โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

บางกอกบัณฑิต วิเคราะห์ปริมาณน้ำเข้า-ออกเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์

Posted: 10 Nov 2011 11:17 AM PST

บล็อกเกอร์ ‘บางกอกบัณฑิต’ (Bangkok Pundit) วิเคราะห์ปริมาณน้ำเข้า-ออกเขื่อนหลักทั้งสองแห่ง โดยพล็อตกราฟแสดงข้อมูล 6 ปีย้อนหลัง ชี้ การปล่อยน้ำจากเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์น่าจะมีผลต่อน้ำท่วมไม่มากก็น้อย

‘บางกอกบัณฑิต’ (Bangkok Pundit) บล็อกเกอร์ด้านการเมืองไทย นำเสนอบทวิเคราะห์ปริมาณน้ำเข้า-ออกในเขื่อนภูมิพล ในเว็บไซต์ Asian Correspondent โดยประมวลข้อมูลจากน้ำในเขื่อนภูมิพล 6 ปีย้อนหลัง และพล็อตกราฟเพื่อเปรียบเทียบและตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมได้อย่างน่าสนใจ ประชาไท จึงนำมาแปลเป็นภาษาไทยและนำเสนอ ดังนี้

0000

เขื่อนภูมิพล: น้ำเข้า-ออก และความจุเขื่อน

ผู้เขียนได้ตามหาตัวเลขต่างๆเกี่ยวกับเขื่อนภูมิพลในรูปแบบที่อ่านเข้าใจง่ายและสามารถเทียบกับตัวเลขของปีอื่นๆในตัวด้วยเรียบร้อยแล้ว ในบทความนี้เราจะพิจารณา 3 กราฟพร้อมๆ กันไป คือ กราฟที่ 1 ปริมาตรน้ำที่เก็บกักในเขื่อนภูมิพล กราฟที่ 2 คือปริมาณน้ำไหลลงอ่างสะสมในเขื่อนภูมิพลของแต่ละปีตั้งแต่ปี 2548-2554 และสุดท้าย กราฟที่ 3 คือปริมาณน้ำระบายสะสมในแต่ละปีของเขื่อนภูมิพล ตั้งแต่ปี 2548-2554

 

กราฟที่ 1 ปริมาตรน้ำที่กักเก็บในเขื่อนภูมิพล ระหว่างปี 2548-2554

BP Bhumibol 1

ที่มา Bangkok Pundit

ที่มา: กรมชลประทาน – เมื่อลองคลิ๊กที่เพจนี้ดูจะมีกราฟฟิกที่น่าสนใจมากให้ชม และเมื่อเอาเมาส์ไปวางบนเส้นในกราฟนั้น จะแสดงผลปริมาณน้ำที่กักเก็บในเขื่อนของวันนั้นๆด้วย

หมายเหตุ: แกนกราฟแนวตั้งทางซ้ายมือแสดงตัวเลขหน่วยเป็น ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนที่ผู้เขียนเขียนไว้ว่า normal คือระดับความจุเต็มที่ของเขื่อน

บางกอกบัณฑิต: ว่ากันจริงๆแล้วตอนช่วงต้นปีไม่ค่อยมีอะไรน่าตื่นเต้นมาก แต่สังเกตว่าพอถึงเดือนมีนาคม 2554 แทนที่น้ำจะลดลงเพราะเขื่อนปล่อยน้ำตามตัวเลขในปีก่อนๆหน้า ปริมาณน้ำกลับยังคงเดิมเป็นแนวราบในกราฟ จนกระทั่งถึงเดือนพฤษภาคมก็เริ่มพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ

 

กราฟที่ 2 ปริมาณน้ำไหลลงอ่างสะสมในเขื่อนภูมิพลของแต่ละปี ระหว่างปี 2548-2554

BP Bhumibol 2

ที่มา Bangkok Pundit

ที่มา: สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (เป็นหน่วยงานหนึ่งภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) แต่ในเว็บไซต์ระบุไว้ว่าได้ข้อมูลมาจากกรมชลประทานอีกต่อหนึ่ง

หมายเหตุ: แกนกราฟแนวตั้งทางซ้ายมือแสดงตัวเลขหน่วยเป็น ล้านลูกบาศก์เมตร แกนแนวนอนคือวันที่ โดยแสดงวันที่ทุกๆ 26 วัน (ไม่รู้ว่าทำไมเป็นแบบนั้น!) ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงธันวาคม ข้อมูลแบบเต็มสามารถดูได้เฉพาะ 7 ปีที่ผ่านนี้เท่านั้น

บางกอกบัณฑิต: ปี 2554 เป็นปีที่มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บกักน้ำของเขื่อนมากที่สุด เห็นได้จากในกราฟอย่างชัดเจนเลยว่า ปี 2554 นี้มีปริมาณน้ำไหลเข้าในเชื่อนเป็นจำนวนถึง 2 เท่าของปริมาณน้ำปกติในปีอื่นๆ (2548, 2549-2552) น้ำในเขื่อนของปี 2554 เริ่มมีจำนวนมากกว่าปีอื่นๆเมื่อประมาณวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่เราเห็นได้ว่าเส้นกราฟของปีนี้นั้นพุ่งขึ้นเร็วกว่าเส้นกราฟของปีอื่นๆตั้งแต่ตอนต้นปีเลยทีเดียว อย่างไรก็ดี ต้องพึงสังเกตด้วยว่าแม้แต่ในปีที่แห้งแล้งที่สุด (2553) ก็ยังมีน้ำไหลเข้าเขื่อนเป็นปริมาณถึง 5 พันล้านลูกบาศก์เมตร หมายความว่าแม้แต่ในปีที่น้ำน้อย ก็ยังมีน้ำไหลเข้าเขื่อนเยอะอยู่ดี ในวันที่ 1 สิงหาคม (อันเป็นจุดที่กราฟของปีนี้เริ่มพุ่งทะยานขึ้น) น้ำในเขื่อนเพิ่มจาก 3.353 พันล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 11.689 พันล้านลูกบาศก์เมตรในวันที่ 1 พฤศจิกายน เท่ากับ 8.336 พันล้านลูกบาศก์เมตรในเวลาเพียง 3 เดือน หรือคือ 90 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน

หมายเหตุ: มีความล่าช้าอยู่บ้างจากวันที่มีฝนตกจนถึงวันที่น้ำไหลเข้าเขื่อน ดังนั้น ไม่ได้แปลว่าจู่ๆมีฝนตกในเดือนมิถุนายน แต่สังเกตดูว่าหน้าฝนเริ่นต้นขึ้นค่อนข้างเร็ว คือเริ่มในเดือนมีนาคม ดูโพสต์นี้เพิ่มเติมเกี่ยวกับปริมาณน้ำฝนที่ตกในภาคอีสาน

 

กราฟที่ 3 ปริมาณน้ำระบายสะสมในแต่ละปีของเขื่อนภูมิพล ระหว่างปี 2548-2554

BP Bhumibol 3

ที่มา Bangkok Pundit

ที่มา: สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (เป็นหน่วยงานหนึ่งภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) แต่ในเว็บไซต์ระบุว่าได้ข้อมูลมาจากกรมชลประทานอีกต่อหนึ่ง

หมายเหตุ: แกนกราฟแนวตั้งทางซ้ายมือแสดงตัวเลขหน่วยเป็น ล้านลูกบาศก์เมตร แกนแนวนอนคือวันที่ โดยแสดงวันที่ทุกๆ 25 วัน (ไม่รู้ว่าทำไมเป็นแบบนั้น!) ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงธันวาคม ข้อมูลแบบเต็มสามารถดูได้เฉพาะ 7 ปีที่ผ่านนี้เท่านั้น

บางกอกบัณฑิต: โปรดสังเกตดูว่ามีการระบายน้ำในระยะแรกน้อยเพียงใด ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2554 มีการระบายน้ำไปเพียง 1.545 พันล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น (ดูตรงเส้น 1500 ในกราฟ) ซึ่งเป็นจุดที่ปริมาณการระบายน้ำเริ่มเปลี่ยนไปจากปริมาณเฉลี่ยที่ระบายออกในปีอื่นๆ หลังจากนั้น เมื่อถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2554 ปริมาณน้ำที่ระบายออกทั้งหมดคือ 2.5 พันล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น และกราฟก็เป็นแนวราบไปเลยหากเทียบกับค่าเฉลี่ยของปีอื่นๆ โดยในปี 2550-2553 มีการระบายน้ำออกถึง 3 พันล้านลูกบาศก์เมตรเมื่อถึงต้น/กลางเดือนเมษายน แต่ในปี 2554 นั้น กว่าจะระบายได้ 3 พันล้านลูกบาศก์เมตรก็ปาเข้าไปตั้งวันที่ 16 สิงหาคม

ตามจริงแล้ว เมื่อถึงวันที่ 2 สิงหาคม – เมื่อมีการระบายน้ำไปแล้ว 2.838 พันล้านลูกบาศก์เมตร – ปริมาณน้ำที่ระบายออกทั้งหมดที่ผ่านมาของปี 2554 ก็ยังน้อยกว่าทั้งปี 2548 อยู่ดี และถือว่าเป็นปริมาณการระบายน้ำที่น้อยที่สุดในรอบ 7 ปีที่บันทึกไว้เลยด้วยซ้ำ ทั้งที่ปี 2554 เป็นปีที่มีน้ำเก็บกักในเขื่อนเยอะที่สุดในรอบปีที่ผ่านมาอีกต่างหาก การระบายน้ำเพิ่งจะมาระบายจริงจังกันหลังจากวันที่ 2 สิงหาคม ซึ่งก็คงเป็นความพยายามที่จะไม่ให้น้ำล้นปริมาตรสูงสุด 100% ของเขื่อนนั่นเอง

ดังนั้น ปัญหาก็คือแบบที่ ดร. สมิทธ ได้กล่าวไว้แล้วว่า ไม่มีการระบายน้ำที่เพียงพอในระยะต้นของหน้าฝนที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วง มีนาคม-กรกฎาคม ก่อนที่อุทกภัยจะเริ่มต้นขึ้น เมื่อวานนี้ ผู้ว่าการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ให้สัมภาษณ์อธิบายไว้ใน บางกอกโพสต์ ว่า

ช่วงเวลาที่วิกฤติจริงคือเดือนกรกฎาคม หรือเมื่อระดับน้ำเริ่มที่จะสูงขึ้นมากๆ ในขณะที่ความสนใจของประเทศกับฝ่ายราชการไปอยู่กับการเลือกตั้งและการตั้งรัฐบาลเพื่อไทยกันหมด แต่นายสุทัศน์กล่าวว่า จะไม่เป็นธรรมนักหากจะลากเอาหน่วยงานของเขาเข้ามาเกลือกกลั้วในการสาดโคลนทางการเมืองกันว่า เป็นต้นเหตุของน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ โดยนายสุทัศน์ชี้ว่าสาเหตุมาจากฝนที่ตกหนักเกินปกติในปีนี้ต่างหาก

“ประเทศนี้กำลังอยู่ในระหว่างวิกฤติภัยธรรมชาติ แทนที่เราจะมาใส่ร้ายกัน เรามาช่วยกันร่วมมือแก้ไขปัญหาดีกว่า” นายสุทัศน์กล่าว

นายสุทัศน์กล่าวด้วยว่า ที่พูดๆ กันทั่วเมืองว่าน้ำที่ปล่อยมาจากเขื่อนทางตอนเหนือทำให้เกิดน้ำท่วมนั้น ผิดถนัด

เขายืนยันว่าความจริงคือตรงข้ามกันเลยต่างหาก ถ้าหากไม่มีเขื่อนใหญ่ทั้งสองเขื่อน ที่ลุ่มภาคกลางก็จะถูกน้ำท่วมถึง 30 พันล้านลูกบาศก์เมตรเรียบร้อยแล้ว หรือเท่ากับสองหรือสามเท่าของปริมาณน้ำที่ท่วมอยู่ทุกวันนี้

กรมชลประทานยังให้ข้อมูลด้วยว่า ในรอบ 10 เดือนของปีนี้ เขื่อนภูมิพลได้สะสมน้ำมาทั้งหมด 11.488 พันล้านลูกบาศก์เมตร และระบายออกไป 4.085 ล้านลูกบาศก์เมตร [บางกอกบัณฑิต: ไม่จริง มีการระบายน้ำออกไป 6.163 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่างหาก ดูที่นี่สำหรับหลักฐาน]

เขื่อนสิริกิติ์ สะสมน้ำมาทั้งหมด 10.3 พันล้านลูกบาศก์เมตร และระบายออก 6.573 พันล้านลูกบาศก์เมตร

ที่ลุ่มภาคกลางในขณะนี้ถูกท่วมจากน้ำที่เอ่อล้นมาจากแม่น้ำ 5 สาย คือ ปิง วัง ยม เจ้าพระยา และ สะแกกรัง

เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิตเป็นแหล่งจ่ายน้ำสำหรับทำการชลประทานให้แก่จังหวัดภาคกลางถึง 20% ทั้งสองเชื่อนมีน้ำอยู่ในเขื่อนน้อยมาก หรือเพียง 45-50% ของความจุเต็มที่เท่านั้น ตั้งแต่ปลายปี 2553 จนถึงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เนื่องด้วยจากภัยแล้ง

