โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ชาวปราจีนฯ แต่งดำ ล้มเวทีรับฟังความเห็นสร้างเขตอุตสาหกรรมฯ ในที่อนุรักษ์

Posted: 27 Nov 2011 11:30 AM PST

เวทีรับฟังความเห็นโครงการเขตประกอบการอุตสาหกรรมเมโทรฯ 5,000 ไร่ ใจกลางเมืองปราจีนบุรี รอบ 2 ล่ม ชาวบ้านฝ่ายค้านรุกเข้าร่วมแต่ไม่ขอลงชื่อ จี้กระบวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมขาดความชอบธรรม   

 
 
 
วันนี้ (27 พ.ย.54) ชาวจังหวัดปราจีนบุรีที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขตประกอบการอุตสาหกรรมเมโทร อินดัสเตรียล ปาร์ค นัดรวมตัวใส่ชุดดำ เดินขบวนจากบริเวณศาลหลักเมืองปราจีนบุรีไปยังอาคารเอนกประสงค์ ภัตตาคารแสนสว่างใจ ถนนราษฎร์ดำริ ต.หน้าเมือง ต.เมือง จ.ปราจีนบุรี คัดค้านการประชุมรับฟังการประชาสัมพันธ์ชี้แจงรายละเอียดโครงการ และร่วมแสดงความคิดเห็นต่อ (ร่าง) มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม โครงการเขตประกอบการอุตสาหกรรมเมโทรฯ พร้อมเรียกร้องยุติการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เนื่องจากการดำเนินโครงการขาดความชอบธรรม
 
สืบเนื่องจาก การดำเนินโครงการเขตประกอบการอุตสาหกรรมเมโทร อินดัสเตรียล ปาร์ค ของ บริษัท เมโทร อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด บนพื้นที่ 5,000 ไร่ ใน ต.บางเดชะ อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ซึ่งในขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์รับฟังคิดเห็นของประชาชน  และจะจัดทำรายงานเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบการขออนุญาตก่อตั้งเขตประกอบการอุตสาหกรรมฯ โดยว่าจ้างบริษัท เทคนิคสิ่งแวดล้อมไทย จำกัด ทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)
 
 
ขู่ไม่หยุดเตรียมฟ้องเพิกถอนใบอนุญาต
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 8.45 น.ที่ภัตตาคารแสนสว่างใจ ภายในอาคารเอนกประสงค์ซึ่งจัดเป็นสถานทีประชุมรับฟังความคิดเห็นได้มีประชาชนมาลงชื่อเข้าร่วมอยู่ส่วนหนึ่งแล้ว เมื่อกลุ่มกลุ่มผู้คัดค้านโครงการก่อสร้างเขตประกอบการอุตสาหกรรมเมโทรฯ เดินทางถึงก็ได้มีการกล่าวปราศรัยและร่วมทำกิจกรรมยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 1 นาที เพื่อแสดงความสลดใจต่อการดำเนินโครงการที่จะส่งผลกระทบในทางลบต่อคนปราจีนบุรี
 
จากนั้น ทพ.ทศพล เปี่ยมสมบูรณ์ ในนามตัวแทนเครือข่ายปกป้องเขตอนุรักษ์ พิทักษ์ปราจีนบุรี ได้อ่านหนังสือระบุข้อเรียกร้องซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปว่า ให้ยุติการศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เนื่องจากการเนินการขาดความชอบธรรม และผิดต่อจรรยาบรรณวิชาชีพ ขาดจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการผลักดันเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม และมีการปกปิดข้อมูลผังเมืองรวมปราจีนบุรีโดยมีหลักฐานเป็นรายงานการดำเนินงาน
 
อีกทั้ง ทพ.ทศพล ยังได้เรียกร้องให้ยุติการดำเนินการภายใน 10 นาทีนับจากที่ได้รับหนังสือ ไม่เช่นนั้นจะทำการฟ้องร้องต่อเลขาธิการคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้เพิกถอนใบอนุญาต และหากยินยอมทำตามจะเลิกแล้วต่อกัน ก่อนที่นำแกนนำกลุ่มผู้คัดค้านเข้าไปในบริเวณหน้าอาคารเอนกประสงค์ ซึ่งจัดเป็นโต๊ะลงทะเบียน
 
 
ชาวบ้านแต่ดำ รุกเข้าร่วมเวทีข้าร่วมแต่ไม่ขอลงชื่อ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เหตุความวุ่นวายที่ทำให้ต้องมีการยุติเวทีรับฟังความคิดเห็นเกิดขึ้นเมื่อ ทางกลุ่มผู้คัดค้านพยายามเข้าไปในพื้นที่จัดการประชุมแต่ถูกปิดกัน โดยนางอำไพ ตรีสุวรรณ แกนนำฝ่ายสนับสนุนโครงการสร้างเขตอุตสาหกรรมเมโทรฯ ยืนยันให้ผู้คัดค้านฯ ต้องลงทะเบียนจึงจะเปิดประตูให้เข้าไปในร่วมการประชุม แต่ผู้คัดค้านฯ ไม่ยอมลงชื่อ โดยอ้างว่าเกรงรายชื่อจะถูกนำไปรับรองสร้างความชอบธรรมในการรับฟังความคิดเห็นและเดินหน้าโครงการต่อไป ทำให้เกิดกันผลักดันและโต้เถียงกันขึ้น จากนั้นแม้ว่าจะมีความพยายามในการเจรจาแต่ไม่เป็นผล ทำให้ต้องมีการยุติเวทีในที่สุด
 
ด้านนางอำไพ กล่าวว่าในการทำประชาวิจารครั้งนี้ล่มเพราะถูกก่อกวน การทำประชาวิจารรอบนี้ถือว่าเป็นรอบที่ 2 ตามกฎหมาย ซึ่งให้ทำ 2 ครั้ง ดังนั้นจึงจะมีการทำประชาวิจารใหม่อีกครั้งหนึ่ง
 
 
 
