โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

อิมมานูเอล วอลเลอร์ชไตน์: ความขัดแย้งในปรากฏการณ์ Arab Spring

Posted: 17 Nov 2011 11:46 AM PST

นักสังคมวิทยาฝ่ายซ้าย "อิมมานูเอล วอลเลอร์ชสไตน์" อธิบายที่มา "Arab Spring" จากสองกระแส หนึ่งเป็นมรดกจากการปฏิวัติโลกในยุค 1968 ซึ่งยังไม่บรรลุเนื่องจากอดีตเจ้าอาณานิคมควบคุมไว้ได้ อีกหนึ่งมาจากเจ้าอาณานิคมเองที่พยายามเบี่ยงเบนกระแส เนื่องจากเกรง "กระแส 1968" ซึ่งวอลเลอร์ชสไตน์ชี้ว่า "เป็นการลวงให้ไขว้เขวอย่างใหญ่หลวง" และเขาเชื่อว่าหลังจากนี้ "กระแส 1968" จะไม่ได้ถูกยับยั้งได้โดยง่ายอีกต่อไป"

ที่มา: แปลจาก
The contradictions of the Arab Spring

Immanuel Wallerstein
Aljazeera, 14-11-2011
http://www.aljazeera.com/indepth/opinion/2011/11/20111111101711539134.html

 

ความวุ่นวายในประเทศโลกอาหรับที่ถูกเรียกว่า "ปรากฏการณ์ดอกไม้บานในอาหรับ" (Arab Spring) นั้น เป็นที่พูดถึงโดยทั่วไปว่ามาจากการจุดไฟเผาตัวเองของโมฮาเม็ด บูวอาซีซี ในหมู่บ้านเล็กๆ ของประเทศตูนีเซียเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2010 เหตุการณ์นี้ได้กระตุ้นเร้าจิตใจของคนจำนวนมากจนนำมาซึ่งการต่อต้านประธานาธิบดีตูนีเซียในเวลาไม่นานต่อมา จากนั้นจึงค่อยลามไปที่การประท้วงประธานาธิบดีของอิยิปต์ และในช่วงเวลาที่รวดเร็วมาก ความวุ่นวายก็แผ่ไปทั่วประเทศอาหรับและในตอนนี้ก็ยังคงอยู่

บทวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่เราได้อ่านจากสื่อหรือจากอินเตอร์เน็ตละเลยความขัดแย้งที่เป็นใจความสำคัญของปรากฏการณ์นี้ นั่นคือการที่ Arab Spring มาจากกระแสสองกระแสที่ต่างกันมากและดำเนินไปในทิศทางที่ต่างกัน กระแสหนึ่งเป็นมรดกตกทอดจากการปฏิวัติโลกในยุค 1968 "กระแส 1968" นี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็น "การปฏิวัติอาหรับครั้งที่ 2" ก็ได้

เป้าหมายของมันคือการเป็นเอกราชทางเศรษฐกิจของโลกอาหรับ ซึ่ง "การปฏิวัติอาหรับครั้งแรก" ต้องการให้เกิดขึ้น แต่การปฏิวัติรอบแรกไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้เนื่องจากเหตุผลหลักๆ คือ การที่ประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษสามารถจำกัด ควบคุม และยับยั้งมันไว้ได้

กระแสครั้งที่ 2 เป็นความพยายามของเหล่าตัวละครทางการเมืองในการควบคุมกระแสครั้งแรก แต่ละคนพยายามเบี่ยงเบนกิจกรรมการรวมกลุ่มในโลกอาหรับในทางที่จะนำไปสู่ความได้เปรียบของเหล่าตัวละครเหล่านี้ พวกเขามองว่า "กระแส 1968" เป็นสิ่งที่อันตรายต่อผลประโยชน์ของพวกเขา พวกเขาจึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจและการใช้พลังเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของ "กระแส 1968" ในทางที่ผมคิดว่าเป็นการลวงให้ไขว้เขวอย่างใหญ่หลวง

 

อดีตยังไม่ไปไหน

"กระแส 1968" ที่ผมพูดถึงหมายถึงอะไรหรือ? มีอยู่สองจุดเด่นสำคัญในการปฏิวัติโลกปี 1968 ที่ยังคงเป็นประเด็นในสถานการณ์โลกทุกวันนี้ จุดเด่นอย่างแรกคือการปฏิวัติ 1968 เป็นการประท้วงเหล่าผู้มีอำนาจซึ่งมีพฤติกรรมไม่เป็นประชาธิปไตยมาแต่ไหนแต่ไร นี่ถือเป็นการปฏิวัติต่อต้านการ ใช้อำนาจ (อย่างผิดๆ) ในทุกระดับ ซึ่งหมายถึงระบบโลกทั้งระบบ มาจนถึงในระดับชาติ ระดับรัฐบาลท้องถิ่น ระดับสถาบันที่ไม่ใช่ของรัฐบาล ซึ่งเป็นสถาบันที่พวกเขามีส่วนร่วมหรือเป็นลูกจ้างในนั้น (เช่น ที่ทำงาน, ระบบการศึกษา, พรรคการเมือง ไปจนถึงสหภาพแรงงาน)

ภาษาที่ใช้กันในเวลาต่อมาคือ การปฏิวัติ 1968 เป็นการต่อต้านการตัดสินใจแบบแนวดิ่งจากบนลงล่าง และสนับสนุนการตัดสินใจแบบแนวระนาบ การมีส่วนร่วมและยึดโยงกับประชาชน แม้ว่า "กระแส 1968" จะใหญ่มาก แต่ก็มีข้อจำกัดอย่างหนึ่งคือ พวกเขาได้รับอิทธิพลอย่างลึกซึ้งจากแนวคิดเรื่องการต่อสู้แบบสันติ อหิงสา ไม่ว่าจะเป็นปรัชญา “สัตยาคฤห” (Satyagraha) ของมหาตมะ คานธี หรือแนวทางตามแบบของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง และสหาย หรือไม่ก็เก่ากว่านั้นคือแนวคิดของ เฮนรี่ เดวิด ธอโร (ผู้เขียนความเรียงเรื่องอารยะขัดขืน หรือ Civil Disobedience)

"ปรากฏการณ์ดอกไม้บานในอาหรับ" เราจะได้เห็นกระแสนี้แรงมากในตูนีเซียและอิยิปต์ มีมวลชนเข้าหยิบใช้แนวคิดจากกระแส 1968 เร็วมากจนทำให้ผู้มีอำนาจต้องหวาดหลัว ไม่เว้นแม้แต่เหล่าผู้ปกครองประเทศอาหรับ รัฐบาลจากประเทศ "ภายนอก" ที่มีอิทธิพลในด้านการเมืองกับประเทศอาหรับ รวมไปถึงประเทศที่อยู่ห่างไกลออกไป

ตรรกะแบบต่อต้านผู้มีอำนาจแพร่หลายและประสบความสำเร็จจนเป็นภัยต่อพวกผู้มีอำนาจเหล่านั้นทั้งหมด จนทำให้รัฐบาลต่างๆ ของโลกรวมหัวกันเพื่อทำลาย "กระแส 1968" นี้

 

การเติบโตของการเคลื่อนไหวทั่วโลก

จนถึงบัดนี้ เหล่าผู้มีอำนาจทั้งหลายก็ยังทำไม่สำเร็จ ในทางตรงกันข้าม กระแสนี้เริ่มมีพลังมากขึ้นเรื่อยๆ ในทั่วทั้งโลก จากฮ่องกงถึงเอเธนส์ สู่มาดริด สู่ ซานติเอโก ไปจนถึงโจฮันเนสเบิร์กและนิวยอร์ก นี้ไม่ได้เป็นผลพวงมาจาก Arab Spring แต่อย่างเดียว เนื่องจากมีเมล็ดพันธุ์และการปฏิวัติเช่นนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนเดือนธันวาคมปี 2010 แล้ว แต่ความจริงคือสิ่งนี้ได้เกิดขึ้นอย่างมโหฬารในโลกอาหรับ ซึ่งก่อนหน้านี้คิดว่าเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ตอบรับกับกระแสการต่อสู้เท่าใด ปรากฏการณ์ในอาหรับได้สร้างแรงสะท้อนให้กับขบวนการของโลกที่กำลังเติบโตขึ้น

แล้วรัฐบาลตอบโต้กับภัยในครั้งนี้อย่างไร? มีอยู่เพียงสามทางเท่านั้นที่จะตอบโต้คือการปราบปราม การรอมชอม และการล่อหลอกให้เปลี่ยนข้าง การตอบโต้ทั้งสามแบบนี้ล้วนถูกใช้ด้วยกันทั้งหมด และถึงจุดที่ประสบความสำเร็จไปแล้วส่วนหนึ่งด้วย

แน่นอนว่าการเมืองภายในของแต่ละประเทศก็ต่างกัน ดังนั้นปริมาณการใช้วิธีปราบปราม รอมชอม และการล่อหลอกให้เปลี่ยนข้างก็มีความเข้มข้นต่างกันไปในแต่ละประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของผมแล้ว ลักษณะความเด็ดเดี่ยวถือเป็นจุดเด่นอย่างที่สองของการปฏิวัติโลกในปี 1968 การปฏิวัติโลกในปี 1968 เป็นการปฏิวัติใหญ่โดยกลุ่มคนที่เรียกว่า "ผู้ที่ถูกลืม" คือกลุ่มคนที่ถูกไม่ได้รับการเหลียวแลจากเหล่านักการเมืองและกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ที่มีอำนาจ ผู้ถูกลืมเหล่านี้มักจะถูกบอกว่าความทุกข์ร้อนของพวกเขา ความไม่พอใจของพวกเขา และความต้องการของพวกเขา เป็นเรื่องรอง และจะถูกเลื่อนความสำคัญออกไปจนกว่าเรื่องหลักๆ จะได้รับการแก้ไขแล้ว

เหล่าผู้ถูกลืมพวกนี้เป็นใครกัน กลุ่มแรกคือกลุ่มผู้หญิง ซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของประชากรโลก กลุ่มต่อมาคือกลุ่มคนที่รัฐมองว่าเป็น "ชนกลุ่มน้อย" ซึ่งไม่ได้หมายถึงคนกลุ่มน้อยในเชิงตัวเลข แต่เป็นในเชิงสังคมศาสตร์ (และมีการนิยามคำนี้โดยวัดจากเชื้อชาติ ศาสนา การใช้ภาษา หรืออะไรหลายอย่างนี้รวมกัน)

นอกจากผู้หญิงและเหล่า "ชนกลุ่มน้อย" ทางสังคมแล้ว ยังมีกลุ่มอื่นๆ อีกมากมายที่ป่าวร้องไม่อยากกลายเป็นคนที่ถูกลืม อย่างกลุ่มที่มีรสนิยมทางเพศที่ต่างออกไป กลุ่มคนพิการ กลุ่มชนพื้นเมือง ที่อาศัยอยู่ในเขตที่มีคนอพยพเข้าไปอาศัยเมื่อ 500 ปีก่อน กลุ่มคนที่เป็นห่วงเรื่องสิ่งแวดล้อม กลุ่มนักสันตินิยม รายนามของกลุ่มเหล่านี้ยาวขึ้นเรื่อยๆ มีกลุ่มคนมากขึ้นและมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มรับรู้สถานะว่าตนเองเป็น "ผู้ที่ถูกลืม"

เมื่อมีคนวิเคราะห์โลกอาหรับแบบประเทศต่อประเทศ พวกเขาก็เข้าใจในแทบจะทันทีว่ากลุ่มผู้ที่ถูกลืมและความสัมพันธ์ของพวกเขากับรัฐบาลที่มีอำนาจอยู่นั้นแตกต่างกันออกไป ดังนั้นการใช้วิธีการ "รอมชอม" ก็ทำให้การปฏิวัติถูกจำกัดไปมากหรือน้อยต่างกันไป "การปราบปราม" ประชาชนสำหรับแต่ละรัฐบาลก็มีความยากง่ายต่างระดับกัน แต่ที่แน่ๆ เหนื่อสิ่งอื่นใดคือ ทุกรัฐบาลยังอยากจะอยู่ในอำนาจ

หนทางหนึ่งที่จะอยู่ในอำนาจคือการให้ส่วนหนึ่งของผู้ที่มีอำนาจเข้าร่วมการลุกฮือ ส่งตัวบุคคลสำคัญซึ่งมักจะเป็นประธานาธิบดีหรือผู้นำออกไปนอกประเทศโดยให้กองทัพที่แสร้งทำตัวเป็นกลางขึ้นมาแทน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในอิยิปต์ จนมันกลายเป็นเหตุผลที่ทำให้มีคนบางกลุ่มย้อนกลับมาชุมนุมที่จัตุรัสทาห์เรียอีกครั้งเพื่อเรียกร้องและปลุกจิตวิญญาณของ "กระแส 1968" ขึ้นมาอีก

ปัญหาใหญ่สำหรับตัวละครทางการเมืองคือการที่พวกเขาไม่ทราบว่าจะใช้วิธีการ "เบี่ยงเบน" ความสนใจและพอกพูนผลประโยชน์ให้ตัวเองได้อย่างไรท่ามกลางความวุ่นวายนี้ เราลองมาดูตัวละครหลายตัวที่พยายามกระทำและทำสำเร็จไปแล้ว พวกเราจะได้ช่วยกันประเมินภาพ "กระแส 1968" ในทุกวันนี้และในอนาคตอันใกล้ได้

 

การไถ่บาปยุคหลังอาณานิคม

พวกเราควรเริ่มต้นด้วยเรื่องของฝรั่งเศสและอังกฤษ อดีตประเทศเจ้าอาณานิคมที่มีอิทธิพลน้อยลงเรื่อยๆ ก่อน พวกเขาถูกเปิดโปงล่อนจ้อนในกรณีประเทศตูนีเซียและอิยิปต์ ผู้นำของพวกเขาได้รับผลประโยชน์ส่วนตัวจากการปกครองแบบเผด็จการของทั้งสองประเทศนี้ พวกเขาไม่ได้แค่สนับสนุนหรือต่อต้านการลุกฮือ แต่ถึงขั้นให้คำแนะนำวิธีการปราบปรามการประท้วง

ในที่สุดพวกเขาก็รู้ว่าพวกเขาเดินเกมการเมืองผิดพลาดมากเพียงใด พวกเขาจึงหาทางไถ่บาปให้กับตัวเอง ด้วยการกระทำต่อลิเบีย

มุมมาร์ กัดดาฟี เองก็เช่นเดียวกับฝรั่งเศสและอังกฤษ คือให้การสนับสนุน ซีเน เอล อบีดีน เบน อาลี และฮอสนี มูบารัค (ผู้นำตูนีเซียและอิยิปต์) กัดดาฟีไปไกลถึงขั้นคัดค้านการถอนตัวออกจากตำแหน่งของพวกเขา กัดดาฟีรู้สึกหวาดกลัวสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งสองประเทศ ที่แน่นอนคือไม่ได้มีแนวคิดความคิดแบบ "กระแส 1968" ของจริงอยู่มากนักในลิเบีย แต่ก็มีกลุ่มคนที่ไม่พอใจอยู่เป็นจำนวนมาก และเมื่อกลุ่มคนเหล่านี้เริ่มลุกฮือปฏิวัติ กัดดาฟีก็แผดร้องว่าเขาปราบปรามกลุ่มคนเหล่านี้ได้ยากเย็นเพียงใด

ฝรั่งเศสและอังกฤษเริ่มเห็นโอกาสของพวกเขาตรงจุดนี้

แม้ว่าทั้งสองประเทศนี้ (รวมถึงประเทศอื่นๆ) จะเข้าไปลงทุนธุรกิจสร้างผลกำไรในลิเบียราวทศวรรษที่ผ่านมา พวกเขาก็ค้นพบว่ากัดดาฟีเป็นเผด็จการที่แย่มากอย่างไม่ต้องสงสัย พวกเขาไถ่บาปตัวเองด้วยการให้การสนับสนุนทางการทหารแก่กลุ่มกบฏในลิเบีย

ในวันนี้ เบอร์นาด เฮนรี่ เลวี่ ก็ออกมายกยอว่าเขาได้ช่วยเชื่อมต่อประธานาธิบดีซาร์โกซีของฝรั่งเศสกับกลุ่มกบฏในลิเบียโดยตรงได้ ในฐานะการแทรกแซงเพื่อสนับสนุนสิทธิมนุษยชน

แต่แม้ว่าฝรั่งเศสและอังกฤษจะมุ่งมั่นเพียงใดพวกเขาก้ไม่สามารถถอดเก้าอี้กัดดาฟีได้โดย ปราศจากความช่วยเหลือ พวกเขาต้องการสหรัฐอเมริกา โอบามาดูจะรั้งรอในตอนแรก แต่จากการกดดันภายในของสหรัฐฯ ("เพื่อสนับสนุนสิทธิมนุษยชน") พวกเขาก็ส่งกองทัพสหรัฐฯ และผู้ช่วยด้านการเมืองเข้าไปยังสิ่งที่ตอนนี้ถูกเรียกว่า 'ความพยายามของนาโต้' เขากระทำไปในพื้นฐานความคิดที่ว่า ถึงที่สุดแล้วไม่มีชาวสหรัฐฯ เสียชีวิตเลยแม้แต่รายเดียว มีแต่ชีวิตของชาวลิเบียเท่านั้น

ไม่เพียงแค่กัดดาฟีที่รู้สึกเสียขวัญกับการที่มูบารัคถูกโค่นล้ม ซาอุดิอารเบียเองก็เช่นกัน พวกเขาเห็นการที่ชาติตะวันตกยอม (และต่อมาก็ให้การรับรอง) การที่มูบารัคหลุดจากตำแหน่ง เป็นเรื่องอันตราย พวกเขาตัดสินใจเดินไปบนเส้นทางที่ไม่พึ่งพิงใครโดยการปกป้องรักษาสภาพการแบบเดิมไว้

พวกเขาพยายามรักษาอำนาจไว้ในบ้านตัวเองก่อน จากนั้นจึงเริ่มปกป้องสภาความร่วมมือเพื่อรัฐอ่าวอาหรับ Gulf Coordination Council (และส่วนหนึ่งในบาห์เรน) ต่อด้วยประเทศที่มีระบอบกษัตริย์ (จอร์แดนและโมร็อคโค) และเหล่าประเทศโลกอาหรับทั้งหมด ขณะที่ในประเทศเพื่อบ้านสองประเทศที่มีความวุ่นวายมากที่สุดคือเยเมนและซีเรียนั้น พวกเขาก็เริ่มใช้วิธีการเจรจาว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อที่จะไม่ให้มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย

กระแสที่ไม่สามารถยังยั้งได้ง่ายๆ

รัฐบาลใหม่ของอิยิปต์ ถูกกล่าวโจมตีอย่างต่อเนื่องจาก "กระแส 1968" ของประชาชนในประเทศ และรู้สึกอ่อนไหวไปกับความจริงที่ว่าความสำคัญของอิยิปต์ในโลกอาหรับลดลงไปเรื่อยๆ ทำให้พวกเขาเริ่มทบทวนท่าทีทางการเมืองใหม่ เริ่มจากการอยู่คนละพวกกับอิสราเอล

รัฐบาลอิยิปต์ต้องการตีตัวออกห่างจากอิสราเอล โดยที่ไม่มีความเสี่ยงต่อเรื่องการรับเงินสนับสนุนจากสหรัฐฯ พวกเขากลายเป็นผู้ที่สนับสนุนอย่างแข็งขันให้มีการรวมกลุ่มกันของกลุ่มการเมืองปาเลสไตน์ที่แตกแยกกันไป โดยหวังว่าการกลับมารวมกลุ่มกันไม่เพียงแค่จะทำให้ชาวอิสราเอลต้องจำยอมเท่านั้น แต่ยังเป็นการหยุดยั้งพัฒนาการของ "กระแส 1968" ในหมู่มวลชาวปาเลสไตน์อีกด้วย

ประเทศเพื่อนบ้านสองประเทศคือตุรกีกับอิหร่าน ก็พยายามหาผลประโยชน์จากความวุ่นวายในโลกอาหรับเพื่อเสริมให้ตนดูเป็นผู้ที่มีความชอบธรรมในภูมิภาคตะวันออกกลาง นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะเมื่อทั้งคู่เองก็ยังกังวลว่าความแรงของ "กระแส 1968" อาจจะทำร้ายพวกเขาได้จากภายใน เช่นกลุ่มชาวเคิร์ดในตุรกี กับหลายพรรคหลายพวกในอิหร่านที่มีการเมืองซับซ้อนวุ่นวาย

แล้วอิสราเอลล่ะ อิสราเอลเองก็ถูกล้อมโจมตีทุกทางในเรื่อง "ถูกทำให้ไร้ความชอบธรรม" ในโลกตะวันตก (แม้แต่เยอรมนีหรือกระทั่งสหรัฐฯ) ในอิยิปต์ ในจอร์แดน ในตุรกี ในรัสเซีย และจีน ขณะเดียวกันก็ยังต้องเผชิญกับ "กระแส 1968" อีก กระแสนี้เริ่มมีมากขึ้นในหมู่มวลชาวยิวในอิสราเอล

ในขณะที่เกมการเมืองเหล่านี้ดำเนินต่อไป "ปรากฏการณ์ดอกไม้บานในอาหรับ" ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ การประท้วงทั่วทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Oxi ในกรีก, indignados ในสเปน, กลุ่มนักศึกษาในชิลี ขบวนการ Occupy ที่ลามไปทั่ว 800 เมืองในอเมริกาเหนือและที่อื่นๆ การประท้วงหยุดงานในจีน และการประท้วงในฮ่องกง และอีกหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วแอฟริกา

"กระแส 1968" กำลังขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีการปราบปราม การรอมชอม การล่อหลอกให้เปลี่ยนข้าง"

และในทางภูมิศาสตร์การเมืองของโลกอาหรับแล้ว มีความสำเร็จของตัวละครต่างๆ ถูกจำกัด หรือบางครั้งก็ไม่ได้เกิดผลมากเท่าที่ควร จัตุรัสทาห์เรียกลายเป็นสัญลักษณ์ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก การเคลื่อนไหวของชาวอิสลามให้พื้นที่พวกเขาได้แสดงความคิดของพวกเขาอย่างเปิดเผยในประเทศอาหรับ ซึ่งก่อนหน้านี้พวกเขาไม่สามารถทำได้ แต่ฝ่ายซ้ายที่สนับสนุนรัฐฆราวาสก็ได้กระทำอย่างเดียวกัน ฝ่ายสหภาพแรงงานเองก็ได้กลับมามีบทบาทในเวทีประวัติศาสตร์

สำหรับผู้ที่เชื่อว่าความวุ่นวายในโลกอาหรับ หรือแม้แต่ของทั้งโลกนี้เป็นแค่เหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วก็จะผ่านไป พวกเขาจะได้พบกับการปะทุครั้งใหญ่ (ซึ่งเราอาจจะได้เข้าร่วมเร็วๆ นี้) แล้ว "กระแส 1968" จะไม่ได้ถูกยับยั้งได้โดยง่ายอีกต่อไป

หมายเหตุ: Immanuel Wallerstein เป็นศาตราจารย์สาขาวิชาสังคมวิทยาในมหาวิทยาลัยเยล เป็นผู้เขียนหนังสือวิพากษ์วิจารณ์ระบบทุนนิยมโลกและสนับสนุน "การเคลื่อนไหวต่อต้านระบบ" ทำให้เป็นที่รู้จักทั่วโลกในฐานะนักวิเคราะห์สังคม

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ด้วยละหมาดและดุอาฮ์ต่ออัลเลาะห์ เมืองสตูลจะรอดพ้นภัยแลนด์บริดจ์

Posted: 17 Nov 2011 09:35 AM PST

ภาพชายชราวัย 73 กำลังนั่งตายัตในเวลาละหมาดดุฮ์รี เพื่อศิโรราบต่ออัลเลาะฮ์พระผู้เป็นเจ้าแห่งอิสลาม อยู่หน้าลิฟต์โดยสารของโรงแรมเอเชี่ยนหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2554 วันที่สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการสัมมนาโครงการศึกษาเพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางแผนพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งได้รับการว่าจ้างจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่ง ชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ยังฝังอยู่ในความทรงจำของผู้พบเห็นหลายคน

“ผมมาที่นี่ เพื่อสะท้อนความเดือดร้อนของชาวบ้านจังหวัดสตูลให้สภาพัฒน์รับฟัง จาการที่มีโครงการของรัฐ 5–6 โครงการคือ ท่าเรือน้ำลึกปากบารา รถไฟรางคู่เชื่อมท่าเรือน้ำลึกปากบารากับท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 คลังน้ำมันและท่อขนถ่ายน้ำมัน นิคมอุตสาหกรรมหนึ่งแสนห้าหมื่นไร่ อุโมงค์สตูล–เปอร์ลิศ และเขื่อนทุ่งนุ้ย” นายดาดี ปากบารา ชาวบ้านตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล กล่าวอย่างคับแค้นใจหลังละหมาดเสร็จ

“การสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ไหนจะต้องนำทรายจากบ้านบ่อเจ็ดลูก บ้านปากละงูและบ้านหัวหิน อำเภอละงู และระเบิดภูเขาอีก 11 ลูกมาถมทะเลสร้างท่าเรือน้ำลึก เราชาวบ้านอยู่สุขสบายดีอยู่แล้ว ทรัพยากรในทะเลอุดมสมบูรณ์ อย่าเอาแผนพัฒนามารังแกชาวบ้านเลย” นายดาดี พูดเชิงอ้อนวอน

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2554 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จังหวัดปทุมธานี พรรคเพื่อไทยจัดงานประกาศนโยบายต่างๆ ของพรรค

“พรรคเพื่อไทยมีนโยบายจะผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์สงขลา–สตูล เพราะฉะนั้นท่าเรือน้ำลึกปากบาราจะต้องเกิด โดยจะนำผลการศึกษาความเป็นไปได้ที่ บริษัทดูไบเวิลด์ เคยศึกษาไว้ด้วยทุน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ มาช่วยในการดำเนินโครงการ โดยตั้งเป้าให้เป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้า โดยเฉพาะน้ำมันและปิโตรเลียมจากฟากตะวันออกกลาง ไปยังทวีปยุโรป แทนการใช้ท่าเรือของสิงคโปร์ เพราะจะทำให้ย่นระยะเวลาเดินทางของเรือได้ถึง 1–3 วัน” เป็นเสียงประกาศผ่านวิดีโอลิงก์ลั่นมาจากดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

“เป็นการประหยัดต้นทุนลง สำหรับเงินลงทุนเบื้องต้นคาดการณ์เอาไว้ว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท แต่จะสามารถสร้างมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศได้ถึง 1.1 ล้านล้านบาทต่อปี ทั้งนี้เชื่อว่าบริษัทน้ำมันทั่วโลก ที่ตั้งอยู่ในสิงคโปร์จะย้ายมาตั้งฐาน ที่ท่าเรือปากบาราแทน” เป็นคำพูดของอดีตนายกรัฐมนตรี ย้ำชัดว่าเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทย

วันก่อน ชาวบ้านบนชายหาดที่โกรกด้วยลมแดด ลมทะเลร้อนอบอ้าวทั้งริมชายฝั่งทะเลอันดามัน และริมฝั่งทะเลฝั่งอ่าวไทย ผสมกับความเดือดร้อนจากความพยามยามผลักดันโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ของพรรคภูมิใจไทย ผ่านกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

วันนี้ ดูเหมือนว่าความร้อนนั้นยิ่งทวีคูณ อันเป็นเหตุให้ชาวบ้านจากจังหวัดสตูล โดยเฉพาะอำเภอละงู และชาวบ้านจังหวัดสงขลา โดยเฉพาะอำเภอจะนะ แห่เข้าเวทีสัมมนาโครงการศึกษาเพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางแผนพัฒนาพื้นที่ภาคใต้กว่า 100 คน เป็นการมาร่วมทั้งที่ไม่ได้รับเชิญ

ก่อนหน้านี้ วันที่ 19 กรกฎาคม 2554 บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด จัดการประชุมกลุ่มย่อย เพื่อระดมความคิดเห็นโครงการศึกษาและจัดทำแผนพัฒนา พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ซึ่งได้รับการว่าจ้างจากสภาพัฒน์ ที่โรงแรมซากุระแกรนด์วิว อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ในเวทีดังกล่าว มีนักวิชาการนำเสนอว่า โครงการสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) สงขลา–สตูลหากสร้างไปก็ไม่คุ้มทุน แม้จะได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ก็ตาม ถ้าจะก็ต้องมีโครงสร้างในการบริหารการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ด่านศุลกากร การขนถ่ายสินค้าขึ้นลงลำเรือที่ฉับไว

นักวิชาการคนดังวกล่าว ระบุว่า โครงการสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) สงขลา-สตูล เป็นแค่การขนถ่ายสินค้า เก็บเงินจากค่าระวางในการใช้ท่าและจากค่าขนส่ง ซึ่งรับประโยชน์น้อยมาก ถ้าต้องการให้คุมทุน ต้องมีนิคมอุตสาหกรรมตามมาด้วย

สอดคล้องกับคำพูดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่เคยบอกว่าท่าเรือน้ำลึกปากบารา จะไม่คุ้มทุนถ้าไม่มีนิคมอุตสาหกรรมรองรับ

นายกานต์ รัตนปราการ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการบริษัทเจ้าพระยาท่าเรือสากล จำกัด ท่าเรือน้ำลึกสงขลา เปิดเผยว่า การเดินเรือที่มีระยะทาง 100 กิโลเมตร ถ้าเดินเรือจากปลายแหลมญวนผ่านเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ใช้ระยะเวลา 25–30 ชั่วโมงเอง แต่หากถ้าใช้บริการแลนด์บริดจ์สงขลา–สตูล ต้องใช้เวลาฝั่งละ 48 ชั่วโมง รวมกันต้องใช้เวลาถึง 96 ชั่วโมง เท่ากับ 4 วันเต็มๆ

“จากประสบการณ์ที่ผมเคยเดินเรือ นำมาวิเคราะห์ดูแล้วไม่เห็นด้วยกับการถลุงนำเงินแสนล้านบาทสร้างโครงการสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) สงขลา–สตูล ซึ่งดูแล้วสวยหรู แต่หาความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจไม่ได้เลย ผมอยากเสนอให้พัฒนาท่าเรือที่มีอยู่ให้เต็มศักยภาพ ไม่ใช่สร้างท่าเรือมั่วไปหมด” นายกานต์ กล่าว

ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2554 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ จัดเสวนาหัวข้อ “ท่าเรือน้ำลึกปากบารา เศรษฐกิจไทย ได้หรือเสีย” ณ ชั้น 3 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ เพื่อติดตามโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกบ้านปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล ในโครงการแลนด์บริดจ์ที่ กระทรวงคมนาคมและกรมเจ้าท่าผลักดัน

ในเวทีดังกล่าวนายสุวัฒน์ อัศวทองกุล นายกสมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพ กล่าวว่า ท่าเรือน้ำลึกปากบาราไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ และไม่คุ้มค่าที่จะสร้าง เนื่องจากทางภาคใต้สินค้าส่งออกมีปริมาณจำกัด ส่วนใหญ่เป็นยางพารา และอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็ง โดยจะมีสินค้าส่งออกประมาณแสนห้าหมื่นทีอียู (20ตู้คอนเทนเนอร์) ออกที่สงขลาประมาณ 6–7 หมื่นตู้ และออกที่ปีนัง 6–7 หมื่นตู้ เช่นกัน

นายสุวัฒน์ กล่าวอีกว่า ท่าเรือน้ำลึกสงขลาเป็นท่าเรือขนาดเล็ก ร่องน้ำตื้น ใช้เรือใหญ่เข้าไปขนสินค้าไม่ได้ ต้องใช้เรือเล็ก ที่บรรจุได้เพียงร้อยกว่าตู้ ทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าแพง ที่เหลือจึงไปออกที่ปีนังเพราะสามารถทำราคาได้ถูกกว่า ส่วนสินค้าที่ภาคใต้ตอนบนจะมาส่งออกที่ท่าเรือกรุงเทพ โดยใช้เส้นทางรถไฟ ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการขนส่งโดยใช้เรือเล็ก มาที่แหลมฉบัง เพราะที่สุราษฎ์ธานี ก็มีปัญหาร่องน้ำตื้นจึงต้องใช้เรือเล็ก ทำให้ต้นทุนแพง ไม่ได้ถูกกว่ารถไฟ หรือรถยนต์

“ผมไม่ได้มองที่ยุทธศาสตร์ แต่มองแบบคุ้มทุน ภายใน 4–5 ปี ทั้งนี้ ผมมองว่าการสร้างท่าเรือใหม่ไม่คุ้มค่า และควรให้ความสำคัญกับท่าเรือที่มีอยู่แล้วโดยปรับปรุงให้ดีขึ้น” นายสุวัฒน์ กล่าว

นายสุวัฒน์ เสนอว่า ควรเร่งก่อสร้างท่าเรือสงขลา 2 ก่อน เพราะลักษณะมีร่องน้ำลึก จะทำให้สินค้าไทยที่ไปออกทางปีนังกลับมา โดยมองว่า ผู้ส่งออกไทยก็ไม่ได้อยากไปใช้เรือที่มาเลเซีย เพราะไม่สะดวกในการขนส่ง

นายสุวัฒน์ กล่าวว่า เราคาดหวังกับท่าเรือน้ำลึกปากบารามากเกินไป สินค้าไทยในภาคใต้มีประมาณสามแสนตู้ต่อปี สินค้าหลักคือ ยางพาราผู้ซื้อรายใหญ่คือ จีนกับญี่ปุ่น ส่งออกที่ท่าเรือสงขลา จึงต้องออกทางฝั่งตะวันออก ยางพาราควรออกที่สงขลาเพราะจะได้ค่าระวางถูกกว่า เพราะฉะนั้นสินค้าภาคใต้เอง ที่จะมาออกทางปากบาราจึงเหลือน้อย

“แลนด์บริดจ์สงขลา–สตูล เนื้อหาฟังดูดีแต่ค่าใช้จ่ายสูง เพราะว่า เป็นการขนส่งเป็นแบบซ้ำซ้อน เส้นทางรถไฟมีความยาวร้อยกว่ากิโลเมตร ทำให้มีค่าใช้จ่ายต่อตู้สูง แพงเกินไปในแง่ของผู้ประกอบการคงไม่ใช้ ฉะนั้นค่าถ่ายลำที่มาเลเซียจะถูกกว่า ถ้ามองในแง่ระยะเวลาอาจจะลดลงจริง แต่ถ้ามองในแง่ธุรกิจไม่น่าจะเป็นประโยชน์มากนัก” เป็นความเห็นของนายสุวัฒน์ ที่แปลกแยกจากความเห็นคนอื่นๆในเวทีครั้งนั้น

ต่อมา วันที่ 23 สิงหาคม 2554 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ว่าจะเดินหน้าโครงการแลนด์บริดจ์อย่างแน่นอน แม้ว่าก่อนหน้านั้นวันที่ 21–22 สิงหาคม 2554 เครือข่ายประชาชนจังหวัดภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ลงมาประมาณ 1 พันคน รวมตัวกันที่วนอุทยานเขาพาง (วัดภูพางพัฒนาราม) ตำบลท่าข้าม อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร เข้าร่วมแผนปฏิบัติการเพชรเกษม 41 คนใต้กำหนดอนาคตตัวเอง เพื่อแสดงเชิงสัญลักษณ์ แต่ก็ไม่มีท่าทีตอบรับจากรัฐบาล

มิหนำซ้ำ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประกาศอย่างชัดเจนที่จะเดินหน้าโครงการแลนด์บริดจ์ ด่านแรกก็คือท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล และจะดึงการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เข้ามาร่วมโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน (แลนด์บริดจ์) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพลังงานในภูมิภาค

หลังจากนั้น นายทะกะอะกิ ซาวะดะ เลขานุการเอกสถานทูตญี่ปุ่น พร้อมคณะเข้าพบนายเหนือชาย จิระอภิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ที่ศาลากลางจังหวัดสตูล ขอทราบข้อมูลและความเคลื่อนไหวโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราถึง 3 ครั้ง ตลอดช่วงเดือนตุลาคม 2554

ขณะที่ชาวบ้านเองก็กระเสือกกระสนทุกวิถีทางในการปกป้องมาตุภูมิ

ทุกกิจกรรมการเคลื่อนไหว ประท้วง ยื่นหนังสือกับหน่วยงานใด จะมีนายดาดี ปากปารา อยู่ในขบวนเสมอไม่เคยพลาด