เมื่อพายุโซนร้อนไหหม่าพัดเข้าถล่มในเดือนมิถุนายนนั้น แม่น้ำสายต่างๆในประเทศ รวมทั้งสะแกกรัง ยม และวัง ต่างก็มีระดับน้ำเอ่อล้นจนทะลักตลิ่ง และเกิดเป็นอุทกภัยในจังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร และนครสวรรค์

ทั้งเขื่อนภูมิพลที่มีความจุ 13.46 พันล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนสิริกิตที่มีความจุ 9.51 พันล้านลูกบาศก์เมตร ต่างก็หยุดการระบายน้ำออกในช่วงเวลานี้

ตั้งแต่สิ้นเดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนที่แล้ว มีพายุลูกใหญ่ๆพัดเข้าประเทศไทยอีกถึง 4 ลูก ส่งผลให้เขื่อนเกือบทุกแห่งในประเทศเต็มความจุ รวมทั้งเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิตด้วย

กฟผ. ต้องจำใจเปิดประตูระบายน้ำ (สปิลเวย์) ของเขื่อนสิริกิตตั้งแต่สิ้นเดือนสิงหาคมจนถึงต้นเดือนกันยายน ในขณะที่เขื่อนภูมิพลต้องเปิดประตูระบายน้ำเมื่อเดือนที่แล้ว

“ในช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยปกติจะโดนพายุใหญ่เข้า 2 หรือ 3 ลูกต่อปี” นายสุทัศนน์ชี้แจง “แต่ปีนี้ เราโดนถึง 5 ลูก ทำให้ไม่มีเวลาพอที่จะให้น้ำไหลไปลงอ่าวไทยได้ทัน”

บางกอกบัณฑิต: เห็นการใช้ตรรกะวิบัติไหม? เราไม่ได้วิจารณ์เลยว่าปัญหาคือเรา “มี” เขื่อน แต่วิจารณ์ว่าน่าจะระบายน้ำได้มากกว่านี้และเร็วกว่านี้ต่างหาก คนที่อ่านคำสัมภาษณ์ของนายสุทัศน์คงต้องงงเป็นไก่ตาแตกเป็นแน่เมื่ออ่านถึงตอนที่นายสุทัศน์บอกว่า “ที่พูดๆกันทั่วเมืองว่าน้ำที่ปล่อยมาจากเขื่อนทางตอนเหนือทำให้เกิดน้ำท่วมนั้น ผิดถนัด” เพราะว่า ถ้านายสุทัศน์พูดแบบนี้ แสดงว่าการระบายน้ำจากเขื่อนไม่ได้ส่งผลให้มีน้ำท่วมมากขึ้นเลยหรือ? การปล่อยน้ำลงมาไม่ได้เพิ่มระดับน้ำท่วมหรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมเลยจริงหรือ?

โอเค ข้ออ้างที่ว่ามีพายุโซนร้อนไหหม่าพัดเข้าประเทศไทยเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2554 ทำให้ไม่สามารถปล่อยน้ำได้เพราะถ้าปล่อยน้ำไปอาจจะเสี่ยงให้น้ำท่วมทวีความรุนแรงเข้าไปอีกน่ะ พอฟังขึ้นได้แน่นอน แต่ข้ออ้างดังกล่าว มันขัดกับข้ออ้างที่ว่า การระบายน้ำไม่ได้ส่งผลต่อน้ำท่วมใดๆเลยมิใช่หรือ??? อย่างไรก็ตาม หากดูจากปริมาณน้ำที่ระบายออกในปี 2554 นี้ ไม่ได้มีแค่เดือนมิถุนายนเท่านั้นที่ปล่อยน้ำน้อยเกินไป เดือนมีนาคม-กรกฎาคม 2554 ก็ยังระบายน้ำได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของที่ปกติระบายกันในปีก่อนๆ ผู้เขียนเข้าใจว่าคงมีปัจจัยอื่นๆด้วย และปริมาณน้ำฝนจากภาคเหนือสูงเป็นพิเศษจากเดือนมีนาคมเป็นต้นมา แต่การปล่อยน้ำเพียงน้อยนิดเช่นนี้ มีแต่จะทวีความรุนแรงของอุทกภัยเท่านั้นเอง

 

000

จากนั้น บางกอกบัณฑิต ได้โพสต์ข้อสังเกตเกี่ยวกับปริมาณน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ ดังนี้....

โพสต์ก่อนหน้านี้ ได้วิเคราะห์ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลไปแล้ว แต่ในโพสต์นี้ จะพิจารณาถึงเขื่อนหลักๆ อีกเขื่อนหนึ่งนั่นคือเขื่อนสิริกิติ์ โดยมีสามกราฟที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์พร้อมกัน ประกอบไปด้วย 1. ปริมาตรน้ำที่ถูกเก็บกักอยู่ในเขื่อนสิริกิติ์ 2. ปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างสะสมลงเขื่อนสิริกิติ์ในแต่ละปี ระหว่างปี 2548-2554 และ 3. ปริมาณที่ถูกระบายออกสะสมจากเขื่อนสิริกิติ์ในแต่ละปี ระหว่างปี 2548-2554

กราฟที่ 1 ปริมาตรน้ำที่ถูกกักเก็บไว้ในเขื่อนสิริกิติ์ระหว่างปี 2548-2554

BP Sirikit 1

ภาพโดย Bangkokpundit

ที่มาของข้อมูล: กรมชลประทาน – เมื่อคุณคลิกเข้าไปดูในหน้าเพจ จะมีกราฟิกที่น่าสนใจอยู่ และเมื่อคุณเอาเมาส์ไปวางเหนือเส้นบนกราฟ จะปรากฎปริมาณน้ำที่แน่นอนในเขื่อนของแต่ละวัน

หมายเหตุ: แกนแนวตั้งมีหน่วยเป็นล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และการอ้างอิงโดยปกติคิดจาก 100 เปอร์เซ็นต์ของความจุ แกนแนวนอน ซ้ายไปขวาคือปี 2548 ถึง 2554 นี่เป็นปีที่มีข้อมูลแบบเต็ม

บางกอกบัณฑิต: จะเห็นว่า ในช่วงเดือนแรกๆ ของปี ยังไม่มีอะไรที่ผิดสังเกตมากนัก ถึงแม้เมื่อถึงเดือนเมษายน 2554 จะเริ่มเห็นแนวโน้มการคงที่ของปริมาณน้ำ แต่ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนของปี 2554 เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด และกราฟก็พุ่งสูงขึ้นเป็นระยะเวลาหนึ่ง ในวันที่ 25 มิถุนายน มีน้ำปริมาณ 5.201 พันล้าน ลบ.ม.และเพิ่มขึ้นเป็น 6.140 พันล้าน ลบ.ม. เมื่อถึงวันที่ 2 กรกฎาคม ซึ่งนับเป็นเกือบหนึ่งพันล้าน ลบ.ม.ในระยะเวลาเพียงอาทิตย์เดียว เห็นได้ชัดว่า การเพิ่มขึ้นสูงของปริมาณน้ำในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2554 ทำให้เขื่อนกักเก็บปริมาณน้ำที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับ 6 ปีที่ผ่านมา

กราฟที่ 2 ปริมาณน้ำไหลลงอ่างสะสมในเขื่อนสิริกิติ์ของแต่ละปี ระหว่างปี 2548-2554

BP Sirikit 2

ภาพโดย Bangkokpundit

ที่มาของข้อมูล: สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (หน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) แต่ก็ได้ระบุไว้ว่าข้อมูลตัวเลขที่ได้มาจากกรมชลประทาน

หมายเหตุ: แกนแนวตั้งมีหน่วยเป็นลูกบาศก์เมตร แกนแนวนอนเป็นวันที่ มีรอบทุกๆ 26 วัน (ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม) และเริ่มจากเดือนมกราคมไปจนถึงเดือนธันวาคม ข้อมูลเต็มๆ มีเฉพาะ 7 ปีนี้เท่านั้น

บางกอกบัณฑิต: ปี 2554 เป็นปีที่มีปริมาณน้ำมากที่สุดที่ไหลเข้าสูอ่างเก็บน้ำ โดยน้ำที่ไหลเข้ามาในเวลาเดียวกันของปี 2554 คิดเป็น 2 เท่าของปริมาณน้ำที่เคยมีมา 6 ทั้งปีก่อนหน้า และเมื่อปลายเดือนมิถุนายนก็ปรากฎปริมาณน้ำที่พุ่งสูงขึ้นอย่างชัดเจน และเมื่อถึงปลายเดือนมิถุนายนนั้นเอง ปริมาณน้ำก็เริ่มพิสดารขึ้น น้ำในเขื่อนยังเพิ่มสูงขึ้นอยู่เรื่อยๆ และเพิ่งมาในตอนนี้เองที่ระดับน้ำจะดูคงที่มากขึ้น

หมายเหตุ: มันมีความเหลื่อมกันอยู่บ้างระหว่างวันที่ฝนตก และวันที่น้ำไหลเข้าสู่เขื่อน ดังนั้น มันจึงไม่ได้หมายความว่าฝนเริ่มตกในเดือนมิถุนายนโดยทันที ถึงแม้ว่ามันจะมีพายุโซนร้อนในปลายเดือนมิถุนายน ซึ่งสามารถอธิบายสาหตุถึงปริมาณน้ำจำนวนมากที่ไหลเข้าสู่เขื่อนในช่วงนี้ แต่คุณจะเห็นด้วยว่า ฤดูฝนได้เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคมแล้ว ตามโพสต์นี้ ที่ว่าด้วยปริมาณน้ำฝนในภาคเหนือ

กราฟที่ 3 ปริมาณน้ำระบายสะสมในแต่ละปีของเขื่อนสิริกิติ์ ระหว่างปี 2548-2554

BP Sirikit 3

ภาพโดย Bangkokpundit

ที่มาของข้อมูล: สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (หน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) แต่ก็ได้ระบุไว้ว่าข้อมูลตัวเลขที่ได้มาจากกรมชลประทาน

หมายเหตุ: แกนแนวตั้งทางซ้ายมีหน่วยเป็นลูกบาศก์เมตร แกนแนวนอนเป็นวันที่ ซึ่งมีรอบทุกๆ 25 วัน และเริ่มจากเดือนมกราคมถึงธันวาคม ข้อมูล “ฉบับเต็ม” สามารถหาได้แค่ 7 ปีนี้เท่านั้น

บางกอกบัณฑิต: เราจะเห็นว่า เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2554 มีการพร่องน้ำ 2.503 พันล้านลบ.ม. นับเป็นปริมาณน้ำที่ถูกพร่องมากที่สุดในจุดเดียวกันเมื่อเทียบกับ 6 ปีก่อนๆ แต่แทนที่จะยังคงปล่อยน้ำในระดับเดิมต่อไป มันกลับลดลงอย่างเห็นได้ชัดในวันที่ 19 พฤษภาคม ซึ่งมีการพร้องน้ำจำนวน 3.167 พันล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นการปล่อยน้ำที่น้อยที่สุดเป็นลำดับสองเมื่อเทียบกับระยะเวลาหกปีก่อนๆ การพร่องน้ำในปริมาณน้อยนี้ยังคงเป็นต่อมาเรื่อยๆ จนถึงวันที่ 13 กรกฎาคม ซึ่งในจุดนี้ มีเพียงจำนวน 3.542 ลบ.ม. เท่านั้นที่ถูกปล่อย และหลังจากนั้น ปริมาณน้ำที่ถูกปล่อยก็เริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อถึงวันที่ 5 สิงหาคมก็ยิ่งสูงขึ้นไปอีก โดยพร่องน้ำจำนวน 3.967 ลบ.ม. จนถึงวันที่ 28 สิงหาคม มีการปล่อยน้ำถึง 5.280 ลบ.ม. ซึ่งนับเป็นการปล่อยน้ำที่สูงที่สุดในรอบ 6 ปี

เราคงต้องตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงมีการปล่อยน้ำน้อยผิดปรกติระหว่างวันที่ 25 มีนาคม ถึง 13 กรกฎาคม? มีการพร่องน้ำเพียง 1 พันล้านลบ.ม. เท่านั้นในช่วงนี้ ซึ่งน้อยกว่าถึง 1-2 พันล้าน ลบ.ม. ในช่วงเดียวกันเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา ยกเว้นปี 2553 ทั้งนี้ เมื่อถึงสิ้นเดือนมิถุนายน เราเข้าใจได้ว่ามันลดน้อยลงอย่างกะทันหันเนื่องจากมีพายุโซนร้อนเข้ามา แต่ในช่วงเดือนก่อนหน้านี้เล่า มันเป็นเพราะเหตุใด? ซึ่งนั่นก็ทำให้เราจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการพร่องน้ำเมื่อน้ำได้ท่วมแล้ว

