ประชาไท | Prachatai3.info |
- กรุงเทพฯ จมแน่ในอีก 50 ปี หากยังไม่เตรียมมาตรการป้องกัน
- เดอะการ์เดียน เผย หนังสือของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ เป็นแรงบันดาลใจให้กลุ่มต่อต้านรัฐบาลอิหร่าน
- ถกทางออกสื่อมวลชนชายแดนใต้ ทำไมไม่เกาะติดข่าวคดีความมั่นคง
- เครือข่ายสู้น้ำท่วมเมืองตรัง วันนี้พร้อมแล้วรับมือภัยพิบัติ
- วิจัยครบวงจรโรงไฟฟ้าชุมชนการจัดการความรู้ด้านพลังงานในภาคใต้
- "มาร์ค" ย้ำรัฐบาลเก่าไม่ได้กักน้ำ โอด ปชป. อยู่ดีๆ ก็ถูกใส่ร้ายว่าปล่อยจระเข้
- เผยในหลวงเป็นปกติแล้ว
- อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล
- สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 5 - 11 พ.ย. 2554
- กรมการแพทย์เร่งผลิตยารักษาโรคน้ำกัดเท้าให้ทหาร
- เลขาธิการ 'ยูเอ็น' เยือนไทย 16-17 พ.ย. นี้
- TCIJ: ‘พื้นที่โฉนดชุมชน’ ระดมผักล็อต 2 ช่วย ‘ผู้ประสบภัย’ วอนสนับสนุนรถบรรทุก
- สองรัฐในมาเลเซียเล็งออกกฏศาสนาลงโทษเกย์
กรุงเทพฯ จมแน่ในอีก 50 ปี หากยังไม่เตรียมมาตรการป้องกัน Posted: 12 Nov 2011 11:43 AM PST ผู้เชี่ยวชาญนานาชาติแนะ กทม. อาจทรุดต่ำกว่าระดับน้ำทะเลภายใน 50 ปี หากยังไม่มีมาตรการรับมือที่เตรียมพร้อม ระบุสาเหตุจากโลกร้อนและแผ่นดินกทม. ทรุดจากการสูบน้ำใต้ดิน สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า กรุงเทพฯ อาจเผชิญความเสี่ยงภัยต่อการเกิดอุทกภัยมากกว่าเดิมสี่เท่าตัวในอนาคต เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่ทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น และการทรุดของกรุงเทพฯ ที่ยังคงลดต่ำลง และถ้าหากยังไม่มีการวางแผนที่ป้องกันที่ดีพอ อาจทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯ อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลภายใน 50 ปี OECD เผย กทม. ติดลำดับ 1 ใน 10 เมืองในโลกเสี่ยงน้ำท่วมชายฝั่ง ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ระดับน้ำทะเลในอ่าวไทย จะสูงขึ้น 19- 29 ซม. ภายในปี 2050 เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก ทำให้กรุงเทพฯ ซึ่งทรุดตัวต่ำลงอยู่แล้วจากการสูบน้ำใต้ดิน เผชิญความเสี่ยงในการถูกน้ำท่วมสูงกว่าเดิม นักวิชาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระบุว่า หากยังไม่มีมาตรการเตรียมพร้อมที่ดีเพียงพอ พื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯ อาจลดต่ำกว่าระดับน้ำทะเลภายใน 50 ปี ทั้งนี้ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ยังได้จัดให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองติด 10 ลำดับสูงสุดในโลก ที่เสี่ยงต่อผลกระทบที่เกิดจากน้ำท่วมชายฝั่งภายในปี 2070 ด้วย เอเอฟพียังได้อ้างคำสัมภาษณ์ของผู้เชี่ยวชาญการจัดการน้ำจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งฝรั่งเศส ว่า ในระยะยาวแล้ว กรุงเทพจะจมอยู่ใต้น้ำแน่นอน แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นเมื่อใด ผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้แนะว่า ทางการไทยจำเป็นจะต้องแก้ปัญหาการวางแผนและใช้ที่ดินให้เหมาะสม และคำนึงถึงการย้ายโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมออกไปจากพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการน้ำท่วม นอกจากนี้ ยังระบุว่า หากกรุงเทพฯ ต้องการที่จะไม่เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมอีกเลย กรุงเทพฯ อาจจะต้องย้ายทั้งเมืองไปอยู่ที่ใหม่ในพื้นที่ที่อยู่สูง อย่างไรก็ตาม หากกรุงเทพฯ ยังคงจะตั้งอยู่ที่เดิม ก็จำเป็นต้องมีมาตรการตั้งรับภัยพิบัติที่ดีกว่านี้ในอนาคต นักวิชาการด้านวิศวกรแหล่งน้ำชายทะเลจากมหาวิทยาลัยเซาท์แฮมป์ตัน ประเทศอังกฤษ ยังคาดการณ์ว่า เหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ จะทำให้มีการลงทุนด้านการป้องกันภัยพิบัติอย่างมหาศาลไปอีกตลอด 10-20 ปีข้างหน้า ผู้เชี่ยวชาญแนะ พัฒนาเครื่องมือให้ทันสมัยเพื่อลดความสูญเสีย ในขณะเดียวกัน สำนักข่าวรอยเตอร์ ได้สัมภาษณ์ เคลลี เลวิน นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันวิจัยทรัพยากรโลก โดยระบุว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีมาตรการใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ในอนาคต เพื่อการรับมือภัยพิบัติโดยลดการสูญเสียให้น้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็น การใช้เครื่องมือการพยากรณ์อากาศที่ถูกต้องและแม่นยำ การมีแผนที่และแนวป้องกันน้ำท่วมที่มีประสิทธิภาพ และระบบเตือนภัยล่วงหน้า รวมถึงระบบประมวลข้อมูลการตัดสินใจการปล่อยน้ำจากเขื่อน ก็ต้องพัฒนาให้ละเอียดและแม่นยำกว่าเดิมด้วย เลวินยังได้ยกตัวอย่างถึงตัวอย่างในประเทศบังกลาเทศ ที่เผชิญกับพายุไซโคลนนาเดียร์ เมื่อปี 2007 ในเหตุการณ์นั้น ระบบเตือนภัยล่วงหน้าได้ช่วยลดความสูญเสียลงอย่างเห็นได้ชัด เห็นจากมีจำนวนผู้เสียชีวิต 3,400 คน ในขณะที่เมื่อปี 1991 เกิดพายุไซโคลนรุนแรงในระดับเดียวกัน แต่มียอดผู้เสียชีวิตถึง 140,000 คน เครก สเต็ฟเฟนสัน ผู้อำนวยการธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียประจำประเทศไทย กล่าวกับรอยเตอร์ว่า ถึงแม้ความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกกับเหตุอุทกภัยในประเทศไทย จะยังไม่ชัดเจนมากนัก แต่ก็เห็นได้ชัดว่าอุทกภัยทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จะเห็นจากเหตุการณ์ในภูมิภาค เช่น เวียดนาม กัมพูชา ลาว และปากีสถานตะวันตก ที่กำลังเผชิญกับอุทกภัยที่มีความรุนแรงเช่นเดียวกัน
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เดอะการ์เดียน เผย หนังสือของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ เป็นแรงบันดาลใจให้กลุ่มต่อต้านรัฐบาลอิหร่าน Posted: 12 Nov 2011 08:59 AM PST หนังสือ "News of a Kidnapping" ของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ นักเขียนแนวสัจนิยมมายากลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในอิหร่าน มีการสั่งจองและขายหมดเกลี้ยงตามร้านหนังสือใหญ่ หลังจากที่มูซาวี ผู้นำกลุ่มต้านรัฐบาลบอกว่าหนังสือเล่มนี้ราวกับกำลังสะท้อนภาพชีวิตของพวกเขาที่ถูกรัฐบาลสั่งกักบริเวณในบ้าน สำนักข่าวเดอะ การ์เดียน รายงานว่างานเขียนของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ นักเขียนแนวสัจนิยมมายา เป็นแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในอิหร่าน นักเขียนรางวัลโนเบล กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่สามารถสร้างจินตนาการถึงโลกที่เหนือจริงและบางครั้งก็เต็มไปด้วยอันตราย ซึ่งสิ่งที่เห็นไม่ได้เป็นอย่างที่คิด ในกรณีนี้ประเทศที่ถูกกล่าวถึงไม่ใช่ประเทศโคลัมเบียของมาร์เกซ แต่เป็นประเทศอิหร่านภายใต้การนำของประธานาธิบดี มาห์มูด อาห์มาดิเนจัด หนังสือเรื่อง "News of a Kidnapping" ผลงานปี 1996 ของมาร์เกซ ขายดีเทน้ำเทท่าในร้านหนังสือกรุงเตหราน หลังจากที่ผู้นำฝ่ายต้านรัฐบาล มีร์ ฮอสเซน มูวซาวี กล่าวว่าเนื้อหาการลักพาตัวของชาวโคลัมเบียในหนังสือเล่มนี้ ราวภาพสะท้อนชีวิตของเขาในยามถูกสั่งกักบริเวณภายในบ้าน มูวซาวี และเพื่อนกลุ่มต้านรัฐบาลของเขา เมห์ดี คาร์รูบี ถูกกักบริเวณภายในบ้านนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ก.พ. เป็นต้นมา หลังจากที่ชาวอิหร่านหลายพันคนออกมาประท้วงตามท้องถนนเพื่อตอนรับกับการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่ลามไปทั่วโลกอาหรับ นับตั้งแต่นั้นมาพวกเขาก็ได้ออกไปเจอโลกภายนอกน้อยมาก มูวซาวีได้รับอนุญาตให้พบปะกับลูกสาวของเขาครั้งหนึ่ง โดยมีเจ้าหน้าที่คอยจับตามอง แต่มูวซาวีก็บอกกับลูกสาวของเขาว่า "ถ้าหากพวกลูกๆ อยากรู้ถึงสภาพของพ่อตอนถูกขังอยู่ ก็ขอให้อ่านเรื่อง News of a Kidnapping ของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกส" คำกล่าวของมูซาวีมีการบอกต่อกันไปทั่วอิหร่านผ่านสังคมออนไลน์ จนทำให้ประชาชนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลหลายร้อยคนพากันแห่ไปหาหนังสือเล่มนี้มาครอบครอง จนถึงขั้นต้องมีการสั่งจองในร้านหนังสือบางร้าน และหนังสือก็ขายผมดภายในไม่กี่วัน นักข่าวในอิหร่านบอกว่าเขาใช้เวลาราวสองชั่วโมงเพื่อหาหนังสือเล่มนี้ ทีแรกเขาไปที่ร้านหนังสือในย่านคาริมคาน แต่ก็ไม่มีหนังสือเหลือ ต่อมาเขาจึงไปที่ถนนเองเกลับ และแปลกใจมากที่มีคนจองคิวซื้อหนังสือราวกับว่าพวกเขากำลังจองคิวซื้อแฮรี่ พอตเตอร์ ร้านหนังสือรายใหญ่ในเมืองหลวงของอิหร่านอย่างน้อย 10 ร้านบอกกับเดอะ การ์เดียนว่า หนังสือในสต็อกของพวกเขาขายหมดเกลี้ยง แต่ไม่ได้บอกว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น หนังสือเรื่อง News of a Kidnapping ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในปี 1997 มีเนื้อหาพูดถึงการลักพาตัวชาวโคลัมเบียที่มีชื่อเสียง ทั้งนักข่าวและนักการเมือง โดยมีผู้บงการคือปาโบล เอสโคบาร์ เจ้าพ่อค้ายา เว็บข่าว Aftab จัดอันดับหนังสือเล่มนี้ให้เป็นหนังสือขายดี ส่วนหนังวือพิมพ์ของกลุ่มนักปฏิรูป Shargh รายงานเรื่องความต้องการหนังสือเล่มนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นในร้านหนังสือใหญ่ๆ ของกรุงเตหราน ผู้สนับสนุนมูวซาวี ยังได้สร้างเพจในเฟสบุ๊คชื่อ "News of a Kidnapping, the status of a president in captivity" ซึ่งมีการโพสท์เนื้อหาบางส่วนของหนังสือเล่มนี้ ขณะที่บางเว็บไซต์ก็มีการแปลเป็นภาษาฟาร์ซีให้อ่านแบบออนไลน์หรือดาวน์โหลดฟรี กลุ่มผู้สนับสนุนมูซาวี และคาร์รูวบี เรียกสภาพของทั้งสองคนนี้ว่าเป็นการ 'ลักพาตัว' และเรียกร้องให้สหประชาชาติสืบสวนการหายไปของพวกเขา พวกเขายังเชื่อด้วยว่าผู้นำสูงสุดของอิหร่าน อยาโตลาห์ อาลี คาเมนี มีส่วนในการทำให้พวกเขาถูกกักบริเวณโดยไม่มีคำสั่งศาล ที่มา: Gabriel García Márquez book inspires Iran's opposition movement, The Guardian, 20-09-2011 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ถกทางออกสื่อมวลชนชายแดนใต้ ทำไมไม่เกาะติดข่าวคดีความมั่นคง Posted: 12 Nov 2011 08:33 AM PST กลุ่มสื่อมวลชนชายแดนใต้ ร่วมถกทางออกทำไมไม่เกาะติดข่าวคดีความมั่นคง ชี้เพราะเข้าใจยาก กฎหมายซับซ้อน เขียนส่งสำนักส่วนกลางแต่ถูกเขี่ยทิ้ง
