โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ส.ส.ฝ่ายค้านวอล์กเอาท์ เหตุสภาเลือกพิจารณาญัตติ “ปรองดอง” ก่อนญัตติส่งเสริมการปลูกยางพารา

Posted: 16 Nov 2011 11:20 AM PST

ส.ส.พรรคฝ่ายค้านเดินออกจากที่ประชุม ภายหลังที่ประชุมมีมติเลือกพิจารณาเรื่องการศึกษาการปรองดอง ก่อนการพิจารณาญัตติการส่งเสริมการปลูกยางพาราและปาล์ม

วานนี้ (16 พ.ย.) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีการโต้แย้งเรื่องการเลือกญัตติขึ้นพิจารณาญัตติที่ 5 ระหว่างการพิจารณาญัตติการส่งเสริมการปลูกยางพาราและปาล์ม ซึ่งนายแพทย์สุกิจ อัถโถปกรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์ เสนอ กับเรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ซึ่งพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ เป็นผู้เสนอ โดยที่ประชุมเห็นชอบให้พิจารณาเรื่องการปรองดองก่อน ทำให้ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ไม่พอใจเดินออกจากห้องประชุมทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การประชุมยังคงดำเนินต่อไป เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติตามที่พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เสนอ

 ทั้งนี้ พลเอกสนธิ ได้ชี้แจงเหตุผลของการเสนอตั้งคณะกรรมการวิสามัญ พิจารณาแนวทางสร้างความปรองดองแห่งชาติว่า การปรองดองเป็นหัวใจหลักของสังคมเวลานี้ หากไม่มีการปรองดองเกิดขึ้นสังคมไทยจะบอบช้ำยิ่งขึ้น จึงตัดสินใจนำญัตติการปรองดองฯ เข้าสภา และเชื่อว่าทุกคนมีความรักชาติ อยากให้บ้านเมืองมีความสงบ

ข้อมูลบางส่วนจาก สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อาเซียนมีมติให้พม่าเป็นเจ้าภาพประชุมสุดยอดผู้นำฯ ปี 2557

Posted: 16 Nov 2011 11:08 AM PST

เมื่อวันที่ 15 พ.ย. มีรายงานว่า บรรดารัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศอาเซียน ได้ตกลงอนุมัติยอมรับข้อเสนอของพม่าที่ต้องการเป็นประธานกลุ่มในปี 2014 โดยพม่าจะสามารถจัดการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มอาเซียนได้ ภายหลังพม่าส่งสัญญาณด้านบวกที่ดีจากการปฎิรูปด้านประชาธิปไตยในช่วงที่ผ่านมา 

นายอานิฟาห์ อามาน รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เปิดเผยระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่เกาะบาหลีของอินโดนีเซียว่า ทุกประเทศได้ตกลงให้พม่าเป็นประธานจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน เพราะที่ผ่านมา พม่าได้เคลื่อนไหวเชิงบวกหลายด้านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย และผู้นำกลุ่มอาเซียนได้อนุมัติการให้พม่าเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนตามการเสนอแนะของรัฐมนตรีชาติอาเซียน 

อาเซียนมีมติให้พม่าเป็นเจ้าภาพประชุมสุดยอดผู้นำฯ หลังการปฏิรูปปชต. เป็นไปในทางบวก

ที่มา: Gunkarta Gunawan Kartapranata [CC-BY-SA-3.0 ]

รายงานระบุว่า เมื่อปี 2006 พม่าถูกบีบให้ทิ้งตำแหน่งประธานกลุ่มหลังจากเผชิญกระแสโจมตีว่าละเมิดสิทธิมนุษย์ชนและเสรีภาพอย่างรุนแรง แต่ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว ซี่งรัฐบาลทหารพม่าได้ถ่ายโอนไปสู่รัฐบาลพลเรือน รัฐบาลใหม่ได้เดินหน้ามาตรการเชิงบวกต่าง ๆ ที่สร้างความแปลกใจและพอใจแก่หลายฝ่าย ขณะที่การตัดสินใจให้พม่าเป็นประธานกลุ่มอาเซียน รวมทั้งการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก จะทำให้พม่าต้องพบกับตัวแทนจากชาติสหรัฐ ซึ่งเป็นชาติผู้สังเกตการณ์ของกลุ่มด้วย และที่ผ่านมา พม่ายังคงเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐอยู่ 

นายวันนา หม่อง เลวิน รัฐมนตรีต่างประเทศพม่า กล่าวว่า พม่ารู้สึกยินดีกับการที่อาเซียนได้สนับสนุนให้พม่าได้เป็นประธานจัดการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มอาเซียนในปี 2014

นักวิเคราะห์มองว่าการเปลี่ยนแปลงในพม่ามีการพัฒนาด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยตัวนักโทษการเมืองกว่า 6 พันคนในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา การลดความเข้มงวดในการปิดกั้นสื่อ การตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และการเปลี่ยนแปลงกฎหมายการเลือกตั้งที่เปิดโอกาสให้พรรคเอ็นแอลดีของนางออง ซาน ซูจีได้ลงแข่งขัน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 พ.ย.  นางออง ซาน ซู จี ผู้นำเพื่อการปกครองแบบประชาธิปไตยของพม่าได้ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวเนื่องในวันครบรอบ 1 ปีที่นางได้รับการปล่อยตัวว่า รัฐบาลพม่าได้ดำเนินมาตราการในทางที่ดีต่อการปฏิรูปประเทศนับตั้งแต่นางได้รับการปล่อยตัว อย่างไรก็ตามนางซู จี กล่าวว่ารัฐบาลจำจะต้องดำเนินการในอีกหลายเรื่องต่อไปซึ่งรวมถึงการปล่อยตัวนักโทษการเมืองอีกหลายร้อยคนด้วย

ซูจียังกล่าวว่า การที่นางได้พบปะกับนายออง จี รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานกับประธานธิบดีเต็ง เส็งของพม่านับเป็นความคืบหน้าที่ที่สำคัญยิ่ง นางกล่าวว่า นางเชื่อว่า ประธานาธิบดีเต็ง เส็งซึ่งมีแนวคิดที่เป็นกลางและเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายใต้การปกครองของทหารมาเป็นเวลานานจะเป็นผู้ดำเนินการปฏิรูปประเทศ แต่กระนั้นก็ตามนางซู จี กล่าวว่า นางยังไม่ได้รับทราบข่าวว่าจะมีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองแต่อย่างใด

 

ที่มา: เรียบเรียงจาก มติชนออนไลน์, สำนักข่าวแห่งชาติ   

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เฟมินิสต์ไทย คุณลืม Feminist Mind ไว้ที่ไหน?

Posted: 16 Nov 2011 11:00 AM PST


นับเป็นเวลาสองสัปดาห์มาแล้ว ที่คนไทยหลายคนต้องผงะกับความเห็นบนเฟซบุ๊คของนายเอกยุทธ อัญชันบุตร คงไม่ต้องเท้าความอะไรกันมาก เพราะคงได้เห็นกันหมดแล้ว แต่เผื่อว่าใครไปจำศีลอยู่ในถ้ำและเพิ่งออกมา ก็ลองอ่านดูว่าต้องผงะเพราะอะไร (screen capture เฟชบุ๊คของนายเอกยุทธ วันที่ 2 พ.ย.)

แน่นอนว่า ใครมีเซลล์สมองที่ยังทำงานอยู่ ก็ย่อมจะเข้าใจได้ตรงกันว่า “สาวเหนือ” ที่นายเอกยุทธพูดถึงในโพสต์ นั้นเป็นใคร ส่วนนายเอกยุทธ ถ้าใครยังไม่รู้จัก ก็ไปดูประวัติกันเอาเองในวิกิพีเดียพราะบทความนี้ไม่ได้สนใจนายเอกยุทธ แต่สนใจปฏิกิริยาตอบสนองต่อคำพูดของเขา ซึ่งเป็นผลพวงที่น่าเอามาขบคิดยิ่งกว่า

คำพูดของนายเอกยุทธ มีคนแชร์กันไปมากกว่าพันครั้งบนหน้าเฟชบุ๊คของเขาเอง (ซึ่งวันนี้ลองไปเปิดดูอีกที แต่ดูเหมือนว่าโพสต์นี้จะไม่อยู่แล้ว อาจจะลบไปแล้ว) ถ้าลบไปจริงๆ ก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะแม้จะมีแฟนคลับชูนิ้วให้ 31 คน แต่ส่วนใหญ่ทิ่มหัวนิ้วโป้งให้กับโพสต์นั้นกันเป็นพรวน มีเสียงด่าจากรอบทิศ แถมถูกฟ้องฐานหมิ่นประมาทต่อผู้หญิงเหนือด้วยหลายราย ทั้งในเชียงใหม่และกรุงเทพฯ

คิดว่านายเอกยุทธก็คงคาดไม่ถึงว่าปฏิกิริยาจะรุนแรง และขยายวงกว้าง เพราะอาจหลงคิดไปว่าคนอื่นคงคิดเหมือนตน พอเห็นว่าแม้แต่แฟนคลับยังรับไม่ได้ ก็ออกมาขยายความ แต่ยิ่งแถๆ ไถๆ ไปแบบน้ำขุ่นๆ ว่า “พูดความจริง” และ “ไม่ได้ดูถูก” ผู้หญิงอาชีพขายบริการ คนฟังก็ยิ่งเบือนหน้าหนี คนเหนือในเน็ตถึงกับหมายหัวว่า “อย่ามาเหยียบภาคเหนือเชียวนะ!” มีคนไปเปิดเฟซบุ๊ค เอาไว้ด่านายเอกยุทธโดยเฉพาะ ชื่ออย่างยาวว่า มั่นใจคนเหนือไม่พอใจAkeyuth Anchanbutr กับการดูถูกชาวเหนือเป็นหญิงขายบริการ ซึ่งตอนนี้ยังมีคนทะยอยเข้าไปด่าอยู่เรื่อยๆ

ในฐานะที่ดิฉันเป็นคนเหนือ ยอมรับว่า เมื่อเห็นคำพูดของนายเอกยุทธครั้งแรกทางทวิตเตอร์ก็ “ของขึ้น”เช่นกันค่ะ และได้ประณาม ไปอย่างตรงๆ เป็นหนึ่งในชาวเน็ตจำนวนมากทั้งเหนือและไม่เหนือ หญิงและชาย ที่ออกมาร่วมประณาม ภาคประชาชนในเชียงใหม่ ก็ออกมาแสดงพลังต่อต้านที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ในวันต่อมา ตัวแทนกลุ่มพลังผญ๋าแม่ญิงล้านนา มหาวิทยาลัยล้านนา มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ กลุ่มพัฒนาสตรีเชียงใหม่ สมาชิกสภาเทศบาลนครเชียงใหม่และองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งกลุ่มผู้หญิงเสื้อแดง ราว 200 คน พร้อมใจกันประณามคำพูดนายเอกยุทธว่าเป็นการดูถูกและหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ของ“หญิงบริการ”และผู้หญิงเหนือ

ปลื้มใจค่ะ ที่ภาคประชาชน ตื่นตัวออกมาปกป้องศักดิ์ศรีของแม่ญิงเหนือ สิ่งที่น่าประทับใจที่สุดคือ คนเหนือปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนทำอาชีพขายบริการอย่างแข็งขัน เพราะนั่นเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ไม่รังเกียจคนอาชีพนี้ และไม่ยอมรับคำดูถูกดูหมิ่นที่นายเอกยุทธเอามายัดเยียดให้ ถ้าผู้ที่ถูกปรามาสด้วยคำนี้ ไม่รับว่าเป็นคำดูถูกอย่างที่คนตั้งใจด่า มันก็ไม่ใช่คำด่าที่ได้ผล นอกจากนั้น กลุ่มพลังผญ๋าแม่ญิงล้านนา และเครือข่ายแม่ญิงพะเยายังไปแจ้งความกับตำรวจ ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อนายเอกยุทธในข้อหาหมิ่นประมาทอีกด้วย

แต่พอปลื้มไปได้พักหนึ่ง ก็เริ่มเอะใจว่า ทำไมรายชื่อองค์กรภาคประชาชนที่ออกมาแสดงพลังไม่มีตัวแทนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมด้วย มช.มีแผนกสตรีศึกษาซึ่งปกติก็มีเฟมินิสต์ประจำบ้านที่ออกมามีบทบาท ให้ความเห็นต่างในสังคมอยู่ แต่ทำไมงานนี้ไม่เห็นมีใครออกมา ในวันแรก มีคนที่เรียกได้ว่าเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี หรือที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งว่า “เฟมินิสต์” ที่เป็นที่รู้จักออกมาให้ความเห็นแค่สองคน คนหนึ่ง คือ “คำ ผกา” ลักขณา ปันวิชัย เธอตอบได้อย่างสั้นๆ จะๆ ถึงใจ ว่า “ขายหีมีศักดิ์ศรี[กว่า]ฆ่าคนนะเอกยุทธ์”  ทวีตอันนี้มีคนรีทวีตไป 42 คน อีกคนหนึ่ง คือ อาจารย์ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ รายนี้ตอบมาเป็นซีรีย์  9 ทวีต เลือกมาให้ดูบางส่วน

"เข้าใจได้ที่จะมีคนมากมายไม่ชอบและด่าทอนายกยิ่งลักษณ์ด้วยเหตุต่างๆ กัน วิธีที่เธอถูกด่าบอกอะไรที่น่าสนใจเกี่ยวกับสังคมไทย (1)” –มีคนรีทวีต 17 คน (ลิงก์)

"การด่านายกหญิงโดยพูดถึงความเป็นหญิงเหนือของเธอทำให้คนที่ไม่ถูกใจเธอสะใจ ได้ แต่ก็ทำให้เห็นว่าแท้ที่จริงสังคมไทยก้าวไม่พ้นมายาคติของเพศสภาพ(4)” –มีคนรีทวีต 44 คน (ลิ้งก์)

“นายกปูไม่ได้ดีไปหมด ปกป้องเธอโดยไม่เลือกประเด็นแบบไม่ให้ใครแตะก็ไม่สร้างสรรค์ ด่าเธอแบบไม่ลืมหูลืมตาหยาบคายไร้ประเด็นก็ไม่สร้างสรรค์ (8)” –มีคนรีทวีต 66 คน (ลิงก์)

“วิพากษ์+ตั้งคำถามกับนายกยิ่งลักษณ์ในประเด็นนโยบาย การทำงาน การใช้อำนาจ ดีกว่า จะได้มีอะไรคิดต่อประเทืองปัญญาได้บ้าง (9)” –มีคนรีทวีต 38 คน (ลิ้งก์)

ให้ข้อคิดดีค่ะ ดิฉันอ่านทั้งชุด รวมที่ทวีตต่อๆ มาในอีกหลายวันแล้วก็เห็นด้วยในหลายประการ แต่จนถึงวันนี้ ก็ยังรู้สึกเหมือนเกาไม่ถูกที่คัน คงเป็นเพราะอาจารย์ไม่ได้ตีประเด็นจังๆ เหมือนคำ ผกา ซึ่งตอบโต้ และตีประเด็นให้แตกออกมาอย่างชัดเจนเห็นแจ้งใน สัมภาษณ์ทางว้อยซ์ทีวี ดังนี้

1. คำพูดนายเอกยุทธ เป็นการเหยียดทั้งเพศ เหยียดภาค และเหยียดชาติพันธุ์ ซึ่งรังแต่จะยิ่งสร้างความแตกแยกในสังคมเพิ่มขึ้น

2.  ผู้หญิงขายบริการก็มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (เหมือนคนอื่น)

3.  คำพูดนายเอกยุทธถือว่าเป็นโอกาสดีที่คนไทยจะได้ทบทวนความรู้สึกนึกคิดของตนเกี่ยวกับการเหยียดเพศ เหยียดภาคที่ยังมีอยู่ในสังคมนี้

เปรียบเทียบความคิดเห็นเฟมินิสต์ชื่อดังสองคนแล้วต้องบอกว่า ของ คำ ผกา โดนใจแบบห่างหลายขุม (แน่นอนค่ะ คนอื่นอาจไม่เห็นด้วย) ซึ่งดิฉันคิดว่าไม่ใช่เพราะ คำ ผกา เก่งหรือฉลาดกว่า แต่คิดว่าเป็นเพราะตาที่มอง สมองที่คิด เป็นคนละชุดกัน ประสบการณ์และมุมมองอาจต่างกัน  แต่ดิฉันอดแปลกใจไม่ได้ ว่าทำไมอาจารย์ชลิดาภรณ์ ซึ่งความสามารถทางวิชาการไม่เป็นรองเฟมินิสต์คนใด ทำไมไม่พูดถึงการเหยียดผู้หญิงทั้งภาคเหนือ หรือเป็นเพราะอาจารย์ไม่ได้เป็นคนเหนือ ดิฉันเชื่อแน่ว่าระดับอาจารย์ต้องเห็นทันทีว่า วาทะนั้นมันมีการเหยียดหยามหลายมิติ ไม่ใช่แค่มิติกดขี่เพศหญิงเท่านั้น แม้คนด่าจะตั้งใจด่านายกฯหญิง แต่เอาผู้หญิงอาชีพหนึ่ง เอาผู้หญิงทั้งภาคมาด่า เพื่อจะให้กระทบคนๆ เดียว  เพราะฉะนั้น ยังมีมิติภาค มิติชาติพันธุ์ และ มิติชนชั้น อีกด้วย