สุดท้ายนี้ เมื่อคำนึงถึงปริมาณฝนในปีนี้ ผู้เขียนคิดว่า ถึงแม้เราจะมีระบบการจัดการน้ำที่ดีกว่านี้ เราก็ยังประสบน้ำท่วมอยู่ดี เพราะมันมีน้ำจำนวนมากเกินกว่าที่ระบบจะจัดการได้ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็ยังเห็นว่า การพร่องน้ำออกจากเขื่อนช้า ทำให้ปัญหาน้ำท่วมแย่ลง เนื่องจากมันบังคับให้ปริมาณมากต้องถูกปล่อยตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา 5 ใน 6 ปีที่ผ่านมา ยกเว้นปี 2553 (ซึ่งมีการปล่อยน้ำที่น้อยกว่านั้นอีก) มีการปล่อยน้ำต่ำกว่า 1 พันล้าน ลบ.ม. ในปีดังกล่าวระหว่างวันที่ 1 สิงหาคมถึง 31 ตุลาคม อย่างไรก็ตาม สำหรับปี 2554 มีการปล่อยน้ำสูงถึง 4 พันล้าน ลบ.ม. – จาก 3.946 พันล้าน ลบ.ม. ในวันที่ 1 สิงหาคม เป็น 8.206 พันล้านลบ.ม. ในวันที่ 31 สิงหาคม มวลน้ำที่ปล่อยออกมานี้เองที่ทำให้ปัญหาน้ำท่วมถูกซ้ำเติมเข้าไปอีก มันอาจจะระบุได้อยากว่า ควรจะมีการปล่อยน้ำก่อนหน้านี้เท่าใดกันแน่ แต่มันเป็นความผิดพลาดแน่ที่มีการกักเก็บน้ำไว้มากจนต้องปล่อยออกมาในเดือนสิงหาคม ซึ่งน้ำได้ท่วมไปแล้ว

มาถึงตอนนี้ ผู้เขียนคิดว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันอาจจะทำมากกว่านี้ได้ในการป้องกันน้ำท่วม ด้วยระบบเตือนภัยที่ทันเวลาและเตรียมพร้อมในการรับมือความเสียหายที่ดีกว่า และ กทม. ก็เช่นเดียวกัน แต่เมื่อดูจากปริมาณน้ำฝนและน้ำที่ถูกปล่อยออกมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม ตัวเลือกที่มีอยู่ ก็คงต้องเป็นการตัดสินใจว่าจะให้น้ำเข้าท่วมที่ไหน และรักษาที่ไหนให้ได้มากกว่า

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใจ อึ๊งภากรณ์: ในวิกฤตน้ำท่วม รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องรีบกลับมาทำแนวร่วมกับเสื้อแดง

Posted: 10 Nov 2011 09:06 AM PST

ตอนนี้เราเห็นชัดว่าฝ่ายอำมาตย์ไม่สนใจ “ปรองดอง” อะไรทั้งสิ้น มีแต่การเปิดศึกเรื่องน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง เพื่อหวังข่มหรือล้มรัฐบาล แต่ในขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทยยังเดินหน้าพยายามจับมือกับอำมาตย์ และแกนนำ นปช. คอยคุม สลาย หรือแช่แข็งการเคลื่อนไหวและศักยภาพของเสื้อแดงด้วยข้อแก้ตัวว่า “ต้องรอให้พ้นวิกฤตน้ำท่วมก่อน” แต่วิกฤตน้ำท่วมจะไม่จบเร็วๆ และที่สำคัญกว่านั้น จะกลายเป็นเงื่อนไขในการทำลายรัฐบาลอีกด้วย

วิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากแผนร้ายของอำมาตย์แต่อย่างใด อย่าไปให้เกียรติประเมินความสามารถของพวกนี้มากเกินไป และอย่าไปหลงเชื่อข่าวลือที่จะทำให้เรากลัวจนหมดปัญญาที่จะสู้และล้มอำมาตย์ วิกฤตน้ำท่วมมันเกิดจากการที่ฝนตกหนักเป็นพิเศษปีนี้ อย่างที่เคยเกิดในปี ๒๔๘๕ และการที่รัฐไทยไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารน้ำมานาน ตั้งแต่ก่อนรัฐบาลชุดนี้ด้วย นอกจากนี้อำมาตย์ที่ครองบ้านเมืองอย่างต่อเนื่อง ไม่ยอมใช้รัฐในการนำร่องลงทุนเพื่อสร้างคลองระบายน้ำในภาวะฉุกเฉินทั้งๆ ที่กรุงเทพฯ อยุธยาและปทุมธานีเป็นที่ลุ่มของแม่น้ำเจ้าพระยา เราต้องเข้าใจว่าการคิดใหม่เพื่อสร้างโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ พึ่งเริ่มอย่างจริงจังภายใต้รัฐบาลไทยรักไทย และก็ถูกฝ่ายอำมาตย์โจมตีเสมอ

ประเด็นการเมืองที่เข้ามาแทรกวิกฤตน้ำท่วมคือ เจ้าหน้าที่เสื้อเหลืองและทหาร จงใจไม่ร่วมมือกับรัฐบาลในการแก้ปัญหาภาวะฉุกเฉินที่เกิดจากน้ำ อันนี้ทำให้เรารู้อย่างชัดเจนว่าการชนะการเลือกตั้งและการตั้งรัฐบาล ไม่ได้แปลว่าพรรคเพื่อไทยคุมอำนาจรัฐแต่อย่างใด นอกจากการไม่ร่วมมือกับรัฐบาลแล้ว ฝ่ายพรรคพวกของอำมาตย์คือ สลิ่ม ทหาร และประชาธิปัตย์ ฉวยโอกาสในการโจมตีรัฐบาลอย่างหนักว่าไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน ทั้งๆ ที่รัฐบาลพยายามทำเต็มที่ในสถานการณ์ที่รับมรดกตกทอดมาจากรัฐบาลอื่นๆ ในอดีต

การที่นายกยิ่งลักษณ์สามารถมีอารมณ์ร่วมกับประชาชนจนร้องไห้ เป็นจุดแข็งจุดเด่น เพราะเราสามารถเปรียบเทียบประเด็นนี้กับนายอภิสิทธิ์และนายประยุทธ์ที่มีส่วนในการสั่งฆ่าเสื้อแดงอย่างเลือดเย็นได้โดยไม่รู้สึกอะไร

จะเห็นว่าอำมาตย์ไม่เคยหยุดเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและเสื้อแดงเลย และทั้งๆ ที่ทหารอ้างโกหกว่า “แค่ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น” แต่มีการคุยกันในหมู่ทหารระดับสูงเรื่องการโจมตีรัฐบาล ข้อสรุปสำคัญคือ การเอาใจอำมาตย์ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่ชนะการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะด้วยการจับมือกับนายประยุทธ์ ใช้กฏหมาย 112 หนักขึ้น หรือนิ่งเฉยเรื่องนักโทษและคนตาย มีผลด้านเดียวคือ ให้กำลังใจกับอำมาตย์ว่ารัฐบาลนี้อ่อนแอและไม่กล้า ฝ่ายเขาจึงกล้ามากขึ้นเรื่อยๆ

แต่รัฐบาลนี้ไม่ได้อ่อนแอถ้ารู้จักทำแนวร่วมกับมวลชนเสื้อแดงที่ทำให้รัฐบาลนี้ชนะการเลือกตั้งแต่แรก ถ้ารัฐบาลเปลี่ยนนโยบาย และหันมาให้ความสำคัญกับประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นเสื้อแดง รัฐบาลจะมีพลังมหาศาลหนุนหลัง แต่นั้นแปลว่ารัฐบาลต้องไม่สั่งให้เสื้อแดงนิ่งเฉย มันแปลว่ารัฐบาลต้องปลดนายประยุทธ์และทหารมือเปื้อนเลือดอย่างเร่งด่วน เพื่อนำคนที่สั่งฆ่าประชาชนมาขึ้นศาล โดยมีการปฏิรูประบบศาลด้วย มันแปลว่ารัฐบาลต้องออกกฏหมายฉุกเฉินเพื่อปล่อยนักโทษการเมือง และต้องยุติการใช้กฏหมาย 112 เพื่อให้มีการปฏิรูปกฏหมายและรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะนิติราษฏร์ และที่สำคัญไม่น้อยกว่าเรื่องอื่นคือรัฐบาลต้องรีบประกาศโครงการยักษ์ใหญ่สำหรับการฟื้นฟูชีวิตและสร้างงานให้กับพลเมืองจำนวนมากหลังน้ำลง โดยที่ต้องใช้เงินจากการเก็บภาษีจากคนรวยและการตัดงบประมาณทหารและพิธีกรรม สิ่งเหล่านี้จะทำให้รัฐบาลครองใจประชาชนอย่างเน่นแฟ้นเป็นเวลานาน และจะทำให้คนส่วนใหญ่มีเหตุผลแข็งแคร่งในการปกป้องรัฐบาล แต่มันจะไม่เกิดขึ้นถ้าคนเสื้อแดงไม่เคลื่อนไหวเรียกร้องและ “ให้กำลังใจ” หรือ “กดดัน” ให้รัฐบาลทำจริง

ถ้ารัฐบาลเลือกที่จะหันหลังให้กับเสื้อแดงและเลือกที่จะเอาใจอำมาตย์แทนที่จะเสนอนโยบายที่ครองใจพลเมืองจำนวนมาก พอน้ำลงแล้วอำมาตย์จะรุกสู้โจมตีรัฐบาลอย่างหนัก เพื่อสร้างรัฐบาลแห่งชาติภายใต้อำมาตย์ หรืออำมาตย์อาจทำให้รัฐบาลเพื่อไทยอ่อนแอจนต้องทำตามคำสั่งของอำมาตย์ทุกประการ นี่คือปัญหาที่เผชิญหน้าเราอยู่ และการบอกให้เสื้อแดง “ใจเย็น” เป็นแนวทางสู่ความหายนะอย่างเดียว

เราควรเข้าใจว่าสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงระหว่างคนจนและคนรวย ต้องอาศัยการบริหารแบบเผด็จการเพื่อไม่ให้คนจนที่เป็นคนส่วนใหญ่ลุกขึ้นสู้ และถ้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ใช้นโยบายฟื้นฟูชีวิตพลเมืองส่วนใหญ่อย่างที่ผู้เขียนเสนอไปแล้ว ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยจะเพิ่มขึ้นอีกอย่างมหาศาลหลังน้ำท่วม ซึ่งจะเปิดทางให้กับเผด็จการอำมาตย์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ลพบุรีในวันน้ำเริ่มลด กับคำถามถึงอนาคตทำกิน

Posted: 10 Nov 2011 08:40 AM PST

ชาว ต.ท้ายตลาด จ.ลพบุรีซึ่งอยู่กับน้ำมาพักใหญ่บอกเล่าความเป็นอยู่ช่วงน้ำท่วม และความกังวลใจเกี่ยวกับอาชีพการงานหลังน้ำลด 

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ผู้สื่อข่าวสำรวจพื้นที่ประสบอุทกภัย พูดคุยกับชาว ต.ท้ายตลาด อ.เมือง จ.ลพบุรี ซึ่งย้ายจากบ้านที่มีน้ำท่วมสูง มาอาศัยที่วัดท่าข้ามเป็นเวลาเดือนกว่าแล้ว ระดับน้ำปัจจุบันอยู่ที่ 1-2 เมตร ประชาชนต้องสัญจรทางเรือ คนที่นี่เคยประสบอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2538 มาในปีนี้ มวลน้ำขนาดใหญ่ได้ไหลท่วมหมู่บ้านตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 ก.ย.เป็นต้นมา

ชาว ต.ท้ายตลาด คนหนึ่ง ซึ่งมีอาชีพรับจ้างทำการเกษตร เล่าว่า เธอและสามีพร้อมวัวอีก 2 ตัวได้ย้ายมาอยู่ที่ศาลาการเปรียญวัดท่าข้ามร่วมกับชาวบ้านอีกหลายสิบชีวิตมาได้ราว 1 เดือนแล้ว และนอกจากศาลาการเปรียญ ยังมีอาคารเรียน รวมทั้งโรงครัวที่ถูกแปลงสภาพเป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราวของชาวบ้านกว่า 100 ครอบครัว โดยสถานการณ์ล่าสุดเมื่อน้ำลดระดับลง ชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้กลับไปเก็บกวาดทำความสะอาดบ้านเรือน แต่สำหรับบ้านของเธอซึ่งเป็นบ้านชั้นเดียวนั้นยังจมอยู่ใต้น้ำ

เธอเล่าด้วยว่า ทุกปีน้ำไม่ท่วมขนาดนี้ และในครั้งนี้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นเร็วมาก โดยน้ำมาตั้งแต่ตอนตี 3 แล้วเพิ่มระดับเรื่อยๆ จนกระทั่ง 6 โมงเช้ารู้สึกว่าอยู่ไม่ได้ เธอกับสามีจึงพาวัว 3 ตัวลุยน้ำออกมาจากบ้าน แต่กระแสน้ำแรงมากและด้วยความพะว้าพะวงทำให้เธอต้องสูญเสียวัวตัวหนึ่งไปกับสายน้ำ และยังไม่รู้ว่าจะได้รับการชดเชยหรือไม่ อย่างไร

เธอกล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้เธอรู้สึกกังวลมากว่าจะเอาเงินที่ไหนมาซ่อมบ้านที่จมน้ำเสียหาย และจะทำมาหากินอะไรต่อไป แต่เวลาที่ผ่านไปทำให้พอทำใจได้ โดยคำถามสำคัญของเธอในขณะนี้คือเมื่อน้ำแห้งแล้วชาวบ้านจะได้รับความช่วยเหลืออะไรบ้าง

 

       
ศาลาการเปรียญกลายสภาพเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราว

   

ทองเจือ เขียวทอง ชาว ต.ท้ายตลาด เล่าว่า น้ำท่วมมาตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน โดยไหลบ่ามาทีเดียวในช่วงกลางคืนประมาณตี 3 ทำให้เก็บของไม่ทัน พอเช้า จะเก็บของ น้ำก็สูงถึงเอวถึงคอแล้ว ทำให้ทำอะไรไม่ได้ ออกมาได้แต่ตัวกับวัวอีก 5 ตัว และค่อยดำน้ำไปเอาเสื้อผ้ามาในภายหลัง ขณะนี้อาศัยอยู่ที่วัดท่าข้ามมาเดือนกว่าแล้ว เขาเองทำบ่อปลาและสวนไผ่ลงทุนไปเป็นแสน ประเมินรายได้ที่กำลังจะได้จากผลผลิตที่กำลังเก็บและแปรรูปแล้ว ราวสองแสนบาท ตอนนี้ก็เสียหายลอยไปกับน้ำหมด
     
ทองเจือเล่าว่า คนที่นี่ส่วนใหญ่ มีอาชีพรับจ้าง ไม่มีอาชีพที่แน่นอน ที่เลี้ยงหมูเลี้ยงไก่แบบชาวบ้านทั่วไปมีเยอะ ส่วนที่เป็นฟาร์ม มีราว 4-5 ฟาร์ม หมูจมน้ำตายไป 7,000 ตัว ไก่ตายเรือนแสน วัว 5 ตัวจมน้ำตายเพราะย้ายใส่แพแล้วแพล่ม บ้างที่เอาลงจากศาลาไปถูกงูกัดตายก็มี เท่าที่สอบถามเพื่อนๆ ที่ทำเกษตรพันธสัญญา ต่างยังติดต่อกับบริษัทไม่ได้ ว่าบริษัทคิดอย่างไร ก่อนหน้านี้ บริษัทมานำไก่ไปก็ยังไม่ได้ชั่ง เพราะยังไม่ถึงกำหนด เพื่อนๆ ต่างกังวลว่า บริษัทจะฟ้องเรียกค่าเสียหายไหม ทั้งยังเป็นทุกข์ว่าจะเอาพันธุ์ข้าวที่ไหนมาทำนาต่อ และยังมีหนี้สินติดค้างสถาบันการเงินหลายราย
     
ด้านความช่วยเหลือ ทองเจือบอกว่า จากการพูดคุยกับกลุ่มที่ทำนา ซึ่งนาเสียหายหมด คิดว่าจะตั้งกองทุนพันธุ์ข้าวกัน รวมถึงทำโครงการขอไก่พันธุ์ไข่ให้ชาวบ้านจับกลุ่มเลี้ยง เพื่อมีรายได้เสริมและมีอาหารให้เด็ก ส่วนพวกเลี้ยงปศุสัตว์ ทำโครงการขอเครื่องอัดฟาง หั่นหญ้า ทำหญ้าหมัก เมื่อเกิดอุทกภัย จะได้ไม่เดือดร้อน เพราะตอนนี้ต้องไปหาฟางจากทางเพชรบูรณ์ให้วัวควายกิน 


   ชาวบ้านนำวัวมาเลี้ยงบนศาลาการเปรียญ วัดท่าข้าม


 โรงเลี้ยงไก่ถูกน้ำท่วมเสียหาย
 

นิรันดร์ โตจาด ชาวบ้านในพื้นที่ กล่าวถึงความเดือดร้อนจากอุทกภัยครั้งนี้ว่า เวลากว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านมาเขายังไม่ได้รับเงินค่าจ้างจากบริษัท ซึ่งเป็นโรงงานผลิตไก่สดตั้งอยู่ที่ ต.ช่องสาริกา อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เนื่องจากน้ำท่วมทำให้เขาไม่สามารถเดินทางไปทำงานได้ขณะที่โรงงานยังเปิดทำงานอยู่ แต่เขาก็ได้โทรลางาน ส่งเอกสารและถ่ายรูปยืนยันความเดือดร้อนส่งไปให้ทางบริษัทนายจ้างแล้ว โดยก่อนหน้านี้ทางบริษัทบอกว่าจะให้ความช่วยเหลือ แต่เขาและชาวบ้านอีกหลายคนที่ทำงานในบริษัทเดียวกันยังไม่ได้รับอะไรเลย แม้จะถือว่าโชคดีที่บริษัทยังให้คงฐานะเป็นพนักงานอยู่

“ไม่ใช่ว่าเราอยากจะเอาเปรียบคนอื่นๆ ไม่ได้ทำงานแต่เรียกร้องเอาเงินเดือน แต่เราเดือดร้อนจริงๆ” นิรันดร์ กล่าว พร้อมให้ข้อมูลด้วยว่า เขาเป็นพนักงานขับรถทำงานในบริษัทดังกล่าวมา 2 ปี โดยก่อนหน้าที่จะเกิดน้ำท่วมทางบริษัทจะจัดรถรับส่งพนักงานถึงที่แต่เมื่อเกิดน้ำท่วมรถดังกล่าวก็หยุดรับส่ง ทำให้เขาต้องเดินทางไปทำงานเอง ซึ่งค่าใช้จ่ายในการเดินทางไป-กลับกว่า 150 บาท ไม่คุ้มกับค่าแรงวันละ 192 บาทที่ได้รับ 

นิรันดร์ กล่าวด้วยว่า การที่เขาต้องออกมาเรียกร้องความช่วยเหลือเนื่องจากเดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่าย และเห็นว่าภรรยาซึ่งทำงานอยู่ที่ บริษัทเอคโค่ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร จ.พระนครศรีอยุธยา ถูกน้ำท่วมไม่ได้ทำงานเช่นเดียวกันแต่ทางบริษัทก็จ่ายค่าจ้างเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ขณะที่หลายคนที่ทำงานในโรงงานอื่นก็ได้ค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา เขาได้พูดคุยกับชาวบ้านที่มีปัญหาเหมือนๆ กันแต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร อีกทั้งไม่แน่ใจว่าการมีประกันสังคมจะสามารถช่วยเหลืออะไรได้บ้าง
  

ภายในวัด


       

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

น้ำท่วม(ปาก)4#: วันรัก สุวรรณวัฒนา: “ประโยชน์ส่วนรวม” ชุดวาทกรรมที่มากับน้ำ

Posted: 10 Nov 2011 07:35 AM PST

วันรัก สุวรรณวัฒนา อภิปรายในงานเสวนา  “อ่านออกเสียงเฉพาะกิจ” ตอน “น้ำท่วม (ปาก): หลากความคิดจากผู้ลี้ภัยน้ำท่วมกรุงเทพฯ” เมื่อ 5 พ.ย. 54 ที่ Book Re:public จ.เชียงใหม่ ที่มาของคลิป: BookRepubliconTV/youtube.com

 

"คำว่า "ประโยชน์ส่วนรวม" ไม่ได้เพิ่งมีตอนนี้ แต่มาพร้อมกับวาทกรรมพัฒนาประเทศที่ผนวกกับการสร้างเขื่อนของกรมชลประทาน แล้วเราก็ยอมรับให้มันเป็นความจริงสูงสุด ว่าคุณต้องยอมเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศหรือเพื่อคน กทม. เราเคยทบทวนกันหรือไม่ว่า "ประโยชน์ส่วนรวม" นี้มันคือประโยชน์ของใคร"

วันรัก สุวรรณวัฒนา

000

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา ร้าน Book Re:public จ.เชียงใหม่ ได้จัดเสวนา “อ่านออกเสียงเฉพาะกิจ” ตอน “น้ำท่วม (ปาก): หลากความคิดจากผู้ลี้ภัยน้ำท่วมกรุงเทพฯ” มีวิทยากรได้แก่ มนตรี จันทวงศ์ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันรัก สุวรรณวัฒนา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลักขณา ปันวิชัย หรือ คำ ผกา นักเขียนและคอลัมน์นิสต์ และเวียงรัฐ เนติโพธิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ

ในช่วงอภิปรายของวันรัก สุวรรณวัฒนา ได้กล่าวถึงประสบการณ์การหนีน้ำท่วมของเขาเองว่า พบว่า ข่าวที่เกิดขึ้นทำให้ตัวเองไม่เข้าใจ เพราะเจอคำศัพท์ใหม่จำนวนมากที่ถาโมเข้ามา เช่น คันกั้นน้ำ ทางน้ำหลาก มวลน้ำ ประตูระบายน้ำ ผนังกั้นน้ำ มวลน้ำ ก้อนน้ำ ทางด่วนน้ำ บิ๊กแบ็ก ฯลฯ วันนี้จึงอยากพูดเรื่อง "วาทกรรมน้ำท่วมกับสภาวะผู้อพยพ"

การหนีน้ำของตนเองเริ่มจากย้ายออกบ้านแถวแจ้งวัฒนะไปอยู่บ้านเพื่อนที่ฝั่งธนบุรี หมู่บ้านของตัวเองไม่เคยมีจินตนาการว่าตัวเองจะถูกน้ำท่วม คือ ดูข่าวน้ำท่วม และการอพยพ แต่ไม่เคย Identify ให้เข้ากับตัวเองเลย พอน้ำเริ่มท่วมบ้าน เพื่อนบ้านก็เริ่มอพยพหนีน้ำ เป็นสภาวะสถานการณ์น้ำท่วม ที่เราหรือคนกรุงเทพที่อยู่บ้านแบบชนชั้นกลางไม่เคยรู้จัก

แต่พอย้ายไปอยู่บ้านเพื่อนที่ฝั่งธนบุรีแถวคลองบางกอกน้อย ชุมชนนี้กลับมีสภาพที่แตกต่างจากหมู่บ้านของตนเองอย่างมาก แม้จะเป็นชุมชนเมืองแต่ก็มีลักษณะของการเป็นชุมชนมากกว่าหมู่บ้านที่ตนอยู่ บ้านนั้นเป็นบ้านที่เคยถูกน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ และปัจจุบันก็ถูกท่วมมาเดือนกว่าแล้ว เขาก็ยังทำอาหาร ขายของอยู่ตลอด เพราะฉะนั้นจะเห็นถึงบรรยากาศของผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่นี่ ซึ่งต่างจากหมู่บ้านเมืองที่เกิดขึ้นใหม่

สิ่งที่จะตั้งข้อสังเกต คือ ชุดคำต่างๆที่ใช้อธิบายน้ำท่วม ซึ่งถ้าย้อนกลับไปเมื่อหนึ่งเดือนที่แล้ว จะไม่เคยได้ยิน เมื่อนำมันมาผูกโยงกับสภาวะของผู้อพยพของคนกรุงเทพฯ ที่ว่า คนกรุงเทพฯมีจินตนาการเกี่ยวกับผู้อพยพผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่าเป็นคนอื่น มันจะไม่มีทางเป็นเราได้ ฉะนั้นเมื่อคนกรุงเทพฯถูกน้ำท่วมจึงไม่มีใครไปอยู่ศูนย์อพยพ นี่คือสถานะที่มันลักลั่นของคนกรุงเทพที่เป็นผู้ประสบภัย คือ เราไม่สามารถ Identify ตัวเองเข้ากับจินตนาการเรื่องผู้ประสบภัยน้ำท่วม เพราะมันเป็นเรื่องของคนอื่นเสมอ มันไม่เคยเป็นคนกรุงเทพฯ

เรื่อง "Bangkok civilization"ของอาจารย์เวียงรัฐ (หมายถึง เวียงรัฐ เนติโพธิ์ ผู้ดำเนินรายการ) ทำให้นึกถึง civilize space ของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ที่พูดถึงการสร้างวาทกรรมของชนชั้นนำตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เรื่อง คนป่า คนบ้านนอก วาทกรรมแบบนี้ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นภาวะผู้ประสบภัยสำหรับคนกรุงเทพจึงเป็นภาวะที่ไม่มีความหมาย ลักลั่น ไม่ได้ผูกโยงตัวเองเข้ากับวารีพิบัติทั้งหมด ดังนั้นสิ่งที่ชนชั้นกลางทำ คือ การโหมมิวสิควีดีโอดราม่าเรื่องน้ำท่วม เพื่อให้เกิดสิ่งที่คำ ผกาเรียกว่า "ฮิสทีเรียหมู่ทางอารมณ์" รวมเป็นชุดวาทกรรมน้ำท่วมที่น่าวิพากษ์มากๆ ถ้ารัฐไทยบริหารจัดการน้ำเหมือนเดิมอย่างสมัย ร.5 วาทกรรมดราม่าเรื่องน้ำท่วม ผู้ประสบภัย และเรื่องการรวมตัวกันเพื่อฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกันก็จะเป็นอย่างนี้ ไม่เปลี่ยนแปลง

เราจะเห็นภาพ น้ำท่วม คนร้องไห้ คนยากจน และคนกรุงเทพชนชั้นล่างที่ไปอยู่ศูนย์อพยพ แต่จะไม่เห็นภาพคนกรุงเทพที่แต่งตัวดีฝ่าวิกฤตน้ำท่วม ที่สำคัญมันผูกติดกับคติสอนใจเชิงศีลธรรม และแฝงมากับมิวสิควีดีโอเหล่านี้ รวมกับภาพอัตลักษณ์ความเป็นไทยรูปแบบหนึ่งเดียว คือ เราจะสามัคคี คนไทยไม่เหมือนที่ใดในโลกเพราะยามน้ำท่วมเราช่วยกันแบกถุงทราย ทำถุงยังชีพ ช่วยแจกจ่ายอาหาร กลายเป็นว่า การช่วยกันในยามน้ำท่วมเป็นลักษณะพิเศษมากสำหรับคนไทยหัวใจรักชาติ

