู่ยังไม่ชัดเจนพอที่จะบอกได้ว่า การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงานวันละ 300 บาท ส่งผลกระทบทำให้เกิดอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นหรือไม่ โดยจากตัวเลขว่างงานเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่าภาคการก่อสร้างที่ต้องใช้แรงงานขั้นต่ำเยอะมีการว่างงานเพิ่มขึ้นแล้ว ประมาณหมื่นราย แต่ก็ยังบอกไม่ได้ว่าสาเหตุการเลิกจ้างเพราะการปรับขึ้นค่าจ้างหรือไม่ เรากำลังเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดอยู่ ขอเวลาอีกประมาณ 1-2 เดือนน่าจะมีความชัดเจน

นายสมชัย กล่าวต่อว่า ในวันที่ 12 ก.ค.นี้ กระทรวงการคลังจะเป็นเจ้าภาพในการจัดสัมมนาร่วมระหว่างธนาคารเพื่อการพัฒนา แห่งเอเชีย (เอดีบี) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ภายใต้หัวข้อ ทางเดินสู่เสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจโลก โดยจะมีผู้นำองค์กรทั้งสอง คือ นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ประธานเอดีบี และนางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ เข้าร่วมการเสวนา ทั้งนี้ การสัมมนาดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกที่ผู้นำองค์กรทั้งสองจะได้มีโอกาสแลก เปลี่ยนความคิดเห็นในการกำหนดบทบาทของเอเชียต่อเศรษฐกิจโลก

นอกจากนั้น การสัมมนาดังกล่าวยังมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจโลกเข้ามาร่วมอีกมากกว่า 20 คน จากธนาคารกลางของประเทศต่างๆ รวมถึงกระทรวงการคลัง และองค์กรระหว่างประเทศที่สำคัญ โดยจะมีการเสวนาใน 3 หัวข้อ ประกอบด้วย 1.เสถียรภาพและการเติบโตของเศรษฐกิจที่ทั่วถึง 2.การบริหารความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ และ 3.แนวทางการป้องกันและความร่วมมือในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ.

(ไทยรัฐ, 9-7-2555)

พนักงานบริษัทไทยเรย่อน อ่างทอง ยังคงปักหลักประท้วง ขอขึ้นค่าแรง

อ่างทอง 10 ก.ค.- พนักงานบริษัทไทยเรย่อนกว่า 200 คน ชุมนุมประท้วงภายในบริษัท เพื่อขอขึ้นค่าแรง ตั้งแต่ช่วงเย็นที่ผ่านมา โดยมีการส่งตัวแทนไปเจรจากับผู้บริหารบริษัท โดยมีเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน รวมทั้งตำรวจร่วมเป็นคนกลาง แต่การเจรจาไม่เป็นผล พนักงานจึงปิดอาคารทำการ ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ออกมาภายนอก ทำให้ทั้งหมดติดอยู่ภายบนชั้น 2

พนักงานคนหนึ่งเปิดเผยว่า เหตุประท้วงเกิดจากพนักงานไม่พอใจที่บริษัทปรับขึ้นเงินเดือนให้พนักงานที่ เข้ามาใหม่ตามค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน แต่พนักงานที่เข้ามาทำก่อนไม่ได้รับการปรับเพิ่ม

(สำนักข่าวไทย, 10-7-2555)

รัฐวิสาหกิจเฮ ป.ตรีขึ้นหมื่นห้า เงินเดือนสูงกว่า 5 หมื่นแห้วต่อ ครม.ไม่ใจอ่อน

เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 55 ที่ผ่านมา น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอการจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของ ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ รวม 52,815 คน จากจำนวนลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจที่มีอยู่ทั้งสิ้น 271,762 คน เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ต้องการให้ความช่วยเหลือกลุ่ม ผู้มีรายได้น้อยเพื่อให้มีรายได้เพียงพอในการดำรงชีพตามภาวะเศรษฐกิจที่ปรับ สูงขึ้น

โดยลูกจ้างที่ได้รับเงินเพิ่มในลักษณะค่า ครองชีพชั่วคราวในครั้งนี้ประกอบด้วย 1. ลูกจ้างที่บรรจุวุฒิปริญญาตรี และมีค่าจ้างต่ำกว่าเดือนละ 15,000 บาท จะได้รับค่าจ้างเป็นเดือนละ 15,000 บาท มีจำนวน 31,224 คน ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเดือนละ 62.23 ล้านบาท 2. ลูกจ้างที่บรรจุในตำแหน่งที่ใช้วุฒิการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรีและมีค่า จ้างต่ำกว่าเดือนละ 9,000 บาท จะได้รับค่าจ้างเป็นเดือนละ 9,000 บาท มีจำนวน 21,591 คน มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเดือนละ 21.84 ล้านบาท รวมแล้วจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเดือนละ 84.07 ล้านบาท

ทั้งนี้  มติ ครม.ให้ใช้เงินงบประมาณของแต่ละรัฐวิสาหกิจเอง และกำหนดว่าการจ่ายเงินเพิ่มค่าครองชีพครั้งนี้ ถือเป็นการจ่ายชั่วคราว ไม่ถือเป็นค่าจ้าง รวมทั้งไม่เป็นฐานในการคำนวณสิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่ลูกจ้าง และหาก ครม.มีมติยกเลิกการจ่ายเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวของทางราชการ ก็ให้รัฐวิสาหกิจยกเลิกการจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวแก่ลูกจ้างด้วย

สำหรับกรณีที่มีพนักงานรัฐวิสาหกิจเรียกร้องให้ปรับโครงสร้างเงินในกรณี พนักงานมีเงินเดือนสูงกว่า 50,000 บาทต่อเดือนด้วยนั้น นายหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 4 (ฝ่ายเศรษฐกิจ) ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เป็นประธาน ที่ว่า เห็นควรยืนยันตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2554 ที่ให้ปรับค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ 65 แห่ง ในอัตราไม่เกิน 5% เท่ากันทุกตำแหน่ง ซึ่งมีผลไปแล้วตั้งแต่ 1 เม.ย.2554 เป็นต้นมา ภายใต้เงื่อนไขว่า เมื่อมีการปรับอัตราค่าจ้างใหม่แล้ว จะต้องมีค่าจ้างเดิมรวมกับที่ปรับใหม่ไม่เกิน 50,000 บาท ขณะเดียวกัน ควรนำผลการศึกษาการปรับโครงสร้างเงินเดือนของพนักงานและลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ ทั้งระบบมาประกอบการพิจารณาด้วย

โดยการเข้า ครม.ในครั้งนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากมีลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ 300 คน ยื่นหนังสือต่อกระทรวงแรงงานให้เสนอ ครม.ทบทวนมติ ครม.ใหม่ แต่ภายหลังได้ทบทวนแล้ว คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 4 เห็นว่าการปรับค่าจ้างให้กับลูกจ้างรัฐวิสาหกิจมีเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือ ลูกจ้างที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 50,000 บาท ขณะที่ผู้มีรายได้เกินกว่าเดือนละ 50,000 บาทถือว่าเป็นผู้มีรายได้สูง สามารถดำรงชีพได้โดยภาครัฐไม่ต้องช่วยเหลือ นอกจากนี้ การขึ้นเงินเดือนให้ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจทั้งหมด จะสร้างภาระต่องบประมาณของภาครัฐในระดับสูง

โดยจากข้อมูลพื้นฐานของรัฐวิสาหกิจลูกจ้างทั้งหมด 271,726 คน แบ่งเป็นลูกจ้างที่มีเงินเดือนไม่เกิน 50,000 บาท จำนวน 203,284 คน และลูกจ้างที่มีเงินเดือนเกิน 50,000 บาท จำนวน 68,442 คน คิดเป็น 74.81% และ 25.19% ของลูกจ้างทั้งหมดตามลำดับ

คณะกรรมการกลั่นกรองฯ มีความเห็นด้วยว่า การพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนลูกจ้างรัฐวิสาหกิจตามตำแหน่งอาจไม่เหมาะสม เนื่องจากมีความแตกต่างของโครงสร้างและฐานเงินเดือนของแต่ละองค์กร ดังนั้น การใช้ระดับเงินเดือนเป็นเกณฑ์การปรับอัตราค่าจ้างจึงมีความเหมาะสมแล้ว อีกทั้งกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณาหาแนวทางการปรับ ปรุงโครงสร้างเงินเดือนพนักงานและลูกจ้างรัฐวิสาหกิจในภาพรวมให้เหมาะสม และอยู่ระหว่างรอผลการศึกษาของคณะทำงานพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างเงินเดือน พนักงานและลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ

ทั้งนี้  มีข้อมูลพื้นฐานที่ได้สำรวจจากรัฐวิสาหกิจ 57 แห่ง จาก 67 แห่ง ระบุว่า การขึ้นเงินเดือนให้กับลูกจ้างรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น 5% โดยกลุ่มที่มีเงินเดือนไม่เกิน 50,000 บาท จะทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ 2555-2557 จำนวน 3,265 ล้านบาท 3,897 ล้านบาท และ 3,854 ล้านบาท ตามลำดับ และถ้าปรับขึ้นให้กับผู้มีเงินเดือนตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในปีงบ 2555-2557 จำนวน 3,684 ล้านบาท, 4,487 ล้านบาท และ 3,926 ล้านบาท ตามลำดับ.

(ไทยรัฐ, 11-7-2555)

รมว.แรงงานยังย้ำส่งแรงงานตั้งท้อง 3 เดือนกลับประเทศไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงข่าวองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น)ขอให้กระทรวงแรงงาน ชี้แจงแนวคิดการส่งกลับแรงงานต่างด้าวที่ตั้งครรภ์ 3 เดือน กลับประเทศต้นทาง ว่า ไม่มีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น เป็นเพียงการสอบถามแนวความคิด ซึ่งได้ยืนยันไปว่า เรื่องนี้เป็นเพียงแนวคิดที่ต้องการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย ไม่ให้เพิ่มจำนวนจนส่งผลกระทบต่อความมั่นคง เชื่อว่าหากทุกฝ่ายร่วมกันออกมาตรการที่รัดกุมและชัดเจนจะสามารถแก้ปัญหาการ ค้ามนุษย์ในประเทศไทยได้ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่การละเมิดสิทธิมนุษยชนตามที่องค์กรอิสระ(เอ็นจีโอ)กล่าว อ้าง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า ประเด็นที่มีการทำหนังสือชี้แจงไปยังสหประชาชาติ เป็นช่วงที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จะจัดอันดับประเทศที่ถูกจับตามองว่ามีการค้ามนุษย์ ใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับในรูปแบบที่เลวร้าย จนส่งผลให้ไทยไม่ตกไปอยู่ในอันดับที่ 3 อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้กรมการสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.)และกรมการจัดหางาน (กกจ.) เร่งศึกษาเกณฑ์การจัดอันดับ ดังกล่าว เพื่อปฏิบัติได้ถูกต้อง และไม่ถูกกล่าวหาว่ามีการค้ามนุษย์ในประเทศไทย

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 13-7-2555)

เล็งนำเข้าแรงงานแอฟริกาแทนแรงงานพม่า ก่อสร้าง-ประมง-สิ่งทอ

 
ธุรกิจไทยเล็งนำเข้าแรงงานผิวดำจากทวีป แอฟริกา แทนพม่า กัมพูชา ลาว ที่เริ่มทยอยกลับบ้าน อุตสาหกรรมประมงอ่วมหนัก เพราะใช้แรงงานต่างด้าวมาก กว่าครึ่ง ขณะที่อุตฯก่อสร้างโอดเดือดร้อนไม่แพ้กัน หลาย โรงงานแก้ปัญหาด้วยการย้าย ฐานการผลิต บิ๊กฯอาหารทะเลแนะแอฟริกาทำเลทองทั้งด้าน แรงงานและการลงทุนถือเป็น เสือตัวใหม่ต่อจากอาเซียน

แหล่งข่าวในกลุ่มธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ เปิดเผย สยามธุรกิจว่า อุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่กำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤติแรง งาน เนื่องจากใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า ลาว กัมพูชา เป็นหลัก แต่ปัจจุบันแรงงานเหล่านี้เริ่มทะยอยกลับบ้านมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะแรงงานชาวพม่า ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

แหล่งข่าวคนเดิมกล่าวต่อไปว่า หลายบริษัทแก้ปัญหาด้วยการนำเข้าแรงงานจากประเทศอื่นที่อยู่ไกลออกไป เช่น แรงงานจากประเทศอินโดนีเซีย แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับปริมาณงานที่มีมากกว่าคน จึงมองหาทำเลอื่นนอกภูมิภาค โดยมองไปที่กลุ่มประเทศแอฟริกา หรือแรงงานผิวดำ

"ก่อนหน้านี้เราเคยเดินทางไปสำรวจแรงงานในทวีปแอฟริกา พบว่ามีความสามารถไม่แพ้คนเอเชีย ที่สำคัญค่าแรงบ้านเขายังถูกกว่าบ้านเรามาก เพราะฉะนั้น เขาจึงอยากมาทำงานในเมืองไทย" แหล่งข่าว กล่าว

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทยังไม่ได้เริ่มนำเข้าแรงงานดังกล่าว เนื่องจากภายหลังไปสำรวจพบว่า นอกจากแรงงงานแอฟริกาจะมีจำนวนมากแล้ว ธุรกิจก่อสร้างในภูมิภาคดังกล่าวก็กำลังเติบโต มีโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยเกิดขึ้นมากมาย บริษัทฯจึงคิดว่าแทนที่จะนำเข้าแค่แรงงาน ก็น่าจะเข้าไปลงทุนที่นั่นด้วย

"ตอนนี้เรากำลังศึกษากฎระเบียบการลงทุนว่าต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง แต่การนำเข้าแรงงานผิวดำยังคงไม่ล้มเลิก เพราะถึงอย่างไร ธุรกิจหลักของเราก็ยังอยู่ในเมืองไทย ถ้าแรงงานขาดแคลน เราก็คงต้องนำเข้าแรงงานจากแอฟริกาแทนแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างแน่ นอน"

ด้านนายธรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการ บมจ.ไทยยูเนี่ยน โฟร์เซ่น โปรดักส์ เปิดเผย ็สยามธุรกิจิ ว่าปัญหาการขาดแคลนแรงงานมีมานานพอสมควรแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารทะเล โรงงานหลายแห่งเลือกใช้วิธีย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อใช้แรงงานในประเทศเหล่านั้น โดยส่วนตัวมองว่าการขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวัน น่าจะช่วยให้แรงงานต่างชาติสนใจเข้ามาทำงานบ้านเรามากขึ้น

"การที่บางบริษัทนำเข้าแรงงานผิวดำจากแอฟริกาถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะคนเหล่านี้มีทักษะความสามารถ ความอดทน และขยันใช้ได้ สำหรับไทยยูเนี่ยนฯเราไม่ได้ใช้แรงงงานเหล่านี้ในเมืองไทย แต่เราก็มีโรงงานในทวีปแอฟริกา และใช้แรงงานเหล่านั้นอยู่แล้ว" นายธีรพงศ์ กล่าว

นายธีรพงศ์ยังกล่าวอีกว่า ทวีปแอฟริกาเป็นทวีปใหม่ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อจากทวีปเอเชีย และอาเซียน เนื่องจากทรัพยากรและกำลังซื้อมีมาก เศรษฐกิจอยู่ในช่วงการขยายตัว การเข้าไปลงทุนในทวีปดังกล่าวถือว่าน่าสนใจมาก

สำหรับผลการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว ข้อมูล ณ วันที่ 19 ก.ค.2554 มีนายจ้างยื่นขอจดทะเบียน 164,474 รายจำนวนแรงงานต่างด้าวทั้งสิ้น 984,535 คนแยกเป็นแรงงานพม่า 643,095 คน กัมพูชา 238,586 คนและลาว 102,854 คน ปัจจุบันคาดว่าแรงงานต่างด้าวที่มาจดทะเบียนทั้งหมดกว่า 1 ล้านคนไม่นับรวมแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในไทยโดยผิดกฎหมายและลักลอบเข้ามาตาม แนวชายแดนไทย ซึ่งหน่วยงานราชการพยายามจับกุมส่งกลับประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยแรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมประมง ก่อสร้าง และสิ่งทอ

(สยามธุรกิจ, 13-7-2555)

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดตัว ‘Media Inside Out’ นักข่าวอาวุโสรวมตัวตั้งหน่วยจับตา-วิพากษ์ 'สื่อ'

Posted: 14 Jul 2012 03:08 AM PDT

 

 

14 ก.ค.54  กลุ่มมีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ (Media Inside Out)  จัดงานเปิดตัวกลุ่ม และมีการเสวนาที่น่าสนใจหลายรายการ กลุ่มมีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ ก่อตั้งโดยผู้สื่อข่าวอาวุโสอาทิ นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ นวลน้อย ธรรมเสถียร สุพัตรา ภูมิประภาส รวมถึง อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ อดีตอาจารย์นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ  โดยมุ่งหมายให้เป็นการ เปิดพื้นที่สำหรับการศึกษา การสื่อสารเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น รวมทั้งตั้งคำถาม หาคำตอบกับบทบาทของสื่อ และองค์กรสื่อ

นวลน้อย ธรรมเสถียร อดีตผู้สื่อข่าวบีบีซีภาคภาษาไทย กล่าวว่า การรวมตัวเกิดจากคนในวงการสื่อไม่กี่คน คุยกันถึงปัญหาในวงการสื่อ ในช่วงการเมืองเหลือง-แดง หลายคนรู้สึกว่าคนที่อยากทำข่าวอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งแทบไม่มีที่ยืน จึงคิดว่าหากมีการรวมตัวของคนที่มีความเข้าใจการทำงานสื่อ มองจากคนปฏิบัติงาน และเปิดพื้นที่ให้คนนอก น่าจะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้สังคมได้

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์  บรรณาธิการอาวุโสเครือเนชั่น กล่าวว่า หลังเห็นการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เกิดการที่สื่อต้องเปลี่ยนตามเทคโนโลยี เกิดสื่อแท้ สื่อเทียม สื่อเลือกข้าง อยากจะดูว่าสื่อไทยทันต่อการเปลี่ยนแปลงนี้หรือไม่ อย่างไร โดยจะไม่ตัดสินผิด-ถูก ดี-เลว แต่จะประเมินในกรอบวิชาการดูทิศทางสื่อว่านำอะไรมาสู่สังคม