อนุฯ กสม.โผล่คุยแกนนำกลุ่มคาน แนะรวมรวมข้อมูล
 
ขณะที่นายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อนุกรรมการ ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ด้านดิน น้ำ ป่า ซึ่งมาสังเกตการณ์การรับฟังความคิดเห็นกล่าวกับแก่นนำกลุ่มผู้คัดค้าน ว่า คณะกรรมการสิทธิฯ จะนำข้อร้องเรียนของทางกลุ่มไปพิจารณา และจะมีการลงมาพื้นที่เพื่อพูดคุยรวมทั้งจะมีการเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องไปให้ข้อมูล ทั้งนี้การทำงานของคณะกรรมการสิทธิฯ จะช่วยให้มีการเปิดเผยข้อมูลให้โปร่งใส สิ่งที่คลุ่มเครืออยู่จะชัดเจนขึ้น โดยกรรมการสิทธิจะทำหน้าที่เป็นที่พึ่งให้กับผู้ถูกละเมิดและกำลังสงสัยว่าอาจถูกละเมิดสิทธิ์
 
นายเพิ่มศักดิ์กล่าวด้วยว่า กระบวนการหลังจากนี้อาจเริ่มขึ้นหลังจัดการกับปัญหาน้ำท่วม คาดว่าเร็วๆ นี้จะมีการนัดหมายการประชุม ในส่วนชาวบ้านต้องเตรียมข้อมูลและเตรียมบุคคลที่จะเข้ามาให้ข้อมูลให้พร้อม เพราะกระบวนการตรวจสอบคุ้มครองสิทธิ์จะไปจบที่กระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่ในส่วนของกรรมการสิทธิ์หรือการพูดคุย ดังนั้นจึงต้องเดินหน้าเรื่องการจัดทำข้อมูลทั้งในส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วจากอุตสาหกรรมที่มีอยู่ในพื้นที่และผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้น  
 
 
ทั้งนี้ เขตประกอบการอุตสาหกรรมเมโทร อินดัสเตรียล ปาร์ค ก่อสร้างเพื่อรองรับโรงงานอุตสาหกรรม 5 ประเภท ประกอบด้วย 1.อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ 2.อุตสาหกรรมผลิต/ประกอบยานยนต์ 3.การผลิตอัญมณี เครื่องประดับ หรือสิ่งประดิษฐ์มีค่า 4.อุตสาหกรรมที่ต้องใช้ความชำนาญเฉพาะด้านและมีคุณภาพสูง เช่น นาฬิกา ปากกา เลนส์แว่นตา หรือส่วนประกอบ เป็นต้น และ 5.อุตสาหกรรมแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรทั้งที่เป็นอาหารและไม่เป็นอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์จากยางพาราและการแปรรูปเศษวัสดุทางการเกษตร เป็นต้น
 
 
4 เหตุผล ค้านเขตประกอบการอุตสาหกรรมเมโทรฯ 
 
ส่วนกลุ่มผู้ที่ออกมาคัดค้านให้ผลว่า โครงการก่อสร้างเขตประกอบการอุตสาหกรรมเมโทรฯ อยู่ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม คือ 1.พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่รับน้ำ และเป็นทางน้ำไหลเมื่อมีเขตอุตสาหกรรมตั้งอยู่จะแคบลงในช่วงที่ติดกับเขตเทศบาลเมืองปราจีนบุรี เมื่อการถมแก้มลิงเพื่อก่อตั้งเขตประกอบการอุตสาหกรรมขวางทางน้ำ จะเสี่ยงต่อการทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ อ.เมือง อ.ประจันตคาม อ.ศรีมหาโพธิ์ และ อ.กบินทร์บุรี
 
2.พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม ตามประกาศของผังเมืองรวมจังหวัดปราจีนบุรี ที่ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการตรวจพิจารณาของสำนักคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งตามเจตนารมณ์ของกฎหมายผังเมืองพื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถประกอบการจัดสรรที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมได้
 
3.พื้นที่ดังกล่าวอยู่ใกล้โรงพยาบาลศูนย์เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีคนไข้หนัก และยังเป็นโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงในการส่งเสริมการใช้สมุนไพรไพรเกษตรอินทรีย์ ไร้สารพิษ นอกจากนี้ยังมีวัดและโรงเรียนอีกหลายแห่งอยู่ในรัศมีที่จะได้รับผลกระทบ 4.พื้นที่ดังกล่าวครอบคลุมคลองสาธารณะที่ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ รวมไปถึงการมีระบบนิเวศน์ที่จำเพาะสำหรับการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อของจังหวัดปราจีนบุรีหลายสายพันธุ์
 
 
ผู้สื่อข่ายรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.54 บริษัทผู้ประกอบการได้จัดทำประชาคมครั้งแรก โดยมีนายก อบต.บางเดชะ นายอำเภอเมืองปราจีนบุรี ตัวแทนกรมทรัพยากรฯ และนายศิริพงษ์ ห่านตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรีเช้าร่วม ณ องค์การบริหารส่วนตำบลบางเดชะ สำหรับการประชุมประชาสัมพันธ์โครงการฯ ทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นครั้งแรกมีขึ้นเมื่อวันที่ 25 ก.ค.54
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'ประชาธิปไตยของขอทาน' (?)

Posted: 27 Nov 2011 06:04 AM PST

  

                                สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
                                (ที่มา: http://www.facebook.com/prfile.php?id=100002500442297&ref=tn_tnmn)
 

กรณีศาลตัดสินจำคุก “อากง” 20 ปี ในความผิด ม.112 เนื่องจากส่งข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และพระราชินีผ่าน SMS ไปยังโทรศัพท์มือถือของเลขาฯ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทำให้เกิดการตั้งคำถามอย่างกว้างขวาง เช่น

1) ทำไมการทำผิดด้วย “คำพูด” หรือ “ข้อความ” จึงต้องติดคุกถึง 20 ปี หากกฎหมายมีไว้เพื่อรักษา “ความยุติธรรม” เราจะอธิบายอย่างไรว่าการทำผิดกับการลงโทษในกรณีดังกล่าวมีความยุติธรรมอย่างไร ไม่ใช่เพียงอธิบายไม่ได้ว่ามันยุติธรรมอย่างไรแก่ผู้ถูกลงโทษเช่นอากงเป็นต้นเท่านั้น มันยังอธิบายไม่ได้ในทางหลักการว่า การที่รัฐออกกฎหมายให้ลงโทษประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างหนักเกินไปเช่นนี้มันยุติธรรมแก่ประชาชนทั้งประเทศอย่างไร และยังอธิบายไม่ได้ด้วยว่าทำไมสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยจึงสมควรได้รับการปกป้องให้ดำรง “สถานะอันศักดิ์สิทธิ์” บน “ความอยุติธรรม” ที่ประชาชนต้องแบกรับอย่างหนักหนาสาหัสเช่นนี้