มิวสิควีดีโอเหล่านี้ไม่มี Moral support แม้ผู้ทำอยากจะให้มีก็ตาม ในทางตรงกันข้ามมันกลับทำให้รู้สึกว่า มันคือการเหยียดหยาม ดูถูก และลดทอนปัญหา ไม่ได้สะท้อนภาพที่เป็นจริง และเป็นการ Dramatize ปัญหาให้กลายเป็นเรื่องของ Emotion (อารมณ์) ทำให้ปัญหาเป็นลักษณะของการซาบซึ้งอย่างเดียว

วาทกรรมนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหารปีพ.ศ.2549 ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์การเมือง วิกฤตทางศีลธรรม จะถูกนำไปผูกติดกับความเป็นไทยอยู่ตลอด

“เราไม่ได้ต้องการความซาบซึ้งหรือความหวังลมๆแล้งๆ แต่สิ่งที่เราต้องการคือ Solidarity หมายถึง ความร่วมมือ ร่วมใจ ความรู้สึกที่ว่าความทุกข์ของคนอื่นเป็นความทุกข์ของเรา ไม่ใช่แค่ทุกข์ของคนอื่นคือทุกข์ของคนอื่นแล้วไปบริจาคเงินใส่ถุงยังชีพ ห่อกระสอบทราย”

จริงๆ แล้วคนกรุงเทพฯไม่สนใจเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ไม่ว่าจะเป็นระดับประเทศหรือในกทม. ปล่อยให้เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญ เพราะ คนกรุงเทพไม่ได้พึ่งพิงน้ำในการมีชีวิตอยู่รอด น้ำเป็นเรื่องของชาวไร่ชาวนา และข้าราชการ ฉะนั้นเมื่อเกิดเรื่องนี้ขึ้นกับตัวเอง ผนวกกับพื้นที่เมืองที่พวกเขาถูกอัตลักษณ์ตนเองปิดไว้ เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ เขาต้องหาแพะ คือ โทษรัฐบาลที่เขาไม่ชอบ

"ในขณะที่คนต่างจังหวัดน้ำท่วมซ้ำซ้อนทุกปีแต่คนกรุงเทพฯไม่เคยตั้งคำถามว่าอะไรกันแน่คือสาเหตุของน้ำท่วม"

สุดท้ายอยากตั้งคำถามว่า น้ำท่วม กทม. มันคืออะไรกันแน่ การเลือกว่าที่ใดควรจะรับน้ำ ที่ไหนควรจะแห้ง เลือกจากเกณฑ์มาตรฐานใดการเมืองเรื่องน้ำมันสะท้อนว่าเนื้อแท้ของประชาธิปไตยไทยที่เราต้องการคืออะไรกันแน่

สื่อไทยกับรัฐบาลจะผลิตซ้ำชุดความคิด ความเข้าใจและจินตนาการเกี่ยวกับการพัฒนาเพื่อตอบคำถามเหล่านี้ ว่าพื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่ทางเศรษฐกิจอย่างกทม.ต้องปลอดจากน้ำท่วม และคนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เหล่านี้ต้องรับ และยอมเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

"คำว่า "ประโยชน์ส่วนรวม" ไม่ได้เพิ่งมีตอนนี้ แต่มาพร้อมกับวาทกรรมพัฒนาประเทศที่ผนวกกับการสร้างเขื่อนของกรมชลประทาน แล้วเราก็ยอมรับให้มันเป็นความจริงสูงสุด ว่าคุณต้องยอมเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศหรือเพื่อคน กทม. เราเคยทบทวนกันหรือไม่ว่า "ประโยชน์ส่วนรวม" นี้มันคือประโยชน์ของใคร"

ชุดความคิดนี้มันมาพร้อมกับรุ่งอรุณแห่งการพัฒนามาพร้อมกับการสร้างเขื่อน การขุดคลองชลประทาน การพัฒนาพื้นที่เมืองอุตสาหกรรม โรงงานผลิตไฟฟ้า โรงงานถ่านหิน โรงงานนิวเคลียร์ที่กำลังจะมา

กรอบคิดเรื่อง การที่คนหรือชุมชนตัวเล็กๆ ต้องยอมเสียสละเพื่อประโยชน์ของคนทั้งประเทศที่มาพร้อมกับการพัฒนา สะท้อนอยู่ในนโยบายการผันน้ำทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นของภาครัฐ มิวสิควีดีโอของไทยพีบีเอสที่สร้างความซาบซึ้งแล้วบอกว่าคนไทยรักกัน ยิ่งใหญ่ หัวใจโต ต้องยอมเสียสละเพื่อคนอื่นซึ่งเป็นใครก็ไม่รู้ และสะท้อนอยู่ในระบบสร้างคันกั้นน้ำของ กทม.

เพราะฉะนั้นการเมืองว่าด้วยเรื่องน้ำ วาทกรรมทั้งหมดที่ว่าด้วยเรื่องความเข้าใจเรื่องน้ำ บวกกับการบริหารจัดการ มันจึงมาอยู่ที่ "Social dilemma" ว่าสุดท้ายแล้วเนื้อแท้ประชาธิปไตยต้องยอมเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่จริงหรือ แล้วคนตัวเล็กตัวน้อยที่ถูกกดจะเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อที่จะบอกว่าไม่ต้องการ เสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่ได้หรือไม่

หนังสือเรื่อง The God of small things ของ Arundhati Roy มีบทความหนึ่งที่ชื่อว่า The end of imagination จะพูดถึงเรื่องประสบการณ์ของเขาที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่สร้างเขื่อนขนาดใหญ่ทางตะวันตกของอินเดีย Arundhati สะท้อนและตั้งคำถามเรื่อง Social dilemma นี้ว่า กระบวนการสร้างเขื่อน และกระบวนการทั้งหลาย มันสะท้อนประชาธิปไตยหรือระบบเศรษฐกิจ หรือเงินของใครกันแน่

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไทยอีนิวส์เปิดคลิป BBC ฉบับแปลไทย แฉใบสั่งดีเอสไออุ้มทหาร โยนเสื้อแดงฆ่ากันเอง

Posted: 10 Nov 2011 07:23 AM PST

เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา เว็บไทยอีนิวส์ นำเสนอรายงานเรื่อง โลกตลึงDSIแฉผ่านBBCหมดเปลือกปกปิดทหารฆ่าประชาชนปี53 ธาริตใบสั่งโยนผิดเสื้อแดงฆ่ากันเอง  โดยระบุว่า มีผู้นำสารคดี Thailand - Justice Under Fire (ประเทศไทย-ความยุติธรรมที่ปลายกระบอกปืน) ออกเผยแพร่อีกครั้่งทาง Youtube อัพโหลดโดย minitau1 และมีการแปลภาษาไทยด้วย 

ทั้งนี้ สารคดีดังกล่าวสำนักข่าวบีบีซีเผยแพร่เมื่อวันที่ 7 ส.ค.2554 ที่ผ่านมา จัดทำโดย Fergal Keane , Jonathan Jones, Mark Alden มีการจำกัดการฉายเฉพาะในบางประเทศและไม่เปิดให้ดาวน์โหลดคลิปย้อนหลังในเว็บ

คลิปสารคดี BBC - Thailand - ความยุติธรรมปลายกระบอกปืน อัพโหลดโดย minitau1   

ไทยอีนิวส์ระบุว่า ความน่าสนใจของสารคดีชุดนี้คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ว่า หากพบหลักฐานทหารสังหารประชาชน พวกเขาก็ต้องติดคุกโดยผู้พิพากษาจะตัดสินคดีเหล่านี้ ซึ่ง BBC ชี้ว่าหากยิ่งลักษณ์ทำตามที่พูดได้จริง มันจะเป็นครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ ของไทยเลยทีเดียว พร้อมกับตั้งข้อสงสัยว่าจะเป็นจริงไปได้เพียงไหน เพราะประวัีติศาสตร์การเมืองไทยยุคใหม่ ไม่เคยมีการดำเนินคดีต่อกองทัพหรือผู้มีอำนาจสั่งการเลย ไม่ว่าจะในตอนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หรือพฤษภาทมิฬ 2535 สุดท้ายก็มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมยกเว้นความผิดให้

ในคราวเหตุการณ์ 10 เมษายน - 19 พฤษภาคม 2553 BBC ระบุว่า มีความพยายามจะปกปิดความผิดให้กองทัพหรือผู้มีอำนาจสั่งการ เช่นคดีสังหารผู้สื่อข่าวช่างภาพชาวอิตาลี ฟาบิโอ โปเลนจี (Fabio Polengi) ทางสำนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้แจ้งกับพี่สาวของผู้ตาย อิซา โปเลนจี (Isa Polengi) ว่าไม่มีทหารในที่เกิดเหตุขณะที่มีการยิงฟาบิโอในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553

ขณะเดียวกันทาง BBC ได้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์นั้น 3 คน คนแรกคือ แบรด คอกซ์ (Brad Cox) ซึ่งยืนยันว่า มีกองทหารอยู่ตรงจุดนั้น อย่างน้อยที่สุดก็ 1 ชั่วโมงก่อนเข้าสลายการชุมนุม, มิเชล มาส (Michel Maas) นักข่าววิทยุเนเธอร์แลนด์ ที่ถูกยิงบาดเจ็บเวลาเดียวกับฟาบิโอ ก็ยืนยันว่า การยิงมาจากทิศทางกองทัพ ขณะที่พวกเขาหลบอยู่ กระสุนมาจากทิศทางทหารตั้งอยู่ , ผู้สื่อข่าวช่างภาพญี่ปุ่นอีกรายที่เห็นฟาบิโอถูกยิงล้มลงและเข้าไปลากตัวออกจากที่เกิดเหตุก็ระบุเช่นเดียวกัน

BBC รายงานว่า แกนนำเสื้อแดงได้แนะนำให้ BBC สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ใน DSI สองคน ให้สัมภาษณ์โดยไม่เปืดเผยชื่อ และใบหน้า (ดูในคลิป Youtube นาทีที่ 33)

เจ้าหน้าที่ 2 คนนี้ยืนยันว่า "เราเชื่อว่าการเสียชีวิตในเหตุการณ์นั้่น เกิดขึ้นโดยการยิงของทหาร แต่หลังจากที่เรามีข้อสรุปในคดีก่อนว่า ประชาชนถูกสังหารโดยกองทัพ คดีต่อมาที่มีข้อสรุปแบบเดียวกันก็ถูกขัดขวาง DSI ถูกสั่งให้ปกปิดเรื่องกองทัพสังหารประชาชน เราถูกสั่งให้พูดว่า ในตอนนี้ยังไม่ทราบตัวผู้กระทำ แม้เราเชื่อว่า การเสีียชีวิตนั้นเกิดขึ้่นโดยการยิงของทหาร"

เช่นเดียวกับคดีการตายของผู้สื่อข่าวช่างภาพญี่ปุ่น คือนายฮิโรยูกิ มูรามูโต้ ซึ่งถูกสังหารในวันที่ 10 เมษายน 2553 ตอนแรก DSI สรุปว่า เขาถูกฆ่าโดยทหาร ซึ่งตรงกับการสอบสวนของรอยเตอร์ ซึ่งเป็นต้นสังกัดของเขา แต่แล้วในเวลาต่อมา DSI ได้เปลี่ยนแปลงรายงานว่า เขาอาจถูกฆ่าโดยฝ่ายเสื้อแดง

"มีนโยบายให้กล่าวโทษคนเสื้อแดงในทุกกรณีเท่าที่จะเป็นไปได้ ยังมีความพยายามจะออกคำสั่งว่า หากไม่พบผู้กระทำผิดให้โยนข้อกล่าวหาไปให้ฝ่ายเสื้อแดง อธิบดี DSI เป็นผู้ออกคำสั่งนั้น"

"มีคำสั่งว่า หากไม่สามารถหาบุคคลที่เหนี่ยวไกปืนได้ เราจะต้องสันนิษฐานว่า ฝ่ายเสื้อแดงและผู้สนับสนุนเป็นคนทำ" แต่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดี DSI ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ใดๆกับ BBC

พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศอฉ.กล่าวปฏิเสธกับ BBC เรื่องผู้นำทหารไปพบอธิบดี DSI และสั่งว่า"อย่าเข้ามายุ่ง ต้องให้ทหารไม่มีความผิด" และปฏิเสธกรณี 6 ศพวัดปทุมฯ ว่าอาจถูกยิงมาจากข้างนอกแล้วแบกเข้ามาในวัด 

แต่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศชาวแคนาดา มาร์ค แมคคินนอน (Mark MacKinnon) ที่อยู่ในวัดปทุมในวันที่เกิดเหตุ ยืนยันว่า หลังสลายชุมนุม คนจำนวนมากหลบเข้าไปในวัด มีทหารตามมายิง และมีคนจุดบั้งไฟขึ้น จากนั้นทหารก็ยิงมาใส่อย่างถล่มทลายแบบไม่หยุดยั้ง โดยทหารที่อยู่บนรางรถไฟฟ้าเหนือวัดปทุมฯ ทั้งที่ผู้ตายมีเครื่องหมายพยาบาล และอยู่ในวัดพุทธศาสนา เป็นเขตอภัยทาน ในกลางกรุงเทพฯ

"วัฒนธรรมการปกปิดความผิดและการโยนความรับผิดแบบไทย หากนายกฯ ยิ่งลักษณ์จะเอาผู้่กระทำผิดลงโทษได้ตามที่ให้สัมภาษณ์เรา ก็จะกลายเป็นกรณีแรกของประวัติศาสตร์ประเทศนี้" BBC ระบุ

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: นศ. จัดลอยกระทงหน้าศปภ. ยื่นข้อเสนอการแก้ปํญหาน้ำท่วมให้ รบ.