“ผมจะต่อสู้จนถึงที่สุด ผลออกมาจะเป็นอย่างไร อินชาอัลเลาะฮ์ อัลเลาะห์เป็นผู้กำหนดชะตา อย่างน้อยผมหวังว่าการละหมาด และดุอาฮ์ขอพรต่อเอกองค์อัลเลาะฮ์เจ้าของผม จะส่งผลให้สตูลจะรอดพ้นเงื้อมมือแลนด์บริดจ์”

ตาดี

ดาดี ปากบารา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมาคมมุสลิมพุทธจีนปัตตานี พื้นที่สันติภาพบนความท้าทาย

Posted: 17 Nov 2011 09:27 AM PST

ณ ปลายด้านขวานนาม “เมืองปัตตานี” ที่มีผู้คนหลากหลาย เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม แต่ความสัมพันธ์ของคนต่างศาสนาและวัฒนธรรมสั่นคลอนมาตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ด้วยความหวาดระแวงต่อกันระหว่างชาวมุสลิมกับคนไทยพุทธและชนเชื้อสายจีน อันเนื่องมาจากปัญหาความความไม่สงบ

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้มีคนกลุ่มหนึ่งฉุกคิดขึ้นมาได้ จำเป็นต้องสร้างความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างกันให้กลับคืนมาอีกครั้ง จึงกลายเป็นที่มาของการก่อตั้งสมาคมไทยมุสลิม พุทธ จีนจังหวัดปัตตานีขึ้น

สมาคมไทย มุสลิม พุทธ จีน จังหวัดปัตตานี

สมาคมไทยมุสลิม พุทธ จีนจังหวัดปัตตานี

เจ้าของต้นความคิดที่เสมือนการจุดประกายความต้องการที่มีอยู่แล้วของใครหลายๆ ก็คือชายชรานามว่า “เคลื่อน พุ่มพ่วง” เจ้าของโรงเรียนจิพิภพพิทยา อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี มาจากการพูดคุยกับบาบอเซ็ง หรือ นายเซ็ง ใบหมัด โต๊ะครูปอเนาะสอนวิชาศาสนาอิสลามในอำเภอโคกโพธิ์

ทั้งคู่เห็นว่าพี่น้องชาวไทยพุทธ มุสลิมและจีน น่าจะตั้งองค์กรขึ้นมาทำกิจกรรมร่วมกันได้ เพื่อให้เกิดความสงบสุข

จากนั้นแนวความคิดนี้จึงถูกแพร่กระจายออกไปพร้อมๆกับการเชิญชวนบุคคลหลายกลุ่มมาพูดคุยกันว่า จนกระทั่งเกิดแนวความคิดที่ตรงกันว่า น่าจะตั้งสมาคมที่มีคนทั้ง 3 ฝ่าย คือ พุทธ มุสลิมและจีนทำกิจกรรมร่วมกัน

วันที่ 30 กรกฎาคม 2554 การประชุมปรึกษาหารือเรื่องการก่อตั้งสมาคมไทยพุทธ มุสลิม จีน จังหวัดปัตตานี จึงเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก ที่ห้องประชุมรูละมิแล โรงแรม ซี.เอ็ส.ปัตตานี โดยมีกลุ่มบุคคลชั้นนำในจังหวัดปัตตานีของทั้ง 3 ฝ่ายมานั่งหารือกันรวม 19 คน

ที่ประชุมมีการทำความเข้าใจถึงแนวคิดและวัตถุประสงค์ของการก่อสร้างสมาคมนี้ขึ้นมา พร้อมกับเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงาน ฝ่ายละ 7 คน รวม 21 คน โดยให้นายพิทักษ์ ก่อเกียรติพิทักษ์ เป็นประธานคณะทำงาน และนายกิตติ สมบัติ เป็นเลขานุการ โดยให้คณะทำงานแต่ละฝ่ายกลับไปหาสมาชิก

การประชุมครั้งที่ 2 มีขึ้นในวันที่ 20 สิงหาคม 2554 ที่ห้องประชุมโรงเรียนเทศบาล 2 อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ที่ประชุมมติแต่งตั้งนายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี เป็นนายกสมาคมไทยมุสลิม พุทธ จีนจังหวัดปัตตานี เป็นคนแรก

ขณะที่มีตำแหน่งอุปนายกอีก 2 คน จากฝ่ายพุทธและจีน ซึ่งจะสลับกันดำรงตำแหน่งในวาระต่อไป ส่วนคณะกรรมการสมาคมประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายละ 7 คน รวม 21 คน

นายประยูรเดช คณานุรักษ์ ผู้จัดการปกครองศาลเจ้าเล่งจูเกียงและรองประธานกรรมการมูลนิธิเทพปูชนียสถาน (เจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยว) จังหวัดปัตตานี ระบุว่า การสลับผู้ที่จะเป็นนายกสมาคม เป็นไปเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างกัน ซึ่งผู้ที่พ้นตำแหน่งแล้ว จะไปเป็นนายกสมาคมอาวุโส คล้ายกับโครงสร้างของหอการค้าไทย

นอกจากนี้ ที่ประชุมครั้งนี้ ยังได้เปลี่ยนชื่อจากสมาคมไทยพุทธ มุสลิม จีน เป็น สมาคมไทยมุสลิม พุทธ จีน จังหวัดปัตตานี โดยเห็นว่า การให้มุสลิมนำหน้าในชื่อสมาคม เพื่อเป็นการให้เกียรติชาวไทยมุสลิม เนื่องจากมองชาวมุสลิมมีจำนวนที่สุดในพื้นที่รองลงมาคือไทยพุทธและคนจีน

การประชุมครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2554 ที่ห้องประชุมสภาองค์การบริหารจังหวัดปัตตานี มีมติให้เพิ่มชื่อสมาคมไทยมุสลิม พุทธ จีน จังหวัดปัตตานี ทั้งภาษาไทย ภาษามลายูอักษรยาวีและภาษาจีนในตราสัญลักษณ์ของสมาคม

สำหรับชื่อภาษาอังกฤษ คือ Thai Muslim, Bhuddhist and Chinese Association of Pattani ภาษาจีน อ่านว่า เป่ย ต้า เหนี่ยน ไท เว้ย ฟู้ จง เจียง เสี่ย/ฮุ้ย

ส่วนคำขวัญเปลี่ยนจากคำว่า สามัคคีคือพลัง เป็น สามัคคีคือสันติสุข โดยให้เขียนทั้ง 3 ภาษาไว้ในตราสัญลักษณ์ด้วยเช่นกัน โดยภาษามลายูอักษรยาวี อ่านว่า เบอร์ซาตู เกออามานัน

นอกจากนี้ยังให้สำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานีเป็นที่ตั้งของสมาคมไทยมุสลิม พุทธ จีน เป็นการชั่วคราวไปก่อน

การประชุมครั้งต่อมาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2554 ที่ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี มีการหารือถึงการจัดทำแผนปฏิบัติงานของสมาคม และได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการ 9 คน ประกอบฝ่ายละ 3 คน เพื่อไปกำหนดแผนการปฏิบัติงานของแต่ละฝ่าย จากนั้นนำมาหารือร่วมกันเพื่อร่างเป็นแผนงานของสมาคม

คณะอนุกรรมการทั้ง 9 คน ประกอบด้วย

ฝ่ายมุสลิม ได้แก่ นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี นายมูฮำหมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ นายอนุกูล อาแวปูเตะ หัวหน้าสำนักงานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี

ฝ่ายพุทธ ได้แก่ นายจิตติ วัฒโย ข้าราชการบำนาญ นายสังวร คล้ายดวง รองประธานชมรมร้านทองจังหวัดปัตตานี นายมานพ เศียรอินทร์ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรโคกโพธิ์

ฝ่ายจีน ได้แก่ นายประเสริฐ วงษ์รัตนพิพัฒน์ ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดปัตตานี นางอรุณี วสุศุภชัย นายกสมาคมไหหลำจังหวัดปัตตานี นายสมศักดิ์ โรจนวงศ์วาณิชย์ ประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี

นอกจากนี้ยังมอบหมายให้กรรมการแต่ละฝ่ายไปขยายเครือข่ายในกลุ่มของตัวเองเพื่อนำเชื่อมต่อกับสมาคมไทยมุสลิม พุทธ จีนจังหวัดปัตตานีต่อไป

ส่วนแนวทางการดำเนินงานของสมาคมไทยมุสลิม พุทธ จีนจังหวัดปัตตานี ประกอบด้วย 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านการศึกษาและด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยกำหนดกรอบการดำเนินงานว่า หากเป็นกิจกรรมที่ต้องลงพื้นที่ ก็จะต้องลงพื้นที่พร้อมกันทั้ง 3 ฝ่าย

การประชุมครั้งล่าสุด มีขึ้นเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2554 ที่ห้องสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี เป็นการหารือถึงกิจกรรมของสมาคม แม้ว่าการดำเนินการขอจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมยังไม่แล้วเสร็จ โดยผู้เข้าร่วมประชุมมีข้อเสนอที่หลากหลาย

อย่างเช่น ข้อเสนอของ นายกล่อม ยังอภัย อดีตนายอำเภอโคกโพธิ์ กรรมการสมาคมฯ เสนอต่อที่ประชุมว่า ให้บรรจุเรื่องการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของสมาคมไทยมุสลิม พุทธ จีน จังหวัดปัตตานี

แม้แผนงานสมาคมยังไม่ลงตัว แต่สิ่งถูกตั้งคำถามและน่าจะเป็นความท้าทายมากที่สุด คือ มีกิจกรรมอะไรที่คนทั้ง 3 ฝ่าย ที่มีความแตกต่างทั้งวิถีชีวิต ศาสนาและวัฒนธรรมจะทำร่วมกันได้

เศรษฐ์ อัลยุฟรี

เศรษฐ์ อัลยุฟรี

ว่าที่นายกสมาคมไทยมุสลิม พุทธ จีน จังหวัดปัตตานี

“วัตถุประสงค์หลักของสมาคมไทยมุสลิม พุทธ จีน จังหวัดปัตตานี คือ ต้องการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นให้ได้โดยให้คนทุกเชื้อชาติศาสนาและวัฒนธรรมที่อยู่ในจังหวัดปัตตานีสามารถอยู่ร่วมกันได้

ความท้าทาย คือ ความรู้สึกที่อยากเห็นสันติภาพอยู่ในใจของทุกคนแต่ไม่กล้าแสดงออกคนเดียว เมื่อมีคนจุดประกายออกมา ทุกคนก็เห็นพ้องต้องกัน ทุกฝ่ายอยากเห็นการรวมกันเป็นกลุ่มก้อน เพื่อให้เกิดความปลอดภัย เมื่อมีการพูดคุยหารือกัน ทุกคนจึงตอบรับ

ปลอดภัยที่ว่า ก็คือความเข้าใจ หมายความว่าทั้ง 3 ฝ่าย ต้องมาทำความเข้าใจร่วมกันก่อนทำกิจกรรม โดยดึงเครือข่ายระดับล่าง คือ พี่น้องประชาชนให้คล้อยตาม เพราะฉะนั้นคณะกรรมการของสมาคมจึงที่เป็นคนระดับแกนนำหรือผู้นำในสังคม เช่น ประธานคณะกรรมการอิสลาม ประธานหอการค้า สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสามารถชี้นำสังคมได้

มีหลายกิจกรรมที่รัฐจัดขึ้นมา แล้วเชิญตัวแทนทุกศาสนาเข้าร่วม แต่ตัวแทนบางศาสนาไม่สามารถเข้าร่วมได้ เพราะขัดกับวิถีชีวิตและหลักศาสนา ทำให้เจ้าภาพรู้สึกว่า เป็นการไม่ให้เกียรติ ดังนั้นเราต้องกลั่นกรองว่ากิจกรรมอะไรที่เราสามารถทำร่วมกันได้ ด้วยความสุข ไม่เสแสร้งหรือสร้างภาพ เราต้องสร้างความชัดเจน ทุกฝ่ายยอมรับและพอใจ

กิจกรรมที่ทำต้องไม่สร้างเงื่อนไขให้กับอีกศาสนาหนึ่ง คนจีนต้องเข้าใจมุสลิมและพุทธ มุสลิมต้องเข้าใจคนพุทธและคนจีน คนพุทธต้องเข้าใจคนจีนและมุสลิม โดยเฉพาะในวิถีชีวิตและบริบททางศาสนา เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน หากไม่เข้าใจกันแล้ว อาจทำให้เกิดการยุแหย่ ยุยง ซึ่งนำไปสู่ปัญหา

เราต้องขจัดความรู้สึกไม่ดีต่อกัน เพราะเป็นหัวใจสำคัญที่นำไปสู่การสร้างปัญหาต่างๆ จึงเป็นหน้าที่ของแกนนำที่ต้องเข้าใจวิถีชีวิตวัฒนธรรมของแต่ละฝ่าย แล้วมากำหนดกรอบทำงานร่วมกัน บทฐานการให้เกียรติต่อกัน เมื่อแกนนำเข้าใจกันแล้ว ก็จะยิ่งสร้างความมั่นใจว่า จะสามารถถ่ายทอดให้ประชาชนเข้าใจได้ด้วย บนฐานของหลากหลายทางวัฒนธรรม เพื่อการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในสังคมพหุวัฒนธรรมได้”

เคลื่อน พุ่มพวง

เคลื่อน พุ่มพวง

ลุงอยู่ที่ปัตตานีมานาน เคยเป็นสมาชิกสภาจังหวัดถึง 15 ปี เคยลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ยินคนมุสลิมพูดว่า คนต่างศาสนา เลือกไปทำไม ทำให้รู้สึกว่า ถ้าเลือกคนอย่างลุงไปสิ่งดีงามจะเกิดขึ้นในจังหวัดปัตตานีเยอะ เพราะลุงมีพรรคพวกเพื่อนฝูงในวงการเมืองและเป็นคนแรกที่นำพรรคประชาธิปัตย์มาสู่เมืองปัตตานี

ลุงตั้งสมาคมพุทธสมาคม ชมรมผู้สูงอายุ ตั้งชมรมคนเมืองคอนในปัตตานี เพราะลุงเป็นคนจังหวัดนครศรีธรรมราช

เมื่อไม่นานมานี้ มีความคิดว่า เอะ ! บ้านเมืองเป็นเช่นนี้ เราน่าจะทำอะไรซักอย่าง ที่สามารถสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นได้ คือการเอาคนไทย คนมุสลิมและคนจีนมารวมกันให้ได้ เพื่อเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างความไม่เข้าใจของหน่วยราชการกับประชาชนโดยทั่วไป

ที่ผ่านมามีความไม่เข้าใจอยู่เยอะ ความไม่เข้าใจนี้ ช่วงหนึ่งที่ผู้คิดร้ายใช้เป็นเครื่องมือในการหากิน ขณะนี้พวกนี้ใช้เงินจากยาเสพติด ส่วนอาวุธเจ้าหน้าที่ก็เอามาให้ โดยการปล้นหรือฆ่าแล้วชิงปืนไป เพราะฉะนั้นเมื่อองค์กรเราเข้มแข็ง จะสามารถทำให้พวกเยาวชนกลับมาคิดเหมือนที่เราคิดได้ คือการสร้างสันติสุขด้วยการสร้างความเข้าใจระหว่างกันและกัน ปัญหาที่เป็นอยู่วันนี้ เพราะความไม่เข้าใจ

สมาคมพยายามจะใช้ตัวบุคคลเป็นผู้ประสาน เอานักวิชาการ เอาผู้รู้ก็ดี มาเป็นตัวประสานเพื่อทำความเข้าใจ กับคนที่เข้าใจผิด ส่วนจะเป็นการพูดคุย หาโอกาสคุยกับเขา ตามโอกาสอันสมควร ประการที่สุดคนที่เห็นแก่ตัวโดยเอายาเสพติดมาค้าและส่งไปมาเลเซียก็จะเป็นต้องขอความร่วมมือจากมาเลเซียให้ช่วยปราบปรามให้หมดด้วย

ความท้าทายของงานนี้ คือ การใช้จิตวิทยาและงานทางวิชาการในการทำความเข้าใจกับคนที่เข้าใจไม่ถูกต้องมาร่วมกันสร้างสันติสุข ย่อมเป็นสุขของคนทุกคน คุณมาทำอย่างนี้พ่อแม่คุณก็ไม่เป็นสุข ญาติพี่น้องก็ไม่เป็นสุข แต่ถ้าคุณเป็นคนดีอยู่ดีทุกคนก็มีความสุข

ประยูรเดช ครานุรักษ์

ประยุรเดช คณานุรักษ์

เป็นสมาคมที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่อาจสนับสนุนภาครัฐบ้าง จากนั้นจึงมีการดึงบุคคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาร่วมงานด้วย เพื่อช่วยสร้างความเข้าใจระหว่างคนกลุ่มต่างๆ และเพื่อดึงงบประมาณมาสนับสนุนบ้าง

มีสมาชิกที่เป็นเครือข่าย มีการหาสมาชิกเพิ่มในแต่ละอำเภอ มีภาคประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมของสมาคม

กิจกรรมมี 2 ส่วน คือกิจกรรมที่เปิดกว้างและกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ เช่น ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ การช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ ช่วยเหลือคนยากจน หรือการให้ความรู้ เป็นต้น

ในด้านการช่วยเหลือคนอยากจนนั้น คนจีนจะมีความเชี่ยวชาญมากกว่า เนื่องจากคนจีนมีสภาพเศรษฐกิจที่ดีกว่าและมีสมาคมของคนจีนเยอะ แต่การลงไปช่วยเหลือคนเดือดร้อน ก็ต้องมาคิดร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย เช่นเดียวกับกิจกรรมอื่นๆ

แวดือราแม มะมิงจิ

แวดือราแม มะมิงจิ

ไม่ว่ามลายู พุทธ จีน ทั้ง 3 ฝ่ายเป็นคนไทยทั้งหมด ต้องศึกษาและเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเชื้อสายต่างๆ เรียนรู้จุดแตกต่างและจุดเหมือนกัน ทั้ง 3ต้องมาพิจารณาว่ามีกิจกรรมอะไรที่สามารถทำร่วมกันได้บ้าง เพื่อสร้างความสามัคคีและความรักระหว่างกัน เพื่อกลับไปสู่อดีตที่มีความสัมพันธ์ที่ดีงาม