2) ข้อความที่ศาลตัดสินว่าหมิ่นประมาททำให้พระมหากษัตริย์และพระราชินีอาจถูกเกลียดชัง และกระทบต่อความมั่นคงของราชอาณาจักรนั้น เป็นข้อความที่สาธารณชนไม่มีโอกาสได้รับรู้เลย เป็นแค่ข้อความที่ส่งไปทางโทรศัพท์มือถือส่วนตัวของบุคคลผู้หนึ่งเท่านั้น และไม่มีประจักษ์พยานว่าอากงเป็นผู้ส่งข้อความนั้นจริง ผู้พิพากษาอาศัยเพียงพยานแวดล้อมก็สรุป “เจตนาภายใน” เพื่อตัดสินจำคุกชายชราสุขภาพแย่ถึง 20 ปี จึงเกิดคำถามต่อการใช้ดุลพินิจของศาลไทยเป็นอย่างยิ่งว่า สังคมจะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่าดุลพินิจของศาลยึด “ความยุติธรรม” แก่ประชาชนอย่างสูงสุดเป็นหลัก

นั่นคือปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นฯ กับระบบตุลาการที่คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอายต่อชาวโลก สื่อและนักวิชาการต่างชาติเขามองอย่างตระหนกและงวยงงว่า ในยุคที่โลกเน้นความสำคัญของ “สิทธิมนุษยชน” มากขนาดนี้ ประเทศที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยอย่างไทยยังมีกฎหมายแบบนี้ มีดุลพินิจของศาลออกมาแบบนี้ได้อย่างไร

นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำถาม แต่ยังมีคำถามที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันคือ คำถามต่อบทบาทของ “ผู้นำ นปช.” ดังที่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ตั้งคำถามข้างต้น

หากยังจำกันได้หลังเกิดการสลายการชุมนุมวันที่ 10 เมษายน 2553 สมศักดิ์ออกมาเตือนสติแกนนำ นปช.ในเวลานั้นตรงๆ ว่า “อย่าว่าแต่ 25 ศพ เลย แม้แต่ประชาชนเสียชีวิตเพียง 1 คน ก็ไม่คุ้มหากเป้าหมายการต่อสู้เพียงเพื่อให้ได้การเลือกตั้ง” แต่ ณ เวลานั้นแกนำตั้งธงแน่วแน่ว่าจะต้องสู้เอาชนะให้ได้ วาทกรรม “โค่นอำมาตย์” ถูกตอกย้ำอย่างหนักแน่นจริงจังจนฝังอยู่ในจิตสำนึกของผู้คน

แต่ผลที่สุดคือคนตายร่วมร้อยและไม่ได้การเลือกตั้งในทันที ที่พูดเรื่องนี้ขึ้นมาไม่ใช่ผมต้องการ “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ” เพียงแต่ต้องการย้ำให้เห็นภาพความเอาจริงเอาจัง ความต้องการเอาชนะให้ได้ของ “แกนนำ” ในเวลานั้น ทั้งที่เป็นฝ่ายเสียเปรียบขนาดนั้น ยังทุ่มเทยอมเสี่ยงขนาดนั้น แต่เวลานี้ชนะเลือกตั้งแล้ว มีอำนาจรัฐอยู่ในมือแล้ว ความเอาจริงเอาจัง ทุ่มเท กล้าเสี่ยงเพื่อให้ได้มาซึ่ง “ประชาธิปไตย” ตามที่เคยประกาศเป็นสัญญาประชาคมหายไปไหน?!

ผมเข้าใจความซับซ้อนของปัญหาและความจำเป็นต้องรอบคอบของรัฐบาลเพื่อไทย ทักษิณ และแกนนำ นปช. ครับ แต่ว่าในเมื่อพวกคุณเป็นผู้นำมวลชน ประกาศแก่ประชาชนว่าต่อสู้เพื่อ “ประชาธิปไตย” พวกคุณจะยอมให้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยตกอยู่ในสภาพ “ประชาธิปไตยของขอทาน” ตลอดไปได้อย่างไร (1) ขอทานการเลือกตั้งที่ต้องแลกด้วยชีวิตประชาชนร่วมร้อยศพ (2) ขอทานให้อีกฝ่ายลืมอดีต ขอทานความปรองดอง ขอทานความยุติธรรม ในขณะที่เพื่อนร่วมชะตากรรมยังติดคุก ไม่ได้ประกันตัว และถูกตัดสินจำคุก 20 ปี บ้าง 30 ปี บ้าง ด้วยข้อหาผิด ม.112 และข้อหาก่อการร้าย และ (3) ถึงชนะเลือกตั้งแล้วก็ยังเป็นรัฐบาลที่ถูกอีกฝ่ายข่ม และขากถุยอยู่ทุกวัน ทั้งที่พยายามอดทนพินอบพิเทาอย่างยิ่ง

แต่เราจะอยู่ในสภาพของขอทาน พินอบพิเทา อดทน ไปเรื่อยๆ (ไม่รู้จะไปได้ยืดแค่ไหน?) ทั้งๆ ที่เพื่อนร่วมชะตากรรมไม่ได้รับความยุติธรรม และถูกกระทำอย่างอยุติธรรมคนแล้วคนเล่าเช่นนั้นหรือ?

ขณะที่ยังไม่ได้อำนาจรัฐยังกล้าเสี่ยงแม้ต้องแลกด้วยชีวิตประชาชน แต่เมื่อมีอำนาจรัฐแล้วทำไมไม่กล้าเสี่ยงแม้แต่จะรับข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ไปดำเนินการต่อ แม้แต่จะรับข้อเรียกร้องการแก้ ม.112 ไปดำเนินการต่อ มีอะไรบ้างครับที่ไม่ต้องเสี่ยง ขอทานความยุติธรรม ขอทานความปรองดองอย่างพินอบพิเทาอย่างที่ทำๆ อยู่มันไม่เสี่ยงจริงหรือ?

