โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ดอนเมือง รื้อบิ๊กแบ็ก ศปภ.ยันจำเป็น

Posted: 13 Nov 2011 09:12 AM PST

13 พ.ย. 54 เวลาประมาณ 16.00 น. ชาวบ้านเขตดอนเมืองเข้ารื้อแนวกระสอบทรายบิ๊กแบ็กบนถนนวิภาวดี-รังสิต บริเวณดอนเมือง หลังจากที่ร้องขอไปยังรัฐบาล โดยชาวบ้านอ้างว่า มี ส.ส.ในพื้นที่แจ้งว่า ให้เข้ารื้อบิ๊กแบ็กได้

ทั้งนี้ พ.ต.อ.รังสรรค์ ประดิษฐผล ผกก.สน.ดอนเมือง กล่าวถึงความคืบหน้าการเจรจาระหว่างนายการุณ โหสกุล ส.ส.ดอนเมือง พรรคเพื่อไทย กับชาวบ้านย่านดอนเมืองกว่า 300 คน ที่ไปรวมตัวเรียกร้องให้รื้อบิ๊กแบ็กออกจากแนวกั้นว่า หลังการเจรจานานกว่า 2 ชั่วโมง ได้ข้อสรุปว่า ศปภ. ยอมรื้อบิ๊กแบ็กออก 30 เมตร ตามข้อเสนอของชาวบ้าน โดยจะดำเนินการให้เสร็จภายในเวลา 18.00 น. วันพรุ่งนี้ (14 พ.ย.)

อย่างไรก็ตาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกมายืนยันว่า ศปภ.ไม่ได้มีมติให้เปิดแนวบิ๊กแบ็กที่ดอนเมือง แต่ยอมรับว่า มีการหารือกรณีที่ชาวบ้านร้องเรียนจริง ซึ่งยังไม่ได้มีมติใดๆ ออกมา แต่ได้ประสานไปทาง กทม. ให้เร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ไปให้มากขึ้น และมอบหมายให้ทาง กทม. และกระทรวงมหาดไทย เข้าไปให้ความช่วยเหลือเยียวยาอย่างรวดเร็วด้วย

ด้าน ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เลขานุการคณะทำงานจัดการน้ำในพื้นที่วิกฤตของ ศปภ. กล่าวถึงกรณีนี้ว่า การรื้อคันบิ๊กแบ็กทั้งหมด 15 กิโลเมตร ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา แต่ถ้าจะเปิดช่องบิ๊กแบ็กเป็นช่วงๆ อาจทำได้ ซึ่งต้องพิจารณาเป็นจุดๆไป เช่นบางจุดเป็นที่สูง มีระดับน้ำสูงไม่มากนัก การเปิดบิ๊กแบ็กเป็นช่องมีความกว้างไม่มากนัก เราก็อาจจะยอมได้ แต่ถ้าจะเปิดในจุดที่มีความลึกระดับน้ำสูงเมตรครึ่ง หรือสองเมตร ถ้าจะเปิดช่องบิ๊กแบ็ก น้ำก็จะทะลักเข้ามาในพื้นที่หลังแนวบิ๊กแบ็กจำนวนมาก ซึ่งก็คงจะยอมให้เปิดช่องไม่ได้

"การเปิดช่องบิ๊กแบ็กไม่ใช่การแก้ปัญหาของการที่มีน้ำเอ่อขังอยู่ด้านนอก แต่ขณะนี้ที่เราและ กทม.แก้ปัญหา คือ การเร่งระบายลงคลองเปรมประชากรให้มากขึ้น จะทำให้น้ำคลองรังสิต คลองหกวา ย่านสายไหมน้ำลดลง"

ดร.อานันท์ เปิดเผยด้วยว่า หากเอาคันบิ๊กแบ็กออกทั้งหมดจะทำให้ น้ำทะลักเข้ามาวันละ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะทำให้น้ำท่วมอีก และน้ำอาจจะทะลักเข้าไปถึงสีลม ตอนนี้ประเด็นจึงต้องคงบิ๊กแบ็กไว้ แต่ต้องไปลดความเดือดร้อนของประชาชนกลุ่มที่อยู่เหนือคันกั้นน้ำว่า จะทำอย่างไรให้เขากระทบน้อยที่สุด

"การจะพิจารณาเปิดช่องบิ๊กแบ็กบางช่วงนั้นจะทำได้เมื่อใด เราเห็นว่าต้องรอการปรับให้มีการระบายน้ำลงคลองเปรมประชากรก่อน และตอนนี้ถ้าระดับน้ำนอกคันแนวบิ๊กแบ็กลดลงได้ในอัตราที่ดี ซึ่งขณะนี้ลงได้วันละ 3 เซนติเมตร แต่ถ้าสามารถลงได้เพิ่มขึ้นวันละ 5 เซนติเมตร ก็จะทำให้น้ำในคลองรังสิต คลองหกวามีระดับน้ำลงต่ำกว่า 3 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งถ้าทำได้ก็จะจบ บิ๊กแบ็กก็ไม่ต้องมี เพราะน้ำจะไหลลงตลิ่งหมดซึ่งเวลานี้เราต้องการแก้ปัญหาให้ถูกจุดก่อน เพราะบิ๊กแบ็กเราใช้ในขณะที่ระดับน้ำคลองรังสิตอยู่ 3.4 เมตร คือสูงกว่าตลิ่ง 40 เซนติเมตร ซึ่งตอนนี้เหลือให้น้ำลงอีก 30 กว่าเซนติเมตร ดังนั้นทำให้น้ำลดลงได้วันละ 5 เซนติเมตรประมาณ 5 - 6 วันน้ำก็จะลดได้ แต่ตอนนี้น้ำลดลงได้วันละ 3 เซนติเมตร ก็ต้องใช้เวลาประมาณ 10 วัน เราก็เข้าใจว่า ประชาชนก็ใจร้อน เพราะเขาต้องทนมาหลายสิบวันจะเป็นเดือนแล้ว ถ้าจะให้ทนไปอีก 10 วันก็คงดูทารุณ แต่เรื่องนี้จะให้แก้ปัญหาแบบนั้นไม่ได้ ตนขอยืนยันอีกครั้งว่า ถ้าจะให้เอาบิ๊กแบ็กออกทั้งหมด ไม่ใช่ทำให้ระดับน้ำบริเวณนั้นลดลง ตราบใดที่เรายังแก้ปัญหาระดับน้ำคลองรังสิตไม่ได้" เลขานุการคณะทำงานจัดการน้ำในพื้นที่วิกฤตของ ศปภ. กล่าว

...............................
ที่มา: เรียบเรียงจากไทยรัฐ, กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

13 พ.ย. รำลึกวีรกรรมชุน เต-อิล- ถึงสหายหนุ่มสาวที่ยังฝัน

Posted: 13 Nov 2011 08:15 AM PST

13 พฤศจิกายน 2513 กรรมกรหนุ่มโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าเกาหลี ชุน เต-อิล อายุ 22 ปี ตัดสินใจใช้ชีวิตตัวเองประกาศถึงความโหดร้ายของนายทุนเกาหลีและการไม่สนใจใยดีของกระทรวงแรงงานต่อชะตากรรมของคนงานที่อยู่ที่ชั้นล่างของสังคม

หลังจากการพยายามมาหลายปีเพื่อนำเสนอปัญหาต่างๆ กับเจ้าหน้าที่ เขาตัดสินใจเปิดโปงความโสมมของสังคม ด้วยชีวิต ขณะไฟลุกท่วมร่าง เขาประกาศ "คนงานไม่ใช่เครื่องจักร จงปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน"

ก่อนชีวิตจะดับสลาย เขาขอร้องแม่ว่า "แม่ครับ อย่าทำให้ความตายของผมสูญเปล่า แม้ต้องรับปากว่าจะสานความฝันของผมต่อไป"

ยี่ โซ-ซุน แม่ของชุน เต-อิล ใช้ชีวิตหลังจากการตายของชุน เต-อิล เพื่อสานต่ออุดมการณ์ของลูกชาย เธอเสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2554

วันนี้จึงเป็นวันร่วมรำลึกถึงการเสียสละที่ยิ่งใหญ่เพื่อสังคม ทั้งชุน เต-อิล และมารดา ยี่ โซ-ซุน
 


 

เป็น เวลา 41 ปี มาแล้วที่เขาเสียสละเพื่องคนงานและคนจนเกาหลี และเกาหลีก็ยังจัดงานรำลึกถึงเขามาจนถึงปัจจุบัน ทุกวันที่ 13 พฤศจิกายน ที่หน้าอนุสรณ์รูปปั้นของเขา ณ ตลาดสันติภาพ ห่างจากจุดที่เขาเผาตัวตายประท้วงเพียงไม่กี่เมตร

การต่อสู้ของชุน เต-อิล และแม่ รวมทั้งสหายนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเกาหลีใต้ เป็นแรงบันดาลใจสำคัญหนึ่ง ที่ให้เรามุ่งมั่นทำงานเพื่อเมืองไทยโดย "ไม่ยอมจำนน" ต่ออำนาจเผด็จการและความอยุติธรรม

วันนี้แม้จะไม่ใช่วันสำคัญที่คนไทยเฉลิมฉลอง แต่ในยุคโลกไร้พรมแดน เราสามารถเรียนรู้และร่วมระลึกถึงวีรกรรมของผู้กล้า เช่น กรรมกรตัดผ้า ชุน เต-อิล ที่ส่งผลสะเทือนทั่วทั้งเกาหลี ที่ประกาศว่าเราไม่จำเป็นจะต้องยอมจำนนต่อวิถี "เผด็จการศักดินา" หรือ "ทุนสามานย์" เราสามารถสร้างทางเลือกของเราเอง

ขบวนการแรงงานเกาหลี เลือกตั้งพรรคการเมืองของตัวเอง พรรคประชาธิปไตยแรงงาน (Democratic Labor Party) เมื่อเดือนมกราคม 2543 แม้จะไม่ใช่พรรคใหญ่ มี ส.ส. เพียง 6 ท่าน แต่เป็นพรรคฝ่ายค้านที่มุ่งมั่นทำหน้าที่เพื่อมวลกรรมาชีพอย่างแท้จริง

ชุน เต-อิลปลุกให้ขบวนการแรงงานเกาหลีตื่น และเรื่องราวของเขาถูกร้อยเรียงในหนังสือชื่อ "A Single Spark: The Biography of Chun Tae-il" เป็นหนังสือใต้ดินที่นักกิจกรรมและคนงานใช้เป็นคู่มือการจัดตั้งมาหลายปี