ถก - กลุ่มสื่อมวลชนหลายแขนงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมสนทนาเพื่อหาทางออกว่าเหตุใดจึงไม่มีใครเกาะติดข่าวคดีความมั่นคง เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2554 ที่สำนักข่าวอามาน อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 12 พฤศจิกายน 2554 ห้องประชุมชั้น 2 สำนักข่าวอามาน โครงการปัตตานีเพลส อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี มีการจัดสนทนาเพื่อพัฒนาหลักสูตรและการอบรมสื่อด้านนิติวิทยาศาสตร์ จังหวัดชายแดนใต้ มีสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมประมาณ 20 คน นายตูแวดานียา มือรีงิง ว่าที่นายกสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ แจ้งวัตถุประสงค์ของการจดสนทนาต่อที่ประชุมว่า เนื่องจากที่ผ่านมา สื่อไม่ได้รายงานข่าวเกี่ยวกับคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเกาะติดและต่อเนื่องทั้งที่เป็นพื้นที่ไม่ปกติ จึงคิดจะเชิญผู้รู้ด้านกฎหมายมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับคดีความมั่นคง เพื่อช่วยให้สื่อทำข่าวเรื่องนี้ได้ดีขึ้น นำไปสู่การร่างหลักสูตรและการอบรมสื่อด้านนิติวิทยาศาสตร์ ในวงสนทนาได้มีการพูดคุยกันอย่างกว้างขวางถึงสาเหตุที่ข่าวคดีความมั่นคงไม่ได้รับความสนใจจากสื่อ เนื่องจากเป็นกระบวนการที่เข้าใจยาก มีความซับซ้อนและใช้เวลานาน ในขณะเดียวกันสำนักข่าวต้นสังกัดในส่วนกลางเองก็ไม่ให้ความสำคัญกับข่าวจากพื้นที่ หรือไม่เข้าใจสถานการณ์ที่แท้จริง ทำให้มีการนำเสนอที่บิดเบือนไป นายนครินทร์ ชินวรโกมล ช่างภาพข่าวจังหวัดยะลา กล่าวว่า การทำข่าวเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมค่อนข้างยากลำบาก ซับซ้อน เพราะเงื่อนไขของขั้นตอนระเบียบของศาล ของตำรวจและหน่วยงานต่างๆของรัฐ ปัจจุบันสื่อในพื้นที่ยังทำข่าวความไม่สงบตามปกติ แต่เมื่อส่งไปส่วนกลางแล้ว ไม่ออกข่าว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสื่อส่วนกลางมองสถานการณ์ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องปกติไปแล้ว ทำให้ข่าวถูกลดทอนความสำคัญลง ทำให้สื่อกระแสหลักในพื้นที่หมดกำลังใจ นายระพี มามะ ว่าที่เลขาธิการสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า การนำเสนอข่าวเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม มักจะถูกปกปิดไม่ให้เผยแพร่ ทั้งๆที่มีหลักฐานเยอะแยะ เพราะหน่วยงานรัฐกลัวได้รับผลกระทบ เช่น มักไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการถ่ายรูป นางรอซีดะห์ ปูซู ผู้สื่อข่าวจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ข้อเท็จจริงบางเรื่อง นักข่าวรู้แต่มีปัญหาเรื่องการนำเสนอ ทางออกที่เคยทำคือ ไปตามหาข้อเท็จจริงที่บ้านของแหล่งข่าว สอบถามจากครอบครัว เกี่ยวกับก่อนเกิดเหตุการณ์ เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นสถานการณ์ตอนเกิดเหตุการณ์ โดยพยายามนำเสนอ เพื่อให้ผู้อ่านพิจารณาเอง ไม่ได้ตัดสินหรือสรุป นายสุพจ จริงจิตร บรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวว่า เห็นว่านักข่าวในพื้นที่ยังมีความกลัว ไม่กล้ากับอำนาจรัฐ อาจเป็นเพราะนักข่าวในส่วนกลางมีความปลอดภัยมากกว่านักข่าวต่างจังหวัด ข่าวกระบวนการยุติธรรมเป็นข่าวเกี่ยวคดี ความเป็นความตาย เกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่ ทำให้นักข่าวไม่ค่อยกล้า กังวลเรื่องถูกคุกคาม นายมูฮำหมัดซอบรี เจ๊ะเลาะ จาก southern peace media กล่าวว่า นักข่าวคนมลายูในพื้นที่ มีความกังวล กลัวเรื่องการถูกคุกคาม แต่ก็นึกเสมอว่า ถ้าไม่ทำแล้วใครจะทำ นายสุวัฒน์ จามจุรี อดีตกลุ่มสื่อซอลีฮีน กล่าวว่า เห็นใจนักข่าวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะมีรายได้น้อย จากนั้นในวงสนทนาได้หารือกันว่า สื่อมวลชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรได้รับการสนับสนุนในด้านใดบ้าง เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งมีข้อเสนอที่หลากหลาย โดยส่วนใหญ่เห็นว่า ควรได้รับความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับการใช้กฎหมายพิเศษฉบับต่างๆ รวมทั้งกฎหมายปกติที่มีใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ ยังเสนอว่า ควรทำหนังสือถึงกองบรรณาธิการสำนักข่าวส่วนกลาง เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มากยิ่งขึ้น โดยยกตัวอย่างกรณีการเขียนข่าวว่า มีผู้ถูกควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยตามพระราชกำหนดการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ.2548 แต่บรรณาธิการในส่วนกลางเข้าใจว่า ผู้ต้องสงสัยไม่สามารถควบคุมตัวได้ ทำได้เพียงการเรียกมาสอบสวนและปล่อยตัวไป ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงเปลี่ยนจากคำว่าผู้ต้องสงสัยเป็นการจับกุมผู้ต้องหา ซึ่งทำให้ผู้ถูกควบคุมตัวได้รับความเสียหาย ส่วนโครงสร้างองค์กรข่าวที่มีสตริงเกอร์ หรือนักข่าวที่ขายข่าวรายชิ้น เป็นระบบที่ไม่มีความเป็นธรรมต่อนักข่าวและไม่เอื้อให้นักข่าวต้องทำข่าวที่เข้าใจยาก โดยมีข้อเสนอว่า ควรมีสวัสดิการให้กับนักข่าวท้องถิ่นให้มีมาตรฐานเทียบเท่ากับนักข่าวประจำ การซื้อพื้นที่ข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์กระแสหลัก เพื่อนำเสนอข่าวของสื่อชายแดนใต้ ควรมีเวทีถอดบทเรียนระหว่างนักข่าวจังหวัดชายแดนใต้กับภาคประชาสังคมและกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายปกครอง ในช่วงบ่ายมีการหารือถึงการจัดทำหลักสูตรการทำข่าวกระบวนการยุติธรรม เพื่อใช้ในการอบรมนักข่าว โดยมีเป้าหมายคือการเสริมสร้างศักยภาพสื่อเพื่อสร้างความยุติธรรมในจังหวัดชายแดนใต้ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เครือข่ายสู้น้ำท่วมเมืองตรัง วันนี้พร้อมแล้วรับมือภัยพิบัติ Posted: 12 Nov 2011 08:16 AM PST ไม่ว่ามรสุมพัดผ่านภาคใต้สักกี่ครั้ง ฝนจะตกสักกี่หน เกือบทุกครั้งจังหวัดตรังจะต้องประสบอุทกภัยเสมอมา ไม่ว่าจะเป็นปลายเดือนพฤศจิกายน 2553 ที่ทุกจังหวัดในภาคใต้โดนหนักกันถ้วนหน้า อุทกภัยกลางฤดูร้อนปลายเดือนมีนาคมต่อเดือนเมษายน 2554 น้ำก็ถล่มจังหวัดตรังค่อนข้างสาหัสเอาการ ล่าสุดวันที่ 12 กันยายน 2554 พื้นที่ 2 อำเภอ ของจังหวัดตรังคือ อำเภอย่านตาขาว และอำเภอปะเหลียน น้ำคลองก็เอ่อล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือนประชาชนอีกจนได้ ถึงแม้จังหวัดตรังได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ทว่า เมื่อคราวปี 2548 นับได้ว่าเป็นที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างหนัก จนก่อให้เกิดการรวมกลุ่มในนามของ “เครือข่ายผู้ประสบปัญหาน้ำท่วม” มีการเฝ้าระวังปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง แก้ไขปัญหาตลิ่งพัง และตรวจสอบคุณภาพน้ำ ต่อมามีการต่อยอดสู่การเฝ้าระวังแม่น้ำตรัง ฟื้นฟู และเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเอง โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา (สจน.) และโครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้ (ดับบ้านดับเมือง)
นายรอเก็ก หัดเหม ประธานเครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำตรัง เล่าถึงการเชื่อมต่อเครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำตรังว่า เป็นการรวมกลุ่มขององค์กรชุมชนตลอดแนวแม่น้ำตรัง ตั้งแต่ป่าต้นน้ำ พื้นที่ราบกลางน้ำ และปลายน้ำชายฝั่งทะเล ประกอบด้วย เครือข่ายฟื้นฟูสายน้ำคลองชี องค์กรชุมชนตำบลเขาวิเศษ องค์กรชุมชนตำบลท่าสะบ้า องค์กรชุมชนตำบลวังมะปราง กลุ่มองค์กรชุมชนตำบลหนองตรุด กลุ่มองค์กรชุมชนตำบลย่านซื่อ กลุ่มองค์กรชุมชนตำบลบางเป้า กลุ่มคนรักษ์คลองน้ำเจ็ด และกลุ่มคนรักคลองลำพู–บางหมด สำหรับการดำเนินการของเครือข่าย เริ่มตั้งแต่สำรวจจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรชุมชน จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ลุ่มน้ำตรัง และพัฒนาอาสาสมัครเฝ้าระวังสายน้ำ โดยเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงลุ่มน้ำทั้งในเชิงการใช้ที่ดิน แม่น้ำ และภัยธรรมชาติ เพื่อการเตรียมการป้องกันและวางแผนรณรงค์ ฟื้นฟู และนำไปสู่การนำเสนอยุทธศาสตร์จังหวัดตรังร่วมกัน “ชุมชนจะไม่รอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐเพียงอย่างเดียว ชุมชนจะต้องจัดการตัวเองให้ได้ระดับหนึ่งก่อน ตั้งแต่เตรียมข้อมูลคนป่วย คนชรา เตรียมข้อมูลพื้นที่ว่า ตรงไหนเป็นจุดเสี่ยง ตรงไหนเป็นจุดปลอดภัย และจัดตั้งศูนย์ประสานความช่วยเหลือ” นายรอเก็ก หัดเหม ส่วนการเตรียมการรับมือภัยพิบัตินั้น เครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำตรังได้ระดมทุนซื้อเรือท้องแบนมอบให้ชุมชนเสี่ยงภัย นอกจากนี้ยังอบรมชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ใช้เรือเป็น ต้นเดือนตุลาคม 2554 ก็มีการฝึกอบรมอาสาสมัครกู้ชีพ กู้ภัยตำบลละ 10 คน เกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น นอกจากมีจุดประสานงานในพื้นที่ต่างๆ ในระดับตำบลแล้ว ยังมีการประสานงานด้วยวิทยุสื่อสารเครื่องแดง ที่ชุมชนชายฝั่งในเครือข่ายมูลนิธิอันดามันตั้งแต่จังหวัดสตูล จังหวัดตรัง จังหวัดกระบี่ จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดระนองใช้อยู่ 350 เครื่อง และโทรศัพท์มือถือเพื่อการสื่อสารและแจ้งเตือนภัย สำหรับการประสานงานในระดับจังหวัด เครือข่ายจะใช้มูลนิธิอันดามันเป็นศูนย์ เพราะหน่วยงานต่างๆ จะประสานผ่านมูลนิธิอันดามันเป็นหลัก จากนั้นจึงประสานมายังศูนย์ประสานงานในพื้นที่อีกต่อหนึ่ง “บางเรื่องผมอยากให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรัง องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง และหน่วยงานอื่นๆ ประสานงานตรงกับทางพื้นที่ ไม่ต้องผ่านมูลนิธิอันดามัน เช่น พื้นที่ต้นน้ำฝนตกหนักอีก 2 – 3 วัน น้ำจะท่วม ควรจะแจ้งตรงมายังคนกลางน้ำว่า ให้เตรียมขนของหรืออพยพ คนพื้นที่ปลายน้ำก็สามารถขึ้นมาช่วยขนของได้” นายรอเก็ก หัดเหม เสนอ ขณะที่เรื่องอาหารการกินนั้น นายรอเก็ก หัดเหม บอว่าไม่ต้องห่วง ชาวบ้านตุนข้าวสารอาหารแห้งสามารีถประทังชีวิตได้ประมาณ 10 วัน แก๊สหุงต้มหมดไปเติมได้ทันที ทางหอกระจายข่าวของชุมชน และรถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องเตรียมพร้อมออกประกาศเตือนภัย ถ้าหากมีแนวโน้มว่าน้ำจะท่วม ชาวบ้านไม่มีปัญหากับน้ำท่วม เพราะเราชินแล้วกับการถูกน้ำท่วมปีละหลายครั้ง” นายรอเก็ก หัดเหม บอก “ลมตะวันตกพัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับในช่วงวันที่ 11–16 พฤศจิกายน 2554 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย” เป็นการคาดหมายลักษณะอากาศของภาคใต้ฝั่งตะวันตกในขณะนี้ โดยศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันตก สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