แปลกใจว่าทำไมกลุ่มผู้หญิงซึ่งหลายคนอาจจะเรียกว่าระดับ “บ้านๆ” ในเชียงใหม่ พะเยา หรือแม้แต่ชนชาวเน็ตธรรมดา ทั้งหลาย ทั้งชายหญิง ซึ่งส่วนใหญ่คงไม่เคยได้เรียนสตรีศึกษามาก่อน ถึงเห็นได้ทันทีว่า นายเอกยุทธเหมาดูถูกผู้หญิงทั้งภาค ทั้งอาชีพ หรือว่า ผู้หญิงระดับบ้านๆ และคนเหล่านี้ มี  Feminist Mind โดยธรรมชาติ หรือเพราะพวกเขามีความรู้สึกร่วมต่อมนุษย์ร่วมสังคม ร่วมโลก (Empathy) ซึ่งดูเหมือนเฟมินิสต์ระดับแนวหน้าในเมืองไทยทั้งหลาย เอาไปลืมไว้ที่ไหนที่ใดที่หนึ่ง ในกรณีนี้

ลดาวัลล์ วงศ์ศรีวงศ์ ผู้หญิงเหนือที่มีบทบาทในสังคมอีกคนหนึ่ง ปัจจุบันเป็นประธานชมรมเสียงสตรี บอกว่า คำพูดของเอกยุทธ เป็นการ “ตบหน้าผู้หญิงไทยทั้งประเทศ” (ดูวีดีโอ ; ข่าว)  เรียกร้องให้ต่อต้านนายเอกยุทธอย่างกว้างขวาง เพราะเห็นว่าควรทำให้เป็นเยี่ยงอย่าง ว่าจะมาสบประมาทผู้หญิงเล่นๆ แบบนี้อีกไม่ได้ คำถามที่ตามมาคือ เฟมินิสต์ที่ไม่ใช่คนเหนือรู้สึกถูก “ตบหน้า” ร่วมด้วยหรือไม่  หรืออย่างน้อยรู้สึกการสั่นสะเทือนของแรงตบจากนายเอกยุทธหรือไม่

ครบหนึ่งสัปดาห์  มีนักการเมืองหญิงจากทั้งสองฝ่ายออกมาแสดงความเห็น  ฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เขียนบทความลงในมติชน “ขอความเป็นธรรม” ให้กับนายกฯ และหญิงไทย บอกว่านายกฯ เป็นบุคคลสาธารณะ วิจารณ์ได้ แต่ขอให้วิจารณ์อย่างมีวุฒิภาวะ ใช้ตรรกะและเหตุผล ไม่ใช้มุสาวาจา

“แฝงทรรศนะความคิดเห็นที่หมิ่น ดูแคลน เหยียดหยามผู้หญิงไทยอย่างรุนแรง มามุ่งทำลาย สร้างความเกลียดชัง เพราะหวังผลทางการเมืองแบบไร้สติ สร้างความขัดแย้งทางสังคมที่กว้างขวางขึ้น” การตอบโต้นี้ แสดงว่า รัฐบาลเองก็ให้ความสำคัญกับคำพูดของนายเอกยุทธ ซึ่งดิฉันเห็นว่าถูกต้องแล้วที่โฆษกสำนักนายกฯ ออกมาตอบโต้อย่างชัดเจน จุดที่น่าสนใจคือ ฐิติมา ไม่ได้ใช้คำว่า “ผู้หญิงเหนือ” แต่ใช้คำว่า “ผู้หญิงไทย”

นักการเมืองหญิงฝ่ายค้านสองคนก็ออกมาในวันเดียวกัน ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู และ มัลลิกา บุญมีตระกูล สส. พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นคนภาคเหนือทั้งสอง ไม่ได้พูดถึงนายเอกยุทธ แต่กลับมุ่งเป้าไปที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์โดยตรง ทั้งสองให้สัมภาษณ์ไปในทางเดียวกัน ว่านายกฯ เอง เป็นต้นเหตุทำให้ผู้หญิงถูกตรวจสอบ เพราะทำตัว ขี้แย อ่อนแอ ใช้มารยาหญิง จนทำให้คนดูถูก ทำให้ผู้หญิงไทยเสียหาย

ศิริวรรณ รองหัวหน้าพรรคปชป.  ดูแลภาคเหนือ วิจารณ์ว่า ตัวนายกฯ ทำให้ “เป็นที่ถกเถียงกันกว้างขวางว่าผู้หญิงเหนือมีความสามารถแค่นี้หรือ…  ใช้มารยาหญิงผิดที่ผิดทางหรือไม่… พรรคประชาธิปัตย์ต้องนำมาขบคิด … เพราะเราไม่อยากให้ภาพลักษณ์ของหญิงเสียหายไปมากกว่านี้”  ส่วน มัลลิกา รองโฆษก ปชป. วิเคราะห์น้ำตานายกฯ ได้อย่างน่าทึ่ง “การร้องไห้ครั้งที่ 1 น่าสงสาร ร้องไห้ครั้งที่  2 น่าเห็นใจ ร้องไห้ครั้งที่  3 มันเริ่มน่าสงสัย แต่พอครั้งที่  4 อันนี้ผู้หญิงคนนี้เริ่มเยอะไป จริตเยอะจนคนดูถูกผู้หญิงในภาพรวม” แถมท้ายด้วยว่า นายกฯ “ใช้เวลาไม่ถึง 3 เดือนทำลายภาพลักษณ์ผู้หญิงที่เราพยายามปกป้องกันตลอดชีวิต”

สรุป คือ คนที่ผิดเป็นนายกฯ เอง! อนุมานได้ว่า นายเอกยุทธ และคนอื่นๆ ที่ดูถูก เหยียดหยาม นายกฯ และผู้หญิงเหนือ มีเหตุผลอันควร?!!  ยอมรับว่า คำพูดของ ส.ส.หญิงทั้งสอง ทำให้ดิฉันผงะหงายมากกว่าคำพูดนายเอกยุทธเสียอีก กล่าวคือ ถ้าคำพูดนายเอกยุทธ เป็น “แรงตบ” คำพูดของส.ส.หญิง ปชป ทั้งสอง คือ “แรงกระทืบซ้ำ” น่าสงสัยว่า ถ้าส.ส.หญิงสองคนนี้ เห็นผู้หญิงถูกชายกักขฬะฉุดไปข่มขืน จะชี้ไปที่ผู้หญิงคนนั้นว่าผิดเอง เพราะทำตัวล่อไอ้เข้ หรือไม่

วันต่อมา ราวกับว่า กลัวชนชาวไทยจะไม่ซาบซึ้งที่ สส.หญิง ในพรรคพูดไว้ คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช ออกมาย้ำอีก เรื่องการร้องไห้ “ในการเมืองไม่มีผู้หญิงหรือผู้ชาย เมื่ออาสามาแล้วต้องทำงานให้ได้ ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีที่เข้มแข็ง มุ่งมั่น ดังนั้นอย่าร้องไห้ เพราะนอกจากจะไม่ได้แก้ปัญหาอะไรแล้ว ยังทำให้ภาพพจน์ของผู้หญิงเสียหาย”

ดิฉันเชื่ออย่างจริงใจค่ะคุณหญิง เพราะเชื่อว่าคุณหญิงพูดจากประสบการณ์ ว่า “ในการเมืองไม่มีผู้หญิงหรือผู้ชาย” เพราะอย่างที่เห็นๆ กันอยู่ ในเกมการเมืองบ้านเราที่ไม่ยึดถือหลักการ แต่ยึดการเอาชนะคะคาน ชิงไพ่ ไม่เอากฏเกณฑ์ถ้ามันไม่ให้ประโยชน์ต่อตน ไม่ได้ด้วยเล่ห์ ก็เอาด้วยกล เหตุผล มนุษยธรรม ความเป็นธรรม หรือเพศของนักการเมือง ไม่ได้เป็นหลักชี้นำความประพฤติของนักการเมือง ไม่ว่าในพรรคใด ไม่ว่าหญิงหรือชาย  ดูตามความคิดของคุณหญิงและลูกพรรคปชป.ข้างต้นแล้ว  ดิฉันคิดว่าดิฉัน คงไม่กล้าถามว่ามี  Feminist Mind อยู่หรือไม่ เพราะไม่แน่ใจว่ามี Humanist Mind หรือเปล่า เห็นแต่ Genderless Politician’s Mind ที่มีวิญญานไฮยีน่า จ้องหาเหยื่อถูกทำร้ายมาบริโภค

วันที่ 8-9 พ.ย. ดิฉันรู้สึกหดหู่ กับคำพูดของสส.หญิง ปชป. มาก ดิฉันอาจจะอ่อนหัด เพราะนึกไม่ถึงว่าจะทำกับเพศเดียวกันได้ขนาดนี้ ที่พูดมาไม่ใช่เพราะดิฉันรักนายกฯ หญิงเป็นพิเศษ ส่วนตัวแล้วไม่ได้รู้สึกว่ารักหรือเกลียด แต่ดิฉันให้เกียรตินายกฯ ในฐานะผู้นำของประเทศที่ประชาชนเลือกมาแล้วอย่างถูกต้องตามครรลองประชาธิปไตย นายกฯ ทำงานมาสามเดือน ดิฉันก็เห็นว่ามีหลายประการที่ควรปรับปรุง แต่ก็ไม่ได้เห็นว่าแตกต่างมากจากนายกฯ ชายหลายคนในอดีต ไม่มีใครที่เข้ามาแล้วทำอะไรเก่งไปหมดทุกอย่าง แต่เมื่อเข้ามาแล้วก็ต้องทำให้ดีที่สุด เท่าที่เห็นก็คิดว่าพยายามเต็มที่ แม้จะไม่ได้อย่างใจทุกเรื่อง แต่ดิฉันยิ่งเห็นนายกฯ ถูกโจมตีอย่างไม่ลดละ ทั้งที่มีเหตุผลและไม่มีเหตุผล ซึ่งบ่อยครั้งเป็นอย่างหลัง ดิฉันก็อดเห็นใจไม่ได้ แต่ต้องบอกว่าตอนนี้ชื่นชมในคุณสมบัติของนายกฯ อยู่อย่างหนึ่ง คือความอดทนและอดกลั้น ไม่โต้ตอบเมื่อถูกโจมตี แต่ตั้งใจทำงาน (ดีไม่ดีก็อีกเรื่องหนึ่ง) คุณสมบัตินี้หายากในนักการเมือง ถ้านายกฯ เต้นตามแรงโจมตี ก็คงไม่ต้องทำอะไรกัน

แต่พออีกวัน ก็มีกำลังใจขึ้นมาหน่อย เมื่อบทความของ สนิทสุดา เอกชัยออกมาในบางกอกโพสต์ จริงๆ ก็รอบทความจากคนนี้อยู่  เขียนได้อย่างไม่ผิดหวัง โดยเฉพาะเห็นเหมือนกันว่า บทบาทของเฟมินิสต์ระดับชาติหายไป คุณสนิทสุดาเขียนว่า “คิดว่าวาทะแห่งความเกลียดชังของนายเอกยุทธ จะเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้ผู้หญิงหลากสีหลายฝ่าย ออกมารวมตัวกันประณาม แต่คาดผิดไปจริงๆ…  ความเงียบกริบของนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีอื่นๆ [นอกจากกลุ่มผู้หญิงเหนือ] ดังเสียจนกลบโสตประสาท… ไม่ว่าจะเพราะอะไร ความเงียบเป็นการก้าวผิด  เพราะการสร้างความตื่นตัวเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในการขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงทางสังคม” สนิทสุดาย้ำในประเด็นที่ภาคประชาชนชาวเหนือ คำ ผกา และผู้นำหญิงชาวเหนือคนอื่นๆ ได้ออกมาพูดแล้วว่า คำพูดของนายเอกยุทธเป็นการแสดงความเกลียดชังต่อเพศหญิง เป็นการดูถูกดูหมิ่นชาติพันธุ์ และไม่ควรปล่อยให้เป็นที่ยอมรับในสังคม 

สนิทสุดาถามว่า “ทำไม” เฟมินิสต์ระดับชาติทั้งหลายไม่ออกมารวมพลังต่อต้าน  ดิฉันก็สงสัยเหมือนกัน ว่าทำไม  สนิทสุดา บอกต่อว่า “คุณไม่จำเป็นต้องชอบนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่จะรู้สึกเจ็บร้อน ขอให้คุณเชื่อแค่ว่า การเหยียดเพศ เหยียดชาติพันธุ์เป็นสิ่งที่ผิด”  เพราะฉะนั้น คำถามของดิฉันคือ นักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีแนวหน้าที่หายไป นักต่อสู้ที่เคยออกมาให้ความเห็นว่า นายกฯ หญิงคนแรกของไทย “ไม่มี Feminist Mind” “เป็นชายในร่างหญิง” ใช้สรรพนามไม่ถูกต้อง ต่างๆ นานา ตอนนี้ ควรออกมาทำหน้าที่เป็นเฟมินิสต์ที่สมควรหรือไม่

อ.ชลิดาภรณ์ ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจในทวีตหนึ่ง เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ว่า

“มีนายกฯหญิงทำให้ผู้หญิงถูกด่า ทำงานไม่ถูกใจก็ด่า ด่ากันเองก็โดนด่า ไม่ด่านายกฯก็โดนด่า ไม่ปกป้องนายกฯก็โดนด่า เกิดเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบากนะ” –มีคนรีทวีต 24  คน (ลิงก์)

อ่านแบบขำๆ ก็เป็นจริงอย่างที่อาจารย์ว่า แต่คงต้องถามต่อว่า “แล้วไง?” บทบาทของผู้หญิง โดยเฉพาะเฟมินิสต์ควรเป็นอย่างไรในเรื่องนี้ เฟมินิสต์ชั้นแนวหน้าในประเทศไทยทั้งหลายเห็นว่า การที่นายกฯ และผู้หญิงเหนือถูกรุกรานแบบนี้เป็นเรื่องที่ต้องออกมาแสดงจุดยืนในฐานะนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีหรือไม่ อยากถามผู้นำเฟมินิสต์ ที่เชื่อในการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมระหว่างเพศทุกคนว่า คุณคิดว่า คุณควรมีบทบาทอย่างไร คุณรู้สึกเจ็บร้อนร่วมบ้างหรือไม่ที่ผู้หญิงไทยภาคหนึ่งถูกดูหมิ่นเหยียดหยามอย่างไม่ไว้หน้า

ที่อ.ชลิดาภรณ์แย้มมาว่า “ไม่ด่านายกฯก็โดนด่า ไม่ปกป้องนายกฯ ก็โดนด่า” นั้น ลองเอามาตรึกตรองดูอีกที เท่าที่มีคนออกมาพูดเรื่องนายเอกยุทธ มีเพียงคุณฐิติมาคนเดียวที่ออกมาปกป้องนายกฯ โดยตรง คนอื่นออกมาปกป้องผู้หญิงโดยรวมค่ะ หรือจะเป็นไปได้ว่า ความเงียบจากเฟมินิสต์ชั้นแนวหน้าของเมืองไทยมีเหตุมาจากคิดว่าคำเหยียดหยามจากนายเอกยุทธเกี่ยวข้องเฉพาะนายกฯ เท่านั้น ถึงไม่ได้ให้ความสนใจ?