ถ้าไม่ทำอะไรเรื่อง ม.112 แต่อีกฝ่ายทำอยู่เรื่อยๆ จนมาถึงกรณีอากง แล้วไงครับผู้นำประชาชนต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เห็นประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยถูกตัดสินติดคุก 20 ปี เพราะความผิดจากการใช้ “ข้อความหมิ่นฯ” ซึ่งไม่ทำให้ใครต้องมีแม้แต่ “บาดแผลบนผิวหนัง” กฎหมายอย่างนี้ยุติธรรมไหม เป็นประชาธิปไตยไหมครับ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหากไม่แก้กฎหมาย แก้ระบบให้เป็นประชาธิปไตย มันก็เป็นการต่อสู้ที่ไม่มีผลเป็นรูปธรรม การชุมนุมกลางถนนเพื่อขอทานประชาธิปไตยกับพวกที่มีปืน มีรถถัง มีกำลังทหารในอยู่มือก็ไม่มีวันสิ้นสุด

มันคงเป็นเรื่อง “ตลกร้าย” อย่างยิ่ง ถ้าการต่อสู้ของประชาชนในประเทศนี้ที่มีสัญญาประชาคมตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 แล้วว่าพวกเขาคือเจ้าของอำนาจอธิปไตย เป็นเจ้าของแผ่นดิน หรือประชาชนทุกคนมีสิทธิเป็นเจ้าของแผ่นดินนี้อย่างเท่าเทียม แต่ในความเป็นจริงพวกเขาถูกทำให้เชื่อว่าพวกตนเป็นเสมือน “ผู้อาศัย” ในแผ่นดินที่มีเจ้าของ และการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตยของพวกเขาก็อยู่ในสภาพเสมือนดัง “ขอทาน” (ขอทานยังไม่ต้องแลกด้วยชีวิต แต่นี่แลกมาหลายครั้งแล้ว)

อยากถามทักษิณ รัฐบาลเพื่อไทย ผู้นำ นปช.ว่า ในฐานะที่พวกคุณได้อำนาจรัฐมาด้วยการเสียสละชีวิตของประชาชน พวกคุณยังจะขอทานความปรองดอง ความยุติธรรม อย่างพินอบพิเทา เช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ หรือ ขณะที่เพื่อนร่วมชะตากรรมของพวกคุณถูกกระทำอย่างอยุติธรรม พวกคุณมีคำตอบหรือไม่ว่าจะช่วยพวกเขาให้ได้รับความยุติธรรมอย่างไร อำนาจรัฐที่ได้มาจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบเพื่อให้สังคมเป็นประชาธิปไตยตามที่สัญญาไว้แก่มวลชนอย่างไร

ผมเข้าใจว่าพวกคุณยังมีความ “กล้าหาญที่จะเสี่ยง” เพราะพวกคุณไม่มีวันหลีกเลี่ยงความเสี่ยงได้อยู่แล้ว พวกคุณต้องเสี่ยงตลอดเวลา แต่ทำไมเมื่อความอยุติธรรมไล่ล่าประชาชนขนาดนี้ พวกคุณจึงไม่กล้าเสี่ยงเพื่อประชาชน ทำไมไม่ทำให้การเสี่ยงเพื่อประชาชน เพื่อประชาธิปไตย กับเสี่ยงเพื่อทักษิณไปด้วยกันได้อย่างมีเหตุมีผลที่อธิบายต่อมโนธรรมทางสังคมได้!

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จับ Occupy Wall Street แปลงร่างเป็น Tea Party?

Posted: 27 Nov 2011 05:49 AM PST

ปัญหาสำคัญคือ เรื่องความหลากหลายของประเด็นประท้วง และการขาดผู้นำกลุ่ม แม้จะเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่ม OWS แต่ในทางกลับกันก็กลายเป็นจุดด้อยในการปฎิรูปขบวนการให้กลายเป็นองค์กรทางการเมืองอย่างเป็นทางการ

ขบวนการยึดวอลสตรีท หรือ Occupy Wall Street (OWS) ในประเทศสหรัฐอเมริกาเริ่มก่อตัวตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ไม่พอใจในสภาพความเลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมอเมริกัน การเดินขบวนประท้วงเริ่มที่บริเวณหน้าตึกวอลสตรีทในมหานครนิวยอร์ก จากนั้น “ปรากฎการณ์ OWS” ก็ได้แพร่ระบาดไปทั่วประเทศอเมริกาและในหลายๆ หัวเมืองใหญ่ทั่วโลก ผู้ประท้วงได้ทำการยึดสวนซัคคอททิ (Zuccotti) ในนิวยอร์กเป็นที่มั่นร่วมสองเดือน จนทำให้เกิดการปะทะกับประชาชนในพื้นที่ที่ไม่เห็นด้วย กระทั่งตีหนึ่งของคืนที่ 15 พฤศจิกายน ตำรวจหลายร้อยนายได้ทำตามคำสั่งศาลเข้าไปทำการรื้อเต้นท์และจับกุมผู้ประท้วง 

นายกเทศมนตรีของเมืองนิวยอร์กไมเคิล บลูมเบิร์กกล่าวว่าคำสั่งรื้อที่มั่นของกลุ่ม OWS ก็เพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่สาธารณะชนแม้ว่าจะต้องทำให้คนกลุ่มหนึ่งสูญเสียอิสระภาพในการแสดงออกก็ตาม นอกจากการกระทำของตำรวจในนิวยอร์กจะเป็นการทำลายศูนย์กลางของขบวนการ OWS แล้ว สำหรับผู้ประท้วงมันคือการทำลายสิทธิเสรีภาพเชิงสัญลักษณ์ของประชาชนอเมริกัน หลายอาทิตย์ที่ผ่านมา มีผู้ประท้วงได้รับบาดเจ็บจากการยิงระเบิดควันของตำรวจที่เมืองโอ๊คแลนด์ รัฐแคลิฟอเนีย [i]

การจิกผม ลากเสื้อ และกระเป๋าเป้โดยตำรวจที่นิวยอร์ก[ii]

การใช้สเปรย์พริกไทยฉีดเข้าใส่นักศึกษามหาวิทยาลัยแคลิฟอเนีย-เดวิสขณะที่กำลังนั่งประท้วงกันอย่างสงบ[iii]