วิจัยครบวงจรโรงไฟฟ้าชุมชนการจัดการความรู้ด้านพลังงานในภาคใต้ Posted: 12 Nov 2011 07:48 AM PST กำเนิดโครงการพัฒนาด้านพลังงานที่ใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง สังคมไทยกำลังเผชิญกับปัญหาความมั่นคงทางพลังงาน รวมตลอดถึงผลกระทบเชิงลบจากโครงการพัฒนาแบบรวมศูนย์ และทำแบบแยกส่วนไม่บูรณาการกัน ทำให้ทีมนักวิชาการจากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ม.ธ.), คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และมหาวิทยาลัยชีวิตเมืองนครศรีธรรมราช จับมือทำโครงการการจัดการความรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ โดยเน้นการแสวงหาทางออกด้านพลังงานใหม่ที่ยั่งยืน และเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มาตั้งแต่พ.ศ. 2552 โดยมีเป้าหมายว่า จะส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนต่างๆ ในสังคมเข้าใจเรื่องพลังงานไฟฟ้าให้มากขึ้น และร่วมกันกำหนดนโยบายพลังงานที่เหมาะสม เพื่อเสนอแนะโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีหลากหลายทางเลือก ในขนาดที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งการเชื่อมโยงประเด็นพลังงานกับประเด็นความมั่นคงด้านอาหาร และความเข้มแข็งของชุมชนเข้าด้วยกัน กลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการ ได้แก่ ชุมชนที่ตั้งอยู่ตามเทือกเขาใกล้แหล่งน้ำตก ที่มีศักยภาพในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำตก และสหกรณ์การเกษตรสวนยางที่ทำกิจการโรงรมยางแผ่นประมาณ 400 แห่งในภาคใต้ ซึ่งสหกรณ์กำลังประสบปัญหาน้ำเสียจากกระบวนการผลิตยางแผ่นรมควัน และการขาดแคลนไม้ฟืนที่เป็นเชื้อเพลิงในเตาเผา และทำให้ราคาฟืนแพงขึ้นเรื่อยๆ การดำเนินงานของโครงการฯ ได้ยึดแนวคิดหลัก ดังนี้ บูรณาการพลังปัญญา ความสามารถจากทุกภาคส่วน (Integration) โดยการสร้างเป้าหมายร่วม เน้นความร่วมมือกันทำงานเชิงบวกอย่างสร้างสรรค์ และเปิดพื้นที่ทางวิชาชีพและทางสังคมให้ทุกภาคส่วนที่ร่วมกันทำงาน ทำงานแบบองค์รวม (Holistic approach) ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การเมือง การปกครอง การเรียนรู้ การเสริมพลังชุมชน วัฒนธรรม ไม่ทำงานเพื่อต้องการบรรลุวัตถุประสงค์ด้านใดด้านหนึ่ง โดยละเลยมุมมองด้านอื่นๆ พัฒนากลไกการทำงาน (Mechanism Development) ใหม่ เป็นการเพิ่มโอกาสความสำเร็จ อาทิ การแต่งตั้งคณะทำงานจากหลายฝ่าย หลายชุด ที่ทำหน้าที่แตกต่างกัน แต่หนุนเสริมซึ่งกันและกัน ส่งเสริมการพึ่งตนเอง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Self Reliance and Sustainable Development) โครงการฯ จะเน้นทำงานกับชุมชนที่มีศักยภาพในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีสำนึกในการช่วยเหลือตนเอง ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตลอดจนร่วมกับชุมชนและภาคีอื่นๆ แสวงหาแนวทางในการแก้ปัญหา หรือสนองความต้องการที่แท้จริงของชุมชน ตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน นวัตกรรมใหม่ในสังคมวิชาการ:การวิจัยแบบเบ็ดเสร็จ (RDM) โครงการจัดการความรู้ด้านพลังงานในพื้นที่ภาคใต้นี้ มี “อัตลักษณ์” พิเศษ กล่าวคือ เป็นโครงการที่ทำงานแบบเบ็ดเสร็จครอบคลุม (ก) การสร้างความรู้และปัญญา (Research) ของทั้งทีมนักวิชาการ ของภาคีที่ร่วมทำงาน และชาวบ้านผู้เป็นกลุ่มเป้าหมาย โดยใช้กระบวนการจัดการความรู้ การสรุปบทเรียน การศึกษาวิเคราะห์ การทดลอง (ข) การพัฒนา (Development) คือ การนำความรู้ที่ได้มาใช้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังน้ำชุมชน หรือการสร้างต้นแบบระบบบำบัดน้ำเสีย และเอาก๊าซมาใช้เป็นเชื้อเพลิงแทนฟืน การสร้างต้นแบบเตาลูกผสม ที่ใช้ได้ทั้งไม้ฟืนและถ่านอัดแท่ง ปรับปรุงห้องรมยางของสหกรณ์การเกษตรสวนยาง และ (ค) การสร้างเครือข่ายหรือขบวนการขับเคลื่อนงาน (Movement) เพื่อให้นวัตกรรมใหม่ดังกล่าวส่งผลกระทบในวงกว้าง เช่น การสร้างเครือข่ายโรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชน 7 จังหวัดที่โครงการฯ ไปทำงานด้วย หรือเครือข่ายระหว่างสหกรณ์ฯ ด้วยกันในภาคใต้ นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกับเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องด้วย โดยที่ทรัพยากรของโครงการฯ มีอยู่จำกัด ดังนั้น การสร้างรูปธรรมหรือแหล่งเรียนรู้ต่างๆ จึงต้องอาศัยการสนับสนุนทางการเงิน และด้านวิชาการเพิ่มเติมจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ดังกรณีสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำทีบ้านคลองเรือ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร นอกจากนี้ยังมีการสมทบงบประมาณจากกลุ่มเป้าหมายเอง ไม่ว่าจะเป็นกรณีโรงไฟฟ้าชุมชน กรณีการก่อสร้างเตาลูกผสมแบบประหยัดพลังงานที่สหกรณ์ฯ บ่อทอง อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา และการสร้างระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อแก้ปัญหามลพิษ และนำก๊าซมาใช้แทนไม้ฟืนบางส่วนของ สหกรณ์ฯ เก่าร้าง อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา ผลกระทบของโครงการ ปัจจุบันนอกจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนคลองเรือแล้ว โครงการฯ ได้ออกแบบพิมพ์เขียวสำหรับก่อสร้างโรงไฟฟ้าอื่นอีก 11 แห่ง ในจังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสงขลา จังหวัดตรัง จังหวัดสตูล จังหวัดพัทลุง จังหวัดสุราษฎร์ธานีด้วย ซึ่งในแต่ละพื้นที่กำลังอยู่ในระหว่างเตรียมความพร้อมของชุมชน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยราชการของจังหวัดนั้น รวมทั้งภาคประชาสังคมด้วย หากพื้นที่ใดมีความพร้อมก่อน ก็สามารถทยอยดำเนินการก่อสร้าง ในขณะที่ต้นแบบระบบบำบัดน้ำเสีย และเตาลูกผสม/ห้องรมยางที่ปรับปรุงใหม่ก็ขยายตัวไปสู่อำเภออื่นๆ ในจังหวัดสงขลา รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียง เช่น พัทลุง เป็นต้น และกำลังดำเนินการเจรจาแนวทางการเผยแพร่บทเรียนไปยังเครือข่ายสหกรณ์การเกษตรสวนยางทั่วภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราชนับว่าเป็นพื้นที่ที่ขยายผลเรื่องโรงไฟฟ้าพลังน้ำไปอย่างกว้างขวาง โดยสำนักงานพลังงานจังหวัด ฝ่ายปกครองของจังหวัด และองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ร่วมกันทำนโยบายพลังงานของจังหวัด โดยนักวิชาการด้านวิศวกรรมของโครงการจาก ม.อ. ได้ช่วยสำรวจข้อมูลแหล่งน้ำตกทั่วทั้งจังหวัด จนในที่สุดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้บรรจุโครงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำตกใน ยุทธศาสตร์ที่ 5 ว่าด้วยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการพลังงาน ในแผนพัฒนา 3 ปี (2554–2556) มีโครงการศึกษาและก่อสร้างจำนวน 41 โครงการ ตั้งเป้าหมายของบอุดหนุนปีละกว่า 500 ล้านบาท เพื่อลดการพึ่งพาไฟฟ้าจากโรงงานผลิตไฟฟ้ากระแสหลักลง กระบวนการทางสังคมนำหน้าเทคโนโลยี การผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำตก นับเป็นทางออกของการแก้ไขปัญหาการขาดพลังงาน การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี เพราะจะผลิตไฟฟ้าได้ต้องมีน้ำตกที่ไหลแรงอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งนั่นหมายความว่า ป่าต้นน้ำต้องได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี และหากชุมชนไม่เข้มแข็งก็ไม่สามารถอนุรักษ์ป่าได้ แนวทางการทำงานของโครงการฯ เริ่มต้นจากการค้นหาชุมชนที่มีปัญหา หรือมีศักยภาพที่สนใจจะสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อชุมชนของตนหรือเพื่อสังคม ไม่หวังรอรับความช่วยเหลือจากภายนอกเพียงถ่ายเดียว จากนั้นจึงเข้าไปสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ การสร้างกระบวนการเรียนรู้ จนชุมชนเกิดความสนใจและเชื่อมั่นในระดับหนึ่ง ทีมงานวิศวกรรมจึงเริ่มทำการสำรวจสภาพภูมิประเทศร่วมกับผู้นำชุมชน และตัวแทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่องแหล่งที่ตั้งฝาย แหล่งดักตะกอน อาคารโรงไฟฟ้า แนวทางท่อส่งน้ำ ฯลฯ แล้ววางระบบเก็บข้อมูลเรื่องปริมาณฝน ความแรงและความสม่ำเสมอของกระแสน้ำ ฯลฯ ในช่วงระยะยาว เพื่อนำมาใช้ในการออกแบบ จากนั้นจึงออกแบบรายละเอียดโครงสร้าง และรายละเอียดการก่อสร้าง เมื่อได้แบบพิมพ์เขียวแล้วก็ต้องมาแลกเปลี่ยนข้อมูลกับชุมชนอีก เพื่อให้แบบก่อสร้างดังกล่าวเหมาะสมกับเงื่อนไขของชุมชนให้มากที่สุด ทั้งระบบนิเวศ ต้นทุน ระบบการเงิน กฎหมาย เงื่อนไขทางสังคม การใช้ประโยชน์ การบริหารจัดการ ฯลฯ ระหว่างการก่อสร้าง โครงการฯ ได้สร้างกระบวนการเรียนรู้แก่ชุมช และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต ประเด็นคำถามเรื่องวิธีการก่อสร้าง การบริหารงานโรงไฟฟ้าในอนาคต การจัดการด้านการเงินของชุมชน วิถีชีวิตของชุมชน การพัฒนาชุมชน ฯลฯ เป็นเรื่องที่นำมาปรึกษาและเตรียมหาทางแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเป็นระยะๆ โรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชนบ้านคลองเรือ บ้านคลองเรือ ตำบลปากทรง อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร เป็นชุมชนขนาดเล็ก มีประชากรอาศัยอยู่ 89 ครัวเรือน รวมทั้งสิ้น 306 คน ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตรแบบผสมผสาน (เกษตร 4 ชั้น) ปลอดสารพิษ และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ปัจจุบันชุมชนได้รับการอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชให้ทำกินได้ในพื้นที่ 1,050 ไร่ และต้องทำหน้าที่เป็นผู้อนุรักษ์และดูแลป่าทั้งหมด 16,050 ไร่ ชุมชนไม่มีไฟฟ้าใช้ แต่เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง ยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และการพัฒนาแบบพึ่งตนเองเป็นหลัก การสร้างโรงไฟฟ้าเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูงสำหรับชุมชนใดชุมชนหนึ่ง รวมทั้งบ้านคลองเรือ แต่ชุมชนแห่งนี้ ก็มิได้ย่อท้อต่อการระดมทรัพยากรจากทุกวิธีที่เป็นไปได้ ขั้นแรกชุมชนได้ใช้ทรัพยากรที่ตนมีอยู่ นั่นคือ แรงงานของทุกหลังคาเรือน ที่ผลัดกันมาทำงานตลอดทั้งปี จัดหาวัสดุก่อสร้างฝายและอาคารโรงไฟฟ้าด้วยตนเอง นอกจากนี้ ยังได้พร้อมใจกันไปสร้างฝายชะลอน้ำให้หน่วยงานของรัฐจำนวน 70 ฝาย ได้เงินมาซื้อเสาไฟฟ้าของส่วนรวม การใช้เงินกองทุนในชุมชน ตลอดจนเงินรางวัลที่ได้จากการชนะเลิศการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ประจำปี 2553 (รับรางวัลถ้วยพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) ร่วมสมทบ และการร่วมจัดทอดผ้าป่าสร้างโรงไฟฟ้าด้วย ในส่วนที่เหลือนั้น นับว่าชุมชนแห่งนี้โชคดีที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ให้การสนับสนุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า กังหัน และงบประมาณรวม 9 ล้านบาท (ตามหลักกาi CSR การดำเนินธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม) รวมทั้งส่งเจ้าหน้าที่มาให้ดำเนินการก่อสร้างควบคู่ไปกับการสร้างการเรียนรู้แก่ชาวบ้านด้วย โรงไฟฟ้าชุมชนแห่งนี้มีกำลังการผลิต 100 กิโลวัตต์ ใช้น้ำจากน้ำตกเหวตาจันทร์เพียงหนึ่งในสามของที่มีอยู่ เพื่อไม่แย่งน้ำสำหรับการบริโภคและการผลิตทางการเกษตรของชาวบ้าน ซึ่งในอนาคตหากชุมชนมีความประสงค์และมีทุนเพียงพอ ก็สามารถขยายกำลังการผลิตเพิ่มได้อีก โดยยึดหลักการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงออกแบบโครงการจนแทบไม่มีการตัดต้นไม้ในป่าเลย ระหว่างการก่อสร้างมิได้ใช้เครื่องจักรกลขนาดใหญ่ช่วย แต่ใช้แรงงานคนเป็นสำคัญ จึงทำให้การทำงานเป็นไปค่อนข้างช้า เป็นภาระของชาวบ้านมาก แต่ก็ได้ผลดีในแง่การเรียนรู้ การสร้างสำนึกความเป็นเจ้าของและความผูกพันกันระหว่างคนในชุมชน (และคนนอกชุมชนที่มาร่วมงานจิตอาสาขนวัสดุขึ้นเขาเป็นครั้งคราว) เรื่องที่น่าสนใจคือ แม้ทุกคนจะร่วมแรงร่วมใจกันทำงานมานานนับปีโดยไม่มีค่าตอบแทน แต่ชาวบ้านได้ตกลงกันว่า จะเก็บค่าใช้ไฟฟ้าในอัตราเดียวกับที่ชุมชนอื่นๆ จ่ายค่าใช้ไฟฟ้า เงินดังกล่าวจะนำมาใช้เป็นค่าบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้าในชุมชน เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน บางส่วนจะแยกเป็นกองทุนรักษาป่าและพัฒนาชุมชน ที่สำคัญคือจะต้องตั้งกองทุน “หมุนไป” สำหรับชุมชนอื่นๆ ในเครือข่ายที่จะสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนรายต่อไป เป็นที่คาดหมายว่า หากชาวบ้านคลองเรือมีไฟฟ้าใช้ ป่าต้นน้ำแห่งนี้ก็จะอุดมสมบูรณ์ สร้างความชุ่มชื้นและป้องกันอุทกภัยสำหรับผู้คนในเขตลุ่มน้ำหลังสวน และยังสร้างทุนให้กับชุมชนอื่นๆ เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนแห่งต่อๆ ไปด้วย จับตาดู...เวทีชาวบ้านกับภารกิจยิ่งใหญ่ เพื่อเป็นการสร้างการเรียนรู้ สร้างพลังและร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพลังงาน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่บริเวณต้นน้ำ และการป้องภัยพิบัติจากฝนแล้ง น้ำท่วม ตลอดจนอาหารมั่นคงปลอดภัย โครงการจัดการความรู้ฯ จึงได้ชักชวนหลายหน่วยงานร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรม โครงการเวทีสมัชชาเครือข่ายจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และพลังงานอย่างยั่งยืน ขึ้น ณ บ้านคลองเรือ ในวันที่ 14–16 ธันวาคม 2554 โดยจะมีเครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายพลังงาน เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน เครือข่ายสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยคณะต่างๆ เครือข่ายวิชาการพัฒนาชุมชน เครือข่ายจิตอาสา เครือข่ายของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ฯลฯ จากทั่วประเทศรวม 984 คนมารวมกันในชุมชนแห่งนี้ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
"มาร์ค" ย้ำรัฐบาลเก่าไม่ได้กักน้ำ โอด ปชป. อยู่ดีๆ ก็ถูกใส่ร้ายว่าปล่อยจระเข้ Posted: 12 Nov 2011 06:26 AM PST "อภิสิทธิ์" อภิปรายโต้ไม่ฉวยโอกาสการเมืองเล่นงานรัฐบาล แจงไม่เจาะจงให้ใช้ พรก.ฉุกเฉินแก้น้ำท่วม ยันรัฐบาลเก่าไม่ได้กักน้ำล้นเขื่อน บ่นเซ็งถูกครหาปล่อยจระเข้กัดคน "ยิ่งลักษณ์" วอนทุกฝ่ายหันหน้าร่วมกันแก้ปัญหาฟื้นฟูประเทศถวายในหลวง 12 พ.ย. 54 - เมื่อเวลา 10.30 น. ในการประชุมร่วมรัฐสภาตามมาตรา 179 ของรัฐธรรมนูญ กรณีปัญหาภัยพิบัติอันเนื่องมาจากอุทกภัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน อภิปรายว่า นายกฯ พูดหลายครั้งว่า สถานการณ์เช่นนี้อยากเห็นการเมืองสร้างสรรค์ ยืนยันว่า ตลอดเวลาในการทำหน้าที่เป็นผู้นำฝ่ายค้าน ได้ตระหนักถึงความเดือดร้อนประชาชน เข้าใจว่า ไม่มีใครอยากให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้ อยากบอกนายกฯว่า ไม่เคยมียุคใดที่ฝ่ายค้านร่วมมือแก้ปัญหาเท่ากับยุคนี้ ตนหลีกเลี่ยงการวิจารณ์ บั่นทอนการทำงานรัฐบาล แต่กลับมีโฆษกพรรคเพื่อไทยตำหนิว่า การลงพื้นที่เยี่ยมประชาชนของตนเป็นการสร้างภาพ แต่ไม่ทำให้ย่อท้อ ขอให้นายกฯ ไม่ต้องกังวล ปัญหาการเมืองจากฝ่ายค้าน หากอยากฉวยโอกาสทางการเมือง ก็ไม่ยาก แต่ไม่เคยฉวยโอกาส ยืนยันว่า ผู้ว่าฯกทม.ไม่คิดเล่นการเมืองเช่นกัน นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องกฎหมายพิเศษนั้น ไม่ได้เจาะจงว่า ต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งที่ในสมัยรัฐบาลทักษิณปี 2548 เคยบอกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ได้ใช้ปราบคน แต่รวมถึงใช้ดูแลภัยธรรมชาติด้วย ส่วนการตั้งคณะกรรมการ 2 คณะของรัฐบาล ถือว่าดีแล้ว แต่วันนี้นายกฯ ต้องมีสมาธิจัดการปัญหาเฉพาะหน้า อย่าเพิ่งไปวาดฝันเรื่องการบริหารจัดการในอนาคต โดยต้องเร่งกู้ ถ.พระราม 2 ถ.บรมราชชนนี ขณะที่ฝั่งตะวันออก บางชัน ลาดกระบัง หลายกระทรวงต้องเข้าไปดูแล รวมถึงฝั่งคลองบางซื่อ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้า กทม.ชั้นใน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ปัญหาการบริหารจัดการน้ำในเขื่อน ซึ่งมีการหยิบเป็นประเด็นการเมืองว่า รัฐบาลประชาธิปัตย์จงใจกักน้ำในเขื่อน ทำให้เกิดน้ำท่วม ตนเสียใจที่ ศปภ.กล่าวหาพวกตน อยากชี้แจงว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนช่วงก่อนยุบสภา อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าเกณฑ์กักเก็บต่ำสุด เพราะช่วงนั้นแล้งมาก ถ้าดูจังหวะจริงๆ ที่จะระบายน้ำได้คือ เดือน ส.ค.ถึง ก.ย. 54 จากนั้นก็มีพายุเข้ามาหลายลูก ทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น ซึ่ง รมว.เกษตรฯยอมรับว่า ต้องชะลอการปล่อยน้ำ เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรเก็บเกี่ยว แล้วปล่อยให้น้ำเข้าทุ่งภายหลัง จะผิดหรือถูกก็ประเมินกันเอง ไม่เข้าใจว่า ทำไมเอาเรื่องนี้มาเล่นการเมืองว่า เป็นความผิดของรัฐบาลที่แล้ว ดังนั้นในวันข้างหน้าต้องทบทวนระบบนี้ เพราะมีปัญหาเรื่องข้อมูลที่ กฟผ.กับกรมชลประทานใช้ไม่ตรงกัน นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า มีข้อเสนอแนะคือ 1.เรื่องการระบายน้ำ เป็นแบบต่างคนต่างทำ คนทำงานไม่มีความเข้าใจภาพรวมเรื่องการเชื่อมโยงกับจุดอื่นๆ ดังนั้นต้องเร่งทำระบบสารสนเทศที่เชื่อมโยงกันตั้งแต่เขื่อนใหญ่จนถึง อุโมงค์ยักษ์ ให้มีการรวมศูนย์อยู่ที่เดียว 2.การบริหารจัดการน้ำลงทะเลผ่านแม่น้ำสายหลัก 3 สาย ต้องให้สมดุลกัน 3.การแก้ไขระบบบริหารจัดการน้ำที่เดิมออกแบบไว้เฉพาะแก้ปัญหาน้ำหลาก จึงควรปรับระบบรองรับปัญหาน้ำทุ่งด้วย 4.ระบบการสื่อสารไปยังประชาชนมีปัญหา ทำให้กระทบต่อความเชื่อมั่น หน่วยงานรัฐควรสื่อสารไปยังประชาชนให้แม่นยำที่สุด ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวอีกว่า หลังจากนี้เชื่อว่า คณะกรรมการ 2 ชุด ที่รัฐบาลจะเสนอโครงการลงทุนต่างๆจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นภาระงบประมาณอีกหลายปี ดังนั้นต้องบริหารจัดการเรื่องคนให้ดีที่สุด เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ใช้ประตูระบายน้ำบริหารน้ำ แต่ใช้มวลชนบริหารแทน ซึ่งแก้ปัญหาไม่ได้ จึงต้องอธิบายให้มวลชนเข้าใจใครเสียหายต้องชดเชยเยียวยาให้เป็นพิเศษ เพราะไม่มีประโยชน์อะไรที่จะสร้างคันกั้นน้ำแล้วพอถึงเวลาก็มีนักการเมืองยกมวลชนมาทำลาย ส่วนเรื่องจระเข้ก็ไม่รู้เป็นอย่างไร ตนอยู่เฉยๆ ก็ถูกกล่าวหาว่า ทำให้น้ำท่วมเพื่อปล่อยจระเข้มากัดคน ยืนยัน ไม่ได้เล่นการเมือง "ส่วนเรื่องถุงยังชีพ ฝ่ายค้านมีหน้าที่ตรวจสอบ เรื่องนี้ไม่ต้องตั้งคณะกรรมการมาสอบ แค่เปิดถุงยังชีพมาดูว่า สินค้ามีมูลค่าตามที่ตั้งไว้หรือไม่ เรื่องถุงยังชีพมีการเลือกปฏิบัติ บางพื้นที่ได้ บางพื้นที่ไม่ได้ มีการแบ่งสีกันอยู่ ขอให้สบายใจไม่มีใครอยากฉวยโอกาส ใครจะมากระแหนะกระแหน หรือว่า รอส้มหล่น ไม่มีแน่ ขอให้พวกท่านอย่างสร้างเงื่อนไขขึ้นมาเอง อย่าสร้างเงื่อนไขให้เกิดความวุ่นวายหลังน้ำลด ฝ่ายค้านมีหน้าที่ต้องตรวจสอบ ใครหาประโยชน์ก็ต้องจัดการตามหน้าที่" ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าว จากนั้นเวลา 11.20 น. นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานในที่ประชุม ได้ปิดการอภิปราย โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า ขอถือโอกาสนี้ในนาม ครม. ขอขอบคุณสมาชิกกทุกท่าน ส.ส. ส.ว. ผู้นำฝ่ายค้าน ที่ได้ให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ ตนและทีมงานจะนำไปศึกษาหารือและทำสิ่งต่างๆให้รอบคอบขึ้น และขอบคุณธารน้ำใจประชาชน เอกชน วันนี้สิ่งที่เราได้รับคือพลังความสามัคคีในการทำงาน และแก้ปัญหาให้อนาคตประเทศ นั่นจะเป็นสิ่งเรียกความเชื่อมั่นให้ประเทศไทย และยืนยันว่า ตนจะตั้งใจ อดทน และไม่ท้อถอยในการแก้ปัญหาและฟื้นฟูประเทศให้กลับมาสู่สภาพเดิม สร้างความมั่นคงเชื่อมั่นให้ประชานชาวไทย และถือโอกาสนี้ ขอกำลังใจพลังสามัคคีจากสมาชิกและประชาชน เพื่อร่วมน้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของคนไทยทุกคน ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมายุ 84 พรรษาในโอกาสนี้ด้วย ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: ไทยรัฐออนไลน์, มติชนออนไลน์