เป็นไปได้อย่างไร ทั้งที่คนถูกเหยียดหยามมีให้เห็นชัดๆ อีกสองกลุ่มคือ หญิงในอาชีพขายบริการ และหญิงเหนือ หลายคนยังเห็นว่าเหยียดหยามหญิงไทยทั้งประเทศเสียด้วยซ้ำ สมมตินะคะว่าเฟมินิสต์ที่หายไปทุกคนไม่ชอบนายกฯ ยิ่งลักษณ์จริงๆ เพราะคิดว่า “โง่” “ไร้ความสามารถ”  “เหาะมา” หรือ อะไรก็แล้วแต่ สมมุติว่านายกฯ  เป็นอย่างที่คุณคิดจริงๆ ความเป็นผู้หญิง ความเป็นมนุษย์ ของนายกฯ ลดน้อยลงไปหรือ ในมุมกลับ หญิงขายบริการ หญิงชาวเหนือ ถูกเหยียดหยาม เพราะถูกนำมาใช้เป็นอาวุธทำร้ายนายกฯ ความเป็นผู้หญิง ความเป็นมนุษย์ ของผู้หญิงสองกลุ่มนี้ ลดน้อย ถอยลงหรือ ควรค่าแก่การปกป้องน้อยลง เพราะถูกนำมาเกี่ยวโยงกับ นายกฯ ที่คุณไม่ชอบหรือ ถ้าคุณเห็นว่าเป็น “เรื่องการเมือง” ไม่เกี่ยวกับสิทธิสตรี ในฐานะเฟมินิสต์ คุณเข้าใจประโยคที่ว่า The personal is political. หรือเปล่า

อ.ชลิดาภรณ์ เคยเขียนไว้ว่า “Feminist mind ไม่ใช่ Female chauvinism ไม่คลั่งหญิง [แต่] ตั้งคำถามกับความไม่เป็นธรรมในระบบนิยมชาย และพร้อมจะต่อสู้กับการกดขี่รังแกทุกรูปแบบ”

ขอถามอีกทีเป็นคำถามสุดท้ายค่ะ ในฐานะเฟมินิสต์ คุณพร้อมที่จะต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม กับการกดขี่รังแกทุกรูปแบบหรือเปล่า หรือคุณจะเลือกต่อสู้เฉพาะเพื่อผู้หญิงกับกลุ่มคนที่คุณชอบ Feminist Mind ของคุณยังอยู่ครบถ้วนหรือเปล่า หรือเอาไปลืมไว้ที่ไหน

 

16 พ.ย. 2554


 


“แก้วมาลา” เป็นนักเขียน นักวิจัย บล็อก: thaiwomantalks.com ทวิตเตอร์: @thai_talk  บทความนี้ดัดแปลงเพิ่มเติมจาก “Bangkok feminists, where are you?” โดย แก้วมาลา พิมพ์โดย Siam Voices, Asian Correspondent: http://asiancorrespondent.com/69443/bangkok-feminists-where-are-you/

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ส่งจดหมายถึงยูเอ็น วอนนานาชาติช่วยแรงงานข้ามชาติในวิกฤตน้ำท่วม

Posted: 16 Nov 2011 10:35 AM PST

วันนี้ (16 พ.ย.54) ในโอกาสที่นายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของรัฐบาล เครือข่ายแรงงานข้ามชาติส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายบัน คี มุน ผ่านผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย เรียกร้องให้ประชาคมนานาชาติสนับสนุนรัฐบาลไทยในการให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติซึ่งประสบภัยน้ำท่วมทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว

0000

16 พฤศจิกายน 2554
เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในช่วงวิกฤตน้ำท่วมในประเทศไทย
เรียน เลขาธิการสหประชาชาติ

ประเทศไทยต้องเผชิญกับน้ำท่วมอย่างรุนแรงและยืดเยื้อ ซึ่งครอบคลุมภาคเหนือและกลางของประเทศ ซึ่งรวมถึงอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ แรงงานทั้งไทยและต่างชาติในเขตเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ แรงงานข้ามชาติเกือบ 1 ล้านคนและญาติพี่น้องของพวกเขาซึ่งทำงานและอาศัยในบริเวณดังกล่าว ไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีและเพียงพอ เพื่อจะตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานในการอยู่รอด

รัฐบาลไทยได้พยายามที่จะช่วยเหลือและคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบ แต่ด้วยขนาดพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมที่ค่อนข้างใหญ่ ทำให้แรงงานข้ามชาติจำนวนมากเข้าไม่ถึงทั้งความช่วยเหลือจากรัฐบาลและการคุ้มครองทางกฎหมายที่เป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจ้างงาน นายจ้างบางรายปฏิเสธที่จะจ่ายค่าจ้างงวดล่าสุดรวมถึงค่าชดเชยให้พวกเขา แรงงานข้ามชาติจำนวนมากออกจากพื้นที่น้ำท่วมเพื่อความปลอดภัยโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ในสภาวะว่างงานและไม่มีรายได้ พวกเขาจำนวนมากถูกบังคับให้เดินทางออกนอกพื้นที่ที่ถูกกำหนดไว้ตามกฎหมาย ซึ่งทำให้พวกเขาเสี่ยงต่อการถูกแสวงหาผลประโยชน์ พวกเขาอาจต้องกลับประเทศต้นทาง หรือถูกบังคับให้ย้ายถิ่นแบบไม่ปกติ

เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ เรียกร้องต่อรัฐบาลไทยและประชาคมนานาชาติ ในการริเริ่มแผนการฟื้นฟูระยะเร่งด่วนและระยะยาว เพื่อเอื้อให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงความช่วยเหลือการจัดการด้านภัยพิบัติทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทั้งนี้ เครือข่ายแรงงานข้ามชาติเรียกร้องต่อประชาคมนานาชาติ ดังนี้

1) ให้สนับสนุนรัฐบาลไทยในการดำเนินนโยบายเพื่อทำให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงการช่วยเหลือโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติทางสัญชาติ เชื้อชาติ หรือสถานะทางกฎหมาย และควรมีการผลักดันให้รัฐบาลพัฒนานโยบายที่สอดคล้องกันและปฏิบัติได้จริง ซึ่งรวมถึงมีแนวทางการดำเนินงานเพื่อรองรับความต้องการพื้นฐานของแรงงานข้ามชาติและสิทธิในการได้รับค่าชดเชยของแรงงานข้ามชาติ

2) ให้สนับสนุนรัฐบาลไทยในการออกแผนบรรเทาทุกข์แรงงานข้ามชาติในระยะสั้นและระยะยาว โดยอาศัยความร่วมมือของรัฐบาล เอ็นจีโอ นายจ้าง องค์กรแรงงาน และแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงความช่วยเหลือในรูปแบบการแบ่งปันข้อมูล การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากองค์กรท้องถิ่น และการเข้าถึงสถานพักพิงของแรงงานข้ามชาติ รัฐบาลยังควรทำหน้าที่อำนวยความสะดวกต่อการสนับสนุนจากองค์กรบรรเทาทุกข์ต่างๆเพื่อให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้โดยง่าย

3) ให้สนับสนุนรัฐบาลไทยในการพัฒนาระบบในการตรวจสอบความโปร่งใสและการสนับสนุนสิทธิมนุษยชนของทุกคนได้รับผลกระทบน้ำท่วม รวมถึงแรงงานข้ามชาติ โดยระบบดังกล่าวควรคำนึงถึงความปลอดภัยของแรงงานข้ามชาติในระหว่างการอพยพย้ายถิ่นและไม่ควรขับไล่แรงงานข้ามชาติเหล่านี้กลับไปประเทศของตนโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของแรงงานข้ามชาติ รัฐบาลควรได้รับการสนับสนุนให้ใช้โอกาสนี้ในการแปลงนโยบายแรงงานข้ามชาติสู่ระบบที่จะขยายความคุ้มครองแรงงานข้ามชาติตามกฎหมายไทย

4) ส่งเสริมให้สหประชาชาติและหน่วยงานบรรเทาทุกข์ระหว่างประเทศในการทำงานร่วมกับประเทศต้นทางของแรงงานข้ามชาติ เพื่อวางแผนการบรรเทาทุกข์สำหรับแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งตัดสินใจที่จะกลับบ้านเกิดในช่วงน้ำท่วม

ขอแสดงความนับถือ

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ
มูลนิธิรักษ์ไทย หน่วยพัฒนาและบรรเทาทุกข์ (ADRA)
เครือข่าย​ผู้หญิงพลิก​โฉมประ​เทศ​ไทย
ศูนย์การจัดการความรู้เรื่องภัยพิบัติ ประเทศไทย
ศูนย์ศึกษาการย้ายถิ่น สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คลินตันหนุนปรองดอง ระบุเป็นสิ่งจำเป็นต่อเสถียรภาพและความมั่นคงระยะยาวของไทย

Posted: 16 Nov 2011 10:17 AM PST

ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ของสหรัฐอเมริกา แถลงข่าวร่วมกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย ระบุพร้อมให้ความช่วยเหลือและเคียงข้างประเทศไทยที่ต้องเผชิญอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ เผยหนุนกระบวนการปรองดอง

ภาพจาก เฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra

วันที่ 16 พ.ย. น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับ นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาแถลงข่าวร่วมกันที่ทำเนียบรัฐบาลในโอกาสที่ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า ไทยและสหรัฐไม่ได้สัมพันธ์กันด้วยเหตุผลในเรื่องความร่วมมือด้านความมั่นคงหรือด้านการค้าเท่านั้นแต่ยังเชื่อมโยงกันด้วยคุณค่าประชาธิปไตยที่มีร่วมกัน รวมถึงความเป็นมิตรและความเป็นครอบครัวที่เชื่อมร้อยประชาชนของทั้งสองประเทศ

“เราภูมิใจที่จะยืนอยู่เคียงข้างท่านในช่วงเวลาที่ท้าทาย ซึ่งท่านต่อสู้กับอุทกภัยที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ” นางคลินตันกล่าว และว่าภาวะน้ำท่วมนี้นับเป็นความท้าทายที่ร้ายแรงต่อรัฐบาลใหม่ของประเทศไทย รวมถึงต่อสภาวะความสงบสุขที่ได้มาอย่างยากลำบากหลังจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐกล่าวว่าสหรัฐทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงแรกของการเกิดอุทกภัย และจะให้การช่วยเหลือต่อไปในระยะยาวเพื่อให้ประเทศไทยสามารถฟื้นฟูศักยภาพทั้งด้านการป้องกันภัยพิบัติเช่นที่เกิดขึ้นครั้งนี้ รวมไปถึงการฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจ และ ในวันนี้ (17 พ.ย.) เธอจะเดินทางไปยังศูนย์อพยพและพูดคุยกับผู้ประสบภัย และจากนี้ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ทางการสหรัฐจะหาแนวทางต่อไปว่า จะให้ความช่วยเหลือแก่ไทยทั้งต่อกองทัพและพลเรือนเพื่อสนับสนุนด้านการฟื้นฟูระยะยาวแก่ไทยได้อย่างไร

นางคลินตันยังกล่าวถึงจุดยืนของสหรัฐต่อการสนับสนุนนกระบวนการประชาธิปไตยในไทย

“สหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนอย่างหนักแน่นกับต่อรัฐบาลพลเรือนของไทย การสร้างสถาบันประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ธรรมาภิบาล การสร้างหลักประกันให้กับนิติรัฐ ปกป้องสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เราสนับสนุนให้รัฐบาลดำเนินกระบวนการปรองดองต่อไป เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อความมั่นคงและความเสถียรภาพในระยะยาวของไทย และกระบวนการนี้ก็จะได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอมริกา”

นางคลินตันผยว่ามีการพูดคุยกันในเรื่องอื่นๆ ทั้งระดับทวิภาคี ระดับภูมิภาค และระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกันด้านการค้า และการกระชับความร่วมมือด้านความมั่นคง ซึ่งก็มีประเด็นที่เกี่ยวข้องตั้งเรื่องของอาวุธนิวเคลียร์ไปจนถึงเรื่องความมั่นคงทางทะเล

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ: อภิมหาโครงการจัดการน้ำ! ภาวะคุกคามชาวอีสานรอบใหม่

Posted: 16 Nov 2011 10:16 AM PST

จากสูตรสำเร็จการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ‘โครงการโขงชีมูล’ ที่ไม่สามารถเป็นทางออก แล้วยังสร้างรอยร้าวลึกแก่คนอีสาน วันนี้บทเรียนในอดีตกำลังจะหวนมาอีกครั้งด้วยอภิมหาโครงการจัดการน้ำมูลค่านับแสนล้าน

 
เนิ่นนานมาแล้วแนวทางการพัฒนาของภาครัฐ ที่ยึดติดกับมายาคติว่า ภาคอีสานแห้งแล้ง ชาวอีสานยากจน สูตรสำเร็จอย่างหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความยากจนจึงมุ่งเน้นไปสู่การแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งผ่านการจัดการน้ำ ด้วยการมีระบบชลประทานเพื่อสนับสนุนการทำเกษตรตามพื้นที่ต่างๆ ในภาคอีสาน ซึ่งมีพื้นที่ในการทำการเกษตรมากกว่า 57.7 ล้านไร่ เพราะหากว่าสามารถแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งให้กับชาวอีสาน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมจะทำให้ชาวอีสานมีรายได้เพิ่มขึ้น ระบบเศรษฐกิจเติบโตขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตาม อันจะนำไปสู่การหลุดพ้นจากภาวะความยากจน 
 
เมื่อหน่วยงานภาครัฐยึดติดกับความคิดที่จะใช้โครงการด้านการจัดการน้ำแก้ไขปัญหาความแห้งแล้ง และความยากจน ตลอดจนส่งเสริมเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของชาวอีสานให้ดีขึ้นนั้น อภิมหาโครงการโขงชีมูลจึงได้ผุดขึ้นมา ด้วยระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ระยะในช่วงปี พ.ศ.2535 – 2576 รวม 42 ปี ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 228,000 ล้านบาท ภายใต้โครงการจะมีการสร้าง เขื่อน ฝาย สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า คลองผันน้ำและคลองส่งน้ำ มุ่งเน้นพื้นที่ชลประทานลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำโขง โดยมีพื้นที่ชลประทานที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ประมาณ 4.98 ล้านไร่ 
 
แต่เมื่อดำเนินโครงการไปได้แล้วในระยะแรกซึ่งใช้งบประมาณไปแล้ว 10,346 ล้านบาท กลับต้องหยุดชะลอการดำเนินโครงการ เนื่องจากการสร้างเขื่อนภายใต้โครงการทำให้เกิดน้ำท่วม ระบบนิเวศถูกทำลาย และที่สำคัญภูมิประเทศภาคอีสานที่ใต้ดินมีโดมเกลือขนาดใหญ่ทำให้การดำเนินโครงการเกิดผลกระทบที่ตามมา คือ การแพร่กระจายของดินเค็มในหลายพื้นที่ของการดำเนินโครงการ ส่งผลให้สิ่งปลูกสร้างที่ใช้ในระบบชลประทานของโครงการโขงชีมูล ได้ถูกทิ้งร้างไว้เป็นอนุสรณ์สอนใจให้นักวางแผนการพัฒนาทั่วพื้นที่ทำการเกษตรในภาคอีสาน
 
จวบจนวันนี้ที่ โครงการโขงชีมูล ได้สร้างบาดแผลความเดือดร้อนให้กับชาวอีสานไว้อย่างบาดลึกจนยากที่จะเยียวยารักษา แต่ทว่าหน่วยงานภาครัฐกลับไม่ได้เรียนรู้บทเรียนในอดีตที่ผ่านมา ในทางตรงกันข้าม ยังมีความพยามที่จะผลิตซ้ำความคิดความเชื่อที่จะจัดการน้ำด้วยโครงการขนาดใหญ่ เพื่อแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งและความยากจนในภาคอีสาน ด้วยรูปแบบ/เทคนิคของโครงการในลักษณะเดิม เพียงแต่ต่อเติมให้ภาพของการจัดการน้ำในภาคอีสานให้ดูเป็นระบบมากขึ้น
 
 
ภาพรวมสถานการณ์การจัดการน้ำภาคอีสานในปัจจุบัน
 
รอยแผลในอดีตของโครงการโขงชีมูล นอกจากหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง คือ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะไม่ใส่ใจในการเยียวยาแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบแล้วนั้น แต่กำลังจะตอกย้ำให้สาธารณะชนให้ได้เห็นว่า แนวทางการจัดการน้ำในภาคอีสานที่ผ่านมานั้น ได้ทำอย่างถูกต้องและเหมาะสมแล้ว ไม่สนใจเสียงท้วงติง หรือคำวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ จึงได้ผุดแนวคิดผลักดัน โครงการบริหารจัดการน้ำโขงเลยชีมูลโดยแรงโน้มถ่วง ภาคตะวันนออกเฉียงเหนือ มีหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบดำเนินการ ทำการศึกษาความเหมาะสม (Feasibility:FS) และผลกระทบสิ่งแวดล้อม(Environmental Impact Assessment:EIA) และการประเมินสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment:SEA) ในช่วงระหว่างเดือนกันยายน 2552 – เดือนกันยายน 2554 ใช้งบประมาณ รวมทั้งสิ้น 190,000,000 บาท 
 
และอีกหนึ่งโครงการ คือ โครงการระบบเครือข่ายน้ำในพื้นที่วิกฤตน้ำ 19 พื้นที่ รับผิดชอบโดย กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ(Feasibility:FS) ศึกษาการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(Environmental Impact Assessment:EIA) และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์(Strategic Environmental Assessment:SEA) ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2554 – เดือนกันยายน 2555 ใช้งบประมาณ รวมทั้งสิ้น 865,541,400 บาท โดยโครงการทั้งสองได้ว่าจ้าง ให้บริษัทเอกชนที่มีความชำนาญดำเนินการศึกษา
 
เมื่อทำการพิจารณาถึงรายละเอียดของรายงานการศึกษาของทั้ง 2 โครงการดังกล่าวข้างต้น ทำให้เห็นว่า เป้าหมายของโครงการ คือ แนวทางการจัดการน้ำ โดยนำน้ำเข้ามาเติมให้กับภาคอีสาน เพื่อขยายเขตพื้นที่ชลประทานในพื้นที่ทำการเกษตรน้ำฝน เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานจากเดิม 5.93 ล้านไร่ ให้เป็น 33 ล้านไร่ ภายใต้แนวความคิดการจัดการหาน้ำต้นทุนเดิมมาเติมให้กับน้ำในพื้นที่ชลประทานในลุ่มน้ำโขงอีสาน ลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำยังชี ซึ่งยังเป็นมิติของการมองไปในทิศทางที่ว่า ภาคอีสานยังคงมีความต้องการปริมาณน้ำเพื่อการเกษตร เพิ่มขึ้นอีก จึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำน้ำมาเติม เมื่อน้ำเพิ่มก็จะสามารถพัฒนาด้านการเกษตรเพิ่มขึ้นอีก ส่งผลต่อการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นตามไปด้วย โดยสามารถมองถึงความเชื่อมโยงของทั้ง 2 โครงการด้านการจัดการน้ำที่จะเกิดขึ้นในภาคอีสาน ได้ดังนี้
 
ภายใต้โครงการระบบเครือข่ายน้ำในพื้นที่วิกฤต 19 พื้นที่ มีรายละเอียดของการดำเนินโครงการ ที่สำคัญอันได้แก่
 
1.เครือข่ายน้ำในพื้นที่เป็นการพัฒนาโครงการแหล่งน้ำขนาดเล็กที่กระจายไปทั่วพื้นที่ภาคอีสาน เช่น อ่างเก็บน้ำต่างๆ ที่ดำเนินการก่อสร้างโดยกรมชลประทาน
 
2.เครือข่ายน้ำพรมแดน เป็นการผันน้ำจากแม่น้ำโขง มาเติมในพื้นที่เพาะปลูกใกล้เคียง เช่น
 