การใช้กระบองกระทุ้งและตีนักศึกษามหาลัยแคลิฟอเนีย-เบิร์กคลี่[iv]

และมีผู้ประท้วงอื่นๆ ที่ได้รับบาดเจ็บจากการปะทะของตำรวจระหว่างการเข้าสลายการชุมนุมในหลายๆ เมืองทั่วประเทศ แม้ว่าจะไม่มีใครเสียชีวิต แต่การสลายการชุมชนของตำรวจที่ผ่านมาได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นการกระทำที่“เกินกว่าเหตุ”ต่อการประท้วงที่สงบและไร้อาวุธ ผลคือยิ่งทำให้ประชาชนเกิดความไม่พอใจและเดินขบวนประท้วงกันมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ นอกจากนั้น ผู้สื่อข่าวยังรายงานว่าตำรวจบล็อกไม่ให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปในพื้นที่ระหว่างการรื้นเต้นท์ในคืนวันที่ 15 อีกด้วย

สองเดือนที่ผ่านมา หลายคนตั้งคำถามว่าขบวนการOWS ทำเพื่ออะไร สำคัญไฉน และสร้างผลลัพธ์หรือผลกระทบอะไรให้สังคมอเมริกันบ้าง นอกจากก่อความวุ่นวายในย่านธุรกิจที่มั่งคั่ง เดินขบวนปิดถนน ยึดพื้นที่สาธารณะ ตีกลองร้องเพลงส่งเสียงเอะอะทั้งวันทั้งคืน

ขบวนการ OWS ให้เหตุผลในการประท้วงอยู่หลายประเด็น ตั้งแต่การไม่พอใจที่รัฐยกเว้นภาษีให้คนรวย การเข้าอุ้มแบงค์และสถาบันการเงินแต่ไม่อุ้มประชาชนที่ถูกยึดบ้าน การติดหนี้ของเด็กป.ตรี โดยเฉลี่ยแล้วเด็กอเมริกันป.ตรีเป็นหนี้การศึกษาประมาณ 24,600 ดอล์ล่าร์ หรือคราวๆ ประมาณ 767,200 บาท ขบวนการ OWS ยังจับประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน การค้า และการต่อต้านการย้ายฐานการผลิตไปประเทศกำลังพัฒนาเพราะทำให้คนอเมริกันตกงานเป็นต้น ความหลากหลายของประเด็นที่อาจมีมากเกินไป เลยทำให้หลายคนไม่ค่อยแน่ใจกับจุดประสงค์ของการเดินขบวนในครั้งนี้สักเท่าไร และอาจเห็นว่าขบวนการ OWS ไร้จุดยืนและขาดข้อเรียกร้องที่ชัดเจน

ปัญหาที่สำคัญของขบวนการ OWS คือไม่สามารถแสดงผลลัพธ์ในรูปแบบของการกระทำได้ หรืออีกนัยหนึ่งคือเดินขบวนไปแล้วได้อะไร ซึ่งไม่เหมือนกับการประท้วงเพื่อต่อต้านสงครามหรือต่อต้านรัฐบาล ที่มีความชัดเจนในลักษณะของผลลัพธ์เช่นเรียกร้องให้ถอนทหารออกจากอิรักหรืออัฟกานิสถาน กดดันให้ผู้นำลาออกหรือต้องการให้รัฐยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่

ดังนั้น ที่ผ่านมาสื่อกระแสหลักหลายสื่อในอเมริกาจึงไม่ให้ความสำคัญกับการประท้วงเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมกันในบ้านตัวเองนัก แต่กลับทุ่มเวลาส่วนใหญ่รายงานและวิเคราะห์สถานการณ์การประท้วงของชาวอียิปต์ที่จัตุรัสทาห์รีเสียมากกว่า ซีเอ็นเอ็น-อเมริกาเพิ่งถ่ายทอดสดการประท้วง OWS เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ก่อนหน้านั้นข่าวเกี่ยวกับการสลายการชุมนุม OWS มีแค่สั้นๆ เพียงนาทีเดียวเหมือนกับการเสนอข่าวน้ำท่วมจากประเทศไทยหรือข่าวอริสมันต์ที่กำลังโหนเชือกลงจากตึก ส่วนข่าวประจำวันจากทีวีสาธารณะก็สรุปสั้นๆ แค่สองสามนาทีเท่านั้น ทีวีสาธารณะช่องPBS ของอเมริกาดูจะมีการสนทนากันมากที่สุดเกี่ยวกับปรากฎการณ์นี้ แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว สื่อสิ่งพิมพ์ทั้งกระแสหลักและออนไลน์เป็นสื่อหลักในการรายงานและวิเคราะห์สถานการณ์

ภาพลักษณ์เป็นปัญหาอีกประการที่ทำให้หลายคนมองขบวนการ OWS ว่าเสมือนเป็นเด็กไร้เดียงสา เฟ้อฝัน เป็นคนไร้บ้าน ไม่มีงานทำ แถมสกปรกไม่อาบน้ำ หรือพูดสั้นๆ คือพวกเด็กมีปัญหา พวกซ้ายจัด หรือพวกอยู่กับโลกแห่งความฝัน นายนิวท์ กิงริช (Newt Gingrich) หนึ่งในผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับพริกันกล่าวว่าขบวนการ OWS เป็นการเอาเปรียบสาธารณะ เพราะการประท้วงครั้งนี้ทำให้รัฐต้องใช้เงินจากภาษีประชาชนในการรักษาความปลอดภัยและทำความสะอาดเพิ่มมากขึ้น ผู้ประท้วงควรกลับไปอาบน้ำและหางานทำกันได้แล้ว

