โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

‘โอบามา’ แสดงความยินดี ’ยิ่งลักษณ์’ ต่อชัยชนะการเลือกตั้งที่เป็น ‘แรงบันดาลใจ’

Posted: 19 Nov 2011 10:13 AM PST

ประธานาธิบดีสหรัฐ ‘บารัก โอบามา’ พบยิ่งลักษณ์วานนี้ในการประชุมทวิภาคี ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก โดยได้กล่าวยินดีในชัยชนะการเลือกตั้งที่เป็น ‘แรงบันดาลใจ’ และเน้นย้ำเรื่องการก้าวไปสู่ประชาธิปไตยของไทยอย่างแท้จริง ก่อนจะบินกลับสหรัฐหลังเสร็จสิ้นภารกิจในเอเชียแปซิฟิก 

เมื่อวันที่ 19 พ.ย. มีรายงานว่า ประธานาธิบดีสหรัฐ บารัก โอบามา ได้พบปะยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ณ การประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย โดยทั้งสองได้หารือในประเด็นการฟื้นฟูหลังน้ำท่วมของประเทศไทย และโอบามาได้กล่าวแสดงความยินดีสำหรับชัยชนะการเลือกตั้งของยิ่งลักษณ์ที่เป็นแรงบันดาลใจด้วย 
 

Obama meets Yingluck

แสดงความยินดี: ประธาธิบดีสหรัฐพบยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก
 
การประชุมดังกล่าวมีขึ้นในวันเสาร์ที่ผ่านมา ในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก (East Asia Summit) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของประธานาธิบดีสหรัฐในภารกิจการมาเยือนเอเชีย แปซิฟิกเป็นเวลา 9 วัน โดยโอบามายังได้กล่าวแสดงความเสียใจต่อยิ่งลักษณ์จากเหตุการณ์น้ำท่วมในประเทศ และระบุว่า จะเพิ่มความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูประเทศในฐานะที่เป็นพันธมิตรยิ่งใหญ่และเก่าแก่
 
สื่อต่างประเทศชี้ว่า ท่าทีการยืนเคียงข้างกันระหว่างยิ่งลักษณ์และโอบามา มีนัยสำคัญสำหรับการเมืองไทย และระบุว่า การเลือกใช้คำของโอบามาที่จัดว่าดีเกินกว่ามาตรฐานทางการทูตทั่วไป ส่งสัญญาณการสนับสนุนรัฐบาลยิ่งลักษณ์อย่างชัดเจน 
 
ทั้งนี้ การประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกในวันที่ 19 พ.ย. ที่ผ่านมา เกิดขึ้นต่อจากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ที่จัดขึ้นที่เกาะบาหลีระหว่างวันที่ 16-18 พ.ย. โดยมีผู้นำประเทศจากประเทศสมาชิกอาเซียน จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย จีน และในปีนี้ เป็นครั้งแรกที่สหรัฐ และรัสเซีย เข้าร่วมประชุมในฐานะสมาชิกใหม่ในปีแรก 
 

Obama meets Yingluck

 
สหรัฐเผย เตรียมขยายอิทธิพลด้านเศรษฐกิจ- ความมั่นคง 
 
ในการประชุมดังกล่าว นอกจากจะมีการหารือในประเด็นความมั่นคง เช่น สถานการณ์ในพม่า ข้อพิพาทเรื่องทะเลจีนใต้ ยังมีการหารือเรื่องการขยายแผนการค้าเสรีรูปแบบใหม่ระหว่างสหรัฐและเอเชียแปซิฟิก หรือ แผนความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership -TPP) ซึ่งในขณะนี้มีสมาชิกทั้งหมด 9 ประเทศ เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย โดยนักวิเคราะห์มองว่า แผนดังกล่าวเป็นไปเพื่อการคานอำนาจของอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนในภูมิภาคเอเชีย
 
ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าว สอดคล้องกับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งหันมามุ่งขยายอำนาจทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในเอเชีย และเริ่มถอนกำลังออกจากภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเพื่อเป็นการรักษาอำนาจทางเศรษฐกิจและการค้าในภูมิภาคไปพร้อมๆ กับการถ่วงดุลด้านความมั่นคงกับประเทศจีน
 
ประธานาธิบดีโอบามา ได้กล่าวในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในวันที่ 18 พ.ย. ที่ผ่านมาว่า ถึงแม้ว่าสหรัฐกำลังเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจในประเทศ และจำเป็นจะต้องมีการลดงบประมาณรายจ่ายและหนี้ แต่โอบามาได้ย้ำว่า จะไม่มีการลดงบประมาณด้านทหารและความมั่นคงต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแต่อย่างใด 
 
ก่อนหน้าที่โอบามาจะเดินทางมาเยือนประเทศอินโดนีเซียในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนและเอเชียตะวันออก เขาได้เดินทางไปเยือนออสเตรเลียระหว่างวันที่ 16- 17 พ.ย. เพื่อทำข้อตกลงขยายความร่วมมือทางการทหารและความมั่นคง โดยมีแผนจะขยายจำนวนกองทัพนาวิกโยธินสหรัฐในออสเตรเลีย นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า สหรัฐกำลังวางแผนการขยายฐานทัพในประเทศญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และนิวซีแลนด์ด้วย เพื่อจุดประสงค์การรักษาเสถียรภาพในภูมิภาค โดยเฉพาะภัยคุกคามจากการก่อการร้าย อาวุธนิวเคลีย์ และภัยพิบัติทางธรรมชาติ
 
คลินตันเยือนพม่าธันวานี้ 
 
ทางการสหรัฐยังเปิดเผยว่า รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ ฮิลลารี คลินตัน ยังมีแผนที่จะเดินทางไปเยือนพม่าเป็นเวลาสองวัน ระหว่างวันที่ 1-2 ธันวาคม เพื่อเข้าหารือกับรัฐบาลที่กรุงเนปิดอว์ต่อประเด็นการพัฒนาทางประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน และจะนัดพบปะกับนางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคเอ็นแอลดี พร้อมทั้งองค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆ ในพม่าด้วย การไปเยือนในครั้งนี้ จะเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปีที่ผู้นำสหรัฐเข้าพบรัฐบาลพม่า โดยสหรัฐหวังว่าจะสามารถใช้การหารือนี้แสดงความประสงค์จับตาและผลักดันสถานการณ์ในพม่าให้ดีขึ้น  
 
อนึ่ง ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ผ่านมา ได้มีมติให้พม่าเป็นประธานจัดการประชุมในปี 2557 หลังจากที่ถูกข้ามไปในปี 2549 หลังจากปัญหาด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในประเทศ โดยที่ประชุมอาเซียนเห็นว่า การปฏิรูปทางการเมืองของรัฐบาลพลเรือนที่นำโดยประธานาธิบดีเต็นเส่ง มีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยตัวนักโทษการเมืองบางส่วน ผ่อนคลายการปิดกั้นสื่อ แก้ไขกฎหมายที่อนุญาตให้พรรคฝ่ายค้านสามารถลงเลือกตั้งได้ การตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และการยกเลิกโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำมิตซงที่สนับสนุนโดยจีน ซึ่งถูกมองว่าจะก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิอย่างร้ายแรง อย่างไรก็ตาม พม่ายังคงถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากสหรัฐและหลายประเทศในยุโรป 
 
นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า การพยายามเข้าหารือกับรัฐบาลเนปิดอว์ในครั้งนี้ของสหรัฐ อาจเป็นไปเพื่อจุดประสงค์การคานอำนาจกับจีน เนื่องจากจีนเป็นผู้ที่ลงทุนทางเศรษฐกิจในพม่าที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองรองจากประเทศไทย และสนับสนุนนโยบายโดดเดี่ยวตัวเองของพม่า อย่างไรก็ตาม ทางการสหรัฐกล่าวต่อประเด็นนี้ว่า สหรัฐมุ่งหวังที่จะเห็นพัฒนาทางการเมืองในพม่าที่ดีขึ้น และนโยบายการเข้าไปมีส่วนร่วมกับพม่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับจีนแต่อย่างใด และชี้ว่า การมีเสถียรภาพทางการเมืองที่ดีขึ้นของพม่า กลับจะเป็นประโยชน์กับทุกฝายร่วมถึงจีนเองด้วย 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสื้อแดงต่างจังหวัดหนุน 'อภัยโทษ' ย้ำเพื่อวาระพิเศษ '5 ธันวา' ไม่ใช่เพื่อ 'ทักษิณ'

Posted: 19 Nov 2011 08:08 AM PST

แดงมุกดาหารชุมนุมหน้าศาลากลางหนุนอภัยโทษ 'ขวัญชัย' จัดทัพแดงอีสานเตรียมเดินสายเปิดเวที อุดรธานี, ขอนแก่น, มหาสารคาม ส่วนแดงรากหญ้าหลายจังหวัดล่ารายชื่อ ย้ำเพื่อวาระพิเศษ '5 ธันวา' ไม่ใช่เพื่อ 'ทักษิณ'
 
 
กลุ่มคนเสื้อแดงจังหวัดมุกดาหารมากกว่า 300 คน เดินทางมารวมตัวกันที่บริเวณศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร เปิดเวทีปราศรัยเรียกร้องความปรองดอง สนับสนุน พ.ร.ฎ.อภัยโทษ (ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์)
 
19 พ.ย. 54 - กลุ่มคนเสื้อแดงจังหวัดมุกดาหารมากกว่า 300 คน เดินทางมารวมตัวกันที่บริเวณศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร เปิดเวทีปราศรัยเรียกร้องความปรองดอง สนับสนุน พ.ร.ฎ.อภัยโทษ และให้กำลังใจนายกฯยิ่งลักษณ์ ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างเข้มงวด
 
เมื่อเวลาประมาณ 11.30 น. กลุ่มคนเสื้อแดงจังหวัดมุกดาหาร มากกว่า 300 คน ที่มาจากอำเภอต่างๆ เดินทางมารวมตัวกันอยู่ที่บริเวณศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร ด้านทิศตะวันตก เพื่อแสดงออกอย่างชัดเจนต่อการสนับสนุนให้ออก พ.ร.ฎ.อภัยโทษ โดยมีดาบตำรวจสมชัย สุทธิวงศ์ เป็นแกนนำ พร้อมเปิดเวทีปราศรัย เรียกร้องและให้กำลังใจนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินหน้าออก พ.ร.ฎ.อภัยโทษ พร้อมสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นกับประเทศชาติต่อไป
 
ขณะที่ พ.ต.อ.พลศักดิ์ บรรจงศิริ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดมุกดาหาร พร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ เจ้าหน้าที่ อส. ก็ได้เดินทางมาร่วมกันดูแลความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย บริเวณศาลากลางจังหวัดมุกดาหารอย่างเข้มงวด
 
"ขวัญชัย" จัดทัพแดงอีสานหนุนอภัยโทษ
 
ด้านนายขวัญชัย ไพรพนา แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง กล่าวถึงกรณีที่บางกลุ่มออกมาล่ารายชื่อและคัดค้าน พ.ร.ฎ.อภัยโทษ ว่า หากกลุ่มคนเสื้อหลากสี กลุ่มพันธมิตรฯ ยังเคลื่อนไหวไม่เลิก ตนก็จะนำมวลชนเสื้่อแดงอีสาน 5 พันคนมาชุมนุมที่หน้าศาลากลางจังหวัดแต่ละจังหวัด อยากถามว่ากลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านมีกี่คน จะให้นองเลือดหรืออย่างไร ทั้งนี้่ พ.ร.ฎ.อภัยโทษ ถือเป็นอานิสงส์ทำไมต้องขัดขวางคนคนเดียว หรือกลัว พ.ต.ท.ทักษิณ กันมาก เหมือนกับที่พิพากษาพ.ต.ท.ทักษิณ โดยคำพิพากษาของศาลเพียงศาลเดียวมาตัดสินแล้วอ้างว่าเป็นประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ประชาชนคนรักอีสาน 20 จังหวัด จะมีการจัดเวทีปราศรัยเรียกร้องความปรองดอง สนับสนุน พ.ร.ฎ.นิรโทษกรรม และให้กำลังใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ โดยในวันพรุ่งนี้ (20 พ.ย.) ที่ศาลากลาง จ.อุดรธานี , วันที่ 21 พ.ย. ที่ศาลากลาง จ.ขอนแก่น , วันที่ 22 พ.ย. ที่ศาลากลาง จ.มหาสารคาม 
 