-เครือข่ายน้ำห้วยหลวง-ลำปาว-ชี ซึ่งเป็นโครงการเก่าตั้งแต่โครงการโขงชีมูล ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 แต่มีบทเรียนในอดีตที่การสูบน้ำด้วยไฟฟ้าต้องแบกรับต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น ทำให้เกิดความไม่คุ้มค่า จึงได้มีการศึกษาพัฒนาไปสู่แนวทางการผันน้ำด้วยแรงโน้มถ่วง
 
-เครือข่ายน้ำปากชม-ลำพะเนียง-ชี เป็นโครงการที่อาศัยการยกระดับน้ำโขงที่สูงขึ้นในระดับความสูงที่ 200 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) จากโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากชม ต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม จ.เลย เพื่อที่จะผันน้ำไปยังหนองหานกุมภวาปี และอ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ รับผิดชอบศึกษา โดยกรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน
 
-เครือข่ายน้ำโขง-เลย-ชี-มูล เป็นโครงการผันน้ำบริเวณปากแม่น้ำเลยภายใต้ โครงการบริหารจัดการน้ำโขงเลยชีมูลโดยแรงโน้มถ่วง ภาคตะวันนออกเฉียงเหนือ โดยระบุไว้ว่าภาคอีสานจะมีน้ำเพื่อการเกษตรใช้ได้ตลอดทั้งปี อีกทั้งยังสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูลได้อีกด้วย
 
3.เครือข่ายน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน โดย ใช้รูปแบบการผันน้ำมาจากแหล่งน้ำของประเทศเพื่อนบ้าน คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีดังนี้ คือ
 
-เครือข่ายน้ำเซบังไฟ-สกลนคร โดยผันน้ำจากประเทศลาวเข้ามายังพื้นที่ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม แล้วส่งน้ำมายังพื้นที่ จ.นครพนม และจ.สกลนคร ขณะนี้กรมทรัพยากรน้ำกำลังศึกษาในขั้นตอน desk study
 
-เครือข่ายน้ำเซบังเหียง-อำนาจเจริญ เป็นการผันน้ำจากประเทศลาวเข้ามายังพื้นที่ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี แล้วสามารถส่งน้ำไปยังพื้นที่ จ.ยโสธร จ.อำนาจเจริญ และจ.อุบลราชธานี ขณะนี้กรมทรัพยากรน้ำกำลังศึกษาในขั้นตอน desk study
 
-เครือข่ายน้ำงึม-ห้วยหลวง ดำเนินการศึกษาโดยกรมทรัพยากรน้ำ เพื่อที่จะศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการผันน้ำจากเขื่อนน้ำงึม ประเทศลาว เข้ามายังห้วยหลวง แล้วสามารถทำการส่งน้ำไปยังหนองหานกุมภวาปี และอ่างเก็บน้ำลำปาว
 
รายละเอียดของแนวทางการจัดการน้ำในภาคอีสานข้างต้น ทำให้เห็นภาพเชื่อมโยงที่ว่าในขณะนี้ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง คือ กรมชลประทาน และกรมทรัพยากรน้ำ กำลังจะริเริ่มผลักดันอภิมหาโครงการด้านการจัดการน้ำในภาคอีสานผ่าน โครงการระบบเครือข่ายน้ำในพื้นที่วิกฤตน้ำ 19 พื้นที่ โดยมี โครงการบริหารจัดการน้ำโขงเลยชีมูลโดยแรงโน้มถ่วง ภาคตะวันนออกเฉียงเหนือ เป็นเสมือน ใจกลางหลักของโครงการจัดการน้ำในภาคอีสานทั้งระบบ ซึ่งในขณะนี้ ทั้ง 2 โครงการ กำลังอยู่ในช่วงระยะของการก่อร่างสร้างรูปของโครงการจากแนวความคิดของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ไปสู่แนวทางการปฏิบัติให้เป็นจริงขึ้นมา โดยได้เริ่มดำเนินการในส่วนของขั้นตอนในการศึกษาดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ซึ่งมีระยะเวลาเริ่มดำเนินการศึกษา และแล้วเสร็จในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน
 
 
ข้อควรคิดเพื่อพิจารณาต่อสถานการณ์การจัดการน้ำในภาคอีสาน
 
หากทำการพิจารณาถึงรายละเอียด และการดำเนินการภายใต้กระบวนการศึกษา ของทั้ง 2 โครงการ จะเห็นได้ว่าเป็นการระบุไว้ว่าหาทางเลือกที่เหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเสนอทางเลือกให้กับประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้พิจารณาเพียงแค่ ขนาดของโครงการว่าต้องการโครงการขนาดไหน แต่กลับไม่มีประเด็นคำถามเบื้องต้นที่สำคัญว่า อภิมหาโครงการทั้ง 2 โครงการ มีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดต่อชาวอีสาน อันนำไปสู่ประเด็นคำถามต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ และภาคประชาสังคมที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ว่าในท้ายที่สุดแล้วภาคประชาชนแทบจะไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมในการพัฒนาที่ส่งผลต่อสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองเลย
 
บทเรียนแห่งความล้มเหลวซ้ำซากในด้านการจัดการน้ำในภาคอีสานที่ผ่านมานั้น หน่วยงานภาครัฐไม่เคยเรียนรู้ถึงความผิดพลาดของตนเองว่า แนวคิดในการแก้ไขปัญหาด้านน้ำในภาคอีสานด้วยโครงการขนาดใหญ่ อย่างเช่น โครงการโขงชีมูล ไม่สามารถเป็นทางออกของเกษตรกรภาคอีสาน ด้วยเพราะสภาพภูมิประเทศ ระบบนิเวศวัฒนธรรมของอีสานที่มีความหลากหลายซับซ้อน อีกทั้งทางเลือกในรูปแบบการจัดการระบบชลประทานขนาดเล็กและภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการจัดการน้ำกลับถูกละเลยมองข้ามคุณค่าความสำคัญ ทำให้ที่ผ่านมาชาวอีสานจึงมีบาดแผลจากผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ ที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน เช่น กรณีเขื่อนหัวนา และราศีไศลที่ ปัญหาผลกระทบทางด้านระบบนิเวศ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และผลกระทบทางสังคม เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายจนไม่สามารถเยียวยาแก้ไขได้ อีกทั้งคุณค่าอันดีงานของชุมชนท้องถิ่นอีสานก็ได้สูญสลายไปด้วย
 
ในกรณีการผันน้ำมาจากประเทศลาวนั้น ความเป็นไปได้ในการทำข้อตกลงกับประเทศลาวมีความชัดเจนมากน้อยแค่ไหน และถ้าหากว่าในอนาคตอันใกล้นั้น ประเทศลาวมีการขยายพื้นทีเพาะปลูกทางการเกษตร ประเทศลาวก็มีความจำเป็นใช้น้ำภายในประเทศของตนเองเช่นกัน ถ้าหากมีการลงทุนไปแล้วเป็นจำนวนเงินทุนมหาศาล แล้วมาประสบกับปัญหาด้านแหล่งน้ำจากต่างประเทศ เพื่อมาเติมให้กับแหล่งน้ำภายในประเทศ จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากับความเสี่ยงนี้หรือไม่ ฉะนั้น การที่หน่วยงานภาครัฐตั้งงบประมาณในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการด้วยจำนวนเงินมหาศาล โดยที่ไม่มองที่ข้อเท็จจริงในความเป็นไปได้ที่จะดำเนินโครงการจึงไม่ต่างไปจากนำงบประมาณของประเทศไปใช้โดยไม่เกิดประโยชน์
 
ถึงแม้ว่าอภิมหาโครงการจัดการน้ำทั้ง 2 โครงการ จะอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการศึกษาของโครงการในมิติต่างๆ นั้น แต่นัยที่แท้จริงของบทสรุปสุดท้ายของการศึกษาในมิติต่างๆ นั้น เสมือนได้ถูกเขียนคำตอบสำเร็จรูปไว้แล้วว่า อภิมหาโครงการการจัดการน้ำทั้ง 2 โครงการ เป็นสิ่งที่ประชาชนชาวอีสานต้องการ สามารถแก้ไขปัญหาความแห้งแล้ง น้ำท่วม และสามารถขยายพื้นที่ชลประทานทางการเกษตรได้เพิ่มมากขึ้น สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวอีสาน ระบบเศรษฐกิจจะเติบโตขึ้น และที่สำคัญคุณภาพชีวิตชาวอีสานก็จะดีขึ้นตามด้วย สถานการณ์การจัดการน้ำในภาคอีสานในขณะนี้ จึงเปรียบดั่งภาวะคุกคามและโจทย์ที่ท้าทายภาคประชาชนอีสานอยู่ไม่น้อย
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เกาหลีเหนือเร่งก่อสร้าง "อะควอเรียม" สำหรับโลมา

Posted: 16 Nov 2011 09:42 AM PST

ผู้นำเกาหลีเหนือให้ก่อสร้างส่วนจัดแสดงโลมาในเกาะกลางแม่น้ำ กลางกรุงเปียงยาง เพื่อให้คนเกาหลีเหนือได้ชมปลาโลมา และจะผันน้ำจากทะเลมาให้ปลาโลมาด้วย ขณะที่ในรอบปีมานี้มีการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกจำนวนมากในเปียงยาง

ที่มา: สำนักข่าวกลางเกาหลี/rodrigorojo1/youtube

สำนักข่าวกลางเกาหลี (KCNA) ของทางการเกาหลีเหนือ มีรายงานเมื่อวันที่ 12 พ.ย. ที่ผ่านมาว่า การก่อสร้างอะควอเรียมสำหรับจัดแสดงโลมา ที่เกาะรุงรา กลางแม่น้ำแทดอง ซึ่งไหลผ่านกรุงเปียงยาง

อะควอเรียมดังกล่าวก่อสร้างโดยกองทัพ โดยสำนักข่าวกลางเกาหลีเหนือระบุว่าการก่อสร้างอะควอเรียมสำหรับจัดแสดงโลมาเป็นความประสงค์ของผู้บัญชาการสูงสุด คิม จอง อิล ที่ต้องการให้ประชาชนมีชีวิตที่ศรีวิไลและมีความสุข

ริว ซง อิล เจ้าหน้าที่ประจำการก่อสร้างคนหนึ่ง กล่าวกับสำนักข่าวกลางเกาหลีเหนือว่า "อะควอเรียมดังกล่าวมีขนาด 1,000 ที่นั่ง มีพื้นที่ใช้สอย 5,900 ตารางเมตร โดยจะมีสร้างสระน้ำสำหรับการแสดงของโลมาด้วย และจะมีการสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อเก็บน้ำทะเลและส่งผ่านท่อส่งน้ำจากนัมโป มายังเปียงยาง และเตรียมเครื่องกรองน้ำและอุปกรณ์ที่มีความจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของโลมา โดยการก่อสร้างขณะนี้มีความคืบหน้าร้อยละ 80

ขณะที่มติชนออนไลน์ รายงานก่อนหน้านี้ว่าเกาหลีเหนือได้เปิดห้างสรรพสินค้าโปตงกัง (Potongkang) ในกรุงเปียงยาง เปิดให้บริการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยจำหน่ายสินค้าแบรนด์ดังที่นำเข้าจากต่างประเทศ อาทิ ชาแนล และ จิออร์จิโอ อาร์มานี รวมไปถึงยารักษาโรค เฟอร์นิเจอร์ และอาหาร โดยเกิดขึ้นในช่วงเตรียมเปลี่ยนถ่ายอำนาจผู้นำไปสู่ทายามคือ "คิม จอง อุน"

โดยห้างสรรพสินค้าดังกล่าวเป็นหนึ่งในโครงการของรัฐบาลเกาหลีเหนือ เพื่อปรับรูปลักษณ์เมืองหลวงใหม่ทั้งหมด แม้ว่าในพื้นที่อื่นของประเทศจะยังต้องเผชิญความอดอยากอย่างมากก็ตาม องค์การสหประชาชาติเปิดเผยว่า ประชากรราว 1 ใน 4 ของเกาหลีเหนือต้องการความช่วยเหลือด้านอาหารอย่างเร่งด่วน

มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า ขณะที่ชาแนล กล่าวผ่านแถลงการณ์ในกรุงปารีสว่า บริษัทไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางการค้าที่มีต่อเกาหลีเหนือแต่อย่างใด และห้างแห่งนี้ไม่ได้ทำข้อตกลงในการจำหน่ายสินค้ากับบริษัทเช่นกัน และเตรียมดำเนินการสืบสวนเพื่อหาความจริง

ทั้งนี้ การปรับรูปโฉมใหม่ของกรุงเปียงยางมีกำหนดเสร็จสิ้นก่อนวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 100 ปี ของอดีตประธานาธิบดี คิม อิล-ซุง ผู้ก่อตั้งประเทศ ในเดือนเมษายนปีหน้า ซึ่งในเวลาดังกล่าวรัฐบาลตั้งเป้าหมายว่า เกาหลีเหนือจะต้องกลายเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ มีอำนาจ และเจริญรุ่งเรือง

หนังสือพิมพ์ดองอา อิลโบ ของเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า นายคิม ยังสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐ ยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มอภิสิทธิ์ชนในกรุงเปียงยาง โดยให้คนเหล่านี้มีสิทธิที่จะได้รับแจกจ่ายน้ำดื่ม อุปกรณ์เพิ่มความอบอุ่น และกระแสไฟฟ้า ก่อนประชาชนทั่วไป มีการนำอาหารช่วยเหลือที่ได้รับจากรัสเซีย 50,000 ตันเมื่อเดือนสิงหาคม ไปแจกจ่ายให้ชาวเปียงยางถึง 40,000 ตัน นอกจากนี้ ยังสร้างอาคารชุด โรงละคร สวนสาธารณะในกรุงเปียงยาง เปลี่ยนไฟถนนและหลอดไฟป้ายต่างๆ ให้สว่างไสว  ขณะที่เดือนที่แล้ว ทางการเปิดเผยว่า ได้ก่อสร้างศูนย์บริการแบบครบวงจรขึ้น โดยมีทั้งห้องอาบน้ำ ร้านตัดผม สถานเสริมความงาม และลานไอซ์สเก็ตกลางแจ้ง โดยทหารและนักศึกษาจากวิทยาลัยต่างๆถูกเกณฑ์ให้มาช่วยปรับปรุงเมืองหลวง เนื่องจากขาดแคลนงบประมาณและวัสดุก่อสร้าง ขณะที่ประชาชนชาวเกาหลีเหนือในส่วนอื่นทั่วประเทศกลับมีไฟฟ้าใช้เพียงวันละ 1-4 ชั่วโมงเท่านั้น

ที่มา: แปลจาก NK News

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประวิตร โรจนพฤกษ์: การตอกย้ำสถานะ "พิเศษ" ของทหารในวิกฤติน้ำท่วม

Posted: 16 Nov 2011 09:23 AM PST


บางใหญ่ (20 ต.ค.54)
แฟ้มภาพ: ประชาไท

กล่าวได้ว่า อำนาจของกองทัพบกในการเมืองไทยนั้นได้หยั่งรากลึกจากการที่เหล่าบรรดานายพลผู้ก่อรัฐประหารเกือบ 20 ครั้งที่ผ่านมา กระทำการได้ “สำเร็จ” ทุกวันนี้ กองทัพบกจึงมีสถานะเสมือนองค์กรกึ่งอิสระที่ไม่ขึ้นต่อรัฐบาล และผลงานในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมในครั้งนี้ก็ได้ช่วยตอกย้ำสถานะ “พิเศษ” ของกองทัพบกในสังคมไทยให้มั่นคงยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน ความชื่นชมต่อกองทัพบกโดยไม่เข้าใจหลักประชาธิปไตยในหมู่ประชาชนจำนวนหนึ่งของสังคมก็สะท้อนให้เห็นว่า การที่จะให้ทหารอยู่ใต้อำนาจรัฐบาลพลเรือนเป็นเรื่องที่กระทำได้ยากลำบากในประเทศนี้

ผู้เขียนไม่ปฏิเสธถึงการปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งและน่าชื่นชมของบรรดาเหล่าทหารในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย แต่สิ่งที่มาพร้อมกับน้ำที่ท่วมและการปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือของทหารก็คือการพูดคุยในหมู่คนจำนวนหนึ่งในทำนองตอกย้ำความเชื่อที่ว่า ทหารเป็นองค์กรกึ่งอิสระและควรมีบทบาทพิเศษที่ไม่ขึ้นกับรัฐบาล เนททิเซ่นจำนวนหนึ่งได้แสดงความเห็นในช่วงสองสามอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า บทบาทของทหารดีกว่ารัฐ ซึ่งสะท้อนความเห็นอันแปลกประหลาดที่ว่ากองทัพมิใช่ส่วนหนึ่งของรัฐ ทุกวันนี้ เราอาจกล่าวได้ว่า นอกจากอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ ก็ยังมีอำนาจของสถาบันทหารที่ดูเหมือนจะกลายเป็นฐานันดรสี่ตัวจริง เสียงจริง ที่มีสภาพกึ่งอิสระ หรืออิสระ และมักอ้างตนเป็นผู้ “ปกป้อง” ราชบัลลังก์ และประเทศ

หากสังคมคิดว่า บรรดานายพลที่บ้าอำนาจ และไม่รู้สึกผิดอะไรกับการก่อรัฐประหาร เป็นปัญหาหนักอึ้งต่อระบอบประชาธิปไตย จนรัฐบาลพลเรือนไม่สามารถทำอะไรได้ก็ขอให้ตระหนักด้วยว่า บรรดาประชาชนที่ชื่นชอบ เชียร์ทหารให้ก่อการรัฐประหารและปกครองประเทศก็ถือได้ว่าเป็นเหรียญอีกด้านหนึ่งของปัญหาเดียวกัน คนเหล่านี้ทำให้ทหารมีบทบาทอย่างมากในการเมืองและสังคมไทยและโน้มน้าวให้สังคมยอมรับบทบาทพิเศษของทหารเป็นเรื่องปกติ