เราคาดหวังว่า การตั้งสมาคมนี้ จะช่วยลดความหวาดระแวงระหว่างกันได้ เพราะวันนี้คนที่ไม่เข้าใจมองว่ามุสลิมชอบสร้างความรุนแรงและสร้างปัญหาต่างๆในพื้นที่ หวังว่าสมาคมจะช่วยให้ปัญหาต่างๆ เหล่านั้นจะค่อยๆลดลงไป เพราะเราต้องรับผิดชอบร่วมกันและทุกคนมีส่วนร่วม”

ลักษณะงานของสมาคมที่จะช่วยลดปัญหาเหล่านั้นได้ เช่น งานช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบ ทั้ง 3 ฝ่าย อาจจะต้องลงพื้นที่พร้อมกันทั้งหมด เป็นต้น

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สำเนียงส่อภาษา : ส.ส. หญิงกับการอภิปรายในสภาไทย

Posted: 17 Nov 2011 08:08 AM PST

มีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้น่าสนใจว่า ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีลำดับชั้นในทางโครงสร้าง โดยหลักฐานที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือกรณีของคำแทนตัวหรือคำสรรพนามที่เรามีใช้อย่างหลากหลาย ทั้งผม คุณ กู มึง ข้าพเจ้า ท่าน ข้าพระพุทธเจ้า ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เป็นต้น

ลำดับชั้นของคำสรรพนามเหล่านี้ทำให้การสนทนานั้นมีลักษณะของการจำแนกลำดับสูง-ต่ำ ของผู้พูด-ผู้ฟังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่เหมือนกับภาษาอังกฤษ ซึ่งมีเพียง I กับ You เท่านั้น จึงนับว่าเป็นภาษาที่มีคุณลักษณะเป็นประชาธิปไตยมากกว่าภาษาไทย ซึ่งผมเห็นด้วยเป็นอย่างมาก

แต่ยังนอกจากเรื่องของคำสรรพนามแล้ว ที่จริงในการใช้ภาษายังมีอีกประเด็นหนึ่งที่สมควรพูดถึง นั่นคือเรื่องของสำเนียง (intonation) หรือท่วงทำนองและจังหวะในการพูดจา ซึ่งเป็นตัวกำหนดอารมณ์และบทบาทหน้าที่ของข้อความต่างๆ ที่มนุษย์ใช้สื่อสารในลักษณะที่แตกต่างกัน

ข้อความว่า “สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล” เป็นข้อความที่ชนชั้นสูงใช้แยกแยะกลุ่มบุคคลที่แตกต่างออกไปจากตน (ซึ่งมักแปลว่าอยู่ “ต่ำ” กว่า) สำเนียงในการพูดหมายถึงท่วงทำนองในการพูด หมายถึงลักษณะการทำเสียงสูงๆ ต่ำๆ การเน้นคำ และรวมไปถึงการเว้นจังหวะจะโคนในการพูดด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ฟังสามารถรู้ได้ว่า กำพืดของผู้พูดนั้นเป็นอย่างไรและมาจากท้องถิ่นไหน 

เพราะภาษาไม่ได้หมายถึงเพียง “ภาษา” อย่างที่เราเข้าใจในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงความเป็นกลุ่มชน และ “เกี่ยวพันกับ ‘วัฒนธรรม’ และ ‘อำนาจ’ หรือ ‘ชนชั้น’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” (ดูบทความ ภาษาดี ภาษาสวย ภาษาราชการ? ของ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับประจำวันที่ 5-11 ส.ค. 54)

สำเนียงและวิธีการพูดจา จึงมีส่วนกำหนดท่าทีของการสื่อสารหรือภาพลักษณ์ของผู้พูดได้ไม่น้อยไปกว่าสารที่ผู้พูดนำเสนอ

การที่นายบัณฑูร สุภัควณิช เลขานุการนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์กับสื่อเครือเนชั่นเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาถึงการที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร มักพูดผิดๆ ถูกๆ ว่าเป็นเพราะความที่ท่านเป็น “คนบ้านนอก” นั้น (ดู http://www.suthichaiyoon.com/detail/16432) ส่วนหนึ่งอาจเป็นการขอความเห็นใจจากคนบ้านนอกจำนวนมากที่เป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยก็จริงอยู่ แต่ก็ต้องถือว่าเป็นการตั้งข้อสังเกตที่ตรงประเด็นอย่างที่สุด

เพราะในสังคมที่ควบคุมด้วยรัฐราชการแบบในประเทศไทย เมืองหลวงย่อมถือว่าเป็นสุดยอดของความศิวิไลซ์ และคนที่พูดภาษาด้วยสำเนียงคนกรุงเทพฯ ได้ชัดเจนเท่านั้นจึงจะถือว่าเป็นผู้มีการศึกษา ดังนั้นเราจึงดูถูกดูแคลนสำเนียงบ้านนอกมาแต่ไหนแต่ไร เราดูถูกสำเนียงสุพรรณ ดูถูกสำเนียงทองแดง และดูถูกชาวเขาที่พูดไทยไม่ชัด

เรามักดูถูกคนที่เขียนภาษาไทยไม่ได้ พูดไทยไม่ชัด และใช้ภาษาราชการไม่เป็น โดยไม่เคยตั้งข้อสังเกตเลยว่าแท้จริงแล้ว “ภาษาราชการ” นั้นมีรากเหง้าเดียวกันกับภาษาในราชสำนัก (เพราะเป็นภาษาของ “ข้า” ราชการ) และในความเป็นจริงแล้ว ภาษาแบบราชสำนักนั้นไม่เคยมีที่ทางอย่างกว้างขวางในสังคมไทยมาก่อนเลย โดยเฉพาะในสังคมชนบท

เช่นภาษาราชการแบบในกฏหมายตราสามดวงนั้นก็เห็นชัดๆ ว่าไม่ได้เขียนไว้ให้คนทั่วๆ ไปอ่านอยู่แล้ว

กรณีสำเนียงการพูดจาและลักษณะการใช้ภาษาของนักการเมืองไทยนั้น เท่าที่ผมลองสืบค้นและฟังดูจากการประชุมสภาในหลายๆ ครั้ง (ผมจะจำกัดเฉพาะตัวอย่างการพูดของ ส.ส. หญิงเท่านั้นในที่นี้) พบว่าเราอาจจัดกลุ่มสำเนียงและลักษณะการพูดจาของ ส.ส. หญิงออกได้คร่าวๆ เป็นสามกลุ่ม

(การแบ่งกลุ่มในที่นี้ไม่มีนัยยะเชิงเปรียบเทียบว่ากลุ่มไหนดีกว่ากลุ่มไหน)

1) กลุ่มที่พูดจาฉาดฉาน ชัดเจน มีความเป็นสำเนียงเมืองหลวงเต็มที่ พูดจาด้วยภาษาที่รัดกุมและเป็นแบบ “ราชการ” และที่สำคัญคือ จะไม่เน้นการเน้นเสียงเบาเสียงดังหรือใช้สำเนียงสูงๆ ต่ำๆ มากนัก ซึ่งแสดงให้เห็น “วุฒิภาวะทางอารมณ์” ที่มั่นคง (คือมีความเป็นผู้ดีตามนิยามของระบบการศึกษาไทยสูง) แต่มีการแบ่งวรรคตอนในการพูดที่เหมาะสมและเป็นจังหวะจะโคน ส.ส. ในกลุ่มนี้มีตัวอย่างที่ชัดเจนคือคุณสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แลคุณฐิติมา ฉายแสง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร เพราะทั้งสองคนนี้เป็นนักการเมืองอาชีพและผ่านเวทีปราศรัยมาแล้วอย่างมากประสบการณ์

2) กลุ่มนี้ตรงกันข้ามกับกลุ่มแรกอย่างสิ้นเชิง นั่นคือมักจะพูดจาไม่ราบรื่นนักเมื่อเทียบกับกลุ่มแรก (ขอเน้นทำความเข้าใจตรงนี้อีกครั้งหนึ่งว่านี่ไม่ใช่ข้อตำหนิ แต่เป็นข้อสังเกต) มักมีปัญหากับการเรียงประโยคตามหลักไวยากรณ์ อีกทั้งยัง “ใส่อารมณ์” ในการพูดค่อนข้างมาก มีการเน้นเสียงสูงต่ำอย่างเป็นธรรมชาติเช่นเดียวกับที่ชาวบ้านร้านตลาดทั่วๆ ไปพูดคุยกัน แล้วเผลอๆ ยังแอบหลุดสำเนียงท้องถิ่นมาให้ผู้ฟังได้ยินอีกด้วย กรณีแบบนี้มีตัวอย่างเช่นคุณรังสิมา รอดรัศมี เป็นต้น

3) กลุ่มสุดท้ายมีจำนวนมากที่สุด และจัดอยู่ในประเภทกลางๆ คือไม่ถึงกับพูดฉาดฉานสมบูรณ์แบบเช่นในกลุ่มแรกนัก แต่ก็ควบคุมสำเนียงและลีลาการพูดให้มีความเป็นทางการได้ในระดับหนึ่ง ตัวอย่างในกลุ่มนี้มีคุณวิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ ที่ยังติดถ้อยคำแบบที่ไม่ใช่ภาษาราชการ เช่นการลากเสียงคำว่า “เนี่ย” แบบที่ชาวบ้านทั่วๆ ไปพูดกัน หรือบางครั้งอาจไม่สามารถจัดวรรคตอนและการหายใจได้เหมาะสม และยังไม่ใส่ใจกับการควบกล้ำหรือ ร เรือ ล ลิงมากนัก เช่นเดียวกับคุณนาถยา เบญจศิริวรรณ ที่ยังคงมีอาการตะกุกตะกักบ้าง และบางครั้งก็เรียงประโยคผิดไวยากรณ์ ที่น่าสนใจคือ ส.ส. ทั้งสองคนนี้ จัดอยู่ในกลุ่มกลางๆ ในซีกที่ค่อนไปในทางที่ใช้ท่วงทำนองการพูดแบบมีสำเนียงสูง-ต่ำ และความหนัก-เบาที่บ่งบอกถึง “อารมณ์ความรู้สึก” ในการอภิปรายด้วยอยู่มาก

ขณะที่กลุ่มกลางๆ อีกซีกหนึ่งนั้นค่อนข้างจะมีความจงใจควบคุมสำเนียงการพูดให้เป็นไปอย่างเรียบๆ มากกว่า ซึ่งมีตัวอย่างเช่นคุณรสนา โตสิตระกูล (ส.ว.) คุณอนุสรา ยังตรง และคุณอรุณี ชำนาญยา เป็นต้น การอภิปรายของ ส.ส. ซีกนี้มีความเป็นราชการค่อนข้างสูงขึ้นมาอีก (จึงทำให้คนส่วนมากรู้สึกว่าออกจะน่าเบื่อ) แต่ก็ยังมีการพูดผิด พูดซ้ำๆ เว้นวรรคผิด เรียงประโยคกลับกันบ้าง แต่ประเด็นสำคัญคือ - ลักษณะการพูดจาอภิปรายจะเป็นไปด้วยน้ำเสียงที่เรียบๆ ไม่เน้นการใช้เสียงหนัก-เบา สูง-ต่ำ เพื่อแสดง “อารมณ์ความรู้สึก” นัก ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้เอง

(แต่ถ้าสังเกตการตอบคำถามหรือการให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ดูดีๆ โดยเฉพาะในรายการของคุณจอม เพชรประดับ หรือคุณสรยุทธ สุทัศนจินดา ในช่วงก่อนเลือกตั้ง จะพบว่า ว่าที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ (ในขณะนั้น) สามารถตอบคำถามต่างๆ ได้อย่างคล่องแคล่วและเป็นธรรมชาติมากทีเดียว  ซึ่งสื่อให้เห็นว่า นายกรัฐมนตรีน่าจะคุ้นเคยกับการแสดงความคิดในลักษณะที่ไม่เป็นทางการนักมากกว่า)

เป็นที่รู้ๆ กันว่าการอภิปรายหรือการปราศรัยนั้นเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของนักเลือกตั้ง แต่ก็เป็นที่รู้ๆ กันอีกว่าคุณสมบัติข้อนี้ไม่เกี่ยวกับสติปัญญาในการบริหารบ้านเมืองแต่อย่างใด เพราะที่จริงแล้วเราอาจเห็นคนมีความสามารถอีกหลายๆ คนที่พูดไม่เก่งหรือพูดไม่เป็นเลย - ซึ่งก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก

จริงอยู่ที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์อาจเป็นคนที่พูดไม่เก่ง พูดผิดๆ ถูกๆ บ้างในบางครั้ง แต่โดยรวมๆ แล้วย่อมไม่ถึงกับจัดเป็นคนที่พูดไม่รู้เรื่อง และว่าที่จริงถ้ากล่าวถึงการคุมประเด็นและรักษาเนื้อความที่ต้องการนำเสนอแล้วยังควรจัดว่าอยู่ในขั้นค่อนข้างดีด้วยซ้ำ

แน่นอนว่าการฝึกฝนให้สามารถพูดจาแบบคนภาคกลางและด้วยภาษาราชการสวยๆ หรูๆ นั้นย่อมเรียนรู้และฝึกฝนกันได้ เพียงแต่อาจต้องใช้เวลาบ้างเท่านั้น แต่แน่ใจหรือ - ว่าการสื่อสารด้วยสำเนียงและภาษาแบบราชการนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องสมบูรณ์ที่สุดเพียงหนึ่งเดียว

ลองถามตัวเองดูก่อนว่าทุกวันนี้ เราอยากอ่านหนังสือราชการหรืออยากจะอ่านหนังสือที่เขียนขึ้นด้วยภาษาชาวบ้านธรรมดาที่เข้าใจกันได้ง่ายๆ มากกว่ากัน

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักวิทยาศาสตร์ทดลองตรวจวัดคลื่นสมองของผู้หญิงในช่วงถึงจุดสุดยอด

Posted: 17 Nov 2011 07:43 AM PST

เมื่อนักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ ทำการวิจัยเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาอาการเข้าไม่ถึงจุดสุดยอด โดยการใช้เครื่องสแกนสมองสำรวจการทำงานของสมองในช่วงที่ถึงจุดสุดยอด โดยใช้สีแทนความเข้มข้นของการทำงานของสมอง

14 พ.ย. 2554 - เดอะ การ์เดียน รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ได้เผยแพร่ผลการสแกนคลื่นสมองของผู้หญิงในช่วงที่มีประสบการณ์ถึงจุดสุดยอดและช่วงหลังจุดสุดยอด โดยภาพเคลื่อนไหวที่บันทึกได้แสดงให้เห็นถึงการทำงานของสมองในส่วนที่ต่างกัน ซึ่งค่อยๆ เพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งลดความเข้มข้นของการทำงานลงอย่างนุ่มนวล

ในการบันทึกภาพเคลื่อนไหวครั้งนี้ นักวิจัยได้ใช้เครื่องสแกนสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็ก (functional magnetic resonance imaging หรือ fMRI) สแกนสมองของผู้ทดสอบหญิงขณะที่ให้เธอกระตุ้นเร้าทางเพศด้วยตัวเอง การวิจัยชิ้นนี้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจว่าสมองจะทำงานสอดประสานกันนำไปสู่ช่วงถึงจุดสุดยอดของผู้หญิง

จากการศึกษาเรื่องการถึงจึดสุดยอดนั้น ศาตราจารย์ แบร์รี่ โคมิซารุก นักจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยรัทเจอส์ รัฐนิวเจอร์ซี และลูกทีมของเขามีเป้าหมายต้องการทราบว่า มีความผิดปกติอะไรเกิดขึ้นกับชายและหญิงที่ไม่สามารถถึงจุดสุดยอดทางเพศได้

ภาพเคลื่อนไหวเป็นภาพเรียงลำดับการสแกนสมองของแนน ไวส์ นักศึกษาปริญญาเอกและนักเพศบำบัดอายุ 54 ปีจากศูนย์ทดลองของโคมิซารุก โดยไวส์บอกว่า งานชิ้นนี้เป็นปริญญานิพนธ์ของเธอเอง

ภาพยนตร์ 5 นาทีเผยให้เห็นว่าการทำงานของสมองใน 80 ส่วนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง โดยมีการบันทึกภาพแบบสแนปช็อตทุกๆ 2 วินาที ภาพเคลื่อนไหวมีการใช้มาตราสีแบบ "hot metal" ซึ่งเริ่มจากสีแดงเข้มไปเป็นสีส้ม สีเหลือง และสีขาวในช่วงที่มีการทำงานเข้มข้นที่สุด

"เป้าหมายทั่วไปของการวิจัยนี้คือการเรียนรู้ว่าการสร้างอารมณ์ไปจนถึงจุดสุดยอดมาจากการกระตุ้นเร้าทางเพศได้อย่างไร และสมองส่วนไหนบ้างที่ถูกใช้งานและช่วยสร้างอารมณ์ไปจนถึงจุดสุดยอด" ศจ. โคมิซารุกกล่าว เขานำเสนองานชิ้นนี้เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ที่ผ่านมา ณ การประชุมประจำปีของสมาคมประสาทวิทยา วอชิงตัน ดีซี งานชิ้นนี้ยังไม่ถูกตีพิมพ์ในวารสารประเมินค่าทางวิชาการ

เมื่อภาพเคลื่อนไหวเริ่มเล่น การทำงานของสมองก็ก่อตัวขึ้นในสมองเปลือกนอกส่วนที่ใช้รับความรู้สึกทางเพศ มีการตอบสนองการสัมผัสในจากสมองในส่วนดังกล่าว จากนั้นการทำงานก็ขยายเข้ามาสู่ระบบลิมบิก (Limbic System) ส่วนที่รวบรวมโครงสร้างของสมองที่เกี่ยวกับอารมณ์และความจำระยะยาว

เมื่อถึงจุดสุดยอดแล้ว การทำงานของสมองก็พุ่งสูงขึ้นในสองส่วนคือส่วน ซีรีเบลลัม (Cerebellum) และ สมองส่วนหน้า (Frontal Cortex) อาจจะเนื่องจากว่ามีการบีบตัวของกล้ามเนื้ออย่างมาก ในช่วงที่ถึงจุดสุดยอดนั้นการทำงานของสมองจะถึงจุดสุงสุดในส่วน ไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ซึ่งจะมีการหลั่งสารอ็อกซีโตซินทำให้เกิดความรู้สึกพึงพอใจทางผัสสะและกระตุ้นให้มดลูกหดรัดตัว นอกจากนี้การทำงานยังถึงจุดสูงสุดในส่วนของนิวเคลียสแอคคัมเบน (nucleus accumbens) ซึ่งเป็นส่วนที่เชื่อมกับการได้รางวัลและความพึงพอใจอีกด้วย