"หากไม่เลิก พวกผมก็ไม่ยอม พวกผมเป็นประชาชนรากหญ้าแต่ถูกขัดขวาง เอาเปรียบ ทำไมไม่เห็นใจกันบ้าง ส่วนที่บอกว่าจะยิ่งซ้ำเติมวิกฤติน้ำท่วมนั้น ผมเห็นว่าการแก้ปัญหาน้ำท่วม ก็ทำไป ซึ่งเป็นคนละส่วนกับที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ดำเนินการ" นายขวัญชัย กล่าว
 
เสื้อแดงขอนแก่นหนุน พ.ร.ฎ.อภัยโทษ 
 
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 19 พ.ย. ที่เวทีสนามหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ได้มีการรวมตัวของกลุ่มคนเสื้อแดงกว่า 500 คน โดยบรรยากาศเต็มไปด้วยอย่างคึกคักมีประชาชนคนเสื้อแดงทยอยเดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับการอำนวยความสะดวกจากตำรวจในพื้นที่ ในบริเวณงานมีการบริการน้ำดื่มที่นำมาให้บริการแก่คนเสื้อแดงประมาณ 4 รถกระบะติดป้ายว่าเป็นน้ำที่สนับสนุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมจากจังหวัดใกล้เคียง
 
นายอุทัย คมตระบุตร ตัวแทนผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง กล่าวว่า การรวมตัวกันในวันนี้ก็เพื่อต้องการแสดงออกให้เห็นความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมาย พุทธศักราช 2550 มาตรา 291 (1) และรวบรวมลายชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ครบ 5 หมื่นรายชื่อ ส่วนในเรื่องที่มีการคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการที่จะขอพระราชทานอภัยโทษ แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นั้นมองว่าเป็นความคิดเห็นของเขา แต่ความจริงนั้นเราไม่ได้ต้องการที่จะขอพระราชทานอภัยโทษให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ เพียงคนเดียวเท่านั้น แต่ต้องการขอพระราชทานอภัยโทษกับนักโทษทั้ง 26,000 คนที่ต้องโทษเหมือนกัน 
 
"แนวทางที่พวกผมแสดงออกมาก็เดินตามทางของกฎหมายทุกอย่าง ส่วนในเรื่องของการพิจารณานั้นก็แล้วแต่พระเจ้าอยู่หัวจะตัดสินพระทัย อย่างไรก็ดีการรวมตัวในครั้งนี้การชุมนุมครั้งนี้ในจังหวัดขอนแก่นมีการประชาสัมพันธ์นัดรวมกันโดยผ่านวิทยุชุมชนคลื่นคนเสื้อแดง" นายอุทัย กล่าว 
 
ด้าน พ.ต.อ.คัชชา ธาตุศาสตร์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ได้รับการประสานงานมาว่ามีจะมีผู้มาชุมนุมตั้งแต่เวลาประมาณ 13.00 - 18.00 น. จำนวนกว่า 6-7 พันคน จึงได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่มาดูแลความปลอดภัยประมาณ 200 นาย ซึ่งคาดว่าคงไม่มีเหตุการณ์อะไรรุนแรง 
 
แดงปากน้ำรวมตัวหนุน พ.ร.ฎ.อภัยโทษ 
 
ด้านนายวรภวัต พุ่มนิมิตรา แกนนำคนเสื้อแดง ผู้ดำเนินรายการวิทยุคลื่น 88.25 MHz พร้อมแกนนำประมาณ 5 คน ได้ขึ้นรถหาเสียงผ่านเครื่องขยายเสียง บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ โดยเรียกร้องให้กลุ่มมวลชนคนเสื้อแดง ประมาณ 200 คนร่วมกันหนุ นพ.ร.ฎ.อภัยโทษ ท่ามกลางแสงแดดที่ร้อนจ้า โดยมีกลุ่มเสื้อแดงกระจัดกระจายโดยรอบศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ
 
นายวรภวัต พุ่มนิมิตรา แกนนำคนเสื้อแดงและผู้ดำเนินรายการวิทยุคลื่น 88.25 MHz กล่าวว่า ในการรวมตัวมวลชนคนเสื้อแดงในวันนี้นั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนร่า งพรฎ.อภัยโทษให้กับนักโทษ เกือบ 3 หมื่นคนทั้งประเทศ ที่ต่างรอคอยในแต่ละปีที่จะมีวาระพิเศษ เช่นวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ฯและในปีนี้ถือเป็นวาระพิเศษครบรอบ 84 พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันที่ 5 ธันวาคมที่จะถึงนี้ จึงได้รวมตัวกันเพื่อสนับสนุน พ.ร.ฎ.อภัยโทษ ดังกล่าว
 
ย้ำเพื่อวาระพิเศษ 5 ธันวาไม่ใช่เพื่อทักษิณ
 
ทั้งนี้เนชั่นทันข่าวได้รายงานอีกว่าเป็นที่น่าสังเกตว่า ในวันนี้ (19 พ.ย.) กลุ่มเสื้อแดงในหลายจังหวัด เช่น สมุทรปราการ มุกดาหาร ขอนแก่น มีการนัดรวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัด เพื่อล่ารายชื่อสนับสนุน พ.ร.ฎ.อภัยโทษ โดยระบุว่าเป็นการอภัยโทษให้กับนักโทษรายอื่นๆ ทั่งประเทศ ที่ต่างรอคอยวาระพิเศษในวันที่ 5 ธันวาคมที่จะถึงนี้ ไม่ใช่ทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ คนเดียว
 
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, เนชั่นทันข่าว, โพสต์ทูเดย์
 
 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แถลงการณ์สำนักพระราชวัง เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จมาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ฉบับที่ 45

Posted: 19 Nov 2011 07:48 AM PST

แถลงการณ์สำนักพระราชวัง เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จมาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ฉบับที่ 45

วันนี้คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รายงานว่า ทรงมีพระปรอท(ไข้) ต่ำๆ เป็นบางเวลา และเมื่อเย็นวานนี้ ทรงมีพระอาการเจ็บบริเวณพระนาภีด้านล่าง คณะแพทย์ได้ถวายตรวจพระวรกาย และถวายตรวจพระโลหิต ได้วินิจฉัยว่า พระโรคถุงเนื้อเยื่อขนาดเล็ก บนผนังของพระอันตะ(ลำไส้ใหญ่) อักเสบ (diverticulitis)

ทั้งนี้ คณะแพทย์ได้เคยส่องกล้องตรวจพบว่า ทรงมีถุงเนื้อเยื่อขนาดเล็ก ที่ผนังของพระอันตะ (diverticulum) ตามที่ได้มีแถลงการณ์สำนักพระราชวัง ให้ทราบทั่วกันแล้ว เมื่อวันที่ 12 พ.ค.2552 หลังจากนั้นได้ถวายส่องกล้องตรวจ ติดตามพระอาการเป็นระยะ (check-up) ไม่พบเนื้อร้าย และคณะแพทย์ได้อธิบายว่า เป็นอาการที่มักเกิดในผู้สูงอายุ โดยอาจมีการอักเสบ ของถุงเนื้อเยื่อ หรือมีโลหิตออกจากถุงเนื้อเยื่อเป็นครั้งคราวได้ ดังที่เคยพบถุงเนื้อเยื่อเล็กบนผนัง ของพระอันตะอักเสบ และถวายการรักษามาแล้วครั้งหนึ่ง ตามที่ได้มีแถลงการณ์สำนักพระราชวัง เมื่อวันที่ 17 ต.ค.2550

ในครั้งนี้ คณะแพทย์จึงได้ถวายพระโอสถปฏิชีวนะ ทางหลอดพระโลหิต ผลการตรวจเอ็กซเรย์พระอุระ(ทรวงอก) ปรากฏว่า พระปัปผาสะ(ปอด) ปกติ คณะแพทย์ได้ขอพระราชทานงดเสวยพระกระยาหารสักระยะหนึ่ง จนกว่าพระอาการอักเสบจะทุเลาลง

จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

19 พ.ย. 2554

 

ที่มา: แถลงการณ์สำนักพระราชวัง เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จมาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ฉบับที่ 45, วันที่ 19 พฤศจิกายน 2554

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

น้ำท่วม(ปาก)#5 (จบ): "คำ ผกา"จัดเต็มเรื่องน้ำท่วม(+ตอบทวิตเตอร์)

Posted: 19 Nov 2011 07:18 AM PST

คำ ผกา อภิปรายในงานเสวนา “อ่านออกเสียงเฉพาะกิจ” ตอน “น้ำท่วม (ปาก): หลากความคิดจากผู้ลี้ภัยน้ำท่วมกรุงเทพฯ” เมื่อ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา พร้อมตอบสารพัดคำถามที่มาจาก Twitter "ขาประจำ"

 

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา ร้าน Book Re:public จ.เชียงใหม่ มีการเสวนา “อ่านออกเสียงเฉพาะกิจ” ตอน “น้ำท่วม (ปาก): หลากความคิดจากผู้ลี้ภัยน้ำท่วมกรุงเทพฯ” มีวิทยากรได้แก่ มนตรี จันทวงศ์ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันรัก สุวรรณวัฒนา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลักขณา ปันวิชัย หรือ คำ ผกา นักเขียนและคอลัมน์นิสต์ และเวียงรัฐ เนติโพธิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ

โดยหลังการอภิปรายโดยมนตรี จันทวงศ์ อภิชาต สถิตนิรามัย พวงทอง ภวัครพันธุ์ และวันรัก สุวรรณวัฒนาแล้ว ลักขณา ปันวิชัย หรือคำ ผกา ได้อภิปรายเรื่องความเห็นของชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ต่อเรื่องน้ำท่วม โดยคำ ผกา กล่าวว่า จะเห็นได้ว่า น้ำท่วมครั้งนี้จะเกิดมาด้วยเหตุผลอะไรก็ตามที แล้วจะมีปัญหาจัดการน้ำอย่าไรก็ตามที สิ่งที่เราเห็นได้ชัดมาก คือคนที่เลือกพรรคเพื่อไทยไปเป็นรัฐบาลก็อึดอัดไปด้วย เพราะเราก็รู้ว่าพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลมาด้วยเสียงของคนส่วนใหญ่ แต่กลายเป็นพรรคเพื่อไทยกลับมีความหวาดหวั่นต่อเสียงของคนกรุงเทพฯ มากซึ่งเป็นเสียงที่ไม่ได้เลือกตนเองมากกว่าจะแคร์เสียงของคนส่วนใหญ่ที่เป็นฐานเสียงของตนเอง

ฉะนั้นเราจึงเห็นการจัดการน้ำที่แปลกประหลาด เราก็จะเห็นว่ามีความพยายามที่จะป้องกันกรุงเทพฯ จากภาพถ่ายดาวเทียมเราจะเห็นน้ำค่อยๆล้อมกรุง เราจึงเข้าใจได้ว่าทำไม "สลิ่ม" จำนวน มากคิดว่านี่คือการเสียกรุงครั้งที่ 3 ยิ่งน้ำค่อยๆบีบกรุงเทพฯมากเท่าไหร่ หัวใจของคนกรุงเทพฯก็ถูกบีบคั้นมากขึ้น และรู้สึกว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่น้ำยึดกรุงเทพได้นั่นคือเราเสียกรุงฯ เราล้มเหลวปกป้องกรุงเทพไม่ได้

วิธีคิดที่ว่า กรุงเทพฯน้ำท่วมไม่ได้ ในปีนี้ค่อนข้างจะรุนแรงมาก เราจะโทษคนกรุงเทพฯอย่างเดียวก็ไม่ได้ เราต้องโทษรัฐบาลที่ไปเล่นเกมเอาใจคนที่ไม่ได้รักตนเอง เปรียบได้กับจิตวิทยาความรักที่ว่า เวลามีใครมารักเรามากๆ เราจะรู้สึกว่ามันเป็นของตายอยู่ในมือ แต่เวลาเราไปจีบใคร และเราทำไม่ค่อยสำเร็จ เรายิ่งกลุ้มในความพยายามของตัวเอง ตอนนี้พรรคเพื่อไทยก็คงรู้สึกว่าชาวบ้านเสื้อแดงเป็นของตายอยู่ในมือ อยากไปเอาใจ "สลิ่ม" ที่ไม่ได้รักตัวเอง มันจึงเกิด "หายนะ" เพราะว่าน้ำมันไม่ได้หายไปจากโลกนี้ ตราบเท่าที่คุณไม่สามารถระบายมันลงทะเลได้ การไปกั้นที่ต่างๆ ทำให้น้ำที่ควรจะไหลเป็นสาย จึงกลายเป็นมวลน้ำที่ทะลักเข้ามา แล้วคุณยิ่งลักษณ์ก็แถลงผิดทุกวันว่า ตรงนี้ไม่ท่วม แต่วันรุ่งขึ้นก็ท่วม

การแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลก็สูญเสียความไว้เนื้อเชื่อใจไปมาก พรรคเพื่อไทยควรคิดได้ว่าระหว่าง 40 ล้านคน กับ 4 ล้านคน ควรจะไปดูใครมากกว่ากัน

การแบ่งสีแบ่งขั้วทางการเมือง ทำให้เกิดมิติทางสังคมการเมืองที่น่าสนใจมากขึ้นไปอีก เพราะว่าการใช้สถานการณ์น้ำท่วมมาไล่รัฐบาล เช่น บทความ อ.เจิมศักดิ์ สมเกียรติ อ่อนวิมล หนูดี เอิร์น กัลยากร ล่าสุดคือ เอกยุทธ์ อัญชัญบุตรที่ดูถูกผู้หญิงเหนือเพื่อด่านายก ข้อความของเอกยุทธ์สะท้อนให้เห็นถึง ความไม่พอใจของชนชั้นกลางต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สาเหตุที่ไม่พอใจเพราะสำนึกอยู่แล้วว่าตัวเองเป็นเสียงส่วนน้อย เลือกตั้งทุกครั้งก็จะแพ้ทุกครั้ง เพราะฉะนั้นคนกลุ่มนี้ก็จะทำอะไรก็ได้เพื่อหยุดการเมืองหรือระบอบ ประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง อึดอัดขับข้องใจรัฐบาลที่มาจากคนรากหญ้าซึ่งโง่ ไม่มีการศึกษา แล้วยังมีนายกฯที่เป็นผู้หญิง พูดไม่ชัด มาจากต่างจังหวัด แล้วยังเรียนจบ มช. คือถ้าเป็นคนต่างจังหวัดแล้วเรียนจบธรรมศาสตร์ จุฬาฯ แต่ประวัติชีวิตที่ต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรคก็คงไม่เป็นไร ซึ่งเป็นนายกฯ ที่ชนชั้นกลางไม่สามารถยอมรับได้เลย

นายกฯ หญิงไม่อยู่ในจินตนาการของชนชั้นกลาง อันนี้เป็นปัญหาเชิงอารมณ์ แต่ถ้าไปมองปัญหาเชิงเหตุผล เราก็จะเห็นว่าปัญหาภัยพิบัติ ปัญหาเรื่องการจัดการน้ำ ปัญหาน้ำท่วมและน้ำหลากที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตมันเป็นปัญหาที่เกิดจากการ ผูกขาดความรู้ และอำนาจในการจัดการน้ำ ซึ่งสะท้อนปัญหาโครงสร้างทางการเมืองของรัฐไทยที่ไม่เคยเป็นประชาธิปไตย อย่างแท้จริง เป็นอำนาจที่ผูกขาดในระบบราชการ ลักลั่นลุ่มๆ ดอนๆ จะเป็นเผด็จการก็ไม่เป็น จะเป็นแบบอาณานิคมก็ไม่เป็น จะเป็นแบบประชาธิปไตยก็ไม่เป็น ระบบการเมืองไทยตอนนี้เป็นระบบฟิวชั่น ที่นำไปสู่ความยุ่งเหยิงทั้งหลาย

ตราบใดที่เราไม่สามารถเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคม การเมืองให้เป็นประชาธิปไตย เพื่อปรับปรุง ทำให้เกิดการกระจายอำนาจ ปรับปรุงโครงสร้างระบบราชการทั้งหมดให้มีความชัดเจนในหน้าที่ได้ เราก็จะเผชิญปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง แผ่นดินไหว สึนามิ ที่อาจนำมาซึ่งความล้มสลายได้

แต่ Dilemma ของ ปัญหานี้ในสังคมไทย คือ ประชาชน "สลิ่ม" ที่เสียงดังที่สุดแล้วก็ครอบครองความศิวิไลซ์ไว้ที่กรุงเทพฯปฏิเสธรัฐบาลที่ มาจากการเลือกตั้งมาโดยตลอด เพราะตัวเองเป็นเสียงส่วนน้อย เมื่อตัวเองปฏิเสธเสียงที่มาจากการเลือกตั้ง ปัญหาก็วนไปที่เราไม่สามารถแก้ไขโครงสร้างทางการเมืองของสังคมไทยที่ไม่ สามารถแก้ไขปัญหาอะไรเลยได้

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เยียวยาสังคมไทย คือ การเยียวยาแบบไทยพีบีเอสโดยการใช้มิวสิกวีดีโอปลอบใจกันว่า เราคนไทยจะฝ่าฟันวิกฤตไปด้วยกัน ทำให้คน กทม.รักษาสถานะของความเป็นผู้ให้ เมื่อไหร่ก็ตามที่กรุงเทพฯสูญเสียที่มั่นของการเป็นผู้ที่ปลอดภัยและตัวเองเป็นผู้นำเอาทรัพยากรที่มีอยู่ในกรุงเทพฯไปแจก นำเอาดาราไปให้ความบันเทิงแก่ผู้ประสบภัย มันจึงนำไปสู่การสร้างตรรกะที่วิปริตต่างๆ เช่น แทนที่จะมองปัญหาน้ำท่วมว่าเขื่อนปล่อยน้ำมาอย่างไร เขื่อนมีไว้เพื่ออะไรกลายเป็นว่าซื้อบ้านมาสิบกว่าล้าน ทำไมบ้านฉันถึงน้ำท่วม กล่าวคือ ไม่สนใจว่าน้ำท่วมไม่เกี่ยวกับว่ากรุงเทพฯมีคลองกี่สาย แต่ราคาของบ้านที่ตัวเองครอบครองต่างหากที่จะเป็นเงื่อนไขว่าน้ำไม่ควรท่วม บ้านตัวเอง ตรรกะของคน กทม.จึงเพี้ยนไปหมด ไม่สามารถเชื่อมโยงได้ว่าพื้นที่ของตัวเองควรจะเป็นทางให้น้ำผ่านลงทะเลไป

 

ที่มาของเนื้อหา: เรียบเรียงจากเว็บไซต์ประชาธรรม

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาวสวนนครปฐมวอนรัฐป้องกันพื้นที่เกษตร-กู้สวนจากน้ำท่วม

Posted: 19 Nov 2011 07:09 AM PST

ชาวสวนนครปฐมเรียกร้องรัฐเดินหน้าแก้ปัญหาอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ควรรีบประกาศการสิ้นสุดของหายนะภัย เพียงเพราะภัยพิบัติเริ่มถอยออกจากพื้นที่เมืองหลวง จี้ปกป้องพื้นที่เกษตร ขอความช่วยเหลือให้ทุกฝ่ายเข้ามาช่วยกู้สวน ซึ่งขณะนี้เหลือเวลาอีก 1 สัปดาห์ก่อนต้นไม้จะต้องตายทั้งหมด
 
19 พ.ย. 54 – กลุ่มเกษตรกร จ.นครปฐม นำโดยสภาลุ่มน้ำท่าจีน และเครือข่ายสวนส้มโอ ได้ออกแถลงการณ์ด่วน เรื่อง “เกษตรกรไทยเรียกร้องรัฐให้ปกป้องพื้นที่เกษตรสำคัญ จ.ว. นครปฐม คุ้มครองวัฒนธรรมการทำสวน ไม้ยืนต้น บนผืนดินที่อุดมสมบูรณ์โดยทันที” โดยมีรายละเอียดดังนี้
 
 

 
แถลงการณ์ด่วน
เกษตรกรไทยเรียกร้องรัฐให้ปกป้องพื้นที่เกษตรสำคัญ จ.ว. นครปฐม
คุ้มครองวัฒนธรรมการทำสวน ไม้ยืนต้น บนผืนดินที่อุดมสมบูรณ์โดยทันที
 
หลายคนมองว่าสถานการณ์ใน กทม. อยุธยา และจังหวัดอื่นๆ ดีขึ้นมาก และทุกสิ่งทุกอย่างคลี่คลาย กลับคืนสู่ภาวะปกติแล้ว แต่หารู้ไม่ว่าน้ำจำนวนมหาศาลซึ่งท่วมในแหล่งอาหารทางการเกษตร และท่วมที่ นครปฐมตั้งแต่วันที่ 28 เดือนที่แล้ว มันสร้างความเสียหายมหาศาล ให้ชาวสวนนับหมื่นไร่ โดยเฉพาะสวนส้มโอ ที่ดีที่สุดในโลก ย่านสามพราน นครชัยศรี นับพันๆไร่ และพื้นที่อื่นๆ ที่น้ำท่วมสูง และขังต้นพันธุ์ส้มโอ มะม่วง ไม้ยืนต้นมากมาย ที่กำลังจะตายบนพื้นที่ ถึง5000 ไร่ รัฐคงไม่ทราบเลยว่าขณะนี้นครปฐมจะสูญเสียวัฒนธรรมการทำสวนแบบผสมผสาน อย่างน่าเสียดาย และน่าเศร้าใจอย่างยิ่ง
 
ที่ผ่านมาทุกคนย่อมเห็นอกเห็นใจภาคอุตสาหกรรม และคนไทยทุกคนก็เห็นใจนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศที่เสียหายย่อยยับในครั้งนี้ แต่ความสำคัญของภาคเกษตรกรรม ทั้งทางน้ำและทางบก ควรได้รับการดูแล ช่วยเหลือ ไม่ยิ่งหย่อนกัน ทั้งนี้เป็นเพราะอาหารในจังหวัดชายขอบอ่าวไทยที่ติดกับ กทม. มีความสำคัญในเชิงเศรษฐกิจมหาศาล เป็นสินค้าส่งออก ที่สร้างรายได้ให้ประเทศชาติปีละ 500 ล้านบาท และมีความหมายทางวัฒนธรรม ซึ่งยากเกินกว่าจะพรรณนา
 
เกษตรกรในย่านดังกล่าวไม่สามารถยอมรับคำประกาศของรัฐที่มองว่าสถานการณ์ ของประเทศดีขึ้นได้ ในเมื่อสิ่งที่เห็นนั้นมันเป็นภาพของการเปลี่ยนพื้นที่ภัยพิบัติจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งเท่านั้น ผู้ประสบภัยในจังหวัดที่น้ำแห้งเริ่มรับรู้กับมูลค่าความเสียหายที่เป็นตัวเงินหลังน้ำลด ยังต้องเผชิญชะตากรรมกับอนาคตที่ไม่แน่นอนอีกนาน ขณะเดียวกันพื้นที่น้ำท่วมขังที่นครปฐมยังอยู่ในสภาวะที่สาหัสสากรร ซึ่งสื่อมวลชนเองก็เข้าไม่ถึง ไม่เป็นภาพข่าว และไม่ได้รับการดูแล ในที่สุดประชาชนชาวเกษตรกรในย่านดังกล่าว อดสงสัยไม่ได้ว่า 90 วันที่ผ่านไป ยังให้เวลารัฐบาลปกป้องพื้นที่อาหารไม่มากพอหรือ ไม่สามารถบรรเทาความเสียหายได้เชียวหรือ มันเป็นการปล่อยให้น้ำท่วมแบบเลยตามเลย ด้วยข้ออ้างที่หลายคนมักพูดว่า “ต้องปล่อยให้น้ำไหลไปตามธรรมชาติ อย่าไปกั้นมัน” แต่นั่นหมายถึงปล่อยให้เกษตรกรเสียหาย อย่าไปสนใจพวกมันด้วยหรือเปล่า
 