ในขณะที่การจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไร้ความสามารถและน่าผิดหวัง สังคมก็ได้ยินเสียงผู้ที่ต้องการเห็นทหารกลับมาปกครองประเทศอีกครั้ง ยกตัวอย่างเช่น มีผู้อ่านที่เขียนจนหมายถึงบรรณาธิการลงในหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ฉบับวันที่ 10 พ.ย. 2554 ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งเป็นภาษาอังกฤษแปลได้ว่า “หากระบอบประชาธิปไตยจะถูกเว้นวรรคชั่วคราว ผมก็ไม่คิดว่า จะมีเสียงต่อต้านมากเท่าไหร่ (หากมันจะอยู่ในกรอบเวลาที่สั้น)…” ลงชื่อ Songdej Praditsmanont

เมื่อต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา วาสนา นาน่วม นักข่าวสายทหารชื่อดัง บอกผู้ฟังผ่านวิทยุ เอฟเอ็ม 101 ว่า กองทัพบกไม่ได้ย้ายรถถังเก่าๆ ที่มักเห็นเวลาก่อรัฐประหารออกไปจากกรุงเทพฯ ทั้งหมด ถึงแม้จะห่วงน้ำท่วม เพราะต้องเก็บไว้ในกรุงเทพฯ บ้าง เผื่อจำเป็นต้องมีปฏิบัติการพิเศษ ซึ่งคุณวาสนาใช้คำว่า “ลับ ลวง พราง” และนักข่าวผู้นี้ก็กล่าวต่อไปว่า ทหารบกกลัวว่า หากเอารถถังออกนอกกรุงเทพฯ จนหมด อาจมีปัญหาในการนำรถถังกลับมาในอนาคต

มุมมองเช่นนี้ สะท้อนความคิดที่ว่า บทบาท “พิเศษ” ของทหารในการเมือง เป็นเรื่อง “ปกติ” สามารถพูดกับสาธารณะและสังคมยอมรับได้ ไม่มีใครตะขิดตะขวงใจ ซึ่งรวมถึงกองทัพบกด้วย

อย่างไรก็ตาม กองทัพบกก็มิได้นิ่งดูดาย หลังจากที่หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจรายงานข่าวภายใต้หัวข่าว “กองทัพประเมิน 12 เหตุผลขาดภาวะผู้นำ การเมืองครอบงำ นายกฯ สอบตกแก้น้ำท่วม” ในวันที่ 7 พ.ย. ที่ผ่านมา ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบก โดยพลตรีพลภัทร วรรณภักตร์ หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบกได้เขียนจดหมายถึงบรรณาธิการหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ลงวันที่ 7 พ.ย. ว่า ข่าวที่หนังสือพิมพ์นำเสนอไปนั้น มิได้เป็นความจริง

การที่ทหารให้คะแนนนายกรัฐมนตรีว่า สอบผ่าน หรือ สอบตกนั้น หากเป็นจริงย่อมเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดมาก ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และอีกเรื่องที่น่าเป็นห่วงคือ สื่ออย่างหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจก็มิได้รู้สึกตะขิดตะขวงใจอันใดในการเสนอข่าว ที่ตอกย้ำความเชื่อในบทบาทอัน “พิเศษ” และกึ่งอิสระของกองทัพบก (ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม)

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้น แก้ปัญหาน้ำท่วมและช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมได้ไม่มีประสิทธิภาพ และรัฐบาลปัจจุบันก็ดูเหมือนจะมีนักการเมืองที่ไม่น่าไว้วางใจอยู่จำนวนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม คนที่เชื่อว่าทหารคือคำตอบจะต้องมองไปให้ไกลกว่าแค่ความพึงพอใจในระยะสั้น เพราะการที่ประชาชนออกมาเรียกร้องให้ทหารยึดอำนาจหรือมีบทบาทพิเศษในสังคมจนไม่มีใครควบคุมอยู่นั้น ย่อมนำมาซึ่งปัญหาต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ เพราะว่าทหารนั้นมิได้มาจากการเลือกตั้งและไม่สามารถถูกตรวจสอบหรือเปลี่ยนออกได้เหมือนนักการเมืองที่ต้องตอบและรับผิดชอบต่อเสียงของประชาชน และหากมีรัฐประหารเกิดขึ้นอีก ก็ไม่มีหลักประกันอันใดว่า ผู้คนจำนวนเป็นล้านๆ ในสังคมนี้จะยอมรับการปกครองโดยทหารอีก โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงเหตุการณ์ช่วงห้าถึงหกปีที่ผ่านมา ตั้งแต่มีรัฐประหาร2549 จนถึงเหตุการณ์นองเลือดเมื่อปีที่แล้ว โดยที่ทหารมีบทบาทสำคัญในการใช้อาวุธสงครามลงมือกับคนเสื้อแดง

ทุกวันนี้จะส่งทหารกลับกรมกองนั้นยากลำบากเต็มทน และความพยายามของรัฐบาลที่จะแก้กฎหมายกลาโหม เพื่อที่รัฐบาลพลเรือนจะสามารถโยกย้ายทหารชั้นผู้ใหญ่ได้ตามระบอบประชาธิปไตยเหมือนนานาอารยประเทศ ก็ยังถูกต้านอยู่

ปัญหาเรื่องบทบาทพิเศษของกองทัพบกในการเมืองไทยนั้น ไม่สามารถที่จะไปโทษเพียงแต่บรรดานายทหารที่ไม่ยอมรับหลักการประชาธิปไตยหรือเห็นแก่ผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง หากสังคมจะต้องหันมาทำความเข้าใจกับบรรดาประชาชนจำนวนมิน้อยที่ทำตัวเป็นกองเชียร์สนับสนุนสถานะและบทบาทพิเศษของทหารอย่างคลั่งไคล้ จนกระทั่งระบอบประชาธิปไตยไทยไม่สามารถหยั่งรากลงได้อย่างที่ควรจะเป็น

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แค่ฟ้องรัฐบริหารจัดการน้ำผิดพลาดไม่เพียงพอ ต้องเก็บภาษี “ผู้ไม่ยอมเปียก”

Posted: 16 Nov 2011 08:58 AM PST

การเรียกร้องให้ฟ้องรัฐบริหารจัดการน้ำผิดพลาดของ ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ โดยตั้งประเด็นฟ้องร้องรัฐไว้ 5 กรณี 1.กรณีความเสียหายทางปกครอง 2.กรณีประมาทเลินเล่อ 3.กรณีไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่ควรปฏิบัติ 4.กรณีความเสียโอกาส อาทิ ทำให้ผู้มีรายได้แต่ต้องเสียโอกาสทางรายได้และ 5.กรณีความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน นี่เป็นเรื่องที่ดี แต่ทว่าจะครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากผลของน้ำท่วมทั้งหมดหรือไม่

เนื่องจากน้ำท่วมที่เกิดขึ้นนั้นมีการปกป้องพื้นที่ไม่ให้น้ำท่วม หรือลดผลกระทบของน้ำท่วม เช่น ปกป้องพื้นที่กรุงเทพมหานคร การเร่งฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรมในอยุธยาและปทุมธานี โดยลดการระบายน้ำฝั่งตะวันออกเจ้าพระยา เช่น ระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำมโนรมย์เพียง 3.5 ล้าน ลบ.ม. ปิดประตูเขื่อนพระรามหก ขณะที่น้ำในอยุธยาตอนล่างลดลง จนใกล้จะฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วมได้ แต่ระบายน้ำมาฝั่งตะวันตกเจ้าพระยามากขึ้น ทั้งจากแม่น้ำน้อยและอยุธยาตะวันตก ทำให้นนทบุรีฝั่งตะวันตกมีระดับน้ำสูง คาดว่าไม่น้อยกว่า 1 เดือนจึงจะมีโอกาสลดระดับลง ถึงแม้จะมีการลดการระบายน้ำลงแม่น้ำท่าจีนจากประตูระบายน้ำพลเทพและคลองมะขามเฒ่า จาก 60 ล้าน ลบ.ม. ลงหรือ 15 ล้าน ลบ.ม.ก็ตาม

ในส่วนกรุงเทพฯ มีการเร่งซ่อมแซมประตูระบายน้ำ พนังกั้นน้ำ ของคลองระพีพัฒน์ตะวันตก คลองรังสิต รวมถึงการวางบิ๊กแบกด้านคลองรังสิต จนทำให้สามารถควบคุมน้ำไม่ให้ไหลเข้ากรุงเทพฯ เพิ่มเติม กรุงเทพมหานครสามารถระบายน้ำออกได้ จนทำให้ระดับในหลายพื้นลดลง

เราจะเห็นได้ว่าการปฏิบัติมีการจำแนก ระหว่างทั้งการปกป้องกันน้ำท่วมบางพื้นที่ การเลือกพื้นที่ในการระบาย จึงมีความไม่เป็นธรรม ซึ่งข้อเรียกร้อง ณรงค์ ไม่ได้ครอบคลุมความไม่เป็นธรรมนี้ ขณะเดียวกันได้ละเลยต่อผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการป้องกันน้ำ

เราควรจะถือหลัก “ผู้ได้ประโยชน์จากการป้องกันท่วม ต้องจ่ายให้กับผู้เสียประโยชน์จากน้ำท่วม” เพราะการเรียกร้องภาครัฐเป็นผู้จ่าย แน่นอนการจ่ายย่อมมาจากภาษี ซึ่งมาจากผู้ได้ประโยชน์ ผู้เสียประโยชน์จากน้ำท่วม และผู้ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียจากน้ำท่วม ดังนั้น ผู้ได้ประโยชน์ไม่ได้จ่ายเต็มที่ แต่ผลักภาระให้ผู้อื่นด้วย สิ่งที่ควรจะดำเนินการคือ การเก็บภาษีปกป้องน้ำท่วม เพื่อนำมาใช้จ่ายในการรับมือน้ำท่วม ชดเชยผู้เสียหาย เพื่อไม่ได้ทำให้เกิดสภาพ “free rider”

การเรียกร้องให้เก็บภาษีป้องกันน้ำท่วมนั้นเคยเกิดขึ้น เมื่อ พลตรีจำลอง ศรีเมือง ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่ถูกคัดค้านจนเรื่องตกไป อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ยังไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดว่าจะชดเชยให้กับผู้เสียหายอย่างไร เรื่องนี้นำมากลับพิจารณาใหม่

การจัดภาษีสำหรับ “ผู้ไม่ยอมเปียก” สามารถพิจารณาได้จากมูลค่าสินทรัพย์ ประโยชน์ใช้สอย ความเสี่ยงต่อน้ำท่วม และระดับการป้องกัน เช่น สยามพารากอน อาจจะจัดเก็บตารางเมตรละ 1,000 บาทต่อปี แต่แฟชัน ไอร์แลนด์ อาจจะจัดเก็บตารางเมตรละ 300 บาทต่อปี ส่วนอาคารสูงที่อยู่อาศัยก็จัดเก็บลดหลั่นลงไปจนบ้านอยู่อาศัยทั่วไป

ภาษีนี้สามารถใช้ในการชดเชยเมื่อเกิดน้ำท่วม ใช้ปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้ผู้อยู่นอกพื้นที่ปรับปรุงให้สามารถลดกระทบจากน้ำท่วม ใช้เป็นค่าบ้านเช่าเมื่อเกิดน้ำท่วมและไม่สามารถใช้ชีวิตปกติได้ เป็นต้น

การจัดเก็บภาษีนี้ ควรจะให้ความเป็นธรรมกับผู้มีส่วนได้เสียกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม มากกว่าข้อเสนอให้เรียกให้ฟ้องรัฐ เพราะค่าชดเชยที่ผู้เสียได้รับก็มาจากภาษีของตัวเองและผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

การเก็บภาษี “ผู้ไม่ยอมเปียก” ควรจะเป็นทางออกที่ดี เพราะการป้องกันน้ำท่วมยังคงต้องมีต่อไป มีผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ รวมทั้ง มีความเป็นธรรมกับผู้เสียภาษีทั้งหมดด้วย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วัฒนธรรมการดูถูก

Posted: 16 Nov 2011 08:29 AM PST

ในช่วงชีวิตของเรามักจะได้พบ ได้เห็นหรือได้ยินการ “ดูถูก”กันและกันอยู่เสมอ เช่น ฝรั่งดูถูกคนไทยว่าล้าหลัง ด้อยพัฒนา ไม่มีระเบียบวินัย ฯลฯ พี่ไทยเราก็ดูถูกเพื่อนบ้าน พม่า เขมร ลาว ญวน ไปอีกต่อหนึ่งเป็นทอดๆ หรือไม่ก็คนกรุงเทพฯ ดูถูกคนต่างจังหวัดว่าบ้านนอก เชย ไม่ทันสมัย คนต่างจังหวัดในพื้นราบ ก็ดูถูกคนที่อยู่บนภูเขาไปอีกเป็นทอดๆ

ในทางการเมืองคนกรุงเทพฯ ก็ดูถูกคนต่างจังหวัดว่าไม่มีความสำนึกทางการเมือง ถูกจูงจมูก เอาเงินซื้อก็ได้เป็นผู้แทนแล้วฯ ฉะนั้น รัฐบาลที่คนต่างจังหวัดเลือกมาโดยเสียงส่วนใหญ่ก็ย่อมจะต้องถูกดูถูกและจะต้องทำทุกอย่างที่จะให้ล้มคว่ำคะมำหงายให้ได้เป็นธรรมดา ไม่เชื่อลองไปดูในโซเชียลเน็ตเวิร์คดูสิครับ ว่ากันเสียเละตุ้มเป๊ะ  

ที่ร้ายกว่านั้นบางคนก็ดูถูกสตรีเพศที่เป็นคนเหนือว่าขี้เกียจ ทำเป็นแต่ขายของเก่าที่ติดมากับตัวตั้งแต่กำเนิดกินเท่านั้น ซึ่งก็ไม่รู้ว่านายคนนั้นเอามันสมองส่วนไหนคิดขึ้นมา หรือว่าเขาคิดว่าไม่ได้กำเนิดออกมาจากช่องคลอดของสตรีเพศ แต่เกิดออกมาทวารอื่นที่อยู่ไกล้กันนั้นของบุรุษเพศ จึงได้มีความคิดที่ดูถูกคนอื่นได้อย่างอัปลักษณ์เป็นที่สุด ทั้งๆที่ “ขายหวี ดีกว่าโกงแชร์”อย่างแน่นอน เพราะอย่างน้อยก็ไม่ได้ไปโกหกหลอกลวงใครจนหมดเนื้อหมดตัวเป็นคดีความหนีหัวซุกหัวซุนจนแทบไม่มีแผ่นดินอยู่ ที่แน่ๆ ตอนนี้ก็คือ นายคนนั้นเดินทางไปได้ไม่ครบทุกภาคของประเทศไทยอย่างแน่นอน

ผมมักจะถูกถามอยู่เสมอว่าจริงไหมที่คนต่างจังหวัดซื้อเสียงขายเสียงกันง่ายๆ และถูกหลอกอย่างโงหัวไม่ขึ้น ซึ่งผมก็ได้ตอบอยู่เป็นประจำว่าการซื้อเสียงขายเสียงนั้น อย่าว่าแต่ในต่างจังหวัดเลย แม้แต่ในกรุงเทพฯ เองก็มี หรือแม้แต่ในสหรัฐอเมริกาย่านบร็องซ์ก็ยังมีการแจกสตางค์กันเพื่อซื้อเสียงขายเสียงกันอยู่เลย แต่ประเด็นอยู่ที่จริงหรือที่คนไม่เคยทำคุณงามความดีอะไรเลย หิ้วเงินใส่ถุงทะเลมากว้านซื้อเสียงแล้วก็จะได้เป็นผู้แทน หรือคนที่ซื้อเสียงมากกว่าก็จะได้รับการเลือกตั้งเสมอไป ผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาก็เป็นบทเรียนให้เจ้าบุญทุ่มทั้งหลายกระอักเลือดมาแล้ว

ว่ากันในแง่คุณภาพของผู้แทน จริงหรือที่คุณภาพของผู้แทนคนกรุงเทพมีคุณภาพสูงกว่าต่างจังหวัด ลองดูตัวอย่างผู้แทนที่มีเรื่องกันในสภา ไม่ว่าการกระโดดถีบกัน ชกต่อยกัน ล้วนแล้วแต่เป็น ส.ส.หรือ ส.ว.ของชาวกรุงเทพฯ ทั้งนั้น ที่น่าอับอายที่สุดก็คือถูกประชาชนในเขตเลือกตั้งของตนเองต่อยจนปากฉีกแล้วยังไปแจ้งความเอาเรื่องประชาชนอีกนี้น่าจะเป็นบันทึกสถิติโลกว่ามีที่นี่ที่เดียวเท่านั้น

คำกล่าวทางวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์ที่เป็นยอมรับกันโดยทั่วไปว่า “ประชาชนเป็นอย่างไร ผู้แทนก็จะเป็นอย่างนั้น” ฉะนั้น ป่วยการที่คนกรุงเทพฯ จะไปดูถูกคนต่างจังหวัด เพราะตราบใดที่เรายังอยู่ในประเทศเดียวกัน ก็ย่อมมีชะตากรรมที่จะต้องเผชิญร่วมกัน เว้นเสียแต่ว่าคนกรุงเทพจะแยกตัวออกไปเป็นรัฐอิสระอีกรัฐหนึ่ง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับต่างจังหวัดอีกต่อไป เพราะทุกวันนี้คนกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งคิดว่ากรุงเทพฯ ก็คือประเทศไทยอยู่แล้ว จึงกระทำสิ่งต่างๆ ข้ามหัวข้ามหางชาวต่างจังหวัดอยู่เสมอๆ