จนเมื่อประชาชนและกรรมกรเกาหลีใต้ ขับไล่รัฐบาลเผด็จการได้สำเร็จในปี 2530 หนังสือเล่มนี้จึงได้จัดพิมพ์ใหม่ เป็นหนังสือบนดินและได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณกรรมคลาสสิคเกาหลี และได้รับการแปลเป็นหลายภาษาทั่วโลก

ในประเทศไทย แปลโดย จรรยา ยิ้มประเสริฐ ในชื่อเรื่อง "ไม้ขีดก้านเดียวเปลี่ยนสังคมเกาหลี"
 

ดาวโหลด "ไม้ขีดก้านเดียวเปลี่ยนที่สังคมเกาหลี"


 

 

พร้อมกันนี้ เพื่อร่วมรำลึกถึงวีรกรรม ชุน เต-อิล ยี่ โซ-ซุน และวีรกรรมคนหนุ่มสาวในประเทศไทย โดยเฉพาะลุงนวมทอง ไพรวัลย์ คนขับรถแท็กซี่ที่พุ่งชนรถถังเพื่อประท้วงรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ลุงนวมทอง ประท้วงเผด็จการด้วยชีวิตด้วยการผูกคอตายที่สะพานลอยตรงข้างสำนำพิมพ์ "หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ"

ลุงนวมทอง ก็เช่นกัน ที่ควรได้รับการระลึกถึงและจดจำในฐานะนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเมืองไทย

จึงขอมอบบทกวีข้างล่างนี้ให้กับทุกท่าน และเป็นบทกวีรวมรำลึกถึงวีรกรรมคนหนุ่มสาวที่กล้าท้าอธรรม

 

* * * * * * * * * 

ถึงสหาย หนุ่มสาว ที่ยังฝัน
ที่มา Time Up Thailand

วันนี้นึกถึงน้องคนหนึ่งที่ทดท้อ ก็เลยได้แรงบันดาลใจเขียนบทกวี มันไม่ใช่งานถนัดเลย
และบทนี้ถือเป็นบทกวีที่สองในชีวิตนักกิจกรรม แม้ไม่ถูกสัมผัตามกรอบสวรรณศิลป์ แต่หวังว่าจะตรงใจสหายบางท่าน

ขอมอบให้นักสู้เพื่อประชาธิปไตยทุกคน

************

 

ถึงสหาย หนุ่มสาว ที่ยังฝัน
นกสีแดง นำเสรี นำชัยมา
คนเท่ากัน เธอเท่าฉัน หงส์เท่ากา
หยุดฆ่าฟัน เริ่มแบ่งปัน ไม่โกงกิน

ฝันสลาย เจอทางตัน ระหว่างทาง
โลกไม่งาม รุ้งไม่ใส ดุจดังฝัน
มิตรฟาดฟัน เพื่อนแทงหลัง แย่งเด่นดัง
ไฟอุดมการณ์ ใกล้มอดแสง ก่อนเส้นชัย

ขอปลุกปลอบ สหายรัก ผู้สับสน
ที่ขื่นขม ทดท้อ ขอหยุดก่อน
โลกสีเทา จนปัญญา แยกขาวดำ
ผลกระทำ ศักดินา กดหัวต่ำ

ไหนจะทุน ยุยั่วยิ่ง มือยาวสาว
ฉวยทุกคราว ได้เร็วกว่า ยอดคนกล้า
ไม่อยากจน แข่งเวลา อย่าหาญท้า
มือสั้นยาว ไม่เท่ากัน เช่นจนรวย

ไทยวิปริต วัดค่าคน ด้วยเงินตรา
ความดีงาม โรยหน้าสวย ด้วยมายา
ทั้งแจกทาน ภาพถ่าย เด็กชรา
กลบน้ำตา ไหลนองเนือง ท่วมนครา

ทั้งพารา ต้องคำสาป สหายเอ๋ย!
นกสีแดง ยังบินว่อน ทั่วน่านฟ้า
จับมือมั่น ไม่ทิ้งกัน นะเพื่อนยา
อีกไม่นาน ฟ้าสว่าง อีกไม่นาน . . .

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

น้ำท่วม น้ำตา มารยาหญิง โสเภณี ความเป็นหญิง ความเป็นชาย และอคติทางเพศ

Posted: 13 Nov 2011 05:30 AM PST

วิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ ทำให้เห็นวิกฤตของอคติทางเพศที่มีอยู่อย่างลึกซึ้งในสังคมไทย บางคนบอกว่า “เพราะมีผู้นำเป็นผู้หญิง เลยทำให้น้ำท่วม” ต่อมามีคนบอกว่า “น้ำท่วมไม่เท่าไร แต่นายกร้องไห้นี่แหละ ที่ทำให้พ่ายแพ้” วาทกรรมว่าด้วยเพศ (Gender) ในกระแสวิวาทะเรื่องน้ำท่วม แสดงให้เห็นถึงอคติทางเพศในสังคมไทยอย่างไร การเอาวาทกรรมว่าด้วยเพศมาใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง สร้างความเข้าใจเรื่องคุณค่าของความเป็นเพศหญิงอย่างไร?

น้ำตานายกหญิง

“น้ำตานายก” กลายประเด็นที่ถูกพูดถึงไม่จบสิ้น คำวิจารณ์ว่า “น้ำตานายก” เท่ากับการขาดภาวะผู้นำ มารยาหญิง (ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู สส. ปชป.) “การทำภาพพจน์ของผู้หญิงเสียหาย” (คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช สส.ปชป.) “ข้ออ้างเพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ” (นางสาวสุพัชรี ธรรมเพชร ส.ส. ปชป.) ก่อนหน้านี้ดาราชายชื่อดังพูดผ่านเฟซบุ๊คว่า "ให้ไปร้องไห้ให้ควายดูเหอะ บ้านเมืองไม่ใช่ของเล่นที่ทำพังแล้วร้องไห้ขออันใหม่" ส่วนดารานักร้องหญิงชื่อดังอีกคนวิจารณ์ผ่านเฟซบุ๊คซึ่งถูกเผยแพร่ต่อในสื่อว่า “เธอ (นายกยิ่งลักษณ์) ออกมาพูดด้วยน้ำเสียงที่ไม่เคยแข็งแรง ด้วยคำพูดที่ไม่เคยเข้มแข็ง และด้วยข้อความที่ไม่เคยชัดเจน นอกจากนั้นเธอยังไม่เคยแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการคิดเองได้เลย เธอทำให้เห็นเลยว่า ความละมุนของเธอนั้น จริงๆ แล้วมาจากความอ่อนแอ คุณยิ่งลักษณ์ตอกย้ำทุกวันว่าผู้หญิงอ่อนแอ ว่าผู้หญิงพูดจาเป็นงานเป็นการไม่รู้เรื่อง ว่าผู้หญิงคุมลูกน้องไม่ได้ ว่าผู้หญิงตัดสินใจไม่เป็น ว่าผู้หญิงเป็นผู้นำไม่ได้ สิ่งที่คุณยิ่งลักษณ์ทำ หรือทำไม่ได้ ตอกย้ำว่าผู้หญิงทำงานใหญ่ไม่ได้ ว่าผู้หญิงสุดท้ายก็เป็นได้แค่ผู้หญิงวันยังค่ำ ที่ได้แต่แต่งตัวสวยไปวันๆโดยที่ทำอะไรไม่เป็น”

นักวิชาการชื่อดังกล่าวทางทีพีบีเอสว่า “ผู้หญิงมีธรรมชาติที่อ่อนไหว และถูกหล่อหลอมมาจากวัฒนธรรมให้อ่อนไหว นายกปูได้เปรียบ เพราะไม่มีใครว่าอะไรกับการร้องไห้ของเธอ แต่นายกร้องไห้บ่อยๆ มันเฝือ จะมีพื้นที่ของเหตุผลที่ไหนมาแก้ปัญหา” นักวิชาการท่านนี้เรียกร้องให้นายกปูแสดงภาวะผู้นำ และเกณฑ์ที่เขาใช้ตัดสิน “ภาวะผู้นำ” คือความสามารถในการกั้นน้ำไม่ให้ท่วมกรุงเทพสำเร็จหรือไม่ และการกล้าประกาศใช้พรก.ฉุกเฉินเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมหรือไม่
ความร้อนแรงของวิวาทะเรื่องน้ำตานายก ทำให้สวนดุสิตโพลหยิบเอาประเด็นนี้ไปสำรวจประชามติเชื่อมโยงกับประเด็น “ประสิทธิภาพในการบริหาร” แล้วสรุปว่า “ภาพที่นายกรัฐมนตรีร้องไห้นั้น ประชาชนร้อยละ 59.38 เห็นว่า ไม่ได้แสดงออกว่านายกรัฐมนตรีอ่อนแอ แต่ร้อยละ 40.62 เห็นว่า เป็นการแสดงออกถึงความอ่อนแอ” อย่างไรก็ดี “ประชาชนร้อยละ 64.51 มองว่า การร้องไห้ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี ดังนั้นนายกรัฐมนตรีจึงควรควบคุมอารมณ์ให้ดีกว่านี้”

ถอดรหัสกระแสวิพากษ์น้ำตานายกหญิง

กระแสวิพากษ์ “น้ำตานายก” ข้างต้นนี้ต้องการสื่อว่า การร้องไห้ของผู้นำหญิงเป็นการทำลายเกียรติ คุณค่าและความน่าเชื่อถือที่มีต่อเพศหญิง สิ่งที่น่าสนใจคือการวิพากษ์ได้พุ่งเป้าไปที่ “ความเป็นเพศหญิง” ของนายก และส่วนใหญ่เป็นการวิจารณ์ “โดยผู้หญิง” ที่จัดเต็ม “เพื่อผู้หญิง” ด้วยกันเอง ทั้งจากผู้หญิงที่อ้างตัวว่า “เป็นกลาง” ทางการเมือง และจากผู้หญิงที่สังกัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ผู้วิจารณ์เหล่านี้ใช้กรอบความคิดอะไรตัดสินคุณค่าของพฤติกรรมผู้หญิง กรอบความคิดและความคาดหวังแบบใดที่สังคมไทยใช้เป็นบรรทัดฐานตัดสินคุณค่าพฤติกรรมของเพศหญิง?