ชาวสวนของจังหวัดนครปฐม จึงเรียกร้องมายังรัฐ ให้เดินหน้าแก้ปัญหาอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ควรรีบประกาศการสิ้นสุดของหายนะภัย เพียงเพราะภัยพิบัติเริ่มถอยออกจากพื้นที่เมืองหลวงเท่านั้น ความหายนะยังเดินหน้าต่อไปและหนักหนาสาหัสในพื้นที่อื่นๆ มากเกินกว่าที่ท่านคาดต่างหาก
 
จึงเรียนมาเพื่อขอความเห็นใจ ความช่วยเหลือ เพื่อหาทางให้น้ำลด ขอบรรดาอาสาสมัครเข้ามาช่วยเกษตรกรในการนำกระสอบทรายเข้ามาช่วยชาวสวนส้มโอทำคันกั้นน้ำ และดูดน้ำออกไปโดยด่วน เพื่อไม่ให้ชาวบ้านต้องประสบภัยหรือหมดกำลังใจไปมากกว่านี้ การสูญเสียครั้งนี้อาจจะเรียกคืนวัฒนธรรมการทำสวนในพื้นดินที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไม่ได้อีกแล้ว และเมื่อนั้นเราจะเรียกหาความมั่นใจให้คนรุ่นต่อไปให้ทำสวนเลี้ยงคนทั่งประเทศคงจะยากแล้วครับ
 
ณ วันนี้ ชาวสวนส้มโอต่างขอความช่วยเหลือให้ทุกฝ่ายเข้ามาช่วยกู้สวน ซึ่งขณะนี้เหลือเวลาอีก 1 สัปดาห์เท่านั้นที่ต้นไม้จะต้องตายทั้งหมด ชาวสวนจำนวนมากยอมเสียสละพื้นที่สวนที่อยู่ระดับต่ำให้เป็นที่ผันน้ำลงมา เพื่อรักษาพื้นที่สวนระดับสูงไว้ให้ได้ เมื่อน้ำลดเมื่อใด ชาวสวนที่รอดตายก็จะยอมมอบพันธ์ส้มโอ ให้ชาวสวนที่ไม่สามารถกู้ต้นส้มโอได้
 
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ นาย กมล เปี่ยมสมบูรณ์ ประธานสภาลุ่มน้ำท่าจีน 081 8045160 นายประวิต บุญมี ประธานเครือข่ายสวนส้มโอ 081 3402867 และ ดร. มนตรี ค้ำชู 081 6185901
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กรณีอดีตผู้นำฟิลิปปินส์ถูกห้ามเดินทางออกนอกประเทศ

Posted: 19 Nov 2011 06:35 AM PST

แม้จะดูวุ่นวายในฟิลิปปินส์ กรณีอดีตประธานาธิบดีที่อ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญเพื่อเดินทางออกนอกประเทศกับฝ่ายรัฐบาลใหม่ที่ต้องการขัดขวางและเอาคืน โดยกล่าวหาว่านางอาร์โรโยทุจริตเลือกตั้ง แต่เราไม่เห็นมวลชนฟิลิปปินส์กลุ่มใดออกมาเรียกร้องให้ทหารเคลื่อนพลปฏิวัติ

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลโดยก.ยุติธรรมขึ้นบัญชีดำ (Watch List) ห้ามนาง Gloria Macapagal-Arroyo อดีตประธานาธิบดีออกนอกประเทศ อันนี้เป็นอำนาจฝ่ายบริหาร

 

ต่อมาศาลฎีกา (Supreme Court) ซึ่งเป็นระบบคล้าย ๆ ของอเมริกาแต่ที่ฟิลิปปินส์มีผู้พิพากษา 13 ท่าน มีมติด้วยเสียง 8:5 ให้ออกคำสั่ง Temporary Restraining Order (TRO) ซึ่งจะทำให้คำสั่งห้ามออกนอกประเทศของรัฐบาลไม่เป็นผล อันนี้เป็นอำนาจตุลาการที่แทรกแซงอำนาจฝ่ายบริหาร

 

ต่อมารบ.ก็แก้เกมด้วยที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (Commission on Elections หรือ Comelec) ฟ้องคดีทุจริตเลือกตั้ง (electoral sabotage) และขอให้ศาลภูมิภาค Pasay City Regional Trial Court ออกหมายจับนางอาร์โรโย ซึ่งศาลก็ออกหมายให้ทันควัน และโฆษกศาลฎีกาก็แถลงยอมรับว่า ถ้างั้นนางอาร์โรโยอย่าเพิ่งไปผ่าตัดไขสันหลังที่สิงคโปร์เลย อยู่สู้คดีไปก่อน แม้จะระบุว่า TRO ที่ศาลออกให้ยังมีผลบังคับใช้อยู่

 

ที่น่าสนใจคือองค์คณะพิพากษาที่ออกคำสั่งขัดกับคำสั่งรัฐบาลเพื่ออนุญาตให้นางอาร์โรโยเดินทางออกนอกประเทศได้ อ้างว่าสิทธิการเดินทางเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ (“the right to travel is a constitutional right that may be impaired only ‘in the interest of national security, public safety or public health, as may be provided by law’”)*

 

ในบางประเทศ ศาลสูงมีวิจารณญาณเลือกใช้กฎหมายสูงสุดของประเทศ ไม่เหมือนบางประเทศที่ศาลสูงเอาคนเข้าคุกเพียงเพราะคดีลหุโทษ โดยไม่สนใจต่อสิทธิการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการคุ้มครองตามรธน.เลย

 

ที่น่าสนใจว่าคือ ใน 8 เสียงที่โหวตสนับสนุนคำสั่งให้นางอาร์โรโยออกนอกประเทศได้นั้น รวมทั้งตัวประธานและผู้พิพากษาอีก 7 ท่านล้วนได้รับการแต่งตั้งสมัยนางอาร์โรโยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีทั้งสิ้น ฝ่ายที่ค้านใครเป็นคนแต่งตั้ง คงไม่ต้องเดา 

 

ที่น่าสนใจกว่า แม้จะมีการเล่มเกมการเมืองกันจนน่าปวดหัว แต่ไม่เห็นมีกลุ่มไหนในฟิลิปปินส์ออกมาเรียกร้องให้ทหารออกมาปฏิวัติเลย ไม่เหมือนประเทศสารขัณฑ์บางประเทศที่ต้องการยาแก้ปวดแบบฉับพลัน (quick fix)!

 

หมายเหตุ *คล้าย ๆ กับ มาตรา 34 ของรัฐธรรมนูญ 50 ที่ระบุว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการเดินทางและมีเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ภายในราชอาณาจักร...การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน การผังเมือง หรือเพื่อสวัสดิภาพของผู้เยาว์”

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

องค์กรแรงงานจี้ฟีฟ่า-กาตาร์ เจ้าภาพบอลโลก 2022 เคารพสิทธิแรงงาน

Posted: 19 Nov 2011 06:18 AM PST

 สหพันธ์แรงงานระหว่างประเทศ (ITUC) จี้ฟีฟ่า (FIFA) และกาตาร์ ให้เคารพและปกป้องสิทธิแรงงานภาคก่อสร้างที่กำลังปฏิบัติงานเพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพในปี ค.ศ. 2022

 

 

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 54 ที่ผ่านมาเว็บไซต์ของสหพันธ์แรงงานระหว่างประเทศ (ITUC) รายงานว่าชารัน เบอร์โรว์ เลขาธิการของ ITCU เปิดเผยว่าทาง ITCU ได้ส่งความกังวลใจในเรื่องการเคารพสิทธิแรงงานในการเตรียมความพร้อมฟุตบอลโลกปี ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565) ที่ประเทศกาตาร์ถึงสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA)

ทั้งนี้ ITCU ขู่ว่าเตรียมจะรณรงค์กดดันให้ FIFA เปลี่ยนประเทศเจ้าภาพจัดการแข่งขัน หากกาตาร์ยังคงไม่เคารพสิทธิของคนงานในภาคการก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ในการเตรียมความพร้อมเป็นเจ้าภาพ โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติที่หลั่งไหลเข้าไปรับจ้างก่อสร้างสังเวียนลูกหนังทันสมัยกว่า 12 แห่งในกาตาร์ รวมถึงโครงการก่อสร้างสนามบินขนาดใหญ่ และทันสมัยระดับโลก มูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้กรุงโดฮาเป็นศูนย์กลางการบิน และมีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและปรับปรุงทัศนียภาพประเทศให้สวยงาม ซึ่งรวมถึงโครงการก่อสร้างอาคารขนาด 100 ชั้น และอาคารคู่ สูง ขนาด 510 เมตร บนถนนกรุงโดฮา มีโครงการถมทะเลเพื่อสร้างเกาะPearl Island ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั้งบนฝั่งทวีปและในทะเล และยังมีโครงการอาหารปลอดภัย

ทั้งนี้ความขัดแย้งระหว่างคนงานกับการเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก โดยเฉพาะภาคการก่อสร้างนั้นมีมาอยู่เนืองๆ โดยก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมาคนงานก่อสร้างปรับปรุงสนาม Maracanã ของบราซิล ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี ค.ศ. 2014 โดยคนงานได้รวมตัวนัดหยุดงานถึง 2 ครั้งในรอบ 1 เดือน เนื่องจากไม่พอใจที่บริษัทรับเหมาก่อสร้าง ไม่ทำตามสัญญาที่ตกลงกับคนงานไว้

อนึ่งประเทศกาตาร์ปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตย เศรษฐกิจร้อยละ 63 ขึ้นอยู่กับภาคพลังงาน รายได้ส่วนใหญ่มาจากการส่งออกน้ำมันและ ก๊าซธรรมชาติ โดยปัจจุบันกาตาร์สามารถผลิตน้ำมันได้ ประมาณ 1,000,000 บาร์เรล/วัน มีแหล่งสำรองก๊าซ ธรรมชาติใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากรัสเซีย และอิหร่าน แต่เป็นแหล่งก๊าซลักษณะบ่อเดียวที่ใหญ่ที่สุด ในโลก (North  field) กลายเป็นประเทศผู้ส่งออก LNG มากที่สุดในโลก 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล: สั้นๆ ว่าด้วย "ชนชั้นกลางวัฒนธรรม" (สลิ่ม)

Posted: 19 Nov 2011 05:46 AM PST

 
"ชนชั้นกลางวัฒนธรรม" (Cultural Middle Class)
 
ผมจั่วหัวไว้เล่นๆ คือ จะบอกว่า ผมมีไอเดีย อยากเขียนถึงเรื่องนี้ มาหลายวัน แต่ไม่มีสมาธิพอ ("ติดเกาะ" อยู่กับบ้านที่ถูกน้ำล้อมมา 18 วันเต็มๆ แล้ว ไม่มีสมาธิจะเขียนบทความซีเรียสเท่าไร แต่พออ่านหนังสือได้เท่านั้น)
 
ไอเดียคร่าวๆ คือ ผมว่า มันเป็นปรากฏการณ์สำคัญ ที่ ชนชั้นกลาง ที่อยู่ในแวดวง ที่ขอเรียกกว้างๆ ว่า "วัฒนธรรม" ตั้งแต่ระดับเชิง "ความรู้เฉพาะ" เช่น... อาชีพ หมอ, ทนาย นักวิชาการที่มีบทบาทสาธารณะส่วนมาก ไปจนถึง วงการสื่อ, บันเทิง, นักเขียน, นักร้อง นักแสดง ไปจนถึง "เอ็นจีโอ" ส่วนใหญ่
 
ล้วนแต่อยู่ใน "ค่าย" ที่ "แอนตี้ทักษิณ" "แอนตี้เสื้อแดง" "เชียร์..." (และทหาร) และการรัฐประหาร
 
ความจริง นี่ก็เป็นปรากฏการณ์ ที่พวกเรา "เห็นๆ กันอยู่"
 
ที่ผมสนใจมากๆ คือ ปรากฏการณ์เช่นนี้ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร? จะอธิบายอย่างไร?
 
พูดในฐานะคนสนใจประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยหลัง 2475 เป็นต้นมา
 
ผมคิดว่า ไม่เคยมียุคสมัยใด ที่มีปรากฏการณ์ลักษณะนี้
 
ผมตั้งชื่อพวกที่พูดถึงนี้ รวมกันแบบที่เขียนข้างบนว่า "ชนชั้นกลางวัฒนธรรม" เพื่อเน้นให้เห็นถึงด้านที่คนเหล่านี้ มีบทบาท และอิทธิพลสำคัญ ในแวดวง "วัฒนธรรม" (ดูอาชีพ หรือ แวดวงการงานของคนเหล่านี้ ที่ผมไล่เรียงไว้ข้างบน)
 
ตัวอย่างหนึ่ง ที่ผมเคยพูดไว้ตั้งแต่สมัยเว็บบอร์ด ฟ้าเดียวกัน
 
สำหรับคนที่เกิดยุคหลัง อาจจะไม่ทราบ
 
แต่สมัย 14 ตุลา 16 มาจนถึง ประมาณทศวรรษ 2520
 
"มหิดล" หรือ กลุ่มพวกสายเรียนหมอในมหาวิทยาลัยอื่น พวกอาชีพหมอ เป็น "ฐาน"ใหญ่ ของขบวนการนักศึกษาเลย
 
(ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ที่ "คนรุ่น 14 ตุลา" ที่เห็นๆ กันตอนนี้ รวมทั้งบางคนมาทำงานกับเพื่อไทย ตอนนี้ เป็นหมอ หลายคน ตั้งแต่ หมอมิ้ง อ.ธิดา หมอเหวง ฯลฯ เพราะพวกนี้ โต ขึ้นมา จากยุคที่ "มหิดล" หรือ "สายหมอ" เป็นฐานใหญ่ของขบวนการรุ่นนั้น)
 
ตอนนี้ มัน "กลับตาลปัตร" เลย
 
อาชีพทนาย หรือ นักวิชาการด้านกฎหมาย ก็เช่นเดียวกัน
 
(ผมเคยบอกหลายคนแล้วว่า ฯพณฯ อธิการบดี ผม คุณ "ตู่" นี่ สมัยก่อน เป็น "ฝ่ายซ้าย" ตัวเป้งเลย ไม่นับพวก กิตติศักดิ์ ปรกติ ที่แม้จะไม่ "เป้ง" เท่าไร แต่ก็มาทางนี้เหมือนกัน)
 
ตอนนี้ "หมอตุลย์" หรืออาชีพสายหมอ หรือ สายทนาย กลายเป็นแบบนี้ ได้ยังไงหว่า?
 
มีประเด็นคำถามใหญ่ ที่ผมไม่ได้เขียนไปข้างบน แต่ไหนๆ ก็เขียนมาขนาดนี้ ขอโพสต์ตั้งไว้ให้คิดกันเล่นๆ
 
"อนาคตของประชาธิปไตยไทย จะสามารถสร้างขึ้นมาได้ไหม ถ้า ′ชนชั้นกลางวัฒนธรรม′ ส่วนใหญ่ มีจุดยืน อย่างที่เห็นในปัจจุบัน"
 
ผมทราบว่า ส่วนใหญ่ที่อ่าน fb หรือเป็น friends ใน fb ผม ชอบแขวะ ด่า เกลียด "ชนชั้นกลางวัฒนธรรม" เหล่านี้ (คำด่ายอดฮิต "สลิ่ม" ก็คงหมายถึงคนพวกนี้ เป็นส่วนใหญ่)
 
ซึ่งก็เป็นเรื่องสมเหตุสมผลดีแล้ว
 
แต่ที่ผมว่า น่าคิดคือ คำถามที่ตั้งไว้นี้แหละ
 
โดยประวัติศาสตร์ ไม่ว่าของไทย หรือของต่างประเทศ เป็นเรื่องยากลำบากมาก ถ้าขาด "ชนชั้นกลางวัฒนธรรม" เข้าร่วม ....
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาชาติธุรกิจสัมภาษณ์ 'จรัล ดิษฐาอภิชัย' เทียบอภัยโทษเคส 'กัมพูชา' กับ 'ทักษิณ'

Posted: 19 Nov 2011 02:22 AM PST

 "จรัล ดิษฐาอภิชัย" ยกกรณีพระราชทานอภัยโทษผู้หนีคดีในกัมพูชาเทียบคดี "ทักษิณ" ชี้สมเด็จนโรดมสีหนุ กษัตริย์ กัมพูชา เคยให้อภัยโทษกับคนที่เกี่ยวข้องในการทำรัฐประหารแต่ล้มเหลวในเดือน กรกฎา-สิงหาคม ปี 1997 มาแล้ว
 
“จรัล ดิษฐาอภิชัย” อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และอดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ผู้กลับมาปรากฏตัวในประเทศเมื่อปลายเดือนกันยายน 2554 นับแต่เขาเดินทางออกนอกประเทศเมื่อปีที่แล้วไม่กี่วันหลังเหตุการณ์ “19 พฤษภา 53” รวมเวลาในการเดินสายสื่อสารสถานการณ์การเมืองไทยต่อคนไทยในต่างแดนและชาวต่างชาติ ทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกาเป็นเวลากว่าปี
 
ถึงวันนี้ “จรัล” ยังอยู่บนถนนการเมืองแม้จะไม่ได้เป็น ส.ส. แต่มีภารกิจเดินทางเข้ารัฐสภาในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการต่างประเทศ ที่มี “สุนัย จุลพงศธร” ส.ส.บัญชี่รายชื่อ พรรคเพื่อไทยเป็นประธาน 
 
ในสัปดาห์ที่น้ำเริ่มลด ลมหนาวเริ่มโชย กระแสการเมืองกำลังกลับมากระพือ เมื่อมีประเด็น “คนแดนไกล” จะกลับเข้าประเทศได้อีกหรือไม่ “จรัล ดิษฐาอภิชัย” ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติออนไลน์” พร้อมเปรียบเทียบกรณีการพระราชทานอภัยโทษที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา   
 
@ร่างพระราชกฤษฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ จะเป็นเหตุทำให้รัฐบาลนี้อยู่ต่อไปไม่ได้หรือไม่
 
-สถานการณ์พื้นฐานคนก็แบ่งความเห็นออกเป็น 2 ฝ่ายอยู่แล้ว และยังดำรงอยู่ คือ ฝ่ายล้มรัฐบาลและฝ่ายหนุนรัฐบาล จนกระทั่งน้ำท่วมก็มีการเมืองของน้ำท่วม ที่ดำรงอยู่อยู่แล้ว ผมและคนเสื้อแดง ก็เชื่อว่าหลังน้ำลด ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลก็คงก่อกระแสขับไล่รัฐบาล เขาก็ประกาศทุกวัน ฉะนั้น เมื่อมีปัญหาร่างพระรากฤษฎีกา ขอพระราชทานอภัยโทษ ในวโรกาส 84 พรรษา เราต้องเข้าใจว่า แม้การพระราชทานอภัยโทษ เป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์ แต่ในทางปฏิบัติ หรือวิธีการ ก็ต้องมีผู้เสนอขึ้นไป คือ ครม. เพราะเป็นหน้าที่ฝ่ายบริหาร ซึ่งอาจจะทูลเกล้ารายชื่อแต่ละปีจำนวนไม่เท่ากัน บางวโรกาสก็ 2 หมื่นรายชื่อ หรือ 3 หมื่นรายชื่อ ฉะนั้น ทางฝ่ายบริหาร คือ ครม. ก็ต้องทำร่างพระราชกฤษีกา เพื่อกราบบังคมทูล
 
@ แบบนี้รัฐบาลกำลัง เกี้ยเซี๊ย กับอำมาตย์ หรือเปล่า
 
-เท่าที่ผมอ่านความเห็นตามบทความที่บอกว่า ถ้าทำแบบนี้เท่ากับทรยศหักหลังคนเสื้อแดงที่ติดคุก แต่ผมว่าความคิดแบบนี้ก็เป็นหตุผลที่แปลกๆ เพราะถ้าคนเสื้อแดงที่ติดคุกอยู่ในข่ายได้รับอภัยโทษ ก็ต้องได้รับพระราชทานอภัยโทษด้วย
 
@ คิดว่ารัฐบาลตั้งใจช่วยคุณทักษิณคนเดียวหรือไม่
 
ผมคิดว่า ไม่ใช่ช่วยคุณทักษิณคนเดียว แต่เป็นการช่วยนักโทษ 20,000 กว่าคน ในวโรกาสนี้ อาจทำร่างกราบบังคมทูลถึง 25,000 -27,000 รายชื่อ ผมเชื่อว่าน่าจะครอบคลุมคนเสื้อแดงทุกคน ส่วนหลักการของการอภัยโทษ ปกติก็ไม่ใช่ทุกคนได้รับเพราะบางครั้งก็ทุกคดีหรือเว้นบางคดี นอกจากนั้นยังมีการแบ่งเป็นนักโทษชั้นดี หรือเหลือโทษอีกไม่กี่ปี ผมยังไม่เห็นร่างพระราชกฤษฎีกา แต่เท่าที่ผมติดตามข่าว มีเนื้อหาเกี่ยวกับอายุนักโทษ ทำให้ถูกตีความว่าหลักการเรื่องอายุนั้น กำหนดเพื่อให้ครอบคลุมถึง ดร.ทักษิณ ชินวัตร อย่างที่อีกฝ่ายเขาว่า 
 
@ปัญหาว่าคุณทักษิณ ยังไม่เคยรับโทษ 
 
-ประเทศไทยไม่เคยมีประเพณี แต่ในทางหลักการทำได้ เพราะเป็นเรื่องพระราชอำนาจ ผมคิดว่า สมเด็จนโรดมสีหนุ กษัตริย์ กัมพูชา เคยให้อภัยโทษกับคนที่เกี่ยวข้องในการทำรัฐประหารแต่ล้มเหลวในเดือน กรกฎา-สิงหาคม ปี 1997 โดยคนเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศไทย ผมยังเคยไปพบเขาเลย กลุ่มสมเด็จนโรดม รณฤทธิ์ กลุ่มพระพุทธะเสรี กลุ่ม ซอนซาน
 
เวลานั้นกัมพูชามีนายกฯ 2 คน อีกคนคือ สมเด็จรณฤทธิ์ บริหารไปมา ก็เกิดความขัดแย้ง จึงทำรัฐประหารมีการยิงกัน แต่ล้มเหลว แล้วหนีมาอยู่ไทย ผมยังไปเยี่ยมเขา
 
ต่อมาสมเด็จฮุนเซน ก็เห็นว่าเพื่อความปรองดองชาติ จึงกราบทูลให้ สมเด็จสีหนุ พระราชทานอภัยโทษ ต่อมาสมเด็จนโรดม รณฤทธิ์ เคยถูกฟ้อง ศาลตัดสินจำคุก ก็หนีไปอยู่ประเทศอื่น สมเด็จนโรดม สีหมุณี ก็พระราชทานอภัยโทษ แม้ว่า สมเด็จนโรดม รณฤทธิ์ จะไม่ได้อยู่ในคุก
 
ฉะนั้น โดยหลักการ ก็คลุมถึงคนที่หลบหนีก็ได้ แต่ประเทศไทย ไม่เคยมีประเพณีนี้
 
@ น้องสาวเป็นนายกรัฐมนตรี ของ ครม. ที่กำลังชงเรื่องให้คุณทักษิณกลับบ้าน จะเป็นการเพิ่มปัญหาต่อคุณยิ่งลักษณ์หรือไม่  
 
-เท่าที่ผมได้ยิน ผมว่า ดร.ทักษิณ คงไม่อยากกลับ แต่มีคนอยากให้กลับ ส่วนเรื่องพี่กับน้อง ก็อย่างที่ผมพูด สมเด็จนโรดม สีหนุ เคยพระราชทานอภัยโทษให้ สมเด็จรณฤทธิ์ซึ่งเป็นลูกชาย พ่อให้อภัยโทษลูกชาย เพียงแต่คนเสนอ คือสมเด็จฮุนเซน ซึ่งเป็นคู่ปฏิปักษ์ทางการเมือง หรือกรณี สมเด็จสีหมุณี ให้อภัยโทษ สมเด็จรณฤทธิ์ ก็เป็นพี่กับน้องกัน แต่ตอนนั้น สมเด็จฮุนเซน เป็นผู้เสนอเช่นเดียวกัน
 
@ การขอพระราชทานอภัยโทษ สร้างแรงต้านเกิดขึ้นกับ“รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ควรเสี่ยงต่อไปหรือไม่   
 