หลังจากถึงจุดสุดยอดแล้ว การทำงานในส่วนต่างๆ เหล่านี้ก็ค่อยๆ ลดลงไป

"มันเป็นระบบที่สวยงามมากสำหรับการศึกษาความเกี่ยวโยงกันของสมอง" โคมิซารุกกล่าว "พวกเราหวังว่าภาพยนตร์นี้ซึ่งเป็นการนำเสนอการทำงานอย่างต่อเนื่องของสมองไปจนถึงจุดสุดยอด และเมื่อมีการประเมินผลแล้วก็จะทำให้เราเข้าใจพยาใหม่ธิสภาพของผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงจุดสุดยอดได้ โดยการเน้นดูที่สมองส่วนใดในกระบวนการนี้ที่ทำงานบกพร่อง"

ด้วยเทคนิควิธีใหม่ที่พัฒนาโดยโคมิซารุก คนที่ถูกสแกนสมองจะสามารถมองเห็นการทำงานของสมองตนเองได้ในแทบจะทันที จาก "ผลสะท้อนทางระบบประสาท" นี้ ทำให้โคมิซารุกวิเคราะห์ได้ว่าคนทั่วไปสามารถเรับรู้ได้ว่าสมองของพวกเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ซึ่งอาจนำมาใช้รักษาอาการได้หลายอย่างทั้ง ความวิตกกังวล, อาการซึมเศร้า และความเจ็บปวด

"พวกเราในตอนนี้ใช้การถึงจุดสุดยอดในการสร้างความสุขสม หากพวกเราเรียกรู้วิธีการกระตุ้นส่วนความสุขทางเพศในสมองได้ ถึงตอนนั้นพวกเราก็ถือว่านำมาประยุกต์ใช้ได้แพร่หลายมากขึ้น" ศจ. โคมิซารุกกล่าว

ที่มา
Female orgasm captured in series of brain scans, The Guardian, 14-11-2011
http://www.guardian.co.uk/science/2011/nov/14/female-orgasm-recorded-brain-scans

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กลุ่มจับตายาเสพติดฉาน แฉ! ส.ส.พรรครัฐบาลพม่าพัวพันยาเสพติด

Posted: 17 Nov 2011 06:27 AM PST

กลุ่มจับตายาเสพติดฉาน (Shan Drug Watch) และองค์กรสตรีปะหล่อง PWO แถลงเปิดตัวรายงานสถานการณ์ยาเสพติดในรัฐฉาน เผยการปลูกฝิ่นยังแพร่หลาย พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ใต้ควบคุมทหารพม่า และกองกำลังอาสาสมัครซึ่งหัวหน้าเป็นถึงสมาชิกสภารัฐบาลใหม่

วานนี้ (16 พ.ย.) ที่จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มจับตายาเสพติดในรัฐฉาน (Shan Drug Watch) โครงการสำนักข่าวฉาน (SHAN) แถลงเปิดตัวรายงานสถานการณ์ยาเสพติดในรัฐฉานประจำปี 2554 ในชื่อ “เจ้าพ่อยาเสพติดในสภา” (Druglords in Parliament) ร่วมกับองค์กรสตรีปะหล่อง PWO ซึ่งแถลงรายงานในชื่อ "ยังมีพิษ" (Still Poisoned) เป็นรายงานเปิดเผยตัวเลขการปลูกฝิ่นที่เพิ่มขึ้นในรัฐฉาน และการพัวพันยาเสพติดของผู้นำกองกำลังอาสาสมัครหลายกลุ่มที่ขณะนี้มีตำแหน่งเป็นสมาชิกในสภารัฐบาลใหม่ของพม่า

ทั้งนี้ ข้อมูลรายงาน Shan Drug Watch ซึ่งเป็นรายงานสถานการณ์ยาเสพติดในรัฐฉานล่าสุด ระบุว่า แผนการกำจัดการปลูกฝิ่นของรัฐบาลทหารพม่าที่ตั้งเป้าแล้วเสร็จใน 15 ปี เริ่มปี 1999 – 2014 ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง โดยแผน 15 ปี ดังกล่าวแบ่งระยะเวลาเป็น 3 ช่วงๆ ละ 5 ปี มีพื้นที่เป้าหมาย 51 อำเภอ ใน 4 รัฐคือ รัฐฉาน รัฐคะยา รัฐคะฉิ่น และรัฐชิน ในรัฐฉานมีพื้นที่เป้าหมาย 39 อำเภอ

โดยแผนช่วงระยะ 5 ปีแรกรัฐบาลทหารพม่าได้กำหนดเป้าหมายกำจัดการปลูกฝิ่นในพื้นที่ 22 อำเภอ แต่จนถึงขณะนี้ 19 อำเภอในพื้นที่กำหนดยังคงมีการปลูกฝิ่น ขณะที่ช่วงระยะการกำจัดช่วงที่ 2 ซึ่งตั้งเป้ากำจัดในพื้นที่ 20 อำเภอ ยังมีการปลูกอย่างแน่นหนาอยู่ 13 อำเภอ นอกจากนี้ในรัฐฉาน ยังมีพื้นที่ปลูกฝิ่นนอกเหนือจากพื้นที่เป้าหมายที่ทางการพม่ากำหนดอีกไม่ต่ำกว่า 26 อำเภอ

สาเหตุการปลูกฝิ่นยังแพร่หลายในรัฐฉาน เกิดจากการรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่รัฐบาลพม่า ซึ่งส่งเสริมให้กองกำลังที่ฝักใฝ่รัฐบาลทำการค้าได้อย่างเสรี โดยแลกกับการช่วยเป็นหูเป็นตาและร่วมปราบปรามกองกำลังกลุ่มต่อต้าน ซึ่งทางการพม่าได้ยึดนโยบายสนับสนุนกองกำลังกลุ่มหนึ่งและกดดันกองกำลังอีกกลุ่มมาตั้งแต่ในอดีต ก่อนนี้เคยสนับสนุนกองกำลังว้า UWSA ให้โอกาสการค้ายาเสพติดเพื่อใช้เป็นแนวร่วมปราบปรามกองกำลังขุนส่า ต่อมาระยะหลังๆ จากกองกำลังว้า UWSA ปฏิเสธข้อเสนอเปลี่ยนสถานะเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดน BGF ทางการพม่าได้หันไปสนับสนุนกองกำลังอาสาสมัครกลุ่มต่างๆ แทน

ข้อมูลจากรายงานยังชึ้ให้เห็นว่า ปัจจุบันกองกำลังอาสาสมัครหลายกลุ่มโดยเฉพาะกองกำลังเคลื่อนไหวในพื้นที่ภาคเหนือรัฐฉาน ได้รับไฟเขียวประกอบธุรกิจยาเสพติดอย่างออกหน้า ที่สำคัญมีหัวหน้ากองกำลังอาสาสมัครอย่างน้อย 7 คน เป็นสมาชิกพรรค USDP และมีตำแหน่งเป็นถึงสมาชิกสภาต่างๆ ของรัฐบาลชุดใหม่ เช่น นายเหลียวก่อชี หัวหน้ากกล.อส.โกก้าง เป็นสมาชิกวุฒิสภา, นายหอเฉี่ยวชาง หัวกกล.อส.เมืองกุ๋นโหลง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, นายขุนเมียด หัวกกล.อส.เมืองก๊ดข่าย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

นอกจากนี้มี นายจ่อมิ้น หัวหน้ากกล.อส.น้ำคำ, นายเก๋งใหม่ หัวหน้ากกล.อส.หมู่แจ้, นายป๋ายโซวเฉิน หัวหน้ากองกำลังหน่วยพิทักษ์ชายแดน BGF โกก้าง และนายมิ้นลวิน หัวหน้ากกกล.อส.ต้าเมืองแงน  ทั้งหมดเป็นสมาชิกสภารัฐฉาน    

รายงานระบุด้วยว่า ที่ผ่านมานานาชาติใส่ใจเรื่องการเมือง เรื่องสิทธิมนุษยชน และเรื่องประชาธิปไตยในพม่ามากกว่าเรื่องยาเสพติด และปัญหายาเสพติดที่แพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นที่เข้าใจว่ากลุ่มชาติพันธุ์อยู่เบื้องหลัง ซึ่งหาไม่รับรู้ข้อเท็จจริงว่าแท้จริงสาเหตุเกิดจากการสนับสนุนจากรัฐบาล

ด้านนางสาวแสงบรอห์ ตัวแทนองค์กรสตรีชาวปะหล่อง (Palaung Women Organization-PWO) ซึ่งเป็นผู้ร่วมแถลงเปิดตัวหนังสือรายงานเกี่ยวกับยาเสพติดในรัฐฉาน ในชื่อ “ยังเป็นพิษ” “Still Poisoned”  ระบุว่า ปัจจุบันในพื้นที่อาศัยอยู่ของชนชาวปะหล่อง ในอำเภอน้ำคำ รัฐฉานภาคเหนือ ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลใหม่พม่ายังคงมีการปลูกฝิ่นอย่างกว้างขวาง

ทั้งนี้ เธอเผยว่า แม้พม่าจะมีรัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้งเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2553 การปลูกฝิ่นในพื้นที่รัฐฉานโดยเฉพาะในเขตพื้นที่เมืองน้ำคำ ยังคงไม่ลดลง ตรงกันข้ามกลับมีการเพิ่มปริมาณการปลูกมากขึ้น ชาวบ้านอย่างน้อย 15 หมู่บ้านหันมายึดอาชีพปลูกฝิ่น และตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมาพบว่าปริมาณการปลูกฝิ่นในพื้นที่นี้เพิ่มขึ้นถึง 78 เปอร์เซ็นต์ และพื้นที่ปลูกฝิ่นส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังอาสาสมัครกลุ่มนายปานเซ จ่อมิ้น ซึ่งขณะนี้มีตำแหน่งเป็นถึงสมาชิกสภาในรัฐบาลชุดใหม่ของพม่า

สำหรับกลุ่มจับตายาเสพติดรัฐฉาน Shan Drug Watch ซึ่งเป็นโครงการของสำนักข่าวฉาน (Shan Herald Agency for News) ได้จัดทำวิจัยเกี่ยวกับสถานการณ์ยาเสพติดในรัฐฉานและนำมาตีพิมพ์เป็นรายงานอย่างต่อเนื่อง สามารถติดตามข้อมูลรายละเอียดรายงาน Shan Drug Watch ฉบับเต็มได้ที่ http://www.shanland.org / หรือ http://www.khonkhurtai.org ส่วนรายละเีอียดรายงาน “ยังเป็นพิษ” “Still Poisoned” สตรีองค์กรปะหล่อง ติดตามได้ที่ www.palaungwomen.com / www.palaungland.org

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสรีภาพที่จะไม่รักในระบบศีลธรรมแบบทาส

Posted: 17 Nov 2011 04:22 AM PST

กว่าทศวรรษมานี้เรามักได้ยินราษฎรอาวุโสอย่าง ศ.นพ.ประเวศ วะสี ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นปัญญาชนแถวหน้าของชาติ พูดซ้ำๆ ในสองประเด็นสำคัญ คือ

1. ลำพังการใช้เหตุผลจะแก้ปัญหาความขัดแย้งไม่ได้ เพราะเวลาเกิดความขัดแย้งต่างฝ่ายต่างก็อ้างว่าตนเองมีเหตุผล ฉะนั้น เมื่อสุดทางของเหตุผลจะต้องเดินต่อด้วยเมตตา ความรักความเมตตาที่คนเรามีต่อกันจะช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ได้

2. เราต้องมองปัญหาแบบ “องค์รวม” ไม่แยกส่วน การมองแยกส่วนทำให้เห็นความจริงไม่ครบถ้วน เกิดความเห็นแก่ตัว แบ่งเป็นเขาเป็นเรา จึงต้องแก้ด้วยการมองให้เห็นความจริงองค์รวมว่า “หนึ่งเดียวคือทั้งหมด ทั้งหมดคือหนึ่งเดียว” การมองเห็นเช่นนี้จะทำให้เกิดจิตใหญ่ หรือการปฏิวัติจิตสำนึกใหม่ที่ทำให้คนอยู่ร่วมกันด้วยความรัก ทั้งรักมนุษย์ด้วยกันเองและสรรพสิ่งในธรรมชาติ

ผมคิดว่า คำเทศนาของหมอประเวศแม้จะดูสวยงามชวนเคลิ้มฝัน แต่มันมีปัญหาระดับรากฐานสำคัญอยู่สองประการที่ควรตั้งคำถาม คือ

1. สังคมนี้เป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมการใช้เหตุผลแล้วจริงๆ หรือ และโดยโครงสร้างของสังคมที่เป็นอยู่นี้ เราสามารถใช้เหตุผลอย่างถึงที่สุดในการถกเถียงประเด็นปัญหาพื้นฐานของระบบสังคมการเมือง เช่น อย่างที่อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เสนอว่าจะจัดวางตำแห่งแห่งที่ สถานะ อำนาจ บทบาทของสถาบันกษัตริย์ในระบบสังคมการเมืองแบบประชาธิปไตยไทยอย่างไร จะแก้ไขปรับปรุงกฎหมายหมิ่น ม.112 รัฐธรรมนูญมาตรา 8 เป็นต้นอย่างไร

เราสามารถใช้เหตุผลถกเถียงปัญหาพื้นฐานเหล่านี้ในสภา บนเวทีสาธารณะต่างๆ โดยไม่ถูกคุกคามจากอำนาจรัฐ อำนาจนอกระบบได้หรือไม่?

ผมเข้าใจว่าหมอประเวศรู้ดีว่าไม่ได้ ฉะนั้น ทั้งที่รู้ว่าทำไม่ได้ แล้วยังเสนอว่า “เมื่อสุดทางของเหตุผลจะต้องเดินต่อด้วยเมตตา” คำถามคือ สุดทางของเหตุผลหมายความว่าอะไร? หมายความว่าเราใช้เหตุผลกันอย่างเต็มที่ อย่างถึงที่สุดแล้วในบรรยากาศของเสรีภาพทางความคิด หรือหมายความแค่ว่า เมื่อถึงเรื่องของสถาบันกษัตริย์ที่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ ห้ามพูดถึงข้อเท็จจริงด้านลบ แม้จะมีเหตุผลก็ตาม เราก็ต้องหยุดใช้เหตุผล แล้วเดินต่อด้วยความรักความเมตตาต่อกันเช่นนั้นหรือ

หากเป็นความหมายอย่างหลัง ข้อเสนอของหมอประเวศก็เป็นเรื่องตลกร้ายแล้ว เพราะเท่ากับเขากำลังเสนอว่า “สุดทางของเหตุผลหมายถึงให้หยุดใช้เหตุผลในบางเรื่อง (เช่น เรื่องตรวจสอบสถาบันกษัตริย์) แล้วในเรื่องเช่นนี้ให้เราเดินต่อ หรืออยู่กันด้วยความรักความเมตตา”

2. ถ้าเช่นนั้น ความรักความเมตตาที่เกิดจากการมองเห็น “ความจริงองค์รวม” คืออะไร ในเมื่อสังคมนี้เป็นสังคมที่ถูกทำให้จำเป็นต้องแยกส่วน คือส่วนข้างล่างสถาบันกษัตริย์ลงมาให้ตรวจสอบด้วยเหตุผลได้เต็มที่ แต่ส่วนสถาบันกษัตริย์จะทำแบบเดียวกันไม่ได้ ฉะนั้น ข้อเสนอที่ไม่ให้มองแบบแยกส่วนก็เป็นข้อเสนอแบบ “นิยาย” และความรักมนุษยชาติและสรรพสิ่งอย่างเท่าเทียม หรือความรักยิ่งใหญ่จากจิตใหญ่ จิตสำนึกใหม่ก็เป็นแค่ “นิยายต่อเนื่อง” จากข้อเสนอที่เป็นนิยายตอนแรกนั้นเท่านั้นเอง

จริงอยู่ หมอประเวศอ้างอิงความรักตาม concept “เมตตาอัปปมัญญา” ตามหลักคำสอนทางพุทธศาสนา คือความรักต่อสรรพสัตว์อย่างไม่จำกัดประมาณ เนื่องจากเป็นความรักที่เกิดจากการมองเห็นตามเป็นจริงว่า “สรรพสัตว์ต่างเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย” แต่กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า ด้วยความเมตตาที่ไม่มีประมาณนั้นพุทธศาสนาสนับสนุนให้จำกัดการใช้ปัญญาหรือเหตุผล ทว่าโครงสร้างทางสังคมการเมืองบ้านเราที่เป็นอยู่คือโครงสร้างที่อ้างอิงความรักเพื่อ “จำกัด” (กระทั่ง “กำจัด”) การใช้เหตุผลตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ ภายใต้โครงสร้างเช่นนี้ ความรักที่ยิ่งใหญ่ จิตใหญ่ การปฏิวัติจิตสำนึกใหม่ที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

สมมติว่า ต่อให้ทุกคนในประเทศมีจิตใหญ่ มีความรักล้นเหลือในมนุษยชาติและสรรพสิ่งจริง แต่จะทำให้สังคมนี้ยุติธรรมขึ้นอย่างไร เราก็เป็นได้เพียงมนุษย์จิตใหญ่ที่มีความรักยิ่งใหญ่แต่น่าสมเพช เพราะเรายังเป็นสัตว์สังคมที่อยู่ภายใต้โครงสร้างอำนาจที่ไม่ให้เรามีแม้แต่เสรีภาพที่จะไม่รัก และ/หรือเสรีภาพที่จะประกาศเหตุผลของความไม่รักนั้นแก่สาธารณะได้

เป็นไปได้อย่างไรครับ สังคมที่เต็มไปด้วยผู้คนที่มีจิตใหญ่แต่ไม่มีเสรีภาพที่จะไม่รัก คนที่มีจิตใหญ่คือคนที่สามารถยอมรับการไม่มีเสรีภาพที่จะไม่รักได้อย่างนั้นหรือ ผมคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้น ข้อเสนอเรื่องมองให้เห็นองค์รวม จิตใหญ่ ความรักความเมตตาต่อมนุษยชาติและสรรพสิ่งภายใต้โครงสร้างสังคมที่ไม่มีเสรีภาพที่จะไม่รักเช่นนี้ เป็นข้อเสนอที่ถ้าผู้เสนอไม่ได้กำลังหลอกตัวเอง เขาก็กำลังหลอกคนทั้งสังคมอยู่อย่างน่าตระหนก

เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้ว สังคมเราถูกจำกัดด้วยสถานะ อำนาจ และบทบาทของสถาบันกษัตริย์ที่เป็นอยู่ไม่ให้เราสามารถเดินไปได้สุดทางของการใช้เหตุผลในเรื่องความเป็น-ไม่เป็นประชาธิปไตย ความเสมอภาคในความเป็นคน ความมีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ที่ดำรงอยู่ด้วยเงินภาษีมหาศาลของประชาชน และภายใต้การถูกจำกัดดังกล่าวประชาชนในประเทศนี้ไม่มีแม้แต่เสรีภาพที่จะไม่รัก และเสรีภาพที่จะแสดงเหตุผลของความไม่รักนั้นๆ อย่างเป็นสาธารณะได้

ฉะนั้น การไม่มีเสรีภาพที่จะไม่รักคือปัญหารากฐานที่สุดที่ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น เสรีภาพในการพูดความจริงด้านลบ การวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ การต่อสู้เพื่อให้สังคมบรรลุเป้าหมายที่ดีกว่า คือความเป็นประชาธิปไตยที่อำนาจปกครองตนเองเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง เป็นต้น

หากมองในแง่ของ “ความเป็นมนุษย์” ระบบสังคมการเมืองที่กำหนดให้ประชาชนไม่สามารถจะมีแม้แต่เสรีภาพที่จะไม่รัก ย่อมเป็นระบบที่ทำลายความเป็นมนุษย์อย่างถึงราก เพราะเมื่อคุณไม่มีแม้แต่เสรีภาพที่จะไม่รัก คุณก็ไม่ใช่คนแล้ว

จริงอยู่ คุณอาจจะมีความเป็นคนในความหมายหรือในแง่อื่นๆ แต่ในความหมายหรือในแง่ที่คุณต้องมีความสัมพันธ์ต่ออำนาจบางอย่างที่คุณไม่สามารถที่จะมีเสรีภาพที่จะไม่รักนั้น เท่ากับคุณกำลังถูกความสัมพันธ์เช่นนั้นทำลายความเป็นคนในตัวคุณ

ที่จริงแล้ว มันก็มีแต่ความสัมพันธ์แบบนายกับทาสเท่านั้นที่กำหนดให้ต้องยกย่องสรรเสริญความรักของนายที่มีต่อทาสว่าเป็นสิ่งดีงามสูงส่งไร้ที่ติ ขณะที่ทาสต้องซาบซึ้งสยบต่อความรักนั้นด้วยความจงรักภักดีชนิดที่ต้องยอมตายถวายชีวิต ไม่มีแม้แต่เสรีภาพที่จะไม่รัก

สังคมที่สอนให้พึ่งพาความรักความเมตตาจากผู้มีบุญบารมี โดยประชาชนไม่มีแม้แต่เสรีภาพที่จะไม่รัก คือสังคมที่กำลังปลูกฝังศีลธรรมแบบที่นิทเช่เรียกว่า “ศีลธรรมแบบทาส” เพราะเป็นการปลูกฝังให้ประชาชนสยบยอมต่ออำนาจศักดิ์สิทธิ์เหนืออำนาจในการปกครองตนเองของประชาชน ซึ่งในการปกครองตนเองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยประชาชนต้องมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการตัดสินใจเลือกว่าตนเองต้องการระบบสังคมการเมืองเช่นใดจึงจะดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่สังคมสังคมที่ปลูกฝังศีลธรรมแบบทาสเช่นนี้เป็นสังคมที่จำกัดการใช้เหตุผลเพื่อแสวงหาเป้าหมายทางสังคมการเมืองที่ดีกว่า ยุติธรรมกว่า มีเสรีภาพ และความเสมอภาคมากกว่า

เช่น การใช้เหตุผลของ “กลุ่มนิติราษฎร์” ในเรื่องการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร การแก้ ม.112 เป็นต้น ที่ในที่สุดแล้วจะเป็นการป้องกันรัฐประหารอย่างถาวร หรือทำให้สังคมมีความเป็นประชาธิปไตยที่ก้าวหน้ามากกว่า แต่ภายใต้ระบบศีลธรรมแบบทาส เหตุผลเชิงก้าวหน้าดังกล่าวก็ทำงานไม่ได้ผลมากนัก บางทีเราก็ไม่ชัดเจนว่าทำไมการดำเนินการใดๆ ในทางกฎหมายและทางการเมืองที่ทำให้ทักษิณได้ประโยชน์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจึงต้องถูกคัดค้านอย่างเข้นมข้น

การคัดค้านอย่างเข้มข้นที่กลัวว่าจะนำสังคมไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงนั้น เกิดจากเหตุผลอะไรกันแน่ เพราะรังเกียจ “การทุจริต” ที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นจริงของทักษิณ และต้องการปกป้องหลักนิติรัฐ นิติธรรม หรือค้านเพียงเพราะกลัวทักษิณจะกลับมามีอำนาจาทางการเมืองอีกกันแน่

หากเป็นสองอย่างแรก การนิรโทษกรรมหรือการดำเนินการอย่างอื่นในทางกฎหมายให้ทักษิณได้กลับมาต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมปกติ (เมื่อมีการฟ้องร้องใหม่) น่าจะเป็นการแก้ปัญหาทุจริตได้ถูกต้องกว่า เป็นการปกป้องนิติรัฐนิติธรรมมากกว่า แต่ถ้าเป็นอย่างหลังสุดก็เป็นการค้านที่ไร้เหตุผลรองรับ มันเป็นแค่เกมการเมืองของพวกบ้าอำนาจที่ได้ประโยชน์บนโครงสร้างของระบบศีลธรรมแบบทาส หรือพวกที่ถูกกล่อมประสาทให้เคลิบเคลิ้มด้วย “อุดมการณ์โรแมนติก” ภายใต้ระบบศีลธรรมแบบทาส

ฉะนั้น ในสังคมที่ปลูกฝังศีลธรรมแบบทาสเช่นนี้ แม้ประชาชนทุกคนจะมองเห็นความจริงองค์รวม มีจิตใหญ่ มีจิตสำนึกใหม่ มีความรักยิ่งใหญ่ อย่างที่หมอประเวศเสนอ แต่เขาก็ยังอยู่ภายใต้ศีลธรรมแบบทาส ยังคงเป็นคนที่น่าสมเพช เพราะไม่สามารถจะมีแม้แต่เสรีภาพที่จะไม่รัก ทำให้ไม่สามารถจะใช้เหตุผลอย่างอิสระเต็มที่เพื่อบรรลุเป้าหมายคือการสร้างระบบสังคมการเมืองที่ดีกว่า

แต่ทว่าเป็นไปไม่ได้หรอกครับที่ภายใต้  “ระบบศีลธรรมแบบทาส” เช่นที่เป็นอยู่นี้ ผู้คนส่วนใหญ่จะสามารถมีคุณสมบัติที่ดีเลิศอย่างที่หมอประเวศเสนอจริงๆ ต่อให้ใครเก่งกาจปราดเปรื่องเพียงใด มันก็เป็นมนุษย์ที่น่าสมเพชทั้งนั้นแหละครับ เมื่อคุณไม่มีแม้แต่เสรีภาพที่จะไม่รัก!

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'ใบตองแห้ง' ออนไลน์: นิติเหลิมภิวัตน์

Posted: 17 Nov 2011 02:59 AM PST

 
ปุจฉา : ทักษิณเป็นนักโทษแล้วหรือยัง
วิสัชฮา: เป็นแล้ว พันธมิตรเรียก นช.ทักษิณมาตั้ง 3 ปีแล้ว
 
น้ำเน่าท่วมกรุงเทพฯ เดือดพล่านขึ้นมาทันที เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวาระจร “ลับ” ได้ลงมติผ่านร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติของนักโทษที่จะเข้าข่ายรับพระราชทานอภัยโทษ ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554 ซึ่งตามกระแสข่าว มีหลักเกณฑ์ข้อหนึ่งว่า นักโทษที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษคือ ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี โดยไม่จำเป็นต้องรับโทษมาก่อน และตัดข้อยกเว้นความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช.ออกไป
 
เข้าข่าย “ทักกี้” พอดี โป๊ะเชะ!
 
ข่าวนี้อ้าง “แหล่งข่าว” ในคณะรัฐมนตรี และรายงานตรงกันทุกสำนัก แม้สันนิษฐานว่าตรงกันเพราะนักข่าวสมัยนี้ทำงานด้วยฟอร์เวิร์ดเมล์ แต่เมื่อดับเบิ้ลเช็ค ทริปเปิ้ลเช็ค ก็ค่อนข้างแน่ใจว่าจริง ท่าทีของ ดร.เหลิม ผู้นั่งหัวโต๊ะประชุม ครม.ก็แบะท่ามาก่อนแล้วว่าจะหาช่องอภัยโทษให้ได้ ขณะที่นายกรัฐมนตรีผู้เป็นน้องสาวสวมบท “นารีขี่ ฮ.ไม่มีเรดาร์” ตีตั๋วเที่ยวเดียวไปตรวจน้ำท่วมสิงห์บุรีแล้วอ้างว่ากลับไม่ได้ กลับมาแล้วก็ไม่เข้าประชุม ครม.พิจารณาวาระที่เกี่ยวข้องกับพี่ชาย
 
จึงค่อนข้างแน่ใจได้ 99.99% ว่ามีการร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจริง ที่เหลือ 00.01% คือยังไม่มีใครเห็นตัวร่าง ว่าเป็นไปตามเงื่อนไขดังกล่าวครบทุกข้อหรือไม่
 
ซึ่งถ้าเป็นจริง ก็เชื่อขนมกินได้ว่า ยิ่งลักษณ์คงไม่ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โดยใช้โอกาสเดินทางไปต่างประเทศ แล้วมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาการเป็นผู้ลงนามแทน
 
ไม่ขัดกฎหมายแต่....
 
พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เป็นกฎหมายที่ออกในวโรกาสมหามงคล ตามประเพณีที่สืบทอดมาแต่โบราณ พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาได้แก่ พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี 9 มิถุนายน 2539 พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 5 ธันวาคม 2542 พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2547 พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี 9 มิถุนายน 2549 พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 และพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกปีที่ 60 วันที่ 5 พฤษภาคม 2553
 
การพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกา มี 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ พระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว แก่นักโทษที่เหลือโทษน้อย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เจ็บป่วยระยะสุดท้าย ฯลฯ และพระราชทานอภัยโทษลดโทษ 1 ใน 2, 1 ใน 3, 1 ใน 4 ฯลฯ แก่นักโทษที่ประพฤติดี โดยจำแนกตามฐานความผิดที่ต้องโทษ
 
พระราชกฤษฎีกาแต่ละฉบับ มีรายละเอียดแตกต่างกันไปตามยุคสมัย แต่ก็มีสาระสำคัญบางประการที่สืบทอดมาเกือบทุกฉบับ เช่น ประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากคือ ทุกฉบับจะมีมาตรา 4 กำหนดว่า
 
“ผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้ ต้องมีตัวอยู่ในความควบคุมของทางราชการ หรือถูกกักขังไว้ในสถานที่หรือที่อาศัยที่ศาลหรือทางราชการกำหนดในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับติดต่อกันไปจนถึงวันที่ศาลออกหมายสั่งปล่อยหรือลดโทษ หรือนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งปล่อยหรือลดโทษตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกานี้.....”
 
ส่วนที่แตกต่างก็คือเงื่อนไขการอภัยโทษที่เปลี่ยนไป เช่น พรฎ.ปี 2542 มาตรา 6(1) ให้ปล่อยตัว “ผู้ต้องโทษจำคุกไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ซึ่งมีโทษจำคุกตามกำหนดโทษที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่รวมกันไม่เกินหกเดือนนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ”
 
แต่ พรฎ.ปี 2547 เปลี่ยนมาตรา 6(1) ให้ปล่อยตัวผู้ต้องโทษจำคุกที่เหลือโทษไม่เกิน 1 ปี ฉบับหลังๆ ก็ก๊อปกันต่อมา
 
พรฎ.ปี 2542 มาตรา 6(2)จ ให้ปล่อยตัวคนมีอายุไม่ต่ำกว่า 60 ปีบริบูรณ์ โดยต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีหรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของโทษตามกำหนดโทษ
 
แต่ พรฎ.ปี 53 ซึ่งออกโดยพรรคประชาธิปัตย์ มาตรา 6(2)ง กำหนดให้ปล่อยตัว “คนมีอายุไม่ต่ำกว่า 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ.... และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ต้องเหลือโทษจำคุกไม่เกินสามปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ หรือเป็นคนมีอายุตั้งแต่เจ็ดสิบปีขึ้นไป”
 
ประเด็นนี้ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตร เคยเขียนลงผู้จัดการออนไลน์วันที่ 12 กันยายน 2554 ว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์วางรากฐานไว้ให้พรรคเพื่อไทยสวมตอต่อ แต่ตอนนั้นปานเทพคาดว่าทักกี้จะใช้เวลาติดคุกไม่กี่ชั่วโมง โดยเดินทางกลับประเทศไทยก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ เพียง 1 วันก็พอ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าเรือนจำ เพียงถูกกักขังอยู่ที่ด่านตำรวจตรวจคนเข้าเมืองก็ถือว่าอยู่ในข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้ว (มาตรา 4 “ต้องมีตัวอยู่ในความควบคุมของทางราชการ หรือถูกกักขังไว้ในสถานที่หรือที่อาศัยที่ศาลหรือทางราชการกำหนดในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ”)
 
แต่ถ้า พรฎ.ปี 54 เป็นไปตามกระแสข่าว ทักกี้ก็จะ “เรียนลัดตัดตอน” กลับมางานแต่งลูกสาวโดยไม่ต้องเข้าห้องกรงให้เป็นมลทิน ยั่วพวกสลิ่มทักษิโณโฟเบียให้คลั่งยิ่งกว่าโรคกลัวน้ำ
 
ถามว่าถ้า พรฎ.2554 ไม่มีมาตรา 4 ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ก็ต้องย้อนไปดูกฎหมายแม่ คือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภาค 7 ว่าด้วยการอภัยโทษ เปลี่ยนโทษหนักเป็นเบาและลดโทษ ตั้งแต่มาตรา 259 ถึงมาตรา 261 ทวิ ซึ่งพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษออกตามมาตรา 261 ทวิ
 
“มาตรา 259 ผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษอย่างใด ๆ หรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ถ้าจะทูลเกล้า ฯ ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ ขอรับพระราชทานอภัยโทษ จะยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็ได้
 
มาตรา 260 ผู้มีเรื่องราวซึ่งต้องจำคุกอยู่ในเรือนจำ จะยื่นเรื่องราวต่อพัศดีหรือผู้บัญชาการเรือนจำก็ได้ เมื่อได้รับเรื่องราวนั้นแล้ว ให้พัศดีหรือผู้บัญชาการเรือนจำออกใบรับให้แก่ผู้ยื่นเรื่องราว แล้วให้รีบส่งเรื่องราวนั้นไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
 
มาตรา 261 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมี หน้าที่ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์พร้อมทั้งถวายความเห็นว่าควรพระราชทานอภัยโทษหรือไม่
 
ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดถวายเรื่องราว ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเห็นเป็นการสมควร จะถวายคำแนะนำต่อ พระมหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องคำพิพากษานั้นก็ได้
 
มาตรา 261ทวิ ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นเป็นการสมควร จะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษก็ได้
 
การพระราชทานอภัยโทษตามวรรคหนึ่ง ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”
 
จะเห็นได้ว่า ป.วิอาญา ไม่ได้กำหนดเลยนะครับว่า การขอพระราชทานอภัยโทษจะต้องกลับมาติดคุกก่อน
 
ส่วนที่ถกเถียงกันเมื่อครั้งเสื้อแดงล่าชื่อกัน 2 ล้านกว่าคนถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษนั้น เป็นระเบียบราชทัณฑ์ที่กำหนดไว้ว่าต้องเป็นผู้ถูกคุมขังอยู่ก่อนเท่านั้น
 
ฉะนั้นถ้าพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ 2554 จะ “แหกคอก” ยกมาตรา 4 ออกไป ก็ไม่ขัด ป.วิอาญาที่เป็นกฎหมายแม่ จะยกระเบียบราชทัณฑ์มาคัดค้านก็ไม่ได้ เพราะพระราชกฤษฎีกามีศักดิ์เป็นกฎหมายที่เหนือกว่าระเบียบของหน่วยงานราชการระดับกรม
 
เพียงแต่มีคำถามว่าทำไม้ ทักกี้จะยอมเปลืองตัวกลับเข้าประเทศมานอนในห้องกักของ ตม.(หรือนอนโรงเรียนพลตำรวจบางเขน) ซัก 2-3 วันไม่ได้ ทำไมต้องทำให้มันวุ่นวายใหญ่โตกว่าที่ควรจะเป็น
 
การตราพระราชกฤษฎีกานี้จึงสรุปได้ในเบื้องต้นว่า ไม่ขัดต่อกฎหมาย รัฐบาลมีอำนาจทำได้ตามกฎหมาย แต่มีความเหมาะสม ชอบธรรมทางการเมืองหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่างน้อย รัฐบาลก็ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบทางการเมืองต่อกระแสต้านที่จะลุกฮือขึ้น
 
การยกเว้นความผิด
พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษทุกฉบับ จะมีข้อยกเว้นผู้ต้องโทษตามความผิดร้ายแรง ไม่ให้ได้รับการปล่อยตัว แต่ได้รับเพียงการลดโทษ ซึ่งลดโทษน้อยกว่าผู้ต้องโทษในคดีอื่นๆ ส่วนใหญ่จะอยู่ในมาตรา 8 ของ พรฎ.ทุกฉบับ โดยฉบับแรกๆ จะกำหนดความผิดไว้ในมาตรา 8 นั้น แต่ต่อมามีการเพิ่มฐานความผิดมากขึ้น ก็ทำเป็นลักษณะความผิดท้ายพระราชบัญญัติ
 
ตัวอย่างเช่น มาตรา 8 พรฎ.2542 เขียนตรงๆ ว่า
 
“ภายใต้บังคับมาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษในลักษณะความผิดดังต่อไปนี้
 
(๑) ความผิดตามมาตรา ๑๙๐ มาตรา ๒๑๘ มาตรา ๒๒๐ วรรคสอง มาตรา ๒๒๒ มาตรา ๒๒๔ มาตรา ๒๗๖ วรรคสอง มาตรา ๒๗๗ มาตรา ๒๗๗ ทวิ มาตรา ๒๗๗ ตรี มาตรา ๒๘๐ มาตรา ๒๘๒ มาตรา ๒๘๓ มาตรา ๒๘๙ มาตรา ๓๑๓ วรรคสอง หรือวรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายอาญา
 
(๒) ความผิดต่อกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ กฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติและกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ
 
ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหาร ดังต่อไปนี้......”
 