เป็นความเชื่อที่ยอมรับกันโดยทั่วไปโดยไม่ได้ตั้งคำถามว่า “น้ำตา” คือสัญญะที่สื่อความหมายถึงอารมณ์สะเทือนใจ ความอ่อนไหว ความเสียใจ ความอ่อนแอ ซึ่งเป็นลักษณะทางธรรมชาติที่พบในเพศหญิง เมื่อน้ำตาถูกนำมาเชื่อมโยงกับผู้นำหญิง “น้ำตานายกหญิง” จึงถูกให้ความหมายว่าเป็นความอ่อนไหว ความอ่อนแอ ความอ่อนหัด ความไร้วุฒิภาวะ ความไร้ฝีมือ ฯลฯ เป็นลักษณะทางธรรมชาติของผู้นำเพศหญิง ตรงกันข้ามกับลักษณะทางธรรมชาติของผู้นำเพศชาย ที่เชื่อกันว่าเข้มแข็ง อดทน อดกลั้นต่อสิ่งยั่วยุ ควบคุมกิเลสได้ มีวุฒิภาวะ ให้ความสำคัญกับเหตุผลมากกว่าอารมณ์ ฯลฯ

การอธิบายความเป็นเพศหญิงและความเป็นเพศชาย ด้วยการสร้างความหมายขั้วตรงข้าม เช่น ธรรมชาติ vs วัฒนธรรม, ดิบ vs สุก, อ่อนไหว vs เข้มแข็ง, อารมณ์ vs เหตุผล, หญิง vs ชาย ตลอดจนการเอาความเป็นเพศหญิงไปอธิบายผูกติดกับลักษณะทางธรรมชาติ (หญิง=ธรรมชาติ) และเอาความเป็นเพศชายไปอธิบายผูกติดกับลักษณะทางวัฒนธรรม (ชาย=วัฒนธรรม) ทำให้เกิดความเข้าใจว่า เพศหญิงมีลักษณะตามธรรมชาติที่อ่อนด้อยกว่าเพศชาย กรอบความคิดนี้เกิดจากอิทธิพลของทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่และเป็นมรดกตกทอดจากอารยะธรรมยุโรป ซึ่งมองว่า “ธรรมชาติ” ด้อยกว่า “วัฒนธรรม” ดังนั้นเพศหญิงที่มีแนวโน้มใกล้ชิดธรรมชาติมากกว่าจึงด้อยกว่าเพศชายไปด้วย

กรอบความคิดในการนิยามเพศชายหญิงโดยสร้างความหมายแบบขั้วตรงข้ามแบบตายตัว นับเป็นพื้นฐานของอคติทางเพศต่อผู้หญิง กรอบความคิดนี้ถูกตั้งคำถามและปฏิเสธแม้ในสังคมยุโรปซึ่งเป็นต้นตอของความคิดนี้ ความจริงแล้วชายและหญิงต่างก็มีส่วนประกอบที่มาจากลักษณะทางธรรมชาติและวัฒนธรรมผสมผสานกัน ทว่าแนวคิดแบ่งขั้วแยกข้างทางเพศกลับถูกตอกย้ำในสื่อไทย ราวกับเป็นสัจพจน์และอุดมคติที่ต้องไปให้ถึง หากต้องการเป็นชายจริงหญิงแท้

ผู้นำต้องไม่ร้องไห้—มายาคติ Thailand only

ในทางตรงกันข้าม “น้ำตาของผู้นำชาย” ไม่ได้ถูกเชื่อมโยงกับลักษณะตามธรรมชาติของเพศชาย แต่กลับถูกให้ความหมายเชื่อมโยงกับมิติทางวัฒนธรรม “น้ำตาของผู้นำชาย” มักจะถูกตีความว่าแสดงถึงความรู้สึกรับผิดชอบ ถึงขนาดว่า "ลูกผู้ชายยังต้องหลั่งน้ำตา" เช่น การร้องไห้ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในการปราศรัยหาเสียงก่อนจะมีการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เมื่อพูดถึงกรณี “เผาบ้านเผาเมือง” กลับไม่มีใครวิจารณ์ว่า “ใช้อารมณ์” “อ่อนแอ” “ขาดภาวะผู้นำ” “ใช้มารยาชาย” “บีบน้ำตาเรียกคะแนนสงสาร” “ทำลายภาพพจน์ผู้ชายให้เสียหาย” แต่อย่างใด การให้ความหมาย “การหลั่งน้ำตาของผู้ชาย” จึงแตกต่างจาก “การหลั่งน้ำตาของผู้หญิง” ความแตกต่างในการตีความ “น้ำตาผู้นำ” เพศชายกับเพศหญิงเช่นนี้ สะท้อนอคติทางเพศที่มีอยู่ในสังคม ทว่าไม่ใช่อุดมคติดั้งเดิมในสังคมไทยแต่อย่างใด

วรรณคดีไทยหลายเรื่องกล่าวถึงตัวพระเอกร้องไห้จนเป็นลมสลบไป พฤติกรรมดังกล่าวไม่ถือว่าน่าอายหรือผิดปกติ ก่อนการรับเอากรอบความคิดในเรื่องเพศจากยุโรปเข้ามา สังคมไทยไม่ได้ตัดสินคุณค่าพฤติกรรมชายหญิงแบบเดียวกับในปัจจุบัน การร้องไห้ไม่ว่าชายหรือหญิงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และไม่ได้ถูกตีความว่าเป็นความอ่อนแอและไร้ภาวะผู้นำ เช่น การที่ผู้ชายที่โตแล้วร้องไห้ขณะฟังเสียงร้องทำขวัญนาค กลับแสดงวุฒิภาวะ คุณธรรมและการเติบโตผู้ชาย

เมื่อมองไกลออกไป การหลั่งน้ำตาของผู้นำในสังคมอื่นๆ ก็ไม่ถูกตีความว่าเป็นลักษณะทางธรรมชาติที่อ่อนแอและไม่ได้เป็นสิ่งที่ผูกติดกับความเป็นเพศหญิง ตอนเกิดสึนามิครั้งใหญ่ นายกญี่ปุ่นก็ร้องไห้ แต่กลับไม่เห็นคนญี่ปุ่นออกมาโจมตีว่านายกของเขาช่างอ่อนแอหรือขาดวุฒิภาวะผู้นำ คุณพิภพ อุดมอิทธิพงศ์ เขียนเอาไว้ในเฟซบุ๊คว่า การร้องไห้ของผู้นำหญิงในประเทศอื่นๆ เช่น เอวิต้า เปรอง (Eva Perón) ภรรยาลำดับที่สองของประธานาธิบดี ฮวน เปรอง (Juan Perón) แห่งอาร์เจนตินาที่สนับสนุนให้ผู้หญิงในอาร์เจนตินามีสิทธิเลือกตั้งเท่าเทียมกับชาย กลับได้รับการยกย่อง ส่วนการร้องไห้ของนางฮิลลารี คลินตัน ช่วงรณรงค์หาเสียงเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ก็ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นความอ่อนแอ แม้จะถูกบางคนตีความว่าเป็น “น้ำตาการเมือง” ดังนั้นการเรียกร้องว่าผู้นำหญิงไทยจะต้องไม่ร้องไห้ จึงเป็นมายาคติ เป็นแฟนตาซีแบบ Thailand only ห้ามลอกเลียน

วิธีคิดแบบผู้หญิง?

รสนา โตสิตระกูล สว.หญิงชื่อดังแห่งกรุงเทพฯ เขียนในเฟซบุ๊คส่วนตัวเปรียบเทียบ “น้ำ” เท่ากับ “เพศหญิง” และบอกว่าการแก้ปัญหาน้ำท่วมของนายกปู เป็น “การแก้ปัญหาแบบผู้ชาย” ดังนี้ “น่าเสียดายที่เรามีนายกฯ เป็นผู้หญิง แต่ไม่เข้าใจการแก้ปัญหาที่ใช้คุณลักษณะของความเป็นผู้หญิง ที่มีคุณลักษณะของอิตถีภาวะ คือความอ่อน แปรเปลี่ยนตามสภาวะแวดล้อม การแก้ปัญหาที่มุ่งมั่นทำอยู่นี้ เป็นลักษณะของปุริสภาวะ คือแก้ปัญหาแบบผู้ชาย เน้นความแข็งกระด้างในการเอาชนะ ดูได้จากวิธีการสร้างคันคูแข็งแรงเพื่อสู้กับน้ำ โดยไม่เข้าใจว่าความอ่อน ความไหลของน้ำจะโอบล้อมและทำลายของแข็งเหล่านั้น ต่อมาเธอได้ตอกย้ำผ่านทางทีพีบีเอสว่าเธอไม่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมของนายกยิ่งลักษณ์ ที่ใช้ “วิธีการแบบผู้ชาย” แต่เรียกร้องให้ใช้ “วิธีการแบบผู้หญิง” แทน

คุณรสนาไม่ได้อธิบายอย่างกระจ่างว่า “วิธีการแก้ปัญหาแบบผู้หญิง” ในที่นี่หมายถึงอะไรกันแน่ หากกล่าวอย่างคลุมเครือว่า “คุณเป็นผู้หญิง คุณต้องรู้จักวิธีแก้ปัญหาแบบผู้หญิง” สื่อความหมายโดยนัยว่า “วิธีคิด” เป็นเรื่องที่ผูกติดกับ “ความเป็นเพศ” ตามธรรมชาติ อีกทั้งยังมีวิธีคิดยังสามารถแบ่งแยกได้ตามเพศอีกด้วย นำไปสู่คำถามว่า คุณรสนารู้ได้อย่างไรว่าวิธีคิดอย่างไรเป็นวิธีคิดแบบผู้ชายหรือแบบผู้หญิง? ใครคือคนที่มีอำนาจชอบธรรมที่จะตัดสินว่า วิธีคิดแบบเพศชายเป็นปัญหา และวิธีคิดแบบเพศหญิงคือคำตอบ? และยังมีคำถามอีกว่า ต่อให้มีวิธีคิดแบบเพศหญิงอยู่จริงๆ วิธีแก้ปัญหาแบบเพศหญิงจะทำได้สัมฤทธิ์ผลหรือไม่ ภายใต้โครงสร้างสังคมไทยที่ถือเอาเพศชายเป็นใหญ่?