Posted: 10 Nov 2011 04:52 AM PST

กลุ่ม นศ. หลายมหาวิทยาลัยจัดงานลอยกระทงหน้า ศปภ. ยื่นแถลงการณ์เสนอแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมให้รัฐบาล แนะควรให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำ ชี้ มหาวิทยาลัยควรผ่อนผันค่าเทอมให้กับ นศ. ที่ประสบอุทกภัย 

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 เวลา 17.00 น. เครือข่ายนักศึกษา ได้จัดกิจกรรมลอยกระทงส่งมวลน้ำลงทะเล ที่หน้า ศปภ. กระทรวงพลังงาน ถนนวิภาวดี ซอยวิภาวดี 11

เนื่องด้วยมวลน้ำมหาศาลไหลเข้าปกคลุมพื้นที่กว่า 26 จังหวัดในประเทศไทย รวมทั้งเมืองหลวงกรุงเทพมหานคร เป็นเหตุให้พี่น้องประชาชนเกือบครึ่งค่อนประเทศประสบอุทกภัยร่วมกันมา ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนตุลาคมจนถึงปัจจุบัน

เครือข่ายนักศึกษาได้แก่ กลุ่มเสรีนนทรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซุ้มเหมราช มหาวิทยาลัยรามคำแหง กลุ่มสะพานสูง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มลูกชาวบ้านมหาวิทยาลัยบูรพา ศูนย์ประสานงานเยาวชนสังคมนิยม-ประชาธิปไตย (YPD) และเครือข่ายยังเติร์กคอนเนคชั่น ที่ได้ร่วมเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่าง ๆ ได้จัดกิจกรรมลอยกระทง ที่หน้า ศปภ. ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 และอ่านแถลงการณ์เสนอต่อรัฐบาลถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน

DSC_0927

โดยมีข้อเสนอคือ 1. รัฐบาลควรจัดทำนโยบายเฉพาะหน้าในการเยียวยาและฟื้นฟูความเสียหายของประชาชนโดยเท่าเทียมกัน 2. รัฐบาลควรสรุปบทเรียนแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ 3. รัฐบาลควรมีบทบาทประสานความช่วยเหลือเฉพาะหน้า และสนับสนุนการทำงานของภาคประชาชน 4. รัฐบาลควรให้สิทธิประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทางราชการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 5. มหาวิทยาลัยควรมีมาตราการยกเว้น หรือผ่อนชำระค่าเทอมในแก่นิสิตนักศึกษาที่ประสบอุทกภัย 6. ขอให้กำลังใจทุกภาคส่วนที่ทำงานด้วยจิตอาสาอันบริสุทธิ์นการช่วยเหลือผู้ประสบภัยครั้งนี้

0000 

แถลงการณ์ ข้อเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาอุทกภัย

เยียวยาถ้วนหน้า ร่วมมือฟื้นฟู เตรียมพร้อมป้องกั้น

เมื่อมวลน้ำมหาศาลไหลเข้าท่วมพื้นที่กว่า 26 จังหวัดในประเทศไทย รวมทั้งเมืองหลวงกรุงเทพมหานคร เป็นเหตุให้พี่น้องประชาชนเกือบครึ่งค่อนประเทศประสบอุทกภัยอย่างแสนสาหัสตั้งแต่ช่วงต้นเดือนตุลาคมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และยังไม่สามารถประเมินได้ว่า กว่าที่สถานการณ์น้ำท่วมจะคลี่คลายผ่านพ้นเข้าสู่สภาวะปกตินั้น ต้องใช้เวลาอีกนานเท่าใด

แม้ว่าหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรรัฐ องค์กรเอกชน องค์กรภาคประชาชนและกลุ่มกิจกรรมนิสิตนักศึกษาได้ระดมกำลังกันลงพื้นที่ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ประสบอุทกภัย แต่ก็ยังมีพื้นที่บางพื้นที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง บางพื้นที่ซึ่งเคยเป็นศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยถูกละเลยทอดทิ้ง ในหลายพื้นที่ยังได้รับความเสียหายอย่างมหาศาลไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เขตอุตสาหกรรมซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อพี่น้องผู้ใช้แรงงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และพื้นที่เกษตรกรรมก็เกิดให้เกิดผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกรโดยที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้

ด้วยเหตุนี้เรา เครือข่ายนักศึกษาที่ได้ร่วมเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ  จึงขอเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยทั้งต่อรัฐบาลและต่อสาธารณะชน ดังนี้

1. รัฐบาลควรจัดทำนโยบายเฉพาะหน้าในการเยียวยาและฟื้นฟูความเสียหายของประชาชนที่ประสบอุทกภัยอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติระหว่างเขตเมืองกับเขตชนบท ระหว่างคนรวยกับคนจน ระหว่างผู้ประกอบกับลูกจ้าง

2. รัฐบาลควรสรุปบทเรียน แนวทางในการบริหารจัดการน้ำ และจัดทำแผนการรับมืออุทกภัยโดยเปิดโอกาสให้องค์กรภาคประชาชน นักวิชาการ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน    และต้องไม่มีการขายสัมปทานกิจการบริหารจัดการน้ำให้ชาวต่างชาติเข้ามาดำเนินการ

3. รัฐบาลและ ศปภ.ควรมีบทบาทในการประสานความช่วยเหลือเฉพาะหน้า  และสนับสนุนการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคม ทั้งด้านข้อมูลข่าวสาร สิ่งของที่จำเป็น รวมทั้งส่งเสริมให้ท้องถิ่นเกิดความเข้มแข็งในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ของตนเอง  

4. รัฐบาลควรให้สิทธิประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทางราชการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 56 โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเรื่องสถานการณ์น้ำ 

5. มหาวิทยาลัยทั้งที่อยู่ตั้งในเขตอุกทกภัยและนอกเขตอุทกภัย ควรมีมาตรการในการยกเว้น ปรับลดค่าเทอมในอัตราที่เหมาะสม หรือมีมาตรการในการผ่อนชำระค่าเทอม ให้แก่นิสิตนักศึกษาที่ประสบอุทกภัย  และต้องมีการเยียวยา ฟื้นฟูทั้งส่วนเจ้าหน้าที่ บุคลากร รวมทั้งชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย

6. ขอให้กำลังใจทุกภาคส่วนที่ทำงานด้วยจิตอาสาอันบริสุทธ์ในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในครั้งนี้ 

 

“เราจะร่วมฝ่าฟันวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน”

ด้วยจิตคารวะ

10 พฤศจิกายน 2554

กลุ่มเสรีนนทรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ซุ้มเหมราช มหาวิทยาลัยรามคำแหง

กลุ่มสะพานสูง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กลุ่มลูกชาวบ้าน มหาวิทยาลัยบูรพา

ศูนย์ประสานงานเยาวชนสังคมนิยม-ประชาธิปไตย(YPD)  และเครือข่ายยังเติร์กคอนเนกชั่น

 

 

DSC_0897

DSC_0900

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

AREA: กระตุ้นอสังหาริมทรัพย์หลังน้ำท่วมด้วยทางด่วน

Posted: 10 Nov 2011 04:21 AM PST

ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ซึ่งเป็นศูนย์ข้อมูลแห่งแรกที่ดำเนินการสำรวจมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 ได้ประมาณการว่า ในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมทั้งหมด มีที่อยู่อาศัยทั้งหมด 2,656 โครงการ จำนวน 549,888 รวมมูลค่า 1,254,005 ล้านบาท หรือตกหน่วยละ 2.280 ล้านบาท และเป็นที่อยู่อาศัยแนวราบ 2,425 โครงการ จำนวน 461,664 หน่วย รวมมูลค่า 1,147,970 ล้านบาท เฉลี่ยหน่วยละ 2.487 ล้านบาท ที่อยู่อาศัยที่เป็นห้องชุดมีจำนวน 88,224 หน่วย รวมมูลค่า 106,035 ล้านบาท หรือ 1.202 ล้านบาทต่อหน่วย

หลังจากน้ำท่วมราคาที่อยู่อาศัยในพื้นที่อาจจะตกต่ำลงเป็นอย่าง มาก ทั้งนี้เพราะทำเลที่ดีเหล่านั้นกลับมี ‘ตำหนิ’ เพราะน้ำท่วมถึง ผู้ซื้อบ้านอาจเกิดความไม่มั่นใจในปัญหาการท่วมซ้ำซากในอนาคต ดังนั้นรัฐบาลจึงควรก่อสร้างสาธารณูปโภคเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ได้แก่ เขื่อนกั้นที่ถาวร และระบบป้องกันปัญหาน้ำทะเลหนุน รวมทั้งการปรับปรุงและก่อสร้างถนนหนทางอื่น ๆ

อย่างไรก็ตามหนทางหนึ่งในการกระตุ้นราคาอสังหาริมทรัพย์ก็คือ การเร่งก่อสร้างทางด่วนผ่านเข้าไปยังพื้นที่ชานเมืองต่าง ๆ เพื่อทำให้ศักยภาพของที่ดินเพิ่มสูงขึ้น เพราะเป็นการย่นระยะทางเข้าสู่ใจกลางเมืองได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น บนทางด่วนยังสามารถมีรถประจำทางได้ ในกรณีชานเมืองทางด่วนนับว่าเหมาะสมและสะดวกกว่าการมีรถไฟฟ้า ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่อหัวในการเดินทางสูงกว่าทางด่วนมาก และไม่สามารถใช้ขนถ่ายสินค้าได้

หลังจากน้ำท่วม มีความเป็นไปได้ที่ราคาบ้านในพื้นที่เหล่านั้นจะหยุดนิ่ง หรือลดต่ำลงเล็กน้อย หรือทำให้การซื้อขายชะงักไป ทำให้ไม่สามารถรับรู้รายได้ได้ หากสมมติให้ราคาที่อยู่อาศัยลดลงไป 10% ของทั้งหมด 1.254 ล้านบาท ก็เท่ากับเป็นความสูญเสียประมาณ 125,400 ล้านบาท จากข้อมูลต้นทุนการก่อสร้างทางด่วนเป็นเงินตารางเมตรละ 32,000 บาท ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอเตท แอฟแฟร์ส คาดว่าว่า ณ เงิน 125,400 ล้านบาทนี้ จะสามารถก่อสร้างทางด่วนขนาด 4 ช่องจราจร ได้ถึง 245 กิโลเมตร โดยอาจก่อสร้างเหนือถนนปัจจุบัน เช่นในกรณีถนนรามคำแหง ถนนบรมราชชนนี เป็นต้น หากเป็นการก่อสร้างบนที่ดินที่ต้องเวนคืนใหม่ ค่าก่อสร้างก็จะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ก่อสร้างได้ระยะทางสั้นลงเป็น 145 กิโลเมตร

อย่างไรก็ตามหากสามารถก่อสร้างด้วยเงินจำนวน 125,400 ล้านบาทนี้ จะทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มต่ออสังหาริมทรัพย์ของประชาชนโดยรวม แทนที่จะลดลง กลายเป็นว่างบประมาณการก่อสร้างนี้ไม่ใช่ความสูญเปล่า แต่เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาว ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เคยทำการศึกษาให้กับบริษัทก่อสร้างทางด่วนของญี่ปุ่นแห่งหนึ่งพบว่า หลังจากการก่อสร้างทางด่วนยกระดับ ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในระยะยาวเพิ่มสูงขึ้นกว่าบริเวณที่ไม่มีทางด่วน อย่างมีนัยสำคัญ 

กรณีตัวอย่างเช่นนี้มีให้เห็นทั่วไปในต่างประเทศ เช่น ในนครเซี่ยงไฮ้ ทางยกระดับต่าง ๆ ที่ออกนอกเมือง รัฐบาลให้ใช้ทางเหล่านี้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าและบริการต่าง ๆ นอกเหนือจากการช่วยกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ในกรณีของเมืองอาเจะห์ อินโดนีเซียที่เกิดสึนามิ ปรากฏว่าแม้เมืองดังกล่าวจะมีผู้สูญเสียชีวิตเกือบ 200,000 คน แต่ในเวลา 2 ปีหลังจากนั้น ราคาอสังหาริมทรัพย์กลับพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก เพราะรัฐบาลลงทุนพัฒนาสาธารณูปโภคขึ้นใหม่นั่นเอง

พื้นที่ที่ควรก่อสร้างทางยกระดับ ได้แก่ ถนนรังสิต-นครนายก ถนนรังสิต-บางพูน ถนนเพชรเกษม ถนนลาดพร้าว ถนนรามคำแหง ถนนศรีนครินทร์ ถนนสุขุมวิทช่วงปากน้ำ ถนนสุขสวัสดิ์ ถนนพระรามที่ 2 ถนนรัตนาธิเบศร์ ถนนบางบัวทอง-สุพรรณบุรี เป็นต้น