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
Posted: 12 Nov 2011 06:11 AM PST สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงมีพระดำรัสพระเจ้าอยู่หัวเป็นปกติแล้ว หลังมีเลือดออกในกระเพาะ เพราะทรงห่วงราษฎรตลอดเวลา และทรงติดตามข่าวทั้งทางโทรทัศน์ วิทยุ อยู่เสมอ ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่าเมื่อเวลา 09.45 น. วันที่ 11 พ.ย. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราวผู้ประสบอุทกภัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ จังหวัดนนทบุรี ทรงเยี่ยมราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยซึ่งมีผู้มาพักพิงจำนวน 1,673 คน มีหน่วยงานต่างๆ และอาสาสมัครมาทำอาหารประกอบเลี้ยงผู้ประสบภัยทุกวัน รวมทั้งมีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จากจังหวัดต่างๆ มาให้บริการตรวจรักษาผู้ที่เจ็บป่วย โอกาสนี้พระราชทานถุงยังชีพให้แก่ ผวจ.นนทบุรี และราษฎรที่ประสบอุทกภัย พร้อมกับพระราชทานของเล่นแก่เด็ก ในการนี้ทรงมีพระดำรัสพระราชทานกำลังใจแก่ผู้ประสบอุทกภัย ความว่า น้ำท่วมครั้งนี้ ข้าพเจ้าตอนนั้นไปเยี่ยมคนที่ประสบอุทกภัยที่ จ.อยุธยา อยู่ พอกลับมา พยาบาลรีบมาตามตัวข้าฯ ให้รีบไปดูพระเจ้าอยู่หัว เพราะพระเจ้าอยู่หัว ถ่ายเป็นเลือดประมาณ 800 ซีซี ความดันตกมาก อยู่ในภาวะทรงช็อก ไม่รู้สึกพระองค์ ข้าพเจ้าวิ่งไปเลย ตอนนั้นเขากำลังถวายเลือด และถวายสารอาหารทางเส้นที่เลือดออกจากในกระเพาะและลำไส้ หมอสันนิษฐานว่า เป็นเพราะทรงกังวล ข้าพเจ้าถามพยาบาลว่าทรงทำอะไรบ้างใน 2-3 วันนี้ ปรากฏว่า ท่านทรงดูข่าวน้ำท่วม แสดงให้เห็นเลยว่า พระเจ้าอยู่หัวรักประชาชนเหมือนลูกหลาน ทรงเป็นห่วงเป็นใย พระเจ้าอยู่หัวเป็นคนไม่ค่อยรับสั่ง รับสั่งน้อย แต่อาการที่แสดงออก คือ ทางร่างกาย เมื่อเครียดเกิดเลือดออกในกระเพาะลำไส้ แต่ขณะนี้พระเจ้าอยู่หัว ได้รับการรักษาจนทรงเป็นปกติแล้ว ที่มาเล่าให้ฟังนั้น ข้าพเจ้ายังซาบซึ้งว่า ท่านป่วย ยังห่วงราษฎรถึงเพียงนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็เช่นกัน ทรงห่วงราษฎรตลอดเวลา ทรงติดตามข่าวทั้งทางโทรทัศน์ วิทยุ อยู่เสมอ และทรงถามข้าพเจ้า เรื่องที่ข้าพเจ้าออกมาเยี่ยมราษฎร ผู้ประสบอุทกภัยต่างๆ ทั้ง 2 พระองค์ประทับอยู่ รพ.ศิริราช เมื่อคืน แต่พระทัยอยู่กับราษฎรทุกคน สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
Posted: 12 Nov 2011 05:25 AM PST หน้าที่ของสื่อมวลชนในยุคโซเชียลมีเดียคืออะไร ในยุคก่อนหน้าโซเชียลมีเดียคุณอาจจะทำหน้าที่แค่ตั้งข้อสังเกตก็ได้ เพราะว่าตอนนั้นคนยังไม่มีกำลัง ไม่มีมือถือ ไม่มีกล้องอะไรขนาดนั้น แต่ตอนนี้คนทำได้แล้ว ถ้าเกิดว่าคนในสังคมเขายกระดับตัวเองมาถึงระดับนี้แล้วล่ะ สื่อมวลชนควรจะต้องผลักดันตัวเองไปอยู่อีกระดับหนึ่งไหม ถ้ามีข้อมูลมาหลายๆ ด้านคุณทำหน้าที่วิเคราะห์ ย่อย ไม่ใช่แค่รีทวีต คุณสอบสวนต่อได้ไหม ถ้าคุณคิดว่าคุณอยากจะมีสิทธิพิเศษอะไรบางอย่างในสังคมนี้ ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต |
สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 5 - 11 พ.ย. 2554 Posted: 12 Nov 2011 05:11 AM PST ระวัง! นายหน้าหลอกไปทำงานอิสราเอล นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยโดยกระทรวงแรงงานและรัฐบาลอิสราเอล โดยเอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย ได้ลงนามความตกลงด้านแรงงาน เพื่อจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตร ณ ประเทศอิสราเอล ภายใต้โครงการ “ความร่วมมือไทย-อิสราเอลเพื่อการจัดหางาน” โดยประกาศรับสมัครบุคคลสัญชาติไทย อายุระหว่าง 23 - 39 ปี กำหนดรับสมัครระหว่างวันที่ 21 ตุลาคม - 4 พฤศจิกายน 2554 สำนักงานบริหารแรงงานไปต่างประเทศ สำนักจัดหางานกรุงเทพ เขตพื้นที่ 1 – 10 สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น แต่เนื่องจากปัจจุบันกรมการจัดหางานได้รับรายงานว่ามีบุคคล หรือสาย/นายหน้า ไปแอบอ้างกับคนหางานหรือผู้สมัครว่าสามารถช่วยเหลือให้ได้รับการคัดเลือกไป ทำงานภาคเกษตรในประเทศอิสราเอล โดยมีพฤติกรรมเรียกเก็บเงินจากคนหางานหรือผู้สมัคร ซึ่งทางกรมการจัดหางานขอแจ้งให้ทราบว่า การดำเนินการคัดเลือก จะดำเนินการด้วยความโปร่งใส ยุติธรรม และเสมอภาค หากมีผู้ใดแอบอ้างว่าสามารถช่วยเหลือให้ได้รับการคัดเลือก เพื่อไปทำงานภาคเกษตรในประเทศอิสราเอล หรือมีพฤติกรรมในทำนองเดียวกันนี้โปรดอย่าหลงเชื่อกลุ่มบุคคลดังกล่าว เพื่อป้องกันมิให้ถูกหลอกจนสูญเสียทรัพย์สินเงินทองหรือไปตกระกำลำบากในต่าง แดน จึงประชาสัมพันธ์เตือนให้คนหางานหรือผู้สมัคร หากมีข้อสงสัยประการใดสามารถสอบถามข้อเท็จจริงหรือแจ้งเบาะแสผู้มีพฤติกรรม หลอกลวงคนหางานได้ที่ สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ หรือศูนย์มิตรไมตรี กรมการจัดหางาน โทร. 1694 สอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดเลย ศาลากลางจังหวัดเลย หลังเก่า ชั้น 2 โทร. 0-4281-1861 และ 0-4281-2594 -5 (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 4-11-2554) “แรงงานไทย” บาดเจ็บหลัง “อิสราเอล” ถูกโจมตีด้วยจรวดจากฉนวนกาซา 6 พ.ย. 54 - แรงงานชาวไทยรายหนึ่งได้รับบาดเจ็บจากจรวด ซึ่งกลุ่มหัวรุนแรงในฉนวนกาซาลอบยิงโจมตีอิสราเอล เพื่อตอบโต้กองทัพอากาศอิสราเอลที่เปิดฉากถล่มกลุ่มหัวรุนแรง เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เดอะ เยรูซาเลม โพสต์ ของอิสราเอล รายงานวันนี้ (6) (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 6-11-2554) โรงงานน้ำตาลยื่นมือช่วยเหลือผู้ว่างงานจากภาวะน้ำท่วมประกาศจ้างงานกว่า 1 หมื่นอัตรา นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารและประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ บริษัทไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์อุทกภัยที่ส่งผลกระทบต่อนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง รวมถึงภาคการผลิตและบริการจำนวนมากที่ต้องหยุดดำเนินงาน และต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนในการฟื้นฟูกิจการ ทำให้มีแรงงานจำนวนมากที่ต้องว่างงานและขาดรายได้ ส่งผลต่อการดำรงชีวิตและคุณภาพชีวิตของแรงงานเหล่านี้และครอบครัว “กลุ่มอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ดี และหารือกันว่า เราควรเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือประเทศ โดยการช่วยเหลือแรงงานเหล่านี้ให้มีงานทำ เพื่อให้มีรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องตนเองและครอบครัว โดยโรงงานน้ำตาลต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศจะหางานที่เหมาะสมให้กับผู้ที่ว่างงาน บางคนอาจทำงานในไร่อ้อย บางคนที่มีความรู้เรื่องเครื่องจักรกลก็จะให้ทำงานในโรงงาน หรือบางคนอาจช่วยงานในสำนักงาน” นายสิริวุทธิ์กล่าว ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ประกอบไปด้วยโรงงานน้ำตาลทรายทั้งหมด 47 โรงงานที่ตั้งกระจายอยู่ในภาคเหนือ 10 แห่ง ภาคกลาง 16 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 แห่ง และภาคตะวันออกอีก 5 แห่ง สามารถรับแรงงานในช่วงเปิดหีบอ้อยได้มากกว่า 10,000 ตำแหน่ง โดยการหีบอ้อยและผลิตน้ำตาลทรายจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2554 จนถึงประมาณเดือนเมษายน 2555 สำหรับจังหวัดที่ตั้งโรงงานน้ำตาลทรายมีอยู่ใน 27 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร นครสวรรค์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ลำปาง อุตรดิตถ์ สุโขทัย อุทัยธานี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ชลบุรี สระแก้ว กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ มุกดาหาร มหาสารคาม สุรินทร์ หนองบัวลำภู และอุดรธานี โดยผู้ที่สนใจเข้าทำงานสามารถติดต่อไปที่โรงงานน้ำตาลทั้ง 47 แห่งได้โดยตรง ซึ่งสามารถเข้าไปดูรายละเอียดสถานที่ตั้งโรงงานได้จากเว็บไซต์ www.thaisugarmillers.com หรือโทรศัพท์สอบถามที่ 0-2273-0992 ตั้ง แต่วันนี้เป็นต้นไป (ไทยชูการ์ มิลเลอร์, 7-11-2554) สภาองค์การนายจ้าง-ลูกจ้างเสนอ ก.แรงงานตั้งกองทุนฉุกเฉิน นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังที่ให้สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทยเข้าพบว่า ทางสภาองค์การนายจ้างได้ออกแถลงการณ์ร่วมทวิภาคี เพื่อเสนอมาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเสียหายของสถานประกอบการและลูกจ้าง จากวิกฤติน้ำท่วม โดยเสนอให้กระทรวงแรงงานจัดตั้งกองทุนฉุกเฉินช่วยเหลือนายจ้าง-ลูกจ้างที่ ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และให้ตั้งคณะกรรมการไตรภาคีในระดับกระทรวง เพื่อดูแลด้านเยียวยาและฟื้นฟู ประกอบด้วยนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ เพื่อช่วยเหลือนายจ้าง ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย พร้อมทั้งให้สภาองค์การนายจ้าง และสภาองค์การลูกจ้าง ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานของคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (ด้านสังคม) ที่มี พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นายสมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการตั้งคณะกรรมการไตรภาคีเยียวยาและฟื้นฟูในระดับกระทรวงตามที่ เสนอมานั้น พร้อมที่จะรับไปนำเสนอต่อนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะกรรมการชุดนี้ก็จะเป็นผู้ที่พิจารณาจัดตั้งกองทุนฉุกเฉินช่วยเหลือฯ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป สำหรับเรื่องที่เสนอให้สภาองค์การนายจ้าง และสภาองค์การลูกจ้าง เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานของคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (ด้านสังคม) ที่มี พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานนั้น ก็เช่นเดียวกันคงจะต้องนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อนำไปเสนอต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป นอกจากนี้นายสมเกียรติ ยังได้กล่าวถึงข้อเรียกร้องของฝ่ายนายจ้างที่เสนอให้มีการเลื่อนระยะเวลาใน การจ่ายค่าจ้างที่เพิ่มในอัตรา 40% ที่คณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการในวันที่ 1 เม.