อย่างไรก็ดี ในท่ามกลางความคลุมเครือของการเรียกร้อง “วิธีการแบบผู้หญิง” คุณรสนากลับเรียกร้องให้นายกแสดงออกซึ่ง “ภาวะผู้นำที่เด็ดขาด” “การกล้าตัดสินใจ” “การป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพให้ได้” “การพาน้ำกลับลงทะเลให้เร็วที่สุด” วิธีการดังกล่าว ใช่ “วิธีการแบบผู้ชาย” หรือไม่? เพราะเน้นการเอาชนะและควบคุมธรรมชาติ ซึ่งคุณรสนาเองกำลังต่อต้าน แต่หลายคนเรียกร้องให้ทำ

โสเภณีกับวาทกรรมว่าด้วยเพศ

เป็นความจริงอย่างที่พิธีกรรายการตอบโจทย์ทางทีพีบีเอสกล่าวว่า “ขณะนี้เราไม่ได้เผชิญกับวิกฤตน้ำท่วมเท่านั้น แต่เราเผชิญกับวิกฤตความเป็นผู้นำด้วย” การสร้างภาพ “วิกฤตภาวะผู้นำ” ผ่านสื่อกำลังสร้างอคติทางเพศด้วย การใช้ประเด็นเรื่องเพศมามุ่งเอาชนะทางการเมือง เช่น คำพูดของเอกยุทธ อัญชันบุตร ที่เขียนในเฟชบุ๊คเรียกร้องให้นายกลาออก ด้วยการให้เหตุผลเชิงเปรียบเทียบว่านายกเป็นตัวแทนของ “สาวเหนือที่ไร้การศึกษาหรือขี้เกียจ และด้อยปัญญา” ดังนั้นจึง “เหมาะจะมาทำงานสบายที่หญิงปกติไม่ทำกัน หลักๆ ก็คือขายบริการ” มากกว่า คำพูดดังกล่าวนับว่าได้ก้าวไปไกลกว่าการวิพากษ์นายกหญิง แต่กำลังถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเป็นการดูถูกผู้หญิง และเป็นการเหยียดหยามหญิงขายบริการทางเพศ

ความพยายามในการช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองในภาวะวิกฤตของสังคม โดยเปรียบเทียบ “เพศหญิง” กับลักษณะด้อยต่างๆ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีหลักฐานสนับสนุน ไม่ได้วางอยู่บนลักษณะทางธรรมชาติจริงๆ ของเพศหญิง แสดงถึงอคติทางเพศที่มีต่อผู้หญิงอย่างชัดเจน หากว่าการห้ามผู้นำหญิงร้องไห้กลายเป็นบรรทัดฐานของสังคมขึ้นมาจริงๆ สิ่งแรกที่ผู้หญิงต้องทำเมื่อเข้าสู่พื้นที่สาธารณะ ก็คือการต้องพยายามเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นเพศชาย เพื่อให้มีลักษณะที่พึงประสงค์ ดังนั้นการเรียกร้องให้ผู้หญิงก้าวสู่พื้นที่สาธารณะให้มากขึ้นดังที่นักสตรีนิยมรณรงค์มาตลอด ก็คงไม่มีผลช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างชายหญิงกระมัง 

 

-----------------------------------------------

อ้างอิง
I    “คุณหญิงกัลยา” เหน็บ “ยิ่งลักษณ์” น้ำตาไม่ช่วยแก้ปัญหา
II   มติชน:ปชป.อัด"ยิ่งลักษณ์ อย่าบีบน้ำตา หาข้ออ้างหนีความรับผิดชอบ
III  ตัวจริงหรือไม่! บิลลี่ โอแกน ด่ารัฐบาลยับ สมควรลาออก
IV  มติชน:จากผู้หญิงถึงผู้หญิง: เมื่อ "เอิน กัลยกร" วิพากษ์ "ยิ่งลักษณ์" สตรีผู้ขี่ม้า (น้ำ)
V   ตอบโจทย์ :"ยิ่งลักษณ์" กับภาวะผู้นำช่วงวิกฤต
VI  Voice TV สวนดุสิตโพลระบุ ปชช.มองนายกฯร้องไห้กระทบภาพลักษณ์ผู้นำ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อิตาลีฉลอง 'แบร์ลุสโคนี' ลาออก

Posted: 13 Nov 2011 02:08 AM PST

หลังจากดำรงตำแหน่งนายกฯ อิตาลีมา 17 ปี 'แบร์ลุสโคนี' ลาออกแล้ววานนี้ตามสัญญา หลังรัฐสภาโหวตอนุมัติแผนปฏิรูปศก. เพื่อรัดเข็มขัดตามข้อเรียกร้องของอียู 

นายกรัฐมนตรีซิลวิโอ แบร์ลุสโคนีของอิตาลีลาออกจากตำแหน่งแล้วเมื่อคืนวันที่ 12 พ.ย. หลังรัฐสภาลงมติอนุมัติแผนปฏิรูปเศรษฐกิจและมาตรการตัดลดรายจ่าย เพื่อบรรเทาวิกฤติหนี้จำนวนมหาศาลตามข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป (อียู) ถือเป็นการปิดฉากเส้นทางชีวิตทางการเมืองอันยาวนาน 17 ปีท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้เขาลาออกด้วยคดีอื้อฉาวทางเพศและคอร์รัปชั่น และกระแสกดดันจากวิกฤติเศรษฐกิจ 

ทำเนียบประธานาธิบดีแถลงว่า แบร์ลุสโคนี ได้ยื่นหนังสือลาออกต่อประธานาธิบดีจิออร์จิโอ นาโปลิตาโนเมื่อคืนวาน และประธานาธิบดีจะขอให้นายมาริโอ มอนติ วัย 68 ปี นักเศรษฐศาสตร์ และอดีตกรรมาธิการยุโรป เป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาล โดยจะเชิญพรรคการเมืองต่างๆร่วมหารือในช่วงเช้าวันนี้ตามเวลาท้องถิ่น 

การลาออกของแบร์ลุสโคนี วัย 75 ปีเป็นไปตามคำสัญญาที่ประกาศไว้เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ว่าจะก้าวลงจากตำแหน่งเมื่อรัฐสภาลงมติอนุมัติแผนปฏิรูปเศรษฐกิจและมาตรการตัดลดรายจ่าย และทั้งสองสภาโหวตเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นจากนั้นประธานาธิบดีได้ลงนามบังคับใช้ในบ่ายวันเดียวกัน 

ทั้งนี้ มาตรการรัดเข็มขัดที่อียูเรียกร้องให้จัดทำ มีเป้าหมายในการประหยัดเงินงบประมาณให้ได้ราว 59.8 พันล้านเหรียญยูโร โดยวิธีการต้องตัดค่าใช้จ่าย และเพิ่มการจัดเก็บภาษี  แล้วไปทำงบประมาณสมดุลระหว่างรายรับกับรายจ่ายให้ได้ในปี 2014 ซึ่งมีรายละเอียดประกอบด้วย

  • เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)จากระดับ 20 % เป็น 21 %
  • ตรึงเงินเดือนลูกจ้างของภาครัฐไปจนกว่าจะถึงปี 2014
  • อายุเกษียณสำหรับผู้หญิงลูกจ้างในภาคเอกชนจะค่อยๆเพิ่มขึ้นจาก 60 ปีในปี 2014 ไปเป็น 65 ปีในปีค.ศ.2026  เช่นเดียวกับผู้ชาย
  • สร้างมาตรการที่เข้มแข็งจัดการกับผู้ที่หลบเลี่ยงภาษีอย่างเข้มงวด และเอาจริงเอาจัง  รวมถึงการกำหนดให้ทำธุรกรรมทางด้านเงินสดที่เป็นเงินยูโร ได้อย่างมาก 2500 ยูโร
  • สร้างมาตรการภาษีฉบับพิเศษ ในการเก็บภาษีทางด้านธุรกิจพลังงานให้มากขึ้น
ไม่เพียงรัฐบาลอิตาลี ต้องทำตามมาตรการที่กลุ่มอียู และไอเอ็มเอฟ.เรียกร้องมาเหล่านี้เท่านั้น ทางอียู จะส่งทีมงานเข้ามาทำงานตรวจสอบและวางระบบสร้างมาตรการให้ในโรม  เพื่อที่จะลดภาระหนี้ที่สูงถึง 120 % ของ GDP ให้ได้ด้วย
 
ชาวอิตาลีหลายพันต่างออกมาแสดงความยินดีตามท้องถนนในกรุงโรม พร้อมกับโบกธงชาติและเต้นรำ และตะโกนคำว่า "ตัวตลก" ระหว่างที่รถของแบร์ลุสโคนีเข้าไปในทำเนียบประธานาธิบดีเพื่อยื่นหนังสือลาออก นอกจากนี้ตอนที่แบร์ลุสโคนีร่วมประชุมกับคณะรัฐมนตรีครั้งสุดท้ายเพื่ออำลาตำแหน่ง ก็มีฝูงชนไปตะโกนขับไล่เขาที่ด้านนอกทำเนียบรัฐบาล และบางคนตะโกนคำว่า "น่าละอาย"  "ลาออก" หรือชูป้ายคำว่า"ลาก่อนซิลวิโอ" ระหว่างเดินขบวนไปตามท้องถนนด้วย 
    
แบร์ลุสโคนีนับเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดของประเทศนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เขาชนะการเลือกตั้ง 3 ครั้ง และบริหารประเทศรวม 10 ปีนับตั้งแต่เข้าสู่เวทีการเมืองในปี 2537 แต่ตลอดการบริหารประเทศ ต้องเผชิญเสียงเรียกร้องให้ลาออกมานานแล้วด้วยข้อกล่าวหาและการดำเนินคดีข้อหาคอร์รัปชั่นและเรื้องอื้อฉาวทางเพศ โดยเฉพาะเรื่องล่าสุดการซื้อบริการทางเพศจากสาววัย 17 ปี จนกระทั่งล่าสุดทนแรงกดดันไม่ไหวจากวิกฤติหนี้ของประเทศที่สูงถึง เกือบ 1.9 ล้านล้านยูโร และนายมอนติ ตัวเก็งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เตรียมจัดตั้งรัฐบาลที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ใช่นักการเมือง หรือเทคโนแครต เพื่อเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นของตลาด ด้วยการเร่งตัดลดหนี้สินจำนวนมหาศาล ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีพุ่งสูงถึง 7.4% ก่อนลดลงอยู่ที่ราว 7% จนสร้างความวิตกไปทั่วโลก
 
ที่มา: เรียบเรียงจาก คมชัดลึก, อุณหภูมิเศรษฐกิจ 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ว่าด้วยการร้องไห้ (On weeping and crying)

Posted: 13 Nov 2011 12:54 AM PST

“I have been crying," she replied, simply, "and it has done me good. It helps a woman you know, just as swearing helps a man.”