-รัฐบาลมี 2 ทาง คือ 1 เขียนให้ชัดเจนว่าอายุ 60 ปีขึ้นไป แล้วยังติดคุกไม่เกิน 3 ปี อีกทางหนึ่งคือ 2) เดินหน้าต่อไป แต่ถ้าพูดแบบไม่กลัวถูกด่านะ ผมคิดว่าทีคนสูงอายุที่ติดคุกโทษหนักเพราะเป็นฆาตรกร หรือเป็นโจรอะไรต่างๆ ยังได้รับพระราชทานอภัยโทษ แล้ว ดร.ทักษิณ ซึ่งเคยทำคุณงามความดีให้ประเทศชาติ แม้ยังไม่ได้ติดคุก แต่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสิน ก็น่าจะได้รับเช่นเดียวกัน
 
@ เป็นสัญญาณความรุนแรงทางการเมืองปีหน้าหรือไม่
 
-ผมอาจจะมองโลกในแง่ดี ตั้งแต่เลือกตั้งเสร็จก็มีไม่กี่คนที่บอกว่ารัฐบาลนี้อยู่ไม่ยาว แต่ผมคาดว่าอยู่ยาว เพราะมาจากการเลือกตั้ง และเป็นผู้หญิง นอกจากนั้นยังมีคนเสื้อแดงสนับสนุน และในทางสากล ในศตวรรษที่ 21 นานาชาติชอบผู้หญิง ศตวรรษนี้มีความเปลี่ยนแปลงทางอำนาจมาที่ผู้หญิง
 
สำหรับฝ่ายต่อต้านทั้งในสภาและนอกสภา อย่างพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย-เสื้อเหลือง ถ้าจะขับไล่รัฐบาลก็ต้องเคลื่อนไหวมวลชน แต่เขาจะเอาคนที่ไหนมาชุมนุม เพราะถ้าชุมนุม 20,000-30,000 คน ก็เก่งมากแล้ว เขาจะเอาคนที่ไหน ขณะที่เขาขัดแย้งแตกแยกกันระหว่าง พันธมิตรฯ กับประชาธิปัตย์ ซึ่งแตกต่างจากเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว แล้วการไล่รัฐบาลหลังน้ำท่วม ยิ่งเป็นไปได้ยาก
 
@ คะแนนนิยมของรัฐบาลจะลดลงเพราะการบริหารจัดการน้ำหรือไม่
 
-คะแนนนิยมลดลงเฉพาะในกรุงเทพฯ ส่วนต่างจังหวัด ยิ่งเห็น นายกฯ ร้องไห้ คนยิ่งเห็นใจ แม้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลจะบอกว่านายกฯ อ่อนแอ แต่พอ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่า กทม. ร้องไห้ ก็ไม่เห็นมีใครว่าอะไร 
 
ผมเองก็ร้องไห้นับครั้งไม่ถ้วน ชุมนุมสะเทือนใจผมก็ร้องไห้ ดูละคร ดูหนังอินเดีย ดูฟุตบอล หรือตอนเข้าป่าแล้วสหายต้องไปอยู่เขตอื่น ผมก็ร้องไห้ ด้วยความสะเทือนใจ ฉะนั้น การร้องไห้กับนักต่อสู้ ไม่ได้แสดงว่าอ่อนแอ แต่แสดงว่า เขามีอารมณ์ต่อความทุกข์สุขของประชาชน
 
@ การต่อต้านรัฐบาลครั้งนี้ จะส่งผลอย่างไร
 
ถ้ามีการชุมนุมขับไล่รัฐบาลแล้วทหารจะโหนกระแสล้มรัฐบาลหรือไม่นั้น ผมคิดว่าทหารคงไม่โหน เพราะสภาก็ตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางปรองดองคนในชาติ เพิ่งตั้งขึ้นมา บรรยากาศปรองดอง น้ำท่วม มาร่วมกันทำงาน แล้วถ้าดูองค์ประกอบตัวบุคคล คณะกรรมการยุทธศาตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ(กยน.) องค์ประกอบก็ชี้บ่งบอกส่งเมสเสจว่านี่คือการปรองดอง ทีนี้ทหารจะทำได้ยังไง ถ้าทหารจะทำรัฐประหาร ก็อาจจะเกิดสงครามการเมือง เพราะคนไม่ยอมก็ลุกมาต่อต้านแบบประเทศลิเบียแน่นอน
 
ที่มา: 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โมเดล “คนดี-ความดี” ในวัฒนธรรมทางศีลธรรมของคนชั้นกลาง

Posted: 19 Nov 2011 01:31 AM PST

 

การเมืองตั้งแต่ยุคทักษิณเป็นต้นมา เมื่อทักษิณถูกกล่าวหาว่าโกงมโหฬาร (ก่อนยุคทักษิณก็โกง) จนมีการประดิษฐ์วาทกรรมว่า โคตรโกง โกงทั้งโคตร คอร์รัปชันบูรณาการ ธนกิจการเมือง ทุนนิยมสามานย์ เป็นต้น แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดปรากฏการณ์ประชาชนศรัทธาหรือ “รักทักษิณ” จำนวนมาก ชนิดที่ว่าไม่เคยมีนักการเมืองคนไหนที่ประชาชนสนับสนุนมากเช่นนี้มาก่อน วาทกรรมหนึ่งที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้คือ “โกงไม่เป็นไรขอให้มีผลงาน”
 
แล้วก็มีผลสำรวจของโพลสำนักต่างๆ รายงานว่า คนรุ่นใหม่และชาวบ้านทั่วๆไป (โดยเฉพาะคนอีสาน) ส่วนใหญ่ยอมรับหลักคิดที่ว่า “โกงไม่เป็นไรขอให้มีผลงาน” ผลสำรวจดังกล่าวทำให้สื่อ นักวิชาการ พระสงฆ์ ประเภท “นักศีลธรรมนิยม” ยอมรับไม่ได้ ฉะนั้น จึงเกิดการอธิบายอย่างเป็น “แบบแผน” (pattern) เดียวกันทั้งทางสื่อ บนเวทีเสวนาทางวิชาการ บนธรรมาสน์ของพระสงฆ์ บนเวทีปราศรัยในการชุมนุมทางการเมืองว่า ประชาชนยังไม่มีคุณภาพ ไม่รู้ทันนักการเมือง ตกเป็นเครื่องมือนักการเมือง ไม่รู้ประชาธิปไตย ขายสิทธิ์ขายเสียง โง่ พวกรากหญ้ากินหญ้า ถ่อย กเฬวราก ฯลฯ
 
จึงเกิดการรณรงค์ขนานใหญ่ว่าให้เลือกคนดี ไม่ซื้อสิทธิ์ขายเสียง แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ จนกระทั่งดูเหมือนจะมีมุมมองเชิงสรุปว่า คนทุกวันนี้ศีลธรรมเสื่อม เห็นผิดเป็นชอบ ไม่สนใจความดี ไม่เคารพคนดี แต่ยกย่องเชิดชูคนชั่ว จนในที่สุดหมดทางเลือก จำเป็นต้องจัดการกับคนชั่วด้วยรัฐวิธีรัฐประหาร และเป็นรัฐประหารที่อ้างอิง “ความดีสูงสุด” คือความดีของสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังคำกล่าวที่ว่า “เมื่อบ้านเมืองวิกฤต นักการเมืองชั่วเป็นที่พึ่งไม่ได้ พสกนิกรจะถวิลหาพระเจ้าอยู่หัว” ดังนั้น สาระสำคัญของรัฐประหารจึงเป็นการอ้างความดี คนดีสูงสุดมาลบล้างความชั่ว คนชั่วที่โกงชาติ ทำลายสถาบัน
 
ทว่ารัฐประหาร 19 กันยา 49 ที่อ้างอิงความดีสูงสุด คนดีสูงสุด เพื่อขจัดนักการเมืองชั่ว แทนที่จะเป็นการปลุกกระแสศรัทธาในความดีและคนดีเพื่อลบล้างค่านิยม “โกงไม่เป็นไรขอให้มีผลงาน” ให้หายไปจากสังคมไทย แต่กลับกลายเป็นรัฐประหารที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์การตั้งคำถามต่อความดี คนดี การฉีกหน้ากาก หรือการ “เปิดเปลือย” คนดีกลุ่มต่างๆ ให้เห็นธาตุแท้ หรือตัวตนที่แท้จริงอย่างโล่งโจ้งที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นักวิชาการ ปัญญาชน ทหาร องคมนตรี และ ฯลฯ ที่สังคมยกย่องว่าเป็นคนดีมีศีลธรรม

 

เมื่อเราได้เห็นตัวตนที่แท้จริงของเขาเหล่านั้น เราต้องตระหนกเป็นอย่างยิ่งว่า ทำไมคนเหล่านี้จึงไม่รู้สึกสะเทือนใจ หรือรู้สึกรับผิดชอบต่อความตายของประชาชนในการสลายการชุมนุมปี 2553 บ้างเลย มโนธรรม หรือ “ความเป็นมนุษย์” ของคนดีเหล่านี้หายไปไหน?

 

ปัจจุบันเวลาพูดถึงความดี คนดี คนฟังดูจะรู้สึกเอียนๆ แต่เราจะสรุปได้หรือว่าสังคมนี้ไม่ต้องการความดี และคนดี ผมคิดว่าเรายังสรุปไม่ได้เช่นนั้น สังคมนี้ยังต้องการความดีและคนดีอยู่ แต่ที่เอียนๆ กันมากนั้น เป็นการเอียนความดี คนดี ตาม “โมเดล” ที่ถูกปลูกฝังกันมานาน คือโมเดล “คนดี-ความดี-คนประสบความสำเร็จที่มีความสัมพันธ์เป็นสาเหตุและผลแก่กันในลักษณะเฉพาะที่แน่นอนตายตัว” ดังนี้

 

- คนดี/ความดีหนึ่ง คือคนที่มีความมุมานะต่อสู้เพื่อการเลื่อนสถานะทางสังคมที่สูงขึ้น และความสำเร็จหนึ่ง คือการเลื่อนสถานะทางสังคมที่สูงขึ้น

 

- คนดี/ความดีสอง คือ คนที่มีความจงรักภักดีและมุมานะพยายามจนได้เลื่อนสถานะทางสังคมตามเงื่อนไขความจงรักภักดี และความสำเร็จสอง คือการได้ทำงานรับใช้ด้วยความจงรักภักดี การมีชื่อเสียงเกียรติยศ

 

แน่นอนว่า ความดีสองและความสำเร็จสอง คือความดีและความสำเร็จสูงสุดในชีวิต เป็นเกียรติประวัติที่ผู้คนในสังคมต่างก็ใฝ่ฝัน ฉะนั้น การได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ยศถาบรรดาศักดิ์ ตำแหน่งคุณหญิง ท่านผู้หญิง แม้กระทั่งได้รับพระราชทานเพลิงศพ ฯลฯ จึงเป็นเกียรติประวัติสูงสุดของชีวิตที่ได้ทำความดี และประสบความสำเร็จ

 
ตัวอย่างรูปธรรมของคนดีและประสบความสำเร็จตามโมเดลดังกล่าวที่ชัดเจนมาก ก็เช่น คนหนึ่งเป็นลูกแม้ค้าขายพุงปลา เป็นเด็กวัดมีความมุมานะเรียนจนจบมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ และได้เลื่อนสถานะทางสังคมเป็นนักการเมือง และเป็นนายกรัฐมนตรีผู้มีภาพลักษณ์ซื่อสัตย์จงรักภักดี และเป็นมิตรที่ดีของฝ่ายอำมาตย์เสมอมา และอีกคนเป็น ศาสตราจารย์นายแพทย์ที่มีภูมิหลังเป็นเด็กชนบทที่มีความมุมานะเรียนดี จนได้ทุนพระราชทานไปเรียนจบจากเมืองนอก ได้เลื่อนสถานะทางสังคมเป็นปัญญาชนและเอ็นจีโอสายอำมาตย์ที่มีความจงรักภักดี และเป็นมิตรที่ดีของฝ่ายอำมาตย์ แต่ประดิษฐ์วาทกรรมที่สะท้อนให้เห็นภาพอัปลักษณ์ของนักการเมืองเสมอมา
 