ยิ่งกว่านั้น พวกขวาจัดในสังคมอเมริกันก็จัดการป้ายสีขบวนการ OWS ให้เป็นพวกต่อต้านทุนนิยมไปซะทั้งหมด แม้ว่าขบวนการนี้จะมีกลิ่นอายของความไม่พอใจทุนนิยมหรือมีอุดมการณ์ซ้ายจัดอยู่จริง แต่ก็ถือได้ว่าเป็นแค่ส่วนน้อย ความเหลื่อมล้ำทางสังคมอเมริกันมีอยู่นานแล้ว แต่ปะทุขึ้นมาในช่วงนี้ก็เพราะอเมริกาอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย เด็กจบใหม่ว่างงานกันมาก คนมีงานก็ตกงาน บ้านถูกยึด ของแพง ธุรกิจขาดทุน ยอดขายตก กู้เงินยากเป็นต้น แต่พวกเขาก็ยังต้องการที่จะมีงานทำ มีเงินใช้ มีธุรกิจ อยากร่ำรวยเป็นเศรษฐี มีโอกาสกู้เงินเพื่อซื้อบ้านซื้อรถ นักศึกษายังต้องการซื้อเทคโนโลยีทันสมัยเช่น Apple Iphone หรือ Mac แม้ว่าจะติดหนี้การศึกษาหัวโตอยู่ก็ตาม ฉะนั้น นี่คงไม่ใช่พฤติกรรมของผู้ต่อต้านระบบทุนนิยมกระมั่ง นอกจากวัยรุ่นนักศึกษาที่ถือได้ว่าเป็นหัวหอกในการเดินขบวนแล้ว ที่ขาดไม่ได้คือการสนับสนุนของมหาเศรษฐีผู้มีอันจะกินอย่างเช่นดารานักร้องต่างๆ ที่เดินทางมาให้กำลังใจและร่วมเดินขบวนด้วย หรือผู้ใหญ่ที่มีการงานทำแต่มาประท้วงไม่ได้ก็ส่งปัจจัยอาหารการกินและเครื่องนุ่งห่มมาสนับสนุนกองทัพ OWS ด้วย

แม้เราไม่อาจคาดเดาผลลัพธ์จากการประท้วงของ OWS ที่เป็นรูปธรรมเหมือนการประท้วงทั่วไปได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าขบวนการ OWS นั้นไร้สาระหรือขาดความสำคัญแต่อย่างใด เพราะยังไม่มีข้อโต้แย้งใดที่สามารถนำมาหักล้างประเด็นหลักในการเดินขบวนประท้วงของกลุ่ม OWS ได้ พวกเขาไม่พอใจอะไร...ไม่พอใจในเรื่องการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกัน ระบบการเก็บภาษีที่เอื้อประโยชน์ให้คนรวยและธุรกิจใหญ่ๆ ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนกว้างมากขึ้น การเลือกปฎิบัติของรัฐที่ให้ความช่วยเหลือแบงค์และสถาบันการเงินมากกว่าประชาชนธรรมดาในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเมื่อเดือนที่ผ่านมา รายงานของสำนักงานงบประมาณของสภาคองเกรส (Congressional Budget Office) แถลงข้อมูลสนับสนุนว่าในปัจจุบันคนที่มีรายได้สูงสุด 1% ของประเทศ มีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่าเดิมถึง 275% หลังหักภาษีแล้ว ตรงข้ามกับคนที่มีรายได้ต่ำสุด 5% ของประเทศ มีรายได้เพิ่มขึ้นเพียง 18%  ข้อมูลนี้จึงตอกย้ำ Slogan ของ OWS ที่ว่า “We are 99%” แม้ว่าบางคนอาจจะเรียกร้องให้ปรับตัวเลขเป็น We are 80% หรือตัวเลขใดๆ ก็ตาม แต่เราก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าการแสดงออกถึงความไม่พอใจของคนกลุ่มนี้ไม่ได้ขาดที่มาที่ไปหรือไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย แม้กระนั้นก็ตาม การแพร่ระบาดของการเดินขบวนเพื่อสนับสนุนกลุ่ม OWS ที่กระจายไปทั่วประเทศและทั่วโลกก็เป็นปรากฎการทางสังคมที่ประจักษ์ชัดถึงความสำคัญในตัวของมันเองอยู่แล้ว

คำถามคือขบวนการนี้จะเคลื่อนตัวอย่างไรต่อไปและจะพัฒนาไปเป็นอะไรได้มากกว่านี้หรือไม่ ถ้าเรานึกให้ดีการเดินขบวนของคนไม่รักโอบามาและคนที่ไม่พอใจกับบทบาทของรัฐในสังคมอเมริกันหลังโอบามาได้เข้าปกครองประเทศ ก็ได้ออกมาแสดงความไม่พอใจเดินประท้วงและจัดคอนเสริต์กันในหลายๆ เมืองตั้งแต่ปี 2009 การเคลื่อนไหวในครั้งนั้นถูกปฎิรูปให้กลายมาเป็นองค์กรการรวมตัวทางการเมืองใหม่ที่เรียกว่า Tea Party ในปัจจุบัน โดยมีกลุ่มทุนของพรรคริพับพริกันให้เงินสนับสนุนกิจกรรมอยู่เบื้องหลัง นักเขียนคอลัมน์ชื่อดังเดวิส คาร์ (David Carr) แห่งหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ได้เสนอว่ากลุ่ม OWS อาจจัดตั้งองค์กรเหมือน Tea Party ก็ได้ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ประเด็นที่ถกเถียงกันบนถนนจะถูกนำขึ้นมาพูดคุยสนทนากันในระดับชาติอย่างเป็นทางการ[v]

ประเด็นเรื่องเงินทุนในการจัดตั้งองค์กรคงไม่น่ามีปัญหา ดารานักแสดงนักร้องที่ปรากฎตัวในกลุ่ม OWS ก็มีอยู่มาก และองค์กรหัวก้าวหน้าที่เห็นด้วยกับกลุ่ม OWS ก็มีอยู่ไม่น้อย คนเหล่านี้น่าจะสามารถให้การสนับสนุนทางด้านการเงินได้หรือช่วยจัดงานแสดงเพื่อหาเงินทุนก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่ปัญหาสำคัญคือ เรื่องความหลากหลายของประเด็นประท้วง เรื่องขาดความชัดเจนในข้อเรียกร้องและผลลัพธ์ เรื่องภาพลักษณ์ และปัญหาที่มีความสำคัญมากอีกประการคือการขาดผู้นำกลุ่ม

แน่นอน สิ่งเหล่านี้คือเอกลักษณ์ของกลุ่ม OWS ที่แตกต่างจากกลุ่มเคลื่อนไหวอื่นๆ แต่ในทางกลับกันก็กลายเป็นจุดด้อยและสร้างความยากลำบากในการปฎิรูปขบวนการ OWS ให้กลายเป็นองค์กรทางการเมืองอย่างเป็นทางการ