ย.55 ออกไปก่อน ว่า ในเรื่องนี้เป็นมติของคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งจะต้องมีการเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เพื่อให้มีผลบังคับตามที่กำหนด ซึ่งเชื่อว่าในวันที่ 1 เม.ย.55 สถานประกอบกิจการที่ถูกน้ำท่วมจะสามารถฟื้นตัวได้ทัน และสามารถจ่ายในอัตราที่กำหนดได้ อีกทั้งอยากให้มองว่าการปรับค่าจ้างเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้ลูกจ้างมีกำลังในการซื้อ เพราะในช่วงที่น้ำท่วมลูกจ้างต้องหยุดงานทำให้ไม่มีกำลังในการจับจ่ายสินค้า รวมถึงเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมได้ออกประกาศเลื่อนการส่งเงินสมทบให้กับ ผู้ประกันตนทุกมาตราออกไปจนกว่าสถานการณ์น้ำจะลดลง โดยประเมินตามพื้นที่ประสบอุทกภัย อีกทั้งมาตรการเยียวยาผู้ใช้แรงงานรายละ 3,000 บาท ก็ได้ผ่านความเห็นชอบของอนุกรรมการกลั่นกรองแล้ว และจะเสนอให้คณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (ด้านสังคม) ในชุดที่ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานต่อไป นางสิริวัน ร่มฉัตรทอง เลขาธิการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาสภาองค์การนายจ้าง และสภาองค์การลูกจ้าง ยังไม่มีโอกาสได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกับรัฐบาลทั้งที่เป็นผู้ ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โดยตรงจึงขอเสนอตัวเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงาน สำหรับข้อกังวลในเรื่องของการเลิกจ้างลูกจ้างในช่วงน้ำท่วม ขอยืนยันว่านายจ้างและสถานประกอบการใดที่มีกำลังจ่ายไม่มีนโยบายเลิกจ้าง ลูกจ้างแน่นอน เนื่องจากหลังน้ำลดจะต้องเร่งการผลิตตามคำสั่งซื้อให้ทัน ส่วนมาตรการช่วยเหลือที่นายจ้างต้องการในขณะนี้คือ การลดเงินสมทบลงจากปกติ 5% ให้เหลือเพียง 3% และงดเก็บเงินสมทบของลูกจ้าง โดยให้รัฐบาลเป็นผู้จ่ายแทน (บ้านเมือง, 7-11-2554) สปส. คาดการณ์ น้ำท่วมกระทบผู้ใช้แรงงานเสี่ยงถูกเลิกจ้าง 220,000 คน 7 พ.ย. 54 - นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ในช่วงสิ้นเดือนกันยายน 2554 มีผู้ใช้แรงงานว่างงาน 104,182 คน แบ่งเป็น 3 กรณี ได้แก่ ถูกเลิกจ้าง 18,024 คน สมัครใจลาออก 82,618 คน และ ว่างงาน เนื่องจากสิ้นสุดสัญญาจ้าง 3,540 คน โดยในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา สปส.ได้จ่ายเงินประกันว่างงานไปทั้งหมด 305 ล้านบาท ทั้งนี้จากปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดต่างๆ ทำให้แรงงานได้รับผลกระทบและอาจถูกเลิกจ้าง สปส.จึงคาดการณ์ไว้ว่า หากสถานการณ์อยู่ในขั้นวิกฤต จะทำให้ในช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2554 มีผู้ใช้แรงงานว่างงาน เพิ่มเป็น 360,000 คน แบ่งเป็น เลิกจ้าง กว่า 220,000 คน สมัครใจลาออก 130,000 คน และสิ้นสุดสัญญาจ้าง 10,000 คน ส่งผลให้ สปส.จะต้องจ่ายเงินทดแทนกรณีว่างงานประมาณ 5,550 ล้านบาท ด้าน น.ส.ส่งศรี บุญบา รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ผู้ใช้แรงงานในจังหวัดต่างๆ ที่ประสบอุทกภัยและถูกเลิกจ้าง ขอให้ไปยื่นคำร้องรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานต่อสำนักงานจัดหางานเขต พื้นที่ จังหวัด ส่วนกรณีที่เป็นแรงงานที่ได้รับสิทธิประโยชน์แล้วและไม่สามารถไปรายงานตัว ได้ตามกำหนด ก็ขอให้โทรศัพท์มาแจ้งต่อสำนักงานจัดหางานต่างๆ เนื่องจากขณะนี้ได้มีเจ้าหน้าที่ของ สปส.ไปประจำอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม หากแรงงานที่ว่างงานได้งานใหม่แล้ว สถานประกอบการแห่งใหม่ที่รับเข้าทำงานจะแจ้งข้อมูลมายัง สปส. ซึ่ง สปส.จะยกเลิกการจ่ายเงินสิทธิประโยชน์ (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 7-11-2554) ก.แรงงาน เตรียม เสนอ 2 โครงการช่วยเหลือ นายจ้างลูกจ้างที่ประสบอุทกภัย ต่อที่ประชุม ครม.ในวันพรุ่งนี้ นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า พรุ่งนี้ (8 พ.ย.54) กระทรวงแรงงาน จะเสนอ 2 มาตรการ เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) คือ โครงการจ่ายค่าจ้างให้แรงงานที่กระทบน้ำท่วมรายละ 2,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน เติมให้กับนายจ้างที่จ่ายค่าจ้างร้อยละ 75 ของค่าจ้างปกติ ในวงเงินประมาณ 4,500 ล้านบาท และโครงการยกระดับฝีมือแรงงาน เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกจ้างและนายจ้างที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย หลักสูตร 10 วัน โดยผู้เข้าอบรมจะได้เบี้ยเลี้ยงวันละ 120 บาท ตั้งเป้ามีผู้เข้าร่วม 15,000 คน ในวงเงิน 61 ล้านบาท เชื่อว่า 2 มาตรการนี้หากได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจะสามารถช่วยให้นาย จ้างไม่เลิกจ้างลูกจ้างได้ โดยคาดว่าหากได้รับความเห็นชอบในปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ จะเริ่มจ่ายค่าจ้างตามโครงการแรกได้และเริ่มเปิดอบรมตามโครงการที่ 2 ควบคู่กันไป อย่างไรก็ตามคาดว่าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในหลายนิคมอุตสาหกรรม ทั้งนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ และนิคมอุตสาหกรรมบางหว้า ซึ่งยังไม่มีการเลิกจ้างคนงาน ที่ขณะนี้เริ่มสูบน้ำอย่างเต็มกำลังจะสามารถฟื้นฟูและเริ่มเปิดงานได้ในช่วง กลางเดือนธันวาคม หรือประมาณ 45 วัน ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีลูกจ้างกระทบน้ำท่วมกว่า 819,147 คน ในสถานประกอบการ 20,526 แห่ง ซึ่งเป็นลูกจ้างซับคอนแทคกว่าร้อยละ 20 ประมาณ 150,000 – 160,000 คน ซึ่งกลุ่มนี้เสี่ยงถูกเลิกจ้างประมาณ 100,000 คน อย่างไรก็ตามในกลุ่มนี้กระทรวงแรงงานได้เตรียมตำแหน่งงานว่างที่มีลักษณะงาน ใกล้เคียงกันรองรับกลุ่มนี้แล้ว (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 7-11-2554) น้ำท่วมกรุงแรงงานเดือดร้อนกว่า 100,000 คน 8 พ.ย. 54 - กสร.เผยแรงงานเมืองกรุงเดือดร้อนพุ่งกว่า 100,000 คนแล้ว ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วม จ.พระนครศรีอยุธยาเริ่มคลี่คลาย 25 โรงงานเรียกแรงงานกว่า 33,000 คน กลับเข้าทำงานแล้ว เผยไอแอลโอ เสนอ 4 แนวทางร่วมช่วยเหลือแรงงานถูกน้ำท่วม นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าจากสถานการณ์น้ำท่วมใน กทม.ส่งผลกระทบต่อสถานประกอบการจำนวนมากโดยพบว่าใน 5 เขตพื้นที่ของ กสร. ประกอบด้วย เขต 2 จตุจักร ดอนเมือง บางเขน บางซื่อ หลักสี่ เขต 5 คลองสาน ธนบุรี บางพลัด บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ เขต 6 ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา บางแค ภาษีเจริญ หนองแขม เขต 7 จอมทอง ทุ่งครุ บางขุนเทียน บางบอน ราษฎร์บูรณะ และเขต 10 คลองสามวา สายไหม มีนบุรี ลาดกระบัง สะพานสูง และหนองจอก มีสถานประกอบการได้รับผลกระทบ 6,474 แห่ง และแรงงานเดือดร้อน 109,602 คน นายอาทิตย์ กล่าวว่า ส่วนภาพรวมทั่วประเทศในขณะนี้ มีสถานประกอบการได้รับผลกระทบลดลงจากเดิม 32 จังหวัด ล่าสุดเหลือเพียง 14 จังหวัด เนื่องจากบางจังหวัด เช่น ชัยนาท ลพบุรี นครสวรรค์ น้ำเริ่มลดลงแล้วและสถานประกอบการเรียกแรงงานกลับเข้าทำงานตามปกติ ทั้งนี้ ใน 14 จังหวัดมีสถานประกอบการได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 20,526 แห่ง แรงงานเดือดร้อน 819,147 คน ส่วนสถานการณ์ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เริ่มคลี่คลายแล้วโดยเฉพาะในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ มีสถานประกอบการ 25 แห่งเปิดดำเนินการแล้วและได้เรียกแรงงานกลับเข้าสู่ระบบการทำงาน 33,892 คน อย่างไรก็ตาม กสร.ได้สั่งการไปยังสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทุกจังหวัดให้จัดทำแบบสอบถาม และส่งไปยังนายจ้างทั่วประเทศเพื่อแจ้งสถานการณ์จ้างงานและการเลิกจ้างโดย ให้ส่งข้อมูลกลับมายัง กสร.ภายในสัปดาห์นี้ เพื่อรวบรวมข้อมูลในการเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจาก การถูกเลิกจ้าง ทั้งนี้ ล่าสุดสถานประกอบการใน จ.พระนครศรีอยุธยา ได้แจ้งยืนยันว่ายังคงจ้างลูกจ้างตามเดิมกว่า 280,000 คน อธิบดี กสร.กล่าวอีกว่าวันนี้คณะผู้แทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ได้เข้าหารือเพื่อร่วมหาทางช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมโดยไอ แอลโอเสนอกรอบความช่วยเหลือ 4 แนวทางได้แก่ 1.ดูแลให้เกิดการจ้างงานโดยเร็ว 2.การช่วยเหลือแรงงานว่างงาน 3.การฝึกทักษะพัฒนาอาชีพ และ 4.การช่วยเหลือกิจการขนาดเล็ก โดยจะลงพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยาในวันที่ 15-16 พ.ย.นี้ เพื่อหารือกับหน่วยงานต่างๆ ในการกำหนดแนวทางรูปแบบการช่วยเหลือต่อไป ทั้งนี้ ไอแอลโอเคยมีประสบการณ์ช่วยเหลือแรงงานที่ประสบภาวะวิกฤตในหลายประเทศเช่น เหตุการณ์สึนามิที่อินโดนีเซีย แผ่นดินถล่มที่จีน และสึนามิที่ จ.ภูเก็ตได้มีจัดฝึกอาชีพให้แก่พนักงานโรงแรมที่ได้รับผลกระทบ (สำนักข่าวไทย, 8-11-2554) อยุธยาฟื้นแรงงานกลับเข้าทำงานกว่า 3.3 หมื่นคนแล้ว วันนี้ (8 พ.ย.) นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยสถานการณ์ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมใน จ.พระนครศรีอยุธยา ได้เริ่มคลี่คลายแล้วโดยเฉพาะในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ มีสถานประกอบการ 25 แห่งเปิดดำเนินการแล้ว และได้เรียกแรงงานกลับเข้าสู่ระบบการทำงาน 33,892 หมื่นคน (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 8-11-2554) ครม.ไฟเขียวช่วยแรงงานน้ำท่วม ชะลอเลิกจ้าง-จ่าย 2 พันบาทให้ 3 เดือน วันนี้ (8 พ.