สุพัตรา ภูมิประภาส กล่าวว่า งานหลักๆ ของกลุ่มจะแบ่งเป็นสามส่วน คือ 1.เว็บไซต์  www.mediainsideout.net ซึ่งจะเปิดพื้นที่ให้มีการ “ส่องสื่อ” เรียกว่ามีงานที่เกี่ยวข้องกับสื่อทั้งหมด ทั้งบทวิเคราะห์ บทแปล มุมวิชาการ สีสันของวงการสื่อ เป็นต้น 2.งานวิจัย มีทีมวิจัยซึ่งจะเลือกประเด็นร้อนของสื่อมาทำการศึกษาเชิงคุณภาพ โดยจะเปิดตัวงานวิจัยชิ้นแรกในเดือนมกราคม 2556 3.Media Cafe เป็นการจัดวงพูดคุยของคนทำงานสื่อเพื่อให้เกิดการถกเถียงและแลกเปลี่ยนในประเด็นต่างๆ ร่วมกัน ซึ่งมีการจัดไปแล้วครั้งหนึ่ง เรื่อง นาซ๋า เป๋ ใครเป๋? โดยนำนักข่าวสายสิ่งแวดล้อม สายการศึกษา และสายการเมือง ความมั่นคง มาคุยกัน ซึ่งถกเถียงกันเป็นประโยชน์มาก

เมื่อถามว่าแนวทางการทำงานของกลุ่มนี้จะได้รับแรงเสียดทานจากแวดวงสื่อมวลชน เป็นอุปสรรคในการทำงานหรือไม่ สุพัตรา กล่าวว่า สื่อมวลชนคุ้นเคยกับการวิจารณ์คนอื่น แต่ไม่คุ้นกับการโดนวิจารณ์ และสื่อมักจะอ้างเสมอว่าคนวิจารณ์ไม่มีทางรู้ว่าสื่อทำงานอย่างไร มีปัจจัยอย่างไรบ้าง ข้ออ้างนี้คงไม่สามารถอ้างได้อีกต่อไปเพราะพวกเราก็เป็นคนทำสื่อ และหวังว่าสื่อจะเรียนรู้ที่จะยอมรับมุมมองการวิพากษ์วิจารณ์ที่มีเหตุผล  

นอกจากนี้ยังมีการเสวนา หัวข้อ “สนทนาประสาคนทำสื่อ” โดยมีวิทยากรจากอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ร่วมด้วย

วิษณุ ตรี ฮังโกโร Institute for the Studies of Press Information จากอินโดนีเซีย เล่าว่า หลังซูฮาร์โตพ้นอำนาจ ประชาชนอินโดนีเซียเริ่มมีเสรีภาพในการสื่อสาร มีสื่อใหม่ๆ เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับยุคก่อน ทำให้ภูมิทัศน์ของสื่อสารมวลชนเปลี่ยนไปมาก สื่อมีสถานะแข็งแกร่งมากกว่าทหาร ทำอะไรก็ได้ไม่เกรงกลัวใคร ไม่มีสื่อไหนเลยที่มีผู้ตรวจการภายในที่จะตรวจสอบจริยธรรม ความประพฤติและบทบาทของตัวเอง สื่อกับนักข่าวอาวุโสในยุคนั้นจึงพยายามทำการตรวจสอบสื่อต่างๆ ให้มากขึ้น รวมถึงแนะนำให้คนรุ่นใหม่ทำงานตรวจสอบคุณภาพสื่อมากขึ้นด้วย

วิษณุ ตรี ฮังโกโร เล่าว่า มีการตั้งเครือข่ายทำงานร่วมกันเพื่อตรวจสอบการทำงานของสื่อ โดยมีการวิเคราะห์วาทกรรม ใช้วิธีวิจัยเกี่ยวกับสื่อ โดยไม่ห้ามให้สมาชิกทำหรือไม่ทำอะไร สมาชิกในเครือข่ายจึงสามารถพัฒนากระบวนการตรวจสอบสื่อด้วยตัวเองได้ นอกจากนี้ ในเครือข่าย ยังมีองค์กรที่ทำเรื่องเอดส์ สิ่งแวดล้อม ที่จะตรวจสอบสื่อในการรายงานข่าวประเด็นเหล่านี้ ซึ่งเครือข่ายก็จะให้ข้อมูลว่าจะเก็บข้อมูล-วิเคราะห์ตรวจสอบอย่างไร รวมถึงมีการให้ข้อมูลเพื่อให้ประชาชนเท่าทันสื่อด้วย

กายาทรี เวนกิทสวารัน
Southeast Asian Press Alliance กล่าวว่า การตรวจสอบสื่อจำเป็นเพราะสื่อมาเลเซียส่วนใหญ่ถ้าไม่ใช่ของพรรคการเมือง ก็เป็นของเอกชนที่ใกล้ชิดนักการเมือง สื่อต้องจดทะเบียนทุกปี หากรายงานไม่เป็นที่พอใจก็จะไม่ได้รับการต่อทะเบียน เมืองไทยอาจมีบางเรื่องที่พูดไม่ได้ แต่ในมาเลเซีย ขึ้นกับช่วงเวลา ซึ่งจะกำหนดโดยรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้ มาเลเซียยังมีการใช้หลายภาษาร่วมกัน ทั้งภาษามาลายู อังกฤษ จีนกลาง ทมิฬ มีภาษาของชนพื้นเมืองในเกาะบอเนียว ซึ่งความหลากหลายนี้เป็นความท้าทายด้วย เพราะหากต้องการตรวจสอบสื่อในมาเลเซียให้ได้จริง จะต้องเข้าถึงทั้งแปดภาษา โดยในการเลือกตั้งใหญ่ที่จะถึงนี้ ยังตรวจได้แค่สี่ภาษาเท่านั้น

โดยในยุคที่คนจำนวนมากใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก จะพบว่า เนื้อหาแตกต่างจากที่รายงานในสื่อหลัก หน้ามือเป็นหลังมือ เพราะในอินเทอร์เน็ต ไม่มี gate keeper ที่จะคอยตัดสินว่าอะไรเผยแพร่ได้ หรือไม่ได้ โดยในการชุมนุมเบอเซะ ซึ่งรณรงค์เรื่องการเลือกตั้งสะอาด พบว่า ทวิตเตอร์มีบทบาทมากขึ้นชัดเจน อำนาจของสื่อหลักในการกำหนดการรับรู้ของสาธารณะลดลง มีความสนใจถกหน้าที่ที่ทางของสื่อมากขึ้น
 

ถัดมาเป็นวงเสวนาเรื่อง รู้ทันสื่อออนไลน์ แค่หมายเฝ้าบ้านยังไม่พอ ? วันรัก สุวรรณวัฒนา ผู้จัด Divas Café และอาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รายการดีวาส์ คาเฟ่ มีวาระชัดเจนที่จะผลักดันเรื่องประชาธิปไตย วันนี้เราพูดเรื่องจริยธรรมของสื่อ รู้สึกดีใจมากที่เลิกยึดติดเรื่องความเป็นกลางของสื่อแล้ว ทุกวันนี้สื่อต่างประเทศทุกเล่มชัดเจนว่ายืนอยู่ตรงไหน คนอ่านรู้ว่าอ่านเล่มนี้แล้วได้ Ideology ไหน แต่ข้อสังเกตคือ มันมีการโยกจาก “ความเป็นกลาง” มาที่ “จรรยาบรรณ” เพื่อให้ตรงกับความมีบรรทัดฐาน ขณะที่ทั่วโลกเขา decentralize กันแล้ว

วันรักกล่าวว่า โจทย์หลักอยู่ตรง “หมาเฝ้าบ้าน” คำนี้เคยมีความหมายในยุคหนึ่งของการเกิดของสื่อในยุคเผด็จการที่มีศัตรูชัดเจน แต่ทุกวันนี้สื่อไทยก็ยังกินบุญเก่า คำถามคือตำแหน่งแห่งที่ของสื่อมวลชนในระบอบการเมืองร่วมสมัย ที่มีวาระการปกครองแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย นับถือสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียมกัน ตำแหน่งแห่งที่ของสื่อจะอยู่ไหน คุณไม่ได้ต่อสู้กับสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อีกต่อไป แต่วันนี้เราพยายามเปลี่ยนเป็นเผด็จการทุนแทน ซึ่งก็ทำให้เราตาบอดในอีกหลายอย่าง มากกว่าทุนทักษิณ คำถามที่ต้องตอบคือเราจะอยู่ตรงไหน สื่อมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยแค่ไหน ในหลักสูตรสื่อสารมวลชน มีการถกเถียงเรื่องประชาธิปไตยคืออะไรไหม คุณให้ความสำคัญกับหลักการแค่ไหน หรือคุณให้ความสำคัญกับวิธีการ  

“นี่คือจุดหลักที่ก้าวมาทำงานสื่อ เพราะมันขาดคนที่เทคไซด์ และพูดเรื่องประชาธิปไตยอย่างชัดเจน” วันรักกล่าวและว่า นอกจากนี้สื่อมวลชนไทยยังขาดงานสืบสวนสอบสวนอย่างมาก ที่มีก็ลึกด้านเดียว ไม่มีการถ่วงดุลข้อเท็จจริง และประเด็นทางการเมืองที่เกิดขึ้นก็มักถูกทำให้เป็น conspiracy theory (ทฤษฎีสมคบคิด) ทั้งหมด

นิรันดร์ เยาวภาว์ เว็บมาสเตอร์เอเอสทีวีผู้จัดการ ตอบคำถามพิธีการเกี่ยวกับมุมมองบทบาทของสื่อเลือกข้างเป็นอย่างไร และจะนำไปสู่การรายงานที่ไม่เที่ยงธรรมไหม โดยเขากล่าวว่า เราต้องยึดความเที่ยงธรรม ยึดข้อเท็จจริง เพียงแต่อย่างข่าวเวลานักการเมืองพูดอะไรออกมา เราจะรายงานว่าเขาพูดอะไรเฉยๆ หรือหยิบประเด็นที่เป็นนัยยะออกมาพูด ถ้ารายงานเฉยๆ เราก็เป็นเพียงแค่เครื่องมือของนักการเมือง ถ้าจะเป็นตะเกียงก็ต้องบอกว่านัยยะมันคืออะไร คำถามที่ว่ามันผูกขาดความถูกต้องหรือเปล่า เราไม่ได้ผูกขาด เรารายงานไปตามข้อมูลข้อเท็จจริงที่ได้มา ไม่ได้ยั่วยุว่าฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเป็นคนไม่ดี ต้องทำลาย สำหรับบทบาทหมาเฝ้าบ้านต้องทำอยู่ และหลักจริยธรรมก็ต้องยึดมั่น เพียงแต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นคือ ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่พัฒนา มีช่องทางที่จะทำให้การกระจายข่าวมีหลายช่องทาง  เรามีการอบรมผู้สื่อข่าวและพยายามตามให้ทันในการใช้เครื่องมือใหม่ๆ ในการทำงานข่าว

จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ปัจจุบันสื่อหลักที่ไม่มีอำนาจกำหนดวาระทางสังคม แล้วเพราะคนทั่วไปสามารถตีโต้และตอบกลับได้ นี่เป็นภูมิทัศน์ใหม่ที่น่าสนใจ ไม่เคยเชื่อว่าสื่อใหม่หรือเก่าใครจะชนะ มันอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกันต้องทำงานร่วมกัน ปฏิสัมพันธ์กัน ส่วนการที่ Media Inside Out จะลุกขึ้นมาส่งเสียง อาจจะยากหน่อย เพราะสังคมไทยไม่ค่อยเปิดให้ถกเถียงกันอย่างเท่าเทียม การปฏิรูปสื่ออาจต้องปฏิรูปองค์กรสื่อให้มีความเป็นประชาธิปไตย เปิดโอกาสให้ประชาชนถกเถียงแลกเปลี่ยน

นอกจากนี้จีรนุช ยังกล่าวว่า เมื่อประชาชนเป็นผู้สื่อข่าวแล้ว สื่อก็อย่าเอาเปรียบประชาชน เขารายงานเบื้องต้น เท่าที่เห็น เท่าที่สัมผัสให้แล้ว สื่อมวลชนก็ยังต้องทำหน้าที่ในการศึกษาอย่างเข้มข้น สร้างองค์ความรู้ ต้องทำงานหนักขึ้นและลึกขึ้น

อิสรียะ ไพรีพ่ายฤทธิ์  จากเว็บไซต์ Siam Intelligence Unit  (SIU)  ระบุว่า การผูกขาดเสียง หรือสื่อหลักเดิมถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง เพราะแค่จุดเล็กๆ จุดเดียวขอแค่สารที่มีค่า ก็เทียบเท่าสื่อหลักพันล้าน ถามว่าหมาเฝ้าบ้านควรมีไหม ควรมี แต่นั่นหมาของผมคนเดียว และทุกคนควรมีหมาได้แล้ว

อิสรียะ กล่าวด้วยว่า เห็นด้วยว่าสื่อควรเลือกข้าง advocacy journalism ก็แพร่หลายในต่างประเทศ โดยมี ideology ของตัวเอง เชื่อว่าผู้บริโภคมีสิทธิเลือก ดังนั้น แนวคิดของสื่อแบบเก่าว่าความจริงมีเพียงหนึ่งใช้ไม่ได้แล้ว ผู้บริโภคจะเลือกเอง สิ่งที่เห็นอยู่ตอนนี้จะเห็นการเปรียบเทียบเนื้อหาของข่าวเดียวกันของสำนักข่าวต่างๆ เรียกว่า ด้วยสถาปัตยกรรมพื้นฐานของโลกออนไลน์จึงมีการตรวจสอบถ่วงดุลกันไปได้ในตัว สื่อแค่ทำหน้าที่ให้ดีที่สุดตามมุมมองของตัวเอง แล้วผู้บริโภคจะเลือกเอง

สมเกียรติ อ่อนวิมล กล่าวว่า ปัจจุบันสื่อออนไลน์ดูเหมือนมีบทบาทมาก แต่เขายังคงใช้มันเป็นพื้นที่ส่วนตัว แม้ไม่ได้ตั้งใจจะตรวจสอบประเด็นทางสังคม แต่ก็กลายเป็นการตรวจสอบไปโดยธรรมชาติ เพราะหลายอย่างที่สื่อหลักไม่ทำ และเขาทำก็กลายเป็นประเด็นทางสังคมไป เช่น การแปลหนังสือ conversation with Taksin หรือการแปลเรื่องราวต่างๆ มาโพสต์ในเฟซบุ๊ค ส่วนเรื่องจริยธรรมของสื่อ เป็นเรื่องคลาสสิคที่ไม่เปลี่ยนตามยุคสมัย แต่อาจมีบางอย่างเพิ่มเติมขึ้นมาตามปัญญาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นายสถาพร มณีรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำพูน เสียชีวิตแล้ว

Posted: 14 Jul 2012 02:18 AM PDT

นายสถาพร มณีรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำพูน เสียชีวิตแล้วด้วยโรคประจำตัว ที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ 

(ที่มาภาพ: http://inlamphun.blogspot.com)

14 ก.ค. 55 - สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์เขต 3 เชียงใหม่รายงานว่านายสถาพร มณีรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำพูน เสียชีวิตแล้วด้วยโรคประจำตัว หลังจากรักษาตัวในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ล่าสุดศพอยู่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โดยญาติจะเคลื่อนย้ายศพไปบำเพ็ญกุศลที่บ้าน อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูนในวันที่ 15 กรกฎาคม 2555 นี้

 
นายสถาพร มณีรัตน์ สังกัดพรรคเพื่อไทย เกิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2505 สำเร็จการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมรสกับนางลาวรรณ มีบุตร 1 คนได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว 4 สมัย สังกัดพรรคไทยรักไทยและย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชาชน ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2554 ได้ลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทยอีกครั้งและได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำพูนเขต 2 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

(เก็บตก) เสวนา “วิกฤตและความขัดแย้งทางการเมืองเชิงสถาบัน” เนื่องใน 80 ปี ประชาธิปไตย: รัฐศาสตร์กับ การเมืองไทย

Posted: 14 Jul 2012 02:09 AM PDT

อนุสรณ์ มองถ้ายึดแต่หลักเสียงข้างมากบ่อนทำลายกลไกตรวจสอบจะนำไปสู่อำนาจนิยมสมัยใหม่ภายใต้เสื้อคลุมประชาธิปไตย สุรชาติ เห็นว่าปัญหาใหญ่คือการจัดวางความสัมพันธ์รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับกองทัพ จาตุรนต์ ย้ำบทบาทของตุลาการภิวัฒน์ตรวจสอบไม่ได้และไม่ยึดโยงกับประชาชน รับรองการรัฐประหาร จุรินทร์ มองว่าเผด็จการรัฐสภาสร้างเงื่อนไขให้เกิดการยึดอำนาจ

 

9.20น. เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.55 ที่ ห้องประ ชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ ชั้น 4 อาคาร ประชาธิปก-รำไพพรรณี คณะ รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ได้มีการเสวนาหัวข้อ วิกฤตและความขัดแย้งทางการเมืองเชิงสถาบันวิทยากร ศ.ดร.อนุสรณ์ ลิ้มมณี อ.ประจำภาควิชาการปกครอง รศ.ดร. สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยและประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ และดำเนิน รายการโดย รศ. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี โดยกิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม “ 80 ปี ประชาธิปไตย: รัฐศาสตร์กับการเมืองไทย ซึ่งจัดโดยหลักสูตรรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต สาขา วิชาการเมืองและการจัดการปกครอง ร่วมกับ ศูนย์ติดตาม ประชาธิปไตยไทย (Thailand Democracy Watch)

0000

 

“...ถ้ายึดหลักเสียงข้างมากแล้วก็ดันทุรังเอาทุกอย่างตามที่ตนต้องการโดยไม่คำนึงว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อคนอื่น และไม่สนใจที่จะให้ใครตรวจสอบเพราะถือว่าตัวเองอยู่เสียงข้างมากอยู่แล้ว และพร้อมที่จะบ่อนทำลายกลไกตรวจสอบ มันก็อาจนำไปสู่รูปแบบของสิ่งที่เรียกว่าอำนาจนิยมสมัยใหม่ New Authoritarianism ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้เสื้อคลุมประชาธิปไตย..”