อันที่จริงแล้วผมยังสงสัยอยู่ว่าเหตุใดจึงเรียกคนจังหวัดอื่นที่มิใช่คนกรุงเทพฯ ว่าเป็น “คนต่างจังหวัด”แทนที่จะเรียกว่า “คนจังหวัดอื่น” หรือเรียกว่าคนจังหวัดนั้นจังหวัดนี้ เพราะอันที่จริงคนกรุงเทพฯ ก็เป็นคนต่างจังหวัดของคนเชียงใหม่เหมือนกัน คนเชียงใหม่จึงควรเรียกคนกรุงเทพฯ ว่าเป็นคนต่างจังหวัดเช่นกันจึงจะถูกต้อง เพราะคนกรุงเทพฯ ก็ไม่ควรจะมีอภิสิทธิ์ใดเหนือคนจังหวัดอื่นเช่นกัน ซึ่งยังไม่นับเรื่องน้ำท่วมนะครับ ลองไปถามคนแถวอยุธยา ปทุมธานี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ว่าเขาคิดอย่างไรในการปกป้องกรุงเทพฯ จนเขาเสียหายอย่างยับเยินเหลือคณานับ

ผมยังสงสัยต่อไปอีกว่าคำว่า “คนกรุงเทพฯ” นั้นนิยามศัพท์ที่แท้จริงนั้นคือ อะไร เกิดในกรุงเทพฯ/ มีสำเนาทะเบียนบ้านอยู่ในกรุงเทพฯ /เสียภาษีให้ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ /บรรพบุรุษต้นตระกูลเป็นคนกรุงเทพดั้งเดิมบริสุทธิ์ไม่มีเจือปนคนที่อื่นเลย ฯลฯ ซึ่งก็ให้เป็นที่สงสัยอยู่

แต่ที่คนจังหวัดอื่นนิยาม “คนกรุงเทพฯ” ไว้ก็คือ เวลาเห็นรถคันใดในจังหวัดอื่นขับปาดหน้าปาดหลังเป็น “ลูกอีช่างปาด” แซงซ้ายแซงขวา ทิ่มรถออกขวางถนนเวลาออกจากซอยจนถูกชนอยู่เสมอๆ นั้นแหละคือคนกรุงเทพฯ

ในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ถ้าเห็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใดที่ส่งเสียงดัง ไม่รู้จักเกรงใจผู้คนหรือสถานที่ กินทิ้งกินขว้าง อวดร่ำอวดรวย อวดรถออฟโรดที่นานๆ ได้ขับไปจังหวัดอื่นเสียที นั่นแหละคนกรุงเทพฯ

อีกเช่นกันเวลาไปตามสถานที่ต่างๆ เห็นผู้คนในชนบทที่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย อ้อยอิ่ง ขี่รถยนต์ที่ประยุกต์มาจากเครื่องสูบน้ำก็พากันหัวเราะอย่างขบขัน นั่นแหละคนกรุงเทพฯ

นอกจากนั้นเวลาไปซื้อข้าวของต่างๆ ในจังหวัดอื่น เมื่อเห็นราคาแล้ว แทนที่จะซื้อไว้ตามความจำเป็นหรือที่จะต้องเอาไปเป็นของฝาก ก็เหมาๆๆๆ หมด นั่นแหละคนกรุงเทพฯ

และก็เช่นกันนอกจากประเด็นที่ว่าใครคือคนกรุงเทพฯ แล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่ค้างคาใจผมก็คือ “คนไทยหรือเปล่า” ซึ่งก็ยังอยากจะถามอีกเช่นเดียวกันว่าการคนดูถูกคนที่คิดไม่เหมือนตนเองนั้นว่า “คนไทยหรือเปล่า” นั้น ผมก็อยากจะถามกลับไปอีกเช่นกันว่าคนไทยแท้ๆ นั้นเดี๋ยวนี้หาได้ที่ไหน ถ้าไม่มีเชื้อสายจีนก็แขก ไม่แขกก็มอญ ไม่มอญก็ญวน ไม่ญวนก็ลาว เขมร ฝรั่ง มลายู ฯลฯ อย่างละนิด อย่างละหน่อย ลองสืบสาแหรกของแต่ละคนที่ออกมาถาม “คนไทยหรือเปล่า” นั้นดูราวกับว่ามีเลือดไทยแท้บริสุทธิ์ร้อยเปอร์เซ็นต์เสียกระนั้น เพราะขนาดพระเจ้าตากสินมหาราชยังมีเชื้อสายจีน ตระกูลดังๆ ของ ขุนนางไทยบางตระกูลก็มีเชื้อสายมาจากแขกเปอร์เซียเสียด้วยซ้ำ
 
คงเป็นการยากที่จะทำให้คนเลิกดูถูกซึ่งกันและกัน เพราะมันฝังไปในจิตสำนึกดั้งเดิม เมื่อประกอบเข้ากับการอบรมสั่งสอนกล่อมเกลาของบุพการีของตนจนเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้คือ “วัฒนธรรม”ของกลุ่มชนของตนเองที่จะต้องเหนือคนอื่น คนทีทำอะไรไม่เหมือนเรา คิดไม่เหมือนเรานั้นด้อยกว่าเรา แต่ก็น่าแปลก ทีฝรั่งมังค่าใส่กางเกงขาสั้นเดินเข้าออกสถานที่สำคัญต่างๆกลับทำเฉย มองเห็นว่าฝรั่งนั้นทำตัวง่ายๆดี (ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่จะเห็นคนกรุงเทพฯทั้งหลายเดินทางไปยังจังหวัดอื่นด้วยกางเกงขาสั้นเช่นกัน) แต่พอลุงมี  ลุงมา ตาสี ตาสา ซึ่งตนเองคิดว่าด้อยกว่าตนเอง ใส่ขาสั้นเหมือนกันกลับบอกว่าไม่สุภาพ ห้ามเข้าไปเสียอย่างนั้น

เอ๊ะ ว่าแต่ว่าท่านที่อ่านๆ บทความอยู่นี่เป็นคนที่ไหนกันและเป็นคนไทยหรือเปล่าครับ

-----------------------------

หมายเหตุ  เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 16 พฤศจิกายน 2554

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พระสงฆ์พม่าจัดการประท้วงรัฐบาล-เรียกร้องให้ปล่อยนักโทษการเมือง

Posted: 16 Nov 2011 08:28 AM PST

พระสงฆ์หนุ่ม 5 รูปที่เมืองมัณฑะเลย์จัดการประท้วงติดต่อกันเป็นวันที่สอง เรียกร้องให้ทางการพม่าปล่อยตัวนักโทษการเมือง และยุติการทำสงครามปราบปรามชนกลุ่มน้อย พร้อมจัดการล่ารายชื่อประชาชนเพื่อยื่นเสนอต่อประธานาธิบดีพม่า โดยที่ขณะนี้เจ้าหน้าที่รัฐบาลยังไม่เข้าห้ามปรามการชุมนุม มีเพียงพระผู้ใหญ่ที่พยายามห้ามเท่านั้น

พระสงฆ์พม่าจัดการประท้วงเมื่อ 15 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่เมืองมัณฑะเลย์ ที่มา: Irrawaddy/Mandalay Breeze

หนังสือพิมพ์อิระวดี รายงานว่า พระสงฆ์หนุ่ม 5 รูปที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า ได้ประท้วงรัฐบาลตั้งแต่วันอังคาร (15 พ.ย.) ที่ผ่านมา โดยการประท้วงดำเนินต่อกันมาจนถึงวันนี้ (16 พ.ย.) ขณะที่พระชั้นผู้ใหญ่พยยามห้ามปรามพระสงฆ์ไม่ให้ประท้วงภายในวัด

ทั้งนี้การประท้วงเกิดขึ้นในอาคารบริเวณวัดมหาเมียตมุนี ซึ่งเป็นปูชนียสถานสำคัญของเมือง โดยพระสงฆ์ได้ใช้เครื่องขยายเสียงกล่าวปราศรัย และเรียกร้องให้ทางการปล่อยตัวนักโทษการเมือง ยุติการใช้ทหารปราบปรามชนกลุ่มน้อย และเพิ่มขยายเสรีภาพในการแสดงออกในพม่า มากกว่านั้นพระสงฆ์ยังได้แขวนโปสเตอร์ที่กำแพงเป็นคำขวัญทางการเมืองเป็นภาษาอังกฤษและภาษาพม่า

ขณะเดียวกันพระสงฆ์อาวุโสในวัดได้อ้างคำสั่งของทางการ และเรียกร้องให้พระสงฆ์หนุ่มยอมลงมาจากอาคาร ขณะที่ตั้งแต่ในช่วงเย็นวันอังคารพระสงฆ์หนุ่มที่จัดการประท้วงยอมทำตามข้อเรียกร้อง โดยย้ายการชุมนุมไปที่วัดแห่งอื่นและอยู่หน้าวัดด้งกล่าวเพื่อปักหลักประท้วง

พระอูมากา หนึ่งในห้าพระสงฆ์ที่จัดการประท้วงบอกผู้สื่อข่าว "อิระวดี" ว่า เมื่อเวลา 13.00 - 14.00 น. วันนี้ พวกเขาได้ใช้เครื่องขยายเสียงประกาศข้อเสนอทางการเมืองอีกครั้ง เขากล่าวว่าพวกเขาจะประท้วงต่อไปจนกว่าจะมีการทำตามข้อเรียกร้อง

ทั้งนี้มีประชาชนราว 500 คนยืนฟังการประท้วง มีคนจำนวนมากที่ลงชื่อท้ายข้อเรียกร้องของพระสงฆ์ซึ่งข้อเรียกร้องนี้จะยื่นต่อประธานาธิบดีเต็งเส่ง

พระอูมากาบอกด้วยว่า พระสงฆ์ผู้ใหญ่ของวัดที่พวกเขาย้ายมาประท้วง ได้แจ้งว่าสิ่งที่พวกเขากระทำไม่อยู่ในวินัยสงฆ์ และเรียกร้องให้พวกเขาย้ายไปประท้วงที่อื่น

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่รัฐบาลในเมืองมัณฑะเลย์ยังไม่ได้กระทำการแทรกแซงใดๆ ต่อการประท้วง มีเพียงพระสงฆ์ผู้ใหญ่เท่านั้นที่ลงมาจัดการเรื่องนี้ ทั้งนี้อาจเป็นความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เหตุการณ์ซ้ำรอยการประท้วงของพระสงฆ์เมื่อปี 2550 การประท้วงลุกลามหลังจากพระสงฆ์ที่เมืองป่าโคะกู่ในภาคกลางของพม่าเดินขบวนต่อต้านรัฐบาล

การประท้วงดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลเสมือน "รัฐบาลพลเรือน" ของพม่าดำเนินการปฏิรูปทางเศรษฐกิจและทางการเมือง ในขณะเดียวกันก็ทำสงครามกับชนกลุ่มน้อยในรัฐคะฉิ่นและยังคงมีการควบคุมตัวนักโทษการเมือง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เมื่อ 'ซัลมาน รัชดี' ถูกเฟซบุ๊กหาว่าเป็นตัวปลอม เรื่องชวนคิดเกี่ยวกับ 'ตัวตน' ในอินเทอร์เน็ต

Posted: 16 Nov 2011 06:23 AM PST

 

เป็นที่ถกเถียงกันว่าผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กควรแสดงตัวตนจริงหรือไม่ บางเว็บเช่นเฟซบุ๊กมีนโยบายให้ผู้ใช้เปิดเผยตัวตนจริงโดยอ้างเรื่องความปลอดภัยและความมีอารยะในการสนทนา แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนเปิดเผยว่าการแสดงตัวตนจริงทำไปเพื่อเก็บข้อมูลผู้ใช้เป็นผลประโยชน์เชิงการค้าเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาก็เกิดขึ้นสำหรับนักเขียนผู้นิยมใช้นามปากกาแทนนามจริง เมื่อเฟซบุ๊กเรียกร้องให้นักเขียน 'ซัลมาน รัชดี' ตัวจริงยืนยันตัวตนและเปลี่ยนชื่อผู้ใช้เพราะคิดว่าเป็นตัวปลอม

14 พ.ย. 2011 - นิวยอร์กไทม์รายงานว่า ซัลมาน รัชดี นามปากกาของ นักเขียนลูกครึ่งอินเดีย-อังกฤษ ผู้มีชื่อเต็มว่าเซอร์ อาห์เมด ซัลมาน รัชดี ถูกเฟซบุ๊กสั่งระงับการเข้าถึงและขอร้องให้มีการพิสูจน์ตัวตน โดยเปลี่ยนชื่อเขาเป็น อาห์เมด รัชดี ตามชื่อในพาสปอร์ต

รัชดี โพสต์แสดงความไม่พอใจผ่านเว็บไซต์ทวิตเตอร์ว่า เขาไม่เคยใช้ชื่อต้นคือ 'อาห์เมด' และทั่วโลกรู้จักเขาในนาม 'ซัลมาน รัชดี' นอกจากนี้ยังได้โพสต์เรียกร้องให้มาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก ผู้บริหารเว็บไซต์เฟซบุ๊กคืนชื่อเดิมให้กับเขา

จนกระทั่งอีกสองชั่วโมงถัดมา นักเขียนผู้นี้ก็ 'ประกาศชัยชนะ' โดยกล่าวว่า "เฟซบุ๊กยอมแพ้แล้ว ผมกลับมาเป็นซัลมาน รัชดีอีกครั้ง ผมรู้สึกดีมาก วิกฤติตัวตนสำหรับคนอายุเท่าผมนี้มันไม่สนุกเลย"

นิวยอร์กไทม์รายงานว่ากรณีของซัลมาน รัชดี ในครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึงความซับซ้อนอย่างหนึ่งในโลกยุคดิจิตอล กับคำถามที่ว่าตัวคุณเป็นคนเดียวกับที่คุณเป็นในโลกออนไลน์ใช่หรือไม่?

โลกอินเทอร์เน็ตสมัยนี้เป็นพื้นที่ติดต่อสื่อสารดำเนินการในเรื่องต่างๆ ตั้งแต่การซื้อรองเท้า ไปจนถึงการล้มล้างเผด็จการ ทำให้มีการถกเถียงในมากขึ้นว่า ผู้ใช้ควรแสดงตัวตนอย่างไรในเว็บไซต์ที่เข้าชม ในด้านหนึ่งก็มีการใช้ดิจิตอลพาสปอร์ตที่ให้ลงชื่อจริง ดังเช่นในเฟซบุ๊ก เพื่อการท่องไปทั่วโลกอินเทอร์เน็ต ขณะที่ในอีกด้านก็เชื่อในสิทธิที่ผู้ใช้จะ 'สวมหมวก' หรือบางครั้งถึงขั้น 'สวมหน้ากาก' คนละใบ เพื่อที่จะสามารถเสพย์หรือแสดงความเห็นตามต้องการ โดยไม่ต้องกลัวผลสะท้อนในโลกออฟไลน์

การถกเถียงเรื่องการใช้นามแฝงในโลกอินเทอร์เน็ตหรือที่เรียกกันว่า "nym wars" (เป็น hashtag ในเว็บทวิตเตอร์) มีการพูดกันถึงว่าจะมีการจัดการอินเทอร์เน็ตอย่างไรในอนาคต บริษัทขนาดใหญ่อย่างกูเกิ้ล เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ มีผลได้ผลเสียกับข้อถกเถียงประเด็นนี้ และในบางกรณีก็มีปรัชญาการดำเนินงานต่างกันในแต่ละบรรษัท ซึ่งบ่งชี้ถึงความทะเยอทะยานของแต่ละบรรษัทเอง

เฟซบุ๊กยืนยันการใช้ตัวตนที่เป็นคนจริงหรือชื่อจริง และเริ่มกลายเป็น 'คนออกพาสปอร์ตชั่วคราว' สำหรับให้ผู้ใช้ใช้ในการล็อกอินเข้าสู่เว็บไซต์อีกกว่า 7 ล้านเว็บไซต์ โดยใช้เพียงแค่ชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านของเฟซบุ๊ก

ส่วนกูเกิ้ลพลัส โซเชียลเน็ตเวิร์กของกูเกิ้ล ก็ต้องการให้ผู้ใช้ใช้ชื่อจริงในโลกออนไลน์เช่นกัน และมีการอายัดบัญชีผู้ใช้ของผู้ที่ละเมิดกฏนี้ แต่เมื่อไม่นานมานี้ทางกูเกิ้ลเองก็บอกว่าจะยอมให้ใช้นามแฝงได้ในบางส่วน วิค กุนโดทรา ผู้บริหารด้านโซเชียลเน็ตเวิร์กของกูเกิ้ลกล่าวในการประชุมเมื่อเดือนที่แล้วว่า เขาต้องการทำให้แน่ใจว่าแม้จะมีการใช้ชื่อปลอมแล้ว แต่ก้ยังคงมี "บรรยากาศ" ที่น่าพึงใจ ซึ่งการจัดการในเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องซับซ้อน

ในทางกลับกัน ทวิตเตอร์ให้เสรีกับการใช้นามแฝงของผู้ใช้ เช่น ผู้ใช้ที่เป็นผู้สนับสนุนวิกิลีกส์และเป็นจอมป่วนนามว่า @FakeSarahPalin เป็นต้น ซึ่งกรณีนี้อาจบอกได้ว่าเป็นการสวมรอย หลอกลวงประชาชนและชวนให้ระงับการใช้