“ฉันร้องไห้มาตลอด” เธอตอบอย่างตรงไปตรงมา “มันทำให้รู้สึกดี ร้องไห้มีประโยชน์ต่อผู้หญิง ดุจเดียวกับการด่าสำหรับผู้ชาย”

Horace Annesley Vachell นักเขียนชาวอังกฤษใน The Romance of Judge Ketchum

ไม่น่าเชื่อว่าการร้องไห้ออกสื่อของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (บางคนว่าแค่น้ำตาปริ่ม ๆ on the verge of tears) จะกลายเป็นประเด็นให้ท่าน ส.ส. ส.ว. นักการเมือง สื่อมวลชนเอามาวิจารณ์กันเป็นวรรคเป็นเวร ออกรายการพูดคุยทางโทรทัศน์ก็มี (เห็นว่าออกทางทีวีไทย ซึ่งผมไม่ค่อยได้ดู นอกจากรายงานข่าวของเขา)

คำวิจารณ์ส่วนใหญ่ออกมาในแนวดูถูกท่านนายกฯ ที่เป็นถึงผู้นำ(หญิง) แต่กลับแสดงมารยาหญิง แสดงความ “อ่อนแอ” ผ่านทางน้ำตา วิเคราะห์กันไปจนถึงว่ามันสะท้อน “ความอ่อนแอ” ของภาวะความเป็นผู้นำของท่าน และยังสะท้อน “ความไม่รู้” หรือ “อวิชชา” ของผู้นำประเทศที่เป็นหญิงของเรา

วันก่อน สว.(หญิง) ท่านหนึ่งถึงกับเขียนใน fb ตัวเองว่า “น่าเสียดายที่เรามีนายกฯเป็นผู้หญิง แต่ไม่เข้าใจการแก้ปัญหาที่ใช้คุณลักษณะของความเป็นผู้หญิง” ท่านอธิบายต่อว่า ท่านนายกฯ ของเราน่าจะ “ยอมทำตามความปรารถนาของน้ำที่ต้องการกลับทะเล โดยเราต้องอำนวยความสะดวกให้น้ำได้เดินทางกลับ เข้าใจธรรมชาติของน้ำที่ต้องไปที่ต่ำ” และยังบอกด้วยว่า “การแก้ปัญหาที่มุ่งมั่นทำอยู่นี้ เป็นลักษณะของปุริสภาวะ คือแก้ปัญหาแบบผู้ชาย เน้นความแข็งกระด้างในการเอาชนะ ดูได้จากวิธีการสร้างคันคูแข็งแรงเพื่อสู้กับน้ำ”

ฟังดูดี แต่ผมว่ามันไม่เกี่ยวอะไรกับเพศสภาพ (gender) หรือสถานะความเป็นหญิงหรือชายของผู้นำประเทศเลย เพราะไอ้ที่มันกั้นคูคลองน่ะ มันทำกันทั้งประเทศ ไม่ใช่เป็นคำสั่งจากผู้นำ “หญิง” เสียคนเดียวเมื่อไร ไม่เชื่อไปถาม อบต.แถว ๆ บ้านท่าน ส.ว. ก็ได้นะ แสดงว่าปัญหาในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ มันเป็นเพราะปุริสภาวะที่เข้าไปครอบงำในทุกวงการและทุกระดับ (masculinization หรือจะเรียกว่าเป็น defeminization ก็ได้) ไม่ใช่เป็นเพราะระดับหัวสุดของประเทศหรอก และถ้าจะวิจารณ์ ก็ควรวิจารณ์วิธีการจัดการน้ำทั้งระบบ ทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อการกักเก็บน้ำและปล่อยน้ำด้วย 

ทีนี้ผมว่าคนที่ดูแคลนน้ำตาเป็นคนที่น่าหัวเราะเป็นอย่างยิ่ง เพราะน้ำตา การร้องไห้ (weeping, crying) มันอยู่คู่กับมนุษยชาติมานานแสนนาน ตราบที่เรายังมีความเป็นมนุษย์กันอยู่บ้าง ตั้งแต่เรื่องของศาสนาที่โยงถึงศิลปกรรมเลยทีเดียว (อย่าง weeping statue ก็เป็นประติมากรรมที่สะท้อนความเชื่อและศรัทธาในพระศาสนาอย่างลึกซึ้ง ทั้งในในรูปของพระแม่มารีร้องไห้ หรือน้ำตาพระเยซูเจ้า)

การร้องไห้ยังมีบทบาทหน้าที่ประการต่าง ๆ ในทางการเมืองมากมาย เอาง่าย ๆ คำว่า “cry” ที่แปลว่าร้องไห้เนี่ยกลายเป็นคำที่มีนัยทางการเมือง และใช้กันจนเป็นสำนวนสามัญไป ไม่ว่าจะเป็น

“Outcry” ซึ่งหมายถึงการประท้วงหรือต่อต้านอย่างรุนแรง (A strong protest or objection) อย่างประโยคที่ว่า “public outcry over the rise in prices.” (“ประชาชนต่างร้องระงมคัดค้านการขึ้นราคาสินค้า”)

“Cry foul” อันนี้พบบ่อยมากในทางการเมือง เป็นการแสดงความเห็นเมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นธรรมหรือขัดต่อหลักกฎหมาย (to say that something which has happened is unfair or illegal) อย่างเช่น ประโยคที่ว่า “The opposition parties have cried foul at the president's act, seeing it as a violation of democracy.” (“พรรคฝ่ายค้านร้องระงมคัดค้านการกระทำของประธานาธิบดีที่พวกเขาเห็นว่าขัด ต่อระบอบประชาธิปไตย”)

คำว่า “cry” เอามาตั้งเป็นชื่อหนังการเมืองก็มีอย่าง Cry freedom ของท่านเซอร์ Richard Attenborough ซึ่งว่าด้วยปัญหาการแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ ยังมีอีกนะ ช่วย ๆ กันคิด

ส่วน “cry” ที่นำมาใช้ในเพลงนอกเหนือจากเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ก็มีมากมายมหาศาล ที่ผู้เขียนว่าดังสุดและประทับใจมากสุดน่าจะเป็น Don't Cry for Me Argentina เพลงประกอบละครเพลงของ Andrew Lloyd Webber นี่แหละ เรื่องราวชีวิตอันเต็มไปด้วยสีสันของ Eva Perón หรือที่คนไทยมักคุ้นในชื่อ “Evita Perón” หรือ “เอวิต้า เปรอง” นั่นเอง

 

สำหรับท่านที่ไม่คุ้นเคย เอวิต้า เปรองเป็นภรรยาลำดับที่สองของประธานาธิบดี Juan Perón แห่งอาร์เจนตินา และได้ดำรงตำแหน่งเป็น First Lady ตั้งแต่ปี 2489-2495 นอกจากสีสันทางการเมืองที่สนับสนุนประชานิยมขนานแท้ในละตินอเมริกาแล้ว ถือได้ว่าท่านเป็นผู้หญิงระดับสูงคนแรก ๆ เป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งที่สนับสนุนร่างพระราชญัตติที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงในอาร์เจนตินามีสิทธิเลือกตั้งเท่าเทียมกับชาย (universal suffrage) จะเป็นเหตุให้ล่าสุดอาร์เจนตินามีประธานาธิบดีหญิงถึงสองสมัยหรือเปล่า ผมก็ไม่ทราบได้ (ประธานาธิบดี Cristina Fernández de Kirchner)

Don't Cry for Me Argentina เป็นเพลงที่ร้องในองก์สองระหว่างที่สมมติของเอวิต้ายืนอยู่บนระเบียงของทำเนียบประธานาธิบดี หรือ La Casa Rosada (ปราสาทสีชมพู) เพื่อปราศรัยต่อมวลมหาประชาชนของอาร์เจนตินา ทั้งท่วงทำนองและคำร้องแสดงถึงอารมณ์พลุ่งพล่านและความยืนหยัดไม่ยอมแพ้ สำหรับคนที่ประชาชนทั้งรักทั้งเกลียดอย่างผู้นำหญิงท่านนี้ เนื้อเพลงท่อนสร้อยบอกว่า

“Don't cry for me Argentina
The truth is I never left you
All through my wild days
My mad existence
I kept my promise
Don't keep your distance.”

“อย่าร้องไห้เพื่อฉันเลย อาร์เจนตินา
ความจริง ฉันไม่เคยจากพวกเธอไป
แม้ฉันจะเคยมีอดีตอันปั่นป่วน
แม้ฉันจะเป็นที่ชิงชังรังเกียจ
ฉันยังรักษาสัญญา
อย่าถอยห่างจากฉันไป” 

แน่นอนว่าเมื่อเดือนพฤษภาคม 2495 ตอนที่เอวิต้า เปรองตายไป เธอคงไม่มีโอกาสร้องเพลงนี้แน่ เป็นจินตนาการของผู้ประพันธ์เพลงที่ต้องการใช้การร้องไห้เพื่อสื่อถึงความรักที่มีต่อมวลมหาประชาชนของสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งท่านนี้

การร้องไห้เพื่อเรียกคะแนนเสียงก็มี ซึ่งผมออกจะไม่เห็นด้วย (ก็ผู้เขียนเป็นผู้ชายไง) เพราะมันไม่แฟร์เท่าไร

อย่างช่วงรณรงค์หาเสียงเพื่อรับเลือกตั้งเป็นตัวแทนแข่งขันชิงตำแหน่ง ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของนางฮิลลารี คลินตันเมื่อปี 2551 ช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงซึ่งผลการเลือกตั้งก่อนหน้านั้น คะแนนของเธอค่อนข้างถูกนายบารัก โอบามาทิ้งห่าง ปรากฏว่าเราได้เห็นน้ำตาของนางคลินตันที่สื่อเอาไปขยายผลกันแทบทุก วัน(http://www.dailymail.co.uk/femail/article-512715/Tears-womans- powerful-manipulative-weapon-Hillary-weep-way-White-House.html) ซึ่งก็ไม่ได้ช่วยอะไรหรอกนะ
 
ที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ร้องไห้ จะเป็นเพราะต้องการเรียกคะแนนเสียงหรือไม่ ผมคงฟันธงไม่ได้ แต่ถ้าเป็นการร้องไห้ก่อนการเลือกตั้ง หรือระหว่างชิงชัยทางการเมืองที่ขับเคี่ยวกันอย่างฉิวเฉียด ก็อาจอนุมานได้ว่าเป็น “น้ำตาการเมือง” โดยแท้
 
แต่ในสภาวะที่เป็นอยู่ ผมมองไม่เห็นความจำเป็นที่คุณยิ่งลักษณ์ต้องหลั่งน้ำตาเพื่อการเมือง สำหรับผู้นำประเทศที่มาจากการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงชนะขาดลอย สำหรับผู้นำที่ยังไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ จากผลสำรวจความเห็นประชาชนในแง่การแก้ไขปัญหา ยังไม่ถูกคนทั่วไปก่นด่าสาปแช่ง (ยกเว้นพวกสลิ่มปริ่มน้ำ) ผมมองไม่เห็นเหตุผลที่คุณยิ่งลักษณ์ต้องร้องไห้เพื่อการเมือง
 
ผมกลับมองว่าคุณยิ่งลักษณ์ร้องไห้ เหมือนกับที่มนุษย์ปุถุชนทั่วไปเขาทำกัน เวลาที่รู้สึกเสียใจ เศร้าใจกับความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไม่จำเป็นต้องผู้มีคุณธรรมสูงส่งนักหรอก ใครก็ร้องไห้ได้ ดังที่ฝรั่งนักสื่อสารมวลชนและครูท่านหนึ่ง (Sam Levenson) เคยกล่าวเชิงประชดประเทียดเสียดสีไว้ว่า
 
“Any beast can cry over the misfortunes of its own child. It takes a mensch to weep for others' children.”
 