ย.) นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รง.) กล่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมของกระทรวงแรงงานตามที่ ได้เสนอ 2 มาตรการประกอบด้วย 1.มาตรการรักษาสภาพการจ้างงานของผู้ประกอบการ โดยช่วยจ่ายค่าจ้างแทนนายจ้าง 2,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ใช้งบประมาณกว่า 600 ล้านบาท โดยนำร่องแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมประมาณ 1 แสนคน ทั้งนี้ มีเงื่อนไขให้นายจ้างจะต้องทำเอ็มโอยูที่จะไม่เลิกจ้างลูกจ้างเป็นเวลา 3 เดือน และต้องจ่ายค่าจ้างไม่น้อยกว่า 75% ของค่าจ้างเดิม (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 8-11-2554) ศูนย์พักพิงชั่วคราวชลบุรีเปิดศูนย์ให้บริการด้านแรงงานกับผู้ประสบภัย วันนี้ (9 พ.ย.54) นายภัครธรณ์ เทียนไชย รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พักพิงจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ขณะนี้จังหวัดชลบุรีได้เปิดศูนย์พักพิงมาแล้วรวมทั้งสิ้น 16 วันโดยมีอพยพทั้งสิ้น 7,397 คน แยกเป็นศูนย์จังหวัดตั้งขึ้นจำนวน 5,859 คน และศูนย์พักพิงที่มีหน่วยงานต่างๆจัดตั้งขึ้นมีจำนวน 1,538 คน (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 9-11-2554) ปลัด ก.แรงงานเผยมาตรการช่วยจ่าย 2 พัน เริ่มรับคำร้อง 10 พ.ย. เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงมาตรการชะลอการเลิกจ้าง โดยช่วยจ่ายค่าจ้างแทนนายจ้าง 2,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ใช้งบประมาณกว่า 600 ล้านบาท โดยนำร่องแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมประมาณ 1 แสนคน ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ว่า กระทรวงแรงงานได้เปิดให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่ภัยพิบัติน้ำท่วม มายื่นคำร้องเพื่อขอใช้สิทธิดังกล่าวได้ที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดที่สถานประกอบการตั้งอยู่ได้ตั้งแต่วันนี้ (10 พ.ย.) เป็นต้นไป ทั้งนี้ ขั้นตอนในการยื่นขอเงินชดเชย 2,000 บาท ผู้ประกอบการจะต้องแจ้งข้อมูลสภาพที่ตั้งของสถานประกอบการ จำนวนและรายชื่อของลูกจ้างที่เดือดร้อน จากนั้นทางสวัสดิการฯ จะเข้าไปตรวจสอบข้อมูลว่าเป็นไปตามที่ผู้ประกอบการได้แจ้งไว้หรือไม่ โดยอ้างอิงจากฐานข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เป็นหลัก โดยต้องอยู่ในหลักเกณฑ์คือ 1.อยู่ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 2.มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน และ 3.หยุดกิจการไม่น้อยกว่า 1 เดือน (มติชนออนไลน์, 9-11-2554) จี้นายจ้างญี่ปุ่นทำประกันสุขภาพแรงงานไทยประสบภัยก่อนส่งทำงานญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล นักวิจัยเรื่องการเข้าถึงการรักษาของแรงงานข้ามชาติในญี่ปุ่น กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายช่วยเหลือประเทศไทยที่กำลังประสบ อุทกภัยครั้งร้ายแรง โดยจะอนุญาตให้แรงงานไทยที่ทำงานในบริษัทญี่ปุ่นที่ถูกพักงานจากน้ำท่วม สามารถเข้าไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นได้ว่า เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายผ่อนปรนเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลักที่นายจ้างและแรงงานไทยพึงตระหนักและต้องเตรียมตัวก่อนเดินทางไป ญี่ปุ่น คือ การเข้าถึงการรักษาสำหรับแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ ในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเรื่องยากลำบากมาก ดังนั้น ก่อนการเดินทาง นายจ้างต้องทำประกันสุขภาพให้แรงงานไทยที่จะไปทำงานที่ญี่ปุ่น อีกทั้งแรงงานที่มีโรคประจำตัว ที่ต้องรักษาตัวเองอย่างต่อเนื่องต้องเตรียมยาที่จำเป็นไปให้พอตลอดระยะเวลา ที่ทำงานในญี่ปุ่นด้วย "จากการวิจัยพบว่า หากแรงงานที่ไปทำงานในประเทศญี่ปุ่น และไม่มีประกันสุขภาพ จะไม่สามารถเข้าถึงการรักษาเมื่อเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุเลย แม้แต่ผู้ฝึกงาน ที่ได้รับอนุญาตเข้าไปทำงานในญี่ปุ่นชั่วคราว ซึ่งเป็นผลจากข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ก็มีปัญหา ดังนั้น นายจ้างจึงต้องทำประกันสุขภาพให้แรงงานที่จะเดินทางไปทำงานในญี่ปุ่น รวมถึงแรงงานที่ป่วยก็ต้องมียาติดตัวอย่างพอเพียง ยกตัวอย่าง ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ ฯลฯ จะต้องจัดเตรียมยาไปให้พอ ซึ่งแรงงานทุกคนอยู่ในสิทธิประกันสังคม ดังนั้น ต้องติดต่อกับหน่วยบริการเพื่อรับยาไปใช้ให้เพียงพอสำหรับตลอดช่วงเวลาการทำ งานในญี่ปุ่นและถ้าอยู่ต่อจากที่กำหนดไว้ จะมีวิธีติดต่อเพื่อรับยาเพิ่มเติมได้อย่างไร ซึ่งประเด็นนี้หน่วยราชการของไทยที่เกี่ยวข้องจะต้องหารือเพื่อขอการผ่อนปรน จากรัฐบาลญี่ปุ่นในการจัดส่งยาด้วย" น.ส.กรรณิการ์กล่าว (มติชนออนไลน์, 9-11-2554) โรงงานสมุทรสาคร เตรียมแผนอพยพแรงงาน หากน้ำทะลักเข้าท่วมในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำ ท่วมที่จังหวัดสมุทรสาคร ว่า จากการหารือกับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 2 แห่ง ซึ่งมีมาตรการรองรับน้ำท่วม โดยเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเป็นระบบ แบ่งเป็นจุดรวมพลของแรงงานต่างด้าวและแรงงานไทย โดยแรงงานไทยได้กำหนดจุดอพยพไว้ 5-6 จุด ใน จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งหากเกิดเหตุจะทำการอพยพแรงงานทั้งหมดไปยังจุดรวมพลเหล่านี้ โดยมีกว่า 200-300 บริษัทที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 2 แห่ง โดยมีการแบ่งกลุ่มชัดเจนในการอพยพแรงงาน ซึ่งจะไปกลุ่มละ 20-30 บริษัท แตกต่างจากการช่วยเหลือแรงงานที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ลูกจ้างและนายจ้างกระจัดกระจาย ส่งผลให้การประสานความช่วยเหลือได้ลำบาก ส่วนแรงงานต่างด้าว ได้กำหนดจุดศูนย์อพยพไว้ที่ วัดเทพนรรัตน์ ตำบลนาดี และบ้านเอื้ออาทรท่าจีน ขณะเดียวกันได้มีเจ้าอาวาสวัดคลองมะเดื่อ ตำบลคลองมะเดื่อ แสดงความประสงค์จะช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว ซึ่งกระทรวงฯ พร้อมที่จะเข้าไปดูแล อย่างไรก็ตาม หากสถานที่ไม่เพียงพอก็จะเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวไปที่สถาบันพัฒนาฝีมือ แรงงาน จังหวัดราชบุรี และ เพชรบุรี ต่อไป ทั้งนี้ ในการบริหารจัดการศูนย์อพยพต่างด้าวจะใช้ระบบหมุนเวียนแรงงาน โดยจะไม่ให้แรงงานอยู่เฉยๆ บางส่วนอาจจะต้องมีการส่งกลับไปประเทศต้นทาง และบางส่วนจะหางานให้ทำและถูกส่งไปอยู่กับนายจ้างใหม่ ซึ่งจะแตกต่างจากศูนย์พักพิงของแรงงานไทย (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 9-11-2554) หอการค้า ยื่นข้อเสนอรัฐ 8 ประเด็น ต่างชาติจับตาแผนแก้วิกฤตอุทกภัยระยะยาว ไม่ชัดเจน สาหัสแน่ 10 พ.ย. 54 - ผู้สื่อข่าว มติชนออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ 10 พ.ย. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้มีการประชุมหารือร่วมกับสมาคมที่เป็นสมาชิก 68 สมาคมที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และมีตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เข้าร่วมหารือด้วย ที่ประชุมได้ระดมความเห็นและสรุปข้อเสนอไปยังรัฐบาล โดยที่ประชุมมี นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานหอการค้าไทย เป็นประธานที่ประชุม “พานาโซนิค”ยันไม่ย้ายฐาน-ส่งคนไทยทำงาน บ.แม่ชั่วคราว วันที่ 11 พ.ย. ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) นายโคอิจิ ยามาดะ ที่ปรึกษาอาวุโสฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท พานาโซนิค อิเล็กทรอนิกส์ เวิร์คส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์อุทกภัยจำนวน 2 แห่ง ซึ่งมีพนักงานมากกว่า 5 พันคน ทำให้การผลิตสินค้าได้รับผลกระทบไปด้วย ดังนั้นทางบริษัทฯ จึงขออนุญาตส่งแรงงานไทยไปทำงานในบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเร่งผลิตสินค้าให้ทันความต้องการของตลาด เป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งบริษัทจะเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบทั้งหมด ในส่วนของแรงงานไทยที่ไม่ได้เดินทางไปทำงานในญี่ปุ่น บริษัทจะยังคงจ่ายค่าจ้างในอัตราร้อยละ 75 ของอัตราค่าจ้างปัจจุบัน และยังไม่มีการปลดคนงาน พร้อมยืนยันว่าจะไม่ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น หากระดับน้ำลดลงก็จะเร่งฟื้นฟูบริษัทฯ ให้กลับมาดำเนินกิจการได้เหมือนเดิมอีกครั้ง พร้อมกันนี้ยังได้เรียกลูกจ้างที่หยุดงานและย้ายไปทำงานกับบริษัทในเครือ ชั่วคราวได้กลับมาทำงานตามเดิม (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 11-11-2554)
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