(ต้องหมายเหตุ ณ ที่นี้ว่า คนอย่าง ปรีดี พนมยงค์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นต้น นอกจากจะไม่ใช่คนดี คนประสบความสำเร็จตามโมเดลดังกล่าวแล้ว พวกเขายังถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อโมเดลดังกล่าวอีกด้วย ฉะนั้น คนอย่างพวกเขาจึงไม่สมควรถูกยกย่องเชิดชู “อย่างเป็นทางการ” จากรัฐไทย)
 
แต่เมื่อเผชิญกับรัฐประหาร 19 กันยา แล้ว คนดีตามโมเดลข้างต้น ซึ่งมีทั้งสื่อ นักวิชาการ ปัญญาชน คนชั้นกลางในเมืองที่มีการศึกษาดี ที่มีสถานะที่ได้เปรียบในทางสังคมการเมือง พวกเขาต่างสนับสนุนรัฐประหารทั้งโดยลับๆ และเปิดเผย และจนวันนี้พวกเขายังพยายามทุกวิถีทางเพื่อคัดค้านการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร และการดำเนินการใดๆ ที่เป็นการนิรโทษกรรม และให้ความยุติธรรมแก่นักการเมืองที่ถูกทำรัฐประหาร และคนเสื้อแดงที่ถูกจับติดคุก บาดเจ็บ ล้มตาย อันเนื่องมาจากการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐประหารและเรียกร้องประชาธิปไตย
 
ฉะนั้น คนดี ความดี ตามโมเดลข้างต้นนี้ต่างหากที่ประชาชนส่วนใหญ่ผู้ซึ่งต้องการเห็นสังคมเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยสากลรู้สึกสะอิดสะเอียน เพราะเบื่อหน่ายกับการเห็นพฤติกรรม “ศีลธรรมดัดจริต” ที่แพร่ระบาดอย่างมากมายเหลือเกินในช่วงกว่า 5 ปีที่ผ่านมา

 

ไม่ว่าจะเป็นการอ้างทศพิธราชธรรมเพื่อข่มศีลธรรมภาคสาธารณะ อ้างความไม่มีตัวกูของกูทางการเมืองโดยไม่ใส่ใจความยุติธรรม อ้างความรักของพ่อบ้านของพ่อข่มประชาชนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ความเสมอภาค อ้างหลักนิติรัฐ นิติธรรม เพื่อคัดค้านการนิรโทษกรรมแก่นักการเมืองที่ถูกทำรัฐประหาร แต่ยอมรับพวกทำรัฐประหารนิรโทษกรรมแก่ตัวเอง ฯลฯ

ข้อสังเกตคือ โมเดลคนดี ความดีดังกล่าว อาจถือได้ว่าเป็น “วัฒนธรรมทางศีลธรรม” ของคนชั้นกลางในสังคมเมือง ที่มีการศึกษา และสถานะทางสังคม อาชีพการงานดี คนเหล่านี้มักถือว่าตนเองฉลาดกว่า มีวิจารณญาณทางศีลธรรมดีกว่า ฉะนั้น พวกเขาจึงเอาจริงเอาจังกับการล้มรัฐบาลที่คนต่างจังหวัด คนชนบทเลือก ซึ่งคนเหล่านั้นถูกมองว่าด้อยการศึกษา ไม่มีวิจารณญาณทางศีลธรรม ไม่สามารถมีอุดมการณ์ทางการเมือง เป็นได้แค่เครื่องมือของนักการเมืองโกง ไม่มีสำนึกเรื่องผลประโยชน์ของส่วนรวม หรือ “รักชาติ” เท่าเทียมกับคนมีการศึกษาดีกว่า เข้าถึงสื่อดีกว่าอย่างพวกเขา
 
ขณะที่กรรมกร คนขับแท็กซี่ คนชนบท คนต่างจังหวัด ไม่ได้ซาบซึ้งกับโมเดลคนดี ความดีดังกล่าวมากนัก พวกเขากลับ “โดน” หรือมีความรู้สึกร่วมอย่างจริงจังกับวาทกรรม “ไพร่โค่นอำมาตย์” ทว่าคนชั้นกลางในเมืองโดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ กลับหัวเราะเยาะว่า นั่นเป็นวาทกรรมหลอกลวง แถมยังพูดเย้ยหยันว่าชาวบ้านถูกปั่นหัวมาชุมนุมเพื่อ “โค่นอำมาตย์” โดยไม่รู้ว่าอำมาตย์คืออะไร พอมาถึงกรุงเทพฯ ต่างก็ถามกันว่า “ต้นอำมาตย์อยู่ที่ไหน พวกเราจะได้ช่วยกันโค่น” นี่คือการ “พูดเหยียด” เพื่อนมนุษย์ออกทีวีของคนกรุงเทพฯ ที่มีการศึกษาดี
 
สำหรับคนมีการศึกษาดี มีวิจารณญาณทางศีลธรรมดีกว่าอย่างพวกเขาแล้ว “อำมาตย์-ไพร่” เป็นคำพูดที่น่าหัวเราะ เพราะหมดยุคไปแล้ว ไม่มีอยู่จริง หรือถึงมันจะมีอยู่จริงก็ไม่เป็นเป็นไร ในเมื่อสังคมนี้คนทุกคนยังมีเสรีที่จะมุมานะพยายามเพื่อเลื่อนสถานะทางสังคมของตนเองให้สูงขึ้นได้เสมอ ถ้าคุณเป็นคนดี ทำดีตามโมเดลข้างต้น คุณก็มีสิทธิ์ มีโอกาสเป็นคนดี มีเกียรติยศน่าภาคภูมิใจ และน่ายกย่องในสังคม
 
แต่ปัญหาคือ โมเดลความดีตามวัฒนธรรมทางศีลธรรมของคนชั้นกลางในเมืองดังกล่าว ในระดับรากฐานแล้วมันกีดกันคนอย่างปรีดี กุหลาบ จิตร เป็นต้นออกไป  นักศึกษา ประชาชนที่ถูกฆ่า ถูกจับติดคุกตั้งแต่ยุค 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19 และพฤษภา 53 ล้วนแต่ถูกตราหน้าว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อโมเดลคนดี ความดีดังกล่าว ซึ่งหมายความว่าวัฒนธรรมคนดี ความดีตามโมเดลดังกล่าวไม่ยอมรับว่า คนที่ต่อสู้และการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ความเสมอภาคตามระบอบประชาธิปไตย เป็นคนดี และเป็นความดี  
 
แล้วในช่วงกว่า 5 ปีที่ผ่านมา เมื่อคนดี ความดีตามโมเดลดังกล่าวสนับสนุนรัฐประหาร และถูกกระชากหน้ากาก คนที่ตาสว่างจำนวนมากจึงหมดศรัทธา และเอียนอย่างรุนแรงกับพฤติกรรมศีลธรรมดัดจริตที่แพร่ระบาดในหมู่ปัญญาชน นักวิชาการ สื่อ พระสงฆ์ หรือคนมีการศึกษาดี มีฐานะการงานดีที่เรียกกันว่า “สลิ่ม” ทั้งหลาย
 
แต่ไม่ได้หมายความกว่า “กระแสเอียนศีลธรรมดัดจริต” จะเป็นกระแสปฏิเสธคนดี และความดีเสียทุกอย่าง เพราะจริงๆ แล้ว ในระยะเปลี่ยนผ่านเช่นนี้ สังคมยังต้องการคนดี ความดี แบบปรีดี กุหลาบ จิตร เป็นต้น ดังที่เกิดกระแสการยกย่องวีรกรรมของลุงนวมทอง ไพรวัลย์ การสละชีวิตเพื่อประชาธิปไตยของชาวบ้านธรรมดาๆ เป็นต้น

 

โลกเปลี่ยนไปแล้ว แต่ในความเปลี่ยนแปลงนั้น สังคมยังต้องการคนดี ความดีในความหมายที่เอื้อต่อการสร้างสังคมที่มีเสรีภาพ เสมอภาค และมีความเป็นธรรมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้!

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อาสาสมัครอินโดฯ รวมตัวประท้วงโดนเจ้าภาพซีเกมส์ส่งข้อความเลิกจ้าง

Posted: 18 Nov 2011 11:43 PM PST

19 พ.ย. 54 - มติชนออนไลน์รายงานว่าเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาว่า อาสาสมัครชาวอินโดนีเซียกว่า 200 คน เดินทางรวมตัวที่ศูนย์สื่อมวลชน เพื่อประท้วงคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 26 หรือ INASOC ที่ได้ส่งข้อความเลิกจ้างในวันนี้ (19 พ.ย.) ก่อนเกมการแข่งขันซีเกมส์จะสิ้นสุดลง

รายงานข่าวระบุว่า กลุ่มอาสาสมัครอ้างการแจ้งเลิกจ้างดังกล่าวไม่เป็นไปตามสัญญาจ้างที่ตกลงกันไว้ โดยอาสาสมัครที่ถูกเลิกจ้างมีประมาณ 2,200 คน ได้ค่าตอบแทนวันละ 2 แสนรูเปีย หรือประมาณ 800 บาท ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถตกลงกันได้
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เอ็นแอลดีตัดสินใจจดทะเบียนเป็นพรรคการเมือง

Posted: 18 Nov 2011 11:30 PM PST

นางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคเอ็นแอลดีออกมายืนยันแล้วว่า ทางพรรคเอ็นแอลดีตัดสินใจที่จะจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองอีกครั้ง โดยทางพรรคได้ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวานนี้ (18 พ.ย.) หลังสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีทั้งหมดร่วมหารือกันเป็นเวลากว่า 3 ชั่วโมง
 
ทั้งนี้ ได้มีการอ่านแถลงการณ์อย่างเป็นทางการในวันนี้ โดยในแถลงการณ์ระบุว่า พรรคเอ็นแอลดีมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าทางพรรคจะจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองอีกครั้ง และจะลงชิงชัยในการเลือกตั้งครั้งหน้า โดยนางซูจีได้บอกกับสมาชิกในพรรคว่า การตัดสินใจครั้งนี้จะทำให้พรรคเอ็นแอลดีสามารถกลับมาเคลื่อนไหวทางการเมืองได้อีกครั้ง และกล่าวเรียกร้องให้สมาชิกพรรคที่ไม่เห็นด้วยยอมรับการตัดสินใจของเสียงส่วนใหญ่ในพรรค
 
“ประชาธิปไตยหมายถึงเราทำตามและยอมรับการตัดสินใจของเสียงส่วนใหญ่ แม้ส่วนตัวเราจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม ในขั้นตอนตามแผนประชาธิปไตย บางครั้งเราชนะและบางครั้งเราแพ้ เราต้องยอมรับมัน จงมองไปข้างหน้า เราต้องทำงานเพื่อแก้ไขให้รัฐธรรมนูญเป็นไปในทางที่ดีขึ้น เราทำสิ่งนี้ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของพรรคเอ็นแอลดี แต่นั่นเพื่อทั้งประเทศ เราต้องแก้ไขกฎหมายที่ไม่ส่งผลประโยชน์ต่อประเทศชาติ” นางซูจีกล่าว
 
นางซูจียังกล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ที่ทางพรรคจะจดทะเบียนพรรคการเมืองภายใต้ในสถานการณ์ในปัจจุบัน เนื่องจากรัฐบาลชุดปัจจุบันให้การยอมรับผลการเลือกตั้งในปี 1990 (2533)ที่พรรคเอ็นแอลดีชนะการเลือกตั้งครั้งนั้นอย่างถล่มทลาย นางซูจีกล่าวว่า โดยส่วนตัวเธอเห็นด้วยและสนับสนุนที่พรรคจะจดทะเบียนเป็นพรรคการเมือง และเชื่อว่า ประ ธานาธิบดีเต็งเส่งเองก็ต้องการปฏิรูปประเทศ
 