ศ.ดร.อนุสรณ์ ลิ้มมณี อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะ รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย

 

วิกฤติและความขัดแย้งทางการเมืองเชิงสถาบันของไทย เป็นเรื่องธรรมดามาก โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งเป็นประชาธิปไตย เพราะปัญหาความขัดแย้งระหว่างสภาหรือว่าฝ่ายตุลาการระหว่างฝ่ายที่ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลกับตัวรัฐบาลเป็นเรื่องที่เกิดทั่วไป จะเห็นได้ตั้งแต่ความขัดแย้งที่เกิดในลาตินอเมริกาหลายประเทศ เช่น เวเนซุเอลา ในกรณีของรัสเซีย ซึ่งประเด็นความขัดแย้งอย่างนี้เป็นเรื่องธรรมดามาก แต่ในแง่ของความรุนแรงเกิดภาวะวิกฤติที่กระทบต่อสังคมมันเป็นเรื่องที่น่ากังวล ดูไปแล้วความขัดแย้งทางการเมืองของไทยในรอบ 80 ปี จริงๆแล้วเราพัฒนาประชาธิปไตยพร้อมกับความขัดแย้งมากขึ้นเรื่อยๆ คือในด้านหนึ่งดูเหมือนว่าเราจะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อยๆ แต่อีกด้านหนึ่งเรามีดีกรีของความขัดแย้งและขอบเขตของความขัดแย้งสูงขึ้นเรื่อยๆ

เราจะพบว่าในยุคแรกๆนี่ความขัดแย้งเป็นเรื่องของคนไม่กี่คนระหว่าผู้นำ 2 ฝ่ายที่ทะเราะกันว่าใครเป็นประชาธิปไตยมากกว่ากัน แล้วหลังจากนั้นก็มีการยกพลพักขึ้นมายึดอำนาจกันบ้าง กบฏกันบ้างก็แล้วแต่ว่าใครแพ้ใครชนะ แต่ปัจจุบันความขัดแย้งลามไปถึงชาวบ้าน ซึ่งแต่ก่อนเขาเคยมีฐานะเป็นผู้ถือหางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าชาวบ้านมีส่วนร่วมโดยตรงและเป็นคู่กรณีและตรงนี้มันนำไปสู่ภาวะวิกฤติทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายเป็นห่วงเป็นใยกันอยู่

 

ความขัดแย้งเชิงสถาบันที่เกิดขึ้นในสังคมไทยว่ามันเป็นความขัดแย้งในแง่หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยสมัยใหม่

ความขัดแย้งในเชิงสถาบัน ซึ่งไม่กี่วันมานี้เราจะเห็นความขัดแย้งของ 2 คู่กรณีก็คือระหว่างสภาผู้แทนราษฎรกับฝ่ายศาลรัฐธรรมนูญ แล้วจะมองในแง่ไหน จริงๆมันมองได้หลายแง่หลายมุม สิ่งที่จะพูดมองเรื่องความขัดแย้งเชิงสถาบันที่เกิดขึ้นในสังคมไทยว่ามันเป็นความขัดแย้งในแง่หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่แสดงออกในรูปความขัดแย้งระหว่างสถาบันที่ทำหน้าที่ต่างกัน มองว่าที่มาของความขัดแย้งในระยะหลังๆนี่โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาหลังการปฏิรูปการเมืองที่เราเห็นในปี 2540 มีรัฐธรรมนูญออกมาแล้วก็มีการปฏิรูปกว้างขวาง เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกลไกด้านสถาบันที่ยึดโยงอยู่กับวิธีการได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองและก็ยึดโยงอยู่กับอีกด้านหนึ่งก็คือเรื่องของการใช้อำนาจรัฐอย่างถูกต้อง ชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย เป็นประเด็นที่มีการขัดแย้งและโยงใยอยู่กับสถาบันต่างๆ แน่นอนความขัดแย้งดังกล่าวมันเกิดจากการที่แต่ละฝ่ายพยายามจะผลักดันให้กลไกเชิงกระบวนการและสถาบันทางการเมืองในรัฐธรรมนูญนี่เป็นไปในด้านที่ตนเองจะได้เปรียบหรือได้ประโยชน์ และเชื่อว่าสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานประชาธิปไตยนั้นคือเป็นความขัดแย้งบนพื้นฐานของหลักการ

 

แต่ละฝ่ายยึดหลักการใดหลักการหนึ่งและก็ทะเลาะกัน ระหว่างหลักการเสียงข้างมากกับการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

แน่นอนวัตถุประสงค์จริงๆที่แต่ละฝ่ายอ้างหลักการคนละด้านกันนี่จะเป็นอย่างไรเราไม่รู้ แต่ทุกฝ่ายเปิดสงครามในนามของประชาธิปไตยทั้งคู่ แล้วก็อ้างหลักการซึ่งมองว่าเป็นหลักการ 2 ด้านและ 2 ด้านนี้เป็นหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย พูดง่ายๆคือขา 2 ขาของประชาธิปไตย แต่ละฝ่ายยึดหลักการใดหลักการหนึ่งและก็ทะเลาะกันว่าของตัวเป็นประชาธิปไตยมากกว่ากัน ทั้งๆที่ 2 ด้านนั่นเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับประชาธิปไตยสมัยใหม่ ตนมองประชาธิปไตยในแง่ที่พยายามตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องการได้มาซึ่งอำนาจว่าผู้ปกครองได้อำนาจมาอย่างไร กับคำถามอันที่ 2 ก็คือผู้ปกครองนั้นให้อำนาจอย่างไร จากคำถาม 2 คำถามนี่ระบอบประชาธิปไตยพยายามตอบคำถามนี้โดยสร้างหลักการขึ้นมา 2 หลักการ หลักการแรกคือหลักการเสียงข้างมาก หลักการนี้เป้าหมายมันก็คือเพื่อกำหนดแนวทางการปกครองให้สะท้อนความต้องการของคนส่วนใหญ่ ซึ่งอันนี้ก็เป็นหลักการทั่วไปที่เรารู้กันและเป็นหลักการเบื้องต้นของประชาธิปไตย สถาบันที่เป็นตัวแทนของหลักการอันนี้ก็คือตัวรัฐสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติ และในบางกรณีก็คือตัวรัฐบาลด้วยก็แล้วแต่ว่าจะกำหนดรูปแบบของการปกครองกันอย่างไร สถาบัน 2 สถาบันนี้เป็นสถาบันที่เชื่อมโยงกับประชาชนโดยตรงในแง่ที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน ในกรณีประเทศที่เป็นระบบประธานาธิบดีตัวผู้บริหารสูงสุดก็มาจากการเลือกตั้ง ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้ระบบอะไร สถาบันเหล่านี้จะเชื่อมโยงกับเสียงข้างมาก

หลักการที่ 2 ซึ่งพัฒนามาในชั้นหลังโดยเฉพาะในศตวรรษที่ 17-18 ก็คือการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ อันนี้คือหลักการสำคัญที่พัฒนามาในระบอบเสรีประชาธิปไตย โดยให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมายหลักๆหรือที่เราเรียกกันว่ารัฐธรรมนูญ เป้าหมายของหลักการอันนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้สถาบันที่มีอำนาจทั้งหลายนี่ โดยเฉพาะสถาบันที่ทำหน้าที่ออกกฎหมายหรือสถาบันที่ใช้อำนาจรัฐค่อนข้างมากโดยเฉพาะรัฐบาล ป้องกันไม่ให้ใช้อำนาจในทางที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและต้องการให้สถาบันเหล่านั้นหรือองค์กรเหล่านั้นของรัฐ(16.10)พร้อมที่จะรับผิดชอบต่อการกระทำของตน นี่คือหลัก Accountability ความรับผิดชอบหรือความพร้อมที่จะรับผิดต่อการกระทำที่ตนเองทำไว้ในนามของอำนาจรัฐ

 

กลไกหลักที่ได้ผลชัดเจนในการตรวจสอบอำนาจรัฐอยู่ที่ฝ่ายตุลาการ

โดยปกตินี่หลัก accountability หรือความรับผิดชอบนี่สถาบันที่ใช้อำนาจรัฐจะต้องมีมันก็อาจจะรับผิดชอบต่อหลายฝ่ายและมีหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่กลไกในการตรวจสอบอำนาจรัฐที่สำคัญที่สุดก็คือกลไกทางกฎหมาย ที่เขาเรียกว่า legal accountability ซึ่งประกอบด้วยกลไกการตรวจสอบในรัฐสภา กลไกการตรวจสอบโดยฝ่ายตุลาการ กลไกการตรวจสอบโดยสถาบันอิสระทั้งหลายที่เราตั้งขึ้นมา กลไกการตรวจสอบเหล่านี้เราจะพบว่าในประเทศไทยหรือประเทศที่ปกครองในระบอบรัฐสภา กลไกของการตรวจสอบกันเองในรัฐสภามักจะทำงานไม่ได้ผล อย่างบ้านเราเรายึดมติพรรคเป็นหลัก ดังนั้นโอกาสที่จะออกเสียงสวนมติพรรคนี่เป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้ยาก เพราะฉะนั้นกลไกในการตรวจสอบผ่านกฎหมายก็มักจะเป็นเรื่องของศาลทั้งหลาย ขึ้นอยู่กับว่าเรามอบอำนาจให้ศาลไหนเป็นผู้ตรวจสอบ นอกจากนั้นแล้วจริงๆก็มีกลไกอื่นๆที่ตรวจสอบอำนาจรัฐได้แต่มักจะไม่ได้ผลนักโดยเฉพาะกรณีที่รัฐนั้นไม่รับฟังหรือไม่ต้องการรับฟัง เช่น กลไกตรวจสอบทางสังคม social accountability ซึ่งก็เป็นเรื่องของกลุ่มคนต่างๆในสังคมออกมาตรวจสอบการทำงานของรัฐ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ เช่น สื่อบ้าง ของกลุ่มผลประโยชน์บ้าง ของ NGO บ้าง อีกทางหนึ่งเป็นการตรวจสอบที่นานๆเกิดทีคือกลไกทางการเมืองที่เรียกว่า political accountability กลไกหลักก็คือเรื่องของการเลือกตั้งให้ชาวบ้านตรวจสอบ ทำงานไม่เป็นที่ถูกใจเขาก็ไม่เลือก กลไกเหล่านี้ก็ไม่แน่ว่าจะเห็นผลชัดเจน ดังนั้นกลไกหลักที่ได้ผลชัดเจนในการตรวจสอบอำนาจรัฐอยู่ที่ฝ่ายตุลาการ อย่างกรณีของเราที่ใช้ระบบศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบการกระทำที่ละเมิดรัฐธรรมนูญหรือไม่

ปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเราความขัดแย้งเชิงสถาบันจริงๆแล้วมันเป็นปัญหาที่ฝ่ายหนึ่งยึดหลักเสียงข้างมากแต่เพียงด้านเดียวโดยไม่สนใจเรื่องหลักการในแง่ของการคุ้มครองสิทธิและการตรวจสอบอำนาจรัฐ ส่วนอีกฝ่ายก็จะใช้หลักการตรวจสอบอำนาจรัฐ รวมทั้งเรื่องของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพต่างๆในการปกป้องตนเองจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจของฝ่ายรัฐบาลเพราะว่าฝ่ายตนเป็นเสียงข้างน้อย และหากหาทางออกไม่ได้หลายครั้งหลายคราวเราจะเห็นว่าในบ้านเราฝ่ายนี้จะเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในรูปของการยึดอำนาจซึ่งก็ไม่ค่อยถูกต้องนักเหมือนกัน

 

ยึดขาใดขาหนึ่งโดยที่ไม่มองขาอีกด้านหนึ่งหรือมีขาเดียว มีโอกาสที่จะสร้างความขัดแย้งขึ้นเรื่อยๆและไม่ได้ประชาธิปไตยอย่างที่ต้องการ

ปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเราที่สะท้อนออกมาในรูปของความขัดแย้งเชิงสถาบัน การยึดหลักการเพียงด้านเดียวนั้นโดยตัวมันเองมันไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลยมันนำไปสู่ความขัดแย้งเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มหลายครั้งเกิดเผด็จการหรือระบอบอำนาจนิยมในรูปใดรูปหนึ่งขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะยึดขาใดขาหนึ่งโดยที่ไม่มองขาอีกด้านหนึ่งหรือมีขาเดียว มีโอกาสที่จะสร้างความขัดแย้งขึ้นเรื่อยๆและไม่ได้ประชาธิปไตยอย่างที่ต้องการ

หากเรามุ่งปกป้องตัวเองให้พ้นจากการใช้อำนาจไม่ถูกต้องของรัฐบาล แล้วเราไม่คำนึงถึงวิธีการที่เราจะมากำจัดรัฐบาลที่ใช้อำนาจไม่ถูกต้องเราก็อาจจะเปิดทางให้เกิดเผด็จการรูปแบบเดิมๆก็คือการยึดอำนาจโดยฝ่ายทหารหรือฝ่ายกองกำลังก็แล้วแต่แล้วสถาปนาสิ่งที่เรียกว่าเผด็จการทหาร เผด็จการโดยพรรคเดียวหรือเผด็จการโดยกลุ่มนายทุนขึ้นมาแทน หลายครั้งมันนำไปสู่สถานการณ์เช่นนั้นถ้าช่องทางในการแก้ปัญหาเชิงสถาบันที่มีอยู่นี่มันทำงานไม่ได้ คือทุกฝ่ายไม่ยอมรับการทำงานของสถาบันเหล่านั้นในการตรวจสอบอำนาจรัฐ แต่อีกด้านหนึ่งถ้ายึดหลักเสียงข้างมากแล้วก็ดันทุรังเอาทุกอย่างตามที่ตนต้องการโดยไม่คำนึงว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อคนอื่น และไม่สนใจที่จะให้ใครตรวจสอบเพราะถือว่าตัวเองอยู่เสียงข้างมากอยู่แล้ว และพร้อมที่จะบ่อนทำลายกลไกตรวจสอบ มันก็อาจนำไปสู่รูปแบบของสิ่งที่เรียกว่าอำนาจนิยมสมัยใหม่ New Authoritarianism ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้เสื้อคลุมประชาธิปไตยในหลายที่ เช่น ระบอบอำนาจนิยมที่มาจากการเลือกตั้ง คือพอเลือกตั้งแล้วมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดถือว่าได้เช็คเปล่ามาแล้วจะเขียนตัวเลขเท่าไหร่ก็ได้ ไม่มีใครมาคัดง้างได้ แล้วใครมาประท้วงก็อ้างเลยว่ามาจากประชาชน ประชาชนให้อำนาจแล้วจะทำอะไรก็ได้ นี่คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ หรือเรียกว่า “ประชาธิปไตยแบบมอบอำนาจ” คือเลือกตั้งได้แล้วอำนาจได้มาโดยสิ้นเชิงเรียกคืนไม่ได้ นี่ก็เป็นปัญหาอีกด้านหนึ่ง เป็นเผด็จการที่แฝงอยู่ในคราบประชาธิปไตย ซึ่งนับวันเราจะเจอกับระบอบอำนาจนอยมแบบนี้มากขึ้นถ้าเราไม่มีหลักการ 2 ด้านของประชาธิปไตย

ปี 2544 เป็นต้นมาเราได้เผชิญทั้ง 2 รูปแบบ รูปแบบที่รัฐบาลใช้อำนาจไม่บันยะบันยังไม่แคร์ใครทั้งสิ้น ซึ่งเราอาจจะเรียกว่า Electoral Democracy (ประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง) หรือ Electoral Authoritarianism(ระบอบอำนาจนิยมจากการเลือกตั้ง) ก็แล้วแต่ เราก็เห็นแล้วการยึดอำนาจเป็นเผด็จการชั่วครั้งชั่วคราว นั่นล่ะคือบทเรียนที่เป็นข้อสรุปจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

 

ถ้าศาลมาจากการเลือกตั้ง สิ่งที่คุณคาดหวังในแง่ของความเป็นกลางความยุติธรรมมันคงไม่มีหรอก เป็นเรื่องธรรมดาคุณต้องเข้าข้างพวกของคุณ

ส่วนที่เราเห็นทะเราะกันในสภาก็ดี หรือว่าวิพากษ์วิจารณ์คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญผ่านทีวีบ้าง ผ่านโน้นผ่านนี่บ้าง นั่นคืออาการแสดงออกถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ที่นี้ถ้าเราสามารถผลักดันกลไกทั้งหลายของสถาบันมันดำเนินงานไปได้หาทางออกไปได้ เชื่อว่าพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยมันก็เกิดขึ้นได้ ให้หลักการใดหลักการหนึ่งเพียงหลักการเดียว โดยเฉพาะหลักการเสียงข้างมากมาครอบทั้งหมดนี่อันตราย เพราะปัญหาที่เราพอยู่ในปัจจุบันคือว่าฝ่ายเสียงข้างมากมักจะบอกว่าอีกฝ่ายหนึ่งที่ทำหน้าที่ตรวจสอบตัวเองนี่ สถาบันทั้งหลายไม่ได้มาจากประชาชน แต่สิ่งที่น่าคิดก็คือถ้ามาประชาชนผมว่าจะยิ่งยุ่งกว่านี้ คุณลองคิดดูถ้าศาลมาจากการเลือกตั้งอะไรจะเกิดขึ้น สิ่งที่คุณคาดหวังในแง่ของความเป็นกลางความยุติธรรมมันคงไม่มีหรอก เป็นเรื่องธรรมดาคุณต้องเข้าข้างพวกของคุณ เพราะฉะนั้นในทุกสังคมที่มีระบอบประชาธิปไตยอยู่มีการตรวจสอบอย่างจริงจังมันก็ต้องมีสถาบันใดสถาบันหนึ่งที่ตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็นคนกลางในการตรวจสอบความถูกต้อง ความไม่ชอบมาพากลในการใช้อำนาจตามหลักกฎหมายตามรัฐธรรมนูญที่มีอยู่