โดยสรุปแล้ว แม้การแก้ปัญหาหลังน้ำท่วมจะมีหลายประการ แต่ประการสำคัญหนึ่งจึงเป็นการเร่งก่อสร้างทางด่วนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ กระตุ้นราคาอสังหาริมทรัพย์ของประชาชน และเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายในระยะยาว ค่าก่อสร้างวันนี้ย่อมต่ำกว่าค่าก่อสร้างในวันพรุ่งนี้เสมอ และอายุของทางด่วนเหล่านี้ย่อมยาวนานเกินคุ้มอย่างแน่นอน

 

ผู้แถลง:

ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับ ปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

น้ำท่วม(ปาก)#3: พวงทอง ภวัครพันธุ์: จับตากระแสต่อต้านการเมืองแบบเลือกตั้ง

Posted: 10 Nov 2011 02:42 AM PST

 

ที่มาของคลิป: BookRepubliconTV/youtube.com

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา ร้าน Book Re:public จ.เชียงใหม่ ได้จัดเสวนา “อ่านออกเสียงเฉพาะกิจ” ตอน “น้ำท่วม (ปาก): หลากความคิดจากผู้ลี้ภัยน้ำท่วมกรุงเทพฯ” มีวิทยากรได้แก่ มนตรี จันทวงศ์ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันรัก สุวรรณวัฒนา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลักขณา ปันวิชัย หรือ คำ ผกา นักเขียนและคอลัมน์นิสต์ และเวียงรัฐ เนติโพธิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ

โดยช่วงการอภิปรายโดยพวงทอง ภวัครพันธุ์ ได้ชี้ว่า ข้อสังเกตเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำที่คุณมนตรีและอาจารย์อภิชาตได้กล่าวถึงปัญหาการบริหารน้ำที่เกิดขึ้น การประเมินน้ำที่มันมีปัญหา และนำมาสู่การกักเก็บน้ำไว้เยอะเกินไป ปล่อยช้าเกินไป รวมถึงปัญหาของเทคโนแครตที่คุมอำนาจในการตัดสินใจเหล่านี้ ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาเราก็ได้ยินเรื่องนี้มามาก มีผู้เชี่ยวชาญน้ำปรากฏกายขึ้นโดยที่เราไม่คิดว่าจะมีมากขนาดนี้ หลายคนอยู่นอกภาคส่วนราชการแต่ว่าไม่มีโอกาสได้เข้าไปให้ความเห็น

"แต่ว่าข้อมูลเหล่านี้ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงโครงสร้างการจัดการน้ำทั้งระบบ ไม่ได้ส่งผลต่อการมองปัญหาของชนชั้นกลาง ชนชั้นกลางทุกวันนี้มุ่งแต่โจมตีรัฐบาลมากกว่า ต่อให้เกิดโศกนาฏกรรมมากกว่านี้ ก็ไม่สามารถลดความขัดแย้งที่มีอยู่ได้ และอันนี้กำลังเป็นลักษณะเฉพาะของสังคมไทย"

ภัยพิบัติเกิดขึ้นทั่วโลก แต่ ว่าภัยพิบัติเหล่านี้มันไม่เคยถูกใช้เป็นการเมือง มันไม่เคยถูกฉวยใช้ในการทำลายรัฐบาลเพื่อเป้าหมายของกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม เหมือนประเทศไทย ดูภัยพิบัติน้ำท่วมที่กัมพูชา คนเสียชีวิตถึง 257 คนและมีผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 1.2 ล้านคนซึ่งสูงมากสำหรับประเทศเล็กที่มีประชากร 15 ล้านคน ที่ฟิลิปปินส์ เสียชีวิต 43 คน เวียดนามเสียชีวิต 57 คน

ประเทศอื่นก็มีปัญหาภัยพิบัติเหมือนกัน แต่ไม่เห็นกระแสการโจมตีรัฐบาลเหมือนในไทย ยกตัวอย่างกรณีการเกิดเฮอร์ริเคนแคทรีนา (Hurricane Katrina)ที่อเมริกาเมื่อปี พ.ศ.2548 มีจำนวนคนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ครั้งนั้นรัฐบาลจอร์จ บุชถูกโจมตีจากชาวบ้าน สภาคองเกรส และสื่อมวลชนอย่างมาก ถึงความล้มเหลวในการป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้น ความผิดพลาดของรัฐบาลที่เป็นเรื่องที่แย่มาก เช่น ผู้การมลรัฐไม่สั่งให้มีการอพยพคนออก ทั้งๆ ที่มีรถขนคนอยู่มากเนื่องจากคนขับรถไม่พอ และรถไม่มีประกันครอบคลุมชาวบ้านเท่านั้นเอง หรือตัวประธานาธิบดีเองที่ระหว่างเกิดเรื่องอยู่ในระหว่างพักร้อนที่เท็กซัส กว่าจะตัดสินใจบินกลับวอชิงตันใช้เวลาเกือบสองวันทำให้ถูกโจมตีว่าทำไมใจ เย็น ไม่รู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องร้ายแรง แต่การโจมตีเหล่านี้ก็ไม่ได้นำไปสู่การล้มล้างรัฐบาลบุช

ที่กล่าวไปไม่ได้หมายความว่าจะวิจารณ์รัฐบาลไม่ได้ คิดว่าวิจารณ์ได้แต่ต้องแบ่งเป็นเรื่องๆ เช่น ความรับผิดชอบของรัฐบาลที่มีปัญหาคืออะไร และตรงไหนบ้างที่เป็นปัญหาที่ค้างสะสมกันมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ ใช่การโยนความผิดทั้งหมดให้รัฐบาล รัฐบาลไทยหลายรัฐบาล (ไม่ใช่แค่รัฐบาลยิ่งลักษณ์) ไม่มีการเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติขนาดใหญ่ ฝรั่งมีการเตรียมรับมือกับหายนะทั้งจากมนุษย์และธรรมชาติเมื่อมีการเตรียม พร้อม จึงมีการประเมินและเตรียมความพร้อม เช่น ประเมินว่าภัยพิบัติแบบนี้คนจะได้รับผลกระทบเท่าไหร่ ต้องเตรียมอาหาร ที่พักพิง เท่าไหร่ แต่ของเราไม่มี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต้องเสนอตัวเองเป็นที่พักพิง ผู้อพยพก็ต้องไปนอนเรียงกันในโดม ความเป็นส่วนตัวก็ไม่มี อาหารก็ต้องอาศัยชาวบ้านเข้ามาช่วยกัน ทั้งๆ ที่หลายปีก่อนหน้านี้ประเทศไทยก็เริ่มเจอภัยพิบัติมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ทำไมเราไม่เคยมีระบบที่จะรับมือกับภัยพิบัติ

ด้านประเด็นทางการเมือง อย่างที่อาจารย์อภิชาตได้กล่าวไปว่า เมืองหลวงไม่ควรถูกน้ำท่วม เพราะต้นทุนสูง มันก็จริง แต่นั้นเป็นการมองแบบทุนนิยม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้มีสองกระแส คือเมืองหลวงท่วมไม่ได้ เพราะต้นทุนสูง แต่อีกส่วนหนึ่งก็บอกว่าให้ท่วมหน่อยก็ได้

"กระแสของคนที่ไม่อาจยอมรับได้ เพราะมีความคิดต่อต้านรัฐบาลซึ่งวางอยู่บนฐานของความไม่แน่ใจว่าจะท่วมมากเท่าไหร่ รุนแรงแค่ไหน ยิ่งรัฐบาลรู้สึกถึงกระแสต่อต้านมากเท่าไหร่ เขาก็ต้องพยายามที่จะไม่ยอมให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ และพยายามบอกคนกรุงเทพฯ ตลอดเวลาว่าเอาอยู่ แต่ในความเป็นจริงมันเอาไม่อยู่ มันกั้นไม่ได้"

ปัญหาคือทำไมรัฐบาลจึงอยู่กับความกลัว และให้ข้อมูลแบบไม่ชัดเจนนั่นก็เป็นเพราะรัฐบาลกลัวคน กทม.ต่อต้านรัฐบาล แต่สำหรับตนคิดว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเปลี่ยนไปถ้าการเมืองบ้านเราไม่เป็นแบบ นี้ ถ้าการเมืองไม่แตกเป็นขั้ว ความร่วมมือในการแก้ปัญหาจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในส่วนของกทม.และรัฐบาลก็จะมีมากขึ้น ในขณะเดียวกันถ้าหน่วยงานเหล่านี้ประกาศว่าจะท่วมแค่ไหน อย่างไร และให้ยอมรับความเป็นจริงที่เป็นอยู่ คนกรุงเทพฯอาจจะทำใจรับสถานการณ์น้ำท่วมได้มากกว่านี้ แต่ขณะนี้มันมีความรู้สึกว่ารับไม่ได้

กระแสต่อต้านรัฐบาลเริ่มต้นจากคนทั่วไปโดยเฉพาะคนที่เข้าถึง Social media โดย มุ่งโจมตีที่ตัวรัฐบาลและตัวบุคคลที่เป็นนายกฯ และในสองวันนี้เริ่มเห็นการฟื้นวาทกรรมเรื่องนักการเมืองเลวกลับขึ้นมาอีก ครั้งหนึ่ง โดยผ่านฟอร์เวิร์ดเมล์บทความของสำนักข่าวเอพี ที่รายงานถึงพระอัจฉริยภาพของในหลวงที่ทรงเห็นปัญหาล่วงหน้า แต่ก่อนที่จะเข้าถึงบทความอันนี้ คนส่งเมล์ได้เขียนข้อความว่า...

"นี่คือความจริงที่คนไทยทุกคนควรทราบ และเป็นนโยบายที่รัฐบาลทุกรัฐบาลควรดำเนินตาม แม้จะสายไปแล้ว แต่ก็ควรน้อมนำมาเป็นแนวเดินให้ใกล้เคียง มิฉะนั้นก็ต้องย้ายเมืองหลวง น้ำท่วมครั้งนี้วิกฤตนัก และวิกฤตยิ่งกว่าที่อื่นใดในโลกจริงหรือไม่ และพวกเราทุกคนมีส่วนที่ทำผิดในเรื่องนี้ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เพราะทุกรัฐบาลที่ผ่านมาเกิดจากการลงมติเลือกและอยู่ทำงานพร้อมคอร์รัปชั่น ไปด้วย ในท่ามกลางความเพิกเฉยไม่ควบคุมพฤติกรรม ปล่อยให้อยู่รอดไป ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ ไม่ทำในสิ่งที่ควรทำ ด้วยคิดว่า 15 วินาทีที่หย่อนบัตรเลือกตั้ง เป็นการทำหน้าที่ที่พอแล้วสำหรับพลเมืองดี พอหรือยังพี่น้อง ตระหนักหรือยังว่าการเมืองคือเรื่องของคนที่เบื่อไม่ได้ ต้องสละเวลาและจิต ใจ กาย มามีส่วนร่วมเพื่อบ้านเมืองของเราอย่างใกล้ชิดตลอดไป อย่าเห็นแก่ตัวจนเกินไป ถ้าไม่อยากลำบากยากเข็ญเช่นนี้อย่างซ้ำๆ ซากๆ"

ข้อความอันนี้สะท้อนให้เห็นว่า นอกจากจะไม่ยอมรับระบบการเลือกตั้งแล้ว กำลังระดมคนให้ออกมาต่อต้านการเมืองระบบเลือกตั้งอีกครั้งจากกระแสน้ำท่วม ครั้งนี้ นี่เป็นอันตรายของการเมืองไทยครั้งหนึ่ง ซึ่งไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น มันก็จะวนเวียนอยู่กับการเมืองในสองขั้วนี้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘โอบามา’ ส่งสาส์นถึง ‘ยิ่งลักษณ์’ แสดงความเสียใจน้ำท่วม

Posted: 10 Nov 2011 01:47 AM PST

 10 พ.ย. 54 - เว็บไซต์สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย รายงานว่า วานนี้ (9 พ.ย.) ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ในนามของประชาชนชาวอเมริกัน ได้ส่งสาส์ถึงนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร แสดงความเสียใจต่อความสูญเสียจากอุทกภัยที่เกิดขึ้น

‘โอบามา’ ส่งสาสน์ถึง ‘ยิ่งลักษณ์’ แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์น้ำท่วม

ที่มา: เฟซบุ๊กทางการของสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย

 

สาส์นดังกล่าวระบุว่า สหรัฐยังคงยืนหยัดและเชื่อมันในความเข้มแข็งของประชาชนชาวไทย และหวังว่า ความช่วยเหลือที่สหรัฐได้สนับสนุนจะมีประโยชน์ต่อความพยายามของรัฐบาลในการป้องกันภัยพิบัติ และจะยังคงทำงานเพื่อช่วยเหลือในอีกหลายเดือนข้างหน้า เพื่อฟื้นฟูประเทศไทยจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ 

โอบามายังระบุในสาส์นด้วยว่า เขาหวังว่าจะได้พบกับนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกในบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 19 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ 

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เผยแรงงานข้ามชาติในนครปฐม-สมุทรสาคร ยังต้องการความช่วยเหลือจากเหตุน้ำท่วม