กรมการแพทย์เร่งผลิตยารักษาโรคน้ำกัดเท้าให้ทหาร Posted: 12 Nov 2011 05:06 AM PST กรมการแพทย์เร่งผลิตยารักษาโรคน้ำกัดเท้าให้ทหาร หวั่นหากขาดการดูแลระยะยาวอาจเป็นอันตรายได้ ด้านทหารยันหากเหตุน้ำท่วมขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้นเตรียมพร้อมกำลังสำรองดูแลประชาชน 11 พ.ย. 54 - สำนักเลขานุการ กรมการแพทย์เปิดเผยว่า ท่ามกลางวิกฤตอุทกภัยที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยขณะนี้ จะเห็นว่าประชาชนผู้ประสบภัยที่เดือดร้อนมีทหารมาคอยให้ความช่วยเหลือ เป็นที่พึ่งที่ทำให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการกรอกกระสอบทรายกันทั้งวันทั้งคืนเพื่อนำไปอุดกั้นน้ำไม่ให้ไหลเข้าบ้านประชาชน ช่วยอพยพประชาชนออกจากพื้นที่น้ำท่วม ช่วยลำเลียงขนส่งถุงยังชีพไปแจกจ่ายให้ประชาชนในพื้นที่ประสบภัย ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปทำงานหรือเดินทางไปในที่ต่างๆแม้ในพื้นที่น้ำท่วมสูง ฯลฯ จะเห็นว่าชีวิตความเป็นอยู่ของทหารช่วยน้ำท่วมลำบากไม่แพ้ประชาชนเลย พญ.วิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่าข้อมูลที่ได้จากเสนารักษ์สนามกรมทหารหรือที่ใครๆ เรียกว่าทหารหมอ บอกว่าในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคเท้าเปื่อย ไข้สูง ตาอักเสบ ติดเชื้อ ทหารที่เข้มแข็งที่เดินทางมาไกลจากทุกมุมของประเทศไทยเพื่อมาช่วยเหลือประชาชนยามเดือดร้อน ก็กำลังป่วยจากการลุยน้ำสกปรกทั้งวันเช่นกัน โดยพบว่าเจ้าหน้าที่ทหารที่ออกไปช่วยเหลือประชาชนส่วนใหญ่เกือบทุกนาย มีปัญหาเรื่องน้ำกัดเท้า มีแผลพุพอง รวมทั้งบางคนมีแผลจากการถูกของมีคมบาด แต่ยังต้องออกไปทำหน้าที่ ทำให้แผลลุกลามอักเสบ หากปล่อยทิ้งไว้ในระยะยาว อาจเป็นอันตรายได้ กรมการแพทย์ได้มอบให้โรงพยาบาลราชวิถีและสถาบันโรคผิวหนัง ผลิตยารักษาโรคน้ำกัดเท้า และยาประคบแผลเพื่อนำไปมอบให้ทหารที่ออกไปทำหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนในวิกฤตน้ำท่วม ขณะนี้ได้ผลิตและส่งมอบให้กับกองพลที่ 1 รักษาพระองค์แล้ว 2,000 ชุด และกำลังเร่งผลิตเพิ่มเติมเพื่อนำไปมอบให้กับทหารและเจ้าหน้าที่ ที่ต้องออกปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ในยามยากทหารถือเป็นมิตรแท้ที่คอยช่วยเหลือประชาชนผู้เดือดร้อนอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย การนำเวชภัณฑ์ยามามอบให้ทหารไว้ดูแลรักษาร่างกายยามเจ็บป่วย จึงถือว่าเป็นคำขอบคุณแทนพี่น้องชาวไทยทุกคน ด้าน พล.ต.พิสิทธิ์ สิทธิสาร ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กล่าวว่า ในส่วนของกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ มีกำลังพล ทั้งนายทหารชั้นสัญญาบัตร ชั้นประทวน และพลทหาร ที่ออกไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมตลอด 24 ชม.โดยแบ่งออกเป็น 2 ชุด ชุดแรก 1,000 นาย ให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างจังหวัด ส่วนอีก 2,000 นายรับผิดชอบดูแลประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครจำนวน 17 เขตได้แก่ เขตสายไหม ดอนเมือง หลักสี่ บางเขน ลาดพร้าว จตุจักร วังทองหลาง ห้วยขวาง พญาไท ราชเทวี บางซื่อ ดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ บางพลัด ดินแดง และเขตป้อมปราบ ที่ผ่านมาทหารออกไปช่วยประชาชน นำยา เวชภัณฑ์ ถุงยังชีพโดยไม่ได้นึกถึงว่าตัวเองก็ป่วยด้วยเช่นกัน การที่กรมการแพทย์โดยรพ.ราชวิถีและสถาบันโรคผิวหนังนำยาน้ำกัดเท้าและยาประคบแผลมามอบให้ครั้งนี้ นับว่าเป็นประโยชน์มาก ต้องขอบคุณทางกรมการแพทย์เป็นอย่างยิ่ง ที่เล็งเห็นปัญหาและตระหนักถึงความทุกข์ยากของทหารจากการปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน และยังได้จัดส่งยามาบรรเทาความทุกข์ของทหารถึงกองพล โดยไม่ต้องรอให้ร้องขอ ช่วยให้ทหารมีเรี่ยวแรงและมีกำลังใจมากยิ่งขึ้น และทางทหารก็จะยังคงเดินหน้าดูแลพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ต่อไป จนกว่าเหตุการณ์น้ำท่วมจะกลับสู่สภาวะปกติ ทั้งนี้กองพลที่ 1 รักษาพระองค์มีแผนที่จะขอให้กองทัพภาคต่างๆในเขตพื้นที่ต่างจังหวัดส่งกำลังพลมาสนับสนุนเพิ่มเติม หากพื้นที่น้ำท่วมในกรุงเทพมหานครแพร่ขยายเป็นวงกว้างมากกว่านี้ พล.ต.พิสิทธิ์ กล่าว. สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เลขาธิการ 'ยูเอ็น' เยือนไทย 16-17 พ.ย. นี้ Posted: 12 Nov 2011 12:31 AM PST 'บัน คี มุน' เลขาธิการสหประชาชาติ มีกำหนดการมาเยือนไทยในฐานะแขกรัฐบาล 16-17 พ.ย. นี้ ก่อนบินไปประชุมสุดยอดอาเซียน-ยูเอ็นที่บาหลี นัดหารือนายกเรื่องความช่วยเหลือด้านอุทกภัย พร้อมลงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม มติชนออนไลน์ รายงานว่า นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติและนางบัน ซุน เท็ก ภริยาเลขาธิการสหประชาชาติมีกำหนดการเยือนประเทศไทยในวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2554 ตามคำเชิญของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะแขกของรัฐบาลไทย ตามที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ทาบทามเชิญในระหว่างการพบหารือกับเลขาธิการสหประชาชาติในโอกาสที่เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญสมัยที่ 66 เมื่อเดือนกันยายน 2554 ณ นครนิวยอร์ก การเชิญเลขาธิการสหประชาชาติเยือนประเทศไทยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือในสาขาต่างๆ ระหว่างรัฐบาลไทยกับสหประชาชาติ และเป็นโอกาสให้เลขาธิการสหประชาชาติได้รับทราบเกี่ยวกับวิกฤติด้านอุทกภัยครั้งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนชาวไทยอย่างกว้างขวาง และเพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกัน รวมทั้งประเด็นการส่งเสริมบทบาทของกรุงเทพฯ ในฐานะศูนย์กลางของสำนักงานสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศในภูมิภาค และการเปิดโอกาสให้สหประชาชาติได้ทราบบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในภูมิภาค โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาค รวมทั้งประเด็นสำคัญ อื่นๆ ที่สองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน เลขาธิการสหประชาชาติจะเดินทางถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2554 และจะมีกำหนดการพบหารือกับนายกรัฐมนตรี ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการหารือ นายกรัฐมนตรีและเลขาธิการสหประชาชาติจะร่วมกันแถลงข่าว ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน เลขาธิการสหประชาชาติจะเดินทางไปยังอาคารสำนักงานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (UNESCAP) เพื่อเข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมเกี่ยวกับการประกันสุขภาพถ้วนหน้า ภายหลังการประชุม เลขาธิการสหประชาชาติ พร้อมคณะจะเดินทางไปเยี่ยมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยก่อนเดินทางออกจากประเทศไทยในช่วงเช้าของวันที่ 17 พฤศจิกายน 2554 เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 4 ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
TCIJ: ‘พื้นที่โฉนดชุมชน’ ระดมผักล็อต 2 ช่วย ‘ผู้ประสบภัย’ วอนสนับสนุนรถบรรทุก Posted: 11 Nov 2011 09:52 PM PST แจงระดมผักได้มากจนขนไม่หมด แต่ไม่มีงบค่าขนส่ง ประสานขอรถไปหลายหน่วยงานได้เพียงรถทหารแค่คันเดียว ชาวบ้านเผยแม้มีปัญหาคดีความที่ดินแต่ในยามทุกข์ยากก็ต้องช่วยเหลือกัน วันที่ 11 พ.ย.54 เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ซึ่งประกอบด้วย จ.ตรัง จ.พัทลุง จ.กระบี่ และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้ระดมขนส่งผักพื้นบ้านในพื้นที่โฉนดชุมชน น้ำดื่ม และอาหารแห้ง ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้าท่วมในภาคกลาง เป็นครั้งที่ 2 จากครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยมีสมาชิกเครือข่ายฯ เดินทางไปด้วยจำนวน 20 คน ขบวนผักดังกล่าวได้เดินทางจาก จ.ตรัง จำนวน 4 คันรถ ประกอบด้วย รถ 6 ล้อ 1 คัน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองพันทหารราบที่ 4 (ค่ายลำภูรา) และรถกระบะของสมาชิกเครือข่ายฯ จำนวน 3 คัน ปลายทางของรถขบวนนี้ คือ ศูนย์ช่วยน้ำท่วม 5 จุด ได้แก่ ศูนย์ฯ ของเครือข่ายสลัม 4 ภาค 1 จุด ศูนย์ฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม 1 จุด และ ศูนย์ฯ คลองโยง จ.นครปฐม 3 จุด นางกันยา ปันกิติ คณะทำงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่า ครั้งนี้เราระดมผักได้มากจนขนไปไม่หมด ยังเหลือผักอีก 1 คันรถกระบะ และของแห้งอีก 1 คันรถ 6 ล้อ ไม่สามารถขนไปได้ เพราะไม่มีงบประมาณค่าขนส่ง ทางเครือข่ายฯ ได้ประสานขอรถไปหลายที่ก็ไม่ว่างเลย ได้เพียงรถทหารแค่คันเดียว หากให้เราจ่ายค่าขนส่งเองก็ไม่มีความสามารถ เพราะช่วงนี้กรีดยางไม่ค่อยได้ และราคายางก็ตกต่ำลงมาก จึงอยากวิงวอนให้ผู้ใจดีช่วยสนับสนุนรถบรรทุก “ถ้าอยากได้ผักครั้งละมากๆ เป็นคันรถสิบล้อ เราก็ระดมให้ได้ ในพื้นที่โฉนดชุมชนของเรามีผักอยู่มากมาย เรากินไม่หมด ในยามทุกข์ยากก็ต้องช่วยเหลือกัน เรารวมกลุ่มจัดทำโฉนดชุมชน ไม่ได้คิดถึงแต่ตัวเอง แต่คิดถึงสังคมด้วย อยากให้พี่น้องรวมกลุ่มกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อย่าต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างกิน มันจะช่วยเหลือกันไม่ได้ เราได้ประสบการณ์จากการรวมกลุ่ม มันทำให้เราอยู่ในพื้นที่ได้ ทำมาหากินได้ตามปกติ แก้ปัญหาคดีความที่ไม่เป็นธรรมได้” นางกันยา กล่าว ทั้งนี้ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด เป็นกลุ่มชาวบ้านที่รวมตัวกันเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอนุรักษ์ป่าไม้ทับซ้อนพื้นที่ชุมชน และถูกสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งแย่งยึดพื้นที่ชุมชน โดยสมาชิกเครือข่ายฯ ถูกฟ้องร้องจากการใช้สิทธิชุมชน จำนวน 55 ราย อยู่ในชั้นศาล 8 ราย ชั้นอัยการ 17 ราย โดยผู้ถูกคดีได้สนับสนุนผักและเดินทางไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมด้วย สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
สองรัฐในมาเลเซียเล็งออกกฏศาสนาลงโทษเกย์ Posted: 11 Nov 2011 03:32 PM PST รัฐปาหัง และ มะละกา ประเทศมาเลเซีย เตรียมออกกฏหมายอิสลามลงโทษคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งกฏหมายของรัฐก็มีบทลงโทษชาวรักร่วมเพศแต่เดิมอยู่แล้ว ผู้นำศาสนากล่าวกลัวพฤติกรรมทางเพศผิดปกติจะกลายเป็นค่านิยม
11 พ.ย. 2011 - สำนักข่าว เดอะ การ์เดียน รายงานว่า รัฐในมาเลเซีย 2 รัฐ วางแผนแก้กฏหมายอิสลามเพื่ ในประเทศมาเลเซีย การกระทำรักร่วมเพศจะถูกลงโทษด้ โมห์ อาลี รุสตัม ผู้ว่าการรัฐมะละกา และประธานกล่าวว่า รัฐจะเป็นผู้พิจารณาร่ "มีคนจำนวนมากต้องการสนับสนุนสิ "ตามหลักศาสนาอิสลามแล้ว พวกเราไม่สามารถกระทำเช่นนี้ได้ มันขัดต่อกฏของศาสนา" อาลีกล่าว เขาบอกอีกว่าเกย์ชาวมุสลิ "พวกเราอยากให้มีการออกกฏหมาย เพื่อที่เราจะบังคับใช้ได้ ในวันที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์เดอะ สตาร์ ของมาเลเซียก็รายงานคำกล่ "อิสลามห้ามไม่ให้มีแนวทางหรื ในประเทศมาเลเซีย ศาสนาอยู่ภายใต้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กลุ่มผู้จัดเทศกาลส่งเสริมสิทธิ ประเทศมาเลเซียมีประชากรเป็ การมีสัมพันธ์นอกสมรสไม่ได้รั แต่การถกเถียงกันเรื่องเพศก็มั ที่มา Malaysian states to punish homosexuality, The Guardian, 11-11-2011
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น