ส่วนจะบอกว่ามันไม่ยึดโยงกับเสียงข้างมากเลย จริงๆมันไม่ใช่ในทุกประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นระบอบที่ใช้ระบบประธานาธิบดีหรือรัฐสภาก็ตาม องค์กรตรวจสอบพวกนี้จะต้องผ่านการสรรหา การเสนอชื่อการแต่งตั้งโดยองค์กรที่มาจากประชาชน โดยเฉพาะสภาทั้งสิ้น อย่างของเราอาจจะมี ส.ส.มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องของการสรรหา วุฒิสภามีส่วนในการออกเสียงตั้งใครหรือไม่ตั้งใครก็ตามที่อยู่ในองค์กรอิสระทั้งหลาย เพราะฉะนั้นจะบอกว่าไม่ยึดโยงก็คงไม่ได้ สถาบันเหล่านี้มีความสำคัญพอๆกันในเรื่องของการค้ำประกันความอยู่รอดของประชาธิปไตย และไม่มีสถาบันใดสถาบันหนึ่งที่จะเข้ามาทำหน้าที่แทนกันได้ เพราะว่าถ้าปล่อยให้สถาบันใดสถาบันหนึ่งครอบงำได้ทั้งหมดนี่ อันนั้นจะเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย เพราะเราต้องการผู้ปกครองมาจากความยินยอมของเราสะท้อนเสียงข้างมากของประชาชน ขณะเดียวกันเราต้องการรัฐบาลหรือผู้ปกครองที่ใช้อำนาจอย่างชอบธรรมถูกต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของใคร

หลายฝ่ายที่จะลดอำนาจสถาบันตรวจสอบหรือไม่มีเสียเลยนั้น ตรงนี้เป็นจุดอันตรายอีกด้านหนึ่ง เราจะได้ประชาธิปไตยเฉพาะในรูปแบบเท่านั้น นี่คือหนทางที่เราจะผลักดันให้เกิดขึ้นคือการมีดุลยภาพระหว่าง 2 ด้าน เพื่อที่เราจะได้ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง มีผู้ปกครองที่มาจากเสียข้างมาก ขณะเดียวก็มีการตรวจสอบว่าผู้ปกครองคนนั้นหรือกลุ่มนั้นหรือพรรคนั้นใช้อำนาจอย่างไรด้วย และปัญหาความขัดแย้งมันคงบรรเทาไป แต่โดยธรรมชาติของการเมืองความขัดแย้งมันเป็นเรื่องธรรมดา เพียงแต่ขอให้ความขัดแย้งอันนั้นไม่ขยายตัวจนเกิดภาวะสงคราม ซึ่งตรงนี้คือจุดอันตรายของสังคมไทย เพราะเราสร้างภาวะสงครามขึ้นมานานโดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งคิดว่ามันเป็นพัฒนาการที่เลวร้ายลง และถ้ามองในแง่แนวคิดทางรัฐศาสตร์มันไม่เป็นผลดีในแง่การเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบประชาธิปไตย เพราะอย่าลืมว่าปีนี้เป็นปีที่ 80 ที่เราต้องการพัฒนาและมีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยๆเพื่อเป็นประชาธิปไตย แต่จนถึงบัดนี้เราก็ไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็งที่มั่นคงได้ เรายังอยู่ในภาวะเปลี่ยนผ่านหัวเลี้ยวหัวต่อของประชาธิปไตยอยู่เรื่อยๆ อย่างช่วง 40 เราก็พยายามปฏิรูปแล้วคิดว่าไม่มีปัญหา แต่สักพักหนึ่งเราก็ย้อนกลับไปสู่สภาวะเดิมอีกก็คือเริ่มต้นกันใหม่ ถ้าเราไม่ต้องการอยู่ในภาวะชะงักงัน หลักการทั้ง 2 หรือสถาบันที่เกี่ยวข้องกับหลักการทั้ง 2 นี่เราจะต้องประคองเอาไว้และให้มันทำหน้าที่ของมันอย่างดีที่สุด ถ้ามันมีความขัดแย้งก็หาทางออกภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ และตรงนั้นมันจะนำไปสู่เป้าหมายที่เราตั้งไว้นานแล้วก็คือการเป็นประชาธิปไตยที่เต็มรูปแบบ

 

0000

 

“...วันนี้อำนาจถูกเอาไปฝากด้วยความเชื่อที่ว่าสถาบันตุลาการนั้นเป็นสถาบันที่ดีที่สุด เที่ยงตรงที่สุด เที่ยงธรรมที่สุดนั้น เกิดเพราะทัศนะคติทางการเมืองชุดหนึ่ง ซึ่งฝังรากในสังคมไทยแต่เรามีคำเรียกหลายอย่าง ทัศนคติชุดนี้เกิดในลาตินอเมริกาหลังปี 1960  แล้วเกิดเป็นแนวโน้มใหญ่ในบรรดาประเทศแถบลาตินอเมริกา ศัพท์ภาษาทางรัฐศาสตร์เรียก Anti Politics หรืออุดมการณ์ต่อต้านการเมือง...”

รศ.ดร. สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เรามักจะคุ้นเคยกับคำพูดที่ว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยครั้งแรกเกิดในปี 2475 แต่คิดว่าถ้าดูประวัติศาสตร์การเมืองไทยจริงๆ ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งแรกของไทยนี่มันเกิดในเหตุการณ์ที่เราเรียกว่า ร.ศ.130 ถ้าเราย้อนกลับไปดูกลุ่มความคิดที่เริ่มก่อตัวในทหารหนุ่มๆนี่เริ่มในปี 2452 และเคลื่อนไหวในปี 2453 และก็ได้รับอิทธิพลอย่างมากของขบวนการที่เกิดขึ้นในสังคมจีนของ ดร.ซุน ยัดเซ็น พอถึงปี 2454 เข้าใจว่าข่าวเริ่มรั่วทางฝ่ายรัฐเริ่มส่งคนเข้ามาเกาะการประชุม ก็ถูกกวาดล้างยกคณะ ดังนั้นความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองที่จะเป็นประชาธิปไตยอย่างที่เราพูดถึงว่าที่จริง มันเริ่มจริงๆตั้งแต่ปี 2452, 2454 แต่ประสบความสำเร็จจริงๆมันใช้เวลา 21 ปีหลังจากเหตุการณ์นั้น

 

ความหวังที่จะสร้างให้ “ระบอบรัฐธรรมนูญ” เกิดขึ้นในการเมืองไทย

เมื่อกลุ่ม 2475 ประสบความสำเร็จ เราเห็นภาษาตัวหนึ่งที่ใช้มากในยุคแรกๆ คือความหวังที่จะสร้างให้ “ระบอบรัฐธรรมนูญ” เกิดขึ้นในการเมืองไทย มีนัยความหมายใหญ่ 2 ประการ

  1. เป็นการปกครองโดยสามัญชน
  2. และสถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

 

การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนโครงสร้างการเมืองไทยได้ทั้งหมด

แต่ถ้าเราสังเกตหลัง 2475 ความขัดแย้งเกิดเป็นระลอก การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนโครงสร้างการเมืองไทยได้ทั้งหมด เราอาจจะนึกไม่ถึงเลยในปี 2476 นั้น เกิดรัฐประหาร 2 ครั้งและเกิดกบฏอีก 1 ครั้ง

ความขัดแย้งหลัง 2475 ถ้าเรามองภาพมหาภาคมันเห็นชัดถึงการต่อสู้ระหว่าง “กลุ่มรัฐธรรมนูญนิยม” ก็คือกลุ่มคณะราษฎร กับ “กลุ่มราชานิยม” ซึ่งยังตกค้างหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง การต่อสู้ชุดนี้จบลงหลังรัฐประหารในวันที่ 8 พ.ย.2490 วันนี้เราพูดถึง 2475 เราอาจลืมนึกไปว่าคณะราษฎรมีจุดจบในปี 2490 ยุค 2475 มีอายุจริงๆเพียง 15 ปี และก็ตอกย้ำด้วยการสิ้นสุดอย่างแท้จริงในปี 2492 คือกบฏวังหลวง

หลังจากนั้นทิศทางการเมืองไทยถูกครอบงำด้วยการสมานฉันท์ระหว่าง “กลุ่มทหารนิยม” กับกลุ่มราชานิยมแล้วก็ครอบทิศทางการเมืองไทยมาโดยตลอด คิดว่าจุดสูงสุดก็คือการขึ้นสู่อำนาจของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ การสร้างระบอบทหารที่เข้มแข็งในการเมืองไทย กลุ่มทหารนิยมอยู่ในการเมืองไทยตั้งแต่ปี 2490 ผมคิดว่าเราเห็นการเปลี่ยนแปลงในปี 2516 กลุ่มนี้เริ่มพ่ายแพ้ในการเมืองไทย แต่พอถึงปี 19 ปี 20 ก็หวนกลับมาใหม่และดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องจนกระทั้งปี 31

 

ปัญหาใหญ่คือการจัดวางความสัมพันธ์รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับกองทัพ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงระยะเวลาการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองไทยมันเป็นการเปลี่ยนผ่านที่อำนาจถอยไปกลับไปกลุ่มทหารนิยมค่อนข้างมาก แล้วหวนกลับมาด้วยเหตุการณ์อีกครั้งหนึ่งก็คือรัฐประหารปี 34 ของ รสช. จนกระทั้งมาพ่ายแพ้ทางการเมืองในปี 35 การที่กลุ่มทหารฟื้นอำนาจของตัวเองได้ในปี 34 แต่พ่ายแพ้ในปี 35 นั้น คิดว่าก่อให้เกิดปัญหาในสภาพที่ อ.อนุสรณ์เรียกว่าในระบอบประชาธิปไตยใหม่นั้น มันมีปัญหาที่ซ่อนตัวอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาใหญ่คือการจัดวางความสัมพันธ์รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับกองทัพ เพราะฉะนั้นจุดจบของปัญหามันเห็นหลังปี 34 กองทัพอาจถูกบังคับให้ถอยออกจากการเมือง แต่พอถึง ก.ย.49 กลุ่มทหารนิยมก็ฟื้นอำนาจใหม่ แต่การฟื้นอำนาจของทหารหลังปี 49 นั้น เป็นการฟื้นอำนาจที่เผชิญการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยชุดที่ใหม่ที่สุด ด้านหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นผลผลิตจากระบอบทหารเอง วันนี้เราต้องยอมรับว่ารัฐบาลที่สร้างชนชั้นกลางไทยนั้นคือรัฐบาลของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เริ่มต้นด้วยการนำเอารายงานของธนาคารโลกมาเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติของไทยฉบับที่ 1 มองอีกมุมหนึ่งคือจุดเริ่มต้นของการก่อรากฐานทุนนิยมสมัยใหม่ของสังคมไทยยุคหลังสนธิสัญญาเบาว์ริงปี 1855

 

ชนบทมีพลวัตมากกว่าที่เราคิด

เพราะฉะนั้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจมันไปสร้างทำให้ชนบทมีการพัฒนาเศรษฐกิจมากขึ้น คิดว่าสิ่งที่เราเห็นในระยะยุคหลังๆคือ ชนบทมีพลวัตมากกว่าที่เราคิด เราเห็นการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ชนบทอาจจะมากกว่าที่เราคิด จากผลพวงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและการขยายการศึกษา การขยายตัวของการศึกษาในภาคชนบทในภาคการศึกษาระดับสูงที่เกิดขึ้นก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง รวมถึงการขยายตัวของระบบทุนนิยมท้องถิ่นที่ผนวกกับการขยายตัวของการเมืองภาคท้องถิ่น วันนี้เราเห็นตัวแบบอีกชุดหนึ่งการขยายตัวของทุนนิยมท้องถิ่นบวกการขยายตัวของการเมืองท้องถิ่นก็คือตัวแบบของ อบต. อบจ. วันนี้ในท้องถิ่นเรามี อบต. อบจ. เป็นส่วนงานหลัก เราเห็นน้ำท่วมปีที่ผ่านมาจะเห็นบทบาทของ อบต. อบจ. ที่เข้มแข็งในหลายจังหวัด

 

นโยบายของไทยรักไทยที่ดึงเอาชนบทนั้นเข้ามาเชื่อมกับพรรคการเมืองได้

ในขณะที่ชนบทเกิดพลวัฒน์นั้น นโยบายของพรรคไทยรักไทย ไม่ OTOP ไม่ว่าจะกรณีกองทุนหมู่บ้านนั้น ยิ่งกระตุ้นพลวัฒน์ชนบทให้มากขึ้น พลวัฒน์ในจุดนี้ผูกโยงชนบทเข้ากับพรรคการเมืองที่เสนอขายนโยบาย เราอาจจะเรียกประชานิยม ก่อนปี 2544 ก่อนขึ้นสู่อำนาจของพรรคไทยรักไทยนี่เราจะเริ่มเห็น การเปลี่ยนแปลงการเมืองชุดใหญ่เป็นผลพวงมาจากนโยบายของไทยรักไทยที่ดึงเอาชนบทนั้นเข้ามาเชื่อมกับพรรคการเมืองได้

 

การมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ขยายตัวมากขึ้นในชนบทนั้น ยังผูกโยงกับชนชั้นล่างในเมือง

เพราะฉะนั้นการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ขยายตัวมากขึ้นในชนบทนั้น ยังผูกโยงกับชนชั้นล่างในเมือง คิดว่าอันนี้เป็นตัวแบบที่เราจะต้องเริ่มพิจารณา ตัวแบบถ้านึกไม่ถึงเมืองไทยคิดว่าตัวแบบในโลกอาหรับแบบเดียวกัน “อาหรับสปริง” นี่ ไม่ใช่เรื่องของการเคลื่อนไหวของชาชั้นกลางในเมืองทั้งหมด แต่ในอาหรับสปริงที่เราเห็นนี่เราเห็นการเคลื่อนไหวของชนชั้นล่างในเมือง แต่บริบทนี้ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นไม่มากนัก

 

รัฐประหาร 49 เหมือนการเปิดกล่องแพนโดร่า (Pandora)

ดังนั้นในสภาพที่เรามีประชาธิปไตยใหม่ กระแสพลวัฒน์ในชนบท บวกกับการก่อตัวของปัญหาใหม่ๆ บวกกับการเคลื่อนไหวของฐานล่างของคนในเมือง คิดว่ามันทำให้เกิดสภาพความท่าท้ายมากกับประชาธิปไตยใหม่ สถาบันการเมืองต้องการระยะเวลาในการพัฒนาตัวเอง ในขณะเดียวกันสิ่งที่เราเห็น ความขัดแย้งบางชุดมันซ่อนอยู่กับสังคมไทย ดังนั้นถ้าคิดเล่นๆรัฐประหารปี 49 เหมือนอะไร คิดว่ารัฐประหาร 49 นี่ถ้าใช้สำนวนฝรั่ง เหมือนการเปิดกล่องแพนโดร่า (Pandora) ที่เอาอะไรไม่รู้ใส่ไว้อยู่ในกล่องแล้วเราปิดมันไว้โดยหวังว่าเราจะปิดกล่องแพนโดร่าได้นานเท่านานที่สุด แต่รัฐประหาร 49 เกิดมันไปเปิดกล่องที่บรรจุความขัดแย้งบางอย่างในสังคมไทย คิดว่าความขัดแย้งชุดหนึ่งสิ่งที่เราเริ่มเห็นคือปัญหาความขัดแย้งระหว่างเมืองกับชนบท ปัญหาความขัดแย้งในบริบททางชนชั้นแต่เกิดในบริบทที่พรรคคอมมิวนิสต์ไม่ได้เป็นจักรกลของการเคลื่อนไหว คิดว่าในช่วงที่ พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) อยู่เคลื่อนไหวนั้นรูปแบบของความขัดแย้งทางชนชั้นอย่างที่เราเห็นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริง

นอกจากนี้ยังซ่อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่ใหญ่คือโครงสร้างและปัญหาความสัมพันธ์ของอำนาจทางการเมืองใน 2 ส่วน คือ

  1. ความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง
  2. ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนำกับชนชั้นล่างกับกระบวนการเลือกตั้ง

โจทย์ 2 โจทย์นั้นไม่ได้ถูกตอบรวมถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่คือความขัดแย้งในระบบทุนนิยม ซึ่งทุนนิยมโลกที่ขับเคลื่อนด้วยโลกาภิวัตน์นั้นมีส่วนต่อต่อการขับเคลื่อนทุนนิยมไทย ผลพวกที่เราเห็นคือการต่อสู่อีกบริบทหนึ่งคือการต่อสู้ระหว่างทุนเก่ากับทุนใหม่

ในสภาพอย่างนี้คิดว่า ชนชั้นนำไทยกับผู้นำทหารอาจจะไม่ค่อยตระหนักว่าความเปลี่ยนแปลงมันเกิดทั้งในเชิงโครงสร้างและเชิงการจัดสรรอำนาจทางการเมือง หรือสิ่งที่พวกเขาไม่เห็นมากที่สุดก็คือมองไม่เห็นถึงการขยายตัวของการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เกิดขึ้นระดับล่างที่มากขึ้น เพราะฉะนั้นรัฐประหารปี 49 ถ้าเราคิดในกรอบของเครื่องมือทางการเมือง รัฐประหารคือความเชื่อว่าการยึดอำนาจจะเป็นเครื่องมือที่ใช้พลังทางอำนาจทางการทหารในการควบคุมระบบทางการเมือง และหวังว่าการควบคุมนั้นจะสร้างผลตอบแทนที่ตัวเองต้องการ แต่รัฐประหารปี 49 ควบคุมระบบการเมืองไม่ได้และไม่สร้างผลิตผลที่เป็นไปตามความปรารถนาของกลุ่มชนชั้นนำและผู้นำทหาร ถ้าเปรียบเทียบกับรัฐประหารทั้งหมดรัฐประหารปี 49 เป็นรัฐประหารที่เผชิญกับความท้าทายมากที่สุด

 

ปัญหาเชิงโครงสร้างและปัญหาการจัดสรรอำนาจทางการเมืองจะเห็นปัญหาประมาณ 10 เรื่อง

ความเปลี่ยนแปลงและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากปี 49 จนถึงปัจจุบัน คิดว่ามันสะท้อนภาพของปัญหาเชิงโครงสร้างและปัญหาการจัดสรรอำนาจทางการเมือง ถ้ามองแล้วโยงไปข้างหน้าผลพวงอย่างนี้เราเราจะเห็นปัญหาประมาณ 10 เรื่อง ซ่อนอยู่กับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น