Posted: 10 Nov 2011 01:38 AM PST

10 พ.ย. 54 - มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า ระบุว่าขณะนี้มีแรงงานทั้งชาวต่างชาติและชาวไทยที่ประสบภัยน้ำท่วมซึ่งยังต้องการความช่วยเหลืออยู่หลายจุด ได้แก่

จุดที่ 1 หอพักสุรินทร์แมนชั่น ตึก 6 ชั้น ถ.พุทธมณฑลสาย 5 ต.กระทุ่มล้ม อ.สามพราน จ.นครปฐม 971 คน (ชาย 446, หญิง 500, คนท้อง 15, เด็ก 12, เด็กทารก 13 คน)
 
จุดที่ 2 หอพักสุรินทร์แมนชั่น ตึก 3 ชั้น (แรงงานไทย) 80 คน (ชาย 30, หญิง 50, เด็ก 10 คน)
 
จุดที่ 3 หอพัก 3 ชั้น ตรงข้ามวัดเพลินเพชร ถ.พุทธมณฑลสาย 5 ต.เพลินเพชร อ.สามพราน จ.นครปฐม จำนวน 154 คน (ชาย 75, หญิง 72, เด็ก 6, เด็กทารก 1 คน)
 
จุดที่ 4 หอพักบริเวณโรงงานขนมปังบริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารศรีสยาม จำกัด ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร จำนวน 269 คน (ชาย 100, หญิง 169, เด็ก 1 คน, เด็กทารก 1 คน)
 
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจจะสมทบความช่วยเหลือ ติดต่อได้ที่มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า โทร.02-2164463 โดยทางมูลนิธิจะนำน้ำดื่มและสิ่งของจำเป็นเข้าไปให้แรงงานทั้งหมดในวันศุกร์ที่ 11 พ.ย.นี้
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบกขอความร่วมมือ "กรุงเทพธุรกิจ" ในการเสนอข่าว

Posted: 09 Nov 2011 11:49 PM PST

ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบก ทำหนังสือถึง บก.กรุงเทพธุรกิจ แจงการรายงานข่าวโดยอ้าง "แหล่งข่าวระดับสูงจากกองทัพ" โดยมิได้ระบุชื่อทำให้ผู้อ่านข่าวเข้าใจผิด ยันกองทัพมิได้มีการหารือใดๆ และกองทัพบกเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ทำภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล

หมายเหตุ: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานวันนี้ (10 พ.ย. 54) ว่าศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบก กองบัญชาการกองทัพบก ได้ส่งหนังสือเลขที่ กห.0407.24/545 ถึง บรรณาธิการหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เรื่อง ขอความร่วมมือในการนำเสนอข่าว หลังหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับวันที่ 7 พ.ย. 54 ตีพิมพ์ข่าวหัวข้อ "กองทัพประเมิน 12 เหตุผล ขาดภาวะผู้นำ การเมืองครอบงำ นายกฯ สอบตก แก้น้ำท่วม" โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

ที่ กห 0407.24/545
ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบก
กองบัญชาการกองทัพบก
เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

7 พฤศจิกายน 2554

อ้างถึง หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน 2554 หน้า 16 หัวข้อข่าว "กองทัพประเมิน 12 เหตุผล ขาดภาวะผู้นำ

เรื่อง  ขอความร่วมมือในการเสนอข่าว

เรียน  บรรณาธิการหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

อ้างถึง หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน 2554 หน้า 16 หัวข้อข่าว "กองทัพประเมิน 12 เหตุผล ขาดภาวะผู้นำ การเมืองครอบงำ นายกฯ สอบตก แก้น้ำท่วม"

ตามที่หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ได้เสนอข่าว โดยอ้าง "แหล่งข่าวระดับสูงจากกองทัพ" วิเคราะห์ภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรีในการแก้ปัญหาอุทกภัย รายละเอียดตามอ้างถึงนั้น

กองทัพบก ขอเรียนว่า ข้อมูลที่ถูกนำเสนอในรายงานพิเศษดังกล่าวเป็นการอ้างว่ามาจากแหล่งข่าวระดับ สูงของกองทัพ ซึ่งมิได้ระบุว่าเป็นบุคคลใด ขณะเดียวกันก็เป็นข้อมูลเชิงวิเคราะห์ที่พยายามเชื่อมโยงความคิดเห็นส่วน บุคคลกับการบริหารงานของรัฐบาลและกองทัพ อาจส่งผลให้ผู้รับข่าวสารเกิดความเข้าใจผิดว่ากองทัพมีการหารือในประเด็นดังกล่าว ซึ่งในความเป็นจริงกองทัพมิได้มีการดำเนินการใดๆ ในเรื่องดังกล่าวทั้งสิ้น ทั้งนี้ กองทัพเป็นกลไกหนึ่งของรัฐบาลที่ปฏิบัติตามนโยบายในการบริหารประเทศ โดยเฉพาะการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในขณะนี้ ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล กองทัพ ส่วนราชการ และภาคประชาชน มีความมุ่งมั่นตั้งใจ และได้ร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาของประชาชนอย่างเต็มที่ ดังนั้นในฐานะที่เป็นสื่อมวลชนการจะนำเสนอข้อมูลข่าวสารใดๆ ในสภาวการณ์ปัจจุบันที่ประเทศชาติต้องการความรักความสามัคคี และความเข้าใจเพื่อร่วมกันผ่านพ้นวิกฤติสถานการณ์น้ำในขณะนี้ จึงจำเป็นต้องมีความชัดเจน ถูกต้อง อ้างอิงได้ในที่มาของข่าวและแหล่งข่าว

กองทัพบกในฐานะหน่วยงานด้านความมั่นคงที่มีบทบาทหน้าที่ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายรวมถึงภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากฝ่ายบริหารและรัฐบาล ทั้งนี้ในทุกภารกิจกองทัพบกจะดำเนินงานภายใต้กรอบกฎหมาย ยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชนและสังคมโดยรวมเป็นหลัก ควบคู่ไปกับความพยายามในการสร้างความเข้าใจกับสังคมถึงสิ่งที่ได้ดำเนินการ และยังคงยึดมั่นในจุดยืนดังกล่าวมาโดยตลอด เช่นเดียวกับการทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชนในการนำเสนอหรือแสดงทัศนะใดๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับงานด้านความมั่นคงของประเทศควรอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง อ้างอิงได้ ไม่มีอคติหรือเจตนาแอบแฝง หรือเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลจากการประมวลผลโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่มิได้มีข้อเท็จจริงครบถ้วน หรือไม่ได้เข้าไปรับรู้ในเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านั้นด้วยตนเอง เพราะอาจไม่เพียงสร้างความเสียหายให้กับองค์กรที่ถูกกล่าวถึง แต่จะรวมถึงประเทศชาติและสังคมไทยเป็นส่วนรวมด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่กองทัพบกห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง จึงใคร่ขอความร่วมมือจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจได้แก้ไขข่าวพร้อมนำเสนอ ข่าวที่ถูกต้องที่ได้รับการแก้ไขแล้ว รวมถึงนำข้อมูลที่ได้ชี้แจงมาข้างต้นเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบด้วย

ขอแสดงความนับถือ

พลตรี 

(พลภัทร  วรรณภักตร์)
หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบก

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ: กลุ่มอนุรักษ์อุดรฯ จี้อุตสาหกรรมฯ อุดรแจ้งกรณีเหมืองโปแตช พบเตรียมปิดประกาศเขต พ.ย.นี้

Posted: 09 Nov 2011 10:11 PM PST

กลุ่มอนุรักษ์อุดรฯ รุกถามความคืบหน้าประทานบัตรเหมืองโปแตชหลัง กพร. และบริษัทอ้างปักหมุดเสร็จแล้ว ด้านอุตสาหกรรมจังหวัดเผยเตรียมปิดประกาศเขตเหมืองในเดือนนี้ ชีหากคัดค้านสามารถยื่นฟ้องศาลปกครองได้

 
 
 
วานนี้ (9 พ.ย.54) เวลา 10.00 น. แกนนำชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จำนวน 20 คน เดินทางไปยังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี เพื่อติดตามความคืบหน้าการขออนุญาตประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ของบริษัทเอเชียแปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด พร้อมทั้ง ยื่นหนังสือคัดค้านการขออนุญาตประทานบัตรโครงการฯ
 
นายปัญญา โคตรเพชร เลขานุการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า สถานการณ์การผลักดันโครงการเหมืองแร่โปแตช ในพื้นที่ได้กลับมาเข้าสู่สถานการณ์ตรึงเครียดอีกครั้ง เมื่อฝ่ายบริษัทได้มีความพยายามผลักดันโครงการโดยทำการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้นำชุมชน สมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ ในช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทั้งที่ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมานั้น ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้แสดงเจตจำนงมาตลอดว่าการดำเนินการจัดเวทีหลายต่อหลายครั้ง ของบริษัท ไม่มีความชอบธรรม และขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของชาวบ้านในพื้นที่
 
“ที่พวกเราพากันมาในวันนี้ ก็เพื่อจะมาถามจากอุตสาหกรรมจังหวัดเกี่ยวกับเรื่องเหมืองโปแตช ว่าหลังจากที่ กพร. และบริษัท ได้อ้างมาว่า ปักหมุดเสร็จแล้ว จะดำเนินการในขั้นต่อไปนั้น ตอนนี้ไปถึงไหนกันแล้ว เพราะพวกเราซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่ ก็ร่วมกันค้านการปักหมุดรังวัดมาตลอดว่า ไม่มีความชอบธรรม ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม แต่บริษัทก็ยังมีการเคลื่อนไหวที่จะผลักดันโครงการต่อให้ลุล่วง ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เกิดความสับสนต่อสถานการณ์ จึงได้กันมาพบอุตสาหกรรมจังหวัดในวันนี้ ให้ช่วยชี้แจงถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการเหมืองโปแตช”
 
ด้าน นายวรากร บำรุงชีพโชต หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ได้ทำการชี้แจงเกี่ยวกับขั้นตอนการขออนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ใต้ดิน ว่า หลังจากที่มีการปักหมุดรังวัดแล้วเสร็จเมื่อปีที่แล้ว ขั้นต่อไปก็จะทำการปิดประกาศไปยังหน่วยงานราชการ เทศบาล และ อบต.ที่อยู่ในพื้นที่โครงการ ซึ่งคาดว่าน่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนนี้ เมื่อถึงตอนนั้นก็จะทราบว่ามีใครบ้างอยู่ในเขตคำขอประทานบัตร และถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการ ซึ่งหากชาวบ้านจะคัดค้านก็เตรียมเอกสารยื่นได้ตามแปลงที่มีชื่ออยู่  
 
นายวรากรยังกล่าวอีกว่า พอปิดประกาศแล้ว ตามขั้นตอนก็จะมีการทำประชาพิจารณ์ หรือประชาคมหมู่บ้านในเขตเหมือง ซึ่งก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ชาวบ้านจะค้าน หรือถ้าเห็นว่าไม่เป็นไปตามกฎหมายก็สามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้ ส่วนผลของการคัดค้านก็จะทำให้กระบวนการทุกอย่างหยุดชะงักทันที จนกว่าบริษัทจะตกลงกันได้กับผู้คัดค้าน
 
ส่วน นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ที่ผ่านมาคำว่าการมีส่วนร่วมจะถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ไม่ได้เกิดการสร้างการมีส่วนร่วมที่แท้จริงต่อภาคประชาน ทำให้เกิดปัญหาที่ยืดเยื้อเรื้อรังเสมอมา
 
“เวลาหน่วยงานภาครัฐ และบริษัทเอกชนดำเนินการอะไร ก็มักจะมีการอ้างว่าได้สร้างการมีส่วนร่วมให้กับชาวบ้านแล้ว ถ้าทำจริงชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ คงไม่ต้องมาพบอุตสาหกรรมจังหวัดเพื่อที่จะขอข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์โครงการเหมืองแร่โปแตชหรอก” นายสุวิทย์กล่าว และเสริมว่าทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องมีการทำความเข้าใจในประเด็นการมีส่วนร่วมให้มีความลึกซึ้ง และดำเนินการอย่างชัดเจน
 
ผู้ประสานงาน ศสส.กล่าวด้วยว่า ในส่วนของสถานการณ์เหมืองโปแตชที่จะมีการปิดประกาศการขอประทานบัตรนั้น ชาวบ้านก็ต้องออกมาค้านอย่างชัดเจนอยู่แล้ว เพราะขั้นตอนการดำเนินการที่ผ่านมามันขัดหลักการมีส่วนร่วมมาตั้งแต่แรก
 
“อยากจะตั้งคำถามอยู่เหมือนกันว่าถ้าหากการคัดค้านของชาวบ้านดำเนินการตามช่องทางของกฎหมาย เช่น ฟ้องร้องต่อศาลปกครองนั้น อธิบดี กพร. จะยุติการเอื้ออำนวยให้เกิดโครงการเหมืองโปแตชหรือไม่ และถ้าหากกลุ่มชาวบ้านใช้วิธีการคัดค้านที่ไม่ได้ผ่านช่องทางของกฎหมาย เช่น การชุมนุม การปิดถนน กลับถูกกล่าวว่าชาวบ้านไม่มีเหตุผลไม่อยู่ในกรอบกติกา สิ่งเหล่านี้จึงไม่มีความเป็นธรรมต่อกลุ่มชาวบ้านเลย” สุวิทย์ กล่าว
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น