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีเสียงบางส่วนไม่เห็นด้วยที่ทางพรรคเอ็นแอลดีจะจดทะเบียนพรรคการเมือง เช่นเดียวกับนายวินติน หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคและเคยเป็นนักโทษการเมืองติดคุกนาน 19 ปี แสดงความเห็นว่า เขาไม่คิดว่า เป็นสิ่งที่ดีนักที่พรรคเอ็นแอลดีจะมีส่วนร่วมในรัฐสภาพม่าในตอนนี้ เช่นเดียวกับสมาชิกพรรคเอ็นแอลดี สาขาในรัฐคะฉิ่น แม้จะโหวตให่้พรรคจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองอีกครั้ง แต่ก็ยังไม่เห็นด้วยที่จะลงชิงชัยเลือกตั้ง โดยกล่าวว่า พรรคเอ็นแอลดียังไม่ควรพิจารณาเข้ามีส่วนร่วมในรัฐสภาพม่าจนกว่าความสงบสุขจะเกิดขึ้นบริเวณแนวชายแดน
 
ขณะที่พรรคชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มที่ต้องยุบพรรคไปก่อนหน้านี้เปิดเผยว่า ยังจะไม่ตัดสินใจจดทะเบียนพรรคการเมืองในขณะนี้ จนกว่าผู้นำชนกลุ่มน้อย และนักโทษทางการเมืองคนอื่นๆจะได้รับการปล่อยตัว ด้านพรรคสันนิบาตแห่งชาติไทใหญ่เพื่อประชาธิปไตย (Shan Nationalities League for Democracy -SNLD) กล่าวว่า นางซูจีและพรรคเอ็นแอลดีนั้นได้รับความไว้วางใจและเชื่อใจจากประชาชนชนกลุ่มน้อยมาก แต่ถ้าหากว่าทางพรรคเอ็นแอลดีตัดสินใจที่จะมีส่วนร่วมในการเลือกครั้งหน้า ในขณะที่นักโทษทางการเมืองทั้งหมดยังไม่ได้รับการปล่อยตัว นั่นจะส่งผลทำให้ชนกลุ่มน้อยหมดความไว้วางใจ และไม่ให้การสนับสนุนนางซูจีต่อ
 
(แปลและเรียบเรียงจาก Irrawaddy /Mizzima/SHAN 18 พ.ย.54)
 
โดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน" อ่านข่าวและบท ความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อรุณธาติ รอย: พวกเราทุกคนล้วนเป็นผู้ยึดครอง

Posted: 18 Nov 2011 05:29 PM PST

"พวกเราทุกคนล้วนเป็นผู้ยึดครอง"

ผู้คนทั่วโลกสดุดีขบวนการยึดครอง (วอลสตรีท) สำหรับการลุกขึ้นเผชิญหน้าความอยุติธรรมและการเรียกร้องความเสมอภาค ณ ใจกลางจักรวรรดิ

แปลจาก  "We are all Occupiers" สุนทรพจน์ของอรุณธาติ รอย* (Arundhati Roy) ในกิจกรรมมหาวิทยาลัยประชาชนในวันที่ 16 พฤศจิกายน ณ สวนวอชิงตันสแคร์  

ที่มา http://www.guardian.co.uk/commentisfree/cifamerica/2011/nov/17/we-are-all-occupiers-arundhati-roy?fb=native&CMP=FBCNETTXT9038

แปลโดย เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร

 

อรุณธาติ รอย (Arundhati Roy) นักเขียนและนักรณรงค์สตรีชาวอินเดียด้านความยุติธรรมทางสังคม

อรุณธาติ รอย (Arundhati Roy) นักเขียนและนักรณรงค์สตรีชาวอินเดีย
ที่มา:
Loker (CC-BY-SA-2.5)

 

เช้าวันอังคาร ตำรวจกวาดล้างสวนซุคคอตติ แต่วันนี้ผู้คนกลับมา ตำรวจควรรู้ว่าการชุมนุมนี้ไม่ใช่การต่อสู้เพื่ออาณาเขต เราไม่ได้กำลังสู้เพื่อสิทธิในการยึดครองสวนที่นี่หรือที่ไหน เรากำลังต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ความยุติธรรมไม่ใช่แค่ของคนสหรัฐฯ แต่ของทุกคน

สิ่งที่คุณได้บรรลุตั้งแต่ 17 กันยายน เมื่อขบวนการยึดครองได้เริ่มต้นในสหรัฐฯ คือการนำเสนอจินตนาการใหม่ หรือภาษาทางการเมืองอันใหม่ ณ ใจกลางของจักรวรรดิ คุณได้นำเอาสิทธิที่จะฝันกลับคืนมาสู่ระบบที่เปลี่ยนทุกคนให้เป็นผีดิบซึ่งถูกทำให้เชื่อว่าบริโภคนิยมไร้จิตใจนั้นสูงส่งเทียบเท่าความสุขและความสำเร็จ

ในฐานะนักเขียน ฉันขอบอกคุณว่านี่คือการบรรลุครั้งสำคัญ ฉันไม่รู้ว่าจะขอบคุณอย่างไรจึงจะพอ

เราเคยพูดกันเกี่ยวกับความยุติธรรม วันนี้ ขณะที่เรากำลังพูดกันอยู่ กองทัพของสหรัฐฯ ก็กำลังทำสงครามยึดครองอิรักและอัฟกานิสถาน เครื่องบินไร้คนขับของสหรัฐฯ กำลังเข่นฆ่าพลเรือนในปากีสถานและที่อื่นๆ ทหารของสหรัฐฯ หลายหมื่นนายและทีมสังหารกำลังเคลื่อนเข้าสู่อาฟริกา ถ้าการใช้เงินหลายล้านล้านเหรียญดอลลาร์ของพวกคุณเพื่อบริหารจัดการการยึดครองอิรักและอัฟกานิสถานยังไม่พอ สงครามต่อต้านอิหร่านก็กำลังสำแดงตัวตน

ตั้งแต่เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (ในทศวรรษ 1930) เป็นต้นมา การผลิตอาวุธและการส่งออกสงครามกลายเป็นวิธีสำคัญที่ประเทศสหรัฐฯ ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจของตน เมื่อเร็วๆ นี้ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโอบามา สหรัฐฯ ได้ทำข้อตกลงด้านอาวุธมูลค่า หกหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ กับซาอุดิอาระเบีย มันหวังที่จะขายเครื่องบินทิ้งระเบิดให้กับสหรัฐอาหรับเอมิเรต และได้ขายฝูงบินมูลค่ากว่า 5 พันล้านเหรียญให้กับอินเดีย ประเทศของฉัน ที่มีคนจนมากกว่าประเทศยากจนในอาฟริการวมกันซะอีก สงครามเหล่านี้ ตั้งแต่การโจมตีฮิโรชิมาและนางาซากิ จนถึงเวียตนาม เกาหลี อเมริกาใต้ ได้เอาชีวิตผู้คนไปหลายล้าน ทั้งหมดล้วนสู้เพื่อประกัน “วิถีชีวิตแบบอเมริกัน”

วันนี้ เรารู้ว่า “วิถีชีวิตแบบอเมริกัน” แบบจำลองที่เกือบทั่วโลกถวิลหา ได้ส่งผลให้ผู้คนจำนวน 400 คนครอบครองความมั่งคั่งของประชากรครึ่งหนึ่งของสหรัฐฯ  มันหมายถึงประชาชนหลายหมื่นที่ถูกผลักของจากบ้านและงานของพวกเขาขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ไถ่หนี้ให้กับบรรดาธนาคารและบรรษัท เพียง AIG แห่งเดียวได้รับไปกว่าแสนแปดหมื่นสองพันล้านเหรียญ

รัฐบาลอินเดียบูชานโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ภายหลังจากกว่า 20 ปีของเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี วันนี้ คนที่รวยที่สุดของอินเดีย 100 คนเป็นเจ้าของทรัพยสินมูลค่ากว่าหนึ่งในสี่ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ขณะที่ประชาชนมากกว่า 80% มีชีวิตอยู่ด้วยเงินน้อยกว่า 50 เซ็นต์ (15 บาท) ต่อวัน ชาวนา 250,000 คนที่ถูกผลักดันออกไปสู่วงจรหายนะได้ฆ่าตัวตาย แต่เราเรียกสิ่งนี้ว่าความรุดหน้า และก็กำลังเรียกตัวเองว่ามหาอำนาจ เหมือนกับคุณ พวกเราก็มีคุณสมบัติพร้อม เรามีอาวุธนิวเคลียร์และความเหลื่อมล้ำที่น่าอดสู

ข่าวดีคือประชาชนรู้สึกพอและจะไม่ยอมรับมันอีกต่อไปได้ ขบวนการยึดครองได้ร่วมกับขบวนการต่อต้านอื่นๆอีกหลายหมื่นทั่วโลกที่ผู้คนยากจนกำลังลุกขึ้นและหยุดยั้งสิ่งที่บรรดาบรรษัทที่มั่งคั่งกำลังทำ พวกเราบางคนเคยฝันว่าจะได้เห็นพวกคุณ ประชาชนสหรัฐฯ อยู่ข้างพวกเรา และกำลังพยายามทำสิ่งนี้ในใจกลางจักรวรรดิ ฉันไม่รู้จะสื่อสารถึงความหมายอันยิ่งใหญ่ของสิ่งนี้อย่างไร

พวกเขา (พวก 1%) พูดว่าเราไม่มีข้อเรียกร้อง ... พวกเขาอาจไม่รู้ว่าความโกรธเคืองเพียงลำพังก็เพียงพอที่จะทำลายพวกเขา แต่นี่อาจจะเป็น (ข้อเสนอ) บางอย่าง หรือความคิด “ก่อนปฏิวัติ” ไม่กี่ข้อที่ฉันมี เพื่อให้พวกเราได้คิดกับมันร่วมกัน:

เราต้องการยุติการทำงานของระบบที่ได้สร้างความเหลื่อมล้ำ เราต้องการหยุดยั้งการเติบโตของการสะสมความมั่งคั่งและทรัพยสินที่ไม่สิ้นสุดโดยคนและบรรษัทกลุ่มหนึ่ง ในฐานะ “นักยุติ” และ “นักหยุดยั้ง” เราขอเรียกร้องให้

  • หยุดการถือครองข้ามธุรกิจ เช่น ผู้ผลิตอาวุธไม่สามารถเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ บรรษัทเหมืองไม่สามารถดำเนินธุรกิจหนังสือพิมพ์ องค์กรธุรกิจไม่สามารถอุดหนุนมหาวิทยาลัย บริษัทยาไม่สามารถควบคุมกองทุนสาธารณสุข
  • ทรัพยากรธรรมชาติและสาธารณูปโภคมูลฐาน พวกน้ำประปา ไฟฟ้า สาธารณสุขและการศึกษาไม่สามารถแปรรูปเป็นเอกชนได้
  • พวกเราต้องมีสิทธิในที่อยู่อาศัย การศึกษาและบริการสุขภาพ
  • ลูกหลานของคนรวยไม่สามารถรับสืบทอดมรดกความมั่งคั่งของพ่อแม่พวกเขา

การต่อสู้นี้ได้ปลุกจินตนาการพวกเราให้ตื่นอีกครั้ง ที่ไหนสักแห่งระหว่างทางที่ผ่านมา ทุนนิยมได้ลดทอนความคิดเรื่องความยุติธรรมให้มีความหมายเพียง “สิทธิมนุษยชน” และการคิดเรื่องความฝันเกี่ยวกับความเสมอภาคกลับถูกสบดูหมิ่นเย้ยหยาม พวกเราไม่ได้ต่อสู้เพื่อให้เสียเวลากับการปฏิรูประบบที่ควรจะถูกแทนที่

ในฐานะนักยุติและนักหยุดยั้ง ฉันขอสดุดีการต่อสู้ของคุณ

Salaam and Zindabad**

--------------------------------------------------------------------------

* อรุณธาติ เป็นนักเขียนและนักรณรงค์สตรีชาวอินเดีย เจ้าของรางวัลบุ๊คเกอร์ ไพรซ์ จากนวนิยายเรื่อง "The God of Small Things" เธอได้ตีพิมพ์งานเขียนเชิงความยุติธรรมทางสังคมแล้วหลายชิ้น โดยเฉพาะในประเด็นโลกาภิวัฒน์ สิ่งแวดล้อม และนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ

**คำลงท้ายบทสุนทรพจน์ Salaam หมายถึงสันติภาพ Zindabad เป็นภาษาอินเดีย ใช้ลงท้ายเพื่อสดุดีสิ่งที่ผู้พูดกำลังกล่าวถึง

ที่มา: เฟซบุ๊ก Embedded Capitalism (ทุนนิยมที่สังคมกำกับ)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น