  1. วันนี้สังคมการเมืองไทยเผชิญกับความไร้เสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง และยาวนาน เพราะถ้าเรามองการเมืองไทยในอดีตมีวิธีการจัดการกับความขัดแย้งที่จะทำให้เสถียรภาพเกิดและมักจะใช้ระยะเวลาสั้นๆ แต่รอบนี้ความขัดแย้งไม่ได้เริ่มที่รัฐประหารปี 49 คิดว่าความขัดแย้งเกิดก่อนปี 49 แต่รัฐประหารปี 49 นั้นเป็นจุดที่สะท้อนให้เห็นว่าความขัดแย้งได้ขึ้นสู่สูงสุด
  2. วันนี้คงต้องตอบและยอมรับว่าสังคมไทยอยู่ในสภาวะของการเผชิญหน้าและการแตกแยก หรือเกิดความเป็นขั้ว หรือ Polarization สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา ถ้าเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ปี 2519 อาจจะสร้างความแตกแยก แต่รอบนี้แตกแยกในความเป็นขั้วหนักกว่า
  3. จะทำอย่างไรกับการเมืองภาคประชาชนที่ยังอ่อนแอ ความอ่อนแอเป็นผลมาจากโครงสร้างรัฐธรรมนูญ เป็นผลจากการใช้อำนาจขององค์กรอิสระบางอย่าง ทำอย่างไรที่จะสร้างการจัดสรรอำนาจที่เกิดขึ้นเพื่อลดทอนความอ่อนแอของการเมืองภาคพลเรือน
  4. พลังอนุรักษ์นิยมขับเคลื่อนผ่านเสาหลัก 5 เสา(ตุลาการภิวัฒน์, ประชาภิวัฒน์, สื่อภิวัฒน์, ปัญญาชนภิวัฒน์และเสนาภิวัฒน์) ในอดีตเรามักจะนึกถึงการรัฐประหารเป็นเครื่องมือหลัก แต่วันนี้เราเห็นเครื่องแบบของเครื่องมือชุดใหม่ๆ วันนี้หนีไม่พ้นถึง “ตุลาการภิวัฒน์” และการใช้อำนาจขององค์กรอิสระ เป็นอะไรที่เราเห็นตั้งแต่กรณียุบพรรค มีคนประดิษฐ์คำอีกคำหนึ่งคู่ขนานกับตุลาการภิวัฒน์คือ “ประชาภิวัฒน์” คือขับเคลื่อนการเมืองโดยคนบนถนน “สื่อภิวัฒน์” สื่อกระแสหลักยืนอยู่ในชุดความคิดชุดเดิม “ปัญญาชนภิวัฒน์” วันนี้เราเห็นตัวแบบของปัญญาชนที่ออกมาทำหน้าที่ปกป้องการรัฐประหารหรือีส่วนผลักดันให้ทิศทางการเมืองไทยไปสู่แนวอนุรักษ์ “เสนาภิวัฒน์” ใช้คำนี้ในความหมายที่ไม่ใช่การรัฐประหารแต่เป็นการใช้อำนาจทางทหารเพื่อการกดดันทางการเมือง ทิศทางของเสาหลักพลังอนุรักษ์นิยม 5 ส่วนนี้จะยังขับเคลื่อนต่อไปเรื่อยๆ
  5. ต้องยอมรับว่าการเมืองไทยนับจากที่เราเห็นมาและก็เป็นในอนาคตนั้นมีลักษณะที่เรียกว่า Mass Politics คือเป็นการเมืองของมวลชน หรือเป็นการเมืองที่อยู่บนท้องถนนมากขึ้น
  6. พลังของการรัฐประหารไม่เหมือนเก่า พลังของการยึดอำนาจของทหารก็ไม่เหมือนเก่าหรือพูดง่ายๆว่า “วันนี้คนไม่กลัวทหาร คนไม่กลัวรถถัง” ภาพของชายจีนที่ยืนหน้ารถถังในกรณีจัตุรัสเทียนอันเหมิน คิดว่าเราเห็นในกรณีของไทยในบางแบบ เช่นกรณีคุณลุง(นวมทอง ไพรวัลย์) ที่ขับรถแท็กซี่ชนรถถัง เป็นต้น วันนี้ต้องเริ่มคิดใหม่กับบทบาทของทหารกับการเมืองไทย
  7. ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเราเห็นการเปิดพื้นที่ทางการเมืองใหม่ เห็นประเด็นใหม่ เห็นวาทกรรมใหม่ เห็นตัวแสดงใหม่ โจทย์ชุดนี้มากับกระแสใหม่อีกชุดหนึ่ง
  8. ในทิศทางการเมืองแบบนี้ ชนชั้นนำและกลุ่มที่มีอำนาจในสังคมไทยนั้นยังเชื่อประชาธิปไตยที่จำเป็นนั้น ต้องเป็นในภาษาที่นักรัฐศาสตร์เรียกว่า “ประชาธิปไตยแบบชี้นำ” หรือเชื่อว่าประชาธิปไตยต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของชนชั้นนำซึ่งกำลังถูกท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ
  9. ไม่มีแนวโน้มของการประนีประนอมและการปรองดองในสังคมไทย ถ้าจะเกิดก็เกิดบน 2 เงื่อนไขคือ หนึ่ง ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะเด็ดขาด เพื่อสร้างระเบียบทางการเมืองชุดใหม่ หรือ สอง ตัวแบบในแอฟริกาใต้คุยกันไปเรื่อยๆจนกระทั้งถึงจุดยุติ ที่ตกลงว่าต่างฝ่ายต่างยอม แต่การเมืองไทยไม่เกิดบริบททั้ง 2 นี้เลย
  10. วันนี้ต้องยอมรับว่าโลกรอบๆรัฐไทยกำลังเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงในการเมืองไทยที่จะหวนคืนสู่ระบอบอำนาจนิยมนั้นวันนี้ถูกท้าทายมากที่สุดเมื่อพม่าตัดสินใจเปิดประเทศ เมื่อวันนี้ อองซาน ซูจี เริ่มสมานฉันท์และปรองดองกับผู้นำทหารที่เนปีดอ วันนี้เราเป็นอองซาน ซูจี เยือนไทย เดินสายที่ยุโรปเรียกร้องให้ชาติหมาอำนาจในยุโรปยกเลิกแซงก์ชันพม่าและกลับเข้าไปลงทุน ในขณะที่นายกเต็ง เส่ง ประการว่าวันนี้ต้องปฏิรูปการเมืองและต้องเปิดเศรษฐกิจพม่า เราอาจตีความว่านายกเต็ง เส่ง และ ซูจี ทะเราะกัน แต่ถ้าดูทิศทางการเมืองแล้วไม่ใช่เช่นนั้น เพราฉะนั้นกระแสในภูมิภาคกำลังเป็นกระแสประชาธิปไตย กระแสที่เป็นเสรีนิยมมากขึ้น

เพราะฉะนั้นทิศทางการเมืองไทยกำลังถูกปิดล้อมด้วยโลกภายนอก ทิศทางใหญ่ๆ 10 ประการยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่คาราคาซังสำหรับสังคมไทย

วันนี้ปัญหาคู่ขัดแย้งเป็นปัญหากระบวนการคิดกระบวนทัศน์ต่อปัญหาประชาธิปไตย ประชาธิปไตยแบบชี้นำ vs ประชาธิปไตยที่ผ่านเสียงของคนส่วนใหญ่

ความขัดแย้งในสังคมไทยในรอบนี้ไม่ว่าจะนับก่อนหรือหลังรัฐประหาร วันนี้ในสายตารอบบ้านประเทศไทยเป็นเหมือนคนป่วยแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุดแบบนี้เราเคยคิดว่าฟิลิปปินส์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วันนี้การเมืองไทยเป็นวิกฤติใหญ่และวิกฤติชุดใหม่ที่ไม่เหมือนในอดีต เนื่องจากความขัดแย้งในอดีตเป็นความขัดแย้งในหมู่ผู้มีอำนาจ ผู้ปกครองด้วยกันเอง หรือหลายครั้งเป็นเพียงความขัดแย้งในหมู่ผู้ใหญ่ในกองทัพเท่านั้นเอง แต่โจทย์ทุกวันนี้ไม่ใช่

ถ้าสรุปภาพรวมอีกมุมหนึ่งวันนี้ปัญหาคู่ขัดแย้งเป็นปัญหากระบวนการคิดกระบวนทัศน์ต่อปัญหาประชาธิปไตย ถ้าเรานั่งดูข้อถกเถียงทั้งหมด การเปิดประเด็นการเปิดวาทกรรมต่างๆในสังคมไทยมีอยู่ 2 ส่วนเท่านั้นเอง ในหมู่อนุรักษ์นิยมเชื่อว่าประชาธิปไตยนั้นเป็นประชาธิปไตยแบบชี้นำ หรือ Guided Democracy คือประชาธิปไตยที่ถูกควบคุมหรือกำกับของบรรดาชนชั้นนำหรือผู้นำทหาร คนอีกส่วนหนึ่งวันนี้บอกไม่ใช่ ประชาธิปไตยนั้นเป็น Popular Democracy หรือเป็นประชาธิปไตยที่ผ่านเสียงของคนส่วนใหญ่ วันนี้ถ้ามองใน 2 ชุดความคิดนี้เป็นปัญหาคู่ขัดแย้ง

 

Anti Politics หรืออุดมการณ์ต่อต้านการเมือง

ตัวแบบศาลรัฐธรรมนูญไทยในวันนี้มันมีตัวเปรียบเทียบ จะเห็นตัวแบบศาลรัฐธรรมนูญในอิยิปต์ ในปากีสถาน เอาเข้าจริงตัวแบบศาลรัฐธรรมนูญไทยนี่จิ๊บจ้อยเลย แต่อยู่ในแนวโน้มเดียวกัน คนอิยิปต์ออกมาชุมนุมต่อต้านศาลรัฐธรรมนูญการปฏิวัติอิยิปต์ไม่จบ แต่กระแสชุนนี้น่าสนใจ การแสชุดนี้มากับอำนาจสถาบันตุลาการ หรือวันนี้อำนาจถูกเอาไปฝากด้วยความเชื่อที่ว่าสถาบันตุลาการนั้นเป็นสถาบันที่ดีที่สุด เที่ยงตรงที่สุด เที่ยงธรรมที่สุดนั้น เกิดเพราะทัศนะคติทางการเมืองชุดหนึ่ง ซึ่งฝังรากในสังคมไทยแต่เรามีคำเรียกหลายอย่าง ทัศนคติชุดนี้เกิดในลาตินอเมริกาหลังปี 1960  แล้วเกิดเป็นแนวโน้มใหญ่ในบรรดาประเทศแถบลาตินอเมริกา ศัพท์ภาษาทางรัฐศาสตร์เรียก Anti Politics หรืออุดมการณ์ต่อต้านการเมือง อุดมการณ์ต่อต้านการเมืองอยู่บนฐานคติ 3 อย่าง

  1. ไม่เชื่อเรื่องการเลือกตั้ง
  2. ไม่ชอบนักการเมือง
  3. ชอบคนกลาง (ทหาร)

สรุปรวมทัศนคติทางการเมืองชุดนี้เชื่ออย่างเดียวว่านักการเมืองไม่มีศีลธรรมเพียงพอเท่ากับคุณธรรมสูงส่งของผู้นำที่มาจากคนกลาง ในลาติอเมริกาผูกโยงกับสถาบันทหารและสถาบันทางศาสนา ต่างจากกรณีในไทยที่เป็นสถาบันระดับสูง เป็นเพราะ อุดมการณ์ต่อต้านการเมือง ใช่ไหมในสังคมไทยตอนนี้

 

0000

 

“...การเอาฝ่ายตุลาการเข้ามาจัดการความขัดแย้งทางการเมือง โดยให้เหตุผลว่าฝ่ายตุลาการนี้ปลอดจากการเมืองแล้วจะรักษาสิทธิเสรีภาพความยุติธรรมให้แก่ประชาชนได้ แต่ว่าสิ่งที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงในประเทศไทยก็คือฝ่ายตุลาการไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ไม่มีประวัติช่วยรักษาเสรีภาพของประชาชนมาเหมือนในประเทศอื่น ฝ่ายตุลาการรับรองการรัฐประหารเสร็จก็เข้ามามีบทบาทอย่างมากภายใต้เนื้อหา ระบบและกลไกตามรัฐธรรมนูญ…”

จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยและประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย

 

 

80 ปีส่วนใหญ่เราถูกปกครองโดยผู้ปกครองที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนอยู่ในฐานะที่มีอำนาจมากกว่าหรือครอบงำอยู่

80 ปีมานี้เป็นปัญหาที่สำคัญอยู่ที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยจริงหรือไม่และเป็นแค่ไหน และมีความขัดแย้งระหว่างผู้มีอำนาจหรือองค์กรที่มีอำนาจที่ยึดโยงกับประชาชนฝ่ายหนึ่งกับที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ซึ่งจะพบว่าประเทศไทยเราปกครองกันมาโดยผู้ปกครองที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ปกครองโดยลำพังค่อนข้างจะนาน และยังเป็นการปกครองโดยผู้ปกครองที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนอยู่ในฐานะที่มีอำนาจมากกว่าหรือครอบงำอยู่ เป็นส่วนใหญ่ของ 80 ปีมานี้ มีการพยายามจะสร้างและพัฒนาระบบรัฐสภา ระบบพรรคการเมืองอยู่ระยะสั้นๆ

ประชาธิปไตยครึ่งใบ ช่วงปี 23-31 เรามีรัฐบาลที่มีนายกคนกลาง นอกจากเรามีนายกคนกลางแล้วเรามีสภาที่ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งโดยนายก ส่วนใหญ่เป็นผู้คุมกำลังในกองทัพ และ ส.ว.ก็มีอำนาจในการพิจารณากฎหมายสำคัญ ซึ่งหมายความว่าสามารถที่จะคุ้มหรือล้มรัฐบาลเมื่อไหร่ก็ได้ เป็นการสร้างหลักประกันให้กับผู้ที่จะมาเป็นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของกองทัพ ประชาธิปไตยครึ่งใบถ้าพูดในเชิงอำนาจแล้ว อำนาจก็อยู่กับฝ่ายที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน อยู่กับผู้ที่สามารถกุมกำลังกองทัพของประเทศนี้ได้ โดยก็มีพรรคการเมือง แต่พรรคการเมืองก็จะมีบทบาทน้อยเพราะว่านโยบายต่างๆกำหนดโดยสภาพัฒน์ โดยการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีที่มีนายกเป็นคนกลางไม่สังกัดพรรคการเมือง

ระบบพรรคเการมเมืองไม่พัฒนาเท่าไหร่นักแต่ว่ายังคงอย่าได้มีความต่อเนื่องพอสมควรจากปี 18 เป็นต้นมา จนกระทั้งเริ่มมีนายกเป็น ส.ส.ในปี 31 อยู่ได้แค่ปี 34 ก็เกิด รสช.ยึดอำนาจ แต่ผู้ยึดอำนาจพยายามสืบทอดอำนาจก็อยู่ไม่ได้ประชาชนไม่ยอม ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทำให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ นายกต้องมาจาก ส.ส.มาจากการเลือกตั้ง ปี 35 มาถึงปี 44 ในระหว่างนั้นมีการปฏิรูปการเมืองมีการแก้รัฐธรรมนูญปี 40

 

รัฐธรรมนูญปี 40 ส่งผลให้ เกิดพัฒนาการของระบบพรรคการเมือง ความเข้าใจของประชาชนต่อนโยบายพรรคการเมือง

ปี 2544 มีการใช้รัฐธรรมนูญปี 40 อย่างเป็นรูปประธรรมเป็นครั้งแรก เป็นรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง มีพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง ให้มีการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ทำให้พรรคการเมืองมีการแข่งเป็นพรรคต่อพรรค และนำเสนอว่าใครจะเป็นนายก นำเสนอว่าจะมีนโยบายอย่างไรในการบริหารประทศ ประชาชนก็ได้เรียนรู้ในเรื่องนี้อย่างมากในปี 2544, 2548 ที่มีการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 40 ได้เกิดพัฒนาการที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ เกิดพัฒนาการของระบบพรรคการเมือง ความเข้าใจของประชาชนต่อพรรคการเมือง ต้องการเลือกตั้ง ความเข้าใจของประชาชนต่อนโยบายพรรคการเมือง ได้เกิดขึ้นและพัฒนาอย่างมาก

 

ปี 49 เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สวนกับพัฒนาการที่ผ่านมา

ปี 49 เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สวนกับพัฒนาการที่ผ่านมา เกิดความพยายาม เจตนาและการกระทำที่ต้องการที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในลักษณะที่ส่วนกับพัฒนาการที่ผ่านมา เมื่อเกิดการรัฐประหารแล้วก็เกิดการสร้างรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้โดยให้มีระบบกลไกที่ประกันได้ว่าอำนาจอธิปไตยจะไม่เป็นของประชาชน หมายความว่าการเลือกตั้งของประเทศนี้จะไม่มีความหมายเหมือนการเลือกตั้งในอารยะประเทศ คือไปเลือกตั้งกันได้แต่จะมีองค์กรและกลไกตามรัฐธรรมนูญโดยอาศัยเนื้อหาตามรัฐธรรมนูญนี่เปลี่ยนรัฐบาลนั้นเสียได้ โดยไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม ซึ่งได้เกิดขึ้นมาแล้วกับ 2 รัฐบาล

 

องค์กรอิสระตาม รธน.50 เกิดระบบที่ส่งเสริมให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นอย่างเลือกปฏิบัติ