ขบวนการ OWS จะแปลงร่างเป็น Tea Party ได้หรือไม่นั้น ต้องรอดูกันต่อไป

 

 

..................................
*นักวิจัยอิสระ อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "แผ่นดินนี้มีแต่ชาละวัน"

Posted: 27 Nov 2011 05:29 AM PST

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "แผ่นดินนี้มีแต่ชาละวัน"

นัดด่วน! พิพากษา "โจ กอร์ดอน" พรุ่งนี้ (28)

Posted: 27 Nov 2011 04:41 AM PST

นายอานนท์ นำภา ทนายความของ โจ กอร์ดอน ระบุว่า เพิ่งทราบข่าววันนี้ (27 พ.ย.54) ว่า ศาลอาญา รัชดาได้เลื่อนนัดฟังคำพิพากษาคดีของโจ กอร์ดอน เป็นวันพรุ่งนี้ (28 พ.ย.54) เวลา 9.00น. จากเดิมที่เลื่อนออกไปเป็นวันที่ 8 ธ.ค. เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วม

 

อนึ่ง โจ (เลอพงษ์) กอร์ดอน ชาวไทยสัญชาติอเมริกัน-ไทย ถูกเจ้าพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) จับกุมตัวที่บ้านพักจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยโจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดโดยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อความที่เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา โดยใช้นามแฝงว่า "สิน แซ่จิ้ว" พร้อมประกาศตนว่า กูไม่ใช่ฝุ่นใต้ฝ่าตีนบุคคลใด นอกจากนี้ยังบังอาจแปลหนังสือ The King Never Smiles ซึ่งเป็นหนังสือต้องห้ามภายในราชอาณาจักร

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 ต.ค.54 นายโจ (เลอพงษ์) กอร์ดอน รับสารภาพต่อหน้าบัลลังก์ว่า “ผมไม่ต่อสู้คดี ยอมรับสารภาพ” จากเดิมที่เขาให้การปฏิเสธทั้งในชั้นจับกุม และชั้นสอบสวน โดยศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 9 พ.ย. แต่ถูกเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 8 ธ.ค.54 เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วม

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โสภณ พรโชคชัย: ใครคือผู้ปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ตัวจริง

Posted: 27 Nov 2011 03:19 AM PST

คำตอบคือสามัญชน หาใช่ใครอื่น ผมเคยทำงานเป็นที่ปรึกษากระทรวงการคลัง เวียดนาม ไปบรรยายในโครงการของกระทรวงการคลัง กัมพูชา ไปร่วมกับหอการค้าลาว และพม่าจัดสัมมนา และไปทำสำรวจวิจัยอสังหาริมทรัพย์ในประเทศภูมิภาคนี้หลายครั้ง จึงพอรู้เรื่องอินโดจีนบ้าง ผมจึงมั่นใจว่าคนที่ออกมาเย้ว ๆ ว่ารักชาตินั้น มีเพียงส่วนน้อยที่รักจริง แต่ส่วนใหญ่ก็แค่มาแสดงเพื่อเอาดีใส่ตัว ผู้ที่เป็นตัวจริงในการปกป้องบ้านเมือง ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ คือสามัญชนคนธรรมดาต่างหาก

จากประสบการณ์สงครามอินโดจีนในกรณีลาว เขมร เวียดนามที่เมื่อใกล้ ‘กรุงแตก” คนที่หนีไปก่อนเป็นใครบ้าง

1. พวกคหบดีมีอันจะกิน หรือชนชั้นสูง หากเกิดอะไรขึ้น พวกนี้ก็เตรียมตัวเปิดหนีไปต่างประเทศได้ทันที จำนวนมากก็มีสัญชาติหรือ ‘กรีนการ์ด’ สหรัฐอเมริกาหรือชาติอื่นอยู่แล้ว ถ้าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศชาติจริง ก็พร้อมจะ ‘สละเรือ’ ได้ทุกเมื่อ

2. อาจารย์ ปัญญาชน – ชนชั้นกลางค่อนข้างสูงที่มีโอกาสไต่เต้า หากเกิดกรณี ‘สิ้นชาติ’ พวกเขาคงไม่อยู่ให้เสียความปลอดภัยของครอบครัว หรือเสียเวลาแห่งความสุขของตัวเองแน่นอน

3. นายทหารชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งมักบูชายศศักดิ์ และยิ่งมียศศักดิ์สูง ยิ่งเห็นคนอื่นต่ำต้อยด้อยค่า คนระดับนี้มีทรัพย์ศฤงคารมากมายอย่างไม่ปรากฏที่มา ในประวัติศาสตร์อินโดจีนที่ผ่านมา พวกนายพล นายพันทั้งหลายหนีไปซุกใต้ปีกสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกที่พวกเขาล้วนเรียนจบมา และประเทศเหล่านี้ก็รู้ว่าพวกเขามีทรัพยากรมาก จะได้ไปช่วยสร้างชาติให้พวกฝรั่งตาน้ำข้าวอีกต่อหนึ่ง

4. ข้าราชการระดับสูง ซึ่งมีสถานะไม่ต่างจากพวกนายทหารชั้นผู้ใหญ่ พวกเขาสุขสบายด้วยอภิสิทธิ์มากมายในสมัยรับราชการ พวกนี้ทำตัวให้ชาติเลี้ยง สูบเลือดจากชาติมากกว่าที่จะทำดีเพื่อชาติ

แต่ในยามสงบ คนเหล่านี้ส่งเสียงดังในการโฆษณาชวนเชื่อในการปกป้องชาติกันใหญ่ ซึ่งก็คงเป็นการทำตามกระแส ทำเพื่อเอาดีใส่ตัว เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ เพื่อการเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง เพื่อหลอกให้สามัญชนไปตายแทนพวกตน หรือทำไปตามหน้าที่เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามก็ยังมีบางคนในกลุ่มข้างต้นที่ไม่หนีและอยู่ร่วมกู้ชาติจนตลอดรอดฝั่ง แต่ก็คงเป็นเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้น