แต่ พรฎ.ปี 2547 มาตรา 8 เปลี่ยนไปเขียนว่า
 
“ภายใต้บังคับมาตรา 9 มาตรา 10 และมาตรา 11 นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษตามบัญชีลักษณะความผิดท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ ดังต่อไปนี้.....”
 
ข้างท้ายก็มีบัญชีความผิดเป็นหางว่าว
 
แต่กล่าวโดยสรุปว่า ความผิดร้ายแรงนี้กำหนดแตกต่างกันไปตามยุคสมัย เช่น พรฎ.ปี 2530 (เฉลิมพระชนมพรรษา 60 พรรษา) กำหนดให้ความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และภายนอกราชอาณาจักร อยู่ในความผิดร้ายแรง แต่พอปี 2539 กลับไม่มีความผิดต่อความมั่นคงฯ แต่มีความผิดกฎหมายยาเสพติดเข้ามาแทน และปี 2542 มีกฎหมายป่าไม้เข้ามาแทน เนื่องจากสังคมเริ่มตระหนักถึงกระแสรักษ์โลก
 
ถ้าย้อนไปดู พรฎ.เก่าๆ เช่นปี 2514 (ฉลองสิริราชสมบัติครบ 25 ปี) ยุคถนอม กิตติขจร หนักกว่าอีก มาตรา 8 เขียนว่า
 
“ผู้ต้องโทษในลักษณะความผิดดังต่อไปนี้ ไม่อยู่ในข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้
 
(๑) ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร และความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา
.............................
(๓) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์”
 
ที่น่าสนใจคือ พรฎ.ปี 2553 รัฐบาลประชาธิปัตย์ มีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงต่อราชอาณาจักร มาตรา 107-135 (รวม 112) กลับมาติดโผ ทั้งที่หายไปร่วม 20 ปี ขณะที่ พรฎ.ปี 2549 รัฐบาลทักษิณ เพิ่มความผิดฐานก่อการร้าย ซึ่งก็ติดโผเรื่อยมาจนถึง 2553
 
ส่วนความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตนั้น ปี 2542 ไม่มี (ตอนนั้นยังไม่มี ป.ป.ช.) เพิ่งมีครั้งแรกในปี 2547 แล้วก็มีต่อมาทั้งปี 2549,2550,2553
 
ถามว่าถ้า พรฎ.2554 ตัดออกแล้วขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ก็ไม่ขัดหรอกครับ เพราะมีการเพิ่มลดมาทุกฉบับ แต่มันไม่ใคร่สวยตรงที่ความผิดฐานนี้มีอยู่ในทั้ง พรฎ.ปี 47 และ 49 ซึ่งผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
 
เรื่องการเมือง อย่าอ้างพระราชอำนาจ
พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษแตกต่างจากการพระราชทานอภัยโทษตาม ป.วิอาญา มาตรา 259-261 ซึ่งเป็นการขอพระราชทานอภัยโทษรายบุคคล
 
พูดง่ายๆ ว่าฎีกาเสื้อแดงเข้าข่ายมาตรา 259-261 ขอพระราชทานอภัยโทษให้ทักษิณคนเดียว แต่การออก พรฎ.ตามมาตรา 261 ทวิ ไม่ได้ระบุชื่อทักษิณ เพราะมีผู้เข้าข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษ (ทั้งปล่อยตัวและลดโทษ) ตามเงื่อนไขต่างๆ 2 หมื่นกว่าคน โดยหลัง พรฎ.บังคับใช้จะมีการตรวจสอบรายชื่อส่งศาลให้สั่งปล่อยตัวหรือลดโทษ
 
เพียงแต่ผู้สูงอายุ 62 ที่เข้าเงื่อนไขต้องโทษจำคุก 2 ปี ในความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช. อยู่ระหว่างหลบหนี และลูกสาวกำลังจะแต่งงาน คงมีเพียงคนเดียว คริคริ
 
ป.วิอาญามาตรา 261 กับ 261 ทวิ แม้เขียนคล้ายกันคือ “ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเห็นเป็นการสมควร จะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องคำพิพากษานั้นก็ได้” กับ “ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นเป็นการสมควร จะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษก็ได้”
 
แต่ที่ต่างกันก็คือ 261 ทวิ เพิ่มว่า “การพระราชทานอภัยโทษตามวรรคหนึ่ง ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”
 
ผมเห็นว่าตรงนี้ทำให้มีความแตกต่างในเรื่อง “พระราชอำนาจ”
 
แม้รัฐธรรมนูญมาตรา 187 บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย” แต่เราจะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้มีบทบัญญัติให้พระมหากษัตริย์แสดงความไม่เห็นชอบ ต่อร่างพระราชกฤษฎีกาที่คณะรัฐมนตรี “ถวายคำแนะนำ” รัฐธรรมนูญให้อำนาจพระมหากษัตริย์แสดงความไม่เห็นชอบ (หรือสิทธิ VETO) เฉพาะร่างพระราชบัญญัติตามมาตรา 151 เท่านั้น (และยังให้อำนาจรัฐสภาลงมติยืนยัน 2 ใน 3)
 
ย้ำว่า นอกจากร่างพระราชบัญญัติแล้ว รัฐธรรมนูญไม่ได้มีบทบัญญัติให้พระมหากษัตริย์แสดงความไม่เห็นชอบ ต่อพระราชกำหนด หรือร่างพระราชกฤษฎีกา หรือแม้แต่การโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามที่คณะรัฐมนตรีหรือองค์กรต่างๆ เสนอ
 
เพียงแต่ในฐานะองค์ประมุข หากเกิดความไม่ชัดเจนในกระบวนการ (เช่นกรณีคุณหญิงจารุวรรณ ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแบบค้างคา) ในหลวงก็ไม่ลงพระปรมาภิไธย (ซึ่งเป็นเพราะปัญหากระบวนการ ไม่ใช่เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบตัวบุคคล)
 
ต้องยอมรับว่าเรื่องพระราชอำนาจในกฎหมายไทยมีความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน เป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่นอกจากการอิงหลักการประชาธิปไตยแล้ว อีกวิธีหนึ่งที่สามารถเทียบเคียงได้คือดูจากการปฏิบัติ ที่ในหลวงทรงปฏิบัติมาตลอด 65 ปี และทรงมีพระราชดำรัสไว้ชัดเจนในเรื่องมาตรา 7 ว่าพระองค์ไม่ได้มีพระราชอำนาจที่จะทำตามอำเภอใจ
 
ถ้าเราดูย้อนหลังตลอด 65 ปีจะเห็นว่าในหลวงทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชกฤษฎีกาทุกฉบับที่คณะรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ นั่นแปลว่าอะไร แปลว่าการออกพระราชกฤษฎีกาใดๆ เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบ อย่าเอาสถาบันมาเกี่ยวข้อง
 
ตัวอย่างเช่นพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง 2 เมษา 2549 พรรคไทยรักไทยเคยอ้างพระราชอำนาจ แต่ อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ก็ยืนยันว่าอ้างไม่ได้ เพราะการลงพระปรมาภิไธยไม่ได้หมายความว่าในหลวงเห็นชอบให้เลือกตั้งวันที่ 2 เมษา คณะรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ มาตามกระบวนการ ในหลวงก็ทรงลงพระปรมาภิไธย
 
พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษก็เช่นกัน แม้ชื่อ พรฎ.ระบุว่า “พระราชทานอภัยโทษ” แต่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขต่างๆ เมื่อเงื่อนไขหลักการนั้นๆ เอื้อให้ทักษิณ คณะรัฐมนตรีก็เป็นผู้รับผิดชอบ หากทรงลงพระปรมาภิไธย คุณก็จะอ้างไม่ได้ว่า ในหลวงทรงเห็นชอบ
 
ประเด็นนี้ต่างกับการพระราชทานอภัยโทษตามมาตรา 261 ซึ่งในทางปฏิบัติ สำนักราชเลขาธิการจะเข้ามามีส่วนพิจารณาประวัติและความประพฤติของนักโทษ การพระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคลจึงอาจกล่าวได้ว่าเป็น “พระราชอำนาจ” (น่าจะเป็นเพราะประเพณีที่สืบทอดมาแต่โบราณ พระมหากษัตริย์เป็นเจ้าชีวิต มีทั้งอำนาจประหารชีวิตและให้อภัย เมื่อเปลี่ยนระบอบ อำนาจตุลาการเป็นของศาล แต่ยังคงอำนาจให้อภัยไว้ที่พระมหากษัตริย์ โดยถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณ)
 
ที่พูดเรื่องนี้ไม่ใช่อะไรหรอกครับ เพราะผมไม่เห็นด้วยที่ ดร.เหลิมอ้าง “พระราชอำนาจ” ขณะที่ฝ่ายต่อต้านเช่นไทยโพสต์ก็พาดหัวอย่างไม่สมควรว่า “ทักษิณบังคับในหลวง”
 
เรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง ถ้าจะฟัดกันก็ฟัดกันเลย อย่าอ้างสถาบัน การออก พรฎ.เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล ในหลวงไม่เกี่ยว แต่ก็ไม่ใช่การ “บังคับ” ถ้าพูดอย่างนั้น พระราชกฤษฎีกาทุกฉบับในประเทศไทยก็ “บังคับในหลวง” เพราะระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถือว่าพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้สิทธิพระมหากษัตริย์ VETO ร่างพระราชกฤษฎีกา
 
เว้นเสียแต่มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ถ้าเช่นนั้นก็อาจยับยั้ง ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยจนกว่าจะมีความชัดเจน
 
ตุลาการภิวัตน์ VS นิติเหลิม
ถามว่าทำไมจึงต้องรีบเร่งเอาทักษิณกลับบ้าน ทั้งที่รัฐบาลกำลังอ่วมอรทัยกับน้ำท่วม
 
เงื่อนไขทางการเมืองมีหลายองค์ประกอบ ไปวิเคราะห์กันเอง แต่เงื่อนไขทางกฎหมายคือ การออกพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษทำได้เฉพาะวโรกาสมหามงคล ซึ่งนานๆ จะมีครั้ง
 
ผมไม่แน่ใจว่าปีหน้า ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา สมเด็จพระบรมราชินีนาถ จะมี พรฎ.พระราชทานอภัยโทษหรือไม่ แต่ถ้าผ่านพ้น 12 สิงหาปีหน้าไป ก็ต้องรออีก 4 ปี จึงถึงวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปีในปี 2559 และ 84 พรรษา สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในปีเดียวกัน จากนั้นปี 2560 หรืออีก 6 ปีก็จะถึงวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา ของในหลวง
 
ถ้าตกรถเที่ยวนี้ ถ้าไม่มีตั๋วปีหน้า ก็อีก 5 ปีเชียวนะครับ กว่าจะได้กลับมาอุ้มหลาน
 
ถามว่าเห็นด้วยไหม ในฐานะผู้สนับสนุนนิติราษฎร์ แก้ไขรัฐธรรมนูญ “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร” ตามหลักการประชาธิปไตย แน่นอนว่าผมไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมหรือวิธีการไต่ไปข้างคูของ “นิติเหลิม”
 
แต่ถ้าถามว่ารู้สึกอย่างไร ผมก็จะบอกว่า “สะใจดี” เพราะตอนที่พวกนิติแหลโจมตีนิติราษฎร์ ผมก็บอกแล้วว่ารัฐบาลไม่เลือกใช้แนวทางนิติราษฎร์หรอก เขาจะหาวิธีเรียนลัดตัดตอนตามสไตล์ทักษิณ แล้วเป็นไง เห็นไหมล่ะ
 
หัวหน้าพรรคแมลงสาบโวยวายว่า นี่เป็นการทำลายหลักนิติรัฐ ผมก็ไม่ได้บอกว่านี่เป็นการใช้อำนาจโดยชอบธรรม แต่จะบอกว่าหลักนิติรัฐถูกทำลายไปโดยรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แล้ว และถูกกระทืบซ้ำโดยคำวินิจฉัยของตุลาการภิวัตน์ในหลายๆ คดี (อ.วรเจตน์เรียกคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทยว่า “ประกาศคณะรัฐประหารในรูปคำวินิจฉัย”)
 
พวกพันธมิตรอ้างว่าหลักนิติรัฐถูกทำลายไปตั้งแต่คดีซุกหุ้น ผมเห็นด้วยว่าคดีซุกหุ้นทำให้หลักซวนเซ แต่ยังไม่ล้ม มาล้มเอาตอนรัฐประหารต่างหาก และหลังจากนั้นก็ถูกยำจนจำทางกลับบ้านไม่ได้
 
สื่อกระแสหลักพากันประณามว่า นี่คือวิธีการอันอัปลักษณ์ อัปยศ แต่ถามว่าวิธีการใช้ปืนใช้รถถังยึดอำนาจ แล้วตั้งฝ่ายตรงข้ามมาสอบสวน ชงลูกให้ตุลาการภิวัตน์วินิจฉัยว่า “ไม่ทุจริตแต่ติดคุก” คุณเรียกว่าอะไร เรียกว่าความถูกต้องชอบธรรมกระนั้นหรือ
 
คุณอาจพูดได้ว่านี่คือการใช้อำนาจทางการเมืองลบล้างความผิดของบุคคล แต่ถามว่าความผิดฐาน “ไม่ทุจริตแต่ติดคุก” นั้นได้รับการยอมรับว่ายุติธรรมในหัวใจผู้คนหรือไม่ ยกเว้นแต่ผู้คนที่ถูกปลุกให้มีแต่อคติและความเกลียดชังท่วมท้น
 
ถ้าพูดให้ถูก นี่ก็คือการ “ใช้อำนาจทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของปวงชน ลบล้างความผิดให้บุคคลที่ถูกกระทำโดยอำนาจนอกระบบ” ซึ่งถ้าบอกว่าต่างฝ่ายต่างไม่ถูกต้องชอบธรรม อำนาจการเมืองยังมีฐานที่มาโดยชอบกว่า
 
ย้ำว่าผมไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้ แต่ทำไงได้ ในเมื่อไม่มีใครเอาด้วยกับการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องตามหลักการตามแนวทางนิติราษฎร์ มันก็กลับไปสู่วิธีการแก้ปัญหาแบบบ้านๆ ดิบๆ เหมือนสังคมที่ไม่มีหลัก นั่นคือ กลับไปสู่การเอาชนะกันด้วยกำลังอำนาจ วัดกันว่าใครมีพวกมากกว่า ในการต่อสู้ทางการเมืองที่จะรุนแรง หรือกระทั่งบ้าคลั่ง นับแต่นี้เป็นต้นไป
 
ว่าแต่ ขอเตือนพวกเสื้อเหลือง พวกสลิ่มเฟซบุค และพรรคแมลงสาบไว้ว่า การต่อสู้ของพวกคุณคงจะลำบากซักไม่หน่อย ถ้าพวกคุณคิดหวังแต่จะให้มีการรัฐประหาร หรือให้มีอุบัติเหตุใดล้มรัฐบาล หรือตั้งเป้าจะไปสู่การล้มระบอบด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง เพราะมันมีแต่อับจน ไม่มีคนสนับสนุน ไม่ว่านานาชาติ หรือแม้แต่ “อำมาตย์” ส่วนหนึ่งก็ดูเหนื่อยล้า และอยากประนีประนอมกับอำนาจจากการเลือกตั้งมากกว่า
 
เพราะนอกจากจะมีการตั้งธงทอง จันทรางศุ เป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคาร ก็ยังทำให้พวกเสื้อเดงเชียงใหม่มึนตึ้บ เมื่อชื่อ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ตกหายไปจากโผย้ายผู้ว่าฯ เฉยเลย
 
แต่จะมีอะไรซับซ้อน พลิกผัน หลอกกันอีกทีหรือไม่ ต้องตามจับตาอย่ากระพริบ
 
                                                                                                ใบตองแห้ง
                                                                                                17 พ.ย.54
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "เฮ้ยไม่รู้เวล่ำเวลาเล้ย"

Posted: 17 Nov 2011 02:33 AM PST

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "เฮ้ยไม่รู้เวล่ำเวลาเล้ย"

อิเกียไทยแจงผ่าน FB อีกรอบ ส่งเรื่องให้อิเกียเยอรมนีแล้ว

Posted: 17 Nov 2011 02:22 AM PST

จากกรณีเมื่อวันที่ 16 พ.ย. มีผู้แสดงความไม่พอใจต่อการแสดงความเห็นในเฟซบุ๊กส่วนตัวของพนักงานอิเกียคนไทย ที่เยอรมนี รายหนึ่ง โดยเข้าไปเรียกร้องในแฟนเพจเฟซบุ๊กของอิเกีย ประเทศไทย ให้แสดงความรับผิดชอบหรือดำเนินการกับเรื่องดังกล่าว และวันเดียวกัน อิเกีย ประเทศไทย ชี้แจงผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่าเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท และชี้แจงอีกครั้งในเย็นวันเดียวกันว่า การแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคลบนหน้า เฟซบุ๊กของตนเอง ไม่ได้เป็นการแสดงความคิดเห็นของอิเกียประเทศใดๆ นอกจากนี้ บุคคลที่ได้แสดงความคิดเห็นนั้นไม่ได้เป็นพนักงานของอิเกีย ประเทศไทย และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอิเกีย ประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ในแฟนเพจดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
 

IKEA ขอย้ำว่าการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคลบนหน้า Facebook ของตนเอง ไม่ได้เป็นการแสดงความคิดเห็นของ IKEA ประเทศไทย, IKEA ประเทศเยอรมัน หรือ IKEA ประเทศใดๆ