ในระบบแบบนี้การตรวจสอบการถอดถอนผู้บริหารหรือผู้ที่อยู่ในตำแหน่งสูงๆ นอกจากการตรวจสอบว่าเป็นไปตามนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐหรือไม่ ตรวจสอบว่าทุจริตคอรัปชั่นหรือไม่ จะเป็นระบบที่ไม่เป็นอิสระ และโดยตัวมันเองไม่ถูกตรวจสอบโดยประชาชน จากก่อนรัฐประหารปี 49 มีการวิจารณ์กันมากว่ามีองค์กรขึ้นมาทำหน้าที่ตรวจสอบ ทำหน้าที่ถอดถอนผู้มีอำนาจทั้งหลายได้ถูกแทรกแซงไม่เป็นอิสระ ในรัฐธรรมนูญถึงได้เปลี่ยนเป็นองค์กรหลายองค์กรได้เกิดขึ้นโดยการแต่งตั้งหรือการเห็นชอบของคณะรัฐประหาร ถ้าไม่เช่นนั้นก็มีที่มาโดยกำหนดในรัฐธรรมนูญนี้ที่มาที่ไม่มีการยึดโยงกับประชาชน และมีลักษณะที่ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันไปมาระหว่างองค์กรต่างๆตามรัฐธรรมนูญกับฝ่ายตุลาการ ฝ่ายตุลาการเป็นที่มาสำคัญขององค์กรต่างๆ เป็นระบบที่เอื้อกันไปมา เท่ากับเป็นระบบที่ส่งเสริมให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นอย่างเลือกปฏิบัติได้ด้วยซ้ำ

 

เกิดวิกฤติทางการเมืองเนื่องจากการเลือกตั้งไม่มีผลตามที่ประชาชนกำหนด

รัฐธรรมนูญลักษณะนี้ทำให้เกิดวิกฤติทางการเมืองเนื่องจากว่าเกิดกรณีที่การเลือกตั้งไม่มีผลตามที่ประชาชนกำหนด เกิด 2 มาตรฐานจำนวนมากกลายเป็นวิกฤติการเมืองของประเทศมาจนทุกวันนี้

ปัจจุบันเป็นความขัดแย้งระหว่างองค์กรอำนาจ คือฝ่ายตุลาการโดยศาลรัฐธรรมนูญเป็นหลักกับฝ่ายรัฐสภาหรือฝ่ายบริหาร ความขัดแย้งนี้กำลังจะพัฒนาไปสู่การที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะขยายของเขตอำนาจของตนเอง และจะก้าวไปสู่การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจสูงสุดเหนือกว่าอำนาจอธิปไตยอื่น คือ ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ โดยหลักการของการแบ่งแยกอำนาจคงไม่ได้ต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจไปทำนองเดียวกันกับที่จอมพลสฤษดิ์เคยมีอำนาจสูงสุด ซึ่งอันนี้มีลักษณะดิบๆมากๆแต่เวลานี้มีลักษณะแยบยล

 

บทบาทของตุลาการและตุลาการภิวัฒน์ ตรวจสอบไม่ได้และไม่ยึดโยงกับประชาชน รวมทั้งรับรองการรัฐประหาร

บทบาทของตุลาการถ้าในแง่ของการดูแลความถูกผิด รักษากฎหมายเพื่อให้คนได้รับการคุ้มครองอย่างเท่ากันนี่ ถ้าจะมีปัญหาอยู่บ้างเรื่อยมาคือปัญหาที่ไม่มีการยึดโยงอะไรกับประชาชนและตรวจสอบไม่ได้โดยประชาชนซึ่งก็เป็นลักษณะพิเศษของประเทศไทย แต่เมื่อเทียบกับอีกปัญหาหนึ่งแล้วปัญหานี้ยังไม่ใหญ่มากคือบทบาทของตุลาการเป็นฝ่ายที่รับรองการรัฐประหาร ทำให้ประเทศไทย 80 กว่าปีนี้รัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นกฎหมายสูงสุดจริงกฎหมายสูงสุดของประเทศนี้คือคำสั่งของคณะรัฐประหารที่ทำสำเร็จและจะถูกรับรองโดยฝ่ายตุลาการทุกครั้งไป ฝ่ายตุลาการได้ทำให้เกิดความชอบธรรมของฝ่ายรัฐประหาร ซึ่งออกเป็นคำพิพากษาศาลฎีกาในครั้งแรกๆ แล้วต่อมาถ้าจะพิจารณาอะไรกันอีกเมื่อไหร่ก็อ้างคำพิพากษาเดิมๆว่าถ้ายึดอำนาจได้เบ็ดเสร็จแล้วก็เป็นรัฎฐาธิปัตย์ มีอำนาจสูงสุดในรัฐสามารถออกคำสั่งอะไรก็เป็นกฎหมายไปหมด นี่คือบทบาทฝ่ายตุลาการแต่เดิมมา

บทบาทตุลาการในหลังปี 49 ก็ยังเป็นอย่างเดิมคือรับรองการรัฐประหารนี้ แต่ที่มาเพิ่มใหม่ที่เป็นตุลาการภิวัฒน์ ทั้งก่อนและหลังการรัฐประหารก็คือการเอาฝ่ายตุลาการเข้ามาจัดการความขัดแย้งทางการเมือง โดยให้เหตุผลว่าฝ่ายตุลาการนี้ปลอดจากการเมืองแล้วจะรักษาสิทธิเสรีภาพความยุติธรรมให้แก่ประชาชนได้ แต่ว่าสิ่งที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงในประเทศไทยก็คือฝ่ายตุลาการไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ไม่มีประวัติช่วยรักษาเสรีภาพของประชาชนมาเหมือนในประเทศอื่น ฝ่ายตุลาการรับรองการรัฐประหารเสร็จก็เข้ามามีบทบาทอย่างมากภายใต้เนื้อหา ระบบและกลไกตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน รัฐธรรมนูญปัจจุบันมุ่งที่จะบอกว่าอำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของประชาชนและลดความสำคัญของระบบรัฐสภา ทำลายระบบพรรคการเมืองให้อ่อนแอ สาระสำคัญอยู่ตรงนี้

กรณีมาตรา 68 ศาลรัฐธรรมนูญได้มาวินิจฉัยว่าผู้ร้องเห็นการกระทำอันเป็นการล้มระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือจะให้ได้อำนาจมาโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ สามารถจะร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งอันนั้นเริ่มเป็นประเด็นขึ้นมาว่ามีอำนาจอย่างนี้จริงหรือปล่าว ผู้ร้องมีอำนาจร้องจริงหรือปล่าว ดูจากบรรทัดฐานเดิมที่มีอยู่ ดูจากการตีความตามตัวหนังสือ ดูจากการอภิปรายกันของ ส.ว. ดูจากเวปไซต์ของศาสรัฐธรรมนูญเอง ก็เห็นได้ชัดว่ามีความเข้าใจตรงกันตลอดมาว่าผู้ร้องต้องไปยื่นต่ออัยการสูงสุดก่อนเท่านั้น ซึ่งในความเห็นหลายฝ่ายรวมทั้งตนเห็นว่าเป็นการวินิจฉัยตีความที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอะไรก็เป็นอย่างนั้น เท่ากับแก้รัฐธรรมนูญไปแล้วว่ายื่นโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้

 

ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจจะตรวจสอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นอำนาจของรัฐสภา

ผู้ถูกร้องคือประธานรัฐสภา คือคณะรัฐมนตรี คือพรรคการเมืองบางพรรค และก็คือนาย ก. นาย ข. กับพวก ซึ่งก็เป็นสมาชิกสภาผู้แทน ศาลรัฐธรรมนูญกำลังบอกว่า ครม. (คณะรัฐมนตรี) นี่เป็นบุคคล รัฐสภานี่เป็นบุคคล คือประธานรัฐสภาแล้วบุคคลอยู่ที่ไหนคือ นาย ก. นาย ข. กับพวก คือมาตรานี้เขามีไว้สำหรับบุคคลและพรรคการเมืองใช้สิทธิเสรีภาพจะไปล้มล้างการปกครอง จริงๆเจตนามีไว้ใช้กับพรรคการเมืองและบุคคล แต่เวลานี้ศาลรัฐธรรมนูญมาใช้กับกรณีที่รัฐสภากำลังแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งมันเป็นไปตามมาตรา 291 และเป็นอำนาจของรัฐสภา ซึ่งมันจะไม่เข้าเลยกับมาตรา 68 ถ้าจะให้เข้าคือตีความประธานรัฐสภาคือบุคคล ครม.คือบุคคล จริงๆ ครม.ไม่ใช่บุคคล แต่พอมาวินิจฉัยแบบนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องขัดรัฐธรรมนูญต่อไปในการตีความข้อนี้ และถ้าพิจารณาต่อไป ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาต่อไป คือการตรวจสอบและวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้แล้วในคราวที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยไปร้องรัฐธรรมนูญที่ร่างสมัยรัฐบาลก่อนนี้ขัดรัฐธรรมนูญ ประธานรัฐสภาในขณะนั้นก็ส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจจะตรวจสอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นอำนาจของรัฐสภา

ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตรวจสอบถ่วงดุล แต่แค่ตรวจสอบการแก้กฎหมาย คือระดับพระราชบัญญัติหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ไม่มีที่ไหนที่บัญญัติว่าสามารถตรวจสอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่าระหว่างร่างหรือร่างเสร็จแล้ว

ขั้นต่ำที่แค่ยุติการแก้รัฐธรรมนูญด้วยเหตุผลที่จะล้มการปกครองมันจะเท่ากับเป็นปัญหาเสียหายร้ายแรงต่อระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยของประเทศนี้ เสียหายต่อหลักการสำคัญคือจะเกิดการขยายเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ มาสู่การวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญได้ มีอำนาจเหนือรัฐสภาที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ คือเอาอำนาจนิติบัญญัติไปอยู่ในมือตัวเอง ผลที่ตามมาอีกอย่างคือเกิดการปิดทางไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากๆได้อีกต่อไป เพราะว่าถ้าแก้เป็นรายมาตรา มาตราละเดือน ถ้าอยากจะแก้สัก 30 มาตราก็อาจจะใช้เวลาสัก 5 ปี ถ้า 50 มาตราก็ 8 ปี มันก็คือแก้ไม่ได้นั่นเอง เพราะว่าพอแก้แบบ สสร. ท่านบอกว่าอาจนำไปสู่การล้มล้างการปกครอง ปิดทางแก้รัฐธรรมนูญในขณะที่รัฐธรรมนูญมีปัญหา ก็จะนำไปสู่วิกฤติการเมืองที่รุนแรงกว่าที่ผ่านมาเป็นวิกฤติที่ไม่มีทางออก อาจจะเกิดความขัดแย้ง ความรุนแรง และอาจจะกลายเป็นตุลาการทำหน้าที่มากแล้ว แล้วจะกลายเป็นบ้านเมืองยุ่งมากและเปิดทางให้ผู้นำทหารมาทำรัฐประหารกันอีก

 

0000

 

“..เผด็จการรัฐสภาสร้างเงื่อนไขให้เกิดการยึดอำนาจขึ้น และให้นำไปเป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจได้..”

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์

 

เราเผชิญกับเผด็จการที่เปลี่ยนจากเผด็จการทหารมาเป็นเผด็จการรูปแบบใหม่ก็คือเผด็จการรัฐสภา

80 ปีประชาธิปไตยเราล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด ปัญหาในอดีตก็คือเราเผชิญกับการปฏิวัติรัฐประหาร เราเผชิญกับปัญหาเผด็จการทหาร แต่ปัจจุบันถ้าตัดตอนเฉพาะหลัง 19 ก.ย.49 ที่เป็นฉนวนเหตุความขัดแย้งคงไม่ได้ อย่างน้อยจะต้องย้อนไปก่อน 19 ก.ย. และจะทำให้เราเข้าใจมูลเหตุที่มา ปัญหาของประชาธิปไตยใหม่ในยุคปัจจุบันก็คือเราเผชิญกับเผด็จการที่เปลี่ยนจากเผด็จการทหารมาเป็นเผด็จการรูปแบบใหม่ก็คือเผด็จการรัฐสภา

คำว่า “เผด็จการรัฐสภา” ไม่ได้แปลว่ามีเสียงข้างมากแล้วจะเป็นเผด็จการรัฐสภา ประเทศเราปกครองด้วยระบบรัฐสภา เพราะฉะนั้นคนที่จะเป็นรัฐบาล คนที่จะถืออำนาจรัฐจะต้องมีเสียงข้างมาก อันนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดา ถ้าใช้เสียงข้างมากโดยธรรม เป็นไปตามกฎหมาย กติกา อย่างนี้ไม่เรียกเผด็จการรัฐสภา แต่เผด็จการรัฐสภาคือการใช้เสียงข้างมากผ่านกลไกฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและกลไกอื่นเพื่อนำไปสู่การรวบอำนาจเบ็ดเสร็จเพื่ออำนาจและผลประโยชน์ในทุกรูปแบบ หรือกินรวบ กินเรียบประเทศไทย ซึ่งถือเป็นภัยใหม่ของระบอบประชาธิปไตยบ้านเราถัดจากเผด็จการทหาร

 

เผด็จการรัฐสภาในที่สุดก็จะกลายเป็นเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การเกิดเผด็จการทหาร

และเผด็จการรัฐสภาในที่สุดก็จะกลายเป็นเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การเกิดเผด็จการทหารโดยอ้างเผด็จการรัฐสภา และมันจะวนเวียนกันไปมากลายเป็นวงจรอุบาทว์ของระบอบประชาธิปไตยบ้านเรา เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ชัดเจนว่าเหตุการณ์ก่อน 19 ก.ย.49 สิ่งที่คณะรัฐประหารได้กล่าวอ้างไปสู่การยึดอำนาจก็คือกล่าวอ้างว่า มีการกระทำหรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศ 4 ข้อ ซึ่งเป็นเงื่อนไขนำไปสู่การยึดอำนาจ

ข้อ 1 คือ ผู้ใช้อำนาจในขณะนั้นมีการทุจริต

ข้อ 2 คือ มีการใช้อำนาจแทรกแซงทุกองค์กร

ข้อ 3 เกิดความแตกแยกขึ้นในสังคมอย่างกว้างขวาง แบ่งฝักแบ่งฝ่ายและเข้าสู่การเผชิญหน้า แล้วก็จะนำไปสู่ความรุนแรง

ข้อ 4 คือ การดูหมิ่นสถาบันมีการขยายรุกรามมากขึ้นเป็นลำดับ

ถ้าเราย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ตรงนั้น เราจะเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการก่อรัฐประหารครั้งหนึ่งในประเทศที่มีผู้คนไปแสดงความยินดีกับคณะรัฐประหารเป็นจำนวนมาก ที่เป็นเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าตนเห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่นำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเพื่อทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าประชาชนจำนวนมากเห็นว่าเหตุผลของคณะรัฐประหารสอดคล้องกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองขณะนั้น เช่น ในเรื่องของการทุจริต มีการทุจริตเชิงนโยบาย มีการใช้เสียงข้างมากในฐานะอำนาจฝ่ายบริหารและอำนาจนิติบัญญัติออกกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบุคคลคนเดียวหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น ปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ที่สุดก็คือการแก้ไขกฎหมายกิจการโทรคมนาคม ซึ่งกฎหมายเดิมนั้นเปิดโอกาสให้ต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน 25% ก็แก้ให้ต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิดร้อยละ 49 ให้ต่างชาติถือหุ้นได้มากขึ้น เพื่อที่จะได้นำไปสู่การขายหุ้นบริษัท ให้กับต่างชาติได้ กฎหมายนั้นมีผลบังคับใช้วันที่ 19 ม.ค.2549 รุ่งขึ้นอีก 2 วัน วันที่ 21 ม.ค.49 มีการขายหุ้นให้กับบริษัทต่างชาติ

ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่สะท้อนว่ามีการใช้กลไกของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ นำไปสู่การออกกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ เป็นการเฉพาะ นอกจากนั้นก็มีการบิดเบือนการใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 เพื่อนำไปสู่การสกัดกั้นการตรวจสอบของผู้ถืออำนาจรัฐ เช่น รัฐธรรมนูญ 2540 ระบุไว้ว่าถ้าฝ่ายค้านจะอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือตรวจสอบนายกรัฐมนตรี ฝ่ายค้านจะต้องใช้เสียง 2 ใน 5 ผู้แทนมี 500 คน ต้องใช้เสียง 200 ก็มีความพยายามที่จะตั้งรัฐบาลเกิน 300 เสียง เพื่อให้ฝ่ายตรวจสอบเหลือไม่ถึง 200 จะได้ตรวจสอบนายกรัฐมนตรีไม่ได้ เกิดการควบรวมพรรคการเมืองว่ามาร่วมรัฐบาลต้องยุบรวมพรรคกับพรรคแกนหลักเพื่อป้องกันการถอนตัวทางการเมือง การบิดเบือนเจตนารมณ์การใช้รัฐธรรมนูญลักษณะนี้ก็ทำให้เป็นที่มาที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยเห็นสอดคล้องกับเหตุผลของคณะรัฐประหารในขณะนั้น นอกจากนั้นการแทรกแซงทุกองค์กร วุฒิสภา องค์กรอิสระ หรือขนาดปรากฏเป็นข่าวกรณีศาลรัฐธรรมนูญที่ถูกแทรกแซงในการวินิจฉัยกรณีซุกหุ้น เป็นต้น เพราะฉะนั้นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็นที่มาที่นำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง เพราะเผด็จการรัฐสภาสร้างเงื่อนไขให้เกิดการยึดอำนาจขึ้น และให้นำไปเป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจได้

 

คู่ขัดแย้งจริงคือเผด็จการรัฐสภากับฝ่ายต่อต้าน

ก่อน 19 ก.ย. 49 คู่ขัดแย้งจริงคือระบอบเผด็จการรัฐสภาขัดแย้งกับกับฝ่ายต่อต้าน หลัง 19 ก.ย. 49 คู่ขัดแย้งก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง แต่เป้าหมายต่างกัน เป้าหมายความขัดแย้งขณะนี้ไม่ใช่เรื่องของการสืบทอดอำนาจอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการต้องการเงินและอำนาจคืน กับฝ่ายที่เห็นแย้ง ฝ่ายต่อต้าน ฝ่ายที่บอกว่าถ้าเอาเงินเอาอำนาจคืนเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องสิ่งที่เขาอยากเห็นคือทุกคนต้องเคารพกติกา ก็เลยขัดแย้งกันอยู่จนทุกวันนี้