การถกเถียงในเรื่องการแสดงตัวตนมีผลต่อโลกวัตถุ เนื่องจากข้อมูลที่ผูกติดอยู่กับคนจริงนั้นเป็นสิ่งมีค่าทั้งกับธุรกิจและหน่วยงานรัฐ การวิจัยของฟอร์เรสเตอร์เมื่อไม่นานมานี้ประเมินว่าบริษัทต่างๆ ใช้เงินลงทุน 2 พันล้านตอลลาร์ เพื่อให้ได้ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต เนื่องจากผู้ใช้ต่างก็ทิ้งร่องรอยเอาไว้ดังที่บริษัทต่างๆ เรียกว่า "รอยเท้าดิจิตอลที่ขยายตัวทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ"

นอกจากนี้ยังมีผลในเชิงการเมืองด้วย เนื่องจากนักกิจกรรมในโลกอาหรับและในอังกฤษต่างก็เรียนรู้ในปีนี้แล้วว่า เว็บไซต์โซเชียลมีเดียใช้ได้ผลดีในการขับเคลื่อนการลุกฮือ แต่การใช้ชื่อจริงในเว็บไซต์เหล่านั้นก็อาจเป็นการเรียกให้เจ้าหน้าที่รัฐมาเคาะประตูถึงหน้าบ้านได้

"นี่เป็นความเสี่ยงที่แท้จริงหากเทคโนโลยีสารสนเทศเน้นให้ทุกคนแสดงตัวตนจริงทั้งหมด" หัวหน้ามีเดียแล็บของสถาบันเทคโนโลยี แมสซาชูเซท โจอิจิ อิโต กล่าว "ถ้าเป็นในสหรัฐฯ คุณอาจจะไม่ใส่ใจเท่าไร แต่กับเด็กๆ ในซีเรีย ทุกครั้งที่เขาโพสต์ในอินเทอร์เน็ต มีคนมองเห็นตัวตนของพวกเขา พวกเขาอาจตายได้"

แน่นอนว่าคนทั่วไปมักจะใช้นามแฝง บางคนเช่น มาร์ค ทเวน (นามปากกาของนักเขียนอเมริกันผู้เขียนเรื่อง 'การผจญภัยของทอม ซอว์เยอร์' ชื่อจริงคือ ซามูเอล ลางฮอร์น คลีเมน) มีคนรู้จักนามปากกาของเขามากกว่าชื่อจริง บางคนใช้นามแฝงในโลกออนไลน์เพื่อปกป้องตัวเอง เช่น ป้องกันการตกเป็นเป้าคุกคาม อย่างไรก็ตามมีบางคนที่ใช้นามแฝงในการกลั่นแกล้งผู้อื่น

เฟซบุ๊กเน้นหนักในเรื่องการใช้ตัวตนจริงเพื่อสนับสนุนการพูดคุยสนทนาอย่างมีอารยะ

"เฟซบุ๊กตั้งอยู่บนฐานของวัฒนธรรมการใช้ชื่อจริงเสมอมา" อิเลียต ชราจ รองประธานด้านนโยบายสาธารณะของเฟซบุ๊กกล่าว "พวกเราเชื่อว่าการทำเช่นนี้ทำให้ผู้ใช้มีสำนักรับผิดชอบมากกว่า มีความปลอดภัยมากกว่า และมีสภาพแวดล้อมที่น่าเชื่อถือมากกว่า"

การใช้นามจริงในเฟซบุ๊กยังมีประโยชน์ในด้านธุรกิจ เช่นการติดต่อซื้อขายสิ่งต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์อย่างการซื้อตั๋วเครื่องบินผ่านเว็บไซต์

ผู้บริหารเว็บไซต์พบความยุ่งยากในการจัดการเว็บไซต์ที่มีผู้ใช้กว่า 800 ล้านคน หลายคนใช้ชื่อที่ประหลาดๆ นโยบายบังคับใช้ชื่อจริงอาจทำให้เกิดความยุ่งยากในโลกจริงได้ กรณีหนึ่งคือตอนที่ วาเอล โกนิม บล็อกเกอร์ชื่อดังของอียิปต์ใช้ชื่อปลอมในการสร้างเพจต่อต้านประธานาธิบดีมูบารัคในเฟซบุ๊ก ทำให้เฟซบุ๊กปิดการใช้เวอร์ชั่นภาษาอาหรับชั่วคราวในขณะที่ยังคงมีประท้วงในจัตุรัสทาห์เรีย จนกระทั่งผู้หญิงคนหนึ่งในสหรัฐฯ ยอมเป็นเจ้าของเพจแทน

ทางด้านทวิตเตอร์ที่ปกป้องการใช้นามแฝงอย่างแข็งขัน ก็ปฏิเสธคำของของรัฐบาลอังกฤษที่กดดันให้มีการใช้ชื่อจริงหลังเกิดเหตุวุ่นวายในอังกฤษ

"ที่อื่นอาจจะบอกให้คุณใช้ชื่อจริงเพราะพวกเขาคิดว่าจะหาเงินจากมันได้ง่ายขึ้น" ดิค คอสโตโล ผู้บริหารระดับสูงของทวิตเตอร์กล่าว "พวกเราสนใจเรื่องการให้บริการผู้ใช้ของพวกเรามาก่อน"

ในเวลาเดียวกันทวิตเตอร์ก็แข่งขันกับกูเกิ้ล และเฟซบุ๊กในการเป็นเว็บที่มีการใช้งานพาสปอร์ต ในแง่นี้เฟซบุ๊กมีฐานที่กว้างขวางที่สุดโดยสามารถให้บริการการเข้าถึงเว็บไซต์อย่างง่ายดายและสามารถส่งข้อความด่วนและข่าวสารได้ เว็บไซต์ดนตรีอย่าง Spotify และ MOG ก็มีการให้ผู้ใช้ใหม่ล็อกอินผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งจะทำให้มีการแสดงผลว่าเพื่อนในรายการของผู้ใช้นั้นๆ กำลังฟังเพลงอะไรอยู่

สำหรับผู้บริโภคแล้วมีทั้งข้อดีและข้อเสีย มันหมายความว่าคุณสามารถท่องไปตามเว็บต่างๆ ได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนรหัสผ่าน แต่ขณะเดียวกันมันก็ทำให้คุณแชร์ข้อมูลว่าคุณทำอะไรบ้างในโลกออนไลน์ผ่านสิ่งที่ คริส ฮูฟกาเนล ศาตราจารย์ด้านกฏหมายของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเรียกว่า "พ่อค้าคนกลางผู้ขายตัวตน"

"มันสะดวกดี" ฮูฟกาเนลกล่าว "แต่คุณต้องการให้เฟซบุ๊กและกูเกิ้ลรู้ว่าคุณกำลังจะไปไหนหรือ?"

เมื่อเฟซบุ๊กระงับบัญชีผู้ใช้ของซัลมาน รัชดี ทางบริษัทก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ก็ยอมรับว่าเป็นข้อผิดพลาด "พวกเราขออภัยในความไม่สะดวกที่เกิดขึ้นกับเขา" เฟซบุ๊กกล่าวในคำแถลง

ซัลมาน รัชดี ผู้ที่เคยต้องใช้นามแฝงมาก่อนเนื่องจากถูกขู่ฆ่า เริ่มเปิดเผยตัวเองมากขึ้นในทวิตเตอร์ ซึ่งตัวเขาต้องต่อสู้เพื่อให้ได้ชื่อออนไลน์ของตัวเองมาใช้เช่นกัน เนื่องจากเมื่อต้นปีที่ผ่านมามีคนสวมรอยเป็นเขาโดยใช้ชื่อ @SalmanRushdie ในทวิตเตอร์ และรัชดีตัวจริงก็ต้องขอร้องให้ทางบริษัทเอาชื่อนี้คืนให้เขา จนในปัจจุบันหน้าเพจทวิตเตอร์ของ @SalmanRushdie ได้รับเครื่องหมาย "บัญชีผู้ใช้ได้รับการยืนยันแล้ว" (Verified Account)

ที่มา

Rushdie Runs Afoul of Web’s Real-Name Police, The New York Times, 14-11-2011
http://www.nytimes.com/2011/11/15/technology/hiding-or-using-your-name-online-and-who-decides.html

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ: ศปภ.แจงข้อมูล จากใจ Call Center กรณีรูปฉาว

Posted: 16 Nov 2011 06:16 AM PST

ศปภ.เผยแพร่คำชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ค จากใจคนทำงาน Call Center ศปภ. "มีผู้ไม่เข้าใจเรา..." เหตุภาพ ศปภ.ยกหูโทรศัพท์-เล่นเฟซบุ๊ก สร้างความเสียหาย ด้าน "ธงทอง" เปิดแถลงแจงเจ้าหน้าที่ไม่ใช่ส่วนรับเรื่องร้องเรียน

 
วันนี้ (16 พ.ย.54) ศปภ.ศูนย์ปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เขียนข้อความชี้แจงในเฟซบุ๊กใช้ชื่อว่า จากใจคนทำงาน Call Center ศปภ. "มีผู้ไม่เข้าใจเรา..." (คลิกดู)  ชี้แจงกรณีมีการเผยแพร่ภาพถ่ายในสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ค โดยระบุว่าเป็นภาพแอบถ่ายการทำงานของเจ้าหน้าที่รับโทรศัพท์แจ้งเหตุขอความช่วยเหลือของ ศปภ.โดยถ่ายมาจากที่ทำการ ศปภ. ชั้น 15 กระทรวงพลังงาน อาคารเอ็นเนอร์จี คอมเพล็กซ์ เวลาประมาณ 15.30 น. ของวันที่ 11 พ.ย.54 ซึ่งทำให้รู้เหตุที่โทรขอความช่วยเหลือ ศปภ.ไม่ติด
 
ตัวอย่างโพสภาพแสดงความคิดเห็นอันหนึ่ง ซึ่งมีผู้ร่วมเผยแพร่ภาพต่อไปอีกว่า 5,000 คน
 
คำชี้แจงในเฟซบุ๊ก ศปภ.ระบุว่า ตามที่มีผู้ไม่เข้าใจว่า ที่ ศปภ. ชั้น 15 เป็น tier 2 ซึ่งทำหน้าที่โทรออกในการ Follow Up ติดตามสถานการณ์ช่วยเหลือประชาชนที่โทรเข้ามาว่าไปถึงไหน ได้รับการช่วยเหลือแล้วหรือไม่ จึงไม่ได้รับสาย 1111 กด 5 และได้มีการยกหูออกจากแป้น ส่วนผู้ทำหน้าที่รับสาย 1111 กด 5 อยู่ตามอาคารของ 4 Mobile Network Operators (ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่) ดังนั้น จึงอยากสื่อสารให้ชาว social network ได้ทราบ
 
คำชี้แจงดังกล่าวยังได้ยกโพสข้อความของผู้ทำหน้าที่อาสาสมัคร call center  1111 กด 5 มาเผยแพร่ อาทิ 
 
“ภาพที่เป็นข่าวนี้ ที่ชั้น 15 เป็น tier 2 เป็นทีมที่โทรศัพท์ติดตามงานจากหน่วยงานต่างๆ ไม่ได้รับสาย ... ส่วนทีมที่รับสาย 1111 กด 5 นั้น ปฏิบัติงานอยู่ที่สำนักงาน call center ของ TOT, AIS, DTAC & TRUE ... % การรับสายสำเร็จเฉลี่ย 95%”
 
“พวกเรา 1111 กด 5 ทำงานกัน 24 ชม. มา เดือนกว่าแล้วครับ รับสายช่วยเหลือมา 20 กว่า จังหวัด เหนื่อยมากครับ”
 
“ใครจะว่ายังไง แต่ความจริงแล้ว พวกเราภูมิใจที่ได้ช่วยผู้คนมากมาย หลายแสนคน ... เรารับสาย 1111 กด 5 อยู่ที่ office ครับ ไม่ได้อยู่ที่ ศปภ.”
 
“เรา 1111 กด 5 ภูมิใจที่ได้ช่วยคุณยายอายุ 100 กว่าปี หญิงท้องแก่ใกล้คลอด และผู้คนอีกมากมาย”
 
พร้อมทั้งระบุให้กำลังใจที่ได้ร่วมมือในการทำงานมากว่าหนึ่งเดือน และขอร้องให้อย่าเอาความตั้งใจของอาสาสมัครที่มีจิตอาสาช่วยผู้คนมาเป็นประเด็นทางการเมือง 
 
ส่วนโพสทูเดย์ รายงานข่าวกรณีภาพที่ถูกนำไปขยายผลโจมตีสร้างความเสียหายแก่ ศปภ.ว่า เมื่อเวลา 14.30 นายธงทอง จันทรางศุ โฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) กล่าวว่า ภาพดังกล่าวเป็นภาพที่ถ่ายบริเวณชั้น 15 อาคารเอเนอร์จี้ คอมเพลกซ์ ซึ่งเป็นที่ทำการของ call center  ศปภ.จริง 
 
นายธงทอง ชี้แจงต่อมาว่า บริเวณศูนย์ดังกล่าวเป็นศูนย์ส่วนที่ 2 ของหน่วยงานราชการต่างๆ เช่น กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น การประปานครหลวง หรือกองบัญชาการตำรวจนครบาล เป็นต้น ซึ่งจะรับช่วงต่อมาจากเครือข่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน และโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้งจากทีโอที เอไอเอส ทรู และดีแทคที่เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียนไว้ในขั้นแรก และบันทึกข้อมูลลงในระบบคอมพิวเตอร์เพื่อส่งต่อมายัง call center  ของ ศปภ.ที่ปรากฏในภาพ ส่วน call center  ของ ศปภ.จะประสานงานต่อไปยังหน่วยงานของตนเองต่อไป
 
“ส่วนโทรศัพท์ของ call center ศปภ.ยกหูค้างไว้นั้น เป็นโทรศัพท์ที่มีไว้สำหรับโทรออกเพื่อประสานงานกลับไปยังหน่วยงานของตัวเองเท่านั้น ไม่สามารถโทรเข้ามได้ และไม่เกี่ยวกับการรับเรื่องร้องเรียน จึงขอชี้แจงให้ประชาชนทราบดังนี้” นายธงทองกล่าว
 
 
ทั้งนี้ กระแสตอบรับจากในหน้าเฟซบุ๊กมีทั้งร่วมแสดงความคิดเห็น ให้กำลังใจสาสมัคร และตั้งคำถาม อาทิ 
 
“ในสภาวะน้ำท่วมหนักการติดต่อสื่อสารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมพร้อมสมบูรณ์แบบ ไม่มีตรรกะหรือเหตุผลไดๆที่ต้องยกหูโทรศัพท์ออก ที่เขาเอารูปไปตำหนิเพราะนี่เพราะเป็นส่วนหนึ่งของ ศปภ. การออกมาสารภาพว่าหน่อยงานรับสายไม่ได้ยกหู หน่วยงานอื่นโน่น (ในภาพ) ที่ยกหู มันทำให้ ศปภ.แก้ข้อบกพร่องของตัวเองได้หรือ”
 
“ประเทศไทยมีคน 2 ประเภท1.ทำดีแล้วโดนด่า 2.ไม่ทำห่าอะไรแล้วมานั่งนักเลงคีย์บอร์ด”
 
“ใครจะว่าอะไรก็ชั่ง ความจริงคือความจริง ผมเป็นคนหนึ่งที่ทำงาน 1111 กด คุม น้อง 300 ร้อยคน และน้องทั้ง 300 คนไม่เคยไปนั่งทำงานที่ ศปภ แต่นั่งทำงานที่บริษัทตัวเอง (ผมคนไม่ใช่คนเสื้อแดงแต่ตรงข้ามด้วย และรักในหลวง)”
 
“ถ้าส่วนนี้คือส่วนโทรออก แล้วหน้าจอที่เห็นถึงเป็นการเล่น Facebook ละคับ”
 
“เออ...ทีแก้ตัวมาซะไวเลยนะ เคยโทรไปขอความช่วยเหลือกลับบอกไม่ใช่หน้าทึ่ หลังจากนั้นก็หมดศรัทธา”

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อิเกีย ประเทศไทย

Posted: 16 Nov 2011 06:14 AM PST

คนทุกคนไม่ว่าจะอยู่ประเทศใดต่างมีสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคล และความคิดเห็นนั้นย่อมเป็นของ “ส่วนบุคคล” ไม่ใช่ความคิดเห็นที่มาจากบริษัทหรือองค์กรใดๆ ในกรณีนี้เราต้องการย้ำอีกครั้งว่าความเห็นดังกล่าวไม่ใช่ความเห็นของ IKEA เยอรมัน IKEA ประเทศไทย หรือ IKEA ประเทศใดๆก็ตาม IKEA ยินดีรับฟังความคิดเห็นของทุกคนบนพื้นฐานของความสุภาพและความเคารพซึ่งกันและกัน

แจงผ่าน FB ไม่ฝักใฝ่การเมือง

มกุฎ อรดี:อนาคตของเด็กไทยในมือ'แทบเล็ต'

Posted: 16 Nov 2011 06:12 AM PST

มีผู้แสดงความเห็นจำนวนมาก เรื่องแทบเล็ตงบประมาณ ๑,๖๐๐ ล้านบาท ซึ่งข่าวว่าคณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการไปแล้วและได้รับคำยืนยันจากผู้เกี่ยวข้องว่า ซื้อแน่ เรื่องนี้ ครั้นจะตอบความเห็นทุกความเห็น ก็ไม่มีเวลามากพอ