ส่วนสามัญชนคนทั่วไปนี่แหละที่อยู่ปกป้องชาติ และฟื้นฟูชาติตัวจริง พวกเขาคือผู้ที่ไปตายเพื่อชาติในสงครามต่าง ๆ ที่พวกเขาไม่เคยได้ก่อ แต่มักก่อโดยชนชั้นปกครอง แม้ในยามชาติล่มจม เช่น ลาว เขมร เวียดนาม สามัญชนนี่แหละคือผู้ที่ยังอยู่สร้างชาติขึ้นมาใหม่ พวกเขาต้องอยู่เผชิญชะตากรรมอันโหดร้ายร่วมกับประเทศชาติในภาวะตกต่ำสุดขีด ประเทศในอินโดจีนที่ฟื้นตัวขึ้นมาใหม่นั้นเป็นเพราะพวกสามัญชน “ฝุ่นเมือง” ที่ไร้ที่ไปนั่นเอง พอพวกเขาได้มีโอกาสทำมาหากินตามปกติสุข เศรษฐกิจก็เดินหน้าต่อไปได้

สามัญชนคนธรรมดาทั่วไปนี่แหละที่บำรุงชาติ เพราะพวกเขาเสียภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อให้ประเทศชาติอยู่ได้ เจริญขึ้น สามัญชนเหล่านี้กลายเป็นแรงงานราคาถูกให้กับนายทุนข้ามชาติที่มาลงทุน จึงทำให้ประเทศเจริญขึ้นมาอย่างก้าวกระโดด และเมื่อฝุ่นจางลงแล้ว ประเทศเข้าสู่ความสงบอีกครั้ง พวกสามัญชนได้สร้างบ้านเมืองขึ้นใหม่จนมั่นคงแล้ว เหล่าคหบดี ปัญญาชน-กฎุมพีชาวลาว เขมร เวียดนาม ที่หนีไปก่อนหน้านี้และตอนนี้กลายเป็นอเมริกันชนไปแล้ว ก็ได้ทีกลับมาทำมาหากินในประเทศเกิดอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อเรารู้แล้วว่าสามัญชนนี่แหละคือคนปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตรย์ ตัวจริง เราจึงต้องตระหนักถึงความสำคัญของประชาชนคนเล็กคนน้อยในประเทศเป็นสำคัญ นโยบายของรัฐจึงต้องทำเพื่อประชาชนคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่พวกคหบดีใหญ่หรือพวกอภิสิทธิ์ชนที่มีทางเลือกซึ่งมักไม่คิดจะอยู่ช่วยกู้ชาติ แต่จะค่อยกลับมาในยามสงบแล้วเท่านั้น

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

องค์กรสิทธิ ‘อาร์ติเคิล 19’-‘แอมเนสตี้ฯ’ ประณามคำตัดสินคดี ’อากง’

Posted: 26 Nov 2011 11:06 PM PST

องค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติ ‘อาร์ติเคิล 19’ แถลงการณ์ประณามผลการตัดสินคดี ‘อากง’ เหยื่อคดีหมิ่นฯ รายล่าสุดที่ถูกตัดสินจำคุก 20 ปี ร้องรัฐไทยต้องโมฆะตัดสินดังกล่าว พร้อมแก้ไขมาตรา 112-พ.ร.บ. คอมพ์ฯ ด้าน ‘แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล’ ชี้ ‘อากง’ เป็น ‘นักโทษการเมือง’

สืบเนื่องจากคดีนายอำพล (ขอสงวนนามสกุล) จำเลยในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ- พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ที่ถูกตัดสินจำคุก 20 ปี เมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา (17 พ.ย. 54) เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือหมิ่นเบื้องสูงไปหาเลขานุการของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะจำนวน 4 ข้อความนั้น

องค์กรรณรงค์ระหว่างประเทศด้านสิทธิด้านเสรีภาพในการแสดงออก ‘อาร์ติเคิล 19’ (Article 19) และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรสิทธิมนุษยชนสากล ได้ออกแถลงการณ์ประณามคำตัดสินดังกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระบุว่า คำตัดสินดังกล่าวเป็นที่น่าตกใจอย่างมาก แสดงให้เห็นถึงการจงใจละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกอย่างชัดเจนของทางการไทย

“การตัดสินลงโทษดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพในการแสดงออกอย่างชัดแจ้ง” นายเบนจามิน ซาแวกกี นักวิจัยสากลของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประจำประเทศไทยกล่าว “อำพลเป็นนักโทษการเมือง” เขาระบุ

นายเบนจามินยังชี้ว่า กฎหมายอาญามาตรา 112 มีผลเหนือคำสั่งตามรัฐธรรมนูญของไทย และบทบัญญัติและการใช้ของกฎหมายดังกล่าว ยังขัดแย้งกับพันธกรณีของไทยที่ต้องมีต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศอีกด้วย

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองแห่งสหประชาชาติแล้วตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งมีพันธะผูกพันให้รัฐบาลไทยต้องคุ้มครองเสรีภาพทางความคิด และสิทธิของพลเมืองในการแสดงความเห็นและการแสดงออกโดยเท่าเทียมกัน

องค์กร ‘อาร์ติเคิล 19’ ยังได้เรียกร้องให้ไทยยกคำตัดสินในคดีนายอำพลเป็นโมฆะโดยทันที เนื่องจากมองว่า การใช้กฎหมายหมิ่นฯ เป็นการละเมิดสิทธิในการแสดงออกอย่างร้ายแรง และยังปรากฎถึงการใช้หลักฐานที่ยังขาดความน่าเชื่อถือในการเอาผิดนายอำพลอีกด้วย อาร์ติเคิล 19 ระบุในแถลงการณ์ว่า จะยังคงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และแก้ไขพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ให้สอดคล้องกับรัฐธรมนูญไทยและมาตรฐานกฎหมายสากลต่อไป

ด้านนายสมชาย หอมลออ กรรมการอิสระค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ให้ความเห็นว่า การตัดสินคดีนายอำพลแสดงให้เห็นถึงความไม่เอาจริงเอาจังของรัฐบาลในการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิ เช่นเดียวกับการดำเนินคดีของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และชี้ว่า การใช้กฎหมายดังกล่าวในทางที่ผิด ยิ่งแต่จะทำให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายที่เห็นต่างในสังคมรุนแรงขึ้น และนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่สถาบันฯ มากกว่าเดิม
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น