ฝ่ายที่เห็นว่าต้องการเอาเงินเอาอำนาจคืนก็อาศัยกลไกของฝ่ายบริหาร ซึ่งมีเสียงข้างมากอยู่ในฝ่ายนิติบัญญัติในปัจจุบัน อย่างน้อยทำ 2 เรื่อง ที่เป็นปรากฏการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน 1. แก้รัฐธรรมนูญ 2. ออกกฎหมายที่ชื่อว่า “ปรองดอง” แต่ชื่อกับเนื้อในไม่ตรงกัน ชื่อว่าปรองดอง แต่ตนคิดว่ามันเป็นชื่อ “ลับ ลวง พราง” เป็นกฎหมายล้างผิดหรือกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่ง 2 จุดนี้นำไปสู่ความขัดแย้งและวิกฤติของประเทศเราในปัจจุบัน

 

“ไพร่-อำมาตย์” มันเป็นประดิษฐ์กรรมทางการเมือง ที่สร้างขึ้นมาเพื่อขอเงินกับอำนาจคืน

กรณีเรื่องไพร่เรื่องอำมาตย์ตรงนี้ไม่ใช่ประเด็นของความขัดแย้งที่แท้จริง มันเป็นปรากฏการณ์ปกติ ที่เป็นเรื่องความเห็นแย้งที่เกิดขึ้นได้ ตรงนี้เป็นปลายเหตุ ตนไม่ปฏิเสธความเหลื่อมล้ำ เชื่อว่าความเหลื่อมล้ำมีอยู่จริงในสังคมไทย แต่ “ไพร่-อำมาตย์” มันเป็นประดิษฐ์กรรมทางการเมือง ที่สร้างขึ้นมาเพื่อขอเงินกับอำนาจคืน

 

กรณีอัยการสูงสุดกับศาลรัฐธรรมนูญ ที่วินิจฉัยมาตรา 68 ไม่ใช่ความขัดแย้ง แต่เป็นกรณีของการตีความกฎหมายที่ไม่ตรงกัน

กรณีอัยการสูงสุดกับศาลรัฐธรรมนูญ ที่วินิจฉัยมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ เรื่องการรับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 เที่ยวนี้เป็นกรณีล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ มันเป็นกรณีที่ไม่ใช่ความขัดแย้ง แต่เป็นกรณีของการตีความกฎหมายที่ไม่ตรงกัน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้

อัยการสูงสุดวินิจฉัยว่าถ้าผู้ใดบุคคลใดพบการกระทำว่ามีผู้ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้ยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุดเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง แล้วอัยการสูงสุดถ้าพบว่ามีข้อเท็จจริงก็ยื่นเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการวินิจฉัยสั่งให้ยุติการกระทำ แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วนอกจากประชาชนจะใช้สิทธิยื่นต่ออัยการสูงสุดแล้ว ก็ยื่นอีกทางหนึ่งได้มี 2 ทาง คือสามารถยื่นกับศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงก็ได้เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งให้หยุดการกระทำ นี่คือความเห็นที่แตกต่างในการตีความกฎหมาย

 

ถ้าตีความแบบอัยการสูงสุด สิทธิของประชาชน 63 ล้านคนก็ไม่มีสิทธิไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ

ซึ่งการตีความของศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นการตีความอย่างกว้าง เพราะถ้าตีความแบบอัยการสูงสุดก็แปลว่าต่อไปนี้สิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญของคนไทย 63 ล้านคน ถ้าพบว่ามีการกระทำล้มล้างประชาธิปไตย คน 63 ล้านคนไม่มีสิทธิที่จะดำเนินการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงวินิจฉัยได้ ต้องส่งผ่านอัยการสูงสุดเท่านั้น ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับคนๆเดียวคืออัยการสูงสุด ถ้าอัยการสูงสุดไม่ทำเรื่องไม่ดำเนินการ ดองเรื่องไว้ หรือวินิจฉัยว่าไม่มีข้อเท็จจริง สิทธิของประชาชน 63 ล้านคนก็ไม่มีสิทธิไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ

 

สั่งได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้สั่งรัฐสภา ไม่ได้สั่งอำนาจนิติบัญญัติ ศาลรัฐธรรมนูญสั่งเจ้าหน้าที่ของรัฐ

เพราะฉะนั้นศาลรัฐธรรมนูญเลยขอออกคำสั่งให้ชะลอการลงมติวาระ 3 ไว้ก่อน ฝ่ายหนึ่งบอกว่าสั่งไม่ได้เพราะเป็นการก้าวก่ายอำนาจนิติบัญญัติ แต่อีกฝ่ายก็บอกว่าสั่งได้เพราะไม่ใช่การก้าวก่ายอำนาจนิติบัญญัติ อย่างน้อยพวกตนก็คิดเช่นนั้นว่าสั่งได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้สั่งรัฐสภา ไม่ได้สั่งอำนาจนิติบัญญัติ ศาลรัฐธรรมนูญสั่งเจ้าหน้าที่ของรัฐ สั่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกับสั่งประธานรัฐสภา ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ กฎหมายให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญสั่งได้ ส.ส. ส.ว. ก็เป็นเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ บัตรประจำตัวผู้แทนของตนเองเป็นบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมาย ปปช. เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้สั่งอำนาจนิติบัญญัติ แต่เขาสั่งเจ้าหน้าที่ของรัฐตามอำนาจหน้าที่ที่เขามีอยู่ตามกฎหมาย และเขามีอำนาจสั่งคุ้มครองชั่วคราวได้ตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญ

 

ทางออกระยะยาวทำประเทศของเราเป็นประเทศที่ปกครองโดยระบบนิติรัฐ และถือหลักนิติธรรม

สำหรับทางออกระยะยาวของประเทศถ้าจะนำประเทศไปสู่ความสมานฉันท์ปรองดอง ระยะยาวเราต้องสร้างสังคมที่เคารพก็หมาย เคารพกติกาให้เกิดขึ้น ทำประเทศของเราเป็นประเทศที่ปกครองโดยระบบนิติรัฐ และถือหลักนิติธรรมให้เกิดขึ้นและความขัดแย้งมันจะลดลง ต่อสถานการณ์ระยะสั้นเราต้องช่วยกันเอาฟืนออกจากกองไฟ การแก้รัฐธรรมนูญกับกฎหมายล้างผิด ถ้าเราดึงออกมาได้ โอกาสที่จะเกิดวิกฤติความขัดแย้งในช่วงระยะเวลาอันใกล้นี้มันก็มีความเสี่ยงน้อยลง

 

ประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประเด็นสำคัญ

นอกจากนี้เวทีเสวนายังได้มีการเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมฟังเสวนาได้ตั้งคำถามและอภิปราย โดย อุเชนทร์ เชียงเสน นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมอภิปรายว่า เวลาเราพูดเรื่องสถาบันทางการเมือง เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ วันนี้ครบรอบ 80 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถ้าเรามองความขัดแย้งเชิงสถาบัน เราก็รู้ว่า 15 ปีของคณะราษฎรในสมัย 2475 ประเด็นความขัดแย้งใหญ่ก็คือเรื่องของพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์กับอำนาจของประชาชน ของที่มาจากรัฐธรรมนูญของประชาชน ที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นการต่อสู้กันเรื่องนี้ แต่สิ่งที่น่าสังเกตหลังรัฐประหาร 19 ก.ย.49 เมื่อก่อนเราพูดถึงไล่ทักษิณ ไม่เอาทักษิณ แต่ถ้าเราสังเกต บนโปสเตอร์แผ่นพับของประชาธิปัตย์ในรอบที่ผ่านมา ไม่เอาแก้ ม.112 ไม่เอาล้มเจ้า นี่คือข้อขัดแย้ง ปัญหาในตอนนี้ คิดว่ามันได้ไรท์บทบาทสถานะอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ลองดูการอภิปรายถกเถียงการแก้ไข มาตรา 112 หรือแม้กระทั้งการแก้รัฐธรรมนูญ ก็มีการแปรญัตติว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับหมดสถาบันพระมหากษัตริย์

ทั้งที่ประเด็นนี้เป็นประเด็นใหญ่มากในเรื่อง “ล้มเจ้า” ในเชิงการเมืองที่ผ่านมา ความหมายของล้มเจ้าของตนคือความพยายามที่จะวิพากษ์วิจารณ์หรือให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เรื่องล้มเจ้าไม่ได้อยู่ดีๆมันผุดขึ้นมาเอง เพราะว่าถ้าเราพูดในปัญหาทางการเมืองที่ผ่านมา หลายคนจะอ้างว่ามีการใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือทางกาเมือง แต่เราพูดยังราวกับว่าไม่มี Action ของสถาบัน เวลาเราวิจารณ์ระบบเผด็จการสฤษดิ์ ระบบเปรมอย่างนี้ เราพูดราวกับว่าระบบเหล่านี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากราชสำนัก คนที่ศึกษาด้านรัฐศาสตร์ใครก็รู้ถึงบทบาทราชสำนักต่อเปรมหรือว่าบทบาทสฤษดิ์ คิดว่าปัญหาทางการเมืองตอนนี้คือเราไม่พยายามที่จะไรท์ปัญหาที่สำคัญจริงๆ

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฟุตบอลไทย: การเมืองของเกมใต้ตีน "ว่าด้วยเกร็ดสถิติที่น่าสนใจ"

Posted: 14 Jul 2012 01:53 AM PDT

 พรีเซนเทชั่นของ "ณัฐกร วิทิตานนท์" ว่าด้วยเกร็ดตัวเลขสถิติความเกี่ยวโยงกับนักการเมืองของฟุบอลไทย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือจี้หยุดเงินกู้ 300,000 ล้านบาท

Posted: 14 Jul 2012 01:05 AM PDT

เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือออกแถลงการณ์ "หยุด เงินกู้  300,000 ล้านบาท ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม" ระบุการเชื้อเชิญนักลงทุนทำโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลหมกเม็ดไว้ใน TOR นั้น เปรียบได้กับการขายสมบัติแผ่นดิน ขายป่าไม้ ของคนไทยทั้งประเทศ ไห้กับบริษัทเอกชนไทย และบริษัทต่างชาติ 
 
เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 55 เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือออกแถลงการณ์ "หยุด เงินกู้  300,000 ล้านบาท ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม" โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ ..
 
แถลงการณ์เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ

หยุด เงินกู้  300,000 ล้านบาท ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
ตามที่นายปลอดประสบ สุรัสวดี รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เร่ขาย TOR สามแสนล้าน ให้กับบริษัทเอกชน และบริษัทต่างชาติ เพื่อให้มาจัดการเรื่องน้ำของประเทศไทยทั้งระบบนั้น ถือเป็นการอัปยศเป็นอย่างยิ่ง ทั้งที่แนวทางและแผนงานในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำทั้งระบบของประเทศไทยยังไม่มีความชัดเจน ในทางกลับกันรัฐบาลยังมีแผนหมกเม็ดที่จะสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในเขตอุทยานแห่งชาติอย่างน้อย 5 แห่ง ซึ้งต้องทำลายป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาตินับแสนไร่ ซึ่งสวนทางกับการเพิ่มพื้นที่ป่าเป็นอย่างยิ่ง
 
แนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำของรัฐบาลจึงสับสนในตัวเอง คือ แก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้วยการทำลายป่านับแสนไร่ อาทิ เขื่อนแม่วงก์ กว่า 11,000 ไร่ เขื่อนแก่งเสือเต้นกว่า 65,000 ไร่ เขื่อนต้นน้ำปิง ที่จะต้องทำลายป่าในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และเขื่อนวังชมพู ในอุทยานแห่งชาติ ทุ่งสะแลงหลวง จังหวัดพิษณุโลก นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะสร้างเขื่อนหมกเม็ดไว้ใน TOR อีกรวมแล้ว 21 เขื่อน การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำของรัฐบาลจึงเป็นการทำลายป่า ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสียมากกว่า ทั้งที่โครงการต่างๆ ที่รัฐบาลหมกเม็ดไว้ใน TOR นั้น ยังไม่มีความชัดเจน ยังไม่ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นต่อประชาชน ที่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 โครงการใด ๆ ของรัฐที่จะกระทบต่อประชาและสาธารณะ ในทางลบแบะทางบวกจะต้องให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้ดำเนินการอะไรเลยโครงการขนาดใหญ่ เขื่อนที่มีความจุน้ำเกิน หนึ่งร้อยล้านลูกบาศก์เมตร หรือน้ำท่วมเกิน 1 หมื่นไร่ หรือพื้นที่ชลระทานมากกว่า 8 หมื่นไร่  ยังไม่ผ่านกระบวนการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งถือว่าผิดขั้นตอน และผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 อย่างชัดเจน
 
เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ ได้ติดตามสถานการณ์ปัญหาเรื่องน้ำมาโดยตลอด เห็นว่า รัฐบาลต้องสร้างความชัดเจน โปร่งใส ให้เกิดขึ้นก่อน โดยการเปิดเผย TOR สามแสนล้านต่อสาธารณะชน และรัฐบาลควรยุติแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำโดยการทำลายป่า โดยใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชนเป็นแนวทางหลักในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำของประเทศไทย
 
การเชื้อเชิญนักลงทุนไทย และนักลงทุนต่างชาติมาวางแผน มาลงทุนทำโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลหมกเม็ดไว้ใน TOR นั้น เปรียบได้กับการขายสมบัติแผ่นดิน ขายป่าไม้ ของคนไทยทั้งประเทศ ไห้กับบริษัทเอกชนไทย และบริษัทต่างชาติ อย่าลืมว่ารัฐบาลเป็นเพียงลูกจ้างของประชาชนที่เข้ามาบริหารประเทศเพียงชั่วคราวเท่านั้น จึงต้องฟังเสียงประชาชนเจ้าของประเทศว่ายินยอมให้รัฐบาลผลาญทรัพยากรธรรมชาติ ทำลายสิ่งแวดล้อม และสร้างหนี้ไว้ให้ลูกหลานของพวกเราหรือไม่
 
เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ ขอเรียกร้องให้ รัฐบาลยุติโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหันมาใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชน เป็นแนวทางหลักในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำของประเทศไทย
 
ความเร่งรีบเสมือนว่าโครงการเหล่านี้ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วจะทำให้น้ำไม่ท่วม อยากให้รัฐบาลกลับไปทบทวน ว่าปีที่ผ่านมาน้ำท่วมก็มาจากน้ำมือการจัดการ ไม่ใช่ไม่มีเขื่อน และเขื่อนก็ทำให้น้ำท่วมหนักขึ้น เป็นเรื่องของการบริหารจัดการมากกว่า แต่รัฐบาลยังเห็นชอบที่จะให้มีการสร้างเขื่อนต่อไป ไม่ได้เอาบทเรียนปี 2554 มาทบทวน การคิดโครงการคิดจากนักสร้างเขื่อนแทบทั้งสิ้นไม่ได้หาแนวทางการจัดการน้ำที่ไม่ต้องใช้งบประมาณ และดึงทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วม และการจัดการต้องดำเนินการทั้งลุ่มน้ำ และเพื่อหวังกู้เงิน ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบเงินกู้ จึงต้องชวนให้ต่างชาติเข้าร่วมทุน เป็นการกระทำที่ไม่เปิดเผยข้อมูล และบอกประชาชนไม่หมด
 
ขอฝากกับรัฐบาลว่าถ้ากระบวนการเหล่านี้ไม่สมบูรณ์ จะทำหนังสือทุกประเทศที่จะเข้ามาร่วมทุนในคราวนี้ว่ารัฐบาลไม่ดำเนินการตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550
 
สิ่งที่พวกเราเรียกร้องให้รัฐบาลรับฟังปฏิบัติตามกฎหมายไม่ใช่คัดค้านอย่างเดียวตามที่รัฐบาลเข้าใจ
 
ด้วยจิตรคารวะ
เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: ศาลริบอำนาจสถาปนา

Posted: 13 Jul 2012 11:35 PM PDT

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันศุกร์ 13 ที่ดูเหมือนว่าจะทำให้วิกฤติคลี่คลาย ความจริงหาใช่ไม่ เพราะกลับกลายเป็นหนังสยองขวัญเรื่องยาว มีผลร้ายกว่าที่คาดกันไว้

ภาคเอกชนที่เฮ จนหุ้นบวก 17 จุด คงฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียด ฟังแค่ไม่ได้ยุบพรรค ตัดสิทธิ ก็เฮกันแล้ว

 

คำว่า “ยกคำร้อง” ที่เป็นพาดหัวข่าว แท้จริงเป็นเพียงภาพลวงตา เพราะเนื้อหาสาระ แปลว่ารัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน อาจจะแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้เลย

 

‘คำแนะนำ’ อย่างนี้ก็มีด้วย

 

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นที่ 2 บอกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ ได้มาโดยการลงประชามติของประชาชน ก็ควรที่จะให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่า  สมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่”

 

ถามว่านี่เป็นคำวินิจฉัย หรือเป็นความเห็น หรือเป็นข้อเสนอแนะ “ควรที่จะให้”

 

“ศาลเห็นว่าควรที่จะให้จำเลยติดคุก 10 ปี” ใครเคยได้ยินคำพิพากษาแบบนี้บ้าง ไม่มีหรอกครับ ถ้าศาลจะสั่งก็ต้องใช้คำว่า “ต้อง” ไม่ใช่ใช้ภาษาแทงกั๊กแบบนี้

 

แถมหลังอ่านคำวินิจฉัย โฆษกศาลยังออกมาบอกว่าเป็นข้อเสนอแนะ เป็นความเห็น หากรัฐสภาดำเนินการต่อ ต้องรับผิดชอบเอง

 

ขณะที่จรัญ ภักดีธนากุล (ผู้เคยให้สัญญาประชาคมไว้ว่า รับร่างรัฐธรรมนูญก่อนค่อยแก้ทีหลัง แก้มาตราเดียวตั้ง สสร.แบบปี 2540 ได้) ก็บอกว่าศาลไม่ได้ห้ามรัฐสภาลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 แต่หากฝืนลงมติก็อาจผิดมาตรา 68 ใครทำต้องรับผิดชอบเอง

 