“สัตว์เดรัจฉานยังร้องไห้เมื่อลูกตนเองถึงคราวเคราะห์ แต่มนุษย์ผู้สูงส่งด้วยคุณธรรมเท่านั้นจึงร้องไห้เพื่อลูกคนอื่นได้”
 
กระไรน้ำตามนุษย์จะเป็นสิ่งที่ขาดแคลนและถูกดูแคลนเช่นนี้ แม้แต่สัตว์ยังร้องไห้ได้ มนุษย์จะประหยัดน้ำตาได้ถึงขนาดนั้นหรือ

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บันทึกจากอ้อมน้อย: แรงงานพม่ากับปัญหาที่ทับทวีจากน้ำท่วม

Posted: 13 Nov 2011 12:19 AM PST

ติดตามมูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่าลงพื้นที่อ้อมน้อย ที่มีแรงงานชาวพม่ารอความช่วยเหลืออยู่กว่า 3,000 คน อาหาร น้ำ ยารักษาโรค เป็นความตองการพื้นฐาน แต่พวกเขายังมีปัญหาอื่นๆ ที่หนักหน่วงกว่าต้องเผชิญ นั่นคือ การตัดสินใจเกี่ยวกับชะตากรรมของตัวเอง

บันทึกจากอ้อมน้อย: แรงงานพม่ากับปัญหาที่ทับทวีจากน้ำท่วม

11 พฤศจิกายน 2554 ประชาไทติดตามทีมงานของมูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า ไปในเขตอุตสาหกรรม ในเขตเทศบาลนครอ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร โดยมูลนิธิฯ ได้รับการสนับสนุนด้านการเดินทาง และถุงยังชีพจากสภากาชาดไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารกระป๋องพร้อมรับประทานเพียงพอสำหรับ 3 วัน ผ้าอ้อมเด็ก ยารักษาโรคพื้นฐาน

เราออกเดินทางกันในช่วงสาย โดยรถบรรทุกขนาดใหญ่และสูงเป็นพิเศษจากบริษัทบ้านปู จำกัด ระดับน้ำที่สูงเกินกว่า 1 เมตร มีเพียงรถบรรทุกขนาดใหญ่และเรือเท่านั้นที่จะใช้เป็นพาหนะไปสู่จุดหมายปลายทาง

ศุภสันส์ ภูมิไชยา นักศึกษาปริญญาโท จากคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ อาสาสมัครของมูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า แกนหลักในการประสานงานกับทั้งแรงงานพม่าและสภากาชาดไทยในการลงพื้นที่คราวนี้ให้ข้อมูลว่า ที่มาไปในการเข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบภัยชาวพม่าเกิดจากการรวมตัวขององค์กร 5 แห่งได้แก่ มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย แผนกสร้างเสริมสุขภาพแรงงาน ของ สสส. และมูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า

“น้ำท่วมตอนนี้ก็เลยกลายเป็นภารกิจฉุกเฉินของพวกเราใน 5 องค์กรที่มารวมตัวกัน ซึ่งจะมาช่วยดูกันในส่วนที่ตัวเองถนัด ถ้าเป็นของผม ก็จะเป็นมูลนิธิร่วมไทย-พม่า ก็จะถนัดในเรื่องของแรงงานข้ามชาติ ถ้าเป็นมูลนิธิเพื่อนหญิง ก็จะถนัดในเรื่องเด็กและสตรี เราก็จะมีการทำงานร่วมกัน แต่ว่าจะมุ่งเป้าหมายหลักในส่วนที่ตัวเองถนัด”

ศุภสันส์ ภูมิไชยา : บันทึกจากอ้อมน้อย: แรงงานพม่ากับปัญหาที่ทับทวีจากน้ำท่วม

ศุภสันส์ ภูมิไชยา อาสาสมัครมูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า ผู้ประสานให้ความช่วยเหลือแรงงานพม่า

จำนวนแรงงานชาวต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่ เทศบาลอ้อมน้อยเท่าที่มูลนิธิมีข้อมูลขณะนี้ร่วม 3,000 คน ก็มีทั้งส่วนที่ทำงานอยู่และไม่ได้ทำงาน

“อันนี้เป็นเพียงแค่ส่วนเล็กน้อย เพราะพื้นที่มีจำนวนเยอะกว่ามาก ตัวเลขตอนนี้ยังไม่นิ่ง เราก็ได้รับแจ้งมาเรื่อยๆ เพราะตอนนี้น้ำเริ่มท่วมไปในจังหวัดสมุทรสงคราม นครปฐม ซึ่งจะเป็นกลุ่มของแรงงานข้ามชาติที่อยู่เยอะมาก ตอนนี้ก็เริ่มมีโทรศัพท์เข้ามามากขึ้น”

เฉพาะจุดที่เรากำลังจะมุ่งหน้าไปนั้น มีแรงงานชาวพม่าอยู่ 971 คน ประกอบด้วยชาย 446 คน หญิง 500 หญิงมีครรภ์ 15 คน เด็ก 12 คน และเด็กทารก 13 คน พวกเขาอยู่กับน้ำท่วมขังสูงมากกว่า 1 เมตรมาสัปดาห์เศษ และที่พักของพวกเขาส่วนใหญ่ถูกตัดน้ำตัดไฟไปแล้ว น้ำ กลายเป็นของมีราคาสูง และอาหารหาได้ยาก

รถของสภากาชาดไทย ไปได้แค่ปากซอยเท่านั้น ขณะที่มองเข้าไปในซอยซึ่งน้ำท่วมลึกถึงอก เรามองเห็นอพาร์ตเมนท์ทั้งขนาดใหญ่และเล็ก รวมไปถึงบ้านให้เช่าและห้องเช่าชนิดราคาถูก รถจอดเกยกับฟุตบาธที่มีระดับสูงกว่าพื้นที่โดยรอบ อาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ของกาชาดไทยเริ่มทยอยขนของลงจากรถบรรทุก ขณะที่ผู้ประสบภัยทั้งชาวไทยและชาวพม่าลุยน้ำมาถึงบ้างแล้ว

บันทึกจากอ้อมน้อย: แรงงานพม่ากับปัญหาที่ทับทวีจากน้ำท่วม

บันทึกจากอ้อมน้อย: แรงงานพม่ากับปัญหาที่ทับทวีจากน้ำท่วม

เราได้พูดคุยกับ อู้ ยู และมะเอไข่ ที่พอจะสื่อสารภาษาไทยได้บ้าง ยู ชาวเมืองทวาย อายุ 19 ปี เล่าว่า เขาอยู่เมืองไทยมา 3 ปีแล้ว ทำงานที่โรงงานผ้าใบมาได้ 2 เดือนก่อนที่น้ำจะท่วมสูงจนระดับอก ปกติเขาได้ค่าจ้างวันละ 215 บาท ขณะที่ค่าหอพักรวมค่าน้ำ-ไฟอยู่ที่ 2,500 บาทต่อเดือน ทำให้ตอนนี้มีปัญหาเรื่องการเงิน เพราะพอน้ำท่วมก็ไม่ได้ทำงาน แต่ยังต้องใช้เงินซื้ออาหาร น้ำดื่ม รวมถึงน้ำประปาด้วย เมื่อถามถึงความช่วยเหลือ ยูบอกว่า นอกจากสภากาชาดไทยที่มาในวันนี้ ก็มีกลุ่มแรงงานจากสระบุรี มหาชัย และพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยเข้ามา อย่างไรก็ตาม เขามองว่ายังมีเพื่อนแรงงานข้ามชาติที่ตั้งครรภ์ที่ต้องการความช่วยเหลือด้านสุขอนามัย ซึ่งรวมถึงน้ำดื่มด้วย

อู้ ชาวเมืองย่างกุ้ง วัย 37 ปี กล่าวว่า เขามาทำงานที่เมืองไทยได้ 20 กว่าปีแล้ว ขณะนี้อาศัยอยู่กับภรรยาและลูกสาววัย 5 ขวบ อู้ทำงานที่โรงงานไก่แหลมทองมา 3 ปีแล้ว โดยได้ค่าจ้างรายวันๆ ละ 215 บาท และค่าทำงานล่วงเวลาชั่วโมงละ 35 บาท หลังจากน้ำท่วมย่านอ้อมน้อยได้สองวันจนสูงถึงระดับเอว นายจ้างให้คนงานผู้หญิงไม่ต้องมาทำงาน ขณะที่คนงานชายให้มาทำความสะอาดและเก็บขยะ โดยจ่ายค่าแรงตามปกติ แต่หากใครไม่มาทำงาน ก็จะจ่ายครึ่งหนึ่งของค่าแรง ทั้งนี้ โรงงานของเขา มีคนงานประมาณ 700-800 คน โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติทั้งพม่า ไทยใหญ่ และกะเหรี่ยง

มะเอไข่ ชาวเมืองพะโค วัย 20 ปี กล่าวว่า เธอทำงานแผนกแพคของในโรงงานไก่แห่งหนึ่ง ได้ค่าแรงวันละ 215 บาท ค่าล่วงเวลาชั่วโมงละ 40 บาท พอน้ำท่วม โรงงานก็หยุด ทำให้ไม่มีรายได้ ตอนนี้อยากได้ไฟฟ้าและน้ำ เพราะที่หอพักไม่มี อย่างไรก็ตาม เธอบอกว่า อีกไม่กี่วันคงจะเดินทางกลับประเทศชั่วคราว และจะกลับมาหลังน้ำลด ขณะที่พี่สาวและพี่ชายของเธอยังตัดสินใจอยู่ต่อ

 