บุคคลที่ได้แสดงความคิดเห็นนั้นไม่ได้เป็นพนักงานของ IKEA ประเทศไทย และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ IKEA ประเทศไทย เราเสียใจ ตระหนักและเคารพในความรู้สึกเจ็บปวด และอารมณ์โกรธ ของคนไทย และเราหวังว่าการมาของ IKEA ประเทศไทย และสิ่งที่ IKEA ประเทศไทยปฏิบัติ จะพิสูจน์องค์กรได้

ล่าสุด (17 พ.ย.54) อิเกีย ประเทศไทย แจงผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊กอีกครั้งว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจหรือเพิกเฉยต่อประเด็นต่างๆ ที่มีการแลกเปลี่ยนแต่อย่างใด โดยได้ส่งเรื่องให้อิเกีย เยอรมนี เพื่อดำเนินการตามกฎหมายเยอรมันแล้ว พร้อมระบุ อิเกีย ประเทศไทย เข้าใจและเคารพในความคิดเห็นของทุกคน อีกทั้งรู้สึกเสียใจและขออภัยเป็นอย่างยิ่งที่เหตุการณ์ครั้งนี้ได้สร้างความกระทบกระเทือนจิตใจชาวไทย

ทั้งนี้ หลังจากที่โพสต์ข้อความดังกล่าว มีผู้เข้ามาโพสต์แสดงความพอใจต่อการดำเนินการครั้งนี้ โดยบางส่วนขอให้รายงานความคืบหน้าด้วย
 

IKEA ประเทศไทย ขอขอบคุณทุกท่านที่แสดงความคิดเห็นด้วยความจริงใจ รวมทั้งข้อความแสดงความห่วงใย ความเสียใจ หรือความผิดหวัง รวมถึงกำลังใจที่มอบให้ หลังเกิดกรณีข้อความของพนักงานชาวไทยที่ทำงานใน IKEA เยอรมนี บนหน้า Facebook ส่วนตัวถูกนำมาเผยแพร่บน Facebook IKEA ประเทศไทย เมื่อเวลาประมาณเที่ยงวันที่ 16 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

IKEA ขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าเรามิได้นิ่งนอนใจหรือเพิกเฉยต่อประเด็นต่างๆ ที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือแสดงความรู้สึกตลอด 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา IKEA ประเทศไทย ตระหนักถึงความสำคัญสูงสุดของสถาบันพระมหากษัตริย์ และความจงรักภักดีของพสกนิกรชาวไทย IKEA ในฐานะผู้เริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เคารพวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีและประวัติศาสตร์ไทย เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เปิด IKEA บางนา ในประเทศไทย และเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย

เนื่องจากการแสดงความคิดเห็นบน Facebook ส่วนตัว ได้ถูกคัดลอกและนำมาเผยแพร่บนหน้า Facebook IKEA ประเทศไทย ทางเราได้รวบรวมข้อมูลและส่งต่อให้กับ IKEA เยอรมนีเพื่อดำเนินการในขั้นต่อไป ข้อมูลในที่นี้รวมถึงข้อความแสดงความคิดเห็นต่างๆ ทั้งในแง่บวกและลบตามที่ปรากฏอยู่บนหน้า Facebook IKEA ประเทศไทย โดยทาง IKEA เยอรมนีได้รับข้อมูลดังกล่าวเรียบร้อยแล้วเมื่อคืนวานนี้ ตรงกับเวลาเย็นของประเทศเยอรมนี และทาง IKEA เยอรมนีกำลังตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อดำเนินการภายใต้กฎหมายเยอรมันและระเบียบปฏิบัติของพนักงาน IKEA เยอรมนี

เป็นที่น่าเสียใจที่ Facebook ของ IKEA ประเทศไทย ถูกใช้เป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็นที่รุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อ IKEA ประเทศไทยเช่นกัน แม้ว่าเราจะพยายามซ่อนและลบข้อความที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งแล้วก็ตาม อย่างไรก็ดี เราไม่ได้ห้ามการแสดงความคิดเห็น แต่เราขอสงวนสิทธิ์ในการลบข้อความที่เป็นสาเหตุของความขัดแย้ง IKEA ประเทศไทย ขอความร่วมมือในการโพสต์ข้อความต่างๆ บน Facebook IKEA ประเทศไทย อย่างสุภาพ IKEA ไม่อนุญาตให้โพสต์ข้อความใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมายไทย ข้อความที่ไม่สุภาพหรือดูหมิ่น และข้อความที่อ่อนไหวต่อความรู้สึกของบุคคลทั่วไปบน Facebook ของ IKEA ประเทศไทย

IKEA ประเทศไทย เข้าใจและเคารพในความคิดเห็นของทุกคน เรารู้สึกเสียใจและขออภัยเป็นอย่างยิ่งที่เหตุการณ์ครั้งนี้ได้สร้างความ กระทบกระเทือนจิตใจชาวไทย

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คุยกับปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์: จับใจความสำคัญท่าทีของคลินตันต่อรัฐบาลพลเรือนของไทย

Posted: 17 Nov 2011 12:26 AM PST

สัมภาษณ์ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิจัยจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแห่งสิงคโปร์ ต่อกรณีการแถลงข่าวร่วมระหว่างนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา กับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทยซึ่งสาระสำคัญไม่ใช่การให้ความช่วยเหลือเรื่องน้ำท่วมและการกู้สนามบินดอนเมือง

อะไรเป็นสัญญาณที่น่าสนใจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐวานนี้
ผมคิดว่ามีทั้งหมด 5 เรื่อง เรื่องแรกคือรัฐบาลสหรัฐยืนอย่างเข้มแข็งอยู่เบื้องหลังรัฐบาลพลเรือนของไทย สอง คือสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลไทยในการสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันประชาธิปไตย สาม คือสนับสนุนให้ไทยเคารพในหลักของกฎหมายและหลักการปกครองที่ดี หรือ Good Governance สี่ คือสนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ห้า เป็นเรื่องเกี่ยวกับการสมานฉันท์ด้านการเมือง ผมคิดว่านี่เป็นสาระที่สำคัญของรัฐบาลสหรัฐ

และที่สำคัญคือผมคิดว่าสหรัฐสหรัฐเริ่มเข้าใจการเมืองไทยมากขึ้นในแง่ที่ว่า ที่ผ่านมา 20-30 ปีที่ผ่านมา ความสนใจของสหรัฐอยู่ที่การคงไว้ซึ่งมิตรภาพที่มีอยู่กับกองทัพและสถาบันอื่นๆ รวมถึงสถาบันกษัตริย์ด้วย แต่ว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยที่ผ่านมาทำให้สหรัฐต้องเปลี่ยนจุดยืน ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยได้ และผมคิดว่าสหรัฐปรับตัวช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น จีน เป็นต้น แต่ปรับตัวช้าก็ยังดีกว่าไม่ปรับตัวเลย

อาจารย์เคยให้สัมภาษณ์กับประชาไท เมื่อหลายเดือนมาแล้วว่าสหรัฐได้ข้อมูลที่ช้าไม่อัพเดท ท่าทีของฮิลลารี คลินตันครั้งนี้น่าจะมาจากการเปลี่ยนแปลงในด้านการรับข้อมูลข่าวสารด้วยหรือเปล่า

ผมคิดว่าส่วนหนึ่งอาจจะใช่ เพราะมีการเปลี่ยนตัวของเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำกรุงเทพฯ ด้วย และตั้งแต่การเปลี่ยนตัว ทูตคริสตี้ (เคนนีย์) ก็ออกมาแสดงบทบาททางการเมืองของไทยค่อนข้างมาก มีการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสถานทูตกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ผมคิดว่านี่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ

อีกส่วนหนึ่งคือ เคิร์ท แคมพ์เบล มาเมืองไทยเมื่อก่อนที่จะมีการสลายการชุมนุม และอยากพบกับผู้นำคนเสื้อแดง ผมคิดว่านั่นก็เป็นสัญญาณที่สำคัญว่าสหรัฐอยากจะรู้จริงๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น และผมคิดว่ามีตัวแปรหลายอย่างเช่น ความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เช่น สิ่งที่เกิดในอินโดนีเซีย หรือพม่า ฉะนั้น สหรัฐต้องกลับมาเน้นบทบาทนี้เหมือนเดิม คือ สนับสนุนประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

อีกเรื่องที่สำคัญคือจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ในส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองในสหรัฐเอง

สหรัฐกังวลกับการที่จีน เข้ามามีบทบาทมากขึ้นด้วย

แน่นอน แน่นอนมาก ในแง่ของภูมิภาค เราต้องเข้าใจว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มันเป็นภูมิภาคที่อยู่ใต้อิทธิพลจีนมานานนับเป็นพันปีแม้ในปัจจุบันด้วยความใกล้ชิดกันด้านภูมิศาสตร์ เราบอกได้เลยว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเหมือนสนามหลังบ้านของจีน

สหรัฐเองก็รู้สึกยากที่จะเข้าถึง แต่บทบาทก็ต้องเปลี่ยนไปเพราะจีนแผ่บทบาทมากเลย ในส่วนของไทยเองจีนก็เข้ามามีบทบาทอย่างมากในเมืองไทย ไม่ว่าจะช่วงวิกฤตการเมืองหรือวิกฤตน้ำท่วมก็ตาม แล้วจีนมีบทบาทสำคัญ คือไม่ได้เข้ามาเล่นกับการเมืองโดยตรง คือจีนคบได้กับทุกคนในเมืองไทย แต่สหรัฐมีข้อบกพร่องอย่างที่เคยให้สัมภาษณ์ประชาไทไป นี่เป็นจุดสำคัญที่สหรัฐต้องกลับเข้ามาเพื่อมาสร้างความสัมพันธ์ด้านยุทธศาสตร์ที่มีต่อไทยให้เข้มแข็งมากขึ้น

วิธีพูดของคลินตันเมือวาน เป็นเรื่องที่เราควรให้ความสำคัญมากแค่ไหน เพราะที่ผ่านสหรัฐให้ความสำคัญกับตัวเล่นทางการเมืองกลุ่มหนึ่ง แต่ท่าทีเมื่อวานเหมือนเป็นการย้ำว่ากำลังจะเปลี่ยนตัวผู้ที่สหรัฐกำลังจะให้การสนับสนุน

ผมก็ผิดหวังมากที่สื่อไทยไม่ได้ลงในรายละเอียดที่คลินตันพูด อาจจะเป็นเพราะสื่อนั้นทำรับใช้คนบางกลุ่ม ก็เลยไม่อยากพูดถึงประเด็นนี้ ผมคิดว่ามีความสำคัญ คือความสำคัญมีหลายๆ ด้าน ในแง่ของระดับรัฐมนตรีต่างประเทศมาเยือนไทยเอง และคนนี้ก็เป็นอดีตสตรีหมายเลขหนึ่ง และเขามาเยือนไม่กี่ประเทศและเลือกมาไทย มันก็มีนัยยะสำคัญ

การมานั้นส่งสัญญาณหลายอย่าง สำคัญที่สุดก็คือ การให้ความชอบธรรมต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และคลินตันเองก็ดีเฟนด์ให้ยิ่งลักษณ์หลายเรื่อง ดีเฟนด์กระทั่งว่ายิ่งลักษณ์ไม่ไปปรากฏตัวที่ฮาวายเพราะยิ่งลักษณ์ติดภารกิจ แต่เป็นสิ่งสำคัญมากที่ยิ่งลักษณ์จะต้องไปบาหลี ซึ่งเป็นการตีปลาหน้าไซ ถ้าหากใครจะโจมตียิ่งลักษณ์ว่าน้ำท่วมแล้วยังจะไปบาหลีอีก ผมคิดว่านี่จะช่วยได้เยอะมาก

แต่เราก็อาจจะพูดได้ว่าสหัฐตอนนี้มีสถานภาพง่อนแง่น และตามปกติ ขณะที่คลินตันเดินทางไปที่อื่น ก็พบปะและแถลงร่วมกับรมต. ต่างประเทศของประเทศนั้นๆ ไทยเองต่างหากที่ให้ความสำคัญกับสหรัฐมากเกินไป

ผมว่านั่นไม่ใช่ประเด็นเลย เพราะแม้สหรัฐจะง่อนแง่น หรือลดบทบาทลงมา แต่สหรัฐเองก็ยังเป็นประเทศมหาอำนาจ เป็นซูปเปอร์พาวเวอร์ ไม่มีใครปฏิเสธความจริงได้ และที่สำคัญคือไทยให้ความสำคัญกับสหรัฐโดยตลอด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐมาเยือนไทยก็ต้องได้พบกับนายกอยู่แล้ว มันไม่ได้หมายความว่าเราไปให้ความสำคัฐกับสหรัฐจนเกินเหตุ ผมว่าไม่ใช่

ถ้ามองในแง่การเมือง ธรรมเนียมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็คงต้องหาโอกาสในการสร้างประเด็นทางการเมืองของตัวเอง และมีผู้นำระดับสูงขนาดนี้มาก็ต้องใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ แต่ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องผิด

ยิ่งลักษณ์เมื่อวานได้คะแนนไหม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำวิพากษ์วิจารณ์ที่สำคัญก็คือเรื่องการสื่อสารของยิ่งลักษณ์
เข้าใจครับ ผมเห็นแล้วผมก็เหนื่อยใจ แต่ทำอย่างไรได้ละครับ คนเราไม่ได้พัฒนากันแบบข้ามคืนน่ะ ยิ่งลักษณ์มีความสามารถแค่นี้ก็คือมีแค่นี้ และผมคิดว่าไฮไลท์อยู่ที่ฮิลลารี มากกว่าอยู่ที่ยิ่งลักษณ์ ผมบอกตรงๆ ว่ายิ่งลักษณ์เป็นตัวประกอบแล้วกัน ถ้าเกิดว่าฮิลลารีเป็นผู้นำแสดงฝ่ายหญิง ยิ่งลักษณ์ก็เป็นผู้สนับสนุนฝ่ายหญิงและแมสเสจ อยู่ที่ฮิลลารีไม่ใช่อยู่ที่ยิ่งลักษณ์

อาจารย์สรุปเรื่อง 5 ประเด็นหลักที่คลินตันพูดเมื่อวาน แต่ทั้ง 5 ประเด็นนั้นเป็นประเด็นที่มีความขัดแย้งในตัวเองของสหรัฐทั้งนั้นเลย

ถูกต้อง มันก็เป็นเกมPower Politic คือส่วนหนึ่งอาจจะมองได้ว่าเป็น Lip Service เราคงไม่คาดหวังให้สหรัฐออกมาพูดว่าเราไม่สนับสนุนรัฐบาลประชาธิปไตยเราสนับสนุนรัฐบาลทหาร แต่ผมคิดว่ามันมันมีนัยยะที่สำคัญเพราะว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทย ถ้าสหรัฐมาพูดแบบนี้ในสถานการณ์ธรรมดาที่เราไม่มีความขัดแย้งกัน เราก็ยังพอเข้าใจได้ว่ามันเป็น Lip Service แต่เมื่อสถานการณ์เราเป็นแบบนี้สิ่งที่สหรัฐพูดก็เลยมีความหมายขึ้นมา

และอย่างที่เราพูดกันตั้งแต่แรกที่มีความต้องการของสหรัฐที่ต้องการเข้ามามีบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น มามีบทบาทกับเมืองไทยมากขึ้นมากกว่าแค่ลิปเซอร์วิส

อาจารย์มีข้อสังเกตอย่างไรต่อท่าทีของสื่อไทยที่ไม่เสนอ 5 ประเด็นที่อาจารย์กล่าวมา
สื่อไทยมีการแบ่งแยกออกเป็นฝักฝ่ายเป็นหลายสี และทีเป็นสื่อกระแสหลัก เราก็รู้ว่าสื่อกระแสหลักอยู่ข้างใคร ฉะนั้นสาระสำคัญของที่คลินตันพูดมันไปจี้จุดเขา เขาก็มีเหตุผลที่เขาไม่อยากตีพิมพ์ ไม่อยากที่จะนำเสนอข่าว อาจจะอ้างว่าปิดต้นฉบับเร็วอะไรก็แล้วแต่ ก็คงต้องให้โอกาส ก็ดูเขาวันนี้อีกทีแล้วกัน ถ้าวันนี้ไม่เสนอข่าวอีกผมก็คิดว่าแย่มาก ถือว่าใช้ไม่ได้ ขาดความรับผิดชอบ ฝากถึงไทยโพสต์ด้วยว่าเขาแย่มาก มีการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบทั้งสิ้น

ฉะนั้นก็ดูกันต่อไป ให้เวลาอีกวันหนึ่งถ้าสื่อในเมืองไทยยังไม่เสนอข่าวนี้ ซึ่งเป็นข่าวใหญ่และออกไปทั่วโลก และหัวใจสำคัญที่คลินตันพูดมันไม่ใช่เรื่องดอนเมืองอะไรหรอก มันเป็น 5 ข้อที่ผมพูด ถ้าเขาไม่เสนอก็คือเป็นประเด็นทางการเมืองที่อยากจะเก็บซ่อนไว้

สุดท้ายฮิลลารีพูดเรื่องการสนับสนุนกระบวนการปรองดอง แต่ดูมุ่งหวังในด้านเสถียรภาพทางการเมืองมากกว่าเรื่องความเป็นธรรมของผู้ได้รับผลกระทบหรือการค้นหาความจริง

ฮิลลารีจะลงรายละเอียดก็คงไม่รู้มากน้อยสักขนาดไหน แต่เป็นการพูดในภาพรวม คือถ้ามีเสถียรภาพก็ไม่ใช่แค่ดีกับเรา แต่มันดีกับเขาด้วย ทั้งในแง่เศรษฐกิจที่เขามาลงทุนกับเรา เขาคงไม่ลงลึกเพราะไม่เช่นนั้นจะผูกมัดตัวเองเกินไป ว่าต้องมีการค้นหาความจริง แล้วมีการลงโทษผู้กระทำผิด

แต่มีคำถามหนึ่งที่ผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องการนิรโทษกรรมและอภัยโทษ แล้วคลินตันพูดว่า หวังว่าประเทศไทยจะมีการสมานฉันท์ต่อไป แต่ผมคิดในใจ ถ้าผมจะตีความคือ เหมือนฮิลลารีบอกว่าจะมีการสมานฉันท์ก็ต้องให้ทักษิณมีส่วนร่วมด้วย ถ้าทักษิณไม่มีส่วนร่วมด้วย การสมานฉันท์ก็จะไม่สำเร็จ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น