อ้าว เฮ้ย อย่างนี้ก็มีด้วย แบบนี้ภาษาจิ๊กโก๋แถวบ้านเขาเรียกว่า “วางสนุ้ก” ไม่บอกว่าผิดไม่ผิด แค่ให้คำแนะนำ ลองไปทำดู เดี๋ยวรู้เอง

 

มันไม่ใช่ “ข้อเสนอแนะ” หรือ “ความเห็น” แต่มันกลายเป็นคำพิพากษาไปเสียแล้ว

 

นี่มันแย่ยิ่งกว่าการชี้ขาดลงไปว่า “ห้ามแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ” เพราะถ้าแบบนั้น รัฐสภาก็จะได้เดินหน้า แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราทันที โดยเริ่มจากแก้บทบัญญัติเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญก่อน

 

แต่นี่กลับทำให้พะวักพะวง ไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหนแน่

 

แล้วคอยจับตาดูให้ดีนะครับ เพราะยังต้องรอคำวินิจฉัยกลางที่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งก็ไม่รู้จะว่าเปลี่ยนแปลงถ้อยคำอีกหรือเปล่า เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดิ้นได้ จำไม่ได้หรือ คดีไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ตอนแถลงบอกว่าขาดอายุความ แต่พอออกคำวินิจฉัยกลาง บอกว่า 1 เสียงเห็นว่าขาดอายุความ อีก 3 เสียงชี้ว่านายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่ได้ลงความเห็น โผล่มาจากไหนไม่ทราบ

 

ขยายเขตกินแดนซ้ำ

 

คุณวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ตั้งข้อสังเกตไว้แต่แรกว่าการตั้งประเด็นของศาลไม่ชอบมาพากล คือตั้งไว้ 4 ประเด็น ได้แก่

 

1.ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่

 

2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา  291 สามารถแก้ไขเพิ่มเติมทั้งฉบับได้หรือไม่ 

 

3.การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการล้มล้างการปกครองฯ ตามมาตรา 68 หรือไม่

 

4.มีความผิดต้องยุบพรรคตัดสิทธิหรือไม่

 

เพราะอันที่จริงประเด็นของคดีมีเพียงว่า ศาลมีอำนาจรับคำร้องตามมาตรา 68 หรือไม่ และการกระทำของผู้ถูกร้องผิดตามมาตรา 68 หรือไม่ แต่นี่ศาลกลับขยายประเด็นมาตีความมาตรา 291 ทั้งที่ไม่ใช่ประเด็นของคดี และไม่อยู่ในอำนาจศาล

 

มิพักต้องพูดถึงว่า การอ้างอำนาจรับคำร้องตามมาตรา 68 นั้นก็เป็นการใช้อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ เกินกว่าที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจอยู่แล้ว

 

พอก้าวล่วงมาใช้อำนาจตีความมาตรา 291 โดยที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นของคดี ศาลจึงใช้คำว่า “ความเห็น” “ข้อเสนอแนะ” เพราะรู้อยู่แก่ใจว่ามาตรา 291 ไม่มีตรงไหนห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ศาลไม่กล้าวินิจฉัยว่า “ห้ามแก้ทั้งฉบับ” เพราะจะขัดรัฐธรรมนูญเสียเอง จึงเลี่ยงไปออกความเห็น แต่ก็สำทับด้วยคำขู่ เมริงลองไม่ทำตามดูสิ เดี๋ยวจะรู้สึก

 

ม.68 ใช้ได้ทุกเมื่อ

 

คำวินิจฉัยของศาลในประเด็นที่ 1 ศาลมีอำนาจรับคำร้องตามมาตรา 68 ไม่ได้เป็นที่น่าแปลกใจ ก็เอาข้างถูมาซะขนาดนี้แล้ว จะให้บอกว่าไม่มีอำนาจได้อย่างไร

 

แต่นัยสำคัญในคำวินิจฉัยครั้งนี้คือ ศาลได้เอาเท้าแช่น้ำไว้ พร้อมจะใช้มาตรา 68 ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทุกเมื่อ หากมีผู้ร้อง ซึ่งก็คือพรรคแมลงสาบหรือพันธมารนั่นเอง

 

ดูคำวินิจฉัยที่ซ่อนไว้ในประเด็นที่ 3 ก็จะเห็น

 

“อย่างไรก็ตาม หากสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ร่างรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์แล้ว  ทั้งประธานรัฐสภาและสภาฯ ก็มีอำนาจยับยั้งร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไปได้

 

รวมทั้งหากบุคคลใดทราบว่ามีการกระทำเพื่อล้มล้างระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข  ตามรัฐธรรมนูญนี้  ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวก็ยังมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวในทุกช่วงทุกเหตุการณ์ ที่บุคคลนั้นทราบ  ตามที่มาตรา 68 ยังมีผลบังคับใช้”

 

นี่แปลว่าต่อให้แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา แมลงสาบกับพันธมารนึกอยากร้องสกัดขัดขวางเมื่อไหร่ก็ร้องได้ “ทุกช่วงทุกเหตุการณ์”

 

นี่แปลว่าอะไร แปลว่าจากข้อกล่าวหาตลก ไร้สาระ แม้ศาลยกคำร้อง แต่ศาลก็ได้สถาปนาอำนาจตัวเองไว้เหนือรัฐธรรมนูญ เหนือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมจะใช้อำนาจตามมาตรา 68 ระงับยับยั้งหรือวินิจฉัยว่ารัฐบาลและรัฐสภามีความผิด ตัดสิทธิ ยุบพรรค ได้ทุกเมื่อ

 

วิกฤติที่คิดว่าคลี่คลายแล้วจึงไม่ใช่หรอกครับ แต่กลายเป็นวางสนุ้กไว้ พร้อมสยองขวัญได้ทุกวัน ไม่จำกัดเฉพาะศุกร์ 13

 

เอ้า สมมติรัฐบาล รัฐสภา ใช้มาตรา 291 เสนอแก้ไขรายมาตรา เฉพาะบทบัญญัติว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญ พวกแมลงสาบพันธมารก็จะไปร้องว่าส่อเจตนาล้มล้างระบอบฯ โค่นล้มศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเสาหลักปักป้องรัฐธรรมนูญมรดกรัฐประหาร เราก็จะได้มาลุ้นระทึก เตรียมพร้อมรบราฆ่าฟันกันอีก ซึ่งก็ไม่แน่เหมือนกัน ถ้ารัฐบาลบริหารไปเกิดภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ เสถียรภาพไม่มั่นคง มีฐานมวลชนน้อยลง ก็อาจโป๊ะเชะ ล้มทั้งยวง

 

เผลอๆ ประชาชน 5 หมื่นคนไปเข้าชื่อกัน ตามที่จรัญ ภักดีธนากุล ให้สัญญาประชาคมไว้ อาจจะได้ติดคุกระนาว

 

ที่น่ากังขายังได้แก่ถ้อยคำที่ใช้ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ตามรัฐธรรมนูญนี้” ต้องรอดูคำวินิจฉัยที่เป็นลายลักษณ์อักษรอีกที ว่าจะเอามาเขียนติดกันไหม เพราะถ้าเขียนติดกันก็เท่ากับตีความอย่างคำนูณ สิทธิสมาน ที่อ้างว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2550 เท่านั้น ใครจะมาเปลี่ยนแปลงองค์กรอิสระ อำนาจ องค์ประกอบ ที่มา จะปรับโครงสร้างของรัฐธรรมนูญไม่ได้เลย

 

ถ้าเป็นอย่างนั้นก็อุบาทว์ละครับ แปลว่าอำนาจอธิปไตยของปวงชนไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เลย ต้องใช้รัฐธรรมนูญรัฐประหาร ผลงานของจรัญ ภักดีธนากุล ที่บอกให้ชาวบ้านรับไปก่อน แก้ทีหลัง ไปชั่วกัลปาวสาน

 

 

มั่ว ‘อำนาจสถาปนา’

 

คำวินิจฉัยในประเด็นที่ 2 ที่พูดถึงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ เป็นส่วนที่ชาวบ้านฟังแล้วงงงวยที่สุด ก็ทำไมจะไม่เป็นอย่างนั้นในเมื่อตรรกะขัดกันเอง อย่างที่คุณวีรพัฒน์บอกว่าแก้ทั้งฉบับต้องถามประชาชนก่อน แต่แก้ทีละมาตรา ไม่ต้องถามประชาชน ฉะนั้นถ้าจะแก้ทีละมาตรา หมด 300 มาตรา สภาทำได้ ไม่ต้องถามประชาชน? เป็นตรรกะที่ผิดเพี้ยนมาก เอาคำหรูเช่น "อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ" มาอ้าง ก็ไม่ได้ช่วยให้มีตรรกะแต่อย่างใด

 

มันผิดเพี้ยนตั้งแต่ศาลรับคำร้องตามมาตรา 68 แล้วครับ ไม่ใช่แค่เรื่องกระบวนการว่าต้องผ่านอัยการสูงสุดก่อน แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภา เป็นอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจไปก้าวล่วง เพราะศาลรัฐธรรมนูญเองก็ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญอีกทีหนึ่ง

 

ที่จริงนิติราษฎร์เป็นผู้ใช้คำนี้ก่อน แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับฉวยมาอธิบายเสียจนกลายเป็นว่ารัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ ต้องผ่านการลงประชามติ

 

ประเด็นนี้ให้ดูคำอธิบายของจรัญ ภักดีธนากุล จะง่ายกว่า จรัญอ้างว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ถูกต้องตามมาตรา 291 (ฉะนั้นที่ตัวเองพูดไว้ก็ไม่ถูกต้อง)

 

“เนื่องจากรัฐสภาต้องเป็นผู้แก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยตนเอง จะมอบให้องค์กรอื่นที่ไม่ใช่องค์กรของรัฐสภา เป็นผู้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือยกเลิกไม่ได้ เพราะอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของปวงชนชาวไทยเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริงใช่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การจะทำโดยสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาก็ต้องถามประชาชน เพื่อให้ได้รับฉันทานุมัติของประชาชนก่อน”

 

นี่ก๊อปมาจากผู้จัดการ ASTV ขอบอกว่าจรัญไม่มั่วก็เข้าใจผิดอย่างร้ายแรง คล้ายๆ กับที่วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อ้างว่ารัฐสภาขายขาดไม่รับคืน โยนกลองไปให้ สสร.แก้

 

รัฐสภาไม่ได้มอบอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญให้กับ สสร.ไปเลยนะครับ รัฐสภาเพียงแต่มอบหมายให้ สสร.ไปยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยระหว่างนั้น อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ยังอยู่กับรัฐสภาตามมาตรา 291 เดิม ซึ่งก็ยังใช้อยู่ ยังไม่ได้ยกเลิกไปไหน ระหว่างที่ สสร.ร่างรัฐธรรมนูญ สมมติมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราใด รัฐสภาก็ยังแก้ไขได้ ยังมีอำนาจ ฉะนั้นที่บอกว่ามอบให้องค์กรอื่นที่ไม่ใช่องค์กรของรัฐสภาเป็นผู้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงไม่ถูกต้อง

 

รัฐสภาเองนั่นแหละ คือผู้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงแต่มอบหมายให้ สสร.เป็นผู้ยกร่าง แล้วก็ไม่ใช่ว่าร่างเสร็จใช้ได้เลย สสร.ไม่ได้เป็นผู้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ได้เป็นผู้ใช้อำนาจยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 ประชามติของประชาชนต่างหาก ที่เป็นผู้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550

 

อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญจึงยังเป็นของปวงชนชาวไทย ไม่ได้สูญหายไปไหนเลย ไม่ได้ไปอยู่กับ สสร.(ถึงแม้ สสร.มาจากการเลือกตั้ง) รัฐสภาดำเนินการให้มี สสร.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเปรียบเทียบ ระหว่างยกร่างนั้นรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ยังอยู่ ไม่ได้มีใครมาฉีก ยกร่างเสร็จจึงให้ประชาชนลงประชามติ ว่าจะเอารัฐธรรมนูญ 2550 ไว้หรือเลือกรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นี่ต่างหากคือฉันทานุมัติของประชาชน ซึ่งไม่จำเป็นต้องถามก่อน

 

เพราะถ้าถามก่อน ก็ไม่ควรถามเพียงว่าแก้หรือไม่แก้ แต่เราควรจะถามว่า ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 เสียดีไหม ซึ่งก็มีคำถามอีกว่าอ้าว ยกเลิกแล้วจะใช้อะไร จะกลับไปใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ก็ไม่ได้ วุ่นวายไปหมด

 

อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญยังเป็นของปวงชนชาวไทย แต่ตอนนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้ก้าวล่วงเข้ามาบังคับกะเกณฑ์อยู่เหนืออำนาจนั้นเสียแล้ว ตามคำร้องของผู้ที่พ่ายแพ้การเลือกตั้ง กลัวการเลือกตั้ง และกลัวการลงประชามติ หรือกลัวอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของปวงชนนั่นเอง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เริ่มติดป้าย 3 ภาษารับรายอ เน้นอัตลักษณ์คนชายแดนใต้

Posted: 13 Jul 2012 11:17 PM PDT

 ศอ.บต.ตั้งผู้เชี่ยวชาญไทย – มลายู – อังกฤษ พิจารณาตั้งป้าย 3 ภาษา แถมจีนบางพื้นที่ เน้นรักษาอัตลักษณ์คนชายแดนใต้ เริ่มที่ป้ายบอกเมือง คาดติดได้ช่วงฉลองสิ้นสุดรอมฎอน ส่วนป้ายบอกทางดำเนินการปีหน้า

 

ป้าย 3 ภาษา – ป้ายบอกทางตามถนนหนทาง รวมทั้งป้ายสถานที่ต่างๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ภาคใต้ จะเริ่มเปลี่ยนเป็นป้าย 3 ภาษาตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2555 เป็นต้นไป โดยจะเพิ่มข้อความภาษามลายูอักษรยาวีอีกหนึ่งแถว ตามที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) เห็นชอบ

นางอลิสรา มะแซ ผู้ช่วยรองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) เปิดเผยว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. มีคำสั่งแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาและคณะทำงานจัดทำป้าย 3 ภาษาแล้ว เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา โดยมีจำนวน 12 คน ซึ่งเป็นผู้เชียวชาญด้านภาษาทั้ง 3 ภาษาดังกล่าว และมีคณะที่ปรึกษาอีก 9 คน

นางอลิสรา เปิดเผยต่อไปว่า คณะทำงานชุดนี้ มีหน้าที่ในการพิจารณา แนวทางการทำงาน การออกแบบป้ายชื่อภาษาที่ถูกต้อง การใช้ตัวอักษร อักขระให้สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ และเป็นไปตามอัตลักษณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ และรายงานผลการดำเนินงานให้คณะที่ปรึกษา พร้อมกับการประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนทราบอย่างต่อเนื่อง

นางอลิสรา เปิดเผยอีกว่า เดิมคณะทำงานตั้งใจว่าจะให้มีการติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ 3 ภาษาดังกล่าวให้ได้ก่อนเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม ที่จะเริ่มประมาณวันที่ 19 กรกฎาคม 2555 นี้ โดยเริ่มจากป้ายบอกเมืองก่อน แต่เนื่องจากเกิดความล่าช้าในการทำงาน จึงคาดว่าป้ายดังกล่าวจะแล้วเสร็จในช่วงวันรายอ หรือวันสิ้นสุดของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ส่วนการติดตั้งป้ายบอกทางริมทางหลวงที่มี 3 ภาษานั้น คณะทำงานคาดว่าจะเริ่มจัดทำได้ในปี 2556

ทั้งนี้ คำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานดังกล่าว เป็นคำสั่งที่ 122/2555 ระบุว่า ศอ.บต.ได้รับมอบหมายให้ดำเนินงานตามมติที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้ง 1/2555 เมื่อวันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2555 ที่เห็นชอบให้รณรงค์การจัดทำป้ายชื่ออย่างน้อย 3 ภาษา ประกอบด้วย ภาษาไทย ภาษาอังกฤษและภาษามลายูถิ่น รวมทั้งภาษาจีนในพื้นที่ที่มีคนไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

สำหรับรายชื่อคณะทำงาน ประกอบด้วย

1) นายฐานิส ศรียะพันธ์ รองเลขาธิการ ศอ.บต.เป็นประธานคณะทำงาน

2) รศ.ดร.รัตติยา สาและ อาจารย์มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา เป็นคณะทำงาน 

3) นายนิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน อาจารย์ประจำภาควิชามลายูศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นคณะทำงาน

4) นายมัสลัน มาหะมะ อาจารย์มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา เป็นคณะทำงาน

5) แขวงการทางจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เป็นคณะทำงาน

6) นายสะมะแอ มะแซ หัวหน้าฝ่ายบริหารงานปกครองอำเภอมายอ เป็นคณะทำงาน

7) นายมาโนช บุญญนุวัฒน์ อุปนายกพุทธสมาคมจังหวัดยะลา เป็นคณะทำงาน

8) นายสุขเกษม จารง เป็นคณะทำงาน

9) นายชาลี เร็งมา เป็นคณะทำงาน

10) ผู้อำนวยการสำนักประสานนโยบายการศึกษา ศาสนาวัฒนธรรมและกีฬา เป็นคณะทำงานและเลขานุการ

11) นางอลิสรา มะแซ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. (ตัวแทนกระทรวงวัฒนธรรม หรือ วธ.) เป็นคณะทำงานและผู้ช่วยเลขานุการ

12) นางสาปีน๊ะ ประชัยเทพ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ เป็นคณะทำงานและผู้ช่วยเลขานุการ

 

ส่วนรายชื่อคณะที่ปรึกษา ประกอบด้วย

1. เลขาธิการ ศอ.บต.

2. นายประมุข ลมุล รองเลขาธิการ ศอ.บต.

3. นายอดินันท์ ปากบารา รองเลขาธิการ ศอ.บต.

4. นายฐานิส ศรียะพันธ์ รองเลขาธิการ ศอ.บต.

5. ผศ.ปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการ ศอ.บต.

6. นายวิเชียร จันทรโณทัย รองเลขาธิการ ศอ.บต.

7. ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง

8. ผู้อำนวยการสำนักประสานนโยบายสังคมจิตวิทยา

9. ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น