ปัญหาเร่งด่วน ทำความเข้าใจเรื่องสิทธิและข้อมูลประกอบการตัดสินใจ

มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า ลงพื้นที่ครั้งแรกวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา มีการนำถุงยังชีพไปให้ นำน้ำดื่ม อาหารสำเร็จรูปไปให้ และที่สำคัญคือ การแนะนำว่าพวกเขาจะใช้ชีวิตในช่วงสภาวะน้ำท่วมยังไง รวมถึงข้อควรระวัง หรือการใช้ชีวิตต่อจากนี้ว่า เขาควรที่จะดำเนินการต่อชีวิตต่อไปยังไง

ศุภสันส์บอกว่า ปัญหาเร่งด่วนตอนนี้ที่พบก็คือ หลายคนยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิและทางเลือกของตัวเอง

“แรงงานข้ามชาติจะแบ่งออกเป็นหลายประเภท อาจจะมีประเภทที่สมบูรณ์แบบ คือมีทั้งพาสปอร์ต มีใบอนุญาตทำงาน พวกนี้จะสามารถจัดการชีวิตตัวเองได้มากกว่า นอกจากนั้นจะมีคนที่มีพาสปอร์ต แต่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือว่าเป็นแรงงานที่ไม่มีทั้งสองอย่างเลย ซึ่งในแต่ละแบบจะมีปัญหาอยู่ที่ว่า ในภาวะน้ำท่วม นายจ้างอาจจะไม่ได้บอกอะไรกับคนเหล่านี้เลย ทำให้ลูกจ้างทั่วไปอาจจะโดนหยุด เลิกจ้างงาน พวกเขาก็จะไม่มีอะไรกิน ดังนั้นคนกลุ่มนี้อย่างแรกที่เขาคิดได้คือกลับบ้าน แต่ว่าการกลับบ้านของเขามันไม่ง่าย ไม่ง่ายทั้งการกลับและการเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง”

ปัญหาเบื้องต้นที่จะเกิดกับแรงงานข้ามชาติที่ต้องการกลับบ้านก็คือ เงินนอกระบบที่จะต้องจ่ายออกไป ทั้งขาออกจากประเทศไทย ขาเข้าประเทศพม่า และเรื่องจะกลับเข้ามาอีกรอบนั้น ยิ่งเป็นเรื่องยากยิ่งกว่า ส่วนแรงงานข้ามชาติที่ตัดสินใจอยู่ อาจเพราะไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอที่จะกลับบ้าน ก็จะต้องเผชิญกับการจ่ายเงินค่าหัวคิวให้กับนายหน้าที่สัญญาว่าจะช่วยหางานให้

“การไม่มีทางเลือกของแรงงานข้ามชาติว่าจะทำยังไงต่อ ก็จะมีกลุ่มของบริษัทนายหน้าจัดหางานเข้ามาเจาะกับกลุ่มนี้ แต่จะมีการหักค่าหัว บอกว่าถ้าเราพาคุณไปทำงานตรงนี้ คุณต้องจ่ายเปอร์เซ็นต์ให้ผม ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่ก็จะไม่รู้ว่าไปพึ่งใครได้ หรือว่าจะมีทางออกอย่างอื่นไหม เป็นประเด็นเกี่ยวกับด้านแรงงานที่ถือว่าเป็นประเด็นหลักๆ นอกจากการช่วยเหลือเบื้องต้นเรื่องอาหารการกิน”

 

มองระยะยาว ต้องให้พวกเขารวมตัวกันเพื่อปกป้องตัวเอง

“แผนขั้นแรกของเราคือ ให้ความรู้เบื้องต้น แผนขั้นที่สอง เราจะไปทำความรู้จักและสร้างระบบของเขา อย่างเช่นที่เราไปบริเวณปทุมธานี คลองหนึ่ง เขาจะอยู่เป็นซอยซึ่งต่างคนต่างอยู่ แต่เราจะใช้วิธี ขั้นแรกไปแจกของเพื่อทำความรู้จัก ขั้นที่สอง เราจะลงไปวางแผนกับเขาว่าจะทำยังไงให้เขาอยู่ร่วมกันเป็นระบบได้ เพราะว่าจะง่ายกับการติดต่อครั้งต่อไป อันนี้เป็นแนวทางของเครือข่ายเราทั้ง 5 เครือข่าย เครือข่ายเราไม่ได้ไปแจกของแล้วจบ เวลาเราไปแจกก็ต้องว่างแผนว่า ขั้นที่หนึ่งเราไปแจก ขั้นที่สอง เราต้องไปทำความรู้จักหรือว่าวางแผนกับเขาอย่างไรต่อ ซึ่งในแต่ละที่ก็จะมีการติดตามผลว่ามันเป็นอย่างไนเพิ่มเติม” ศุภสันส์กล่าวถึงเป้าหมายการทำงาน

สำหรับความต้องการเพิ่มเติม เบื้องต้นตอนนี้ก็ยังเป็นถุงยังชีพ อาหารแห้ง เพราะผู้ประสบภัยจำนวนมากยังไม่มีงานทำ เนื่องจากโรงงานปิด หรือหยุดไปเพราะน้ำท่วม ทำให้แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ไม่มีเงิน ดังนั้นอย่างแรกคืออาหารการกิน ถุงยังชีพที่พวกเขาจำเป็นต้องการอยู่ อย่างที่สองคือ แหล่งของงาน

“ถ้ามีโรงงานไหน ที่ทำงานไหนต้องการแรงงานหรือว่าอย่างไร พวกเราก็อยากจะรับมาเป็นศูนย์ข้อมูลที่จะส่งต่อ อันนี้เป็นความต้องการต่อจากขั้นแรกที่เราแจกของอยู่”

 

ความช่วยเหลือจากหมอไร้พรมแดน: พวกเขาคือกลุ่มที่มีโอกาสเข้าถึงบริการด้านสุขภาพน้อยที่สุด

ขณะที่ละล้าละลังอยู่ระหว่างแถวแนวของผู้ประสบภัยที่รอรับถุงยังชีพจากสภากาชาดไทย นั้น เราเห็นชายหญิงคู่หนึ่ง สวมเสื้อชูชีพสีเขียวสด เดินอยู่ท่ามกลางผู้คน เมื่อทักทายได้ความว่า เป็นทีมงานขององค์การหมอไร้พรมแดน (Medicine San Frontier) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ปิดตัวลงไปหลายสาขา แต่ขณะนี้ ต้องระดมอาสาสมัครกลับมาทำหน้าที่กันอีกครั้ง

วรรณจิต ทรายเทียมทอง เป็นหนึ่งในอาสาสมัครพยาบาลที่ถูกเรียกตัวกลับมาทำหน้าที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เธอบอกว่า ขณะนี้ทีมงานของหมอไร้พรมแดนมีอยู่ราวๆ 20 กว่าคน แบ่งสายกันลงพื้นที่น้ำท่วม และเหตุผลที่พุ่งความสนใจไปที่แรงงานชาวต่างชาติในเขตอุตสาหกรรมนั้นก็เพราะว่าพวกเขาคือกลุ่มคนที่มีโอกาสเข้าถึงบริการด้านสุขภาพน้อยกว่าผู้ประสบภัยที่เป็นประชาชนไทย และส่วนใหญ่ก็มีความระแวดระวังหวาดกลัว

เมื่อถามว่าพวกทีมของหมอไร้พรมแดนเข้าถึงคนเหล่านี้ได้อย่างไร วรรณจิตหันไปมองชายหนุ่มที่ถือโทรโข่งเล็กๆ อยู่ในมือ เขายิ้มรับแล้วยกโทรโข่งขึ้นทำท่าทางให้ดูเป็นตัวอย่าง

“ที่นี่มีพม่าไม๊ครับ ที่นี่มีคนพม่าไม๊ครับ”- ไซ ล่ามอาสาสมัครพูดแล้วอธิบายว่า เขาต้องประกาศแบบนี้เป็นภาษาไทยและภาษาพม่าตลอดเส้นทางที่เข้าไปสำรวจ

“ถ้าพูดแต่ภาษาไทย เขาอาจจะกลัว และไม่กล้าแสดงตัว”

เฉพาะทีมของไซและวรรณจิต ลงพื้นที่ในเขตอ้อมน้อยนี้ประมาณ 4 ครั้งแล้ว นับจากการลงมาสำรวจครั้งแรกเมื่อสัปดาห์กว่าๆ ที่ผ่านมา

“ที่ต้องมาพื้นที่เยอะ พบว่าคนงานที่นี่กว่าเก้าร้อยคน ซึ่งยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากที่ไหน แต่เนื่องจากเรามีงบประมาณด้านอาหารไม่มาก เราก็เน้นด้านสุขภาพเป็นหลัก ส่วนอาหารต้องเป็นกรณีจำเป็นจริงๆ เช่นกรณีเด็ก คนท้อง ผู้สูงอายุ”

วรรณจิตเล่าว่าลงพื้นที่ครั้งหนึ่งก็เจอคนไข้สัก 20 กว่าคน

“ปัญหาสุขภาพส่วนใหญ่เป็นเรื่องโรคผิวหนัง เพราะส่วนใหญ่ไม่มีเรือก็ลุยน้ำไป อีกส่วนหนึ่งคือเป็นแผลอุบัติเหตุ เดินเหยียบเหล็กบ้าง ถ้าอาการหนักก็ส่งต่อโรงพยาบาล”

ปัญหาด้านสุขภาพที่ต้องเฝ้าระวังกันต่อไปในอนาคต คือโรคติดเชื้อจากน้ำ เช่นท้องเดิน เพราะน้ำไม่สะอาดอยู่แล้ว และที่ละเลยไม่ได้ก็คือโรคผิวหนัง

วรรณจิตกล่าวว่า ความช่วยเหลือด้านสุขภาพที่จำเป็นสำหรับแรงงานชาวพม่าที่นี่ ก็คือยารักษาโรค เพราะยาพื้นฐานอย่าง พาราเซตามอลก็ยังมีราคาสูงขึ้น ที่เธอพบคือ สองเม็ดต่อห้าบาท

ระหว่างสัมภาษณ์ แรงงานชาวพม่ารายหนึ่งที่เพิ่งเหยียบเศษแก้วมาสดๆ ร้อนๆ เดินเข้ามาขอความช่วยเหลือ วรรณจิตปลีกตัวไปปฐมพยาบาล ขณะที่ทีมงานของสภากาชาดกำลังจะเสร็จสิ้นภารกิจในการแจกสิ่งของจำเป็นให้กับผู้ประสบภัยละแวกนี้

บันทึกจากอ้อมน้อย: แรงงานพม่ากับปัญหาที่ทับทวีจากน้ำท่วม

บันทึกจากอ้อมน้อย: แรงงานพม่ากับปัญหาที่ทับทวีจากน้ำท่วม

ไซและวรรณจิตได้ติดรถของสภากาชาดออกไป และขอลงระหว่างทาง เพื่อไปเยี่ยมแรงงานในละแวกใกล้เคียงกัน

รถของสภากาชาดไทยมุ่งหน้าต่อไปยังแฟลตคนงานอีกแห่งที่จมน้ำอยู่ ที่นั่นมีผู้ประสบภัยรออีกกว่า 200 ชีวิต รถบรรทุกขนาดใหญ่เคลื่อนตัวต่อไปข้างหน้า เมื่อมองหันหลังกลับไป เราเห็นสองร่างเล็กๆ อยู่กลางเวิ้งน้ำ ค่อยๆ เคลื่อนต่อไปในอีกทิศทางหนึ่ง ปลายทาง คือแรงงานชาวต่างชาติที่กำลังรอคอยความช่วยเหลือเช่นเดียวกัน....