จึงขอสรุปรวบมาตอบรวมกันไว้ ที่นี้
 
๑. เหตุใดไม่ควรใช้แทบเล็ตในเด็กชั้น ป.๑ มีนักวิชาการพูดไว้ในที่ต่างๆ แล้ว ความเห็นส่วนใหญ่ทั้งไทยและต่างชาติก็คือ ทำให้ธรรมชาติของเด็กเสียไป ควรเริ่มใช้ในวัยหลังจากที่เด็กเริ่มเรียนรู้ตามธรรมชาติแล้ว ได้รู้จักใช้อวัยวะอย่างธรรมชาติแล้ว เช่น อย่างเร็วก็ประถมปลาย หรือมัธยมต้น
 
๒. วัยที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย คือ มัธยมต้น หรือมหาวิทยาลัย เพราะมีแหล่งข้อมูลที่ให้ค้นคว้ามากมาย แต่เด็ก ป.๑ ยังหาประโยชน์จากการใช้ข้อมูลด้านความรู้ได้ไม่มาก ดังที่กระทรวงผู้เกี่ยวข้องเองก็บอกว่า วิชาต่างๆ ที่จะใส่ในแทบเล็ต ๘ วิชานั้น ยังใส่ไม่หมด ใส่ได้ไม่ครบ ยังจะต้องซื้อหนังสือกระดาษให้เรียนอยู่นั่นเอง
 
๓. จะดีกว่าหรือไม่ หากทำการวิจัยอย่างรอบด้านเสียก่อน อย่าเพิ่งทุ่มซื้อหลายแสนเครื่องเต็มโครงการ หากซื้อเพียง ๑,๐๐๐ เครื่อง เพื่อทำวิจัยในท้องที่หรือกลุ่มเด็กต่างๆ อย่างเต็มรูปแบบด้วยการใช้จริงเหมือนในโครงการจริง เพื่อประเมินผลว่ามีอะไรบกพร่องก็แก้ไขได้ หากทุ่มไปทีเดียวนับแสนเครื่องและเกิดผิดพลาดอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะเสียหายมาก เงินจำนวน ๑,๖๐๐ ล้านบาทก็สูญในชั่วพริบตา
 
๔. ใครจะรับรองว่า กรณีแทบเล็ตครั้งนี้จะไม่เหมือนกับกรณีคอมพิวเตอร์เอื้ออาทร ที่เมื่อประชาชนซื้อไปแล้ว ไม่นาน เครื่องเสีย ซ่อมไม่ได้ กลายเป็นขยะคอมพิวเต้อร์ เมื่อถึงเวลานั้นก็โทษกันไปโทษกันมาระหว่างรัฐบาลกับประชาชน
 
กรณีแทบเล็ตนี้ เด็กอายุ ๖-๗ ขวบ เด็กวัยนี้ มีข้อมูลหรือไม่ว่าทำของหลุดมือหรือทำของหล่นง่ายแค่ไหนเมื่อเทียบกับเด็กอายุ ๑๔ ปี ขึ้นไป
 
๕. มีผู้แสดงความเห็นกันมากว่า บางประเทศก็แจกแทบเล็ตให้เด็กใช้ เช่น อินเดีย เกาหลีใต้ หรือรวันดา เป็นต้น
 
กรณีทั้ง ๓ ประเทศนี้ มีรายละเอียดต่างกัน
 
ประเทศอินเดีย และประเทศเกาหลีใต้ เป็นผู้ผลิตแทบเล็ตส่งออกรายใหญ่ของโลก เมื่อผลิตแล้วก็ต้องขาย วิธีการขายแทบเล็ตไม่เหมือนสินค้าอย่างอื่น เพราะเป็นสินค้าราคาแพง และหากจะขายก็ต้องขายเป็นล็อตใหญ่จึงจะคุ้ม ไม่เหมือนสินค้าขายปลีกทั่วไป
 
การตลาดของอินเดียและเกาหลีใต้ ในการขายแทบเล็ตไปยังตลาดโลก ใช้วิธีเดียวกัน คือ ใช้เด็กของตนเป็นผู้สาธิต เพื่อให้เป็นที่เชื่อถือว่า แทบเล็ตนั้นดีจริงจึงใช้กับเด็กในชาติตน ใช้กับลูกหลานของตน และเมื่อเชิญตัวแทนรัฐบาลจากประเทศต่างๆ ไปดูงาน ก็นำไปดูงานยังโรงเรียนที่เด็กใช้แทบเล็ต ได้เห็นของจริง เห็นเด็กใช้แทบเล็ตจริง
 
การแจกแทบเล็ตของอินเดียและเกาหลีใต้ จึงเป็นการลงทุนที่ได้ผลระยะยาวหลายอย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่มีใครเคยได้ยินเลยก็คือ เหตุผลทางการค้าการประชาสัมพันธ์
 
ส่วนประเทศรวันดานั้น สืบเนื่องจากสงครามกลางเมืองระหว่างทศวรรษ ๑๙๙๐ ประมาณว่า ประชากร ๗ ล้าน ๕ แสน ฅน ถูกสังหารโหดมากกว่า ๑ ล้าน ฅน มีเด็กหลายแสนฅนเป็นกำพร้า ในค่ายอพยพต่างๆ มีฅนตายวันละมากกว่า ๒,๐๐๐ ฅน เด็กทั้งเล็กใหญ่ต้องเผชิญสภาวะโหดร้าย สภาพจิตเสียหายไปหมด เมื่อสหประชาชาติเข้าช่วยเหลือ การจัดวิธีการเรียนของเด็กก็พยายามหลีกเลี่ยงรูปแบบเดิม เพื่อไม่ให้เด็กนึกถึงสภาพเดิมเมื่อครั้งอยู่ในโรงเรียนและฝ่ายตรงข้ามเข้ามาจับฆ่าทีละฅน เด็กทุกฅนที่รอดมามีภาพเหล่านั้นติดตา
 
ตัวอย่างทั้ง ๓ ประเทศนี้ จะเห็นว่าการใช้แทบเล็ตในเด็กชั้นประถม มีเหตุผลของตนเอง เพื่อประโยชน์ไม่เพียงเรื่องการศึกษาอย่างเดียว แต่รวมทั้งการค้า การอุตสาหกรรมด้วย เช่นอินเดียและเกาหลีใต้ หรือกรณีซับซ้อนอย่างยิ่งของรวันดา
 
หน่วยงานของรัฐและเอกชนทั้งรัฐบาลอินเดียและเกาหลีใต้ เชื้อเชิญบุคคลในรัฐบาลต่างๆ จากประเทศทั่วโลกไปดูงานเรื่องการศึกษาชั้นประถม เน้นดูงานเรื่องแทบเล็ตและการศึกษาแนวใหม่เป็นพิเศษ
 
ประเทศต่างๆ นับหลายสิบหรือนับร้อยประเทศเหล่านั้น แม้แต่ประเทศร่ำรวยของโลก ก็ไม่มีข่าวว่าตัดสินใจใช้นโยบายให้เด็กประถม ๑ ใช้แทบเล็ตเรียนแทนหนังสือกระดาษอย่างเป็นนโยบายหลักชนิดพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ
 
ประเทศที่เคยใช้เครื่องคอมพิวเต้อร์อย่างเป็นเรื่องปกติธรรมดาเมื่อกว่า ๑๐ ปีก่อน จนถึงขั้นพูดกันว่า "ฅนสิงโปร์ใช้คอมพิวเต้อร์ มีคอมพิวเต้อร์ทุกฅนยิ่งกว่ามีรองเท้าแตะ" เพราะเป็นสิ่งธรรมดา
 
แต่หลังจากนั้น จนบัดนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ก็ไม่ตื่นเต้นเรื่องคอมพิวเต้อร์หรือแทบเล็ตอีกต่อไป แต่เน้นเรื่องการศึกษาในระบบหนังสือพื้นฐาน เช่นห้องสมุดสาธารณะมากเป็นพิเศษ ชาวสิงคโปร์อย่างน้อยก็ ๒ ฅน เคยเล่าว่า รัฐบาลสิงคโปร์เห็นปัญหาหลังจากคอมพิวเต้อร์เฟื่องฟูในกลุ่มเด็กในระยะ ๑๐ ปี โดยเฉพาะด้านพฤติกรรม ความกระด้าง และสุขภาพจิต
 
การให้เด็กเริ่มใช้เครื่องกลตั้งแต่วัยเยาว์นั้น ถ้าไม่ศึกษาให้ถ่องแท้ ไม่วิจัยวิเคราะห์ให้ดี อาจกล่าวได้ว่า ในระยะยาว ผลได้ไม่เท่าเสีย เช่นงานวิจัยในประเทศใหญ่ๆ เคยเปิดเผยบ้างแล้ว
 
จะดีหรือไม่ ถ้าการแจกแทบเล็ตเพื่อให้เด็ก ป.๑ ใช้ ในประเทศไทยจะล่าไปสัก ๑ ปี แต่ระหว่างนี้พยายามศึกษาวิจัยหาผลจากการใช้ในเบื้องต้นเสียก่อนว่า ได้ผลดีวิเศษจนคุ้มค่าจะลงทุน แม้เรามิใช่ประเทศผลิตแทบเล็ตเอง แต่ต้องซื้อเขามาทุกเครื่อง และหากเสีย ซ่อมได้ก็ดีไป ถ้าซ่อมไม่ได้ก็ต้องซื้อใหม่อีก ก็ตาม
 
มีผู้อ้างว่า ประเทศไทยเป็นประเทศผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่ของโลก แต่นั่นก็คือชิ้นส่วน ผลิตแล้วต้องส่งไปให้เจ้าของสินค้า แม้นำชิ้นส่วนออกมาจากโรงงานได้ก็มิได้มีค่ามากไปกว่าเศษขยะ เพราะนำไปใช้ประกอบอะไรไม่ได้ ประเทศไทยจึงยังภาคภูมิใจในฐานะ 'ผู้รับจ้างด้านแรงงานผลิตวัสดุคอมพิวเต้อร์' อยู่นั่นเอง
 
และคิดไกลไปอีกก้าวหนึ่งหรือไม่ว่า เครื่องมือการเรียนของเด็ก ป.๑ ที่ราคาแพงนี้ หากอยู่ในมือของเด็กครอบครัวยากจน แล้ววันหนึ่งเกิดทำตกน้ำ หรือหล่นหาย หรือตกแตก พ่อแม่ของเด็กไม่มีปัญญาซื้อใหม่ เด็กฅนนั้นจะเรียนหนังสือในชั้นเรียนอย่างไร เพราะการเรียนการสอนดำเนินไปด้วยแทบเล็ต แต่เด็กไม่มีเครื่องมือเรียนชนิดนั้น ปัญหาด้านอื่นๆ ที่จะตามมา เช่น ปัญหาด้านจิตใจ จะแก้ไขอย่างไร
 
ประการสำคัญที่ไม่ได้พูดถึงอย่างเชื่อมสัมพันธ์กันก็คือ ทุกปีจะต้องจัดงบประมาณซื้อแทบเล็ต อย่างน้อยก็จำนวนเท่านี้ และเพิ่มมากขึ้นในปีต่อไป เพราะค่าโปรแกรมค่าซอฟแวร์ต่างๆ ดังที่แจ้งว่าค่าใส่โปรแกรมเครื่องละ ๔๐๐ บาท นั่นหมายถึงจ่ายครั้งเดียวหรือทุกครั้ง และแทบเล็ตในมือเด็กอายุ ๖-๗ ขวบ นั้น จะมีอายุใช้งานได้กี่ปี โดยเฉพาะระบบจอสัมผัสหรือทัชสกรีน
 
อีกประการหนึ่งที่น่าพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน และต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นมาเกี่ยวข้องด้วย ไม่เพียงด้านการศึกษา ก็คือ  มีผลงานวิจัยแล้วหรือไม่ว่า เด็กอายุเพียง ๖-๗ ขวบ อยู่กับเครื่องอิเล็คทรอนิคส์ทั้งวัน ตลอดปี เป็นเวลาหลายปี จะเกิดผลเสียต่ออวัยวะส่วนต่างๆ หรือไม่อย่างไร อวัยวะส่วนที่ไวต่อกระแสไฟฟ้าหรือแม่เหล็กของเด็กเล็กจะทนทานได้เท่าผู้ใหญ่หรือไม่
 
วัสดุที่นำมาผลิตเครื่องแทบเล็ตก็คงไม่ต่างจากเครื่องคอมพิวเต้อร์ และเรามักได้ยินชาติต่างๆ กล่าวถึงสิ่งเหล่านี้กันอย่างหวาดกลัวว่า "ขยะอิเล็คทรอนิคส์" นั้นร้ายนักสำหรับชีวิตมนุษย์
 
เราคิดการณ์ไกลไปถึงอนาคตของเด็กๆ เหล่านั้นหรือไม่ว่า เขากำลังเสี่ยงหรือไม่ และมีใครยืนยันว่าปลอดภัย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ หรือหากเกิดอะไรขึ้นในอนาคต จะทำอย่างไร มีงานวิจัยของไทยสักฉบับหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่ และหากมีการวิจัยนั้นแม้เพียง ๑ ชิ้น รายะละเอียดการทดสอบด้วยสิ่งมีชีวิตนั้นกระทำกับสิ่งมีชีวิตใด
 
หรือว่าเราจำเป็นต้องรีบร้อนมี และไม่ต้องวิจัยอะไรเลย แม้แต่ด้านความปลอดภัยของสุขภาพเด็ก
 
ประชาชนนั้นพร้อมจะรับความเอื้ออาทรจากรัฐบาลเสมอ เพราะเชื่อมั่นความปรารถนาดีของรัฐบาล และอยากตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ตลอดจนหวังว่าจะร่วมมือกับรัฐบาลสร้างความเจริญงอกงามรุ่งเรืองของประเทศชาติโดยผ่านเด็กๆ ลูกหลานของตน
 
ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้ใส่ใจพิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วนถ่องแท้หรือยังถึงผลดีผลเสียของเครื่องมือเล็กๆ ที่ผลิตขึ้นด้วยวัสดุซับซ้อนและบางชิ้นนั้นมีข้อความกำกับด้วยซ้ำว่าเป็นวัตถุมีพิษ
 
ที่สำคัญ รัฐบาลเคยตั้งคำถามหรือไม่ว่า ประเทศในโลกนับร้อยประเทศ เหตุใดจึงมีแต่ประเทศผู้ผลิตแทบเล็ตเท่านั้นที่ให้เด็กใช้แท็บเล็ตในชั้นประถม อย่างเกาหลีและอินเดีย (ยกเว้นกรณีพิเศษของรวันดา ที่สหประชาชาติจัดให้)
 
เหตุใดประเทศร่ำรวยอีกมากในนับร้อยประเทศของโลกจึงไม่มีนโยบายให้เด็กชั้น ป.๑ ใช้แทบเล็ตหมดทั้งประเทศ
 
การให้เด็กใช้แทบเล็ตแทนหนังสือกระดาษตั้งแต่เรียนชั้น ป.๑ จะช่วยให้เด็กเรียนดี เรียนเก่ง ฉลาดขึ้นจนถึงขั้นประเทศชาติจะเปลี่ยนไปได้คุ้มเกินการลงทุนทุกด้านรวมทั้งวัฒนธรรม อุปนิสัยที่จะดีขึ้น สมองฉลาดขึ้น การเรียนรู้อื่นๆ ล้วนแต่เปลี่ยนไปในด้านดี จนทดแทนหนังสือพื้นฐานได้ แต่เหตุใดทุกประเทศในโลกยังเพียรพยายามจัดการระบบหนังสือ(กระดาษ)สาธารณะอย่างจริงจังตลอดเวลา และทุ่มเทงบประมาณจำนวนมาก
 
เหตุใดประเทศผู้นำด้านการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ การเกษตร และแม้แต่ด้านเศรษฐกิจของโลกซีกเอเซีย เช่น อินเดีย จีน และประเทศเร่งพัฒนาอย่างเวียดนาม เกาหลีใต้ จึงส่งเสริมพัฒนาหนังสือ(กระดาษ)อย่างไม่ลดละ
 
เหตุใดประเทศไทยจึงไม่มีเป้าหมายเป็น'ผู้ผลิต'แทบเล็ตเหมือนประเทศอินเดียเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว เสียก่อน จนเมื่อผลิตได้เองแล้ว จึงแจกฅนของตนเพื่อขายออกนอกประเทศและทั่วโลก
 
เรามีนโยบายว่าจะแจกของแปลกชิ้นหนึ่งให้เด็ก ของนั้นเป็นสิ่งดีมีประโยชน์ แต่เด็กและพ่อแม่ผู้ปกครองยังไม่รู้เลยว่า ข้างในของสิ่งนั้นประกอบด้วยอะไร นอกจากประโยชน์มหาศาลจนถึงขั้นจะเปลี่ยนโลกได้แล้ว จะมีโทษอะไรด้วยหรือไม่ หากมีโทษทั้งในระยะสั้นและโดยเฉพาะระยะยาว จะแก้ไขอย่างไร หรือมีวิธีป้องกันโทษเสียแต่ต้นมือหรือไม่
 
เราแน่ใจแล้วหรือว่า ของชิ้นนั้นไำม่มีโทษจนถึงกับต้องเป็นภาระหนักในอนาคต โดยเฉพาะภาระในจิตใจ ในสุขภาพของเด็กเอง ซึ่งฅนอื่นจะช่วยแก้ปัญหาก็ยาก หรือช่วยไม่ได้เลย
 
เราไม่ลองหยุดคิดสักชั่วขณะหรือว่า เหตุใดประเทศร่ำรวยและเจริญก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และด้านอื่นๆ ทุกด้านในโลก จึงไม่ประกาศแจกแทบเล็ตให้เด็กชั้น ป.๑ เป็นนโยบายของชาติ
 
 
 
 
มกุฏ อรฤดี
๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๔

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น