บันทึกจากอ้อมน้อย: แรงงานพม่ากับปัญหาที่ทับทวีจากน้ำท่วม

บันทึกจากอ้อมน้อย: แรงงานพม่ากับปัญหาที่ทับทวีจากน้ำท่วม

บันทึกจากอ้อมน้อย: แรงงานพม่ากับปัญหาที่ทับทวีจากน้ำท่วม

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บุญเกียรติ ชีวะตระกูลกิจ: ควันหลง … ในน้ำท่วมมีน้ำลาย

Posted: 12 Nov 2011 10:16 PM PST

มีเสียงก่นด่าท่านนายกรัฐมนตรีดังระงมไปทั่ว กทม. เกี่ยวกับกรณีมหาอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ที่ไหลลามเข้าใจกลางเขตกรุงเทพมหานคร เสียงคนกรุงดังกว่าเสียงคนชนบทเสมอ ด้วยว่าทุกข์ของคนกรุงนั้น (ย่อมต้อง) หนักหนาสาหัสกว่าทุกข์ของคนบ้านนอก เรื่องนี้ผู้ที่รับรู้ถึง “ความรู้สึก” ดังกล่าวได้ดีสุดไม่มีใครเกินคุณยิ่งลักษณ์ ค่าที่ต้องเดินทางไปร่วม “งานฟื้นฟู”ในจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมหลายจังหวัดอาทิเช่นนครสวรรค์ หลังจมอยู่ใต้บาดาลนานนับเดือน
คำด่านั้นรุนแรงถึงขั้นเปรียบเปรยท่านนายกฯ ว่าควรไปเป็นหญิงนครโสเภณี อันเข้าใจได้ว่าผู้ด่ามีความจงเกลียดจงชังอีกฝ่ายหนึ่งเป็นอันมาก ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ได้เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความแตกร้าวในสังคมไทยที่ยังคงบาดลึกจนบางทีอาจยากที่จะเยียวยาได้แล้ว

สยามประเทศถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝักฝ่ายอย่างชัดเจน แม้ในทางนิตินัยจะยังถือว่าเป็นรัฐเอกราชที่มีความเป็น 1 เดียวอยู่ก็ตาม

ฝ่ายที่ไม่ได้เลือกรัฐบาลชุดนี้ จึงจ้องที่จะเปิดฉากด่าในทุกเหตุการณ์ที่ “เปิดช่อง” ให้
ทั้ง “ภาคการเมือง” อันนำโดยพรรคฝ่ายค้าน
และ “ภาคประชาชน” ผู้ที่เลือกข้างมานานนมแล้ว คอยร่วมผสมโรง!

น้ำท่วม” เป็นภัยธรรมชาติที่ไม่มีใครอยากให้เกิด และเมื่อเกิดขึ้นแล้วทุกภาคส่วนก็ควรร่วมด้วยช่วยกันในการรับมือแก้ไขปัญหา คุณยิ่งลักษณ์เองหลังจากได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วก็แทบจะไม่มีเวลาหยุดหายใจหายคอเลยจนถึงวินาทีนี้

จึงนับเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ …. มากกว่าจะมาด่าทอกัน

อันที่จริง การบริหารมหาอุทกภัยครั้งนี้น่าจะเป็นไปด้วยความราบรื่น หากทุกฝักฝ่ายยกเอาเรื่อง “การเมือง” ออกไปก่อน แต่การณ์ก็หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ดังที่ทราบกันอยู่

ท่านผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ซึ่งสังกัดพรรคฝ่ายค้าน เปิดฉากด้วยการกล่าวหาว่ามวลน้ำก้อนใหญ่ที่ไหลบ่าเข้าท่วมเขตดอนเมืองนั้นเป็นก้อนน้ำของทุ่งรังสิตจังหวัดปทุมธานี (ถ้าไม่มีมวลน้ำก้อนนี้เขตดอนเมืองก็คงไม่ท่วมอะไรทำนองนี้ …) จากนั้นการประสานงานกันของ กทม. กับศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ก็ออกลักษณะ “ประสานงา” กันเป็นส่วนใหญ่

แค่นี้ … คนกรุงเทพฯ ก็คงพอจะเดาออกถึงชะตากรรมที่พวกตนต้องประสบ
ยิ่ง “กทม.” เดินสวนทางกับ “ศปภ.” จนถึงขนาดต้อง “ทำหนังสือลงนามเป็นลายลักษณ์อักษร” แทนการพูดคุยกัน

ความวิบัติก็จึงยิ่งบานปลายขยายใหญ่ขึ้น

หน่วยงานที่ดูจะผนึกกำลังกันได้ดีกลายเป็นรัฐบาลกับกองทัพ ทั้งที่ฐานเสียงของนายกฯ คือคู่ปรปักษ์ของอดีตแกนนำ คมช. ซึ่งกำลังนี้ยังคงเจิดแสงจ้าอยู่ในทุกโครงสร้างของกำลังพลด้วยซ้ำ

ภาพ ผบ.ทบ. ยืนเคียงข้างนายกฯ มีให้เห็นบ่อยครั้ง และการทำงานก็สอดรับกันดี การที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความเห็นว่ารัฐบาลไม่จำเป็นต้องออกพระราชบัญญัติฉุกเฉิน เพราะอำนาจอะไรก็ไปสั่ง “น้ำ” ไม่ได้นั้นเล่นเอาเหล่าฮาร์ดคอร์ถึงกับต้องผิดหวังไปตามๆ กัน!

มวลน้ำที่มากผิดปรกติเช่นนี้ อย่าว่าแต่นายกฯ ปูที่เพิ่งจะเข้ามารับงานยังไม่ถึงเดือนดีเลย ลองสมมติให้อดีตนายกฯ ชายอก 3 ศอก ที่ผ่านๆ มาไม่ว่าจะเป็นยุคใดสมัยใดมารับมือแทน ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจว่าจะทำได้ดีไปกว่าที่ท่านนายกฯ กำลังทำอยู่ในเพลานี้

ผู้ที่เอาแต่ก่นด่าจึงกลายเป็นพวก “มือไม่พาย เอาปากราน้ำ” ดังที่เขาว่าๆ กัน และรังแต่จะเป็น บูมเบอแรงตีกลับไปยังแสกหน้าของตนเอง

คุณสมบัติอันโดดเด่นของนายกฯ ปูที่ยังคงรักษาเอาไว้ได้อย่าง “คงเส้น คงวา” คือความ “นิ่ง” และ “ไม่ตอบโต้” ต่อคำปรามาสใดๆ เป็นประหนึ่ง “ภูเขา ศิลา แท่งทึบที่ไม่สะเทือนเพราะแรงลมที่พุ่งมาปะทะ” กับเป็น “บัณฑิตที่ไม่หวั่นไหวต่อเสียงสรรเสริญและนินทา”

ก็ขอเป็นกำลังใจ … ให้รักษาคุณสมบัติพิเศษข้อนี้ไว้นานๆ นะครับ

ประเด็นที่ยังมีการพูดถึงกันน้อยมากกลับเป็นเรื่องของ “ต้นเหตุ” อันทำให้เกิด “มวลน้ำก้อนใหญ่” ที่มากผิดปรกติเช่นนี้ พวกเราต้องไม่ลืมว่านี่เป็นกรณีที่ไม่เคยมีใครได้พบเห็นมาก่อนในชีวิต ซึ่งจู่ๆ ก็มีน้ำขนาดมหึมาไหลท่วมเข้าเมืองใหญ่ทั่วลุ่มเจ้าพระยา กวาดตั้งแต่นครสวรรค์ ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี อยุธยา ยันกรุงเทพมหานครและเมืองปริมณฑลทั้งหมด

“ต้นเหตุ” ต้องมีการสืบสวนให้ชัดเจนว่า เป็นความผิดพลาดทางเทคนิค หรือทางยุทธศาสตร์ของหน่วยงานใด ซึ่งคงตามตัวกันได้ไม่ยากเพื่อจะได้หาทางป้องกันแก้ไขไม่ให้เกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้นอีก

ก็หวังว่าจะได้มีการสรุปผลออกมาให้ประชาชนได้ทราบในที่สุด

ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับสื่อยักษ์ใหญ่บางฉบับที่บอกให้นายกฯ โยนผ้าขาวและกล่าวหาว่าคุณยิ่งลักษณ์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชน อันที่จริงเราก็ไม่ได้เลือกนายกรัฐมนตรีมาเพียงเพื่อจะแก้ปัญหาน้ำท่วมนี้แต่เพียงอย่างเดียวดอก หากยังมีภารกิจอื่นๆ อีก อาทิเช่น การวางวิสัยทัศน์ของชาติประเทศในระยะยาว การพัฒนารากฐานทางเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี ฯลฯ ซึ่งนายกฯ ยังไม่มีโอกาสได้แสดงฝีไม้ลายมือให้เห็นเลยแม้แต่น้อย

เรื่อง “น้ำท่วม” นายกฯ ปูอาจจะสอบตกในสายตาของใครบางคน แต่ผู้เขียนก็ได้มองเห็นถึงความทุ่มเทพยายามเป็นอันมาก ท่านอาจเปรียบได้กับ “กัลบกมือใหม่” ในคำพังเพยจีนสำเนียงแต้จิ๋วที่ว่า

“ซิงที้เถ่าซือ หง่อเตียะไก่โฮ้ว”

ซึ่งแปลความได้ว่า …. “กัลบกมือใหม่ เจอลูกค้ารายแรกเป็นไอ้คางเครา”!

เอาไว้ให้คุณปูสอบตกเรื่องที่ใหญ่กว่านี้แล้วค่อยมาบอกให้โยนผ้ายอมแพ้ จะดีกว่าไหม ?

.............................................................................................................................................

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น